โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'เอกชัย-โชคชัย' ฉีก รธน.ลายพราง จี้พรรคการเมืองรื้อ รธน. 2560

Posted: 02 Jun 2018 10:00 AM PDT



ที่มาภาพ: Banrasdr Photo
 
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2561 มติชนออนไลน์ รานงานว่า เวลาประมาณ 15.00 น. นายเอกชัย หงส์กังวาน และนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ นักกิจกรรมทางการเมืองได้ทำการฉีกรัฐธรรมนูญลายพราง บริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน จากนั้นได้เผาต่อหน้าสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเป็นการแสดงสัญลักษณ์ไม่เอารัฐธรรมนูญ 2560 พร้อมเรียกร้องให้พรรคการเมืองต่างๆ แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
 
นายโชคชัย กล่าวว่ายินดีที่มีพรรคการเมืองออกมาประกาศเป็นนโยบายแล้วว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลแล้วจะรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและเขียนใหม่ จึงอยากเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคทุกคนถ้าผ่านการเลือกตั้งแล้ว ได้เป็นนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยของประชาชนแล้ว เมื่อเป็นรัฐบาลที่เป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ไม่ควรใช้รัฐธรรมนูญ 2560
 
"ผมขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรค นักการเมืองทุกคนประกาศเป็นนโยบายไปเลยว่า เมื่อเป็นรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยแล้ว จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะว่าเผด็จการไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้ ทุกวันนี้คำสั่งคสช.ก็สูงกว่ารัฐธรรมนูญอยู่แล้ว"
 
นายเอกชัยกล่าวว่า "ที่ผ่านมารัฐบาลได้อ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 / 2558 มาดำเนินคดีกับพวกเรากลุ่มคนอยากเลือกตั้งซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ไม่เข้าใจว่า เหตุใดรัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้งกลับไม่ผิดแต่เมื่อประชาชนเรียกร้องเลือกตั้งกลับผิด" นายเอกชัยกล่าว
 


 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กูเกิลยอมไม่ต่อสัญญาโครงการความร่วมมือกับกองทัพสหรัฐฯ หลังพนักงานหลายพันประท้วง

Posted: 02 Jun 2018 09:38 AM PDT

หลังจากที่พนักงานกูเกิลหลายพันคนทั้งเรียกร้องและประกาศลาออกจากงานในหลายภาคส่วนเพื่อประท้วงโครงการความร่วมมือระหว่างกูเกิลกับกองทัพสหรัฐฯ ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือรัฐบาลด้านระบบปัญญาประดิษฐ์และโดรน ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 การประท้วงก็ส่งผลเมื่อกูเกิลประกาศจะไม่ต่ออายุสัญญาโครงการดังกล่าวกับเพนทากอนแล้ว

 
 
2 มิ.ย. 2561 โครงการที่กูเกิลร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีชื่อว่า 'โครงการมาเวน' เป็นการนำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอมาช่วยวิเคราะห์รูปถ่ายจากโดรนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้โดรนในรุ่นถัดๆ ไปให้สามารถระบุตัวตนและวัตถุได้เร็วขึ้น ในครั้งนั้นมีพนักงานของกูเกิลเกือบ 4,000 ราย ลงนามประท้วงในเรื่องนี้ และมีอีกหลายคนที่ลาออกจากตำแหน่งในกูเกิลเพื่อเป็นการประท้วง
 
การประท้วงกดดันจากพนักงานส่งผลให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ไดแอน กรีนน์ ซีอีโอของกูเกิลคลาวด์ประกาศในที่ประชุมรายสัปดาห์ของพนักงานว่าทางกูเกิลจะไม่ต่อสัญญากับกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งจะหมดสัญญาภายในปี 2562 โดยให้เหตุผลว่าเพราะมีแรงโต้ตอบกลับอย่างหนักจนส่งผลเสียต่อบริษัท นอกจากนี้ยังประกาศอีกว่าภายในสัปดาห์หน้ากูเกิลมีแผนการเปิดเผยแนวโนบายใหม่ในการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ของพวกเขา
 
ในช่วงที่พนักงานกูเกิลทำการประท้วงนั้นพวกเขาระบุในจดหมายเปิดผนึกว่า "กูเกิลไม่ควรจะกลายเป็นธุรกิจแห่งสงคราม" และ "พวกเราไม่ควรผลักภาระความรับผิดชอบทางศีลธรรมที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีของเราไปให้กับบุคคลที่สาม" ขณะที่กูเกิลพยายามพูดปกป้องโครงการมาเวนว่าไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าแค่การให้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สกับประทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แต่ถึงแม้ว่าฝ่ายบริหารของกูเกิลจะพยายามบอกว่าข้อตกลงร่วมกับเพนทากอนมีมูลค่าเพียงแค่ 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ดิอินเตอร์เซปต์ก็รายงานว่าพวกเขาหวังจะให้โครงการมาเวนทำรายได้ถึง 250 ล้านดอลลาร์ต่อปี
 
ถึงแม้ว่าการต่อต้านจากพนักงานกูเกิลจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกูเกิลกับกองทัพสหรัฐฯ ดูห่างออกไปบ้าง แต่ ลี ฟาง จากสื่อดิอินเตอร์เซปต์ก็รายงานว่านั่นยังไม่ทำให้กูเกิลมีพันธกิจว่าจะเลิกการลงนามร่วมมือกับกองทัพสหรัฐฯ อีกในอนาคตในด้านที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Following Worker Revolt, Google to End Drone Technology Contract with Pentagon, Common Dreams, 01-06-2018
 
GOOGLE WON'T RENEW ITS DRONE AI CONTRACT, BUT IT MAY STILL SIGN FUTURE MILITARY AI CONTRACTS, The Intercept, 02-06-2018
 
Google Plans Not to Renew Its Contract for Project Maven, a Controversial Pentagon Drone AI Imaging Program, Gizmodo, 01-06-2018
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สุเทพ' รับร่วมตั้ง 'พรรครวมพลังประชาชาติไทย'

Posted: 02 Jun 2018 04:32 AM PDT

'สุเทพ' ยอมรับ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง 'พรรครวมพลังประชาชาติไทย' ย้ำไม่รับทุกตำแหน่งทางการเมือง พร้อมเชิญชวนร่วมงานเปิดตัวพรรค 3 มิ.ย.นี้

 
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
 
2 มิ.ย. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ได้ไลท์สดผ่านเฟสบุ๊ค Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) ตอนหนึ่งว่าในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการตั้งพรรคการเมืองใหม่และมีคำถามเกี่ยวกับจุดยืน ของตนค่อนข้างมาก ด้วยความเคารพต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ และต่อความคิดเห็นของพี่น้องทั้งหลาย ตนขอใช้โอกาสนี้ บอกให้พี่น้องได้ทราบว่า บัดนี้ตนได้ตัดสินใจที่จะเข้าไปร่วมงานการเมืองกับพรรคการเมืองที่มีชื่อว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)
 
นายสุเทพ กล่าวต่อว่าเหตุผลที่ตนตัดสินใจเข้าไปร่วมงานการเมืองกับพรรคการเมืองนี้ก็เพราะได้ทราบจุดยืนแนวความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง ของบรรดาผู้ที่รักชาติ รักแผ่นดิน และตั้งใจที่จะสร้างพรรคการเมืองของประชาชนขึ้นมาในประเทศไทย ประเด็นนี้สำคัญที่สุดคือตนได้ตรวจสอบ พูดคุยซักถามจนเห็นชัดเจนว่า กลุ่มผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย เขาตั้งใจที่จะทำพรรคนี้ให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนจริงๆ ประชาชนเป็นเจ้าของประชาชนเป็นผู้กำหนดตัวบุคคลที่จะมาเป็นผู้บริหารพรรค ประชาชนเป็นผู้กำหนดนโยบายพรรคประชาชน มีระบบที่จะควบคุมวินัย และจริยธรรมของผู้บริหารพรรคและสมาชิกพรรค
 
นายสุเทพ กล่าวอีกว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีพรรคการเมืองแบบนี้ในประเทศไทย ก่อนหน้านั้น เราเห็นพรรคของครอบครัว พรรคของกลุ่มผลประโยชน์ พรรคกลุ่มที่มุ่งหวังจะได้อำนาจทางการเมือง ไม่เคยมีพรรคการเมืองของประชาชนอย่างนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เมื่อปี 2560 ที่ประชาชนได้ลงประชามติ ได้มีบทบัญญัติ แสดงเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนว่า ต้องการเห็นการเมืองของประเทศนั้น เป็นการเมืองของประชาชนโดยประชาชนเพื่อนประชาชน และมีบทบัญญัติในการตั้งพรรคการเมือง ที่จะให้ประชาชนเข้าไป มีเสียง มีอำนาจในการกำหนดกิจการในพรรคการเมือง สอดคล้องกันเลย การที่คณะบุคคลกลุ่มนี้คิดจะตั้ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่สำคัญกว่านั้น นอกจากเขาจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแล้ว ตนยังได้ซักซ้อม สอบถามถึงอุดมการณ์ของคนเหล่านี้ หรือ พรรคนี้จะมีอุดมการณ์ อย่างไร และเมื่อยิ่งฟังก็ยิ่งชอบ เพราะเขาตกลงกันว่า อุดมการณ์ที่จะยึดถือในพรรคการเมืองพรรคนี้คือ 1.เรื่องการเทิดทูนและจงรักภักดีและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.เรื่องที่จะมุ่งให้การเมืองของประเทศนี้เป็นธรรมาธิปไตยเต็มไปด้วยความชอบธรรมถูกต้องสุจริตเที่ยงตรงทุกขั้นตอน 3. อุดมการณ์ที่จะเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ทำงานการเมือ งเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ยอมรับอำนาจของประชาชน ในการชี้นำการเมือง 4.เขาบอกว่า พรรคการเมืองนี้ มุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชนคือ ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูประบบ และองค์กร ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชั่น ปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และปฏิรูปเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในหมู่ประชาชน ซึ่งจะต้องทำเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข ที่สำคัญ เขาพูดถึงเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปตำรวจ อันนี้ตรงกับใจของพวกเรามวลมหาประชาชนที่เคยประกาศเอาไว้
 
