โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

"400 ลายนิ้วมือ" ประจักษ์พยานหญิงโรฮิงญาฟ้องศาลโลกเปิดโปงความโหดเหี้ยมกองทัพพม่า

Posted: 05 Jun 2018 08:44 AM PDT

กลุ่มทนายความสิทธิมนุษยชนรวบรวม "ลายนิ้วมือ" 400 ชุดจากผู้หญิงและเด็กผู้หญิงชาวโรฮิงญา เสมือนลายเซ็นจากผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ ซึ่งทางการพม่าเข่นฆ่าญาติมิตรพวกเขาไปต่อหน้า บ้างถูกข่มขืน และไล่ที่ออกจากบ้านเกิดจนต้องอพยพไปสู่บังกลาเทศ พวกเขาส่งลายนิ้วมือเหล่านี้ให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพื่อฟ้องร้องการกระทำของกองทัพพม่า และหวังว่ากระบวนการทางกฎหมายระหว่างประเทศจะเปิดทางให้มีการตีความการกระทำความผิดในแบบที่ข้ามพรมแดน จะอาจจะสามารถเอาผิดกับรัฐบาลพม่าผู้ไม่ได้ลงนามกับ ICC ได้

ภาพประกอบ: ชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยที่บังกลาเทศ ภาพถ่ายเมื่อ 13 ตุลาคม 2017 (ที่มา: Seyyed Mahmoud Hosseini/Tasnim News Agency/Wikipedia/CC BY 4.0)

4 มิ.ย. 2561 นิวยอร์กไทม์รายงานเรื่องการร้องเรียนต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) ในกรุงเฮก ให้มีการสืบสวนกรณีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

โดยในเอกสารภาคผนวกจำนวน 20 หน้า มีการพิมพ์ลายนิ้วมือสีม่วง 400 ลายนิ้วมือจากผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เนื่องจากพวกเขาไม่รู้หนังสือ ลายนิ้วมือเหล่านี้จึงนับเป็นสิ่งแทนการลงลายมือชื่อของพวกเธอ

ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องหนีตายจากบ้านเกิดเมื่อปีที่แล้วจากการสังหารหมู่โดยน้ำมือของกองทัพพม่าในเหตุการณ์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2560 หนึ่งในผู้ที่ร่วมลงนามด้วยลายนิ้วมือของตัวเองบอกว่า "พวกเรารู้สึกอ่อนแอ พวกเรารู้สึกเศร้าโศก พวกเราไม่สามารถแบกรับความว่างเปล่าจากการสูญเสียสมาชิกครอบครัวของพวกเราได้ ... พวกเรากำลังคาดหวังความยุติธรรมจากสหประชาชาติและศาลอาญาระหว่างประเทศ"

จนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้ก่อเหตุคนใดถูกจับมาลงโทษ พยานผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนบอกว่ากองทัพพม่าในเครื่องแบบสังหารและข่มขืนพลเรือนชาวโรฮิงญา

กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มก็มองว่าการที่ไม่มีใครถูกนำตัวมารับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะศาลอาญาระหว่างประเทศถูกตั้งขึ้นเพื่อตัดสินคดีเลวร้ายเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

อย่างไรก็ตามมีอุปสรรคหลายอย่างในการนำตัวผู้ก่อเหตุในรัฐบาลพม่าเข้าสู๋กระบวนการยุติธรรม อุปสรรคประการแรกคือการที่พม่าไม่ได้ลงนามรับรองธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ทำให้ศาลไม่สามารถดำเนินการทางอาญากับเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในพม่าและกระทำโดยชาวพม่าได้ เว้นแต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะอนุมัติให้อำนาจในเรื่องนี้ แต่ผู้สังเกตการณ์ก็บอกว่ามันเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น และอีกปัญหาหนึ่งคือการที่ ICC ไม่มีหน่วยตำรวจของตนเองและต้องอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐบาลในประเทศนั้นๆ จับกุมตัว

นั่นทำให้กลุ่มอัยการและกลุ่มทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพยายามใช้วิธีการใหม่ๆ เช่นอาศัยการที่ผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องถูกบีบให้ไปอยู่ในบังกลาเทศ จึงสามารถฟ้องร้องได้ว่าอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเกิดขึ้นในบังกลาเทศด้วย โดยที่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลบังกลาเทศเองเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ แต่หมายความว่าจะสามารถใช้บังกลาเทศเป็นเส้นทางสู่การขยายขอบเขตอำนาจการพิจารณาคดีได้

กลุ่มที่ดำเนินการในเรื่องนี้มีชื่อว่าชานตีโมหิลา หรือ "ผู้หญิงสันติ" ทนายความของกลุ่มนี้บอกว่าตราบใดที่พม่ายังไม่ยอมให้ชาวโรฮิงญากลับพื้นที่ของตัวเองและถูกบีบให้ต้องอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ นั่นหมายความว่าอาชญากรรมที่กองทัพพม่าเคยก่อไว้ยังไม่จบและกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะในข้อหา "การกีดกันเชื้อชาติ การปราบปรามลงโทษ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" แม้ว่าจะอยู่ภายนอกอาณาเขตของพม่าเอง และถ้าหากว่าศาลยอมรับคำร้องในเรื่องนี้ก็จะถือว่ากฎหมายนานาชาติก้าวกระโดดไปไกลมาก

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฟาตู เบนซูดา หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดเผยหลังจากขอคำแนะนำจากผู้พิพากษาว่า จากจุดยืนเธอแล้วการพิจารณาจะอาศัยเป็นไปตามหลักการที่วางไว้อย่างดี ในแง่่ที่ว่าการบังคับให้เกิดการอพยพนั้นถือเป็นปัญหาที่นานาชาติให้ความสนใจเร่งด่วน พวกเขามีกำหนดการว่าจะจัดพิจารณาคดีภายในแบบปิด ไม่ให้คนภายนอกเข้ารับฟังในวันที่ 20 มิถุนายนที่จะถึงนี้

ซึ่งการพิจารณาคดีแบบปิดนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา เช่น เควิน จอน เฮลเลอร์ ศาตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอนวิจารณ์ว่าการพิจารณาคดีเป็นเรื่องประเด็นกฎหมายล้วนๆ ทำไมถึงต้องพิจารณาลับ

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าถ้าหากมีการพิจารณาคดีในครั้งนี้มันอาจจะส่งผลสืบเนื่องไปสู่กรณีการสังหารในซีเรียด้วย เพราะถึงแม้ว่าซีเรียจะไม่ได้ลงนามกับศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ประเทศจอร์แดนที่อยู่ใกล้เคียงกันลงนามเป็นสมาชิกร่วม นั่นทำให้ชาวซีเรียที่ลี้ภัยไปยังจอร์แดนนับแสนคนอาจจะถูกนับรวมเป็นโจทก์ที่สามารถเอาผิดกับรัฐบาลซีเรียได้ และนอกจากนี้ยังอาจจะนำมาใช้กับกรณีความขัดแย้งอื่นๆ ที่มีการกระจายตัวออกไปนอกพรมแดนประเทศได้

นักวิเคราะห์มองว่าเรื่องการพิจารณาคดีด้วยขอบเขตของประเทศที่ผู้ลี้ภัยเข้าไปอาศัยอยู่นั้นยังอยู่ในพื้นที่เทาๆ ประเมินคำตัดสินไม่ได้ แต่มันก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่ ICC จะกู้หน้าให้ตัวเองหลังจากมีกรณีไม่ดำเนินคดีต่อกับ อุฮูรู เคนยัตตา ประธานาธิบดีเคนยา และ ICC ก็กำลังมีปัญหาไม่สามารถเอาผิดกับรัฐบาลประเทศสมาชิกรวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงได้ นักวิเคราะห์ชี้อีกว่ามันอาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่ ICC จะกลายเป็นองค์กรที่ดำเนินคดีในแบบครอบคลุมระดับโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีในจอร์เจีย, อัฟกานิสถาน, ปาเลสไตน์-อิสราเอล และหลายกรณีในแอฟริกา

สำหรับกรณีของโรฮิงญานั้น กลุ่มทนายความเป็นตัวแทนผู้หญิงและเด็กหญิง 400 คนยืนยันว่ารัฐบาลพม่าก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเชิงปราบปรามชนกลุ่มน้อยทั้งในพม่าเองและขยายผลไปสู่บังกลาเทศ และอาชญากรรมนี้ก็ยังคงถือว่าดำเนินต่อไป โดยที่เวย์น จอร์แดช หัวหน้าทนายตวามเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เป็นตัวแทนชาวโรฮิงญากล่าวเปรียบเทียบว่าถ้าหากผู้คนยังคงถูกคุมขังอย่างผิดกฎหมายอาชญากรรมจะยังไม่จบลงจนกว่าบุคคลที่ถูกคุมขังจะได้รับการปล่อยตัว สำหรับกรณีโรฮิงญาก็เช่นกัน พวกเขาถูกวางเงื่อนไขจากรัฐบาลพม่าให้เผชิญกับการทำลายล้างกลุ่มบุคคลให้หายไปโดยสิ้นเชิง หรือไม่เช่นนั้นก็ถูกสกัดกั้นไม่ให้กลับบ้านได้

กลุ่มทนายความและนักสิทธิมนุษยชนต่างก็หวังว่า ICC จะเป็นที่ๆ ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้หญิงเจ้าของลายนิ้วมือทั้ง 400 คนนี้ได้

พารัม-พรีต สิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมนานาชาติจากฮิวแมนไรท์วอทช์บอกว่าทางการพม่าแสดงความไม่ยอมอ่อนข้อมากขึ้นเรื่อยๆ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะยอมตรวจสอบรับผิดชอบตัวเองในเรื่องนี้ ทำให้ช่องทางสู่ความยุติธรรมที่เหลืออยู่ของพวกเขาคือการฝากความหวังไว้กับ ICC

เรียบเรียงจาก

400 Thumbprints: Behind the Push to Prosecute Myanmar for Atrocities, New York Times, 30-05-2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นัดสืบพยานคดีชาวบ้านฟ้องแพ่งตำรวจ ซ้อมให้รับสารภาพคดีวิ่งราว

Posted: 05 Jun 2018 06:03 AM PDT

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดสืบพยาน ม.ค.2562 คดีฤทธิณรงค์ ชื่นจิต หนุ่มปราจีนฟ้องกลับตำรวจเรียกค่าเสียหาย  20 ล้าน เหตุที่เขาถูกตำรวจจับและซ้อมทรมานให้รับสารภาพว่าเป็นคนวิ่งราวทรัพย์ทั้งที่ไม่ได้ทำเมื่อปี 2552 ตอนอายุ 17  ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องและคดีถึงที่สุด

5 มิ.ย.2561 จากกรณี นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร โดยทนายความของมูลนิธิเพื่อผสานวัฒนธรรม ได้เป็นโจทก์ ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นคดีแพ่งต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ พ.949/2560 ในข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 7 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติควบคุมตัวโดยมิชอบและทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้รับสารภาพในคดีทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด โดยโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดในคดีเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 20,800,000 บาท อันเป็นค่าความเสียหายต่อร่างกายจากการถูกทำร้ายร่างกาย ค่าเสียหายจากชื่อเสียงเกียรติยศและ ค่าเยียวยาความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพในร่างกาย พร้อมให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติลบล้างหรือถอนประวัติอาชญากรรมของนายฤทธิรงค์ฯ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 เวลา 13.30 น. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน ทนายความโจทก์ และพนักงานอัยการในฐานะทนายความจำเลยมาศาล ทนายความโจทก์ได้แถลงต่อศาลว่าฝ่ายโจทก์ประสงค์จะสืบพยานบุคคลจำนวน 9 ปาก  พนักงานอัยการได้แถลงต่อศาลว่าฝ่ายจำเลยจะสืบพยานบุคคลจำนวน 12 ปาก แต่มี 4 ปากที่ซ้ำกับพยานของโจทก์  ศาลอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายทำบันทึกถ้อยคำของพยานยืนยันข้อเท็จจริงต่อศาลแทนการซักถามพยานต่อหน้าศาลได้ โดยให้ยื่นต่อศาลและสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายล่วงหน้าก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน และอนุญาตให้สืบพยานโจทก์ 2 วัน คือวันที่ 15-16 มกราคม 2562 และนัดสืบพยานจำเลย 2 วัน คือวันที่ 17-18 มกราคม 2562

