ประชาไท Prachatai.com |
- ชีวิตบนผืนดินชาวบ้านแม่ส้าน บนความเสี่ยงที่ถูกละเมิดสิทธิ์การเตรียมประกาศอุทยานทับซ้อน
- โรงเรียนญี่ปุ่นหลายแห่งเริ่มปรับเครื่องแบบเอื้อต่อนักเรียน LGBT
- 6 องค์กรประกาศความสำเร็จ '10 ปี นโยบายล้างไตผ่านช่องท้อง' ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา
- ศาลฎีกายกฟ้อง ‘กลุ่มพลเมืองโต้กลับ’ ฟ้อง คสช.เป็นกบฏ
- เรียกร้องผู้นำ 'สหราชอาณาจักร-ฝรั่งเศส' แสดงออกไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ คสช.
- ยึดทรัพย์ บขส. 2.78 ล้าน จ่ายหนี้คำพิพากษา 5 ผู้บาดเจ็บรถตู้โดยสารสิงห์บุรี
- ฎีกาพิพากษายืนจำคุก 'การ์ด กปปส.' 1 ปี ไม่รอลงอาญา ขวางเลือกตั้งปี 2557
- แสงดาว ศรัทธามั่น เสียชีวิตแล้วในวัย 73 ปี
- ออกหมายจับ 'ทักษิณ' ใบที่ 3 หนีฟังคำสั่งคดีฟื้นฟูทีพีไอ
- ผิดหรือไม่? ถ้าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิต
- กวีประชาไท: แด่ควายเดนตายและผองหิ่งห้อย
- นปช.เตรียมล่า 2 หมื่นชื่อ ไต่สวน ป.ป.ช. หลังมีมติไม่รื้อคดีสลายชุมนุมปี 2553
- อย่าประหารตรรกะ!
ชีวิตบนผืนดินชาวบ้านแม่ส้าน บนความเสี่ยงที่ถูกละเมิดสิทธิ์การเตรียมประกาศอุทยานทับซ้อน Posted: 22 Jun 2018 03:55 AM PDT ทุกชีวิตในหมู่บ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กำลังตั้งอยู่บนความเสี่ยง ด้วยความที่ทางภาครัฐมีพยายามที่จะดำเนินการเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จึงเป็นที่กังวลของชาวบ้านในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและในเขตป่าชุมชนที่ร่วมกันจัดการดูแลสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ราวห้าทุ่มคืนวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ผู้เขียนขับเคลื่อนโตโยต้าโคลูน่ารุ่นหยดน้ำ พร้อมกับพี่ชายอีกคนที่ร่วมเดินทางฝ่าความมืดและสายฝนมาตลอดทางจาก อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ถึงยามฟ้าสางแวะจิบกาแฟที่ตัวเมืองลำปาง บรรยากาศอบอวลไปด้วยสายหมอกและละอองฝน ผู้เขียนกวาดสายสายตาพร้อมกับบังคับพวงมาลัยไปทางซ้ายที ขวาทีเพื่อเดินทางต่อ ขณะเดียวกันเท้าก็เหยียบคันเร่งและถอนความเร็วกับค่อยๆเตะเบรคไปตามจังหวะบนขอบผิวบนเส้นทางลาดยางที่คดเคี้ยวลาดชันรวมทั้งแวดล้อมไปด้วยความสมบูรณ์ของผืนป่าธรรมชาติที่ทรงคุณค่าแห่งขุนเขากับผาหินและหมอกขาวที่เผยโฉมให้ชมความงดงามมาตลอดทาง เมื่อถึงจุดหมายที่บ้านจำปุย อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ผู้เขียนพักพาหนะคู่ใจให้อยู่ในความสงบนิ่งในโบสถ์แห่งหนึ่งเป็นเวลา 2 คืนกับอีก 1 วัน เนื่องจากประเมินแล้วว่าการสุ่มเสี่ยงจะเกิดความเพลี่ยงพล้ำบนทางข้างหน้าระหว่างหุบเขากับผาชันประกอบกับช่วงนี้ฝนตกชุก จึงยังไม่ควรที่รถเก๋งจะเลาะเลียบปีนป่ายขึ้นยอดภูนั้น และ "กำธร" ซึ่งเป็นเยาวชนของบ้านแม่ส้าน ได้ขับรถปิคอัพมารับตามนัดหมายในเวลา 08.00 น. เพื่อนำไปร่วมสมัชชาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 -21 มิ.ย. 2561 ซึ่งทาง สกน.ได้เชิญตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) คือผู้เขียนและพี่ชายอีกคน (ปราโมทย์ ผลภิญโญ) และมีตัวแทนองค์กรอื่นๆ ที่เป็นเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน ในครั้งนี้ด้วย ระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร คงยังฟุ้งไปด้วยสายหมอกและละลองฝน แม้บางช่วงจะเป็นถนนคอนกรีตสลับถนนดินแดง แต่ทว่าต้องใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงครึ่ง เป็นความสุดยอดอีกระดับดังคำขานที่กล่าวว่าเป็นทางกิโลดอย บนเส้นทางอันคดเคี้ยวเลี้ยวลดต้องลัดเลาะไต่ระดับความสูงขอบเขา จากจุดเริ่มออกตัวที่บ้านจำปุย หนทางหาได้เป็นอุปสรรคต่อความชำนาญของหนุ่มกำธร ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ชาติพันธุ์แห่งนี้ ได้นำผู้เขียนและพี่ชายที่ร่วมทาง ขึ้นสู่สถานที่จัดงานสมัชชา สกน.ที่บ้านแม่ส้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ด้วยความปลอดภัย และบนดอยสูงสุดเส้นทางสายนี้ ผมพบชาวเขากลุ่มหนึ่งเป็นชาวพื้นเมืองกะเหรี่ยง (ปกาเกอญอ) ที่มีวิถีการผสานชีวิตตนเองเข้ากับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน จากการบอกเล่าของก้อง (เยาวชนบ้านแม่ส้าน) และพ่อเฒ่า (พ่อของก้อง) บรรพบุรุษของเขาเป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ (ยาแดง) มาตั้งถิ่นฐานว่าตรงนี้นานกว่า 300 ปี เริ่มแรกจะนับถือผี แต่มาถึงปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 85 จะนับถือศาสนาพุทธ ส่วนที่เหลือจะนับถือศาสนาคริสต์ ชาวบ้านจะประกอบอาชีพทำการผลิตแบบไร่หมุนเวียน และปลูกเครื่องเทศพื้นบ้านที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของคนภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากแหล่งทรัพยากรในพื้นที่ป่า ได้แก่ หน่อไม้ น้ำผึ้งป่า เป็นต้น และวิถีการผลิตอีกอย่างที่สืบเนื่องมาหลายชั่วอายุคน ได้แก่การทำนา ปลูกกาแฟ และปลูกพืชสมุนไพร เช่น มะแหลบ มะแขว่น ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่สำคัญในท้องถิ่น ก้อง บอกด้วยว่า หมู่บ้านของพวกเขาที่ตั้งอยู่กลางยอดภูดอยมีทั้งสิ้น 135 ครัวเรือน มีโรงเรียนบ้านแม่ส้าน ที่ชาวบ้านร่วมก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2520 อีก 1 แห่ง ปัจจุบันมีการสอนกันตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมีวัดกับโบสถ์คริสต์อย่างละ 1 แห่ง "แต่ว่าทุกชีวิตในหมู่บ้านแห่งนี้กำลังตั้งอยู่บนความเสี่ยงด้วยความที่ทางภาครัฐมีพยายามที่จะดำเนินการเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จึงเป็นที่กังวลของชาวบ้านในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและในเขตป่าชุมชนที่ร่วมกันจัดการดูแลสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น บนเนื้อที่ประมาณ 18,000 ไร่ จะนำมาสู่การละเมิดสิทธิ ในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ชาวบ้านจึงร่วมกันต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนและเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เพื่อผลักดันการต่อสู้ให้มีแนวทางแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายกับภาครัฐ และล่าสุดเมื่อวันที่ 2 – 12 พ.ค. 2561 พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมปักหลักชุมชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหากับรัฐบาล" เยาวชนบ้านแม่ส้าน บอกทิ้งท้าย เรื่องเล่าระหว่างการเดินทางที่ถือเป็นการเคลื่อนไหวในด้านการเรียนรู้ด้วยความคาดหวังว่าจะทำให้มองเห็นความเป็นไปของโลกและชีวิตได้จากในอีกแง่มุมหนึ่ง การได้มาเรียนรู้กระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านแม่ส้าน ซึ่งมีแบบแผนการผลิตและการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ด้วยการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศน์ ทั้งความเป็นมิตรที่ดีของชาวบ้านที่มอบความรัก ความอบอุ่นใจ และดูแลมาด้วยดีตลอด 2 คืน กับอีก 1 วัน อบอุ่นไมตรีจากคนอยู่ป่า ประเพณีวัฒนธรรมอันสวยงาม ด้วยใจยึดมั่นต่อการขึ้นสู่ดอยมาเยือนอีกสักครั้งคงยังไม่พอ แต่ในขณะเดียวกันที่เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่คนอยู่กับป่าควบคู่ไปกับการปกป้องดูแลป่านั้น หากรัฐให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า อย่างที่ชาวบ้านทำกันอยู่ในขณะนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าความขัดแย้งจะเกิดขึ้นน้อยมาก แต่การจัดการป่าโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการเตรียมการประกาศเป็นอุทยานทับซ้อนสิทธิ์ที่ดินชาวบ้าน เพื่อเบียดขับพวกเขาลงจากดอยไปอยู่ที่อื่น แน่นอนว่าความสุ่มเสี่ยงนี้หากเกิดขึ้นคราใด ย่อมสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้านอย่างมากมาย ความเดือดร้อนที่จะได้รับ นอกจากแหล่งที่เพาะปลูกทำกินแล้ว ไออุ่นจากผืนดินนี้ รวมทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่ครั้นบรรพบุรุษ จะพลันสูญสลายตามไปด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โรงเรียนญี่ปุ่นหลายแห่งเริ่มปรับเครื่องแบบเอื้อต่อนักเรียน LGBT Posted: 22 Jun 2018 03:14 AM PDT โรงเรียนหลายแห่งของญี่ปุ่นเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายเครื่องแบบนักเรียนให้เอื้อต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) มากขึ้น เช่น อนุญาตให้ผู้มีเพศกำเนิดหญิงสวมกางเกงขายาวแทนกระโปรงได้ หรือให้ผู้มีเพศกำเนิดชายที่เป็นหญิงข้ามเพศสวมกระโปรงได้ แม้กระทั่งนักเรียนที่ไม่ใช้ LGBT ก็ได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้เช่นกัน ในแง่ที่สามารถเลือกได้ว่าจะสวมเครื่องแบบๆ ใดที่เหมาะสมกับการใช้งานและความสะดวกของตัวเอง ที่มาภาพ: Tombow Co. 22 มิ.ย. 2561 สื่อเกียวโดนิวส์ของญี่ปุ่นรายงานว่ามีโรงเรียนในญี่ปุ่นที่ปรับเปลี่ยนกฎเครื่องแบบนักเรียนให้เป็นแบบไม่จำกัดเพศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ก็เปลี่ยนกฎให้ยืดหยุ่นในเรื่องเครื่องแบบมากขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนนักเรียนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนกล่าวว่าพวกเขาหวังว่าการเปลี่ยนแปลงกฎเช่นนี้จะทำให้นักเรียนไม่ต้องเป็นทุกข์กับการถูกบังคับให้สวมเครื่องแบบที่มีเพศซึ่งอาจจะไม่ตรงตามเพศสภาพของพวกเขาในแบบที่พวกเขาอยากเป็น หนึ่งในโรงเรียนที่มีนโยบายเครื่องแบบเช่นนี้คือ โรงเรียนมัธยมต้นคาชิวาโนวะ ในจังหวัดจิบะที่อยู่ติดกับโตเกียว โรงเรียนแห่งนี้เพิ่งเปิดให้มีการเรียนการสอนเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โรงเรียนคาชิวาโนวะอนุญาตให้นักเรียนสามารถเลือกแต่งกายได้ว่าจะสวมกระโปรงหรือจะสวมกางเกงสแล็ก จะติดริบบินหรือไม่ติด หรือจะสวมเสื้อแจ็กเก็ตแบบเบลเซอร์ก็ได้โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นเพศใด เดิมทีโรงเรียนคาชิวาโนวะไม่ได้คิดจะใช้นโยบายเครื่องแบบเช่นนี้ แต่เนื่องจากมีการสำรวจผู้ปกครองและนักเรียนพบว่าร้อยละ 90 ต้องการให้มีนโยบายเครื่องแบบไม่จำกัดเพศจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยที่กลุ่มผู้ปกครอง ครู นักเรียนที่กำลังจะเข้าศึกษาและสมาชิกกรรมการบอร์ดการศึกษา ร่วมประชุมหารือกันว่าจะจัดให้มีเครื่องแบบๆ ใด มีสมาชิกบางส่วนในที่ประชุมเสนอว่าควรจะมีการพิจารณาโดยคำนึงถึงผู้มีความหลากลายทางเพศด้วย นอกจากนี้ยังควรอนุญาตให้เด็กผู้หญิงสวมกางเกงขายาวได้เพราะมันสะดวกกว่าและอุ่นกว่าในฤดูหนาว โคชิน ทากิ รองอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนคาชิวาโนวะกล่าวว่ามันเป็นเรื่องดีกว่าที่จะให้นักเรียนใส่อะไรที่รู้สึกสะดวกกับตัวเอง ทำให้นักเรียนรู้สึกอยากมาโรงเรียน แค่แต่งกายโดยใช้สีสุภาพที่ไม่ฉูดฉาดเกินไปก็พอ นอกจากโรงเรียนในจิบะแล้ว ยังมีโรงเรียนในที่อื่นๆ มีนโยบายคล้ายๆ กันอย่างโรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่งในจังหวัดฟุกุโอกะที่ยกเลิกเครื่องแบบๆ เดิมเปลี่ยนมาเป็นเบลเซอร์และให้นักเรียนเลือกสวมกระโปรงหรือกางเกงได้ตามต้องการ โดยจะเริ่มต้นใช้เครื่องแบบนี้ช่วงต้นปีการศึกษาหน้า นอกจากนี้กรรมการบอร์ดการศึกษาแขวงเซตางายะในกรุงโตเกียวซึ่งเป็นแขวงที่ขึ้นชื่อเรื่องการยอมรับ LGBT ก็วางแผนจะทำแบบเดียวกันในปีการศึกษาหน้า ขณะที่โอซากาและฟุกุโอกะก็จะเริ่มพิจารณาว่าเครื่องแบบๆ ใดที่ทำให้นักเรียน LGBT ยอมรับได้ อันริ อิชิซากิ ประธานองค์กร FRENS ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนส่งเสริมกลุ่ม LGBT กล่าวว่าการบังคับให้สวมใส่ชุดเครื่องแบบที่จำกัดเพศตามเพศกำเนิดจะกลายเป็นภาระสำหรับคนข้ามเพศที่ยังไม่อยากเปิดเผยเพศสภาพของตัวเอง นักเรียนบางคนจะรู้สึกอายที่ต้องอยู่ในเครื่องแบบที่ตัวเองไม่ชอบจนไม่มีสมาธิเรียน บางคนก็อาจจะถึงขั้นไม่ไปโรงเรียนเลย การให้นักเรียนมีทางเลือกสวมเครื่องแบบจะทำให้นักเรียนข้ามเพศรู้สึกผ่อนคลายกว่า จากข้อมูลการสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการฯ ของญี่ปุ่นในปี 2557 ระบุว่ามีนักเรียนจากทุกระดับชั้นตั้งแต่ประถมถึงมัธยมศึกษาขอรับคำปรึกษาในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองรวม 606 กรณี ปีถัดจากนั้นทางกระทรวงก็ได้ประกาศส่งเสริมให้โรงเรียนเพิ่มการสนับสนุนนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศและให้คำนึงถึงประเด็นเรื่องเสื้อผ้า ทรงผม การใช้ห้องน้ำ การใช้สระว่ายน้ำ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ของพวกเขา บริษัทผลิตชุดเครื่องแบบทอมโบว์ที่ไดรับเลือกผลิตชุดให้โรงเรียนคาชิวาโนฮะเริ่มผลิตชุดเครื่องแบบที่เป็นกลางทางเพศเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่มีคำประกาศเรื่องความหลากหลายทางเพศของรัฐบาลในปี 2558 อายุมิ โอคุโนะ ดีไซเนอร์ผลิตภัณฑ์โรงเรียนของทอมโบว์กล่าวว่าเธอเคยสัมภาษณ์นักเรียน LGBT หลายคน พวกเขาบอกว่าไม่อยากสวมชุดที่ดูแบ่งแยกชายหญิงชัดเจน ทำให้เธอพยายามออกแบบชุดในลักษณะที่ไม่ขับเน้นให้ดูเป็นหญิงมากเกินไป อย่างไรก็ตามเธอก็มีทางเลือกชุดนักเรียนอื่นๆ ให้กับนักเรียนเหล่านี้ ให้พวกเขาเลือกได้ว่าแบบไหนที่เหมาะที่สุดสำหรับตัวเอง จากเครื่องแบบทั้งหมดที่ทอมโบว์ผลิตให้กับโรงเรียนญี่ปุ่นมี จนถึงตอนนี้ร้อยละ 50 แล้วที่ปรับให้ชุดนักเรียนหญิงเปลี่ยนเป็นกางเกงแสล็ก มีสองโรงเรียนที่อนุญาตให้เลือกสวมกระโปรงได้สำหรับนักเรียนที่เป็นหญิงข้ามเพศ แต่โอคุโนะก็แสดงความกังวลว่าถึงแม้นักเรียนและโรงเรียนจะยอมรับในเรื่องนี้ สังคมอาจจะยังไม่ยอมรับง่ายๆ ทั้งนี้ก็มีบางคนตั้งคำถามว่าการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบอาจจะกลายเป็นการเปิดเผยเพศสภาพหรือทำให้คนเพศหลากหลายกลายเป็นจุดสนใจแม้เจ้าตัวไม่ต้องการหรือไม่ จากการสำรวจเรื่องที่มีนักเรียนขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาเพศสภาพ 606 กรณีนั้น มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เปิดเผยตัวตนทางเพศของตนเองให้เพื่อนในโรงเรียนรู้ อย่างไรก็ตามสำหรับรองอาจารย์ใหญ่ทากิแห่งโรงเรียนคาชิวาโนวะ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ปัญหา เขาบอกว่าจะมีการคอยตรวจสอบปฏิกิริยาของนักเรียนหลังจากได้สวมเครื่องแบบชนิดใหม่เหล่านี้อย่างเอาใจใส่ รวมถึงย้ำว่าไม่เพียงคนข้ามเพศเท่านั้นที่สวมเครื่องแบบยืดหยุ่นได้ แต่คนอื่นๆ ก็สามารถสวมเครื่องแบบเหล่านี้ได้ด้วยเหตุผลในด้านการใช้งานเช่นกัน "ผมหวังว่ามันจะช่วยให้นักเรียนเลือกสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสวมใส่ได้โดยไม่จำเป็นว่าจะเปิดเผยตัวตนทางเพศของตัวเอง" ทากิกล่าว เรียบเรียงจาก Japanese schools introduce LGBT-friendly uniforms, Kyodo News, 19-06-2018 ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
6 องค์กรประกาศความสำเร็จ '10 ปี นโยบายล้างไตผ่านช่องท้อง' ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา Posted: 22 Jun 2018 02:23 AM PDT 6 องค์กรร่วมประกาศความสำเร็จ '10 ปี นโยบายล้างไตผ่านช่องท้อง' ช่วยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั่วประเทศเข้าถึงการรักษา ลดอัตราตาย แถมมีคุณภาพชีวิตที่ดี เผยปัจจุบันมีผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องในระบบกว่า 2.4 หมื่นคน พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ "ผู้ริเริ่มนโยบาย PD FIRST POLICY" 22 มิ.ย. 2561 ที่อิมแพค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี ได้มีการจัดงานประชุมวิชาการหนึ่งทศวรรษการพัฒนาคุณภาพบริการล้างไตผ่านช่องท้อง (10 Years of Thailand PD First Policy "Dialysis for All, No one Left Behind") พร้อมมอบรางวัล "ผู้ริเริ่มนโยบาย PD FIRST POLICY (การล้างไตช่องท้องเป็นทางเลือกแรก) ในประเทศไทย ที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้มากกว่า 80,000 รายจนถึงปัจจุบัน" จัดโดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมพยาบาลโรคไต ชมรมโรคไตเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย โดยมีแพทย์และพยาบาล ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริการล้างไตผ่านช่องท้องจากทั่วประเทศเข้าร่วม ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับมอบรางวัลผู้ริเริ่มนโยบาย PD FIRST POLICY (การล้างไตช่องท้องเป็นทางเลือกแรก) ในประเทศไทยฯ ครั้งนี้ ได้แก่ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข, นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ, นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช., รศ.นพ.ทวี ศิริวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นพ.ไพจิตร วราชิต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิโรคไตแห่งไทย, ศ.ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ อดีตนายกสภาการพยาบาล, นางดรุณี จันทร์เลิศฤทธิ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลนำร่องโครงการล้างไตผ่านช่องท้องและเป็นศูนยบำบัดทดแทนไตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย เป็นโรครักษาไม่หาย จำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องโดยเฉพาะการเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต แม้ว่าการปลูกถ่ายไตจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดการบริจาคไตที่มีจำนวนน้อย ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องทำการบำบัดทดแทนไต โดยในอดีตคำพูดว่าเป็นโรคไตก็เหมือนใกล้ตาย เนื่องจากการรักษาต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 250,000 บาทต่อปี ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาการเงินไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ แม้ว่าบางรายมีกำลังทรัพย์แต่ระยะยาวต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล แต่จากที่ สปสช.ได้ดำเนินนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่องปีงบประมาณ 2551 หลังมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 และได้มีการพัฒนาระบบโดยร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบำบัดทดแทนไตมากขึ้นและไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษา ทั้งนี้จากปี 2551 ที่ได้เริ่มนโยบายล้างไตผ่านช่องท้อง ขณะนั้นมีผู้ป่วยที่รับการล้างไตผ่านช่องท้อง 1,198 ราย โดยระหว่างนั้นจำนวนผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องได้เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่เข้าถึงการล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน 24,244 ราย ทั้งยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ลดอัตราการนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งอัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องแบบต่อเนื่องปัจจุบันน้อยกว่าร้อยละ 9.2 ต่อปี "การล้างไตผ่านช่องท้องจุดเด่นคือทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำงานและใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติได้ ผู้ป่วยเองรู้สึกมีคุณค่าใช้ชีวิต ดังนั้นสมาคมโรคไตฯ ขอสนับสนุนและพัฒนาการรักษาการล้างไตอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดไป" นายสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าว นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายวันนี้ สปสช.เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ผลที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบจนทำให้เกิดการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยเฉพาะในปี 2550 ที่นับเป็นก้าวแรกของพลังความร่วมมือ โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง โดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ในขณะนั้น ที่ได้ประกาศเดินหน้านโยบายดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีการสนับสนุนจากสมาคมวิชาชีพทางการแพทย์ ในการปรับกระบวนการบริหารจัดการและดูแลผู้ป่วย ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ มีพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขทำหน้าที่มดงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จนทำให้นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมบริหารจัดการจนทำให้น้ำยาล้างไตมีราคาถูกลง และมีบริการจัดส่งให้กับผู้ป่วยเข้าถึงได้ ตลอดจนเครือข่ายผู้ป่วยที่มีส่วนร่วมพัฒนาระบบ "10 ปีที่ผ่านมา นับว่าเร็วมากสำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อดูจากอุปสรรคทั้งปัญหาด้านจัดการ ปัญหาทัศนคติ และงบประมาณที่เราร่วมก้าวข้ามมาได้ และเปลี่ยนแปลงจากจำนวนคนไข้ล้างไตผ่านช่องท้อง 0 รายในวันเริ่มต้น จนปัจจุบันมีผู้ป่วยรับการล้างไตผ่านช่องท้องกว่า 24,000 คน เป็นผลที่มาจากความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ที่นำไปสู่ชัยชนะร่วมกัน นอกจากนี้ยังเป็นการบรรลุวิสัยทัศน์การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างมีคุณภาพ ไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญจากนี้คือเราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันวางแผนภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะที่หน่วยบริการต้องมีคุณภาพมากขึ้น การขับเคลื่อนในมิติอื่นในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงการพัฒนาระบบบริการที่ไม่หยุดนิ่งเพื่อเพิ่มทางเลือกการบำบัด ตลอดจนการสื่อสารข้อมูลข่าวสารความสำเร็จเพื่อสร้างความเข้าใจ ทั้งหมดนี้เป็นการเดินหน้าเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เหมาะสมกับที่เป็นอยู่ ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลฎีกายกฟ้อง ‘กลุ่มพลเมืองโต้กลับ’ ฟ้อง คสช.เป็นกบฏ Posted: 22 Jun 2018 02:09 AM PDT ศาลฎีกายืนยกฟ้อง กรณี 'กลุ่มพลเมืองโต้กลับ' ฟ้อง 'ประยุทธ์-คสช.' ข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จากการยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 ชี้ต้องตีความกฎหมายให้บังคับใช้ได้รักษารัฐ-รัฐธรรมนูญปี 2557 คุ้มครองอยู่
