โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

จบแล้ว! อัยการสั่งไม่ฟ้องชาวบ้านดอยเทวดากรณีชูป้ายร่วม ‘We Walk’

Posted: 08 Jun 2018 08:02 AM PDT

ชาวบ้านพะเยานับสิบคนหมดห่วงหลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ก่อนมาถึงจุดนี้ต้องถูกทหาร-ตำรวจสอบสวนถึงตีสามตีสี่ ถูกฝากขัง หาเงินประกันรายละ 5 พัน ต้องรายงานตัวต่อศาลทุก 6 วัน ต้องตระเวนยื่นหนังสือร้องเรียนและทะเลาะกับทหารในพื้นที่ เหตุเพียงแค่ชูป้ายรณรงค์สิทธิมนุษยชนกับกลุ่ม We Walk

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านเกษตรกรดอยเทวดา จังหวัดพะเยา ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558  ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ภูซางให้เข้าไปยังสถานีตำรวจเพื่อลงชื่อรับทราบในเอกสารคำสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการจังหวัดเชียงคำ ชาวบ้านเกษตรกรดอยเทวดารวมถึงนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ถูกแจ้งขอกล่าวหาตั้งแต่กลางดึกของวันที่ 6 ก.พ.61 ได้ทยอยเข้าไปเซ็นรับทราบคำสั่งดังกล่าว จนวันที่ 4 มิ.ย. 61 ที่ผ่านมาชาวบ้านรายสุดท้ายได้เข้าไปเซ็นรับทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว คดีถือเป็นอันสิ้นสุด

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.พ.61 เวลา 11.00 น. กลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดา ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา ได้ทำกิจกรรมเดินมิตรภาพในพื้นที่ชุมชน โดยมีการถือป้ายข้อความและอ่านแถลงการณ์สนับสนุนกิจกรรม "We walk เดินมิตรภาพ" ของเครือข่าย People Go ซึ่งกำลังเดินจากมหาวิทยาธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจังหวัดขอนแก่นในขณะนั้น ชาวบ้านดอยเทวดายังมีการเรียกร้องเรื่องกฎหมายสำหรับคนจน 4 ฉบับ ได้แก่ ธนาคารที่ดิน ภาษีในอัตราก้าวหน้า สิทธิชุมชน และกองทุนยุติธรรม โดยมีการเดินเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร ในหมู่บ้าน

ต่อมาในช่วงเย็นวันเดียวกันนั้น กลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดา นักศึกษาและนักกิจกรรม ที่ร่วมในกิจกรรมดังกล่าว ได้รับการติดต่อจากผู้ใหญ่บ้านและตำรวจให้เดินทางไปยังสภ.ภูซาง รวมทั้งหมด 11 ราย โดยพบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบประมาณ 20 นาย พกพาอาวุธปืนยาว ตรึงกำลังอยู่ทั้งบริเวณในและนอกสถานีตำรวจอีกด้วย จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้มีการสอบประวัติของผู้ร่วมทำกิจกรรม และทางเจ้าหน้าที่ทหาร ได้แก่ ร.ท.อดุลย์ ไชยศรีทา สังกัดกรมทหารราบที่ 17 พัน 4 ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช จังหวัดพะเยา ได้เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านกลุ่มดอยเทวดากับทางตำรวจ 

จนกระทั่งเวลาประมาณ 3.30 น. ของวันที่ 6 ก.พ.61 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปกับชาวบ้านและนักศึกษา รวมจำนวน 10 ราย พร้อมสอบปากคำ โดยไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วยในการแจ้งข้อกล่าวหา (รายงานก่อนนี้)

จากนั้นในช่วงเช้าวันที่ 6 ก.พ. พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 10 รายที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหากลางดึกมายื่นคำร้องขออำนาจศาลในการฝากขังผู้ต้องหา โดยระบุเหตุผลเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานยังไม่แล้วเสร็จ และศาลจังหวัดเชียงคำอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ผู้ต้องหาทั้ง 10 รายจึงยื่นขอประกันตัวในระหว่างชั้นสอบสวน และศาลได้อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้ยื่นหลักทรัพย์รายละ 5,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงจึงขอให้มีหลักทรัพย์ในการประกันตัวเอาไว้ และให้มารายงานตัวที่ศาลทุกๆ 6 วัน

นอกจากนั้น ชาวบ้านอีก 4 รายที่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีเอาไว้ด้วย เนื่องจากร่วมในกิจกรรมการเดิน แต่ยังไม่ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาได้เดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สภ.ภูซาง แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ระหว่างนั้นทางกลุ่มผู้ต้องหา "we walk ดอยเทวดา" ก็พยายามเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาเพื่อขอให้ยุติการแจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษา ภายใต้การสกัดกั้นและติดตามจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจถึง 2 ครั้ง  จนเกิดเหตุการณ์แสดงความไม่พอใจของเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายข่าวในพื้นที่ต่อเครือข่าย People Go  เป็นเหตุให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างแพร่หลาย (รายงานก่อนนี้)

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 61 ก่อนที่จะครบกำหนดที่กลุ่มผู้ต้องหา "we walk ดอยเทวดา" ต้องเข้ารายงานตัวต่อศาลอีกครั้งในวันที่ 8 มี.ค. กลุ่มผู้ต้องหา "we walk ดอยเทวดา" ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลว่าพนักงานสอบสวนในคดีได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลขอถอนการฝากขังต่อผู้ต้องหาทั้ง 10 คนพร้อมให้เหตุผลว่าจากที่พนักงานสอบสวนได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้นมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 10 คนจึงไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 10 คน อีกต่อไป ทำให้ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ต้องเดินทางไปรายงานตัวที่ศาลอีก (รายงานก่อนนี้)

ล่าสุด  ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 61 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ต้องหา "we walk ดอยเทวดา"  ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ภูซาง ให้เข้าไปยังสถานีตำรวจเพื่อลงชื่อรับทราบในเอกสารคำสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการ โดยสรุปสาระสำคัญในคำสั่งว่าแม้ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจะยังติดใจเกี่ยวกับการชูป้ายข้อความของผู้ต้องหา แต่เมื่อพิจารณาแล้วพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ อัยการจึงมีความเห็นไม่ฟ้องคดี  จากนั้นชาวบ้านเกษตรกรดอยเทวดา นักศึกษา และนักกิจกรรม ก็ได้ทยอยเข้าไปเซ็นรับทราบคำสั่งดังกล่าวจนเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 61 ที่ผ่านมา ผู้ต้องหา "we walk ดอยเทวดา" รายสุดท้ายได้เข้าไปเซ็นรับทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว จึงถือได้ว่าคดีนี้เป็นอันสิ้นสุดลง เนื่องจากทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการต่างมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ กิจกรรม We Walk...เดินมิตรภาพ เป็นกิจกรรมเดินเท้าระยะทาง 450 กิโลเมตร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. ถึง 17 ก.พ.61  จัดโดยกลุ่ม People Go Network ซึ่งเป็นชื่อของเครือข่ายที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มองค์กรที่ทำงานในประเด็นต่างๆ จากการแถลงคำประกาศวาระประชาชนของเครือข่ายในช่วงปลายปี 2559 มีกลุ่มหรือองค์กรที่ร่วมลงชื่อจำนวน 109 กลุ่ม/องค์กร  ทำงานในหลายประเด็น อาทิเช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม แรงงาน การศึกษา สุขภาพ ที่ดินป่าไม้ สวัสดิการของรัฐ หรือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นเหมืองแร่ เขื่อน โรงไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น แต่ทั้งหมดรวมตัวกันภายใต้ความเห็นเรื่องการสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนร่วมกัน

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตา ประยุทธ์เซ็นคำสั่งคืนตำแหน่ง 4 นายก อบจ.เหนือ-อีสาน

Posted: 08 Jun 2018 06:54 AM PDT

คำสั่งนายกฯ เปลี่ยนคำสั่งหัวหน้า คสช. คืนตำแหน่งท้องถิ่นล็อตแรก รัฐยันแค่การสอบสวนยุติแล้วไม่มีความผิด รายงานข่าวระบุ 1 ใน 4 เป็นอดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ที่โดนเล่นหนักครอบครัวนอนคุกหลายวันจากเอกสารโหวตโนประชามติรธน.60 ด้านอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ตั้งคำถามได้ยินข่าวมีคนบอกผู้นำท้องถิ่นใครหนุนพรรคเครือข่าย คสช.จะได้ตำแหน่งคืนจริงหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งที่ 6/2561 ให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2558 และ 43/2559 กำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 4 แหล่งกลับไปดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ดังเดิม ได้แก่
1.นายสถิรพร นาคสุข นายก อบจ.ยโสธร
2.นางมลัยรัก ทองผา นายก อบจ.มุกดาหาร
3. นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่
4.นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร
หลังสือคำสั่งลงวันที่ 4 มิ.ย. 2561

ต่อมาวันที่ 8 มิ.ย.61 เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ไม่ได้มีนัยทางการเมือง เรื่องนี้สืบเนื่องจากการตรวจสอบของกระทรวงยุติธรรมได้มีการส่งผลมาให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และ คสช.จึงมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นได้สืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมให้ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมีทั้งผู้ที่ให้ถูกออกและให้พ้นจากหน้าที่ ส่วนใครที่ไม่พ้นจากตำแหน่งก็ให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่คืน ดูจากข้อเท็จจริงและเนื้อผ้าเป็นหลัก ผิดก็คือผิด โดยมี ป.ป.ช.กับ สตง. เป็นต้นเรื่องในการตรวจสอบ และกระทรวงมหาดไทยมาสืบสวนสอบสวนอีกครั้ง ซึ่งเป็นการสืบสวนสอบสวนไปตามหน้าที่ ใครผิดก็ดำเนินการตามกฎหมาย ใครไม่ผิดก็ให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่เช่นเดิม แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากและในจำนวนนี้ก็มีหลายคนที่มีความผิด

เมื่อถามว่า จากนี้จะมีการคืนตำแหน่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นอีกหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เราต้องดูตามข้อเท็จจริงที่สืบสวนสอบสวน จะไปเร่งไม่ได้ และคนที่ออกมาบอกว่าผิดหรือไม่ผิดต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ถ้าสงสัยว่ามีความผิด แต่กระทรวงมหาดไทยบอกว่าไม่ผิด ทางฝ่ายสืบสวนสอบสวนก็ต้องรับผิดชอบ        

