ประชาไท Prachatai.com |
- กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โต้แย้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ส่งศาลรธน.วินิจฉัยคำสั่ง 3/58
- คดีวิสามัญฯ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ทนายผิดหวังคำสั่งไต่สวนการตายของศาล-เตรียมจัดเวทีวิชาการใหญ่
- ประยุทธ์ไม่ติดใจ นิสิตจุฬาฯ แปลงเพลง 'คืนความสุข' ล้อเลียน
- ‘ประวิตร-ประยุทธ์-ปรีชา’ แจงดาวเทียม(ไม่)จารกรรม แค่หารือไม่ผูกมัดสหรัฐฯ
- อสมท ดีเดย์ ‘สปริงนิวส์’ จอดำ ค้างหนี้100ล้าน-บริษัทยันไม่ดำ! จ่อฟ้อง 157
- ข้อตกลงการค้าข้ามชาติที่ไทยเจรจา ทำชาวนาสูญเสียการควบคุมเมล็ดพันธุ์
- ประยุทธ์บอกโมโหบ่อยเพราะมีความเป็นมนุษย์ - พรรคหาเสียงต้องขออนุญาต
- สงสัยจะไม่ได้เลือกตั้งท้องถิ่นปีนี้-ไม่ได้คุยพรรคการเมืองมิ.ย.นี้
- เร่ง ศธ.ช่วยนักเรียนร่วม 2 พันคนเข้าระบบฐานข้อมูลกลาง-อุดหนุนรายหัว
- สุภิญญา กลางณรงค์: ม.44 อุ้มทีวีดิจิตอล ยิ่งคลายยิ่งรัด ทหาร-คสช. ได้ประโยชน์
- ‘รัฐกับศาสนา ศีลธรรม อำนาจ และอิสรภาพ’ ปลดปล่อยและคืนความเป็นมนุษย์ให้พุทธศาสนา
- ใจ อึ๊งภากรณ์:พรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถก้าวพ้นรูปแบบพรรคเดิมๆ
- กสม. มีมติไม่รับคำร้อง บุกจับอดีตพระพุทธอิสระ
- จีน: สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ บุก EEC
- กวีประชาไท: สิ่งปรารถนาในความไม่ปรารถนา
กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โต้แย้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ส่งศาลรธน.วินิจฉัยคำสั่ง 3/58 Posted: 06 Jun 2018 08:12 AM PDT 'ณัฏฐา' นำทีมยื่นคำร้องโต้แย้งคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังไม่ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ คำสั่งดังกล่าวรวมมิตรให้อำนาจทหารทั้งบุกค้น คุมตัวก่อนส่งตำรวจ ห้ามเสนอข่าวสารกระทบความมั่นคง ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฯลฯ ตัวแทนผู้ตรวจการฯ ระบุมีสิทธิโต้แย้งได้ จะเอาเข้าที่ประชุม 12 มิ.ย.นี้ 6 มิ.ย.2561 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง พร้อมคณะ เข้ายื่นคำร้องถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการผู้ตรวจการฯ เพื่อตอบโต้ต่อหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการฯ ลงวันที่ 3 พ.ค. 61 กรณีที่ให้พิจารณาคำร้องเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ผู้ตรวจฯ กลับไม่ส่งตีความพร้อมวินิจฉัยไว้ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ได้บัญญัติรับรองให้ประกาศคำสั่งการกระทำของหัวหน้า คสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือที่ออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าจะเป็นประกาศคำสั่ง หรือการกระทำที่มีผลใช้บังคับในรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ น.ส.ณัฏฐา กล่าวว่า ในการยื่นวันนี้เป็นการมาโต้แย้งต่อคำวินิจฉัยผู้ตรวจฯ ดังนี้ 1. ร้องเรียนบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ไม่ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่กลับวินิจฉัยเสียเอง ขอยืนยันให้ผู้ตรวจการแผ่นดินปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ พิจารณาคำร้องและส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความตามหน้าที่ ว่า คำสั่งหัวหน้ คสช.ที่ 3/58 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 2. ยื่นหนังสือผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 279 ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อหลักนิติธรรมในการตรากฎหมาย เพราะทำให้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไร้ความหมาย และมีศักดิ์ต่ำกว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้านนายสงัด กล่าวว่า ผู้ร้องมีสิทธิ์ที่จะโต้แย้งในคำวินิจฉัยได้ โดยส่งหนังสือโต้แย้งมาภายใน 15 วัน ส่วนเรื่องนี้ตนจะเข้าเสนอเข้าที่ประชุมผู้ตรวจฯ ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ภาพรวมของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ให้อำนาจฝ่ายทหารหรือ "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" มีอำนาจในการตรวจค้น ยึด และควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายของศาล ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวเป็นไปในลักษณะเดียวกับการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกที่ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ส่วนที่นำมาใช้บ่อยที่สุดคือ ข้อ 12 ของประกาศที่กำหนดห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งบังคับใช้แทนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ส่วนข้อ 5 มีอำนาจออกคำสั่งห้ามเสนอข่าวที่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดจนกระทบความมั่นคงของชาติ หรือความเสงบเรียบร้อยของประชาชน ขณะที่ข้อ 6 ได้กำหนดให้มีอำนาจเรียกบุคคลให้รายงานตัว ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับคำสั่ง คสช.ที่เรียกให้บุคคลมารายงานตัวในช่วงแรกของการรัฐประหาร และข้อ 11 ให้อำนาจกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวและหากฝ่าฝืนเงื่อนไขก็จะมีความผิดด้วย
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ ประชาไท ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คดีวิสามัญฯ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ทนายผิดหวังคำสั่งไต่สวนการตายของศาล-เตรียมจัดเวทีวิชาการใหญ่ Posted: 06 Jun 2018 03:25 AM PDT ทนายชี้คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพนักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ไม่ชี้ว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรมหรือไม่ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่ออกหมายเรียกหลักฐานกล้องวงจรปิดแม้ร้องขอถึง 2 ครั้ง หวั่นอาจส่งผลให้อัยการสั่งไม่ฟ้องได้ จับตาคดีขึ้นศาลอาญาหรือศาลทหาร เหตุไม่เคยมีทหารถูกดำเนินคดีสักรายแม้แต่เหตุในภาคใต้ เตรียมจัดเวทีวิชาการใหญ่กลาง ก.ค. ถกปัญหากระบวนการยุติธรรมในคดีวิสามัญฆาตรกรรมโดยทหาร
6 มิ.ย.2561 เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลได้นัดฟังคำสั่งไต่สวนเรื่องชันสูตรพลิกศพนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาชนชาวลาหู่ กรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ตรวจค้นยาเสพติดในรถยนต์และอ้างว่านายชัยภูมิขัดขืนการจับกุม มีพฤติกรรมจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงป้องกันตัวด้วยการยิง 1 นัดทำให้ชัยภูมิเสียชีวิตบริเวณใกล้กับด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ทั้งนี้ กระบวนการในวันนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนจะมีการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในคดีอาญาต่อไป นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความกลุ่มพิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และทีมทนายความคดีนายชัยภูมิ ป่าแส กล่าวว่า ตามมาตรา 150 นั้นศาลจะพิจารณาว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายอย่างไร และสามารถระบุผู้กระทำได้ว่าเป็นใคร ส่วนพฤติการณ์ที่มีการโต้แย้งกันว่า นายชัยภูมิ มียาเสพติดอยู่ในครอบครองหรือไม่ พยายามที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือไม่ เจ้าหน้าที่กระทำไปเพื่อป้องกันตัวหรือไม่ ศาลไม่ได้วินิจฉัยให้ ศาลถือว่าเป็นเรื่องที่ยังโต้แย้งกันอยู่ "ศาลไม่ได้ลงรายละเอียดในการวินิจฉัยว่า การตายของชัยภูมิเป็นการวิสามัญฆาตกรรมหรือไม่ และการวิสามัญฯ นั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่หรือเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลบรรยายเหมือนที่สาธารณชนรู้อยู่แล้วตามข่าว แต่ความจริงคืออะไรต่างหากที่อยากรู้" สุมิตรชัยกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่ามาตรา 150 เป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้น ข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นเรื่องต้องไปต่อสู้กันเมื่อมีการฟ้องคดีในชั้นศาลไม่ใช่หรือ "การไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ศาลตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะตายในการควบคุมตัว หรือโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ ศาลต้องชี้ให้เห็นบางอย่างว่า เป็นการวิสามัญฆาตกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อที่จะเอาผลการไต่สวนนำไปสู่การที่พนักงานสอบสวนหรืออัยการสรุปสำนวนว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าทำแค่นี้มันไม่มีประโยชน์ต่อการทำสำนวนในทางสอบสวนเลย ข้อมูลที่ศาลสั่งไปเท่ากับที่พนักงานสอบสวนมีอยู่แล้ว" สุมิตรชัยกล่าว "ตอนนี้เรากำลังถกเถียงกันในทางหลักการของกฎหมาย เพราะวันนี้มีองค์กรหลายองค์กรที่เข้าสังเกตการณ์รวมถึงนักวิชาการด้านกฎหมายด้วย เรากำลังคิดว่าจะต้องจัดเวทีวิชาการเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าหากศาลสั่งแค่นี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสอบสวน เพราะการวิสามัญฆาตกรรมไม่ใช่การฆาตกรรมปกติ เพราะตายโดยอำนาจรัฐ โดยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ มีความจำเป็นที่รัฐเข้าไปตรวจสอบเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อผู้ตาย หรือกระทั่งเพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่ที่กระทำการไปโดยชอบแล้ว" สุมิตรชัยกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ศาลมีคำสั่งแบบนี้ มีความเป็นไปได้ไหมที่อัยการอาจสั่งไม่ฟ้อง "เป็นไปได้ เพราะว่าหลักฐานสำคัญไม่ได้เข้ามา คือ กล้องวงจรปิด เราขอให้ศาลเรียกหลักฐานดังกล่าว 2 ครั้ง ศาลไม่เรียกเพราะเห็นว่าหลักฐานต่างๆ เท่าที่มีนั้นเพียงพอแล้วในการมีคำสั่ง ในมุมของศาลก็ถูกต้องหากศาลจะสั่งเพียงเท่านี้ แต่หากต้องการชี้ความจริงบางประการ กล้องวงจรปิดเป็นส่วนสำคัญมากในการวินิจฉัย ทั้งนี้ตอนนี้ในชั้นสอบสวน ทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการยังมีอำนาจในการเรียกหลักฐานเพิ่มเติมได้ เพราะสำนวนการสอบสวนยังไม่สรุป ทั้งสองหน่วยงานยังมีอำนาจเรียกกล้องวงจรปิดได้" สุมิตรชัยกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมกระบวนการต่างๆ ในคดีนี้จึงยาวนาน โดยปกติแล้วมีกำหนดเวลาตามป.วิอาญาไหม "หากเป็นคดีปกติที่เอกชนฆ่ากันจะมีกำหนดชัดเจนว่าอัยการต้องส่งสำนวนภายในเวลาเท่าไร แต่วิสามัญฆาตกรรมไม่มีเดทไลน์ ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหาร อัยการต้องส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อที่อัยการสูงสุดจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง และไม่มีกำหนดเวลาในกฎหมาย นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคุยกันในเวทีวิชาการในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม" สุมิตรชัยกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีนี้เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กระทำ ต้องขึ้นศาลอาญาหรือศาลทหาร "ต้องดูว่าอัยการเจ้าของสำนวนจะสรุปส่งไปที่ศาลอาญาหรือศาลทหาร ถ้าไปศาลทหารก็จะลำบากเพราะในกฎหมายศาลทหารผู้เสียหายฟ้องเองไม่ได้ ต้องให้อัยการทหารฟ้องเท่านั้น" สุมิตรชัยกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาคดีอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้วิสามัญฆาตกรรมคดีไปที่ศาลทหารหรือศาลอาญา "คดีลักษณะนี้ถ้าจะมีก็เกิดขึ้นที่ภาคใต้ ยังไม่มีการสั่งฟ้องขึ้นสู่ศาลเลยสักคดี มีแต่คดีแพ่งคดีฟ้องศาลปกครอง เราจึงไม่เห็นต้นแบบว่าไปศาลไหน เราคิดว่าระบบเป็นปัญหา เราอาจต้องรวบรวมคดีทางภาคใต้ด้วยเพื่อจัดเวทีพูดคุยปัญหา" สุมิตรชัยกล่าว นายรัษฎา มนูรัษฎา อุปนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ทีมทนายความคดีนายชัยภูมิ ป่าแส กล่าวว่า ศาลได้ทำคำสั่งในข้อเท็จจริงที่ว่า นายชัยภูมิ ป่าแส เสียชีวิตจากการที่เจ้าหน้าที่ทหาร ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิง กระสุนปืนทำให้ถึงแก่ความตาย ที่ด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง ส่วนประเด็นที่อัยการกล่าวอ้างในคำร้องว่าเจ้าหน้าที่ทหารจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงเพื่อป้องกันตัว เพราะว่าชัยภูมิ ป่าแส จะใช้อาวุธมีดทำร้าย หรือใช้ระเบิดจะขว้าง เจ้าหน้าที่ทหารนั้น ศาลไม่ได้มีการวินิจฉัยในส่วนนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่โต้เถียงกันอยู่ เนื่องจากทางญาติผู้ตายอ้างว่าชัยภูมิ ไม่ได้ต่อสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ โดยศาลได้ให้สิทธิในการไปฟ้องร้องในคดีนี้ได้ โดยคำสั่งในวันนี้ไม่ได้ตัดสิทธิญาติผู้ตายในการฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหาย แต่ในทางอาญาคงฟ้องร้องทหารไม่ได้ เพราะกฎหมายทหารจำกัดอำนาจการเข้าถึงของประชาชน ศาลทหารต้องให้อัยการศาลทหารเท่านั้นเป็นผู้ฟ้อง ดังนั้นจากที่ทีมทนายได้พยายามให้ข้อเท็จจริงสู่ศาลให้ได้มากที่สุด การที่จะมีภาพจากกล้องวงจรปิดที่จุดเกิดเหตุที่ด่านรินหลวง ซึ่งไม่ได้เข้ามาสู่สำนวนคดี เพราะกล้องที่ทหารส่งไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และส่งพิสูจน์แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าไม่พบข้อมูลภาพในเหตุการณ์วันที่ 17 มีนาคม 2560 เวลา 10.00 น. แสดงว่าภาพเหตุการณ์ในจุดสำคัญได้หายไป ดังนั้นต้องฝากไปยังผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหาร และผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานตำรวจ ต้องสั่งการณ์สอบสวนว่าภาพหลักฐานสำคัญนี้ที่ได้ทำสำเนาไว้ตามคำสั่งอยู่ที่ใคร เพราะเป็นที่สนใจของสาธารณชนและถือเป็นประเด็นสำคัญทางคดี ลำดับเหตุการณ์ คดีวิสามัญฆาตกรรม 'ชัยภูมิ ป่าแส'17 มี.ค.2560 – ทหารประจำด่านตรวจรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ยิงชัยภูมิ ป่าแส เสียชีวิต
