โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

หอภาพยนตร์เผยแพร่ฟิล์มเก่า "งานฉลองรัฐธรรมนูญ" 2476 และ 2497

Posted: 29 Jun 2018 11:06 AM PDT

ในช่วงครบรอบ 86 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ใน YouTube บัญชี Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์) ของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้เผยแพร่ไฟล์ภาพยนตร์เก่า 2 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานฉลองรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ได้แก่ "งานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476" และ "งานฉลองรัฐธรรมนูญ 2497"

โดยแฟ้มภาพยนตร์แรกคือ "งานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476" เป็นภาพขาวดำ ไม่มีเสียง โดยระบุว่าผู้สร้างคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ความยาว 5.05 นาที

โดยมีคำบรรยายท้ายภาพยนตร์ว่า "ภาพของประชาชนที่ต่างหลั่งไหลกันมาชมงานขบวนแห่ขององค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2476 เริ่มต้นที่ขบวนทหารม้า ตามมาด้วยรถหุ้มเกราะ รถขนส่งทหาร ขบวนรถม้า รถถังที่ลากรถปืนใหญ่ติดมา ขบวนแห่ซึ่งมีรูปปั้นม้าจำลอง ขบวนแห่ซึ่งมีช้างจำลองบนหลังช้างมีพานรัฐธรรมนูญตั้งอยู่ ขบวนรถตกแต่งที่ด้านข้างจะเขียนว่า "ความปลอดภัยของชาวทะเล" ขบวนแห่ที่ทำเป็นเรือรบ ขบวนแห่ที่จำลองระเบิดตอร์ปิโด พร้อมกับเขียนไว้ด้านข้างว่า "ตอร์ปิโด สมัย 30 ปีเศษ แต่เรายังใช้อยู่" ภาพเครื่องบินรบใบพัดจำลองที่ทำด้วยจักรยาน ขบวนรถถังจำลองลากเครื่องบินรบใบพัด ต่อด้วยขบวนแห่แฟนซีต่าง ๆ ขบวนแห่ของกระทรวงวัง ขบวนแห่ที่จำลองเป็นเรือสำเภาของหอการค้าไทย ขบวนแห่แฟนซีของหน่วยงานอื่น ๆ ตามมาด้วยขบวนแห่ของเนติบัณฑิตยสภาที่แต่งรถเป็นทรงพานรัฐธรรมนูญ ขบวนแห่ของศาลาเฉลิมกรุง ขบวนแห่ที่ทำเป็นรถไฟ ขบวนรถที่ขับพาหญิงไทยห่มสไบนั่งมาที่กระบะหลังรถ ขบวนแห่ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ขบวนแห่ที่เป็นสัตว์ ทั้ง ม้า ช้าง เสือ ขบวนแห่ที่เป็นชาวนา รถสามล้อลากที่มีคำภาษาจีนคันหนึ่ง ส่วนอีกคันเป็นคำว่าโอวัลติน"

"จากนั้นเป็นภาพผู้คนที่อยู่กันขวักไขว่บนท้องถนน และภาพรถยนต์ขณะวิ่งฝ่าน้ำที่ท่วมอยู่บนถนน ณ สถานที่แห่งหนึ่ง และภาพวิถีชีวิตของผู้คนที่ออกมาเดินเที่ยวทำมาหากินกันที่ถนนหน้าพระลาน จากนั้นเป็นภาพผู้คนที่มาเดินเที่ยวกันที่เรือรบไทยขนาดใหญ่ลำหนึ่ง และภาพบรรดาเรือรบที่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกับเครื่องบินทุ่นลอยน้ำ จากนั้นเป็นภาพเครื่องบินบนท้องฟ้า ภาพตัดมาที่เรือเฉลิมฉลองต่าง ๆ ที่ตกแต่งประดับประดับซึ่งลอยลำอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา และภาพตัดมาที่บริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามตรงถนนหน้าพระลาน และภาพท้องสนามหลวงที่มีพลับพลาพิธีตั้งอยู่ และจบที่ภาพเรือต่าง ๆ ที่สัญจรไปมาในแม่น้ำเจ้าพระยา"

อีกแฟ้มภาพยนตร์คือ "งานฉลองรัฐธรรมนูญ 2497" เป็นภาพสี ไม่มีเสียง ความยาว 15.30 นาที จัดสร้างโดย กรมยุทธศึกษาทหารเรือ โดยงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2497 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

โดยเขียนคำบรรยายท้ายภาพยนตร์ว่า "งานฉลองวันรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2497 ณ สวนลุมพินี มีการออกร้านของหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างพร้อมเพรียงกัน มีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก มีการนำรถไฟจำลองมาวิ่งบริการผู้ที่มาเทียวงานซึ่งเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากโดยเฉพาะเด็กๆ"

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทรงเปิดงาน เมื่อเสด็จฯ ถึงประธานจัดงานถวายการต้อนรับแล้วเสด็จฯ ยังที่ประทับ ประธานจัดงานกล่าวถวายรายงานแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเปิดงานแล้วทรงกดปุ่มปล่อยลูกโป่งขึ้นสู่ท้องฟ้าก่อนจะเสด็จฯ กลับ กองทัพเรือได้เข้าร่วมในงานเฉลิมฉลองนี้ด้วย โดยตัวอาคารที่จัดแสดงของกองทัพเรือทำเป้นรูปประภาคาร อาภากร นอกจากนี้ก็มีหน่วยงานอื่นๆ เช่น กองทัพอากาศ กระทรวงเกษตร กองปราบปราม กรมตำรวจ และยังมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา มีอาคารของกระทรวงสหกรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"

"ที่บริเวณสระน้ำมีการแสดงเล่นสกี การขับเรือเร็ว มีประชาชนมาชมอยู่ริมสระน้ำโดยรอบเป็นจำนวนมาก เมื่อประธานจัดงานมาถึงบริเวณพิธี กรรมการจัดงานกล่าวรายงาน จากนั้นประธานจัดงานมอบรางวัลให้กับตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งตัวแทนจากกองทัพเรือด้วย ในตอนกลางคืนมีการประดับไฟอาคารต่างๆ ภายในงานสว่างไสวไปทั่วทั้งบริเวณ มีการแสดงต่างๆ เช่น การควงกระบองไฟ การเล่นยิมนาสติก การแสดงประกอบเพลง ในส่วนของกองทัพเรือมีการมอบของที่ระลึกเป้นสัญญลักษณ์ของกองทัพเรือให้กับบุคคลต่างๆ ด้วย"

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทม์ไลน์ปมทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง ก่อนอดีตปลัด พม.กินยาฆ่าตัวตาย

Posted: 29 Jun 2018 09:24 AM PDT

เปิดลำดับเหตุการณ์กรณีทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากจนไร้ที่พึ่ง ก่อนการกินยาฆ่าตัวตาย ของ อดีตปลัด พม.

แฟ้มภาพ

29 มิ.ย.2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อช่วงสายของวันนี้ (29 มิ.ย.61) พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อายุ 60 ปี เสียชีวิตแล้ว จากการกินยาฆ่าตัวตาย โดยภรรยา ได้กินยาฆ่าตัวตายเช่นกัน มีอาการบาดเจ็บสาหัส นอนอยู่บนเตียงคู่กับร่างสามี ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปทุมธานีเป็นการด่วน บนโต๊ะ มีแก้วไวน์ น้ำดื่มวางไว้ข้างๆ 

สำหรับ พุฒิพัฒน์ เขาเป็นอดีตปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง) ยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีอาญาความผิด หลังพบว่า พุฒิพัฒน์ และพรรคพวก มีการโยกย้ายเงินที่ทำการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง ไปแปลงเป็นทรัพย์สินอื่น ๆ รวมมูลค่ากว่า 88 ล้านบาท และให้ออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้กรณีทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากจนไร้ที่พึ่ง มีข้าราชการระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง รวม 12 ราย

โดยกรณีการเปิดเผยการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งมีลำดับเวลาดังนี้

7 ส.ค.– ปลาย ก.ย. 2560 ปณิดา ยศปัญญา หรือ แบม นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เข้าฝึกงานในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น  ในระหว่างเข้าฝึกงานผู้อำนวยการศูนย์ คือ พวงพะยอม จิตรคง และเจ้าหน้าที่อีก 3 คน ได้ให้ ปนิดา ช่วยทำเอกสารเบิกเงินสงเคราะห์ ผู้มีรายได้น้อยและเอกสารของผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยให้กรอกข้อมูลในสำเนาบัตรประชาชน และเอกสารการเบิกเงินจำนวน 2,000 ราย แต่ตนเห็นว่าการกระทำทั้งหมดนั้นเป็นการปลอมแปลงเอกสาร จึงตัดสินใจร้องเรียนเรื่องการทุจริตเงินสงเคราะห์ หรือ เงินคนจนกับสื่อมวลชน

21 ก.ย.2560 ปนิดา ยื่นเรื่องร้องเรียนโดยตรงต่อผู้ตรวจราชการของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่ได้ลงพื้นที่ตรวจงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง โดยผู้ตรวจราชการ แจ้งว่า ไม่สามารถรับเรื่องได้ แต่แนะนำให้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในช่วงต้นเดือน ต.ค. ปนิดา บอกเรื่องการปลอมแปลงเอกสารให้อาจารย์ที่ปรึกษาการฝึกงาน แต่อาจารย์ได้เรียกไปไกล่เกลี่ยกับคู่กรณีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำเอกสารปลอมร่วมกับผู้อำนวยการ แต่คู่กรณีไม่ยอมและบังคับให้ก้ม "กราบขอขมา" ถึงจะอภัยให้และให้ฝึกงานจบ และในวันที่ 11 ต.ค.2560 ปนิดาตัดสินใจทำหนังสือร้องเรียนส่งไปยังป.ป.ช. และเลขาธิการ คสช.

19 ต.ค.2560 ป.ป.ช.เรียกสอบปากคำ ปนิดา ที่ จ.ขอนแก่น ในช่วงเดือน พ.ย. 2560 เลขาธิการ คสช. ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐหรือ ป.ป.ท. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2561 จึงมีคำสั่งย้าย ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น และเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 3 คน เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเหมาะสมต่อกระบวนการสอบสวน

11 ก.พ. 2561 ป.ป.ท. เขต 4 ตรวจสอบ พบ การนำรายชื่อชาวบ้าน เอกสารบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ไปเบิกเงินโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน หรือเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มรายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ รายละ 2,000 บาท เงินสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอดส์รายละ 2,000 บาท และทุนประกอบอาชีพของผู้มีรายได้น้อย รายละ 3,000 บาท แต่จ่ายเงินจริงให้เพียงรายละ 1,000 บาท เท่านั้น หรือบางรายไม่ได้รับเงินเลย

13 ก.พ.2561 ป.ป.ท. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งจะทำการไต่สวนผู้ร้องเรียนเรื่องทุจริต 5 คน ประกอบด้วย นิสิต 2 คน และอีก 3 คน เป็นเจ้าหน้าที่ในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ส่วนกลุ่มผู้ถูกกล่าวมีจำนวน 6 คน เป็นข้าราชการ 2 คน ส่วนอีก 4 คนไม่ใช่ข้าราชการ แบ่งเป็นพนักงานราชการ 3 คน และพลเรือน 1 คน โดยทางบอร์ด ป.ป.ท. ได้ตั้งกรอบไว้ 6 เดือนในการสืบหาข้อเท็จจริง ในการสรุปสำนวนส่งอัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาล ต่อมาคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเข้าพบ สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พร้อมขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวก ต่อมาในวันที่ 18 ก.พ. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริจในหน่วยงานภาคัฐ หรือ ป.ป.ท. เขต 4 จ.ขอนแก่น ส่งทีมพนักงานสอบสวนลงพื้นที่สอบปากคำบุคคลตามรายชื่อเบิก-จ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้เพื่อสรุปสำนวนคดีทุจริต จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการสรุปสำนวนและเรียก ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น และพวกรวม 6 คนมารับทราบข้อกล่าวหากับทาง ป.ป.ท.

23 ก.พ.2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. และณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีโดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิมและให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งเงินเพิ่มพิเศษและสิทธิประโยชน์อื่นใดไม่ต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิม ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ในความควบคุมและกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นผลสืบเนื่องจากการตรวจพบความผิดปกติการเบิกจ่ายเงินงบอุดหนุนของกระทรวง เพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และในวันที่ 27 ก.พ. พุฒิพัฒน์ ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อรายงานตัว

11 มี.ค. 2561 พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบทุจริตการเบิกจ่ายงบประมาณอุดหนุนประเภทเงินสงเคราะห์ว่า มีการกำหนดการตรวจสอบเบื้องต้น 40 จังหวัด พบพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตแล้ว 24 จังหวัด จากนั้นจะรวบรวมว่าจังหวัดไหนที่ตรวจสอบเบื้องต้นเสร็จก่อน ก็สามารถนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อขออนุมัติการตั้งคณะอนุกรรมไต่สวนข้อเท็จจริง ต่อมาในวันที่ 12 มี.ค. วันนพ เปิดเผยผลการตรวจสอบว่าพบความผิดปกติ จำนวน 44 จังหวัด เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 97,842,000 บาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของงบประมาณศูนย์ฯ

27 มี.ค. 2561 พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการสำนักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เผย หลังมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ประจำปี 2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง เงินงบประมาณทั้งสิ้น 123,159,000 บาท จากการตรวจสอบทั้งหมด 53 จังหวัด และอยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 24 จังหวัด รวมเป็น 77 จังหวัดทั่วประเทศ จากการตรวจสอบยังไม่พบว่าจังหวัดไหนจะไม่ทุจริต

3 เม.ย. 2561 จากการตรวจสอบบุคคลที่อยู่นอกศูนย์ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต พบผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการระดับกรมในสังกัด พม. จำนวน 3 คน เป็นข้าราชการที่เกษียณอายุ 2 คนและยังอยู่ในตำแหน่ง 1 คน ซึ่งพบหลักฐานการกระทำผิดเกี่ยวกับการอนุมัติงบประมาณและมีบางคนมีเส้นทางการเงินไหลกลับเข้ามาเชื่อมโยงกับ ผอ.ศูนย์ ทั้ง 37 แห่ง ซึ่งได้ส่งให้ ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ต่อมาในวันที่ 6 เม.ย. 61 พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวภายหลังจากที่ได้เสนอคณะกรรมการ หรือ บอร์ด ป.ป.ท.พิจารณาสำนวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทุจริตเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จำนวน 25 จังหวัดเพื่ออนุมัติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีอาญา ซึ่งหลังการประชุมบอร์ด ป.ป.ท.มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพิ่มอีก 16 จังหวัด รวมมีผู้ถูกกล่าวหา 60 คน แบ่งเป็น ผอ.ศูนย์ 18 คน และเจ้าหน้าที่และผู้สนับสนุน 42 คน

19 เม.ย.2561 พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวถึงกรณีสังคมออนไลน์เผยแพร่เอกสารราชการของ พม. แจ้งผลสอบเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการศูนย์คนไร้ที่พึ่งแจ้งผลสอบเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการศูนย์คนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น โดย เลขาธิการ ป.ป.ท ยืนยันว่า ป.ป.ท.จะไม่ไปก้าวก่ายการสอบสวนภายในของ พม. แต่ถ้าผลการตรวจสอบของ ป.ป.ท. ยืนยันว่าผิดร้ายแรงจริงก็จะต้องลงโทษตามผลสรุปของ ป.ป.ท.