"พรรคนี้ไม่ใช่พรรคของ กปปส. เพราะ กปปส.ยุติบทบาทไปตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เมื่อคณะคสช.เข้ามารักษาสถานการณ์ในประเทศ แต่ความคิดอุดมการณ์ เจตนารมณ์ ที่ประชาชนเหล่านั้นได้แสดงไว้ พรรคการเมืองพรรคนี้เขาจะรับหน้าที่ สืบสานเจตนานั้น เพราะฉะนั้น วันนี้ให้ชัดเจนเลยว่า ผมเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่จะไม่รับตำแหน่งใดๆในพรรคและยังยืนยันว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ทั้งในเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อและหากว่าพรรคการเมืองนี้ได้เข้าร่วมรัฐบาลในรัฐบาลตนก็จะไม่รับตำแหน่งใดๆในรัฐบาลที่จะตั้งขึ้นให้ตนจะทำหน้าที่อย่างเดียวคือช่วยเหลือสนับสนุนให้พรรคการเมืองของประชาชนที่ชื่อว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยทำงานเพื่อแผ่นดินเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง และในวันที่ 3 มิถุนายน ที่จะมีการประชุมผู้สนับสนุนพรรคและผู้ก่อตั้งพรรคเป็นครั้งแรกที่ ม.รังสิตก็อยากเชิญชวนประชาชนที่สนใจไปร่วมงาน" นายสุเทพ กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิบปีการล่อซื้อ: เมื่อรัฐไทยทาเกลือลงบนแผลสดของพนักงานบริการ และเรียกมันว่าความช่วยเหลือ

Posted: 02 Jun 2018 03:49 AM PDT

พนักงานบริการเผย รัฐไทยล้มเหลวปราบปรามการค้ามนุษย์ ซ้ำตีตราพนักงานบริการ เสมือนการโรยเกลือลงบนแผลสด กสม. ชี้รัฐไทยควรเลิกอคติและหันมาคุ้มครองพนักงานบริการ ระบุสหประชาชาติยังมองเป็น "วิถีชีวิต" หนึ่งของคนไทย ด้านดีเอสไอยอมรับกฎหมายหมิ่นเหม่มีช่องโหว่เอื้อต่อการละเมิดสิทธิ์แต่จำต้องใช้


 

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ได้จัดงานเสวนา "จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง?" เนื่องในสัปดาห์ต่อต้านการค้ามนุษย์ 2561 โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ นางสาวทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ นางสาวไหม จันทร์ตา ตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ พ.ต.ท.กฤตธัช อ่วมสน รองผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ คุณอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดำเนินการเสวนาโดยคุณปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ PROTECTION international หรือ PI

นางสาวทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิของพนักงานบริการมาแล้วมากกว่า 30 ปี ได้พูดคุยกับพนักงานบริการมามากกว่า 5 หมื่นคน สำหรับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย ที่ผ่านมาแม้ทางรัฐบาลจะมีนโยบาย การต่อต้านการค้ามนุษย์เพื่อปกป้องสิทธิของผู้หญิง แต่กลับมีพนักงานบริการจำนวนมากถูกจับกุม ถูกตัดขาดจากครอบครัว ถูกสอบปากคำอย่างหนัก และตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่นานหลายเดือน ก่อนที่จะส่งกลับบ้าน ทั้งหมดนี้กระทำภายใต้แผ่นป้ายชื่อว่า "การคุ้มครองเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์" แต่ในความเป็นจริงกลับเสมือนกับ "การโยนเกลือเข้าไปในแผลสด แล้วเรียกมันว่าการช่วยเหลือ" อีกทั้งการบุกทลายสถานบริการ แล้วนำพนักงานมานั่งแถลงข่าวเหมือนพวกเธอเป็นอาชญากรร้ายแรงก็ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นการกระทำที่รุนแรงต่อพนักงานบริการ และสร้างผลกระทบทางจิตใจต่อพนักงานบริการทั้งหมด โดยมาตรการเหล่านี้ก็ไม่ได้มีแนวโน้มมจะลดลงแต่อย่างใด

ทันตากล่าวต่อว่าในประเทศไทยมีพนักงานบริการประมาณ 3 แสนคน โดย 10 ปีที่ผ่านมามีการล่อซื้อพนักงานและจับกุมผู้เสียหายประมาณ 300 คนทุกปี แต่ในจำนวนนี้ กลับมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์จริงๆ เพียงส่วนน้อยเท่านั้น พนักงานส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมตัดสินใจมาทำงานด้วยความสมัครใจและไม่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ยกตัวอย่างเช่นกรณีการบุกทลาย นาตาลีอาบอบนวด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจับพนักงาน 121 คน แต่มีเหยื่อของการค้ามนุษย์เพียง 15 คน ล่าสุดกรณีวิคตอเรีย ซีเคร็ท จับพนักงาน 113 คน แต่มีผู้เสียหายเพียง 8 คน ส่วนพนักงานที่เหลือถูกจับข้อหามั่วสุมในสถานค้าประเวณี ความน่าสลดใจอีกประการหนึ่งของกรณีวิคตอเรียซีเคร็ตคือเจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมในวันที่พนักงานกำลังประชุมระดมความคิดกันเพื่อเสนอให้นายจ้างปรับปรุงสภาพการทำงาน กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาศัยโอกาสที่พนักงานกำลังรวมกลุ่มเพื่อสร้างข้อต่อรองกับนายจ้างตามหลักสิทธิแรงงานเพื่อให้ได้ยอดจับกุมที่สูงขึ้น อีกทั้งตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี คือเพื่อช่วยคนที่ด้อยโอกาส แต่จะเห็นว่าการจับกุมไม่ได้เป็นการให้โอกาสแต่อย่างใด

"เมื่อเดือน กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องรายงานต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ หรือซีดอว์ (CEDAW) ว่าที่ผ่านมาได้มีการปฏิบัติต่อผู้หญิงในประเทศยังไง ตามอนุสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ลงนามไว้ และ เอ็มพาวเวอร์ ได้ทำรายงานคู่ขนานไปยังคณะกรรมการซีดอว์ จากเหตุการณ์ร้านนาตาลีอาบอบนวด กับสิ่งเกิดขึ้น ทำให้คณะกรรมการซีดอว์ได้มีข้อเสนอให้กับรัฐบาลไทยต้องทำตามคือ ให้หยุดการล่อซื้อและบุกทลายทันที รวมทั้งให้ยกเลิกความผิดการค้าประเวณี ให้ใช้กฎหมายแรงงานเข้ามาคุ้มครองพนักงานบริการ พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลไทยรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับคณะกรรมการซีดอว์" ทันตากล่าว

ทันตากล่าวเพิ่มเติมกับประชาไทว่า รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สร้างความลำบากให้กับชีวิตของพนักงานบริการมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือความถี่ของการสุ่มตรวจและบุกทลายสถานบริการ ในอดีต จะมีการสุ่มตรวจสถานบริการในจังหวัดเชียงใหม่ประมานเดือนละครั้ง แต่ในปีแรกของ คสช. มีการสุ่มตรวจและบุกทลายสถานบริการถึง 15 ครั้ง จนมาถึงปีล่าสุด มีมากถึง 50 ครั้ง ในแง่ของคนที่ทำงานปกป้องสิทธิ ทันตากล่าวว่าเธอไม่ได้มีอคติกับรัฐบาลใดเป็นพิเศษ เพราะการปกป้องสิทธิของพนักงานบริการเป็นสิ่งที่เธอต้องทำทุกรัฐบาล แต่ในรัฐบาล คสช. พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นหดเล็กลงมาก เพราะว่ามีคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งไม่อนุญาติให้มีการรวมตัว หรือทำกิจกรรมทางการเมืองในที่สาธารณะ แต่การทำงานด้านสิทธิพนักงานบริการ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดเรื่องการแก้กฎหมายและวาระทางการเมือง ทุกครั้งที่ทางมูลนิธิต้องการจะจัดกิจกรรมเชิงรณรงค์จึงมักจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐเตือนว่าอาจจะฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.

