โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

4 นักการเมืองตอบหากรัฐบาลหน้ามีชุมนุมอีกจะทำไง พร้อมส่งสารถึงคนรุ่นใหม่

Posted: 14 Jun 2018 08:57 AM PDT

4 นักการเมืองตอบคำถามหากรัฐบาลหน้ามีชุมนุมอีกจะทำไง ไพบูลย์ ขอประชาชนอย่าเป็นเครื่องมือของคนปลุกปั่น ธนาธร ระบุการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแต่อย่าออกบัตรเชิญรัฐประหาร อภิสิทธ์ ยันหลักการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ จาตุรนต์ ชี้ชุมนุมได้แต่ต้องมาตรฐานเดียว

14 มิ.ย. 2561 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ อนาคตประชาธิปไตยไทย : ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง? โดยมีผู้ร่วมเวทีคือ 4 นักการคือ ประกอบด้วย ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคประชาชนปฏิรูป อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ จาตุรนต์ ฉายแสง พรรคเพื่อไทย และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ ดำเนินการเสวนาโดย ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยในตอนหนึ่งผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามจากคำถามของผู้ร่วมฟังการเสวนาว่า หากหลังการเลือกตั้งครั้งหน้ามีรัฐบาลใหม่ แล้วเกิดการชุมนุมประชุมขึ้นอีกจะทำอย่างไรในสถานการณ์นั้น

ไพบูลย์ นิติตะวัน

สำหรับผม เราใช้คำว่า ปลุกปั่น เราทำอย่างที่คุณธนาธรอยาก เห็นอยากทำ ถึงที่สุดผมพบการชุมนุม นปช. พธม. กปปส. ประชาชนทั้งตายทั้งบาดเจ็บ แต่คนได้ประโยชน์คือพวกตาอยู่ ผมพยายามย้ำกับคนรุ่นใหม่ ท่านอย่าไปเอาอย่างที่เราพลาดไปเลย ถ้าท่านอยากทำท่านไปถามรุ่นพี่ ที่เคยทำมาก่อนก็ได้ว่ายังอยากจะทำอีกไหม ผมคนหนึ่งไม่ทำ ผมไม่ออกไป ผมใช้แต่กฎหมาย ใครจะไปก็ไป เพราะผมมีประสบการณ์แล้วว่าประชาชนอย่าไปเป็นเครื่องมือของคนปลุกปั่น

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ผมไม่แน่ใจว่าโต๊ะนี้มีตาอยู่หรือเปล่า แต่ผมไม่ใช่ตาอยู่แน่นอน กลับมาที่ว่า การชุมนุมมีอยู่ในสังคมประชาธิปไตยทุกประเทศ ไม่ใช่เรื่องอะไรที่แปลก ถ้าเป็นการชุมนุมในกรอบการไม่ใช่ความรุนแรง อยู่ในกรอบการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องอนุญาตให้ชุมนุม

แต่เมื่อไรก็ตามที่การชุมนุม มีลักษณะที่นำไปสู่การเรียกร้อง เป็นบัตรเชิญการทำรัฐประหาร นี่คือผิด และที่ทำแบบนี้ได้เพราะประวัติศาสตร์อนุญาตให้ทำ แล้วจะทำยังไง ถ้าประนีประนอมพูดคุยโดยสันติไม่ได้แล้วก็ต้องสลายการชุมนุมตามขั้นตอนหลักการสากลที่ชัดเจน มีหลักอยู่แล้วว่าต้องใช้กระบวนการอย่างไรบ้างกับการชุมนุม แต่ผมย้ำอีกครั้งมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่เท่ากับความวุ่นวาย

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ผมอยากให้ระมัดระวังที่จะพูดถึงการชุมนุมในอดีต กับอนาคตว่าเป็นเรื่องเดียวกันหมด ไม่ใช่ และที่ผ่านมามันก็มีหลากหลายเงื่อนไข จริงๆ เป็นคำถามที่ดีเพราะไม่ได้บอกว่าใครเป็นรบ. ผมยืนยันในสิทธิการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ในการเรียกร้องไม่ยอมรับความไม่ถูกต้องในทัศนะผู้ชุมนุม

ผมเห็นด้วยที่บอกว่าอย่าไปกลัว มันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย แต่ต้องสงบปราศจากอาวุธ แทนที่เราจะกลัวว่าได้รับฐาลใหม่แล้วจะมีการชุมนุม เราควรตั้งโจทย์ว่าเอารัฐบาลแบบไหนที่จะไม่มีการชุมนุม คือ รัฐบาลที่มาตามเจตนารมณ์ของประชาชน แล้วใช้อำนาจเพื่อประชาชนจริงๆ ถ้าได้สิ่งนี้มา เงื่อนไขการชุมนุมก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เราต้องตั้งโจทย์ตรงนี้ ไม่พยายามสร้างเงื่อนไขการชุมนุม

จาตุรนต์ ฉายแสง

พูดเรื่องชุมนุม หลายท่านคงเป็นห่วง วิตก ข้อแรกคือ กลุ่มผู้ชุมนุมเดิมๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ น่าจะไม่มีศักยภาพที่จะชุมนุมใหญ่ๆ อะไร นี่เป็นการคาดการณ์ ถ้ามีชุมนุมต้านรัฐบาลจะทำอย่างไร ในฐานะพรรคการเมืองไม่ว่าเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็รับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมุนมที่เป็นไปตามกฎหมาย ที่การชุมนุมเป็นปัญหา "การปล่อยให้เกิดอย่างนี้ได้" คืออะไร มันสำคัญ มันคือสภาพการชุมนุมที่สามารถทำผิดกฎหมายได้อย่างไม่มีขีดจำกัดโดยไม่ถูกลงโทษ นี่คือปัญหาแล้วมันควบคู่มากับอีกสองอย่างที่นำสู่เงื่อนไขการรัฐประหารคือ หนึ่ง ระบบยุติธรรมที่ยังเป็นสองมาตรฐานอยู่

ระบบยุติธรรมต้องแก้ไข สอง กลไกรัฐ ในอดีตที่ผ่านมากลไกรัฐไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือการมอบหมายของรัฐบาล หรือเลือกทำตามเฉพาะเวลาที่อยากทำตาม นำไปสู่การที่กลไกรัฐเองส่งเสริมการชุมนุมบางประเภทให้เกิดเป็นความวุ่นวายกลายเป็นเงื่อนไขไปสู่รัฐประหาร

ผมพูดตอนแรกให้สบายใจว่า ศักยภาพการชุมนุมแบบเดิมอาจไม่มี สังคมรับไม่ไหว แต่ข่าวร้ายคือ สี่ปีมานี้ คสช.และพวก ไม่ได้พยายามลดเงื่อนไขสิ่งเหล่านี้เลย ในอนาคตถ้าจะมีการชุมนุมผิดกฎหมายได้ไม่จำกัด ถ้ากลไกรัฐระบบยุติธรรมต้องการให้เกิดก็จะเกิดได้อีก ดังนั้น เงื่อนไขที่จะนำสู่รัฐประหารยังมีอยู่ และเป็นโจทย์ให้เราคิดว่าข้างหน้าจะจัดการกับกับดักนี้อย่างไร 

สารที่อยากส่งถึงเหล่าคนรุ่นใหม่

จาตุรนต์ ฉายแสง – "ประชาธิปไตยไม่ใช่วิธีการ แต่คือจุดหมาย และอย่าคิดว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน"

เราพูดไปไม่น้อยว่าทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ เราจะแก้อย่างไร แล้วถ้าไม่แก้จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่แก้สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ความขัดแย้ง ความเสียหาย ความล้าหลัง รัฐบาลไม่ตอบสนองความต้องการประชาชน ประเทศปรับตัวไม่ได้ เสียหายต่อคนทั้งประเทศ ฉะนั้น พลังที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีอยู่หลายส่วนด้วยกัน คือ

1.พลังส่วนที่ผ่านประสบการณ์ของการเรียนรู้ว่าการเลือกตั้ง รัฐสภา ระบบแบบนี้มีประโยชน์ต่อเขาอย่างไร จะทำให้คนเหล่านี้ได้กลับมาทบทวนแล้วเปรียบเทียบสภาพการณ์

2.พลังส่วนที่เรียนรู้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปกครองโดยเผด็จการช่วงสี่ปีที่ผ่านมา

3.พลังส่วนที่เรียนรู้จากกับดักที่จะเกิดขึ้น เรียนรู้ว่าข้างหน้าจะเจออะไร สิ่งต่างๆ ที่กำหนดไว้จะเสียหายอย่างไร

ที่จะพูดกับคนรุ่นใหม่คือ คนที่จะรับภาระหนักที่สุดคือคนรุ่นใหม่ในวันนี้ รุ่นปัจจุบันก็รับภาระไปตามอายุขัยของแต่ละคน และคนรุ่นใหม่ไม่ควรคิดว่า "นี่ไม่เกี่ยวกับฉัน" ที่พูดๆ กันนั้นเป็นเรื่องผู้ใหญ่พูดกัน ในประเทศไทย 10 กว่าปีมานี้ก็ผ่านสภาพทางการเมืองที่ไม่ปกติ เผด็จการ ไร้หลักนิติธรรมมาตลอด จึงต้องมีการทำความเข้าใจและทำให้เกิดการเรียนรู้ตระหนักว่า ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งหมดมันกำลังส่งผลต่อคนรุ่นใหม่มาก และคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญตรงที่เขาอยู่กับโลกสมัยใหม่ เขาอยู่กับการมีอาชีพแบบใหม่ ทั้งหมดนี้มันขัดแย้งกับระบบที่ คสช. และพวกวางไว้อย่างรุนแรงที่สุด การจะแก้ปัญหาประเทศได้ต้องอาศัยกลไกสำคัญคือระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทย 4 ปีมานี้บทเรียนสำคัญก็คือ ประชาธิปไตยไม่ควรเป็นแค่วิธีการ แต่ควรเป็นจุดมุ่งหมายในตัวของมันเองด้วย

 

ไพบูลย์ นิติตะวัน - "อย่าตกเป็นเครื่องมือใคร ทำประชาธิปไตยใกล้ตัว" 

คนรุ่นใหม่เป็นคนอายุน้อย ผมมีอยู่อย่างเดียว อยากให้คนรุ่นใหม่พยายามทำความเข้าใจ เรียนรู้ว่า เราอย่าตกเป็นเครื่องมือของใคร ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี ผมชอบประชาธิปไตยตรงที่ส่วนดีที่สุดคือ มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น

เราแสดงความเห็นต่างกันได้ แต่เราแลกเปลี่ยนกันแล้วเข้าใจกันได้ ถ้าคนรุ่นใหม่มีความรู้สึกอย่างนี้ ท่านจะทำในส่วนมองในระดับชาติก็ทำได้ แต่ในทัศนะผม ผมก็คิดว่าควรเริ่มต้นในส่วนที่ท่านอยู่ ในสังคมของท่าน ท่านต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมโดยตรง ต้องร่วมในกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ในเครือข่ายของท่าน อย่ามัวแต่เรียกร้องระดับชาติเท่านั้น ท่านต้องทำในระดับใกล้ชิดกับตัวท่านด้วย ท่านกำลังสร้างความมีส่วนร่วม เวลามีความขัดแย้ง ขอให้ระลึกเสมอว่า ต้องรับฟังความคิดคนอื่น แต่ไม่ใช่เชื่อไปหมด ถ้าท่านทำก็ช่วยประเทศได้แล้ว เพราะแต่ละกลุ่มที่ประกอบกันเป็นโครงสร้างประเทศจนได้

ผมหวังว่าวัฒนธรรมของไทยไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สุดโต่ง ที่สำคัญคือ แม้กระทั่งบนเวทีนี้จะพูดถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งหลาย ผมยืนยันว่าหลังเลือกตั้ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นความสวยงาม ไม่เสียหายตรงไหน แต่ทั้งหมดขอให้จบแค่คำพูดที่แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน อย่าถึงขนาดไปหยิบรองเท้าผ้าใบไปต่อสู้กันบนท้องถนนอีก มันเป็นความท้าทายของคนรุ่นใหม่ด้วย เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคจะเปลี่ยนแปลงแล้วเข้าหาท่านอย่างไม่เคยปรากฏ ท่านก็ศึกษาแล้วรับฟังความเห็น


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - "คนรุ่นใหม่คือตัวแปรสำคัญที่สุดในการหลุดกับดักเดิม" 

ขอให้คนรุ่นใหมทุกคนลบคำสบประมาทด้วยการไปเลือกตั้ง ผมมองว่าคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่จะมีโอากาสเป็นตัวแปรมากที่สุดที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ก้าวพ้นกับดักเดิมๆ ในประวัติศาสตร์ของเกือบทุกสังคม เมื่อความขัดแย้งฝังตัวลึกลง เกิดการแบ่งขั้ว มันจะไม่หลุดพ้นจนกว่าจะมีคนอีกรุ่นมาช่วยกรุยทางออกให้สังคมนั้น พวกเราต้องเป็นผู้แบกรับภาระอนาคตมากที่สุด อย่าปล่อยโอกาส สิทธิที่มีอยู่แม้ไม่สมบูรณ์อย่างไรก็ตาม หลุดลอยไปใช้มันให้เป็นประโยชน์มากที่สุด


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ – "ทำลายมายาคติว่าด้วยความวุ่นวาย-การคอร์รัปชัน หมุนให้ทันโลก" 

สิ่งที่อยากสื่อสารกับคนรุ่นใหม่คือ ความสงบในทุกวันนี้เกิดขึ้นเพราะมีปืนจ่อหัว เราต้องเรียก คสช.ด้วยนามที่เป็นจริง คือ เผด็จการ ทุกวันนี้เรามีคนหนุ่มสาวมากมายมีคนแสดงความเห็นต่างมากมายถูกดำเนินคดีแล้ว อยู่ในคุกแล้ว คนไปตรวจโกงอุทยานราชภักดิ์ก็โดนดำเนินคดี ไหนใครบอกว่าเกลียดการคอร์รัปชัน การลุแก่อำนาจเป็นที่สุด แต่นี่แหละคือการใช้อำนาจโดยไม่ตรวจสอบอย่างแท้จริง แม้แต่การไปแสดงความเห็นของตัวเองว่าอยากเลือกตั้งติดคุก นี่เป็นสังคมที่เราอยากได้หรือเปล่า ต้องพูดให้ชัดว่ามีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น และนี่คือต้นทุนของประเทศ สิทธิเสรีภาพของประชาชนคือต้นทุนของประเทศ ประเทศจะก้าวหน้าได้อย่างไรถ้าประชาชนไม่สามารถแสดงความเห็นได้

กับดักที่สำคัญคือ ทุกคนพูดแต่เรื่องความวุ่นวาย ..ผิด! การชุมนุมบนถนนไม่ใช่ความวุ่นวาย แต่เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทุกประเทศมีการชุมนุมเต็มไปหมดและไม่เกิดความวุ่นวาย เราต้องไม่ติดกับดักมัน บ้านเมืองไปข้างหน้าได้แม้มีการชุมนุมก็ตามที

ทำไมต้องพูดถึงกับดักนี้ เพราะเราถูกชนชั้นนำทำให้เชื่อเสมอว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการเมืองบนถนน...ไม่ใช่! ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเพราะคนที่ชุมนุมบนถนนต้องการผลักสังคมไปสู่ทางตันเพราะรู้ว่าทหารจะออกมา นี่ต่างหากคือปัญหา ไม่ใช่การชุมนุมบนถนนโดยตัวมันเอง

กับดักที่สอง คือ กับดักเรื่องทุจริจคอรัปชั่น ประเทศไทยมีไหม มี ยอมรับ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดในโลกก็มีเหมือนกัน แต่หนึ่งอย่างที่พิสูจน์มาแล้วคือ ยิ่งมีประชาธิปไตยมากเท่าไรยิ่งมีคอร์รัปชันน้อยลง นี่เป็นกับดักที่บอกว่านักการเมืองเลว เป็นกับดักให้คนที่มีอำนาจแทรกแซงประชาธิปไตย วิธีการแก้ปัญหาคือ ต้องอัดฉีดประชาธิปไตย ความโปร่งใส ความใกล้ชิดยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นต่างหากจึงจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้

สุดท้าย ยุคสมัยนี้เป็นยุคแห่งความเป็นไปได้ เพราะเรามี 3 อย่างที่ยุคก่อนหน้าไม่มี
1. เทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้เราเข้าถึงคนหมู่มากได้ โดยไม่ต้องผ่านช่องทางแบบเดิม
2. สังคมปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์มืดมิดถึงขีดสุด ประชาชนเอื้อมระอาเต็มที
3. เราอยู่ในยุคสมัยใหม่ที่การเคลื่อนตัวของโลกไปเร็วกว่าสิ่งที่พยายามฉุดรั้งให้สังคมล้าหลัง

ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งนี้ที่จะทำให้การทำรัฐประหารเป็นอดีตและไม่เกิดอีกในอนาคตเป็นไปได้ สิ่งที่ทำให้เราเดินทางมาอยู่ในสภาพทุกวันนี้ได้เพราะเรายอมจำนนกับความอยุติธรรม จนมันกลายเป็นสิ่งปกติ ผมเชิญชวนว่าอย่ายอมจำนน แม้เพียงสักครั้งหรือแม้ว่าความอยุติธรรมนั้นเกิดกับคนอื่น เพราะปล่อยให้เกิดกับคนอื่นได้มันจะกลายเป็นสิ่งปกติ เราต้องทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นกับคนทุกคน

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: 8 เดือนนับถอยลง

Posted: 14 Jun 2018 08:12 AM PDT

 

ฟุตบอลโลกปีนี้ ไม่มีคำว่าฟีเวอร์ คนไทยไม่ตื่นเต้นเท่าไหร่ บางคนไม่สนใจ จนไม่รู้ว่าอิตาลีตกรอบไปแล้วก็มี น่าเสียดาย พี่ป้อมอุตส่าห์ให้ กกท.เป็นเจ้าภาพ ล็อบบี้สปอนเซอร์ ถ่ายทอดสดให้ดูฟรี

ประเทศเราแสนดี กสทช.มีกฎมัสต์แฮฟมัสต์แคร์รี คนไทยต้องได้ดูบอลโลกบอลยุโรปฟรี ทั้งที่เอกชนต้องซื้อลิขสิทธิ์แพงหูฉี่ นี่ถ้าไม่ใช่ยุคนี้ ถ้าปล่อยให้แข่งขันเสรี ก็ไม่มีทางได้ดู แต่กว่าจะรู้ว่าได้ดู กว่าจะรู้ช่องไหนถ่าย บรรยากาศก็ซึม ๆ เซ็ง ๆ ไปซะแล้ว

ยุคสมัยก็เปลี่ยนไป คนสนใจโซเชียลมากกว่าดูทีวี ฟุตบอลโลกแม้ยังมีมนต์ขลัง แต่ไม่เท่าอดีต เพราะยุคนี้มีพรีเมียร์ลีก ยูฟ่าแชมเปี้ยนลีก ทุกสัปดาห์ เชียร์หงส์เชียร์ผีมันกว่าในเมื่อทีมชาติไทยไม่ได้ไปบอลโลก ฉะนั้นที่หวังว่าจะกระตุ้นการใช้จ่าย หรือจะทำให้คนบ่นรัฐบาลน้อยลง ก็คงมีผลบ้างแต่ไม่มากอย่างที่หวัง

ยิ่งถ้าบอกจะทำให้คนสนใจโซเชียลน้อยลง ไม่มีทาง คนไทยสนใจข่าวกัปตัน-มิ้ง มากกว่าทรัมป์จับมือคิมด้วยซ้ำ

เพียงแต่การเมืองช่วงจากนี้ไป พอเห็นทิศทางชัดเจน คือน่าจะมีเลือกตั้ง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2562 ดูท่าที จะไม่กล้าเลื่อนเกิน ก.พ.ด้วยซ้ำ เพียงพูดเผื่อป้องกันไว้

ฉะนั้นรัฐบาลขาลงก็จะอยู่อีก 8 เดือน บวกช่วงรอตั้งรัฐบาลใหม่ ท่ามกลางกระแสถล่มจนท่านผู้นำอารมณ์บูด ซึ่งแม้วันนี้ทำอะไรท่านไม่ได้ แต่ก็จะส่งผลต่อการกลับมาใหม่ ต่อการตั้งพรรคสนับสนุนท่านผู้นำ ซึ่งจะอ่วมไปด้วยกัน

โดยถ้าความนิยมยังตกต่ำลงไปอีก ๆ ๆ ก็จะนำไปสู่คำถาม ถ้าลุงตู่ไม่ได้ไปต่อ ไปต่อไม่ไหว พลังอนุรักษนิยมจะทำอย่างไร โครงสร้างกลไกวางรอไว้หมดแล้ว

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่านี่คือเป้าหมายของทุกฝ่าย ไม่ว่าพลังประชาธิปไตยที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจ หรือพวกข้างแคร่ที่รอส้มหล่น เขย่าต้นส้ม หวังเสียบ

8 เดือนอาจดูสั้น ๆ อุตส่าห์อยู่ยั้งมา 4 ปี แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างมันปริ่มหมดแล้ว คนที่ไม่ชอบก็แทบระเบิด คนที่เบื่อก็ล้นคอหอย กองเชียร์แม้ยังมี แต่กองหนุนวันนี้ก็ไม่แน่ว่าอยากให้อยู่วันหน้า

รัฐบาลหวังว่า ตัวเลขเศรษฐกิจดี ท่องเที่ยวดี ส่งออกดี จะกระจายถึงปากท้องชาวบ้าน แต่เวลาสั้น ๆ คนอัดอั้นมานาน ต่อให้ดีขึ้นสักหน่อย ก็ไม่มีทางแก้ความรู้สึกได้ ถ้าเลือกได้ เลือกคนใหม่ดีกว่า

ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านยังรู้สึกว่า รัฐบาลใช้งบประมาณไปมากมาย 4 ปี เกินดุล 1.79 ล้านล้านบาท แม้ส่วนใหญ่ใช้กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่งบความมั่นคงสูงลิ่ว งบซื้ออาวุธ หรือการใช้จ่ายของหน่วยงานราชการ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก

รู้ตัวนี่ครับ ล่าสุด ครม.ตีกลับบำเหน็จ 2 ขั้นให้เจ้าหน้าที่ คสช. 600 นาย อัฐประชาชนค่าขนมยาย นายกฯ บอกให้ลดเท่าที่จำเป็น คงรู้ประชาชนบ่นมาก ไม่ต่างกับการแต่งตั้งทหารข้าราชการเป็น สนช.แล้วหลับ หรือตั้งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจกันล้นหลาม

รัฐบาลนี้ไม่โกง เพราะยังไม่มีใครถูกจับได้ เพราะกลไกตรวจสอบตั้งกันมาเอง แต่การใช้งบ การเอื้ออำนวยกัน การแต่งตั้ง ปูนบำเหน็จ ชาวบ้านไม่ไว้วางใจ

ความพยายามสืบทอดอำนาจก็ทำให้เสื่อม เหมือนการดูดจนแก้มตอบ ยังเถียงว่าชอบธรรม ยิ่งถ้าใกล้เลือกตั้ง ถ้ามีการใช้อำนาจ ใช้กฎกติกา แล้วประชาชนมองว่าเอาเปรียบ ก็หมดเครดิตได้เหมือนกัน

 

 

ที่มา: www.kaohoon.com/content/236083

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มองคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน 4 ประเด็นที่ดีขึ้น 1 ประเด็นที่ต้องผลักดันต่อ

Posted: 14 Jun 2018 08:05 AM PDT

วันนี้ (12 มิถุนายน 2561) เวลาประมาณ 10.45 น. ณ ศาลปกครองกลาง ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 หมายเลขแดงที่ ส.660/2559  ระหว่าง นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ที่1 กับพวกรวม 6 คน ผู้ฟ้องคดี กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผู้ถูกฟ้องคดี

มูลเหตุของคดีนี้มีที่มาจากการที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ปฏิบัติการตามโครงการขยายผลการอพยพผลักดัน จับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-สหภาพเมียนมาร์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ครั้งที่ 4 บริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554  โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยนายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร  หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น  ได้ทำการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง รวมถึงของผู้ฟ้องคดีทั้งหกด้วย รวมแล้วมีบ้านพักอาศัย และยุ้งฉางถูกจุดไฟเผาจำนวน 98 หลัง

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ครั้งนั้น เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 นายโคอิ หรือคออี้  มีมิ กับพวกรวม 6 คน โดยได้รับความช่วยเหลือจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร  หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น

วันที่ 7 กันยายน 2559  ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาว่าการเผาบ้านและยุ่งฉางโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการเผาทำลายเครื่องใช้ส่วนตัวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นเงินคนละ10,000 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด (อ่านคำพิพากษาศาลปกครองกลางฉบับเต็ม)

ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม  2559  ผู้ฟ้องคดีทั้งหกยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางยังมีความบกพร่องคลาดเคลื่อน และยังวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี

ในการฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในวันนี้มีผู้ฟ้องคดีที่ 2 , 4 ผู้แทนผู้ฟ้องคดีที่ 5 และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 มาศาล ส่วนฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี มีผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 มาศาล

ก่อนอ่านคำพิพากษา ตุลาการผู้อ่านคำพิพากษาได้ชี้แจงต่อผู้เข้าร่วมฟังคำพิพากษาว่า คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้อีก  แม้ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ขอให้วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุมีผล นอกจากนี้ ตุลาการยังได้อธิบายด้วยว่า เหตุที่ศาลปกครองต้องเร่งรีบในการพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีที่จะช่วยวางบรรทัดฐานสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินและเป็นคดีสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ตุลาการผู้อ่านคำพิพากษาแจ้งว่า คำพิพากษามีความยาวทั้งสิ้น 57 หน้า แต่ตุลาการผู้อ่านคำพิพากษาจะขออ่านเฉพาะในส่วนคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยตามอุทธรณ์ของคู่กรณีใน 2 ประเด็น คือ (อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดฉบับเต็ม)

ประเด็นแรก สิทธิในการฟ้องคดีและการยื่นฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสูดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหก ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกจึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง และผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแล้ว

ส่วนประเด็นที่สอง เป็นการวินิจฉัยว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอน เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหก เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหกหรือไม่ และหากเป็นการละเมิด จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียงใด ซึ่งในประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหก ให้ชดใช้ค่าเสียหายรายละเฉลี่ยประมาณ 50,000 บาท

ผลจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นย่อยๆที่น่าสนใจ ซึ่งมีทั้งประเด็นที่ก้าวหน้าและประเด็นที่คงที่ จึงขอหยิบยกบางส่วนมานำเสนอ ดังนี้

ประเด็นแรก ศาลปกครองสูงสุดยอมรับว่าบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หน้า 49)

ประเด็นนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกต่อสู้มาตลอดว่าพวกเขาเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมติดแผ่นดิน โดยบรรพบุรุษเกิดและอาศัยในบริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินมากว่า 100 ปีแล้ว โดยมีหลักฐานต่างๆที่แสดงถึงการมีอยู่ของชุมชนดั้งเดิม อาทิ เหรียญชาวเขาที่ทางราชการได้แจกให้เป็นที่ระลึกเมื่อปี พ.ศ. 2512 – 2513 รวมถึงหลักฐานจากการสำรวจโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรีที่ได้เดินเท้าสำรวจประชากรชาวเขา เมื่อ 22 เมษายน 2531 ณ พื้นที่บริเวณบ้านใจแผ่นดิน บ้านบางกลอยบน และบ้านโป่งลึก ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มคนอยู่อาศัยเป็นชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว

เดิมทีในคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ไม่ได้ยอมรับการดำรงอยู่ของบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินในฐานะเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า การอยู่อาศัยและทำกินในบริเวณดังกล่าวเป็นการบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในลักษณะที่เป็นการเปิดป่าแปลงใหม่  ไม่ใช่การดำเนินการในพื้นที่ที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยศาลมองว่าบริเวณชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงมีเพียงที่อยู่ในบริเวณหมู่บ้านบางกลอยหมู่ที่ 1 หรือหมู่บ้านโป่งลูกหมู่ที่ 2 ตำบลห้วยแม่เพียง จังหวัดเพชรบุรี (คำพิพากษาศาลปกครองกลาง หน้า 28)  แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว พื้นที่บริเวณที่ศาลบอกว่าเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมนั้น เป็นพื้นที่ดั้งเดิมของชาวบ้านโปร่งลึก แล้วรัฐนำมาแบ่งให้ชาวบ้านบางกลอยบน/ใจแผ่นดินที่ถูกอพยพลงมาจากพื้นที่ดั้งเดิมนับแต่ปี 2539 จำนวนหนึ่งได้อยู่อาศัยและทำกิน  ซึ่งก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวบ้านทั้งสองพื้นที่พอสมควร อีกทั้งพื้นที่ที่นำมาจัดสรรให้นั้น ก็ไม่สามารถจัดสรรได้ครบตามจำนวนผู้ที่ถูกอพยพลงมา และพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชีวิตเดิมได้

ประเด็นที่สอง ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอน เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหก เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหก

เดิมทีในคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอน เผาทำลายเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างและยุ้งฉางนั้น เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วนและตามควรแก่กรณีแล้ว เพราะหากรื้อถอนไปแล้วคงเหลือวัสดุก่อสร้างไว้ที่เดิม ย่อมจะทำให้ผู้กระทำความผิดนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ได้  การปฏิบัติการดังกล่าวจึงถือเป็นการใช้อำนาจโดยชอบตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก (คำพิพากษาศาลปกครองกลาง หน้า 25)

อย่างไรก็ดี ในคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ได้กลับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางในประเด็นดังกล่าว โดยเห็นว่า การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหก พร้อมทั้งได้วางบรรทัดฐานการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ไว้อย่างละเอียด กล่าวคือ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หน้า 48 – 49)

  • การใช้อำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ไม่ได้ให้อำนาจดุลพินิจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในอันที่จะเลือกใช้มาตรการบังคับทางปกครองอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจหรือโดยพละการ โดยเฉพาะการรื้อถอนเขาทำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัยย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิอื่นใดอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายเกินสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ
     
  • พนักงานเจ้าหน้าที่สมควรต้องออกคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกจัดการกับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของตนเสียก่อน
     
  • แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกจะมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองดำเนินการเข้าทำลายหรือถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้ในทันที ต้องแจ้งคำเตือนเป็นหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกกระทำการตามคำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสมควร โดยระบุค่าใช้จ่ายหรือจำนวนค่าปรับทางปกครอง ระยะเวลาดำเนินการและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ  โดยแจ้งเตือนก่อนเริ่มดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร  พร้อมทั้งปิดประกาศคำสั่งแจ้งเตือนดังกล่าว ณ ที่ว่าการอำเภอที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  องค์การบริหารส่วนตำบล  สถานีตำรวจภูธรแห่งท้องที่และสถานที่ที่จะดำเนินการแห่งละ 1 ชุดก่อนเริ่มดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร  แล้วจัดทำบันทึกการปิดประกาศไว้เป็นหลักฐาน
     
  • ภายหลังจากดำเนินการแล้ว ต้องจัดทำบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการบัญชีทรัพย์สินที่ทำลายหรือรื้อถอนหรือทรัพย์สินอื่นที่ได้เก็บรักษาไว้ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่ แผนที่สังเขปบริเวณที่ดำเนินการ  พร้อมภาพถ่ายแล้วนำเรื่องราวทั้งหมดพร้อมพยานหลักฐานไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ณ สถานีตำรวจภูธรธรแห่งท้องที่ในทันที

ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังที่กล่าวมา  จึงเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำดังกล่าวและเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ  รวมถึงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ตลอดจนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2503 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  ในส่วนของการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้ การกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหก

ประเด็นที่สาม ศาลปกครองสูงสุดนำมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2503 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง มาใช้ประกอบการวินิจฉัยการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อุทยานฯด้วย

มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เป็นหนึ่งในประเด็นข้อต่อสู้ที่ฝ่ายผู้ฟ้องคดียกขึ้นมาอ้างอิงทั้งในชั้นศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด เพื่อแสดงให้เห็นถึงการยอมรับวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโดยรัฐ และให้ศาลปกครองรับรองมติดังกล่าวเพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบนและใจแผ่นดิน

อย่างไรก็ดี ในชั้นของศาลปกครองกลางนั้น เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยว่าพื้นที่พิพาทไม่ใช่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ศาลจึงวินิจฉัยว่ามติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ไม่สามารถนำมาใช้ได้ โดยศาลให้เหตุผลว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้ความคุ้มครองเฉพาะในการดำเนินวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงเท่านั้น  ไม่ได้รวมถึงการบุกรุกแผ้วถางป่าในลักษณะที่เป็นการเปิดป่าแปลงใหม่ (คำพิพากษาศาลปกครองกลาง หน้า 27 – 28)

ศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยต่างไปจากศาลปกครองกลาง โดยได้นำมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2503 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  ในส่วนของการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม มาประกอบการวินิจฉัยในประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าอุทยานแก่งกระจานว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ด้วย (กล่าวไว้แล้วในประเด็นที่สอง) ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะศาลปกครองสูงสุดได้ยอมรับว่าบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ศาลปกครองสูงสุดจึงนำมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2503 มาประกอบการวินิจฉัยด้วย

