โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

บทเกริ่นนำของบทความปริทัศน์ อ่าน ‘แผนที่สร้างชาติ’: หมู่บ้าน สงครามเย็น และกำเนิดความเป็นชาติ

Posted: 19 Jun 2018 09:48 AM PDT

ความท้าทายของ "แผนที่สร้างชาติ"

แผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการทำแผนที่หมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น (2561) คืองานศึกษาเรื่องไทยเล่มล่าสุดของ ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ที่เป็นผลรวมจากงานวิจัย 2 โครงการ คือ งานศึกษาการสร้างความรู้เรื่องหมู่บ้านโดยนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน และ การสำรวจและจัดทำแผนที่ประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีทางอากาศในยุคสงครามเย็น หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนข้อสรุปของเก่งกิจที่มีต่อปัญหาเรื่องการเปลี่ยนรูปการณ์ของรัฐ (transformation of Thai state) และจุดกำเนิดรัฐประชาชาติ (nation-state) ไทยด้วยการปฏิเสธชุดคำอธิบายสำคัญที่วงวิชาการไทยกระแสรองยึดถือกันโดยทั่วไปมาตลอดเกือบ 4 ทศวรรษ ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนประกอบด้วย 3 ปฏิเสธคือ

ปฏิเสธแรก รัฐไทยไม่ได้เปลี่ยนผ่านสู่รัฐประชาชาติตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทัศนะดังกล่าวเป็นแนวการอธิบายที่ถูกผลิตและนิยมในหมู่นักวิชาการรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ซึ่งให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่บทบาทของชนชั้นกลางในการสร้างระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ดังเช่นงานศึกษาของ Benedict Anderson, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์  และ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นอาทิ เก่งกิจเห็นว่า รัฐประชาชาติไทยเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านกระบวนการสร้างชาติ (nation-building) ผ่านนโยบายการพัฒนาและความมั่นคงที่สนับสนุนโดยจักรวรรดินิยมอเมริกันและการเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลก จุดยืนเช่นนี้ทำให้กล่าวในอีกทางหนึ่งได้ว่า แท้จริงแล้วรัฐประชาชาติไทย (และรวมถึง "ความเป็นชาติ"  ตามความเห็นของเก่งกิจ) เกิดขึ้นภายใต้บริบทการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์, ยุคสมัยแห่งการพัฒนา และบทบาทนำของเผด็จการทหารภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่การปฏิวัติทางการเมืองของชนชั้นกลางข้าราชการ หรือการสร้างชาติใหม่โดยรัฐบาลคณะราษฎร

ปฏิเสธที่สอง ความเป็นชาติไทยไม่ได้ถูกสร้างผ่านการปะทะของความรู้แผนที่อันนำไปสู่การกำเนิดภูมิกายาของชาติไทยในปลายศตวรรษที่ 19 กระทั่งกลายเป็นหัวใจสำคัญของลัทธิประวัติศาสตร์ที่เรียกว่าราชาชาตินิยมตามข้อเสนอของธงชัย วินิจจะกูล เนื่องด้วยเก่งกิจเห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวการจัดทำแผนที่ยังมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยี และรัฐไทยขาดความสนใจที่จะสำรวจผู้คนในพื้นที่ปกครองอย่างจริงจัง ทำให้แผนที่ที่ถูกสร้างในเวลานั้นขึ้นไม่สามารถระบุตำแหน่งแห่งที่ของหมู่บ้านและลักษณะทางภูมิศาสตร์อย่างละเอียด แต่ชาติที่อิงอยู่กับแผนที่เพิ่งปรากฏขึ้นผ่านการสำรวจหมู่บ้านและจัดทำแผนที่ด้วยเทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศระหว่างทศวรรษ 1950 ถึง 1960 และกลายมาเป็นรูปธรรมแท้จริงในทศวรรษ 1970 ทั้งหมดอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทุนสนับสนุน และบทบาทของนักมานุษยวิทยาอเมริกัน

สังคมไทยไม่มีสิ่งที่เรียกว่า 'หมู่บ้าน' ในความหมายของ village 

ปฏิเสธที่สาม สังคมไทยไม่มีสิ่งที่เรียกว่า 'หมู่บ้าน' ในความหมายของ village ดังที่นักมานุษยวิทยา-สังคมวิทยาชาวไทยส่วนใหญ่และนักไทยศึกษาชาวตะวันตกบางคนเข้าใจ ในทางตรงข้าม หมู่บ้านซึ่งเป็นหัวใจสำคัญขององค์ความรู้ไทยศึกษาและความเป็นไทยกลับเป็นองค์ภาวะที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นในยุคสงครามเย็นเช่นเดียวกัน และถูกรัฐ "จับอยู่หมัด" ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ในความเห็นของเขา ภาพของหมู่บ้านในฐานะชุมชนทางวัฒนธรรมที่ถูกตรึงอยู่กับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ไร้ความเคลื่อนไหว สงบนิ่งดังที่นักมานุษยวิทยา สังคมวิทยาไทยยึดถือ เข้าใจ และมุ่งเข้าไปศึกษานั้นล้วนถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อไม่นานนี้แต่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นหน่วยพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมไทย ขณะเดียวกันหมู่บ้านก็ไม่ได้ปรากฏในฐานะหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดในกระบวนการสถาปนาอำนาจเหนือพื้นที่ผ่านการลากเส้นพื้นที่ปกครอง (territorialization) อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามทัศนะของ Peter Vandergeest และ Jeremy Kemp  เก่งกิจกล่าวอย่างหนักแน่นว่า "...ในทางปฏิบัติแล้วรัฐไม่เคยเข้าถึง/รู้จัก/สร้างความรู้เกี่ยวกับหมู่บ้านมาก่อน" หมู่บ้านเป็นเพียง "การลอกเลียนแบบจากการปกครองอาณานิคมอังกฤษซึ่งพัฒนาหน่วยการปกครองเล็กที่สุดที่เรียกว่า hamlet ขึ้นมา" (เก่งกิจ 2561, 99-100)

โดยสรุป เก่งกิจได้ทำการวิพากษ์สิ่งที่เขามองว่าคือรากฐานความรู้มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์ไทย ผ่านกรณีศึกษาประวัติศาสตร์การสร้างความรู้แผนที่และหมู่บ้านยุคสงครามเย็น หรือพูดอีกอย่างคือ เก่งกิจได้นำเอาประเด็นวิวาทะใหญ่ 3 เรื่องซึ่งเดิมทีไม่ได้มีบทสนทนาต่อกันโดยตัวเองมารวมเข้าไว้และตอบปัญหาในคราวเดียวนั่นเอง  อาจกล่าวได้ว่า "3 ปฏิเสธ" ใน แผนที่สร้างชาติ มีหัวใจอยู่ที่การพิสูจน์การดำรงอยู่และการสร้างความรู้เรื่องหมู่บ้านบนฐานของการสำรวจและจัดทำแผนที่ภายในรัฐไทยนั่นเอง ในทางเดียวกัน การที่ข้อเสนอของหนังสือจะมีน้ำหนักหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์และให้คำอธิบายต่อปัญหาดังกล่าวด้วย'

 

ข้อวิจารณ์

ในความเห็นของผู้เขียนมีประเด็นปัญหาในแง่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และการตีความอย่างน้อย 3 เรื่องใหญ่ซึ่งชวนให้เราตั้งคาถามต่อข้อเสนอหลักใน แผนที่สร้างชาติ ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1) ในแง่ประวัติศาสตร์ความคิด หมู่บ้านในภาษาไทยไม่มีความหมายเท่ากับคำและมโนทัศน์ village ที่ใช้อยู่ในเอกสารไทยและตะวันตกจริงหรือ? นักปกครองอาณานิคมรวมถึงปราชญ์ชาวอังกฤษใช้คำว่า hamlet สำหรับเรียกชื่อหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดในการปกครองอาณานิคม ไม่ใช่ village ทั้งต่ออาณานิคมของอังกฤษและพื้นที่อื่นๆ ที่ชาวอังกฤษได้เดินทางไปสัมผัสดังเช่นที่ แผนที่สร้างชาติ อ้างจริงหรือ? ชนชั้นนำและปัญญาชนทั้งที่เป็นคนพื้นเมืองและชาวตะวันตกซึ่งปฏิบัติงานอยู่สังคมไทยก่อนการเข้ามาของนักมานุษยวิทยาไม่เคยสนใจ 'หมู่บ้าน' ในมิติเชิงวัฒนธรรมจริงหรือ? และที่ชวนสงสัยยิ่งขึ้นคือไม่เคยมีกระบวนการถ่ายโอนมโนทัศน์ 'village' ในภาษาอังกฤษเพื่อเทียบกับ 'หมู่บ้าน' ในภาษาไทยกระทั่งกองทัพนักมานุษยวิทยาอเมริกันยาตราเข้ามาศึกษาสังคมไทยเมื่อเริ่มสงครามเย็นจริงหรือ? การแปลหมู่บ้านให้เท่ากับ village เป็นการแปลอย่างขาดความเข้าใจไปเองโดยฝ่ายรัฐและชนชั้นนาไทยซึ่งควรนับเป็นการแปลผิดดังที่เก่งกิจเสนอใช่หรือไม่?