ขณะที่ นางสาวไหม จันทร์ตา ตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า การล่อซื้อเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพนักงานบริการและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพนักงานบริการเป็นอย่างมาก โดยส่วนมากผู้มาล่อซื้อมักจะแฝงตัวมาในฐานะลูกค้าและมักจะถามว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไหม โดยใช้วิธีมาเลือกผู้หญิงไปนั่งพูดคุยด้วย ทำตัวสุภาพ จ่ายทิปดี ซื้อดื่มให้ กลับมาหาบ่อยๆ เหมือนเข้ามาจีบ เพื่อสร้างความไว้ใจและสร้างความรู้สึกที่ดี จนทำให้เราไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นการหลอกล่อจูงใจให้เรากระทำความผิดไปด้วย จนกระทั้งวันที่ขึ้นห้องและถูกจับเราถึงรู้ว่าเราถูกล่อซื้อนี่คือวิธีการล่อซื้อกับพนักงานบริการ การล่อซื้อและบุกทลายเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพียงครู่หนึ่ง แต่หลังจากผู้หญิงถูกจับก็จะถูกลืมหรือไม่มีใครตามเรื่องอีกว่าผู้หญิงเป็นยังไง คดีถึงไหนแล้ว

ไหมยังได้ระบุเพิ่มเติมว่านับตั้งแต่เหตุการณ์บุกทลายและล่อซื้อนาตาลีเมื่อปีพ.ศ. 2559 และเหตุการณ์วิคตอเรียซีเคร็ทในปีนี้ มีพนักงานบริการได้รับผลกระทบมากถึง 234 คน ซึ่งคนที่เป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์จะถูกคัดออกไปอยู่บ้าน สงเคราะห์บ้านเกร็ดตระการ ซึ่งอยู่ในการดูแลของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บางส่วนจะถูกกันออกไปกักตัวไว้กับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการให้เป็นพยานในคดีค้ามนุษย์ คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการจัดการเครื่องอุปโภคบริโภคขั้นพื้นเธอให้กับพวกเธอ แม้กระทั่งเสื้อผ้า ยาแก้ปวด หรือผ้าอนามัย โดยบางรายอาจถูกกักตัวนานถึงแปดเดือน ทางมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จึงต้องซื้อข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไปให้กับพวกเธอ เมื่อถามกับทาง ตม. ว่าทำไมจึงไม่จัดหาให้ ทางเจ้าหน้าที่กลับอ้างว่าไม่มีงบประมาน จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่า หากไม่มีงบประมาน เหตุใดจึงกักตัวพนักงานบริการเอาไว้ในระยะเวลายาวนานเช่นนี้

ไหมได้แบ่งปันประสบการณ์ของเพื่อนพนักงานที่ตกเป็นเหยื่อของการล่อซื้อ และถูกดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์ คนแรกคือหวาน (นามสมมติ) เธอถูกจับกุมที่นาตาลี อาบบอบนวดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 แม้หวานจะเป็นแรงงานข้ามชาติ แต่เธอก็มีลูกและครอบครัวอยู่ในประเทศไทย เมื่อเธอถูกจับกุมตัว เธอถูกควบคุมตัวนานถึง 48 วันโดยไม่สามารถติดต่อญาติได้ ทำให้ลูกของเธอเป็นห่วง อีกทั้งเธอยังถูกแสตมป์หนังสือเดินทางห้ามเข้าประเทศ 100 ปี ในข้อหาค้าประเวณี ทำให้เธอไม่สามารถเจอลูกของเธอที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยได้อีก อีกทั้งยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศอื่นที่การค้าประเวณีเป็นสิ่งผิดกฎหมายได้

เคสที่สองคือแตน (นามสมมติ) ซึ่งเป็นพนักงานอาบอบนวดนาตาลีเช่นกัน เธอเป็นแรงงานข้ามชาติจึงไม่รู้กฎหมายไทย และไม่รู้ว่าการค้าประเวณีก่อนอายุ 18 ปี เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่เธอก็เลือกที่จะเข้ามาทำงานดังกล่าวด้วยความสมัครใจเพราะเห็นว่าเป็นงานที่รายได้ดี สามารถส่งเงินให้ที่บ้านได้โดยไม่เดือดร้อนใคร เธอถูกส่งไปอยู่บ้านเกร็ดตระการ นานกว่า 8 เดือน แตนรู้สึกอึดอัดมากและไม่สามารถติดต่อใครได้เลย และหลังจากที่แตนได้สืบพยานล่วงหน้าในคดีค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่ให้แม่มารับแตนกลับบ้าน แม่ของแตนต้องข้ามชายแดนมารับลูกสาวที่กรุงเทพ โดยได้รับเงินค่าเสียหายเพียง 3,000 บาท เท่านั้น แต่ชีวิตเธอกลับต้องเริ่มใหม่จากศูนย์

นอกจากนี้ยังมีในกรณีของน้องต้นหอม (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นหนึ่งในพนักงานบริการอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเคร็ท ต้นหอมมาทำงานนี้เพื่อต้องการหาเงินไปรักษาพ่อที่ต้องได้รับการผ่าตัดจนกระทั่งเธอถูกจับ เธอยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเธออายุเกิน 18 ปีแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อจึงบังคับให้ต้นหอมไปตรวจมวลกระดูกถึงสองรอบ และผลก็ออกมาว่าเธออายุเกิน 18 ปีจริงๆ ในช่วงที่เธอถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเกร็ดตระการ ตอนนั้นพ่อป่วยหนักรอการผ่าตัดด่วน เขาอยากคุยกับลูกสาวมาก แต่ไม่สามารถติดต่อได้ สุดท้ายพ่อของต้นหอมเสียชีวิต ขณะที่แม่ของต้นหอมกินไม่ได้นอนไม่หลับจนสุขภาพจิตเริ่มเสีย แม้จนกระทั่งจัดงานศพเสร็จสิ้น ต้นหอมก็ยังไม่ได้รับรู้ข่าวทางบ้านเลย

"การที่ผู้หญิงเดินทางออกจากบ้านเพื่อทำงาน หาเงินให้ครอบครัว อยากเป็นลูกที่กตัญญูและอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นคนที่ผิด แต่ถึงแม้ว่าเราจะผิดยังไงก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอย่างไรกับเราก็ได้ เรายังมีสิทธิมนุษยชน แล้วก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เหตุการณ์เหล่านี้แทบจะมองไม่เห็นเลยว่านี่คือการช่วยเหลือจริงๆ เพราะว่าเจตนารมย์ของกฎหมายการค้ามนุษย์ คือจับกุมผู้กระทำความผิด แต่ที่ผ่านมาจับแต่คนที่ดูแลครอบครัวและเป็นผู้นำครอบครัว ไม่เคยจับผู้กระทำผิดได้จริงๆ นี่เป็นมุมมองของพนักงานบริการที่ฝากมาถาม และฝากมาพูดในวันนี้" ไหมกล่าว

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อปี 2555 ตนได้เคยทำงานวิจัยเรื่อง "การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง : สำรวจอุปสรรคและการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น" ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงความยุติธรรมของพนักงานบริการหญิง พบว่าการล่อซื้อพนักงานบริการที่ผ่านมา ของประเทศไทย เป็นไปเพื่อต้องการจับกุมหญิงที่ขายบริการ โดยในการ "ล่อซื้อ" การขายบริการทางเพศ เจ้าหน้าที่จะใช้หลักการเดียวกับการล่อซื้อเพื่อจับกุมผู้ค้ายาเสพติด คือ มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า โดยมีสายเข้าไปล่อซื้อโดยต้องจับให้ได้แบบ "คาหนังคาเขา" เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้ค้ายา ซึ่งเรื่องนี้ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาให้กระทำได้ เนื่องจากการหาพยานหลักฐานในคดียาเสพติดเป็นไปได้ยาก แต่ต่อมามีการนำวิธีการ "ล่อซื้อ" มาใช้กับมนุษย์ นั่นก็คือพนักงานบริการหญิง

"การล่อซื้อพนักงานบริการ ถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล ต้องเข้าใจว่าพนักงานบริการหญิงที่ถูกล่อซื้อ เขาอาจไม่ประสงค์ที่จะค้าประเวณีก็ได้ โดยที่เขาอาจต้องการทำงานบริการเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าการที่ผู้หญิงจะมีเพศสัมพันธ์กับใคร อาจเป็นความสมัครใจ ความรู้สึกพึงพอใจ เนื่องมาจากความไว้ใจเพราะคบหากันมานาน การล่อซื้อโดยการที่เจ้าหน้าที่เข้าตีสนิทจนเกิดความผูกพันจนนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ และจับกุมผู้หญิงในขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์ซึ่งถือเป็นเรื่องความเป็นส่วนตัวอย่างที่สุด จึงต้องระมัดระวัง อีกทั้งการบันทึกภาพ ในบางกรณีการล่อซื้ออาจมีผู้สื่อข่าวเข้าไปพร้อมเจ้าหน้าที่และมีการแถลงข่าว การล่อซื้อในลักษณะนี้ทำให้ผู้หญิงเกิดความอับอายอย่างที่สุด" กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

อังคณากล่าวต่อไปว่า กรณีหลังมีการล่อซื้อจับกุมพนักงานบริการ แล้วใช้ผ้าคลุมโม่ง มีงานวิจัยเรื่อง "เด็กคลุมโม่ง" ซึ่งเป็นงานวิจัยของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุชัดเจนว่า คนที่ถูกจับคลุมโม่ง จะมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้กระทำผิดจึงต้องปกปิดอัตตลักษณ์ของตนเอง หนำซ้ำยังถูกสังคมตรีตรา ส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว ตัวอย่างที่เห็นชัดสุด คือกรณีการจับกุมพนักงานบริการอาบอบนวดนาตาลี ซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบและออกรายงานแล้วพบว่าพนักงานบริการหญิงที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่เป็นหญิงต่างชาติเมื่อถูกล่อซื้อและถูกจับกุม ส่งผลกระทบต่อครอบครัว เพราะปกติคนในครอบครัวจะไม่รู้ว่าผู้หญิงนั้นประกอบอาชีพอะไร เนื่องจากอาชีพพนักงานบริการเป็นอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ การล่อซื้อและนำตัวผู้หญิงมาแถลงข่าวจึงไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากจะทำให้เกิดความอับอายและเกิดการตีตรามากขึ้นไปอีก

