ประชาไท Prachatai.com |
- 86 ปีประชาธิปไตยไทย #2 สัมพันธ์-ชวน-ธนาธร-บ.ก.ลายจุด ตัดเกรดประชาธิปไตย
- ตำรวจท่องเที่ยวจับ ผู้แชร์เพจ'กูต้องได้100ล้านจากทักษิณ'
- เปิดบันทึกตำรวจชนะสงครามเพิ่มข้อหา ขโมยไฟฟ้า กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
- ย้อนดูสัญลักษณ์การเมืองในกีฬา หลัง 2 แข้งสวิสทำท่า 'อินทรีย์ 2 หัว'
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มุ่งเปลี่ยนไพร่เป็นพลเมือง ทำให้ คสช. เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย
- พรึบ! เปิดรายชื่อ 38 ผู้สมัคร ชิง 7 กสม.
- เห็นไทยในพม่า: เปรียบเทียบการถ่ายอำนาจกองทัพไว้ในรัฐธรรมนูญ
- ชำนาญ จันทร์เรือง: ความรับผิดของกรรมการบริหารพรรคการเมือง
- กวีประชาไท: เราไม่ใช่ผู้เขียน
- ตุรกีกับการเลือกตั้งปี 2018: จุดเปลี่ยนระบบการปกครองประเทศสู่รูปแบบประธานาธิบดี
- ใบตองแห้ง: ทักษิณชนะ?
86 ปีประชาธิปไตยไทย #2 สัมพันธ์-ชวน-ธนาธร-บ.ก.ลายจุด ตัดเกรดประชาธิปไตย Posted: 26 Jun 2018 11:20 AM PDT คลิปจากเสวนา "86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ให้ 2 คะแนนแถมห่วงไม่มีประชาธิปไตยแล้วยังเหลื่อมล้ำ ส่วนชวน ชูจันทร์ พรรคพลังประชารัฐ บอกว่าภาวะประชาธิปไตยเป็นแบบนี้ทุกคนมีส่วนทำให้เกิดขึ้น ดังนั้นต้องช่วยกันขับเคลื่อนแก้ไข ขณะที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้ 1.97 คะแนน ลั่นขอสานต่อภารกิจประวัติศาสตร์ 2475 เปลี่ยนไพร่เป็นพลเมือง บ.ก.ลายจุด ให้ 7 คะแนนเพราะประชาชนหวงแหนอธิปไตยของปวงชน เชื่อมั่นอนาคตจะเกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ ในงานเสวนาพิเศษ WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน "86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" ที่ Voice Space สถานีโทรทัศน์ Voice TV 21 ถนนวิภาวดีรังสิต ดำเนินรายการโดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ชวนตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมอภิปรายนั้น ช่วงแรกให้ผู้ร่วมอภิปรายให้คะแนนกับระบอบประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาจากคะแนน 0 ถึงเต็ม 10 โดยที่ผ่านมาเป็นการนำเสนอในส่วนของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) พรรคเสรีรวมไทยนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และพรรคประชาชนปฏิรูป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ลำดับต่อมา สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังพลเมือง ระบุว่าให้ 2 คะแนน หวังว่าในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจะไปถึง 3-4-5 เพราะฉะนั้นปัจจุบันให้ 2 คะแนนก็ยังไม่ค่อยถึงด้วยซ้ำ เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริง อธิปไตยทั้งหมดต้องเป็นของปวงชน มีสิทธิออกเสียง มีสิทธิเลือกผู้ปกครอง และมีสิทธิปกครองตนเอง ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นอกจากนี้เขายังห่วงเรื่องความเหลื่อมล้ำหลายด้านที่ยังเกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าจะมีประชาธิปไตย อธิปไตยต้องเป็นของปวงชน มีเสรีภาพทั้งการแสดงความคิดเห็นและการทำมาหากิน และต้องมีความเสมอภาค และทุกวันนี้ยังไม่มีความเสมอภาค ทางด้าน ชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่มีกระแสข่าวทาบทามสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ฯลฯ มาเข้าร่วมพรรคนั้น ในตอนหนึ่งเขากล่าวว่า "แน่นอนแล้วว่าเราต้องอยู่ในระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น โจทย์ใหญ่คือจะขับเคลื่อนให้ยั่งยืนได้อย่างไร ถ้าจะโทษกันอาจจะโทษกันได้ทุกส่วนเลย เป็นจำเลยทั้งหมด ถ้าถูกก็ถูกทั้งหมด ทุกคนมีส่วนร่วมทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาทั้งนั้น" เขากล่าวด้วยว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งใหม่ เมื่อมีสิ่งใหม่เข้ามาเราอาจไม่คุ้นชิน ไม่เข้าใจ มีอุปสรรคเราต้องช่วยกันเข้ามาแก้ไข จะขับเคลื่อนไปได้ต้องช่วยกันทุกฝ่าย ถ้าพูดถึงคะแนนถ้าดูจากความเข้าใจของประชาชนให้ว่าดีขึ้นเยอะเกิน 5 คะแนนเพราะประชาชนเริ่มเข้าใจประชาธิปไตยแล้ว ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่าให้ 1.97 คะแนน โดยไม่ได้ให้ตามอารมณ์ความรู้สึก แต่ตนเป็นวิศวกรจึงคำนวณตัวเลขตามหลักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ อุปสรรคของระบอบประชาธิปไตยคือการทำรัฐประหาร เขาฝันว่าการทำรัฐประหารต้องจบในรุ่นของตน ไม่ส่งต่อไปถึงลูกหลานอีก ถือเป็นภารกิจของตน การเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ จากไพร่ที่ไม่มีปากเสียงมาสู่พลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน เขากล่าวด้วยว่าอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย เพราะการรวบอำนาจไปอยู่ที่กลุ่มคนๆ เดียวหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วเครื่องมือที่คนกลุ่มนี้มีก็คือการใช้กองทัพมาทำรัฐประหาร ดังนั้น ก็ต้องเรียนว่า ไม่ว่าวาทกรรมที่เราจะพูดกันว่า "คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม" ก็ตาม ไม่ว่าเราจะพูดกันว่า "ปัญหาของการพัฒนาประชาธิปไตยไทยคือนักการเมือง" ก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุดจริงๆ ก็คือ เรื่องที่ไม่มีใครกล้าพูด คือเรื่องการทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้ง เล่า เวลาเราบอกว่าชิงสุกก่อนห่าม หรือว่านักการเมืองที่เลวร้าย ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาก็ดี ในทางกลับกัน สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือ ประชาธิปไตยไม่เคยได้รับโอกาสให้เติบโตต่างหาก ประชาชนไม่เคยได้รับโอกาส ให้ได้ลิ้มลองประชาธิปไตย ได้ใช้อำนาจของตัวเองต่างหาก ตรงนี้ต่างหากที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา เขากล่าวด้วยว่าเขาและพรรคอนาคตใหม่ขอสานต่อภารกิจประวัติศาสตร์ ที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนจากไพร่เป็นพลเมือง แล้วทำให้รัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ส่วนสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด กล่าวว่า ประชาธิปไตยถือเป็นด้านหนึ่งของเหรียญ อีกด้านก็คือเผด็จการ ดังนั้นเวลาให้คะแนนประชาธิปไตยต้องให้คะแนนเผด็จการด้วย โดยเขาให้คะแนนประชาธิปไตย 7 คะแนน เพราะประชาชนยังรู้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไม่ว่ารูปแบบการเมืองจะเป็นอย่างไร วันนี้เราปกครองประเทศโดยทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีมาตรา 44 ที่สูงกว่ากฎหมาย แต่ก็ยังมีประชาชนหลายกลุ่มที่ยังออกมาเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล คสช.