ประเด็นที่ 2) ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างวาทกรรมสงครามเย็นกับการการสร้างความรู้เรื่องไทย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาว่าเราสามารถใช้เอกสารวิชาการและ/หรือเอกสารราชการที่ถูกผลิตโดยตัวแสดงฝ่ายสหรัฐอเมริกาในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของการศึกษาเรื่องไทยที่ให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้ในระดับใด?

ประเด็นที่ 3) ในแง่ของการศึกษากระบวนการผลิตความรู้ยุคสงครามเย็นซึ่งมีจักรวรรดินิยมอเมริกาเป็นผู้นำนั้น การสร้างความรู้เรื่องไทยภายใต้กรอบคิดว่าด้วย nation-building ที่นักวิชาการอเมริกันใช้อยู่นั้น สามารถเป็นสปริงบอร์ดไปสู่ข้อเสนอที่ว่า รัฐประชาชาติไทยและความเป็นไทยเพิ่งก่อตัวขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในลักษณะที่เทียบเคียงกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเคยตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ ฝรั่งเศส และแห่งอื่นได้หรือไม่เพียงใด?

คำว่า "หมู่บ้าน" ในภาษาไทยรวมถึงคำอื่นที่เกี่ยวข้องเช่น บ้าน บาง คาม นิคม ได้ถูกแปลและถ่ายทอดนิยามความหมายให้เท่ากับคำว่า village มิใช่ hamlet โดยชาวตะวันตกมาอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19

เก่งกิจได้ตั้งข้อสังเกตที่ถูกต้องและมีนัยสำคัญต่อการศึกษารัฐไทยไว้ในหนังสือของเขาว่า ปัญหาเรื่องการแปลคำว่าหมู่บ้านให้เท่ากับ village   เป็นประเด็นสำคัญต่อการทำความใจความเปลี่ยนแปลงเรื่องรัฐไทย อย่างไรก็ตาม – โดยขัดแย้งต่อข้อเสนอของเก่งกิจ –  จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องหมู่บ้าน ทั้งหลักฐานไทยและต่างชาติ ตลอดจนงานวิชาการที่ศึกษาประเด็นเรื่องหมู่บ้านในบริบทประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมของอังกฤษ อาจสรุปได้ว่า village คือหนึ่งในมโนทัศน์ใจกลางในการปกครองอาณานิคมอังกฤษอีกทั้งมีอิทธิพลต่อพื้นที่ทางภูมิปัญญาของของอังกฤษอย่างยิ่งยวด อิทธิพลมโนทัศน์หมู่บ้านในดินแดนตะวันออก โดยเฉพาะอินเดีย ของปราชญ์ชาวอังกฤษเช่น Sir Henry Maine ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาแนวคิดวิถีการผลิตเอเชีย (Asiatic mode of production) ของ Karl Marx ขณะที่คำว่า "หมู่บ้าน" ในภาษาไทยรวมถึงคำอื่นที่เกี่ยวข้องเช่น บ้าน บาง คาม นิคม ได้ถูกแปลและถ่ายทอดนิยามความหมายให้เท่ากับคำว่า village  มิใช่ hamlet โดยชาวตะวันตกมาอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19  หลักฐานร่วมสมัยที่จัดทำโดยชาวอเมริกัน  ฝรั่งเศส และชาวอังกฤษในสยามได้ใช้มโนทัศน์ village เพื่ออธิบายชุมชนท้องถิ่นในรัฐสยามอย่างแจ้งชัด อีกทั้งในบางเอกสารยังเลือกใช้คำว่า village และ hamlet ในบริบทที่แตกต่างกัน  ด้านหลักฐานฝ่ายไทยเองก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามแสวงหาความรู้เกี่ยวกับหมู่บ้านและวัฒนธรรมของคนในหมู่บ้านอย่างมีนัยยะสำคัญ มโนทัศน์หมู่บ้านแบบไทยซึ่งถูกแปลให้เท่ากับ village นี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างผู้ปกครองไทยและความรับรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น ทั้งโดยผ่านข้อมูลที่จัดหาโดยคนท้องถิ่นและที่ได้รับจากประสบการณ์ตรงของการเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้าน    ประเด็นการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนและสภาวะเกิดขึ้นและสลายตัวได้ง่ายของหมู่บ้านในบางพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่รัฐไทยตระหนักอย่างดีก่อนที่โครงการสำรวจหมู่บ้านยุคสงครามเย็นจะเริ่มขึ้น 

การที่ แผนที่สร้างชาติ วางข้อเสนอหลักของหนังสืออยู่บนการใช้ข้อมูลจากเอกสารวิชาการที่ผลิตขึ้นโดยนักมานุษยวิทยายุคสงครามเย็น และปฏิบัติต่อความเห็นของนักมานุษยวิทยาเหล่านั้นในฐานะข้อเท็จจริงของงานภาคสนามโดยไม่ผ่านการวิพากษ์อย่างเพียงพอนั้นเป็นเรื่องอันตรายไม่น้อยในแง่วิธีการศึกษา ทั้งนี้ หากเราพิจารณาในแง่วิธีการประเมินคุณค่าหลักฐานเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์แล้ว บันทึกของนักมานุษยวิทยาอเมริกันและแผนที่จากเทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศซึ่งถูกใช้เป็นหลักฐานชั้นต้นในหนังสือ แผนที่สร้างชาติช่วยสะท้อนมุมมองของสหรัฐอเมริกา นักวิชาการอเมริกัน และตัวแสดงฝ่ายรัฐไทย มากกว่าจะเป็นมุมมองจากคนระดับล่างในท้องถิ่น  นอกจากนั้น เรายังไม่เห็นกระบวนการปะทะของความและนิยามความเป็นหมู่บ้านที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาแต่เดิม (หรือนิยามของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตที่สูงเอง) กับนิยามใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาภายในหนังสือ แผนที่สร้างชาติ ว่าได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมเช่นไรทั้งต่อรัฐไทย ข้าราชการท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ที่ถูกสำรวจจนกระทั่งปรากฏสำนึกความเป็นไทยอย่างใหม่ที่มุ่งเน้นความเสมอภาคระหว่างประชาชนต่างชาติพันธุ์ นอกจากการกล่าวย้ำว่ารัฐประชาชาติและความเป็นชาติได้เกิดขึ้นในยุคนี้จากการทำแผนที่และสำรวจหมู่บ้านชาวเขา 

 เป็นความจริงว่าแม้การจัดทำแผนที่สมัยใหม่และการสำรวจหมู่บ้านจะได้ปรากฏขึ้นอย่างสำคัญในระยะทศวรรษ 1950-1970 กระนั้น ดังที่เก่งกิจยอมรับว่าข้อมูลในแผนที่ที่ถูกผลิตขึ้นในระยะดังกล่าวยังมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน ต้องรอจนกระทั่งทศวรรษ 1990 แล้วนั่นเองที่แผนที่จะมีความสมบูรณ์ ยิ่งกว่านั้น แม้รัฐไทยจะได้กำหนดพิกัดตำแหน่งแห่งที่ของหมู่บ้านลงบนแผนที่แล้ว โดยเฉพาะหมู่บ้านชาวเขาในเขตที่สูงทางภาคเหนือ กระนั้นความเคลื่อนไหวของผู้คนและการเกิด-สลายของหมู่บ้านชาวเขาก็ยังคงดำเนินต่อไป เหตุเพราะสภาพการณ์ธำรงชาติพันธุ์ของผู้คนที่ชายขอบรัฐไทยไม่ได้ขึ้นต่อสถานการณ์และอำนาจปกครองภายในประเทศไทยฝ่ายเดียว หากแต่เกี่ยวพันอย่างลึกซึ่งกับสถานการณ์การต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยและปัญหาเศรษฐกิจในประเทศพม่าด้วย โดยไม่พักต้องกล่าวถึงผู้คนในพื้นที่อื่นๆ นอกเขตที่สูงทางภาคเหนือของไทยซึ่งยังไม่ถูกรวมเข้ามาวิเคราะห์ใน แผนที่สร้างชาติ


