โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

สำนักงานทรัพย์สินฯ แถลงเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นเป็นพระปรมาภิไธย ร.10

Posted: 16 Jun 2018 08:59 AM PDT

วันนี้ (16 มิถุนายน 2561) เว็บไซต์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (http://www.crownproperty.or.th/) ได้เผยแพร่คำชี้แจงเรื่อง การเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

คำชี้แจงดังกล่าวระบุว่า

1) จากข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ซึ่งรวมทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าด้วยกัน เป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงมีภาระหน้าที่ต้องถวายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในความดูแลแต่เดิมคืนให้แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ดังนั้น สำหรับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ใดที่เดิมเป็นชื่อของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เช่น การมีชื่อในผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด จึงต้องเปลี่ยนเป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2) เปลี่ยนชื่อความเป็นเจ้าของทรัพย์สินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นอยู่ในบังคับของกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร และต้องมีภาระเสียภาษีอากรเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป อันเป็นการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์

3) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสานพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ได้ทรงสร้างคุณูปการให้แก่ประเทศไทย ด้วยการก่อตั้งกิจการต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยมีฐานะมั่งคงสามารถดำเนินกิจการด้วยคนไทยและแข่งขันกับต่างประเทศได้ เช่น กิจการธนาคารไทยพาณิชย์ หรือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) การใช้พระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการเหล่านั้น จึงเป็นการยืนยันพระราชปณิธานดังกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นพระราชภาระในการดูแลกิจการเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากิจการเหล่านี้จะยังคงดำเนินกิจการต่อไปอย่างยั่งยืนและมีการพัฒนาให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยตลอดไป

4) การใช้พระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการที่เดิมใช้ชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำให้ทรงสามารถมอบหมายข้าราชบริพารหรือผู้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทดูแลกิจการต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้กิจการเหล่านี้ดำเนินการอยู่ในกรอบการบริหารกิจการที่ดีตามพระราชประสงค์ โดยมุ่งหวังให้กิจการเหล่านี้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด และมีความยึดมั่นในหลักคุณธรรมและความถูกต้องดีงาม

นอกจากนั้นเว็บไซต์ BBC Thai ยังได้ลำดับเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาดังนี้ 

17 ก.ค. 60: โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับใหม่

18 ก.ค. 60:โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ชุดใหม่โดยมี พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เป็นประธานกรรมการ

6 ต.ค. 60: สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โอนหุ้น 113.27 ล้านหุ้นในธนาคารไทยพาณิชย์ออก ทำให้สัดส่วนหุ้นในธนาคารลดลงเหลือ 18.14%

15 มี.ค. 61: เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ระบุ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงถือหุ้นในบริษัท จำนวน 9,070,600 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.76% โดยทรงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ใน SCC

25 เม.ย. 61: บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งเรื่องมีมติแต่งตั้ง พล.อ.อ. สถิตพงษ์ สุขวิมล ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการคนใหม่














 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดัน พม. ขึ้นทะเบียน “คนไทยไร้สิทธิ” ดูแลคนไทยไม่มีบัตรประชาชนช่วยเข้าถึงสิทธิสุขภาพก่อน

Posted: 16 Jun 2018 07:07 AM PDT

เสนอ พม. ประกาศขึ้นทะเบียน "คนไทยไร้สิทธิ" ดูแลคนไทยไม่มีบัตรประชาชนช่วยเข้าถึงสิทธิสุขภาพก่อน พร้อมประสานสำนักงานเขตและอำเภออำนวยความสะดวกค้นหาข้อมูล ตามหาญาติ-หลักฐานคืนสถานะ เผยมีคนไทยไร้สิทธิ์เป็นประชากรแฝงอยู่มาก เหตุไม่ได้แจ้งเกิด หนีทหาร เร่รอน ไม่ต่อบัตรประชาชน   

วิมล ถวิลพงษ์ รองประธานชุมชนใต้สะพาน (ชุมชนพูนทรัพย์) เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการทำงานในชุมชนรวมถึงพื้นที่อื่นๆ พบว่า ยังมีคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชนอยู่มาก กลายเป็นคนไทยไร้สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุข หนึ่งในปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตที่ควรเข้าถึงสิทธิ แม้ที่ผ่านมาได้ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและภาคีเครือข่าย ผลักดันให้คนไทยไร้สิทธิส่วนหนึ่งได้รับการพิสูจน์สถานะและทำบัตรประชาชนไทยได้แล้ว แต่ยังคงมีคนไทยกลุ่มที่ตกสำรวจที่ยังไร้สิทธิไร้บัตรประชาชนอยู่จำนวนมาก โดยกระจายอาศัยอยู่ในจังหวัดต่างๆ

ดังนั้นเพื่อให้เกิดการคุ้มครองและดูแลคนไทยด้วยกันให้ได้รับสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาล จึงมีข้อเสนอต่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ออกประกาศขึ้นทะเบียนคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชน และให้คนเหล่านี้ได้รับสิทธิด้านสุขภาพก่อน ส่วนขั้นตอนการพิสูจน์สิทธิสถานะเพื่อให้ได้บัตรประชาชนขอให้ดำเนินการตามมาในภายหลัง เช่น การตามหาญาติยืนยัน การตรวจดีเอ็นเอ เป็นต้น  รวมถึงสิทธิอื่นในฐานะคนไทย 

วิมล กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเดินมาถึงข้อเสนอนี้ เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว เราได้เคยเสนอจัดตั้ง "กองทุนเพื่อดูแลคนไทยที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล" ให้เข้าถึงบริการในเวทีรับฟังความเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้คนไทยเหล่านี้เข้าถึงบริการสุขภาพก่อน เพราะล้วนเป็นคนไทยด้วยกัน เพียงแต่มีปัญหาการทำบัตรประชาชน อาทิ บางคนพ่อแม่ไม่แจ้งเกิด หนีทหารกลัวถูกจับทำให้ไม่กล้าต่อบัตรประชาชน บางคนหนีออกจากบ้านมาก็ไม่ได้ต่อบัตรประชาชน เป็นต้น ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นคนไทยที่ตกสำรวจไป ซึ่งได้นำมาสู่ข้อเสนอออกประกาศขึ้นทะเบียนคนไทยไม่มีบัตรประชาชน และการสำรวจจำนวนคนไทยไร้สิทธิ์ โดยมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างดำเนินการขณะนี้   

"ในการทำงานที่ผ่านมา จากที่ได้พาคนเหล่านี้ไปทำบัตรประชาชน บางสำนักงานเขต เจ้าหน้าเขตที่คอยอำนวยความสะดวกและช่วยค้นหาข้อมูลญาติให้ ทำให้สามารถติดต่อเพื่อมายืนยันสถานะตัวตนได้ แต่หลายเขตเจ้าหน้าที่ต่างปฏิเสธ บอกว่าเป็นการละเมิดสิทธิบุคคลอื่น  ดังนั้นจึงอยากให้ พม.ประกาศขึ้นทะเบียนคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เขต เจ้าหน้าที่อำเภอและจังหวัดมีบรรทัดฐานเดียวกัน ช่วยค้นหาข้อมูลในการพิสูจน์สถานะบุคคล เพื่อให้ได้สิทธิความเป็นคนไทยกลับคืนมา" รองประธานชุมชนใต้สะพาน (ชุมชนพูนทรัพย์)ฯ กล่าวและว่า เราไม่ได้ขออะไรมาก เพียงแต่อยากให้สืบค้นว่าญาติเขาอยู่ที่ไหน เพื่อที่จะได้ไปตามหาและให้มายืนยันสถานะให้เท่านั้น   