อยู่ ดังนั้นเชื่อว่าในอนาคตประเทศจะต้องสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ ขนาดผู้นำที่คัดค้านการเลือกตั้งยังต้องตั้งพรรคเพื่อลงสู่สนามเลย ส่วน 3 คะแนนที่ตนตัดไป เพราะยังมีประชาชนที่ลังเล พรรคที่ลังเล ไม่แน่ใจว่าระบอบประชาธิปไตยช่วยพัฒนาคนให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นสังคมจำเป็นต้องช่วยพิสูจน์ ประชาธิปไตยต้องการเวลาเพื่อให้มีคุณภาพ นอกจากนี้เขายังห่วงที่สังคมยังคงมีความเหลื่อมล้ำด้วย คลิปอภิปรายเป็นส่วนหนึ่งจากงานเสวนาพิเศษ "WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน "86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" ที่ Voice Space สถานีโทรทัศน์ Voice TV 21 ถนนวิภาวดีรังสิต ดำเนินรายการโดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตำรวจท่องเที่ยวจับ ผู้แชร์เพจ'กูต้องได้100ล้านจากทักษิณ' Posted: 26 Jun 2018 09:12 AM PDT โจ๊กเจ้าเก่า ตำรวจท่องเที่ยวออกหมายเรียกอีกสิบผู้ต้องหาแชร์เพจ "กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ"จากสเตตัสดูด สส.และเรื่องตำรวจทหารมีผลประโยชน์จากยาเสพติด ขอออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินแฟนเพจพร้อมระบุว่าอาศัยอยู่ในประเทษกัมพูชา 25 มิถุนายน 2561 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวพล.ต.ต.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบก.ปอท. ร่วมกันแถลงจับกุมผู้ต้องหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ตามที่มีบุคคลนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยมีการโพสต์บทความบิดเบือนให้ร้ายรัฐบาลในเพจเฟสบุ๊ค "กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ" จำนวน 2 โพสต์ ได้แก่ข้อความ
และ
เพื่อนำมาเป็นสื่อกระจายแก่บุคคลต่างๆ ซึ่งการดัดแปลงดังกล่าว อาจส่งผลทำให้ประชาชนที่ได้รับสื่อเกิดความตื่นตระหนก และหลงเชื่อได้ว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลจริง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวยังกล่าวอีกว่า จากการสืบสวนทราบว่าแฟนเพจเฟสบุ๊ค "กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ" ได้ลงทะเบียนใช้ในชื่อบัญชี "Wanchalearm Satsaksit" มี นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อายุ 35 ปี มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านปรากฏในจังหวัดอุบลราชธานี จากการสืบสวนเชิงลึกพบว่าหลบหนีพักอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา โดยศาลได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาดังกล่าวในความผิดฐาน "นำสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และยังมีการดำเนินคดีกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมเผยแพร่หรือส่งต่อข้อความข่าวสารอันเป็นเท็จในเฟสบุ๊ค อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ จำนวนทั้งสิ้น 10 ราย ออกหมายเรียกแล้วทั้ง 10 วันนี้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา 6 ราย เหลือ 4 ราย อยู่ระหว่างติดตามตัว โดยมีความผิดฐาน "เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" โทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แม้ว่า พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือที่มีชื่อเรียกในวงการว่ารองโจ๊ก จะมีตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (รอง ผบช.ทท.) แต่ก่อนหน้านี้กลับมีบทบาทในการจับกุมผู้ใช้เฟสบุ๊คที่แชร์ภาพจากแฟนเพจ Konthai UK และถูกนายเอกชัย หงส์กังวานระบุว่าเป็นผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำการควบคุมตัวนอกกฎหมายนายเอกชัยและนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 16 เมษายน 2561 ขณะทั้งคู่จะเดินทางไปทำกิจกรรมรดน้ำดำหัวที่บ้านของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เปิดบันทึกตำรวจชนะสงครามเพิ่มข้อหา ขโมยไฟฟ้า กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง Posted: 26 Jun 2018 08:41 AM PDT สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ อานนท์ นำภา, 'นิว' สิรวิชญ์, และ 'โตโต้' ปิยรัฐ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จากที่การไฟฟ้านครหลวงได้แจ้งความผู้ชุมนุม 9 คน ว่าลักทรัพย์กระแสไฟฟ้าของทางราชการเพื่อนําไปใช้ในกิจกรรมการชุมนุม ส่วนรถที่ยึดไปยังไม่คืน 26 มิถุนายน 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยบันทึกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมของ สน.ชนะสงคราม ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2561 ในการปราศรัย "หยุดยื้ออํานาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง" ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายรังสิมันต์ โรม กล่าวชักชวนและนัดหมายให้กลุ่มมวลชนมารวมตัวกันอีกครั้งในวันที่ 21 พ.ค. 2561 เวลา 17.00 น. เพื่อร่วมกิจกรรม "22 พฤษภาเราจะหยุดระบอบ คสช." ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อมา น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ได้ทําหนังสือแจ้ง การชุมนุมต่อ ผกก.สน.ชนะสงคราม เมื่อ 16 พ.ค. 2561 และมีนายรังสิมันต์, นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, กลุ่มฟื้นฟู ประชาธิปไตย Democracy Restoration Group – DRG, นายเอกชัย หงส์กังวาน, กลุ่มรวมพลังถอนราก คสช., นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายอานนท์ นําภา, และ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุม "22 พ.ค. 61 เราจะหยุดระบอบ คสช." เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2561 เวลาประมาณ 14.00 น. พบกลุ่มมวลชนผู้ชุมนุมเริ่มรวมตัวกันบริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เวลาประมาณ 15.00 น.มีรถยนต์กระบะเข้ามาในมหาวิทยาลัย กลุ่มมวลชนนําเครื่องเสียงมาติดตั้งบนรถคันดังกล่าว เพื่อนํามาใช้เป็นรถเครื่องเสียงสําหรับปราศรัย เวลาประมาณ 16.00 น. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปิดล็อคประตูเข้าออกฝั่งสนามหลวง ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. นายนิกร วิทยาพันธุ์ นําคีมตัดขนาดใหญ่มาตัดกุญแจที่ปิดล็อคประตูใหญ่ของมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยอํานวยความสะดวกให้กลุ่มมวลชนที่เดินทางมาร่วมชุมนุม ต่อมาเวลาประมาณ 17.40 น. นายสิรวิชญ์, นายรังสิมันต์, และ น.ส.นัฏฐา เริ่มประกาศที่ถนนข้างหอประชุม เวลา 18.00 น. นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ขึ้นเป็นพิธีกรชักชวนมวลชนเข้าร่วมฟังปราศรัย ต่อมานายวันเฉลิม กุนเสน, นางศรีไพร, น.ส.ณัฏฐา สลับกันขึ้นพูดปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาลและ คสช. ว่าทุจริต ใช้อํานาจโดยไม่เป็นธรรม และเลื่อนการเลือกตั้ง พร้อมกับชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลและ คสช. จากการตรวจสอบมีการปราศรัยชุมนุมอย่างรุนแรงและพยายามยุยงปลุกปั้นให้เกิดการขับไล่รัฐบาล/คสช. อย่างชัดเจน มีกลุ่มชุมนุมบางส่วนนอนพักค้างคืนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อมาวันที่ 22 พ.ค. 2561 เวลา 09.00 น. นายรังสิมันต์ปราศรัยเรียกผู้ชุมนุมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไปทําเนียบรัฐบาล แต่เจ้าหน้าที่ตํารวจ สน.