โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ศูนย์ทนายฯ เปิดชะตากรรม (ประชาชน) ผู้ต้องหาแชร์เพจ KonthaiUK

Posted: 15 Jun 2018 07:50 AM PDT

จากกรณีที่มื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้แถลงข่าวออกหมายจับเจ้าของเพจ KonthaiUK ซึ่งเป็นเพจการเมืองที่มีคนติดตามกว่า 500,000 ในฐานความผิดบิดเบือนข่าวกระทบความมั่นคงตามมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 จากการนำเสนอภาพประกอบโควท "เรือเหาะก็ซื้อมาซ่อม ยังจะซื้อดาวเทียม 91,200 ล้านมาแดกอีก.. จะยอมมันอีกมั้ย!" พร้อมกันนั้นตำรวจยังจับคนทั่วไปที่แชร์ข่าวนี้อีกรวมแล้ว 29 คน ในจำนวนนี้มี 7 คนที่ถูกนำตัวมาแถลงข่าวด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานความคืบหน้าในส่วนของประชาชนธรรมดาที่ออกหมายจับตามความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในกรณีนี้พบว่า หลายกรณีเป็นการติดตามไปถึงบ้านเพื่อแสดงหมายจับและพาตัวไปสอบคำให้การในทันทีที่ ปอท. บางกรณีเล่าว่าเขาไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความ บางกรณียืนยันว่าเป็นการแสดงความเห็นต่างโดยสุจริต

กรณีนายสมบัติ (ไม่เปิดเผยนามสกุล) หนึ่งในผู้ที่ถูกควบคุมตัวไปแถลงข่าวที่ ปอท. เล่าว่า วันที่ 12 มิ.ย. เวลาประมาณ 14.00 น. ตำรวจท่องเที่ยวจากหัวหินไปที่ทำงานของเขา ตำรวจได้แสดงหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาจาก ปอท. เรียกให้เขาไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ บก.ปอท. ถ.แจ้งวัฒนะ ในหมายระบุว่าพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี จากการแชร์ข้อความอันเป็นเท็จที่กระทบความมั่นคงภายใน และทำให้ตื่นตระหนก จากนั้นก็ได้ควบคุมตัวไปส่งที่ ปอท. ด้วยรถยนต์ของตำรวจ

เมื่อไปถึงได้มีการสอบคำให้การ โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าเขาจะรับสารภาพหรือไม่ก็ได้ เขาจึงให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาไป

สมบัติเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ตำรวจปอท.ได้แสดงภาพโพสต์จากเพจ KonthaiUK มาให้เขาดู 3 ภาพ เขาทราบจากตำรวจว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ทางฝ่ายทหารปริ้นท์ออกมาแจ้งความเขา

กรณีนายสุรใจ เจือทอง อดีตพนักงานรัฐวิสาหกิจวัยเกษียณถูกแจ้งความว่าได้ทำการแชร์ข้อความและข่าวจากเพจ Konthai UK และมีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนนำมาสู่การแจ้งข้อกล่าวหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (2) (3) (4)

เขาเล่าว่า โดยปกติเขาใช้เฟสบุ๊คส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่สม่ำเสมอ หากแต่ไม่เคยเดินทางออกไปร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหารหรือไปชุมนุมอื่นใด แต่ยืนยันว่าในทัศนคติส่วนตัวแล้วไม่พอใจระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ที่เต็มไปด้วยการโกงกินและระบบบ้านเมืองที่ทุกอย่างบิดเบี้ยว

การควบคุมตัวเขาเกิดขึ้นจนเมื่อเวลา 10.30 น. ของวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเดินทางมาที่บ้านพักในกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกเขาจากหน้าบ้าน เขาเดินออกมาและได้รับการแนะนำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่มาจาก ปอท.พร้อมแจ้งว่าเขามีความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จและเชิญตัวเขาไปที่ ปอท. แต่เขาขอขับรถไปเอง เจ้าหน้าที่ก็ยอมให้ขับรถส่วนตัวไปโดยมีเจ้าหน้าที่นั่งไปด้วยกัน 1 นาย  เมื่อไปถึงได้พบกับหัวหน้าชุดสืบสวน มีการสอบคำให้การตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา จนกระทั่งเวลา 19.00 น. จึงสอบคำให้การเสร็จและเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวกลับ โดยที่เขาไม่ยอมลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา

อุบลศักดิ์ สามารถ 1 ใน 7 คนที่ถูกพาตัวไปในวันที่ 12 มิ.ย.เล่าว่าเคยรับราชการทหารชั้นประทวนและเคยขอไปรับราชการที่ภาคใต้จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ

เขากล่าวว่า ในช่วงเช้าของวันนั้น ขณะเขากำลังทำงานบ้านอยู่หลังบ้าน เจ้าหน้าที่ได้มาที่หน้าบ้านถามถึงตัวเขากับภรรยาและได้ยื่นบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาให้ดู

สำหรับอุบลศักดิ์การแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่เขาไม่เคยใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารมาก่อนเลย เพิ่งเริ่มมาใช้สมาร์ทโฟนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเพียง 1 เดือนก่อนหน้านี้ จนกระทั่งโดนแจ้งข้อหาในคดีนี้ พื้นที่แสดงออกทางการเมืองของเขาคือการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน โดยแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าชื่นชอบอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 4 นายพาตัวเขาไปที่สำนักงาน ปอท. เขาจึงได้พบกับพนักงานสอบสวน ชื่อ พ.ต.ท.กฤช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา โดยเขายอมรับว่ากดไลค์และแชร์ข่าวจากเพจ KonThaiUk จริงเพราะถูกใจที่ความเห็นเกี่ยวกับโกงกินของรัฐบาลยุคนี้ ในการสอบคำให้การ เขายอมรับข้อความที่ถูกนำมาแจ้งความและลงลายมือชื่อในคำให้การ บันทึกประจำวัน

ย้อนดูการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จัดการคนเห็นต่างในคดีก่อนหน้า  

รายงานของศูนย์ทนายฯ ยังระบุด้วยว่า กรณีการตั้งข้อกล่าวหาต่อประชาชนผู้เห็นต่างเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมีลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากคดีที่เคยมีคำพิพากษาไปแล้วอย่างน้อย 2 กรณี

คดีนางแจ่ม (นามสมมุติ) โพสต์บนเฟสบุ๊คส่วนตัวเกี่ยวกับข่าวการทุจริตคอรัปชั่นการสร้างอุทยานราชภักดิ์ฯโดยพาดพิงถึงบุคคลในรัฐบาล อัยการศาลแขวงพระโขนงสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ข้อความในเฟสบุ๊คของเธอ เป็นความเชื่อของผู้กล่าวหาว่าเป็นสิ่งผิดตามกฎหมาย แต่ไม่มีพยานยืนยันว่าข้อความนั้นเป็นเท็จหรือไม่ และขณะเกิดเหตุประชาชนทั่วไปกำลังสนใจเรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์

อัยการเห็นว่า การกระทำของแจ่มเป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างพื้นฐานหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แม้ว่าข้อความดังกล่าวอาจจะเป็นการใส่ความ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุววรณ และ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เข้าลักษณะหมิ่นประมาทก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์จึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้

ในความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุดเขียนครอบคลุมไปถึงว่า โพสต์ของแจ่มไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ มาตรา 14 (2) ด้วย

คดีรินดา (สงวนนามสกุล) ถูกทหารควบคุมตัวและนำมาตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 จากการโพสต์เฟสบุ๊คข่าวลือว่า พล.อ.ประยุทธ์ และภริยาโอนเงินหมื่นล้านไปประเทศสิงคโปร์

แม้ว่าเธอถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการโพสต์เฟสบุ๊คที่มีข้อความหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา ศาลทหารเห็นว่าเป็นคดีหมิ่นประมาทจึงจำหน่ายคดีออกจากศาล แต่ ปอท.ทำความเห็นสั่งฟ้องต่ออัยการในระบบยุติธรรมปกติในข้อหาเดิม จากนั้นอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในข้อหาตาม มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อมีการโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาล ศาลอาญาก็ได้ทำความเห็นในทำนองเดียวกับศาลทหารว่า คดีนี้ไม่เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 คดีจึงถูกจำหน่ายออกจากศาลทหาร

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.ขอ 22 วันศึกษา ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ก่อนเห็นชอบ 7ก.ค.- iLaw ชี้ถ้าตีตกร่างใหม่ 180 วัน

Posted: 15 Jun 2018 02:41 AM PDT

สนช. ตั้ง กมธ. 38 คนศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ คสช. ก่อนส่งกลับขอความเห็นชอบภายใน 7 ก.ค. วิษณุชี้หลังยุทธศาสตร์ผ่าน ต้องทำแผนแม่บทคาดใช้เวลา 2 เดือน ด้าน iLaw องค์กรจับตากฎหมายระบุ สนช. ไม่มีอำนาจในการแก้ไข มีแต่เพียงหน้าที่เห็นชอบกับไม่เห็นชอบ หากไม่เห็นชอบก็จะกลับไปสู่กระบวนการจัดทำหรือแก้ไขร่างยุทธศาสตร์ชาติใหม่ ซึ่งใช้เวลาภายใน 180 วัน