ที่มาบางส่วน: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เว็บไซต์นักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประยุทธ์ไม่ติดใจ นิสิตจุฬาฯ แปลงเพลง 'คืนความสุข' ล้อเลียน Posted: 06 Jun 2018 03:10 AM PDT โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ติดใจ แปลงเพลง 'คืนความสุข' ล้อเลียน ย้ำไม่ได้ปิดกั้นทางความคิด ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพ แต่ควรคำนึงถึงผลกระทบ ด้านนิสิตวอนลบคลิป หวั่นคนเข้าใจผิด แค่ทำงานส่งครูไม่นึกดัง 6 มิ.ย.2561 กรณีที่มีการแชร์คลิปวิดีโอล้อเลียนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านการแปลงเพลง "คืนความสุขให้ประเทศไทย" ของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางโซเชียลเน็ตเวิร์คจำนวนมากนั้น ล่าสุด วันนี้ (6 มิ.ยน.61) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคลิปดังกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้ติดใจอะไร โดยเฉพาะกับนิสิตที่ต้องทำตามคำสั่งของอาจารย์ แต่รู้สึกเป็นห่วงที่เด็กต้องกลายเป็นเหยื่อของผู้ใหญ่ที่ไม่หวังดี นำเรื่องการทำงานเพื่อประเทศชาติมาล้อเล่นอย่างไม่เหมาะสม "นายกฯ ทราบว่า นิสิตที่ทำคลิปดังกล่าวได้ออกมาขอโทษสังคมแล้ว เพราะเจตนาที่แท้จริงเพียงแค่ต้องการทำงานส่งอาจารย์เท่านั้น และอยากให้ผู้ที่แชร์ออกไปช่วยลบคลิปดังกล่าวด้วย เนื่องจากนิสิตไม่อยากให้กลายเป็นประเด็นดังในสังคม โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองกำลังคุกรุ่น" นายกรัฐมนตรีเชื่อว่านิสิตมีจิตสำนึกที่ดี จึงออกมาขอโทษ แต่สังคมควรตั้งคำถามกับอาจารย์วิชาการเมืองการปกครองที่มอบหมายให้เด็กทำคลิปมากกว่าว่า ทำไมจึงใช้เด็กเป็นเครื่องมือทางการเมือง และการกระทำดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ เพราะสังคมคาดหวังอย่างมากว่า ครูอาจารย์ต้องมีจรรยาบรรณที่ดี เป็นผู้ปลูกฝังสิ่งดีงามให้แก่ลูกศิษย์ และไม่ยุยง ปลุกปั่น สร้างความเกลียดชังในบ้านเมือง วอนลบคลิป หวั่นคนเข้าใจผิด แค่ทำงานส่งครูไม่นึกดังโดยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา Amarin TV รายงานว่า น้องจอน ตัวแทนกลุ่มนิสิตที่ทำคลิปวิดีโอ และเป็นผู้โพสคลิปวิดีโอดังกล่าวลงยูทูบ เผยว่า สาเหตุที่จัดทำคลิปวิดีโอดังกล่าวขึ้นมา ก็เพื่อต้องการทำงานส่งอาจารย์เท่านั้น เนื่องจากเป็นงานไฟนอลโปเจกต์ ในวิชาการเมืองการปกครอง ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งอาจารย์มีคำสั่งให้ตนและเพื่อนๆ ทุกคน ทำคลิปที่เกี่ยวกับการต่อสู้ทางสันติวิธีกับโครงสร้างอำนาจใดก็ได้ในประเทศ โดยใช้อารมณ์ขันเป็นหลัก หรือพูดง่ายๆ ว่า ให้ทำคลิปที่เกี่ยวกับการต่อสู้ด้วยอารมณ์ขัน อีกทั้ง หนังสือแบบเรียนยกตัวอย่าง กรณีในประเทศสิงคโปร์ มีคนนำเพลงของรัฐบาลมาแปลง ให้มีเนื้อหาตลบขบขัน เพื่อพยายามต่อสู้กับสิ่งที่รัฐบาลจะกระทำกับพวกเขา ประกอบกับในช่วงนี้เพลงแร็ปกำลังมาแรง ตนจึงนำแนวคิดดังกล่าวมาทำคลิปอย่างที่แชร์กัน ซึ่งตอนแรกที่ตนและกลุ่มเพื่อนทำคลิปดังกล่าวขึ้นมา ก็ไม่คิดว่าจะมีคนแชร์กันมากขนาดนี้ เพราะตอนแรกที่นำคลิปดังกล่าวไปลงยูทูป ก็ไม่ได้ตั้งสถานะเป็นสาธารณะ โดยจะมีเพียงแค่คนที่มีลิงก์ดังกล่าวที่จะสามารถเปิดดูได้ แต่อาจจะเป้นเพราะตนนำคลิปดังกล่าวไปโพสต์ลงยูทูป จึงอาจทำให้เพื่อนในเฟซบุ๊กของตน เห็นแล้วโหลดคลิปดังกล่าวไปโพสต์ต่อก็ได้ ซึ่งตอนนี้เมื่อคลิปดังกล่าวถูกแพร่ออกไปอย่างมากมาย ตนและกลุ่มเพื่อนก็กังวลว่าจะได้รับผลกระทบ จึงลบคลิปดังกล่าวทิ้งไปแล้ว พร้อมอยากขอให้คนที่แชร์ออกไป ช่วยลบคลิปดังกล่าวด้วย เนื่องจากตนและเพื่อนไม่อยากกลายเป็นประเด็นดังในสังคม ยิ่งตอนนี้สถานะการณ์ทางการเมืองในประเทศค่อนข้างจะคุกรุ่น อย่างไรก็ตาม หากคนมองว่าคลิปดังกล่าวไม่เหมาะสม ตนและเพื่อนๆ ก็ต้องขอโทษสังคมด้วย แต่เจตนาที่แท้จริง ตนและเพื่อนๆ เพียงแค่ต้องการทำงานส่งอาจารย์เท่านั้น ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘ประวิตร-ประยุทธ์-ปรีชา’ แจงดาวเทียม(ไม่)จารกรรม แค่หารือไม่ผูกมัดสหรัฐฯ Posted: 06 Jun 2018 02:35 AM PDT 6 มิ.ย.2561 พล.อ.อ.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) กล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์อ้างถึงสทป. ผลักดันการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมTHEIA (เทเออร์) จำนวน 112 ดวง มูลค่า 2,850 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ หรือ 91,200 ล้านบาทจากบริษัท THEIA Group ประเทศสหรัฐฯ พล.อ.อ.ปรีชา กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงแล้วบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ ยังไม่ได้ขายดาวเทียมให้กับไทย แต่ สทป.มีการลงนามใน LOA (Letter of Acknowledge) แล้วเมื่อเดือน 19 ธันวาคม 2560 เพื่อรับทราบว่าบริษัทดำเนินโครงการอย่างไร รวมถึงประโยชน์ที่เราจะได้รับเพื่อแจ้งให้คณะกรรมการของ สทป. ทราบ จากนั้นได้มีการลงนามในหนังสือแสดงความจำนง หรือ LOI (Letter of Intent) เมื่อเดือน 15 ม.ค.2561 ในการด้านวิจัยและพัฒนาร่วม การศึกษาร่วมกันในการมีดาวเทียม รวมทั้งผลกระทบ ความมั่นคงเศรษฐกิจ เช่น การค้นหาแหล่งน้ำใต้ดิน บนดิน แหล่งพลังงานจากธรรมชาติเพื่อใช้ในการลงทุน งานด้านการขนส่ง งานด้านการประมงผิดกฎหมายหรือไอยูยู พร้อมทั้งดูความเป็นไปได้ในการจัดทำแผนแม่บทร่วมกัน ซึ่งการดำเนินการของ สทป.เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กรทุกประการ "ไม่มีสิ่งใดที่เป็นการผูกมัดว่าจะต้องเลือกบริษัทนี้ในการดำเนินการเรื่องดาวเทียม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้มีอำนาจ ซึ่งมีกระบวนการอยู่แล้ว ในปัจจุบัน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกิจการอวกาศแห่งชาติเป็นผู้ดูแลในภาพรวม และการที่ท่านเดินทางไปสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ในงานอื่น บริษัทดังกล่าวเชิญให้ไปฟังท่านก็แวะไปฟัง ยังไม่ได้มีการอนุมัติแต่อย่างใด และการที่คุณศรีสุวรรณมาพูดว่าจะทำดาวเทียมเพื่อการโจรกรรมผมก็ไม่ทราบว่าเขาไปเอาข้อมูลจากไหนเพราะปกติในเรื่องความมั่นคงนั้นมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศในการดูแลอยู่ ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ แต่การติดต่อสื่อสารโทรศัพท์คุยกัน ด้วยเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ ต่างก็รู้ว่าใครคุยกับใคร ที่ไหน อยู่แล้วซึ่งมันไม่ใช่การเข้าไปโจรกรรม" พล.อ.อ.ปรีชา กล่าว พล.อ.อ.ปรีชา กล่าวว่า เท่าที่ศึกษาและรับฟังข้อมูลดาวเทียม พบว่าเทเออร์ถือว่ามีประสิทธิภาพสูง ส่งสัญญาณในลักษณะเรียลไทม์ ซึ่งหากเราเข้าเป็นประเทศภาคีพันธมิตรก็จะมีส่วนได้รับข้อมูลโดยไม่ต้องมีการซื้อ และยังมีหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศให้ความสนใจ แต่สหรัฐฯ เขาก็จะเลือกแค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้น ประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีแต่อยากใช้ข้อมูลจากดาวเทียมก็ต้องเสียเงินซื้อ การไม่เข้าร่วมเราก็ต้องเสียเปรียบ อีกทั้งงบประมาณนี้ก็ไม่ได้มากมายขนาด 9 หมื่นล้าน ถูกกว่าเรือดำน้ำอีก อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวไม่เกี่ยวกับดาวเทียม ธีออส 2 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปเมื่อปี 2558 เท่าที่ทราบมีเอกชนยื่นความสนใจเข้ามาแต่ยังไม่ได้มีการเดินหน้าโครงการ ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร และไม่ขอออกความเห็นหรือเปรียบเทียบระหว่างดาวเทียมทั้งสองดวงนี้ เมื่อถามว่า ข้อมูลโจมตีที่ออกมาช่วงนี้เนื่องจากมีการแข่งขันของเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกันหลายบริษัทใช่หรือไม่ ผอ.สทป. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเลือกบริษัทไหน ลองไปหาข้อมูลเปรียบเทียบกันดูว่าตรงไหนคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่ง สทป.ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องการตัดสินใจ ทำหน้าที่ด้านการวิจัยและพัฒนา และรายงานไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและตามมติภากลาโหมเท่านั้น. วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการประชุมสภากลาโหมในวาระการดำเนินงานด้านกิจการอวกาศ กระทรวงกลาโหมที่จะจัดหาดาวเทียมดวงใหม่มาแทนดาวเทียมไทยคมซึ่งจะหมดอายุในปี 2564 ว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ทำอะไร เป็นเพียงการศึกษาร่วมกันกับประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ซึ่งเขาอยากให้เราร่วมศึกษาวิจัยและเป็นสมาชิกด้วย แต่ไทยยังไม่ตอบตกลงกลับไป ส่วนเรื่องงบประมาณยังไม่มีความชัดเจน ถ้าจะทำจริงก็ต้องให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และเป็นในนามของรัฐบาลไม่ใช่ในนามทหาร และฝ่ายที่จะทำก็เป็นประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งยิงดาวเทียมไปรอบโลก โดยจะออกไปในระยะ 50 กิโลเมตรตามแนวชายแดนเพื่อให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และใช้ดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศ ส่วนหนังสือแสดงเจตจำนงในการร่วมดำเนินโครงการ (แอลโอไอ หรือ Letter of Intent) ที่ไปเซ็นก็เพื่อรับรู้ รับทราบ และเป็นเรื่องของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศจะเป็นผู้ร่วมดำเนินการ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่ไปร่วมเซ็นเท่านั้น เมื่อถามว่านายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่ากองทัพไทยกำลังดำเนินการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมไธอา(THEIA) จากสหรัฐอเมริกามูลค่า 91,200 ล้านบาท ซึ่งแท้ที่จริงเป็นดาวเทียมจารกรรม เนื่องจากสามารถตรวจจับและเก็บข้อมูลละเอียดมากนั้น ไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "โอ๊ย เป็นดาวเทียมใช้ทั่วไป ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะออกมาเมื่อไร ต้องให้พูดคุยเพื่อพิจารณากันก่อน อย่างไรก็ตาม ต่างประเทศเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่น่าลงทุน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีขอเข้ามาร่วมทุน เขายังไม่ร่วมด้วยเลย ถ้าเราไม่ร่วมเขาก็ไปประเทศอื่น" ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นเพียงการพูดคุยหารือกันเฉยๆ ว่าเราควรจะมีหรือไม่มี วันนี้ทางกองทัพก็ยืนยันมาแล้ว แล้วเราเอางบประมาณจากที่ไหน มันราคาถูกๆ หรืออย่างไร ซื้อมาจะคุ้มค่าหรือเปล่า เป็นเรื่องอีกตั้งนาน เป็นเรื่องวันหน้าจะทำอย่างไร เท่าที่ทราบวันนี้ดาวเทียมที่เราใช้อยู่จะหมดอายุการให้บริการจนถึงวันนี้ยังไม่เห็นมีการเสนอเรื่องนี้มาเพื่อพิจารณา เพราะฉะนั้นการจะไปตกลงหรือทำอะไรก็ตามต้องมาขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีกฎหมายอยู่ ตราบใดก็ตามที่ไม่เข้า ครม. มันไม่มีทางเป็นไปได้ และ ครม.ก็มีการตรวจสอบก่อนที่จะนำเข้า ครม.ด้วยว่า เรื่องที่จะนำเข้าพิจารณา เข้าหลักเกณฑ์หรือข้อบังคับทางกฎหมายหรือไม่ โดยเรื่องข้อกฎหมายต้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาด้วย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทุกเรื่องมีกฎหมายทั้งหมด เพียงแค่การพูดคุยอะไรต่างๆ มันทำได้ทุกเรื่อง แต่เราจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำ เป็นเรื่องของ ครม. เรื่องของงบประมาณ และอื่นๆ เยอะแยะไปหมด ข้อสำคัญต้องคำนึงถึงประชาชนว่ายินยอมและตอบรับหรือไม่ แต่ในเรื่องเทคโนโลยีอยากให้ทุกคนคิดใน 2 ด้าน ไม่ได้หมายถึงว่าจะพูดถึงเรื่องดาวเทียมนี้อย่างเดียว พูดถึงโลกวันนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในเรื่องเทคโนโลยีและดิจิทัล รวมทั้งออนไลน์ต่างๆ ซึ่งมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้เราต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันของเราให้ดีที่สุดในการที่จะเสพ ในการที่จะรับ ในการที่จะเชื่อ ในการที่จะเขียน ในการที่จะโพสต์ ดีกว่ามีดาวเทียมด้วยซ้ำไป ไม่จำเป็นต้องไปอะไรกับใคร ถ้าเราช่วยกันเฝ้าระวัง และเมื่อมีเรื่องนี้เข้ามาก็ต้องช่วยกันแก้ไข มันมีกฎหมายทุกตัว
ที่มา: มติชนออนไลน์ ข่าวสดออนไลน์