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ขณะที่นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร อายุ 17  ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองจังหวัดปราจีนบุรีจับกุมในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ แล้วส่งตัวนายฤทธิรงค์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนนำไปควบคุมและได้ร่วมกันซ้อมทรมานให้รับสารภาพว่าเป็นคนวิ่งราวทรัพย์ทั้ง ๆ ที่นายฤทธิรงค์ไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องนายฤทธิรงค์และคดีถึงที่สุด

เป็นเวลากว่า 6 ปี ที่นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ  (ป.ป.ท.)  เพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซ้อมทรมานตน แต่ไม่เป็นผล โดยต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปราวมการทุจริตในภาครัฐ  (ป.ป.ท.) ได้มีคำสั่งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความผิด  ต่อมาเมื่อปี 2558 นายฤทธิรงค์ฯ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรีด้วยตนเอง ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด 7 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองจังหวัดปราจีนบุรี 2 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดปราจีน 5 คน ในข้อหาความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งรับฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนและอีกหลายหน่วยงาน

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง' รอบล่าสุด โดนมาแล้วกี่คดี ใครโดนแล้วโดนอีก โดนอีกและโดนอีก

Posted: 05 Jun 2018 05:07 AM PDT

ใครอยากเลือกตั้ง..แล้วแสดงออกร่วมกันนั้นผิดกฎหมายภายใต้รัฐบาล คสช. กลุ่ม 'คนอยากเลือกตั้ง' จัดชุมนุม (ไม่กี่ชั่วโมง) กี่ครั้งๆ ก็โดนคดีทุกครั้งไม่มีรอด อีกทั้งยังนับเป็นมิติใหม่ที่รัฐแจ้งความเอาผิดกับประชาชนที่มาร่วมชุมนุมด้วยเป็นจำนวนมาก ไม่เฉพาะแกนนำจัดงาน

เมื่อคดีเกิดถี่ ทุกครั้งจึงมีตัวย่อให้จำดจำง่าย เป็นชื่อย่อของพื้นที่ + จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีในครั้งนั้น MBK39 CMU6 RDN50 PTY12 ARMY57 UN62 ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ พี่ป้าน้าอาหลายคนโดนคดีซ้ำแล้วซ้ำอีก ภาพอินโฟกราฟฟิคนี้ไม่ได้รวบรวมทุกคนในทุกคดีคนอยากเลือกตั้ง หากแต่เริ่มต้นจากรายชื่อของคดีหลังสุด UN62 แล้วดูว่าใน 62 คนนั้น ใครโดนแล้วโดนอีก โดนอีก โดนอีก และโดนอีก

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ดูภาพขนาดใหญ่

กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อทวงสัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เคยระบุไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งภายใน เดือนพฤษจิกายนปีนี้(61) รวมทั้งคัดค้านกระบวนการสืบทอดอำนวจของ คสช. ได้เริ่มชุมนุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561 ณ Skywalk ปทุมวัน จากนั้นมีการนัดชุมนุมเรื่อยๆจนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาในวาระครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร โดยในแต่ละครั้งทั้งแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมถูกดำเนินคดี 6 ชุดด้วยกัน ดังนี้

1. MBK39

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ประชาชนได้นัดรวมตัวกันผ่านทางเฟสบุ๊คเกิดขึ้นโดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา โดยแกนนำทั้งหมด 9 คน ได้แก่ รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, อานนท์ นำภา, เอกชัย หงส์กังวาน, สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, ณัฏฐา มหัทธนา, สมบัติ บุญงามอนงค์ และวีระ สมความคิด เพื่อออกมาชุมนุมคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งของรัฐบาลคสช.ที่ Skywalk ปทุมวัน และในท้ายที่สุดแกนนำทั้งหมดถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และข้อหาชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานไม่เกิน 150 เมตร ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ส่วนคดีของผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ถูกแยกออกจากแกนนำ 28 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 และพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ กรณีร่วมกันชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวังของพระรัชทายาท หรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจ สน.ปทุมวัน นำตัวแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถูกดำเนินคดีนี้ส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ โดยพนักงานอัยการ มีคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8 ราย ที่ถูกระบุเป็นแกนนำ มารายงานตัวต่อพนักงานอัยการอีกครั้ง 28 มิ.ย.นี้  เพื่อฟังคำสั่งซึ่งอาจมีผลการพิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องในคดีนี้ ขณะที่ที่กลุ่มผู้ร่วมชุมนุม 24 คน เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา อัยการคดีศาลแขวง เลื่อนการนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 26 มิ.ย.นี้

2. RDN50

เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จัดชุมนุม "หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถ.ราชดำเนิน มีคนเข้าร่มชุมนุมนับร้อย และต่อมาในวันที่ 15 ก.พ.61 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งจับแกนนำทั้ง 7 คนได้แก่ รังสิมันต์, สิรวิชญ์, ชลธิชา, สุกฤษฏิ์, ณัฏฐา และอานนท์  ในข้อหาร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนคนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ลาวงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลแขวงดุสิต นัดสอบคำให้การจำเลยส่วนผู้ชุมนุม ทั้ง 41 คน ซึ่งทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธ โดยจำเลยส่วนหนึ่งยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น และจำเลยที่อีกส่วนได้ยื่นคำร้องขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งของ คสช. ตามคำร้องขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลจึงเห็นว่าต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญและศาลแขวงดุสิตในทั้ง 2 กรณีและมีคำสั่งในวันนี้ให้เลื่อนนัดพร้อม ตรวจพยานและหลักฐานไปเป็นวันที่ 12 ก.ค.นี้ เพื่อฟังคำสั่งอีกครั้ง

นอกจากนี้ระหว่างการพิจารณาคดี ศาลเสนอให้รวมการพิจารณาคดี "RDN50" และ "ARMY57" เข้าด้วยกันเพื่อความสะดวกในการพิจารณาคดีให้รวดเร็ว เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษต่ำ ทนายจำเลยแถลงค้าน ด้วยเหตุผลว่าทั้งสองคดีมีข้อเท็จจริงคนละชุดและโจทก์คนละคน ศาลจึงให้แยกการพิจารณาคดีทั้งสองเช่นเดิม

ในส่วนความคืบหน้าคดีกลุ่มแกนนำ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ได้เลื่อนนัดต่อไปเป็นวันที่ 8 มิ.ย. นี้ เพื่อฟังคำสั่งอัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ในกรณีที่ฟ้องจะเป็นการนำตัวไปฟ้องที่ศาลอาญา แต่ถ้าหากว่ายังไม่มีการสั่งฟ้อง อาจจะเป็นการนัดใหม่อีกครั้ง ขณะที่เมื่อวันที่  27 เม.ย.ที่ผ่านมา อัยการสูงสุดได้มีการส่งฟ้อง รังสิมันต์ หนึ่งในแกนนำการชุมนุมแยกออกจากแกนนำอีก 6 คนไปก่อนหน้า หลังที่เขาเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา

3. CMU06

เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 17.00 น. ที่ป้ายหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนห้วยแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ มีกลุ่มสมัชชาเสรีเพื่อประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาประมาณ 50 คน ได้นัดรวมตัวกันพร้อมกับมีการชูป้ายและตะโกนคำว่า "เลือกตั้ง" นอกเหนือจากกลุ่มนักศึกษายังมีประชาชนชาวเชียงใหม่บางส่วนรวมไปถึง กลุ่ม นปช.เชียงใหม่ ที่มาร่วมทำกิจกรรมด้วยรวมทั้งหมดประมาณเกือบ 100 คน โดยการชุมนุมครั้งนี้มีประเด็นสำคัญคือการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพด้านวิชาการและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้แกนนำและแนวร่วมทั้ง 6 คนในคดี CMU06 ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ว่าด้วยเรื่องห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นจำนวน 1 คดี ล่าสุดศาลแขวงเชียงใหม่ เลื่อนนัดรายงานตัวกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาไปวันที่ 25 มิ.ย.นี้ หลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมไปรายงานตัวตามนัดในวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีคำสั่งทางคดี

4. PTY12

เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่ม START UP PEOPLE  จัดกิจกรรม START UP PEOPLE ON TOUR: ปลุกพลังคนอยากเลือกตั้งครั้งที่ 2 ที่ชายหาดหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัลพัทยาบีช เมืองพัทยา จ.ชลบุรี  เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว หยุดเลื่อนการเลือกตั้งและการสืบทอดอำนาจของคสช. จากการจัดกิจกรรมดังกล่าว ภายหลังมีผู้ถูกเรียก 7 คนคือ สิรวิชญ์, วันเฉลิม กุนเสน, จิดาภา ธนหัตถชัย, อนุรักษ์ เจนตวนิชย์, นายวีรชัย (สงวนนามสกุล), ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล และน.ส.อารีย์ (สงวนนามสกุล) ในคดีฝ่าคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตและจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งผู้รับแจ้ง ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ รวม 2 ข้อหา คือร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และร่วมกันมั่วสุมชุมนุมฯ  ต่อมาในวันที่ 25 เม.ย.61 มีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 5 คนคือ ศศวัชร์ คมนียวนิช, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ฉัตรมงคล วัลลีย์, ประนอม พูลทวีและ วลี ญาณะหงสา ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันกับ 7 คนก่อนหน้ารวมทั้งหมด 12 คน ล่าสุด กลุ่มคนเลือกตั้งหน้าห้างเซ็นทรัลพัทยาที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 และพรบ. ชุมนุม ศาลแขวงพัทยาได้นัดผู้ต้องหาให้มารายงานตัวในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ อีกครั้งหลังจากที่นัดผู้ชุมนุมให้มาแล้ววันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

5. ARMY57

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้เดินขบวนมุ่งหน้าไปยังกองทัพบก ถนนราชดำเนิน เพื่อทวงกำหนดวันเลือกตั้งที่ได้เรียกร้องให้เกิดขึ้นในปีนี้ และกิจกรรมภายในวันนั้นนอกเหนือจากการเดินขบวน ยังมีการปราศรัยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย ต่อมาตำรวจออกหมายเรียกผู้ชุมนุมรวม 57 คนมารับทราบข้อกล่าวหา โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่เป็นแกนนำ 10 คน และผู้ร่วมการชุมนุม 47 คน ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 16 (1), (8) และ มาตรา 18 และความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก จำนวน 47 คน ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามมาตราประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.การโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4 จำนวน 10 คน รวมเป็น 2 คดี ล่าสุดอัยการศาลแขวงดุสิตได้สั่งฟ้อง อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน กรณีไม่ไปรายงานตัวตามนัดฝากขังจากคดีดังกล่าว ขณะที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนนำตัวเอกชัย หงส์กังวาน จาก สน.ชนะสงคราม ไปศาลอาญารัชดา เพื่อขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 หลังจับกุมตัวเอกชัยจากบ้านพักเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา ตามหมายจับคดีแกนนำคดีนี้ ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวออกมาในวันที่ 15 พ.ค.61 โดยใช้หลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