เชื่อคืนตำแหน่ง 4 นายกฯอบจ. มีนัยยะการเมือง จี้ผู้มีอำนาจแจง

ขณะที่เว็บไซต์มติชน รายงานข้อสังเกตจากอดีตส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ว่า เขาไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าคืนตำแหน่งให้เพราะเหตุอะไร แต่หากมองในประเด็นหมากทางการเมืองแล้วก็มองได้ว่ามีนัยยะทางการเมือง เพราะหากจะคืนความเป็นธรรมให้กับพวกเขาอย่างถูกต้อง คุณก็ต้องแถลงต่อสังคมด้วยว่าที่ไม่ผิดเพราะอะไร เพราะคุณเองเป็นคนใช้คำสั่งสั่งเขาให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่อย่างนั้นสังคมจะเกิดความสงสัย

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า 4 นายกฯที่ได้คืนตำแหน่งเป็นหัวเมืองฝั่งอีสาน-เหนือทั้งนั้น นายประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ใครๆ ก็สงสัยเพราะใช้มาตรา 44 สั่งคนอื่นหยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วจู่ๆ ก็คืนตำแหน่งให้เขาโดยไม่มีการแจงให้สังคมรับรู้อย่างกว้างขวาง

เมื่อถามว่ามองว่ามีการดีลกันเบื้องหลังหรือไม่ นายประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกคนสงสัยไปในทางนั้น พรรคพวกเพื่อนฝูงของตนที่ได้พูดจากันก็ไม่ได้มีใครสงสัยไปเป็นอย่างอื่น แต่จะจริงหรือไม่เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจต้องชี้แจง

วัชระ เพชรทอง ถามเสียงดัง เกมส์ใหม่เตรียมเลือกตั้งหรือไม่

ส่วนเว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ว่า คาดว่าจะมีคำสั่งแบบนี้ทะยอยออกมาเรื่อยๆ ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่รอดพ้นจากข้อกล่าวหาทุกท่าน สอดคล้องกับข่าวที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)บางคนที่เคยพูดกับชาวบ้านไว้ว่าจะให้ คสช.คืนตำแหน่งให้นายก อบจ.บางจังหวัด และมีข่าวอีกว่าถ้าผู้บริหารท้องถิ่นใดยอมหนุนพรรคในเครือข่ายของ คสช.ก็จะได้ตำแหน่งกลับคืนหมดทุกแห่งหรือถ้ามีคดีค้างคาในป.ป.ช.หรือป.ป.ท.ก็จะหลุดหมดทุกคดีจริงหรือไม่ต้องให้กาลเวลาพิสูจน์ในข้อเท็จจริงกับข่าวที่ได้ยินมา

นายวัชระ กล่าวว่าคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่าต้นสังกัดยุติเรื่อง แล้วเหตุใดกรณีนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักปลัดนายกรัฐมนตรีสั่งยุติเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ ทำไมไม่คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้นายจเร พันธุ์เปรื่อง ก่อนเกษียณอายุราชการ หรือ กรณีนายกเทศมนตรีอีกหลายแห่งที่ต้นสังกัดสั่งยุติเรื่อง แต่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่คืนตำแหน่งให้ ทำไมไม่ใช้มาตรฐานกฎหมายอันเดียวกัน

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หนึ่งในรายชื่อนายก อบจ.ที่ได้ตำแหน่งคือ คือนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่นั้น เคยปรากฏเป็นข่าวว่าเขาและครอบครัวรวมถึงลูกน้องบางส่วนถูกเรียกเข้าค่ายทหารและดำเนินคดีจากกรณีเตรียมเอกสารใบปลิวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ในช่วงก่อนทำประชามติ โดยถูกแจ้ง 4 ข้อหา คือตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน), มาตรา 209 (ความผิดฐานอั้งยี่), มาตรา 210 (ความผิดฐานเป็นซ่องโจร) และตาม พ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61 วรรคสอง พวกเขาถูกคุมขังในเรือนจำอยู่ 24 วันก่อนได้รับการประกันตัว
 


ภาพจากแฟ้มภาพ

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิษณุเตรียมถก กกต.แก้ปัญหาไพรมารีโหวต-แบ่งเขตเลือกตั้ง จะใช้ม.44 หรือไม่

Posted: 08 Jun 2018 06:02 AM PDT

วิษณุเตรียมถก กกต.แก้ปัญหาไพรมารีโหวต-แบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อนที่ คสช.จะนัดคุยพรรคการเมืองหารือปลดล็อคคำสั่งหัวหน้า คสช.53/60 ที่ห้ามพรรคทำกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงร่วมกันกำหนดวันเลือกตั้ง คาดได้คุยในเดือนมิ.ย. ไม่ง้อบางพรรคเมินเข้าร่วม

8 มิ.ย.61 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.53 /2560 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญว่า ทุกอย่างก็เดินไปตามคำสั่ง คสช. ตอนนี้ก็รอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลบังคับใช้ ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่พระราชวินิจฉัยตามกรอบ 90 วัน จึงจะประกาศใช้ในส่วนของกฎหมาย ส.ว. แต่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.จะต้องรอไปอีก 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังจากนั้นจึงเริ่มนับ 150 วันจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นโรดแม็ปตามกฎหมาย

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า แต่กำหนดการที่ คสช.จะประชุมกับผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งพรรคการเมืองเพื่อกำหนดแนวทางทั้งเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับชาติ แม้มีปฏิกิริยาจากบางพรรคจะไม่เข้าร่วม แต่หลายพรรคก็ยังอยากให้มีการหารือกันเพราะต้องการเสนอปัญหา ซึ่งคสช.ก็อยากเห็นการประชุมพรรคการเมืองจะมาเท่าไรก็ได้ และหารือในส่วนที่คุยกันได้เพื่อได้แนวทางที่จะไปทำต่อ เช่น เรื่องไพรมารีโหวต การปลดล็อก และการเลือกตั้งท้องถิ่น หาก คสช.เห็นว่าจำเป็นก็พร้อมจะประชุม จึงอาจมีการประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกอาจเกิดภายในเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนอีกครั้งอาจจะเกิดหลังจากร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามคำปรารภของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ผลการประชุมเหมือนโรดแม็ปเล็ก กำหนดแนวทางให้ทุกฝ่ายไปปฏิบัติ

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ตนได้พบกับ กกต.แล้วแต่ยังไม่ได้กำหนดวันนัดหมายที่ชัดเจน ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมามีการหารือแล้วหลายครั้งจนถึงขั้นมีการร่างเตรียมการไว้แล้ว แต่ยังจะต้องมาหารือกันว่าคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 มีประเด็นใดที่ต้องแก้ไขบ้าง รวมถึงที่มีข้อเสนอให้ใช้มาตรา 44 ให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้หลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยไม่ต้องรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ และประเด็นที่พรรคการเมืองร้องเรียนมา ซึ่งการหารือกับ กกต.น่าจะเกิดขึ้นก่อนการประชุมกับพรรคการเมือง โดยที่ประชุมจะประกอบด้วยตนในฐานะตัวแทนรัฐบาล เลขาฯ คสช.ที่เป็นตัวแทน คสช. เลขาธิการ กกต. ที่เป็นตัวแทน กกต. และตัวแทนจากกฤษฎีกาด้วย บทสรุปที่ได้จะเป็นข้อเสนอถึงแนวทางแก้ไข เช่น จะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือไม่ หรือจะแก้ไขพระราชบัญญัติใด หรืออาจไม่ต้องแก้ไขอะไรเลย แต่กำหนดร่วมกันเพื่อสร้างความชัดเจนให้เกิดการปฏิบัติได้

 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พิชัย’ซัดงบความมั่นคงปี 62 เพิ่มทะลุ 3 แสนล้าน ลั่นเพื่อไทยจ่อจัดสรรใหม่

Posted: 08 Jun 2018 04:54 AM PDT

อดีต รมว.พลังงานจวก คสช.จัดสรรงบทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง แจงงบความมั่นคงจาก 8.5 หมื่นล้านในปี 2549 เป็น 3.3 แสนล้านในปี 2562 ขณะที่งบด้านอื่นเพิ่มน้อย-ถูกลด ชี้ใช้งบไม่มีประสิทธิภาพแต่เป็นของแสลงทุกรัฐบาลไม่กล้าแตะ คุยเพื่อไทยจ้องรื้อจัดสรรใหม่ เอาไปเพิ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ภาพเดิมของปีที่แล้วแสดงงบประมาณกระทรวงกลาโหม ปีงบประมาณ 2547-2561
ส่วนงบประมาณปี 2562 งบกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ 2.3 แสนล้าน
งบในหมวดใหญ่ "ด้านความมั่นคง"แตะ 3.3 แสนล้าน (ปีที่แล้วอยู่ที่ 2.7 แสนล้าน)

8 มิ.ย.2561 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ตามที่รัฐบาลนำงบประมาณปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้นปรากฏว่างบประมาณทางความมั่นคงเพิ่มขึ้นเป็น 3.292 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.14% ในขณะที่งบประมาณเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกลับถูกลดลงเหลือ 4.065 แสนล้านบาท หรือลดลง 14.7% อีกทั้งงบพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และงบการจัดการน้ำและคุณภาพชีวิตก็ลดลงซึ่งน่าจะเป็นการจัดงบประมาณที่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ แต่กลับไปคำนึงถึงประโยชน์ด้านอื่น แม้กระทั่งสื่อต่างประเทศยังวิจารณ์ว่าการเพิ่มงบกลาโหม เป็นการทิ้งทวนก่อนการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ จากข้อมูลย้อนหลังพบว่า ตั้งแต่มีการปฏิวัติในปี 2549 จนถึงปัจจุบันงบกระทรวงกลาโหม เพิ่มสูงขึ้น 3 เท่า เพิ่มจาก 85,936 ล้านบาทในปี 2549 มาเป็น 222,437 ล้านบาทในปี 2561 และในปี 2562 นายกรัฐมนตรีบอกงบความมั่นคงเพิ่มเป็น 3.3 แสนล้านบาท ในขณะที่กระทรวงอื่นที่สำคัญๆ เพิ่มน้อยกว่ามาก ยิ่งช่วงที่มีการปฏิวัติจะเห็นว่างบกระทรวงกลาโหมยิ่งเพิ่มขึ้น

"นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ 10 กว่าปีที่ผ่านมาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยต่ำมาก โตเฉลี่ยเพียงประมาณ 3% กว่า ต่อปีเท่านั้น เพราะการจัดสรรงบไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งรัฐบาลจากรัฐประหารและรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็พยายามเอาใจทหาร ไม่กล้าลดงบประมาณหรือหยุดการเพิ่มงบทหาร ในขณะที่ความจำเป็นในการต่อสู้กับศัตรูของประเทศมีน้อยลง ถ้าประเทศไทยต้องการจะพัฒนาประเทศ งบกระทรวงกลาโหมจะต้องถูกตัดเพื่อนำมาใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมากกว่า"

อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยเห็นว่าในอนาคตการรื้อโครงสร้างงบประมาณเดิมทั้งหมด เพื่อจัดสรรงบประมาณใหม่ โดยเรียงลำดับความสำคัญโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ การพัฒนาความสามารถแข่งขันของประเทศ และการเสริมสร้างการกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน จะเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย เพื่อประโยชน์อย่างแท้จริงของประชาชน

กมธ.งบประมาณ รมว.คลังนั่งประธาน เริ่มพิจารณางบคลังเป็นคิวแรก

ด้านมติชนออนไลน์รายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจาปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 50 คน เป็นครั้งแรก เพื่อเลือกตำแหน่งต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธาน กมธ. พร้อมทั้งมีรอง ประธาน กมธ.จำนวน 12 คน ได้แก่ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน คนที่1 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน คนที่ 2 พล.อ.อ.ชนะ อยู่สถาพร สนช. เป็นรองประธาน คนที่ 3 นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน คนที่ 4 นายสนิท อักษรแก้ว สนช. เป็นรองประธาน คนที่ 5 พล.อ.รังสาทย์ แช่มเชื้อ สนช. เป็นรองประธาน คนที่6 นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ สนช. เป็นรองประธาน คนที่ 7 นายวันชัย ศารทูลทัต สนช. เป็นรองประธาน คนที่ 8 นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ สนช. เป็นรองประธาน คนที่ 9 พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ สนช. เป็นรองประธาน คนที่ 10 นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สนช. เป็นรองประธาน คนที่ 11 นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผอ.สำนักงบประมาณ เป็นรองประธาน คนที่ 12

ส่วนกรอบการพิจารณาจะประชุมวันจันทร์ – วันศุกร์ เริ่มประชุมตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน – 3 สิงหาคม 61 เป็นต้นไป โดยในวันจันทร์จะเริ่มประชุมเวลา 13.00 -17.00 น. ส่วนในวันอังคาร – วันศุกร์ จะเริ่มประชุมเวลา 09.00-17.00 น. โดยในการประชุมวันที่ 11 มิถุนายนนี้ เริ่มเวลา 10.00 น. จะเป็นการรับฟังภาพรวมเศรษฐกิจและงบประมาณของประเทศ รวมทั้งพิจารณางบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการคลังและหน่วยงานกำกับ เป็นกระทรวงแรก

ทั้งนี้ กล่าวเฉพาะงบกระทรวงกลาโหม ประชาไทเคยจัดทำรายงานดูงบประมาณย้อนหลังเมื่อปีงบประมาณ 2561 ย้อนไป 15 ปี อ่านที่นี่

- งบกระทรวงกลาโหม ปี 52 ได้งบ 1.701 แสนล้าน คิดเป็น 9.27% ของงบรวม 1.835 ล้านล้าน หรือ 1.88% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 3.322 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 7.090 หมื่นล้าน

- งบกระทรวงกลาโหม ปี 53 ได้งบ 1.540 แสนล้าน คิดเป็น 9.06% ของงบรวม 1.7 ล้านล้าน หรือ 1.52% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 3.467 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 7.162 หมื่นล้าน

- งบกระทรวงกลาโหม ปี 54 ได้งบ 1.685 แสนล้าน คิดเป็น 8.14% ของงบรวม 2.07 ล้านล้าน หรือ 1.59% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 3.911 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 8.690 หมื่นล้าน

- งบกระทรวงกลาโหม ปี 55 ได้งบ 1.686 แสนล้าน คิดเป็น 7.08% ของงบรวม 2.38 ล้านล้าน หรือ 1.36% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 4.204 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 9.199 หมื่นล้าน

- งบกระทรวงกลาโหม ปี 56 ได้งบ 1.804 แสนล้าน คิดเป็น 7.52% ของงบรวม 2.4 ล้านล้าน หรือ 1.30% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 4.604 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 9.978 หมื่นล้าน

- งบกระทรวงกลาโหม ปี 57 ได้งบ 1.838 แสนล้าน คิดเป็น 7.28% ของ งบรวม 2.525 ล้านล้าน หรือ 1.39% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 4.827 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 1.06 แสนล้าน

- งบกระทรวงกลาโหม ปี 58 ได้งบ 1.92 แสนล้าน คิดเป็น 7.45% ของงบรวม 2.575 ล้านล้านหรือ 1.40% ของ GDP  ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 5.01 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 1.09 แสนล้าน

- งบกระทรวงกลาโหม ปี 59 ได้งบ 2.06 แสนล้าน คิดเป็น 7.57% ของงบรวม 2.720 ล้านล้าน หรือ 1.43% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 5.17 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 1.23 แสนล้าน

- งบกระทรวงกลาโหม ปี 60 ได้งบ 2.135 แสนล้าน  คิดเป็น 7.30% ของงบรวม 2.923 ล้านล้าน ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 5.139 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 1.311 แสนล้าน

- งบกระทรวงกลาโหม ปี 61 ที่เพิ่มผ่านวาระแรก ได้ 2.22 แสนล้าน คิดเป็น 7.65% งบรวม 2.9 ล้านล้าน ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 5.109 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 1.361 แสนล้าน

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อเมริกันปัญญาพุทธ

Posted: 08 Jun 2018 04:09 AM PDT

 

การแพร่เข้าไปของพระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันเป็นไปอย่างกว้างขวาง แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่แยกระบบการปกครอง (รัฐ) ออกจากศาสนา (secular state) หรือ ศาสนาไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลโดยรัฐ หากการนับถือศาสนาเป็นไปตามความนิยมเชิงปัจเจก ตามแบบอย่างจารีตอเมริกัน ซึ่งเน้นเสรีภาพในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อเมริกันเป็นที่ตั้ง โดยที่การปกครองไม่อิงหรือผูกพันกับการนับถือศาสนาใดๆ

ภายใต้ระบบการเปิดเสรีอเมริกันดังกล่าว ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างมากมายของกิจกรรมเชิงลัทธิเชิงศาสนาต่างๆ ในสหรัฐฯ นอกเหนือไปจากพลเมืองอเมริกันแล้ว ในช่วงที่ผ่านมายังมีนักการเมืองอเมริกันที่อ้างตนเองอย่างเป็นทางการว่า นับถือศาสนาพุทธรวมอยู่ในนั้นด้วย ได้แก่ สมาชิกวุฒิสมาชิก (สว.) หญิง Mazie Keiko Hirono แห่งรัฐฮาวายที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2555 ,สมาชิกสภาคองเกรส (สส.) Hank Johnson แห่งรัฐจอร์เจีย และ สส.หญิง Colleen Hanabusa แห่งรัฐฮาวาย ทั้งหมดสังกัดพรรคเดโมแครต พรรคเดียวกับนายบารัก โอบามา อดีตผู้นำสหรัฐฯ

ขณะที่ก่อนหน้านี้นักการเมืองอเมริกันหลายคนได้พบกับผู้นำชาวพุทธ ได้แก่ ทะไลลามะ ที่เดินทางไปสหรัฐฯบ่อยครั้ง และพบกับผู้นำทางการเมืองของอเมริกันก่อนหน้านี้ ดังมีนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เป็นต้น นอกเหนือไปจากที่ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของชาวทิเบตยังเคยพบสมาชิกวุฒิสภา (สว.) John McCain อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ,สส.หญิง Nancy Pelosi ผู้นำในสภาล่าง (คองเกรส) ของพรรคเดโมแครตที่เธอถึงขนาดเดินทางไปหาพระองค์ถึงธรรมศาลา ในรัฐหิมาจัลประเทศ อินเดีย และในส่วนของสส. John Boehner ผู้นำเสียข้างมากในสภาคองเกรส (Speaker of House) แห่งพรรครีพับลิกันขณะนั้น ก็ได้มีการพบปะกับทะไลลามะมาแล้วเช่นเดียวกัน

ไม่รวมถึงคนมีชื่อเสียงของอเมริกันอีกจำนวนมากที่หันมานับถือพระพุทธศาสนา เช่น Brad Pitt , Angelina Jolie , Jennifer Lopez , Ron Reagan , Keanu Reeves , Richard Gere ,Steve Jobs หรือแม้กระทั่ง Steve Wynn เจ้าของคาสิโนและโรงแรม Wynn แห่งเมืองลาสเวกัส ที่หากถือตามหลักการของหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาแล้ว ธุรกิจบ่อนถือว่าเป็นธุรกิจบาป

แม้แต่คนในครอบครัวของนายโอบามา Maya Soetoro-Ng ซึ่งเกิดที่อินโดนีเซีย และเป็นน้องสาวต่างบิดาของอดีตประธานาธิบดี ก็แสดงตนเองว่ายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาในแง่การยอมรับในหลักการเชิงปรัชญา (philosophically Buddhist) เช่นเดียวกัน โดยขณะนี้ Soetoro-Ng พำนักอยู่ในรัฐฮาวาย สหรัฐฯ 

การหันมาให้ความสนใจและนับถือพระพุทธศาสนาของ Soetoro-Ng เป็นเพราะเธอได้รับอิทธิพลจากความเป็นคนเอเชีย เมื่อวัยเด็กที่เคยอาศัยในอินโดนีเซียและบรรยากาศของชุมชนคนเอเชียในรัฐฮาวาย ซึ่งที่มีคนเชื้อสายญี่ปุ่นที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามทั้งหมดเกี่ยวข้องกับความกับความสนใจของตัวเธอเองด้วย ทั้งนี้หากมองจากฐานของความสนใจในพระพุทธศาสนาของ Soetoro-Ng ซึ่งเป็นน้องสาวของบารักโอบามาที่เธออ้างตอนทำแคมเปญเลือกตั้งช่วยพี่ชายทั้ง ๒ ครั้งว่า "โตมาด้วยกันและมีความสัมพันธ์ฉันท์น้องพี่ที่ดีมาตลอด"แล้ว อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามา น่าจะได้รับอิทธิพลเชิงความรู้และความสนใจด้านพระพุทธศาสนาอยู่ไม่น้อย ซึ่งสามารถเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งต่อการเยี่ยมชมพุทธศาสนสถาน เนื่องในโอกาสเยือนไทยระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2555 โดยที่ตัวของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเองในเวลานั้น ก็ให้ความสนใจพระพุทธศาสนาและศาสตร์ตะวันออกอยู่ไม่น้อย ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงบริบทแห่ง"โอกาสอันเหมาะสม"ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและโอกาสในการถ่ายทอดวัฒนธรรมด้านอื่นๆจากฝั่งไทยไปยังฝั่งอเมริกาก็ย่อมมีทางเป็นไปได้มาก