15 มิ.ย. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ (ตามมาตรา 28(9) แห่งพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560)  ซึ่งเลื่อนการประชุมมาจากเมื่อวานนี้ การประชุมในวันนี้มี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กับ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับตัวแทนคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติหกด้านเข้าชี้แจง

นายวิษณุ กล่าวชี้แจงว่า ยุทธศาสตร์ชาติจะบังคับใช้ประมาณ 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561-2580 ช่วงเวลา 20 ปี อาจจะยาวนานจนเกิดความวิตกว่าจะสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ประเด็นนี้กฎหมายกำหนดไว้แล้วว่า 1. ต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี 2. ในระหว่าง 5 ปี ถ้ามีเหตุการณ์บ้านเมืองหรือสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้าน สามารถจะยกขึ้นมาพิจารณาและแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนมีการแจ้งต่อมายังคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เพื่อขอดำเนินการแก้ไข จึงไม่เป็นเรื่องซับซ้อนและไม่ได้ผูกมัดรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคต จนไม่สามารถทำอะไรได้แต่อย่างใด การที่ประเทศมีความมั่นคงในด้านต่างๆ ทั้งกายภาพและจิตใจ เหมือนเด็กที่ได้รับการหล่อหลอมถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู ภายใต้การดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ที่น่าจะวางใจได้ว่าเมื่อเด็กคนนี้บรรลุนิติภาวะมีอายุ 20 ปี ถึงวัยจะบวชเรียนก็บวชเรียนได้ ถ้าจะแต่งงานก็แต่งได้ ถ้าจะเรียนจบก็จบปริญญาตรีแล้ว ดังนั้น คนเหล่านั้นจะเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในสังคมต่อไป

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า เมื่อยุทธศาสตร์ชาติยังบังคับใช้อยู่ ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตาม แต่หากจะไม่ปฏิบัติตามต้องแก้ไขหรือปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติก่อน ยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมดมี 6 ด้าน โดยประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติแล้วจะมีผล 5 ประการที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติได้รับการนำไปปฏิบัติ ประกอบด้วย

1. ผูกมัดรัฐบาลในการที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในเวลาจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ นโยบายดังกล่าวต้องไม่ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติ
2. ผูกพันแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
3. การจัดทำแผนอื่นใดที่เป็นแผนแห่งชาติ จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
4. การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากนี้ไป ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
5. แผนการปฏิรูปประเทศ ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

วิษณุกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติวันนี้เสนอเข้ามายังสภาจำนวน 71 หน้าเท่านั้น และไม่มีรายละเอียดของโครงการ เราจะไม่พบว่ารถไฟความเร็วสูงยาวกี่กิโลเมตร สิ่งเหล่านี้ไม่ได้กำหนดไว้เพราะต้องไปทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการต่อไปกันอีกในอนาคต โดยแผนแม่บทจะต้องนำเสนอต่อสภาอีกครั้ง ดังนั้นยังมีขั้นตอนที่ต้องทำงานต่อไปอีก คาดว่าแผนแม่บทน่าจะยกร่างเสร็จภายใน 2 เดือน

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เหตุของการจัดทำยุทธศาสตร์นี้เกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศก็จะเสนอโครงการใหม่ และยกเลิกโครงการเดิม ทำให้ไม่สามารถดำเนินการโครงการสำคัญๆ ต่อได้ ก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาพบว่าเศรษฐกิจของไทยโตเพียง ร้อยละ 1 ในขณะที่เพื่อนบ้าน โตร้อยละ 5-6 ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ได้ ส่งผลต่อไปยังการส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในหลายประเทศก็มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์หรือแผนพัฒนาประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงจีนก็มีแผนพัฒนาประเทศระยะยาว ดังนั้นการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมสอดรับกับการแข่งขันกับประเทศต่างๆ และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิก สนช.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น โดย สนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ แต่เห็นว่ายังไม่มีตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน และควรให้มีการบูรณาการการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ กับหน่วยงานราชการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ รวมทั้งบรรจุแผนยุทธศาสตร์ชาติ เข้าไปในแผนแม่บทด้วย โดยเฉพาะโครงการที่สำคัญๆ และควรสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนว่ายุทธศาสตร์ฉบับนี้เป็นของประชาชนทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อการอภิปรายเสร็จสิ้น โดยใช้เวลา 4 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนให้สภาฯ ให้ความเห็นชอบ จำนวน 38 คน กำหนดเวลาพิจารณาภายใน 22 วัน โดยมีการประชุมนัดแรกวันนี้(15 มิ.ย.) และเสนอกลับมาสภาฯ ให้ความเห็นชอบภายในวันที่ 7 ก.ค.                            

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw ) รายงานว่า  พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 กำหนดว่า สนช. ไม่มีอำนาจในการแก้ไขร่างยุทธศาสตร์ชาติ มีแต่เพียงหน้าที่เห็นชอบกับไม่เห็นชอบ หาก สนช. ไม่เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติก็จะกลับไปสู่กระบวนการจัดทำหรือแก้ไขร่างยุทธศาสตร์ชาติใหม่ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะใช้เวลาภายใน 180 วัน


ที่มาบางส่วน ไทยรัฐออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[คลิป]อนาคตประชาธิปไตยไทย: ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง? อภิสิทธิ์-จาตุรนต์-ธนาธร-ไพบูลย์

Posted: 15 Jun 2018 02:31 AM PDT

รับชมเสวนาฉบับเต็มอนาคตประขาธิปไตยไทย: ข้ามพ้น กักดัก ความหวัง? 4 ฟังนักการเมืองเปิดจุดยืนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และวิเคราะห์กับดักก่อนจะก้าวไปถึงประชาธิปไตย 

14 มิถุนายน 2561 เวลา 13.00-16.00 น. ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาเรื่อง อนาคตประชาธิปไตยไทย: ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง? โดยมีผู้ร่วมเวทีคือ 4 นักการเมืองประกอบด้วย ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคประชาชนปฏิรูป อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ จาตุรนต์ ฉายแสง พรรคเพื่อไทย และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ ดำเนินการเสวนาโดย ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่งเสียงระหว่างแก้ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ห่วงบริษัทยาข้ามชาติผูกขาด-ขอมาตรฐานแค่เท่า WTO

Posted: 15 Jun 2018 02:22 AM PDT

ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังเปิดรับฟังความเห็น แก้ไขร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2535 คณะกรรมการติดตามการเจราจาการค้าระหว่างประเทศฯ ห่วงปัญหาผูกขาดสิทธิบัตรยาของบริษัทต่างชาตินานถึง 20 ปี และ Evergreening patent (สิทธิบัตรไม่มีวันหมดอายุ) ผลศึกษาพบส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศและผู้บริโภคต้องซื้อยาแพง เตรียมเสนอให้แก้เนื้อหาพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิบัตรไม่เกินกว่ามาตรฐานองค์การการค้าโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (National Commission on International Trade and Health Studies: NCITHS)

ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการ NCITHS กล่าวว่า ที่ประชุมมีความกังวลถึงนโยบายสิทธิบัตรยาของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่...) พ.ศ. .... อยู่ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2535 เดิมที่ให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรตัวยาและผลิตภัณฑ์ยาเป็นเวลานานถึง ๒๐ ปี แต่ผลการศึกษาที่ NCITHS ได้มอบให้ ดร. อุษาวดี สุตะภักดิ์ จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ จัดทำรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ รวบรวมข้อมูล และสังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องนโยบายสิทธิบัตรยาเพื่อสนับสนุน Thailand 4.0 พบว่า แนวทางการคุ้มครองดังกล่าวไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้บริษัทยาลงทุนคิดค้นผลิตภัณฑ์ยาใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้เกิดการผูกขาดยาในตลาด ราคายาที่คนไทยต้องจ่ายสูงขึ้น เพราะผู้ผลิตรายใหม่ไม่สามารถนำความรู้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาได้ โดยพบมีสิทธิบัตรยาที่เป็นลักษณะ Evergreening patent (การจดสิทธิบัตรแบบไม่ยอมให้หมดอายุ โดยเจ้าของสิทธิบัตรในการปรับเปลี่ยนรายละเอียดสิ่งประดิษฐ์เพียงเล็กน้อยเพื่อขอรับความคุ้มครองต่อเนื่องอย่างไม่มีที่สิ้นสุด-ประชาไท) หลายรายการ คณะกรรมการ NCITHS จึงหวังว่าการแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตรฯ ในครั้งนี้ จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ลงได้

