โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

แอมเนสตี้เปิดชื่อนายทหารพม่าเอี่ยวโจมตีชาวโรฮิงญา-เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

Posted: 28 Jun 2018 12:00 PM PDT

แอมเนสตี้เปิดรายงานล่าสุด พบนายทหารกองทัพพม่ารวมทั้ง ผบ.สส. พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการโจมตีชาวโรฮิงญา จนทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพมากกว่า 7 แสนคน พร้อมให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับโครงสร้างการบังคับบัญชา และการตรึงกำลังพลของกองทัพพม่า รวมทั้งการจับกุม การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการทรมานผู้ชายและเด็กผู้ชายชาวโรฮิงญา ที่เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ก่อนที่วิกฤตผู้อพยพชาวโรฮิงญารอบล่าสุด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวางและน่าเชื่อถือ เพื่อเอาผิดกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่าและบุคคลอีก 12 คนในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ระหว่างการล้างเผ่าพันธุ์ประชากรชาวโรฮิงญาในตอนเหนือของรัฐยะไข่

รายงานนี้มีชื่อว่า "เราจะทำลายทุกอย่าง": ความรับผิดชอบของกองทัพต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในรัฐยะไข่, พม่า (We Will Destroy Everything": Military Responsibility for Crime Against Humanity in Rakhine State, Myanmar) เรียกร้องให้มีการยื่นกรณีที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือพม่า ไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพื่อการสอบสวนและดำเนินคดี [อ่านรายงานฉบับภาษาอังกฤษ]

แมทธิว เวลส์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านวิกฤตแห่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งการสังหารบุคคล การข่มขืนกระทำชำเรา การทรมาน การเผาและบังคับให้ต้องอดอาหาร ที่เป็นการกระทำของกองกำลังความมั่นคงของพม่าในหมู่บ้านต่างๆ ตลอดทั่วตอนเหนือของรัฐยะไข่ ไม่ได้เป็นแค่การกระทำของทหารหรือหน่วยทหารที่ประพฤติมิชอบเพียงบางส่วน หากมีพยานหลักฐานจำนวนมากที่ยืนยันว่าการกระทำเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่วางไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อโจมตีทำร้ายประชากรชาวโรฮิงญา

"คนที่มือเปื้อนเลือดทุกลำดับชั้นของสายการบังคับบัญชา จนถึงพลเอกอาวุโสมินอ่องลาย ต้องรับผิดชอบจากบทบาทของตน ในการบังคับบัญชาและมีส่วนก่อให้เกิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่น ๆ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ"

ในรายงานฉบับนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังระบุชื่อเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาเก้านายของผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพพม่า และชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพิทักษ์ชายแดนสามนาย ซึ่งมีบทบาทในปฏิบัติการล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้

ผลจากการวิจัยอย่างเข้มข้นเป็นเวลาเก้าเดือน ทั้งในพม่าและบังคลาเทศ รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฉบับนี้ นับเป็นเอกสารที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากสุด ให้รายละเอียดว่ากองทัพพม่าได้ใช้กำลังบังคับผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กกว่า 702,000 คน หรือกว่า 80% ของประชากรชาวโรฮิงญาในตอนเหนือของรัฐยะไข่ ให้ต้องหลบหนีไปยังบังคลาเทศนับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งนี้

รายงานฉบับนี้ยังให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับโครงสร้างการบังคับบัญชา และการตรึงกำลังพลของกองทัพพม่า รวมทั้งการจับกุม การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการทรมานผู้ชายและเด็กผู้ชายชาวโรฮิงญาเป็นเวลาหลายสัปดาห์โดยกองกำลังความมั่นคง ซึ่งเกิดขึ้นหลายสัปดาห์ก่อนวิกฤตครั้งนี้จะเริ่มต้นขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เยี่ยมชมรัฐสภา จาก 2475 ถึงปัจจุบัน (และอนาคต)

Posted: 28 Jun 2018 08:24 AM PDT

ในโอกาสครบรอบ 86 ปี การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2475 ขอพาคุณผู้อ่านย้อนเวลา-เยี่ยมชมอาคารซึ่งใช้เป็นที่ทำการรัฐสภา 3 แห่ง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน (และอนาคต) ประกอบด้วย พระที่นั่งอนันตสมาคม (2475-2517) อาคารรัฐสภา (2517-ปัจจุบัน) และสัปปายะสภาสถาน ซึ่งหากไม่เลื่อนอีก คาดว่าจะแล้วเสร็จธันวาคมปี 2562

วันนี้เมื่อ 86 ปีที่แล้วหรือเมื่อ 28 มิถุนายน 2475 ถือเป็นวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันแรก

โดยภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475" เมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 "โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น" "และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร" [อ่านเพิ่มเติม]

และต่อมาในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรอันประกอบด้วย สมาชิกซึ่งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ตั้งขึ้น จำนวน 70 นาย ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และมีการเลือกฝ่ายบริหารคือ "คณะกรรมการราษฎร" หรือคณะรัฐมนตรีชุดแรก 14 คน โดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร เทียบได้กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน

ในโอกาสครบรอบ 86 ปีของสภาผู้แทนราษฎร จึงขอพาท่านผู้อ่านเยี่ยมชมสถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ทำการรัฐสภาตลอดยุคการเมืองไทยสมัยใหม่ จากอดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต

 

พระที่นั่งอนันตสมาคม (.. 2475-2517)

ใช้เป็นรัฐสภาตั้งแต่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 - 2517

หลัง พ.ศ. 2517 ยังคงใช้เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา

ปัจจุบันปิดปรับปรุงแบบไม่มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560

ก่อสร้าง 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2458

งบประมาณก่อสร้าง 15 ล้านบาท หรือ 21.43% ของงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ. 2458 (69,991,604 บาท)

การเดินทาง: รถเมล์สาย 70 (ถ.อู่ทองใน), 72, 503 (ถ.ศรีอยุธยา)

รถไฟฟ้า BTS สถานีพญาไท (ห่างออกไป 3.12 กม.)

เส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคต

MRT สายสีม่วง สถานีสามเสน (ห่างออกไป 1.18 กม.)

MRT สายสีม่วง สถานีหอสมุดแห่งชาติ (ห่างออกไป 1.15 กม.)

 

พระที่นั่งองค์นี้นับได้ว่า เป็นรัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย โดยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ต่อมาหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ในวันถัดมาคือวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้แต่งตั้งผู้แทนราษฎร 70 คน และมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและประชุมกันเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และเมื่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศได้สำเร็จลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้สภาผู้แทนราษฎรประชุมกันที่พระที่นั่งนี้ได้ต่อไป

พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นรัฐสภา โดยเฉพาะการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และในบางยุคที่มี 2 สภา คือมีพฤฒสภาหรือวุฒิสภา ก็จะใช้พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ภายในพระราชวังดุสิตเป็นที่ประชุมพฤฒสภา

กระทั่งเมื่อสมาชิกรัฐสภาเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และต้องมีที่ทำการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา จึงมีการวางโครงการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แต่โครงการทั้ง 3 ครั้งก็ไม่สำเร็จ เพราะคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเสียก่อน จนกระทั่งมาสำเร็จในครั้งที่ 4 เริ่มก่อสร้างสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร โดยเริ่มก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 โดยอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เปิดใช้ประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517

พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ภายในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย)

ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมยังคงใช้ในทางรัฐพิธีเกี่ยวกับรัฐสภา เช่น รัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และเคยมีการใช้ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ก่อนที่ในปี 2541 จะย้ายไปจัดแสดงที่ห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์รัฐสภา อาคารรัฐสภา

ทั้งนี้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี สำคัญๆ มากมาย อาทิ รัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยล่าสุดคือพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

และยังเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ และการเสด็จออกมหาสมาคมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอีก 4 ครั้ง

อาคารที่ถูกใช้เป็นที่ทำการรัฐสภาแห่งแรกคือพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยตัวพระที่นั่งเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2451 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2458 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมใช้เวลาสร้างทั้งหมด 8 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อพระที่นั่งว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งภายในพระอภิเนาว์นิเวศน์ พระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระอภิเนาว์นิเวศน์นี้ต่อมามีสภาพทรุดโทรมยากแก่การบูรณะจึงได้รื้อลง

พระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อมองจากภายนอก ภาพถ่ายเมื่อ 3 กันยายน 2017
ที่มา: Midhun Subhash/Wikipedia (CC0)

การประชุมรัฐสภา สมัยรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
ภาพถ่ายราว พ.ศ. 2480 ที่มา: รัฐสภาไทย/
Wikipedia (Public Domain)

ข้อมูลด้านสถาปัตยกรรม

ผู้ออกแบบ

หัวหน้าสถาปนิกคือ มาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) มีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง และมีพระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ อมาตยกุล) เป็นผู้ช่วย วิศวกรคือ ซี อัลเลกรี นอกจากนี้ยังมีเอกฤทธิ์ หมั่นเฟ้นดี (Ercole Manfredi) สถาปนิกชาวอิตาลี สังกัดกระทรวงโยธาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบติดตั้งแผ่นทองแดงหลังคาโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยคุมการก่อสร้างหลังคาโดมจนแล้วเสร็จ

โดยตามาญโญ ผู้มีผลงานออกแบบอาคารสถานีรถไฟหัวลำโพง พระที่นั่งอัมพรสถาน บ้านนรสิงห์ (ทำเนียบรัฐบาล) บ้านพิษณุโลก วังบางขุนพรหม (ที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย) ฯลฯ

ลักษณะสถาปัตยกรรม

พระที่นั่งอนันตสมาคม มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรอเนสซองส์ (Neo Renaissance) และนีโอคลาสสิก (Neo classic) ตกแต่งพระที่นั่งด้วยหินอ่อน ซึ่งสั่งมาจากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี โดยมีจุดเด่น คือมีหลังคาโดมคลาสสิกของโรมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆ โดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม โดยโดมทั้งหมดทำขึ้นจากทองแดง ต่อมาเกิดสนิมสีเขียวขึ้นตามกาลเวลา ขนาดขององค์พระที่นั่งฯ ส่วนกว้างประมาณได้ 49.50 เมตร ยาว 112.50 เมตร และสูง 49.50 เมตร

ลักษณะของโดมมีอิทธิพลมาจากโดม วิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

บนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโก เขียนบนปูนเปียก เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ของรัชกาลที่ 1-6 จำนวน 6 ภาพ โดยฝีมือเขียนภาพของกาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) และผู้ช่วยคือ คาร์โล ริโกลี (Carlo Riguli) และโจวันนิ สะกวันซิ (Giovanni Sguanci)

ว่ากันว่าศิลปินผู้มีชื่ออย่าง "เหม เวชกร" ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นเด็กชายเหมอายุราว 11-12 ปี มีโอกาสใกล้ชิดกับจิตรกรเหล่านี้ด้วย เนื่องจากพ่อแม่หย่าร้างกันทำให้เขาอยู่กับลุงผู้อุปการะเป็นเวลาสั้นๆ คือ ม.ร.ว.แดง ทินกร โดย ม.ร.ว.แดงทำงานกับเจ้าพระยายมราช ผู้กำกับดูแลการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และ ม.ร.ว.แดง ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลจิตรกรชาวอิตาลี

และก็ด้วยคาร์โล ริโกลี เห็นฝีมือวาดภาพของเด็กชายเหม ที่เขียนสีชอล์กจนเปรอะสะพานท่าน้ำ จึงชักชวนและขออนุญาตจาก ม.ร.ว. แดง ให้เหมไปอยู่เป็นลูกมือบดสี ส่งพู่กัน ในงานเขียนภาพจิตรกรรมบนเพดานโดม ของพระที่นั่งอนันตสมาคม อย่างไรก็ตามเหมไม่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่อิตาลี เนื่องจากพ่อของเด็กชายเหมทราบเข้า จึงให้คนมาลักตัวเด็กชายเหมไปเสียก่อน

สำหรับภาพเขียนบนปูนเปียก บนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมมีรายละเอียดดังนี้

เพดานโดมด้านทิศเหนือ เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จกลับจากราชการทัพที่เขมร

เพดานโดมด้านทิศตะวันออก เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุปถัมภ์งานศิลปะ

เพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ แวดล้อมด้วย พระภิกษุและนักบวชต่างชาติศาสนนิกายต่างๆ แสดงนัยแห่งพระราชจรรยา ที่ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกของทุกศาสนาโดยไม่รังเกียจกีดกัน

เพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยทาน และทรงเลิกประเพณีทาส

เพดานโดมด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อ พ.ศ. 2454

เพดานโดมกลาง ซึ่งเป็นโดมใหญ่ที่สุด มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ "จปร." ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เพดานนับจากจากใต้โดมตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ "จปร." สลับกัน "วปร." อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

อ่านเพิ่มเติม

ศรันย์ ทองปาน. "ความทรงจำแห่งสยาม ของ กาลิเลโอ คินี",ใน นิตยสารสารคดี ปีที่ 17 ฉบับที่ 207 เดือน พฤษภาคม 2545 [อ่านออนไลน์]

ศรันย์ ทองปาน. "จิตรกรไร้สำนักเรียน ช่างเขียนนอกสถาบัน", ใน นิตยสารสารคดี ปีที่ 16 ฉบับที่ 188เดือนตุลาคม 2543 [อ่านออนไลน์]

พระที่นั่งอนันตสมาคม, วิกิพีเดีย [เข้าถึงข้อมูล 13 มิถุนายน 2561] [อ่านออนไลน์]

Mario Tamagno, Wikipedia [เข้าถึงข้อมูล 13 มิถุนายน 2561] [อ่านออนไลน์]

 

อาคารรัฐสภา

ใช้เป็นรัฐสภาตั้งแต่ 19 กันยายน พ.. 2517 จนถึงปัจจุบัน

ก่อสร้าง 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2517

งบประมาณก่อสร้าง 51 ล้านบาท หรือ 0.14% ของงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ. 2517 (36,000,000,000 บาท)

การเดินทาง: รถเมล์สาย 70 (ถ.อู่ทองใน) 18, 28ร, 125ร, 515 (ถ.ราชวิถี)

รถไฟฟ้า BTS สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ห่างออกไป 2.91 กม.