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อสมท ดีเดย์ ‘สปริงนิวส์’ จอดำ ค้างหนี้100ล้าน-บริษัทยันไม่ดำ! จ่อฟ้อง 157 Posted: 06 Jun 2018 01:25 AM PDT ศึกทีวีดิจิตอลระหว่างเจ้าของช่องกับเจ้าของโครงข่ายเกิดขึ้น เมื่อ อสมท ประกาศตัดสัญญาณสปริงนิวส์ จอดำ 16 มิ.ย.นี้ หลังค้างค่าเช่าโครงข่าย 104 ล้าน ด้านผู้บริหารสปริงนิวส์ยันจอไม่ดำแน่ มีโครงข่ายอื่นรองรับ ชี้ค่าเช่าของ อสมท.ไม่สมเหตุสมผล ไม่มีประสิทธิภาพ เรียกเก็บไม่เท่ากันแต่ละราย สวนทางนโยบาย คสช.ที่เร่งแก้ปัญหาทีวีดิจิตอลร่วมกับ กสทช. บริษัทเล็งฟ้อง ม.157 ให้บริการไม่เป็นธรรม 6 มิ.ย.2561นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อสมท ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (MUX) ในระบบดิจิตอล แก่ บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด จะยุติการให้บริการโครงข่ายฯ แก่สปริงนิวส์ ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ หลังจากที่คณะกรรรมการ อสมท อนุมัติให้ดำเนินการและได้รับมติอนุมัติจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้ยุติการให้บริการแก่สปริงนิวส์แล้ว นายเขมทัตต์ชี้แจงในเอกสารข่าวของ อสมท ว่า อสมท และสปริงนิวส์ได้ทำสัญญากันตั้งแต่ปี 2557 ต่อมาสปริงนิวส์ค้างจ่ายค่าเช่าใช้บริการโครงข่ายฯ ตั้งแต่กลางปี 2559 จนถึงปัจจุบันกว่า 104 ล้านบาท โดยรวมค่าปรับตามสัญญาและดอกเบี้ยตามกฎหมาย ณ วันที่ 31 พ.ค. 61 ซึ่ง อสมท ได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว และสปริงนิวส์ได้ขยายเวลาชำระเงินเรื่อยมา ด้วยเหตุผลว่าบริษัทกำลังวางแผนเพิ่มทุน และจะทยอยผ่อนชำระหนี้ โดยอสมท ได้มีหนังสือถึง บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด เรื่องแจ้งเลิกสัญญาและยุติการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา และสปริงนิวส์ได้เสนอแนวทางขอผ่อนชำระต่อเนื่อง แต่เนื่องจากหนี้สินดังกล่าวค้างชำระมาตั้งแต่กลางปี 2559 จนถึงปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการค้างที่นานเกินกำหนดระยะเวลา ทำให้คณะกรรมการและฝ่ายบริหารต้องปกป้องผลประโยชน์เพื่อผู้ถือหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยการบอกยกเลิกสัญญา เขมทัตต์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ไม่มีเจตนาอยากจะยกเลิกสัญญากับลูกค้าโครงข่าย แต่หนี้สินที่ค้างชำระไว้กว่า 100 ล้านบาท กระทบผลการดำเนินงานทำให้อสมท ประสบปัญหาในต้นทุนในการบริหารงาน อีกทั้งสปริงนิวส์ทีวีไม่มีหลักประกันที่ชัดเจน ว่าจะชำระเงินตามจำนวนได้เมื่อใด ทำให้คณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นจำเป็นต้องมีมติที่ให้ยกเลิกสัญญาดังกล่าว สำหรับค่าบริการนั้น ทางอสมท ได้มีการตกลงกันชัดเจนกับลูกค้า และมีการใช้บริการมาโดยตลอด โดยเมื่อเทียบต้นทุนกับโครงข่ายอื่นๆ ทางอสมท ให้สิทธิ์พิเศษมากกว่า เช่น อายุสัญญาสั้นกว่า , มีการผ่อนปรนให้เป็นระยะ, อัตราค่าบริการใกล้เคียงกัน แต่เพิ่งมีประเด็นว่าอัตราค่าบริการไม่เป็นธรรมในช่วงหลัง ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2561 ทางอสมท ได้เจรจาหารือกับโครงข่ายอื่น ตามแนวทางของกสทช ที่พร้อมจะปรับราคาบริการให้เป็นราคากลางเท่าเทียมกัน แต่กรณีของสปริงนิวส์นี้ คือหนี้ค้างชำระเดิม ที่ จึงต้องขอความเห็นใจ อสมท ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีกระทรวงคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย ด้านนางสาววทันยา วงษ์โอภาสี กรรมการบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด เปิดเผยถึงกรณี บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ได้แถลงการยุติให้บริการเช่าโครงข่ายออกอากาศทีวีดิจิตอลแก่สปริง นิวส์ในวันที่ 15 มิ.ย. ว่า ที่ผ่านมาบริษัทในฐานะผู้รับใบอนุญาติดำเนินการสถานีโทรทัศน์สปริง นิวส์ ดิจิตอลช่อง 19 ประเภทสถานีข่าวความคมชัดปกติจาก กสทช. ได้พยายามเจรจายุติปัญหามา โดยตลอด ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพและราคาค่าเช่าโครงข่าย รวมถึงระยะเวลาการผ่อนชำระค่าเช่าโครงข่ายเดิมที่มีอยู่ เช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ต่างก็มีการเจรจาต่อรองกับโครงข่ายที่ตัวเองใช้บริการเช่นกัน โดยบริษทัก็ได้มีการเจรจาร่วมกับฝ่ายบริหาร อสมท. เพื่อจัดทำแผนการชำระค่าโครงข่ายมาโดยตลอด และมีการทำหนังสือขอขยายระยะเวลาการชำระอย่างเป็นทางการรวม 8 ครั้ง และขอปรับลดอัตราค่าบริการที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมอีก 2 ครั้ง แตก็ได้รับการปฏิเสธจากทาง อสมท. มาโดยตลอด จนเป็นที่มาของมติหยุดให้บริการดังกล่าว แม้ภายหลังจากมีมติออกมาแล้ว บริษัทก็ยังมีความพยายามที่จะเจรจาต่อไปเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะบริษัทไม่มีนโยบายที่จะไม่ชำระหนี้ หรือย้ายโครงข่าย บริษัทเพียงต้องการให้เกิดความเป็นธรรมและระยะเวลาที่เหมาะสมกับภาวะธุรกิจที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัว ทั้งนี้การเรียกเก็บค่าบริการโครงข่ายของ อสมท. ที่ผ่านมาไม่เพียงมีความไม่สมเหตุสมผล ทั้งด้านประสิทธิภาพ และการครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ ซึ่งเป็นข้อถกเถียงนำมาสู่การเจรจาขอปรับลดค่าบริการกับผู้ใช้โครงข่ายเกือบทุกราย ตั้งแต่เริ่มออกอากาศจนปัจจุบันพบว่ามีการเรียกเก็บค่าบริการที่แตกต่างกันในแต่ละราย ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาที่จะดำเนินการทางกฏหมายต่อไป ทั้งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะความผิดตามมาตรา 157 เนื่องจากเห็นว่าการเรียกเก็บค่าบริการของ อสมท. ที่ผ่านมาไม่มีความเป็นธรรม คิดค่าบริการไม่เท่าเทียมกันในแต่ละราย และไม่สอดคล้องกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่พยายามแก้ปัญหาทีวีดิจิตอล โดยปรับลดภาระผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ และยังอยู่ระหว่างที่มอบหมายให้ กสทช. ดำเนินการหาวิธีให้ทุกโครงข่ายปรับลดค่าเช่าลงให้เป็นธรรม หลังพบข้อเท็จจริงว่าการลงทุนของทุกโครงข่ายต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ส่วนการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ บริษัทขอยืนยันว่าได้ประสานงานกับทางคณะกรรมการ กสทช. อย่างใกล้ชิด และดำเนินการเตรียมจัดหาโครงข่ายใหม่ที่จะออกอากาศอย่างต่อเนื่อง หาก อสมท. ยุติการให้บริการ สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ช่อง 19 จะยังสามารถออกอากาศได้โดยไม่มีการสะดุด และไม่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ชม ผู้ร่วมผลิตรายการและลูกค้าโฆษณาทุกรายอย่างแน่นอน โดยล่าสุดได้รบการยืนยันจาก กสทช. ที่พร้อมจะประสานผู้ให้บริการโครงข่ายที่เหลืออยู่รับช่วงออกอากาศต่อเนื่องทันทีหากไม่ได้ข้อยุติกับ อสมท เลขาฯ กสทช.เผยมีโครงข่ายอื่นอีก 3 ราย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ให้บริการโครงข่ายรายอื่นเพื่อไม่ให้สปริงส์นิวส์ต้องจอดำ หากสปริงส์นิวส์ไม่ชำระค่าบริการ อสมท.จนต้องยุติสัญญา อย่างไรก็ดี ตนเองยังมองในแง่ดีว่าเหตุการณ์ไม่น่าจะถึงขั้นจอดำเพราะยังที่ผู้ให้บริการโครงข่ายรายอื่นเหลืออีก 3 ราย ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561 หนึ่งชั่วโมงก่อนถึงกำหนด "เส้นตาย" ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 ซึ่งจะสิ้นสุดตามเวลาราชการ 16.00 น. ปรากฏว่ารัฐบาล คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยให้พักชำระการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ 3 ปี นอกจากนี้ยังพ่วงการเปิดทางให้กรมประชาสัมพันธ์หารายได้จากการโฆษณาด้วย คำสั่ง คสช. พักชำระหนี้ทีวิีดิจิตอล โดยราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2561 เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยมีเนื้อหา 10 ข้อ สรุปสาระสำคัญได้ 3 ประการ ดังนี้ ประการแรก หากผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลรายใดไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ ให้ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายใน 30 วัน เพื่อขอพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ไม่เกิน 3 ปีนับแต่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน กสทช. ประการที่สอง ให้ กสทช. จัดให้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ให้กับผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เป็นจำนวนเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าเช่า MUX เป็นเวลา 2 ปี โดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ประการที่สาม กรมประชาสัมพันธ์อาจมีเงินรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการตามวัตถุประสงค์โดยต้องไม่เป็นการมุ่งต่อการแสวงหากำไรทางธุรกิจ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ประกาศกำหนด
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์ เว็บไซต์คมชัดลึก เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เว็บไซต์บีบีซีไทย ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ข้อตกลงการค้าข้ามชาติที่ไทยเจรจา ทำชาวนาสูญเสียการควบคุมเมล็ดพันธุ์ Posted: 06 Jun 2018 01:18 AM PDT สำหรับผู้หญิง, ชาวนาและชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศกำลังพัฒนา เมล็ดพันธุ์มีความหมายเท่ากับอาหาร และอาหารนั้นหมายความถึงชีวิต แต่การเสนอแก้ไข "พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช" ระลอกล่าสุด ทำให้พวกเขาเกรงว่าจะเป็นการแย่งชิงเมล็ดพันธุ์ไปจากมือของชุมชนผู้เก็บรักษาและพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่นเรื่องความหลากหลายของพันธุ์พืช เพื่อนำเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นไปไว้ในมือของบรรษัทใหญ่ ที่มาของภาพประกอบ: ดัดแปลงจาก APWLD/Neil Palmer-CIAT Wikipedia และ Inhabitat ทั่วทั้งโลก ผู้หญิงได้เพาะเมล็ดพันธุ์พืชกว่า 7,000 สายพันธุ์เพื่อรสชาติ คุณค่าทางอาหาร ความทนทานต่อศัตรูพืช ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และการทนทานต่อความเค็ม ในประเทศไทย สำนักวิจัยและพัฒนาข้าวได้เก็บข้อมูลไว้ตั้งแต่ปี 2480 เป็นต้นมาว่าประเทศไทยมีสายพันธุ์ข้าวแตกต่างกันถึง 5,900 ชนิด แต่ 80% ของข้าวที่มีการปลูกกันทั่วไปนั้นมีเพียง 5 สายพันธุ์ เนื่องจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ข้าวทำให้ความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ลดลงผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการรับประกับความมั่นคงทางอาหาร ทั้งการรักษาความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์พืช และการเลี้ยงปากท้องของทั้งครอบครัวและชุมชน ผู้หญิงคิดเป็น 43% ของแรงงานภาคเกษตรกรรมในประเทศกำลังพัฒนา และถือเป็นแรงงานหลักในหลายประเทศ000 "การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ถือเป็นเรื่องปกติในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง พวกเราแลกเปลี่ยนและแบ่งปันเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงทางอาหารและการรักษาเมล็ดพันธุ์ การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ยังถือเป็นการทดสอบเมล็ดพันธ์ไปในตัว เช่นก่อนที่เราจะตัดสินใจปลูกข้าว เราจะแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวกับคนอื่นและพยายามหาว่าพันธุ์ข้าวชนิดไหนที่จะเหมาะกับสภาพอากาศ และพันธุ์ข้าวชนิดไหนจะมีรสชาติแบบที่เราชอบ" แน่งน้อย แซ่เซ่ง ประธานเครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทยกล่าว หากการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีผลให้เกษตรกรในประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้การกำกับของอนุสัญญาสำนักงานสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับปี 1991 สำหรับชาวนาผู้หญิง นี่หมายความว่าการเก็บและแบ่งปันเมล็ดพันธุ์จะมีโทษทางอาญา และชาวนาอาจจะต้องเสียค่าปรับถึง 400,000 บาทหรือจำคุกถึงสองปี และเมล็ดพันธุ์ที่ชาวนาเก็บรักษาไว้อาจจะโดนทำลายหากการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชนั้นเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของบรรษัท เสียงจากชุมชนพื้นเมือง: เมล็ดพันธุ์คือชีวิตของพวกเราหน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง รองประธานเครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (ที่มา: APWLD) "เมล็ดพันธุ์คือความมั่นคงทางอาหาร, คืออัตลักษณ์ คือชีวิตของพวกเรา พวกเราชนเผ่าพื้นเมืองมีเมล็ดพันธุุ์และวิธีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ของเราเองเพื่อการเพาะปลูกในฤดูกาลหน้า" หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง รองประธานเครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยกล่าว "พวกเราจะต้องมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นหากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์พืชจะถูกร่างขึ้นมาและบังคับใช้ในประเทศไทย" แม้ว่าประเทศอินโดนีเซียจะไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาสำนักงานสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียก็กำลังออกกฎหมายใหม่ที่สอดคล้องกับเนื้อหาของอนุสัญญาดังกล่าว ชาวนาในประเทศอินโดนีเซียต้องเผชิญกับโทษจำคุกสูงสุด 10 เดือนและโทษปรับหนึ่งล้านรูเปียสำหรับการแลกเปลี่ยนและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การคัดค้านของนักกิจกรรมและชาวนานำไปสู่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญและมีผลเป็นโมฆะ ส่วนในอินเดียนั้น ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา มีรายงานการฆ่าตัวตายอย่างน้อย 12,000 รายในภาคอุตสาหกรรมเกษตรทุกปี เพราะเมื่อเมล็ดพันธุ์ที่ของชาวนาถูกแทนที่ด้วยเมล็ดพันธุ์ของบรรษัท ชาวนาจะถูกบังคับให้ซื้อเมล็ดพันธุ์พร้อมกับยาฆ่าแมลงและปุ๋ยจากบรรษัท เนื่องจากเมล็ดพันธุ์จะถูกออกแบบมาให้ทนกับสารเคมีจากยาฆ่าแมลงและปุ๋ยจากบรรษัทที่ซื้อเท่านั้น ทำให้ชาวนาตกอยู่ในวงเวียนของการซื้อแบบผูกขาดและอยู่ในวงจรหนี้สิน และเมื่อราคาผลผลิตตกต่ำลงเนื่องจากนโยบายการค้าเสรี ชาวนาจะยิ่งตกอยู่ในกับดักหนี้จนชาวนาตัดสินใจฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายของชาวนาในแต่ละครั้งได้ทิ้งผู้หญิงและเด็กในครอบครัวไว้ข้างหลัง และคนเหล่านี้ก็ต้องดิ้นรนในการมีชีวิตอยู่ต่อไป เมื่อประชาชนถูกยึดกุมอาหารผ่านการยึดเมล็ดพันธุ์, 18 ตุลาคม 2560 (เอกสารประกอบ) RCEP ความตกลงพันธมิตรทางการค้รระดับภูมิภาค ปล้มสะดมจากชุมชนเพื่อผลกำไร
ความพยายามแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพืชพันธุ์ |
ประยุทธ์บอกโมโหบ่อยเพราะมีความเป็นมนุษย์ - พรรคหาเสียงต้องขออนุญาต Posted: 06 Jun 2018 12:53 AM PDT