"ที่ผ่านมากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับเพศ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพัน ไปถึงครอบครัว และคนรอบข้างเรา เจ้าหน้าที่จึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง การนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวไม่ก่อประโยชน์อะไรเลย สังคมอาจได้เพียงแค่ความสะใจ และอาจตีตราบุคคลเหล่านั้นว่าเป็นคนผิด เป็นคนไม่ดี สมควรประณาม แต่ในทางกลับกันเรื่องนี้กลับเป็นความย้อนแย้ง ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง" นางอังคณากล่าว

อังคณาได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ กสม. ได้เข้าไปตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิในกรณีการบุกทลายอาบอบนวดนาตาลี โดยกล่าวว่าตนได้เข้าไปพูดคุยกับพนักงานบางส่วนที่ถูกกักตัวอยู่ที่ ตม. เพื่อเป็นพยานในคดีค้ามนุษย์ พนักงานเหล่านี้เป็นแรงงานข้ามชาติ และคนจากพื้นที่สูงและถูกควบคุมตัวมามากกว่า 20 วันแล้ว อังคณาพบว่าแม้สถานที่ควบคุมตัวของทาง ตม. จะไม่ใช่เรือนจำ แต่กลับมีสภาพแย่กว่าเรือนจำ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับให้ผู้หญิงหรือใครก็ตามให้อยู่ในระยะเวลายาวนานได้ หลังจากนั้นก็มีญาติของผู้หญิงไปร้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ว่าการกักตัวของ ตม. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงเชิญ กสม. ไปให้ข้อมูลกับศาล จนศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวพนักงานที่เป็นคนพื้นที่สูงกลับบ้านในทันที ส่วนพนักงานที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ให้กักตัวไว้ได้ แต่ต้องปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างดีในฐานะของพยาน เช่นการมีค่าตอบแทนรายวัน ซึ่งระบุเอาไว้ตาม พรบ.คุ้มครองพยานปี 2546 แต่ในตอนนั้นเจ้าหน้าระบุว่า พยานไม่ได้ร้องขอค่าตอบแทน ตนจึงขอเรียนว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เขาไม่รู้กฎหมายไทย จึงไม่ใช่หน้าที่ของพวกเธอที่จะต้องร้องขอ แต่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องจัดหาให้ตามสิทธิตามกฎหมาย

อังคณากล่าวทิ้งท้ายว่าเมื่อเดือนที่แล้วคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธินุษยชน ได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและได้เข้าไปดูสถานการณ์สิทธิฯ ในธุรกิจการค้าบริการด้วย โดยคณะทำงานได้บรรยายว่า ธุรกิจดังกล่าวถือเป็น Way of life หรือวิถีชีวิตรูปแบบหหนึ่งของคนไทย รัฐไทยจึงควรทำให้ธุรกิจบริการเป็นสิ่งเพื่อให้ผู้หญิงที่เป็นพนักงานบริการสามารถเข้าถึงสวัสดิการและความปลอดภัยในชีวิต

"คณะทำงานของสหประชาชาติเขาเห็นว่าสถานบริการก็เป็นเรื่องปกติของสังคมไทย เป็นวิถีชีวิต เขาไปพัทยา หรือกรุงเทพฯ ถนนทุกสายก็มีสถานอาบอบนวด ที่วอล์คกิ้งสตรีทของพัทยาก็มีแต่สถานบริการทั้งถนน แต่ทำไมการทำงานบริการยังผิดกฎหมาย และเขาก็ยังมีข้อเสนอถึงประเทศไทยว่า แทนที่จะให้ผู้ค้าบริการทางเพศที่เปราะบาง เป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย เราขอกระตุ้น ให้รัฐบาลไทยเน้นเรื่องการกำกับดูแลธุรกิจสถานบริการให้ดีขึ้น และให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเต็มที่"

ในมุมมองของผู้บังคับใช้กฎหมาย พ.ต.ท.กฤตธัช อ่วมสน ยอมรับว่ากฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี หรือกฎหมายสถานบริการ ยังคงมีความหมิ่นเหม่ และช่องโหว่ที่เอื้อต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ โดยส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว แต่ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย เมื่อมีกฎหมายออกมาแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม ส่วนเรื่องที่ว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในส่วนนี้หรือไม่ ตนไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่โดนส่วนตัวก็อยากให้มีการขึ้นทะเบียนโสเภณีให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้รัฐสามารถควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง ให้พนักงานสามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เฉกเช่นที่แรงงานควรจะได้รับ ในเรื่องของการค้าประเวณีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี กฤตธัชมองว่า ทุกวันนี้กฎหมายยังเอาผิดแต่ผู้ประกอบการและพนักงานบริการ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ผู้ซื้อ หรือลูกค้าที่มีรสนิยมแปลกๆ ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กต่างหากที่เป็นต้นต่อของปัญหา แต่กลับไม่ต้องรับโทษใดๆ จึงเสนอให้มีการเพิ่มโทษในส่วนนี้ แต่สุดท้ายแล้วปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็คือหน่วยงานรัฐทุกวันนี้ยังคงปล่อยปละละเลยในการปราบปรามการค้ามนุษย์ในธุรกิจบริการ เนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่างผู้ประกอบการกับเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องนี้จึงต้องเป็นเรื่องที่รัฐบาลและทุกหภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือกันจัดการอย่างจริงจังในอนาคต

ตัวแทนจากดีเอสไอกล่าวเสริมว่า จากประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ตนพบว่าผู้หญิงที่ถูกหลอกมาขายบริการก็มีไม่น้อยเช่นกัน ในกรณีที่ตนเคยเจอกับตัวเอง คือเหยื่อเป็นคนสัญชาติลาวถูกหลอกว่าให้มาขายไก่ย่างที่ไทย แต่สุดท้ายถูกบังคับให้ขายบริการในร้านคาราโอเกะ ค่าตัว 2000 บาทต่อรอบ แต่เด็กได้จริงๆ แค่รอบละ 100 บาท จนสุดท้ายเด็กต้องหนีมาให้ตำรวจช่วย สถานบริการจำนวนมากก็ยังคงมีปัญหาเรื่องบังคับใช้แรงงาน และการละเมิดสิทธิ์ลูกจ้างอยู่อย่างต่อเนื่อง  

ขณะที่ช่วงท้ายของการเสวนานางสาวทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้อ่านแถลงการณ์และข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขและยุติการล่อซื้อโดยมีใจความสำคัญระบุว่า เดือน มิถุนายน ถูกจัดให้เป็น เดือนแห่งการ ต่อต้าน การค้ามนุษย์ สำหรับปีนี้ เป็นการ ครบรอบ 10 ปีกฎหมายค้ามนุษย์ อีกนัยหนึ่งคือ ครบรอบ 10 ปี การจับมือกัน ต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยมี สหรัฐอเมริกาเป็น "พี่ใหญ่" โดยสาระสำคัญของกฎหมายค้ามนุษย์ คือ การเอาผิด หรือ ลงโทษ "ผู้หาผลประโยชน์" จากการค้าแรงานทาส และ การค้าประเวณี จึงเห็นเสมอ ที่รัฐบาลบุกเข้า ปราบปราม จับ แรงงานประมง และ บุกเข้าปราบ จับ แรงงานในสถานบริการ วิธีการหาหลักฐานเพื่อ หาคนผิด หรือเรียกว่า "ล่อซื้อ" ประการหนึ่งคือคนอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นหลักฐาน สำคัญ ที่ผิดกฎหมายจึงเกิดการ "ล่อซื้อ" ขึ้น เพื่อสร้างหลักฐานที่ ผิดกฎหมาย เป็นการมัดผู้กระทำผิด แบบดิ้นไม่หลุดโดยลืมข้อเท็จจริงไปว่า เด็ก หรือ คนอายุ ต่ำกว่า 18 ได้รับการคุ้มครอง ภายใต้กฎหมาย "อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก" อยู่แล้ว

นอกจากนั้น ปฏิบัติการ คือ การบุกเข้าปราบและการสร้างหลักฐาน ดังกล่าว ทำให้สังคมเห็นภาพเสมือนหนึ่ง การปราบปราม อาชญากรรม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของพนักงานบริการ และเป็น สาเหตุให้เกิด การเลือกปฏิบัติ จึงมีการร้องเรียนไปยัง คณะกรรมการซีดอว์ (CEDAW) หรือ คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ได้มีการประชุม ซึ่ง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ ผู้แทนจากประเทศไทยและ มีข้อสรุป ให้กับรัฐบาลไทยต้องทำตาม คือ ให้หยุดการล่อซื้อและบุกทลายทันที และให้ยกเลิกความผิดการค้าประเวณี โดยให้ใช้กฎหมายแรงงานเข้ามาคุ้มครองพนักงานบริการ แทน แต่แนวทางดังกล่าวนี้ก็ยังไม่ได้มีการนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จาก เจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบ ในประเทศไทย นอกจากนั้น การ "ล่อซื้อ" เป็นวิธีการที่นิยม ใน NGOs กระทำการร่วมกับเจ้าหน้าที่