"คณะกรรมการ NCITHS จะส่งข้อเสนอแนะและผลการศึกษาไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรให้เกิดประสิทธิภาพอย่างรอบด้าน สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศให้แข่งขันกับบริษัทข้ามชาติได้ พร้อมส่งผลดีต่อผู้บริโภคและผู้ป่วยให้เข้าถึงยาในราคาที่เป็นธรรมมากที่สุด" ดร. ศิรินา กล่าว

ดร.อุษาวดี สุตะภักดิ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตอาศัยช่องทางกฎหมายของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2535 ที่คุ้มครองสิทธิบัตรตัวยาและผลิตภัณฑ์เป็นเวลา 20 ปี ด้วยการปรับเปลี่ยนเภสัชภัณฑ์ที่มีอยู่ก่อนแล้วเพียงเล็กน้อย หรือที่เรียกว่าการขอจดสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์แบบต่อเนื่องไม่มีวันสิ้นสุด หรือ Evergreening patent ซึ่งไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดในประเทศอื่นด้วยเช่นกัน อาทิ อาร์เจนติน่า บราซิล โคลัมเบีย อินเดีย แอฟริกาใต้ 

สำหรับในประเทศไทยช่วงปี 2543-2553 พบการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรยาทั้งหมด 2,188 คำขอ มี 1,725 คำขอ หรือประมาณ 72% มาจากผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส โดยคำขอจดสิทธิบัตร 84% เป็นแบบ Evergreening ส่วนผู้ประกอบการไทยมีเพียง 0.5% เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าคำขอรับสิทธิบัตรยาจำนวนมากเป็นการยื่นคำขอไว้เท่านั้นไม่ได้มีเป้าหมายจะได้รับการอนุมัติอย่างแท้จริง โดยได้ประกาศโฆษณากว่า ๕ ปี แต่ไม่มีการยื่นให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ เป็นการตัดโอกาสการวิจัยและพัฒนายาของตลาดในภาพรวม เพราะผู้ผลิตอื่นๆ นำไปพัฒนาต่อไม่ได้ เนื่องจากขาดความมั่นใจในเรื่องกฎหมาย

ดังนั้น ในการแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตร ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน จึงมีข้อเสนอให้เปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน โดยคำนึงประเด็นเรื่องความสมดุลระหว่างการคุ้มครองและประโยชน์สาธารณะ การกำหนดมาตรการตรวจสอบสิทธิบัตรซํ้าหลังรับจดทะเบียน และเปิดให้มีกระบวนการคัดค้านสิทธิบัตร ทั้งนี้ เนื้อหาต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ (TRIPS) ของของการการค้าโลก (WTO)

นอกจากนี้ NCITHS ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มบุคลากรให้เพียงพอเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของระบบจดและตรวจสอบสิทธิบัตร การขึ้นทะเบียนยา และการกำหนดนโยบายด้านการวิจัยและพัฒนายาในระดับประเทศ เป็นต้น

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีหลายคดีที่บริษัทผู้ผลิตยาข้ามชาติฟ้องร้องต่อบริษัทผลิตยาของไทยว่าละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งมีคำวินิจฉัยอย่างน้อย ๓ คดี ระบุว่าสิทธิบัตรยาที่บริษัทข้ามชาติได้รับไม่ได้เป็นยาที่มีนวัตกรรมสูงขึ้น โดยล่าสุด ศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2561 ที่ผ่านมาให้ถอนรายการยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ออกจากการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาของประเทศไทยแล้ว

นอกจากนี้ ที่ประชุม NCITHS ยังรับทราบความก้าวหน้า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP)  โดย นายพรชัย ประภาวงษ์ ผู้อำนวยการส่วนอเมริกาเหนือ สำนักอเมริกา แปซิฟิก และองค์การระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่ระบุว่า ขณะนี้ความตกลงดังกล่าวยังมีหลายประเด็นที่ต้องชะลอออกไปเพราะข้อกังวลของสมาชิก อาทิ การขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร ฯลฯ แต่หลังจากสมาชิก CPTPP เห็นชอบเกิน 50% ก็จะเริ่มให้สัตยาบันซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี 2562 สำหรับประเทศไทยได้มีการแสดงความสนใจในการเข้าร่วม CPTPP โดยเรื่องนี้ที่ประชุม NCITHS มีข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวางต่อผลกระทบต่างๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องการขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร รวมถึงผลกระทบหากสหรัฐอเมริกากลับมาเข้ามาร่วมในข้อตกลงนี้อีกครั้ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพแรงงานรถไฟฯ ขอรัฐเร่งเพิ่มอัตราพนักงาน รฟท.

Posted: 15 Jun 2018 02:17 AM PDT

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึง รมว.คมนาคม ขอการสนับสนุนให้เร่งดำเนินการเรื่องเพิ่มอัตรากำลังของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

 
 
15 มิ.ย. 2561 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยว่าได้ทำหนังสือถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ลงวันที่ 15 มิ.ย. 2561) ระบุว่าตามที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ปลัดกระทรวงคมนาคมนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเมื่อวันที่ 25  เม.ย. 2561 ที่ห้องประชุม 2 กระทรวงคมคมนาคมเพื่อรับทราบนโยบายและนำเสนอประเด็นปัญหาต่างๆในการรถไฟฯ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการขอให้รัฐมนตรีและรัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 เพื่อให้การรถไฟฯสามารถรับพนักงานเพิ่มได้ 
 
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยระบุว่าเพราะมติ ครม. ดังกล่าวได้กำหนดเรื่องการจำกัดอัตรากำลังของพนักงานการรถไฟฯจนก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อการบริหารจัดการภายในการรถไฟฯ รวมถึงการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และ การขนส่งสินค้า และในวันที่เข้าพบ รัฐมนตรีได้สั่งการให้การรถไฟฯได้ทำรายละเอียดเรื่องความจำเป็นต้องการจำนวนบุคลากรให้ปลัดกระทรวงคมนาคมภายในวันที่ 4 พ.ค. 2561 เพื่อเตรียมดำเนินการเสนอต่อ ครม.พิจารณาต่อไป ซึ่งต่อมาการรถไฟฯโดยฝ่ายทรัพยากรบุคคล ได้ส่งหนังสือเลขที่ รฟ.1/775/2561 ลงวันที่ 4 พ.ค. 2561 เสนอความจำเป็นต้องการอัตรากำลังพนักงานการรถไฟฯ จำนวน 19,241 คน ประกอบด้วย พนักงานจำนวน 16,660 คนและลูกจ้างจำนวน 2,581 คน ความละเอียดทราบแล้วนั้น
 
บัดนี้เวลาล่วงเลยมาพอสมควรประกอบกับภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้จะมีพนักงานการรถไฟฯจะเกษียณอายุอีกประมาณ 400 คน ก็จะทำให้การรถไฟฯจะวิกฤตเรื่องอัตรากำลังซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการรถไฟฯ และจะทำให้พนักงานตรากตรำทำงานหนักมากยิ่งขึ้น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) จึงเรียนมายังท่านเพื่อขอการสนับสนุนในการเร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเพื่อทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 เพื่อให้การรถไฟฯ สามารถรับพนักงานเพิ่มได้
 
อนึ่งเมื่อต้นเดือน เม.ย. 2561 สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวการรถไฟแห่งประเทศไทยปล่อยให้พนักงานขาดแคลนเกือบ 8,000 คน จนมีพนักงานไม่เพียงพอต้องทำงานควงกะ 24 ชั่วโมง ส่งผลกระทบต่อการให้บริการและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ต่อมานายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ออกมาระบุว่าในปัจจุบันมีอัตราของพนักงานและลูกจ้างชั่วคราว รวม 14,220 อัตรา สามารถให้บริการเดินขบวนรถโดยสาร วันละ 234 ขบวน และขบวนรถสินค้าวันละ 40 ขบวน ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ พนักงานบางส่วนโดยเฉพาะพนักงานด้านปฏิบัติการมีจำนวนน้อยกว่ากรอบอัตรากำลังของการรถไฟฯ ทำให้ต้องปฏิบัติงานล่วงเวลาและวันหยุดโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 6 วัน มีค่าล่วงเวลาและค่าทำงานวันหยุดคิดเป็นร้อยละ 25 ของค่าจ้าง โดยการรถไฟฯ มีแผนจะเพิ่มขบวนรถเป็นวันละ 389 ขบวน เพิ่มพนักงานเป็น 16,660 คน เมื่อทางคู่ระยะที่ 1 แล้วเสร็จ และทางคู่ระยะที่ 2 กับทางคู่สายใหม่แล้วเสร็จ จะมีการเดินขบวนรถเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 720 ขบวน และต้องมีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 19,260 คน
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ปากกาสร้างทาส