การสร้างรัฐประชาชาติที่ยังไม่เสร็จสิ้น

แม้ แผนที่สร้างชาติ จะมุ่งเป้าไปที่การวิพากษ์การประกอบสร้างความรู้ไทยศึกษายุคสงครามเย็น ทว่าการยึดความเห็นของนักมานุษยวิทยาอเมริกันเพื่อวิจารณ์งานศึกษาหมู่บ้านรุ่นต่อมา โดยไม่ได้ย้อนกลับไปพิจารณาสภาพการดำรงอยู่ของสิ่งที่เรียกว่าหมู่บ้านในสังคมไทยอย่างเพียงพอ ขณะที่ในทางกลับกันก็ไม่ได้อภิปรายปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้แผนที่และการกำหนดพิกัดตำแหน่งหมู่บ้าน-ประชากรชาวเขา กับอำนาจควบคุมเหนือพื้นที่ของรัฐไทยว่าได้นำไปสู่กำเนิดรัฐประชาชาติและความเป็นชาติใหม่ของไทยอย่างไร ทั้งหมดส่งผลให้ แผนที่สร้างชาติ เสี่ยงที่จะตกอยู่ในวาทกรรมสงครามเย็นที่ผลักนักสังคมศาสตร์อเมริกันให้มุ่งตีความปรากฏการณ์เพื่อตอบปัญหาเรื่อง ความมั่นคงแห่งชาติ (national security) ผลประโยชน์แห่งชาติ (national interest) การปิดล้อมเพื่อสกัดกั้นการขยายตัว (containment)  ผลคือกรณีศึกษาหมู่บ้านบางชัน และคำอธิบายหมู่บ้านชาวเขาในเขตที่สูงในลักษณะสังคมหลวม ครอบครัวเล็ก ผู้คนกระจัดกระจาย เคลื่อนย้ายตลอดเวลา ไม่มีหมู่บ้านที่ปักหลักอย่างเป็นทางการยาวนาน ได้กลายเป็นคำอธิบายสภาพทั่วไปของหมู่บ้านในสังคมไทยทั้งหมด ความแตกต่างของหมู่บ้านพื้นที่ราบ-พื้นที่สูง และระหว่างภูมิภาคต่างๆ ในรัฐไทยได้ถูกลดทอนให้กลายสภาพเป็นหมู่บ้านชาวเขาในกรอบคำอธิบายของ แผนที่สร้างชาติ

อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่างการได้รู้จักหมู่บ้านทั่วรัฐไทยโดยนักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาอเมริกัน (ซึ่งเป็นประเด็นที่ตั้งคำถามได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ได้รู้และรัฐและคนท้องถิ่นได้นำสิ่งที่รู้นั้นไปใช้มากน้อยเพียงใด) และการจัดทำแผนที่ทางอากาศซึ่งทำให้พื้นที่ภายในรัฐสามารถกำหนดขอบเขตได้ชัดเจน จนนำไปสู่กำเนิดรัฐประชาชาติและสำนึกความเป็นชาติยังเป็นปัญหาสำคัญที่สามารถถกเถียงต่อได้อีกมาก และควรได้รับการศึกษาอย่างลงลึกยิ่งขึ้น ในการนี้ แผนที่สร้างชาติ ได้ช่วยดึงเราให้กลับมาทบทวนปัญหาสำคัญนี้อีกครั้ง กระตุกเราให้ตั้งคำถามต่อชุดคำอธิบายทางวิชาการที่นิยมในหมู่นักวิชาการทวนกระแส

 

หมายเหตุ: รายละเอียดข้อวิพากษ์และการอภิปรายหลักฐานประวัติศาสตร์โปรดติดตามอ่านบทความฉบับเต็มที่จะตีพิมพ์ในวารสาร ฟ้าเดียวกัน  ในอันดับต่อไป)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล  Graduate School of Asia-Pacific Studies, Waseda University

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: 10 ปีถอย 4 ปีปากเหว

Posted: 19 Jun 2018 09:27 AM PDT

 

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บอกว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยมา 10 ปีเพราะการเมืองไม่มีเสถียรภาพ พูดเป็นเสียงเดียวกับนายกฯ ว่า 4 ปี เสถียรภาพดีขึ้นแล้วทำให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ ตัวเลขดีขึ้นทุกอย่าง

ขี้เกียจถามว่าเศรษฐกิจดีจริงหรือ ทำไมชาวบ้านล้อว่า ทำธุรกิจใหญ่ขึ้นทุกวัน จากขายรถ ต้องขายบ้าน ขายที่ดิน

แต่ที่บอกว่าการเมืองไม่มีเสถียรภาพมานาน ท่านพูดถูก เพียงนับจากเมื่อไหร่ เมื่อเกิดรัฐประหาร 2549 ไง ใช้ปืนใช้รถถังแก้ปัญหาการเมือง แก้ความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตย ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้อำนาจแต่งตั้งและตุลาการภิวัตน์แก้ขัดแย้ง จนแตกแยกกันไปใหญ่

รัฐประหาร 2557 เข้ามาใช้อำนาจบังคับสังคมเฉียบขาด ใช้ ม.44 เป็นกฎหมาย เป็นยาสารพัดนึก ไม่ใช่แค่ห้ามคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ ยังแก้ปัญหาได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องคำนึงถึงระบบกฎเกณฑ์ ขณะเดียวกันก็ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ถอยหลังไปครึ่งศตวรรษ ให้อำนาจแต่งตั้ง ศาล องค์กรอิสระ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รัฐราชการ อยู่เหนืออำนาจจากเลือกตั้งโดยสัมบูรณ์ โดยยังจะให้มีรัฐบาลที่ไม่มาจากเลือกตั้งสืบทอดอำนาจ 5 ปีแรก

จาก 2549 ถึง 2557 ยิ่งแก้ยิ่งผิดทาง แต่บางคนกลับบอก 2549 เสียของ ต้องบังคับไม่ให้เกิดความขัดแย้งอีก โดยใช้อำนาจเผด็จการยาวนาน 4-5 ปี แล้วกลับสู่เลือกตั้งโดยกดหัวอำนาจจากเลือกตั้งไว้อีก 5-20 ปี

วิธีการนี้ บางคนพูดเหมือนพระเอกในละครน้ำเน่าที่ข่มขืนนางเอก ว่าทน ๆ ไปเหอะ เดี๋ยวก็มีความสุขเอง

แน่ละ 4 ปี คสช.ไม่ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ รัฐทหารมุ่งแก้ปัญหาที่ตนคิดว่าเป็นต้นตอความขัดแย้ง นั่นคือประชาชนจน โง่ ถูกจูงจมูก จึงชูธงลดเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปด้านต่าง ๆ โดยหวังว่าถ้าชาวบ้านปากท้องอิ่ม แล้วจะไม่เรียกร้องต้องการเสรีภาพ ความเท่าเทียม ไม่ต้องการมีอำนาจผ่านเลือกตั้ง ยอมให้โครงสร้างอำนาจอนุรักษ์ปกครองไปยาวนาน

แต่ปัญหาของ คสช.คือขณะที่อยากลดเหลื่อมล้ำ ก็ต้องการกระชับความมั่นคงของโครงสร้างอนุรักษนิยม จึงฟื้นระบอบรัฐราชการเป็นใหญ่ฟื้นอำนาจรวมศูนย์มหาดไทย ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ลิดรอนการปกครองท้องถิ่น กลับไปใช้โครงสร้างยุคสงครามเย็น รวมศูนย์อำนาจทุกอย่างไว้ใต้ผู้ว่าฯ กับทหาร ซึ่งในระยะยาวก็วางกลไก กอ.รมน.ครอบทุกพื้นที่

ที่คุยว่าปฏิรูป ลดเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งฐานราก จึงขับเคลื่อนด้วยโครงสร้างล้าหลัง ไม่โปร่งใส ไร้ประสิทธิภาพ ไม่เข้าใจความต้องการของประชาชน แถมยังถูกมัดมือมัดเท้าด้วยระเบียบปฏิบัติบ้าจี้ยุคปราบโกง ที่มีองค์กรหิวความดี ป.ป.ช. ปปท. สตง. เพ่นพ่านเต็มไปหมด

ในระดับประเทศ ซึ่งงบประมาณขาดดุลเพิ่มสูงทุกปี นับถึงปี 2562 รวม 1.89 ล้านล้านบาท ไม่มีใครว่าถ้าทุ่มลงทุนสาธารณูปโภค แต่นี่งบความมั่นคงก็สูงขึ้นทุกปี พร้อมข่าวซื้ออาวุธ ขึ้น 2 ขั้น เพิ่มเงินเดือนเพิ่มตำแหน่ง แถมค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นต่าง ๆ