เส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคต

MRT สายสีม่วง สถานีสามเสน (ห่างออกไป 0.78 กม.)

 

ข้อมูลด้านสถาปัตยกรรม

สถาปนิก พล จุลเสวก

สถาปัตยกรรม โมเดิร์น

อาคารรัฐสภาและประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อาคารรัฐสภาที่ตั้งอยู่บน ถ.อู่ทองใน ตัดกับ ถ.ราชวิถีนั้น เริ่มมีการวางโครงการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ หลังจากจำนวนสมาชิกรัฐสภาเพิ่มขึ้นตามอัตราประชากรที่เพิ่มขึ้น และจำต้องมีที่ทำการของข้าราชการฝ่ายรัฐสภา จึงจำต้องสร้างอาคารรัฐสภาที่รับความต้องการดังกล่าวได้ โดยมีการวางแผนสร้างถึง 4 ครั้ง แต่สามครั้งแรกไปไม่ตลอดรอดฝั่งเพราะคณะรัฐมนตรีซึ่งริเริ่มโครงการต้องพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน ในครั้งที่สี่ เริ่มโครงการก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 มีกำหนดสร้างเสร็จภายใน 850 วัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 51,027,360 บาท ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ

หลังที่ 1 เป็นตึก 3 ชั้นใช้เป็นที่ประชุมวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของสภาทั้งสอง ส่วนอื่น ๆ เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ประธาน และรองประธานของสภาทั้งสอง

หลังที่ 2 เป็นตึก 7 ชั้น ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและโรงพิมพ์รัฐสภา

หลังที่ 3 เป็นตึก 2 ชั้นใช้เป็นสโมสรรัฐสภา

สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา ใช้ประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 สมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ สมัยที 2 ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมใช้แต่ในทางรัฐพิธีเกี่ยวกับรัฐสภา เช่น รัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภา ถ.อู่ทองใน เมื่อ 20สิงหาคม 2552
ที่มา: เว็บไซต์ The Prime Minister of Thailand/พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์/Flickr

เชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ โยนเก้าอี้ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่พอใจที่ ส.ส.รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ยอมให้อภิปรายเรื่องราคายางพารา เมื่อ 5 กันยายน พ.ศ. 2556 (ที่มา: ไทยรัฐ)

โดยอาคารรัฐสภาหลังปัจจุบันอยู่ร่วมกับการเมืองไทยสมัยใหม่หลายครั้งหลายหน โดยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม พ.ศ. 2517 สมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้เสนอญัตติคือสมัคร สุนทรเวชและคณะ เกิดขึ้นที่อาคารรัฐสภาแห่งนี้ นับเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรอบ 27 ปี หลังจากทิ้งช่วงไปตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 19-27 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 สมัยรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. ซึ่งผู้เสนอคือ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

โดยอาคารรัฐสภาปัจจุบันถูกใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจนับตั้งแต่ครั้งที่ 6 เรื่อยมาจนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 41 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 และลงมติเมื่อ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีผู้เสนอคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (อ่านสถิติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ)

และนอกจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาคารรัฐสภาแห่งนี้ยังผ่านร้อนผ่านหนาวมากับการเมืองไทยสมัยใหม่หลายหน ทั้งรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง รัฐบาลกึ่งพลเรือน รัฐบาลทหาร ตั้งแต่การลงมติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อ 27 กันยายน พ.ศ. 2540 จนถึงการแย่งเก้าอี้สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาเมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 กรณี เชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ โยนเก้าอี้ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่พอใจที่ ส.ส.รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ยอมให้อภิปรายเรื่องราคายางพารา เมื่อ 5 กันยายน พ.ศ. 2556 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

จนถึงการลงมติผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "เหมาเข่ง" เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ที่ปิดประชุมในเวลา 04.25 น. (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) เป็นเหตุแห่งการชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่บานปลายเป็นการชุมนุมของ กปปส. และเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ในเวลาต่อมา ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม

ประมวลข้อมูลรายงานการประชุม การภิปรายทั่วไปในรัฐสภา พ.ศ. 2477-ปัจจุบัน, เว็บไซต์รัฐสภา [อ่านออนไลน์]

อาคารรัฐสภาไทย, วิกิพีเดีย [อ่านออนไลน์]

 

สัปปายะสภาสถาน (กำลังก่อสร้าง)

จะใช้เป็นรัฐสภาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 (ถ้าแล้วเสร็จ)

 

ก่อสร้าง 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556 (คาดว่าจะแล้วเสร็จธันวาคม พ.ศ. 2562)

(เดิมคาดว่าจะแล้วเสร็จ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ต่อมามีการขยายเวลาก่อสร้าง 3 ครั้ง รวม 1,482 วัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562)

งบประมาณก่อสร้าง 22,987,266,200 บาท

ปี 2561 รัฐบาลอนุมัติเพิ่ม 512,500,000 บาท

รวมใช้งบประมาณ 23,499,766,200 บาท คิดเป็น 0.78% ของงบประมาณปี พ.ศ. 2562 (3,000,000,000,000 บาท)

การเดินทาง: รถเมล์สาย สาย 3, 16, 30ร, 32, 33ร, 49, 65, 66, 505 (ถ.สามเสน)

รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน/สายสีม่วง สถานีเตาปูน ห่างออกไป 2.34 กม.

เส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคต

MRT สายสีม่วง สถานีรัฐสภา

 

สัปปายะสภาสถานและการเมืองไทยในยุคอันใกล้นี้

สัปปายะสภาสถาน เป็นโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ของประเทศไทยและแห่งที่ 3 ของประเทศไทยแทนที่อาคารเดิมบริเวณ ถ.อู่ทองใน ข้างสวนสัตว์ดุสิต ข้อมูลจากวิกิพีเดีย โครงการก่อสร้างตั้งอยู่ติดริ่มฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนทหาร (เกียกกาย) แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต โครงการได้ริเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 สมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมจัดหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จนมีมติเลือกที่เดินราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต เป็นสถานที่ในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

สัปปายะสภาสถาน เป็นผลงานชนะเลิศการประกวดแบบของธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) จากผู้ส่งประกวดรอบสุดท้ายทั้งหมด 5 ราย โดยนับเป็นการประกวดแบบครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศนับตั้งแต่การประกวดแบบสนามบินสุวรรณภูมิ ชิงเงินรางวัลชนะเลิศสูงถึง 200 ล้านบาท มีผู้ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 133 ราย และผ่านเข้าในรอบสุดท้ายทั้งหมด 5 ราย

โดยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ก็ได้มีการตัดสินคัดเลือกแบบของธีรพล นิยม โดยมีกรรมการ 12 คนประกอบไปด้วย สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ด้านสถาปัตยกรรมสถาน สภาวิศวกรรม และศิลปินแห่งชาติ พิจารณาการประกวดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

สำหรับอาคารได้รับการวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารรัฐสภาแห่งใหม่

โครงการได้เริ่มวางเสาเข็มตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556 โดยมีบริษัทซิโนไทยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเดิมต้องแล้วเสร็จภายใน 900 วัน หรือในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 แต่ปัจจุบันโครงการได้ล่าช้าออกไป เนื่องจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่และการปรับรายละเอียดแบบก่อสร้างในบางส่วน ทำให้โครงการได้เลื่อนออกไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2562

ส่วนปัญหาที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้านั้น จเร พันธ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าเป็นเพราะการส่งมอบพื้นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา พื้นที่บางส่วนยังไม่ได้รับมอบคืนจากหน่วยงานเดิม การขนย้ายดินออกจากพื้นที่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผน และปัญหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554

 

ข้อมูลด้านสถาปัตยกรรม

สถาปนิก ธีรพล นิยมและคณะ

งานสถาปัตยกรรมไทย ภิญโญ สุวรรณคีรี และเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี

สวน ปิยเมศ ไกรฤกษ์

โครงสร้าง เสาเข็มทั้งหมดจำนวน 1,673 ต้น

เสาไม้สักจำนวน 4,000 ต้นล้อมรอบอาคาร

พื้นที่ใช้สอย 424,000 ตร.ม.

ภาพจำลอง "สัปปายะสภาสถาน" (ที่มา: เว็บไซต์รัฐสภา)

จากข้อมูลในวิกิพีเดีย สำหรับชื่อ "สัปปายะสภาสถาน" เป็นการรวมคำระหว่าง "สัปปายะ" และ "สภาสถาน" โดย "สัปปายะ" หรือ "สัปปายะ 7" ซึ่งแปลว่า สิ่งที่สบาย, สภาพเอื้อ, สิ่งที่เกื้อกูล, สิ่งที่เหมาะสมกัน เมื่อรวมกับ "สภาสถาน" จึงมีความหมายถึง สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย

โดยสถาปนิกได้ออกแบบนำเสนอคติและสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของไทยในอดีตผสมผสานไปกับเทคโนโลยีการก่อสร้าง ระบบโครงสร้างทางสังคม และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขในปัจจุบัน ผ่านทางรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่บนพื้นฐานทางภาษาและฉันทลักษณ์ตามอย่างสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี ตามคติ ไตรภูมิ ที่นอกจากจะแสดงเอกลักษณ์ทางจิตวิญญาณถึงความเป็นไทย ยังมีความหมายเพื่อให้คนไทยและเหล่า ฯพณฯ ที่ดี และพวกบรรดานักการเมืองในเสื้อสูทประชาธิปไตย เมื่อเข้ามาอยู่ในสภาจะสำนึกถึง "บาปบุญคุณโทษ" พลิกฟื้นจิตใจผู้คนให้ประกอบกรรมดี นอกจากนี้ยังใช้แนวคิดของ "สถาปัตยกรรมสีเขียว" (Green Architecture) ซึ่งเห็นได้จากการปลูกต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบอาคาร

สัปปายะสภาสถาน เป็นโครงการสร้างรัฐสภาขนาดใหญ่ บนพื้นที่ดิน 191,356 ตารางเมตร มีพื้นที่ใช้สอยในอาคาร 424,000 ตารางเมตร มีความสูงจากฐานถึงยอดเจดีย์พระสุเมรุ 134.56 เมตร ภายในประกอบด้วยโถงรับรอง ส.ส. และ ส.ว., ห้องประชุมของ ส.ส. หรือที่เรียกว่า "ห้องพระสุริยัน", ห้องประชุม ส.ว. หรือที่เรียกว่า "ห้องพระจันทรา", โถงรัฐพิธี, พิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตย, ห้องอาหาร ส.ส., ห้องอาหาร ส.ว. ในส่วนของดาดฟ้าอาคาร ประกอบด้วยกำแพงแก้วล้อมรอบส่วนเจดีย์และพิพิธภัณฑ์ชาติไทย

สัปปายะสภาสถาน ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งการวิจารณ์ว่าออกแบบที่เหมือน "วัด" โดย ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้ออกมาวิจารณ์ในช่วงที่มีการประกวดแบบในปี พ.ศ. 2552 ว่า ใช้ความหมายเดิมๆ ศีลธรรมเป็นเรื่องจอมปลอม ไม่คำนึงถึงปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาของสังคม และการใช้งานไม่เอื้อให้เป็นพื้นที่ของประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งการใช้แนวคิดด้านพระพุทธศาสนามากเกินไปจนไม่มีมุมมองด้านประชาธิปไตย หรือการออกแบบที่อยู่ในกรอบของภาษาความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรม (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

อ่านเพิ่มเติม

สัปปายะสภาสถาน, วิกิพีเดีย [อ่านออนไลน์]