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และ เครือข่ายพนักงานบริการทั่วประเทศ จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล เจ้าหน้าที่ และองค์กร NGOs ต่างชาติ  ดังนี้ 1. ให้ รัฐเข้มงวดในข้อตกลง ที่ได้รับข้อเสนอมาจาก องค์กรนานาชาติโดยเฉพาะ CEDAW 2. ให้ รัฐ ฯ และ องค์กร NGO นานาชาติ ที่ต่อต้านการค้ามนุษย์ หยุด ทำการ "ล่อซื้อ" และให้ ถือว่า การล่อซื้อ เป็นความผิด ตามกฎหมาย เพราะ เป็นการร่วมกระทำความผิด และ เป็นการสร้างหลักฐานที่ไม่สุจริต นอกจากนั้น ความผิดที่เกิดจาก ไม่ว่าผู้ใด รวมถึงเจ้าหน้าที่ ด้วย ต้องรับโทษตามกฎหมาย 3. ให้ รัฐ ฯ ให้ความคุ้มครองคนอาชีพบริการ ตามเจตนารมณ์ ของกฎหมาย อันไม่ถือว่า "ผู้ค้าประเวณี" เป็นผู้ผิด แต่ เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม จึงต้องให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือ

หลังอ่านแถลงการณ์ ทางคณะผู้จัดงานได้แจกผ้าขนหนูให้กับผู้เข้าร่วมงาน โดยกล่าวว่าปกติแล้ว เมื่อมีการบุกทลายสถานบริการ มักจะมีกองทัพนักข่าวเข้าไปรุมถ่ายรูปพนักงานบริการจนเกิดความอับอาย โดยอุปกรณ์เดียวที่พวกเธอสามารถใช้ปิดบังใบหน้าได้ก็คือผ้าขนหนูเหล่านี้ คณะผู้จัดจึงเชิญชวนให้แขกภายในงานเอาผ้าขนหนูคลุมหัวให้สื่อมวลชนภายในงานถ่ายรูป เพื่อจะได้เข้าใจความรู้สึกของพนักงานเหล่านั้น อีกทั้งยังขอวอนพี่น้องสื่อมวลชนให้ใช้ภาพดังกล่าวแทนภาพการบุกทลายอาบอบนวด ที่พนักงานต้องถูกถ่ายรูปอย่างไม่เต็มใจ

"ถ่ายเลยค่ะ ครั้งนี้เราเต็มใจให้ถ่าย" หนึ่งในคณะผู้จัดงานกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หนี้สาธารณะ เม.ย. 2561 ยอดรวม 6.4 ล้านล้านบาท

Posted: 02 Jun 2018 12:28 AM PDT

เผยหนี้สาธารณะสิ้นเดือน เม.ย. 2561 ยอดรวม 6.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 3.2 หมื่นล้านบาท

 
2 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ ได้รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เมษายน 2561 มีจำนวน 6,486,711.48 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.04 ของ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 5,182,896.20 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 914,646.77 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน* (รัฐบาลค้ำประกัน) 379,903.38 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 9,265.13 ล้านบาท
 
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 32,879.78 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 
* หนี้รัฐบาล จำนวน 5,182,896.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 37,902.50 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของหนี้รัฐบาล ดังนี้
• เงินกู้ภายใต้แผนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 และการบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นสุทธิ 36,089 ล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ จำนวน 49,410 ล้านบาท และการลดลงของตั๋วเงินคลัง 13,321 ล้านบาท
• เงินกู้เพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพิ่มขึ้นสุทธิ 2,817.26 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น   การกู้ให้กู้ต่อแก่ (1) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1,119.33 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจำนวน 532.60 ล้านบาท สายสีส้มจำนวน 403.55 ล้านบาท และ สายสีน้ำเงินจำนวน 183.18 ล้านบาท (2) การรถไฟแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1,607.39 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น จำนวน 772.51 ล้านบาท โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย จำนวน 643.68 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วง   มาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ จำนวน 87.58 ล้านบาท  โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า - แก่งคอย จำนวน 77.44 ล้านบาท และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต จำนวน 26.18 ล้านบาท และ (3) การเคหะแห่งชาติเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 90.54 ล้านบาท  เพื่อจัดทำโครงการอาคารพักอาศัยแปลง G ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง
• เงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ลดลง 516.67 ล้านบาท จากกการชำระคืนต้นเงินกู้
• การกู้เงินบาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 250 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน
• หนี้ต่างประเทศลดลงสุทธิ 737.90 ล้านบาท จากการเบิกจ่ายและชำระคืนเงินกู้สกุลเงินเยนและการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 
* หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 914,646.77 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 3,949.48 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก
• หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน ลดลงสุทธิ 2,010.89 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้    ที่ลดลงของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการประปานครหลวง
• หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ลดลงสุทธิ 1,938.59 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่ลดลงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
 
* หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 379,903.39 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 1,143.56 ล้านบาท เนื่องจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
 
* หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 9,265.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 70.32 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เนื่องจากหนี้ที่ลดลงของสำนักงานธนานุเคราะห์
 
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2561 จำนวน 6,486,711.48 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ 6,221,797.99 ล้านบาท หรือร้อยละ 95.92 และหนี้ต่างประเทศ 264,913.49 ล้านบาท (ประมาณ 8,219.86 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือร้อยละ 4.08 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,873,148.14 ล้านบาท หรือร้อยละ 90.54 และหนี้ระยะสั้น 613,563.34 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.46 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด  
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้สอบเอาคนผิดเสนองบฯ ระบบ ICT รัฐสภาใหม่เกินจริงมาลงโทษ

Posted: 02 Jun 2018 12:15 AM PDT

อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ระบุ 3 บริษัทส่อทุจริตติดตั้งระบบ  ICT รัฐสภาใหม่อาจมีข้าราชการร่วม จี้ประธาน สนช. ตรวจสอบเอาคนผิดมาลงโทษ

 
2 มิ.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงการเสนอของบประมาณการติดตั้งเทคโนโลยีสารสนเทศของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่มีการขอไปยังรัฐบาลกว่า 8,000 ล้านบาท เกินจากแผนเดิมที่ตั้งไว้เพียง 3,000 กว่าล้านบาท ว่า จากการตรวจสอบใบเสนอราคา ของบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง 3 บริษัท ที่รัฐสภาว่าจ้างด้วยวิธีพิเศษ ให้ทำหน้าที่ติดตั้งระบบสารสนเทศของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่  พบว่า ทั้ง 3 บริษัทมีการเสนอราคาที่ส่อฮั้วอย่างผิดปกติ  มีการเสนอรายการสินค้าที่เป็นสินค้าของบริษัทในเครือตัวเองถึง 60 รายการ โดยไม่ได้สำรวจสินค้าจากบริษัทอื่นตามกระบวนการ
 
นายวิลาศ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า 1 ใน 3 บริษัทที่เสนอติดตั้งนาฬิกาดาวเทียมให้อาคารรัฐสภา มีที่ตั้งบริษัทเป็นเพียงบ้านเดี่ยวชั้นเดียวและไม่ได้จดทะเบียนต่อกระทรวงพาณิชย์ ว่าเป็นบริษัทนำเข้าหรือติดตั้งนาฬิกาโดยตรง แต่เป็นเพียงบริษัทจำหน่ายระบบเครื่องใช้ไฟฟ้าเท่านั้น 
 
นายวิลาศ ยังตั้งข้อสังเกตว่าการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักสารสนเทศของรัฐสภา ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้าน ICT โดยตรง และแต่งตั้งก่อนเสนองบประมาณเพียง 1 เดือน โดยไม่ได้มีการกลั่นกรองงบประมาณก่อน จึงมีความไม่ชอบมาพากลว่ามีการฮั้วกันหรือไม่ 
 
"ขอเรียกร้องให้ ประธาน สนช. ตรวจสอบการเสนองบประมาณครั้งนี้ ที่เกินไปจากความเป็นจริงกว่า 8,000 ล้านบาท ว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้วหรือไม่ และควรทบทวนพร้อมเอาคนผิดมาลงโทษ" นายวิลาศ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียกร้องให้ รมว.ต่างประเทศแสดงสปิริตลาออกกรณีไม่ปฏิบัติตาม รธน.

Posted: 01 Jun 2018 11:44 PM PDT

'ศรีสุวรรณ จรรยา' เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักศ์รัฐธรรมนูญไทย เรียกร้องให้ 'ดอน ปรมัตถ์วินัย' รมว.ต่างประเทศ ลาออก กรณี กกต.มีมติมีมติเสียงข้างมากเห็นว่าการถือครองหุ้นของภรรยา เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 ที่บัญญัติไม่ให้รัฐมนตรีถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

 
2 มิ.ย. 2561 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักศ์รัฐธรรมนูญไทย แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติมีมติเสียงข้างมาก เห็นว่าการถือครองหุ้นของภรรยานายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 ที่บัญญัติไม่ให้รัฐมนตรีถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือในกรณีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากหุ้นที่ถือครอง ให้แจ้งประธานกรรมการ ป.ป.ช.ทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและให้โอนหุ้น จนอาจเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 แต่ทว่าคู่สมรสนายดอนถือครองหุ้นในธุรกิจอยู่เกินกว่าร้อยละ 5 และไม่มีการแจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ความดังทราบแล้วนั้น
 
กรณีดังกล่าว เคยเกิดขึ้นกับรัฐมนตรีและนักการเมืองในอดีตมากมายและสังคมเรียกร้องให้มีการลาออกจากตำแหน่งและหรือมีกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนในทางธุรกิจ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของการเมืองไทย จนนำมาสู่การเรียกร้องการปฏิรูปในยุค คสช. ในยุคนี้
 