มองภาพ 2 ด้าน จะเห็นชนวนการเมืองขันล็อกแน่นเข้า ๆ แบบรัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ ใช้อำนาจปิดกั้นพร้อมกับดันทุรังสืบทอดอำนาจ นับถอยหลังสู่การเผชิญหน้า ทั้งช่วงเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง

ขณะที่ทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านก็หงุดหงิด ปากท้องไม่เห็นกระเตื้องสักเท่าไหร่ แต่บรรษัทยักษ์ใหญ่กำไรดี คนระดับบนรวยขึ้น ระดับกลางล่างจนลง ไหนว่าลดเหลื่อมล้ำ พากันบ่นรัฐบาลอุ้มคนรวย ให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี อาลีบาบาไม่เสียภาษี 13 ปี

ภาวะอย่างนี้ ใครยังเชื่อสมคิดว่าการเมืองไทยมีเสถียรภาพ น่าลงทุน ถ้าไม่ใช่เพราะได้สิทธิประโยชน์ 99 ปี 13 ปี ก็คงสติไม่ดี

 

ที่มา: www.kaohoon.com/content/236802

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนพิการตาบอดปฏิเสธฟอกไตเหตุจ่ายค่ารถไป รพ.ไม่ไหว ขอล้างไตผ่านช่องท้องด้วยตัวเอง

Posted: 19 Jun 2018 09:20 AM PDT

เผยล้างไตผ่านช่องท้องด้วยตัวเองมาตลอด 4 ปี ย้ำไม่ยาก ทั้งมั่นใจความสะอาด ไม่ติดเชื้อ เผยหมอสั่งฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมแต่ปฏิเสธ เหตุจ่ายค่ารถไม่ไหว แถมปวดหัวหนักก่อนการฟอกไตใกล้เสร็จ ยืนยันการล้างไตผ่านช่องท้องเป็นวิธีดีที่สุด 

นายไพบูลย์ ศรีหอมชัย อายุ 60 ปี คนพิการตาบอดและล้างไตผ่านช่องท้องด้วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง รพ.สต.เซิม อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย กล่าวว่า เริ่มต้นป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง และต่อมาคุณหมอบอกว่ายังป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องทำการล้างไตผ่านช่องท้อง ซึ่งในช่วงแรกให้ลูกเป็นผู้ดูแล แต่เกิดภาวะติดเชื้อและหมอกลัวว่าจะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ จึงให้เปลี่ยนให้ฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมเป็นเวลา 4 สัปดาห์ และจากนั้นได้ทำการวางสายน้ำยาที่หน้าท้องใหม่เพื่อให้ล้างไตผ่านช่องท้อง แต่ด้วยลูกกลับไปทำงานที่ต่างจังหวัด ทำให้ไม่มีคนดูแล และคุณหมอกลัวว่าจะเกิดการติดเชื้ออีก จึงให้กลับไปฟอกไตผ่านเครื่องไตเทียม

แต่ด้วยค่ารถไปกลับยังโรงพยาบาลสูงถึงครั้งละ 1,500 บาท ซึ่งตนต้องทำการฟอกไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทำให้มีค่าใช้จ่ายค่าเดินทางไปกลับสูงถึง 3,000 บาท/สัปดาห์ เป็นภาระที่แบกรับไม่ไหว ทั้งยังต้องฟอกไตต่อเนื่องไปตลอดชีวิต จึงไม่อยากเป็นภาระครอบครัว ประกอบกับในช่วงเวลา 20-30 นาทีที่การฟอกไตใกล้เสร็จ จะรู้สึกปวดหัวหนักมาก คุณหมอนำน้ำแข็งมาประคบก็ไม่ไหว ทำให้เลือกที่กลับมาล้างไตผ่านช่องท้อง

จุดเริ่มต้นที่ล้างไตผ่านช่องท้องด้วยตัวเองแม้ว่าจะตาบอด เนื่องด้วยภรรยาเปิดร้านขายของ มีอยู่วันหนึ่งที่ภรรยาแขวนน้ำยาล้างไตให้แล้วและเตรียมที่จะต่อสายให้ แต่มีลูกค้ามาเรียกพอดี จึงได้ทดลองทำเอง เริ่มจากฉีกซองสายต่อน้ำยาล้างไต จากนั้นใช้ตัวหนีบมาหนีบต่อสายที่หน้าท้อง โดยใช้ปลายนิ้ววัดระยะในการต่อสายน้ำยา ทำให้สามารถต่อสายน้ำยาได้ เป็นการใช้ประสาทสัมผัส จากนั้นได้ทำการล้างไตผ่านช่องท้องเองมาโดยตลอด

"ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องเองได้ ทำได้ไม่ยาก ทั้งยังมั่นใจในความสะอาด เพราะไม่มีใครรักเราเท่าตัวเราเอง ซึ่งในช่วงที่ให้ญาติช่วยล้างไตผ่านช่องท้องให้ ก่อนที่จะมาทำ บางครั้งไปปรุงน้ำพริก ทำปลาร้ามา มือก็ไม่ล้าง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเชื้อได้" ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง กล่าว  

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า วันนี้ได้ล้างไตผ่านช่องท้องต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว ยังมีสุขภาพดี ปัสสาวะยังเป็นปกติ ขอแนะนำผู้ป่วยที่เพิ่งเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและต้องล้างไตว่า หากหมอบอกให้ล้างไตผ่านช่องท้องก็ขอให้ทำและไปหาหมอตามนัด ที่บอกกันว่าล้างไตผ่านช่องท้องแล้วทำให้ตายเร็วนั้นไม่จริง แต่หากไม่ล้างไต ยิ่งทำให้ตายเร็วกว่า ส่วนข้อกังวลต่อการติดเชื้อทางช่องท้องนั้น ต้องบอกว่าไม่ได้ติดเชื้อกันง่ายๆ ทั้งหมดอยู่ที่ตัวเราในการดูแลความสะอาดและสุขภาพ ซึ่งความเห็นส่วนตัวมองว่าวิธีล้างไตที่ดีที่สุดคือการล้างไตผ่านช่องท้อง โดยเราต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ ซึ่งสุดท้ายนี้ต้องบอกว่าการมีสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเป็นสิ่งที่ดีแล้ว เพราะทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงการรักษา

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรื่อง “เงินทอง” กับ “ทางออก” ของคณะสงฆ์ไทย

Posted: 19 Jun 2018 09:11 AM PDT

 

ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอข้อมูลการวางระบบเกี่ยวกับการจัดการด้านการเงินและบัญชีวัด รวมทั้งต้องการหาวัดตัวอย่างที่พระไม่จับเงิน เพื่อให้เป็นไปตามพระวินัย ไม่ให้พระต้องอาบัติ นิสสัคคียปาจิตตีย์นั้น ก่อให้เกิดความคิดเห็นตามมามากมาย โดยมากของบุคคลที่เคยคลุกคลีกับสงฆ์จะเห็นว่า เพื่อสงเคราะห์ภิกษุในการใช้ชีวิตและกระทำกิจในปัจจุบัน สังคมชาวพุทธไทยควรยินยอมให้พระรับเงินรับทอง (รวมทั้งทรัพย์สินอื่น) เพื่อประโยชน์สาธารณะได้ แม้ทำผิดวินัยก็พึงยอม แต่การยินยอมเช่นนี้จะนำไปสู่คำถามต่อไปว่า สังคมชาวพุทธไทยจะยังมีความชอบธรรมที่จะเรียกตัวเองว่า "เถรวาท" ได้อีกหรือ

บทความนี้ขอเสนอความเห็นต่างโดยมองว่า อาจถึงเวลาที่คณะสงฆ์และชาวพุทธไทยจะต้องพิจารณาพุทธดำรัสร่วมกันอย่างจริงจัง โดยยึดพระพุทธกับพระธรรมเป็นสำคัญ มากกว่ามุ่งหวังเพียงปกป้องพระสงฆ์บางกลุ่ม

"นิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์" เป็นชื่ออาบัติเบาที่แก้ไขได้ด้วยการสละสิ่งของ ทรัพย์ หรือวัตถุ (ในกรณีนี้คือเงินทอง) ออกไป ภิกษุจึงจะพ้นจากความผิดได้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเรื่องทอง จะอยู่ในสิกขาบทของภิกษุข้อที่ 18 – 20 ในนิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์ 30 ข้อ กล่าวคือ ภิกษุไม่สามารถ "รับ" และ "เก็บ" เงินทอง ไม่สามารถ "ใช้" ผู้อื่นรับแทน และไม่สามารถ "ยินดี" ในทรัพย์ที่ผู้อื่นเก็บให้ตน (ข้อ 18) ภิกษุไม่สามารถ "ใช้" หรือ "แลกเปลี่ยน" เงินทองกับผู้อื่น (ข้อ 19) และภิกษุไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้าวของ (รวมทั้งทรัพย์) ในลักษณะเป็นการ "ซื้อขาย" กับผู้อื่น (ข้อ 20) เมื่อพระวินัยบัญญัติไว้ชัดเจนเช่นนี้ ภิกษุใดละเมิดย่อมอาบัติหมวดนี้แน่นอน ไม่อาจตีความเลี่ยงบาลีเป็นอื่นเพื่อปกป้องหมู่คณะของตน