6 มิ.ย.2561 เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2561 ว่า "วันนี้อยากบอกสื่อ ประชาชนทั้งประเทศ บอกบรรดานักการเมืองกลุ่มต่างๆ นักวิชาการ เด็ก นิสิต นักศึกษา ว่า วันนี้ เราควรต้องร่วมมือกันทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย สร้างสิ่งที่ดีออกมาให้คนอื่นได้รับรู้มากกว่าจะไปทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือทำอะไรที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ประเทศของเราไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งตนพูดมาแล้วหลายครั้งว่า เป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือ การมีเสถียรภาพของประเทศ วันนี้บ้านเมืองไม่มีการปั่นป่วน ไม่มีการปิดถนน แต่สิ่งที่เราเจออยู่ในขณะนี้ก็คือ การใช้โซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรกับประเทศไทย แต่ยอมรับว่า เรื่องเหล่านี้อาจสร้างกระแสความนิยมในการบริโภคได้ แต่ประเทศไทยเสียหาย ตนก็พูดได้เพียงเท่านี้ไม่ได้ไปบังคับอะไรใคร" "การที่เข้ามาวันนี้ผมอยากจะบอกว่า ซึ่งผมคิดของผมเอง ขอพูดให้ฟังว่า 4 ปี ที่ผ่านมา ผมพยายามที่จะทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด คือ การทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่สำคัญ เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เป็นตำแหน่งที่ทรงคุณค่า ผมบอกเสมอว่า ตัวเองก็มีความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นความผิดของผมมีเพียงอย่างเดียวที่ผมรู้ คือ ความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์จะต้องมีความผิดพลาด มีโมโห มีโกรธ นี่คือความเป็นมนุษย์ของผม เพราะฉะนั้นในการเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะต้องมีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเรื่องสมมติออกมา ผมเป็นมนุษย์ ผมเป็นคน และผมทำงานเพื่อคน เพื่อประเทศไทยเพื่อคนไทย ผมก็ต้องเป็นของผมแบบนี้ แต่ผมทำหน้าที่ตรงนี้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรีสำหรับประเทศและต่างประเทศ แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่าหลายคนพยายามที่จะทำลายเกียรติยศของนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่ผมเพราะนี่ คือ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เทียบง่ายๆ นี่คือผู้นำในการบริหารประเทศ แล้วพวกสื่อก็เขียนกันไปกันมาจนตำแหน่งนี้เฟล (ล้มเหลว) ไปทั้งหมด พวกคุณทำกันไปเพื่ออะไร แล้ววันข้างหน้าคุณคิดกันว่า นายกรัฐมนตรี ประเทศไทยต้องเป็นอย่างนี้หรือ ต้องถูกด่าถูกว่า ให้ร้าย ใช้คำผรุสวาทตามโซเชียลมีเดียอย่างนี้หรือ สื่อต้องแก้ไข ไม่เช่นนั้นพอคนเข้ามาก็เป็นแบบเดิม ก็ไม่รู้จะทำกันไปทำไม แล้วถ้ามันดี แต่ดีไม่ได้ดี พอทำไม่ดีก็ไม่ดี แล้วแต่พวกแล้วแต่ชอบ ผมคิดว่าเป็นแบบนี้ประเทศไทยไปไม่ได้" "ผมยอมรับว่า ผมมีความผิด คือ การมีความเป็นมนุษย์สูงและผมได้นั่งทบทวน 4 ปี ที่ผ่านมา ว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ ข้อเท็จจริงคือผมทำหน้าที่ของผม แต่ก็กำลังนึกว่า แล้วผมกำลังต่อสู้กับอะไรอยู่ ต่อสู้เพื่อจะไปสู่ตำแหน่งที่ผมไม่อยากเป็นมาก่อน เพื่อจะรักษาอำนาจ ผลประโยชน์ของผม ยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะสิ่งที่ผมทำวันนี้สิ่งที่ตั้งใจคือจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แล้วทุกอย่างดีขึ้นหรือไม่ ผมไม่ได้มุ่งหวังว่าต้องต่อสู้เพื่อให้ได้อยู่ได้นาน ทั้งหมดก็สุดแล้วแต่ประชาชน จะเห็นว่าวันนี้อะไรดีขึ้น อะไรที่มันแย่ลง" "ในความคิดของผม มันมีปัญหาเยอะเราอาจจะแก้ได้สัก 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ดีกว่าไม่ได้แก้เลยไม่ใช่หรือ ที่ผ่านมาปัญหาต่างๆ หลายเรื่องไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล แต่รัฐบาลนี้เข้ามาแก้ไขในสิ่งที่เป็นปัญหา ทั้งเรื่องการค้ามนุษย์ การแก้ไขกฎหมาย ถือเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นขอให้สื่อทุกคน ขอให้ช่วยกันด้วย ผมไม่ได้รังเกียจสื่อ ผมไม่ได้เอาใจสื่อ แต่เราเป็นประชาชนคนไทยด้วยกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นคนไทย ประเทศไทยจะต้องไม่ทำลายประเทศไทยของเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างความเข้าใจ การบิดเบือน การใช้ความรู้สึกในการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีใครอยากทำงานให้ท่านหรอก จะมีแค่บางพวกเท่านั้น ที่อยากทำให้ เอาใจคนเป็นกลุ่มๆ ไป แต่ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ตรงนี้เป็นหน้าที่ที่มีเกียรติ หน้าที่ที่สำคัญ คือ ดูแลประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะพรรคไหน จะฝ่ายค้านหรือรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ต้องอยู่ตรงกลาง เพื่อจะบังคับวิถีให้ทุกอย่างลงไปสู่ทุกจังหวัด ถึงทุกคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ซึ่งมันไม่ง่ายนักหรอก แต่ถ้าสามารถเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และวางพื้นฐานที่ดีไว้ให้ก็น่าจะดีกว่าที่ไม่มีอะไรเลย มันจะกลายเป็นอย่างที่ทุกคนพูดว่า มันสูญเปล่า ผมไม่เห็นมันจะสูญเปล่าตรงไหน เพราะผลงานก็ปรากฏออกมาเยอะแยะไปหมด เป็นร้อยเป็นพัน แต่ท่านก็มาบอกว่า สูญเปล่า ท่านบอกว่าลงจากหลังเสือ ผมไม่ได้คิดว่าผมขึ้นเสือตรงไหน หรือเป็นเสือที่ไหน วันนี้ผมขอพูดเปิดใจหน่อยก็แล้วกัน แล้วผมจะดูต่อไปแล้วกันว่าจะได้รับความร่วมมือแค่ไหนอย่างไร เพราะถ้ามันพูดกันไม่รู้เรื่องวันหน้าก็ไม่พูดกันก็แค่นั้น" เมื่อถามว่า นายกฯ ไปอารมณ์เสียคอลัมน์ไหนมา นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้อารมณ์เสียอะไร ก็อารมณ์แบบนี้ ความเป็นมนุษย์ไง ตนก็ต้องให้รู้ว่านี่ คือ ความเป็นมนุษย์ของตนเอง นายกรัฐมนตรีไม่ใช่เทพเทวดา มนุษย์จะเข้าใจความรู้สึกของมนุษย์ ถ้าเป็นเทวดามันไม่รู้หรอก พอแล้ว เบื่อ ขณะที่เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญจะส่งผลต่อการปลดล็อกทางการเมืองหรือไม่ ว่า เรื่องการปลดล็อกเป็นเรื่องของตนที่จะพิจารณา หากจะปลดก็ต้องปลดเป็นกิจกรรมไป "ถ้าปลดล็อกทั้งหมดท่านรับรองได้หรือไม่ว่าจะไม่มีปัญหา ตอบมาสิ แต่เดี๋ยวก็จะปลดล็อก ซึ่งต้องมีการพิจารณาหารือกันว่าจะปลดล็อกอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ให้อิสระเสรีแล้วใครจะรับรองกับตนได้มันจะไม่เกิดเหตุเดิมขึ้นอีก" "มันด่ากันตามถนนหนทางเดินกันทั่วไปหมด รับได้หรือไม่ ถ้าสื่อรับไม่ได้ก็ต้องช่วยผมให้ทุกคนออกมารับประกันว่าการหาเสียงจะต้องประกาศนโยบายที่ตรงตามกฎหมายกำหนดไม่ใช่มองว่า กฎหมายที่ออกมาเป็นการบังคับ มาตัดสิทธิมาเพิ่มภาระ แล้วที่ผ่านมาไม่มีเรื่องพวกนี้แล้วเป็นอย่างไร ก็ลองมีเสียบ้างไม่ได้หรือ ประเทศนี้มันต้องมีกฎเกณฑ์ มีกฎหมาย กติกา ผมถึงบอกว่าผมมีความเป็นมนุษย์ และความเป็นมนุษย์ของผมคือ ผมคิดและทำ และขับเคลื่อน โดยเอาทุกปัญหามาคลี่ มันถึงหนัก แต่ผมไม่บ่นหรอก เพราะผมเข้ามาแล้ว แต่การจะอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาพิจารณาอยากอยู่ต่อเพื่อมีอำนาจ" "ผมไม่เคยคิดว่าผมมีอำนาจ ถ้าคุณพูดแต่เรื่องอำนาจและผลประโยชน์กลายเป็นทุกคนเหลวแหลกไปหมด ไม่เช่นนั้น ทุกคนที่อยู่ในการเมืองก็ต้องมีอำนาจและผลประโยชน์ แล้ววันหน้าจะเป็นอย่างนั้นอีกหรือ ฉะนั้นกฎกติกาทั้งหมดไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก ถ้าท่านต้องการรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลก็ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องการเตรียมการเลือกตั้ง ต้องระมัดระวังความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะทำให้เกิดปัญหา ทั้งการจราจร ความขัดแย้ง การปลุกระดมประชาชนสิ่งเหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้น นั่นคือหน้าที่ของสื่อมวลชนและประชาชนทุกคน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนแรกคือการเตรียมความพร้อมเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง จากนั้นเป็นเรื่องการปลดล็อกที่จะหาเสียงอะไรต่างๆ ของถามว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไรในการหาเสียง มีหาเสียงในสิ่งที่ดีๆ หรือไม่ ด่ากันโจมตีกันไปมา แทนที่จะพูดในสิ่งที่พรรคจะทำอะไรตัวเองจะทำอะไรถ้าเป็นแบบนี้มันไปไม่ได้ จะกลายเป็นว่าเริ่มบรรทัดฐานตั้งแต่การเลือกตั้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายเข้าไปเป็นรัฐบาลเป็นฝ่ายค้าน ขอถามว่าพื้นที่ฝ่ายค้านจะได้อะไร ฉะนั้น บางอย่างมันต้องมีการร่วมมือกันทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด ซึ่งวันนี้รัฐบาลคิดงบประมาณ และจัดทำงบประมาณเฉลี่ยไปถึงภาคกลุ่มจังหวัด และจังหวัด รวมถึงชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้สอดประสานการทำงานแบบประชารัฐ ซึ่งเป็นคำที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่คำของตน เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนนั่นคือประชารัฐ ส่วนเรื่องไทยนิยม คือการทำความดีของคนไทยในทุกโอกาส มันผิดตรงไหน เมื่อถามว่า การนัดพูดคุยกับพรรคการเมืองจะต้องมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีเงื่อนไข อยากคุยก็มาคุย การคุยทำไมต้องมีเงื่อนไขถ้าไม่มาก็อย่ามา ตนไม่ได้ง้อให้ใครมาถ้าไม่มาประชาชนและสื่อก็ตัดสินว่าทำไมไม่มา เมื่อถามว่า พรรคอนาคตใหม่มีเงื่อนไขว่าจะมาร่วมถ้าได้รับอนุญาตให้ถ่ายทอดสดผ่านโซเชียลมีเดีย นายกฯ กล่าวว่า ขอดูก่อน ขอดูความจริงใจก่อน เมื่อถามย้ำว่า ในเดือนมิ.ย.นี้จะได้คุยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ประมาณนั้น "การหาเสียงจะต้องอยู่ในกรอบที่กำหนด โดยต้องขออนุญาตเป็นครั้งๆ ไป แต่บางอย่างอาจไม่ต้องขอ การปลดล็อกมันต้องเป็นแบบนั้น บางอย่างต้องขอ บางอย่างไม่ต้องขอ ซึ่งต้องหาวิธีในการกำหนดให้บ้านเมืองมันสงบเรียบร้อย ไม่ใช่ก่อนจะไปถึงประชาธิปไตยตีกันเละ ตรงนี้จะมีใครรับรองกับผมได้บ้างสื่อถ้ารับรองไม่ได้ก็ต้องพูดออกไป ไม่ใช่มากดดันรัฐบาลอยู่แบบนี้" ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สงสัยจะไม่ได้เลือกตั้งท้องถิ่นปีนี้-ไม่ได้คุยพรรคการเมืองมิ.ย.นี้ Posted: 06 Jun 2018 12:34 AM PDT วิษณุเผยกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับยังไม่เสร็จ คืบหน้า 90% ตอบไม่ถูกเลือกตั้งท้องถิ่นได้ปีนี้ พลิ้วคุยพรรคการเมืองเลื่อนได้ 6 มิ.ย.2561 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำกฎหมาย ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ ว่า ยังไม่แล้วเสร็จตอนนี้คืบหน้าไปกว่า 90% มีการแก้ไขในสาระจำนวนมาก อาทิ เรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม เพื่อให้สอดคล้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปีหรือไม่นั้นตอบไม่ถูก แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมาที่ ครม.ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนเดือน ก.ค.-ก.ย. อยู่ในชั้นการพิจารณาของ สนช.จากนั้นเป็นขั้นตอนของการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส่วนจะมีก่อนการเลือกตั้งระดับชาติหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ เราคงคิดในใจได้แต่จะไปอธิบายก่อนให้คนสับสนไม่ได้ ส่วนจะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก่อนหรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่อะไรที่ง่ายจะเปิดให้ทำก่อน แต่อะไรง่ายบ้างยังไม่สามารถตอบได้ เมื่อถามว่า ขณะนี้กฎหมายใกล้แล้วเสร็จแต่ยังไม่มีการปลดล็อก การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีปัญหาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า จะต้องปลดล็อกเป็นเรื่องๆ ไป เพราะการสมัครเป็นสมาชิกท้องถิ่นไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ถ้าจะทำกิจกรรมทางการเมืองจะทำเป็นรายบุคคล ไม่ใช่ทำเป็นพรรค ไม่ต้องมีการประชุมพรรค และไม่มีขั้นตอนของพรรค เมื่อถามว่า จะมีการปลดล็อกใหญ่ให้พรรคการเมืองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เรียกให้มาคุยกันในเดือน มิ.ย. แต่ในเมื่อไม่อยากคุยหรือยังไม่พร้อม สามารถเลื่อนไปอีกได้ เพราะไม่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายว่าจะต้องจัดเมื่อไร ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เร่ง ศธ.ช่วยนักเรียนร่วม 2 พันคนเข้าระบบฐานข้อมูลกลาง-อุดหนุนรายหัว Posted: 06 Jun 2018 12:00 AM PDT เครือข่ายศูนย์การเรียนไทยยื่นหนังสือเรียกร้องกระทรวงศึกษาธิการเร่งรัดออกรหัสสถานศึกษาและจัดสรรเงินอุดหนุนให้ทันฐานข้อมูลนักเรียนปีการศึกษา 2561 ก่อนวันสรุปยอดจัดสรรงบรายหัว 10 มิถุนายนนี้ เพราะจะมีผลกระทบต่อเด็กนักเรียนในศูนย์การเรียนรู้ 40 แห่งเกือบ 2,000 คน เด็กนักเรียนในศูนย์การเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร ภาพถ่ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ) 6 มิ.ย. 2561 อรพินท์ กุศลรุ่งรัตน์ ประธานเครือข่ายศูนย์การเรียนไทย สมาคมการศึกษาทางเลือกไทย เปิดเผยเมื่อวานนี้ (5 มิ.ย.) ว่า เครือข่ายศูนย์การเรียนไทยได้ยื่นหนังสือด่วนที่สุดถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เร่งช่วยเหลือนักเรียน 1,925 คน ใน 40 ศูนย์การเรียนที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ที่ได้รับผลกระทบหากไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาในฐานข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการปีการศึกษา 2561 อรพินท์กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเรียกร้องเร่งด่วน 3 ข้อคือ 1. จัดสรรรหัสสถานศึกษาให้ศูนย์การเรียน และออกหนังสือแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ก่อนวันที่ 10 มิถุนายน 2561 2. เปิดระบบการกรอกข้อมูล เพื่อให้ศูนย์การเรียนและสถานศึกษาได้บันทึกข้อมูลนักเรียนเข้าสู่ระบบสารสนเทศกลาง ให้ทันส่งข้อมูลผู้เรียนพร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 10 มิถุนายน 2561 3. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคลนักเรียนในศูนย์การเรียนโดยเร่งด่วน เพื่อให้ทันการอุดหนุนในปีการศึกษา 2561 สุรพงษ์ กองจันทึก ที่ปรึกษาเครือข่ายศูนย์การเรียนไทยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 ระบุให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา ในขณะที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ก็ระบุให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น สามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ดังนั้นรัฐจึงมีหน้าที่สนับสนุนการจัดการศึกษาของบุคคลและองค์กรเหล่านี้อย่างเพียงพอ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นเงินน้อยกว่ารัฐจัดการศึกษาเองหลายสิบเท่า หวังว่ารัฐโดยกระทรวงศึกษาธิการจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุนศูนย์การเรียนทั้ง 40 แห่ง ให้ทันในปีการศึกษา 2561 ซึ่งเริ่มเปิดการศึกษาแล้ว และจะสรุปยอดนักเรียนเพื่อจัดสรรงบประมาณรายหัวในวันที่ 10 มิถุนายน 2561 นี้ สำหรับศูนย์การเรียนทั้ง 40 แห่ง เป็นศูนย์การเรียนที่จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ยื่นขออนุญาตมีทั้งเป็นบุคคลธรรมดาและมูลนิธิ จำแนกเป็นเด็กปฐมวัย 291 คน ประถมศึกษา 977 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 614 คน และมัธยมศึกษาตอนปลาย 43 คน รวมทั้งสิ้น 1,925 คน หลายศูนย์การเรียนที่มีชื่อเสียงและก่อตั้งมานานได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง อาทิ กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ที่ชลบุรีของนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร, หมู่บ้านเด็ก ที่กาญจนบุรีของนางรัชนี ธงไชย, ชุมชนมอวาคี ที่เชียงใหม่ของนางขันแก้ว รัตนวิลัยลักษณ์ ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุภิญญา กลางณรงค์: ม.44 อุ้มทีวีดิจิตอล ยิ่งคลายยิ่งรัด ทหาร-คสช. ได้ประโยชน์ Posted: 05 Jun 2018 11:49 PM PDT อดีตกรรมการ กสทช. วิเคราะห์คำสั่ง 9/2561 ที่ออกมาช่วยเหลือธุรกิจทีวีดิจิตัล ตอกย้ำสภาพกดดันของการเมืองรัฐประหาร แนวทางช่วยเหลือมีความลักลั่น พักชำระค่างวดแต่คุมเนื้อหา-ให้ทีวีรัฐโฆษณา-อุดหนุนค่าโครงข่ายที่รัฐและทหารเป็นเจ้าของ สรุปช่วยใคร แนะ กสทช. ควรทำหน้าที่ตัวเอง ทำโรดแมปรองรับปัญหาคลื่นความถี่ให้ชัดเจน หากอ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 ที่ออกมาช่วยเหลือธุรกิจทีวีดิจิตอลที่กำลังประสบปัญหาไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ตามกำหนด โดยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ประสงค์จะขอพักชำระหนี้ได้ไม่เกินสามปี ให้มีการอุดหนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายดิจิตอลทีวี (MUX) เป็นเวลา 24 เดือนให้จบจะพบว่ามีข้อกังขาหลายประการ ในข้อที่เก้า คำสั่งได้ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาว่ว่าผู้ประกอบการรายใดมีสิทธิได้รับการพักชำระหนี้ หากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทำผิดเงื่อนไข ผลิตรายการที่ขัดต่อ "กฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน" สำนักงาน กสทช. อาจพิจารณายกเลิกการพักชำระหนี้ได้ คำสั่งเช่นนี้เหมือนจะนำเงื่อนไขเรื่องความอยู่รอดของผู้ประกอบการมาปิดกั้นนำเสนอข่าวหรือมีการผลิตรายการที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลใช่หรือไม่ เหตุการณ์การปิดสื่อที่ผ่านมาอาจเป็นคำบอกใบ้ที่เห็นชัด กสทช. สั่งปิด 'PEACE TV' 30 วัน (อีกแล้ว) อ้างเนื้อหาสร้างความแตกแยก วอยซ์ทีวีไลฟ์นาทีจอดับ ชวนติดตามประวัติศาสตร์ช่วงยุติออกอากาศ 7 วัน เหตุวิจารณ์ คสช. และปมนาฬิกาหรู 'วันชัย ตัน' ต้องลาออกจาก PPTV เรื่องการอุดหนุนค่าเช่าโครงข่ายดิจิตอลทีวีหรือ MUX ที่อยู่ในข้อที่แปด คำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ กสทช. สำนักงาน กสทช. หรือคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะไปสนับสนุนค่าเช่าร้อยละ 50 แต่ผู้ให้บริการโครงข่าย MUX มีอยู่สี่รายได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ กองทัพบก อสมท. และกองทัพบก เท่ากับเงินที่รัฐช่วยจ่ายก็ยังไปตกอยู่กับผู้ให้บริการที่มีคนเช่าใช้โครงข่ายที่รัฐก็เป็นเจ้าของ (ทั้งส่วนหนึ่งและเต็มตัว) ใช่หรือไม่ เป็นลักษณะของอัฐยายซื้อขนมยาย โยกเงินจากกระเป๋าซ้ายแล้วย้ายไปกระเป๋าขวาใช่หรือไม่ อีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือส่วนที่สองที่ให้กรมประชาสัมพันธ์ "อาจมีเงินรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการตามวัตถุประสงค์โดยต้องไม่เป็นการมุ่งต่อการแสวงหากำไรทางธุรกิจ" แม้จะมีคำว่าไม่แสวงกำไร แต่ช่องประชาสัมพันธ์ได้คลื่นความถี่มาประกอบกิจการโทรทัศน์โดยไม่ต้องประมูล แต่มีอำนาจในการกระโจนลงมากินส่วนแบ่งทางตลาดโฆษณา หารายได้กับผู้ประกอบการที่ประมูลคลื่นกันมาเลือดตาแทบกระเด็น เช่นนี้คือการแข่งขันแบบไม่เป็นธรรมใช่หรือไม่ ส่วนที่สองมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการช่วยเหลือดิจิตอลทีวี เช่นนี้เป็นการสอดไส้วาระแอบแฝงจากหัวหน้า คสช. หรือไม่ ออกคำสั่งอนุญาตให้มีการพักหนี้ มีเงินอุดหนุนค่าเช่าโครงข่าย แต่สุดท้ายให้ช่องทีวีของรัฐลงมาแย่งโฆษณา แถมตั้งบรรทัดฐานที่อาจนำไปสู่การเซ็นเซอร์เนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แบบนี้เรียกว่าช่วยหรือไม่ช่วย คำถามมากมายจากคำสั่งหัวหน้า คสช. พุ่งตรงไปที่องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่กำกับและบริหารคลื่นความถี่อย่าง กสทช. ถึงท่าทีที่เป็นเชิงรับ ให้คำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารลงมาเป็นกรอบการทำงานก่อนทั้งๆ ที่อำนาจในการบริหารคลื่นความถี่และการดูแลเนื้อหาก็อยู่ในขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของ กสทช. อยู่แล้ว กสทช. เป็นอิสระจริงหรือไม่ ท่าทีเช่นนี้สะท้อนความผูกพันระหว่าง กสทช. บอร์ด กสทช. กับรัฐบาลทหารอย่างไร ประชาไทหอบหิ้วมวลข้อสงสัยไปพูดคุยกับสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. ที่เพิ่งยุติการทำหน้าที่ไปเมื่อปี 2560 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยคำตอบของสุภิญญาสะท้อนถึงปัญหาเรื้อรังรอบด้านของธุรกิจทีวีดิจิตอลจากแนวรบทางเศรษกิจและการเมืองหลังรัฐประหาร แนวโน้มการกลับไปสู่ระบบสัมปทานคลื่นแบบที่รัฐบาลต่อรองกับเอกชนเองในอดีตที่ไทยพยายามหนีออกมา รายการ 'เดินหน้าประเทศไทย' ที่ใช้เวลาไพรม์ไทม์ฟรีๆ ในระบบที่คนประมูลคลื่นมาด้วยเงินหลายล้านบาท ทั้งยังตั้งคำถามถึงความไม่อิสระของขององค์กรอิสระอย่าง กสทช. อีกด้วย ที่สุดท้ายทำให้เป้าหมายการช่วยทีวีดิจิตอลครั้งนี้คลุมเครือว่าจะช่วยใครกันแน่ระหว่างผู้ประกอบการหรือทหารและ คสช. ประโยคคำถามตัวโตบน 'ทำมาหากินลำบาก-คุมเนื้อหา' ในการอุ้มทีวีดิจิตอลสุภิญญาระบุว่าประเด็นทีวีดิจิตอลที่ถูกแก้ปัญหาด้วยคำสั่ง ม.44 บนเหตุผลว่าผู้ประกอบการประสบปัญหาทางธุรกิจนำมาซึ่งคำถามเรื่องความเป็นธรรม ความเท่าเทียมบนสนามแข่งขันของทีวีดิจิตอลและโทรคมนาคม การผูกสิทธิการได้รับความช่วยเหลือกับเนื้อหาการนำเสนอยิ่งตอกย้ำถึงกระทบโดยตรงจากการเมืองหลังรัฐประหารที่บีบให้การนำเสนอข่าวเหลือเพียงเฉดเดียว และลักษณะการวางเงื่อนไขเช่นนี้คือการทำให้การทำงานบนธุรกิจสื่อสารมวลชนกลับไปเป็นระบบสัมปทานที่รัฐวางเงื่อนไขให้เอกชนที่จะมาทำธุรกิจโทรทัศน์ "ถ้าเป็นจุดยืนของตัวเองสมัยทำงาน กสทช. ก็ไม่เคยเห็นด้วยกับการใช้ ม.44 อยู่แล้ว เหมือนเป็นการยกอำนาจของ กสทช. ให้กับคนที่เหนือกว่าในการตัดสินใจ และไม่มีการรับผิดรับชอบ ไม่มีการคานดุลจากคนที่ไม่เห็นด้วยได้ และอาจจะมีทางออกอื่นโดยให้ กสทช. แก้ปัญหาเรื่องนี้เองเช่นปรับแก้ประกาศนั้นเอง เพราะสิ่งที่ กสทช. ใช้ ม.44 คือการปฏิเสธประกาศของ กสทช. เอง "ถ้าเราจะแก้เองก็ทำได้ด้วยประชาพิจารณ์ แต่เข้าใจว่า กสทช. คงมีความกลัวว่าถ้ามีการแก้ประกาศตัวเองเรื่องการผ่อนจ่ายอาจจะถูกฟ้องร้องในอนาคต จึงให้ใช้ ม.44 ที่ฟ้องไม่ได้ แต่ก็ขัดหลักนิติธรรมเพราะเป็นอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ ถ้าพูดในทางหลักการกว้างๆ มันก็ไม่ควรจะมาถึงขั้นนั้นตั้งแต่แรก แต่ก็เข้าใจสถานการณ์ว่าเรื่องดิจิตอลทีวีก็เป็นเรื่องค้างคามานานที่ กสทช. ไม่กล้าตัดสินใจเสียทีในการแก้ปัญหา "แต่ถ้าจะถามจุดยืนจริงๆ ก็ไม่เห็นด้วยที่จะต้องแก้ด้วยเหตุผลการผ่อนผันการจ่ายเพราะทีวีดิจิตอลประสบความลำบากในการทำธุรกิจ ถ้าจะมีการเยียวยา ช่วยเหลือ โดยเฉพาะเอาอำนาจของ คสช. มาเกี่ยวข้องด้วย มันควรจะอยู่บนหลักพื้นฐานว่านโยบายของรัฐหรือ กสทช. ไปกระทบสิทธิ เสรีภาพ สร้างความยากลำบากกับดิจิตอลทีวีอย่างไร ควรเอาหลักนี้มาเป็นเหตุและผล เพราะถ้าไม่ใช้หลักนี้ก็จะมีช่องโหว่ให้คนถามได้ ช่องที่ประมูลไม่ได้แต่แรกก็จะคิดว่า รู้อย่างนี้ประมูลมาให้ได้ก่อนดีกว่า มันก็จะถกเถียงไม่จบ แล้วโทรคมนาคมเช่นทรูหรือเอไอเอสเองก็อาจจะบอกว่าแบบนี้ต้องช่วยเราบ้างเพื่อให้เราทำต่อไปได้ หลักการเบื้องหลังการจะแก้มันจะไม่เข้มแข็งพอถ้าอยู่บนฐานของการช่วยธุรกิจเพราะกฎที่มีมันเข้มไป มันไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีเพราะจะกระทบกรณีอื่นด้วย "ถ้าจะช่วยดิจิตอลทีวีด้วยเหตุที่เห็นชัดว่าสื่อมวลชนโดยเฉพาะโทรทัศน์ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากการเมือง เพราะว่าตั้งแต่หลังประมูลมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีรัฐประหาร มีการปิดทีวีทุกช่องช่วงแรก มีการออกประกาศ คสช. มาจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการทำข่าวมากมาย โดยเฉพาะช่องข่าวที่ประมูลมา 7 ช่องก็แทบไม่สามารถแข่งขันกันอย่างหลากหลายแบบสีรุ้งอย่างที่เราตั้งใจให้แข่งขันกันหลายเฉดสีในแง่การเป็นตลาดความคิด ข่าวสารการเมือง สังคม แต่พอหลังรัฐประหารมันก็มีเฉดเดียวกันหมดเพราะมีข้อจำกัดทางกฎหมาย ฉะนั้นก็ยากที่ช่องข่าวจะอยู่รอดได้อยู่แล้ว เพราะถ้าเป็นข่าวทั่วๆ ไป ช่องอื่นก็มี ทำให้ช่องที่มีประสบความยากลำบากที่สุดจาก 24 ช่องที่ประมูลก็คือช่องข่าวเช่น เนชั่น สปริงนิวส์ คุณติ๋ม วอยซ์ทีวี รวมถึงช่องข่าวอื่นๆ เพราะไม่สามารถหาจุดขายที่แตกต่างจากช่องวาไรตี้อื่นๆ ได้เพราะข่าวเหมือนกันแต่ถูกรายการคืนความสุข หมายเหตุประเทศไทย หรือถ่ายทอดสดต่างๆ ช่วงชิงเวลา "ถ้าอธิบายว่า คสช. มาเบียดบังเวลา มากระทบการทำงานของเอกชนและต้องชดเชย อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่ฟังได้แต่เขาก็ไม่ได้ใช้เหตุผลนี้ แถมออกมาแล้วยังมีเงื่อนไขห้อยท้ายที่คนอาจจะกังวลว่าจะต้องมีการกำกับเนื้อหา คนก็ยิ่งมองว่าเป็นเครื่องมือในการที่ถ้าฉันจะช่วยเธอ เธอก็ต้องไม่วิจารณ์ฉัน แบบนี้ใช่หรือเปล่า หรือเป็นเงื่อนไขห้อยท้ายว่า ช่องไหนที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจมากๆ แล้วผิดกฎ กสทช. โดนปิดหรือโดนเตือนบ่อยๆ อาจจะไม่ได้รับ (ความช่วยเหลือ) หรือเปล่า แบบนี้ก็ยิ่งไม่ถูกไปใหญ่เลย เพราะเป็นการใช้อำนาจที่ขาดหลักนิติธรรม กลับไปสู่ระบบก่อนที่จะมี กสทช. คือระบบสัมปทานที่ให้อำนาจรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจขณะนั้นเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้สิทธิใครได้สัมปทานมาทำธุรกิจสื่อ โทรคมนาคม หรือดาวเทียม โดยอาจจะแลกกับเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่มีอิสรภาพ นั่นคือระบบเดิมที่เราพยายามหนีมาด้วยการมี กสทช. เพื่อปลดแอกสื่อให้มีอิสรภาพมากขึ้น ไม่ถูกจองจำในแง่ว่าเมื่อได้สัมปทานจากรัฐแล้วก็ไม่สามารถใช้เสรีภาพได้เพราะเขาให้ประโยชน์คุณแล้วคุณก็ต้องตอบแทนเขา นี่คือระบบเดิมที่เราพยายามปฏิรูปมา 20 ปี และเป็นเหตุผลที่เราต้องมี กสทช. แต่ถ้า กสทช. ไปทำเงื่อนไขแบบนั้นก็เท่ากับทำลายศักดิ์ศรีขององค์กรอิสระ เพราะระบบ กสทช. ไม่ได้ให้ กสทช. เป็นเจ้าของอำนาจ แต่เป็นคนบริหารจัดการคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตและมีเงื่อนไขกติกาล่วงหน้า ใครทำผิดก็สามารถลงโทษได้ แต่ผู้เสียหายก็สามารถไปฟ้องร้อง กสทช. ต่อศาลได้ มันมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอยู่ แต่พอไปโยงกับอำนาจรัฐบาล ยิ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ปรกติ มี ม.44 แล้ว การตรวจสอบและถ่วงดุลไม่เกิดอยู่แล้ว และทำให้ถอยหลังกลับไปสู่ระบบสัมปทานกึ่งผูกขาด คือเอาระบบอุปถัมภ์มานำหลักนิติธรรม "ถ้าจะเยียวยาเพราะทุกช่องได้รับผลกระทบเหมือนกันหมดก็ต้องเหมือนกันหมด มันคนละเรื่องกับการกำกับดูแลเนื้อหา เพราะการกำกับดูแลเนื้อหาก็เป็นอำนาจปกติที่ กสทช. ทำอยู่แล้ว ถ้าช่องไหนทำผิดมากๆ กสทช. ก็ปรับ เตือน ระงับใช้และเพิกถอนใบอนุญาตอยู่แล้ว ไม่ต้องมาอิงกับเรื่องนี้ "เห็นข่าวว่ามีวันที่ 7 มิ.