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เป็นกำลังใจให้เธอ

Posted: 28 Jun 2018 07:50 AM PDT


เข้าถ้ำไปท่องเที่ยวเลี้ยวไปไหน          เธอหายไปหลายวันแล้วทางแถวถ้ำ

ทีมหมูป่าถ้าหนังเหนียวถูกเคี่ยวกรำ     ต้องค่อยคลำหาทางอย่างยากเย็น

เยาว์ที่รัก เธอคือนักผจญภัย               ความฝันใฝ่ไปสู่ อยากรู้อยากเห็น

เป็นอนาคตใหม่ ใช่เธอเป็น                      ถ้ำฤาเร้นร่างเธอไว้ ให้หาทาง


ถ้ำเคยเป็นที่สุดมนุษย์ถ้ำ                        คนเคยทำเป็นที่อาศัยไร้เสือสาง

ที่ปลอดภัยในป่าเถื่อนยุคเลือนราง        ผ่านยุคอย่างโชกโชนผาดโผนพา

เธออยากกลับไปเยือนถ้ำเพื่อทำใจ               ผจญภัยให้องอาจฉกาจกล้า

แสวงหาตัวตนค้นมายา                     เมื่อเกิดมาความท้าทาย ที่หมายคน


ถ้ำเคยเป็นที่ลี้ภัยให้ผู้แพ้                              หรือที่แผ่เมตตามหากุศล

เป็นที่ปลีกวิเวกเสกท่องมนตร์                    หรือเสือปล้นหลบลี้คดีความ

เคยเป็นที่นางนอนป้อนนมลูก                       ถ้ำหลวงถูกธารามาผ่าข้าม

ดั่งขวากหนามและความพยายาม               มีคำถามให้ผู้คนค้นมากมาย


บรรพชนคนเคยทำถ้ำเป็นบ้าน               เป็นวิมานผ่านใช้หลบภัยหลาย

คนหลายรุ่นหมุนวนค้นเคลื่อนคลาย               มิใช่ง่ายกว่าจะมาตั้งธานี

มาปลูกบ้านแปงเมืองรุ่งเรืองได้                คนคลี่คลายทายท้ามาทุกที่

ลี้ภัยปนคนชั้นสองต้องคดี                                ในยุคนี้ก็มากมีถ้ำลี้ภัย


ถ้ำขังเธอไว้ไม่ได้ใจเธอสู้                    ออกมารู้อยู่ไม่เป็นเห็นถ้ำใหญ่

ข้างนอกนี้ก็มีถ้ำยากทำใจ                     เป็นถ้ำใหญ่กว่าใหญ่ให้เธอดู

เราเชียร์เธอทีมหมูป่าอย่าพ่ายแพ้            ผจญภัยให้ได้แผลแค่ข่วนหู

คอยเฝ้าลุ้นชัยชนะเหล่าดนู            แด่ทุกผู้นักสู้ทุกท่านกล้าหาญเอย

                                                    

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: โครงสร้างอันอยุติธรรม

Posted: 28 Jun 2018 07:42 AM PDT



หลังคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด หลายคนนำภาพของปู่คออี้มาลงในเฟสบุ๊คของตน ภาพถ่ายบ้าง ภาพเขียนบ้าง ผมเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยคงจ้องมองภาพนั้น แล้วซึมไป เฉพาะศิลปินเพียงบางคนเท่านั้นที่สามารถเอาอารมณ์สะเทือนใจนั้นมาใช้สร้างสรรค์อะไรได้

ผมเดาไม่ถูกหรอกว่า ในท้ายที่สุดแล้วปู่จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร เงินค่าชดเชยที่ปู่ได้มา เมื่อต้องนำมาใช้นอกเขตป่าก็แทบไม่มีความหมายอะไร เช่น จะซื้อที่พอแมวดิ้นตายสักผืนก็ไม่พอ ยังไม่พูดถึงว่าแล้วจะอยู่กินต่อไปอย่างไร ชีวิตของปู่อยู่มาได้เพราะสองอย่างคือป่าและชุมชน บัดนี้ไม่มีป่าให้อยู่ และชุมชนก็ต้องแตกสลายลง ต่างคนต่างอยู่ เพราะต้องกระจัดพลัดพรายกันไปหมด ลูกชายปู่ก็มาสูญหายไร้ร่องรอย เหลือแต่ลูกสะใภ้และหลานตัวเล็ก จะเอาชีวิตรอดนอกเขตป่าได้อย่างไร


ปู่โคอี้และชาวบ้านกะเหรี่ยงแห่งป่าแก่งกระจาน เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลปกครอง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม เมื่อ 7 กันยายน 2559 ไม่ไกลกันนักมีเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ มาฟังคำพิพากษาด้วย (ที่มาของภาพ: เฟสบุ๊ค Pornpen Khongkachonkiet)

แม้กระนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายมีความหมายเพียงเท่านี้ละหรือ

ความศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้กระมังที่ทำให้ "ยายฉิม" ต้องติดคุกเพราะเข้าไปเก็บเห็ดในป่า ซึ่งถูกกฎหมายกำหนดให้เป็นป่าประเภทใดประเภทหนึ่งที่ชาวบ้านใกล้เขตป่าไม่อาจใช้ประโยชน์ได้เลย ทำให้ "ป้าน้อย" พนักงานทำความสะอาดของห้างสรรพสินค้าต้องติดคุกเพราะเก็บเอาซาลาเปาที่ห้างกำลังจะทิ้งอยู่แล้ว กลับมาฝากลูกน้อย ทำให้แกนนำชาวลำพูนต้องติดคุก เพราะนำชาวบ้านเข้าไปทำกินบนพื้นที่ดิน "รกร้างว่างเปล่า" แต่บังเอิญมีผู้ถือเอกสารสิทธิ์ที่ไหนสักแห่ง ทำให้และทำให้และทำให้ คนเล็กคนน้อยอีกมากต้องติดคุก

และทำให้ 80-90% ของผู้ต้องโทษในเรือนจำของไทยล้วนเป็นคนจน หากดูจากตัวเลขแล้ว ทำให้เกิดความสงสัยว่า เหตุใดความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจึงนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ดูไม่น่าจะเป็นธรรมเลย

ส่วนใหญ่ของคนจนไม่รู้กฎหมาย ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ใช้ในการต่อสู้คดีไม่ได้ อันเป็นเหตุที่สมควรแล้ว เพราะไม่มีใครพิสูจน์ความรู้หรือไม่รู้ของใครได้ แต่ปัญหาเรื่องคนจนล้นคุกไม่ได้เกิดจากผู้ไม่รู้กฎหมาย ปัญหาใหญ่อยู่กับผู้ที่รู้กฎหมายต่างหาก บางคนถือว่ารู้ดีกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ เช่น เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม, อาจารย์สอนกฎหมาย, สื่อ และสมาชิกของสภานิติบัญญัติทุกประเภท

ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายถูกคนรู้กฎหมายเหล่านี้ช่วยกันพยุงเอาไว้ในนามของความยุติธรรมตามกฎหมาย

แต่การอำนวยความยุติธรรมในเมืองไทยนั้น กระทำขึ้นท่ามกลางโครงสร้างอันอยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง หรือวัฒนธรรม ล้วนอำนวยความอยุติธรรมให้แก่คนจำนวนมาก

ความยุติธรรมตามกฎหมายนั้นมีความจำเป็นแก่บ้านเมืองแน่ แต่ความยุติธรรมตามกฎหมายไม่ได้แขวนไว้บนฟ้า หากเป็นสิ่งที่ต้องนำมาใช้กับชีวิตจริงของผู้คน ซึ่งมีชีวิตอยู่ภายใต้โครงสร้างอันอยุติธรรม ผู้อำนวยความยุติธรรมจำเป็นต้องสำเหนียกในเรื่องนี้ให้ดี และแท้จริงแล้วกฎหมายไทยได้แฝงความยืดหยุ่นไว้ภายในมากพอสมควร เพื่อทำให้ผู้อำนวยความยุติธรรมสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ ด้วยสำนึกอย่างเต็มเปี่ยมถึงโครงสร้างอันอยุติธรรม

หลายสิบปีมาแล้วผมเคยได้ยินนักวิชาการด้านกฎหมายอเมริกันพูดว่า กฎหมายไทยนั้นก้าวหน้ามากในแง่เปิดให้ตุลาการสามารถเลือกโทษได้หลายอย่าง ให้เหมาะแก่ผู้กระทำผิด ทั้งเพื่ออนาคตของเขาและชีวิตจริงท่ามกลางโครงสร้างอยุติธรรมของเขา

แต่ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจหรอกว่า การเปิดให้ผู้พิพากษาใช้วิจารณญาณส่วนตนในการลงโทษ เป็นความก้าวหน้าอย่างไร

เมื่อได้ฟังคำรำพึงทำนองนี้ของผม เพื่อนซึ่งเป็นอาจารย์สอนกฎหมายคนหนึ่งท้วงว่า ตรงกันข้ามกับที่ผมประเมินความก้าวหน้าของกฎหมายไทย ในวงการผู้พิพากษาไทยกลับใช้สิ่งที่เรียกว่า "ยี่ต๊อก" ซึ่งเป็นอัตราโทษที่ผู้ใหญ่กำหนดลงมาว่า โทษตามความผิดในกฎหมายข้อนั้นข้อนี้ควรมีระวางอัตราโทษเท่าไร ดังนั้น ผู้พิพากษาโดยเฉพาะชั้นผู้น้อย จึงไม่อาจใช้วิจารณญาณของตนเอง ตามที่กฎหมายเปิดช่องเอาไว้ได้

ผมเข้าใจดีว่า แม้วิจารณญาณของผู้พิพากษามีความสำคัญ แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามใจชอบล้วนๆ ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะมีกฎหมายไว้ทำไม แต่กรอบกว้างๆ นั้นกฎหมายได้ระบุไว้แล้ว ผู้พิพากษาไม่อาจใช้วิจารณญาณเอาผิดเป็นถูกได้ ส่วนจะลงโทษอย่างไรจึงจะเหมาะแก่ชีวิตของจำเลยที่อยู่ภายใต้โครงสร้างอันอยุติธรรม กฎหมายก็ระบุเผื่อไว้แล้ว

"ยี่ต๊อก" มีขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐาน แต่กฎหมายเจตนาจะไม่ให้มีมาตรฐานที่ตายตัวเกินไปเช่นนี้ไม่ใช่หรือ

อันที่จริงก็ไม่ใช่เหมาะแก่ชีวิตของจำเลยคนเดียว ยังสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิตอื่นๆ ที่เกาะเกี่ยวกันกับจำเลยด้วย เช่น ลูกเล็กจะไม่มีคนดูแล ไปจนถึงพ่อแก่แม่เฒ่าที่อาจต้องถูกทิ้งขว้างเพราะผู้ดูแลไปติดคุกเสีย

โทษนั้นต้องรับแน่ แต่เหตุควรบรรเทายังมีอีกมาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้ไม่มีสันดานเป็นผู้ร้าย แต่ไม่เหลือทางเลือกในชีวิตมากนัก

แม้แต่ให้ผู้พิพากษาอาจใช้วิจารณญาณได้โดยไม่ต้องมี "ยี่ต๊อก" ก็ยังให้น่าสงสัยว่า ผู้พิพากษามีความรู้ความเข้าใจโครงสร้างอันอยุติธรรมในสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน

ในประเทศไทยเราเริ่มฝึกนักกฎหมายกันตั้งแต่เมื่อเด็กเพิ่งจบมัธยมปลาย แม้มีวิชา "ทั่วไป" สอนในมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง แต่ก็มีน้อยมากจนไม่เพียงพอที่จะให้ผู้เรียนได้สำนึกในความอยุติธรรมหลายด้านที่แฝงอยู่ในโครงสร้างต่างๆ พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือ เช่น จบกฎหมายมาโดยไม่รู้เลยว่าคนจนเขามีชีวิตอยู่กันอย่างไร ไม่เฉพาะแต่กลุ่มที่อยู่ใต้เส้นความยากจนของสภาพัฒน์เท่านั้น แต่รวมคนหาเช้ากินค่ำทั่วไปด้วย

ว่าที่จริง ไม่เฉพาะแต่ระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ไม่สนใจคนจน การศึกษาไทยทั้งระบบนั่นแหละ ไม่สนใจคนจนเลย เป็นคนแปลกหน้าในหลักสูตรการศึกษาไทยเสียยิ่งกว่าคนต่างประเทศเสียอีก เราแทบไม่ได้ผลิตความรู้เกี่ยวกับคนจนออกมามากไปกว่าความสนใจพิเศษของนักวิชาการบางคน มหาวิทยาลัยมีสถาบันศึกษา, ศูนย์ศึกษา และหลักสูตรเฉพาะด้านต่างๆ หลายด้าน แต่ไม่มีสักมหาวิทยาลัยเดียวที่มีสถาบันศึกษาคนจน