ประเด็นที่สี่ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมอุทยานฯรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรื้อถอนเผาทำลายบ้านและยุ่งฉางด้วย

เดิมทีศาลปกครองกลาง วินิจฉัยให้กรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะแต่ในส่วนของเครื่องใช้ในครัวเรือน และสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นสิ่งของที่จำเป็นจะต้องมีไว้ใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคน สิ่งของในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือสิ่งต้องห้ามตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ อยู่ในวิสัยที่เจ้าหน้าที่จะทำการเก็บรวบรวมทรัพย์สิน แล้วนำมาเก็บรักษา เพื่อประกาศให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อขอรับคืนในภายหลัง หรือจัดเก็บแยกออกจากสิ่งก่อสร้างที่จะเผาทำลายได้  โดยศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ผู้กรมอุทยานฯ ชดใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นเงินคนละจำนวน 10,000 บาท

ส่วนค่าสินไหมทดแทนกรณีความเสียหายต่อเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างและยุ้งฉางนั้น เนื่องจากศาลปกครองกลางเห็นว่าการรื้อถอนเผาทำลายดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก ศาลจึงไม่พิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายในกรณีดังกล่าว

อย่างไรก็ดี สืบเนื่องจากศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยว่าการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลุกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีดังที่กล่าวไปแล้ว ศาลปกครองสูงสุดจึงได้มีคำวินิจฉัยในส่วนความรับผิดค่าสินไหมทดแทนใหม่ โดยให้กรมอุทยานฯชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีการรื้อถอนเผาทำลายบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างและยุ้งฉางด้วย  โดยในคำวินิจฉัยส่วนนี้ศาลปกครองสูงสุดได้กล่าวถึงเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิในการดำรงชีวิตและสิทธิในทรัพย์สิน ศาลปกครองสูงสุดอธิบายว่า "….ไม่มีบุคคลใดที่จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้หากปราศจากเครื่องอาศัยยังชีพ  อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค  อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต  อีกทั้งบุคคลไม่อาจถูกจำกัดแค่การมีชีวิตอยู่เยี่ยงสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆเท่านั้น  แต่ต้องดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขและมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ด้วย  หากสิทธิดังกล่าวถูกลิดรอนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้เกิดความเสียหาย  บุคคลนั้นย่อมต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขความเสียหาย  คดีนี้เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกระทำการไปโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำดังกล่าวและใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ  ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ตลอดจนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553  การที่เจ้าหน้าที่เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกต้องสูญเสียปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตถือเป็นพฤติการณ์ที่มีความร้ายแรง  กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิในการดำรงชีวิตและสิทธิในทรัพย์สินของผู้ถูกผู้ฟ้องคดีทั้งหกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย.." (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หน้า 50)

โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมอุทยานฯชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีค่าเสียหายจากการที่สิ่งปลูกสร้าง บ้านและยุ้งฉางถูกรื้อถอนเผาทำลายเป็นเงินกึ่งหนึ่งของราคาประมาณการก่อสร้าง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วศาลพิพากษาให้รายละ 41,000 บาท  ส่วนค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน ศาลพิพากษาให้ชดใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกคนละจำนวน 10,000 บาทเช่นเดิมตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ดังนั้น โดยรวมแล้ว ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายจะได้รับค่าสินไหมทดแทนโดยเฉลี่ยแล้วคนละประมาณ 50,000 บาท

ประเด็นสุดท้าย ผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่มีสิทธิกลับคืนบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน เพราะอยู่ในเขตอุทยานฯและผู้ฟ้องคดีไม่มีหลักฐานแสดงการอนุญาตจากทางราชการ

การขอกลับคืนถิ่นฐานเดิมที่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมต่อสู้มาตลอดทั้งในศาลปกครองกลาง ต่อเนื่องมาจนถึงศาลปกครองสูงสุด ซึ่งแม้ศาลสุดท้ายศาลปกครองสูงสุดจะยอมรับว่า บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินคือชุมชนดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แต่ศาลปกครองสูงสุดก็ไม่อาจจะพิพากษาให้ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมกลับไปอยู่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย เพราะพื้นที่พิพาทดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไปแล้ว และชาวบ้านก็ไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารมาแสดงว่าได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีทั้งหกจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท ศาลปกครองสูงสุดจึงออกคำบังคับในเรื่องนี้ให้ไม่ได้ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หน้า 56)

ปัญหาเรื่องกฎหมายบุกรุกคน เป็นเรื่องที่มีการต่อสู้กันทางกฎหมายมาอย่างยาวนาน แม้หลายกรณีชาวบ้านจะพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวน หรือเขตอุทยานก็ตาม แต่เมื่อปรากฎว่าพื้นที่เหล่านั้นถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนหรืออุทยานแล้ว หากไม่ได้รับอนุญาตอย่างชัดเจนจากรัฐให้อยู่ในพื้นที่ ชาวบ้านก็จะกลายเป็นคนผิดกฎหมาย เป็นคนบุกรุกป่า และต้องออกจากพื้นที่ การพิสูจน์ในทางข้อเท็จจริงว่าอยู่มาก่อนโดยไร้เอกสารทางการที่อนุญาตให้อยู่อาศัยทำกินได้  ย่อมไม่ช่วยให้ชาวบ้านมีสิทธิอยู่อาศัยทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ได้  ข้อเท็จจริงดังกล่าวอาจช่วยได้อย่างมากก็เพียงให้ชาวบ้านรอดพ้นจากความผิดอาญาจากการเป็นผู้เจตนาบุกรุกป่า  แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ชาวบ้านก็ต้องออกจากพื้นที่ ดังเช่น คดีชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่อมกิ 2 คนที่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าสงวน ที่แม้ศาลฎีกาจะพิพากษาว่าพวกเขาไม่มีความผิด เพราะในข้อเท็จจริงพิสูจน์ได้ว่าพวกชาวบ้านทั้งสองอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวน  จึงไม่มีเจตนาบุกรุก แต่เมื่อพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแล้ว พวกเขาก็ไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยต่อไป ต้องออกจากพื้นที่ (คำพิพากษาศาลฎีกาคดีแม่อมกิ )

ผู้เขียนยังไม่รู้ว่าทางออกของปัญหานี้คืออะไร แต่ผู้เขียนก็คิดว่า ศาลคงทำหน้าที่ของตัวเองดีที่สุดแล้ว สิ่งที่ต้องช่วยกันต่อไปคงต้องช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ปัญหาเชิงนโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งแน่นอนโจทย์สำคัญของการแก้ปัญหานี้คือ "คนกับป่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร"

 

ที่มา: http://naksit.net/2018/06/

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วัฒนา เมืองสุข: “ทรราช”

Posted: 14 Jun 2018 07:51 AM PDT


ผมขอประณามการดำเนินคดีกับเจ้าของเพจ "KonthaiUk" ที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการซื้อดาวเทียมมูลค่า 91,200 ล้านบาท และประชาชนที่เผยแพร่หรือส่งต่อข้อความดังกล่าว โดยกล่าวหาว่า "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน"

ภาพและข้อความที่ถูกเผยแพร่มีสองส่วน ส่วนแรกพูดถึงเรือเหาะที่ซื้อมาซ่อมซึ่งเป็นความจริง ส่วนที่สองมีข้อความว่า "ยังจะซื้อดาวเทียม 91,200 ล้าน มาแดกอีก" โดยมีรูปของบุคคลในรัฐบาลอยู่ด้วย นั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่มักจะมีข้อครหาเกี่ยวกับความเหมาะสมและความโปร่งใส เช่น การซื้อเรือเหาะ หรือการแอบซื้อเรือดำน้ำ เป็นต้น ทั้งยังมีมูลเพราะพฤติกรรมเดิมเคยทำไว้และดาวเทียมที่ใช้กำลังจะหมดอายุจะต้องจัดหาใหม่ จึงอยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไปจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้งบประมาณเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ

ข้อความดังกล่าวมิได้เป็นความเท็จที่ทำให้เสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ถึงแม้จะมีภาพของบุคคลในรัฐบาลก็มิได้ถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หากจะเป็นความผิดก็เป็นเรื่องของการหมิ่นประมาท แต่ข้อความในเพจก็ไม่ได้กล่าวหาใครและไม่อาจใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือดำเนินคดี

รัฐบาลต้องสำเหนียกว่าอำนาจและงบประมาณที่ใช้อยู่นั้นเป็นของประชาชน หากการวิพากษ์วิจารณ์เกิดจากความเข้าใจผิดหรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็ควรชี้แจงให้เจ้าของอำนาจทราบ ไม่ใช่ใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเครื่องมือดำเนินคดีปิดปากผู้เห็นต่าง

การกลั่นแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ส่วนผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทำความเดือดร้อนให้กับผู้ใต้ปกครองของตนคือทรราช

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เศรษฐศาสตร์ เรียนไปทำไมกัน

Posted: 14 Jun 2018 06:51 AM PDT


 

ใครหลายคนมักสงสัยและตั้งคำถามว่า วิชาเศรษฐศาสตร์ เรียนอะไรกัน ทำไมเนื้อหาวิชาถึงมีความสลับซับซ้อนจนยากแก่การเข้าใจ หรือมีสูตรและสมการคณิตศาสตร์ที่คนในสายงานเท่านั้นที่จะอธิบายได้ และบางครั้งเวลาฟังการให้สัมภาษณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาวิเคราะห์เรื่องเศรษฐกิจแล้ว ทำให้รู้สึกว่า ช่างเป็นเรื่องไกลตัวที่เกินกว่าการรับรู้ของประชาชนทั่วไป ซึ่งในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่นั้นก็ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับกิจกรรมการนำเข้า-ส่งออก หรือเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นหรือลงของอัตราแลกเปลี่ยนหรืออัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด

ทั้งๆ ที่จริงแล้ว วิชาเศรษฐศาสตร์อยู่รอบตัวเราและใกล้ตัวมากกว่าที่คาดคิดไว้ ซึ่งเราสามารถนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ เพราะทุกอย่างมีความเป็นเหตุเป็นผล สามารถประเมินค่าและจับต้องได้ หากประชาชนทั่วไปสามารถศึกษาเรียนรู้หรือเข้าใจเนื้อหาเบื้องต้นแล้ว ก็จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ดีในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็แล้วตามที

อ.ดร.เณศรา สุขพานิช สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากคณะเศรษฐศาสตร์ Indiana University สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ.เณศราเป็นศิษย์เก่าคนหนึ่งที่ได้กลับมาทำงานที่คณะ และเป็นหนึ่งในอาจารย์รุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ได้อธิบายความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้ว่า

"…เศรษฐศาสตร์คืออะไร คงมีตำราหลายเล่มเขียนอธิบาย โดยมากมักจะกล่าวถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด คำถามที่อาจจะอยู่ในใจหลายๆ คน คงมีว่า แล้วจัดสรรทรัพยากรอะไร ใครเป็นคนจัดสรร จัดสรรอย่างไร และใครควรเป็นผู้ได้รับทรัพยากรต่างๆ เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์.."

"…เศรษฐศาสตร์จะเป็นวิชาหรือศาสตร์ที่ช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้ หลายคนมักคิดว่าเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วคงต้องไปทำงานด้านการเงินการธนาคาร แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนที่จบเศรษฐศาสตร์เข้าไปทำงานในองค์กรหลากหลายรูปแบบทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะแท้จริงแล้วองค์กรต่างๆ ต่างก็มีทรัพยากรอย่างจำกัด เช่น จำนวนพนักงานมีจำกัด , งบประมาณค่าใช้จ่ายมีจำกัด , ช่องทางการจัดจำหน่ายมีจำกัด , เทคโนโลยีมีจำกัด , เวลามีจำกัด , วัตถุดิบมีจำกัด เป็นต้น ทำให้ต้องมีการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรืออาจจะเป็นองค์กรที่จะต้องตัดสินใจ หรือมีส่วนในการตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรใดทรัพยากรหนึ่งหรือหลายชนิดให้เกิดประโยชน์สูงสุด…"

"…คำถามถัดมาคือ แล้วการเรียนเรื่องการจัดสรรทรัพยากรนั้นเรียนอะไร ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกนิดนึง คือ เศรษฐศาสตร์จะเรียนเกี่ยวกับการตัดสินใจที่ดีที่สุด หรือการตัดสินใจที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด (เกิดประโยชน์กับใครนั้น และประโยชน์ด้านใด ก็อาจจะต้องไปแจกแจงกันดูอีกที) ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ โดยแนวคิดหรือเครื่องมือที่จะมาอธิบายการตัดสินใจนั้น ทางเศรษฐศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ

1. แนวคิดหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่พูดถึงการตัดสินใจของหน่วยย่อย เช่น การตัดสินใจของผู้ผลิตสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ผู้บริโภค หรือครัวเรือน เพื่อให้ตนได้รับประโยชน์สูงสุด (ประโยชน์ที่แต่ละคนต้องการอาจแตกต่างกันไป เช่น ผู้ผลิตอาจต้องการได้รับกำไรสูงที่สุดจากการผลิตสินค้าจำหน่าย , ผู้บริโภคอาจต้องการความพึงพอใจสูงที่สุดจากการบริโภคสินค้า เป็นต้น) ภายใต้ข้อจำกัดที่แต่ละคนหรือแต่ละองค์กรมี แนวคิดหรือทฤษฎีดังกล่าวเรียกว่า แนวคิดหรือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค

2. แนวคิดหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่พูดถึงการตัดสินใจของหน่วยที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือ ไม่ได้พูดถึงผู้ผลิตหรือผู้บริโภคสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการผลิตและการบริโภคสินค้า และการจัดสรรทรัพยากรโดยรวมของกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เช่น ของจังหวัดหรือของประเทศ เป็นต้น แนวคิดหรือทฤษฎีดังกล่าวเรียกว่า แนวคิดหรือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นแนวคิดที่พยายามอธิบายความเชื่อมโยงของภาคส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคการผลิต , ภาคครัวเรือน , ภาครัฐ , ภาคการเงิน และภาคต่างประเทศ เป็นต้น ที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม…"

"…ทั้งนี้นอกจากสาขาวิชาหลักอย่างเศรษฐศาสตร์จุลภาคและเศรษฐศาสตร์มหภาคแล้ว วิชาเศรษฐศาสตร์ยังมีการนำเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ทั้งจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาคมาวิเคราะห์การจัดสรรทรัพยากรในด้านต่างๆ จนก่อให้เกิดสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เฉพาะหลากหลายสาขาวิชา เช่น เศรษฐศาสตร์การเงิน , เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (ว่าด้วยเรื่องการค้า การลงทุน และการเงินระหว่างประเทศ) , เศรษฐศาสตร์การคลัง (ว่าด้วยเรื่องรายรับ รายจ่าย และหนี้สาธารณะของภาครัฐ) , เศรษฐศาสตร์การพัฒนา , เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม , เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ , เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ , เศรษฐศาตร์เกษตร เป็นต้น…"

"…กล่าวโดยสรุป ถ้าถามว่าเศรษฐศาสตร์เรียนอะไร อาจจะตอบสั้นๆ ได้ว่า เศรษฐศาสตร์สอนหลักในการคิดวิเคราะห์เพื่อก่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ จากคำตอบนี้ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใดคนที่เรียนจบเศรษฐศาสตร์จึงมักทำงานในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง หรือไปทำงานให้องค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆ เพราะทุกๆ ภาคส่วนต้องอาศัยบุคลากรที่สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจได้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่แต่ละองค์กรมีอยู่…"

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Newcastle upon Tyne สหราชอาณาจักร อดีตหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง , คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายวัน , อาจารย์พิเศษ , วิทยากรรับเชิญ และเจ้าของ Pocket Book ขายดีหลายเล่ม ผู้ผันตัวเองมาทำงานภาคเอกชน ตำแหน่งปัจจุบันคือ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม สายกลยุทธ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร งานในหน้าที่หลักก็คือ "…ในช่วงเช้าก่อนเริ่มทำงาน จะมีการสรุปข่าวสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งภาพรวมและพัฒนาการเศรษฐกิจของทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงนัยยะ (Implication) ให้กับทีมงานฝ่ายการตลาด…"

"…หลังจากนั้นงานหลักจะเป็นงานรายเดือน คือ การเตรียมประเด็นนำเสนอกับทางคณะกรรมการสินทรัพย์และหนี้สิน (ALCO) ของธนาคาร โดยสรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศแบบรายเดือน ประเด็นความเสี่ยง รวมถึงโอกาสทางธุรกิจให้แก่คณะกรรมการ…"