วิมล กล่าวอีกว่า กรณีของนางไอ๊ วาเส็ง อายุ 66 ปี ชาวชุมชนพูนทรัพย์ ที่เป็นคนไทยตกสำรวจคนหนึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เกิดในประเทศไทย พ่อแม่พี่น้องเป็นคนไทย มีหลักฐานยืนยันหมด แต่กว่าจะได้รับสิทธิรวมถึงสิทธิการรักษาพยาบาลที่ควรได้รับการดูแลตั้งแต่มีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็เมื่ออายุมากแล้วคือ 65 ปี ทั้งยังป่วยเป็นผู้ป่วยติดเตียง หากก่อนหน้านี้มีบัตรประชาชนคงได้ใช้สิทธิบัตรทองไปรักษาแต่เนิ่นๆ ไม่ปล่อยให้ทรุดจนต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงเช่นทุกวันนี้

นอกจากนี้ยังมีกรณีพ่อเป็นต่างชาติ แม่เป็นคนไทย แต่เด็กที่เกิดมากลับไม่ได้รับสัญชาติไทย เพราะไม่ได้แจ้งเกิด รวมถึงกรณีที่เขตราชเทวีที่แม่อุ้มลูกหนีจากโรงพยาบาลเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าคลอด และไม่กล้าไปแจ้งเกิดเนื่องจากกลัวถูกจับ จนขณะนี้ลูกอายุ 20 ปีแล้ว กรณีนี้เราพาไปทำบัตรประชาชนโดยมีญาติและหลักฐานยืนยันได้ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีคนไทยที่ตกอยู่ในฐานะประชากรแฝงอยู่มาก ภาครัฐควรดูแลและคืนสิทธิความเป็นคนไทยให้กับคนเหล่านี้  
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิติรัฐที่พังทลาย: รายงาน 4 ปี สิทธิมนุษยชนภายใต้ คสช. และผลพวงรัฐประหารต่อสังคมไทย 1

Posted: 16 Jun 2018 01:58 AM PDT

 

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับเป็นคณะรัฐประหารที่เข้ายึดและอยู่ในอำนาจนานเป็นอันดับที่ 2 ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย รองจากระบอบเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร (พ.ศ.2501-2516)

นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนครบ 4 ปีในปัจจุบัน เท่ากับช่วงเวลาที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะหมดวาระลง และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นอีกครั้ง ทว่า คสช. ก็ยังคงไม่ลงจากอำนาจ

4 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยสูญเสียหลายประการ โดยเฉพาะสูญเสียเวลาพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและสถาปนานิติรัฐในสังคม รายงานขององค์กรระหว่างประเทศระบุว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกัน 4 ปีที่ผ่านมา คณะรัฐประหารได้สร้างระบบระเบียบทางการเมืองและกฎหมายหลายประการ ที่จะเป็นผลพวงเผด็จการตกค้างอยู่ในสังคมไทยอีกหลายปี แม้ คสช. จะหมดอำนาจไปก็ตาม

คำถามสำคัญสำหรับสังคมไทยในระยะต่อไป คือ เราจะจัดการกับความสูญเสียและผลพวงปัญหาที่ถูกสร้างทิ้งไว้โดยคณะรัฐประหารชุดนี้อย่างไร

ในปีที่ 4 ภายใต้ระบอบ คสช.  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ติดตามข้อมูลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และช่วยเหลือคดีแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพการแสดงออกที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร จำนวน 151 คดี  303 ราย นำมาสู่รายงานซึ่งมุ่งเน้นอธิบายลักษณะสำคัญทางการเมืองและกฎหมายของระบอบ คสช. รวมถึงผลพวงที่คงดำรงอยู่ แม้มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พร้อมนำเสนอแนวทางจัดการปัญหาทางการเมืองและกฎหมายต่างๆ ที่เป็นผลพวงของคณะรัฐประหาร รายงานประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่งลักษณะสำคัญทางการเมืองและกฎหมายในยุค คสช. ส่วนที่สองสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่สามข้อเสนอของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในการจัดการผลพวงอำนาจเผด็จการของ คสช.

บทที่ 1 คสช. สร้างอะไรไว้ในระบอบการเมืองและกฎหมาย? 

ลักษณะสำคัญที่ระบอบ คสช. สร้างขึ้นเพื่อรักษาอำนาจจากการรัฐประหารและจะตกค้างในสังคม 3 ประการ ได้แก่ การจัดการและควบคุมพลเรือนโดยวิธีคิดและปฏิบัติการทางทหาร (Militarization), การสถาปนาอำนาจเบ็ดเสร็จในรัฐธรรมนูญ (Constitutionalization of Absolutism) และการปกครองโดยอำเภอใจในนาม "กฎหมาย" (Rule by Law)

การจัดการและควบคุมพลเรือนโดยวิธีคิดและปฏิบัติการทางทหาร

เมื่อประเทศไทยกลายเป็น "ค่ายทหาร" ลักษณะสำคัญของการรัฐประหารปี 2557 ไม่เพียงเป็นการยึดอำนาจการปกครองโดยกองทัพ และทหารเข้ามามีบทบาททางการเมือง แต่ยังมีกระบวนการผลักดันให้ประเทศมีลักษณะทางทหารขยายตัวในมิติต่างๆ

กระบวนการทำให้มีลักษณะทางทหาร (Militarization มีนักวิชาการไทยเสนอคำแปลว่า "ยุทธาภิวัฒน์") หมายถึงกระบวนการที่สังคมหรือบุคคลทั่วไปค่อยๆ ถูกกำกับควบคุมโดยกองทัพ หรือถูกทำให้ขึ้นอยู่กับวิธีคิดแบบทหาร ภายใต้กระบวนการนี้ ความจำเป็นทางทหารไม่เพียงเป็นคุณค่าที่ครอบงำ แต่ยังเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคม จึงเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปรความเชื่อและคุณค่าของสังคมทั่วไป เพื่อให้ความชอบธรรมแก่การใช้กำลังหรือการใช้อำนาจในลักษณะบีบบังคับมากขึ้น

กระบวนการนี้ไม่เพียงเป็นเรื่องของกองทัพเข้ายึดอำนาจและแสดงบทบาททางการเมือง แต่คือการทำให้กรอบคิดแบบทหารและความมั่นคงขยายขอบเขต ส่งอิทธิพลต่อวิธีคิดและปฏิบัติการต่างๆ ของ

เจ้าหน้าที่พลเรือน ตลอดจนองค์กรอื่นในสังคม ทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นกลายเป็นผู้ดำเนินการภายใต้กรอบคิดแบบทหาร ขณะที่ประชาชนตกอยู่ในสังคมที่น้อมยอมรับการใช้อำนาจดังกล่าวตามอำเภอใจ