2 พ.ค. 2561 นภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเปิดเผยความคืบหน้าการสอบวินัยร้ายแรงการทุจริตการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยว่ามีการพิจารณาโทษไล่ออกจากราชการ กับผู้อำนวยการศูนย์ฯ และหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม สังกัดกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการรวม 2 คน และในวันเดียวกันที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ฐณิฎฐา จันทนฤกษ์ ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.สมุทรปราการ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้ลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะนี้กำลังถูกตรวจสอบกรณีทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ฐณิฎฐา กล่าวว่า หลักฐานการกระทำความผิดอดีตปลัด พม.ที่มีไม่ใช่เชิงการทุจริตของข้าราชการทั่วไปแต่ทำกันเป็นกระบวนการ

5 พ.ค. 2561 คณะอนุกรรมการสามัญมีมติแจ้งข้อกล่าวหา พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวง และ ณรงค์ คงคำ รองปลัด พร้อมข้าราชการระดับสูงอีก 9 คน ฐานทำผิดวินัยร้ายแรง เนื่องจากมีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังการทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากจนไร้ที่พึ่ง หลังจากนี้ 15 วัน ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง หากฟังไม่ขึ้นจะมีโทษตามระเบียบคือ ไล่ออก หรือ ปลดออกจากตำแหน่งข้าราชการ และ ป.ป.ท.ได้ตรวจสอบการทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ พบมีการกระทำความผิด 67 จังหวัด มีเพียง 9 จังหวัด ที่ยังไม่พบหลักฐานการทุจริต ต่อมาในวันที่ 22 พ.ค. 2561 มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ตำแหน่งปลัดกระทรวง นายณรงค์ คงคำ ตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง นายธีรพงษ์ ศรีสุคนธ์ ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง พ้นจากตำแหน่งในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จากกรณีมีเอี่ยวทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง

13 มิ.ย.2561 พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. เผยว่า คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้อายัดทรัพย์สินของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด พม. ได้แก่ พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดพม. ณรงค์ คงคำ อดีตรองปลัด พม. และนายธีรพงษ์ ศรีสุคนธ์ อดีตผู้ตรวจราชการ พม.กับพวก รวม 12 คน จำนวน 41 รายการ มูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท หลังทุจริตยักยอกเงินช่วยเหลือคนยากไร้ โดยผู้ที่ถูกอายัดทรัพย์สามารถเข้าชี้แจงได้ที่ ปปง. ภายในระยะเวลา 90 วัน หลังถูกอายัด

19 มิ.ย. 2561 วิทยา นีติธรรม เลขานุการ ปปง. เดินทางมา ปปป. เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีทุจริตยักยอกเงินช่วยเหลือคนยากไร้ วิทยา กล่าวว่า วันนี้มากล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีอาญา ฐานฟอกเงิน กับพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัด พม. และหญิงสาวคนสนิท อดีตข้าราชการ พม. โดยหลังเข้าสู่กระบวนการสอบสวน จะทำการขยายผลหาผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

จนกระทั่งสายวันที่ 29 มิ.ย. 2561 พุฒิพัฒน์ และภรรยา กินยาฆ่าตัวตายที่บ้านพักในหมู่บ้านชื่อดัง จ.ปทุมธานี 

เรียบเรียงจาก โพสต์ทูเดย์ 1, 2, 3, 4, 5ไทยพีบีเอส, ไทยรัฐออนไลน์ 1, 2, 3, 4  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, ประชาไท และสปริงนิวส์

รายงานโดย ทัศมา ประทุมวัน ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 1/2561 จากคณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความสนใจด้าน ข่าว การเมือง การ์ตูน และซีรีส์เกาหลี

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ระบอบสฤษดิ์น้อย

Posted: 29 Jun 2018 07:45 AM PDT



นิตยสาร Time ฉบับไก่อูภาคภูมิใจ เอาลุงตู่ขึ้นปก Democrat Dictator พร้อมตั้งฉายา "สฤษดิ์น้อย" ลุงป้อมโต้ว่า ไม่ใช่สฤษดิ์ซักหน่อย เพราะไม่ได้ดุร้าย ไม่เคยเอาคนไปยิงเป้า

อ้าว ไปว่าสฤษดิ์ดุร้ายได้ไง คนไทยชอบสฤษดิ์เยอะไป ยกย่องว่าทำให้ชาติเจริญ ใช้ ม.17 จับผู้ร้ายไปยิงเป้า นี่ถ้าลุงตู่เอามั่ง ใช้ ม.44 จับคนข่มขืนฆ่า ฆ่าหั่นศพ ไปยิงปุปุ เผลอๆ คนไทยจะนิยมชมชอบด้วยซ้ำ

Time คิดผิด คิดว่าคนไทยไม่ชอบสฤษดิ์ ที่ไหนได้ ต่อให้ไปอาศัยประเทศคนอื่นอยู่ อาศัยแผ่นดินอังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ยังชื่นชอบระบอบเผด็จการ คนไทยเกลียดนักการเมืองต่างหาก อยากย้อนไปอยู่ยุคสฤษดิ์ ที่สร้างถนนสร้างเขื่อนน้ำไหลไฟสว่าง ส่งเสริมการลงทุน จนจีดีพีโตปีละ 7% ทุกวันนี้คนตั้งมากก็ยังยกย่อง อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แต่ไม่ใช่ตอนด่าเผด็จการ ยกย่องว่าช่วยสฤษดิ์สร้างชาติต่างหาก

คนไทยเพียงอยากลืมเรื่องจอมพลผ้าขาวม้าแดง ตายคาทรัพย์สิน 2 พันกว่าล้าน แต่ก็มั่นใจว่าลุงตู่ไม่เป็นอย่างนั้น ลุงตู่มีหิริโอตตัปปะ ปัดโธ่ แค่ใส่ผ้าพันคอหลุยส์ วิตตอง ยังต้องลบภาพ

ลุงตู่จึงเป็นที่รัก เป็นความหวัง ของคนมีการศึกษายุคดราม่า ออนไลน์ ตื้นตันง่ายกับความดีมีศีลธรรม รักษ์โลกรักสัตว์รัก สิ่งแวดล้อม พร้อมไลฟ์สไตล์ชิกๆ ชิลๆ โดยไม่ต้องมีเลือกตั้ง

เพียงแต่คนไทยลืมง่าย หรือไม่เคยอ่านประวัติศาสตร์ยุคสฤษดิ์เกิน 8 บรรทัด ไม่เคยรู้ว่าการพัฒนาทุนนิยมก้าวกระโดดในยุคเผด็จการ แลกมาด้วยความเหลื่อมล้ำ เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่ที่สัมพันธ์กับทหาร ทุนท้องถิ่นที่เข้าถึงข้าราชการ จนเติบโตเป็นทุนผูกขาด และตระกูลนักการเมืองในปัจจุบัน

ส่วนที่ใช้ ม.17 ยิงเป้า "คนร้าย" นอกจากเสรีไทย ผู้คัดค้านรัฐประหาร เมื่อไฟไหม้ตลาด สฤษดิ์ก็จับเจ้าของบ้านต้นเพลิงไปยิงเป้า โทษฐานวางเพลิง โดยไม่ต้องขึ้นศาล

ที่ว่าสฤษดิ์ทำให้บ้านเมืองสงบ ก็ใช่เลย ทุกคนต้องเชื่อฟัง สฤษดิ์สถาปนาระบอบอำนาจเด็ดขาดจากบนลงล่าง ของชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ปิดกั้นประชาชนไม่ให้มีปากเสียง ใครเห็นต่างก็ติดคุกติดตะรางแล้วหนีเข้าป่าแบบจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ไม่รู้ไง พวกร้องเพลง "เขาตายในชายป่า" กลับมาเชียร์รัฐประหาร

ระบอบสฤษดิ์ยังทิ้งพิษร้ายในสังคมไทยยาวนาน ทั้งทาง การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเชื่ออำนาจนิยม ความเป็นไทยต้องมีหนึ่งเดียว ระบอบรวมศูนย์อำนาจ รัฐราชการ ซึ่งนักการเมืองจากเลือกตั้งเข้ามาสวมต่อ

ระบอบลุงตู่ไม่เหมือนสฤษดิ์มั้ง เพราะอย่างน้อยจะไปสู่เลือกตั้ง นับถึงตอนนั้นก็อยู่แค่ 5 ปี แต่ดูดีๆ ลุงตู่สถาปนาอะไรบ้าง ต่างจาก "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" แค่ไหน

ลุงตู่เพิ่งคุยข้ามโลกว่า 4 ปี คสช.ฟื้นประเทศจากรัฐล้มเหลว จนประชาคมโลกยอมรับ ใช่เลยครับ จากรัฐล้มเหลวสู่รัฐเป็นใหญ่ แต่ไม่ใช่ประชาชนนะ รัฐราชการต่างหาก

4 ปี คสช.สถาปนารัฐราชการเข้มแข็ง เป็นใหญ่ ทั้งที่ไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย แต่มีการขยายอำนาจ รวมศูนย์อำนาจ ผ่านกลไกความมั่นคง ทหาร มหาดไทย เช่น ฟื้นโครงสร้างสงครามเย็น ให้ กอ.รมน.คุมทุกอย่าง ตั้งแต่ปากท้อง ไทยนิยม ไปถึงความคิดคน

รัฐราชการยุค คสช.ใช้อำนาจเข้มข้น จัดระเบียบสังคมไปทั่ว สถาปนารัฐแห่งความถูกต้อง ทำอะไรไม่เคยผิด ชาวบ้านนั่นแหละผิด และต้องปรับตัว โดยอาศัยชูภาพข้าราชการเป็นคนดี ขอให้เชื่อมั่น ถ้าไม่ดี ก็จะมีองค์กรกระหายความดีตามล่าเต็มไปหมด ทั้ง สตง.ป.ป.ช.ป.ป.ท. แถม ปปง. จนไม่เป็นอันทำการทำงาน

ระบอบรัฐราชการเป็นใหญ่สร้างขึ้นเพื่อไม่ให้ประชาชนหวังพึ่งการเมือง การใช้ความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง แม้พยายามช่วยเหลือประชาชน แต่ก็ทำตัวเป็นรัฐการกุศล ที่ชาวบ้านต้องตื้นตัน ไม่ใช่การให้บริการ หรือเป็นสวัสดิการจากนโยบายพรรคการเมืองที่ชาวบ้านเลือก แล้ว "พ่อขุนอุปถัมภ์" ก็จะทวงบุญคุณแล้วสั่งให้เชื่อฟัง

โครงสร้างนี้จะอยู่เป็นปัญหาไปอีกนาน ต่อให้พ้นยุค คสช. เหมือนที่ต่อสู้กันตั้งนานก็ล้างมรดกสฤษดิ์ไม่หมด

ส่วนความเหลื่อมล้ำจะเหมือนกันไหม แบบคนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน ประชาชนคงบอกได้ หมดอำนาจแล้วจะมีใครถูกจับได้ว่าโกงอย่างสฤษดิ์หรือไม่ เชื่อว่าลุงตู่ไม่เป็น แต่คนอื่นไม่รับประกัน

ระบอบอำนาจนิยม ไม่ว่าผู้นำจะเป็นคนอย่างไร ก็ทำลายความเป็นประชาธิปไตย เพราะรากฐานประชาธิปไตยคือ ประชาชนต้องไม่ไว้วางใจรัฐ ไม่ไว้วางใจผู้มีอำนาจ มุ่งตรวจสอบ ลด และกระจายอำนาจ

เมื่อไหร่ก็ตามที่เชื่อรัฐเป็นใหญ่ รัฐคนดี รัฐถูกหมด เมื่อนั้นก็หมดกันกับคำว่าประชาธิปไตย 

 

ที่มา: www.khaosod.co.th/politics/news_1273665

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: เลือกตั้งแน่ แต่ตู่ชัวร์ไหม

Posted: 29 Jun 2018 07:07 AM PDT

 

 

ประเทศไทยจะกลับสู่เลือกตั้งแน่นอนแล้วนะ ถ้าไม่ใช่วันที่ 24 ก.พ. 62 ก็เป็น 31 มี.ค. 62 หรือ 28 เม.ย. 62 หรือ 5 พ.ค. 62 ชัวร์ป้าด วิษณุ เครืองาม รับประกัน

แต่มองโลกแง่ดี ยังน่าจะทัน ก.พ. 62 ตามที่ท่านผู้นำ "ตู่วิตตอง" ให้คำมั่นกับเทเรซา เมย์, ประธานสภาขุนนางอังกฤษ และใครต่อใครนับไม่ถ้วน ระหว่างไปเยือนอังกฤษ ฝรั่งเศส

บางคนอาจไม่เชื่อ "ขอเวลาอีกไม่นาน" สัญญาตั้งแต่ปี 57 แต่ครั้งนี้คงเลื่อนยากเพราะจากเวที คสช.พบพรรคการเมือง วิษณุอธิบายสูตร 3-3-5 ได้แก่ 3 เดือนแรกรอโปรดเกล้าฯ 3 เดือนต่อมา ระหว่างที่รอกฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ก็จะให้ กกต.รีบแบ่งเขตเลือกตั้งใน 60 วัน คลายล็อกให้พรรคการเมืองหาสมาชิก จัดประชุมใหญ่ และทำไพรมารีโหวตใน 30 วัน โดยไม่ต้องมีหัวหน้าสาขาพรรค และอาจทำไพรมารีร่างทรงพอเป็นพิธีระดับภาค ทั้งนี้ คสช.รับปากร่ายมนต์ให้ ด้วย ม.44 สารพัดนึก

ซึ่งถ้าดูเงื่อนเวลา 5 เดือนสุดท้าย 150 วัน ก็เผื่อไว้ยาวเชียว ทั้งที่ 60 วัน กกต.ก็จัดเลือกตั้งได้ ดังนั้น เลือกตั้งต้นเดือนหรือกลางเดือน ก.พ.ยังไหว มิฉะนั้น ท่านผู้นำคงไม่สัญญาไปทั่วหรอก

วันเลือกตั้งจึงได้เห็นแน่ ๆ ในครึ่งปีหน้า ไม่ถึงชาติหน้าตอนบ่าย ๆ แต่ยังเหลืออะไรที่ไม่ชัวร์ ก็สูตรอำนาจหลังเลือกตั้งไง ใครจะเป็นนายกฯ และจะตั้งรัฐบาลอย่างไร

อ้าว ไม่ต้องรอผลเลือกตั้งหรือ นั่นมันประเทศประชาธิปไตย การเลือกตั้งแบบไทย ๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็รู้กันอยู่ว่าล็อกโครงสร้างอำนาจไว้ ส.ว.ตู่ตั้ง กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ องค์กรอิสระจาก สนช.ชุดนี้ ฯลฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องสานต่ออีก 4-5 ปี เพราะยุทธศาสตร์ชาติเป็นสิ่งที่คนไทยไม่เคยพบเคยเห็น คนอื่นทำไม่ได้

นั่นละ ใคร ๆ ก็หมายหัวไว้ ถ้าไม่ใช่ตู่ ใครจะบริหารประเทศได้ ต่อให้ดีเด่นดังจากไหน ก็อาจโดนขัดขาจนวุ่นวาย แต่ถ้าไปต่อก็หมายความว่าท่านผู้นำจะเป็นเป้าที่ถูกรุมยำ เป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ ในโครงสร้างที่ยังอ่อนไหวไม่เสถียร

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการสร้างฐานสนับสนุน คือพรรคการเมืองและ ส.ส. ซึ่งถ้าอาศัยพรรคตลาดน้ำดูด ส.ส.น้ำครำ ถ้าถูกโจมตีว่าใช้เงินซื้อใช้อำนาจบีบ ก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่

ระหว่างไปนอก ท่านผู้นำพูดถึงอนาคตตัวเองกับบลูมเบิร์ก เมื่อถามว่าจะร่วมงานกับพรรคการเมืองหรือไม่ ก็บอกจะให้คำตอบได้ในเดือนกันยาฯ "อาจมีความชัดเจนมากขึ้นในตอนนั้น" นับไปนับมา คือหลังกฎหมายเลือกตั้งประกาศในราชกิจจาฯ

เมื่อพบคนไทยในฝรั่งเศส ก็บอกว่า "เขาจะเลือกผมอย่างไรก็ยังไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องของกลไกทางกฎหมาย และตอนนี้ก็ยังไม่ตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น ขอทำตรงนี้ก่อน ยังมีเวลา หลายคนบอกอย่าไปเลือกตั้ง ลำบาก เราคิดได้แต่ในเวทีต่างประเทศลำบาก"

อ่านท่าที ก็ลำบากใจแทนจริง ๆ ท่านยอมรับต้องมีเลือกตั้ง ไม่งั้นต่างประเทศไม่ยอมรับ แต่ตัวท่านจะไปต่ออย่างไร เดือนกันยาฯ จะตัดสินใจแบบไหน จะลงการเมือง จะตั้งพรรค หรือจะยอมให้พรรคเสนอชื่อ อยากรู้จัง