"…นอกจากนั้น จะเป็นงานตามความต้องการของหน่วยงานอื่นๆ เช่น (1) สายความเสี่ยง ที่จะขอให้ฝ่ายวิจัยทำการประมาณการเศรษฐกิจและตัวแปรต่างๆ ในสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดมา รวมถึงสถานการณ์ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่ทางฝ่ายวิจัยกำหนดเองเพื่อนำไปให้ฝ่ายอื่นๆ วิเคราะห์ต่อเนื่องถึงผลกระทบที่จะมาสู่กลุ่มธุรกิจการเงินฯ (2) สายลงทุนและสายสินเชื่อบรรษัท ที่จะขอให้วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจมหภาคและความเสี่ยงของประเทศเพื่อนบ้านที่กลุ่มธุรกิจสนใจจะไปลงทุน และ (3) สายสินเชื่อธุรกิจ ที่จะขอให้วิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมในประเทศที่สายสินเชื่อนั้นๆ สนใจเพื่อหาโอกาสในการลงทุน รวมถึงระมัดระวังในประเด็นความเสี่ยงต่างๆ…"

ดร.ปิยศักดิ์ ให้ภาพความแตกต่างระหว่างวิชาที่เรียนจากในห้องเรียนกับชีวิตการทำงานที่เกิดขึ้นจริงว่า

"…เศรษฐศาสตร์ที่เรียนมาจะเป็นเชิงทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจนำมาใช้ในงานได้ประมาณ 50% สาเหตุที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้เต็ม 100% นั้น เนื่องจากในเชิงทฤษฎีจะเป็นแนวคิดในเชิงวิชาการ ซึ่งในความเป็นจริงอาจต้องนำบริบทอื่นมาประกอบด้วย เช่น การทำแบบจำลองเพื่อใช้ประมาณการทางเศรษฐกิจ (Macroeconomic Model) หากให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ 100% ตัวแปรต่างๆ จะประสบปัญหาทางเศรษฐมิติ (Econometric) ทำให้ไม่สามารถทำได้ เราจึงต้องผ่อนคลายลงบ้าง รวมถึงนำปัจจัยที่ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจเข้ามาคำนึงในการประมาณการด้วย…"

"…ในส่วนของการวิเคราะห์นั้น แม้ว่าเราจะต้องแม่นในหลักการทางเศรษฐศาสตร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐศาสตร์มหภาค , เศรษฐศาสตร์การเงินและระหว่างประเทศ ที่จะมีผลต่อการวิเคราะห์คาดการณ์ตัวแปรต่างๆ ที่ภาคธุรกิจคำนึงถึง) แต่ในบางกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ เช่น มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในประเทศชั้นนำทั่วโลก , ภาวะเทคโนโลยี 4.0 ที่พลิกเศรษฐกิจและธุรกิจโลก (Disruptive Technology) , ภาวะสังคมสูงวัย (Aging Society) รวมถึงภาวะปกติใหม่ (New Normal)..."

"…สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นและยังไม่มีทฤษฎีใดสามารถวิเคราะห์ได้อย่างครบถ้วน จึงจำเป็นต้องใช้หลักการบริหารจัดการความเสี่ยงแบบ VUCA Risk Management โดย V ย่อมาจาก Volatility หรือความผันผวน , U ย่อมาจาก Uncertainty หรือความไม่แน่นอน , C ย่อมาจาก Complexity หรือความซับซ้อน และ A ย่อมาจาก Ambiguity หรือความคลุมเครือ โดย (1) ต้องคาดการณ์ผลต่อธุรกิจและ/หรือการลงทุนในกรณีต่างๆ (Scenario Analysis) (2) ทำแผนฉุกเฉินรองรับในกรณีต่างๆ ที่คาดการณ์ข้างต้น (Contingency Plan) (3) ทำการกระจายความเสี่ยง (Diversification) และ (4) ทำการประกันความเสี่ยง (Insurance)…"

หลายคนมักสงสัยและถามกันว่า เศรษฐศาสตร์มีประโยชน์อย่างไรในชีวิตประจำวัน ซึ่ง ดร.ปิยศักดิ์ ได้ให้ความกระจ่างว่า "…มีประโยชน์มากในการวิเคราะห์และการทำงาน แต่ตามที่เรียนข้างต้นว่า หลักการเชิงเศรษฐศาสตร์แม้ว่าจะสำคัญและใช้เป็นทักษะหลักในงานที่ทำ แต่จำเป็นต้องนำความรู้และทักษะด้านอื่นๆ มาร่วมด้วยเพื่อให้การทำงานและการดำเนินชีวิตมีประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ เช่น การบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (หลักการด้านเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น) , การแบ่งเวลาระหว่างการทำงานและเวลาของครอบครัว (Quality Time) , การบริหารความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานรวมถึงคนในครอบครัว , การบริหารการเงินระหว่าง รายรับ/รายจ่าย เงินออม/เงินลงทุน เป็นต้น…"

คุณพสิษฐ์ ไชยวัฒน์โสภณ ปัจจุบันเป็นผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายรับประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการพิจารณารับประกันภัยและการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งแผนประกันอุบัติเหตุและประกันการเดินทาง รวมทั้งเป็นวิทยากรฝึกอบรมตัวแทน เป็นอีกคนหนึ่งที่เรียนจบเศรษฐศาสตร์ทั้งในระดับปริญญาตรีและโท แต่เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้วก็ไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมา ได้ให้ทัศนะไว้ว่า

"..ข้อดีอย่างหนึ่งของการมีความรู้เศรษฐศาสตร์ก็คือ ทำให้เข้าใจและวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจได้ดีขึ้น รวมทั้งเข้าใจผลลัพธ์ทางนโยบายของรัฐบาลได้มากขึ้นด้วย เช่น การนำหลักอุปสงค์/อุปทาน , ต้นทุนค่าเสียโอกาส , การคำนวณต้นทุนและผลประโยชน์ มาวิเคราะห์ปัญหาในชีวิตประจำวันและงานประจำที่ทำ เป็นต้น อีกทั้งยังเฝ้าสังเกตการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน หรืออัตราเงินเฟ้อนั้น สุดท้ายแล้วย่อมมีผลต่อเนื่องมาถึงชีวิตประจำวันของตัวเราไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้นจึงสามารถคาดการณ์และเตรียมตัวรับผลกระทบได้อย่างมีสติ เปรียบเสมือนมีกล้องส่องทางไกลอยู่ในมือที่สามารถมองเห็นสึนามิลูกใหญ่ที่กำลังมุ่งหน้าถาโถมเข้าหาฝั่งได้เร็วกว่าคนทั่วไป พร้อมทั้งเตรียมหาทางหนีทีไล่ได้ทันท่วงที.."

"..ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์สามารถนำมาวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัยได้ดีขึ้น ทำให้มองเห็นแนวโน้มการตลาดและภาพรวมของธุรกิจได้ อีกทั้งนำข้อมูลสถิติมาใช้วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ทำงานทุกคนต้องฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะองค์ความรู้ต่างๆ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุค Internet of Things หรือยุคดิจิทัล 4.0 แล้ว ภาคธุรกิจต้องการคนที่รอบรู้ , มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และพร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เสมอ อีกทั้งต้องประยุกต์เทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจปัจจุบันได้ด้วย ส่งผลให้คนรุ่นเก่าบางคนที่ปรับและเปลี่ยนตัวเองไม่ทัน ก็จะกลายเป็นภาระของบริษัทและอาจต้องสูญเสียงานประจำที่ทำในที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่า งานเก่ากำลังหดหาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็เกิดงานใหม่ขึ้นมามากมายเช่นกัน.."

"..ทักษะทางภาษา , ทักษะการนำเสนอผลงานและการโน้มน้าวใจผู้บริหารเพื่อให้อนุมัติแผนงานก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าในอาชีพการงานด้วย ทักษะการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานและการประสานงานจากฝ่ายต่างๆ จะส่งผลโดยตรงให้การทำงานราบรื่นยิ่งขึ้น ดังนั้นการฝึกฝนและเรียนรู้ด้วยตัวเอง รวมทั้งต้องหาโอกาสเข้ารับการอบรมหลักสูตรหรือความรู้ใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะติดตัวไปตลอด.."

"..คำแนะนำสำหรับเด็กจบใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน ก็คือ ความคาดหวังหรือความฝันอาจตรงข้ามกับชีวิตการทำงานจริง ดังนั้นอย่าท้อถอยเมื่อเจออุปสรรค อีกทั้งต้องพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่นอกห้องเรียน ต้องทำตัวเป็นแก้วที่น้ำยังไม่เต็ม และที่สำคัญ ต้องเปิดใจรับสิ่งที่จะเข้ามาอย่างไม่คาดคิดและต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจด้วย นั่นจะทำให้เริ่มนับหนึ่งในชีวิตจริงได้อย่างมั่นคง ประสบการณ์จะเสริมสร้างความแข็งแกร่ง รวมทั้งการก้าวเดินของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับจังหวะชีวิตของแต่ละช่วงเวลาด้วย สุดท้ายแล้ว ทุกคนต้องค้นหาแรงบันดาลใจหรือหาความชอบของตัวเองให้พบ และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด.."

  

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิษณุนำถก แบ่งเขต-ไพมารี-ปลดล็อคพรรค ก่อนชง คสช.-ไม่แน่เลือกตั้ง ก.พ.62

Posted: 14 Jun 2018 06:43 AM PDT

วิษณุ เครืองาม-กกต.-กรธ.-สนช. ถกหาทางออก การแบ่งเขตเลือกตั้ง-ไพรมารีโหวต-ปลดล็อกพรรคการเมือง เตรียมเสนอทางเลือกให้ คสช. ตัดสินใจ ผู้สื่อข่าวถามยังเลือกตั้งก.พ.62 แน่ไหม วิษณุตอบ "ไม่กล้าพูดอย่างนั้น แต่คาดว่าจะบริหารจัดการได้ แต่ถ้ามีตัวแปรบางอย่างที่เห็นว่าสมเหตุสมผลก็อาจจะบวกลบกันบ้าง" ด้าน กกต.ชี้ใช้ ม.44 แก้ปัญหาให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งก่อนดีที่สุด


ภาพจากสำนักนายกฯ

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นำประชุมร่วมกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. พร้อมด้วย กกต. 3 คน คือ นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ นายบุญส่ง น้อยโสภณ และนายประวิช รัตนเพียร รวมถึง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาฯ กกต. ขณะที่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่ง นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง และ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ เข้าร่วมหารือ และมีตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ส่ง นายวิทยา ผิวผ่อง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง

ใช้เวลาประมาณนานกว่า 2 ชม หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 19.00 น. นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือว่า ได้หารือในหัวข้อที่แต่ละฝ่ายเสนอมาเกือบ 15 ข้อ แต่มีบางเรื่องซ้ำไปมา เหลือประเด็นใหญ่ที่จะรายงานให้คสช.และนายกฯรับทราบ 3-4 ข้อ เพื่อพิจารณาแก้ปัญหาที่พรรคเก่าและพรรคใหม่โอดครวญมา  ได้แก่

1.จะทำอย่างไรเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ของพรรค อะไรที่ทำได้หรือไม่ได้

2.คำว่าหัวหน้าสาขาพรรคที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายขั้นตอน คือ การประชุมใหญ่ ไพมารีโหวต การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีหน้าสาขาพรรคอยู่จะทำอย่างไรในขณะที่ยังไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้

3.การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่จะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะกลายเป็นกิจกรรมทางการเมือง จะยอมให้ทำได้ขนาดไหน

4.การบริหารจัดการ กำหนดเวลาต่างๆ ที่อาจจะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาจไปผูกกับการประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับ ผูกการเลือกตั้งทอ้งถิ่น ผูกกับ กกต.ชุดใหม่ เป็นต้น คิดไว้หลายทางเลือก มีการสมมติว่าถ้าเป็นในเดือนนั้นจะต้องทำอะไรก่อน หากขยับออกไปอีกหนึ่งเดือนต้องทำอะไรก่อนหลัง ส่วนรายละเอียดในเรื่องอื่นๆ ถือเป็นประเด็นปลีกย่อย ไม่ต้องใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหา เช่น ค่าใช้จ่าย งบประมาณ หรือการหาทุนประเดิมไม่ได้หนึ่งล้านบาท ที่ต้องทำให้เสร็จภายในเดือนก.ย.

ส่วนประเด็นที่พรรคต้องไปหาสมาชิก ที่ยังติดขัดในข้อกฎหมายจากคลายล็อกให้ ไม่ใช่ปลดล็อก เพื่อให้หาสมาชิกได้ ถ้าคลายล็อกแล้วยังหาสมาชิกไม่ได้ 500 คนในเดือนก.ย. ก็ต้องไปบริหารจัดการกันให้ได้ เพราะการจะใช้กฎหมายเข้าไปแก้ไขมีอยู่ 3-4 ประเด็นดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องเสนอ คสช.คือ การให้ กกต. ดำเนินการก่อนที่กฎหมายลูกจะมีผลบังคับใช้ 90 วัน ในที่ประชุมคุยว่าเรื่องใดที่ กกต.ใช้อำนาจได้ก็ให้ทำไป เรื่องใดที่ คสช.ช่วยได้ โดยไม่ต้องไปแก้อะไร เช่น จัดประชุมใหญ่ก็ให้ขออนุญาตมา แต่จะมี 4 ประเด็นที่ต้องออกกฎหมาย ก็ต้องดูว่าจะออกเป็นพระราชกำหนด พระราชบัญญัติ หรือหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อคลายปัญหาที่ติดขัด แต่ไม่ใช่การปลดล็อกทั้งหมด

นายวิษณุ กล่าวว่า ดังนั้นอย่าเพิ่งคิดว่าทั้งหมดจะต้องใช้มาตรา 44 หากปลดล็อกทั้งหมด ก็อาจสะดุดในบางอย่างได้ ยกตัวอย่าง หากจะใช้พระราชกำหนดเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นการเฉพาะเจาะจงเพียงเรื่องเดียวก็ไม่สามารถทำได้ แต่หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเรื่องความมั่นคง ก็ออกเป็นพระราชกำหนดโดยพ่วงการแบ่งเขตเข้าไปได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเสนอคสช.ไปแล้วหรือรัฐบาลมีความเห็นในทางใด ก็ควรมาคุยกันอีกครั้ง แต่เบื้องต้นจะไม่ประชุมคณะทำงานทางเทคนิคแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากการพูดคุย ยังยืนยันจัดเลือกตั้งในเดือนก.พ. 2562 อยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่กล้าพูดอย่างนั้น แต่คาดว่าจะบริหารจัดการได้ แต่ถ้ามีตัวแปรบางอย่างที่เห็นว่าสมเหตุสมผลก็อาจจะบวกลบกันบ้าง

ส่วนไพรมารี่โหวตจะยังคงไว้อยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องรายงานให้คสช.ทราบใน 2 ประเด็นว่า ถ้ายังยืนยันจะมีแล้วจะเกิดปัญหาอะไร จะแก้อย่างไร หากยังคงทุกอย่างไว้เหมือนเดิม คงจะไพรมารี่โหวตไม่ได้ หรือถ้าไม่มีแล้วจะต้องทำอย่างไร จึงต้องมีสองทางเลือกเอาไว้ชี้แจง

ส่วนที่อยากให้เลิกไพรมารี่โหวตเพราะเห็นว่าปัจจัย 3 ข้อคือ ถ้าไม่มีการแบ่งเขต ไม่ยอมให้ประชุมใหญ่ ไม่ยอมให้หาสมาชิกได้ ก็ทำไพรมารี่โหวตไม่ได้ หากปัจจัย 3 ข้อนี้ยังไม่ขยับ ไพรมารี่โหวตคงจัดไม่ได้ พรรคจึงอยากให้ยกเลิก ซึ่งใน 3 ข้อนี้บางเรื่อง คสช.ปลดเปลื้องให้ได้ บางเรื่องพรรคต้องไปบริหารจัดการเอง

ด้านนายจรุงวิทย์ เลขาฯ กกต. กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมว่า ในส่วนของ กกต.จะเสนอที่ประชุมถึงแนวทางที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งและปัญหาอุปสรรคที่พรรคการเมืองเคยเสนอมาก่อนหน้านี้ รวมถึงการทำให้พรรคการเมืองประชุมเพื่อหาสมาชิกใหม่ได้ เชื่อว่าวันนี้จะได้ข้อสรุป ส่วนการยกเลิกไพรมารีโหวตและใช้การประชุมพรรคเพื่อหาตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่ตนได้ยินมา แต่จะต้องรอ คสช.พิจารณา เพราะเป็นผู้ออกกฎหมาย

เมื่อถามว่า การทำไพรมารีโหวต เป็นปัญหาของพรรคการเมืองใหม่ที่อาจดำเนินการในส่วนนี้ไม่ทันหรือไม่นั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ตอนนี้พรรคมีส่วนที่ทำได้และทำไม่ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสมาชิก หากมีสมาชิกเพียงพอก็สามารถทำได้ แต่หากสมาชิกไม่พอ ก็ไม่จำเป็นต้องส่งทุกเขต

เมื่อถามว่า ตอนนี้มีพรรคการเมืองที่ผ่านเกณฑ์แค่ 3 พรรคที่สามารถส่งสมาชิกได้ทั่วประเทศ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายเวลา พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ยังมีเวลาอีก และขณะนี้ต้องดูคำสั่งที่ 53/2560 ที่เป็นปัญหาและอุปสรรค ทั้งหมดขึ้นอยู่กับนายวิษณุว่าจะนำประเด็นนี้ไปทำอย่างไร

เมื่อถามว่า จะมีการขอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองด้วยหรือไม่ นายจรุงวิทย์ กล่าวว่า อยู่ในคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 มาตรา 141 (4)

เมื่อถามว่า ยังมีเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จะเสนอแนวทางทางกฎหมายว่า มีช่องทางไหนบ้างที่สามารถเปิดทางให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้ก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า ตนมองว่าการใช้มาตรา 44 เป็นทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา เพราะเป็นช่องทางกฎหมายที่ไม่มีทางที่จะขัดกฎหมายอื่น ทำให้วันนี้ต้องเชิญ กรธ.มาหารือด้วยวันนี้มาเสนอปัญหา ก่อนนำไปสู่การเลือกตั้ง ส่วนข้อกฎหมายจะแก้อย่างไรอยู่ที่ คสช.