17 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลแขวงดุสิต ผู้พิพากษาศาลขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดี นัดพนักงานฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 44 คน ในคดีนี้ ก่อนศาลได้นัดตรวจความพร้อมของคู่ความและตรวจพยานหลักฐานต่อไป ในวันที่ 12 ก.ค.นี้ โดยให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดไปโดยไม่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว

6. UN62

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร คสช. กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดกิจกรรมของการชุมนุมและเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลและอ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม แต่ภายหลังจากการอ่านแถลงการณ์เสร็จแกนนำได้ยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่และถูกควบคุมตัว 15 คน ต่อมาในวันที่ 24 พ.ค.61 ศาลอนุมัติปล่อยตัวทั้ง 15 คนชั่วคราวโดยห้ามชุมนุมทางการเมืองอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายแก่สาธารณะชน

และล่าสุดในวันจันทร์ที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา คสช. เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่มาร่วมชุมนุมในวาระครบรอบ 4 ปีการทำรัฐประหารของ คสช. โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก มี 21 คนถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/ 2558  และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) โดยมีพฤติการณ์เป็นแกนนำผู้ชุมนุม ซึ่งได้แบ่งงานกันทำเริ่มตั้งแต่มีการโพสต์ข้อความชักชวนกลุ่มบุคคลมาร่วมชุมนุม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนเพื่อให้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน กลุ่มที่ 2 มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 41 คน ในข้อหาความผิดละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

 
อ้างอิง 
 
MBK39 : ประชาไท 1, 2  Voice TV  และคมชัดลึกออนไลน์  
CMU06 : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1, 2
RDN50 : ประชาไท 1, 2  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1, 2
PTY12 : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1,
ARMY57 : ประชาไท 1, 2  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1, 2
UN62 : ประชาไท 1,
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศรีสุวรรณย้อนกองทัพ ถาม 4 ข้อหลักฐานเล็งดาวเทียมจารกรรม-เตรียมยื่น ป.ป.ช.

Posted: 05 Jun 2018 03:35 AM PDT

"คนดูหนังมากเกินไป" ออกโรงอย่างต่อเนื่อง ตั้ง 4 ข้อคำถามจี้ใจดำกองทัพกระทำการลับๆ ลงนามในหนังสือสัญญาต่างประเทศไม่ผ่าน สนช. ยืนยันดาวเทียมจารกรรม 9 หมื่นล้านมีมูล เตรียมยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบด้วย 

5 มิ.ย.2561 ท่ามกลางความเงียบ จู่ๆ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็ออกแถลงการณ์คัดค้านที่กระทรวงกลาโหมเตรียมจัดซื้อดาวเทียมจารกรรมราคาสูงถึง 9.1 หมื่นล้านเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สื่อมวลชนหลายสำนักลงข่าวของเขาจนเกิดกระแสตั้งคำถามมากมาย จากนั้นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและโฆษกกระทรวงกลาโหมได้ออกมาตอบโต้ข่าวนี้ โดยปฏิเสธว่าไม่มีประเด็นเรื่องดาวเทียมจารกรรมราคาสูงดังที่ศรีสุวรรณกล่าวหา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเขาอาจจะดูหนังมากเกินไป จึงนำมาซึ่งแถลงการณ์ล่าสุดของศรีสุวรรณที่ระบุว่าจะยื่นเรื่องกับป.ป.ช.และตั้ง 4 ข้อคำถาม คือ 1.การลงนามในสัญญาระหว่างทางการไทยกับสหรัฐอเมริกา 2.การจัดสัมมนาใหญ่ว่าด้วยดาวเทียมดังกล่าวเมื่อเดือนเมษายน 3. การลงนามหนังสือข้อตกลงใดกับต่างประเทศโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของ สนช. ถือเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ 4.ครม.พัฒนาดาวเทียมสำรวจธีออส 2 งบ 7,800 ล้านบาท และให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พัฒนาโครงการดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อความมั่นคงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งบ 1,000 ล้านบาทไปแล้ว จะถือว่าเป็นการซ้ำซ้อนกันหรือไม่

รายละเอียดมีดังนี้

แถลงการณ์ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
เรื่อง ตอบโต้การเฉไฉของกองทัพกรณีการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมจารกรรม

........................................

          ตามที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและโฆษกกระทรวงกลาโหมให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนกรณีข้อคัดค้านของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยที่ไม่เห็นด้วยที่สภากลาโหมหรือกองทัพไทยกำลังดำเนินการจัดซื้อจัดหาดาวเทียม THEIA จากสหรัฐอเมริกามูลค่า 91,200 ล้านบาทไทยมาใช้ในขณะที่ประเทศยังอยู่ในสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนยังยากจน ฯลฯ โดยอ้างว่ากองทัพยังไม่ซื้อดาวเทียมจารกรรมดังกล่าวเป็นแค่การศึกษา และยังกล่าวหาว่ามโนไปเอง และหรือดูหนังมากเกินไป ซึ่งพิเคราะห์แล้วน่าจะมีลักษณะเฉไฉเลี่ยงบาลีตอบคำถามไม่ตรงประเด็นมากกว่า

          กรณีดังกล่าวหากสมาคมฯ จะมโนไปเองหรือไม่นั้น กองทัพก็ควรที่จะต้องตอบคำถามของสมาคมฯ เพื่อให้ประชาชนทราบให้ได้เสียก่อนว่า

1) ทำไมประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป. : DTi) และคณะจึงได้เดินทางไปลงนามในหนังสือแสดงการรับรู้ หรือ LOA (Letter of Acknowledge) แล้วเมื่อวันที่ 14-23 ธันวาคม 2560 และต่อมาได้เดินทางไปลงนามในหนังสือแสดงความจำนง หรือ LOI (Letter of Intent) เมื่อเดือนมีนาคม 2561 และล่าสุดผู้บริหารในระดับบิ๊กๆของรัฐบาลได้เดินทางไปสหรัฐอเมิกาเมื่อปลายเดือนเมษายน 2561 เพื่อเป็นสักขีพยานในการลงนามในหนังสือยืนยัน หรือ LOC (Letter of Confirm)  

 (รายละเอียดในแถลงการณ์ฉบับก่อน-ประชาไท) ตามที่สภากลาโหมได้พิจารณาแนวความคิดด้านกิจการอวกาศ ของกระทรวงกลาโหมเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2561-2570 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยการผลักดันของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป. : DTi) เพื่อนำไปสู่การจัดซื้อจัดหา "ดาวเทียมไธอา : THEIA 112 ดวง มูลค่า 2,850 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ หรือ 91,200 ล้านบาทไทย (ไม่รวมค่าจัดส่งดาวเทียมขึ้นฟ้า) จากบริษัท THEIA Group โดยมีอดีตนักการเมืองในประเทศไทยเป็นตัวแทนนายหน้า ซึ่งอ้างว่ามีการร่วมทำ Thailand Satellites Data Information Processing Center กับสหรัฐอเมริกา

2) ทำไม รมช.กลาโหม เดินทางไปร่วมงานสัมมนาเรื่อง การใช้ประโยชน์จากดาวเทียม THEIA ณ ห้องฟินิกส์ อิมแพค เมืองทองธานี โดยมีหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกว่า 200 หน่วยงาน โดยการจัดของ สทป.เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561  และมีการเชิญประธานกรรมการ THEIA และคณะผู้บริหารของบริษัทดาวเทียมดังกล่าวมาบรรยายสรุปเกี่ยวกับขีดความสามารถของดาวเทียมในการเจาะและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ โดยมีนักล็อบบี้ยิสต์ฝ่ายไทยที่เป็นอดีตนักการเมืองใหญ่ ส.ส.หลายสมัยของจังหวัดเพชรบุรีรวมอยู่ด้วย

3) เนื่องจากหนังสือ LOA , LOI และ LOC ที่ สทป. ไปลงนามกับ THEIA สหรัฐอเมริกานั้น มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาเสียก่อน ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เหตุใดกองทัพหรือกระทรวงกลาโหมจึงไม่ขอความเห็นชอบจากสภา สนช.ให้มีมติให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวเสียก่อน และได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ครบถ้วนแล้วหรือยัง

4) ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า จัดทำโครงการการพัฒนาดาวเทียมสำรวจธีออส 2 งบประมาณ 7,800 ล้านบาท และให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาโครงการดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อความมั่นคงร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งบประมาณ 1,000 ล้านบาทไปแล้ว จะถือว่าเป็นการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ?

          การออกมาทักท้วงของสมาคมฯ ก็เป็นการยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งหาใช่เป็นการมโนหรือดูหนังมากเกินไปแต่อย่างใด

          ทั้งนี้ กรณีการใช้อำนาจในการไปลงนามในหนังสือสัญญาต่างๆกับต่างชาติในการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมจารกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น สมาคมฯจำต้องนำความไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนและมีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีการจงใจที่จะปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ โดยสมาคมฯจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ในวันพุธที่ 6 มิถุนายน 2561 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี และเพื่อพิสูจน์ว่าสมาคมฯมโนหรือดูหนังมากเกินไปหรือไม่ด้วย

แถลงมา ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2561

นายศรีสุวรรณ  จรรยา
เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล รธน.ลงมติ ม.44 แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ขัด รธน.

Posted: 05 Jun 2018 03:18 AM PDT

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติผ่าน 2 ประเด็น เรื่องการยืนยันสมาชิกพรรค ใน 30 วัน และให้มีสาขาและตัวแทนจังหวัดของพรรคหลังปลอดล็อค โดยระบุเหตุผลว่า ไม่เพิ่มภาระ ไม่เกินสมควร ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ

5 มิ.ย. 61 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 140 และมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (5) และวรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25, 26, 27 และมาตรา 45 หรือไม่

ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า พลตํารวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนต่อผู้ร้องว่าคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่อง การดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ร้องพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวมีสถานะเป็น "บทบัญญัติแห่งกฎหมาย" ที่ไม่ได้รับรองและคุ้มครองการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ประกอบมาตรา 45 อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นการเพิ่ม ภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาคตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ได้รับรองและคุ้มครองไว้ ผู้ร้องจึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1)

โดยผลการพิจารณา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนได้ทําความเห็นส่วนตน เป็นหนังสือ พร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และที่ประชุมได้ปรึกษาหารือร่วมกันแล้วลงมติในสองประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 140 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่อง การดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45 หรือไม่ ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า ศาลโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45

ประเด็นที่สอง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2560 มาตรา 141 วรรคหนึ่ง (5) และวรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่อง การดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45 หรือไม่ ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่าศาลโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และ มาตรา 45

โดยทั้งสองประเด็นดังกล่าวไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล

ทั้งนี้ มาตรา 140 ตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 กำหนดให้สมาชิกของพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นหรือเป็นพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 และยังคงดำเนินกิจการอยู่ หากประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นต่อไปต้องมีหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรคการเมืองนั้น พร้อมแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และให้ชำระค่าบำรุงพรรคการเมือง 100 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เมื่อพ้นกำหนดดังกล่าว หากสมาชิกผู้ใดมิได้มีหนังสือแจ้งยืนยันการเป็นสมาชิก ให้ถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นและให้พรรคการเมืองแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 30 วัน นับแต่พ้นกำหนดดังกล่าว

ส่วนมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดให้จัดสาขาพรรคการเมืองให้และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ส่วนมาตรา 141 วรรคสอง กำหนดว่าในกรณีที่ กกต.เห็นว่าพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด กกต.อาจมีมติให้ขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งออกไปได้อีก 1 เท่าของระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละเรื่อง เมื่อครบระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือครบระยะเวลาที่ กกต.มีมติให้ขยายแล้วแต่กรณี ให้พรรคการเมืองที่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จสิ้นสภาพลง ทั้งนี้ ในระหว่างเวลาที่พรรคการเมืองยังปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง (1) (2) (4) และ (5) ไม่ครบถ้วนจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท LINE แอด @prachatai (มีแอดนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมต.รับตั้งกรรมการร่วมศึกษายกเลิก ‘พาราควอต’ ประชาชนฮึ่มให้เวลา 3 สัปดาห์