ตู่จะไปต่อ หรือไม่ไปต่อ ยังไม่ชัวร์ป้าดนะครับ แม้ข้อแรกมีโอกาสมากกว่า 3 เดือนจากนี้ เป็นช่วงที่ขั้วอำนาจต่าง ๆ ต้องประเมินความเสี่ยงอย่างหนักเลยละ ว่าตู่ไปต่อหรือหาคนแทน เลือกแพร่งไหนดีกว่ากัน

 


ที่มา: www.kaohoon.com/content/238273

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านแม่แตงนับพันร้องเรียนถูกจำหน่ายรายการทะเบียนราษฎรกว่า 10 ปี

Posted: 29 Jun 2018 06:25 AM PDT

ชาวบ้าน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่นับพันบุกอำเภอแม่แตงเร่งให้ทางอำเภอและกรมการปกครองแก้ไขปัญหาที่ถูกจำหน่ายรายการออกจากระบบทะเบียนราษฎรมากว่า 10 ปี โดยไม่มีการแก้ไขและจัดทำทะเบียนใหม่ให้

29 มิ.ย. 2561 สันติพงษ์ มูลฟอง ประธานมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคลกล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านแม่แตงมากว่า 10 ปี แต่การแก้ไขปัญหาก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า จนเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กรมการปกครอง, จังหวัดเชียงใหม่, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ในการแก้ไขปัญหานี้ แต่ผ่านมาครบ 1 ปีแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน  ปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้ลงพื้นที่พบชาวบ้านใน 8 หมู่บ้านยังประสบปัญหาการไม่มีเอกสารแสดงตนเนื่องจากการถูกจำหน่ายรายการทางทะเบียนราษฎรถึง 667 คน

ศราวุธ ไทยเจริญ นายอำเภอแม่แตง ชี้แจงว่า ทางอำเภอแม่แตงไม่ได้นิ่งนอนใจ  แต่เรื่องนี้มีมาก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่งนายอำเภอแม่แตง  ปัจจุบันได้ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตลอด  แต่ติดขัดที่บางกลุ่มไม่มีความชัดเจน  จึงอยากให้ทางกรมการปกครองกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนการทำงานของทางอำเภอ

ด้านบุญสม ขุนทอง หัวหน้ากลุ่มงานการทะเบียนบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองกล่าวว่า สำนักบริหารการทะเบียนกำลังทำหนังสือเสนออธิบดีกรมการปกครอง ในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้  โดยกลุ่มที่มีหลักฐานชัดเจน แต่ต่อมากำหนดเลข กำหนดกลุ่ม ผิดประเภท ผิดกลุ่ม จะดำเนินการคืนเลขและสถานะเดิมให้  และจะทำหนังสือแจ้งให้อำเภอแม่อายทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วนพัน ลุงดอย ชาวบ้านบ้านมืดกา ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง เชียงใหม่ ผู้ได้รับผลกระทบกล่าวว่า ตนรอเอกสารทางทะเบียนราษฎรมาเนิ่นนานแล้ว  10 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถทำอะไรได้เลย อยากให้เจ้าหน้าที่แก้ไขปัญหาให้โดยเร็วที่สุด  พวกตนยินดีให้ข้อมูลทุกอย่างตามที่เป็นจริง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการประกาศจะกวดขันจับกุมตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ยิ่งทำให้เป็นกังวลมาก  จึงขอให้ทางกรมการปกครองลงมาแก้ไขปัญหานี้อย่างรวดเร็วและจริงจัง

สุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ

ในส่วนสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว พบว่ามีการลงรายการของชาวบ้านผิดกลุ่มผิดประเภท โดยเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ  ดังนั้นจึงต้องรีบคืนรายการตามที่เป็นจริงให้กับชาวบ้านอย่างเร็วที่สุด ไม่ควรปล่อยให้ล่าช้ามานับ 10 ปี

จึงขอเสนอให้ 1. ทางอำเภอแม่แตงออกเอกสารรับรองตัวบุคคลชาวบ้านว่า อยู่ระหว่างการพิสูจน์และดำเนินการด้านสถานะบุคคล โดยชาวบ้านต้องได้เอกสารก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการผ่อนผันและจะมีการกวดขันจับกุมคนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎรและไม่มีใบอนุญาตทำงาน   2. กลุ่มชาวบ้านที่ตรวจสอบแล้วว่าได้สถานะมาอย่างถูกต้อง จำนวน 70 คน ให้เร่งดำเนินการคืนเลขและสถานะเดิมภายใน 2 สัปดาห์  3. กลุ่มชาวบ้านที่ต้องพิสูจน์ตัวบุคคลแต่อยู่มาเนิ่นนานแล้ว ให้จัดทำบัตรและทะเบียนบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เป็นการชั่วคราวไปก่อนในระหว่างพิสูจน์ตัวบุคคล  โดยกลุ่มที่มีข้อมูลว่าอยู่มาก่อนวันที่ 30 กันยายน 2542 ให้จัดทำบัตรและทะเบียนตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล เป็นกลุ่ม 0/89  และกลุ่มที่อยู่หลังจากนั้น ให้จัดทำบัตรและทะเบียนตามพรบ.การทะเบียนราษฎร มาตรา 38 วรรคสอง เป็นกลุ่ม 0/00  ซึ่งควรเร่งรัดดำเนินการให้ชาวบ้านทุกคนมีเอกสารแสดงตนแบบชั่วคราวนี้ภายใน 3 เดือนคือ 30 กันยายน 2561 นี้

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยนโยบายรัฐบาลพม่าเลือกปฏิบัติ กีดกันชาวพม่ามุสลิมพิสูจน์สัญชาติ-ทำบัตรแรงงาน

Posted: 29 Jun 2018 05:06 AM PDT

เครือข่ายสิทธิมนุษยชนพม่า (BHRN) เปิดตัวรายงาน "พลเมืองที่ถูกลืม" ชี้แรงงานข้ามชาติชาวพม่าเชื้อสายมุสลิมถูกเลือกปฏิบัติจากนโยบายสัญชาติของทางการพม่า โดยมีชาวพม่ามุสลิมจำนวนมากไม่สามารถยื่นขอหนังสือสำคัญประจำตัว หรือ CI ได้ ซึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถขอจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติจากทางการไทยที่กำลังจะถึงเส้นตาย 30 มิถุนายนนี้ได้ โดย BHRN เรียกร้องรัฐบาลพม่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย นับรวมชนกลุ่มน้อยในประเทศ ยุติบทบาทกองทัพ และขอทางการไทยจัดทำใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้แก่แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในไทยอยู่แล้ว

เครือข่ายสิทธิมนุษยชนพม่า (Burma Human Rights Network - BHRN) แถลงข่าวและเผยแพร่รายงาน "พลเมืองที่ถูกลืม" (Existence Denied) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยเปิดเผยว่ายังคงมีแรงงานข้ามชาติชาวพม่าเชื้อสายมุสลิมที่ไม่สามารถยื่นขอหนังสือสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity - CI) จากศูนย์พิสูจน์สัญชาติของทางการพม่า ซึ่งทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบในขั้นตอนจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ การยื่นขอใบอนุญาตทำงานของทางการไทยที่กำลังจะถึงเส้นตาย 30 มิถุนายนนี้ (อ่านรายงานฉบับเต็ม)

หน้าแรกของรายงาน "พลเมืองที่ถูกลืม" ของเครือข่าย BHRN

จ่อวิน ผู้อำนวยการเครือข่าย BHRN แถลงว่า ที่เรียกรายงานฉบับนี้ว่า "พลเมืองที่ถูกลืม" (Existence Denied) ก็เพราะชาวพม่าเชื้อสายมุสลิมที่แม้จะเกิด เติบโต และมีบรรพบุรุษอยู่ในพม่า แต่พวกเขากลับถูกโดดเดี่ยวและถูกปฏิเสธการมีตัวตนจากนโยบายสัญชาติ และการเลือกปฏิบัติของรัฐบาลพม่า

โดยในรายงาน "พลเมืองที่ถูกลืม" เครือข่าย BHRN ได้เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2561 สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 36 ครอบครัวแรงงานข้ามชาติชาวพม่าเชื้อสายมุสลิมใน 4 พื้นที่ชายแดนด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก โดยเน้นสัมภาษณ์สมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้หญิง ซึ่งในระยะหลังพวกเขาเป็นผู้ที่เป็นปากเสียง และมีบทบาทในชุมชนในการทำเรื่องเอกสาร เรื่องสัญชาติ

สำหรับภูมิลำเนาของกลุ่มสำรวจครอบครัวชาวพม่ามุสลิม 34 ใน 36 ครอบครัวมาจากรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และภาคย่างกุ้ง โดยมีเพียง 2 ครอบครัวที่ระบุว่ามาจากรัฐยะไข่ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ประสบวิกฤตมนุษยธรรมกรณีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามุสลิม

โดยรายงานของ BHRN พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ 78% ไม่มีเอกสารแสดงความเป็นพลเมืองที่ออกให้โดยรัฐบาลพม่า ทั้งที่ทุกคนเกิดในพม่ามาหลายรุ่น มีเพียง 3% ที่ถือบัตรประชาชนพม่า และอีก 19% ถือบัตรพิสูจน์สัญชาติหรือ (tri-fold) ที่ออกให้พลเมืองผู้อาศัยและพลเมืองแปลงสัญชาติ

 

กฎหมายสัญชาติยุครัฐบาลทหารพม่า ต้นเหตุกีดกัน-เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ตามกฎหมายสัญชาติของพม่าฉบับที่มีการบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) สมัยรัฐบาลทหารของนายพลเนวิน กำหนดสถานะประชากรเป็น 1. พลเมืองพม่า 2. พลเมืองผู้อาศัย และ 3. พลเมืองแปลงสัญชาติ โดยผู้ที่จะถือเป็นพลเมืองพม่าจะต้องมีพ่อแม่เป็นพลเมืองพม่า หรือมีชาติพันธุ์ 1 ใน 135 ชาติพันธุ์ที่พม่ารับรอง คุณสมบัติอื่นคือสามารถพิสูจน์ได้ว่าบรรพบุรุษอยู่ในพม่าก่อนปี พ.ศ. 2367 (ค.ศ.1824) หรือก่อนสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 1 ที่ทำให้ราชวงศ์คองบองสูญเสียดินแดนมณีปุระ อาระกัน และตะนาวศรี

ขณะที่ประชากรกลุ่ม 2. พลเมืองผู้อาศัย และ 3. พลเมืองแปลงสัญชาติ ภายใต้กฎหมายสัญชาติ 1982 พวกเขาจะถูกจำกัดสิทธิหลายประการ โดยไม่สามารถรับราชการ ไม่สามารถเรียนในวิทยาลัยแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์ได้ โดยส่วนมากประชากรพม่าที่บรรพบุรุษมาจากอินเดียและจีนจะถูกจัดให้อยู่ในประชากรกลุ่มนี้

จ่อวิน ผู้อำนวยการเครือข่าย BHRN ยังกล่าวด้วยว่า "สิ่งนี้เกิดขึ้นดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วไปในพม่า และเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลพม่า ก่อให้เกิดผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้าน และจะทำให้เกิดคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และผู้อพยพเกิดขึ้นจำนวนมากในประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับพม่า"

ในรายงานสรุปของเครือข่าย BHRN อ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไทยท่านหนึ่งที่อธิบายถึงวิกฤตการณ์นี้ว่า "ในอนาคต เราจะยังคงต้องเจอคนไร้สัญชาติกลุ่มนี้ต่อไป อีกหลายชั่วอายุคน"

เครือข่าย BHRN ยังค้นพบหลักฐานความไร้สัญชาติของแรงงานข้ามชาติชาวพม่ามุสลิมกลุ่มนี้ว่าเป็นเหมือนมรดกที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตอนนี้หลายคนที่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะทางกฎหมายนั้น อย่างน้อยเป็นคนรุ่นที่สองของครอบครัวที่กำลังประสบปัญหาความไร้สัญชาติอยู่ แรงงานข้ามชาติชาวพม่ามุสลิมส่วนใหญ่ที่ทาง BHRN สัมภาษณ์กล่าวว่า ลูกของพวกเขาไม่มีบัตรประชาชนของทั้งพม่าและไทย พวกเขาอาจจะเป็นรุ่นที่สามของครอบครัวที่ถูกบังคับให้อยู่อย่างไร้สัญชาติ ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา เว้นแต่จะมีการดำเนินมาตรการต่างๆ โดยรัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่งเพื่อรับรองพวกเขา

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยกำหนดให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศจำนวน 1 ถึง 2 ล้านคน พิสูจน์สัญชาติโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประเทศพม่า โดยพวกเขาจะได้รับ "หนังสือสำคัญประจำตัว" (CI) และใบอนุญาตทำงานที่ออกให้โดยกรมจัดหางานของไทยภายหลัง

อย่างไรก็ตามชาวพม่าเชื้อสายมุสลิมแจ้งกับเครือข่าย BHRN ว่า เมื่อพวกเขายื่นขอหนังสือสำคัญประจำตัว (CI) ต่อศูนย์พิสูจน์สัญชาติของทางการพม่า พวกเขาจำเป็นต้องพิสูจน์รากเหง้าในพม่า โดยต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งมากกว่าเอกสารที่เจ้าหน้าที่เรียกจากพลเมืองพม่ากลุ่มอื่น นอกจากนั้นหลายคนแจ้งกับเครือข่าย BHRN ว่าเมื่อพวกเขาพยายามพิสูจน์สัญชาติของพวกเขาตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานข้ามชาติฉบับปัจจุบัน เจ้าหน้าที่บอกพวกเขาว่า "เราไม่ให้หนังสือสำคัญประจำตัว (CI) แก่ชาวมุสลิม" โดยกรณีศึกษาของ BHRN พบว่าชาวพม่ามุสลิมถูกปฏิเสธการขอหนังสือสำคัญประจำตัว (CI) สูงกว่าสองเท่า เมื่อเทียบกับจำนวนชาวพม่ามุสลิมที่ได้รับการรับรองหนังสือ CI

ทั้งนี้หลังพ้นเส้นตาย 30 มิถุนายน 2561 ที่เป็นวันสุดท้ายของการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ผู้ที่ไม่สามารถดำเนินตามกระบวนการนี้ได้ตามเวลาที่กำหนด จะถูกพิจารณาว่าเข้ามาทำงานในประเทศไทยผิดกฎหมาย หากจับได้จะต้องเสียค่าปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท ซึ่งเป็นค่าปรับที่สูง เมื่อเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนของแรงงานที่ไม่มีเอกสารประจำตัวที่ได้เพียงเดือนละ 8,000 บาท และนอกจากค่าปรับแล้ว แรงงานข้ามชาติที่ขาดเอกสารที่ราชการไทยออกให้จะถูกเนรเทศและห้ามไม่ให้ยื่นขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยเป็นเวลา 2 ปี

BHRN เปิดเผยด้วยว่า แม้จะเกิดภัยคุกคามที่รุนแรงขึ้นจากการปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่ แต่ชาวพม่ามุสลิมเกือบทั้งหมดที่ให้ข้อมูลกับ BHRN ได้สัมภาษณ์กล่าวว่าพวกเขาอยากอยู่ในประเทศไทยมากกว่าที่จะเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาของพวกเขา เพราะกองทัพยังคงมีบทบาทในประเทศ ในอดีตกองทัพพม่าได้กีดกันสิทธิพื้นฐานและความต้องการของกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนามาโดยตลอด และสิ่งเหล่านั้นยังคงดำเนินต่อไปภายใต้รัฐบาลกลางที่นำโดยอองซานซูจี

ในรายงานสรุปของ BHRN ยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่านำข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิการเป็นพลเมืองตามบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมาใช้เพื่อกำจัดทหารออกจากทุกบทบาททางการเมืองภายในประเทศ คนชายขอบในพม่าส่วนใหญ่จะต้องต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีทั้งในและนอกประเทศพม่าต่อไป