ชนะสงคราม โดย พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้ดูแลการชุมนุม แจ้งว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนคําสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และมีการร้องทุกข์ไว้แล้วโดยมีการสั่งให้เลิกการชุมนุม แต่นายรังสิมันต์กับพวกไม่เลิก ทั้งยังกล่าวปราศรัยชุมนุมอย่างรุนแรงและพยายามยุยงปลุกปั่นให้เกิดการขับไล่รัฐบาล/ คสช. และหัวหน้า คสช. อย่างชัดเจน จากนั้น นายรังสิมันต์ชักชวนกลุ่มมวลชนออกไปบริเวณถนนหน้าพระธาตุ หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยตั้งมวลชนเป็นแถวแล้วผลักดันกับเจ้าหน้าที่ตํารวจที่วางกําลังกั้นไว้ พร้อมสั่งให้รถขยายเสียงชนแผงที่ กั้นเพื่อจะได้เดินออกไปได้ แต่เมื่อไม่เป็นผล นายรังสิมันต์พร้อมพวกจึงประกาศยุติการชุมนุม ซึ่งเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย และมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตํารวจเพื่อดําเนินการตามกฎหมายต่อไป ขณะเดียวกันเวลา 09.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 200 คน ได้เคลื่อนย้ายออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาตามถนนหน้าพระธาตุ เพื่อไปชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีที่ทําเนียบรัฐบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบว่าการชุมนี้เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ฝ่าฝืน คําสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมแยกย้ายกันกลับบ้านไป แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก แกนนําได้ผลัดเปลี่ยนกันกล่าวปราศรัยยุยงปลุกปั่นโจมตีคณะรัฐบาล คสช. และตํารวจซึ่งดูแลการชุมนุมดังกล่าวไม่ให้เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปบริเวณหน้าทําเนียบรัฐบาล ต่อมาเวลาประมาณ 14.30 น. น.ส.นัฏฐา มหัทธนา, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว, นายอานนท์ นําภา, นายเอกชัย หงส์กังวาน ซึ่งเป็นแกนนํา ได้นําผู้ชุมนุมประมาณ 50-60 คน เคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ดูและการชุมนุมสาธารณะมาตาม ถ.ราชดําเนิน เมื่อถึงบริเวณก่อนขึ้นสะพานมัฆวาน เวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมประกาศให้ผู้ชุมนุมและแกนนําเลิกการชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงร่วมกันจับกุมตัว น.ส.นัฏฐา มหัทธนา, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว, นายอานนท์ นําภา, นายเอกชัย หงส์กังวาน, นายพุทไธสิงห์ พิมพ์จันทร์, นายคีรี ขันทอง, นายปัญญา (นามสมมติ) ,นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, นายภาคภูมิ (นามสมมติ), และนายวิโรจน์ โตงามรักษ์ นําตัวส่งพนักงานสอบสวนดําเนินคดี ต่อมาการไฟฟ้านครหลวงมาแจ้งความร้องทุกข์ผู้ชุมนุม 9 คน ว่าลักทรัพย์กระแสไฟฟ้าของทางราชการเพื่อนําไปใช้ในกิจกรรมการชุมนุม คณะพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทําดังกล่าวของนายอานนท์ นำภา, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, และนายปิยรัฐ จงเทพ เข้าองค์ประกอบการกระทําผิดฐาน "ร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป และทําการโฆษณาโดยใช้เครื่องเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป และทําการโฆษณาโดยใช้เครื่องเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ด้านนายปิยรัฐ จงเทพ ได้ทำหนังสือขอคืนรถของกลางซึ่งถูกยึดไว้ และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้เก็บหลักฐานจนเสร็จสิ้นแล้ว แต่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ยังไม่อนุญาต.ให้คืนรถในวันดังกล่าว
ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน http://www.tlhr2014.com/th/?p=7996 ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ย้อนดูสัญลักษณ์การเมืองในกีฬา หลัง 2 แข้งสวิสทำท่า 'อินทรีย์ 2 หัว' Posted: 26 Jun 2018 07:43 AM PDT ตั้งแต่ท่า "อินทรีย์สองหัว" ของ 2 แข้งสวิส ถึงหน้ากาก Black Panther ของแข้งเมืองทองฯ ริบบิ้นเหลืองของกุนซือแมนซิตี้ กำปั้นของ 2 นักวิ่งสหรัฐฯ และ ท่าคุกเข่า ขณะบรรเลงเพลงชาติสหรัฐฯ ของควอเตอร์แบ็กซานฟราน การแข่งขันฟุตบอลโลกระหว่างเซอร์เบีย และสวิตเซอร์แลนด์เมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมาเรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย ไม่เพียงผลชนะ 2-1 ที่ส่งให้สวิตเซอร์แลนด์ขึ้นเป็นที่สองกลุ่ม E รองจากเต็งหนึ่งตลอดการอย่างบราซิล แต่รวมถึงพฤติกรรมของสองนักเตะทีมสวิตฯ กรานิต ชาก้า และ แชร์ดัน ชาคีรี่ ที่ทำมือเป็นสัญลักษณ์ "อินทรีย์สองหัว" หลังทั้งสองยิงประตูใส่ทีมชาติเซอร์เบีย ซึ่งอาจทำให้ทั้งคู่โดนโทษแบนถึง 2 นัดและปรับเป็นเงินอีกกว่าหนึ่งแสนบาท สัญลักษณ์อินทรีย์สองหัว ใช้เป็นสัญลักษณ์ของชาวอัลเบเนีย ซึ่งนักเตะทั้งคู่ต่างก็มีเชื้อสายดังกล่าว เหตุที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นก็เนื่องมาจากชาวแอลเบเนีย ในโคโซโวระหว่างปี 1989 - 1999 เซอร์เบียซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐยูโกสลาเวียได้ส่งกองกำลังเข้าปราบปรามกองทัพปลดแอกชาวอัลเบเนียในโคโซโว ซึ่งตัวชาคีรี่เองก็เกิดในโคโซโวก่อนที่ครอบครัวจะลี้ภัยสงครามไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนพ่อแม่ของชาก้าก็มีเชื้อสายแอลเบเนีย และพ่อของเขาเคยถูกควบคุมตัวนานถึง 6 เดือนในข้อหาต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ อีกทั้งน้องชายของเขายังเล่นให้กับทีมชาติอัลเบเนียอีกด้วย แม้ต่อมาโซโคโวจะประกาศเอกราชในปี 2008 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติแต่เซอร์เบียก็ยังไม่ยอบรับการประกาศเอกราชดังกล่าว และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ยังคงตึงเครียดมาจนถึงทุกวันนี้ กรานิต ชาก้า (ซ้าย) และ แชร์ดัน ชาคิรี่ (ขวา) ทำมือเป็นรูปอินทรีย์สองหัวหลังยิงประตูทีมชาติเซอร์เบีย (ภาพจาก HD Photos) หลังจบเกม โจวาน ซูร์บาโตวิช ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเซอร์เบีย ได้ทำหนังสือเรียกร้องให้สมาคมฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่าลงโทษสองนักเตะดังกล่าว และทางฟีฟ่าก็ได้ออกมาประกาศว่าคณะกรรมการสอบวินัยได้เริ่มพิจารณาพฤติกรรมของทั้งสองคนแล้ว โดยมาตรา 54 ในประมวลวินัยของฟีฟ่าระบุว่า "ผู้ใดที่ยั่วยุ (provoke) สาธารณชนระหว่างการแข่งขันจะถูกห้ามลงแข่งเป็นจำนวน 2 นัด และปรับอย่างต่ำ 5,000 สวิสฟรังค์" (คิดเป็นเงินประมาน 166,0000 บาท) อย่างไรก็ตามชาคีรี่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่าตัวเขาไม่ได้มีเจตนาจะทำสัญลักษณ์ทางการเมืองแต่อย่างใดโดยกล่าวว่า "ผมไม่อยากจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่ เวลาคุณยิงประตูเข้า อารมณ์มันจะเข้าควบคุมคุณ เพราะฉะนั้นท่าทางที่ผมทำมันจึงไม่ได้มีอะไรพิเศษ" ล่าสุด วันนี้ (26 มิ.