Posted: 15 Jun 2018 01:52 AM PDT



........... ปากกา ปรากฏ เขียนบท ขีดแบ่ง
พวกเดน ไพร่แดง เสียดแทง แสงธรรม
.
........... ปิดกั้น ปั้นกรอบ คำตอบ คนต่ำ
หวังก่อ เวรกรรม มืดดำ หมดแดน
........... ใจคิด จิตคลั่ง ต่อผัง ตามแผน
ตั้งท่า ตอบแทน ถึงแก่น ทั่วกัน
.
........... กฎหมาย กลายหมด วางบท ไว้บั่น
สร้างโทษ ใส่ทัณฑ์ ทางตัน ถึงตาย
.
........... ล้างกรอบ ลอบกัด สร้างรัฐ สัตว์ร้าย
แปลงคน เป็นควาย สิ้นชาย สิ้นชน
.
........... ปืนไฟ ปิดฟ้า เข่นฆ่า ขุดค้น
ปิดความ เป็นคน หลุดพ้น หลักพิง
.
........... ปากกา ประกาศ ขู่ทาส ฆ่าทิ้ง
ไล่เหยียบ แล้วยิง ความจริง คนจำ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา: ทำไม? ไม่มีใครประมูลคลื่น 1800 MHz

Posted: 15 Jun 2018 01:44 AM PDT

กสทช. กำหนดจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ โดยเปิดให้ค่ายมือถือยื่นเอกสารในวันที่ 15 มิถุนายน แต่ปรากฏว่า ไม่มีค่ายใดเดินทางมายื่นเอกสารเลย ทั้งที่สำนักงาน กสทช. ยืนยันว่า แต่ละค่ายจำเป็นต้องมีคลื่นมากกว่าที่ถือครองในปัจจุบัน และ GSMA ก็คาดการณ์ว่าหากไม่มีการจัดสรรคลื่นเพิ่ม คุณภาพบริการบรอดแบนด์ผ่านมือถือของไทยจะประสบปัญหาในไม่เกิน 2 ปี

เมื่อมีการวางจำหน่ายสินค้าที่อยู่ในความต้องการของผู้ซื้อในตลาด แต่กลับไม่มีการซื้อขาย เหตุผลหลักก็น่าจะมาจากการตั้งราคาขายที่ไม่เหมาะสมกับกำลังซื้อ ยิ่งมีการบังคับขายพ่วงว่าต้องซื้อเหมา ไม่ขายแยกชิ้น ผู้ซื้อที่ฉลาดก็จะไม่ผลีผลาม และถ้ายังไม่จวนตัวว่าจำเป็นต้องซื้อตอนนี้ ก็ยิ่งจะรอดูไปก่อน

แล้วราคาคลื่น 1800 MHz นำออกมาประมูลครั้งนี้แพงไปไหม การขายคลื่นชุดละ 15 MHz ขนาดใหญ่ไปหรือไม่?

หากอ้างอิงจากผลการศึกษาของ กสทช. แล้วก็พอจะอธิบายได้ไม่ยาก กล่าวคือ ในการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งก่อน กสทช. ตั้งราคาเริ่มต้นประมูลต่ำกว่าราคาประเมิน แต่ปรากฏว่ามีการสู้ราคากันอย่างดุเดือด จนราคาสูงกว่าราคาประเมินสูงสุดที่เอกชนสามารถทำกำไรได้ตามทฤษฎี และการศึกษาในครั้งนั้นมีสมมติฐานที่สำคัญ 2 ข้อ ข้อหนึ่ง-ในช่วงนี้จะยังไม่มีการจัดสรรคลื่นใหม่อื่นๆ เช่น คลื่น 700 MHz, 2300 MHz หรือ 2600 MHz ถ้ามีการจัดสรรแปลว่ามีสินค้าที่ทดแทนคลื่น 1800 MHz ได้ ราคาคลื่น 1800 MHz จะต่ำลงไปอีก และข้อสอง-ผู้ชนะการประมูลครั้งที่แล้วยังอาจจะต้องการคลื่น 1800 MHz เพิ่มในอนาคตอีกจำนวนหนึ่ง เช่น 5 – 10 MHz เพื่อให้มีจำนวนคลื่นที่เหมาะสม

ภายหลังการประมูลครั้งก่อน กทค. เดิมตกลงใจตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอว่าจะใช้ราคาชนะประมูลที่สูงผิดปกติครั้งนั้นเป็นราคาเริ่มต้นการประมูลในอนาคต ไม่แน่ว่าเป็นเพราะต้องการเอาใจผู้ชนะการประมูล เพื่อไม่ให้เสียใจหรือรู้สึกเสียเปรียบที่ชนะประมูลในราคาสูงผิดปกติ หรือเพราะต้องการสยบบางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผลการประมูลที่ทักท้วงว่า การแข่งขันจนราคาสุดท้ายออกมาสูงลิบนั้นเป็นเรื่องไม่ปกติ ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ผลเบื้องหน้านั้นสรุปได้ง่ายๆ คือ ในอนาคต เมื่อค่ายอื่นมาซื้อคลื่นนี้ก็จะต้องซื้อแพงไม่น้อยไปกว่านี้

แล้วต่อมา กสทช. ก็มีมติกำหนดขนาดบล็อกคลื่นที่ 15 MHz ไม่ใช่ 5 MHz ดังที่หลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นไว้ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ทำให้ค่ายที่ต้องการเพียง 5 หรือ 10 MHz ถ้าจะเข้าร่วมการประมูลก็ต้องซื้อคลื่นมากเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ สองค่ายมือถือที่ชนะการประมูลครั้งที่แล้วต่างต้องแบกภาระค่าคลื่นทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz และที่ผ่านมามีการขอผ่อนผันให้ คสช. ขยายงวดชำระเงิน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหากำลังซื้อ

และต่อให้มองข้ามเรื่องกำลังซื้อ ก็ยังมีประเด็นว่าจำเป็นจะต้องเข้ามาซื้อในขณะนี้ไหม หรือจะรอสินค้าชิ้นใหม่ที่น่าสนใจกว่า ซึ่งก็คือคลื่น 700 MHz ที่สำนักงาน กสทช. และรองนายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะจัดประมูลในปี 2563 เพราะเป็นคลื่นที่ตอบโจทย์เรื่องความครอบคลุม ทำให้ประหยัดต้นทุนในการตั้งสถานีฐาน

ยิ่งมีคลื่น 1800 MHz ในมือแล้ว ควรเลือกประมูล 1800 MHz ที่มีราคาแพง หรือประมูล 700 MHz ที่ไม่เคยมีราคาชนะประมูลเดิมค้ำคออยู่และมีรัศมีทำการที่กว้างกว่า วิญญูชนก็คงตอบได้ไม่ยากกว่าควรจะเลือกคลื่นไหน

ในส่วนค่ายที่จะหมดสัมปทาน ซึ่งเดิมใช้งานคลื่น 1800 MHz อยู่ 45 MHz หากมาประมูลจะต้องจ่ายแพง และจะได้คลื่นไม่เกิน 15 MHz แต่ถ้าไม่มีใครประมูล ค่ายนี้ก็จะเข้าสู่มาตรการเยียวยา สามารถใช้คลื่นทั้ง 45 MHz ได้ต่อไปอีก 1 ปี โดยไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว แล้วค่อยรอการประมูลที่จะจัดใหม่ในปีหน้า ซึ่งราคาคลื่นอย่างไรก็ต้องต่ำลง เพราะระยะเวลาอนุญาตจะลดลงไปตามเวลาที่ประมูลสำเร็จช้า เวลายิ่งลดลง ราคาคลื่นก็ยิ่งต่ำลง แม้หากเกิดอุบัติเหตุว่าวันที่ 15 มิถุนายน คู่แข่งมายื่นเอกสารการประมูล ก็ยังมีทางเลือกว่าจะมายื่นแข่งหลังจากนี้หรือไม่ เพราะเมื่อมีผู้ยื่นเอกสารรายเดียว กสทช. จะขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน และต่อให้ไม่เข้าแข่งแล้วปล่อยให้รายอื่นได้คลื่นเพิ่มอีก 15 MHz รวมเป็น 30 MHz แล้วค่อยไปเจรจาขอโรมมิ่งคลื่น 1800 MHz จากค่ายนั้นก็อาจประหยัดกว่ามาสู้ราคากัน

ยิ่งไปกว่านั้น ค่ายที่จะหมดสัมปทาน 1800 MHz ก็สามารถต่อลมหายใจด้วยการใช้คลื่น 2300 MHz ของทีโอที ความจำเป็นที่จะต้องชิงคลื่นให้ได้จึงลดลงจากเดิม ดังนั้นการเดินหมากเข้าสู่มาตรการเยียวยาน่าจะได้ประโยชน์กับตัวเองมากกว่าการเข้าร่วมเล่นเกมซื้อของแพงให้เสมอหน้าเพื่อน...ตามที่ กสทช. กำหนดขึ้นมา

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เป็น กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตามต่อ! ทนายเล็งบุกกองทัพ ใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารขอภาพกล้องวงจรปิดยิง ‘ชัยภูมิ’

Posted: 15 Jun 2018 01:02 AM PDT

หลังศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายและไม่มีเรียกพยานหลักฐานภาพจากกล้องวงจรปิด ทนายและผู้ติดตามคดีชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรชาวลาหู่ยังคงตามหาหลักฐานสำคัญนี้ เตรียมใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร 2540 ยื่นหนังสือถึง ผบ.ทบ. วันที่ 18 มิ.ย.นี้ขอข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิด เหตุการณ์ทหารยิงชัยภูมิที่ด่าน


15 มิ.ย.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ทนายความและองค์กรเครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแสนัดหมายเตรียมยื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เพื่อขอข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารยิงนายชัยภูมิ ป่าแส ที่กองบัญชาการกองทัพบก ในวันที่ 18 มิถุนายน 2561 เวลา 10.30 น.

นายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ ถูกทหารสังกัดกองร้อยทหารม้าที่ 2 บก. ควบคุมที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจกรรมทหารม้าที่ 5 ที่ตั้งจุดตรวจค้นยาเสพติดบริเวณด่านตรวจบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17  มีนาคม 2560 โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่านายชัยภูมิมียาเสพติดในครอบครองและต่อสู้ขัดขวางโดยจะใช้อาวุธระเบิดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ทหาร จึงทำให้เจ้าหน้าที่ทหารจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงสังหารนายชัยภูมิ จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

ในทางคดีพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพ (ไต่สวนการตาย) ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด รวมถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย เนื่องจากการตายของนายชัยภูมิเป็นการตายอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงต้องมีการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 และ150 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้รับเป็นคดีหมายเลขดำที่ ช.19/2560 โดยมีญาติของนายชัยภูมิเข้าร่วมเป็นผู้ร้องซักถาม

ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำสั่งไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ โดยระบุว่า ผู้ตายคือ นายชัยภูมิ ป่าแส  เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ถูกยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหาร และเสียชีวิตบริเวณด่านรินหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนพฤติการณ์แห่งการตายที่เจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่านายชัยภูมิจะใช้อาวุธมีดและระเบิดทำร้ายเจ้าหน้าหน้าที่ อันเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงเพื่อป้องกันตัวหรือไม่นั้น ศาลไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้

เครือข่ายที่ติดตามคดีนายชัยภูมิ ระบุว่า แม้ศาลจะมีคำสั่งไต่สวนการชันสูตรพลิกศพออกมาแล้ว แต่ความจริงเกี่ยวกับการตายของนายชัยภูมิยังคงมีความคลุมเครือ และสร้างความเคลือบแคลงใจให้แก่ฝ่ายญาติผู้ตายอย่างยิ่ง และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีประเด็นที่ถูกพูดถึงและเรียกร้องมาตลอดจากญาติผู้ตายและสาธารณชนคือ ขอให้มีการเปิดเผยภาพจากกล้องวงจงปิดในวันเกิดเหตุ รวมถึงขอให้มีการนำภาพจากกล้องวงจรปิดดังกล่าวมาใช้พิสูจน์ความจริงในชั้นไต่สวนการชันสูตรพลิกศพของศาลด้วย แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการเปิดเผยภาพวงจรปิดดังกล่าวแต่อย่างใด

เครือข่ายผู้ติดตามคดี ระบุว่า ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการแสวงหาความจริงและความยุติธรรม รวมถึงการเยียวยาจากช่องทางของกระบวนการยุติธรรมและช่องทางอื่น ทางญาติผู้ตาย ทนายความและองค์กรที่ติดตามคดีจึงประสงค์ที่จะใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 เข้ายื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการกองทัพบก ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ เพื่อขอข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นโยบาย 'คุณพ่อ' กำลังมา! เด็กแรกเกิดทั่วโลก 2 ใน 3 พ่อไม่มีสิทธิลางานมาดูแล

Posted: 15 Jun 2018 12:22 AM PDT

ยูนิเซฟเรียกร้องให้เกิดนโยบายที่เอื้อให้ครอบครัวมีความพร้อมในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ สิทธิการหยุดพักระหว่างวันในที่ทำงานเพื่อบีบเก็บน้ำนม สิทธิลาคลอดและเลี้ยงลูกโดยเฉพาะบทบาทของพ่อซึ่งมีงานศึกษารองรับว่าส่งผลต่อจิตวิทยาเด็กระยะยาว ยูนิเซฟประเดิมให้พ่อลาเลี้ยงลูกได้นานถึง 16 สัปดาห์ จากเดิม 4 สัปดาห์ อินเดียก็กำลังผลักดันกฎหมายเอื้อพ่อลาเลี้ยงลูกนาน 3 เดือน

14 มิ.ย.2561 บทวิเคราะห์ล่าสุดของยูนิเซฟระบุว่าเกือบ 2 ใน 3 ของเด็กวัยต่ำกว่า 1 ปีทั่วโลกหรือเกือบ 90 ล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศที่กฎหมายไม่ให้สิทธิพ่อในการหยุดงานเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดโดยได้รับค่าจ้างแม้แต่วันเดียว 

ทั่วโลกมี 92 ประเทศที่ไม่มีนโยบายระดับประเทศที่ให้สิทธิพ่อมือใหม่ในการลาหยุดงานแบบได้รับค่าจ้างเพื่อเลี้ยงลูกแรกคลอด โดยในจำนวนนี้มีประเทศอินเดียและไนจีเรียซึ่งมีประชากรทารกแรกเกิดสูงรวมอยู่ด้วย ขณะที่ประเทศที่มีจำนวนทารกแรกเกิดสูงเช่นเดียวกัน เช่น บราซิลและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกต่างก็มีนโยบายลาคลอดแบบจ่ายค่าจ้างให้แก่พ่อที่ลาหยุดเพื่อเลี้ยงลูกเป็นนโยบายระดับประเทศทั้งสิ้น แม้จะเป็นเพียงระยะสั้นก็ตาม

"ปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับแม่และพ่อในช่วงเริ่มแรกของชีวิต จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตของสมองและพัฒนาการของเด็ก เด็กจะแข็งแรงขึ้น มีความสุขยิ่งขึ้น และเรียนรู้ได้ดีขึ้น ซึ่งนี่เป็นความรับผิดชอบของเราที่จะช่วยให้พวกเขาบรรลุสิ่งเหล่านี้ได้" นางเฮนเรียตตา เอช โฟร์ ผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟกล่าว

มีหลักฐานแสดงว่าเมื่อพ่อผูกพันกับทารกตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นชีวิต พ่อจะมีบทบาทมากขึ้นต่อการกระตุ้นพัฒนาการของลูก นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กที่มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับพ่อจะมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีความเคารพตนเองและความพึงพอใจในชีวิตในระยะยาว

ยูนิเซฟกำลังผลักดันให้รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ดำเนินนโยบายในระดับประเทศเพื่อสนับสนุนครอบครัวในการส่งเสริมการพัฒนาของเด็กปฐมวัยซึ่งรวมถึงนโยบายลาหยุดงานของพ่อเพื่อเลี้ยงลูกที่เพิ่งคลอดโดยยังคงได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองมีเวลาและทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ในการเลี้ยงดูลูก

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ยูนิเซฟเองได้ปรับเปลี่ยนข้อกำหนดในนโยบายลาคลอดในองค์กร โดยขยายสิทธิการลาหยุดงานของพ่อเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นเวลานานสูงสุดถึง 16 สัปดาห์ในสำนักงานยูนิเซฟทุกแห่งทั่วโลก ทั้งนี้ ยูนิเซฟเป็นหน่วยงานแรกขององค์การสหประชาชาติที่มีการขยายสิทธิดังกล่าวเกินกว่า 4 สัปดาห์มาตรฐาน

"เราจะเป็นองค์การ 'เพื่อเด็กทุกคน' ได้อย่างไรหากเราไม่ทำ 'เพื่อพ่อแม่ทุกคน' ด้วย เราต้องการขอความร่วมมือจากรัฐบาลและนายจ้างมากขึ้น เพื่อให้พ่อแม่มีเวลาและทรัพยากรที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูลูกเล็กของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงขวบปีแรก ๆ ของชีวิตเด็ก" นางโฟร์กล่าว  