ข้อมูลของ U-T San Diego ระบุว่า เมื่อปี 2555 ชาวอเมริกันที่เป็นชาวพุทธและให้ความสนใจเรื่องการปฏิบัติตามหลักการของศาสนาพุทธ มีประมาณ 1.2 ล้านคน โดยมีสัดส่วนเอเชียน-อเมริกัน จำนวนมากกว่าคนเชื้อสายอื่น และในจำนวนนี้ ร้อยละ 40 อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียภาคใต้ ความสนใจในพุทธศาสนานี้ แบ่งออกเป็น ความสนใจทั้งในฝ่ายนิกายมหายานและเถรวาท ซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดีอย่างยิ่งในการเชื่อมโยงโลกทั้ง 2 ซีกเข้าด้วยกัน เพราะยิ่งสังคมอเมริกัน เดินหน้าไปหาวัตถุมากขึ้นเท่าใด ส่วนของผู้ที่เล็งเห็นทุกขสัจจ์ ก็ย่อมมีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย คนอเมริกันกำลังมองหนทางที่จะแก้ปัญหาชีวิตของพวกเขาเช่นเดียวกัน เพียงแต่หลักความเชื่อ ซึ่งมีแรงส่งมาจากรากเหง้าทางด้านวัฒนธรรม ไม่เหมือนกับการมองหรือวิสัยทัศน์แบบไทยๆ

ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความสนใจต่อพุทธศาสนาของคนอเมริกัน ดังนี้

1. เพื่อบำบัดความกระหายใคร่รู้ หรือมีความสนใจเฉพาะบุคคลนั้นๆ เป็นความสนใจส่วนตัว

2. เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน อเมริกาเจริญด้วยวัตถุ แต่มีข้อบกพร่องทางด้านจิต หรือการจัดการต่อกระบวนการภายใน ซึ่งปัญหานี้คนอเมริกันได้ให้ความสนใจอย่างถึงรากเหง้าหรือแก่นของคำ สอน (พุทธธรรม) วัฒนธรรมบางอย่างของอเมริกันมีส่วนต่อความเบี่ยงแบนในการตีความหลักพุทธธรรม แต่น่าจะน้อยกว่าการตีความที่อิงวัฒนธรรมของคนไทย ที่มักยึดโยงกับประเพณีและค่านิยมบางประการเข้าไว้ด้วย แม้อิทธิพลด้านวัฒนธรรมอเมริกันและความสนใจเชิงความรู้พุทธปรัชญาส่งผลต่อ ท่าทีการนับถือพระพุทธศาสนาของคนอเมริกัน แต่คนอเมริกันกลับใส่ใจ ในแง่การบำบัดภายในหรือในแง่ของปฏิบัติทางจิตโดยตรง หลักปฏิบัติในเรื่องการฝึกสมาธิและสติจึงได้รับความนิยมในหมู่อเมริกันจำนวนหนึ่ง

3. เป็นไปตามกระแสการเติบโตของศาตร์บูรพา ในอเมริกา เหมือนกับที่ศาตร์ตะวันออกอย่างเช่น โยคะ ได้รับความสนใจอย่างมากจากคนอเมริกันชนในเวลานี้ พร้อมๆกับการประยุกต์ศาตร์เหล่านี้ให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมของอเมริกันเอง ในแง่ของพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน

4. เป็นไปตามกระแสของสื่อตะวันออกที่เข้ามาเผยแพร่ในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ทั่วไป สารคดี หนังสือและสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะจากฟากจีนและอินเดีย ที่เป็นสดมภ์หลักของแหล่งผลิต สื่อตะวันออก

5. ความสนใจในเชิงสิทธิมนุษยชน ปกติคนอเมริกันอ่อนไหวง่ายในเรื่องสิทธิมนุษยนชนอยู่แล้ว ได้แก่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวพุทธทิเบต เรื่องนี้มีกลุ่มนักการเมืองและนักสิทธิมนุษยชนในอเมริกาให้ความสนใจอย่างมาก พร้อมกับออกมาคัดค้านและประท้วงรัฐบาลจีนตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเมื่อองค์ทะไลลามะเดินทางไปยังอเมริกา ก็ได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากบรรดาผู้สนใจพระพุทธศาสนา นักสิทธิมนุษยชน และสื่อต่างๆ

6. ความสนใจในอารยธรรมพุทธศาสนา พุทธศาสนาได้ก่อกำเนิดอารยธรรมที่น่าสนใจในหลายๆที่ที่แผ่อิทธิพลไปถึง เป็นความสนใจในแง่ประวัติศาสตร์และอารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งก็นับเป็นส่วนหนึ่งของความสนใจของคนอเมริกัน

7.ความสนใจเชิงวิชาการ หลายสถาบันการศึกษาอันดับต้นๆของอเมริกา เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กเลย์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยชิคาโก ฯลฯ ได้มีการก่อตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนา (Center for Buddhist studies) ขึ้นมา หากเป็นการให้ความรู้วิชาการเชิงปรัชญาและทำการวิจัยเชิงการปฏิบัติ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนับว่าน่าสนใจเพราะหากองค์กรพุทธฝ่ายไทยสามารถเชื่อมกับองค์กรด้านการศึกษาของอเมริกันได้ ก็จะทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากฝั่งไทยไปยังฝั่งอเมริกามีความเป็นระเบียบแบบแผนมากขึ้น ทั้งยังสามารถทำงานเชิงลึกด้านการวิจัยพระพุทธศาสนา

คงไม่อาจปฏิเสธว่า อเมริกันและคนตะวันตกส่วนหนึ่งสนใจในเรื่องหลักการของการปฏิบัติ ซึ่งย่อมต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับหลักคำสอนในแง่การปฏิบัติ แต่งานด้านวิชาการนั้น เป็นงานที่มีหลักมีเกณฑ์ มีบรรทัดฐาน การวิจัยและวิเคราะห์ การทำงานด้านวิจัยเชิงความร่วมมือด้านพระพุทธศาสนาจะช่วยให้การหยั่งรากของพระศาสนาในสหรัฐฯลงลึกมากขึ้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนในโลกตะวันตกขณะเดียวกันสามารถเสริมจุดอ่อนของระบบพระพุทธศาสนาในเมืองไทยให้เข้มแข็งมากขึ้นท่ามกลางสังคมร่วมสมัย

พุทธศาสนาเถรวาทในอเมริกานั้น นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2514 ที่วัดไทยแห่งแรกถือกำเนิดในสหรัฐฯ ที่นครลอสแองเจลิส (แอล.เอ.) รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยชื่อเมื่อแรกตั้งว่า ศูนย์พุทธศาสนเถรวาท (The Theravada Buddhist Center, Inc.) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไทยลอสแองเจลิส (Wat Thai of Los Angeles) เมื่อ 11 มิถุนายน 2522 นั้น การขยายตัวของฝ่ายพุทธศาสนาเถรวาทไทยในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยังอยู่แต่ในวงแคบๆ เฉพาะในกลุ่มของชาวพุทธไทยลาว หรือชาวพุทธเถรวาทเอเชียชาติอื่นๆ โดยยังคงมีลักษณะของความแปลกแยกกับชาวพุทธอเมริกันทั่วไปอยู่มาก เนื่องจากชาวพุทธไทยและลาว หรือชาวพุทธเชื้อสายเอเชียมีจำนวนมากพอที่จะสมาคมกันเองมากกว่าที่สมาคมกับคนอเมริกันโดยทั่วไป ต่างจากชาวพุทธทิเบต (ทั้งลามะและฆราวาส) ที่มีจำนวนน้อยกว่า ทำให้ต้องหันไปสมาคมหรือติดต่อกับคนอเมริกันทั่วไปมากขึ้น และเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนานิกายตันตระยานหรือวัชรยาน ถูกเผยแผ่ไปได้กว้างไกลในหมู่คนอเมริกันมากกว่าพุทธศาสนาแบบเถรวาท ประเด็นดังกล่าวถือเป็นการปรับตัวที่สำคัญมากของพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน ทำให้นิกายของทิเบตนิกายเดียวกันนี้มีอิทธิพลต่อนับถือพุทธศาสนาของคนอเมริกันค่อนข้างมากในปัจจุบัน

อดีตพระโรเบิร์ต สนฺติกโร ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน เคยกล่าวเอาไว้ว่า

"พระเอเชียส่วนใหญ่ในอเมริกันไม่เหมือนพระอเมริกัน คำว่าพระที่ผมใช้นี้รวมถึงภิกษุณีด้วย พวกเราที่เป็นคนอเมริกันกับพระเอเชียจำนวนหนึ่งไม่มากนัก ได้กลับอเมริกาหรือไปอยู่อเมริกาเพื่อเผยแผ่กับคนอเมริกัน โดยตั้งใจจะนำพุทธศาสนาให้เข้าถึงวัฒนธรรมอเมริกัน ไม่เหมือนกับพระไทย พระจีน พระญวนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ซึ่งไม่ได้ตั้งใจแบบนั้น พระไทยไปเพื่อบริการคนไทย พระจีนก็ไปเพื่อบริการคนจีน ที่จะต่างกันก็คือพระชาวทิเบตเพราะว่าผู้อพยพชาวทิเบตในอเมริกามีน้อย แต่คนอเมริกันที่สนใจพุทธแบบทิเบตมีเยอะ ส่วนใหญ่พระเอเชียก็จะอยู่แต่กับคนเชื้อชาติเดียวกับตน"