เมื่อพลเรือนกลายเป็น "เป้าหมาย" ทางการทหาร

การรัฐประหาร 2557 คสช. ใช้วิธีคิดหรือปฏิบัติการแบบทหารเข้ามาจัดการปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยกองทัพอ้างตัวเป็น "คนกลาง" ที่เข้ามายึดอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคม การจัดวางสถานะตัวเองในลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความชอบธรรมในการรัฐประหาร ขณะเดียวกัน บทบาทของกองทัพที่ปกติเคยทำหน้าที่ป้องกันประเทศจาก "ภัยคุกคามภายนอก" ถูกขยายรวมถึงการป้องกัน "ภัยคุกคามจากภายใน", การสร้างความปรองดอง, การจัดการความขัดแย้งทางการเมือง และการจัดระเบียบสังคม เป็นต้น

ภายใต้กรอบคิดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ  คสช. ทำให้การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองโดยสงบสันติ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบปกติ กลายเป็นเรื่อง "ความมั่นคงของรัฐ"  การแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจและการชุมนุมทางการเมือง ถูกทำให้เป็น "ความไม่สงบเรียบร้อย-ความวุ่นวาย" หรือ "การยุยงปลุกปั่น-ปลุกระดม" ข้อกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ว่าการจัดกิจกรรม หรือการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางการเมืองกระทบต่อความมั่นคง ทำให้ต้องปิดกั้นหรือขอความร่วมมืองดเผยแพร่ เกิดขึ้นจนเป็นปกติในยุค คสช.

มุมมองที่เห็นการแสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องกระทบต่อ "ความมั่นคงของรัฐ" เปิดโอกาสให้หน่วยงานความมั่นคงเข้าควบคุมจัดการปัญหาทางการเมือง นอกจากหน่วยงานที่มีอยู่เดิม คสช. ยังจัดตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) โดยใช้โครงสร้างของกองทัพแต่ละภาคดำเนินงาน มีผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) เป็น ผบ.กกล.รส. แม่ทัพภาค-ผู้บัญชาการมณฑลทหารต่างๆ เป็นผู้บัญชาการ กกล.รส. ของแต่ละพื้นที่ การแต่งตั้งกำลังทหารในแต่ละพื้นที่เป็นเจ้าหน้าที่ กกล.รส.  ทางโครงสร้าง กกล.รส. จึงเป็นส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อ คสช. ในฐานะส่วนงานระดับปฏิบัติการ โดยมี คสช. ควบคุมในระดับนโยบาย

กกล.รส. แปรสภาพเป็นกองกำลังที่เข้ามามีบทบาทและใช้อำนาจรัฐภายใต้ คสช. ติดตามตัวบุคคล เรียกตัวบุคคลมาพูดคุย จับตากิจกรรมสาธารณะ แจ้งความดำเนินคดีผู้แสดงออกทางการเมือง จัดทำรายชื่อและรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ติดตามความเคลื่อนไหวในพื้นที่ ขับเคลื่อนกระบวนการปรองดอง รวมทั้งประสานหน่วยราชการต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและสร้างการเคารพต่อกฎหมายตามที่ คสช. นิยาม

วิธีคิดสำคัญประการหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ทหารนำมาควบคุมและจัดการทางการเมือง คือ การจัดบุคคลเป็น "กลุ่มเป้าหมาย" ประเภทต่างๆ และกำหนดให้แต่ละคน เป็น "บุคคลเป้าหมาย" ของปฏิบัติการทางทหาร  ผู้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวหรือติดตามตัวหลายคนพบว่า เจ้าหน้าที่เรียกพวกเขาหรือเธอว่าเป็น "เป้าหมาย" ตามคำสั่งที่ให้มาติดตามตัว และเป็นบุคคลในรายชื่อเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่

กลุ่มเป้าหมายและบุคคลเป้าหมายดังกล่าวมาจากการจัดทำบัญชีรายชื่อของเจ้าหน้าที่ แต่ละบัญชีรายชื่อประกอบด้วยข้อมูลส่วนตัว เช่น ประวัติครอบครัว ที่อยู่ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ประวัติการเดินทาง ข้อความที่โพสต์ในสื่อออนไลน์ บทบาททางการเมือง ภาพถ่ายการไปร่วมกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น แต่ชุดข้อมูลดังกล่าวมีแนวโน้มไม่เกี่ยวกับปัญหา "ความมั่นคงของรัฐ" ตามความเข้าใจในสังคมปกติแต่อย่างใด ทั้งยังล่วงล้ำและละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคล

จากกรอบคิดและปฏิบัติการข้างต้น ไม่ว่าใครก็อาจตกเป็น "เป้าหมาย" หากแสดงออกในเชิงคัดค้าน คสช.  บุคคลเป้าหมายหลายรายถูกจับตาสอดส่อง ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ หากเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง มักถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามตัวหรือเรียกไปพูดคุย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่า คสช. และกองทัพ รวบรวมประวัติของบุคคลจำนวนทั้งหมดเท่าไร มีข้อมูลลักษณะใด และถูกใช้ดำเนินการอย่างไรบ้าง

การติดตามบุคคลเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอกลายเป็น "ภารกิจ" ของเจ้าหน้าที่ทหาร และถูกกำหนดเป็น "ภารกิจพบปะผู้เห็นต่างทางการเมือง" ดำเนินการโดย กกล.รส. ในแต่ละพื้นที่ ปฏิบัติการลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นวิธีคิดของเจ้าหน้าที่ทหารที่แบ่งแยกผู้มีความเชื่อทางการเมืองไม่เหมือนตน เป็น "ผู้เห็นต่างทางการเมือง"

นอกจากการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและบุคคลเป้าหมายแล้ว ยังมีการนำปฏิบัติการทางทหารอย่างปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operations: IO) และปฏิบัติการจิตวิทยา (Psychological Operations หรือ "ปจว.") มาใช้เพื่อดำเนินการทางการเมืองด้วย เช่น การนำเสนอข่าวสารต่อสาธารณะในลักษณะมุ่งทำลายภาพลักษณ์ของผู้แสดงออกทางการเมือง การทำสงครามข่าวสารในโลกออนไลน์ หรือการข่มขวัญทางการเมืองผ่านการดำเนินคดีบางบุคคล เป็นต้น

การมองพลเรือนในฐานะ "เป้าหมาย" และดำเนินปฏิบัติการจิตวิทยา ก่อนยกระดับไปสู่การดำเนินคดีต่อกลุ่มเป้าหมาย เพื่อป้องปราม-ข่มขวัญ "ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง" ทำให้เกิดความหวั่นกลัว ในการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์ คสช. เช่น คดี "รินดา" ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวและกล่าวหาฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากกรณีโพสต์ข่าวลือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โอนเงินหมื่นล้านไปยังประเทศสิงคโปร์  เจ้าหน้าที่ทหารระบุในเอกสารคดีฝ่ายโจทก์ว่า "การดำเนินการต่อเป้าหมายนี้ จึงเป็นการป้องปรามบุคคลที่มีแนวคิดต่อต้าน คสช. และ ฯพณฯ นรม. โดยตรง เพื่อลดระดับแนวร่วมให้ลดลง และน่าจะส่งผลให้เกิดความเกรงกลัวในการเผยแพร่ข้อความที่ไม่เหมาะสม…"