นโยบายสนับสนุนครอบครัวเหล่านี้กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ดีทั่วโลก ตัวอย่างเช่นในอินเดียที่มีการเสนอ Paternity Benefit Bill (ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องเงินช่วยเหลือบิดา) เพื่อพิจารณาในวาระถัดไปของรัฐสภาซึ่งจะอนุญาตให้พ่อสามารถลาหยุดงานโดยได้รับค่าจ้างเพื่อเลี้ยงดูลูกที่เพิ่งคลอดได้นานสูงสุดถึง 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก โดยเฉพาะเมื่อ 8 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งสหรัฐอเมริกาซึ่งมีเด็กทารกมากถึงเกือบ 4 ล้านคนยังคงไม่มีนโยบายลาคลอดที่จ่ายค่าจ้างให้แก่พ่อและแม่ งานวิเคราะห์ชิ้นใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ "ยอดคุณพ่อ หรือ Super Dads" ของยูนิเซฟซึ่งขณะนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 โดยเป็นแคมเปญที่ตั้งเป้าในการทำลายอุปสรรคขัดขวางบทบาทของพ่อที่มีต่อการพัฒนาของลูก แคมเปญ Super Dads ร่วมเฉลิมฉลองวันพ่อที่จัดขึ้นในกว่า 80 ประเทศในเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมย้ำเน้นถึงความสำคัญของโภชนาการที่ดี การเล่น และความรัก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กเล็ก

ความก้าวหน้าด้านประสาทวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อเด็กใช้เวลาช่วงขวบปีแรก ๆ โดยเฉพาะ 1,000 วันแรกตั้งแต่ปฏิสนธิไปจนถึง 2 ปี ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีการกระตุ้นพัฒนาการ เส้นประสาทใหม่ ๆ จะเชื่อมต่อกันด้วยความเร็วสูงสุด การเชื่อมต่อเหล่านี้จะมีส่วนกำหนดความสามารถในการรู้คิดของเด็ก ตลอดจนสมรรถนะการเรียนรู้ การคิดอ่าน และการจัดการกับความเครียด ซึ่งอาจส่งผลถึงความสามารถในการสร้างรายได้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

บทความชุด "Advancing Early Childhood Development: from Science to Scale" ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ เดอะแลนเซ็ต (The Lancet) เดือนตุลาคม 2559 เผยว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวนเกือบ 250 ล้านคนกำลังเสี่ยงต่อการขาดพัฒนาการที่ดีอันเนื่องมาจากภาวะแคระแกร็นและความยากจนข้นแค้น บทความชุดนี้ยังระบุด้วยว่าโครงการที่ส่งเสริมการดูแลใส่ใจเด็กเล็ก ทั้งด้านสุขภาพ โภชนาการ การเลี้ยงดู ความมั่นคงปลอดภัย และการศึกษาปฐมวัย มีค่าใช้จ่ายน้อยนิดเพียง 50 เซนต์ต่อหัวต่อปี เมื่อดำเนินการร่วมกับบริการสุขภาพต่าง ๆ ที่มีอยู่  

สำหรับประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ยูนิเซฟได้จับมือกับบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด จัดทำแคมเปญ #EatPlayLove กินให้เป็น เล่นให้สุด ไม่หยุดรัก เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสมองของเด็กในช่วงปฐมวัย วิธีการเลี้ยงลูกและการกระตุ้นพัฒนาการง่ายๆ ผ่านกิจกรรมโรดโชว์ในรูปแบบของงานเอ็กซ์โปสัญจรไปยังศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วประเทศตลอดปี 2561 ตั้งแต่เดือน มีนาคม – พฤศจิกายน 2561

หมายเหตุ

ยูนิเซฟได้รับข้อมูลรายชื่อประเทศที่มีและไม่มีนโยบายให้สิทธิพ่อลาหยุดงาน (ได้รับค่าจ้าง) เพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจาก WORLD Policy Analysis Center มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย นครลอสแอนเจลิส และข้อมูลจำนวนประชากรอ้างอิงจาก UNPD 2560 ดูรายชื่อประเทศที่ไม่มีนโยบายวันลาหยุดงานดังกล่าวได้ ที่นี่

ประเทศที่มีนโยบายให้สิทธิพ่อลาหยุดงานยาวนานขึ้น (ได้รับค่าจ้าง) หรือไม่ก็มีนโยบายให้แรงจูงใจทางการเงินเพื่อให้พ่อลาหยุดงานยาวนานขึ้น เพื่อส่งเสริมให้พ่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาของลูกในระยะยาว ได้แก่ เยอรมนี ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สาธารณรัฐเกาหลี และสวีเดน

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เตือนใจ'โต้สื่อ เปิดหลักฐานปู่คออี้เกิดในไทยไม่ใช่พม่า

Posted: 14 Jun 2018 11:54 PM PDT

หลังสื่อบางสำนักนำเสนอคลิปเตือนใจในฐานะ กสม.เยี่ยมปู่คออี้แล้วสรุปว่าปู่ระบุเกิดตะเข็บชายแดนฝั่งพม่า เตือนใจออกโรงแจงว่าฝั่งไทย พร้อมนำเสนอหลักฐานเอกสารชาวเขาระบุชัดเกิด 2454 เขตจังหวัดเพชรบุรี ด้าน กสม. เสนอวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นต่อรัฐบาล กรณีการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าสงวนและกรณีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ทำกินประชาชน


ดูภาพขนาดใหญ่

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่ข่าวเสืบเนื่องจากกรณีที่รายงานของสื่อมวลชนบางสำนักระบุว่า "...เจ้าหน้าที่มีหลักฐานชัดเจน จากกรณีที่นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เดินทางไปเยี่ยมคออี้ที่บ้านบางกลอย ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพื่อติดตามความคืบหน้า โดยคออี้ได้เล่าให้นางเตือนใจฟังว่าตนเองนั้นเกิดที่ต้นแม่น้ำภาชี ใกล้ๆ กับบ้านพุระกำ จ.ราชบุรี ซึ่งไม่ใช่เกิดในประเทศไทย ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่มีการให้ข่าวตลอดมาว่า คออี้เกิดที่ใจแผ่นดินและอาศัยอยู่มานานนับร้อยปี..."

เตือนใจ  ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถ้อยคำที่ปู่คออี้บอกเล่ากับตนในคลิปดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ได้แตกต่างหรือขัดแย้งไปจากรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือเป็นที่รับทราบโดยทั่วไปก่อนหน้านี้แต่อย่างใด เนื่องจากพื้นที่ที่เรียกว่าบ้านใจแผ่นดินอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบุรีซึ่งไม่ไกลจากบ้านพุระกำ จังหวัดราชบุรี โดยมีแนวสันเขาต้นน้ำลำภาชีแบ่งเขตกั้น ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศพม่าตามที่มีการระบุในรายงานข่าวแต่อย่างใด


ถ่ายเมื่อปี 2493 ข้อมูลจาก Transbordernews


ภาพจากเตือนใจ ดีเทศน์

เตือนใจระบุอีกว่า ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานเอกสารทะเบียนสำรวจบุคคลในบ้านสำหรับชาวเขา หรือ ทร.ชข. ซึ่งสำรวจโดยกรมประชาสงเคราะห์ ระบุชัดเจนว่า ปู่คออี้เกิดเมื่อปี 2454 ที่จังหวัดเพชรบุรี บิดาชื่อนายมิมิ และมารดาชื่อนางพีนอคี นอกจากนั้นยังมีหลักฐานภาพถ่ายที่ปรากฏว่าปู่คออี้และกะเหรี่ยงใจบ้านแผ่นดินเดินทางไปหากำนันตำบลสวนผึ้งเพื่อนำของป่าไปขายยังตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรี

เตือนใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างข่าวว่าปู่คออี้ไม่ได้เกิดในประเทศไทยอาจเป็นความพยายามในการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ในทางคดี  ทำให้ศาลและประชาชนทั่วไทยเข้าใจว่า ปู่คออี้เป็นคนพม่าเข้ามาบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่ใช่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม นอกจากนั้นมีข้อสังเกตว่าตนลงพื้นที่ไปเยี่ยมปู่คออี้ที่บ้านบางกลอยตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2561 แต่เพิ่งมีการนำคลิปดังกล่าวออกมาเผยแพร่ ภายหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากรณีการเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ปู่คออี้และพวกรวม ๖ คน จะมีเจตนาแอบแฝงเรื่องอื่นหรือไม่ ทั้งนี้ตนเองจะทำหนังสือเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องถึงกองบรรณาธิการของสำนักข่าวที่ได้เสนอข่าวในเรื่องดังกล่าว และเรียกร้องให้สื่อมวลชนตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องและมีความรอบคอบก่อนนำเสนอข่าว

ทั้งนี้ในบันทึกการสอบข้อเท็จจริงปู่คออี้ของ ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมายสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2554 ระบุตรงกับเตือนใจในเรื่องปีเกิดและถิ่นที่อยู่ดั้งเดิม (อ่านที่นี่)

นักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=14716 .
นักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=14716 .

กสม. เสนอรัฐกรณีคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในป่าสงวน-ออกหนังสือสำคัญที่หลวงทับที่ทำกิน

ขณะเดียวกันวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีมติเห็นชอบให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1. กรณีการกำหนดเขตพื้นที่ในการทำกิน การอยู่อาศัย และการดำเนินวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ

สืบเนื่องจาก กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากกรณีกล่าวอ้างว่า กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมบนพื้นที่สูงของประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง ได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม เพราะมีการประกาศเขตป่าสงวนและเขตอุทยานทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชุมชน

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 อย่างเข้มงวดและเด็ดขาด อันเป็นการเร่งรัดการดำเนินมาตรการทวงคืนผืนป่าเพื่อปราบปรามผู้บุกรุกพื้นที่ป่าตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64/2557 และฉบับที่ 66/2557 เป็นเหตุให้ประชาชนในพื้นที่ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมซึ่งอยู่มาก่อนการประกาศเขตได้รับผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีพ สูญเสียพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัย ตลอดจนถูกจับกุมและตกเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย การดำเนินการเช่นนี้ ย่อมส่งกระทบต่อสิทธิของประชาชนในการกำหนดเจตจำนงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเอง และสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเสรีบนหลักการพื้นฐานแห่งผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศ

กสม.จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.1)  หน่วยงานของรัฐตามคำสั่ง คสช. ฉบับ ที่ 64/2557 และ 66/2557 ควรยุติการจับกุมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมซึ่งยังประสงค์ให้มีการพิสูจน์สิทธิว่าเป็นผู้อยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ และจะดำเนินการขับไล่หรือไล่รื้อได้หลังจากที่มีการพิสูจน์สิทธิและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น

1.2) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรทบทวนปรับปรุงขั้นตอนก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตลอดจนแนวทางการจัดการข้อพิพาทการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกับหน่วยงานของรัฐในเชิงสร้างสรรค์โดยชุมชนมีส่วนร่วม

1.3) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรมุ่งเน้นนโยบายในเชิงป้องกันเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยพัฒนาศักยภาพและขยายผลองค์ความรู้ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม และคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครองในประเทศไทย (PAC) ให้เป็นกลไกหลักในการจัดการพื้นที่ป่าสงวนและอนุรักษ์ในทุกพื้นที่

1.4) คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาทบทวนสถานะทางกฎหมายของแนวนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในประเด็นเรื่องการจัดการทรัพยากร เพื่อยกระดับเป็นมาตรฐานเชิงกระบวนการในการพิสูจน์และคุ้มครองสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมดังกล่าว โดยกำหนดหรือแก้ไขเพิ่มไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ใช้บังคับในพื้นที่สงวนคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้หรือเขตอนุรักษ์อื่นๆ และควรผลักดันให้เกิดการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานระหว่างหน่วยงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

1.5) คณะรัฐมนตรีควรรับรองสิทธิเชิงกลุ่มของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมให้มีพื้นที่ในการทำกิน การอยู่อาศัย และการดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรม อันสอดคล้องกับสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แทนการอนุญาตผ่อนผันให้ประชาชนแต่ละรายครอบครองทำประโยชน์ในลักษณะชั่วคราว

1.6) คณะรัฐมนตรีควรพิจารณานำหลักการให้ฉันทานุมัติที่เป็นอิสระแจ้งล่วงหน้า และโดยความยินยอม (Free, Prior, Inform and Consented - FPIC) มาใช้เป็นขั้นตอนตามกฎหมายก่อนการดำเนินโครงการของรัฐที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

1.7) คณะรัฐมนตรีควรดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยเพิ่มหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และศึกษาความเป็นไปได้ในการจำแนกเขตการจัดการสำหรับพื้นที่คุ้มครอง (Zoning) โดยเฉพาะเขตการใช้ประโยชน์แบบวิถีดั้งเดิม

2. กรณีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ทับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชน

สืบเนื่องจากระหว่างปี 2544 – 2560 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีปัญหาเกี่ยวกับการออก นสล. จากประชาชนในหลายพื้นที่ จำนวน 178 คำร้อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีที่ประชาชนกล่าวอ้างว่าหน่วยงานของรัฐผู้มีอำนาจดูแลรักษาที่สาธารณะประโยชน์ดำเนินการออก นสล. ทับที่ดินทำกินของประชาชนทำให้เกิดปัญหาการขับไล่ประชาชนออกจากที่อยู่อาศัยและทำกิน ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดีประชาชนในฐานะผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชนมายาวนาน

              กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัญหาการรุกที่สาธารณประโยชน์เกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความไม่ต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเนื่องจากมีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่อยู่บ่อยครั้ง ปัญหาด้านกลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่เกรงการสูญเสียฐานเสียงจึงไม่กล้าขับไล่ผู้บุกรุกที่เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ หลักฐานแสดงแนวเขตของที่สาธารณประโยชน์ไม่มีความชัดเจน ตลอดจนประชาชนบางกลุ่มไม่ทราบว่าจะมีการออก นสล. ในที่ดินแปลงพิพาท ฯลฯ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรี ดังนี้

                  2.1) สำรวจตรวจสอบแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงโดยคำนึงถึง
วิถีชีวิต และการใช้ที่ดินของชุมชนในท้องถิ่น โดยแจ้งประชาชนในพื้นที่ให้ทราบถึงการออก นสล. และ
ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกและการเข้ายึดครองพื้นที่ของผู้มีอิทธิพลเพิ่มเติม

                  2.2) ในการรังวัดที่ดินเพื่อออก นสล. และเอกสารสิทธิในที่ดิน ควรใช้มาตราส่วน 1 : 4000 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558

              2.3) กรณีมีข้อโต้แย้งเรื่องแนวเขต ควรพิสูจน์สิทธิในที่ดินของประชาชนในพื้นที่ให้แล้วเสร็จก่อน จึงดำเนินการตามมาตรการทางปกครองกับประชาชนอย่างเป็นธรรม และควรมีมาตรการผ่อนผันให้แก่ประชาชนซึ่งใช้สิทธิโดยสุจริตในการอยู่อาศัยและทำกิน ในส่วนของผู้แอบแฝงเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อหวังผลกำไร ควรดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุดเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

              2.4) ก่อนการดำเนินคดีอาญาแก่ประชาชน หากเป็นการกระทำอันไม่ละเมิดต่อกฎหมายอย่างร้ายแรง ควรดำเนินกระบวนการทางปกครองก่อน และในกรณีที่ต้องมีการชดเชยเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบควรดำเนินการด้วยความรวดเร็ว โดยคำนึงถึงหลักความเหมาะสมและเป็นธรรม

              2.5) ในกรณีหน่วยงานราชการต้องการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ ควรให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมตัดสินใจว่าสมควรเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือไม่

              2.6) ควรพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 45 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และ ข้อ 12 แห่งระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ.2517 โดยเพิ่มเติมสถานที่ปิดประกาศการออก นสล. อีกหนึ่งแห่งคือ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งเพิ่มเติมขั้นตอนการประชุมประชาคมของประชาชนในพื้นที่ประกาศออก นสล.

              2.7) ควรพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการมอบหมายให้สภาตำบลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเหลือในการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ.2543

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลาวแจ้งกรรมาธิการแม่น้ำโขง เตรียมสร้างเขื่อนปากลาย-ข้อวิตกผลกระทบหลากด้านเริ่มดัง

Posted: 14 Jun 2018 10:54 PM PDT

เขื่อนผลิตไฟฟ้า กำลังผลิต 770 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่แขวงไซยะบุรี ด้านท้ายน้ำต่อจากเขื่อนไซยะบุรี ห่างไทย 100 กม. "ผมกังวลอย่างยิ่งกับผลกระทบที่จะมีต่อระบบนิเวศวิทยาในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะแก่งคุดคู้ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอเชียงคาน" ชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มรักษ์เชียงคาน

15 มิ.ย.2561 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ประกาศเมื่อวานนี้ว่า รัฐบาลลาวได้แจ้งอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมาธิการ ถึงเจตจำนงในการก่อสร้างเขื่อนปากลายในแม่น้ำโขงสายประธาน ขั้นตอนดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation, and Agreement - PNPCA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เขื่อนปากลายนับเป็นเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานลำดับที่สี่ที่มีการเสนอเข้าสู่ขั้นตอนดังกล่าว

"คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐบาลลาว ยังไม่สามารถตอบสนองข้อกังวลที่สำคัญได้อย่างจริงจัง เกี่ยวกับโครงการเขื่อนที่มีการเสนอเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า การเสนอกระบวนการให้กับเขื่อนใหม่แห่งนี้ จึงเป็นเพียงความพยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากพันธกรณีที่มีอยู่ คาดว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนที่สำคัญเพิ่มเติมต่อชุมชนในประเทศไทยและตลอดทั่วลุ่มน้ำโขง นอกเหนือจากผลกระทบต่อชุมชนในฝั่งลาว ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด"  เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทยของ International Rivers กล่าว