ข้อเสนอจากรายงาน

"พลเมืองที่ถูกลืม" (Existence Denied)

โดยเครือข่ายสิทธิมนุษยชนพม่า (BHRN)
 
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลพม่า
เพื่อแก้ปัญหาความไม่ยุติธรรมที่เกิดจากระบบโครงสร้าง
 
1. ต้องเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นกลางและมีประชาธิปไตย เพื่อที่จะใช้กำจัดทหารออกจากทุกบทบาททางการเมืองในประเทศพม่าอย่างรวดเร็ว ต้องทำให้แน่ใจว่ามีการรวมไว้ซึ่งความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาของประเทศพม่า และระบุกลไกอย่างชัดเจนเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้
 
2. การระบุเชื้อชาติต้องไม่รวมอยู่ในสิทธิการเป็นพลเมือง ดังนั้น BHRN แนะนำให้ไม่ต้องระบุเชื้อชาติและศาสนาในบัตรประชาชน เนื่องจากปัจจุบันมีการนำสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการเลือกปฏิบัติ
 
3. สร้างคณะกรรมการจากผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับรากหญ้าที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาเพื่อร่างกฎหมายสัญชาติให้สอดคล้องกับหลักบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชน
 
ในระหว่างนี้ 4. ให้ยกเลิกกฎหมายเชื้อชาติและศาสนา
 
5. สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองต้องหยุดการบังคับให้ชาวมุสลิมขอสัญชาติเป็นชาวต่างชาติ ด้วยเหตุว่าพวกเขามีลักษณะทางชาติพันธุ์ซึ่งมีการพยายามจัดหมวดหมู่ให้พวกเขาเป็นกลุ่ม "เลือดผสม" ซึ่งเป็นการจำแนกประเภทซึ่งเชื่อมโยงกับการเลือกปฏิบัติไปตลอดชีวิตของพวกเขา
 
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย
1. (ก) ระงับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ (CI) ไว้ชั่วคราว และจัดทำใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้แก่แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้วอย่างเร่งด่วน
 
(ข) ร่วมมือกับกลุ่มสิทธิแรงงานข้ามชาติ เพื่อกำหนดระบบการจัดทำเอกสารใหม่ที่จะช่วยให้แรงงานข้ามชาติทุกคนสามารถอาศัยและทำงานได้อย่างมีศักดิ์ศรีในประเทศไทย
 
(ค) ร่างนโยบายอย่างมีมนุษยธรรมเพื่อแก้ปัญหาสถานะทางกฎหมายของผู้ที่อยู่ในความดูแลของแรงงานข้ามชาติทั้งผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการ และงดเว้นการควบคุมตัวและการเนรเทศผู้ดูแลพวกเขาเหล่านั้นออกจากประเทศ
 
2. อนุญาตและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงให้กับองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนชุมชนเคลื่อนย้ายที่ไม่มีเอกสารประจำตัว เช่น ชาวพม่ามุสลิม ให้มากขึ้น
 
ข้อเสนอแนะต่อรัฐนานาชาติและผู้มีส่วนร่วม
1. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีการสนับสนุนทางการเงินหรือความชอบธรรมใดๆ ให้กับสถาบันและหน่วยงานของรัฐที่มีนโยบายผลักดันให้ชาวมุสลิมและชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติและศาสนาอื่นๆ ที่อยู่ในความเสี่ยงออกจากประเทศพม่าเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
 
2. สร้างแรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลพม่าในการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นกลางและมีประชาธิปไตย ที่จะกำจัดทหารออกจากทุกบทบาททางการเมืองในประเทศ และให้ครอบคลุมถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาของพม่า
 
3. เพิ่มงบประมาณให้กับองค์กรชุมชนในประเทศไทยที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจากพม่า ในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของพวกเขาโดยเฉพาะช่วงวิกฤตและช่วงที่ถูกปราบปราม

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อาจารย์อักษรฯ จุฬาฯ เผย ผู้บริหารคณะขอไม่ให้จัดเสวนาวิชาการกรณีศึกษา 'ไทม์'

Posted: 29 Jun 2018 04:17 AM PDT

วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์อักษรศาสตร์ จุฬาฯ เผยถูกผู้บริหารคณะบอกผ่านเพื่อนร่วมงาน ไม่ให้จัดเสวนาวิชาการเรื่องงานแปล กรณี 'ไทม์' สัมภาษณ์ประยุทธ์ เหตุเกี่ยวการเมือง หวั่นไม่เป็นวิชาการ ชี้ ไม่ควรห้ามปากเปล่าเพราะทำให้หลายเรื่องไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อผู้ใหญ่กระทำกับนิสิตกรณี ปธ.สภานิสิตจุฬาฯ อ้าง ถูกห้ามจัดกิจกรรมแปลไทม์ให้ประวิตรฟัง

เมื่อ 27 มิ.ย. ผศ.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสท์บนหน้าวอลล์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่าถูกทางผู้บริหารขอร้องมาอย่างไม่เป็นทางการไม่ให้จัดกิจกรรมวิชาการเรื่องการแปล สืบเนื่องจากข่าวที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวกับนักข่าวว่าไม่ได้อ่านบทสัมภาษณ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในนิตยสารไทม์เนื่องจากอ่านไม่ออก

วาสนาให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากที่ธนวัฒน์ วงศ์ชัย ประธานสภานิสิตจุฬาฯ ออกมาโพสท์เฟซบุ๊กว่าถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอให้เลื่อนจัด หรือให้ย้ายไปจัดกิจกรรม 'แปลภาษาอังกฤษให้ประวิตรฟัง'  ที่นอกรั้วจุฬาฯ ตนก็ได้หารือกับศูนย์การแปลล่ามเฉลิมพระกียรติของคณะอักษรฯ จุฬาฯ ว่าจะจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการชื่อ "การเมืองเรื่องการแปล ประชาธิปไตยจากมุมมอง Time Magazine" โดยจะเป็นการคุยกันว่าควรจะแปลข่าวหรือสารคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองอย่างไร ในกรณีไทม์ที่เขียนเรื่องของประเทศไทย เวลาแปลจะมีปัญหาการเมืองเกี่ยวกับการแปลอย่างไร สื่อควรนำเสนออย่างไร ตั้งใจเชิญนักวิชาการทางด้านการแปล ด้านสื่อ อาจจะมีนักแปลอิสระมานั่งคุยกันเป็นงานวิชาการ

ปธ.สภานิสิตจุฬาฯ เลิกจัดแปล 'ไทม์' ให้ประวิตรฟังเหตุผู้บริหารขอมา มหา'ลัยปัดห้าม

หน้าปกนิตยสารไทม์ ฉบับที่มีบทสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยเมื่อเช้าวันพุธที่ผ่านมา (27 มิ.ย.) วาสนาได้เขียนโครงการส่งให้ผู้บริหารคณะอักษรศาสตร์เนื่องจากจะขอจัดในนามหน่วยงานของจุฬาฯ ต่อมาเมื่อตอนเที่ยงได้สอบถามไปยังเพื่อนร่วมงานที่ศูนย์การแปลฯ ก็ได้รับแจ้งมาว่าผู้ใหญ่ขอว่าอย่าจัดเพราะมีความสุ่มเสี่ยงเนื่องจากเป็นเรื่องการเมืองและกลัวว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งตนก็ตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริหารควรประกาศให้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน

"ที่รู้สึกไม่ค่อยถูกต้องเพราะมีประเด็นนิสิตจะจัดงานแปลอังกฤษให้ประวิตรฟังแล้วก็บอกว่าถูกผู้บริหารห้ามไม่ให้จัด ต่อมาจุฬาฯ ก็มีแถลงการณ์ว่าไม่ได้ห้าม นิสิตโกหก ถ้าเขามาบอกว่าห้ามจัดแต่ไม่มีหลักฐานเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรก็แย่เหมือนกัน แต่อันนี้นิสิตก็ออกมาบอกว่าโดนห้ามไม่ให้จัดจริงๆ"

"พอถึงเวลางานเราเองก็ส่งเอกสารขอให้จัด แต่พอจะไม่ให้จัดก็เป็นการบอกกันปากเปล่า ก็รู้สึกว่าตกลงจะเชื่อได้ไหม เราจะจัดการกับความไม่ชัดเจนเหล่านี้อย่างไรในเมื่อไม่รู้ว่าโดนแบนหรือไม่โดนแบน"

"ที่เพื่อนบอกต่อๆ มาอย่างไม่เป็นทางการคือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง กลัวจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เหมือนเราไม่ได้ทำเป็นงานวิชาการจริงๆ ตัวเองก็รู้สึกว่าถ้าผู้บริหารมีความรู้สึกอย่างนั้นก็ควรประกาศออกมาเลยว่าอย่าทำ เข้าใจว่าทำไมเขาไม่อยากประกาศ เพราะถ้าประกาศออกมาเลยก็จะเหมือนว่าไม่เชื่อมั่นในบุคลากรทางวิชาการของตัวเองว่าจะมีความเป็นวิชาการมากพอก็ดูไม่ดี ก็ไม่รู้เหมือนกัน" วาสนากล่าวเพิ่มเติมกรณีที่ถูกขอไม่ให้จัดกิจกรรม

อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การขอจัดงานแล้วไม่ได้จัดเป็นเรื่องปรกติในกรณีที่มีข้อท้วงติงให้แก้ไข เพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆ แต่ตนไม่พอใจกับความไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีที่ธนวัฒน์ที่เป็นนิสิต ถูกห้ามจัดกิจกรรมอย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรมากกว่า

"ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่มากที่ขอจัดงานแล้วไม่ได้จัด เพราะมันก็เคยเกิดมาแล้วและมันก็คงจะเกิดอีก แต่ที่รู้สึกแย่มากๆ เพราะไม่พอใจแถลงการณ์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่บอกว่านิสิตโกหก เขาอาจจะโกหกจริงๆ แต่เราก็คิดว่ามันเป็นไปได้ไหมว่าเขาโดนเหมือนเรา และเขา (ธนวัฒน์) ก็ประกาศออกมาว่าเขาโดนอย่างนี้ มหาวิทยาลัยก็ออกมาประกาศว่าไม่เคยห้าม สรุปธนวัฒน์โกหกหรือเปล่า ถ้าธนวัฒน์โกหกจริงก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าธนวัฒน์ไม่ได้โกหก แบบนี้มันคือผู้ใหญ่รังแกเด็กแบบขี้โกงซึ่งเรารู้สึกไม่ดี"

"ถ้าจะแบนก็กรุณารับผิดชอบกับการตัดสินใจที่จะแบนหน่อย ถ้าจะไม่แบนก็ให้เขาจัดไป (กรณีธนวัฒน์) ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ สั่งไม่ให้จัด แล้วพอเขาบอกว่าจุฬาฯ บอกว่าไม่ให้จัด แล้วค่อยออกมาปฏิเสธ มันไม่เหมาะสม" วาสนากล่าวทิ้งท้าย

ล่าสุดวานนี้ (28 มิ.ย.61) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th เผยแพร่ (ถอดเทป) บทสัมภาษณ์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ นิตยสารไทม์ ซึ่งสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายใน ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เป็นการถามตอบระหว่างผู้สัมภาษณ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่ได้ระบุส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งการบริหารงาน การละเมิดสิทธิ การตรวจสอบและปิดกั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ความพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเรียกว่า "สฤษดิ์น้อย (Little Sarit)" ตามชื่อของ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ผู้ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 2500 และได้ช่วยยกสถาบันกษัตริย์ให้มีบทบาทสูงสุดในสังคมไทยขณะนั้นด้วย

โดยบทสัมภาษณ์พิเศษ พล.อ. ประยุทธ์ และบทวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองไทย ในเว็บไซต์ไทม์ยังสามารถเข้าถึงได้

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทางการไทยยันเดินหน้าแก้ปัญหาค้ามนุษย์ หลังถูกยกระดับอยู่ 'เทียร์ 2'

Posted: 29 Jun 2018 03:42 AM PDT

กระทรวงการต่างประเทศแถลงท่าทีกรณีไทยได้รับการปรับสถานะจากระดับ "เทียร์ 2 ต้องเฝ้าจับตามอง" ขึ้นเป็นระดับ "เทียร์ 2" จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ยันเดินหน้าแก้ปัญหาต่อ กสม.ชี้รัฐบาลต้องเพิ่มศักยภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

29 มิ.ย.2561 จากกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือทิปรีพอร์ตปี 2561 (TIP Report 2018) โดยประเทศไทยได้รับการปรับสถานะจากระดับ "เทียร์ 2 ต้องเฝ้าจับตามอง" ขึ้นเป็นระดับ "เทียร์ 2" นั้น

กระทรวงการต่างประเทศ ออกคำแถลงท่าทีถึงกรณีดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ ว่า การปรับอันดับของไทยให้อยู่ใน Tier 2 สะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาตระหนักถึงความจริงจัง ความพยายาม และความคืบหน้าในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบที่รัฐบาลไทยได้มุ่งมั่นสร้างขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด การคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย และการป้องกันการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยไทยพร้อมจะร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และนานาประเทศซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อผลักดันให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในเชิงกว้างและลึกมากยิ่งขึ้นในอนาคต

"การที่ไทยได้รับอันดับที่ดีขึ้นไม่ได้ทำให้รัฐบาลไทยนิ่งนอนใจต่อปัญหาการค้ามนุษย์ ไทยจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนากรอบกฎหมายและนโยบาย รวมทั้งหาทางเพิ่มพูนประสิทธิภาพการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อปกป้องคุ้มครองชาวไทยและชาวต่างชาติในไทย ซึ่งเสมอกันด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมที่ไทยยึดถือตลอดมา" แถลงท่าทีของทางการไทยระบุ

กสม.แนะรัฐบาลต้องเพิ่มศักยภาพกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์

ขณะที่ ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า ว่า นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเป็นผลมาจากการร่วมมือกันทำงานเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในประเทศไทยอย่างจริงจังในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากจุดที่ต่ำสุดคือปี 2557-2558 ไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่เทียร์ 3 อยู่ 2 ปีซ้อน ซึ่งระหว่างนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 โดยเฉพาะฉบับที่ 3 ที่มีผลบังคับใช้ต้นปี 2560 มีการแก้ไขสาระสำคัญในนิยามของ "การค้ามนุษย์" ซึ่ง กสม.ได้เข้าไปมีส่วนให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะให้คำนิยามของแรงงานบังคับ
 
ประกายรัตน์ กล่าวว่า กสม. ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลมาโดยตลอด และในฐานะที่รับผิดชอบด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ขอเรียนว่า ในปลายปี 2558-2559 กสม. ได้มีการตรวจสอบการค้ามนุษย์ในเรื่องสำคัญ คือ การใช้แรงงานไม่เป็นธรรมของแรงงานชาวเมียนมาในฟาร์มไก่ในจังหวัดลพบุรี ซึ่งกรณีดังกล่าว กสม. ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการค้ามนุษย์ ในเรื่องการยึดบัตรประจำตัวของแรงงานต่างชาติว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่ง สนช. ได้มีการแก้ไขให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการ "แสวงประโยชน์โดยมิชอบ"  ซึ่งถือเป็นการ "ค้ามนุษย์" ตามกฎหมายนี้
 
ประกายรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ยังได้มีการแก้ไขให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของ "แรงงานขัดหนี้" และการมีเด็กอยู่ในสถานที่ที่มีการค้ามนุษย์  เจ้าของสถานประกอบการก็จะมีความผิดด้วยแม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะไม่ได้ถูกค้ามนุษย์ก็ตาม เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กในเรื่องสิทธิการมีชีวิตที่ดีและมีการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย อย่างไรก็ตามทิปรีพอร์ตปี 2561 นี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ไทยยังต้องทุ่มเทความพยายามเรื่องนี้ต่อไป ซึ่ง กสม. เห็นว่ากลไกระดับชาติที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จะต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว มีเขตอำนาจที่แข็งแรงและเพียงพอที่จะดำเนินการเอาผิดกับขบวนการค้ามนุษย์ที่เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติได้อย่างดี ซึ่งตรงนี้ กสม. จะได้ทำการศึกษาเจาะลึกและนำเสนอต่อรัฐบาลถึงมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