ย.61) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ฟีฟ่า ได้ออกมาแถลงว่าจะไม่มีการลงโทษแบนแข้งทั้ง 2 รายในกรณีนี้ แต่จัดการปรับเงินทั้งคู่เป็นจำนวน 7,600 ปอนด์ (ราว 325,000 บาท) แทน รวมไปถึงปรับ สเตฟาน ลิคท์สไตเนอร์ เพื่อนร่วมทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ ที่เข้าไปร่วมดีใจเป็นจำนวน 3,700 ปอนด์ (ราว 159,000 บาท) อีกด้วย หน้ากาก Black Panther ของแข้งเมืองทองฯการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองระหว่างการแข่งกีฬาระดับโลกไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะมันคือโอกาสที่นักกีฬาจะส่งสาสน์ทางการเมืองของตนให้กับคนดูทั่วโลก อย่างน้อยหากผู้ชมซักคนเกิดสงสัยในที่มาของสัญลักษณ์ดังกล่าวและค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตพวกเขาก็จะได้รับรู้ถึงเรื่องราว หรือประวัติศาสตร์ที่นักกีฬาเหล่านั้นต้องการจะสื่อถึงโลกภายนอก ในประเทศไทยเองก็เคยมีเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เฮแบร์ตี้ แฟร์นานเดส กองหน้าสัญชาติบราซิลของสโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ได้เอาหน้ากาก Black Panther ขึ้นมาสวมเพื่อแสดงความดีใจหลังยิงประตูได้ ซึ่งในตอนแรกก็มีการตีความไปว่าเจ้าตัวอาจจะต้องการจะสื่อถือกรณียิงเสือดำที่ทุ่งใหญ่เนรศวร แต่เจ้าตัวก็ออกมาบอกว่า ตนชอบภาพยนต์เรื่องดังกล่าวเป็นการส่วนตัว อีกทั้งยัง ต้องการจะสื่อถึงขบวนการ Black Panther Movement ซึ่งเป็นขบวนการเรียกร้องสิทธิคนผิวสีในสหรัฐฯ เฮแบร์ตี้สวมหน้ากาก Black Panther หลังยิงประตู (ภาพจาก MTUTD.TV OFFICIAL) แม้จะไม่ถูกลงโทษ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยก็ได้ทำหนังสือตักเตือนส่งถึงทางสโมสร โดยพาทิศ ศุภะพงษ์ โฆษกและรองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ชี้แจงว่าพฤติกรรมของเฮแบร์ตี้ผิดกติกา มาตรฐานสากลของฟุตบอลซึ่งไม่อนุญาตให้มีการใช้อุปกรณ์มาแสดงความดีใจในสนาม ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ใช่เกิดการใช้กีฬาเป็นเครื่องส่งสาส์นทางการเมือง "จริงอยู่ที่ เฮแบร์ตี้ อาจจะแค่นำมาดีใจเฉยๆ แต่ในอนาคต เราก็ไม่รู้หรอกว่า จะมีผู้เล่นคนไหนทำอีกหรือเปล่า ซึ่งมันอาจจะ ลุกลามไปถึง การแสดงออกในเชิงการเมือง ศาสนา หรือ โฆษณาแฝงต่างๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ ฟีฟ่า ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ผ่านทางฟุตบอล ดังนั้น เราก็ต้องปรามเอาไว้ ที่สำคัญผิดกติกาที่ระบุไว้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับ แฟนบอล ที่ห้ามเหมือนกัน ในแง่โฆษณาแฝง" พาทิศ กล่าว ริบบิ้นเหลืองของกุนซือแมนซิตี้แต่ถึงจะมีกฎห้ามอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร การแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองเป็นก็สิ่งที่อยู่คู่กับวงการกีฬาฟุตบอลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากตัวนักเตะแล้ว โค้ชเองก็มีส่วนในการรว่มแสดงสัญลักษณ์เช่นนี้ด้วยเช่นกันโดยในช่วงปลายปี 2017 เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กุนซือของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ถูกปรับเป็นเงิน 20,000 ปอนด์ เหตุติดริบบิ้นสีเหลืองที่หน้าอก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สนับสนุนเหล่านักการเมืองและนักกิจกรรมชาวคาตาลันที่เรียกร้องเอกราชให้กับแคว้นคาตาลุนญ่าจนถูกจองจำโดยรัฐบาลสเปน โดยทางสมาคมได้ตักเตือนเป๊บแล้วถึงสองครั้ง แต่เขากลับเผิกเฉยจนนำมาสู่การลงโทษดังกล่าว กุนซือทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ติดริบบิ้นสีเหลืองเพื่อสนับสนุนผู้เรียกร้องเอกราชของคาตาลุนญ่าที่ถูกจับกุมโดยรัฐบาลสเปน (ภาพจาก @tjparfitt ) กำปั้นของ 2 นักวิ่งสหรัฐฯในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิก การสัญลักษณ์ทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยการในแข่งปี 1968 ที่แม็กซิโกซิตี้ ทอมมี่ สมิธ และ จอห์น คาร์ลอส สองนักวิ่งผิวสีจากประเทศสหรัฐฯ ได้คว้าเหรียญทอง และเหรียญทองแดง ในการแข่งขันวิ่ง 200 เมตร ทั้งคู่ขึ้นรับเหรียญโดยไม่ใส่รองเท้า แต่สวมเพียงถุงเท้า และถุงมือสีดำ และระหว่างที่เพลงชาติสหรัฐฯ กำลังบรรเลง ทั้งสองได้ชูกำปั้นขึ้นเป็นสัญลักษณ์ Black Power Salute ซึ่งสื่อถือการเรียกร้องสิทธิคนผิวสีในสหรัฐฯ และการถอดรองเท้าออกเหลือเพียงถุงเท้าสีดำก็เป็นการสื่อสารว่าชีวิตของคนดำในสหรัฐฯ นั้นมีความยากลำบากมากจนไม่สามารถหาซื้อรองเท้าได้ หลังจากนั้นทางคณะกรรมการโอลิมปิก็ได้แบนสมิธกับคาร์ลอสออกจากการแข่งขัน และยังสั่งให้พวกเขาออกจากหมู่บ้านนักกีฬาในทันทีอีกด้วย ทอมมี่ สมิธ กับ จอห์น คาร์ลอส แสดงสัญลักษณ์ Black Power Salute (ภาพจาก wikimedia.org) ท่าคุกเข่า ขณะบรรเลงเพลงชาติสหรัฐฯ ของควอเตอร์แบ็กซานฟรานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้นับได้ว่าเป็นช่วงปีทองของการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ในปี 2016 โคลิน เคเปอร์นิก นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลของ ซาน ฟรานซิสโกฯ ได้นั่งคุกเข่าขณะที่เพลงชาติสหรัฐฯ กำลังบรรเลงเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านแนวคิดเหยียดสีผิวในสหรัฐฯ และประท้วงการฆ่าคนอเมริกันผิวสีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ แม้เขาจะถูกไล่ออกทันทีหลังเหตุการณ์ดังกล่าว แต่การแสดงออกของเขาก็ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก ทางเนชันแนลฟุตบอลลีก (NLF) ถึงขั้นออกกฎห้ามไม่ให้นักกีฬาคุกเข่าขณะที่เพลงชาติกำลังบรรเพลง แต่ห้ามไปก็ดูเหมือนจะไม่มีใครฟัง เพราะแม้จะมีกฎใหม่ออกมา แต่การเลือกปฏิบัตต่อคนดำในสหรัฐฯ ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดูจะรุนแรงขึ้นหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในเดือนกรกฎคม 2017 ในการแข่งขันระหว่าง Baltimore Ravanes กับ Jacksonville Jaguars ผู้เล่นทั้งสองทีมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวสีต่างพร้อมใจกันคุกเข่าเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่นเดียวกับเคเปอร์นิก ส่วนบางทีมที่ไม่อยากจะมีปัญหาเรื่องทำผิดกฎก็ใช้วิธีการไม่ออกมายืนที่สนามตอนเพลงชาติกำลังบรรเลงเสียเลย ต่อมาในเดือนเมษายน 2018 แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลได้มอบรางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก (Ambassador of Conscience award) ให้กับเคเปอร์นิก เพื่อเป็นการเชิดชูการกระทำที่กล้าหาญของเขา "การคุกเข่าเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ทางกายภาพ ผมต้องการท้าทายว่ายังมีการกีดกันและละทิ้งคนออกจากแนวคิดที่สนับสนุนเสรีภาพ อิสรภาพ และความยุติธรรมที่มีสำหรับทุกคน การประท้วงเช่นนี้มีรากเหง้ามาจากการหลอมรวมระหว่างความเชื่อทางศีลธรรมและความรักในเพื่อนมนุษย์ของผม" โคลิน กล่าวหลังได้รับรางวัล โคลิน เคเปอร์นิกรับรางวัลจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มุ่งเปลี่ยนไพร่เป็นพลเมือง ทำให้ คสช. เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย Posted: 26 Jun 2018 04:07 AM PDT ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชี้ประชาธิปไตยยังไม่เคยได้รับโอกาสให้เติบโต ประชาชนไม่เคยได้รับโอกาสให้ได้ลิ้มลองประชาธิปไตย ย้ำถ้าไม่มีใครลุกขึ้นมาสานต่อภารกิจประวัติศาสตร์ ที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนจากไพร่เป็นพลเมือง แล้วทำให้รัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย โดยเขาและพรรคอนาคตใหม่จะขอรับภารกิจประวัติศาสตร์นี้ไปทำต่อเอง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่รวมงานเสวนาพิเศษ "WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน "86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" โดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ ชวนตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมอภิปรายให้คะแนนกับระบอบประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาจากคะแนน 0 ถึงเต็ม 10 โดยธนาธรกล่าวว่าให้ 1.97 คะแนน โดยไม่ได้ให้ตามอารมณ์ความรู้สึก แต่ตนเป็นวิศวกรจึงคำนวณตัวเลขตามหลักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ อุปสรรคของระบอบประชาธิปไตยคือการทำรัฐประหาร เขาฝันว่าการทำรัฐประหารต้องจบในรุ่นของตน ไม่ส่งต่อไปถึงลูกหลานอีก ถือเป็นภารกิจของตน การเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ จากไพร่ที่ไม่มีปากเสียงมาสู่พลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน เขากล่าวด้วยว่าอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย เพราะการรวบอำนาจไปอยู่ที่กลุ่มคนๆ เดียวหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วเครื่องมือที่คนกลุ่มนี้มีก็คือการใช้กองทัพมาทำรัฐประหาร ดังนั้น ก็ต้องเรียนว่า ไม่ว่าวาทกรรมที่เราจะพูดกันว่า "คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม" ก็ตาม ไม่ว่าเราจะพูดกันว่า "ปัญหาของการพัฒนาประชาธิปไตยไทยคือนักการเมือง" ก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุดจริงๆ ก็คือ เรื่องที่ไม่มีใครกล้าพูด คือเรื่องการทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้ง เล่า เวลาเราบอกว่าชิงสุกก่อนห่าม หรือว่านักการเมืองที่เลวร้าย ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาก็ดี ในทางกลับกัน สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือ ประชาธิปไตยไม่เคยได้รับโอกาสให้เติบโตต่างหาก ประชาชนไม่เคยได้รับโอกาส ให้ได้ลิ้มลองประชาธิปไตย ได้ใช้อำนาจของตัวเองต่างหาก ตรงนี้ต่างหากที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นสรุปความในรอบแรก ถ้าไม่มีใครลุกขึ้นมาสานต่อภารกิจประวัติศาสตร์ ที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนจากไพร่เป็นพลเมือง แล้วทำให้รัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ผมและผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่และสมาชิกพรรคที่จะร่วมกันสร้างพรรคอนาคตใหม่ขอรับภารกิจประวัติศาสตร์นี้ไปทำต่อเอง ข้อที่ 2 ฟังสิ่งที่ทุกท่านบนเวทีนี้พูดให้ดี ฟังไว้ให้ดี แล้วดูสิ่งที่พวกเขากระทำหลังการเลือกตั้งว่า ใครบอกว่าตัวเองมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับรัฐประหาร ตัวเองมีความคิดเห็นอย่างไร เกี่ยวกับทหาร แล้วดูสิ่งที่เขาทำหลังการเลือกตั้ง โดยคลิปเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาพิเศษ "WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน "86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" ที่ Voice Space สถานีโทรทัศน์ Voice TV 21 ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อ 24 มิถุนายน 2561 ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พรึบ! เปิดรายชื่อ 38 ผู้สมัคร ชิง 7 กสม. Posted: 26 Jun 2018 03:35 AM PDT คนดังในวงการสิทธิฯ แห่สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคึกคัก ปิดรับสมัครรวม 38 ราย ลุ้นใครจะผ่านด่านสเปคเทพบวก 25 คุณสมบัติต้องห้าม ขณะที่ 11 ผู้สมัครผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านด่านแค่ 3 26 มิ.ย. 61 คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 11-25 มิถุนายนที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 38 คน ประกอบด้วย 1.นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นกระบวนการรับสมัคร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะส่งรายชื่อผู้สมัครไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและตรวจสอบลักษณะต้องห้าม จากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะเชิญผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามมาสัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อสรรหาต่อไป ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วยกรรมการจํานวน 7 คนจากผู้เป็นกลางทางการเมือง และมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี มาสรรหามาจากด้านต่างๆ จำนวน 5 ด้าน อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน แต่จะเกินด้านละสองคนมิได้ ได้แก่ 1) มีประสบการณ์ในการทํางานด้านสิทธิมนุษยชน โดยผู้เข้ารับการสรรหาจะต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม 25 ข้อ โดยให้มีคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย 1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน 2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 3) ประธานศาลปกครองสูงสุด 4) ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 3 คน 5) ผู้แทนสภาทนายความหนึ่งคน ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข เลือกกันเองให้เหลือ 1 คน และผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน 6) อาจารย์ประจําหรือผู้เคยเป็นอาจารย์ประจําในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งสอนหรือทํางานวิจัยหรือทํางานด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี ผู้ที่จะได้รับการสรรหา คณะกรรมการสรรหาจะต้องมีมติเลือกด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 โดยวิธีลงคะแนนโดยเปิดเผยและกรรมการสรรหาแต่ละคนจะต้องบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย จากนั้น ผู้ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งกรรมการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะมีวาระการดํารงตําแหน่ง 7 ปีและดํารงตําแหน่งได้เพียงวาระเดียว 11 ผู้สมัคร ผู้ตรวจฯ ผ่านด่านแค่ 3 คน 1. นายสมศักดิ์ สุวรรณจิต อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด ขั้นตอนต่อจากนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ จะเชิญผู้สมัครทั้ง 3 คนมาเข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงความคิดเห็นในเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันพุธที่ 27 มิถุนายน ที่อาคารรัฐสภา
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เห็นไทยในพม่า: เปรียบเทียบการถ่ายอำนาจกองทัพไว้ในรัฐธรรมนูญ Posted: 26 Jun 2018 03:21 AM PDT