รินดา ผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นจากการโพสต์ข่าวลือเรื่องพล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินหมื่นล้านบาทไปฝากที่ธนาคารในสิงคโปร์ ที่มา Banrsdr Photo

ทั้งนี้ ปฏิบัติการติดตามบุคคลดังกล่าว ยังคงอยู่ใต้ระบบบังคับบัญชาของทหาร เจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งแบบรวมศูนย์ และไม่อาจโต้แย้งผู้บังคับบัญชาได้ ผู้ถูกติดตามตัวหลายคนพบว่าเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจที่มาพบที่บ้านระบุเพียง "นายสั่งมา" กิจกรรมต่างๆ ถูกห้ามเพียงเพราะ "นายไม่สบายใจ" โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการในหลายกรณีไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าการแสดงออกหรือกิจกรรมนั้น เหตุใดจึงเป็นปัญหา หรือกระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยอย่างไร เพียงแต่อ้าง "นาย" ขึ้นมาลอยๆ

"ที่ไหนๆ ก็มีทหาร" : เมื่อกองทัพขยายเขตแดนอำนาจเข้าไปในปริมณฑลต่างๆ

อีกมิติหนึ่งของกระบวนการทำให้ลักษณะทางทหารเกิดขึ้นในยุค คสช. คือการขยายบทบาทและอำนาจของกองทัพในโครงสร้างทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ผ่านบุคลากรของกองทัพที่เข้าไปใช้อำนาจรัฐในงานของพลเรือน ส่งผลให้ทหารมีอำนาจในการบริหารประเทศ และกรอบคิดแบบทหารมีอิทธิพลต่อหน่วยงานของรัฐ อิทธิพลเหล่านี้มีแนวโน้มจะดำรงอยู่ต่อไป แม้ผ่านยุค คสช. ไปแล้วก็ตาม

  • ทหารเข้าไปใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร

ปัจจุบัน คสช. มีสมาชิกทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วยทหาร 12 คน ตำรวจ 2 คน มีเพียงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นพลเรือนเพียงคนเดียว  ส่วนผู้ปฏิบัติงานใน คสช. แทบทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร เช่น ตำแหน่งรองเลขาธิการและที่ปรึกษาประจำผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. ทั้งหมด 34 คน มีทหารทั้งหมด 27 คน และตำรวจอีก 4 คน

นอกจากนี้ คสช. ยังจัดให้เจ้าหน้าที่ของตนเข้าไปมีส่วนกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในกระทรวงต่างๆ ทั้่งใน ฝ่ายความมั่นคง, ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา, ฝ่ายเศรษฐกิจ, ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, ฝ่ายกิจการพิเศษ, สำนักงานเลขาธิการ คสช. และในกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ทำให้เกิดการใช้อำนาจซ้อนกับเจ้าหน้าที่พลเรือนในระบบราชการปกติ


ภาพหมู่คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 ถ่ายที่บริเวณลานหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร วันที่ 4 ธันวาคม 2560 ที่มา รัฐบาลไทย

ส่วนคณะรัฐมนตรีซึ่งแยกไม่ออกจาก คสช. พบว่า นับแต่เริ่มตั้งรัฐบาลทหารจนถึงปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ ปรับคณะรัฐมนตรีมาแล้ว 5 ครั้ง มีทหารเคยดำรงตำแหน่งและยังอยู่ในคณะรัฐมนตรี 15 คน นอกจากตำแหน่งนายกฯ และรองนายกฯ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ อยู่ในตำแหน่งโดยตลอดแล้ว บุคลากรของกองทัพยังเข้าไปกำกับดูแลงานในกระทรวงสำคัญ ทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงยุติธรรม ทำให้ทั้ง คสช. และรัฐบาลทหารข้างต้น เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศการตัดสินใจดำเนินงานภายใต้นโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่การต่างประเทศ ที่นำโดยกองทัพและทหาร จะส่งผลผูกพันประเทศไทยต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ เพื่ออ้างความชอบด้วยกฎหมายในการกระทำดังกล่าว พบว่า คสช. ออกคำสั่งแล้ว 208 ฉบับ ประกาศ คสช. 128 ฉบับ ส่วนหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. แล้ว

กว่า 188 ฉบับ ประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารเหล่านี้ถูกทำให้มีผลบังคับใช้อยู่ แม้ คสช. จะพ้นจากอำนาจไปและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม หากไม่มีกระบวนการยกเลิกกฎหมายเหล่านี้เกิดขึ้น

  • ทหารเข้าไปใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ

หลังการรัฐประหาร คสช. ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาและแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  ที่หัวหน้า คสช. เป็นผู้เลือกสมาชิกทั้งหมด

สนช. กลายเป็นผู้ใช้อำนาจ "นิติบัญญัติ" แทนสภาในระบบปกติ ทั้งการออกกฎหมาย พิจารณาสนธิสัญญาที่เกี่ยวพันกับต่างประเทศ และให้ความเห็นชอบต่อการดำรงตำแหน่งของบุคคลบางตำแหน่ง โดยไม่มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

สนช. มีสมาชิกทั้งหมด 250 คน ประกอบด้วย ทหารจากทุกเหล่าทัพรวม 145 คน หรือร้อยละ 58 หากรวมสมาชิกที่เคยเป็นข้าราชการ หรือทำงานในหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจทุกประเภทจะมีจำนวนถึง 223 คน หรือร้อยละ 89 ของสมาชิกทั้งหมด  ถึงปัจจุบัน สนช. ผ่านร่างกฎหมายมาแล้วกว่า 300 ฉบับ กฎหมายเหล่านี้ถูกตราเป็นพระราชบัญญัติจากการพิจารณาจากสภาเดียว โดยผู้พิจารณากฎหมายที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน และแทบไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน แต่กลับมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายที่มาจากสภาปกติ และยังมีผลบังคับใช้ต่อไป แม้ คสช. ลงจากอำนาจ

นอกจากนี้ การทำหน้าที่ของ สนช. ซึ่งมิได้มีพื้นฐานมาจากความเห็นชอบของประชาชน ยังทำให้กระบวนการร่างกฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าแทรกแซง หรือได้ประโยชน์จากการทำหน้าที่ เช่น กรณี สนช. กำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเทียบตำแหน่งข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือน พ.ศ…. เพื่อกำหนดให้ข้าราชการทหารที่รับราชการหรือเคยรับราชการ มีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินระดับหัวหน้าราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหมชั้นยศพลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี เทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือนที่รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งอธิบดี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้กรรมการขององค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้องมีคุณสมบัติรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีกรมหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี การกำหนดให้ยศพลตรีเทียบเท่าอธิบดีจึงเป็นการเปิดช่องให้ทหารเข้ารับตำแหน่งในองค์กรอิสระได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ 4 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการ "ปฏิรูป" และ "ปรองดอง"  ล้วนมีทหารจำนวนมากอยู่ในตำแหน่ง เช่น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากทั้งหมด 250 คน มีทหารจำนวน 32 คน และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จากทั้งหมด 200 คน มีทหารทั้งหมด 65 คน หากนับบุคคลที่มียศตำรวจด้วยจะมีทั้งหมด 78 คน คิดเป็นร้อยละ 39 ของสภา ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ยังไม่รวมถึงกลุ่มข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่พลเรือนอื่น ที่มีแนวคิดทางการเมืองในทางสนับสนุนการรัฐประหารและการใช้อำนาจของกองทัพอีกด้วย

ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ และกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารรวม 29 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน สามารถดำรงตำแหน่งต่อได้อีก 5 ปี ขณะที่คณะกรรมการโดยตำแหน่งแม้จะมีการหมุนเวียนกันไป แต่บางส่วนถูกกำหนดไว้แล้วซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสด ผู้นำเหล่าทัพ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้มีวาระการดำเนินงานถึง 20 ปีและกำกับควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกต่อไป

อีกทั้ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 269 ยังเปิดช่องให้ คสช. แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ ทั้งหมด 250 คน จากการเสนอชื่อโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการสรรหา ทั้งยังกำหนดให้สมาชิกส่วนหนึ่งเป็นทหารโดยตำแหน่ง เช่น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทั้งสามเหล่าทัพ ทำให้กองทัพและทหารจะยังอยู่ในตำแหน่งและมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางวุฒิสภาในอนาคต

  • ทหารเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

หลังรัฐประหาร ทหารยังเข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมแทบทุกขั้นตอน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยนำเสนอรายงาน "กระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหาร" โดยสรุป ช่วงแรกหลังรัฐประหาร คสช. มีบทบาทเข้าไปควบคุมวงจรของกระบวนการยุติธรรมตลอดกระบวนการ โดยเฉพาะในคดีที่เป็นการใช้สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ตั้งแต่การกำหนดให้การกระทำใดการกระทำหนึ่งเป็นความผิด ผ่านการออกคำสั่งคณะรัฐประหาร การจับกุมและควบคุมผู้ต้องสงสัยโดยทหาร การเอาข้อมูลจากบุคคลโดยใช้อำนาจโดยมิชอบระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ก่อนนำตัวส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นสอบสวน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารสามารถร่วมสอบสวนได้ จนถึงพนักงานอัยการทหารที่ทำความเห็นว่าจะดำเนินคดีกับพลเรือนหรือไม่ภายใต้ระบบบังคับบัญชาของมณฑลทหารบกต่างๆ โดยมีศาลและตุลาการทหารเป็นผู้วินิจฉัยและตัดสินคดี

แม้หลังคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2559 จะออกมาเพื่อยกเลิกการพิจารณาคดีบางประเภทในศาลทหาร แต่คดีที่เกิดเหตุในระยะก่อนหน้าก็ยังถูกพิจารณาโดยศาลทหาร และทหารยังสามารถเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจและชั้นพนักงานอัยการ อย่างน้อยในแง่โครงสร้างที่ คสช. กำหนดให้หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช. มีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานอัยการสูงสุด ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกกำกับดูแลโดยตรงจากนโยบายที่สั่งโดย คสช.

26 มิ.ย.2560 รังสิมันต์ โรม ขณะถูกนำตัวขึ้นศาลทหารเพื่อส่งฟ้องในคดีแจกใบปลิวประชามติที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ 24 มิ.ย.59 ที่มา ประชาไท

คสช. ยังแทรกแซงโครงสร้างกิจการและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามวิธีพิจารณาความอาญา ตามคำสั่งและประกาศ คสช. มากกว่า 10 ฉบับ ซึ่งกระทบต่อความเป็นอิสระของงานตำรวจและพนักงานสอบสวน โดยเฉพาะกรณีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองในยุค คสช.

  • ทหารเข้าไปมีอิทธิพลในงานของฝ่ายปกครอง และส่วนราชการต่างๆ

หลังการรัฐประหาร ปี 2557 หัวหน้า คสช. อ้างอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยจัดระบบโครงสร้างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญด้านความมั่นคงที่กองทัพควบคุมดูแล ด้วยการขยายคำนิยาม "การรักษาความมั่นคงภายใน" ให้หมายรวมถึงการป้องกันสาธารณภัย การเพิ่มข้อกำหนดให้จัดสรรงบประมาณตามแผนและแนวทางของ กอ.รมน. การกำหนดโครงสร้างของ "กอ.รมน.ภาค" และ "กอ.รมน.จังหวัด" ให้ชัดเจนขึ้น โดยระดับภาคให้แม่ทัพภาคเป็น ผอ.รมน.ภาค และกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ระดับพื้นที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการ ทั้งอธิบดีอัยการภาค แม่ทัพน้อย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น  ส่วนในระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผอ.รมน. ก็กำหนดให้มีคณะกรรมการ ทั้งอัยการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้อำนวยการฝ่ายทหาร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ผู้แทนจากส่วนราชการระดับจังหวัดต่างๆ รวมทั้งผู้แทนมณฑลทหารบก เป็นองค์ประกอบหนึ่งของคณะกรรมการด้วย

กอ.รมน.สระแก้ว ประชุมคณะกรรมการเตรียมความพร้อมปฏิบัติการ 19 ก.พ.61 การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 51/60 ที่มา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

คำสั่งดังกล่าวทำให้ กอ.รมน. กลายเป็น "ผู้ควบคุมงานด้านความมั่นคง" และ "แม่ข่าย" ของการปฏิบัติการด้านความมั่นคงและการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย โดยรวมทั้งหน่วยงานทางปกครอง หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หน่วยราชการในพื้นที่ เข้ามาอยู่ภายใต้องค์ประกอบของ กอ.รมน. และทำให้ทหารซึ่งปกติอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม มีอำนาจในการสั่งการหรือประชุมข้ามกระทรวงในระดับพื้นที่

นอกจากนี้ นักวิชาการที่ศึกษาบทบาทของ กอ.รมน. ชี้ให้เห็นว่า กอ.รมน. ยังเข้าไปมีบทบาทการจัดตั้งมวลชนในท้องถิ่น โดยอาศัยกลไกของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านการฝึกอบรมครูในโรงเรียน การจัดนักพูดเข้าไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือการตั้งกลุ่มแม่บ้านเพื่อพัฒนางานด้านต่างๆ ทั้งยังสร้างเครือข่ายจับตาสอดส่องความเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่และการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ด้วย

บทบาทของ กอ.รมน. หลังรัฐประหารครั้งนี้ ยังขยายตัวผ่านการถูกตั้งเป็น "แกนกลาง" ในการดำเนินงานประเด็นต่างๆ เช่น คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามทำลายป่าไม้ และแผนแม่บทป่าไม้ฯ ซึ่งให้ กอ.รมน. มีอำนาจเต็มในการสั่งการ ควบคุม และรายงานผลการปฏิบัติงาน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ ต้องรายงานผลต่อ กอ.รมน.  นอกจากนี้ กอ.รมน. ยังแสดงบทบาทในลักษณะเข้าไปสนับสนุนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ ที่ประชาชนยังคัดค้านโครงการอยู่ เช่น กรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา หรือกรณีการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่หมู่บ้านนามูล-ดูนสาด จังหวัดขอนแก่น

จะเห็นได้ว่า ทหารเข้าไปมีบทบาทในโครงสร้างทางการเมืองต่างๆ และยังขยายอำนาจเข้าไปจัดการหรือดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจสังคมจำนวนมาก ซึ่งทหารไม่ได้มีบทบาทโดยตรงมาก่อน หรือเคยมีบทบาทแต่ก็ไม่ได้มากนัก บทบาททั้งของกอ.รมน.และเจ้าหน้าที่ทหารในหลายมิติเหล่านี้จะดำรงอยู่ต่อไป แม้จะไม่มี คสช. แล้วก็ตาม จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่า คสช. จะได้สืบทอดอำนาจต่อไปหรือไม่ แต่กองทัพได้ดำเนินการขยายและสืบทอดอำนาจในระบอบการเมืองในอนาคตในหลายมิติต่อไปแล้ว

 

 

ที่มา: http://www.tlhr2014.com/th/?p=7773

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ปฏิรูปราดน้ำปลา

Posted: 16 Jun 2018 01:27 AM PDT



"ขนมจีนราดน้ำปลา" อาหารกลางวันเด็กอนุบาล พ่นพิษทันใจชาวโซเชี่ยล ผอ.โรงเรียนถูกออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรการป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของ คสช.