 

เรียบเรียงจาก

https://www.khaosod.co.th/politics/news_1216958
https://www.matichon.co.th/politics/news_998850
https://www.thairath.co.th/content/1307982

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจริญ คัมภีรภาพ: การเมือง...ที่ป่วยหนัก

Posted: 14 Jun 2018 06:35 AM PDT

 

ถ้าจะเทียบการเมืองเป็นสิ่งที่มีชีวิตจิตใจอย่างคนเรา การเมืองของประเทศไทยตอนนี้คงมีอาการเหมือนคนที่ป่วยหนักจากสายตาของนักสังเกตการณ์ทางการเมือง ผู้ที่มองโลกไปในทางความเป็นจริงไม่ได้มองโลกสวยหรือติดอยู่ในกับดักความคิดตนเอง นัยว่าจะพัฒนาหรือคลี่คลายไปในทิศทางใดระหว่าง สภาพสังคมการเมืองแบบรัฐราชการ ผสมผสานกับการมีกลไกถาวรทางการเมืองที่ถูกจัดตั้งขึ้นแบบจีนกระชับอำนาจกำหนดล็อคเงื่อนไขยุทธศาสตร์ของชาติ ควบคุมกำกับจากคณะผู้บริหารพิเศษที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งไว้ โดยไม่มีความเชื่อมโยงและมีความรับผิดชอบทางการเมืองกับประชาชน เหลือพื้นที่ทางการเมืองไว้ให้ประชาชน และ นักการเมืองไว้เล่นในเชิงสัญลักษณ์ เช่น การเลือกตั้ง และ ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจากพรรคการเมืองทางหนึ่ง ขณะที่ทิศทางอีกทางหนึ่งนั้นเป็นการหันหัวประเทศเข้าสู่ความขัดแย้ง ยุ่งเหยิงอยู่กับข้อขัดแย้งทางการเมืองต่อไป และอาจเป็นเหตุนำประเทศเข้าสู่สภาวะรัฐที่ล้มเหลว (failure state) ให้ประชาชนรอคอย ถกเถียงวิ่งไล่เงาไขว่คว้าอยู่กับวาทะกรรมทางการเมืองเรื่อง ประชาธิปไตย การปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปทางการเมือง rule of law สิทธิเสรีภาพ หรือ ความเหลื่อมล้ำ อยู่ต่อไป

ความน่าจะเป็นในทิศทางทางการเมืองใน 2 ด้านข้างต้นนี้ มิได้มองโลกในแง่ร้าย หรือ คิดแบบลบหากแต่ว่าสภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้ หากจะตรวจสอบและประเมินแบบตรงไปตรงมาให้ถูกตามกาลเทศะ กอปรประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา เป็นตัวบ่งบอกเราว่า ทิศทางทางการเมืองจะเดินไปอย่างไร การเผชิญต่อความจริงเท่านั้นเราถึงจะออกจากวิกฤติความขัดแย้งนี้ได้ โดยไม่ควรเพาะเชื้อความขัดแย้งส่งต่อให้ลูกหลานไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งนี้อีก 

การจงใจกะเกณฑ์อยากให้สังคมการเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างไร ด้วยนิติวิธีที่กำหนดเขียนขึ้นเป็นกติกาจากเนติบริกรน้อยใหญ่ทั้งหลาย โดยไม่ใยดีต่อหลักการจิตวิญญาณความถูกต้องแท้จริง ของรูปการความเป็นมหาชนที่พัฒนา หรือแม้แต่หลักคิดเรื่อง การปกครองภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ หรือ แม้ตัวรัฐธรรมนูญเอง และหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองของโลกยุคใหม่ จะเกิดขึ้นได้จากการลิขิตเขียนขึ้น โดยไม่พิจารณาความสำคัญอื่นๆ ใครที่เชื่อเช่นนี้อย่างไม่ลืมหูลืมตา ก็ไม่ต่างอะไรกับ การปั้นรูปด้วยเม็ดทราย ที่ยิ่งหมกมุ่นอยู่แต่มายาคติทางการเมือง การขึ้นรูป สร้างความก้าวหน้าพัฒนาทางการเมืองนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นจาการใช้วิธีความคิดที่ป่วยอย่างข้างต้นนี้ได้ ไม่ควรไร้เดียงสาหลงมัวเมากับนิติวิธีที่ใช้ไม่ถูกที่ถูกเวลานี้อีกเลย 

หมู่นี้เรามักได้ยินหลายคนที่ชอบอุทานว่า "ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สังคมเศรษฐกิจวัฒนธรรม การศึกษา ความก้าวหน้าของประเทศพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาถึงยุคปัจจุบัน กลับไปสู่จุดที่ถดถอยตกต่ำแบบไม่เห็นอนาคตนี้ได้อย่างไร หรือ เราอยู่กับการหลอกตัวเอง  เชื่อในสิ่งที่เป็นค่านิยมผิดๆ ที่เป็นมายาคติ (illusions) ในทางการเมืองหรือไม่ 

มรดกทางสถาปัตยกรรมทางการเมืองแบบแย่งชิงอำนาจกันเป็นใหญ่ hegemony ของประเทศไทยอย่างที่วิจารณ์ วิเคราะห์กัน แสดงออกจากการชอบอ้าง กฎหมายบ้านเมือง ยึดแนวคิดเปลี่ยนโลกเปลี่ยนสังคมด้วยนิติวิธี เราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยเสมอมาวกวนอยู่กับที่กับการทำ "รัฐธรรมนูญ" และ คณะผู้จัดทำรัฐธรรมนูญ รวมถึงกระบวนการวิธีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางบรรยากาศคุณภาพขององค์ความรู้ แนวคิด ความเชื่อแบบ หัวมงกุฎท้ายมังกร ที่กำหนดวิธีการใช้อำนาจรัฐ ในสังคมสิ่งแวดล้อมทางการเมืองต่างๆ ไม่เว้นแม้จะอยู่ในระบบปฏิวัติ หรือ ระบบประชาธิปไตย

จึงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดในสังคมการเมืองที่พบเห็นได้ยากในโลกการเมือง ซึ่งระบอบปฏิวัติก็อาศัยรัฐธรรมนูญ วิธีการบางด้านในรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยแน่นอนก็อาศัย รัฐธรรมนูญเป็นฐานในการใช้อำนาจรัฐ ในฐานะรัฐชาติมีลักษณะของความเชื่อ ความคิดทางการเมืองแบบทวิลักษณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ร่วมกัน แต่สำหรับบริบททางการเมืองในประเทศไทยกลับเป็นสิ่งเดียวกัน อยู่ด้วยกันได้แบบไม่มีอะไรแตกต่างกัน แม้จากสายตากระแสนิติธรรมไทยคงเป็นจุดนี้กระมังที่นำชาติไทย สังคมการเมืองไทยเข้าสู่การป่วยอย่างหนักมาถึงในเวลานี้

การจะนำชาติไทยออกจากวิกฤติทางการเมือง จะด้วยวาทกรรม การปรองดองก็ดี หรือ การปฏิรูปการเมืองก็ดี มีประเด็นสำคัญที่ผู้คิดอ่านและปรารถนาดีไม่อาจมองข้ามใน 3 กรณีเป็นอย่างน้อยคือ

หนึ่ง. การมีเป้าหมายปลายทางร่วมกัน (milestone) ของชาติ อันเป็นคนละเรื่องกับยุทธศาสตร์ชาติในเวลานี้ เพราะเป้าหมายปลายทางร่วมกันที่กล่าวถึงในที่นี้คือ ปฏิสัมพันธ์ของ ผู้นำ (leadership) ที่ถูกต้องได้รับความยอมรับจากประชาชน กับ กระบวนการให้ได้มาซึ่งฉันทามติในเป้าหมายแต่ละเรื่องกับสาธารณะชน (ประชาชน) ในฐานะของความเป็น "ชาติ" ไม่ได้เพื่อกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

สอง. การเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่การปรองดอง และ ออกจากวิกฤติการเมืองเวลานี้ ต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีความเข้าใจสภาพการณ์สังคมวิทยาทางการเมืองไทยที่ได้คลี่คลายจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน ผลที่เกิดจากปัจจุบันนี้นั้น เป็นและมาจากความผิดพลาด เชิงแนวความคิด ที่สร้าง ความเป็นการเมืองแบบ hegemony ของไทยอย่างไร เมื่อรู้แจ้งถึงข้อผิดพลาดในอดีต ก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นมายาคติ ข้อผิดพลาด ในประการสำคัญจะเข้าใจสภาพการณ์ในปัจจุบัน แบบเห็นอกเห็นใจจำแนกแยกแยะดีชั่ว และการเมืองไม่ให้ปะปนกันในการนำหลักการที่ว่านี้ไปใช้ เพื่อปลูกสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่า

สาม. การขึ้นรูปในอันที่จะพัฒนา ยกระดับ สภาพการณ์ทางการเมืองใหม่ของประเทศไทยนั้น แยกไม่ออกจากความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาบนความเชื่อมโยงกับ มิติความสัมพันธ์อื่นๆ ทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม ทั้งเก่าใหม่ อย่างร่วมสมัยทั้งในและต่างประเทศ ควรหลีกเลี่ยงและไม่ควรซื้อความคิดวิธีการเปลี่ยนพัฒนาการเมืองเชิงนิติวิธีด้วยการ ชักชวนคนไทยไปผูกติดกับการร่างรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าความเจริญก้าวหน้าในทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ จากการเขียนขึ้นเป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพราะวิธีการนี้เปรียบได้กับความพยายามปั้นรูปด้วยทราย ความในข้อนี้มิได้หมายความว่าไม่ให้เชื่อถือรัฐธรรมนูญ หรือปฎิเสธรัฐธรรมนูญ แต่กาลเทศะในการขึ้นรูปก่อร่างสร้างฐานประเทศ ซึ่งพิจารณาองค์ประกอบย่อยที่สำคัญอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกันก่อนให้รอบด้านก่อน จะเกิดขึ้นได้อย่างไรก่อนหลังควบคู่กันไปกับการเคลื่อนตัวและคลีคลายของโลกและสังคมไทย ไม่ใช่เอารัฐธรรมนูญไปสร้าง เพราะเรากำลังเอาเครื่องมือไปใช้อย่างไม่ถูกกาลเทศะ ซึ่งผิดพลาดมาช้านานจนสังคมการเมือง และนิติธรรมไทยแยกแยะไม่ออกว่า ระบบปฏิวัติกับระบบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งเดียวกันสภาวะวิสัยเดียวกัน เพราะใช้ระบบรัฐธรรมนูญ หรือ คำสั่ง หรือ กฎหมาย อย่างเดียวกัน บางท่านไปไกลถึงขนาดว่า "แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้"

สำหรับผู้คนที่เชื่อในกฎแห่งวิวัฒนาการของสังคมว่า ประเทศและสังคมจะต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่ตลอดเวลามีพลวัตอยู่เสมอนั้น ย่อมมองทุกอย่างตามสภาพความเป็นจริง ไม่หลอกลวงแม้กระทั่งตนเอง ไม่มองอะไรแบบโลกสวย มีความเข้าใจไม่สับสนเรื่องกาลเทศะหรือกาลเวลาหรือหลงยุคสมัย ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมมนุษย์ แต่ถ้าความขัดแย้งจะพัฒนาเป็นวิกฤติของชาติ และ เป็นอยู่บ่อยครั้งซ้ำแล้วซ้ำอีก อยู่อย่างเดิมจนฉุดเหนี่ยวรั้งการพัฒนา และโอกาสของคนในชาติ คงไม่เรื่องธรรมดาที่สุจริตชนจะมองข้ามไป เหมือนอาการป่วยของการเมืองไทยเวลานี้ เชื่อได้ว่าสักวันหนึ่งในอนาคตก็คงมีผู้ปรารถนาดี มาเป็นผู้นำเพื่อ แก้ไข พัฒนา สร้างใหม่(reset) ในท้ายที่สุด

ผู้ปรารถนาดีต่อประเทศที่จะมาแก้ไขอาการป่วยหนักทางการเมืองของประเทศไทย ต้องรู้จักและเข้าใจสภาพการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ที่ดีนั้น ควรก่อรูปพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยเหตุปัจจัยอย่างไร การรู้จักการไตร่ตรองนำอดีตมาสร้างอนาคต ผมขอฝากข้อสังเกตข้างต้นนี้เพื่อการทบทวน พิจารณา และเดินไปข้างหน้าของการฝ่าวิกฤติการเมืองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่อยากให้ท้อถอย มองสิ่งต่างๆ ที่เป็นเหมือนปะติมากรรมทางการเมืองไทยที่วกวนไปมาเวลานี้ เป็นสิ่งที่ถาวรจีรังยั่งยืนจนกลับกลายเป็นสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า "The beginning of the end" หรือ "จุดเริ่มแห่งการอวสาน"  เพียงแต่การรู้จักไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ท่านก็จะรู้ว่ามันเป็นเพียงอาการป่วยทางการเมือง ที่แก้ไขได้นั่นเอง....    