ขณะที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ปีนี้สหรัฐฯ ปรับสถานการณ์ปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยจาก Tier 2 Watch List มาเป็นระดับ Tier 2 ซึ่งหมายถึงประเทศที่ดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำโดยสมบูรณ์ แต่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการปรับปรุงแก้ไขปัญหา ซึ่งประเทศไทยเคยถูกจัดอันดับอยู่ใน Tier 2 ครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี 2552 หรือเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับที่สูงขึ้นดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อทิศทางความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยในการป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาล อาทิ เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ได้รับการพิจารณาเรื่องความช่วยเหลือจากสถาบันสำคัญระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) และธนาคารโลก (The World Bank) รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ขณะเดียวกันยังส่งผลดีต่อการค้าของไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกคู่ค้าได้มากขึ้น เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่สินค้าไทยเพื่อการส่งออก เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคว่าสินค้าไทยไม่มีการผลิตจากการใช้แรงงานบังคับหรือการค้ามนุษย์ ตลอดจนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

"รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการทุ่มเทบูรณาการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข ยุติธรรม คมนาคม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เกษตรและสหกรณ์ และอีกหลายหน่วยงาน ทั้งนี้ ยืนยันว่า จะยังมุ่งมั่นขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างจริงจังต่อไป แม้ว่าที่ผ่านมามีความก้าวหน้าไปมาก ด้วยมาตรการส่งเสริมและปกป้องสิทธิแรงงานทุกสัญชาติอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการแบ่งแยกสัญชาติของแรงงาน การขับเคลื่อนนโยบาย การตรวจแรงงานอย่างเข้มข้นเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงาน วางระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ประเทศเพื่อนบ้าน องค์การระหว่างประเทศ" พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

น้ำจิ้มปรองดอง

Posted: 29 Jun 2018 01:43 AM PDT


  
ปรองดอง (recociliation) คือการจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่แตกแยกต่อสู้ปะทะกัน เพื่อเจรจาสู่แนวทางสันติภาพ นิยามของคำว่าปรองดอง จะเห็นได้ว่า มีความหมายที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วแนวทางสู่สันติภาพผู้เขียนได้พบเห็นและรับรู้เรื่องราวในพื้นที่ บ้านตันหยงเปาว์ จ.ปัตตานี ผู้ที่นำคำว่าปรองดองมาให้ต้องการผลประโยชน์ให้ตนเอง (self-interest) มากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อสังคม (social-Interets) ต่อประชาชนในพื้นที่โดยผ่านงบประมาณเอาใจประชาชน ซึ่งผู้ที่นำคำว่าปรองดองมาให้นั่นก็คงหนีไม่พ้น ''รัฐบาล''

พื้นที่ตันหยงเปาว์ จ.ปัตตานี เป็นหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐสนับสนุน โดยชาวบ้านในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลว่างบประมาณที่ได้รับ ได้จากกองทุน ไทยเข้มแข็งและ SMEs วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises ) 1 ปี จะได้รับการจัดสรรงบประมาณจากฝ่ายปกครอง 2 ครั้ง

จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวต้องสร้างกลุ่มรวมตัวในการนำงบประมาณนั้นมาใช้โดยมาเลือกว่าจะผลิตอะไร จะประกอบกิจการอะไร ซึ่งผลสรุปคือการทำน้ำจิ้ม 3 ประเภทคือ 1.น้ำจิ้มไก่ 2.น้ำจิ้มซีฟู้ด 3.น้ำปลาหวานโรยกุ้ง แต่ที่น่าสนใจคืองบประมาณที่ถูกจัดสรรนั้น ไม่ถูกต่อยอดหรือเกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง เปรียบเสมือนการจัดกิจกรรมช่วงหนึ่ง เมื่อได้เงินมาก็ทำ หากไม่มีงบประมาณเข้ามาก็จบ ไม่มีกองทุนที่สำรองเงินเพื่อต่อยอดในการผลิตในครั้งต่อๆ ไปทำให้การรวมกลุ่มไม่เกิดประโยชน์ตามที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาตามมาอีกมาก เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก เล่นการเมืองในกลุ่ม โดยหาผลประโยชน์เข้าสู่ตนเอง บริหารงานแบบผักชีโรยหน้า เงินมาก็ทำให้จบๆ ไปเป็นแบบนี้มาตลอดและในอนาคตคงเป็นเช่นนี้และ มีการทุจริตหรือไม่ก็ตรวจสอบไม่ได้

ทั้งนี้ภาครัฐเองกระทำการละเมิดต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวโดยมีความพยายามผลักดันให้ประชาชนในพื้นที่ ออกจากการประกอบอาชีพชาวประมง เบี่ยงงานจากทะเล ให้งบสนับสนุนประชาชน รวมตัวกันทำธุรกิจในชุมชน อาทิ น้ำจิ้มดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ส่วนหนึ่งก็เห็นว่า เชื่อมโยงกับกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าเทพาหรือไม่? แท้จริงแล้วการจำกัดขอบเขตการประกอบอาชีพประมง เป็นสิ่งที่ควรกระทำให้เหมาะสมและไม่ละเมิดสิทธิในการประกอบอาชีพที่สุจริต

สุดท้ายนี้หลายๆ พื้นที่ในประเทศไทยก็เกิดปัญหา เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาในชุมชน ความขัดแย้ง และความเข้มแข็งของคนในพื้นที่ที่ยังมีไม่มากพอแต่สิ่งที่ทุกคนควรสังเกตประเมินให้ดีๆ จะเห็นได้ว่ารัฐไทยเอง ที่ไม่สามารถจัดการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เช่น ซื้อของมามอบให้อย่างในพื้นที่ตันหยงเปาว์ มีการได้รับอวนที่รัฐบาลซื้อมาแจก โดยไม่ได้สอบถามจากประชาชนว่าต้องการสิ่งใด รัฐไม่ได้เข้ามาดูบริบทในพื้นที่แต่มองว่าเน้นการเอาใจประชาชนโดยการสร้างสิ่งต่างๆ แจกเงิน แจกของ ไม่ได้สร้างจิตสำนึกหรือ ศักยภาพของบุคคลและสร้างภาพให้ตัวรัฐดูดีว่าช่วยเหลือประชาชนจริงหากลองวิเคราะห์แล้วจะเรียกว่าการแก้ปัญหาจากบนลงล่าง (up to down) หรือสร้างภาพจากบน (รัฐ) สู่ประชาชนทั่วทั้งประเทศ หากไม่ลองสอบถามจริงจากพื้นที่ก็จะเชื่อแค่ตามข่าว

หากรัฐบาลไทยมีความสามารถในการบริหารประเทศได้อย่างมีศักยภาพและมีคนยอมรับเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ รวมไปถึงประชาชนในรัฐไทยถ้าสามารถมีช่องทางหรือเปลี่ยนแปลงสังคมโดยคนในสังคมที่รู้สึกว่าทุกวันนี้ถูกล่วงละเมิด ถูกเอาเปรียบ หรือหลุดพ้นออกจากแนวคิด ''อยู่เป็น'' ได้ การแก้ปัญหาจากล่างสู่บน (Bottom up) น่าจะเพิ่มขึ้นและมีศักยภาพมากขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: อนินท์ญา ขันขาว เป็น นศ.ชั้นปีที่ 1
คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: ไม่กล้าออกภาษีที่ดินเพราะกลัวคนรวยเดือดร้อน

Posted: 29 Jun 2018 01:25 AM PDT



ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับการนำเสนอมานานตั้งแต่ครั้งยึดอำนาจเมื่อปี 2557 จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ออกมา เลื่อนมาตลอด และออกถ้าขืนได้ออกมา ก็คงเก็บภาษีได้ไม่กี่หมื่นล้าน และกลายเป็นกฎหมายพิกลพิการแบบภาษีมรดกที่เก็บแทบไม่ได้เลย
 

มุ่งช่วยไม่ให้คนรวยเดือดร้อน

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ทำให้คนจนเดือดร้อนเพราะถ้าจนจริงๆ ก็ไม่มีสมบัติอะไร แต่ถ้าเป็นคนชั้นกลาง ชาวบ้านทั่วไปก็ไม่เดือดร้อน ลองดูอย่างภาษีรถจักรยานยนต์เก่าสักคันราคา 30,000 บาท ต้องเสียค่าตรวจสภาพ (60 บาท) ค่า พรบ.ประกันรถจักรยานยนต์ (330 บาท) และภาษี (100 บาท) รวมเป็นเงินราว 490 บาท หรือ 1.6% ของราคารถ ก็ไม่เห็นมีใครบ่นเลย

ดังนั้นถ้าเรามีห้องชุดราคาถูกๆ 500,000 บาท แต่ราคาประเมินราชการมักจะต่ำกว่าราคาซื้อขายจริง สมมติว่าต่ำกว่า 20% เป็นเงิน 400,000 บาท หากสมมติต้องเสียภาษี 0.5% ก็จะเสียเพียง 2,000 บาท (หรือเดือนละ 333 บาท) พอๆ กับค่าจัดเก็บขยะ แต่ตามร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบอกว่า ไม่ต้องเสีย แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนไปพัฒนาประเทศ ทางออกที่ถูกบิดเบือนก็คือการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกรณีนี้แม้แต่ผู้ไม่มีบ้านและที่ดิน ก็ต้องเสียภาษีกันถ้วนหน้า เพราะบังคับเก็บกับประชาชนผู้บริโภคโดยตรง แต่ต่อนายทุน พวกเขาก็สามารถผลักภาระภาษีได้

แต่การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น แท้จริงแล้วต้องการที่จะช่วยคนรวยมากกว่า เช่น ถ้าคนรวยต้องเสียภาษี 0.5% ต่อปี โดยมีทรัพย์สินเป็นเงิน 100 ล้านบาท ก็เท่ากับเสียปีละ 500,000 บาท คนรวยๆ ไม่อยากเสียภาษี ยิ่งถ้ามีทรัพย์ราคา 1,000 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษี 5 ล้านบาท ก็ยิ่งเสียดายใหญ่ ร่างพระราชบัญญัตินี้ก็เลยหาสารพัดวิธีในการเลี่ยงภาษี เช่น แสร้งเอาไปทำการเกษตรเพื่อลดภาระภาษี เอาไปให้ราชการใช้ประโยชน์ชั่วคราวในขณะที่ยังไม่ได้ขาย จะได้ไม่ต้องเสียภาษีเลย เป็นต้น


ไม่ควรมีข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษี

ยิ่งมีการยกเว้น แต่ละคน แต่ละท้องที่ก็ยิ่งอยากให้ราคาประเมินต่ำ ๆ ไม่สะท้อนราคาตลาด การจัดเก็บภาษีก็อาจไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย  อาจเกิดกรณีที่ต้นทุนในการจัดเก็บภาษีพอ ๆ กับจำนวนรายได้ที่ได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสียอีก กลายเป็นภาระของกระบวนการจัดเก็บภาษีไปเสียอีก ซึ่งถือเป็นวิถีทางหนึ่งในการ "ทำหมัน" ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ที่ว่าไม่ควรมีข้อยกเว้นนั้นก็เพราะจะทำให้เกิดความลักลั่นในการตีความ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็จะเอาอีหรอบเดิม ๆ ก็คืออาจทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการตีมูลค่าที่ดินและอาคาร  อาจต้องมีเบี้ยบ้ายรายทางตามดุลยพินิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรให้เกิดขึ้น เพราะจะทำให้ชาวบ้านต้องเสียภาษี "นอกระบบ" เพิ่มขึ้นอีกภาษีหนึ่ง ที่ว่าไม่พึงมีข้อยกเว้นนั้น เพราะหากห้องชุดราคาถูกหน่วยหนึ่งมีราคาเพียง 300,000 บาท แต่ราคาประเมินเป็นเงิน 250,000 บาท  หากต้องเสียภาษี 0.1% ก็เป็นเงินเพียง 250 บาทเท่านั้น หรือเท่ากับเดือนละ 21 บาทเท่านั้น จะไปเกี่ยงกันทำไม


ภาษีนี้เสียน้อยมาก

ในต่างประเทศ เขาจัดเก็บภาษีนี้ที่ 1-3% ของมูลค่า เช่น บ้านในสหรัฐอเมริกาหลังหนึ่งราคา 10 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีปีละ 200,000 บาท (สมมติอัตรา 2%)  ราคาประเมินของทางราชการกับราคาตลาดก็ใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก  เราซื้อบ้านไว้แล้ว หากไม่ไปอยู่ก็ต้องเสียภาษี จะอ้างว่าตนไม่ได้ใช้งานไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับการจัดเก็บค่าส่วนกลางในชุมชนนั่นเอง

ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีภาษีนี้จะลดภาษีหรือค่าใช้จ่ายอื่น

1. ภาษีโรงเรือน และภาษีที่ดินในปัจจุบันที่จัดเก็บอย่างไม่เป็นธรรมก็จะถูกยกเลิก

2. ค่าส่วนกลางที่อาจต้องเพิ่มขึ้นทุกปีเพื่อสวัสดิภาพในชุมชนก็อาจลดลงหรือไม่ต้องเพิ่ม เพราะเราได้เสียภาษีไปใช้เพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว

3. เผลอ ๆ ภาษีมูลค่าเพิ่มก็อาจไม่ต้องจัดเก็บเพิ่ม เพราะส่วนกลางไม่ต้องมีภาระในการอุดหนุนส่วนท้องถิ่นถึง 90% ของงบประมาณเช่นในปัจจุบัน


อย่ากลัว ยิ่งจ่าย ยิ่งได้

ภาษีนี้เก็บมาเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นโดยตรง โดยอาจนำมาใช้พัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การศึกษาให้ทันความต้องการของท้องถิ่น และเมื่อท้องถิ่นได้รับการพัฒนา มีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น มูลค่าทรัพย์สินของเราก็จะยิ่งเพิ่มพูน ถ้าเราเสียภาษีปีละ 0.5% แต่ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี ก็เท่ากับการยิ่งให้ ยิ่งได้ มีแต่ได้ไม่มีเสีย แต่ถ้าเป็นการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% ภาษีนี้จะกระทบทุกฝ่าย

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะไม่กระทบต่อวงการพัฒนาที่ดิน ผู้ประกอบการก็กำไรปีละ 20% สุทธิอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งกำไรสูงมาก ราคาค่าก่อสร้างอาคารก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ราคาที่ดินก็ขึ้นเฉพาะใจกลางเมืองหรือบริเวณที่มีรถไฟฟ้า การใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จึงไม่ทำให้นักพัฒนาที่ดิน "ขนหน้าแข้งร่วง" แต่อย่างใด ผู้ซื้อบ้านก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อภาษีที่จัดเก็บน้อยแต่ได้เพิ่มมูลค่า

มูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีมากกว่าภาษีที่ต้องเสียอยู่แล้ว จะไปกลัวทำไม ประชาชนจึงไม่ควรถูกหลอกให้กลัว เพื่อเตะถ่วงภาษีนี้ หรือทำให้ภาษีนี้เก็บได้เงินเพียงน้อยนิด ไม่คุ้ม แล้วต้องเข็นภาษีมูลค่าเพิ่มออกมาให้ประชาชนทั้งประเทศเดือดร้อนกันอีก

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เว็บทำเนียบฯ ปล่อยถอดเทป 'ประยุทธ์' ให้สัมภาษณ์ TIME

Posted: 29 Jun 2018 12:22 AM PDT

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล เผยแพร่ ถอดเทปบทสัมภาษณ์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ นิตยสารไทม์ แต่ไม่มีส่วนที่ไทม์วิจารณ์ หลังมีข่าวห้ามเผยแพร่ในไทย และกิจกรรมแปลของนักศึกษาจุฬาฯถูกขอในยุติงาน 

29 มิ.ย.2561 จากเมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา นิตยสารไทม์ (TIME) ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นปกฉบับล่าสุด โดยมีเนื้อหาวิจารณ์ว่าแทนที่ผู้นำไทยคนนี้จะฟื้นฟูประชาธิปไตย กลับพยายามกุมอำนาจมากยิ่งขึ้น