22 เม.ย. 2561 ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.1805/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ 1760/2558 กรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คสช. ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างยกฟ้อง โดยให้เห็นผลว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะรัฐประหารร่างขึ้นใหม่มีบทบบัญญัติยกเว้นโทษการทำรัฐประหารและการใช้อำนาจต่อจากนั้นไว้แล้ว ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้อง พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงโดยอำนาจตามมาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่บัญญัติโดย คสช. ซึ่งมีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่า เป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติ โดยควบคุมกลไกและหน่วยงานของรัฐได้นั้นมีสภาพเป็นกฎหมาย และตามมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ถูกตราขึ้นในวันที่ 6 เม.ย. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่คำพิพากษายกฟ้องนี้ระบุว่าศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยสองส่วน ส่วนแรกตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบห้าว่า ที่ศาลล่างทั้งสอง พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบห้านั้นชอบหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสิบห้าฎีกาว่า "……มาตรา 47 แ ละ มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อมโนธรรมและหลักการพื้นฐานแห่งความยุติธรรมของมนุษย์อย่างชัดแจ้งอันมีผลทางให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่สภาพเป็นกฎหมายแต่อย่างใด และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะต้องอยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานทั่วไปของระบบกฎหมายที่ว่า "บุคคลหาอาจถือเอาประโยชน์จากความฉ้อฉลที่ตนได้ก่อขึ้น หาอาจเรียกร้องใดบนความอยุติธรรมของตน หาได้รับยกเว้นความรับผิดจากอาชญากรรมของตัวเองได้" การกระทำของจำเลยทั้งห้า จึงไม่อาจจะพ้นจากความรับผิดตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 กำหนดไว้ได้ …." ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า "สภาพความเป็นรัฐของรัฐใดรัฐหนึ่งนั้น จะต้องประกอบไปด้วยดินแดนอาณาเขตแน่นอนและมีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนนั้นโดยมีรัฐบาลปกครองและมีอธิปไตยเป็นของตนเอง ประการสำคัญการตีความกฏหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ แม้ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิบห้าที่อ้างว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ไม่ชอบในลักษณะที่เป็นกฏหมายก็ดี แต่การตีความกฏหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ตามที่กล่าวไปแล้วและต้องเป็นการตีความในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเจตนารมณ์แห่งความธำรงอยู่ของความเป็นรัฐหรือชาติบ้านเมืองด้วย มิฉะนั้นสถานะความเป็นรัฐหรือความเป็นชาติบ้านเมืองจะถูกกระทบให้เสียหายไปเพราะไม่มีอธิปไตยอยู่ครบถ้วน ……..เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการกครองแผ่นดินจากรัฐบาลรักษาการได้อย่างเบ็ดเส็จและประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 คณะรัฐมนตรีและวุฒิสภาสิ้นสุดลง ประเทศไทยในขณะนั้นจึงไม่มีหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ แต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์แทนซึ่งแม้การได้มาซึ่งอำนาจนั้จะเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยดังที่โจทก์ทั้งสิบห้ากล่าวอ้าง และจะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่าเป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติโดยควบคุมกลไกและหน่วยงานของรัฐได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีสภาพเป็นกฏหมาย" จากนั้นศาลฎีกาได้อ่านความในมาตรา 48 อีกครั้ง "……มาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 นั้น ประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบันแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจในการไต่สวน อีกทั้งในมาตรานี้ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ศาลฎีกายังได้เพิ่มเติมเรื่องบทบัญญัติมาตรา 279 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไว้ในคำพิพากษาว่า "มาตรา 279 ที่ได้บัญญัติรับรองประกาศ คำสั่งและการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่งหรือการกระทำที่มีผลบังคับใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยกฏหมายรัฐธรรมนูญนี้และกฏหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป….ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฏหมาย" การวินิจฉัยส่วนที่สอง ที่โจทก์ทั้งสิบห้าฎีกาเรื่องที่ศาลยกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้อง ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 116 (1) เป็นการข้ามขั้นตอนกระบวนการพิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลเห็นว่า "การไต่สวนมูลฟ้องหรือต้องวินิจฉัยว่าฟ้องมิมูลและประทับรับฟ้องไว้พิจารณาก่อนเสมอไป หากศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี หรือมีเหตุตามกฏหมายที่จำเลยไม่ควรรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องจำเลยไป ทั้งนี้ ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ดังนี้ เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้องพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงดังที่วินิจฉัยแล้วข้างต้น ศาลชอบที่จะยกฟ้องได้เลย โดยไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องและประทับรับฟ้องก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบห้านั้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสิบห้าฟังไม่ขึ้น" ทนายอานนท์ชี้เป็นความพ่ายแพ้ร่วมกันที่นำผู้กระทำความผิดในการรัฐประหารมาลงโทษไม่ได้ผู้สื่อข่าวประชาไทได้สัมภาษณ์ทนายอานนท์ นำภา ทนายความกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ระบุว่ายืนยันว่าจะเคลื่อนไหวต่อ โดยยังมีอีกหลายช่องทางให้เคลื่อนไหวได้เช่นการล้มล้างผลพวงของการรัฐประหารในประเด็นต่อๆ ไป และในส่วนตัวกังวลว่าคำพิพากษานี้อาจจะทำให้บรรดานายทหารใช้เป็น 'หลังพิง' เพราะต่อให้ทหารเข้ามารัฐประหารแม้จะไม่สำเร็จแต่ก็ไม่สามารถเอาผิดได้ ซึ่งเป็นข้อน่าห่วงต่อสังคมไทยเช่นเดียวกันเพราะระบบกฎหมายไทยนั้นไม่เอื้อต่อการนำเอาตัวผู้ก่อรัฐประหารมาลงโทษ นอกจากนี้ ข่าวสดออนไลน์ ยังได้เผยแพร่ความเห็นของทนายอานนท์ ว่าศาลมีคำสั่งให้ยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำรัฐประหารในช่วงนั้น สามารถมาบริหารประเทศได้ ซึ่งเราก็เคารพคำพิพากษาของศาล โดยเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทยอยู่ในเงื่อนไขแบบเดิม ที่เราต้องต่อสู่ทางการเมืองต่อไป อย่างน้อยเราก็ได้ใช้สิทธิในการฟ้องว่าการทำรัฐประหารเป็นการกระทำผิด โดยนัยยะของคำพิพากษาศาลเห็นว่า กระทำผิดแต่หลุดพ้นจากความผิดตามรัฐธรรมนูญที่ออกโดยคณะรัฐประหาร การที่เราพยายามพิสูจน์ว่าการรัฐประหารที่ผ่านมา 4 ปีแล้ว ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างไร คิดว่าเราก็ได้ประจักษ์แล้ว ถือว่าเป็นความสำเร็จร่วมกัน ขณะเดียวกันก็เป็นความพ่ายแพ้ร่วมกัน ที่นำผู้กระทำความผิดในการรัฐประหารมาลงโทษไม่ได้ เราก็กังวลว่าในอนาคตหากสังคมและกระบวนการยุติธรรมยังเอื้อที่จะก่อให้เกิดรัฐประหารก็จะเป็นปมเงื่อนที่ประเทศไทยจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ ทั้งนี้สำหรับในหลายประเทศที่มีการเอาผิดการรัฐประหารมาลงโทษได้นั้น ก็ต่อเมื่อประเทศและสังคมตระหนักร่วมกันว่าการรัฐประหารเป็นภัยต่อสังคม ซึ่งเรารอได้ไม่ว่าจะ 10 หรือ 20 ปี เพื่อที่จะเห็นการนำผู้กระทำความผิดต่อบ้านต่อเมืองมาลงโทษ เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะดำเนินการทางการเมืองอย่างไรต่อไปทนายอานนท์กล่าวว่า เบื้องต้นกลุ่มเราซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่จะเคลื่อนไหวให้มีการเลือกตั้งและสนับสนุนนักการเมืองที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยเข้าไปยกเลิกผลพวงของการรัฐประหาร และเมื่อถามว่าคำพิพากษาของศาลในลักษณะนี้จะทำให้ยังมีโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารในอนาคตต่อไปหรือไม่ทนายอานนท์กล่าวว่า จะทำให้เหล่านายทหารรู้สึกย่ามใจว่าทำรัฐประหารไปก็จะไม่ผิด ซึ่งในวันข้างหน้าเราก็จะได้เรียนรู้ร่วมกัน ในวันนี้เราอาจจะไม่ชนะ แต่วันข้างหน้าสังคมไทยจะต้องชนะรัฐประหาร ซึ่งลำพังกฎหมายไม่สามารถเอาผิดรัฐประหารได้อยู่แล้ว นอกจากว่าผู้คนในสังคมนั้นจะต้องตื่นตัวและตระหนักอย่างมากจึงจะสามารถเอาผิดรัฐประหารได้ ตอนนี้สังคมไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ผมคิดว่าเรากำลังขับเคลื่อนไปสู่จุดนั้นร่วมกัน ทุกฝ่ายคงเห็นแล้วว่าการรัฐประหารไม่ได้นำพาประเทศสู่ความเจริญรุ่งเรืองตามที่คาดหวัง
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เรียกร้องผู้นำ 'สหราชอาณาจักร-ฝรั่งเศส' แสดงออกไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ คสช. Posted: 22 Jun 2018 01:09 AM PDT องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชนในไทย เรียกร้องผู้นำ 'สหราชอาณาจักร-ฝรั่งเศส' แสดงออกต่อสาธารณะว่าไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทุกรูปแบบภายในการบริหารประเทศของ คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบหารือกับนางเทรีซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2561 (ที่มาภาพ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล) 22 มิ.ย. 2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิศักยภาพชุมชน และกลุ่มโรงน้ำชา (TEA group) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรและประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส ลงวันที่ 19 มิ.ย. 2561 โดยระบุว่าตามที่ได้รับข่าวว่าท่านในฐานะผู้นำของสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่จะพบปะและต้อนรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของประเทศไทยในวันที่ 20-25 มิ.