Posted: 05 Jun 2018 02:43 AM PDT

ไม่ใช่เกษตรกรก็(ควร)สนใจ ใครกินพืชผักผลไม้เกี่ยวเต็มๆ ... เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษราว 100 คน บุกทำเนียบฯ เรียกร้องให้แบนยากำจัดศัตรูพืช พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รมว.เกษตรฯ รับหนังสือเอง ระบุจะตั้งคณะกรรมการร่วม ภาคประชาชนไม่เห็นด้วยเกษตรเป็นแม่งาน ต้องการกรรมการอิสระจากรัฐบาล ให้เวลา 3 อาทิตย์จะมาใหม่


ภาพจากเพจ ThaiPBS

5 มิ.ย. ที่ศูนย์บริการประชาชน เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ประมาณ 100คน นำโดยเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่อันตรายร้ายแรง ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนมติ ยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส โดยมีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับหนังสือแทน

ทางเครือข่ายมีข้อเสนอ 1.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติ และพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เพื่อให้เป็นไปตามเจตนาของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 2.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ศึกษาหาวิธีการทดแทน ตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค 3.ในช่วงก่อนการยกเลิก หากพบมีผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร เสนอให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมกันนี้เครือข่ายยังเห็นว่าข้าราชการในกรมวิชาการเกษตรมีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องดังกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้มารับหนังสือ กระทรวงเกษตรจะรับเป็นเจ้าภาพในการเสนอข้อเท็จจริงใหม่ให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาอีกครั้ง เพราะด้วยวิธีปฏิบัติแล้ว ไม่สามารถยกเลิกได้ในทันที แต่จากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อศึกษาข้อเท็จจริง ยืนยันว่ารัฐบาลต้องการให้ทุกชีวิตปลอดภัย รัฐบาลดำเนินการ 1.เรื่องสุขภาพ 2.สิ่งแวดล้อม 3.เศรษฐกิจ โดยเห็นสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การตั้งคณะกรรมการร่วมกัน หากทางเครือข่ายเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคนใดมีผลประโยชน์ทับซ้อน รับเงิน ขอให้แจ้งมาเราพร้อมดำเนินการให้

ภายหลังการมอบหนังสือและได้รับคำมั่นสัญญาจาก รมว.เกษตรและสหกรณ์ ทางเครือข่ายฯ ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงยอมรับการแต่งตั้งกรรมการอิสระเพื่อให้มีการทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยมีกรอบการทำงานภายใน 60 วัน แต่ยืนยันให้มีการแต่งตั้งตัวแทนกรรมการโดยรัฐบาล และให้เป็นกรรมการที่ปลอดจากผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างแท้จริง แต่เครือข่ายไม่อาจยอมรับข้อเสนอที่จะให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะไม่ได้เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพอีกทั้งมีบทบาททับซ้อนในฐานะที่มีหน้าที่ส่งเสริมและดูแลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นหลัก มองมิติเพียงประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีเป็นหลัก

"เครือข่ายจะติดตามความชัดเจนของรัฐบาลว่าจะแถลงและดำเนินการในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยต้องเป็นไปตามกรอบข้อเสนอของเครือข่ายฯ 3 ข้อ ได้แก่

1) ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติ และพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในเดือนธันวาคม 2562 ตามกรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไว้ โดยกระบวนการพิจารณาข้อมูลและลงมติต้องไม่มีผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 12 วรรค 2 ใช้ข้อมูลที่ทันสมัย เป็นกลางทางวิชาการ และมาจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง ได้แก่ ผลการพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และข้อมูลจากเครือข่ายประชาคมวิชาการ ซึ่งเพียงพอต่อการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส

2) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาหาวิธีการทดแทน ตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ทั้งนี้จากการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง ร้อยละ 63 ไม่ได้ใช้พาราควอตในการกำจัดวัชพืช นั่นหมายถึงมีสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่นและวิธีการในการจัดการวัชพืชที่มีประสิทธิภาพมากกว่าพาราควอตอยู่แล้ว หากแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้มาเผยแพร่ในวงกว้าง

3) ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ก่อนจะยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสในปี 2562 หากพบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร เสนอให้กระทรวงการคลังศึกษาและจัดเก็บภาษีจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง มาใช้ในการเยียวยาผลกระทบและสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีจัดการวัชพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะลดผลกระทบจากการถูกกีดกันทางการค้าจากความไม่ปลอดภัยของสารพิษตกค้าง การละเมิดสิทธิเกษตรกรที่ใช้สารพิษที่อันตรายร้ายแรง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกในระยะยาว

ภายใน 3 สัปดาห์หลังจากนี้จะมีการจัดประชุมใหญ่ของเครือข่ายโดยมีตัวแทนจากสมาชิกเครือข่ายทั้ง 700 องค์กรเข้าร่วม เพื่อประกาศยกรระดับปฏิบัติการ และท่าทีของเครือข่ายต่อไป" แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ เพจ Biothai ของมูลนิถีชีววิถี ให้ข้อมูลปัญหาของระบบการพิจารณาของหน่วยงานไทยว่า อะไรคือ "วัตถุอันตราย" ว่า  เมื่อปี 2552 คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร ประกาศให้พืชสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 ซึ่งจะทำให้มีการควบคุมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรดังกล่าวที่มีการแปรรูปขั้นต้น "โดยไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี" ที่นำไปใช้ "ป้องกันกำจัด ทำลาย ควบคุมแมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช" ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (โปรดดู http://www.biothai.net/node/223) มติดังกล่าวของคณะกรรมการวัตถุอันตรายถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กลายเป็นพาดหัวใหญ่ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในขณะนั้นต้องออกมาขอโทษต่อประชาชน และกระทรวงอุตสาหกรรมต้องรีบดำเนินการให้มีการทบทวนมติดังกล่าวจนต้องถอนคำประกาศในที่สุด (https://www.thairath.co.th/content/9880) อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนในคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เกี่ยวข้องกับประกาศให้พืชสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ปัจจุบันยังคงมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการวัตถุอันตรายและอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องผลักดันให้พาราควอตสารพิษร้ายแรงที่หลายประเทศทั่วโลกประกาศแบนไปแล้วให้สามารถใช้ต่อไปได้ เช่นเดียวกับคลอร์ไพริฟอส สารพิษที่พบตกค้างมากที่สุดในผักผลไม้ ซึ่งพบว่าส่งผลกระทบต่อสมองของเด็กและทารกอย่างไม่อาจฟื้นคืนได้ มติดังกล่าวเสมือนการตบหน้าข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงของ 4 กระทรวงหลัก ซึ่งเสนอให้ยกเลิกการใช้สารพิษร้ายแรงดังกล่าว และตบหน้าประชาชนไทยทั้งประเทศที่กังวลต่อผลกระทบของสารพิษเหล่านั้นต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

 

ที่มาบางส่วน: มติชนออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ "รวมพลังประชาชาติไทย" มุ่งปฏิรูป ไม่ปฏิวัติ ไม่โค่นล้ม ไม่ชิงชัง

Posted: 05 Jun 2018 02:34 AM PDT

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เผยเข็มมุ่ง "รวมพลังประชาชาติไทย" จะปฏิรูป ไม่ปฏิวัติ ไม่โค่นล้มอะไร ไม่มีความชิงชังอะไรทั้งสิ้น "มีแต่จะทำการเมืองแห่งความรู้รักสามัคคี" จะเป็นพรรคของพลเมืองผู้เป็นพสกนิกรที่รักภักดีและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะต้องปกป้องสิ่งที่ดีงามทั้งหมดที่บรรพชนไทยได้ทำเอาไว้

ส่วนหนึ่งของการปราศรัยโดย "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" (ที่มา: FacebookLive พรรครวมพลังประชาชาติไทย)

ในการประชุมผู้ก่อตั้งพรรคและผู้สนับสนุนพรรค "รวมพลังประชาชาติไทย" เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ศาลาดนตรีสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต ตอนหนึ่ง ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ หนึ่งในแกนนำผู้ก่อตั้งพรรค ได้กล่าวถึงอุดมการณ์และเหตุผลที่มีการจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยว่า ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพรรคการเมืองสามรูปแบบ คือ พรรคการเมืองทหาร พรรคการเมืองนายทุน และพรรคที่นักการเมืองอยากเล่นการเมือง โดยพรรคทั้งสามแบบเป็นแบบสั่งการโดยเจ้าของพรรค

"การมาทำพรรคการเมืองครั้งนี้เราอยากเห็นพรรคที่ทุกคนมีความหมาย ตัวเองขอยืนยันว่าการมาทำพรรคครั้งนี้ ไม่ได้อยากเป็นหัวหน้าพรรค และไม่ได้อยากเป็นรัฐมนตรี แต่สิ่งที่ตัวเองเข้ามาเพราะได้ไปพบกับผู้ร่วมก่อตั้งพรรคที่เคยต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2516 2519 2535 และ 2548 เห็นตรงกันว่าคนไทยต้องการประชาธิปไตยแบบธรรมาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบแสวงหาอำนาจหรือฉ้อฉล เรากำลังทำการเมืองใหม่ รูปแบบใหม่ เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน"

"ผมไม่ใช่ กปปส.หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยอมรับว่ามีลูกศิษย์กังวลว่าการที่ผมมายุ่งเกี่ยวการเมือง จะทำให้ชื่อเสียงมัวหมอง ไม่เป็นที่รักของคนทุกกลุ่มอีกต่อไป ซึ่งก็ขอยืนยันว่าจะทำการเมืองแบบสร้างสรรค์ พรรคต้องเป็นของประชาชน และประชาธิปไตยต้องเริ่มจากในพรรค"

"เราจะทำการเมืองแบบรู้รักสามัคคี เพื่อให้แผ่นดินไทย สงบ สันติและก้าวต่อไปข้างหน้า แผ่นดินนี้มีปัญหามากมายและยุ่งเหยิง เราจึงต้องมาร่วมกันแก้ไข"

เขาย้ำด้วยว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทย จะเป็นพรรคของประชาชาติไทยจริงๆ จะมีบุคคลที่ไม่เป็นที่รู้จักแต่มีหัวใจเพื่อบ้านเมือง รวมทั้งคนชายขอบ มาอยู่ในตำแหน่งปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้นๆ และจะมีความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง พร้อมย้ำว่าไม่กลัวแพ้ การทำการเมืองครั้งนี้ไม่มีแพ้ เพราะการทำการเมืองเที่ยวนี้เป็นการทำเพื่อแผ่นดิน ทำเพื่อบ้านเมือง ทำเพื่อทดแทนบุญคุณแผ่นดินไทยนี้

"เราจะปฏิรูป เราจะไม่ปฏิวัติ เราจะไม่โค่นล้มอะไร เราไม่มีความชิงชังอะไรทั้งสิ้น เรามีแต่จะทำการเมืองแห่งความรู้รักสามัคคี" เอนกกล่าวตอนหนึ่ง