ประโยคนี้สะท้อนมุมมองต่อบ้านเมืองและอารมณ์ขันแฝงการดูแคลนประเทศเพื่อนบ้านอย่างขื่นๆ ไปพร้อมกัน แต่สถานการณ์ประชาธิปไตยในปัจจุบันของทั้งสองประเทศดูเหมือนว่านอกจากจะไม่มีใครตามใครแล้ว ยังมีทีท่าจะจับมือเดินไปด้วยกันเสียด้วย ต้นปีที่ผ่านมา ในที่ประชุม 'Thailand Update 2018' มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา หนึ่งในข้อถกเถียงที่ได้รับความสนใจจากเหล่านักวิชาการด้านเอเชียศึกษาคือ ปัญหาการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตยในไทย รวมถึงคำถามที่ยืดเยื้อมาหลายปีที่ว่า เหตุใดประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงขาดเสถียรภาพทางการเมือง และส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเดินไปสู่ 'ระบอบลูกผสม' (The Mixed Regime) หรือไม่ก็กลายสภาพเป็นระบอบอำนาจนิยมบางชนิด (Authoritarian Regime) อาทิ การปกครองโดยพรรคเดียว ที่เกิดขึ้นอยู่ในกัมพูชาหรือสิงคโปร์ แต่เราคงต้องยกเว้นให้กรณี 'สึนามิการเมือง' ในมาเลเซียเอาไว้ก่อนซึ่งมีประเด็นน่าสนใจแยกออกไปอีกเรื่อง หรือไม่ประเทศส่วนใหญ่ของเอเชียอาคเนย์นี้ก็กลายเป็นเผด็จการหรือเป็นระบอบทหารที่มีอำนาจนำเหนือพลเรือน เช่น ไทยและพม่า ปัจจัยชี้วัดที่สำคัญอย่างหนึ่งในกรณีของสองประเทศหลังนี้คือ ภายหลังการทำรัฐประหาร ได้มีการถ่ายโอนอำนาจกองทัพเข้ามาไว้ในโครงสร้างทางการเมืองอย่างเป็นระบบ สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดมาจากตัวบทในรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายทหารร่างขึ้นเอง
ปัญหาเฉพาะภายในประเทศไทยและพม่าซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีเขตแดนติดกันยาวกว่า 2,401 กิโลเมตร นอกจากจะมีความใกล้ชิดในแง่ภูมิศาสตร์แล้ว ปัจจุบันยังเป็นที่ยอมรับกันว่าโครงสร้างทางการเมืองของรัฐไทยและรัฐพม่ามีทั้งความเป็นมาและสภาพการณ์ที่คล้ายคลึงกัน เพราะเต็มไปด้วยความไร้เสถียรภาพของสถาบันทางการเมืองประชาธิปไตย และการขึ้นมามีบทบาทนำในทางการเมืองของกองทัพ ในแง่เงื่อนไขทางการเมือง นับตั้งแต่พม่าปลดแอกได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในปี 1948 กองทัพได้เข้าทำการรัฐประหารครั้งสำคัญสองครั้ง คือในปี 1962 นำโดย นายพลเนวิน ซึ่งครองอำนาจยาวนานกว่า 26 ปี และการรัฐประหารหลังการนองเลือดของประชาชนชาวพม่าในปี 1988 จากนั้น นายพลซอว์ หม่อง หัวหน้าคณะรัฐประหารประกาศตั้ง 'สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ' หรือ 'สลอร์ค' (The State Law and Order Restoration Council: SLORC) และประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าเมื่อปี 1990 ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ของ นางออง ซาน ซูจี ได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง 392 ที่นั่งจาก 455 ที่นั่ง โดยที่พรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Party: NUP) ของรัฐบาลทหารได้เพียง 10 ที่นั่ง ช่วงเวลาดังกล่าวนักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของพม่า
การครองอำนาจของกองทัพพม่าที่ยืดยาวหลังจากนั้นได้เปลี่ยนรูปแบบไป เมื่อมีการถ่ายโอนอำนาจของกองทัพไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2008 ผ่านการทำประชามติ ส่งผลให้กองทัพขึ้นไปอยู่บนยอดอำนาจรัฐ กองทัพพม่ามีอำนาจในการควบคุมรัฐบาลพลเรือนทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัย เมื่อหันมามองประเทศไทย ความไม่ลงรอยระหว่างกองทัพกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นสาเหตุหลัก ในการรัฐประหารอย่างน้อยสามครั้งหลังสุด คือ พ.ศ. 2534, 2549 และล่าสุดคือ 2557 แม้ว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยจะได้รับการยกย่องจากนานาชาติให้เป็นประเทศแบบอย่างประชาธิปไตยที่ปักหลักมั่นคงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา และกลายเป็นประเทศผู้นำประชาธิปไตยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถผลักดันกระบวนการสันติภาพและยกระดับมาตรฐานทางสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม กล่าวเฉพาะเกือบหนึ่งทศวรรษก่อนการยึดอำนาจประเทศใน พ.ศ. 2557 การเมืองไทยอยู่ในภาวะความแตกแยกร้าวลึกในทางการเมือง หรือเรียกกันว่าเป็น 'ยุคการเมืองสีเสื้อ' (เหลือง-แดง) ที่ปรากฏขึ้นชัดเจนหลังการรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 ความขัดแย้งนี้มิได้เกิดขึ้นในแวดวงชนชั้นนำเท่านั้น แต่ขยายไปในทุกปริมณฑลของสังคม ผู้คนมองสังคมการเมืองด้วยแว่นตาที่ต่างกัน และถึงที่สุดพวกเขาปรารถนาถึงสังคมการเมืองที่แตกต่างกัน กระทั่งกองทัพเข้ามีบทบาทสำคัญตั้งแต่การแทรกแซงทางการเมืองและสลายการชุมนุมในปี 2009-2010 มาจนถึงช่วงปี 2013-2014 ระหว่างการชุมนุมอันยืดเยื้อของ 'คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข' (กปปส.) กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กองทัพใช้เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนอีกครั้ง ก่อนจะร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร ขึ้นบังคับใช้ได้ใน พ.ศ. 2560 |
ชำนาญ จันทร์เรือง: ความรับผิดของกรรมการบริหารพรรคการเมือง Posted: 26 Jun 2018 02:58 AM PDT
คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งนับได้ว่าเป็นองค์ประกอบหรือองคาพยพหนึ่งที่สำคัญที่พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องมี แน่นอนว่าเมื่อเป็นตำแหน่งที่สำคัญหากเกิดการผิดพลาดหรือมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น กรรมการบริหารพรรคฯ ก็ย่อมจะต้องมีความรับผิดที่สำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งผมจะนำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการบริหารพรรคฯ ที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้กำหนดข้อห้ามและบทลงโทษไว้ มาเสนอในส่วนที่สำคัญ ๆ ดังนี้ 1. ถูก กกต.ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง 20 ปี หากเพิกเฉยเมื่อรู้ว่าสมาชิกพรรคฯ กระทำผิดในการเลือกตั้งส.ส.หรือการเลือกส.ว. เมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าคณะกรรมบริหารไม่มีมติหรือสั่งการให้สมาชิกฯ ยุติการกระทำอันอาจมีลักษณะที่อาจทําให้การเลือกตั้ง (ส.ส.) หรือการเลือก (ส.ว.) มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้คณะกรรมการพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ คำสั่งดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดังกล่าวดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองจนกว่าจะพ้นเวลา 20 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 22 วรรคสี่) และหากกรรมการบริหารฯ ที่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวกระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้น เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการตามสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และหากไปมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่งอื่นหรือการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองจะต้องถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 140,000 บาท ถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 22วรรคหกและมาตรา 105) 2.สรรหาผู้สมัคร ส.ส.,ส.ว.ไม่เป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ หากหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารฯ ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 50 (ว่าด้วยวิธีการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง) และมาตรา 51 (ว่าด้วยวิธีการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ) จะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาทและถูกศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี (มาตรา 52 และมาตรา 117) 3.ยักยอกเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือสมาชิกผู้ใดได้รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคให้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องแจ้งให้พรรคการเมืองทราบภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ และให้พรรคการเมืองออกใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เป็นหนังสือให้แก่ผู้บริจาคเป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด กิจกรรมที่ว่านี้หมายความรวมถึงการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด สมาชิก หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้ (พูดง่าย ๆ ว่าอุ๊บอิ๊บเอาไปเป็นของตนเองว่างั้นเถอะ) ต้องถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง (มาตรา 67 และมาตรา 122) 4.ให้เงินหรือทรัพย์สินแก่ ส.ส.ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ ที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด ในกรณีที่พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมืองหรือบุคคลใดให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าจะให้เป็นประจำหรือเป็นครั้งคราว ถ้าการให้หรือรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้น ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 (ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่) หรือมาตรา 149 (ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่) ให้พรรคการเมืองหรือบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงการให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและ ถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น (เข้าใจง่าย ๆ ว่าห้ามแอบให้เงิน (เป็นเดือน/เป็นก้อน) หรือทรัพย์สินแก่ ส.ส.นั่นเอง) (มาตรา 88 วรรคหนึ่งและมาตรา 134) 5.นำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคฯ ไปใช้นอกจากที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารฯ ที่จะต้องตรวจสอบและควบคุมมิให้มีการนำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 84 (เงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนพัฒนาการเมือง) มาตรา 87 (ค่าใช้จ่ายเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิกและค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมือง) พรรคการเมืองต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์การดําเนินกิจกรรม) และมาตรา 88 (ตามข้อ 4) ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 89 และ มาตรา 136) 6.ถูกยุบพรรคแล้วยังไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคฯ ใหม่หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคฯ ขึ้นใหม่อีก ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 140,000 บาท ถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 94 วรรคสองและมาตรา 105) เอาเฉพาะที่สำคัญ ๆ เท่านี้ก่อนนะครับ แค่นี้กรรมการบริหารพรรคฯ และว่าที่กรรมการบริหารพรรคฯ คงหนาว ๆ ร้อน ๆ ไปตาม ๆ กันนะครับ นี่ยังไม่รวมที่จะต้องอยู่ชำระชำระบัญชีหรือผู้ที่รู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการบริหารและตำแหน่งแต่ยังยินยอมรับการแต่งตั้งฯ อีกด้วยน่ะครับ ตำแหน่งก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดครับ
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 26 Jun 2018 12:00 AM PDT ในประวัติศาสตร์ ยาวนานราวศตวรรษ แน่นิ่ง กระทั่งรุ่งเช้า แดดสว่าง
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตุรกีกับการเลือกตั้งปี 2018: จุดเปลี่ยนระบบการปกครองประเทศสู่รูปแบบประธานาธิบดี Posted: 25 Jun 2018 11:57 PM PDT
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2018 นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการเมืองตุรกี สำหรับคนที่ติดตามการเมืองตุรกีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีความพยายามในการนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศสู่ระบอบประธานาธิบดีมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว สังคมตุรกีมีการถกเถียงถึงประเด็นนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหมาะสม รูปแบบ หรือความพร้อมของประชาชนต่อรูปแบบการปกครองในครั้งนี้ กระทั่งเกิดการทำประชามติขึ้นในปี 2017 เพื่อปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญที่รวมไปถึงการเปลี่ยนการปกครองสู่รูปแบบประธานาธิบดี ซึ่งมีชาวตุรกี 51.41 เปอร์เซ็นต์ ตอบรับการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ แน่นอนว่ายังเป็นเรื่องราวที่ถูกถกเถียงนับต่อจากนั้นเรื่อยมา เนื่องจากผลคะแนนที่ชนะในครั้งนั้นมีความใกล้เคียงกันมาก แสดงให้เห็นว่ายังมีชาวตุรกีไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย การปรับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นระบุว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2019 แต่ด้วยกับเหตุผลด้านความมั่นคง โดยเฉพาะภัยคุกคามจากประเด็นซีเรีย ตลอดจนประเด็นความขัดแย้งและปฏิบัติการต่อกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรียและในอิรัก ทำให้เกิดข้อเสนอในการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นมา เพื่อให้ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งการเพียงพอในการรับมือต่อประเด็นนี้ โดยข้อเสนอนี้ถูกนำเสนอโดยหัวหน้าพรรค MHP พรรคสายชาตินิยมที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรครัฐบาลปัจจุบัน จากนั้นประธานาธิบดีเรเจบ ตอยยิบ แอรโดก์อาน ก็ขานรับข้อเสนอนี้และเสนอสภาให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดไว้ถึง 1 ปี 4 เดือน อย่างไรก็ดีมีหลายบทวิเคราะห์มองว่าการเสนอให้เลือกตั้งเร็วขึ้นเป็นเพราะว่าสภาพเศรษฐกิจกำลังอยู่ในขาลง หากปล่อยไว้นานไปอาจทำให้ประชาชนไม่พอใจมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลักที่ทำให้พรรคอัครักษาอำนาจได้ยาวนานปัจจัยหนึ่งคือ เรื่องเศรษฐกิจ รวมไปถึงประเด็นความมั่นคงจากประเทศในภูมิภาคที่นับได้ว่าตุรกีเองก็มีภาวะคุกคามไม่น้อย นอกจากนั้น บางการวิเคราะห์ก็มองว่าแอรโดก์อานต้องการให้อย่างน้อยตนเองอยู่ในตำแหน่งในปี 2023 ซึ่งนับเป็นปีที่จะครบรอบ 100 ปีของสาธารณรัฐตุรกี และช่วงเวลาที่ระบบคิลาฟะห์ในออตโตมานเดิมสูญสลาย แน่นอนว่าการครบวาระในปีดังกล่าวก็อาจทำให้มีปัจจัยเอื้อต่อการหาเสียงได้ต่อไปอีก สำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองในครั้งนี้ สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือ การให้ประธานาธิบดีที่เดิมมีอำนาจในลักษณะที่เป็นพียงสัญลักษณ์ของประเทศ เปลี่ยนสู่การให้อำนาจทั้งในฝ่ายบริหารและตุลาการ ประธานาธิบดีจะมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งรวมถึงรองประธานาธิบดี