ก็เป็นอีกครั้ง ที่พลังโซเชี่ยลศักดิ์สิทธิ์กว่าร้องเรียนตามกระบวนการ เหมือนขวานทุบรถ ชะงัดกว่ารอศาล ขนมจีนราดน้ำปลาก็ร้องศูนย์ดำรงธรรม แต่ยังไม่ทันรู้ผล พอเป็นข่าวครึกโครม ผอ.ก็โดนทันที ท่านผู้ว่าฯ ท่านที่ปรึกษารัฐมนตรี กรุณาไปเยี่ยม ไปตักข้าวแจกเด็กนักเรียน ซึ่งขยี้หูขยี้ตา แทบไม่เชื่อว่าอาหารกลางวัน 20 บาทได้กินกุ้งตัวโต

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ขมีขมันตามโลกโซเชี่ยล ไล่ตรวจสอบทุกโรงเรียน ว่าครูอมค่าอาหารเด็กอีกหรือเปล่า ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้บริหาร ลงพื้นที่ขวักไขว่ ไล่ตรวจบัญชี ไล่ชิมเมนู มองมุมหนึ่งก็ดี ได้พิสูจน์ความโปร่งใส แต่ครูหลายคนก็บ่นน้อยใจ เสียกำลังใจ กับดราม่ามองครูในแง่ร้าย หรือเรียกร้องว่ารัฐบาลอุตส่าห์จ่ายหัวละยี่สิบบาท เด็กควรได้กินอาหารครบห้าหมู่ สะอาด มีมาตรฐาน น่าจะได้กินปลาทุกวัน จะได้ฉลาดๆ แบบ มัลลิกา บุญมีตระกูล

เข้าใจตรงกันนะ ตั้งยี่สิบบาท! แม่พิมพ์ของชาติควรมีจิตวิญญาณครู ดูแลเด็กให้กินดีอยู่ดี แม้เงินแค่นี้ก็ควรรู้จักบริหาร รู้จักขวนขวาย อย่างที่สื่อไปถ่ายทำโรงเรียนตัวอย่าง ปลูกผักเลี้ยงปลา หรือบางแห่งเป็นแม่ครัวหัวป่าก์ รู้จักหุงหา ให้เด็กได้กินอาหารมีประโยชน์

ครูส่วนใหญ่ที่รับตังค์มาจ้างแม่ครัวทำอาหารตามสภาพ ก็เลยดูแย่ไปหมด ทั้งที่ไม่มีนอกมีใน สังคมคงลืมไปว่าการทำกับข้าว หรือปลูกผักเลี้ยงปลา ไม่ใช่หน้าที่หลักของครู ยกเว้นครูเกษตร หรือครูคหกรรม ซึ่งก็ไม่มีในชั้นประถม "ให้ครูทำอาหาร งั้นให้เด็กเรียนกับอากาศไหมคะ" ครูคนหนึ่งประชด หน้าที่ครูคือสอนเด็ก อย่างอื่นทำได้แค่ไหน ก็ขึ้นกับสภาพ ร.ร.เล็กๆ ครู 3-4 คน เด็กไม่ถึงร้อย แค่ได้กินวันๆ ก็บุญโข

ครูบางคนก็บ่นว่า ที ร.ร.ขยายโอกาส ซึ่งมี ม.1-3 ด้วย แต่มีงบฯ อาหารแค่ประถม อุตส่าห์บริหารให้กินทั้งโรงเรียน ไม่ยักชมกันมั่ง พอเรียกร้องเพิ่มค่าอาหารกลางวัน ก็โดนด่าว่ายิ่งเพิ่มยิ่งโกง พูดยังกะครูเลวทั้งประเทศ

เรื่องพวกนี้ครูทำฟรีนะครับ ไม่ใช่จัดอาหารกลางวันดีได้ 2 ขั้น แบบผู้ปฏิบัติงาน คสช. เพราะสพฐ.ประเมินผลงานผ่านเอกสารวิชาการผ่านการอบรม อย่าพูดนะว่าครูต้องมีจิตสำนึก เพราะครูก็มี "ความเป็นมนุษย์" เหมือนกัน มีครอบครัวมีภาระใช้หนี้ผ่อนบ้านผ่อนรถเหมือนเราๆ ท่านๆ

ว่าที่จริง "ขนมจีนราดน้ำปลา" ควรเป็นอุทาหรณ์ให้ทบทวนการปฏิรูปการศึกษาหลายๆ ด้าน มากกว่าจ้องจับผิดกัน ตัวอย่างเช่น อำนาจผู้บริหารโรงเรียน ที่สามารถบังคับครูให้เซ็นตรวจรับ ไม่งั้นไม่ผ่านประเมิน

หรือมองให้กว้างขึ้น ก็อย่างที่ครูโวย ว่าถ้ามัวให้ทำกับข้าว ใครจะสอนเด็ก เพราะทุกวันนี้ ครูบ่นกันพึม ว่าต้องทำงานธุรการ งานเอกสาร กรอกใบประเมิน ถูกเรียกไปประชุม อบรม สัมมนา หรือเผลอๆ ก็เกณฑ์ไปช่วยงานกุศลของทางราชการ จนไม่เป็นอันสอนเด็ก

ปฏิรูปการศึกษา ต้องเน้นที่ครูกับเด็ก ความใส่ใจให้เวลา ประเมินครูก็ต้องดูผลการเรียนการสอน ไม่ใช่ทำรายงาน หรือผ่านหลักสูตรสัมมนา อย่างตอนนี้ก็มีครูโวยว่า วิธีแจกคูปอง 10,000 บาทให้ครูช็อปปิ้งหลักสูตรไปพบอบรม ความจริงไม่ค่อยได้ผล ดูยูทูบอยู่บ้านก็ได้ แต่ไม่อยากไปก็ต้องไป เพราะกลัวไม่ได้เลื่อนวิทยฐานะ

ผอ.กองทุนอาหารกลางวัน ระหว่างชี้แจงปัญหา ก็รับว่าอาจดูแลไม่ทั่วถึง เพราะช่วงนี้ขาดบุคลากร มีการโอนย้ายไปสังกัดศึกษาธิการจังหวัด จนคนหายเกือบ 2 พัน