ย. นี้เลขาธิการ กสทช. จะเชิญทุกช่องไปหารือ (เรื่องมาตรการพักชำระค่าใบอนุญาต) และเหมือนเป็นการส่งสัญญาณเป็นนัยๆ ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าจะเป็นสัญญาณอย่างไร การปฏิบัติตามกติกาหมายถึงอะไรบ้าง และยิ่งถ้าหมายถึงการกำกับเนื้อหาก็ยิ่งจะลำบากเพราะสังคมกำลังวิจารณ์บรรทัดฐานการกำกับเนื้อหาของ กสทช. เช่นกรณีคำหยาบ ทั้งเรื่องในละครและรายการการเมือง คนก็จะเปรียบเทียบว่าทำไมกรณีนั้นถูกลงโทษรุนแรง เช่นกรณีวอยซ์ทีวี แต่ทำไมบางช่องไม่โดนวิจารณ์ มาตรฐานการกำกับเนื้อหาของ กสทช. มีปัญหาและถูกวิจารณ์มากอยู่แล้ว ถ้าจะเอาตรงนี้มาใช้เป็นเงื่อนไขว่าช่องไหนมีสถิติถูกลงโทษมากกว่ากันก็จะเกิดความไม่เป็นธรรมและสร้างข้อสงสัยว่าการลงโทษนั้นเป็นธรรมจริงหรือไม่ โดยเฉพาะการลงโทษเรื่องการเมืองในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ฟ้องร้องไม่ได้ เช่นกรณีวอยซ์ทีวีขัดประกาศ คสช. ก็มีประกาศ คสช. ฉบับหนึ่งที่ออกมาคุ้มครองการใช้อำนาจของ กสทช. ที่ระบุว่าการลงโทษช่องที่ทำขัดประกาศ คสช. ไม่ต้องถูกฟ้องร้องทั้งทางอาญาและแพ่ง" "ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ทำให้สถิติช่องที่ถูกร้องเรียนมันก็มากอยู่แล้ว เพราะจะสู้ที่ศาลก็ไม่ได้ และสถิติบันทึกที่อาจจะทำให้ไม่ได้รับการชดเชย เยียวยา ซึ่งมันก็ไม่แฟร์กับช่องที่ถูกตัดสินแบบนี้" "สรุปคือ ไม่ควรจะเอาการทำหน้าที่ปกติที่ กสทช. ทำอยู่แล้ว และมีกลไกการลงโทษตามหลักนิติรัฐอยู่แล้วมาโยงกับเงื่อนไขการช่วยเหลือตรงนี้ เพราะมันเท่ากับเป็นการกลับไปสุ่ระบบอุปถัมภ์ และใช้อำนาจการอุปถัมภ์มาควบคุมสื่อ" สุภิญญากล่าว เลือกตั้งใต้เงื่อนไขสื่อต้องเป็นเด็กดี กสทช. ใต้ภาวะอุปถัมภ์สุภิญญาให้ความเห็นว่า การผูกเอาสิทธิในการได้รับความช่วยเหลืออยู่กับเนื้อหาการนำเสนอจะมีแรงกระเพื่อมจากวงการสื่อสู่สนามเลือกตั้ง และการทำหน้าที่ของ กสทช. ในด้านการกำกับเนื้อหาจะมีผลกับการความเป็นธรรมในการแข่งขันบนสนามสื่อซึ่งอาจส่งผลให้ผู้มีอำนาจอยู่ได้เปรียบในการเลือกตั้ง "ตอนนี้เป็นบรรยากาศที่ทุกคนอดทน ทุกคนก็รอว่าถ้ามีการแข่งขันกันทางการเมืองก็จะทำให้บรรยากาศมันดีกว่านี้ คือทุกคนได้แข่งขันกันที่ความคิด และประชาชนก็มีสิทธิเลือก แต่ตอนนั้นสื่อเองก็ควรทำตัวเป็นตัวกลาง ไม่ได้หมายความว่าเป็นกลาง เลือกข้างไม่ได้ แต่ต้องมีมาตรฐานในการทำหน้าที่ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ซึ่งยังถือว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงสาธารณะและใช้คลื่นความถี่ ควรต้องทำหน้าที่ให้เที่ยงตรงกว่าสื่อออนไลน์หรือสื่ออื่นๆ ที่อาจจะมีเสรีภาพมากกว่า แต่สื่อโทรทัศน์มันมีกรอบของการใช้คลื่นความถี่สาธารณะที่มีกฎ กติกา มารยาทอยู่ ก็ขึ้นอยู่กับ กสทช. ในฐานะกรรมการแล้วว่าจะคุมเกมอย่างไร ถ้าคุมไม่อยู่ก็จะเกิดการเสียเปรียบได้เปรียบ คนที่มีอำนาจอยู่ก็อาจจะได้เปรียบในการเลือกตั้งมากกว่าถ้าคนที่มีอำนาจหนุนใครในการเลือกตั้ง ก็ทำให้คนที่ไม่มีอำนาจเสียเปรียบ เป็นสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น ดังนั้น กสทช. กับ กกต. ควรทำงานด้วยกัน ไม่ได้หมายความว่าช่วยกันเอียงข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่มีอำนาจนะ แต่ควรช่วยกันประคับประคองกติกาการแข่งขันของแต่ละพรรคการเมืองให้มีความเป็นธรรม และไม่ให้คนที่มีอำนาจปัจจุบันใช้อำนาจไปแทรกแซงจนเกินกว่าเหตุและทำให้เกิดความไม่เป็นกลางในการเลือกตั้ง" สุภิญญากล่าว "ตอนนี้ทุกคนก็กังวลว่าทุกอย่างกำลังปูทางไปสู่แนวทางนั้น เพราะ กสทช. เองก็อยู่โดยระบบอุปถัมภ์แล้ว ตั้งแต่ 6 ต.ค. ปีที่แล้ว กสทช. ชุดปัจจุบันก็อยู่ด้วยมาตรา 44 เพราะชุดแรกหมดวาระไปตั้งแต่วันดังกล่าวเพราะครบ 6 ปีตามกฎหมาย แต่ คสช. ออกประกาศให้อยู่ต่อเพราะยังสรรหาชุดใหม่ไม่ได้ กสทช. ชุดปัจจุบันจึงอยู่ในลักษณะรักษาการ แต่เขาก็คงรู้สึกว่าฉันได้อยู่เพราะอำนาจนี้ ยิ่งทำให้สังคมหวังยากเพราะแม้แต่ กสทช. เองก็ยังอยู่ด้วยระบบอุปถัมภ์เลย แล้วจะไม่กำกับด้วยระบบอุปถัมภ์เหรอ ถ้ากำกับด้วยระบบอุปถัมภ์มันก็จะนำไปสู่ระบบอภิสิทธิ์ ซึ่งอำนาจอุปถัมภ์และทุนนิยมอภิสิทธิ์เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในยุคนี้ คือการที่มีบางกลุ่มทุน บางกลุ่มช่องได้อภิสิทธิ์ไม่ถูกกำกับเพราะมีอำนาจอุปถัมภ์อยู่ การกำกับดูแลที่ควรเป็นไปตามหลักนิติธรรมก็ทำได้อยากเพราะทุกคนอยู่ภายใต้ความเกรงใจและความกลัวว่าจะไปกระทบกับคนที่อุปถัมภ์ตัวเอง" "จำได้ว่าช่วงแรกที่ คสช. เข้ามาก็มีการตรวจสอบ กสทช. ที่สังคมเองก็ยังเชียร์เลย ที่มีการติงเรื่องการใช้งบประมาณจาก สนช. และมีคณะกรรมการ คตร. สังคมก็เชียร์กันใหญ่ให้ยุบหรือตรวจสอบ กสทช. แต่ตอนนี้ก็กลับตาลปัตรแล้ว กลายเป็น คสช. เองก็มาอุ้ม กสทช. ด้วย กสทช. เองก็ตอบแทนระบบอุปถัมภ์ด้วยการสนับสนุนนโยบายของ คสช. เต็มที่ ทำให้ดูไม่ดีและสั่นคลอนการกำกับดูแลทั้งระบบเลย และส่งผลต่ออุตสาหกรรมด้วย เพราะช่องต่างๆ ก็เริ่มระส่ำระสายแล้วว่าถ้าตัวเองไม่เข้าหาระบบอุปถัมภ์ก็อยู่ไม่ได้" รัฐ-ทหารได้ประโยชน์ให้ทีวีรัฐโฆษณา - หนุนค่าเช่า MUX ย้ำ กสทช. ต้องมีแผนรองรับธุรกิจทีวีดิจิตอลชัดเจนสุภิญญาตั้งข้อสังเกตเรื่องการให้กิจการโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์อาจมีรายได้จากโฆษณาได้ว่าเป็นเรื่องที่ผิดหลักปฏิรูปสื่ออย่างรุนแรง เพราะการกระทำเช่นว่านำมาซึ่งคำถามเรื่องงบประมาณซ้ำซ้อน ข้อกังขาเรื่องการอุปถัมภ์ระหว่างรัฐบาล รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนรายอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการโฆษณา และยังทำให้สนามแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิตอลถูกก่อกวนจากผู้เล่นที่ไม่ต้องประมูลคลื่นมาเหมือนรายอื่นอีก 24 ช่องด้วยเงินจำนวนมากแต่รัฐก็ยังใช้เวลาไพรม์ไทม์ออกอากาศฟรีทุกวันศุกร์เวลา 18.00 น. "อันนี้ไม่ควรอย่างแรงแต่ก็เหนื่อยจะค้านเพราะผิดหลักการปฏิรูปสื่ออย่างแรง คือช่อง 11 กับช่อง 5 ไม่ได้ประมูลคลื่น ได้คลื่นความถี่มาโดยอัตโนมัติแล้วแถมยังเอามาทำกึ่งธุรกิจอีก ช่อง 5 ก็มีโฆษณาด้วยซ้ำแต่ก็เรียกตัวเองว่าทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคงซึ่งมันก็ไม่ถูก ช่อง 11 ยิ่งแล้วใหญ่ ได้งบประมาณจากหลวงอยู่แล้วเหมือนไทยพีบีเอสแต่ก็ยังขอโฆษณา แบบนี้ถ้าไทยพีบีเอสขอทำโฆษณาบ้างแล้วคนจะด่าไหม "กลายเป็นว่าใช้เงินหลวงแล้วยังตัองโฆษณาแข่งกับธุรกิจแล้วทำให้เขาเสียเปรียบเพราะธุรกิจประมูลมา แต่อันนี้ไม่ต้องประมูล แล้วยังเป็นช่องให้ครหาอีกว่ารัฐจะขอให้เอกชนหรือรัฐวิสาหกิจบางรายมาลงโฆษณาหรือเปล่า เป็นอัฐยายซื้อขนมยายหรือเปล่า เป็นระบบอุปถัมภ์อีกหรือเปล่า เป็นช่องทางให้เอกชนเข้ามาหนุนทางอ้อมหรือเปล่า คือมาซื้อโฆษณาทั้งที่ไม่มีคนดูเยอะ แต่เรื่องหลักการปฏิรูปสื่อก็ผิดอยู่แล้ว สื่อสาธารณะไม่ควรมาทำธุรกิจแบบนี้เพราะคุณไม่ได้แข่งขันเท่าเทียมเป็นธรรมกับเอกชน ไม่ได้ประมูลคลื่นมา ส่วนในมุมการเมือง นอกจากเป็นช่องทางโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) แล้วยังเป็นช่องทางทำธุรกิจอีก ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าตกลงใครได้ประโยชน์กันแน่ "ถ้าเป็นเมื่อ 10-20 ปีก่อน เรื่องนี้คงมีสื่อมวลชน นักวิชาการ เอ็นจีโอมาค้านกันเยอะแยะ ตัวเองก็ค้าน แต่ยุคนี้เหมือนทุกคนอ่อนแรงและเบื่อกันแล้วก็เลยไม่มีคนออกมาค้านเท่าไหร่ ก็งงเหมือนกันที่ (คำสั่ง) ออกมาเพราะเหมือนกับสอดไส้ ไม่มีที่มาที่ไป อยู่ๆ ก็ออกมาด้วย ม.44 แล้ว กลายเป็นคนจะมองว่าเป้าหมายจริงๆ คือจะออกเรื่องนี้ แล้วก็มีเรื่องช่วยดิจิตอลทีวีมาด้วย แต่ก็ทุลักทุเล แถมมีเงื่อนไขสารพัด ก็สงสารดิจิตอลทีวีเหมือนกันที่แข่งขันกันบนระบบใหม่ จ่ายเงินให้รัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วยแถมต้องแบกรับเวลาที่รัฐมาใช้ฟรีอีก" "อันนี้ขอพูดหน่อย มันก็ไม่แฟร์จริงๆ ไม่มีประเทศไหนในโลกใช้ทีวีเอกชนมากขนาดนี้แบบฟรีๆ ทุกวันศุกร์หกโมงเย็น ช่วงไพรม์ไทม์มาสี่ปีแล้ว ถ้ารวมค่าแอร์ไทม์ก็ไม่รู้เป็นราคากี่พันกี่หมื่นล้าน เป็นราคาที่สูงมาก และช่องก็ไม่กล้าโวยวาย ไม่กล้าฟ้องร้อง ถ้าเป็นธุรกิจอื่นๆ เช่นรัฐบาลไปขอใช้สถานที่โรงแรมทุกเย็นวันศุกร์ สักวันก็ต้องมีการจ่ายเงินเขา ต้องมีการวางบิลแล้ว จะไปใช้ที่เขาฟรีได้อย่างไร การใช้แอร์ไทม์ฟรีก็คือการใช้ที่เขาฟรีทั้งที่เขามาจากการประมูล ถ้าเป็นแบบสัมปทานแบบเดิมรัฐอาจจะขอใช้เมื่อไหร่ก็ได้ "แต่พอเป็นระบบใหม่รัฐก็มาขอใช้เมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่มีใครหืออือ กสทช. เองก็ไม่เคยช่วยวิจารณ์ ตัวเองก็เคยพูดแล้วแต่มันก็เหมือนกับถ้าช่องเองไม่ลุกขึ้นมาก็คงยาก คงจำยอมรับสภาพไปเพราะกลัวว่าถ้าดื้อแพ่งขึ้นมาก็อาจจะโดนไม่ได้รับความช่วยเหลือ" "เรื่องโครงข่าย ทางแรกที่ควรทำคือ กสทช. ควรจะกำกับราคาค่าโครงข่ายให้เป็นธรรมตั้งแต่แรก เพราะค่าโครงข่ายที่คิดกันที่ผ่านมามันแพงเกินจริง HD เดือนละ 9-10 ล้าน sd เืดอนละ 3-4 ล้าน ร้อยละห้าสิบ(ที่อุดหนุน) คงเป็นกำไรไปสักครึ่งหนึ่ง ถ้า กสทช. ใช้อำนาจตัวเองตามปรกติที่ระบุไว้ในเงื่อนไขว่า กสทช. มีสิทธิกำกับราคาได้ ตัวเองก็เคยพูดตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องกำกับราคา ช่องเขาก็รู้ แต่เสียงไม่ผ่านจึงไม่เกิดการกำกับ เรื่องก็เลยเถิดมา การไปคิดเขาราคาแพงเขาก็อยู่ไม่ไหว จริงๆ ร้อยละ 50 ที่ลดคือต้นทุนที่แท้จริง มีกำไรนิดหน่อยด้วยซ้ำ แต่นี่คือไม่ได้ลด เพราะรัฐก็เอาเงินรัฐไปอุดหนุน จริงๆ ต่อให้ไม่จ่ายก็ยังครอบคลุมต้นทุนที่ลงทุนไปได้อยู่ ก็คิดดูว่าถ้าช่องจ่ายเดือนละ 10 ล้าน ปีหนึ่งก็ร้อยล้าน แล้ว ททบ. 5 จะได้กี่พันล้านต่อปีเพราะมี (เช่าโครงค่าย) ตั้งสิบช่อง แล้วเขาก็กินยาวไป 15 ปี คุณอาจจะไม่คุ้มทุนในปีสองปีแรก แต่มันจะคุ้มทุนในวันหนึ่ง ลองเอา 15 ปี คูณหนึ่งพันล้านเข้าไปก็หมื่นล้านแล้ว โดยเฉพาะช่อง 5 ลูกค้าเยอะ คนที่อาจลำบากหน่อยอย่าง อสมท. เพราะว่าช่องไม่เต็ม และเจอลูกค้ารู้ทันก็คือไม่จ่ายอยู่หลายราย เพราะมองว่าราคาไม่สมคุณภาพและร้องเรียนมาให้ กสทช. ตัดสิน ซึ่งก็มีมติเป็นตัวยืนแล้วว่าต่อให้ยังไม่จ่ายค่าเช่าก็ห้ามตัดสัญญาณ เพราะกระทบผู้บริโภค ทำให้บางช่องใช้มตินี้ไม่จ่ายจนกว่าจะได้ราคาที่เป็นธรรม และเข้าใจว่ามีหลายช่องก่อหวอดที่จะไม่จ่ายหรือจ่ายไม่ครบ ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่เขายอมออกมา แต่พอออกมารัฐก็ไม่ได้เสียประโยชน์อยู่ดี ก็คือเอาเงินไปช่วยจ่าย ไม่ได้ให้ลดราคา "การทำ MUX ไม่ได้ทำมาให้รัฐหากำไร แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานภายในที่ต้องบริการสาธารณะ ก็เหมือนไฟฟ้า ประปาที่คิดไปตามจริง อย่างไรถ้าคนใช้เยอะก็ได้กำไรอยู่แล้ว มีลูกค้ากึ่งผูกขาดอยู่แล้ว เพราะอย่างไรเขาก็ต้องใช้คุณ เขาจะไปใช้ใคร มันก็มีไม่กี่เจ้า สัญญามันยาว 15 ปีอยู่แล้ว ขนาดไทยพีบีเอสลูกค้าน้อยกว่า ททบ. 5 เขายังคำนวณแล้วเลยว่าได้กำไร ถ้าจะสรุปด้วยความเจ็บปวดมันก็พลาดที่เราให้ใบอนุญาตโครงข่าย MUX กับ ททบ. 5 ไปสองโครงข่าย เพราะ ททบ. 5 ได้สิทธิสองโครงข่าย เท่ากับทำให้เขามีลูกค้าได้มากกว่าคนอื่น ซึ่งตอนนั้นเราทำข้อเสนอแบบนี้แลกกับให้เขายุติอนาล็อกเร็ว เขาก็ยอมยุติช่องเจ็ดเร็วกว่าช่องสาม แต่ก็ได้กำไรเยอะแล้ว กลายเป็นว่าในขณะที่ช่องอื่นลุ่มๆ ดอนๆ คนที่ยังได้กำไรเต็มที่อยู่ก็คือโครงข่าย ในห่วงโซ่ของดิจิตอลทีวี ททบ. 5 เดือดร้อนน้อยที่สุดเพราะได้เงินค่าเช่า แต่เขาจะเดือดร้อนถ้าลูกค้าเขาทยอยเลิกกิจการ เพราะหมายความว่าอีกสิบปีต่อจากนี้คุณไม่มีสิทธิได้ค่าเช่าและไม่มีใครมาประมูล เลยเข้าใจว่าแม้เขาไม่อยากออกมาช่วยแต่ก็ต้องออกมาช่วยเพื่อพยุงให้อยู่ได้ คือมีความขัดแย้งกันของผลประโยชน์ คือเป็นลูกค้าของกองทัพบก ถ้าพูดตรงไปตรงมา แต่ถ้าจะช่วยไม่เต็มที่ ช่วยกั๊กๆ แบบนี้สุดท้ายประโยชน์ก็กลับมาที่คนเดิมหมดก็คือหน่วยงานรัฐที่คุมเกมและให้บริการโครงข่าย ที่น่าเศร้าคือ กสทช. ที่เป็นคนกำกับทุกคนและในความเป็นจริงคืออยู่เหนือทุกคนเพราะเป็นผู้ถือใบอนุญาตโครงข่าย ถือใบอนุญาตช่อง เห็นภาพรวมทั้งหมด ควรที่จะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่ตอนนี้ไม่เป็นธรรม ออกกติกามาเหมือนจะช่วยก็จริงแต่คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็ยังได้ ก็คือหน่วยงานรัฐที่ได้สิทธิในการทำโครงข่าย อันนี้ก็ยอมรับว่าพลาดที่เราไปรับการต่อรองตรงนั้นให้ ททบ. 5 มีโครงข่ายมากขึ้นแล้วเขาจะเลิกอนาล็อกเร็ว ก็ไม่รู้ว่าคุ้มกันไหม "แต่ข้อดีก็มีนิดหนึ่ง คือทำให้เกิดการผูกกันระหว่างช่องกับโครงข่าย ทำให้ทิ้งช่องไม่ได้ อย่างไรเสียก็ต้องช่วยดิจิตอลทีวีให้อยู่ไปได้เพราะมันผูกด้วยกัน แม้จะกระทบช่อง 5 ในฐานะเป็นช่องแต่เขาคงไม่สนใจมั้ง เพราะตอนนี้ในฐานะโครงข่ายเขาได้เงินมากกว่า แม้ตัวช่อง 5 จะได้รายได้น้อยลงแต่เงินที่ไปอยู่ที่โครงข่ายก็เข้าช่อง 5 เหมือนกัน ทำให้เขาต้องพยุงอนาคตของดิจิตอลทีวี ถ้าพยุงไม่อยู่เขาก็จะไม่ได้รับรายได้ระยะยาว โครงข่ายที่ไปวางก็จะกลายเป็นเสาร้าง และในเวลานั้นก็อาจจะพิสูจน์ความผิดพลาดของ กสทช. เว้นแต่ว่า กสทช. อาจจะมีวิสัยทัศน์และแก้ปัญหาทันด้วยการเร่งทำโรดแมปในการเวนคืนคลื่นความถี่หรือ spectrum roadmap แล้วบอกว่า เราจะประมูลคลื่นนั้นคืนมาทำโทรคมนาคม สังคมอาจจะว่าน้อยลง แต่ถ้าสมมติว่าอยู่รอวันตายไปวันๆ สุดท้ายช่องอยู่ไม่รอดจริงๆ โครงข่ายเหลือแต่เสาร้างๆ แล้วยังไม่มีแผนว่าคลื่นนั้นจะถูกนำไปทำอะไรต่อ กสทช. ก็จะโดนได้ว่าตกลงคุณไม่ได้แก้ปัญหา ถ้าจะผ่อนหนักเป็นเบา กสทช. ควรทำการศึกษาไว้ตั้งแต่ตอนนี้ ไม่รู้ว่าทำหรือยังในเรื่องที่มีข้อเรียกร้องว่าควรจะมี spectrum roadmap หรือแผนเรื่องการจัดสรรคลื่น มีการประเมินล่วงหน้าเลยว่าอีก 3 ปี 5 ปีไหวไหม ถ้าคืนกันหมดคลื่นเหล่านี้จะเอาไปทำอะไร จะเอาไปประมูลต่อ เอาเงินเข้ารัฐ หรือทำแบบรุกแบบในสหรัฐฯ คือรัฐไปประมูลกลับ ไม่ถึงกับเอาเงินไปให้เอกชน แต่ไม่เก็บเงินที่เขาต้องจ่ายที่เหลือ แลกกับการนำคลื่นนั้นไปประมูลแล้วได้เงินมากกว่า ถ้าแบบนี้ก็พออธิบายกับสังคมได้ แต่ กสทช. ก็ต้องวางแผนล่วงหน้า แต่เข้าใจว่าเขาคงยังไม่ทำเพราะชุดนี้คงประเมินว่าเขาอาจจะอยู่ไม่รู้ถึงเมื่อไหร่ และมันเป็นช่วงรอยต่อ อาจจะมีสภาพของการ play safe สูงหรือเปล่า แต่มันก็น่าเสียดายกับการที่มีชุดเฉพาะกาลอยู่นานขนาดนี้เป็นเรื่องเสียโอกาสเพราะชุดเฉพาะกาลจะทำเรื่องใหญ่ก็ไม่อยากทำเพราะไม่รู้จะผูกมัดอะไรไหม" สุภิญญาระบุว่าสิ่งที่ กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระที่ได้รับสวัสดิการและอภิสิทธิ์มากมายควรทำในตอนนี้คือเริ่มทำแผนรองรับที่ชัดเจนในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ "กสทช. ก็ต้องประเมินและกล้าตัดสินใจว่าถ้าไม่ไหวจริงๆ จะประมูลคลื่นกลับมาหรือต้องแก้กฎให้เขาขายได้จริงๆ ก็ต้องประเมินข้อดี-เสีย มีงานศึกษาออกมา ถ้าต้องแก้กฎใหม่ก็ต้องแก้ให้เป็นเรื่องเป็นราว มีประชาพิจารณ์ มีคนฟ้องร้องไหม ถ้ามีคนฟ้องร้องก็จบไป ถ้าไม่มีคนฟ้องร้องก็สามารถเอามาแก้กฎได้ ถ้าทำเป็นขั้นตอนแบบนี้ก็สามารถทำได้ แต่ไม่รู้ว่าชุดนี้จะทำไหมเพราะอย่างที่บอกว่าอยู่แบบรอเวลา ช่องเองก็คงงงๆ ว่าจะเอาอย่างไรดี จะเก็บไว้เพื่อขายต่อ หรือทำอย่างไร แล้วถ้าแยกอีกช่องก็อาจจะมาโวยวายขอแก้อีก มันก็จะดูไม่ดี ก็เหมือนเรียกร้องไม่จบสิ้น มีปัญหาทีก็มาแก้ที ทีนี้ กสทช. ในฐานะที่เป็นคนคุมเกมก็ลองเสนอทางออกไปเลยไหม วางฉากสถานการณ์ออพชั่นหนึ่ง สอง สามเตรียมไว้ นี่คือสิ่งที่คิดว่าอุตสาหกรรมอยากเห็น คือเอาให้มันชัดเจน แต่พอไม่อยากใช้อำนาจเองแล้วใช้ ม.44 ก็เท่ากับเปิดช่องให้ ม.44 เป็นระบบอุปถัมภ์ เป็นบิ๊กบราเธอร์ เป็นลูกไก่ในกำมือ เสียเสรีภาพ เสียศักดิ์ศรีการเป็นสื่อเอกชนและความเป็นช่องแล้ว ก็น่าเสียดาย" "สังคมก็ยิ่งถามถึงความจำเป็นของการดำรงอยู่ของ กสทช เพราะกว่าจะเกิดขึ้นมาได้ก็ยาก แถมมีสิทธิประโยชน์และอภิสิทธิ์ค่อนข้างมาก ให้เงินเดือนสูง สวัสดิการดี ให้อำนาจเต็มที่ มีพนักงานเยอะแยะเพราะต้องการให้เป็นองค์กรอิสระจริงๆ คือคุณทำงานสบายเลย และคุณไม่ต้องไปพึ่งรัฐด้วย เพราะรายได้ กสทช. มาจากการเก็บค่าธรรมเนียมทางตรงจากผู้รับใบอนุญาต อันนี้สังคมอาจจะยังไม่รู้ว่า กสทช. เป็นองค์กรอิสระที่อิสระจริงๆ ต่างจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้วยซ้ำเพราะ กกต. กับ กสม. ไม่สามารถหารายได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ต้องไปของบประมาณจากสภา แต่ กสทช. พิเศษมากเพราะกฎหมายเขียนมาว่าให้เก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ ส่วนหนึ่งไม่ต้องเอาเข้าคลัง ถ้าเป็นเงินประมูลคลื่นต้องเอาเข้าคลัง แต่ทุกๆ ปี กสทช. จะเก็บค่าธรรมเนียมโดยตรงจากเอไอเอส ทรู ดีแทค และช่องต่างๆ มาเป็นรายได้เพื่อใช้เป็นเงินเดือนของ กสทช. มีการการันตีโดยกฎหมายอยู่แล้ว คล้ายไทยพีบีเอสที่ใช้เงินภาษี แต่ก็ระบุชัดเจนว่าแต่ละปีจะตัดให้เท่าไหร่ โอกาสที่รัฐจะเข้าไปแทรกแซงไทยพีบีเอสก็ยากเพราะมีการออกแบบให้ค่อนข้างมีอิสระ และมีบอร์ดเฉพาะที่ไม่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรี กสทช. ก็เหมือนกัน มีบอร์ดของตัวเองที่มีอำนาจเต็ม มีช่องทางตามกฎหมายให้เก็บรายได้เองได เพราะเขาต้องการให้ทำงานแบบมืออาชีพ เป็นอิสระจริงๆ ไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมืองเพราะระบบการเมืองแบบเดิมมันวุ่น อย่างที่เราเห็นกันว่าสัมปทานดาวเทียม มือถือ แก้สัมปทานกันมีฟ้องร้องวุ่นวายทั้งไอทีวีมาจนถึงมือถือในอดีต ไม่เกิดการแข่งขันเสรี มันเป็นอุปถัมภ์ แต่ยุคนั้นมันก็ไม่มีเสรีภาพ ยุคนั้นสื่ออนาล็อกไม่มีใครกล้าวิจารณ์รัฐอยู่แล้วเพราะว่าถ้าวิจารณ์ไปดีไม่ดีก็อาจไม่ได้สัมปทาน" มาตรา 42 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กำหนดให้รายได้ กสทช. มาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี โดยให้ กสทช. กำหนดในอัตรารวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายของผู้รับใบอนุญาต รวมถึงค่าธรรมเนียมซิมการ์ดที่พวกเราใช้กันหมายเลขละ 10 บาท แต่สัดส่วนเล็กน้อยจากรายได้จากขุมทรัพย์คลื่นความถี่ก็ทำให้ กสทช. มีรายได้มหาศาล "กฎหมายเขียนว่าเก็บได้ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปีของรายได้ผู้ประกอบการ แต่จริงๆ ตัวเลขร้อยละ 2 ของธุรกิจโทรคมนาคมมันเยอะมาก เพราะรายได้เขาเป็นหลักหมื่นล้าน แต่มันก็ไม่ได้ร้อยละ 2 เต็มๆ หรอก เพราะจะมีลดหย่อนนู่นนี่ แต่ก็ยังเยอะอยู่ดี กสทช. มีรายได้จากค่าธรรมเนียม รวมถึงค่าธรรมเนียมเลขหมายด้วย ซิมการ์ดที่ซื้อกันหมายเลขละ 40-50 บาท เอกชนต้องจ่ายให้ กสทช. เบอร์ละ 10 บาท แล้วประเทศไทยมีกี่เบอร์ กสทช. จึงมีรายได้ต่อปีปีละ 8-9 พันล้านบาทซึ่งเยอะมาก แต่ กสทช. ก็ใช้ไม่หมด เขาใช้ปีละ 4-5 พันล้าน ซึ่งมากกว่าไทยพีบีเอสที่เป็นสถานีโทรทัศน์ 24 ชั่วโมง ต้องมีนักข่าวไปทำหน้าที่ ยังใช้แค่ 2 พันกว่าล้าน แต่ กสทช. ที่เป็นผู้กำกับ งานหลักๆ คือประชุม อาจจะมีการเฝ้าติดตามบ้าง แต่ก็ไม่มีโปรดักชั่นและทำงาน 24 ชั่วโมง ต้นทุนหลักๆ มาจากค่าตอบแทนพนักงานและบอร์ด ก็คือ 2-3 พันล้าน สวัสดิการก็ดี เขาก็ให้คุณทำงานเต็มที่ ที่เหลือก็มีค่าจัดประชุม ค่าสัมนา ซึ่งมันเหลือเฟือ เรื่องนี้ทีดีอาไอหรือใครต่อใครก็เคยวิจารณ์หลายรอบแล้วทั้งเรื่องการใช้เงินไปต่างประเทศ ค่ารับรอง ค่าอะไรที่มีปัญหามันก็มีจริง แต่กลายเป็นการใช้ข้อดี จุดแข็งของการออกแบบกฎหมายให้มีอิสระเพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซง แต่กลายเป็นจุดอ่อนและไม่เป็นประโยชน์เลยถ้าทำงานอย่างไม่อิสระ คือได้เงินมากกว่าข้าราชการทั่วไปแต่ทำงานเป็นข้าราชการที่ต้องตอบสนองนโยบายรัฐบาล แล้วจะมีทำไม" สุภิญญากล่าว "มีหลายเรื่องที่ กสทช. ทำงานได้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ เช่นการจัดประมูลคลื่นเพื่อหาเงินเข้าคลัง สองปีที่ผ่านมาถ้าไม่มีเงินประมูลคลื่นจาก กสทช. ประเทศก็น่าจะลำบาก ก็เป็นเครดิตของ กสทช. ที่ช่วยชาติไป แต่ก็ยังไม่พอ มันมีงานกำกับดูแลที่ยังทำได้ไม่ดี หลายคนก็อาจจะมองว่าไม่คุ้มค่ากับค่าจ้างที่แพง แม้จะทำงานจัดสรรคลื่นให้เกิดขึ้น เอาเงินเข้าหลวง แต่นั่นก็เป็นงานตามหน้าที่อยู่แล้ว และนอกจากเงินส่วนนั้นที่เอาเข้าคลัง กสทช. ก็มีรายได้จากค่าธรรมเนียมทางตรง ถ้าจะแก้ตรงนี้ก็อาจจะต้องไปแก้ที่กฎหมาย กสทช. ให้ลดสัดส่วนลงจากสองให้เหลือหนึ่งกว่าหรือหนึ่ง หรือกำหนดเพดานขั้นต่ำเหมือนไทยพีบีเอสไปเลยว่าไม่ให้เกินสามหรือสี่พันล้านจากการคำนวณ เพราะมันจะมีแต่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนใช้มือถือมากขึ้น ค่ายมือถือก็รวยขึ้นก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ กสทช. มากขึ้น ซึ่งอันนี้ตอนออกแบบกฎหมายก็ไม่คิดว่าจะเป็นจุดโหว่ คนคิดกฎหมายก็คิดในแง่ดีและหวังกับ กสทช. มาก ตัวเอง (สุภิญญา) ก็มีส่วนผลักดันกฎหมายและมีความหวังกับ กสทช. มากว่าจะต้องเป็นองค์กรอิสระ ทำงานเหมือนที่ต่างประเทศเป็น" "สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กสทช. ยุคนั้นก็เกรงใจในฐานะรัฐบาลเหมือนกันแต่คงไม่มากเท่าทุกวันนี้ เพราะอันนี้อยู่นาน 4 ปี และอำนาจ ม.44 อำนาจรัฐประหารมันมากกว่า กสทช. จึงมีแนวโน้มเอียงไปหาผู้มีอำนาจเยอะกว่า ในสมัยยิ่งลักษณ์ กสทช. ก็มีแนวเกรงอกเกรงใจเหมือนกัน มีการไปเซ็นเซอร์ละครเรื่องเหนือเมฆ 2 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนั้นเหมือนกัน คนก็เริ่มจับสังเกตแต่แรกแล้วว่ามีการเกรงใจรัฐบาล แต่มันมาเห็นชัดขึ้นมากในรัฐบาลนี้ คือไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกันชนระหว่างสื่อกับรัฐบาล แต่เป็นแขนขาหนึ่งของรัฐบาล ทำงานเหมือนสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราก็มีสำนักนายกฯ อยู่แล้ว เรามีกรมประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว ถ้า กสทช. ยังทำงานเหมือนกรมประชาสัมพันธ์หรือสำนักนายกฯ อีกมันใช่เหรอ อันนี้ควรเป็นสิ่งที่คนควรจะตั้งคำถาม" อดีตกรรมการ กสทช. ชวนตั้งคำถาม ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘รัฐกับศาสนา ศีลธรรม อำนาจ และอิสรภาพ’ ปลดปล่อยและคืนความเป็นมนุษย์ให้พุทธศาสนา Posted: 05 Jun 2018 10:44 PM PDT เป็นเรื่องยากเย็นเอาการถ้าจะให้จินตนาการความเป็นไทยกับความเป็นพุทธออกจากกัน หนังสือ 'รัฐกับศาสนา ศีลธรรม อำนาจ และอิสรภาพ' ของสุรพศ ทวีศักดิ์ เป็นการรวบรวมบทความซึ่งส่วนใหญ่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท แม้จะไม่ได้มุ่งให้คำตอบกระบวนการหลอมรวม 2 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน แต่ก็ให้ภาพร่างของคำตอบไว้ประมาณหนึ่ง และมันสร้างผลกระทบมากมายมาจนปัจจุบัน พุทธทาส ศีลธรรมแบบไทยๆ ความหวาดกลัวอิสลาม พระสงฆ์กับการความขัดแย้งทางการเมือง กรณีธรรมกาย การแยกศาสนาออกจากรัฐ ถูกรวบรวมมากล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้อย่างรอบด้าน ชาวพุทธไทยจำนวนหนึ่งอาจอ่านด้วยความรู้สึกขุ่นเคือง ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องปกติที่สุรพศเผชิญมาอย่างต่อเนื่องจากการชี้ประเด็น แลกเปลี่ยน และถกเถียงกับสาธารณะ "ต้นเหตุของการ 'ลดทอน' (มิติด้านอารมณ์ความรู้สึก ความหลากหลายในการศึกษาตีความและอื่นๆ) คือการสถาปนา "พุทธศาสนาของรัฐ ซึ่งรวมศูนย์อำนาจปกครอง การจัดการศึกษา การตีความคำสอนและอื่นๆ ภายใต้ "คณะสงฆ์ของรัฐ" ซึ่งทำให้พุทธศาสนาของรัฐมีวัฒนธรรมอำนาจนิยม และเป็นเครื่องมือสร้าง "อำนาจชอบธรรม" (legitimacy) และ "อำนาจครอบงำ" (domination) ของรัฐมายาวนาน นี่ต่างหากคือ "ปัญหาระดับรากฐาน" จริงๆ ที่จำเป็นต้องช่วยกันคิดหาทางแก้ไขกันต่อไป" (จากเรื่อง ความ (ไม่) เป็น "พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม) จุดที่น่าสนใจประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนอาศัยมุมมองภายในพุทธศาสนาเองและมุมมองภายนอกจากปรัชญาตะวันตก ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เพื่อมองพุทธศาสนาไทยอย่างวิพากษ์ มิใช่การยกยอปอปั้นเช่นที่มักเห็นเป็นส่วนใหญ่
การแยกศาสนาออกจากรัฐ เป็นอีกประเด็นที่กล่าวได้ว่าสุรพศเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเรื่องนี้อยู่หลายบทความ (ถ้าต้องการทำความเข้าใจการแยกศาสนาออกจากรัฐแบบเข้มข้น แนะนำให้อ่านอีกเล่มของผู้เขียน 'จากพุทธศาสนาแห่งรัฐ สู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ') สุรพศชี้ให้เห็นว่า การพัวพันกันระหว่างอำนาจรัฐกับศาสนา สร้างความเสียหายต่อศาสนาพุทธอย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น มันยังกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เฆี่ยนตีความสัมพันธ์ระหว่างศาสนิก และศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการโฆษณาชวนเชื่อของฟากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ข่าวการจับกุมพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่และพระที่มีชื่อเสียงในช่วงที่ผ่านมา หากนำเนื้อหาที่สุรพศต้องการสื่อจับกับเหตุการณ์นี้ จะพบว่าแรงกระเพื่อมในมิติต่างๆ ไม่ว่าการเมืองในวงการสงฆ์ ความมัวหมองต่อพุทธศาสนา การคอร์รัปชั่น เป็นต้น ล้วนผูกโยงไปสู่รากเหง้าที่ว่าศาสนาพุทธเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจรัฐ หากรัฐและศาสนาแยกจากกัน ผลกระทบจากเหตุการณ์และสิ่งที่ต่อเนื่องมาน่าจะเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่ง แน่นอนว่ามุมมองของสุรพศต่อพุทธศาสนาในสังคมไทยมิใช่สิ่งที่ถูกต้องสมบูรณ์ชนิดที่หาข้อโต้เถียงไม่ได้ แต่เพราะต้องการการโต้เถียงนี่เอง การนำเสนอความคิดออกสู่สาธารณะจึงจำเป็น ท่ามกลางการถูกปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกจากอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้ที่พยายามปฏิรูปประเทศ...และศาสนาพุทธ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยิ่งเป็นการดึงศาสนาพุทธให้เป็นฐานค้ำยันพลังอนุรักษ์นิยมมากยิ่งขึ้น การปฏิรูปพุทธศาสนาภายใต้สภาวการณ์นี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ มองอย่างผิวเผินอาจรู้สึกว่าผู้เขียนวางตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพุทธศาสนา เนื้อหาบางส่วนดุดัน ตรงไปตรงมา และวิพากษ์อย่างถึงรากถึงโคน แต่ก็ไม่ใช่ท่าทีของศัตรู ตรงกันข้าม สุรพศวิพากษ์พุทธศาสนาแบบไทยเพื่อต้องการให้ศาสนาพุทธในสังคมไทยได้รับการปลดปล่อย ปลดปล่อยจากอะไร? ปลดปล่อยจากอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ปลดปล่อยจากการเป็นพุทธศาสนาของรัฐที่คอยค้ำจุนอำนาจชนชั้นนำ ปลดปล่อยคำสอนจากการผูกขาดการตีความของมหาเถระสมาคม ปลดปล่อยสังฆะออกจากการเป็นข้าราชการของรัฐและธรรมวินัยที่แข็งกระด้าง ปลดปล่อยศาสนิกจากมายาคติที่ครอบงำ และปลดปล่อยเสรีภาพในการนับถือหรือไม่นับถือศาสนาให้เป็นอำนาจตัดสินใจของปัจเจกอย่างแท้จริง และทำให้ศาสนาพุทธมีความเป็นมนุษย์มากกว่าที่เป็นอยู่
หมายเหตุ: ติดต่อสั่งซื้อหนังสือ "รัฐกับศาสนา: ศีลธรรม อำนาจ และอิสรภาพ" ได้ที่ https://shop.prachataistore.net/product/book-state-religion/