จะเตรียมนักกฎหมายและผู้พิพากษาอย่างไรให้เข้าใจโครงสร้างอันอยุติธรรม นอกจากสถาบันการศึกษาที่ผลิตนักกฎหมายต้องคิดแล้ว ผมคิดว่าความหลากหลายของผู้พิพากษาก็มีความสำคัญ ดังที่ในหลายประเทศไม่ได้รับผู้พิพากษาจาก "สาย" เดียวเช่นนี้ (จบปริญญาทางกฎหมาย สอบเนฯ สอบเข้าเป็นผู้พิพากษา) แต่อาจรับนักกฎหมายจากหลายสายงาน เช่น ทนายความผู้มีชื่อเสียง (ซึ่งมักเคยเผชิญกับคดีเหยื่อของโครงสร้างอันอยุติธรรมมาแล้ว) เป็นต้น

ไม่เฉพาะแต่ผู้พิพากษา ตัวระบบของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นับตั้งแต่ตำรวจไปถึงราชทัณฑ์ ไม่เปิดพื้นที่ให้แก่โครงสร้างอันอยุติธรรมไว้เลย เกือบหรือกว่าครึ่งชีวิตของปู่คออี้นับตั้งแต่เกิด คงไม่รู้เลยว่าตนอาศัยอยู่ในรัฐชาติไทย เมื่อเราเริ่มออกโฉนดในสมัย ร.5 ก็มุ่งหมายเฉพาะที่ดินในเขตเมือง ที่ดินในชนบทยังไม่ได้รับการรับรองกรรมสิทธิ์จากรัฐ แต่ได้รับรองกรรมสิทธิ์จากประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เพราะรัฐบาลไม่มีกำลังเพียงพอจะออกโฉนดได้ทั่วถึง

ปู่คออี้และชุมชนกะเหรี่ยงจะแสดงเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตป่าอุทยานได้อย่างไร ตัวท่านเองก็คงไม่ทราบว่าภูมิลำเนาของตนกลายเป็นเขตอุทยานฯ ผู้ขีดเส้นเขตอุทยานฯ ก็ไม่เคยรู้ว่ามีปู่คออี้และชุมชนกะเหรี่ยงอยู่ในนั้น กฎหมายที่ดินที่ออกกันมาไม่เคยมีภาพของคนที่มีชีวิตในป่าหรือบนยอดเขาเลย เราจะอำนวยความยุติธรรมในโครงสร้างอันอยุติธรรมนี้ได้อย่างไร ดูน่าจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารต้องเข้าไปเจรจาต่อรองกับชุมชนกะเหรี่ยง หาทางออกที่พอรับได้ทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อคำตัดสินของศาลออกมาในลักษณะนี้เสียแล้ว ฝ่ายบริหารก็ไม่ต้องทำอะไรอีก (นอกจากเผาบ้านและยุ้งข้าวเขาอีกรอบหนึ่ง และใช้กำลังขับไล่ชุมชนออกมาจากเขตอุทยานฯ)

ว่ากันให้ถึงที่สุด การเมินเฉยต่อโครงสร้างอันอยุติธรรม ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น สังคมไทยทั้งสังคมนั่นแหละที่ต่างเมินเฉยกันพร้อมหน้า สื่อกับคนชั้นกลางร่วมกันเรียกร้องให้เพิ่มโทษผู้ละเมิดกฎหมาย แต่กลับวางเฉยต่อความไร้ประสิทธิภาพในการบังคับใช้ เท่ากับยิ่งเปิดช่องให้แมลงตัวใหญ่บินหลุดจากใยแมงมุมได้ง่ายขึ้น เหลือแต่เหยื่อของโครงสร้างอันอยุติธรรมเท่านั้นที่ต้องรับโทษหนักที่สื่อและคนชั้นกลาง (รวม ส.ส. ที่เป็นผู้ออกกฎหมายด้วย) ตราขึ้นไว้ใช้แก่คนอื่น

ไม่ว่าในสังคมอะไร ก็ล้วนมีโครงสร้างอันอยุติธรรมแฝงฝังอยู่ในระบบทั้งสิ้น จะแตกต่างกันในแต่ละสังคมก็เพราะลักษณะเฉพาะของสังคมนั้นๆ การหลับตาให้มันทำให้การผ่อนคลายในวันข้างหน้ากลายเป็นความรุนแรง

โดยเฉพาะบุคคลซึ่งมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมทุกระดับ ควรคำนึงถึงโครงสร้างอันอยุติธรรมให้ดี จะรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอย่างไร จึงจะไม่ซ้ำเติมความอยุติธรรมที่เขาได้รับอยู่ให้หนักยิ่งขึ้น

 

 

ที่มา:  www.matichonweekly.com/column/article_111830

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ปัญหารากฐานความสัมพันธ์รัฐกับศาสนา

Posted: 28 Jun 2018 07:27 AM PDT


อิมมานูเอล คานท์
(www.wikiwand.com/th/อิมมานูเอล_คานต์)

ปริศนานิทานเรื่อง "เต่ากับปลา" เล่าว่า เมื่อเต่านำความจริงของโลกบนบกไปเล่าให้ปลาที่ตลอดชีวิตคุ้นเคยกับความจริงของโลกในน้ำเท่านั้น ปลาก็หัวเราะเยาะหาว่าเต่ามดเท็จ นิทานนี้แต่งในยุคที่อ้างความเป็น "สัพพัญญู" ผู้รู้ทุกสิ่งของพระศาสดา ซึ่งก็มีเหตุผลในแง่ว่าพระศาสดาคือคนที่ปลีกตัวออกมาจากโลกที่ผู้คนคุ้นชิน แล้วมาไตร่ตรองจริงจังถึงความจริงและคุณค่านามธรรมบางอย่างที่ต่างจากคนส่วนใหญ่สนใจ พระศาสดาจึงเปรียบเหมือนเต่าที่เอาความจริงใหม่ๆ มาบอกเล่าแก่ผู้คนทั้งหลายที่เปรียบเหมือนปลาในน้ำ

แต่ในยุคหลังพระศาสดา ที่เรียกว่ายุคประเพณีหรือยุคกลาง เมื่อศาสนาได้กลายมาเป็นสถาบันทางสังคม มีบทบาทสถาปนาระบบสังคมการเมืองแบบชนชั้นศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส ศาสนาก็กลายเป็นแม่น้ำ และผู้คนในยุคประเพณีก็คือปลาที่แหวกว่ายใน "แม่น้ำศาสนา" ที่คุ้นเคยกับวิธีคิดแบบศาสนาเป็นด้านหลัก นึกไม่ออกว่าถ้าไม่มีศาสนาคนเราจะมีศีลธรรมได้อย่างไร จะเอาอำนาจอะไรมาปกครองหากไม่ใช้อำนาจในนามพระเจ้าและธรรมะ และหากไม่มีศีลธรรมจรรยาและจารีตประเพณีแบบศาสนาให้ยึดถือเราจะอยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้อย่างไร อะไรที่จะเชื่อมโยงให้คนเราเป็นพวกเดียวกันได้เล่าหากปราศจากการนับถือศาสนาเดียวกันอย่างมั่นคงไม่แตกพวกไปนับถือศาสนาอื่น ซึ่งมักจะเป็นปรปักษ์ต่อศาสนาของพวกเรา

แน่นอนว่า ในแม่น้ำศาสนาเช่นนี้ หากใครริจะเป็นเต่านำความจริงแบบอื่นที่ขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนามาเล่า มันผู้นั้นย่อมกลายเป็น "คนนอกรีต" และสมควรรับโทษทัณฑ์ถึงตาย หรืออย่างน้อยก็กลายเป็นตัวประหลาดถูกปฏิเสธจากสังคม แต่ในทางประวัติศาสตร์ย่อมมีบุคคลเช่นนี้เกิดขึ้นเสมอๆ คนที่พยายามทำตัวเป็นเต่าเอาความจริงนอกศาสนามาเล่า และเต่าพวกนี้เองที่ให้กำเนิดความรู้ทางปรัชญา วิทยาศาสตร์และอื่นๆ และทำให้สังคมมนุษย์มีเสรีภาพจากอำนาจครอบงำของศาสนา

หนึ่งในบรรดาเต่าตัวสำคัญในยุคสว่างทางปัญญาของยุโรปคือ อิมมานูเอล คานท์ เขายืนยันการใช้เสรีภาพวิพากษ์แม่น้ำศาสนา และเสนอความจริงกับคุณค่าทางศีลธรรมนอกศาสนา เป็นเหตุให้กษัตริย์สั่งระงับการวิจารณ์ศาสนาของเขา ด้วยข้ออ้างว่าคำสอนของเขาเป็นภัยต่อศาสนา แต่แก่นสาระของข้อเสนอคานท์ คือเขาเสนอให้ "แยกศีลธรรมออกจากศาสนา" และ "แยกกฎหมายออกจากศีลธรรม" อันเป็นการสร้างรากฐานสำคัญรองรับหลักการของรัฐโลกวิสัยที่ถือว่า รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนาและให้หลักประกันที่มั่นคงแก่เสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนา

บรรดาปลาในแม่น้ำศาสนาต่างอ้างว่าศีลธรรมเป็นเรื่องของ "การปฏิบัติ" เช่นพระศาสดาและคุรุทางศาสนาเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วจึงมาสอนให้คนอื่นศรัทธาและนำคำสอนนั้นไปปฏิบัติ เพื่อที่จะเป็น "คนดี" เมื่อเขาเป็นคนดีแล้วย่อมทำแต่ "สิ่งที่ถูกต้อง" เสมอ ไม่เหมือนพวกนักปรัชญาที่เอาแต่เสนอความคิด ทว่าชีวิตส่วนตัวมิได้เข้าถึงความสะอาด สว่าง สงบเอาเสียเลย (ฮีฮี่)

แต่ถ้ามองแบบคานท์ อาจถามได้ว่าแนวทางแบบศาสนาคือการทำให้ศีลธรรมเป็นเรื่องของ "การปฏิบัติ" อย่างแท้จริงงั้นหรือ เพราะเราเห็นคนประเภท "มือถือสากปากคาบคัมภีร์" เยอะแยะไป ถ้าจะให้ศีลธรรมเป็นเรื่องของการปฏิบัติอย่างแท้จริง เราต้องยืนยัน "สิทธิในการปกครองตนเองทางศีลธรรม" ของปัจเจกบุคคล สิทธิอันนี้ย่อมทำให้ศีลธรรมเป็นเรื่องความรับผิดชอบสูงสุดของเราแต่ละคน นั่นคือคุณจะมีศีลธรรมได้จริง ต้องเริ่มจาก "การปฏิบัติ" ขั้นพื้นฐานที่สุดเลย คือคุณต้องรู้จักใช้เหตุผลบัญญัติกฎศีลธรรมสำหรับตนเอง แต่ต้องบัญญัติขึ้นบนการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ทุกคน

แปลว่า "เนื้อหา" ของกฎศีลธรรมไม่ได้ผูกติดกับคำสอนศาสนาหรืออิทธิพลของคนอื่น หรืออำนาจอื่นใดเหนือหัวเราอีกต่อไป แต่เนื้อหาของกฎศีลธรรมเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลผู้มีสิทธิปกครองตัวเองทางศีลธรรมบัญญัติขึ้นมาเองบน "เจตจำนง" ที่มุ่งเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ เมื่อแต่ละคนต่างบัญญัติกฎศีลธรรมขึ้นมาบนเจตจำนงเดียวกันนี้ เจตจำนงในการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ ย่อมกลายเป็น "เจตจำนงร่วม" ของทุกคน

ด้วยหลักการพื้นฐานที่ว่าศีลธรรมคือการสะท้อน "เจตจำนงร่วม" ของทุกคนในการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ดังกล่าว จึงทำให้ศีลธรรมกลายเป็น "หน้าที่" ในการเคารพและทำตามหลักการและกฎใดๆ ที่สะท้อนการปกป้องเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์

ดังนั้น ศีลธรรมที่สะท้อนออกมาจากเจตจำนงร่วมดังกล่าว มันจึงเป็นเรื่องของการ "คิดถึงตัวเองและคนอื่นเสมอกัน" เราไม่ได้มีศีลธรรมเพื่อที่จะเป็นคนดีประเสริฐสูงส่ง สะอาดบริสุทธิ์กว่าคนอื่น หรือต้องการแสดงบทเป็น "ร่างทรงธรรมะ" ที่พูดอะไรเป็นสัจธรรมที่เถียงไม่ได้ ใครๆ ก็ศรัทธาเลื่อมใส สาธุ ขอแชร์  แต่เรามีศีลธรรมบนเจตจำนงเคารพตัวเองและคนอื่นเสมอกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่มีทางจะเป็นบุคคลประเภทที่มีความโน้มเอียง หรือมีนิสัย,บุคลิกภาพที่นิยมจะใช้ "อัตวิสัย" ของคนดีบนหลักศีลธรรมศาสนาซึ่งเป็นความเชื่อส่วนบุคคลมาตัดสินถูก ผิดในเรื่องสาธารณะอย่างไม่เคารพหลักการสาธารณะ เช่นการสนับสนุนรัฐประหารทั้งโดยตรงโดยอ้อม หรือใช้ตรรกะศีลธรรมส่วนตัวว่าถ้าเป็นคนมี "เจตนาดี" เพื่อชาติบ้านเมืองแล้วก็ย่อมร่วมงานกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ได้กับรัฐบาลจากรัฐประหารก็ดี โดยมิได้ตระหนักเลยว่า การเข้าร่วมงานกับรัฐบาลเผด็จการเท่ากับไปเพิ่มน้ำหนักให้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมที่กดทับสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชนทุกคนให้บดขยี้ได้ถนัดขึ้น