เขากล่าวต่อไปว่า "เราเชื่อว่าแผ่นดินไทยต้องสงบ สันติ และจะต้องก้าวไปข้างหน้า และจะต้องมีอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป ผมทำการเมืองเที่ยวนี้ผมทำเพื่อลูกเพื่อหลาน อายุผมก็อยู่ในวัยที่เป็นผู้ใหญ่ ผมไม่ได้คิดแต่ในวัยผม ไม่ได้คิดแต่คนรุ่นผม ผมคิดถึงคนรุ่นก่อน ผมคิดถึงบรรพชน ขณะเดียวกันผมก็คิดถึงลูกหลาน และลูกของลูกหลานที่จะเกิดมาอีก แผ่นดินนี้มีปัญหามากมาย เราต้องเข้ามาแก้ไข บ้านเมืองนี้ยุ่งเหยิง เราต้องเข้ามาแก้ไข บ้านเมืองนี้เต็มไปด้วยปัญหา เรามีความรู้ต้องเอามาใช้ ความรู้ที่ดีที่สุดก็คือความรู้ที่ใช้แก้ปัญหา สร้างโอกาส หาโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศ"

โดยตอนท้ายเขากล่าวเชิญชวนประชาชนมาร่วมกับพรรคที่เขาก่อตั้งว่า "ผมมีความมั่นใจกับพรรคนี้ ผมขอเชิญชวนพวกเราให้มาร่วมกับพรรคนี้ เรายังต้องการผู้ก่อตั้งพรรค เรายังต้องการผู้แสดงเจตจำนง ที่จะมาช่วยกันสร้างพรรคนี้ขึ้นมา เราต้องการสมาชิกอีกมากมาย แล้วภายใน 3 เดือนข้างหน้า เราจะเคลื่อนไปทั่วประเทศ เราจะไปเตือนประชาชน อันมากมายมหาศาลให้รำลึกถึงคืนวันที่ผ่านไปไม่นานนี้ ที่พวกเราออกมากันเต็มถนน ที่พวกเราไม่เกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น พวกเรายอมตาย ยอมเจ็บ ยอมติดคุก และกำลังจะติดคุก ซึ่งขอให้ไม่ติดนะครับ (เสียงปรบมือ) แต่นั่นแหละครับ คือตัวอย่างของพวกเรา"

"แต่วันนี้นะครับ พวกเรามาช่วยกันทำพรรครวมพลังประชาชาติไทย อนาคตอยู่กับเรา บ้านเมืองเป็นของเรา เราต้องก้าวเข้ามาข้างหน้า ร่วมกันนำพาประเทศ เราจะไม่เป็นลูกน้องใครทั้งสิ้น เราจะเป็นพลเมือง เราจะเป็นพรรคของพลเมือง แต่พลเมืองนี้จะต้องเป็นพสกนิกรที่รักภักดีและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะต้องปกป้องสิ่งที่ดีงามทั้งหมดที่บรรพชนไทยได้ทำเอาไว้ อย่าให้ใครมากวาดมันทิ้ง ข้ามศพพวกเราไป ข้ามศพพวกเราไป"

"ผมมีแค่นี้แหละครับ ออกมาจากหัวใจ ที่เตรียมไว้ไม่ได้พูดตามที่เตรียมเลย" เอนกกล่าวในที่สุด

วินาทีร่ำไห้ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ประชุมพรรครวมพลังประชาชาติไทย

สุเทพ-เอนก เปิดตัวพรรค 'รวมพลังประชาชาติไทย' ชูธรรมาธิปไตย ไม่แก้ รธน.

จากสองนคราประชาธิปไตย ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง
ถึงพรรครวมพลังประชาชาติไทย

สำหรับเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้เป็นแกนนำสำคัญของพรรค "รวมพลังประชาชาติไทย" นั้นเป็นผู้เขียนหนังสือที่สำคัญคือ "สองนคราประชาธิปไตย" เจ้าของทฤษฎีคนชนบทตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯ ไล่รัฐบาล ปัจจุบันเป็นคณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต

เขาเกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม ปี 2497 ที่ จ.ลำปาง เคยเรียนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร่วมก่อตั้งพรรคจุฬาประชาชน ในปี 2519 เคยเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนลี้ภัยไปอยู่ในเขตป่าภาคใต้หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลังจากนั้นเขาเปลี่ยนมาศึกษาด้านรัฐศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกา เคยเป็นอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บนเส้นทางการเมืองเขาเคยร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ จนเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาได้ลาออกมาร่วมงานกับ "เสธ.หนั่น" พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ตั้งพรรคมหาชนซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากพรรคราษฎร และลงเลือกตั้งทั่วไปในปี 2548 โดยเอนกเป็นหัวหน้าพรรคมหาชน แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเพียง 2 ที่นั่ง ส่วนเอนกและ พล.ต.สนั่น สอบตกไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

โดยในสมัยนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ให้สมญานามไว้ด้วย โดยเรียกเอนกว่า "ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง"

ในช่วงรัฐบาล คสช. เขาเป็นอดีตที่ปรึกษาและกรรมการคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) อดีตประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง อดีตประธานคณะกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ

ด้านชีวิตครอบครัว เขาสมรสกับ รศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ เป็น หัวหน้าศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ มีบุตรทั้งสิ้น 4 คน คือ อิศรา เหล่าธรรมทัศน์, เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์, อินทิรา เหล่าธรรมทัศน์ และเขมรัฐ เหล่าธรรมทัศน์

โดยในวันประชุมพรรครวมพลังประชาชาติไทย ลูกชายของเอนกคือ เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ และหลานสาวของเอนกคือ จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ มาเป็นพิธีกรด้วย โดยกรณีของจุฑาฑัตตนั้น เป็นผู้มีบทบาทในแวดวงนักธุรกิจเพื่อสังคม และเมื่อ 17 มีนาคม 2560 เคยเดินทางไปพร้อมกับแกนนำ กปปส. เพื่อให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองช่วงรัฐบาล คสช. ด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธ.สมาคมลูกจ้างรัฐ เผยยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการปรับค่าแรงลูกจ้างสธ.

Posted: 05 Jun 2018 01:32 AM PDT

โอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย ผิดหวังหลังประชุมร่วมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เผยยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาค่าแรงต่ำของลูกจ้างในระบบ ไม่มีแม้กระทั่งฐานข้อมูลของลูกจ้างในกระทรวงฯ แสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขระบุขอเวลาหาข้อมูลก่อน

 5 มิ.ย. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า โอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามการแก้ปัญหาลูกจ้างของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมประชุมกับทางผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการพูดในภาพรวมเกี่ยวกับการจัดการปัญหา พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือ พกส. เป็นหลัก แต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงประเด็นใหญ่คือ ลูกจ้างในระบบเลย โดยพูดแต่ว่า ขณะนี้ไม่มีตัวเลข ไม่มีฐานข้อมูลของลูกจ้างในกระทรวงฯ ทั้งลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมา ทําของ ลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มลูกจ้างส่วนราชการที่ทํางานให้กระทรวงฯ เหมือน ถูกละเลยมาตลอด เห็นได้ชัดจากเงินค่าจ้างที่ได้รับก็ไม่ได้ตามค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งไม่ใช่แค่เกณฑ์ขั้นต่ำของ กระทรวงแรงงาน แต่ยังไม่ได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ําของกระทรวงสาธารณสุขที่กําหนดเองด้วยซ้ํา

โอสถ กล่าวอีกว่า ค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานที่ให้บริษัทต่างๆต้องปฏิบัติอย่างรายวันก็ 300 บาท ต่อวัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 9,000-15,000 บาท แต่ของกระทรวงสาธารณสุขจะมีประกาศของตนเองโดย ค่าแรงจะอยู่ที่ตําสุด7,500-14,500 บาท อย่างตนเองทํางานมาตั้งแต่ปี 2537 เป็นพนักงานกระทรวงฯ ได้อยู่ที่ เดือนละ 11,070 บาท แล้วลูกจ้างจะได้น้อยกว่าขนาดไหน ซึ่งตัวเลขที่ทราบมีลูกจ้างที่มีปัญหาค่าแรงประมาณ 40,000-50,000 คน จึงไม่ทราบว่า เพราะอะไรทาง สธ.จึงไม่มีตัวเลขตรงนี้

"น่าน้อยใจมาก เพราะอย่างค่าตอบแทนฉบับ 11 ที่จ่ายเพิ่มนอกเหนือเงินเดือนให้แก่วิชาชีพต่างๆ กลับทํา อย่างรวดเร็ว แต่ของลูกจ้าง ซึ่งถือเป็นลูกอยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขกลับถูกละเลย ถ้าพวกเรา ไม่รวมตัวกันไปร้องเรียนก็คงไม่มีอะไรขยับ แต่ขนาดร้องเรียนแล้วก็ยังนึงอยู่เลย ทุกวันนี้เงินก็ยังไม่เพิ่มตาม เกณฑ์ที่ควรได้รับ มีการพูดคุยกันในพื้นที่ว่า ตั้งแต่พวกเราไปเรียกร้องให้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งน่าจะประมาณกลางเดือนมิถุนายนนี้ พวกเราจะรวมตัวเรียกร้องโดยแต่ละพื้นที่จะดําเนินการให้ไปเรียกร้องกันที่ศาลากลางจังหวัด"

โอสถ กล่าวว่า อยากให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการสธ.ลงมาดู เรื่องนี้เอง เพราะเคยรับปากจะช่วยเหลือ แต่ขณะนี้ยังไม่ตั้งคณะทํางานเลย จึงรู้สึกท้อและผิดหวังมาก ขณะที่ล่าสุดยังมีการจ้างที่ต่ำกว่าเกณฑ์อย่างรพ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี มีติดประกาศรับสมัคร พนักงานขับรถ พนักงานเปล พนักงานช่วยเหลือคนไข้ พนักงานเก็บเอกสาร ได้รับเพียง 6,552 บาท

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกําลังดําเนินการโดยเริ่มทําแล้วในกลุ่มพนักงานกระทรวงฯ 1,500 คนที่ยังไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ํา โอสถ กล่าวว่า นั่นเป็นกลุ่มพนักงานกระทรวงฯ หรือพกส. ซึ่งไม่ใช่ลูกจ้าง จริงๆ ต้องพูดถึงลูกจ้างด้วย อย่างถ้ามีความจริงใจในการช่วยเหลือก็ควรตั้งคณะทํางานขึ้นมาตามที่ก่อนหน้า นี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้รับปากไว้ แต่จนบัดนี้กลับไม่มี การประชุมที่ผ่านมาก็ไม่ได้พูดถึงว่าจะช่วยเหลืออย่างไร จึงไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วลูกจ้างจะเป็นอย่างไรต่อ ดังนั้น หากไม่มีการขยับใดๆ ก็ต้องขับเคลื่อนเรียกร้องต่อไปอีก

ด้านพญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สธ.กำลังดําเนินการอยู่ โดยการประชุมร่วมที่ผ่านมาก็มีการพูดถึงการจะดําเนินการอย่างไร เพียงแต่ที่มีเรื่องของพนักงานกระทรวงฯ ออกมาก่อนนั้น เนื่องจากมีข้อมูลอยู่ในระบบ กล่าวคือ เป็นลูกจ้างที่ขึ้นเป็นพนักงานกระทรวงฯ 1,500 คน โดย กลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มใหญ่ที่ขึ้นเป็น พกส. แต่ยังไม่ได้ถูกปรับขึ้นเงินตามอัตราที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนดตาม กระทรวงการคลัง ซึ่งเดิมเป็นหมื่นๆ คนก็ปรับเพิ่มขณะนี้เหลือ1,500 คน เดิมเราให้ปรับขึ้นตามวุฒิให้แล้ว เสร็จภายในปี 2562 แต่เมื่อจําานวนเหลือกว่าพันคน จึงให้มีการดําเนินการแล้วเสร็จไปเลย ณ ขณะนี้