แต่การที่เนติบริกร และหรือนักกฎหมายกำมะลอที่ชอบเชลียร์ผู้มีอำนาจเป็นนิจศีลหลายคนออกมาแก้ต่างให้ รมว.ดอน ว่ายังไม่ต้องลาออก หรือยังไม่ถือว่าผิดจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น พฤติการณ์และความคิดเป็นดังกล่าว เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการปฎิรูปการเมือง และการปฏิรูปประเทศในขณะนี้ และในอนาคต เพราะการปฏิรูปการเมือง คือ การแสดงสปิริตหรือการกระทำที่ไม่ไปซ้ำรอยกับนักการเมืองเดิม ๆ ในอดีตที่ทำลายภาพลักษณ์ทางการเมืองจนทำให้เป็นช่องว่างเปิดโอกาสให้มีการนำไปสู่การปฏิวัติหรือรัฐประหารในที่สุด
 
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏโดย กกต. ได้มีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นการเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 แล้วนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ จึงไม่ควรรั้งรอให้ กกต.ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย แต่ควรแสดงสปิริต หรือความเป็นสุภาพบุรุษของคนกระทรวงการต่างประเทศที่ยึดถือกันมาด้วยดีทุกยุคทุกสมัย โดยการลาออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศนั้นเสีย ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการแส้ซ้องสรรเสริญจากคนทั้งประเทศและทั้งโลก ว่าเป็นผู้มีสปิริตสูงส่งกว่านักการเมืองบางคนในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ที่มีปัญหาถูกร้องเรียน แต่ก็ยังหน้าทนอยู่ต่อ และจะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนคนรุ่นหลังในอนาคตต่อไปด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

13 Reasons Why ปี 1 ไม่ควรใส่ชุดนักศึกษาตามระเบียบ "คณะ"

Posted: 01 Jun 2018 08:57 PM PDT



ชุดนักศึกษาตามระเบียบคณะ หรือการใส่ซอคคือการที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่มีคำว่านายทุกคนต้องใส่ชุดนักศึกษาไม่เข้ารูป กางเกงสแล็คสีดำ ถุงเท้ายาวปิดตาตุ่ม รองเท้าหนังสีดำ ห้ามทำสีผมและอาจมีกฎบังคับให้ต้องห้อยป้ายชื่อหรือถือแฟ้ม พกสมุดเชียร์ไว้ที่กระเป๋าเสื้อตลอดเวลา ส่วนนักศึกษาที่มีคำนำหน้าว่านางสาวก็จะถูกบังคับไม่ให้แต่งหน้า ใส่ชุดนักศึกษาไม่เข้ารูป (หรือใส่ชุดที่ใหญ่กว่าตัวไป 1 ไซส์) กระโปรงทรงกระสอบหรือทรงเอยาวถึงเข่า ถุงเท้าขาวปิดตาตุ่ม รองเท้าผ้าใบสีขาวและต้องห้อยป้ายชื่อเช่นเดียวกับนักศึกษาชาย ซึ่งผู้ที่ตรวจตราและมอบบทลงโทษก็เป็นนักศึกษาด้วยกันเอง หากอิงตามระเบียบของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลับชั้นนำ "ไม่บังคับ" ให้ใส่ชุดนักศึกษา แต่การที่คณะใดคณะหนึ่งบังคับให้ใส่นั้นเหมาะสมแล้วหรือ? ผู้เขียนขอเสนอ 13 เหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรมีการกำหนดให้นักศึกษาชั้นปี 1 ต้องแต่งชุดนักศึกษาตามระเบียบ "คณะ"

1.การแต่งกายแยกตามคณะที่จำกัดไว้เฉพาะชั้นปีเดียวในมหาวิทยาลัยไม่ต่างอะไรกับการแบ่งแยกคนในมหาลัยเดียวกัน

ถ้าเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยเป็นประเทศ การที่คนกลุ่มน้อยในประเทศแต่งกายด้วยชุดที่แตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด กระบวนการที่จะทำให้คนในชาติรู้สึกร่วมกันว่าเป็นชาติเดียวกันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และที่ร้ายแรงกว่านั้นวัฒนธรรมการแต่งกายอาจจุดประเด็นทางเผ่าพันธุ์อันนำมาซึ่งความต้องการที่จะแบ่งแยกดินแดน หรือในระดับมหาวิทยาลัย การแต่งกายด้วยระเบียบคณะ ที่เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน จะทำให้นักศึกษาคิดว่าตนเองเป็นพลเมืองหรือราษฎร* ของคณะใดคณะหนึ่ง จนหลงลืมไปว่าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเดียวกัน

2.เป็นการปิดกั้นการแสดงออกซึ่งนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของปัจเจกทางอ้อม โดยใช้วัฒนธรรมแบบเล่นพรรคเล่นพวก กดดันให้นักศึกษารุ่นหลังต้องลดความเป็นตัวเอง ถูกบีบให้เข้าร่วมกับสิ่งซึ่งไม่ควรจะสำคัญ อีกทั้งความเสมอภาคทางเพศภาวะ(Gender) ก็ถูกเพิกเฉยไป เพราะระเบียบระบุไว้แค่ ชายและหญิงเท่านั้น

3.ข้อบังคับนี้เป็นการกดขี่ทางความคิดที่เหล่ารุ่นพี่สร้างขึ้นมาสำเร็จความใคร่ทางอำนาจกันแบบรุ่นสู่รุ่น อันเป็นผลมาจากการยึดมั่นถือมั่นในระบบลูกของฟาสซิสต์ที่ถูกตั้งชื่อว่า SOTUS แม้คำว่า SOTUS จะเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน และนักศึกษาอนุรักษ์ฟาสซิสต์พยายามหาคำมานิยามความหมายสวยหรู แต่ทั้งหมดย่อมหมายถึงการปฎิบัติตามรุ่นพี่ สยบยอมต่อรุ่นพี่ ยึดถือประเพณีปฎิบัติที่รุ่นพี่คิด อันนำมาซึ่งการถูกกลืนและน้ำจิตน้ำใจที่กลายเป็นหน้าที่เท่านั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ผลิตคุณค่าใดๆ คืนสู่สังคม เว้นเสียแต่การฝึกความอดทนให้อนาคตของชาติเคยชินและพร้อมสยบยอมต่ออำนาจนิยม

4.คุณค่าของนักศึกษาในสถานศึกษาไม่ได้อยู่ที่ชุดที่ถูกบังคับให้ใส่ แต่อยู่ที่สติปัญญาและความสามารถ ผู้ปกครองและคนรอบตัวไม่ได้ภูมิใจที่ได้เห็นการใส่ชุดนักศึกษาตามระเบียบของคณะ แต่ภูมิใจที่ได้เห็นเด็กๆ ของพวกเขาเป็นนักศึกษาในคณะที่เขาได้เลือก ได้เห็นเขาเติบโตและมีความสุขในสิ่งที่เขาเลือก

5.ชุดนักศึกษาถูกระเบียบเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ในอีกหลายสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทุกองค์กร

6.การแต่งกายตามระเบียบคณะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นสากล เพราะอย่างที่ทราบกันว่ากฎชุดนักศึกษาตามระเบียบคณะถูกกำหนดขึ้นมาโดยรุ่นพี่และถูกปรับใช้โดยรุ่นพี่ เพื่อบังคับใช้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพียงช่วงชั้นเดียว ซึ่งรุ่นพี่จะแต่งกายอย่างไรก็ได้ ซึ่งกฎระเบียบที่ดีควรจะมีความเป็นสากล

7.ความไม่สะดวกสบายเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับการแต่งกายตามระเบียบคณะ เพราะการแต่งกายตามระเบียบคณะไม่ได้คิดมาเพื่อให้สวมใส่ได้ง่ายและสบายตัว โดยเฉพาะถ้านักศึกษาหญิงที่ต้องส่วมกระโปรงทรงเอยาวคลุมเข่า ทำให้เดินไม่สะดวกเพราะก้าวยาวกว่ากระโปรง หรือเสื้อตัวใหญ่โคล่งที่จะก้มตัวหรือจะยกแขนก็ต้องระวังอย่างมากไม่ให้เห็นด้านใน

8.เพราะมหาวิทยาลัยเป็นที่ที่มีไว้เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ใหญ่ และทักษะที่สำคัญในการเป็นผู้ใหญ่คือ "การเลือกเป็น" นักศึกษาควรได้เป็นผู้เลือกและมีสิทธิ์ที่จะได้ลองสิ่งใหม่ๆ โดยการเลือกใส่ชุดที่อยากใส่ และใช้วิจารณาญาณของตนเองในการ แยกแยะว่าสิ่งไหนที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม

9.หากนักศึกษายอมที่จะละเลยสิทธิ์ในการเลือกแต่งชุดนักศึกษาของตนแล้วคล้อยไปตามกฎหมู่ การยอมทำตามและละเลยสิทธิ์ในเรื่องอื่นๆ ก็คงเป็นไปได้ไม่ยาก

10.การยอมรับกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมเพราะคุณเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยช้ากว่าเพียงปีสองปีเป็นการยอมรับไปโดยนัยๆ ว่าคุณต่างชนชั้นกับรุ่นพี่

11.ความเสมอภาคควรจะเป็นจุดยืนของทุกคนในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง

12.ถ้าหากว่าการแต่งตัวตามระเบียบคณะมันดีจริง ทั้ง 4 ชั้นปีของคณะนั้นๆ ควรแต่งกายเหมือนปีหนึ่ง

13.หากจะมีนักศึกษาเพียงช่วงชั้นเดียวที่ต้องใส่ชุดนักศึกษาตามระเบียบคณะ ก็ไม่ควรใส่ชุดนักศึกษาตามระเบียบคณะเพราะไม่มีใครที่ชอบชุดระเบียบคณะ