วัดไทยฝ่ายเถรวาทถูกสร้างขึ้นในสหรัฐฯในเวลาต่อมา เช่น วัดไทยกรุงวอชิงตันดี.ซี. ซึ่งเริ่มมีพระสงฆ์รับนิมนต์ไปประจำเมื่อ 5 กรกฎาคม 2517 ,วัดวชิรธรรมปทีป ที่เมืองนิวยอร์ค ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอเมริกันเมื่อ 22 กรกฎาคม 2518 มีต้นกำเนิดจาก Buddhist study center ซึ่งตั้งขึ้นเป็นสมาคมเมื่อปี 2508 , วัดพุทธวราราม ที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายอเมริกัน เมื่อ 25 มีนาคม 2519 , วัดธัมมาราม แห่งเมืองชิคาโก มีชื่อตามที่ทางการอนุญาตเมื่อ 17 พฤษภาคม 2519 ว่า The Thai Buddhist temple หลังจากนั้นก็เกิดมีวัดไทยในสหรัฐฯขึ้นมาจำนวนมากมาย ส่วนใหญ่ด้วยเงินบริจาคและการสนับสนุนหลักจากชุมชนไทย และเพื่อสนองตอบต่อเจตนารมณ์เชิงสังคม (วัฒนธรรมประเพณี) ของคนไทยในสหรัฐฯเสียเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า การสร้างวัดไทยในสหรัฐฯ ยังเกี่ยวพันกับการปฏิบัติข้อกฎหมายของสหรัฐฯอีกด้วย รวมถึงยังเกี่ยวข้องกับ "การดูแลควบคุมวินัยประพฤติของพระสงฆ์" เพื่อความเรียบร้อยงดงามเชิงวัตรปฏิบัติ ซึ่งอำนาจของมหาเถรสมาคม (มส.) แห่งประเทศไทยเอื้อมไม่ถึงแม้ว่า จะมีสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา (The Council of Thai Bhikkhus in the U.S.A.) เป็นองค์กรดูแลรับผิดชอบพระสงฆ์อยู่แล้วก็ตาม แต่กฎหมายของสหรัฐฯเป็นคนละระบบกับกฎหมายไทย จึงก่อให้เกิดปัญหาด้านการควบคุมวินัยสำหรับพระสงฆ์ที่ฝ่าฝืน อย่างเช่น แม้สมัชชาสงฆ์ หรือชาวพุทธไทยรู้ว่าพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งละเมิดวินัยสงฆ์ถึงขั้นปาราชิก แต่ก็ไม่สามารถจับสึกได้ หากไม่ขัดกับข้อกฎหมายของอเมริกัน โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ได้รับสถานะเป็นผู้มีถิ่นฐานถาวรในสหรัฐฯ (Green card holder) และพระสงฆ์ที่เป็นพลเมืองอเมริกัน (US citizen) ยิ่งไม่สามารถทำการลงโทษใดๆทางวินัย กับพระสงฆ์ที่ละเมิดวินัย (แต่ไม่ผิดกฎหมายอเมริกัน) เหล่านั้นได้เลย

ความสัมพันธ์เชิงศาสนา ระหว่างคนไทยกับคนอเมริกัน โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมนั้นสามารถที่จะทำให้สัมพันธภาพระหว่างสองประเทศ พัฒนาไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นและเป็นประโยชน์ในแง่การเกิดสันติธรรมภายในและภายนอกของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยที่สันติธรรมภายในที่หมายถึงการปฏิบัติทางใจนั้น ส่งผลต่อสันติธรรมภายนอก ที่หมายถึงการกระทำของมนุษย์ทั้งหลาย

ส่วนทางออกของปัญหาสัมพันธภาพระหว่างไทยและสหรัฐฯ โดยอาศัยพระพุทธศาสนา มีดังนี้

1.เสริมสร้างความรู้ความใจ ให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของพระพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นกับบรรดาพุทธศาสนิกของทั้งสองประเทศ

2.ขวนขวายเรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกัน (หมายถึงวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมอเมริกัน) โดยไม่จำกัดเพียงบริบทวัฒนธรรมด้านภาษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมวัฒนธรรมด้านอื่นด้วย

3.ฝ่ายไทย ซึ่งเป็นฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนาควรศึกษาระบบกฎหมายอเมริกันให้เข้าใจชัดเจน

4.ฝ่ายการเมือง (รัฐบาล+รัฐสภา) ควรส่งเสริมด้าน นโนบายและงบประมาณต่อฝ่ายศาสนา

5.ในแง่ของการส่งพระธรรมทูตไปจากเมืองไทย ต้องมีกระบวนการทดสอบ คัดกรองที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น

6.การติดตามและวิเคราะห์ กระแสสถานการณ์ความเป็นไปของคนอเมริกันและของโลกอย่าได้ขาดหาย หรือต้องมีการติดตามผลการทำงานอย่างต่อเนื่อง

7.เปิดเวทีสำหรับการแปลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นด้านศาสนา (โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นพระพุทธศาสนาเพียงศาสนาเดียว) ระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายอเมริกัน

หากการมาเยือนวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ของนายบารัก โอบามา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555 โดยมีคำพูดของประธานาธิบดีถึงพระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ) คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ตอนนำชมวัดโพธิ์ ทำนองขอให้ช่วยสวดภาวนา (อธิษฐาน) ขอให้เขาผ่านพ้นปัญหาการเผชิญหน้าประเด็นผาการคลัง (Fiscal cliff) เมื่อปลายปี 2555 ('We're working on this budget. We're going to need a lot of prayer for that'; Barack Obama) ไปให้ได้ รวมถึงความสนใจเยี่ยมชมวัดไทยอันเก่าแก่ในกรุงเทพแห่งเดียวกันนี้นั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงการเตรียมตัวที่ดี การให้ความสำคัญกับความเชื่อ และศิลปวัฒนธรรมของไทย โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญสูงสุดของวัฒนธรรมไทย ทำให้เห็นคุณูปการที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ หากมีการสานต่อเชิงความสัมพันธ์ทางด้านศาสนาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับ สถานการณ์ เพราะในสหรัฐฯเองมีขั้วชาวพุทธและไม่ใช่ชาวพุทธ ทั้งนักการเมืองและบุคคลสำคัญ รวมทั้งตัวประธานาธิบดีเองที่มีภูมิหลังของตัวเองและครอบครัวในเชิงการเปิด กว้างทางความคิดด้านศาสนา รอต่อเชื่อมกับชาวพุทธที่เมืองไทย

ขึ้นกับความสามารถของชาวพุทธไทยเราที่จะสืบสานความสัมพันธ์เพื่อเอื้อประโยชน์ด้านสันติธรรมทั้งภายนอกและภายในให้ได้มากที่สุดโดยไม่จำกัดพรมแดน ได้หรือไม่เท่านั้น เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่แค่ประเทศไทยเท่านั้น หากแต่นับวันจะถูกเผยแผ่ไปยังดินแดนของผู้มีปัญญาและมีเหตุผลมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนในอดีตที่มีการเคลื่อนย้ายพระศาสนาจากอินเดียมายังสุวรรณภูมิ ฉันใดก็ฉันนั้น


 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วัฒนา เมืองสุข: จะด่า...มีปัญหามั้ย

Posted: 08 Jun 2018 03:43 AM PDT

     

ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเห็นใครแสดงความถ่อยกักขฬะ หรือแสดงพฤติกรรมแบบที่โบราณเรียกว่าไม่มีสมบัติผู้ดีติดตัวใส่พลเอกประยุทธ์ เช่น กินกล้วยเสร็จปาเปลือกกล้วยใส่ หรือตอบคำถามแบบกระโชกโฮกฮาก จึงทำให้ผมไม่เข้าใจที่พลเอกประยุทธ์กล่าวใน สนช. ทำนองข่มขู่ว่า "ตัวเองมีความเป็นมนุษย์สูง หรือนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติจะมาหมิ่นไม่ได้ อยากรักษาให้ตำแหน่งนี้มีเกียรติ หรือเวลาจะด่าตนให้ระวัง"

ผมเชื่อว่าคนทั้งโลกให้เกียรติกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้นำของฝ่ายบริหารแต่จะต้องพิจารณาถึงการได้มาซึ่งตำแหน่งรวมทั้งการปฏิบัติตัวของบุคคลนั้นด้วย เช่น มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือเป็นคนรักษาคำพูด หรือเป็นคนเคารพสิทธิของผู้อื่น หรือพูดจาสุภาพและไม่แสดงพฤติกรรมถ่อยหรือกักขฬะใส่บุคคลอื่น เป็นต้น

หากบุคคลใดมีพฤติกรรมดังกล่าวย่อมจะมีคนให้เกียรติ อย่างน้อยจะไม่มีคนด่าลับหลังว่าทางบ้านไม่อบรมสั่งสอนหรือไม่มีสมบัติผู้ดี ทั้งยังไม่ต้องไปโพนทะนาให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองยังเป็นคน

พลเอกประยุทธ์จึงต้องสำเหนียกว่า ตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่และอำนาจที่มีอยู่นั้นเป็นของประชาชน ความจริงแล้วพลเอกประยุทธ์ไม่มีความชอบธรรมแม้แต่น้อยที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะไม่ได้มาจากประชาชน จึงต้องใช้อำนาจด้วยความระมัดระวังเพื่อประโยชน์ของประชาชนและต้องรีบคืนอำนาจให้กับเจ้าของอำนาจ ไม่ใช่เลื่อนการเลือกตั้งเรื่อยมา หรือสร้างเงื่อนไขประเภทจะหาเสียงต้องมาขออนุญาตเป็นครั้งคราว รวมทั้งจะต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์เพราะเงินที่ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือค่าเสียหายที่หลายคนเรียกว่า "ค่าโง่" ที่อาจจะต้องจ่ายจากการใช้อำนาจเผด็จการปิดเหมืองทองอัคราล้วนมาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น

ถ้าทนฟังไม่ได้ก็รีบคืนอำนาจให้ประชาชนแล้วกลับไปอยู่บ้านรอหมายเรียก

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ‘ดอน’ เซ่นพิธีกรรม

Posted: 08 Jun 2018 02:58 AM PDT



ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ถูก กกต.ลงมติว่าภริยาถือหุ้นบริษัทเกิน 5% โดยไม่ได้โอนหุ้นให้นิติบุคคลดูแลแทน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 187 เตรียมส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่

ถ้าศาลวินิจฉัยว่าต้องห้าม ก็ตกเก้าอี้ ห้ามเป็นอีก 2 ปี ทำให้มีแรงกระเพื่อมทางการเมือง มีข่าวปรับ ครม. เอาคนนั้นออก คนนี้เข้า เป็นเรื่องเป็นราวไปใหญ่

โดยส่วนตัว มิได้อาลัยอาวรณ์ อยากจุดพลุให้ด้วยซ้ำ กับรัฐมนตรีที่เอาแต่พร่ำ "ต่างชาติเข้าใจไทย" พูดเองเออเองไปเรื่อย ไม่แยแสโลกวิจารณ์

แต่ในแง่กฎหมายอดขำไม่ได้ ที่เห็นพ่อเฒ่าโดนทวงถามมโนธรรมสำนึก หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าถ้าเป็นมาตรฐานพรรคตัว ต้องลาออกสถานเดียว ไม่เช่นนั้น คนจะเสื่อมศรัทธารัฐบาล