"ส่วนลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายคาบ ลูกจ้างเหมาบริการ ขอเวลาหาตัวเลขจริงๆ ว่ามีกี่คนที่ได้รับค่าแรงต่ำกว่าที่กระทรวงฯกําหนด และแต่ละคนได้ค่าจ้างอย่างไร จากนั้นก็จะมาทํากรอบอัตราการจ่งงานภาพรวม ทั้งหมดว่า ควรจะมีทิศทางอย่างไร ซึ่งไม่ใช่ไม่ดําเนินการแต่กําลังทําไปทีละขั้นตอน ขอย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เราให้ความสําคัญกับกลุ่มไหนเป็นพิเศษ เราให้ความสําคัญหมด" พญ.พรรณพิมล

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: Don't Cry

Posted: 05 Jun 2018 01:24 AM PDT


คุณเสียใจเรื่องอันใด?
นั่น..น้ำตาถึงนองไหลอาบใบหน้า
คุณเจอะเจอเหตุการณ์ร้ายอะไรมา?
คงจะหนักและเหนื่อยล้าฝ่าผจญ

คุณสูญเสียใครไปหรือเปล่า?
ถูกล้อมรั้วยิงร่วงกราวกลางถนน
หรือว่าคุณเสียลูกชายไปสักคน?
ถูกคุมขังอย่างทุกข์ทนในตะราง

คุณร้องไห้เหมือนความตายมาทายทัก
หรือคิดถึงคนที่รักมาเหินห่าง
คุณโศกเศร้าสะเทือนพร่ำคร่ำครวญคราง
คล้ายกับคนที่อ้างว้างหมดพลัง

ดูแล้วคุณไม่น่าจะใช่
ดูไม่น่าจะเสียใจหรือหมดหวัง
ดูแววตายังเห็นถึงความชิงชัง
ดูใบหน้านั้นอีกครั้ง...ฆาตกร

คุณจะเสียใจไปทำไม?
ความระยำเคยทำไว้ไม่อาจซ่อน
จดบันทึกจารให้จบครบทุกตอน
โดนชำระความแค้นก่อน...ค่อยฟูมฟาย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทบ.ยันไม่มีคำสั่งคุกคามพรรคอนาคตใหม่ ชี้หน้าใหม่แค่ออกตัวหวือหวา

Posted: 05 Jun 2018 01:14 AM PDT

ผบ.ทบ.ตอบคำถามนักข่าวยืนยันไม่มีคำสั่งไปคุกคาม ยิ่งคุกคามยิ่งเพิ่มคะแนนสงสารให้คู่ตรงข้าม แต่อาจเป็นการเก็บข้อมูลของหน่วยข่าว "ตามปกติ" ระบุเข้าใจพรรคใหม่อาจออกตัวหวือหวา เรียกคะแนนความเห็นใจ 

5 มิ.ย.2561 ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกถึงกรณีพรรคอนาคตใหม่ออกแถลงการณ์ว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐตามประกบ ว่า ขณะนี้เป็นการเปิดตัวพรรค ซึ่งจะมีพรรคการเมืองอยู่ 2 กลุ่ม คือ พรรคที่จัดตั้งมานานแล้ว มีโอกาสเป็นรัฐบาล พรรคพวกนี้จะมีผลงาน ขณะที่อีกกลุ่มคือพรรคพรรคตั้งใหม่ซึ่งตรงนี้ไม่เคยมีผลงานทางการเมือง จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ตรงนี้หลายพรรคการเมืองใหม่ พยายามกำหนดแนวทางการดำเนินงานของพรรค อาจจะหวือหวา เรียกร้องความสนใจอะไรบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่มีประเด็นปัญหาอะไร ทาง คสช.ก็ไม่ได้ไปกดดันใคร เพราะเราเข้าใจดีว่าบทบาทของเราควรจะทำอะไรมากน้อยแค่ไหน หากผลการเลือกตั้งออกมาก็ต้องยอมรับ เพราะทุกวันนี้เราเรียกร้องการเลือกตั้ง เมื่อการเลือกตั้งผ่านไปแล้วผลออกมาอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น

เมื่อถามย้ำว่าการที่พรรคอนาคตใหม่ออกแถลงการณ์แบบนั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ในทางปฏิบัติไม่ได้มีการสั่งการให้ดำเนินการในลักษณะนั้น ไม่มีใครไปทำอะไร ถ้ามีหลักฐานว่ามีเจ้าหน้าที่คุกคามสามารถถ่ายรูปแล้วก็แจ้งได้เลย เราจะลงโทษตามกรอบ โดยสำนึกพื้นฐานอาจจะมีบ้างหน่วยข่าวอยากรู้ใครทำอะไร เป็นพื้นฐานของหน่วยข่าว แต่ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องไปคุกคาม

"ผมเข้าใจดีพรรคอนาคตใหม่ยืนทิศทางที่ตรงข้ามกัน ถ้าเรายิ่งใช้อำนาจเผด็จการก็เป็นการเพิ่มคะแนนนิยมให้เขา เราไม่ทำอยู่แล้ว ผมยืนยันว่าการคุกคามปัจจุบันไม่เกิดผลประโยชน์ แต่ไปเพิ่มคะแนนบวกให้กับฝ่ายที่กล่าวหาว่าถูกคุกคาม เราระมัดระวังตนเอง และเราก็เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร อย่างที่บอกพรรคการเมืองใหม่ๆ ก็ต้องหาแนวทางที่หวือหวา คะแนนความเห็นใจ จริงเท็จ ไม่รู้พูดให้สื่อรับฟังได้ ถือเป็นทิศทาง แต่สื่อก็อย่าไปตามข่าวในทุกประเด็นที่คิดว่าต้องใช่" ผบ.ทบ.กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อกลางดึกวันที่ 4 มิ.ย. พรรคอนาคตใหม่ออกแถลงการณ์ระบุว่ามีการคุกคามติดตามไปที่บ้านของสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคที่ไปร่วมประชุมพรรคที่ มธ.ศูนย์รังสิต เรียกร้องให้รัฐยุติการลุแก่อำนาจ (อ่านรายละเอียด)

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: สัญญาณพรรคสุดติ่ง

Posted: 05 Jun 2018 01:06 AM PDT

 

พรรค รปช. เปิดตัวอย่างอลังการที่ ม.รังสิต รวมดาวพันธมิตรนกหวีด ผู้ต้องหายึดทำเนียบปิดสนามบินปิดเมืองปิดสถานที่ราชการขัดขวางเลือกตั้ง มีคดีความรวมกันนับพันปี แต่วันนี้ยังลอยนวล มารวมตัวตั้งพรรคลงเลือกตั้ง

สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นข่าว "กลับลำ" ไม่รู้กี่ครั้ง ร่ำไห้อ้างเจตนารมณ์คนตายเจ็บในม็อบ ยอมให้ถูกด่าว่าตระบัดสัตย์ รับตำแหน่งประธานคณะทำงานรณรงค์เชิญชวนประชาชนแต่ยังยืนยันไม่ลงเลือกตั้ง ไม่รับตำแหน่งการเมือง เมื่อไหร่ คสช.อนุญาต จะใส่รองเท้าคู่เดิมเดินรณรงค์ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย

เอ้า ดาราไฮโซศิลปิน แฟนคลับนกหวีดทั้งหลายเตรียมควักกระเป๋าได้

มองอย่างหน่อมแน้ม เหมือนเป็นเรื่องดี ที่สามารถรวมแกนนำม็อบสุดติ่งในทศวรรษวิกฤติการเมืองไทย เข้าสู่ระบบ ลงเลือกตั้งทั้งที่เคยขัดขวาง กระทั่งชัตดาวน์ประเทศเกิดรัฐประหาร

แต่นอกจากความย้อนแย้งไร้ตรรกะ หากย้อนดูไทม์ไลน์ ก็มีหลายปมชวนฉงน ทำไมตั้งพรรคกะทันหัน ใช้เวลาแค่สิบวัน

ย้อนไปหลัด ๆ วันจันทร์ที่ 21 พ.ค. "ลุงกำนัน" เป็นข่าวพาดหัว "กลับลำ" ให้สัมภาษณ์ไม่เคยบอกซักหน่อย ว่าจะสนับสนุน "ลุงตู่" เป็นนายกฯ คนต่อไปหลังเลือกตั้ง พูดแต่ว่าจะสนับสนุนลุงตู่ ให้เป็นนายกฯ ที่สมบูรณ์เท่านั้น

ขณะที่ชาวบ้านงง ๆ เอ๊ะยังไงกัน 2 วันถัดมาก็มีข่าวปล่อยทุกสำนัก ว่าจะตั้งพรรคใหม่ รวมดาวพันธมิตรนกหวีด ดึงเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซินตึ๊งนักขายวาทกรรมปรองดอง มาเป็นหัวหน้าพรรค แล้ววันที่ 25 พ.ค. ทนายความสุเทพก็ไปจดจัดตั้งพรรค คสช.อนุญาตให้จัดประชุมได้ด่วนจี๋วันที่ 3 มิ.ย.

สุเทพ เอนกปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่พรรค กปปส. กปปส.ไม่ตั้งพรรค กำปั้นทุบดินก็ใช่นะครับ นี่พรรค รปช.ไม่ใช่พรรคกปปส. แต่ดูหน้าดูคนดูทัศนะ ไม่ต้องมาบอกว่า "กลับลำ" เพราะบ้องเดิมทั้งนั้น

ทีแรกยังดูเหมือนดึงเอนกโปะหน้า ขายปฏิรูป ขายปรองดอง ลุงกำนันอยู่เบื้องหลัง แต่พอเปิดตัวเป็นประธานรณรงค์ย่ำรองเท้า แถมสื่อให้ความสำคัญกว่าก็เป็นอันไม่ต้องถามแล้วว่าใครคือผู้นำตัวจริง

ประเด็นน่าจับตาคือ ถ้าพรรค รปช.แยกตัวไม่หนุนลุงตู่อยู่ต่อ พรรคนี้จะมีบทบาทอย่างไรแน่

สมมตินะ สมมติ ถ้ามีพรรคประชารัฐ จัดตั้งโดยทีมสมคิด แล้วมีพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่ง รปช.ก็แยกขาด ยกเว้นพื้นที่สุราษฎร์ฯ อดีต ส.ส.เป่านกหวีดกลับพรรคหมด แม้แต่ลูกรัก (คนละนามสกุล) เอกณัฐ พร้อมพันธุ์

ภาพมันก็จะตลก ๆ คือมี 3 พรรคชิงฐานเสียงมวลชนอนุรักษนิยม โดยใครที่ยังไม่สะใจ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" แม้วปูยังลอยนวล ก็อาจเข้าร่วมพรรคนกหวีด

บางคนมองว่า ก็เป็นไปได้ที่ฝ่ายอนุรักษ์พยายามสร้างทางเลือกหลากหลาย เผื่อลุงตู่ไปต่อไม่ไหว ยังมีไพ่ใบที่ 2-3-4

แต่บางทีไม่ต้องคิดไกลปานนั้น คิดง่าย ๆ ก็อาจเป็นการรวมผู้นำม็อบสุดติ่ง มวลชนอนุรักษนิยม radical มาเคลื่อนไหวกันรอบใหม่ในนามพรรคการเมือง ในแบบไม่ธรรมดา เพราะจะ "ใส่รองเท้ารณรงค์" ปลุกพลังทั่วประเทศแต่นี่ลุงกำนันนะ ไม่ใช่พี่ตูน จึงอาจทำอะไรได้ทุกอย่างโดยไม่มีพันธะกับ คสช. ปชป. เพราะไม่เกี่ยวกันแล้วนี่ ไม่ได้หนุนลุงตู่อยู่ต่อแล้วนะ ย้ำอีกที

การตั้งพรรคสุดติ่งครั้งนี้ จึงน่าจะมีนัยสำคัญกว่าหวังได้ ส.ส.เป็นเหมือนฟื้นขบวนมวลชนในนามพรรค ในช่วงปลายรัฐบาล ที่กำลังคะแนนตก โดนรุม และอาจ "เสียของ"