ออกกฎหมายที่ไม่ขัดกับกฎหมายเดิมหรือรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีมีสิทธิออกเสียงคัดค้านมติสภาขณะเดียวกันสภามีสิทธิยับยั้งการตัดสินใจของประธานาธิบดีด้วยเสียงเอกฉันท์ ขณะเดียวกันผู้พิพากษาในศาลรัฐธรรมนูญก็จะได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี 12 คน และอีก 3 คนจากสภา ประธานาธิบดียังมีอำนาจในการประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งต้องไม่เกิน 6 เดือน งบประมาณแผ่นดินจะถูกร่างผ่านประธานาธิบดีเข้าสู่สภา กรรมการบริหารระดับสูงขององค์กรรัฐ รวมถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัย จะถูกแต่งตั้งจากประธานาธิบดี เป็นต้น โดยการเพิ่มอำนาจให้กับประธานาธิบดีลักษณะนี้ถูกนำเสนอมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Demirel และ Özal หากแต่เริ่มชัดขึ้นในปี 2005 ที่เริ่มมีการถกเถียงในสังคมตุรกีมากขึ้น และเพิ่งมาชัดเจนหลังการเกิดความพยายามรัฐประหารในปี 2016 การเปลี่ยนรูปแบบนี้ถูกอธิบายว่าเป็นแนวทางในการรับมือกับประเด็นความมั่นคงภายในทั้งจากกองทัพ กลุ่มเฟโต้และกลุ่มติดอาวุธ PKK รวมถึงความมั่นคงภายนอกจากภัยคุกคามต่างๆ รอบๆ บ้าน ซึ่งระบบนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มฝ่ายค้านและตะวันตกว่าเป็นความพยายามในการทำให้ตุรกีกลายเป็นประเทศเผด็จการหรืออเสรีนิยมประชาธิปไตย เพราะระบบเช่นนี้สามารถปูทางให้แอรโดก์อานมีอำนาจไปอีกหลายปี และยังให้อำนาจเต็มรูปแบบแก่แอรโดก์อาน ในการบริหารปกครองประเทศ ในส่วนของรูปแบบการเลือกตั้งทั้งประธานาธิบดีและผู้แทนในสภาจำนวน 600 ที่นั่ง จะถูกเลือกในวันเดียวกัน ทุกๆ 5 ปี โดยผู้สมัครสมาชิกผู้แทนสามารถมีอายุอย่างน้อย 18 ปี และไม่จำเป็นต้องผ่านการเกณฑ์ทหารมาก่อน โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะใช้ระบบสองรอบ คือ หากไม่มีผู้ชนะเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดสองคนมาแข่งขันกัน การเลือกตั้งในครั้งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ มีการร่วมมือกันระหว่างพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่สนามแข่งขันที่มีอำนาจของประเทศเป็นเดิมพัน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างพรรคอัค ซึ่งเป็นพรรคของแอรโดก์อาน พรรค MHP ซึ่งเป็นพรรคสายชาตินิยมเติร์ก รวมถึงพรรค BBP ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็มีการรวมเป็นพันธมิตรของ พรรค CHP ซึ่งมีแนวคิดฝ่ายซ้ายและเคมาลิสต์ พรรค IYI ซึ่งเป็นพรรคเกิดใหม่ที่แยกออกมาจากพรรค CHP เดิม รวมไปถึงพรรค SAADET ที่เป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยแอรบาคาน ซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่าเป็นพรรคสายนิยมอิสลาม ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อกังขาไม่น้อยกับท่าทีของพรรค SAADET โดยที่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าเป็นผลมาจากตัวผู้นำพรรคที่เปลี่ยนไป และได้รับเสียงไม่มากเท่าที่เคยเป็นในยุคแอรบาคานเพราะสายนิยมอิสลามในประเทศหันไปลงคะแนนเสียงให้พรรคอัค ทำให้พรรค SAADET ต้องหาที่ทางและทางเลือกใหม่ให้มีตัวตนขึ้นมา ขณะเดียวกันพรรค HDP ของชาวเคิร์ด ก็ยืนยันไม่ร่วมกับกลุ่มใดและลงสมัครเอง |
Posted: 25 Jun 2018 11:03 PM PDT
ทักษิณ ชินวัตร คุยโวว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง โม้ไปมั้ง การเลือกตั้งใต้ ม.44 และกติกาที่จัดเตรียมไว้ทุกอย่าง ทั้ง ส.ว.แต่งตั้ง กกต. องค์กรอิสระ ก็มาจาก สนช.ชุดนี้ทั้งนั้น แทบมองไม่เห็นทางที่พรรคเพื่อไทยชนะได้เลย ก็อย่างที่อดีต ส.ส.เพื่อไทยเผย พวกย้ายพรรค นอกจากถูกซื้อตัว ยังถูกล่อใจว่าจะช่วยเรื่องคดีความ ถ้ายังอยู่เพื่อไทยทำอะไรก็ผิด ถ้าย้ายพรรคไปหนุนผู้มีอำนาจ ปิดหมู่บ้านหมาหอนทั้งคืนก็ยังได้ กระนั้น การที่ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ หัวร่อครึกครื้น ไล่อดีต ส.ส.ไปเก็บสตางค์จากพวกหน้าโง่ยอมจ่ายแพง ก็เป็นสัญลักษณ์ของการถีบความไม่ชอบธรรมให้ไปอยู่กับขั้วตรงข้าม กับใครก็ตามที่หวังดูด ส.ส.ตั้งพรรคสืบทอดอำนาจ ซึ่งไม่ใช่แค่ทักษิณ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองอื่นๆ ก็เย้ยหยัน ทักษิณถูกประณามว่าเลวชั่วโกง ผู้มีอำนาจอ้างตนเป็นคนดีมีธรรมาภิบาล หากใช้วิธีสืบทอดอำนาจอย่างสามานย์ แม้ทำสำเร็จ จะเรียกว่าชนะคะแนนนิยมทักษิณได้อย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น การที่ทักษิณบินไปฉลองวันเกิดยิ่งลักษณ์ (ซึ่งกลับมาโพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้ง) ถึงอังกฤษ ทั้งที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิ่งออกหมายจับอีก 2 คดีซ้อน และเพิ่งตัดสินจำคุกสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ฐานออกพาสปอร์ตให้ทักษิณ ในช่วงเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา "เยส แทงกิ้ว" เลิกคิ้ว ยกนิ้ว นั่งเข่าชิด เข้าพบ เทเรซา เมย์ ถามว่าใครชนะกันแน่ แหงละ แฟนคลับลุงตู่คงเดือดแค้น ว่ายิ่งลักษณ์ทักษิณจงใจก่อกวน ดันมาเกิดในช่วงลุงตู่ไปเยือนพอดี ทีวันเกิด อ.น้อง วันครบรอบแต่งงาน ลุงตู่ยังเลี่ยงเลย แต่มันก็แสดงให้เห็นชัด ว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส อียู ยอมรับรัฐบาลไทยจากการหิ้วกระเป๋าไปช็อปปิ้ง พร้อมผลประโยชน์ล่อใจในการลงทุน ทั้งที่ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่ยอมรับรัฐประหาร (การไปเยือนครั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษก็ไม่ได้เชิญแบบเป็นทางการ) เพียงแต่แค่นั้น รัฐบาลไทยก็ปลื้มเหลือหลาย แบบเดียวกับที่โฆษกไก่อูเป็นปลื้ม ว่าลุงตู่ได้ขึ้นปกนิตยสาร Time แม้พาดหัว Democrat Dictator พร้อมเรียกว่า "สฤษดิ์น้อย" ก็ตาม เลยขำกลิ้งกันทั้งประเทศ ทั้งที่อีกกระแสหนึ่งมีรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศยัวะ หาว่า Time แตะมือทักษิณ จงใจดิสเครดิต ตามสูตรเดิมๆ ในโลกนี้ใครไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เท่ากับถูกทักษิณซื้อไปแล้ว ย้อนมองภาพรวม ทำไมทักษิณออกมาตีปี๊บ "เพื่อไทยชนะ" ถี่ยิบ ทักษิณต้องการส่งสัญญาณอะไร ไม่น่าจะใช่คุยโม้โอ้อวดเท่านั้น อ่านให้ลึกลงไป ทักษิณน่าจะกำลังบอกผู้มีอำนาจทุกฝ่าย ว่าตัวเองถือไพ่เหนือกว่า ในแง่ของ "ความสงบ" คือถ้ามีเลือกตั้ง ฐานเสียงเพื่อไทยยังเข้มแข็ง รัฐบาลอยู่มาสี่ปีมีแต่คนเบื่อ พรรคลุงดูด พรรคลุงกำนัน พรรคประชาธิปัตย์ ต้องแย่งคะแนนกันเอง คะแนนเสียงที่เบื่อรัฐบาลถ้าไม่เลือกเพื่อไทยก็เลือกอนาคตใหม่หรือเสรีพิศุทธ์ ซึ่งร้อนแรงกว่าด้วยซ้ำ ถ้าอยากชนะทักษิณ ก็ต้องดูด ส.ส.น้ำครำ ต้องใช้อำนาจทำให้เลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งถ้าทำอย่างนั้น ก็อยู่ไม่ยืด ระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 รอวันพลิกคว่ำ และ "ความสงบ" ที่ต้องการกัน นอกจากไม่เป็นจริง อาจยิ่งวิบัติ ทักษิณต่อรองอะไร ก็คอยดูต่อไป ที่แน่ๆ คงไม่ใช่แค่อยากเกี้ยะเซียะ แอบไปคุยกับประยุทธ์ อย่างที่วิเคราะห์กันแบบโง่ๆ
ที่มา: www.kaohoon.com/content/237845 ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น