คนนอกวงคงไม่รู้ ปฏิรูปการศึกษาในยุค คสช. ฟื้นเก้าอี้ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด จากที่เคยกระจายอำนาจ ตั้งเขตพื้นที่การศึกษา ปัจจุบันนี้เรามีทั้ง ผอ.เขตพื้นที่ ขึ้นกับ สพฐ. แล้วก็มี ศธจ.ขึ้นกับปลัดกระทรวง ปีที่แล้วขัดแย้งกันใหญ่โตเรื่องอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย กว่าจะสงบศึกได้ ยอมพบกันครึ่งทาง

คิดถูกคิดผิดก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ มีตำแหน่งซี 9 ซี 10 เพิ่มขึ้นบาน แถมตัดอัตราครูเกือบ 2 พันตำแหน่ง ไปเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด วันนี้ยังไม่ชัดว่าระบบการศึกษาจะดีขึ้นไหม แต่ที่แน่ๆ อัตราครูหาย และครูได้นายเพิ่มขึ้น (เพื่อเวียนมาตรวจอาหารกลางวัน)

นี่ยังไม่พูดถึงว่า ปฏิรูปการศึกษาจะให้เด็กคิดเป็น หรือเน้นเสื้อผ้าหน้าผม ท่องค่านิยม 12 ประการ แค่โครงสร้างก็มัวแต่ทำให้ส่วนหัวโต


 

ที่มา: www.khaosod.co.th/politics/news_1220448

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา: ไม่มีใครประมูลคลื่น 1800 MHz ใครได้ใครเสีย?

Posted: 16 Jun 2018 01:02 AM PDT


เมื่อไม่มีเอกชนรายใดมาประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz สภาพการแข่งขันในตลาดก็จะอยู่ในสภาพเดิม โดยที่ไม่มีใครต้องแบกต้นทุนเพิ่ม เพราะการเข้ามาประมูลเพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่ง ก็ตามมาด้วยต้นทุนค่าคลื่นที่เพิ่มขึ้น และถ้าคู่แข่งสามารถหาทางออกด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การประมูล แถมมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ผู้ชนะการประมูลก็อาจจะเจ็บตัวฟรี ยิ่งมีภาระค่าคลื่นเดิมที่ค้างจ่ายอีกหลายหมื่นล้าน ยิ่งต้องรอบคอบรัดกุม

การที่ผู้ชนะประมูลรายเดิมไม่เข้าประมูล ก็จะทำให้ไม่ต้องแบกภาระเพิ่ม แต่ก็เสียโอกาสที่จะทิ้งห่างคู่แข่ง แต่ในเมื่อทุกรายไม่เข้าร่วมประมูล การแข่งขันก็ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือกอะไรใหม่ ยังต้องวนเวียนใช้บริการแบบเดิมๆ ไปก่อน

แต่หากผู้ชนะรายเดิมเข้าประมูลเพื่อบีบหรือทิ้งห่างคู่แข่ง ก็เท่ากับว่าเดินตามเส้นทางที่ กสทช. กำหนด คือการพยายามขายคลื่นในราคาแพงที่สุด และเอกชนก็คงต้องทนกับสภาพเส้นทางแบบนี้ในคลื่นอื่นๆ ที่จะประมูลในอนาคตอย่างเช่น คลื่น 700 MHz หรือ 2600 MHz รวมถึงคลื่นความถี่สูงมากๆ ที่จะนำมาใช้กับ 5G ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการให้บริการพุ่งสูงมาก จนอาจไม่คุ้มที่จะลงทุน จึงมีการส่งสัญญาณจากภาคเอกชนให้ กสทช. รู้ว่า ต้นทุนค่าคลื่นเริ่มเป็นปัญหาต่ออุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ?

จริงๆ แล้ว หลักการพื้นฐานของการประมูลคลื่น คือการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากคลื่นได้สูงสุด ไม่ใช่ต้องการขายคลื่นให้ได้ราคาแพงที่สุด แต่สิ่งที่จะตัดสินว่าใครใช้ประโยชน์จากคลื่นได้ดีที่สุด ก็คือตัวเลขเงินที่เขาพร้อมจะจ่ายเป็นค่าคลื่น แล้วเอาคลื่นไปทำกำไร ถ้าทำกำไรไม่ได้ก็จะเจ๊ง จึงไม่ควรมีใครเสนอตัวเลขสูงเกินกว่าที่ตัวเองจะอยู่รอดได้ ส่วนใครที่ทำกำไรได้เก่งกว่าก็จะเสนอตัวเลขได้สูงกว่า กสทช. จึงใช้การประมูลเพื่อหาว่า รายใดสมควรได้คลื่นไปให้บริการ ซึ่งก็คือรายที่เสนอราคาคลื่นได้สูงสุด แต่ไม่ใช่ว่า กสทช. มีเป้าหมายที่จะหาเงินให้ได้มากที่สุดจากการประมูล

แต่เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลหลงทางไปมุ่งเน้นการขายคลื่นให้ได้ราคาแพงที่สุด ผลเสียก็จะเกิดกับอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแบกต้นทุนได้ และผู้บริโภคก็จะไม่สามารถรับบริการใหม่ๆ ได้ แต่ที่สำคัญ รัฐที่ต้องการได้เงินค่าคลื่นเป็นจำนวนมากก็เสี่ยงจะได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ได้เลย

ในการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ กระทรวงการคลังมีหนังสือถึง กสทช. ว่า ขอให้จัดประมูลและนำส่งรายได้จากการประมูลภายในปี 2561 ด้วย โดยกระทรวงการคลังประมาณการรายได้จากสมมติฐานว่าคลื่นทั้ง 45 MHz จะขายหมดและผู้ชนะการประมูลชำระเงินงวดแรกร้อยละ 50 ภายในเดือนกันยายนนี้

เมื่อไม่มีผู้เข้าประมูล ประมาณการรายได้ก้อนนี้จึงพลาดเป้าไปหลายหมื่นล้านบาท แผนการใช้งบประมาณของรัฐก็อาจสะดุดหรือต้องหารายได้ทางอื่นมาชดเชย

และเมื่อหมดสัมปทานแล้วเข้าสู่มาตรการเยียวยา ก็ยังพบปัญหาในส่วนเงินนำส่งรัฐ เพราะการให้บริการตามมาตรการเยียวยาที่ผ่านมา ยังมีปัญหาการฟ้องคดี และมีการแจ้งในที่ประชุม กสทช. ว่ารัฐยังไม่ได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว

มาตรการเยียวยาครั้งใหม่นี้จะเหมือนหรือแตกต่างจากเดิม คงต้องติดตามกันต่อไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การไม่มีรายใดมาประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ในทันทีคือรัฐ ไม่ใช่เอกชน หรือผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบในระยะยาว

การใช้ ม.44 เพื่อขยายงวดชำระเงินก็ไม่ใช่ทางออก เพราะถ้าไม่จัดการราคาคลื่นให้เข้าสู่ราคาดุลยภาพ เอกชนก็ต้องเรียกร้องขอขยายงวดชำระเงินอยู่ร่ำไป การแก้ปัญหาการประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาวจากการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มตัวของประเทศด้วย หากประเทศเรายังตกอยู่ในวังวนการเล่นเกมราคาคลื่นแบบเด็กเล่นขายของ สุดท้ายทุกฝ่ายจะเสียประโยชน์ ค่าเสียโอกาสในการตกขบวนความเปลี่ยนแปลงยุค 4.0 อาจจะไม่ใช่มีแค่มิติด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะกระทบถึงด้านสังคมและความมั่นคงด้วย

การกำหนดราคาคลื่นและการออกแบบการประมูลจึงต้องใช้หลักการและการศึกษาที่มีวิชาการและเป็นมืออาชีพ และต้องไม่มุ่งเอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เพราะทุกฝ่ายล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยาฆ่าหญ้า “พาราควอต” กับทางออกที่สังคมยังสับสน!!