พลเมือง หมายถึง คนที่รู้ถึงสิทธิหน้าที่กล้าวิจารณ์รัฐและสามารถอยู่ภายใต้นิติรัฐได้

ราษฎร หมายถึง ไม่รู้อะไรไม่ค่อยสนอะไรให้ทำตามก็ทำ


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธศาสนาที่ถูกปฏิรูปโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม

Posted: 01 Jun 2018 08:07 PM PDT



เวลาเราพูดถึง "การปฏิรูปพุทธศาสนา" ในไทย โดยสาระสำคัญแล้วแทบไม่ต่างอะไรจากการปฏิรูปประเทศของ คสช. คือ เป็นการปฏิรูปโดยชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมมากกว่าที่จะเป็นการปฏิรูปโดยฝ่ายก้าวหน้าที่ท้าทายอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยม

กรอบคิดหลักในการปฏิรูปของฝ่ายอนุรักษ์นิยม คือกรอบคิดเรื่อง "ความมั่นคง" ของสถานะ อำนาจ ผลประโยชน์ของชนชั้นบน และ "การจัดระเบียบ" เพื่อตอบสนองต่อความมั่นคงดังกล่าวนั้นมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างที่ให้หลักประกันอำนาจ สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน

การปฏิรูปพุทธศาสนาไทยก็ดำเนินมาภายใต้กรอบคิดความมั่นคงทำนองเดียวกันนี้ เช่นการก่อตั้ง "ธรรมยุติกนิกาย" ที่ถือเป็นนิกายฝ่ายราชสำนักมาตั้งแต่สมัย ร.4 ก่อตั้งศาสนจักรของรัฐ คือ "มหาเถรสมาคม" ที่รวบอำนาจปกครองพระสงฆ์ทั่วประเทศขึ้นต่อกรุงเทพฯ ในสมัย ร.5 และผนึกรวมพุทธศาสนาเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐภายใต้อุดมการณ์ "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ในสมัย ร.6

ทั้งหมดนี้คือการปฏิรูปเพื่อตอบโจทย์ "ความมั่นคง" โดยถือว่า พุทธศาสนาเป็นกลไกสนับสนุนความมั่นของของชาติ และสถาบันกษัตริย์

หลังปฏิวัติสยาม 2475 ได้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ที่เรียกว่า "กลุ่มปฏิสังขรณ์การพระศาสนา" เรียกร้องให้ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยของรัฐ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกอำนาจการปกครองสงฆ์เป็น 3 ฝ่าย เลียนแบบการปกครองของบ้านเมืองคือ สังฆมนตรี (เทียบกับรัฐบาล) สังฆสภา (เทียบกับสภาผู้แทน) และคณะวินัยธร (เทียบกับตุลาการ) ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484

แต่ระบบปกครองสงฆ์ที่ปรับตามระบอบประชาธิปไตยนี้ ก็มีอายุแสนสั้น เพราะพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ถูกฉีกทิ้งในยุคเผด็จการทหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สังเวยด้วยการจับพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ติดคุกในข้อหาคอมมิวนิสต์ แล้วนำระบบมหาเถรสมาคมแบบสมัย ร.5 มาใช้แทน และใช้มาจนปัจจุบัน

ในยุค คสช.อำนาจรัฐพยายามปฏิรูปพุทธศาสนาอีกครั้ง โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอประเด็นปฏิรูปพุทธศาสนา 4 เรื่อง คือ (1) เรื่องทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุสงฆ์ (2) เรื่องปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา (3) เรื่องการทำพระธรรมวินัยให้วิปริตและการวิปริตจากพระธรรมวินัย และ (4) เรื่องฝ่ายอาณาจักรที่จะต้องเข้าไปสนับสนุน ปกป้องคุ้มครองกิจการของฝ่ายศาสนจักร

มหาเถรสมาคมรับลูกต่อ โดยมอบหมายให้พระพรหมมุนี, พระพรหมโมลี และพระพรหมบัณฑิต กำหนดกรอบการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 6 ด้าน +1  (การปกครอง, การศาสนศึกษา, การเผยแผ่, การสาธารณูปการ, การศึกษาสงเคราะห์, สาธารณสงเคราะห์,พัฒนาพุทธมณฑล)

เมื่อไปดูแนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านปกครอง จะพบว่ามีข้อเสนอให้พัฒนากฎหมายที่เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ และให้บรรจุคำว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวทางการปฏิรูปพุทธศาสนาดังกล่าวยังเป็นเพียง "แผนยุทธศาสตร์" แต่ในทางปฏิบัติจริง ดูเหมือนกำลังดำเนินต่อเนื่องมาตาม 3 กระบวนการนี้ คือ  (1) กวาดล้างพระทุจริต เพื่อทำให้พุทธศาสนาสะอาด (2) ขึ้นบัญชีพระที่ประพฤติไม่ดี และ (3) ปฏิรูปโครงสร้าง

รูปธรรมที่เราได้เห็น ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ "รถหรู" ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ "สมเด็จช่วง" ผู้ซึ่งคณะกรรมการมหาเถรสมาคมเสนอชื่อขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และแก้กฎหมายให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็น "พระราชอำนาจ" เท่านั้น ทำให้สมเด็จช่วงขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไม่ได้ จากนั้นก็แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตามมาด้วยใช้มาตรา 44 และใช้กำลังทหาร ตำรวจร่วม 5,000 นายล้อมวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมพระธัมมชโย แต่ก็คว้าน้ำเหลว

ล่าสุดก็คือที่กำลังเป็นข่าวในขณะนี้คือ การจับพระผู้ใหญ่สึก 7 รูป ในคดีทุจริตเงินทอนวัด และจับพระพุทธะอิสระสึกข้อหาปลอมแปลงพระปรมาภิไทและอั้งยี่ซ่องโจร ทั้งหมดนี้คือการปฏิรูปในขั้นตอนกวาดล้างพระทุจริต หรือทำผิดกฎหมาย ส่วนบัญชีพระประพฤติไม่ดีนั้นเท่าที่มีเผยแพร่ทางสื่อคือพระที่สนับสนุนเสื้อแดง แต่อาจจะมีเรื่องเงินทอนวัดและอื่นๆ มากกว่านั้นที่ไม่เปิดเผย

แต่การปฏิรูปโครงสร้าง นอกจากทำแผนยุทธศาสตร์ที่ล้อกับไทยแลนด์ 4.0 แล้ว ยังไม่ปรากฏว่ามีการทำอะไรที่เป็นรูปธรรม

ข้อสังเกตคือ การปฏิรูปโครงสร้างการปกครองสงฆ์ที่เริ่มขึ้นจากข้อเรียกร้องของพระสงฆ์ระดับล่าง หรือฝ่ายก้าวหน้ามีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในประวัติศาสตร์การปฏิรูปพุทธศาสนาไทย คือการเคลื่อนไหวเรียกร้องของยุวสงฆ์กลุ่มปฏิสังขรณ์ฯ ช่วงหลังปฏิวัติสยาม 2475 ที่ได้รับการสนับสนุนจากปรีดี พนมยงค์ และทำให้เปลี่ยนโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ในลักษณะ (พยายาม) เลียนแบบโครงสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตย (แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว) นอกนั้นเป็นการปฏิรูปโดยชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมและแนวร่วมทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการปฏิรูปบนกรอบคิด "ความมั่นคง" ดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบการปฏิรูปพุทธศาสนาโดยชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมยุค คสช.กับยุคก่อน 2475 จะเห็นว่า ประเพณีการปราบปรามพระสงฆ์ที่ชนชั้นนำมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจรวมศูนย์นั้น เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่อยุธยา,รัตนโกสินทร์ตอนต้น เรื่อยมาถึงสมัย ร.5 แต่ในแง่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมพุทธศาสนาในเชิงคำสอน, เชิงสถาบัน และการใช้พุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์รัฐนั้น ดูเหมือนชนชั้นนำยุคเก่าจะให้ความสำคัญมากกว่า เช่น การก่อตั้งศาสนจักรของรัฐ, มหาวิทยาลัยสงฆ์, วางระบบการศึกษาสงฆ์ในสมัย ร.5 การยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และสร้างวาทกรรม "ความเป็นไทยคือความเป็นพุทธ" ในสมัย ร.6 เป็นต้น แต่การปฏิรูปพุทธศาสนาในบริบทปัจจุบันดูเหมือนชนชั้นนำจะเน้นการปราบปรามและการจัดระเบียบสงฆ์มากกว่า

ในแง่การมีส่วนร่วม การปฏิรูปสมัย ร.5 ผู้มีส่วนร่วมในการวางแผนปฏิรูปพุทธศาสนาคือชนชั้นสูงเท่านั้น คือ ร.5, สมเด็จกระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผลของการปฏิรูปคือเกิดศาสนจักรของรัฐ หรือมหาเถรสมาคม, มหาลัยสงฆ์ 2 แห่ง, การวางระบบการปกครองและการศึกษาสงฆ์ทั่วประเทศให้เป็นแบบเดียวกัน สมัย ร.6 ก็มี ร.6 กับสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ผลคือเกิดอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ช่วงหลัง 2475 ผู้มีส่วนร่วมคือกลุ่มปฏิสังขรณ์ฯ ปรีดี และรัฐบาลประชาธิปไตย ผลคือเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองสงฆ์ล้อโครงสร้างการปกครองประชาธิปไตยของรัฐ และยุคจอมพลสฤษดิ์กลับไปเอาระบบมหาเถรสมาคมมาใช้และใช้มาจนปัจจุบัน