ย. 2561 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพบกที่นำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 และจัดตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารรัฐบาลเผด็จการทหารมาเป็นกว่า 4 ปี แม้หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แล้ว แต่อำนาจเบ็ดเสร็จของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันนอกจากนี้ แม้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะรับรองสิทธิเสรีภาพไว้ในบทบัญญัติ แต่การใช้อำนาจที่มุ่งสนองเป้าหมายความมั่นคงของรัฐดังกล่าว ก็ดำรงอยู่เหนือสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยกำหนดให้รัฐสามารถอ้างความมั่นคงของรัฐที่มีลักษณะเป็นถ้อยคำกว้างๆ และเปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจเข้าแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ตามอำเภอใจ ในขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตของประชนไทยลดลงอย่างน่าใจหาย จากรายงานของ Oxfam ในปี 2559 ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซีย และอินเดีย ขยับขึ้นจากอันดับที่ 11 ของโลกในปี 2558 ในชั่วโมงทำงานที่เท่ากัน โดยเฉลี่ยผู้ชายจะได้ค่าตอบแทน 100 บาท ผู้หญิงได้ค่าตอบแทน 87 บาท นอกจากนี้จำนวนคนจนและคนเกือบจนประมาณ 11.6 ล้านคนในปี 2559 นั้น คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 6 ของประชากรทั้งหมด ทั้งยังเพิ่มจานวนขึ้นจาก 10.4 ล้านคนในปี 2558 (ร้อยละ 15.5 ของประชากรทั้งหมด) และจำนวนคนจนในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึงเกือบ 1 ล้านคน และคิดเป็นอัตราเพิ่มสูงถึงร้อยละ 19.8 แม้ว่าประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหภาพยุโรปมีความเห็นเชื่อไปว่าโรดแม๊ปเลือกตั้งของไทยมีความชัดเจน หากแต่คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกเรื่องการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของรัฐบาลไทยภายใต้การปกครองแบบเผด็จการกลับเป็นสัญญาเลื่อนลอยสำหรับประชาชนไทย การเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งออกไปหลายต่อหลายครั้ง และความไม่แน่นอนด้วยเงื่อนไขกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองที่ดูเหมือนเป็นข้ออ้างของการสืบทอดอานาจต่อไป เราในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมีความกังวลอย่างยิ่งกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทยที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาบริหารกิจการภายในประเทศ ประเด็นที่ 1. การตัดสินใจของรัฐบาลไทยในการยุติการพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติด้วยการประหารชีวิต นักโทษเด็ดขาดหนึ่งราย (ขอสงวนชื่อนามสกุล) อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ โหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2555 โดยการฉีดยาพิษ หลังจากได้มีการประหาร ชีวิตด้วยการฉีดยาสารพิษครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน ส.ค. 2552 ทั้งที่เหลือเวลาอีกเพียง 14 เดือน ที่ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับว่าได้พักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ทำให้ประเทศไทยพลาดโอกาสได้รับการประกาศว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ ทั้งนี้การยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นเจตจำนงที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด ประเด็นที่ 2. การจับกุมกลุ่มอยากเลือกตั้งและผู้เห็นต่างทางการเมืองแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ไม่จริงใจทั้งต่อประชาชนชาวไทยและประชาคมโลก การจับกุมดำเนินคดีกับกลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง" ซึ่งเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่มีเหตุผลเพื่อกระตุ้นเตือน คสช. ให้ซื่อสัตย์ต่อคำมั่นสัญญาที่ให้แก่ประชาชน ทั้งการชุมนุมก็ดำเนินการให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือน พ.ค. 2561 มีผู้ถูกดำเนินคดีจาก 10 คดีแล้วอย่างน้อย 132 คน ประเด็นที่ 3. รัฐบาลเผด็จการได้มีคำสั่ง ประกาศ ที่ส่งผลให้มีการใช้อำนาจเผด็จการต่อการบริหารราชการทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคม นโยบายที่ดิน การจัดสรรทรัพยากร นอกจากนี้ เพื่ออ้างความชอบด้วยกฎหมายในการกระทำดังกล่าว พบว่า คสช. ออกคำสั่งแล้ว 208 ฉบับ ประกาศ คสช. 128 ฉบับ ส่วนหัวหน้า คสช. ใช้ำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. แล้วกว่า 188 ฉบับ ประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารเหล่านี้ถูกทำให้มีผลบังคับใช้อยู่ แม้ คสช. จะพ้นจากอำนาจไปและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม หากไม่มีกระบวนการยกเลิกกฎหมายเหล่านี้เกิดขึ้น ประเด็นที่ 4. ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ กองกาลังติดอาวุธ ความเสียหายทางชีวิตและทรัพย์สินติดต่อยาวนานมาเป็นเวลากว่า 14 ปี มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนกว่า7000คน บาดเจ็บนับหมื่นคน รัฐบาลภายใต้การนำของทหารอนุมัติงบประมาณจำนวนกว่าสามแสนล้านบาทเน้นการปราบปรามการก่อความไม่สงบต่อกลุ่มผู้ต้องสงสัยติดอาวุธโดยใช้ความรุนแรงด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดอาวุธจำนวนกว่า 60,000 นาย ลงไปในพื้นที่ทำให้มีการใช้อาวุธขนาดเล็กจำนวนมากในพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อย่างค่อนข้างหนาแน่นและส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิมที่ตกเป็นผู้สงสัยในการก่อความไม่สงบ หน่วยงานความมั่นคงใช้การทรมานอย่างเป็นระบบและกฎอัยการศึกในการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและมีปัญหาการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนจนไม่สามารถนาคนผิดมาลงโทษ โดยเฉพาะการทรมานผู้ต้องสงสัย การบังคับให้สูญหายและการเสียชีวิตกว่า 400 กรณีที่ต้องสงสัยว่าการเสียชีวิตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง อีกทั้งเด็กอายุต่ำกว่า18ปี จำนวนคนกว่า 250 คน และผู้หญิงกว่า450 คนเสียชีวิตจากการยิงรายวันและการใช้ระเบิดในพื้นที่สาธารณะ ประเด็นที่ 5. รัฐบาล คสช.ออกคำสั่งและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมทั้งที่ดิน ป่าไม้ เหมืองแร่ และแหล่งน้ำ โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็น และขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คำสั่งและประกาศเหล่านี้ เช่น นโยบาย "ทวงคืนผืนป่า" คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 คำสั่ง คสช.ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 31/2560 เรื่องการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์ ต่างส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนในพื้นที่ และประเด็นที่ 6. นับตั้งแต่ปี 2557 มีเกษตรกรรายย่อย ผู้นำชุมชน และชาวบ้านจำนวนมากถูกดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งด้านที่ดินและป่าไม้ คำสั่งที่ 64/2557 ให้อำนาจทหาร ตารวจ และฝ่ายปกครอง เป็นผู้นำภารกิจตรวจยึดที่ดินที่ชาวบ้านทำการเกษตรอยู่ จากที่เดิมปฏิบัติการแบบนี้นำโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และคาดว่าจะต้องมีการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าทั้งหมด 1,253 พื้นที่ รวม 8,148 หมู่บ้าน ข้อมูลจากแค่สองจังหวัดคือแม่ฮ่องสอนหลังใช้คำสั่งที่ 64/2557 ระหว่างเดือน มิ.ย. 2557- ก.ค. 2560 มีคดีเกิดขึ้นทั้งหมด 1,003 คดี เฉลี่ยปีละ 334.3 คดี มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี 136 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้านในชุมชนห้วยน้ำหิน จังหวัดน่าน ถูกสั่งห้ามใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกิน ทำให้สูญเสียรายได้ และชาวบ้าน 298 ราย ถูกแจ้งข้อหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ทั่วทั้งประเทศมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐเป็นจำนวนมากถูกดำเนินคดีแล้วในข้อหามีไม้ไว้ในครอบครองมากกว่า 500 คดี ถูกไล่รื้อออกจากพื้นที่ทำกินและพื้นที่อยู่อาศัย พืชผลทางการเกษตรถูกตัดฟันทำลาย ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ เช่น ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ควบคุมตัวไว้ในค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ เรื่องทรัพยากร หลังจากรัฐประหารมีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากชุมชนและพื้นที่ชนบทกว่า 220 คน ที่ถูกคุกคามโดยการใช้กระบวนการยุติธรรมฟ้องร้องและกลั่นแกล้งจากการที่พวกเธอปกป้องสิทธิชุมชน สิทธิในที่ดินและสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและแสดงออก ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิศักยภาพชุมชน และกลุ่มโรงน้ำชา (TEA group) มีข้อเรียกร้อง คือ 1. ให้นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรและประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศสแสดงออกต่อสาธารณะว่าไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทุกรูปแบบภายในการบริหารประเทศของ คสช. 2. ให้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ยกเลิก กฎหมาย ประกาศ คำสั่ง และนโยบายต่างๆ ของคสช.ทุกฉบับ ที่มีสาระและการบังคับใช้ซึ่งละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ตามที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และตราสารสิทธิมนุษยชนฉบับอื่นๆ เช่น อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ให้ยุติการดำเนินคดีอาญากับกลุ่มบุคคลที่ใช้เสรีภาพของตนเองโดยสุจริตในการวิพากวิจารณ์รัฐบาล หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง กลุ่มประชาชนที่อยากเลือกตั้ง และคดีอื่นๆ ที่ดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน 3. ให้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ยุติการใช้ความรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารในสามจังหวัดชายแดนใต้ในลักษณะที่ละเมิดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเร่งสืบสวนสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เช่น การทรมาน การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม พร้อมทั้งนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมารับผิดชอบ เร่งให้การช่วยเหลือเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง และผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 4. ให้เพิ่มมาตรการกดดันรัฐบาล คสช.ให้จัดการเลือกตั้งที่โปร่งใส ยุติธรรม และเสรีโดยเร็ว โดยให้มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรภาคประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามอย่างใกล้ชิด กดดันให้คสช ยุติการกระทา ทั้งทางกฎหมาย นโยบายและการปฏิบัติการที่จา กัดสิทธิ เสรีภาพคุกคาม ข่มขู่และละเมิดสิทธิของประชาชน สื่อมวลชน พรรคการเมืองและกลุ่มประชาสังคมที่รวมตัวและแสดงออกตามวิถีทางประชาธิปไตย และปกป้องนักนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามที่เคยประกาศไว้กับสหประชาชาติและชุมชนระหว่างประเทศ และ 5. ยุติการดำเนินคดีต่อชาวบ้านทุกคนที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งในการจัดการที่ดินและทรัพยากร มุ่งให้มีการเลือกตั้งและให้ประชาชนในพื้นที่และผู้ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดและปฏิบัตินโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ดิน ป่าไม้ เหมืองแร่ และแหล่งน้ำ ในทุกขั้นตอน ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ยึดทรัพย์ บขส. 2.78 ล้าน จ่ายหนี้คำพิพากษา 5 ผู้บาดเจ็บรถตู้โดยสารสิงห์บุรี Posted: 22 Jun 2018 12:40 AM PDT ผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร 5 ราย พร้อมเจ้าพนักงานบังคับคดี บุกยึดทรัพย์ บริษัท ขนส่ง จำกัด จ่ายเงินตามคำพิพากษารวม 2.78 ล้าน 22 มิ.ย. 2561 กลุ่มผู้เสียหายรถตู้โดยสาร โดยนางสาวระพีพรรณ ไม้เลี้ยง, นางสาวจิราภรณ์ สุทธิสุข, นางสาวรัชนารี อินทร์กวี, นางสาวสุภาพร ลุกจันทึก และนางกิมเอ็ง ทัฬหวรรัตน์ มารดาของนายวิสาร์ท ทัฬหวรรัตน์ พร้อมด้วยนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นายธนัช ธรรมิสกุล เจ้าหน้าที่ มพบ. และเจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดี เดินทางมาที่บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์บังคับคดี เพื่อบังคับจ่ายค่าเสียหายตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง ในคดีละเมิดเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ระหว่างที่ผู้เสียหายทั้ง 5 ราย นั่งรถตู้โดยสารเพื่อเดินทางจากจังหวัดสิงห์บุรีปลายทางลพบุรี พนักงานขับรถได้ขับรถด้วยความเร็วสูง เมื่อมาถึงบริเวณถนนสายลพบุรี - สิงห์บุรี ช่วง กม.