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์ลงโทษตำรวจให้การเท็จ ป้ายสีจำเลยคดีบุกที่ประชุมอาเซียนพัทยาปี 52

Posted: 14 Jun 2018 05:30 AM PDT

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 2 ปี 6 เดือน พนักงานสอบสวนให้การเท็จ ใส่ร้ายจำเลยในคดีล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน พัทยา ปี 2552 แต่ให้รอกำหนดโทษ 2 ปี


ภาพจากไทยรัฐออนไลน์

14 มิ.ย.2561 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ที่ศาลจังหวัดพัทยา ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดพัทยาฟ้องพันตำรวจโทศราวุฒ บุญชัย จำเลยคดีให้การเท็จ ซึ่งได้ให้การเบิกความเท็จทำให้หลายคนถูกตั้งข้อหา ดำเนินคดีหรือแม้กระทั่งต้องติดคุก ในคดีล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน พัทยา ปี 2552 ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์วันดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นไปเพื่อจะแกล้งให้ผู้เสียหายต้องรับโทษทางอาญา และเบิกความอันเป็นเท็จ เป็นข้อสำคัญในคดีอาญา โดยจำเลยรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 172, 174 วรรค 2 177 วรรค 2 การกระทำของจำเลยมีความผิดต่างวันเวลาโทษตาม 174 วรรค 2 อันเป็นกฎหมายสูงสุด ฐานแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนจำคุก 2 ปี และปรับ 1 หมื่นบาท และฐานเบิกความเท็จโทษจำคุก 3 ปีและปรับ 14,000 บาท จำเลยให้การสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือนและปรับ 12,000 บาทโทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปีรายงานคุมประพฤติ 1 ปีกำหนด 4 เดือนครั้ง บำเพ็ญประโยชน์ 24 ชั่วโมง 

หลังการพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของศาล ยอมชดใช้เงิน 300,000 บาท แก่ผู้เสียหายคนหนึ่ง คือ พ.ต.อ.สมพล รัฐกาญจน์ จนไม่ติดใจดำเนินคดี ถอนตัวออกจากการเป็นโจทก์ร่วม

ศาลอุทธรณ์ พิพากษาว่า การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษและรอการลงโทษจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ สมควรคุมความประพฤติจำเลยไว้ระยะหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยมานั้นฟังไม่ขึ้น

การที่ศาลชั้นต้นปรับบทความผิดของจำเลยตามมาตรา 137 มาด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนเป็นความผิดมาตรา 172 และ 174 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติเป็นความผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 137 ปัญหาดังกล่าวเหล่านี้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ลงโทษ ตามมาตรา 174 วรรคสอง ฐานแจ้งความเท็จ เพื่อให้บุคคลอื่นได้รับโทษทางอาญา ให้รอกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

นายนพพร นามเชียงใต้ 1 ในจำเลยคดีล้มการประชุมอาเซียน กล่าวว่า พันตำรวจโทศราวุฒได้ให้การเท็จส่งผลกระทบถึงตนมาก เนื่องจากได้ให้การว่าตนอยู่ในเหตุการณ์วันที่ 11 เมษายน 2552 ซึ่งข้อเท็จจริงตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์วันดังกล่าว ทำให้ตนตกเป็นจำเลยคดีล้มการประชุมอาเซียนและต้องติดคุกอยู่หลายเดือน ทำให้ตนคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และจะเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป จะมีการไปเรียกร้องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป

ส่วน พ.ต.อ.สมพล รัฐกาญจน์ อดีตผู้กำกับการ สภ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตกเป็นจำเลยคดีบุกล้มการประชุมอาเซียนซัมมิทที่พัทยาตั้งแต่ปี 2552 อดีตเป็นอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อสู้คดีมานานหลายปี ศาลชั้นต้นยกฟ้อง 5 มีนาคม 2558 และอัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด

ต่อมา พ.ต.อ.สมพล ฟ้อง พ.ต.ท.ศราวุธ บุญชัย พยานในคดีว่าเป็นพยานเท็จ เนื่องจากมีพยานหลักฐานเป็นบันทึกประจำวันแจ้งความที่ สน.นางเลิ้ง ว่าเวลาเดียวกับที่ถูกกล่าวหาว่าตนเองอยู่ที่พัทยานั้น พ.ต.อ.สมพล แจ้งความนาฬิกาโรเล็กซ์หายอยู่ที่ สน.นางเลิ้ง ศาลพัทยาจึงยกฟ้อง เพราะไม่มีบุคคลใดสามารถปรากฏกายได้ในสองสถานที่ในเวลาเดียวกันได้ หลังจากนั้นได้แจ้งความกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ศราวุธ บุญชัย ว่าเป็นพยานเท็จด้วยการร้องทุกข์กับตำรวจ สภ.พัทยา ตำรวจสั่งฟ้อง อัยการสั่งฟ้อง เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพัทยา นำสู่การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ในวันนี้

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตรยันไม่เคยซื้ออาวุธอังกฤษตาม BBC ระบุ-ไทยรัฐขยี้เปิดบัญชีซื้ออาวุธจีน-ยุโรป

Posted: 14 Jun 2018 05:30 AM PDT

ตามติดหลายสื่อร่วมกันขยี้ประเด็นร้อน 'การช็อปปิ้ง' ของคสช. รวมความเคลื่อนไหวในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่าน โดยเฉพาะเมื่อนายกฯ ใกล้เยือนอังกฤษ-ฝรั่งเศส

ภาพเรือดำน้ำจากนิตยสาร Naval & Merchant Ship (ที่มา Thaidefense-News)

ช่วงนี้ข่าวคราวว่าด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยนั้นเป็นที่น่าจับจ้องห้ามกระพริบตา ไล่ตั้งแต่ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ออกมาเปิดประเด็นเรื่องโครงการศึกษาซื้อ "ดาวเทียมจารกรรม" 9 หมื่นล้านเหมือนสัปดาห์ก่อนโน้น กองทัพออกมาปฏิเสธหลายระลอกจนสุดท้ายเตรียมฟ้องกลับ

ตามมาด้วยการออกหมายจับแอดมินเพจดัง KonthaiUK ที่เอาเรื่อง 'ดาวเทียมจารกรรม' มาขยี้ต่อตั้งคำถามซ้ำด้วยถ้อยคำแรงสไตล์เพจการเมือง จน ปอท.แจ้งข้อหาความผิดตามมาตรา 14(2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขู่ว่าจะตามตัวเจ้าของเพจถึงอังกฤษให้ได้ พร้อมด้วยการกวาดจับและแจ้งข้อหาคนที่แชร์โพสต์นี้ 29 คน ด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน ยังไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการว่าผู้ที่ถูกกวาดจับมีชะตากรรมเช่นไร แต่ตำรวจที่สื่อเรียก 'บิ๊กโจ๊ก' พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ระบุว่า รู้แล้วว่าเป็นประชาชนทั่วไป ทำผิดครั้งแรก ศาลน่าจะแค่ปรับ 50,000 บาท

ต่อด้วยการขู่ฟ้อง "สำนักข่าวแห่งหนึ่ง" (ที่น่าจะชื่อว่า อิศรา) ในข้อหาบิดเบือนข้อมูลนำเสนอว่า เฮลิคอปเตอร์ AW149 ของกองทัพซื้อมาแล้วบินไม่ได้

ล่าสุด รายงานร้อนของสำนักข่าวบีบีซีไทย เผยแพร่เมื่อ 13 มิ.ย.อ้างอิงการพูดคุยและข้อมูลขององค์กรต่อต้านการค้าอาวุธ Campaign Against Arms Trade (CAAT) ที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ระบุว่า ยอดอนุมัติขายอาวุธขนาดเล็กและยุทธภัณฑ์จากสหราชอาณาจักรสู่ประเทศไทย เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเกือบ 7 เท่า จาก 5.7 ล้านปอนด์ (245 ล้านบาท) ปี 2557 มาเป็น 35 ล้านปอนด์ (1.5 พันล้านบาท) ในปี 2560

ข้อมูลชุดนี้ถูกนำเสนอ 1 สัปดาห์ก่อนการเยือนสหราชอาณาจักรของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 20-22 มิ.ย.นี้

วันเดียวกันนักข่าวสอบถาม พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้คำตอบว่า สำหรับตัวเลขดังกล่าวทางคสช.จะขอตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งเพื่อความถูกต้อง

ล่าสุด วันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถูกนักข่าวถามที่ทำเนียบรัฐบาลเรื่องการซื้ออาวุธจากอังกฤษตามรายงานบีบีซี รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม ยืนยันว่า "ไม่มี ไม่มีจริง ข้อมูลที่ออกมาไม่ใช่เรื่องจริง"

ด้านสื่อในประเทศก็ไม่น้อยหน้า ยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐนำเสนอเรื่องการซื้ออาวุธของคสช.ทันที โดยในวันที่ 13 มิ.ย.เป็นเรื่องการซื้อจากจีน ส่วน 14 มิ.ย.เป็นเรื่องการซื้อจากฝรั่งพ่วงด้วยเกาหลีใต้

 4 ปีคสช.ทุ่มงบอย่างน้อยเกือบ 5 หมื่นลาน ซื้ออาวุธจากมหามิตร
4 ปีรัฐบาล คสช.ทุ่มงบซื้ออาวุธจากจีน อ้างเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บกองทัพ ยุค คสช.ทั้งซื้อรถถังรุ่น VT4 ซื้อเรือดำน้ำ รุ่น S26T

คสช.อยู่เป็น ถ่วงดุล! 4 ปีทุ่มงบกว่าหมื่นล้าน ซื้ออาวุธจากพวกฝรั่ง
ซื้อเฮลิคอปเตอร์ เรือตรวจการชายฝั่งจากรัสเซีย ยูเครน สหรัฐอเมริกา หวังให้เกิดความถ่วงดุล ขอไทยพ้นแรงกดดันมหาอำนาจโลก หากรวมการซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ T-50TH ของเกาหลีใต้ด้วย งบจะสูงถึง 3 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ ข่าวคราวดังกล่าวเป็นกระแสขึ้นในช่วงเดียวกันกับกำหนดการของนายกฯ และคณะที่เตรียมเยือนอังกฤษในวันที่ 20-22 มิ.ย. เยือนฝรั่งเศสในวันที่ 20-25 มิ.ย.ซึ่งรายงานข่าวทางการที่ปรากฏนั้นรัฐบาลระบุว่าตั้งใจไปดึงนักธุรกิจ 2 ประเทศให้มาร่วมลงทุนใน EEC และไปคุยกับบริษัทแอร์บัสที่ฝรั่งเศสเพื่อเร่งดันโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ไม่ได้ไปเจรจาเรื่องซื้อหาอาวุธอย่างที่หวั่นเกรงกันไปเอง

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความท้าทายของกฎหมายแรงงาน และสิทธิแม่บ้านในรั้วมหา'ลัย ที่หายไป

Posted: 14 Jun 2018 01:31 AM PDT

พูดคุยกับ คุ้มเกล้า ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในกรณีของแม่บ้านจากบริษัททำความสะอาดที่ทำงานอยู่ในสถานที่ราชการ ว่าพวกเธอมีสิทธิอะไรบ้างในฐานะลูกจ้าง และกฎหมายยังมีช่องโหว่อะไรบ้างที่ยังทำให้พวกเธอถูกละเมิดสิทธิอยู่

 
ใต้ตึกรามอาคารเรียนพลุกพล่านไปด้วยผู้คน เช่นเดียวกับในห้องเรียนเปิดแอร์เย็นฉ่ำที่นิสิตหลายชีวิตกำลังตั้งหน้าตั้งตาจดเลกเชอร์ตามที่อาจารย์สอน ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนเอง ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มหญิงวัยกลางคน 2-3 คน ที่เดินเข้านอกออกในบริเวณอาคารเรียนตลอดเวลาเหมือนไม่มีวันได้หยุดพัก หน้าที่หลักของพวกเธอคือ ทำให้อาคารที่พวกเราใช้เรียนและทำกิจกรรมร่วมกันสะอาดหมดจดตลอดเวลา
 
"แม่บ้าน" กลายเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งนี้ พวกเธอกลมกลืนไปกับพวกเรา บางครั้งเรายิ้มทักทายกันอย่างสุภาพ บางครั้งเราขอให้พวกเธอเป็นธุระช่วยทำความสะอาดสิ่งที่พวกเราทำสกปรกกันไว้ บางครั้งเราขอยืมชุดเครื่องแบบของพวกเธอในการถ่ายหนังสั้นสักเรื่อง แต่จะมีสักกี่คนที่ได้ทำความรู้จักตัวตนของพวกเธอจริงๆ และหมั่นถามถึงสิ่งที่พวกเธอต้องการในฐานะ "แม่บ้าน" ของมหาวิทยาลัย ที่เราเห็นหน้าค่าตาตั้งแต่เข้าเรียนวันแรกจนถึงวันที่ใกล้จะจบการศึกษาเต็มที

นิสิตนักศึกษา ถือโอกาสนี้พูดคุยกับ คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความหญิงวัย 37 ปีจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในกรณีของแม่บ้านจากบริษัททำความสะอาดที่ทำงานอยู่ในสถานที่ราชการ ว่าพวกเธอมีสิทธิอะไรบ้างในฐานะลูกจ้าง และกฎหมายยังมีช่องโหว่อะไรบ้างที่ยังทำให้พวกเธอถูกละเมิดสิทธิอยู่

ทำความรู้จักกับ 'แรงงาน' และ 'แม่บ้าน'

คุ้มเกล้า ให้นิยามของคำว่า 'แรงงาน' ตามบทบัญญัติทางกฎหมายไว้ว่า คนที่ทำงานเพื่อจะได้ค่าจ้าง ใช้แรงเพื่อแลกค่าตอบแทน โดยแรงงานนี้ กลุ่มแรกจะเป็นแรงงานที่ใช้แรงทางกายภาพ เช่น ใช้มือหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายทำงาน และอีกกลุ่มหนึ่ง คือแรงงานที่ทำงานในออฟฟิศ หรือ ที่เรียกกันว่า "แรงงานใช้สมอง" อย่างไรก็ตาม คุ้มเกล้ากลับเห็นว่า การใช้คำว่าแรงงานใช้สมองนั้นเป็นการกดทับแรงงานที่ใช้แรงทางกายภาพ ทำให้เกิดการลดทอนความเป็นมนุษย์ขึ้น

"ตอนนี้เราพยายามเปลี่ยนคำเรียกจาก 'ลูกจ้าง' กับ 'นายจ้าง' เป็น 'คนทำงาน' เพื่อลดชนชั้น เพราะมันเหมือนมีคำว่า 'นาย' กับ 'บ่าว' ส่วน 'แรงงานใช้สมอง' เราก็เรียกว่า 'คนวางแผน' เพราะงานทุกงานใช้สมองหมด แม่บ้านก็ต้องใช้สมองเหมือนกัน" คุ้มเกล้า กล่าว

ส่วน 'แม่บ้าน' จัดเป็นหนึ่งในแรงงานทางกายภาพ โดยแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ แม่บ้านกลุ่มที่ทำงานอยู่ในบ้านของผู้ว่าจ้างโดยตรง เช่น ทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน หรือดูแลลูกของเจ้าของบ้าน จะมีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะ เพราะมีลักษณะการทำงานที่ต้องไปทำงานที่อื่น และจำเป็นต้องมีสถานที่พักอาศัยให้ตามลักษณะงาน

ส่องสามความสัมพันธ์ ลูกจ้าง-นายจ้าง-ผู้ว่าจ้าง

ขณะที่แม่บ้านอีกประเภทหนึ่งที่ประสบปัญหาด้านสิทธิทางกฎหมายในสายตาของคุ้มเกล้า คือ คนทำงานบ้านในเชิงธุรกิจ ลักษณะการทำงานจะขึ้นตรงกับนิติบุคคลที่เปิดขึ้นเป็นบริษัททำความสะอาด โดยบริษัทดังกล่าวจะจัดหาแม่บ้านส่งไปให้ตามสถานที่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ต้องการพนักงานทำความสะอาด แม่บ้านกลุ่มนี้ไม่มีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะ แต่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

แม่บ้านในรูปแบบนี้ไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองเหมือนแม่บ้านที่เข้าไปทำงานในบ้าน เนื่องจากลักษณะงานที่เป็นบริษัทนิติบุคคล แล้วจัดส่งแม่บ้านไปตามสถานที่ราชการต่างๆ ทำให้แม่บ้านขึ้นตรงกับบริษัทนิติบุคคลนั้น ไม่ได้ขึ้นกับสถานที่ราชการโดยตรง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจ้างแม่บ้านจากบริษัท A  ความสัมพันธ์ของจุฬาฯ กับบริษัท A เป็นแบบนายจ้างและลูกจ้าง ส่วนแม่บ้านที่จัดส่งไปนั้นเป็นลูกจ้างของบริษัท A อีกทอดหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีหน้าที่จัดหาสวัสดิการหรือพิทักษ์สิทธิให้แม่บ้านจึงเป็นบริษัทนิติบุคคล เพราะถือว่ามีความสัมพันธ์เป็นนายจ้างโดยตรง

"สวัสดิการเช่น ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันคือ 325 บาท มหาวิทยาลัยอาจให้ค่าหัว 400 บาท ลูกจ้างจะได้ 325 บาท ส่วนต่างก็จะเป็นของบริษัท คือบริษัทประกอบกิจการจากส่วนต่างที่หน่วยงานต่างๆ ตั้งงบประมาณไว้ นายจ้างที่รับเงินมาจากหน่วยงานก็จะต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือหากมีโปรโมชั่นดีหน่อยเพื่อดึงตัวลูกจ้าง เขาอาจจะให้ 350 บาท มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 25 บาท เพื่อให้แม่บ้านเลือกมาทำงานที่บริษัทนั้น หลักคือตัวนายจ้างที่เป็นบริษัทต้องให้สิทธิต่างๆ ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่อยากจะให้ดีกว่าก็ได้" คุ้มเกล้า ยกตัวอย่าง

ลักษณะงานแม่บ้าน สวนทางกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้านการพัก

จากการสำรวจสถานที่พักของแม่บ้าน 18 คณะในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า มีเพียงไม่กี่คณะที่มีห้องพักเป็นสัดส่วน และห้องพักที่ว่านั้นมีลักษณะเป็นห้องเก็บของ นอกจากนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่ได้จัดที่พักไว้ให้แม่บ้าน ทำให้พวกเธอต้องเข้าไปพักอยู่ใต้บันไดอาคาร บันไดหนีไฟ หรือบริเวณไหนก็ตามที่มีที่นั่ง 
 
เมื่อสอบถามทนายความด้านสิทธิแรงงานอย่างคุ้มเกล้า เธอชี้ให้เห็นถึงปัญหาว่า จริงๆ แล้วที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายยังคงมีช่องโหว่ เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองเพียง 'การพัก' หรือ 'เวลาพัก' ซึ่งระบุว่า หากทำงานมาห้าชั่วโมงติดต่อกันแล้ว ต้องให้หยุดพักหนึ่งชั่วโมง โดยจะตรงกับเวลาพักกลางวันที่รวมเวลาทานข้าว ในหนึ่งชั่วโมงนี้ พวกเธอมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธหากมีอาจารย์หรือนิสิตมาขอให้ช่วยทำงาน
 