ต่อมา วอยซ์ออนไลน์ รายงานว่า สมาชิกรายหนึ่งของร้านหนังสือ 'เอเชียบุ๊ก' ซึ่งเป็นร้านแฟรนไชส์ที่จัดจำหน่ายนิตยสารไทม์ในประเทศไทย เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่าได้โทรไปสอบถามกับฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของเอเชียบุ๊ก ได้รับการชี้แจงว่านิตยสารไทม์ ฉบับ 2 ก.ค. 2561 หน้าปก พล.อ.ประยุทธ์ มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม จึงจะไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย แต่ฉบับอื่นๆ ต่อจากนี้จะยังนำเข้ามาจำหน่ายตามปกติ อย่างไรก็ตาม เอเชียบุ๊กไม่ได้ชี้แจงว่าเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวข้องกับเรื่องใด 

วอยซ์ออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า ร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ สาขาเอ็มควอร์เทียร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้วางจำหน่ายนิตยสารไทม์ตามปกติ แจ้งกับลูกค้าที่ไปหาซื้อนิตยสารดังกล่าวว่าจะไม่มีการวางจำหน่ายไทม์ ฉบับที่เป็นหน้าปก พล.อ.ประยุทธ์ เช่นกัน แต่ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ธนวัฒน์ วงศ์ไชย ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ยังเปิดเผยด้วยว่าถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอให้ยกเลิกการจัดกิจกรรม "แปลภาษาอังกฤษให้ประวิตรฟัง" ที่กำหนดจะจัดขึ้นที่จุฬาฯ เมื่อ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมาอีกด้วย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถึงกระแสการสั่งห้ามขายนิตยสารไทม์ ฉบับดังกล่าว โดยยืนว่าไม่มีห้ามขายทั้งสิ้น และจะไปอุดหนุนซื้อมาสัก 10 ฉบับเก็บไว้

จนล่าสุดวานนี้ (28 มิ.ย.61) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th เผยแพร่ (ถอดเทป) บทสัมภาษณ์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ นิตยสารไทม์ ซึ่งสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายใน ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เป็นการถามตอบระหว่างผู้สัมภาษณ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่ได้ระบุส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งการบริหารงาน การละเมิดสิทธิ การตรวจสอบและปิดกั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ความพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเรียกว่า "สฤษดิ์น้อย (Little Sarit)" ตามชื่อของ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ผู้ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 2500 และได้ช่วยยกสถาบันกษัตริย์ให้มีบทบาทสูงสุดในสังคมไทยขณะนั้นด้วย

โดยบทสัมภาษณ์พิเศษ พล.อ. ประยุทธ์ และบทวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองไทย ในเว็บไซต์ไทม์ยังสามารถเข้าถึงได้

รายละเอียดถอดเทป ที่เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลเผยแพร่ : 

(ถอดเทป) บทสัมภาษณ์ นรม. กับ นิตยสาร Time ศุกร์ 1 มิถุนายน 2561  เวลา 14.30 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

TIME : นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนตนเองจากการเป็นทหารสู่งานการเมืองอย่างไร ?
พล.อ.ประยุทธ์ : ในขณะที่ยังเป็นผู้นำทางทหาร ก็พัฒนาตนเองอยู่เสมอ เรียนรู้มิใช่เฉพาะงานด้านทหาร เพราะว่าทหารมีความสำคัญในการช่วยเหลือบ้านเมืองทางด้านการพัฒนา มิใช่เพียงแค่เพื่อการสู้รบ แต่ทหารยังต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนา และในรัฐธรรมนูญไทยได้กำหนดว่า ทหารไทยมีบทบาทสำคัญที่สุดคือ การป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน และในเรื่องการพัฒนาประเทศ รวมไปถึงให้ความช่วยเหลือส่วนราชการต่างๆ และแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องจากพวกเราเป็นทหารของประชาชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นทหารของประเทศ เป็นทหารของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม ทหารทุกคนมีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ และในช่วงที่ผ่านมา ผมได้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ทุกอย่างกับทุกรัฐบาล ซึ่งผมเป็นทหารยาวนานกว่า 40 ปี โดยเป็น ผบ.ทบ. 4 ปี  เพราะฉะนั้นผมได้มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ พัฒนาองค์กรของผมด้วย เพื่อพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลในทุกอย่าง
 
TIME : รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ของประเทศไทย จะช่วยให้ประเทศไทยกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างไร?   
พล.อ.ประยุทธ์ : ที่ผ่านมา เรามีรัฐธรรมนญหลายฉบับด้วยกัน ประเด็นสำคัญคือ เราจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญของเรามีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น มีการพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน และที่สำคัญคือ เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วม เราต้องสร้างคนให้ได้แบบนั้น เพื่อไม่ให้มีการแก้ไขอยู่ตลอดเวลา อันเป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งที่ผ่านมา

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ควรเป็นความคาดหวังของคนไทยทั้งประเทศ และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับต่างประเทศด้วย ดังนั้นต้องมีบริบทของความเป็นไทยเข้าไป เพิ่มเติมลงไปด้วยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้ผ่านการประชามติตามกระบวนการประชาธิปไตย โดยมีคนมาลงคะแนนเสียงสนับสนุนคิดเป็น 60% และมีจำนวนคนกว่า 16 ล้านคน ที่มาออกเสียงทำประชามติ ผมถือว่ารัฐธรรมนูญที่ได้มาฉบับนี้น่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ในการที่จะใช้เป็นรัฐธรรมนูญดำเนินการปกครองและบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้

ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ตอบโจทย์หลายอย่าง ได้แก่ การมีส่วนร่วม ตรงตามความต้องการของประชาชน ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น การขัดกันของผลประโยชน์ มีกลไกต่าง ๆ ครบถ้วน เพราะไม่อยากให้ประเทศมีความขัดแย้งอีกต่อไป จึงต้องบริหารประเทศตามแนวทางของรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกฉบับต่าง ๆ ที่ประกอบกัน ต้องสอดคล้องกัน เพราะฉะนั้นจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นที่จะใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน

ข้อสำคัญที่สุดก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจะต้องจัดการกฎหมายลูกให้ครบถ้วน และเราก็มี พรบ. หลายตัวที่เราต้องทำขึ้นมาใหม่ ซึ่งเดิมในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ อาจจะจัดทำกฎหมายลูกได้ไม่ครบถ้วน เลยทำให้การบังคับใช้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดปัญหาขึ้น จึงมีกฎหมายลูกตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรากำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งประเทศไทยไม่เคยเขียนไว้ วันนี้ก็มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแผนการปฏิรูป ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนของสภาพัฒน์และนโยบายความมั่นคงของชาติ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราทำให้ครบถ้วนทั้งหมด ในกระบวนการของรัฐธรรมนูญทั้งหมดไปจนถึงกฏหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เพราะฉะนั้น 20 ปี ไม่ได้หมายความว่า เราจะไปผูกขาดอำนาจตลอดไป 20 ปี หรือแก้ไขอะไรเลยไม่ได้ 20 ปี เพราะว่ามันเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว มีการประเมินทุก 5 ปี ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ตามปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบกับการทำงานของเรา ทุกรัฐบาลก็สามารถดำเนินการได้ ไม่ได้มองว่าผมต้องการจะสืบทอดอำนาจต่าง ๆ ไม่เลย

เรามีประชาธิปไตยในประเทศไทยมากว่า 80 ปี แล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้ ผมมองว่าเป็นยุคใหม่ของการเมืองไทย ที่กำลังมี New Political Era เรามุ่งสู่อนาคต มีเป้าหมาย มีวิสัยทัศน์ คือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ประเด็นเด่นสำคัญก็คือ การมีธรรมาภิบาลในระยะยาว ป้องกันการทุจริต และประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองให้มากยิ่งขึ้น ในช่องทาง ในวิถีทางที่มันถูกต้อง
 
Time: นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐธรรมนูญจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในอดีตได้ แต่ผมได้คุยกับกลุ่มสนับสนุนตระกูลชินวัตรว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อปิดกั้นตระกูลชินวัตร  นายกรัฐมนตรีมีความกังวลหรือไม่ว่า หลังการเลือกตั้ง จะเกิดความขัดแย้งแบบเดิมขึ้นมาอีกครั้ง?
พล.อ.ประยุทธ์ : ในเรื่องดังกล่าวผมก็มีความกังวลอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ของการเมืองไทย ของประชาธิปไตยไทย ซึ่งคนไทยได้ทำมาเป็นเวลากว่า 80 ปีแล้ว ไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเรื่องของการขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนยังไม่ให้ความสนใจกับกฎหมายลูกและพรบ.ที่เกี่ยวข้องเลย ซึ่งการกระทำเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นในประเทศฝั่งตะวันตกและตะวันออกที่มีการพัฒนาสูงแล้ว ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในขั้นตอนดังกล่าวอยู่ หรือเรียกว่า "ระยะเปลี่ยนผ่าน" เพราะฉะนั้น ผมก็ยังคงกังวลอยู่ แต่ต้องมีการผลักดันความเข้าใจ การอธิบาย การเข้าถึง การมีส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงต้องมีอุปสรรค

การไม่เคารพกฎหมาย ก็มีกลุ่มคนแค่บางกลุ่มที่ไม่เคารพกฎหมาย ได้พยายามใช้กฎหมายเป็นตัวกลางในการสร้างความขัดแย้ง ไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และเป็นช่วงการตัดสินใจที่ยากที่สุดในชีวิตของผม ก่อนที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งใช้เวลาในการตัดสินใจไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยมิได้เป็นการตัดสินใจมาก่อนล่วงหน้า แต่เป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และผมไม่สามารถยอมรับได้หากประเทศเกิดความเสียหายไปมากกว่านี้หรือประชาชนสูญเสียและบาดเจ็บไปมากกว่านี้ ผมจึงตัดสินใจในขณะนั้น และผมก็ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และผมรับฟังปัญหาทุกอย่างที่สะสมในอดีต รับฟังความคิดเห็นของประชาชนจากสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ รวมไปถึงข้าราชการ ผมรับฟังทั้งหมดมาประยุกต์ และประมวลผลว่า จะต้องทำงานไปในทิศทางใด ซึ่งอยากให้เข้าใจถึงเหตุผลและความเป็นมาที่ผมต้องเข้ามารับตำแหน่งนี้

ผมเองไม่ได้ต้องการเข้ามาสู่อำนาจในลักษณะนี้ ไม่เคยคิดจะเป็นนายกรัฐมนตรีแบบนี้ แต่เนื่องด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังที่กล่าวไปแล้วว่าจะให้ประเทศชาติล่มสลายไม่ได้ เพราะผมได้ให้เวลาเพื่อปรับเปลี่ยนตามกลไกประชาธิปไตยแบบปกติ ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้มีการพูดคุยกัน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่ขัดแย้ง แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะว่ามีการบาดเจ็บสูญเสีย ใช้อาวุธสงคราม ผมในฐานะเป็นทหารของประชาชนจึงยอมรับไม่ได้ และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น นั่นคือการตัดสินใจของผม ตอนนี้ผมต้องการให้ประเทศกลับไปสู่การเป็นประชาธิปไตย หากผมต้องการอำนาจ ผมคงไม่เสนอร่างรัฐธรรมนูญ วาง Roadmap การเลือกตั้ง เพื่อที่จะอยู่ในอำนาจได้ยาวนาน แต่ผมไม่ได้ต้องการแบบนั้น
 
Time: หากนายกรัฐมนตรีไม่รู้สึกเสียใจต่อการตัดสินใจครั้งนั้น , ท่านคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างนั้นหรือ?
พล.อ.ประยุทธ์ : ทุกวันนี้ก็ยังไม่เสียใจ เพราะไม่มีการบาดเจ็บสูญเสียจากการที่ผมเข้ามาเลย ซึ่งก่อนหน้าผมจะเข้ามา ซึ่งเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลที่ผ่านมา มีการบาดเจ็บสูญเสียมากพอสมควร ตั้งแต่ผมเข้ามายังไม่มีการบาดเจ็บสูญเสียในเรื่องนี้เลย ประชาชนก็ยังสนับสนุน ยังให้ผมทำงานมาถึง 4 ปี นี่คือสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง ถ้าผมทำไม่ดีเลย ผมคงอยู่ไม่ได้ ปีเดียวก็คงอยู่ไม่ได้ แสดงว่าผมก็ต้องทำอะไรที่มันเกิดผลสัมฤทธิ์มาได้บ้าง   

4 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ 4 ปี แห่งการใช้อำนาจ เป็น 4 ปีแห่งการแก้ปัญหาเดิมและอุปสรรคเดิม พร้อมกับสร้างความมีเสถียรภาพและเดินไปข้างหน้า มองถึงอนาคต ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดมาตลอด และได้ดำเนินการตามนี้มาโดยตลอด และวันนี้มันก็ถึงเวลาแล้วว่า จะต้องเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งอันเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ผมก็ได้กำหนดวิธีทางไว้ทั้งหมดแล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญพร้อม กฎหมายลูกพร้อม ก็สามารถเลือกตั้งได้ ผมไม่เคยหวงหรือยึดอำนาจไว้
 
Time : ในห้วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กลับมามีเสถียรภาพทั้งในด้านการค้า การส่งออก รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น  นายกรัฐมนตรีจะยังคงบริหารด้วยระบบรัฐบาลแบบปัจจุบัน หรือให้คำมั่นที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย ?
พล.อ.ประยุทธ์ : ทุกอย่างผมคิดว่าจะดีกว่านี้ถ้าเป็นประชาธิปไตยแบบสากลโดยรัฐบาลที่เป็นสากล นำไปสู่การเลือกตั้ง โดยรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล เป็นรัฐบาลที่ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ ทำเพื่อประชาชนทั้งประเทศ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำทุกวันนี้ สิ่งที่ผมเริ่มวันนี้ จะต่อยอดไปข้างหน้าจะทำให้อนาคตดีขึ้นต่อไปได้อีกหลายรัฐบาล แต่ถ้าทุกคนย้อนกลับไปทำแบบเดิม ก่อนที่ผมจะเข้ามา สถานการณ์ก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม ระหว่างนี้ ที่ผมดำรงตำแหน่ง 4 ปี ผมอาจจะต้องมีอำนาจพิเศษ มีกฎหมายพิเศษของผมบ้าง ของรัฐบาลบ้าง เพื่อเสถียรภาพ มิฉะนั้นจะวุ่นวายมีความขัดแย้ง สิ่งที่มีปัญหาในรัฐบาลก่อน ก็จะยังมีปัญหาในรัฐบาลนี้ ประเทศชาติจะเดินหน้าไม่ได้ ขอให้เชื่อ การใช้กฎหมายของผม ผมใช้อย่างระมัดระวัง

ประเทศของเรา ตามที่ท่านได้พูดเรื่องเศรษฐกิจดีขึ้น การท่องเที่ยวดีขึ้น สิ่งเหล่านี้คือศักยภาพของไทยอยู่แล้ว รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องนำศักยภาพเหล่านี้มาขับเคลื่อนให้ได้จริง ตอบให้ตรงความต้องการของประชาชน นี่คือสิ่งสำคัญ

ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง ติดอยู่ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ใช้เครื่องจักรขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ มาประมาณ 40 ปีแล้ว ตอนนี้โลกก้าวไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4 เราจึงมีนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อผลักประเทศไทยให้มีรายได้สูงขึ้น มีหลายมาตรการ เช่น EEC เพิ่มการลงทุนใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ต่อยอดจากการพัฒนาเมื่อ 40 ที่แล้ว ในโครงการ Eastern Sea Board มาสู่โครงการ EEC  IEECD การวิจัยพัฒนา เมืองอัจฉริยะ พัฒนาดิจิทัลให้สอดคล้องกับการเติบโตของโลก ด้านเทคโนโลยี และดิจิทัล  เพราฉะนั้น นโยบายของไทยส่วนนี้จะสอดคล้องกับการพัฒนาของต่างประเทศด้วย เช่นของ อินโด แปซิฟิก และนโยบาย One Belt One Road เป็นนโยบายในภูมิภาคนี้ทั้งนั้น ส่วนสำคัญคือต้องมีความพร้อมของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน มีการพัฒนาตัวเอง เราจึงไปร่วมกับการพัฒนาเหล่านี้ โดยไทยจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นทั้ง 10 และอุตสาหกรรมเดิม 5 จะเพิ่มรายได้ให้ประเทศ จะนำรายได้นี้มาดูแล ช่วยพัฒนาประชาชนที่มีรายได้ต่ำ โดยเฉพาะเกษตรกร เมื่อ EEC ได้รับความสำเร็จ ก็จะเป็นโมเดลไปพัฒนาพื้นที่อื่นของประเทศ จะเป็นแผนในอนาคต ในอีก 20 ปีข้างหน้า และเราต้องนำโครงการนี้ไปต่อยอดเป็น East-West Corridor และ North South Corridor ไปยังภาคอื่นๆ ในอนาคต
 