ที่ 166 - 167 หมู่ที่ 15 ตำบลบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี รถตู้โดยสารได้เฉี่ยวกับรถจักรยานยนต์ ก่อนจะเสียหลักพุ่งข้ามเลนชนประสานงากับรถพ่วงบรรทุกก๊าซ NGV ที่วิ่งสวนทางมาอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 2 ราย และได้รับบาดเจ็บสาหัส 13 ราย หลังเกิดเหตุผู้เสียหายทุกคนได้เรียกร้องขอให้ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารชดเชยความเสียหายแล้วแต่ได้รับการปฏิเสธ นางสาวระพีพรรณ ไม้เลี้ยง กับผู้เสียหายอีก 4 คน จึงได้ยื่นฟ้องนายสิทธิชัย สันทัดงาน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 1 เจ้าของรถตู้โดยสาร จำเลยที่ 2 บขส. จำเลยที่ 3 บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ 4 และบริษัท ประกันภัยคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 5 เป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2556 ที่ศาลแพ่ง กรุงเทพมหานคร ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชำระค่าเสียหายให้นางสาวระพีพรรณ ไม้เลี้ยง กับผู้เสียหายอีก 4 คน จำเลยอุทธรณ์ และในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยที่ 4 ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์และวางเงินชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาให้กับนางสาวระพีพรรณ ไม้เลี้ยง กับผู้เสียหายอีก 4 คน เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 4 ที่ศาลกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์แต่ละคน ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้บางส่วน และให้จำเลยที่ 1-3 ชดใช้ค่าเสียหายให้กับนางสาวระพีพรรณ ไม้เลี้ยง กับผู้เสียหายอีกทั้ง 4 คน หลังคดีสิ้นสุดในชั้นอุทธรณ์ นางสาวระพีพรรณ ไม้เลี้ยง กับผู้เสียหายอีกทั้ง 4 คน ได้ติดตามทวงถามเพื่อขอให้จำเลยชดเชยความเสียหายแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยทั้ง 4 จึงจำเป็นต้องดำเนินการยึดทรัพย์บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลในวันนี้ อย่างไรก็ตามระหว่างดำเนินการได้มีการเจรจาร่วมกัน โดย บขส. ได้แสดงความรับผิดชอบยินยอมจ่ายค่าเสียหายตามคำพิพากษารวมดอกเบี้ยนับจนถึงวันที่ 21 มิ.ย. 2561 ให้กับนางสาวระพีพรรณ ไม้เลี้ยง กับผู้เสียหายอีกทั้ง 4 คน เป็นเงินจำนวน 2.78 ล้านบาท นางกิมเอ็ง ทัฬหวรรัตน์ มารดาของนายวิสาร์ท ทัฬหวรรัตน์ หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า 7 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงลำบากที่สุดของทั้งลูกชายและตัวเอง เมื่อลูกต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง และไม่สามารถทำงานได้ ตัวเองจึงต้องทำงานเลี้ยงลูกเอง อีกทั้งแม้วันนี้จะได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายมา แต่ถ้าเลือกได้ก็อยากให้ลูกชายกลับมาเดินและทำงานได้เหมือนเดิมมากกว่า เพราะตัวเองมีอายุมากแล้วไม่รู้ว่าจะอยู่ดูแลลูกได้นานแค่ไหน "พวกเราเจ็บและเหนื่อยกันมามากพอแล้ว และก็ไม่อยากให้ใครต้องมาพบเจอกับเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก แต่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุทุกคน ทั้งคนบาดเจ็บหรือผู้เสียหายไม่ควรต้องให้มาขึ้นศาลฟ้องคดีกันอีก" นางกิมเอ็งกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ฎีกาพิพากษายืนจำคุก 'การ์ด กปปส.' 1 ปี ไม่รอลงอาญา ขวางเลือกตั้งปี 2557 Posted: 21 Jun 2018 11:15 PM PDT 22 มิ.ย. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีการ์ด กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง หมายเลขดำ อ.886/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนวการ ขอนศรี และนายประเสริฐ ด้วงทิพย์ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในข้อหาร่วมกันกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ฯ กรณีเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2557 จำเลยทั้งสองกับพวกที่ใช้ชื่อ กปปส.ขัดขวางปิดประตูทางเข้าออกสำนักงานเขตดินแดง เพื่อไม่ให้สามารถจ่ายหีบบัตรเลือกตั้งให้กับ ผอ.ประจำที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัด ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ 6 ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้ง ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถใช้สิทธิได้ เหตุเกิดที่แขวง-เขตดินแดง กทม. ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76,152 และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งสอง 5 ปี โดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 5 ปี โดยในวันนี้ (22 มิ.ย.) นายนวการ จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาลพร้อมทนายความ และมีนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.เดินทางมาให้กำลังใจด้วย ขณะที่นายประเสริฐ จำเลยที่ 2 หลบหนี ศาลให้ออกหมายจับปรับนายประกัน ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า กกต.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง แม้มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งต้องทำวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร การไม่มีเลือกตั้ง 28 เขต จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ในวันที่มีการชุมนุมยังไม่มีความชัดเจนดังกล่าว ขณะนั้นยังมีความเห็นขัดแย้งว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะดำเนินการ กกต.มีอำนาจทางกฎหมายจึงเป็นการเลือกตั้งโดยชอบ หากมีการเข้าดำเนินการขัดขวางมิให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งได้ย่อมเป็นความผิด ส่วนที่จำเลยทั้งสองชุมนุมหน้าสำนักงานเขตดินแดงอ้างว่าเป็นการใช้เสรีภาพนั้น ศาลเห็นว่าเป็นเหตุการณ์อื่น คดีนี้ผู้ชุมนุมได้ขัดขวางการเลือกตั้งเป็นความไม่สงบ ผิดกฎหมาย ไม่ใช่การชุมนุมโดยชอบ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ล็อกกุญแจโซ่ประตูขัดขวางเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้ง โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าทำหน้าที่เพียงห้ามไม่ให้เกิดเหตุร้าย และจำเลยที่ 2 อ้างว่ามาสังเกตการณ์นั้น มีพยานเบิกความเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รู้จักกับจำเลยทั้งสองมาก่อนและได้ถ่ายภาพไว้ กับพยานเจ้าหน้าที่ กกต.เบิกความว่าไม่สามารถเข้าไปยังสำนักงานเขตได้ เนื่องจากมีโซ่คล้องประตู โดยจำเลยทั้งสองทำหน้าที่เจรจาอยู่หน้าประตูดังกล่าว ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ยังถือไมโครโฟนประกาศงดการเลือกตั้ง สิ่งที่จำเลยอ้างจึงขัดแย้งกับหลักฐานที่ปรากฏ ข้อเท็จจริงคือจำเลยทั้งสองยืนขวางประตูปกป้องมิให้ใครเปิดได้ มีพฤติการณ์แสดงออกโดยที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการขัดขวางไม่ให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิจนเวลาล่วงเลย 18.00 น. และที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่สามารถเดินเข้าไปได้นั้น ก็มีผู้ชุมนุมซึ่งมีท่าทีขัดขวางแสดงอาการขึงขัง หากเจ้าหน้าที่เข้าไปไม่อาจหลีกเลี่ยงเหตุปะทะได้ จึงเป็นการอ้างเลื่อนลอยไม่น่ารับฟัง สำหรับที่จำเลยยื่นฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ไม่สำนึก จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนดุลพินิจ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน ให้จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี ไม่รอลงอาญา ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แสงดาว ศรัทธามั่น เสียชีวิตแล้วในวัย 73 ปี Posted: 21 Jun 2018 11:09 PM PDT ศักดิ์ ไชยดวงสิงห์ กวีและนักเขียนเจ้าของนามปากกา "แสงดาว ศรัทธามั่น" เสียชีวิตแล้วในวัย 73 ปี สวดบำเพ็ญกุศลที่วัดดาวดึงษ์ จ.เชียงใหม่ เย็นนี้ (22 มิ.ย. 61) ศักดิ์ ไชยดวงสิงห์ กวีและนักเขียนเจ้าของนามปากกา "แสงดาว ศรัทธามั่น" (ขวา) ที่มา: Facebook/Sangdao Sattaman 22 มิ.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศักดิ์ ไชยดวงสิงห์ กวีและนักเขียนเจ้าของนามปากกา "แสงดาว ศรัทธามั่น" เสียชีวิตแล้ว หลังประสบอุบัติเหตุล้มศีรษะฟาดพื้นเมื่อคืนวันที่ 18 มิ.ย. และรักษาตัวที่โรงพยาบาลสวนดอก จ.เชียงใหม่ โดยจะมีพิธีรดน้ำศพในเวลา 16.00 น. และตั้งสวดพระอภิธรรม ที่วัดดาวดึงษ์ ถนนราชเชียงแสน ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สำหรับศักดิ์ ไชยดวงสิงห์ หรือแสงดาว ศรัทธามั่น เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2488 เป็นชาว จ.เชียงใหม่ จบการศึกษาปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยรับราชการเป็นครูอยู่ที่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 28 ปี จึงลาออกในปี 2538 โดยเขาเป็นนักเขียนและกวี มีผลงานเผยแพร่เป็นระยะ นอกจากนี้ได้ร่วมเคลื่อนไหวกิจกรรมทางสังคมมาโดยตลอด นอกจากนี้แสงดาว ศรัทธามั่น เขียนบทกวีและบทความเผยแพร่ใน Blogazine Prachatai คอลัมน์ "เพียงเศษเสี้ยวจักรวาล" มาตั้งแต่ปี 2550 โดยสามารถติดตามได้ที่ https://blogazine.pub/blogs/saengdao ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ออกหมายจับ 'ทักษิณ' ใบที่ 3 หนีฟังคำสั่งคดีฟื้นฟูทีพีไอ Posted: 21 Jun 2018 11:05 PM PDT ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกหมายจับ ทักษิณ ชินวัตร ใบที่ 3 หลังไม่เดินทางมาฟังคำสั่งคดีให้กระทรวงการคลัง เข้าฟื้นฟู บริษัท ทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทของเอกชนโดยมิชอบ พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐาน 7 ส.ค. 22 มิ.ย. 2561 MGR online รายงานว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีหมายเลขดำที่ อม.44/2561ที่ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีให้ความเห็นชอบต่อกระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ถือเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2546 มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ โดยในวันนี้อัยการโจทก์เดินทางมาศาล ส่วนฝ่ายจำเลยไม่มีผู้ใดเดินทางมา องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาแล้วเห็นว่านายทักษิณ จำเลย ทราบนัดโดยชอบไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อน เห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีจึงให้ออกหมายจับกุมตัวจำเลยเพื่อมาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 พร้อมให้โจทก์รายงานผลการจับกุม ให้ศาลรับทราบ และมีคำสั่งให้ร่นระยะเวลาการติดตามตัวจากเดิมที่ พ.ร.ป.