แต่ปัญหาคือ ด้วยลักษณะงานของแม่บ้านที่ทำงานนอกสถานที่ พวกเธอไม่ได้รับการคุ้มครองในเรื่อง 'ที่พัก' เช่นแม่บ้านที่ทำงานในบ้านผู้ว่าจ้าง จึงไม่จำเป็นที่ผู้ว่าจ้างโดยตรงอย่างบริษัททำความสะอาดหรือเจ้าของสถานที่อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะต้องจัดสถานที่พักให้ เพราะไม่มีระบุไว้ในกฎหมาย
 
"กฎหมายไม่ได้บังคับเกี่ยวกับเรื่องที่พัก คือบังคับแค่ให้หยุดทำงาน เป็นการคุ้มครองเวลาหยุดทำงานเป็นสำคัญ ไม่ได้เชิงหยุดแล้วหาที่ทางให้พัก ถ้าเป็นเรือประมงหรือลูกจ้างทำงานก่อสร้างที่เขาเป็นคนอีสานที่ขนมาทั้งหมู่บ้าน มันมีกฎหมายคุ้มครองเรื่องการจัดที่พักให้คนงาน แต่พวกแม่บ้านที่ไม่ใช่แม่บ้านทำงานบ้านจะมีปัญหาคือไปทำงาน ณ ที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ของนายจ้าง มันเลยต้องเป็นไปตามกฎของที่ต่างๆ ด้วย ไม่ใช่กฎของนายจ้างอย่างเดียว" คุ้มเกล้ากล่าว
 
ตาม 'กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2548' ระบุว่า หากมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป สามารถขอให้นายจ้างสร้างที่พักให้ได้ แต่สำหรับสภาพงานของแม่บ้านที่ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ จึงไม่สามารถสร้างได้จริงในทางปฏิบัติ
 
"บริษัททำความสะอาดตั้งขึ้นมาเป็นห้องแถวเล็กๆ  เขาไม่ได้ประกอบการ ไม่ได้ทำธุรกิจที่มีการผลิตออกมา การกำหนดว่าลูกจ้าง 10 คนขึ้นไปมีห้องให้ มีน้ำสะอาดให้ มันเป็นกรณีที่ลูกจ้างมาทำงานอยู่ ณ ที่นั้น แต่ธรรมชาติของเขาคือส่งคนออกไป ที่หนึ่งสองคน ที่จุฬาฯ สามคน เกษตรฯ สี่คน แยกกันไปเลย แต่ถามว่าพวกนี้เป็นลูกจ้างใคร ก็เป็นลูกจ้างของบริษัทพวกนี้ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ต้องเป็นบริษัททำความสะอาดที่ต้องดูแลให้ไม่ต่ำไปกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะฉะนั้นเรื่องจัดที่พักให้ไม่ต่ำกว่า 10 คน ในทางปฏิบัติแล้วทำไม่ได้" ทนายความ อธิบาย

สถานที่พัก เพื่อชั่วโมงพักที่สมบูรณ์

ถึงแม้กฎหมายจะให้ความคุ้มครองเพียง 'การพัก' และสถานศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ทำตามกฎหมายนั้นทุกประการ  แต่ คุ้มเกล้า กลับเห็นว่า ไม่ว่าอย่างไรการจัดที่พักให้เป็นสัดส่วนก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัก
 
"พี่มองว่าการกำหนดกฎหมายให้เป็นรูปธรรมที่ให้สิทธิ์กับลูกจ้างมันก็ดี ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องสิทธิ์จนเกินไป เพราะว่าเมื่อกฎหมายกำหนดช่วงเวลาพักแล้ว สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ลูกจ้างพักได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจริงๆ คือสถานที่พัก พี่มองว่ามันยังเชื่อมโยงกัน เมื่อเขาทำงานมา 4-5 ชั่วโมงก็มีความล้าพอสมควร หลังจากกินข้าวเสร็จ ถ้าบริษัทไม่มีสถานที่พักตามเหมาะสมหรือสมควร เขาจะไปพักที่ไหน ในเมื่อกฎหมายคุ้มครองการพักผ่อนของลูกจ้าง ถ้าจะทำให้สมบูรณ์แบบก็ควรมีสถานที่ที่พักให้ลูกจ้างพักได้จริงๆ" คุ้มเกล้า แสดงความคิดเห็น
 
นอกจากนั้น การจัดสถานที่พักให้แม่บ้านยังช่วยป้องกันการเรียกใช้งานแม่บ้านในเวลาพักด้วย ยกตัวอย่างเช่น นิสิตบางคนอาจไม่ทราบถึงสิทธิทางกฎหมายของแม่บ้านที่ว่า หากเป็นเวลาพักพวกเธอก็มีสิทธิ์จะพัก ไม่จำเป็นต้องทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย แต่แม่บ้านส่วนใหญ่มักยินยอมทำตาม เพราะคิดว่าตนไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงมากพอจะคัดค้านได้
 
"งานของเขาเป็นประเภทงานบริการ เวลามันเลยมีความยืดหยุ่นพอสมควร ถ้าเราจัดที่พักชัดเจน นิสิตจะรู้ว่าเป็นเวลาพักของเขา แต่แม่บ้านก็จะต้องเข้าห้องนี้เฉพาะเวลาพัก ทั้งสองฝ่ายจะได้รู้กัน หากเขาอยู่ในห้องก็จะรู้ว่าเวลาพักผ่อนของเขา แต่หากเขาอยู่นอกห้องจะรู้ว่าเป็นช่วงที่เราสามารถขอความช่วยเหลือจากเขาได้ เราจะได้ไม่ไปละเมิดสิทธิ์ของอีกฝ่ายโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ" คุ้มเกล้า กล่าว

ที่พักแม่บ้านในสายตานักสิทธิแรงงาน

เมื่อได้ข้อสรุปว่า ควรมีการจัดสถานที่พักให้แม่บ้านได้พักระหว่างวันแล้ว ก็มาถึงคำถามที่ว่า สถานที่พักแบบไหนจึงจะเหมาะสมสำหรับการพัก แน่นอนว่าต้องไม่ใช่ที่พักใต้บันได ตรงซอกหลืบของอาคาร ประตูหนีไฟ หรือห้องเก็บของแคบๆ เพราะสถานที่ประเภทนั้นไม่เหมาะแก่การพักผ่อนแม้แต่น้อย สำหรับ คุ้มเกล้า สถานที่พักของแม่บ้านควรได้รับการจัดสรรเป็นสัดส่วน สะดวกสบายตามอัตภาพ โดยอยู่ในหลักการที่ว่า คนทั่วไปอยากพักในสถานที่แบบไหน แม่บ้านก็ควรได้สถานที่แบบนั้น
 
"ถ้าจะให้ดีก็ให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับจำนวนลูกจ้างในแต่ละรอบของการหยุดพัก เพราะบางที่กะเช้ากะดึกมันหยุดไม่พร้อมกัน พักบางทีไม่พร้อมกัน ส่วนเขาจะนอนหรือไม่นอน หรือจะนั่งสงบจิตสงบใจก่อนเริ่มทำงานก็เป็นเรื่องของเขา แต่นายจ้างควรจัดให้มีแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้กำหนดไว้โดยชัดเจน ถ้านายจ้างมีธรรมาภิบาลซึ่งมากไปกว่ากฎหมายกำหนด คุณก็ต้องรู้ว่าคุณได้ประโยชน์จากการทำงานของลูกจ้าง ถ้ายิ่งเขาได้พักผ่อนหลังล้าจากการทำงานมาประมาณหนึ่งก็เป็นคุณที่ได้ประโยชน์จากการทำงานที่มีประสิทธิภาพของลูกจ้าง" ทนายความเน้นย้ำ
 
นอกจากนั้น คุ้มเกล้า ยังเห็นว่า รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ สามารถเจรจาต่อรองกันได้ เช่น จำเป็นต้องติดแอร์ไหม แต่ที่แน่ๆ ถ้าเธอได้เป็นส่วนหนึ่งในสหภาพแรงงานของแม่บ้าน เธอจะเรียกร้องให้มีการจัดสถานที่พักแยกหญิงแยกชาย เพื่อความปลอดภัยของตัวแม่บ้านเอง

เศษเสี้ยวอำนาจและการต่อรองสิทธิที่เป็นไปได้ยาก

ก่อนการว่าจ้างและส่งมอบแม่บ้านให้มหาวิทยาลัย ต้องมีการทำสัญญากันก่อนเสมอ เนื้อหาในสัญญานั้นต้องรับรู้และยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย เมื่อทำสัญญากันเรียบร้อยแล้ว มหาวิทยาลัยกับบริษัททำความสะอาดจะมีความสัมพันธ์เป็นผู้จ้างกับลูกจ้างอย่างเป็นทางการ ประกอบกับแม่บ้านเองก็ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงขนาดที่จะก่อตั้งเป็นสหภาพแรงงานขึ้นมาได้ เพราะแต่ละบริษัทก็ต้องกระจายแม่บ้านไปแต่ละที่ ไม่สามารถรวมตัวกันได้
 
"ถ้าหากว่า นายจ้างกำหนดเวลาพักไว้แล้ว เป็นช่วงเที่ยงถึงบ่ายโมง ตอนที่ลูกจ้างมาเซ็นสัญญากำหนดไว้ชัดเจนแล้ว ปรากฏว่าส่งคนไปทำงาน ไปเจออาจารย์ที่เห็นคนหยุดว่างไม่ได้ ทำไมเธอไม่ทำงาน ห้องน้ำต้องไม่สกปรก แล้วไปว่ากล่าวเขา ร้องเรียนมาที่บริษัท นายจ้างจะไปเลิกจ้างเขาที่เขาไม่ทำงานในช่วงเวลาพักไม่ได้ เพราะถือว่าที่เขาดีลกับคุณไว้คุณบอกว่าพักได้ แล้วเขาก็หยุดในเวลานั้น" คุ้มเกล้า ยกตัวอย่าง
 
นอกจากนั้น ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นการพูดคุยต่อรองกันของบริษัทกับมหาวิทยาลัย ซึ่งในส่วนนี้จะอยู่ในสัญญาจ้าง ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมาย โดยสุดท้ายหากมีการละเมิดสัญญาโดยมหาวิทยาลัย ผู้ที่จะไปเรียกร้องสิทธิ์ให้ต้องเป็นบริษัททำความสะอาด ไม่ใช่แม่บ้านจะไปเรียกร้องได้โดยตรง
 
"แม่บ้านต้องรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องที่ทำสัญญาไว้กับมหาวิทยาลัย แต่โดยหลักแล้วนายจ้างไม่โง่ เขาก็จะเอาข้อตกลงที่เป็นระเบียบมหาวิทยาลัยมายัดใส่ไว้ในสัญญาที่จะต้องบังคับกับลูกจ้างอยู่แล้ว อย่างเรื่องกำหนดเวลาพัก ก็จะเว้นวรรคไว้ในข้อท้ายว่า เว้นแต่กรณีที่มีงานเร่งด่วน ได้รับมอบหมายงานให้ปฏิบัติตามคำสั่งผู้ว่าจ้าง แล้วค่อยมาทดเวลาพัก เขาอิงกฎหมายเป็นหลัก แต่ถ้าผู้ว่าจ้างมีกำหนดอะไรเป็นพิเศษ เช่น กำหนดสถานที่ห้ามเข้า หรือไปทำความเสียหายให้ผู้ว่าจ้าง ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิ์ส่งตัวคืน หรือมีอำนาจสั่งพักงาน คือมอบอำนาจของนายจ้างบางส่วนให้ผู้ว่าจ้างได้" คุ้มเกล้า ชี้แจง

จะลดช่องโหว่กฎหมายแรงงานได้อย่างไร

เมื่อสอบถามถึงเรื่องช่องโหว่ทางกฎหมายแรงงานในปัจจุบัน คุ้มเกล้า มองว่า ปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานหลายฉบับเกินไป ควรจะรวมเป็นประมวลกฎหมายเล่มเดียวมากกว่าแยกไปตามประเภทของแรงงาน เพราะท้ายที่สุดแล้วแรงงานแต่ละประเภทก็ย่อมต้องการสวัสดิการที่คล้ายคลึงกัน
 
"โดยหลักการ ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร ก็ถือว่าเป็นคนทำงานเหมือนกันหมด กฎหมายแรงงานมีเยอะมาก หลายร้อยฉบับ มันมีปัญหาจากความมากมายของมัน พี่เห็นว่าไม่ควรมีกฎหมายแรงงานหลายฉบับ ควรทำเป็นประมวลกฎหมายแรงงาน คือรวมหลักการคุ้มครองแรงงานทั้งหมด ที่เหลือเป็นเรื่องเฉพาะ แตกต่างตามแต่ละประเภทงานจริงๆ ไม่ควรมีหลายฉบับแบบตอนนี้ คนทำงานทุกคนต้องการได้รับการคุ้มครองในฐานะคนทำงานเหมือนกันหมด" คุ้มเกล้า เสริม
 
 
รายงานชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์ "นิสิตนักศึกษา" ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติของนิสิตสาขาวิชาเอกและโทวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 31 พ.ค.2561 https://nisitjournal.press/2018/05/31/labourlaw/)
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘คนอยากเลือกตั้ง’บุกยื่นหนังสือชี้ สนช.ไม่ชอบธรรมดันยุทธศาสตร์ 20 ปี

Posted: 14 Jun 2018 12:36 AM PDT

ภาพจากเพจ ณัฏฐา มหัทธนา

14 มิ.ย.2561 เวลาประมาณ 9.30 น. ที่หน้าอาคารรัฐสภา ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ ตัวแทนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งพร้อมประชาชนจำนวนหนึ่งยื่นหนังสือและคำแถลง "หยุดยุทธศาสตร์คสช." ถึงประธานและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เนื่องในโอกาสที่ สนช.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในวันพรุ่งนี้ (15 มิ.ย.) จากที่กำหนดการเดิมที่เตรียมจะพิจารณาในวันนี้

คำแถลงระบุว่า แผนดังกล่าวมีผลผูกพันรัฐบาลพลเรือนในอนาคต มีการกำหนดโทษทางอาญาและการตัดสิทธิทางการเมืองหากไม่ปฏิบัติตาม เป็นเครื่องมือครอบงำทางการเมืองและสืบทอดอำนาจ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีข้อเรียกร้องให้ยุติการพิจารณายุทธศาสตร์ดังกล่าวและปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้จัดทำแผนที่สะท้อนความต้องการของประชาชน สิ่งที่ รัฐบาล คสช.ควรทำคือ เร่งรัดให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว ยกเลิกคำสั่ง คสช.ทั้งหมดที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ขัดต่อหลักนิติธรรม ยกเลิกการคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน ตลอดจนปล่อยนักโทษการเมืองและยุติการดำเนินคดีการเมืองทั้งหมด เพื่อนำสู่บรรยากาศที่พร้อมสำหรับการเลือกตั้งและฟื้นฟูประชาธิปไตย

ทั้งนี้หากร่างยุทธศาสตร์ชาติผ่านเป็นกฎหมายแล้ว รัฐบาลใหม่จะต้องทำตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว แต่หากไม่ทำตามอาจถูกคณะกรรมการจัดยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการให้นายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าหน่วยงานรัฐต่างๆ ต้องพ้นจากตำแหน่งได้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ไอลอว์ได้จัดทำรายงานการศึกษารายละเอียดและกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติไว้ โดยเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี

ยุทธศาสตร์ชาติประกอบด้วย 6 ยุทธ์ศาสตร์หลัก ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2560-2579

  1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
  2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
  3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
  4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม
  5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ก่อนหน้านี้ สฤณี อาชวนันทกุล นักวิชาการอิสระเคยวิเคราะห์และวิจารณ์ร่างดังกล่าวไว้โดยละเอียด อ่านที่นี่


ภาพจากเพจ ณัฏฐา มหัทธนา

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่องทุนจีนรุกอาร์เจนตินา กับข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการพลังงาน

Posted: 14 Jun 2018 12:33 AM PDT

การลงทุนด้านพลังงานในอาร์เจนตินาโดยจีนทั้งโครงการเขื่อนและพลังงานฟอสซิลถูกต่อต้านด้วยข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อม แต่รัฐบาลอาร์เจนตินาเองก็ยกเลิกโครงการพลังงานหมุนเวียนโดยอ้างว่ากลัวงบขาดดุล ทำให้เกิดการโต้แย้งกันว่าทุนจีนที่ไม่กำหนดเงื่อนไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นดีต่อประเทศพวกเขาจริงหรือ