Time :  นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (the Belt and Road Initiative )ซึ่งจะเชื่อมต่อกับโครงการ EEC  อยากทราบว่าการลงทุนจากจีนและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับจีนมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองของไทยอย่างไร?
พล.อ.ประยุทธ์ : ในส่วนของจีน ในฐานะที่เป็นคู่ค้าอันดับแรก อันดับหนึ่งของประเทศไทย มีอเมริกาและก็มีอีกหลายประเทศเป็น อันดับสอง อันดับสาม  อเมริกาเป็นลำดับสาม ถือเป็นมิตรประเทศของเราทั้งคู่ ทุกประเทศเป็นมิตรประเทศไทย ไทยเป็นประเทศเล็ก ไทยต้องสร้างสมดุลให้ได้ทั้งทางการเมือง การต่างประเทศ สร้างสัมพันธ์ที่ดี เพราะทุกประเทศเป็นมิตรกับเรามายาวนาน อย่างจีนมีประวัติศาสตร์กับเราเป็นพันปี ของอเมริกาก็กว่า 200 ปี และมีสิทธิประโยชน์ เหมือนกับคนไทยทุกประการ  มีหลายประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่ ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปรับรูปแบบของการทำงานตรงนี้ เพราะว่าประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางภูมิรัฐศาสตร์ในอาเซียน ไม่ว่าจะลากเส้นมาจากไหนก็ตาม ต้องผ่านประเทศไทย  ต้องเอาศักยภาพตรงนี้ขึ้นมา เพื่อไปเชื่อมโยงกับอินโดแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็น One Belt One Road ในกลุ่ม  BIMSEC  ในกลุ่มของ IORA  กลุ่มของ AMECES มันเชื่อมกันหมด เพราะไทยอยู่ตรงกลางของทวีป

ทุกๆประเทศ มีความสำคัญต่อไทยทั้งหมด เราต้องสร้างสมดุลให้ได้ทั้งด้านความมั่นคง การค้า การลงทุน สังคมเศรษฐกิจ ต่างๆ เพราะเราอยู่ในโลกใบเดียวกัน อากาศเดียวกัน อยู่บนพื้นดินที่ติดต่อกันทั้งโลก  น้ำ เกาะ มหาสมุทร ติดต่อกันทั้งหมด  เราล้วนเป็นมนุษยชาติ ถือว่าประเทศไทยมีส่วนร่วมกับทุกคนในการที่จะดูแลมนุษย์ชาติ ให้สงบ สันติ อย่างยั่งยืน ผมคิดอย่างนี้ 

เราต้องสร้างสมดุลให้ได้ในทุกมิติ  อันที่ 1 ก็ คือ สร้างสมดุลกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็น EU ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ฯ เราก็ให้ความสำคัญกับประเทศหมู่เกาะ ประเทศมุสลิม ประเทศ CLMV,  ASEAN,  Africa  เราให้ความสำคัญกับทุกกลุ่ม ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  Stronger Together  นี้คือ วิสัยทัศน์ของผม ผมไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อคนไทย  ผมทำหน้าที่เพื่อคนอื่นไปด้วย

ถามว่า  EEC ผมมั่นใจไหม ไม่ใช่อยู่ดีๆ คิดทำ EEC ขึ้นมา โดยไม่มีการประเมินว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่  สิ่งสำคัญที่กลับมาให้กับประเทศเราจะมากน้อยอย่างไร  สิ่งที่เราประเมินไว้ 5 ปีแรก เศรษฐกิจจะมีการขยายตัวขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 5 ต่อปี  ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา เกิดการจ้างงานแสนอัตราต่อปี  สร้างฐานภาษีใหม่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท  ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคนต่อปี  วันนี้ก็ 30 กว่าล้านแล้วนะครับ ก็ต้องเพิ่มให้ได้อีก  ลดรายจ่ายได้ 2 แสนล้านบาท  สร้างฐานรายได้ให้เพิ่มไม่น้อยกว่า  4.5 แสนล้านบาท  พูดถึงการลงทุน มูลค่าส่งเสริมการลงทุน ใน EEC สูงถึง 9.6 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ ฯ ในปี 60 นะ  ในปี 61 ตั้งไว้ 1.5  หมื่นล้านสหรัฐ ฯ  จะช่วยกระจายรายได้ เพิ่มงาน เพิ่มการท่องเที่ยว ข้อสำคัญ คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วย  เพิ่มฝีมือแรงงาน และตอบรับสังคมผู้สูงวัย ที่จะมาภายใน 5 ปี 10 ปี ข้างหน้า จะสูงขึ้นในอนาคต มองไปข้างหน้าด้วยซึ่ง EEC จะตอบปัญหาเหล่านี้ได้

ที่บอกว่าต้องให้มี GDP สูงขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ เพราะตอนนี้ที่เราทำมา 4 ปีที่ทำมา เราทำได้ 4 เปอร์เซ็นต์ แล้ว เพราะฉะนั้นถ้า EEC มาเสริมอีกอาจจะทำให้ขึ้นเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความหวังของเราหรืออาจจะมากกว่านั้นก็ได้
 
Time: นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในเอเชีย แต่การลงทุนในประเทศไทยของสหรัฐฯ มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นในขณะนี้ รวมทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็มีนโยบายในลักษณะชาตินิยม และ "อเมริกาต้องมาก่อน" (American First)  นายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่า ในห้วงเวลานี้ความเป็นพันธมิตรระหว่างไทย-สหรัฐฯ ลดน้อยลงหรือไม่?
พล.อ.ประยุทธ์ : ผมคิดว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น สหรัฐอเมริกาจะมีภาระมากมายในพื้นที่ส่วนอื่นของโลก อาจจะห่างจากทางอาเซียนไปบ้าง แต่วันนี้เท่าที่ผมติดตามดูและได้พูดคุยกับประธานาธิบดีทรัมป์ ผมก็เห็นว่าท่านให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้น ท่านเข้าใจบริบทของความประเทศไทย ท่านบอกว่าไม่เคยมาประเทศไทย แต่ท่านก็ศึกษา อ่านหนังสือ ท่านก็เห็นประเทศไทยมีธรรมชาติสวยงาม มีอาหารอร่อย และมีประชาชนที่มีน้ำใจไมตรี ยิ้มแย้มแจ่มใส ท่านก็อยากมาเยี่ยมเยือน สิ่งที่ผมได้คุยกับท่านคือ เราจะหาความร่วมมือที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ ทางเราก็สนับสนุนคนไทยไปลงทุนที่สหรัฐอเมริกา และในช่วงที่ผมไปก็ไปลงทุนมากขึ้นในเรื่องของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องพลังงานหลายร้อยล้านเหรียญและคงจะเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมลรัฐโอไฮโอ รวมทั้งมีแผนที่จะไปพัฒนาส่วนอื่น ๆ มีการซื้อของ แลกเปลี่ยนกันทั้งเครื่องบินและอื่น ๆ ซึ่งมีการพูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้ เป็นการหารือในเชิงสร้างสรรค์ และผมคิดว่าท่านเข้าใจ เราไม่ได้ลืมสหรัฐอเมริกา และยิ่งสหรัฐอเมริกามีนโยบายในเรื่องอินโด – แปซิฟิก เข้ามาด้วย ผมจึงคิดว่ามันสอดคล้องกันหมด ไม่ว่าจะเป็นอินโด – แปซิฟิก มาประเทศไทย หรือไม่ว่า one belt one road มา ก็เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของทุกประเทศ ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวหรือประเทศอื่นประเทศเดียว

ในส่วนของไทย – จีน วันนี้ เราร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ มีความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นความร่วมมือในทุกมิติ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องของไทยกับจีน ในส่วนของสหรัฐอเมริกา เราเป็นมิตรประเทศ หรือ ที่เรียกว่า Good Friends มีความสัมพันธ์ที่ดีมายาวนาน ตอนนี้ก็เพิ่งจัดงานในไทยไป ภายใต้ชื่อ Great and Good Friends  เราเข้าใจดีว่าทั้งสหรัฐฯ และจีน อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นไทยที่เป็นมิตรกับทุกประเทศ ก็พร้อมยินดีร่วมมือกับทั้งสหรัฐฯ และจีน บนพื้นฐานของ 3M คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม
 
Time: จีนมีระบอบการปกครองที่แตกต่างจากประเทศตะวันตก กล่าวคือระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยและอีกหลายประเทศในภูมิภาคดูเหมือนว่ามีแนวโน้มจะมาใช้แนวทางดังกล่าว ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร?
พล.อ.ประยุทธ์ : แนวทางมันก็มีส่วนดี ทุกอย่างก็ต้องมีส่วนดีส่วนไม่ดี เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่แต่ละประเทศจะเลือกใช้ ไม่ใช่ใช้อย่างนี้แล้วมันจะดีที่สุด อย่างเช่นการเป็นประชาธิปไตย เราก็มีประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานและหลักเกณฑ์ ในส่วนปลีกย่อยที่ต้องให้เหมาะสมและของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างอยู่บ้าง ไม่ใช่นำมาแล้วจะดีและเหมาะสมทั้งหมด ต้องมีการประยุกต์และใช้ให้ได้ ไทยเองยืนยันว่าเราเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากลแบบตะวันตก เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราก็ต้องทำในแบบของเรา แต่เราก็ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือได้ ไม่ว่าจะปกครองอย่างไรก็ตาม ต้องร่วมมือกันให้ได้ หาจุดที่จะมาสานสัมพันธ์กันให้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะปกครองแบบใดก็แล้วแต่
 
Time: ผมอยากทราบถึง แนวทางประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่เหมาะสมกับไทย?
พล.อ.ประยุทธ์ : ประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่เหมาะสมกับไทย คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างกลไกเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ถูกต้อง และในเรื่องของการมีสิทธิและเสรีภาพต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และการละเมิดสิทธิต่าง ๆ ถึงแม้จะเป็นสิทธิของประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น เพราะเส้นแบ่งระหว่างสิทธิมนุษยชนและเส้นแบ่งของการทำผิดกฎหมายเป็นเส้นเดียวกัน สิ่งนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดของ หลักการประชาธิปไตย คือ หลักการที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ และต้องดูแลเสียงส่วนน้อยด้วย แต่ที่ผ่านมา ประชาธิปไตยของประเทศไทยสมัยก่อน เป็นแบบเคารพเสียงส่วนใหญ่เท่านั้น มิได้ดูแลเสียงส่วนน้อย ดังนั้นผมจึงเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้เกิดการรับฟังความคิดเห็น 2 ทาง การสื่อสาร 2 ทาง มีการใช้ Big Data ในการบริหารราชการแผ่นดิน มีการใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อเปิดช่องทางการเข้าถึงรัฐบาลได้ตลอดเวลา เรามีศูนย์ดำรงธรรม ที่รับฟังและแก้ไขปัญหาของประชาชน มากกว่า 2 ล้านเรื่อง ตลอดระยะเวลา 4 ปี และรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาไปได้ร้อยละ 90 ของปัญหาทั้งหมด ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข เราแก้ไขไปมากกว่าล้านกว่าเรื่อง

เราต้องพิจารณาเจตนาของคนส่วนน้อยเหล่านี้ว่ามีเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ หากมีเจตนาบริสุทธิ์ รัฐบาลก็ต้องรับฟัง แต่หากเจตนาดังกล่าวไม่บริสุทธิ์ จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย วันนี้ก็กำลังมีปัญหาอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ต้องไปดูเจตนารมณ์ของเสียงส่วนน้อย ฝ่ายใดเป็นคนกระทำ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนอลม่าน มิให้คนส่วนใหญ่เสียผลประโยชน์ไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้
 
Time: ในกรุงเทพฯ ยังคงมีการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งจากกลุ่มนักศึกษา ซึ่งมีบางคนถูกดำเนินคดี  อยากทราบว่า ในขณะนี้ควรอนุญาตให้มีการชุมนุมหรือไม่?
พล.อ.ประยุทธ์ :รัฐบาลมีช่องทางให้กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถเรียกร้องได้ มีการขออนุญาตและรับฟังความคิดเห็นและความต้องการดังกล่าวเพื่อนำมาแก้ไข เพราะหากรัฐบาลปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวอย่างอิสระเสรีทั้งหมด อาจจะทำให้การเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยเป็นไปได้ยาก รัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยให้ได้ ต้องไปดูว่าเด็กนักเรียนต่าง ๆ ที่มาประท้วง ถ้าเราเข้าใจจริง ๆ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไม่ได้อยากบังคับใช้กฎหมาย มีการผ่อนผัน และไม่ได้จับกุมหลายครั้ง แต่เด็กกลุ่มนี้ก็ยังทำเหมือนเดิม เพราะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้อาจริงเอาจัง มองว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นเด็ก เพราะฉะนั้นหากมีความจำเป็น ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิด ขณะเดียวกันคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่ชอบเพราะทำให้บุคคลอื่นเกิดความเดือดร้อน รัฐบาลก็พยายามรับฟังว่าเขาต้องการอะไร วันนี้เขาต้องการให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังเสร็จ  กฎหมายเหล่านี้เสร็จ ก็จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า จะเรียกร้องได้อย่างไรให้เลือกตั้งเร็วกว่านี้ ในเมื่อกฎหมายยังไม่เสร็จ แลรัฐบาลก็ไม่ได้เป็นคนไปดึงกฎหมาย หากมีความขัดแย้งก็ส่งศาลพิจารณา ไม่ได้มีการสั่งศาลว่าให้ออกเมื่อไหร่ ถ้ากฎหมายลูกออกครบ 10 ฉบับ กฎหมายที่สำคัญออกมาครบถ้วน มันก็จะดำเนินไปตามนั้น จะเลือกตั้งได้ไม่เกินต้นปีหน้า จะมาขอให้รัฐบาลทำให้เร็วขึ้น มาต่อต้านไม่ได้ เด็กกลุ่มนี้ หนังสือก็ไม่เรียน อยู่ในกลุ่มเคลื่อนไหวมาโดยตลอด แต่ผมเห็นเค้าเป็นเด็ก ผมก็เมตตาเขาอยู่เลย หากไม่บังคับใช้กฎหมายเลย คนที่เหลือก็จะมาเล่นงานรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ว่าปล่อยปะละเลยให้บ้านเมืองสับสนอลม่าน นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

วันนี้เราเปิดช่องทาง มี พรบ.การชุมนุม ถ้าชุมนุมโดยปกติ มาเรียกร้องอะไร รัฐบาลก็อนุญาตและพิจารณาให้ตลอด แต่หากสร้างความขัดแย้งในที่สาธารณะ เดี๋ยวก็จะมีอีกกลุ่มมาต่อต้าน ก็จะตีกันเหมือนเดิม กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่มาจากการเมือง มีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อีกกลุ่มที่ต้องการความสงบสันติสุข เขาก็จะเตรียมรวมกลุ่มออกมาเพื่อต่อต้านกลุ่มนี้ ก็จะกลับไปที่เดิม จึงต้องมีการบังคับใช่กฎหมายบ้าง
 