แม้กระนั้น ในพระสูตรสำคัญ (มหาปรินิพพานสูตร) และพระวินัยส่วนอื่น (ปัญจสติกขันธกะ) กลับปรากฏข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดช่องให้อำนาจและเสรีภาพแก่สงฆ์ในการพิจารณาเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อย พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ก่อนปรินิพพานไม่นานว่า "อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้าง ก็ถอนได้" (อากงฺขมาโน อานนฺท สงฺโฆ มมจฺจเยน ขฺทฺทานุขุทฺทกานิ สิกฺขาปทานิ สมูหนตุ) พุทธดำรัสนี้สะท้อนให้เห็นพระกรุณาคุณและพระปัญญาคุณที่แสดงออกมาเป็นความยืดหยุ่นและสนับสนุนการเดินสายกลาง

แม้จะไม่มีข้อระบุชัดเจนว่าสิกขาบทเล็กน้อยที่สงฆ์สามารถเพิกถอนได้คืออะไร แต่ชาวพุทธส่วนใหญ่ตั้งแต่อดีตก็เห็นชอบร่วมกันว่า "นิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์" อยู่ในกลุ่มของสิกขาบทที่มีโทษเบา สามารถเพิกถอนได้ถ้าสงฆ์ปรารถนาร่วมกัน บทความนี้จึงสนับสนุนให้คณะสงฆ์และชาวพุทธไทยพิจารณาเรื่อง การเพิกถอนสิกขาบทในหมวด "นิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์" ที่ว่าด้วยการรับ การใช้ การซื้อขาย และการแลกเปลี่ยนเงินทางตลอดจนวัตถุข้าวของอื่น ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง การเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยว่าด้วยภิกษุกับเรื่องเงินเรื่องทองนั้น อาจฟังน่าตกใจและดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ซึ่งท้าทายการตัดสินใจของคณะสงฆ์ไทยเป็นอย่างยิ่ง ชาวพุทธบางส่วนอาจยอมรับไม่ได้ในตอนแรก เพราะคิดว่าทำให้ "ความเป็นเถรวาท" เสียหาย 

ที่จริงแล้วความสามารถที่จะเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อย กลับยิ่งแสดงให้เห็น "พลัง" ของคณะสงฆ์ไทยที่สามารถเรียนรู้และอยู่กับโลกของความเป็นจริงในปัจจุบัน การยึดมั่นถือมั่นในชื่อ "เถรวาท" และอัตลักษณ์ของอดีตที่สลายไปเนิ่นนานแล้วตามสัจธรรมแห่งไตรลักษณ์ ทำให้คณะสงฆ์และพุทธศาสนาแบบไทยอ่อนแอ เฉื่อยช้า ไม่กล้าก้าวเดินไปข้างหน้า และไม่ยอมเดินสายกลาง เป็นการเห็นแก่พระสงฆ์ อุปัชฌาย์ หรืออาจารย์ใกล้ชิดมากกว่าจะระลึกถึงพระคุณของครูใหญ่ ซึ่งก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคำสอนของพระองค์ 

การยึดถือเอาแต่ชื่อที่ฟังเคร่งครัดแต่สาวกไม่สามารถปฏิบัติตามได้จริง จะทำให้พุทธศาสนาแบบไทยไม่อาจยืนหยัดอยู่ในโลกยุคนี้ที่ซึ่งแนวคิด "โลกียวิสัย" หรือ "ฆราวาสนิยม" (secularism) กำลังลดทอนความสำคัญของศาสนา รวมทั้งแทรกแซงและแทนที่การมีอยู่ของศาสนาด้วย          

ประการที่สอง การเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยว่าด้วยภิกษุกับเรื่องเงินเรื่องทองนั้น ไม่ใช่การเปิดทางให้พระรับและใช้เงินทองเป็นกอบเป็นกำแบบผู้ครองเรือน อีกทั้งไม่ใช่การสนับสนุนให้สงฆ์เพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยอื่นเพื่อเอื้อประโยชน์เฉพาะบุคคลหรือเฉพาะกลุ่ม  แต่คือ การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ไทยที่ต้องการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองอย่างเต็มที่

การยินยอมให้ภิกษุรับเงินทองได้ของคณะสงฆ์ จะต้องเกิดขึ้นและดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการทางรัฐหรือสังคมในการป้องกันและควบคุมกิเลสของพระชาวบ้านหรือสมมติสงฆ์ แต่ในการกำกับดูแลมาตรการนั้น ภิกษุจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของวัดได้โดยไม่ต้องรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าทำผิดข้อวินัยหรือไม่ การปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ครองเรือนเป็นผู้ตรวจสอบเรื่องเงินทองของวัดต่าง ๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว ก็ไม่สามารถการันตีความโปร่งใสในทางปฏิบัติได้

ประการที่สาม การเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยว่าด้วยภิกษุกับเรื่องเงินเรื่องทองนั้น  เป็นการเกื้อกูลพระนักพัฒนาที่ดี คือมีเจตนาดีในการเข้าไปข้องเกี่ยวกับเงินทองเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ในทางที่ทำให้ท่านไม่ต้องรู้สึกผิดและสับสนในการจับเงินจับทอง ส่วนพระที่ไม่ประสงค์จะยุ่งเกี่ยวกับเงินทองก็สามารถใช้ชีวิตตามพระธรรมวินัยเคร่งครัดในแบบที่ท่านต้องการต่อไปได้อย่างปกติ 

ประการที่สี่ การเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยว่าด้วยภิกษุกับเรื่องเงินเรื่องทองนั้น จะเป็นการลดทิฐิมานะของชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อยที่ใช้ "ความเป็นเถรวาท" ข่มเหงเหยียดหยามชาวพุทธกลุ่มอื่น หน้าที่หลักของชาวพุทธเถรวาทไทยคือสืบทอดรักษาคำสอนในพระไตรปิฎกบาลีให้บริสุทธิ์ ซึ่งภารกิจนี้สำคัญยิ่งและพึงเป็นนิยามของ "เถรวาท" ในปัจจุบัน มิใช่ยึดถือชื่อนี้เพื่ออ้างสิทธิ์ในการตีความพระธรรมวินัยแบบที่ตนเชื่อให้อยู่เหนือกว่า (หรือถูกต้องกว่า) ชาวพุทธกลุ่มอื่น ภิกษุเถรวาทไทยจะได้เรียนรู้ความใจกว้าง การดำเนินชีวิตอยู่บนทางสายกลาง และเข้าใจความหลากหลายของคำสอนต่าง ๆ ซึ่งเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างศรัทธาในหมู่ชน และส่งผลดีต่อการเผยแผ่พุทธศาสนาในสังคมปัจจุบันที่เปิดรับพหุนิยมทางศาสนา

ประการที่ห้า การเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยว่าด้วยภิกษุกับเรื่องเงินเรื่องทองนั้น เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งรอบด้านโดยปราศจากอคติ จะเป็นการให้ความสำคัญกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ เป็นการเชิดชูพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เหนืออื่นใด อีกทั้งยังเป็นการแสดงความเคารพอย่างจริงใจต่อพระอรหันตสาวกในครั้งพุทธกาลด้วย 

การไม่เพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยในครั้งปฐมสังคายนา เกิดจากเจตนาดีของพระอรหันตสาวกก็จริง แต่เจตนาที่ดีในอดีตเมื่อสองพันกว่าปีล่วงมาแล้วนั้น ไม่พึงถูกนำมาใช้ประโยชน์แต่เปลือกนอก แต่ข้างในกลับอนุโลมให้ภิกษุทำผิดพระวินัยได้ นั่นยิ่งจะเป็นการดูหมิ่นครูบาอาจารย์ตั้งแต่ระดับครูใหญ่ไล่ลงมา 

ด้วยเหตุข้างต้นนี้ และด้วยเหตุแห่งพระกรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะลดทิฐิมานะของตนเองลง  มองเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัวด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง และช่วยกันหาวิธีให้พุทธศาสนาแบบไทยยืนหยัดอยู่ได้ตราบชั่วรุ่นลูกหลาน ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของโลกทุนนิยมเสรี เพื่อประโยชน์คือความหลุดพ้นจากกองทุกข์ของมนุษยชาติทั้งปวง