ตอนทำวิจัยเรื่อง "ความคิดทางจริยธรรมกับการเลือกฝ่ายทางการเมืองของพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบัน" ผมไปสัมภาษณ์พระที่มีชื่อเสียงที่มีบทบาทแสดงความเห็นทางสาธารณะ และที่ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง พบว่าพระสงฆ์ที่แสดงความเห็นทางสาธารณะที่นิยามว่าตนเองกลางและที่เลือกฝ่ายเหลือง-แดง ต่างมองว่า บทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองควรยึด "หลักทางสายกลาง" ก็คือควรเป็นกลาง แต่เป็นกลางไม่ได้แปลว่า "ไม่เลือกข้าง" ต้อง "เลือกข้างความถูกต้อง" นั่นคือเมื่อ "ธรรม" หรือ "ความถูกต้อง" อยู่ฝ่ายไหน ก็ต้องเลือกอยู่ฝ่ายนั้น ตกลงพระที่เลือกสนับสนุนแต่ละฝ่ายก็ "เลือกความถูกต้อง" หมดเลย

ทว่าความถูกต้องดังกล่าวไม่ใช่ "ความถูกต้องบนหลักการประชาธิปไตย" แต่เป็นความถูกต้องบนหลักทางสายกลางหรือธรรม ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไม่ได้สะท้อนถึงความเป็น "หลักการทั่วไป" ที่นักบวชด้วยกันเองเห็นร่วมหรือยึดถือปฏิบัติร่วมกันได้จริงๆ เลย ทางสายกลางหรือธรรมที่ใช้อ้างมาเกี่ยวเรื่องสาธารณะทางสังคมและการเมือง มีความหมายไปตามการใช้ "อัตวิสัย" ในการตีความคำสอนพุทธของแต่ละบุคคลเท่านั้นเอง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเมื่อวิเคราะห์ถึงที่สุด ระบบศีลธรรมพุทธศาสนาและตามหลักฐานที่ปฏิบัติจริงในประวัติศาสตร์รัฐพุทธศาสนา เป็นระบบศีลธรรมที่ถือว่า "ความดีอยู่ที่ตัวคน" เมื่อแต่ละคนนำหลักธรรมมาปฏิบัติจนเป็นคนดี เขาจะทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้ถูก ผิดจึงออกมาจาก "อัตวิสัย" ของคนดี แต่ไม่ใช่อัตวิสัยที่มีเจตจำนงในการทำตามหลักการสาธารณะใดๆ ดังนั้นข้อสรุปบนหลักอัตวิสัยของคนดีแบบพุทธจึงสรุปออกมาอย่างพุทธทาสสรุปว่า ระบบการปกครองใดๆ ไม่ว่าจะราชาธิปไตย เผด็จการ สังคมนิยม หรือประชาธิปไตยจะดีได้ก็ต่อเมื่อมี "ธรรมาธิปไตย" คือมีคนดีมีคุณธรรมเป็นผู้ปกครอง

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในประวัติศาสตร์รัฐพุทธศาสนา ก็ย่อมอยู่บนพื้นฐานของ "อัตวิสัยทางศีลธรรม" ของผู้ปกครอง ดังนั้นในแต่ละยุคผู้ปกครองแต่ละคนจึงออกกฎในการควบคุมทางศาสนา หรือปฏิรูปศาสนาตามที่ตนเห็นสมควร แต่ยิ่งนานไปๆ จากการที่ผู้ปกครองเป็นเพียงธรรมราชาธรรมดาๆ ก็ค่อยๆ กลายมาเป็นสมมติเทพ เทพอวตาร พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัวที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการรักษาความบริสุทธิ์ถูกต้องของคำสอนตามคัมภีร์และวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการพยายามอธิบายว่า "ยุคเก่ากษัตริย์อุปถัมภ์พุทธศาสนา เมื่อเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลหรือรัฐประชาธิปไตยต้องทำหน้าที่นี้แทนกษัตริย์" จากฐานคิดนี้และจากความเป็นจริงที่ว่าการสร้างประชาธิปไตยลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด ยังไม่สามารถกำหนดกติกาการปกครองขึ้นมาบนหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนได้จริง การแก้กฎหมายสงฆ์หรือการปฏิรูปพุทธศาสนาจึงยังคมดำเนินไปตามอัตวิสัยของผู้ปกครองแต่ละยุคเช่นเดิม ซึ่งมักจะทำให้วิกฤตการเมืองทางโลกและวิกฤตการเมืองสงฆ์เกี่ยวโยงกันตลอด ขณะที่รัฐปัจจุบันที่รับช่วงการอุปถัมภ์พุทธศาสนามาจากรัฐยุคเก่า ก็บังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมพุทธในหลักสูตรการศึกษาของรัฐ และเพิ่มบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐมี "หน้าที่" อุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนารัดกุมขึ้นเรื่อยๆ

ถามว่า โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาที่วางอยู่บนระบบคิดแบบรัฐยุคเก่าดังกล่าวนี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยไหม? ถ้าเราถือว่ารัฐประชาธิปไตยต้องเป็นกลางทางศาสนา รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา มันก็ย่อมเป็นอุปสรรคแน่นอน เพราะการเป็นกลางทางศาสนาของรัฐย่อมอยู่บนการยืนยัน "สิทธิในการปกครองตนเองทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล" รัฐจึงบังคับเรียนเพื่อปลูกฝังศีลธรรมทางศาสนาใดๆ ไม่ได้ และต้อง "แยกกฎหมายออกจากศีลธรรมศาสนา" จึงออกกฎหมายปกป้องและสนับสนุนความเชื่อทางศาสนา อันเป็นความเชื่อส่วนบุคคลของกลุ่มศาสนาใดๆ ไม่ได้ เรื่องศีลธรรม ความเชื่อทางศาสนาเป็นเรื่องภายในใจหรือจิตวิญญาณของแต่ละคน ที่ต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือก รัฐจะให้อำนาจแก่องค์กรศาสนาใดๆ ไปใช้ตัดสินถูกผิดถึงระดับแทรกแซงจิตสำนึก หรือเรื่องในใจ ในจิตวิญญาณของประชาชนไม่ได้

ยิ่งกว่านั้น ถ้าหากเรามองความจริงอย่างตรงไปตรงมาจะเห็นว่า ภายใต้โครงสร้างรัฐอุปถัมภ์ศาสนาแบบที่เป็นมาและเป็นอยู่ นอกจากองค์กรศาสนาจะอยู่ในเครือข่ายระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่ทำหน้าสอนศีลธรรมสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแล้ว พุทธศาสนาไทยภายใต้โครงสร้างเช่นนี้ยังผลิตนักคิด ปราชญ์ นักวิชาการ ผู้รู้ทั้งพระและฆราวาส พระเซเลบพุทธที่เก่งในเรื่องสร้างแนวคิดและประดิษฐ์วาทกรรมทางศีลธรรมสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเสมอมา อีกทั้งระบบการศึกษาของรัฐที่บังคับเรียนพุทธศาสนาควบคู่กับ "หน้าพลเมือง" ที่ยึดอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมสูงสุด ย่อมผลิต "พลเมืองดี" ที่มีหน้าที่ค้ำอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมบวกกับการใช้อัตวิสัยทางศีลธรรมของ "คนดี" แบบพุทธเหนือการเคารพหลักการสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยเสมอไป

จึงเป็นจริงดังที่เพื่อนนักวิชาการบางคนบอกว่า รัฐประหารซ้ำๆ ในสังคมไทย มันไม่ได้เกิดจาก "อำนาจปืน" อย่างเดียว แต่มันมีระบบคิดทางศีลธรรมรองรับความชอบธรรมของระบบอำนาจนิยมเป็นฐานหรือเป็นพลังสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง

ดังนั้น ถ้าเชื่อว่าการสร้างประชาธิปไตยเกี่ยวอย่างสำคัญกับการวางรากฐานความคิดหรืออุดมการณ์จิตสำนึกเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษย์ ย่อมหนีไม่พ้นที่เราจะสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาบนรากฐานที่ถูกต้องหรือสอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย


 

ปล. ตามความคิดของคานท์ การบัญญัติกฎหมายขึ้นบนหลักเสรีภาพ, ความเสมอภาค, อิสรภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษย์ไม่จำเป็นต้องบัญญัติขึ้นบนรัฐประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ด้วยประสบการณ์หรือข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ เราพบว่ารัฐประชาธิปไตยสามารถให้หลักประกันคุณค่าพื้นฐานดังกล่าวได้ดีกว่า แม้ไม่ได้ดีที่สุด แต่ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยมันเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูกได้และปรับปรุงให้ดีขึ้นได้เรื่อยๆ  

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

27 มิถุนา วันรัฐธรรมนูญฉบับแรก: เหลียวหลังแลหน้ารัฐธรรมนูญ [คลิป]

Posted: 28 Jun 2018 05:08 AM PDT

เสวนา "27 มิถุนา วันรัฐธรรมนูญฉบับแรก: เหลียวหลังแลหน้ารัฐธรรมนูญ" ห้อง PBIC210 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

อภิปรายโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชาลินี สนพลาย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดำเนินรายการโดย อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยานานาชาติ ปรีดี พนมยงค์

จัดโดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับ โครงการไทยศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สังคายนา ‘ประมวลกฎหมายยาเสพติด’ ผู้เสพคือเหยื่ออาชญากรรม ไม่ดำเนินดดี

Posted: 28 Jun 2018 05:05 AM PDT

สังคายนาแนวทางจัดการยาเสพติด ดันร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด บูรณาการหน่วยงานสาธารณสุขและยุติธรรม แยกผู้ค้ากับผู้เสพให้ชัด ไม่เอาผิดผู้เสพเพราะเป็นเหยื่ออาชญากรรม ไม่ดำเนินคดี แต่ทำการบำบัดรักษาไม่จำกัดครั้ง

ผู้ต้องขังประมาณร้อยละ 80 ในเรือนจำประเทศไทยเกิดจากคดียาเสพติด ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะคนล้นคุกและนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ในเรือนจำ ขณะเดียวกัน วิธีการปราบปรามที่ผ่านมาก็ไม่สามารถสกัดยับยั้งปัญหายาเสพติดได้ และยังสร้างผลกระทบลูกโซ่ตามมาอีกมาก ทั้งเรื่องการละเมิดสิทธิ์ การทุจริตของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น จึงมีความพยายามแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อหาแนวทางอื่นๆ ในการจัดการ

15 พฤษภาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด 3 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.... , ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... ขณะนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาวาระ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะเป็นการปรับแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดอีกครั้ง

จิตรนรา นวรัตน์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด กล่าวว่า เดิมทีกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดในประเทศไทยมีอยู่ 7 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดย 2 ฉบับนี้ดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารระเหย ซึ่งดูแลร่วมกันโดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด ซึ่งดูแลโดยกระทรวงยุติธรรม

ทั้ง 7 ฉบับจะถูกยกเลิกและทำการปรับปรุงแก้ไขพร้อมกันเหลือเพียง 3 ฉบับคือประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด

"กฎหมายนี้ตั้งใจเปลี่ยนวิธีคิดของสังคมทั่วไปและผู้ใช้กฎหมายโดยตรง ทัศนคติของประชาชาทั่วไป ไม่ยอมรับผู้ที่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติด แต่เราต้องการชี้ให้เห็นว่าในคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้ค้าต้องจัดการแบบหนึ่ง ผู้เสพถือว่าเป็นเหยื่อของอาชญากรรมต้องจัดการด้วยวิธีอีกแบบ ซึ่งสังคมต้องเข้าใจก่อน ไม่อย่างนั้นการออกกฎหมายจะต้านสังคม จะทำให้ขับเคลื่อนยาก

"กฎหมายนี้จะลงโทษให้เข้มข้นกับคนที่ค้ายา มีมาตรการใหม่ๆ ออกมา ส่วนแนวทางการบำบัดรักษาและจัดการผู้เสพยาเริ่มเปลี่ยนไป ในภาพรวม การจัดการผู้ติดยาเดิมเรามีแนวคิดว่าต้องลงโทษมานานมาก จนยอมรับความจริงว่าไม่สามารถทำให้ผู้เสพเลิกได้ ถ้าเอาแต่โทษจำคุก แนวทางของกระบวนการยุติธรรมที่จะใช้กับผู้เสพยาคือแม้จะมีความผิดอยู่ แต่ไม่ลงโทษถึงจำคุก ทุกวันนี้แนวทางนี้ชัดเจนมาสิบกว่าปีแล้ว"