TIME : นายกรัฐมนตรียังคงยึดมั่นในเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่?
พล.อ.ประยุทธ์ : ใช่ ตอนที่ให้ติดตามทั้งหมดมีเรื่องอะไร เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่สิทธิมนุษยชนก็ต้องดูว่ามันมี... มันก็เหมือนกัน มันมีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามจับประเด็นเรื่องนี้มาเพื่อจะสร้างความไม่เข้าใจในเวทีโลกให้กับประเทศไทย คนเหล่านี้ก็รู้อยู่ว่าเป็นคนกลุ่มไหน ผมไม่กล่าวถึง แล้วมันก็มีกลุ่มที่จะเคลื่อนไหวไปพร้อมๆกับกลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ ซึ่งจริงๆแล้วเราพยายาม ต้องดูว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนคืออะไร การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็คือการที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเกินเลย ใช้ความรุนแรง มีการซ้อม มีการทรมาน รัฐบาลลงโทษทุกอัน ไม่ให้มีการทำแบบนี้ เพราะฉะนั้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องดูว่าคนเหล่านี้ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่นหรือเปล่า ทำคนอื่นเดือนร้อนไหม ทำการจราจรติดขัดไหม หรือคนที่ต้องการค้าขายทำมาหากิน แล้วพวกนี้ไปละเมิดเขาจนกระทั่งต้องปิดเมือง แล้วผมถามว่าไปละเมิดสิทธิมนุษยชน แล้วกฎหมายอยู่ตรงไหน ท่านคงเข้าใจอยู่แล้วล่ะ

เรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ในสมัยรัฐบาลนี้ลงโทษหมด ไม่ว่าการบังคับใช้กฎหมายอะไรในปัจจุบัน ลงโทษหมด เจ้าหน้าที่ก็ลงโทษ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ มีการกล่าวอ้างว่ามีการทำร้ายร่างกาย ก็ลงโทษหมด หลายอย่าง ถือว่ารัฐบาลนี้แก้ไขได้มากที่สุด แต่เรื่องการละเมิดที่เค้าอ้างกันมา ที่เด็กๆไปละเมิดทางการเมืองอะไรทำนองนี้ก็ต้องไปดูว่า จะทำให้บ้านเมืองสงบสุขได้อย่างไร

เขาต้องการให้มีการจับกุม เราก็ปล่อย แล้วก็มีการดำเนินการให้หยุดการชุมนุม แล้วก็เลิกหลายครั้งแล้ว แล้วก็มาใหม่ มาใหม่ ต้องการให้ภาพการจับกุม การใช้ความรุนแรง เพื่อจะไปข้างนอก อันนี้อาจจะเป็นกระบวนการทำของใครซักคน ผมไม่อยากไปกล่าวถึง
 
TIMES: ขอถามถึงความเป็นมาก่อนที่ท่านจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำไมท่านจึงตัดสินใจเลือกที่จะมารับราชการทหาร?
พล.อ.ประยุทธ์ : เพราะว่าอันที่หนึ่งคือ ครอบครัวผมเป็นทหาร ตอนเด็กๆบ้านผมอยู่ในค่ายทหาร ผมเห็นการมีระเบียบวินัย เห็นความเข้มแข็ง ความอดทนของเค้า เห็นถึงความรักชาติ  ไปประจำอยู่ชายแดน ไปรบต่างประเทศ ก็นึกในใจไว้ว่าเรามาเป็นทหาร เราต้องเสียสละ เราต้องทำเพื่อสถาบัน สิ่งที่เกิดกับผมมาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยคิดเป็นอย่างอื่นตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ได้คิดว่าจะเป็น ผบ.ทบ. จะเป็นใหญ่เป็นโต ขอแค่เป็นทหาร นั่นคือความคิดเด็กๆของผมนะ แล้วก็ไม่เคยคิดที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย
 
TIMES: ผมทราบว่านายกรัฐมนตรีชอบการร้องเพลง และแต่งเพลงหลายเพลง  ท่านจะเป็นนักร้องอาชีพหรือไม่?
พล.อ.ประยุทธ์ : ผมชอบฟังเพลง อาจจะร้องเพลงไม่เก่ง แต่ชอบฟังเพลง และแต่งเพลง หลายอย่าง ทั้งเพลงไทย เพลงสากล สิ่งที่ผมฝึกตัวเองมาตั้งแต่เด็กคือการอ่านหนังสือมากๆ แล้วนิสัยคนไทยก็เจ้าบทเจ้ากลอน เพราะฉะนั้นการพูดอะไรที่คล้องจอง แล้วผมชอบเขียนหนังสือ การเขียนหนังสือก็ต้องใช้จิตวิญญาณในการเขียน มาร้อยเรียงให้สอดคล้องต้องกัน ร่างหนังสือก็สำคัญ เพราะฉะนั้นผมก็ใช้ประสบการณ์ผมในการเขียนหนังสือ ในการอ่านหนังสือ เอาคำต่างๆมาผสมผสานกัน แล้วคิดว่าการที่เขียนเพลง จริงๆผมเขียนเป็นบทกวี บทกลอนออกมา ที่อาจจะไม่เพราะมากแต่ต้องการจะถ่ายทอดความรู้สึกของผมภายในออกมา ผมคิดว่าเป็นวิธีการสื่อสารอีกวิธีหนึ่งที่ให้คนไทยได้รับรู้รับทราบว่าผมคิดอะไร ทำอะไร มีความตั้งใจอะไร อย่างที่บอกคนไทยเจ้าบทเจ้ากลอน เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นการสื่อสารที่ดีก็ได้ ผมก็แต่งออกมา

บทกวีบางบท คำบางคำ สามารถทดแทน คำพูดหลายหมื่นคำ ไม่ต้องสิ้นเปลืองเสียเวลา ผมอาจใช้บทกวีแทนคำพูดซัก 5 หน้ากระดาษก็ได้ แสดงให้เห็นว่าความคิดผมไม่เคยหยุดนิ่ง ผมจะร้อยเรียงทุกอย่างหมดในหัวผม เรื่องการบรูณาการ การบริหารจัดการ 20 กระทรวง ทุกอย่างอยู่ในหัวผมทั้งนั้น แล้วผมต้องจัดระเบียบสมองผมให้ได้ เพราะฉะนั้นการเขียนบทกวี บทกลอน ช่วยให้ผมเรียบเรียงได้ในหัวผม ช่วยตัวผมเองด้วย และการถ่ายทอดไปยังคนอื่นด้วย

TIME : นายกรัฐมนตรีจะทำอะไร เมื่อท่านพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว? 
พล.อ.ประยุทธ์ : ผมจะกลับบ้านไปพักผ่อนกับครอบครัว ผมต้องให้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น ผมมีชีวิตในการเป็นทหารมา 40 ปี ในช่วงเวลา 40 ปี ผมได้อยู่กับครอบครัวมาช่วง 10 ปีสุดท้าย และลูกผมก็เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะผมอยู่ต่างจังหวัดมาโดยตลอด และเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อรับตำแหน่งผู้บัญชาการระดับสูง วันนี้ผมยังติดค้างลูกอยู่ว่า หากผมเกษียณอายุราชการทหารแล้ว ผมจะพาลูกไปพักผ่อน ไปสถานที่ต่างๆ ซึ่งผมไม่เคยไปกับลูก ส่วนใหญ่ก็เป็นหน้าที่ของภรรยาที่พาลูกไป ผมถือว่าเป็นการเสียสละของครอบครัวอย่างยิ่ง และช่วง 4 ปีทีผ่านมา ความเป็นอิสระของคนในครอบครัวลดลง เนื่องจากการเดินทางที่สาธารณะต้องมีความมัดระวัง  ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นภาระของคนในครอบครัว เพราะฉะนั้นผมถือว่าครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญในสังคมไทย รวมไปถึงทุกประเทศก็เป็นเช่นเดียวกัน ในการให้ความสำคัญกับครอบครัว เพราฉะนั้นผมจึงต้องให้เวลากับคนในครอบครัว หากวันหนึ่งผมไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีผมก็จะไปพักผ่อน อย่างไรก็ตาม ผมไม่สามารถระบุตรงนี้ได้ ผมได้แค่บอกคนในครอบครัวผมว่า ประเทศชาติต้องสำคัญกว่าทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ประเทศชาติต้องมาก่อนเสมอ โดยเฉพาะประเทศชาติ และประชาชน อันมีสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน นั่นคือหัวใจผมของลูกๆ

TIME: หลังจาก ก.พ.62 ท่านจะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ? หรือจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่?
พล.อ.ประยุทธ์ : ผมคิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสถานการณ์ในวันข้างหน้า ว่า เราต้องการสิ่งใด รวมไปถึงการสานต่อการทำงาน ผมยังไม่ได้คิดนอกเหนือจากเรื่องดังกล่าว ซึ่งผมไม่สามารถกำหนดว่าผมจะอยู่ในฐานะใด โดยขึ้นอยู่กับประชาชน และสถานการณ์ในวันข้างหน้า ผมไม่สามารถกำหนดเองได้ เมื่อถึงเวลานั้นก็จะเป็นเรื่องของประชาธิปไตย รวมถึงการเลือกตั้ง และเป็นสถานการณ์ที่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งต้องรอดูต่อไป
 
TIME: การที่ท่านเกิดที่จังหวัดนครราชสีมา ท่านคิดว่า ท่านเป็นคนอีสาน? หรือเป็นคนไทย? หรือ เป็นทหารมากที่สุด? 
นรม. : พ่อของผมเป็นคนกรุงเทพฯ แม่ของผมเป็นคนภาคอีสาน และวันนี้ผมเป็นทหารมา 40 ปี ผมเป็นทหารให้กองทัพบก ดูแลคนทั้งประเทศ ในวันนี้ผมมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การเป็นทหารในแต่ละภูมิภาค แต่เป็นนายกรัฐมนตรีของคนทั้งประเทศ โดยมีจำนวน 70 ล้านคน ทั้ง 77 จังหวัด นี่คือตัวตนของผม

TIME: ผมได้คุยกับกลุ่มเห็นต่างทางการเมืองจำนวนหนึ่ง  ท่านคิดว่าการบริหารประเทศของท่านในปัจจุบัน  เป็นการยุติความรุนแรงทางการเมืองหรือไม่?
พล.อ.ประยุทธ์ : ในวันนี้ต้องการที่จะทำให้คนมีความสุข เกิดการปรองดองกัน ไม่แค่ผมรักแค่คนเดียว แต่ขึ้นอยู่กับจิตใจของคนไทยทุกคน รวมไปถึงนักการเมือง และทุกอาชีพ ต้องมีจิตใจมาก่อน ในเรื่องปรองดองสมานฉันท์ ไม่แบ่งฝ่าย ในตอนแรกผมคิดว่าคนไทยในทั้งประเทศมีความพร้อมในเรื่องดังกล่าว  แต่ก็มีบางคนที่พยายามแบ่งฝ่าย ซึ่งปัญหาดังกล่าวเราก็จะต้องใช้วิธีการที่เหมาะสม โดยปราศจากความรุนแรง ซึ่งผมมีความเป็นห่วงตรงจุดนี้ แต่สิ่งที่ผมได้ทำไป ผมไม่ได้คิดเอง เพราะได้มีการคิดวิเคราะห์ มีกระบวนการต่างๆ ที่นำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ด้วยความเข้าใจของคนไทยทุกคนต้องไม่เลือกกฎหมาย ไม่เลือกการบังคับ ซึ่งที่ผ่านมาผมบังคับคนในกองทัพบกรักษาวินัยควบคุมหน่วยทหารมา 40 ปี และเป็นผบ.ทบ. 4 ปี ทำให้ผมเบื่อในการใช้กฎหมาย แต่ก็จำเป็นต้องทำในสถานการณ์ขณะนี้ นอกจากนี้ การปฏิรูปต้องเริ่มจากทุกคน มาจากหัวใจของคนไทยทุกคน

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกฟ้อง คดี 112 'ทอม ดันดี' เป็นคดีที่ 2 จาก 4 คดี

Posted: 28 Jun 2018 09:30 PM PDT

ศาลยกฟ้อง คดี 112 'ทอม ดันดี' เป็นคดีที่ 2 จาก 4 คดี ชี้โจทก์บรรยายฟ้องยังไม่มีความแจ้งชัด ว่าเป็นการใส่ความ ดูหมิ่น หมิ่นประมาทตามฟ้อง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ส่วน 2 คดีแรกศาลลงโทษจำคุกรวมแล้ว 10 ปี 10 เดือน อยู่ในเรือนจำมาแล้วกว่า 4 ปี

แฟ้มภาพ เพจ Banrasdr Photo

29 มิ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้  เวลาประมาณ 9.45 น. ศาลจังหวัดราชบุรีอ่านคำพิพากษาคดี ธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ ทอม ดันดี จำเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยศาลพิพากษายกฟ้อง 

สรุปความได้ว่า เนื่องจากคำปราศรัยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นยังไม่มีความแจ้งชัดว่าเป็นการใส่ความ ดูหมิ่น หมิ่นประมาทตามฟ้อง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตา 185 วรรคหนึ่ง จึงพิพากษายกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ภรรยาและเพื่อนทอม ดันดี มาร่วมฟังคำพิพากษาราวสิบกว่าคน และก่อนศาลจะอ่านคำพิพากษาได้สอบถามว่าใครเข้าฟังบ้าง พร้อมกำชับสื่อมวลชนให้รายงานให้ถูกต้องครบถ้วนและถือเป็นคำสั่งศาล หากเกิดความผิดพลาดจะถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล 

โดย คดีนี้อัยการเพิ่งฟ้องเมื่อเดือนมกราคม 2561 เหตุจากการปราศรัยเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2553


ทั้งนี้ ทอม โดนทยอยฟ้องตามมาตรา 112 รวมทั้งสิ้น 4 คดี คดีนี้เป็นคดีสุดท้ายที่ตัดสิน โดยบวร ยสินธร ประธานเครือข่ายราษฎรป้องกันสถาบัน เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษ เหตุจากการปราศรัยของทอม ดันดี ในปี 2553 ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดี 112 จากการปราศรัยของทอม ดันดี ที่จังหวัดลำพูนเมื่อปี 2554 ในงานแรงงานสร้างบ้านแป๋งเมือง แม้ว่าตัวเขาจะตัดสินใจรับสารภาพไปแล้ว ส่วน 2 คดีแรกศาลตัดสินลงโทษจำคุกรวมแล้ว 10 ปี 10 เดือน ขณะนี้เขาอยู่ในเรือนจำมาแล้วกว่า 4 ปี

ทอม ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2557 และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่มารายงานตัว ศาลลงโทษจำคุก 6 เดือนแต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนคดีตามมาตรา 112 นั้นเขาถูกทยอยฟ้องทั้งสิ้น 4 คดี ทั้งหมดมาจากการปราศรัย คดีแรกและคดีที่สองมาจากคลิปการปราศรัยของเขาที่โพสต์ในยูทูบโดยบุคคลอื่นในปี 2556 ด้วยระยะเวลาห่างกันราว 1 สัปดาห์ คดีแรก ศาลอาญาพิพากษาจำคุกกรรมละ 5 ปี รวม 3 กรรม 15 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงเหลือโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน อีกคดี ศาลทหารลงโทษจำคุก 5 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน และให้นับโทษต่อจากคดีของศาลอาญา รวมแล้ว จำคุก 10 ปี 10 เดือน 

นอกจากคดี ทอม แล้ว เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีประเวศ ประภานุกูล ซึ่งอัยการฟ้องในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 10 กรรม มาตรา116 จำนวน 3 กรรม และ มาตรา14 (3) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 โดยศาลตัดสินว่า จำเลยไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมเท่ากับปฏิเสธสิทธิที่จะสู้คดี การโพสต์เฟสบุ๊คของจำเลยตั้งค่าเป็นสาธารณะ ข้อความดังกล่าวมีความผิดตามมาตรา 116 และมาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่เนื่องจากเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษในบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จึงให้ลงโทษจำคุกในความผิดมาตรา 116 จำนวน 3 กรรม กรรมละ 5 เดือน รวม 15 เดือน นอกจากนี้ให้ลงโทษจำคุกฐานไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวนตามประกาศ คปค.ที่ 25/2549 อีก 1 เดือน รวมโทษจำคุกทั้งหมด16 เดือน ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ตามในคำพิพากษาที่อ่านในวันนี้มิได้บรรยายการวินิจฉัยมาตรา 112 แต่อย่างใด

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น