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

UN กังวลหลังไทยใช้โทษประหาร ระบุเบี้ยวสัญญา ไม่โปร่งใส

Posted: 19 Jun 2018 06:21 AM PDT

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ชี้ไทยสวนทางกับคำมั่นสัญญา UPR ปี 2559  ทั้งยังไม่บอกล่วงหน้า


19 มิ.ย. 61 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) เผยแพร่แถลงการณ์ แสดงเสียใจอย่างยิ่งต่อการประหารชีวิต นายธีรศักดิ์ หลงจิ สหประชาชาติคัดค้านการใช้โทษประหารชีวิตในทุกสถานการณ์ดังที่เน้นย้ำโดยเลขาธิการสหประชาชาติในหลายวาระ  
 
เมื่อเย็นวานนี้ กรมราชทัณฑ์เผยแพร่แถลงการณ์ว่านายธีรศักดิ์ อายุ 26 ปี ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษ เขาถูกตัดสินประหารชีวิตจากเหตุทำร้ายและใช้มีดแทงบุคคลอื่นจนถึงแก่ความตายในภาคใต้ของประเทศไทย จนกระทั่งขณะนี้ เหตุผลของการดำเนินการประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ยังไม่ปรากฏแน่ชัด โดยพิจารณาว่ารัฐบาลไทยมิได้ดำเนินการประหารชีวิตในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง เนื่องจากประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่มีความก้าวหน้าสอดคล้องกับรัฐจำนวนมากที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว
 
"การนำเอาโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่สวนทางกับคำมั่นสัญญาของประเทศไทยทั้งในระดับประเทศและนานาประเทศ ระหว่างการทบทวนสถานการณ์ภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนโดยสมาชิกสหประชาชาติ ตามกลไก Universal Periodic Review เมื่อปี 2559 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต" ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
 
"คำมั่นดังกล่าวได้รับการกล่าวย้ำอีกในแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่สาม"   
 
สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมมนุษยชนฯ ยังมีความกังวลด้วยว่า การประหารชีวิตได้ดำเนินการขึ้นโดยปราศจากการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ความโปร่งใสเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชาชนโดยทั่วไปที่จะได้รับทราบเพื่อการอภิปรายสาธารณะและความรับผิดตามระบบประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น ประชาคมโลกซึ่งกำลังขับเคลื่อนไปด้วยความก้าวหน้าสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตก็มีความสนใจที่จะติดตามการเคารพและปกป้องสิทธิการมีชีวิตอยู่ทุกหนทุกแห่งด้วย
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้สรุปว่า การเข้าถึงข้อมูลของรัฐในเรื่องการใช้โทษประหารชีวิตถือเป็นผลประโยชน์อันชอบธรรมของสาธารณชน และส่งผลต่อการตระหนักว่าเป็นสิทธิทั่วไปที่จะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนั้นภายใต้มาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
 
สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมมนุษยชนฯ ยังคงกังวลใจจากการถอยหลังของการปฏิรูปโทษประหารชีวิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประหารชีวิตที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้เป็นภาพสะท้อนอีกภาพหนึ่งของแนวโน้มข้อกังวลในเรื่องนี้
 
"เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินมาตรการต่างๆ โดยเร่งด่วนเพื่อคืนสู่ภาวะการงดเว้นการใช้โทษประหารชีวิตในกระบวนการนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยสมบูรณ์" ซินเทีย เวลิโก้ กล่าว
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ผสานวัฒนธรรม' ซัดรัฐผิดพลาด ประหารโดยรัฐก็คือการฆ่าเช่นกัน

Posted: 19 Jun 2018 06:01 AM PDT

ระบุการประหารชีวิตครั้งนี้ ทำให้ล้าหลังประเทศในอาเซียน และเป็นหนึ่งใน 57 ประเทศที่ยังคงบทลงโทษประหาร ขณะที่ 141 ประเทศได้ยกเลิกโทษในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว

 
19 มิ.ย. 61 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทยในการยุติการพักการประหารชีวิต ระบุรัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดในการยุติการพักการประหารชีวิต เพราะการประหารชีวิตโดยรัฐก็เป็นการฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเช่นกัน
 
ตามที่กรมราชทัณฑ์ โดย พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่18 มิถุนายน พ.ศ.2561 เวลา 15.00–18.00 น. กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดหนึ่งราย (ขอสงวนชื่อนามสกุล) อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 โดยการฉีดยาพิษนั้น
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออถแถลงการณ์ความว่า ขอแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทยในการยุติการพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติครั้งนี้หลังจากได้มีการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาสารพิษครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2552  ทั้งที่เหลือเวลาอีกเพียง 14 เดือนที่ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับว่าได้พักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติติดต่อกันเป็นเวลา10 ปี ทำให้ประเทศไทยพลาดโอกาสได้รับการประกาศว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ  ทั้งนี้การยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นเจตจำนงที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด และพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศคือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ทั้งสวนทางกับคำประกาศของรัฐบาลไทยที่กำหนดให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ อันจะมีผลทำให้คำมั่นสัญญาและสัจวาจาที่รัฐบาล ค.ส.ช. ให้ไว้กับประชาชนและนานาชาติขาดความน่าเชื่อถือ
 
การประหารชีวิตในครั้งนี้ หลังจากได้พักการประหารชีวิตมาเกือบ 10 ปี ทำให้ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ โดยประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ได้ยกเลิกกฎหมายที่ให้มีโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทไปหลายปีแล้ว ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ ประเทศไทยยังล้าหลังในระดับสากล กล่าวคือ ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 57 ประเทศที่ยังคงบทลงโทษประหารชีวิต ในขณะที่ 141 ประเทศในโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ  โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปทุกประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตและมีการรณรงค์อย่างกว้างขวางในการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศอื่นทั่วโลก  เช่น สหราชอาณาจักรที่มีเป็นสำนักงานใหญ่ของการเคลื่อนไหวขององค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่กรุงลอนดอน หรือการรณรงค์ของรัฐบาลสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่มีการสนับสนุนการรณรงค์การต่อต้านโทษประหารชีวิตผ่านสถานทูตทั่วโลกเป็นต้น
 
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิฯกล่าวว่า "การที่กรมราชทัณฑ์กล่าวอ้างว่าสหรัฐอเมริกาและจีนยังเป็นประเทศที่มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิต เป็นสิ่งที่น่าอับอาย  ด้วยเหตุผลเป็นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายนั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องด้วยการลงโทษด้วยการจำคุกตลอดชีวิตที่ไทยดำเนินมาเกือบ 9 ปีก็เป็นการแยกบุคคลที่กระทำความผิดออกมาเพื่อปกป้องสังคมและให้พลเมืองพ้นจากการเป็นเหยื่ออาชญากรรม ตลอดจนเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้นอยู่แล้ว  การเดินทางไปสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศสในระหว่างวันที่ 20-25 มิถุนายนนี้ของนายกรัฐมนตรีของไทยนั้น อาจต้องไปตอบคำถามถึงการตัดสินใจประหารชีวิตผู้ต้องโทษอายุ 26 ปีนี้และอาจเป็นเงื่อนไขให้การร่วมมือในกิจการต่างๆ ถูกกดดันจากทั้งตัวแทนรัฐบาลและภาคประชาสังคมของทั้งสองประเทศ"
 
"ขอให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวคิดว่าการประหารชีวิตจะเป็นการปกป้องสังคม เพราะการประหารชีวิตแม้กระทำโดยรัฐ ก็เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยการทารุณโหดร้ายและละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับทีกระทำโดยอาชญากรเช่นกัน การประหารชีวิตไม่มีผลในการยุติการก่ออาชญากรรม ในทางตรงกันข้ามกลับอีกทั้งสร้างวงจรความเกลียดชังและความรุนแรงในสังคมอย่างไม่จบสิ้น" นายสุรพงษ์ กองจันทึก กล่าวเสริม
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ท่าที ประยุทธ์-วิษณุ หลังใช้โทษประหาร อียูแถลงผิดหวัง ไทยถอยหลัง

Posted: 19 Jun 2018 04:58 AM PDT

ภายหลังจากที่ แอมเนสตี้ ออกแถลงการณ์คัดค้านโทษประหาร นายกฯ ยันจำเป็นเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจ ส่วนรองนายกฯ โยนกระทรวงต่างประเทศชี้แจงโลก ด้านคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย แถลงผิดหวังไทยขุดโทษประหารมาใช้