ด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 28 วรรคสอง กำหนดไว้ 3 เดือน ก่อนที่จะให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลยภายใน 1 เดือน ตาม มาตรา 19 วรรค1 บัญญัติว่า ระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 หรือในกฎหมายอื่น ที่นำมาใช้บังคับ หรือในข้อกำหนดของประธาน ศาลฎีกา หรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความมีคำขอ ศาลอาจย่นหรือขยายได้ ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยในการแต่งตั้งทนายความเพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีแล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากจำเลยถูกออกหมายจับในหลายคดี โดยให้ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ติดตามตัวจำเลยมาศาลต่อไป ส่วนที่จำเลยไม่มาศาลในการพิจารณาครั้งแรกให้ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 33 จึงให้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 ส.ค. 2561 เวลา 13.30 น. และให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นบัญชีพยานกำหนดแนวทางไต่สวนก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน 14 วัน โดยให้ส่งหมายแจ้ง หากไม่มีผู้รับให้ปิดหมายต่อไป ผู้สื่อข่าวรายว่า สำหรับคดีที่เป็นโจทก์ฟ้องนายทักษิณในวันนี้ เป็นคดีที่สามารถพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้านายทักษิณตามกฎหมายใหม่ วิ อม. มาตรา 28 ที่บัญญัติสาระสำคัญว่า ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตาม มาตรา 27 เมื่อศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลยและให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องติดตามหรือจับกุมจำเลย รายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกำหนด แต่ถ้าไม่สามารถจับจำเลยได้ภายในสามเดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดี ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผิดหรือไม่? ถ้าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิต Posted: 21 Jun 2018 10:58 PM PDT
หลายวันที่ผ่านมานี้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าวออกมาเคลื่อนไหวให้สังคมรับรู้ผ่านช่องทางต่างๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจขณะนี้คือการที่ สังคมไทย รับความแตกต่างไม่ได้ ซึ่งแท้จริงแล้วเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าสังคมไทยไม่ได้สอนให้คนคิด แต่เป็นสังคมที่เน้นการอุปถัมภ์ เคารพเชื่อฟังผู้อวุโส หากผู้ใดคิดแตกต่างจากคนส่วนใหญ่อย่างชัดเจนจะถูกมองว่าผิดทันที ซึ่งสิ่งที่ควรจะเป็นคือ การยอมรับรับฟัง ใช้เหตุผลที่มีน้ำหนักมาโต้แย้งกัน จะทำให้ความขัดแย้งลดน้อยลง กรณีการประหารชีวิตเช่นกัน ทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะคิดได้ "หากคนกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับการประหารชีวิต" จะตัดสินคนเหล่านั้นว่าผิดได้หรือไม่ หรือในทางกลับกัน คนกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับการประหารชีวิต ก็ไม่ผิดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคนที่แตกต่างกันแท้จริงแล้วไม่ควรมีใครผิดที่จะแสดงออกแต่อยู่ที่ว่าต้องอยู่ในขอบเขตที่สมควร ซึ่งตามทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล (จิตวิทยาทั่วไป อ.สุธีรา เผ่าโภคสถิตย์:2543 หน้า (28-29) ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Differences Theory) ได้รับการพัฒนามาจากแนวความคิดเรื่องสิ่งเร้าและการตอบสนอง (Stimulus-Response) หรือทฤษฎี เอส-อาร์ (S-R theory) ของกาเย่(Gagne)และนำมาประยุกต์ใช้ (Defleur, 1966) อธิบายว่า บุคคลมีความแตกต่างกันหลายประการ เช่น บุคลิกภาพ ทัศนคติ สติปัญญา และความสนใจ แล้วทำไมสังคมไทยถึงไม่ค่อยยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน มิใช่เพียงแต่ประเด็นนี้แต่มีอีกหลายร้อยประเด็นที่เกิดการแบ่งฝั่ง พรรคพวก โจมตีกันเพื่อที่จะให้แนวคิดของพวกตนเองชนะ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการศึกษา สภาพสังคม และแน่นอนการเมือง ทุกสิ่งรอบตัวแตกต่างแน่นนอนแต่อยู่ที่ว่าจะเรียนรู้และยอมรับอย่างไรให้เกิดผลด้านดีมากที่สุด จะพยายามหาจุดตรงกลางอย่างยุติธรรมอย่างไรที่จะทำให้สังคมมีความขัดแย้งลดลง แต่ทุกวันนี้พลังสื่อออนไลน์มีอิทธิพลสูงมากที่ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งใช้ชีวิตติดลบ ด้วยการโจมตีเอาชนะทางสื่อออนไลน์(Cyberbullying) เพิ่มมากขึ้นในทุกประเด็น โดยไม่ใช่เหตุ-ผล แต่ต่อว่าด่าทอ หรือเหยียดหยาม ทางเพศ น่าตา ฐานะ กระทำการล่วงเกินกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ด้านลบของแต่ละคน กรณีการประหารชีวิตนี้ มีทั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วย แต่ออกมาแสดงออกกับสังคมผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ แต่คนจำนวนไม่น้อยที่เห็นต่างกลับต่อว่า ด่าทอ อย่างไร้เหตุผล และไม่ให้เกียรติกัน ตรงนี้ถือเป็นปัญหาสังคมไทยอีกรูปแบบหนึ่งที่สังคมหรือรัฐไทยเองควรหาแนวทางที่จะทำให้ความขัดแย้งในสังคมออนไลน์ลดน้อยลงหรือหมดไป แม้ว่ารัฐไทยจะมีการจัดทำ กฎหมาย(พรบ.คอมพิวเตอร์) หรือกฎหมายหมิ่นประมาทขึ้นมาแต่การใช้กฎหมายนั้นไม่สามารถครอบคลุมถึงผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียได้หมดทุกคน และแน่นอนว่าความเป็นไปได้ยากมาก แต่แนวทางอย่างไรที่จะลดความขัดแย้งของสังคมไทยผ่านช่องทางออนไลน์หรือการกลั่นแกล้ง(Cyberbullying) ทั้งนี้ปัญหาการไม่ยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกันเกิดจากสังคมไทยที่ไม่ได้ปลูกฝัง ยึดติดกับสังคมแห่งการเชื่อฟัง ไม่ได้สอนให้กล้าคิด ไม่สอนให้ยอมรับ รับฟังผู้อื่น เป็นอีกสาเหตุของปัญหาทางการเมือง สีแดง-สีเหลือง ฝั่งซ้าย-ฝั่งขวา เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จนนำมาสู่การกลั่นแกล้งโจมตีให้แนวคิดตนเองถูกเสมอหรือไม่ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหาในเรื่องความสามัคคีที่ลดลงทุกระดับ หากทุกคนเปิดใจรับฟังยอมรับมากขึ้นจะนำพาสังคมไปพบกับจุดร่วมที่ดีได้ ตัวรัฐไทยเองก็ควรที่จะแก้ปัญหา ให้ถูกจุด แก้ที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุกรณี ประหารชีวิตสะท้อนมุมมองแนวคิดของสังคมที่หลากหลายและสิ่งสำคัญบทสรุปต้องเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กวีประชาไท: แด่ควายเดนตายและผองหิ่งห้อย Posted: 21 Jun 2018 10:50 PM PDT
เอาชีวิตเข้าแลกเสมอทะเยอทะยาน ล้วนต้องผ่านภยันตรายร้ายเลวทราม ซุกซ่อนอยู่ลึกผนึกเป็นดีเอ็นเอ กล่อมเห่เสรีภาพถูกหยาบหยาม เป็นหิ่งห้อยในมืดมัวทั่วเขตคาม พยายามสู้ความมืดมายืดยาว
ใครเล่าสาปแช่งไว้ให้ทุกชาว ชาติปวดร้าวคาวเลือดเชือดบูชา ประชาผองไยต้องสู้สู่เสรี เป็นวิถีแห่งชีวิตปริศนา ในแดนดินถิ่นหม่นมัวทั่วโลกา อ่อนแอกว่าถูกล่าไล่ไปทั่วทิศ ดูภาพยนตร์สารคดีทีวีชัด ชีวิตสัตว์กัดกินเหยื่อสิงห์เสือสิทธิ์ นักท่องเที่ยวเลี้ยวรถไป ดูใกล้ชิด ชมชีวิตคิดอย่างไรในการล่า เมื่อชีวิตติดทุกข์สุขทุกรูปนาม มีไหมความหดหู่ผู้เหนือกว่า สถานะทางชนชั้นนั้นตีตรา มีราคาค่าชีวิตติดพันพัว ดูตัวอย่างฝ่ายถูกล่าฆ่าเป็นเหยื่อ เสียเลือดเนื้อแก่สิงห์เสือมาเหนือหัว ธรรมชาติวาดฉายเหล่าควายวัว สักกี่ตัวต้องตกตายใต้กฎเกณฑ์ แต่บางคราครั้งวาบภาพที่ฉาย ฝูงควายกลายพรวดโผล่สิงห์โตเผ่น เจ้าควายเกือบวายชีวาตม์ขาดกระเด็น หลายครั้งเห็นเจ้าเป็น ควายเดนตาย ควายเรียนรู้อยู่ร่วมกันมันแข็งแกร่ง น้ำใจแห่งพี่น้องผองสหาย แค่เสรีมีทุ่งหญ้าประสาควาย ไร้แอกสนตะพายถูกขายตัว
ไม่รู้วิธีปลดแอกวิถีที่กดหัว โง่เหมือนงัวไงไอ้ควาย กลายว่าคน คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบถูกเหยียบไว้ กรงเล็บใหญ่ขย้ำสมองสยองขน กระทั่งคิดยังไม่กล้าท้ามืดมน อยู่ในกลกรรมเก่าเข้าทยอย แต่ทว่าราตรีโลกลี้ลับ สร้างประดับดินแต่งแสงหิ่งห้อย ราวเสแสร้งแสงสว่างให้พร่างพร้อย คนค่อย ๆ ครุ่นคิดเหมือนติดไฟ ในความมืดยืดเยื้อเหนือหยั่งรู้ หิ่งห้อยสู้สร้างแสงแข่งดาวได้ ดั่งมณีจินดามาพร่างพราย ในพงไพร ในคอกควายใต้ถุนชม เจ้าหิ่งห้อยตัวน้อยนิดผลิตแสง ลอยมาแข่งดาวเดือนเหมือนจะข่ม ในความมืดยืดเยื้อเหนือระทม ใครจ่อมจมตรมตรอมยอมเจ้าเอย
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นปช.เตรียมล่า 2 หมื่นชื่อ ไต่สวน ป.ป.ช. หลังมีมติไม่รื้อคดีสลายชุมนุมปี 2553 Posted: 21 Jun 2018 10:41 PM PDT มติ ป.ป.ช.ไม่รื้อคดีสลายการชุมนุม นปช.ปี 2553 เหตุไม่มีข้อเท็จจริง-พยานหลักฐานใหม่ 'ณัฐวุฒิ' ระบุเตรียมรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ยื่นประธานสภาฯ เพื่อพิจารณายื่นศาลฎีกาตั้งไต่สวนกรรมการ ป.ป.ช. 22 มิ.ย. 2561 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.กล่าวต่อสื่อมวลชนว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ กับพวก ขอให้หยิบยกสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับพวก ร่วมกันสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช.ขึ้นพิจารณาใหม่ เหตุไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2558 มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก มีพฤติการณ์ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค. 2553 แล้วมีมติว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่ให้ส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินการตามหน้าที่กรณีมีผู้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ ต่อมานายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ และนายวรัญชัย โชคชนะ มีหนังสือร้องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทบทวนมติที่ให้ข้อกล่าวหาตกไปดังกล่าว ดังนี้ ประเด็นที่ 1 การตัดสินใจทางนโยบายกรณีใช้อาวุธสงครามกระสุนจริงและยุทธวิธีการซุ่มยิงถูกต้องหรือไม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในประเด็นนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยพิจารณาและวินิจฉัยไว้แล้วว่า การสั่งใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธปืนติดตัวเข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ในระหว่างวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค. 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนั้นปรากฏข้อเท็จจริงตามคำสั่งของศาลว่าเป็นช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งการชุมนุมของกลุ่ม นปช.มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืนเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล ตามนัยคำสั่งของศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553 วันที่ 22 เม.ย. 2553 และวันที่ 14 พ.