คำถามคือการที่ภริยาถือหุ้น 12% และ 17.5% ในบริษัทครอบครัว ซึ่งดูจะเป็นเพียงธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้รับสัมปทาน ไม่เป็นคู่สัญญากับรัฐ ได้ประโยชน์ได้อานิสงส์อะไรหรือไม่ จากที่สามีเป็นรัฐมนตรี

ใครก็รู้ว่าไม่มี ไม่ได้ แต่จะอ้างว่าขัดกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญไง อ้าว แล้วเราเขียนกฎหมายมาเพื่ออะไร เพื่อป้องกันประโยชน์ทับซ้อน ? ก็เห็นชัดๆ ว่ามันไม่ทับ จะบังคับให้กว้างไปทำไม ? ไม่รู้ละ กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ผิดแล้วต้องแสดงสปิริต

ในทางการเมือง ใช่นะครับ พ่อเฒ่าดอนควร "แสดงสปิริต" ไม่งั้นถูกมองว่าดันทุรัง จะยุ่งกันไปใหญ่ ปล่อยไปถึงศาล ไม่ว่าชี้ถูกชี้ผิด ก็วิพากษ์วิจารณ์กันอึงมี่ ทางที่ดี กลับบ้านไปเลี้ยงหลานดีกว่า

แต่ในหลักการ ถามว่าเห็นกันบ้างไหม มาตรการป้องกันทุจริต ประโยชน์ทับซ้อน ที่พยายามเขียนเป็นกฎหมาย เอาเข้าจริง ส่วนใหญ่กลายเป็นระเบียบพิธีกรรม ให้ตีความกันในกระดาษ ยุ่งยาก เสียเวลา เสียทรัพยากร โดยไม่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติจริง

เรื่องรัฐมนตรีถือหุ้นแล้วตกเก้าอี้นี่ โดนมาเยอะนะครับ ที่โดนเป็นพวงก็รัฐบาลขิงแก่ 8 คน ทั้งที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ยุคนักการเมืองโดน 4 คน แต่ไม่โดนข้อหาทุจริต

พูดง่ายๆ คือเป็นกติกาจุกจิก ที่ใช้ได้ผล สอยคนได้เยอะเลย ทั้งที่ไม่ได้โกง บางครั้งก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เขย่ารัฐบาล ไม่ว่าองค์กรวินิจฉัยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

พูดอย่างนี้เดี๋ยวภาคีต้านโกงรุมยำ ไม่เห็นด้วยกับมาตรการป้องกันประโยชน์ทับซ้อนหรือไง เห็นด้วยครับแต่ไม่ใช่เน้นกติกาจุกจิกจนกลายเป็นทำงานรูทีนมากกว่าจับทุจริตจริง

กติกาปราบโกงป้องกันทับซ้อนของไทยมักก๊อปมาจากต่างชาติ แบบมาตรการโอนหุ้นให้นิติบุคคลก็ก๊อปมาจากอเมริกา แต่เอามาไม่หมด ก๊อปแยกส่วน ยืมประเทศนั้นประเทศนี้ อันไหนอร่อยก็ซอยลงๆ แล้วมาตั้งองค์กรจับผิด บนพื้นฐานรัฐราชการขุนนางไทย ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานแบบ "เสือกระดาษ" มุ่งจับผิดจากเอกสาร เอาผิดด้วยการตีความจ้องจับคนทำผิดระเบียบ ไม่แจ้ง ไม่ยื่น ไม่ทำตามขั้นตอน ฯลฯ แต่คนโกงจริงๆ จับไม่ได้ เพราะคนโกงรู้วิธีหลบหลีกซุกใต้โต๊ะทำเอกสาร ยิ่งพยายามออกกฎหยุมหยิมนั่นก็ห้าม นี่ก็ผิด ยิ่งสร้างปัญหาให้คนทำงาน อย่าง สตง.กับ อปท. กับ สปสช. หรือระเบียบกระทรวงการคลังที่หมอฮือต้าน

รัฐธรรมนูญ 2560 และระบอบรัฐราชการเป็นใหญ่ ที่สถาปนากลับมาในยุค 4 ปี ก็จะนำประเทศไปทางนี้ โดยคิดหวังสกัดนักการเมือง แต่เมื่อปิดกั้นเสียจนนักการเมืองขึ้นสู่อำนาจไม่ได้ ใครล่ะจะเจออุปสรรค

ดอน ปรมัตถ์วินัย ก็เลยสังเวยรายแรก อย่างช่วยไม่ได้

 

ที่มา: www.kaohoon.com/content/235088

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ยุทธศาสตร์ชาติ 100 ปี

Posted: 08 Jun 2018 02:12 AM PDT


 

มิตรสหายร่วมอุดมการณ์บางท่านจากสหรัฐอเมริกาและเมืองไทยมองตรงกันว่าปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจหรือด้านสังคม มีสมุตฐานที่มาหรือสาเหตุที่สามารถพูดแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า "เกิดจากการที่คนในชาติขาดการศึกษาที่ดีพอ" หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คนในชาติได้รับการบ่มเพาะปลูกฝังการศึกษาแบบไม่ถูกต้อง เหมาะกับกาลสมัยนั้นๆ

โลกหลังสมัยใหม่ (Post Modern)  หรือโลก 4.0 มองการศึกษาไม่เหมือนโลก 3.0  ซึ่งก็แน่นอนว่า เราคนไทยเองจำต้องอนุวัตรตามแบบแผนของโลกสมัยใหม่นี้ด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้

บรรดามิตรสหายจำนวนหนึ่ง จึงก่อตั้งองค์กรขึ้นมาองค์กรหนึ่งชื่อว่า มูลนิธิการศึกษาเพื่อเสรีภาพ (The Education for Freedom Foundation- EFF) เพื่อช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยที่ยังมีลักษณะเฉพาะแบบรวมๆ คือ "อำนาจนิยม" เราต้องการให้การศึกษาของไทยหลุดออกจากวงจรอำนาจนิยม เช่น แทนที่ครูหรือผู้สอนจะเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอนแบบเดิม ก็ต้องพยายามที่จะเปลี่ยนให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางแทน ครูเองก็จะกลายเป็นแค่โค้ชประจำชั้นไปเท่านั้น

เพราะในโลกปัจจุบันประเทศไทยถูกผนวกรวมกับโลก เราไม่อาจยับยั้งความรู้และความคิดที่เป็นกระแสสากลได้อีกต่อไป ห้องเรียนทุกวันนี้คือ โลกทั้งใบนั่นเอง

มิตรสหายของผมเห็นว่า เพื่อที่จะให้การศึกษาของไทยเท่าเทียมกับการศึกษาแบบสากล เราจำต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการศึกษาเสียใหม่ โดยหันมาเน้นการใช้ซอฟต์แวร์พัฒนาการศึกษาแบบใหม่ เพื่อยกระดับกระบวนทัศน์ของคนในชาติเสียใหม่ครับ ฟังดูอาจเป็นนามธรรม แต่ผมมองว่าเราสามารถยกระดับกระบวนทัศน์ของประชาชนชาติได้ ถ้าเพียงแต่เราปรับเปลี่ยนวิธีคิดไปสู่การคิดแบบ critical thinking หรือการคิดแบบวิเคราะห์วิจารณ์ ที่ในระบบการศึกษาไทยไม่เคยมีมาก่อน เพราะครูอาจารย์เล่นบทเป็นพระเอกอยู่เพียงฝ่ายเดียว

ซึ่งก็ทำให้เกือบทุกสถาบันการศึกษาไทยตกอยู่ในสภาพล้าหลังเหมือนกบในกะลา มหาวิทยาลัยไทยเองแทนที่จะเป็นผู้นำเรื่องนี้กลับมีวิสัยทัศน์ที่สั้นและแคบเต็มที นักศึกษาที่จบมาก็ล้าหลัง ไม่เหมาะกับยุคสมัย

ผลพวงจากระบบการศึกษาแบบอำนาจนิยมดังกล่าวเป็นเหตุให้ประเทศไทยต้องอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะมันเป็นการศึกษาที่รับกับสภาพเผด็จการ (แบบทหาร) ที่เห็นๆ กันอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ

สำหรับวัตถุของมูลนิธิ EFF ของพวกเรามีดังนี้นะครับ

1. สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนไทยในประเทศไทยตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา ข้อนี้ ย่อมเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมในตัวอยู่แล้วครับ  คนทั่วไปนิยมทำกัน เพราะเป็นวิธีการสนับสนุนการศึกษาที่ง่ายที่สุด เพียงแต่ผมว่า มันอาจไม่ใช่การสนับสนุนการศึกษาแบบยั่งยืนเท่านั้น เหมือนการแจกปลาไปเป็นอาหารกับชาวบ้าน หมดมื้ออิ่มก็จบกันไป

2. สนับสนุนให้สร้างภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา ข้อนี้เนื่องจากเราเชื่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีภาคีเครือข่ายทางด้านการศึกษาจำนวนมากอยู่แล้ว เราจึงจะเป็นจุดเชื่อมต่อ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาที่มีอยู่แล้วเหล่าเดินต่อไปอย่างมีพลังและมีศักยภาพในการพัฒนาการศึกษาไทยร่วมกัน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราในฐานะภาคีเครือข่ายด้านการศึกษามองเห็นปัญหาร่วมกันด้วยแล้ว

3. สนับสนุนและบริการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการศึกษากับองค์กรการศึกษาต่างๆ แน่นอนว่านับต่อแต่นี้สิ่งที่ EFF ต้องทำ และผลักดันให้เกิดขึ้นก็คือ การแลกเปลี่ยนความรู้และแชร์ประสบการณ์ด้านการพัฒนาการศึกษาในระหว่างองค์กรพัฒนาระบบการศึกษา ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว หากต้องมีการแปลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการศึกษาที่เป็นประโยชน์กับองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกันในต่างประเทศหรือองค์กรต่างประเทศด้วย ซึ่งย่อมหมายถึง โรงเรียน มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ในต่างประเทศด้วย เช่น กรณีรูปแบบการจัดการศึกษาของฟินแลนด์ หรือแม้แต่โรงเรียนตามความหมายที่สนใจกันในยุโรปเมื่อทศวรรษที่แล้ว คือ Deschooling Society  หรือสังคมไร้โรงเรียน มองโรงเรียนว่าไม่ควรเป็นโรงเรียน มีชั้นเรียนตามรูปแบบเก่าๆ ซึ่งผมคิดว่าโลก 4.0 อย่างในปัจจุบัน กลับเป็นสังคมที่เอื้อต่อการเกิดสังคมโรงเรียนหรือระบบการศึกษาแบบนี้ ทั้งน่าจะสะดวกว่าการใช้ประสบการณ์ควานหาเอาโดยถ่ายเดียว เทคโนโลยีเสิร์ชเอนจิ้นจะช่วยจัดการเรื่องนี้ เป็นอย่างดีทีเดียว 

4. ระดมทุนเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาการศึกษาในประเทศไทย เราคงไม่ปฏิเสธทุนว่ามีความสำคัญในการทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและพัฒนาระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดในโลก ดังนั้น การแสวงทุนเป็นสิ่งจำเป็นในการทำกิจกรรม ถ้าท่านใดสนใจร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ฮ็อตไลน์สายตรงได้ที่ 098-979-7416 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน; หรือแอดไลน์ ที่ไลน์ไอดี pete1120 

5. สนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาของประเทศไทย มิตรสหายของเรานำเสนอว่า ในเมื่อรู้ว่าการศึกษาของประเทศไทยมีปัญหา เพื่อความกระจ่างชัดในตัวปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหา เราควรสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อหาทางออกของปัญหาดังกล่าวด้วย

6. ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลเพื่อการกุศลและองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสาธารณะประโยชน์ แน่นอนและชัดเจนว่า เราต้องการพันธมิตรร่วมอุดมการณ์เสมอครับ การมีเพื่อนจะช่วยให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่นและกระจายออกไปในมุมที่กว้างมากขึ้น

ในเมื่อมีการจัดตั้งองค์กรสนับด้านการศึกษาเกิดขึ้นแล้ว มิตรสหายก็พากันคิดต่อว่าจะขยายแนวคิดนี้ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน เห็นได้ด้วยสายตาคนธรรมดาๆ อย่างเราๆ ท่านๆ อย่างไรบ้าง พวกเราส่วนหนึ่ง (เช่น จ้อบ วิโรจน์ศิริ- สถาปนิกจากแคลิฟอร์เนีย) มองว่าการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการศึกษา ไม่ควรจะถูกจำกัดอยู่ในบริเวณชุมชนเมืองท่านั้น หากควรกระจายออกไปยังต่างจังหวัดและส่วนภูมิภาค จ้อบเองกำลังเล็งบางเมืองที่มีศักยภาพหรือมีความพร้อม เช่น เมืองประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น เพื่อสร้างศูนย์กิจกรรมเชิงการศึกษานานาชาติ

ก้าวต่อไปคือ การทำงานด้านการพัฒนาและสนับสนุนการศึกษาของประเทศไทย ผ่านช่องทางและศักยภาพที่ชาวคณะมี หวังว่าคงได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากมวลชนชาวบ้านทั่วไป ตลอดถึงหน่วยงานภาครัฐ (ราชการ)ที่เกี่ยวข้อง

ขงจื้อ ปราชญ์จีน เคยกล่าวไว้ว่า

"ถ้าคุณวางแผนแค่ปีเดียว จงปลูกข้าว

ถ้าคุณวางแผนระยะ  10 ปี จงปลูกต้นไม้

แต่ถ้าคุณวางแผนสำหรับ 100 ปีข้างหน้า จงให้การศึกษากับเด็กๆ และเยาวชนเถิด"
 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ผมนึกถึงคนที่เสียชีวิต (ในความคิดของผม)

Posted: 08 Jun 2018 02:01 AM PDT

ลิ้นสองแฉกแหวกแผ่นดินมาปลิ้นปล้อน
เล่นละครการเมืองด้วยเหลืองสี
หวนสู่จอเงินจอแก้วแล้ว"คนดี"
ตีบทแตกทั้งวจีและน้ำตา

"ผมนึกถึงคนที่เสียชีวิต"*
เนียนสนิทร้องไห้แสดงใบหน้า
อ้างคนตายล่วงลับเพื่อกลับมา
เรียกศรัทธาคนเป็นเจนสังเวียน

น้ำตายังไม่ทันแห้งแจ้งประจักษ์
เพียงสักพักกลิ่นหืนความคลื่นเหียน
ออกลีลาท่าทางกร่างชาญเชียร
จากบทโศกพลันเปลี่ยนเป็นปลุกเร้า

"ขออาสาเป็นขี้ข้าประชาชน"*
แล้วพุ่งพ่นวาทะกรรมซ้ำซ้ำเก่า
"อุดมการณ์" "เสียสละ" และ "พวกเรา"
นึกแล้วเศร้า "คนที่เสียชีวิต" (ในความคิดผม)

 

ปล.*นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปราศัยเมื่อวันที่ วันที่ 3 มิถุนายน 2561
ที่ประชุมผู้ก่อตั้งพรรคและผู้สนับสนุนพรรครวมพลังประชาชาติไทย
ณ ศาลาดนตรีสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: สภา!

Posted: 08 Jun 2018 01:54 AM PDT


ภาพจาก PPTV 36


สภาประชาธิปไตยต้องเผ็ดร้อน
มิใช่นั่งโงกนอนฝันฟังท่านพูด
ต้องยกมือคัดค้านจนลืมตูด
เก้าอี้บูดฝุ่นจับไม่โดนก้น

เป้าหมายคือประชาชนประเทศชาติ
สุดสามารถคัดง้างอย่างสร้างสรรค์
เอาชนะด้วยเหตุผลจรรยาบรรณ
ไม่มีฉันไม่มีมึงพรรคพวกพ้อง

ไล่ลำดับพิจารณาตามอรรถะ
แพ้ชนะเสียงส่วนใหญ่ตามครรลอง
มีสำนึกรับผิดชอบไทยทั้งผอง
ต้องมองการณ์ไกลวิสัยทัศน์

นายกฯเปรียบเป็นผู้กำกับ
จัดจับกระชับประเด็นให้อยู่หมัด
มีปัญญาฉลาดล้ำเป้าหมายชัด
จิตวิญญาณบีบอัดอุดมการณ์.


 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

41 อาจารย์ ม.อ.จี้รัฐยุติดำเนินคดีคนอยากเลือกตั้ง-ปรากฎชื่อลูกศิษย์ 1 คน

Posted: 08 Jun 2018 01:41 AM PDT

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2561 อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในนาม คณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ห่วงใยสิทธเสรีภาพของประชาชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ยุติการดำเนินคดีประชาชนที่ร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่  22 พ.ค.2561 ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 62 คน หนึ่งในนั้นปรากฏชื่อของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มอ.ด้วย ซึ่งมีประวัติทำงานด้านทรัพยากรท้องถิ่นร่วมกับชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ท้ายแถลงการณ์มีคณาจารย์และอดีตอาจารย์ร่วมลงชื่อจำนวน 41 คน

"คณาจารย์ฯ หวังว่ารัฐบาล คสช. และผู้มีอำนาจจะแสดงออกซึ่งขันติธรรมซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญของผู้ปกครองด้วยการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เพื่อสร้างความสมานฉันท์และบรรยากาศของการเตรียมพร้อมกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง แต่หากยังคงขืนดึงดันที่จะดำเนินคดีกลุ่มบุคคลดังกล่าวต่อไปก็เห็นว่าจะยังเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวในทางการเมืองของรัฐบาล คสช. เอง และจะยังสร้างความขัดแย้งบาดหมางระหว่างสถาบันทหารกับประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น" แถลงการณ์ระบุ

รายละเอียดมีดังนี้

แถลงการณ์
คณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ห่วงใยสิทธเสรีภาพของประชาชน

ตามที่ได้มีการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ใช้นามว่า "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 นำมาซึ่งการจับกุมและตั้งข้อหาผู้เป็นแกนนำในการชุมนุมและผู้เข้าร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าวรวม 15 คน ในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และต่อมามีการออกหมายเรียกประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเพิ่มเติมอีกจำนวน 47 คนเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันท 7 มิถุนายนนี้ ซึ่งผู้ถูกออกหมายเรียกนั้นมีทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ในจำนวนนี้มีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รวมอยู่ด้วยนั้น

คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้ มีความกังวลต่อการดำเนินการดังกล่าวของฝ่ายรัฐอย่างมาก จึงขอแสดงจุดยืนและขอเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ ดังนี้

กลุ่มคณาจารย์ฯ เห็นว่าการชุมนุมในวันที่ 22 พฤษภาคมดังกล่าว เป็นการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2560) ได้รับรองไว้ โดยเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ อีกทั้งเป็นการแสดงออกซึ่งข้อเรียกร้องซึ่งชอบด้วยวิถีแห่งระบอบประชาธิปไตยและสอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาล คสช. ได้ประกาศต่อสังคมตลอดมาว่าต้องการคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็ว เมื่อกล่าวไม่ได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มคนดังกล่าวไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างไร ผู้มีอำนาจจึงควรหลีกเลี่ยงที่จะนำคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 มาบังคับใช้ เพราะเท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นว่า คำสั่ง คสช. มีน้ำหนักที่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังตอกย้ำให้เห็นถึงสภาวะที่ คสช. ดำรงอยู่เหนือกฎหมายและสามารถเลือกเอากฎหมายมาใช้บังคับแก่ประชาชนได้ตามอำเภอใจ ซึ่งย่อมไม่สอดคล้องกับการปูทางที่จะกลับไปสู่ระบอบประชาธปไตยตามที่ คสช. ได้สัญญาไว้

เมื่อพิจารณาในส่วนของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีนั้น เห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดอ่าน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างบริสุทธิ์ใจ แม้ว่าอาจมีจุดยืนหรือความคิดทางการเมืองที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจในปัจจุบัน แต่ก็ควรตระหนักว่าคนรุ่นใหม่เหล่านั้นคือทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและเป็นกำลงสำคัญที่จะนำพาบ้านเมืองต่อไป พวกเขาจึงมีสิทธิ์ที่จะส่งเสียงเพื่อกำหนดอนาคตของตนเอง กล่าวโดยเฉพาะในส่วน

นักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งถูกดำเนินคดี คือ นางสาวอลิสา บินดุส๊ะ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในคณะนิติศาสตร์ ก็เป็นเยาวชนที่ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทในการกระตุ้นให้นิสิตนักศึกษาตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดมาจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป นี่มิใช่หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สังคมไทยต้องการ และเป็นเสียงที่ผู้มีอำนาจควรรับฟังและใคร่ครวญ แทนที่จะมอบโซ่ตรวนตอบแทนให้เช่นนี้