เมื่อ 8 มิ.ย. 2561 สื่อ IPS News รายงานว่า ขณะนี้ทางการจีนกำลังเปิดการลงทุนในหลายประเทศแถบลาตินอเมริกา รวมถึงในอาร์เจนตินา อย่างไรก็ตามในกรณีของอาร์เจนตินากลายเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งจากผู้ได้รับผลกระทบในประเทศไม่ว่าจะในแง่สิ่งแวดล้อมหรือเศรษฐกิจ

จากการศึกษาวิจัยขององค์กรมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (FARN) ระบุว่าทางการจีนเน้นลงทุนด้านพลังงานในอาร์เจนตินา โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นโครงการจำพวกพลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานจากไฮโดรคาร์บอน โดยมีแค่ร้อยละ 4 เท่านั้นที่เป็นการลงทุนพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นภาคส่วนที่อาร์เจนตินากำลังขาดแคลน

มาเรีย มาร์ตา ดิ เปาลา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ FARN กล่าวว่าจีนมีความพยายามส่งออกเทคโนโลยีและผลผลิตของตนเองจึงทำให้มีความพยายามลงทุนด้านพลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์และพลังงานน้ำมันในประเทศอื่น เป็นเพราะจีนไม่สามารถสร้างเขื่อนในแม่น้ำของตัวเองได้ จึงมีความพยายามสร้างเขื่อนในที่อื่นเช่นแม่น้ำซานตาครูซของอาร์เจนตินา

จีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการเขื่อนขนาดยักษ์ 2 แห่งที่สร้างบนแม่น้ำซานตาครูซในปาตาโกเนีย โครงการนี้ได้รับความเห็นชอบทั้งจากสมัยอดีตผู้นำคริสตินา เคิร์ชเนอร์ และผู้นำปัจจุบัน เมาริซิโอ มาครี แม้ว่าโครงการนี้ทำให้เกิดความกังวลอย่างหนักเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็ตาม โดยโครงการดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ และมีการประเมินว่าจะรองรับการผลิตไฟฟ้าได้ 1,310 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม กุสตาโว กิราโด ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนี้กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าจีนปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับโครงการพลังงานหมุนเวียน แต่เป็นอาร์เจนตินาเองต่างหากที่ไม่ผูกพันตัวเองกับพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนอย่างหนักแน่น ทำให้จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีทุนหนายอมรับข้อเสนอทางธุรกิจอะไรก็ได้จากอีกประเทศหนึ่ง

กิราโด ผู้เป็นนักเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการด้านจีนร่วมสมัยศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลานุสในบัวโนสไอเรสกล่าวว่า รัฐบาลอาร์เจนตินาเคยเดินหน้าแผนการ RenovAr โครงการพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนมาก่อนในอดีต RenovAr นี้มีสัญญาร่วมกับจีนโดยมีทุนจีนเป็นเจ้าของร้อยละ 15 นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2559 กระทรวงพลังงานของอาร์เจนตินาก็ลงนามในสัญญาโครงการพลังงานหมุนเวียน 147 โครงการ ที่จะสามารถรองรับการผลิตได้ 4,466 เมกะวัตต์

ทว่ารัฐบาลของมาครีกลับประกาศเมื่อเดือนนี้ (มิ.ย. 2561) ให้เลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนออกไปก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการติดหนี้และลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก โครงการที่ถูกยกเลิกได้รวมไปถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่อาศัยแผงโซลาร์เซลล์จากจีน 1,200,000 แผง โดยโครงการนี้ ธนาคารการนำเข้า-ส่งออกของรัฐบาลจีนจะให้ทุนมากถึง 330 ล้านดอลลาร์จากงบประมาณทั้งหมด 390 ล้านดอลลาร์

การตัดสินใจของรัฐบาลมาครีเป็นความพยายามทำให้พวกเขาได้เงินกู้จากไอเอ็มเอฟหลังจากวิกฤตความเชื่อมั่นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างหนัก ทั้งนี้ แม้ว่าโครงการพลังงานหมุนเวียนต่างๆ จะถูกยับยั้ง แต่โครงการพลังงานอื่นๆ จากจีนก็จะยังคงเดินหน้าต่อไป

อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอาร์เจนตินา จอร์จ ทายานา ผู้ดำรงตำแหน่งช่วงปี 2548 ถึง 2558 กล่าวว่าจีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคลาตินอเมริกาและเป็นนักลงทุนที่ดีในสายตาของเขา แต่กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาจะได้ประโยชน์หรือตกเป็นเหยื่อการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างหนักก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการตัดสินใจของแต่ละประเทศเหล่านั้นเอง เพราะสำหรับทายานาแล้วการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงนั้นดีเสมอ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพสัญญาและนโยบายการพัฒนาของประเทศผู้รับที่จะทำให้มันเป็นไปในทิศทางเช่นใด

ในแง่การลงทุนของด้านพลังงานของจีนในอาร์เจนตินาตอนนี้ ดูเหมือนว่าจะทำให้องค์กรสิ่งแวดล้อมไม่พอใจ โดยเฉพาะกับโครงการเขื่อนแม่น้ำซานตาครูซ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อแหล่งน้ำสำคัญอย่างทะเลสาบอาร์เจนติโน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับธารน้ำแข็งเปริโต โมเรโน ธารน้ำแข็งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอาร์เจนตินา

ปัญหาหนึ่งในการทำสัญญาเรื่องเขื่อนกับจีนในครั้งนี้คือธนาคารจีนทำข้อตกลงว่าจะตัดการช่วยเหลือทางการเงินแก่ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านทางรถไฟถ้าหากไม่มีการอนุญาตให้สร้างเขื่อนแม่น้ำซานตาครูซ มีการเปรียบเทียบจากนักสิ่งแวดล้อมอย่างแฮร์นัน คาซานยาส ว่าก่อนหน้านี้พวกเขาเคยถูกกดดันจากการลงทุนของสหรัฐฯ ในตอนนี้พวกเขาถูกกดดันจากการลงทุนของจีนแทน

คาซานยาส ผู้อำนวยการองค์กรอาเวสอาร์เจนตินาส องค์กรสิ่งแวดล้อมที่เก่าแก่ที่สุดในอาร์เจนตินากล่าวว่า "เขื่อนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการแสดงให้เห็นว่าการกดดันอันมีสาเหตุจากเรื่องเศรษฐกิจอาจถูกนำมาใช้เหยียบย่ำอธิปไตยทางสิ่งแวดล้อมของประเทศได้"

ดิ เปาลา จากองค์กร FARN มองว่ากรณีจีนนั้นมีสิ่งที่แย่ไปกว่าการครอบงำของธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างทวีปอเมริกา (Inter-American Development Bank) ตรงที่ทุนจีนไม่มีกรอบการทำงานและมาตรการคุ้มครองต่างๆ ทำให้พวกเขาเริ่มสร้างสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม แต่กิราโดโต้แย้งในประเด็นนี้ว่าการที่ทุนจีนไม่ได้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ มากำกับประเทศที่กู้ยืมเงินกลับเป็นเรื่องที่จะให้ผลประโยชน์ได้มากกว่า

เรียบเรียงจาก

China Generates Energy and Controversy in Argentina, IPS News, Jun. 8, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลให้อธิบายฟ้องเพิ่ม คดี 'ครูแขก' ฟ้องกลับศรีวราห์กับพวก หลังยกฟ้อง 2 คดีระเบิด

Posted: 14 Jun 2018 12:00 AM PDT

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ให้แก้ไขอธิบายฟ้องให้ชัดเจน คดีที่ครูแขกฟ้องกลับศรีวราห์และพวก ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากศาลยกฟ้องคดีระเบิดสมานเมตตาแมนชั่น 2 คดี ขณะที่ทนายเบญจรัตน์ชี้ไม่เป็นธรรม กรณี รอง ผบ.ตร. เล่นงานตนข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

ซ้าย ทหนาย เบญจรัตน์ มีเทียน, ขวา  พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล

14 มิ.ย.2561 หลังจากเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา อัมพร ใจก้อน หรือครูแขก อายุ 59 ปี ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่งยกฟ้องคดีระเบิดสมานเมตตาแมนชั่นปี 53 ไปเมื่อไม่นานมานี้ พร้อมด้วย เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความของอัมพร เดินทางมาที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยื่นฟ้อง คณะตำรวจซึ่งเคยดำเนินคดี รวม 12 คน เป็นจำเลย รวมถึง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และข้อหาอื่นเกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งศาลรับเอกสารคำฟ้องไว้สารบบคดีหมายเลขดำ อท.121/2561 เพื่อตรวจคำฟ้องว่าถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วหรือไม่ 

ล่าสุด เบญจรัตน์ เปิดเผยกับประชาไทว่า เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลให้ตนแก้ไขอธิบายฟ้องให้ชัดเจน ว่าใครทำอะไรอย่างชัดเจน แล้วให้ส่งศาลภายใน 30 วัน นัดอีกครั้งวันที่ 25 ก.ค. นี้ ซึ่งถ้าศาลสั่งอย่างนี้เท่าที่ผ่านมาถือว่าศาลรับฟ้องแล้ว

ส่วนคดีที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ แจ้งความเอาผิด เบญจรัตน์ ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ภายหลังให้ข่าวกับประชาไทว่าจะไปฟ้องคดีข้างต้นนั้น  เบญจรัตน์ ยืนยันว่า ถ้อยคำที่แถลงข่าวนั้นเป็นการถ่ายทอดจากลูกความว่าเขาจะดำเนินคดีกับตำรวจและมีการฟ้องคดีจริงและลูกความเชื่อว่าถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งศาลอาญา ศาลอุทธรณ์ และศาลจังหวัดมีนบุรี ได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าลูกความไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกตำรวจกล่าวหา เป็นการยืนยันข้อเท็จริงโดยมีคพิพากษาเป็นหลักฐานรองรับ ลูกความเชื่อเช่นนั้นซึ่งก่อนหน้านี้ลูกความเคยแถลงข่าวไว้แล้วว่าตนเองไม่ผิด และยืนยันจะฟ้องกลับอยู่แล้ว

เบญจรัตน์ กล่าวว่า การที่ รอง.ผบ.ตร ฟ้องคดีกับตน ซึ่งเป็นทนายความ เห็นว่าไม่เป็นธรรม กับทนายความซึ่งทำหน้าที่ทนายความเพื่อผดุงความยุติธรรมให้กับลูกความ ความหคำว่า รับผลของการกระทำนั้นคือ การถูกดำเนินคดีกับตำรวจ มิใช่ความหมายอย่างอื่น และมีการฟ้องจริงตามที่เป็นข่าว ทนายแถลงข่าวไปตามข้อเท็จริงที่เกิดขึ้น และเป็นไปตามฟ้องทุกประการ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เพนทากอน' ยอมรับ ไม่มีทางรู้พลเรือนตายกี่คนในการทิ้งระเบิดโจมตีซีเรีย

Posted: 13 Jun 2018 11:37 PM PDT

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยอมรับ ไม่สามารถประเมินตัวเลขพลเรือนที่เสียชีวิตได้ ปฏิบัติการทางทหารที่เน้นทิ้งระเบิดถล่มส่งผลกระทบต่อพลเรือนที่ไม่ได้สู้รบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในอดีตทางการสหรัฐฯ ก็เคยประเมินตัวเลขพลเรือนผู้เสียชีวิตต่ำกว่าตัวเลขประเมินอื่นๆ มาก

เมื่อ 8 มิ.ย. 2561 สื่อ Vox เปิดเผยว่าทางการสหรัฐฯ ออกมายอมรับเองในเรื่องที่พวกเขาไม่ทราบเลยว่าตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมาที่พวกเขาทำสงครามต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายอย่างกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอซิส (ISIS) ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตไปกี่ราย และผู้ที่ให้ข้อมูลในเรื่องนี้คือกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เอง

พ.อ. โทมัส เวล โฆษกระดับสูงของหน่วยสัมพันธมิตรต่อต้านไอซิสที่นำโดยสหรัฐฯ เปิดเผยต่อสื่อเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า "ในเรื่องที่ว่าพวกเรารู้หรือไม่ว่ามีพลเรือนเสียชีวิตไปมากเท่าใดนั้น บอกตรงๆ เลยว่า ไม่มีทางที่จะรู้เรื่องนี้ได้เลย ใครก็ตามที่อ้างว่ารู้พวกเขากำลังโกหก"

เวลกล่าวอีกว่า "เมื่อพวกเราประเมินความเสียหายต่อพลเรือนแล้ว มันเหมือนพวกเรากำลังบอกด้วยความแน่นอนในระดับหนึ่งว่าพวกเราได้สังหารคนไปอย่างน้อย X คน และมันเป็นเรื่องที่โชคร้ายอย่างยิ่ง ... มันแย่ เป็นส่วนที่เลวร้ายของสงคราม และพวกเราก็พยายามพิจารณาจากหลักฐานที่พวกเรามี หลักฐานที่ดีที่สุดที่พวกเรามี แต่ผม...ผมก็ไม่คิดว่า ไม่คิดว่าพวกเราจะมีวันรู้ พวกเราไม่มีวันรู้จำนวนตัวเลขได้"

คำให้สัมภาษณ์ของเวลเป็นการโต้ตอบคำถามของนักข่าวเกี่ยวกับรายงานขององค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ที่ระบุว่าสหรัฐฯ สังหารประชาชนไปหลายล้านคนในช่วงที่มีการสู้รบในเมืองอัลรัคคาที่ไอซิสตั้งเป็นเมืองหลวงของกลุ่มตัวเอง การประเมินจากเหตุการณ์สู้รบดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในปี 2560 รวมถึงเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็บอกว่ากองทัพสหรัฐฯ สังหารพลเรือนไปราว 500 ราย ในปี 2560 และทำให้ได้รับบาดเจ็บอีก 169 ราย

Vox ระบุว่าสหรัฐฯ พยายามต่อสู้กับกลุ่มไอซิสด้วยสองวิธี วิธีแรกคือการคิดอาวุธให้กับกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่อิรักและซีเรียที่ต่อสู้กับกลุ่มไอซิสอยู๋ก่อนแล้ว รวมถึงช่วยฝึกซ้อมรบ ส่งเงินทุนให้ และให้การสนับสนุนอื่นๆ กับกลุ่มเหล่านี้ วิธีการที่สองคือการใช้ปฏิบัติการทางอากาศในการทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายต่างๆ ที่เป็นของกลุ่มไอซิส เช่น โรงผลิตอาวุธ ขบวนคุ้มกัน ฐานที่มั่น และที่อื่นๆ

แต่ทว่าการใช้กำลังทางอากาศก็มีข้อเสียถึงแม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะนำมาใช้อ้างว่าประสบความสำเร็จในการกำจัดกลุ่มไอซิส แต่มันก็เป็นวิธีการที่ทำให้พลเรือนรอบบริเวณใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะถ้าหากกองกำลังที่นำโดยสหรัฐฯ ไม่มีมาตรการตรวจพิสูจน์เป้าหมายและพื้นที่โดยรอบ

ถึงแม้ว่าจิม แมตทิส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจะเคยอ้างว่ากองทัพสหรัฐฯ เป็นกองทัพที่เอาใจใส่ต่อเรื่องความสูญเสียของพลเรือนมากที่สุดในโลกแล้ว แต่ก็มีรายงานเรื่องการเสียชีวิตของพลเรือนออกมาอย่างต่อเนื่องจากการใช้กำลังต่อต้านกลุ่มไอซิสของรัฐบาลทรัมป์ที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตไปแล้วหลายพันคน ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้คือการทิ้งระเบิดใส่อย่างเดียว แต่สุดท้ายแล้วมันก็สร้างปัญหาทำให้ประเมินว่าปฏิบัติการจะสร้างความเสียหายต่อพลเรือนได้อย่างไรยากขึ้น นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานข่าวระบุว่าปฏิบัติการทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ ทำให้พลเรือนในอิรักเสียชีวิตมากกว่า 31 เท่า จากตัวเลขประเมินของทางการ

นั้นหมายความว่าการที่โฆษกทางทหารของสหรัฐฯ ออกมาพูดเองว่าพวกเขาไม่สามารถประเมินความเสียหายต่อพลเรือนได้ น่าจะไม่ใช่เรื่องเท็จ แต่นั่นก็หมายความว่า "นี่อาจจะเป็นสงครามที่มีความโปร่งใสน้อยที่สุดในประวัติอเมริกันยุคหลังๆ เลยก็ได้" ข่านและโกปาลเคยเขียนแบบนี้ไว้ในรายงานของนิวยอร์กไทม์

เรียบเรียงจาก

The Pentagon admitted it will never know how many civilians it has killed fighting ISIS, Vox,  Jun. 8, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น