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแนวทางดังกล่าวเป็นเพียงนโยบาย ครั้งนี้จะทำให้มีความชัดเจนขึ้นโดยการบัญญัติให้เป็นกฎหมาย แต่การเขียนกฎหมายว่าไม่มีความผิดฐานเสพยาเสพติด สังคมไม่ยอมรับและจะเกิดผลกระทบมากกว่า จิตรนรา กล่าวว่า กฎหมายจึงเลี่ยงคำว่า ไม่มีความผิดฐานเสพและไม่มีการดำเนินคดี เป็นการใช้คำว่า ต้องสงสัยโดยมีพฤติการณ์เชื่อว่าเสพยาเสพติด ให้นำตัวเข้ากระบวนการบำบัดรักษา ทั้งนี้ก็เพื่อเลี่ยงการแจ้งข้อกล่าวหาและจับกุม รวมทั้งเขียนในกฎหมายให้ชัดเจนว่าให้นำตัวไปบำบัดรักษาตามกระบวนการที่กำหนด หรือหากสมัครใจรับการบำบัดรักษาเองก็จะไม่มีการดำเนินคดี

"เดิมการแก้ไขปัญหายาเสพติดค่อนข้างแยกจากกันระหว่างหน่วยงานยุติธรรมกับหน่วยงานสาธารณสุข เพราะถือกฎหมายกันคนละฉบับ การแก้กฎหมายให้มาอยู่ในฉบับเดียวจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน ยิ่งกฎหมายเกี่ยวกับการฟื้นฟูมีการจัดกลุ่มใหม่หมด โดยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายสาธารณสุขจากเดิมที่อยู่กับฝ่ายยุติธรรม"

ประเด็นจำนวนครั้งในการบำบัดรักษาว่า ถ้าเข้าบำบัดกี่ครั้ง แล้วยังกลับไปเสพจะถูกดำเนินคดี จิตรนรา กล่าวว่า จะไม่มีการกำหนดจำนวนครั้ง

"การนำคนมาบำบัดรักษาอย่างไรก็ดีกว่าปล่อยออกไปข้างนอก ในกระบวนการบำบัดรักษาอย่างหนึ่งคือทำให้การใช้ยาเสพติดน้อยลง ไม่เกิดอันตรายมากนัก เพราะบางทีความต้องการเสพยาของเขาอาจทำให้เขาต้องก่ออาชญากรรมมากมายและนำความสูญเสียแก่คนรอบตัว เราอาจจะเบื่อหน่ายในการบำบัดรักษา แต่ถ้าเขายังมาหาเราเพื่อบำบัดรักษาอยู่ ดีกว่าที่จะปล่อยเขาไปเลย ผมไม่ได้เอาจำนวนครั้งเป็นตัวตั้ง แต่เราไม่ได้ปล่อยไปเรื่อยๆ กระบวนการบำบัดรักษาจะมีรายละเอียด เช่น ครั้งแรกๆ รักษาเบาๆ ก่อน ไม่ต้องอยู่ในการควบคุม ถ้ายังไม่เลิกก็จะมีกระบวนการที่เข้มข้นขึ้น แต่ไม่ได้เอาไปติดคุก อาจจะไปอยู่สถานบำบัดที่เข้มงวด แต่ไม่ใช่ 3 ครั้ง 5 ครั้งเลิก แล้วนำไปดำเนินคดี เราไม่จำกัดครั้ง"

อย่างไรก็ตาม กฎหมายทั้ง 3 ฉบับยังอยู่ในการพิจารณาของ สนช. ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการแก้ไขเนื้อหาหรือไม่ อย่างไร

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดีเอสไอ รับคดีบิลลี่หายเป็นคดีพิเศษ

Posted: 28 Jun 2018 03:56 AM PDT

28 มิ.ย.2561  พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่าจากการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 1/2561 มีมติให้รับคดีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ 'บิลลี่' แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557 เป็นคดีพิเศษ อยู่ในการดูแลของ DSI

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ประชุมมีมติ ตนได้มอบหมายให้กองคดีพิเศษภาค ดีเอสไอ รับไปดำเนินการเร่งรัดสืบสวนสอบสวนเพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมโดยไม่มีกรอบระยะเวลาของการทำงาน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้มีการข้อมูลการสืบสวนสอบสวนไปบ้างแล้ว และการรับเป็นคดีพิเศษคดีในครั้งนี้ก็จะใช้ข้อมูลที่เคยเก็บมาก่อนหน้านี้เป็นแนวทางในการทำคดี

ด้าน น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกดีใจที่เรื่องไม่ได้เงียบไป แม้เวลาผ่านมา 4 ปีแล้วก็ตาม "อยากให้นำเลือดที่พบในรถเจ้าหน้าที่อุทยานไปตรวจที่ต่างประเทศ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าเลือดนั้นเป็นเลือดของบุคคลใด เพื่อจะได้รู้ให้แน่ชัดว่าเลือดที่พบนั้นเป็นเลือดของใครกันแน่" ภรรยาของ บิลลี่ กล่าว 

ก่อนหน้านี้ ดีเอสไอ ได้เคยนำเครื่องใช้ ก้นบุหรี่ เส้นผมที่ติดอยู่ในเสื้อของบิลลี่รวมถึงได้เก็บดีเอ็นเอของลูกชาย เพื่อไปตรวจเทียบดีเอ็นเอกับคราบเลือดที่พบในรถเจ้าหน้าที่อุทยานว่าเป็นเลือดของบิลลี่หรือไม่ แต่ผลการตรวจดังกล่าว แต่ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่ามีตัวอย่างเลือดน้อยไป ไม่สามารถระบุได้ รู้แต่เพียงว่าเป็นเลือดของเพศชายเท่านั้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐพันลึก: บทบาทระบบราชการในการเมืองไทย | วรรณภา-เกษียร-วสันต์-พิชญ์ [คลิป]

Posted: 28 Jun 2018 03:55 AM PDT

คลิปจากเวทีเสวนา "รัฐพันลึก: บทบาทระบบราชการในการเมืองไทย" เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 จัดที่ห้อง ร.202 ชั้น 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ร่วมเสวนาโดย ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ สาขาวิชาการบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กัมพูชากลายเป็นประเทศส่งออกจักรยานให้อียูมากที่สุด แซงหน้าไต้หวัน

Posted: 28 Jun 2018 02:23 AM PDT

สื่อพนมเปญโพสต์รายงานว่ากัมพูชากลายเป็นแหล่งผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่ที่สุดให้กับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปในปี 2560 แซงหน้าประเทศไต้หวันที่เคยครองตำแหน่งผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดให้กับอียูมากว่า 20 ปี ก่อนหน้านี้ ขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 7


พนมเปญโพสต์อ้างอิงข้อมูลดังกล่าวจากรายงานของเว็บไซต์ Bike-EU.com ที่ประกาศเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่ากัมพูชาส่งออกจักรยาน 1.42 ล้านคันเมื่อปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากเดิมที่ส่งออก 1.29 ล้านคันในปี 2559 ขณะที่ประเทศไต้หวันซึ่งครองอันดับหนึ่งมาตลอด 20 ปี ลดปริมาณการส่งออกจักรยานลงร้อยละ 15 จากจำนวนการส่งออก 1.56 ล้านคันในปี 2559 เหลือ 1.31 ล้านคันในปีที่แล้ว ส่วนไทยมีเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 7 ลดลงจากปีที่แล้ว 1 อันดับ

ที่มาภาพจาก: Bike Europe Conneting Professionals

แสง ทาย (Seang Thay) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชากล่าวว่าการผลิตจักรยานในกัมพูชาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงที่ละน้อยจากการเน้นผลิตชิ้นส่วนจักรยานเพื่อส่งออก กลายมาเป็นอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนภายในประเทศ ทำให้กัมพูชากลายเป็นผู้ส่งออกไปยังอียูแบบปลอดภาษีภายใต้โครงการ "ทุกอย่างที่ไม่ใช่อาวุธ" (Everything but Arms) ที่ให้การงดเว้นภาษีและโควตาการเข้าถึงตลาดเดียวของอียูได้

โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวอีกว่าการเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของกัมพูชาหมายความว่าชื่อเสียงของพวกเขาในฐานะผู้ส่งออกในเวทีต่างชาติดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งจะทำให้พวกเขา "มีการจ้างวานให้ผลิตมากขึ้นและเกิดการสร้างงานให้กับประชาชน"

ในเงื่อนไขการงดเว้นภาษีของอียูกำหนดให้ชิ้นส่วนการผลิตร้อยละ 30 ต้องเป็นชิ้นส่วนที่มาจากท้องถิ่นภายในประเทศ ถึงแม้ว่าในบางกรณีการใช้วัตถุดิบที่มาจากประเทศอื่นในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนก็นับเป็น "ชิ้นส่วนจากท้องถิ่น" ได้

ทั้งนี้พนมเฟญโพสต์ระบุว่าผู้ผลิตจักรยานภายในกัมพูชาเกือบทุกรายมีพื้นเพมาจากไต้หวันซึ่งยังคงมีสำนักงานใหญ่อยู่ในไต้หวันเอง ซึ่งโฆษกกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่ามีผู้ผลิตในกัมพูชา 5 ราย ที่ตั้งการผลิตอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

จัน โสพาล (Chan Sophal) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายกล่าวว่าการที่กัมพูชากลายเป็นผู้ส่งออกจักรยานอันดับหนึ่งถือเป็นเรื่องดีทำให้เกิดการกระจายความหลากหลายทางภาคส่วนการส่งออกมากขึ้นจากเดิมที่เน้นการส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทออย่างเดียว อย่างไรก็ตามโสพาลเตือนว่ากัมพูชาควรจะเพิ่มความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนการผลินที่อาศัยวัตถุดิบภายในประเทศรวมถึงการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมจักรยานด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Kingdom becomes top bicycle supplier to EU, Phnom Penh Post, 27-06-2018

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถอนชื่อรางวัล ลอรา อิงกัลส์ ไวลเดอร์ กรณี 'บ้านเล็กในป่าใหญ่' มีการเหยียดสีผิว

Posted: 28 Jun 2018 01:56 AM PDT

สมาคมห้องสมุดสำหรับเด็กในสหรัฐฯ (ALSC) สั่งตัดชื่อของ ลอรา อิงกัลส์ ไวลเดอร์ ออกจากชื่อรางวัลวรรณกรรมสำหรับเด็กหลังจากที่พิจารณาแล้วว่าผลงานของ ไวลเดอร์มีลักษณะเหยียดเชื้อชาติสีผิว อาจจะส่งอิทธิพลผิดๆ ต่อสังคมได้

little house in the big woods หรือ "บ้านเล็กในป่าใหญ่" เป็นผลงานของ ลอรา อิงกัลส์ ไวลเดอร์

ลอรา อิงกัลส์ ไวลเดอร์ เป็นนักเขียนหญิงคนขาวอเมริกันผู้เขียนผลงานชุด "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ตั้งแต่ช่วงระหว่างปี 2475-2486 ชื่อของเธอกลายเป็นชื่อรางวัลสำหรับวรรณกรรมเด็กของสมาคมห้องสมุดอเมริกัน (ALA) ที่ชื่อ "รางวัลเหรียญตรา ลอรา อิงกัลล์ ไวลเดอร์" มาตั้งแต่ปี 2497 จนถึงปี 2560 

แต่ในปีล่าสุดนี้สมาคมห้องสมุดสำหรับเด็กในสหรัฐฯ (ALSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยของ ALA ลงมติให้ถอนชื่อของไวลเดอร์ออกจากชื่อรางวัลแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "รางวัลมรดกวรรณกรรมสำหรับเด็ก" (Children's Literature Legacy Award) แทน เนื่องจากประเมินว่าวรรรณกรรมชุด "บ้านเล็กในป่าใหญ่" มีลักษณะ "เหยียดชนพื้นเมืองอเมริกันและเหยียดคนดำ" จากที่มีผู้ร้องเรียนก่อนหน้านี้ ALSC แถลงในเรื่องนี้ว่านิยายของไวลเดอร์มีการ "แสดงทัศนคติแบบเหมารวม" ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่านิยมหลักของ ALSC

นิยายเด็กของไวลเดอร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตท้องทุ่งจากมุมมองผู้ตั้งรกรากที่เป็นคนขาวอเมริกันถูกวิจารณ์เรื่องการใช้ภาษาที่ลดทอนความเป็นมนุษย์กับกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันและกลุ่มคนผิวสี เช่น ในบทแรกของหนังสือบ้านเล็กในป่าใหญ่เคยบรรยายฉากไว้ว่าที่นั่น "ไม่มีคนเลย มีแต่พวกอินเดียแดงอาศัยอยู่" ซึ่งต่อมาในปี 2496 สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์ส พับลิชชิง ตัดสินใจเปลี่ยนคำจาก "ไม่มีคนเลย" เป็น "ไม่มีผู้ตั้งรกรากเลย"