อนึ่ง หากรัฐบาล คสช. มีความตั้งใจจะนำประเทศกลับสู่วิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็พึงตระหนักว่าการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อกดข่มการแสดงออกทางการเมืองนั้น แม้อาจสร้างภาพลักษณ์ของความสงบเรียบร้อยในสังคมได้ แต่สังคมไทยก็ได้เรียนรู้มาตลอดระยะเวลา 4 ปีแล้วว่าความสงบเรียบร้อยเช่นนั้นไม่อาจนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า

ของสังคมได้ จะดีกว่าหรือไม่หากผู้มีอำนาจจะยอมเคารพตามรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพทางการเมืองของบุคคลไว้ โดยพยายามใช้กฎหมายเพื่อควบคุมเสรีภาพเฉพาะกรณีที่จะเป็นเพื่อรักษาประโยชน์โดยรวมของสังคมเท่านั้น มิใช่ใช้กฎหมายเพื่อรกษาความมั่นคงในการอยูในอำนาจของตน

กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความเป็นห่วงและกังวลเป็นอย่างมากในการดำเนินคดีต่อนักศกษาและประชาชนผู้เรียกร้องเสรีภาพดังกล่าว เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีแก่นักศึกษาและประชาชนทั้งหมด และขอให้นายกรัฐมนตรีให้คำตอบที่แน่นอนเกี่ยวกับการดำเนินการตามโรดแมปไปสู่การเลือกตั้งเพื่อนำสังคมไทยกลับคืนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย รวมถึงปล่อยให้กระบวนการปฏิรูปประเทศดำเนินต่อไปโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

คณาจารย์ฯ หวังว่ารัฐบาล คสช. และผู้มีอำนาจจะแสดงออกซึ่งขันติธรรมซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญของผู้ปกครองด้วยการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เพื่อสร้างความสมานฉันท์และบรรยากาศของการเตรียมพร้อมกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง แต่หากยังคงขืนดึงดันที่จะดำเนินคดีกลุ่มบุคคลดังกล่าวต่อไปก็เห็นว่าจะยังเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวในทางการเมืองของรัฐบาล คสช. เอง และจะยังสร้างความขัดแย้งบาดหมางระหว่างสถาบันทหารกับประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น.

............................................................

รายนามคณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ห่วงใยสิทธเสรีภาพของประชาชน

1. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์
2. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์
3. กฤษรัตน์ ศรีสว่าง คณะนิติศาสตร์
4. ว่องวิช ขวัญพัทลง คณะนิติศาสตร์
5. ศุภวัชร์ มาลานนท์ คณะนิติศาสตร์
6. โชคชัย วงศ์ตานี สถาบันสันติศึกษา
7. ยุทธกาน ดิสกุล ภาควิชาสารัตถศึกษา
8. ดวงมน จิตร์จำนงค์ ข้าราชการบำนาญ อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
9. ณปรัชญ์ บุญวาศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
10.อาหวัง ล่านุ้ย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
11.ดิเรก หมานมานะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
12.นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
13.บัณฑิต ไกรวิจิตร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
14.ปิยวรรณ ปิยะกาญจน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
15.เปรมสิรี ชวนชไยสิทธ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
16.พิเชฐ แสงทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
17.ภมรี สุรเกียรติ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
18.วันพิชิต ศรีสุข คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
19.สัณห์ธวัช ธัญวงษ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
20.วีรพงษ์ ยศบุญเรือง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
21.อับดุลอาซิส อับดุลวาฮับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
22.อันธิฌา แสงชัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
23.อัจฉรา ชูพูล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
24.อลิสา หะสาเมาะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
25.สมัชชา นิลปัทม คณะวิทยาลัยการสื่อสาร
26.สามารถ ทองเฝือ คณะรัฐศาสตร์
27.นัจมีย์ หมัดหมาน คณะรัฐศาสตร์
28.สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี
29.สุไรนี สายนุ้ย คณะรัฐศาสตร์
30.อรชา รักดี คณะรัฐศาสตร์
31.อสมา มังกรชัย คณะรัฐศาสตร์
32.ฮาฟิซ สาและ คณะรัฐศาสตร์
33.ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ คณะรัฐศาสตร์
34.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
35.สายฝน สิทธมงคล คณะวิทยาศาสตร์
36.สุภาพร ฝั่งชลจิตต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
37.ประกาศ สว่างโชติ นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
38.เยาวนิจ กิตติธรกุล สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
39.ศุภกาญจน์ บัวทิพย์ คณะศึกษาศาสตร์
40.สินาด ตรีวรรณไชย คณะเศรษฐศาสตร์
41.ซัมซู สาอุ วิทยาลัยอิสลามศึกษา

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยยื่นหนังสือประยุทธ์ จี้แก้ปัญหาน้ำมันแพง

Posted: 08 Jun 2018 12:05 AM PDT

สมยศ พฤกษาเกษมสุข นำทีมยื่นหนังสือ จี้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้องจากน้ำแพง แนะตัดงบสิ้นเปลือง หยุดซื้อาวุธ เลิกรับเงินเดือน 2 ตำแหน่ง (มีคลิปบรรยากาศกิจกรรมและการสัมภาษณ์)


ภาพจากเพจ Thailandmirror

8 มิ.ย.2561 เวลา 10.15 น. ที่บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน (คลิปบรรยากาศและการสัมภาษณ์โดย PEACE TV) โดยตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาฯ กล่าวว่า การมาครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องการเมือง แต่ต้องการให้รัฐบาลรับฟังความเดือดร้อนและแก้ปัญหาของประชาชนที่เกิดจากน้ำมันราคาแพง เนื่องจากโครงสร้างภาษีสูงเกินจำเป็น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 26 บาทต่อลิตร แก๊สไม่เกิน 350 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยใช้มาตรการลดอัตราการเก็บภาษีสรรพาสามิตน้ำมัน

พร้อมกันนี้ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ยังคัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างที่ปรากฏตามข่าว และเรียกร้องให้รัฐบาลปรับลดงบประมาณรายจ่ายสิ้นเปลืองที่ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เช่น การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ซื้อดาวเทียมราคาแพง รวมถึงการรับเงินเดือน 2 ตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังเห็นว่าอัตรากำลังยศนายพลของกองทัพมีมากเกินไปด้วย

 

ที่มา มติชนออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจสิงคโปร์เตรียมคุมเข้มมาก พื้นที่เจรจาเรื่องนิวเคลียร์สหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ

Posted: 07 Jun 2018 11:08 PM PDT

ตำรวจสิงคโปร์ประกาศให้เขตเกาะเซนโตซาและบริเวณใกล้เคียงเป็นเขตรักษาความปลอดภัยพิเศษในช่วงการเจรจาเรื่องข้อพิพาทอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ รวมถึงระบุรายละเอียดสิ่งของที่ห้ามนำเข้าไปในอาณาเขตที่ตำรวจจะมีอำนาจตรวจค้น ปฏิเสธไม่ให้ยานพาหนะเข้า-ออกพื้นที่ 10-14 มิ.ย.

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์กองกำลังตำรวจของสิงคโปร์ออกประกาศว่าจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างผู้แทนจากสหรัฐฯ และผู้แทนจากเกาหลีเหนือในสิงคโปร์ช่วงวันที่ 10 มิ.ย. ถึง 14 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยมีการประกาศให้เป็นการจัดงานที่มีการเพิ่มกำลังคุ้มกันด้านความปลอดภัยเป็นพิเศษโดยกระทรวงกิจการภายในของสิงคโปร์ภายใต้กฎหมายความสงบเรียบร้อยสาธารณะ

กองกำลังตำรวจสิงคโปร์ระบุว่าการประชุมเจรจาวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือที่จะมีขึ้นในช่วงสัปดาห์หน้า ทางตำรวจสิงคโปร์จะวางกำลังในเขตพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ

ตำรวจสิงคโปร์จะวางกำลังตามชายฝั่งในทิศต่างๆ ของเกาะเซนโตซา รวมถึงขยายขอบเขตออกมาทางผืนน้ำ 200 เมตร และระบุถึงเขตพิเศษช่วงส่วนกลางทั้งตอนเหนือถึงตอนใต้ของเซนโตซา เช่นพื้นที่ชายหาดทางตะวันตกเฉียงใต้และชายหาดทางเหนือของเซนโตซา ถนนสิโลโซ สิโลโซบีชวิว ถนนเกทเวย์ ถนนการ์เดน ถนนอาร์ทิลเลอร์รี ถนนอัลลันบรูค ทางเข้าเซนโตซาเกทเวย์ พื้นที่เหล่านี้จะมีการตรวจค้นประชาชนและยานพาหนะที่เข้าออกพื้นที่ด้วย

ในสื่อภาคผนวกฉบับที่ 3 ระบุถึงสิ่งของต้องห้ามต่างๆ ที่ไม่ให้นำเข้าไปในพื้นที่เช่น วัสดุติดไฟภายใต้บัญญัติความปลอดภัยทางอัคคีภัย หรืออาวุธต่างๆ ภายใต้กฎหมายอาวุธและวัตถุระเบิด กระป๋องสเปรย์ เครื่องมือทำให้เกิดเสียงดัง อากาศยานควบคุมระยะใกล้ๆ ใดๆ ก็ตาม รวมถึงเครื่องมือวงจรอิเล็กโทรนิคที่จะสร้างการรบกวนเครื่องมือของทั้งตัวแทนฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายเกาหลีเหนือได้ เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จะทำการตรวจค้นผู้คนที่เข้าไปในบริเวณนั้นว่ามีวัตถุเหล่านี้หรือไม่ ถ้ามีจะถูกยึดและดำเนินการสิบสวนเจ้าของวัตถุเหล่านี้ต่อไป

นอกจากนี้ประกาศของตำรวจสิงคโปร์ยังระบุว่าจะมีการตรวจค้นยานพาหนะทางน้ำที่อยู่ภายในหรือรอบๆ เขตรักษาความปลอดภัยพิเศษช่วงที่มีการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ นอกจากนี้ยังระบุอีกว่าตำรวจมีอำนาจในการตรวจค้นและปฏิเสธไม่ให้ยานพาหนะใดๆ ก็ตามเข้าไปในพื้นที่เขตรักษาความปลอดภัยพิเศษ สำหรับบุคคลที่กระทำการใดๆ ที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยในเขตรักษาความปลอดภัยพิเศษจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย

เรียบเรียงจาก

Declaration of the Summit between the United States of America and the Democratic People's Republic of Korea as an Enhanced Security Special Event, Singapore Police Force, Jun. 6, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น