19 มิ.ย. 61 ภายหลังจากที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ออกถลงการณ์คัดค้านโทษประหารชีวิตของไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า โทษประหารชีวิต เป็นโทษที่ยังมีอยู่ในกฎหมายของประเทศไทย โดยอ้างด้วยว่า "ความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ตอนที่มีการพิจารณาว่าจะยกเลิกโทษประหารหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า เห็นควรให้มีอยู่ เป็นไปตามกฎหมายและขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม โดยปัจจุบันมีคดีร้ายแรงหลายคดีเกิดขึ้น การมีโทษประหารก็เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบสุขและเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจ เป็นเรื่องความจำเป็นของเราและความต้องการของประชาชน"

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยพยายามทำตามข้อตกลงของสหประชาชาติที่จะไม่ใช้โทษประหารชีวิต แต่อย่างน้อยโทษประหารนั้นก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มีอยู่ในกฎหมายไทย และคดีที่ตัดสินโทษประหารล่าสุดนั้น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต่างยืนตามกันว่า จะต้องมีโทษประหาร เพราะเป็นคดีอุกฉกรรจ์สั่นสะเทือนมาก จึงมีเหตุผลพอสมควร อย่างไรก็ตามเมื่อองค์กรระหว่างประเทศไม่เข้าใจ กระทรวงการต่างประเทศก็จะต้องชี้แจงให้เข้าใจ

ภาพประกอบ : ภาพรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล 

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้บังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) นักโทษเด็ดขาดชาย อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้าย ใช้มีดแทงผู้ตาย รวม 24 แผล เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตายเพื่อชิงทรัพย์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2555 ที่จังหวัดตรัง ศาลชั้นต้น พิพากษาประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน เป็นผลให้คดีถึงที่สุด

วันเดียวกัน โฆษกของผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีเนื้อหาว่า

ในวันที่ 18 มิถุนายน 2561 นายธีรศักดิ์ หลงจิ ได้ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษในประเทศไทย

ในปีหน้านี้ก็จะครบรอบ 1 ทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้เข้าไปอยู่ในรายชื่อร่วมกับประเทศอื่นๆที่พักการใช้โทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สหภาพยุโรปได้คาดหวังไว้ ผ่านการหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย แต่กรณีการประหารชีวิตนายธีรศักด์ แสดงให้เห็นถึงการก้าวถอยหลังอย่างชัดเจน

สหภาพยุโรปต่อต้านโทษประหารชีวิตไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใดๆ    และมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก  เนื่องจากการประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม  ซึ่งไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวยับยั้งการกระทำผิด และยังเป็นการปฏิเสธศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับไม่ได้
 
สหภาพยุโรปขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยงดเว้นการประหารชีวิตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดำเนินการเพื่อพักการใช้โทษประหารและยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด

 

 

ที่มา:  เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, เว็บไซต์ไทยรัฐ, เว็บไซต์คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาแปลก! ศาลสั่งจำคุกมือเผาซุ้มฯ 12 ปี 6 เดือน ฐานอั้งยี่ ซ่องโจร วางเพลิง แต่ไม่ลง ม.112

Posted: 19 Jun 2018 02:42 AM PDT

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ศาลจังหวัดพลนัดฟังคำพิพากษาคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดขอนแก่น รวม 3 คดี ได้แก่ คดีเผาซุ้มฯ ในอำเภอบ้านไผ่, คดีเผาซุ้มฯ ในอำเภอชนบท และคดีตระเตรียมเผาซุ้มฯ ในอำเภอเปือยน้อย ซึ่งมีจำเลย 2 ราย คือ นายปรีชา (สงวนนามสกุล) อายุ 45 ปี และนายสาโรจน์ อายุ 44 ปี ถูกจับกุมและดำเนินคดี  โดยก่อนหน้านี้ศาลได้พิจารณาคดีของจำเลยไปแล้ว 9 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน โดยการอ่านคำพิพากษาในวันนี้ถูกเลื่อนมาจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ซึ่งในวันดังกล่าวศาลระบุว่า ยังเรียงคำพิพากษาไม่เสร็จ

ศาลได้อ่านคำพิพากษาว่า คดีวางเพลิงเผาซุ้ม ร.10 ที่ อ.บ้านไผ่ จนซุ้มได้รับความเสียหายบางส่วนนั้น อัยการได้ฟ้องนายปรีชาและนายสาโรจน์ว่า ร่วมกับจำเลยอีก 6 คน ที่ศาลได้พิพากษาลงโทษแล้วในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ (ประมวลกฎหมายอาญา ม.209) เป็นซ่องโจร (ม.210) ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น (ม.217) ทำให้เสียทรัพย์ (ม.238) และหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ (ม.112) ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ม.209 วรรคแรก ม.210 วรรคสอง ม.217 และ ม.358 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 1 ปี ฐานเป็นซ่องโจร จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันวางเพลิงฯ และทำให้เสียทรัพย์ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานวางเพลิงฯ จำคุกคนละ 7 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 5 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

ในส่วนคดีวางเพลิงเผาซุ้ม ร.9 ที่ อ.ชนบท จำนวน 2 ซุ้ม โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้ง 2 คนว่าร่วมกับจำเลยอีก 4 คน ที่ศาลได้พิพากษาลงโทษแล้วว่ามีความผิดฐานเป็นอั้งยี่ เป็นซ่องโจร ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ม.209 วรรคแรก 210 วรรคสอง และ ม.217 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 1 ปี ฐานเป็นซ่องโจร จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันวางเพลิงฯ จำคุกคนละ 7 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี  จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 5 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้จำเลยทั้งสองร่วมกับจำเลยอีก 4 คน ที่ศาลพิพากษาไปแล้ว ชำระค่าเสียหายจำนวน 958,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. 60 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่เทศบาลตำบลชนบท

และในคดีเตรียมการวางเพลิงเผาซุ้ม ร.10, ร.9 และพระราชินี ที่ อ.เปือยน้อย โจทก์ฟ้องนายปรีชาและนายสาโรจน์ว่า ร่วมกับจำเลยอีก 2 คนที่ศาลได้พิพากษาลงโทษแล้ว เป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ร่วมกันตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น (ม.217, 219) และหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ม.209 วรรคแรก ม.217 ม.219 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 1 ปี  ฐานร่วมกันตระเตรียมวางเพลิงฯ จำคุกคนละ 4 ปี รวมจำคุกคนละ 5 ปี  จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก   

ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลเดียวกันในทั้งสามคดี ซึ่งศาลให้นับโทษต่อกันตามที่โจทก์ขอ ทำให้นายปรีชาและนายสาโรจน์ ต้องโทษจำคุกรวม 12 ปี 6 เดือน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ตั้งข้อสังเกตต่อผลการพิพากษาในครั้งนี้ว่า แม้โจทก์จะฟ้องจำเลย 9 คน และต่อมาฟ้องนายปรีชาและนายสาโรจน์ว่า ร่วมกันกระทำความผิด โดยมีพฤติการณ์เช่นเดียวกัน และฟ้องในความผิดฐานเดียวกัน แต่ศาลจังหวัดพลกลับมีคำพิพากษาที่ต่างกัน โดยในคดีของนายปรีชาและนายสาโรจน์ ศาลได้ยกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 แต่ศาลจังหวัดพลได้พิพากษาเอาผิดจำเลยทั้ง 8 คน ที่ได้ตัดสินไปก่อนหน้านี้ในข้อหา ม.112 ดังนี้ 
 

คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1267/2560 (เผาซุ้มใน อ.บ้านไผ่) ซึ่งมีนายไตรเทพ กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลย พิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112, 209 วรรคแรก ม.210 วรรคสอง ม.217 และ ม.358 ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 1 ปี ฐานเป็นซ่องโจร จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันวางเพลิงฯ ทำให้เสียทรัพย์ หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์  เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ จำคุกคนละ 7 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 อายุเกิน 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนกระทงละ 1 ใน 3 และลดโทษครึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยทั้งหมดรับสารภาพ คงจำคุกจำเลยที่ 1,ที่ 3 ถึงที่ 6 คนละ 2 ปี 16 เดือน และคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี

คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1268/2560 (เผาซุ้มใน อ.ชนบท) ซึ่งมีนายไตรเทพ และพวกรวม 4 คน เป็นจำเลย พิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ม.209 วรรคแรก ม.210 วรรคสอง ม.217 ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 1 ปี ฐานเป็นซ่องโจร จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันวางเพลิงฯ หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์  เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ จำคุกคนละ 10 ปี รวมจำคุกคนละ 13 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 3-4 อายุเกิน 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนกระทงละ 1 ใน 3 และลดโทษครึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยทั้งหมดรับสารภาพ คงจำคุกจำเลยที่ 1,ที่ 3-4 คนละ 3 ปี 16 เดือน และคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 6 เดือน ทั้งนี้ จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1-4 ในคดีหมายเลขดำที่ 1267/2560 ซึ่งศาลให้นับโทษจำคุกทั้งสองคดีต่อกัน และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 958,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามราคาก่อสร้างซุ้ม 2 ซุ้ม ที่เทศบาลตำบลชนบท ผู้เสียหายร้องต่อศาล (อ่านข่าวย้อนหลังที่นี่)

คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1269/2560 (ตระเตรียมเผาซุ้มใน อ.เปือยน้อย) ซึ่งมีนายหนูพิณ และนายฉัตรชัย เป็นจำเลย พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ม.209 วรรคแรก ม.217 และ ม.219 ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 1 ปี, ฐานร่วมกันตระเตรียมวางเพลิงฯ, หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์  เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ จำคุกคนละ 4 ปี รวมจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน

 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน: จำคุก 2 จำเลยเผาซุ้ม 3 คดี รวม 12 ปีครึ่ง ยกฟ้องข้อหา 112

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกฯ เผย มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อนเลือกตั้ง

Posted: 19 Jun 2018 01:45 AM PDT

นายกฯย้ำ สิ่งสำคัญที่สุดที่ คสช. พิจารณาอยู่ คือการเตรียมการไปสู่พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก การเลือกตั้งจะเป็นไปตามครรลอง และเกิดหลังพระราชพิธี

19 มิ.ย. 61 ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุถึงกำหนดการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยมีคำให้สัมภาษณ์ท่อนหนึ่งว่า

"สิ่งสำคัญที่สุดทุกคนต้องอย่าลืม และอย่าเอามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง สิ่งสำคัญที่สุด คสช. พิจารณาอยู่ในวันนี้ คือการเตรียมการไปสู่พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก คนไทยทุกคนอย่าลืม เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ และอย่าหาว่าผมเอาเรื่องนี้มาอ้าง เป็นคนละเรื่องกัน วันนี้ผมต้องการให้ประเทศชาติสงบ มีเสถียรภาพ ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนในระยะเวลานี้ด้วย ส่วนการเลือกตั้ง เราก็เดินของเราไปให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ซึ่งผมก็ไม่ได้เห็นว่าขัดแย้งอะไรกัน"

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า สรุปแล้วจะมีการเลือกตั้งก่อนหรือหลังพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก พลเอกประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า "การเลือกตั้งจะเกิดหลังอยู่แล้ว หลังพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก"

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่รอลงอาญาสุรพงษ์ จำคุก 2 ปี ออกพาสปอร์ตให้ทักษิณ ศาลให้ประกันรออุทธรณ์

Posted: 19 Jun 2018 12:50 AM PDT

ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งฯ พิพากษาจำคุก สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ 2 ปี รัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาใน 30 วัน

 
19 มิ.ย.61 ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/1 
 
กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญาต่อนายสุรพงษ์ กรณีออกหนังสือเดินทางให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกออกหมายจับในหลาย ซึ่งขัดต่อระเบียบข้อบังคับกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ข้อ 21 (2) (3) และ (4)

องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากพิพากษาให้จำคุกนายสุรพงษ์ ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/1 อันเป็นกฎหมายบทหนักสุด จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เนื่องจากพิเคราะห์แล้วว่าการกระทำจำเลย มีเจตนาช่วยเหลือให้นายทักษิณ ผู้ต้องหา ที่ถูกศาลจำคุกในคดีซื้อขายที่ดินรัชดา และเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอื่นๆ หลบหนีโดยได้รับความสะดวกในการเดินทางไปต่างประเทศ จากหนังสือเดินทางที่ออกให้ใหม่ ซึ่งเป็นการบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมในการบังคับกฎหมายลงโทษกับจำเลยที่หลบหนีไป
 
โดยคดีนี้อัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ เมื่อกลางเดือน มีนาคม 2560 ซึ่งนายสุรพงษ์ได้ยื่นหลักทรัพย์ 3 ล้านบาทขอประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัว พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
 
ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากพิพากษาให้จำคุกนายสุรพงษ์ ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/1 อันเป็นกฎหมายบทหนักสุด จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เนื่องจากพิเคราะห์แล้วว่าการกระทำจำเลย มีเจตนาช่วยเหลือให้ผู้กระทำผิดให้หลบหนีคำพิพากษา
 
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 195 บัญญัติให้ คําพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษา
 
 
ด้านนายปรีชา ศรีเจริญ ทนายความ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เปิดเผยว่า ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างรอการอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาด้วยเงินประกัน 5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล 

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, เว็บไซต์ไทยรัฐ

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประเทศไทยยังถอยหลังได้อีก! แอมเนสตี้ชี้น่าอาย หยิบโทษประหารมาใช้ในรอบ 9 ปี

Posted: 18 Jun 2018 11:49 PM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ ชี้การประการชีวิตในรอบ 9 ปีของไทย เป็นการกระทำที่น่าละอายอย่างยิ่ง และเป็นความถดถอยสำคัญในเส้นทางไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตของไทย

19 มิ.ย.2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ ชี้การประการชีวิตในรอบ 9 ปีของไทย เป็นการกระทำที่น่าละอายอย่างยิ่ง 

สืบเนื่องจากรายงานข่าวว่า ทางการไทยได้ประหารชีวิตชายอายุ 26 ปีในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ ซึ่งนับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในประเทศนับแต่เดือนสิงหาคม 2552

แคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เรื่องนี้นับเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตรอดอย่างน่าละอาย เป็นเรื่องน่าตกใจที่ประเทศไทยละเมิดต่อพันธกิจที่เคยประกาศไว้ว่า จะเดินหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหาร และการปกป้องสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ทั้งยังเป็นการทำตัวไม่สอดคล้องกับกระแสโลก ซึ่งกำลังมุ่งหน้าออกจากโทษประหาร

"ไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าโทษประหารจะส่งผลให้บุคคลยั้งคิดก่อนกระทำความผิดอย่างชัดเจน การที่ทางการไทยคาดหวังว่ามาตรการเช่นนี้จะช่วยลดการก่ออาชญากรรม จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง โทษประหารนับเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุด ทั้งไม่ได้เป็น "คำตอบสำเร็จรูป" ที่ช่วยแก้ปัญหาที่ทางการต้องการแก้ไขอย่างรวดเร็ว  

หลังผ่านไปเกือบ 10 ปีที่ไม่มีการประหารชีวิต การประหารชีวิตครั้งนี้นับเป็นความถดถอยสำคัญในเส้นทางไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตของไทย รัฐบาลไทยต้องยุติแผนการใด ๆ ที่จะประหารชีวิตประชาชนอย่างต่อเนื่อง และจัดทำความตกลงชั่วคราวเพื่อยุติการใช้โทษประหารชีวิต"

นับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกของไทย หลังจากมีการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาต่อนักโทษชายสองคนเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ไม่มีการประชีวิตบุคคลเลยตั้งแต่ปี 2546 จากตัวเลขของกระทรวงยุติธรรมระบุว่า จนถึงสิ้นปี 2560 มีนักโทษประหารอยู่จำนวน 510 คน โดยเป็นผู้หญิง 94 คน ในจำนวนนี้ 193 คนเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ผ่านกระบวนการอุทธรณ์คดีหมดสิ้นแล้ว เชื่อว่ากว่าครึ่งหนึ่งของนักโทษเหล่านี้ต้องโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติด

แม้ว่าการใช้โทษประหารชีวิตเชิงบังคับถือเป็นข้อห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่โทษประหารยังเป็นโทษเชิงบังคับสำหรับความผิดหลายประการในประเทศไทย รวมทั้งคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ โดยความผิดหลายประการที่มีการใช้โทษประหาร มีลักษณะไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของการเป็น "อาชญากรรมร้ายแรงสุด" ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตให้ใช้โทษแบบนี้ได้ สำหรับประเทศต่าง ๆ ที่ยังไม่ยกเลิกโทษประหารเสียทีเดียว

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีเพียง 16 ประเทศ ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต จนถึงทุกวันนี้ 106 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทุกประเภท และ 142 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งมีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ความคิดเห็น:

  1. There are some fascinating closing dates in this article however I don’t know if I see all of them heart to heart. There may be some validity however I will take maintain opinion till I look into it further. Good article , thanks and we wish more! Added to FeedBurner as well casino blackjack

    ตอบลบ