แต่ไม่ใช่แค่การใช้คำเท่านั้น นิยายของไวลเดอร์ยังมีเนื้อหาที่มีการเหยียดเชื้อชาติแบบเหมารวมและมีทัศนคติของคนขาวอเมริกันในยุคสมัยของไวลเดอร์ เช่น มีตัวละครหนึ่งพูดว่า "อินเดียแดงที่ดีมีแต่อินเดียแดงที่ตายแล้ว" รวมถึงมีการใช้คำเรียกคนดำว่าเป็น "ไอ้มืด" แม้ว่าจะมีแฟนนิยายบางคนมองว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญทางประวัติศาสตร์และน่าจะเป็นเครื่องมือการเรียนการสอนสำหรับเด็กได้

จดหมายเปิดผนึกจากกรรมการ ALSC ระบุว่าพวกเขาทราบดีถึงความซับซ้อนในประเด็นนี้และเข้าใจดีว่ามีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกรายล้อมอยู่ด้วย พวกเขาเข้าใจว่าหนังสือของไวลเดอร์มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์วรรณกรรมเด็กและจะยังคงมีคนอ่านอยู่จนถึงทุกวันนี้ และการตัดสินใจของพวกเขาอาจจะทำร้ายความรู้สึกของนักอ่านจำนวนมาก

การตัดสินใจเอาชื่อของไวลเดอร์ออกจากชื่อรางวัลวรรณกรรมเป็นการเคลื่อนไหวล่าสุดในสหรัฐฯ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมให้มีการเหยียดเชื้อชาติสีผิวน้อยลง จากที่ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยเสนอแผนการถอนอนุสาวรีย์ของผู้นำสมาพันธรัฐอเมริกาที่ส่งเสริมการเหยียดเชื้อชาติสีผิวออกจากสถานที่สาธารณะ อย่างไรก็ตามมีช้อโต้แย้งจากชาวอเมริกันส่วนหนึ่งว่าการนำอนุสาวรีย์สมาพันธรัฐออกจากเป็นการ "ลบเลือนวัฒนธรรม" ของฝ่ายใต้ในสหรัฐฯ แต่กลุ่มคนเชื้อชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนขาวโดยเฉพาะกลุ่มคนดำมองว่าอนุสาวรีย์เหล่านี้เป็นสิ่งที่เหยียดหยามกดขี่พวกเขา

 

เรียบเรียงจาก

Laura Ingalls Wilder removed from book award over racist language, BBC, 25-06-2018

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิเคราะห์ผู้นำคนใหม่คิวบา รับมือปัญหาตกทอดจากยุคก่อน-แนะปฏิรูปคิวบาเป็นประชาธิปไตย

Posted: 28 Jun 2018 01:41 AM PDT

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-คิวบา วิเคราะห์ถึงการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ของคิวบา แทนราอูล คาสโตร ท่ามกลางปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า และการขาดความชอบธรรมที่ทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของคิวบาไม่สามารถอ้างตัวบุคคลหรืออุดมการณ์แบบเดิมๆ อย่างสมัยฟีเดลได้ มีข้อเสนอว่าพวกเขาควรจะเปลี่ยนแปลงระบบให้รวมศูนย์อำนาจที่พรรคคอมมิวนิสต์น้อยลงและทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ประธานาธิบดีคนใหม่ของคิวบา มิเกล ดิแอซ-คาเนล แบร์มูเดซ 

28 มิ.ย. 2561 สื่อฝ่ายซ้ายจากสหรัฐฯ มีบทวิเคราะห์เกี่ยวกับประธานาธิบดีคนใหม่ของคิวบา มิเกล ดิแอซ-คาเนล แบร์มูเดซ ที่ได้รับการแต่งตั้งและมีการลงมติรับรองจากรัฐสภา ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกในหลายทศวรรษที่คิวบาไดัรับผู้นำที่ไม่ได้มาจากตระกูลคาสโตร ถึงแม้จะมีการประเมินว่าราอูล คาสโตร จะยังคงมีบทบาทอยู่เบื้องหลังต่อไป โดยที่ประธานาธิบดีคนใหม่นี้เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนน้อยมาก ทำให้หลายๆ คน หรืออาจจะแม้แต่เจ้าตัวเองมองไม่ออกว่าการสืบทอดตำแหน่งต่อจากคาสโตรจะมีผลอะไรต่อคิวบาบ้าง

อันเดรส แปร์เทียร์รา ผู้จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งฮาวานาที่เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-คิวบา วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ในนิตยสารฝ่ายซ้ายของสหรัฐฯ 'จาโคบิน' ระบุถึงประวัติของ ดิแอซ-คาเนล ที่มีบทบาทเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์คิวบามาโดยตลอด รวมถึงประธานาธิบดีคนใหม่นี้จะต้องฝ่าด่านการตรวจสอบอำนาจแต่ฝ่ายเดียวจากหลายภาคส่วนมากในระบบการเมืองปัจจุบันของคิวบา อีกทั้งยังมีเรื่องที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาเริ่มอ้างความชอบธรรมในการดำรงอำนาจด้วยข้ออ้างแบบเดิมๆ ตั้งแต่สมัยปฏิวัติของฟีเดล คาสโตร ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง สหรัฐฯ-คิวบา มองว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัด โดยตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้ราอูล คาสโตร จะเลิกเป็นประธานาธิบดีแล้วแต่ก็ยังคงมีบทบาททางการเมืองอยู่ในฐานะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาและมีเส้นสายครอบครัวเขาอยู่ในที่ต่างๆ ของสถาบันการเมืองคิวบา ทำให้ราอูลจะยังมีอำนาจอยู่

ระบบการเมืองในคิวบามีการแบ่งระหว่าง "คณะรัฐมนตรี" (The Council of Ministers) ซึ่งมาจากกระทรวงต่างๆ ซึ่งเป็นสายบริหารเรื่องเศรษฐกิจ กับ "คณะกรรมการแห่งรัฐ" (The Council of State) ที่เป็นฝ่ายกำกับนโยบายและการตัดสินใจต่างๆ ให้คณะรัฐมนตรีต้องทำตาม ขณะที่สภาแห่งชาติคิวบาจะประชุมกันแค่ปีละสองครั้งเท่านั้น และระบบก็มีลักษณะเน้นศูนย์กลายที่ตัวผู้นำมากมาตั้งแต่สมัยฟีเดล ลดลงมาบ้างช่วงสมัยราอูล การที่ดิแอซ-คาเนลไม่ใช่คนเด่นแบบตระกูลคาสโตรอาจจะทำให้ถูกบีบจากฝ่ายคณะกรรมการแห่งรัฐได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามราอูลเองก็มีความพยายามจะผลักดันให้ตัวแทนภาครัฐมีกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้นรวมถึงพยายามทำให้มีตัวแทนที่หลากหลายทางเชื้อชาติและเพศสภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตามในแง่ของการบริหารนโยบายภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่นี้ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างที่คิวบาเผชิญอยู่ในปัจจุบันรวมถึงเป็นสื่งตกทอดมาจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ แม้ว่าเราอาจจะเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นว่าดิแอซ-คาเนล จะจัดการกับปัญหาและปัจจัยต่างๆ อย่างไรในอีกหลายเดือนถัดจากนี้ แต่บทวิเคราะห์ของแปร์เทียร์ราก็ประเมินเรื่องต่างๆ ไว้ดังนี้

ปัจจัยทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ : ปัญหาหลังเวเนซุเอลาเกิดวิกฤต

ประเด็นแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับคิวบา จากที่สมัยรัฐบาลบารัค โอบาม่ามีการพยายามปรับความสัมพันธ์กับคิวบาให้ดีขึ้น แต่ในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เขาเคยประกาศว่าจะยุบนโยบายของโอบามาที่มีต่อคิวบา และเมื่อพิจารณาจากบุคคลรอบตัวของทรัมป์แล้วก็เห็นได้ชัดเจนว่าเขาจะทำให้สหรัฐฯ แข็งกร้าวต่อคิวบามากขึ้น 

ทรัมป์ยังเคยกล่าวอ้างว่าคิวบาเคยพยายาม "ทำลายสุขภาพ" ของทูตสหรัฐฯ กับทูตแคนาดาด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียง แต่ข้ออ้างนี้ไม่ได้รับการยอมรับแม้กระทั่งจากหน่วยสืบสวนของสหรัฐฯ อย่างเอฟบีไอ โดยตรวจสอบแล้วระบุว่าเป็นแค่อาการที่มาจากการตั้งเครื่องดักฟังจากหลายฝ่ายที่ส่งสัญญาณขัดกันเองจนทำให้หูมนุษย์ได้ยินเสียงเท่านั้น อีกทั้งแคนาดาถือเป็นประเทศคู่ค้าที่ดีกับคิวบามายาวนาน คิวบาจึงไม่มีแรงจูงใจโจมตีทูตแคนาดาเลยหรือแม้แต่แคนาดาเองก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะแสร้งทำเป็นว่าตัวเองถูกโจมตีทางสุขภาพเลย อย่างไรก็ตามข้อกล่าวหานี้จากปากทรัมป์แสดงให้เห็นว่าเขามีจุดยืนอย่างไรต่อกรณีความสัมพันธ์กับคิวบา

นอกจากความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แล้ว ในแง่เศรษฐกิจ ประเทศที่ส่งผลกระทบต่อคิวบามากคือเวเนซุเอลา คิวบาได้รับผลกระทบอย่างหนักหลังจากที่เวเนซุเอลาประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2557 เพราะคิวบาต้องพึ่งพาเวเนซุเอลาในฐานะแหล่งน้ำมันราคาถูก คิวบาเองมีแหล่งน้ำมั่นที่ขุดมาใช้เองอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้มีมากรองรับความต้องการได้ คิวบาเองก็เคยฟื้นตัวได้หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตจากการมีความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจร่วมกับเวเนซุเอลา แต่วิกฤตในเวเนซุเอลาทำให้ชาวคิวบาหลายคนบอกกับแปร์เทียร์ราว่าพวกเขากลัวคิวบาจะกลับไปสู่ช่วงเวลาที่ขาดแคลนในยุคหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายใหม่ๆ อีกครั้ง

รัฐบาลราอูลก่อนหน้านี้ก็พยายามแก้ปัญหาตรงจุดนี้อยู่ เช่นการสร้างโครงการส่งผู้เชี่ยวชาญจากคิวบาไปเพื่อแลกกับการช่วยเหลือเรื่องลดราคาน้ำมันและทรัพยากรอื่นๆ มีการเชื่อมสัมพันธ์เรื่องการนำเข้าน้ำมันจากประเทศอื่นๆ อย่าง แอลจีเรีย ไนจีเรีย และแองโกลา มีการพยายามสานสัมพันธ์กับรัสเซียและจีนทั้งในแง่การค้าและยุทธศาสตร์เพื่อคานอำนาจกับสหรัฐฯ ทำให้สามารถนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มได้อีกและมีความช่วยเหลือทางการทหารจากจีน

ขณะเดียวกันคิวบาก็มีโครงการดึงดูดการลงทุนจากประเทศพันธมิตรตะวันตกอย่างสเปน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส บราซิล เม็กซิโก เกาหลีใต้ คือโครงการเขตพัฒนาพิเศษมาริเอล (ZEDM) ที่ต้องการเปลี่ยนท่าเรือมาริเอลให้เป็นฮับอุตสาหกรรม แต่การลงทุนโดยรวมแล้วก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลคิวบา

อย่างไรก็ตามคิวบาก็ยังคงมีความพยายามสานสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในบางภาคส่วน โดยเฉพาะภาคส่วนที่พวกเขาเห็นว่าจะมองเห็นเรื่องผลประโยชน์ในการลงทุนกับคิวบาโดยไม่สนใจว่าจะมีอุดมการณ์อย่างไร และก็มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลคิวบาจะสานสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับสหรัฐฯ ในเรื่องนี้

ปัจจัยภายในประเทศที่รุมเร้า และการเข้าสู่ยุคที่รัฐไม่สามารถคุมการสื่อสารได้ในระดับเดิมอีกต่อไป

แปร์เทียร์ราระบุว่าขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจจะมีทั้งปัญหาและโอกาส แต่ปัญหาภายในประเทศดูมืดมนหาทางออกยากกว่า หนึ่งในนั้นคือปัญหาเรื่องค่าแรงของคนส่วนมากในคิวบาไม่มากพอแม้แต่จะจับจ่ายความต้องการขั้นพื้นฐานได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากการใช้ค่าเงินสองแบบในคิวบา