ค. 2553 อีกทั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับคำสั่งจาก ศอฉ. จะต้องไปปฏิบัติโดยกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมเป็นลำดับชั้นต่อไปจนถึงหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ซึ่งมีผู้ควบคุมคือ ผู้บังคับกองพันในการปฏิบัติการจริงในพื้นที่นั้น การตัดสินใจในการใช้อาวุธจะเป็นอำนาจโดยสายการบังคับบัญชาในการสั่งการของผู้บัญชาการกองพล หากภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้อาวุธปืนโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ และเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าวฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือฐานฆ่าผู้อื่น อันเป็นการกระทำเฉพาะตัว ซึ่งกรณีนี้ที่ประชุมได้มีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ DSI ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ตามมาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่ 2 ไม่ยกเลิกการปฏิบัติในทันทีเมื่อรับทราบการเสียชีวิตของประชาชน และกรณีกล่าวอ้างว่ามีการปรับยุทธวิธีเป็นการตั้งด่านตรวจและมีจุดสกัดปิดล้อมเพื่อให้ชุมนุมเลิกไปเองนั้น แต่ตามวารสารกองทัพบก (เสนาธิปัตย์) อธิบายว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติทางทหารเต็มรูปแบบ มิใช่การปรับยุทธวิธีเป็นการตั้งด่านตรวจตามที่อ้าง คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ในประเด็นนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยพิจารณาและวินิจฉัยไว้แล้วว่าภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บแล้ว ศอฉ.ได้ทบทวนปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าผลักดันผู้ชุมนุมอีกต่อไป แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัดปิดล้อมวงนอกไว้โดยรอบ เพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเอง และได้มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ในวันที่ 14 และ 19 พ.ค.2553 ปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีการใช้กำลังทหารเข้าผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม เหมือนการปฏิบัติการในวันที่ 10 เม.ย.2553 แต่เป็นการตั้งด่านอยู่กับที่ทุกแห่ง ประเด็นที่ 3 การอ้างว่ามีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นการอ้างโดยมิได้มีหลักฐานใดๆ รองรับ เป็นการอ้างไม่ตรงกับคำพิพากษาศาลแพ่ง เนื่องจากคำพิพากษาระบุว่าการเสียชีวิตเบื้องต้นในวันที่ 10 เม.ย.2553 ยังไม่ทราบว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด และศาลแพ่งได้เตือนจำเลยคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพวก ในการสลายการชุมนุมหรือขอคืนพื้นที่ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นตามความเหมาะสม และคำสั่งศาลอาญาในเรื่องการตายจำนวน 19 ศพ ก็ยืนยันว่าผู้ตายตายจากกระสุนความเร็วสูง จากอาวุธสงครามของเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ศอฉ.และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีอาวุธปืนหรือยิงต่อสู้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ในประเด็นนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยพิจารณาและวินิจฉัยไว้แล้วว่า ตามคำสั่งศาลในช่วงระยะเวลาต่างๆ ได้แก่ คำสั่งศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ ร.2/2553 วันที่ 5 เม.ย.2553, คำสั่งศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553 วันที่ 22 เม.ย.2553, คำสั่งศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553 วันที่ 14 พ.ค.53, คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลอาญากรุงเทพใต้ กรณีนายบุญมี เริ่มสุข ในคดีหมายเลขดำที่ ช.7/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ช.1/2556 วันที่ 16 ม.ค.2556, คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลอาญา กรณีนายมานะ อาจราญ ในคดีหมายเลขดำที่ อช.8/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อช.3/2556 วันที่ 21 ก.พ.2556 สรุปข้อเท็จจริงได้ว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช.มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการสลายการชุมนุมเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล ประเด็นที่ 4 กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่รอบคอบ ไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือและ 2 มาตรฐาน ดังนี้ 1.เหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค.2551 (การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ) เกิดขึ้นและยุติลงภายในวันเดียวแต่คำฟ้องของ ป.ป.ช. แบ่งเหตุการณ์ออกเป็นสามช่วงเวลา กล่าวถึงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บรายสำคัญโดยละเอียด ขณะที่เหตุการณ์ ปี 2553 (การชุมนุมของกลุ่ม นปช.) เกิดขึ้นต่อเนื่องกันกว่าหนึ่งเดือน ต่างกรรมต่างวาระต่างสถานที่ แต่กลับพิจารณาแบบองค์รวม นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีดุลยพินิจ ที่แตกต่างจากอัยการและศาล ดังนั้นหากในกรณีสลายการชุมชุม นปช.ในปี 2553 ได้มีการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล อัยการและศาลอาจมีข้อวินิจฉัยที่แตกต่างจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็เป็นได้ 2.ในกรณีกลุ่มพันธมิตรฯ ระบุว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีอำนาจตามหน้าที่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีอำนาจสั่งการแทนนายกรัฐมนตรี จึงไม่อาจปฏิเสธความผิด ต่อกรณีมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แต่กรณีกลุ่ม นปช.นั้น ป.ป.ช.กลับมีมติว่าหากเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ และเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็นจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บให้ถือเป็นความผิดเฉพาะตัว 3.กรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ในปี 2551 มีผู้เสียชีวิต 2 ราย 1 ในนั้น คือ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือสารวัตรจ๊าบ แกนนำการ์ดกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งผลการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าขับรถบรรทุกวัตถุระเบิดที่มีอานุภาพการทำลายล้างสูงเข้ามาในพื้นที่ และเกิดเหตุระเบิดจนเสียชีวิตกลับไม่ถูกกล่าวถึงแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวมิได้ปราศจากอาวุธ เช่นเดียวกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. 4.กรณีนายสมชายฯ และคณะเจ้าหน้าที่ใช้เพียงแก๊สน้ำตา มีความผิด กรณีของนายอภิสิทธิ์ฯ ซึ่งใช้อาวุธสงครามสารพัดชนิด กลับไม่มีความผิด คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม นปช.มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในคืนวันที่ 6 ต.ค.2551 เวลาประมาณ 23.00 น.ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว) นายสมชายฯ ร่วมกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ดำเนินการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมเพื่อแถลงนโยบายในวันที่ 7 ต.ค.2551 ให้ได้ โดยไม่ปรากฏแนวทางการปฏิบัติที่เป็นไปตามขั้นตอนและหลักการสากล มีการใช้แก๊สน้ำตาชนิดยิงและขว้างเพื่อผลักดันประชาชนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดทางเข้ารัฐสภา 3 ครั้ง ครั้งแรกเวลา 06.00 น. มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก บางคนขาขาด นิ้วขาด และน่องเป็นแผลฉกรรจ์ ครั้งที่สอง เวลาประมาณ 16.00-17.00 น. เมื่อนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ครั้งสุดท้ายเวลาประมาณ 19.00 น. บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลโดยใช้แก๊สน้ำตาอีกครั้งหนึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 1 ราย คือ นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บสาหัสมือขาด ขาขาด เท้าขาด รวมทั้งสิ้น 471 ราย (สำหรับราย พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี ขณะเสียชีวิตยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเสียชีวิตจากระเบิดแสวงเครื่องที่เกิดระเบิดภายในรถของตนเองขณะเข้าร่วมชุมนุม) โดยสื่อมวลชนได้เสนอข่าวการสลายการชุมนุมด้วยการใช้แก๊สน้ำตาซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าวตลอดทั้งวัน นายสมชายฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรี กับพวก ก็ไม่ได้สั่งระงับหรือยับยั้งการปฏิบัติการดังกล่าว ส่วนเหตุการณ์สลายการชุมนุมของ นปช. นายอภิสิทธิ์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรี กับพวก ได้มีการสั่งการโดยมีแนวทางการปฏิบัติ และเน้นย้ำการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทุกระดับตามขั้นตอน กฎและหลักการสากลในการสลายการชุมนุม และปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนและตามคำสั่งของศาลดังกล่าวข้างต้นว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช.มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ.ต้องใช้มาตรการขอคืนพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับคำสั่งจะต้องนำไปปฏิบัติโดยกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติเป็นลำดับชั้นต่อไป จนถึงหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ซึ่งมีผู้ควบคุมคือ ผู้บังคับกองพันในการปฏิบัติการจริงในพื้นที่นั้น การตัดสินใจในการใช้อาวุธจะเป็นอำนาจโดยสายการบังคับบัญชาในการสั่งการของผู้บัญชาการกองพลว่าจะให้ทหารผู้ปฏิบัตินำอาวุธปืนพร้อมกระสุนจริงติดตัวจำนวนกี่กระบอกต่อกองร้อย โดยบางกองพลก็จะให้นำอาวุธปืนและกระสุนเก็บไว้ในรถไม่ได้นำติดตัว แต่หากมีการนำอาวุธติดตัวไปปฏิบัติการผู้ที่มีอำนาจในการสั่งใช้อาวุธคือ ผู้บังคับกองพันในพื้นที่รับผิดชอบเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม นปช.มีความแตกต่างกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงพิจารณาวินิจฉัยคดีไปตามข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันดังกล่าว แม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะไม่รับดำเนินคดี และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิพากษายกฟ้องนายสมชายฯ กับพวก ก็เป็นเรื่องการใช้ดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของแต่ละองค์กรซึ่งสามารถแตกต่างกันได้ตามหลักของการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ คำกล่าวอ้างในประเด็นนี้จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน และผู้ร้องไม่ได้กล่าวอ้างพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวน สำหรับพยานหลักฐานที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ได้แก่ 1.วารสารเสนาธิปัตย์ 2.คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลอาญา กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 3.แผ่นบันทึกภาพและเสียง(CD) "รุมยิงนกในกรง" และ 4.