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมพาดหัวสุดแสบข่าว ดอน ปรมัตถ์วินัย บอกถามหาสปิริตได้ที่นักกีฬา

Posted: 05 Jun 2018 12:21 AM PDT

5 มิ.ย.2561 เมื่อเวลา 14.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ เนื่องจากภรรยาถือหุ้นเกิน 5% ตามที่กฎหมายกำหนดว่า นายกฯ ไม่ได้สอบถามหรือพูดอะไร เพราะถือว่าเป็นเรื่องเล็ก ในที่ประชุม ครม.หรือตอนรับประทานอาหารคุยกันแต่เรื่องอื่น ไม่มีใครซีเรียสอะไร และตนไม่ได้รู้สึกหวั่นไหวอะไรกับแรงกดดันหรือกังวลใดๆ เรื่องแบบนี้ตนทำงานมา 4 ปีแล้ว รู้ว่ามันเป็นอย่างไร เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเรียกร้องให้แสดงสปิริตในเรื่องนี้ นายดอน กล่าวว่า "ให้ไปเรียกร้องกับนักกีฬา"

ทั้งนี้ มติจากที่ประชุมกกต. เสียงข้างมากเห็นว่า การถือครองหุ้น ของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ประกอกอบมาตรา 187 ที่บัญญัติไม่ให้รัฐมนตรีถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือในกรณีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากหุ้นที่ถือครองให้แจ้งประธานป.ป.ช.ทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและให้โอนหุ้น จนอาจเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 และขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักกฎหมายของ ก.ก.ต. ดำเนินการยกร่างคำร้องเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

สำนักข่าวต่างๆ พากันพาดหัวข่าวนี้ดังต่อไปนี้

"ดอน" ไม่ลาออก! ลั่น "ถ้าจะถามหาสปิริต ให้ไปหาจากนักกีฬา" – ข่าวสด

"ดอน" ยิ้มแย้ม เมินกระแสกดดันลาออก เผยภรรยาโอนหุ้นให้ลูกแล้ว - โพสต์ทูเดย์

'ดอน' เมินแรงกดดันไขก๊อก 'รมว.ต่างประเทศ' - Voice TV

'ดอน'  ไม่ลาออก ยิ้มสู้ ไม่หวั่นแรงกดดัน รอศาลตัดสิน เผยเมียเคลียร์หุ้นเรียบร้อยแล้ว - มติชน
'ดอน' ตอกกลับพวกจี้แสดงสปิริต ให้ไปเรียกร้องหากับนักกีฬา - มติชน

หุ้นเมียเคลียร์แล้ว! 'ดอน' ไม่ออก เตรียมไปเยือนอังกฤษ-ฝรั่งเศส – ไทยโพสต์

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพิ่มปลอดภัยตลาดเครื่องสำอางไทย ทางออกที่เป็นไปได้แม้จดแจ้งออนไลน์

Posted: 05 Jun 2018 12:21 AM PDT

 

เมื่อไม่นานมานี้ ท่านผู้อ่านคงผ่านตาข่าวคราวเกี่ยวกับการตรวจค้นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหารเสริมกว่า 200 ร้านค้าย่านตลาดใหม่ดอนเมือง ของเจ้าหน้าที่สำนักงานอาหารและยา (อย.) และตำรวจ ซึ่งพบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่แสดงเลขที่ใบรับแจ้ง และอาหารเสริมส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องหมาย อย. ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ยึดผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายเกือบ 2 แสนชิ้นไปตรวจสอบสารอันตราย และกำลังขยายผลไปตรวจสอบกวาดล้างถึงแหล่งผลิตสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานเหล่านี้

แท้จริงแล้ว ปัญหาเครื่องสำอาง รวมถึงอาหารเสริมที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานเป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายปี หากแต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการกวาดล้างและดำเนินการทางด้านกฎหมายอย่างเข้มงวด แต่เมื่อมีเหตุการณ์การร้องเรียนบริษัทเครื่องสำอางและอาหารเสริมรายหนึ่ง รวมถึงเหตุการณ์การสูญเสียชีวิตของผู้กินอาหารเสริมลดน้ำหนักยี่ห้อหนึ่งถึง 4 รายในช่วงปลายเดือน มีนาคมที่ผ่านมา จึงทำให้เกิดพฤติกรรม "วัวหายล้อมคอก" โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อย. ได้เข้าไปทลายแหล่งค้าเครื่องสำอางและอาหารเสริมขนาดใหญ่ที่ย่านตลาดใหม่ดังกล่าวในช่วงเมษายนและพฤษภาคม 2561  

การลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่ามีสินค้า "เถื่อน" ที่วางจำหน่ายจำนวนมากทั้งที่เป็นอาหารเสริมและเครื่องสำอาง ซึ่งเครื่องสำอางส่วนมากไม่มีเลขที่ใบรับแจ้ง ขณะที่อาหารเสริมมีการทำเลขสารบบอาหารปลอมขึ้นมา รวมทั้งมีการนำเลข อย. ของสินค้าอื่นมาติดบนฉลากอีกด้วยหรือที่เรียกว่าการ "สวมเลข อย." เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมมองว่า อย. ไม่เข้มงวดกับการกำกับดูแลมากพอ มีระบบการจดทะเบียนที่หละหลวม โดยเฉพาะการกำกับดูแลเครื่องสำอางที่กำหนดเพียงให้ทำการจดแจ้งผ่านระบบออนไลน์ (e-submission) ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เสนอแนะให้ อย. ยกเลิกระบบการจดแจ้งเครื่องสำอางออนไลน์ และอย่างน้อยควรไปจดแจ้งโดยตรงกับ อย. เพื่อเป็นหลักฐานในการยืนยันว่าใครเป็นผู้ผลิตและสถานที่ผลิตเป็นไปตามที่ระบุหรือไม่

ผู้เขียนมองว่าการยกเลิกระบบจดแจ้งเครื่องสำอางออนไลน์ อาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นนัก เนื่องจากปัญหาไม่ได้เกิดจากการยื่นจดแจ้ง แต่ปัญหาน่าจะเกิดจากการผลิตสินค้าที่นำมาขายจริงกลับมีการเติมสารที่ไม่ได้แจ้ง อย. หรือผลิตสินค้าโดยปลอมแปลงเลขที่ใบรับแจ้ง ถึงแม้จะมีการจดแจ้งกับเจ้าหน้าที่ อย. โดยตรงเพื่อให้มีการตรวจสอบ แต่การตรวจสอบนั้นจะเกิดเฉพาะในช่วงการขอจดทะเบียนเท่านั้น หากแต่ไม่ได้มีการสุ่มตรวจสอบสินค้าเมื่อวางขายในตลาด

นอกจากนี้ การยกเลิกระบบการจดแจ้งเครื่องสำอางออนไลน์ไม่สามารถทำได้ เนื่องด้วยประเทศไทยได้ลงนามในความตกลง Agreement on ASEAN Harmonized Cosmetic Regulatory Scheme (AHCRS) ทำให้การกำกับดูแลเครื่องสำอางก่อนวางตลาด ซึ่งนอกจากจะมีการกำหนดรายการสารต้องห้ามที่ใช้เป็นส่วนผสม การแสดงฉลาก รวมถึงการจัดทำเอกสารข้อมูลผลิตภัณฑ์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอาเซียนแล้ว ยังกำหนดให้ประเทศภาคีใช้ระบบการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จำหน่ายแทนการจดทะเบียน

ทั้งนี้ แนวโน้มการกำกับดูแลเครื่องสำอางของทุกประเทศได้เริ่มมีการปรับให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล คือ กำหนดให้มีการจดแจ้งผ่านระบบออนไลน์มากกว่าการไปขอจดทะเบียนผลิตภัณฑ์กับเจ้าพนักงานโดยตรง เนื่องจากเป็นการลดปัญหาและภาระขั้นตอนเรื่องเอกสารต่าง ๆ หากแต่ผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องสำอาง (Product Information File : PIF) ไว้พร้อมให้เจ้าหน้าที่สามารถเรียกตรวจสอบได้ทุกเมื่อ

นอกจากอาเซียน ประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ได้แก่ สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ก็ใช้วิธีการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผ่านระบบออนไลน์เช่นกัน หากแแต่ประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าหลังวางขาย หรือ Post Market Surveillance อย่างมาก

ในสหรัฐอเมริกา องค์การอาหารและยา หรือ FDA มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมดเกือบ 5,000 คน ทั้งในส่วนกลางและสำนักสาขาทั่วประเทศ ซึ่งในการตรวจสอบเครื่องสำอาง เจ้าหน้าที่ FDA จะสุ่มตรวจสินค้าทั้งที่วางขายในตลาดและบริษัทที่ผลิตสินค้าโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และจะทำการตรวจสอบตั้งแต่ฉลากเครื่องสำอางว่าถูกต้องและเป็นความจริงหรือไม่ รวมถึงสารประกอบในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามข้อมูลที่ยื่นจดแจ้งหรือไม่ หากตรวจพบว่า สินค้าใดมีการปิดฉลากที่ไม่ถูกต้องหรือมีส่วนประกอบที่ไม่ตรงกับเอกสารที่ยื่นจดแจ้ง จะพิจารณาเรียกคืนสินค้าที่ไม่ปลอดภัยออกจากตลาดทั้งหมด และดำเนินคดีกับผู้ผลิตหรือผู้ขายอย่างจริงจัง

ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนระบบจากการจดทะเบียนมาเป็นระบบจดแจ้งออนไลน์ตามมาตรฐานสากลเพื่อลดกระบวนการและขั้นตอนในการวางสินค้าในตลาดให้แก่ภาคเอกชนแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องพัฒนาศักยภาพในการทำการตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าหลังวางขาย เช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ทว่า ในปัจจุบัน อย. เป็นหน่วยงานที่มีสำนักงานแค่ในส่วนกลางและมีอัตรากำลังเพียง 700 กว่าคน ทำหน้าที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมด ไม่ได้มีหน้าที่เพียงตรวจสอบและเฝ้าระวังเท่านั้น ซึ่งจากจำนวนและภาระหน้าที่แล้วทำให้ไม่สามารถที่จะตรวจสอบสินค้าเครื่องสำอางที่วางจำหน่ายในตลาดทั้งหมดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสุ่มตรวจสอบสินค้าในระดับท้องถิ่น ดังนั้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้บริโภค อาจแบ่งการแก้ปัญหาเป็น 2 ระยะ

ในระยะแรก อย. ต้องร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยงานในระดับท้องถิ่น เข้มงวดกับการลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบสินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดแต่ละพื้นที่ รวมถึงสินค้าที่จำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ทุก 3-4 เดือน เพื่อเร่งตรวจสอบเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งเครื่องสำอางเถื่อน พร้อมกับเปิดเผยการดำเนินงานต่อสาธารณะ และหากพบสินค้าที่เป็นอันตราย หรือละเมิดต่อกฎหมาย ต้องมีการส่งต่อให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเร่งกวาดล้าง และประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนรับรู้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่นในกรณีของ FDA ที่มีเพจ "Recalls and Alerts" ที่แสดงรายชื่อสินค้าและผู้ผลิตสินค้าที่ตรวจพบว่ามีสารพิษเกินกว่าเกณฑ์และ FDA ได้แจ้งเตือน หรือออกคำสั่งให้ถอนสินค้าดังกล่าวออกจากตลาด

ในระยะยาว อย. อาจพิจารณาว่าจ้างหน่วยงานภายนอก เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าหลังวางขาย หากกำลังคนไม่เพียงพอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะไม่มีการใช้สินค้าที่มีการแอบอ้าง อย. อยู่

 


เกี่ยวกับผู้เขียน: ธารทิพย์ สุวรรณเกศ เป็นนักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวจีนรำลึก 29 ปีเทียนอันเหมิน ติดแฮชแท็ก แต่งตัวเป็นคนที่ยืนขวางรถถัง

Posted: 04 Jun 2018 09:44 PM PDT

ท่ามกลางความพยายามกดดันของรัฐบาลจีนไม่ให้มีการรำลึกการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ชาวจีนได้แสดงออกทางออนไลน์ด้วยแฮชแท็ก #Tankman2018 สื่อถึงคนๆ หนึ่งที่เดินออกไปยืนขวางรถถังในช่วงที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุม และมีการแต่งกายเลียนแบบเขาในฐานะสัญลักษณ์ของคนที่มั่นใจว่าคนๆ หนึ่งก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ภาพ 'แทงค์แมน' (ที่มา:วิกิพีเดีย)

5 มิ.ย. 2561 ครบรอบ 29 ปีการปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในที่ต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกร่วมการรำลึกเหตุการณ์นี้ด้วยการพูดถึง 'แทงค์แมน' หรือ "ขบถนิรนาม" ผู้ที่ยืนเผชิญหน้ารถถังที่กำลังเคลื่อนขบวนเป็นแถวไปบนท้องถนนในช่วงที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุม เขายืนประจัญหน้ากับรถถังขณะที่กำลังถือถุงสินค้าในมือ

ภาพวิดีโอของแทงค์แมนกลายเป็นหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์สำคัญสำหรับเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินและยังคงนำมาพูดถึงจนถึงทุกวันนี้ และในช่วงที่ครบรอบการรำลึกการสังหารผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2532 ก็มีคนรณรงค์ในปีนี้ด้วยการให้พูดถึงแทงค์แมน

ผู้ที่ริเริ่มการรณรงค์ #Tankman2018 หรือ #Tankmen2018 คือศิลปินและนักเขียนการ์ตูนชาวจีนที่ใช้ชื่อว่าปาดิวเข่า เขาบอกว่าแทงค์แมนเป็นตัวแทนของอุดมคตินิยม ความตั้งใจแรงกล้า ความรับผิดชอบ และความมั่นใจว่าปัจเจกบุคคลคนหนึ่งก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ สำหรับปาดิวเข่าแล้วสังคมจีนยังไม่ได้เปลี่ยนไปมากหลังจากการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นเขาเชื่อว่ารัฐบาลยังคงกดขี่ข่มเหงประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ปาดิวเข่าบอกว่าสำหรับคนที่ต้องการแสดงออกประท้วงรำลึกแทงค์แมนในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน สามารถแต่งกายให้ดูคล้ายเขาได้ด้วยวิธีการสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงขายาวสีดำ รองเท้าสีดำ ถือถุงช็อปปิ้งสีขาวสองข้าง ศิลปินคนนี้ยังทำการเสียดสีรัฐบาลจีนด้วยการออกแบบถุงประท้วงเป็นรูปตัวการ์ตูนเปปปาเดอะพิก กับวินนีเดอะพูห์ ซึ่งเป็นตัวละครที่รัฐบาลจีนเซนเซอร์ด้วย  นอกจากนี้ยังมีคำว่า mi tu ที่เป็นวลีของนักกิจกรรมในจีนใช้แทนคำว่า #MeToo ในการพูดถึงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเคยถูกเซนเซอร์ในจีนเช่นกัน

โจวเฟิงสั่ว นักกิจกรรมชาวจีนที่เป็นหนึ่งในนักศึกษาผู้เข้าร่วมชุมนุมจัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 โพสต์รูปของเขาแต่งกายและแสดงท่าทางแบบแทงค์แมนขณะที่เขาอยู่ในวอชิงตัน นอกจากนี้ยังมีชาวจีนที่อาศัยอยู่ในที่อื่นๆ อย่างแคนาดาหรือนิวซีแลนด์โพสต์รูปแต่งกายแบบแทงค์แมนพร้อมทั้งแฮชแท็ก #Tankman2018

เหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วงจัตุรัสเทียนอันเหมินเกิดขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย. 2561 หลังจากที่ทางการจีนวางกำลังทหารมากกว่า 200,000 นายเพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยหรืออาจจะมากถึงหลายพันคน หลังจากนั้นทางการจีนก็พยายามปิดกั้นการพูดถึงเหตุการณ์นี้ พยายามวางกำลังรอบจัตุรัสเทียนอันเหมินและพาตัวนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนออกไปอยู่ในที่ๆ ห่างจากเมืองหลวงในช่วงที่ใกล้จะครบรอบเหตุการณ์เทียนอันเหมินทุกปี ในอินเทอร์เน็ตก็มีการพยายามปิดกั้นคำพูดหรือรูปภาพต่างๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์รวมถึงแทงค์แมนด้วย

เหตุการณ์แทงค์แมนเกิดขึ้นในวันที่ 5 มิ.ย. 2532 ซึ่งมีคนเก็บภาพวิดีโอเอาไว้ ได้เผยให้เห็นว่ารถถังคันหน้าสุดในขบวนแถวรถถังพยายามเบี่ยงหลบชายคนที่ยืนขวางผู้นี้ แต่เขาก็เดินไปสกัดกั้นทางของรถถังคันนี้อีก จากนั้นชายผู้นี้่ก็ปีนขึ้นรถถังแล้วเคาะเพื่อพยายามคุยกับทหารที่อยู่ข้างใน เมื่อเขาปีนลงมาเขาก็พยายามสกัดกั้นทางรถถังต่อไปจนกระทั่งมีคนสองคนมาลากตัวเขาออกไปจากกลางถนน

แทงค์แมนกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่แพร่สะพัดไปทั่วแต่มาจนถึงตอนนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นใครกันแน่ และเกิดอะไรขึ้นกับเขาหลังจากนั้น อย่างไรก็ตามมีอดีตนักศึกษาที่เข้าร่วมประท้วงเปิดเผยว่าคนที่พยายามสกัดกั้นรถถังไม่ได้มีแต่แทงค์แมนเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่มีประชาชนจำนวนมากที่พยายามสกัดกั้นทางของรถถัง แต่มีเพียงแทงค์แมนเท่านั้นที่ถูกเก็บภาพและวิดีโอเอาไว้

ในแง่ของการที่รัฐบาลจีนปิดกั้นการแสดงออกในเรื่องนี้ เรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่าชายสองคนในมณฑลหูหนานถูกจับกุมตัวเพราะถือป้ายแสดงการรำลึกครบรอบ 29 ปี เหตุการณ์เทียนอันเหมิน มีการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคอยติดตามตัวแบบคุกคามแม่ของผู้ประท้วงที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ แม้กระทั่งการใช้คำหรือสัญลักษณ์ที่สื่อถึงเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ก็ถูกทางการจีนปราบปราม เช่นกรณีคนในเสฉวน 4 ราย ที่ผลิตเหล้าออกมาชื่อ 'ปาจิ่วลิ่วสือ' เป็นภาษาจีนแทนเป็นตัวเลข 89.6.4 ได้ ซึ่งตรงกับปี เดือน และวัน ที่เกิดเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุม มีการเซนเซอร์หนักในระดับแค่จะส่งเงินเป็นจำนวนตัวเลข 4 ตัวนี้ก็ถูกห้าม

อย่างไรก็ตาม ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกงที่มีเสรีภาพในการแสดงออกได้มากกว่า มีผู้คนราว 115,000 คน ร่วมชุมนุมในปีนี้ มากกว่าปีที่แล้วจากจำนวนตัวเลขที่ประเมินโดยผู้จัดการชุมนุม พวกเขารวมตัวกันที่วิกเตอเรียพาร์ค โดยมีการจุดเทียนแสดงการรำลึกรวมถึงการไว้อาลัยให้กับนักกิจกรรมอย่างหลิวเสี่ยวโป และหลี่หวังหยาง รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมหลิวเซีย อีกทั้งยังพูดถึงว่าควรจะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 4 มิ.ย. ก่อนจะครบรอบ 30 ปี ในปีหน้าด้วย

เรียบเรียงจาก

#Tankman2018: hero of Tiananmen protest remembered across globe, The Guardian, Jun 4, 2018

Chinese Activists Detained, Under Surveillance on 'Politically Sensitive' Massacre Anniversary, Radio Free Asia, Jun 4, 2018

June 4 Tiananmen anniversary vigil in Hong Kong: despite student snub, attendance higher than last year, with 115,000 present according to organisers, South China Morning Post, Jun 5, 2018

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Tank_Man

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนอยากเลือกตั้ง' เปิดท้ายขายของหาทุนสู้คดี หน้าสน.ชนะสงคราม สุดท้ายโดนปรับอีก 200 บ.

Posted: 04 Jun 2018 09:33 PM PDT

คนอยากเลือกตั้งจัดกิจกรรม "เปิดท้ายขายประชาธิปไตย" ที่หน้าสน.ชนะสงคราม เพื่อหาทุนไว้สำหรับประกันตัวในคดีที่ถูก คสช. แจ้งความดำเนินหลายคดี สุดท้ายถูกปรับ 200 บาท ผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาด

ภาพจากเฟสบุ๊คแฟนเพจ Banrasdr Photo

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา Banrasdr Photo รายงานว่า แนวร่วมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดกิจกรรม "เปิดท้ายขายประชาธิปไตย" ที่หน้าสน.ชนะสงคราม เพื่อหาทุนไว้สำหรับประกันตัวในคดีที่ถูก คสช. แจ้งความดำเนินหลายคดีจากการชุมนุมอยากเลือกตั้งและจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

แนวร่วมคนหนึ่งได้กล่าวว่าจากการที่รถเครื่องเสียงถูกตำรวจยึดไว้เพื่อตรวจหาหลักฐานจากการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาทำให้ไม่สามารถนำรถไปใช้ประกอบอาชีพได้ อีกทั้งบริเวณถนนข้าวสารถือเป็นทำเลทองของการค้า จึงเกิดไอเดียเปิดท้ายขายของขึ้น และจากนี้จะหาสินค้าอย่างอื่นมาขายอีก
 
ต่อมาหลังจากกิจกรรมจบ ตำรวจได้เรียกตัวแทนแนวร่วมไปเสียค่าปรับ 200 บาท ในความผิดพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 จากการขายของบนทางเท้า
 
สำหรับกลุ่มนอยากเลือกตั้ง ถูกดำเนินคดีมาโดยตลอดการชุมนุม 6 ครั้ง ประกอบด้วย การชุมนุมคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งของรัฐบาลคสช.ที่ Skywalk ปทุมวัน เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา  การชุมนุม "หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง" จัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถ.ราชดำเนิน ในวันที่ 10 ก.พ. 61 การชุมนุมที่ป้ายหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนห้วยแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ วันที่ 14 ก.พ.61 กิจกรรม START UP PEOPLE ON TOUR: ปลุกพลังคนอยากเลือกตั้งครั้งที่ 2 ที่ชายหาดหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัลพัทยาบีช เมืองพัทยา จ.ชลบุรี วันที่ 4 มี.ค.61 การเดินขบวนจาก ม.ธรรมศาสตร์ ไปยังกองทัพบก ถนนราชดำเนิน เพื่อทวงกำหนดวันเลือกตั้งที่ได้เรียกร้องให้เกิดขึ้นในปีนี้  ในวันที่ 24 มี.ค. 61 และเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา การชุมนุมในโอกาสครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร คสช. 
 
ทั้งตัวแกนนำและกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมถูกดำเนินคดีประกอบด้วย ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/ 2558  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก รวมไปถึงความผิดจากการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.การโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง เป็นต้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น