Posted: 16 Jun 2018 12:55 AM PDT

 


ทิศทางของประเทศไทยกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ดูเหมือนจะสับสนอลหม่านพอควร โดยเฉพาะกับพวกเราในฐานะประชาชนคนไทยที่เฝ้าดูและปฏิบัติตาม เพราะหลายๆ โครงการ หลายๆ นโยบายที่รัฐบาลอนุมัติออกมานั้น ดูจะตรงข้ามกับความรู้สึกของประชาชนเสียเป็นส่วนใหญ่ จนจะกลายเป็นนโยบายไทยแลนด์ 0.4 ทำให้ประเทศไทยยังล้าหลังเสียมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการอนุญาตให้มีการนำเข้ายาฆ่าหญ้าที่ชื่อว่า "พาราควอต" ต่อไปได้อีก ซึ่งยาฆ่าหญ้า "พาราควอต" นี้ค่อนข้างอันตราย มีพิษเฉียบพลันสูงต่อมนุษย์ และมีผลกระทบเรื้อรังต่อสุขภาพ เช่น ก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม แม้จะใส่อุปกรณ์ป้องกันแต่ก็สามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ โดยการสัมผัสทางผิวหนัง แล้วซึมเข้าร่างกายจนเกิดอันตรายถึงชีวิต ทั้งยังตกค้างในอาหาร สิ่งแวดล้อม และมนุษย์ ถ้าสัมผัสเผลอกลืนกินเข้าไป ก็ไม่สามารถล้างท้องได้ จึงเป็นที่มาของแรงกระเพื่อมผลักดันให้มีการยกเลิกการนำเข้าและใช้สาร "พาราควอต"

เป็นที่รู้กันดีในแวดวงการเกษตรว่า สารพิษจากยาฆ่าหญ้าที่มีการใช้ต่อเนื่องกันมายาวนานหลายสิบปี จะมีการสะสมตกค้างมหาศาลในน้ำในดินจนอิ่มตัว เอิบอาบซาบซ่านเข้าไปสะสมอยู่ในพืชผักผลไม้ จนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคทั้งเด็กผู้ใหญ่ และทารกที่อยู่ในครรภ์ที่รับสารอาหารโดยตรงจากมารดา  เนื่องด้วยมารดายุคปัจจุบันรับประทานอาหารที่มีการสะสมสารพิษจากยาฆ่าหญ้าที่ตกค้างอย่างมากมาย โดยมีงานวิจัยรองรับตามข้อมูลดังกล่าวจากหน่วยงานและสื่อต่างๆ

ถ้าวิเคราะห์ในแง่เศรษฐกิจเกี่ยวกับต้นทุนการเกษตรที่ต้องใช้ "แรงงานคน" ในกำจัดหญ้าเทียบกับการใช้ "ยาฆ่าหญ้า" ก็อาจจะมีความคุ้มค่าอยู่บ้าง เพราะการใช้ยาฆ่าหญ้ามีต้นทุนที่ต่ำกว่า ราคาถูก แถมมีประสิทธิภาพในกำจัดวัชพืชได้มากกว่าแรงงานคน ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่เกษตรกรส่วนใหญ่ได้เสนอแนะให้แง่คิดไว้ โดยที่รัฐบาลยังไม่สามารถหาสิ่งปลอดภัยกว่ามาทดแทนได้ แต่ถ้ามองในแง่ของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยเฉพาะภาพใหญ่ในระดับประเทศก็น่าเป็นห่วงอยู่ เพราะคนที่รับพิษจาก พาราควอต หากถูกหรือสัมผัสร่างกายโดยตรงในปริมาณเข้มข้น จะเกิดการกัดกร่อนรุนแรงผิวหนังไหม้ หากเข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะการกินโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม อัตราเสียชีวิตจะสูงมาก เพราะพาราควอตมีความเป็นพิษสูงมาก ขนาดยาแค่ฝาขวดน้ำดื่มก็ถึงตายได้ ฤทธิ์เริ่มแรกก็การกัดกร่อนเผาเนื้อเยื่อบุปาก ลำคอ กระเพาะอาหารอาจถึงกับกระเพาะทะลุเสียชีวิตได้ ระยะต่อมาตับวายสารเคมีส่วนมากจะผ่านตับทำให้เกิดความเสียหายกับเนื้อเยือตับโดยตรงถ้าตับวายก็ตาย ระยะต่อมาเมื่อตัว พาราควอต ผ่านระบบเมตาบอลิกในตับจะผ่านสู่ไต ก็ทำให้ไตวายเฉียบพลัน ถ้าฟอกไตทันอาจจะรอด แต่ก็ต้องฟอกไตตลอดชีวิต ไม่ก็รอบริจาคไตมาเปลี่ยน ระยะสุดท้าย ถ้าสามารถรอดพ้นระยะทั้งหมดเบี้องต้นผ่านไป 1 -2 สัปดาห์ก็มักจะจบด้วยสภาวะปอดเป็นพังผืดและมักจบด้วยการเสียชีวิต

โดยปรกติประเทศไทยเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย เจ็บป่วยจากสารพิษภาคการเกษตรชนิดอื่นๆ มากพอควรอยู่แล้ว "ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข" มีการตรวจพบเกษตรกรไทยร้อยละ 32 ที่มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมีผู้ป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มถึง 4 เท่าตัว ทั้งพิษเฉียบพลันและระยะยาว เช่น แสบตา คลื่นไส้ หายใจขัด เป็นมะเร็ง อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นหมันหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ผู้สามารถไปสืบค้นเพิ่มเติมได้จากหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข

การที่จะให้ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเทคโนโลยี นวัตกรรม ก้าวล้ำด้วยระบบโลจิสติกส์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่รัฐบาลยังปล่อยให้ข้าวปลาอาหารของประเทศไทยซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ประเทศที่โดดเด่นและชำนาญเรื่องเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน  เคยส่งออกข้าว ปาล์ม ยางพาราและมันสำปะหลัง เป็นอันดับต้นๆของโลก และล่าสุดยังขายทุเรียนได้ 80,000 ลูกภายใน 1 นาที แต่กลับจะปล่อยให้มีสารพิษที่ทั่วโลกเขาเลิกใช้กันแล้ว มาทำลายสุขภาพเกษตรกรและปนเปื้อนอยู่ในอาหารการกิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อย่างนี้แล้ว...จุดขายและศักดิ์ศรีของบ้านเมืองเราจะมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และรุ่งโรจน์ โชติช่วงชัชวาลได้อย่างไร ถ้าความปลอดภัยในอาหารยังไม่มี?!?

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น