ในปี 2559 เงินเดือนโดยเฉลี่ยของคนทำงานในคิวบาทั้งในภาครัฐ และภาคผสมระหว่างภาครัฐกับเอกชนอยู่ที่ 740 เปโซคิวบาเท่านั้น (ราว 24,400 บาท) เมื่อเทียบกับราคาค่าครองชีพแล้วต้องอยู่ด้วยความยากลำบาก เมื่อพิจารณาจากราคาเนื้อ ผัก และน้ำมันทำอาหารที่ราคาสูงกว่าหรือเกือบจะเท่าค่าแรงต่อวัน ทำให้แรงงานภาครัฐต้องหันไปพึ่งตลาดมืดที่นำของผลิตจากภาครัฐออกมาขายใหม่อีกครั้ง หรือพึ่งบริการที่อาศัยทรัพยากรจากภาครัฐเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการทุจริตคอร์รัปชันไปในตัว นอกจากนี้ยังเคยมีกรณีที่รัฐบาลคิวบาสั่งเลย์ออฟข้าราชการ 5 แสนคนในปี 2553 เพื่อพยายามชดเชยความสูญเสียในบริษัทภาครัฐ ซึ่งถ้านำมาทำอีกครั้งในยุคของดิแอซ-คาเนล ก็จะยากเพราะคนไม่ยอมรับมากเท่า

ความล้มเหลวของรัฐบาลคิวบาในการจัดสรรค่าแรงที่ดำรงชีพได้ให้พนักงานยังทำลายความสำเร็จส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์การปฏิวัติเช่นระบบสวัสดิการสุขภาพและการศึกษาฟรีแบบถ้วนหน้า ปรากฏการณ์แบบนี้มีโอกาสทำให้เกิดภาวะ "สมองไหล" หรือคนที่มีความสามารถพากันออกไปนอกประเทศโดยเฉพาะกลุ่มงานสาธารณสุข แต่คิวบาก็พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการสกัดกั้นไม่ให้พวกหมอเดินทางออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันระบบการศึกษาในคิวบาก็กำลังล้มเหลวทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา ขณะที่ลูกคนรวยหาครูติววิชาให้ได้หรือบางครั้งก็มีการติดสินบนแลกเกรด แต่ถ้าหากไม่มีการจ่ายค่าแรงที่พอยังชีพได้โอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับสูงของเด็กก็น้อยมาก

ในประเด็นปัญหาค่าเงินของค่าของคิวบาที่ประกอบด้วยเปโซคิวบา (CUP) เปโซแบบ "แปลงค่าเงินได้" (convertible peso หรือ CUC) สาเหตุที่พวกเขาออกค่าเงินแบบที่สองมานี้เพราะหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายค่าเงินเดิมของพวกเขาแทบจะศูนย์มูลค่าเพราะขาดการลงทุนจากต่างชาติ จากนั้นบรรษัทที่รัฐบาลคิวบาเป็นเจ้าของต่างก็รับทั้งค่าเงินประจำประเทศและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จนกระทั่งต่อมาพวกเขาได้หยุดรับเงินดอลลาร์แล้วหันมาใช้ CUC แทน แต่มันก็ทำให้เกิดปัญหาเพราะบางแห่งก็รับแต่ CUP บางแห่งก็รับแต่ CUC มีปัญหาแบบนี้อยู่ระยะหนึ่งจนกระทั่งรัฐบาลราอูลออกมาตรการให้รับและเสนอราคาจากค่าเงินทั้งสองตระกูล

ทั้งนี้ปัญหาของค่าเงินสองแบบไม่ได้มีแค่เรื่องความไม่สะดวก แต่ยังมีเรื่องของการที่รัฐบาลประเมินค่าเงิน CUP สูงเกินไปจนสร้างภาพลวงตาว่าการนำเข้ามูลค่าถูกกว่าความเป็นจริงและภาพลวงตาที่ว่าเงินเดือนของคนงานดูสูงกว่าทั้งที่จริงๆ ต่ำมาก กลายเป็นเงื่อนปมปัญหายุ่งเหยิงที่ดิแอซ-คาเนลต้องรับภาระจัดการให้ได้ และในเมื่อรัฐบาลรวมศูนย์เศรษบกิจไว้ที่ตัวเองทั้งหมดทำให้บทบาทในการจะสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่ตัวรัฐบาลอย่างเดียว

การรวมศูนย์เช่นนี้ยังสร้างปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พังทลาย เกิดปัญหานี้ใหญ่มากในปี 2551-2556 มีปัญหาท่อประปาเก่าแตกจนในบางพื้นที่ไม่มีน้ำใช้ถึงขั้นต้องพึ่งรถบรรทุกขนน้ำมาใช้แทน นอกจากนี้ยังมีปัญหาการปฏิรูปภาคส่วนเอกชนที่ยังไม่เสร็จสิ้นในยุคสมัยของราอูลที่ส่งผลถึงปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนหนึ่งเพราะการทุจริตอย่างการที่ธุรกิจเอกชนมีการตกลงกันใต้โต๊ะกับร้านค้าที่เป็นของรัฐก็ทำให้สินค้าหายไปจากชั้นวางอย่างรวดเร็วหรือถึงขั้นอาจจะไม่ได้ขึ้นชั้นตั้งแต่แรกเพราะขายทอดไปก่อน

ทั้งนี้คิวบาเองก็ยังดูเหมือนจะขาดความสามารถในการสื่อสารแผนการของพวกเขาให้ประชาชนรับรู้ ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงใในเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารเองก็ทำให้ผู้คนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเซนเซอร์ของรัฐบาลแบบเปิดต่อสาธารณะมากขึ้นแทนการแอบพูดกันแบบในอดีต ในยุคสมัยนี้เองที่รัฐบาลไม่สามารถจะเป็นผู้ผูกขาดสื่อได้อีกต่อไปแบบยุค 40 ปีก่อนหน้านี้

คนรุ่นต่อไปที่ไม่เหมือนยุคฟีเดล - คิวบาต้องเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นการปฏิวัติถึงจะเกรียงไกร

แม้ว่าคิวบาจะเต็มไปด้วยปัญหา แต่รัฐบาลสมัยราอูลก็มีความพยายามอย่างหนึ่งแบบที่ปัญญาชนคิวบา ราฟาเอล แฮร์นันเดซ เคยกล่าวไว้คือพวกเขากำลังพยายามทดลองระบบใหม่ๆ ในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกระบวนการตัดสินใจ โดยการจัดอีเวนต์ระดับท้องถิ่นเพื่อให้ช่วยกันร่วมกันร่างสิ่งที่เรียกว่า "ลิเนียเมนตอส" (lineamentos) หรือ "แนวทาง" ที่เป็นเป้าหมายทางกรเมืองและเศรษฐกิจอย่างกว้างๆ รวมถึงมีแผนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญในเดือน ก.ค. นี้

แปร์เทียร์ราระบุว่าจากตัวแปรต่างๆ มีความเป็นไปได้ที่คิวบาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ เพราะต้องตามโลกทุนนิยมให้ทัน หรือไม่เช่นนั้นก็จะพยายามทวนกระแสโลกแล้วปล่อยให้ตัวเองจมลงไปเรื่อยๆ

เรื่องนี้เป็นเพราะชาวคิวบายุคใหม่ๆ ไม่ยอมรับการที่รัฐบาลเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากประชาชนและอาศัยแต่วิธีการอ้างความชอบธรรมเดิมๆ ให้ตัวเองแบบในยุคของฟีเดล คาสโตร อีกแล้ว ชาวคิวบาหนุ่มสาวบอกว่าพวกเขาต้องการเห็นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ นั่นทำให้คิวบาต้องเอาตัวเองเข้าไปสู่พลวัติของทุนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในยุคของฟีเดลอาจจะอาศัยแต่เรื่องความนิยมตัวบุคคล การสนับสนุนอุดมการณ์สังคมนิยม รวมถึงการอ้างอธิปไตยของคิวบาจากจักรวรรดิ์นิยมต่างชาติ แต่ในยุคนี้คิวบาจำต้องหันมาหาความชอบธรรมในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ทว่าแปร์เทียร์ราก็มองว่าการสร้างความชอบธรรมทางเศรษฐกิจแต่โดยผิวเผิน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองในแง่โครงสร้างอำนาจ ก็ทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลดูคลอนแคลน แปร์เทียร์ราเสนอให้คิวบาควรจะสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองด้วยการให้รัฐสภาที่มาจากเสียงของประชาชนได้ทำงานบริหารและตัดสินใจแทนการเป็นแค่ตราปั้ม การปฏิรูปสถาบันทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยเท่านั้นถึงจะทำให้การปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลบาติสตาประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง

 

เรียบเรียงจาก

Slow Train Coming, Andres Pertierra, Jacobin, 21-06-2018

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Miguel_D%C3%ADaz-Canel

https://en.wikipedia.org/wiki/Embassy_attack_accusations_in_Cuba

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จุฬาราชมนตรีขอมัสยิดทั่วประเทศขอพรให้ 13 เยาวชนติดถ้ำหลวง

Posted: 28 Jun 2018 01:13 AM PDT

จุฬาราชมนตรีชวนอิหม่ามทุกมัสยิด นำชาวมุสลิมร่วมขอพร (ดุอาร์) ในวันศุกร์ที่ 29 มิ.ย.นี้ เวลาหลังละหมาดวันศุกร์โดยพร้อมเพรียง

28 มิ.ย.2561 เฟซบุ๊กเพจสำนักจุฬาราชมนตรี เผยแพร่หนังสือด่วนที่สุด ลงนามโดย นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ขอความร่วมมือไปยังประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์เยาวชนและผู้ฝึกสอนได้หายเข้าไปในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย มาตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถค้นพบและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ ในการนี้ข้าพเจ้ามีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ประสบภัยดังกล่าว รวมทั้งครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ประสบภัย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ได้ระดมกำลังเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังความสามารถ จึงใคร่ขอความร่วมมือมายังประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ทั่วราชอาณาจักรโปรดประชาสัมพันธ์ให้อิหม่ามทุกมัสยิดทั่วประเทศ นำชาวมุสลิมร่วมขอพร (ดุอาร์) ในวันศุกร์ที่ 29 มิ.ย.นี้ เวลาหลังละหมาดวันศุกร์โดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อขอให้ผู้ประสบภัยและขอให้การปฏิบัติการค้นหาและให้ความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความปลอดภัย และสัมฤทธิ์ผลทุกประการโดยเร็วต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ระเบียบอัยการว่าด้วยการสั่งคดีที่ไม่เป็นประโยชน์

Posted: 28 Jun 2018 12:14 AM PDT

ราชกิจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน เพิ่มอำนาจให้อัยการฟังความเห็นนายกฯ หรือหน่วยงานอื่นกรณีกระทบสถาบันพระมหากษัตริย์

ราชกิจานุเบกษาวันที่ 27 มิ.ย.2561 เผยแพร่ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ให้พนักงานอัยการ คำนึงถึงปัจจัย 6 ข้อ ก่อนสั่งฟ้อง คดีจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ดังนี้

เพื่อให้การพิจารณาคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศที่มีเหตุอันสำคัญและมีความจำเป็นเร่งด่วนได้รับการพิจารณาด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบ สำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 สำนักงานอัยการสูงสุดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอัยการ จึงออกระเบียบ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์ อันสำคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561"

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 7 ของระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญา ที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ.2554 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน

"ข้อ 7 ในกรณีที่พนักงานอัยการเห็นว่า การฟ้องคดีจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศตามข้อ 5 ให้พนักงานอัยการพิจารณาโดยแสดงเหตุผลอันสมควรประกอบ โดยให้คำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) สาเหตุหรือมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิด ลักษณะความร้ายแรงของการกระทำความผิดผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิด

(2) เหตุผลตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศถึงผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมความสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ

(3) เหตุผลตามความเห็นของสภาความมั่นคงแห่งชาติถึงผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ

(4) เหตุผลตามความเห็นของรัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีถึงผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ

(5) เหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอื่นถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

(6) ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความสามัคคีของคนในชาติ

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในข้อ 9 ของระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญา ที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน

"ข้อ 9 ถ้าอัยการสูงสุดเห็นเองหรือมีความเห็นจากการเสนอเรื่องจากหัวหน้าพนักงานอัยการตามข้อ 5 ว่า การฟ้องคดีอาญาใดจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ อัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้อง แล้วแต่กรณี"

สำหรับสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นในระเบียบฉบับนี้จากระเบียบในปี 2554 นี้คือให้อำนาจอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องตามความเห็น ข้อ 7 (5) "เหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอื่นถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" และ ข้อ 9 "ถ้าอัยการสูงสุดเห็นเองหรือมีความเห็นจากการเสนอเรื่องจากหัวหน้าพนักงานอัยการตามข้อ 5 ว่า การฟ้องคดีอาญาใดจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ อัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้อง แล้วแต่กรณี" ซึ่งระเบียบใหม่ ได้เพิ่มในส่วนความเห็นจากการเสนอเรื่องจากหนัวหน้าพนักงานอัยการด้วย จากเดิมที่มีเพียงอัยการสูงสุด  

 

อ่านประกอบ : 

http://www.ago.go.th/new_law/law_230554_4.pdf

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DA…/PDF/2561/A/044/11.PDF

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น