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ใจ อึ๊งภากรณ์:พรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถก้าวพ้นรูปแบบพรรคเดิมๆ Posted: 05 Jun 2018 10:27 PM PDT มันเป็นเรื่องน่าผิดหวังที่พรรคอนาคตใหม่ดูเหมือนยังไม่สามารถก้าวพ้นรูปแบบพรรคเดิมๆ ของไทย เพราะพรรคกระแสหลักเดิมๆ มักจะมีนายทุนหรือทหารเป็นแกนนำ และมีนายทหารเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกด้วย ในการประชุมพรรคที่พึ่งจัดเมื่อไม่นานมานี้ นายทุนใหญ่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งไม่น่าแปลกใจ กรรมการพรรคส่วนหนึ่งเป็นนักวิชาการ มีนักธุรกิจสองคนนอกจากธนาธร และมีนักเอ็นจีโอ รวมถึงนักเอ็นจีโอแรงงาน แต่ไม่มีผู้แทนจริงๆ จากสมาชิกสหภาพแรงงานหรือจากเกษตรกรรายย่อยเข้ามาเป็นกรรมการเลย แน่นอนหลายคนในกรรมการบริหารมีจุดยืนชัดเจนที่คัดค้านเผด็จการทหารชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องดี และถ้าฉีกรัฐธรรมนูญทหารทิ้งได้ก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน แต่คงทำได้ยากถ้าไม่สร้างมวลชนนอกรัฐสภา สิ่งหนึ่งที่น่าตกใจคือรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เป็นนายทหารเกษียณ พลโท พงศกร รอดชมภู เป็นอดีตรองเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ และในเดือนมีนาคม 2559 เขาเคยเขียนบทความลงสื่อเกี่ยวกับปาตานี เขาเสนอว่าการแก้ไขปัญหาควรใช้การเมืองนำทหาร "แต่นั้นไม่ได้แปลว่าต้องยอมหรือขอเจรจา" คือต้องช่วงชิงประชาชนในพื้นที่ให้กลับมาอยู่กับฝ่ายรัฐไทย โดยการเลิกการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเปลี่ยนมาปราบฝ่ายตรงข้ามแบบนิ่มนวลมากกว่านี้ พลโท พงศกร ไม่มีการพูดถึงการให้สิทธิประชาชนในพื้นปาตานีที่จะกำหนดอนาคตว่าจะปกครองตนเองแบบไหนคือ แยกตัวออกจากประเทศไทย หรือมีเขตปกครองพิเศษ หรืออยู่แบบเดิม และไม่มีการพูดถึงต้นกำเนิดปัญหาซึ่งมาจากการที่รัฐไทยยึดพื้นที่ปาตานีมาเป็นอาณานิคม โดยไม่เคารพวัฒนธรรมของชาวมาเลย์มุสลิม นอกจากนี้ พลโท พงศกร ไม่มีการพูดถึงการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เข่นฆ่าประชาชน มีแต่การพูดถึงการลงโทษฝ่ายตรงข้าม [ดู https://www.matichon.co.th/columnists/news_78135 ] การมีนายทหารที่เป็นอดีตฝ่ายความมั่นคงเป็นรองประธานพรรค จะทำให้พรรคให้ความสำคัญกับ "ความมั่นคง" เหนือสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยหรือไม่? เพราะการเน้นความมั่นคงเป็นนโยบายอนุรักษ์นิยมของรัฐบาลไทยทุกชุด โดยเฉพาะเผด็จการ ในแง่หนึ่งตัวบุคคลที่เป็นแกนนำพรรคอาจแค่ชวนให้เราเดาว่านโยบายพรรคจะเป็นอย่างไร เรื่องชี้ขาดจะอยู่ที่นโยบายที่ประกาศออกมาเป็นรูปธรรม ถ้าไม่มีการเสนอรัฐสวัสดิการแบบครบวงจร ถ้วนหน้า และมาจากการเก็บภาษีก้าวหน้าในระดับสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน ถ้าไม่เสนอให้ยกเลิก 112 ถ้าไม่เสนอให้สตรีมีสิทธิทำแท้งเสรี ถ้าไม่เสนอให้ชาวปาตานีสามารถกำหนดอนาคตตนเองโดยไม่ต้องพิจารณาความมั่นคงของชาติ และถ้าไม่เสนอให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามคำเรียกร้องของสหภาพแรงงาน และร่างกฏหมายแรงงานสัมพันธ์ใหม่เพื่อให้สหภาพแรงงานมีสิทธินัดหยุดงานและเคลื่อนไหวอย่างเสรี…. พรรคอนาคตใหม่ก็จะไม่ก้าวหน้าอย่างที่บางคนชอบอ้าง มีเรื่องเดียวที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ในขณะนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าพรรคอื่นๆ ยังไม่พูดถึงอย่างชัดเจน นั้นคือการประกาศว่าต้องการลบผลพวงของเผด็จการ สรุปแล้วหน้าตาพรรคอนาคตใหม่ดูเหมือนเป็นพรรคคนชั้นกลาง สำหรับคนชั้นกลาง ไม่ใช่พรรคของคนชั้นล่างรากหญ้าแต่อย่างใด แต่ต้องยอมรับว่าคนของพรรคอนาคตใหม่ นอกจาก อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่พูดอะไรมากมายที่ไม่เป็นรูปธรรม ไม่เคยประกาศว่าจะสร้างพรรคของคนชั้นล่าง หรือพรรคของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นกรรมาชีพและเกษตรกร และดูเหมือนพรรคจะเน้นการส่งเสริมกลไกตลาดเสรีที่ขัดกับผลประโยชน์คนจนอีกด้วย
ที่มา: Turnleft-Thailand turnleftthai.wordpress.com/2018/06/03
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กสม. มีมติไม่รับคำร้อง บุกจับอดีตพระพุทธอิสระ Posted: 05 Jun 2018 10:12 PM PDT กสม. มีมติไม่รับคำร้องกรณีบุกจับอดีตพระพุทธอิสระ เหตุเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไปพบกับนายสุวิทย์ในเรือนจำแล้ว ปรากฏว่าสุวิทย์ซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ประสงค์ให้ กสม. ตรวจสอบ 6 มิ.ย.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ตามที่มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ (คอมมานโด) กองบังคับการปราบปราม บุกเข้าจับกุมนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระสุวิทย์ ธีรธัมโม (พระพุทธอิสระ) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน 2561 พนักงานเจ้าหน้าที่ของ กสม. ได้เข้าพบนายสุวิทย์เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ซึ่งนายสุวิทย์ได้แจ้งความประสงค์ขอสงวนสิทธิในการร้องเรียนและไม่ยินยอมให้ผู้ใดนำเอาประเด็นดังกล่าวไปร้องเรียน วันนี้ในคราวประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครอง กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้วจึงมีมติไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคำร้องเพื่อพิจารณา เนื่องจากนายสุวิทย์ ซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ประสงค์ให้ กสม. ตรวจสอบ ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 39(7) ประกอบระเบียบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2561ข้อ 17 วรรคสอง (4) ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จีน: สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ บุก EEC Posted: 05 Jun 2018 09:07 PM PDT
คำว่า "สัตว์เศรษฐกิจ" นั้น ในสมัยก่อน ญี่ปุ่นนับได้ว่าเป็น "สัตว์เศรษฐกิจ" ตัวสำคัญของโลก เพราะ (มีการกล่าวหาถึง) การเอาเปรียบคู่ค้า เช่น ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ มีการประท้วงสินค้าญี่ปุ่นกันอย่างออกหน้าออกตา เช่น ที่ห้างไดมารู ราชดำริ มีกลุ่มนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ในสมัยปี 2515 ยืนและนั่งประท้วงอยู่หน้าห้างสรรพสินค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นห้างแห่งแรกที่มีบันไดเลื่อนในประเทศไทย ในขณะนั้นจีนแผ่นดินใหญ่ยังกำลังกระเสือกกระสนกับการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ แถมยังถูก "ทอดทิ้ง" โดยสหภาพโซเวียต จนกระทั่งต้องออกนโยบายระหว่างประเทศใหม่ด้วยการผูกสัมพันธ์กับตะวันตกด้วยอาศัย "การทูตปิงปอง" หรือ Ping-pong diplomacy คือการแข่งขันเทเบิลเทนนิส หรือปิงปอง ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2513 เพื่อปูทางไปสู่การเยือนประเทศจีนของนิกสัน แต่ในปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าญี่ปุ่นถึงราว 4 เท่าแล้ว อิทธิพลของจีน สินค้าของจีนก็กระจายไปทั่วโลก จีนไปลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะกรณีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางรถไฟ (ความเร็วสูง) จีนบุกเบิกไปทำทั่วโลก และเป้าหมายสำคัญอันหนึ่งของจีนก็คือการเข้ามาพัฒนาทางรถไฟจากยูนาน เชื่อมต่อไปยังสิงคโปร์ ผ่านประเทศไทย เมื่อ 2 ปีก่อนมีข่าว "จีนแผลงฤทธิ์ผลศึกษาร่วมลงทุนรถไฟไทย บีบนำเข้าวัสดุ-ขอค่าแรงขั้นต่ำวันละ 800 - งบบานเกิน 5 แสนล้าน" . . .มังกรแผลงฤทธิ์! เปิดผลศึกษารถไฟไทย-จีน ระยะทาง 873 กม. เม็ดเงินพุ่งทะลุ 5.3 แสนล้านบาท ตะลึงคิดค่าแรงขั้นต่ำ 800บาท/วันสูงกว่าไทยเท่าตัว ล็อกสเป็กเหล็กบางตัวต้องนำเข้าจากจีน "อาคม" สั่ง ร.ฟ.ท. เอกซเรย์รายการก่อสร้างละเอียดยิบ" ในการทำงานจริงในอนาคตของโครงการรถไฟ หากมีข่าวคราวการ "เอาเปรียบ" ไทย ก็จะทำให้ภาพพจน์ของจีนเสียหายแนวเดียวกับ "สัตว์เศรษฐกิจ" แบบญี่ปุ่น หรือ "จักรวรรดินิยม" แบบสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในความเป็นจริง จีนอาจไม่ได้มุ่งเอาเปรียบก็ได้ ซึ่งถ้าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ก็ควรมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี หาไม่ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของจีนเอง เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับนักลงทุนญี่ปุ่นในอดีตนั่นเอง ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ปรากฏว่าจีนไม่ได้มาเพียงลงทุน แต่มาตั้งบริษัทนายหน้ากันมากมายอีกด้วย "จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคล ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (พฤศจิกายน 2560-เมษายน 2561) พบว่า ในพื้นที่ จ.ชลบุรี มีผู้ประกอบการจดทะเบียนบริษัท โดยมีวัตุประสงค์เพื่อเป็นหน้านาย ตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (68102) กว่า 500 บริษัท หรือเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 80 บริษัท. . .นักธุรกิจชาวจีน และญี่ปุ่น ที่จดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายอสังหาฯเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก. . .ปัจจุบัน. . .บริษัทของคนจีนนั้นคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 80-100 บริษัท. . ." ถ้า พ.ร.บ. "ขายชาติ" หรือ "ร่าง พระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ...." ออกใช้ ไทยจะถูกจีนครอบงำเป็นเสมือน "มณฑล" หนึ่ง และ EEC จะเป็นเสมือน "จังหวัด" หนึ่งของจีนอย่างไร 1. จีนจะเข้ามาทำธุรกิจในอุตสาหกรรมการบริการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจัดประชุม หรืออุตสาหกรรมอื่นใดได้ด้วยตามมาตรา 39 ของร่าง พ.ร.บ.นี้ นี่เท่ากับให้ต่างชาติมา "ฆ่า" อุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะใช่หรือไม่ นี่แสดงว่ารัฐจะกำหนดอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีก ต่อไปจีนคงเป็นเจ้าของสวนทุเรียน ไม่ใช่เฉพาะมาเป็น "ล้ง" จีน จีนและต่างชาติอื่นจะพาเหรดกันมายึดประเทศไทยแล้ว 2. จะเกิดเขตเช่าต่างชาติ เพราะตามมาตรา 48 ต่างชาติสามารถมีสิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ มีสิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร มีสิทธิในการที่จะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร มีสิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน และอื่นๆ อย่างนี้จีนและต่างชาติได้เปรียบทุนไทยเห็นๆ 3. เช่าที่ 99 ปีหรือ 100 ปีได้โดยไม่ต้องรอให้หมดอายุสัญญา เพราะมาตรา 49 ระบุว่า "ไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือภายใต้การจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด แล้วแต่กรณี. . ." 4. คนจีนได้เปรียบคนไทย เช่น ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานได้มาตามมาตรา 35 ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งปวง (มาตรา 36) 5. เอาเปรียบนักธุรกิจไทยอย่างชัดเจนเพราะมาตรา 50 ระบุว่า "ให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลดังกล่าว รวมทั้งคู่สมรสและบุพการีและบุตรที่เข้าอยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีและสิทธิอื่นเป็นกรณีพิเศษก็ได้และในกรณีที่เป็นคนต่างด้าว ให้ได้รับสิทธิพิเศษเกี่ยวกับการเข้าเมืองด้วยก็ได้. . ." นี่เป็นการตั้งอาณานิคมชัดๆ 6. มาทำตัวเป็น "แร้งลง" เพราะมาตรา 52 ระบุว่าสามารถ "เช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ" คือถ้าพวกจีนหรือต่างชาติใดทำธุรกิจแล้วเจ๊ง ก็เซ้งต่อที่ดินทำกำไรได้ ในขณะที่คนไทย ได้ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 มา ถ้าเลิกทำเกษตรกรรมแล้ว ต้องคืนหลวงเพื่อนำไปให้เกษตรกรอื่นใช้ (ซึ่งถูกต้องแล้ว) แต่กรณี EEC นี่เราให้พวกเขามาทำกำไรได้อีกต่างหาก ลองนึกถึงสถานทูตอังกฤษที่ซื้อที่มาราวตารางวาละ 4 บาท แล้วปี 2561 กลับสามารถขายได้ในราคาตารางวาละ 2 ล้านบาท ดูว่าพวกเขาทำกำไรขนาดไหน 7. ต่างชาติสามารถใช้เงินตราสกุลของเขาเองได้ ต่อไปคงเอาไปซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ ไทยคงเหมือนกัมพูชาที่เดี๋ยวนี้ใช้แต่เงินดอลลาร์ กลายเป็นประเทศราชทางการเงินของมหาอำนาจ ทั้งนี้ดูได้ตามมาตรา 57 8. ที่สำคัญที่สุด ก็คือ เราถูกหลอกให้เข้าใจว่า EEC คือแค่ 3 จังหวัด แต่ตามมาตรา 6 ระบุว่า "ให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยองและพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก. . ." คือพอได้ 3 จังหวัดนี้แล้ว ต่อไปจีนก็บุกอีก 4 จังหวัด รวม 7 จังหวัด และต่อไปอาจขยายไปทั่วประเทศ ไทยจึงจะกลายเป็น "มณฑล" หนึ่งของจีนไปหรือไม่ นี่ใช่การขายชาติให้จีนและมหาอำนาจอื่นหรือเปล่า ชาติอื่น เช่น สิงคโปร์ แค่ต่างชาติมาซื้อห้องชุดยังต้องเสียภาษีซื้อ 15% ฮ่องกง 30% แต่ไทยเราจะไม่เก็บค่าธรรมเนียม แถมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ร่างกันอยู่ก็ต่ำจนแทบไม่ต้องเสีย อย่างนี้เราเสีย "สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" ไหม นอกจากเรายกแผ่นดินให้ต่างชาติแล้ว ยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอน ที่แม้แต่คนไทยก็ต้องเสีย ไทยไม่ได้โดดเดี่ยวเพราะจีนบุกไป "ย่ำยี" แบบนี้ไปทั่วโลก สงสัยว่าผู้นำจีนคงลืมอุดมการณ์สังคมนิยมที่มุ่งสร้างความเท่าเทียมในหมู่ชน แต่กลับพาจีนให้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่แบบ "ด้านได้อายอด" ไปแล้วหรือไม่ แต่ถ้าจีนต้องการอยู่รอดในสังคมโลกจริงๆ โดยไม่ถูกสาปแช่งไปทั่วสารทิศ จีนต้องสร้างนโยบายแบบ Win Win ต่อทุกฝ่าย เติบโตไปด้วยกัน ไม่ใช่ไปครอบงำชาติอื่นแบบอภิมหาอำนาจอื่นๆ ที่เคยมีบทเรียนมาแล้ว การสร้างและดูแลภาพลักษณ์หรือแบรนด์ของจีนจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กวีประชาไท: สิ่งปรารถนาในความไม่ปรารถนา Posted: 05 Jun 2018 08:47 PM PDT
ผมมีความรักมามอบให้คุณ บรรจุอยู่ในกระสุนหนึ่งนัด ผมมีความโรแมนติกมามอบให้คุณ บรรจุอยู่ในกระสุนหนึ่งนัด ผมมีรอยยิ้มมามอบให้คุณ บรรจุอยู่ในกระสุนหนึ่งนัด ผมมีความสุขมามอบให้คุณ บรรจุอยู่ในกระสุนหนึ่งนัด ผมมีอนาคตมามอบให้คุณ บรรจุอยู่ในกระสุนหนึ่งนัด ผมมีความหมายของชีวิตมามอบให้คุณ บรรจุอยู่ในกระสุนหนึ่งนัด ผมมีความอดอยากมามอบให้คุณ บรรจุอยู่ในกระสุนหนึ่งนัด ผมมีวันและคืนมามอบให้คุณ บรรจุอยู่ในกระสุนหนึ่งนัด ผมมีดวงจันทร์และตะวันมามอบให้คุณ บรรจุอยู่ในกระสุนหนึ่งนัด ผมมีความเที่ยงธรรมมามอบให้คุณ บรรจุอยู่ในกระสุนหนึ่งนัด ผมมีอำนาจมามอบให้คุณ บรรจุอยู่ในกระสุนหนึ่งนัด ผมมีหยดน้ำตามามอบให้คุณ บรรจุอยู่ในกระสุนหนึ่งนัด ผมมีชีวิตมามอบให้คุณ บรรจุอยู่ในกระสุนหนึ่งนัด ผมมีสิ่งที่คุณปรารถนามามอบให้คุณ กระสุนหนึ่งนัดจะนำพาคุณไปพบมัน
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น