ส่วนยุค คสช.เป็นการปฏิรูปที่มีส่วนร่วมระหว่างรัฐบาล คสช.กับมหาเถรสมาคม แต่เป็นการร่วมมือที่ไม่ลงรอยนัก เพราะมีการเมืองระหว่างสีทั้งทางสงฆ์ ทางโลก และอำนาจอื่นๆ เกี่ยวข้องอย่างซับซ้อน ผลก็คือการปราบปรามพระทุจริตและทำผิดกฎหมายอย่างที่เห็น และข้อเสนอให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญที่ปรากฏในแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพุทธศาสนายุค 4.0

ดังนั้น เมื่อกล่าวโดยภาพรวมแล้ว การปฏิรูปพุทธศาสนาไทยแทบทุกครั้งที่ผ่านมาเป็นการปฏิรูปภายใต้อำนาจชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมและแนวร่วม ผลก็คือทำให้รัฐกับพุทธศาสนาผนึกรวมเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้นโดยลำดับ และชนชั้นนำมีอำนาจใช้พุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ควบคุม หรือชี้เป็นชี้ตายชะตากรรมของพระสงฆ์มากขึ้น ทั้งในเรื่องการทำผิดกฎหมายและการทำผิดหลักธรรมวินัย

แน่นอนว่า ย่อมไม่มีความคิดเรื่อง "แยกศาสนาจากรัฐ" หรือทำให้รัฐไทยเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) ผุดเกิดขึ้นมาได้เลยในการปฏิรูปพุทธศาสนาครั้งใดๆ ดังนั้นการปฏิรูปพุทธศาสนาโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม จึงสวนทางกับการสร้างประชาธิปไตยที่จะสามารถให้หลักประกันว่า รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา รักษาเสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนาให้เป็นจริง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: “ฉีก รธน.” อาชีพสงวน

Posted: 01 Jun 2018 08:03 PM PDT



ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขุดหลุม ดักใครก็ไม่รู้ ประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่กลับใช้วาทกรรม "ฉีกรัฐธรรมนูญ"

พอนักข่าวเอาไปถามผู้นำ คสช. ทั้งนายกฯ รองนายกฯ ก็ยืนยันทำไม่ได้ วิษณุ เครืองาม ขีดเส้นใต้ "ฉีกรัฐธรรมนูญ" เป็นคำพูดรุนแรง พูดอะไรต้องรับผิดชอบ วันหน้าอาจถูกเอาผิด

"ฉีกรัฐธรรมนูญ" ทำไม่ได้ แค่พูดก็รุนแรง จะมีความผิด อ้าวแล้วใครฉีกรัฐธรรมนูญมากับมือ นิรโทษตัวเองเสร็จสรรพ ไม่ต้องรับผิด แต่กลับห้ามคนอื่นทำไม่ได้

โธ่ถัง ธนาธรทำไม่ได้อยู่แล้วครับ นักการเมืองจากเลือกตั้งไม่มีใครทำได้ "ฉีกรัฐธรรมนูญ" เป็นอาชีพสงวน ทำได้เฉพาะอาชีพที่มีปืนมีรถถังเท่านั้น ทำกันจนเป็นมืออาชีพ 13 ครั้งใน 86 ปี

ธนาธรพูดได้ แต่ฉีกไม่ได้ ทำได้อย่างเก่งก็แก้ไขตามมาตรา 256 ซึ่งไม่ผิดตรงไหน ไม่ทราบวิษณุมองอย่างไร ว่าวันหน้าอาจผิด วิษณุบอกนักกฎหมายที่ไหนก็ตอบได้ ว่าผิดไม่ผิด อ้าว กรธ.อุดม รัฐอมฤต คณบดีนิติ มธ.ตอบแล้วไง ว่าไม่ผิด เป็นเพียงการใช้ภาษาเพื่อให้เกิดความรู้สึก แต่ในท้ายที่สุดคงไม่ใช้การล้มล้างรัฐธรรมนูญ

พูดตามความเป็นจริง รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ยากกระทั่งแทบเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เสียง ส.ว.แต่งตั้งหนึ่งในสาม ต้องใช้เสียงฝ่ายค้าน 20% ถ้าเป็นประเด็นสำคัญ ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนว่าแก้ได้แก้ไม่ได้ ต้องทำประชามติไหม

ถ้าอย่างนั้น การประกาศแก้ไขทั้งฉบับเป็นแค่ "หาเสียง" ด้วยลมปากหรือเปล่า เปล่าเลย เพราะใครก็รู้ว่ายาก แต่นี่คือการประกาศเจตนารมณ์ จะทำเรื่องใหญ่ที่ท้าทาย เหมือนปีนเขาขั้วโลกใต้ รู้ว่ายากลำบากแค่ไหนก็จะผจญภัย

ไม่ใช่รู้ว่าแก้ไม่ได้ก็ยอมจำนน ทนใช้ไปจนตาย เหมือนพรรคไหนไม่รู้ ทีแรกประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตอนนี้กลับเป็นองครักษ์พิทักษ์ หาว่าไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ ประชามติมัดมือชก รณรงค์ไม่รับจับติดคุกติดตะราง

การแก้รัฐธรรมนูญเป็นภารกิจสำคัญ ตอนนี้คนส่วนใหญ่อาจยังไม่เห็น แต่เมื่อกลับสู่เลือกตั้ง ทุกคนจะเห็น ว่าโครงสร้างกลไกรัฐธรรมนูญ 2560 พันธนาการประเทศ บังคับข่มขืนความขัดแย้งไว้ โดยไม่แก้ไข มีแต่จะทำให้รุนแรงขึ้น ไม่มีวันสงบปรองดอง

แถมยังแก้ไขได้ยาก นอกจากวายป่วงขึ้นมา แล้วมืออาชีพก็จะต้อง "ฉีก" ครั้งที่ 14

พรรคอนาคตใหม่ประกาศนิรโทษกรรม ผู้ต้องคดีการเมืองในยุค คสช. บางพรรคหาว่านิรโทษพวกตัวเอง อ้าว นี่แปลว่าเห็นด้วยกับคำสั่งห้ามชุมนุม 5 คนขึ้นไป เคลื่อนไหวแสดงออกก็โดน ม.116 เป็นภัยต่อความมั่นคง ใช้อำนาจตรวจค้นจับกุมโดยไม่ต้องขอหมายศาล เอาเข้าค่ายทหารได้ 7 วัน ฯลฯ ถ้าคิดอย่างนี้ ทำไมยังโวยวายให้ปลดล็อกพรรคการเมือง

ถ้าเราต้องการกลับสู่ประชาธิปไตย ซึ่งหลักการสำคัญที่สุดคือการปกครองด้วยกฎหมายที่เป็นธรรม โดยอำนาจที่ชอบธรรม ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้อง "ลบล้างผลพวงรัฐประหาร" ซึ่งออกคำสั่งเป็นกฎหมาย เอาผิดผู้คนโดยไม่ผ่านหรือลัดกระบวนการยุติธรรม

ที่ร้ายแรงที่สุด คือ 4 ปีผ่านไป กฎหมายวิปริตถูกบิดเบือนให้เป็นคำสั่ง พร่ำบอกประชาชนให้เคารพกฎหมาย ทั้งที่ไม่ชอบธรรม ไม่ยุติธรรม แม้แต่ศาลก็ต้องยอมรับคำสั่ง คสช.เป็นกฎหมาย ยอมรับกระบวนการจับกุมที่ไม่ต้องขอหมายค้นหมายจับ ทั้งที่ขัด ป.วิอาญา พิพากษาความผิดผู้ชุมนุมเกิน 5 คน แม้ยังมีอำนาจปล่อยตัวหรือรอลงอาญา

ถ้าไม่ลบล้างการเอาผิดกันอย่างนี้ เราจะกลับสู่ประชาธิปไตยปกติที่มีนิติรัฐได้อย่างไร

พรรคอนาคตใหม่จึงบอกด้วยว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ "ฉีก" มาตรา 279 ที่รับรองประกาศคำสั่ง คสช. ไว้คู่กับรัฐธรรมนูญ ซึ่งปิยบุตร แสงกนกกุล เรียกว่า "รัฐธรรมนูญคู่" โดยไม่ได้บอกให้ฉีกทิ้งเสียหมด แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบมีสิทธิฟ้องโต้แย้งต่อศาล หรือองค์กรที่มีอำนาจตรวจสอบ พร้อมกับทบทวนใหม่ ประกาศคำสั่งไหนมีประโยชน์ เป็นคำสั่งทางราชการ ก็ทำให้เข้าระบบอย่างถูกต้อง ฉบับไหนขัดความยุติธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ต้องยกเลิก เพื่อกลับสู่ระบบปกติ

พอเสนออย่างนี้กลับถูกหาว่า radical ปิยบุตรต้องแย้งว่า เฮ้ย นี่วิธีคิดของคนปกติ ใครที่เห็นว่ารุนแรง ถ้าไม่ใช่เชียร์เผด็จการ ก็คือพวกสุดโต่ง ที่มองจากตัวเอง แล้วเห็นคนปกติเป็นคนสุดโต่ง

คนบ้ามองผ่านลูกกรงคงเห็นคนปกติเป็นคนบ้า สังคมที่อยู่ใต้ผู้นำอำนาจนิยมมายาวนาน ก็ระวังจะวิปริตจนไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติ

 

ที่มา: www.khaosod.co.th/politics/news_1158656

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น