แผ่นบันทึกภาพและเสียง (CD) "ยุทธการขอคืนพื้นที่เมษา 2553" คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า วารสารเสนาธิปัตย์ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างนั้นไม่ใช่พยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริง เป็นแต่เพียงบทความทางวิชาการทหารเท่านั้น สำหรับคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ และแผ่นบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างก็เป็นข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในสำนวนการไต่สวนและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้นำพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยด้วยแล้ว จึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่เช่นกัน กรณีจึงต้องห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกขึ้นพิจารณาใหม่ ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติไม่ยกสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณีร่วมกันสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 ขึ้นพิจารณาใหม่ เหตุหนังสือคำร้องทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวน ต้องห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกขึ้นพิจารณาใหม่ ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ หากปรากฏพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจหยิบยกสำนวนการไต่สวนดังกล่าว ขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทุกเมื่อภายในอายุความ สำหรับกรณี DSI ส่งสำนวนคดีอาญากรณีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง, เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ, นายชาติชาย ซาเหลา, นายสุวัน ศรีรักษา, นายอัฐชัย ชุมจันทร์, นางมงคล เข็มทอง, นายรพ สุขสิตย์, นางสาวกมนเกด อัคฮาด, นายอัครเดช ขันแก้ว และการบาดเจ็บสาหัสของนายณรงค์ศักดิ์ สิงห์แม, นายกิตติชัย แข็งขัน, นายบัวศรี ทุมมา, นายแอนดรู บันคอมพ์, นายเพิ่มสุข ใจเย็น, นายสมร ใหมทอง จากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับกรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ฯ กับพวก ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยและมีมติไว้แล้วว่า กรณีการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหาร และนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ใช้กำลังบังคับและใช้อาวุธปืน จนเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตของประชาชนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมนั้น ให้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปตามมาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้ DSI เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ตามนัยมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ข้างต้นนั้น สำนักงาน ป.ป.ช.จะประสานและติดตามผลการดำเนินคดีของ DSI เพื่อความเป็นธรรมแก่ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด นปช.เตรียมล่า 2 หมื่นชื่อ ไต่สวน ป.ป.ช.22 มิ.ย. 2561 ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.แถลงมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ยื่นหลักฐานใหม่ ต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 ที่ป.ป.ช.เคยยกคำร้องข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.ไม่มีความผิดในการสั่งสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. โดยที่ประชุมมีมติยืนยันไม่รื้อฟื้นคดีสลาย กลุ่ม นปช.ขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยเห็นว่ามติเดิมที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยไปมีความถูกต้องแล้ว เพราะการชุมนุมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลในขณะนั้น มีขั้นตอนการปฏิบัติตามหลักสากล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐวุฒิ ได้เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวดังกล่าวด้วย ในตอนท้ายได้สอบถามทั้งที่น้ำตาคลอ ถึงการเรียกร้องความเป็นธรรมที่มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ เพราะเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและประกาศชัดว่ายอมรับมติ ป.ป.ช. ไม่ได้ และเตรียมรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ยื่นประธานสภาฯเพื่อพิจารณายื่นศาลฎีกาตั้งไต่สวนกรรมการป.ป.ช.ต่อไป พร้อมขู่ด้วยว่าในอนาคตต้องเจอกันแน่ ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 21 Jun 2018 10:36 PM PDT
1) ประโยคยอดฮิต "ถ้าเป็นญาติพี่น้องของคุณที่โดนคนร้ายฆ่า คุณจะรู้สึกอย่างไร" ถ้าดิฉันพนันได้ว่าทุกวงสนทนาจะมีประโยคนี้อยู่ด้วย ดิฉันคงรวยมาก แต่ประเด็นคือเวลาเราตัดสินประเด็นสาธารณะ มันดีแล้วที่เราจะคิดแบบที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย หรือไม่ได้เป็นผู้เกี่ยวข้องไม่ใช่หรือ ถ้ามีผู้พิพากษาที่ลูกถูกฆ่าตาย ทำไมต้องให้ผู้พิพากษาถอนตัวจากคดีนั้น นี่เป็นเพราะเราคิดว่า เวลาคนเราตัดสินประเด็นเรื่องความถูกผิด หรือตัดสินนโยบายสาธารณะ เราต้องตัดสินเหมือนเป็นผู้ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องไม่ใช่หรือ แน่นอนละ ถ้าใครที่ลูกตายจากอาชญากรรม อาจจะอยากแขวนคอคนที่ฆ่าลูก แค่ทำไมเราถึงคิดว่าความเห็นที่มาจากความแค้นและความเสียใจ มีความชอบธรรมมากกว่าความเห็นของคนที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง นี่แสดงให้เห็นอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสังคมไทย เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นวัตถุวิสัยและความเป็นกลาง ไม่ได้หมายความว่าคนที่ตัดสินไม่ควรมีความเห็นอกเห็นใจทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่การเห็นใจในฐานะคนเป็นกลางกับการเสียใจในฐานะเป็นฝ่ายเสียหาย ไม่เหมือนกัน ในการตัดสินประเด็นสาธารณะ จอห์น รอลส์ และ โทมัส ฮอบส์ บอกว่า การตัดสินใจที่ชอบธรรม คือการตัดสินใจที่เราไม่รู้ว่าเราจะเป็นผู้เล่นอยู่ฝ่ายไหนในสถานการณ์นี้ ความยุติธรรมมาจากการไม่เข้าข้างตัวเองไง 2) การที่ฝ่ายเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหาร บอกว่าไม่มีสถิติที่แสดงว่าโทษประหารทำให้อาชญากรรมลดลง แล้วฝ่ายสนับสนุนให้มีโทษประหาร บอกว่า ฝ่ายตรงข้ามพิสูจน์ไม่ได้ว่าโทษประหารไม่ทำให้อาชญากรรมลดลง (บางคนถึงกับบอกว่า ให้พิสูจน์ว่ามีโทษประหารแล้วอาชญากรรมเพิ่มขึ้น จึงจะยกเลิกโทษประหารได้) อันนี้มันงงไปกันใหญ่นะคะ หลักการใช้เหตุผลพื้นฐานบอกว่า ภาระการพิสูจน์หรือ burden of proof อยู่ที่ผู้กำลังโต้แย้ง คือถ้าคุณถึงกับฆ่าคนเพราะอ้างว่ามันจะทำให้อาชญากรรมลดลง คุณต้องพิสูจน์ว่าคุณคิดถูก ไม่ใช่ให้คนอื่นมาพิสูจน์ว่าคุณผิด เหมือนดิฉันเขื่อว่ามีพระเจ้า ให้คุณมาพิสูจน์เอาสิว่าไม่มีพระเจ้า ไม่ได้ค่ะ ผิดกติกา คนที่กำลังเสนอความคิดใดก็ต้องมีภาระการพิสูจน์ว่าความคิดนั้นถูกต้องนะคะ 3) อันนี้ทำให้ตกใจมาก จิตตกไปพักหนึ่ง เพราะเป็นคำพูดที่แพร่หลาย และมีนัยที่สำคัญมาก มีทนายสองคนที่ออกทีวีในสองรายการพูดแบบนี้ตรงกัน มีคุณบุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ผู้สนับสนุนโทษประหาร ออกมาพูดเหมือนกันเป๊ะ แต่มันผิดมาก ผิดที่สุด ผิดแบบไม่น่าให้อภัย (หมายถึงผิดตามมาตรฐานของตัวคนพูดเอง) คือเวลาฝ่ายเสนอให้ยกเลิกโทษประหารบอกว่า โทษประหารไม่ดีเพราะมีแพะ คือจับคนผิด ที่อเมริกาก็มี เช่ามีองค์กร The Innocence Project ที่ใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ช่วยคนออกมาจากการประหารที่อเมริกา แสดงว่ามีการจับคนผิด แม้ในประเทศที่มีเทคโนโลยีและมีกฏระเบียบดีกว่าเราก็มีจับคนผิด (เควิน เสปซี่ เล่นหนังดีที่กล่าวถึงประเด็นนี้ ชื่อ The Life Of David Gale) ฝ่ายสนับสนุนโทษประหาร (เป็นทนายด้วย) ออกมาพูดสิ่งที่ชวนแตกตื่นมาก คือบอกว่า แพะเป็นส่วนน้อย ไปเยียวยาเอาทีหลัง ไปจับเจ้าหน้าที่ที่บกพร่องเอาทีหลัง กฏหมายเขาเขียนเพื่อประโยชน์ของคนส่วนมาก จะเอาประโยชน์คนส่วนน้อยมาขัดประโยชน์คนส่วนมากได้อย่างไร กล่าวคือแม้ประหารแพะบ้างก็ยอม เพื่อให้คนทำผิดจริงๆถูกประหารด้วย อันนี้ทำให้สลดใจกับความไม่สอดคล้องในความคิดของสังคมไทย คือก่อนอื่นต้องพูดถึง ความคิดที่ถือกันว่าเป็นหลักนิติธรรมพื้นฐาน คือมีนักกฏหมายชาวอังกฤษ William Blackstone ศตวรรษที่ 18 ศึกษาระบบกฏหมายของอังกฤษแล้วก็พูดถึงหลักการที่ว่า "ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์คนเดียว" ประเทศสมัยใหม่ปัจจุบันที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยต่างยอมรับหลักการนี้ คือหัวใจมันอยู่ที่ว่า บุคคลเอามาใช้เป็นเครื่องมือไม่ได้ เอาประโยชน์ของบุคคลมาเสียสละให้รัฐไม่ได้ รัฐมีหน้าที่คุ้มครองคนทุกคน ไม่ใช่เอาคนมาเสียสละให้รัฐ รัฐที่ไม่คิดแบบนี้ คือประเทศอย่างจีน ไม่ได้บอกว่าจีนดีหรือไม่ เพียงแต่บอกว่านี่เป็นวิธีคิดที่ไปทางเดียวกัน หลักกฏหมายของประเทศเรา ซึ่งเอาแบบมาจากตะวันตก มีความคิดประเภทที่ว่า บุคคลถูกถือว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าผิดโดยศาล มีความคิดประเภทที่ว่าตำรวจไม่มีสิทธิยัดเยียดข้อหา ตำรวจจะหาหลักฐานได้ตามระเบียบวิธีที่กฏหมายกำหนด นอกไปจากนั้นหลักฐานจะใช้ในศาลไม่ได้ แม้หลักฐานจะพิสูจน์ความผิดผู้ต้องหา แต่ถ้าได้มาอย่างผิดไปจากวิธีที่กฏหมายกำหนดก็ใช้ในศาลไม่ได้ เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าถึงแม้การสร้างหลักฐานปลอมจะจับคนร้ายได้จริงในคดีหนึ่ง แต่ในคดีอื่นๆการสร้างหลักฐานปลอมจะทำให้คนบริสุทธิ์เดือดร้อน เราไม่เอาคนบริสุทธิ์ในคดีหนึ่งไปเสียสละเพื่อจะจับคนร้ายในคดีอื่นๆ (แม้จะจับคนร้ายได้บ่อยกว่าที่จะปรักปรำผู้บริสุทธิ์) เราเห็นอยู่แล้วว่าถ้าศาลคิดว่า มี reasonable doubt คือมีเหตุอันควรสงสัย แต่แทนที่จะยกประโยชน์ให้จำเลย กลับใช้วิธีคิดแบบข้างต้นนี้ คือคิดว่าตัดสินผิดตัวไม่เป็นไร เพราะโดยรวมแล้วถูกมากกว่าผิด แม้จะมีเหตุอันควรสงสัยศาลก็ต้องลงโทษอยู่ดี เพราะความเป็นไปได้มีมากกว่า ที่ผู้ต้องหาเป็นคนผิดจริง และเราไม่ควรบอกอีกต่อไปว่าบุคคลบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะลงโทษ เพราะต่อให้มีผู้บริสุทธิ์อยู่บ้าง แต่คนที่ถูกสงสัย ถูกจับโดยตำรวจ มีที่ผิดมากกว่าไม่ผิด โดยวิธีคิดเดียวกัน เราก็ต้องขอให้แพะเสียสละเพื่อส่วนรวม แต่ทำไมสังคมโลกจึงคิดว่าปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าตัดสินผิดคนเดียว หนึ่งคือเป็นเพราะถ้าใช้วิธีของรอลส์และฮอบส์ ว่าเราไม่รู้เราจะเป็นคนใดคนหนึ่งในสองคนนี้ คือเป็นคนที่ญาติเราถูกฆ่าแล้วคนร้ายลอยนวล กับเป็นแพะที่ถูกโทษประหาร ในกรณีที่เราไม่รู้ว่าเราเป็นใคร รู้แต่เป็นหนึ่งในสองคนนี้ เราอยากให้มีโทษประหารหรือไม่ เชื่อว่าคนที่รักชีวิตทุกคนตอบว่าไม่อยากให้มีโทษประหาร เพราะการที่รัฐเอาชีวิตเราไปโดยเราไม่ผิด แย่กว่าการที่รัฐไม่ลงโทษคนผิดให้เรา อีกเหตุผลหนึ่งคือ แม้เราจะตัดสินโดยให้ปัจเจกบุคคลเสียสละให้รัฐ เราก็ต้องมองภาพรวม มากกว่าสถานการณ์ใดสถานการณ์เดียว แม้ให้ความเป็นธรรมในสถานการณ์นี้ แต่ถ้าหลักคิดของรัฐคือปัจเจกบุคคลถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ ถูกสละให้ประโยชน์ส่วนรวมได้ ถึงที่สุดก็ไม่มีปัจเจกคนไหนมีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่มีความมั่นคงในเสรีภาพ ถ้าเป็นเช่นนั้นประโยชน์โดยรวมก็ไม่เกิดอยู่ดี เพราะปัจเจกแต่ละคนถูกลดทอนเป็นเครื่องมือได้ สวัสดิภาพของเขาไม่มีคุณค่าในตัวเอง ดังนั้นจะเห็นว่าการประกันความเป็นธรรมให้แต่ละคน โดยไม่เรียกร้องให้บุคคลเสียสละสวัสดิภาพของตนให้สังคม กลับประกันประโยชน์ของสังคมเอง ดิฉันไม่ได้ว่าทุกคนต้องเห็นดีเห็นงามกับเสรีนิยมประชาธิปไตย เพียงแต่อยากชี้ว่า สิ่งที่เราพูดในประเด็นเฉพาะ เช่นเรื่องเรารับได้ที่คนบริสุทธิ์จะถูกประหาร เพราะมีจำนวนน้อยกว่าคนผิดที่ถูกประหาร มีนัยกว้างขวางกระทบกระเทือนถึงเสาหลักของระบบการปกครองและระบบกฏหมาย แค่อยากให้เราเข้าใจตรรกะในสิ่งที่ตัวเองพูด และแสดงความคิดที่สอดคล้องกับความเชื่ออื่นๆของตัวเอง
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น