เขื่อนปากลายซึ่งมีกำลังผลิต 770 เมกะวัตต์ จะตั้งอยู่ที่แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านท้ายน้ำต่อจากเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างจนเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และอยู่ห่างจากพรมแดนไทยประมาณ 100 กิโลเมตร

"ผมกังวลอย่างยิ่งกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการนี้ ที่จะมีต่อนิเวศวิทยาในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะแก่งคุดคู้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นของอำเภอเชียงคาน ทุกปีเราได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่ผันผวน ซึ่งไหลมาจากเขื่อนด้านเหนือน้ำในประเทศจีน หากมีการสร้างเขื่อนปากลาย ย่อมจะทำให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่ออาชีพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต่างอาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย" ชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มรักษ์เชียงคาน จังหวัดเลยกล่าว

"ชาวบ้านริมฝั่งน้ำโขงในประเทศไทย ต่างรอคอยคำพิพากษามากว่า 5 ปี ในคดีสำคัญเพื่อคัดค้านการตัดสินใจให้สร้างเขื่อนไซยะบุรี โครงการเขื่อนปากลายด้านท้ายน้ำจะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และทำให้ความหวังที่จะเกิดความรับผิดในคดีนี้เลือนลางไป คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐบาลลาวไม่สามารถมองเห็นองค์รวมของแม่น้ำ พวกเขาเพียงแต่ต้องการแบ่งซอยแม่น้ำเป็นส่วน ๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ เราจึงได้เห็นวิบัติภัยที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในทางสังคมและนิเวศวิทยา" เพียรพรกล่าว

การแจ้งตามขั้นตอนของเขื่อนปากลายเกิดขึ้น หลังขั้นตอนการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนปากเบง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2560 และนับเป็นเขื่อนแห่งที่สามที่สร้างในแม่น้ำโขงสายประธานตอนล่าง ต่อจากเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง แม้ว่ากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนปากแบง มีการพัฒนากว่าขั้นตอนการปรึกษาหารือของเขื่อนก่อนหน้านี้ แต่คุณภาพของข้อมูลและการปรึกษาหารือที่เกิดขึ้น ยังถือว่ามีข้อบกพร่องอยู่ นอกจากนั้น รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกิจที่เห็นชอบในระหว่างกระบวนการโดยพวกเขาได้เคยเห็นชอบให้จัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (JAP) เพื่อตอบสนองข้อกังวลที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากผลกระทบของโครงการนี้ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของแผนปฏิบัติการร่วมดังกล่าว กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนปากเบงยังส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองของไทย ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

ในเดือนกุมภาพันธ์ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้เผยแพร่ 'ผลการศึกษาของคณะมนตรี' ซึ่งเริ่มการศึกษาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อหนุนเสริมกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า โดยให้มีการประเมินผลกระทบเชิงสะสม และผลกระทบในระดับลุ่มน้ำของโครงการเขื่อน ผลการศึกษาของคณะมนตรี ซึ่งใช้งบประมาณจัดทำ 4.7 ล้านเหรียญ และใช้เวลาเจ็ดปีในการดำเนินงาน ทำให้เกิดข้อค้นพบว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 11 โครงการ ซึ่งมีกำหนดก่อสร้างในแม่น้ำโขงสายประธานตอนล่างและลำน้ำสาขา 120 แห่ง เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบนิเวศและความมั่นคงของเศรษฐกิจในภูมิภาค[1] โดยจะส่งผลให้ความมั่นคงด้านอาหารและผลิตภาพทางการเกษตรลดลงอย่างมาก ทำให้เกิดความยากจนมากขึ้น และทำให้เกิดความเสี่ยงยิ่งขึ้นด้านสภาวะภูมิอากาศในหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างยังไม่ประกาศ หรือรับรองอย่างเป็นทางการ ต่อผลการศึกษาของคณะมนตรี หรืออธิบายว่า การศึกษาครั้งนี้มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงอย่างไร

"รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงและภาคีการพัฒนา ได้ใช้เงินหลายล้านเหรียญในการศึกษา จนพบว่ามีผลกระทบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ร้ายแรง และจำเป็นต้องมีการพิจารณาทางเลือกอย่างจริงจัง การเดินหน้าสร้างเขื่อนใหม่แห่งนี้โดยไม่พิจารณาทางเลือกอย่างแท้จริง จึงถือเป็นการใช้งบประมาณสาธารณะอย่างสิ้นเปลือง" เมารีน แฮร์ริส (Maureen Harris) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ International Rivers กล่าว "แม้จะมีการให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับปรุงกระบวนการปรึกษาหารือ  การแสดงเจตจำนงในการศึกษาเพิ่มเติมและการปรึกษาหารือที่ได้รับการปรับปรุง กลับไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างจริงจังต่อกระบวนการตัดสินใจ และยังทำให้ชุมชนต่างมีความเสี่ยง"  

ในการเสนอเขื่อนปากลายเข้าสู่ขั้นตอนการทบทวน มีการระบุว่า คาดว่าโครงการขนาด 770 เมกะวัตต์นี้จะไม่สามารถเริ่มการก่อสร้างได้จนกว่าจะถึงปี 2565 แม้คาดว่าจะมีการจัดส่งไฟฟ้าจากโครงการนี้เพื่อขายให้กับประเทศไทย แต่ในเอกสารโครงการไม่ได้ระบุชื่อผู้ซื้อไฟฟ้าหรือผู้พัฒนาโครงการ

ในเดือนมีนาคม กฟผ.ยืนยันว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากต้องรอให้การทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) แล้วเสร็จเสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ปริมาณไฟฟ้าสำรองในประเทศไทยอยู่ที่ระดับสูงมาก โดยคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของไฟฟ้าที่ผลิตได้ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นไม่มากนักในการเพิ่มกำลังผลิตติดตั้งใหม่ การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในภาคพลังงานของไทย และการนำแหล่งพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ทั้งพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในตลาดพลังงานโลก

ในข้อเสนอหลักตามรายงานผลการศึกษาของคณะมนตรี มีการกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงพิจารณาอย่างจริงจังถึงผลกระทบของโครงการเขื่อนที่เสนอและให้พิจารณาเทคโนโลยีพลังงานใหม่ ๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้น และเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนเพื่อทดแทนไฟฟ้าพลังน้ำ

เรากระตุ้นรัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ไม่ให้เดินหน้าตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาต่อไป และให้หาทางตอบสนองข้อกังวลเกี่ยวกับโครงการที่มีอยู่อย่างโปร่งใส เรายังเรียกร้องต่อไปให้รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง แสดงเจตจำนงที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะตามผลการศึกษาของคณะมนตรีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยควรมีการจัดทำบันทึกความตกลง เพื่อชะลอการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มเติมในลุ่มน้ำโขง จนกว่าจะมีการศึกษาระดับภูมิภาคถึงเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และมีการประเมินทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำจนสมบูรณ์


[1] การศึกษาได้พยากรณ์ว่า หากเดินหน้าตามแผนพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในปัจจุบันต่อไป จะทำให้ต้องเลือกระหว่างผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับน้ำ พลังงาน และอาหาร โดยผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2583 ได้แก่ ปริมาณสัตว์น้ำเพื่อการประมงในแม่น้ำโขงลดลง 30-40% หรือคิดเป็นการสูญเสียปริมาณสัตว์น้ำประมาณหนึ่งล้านตันต่อปี และการลดลงของการสะสมตะกอนในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงอย่างมากถึง 97%

https://ssl.gstatic.com/ui/v1/icons/mail/images/cleardot.gif

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายร.ร.เอกชนอิสลามสงขลาเรียกร้องใช้กระบวนการปกติตรวจคอร์รัปชั่น หลังถูกทหารบุกค้น

Posted: 14 Jun 2018 10:27 PM PDT

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเผยแพร่แถลงการณ์ของเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เกี่ยวกับการบุกตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ทหารที่สร้างความตกใจให้นักเรียน ครู ผู้ปกครองอย่างยิ่ง อีกทั้งไม่มีหมายค้นหรือเอกสารชี้แจงใด ทางผู้บริหารโรงเรียนยืนยันยินดีให้ตรวจสอบคอร์รัปชันแต่ควรทำตามกระบวนการปกติ มีความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

รายละเอียดมีดังนี้

แถลงการณ์

เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา
Private Islamic Schools Association of Songkhla Province(PISA)
(ภายใต้สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา)
ยืนยันตรวจสอบคอร์รัปชันได้ แต่ต้องโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ
แนะให้หน่วยงานพลเรือนดำเนินการ ลดอคติและภาพลักษณ์ทางลบ …………………………………………………………………………….

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เวลา 9:07-13:40 น.โดยประมาณ มีเจ้าหน้าที่นำโดย ร.ท.ชัยยันต์ อาพันแดง ฝ่ายข่าว ฉก. ปัตตานี ร่วมกับ พ.ต.ต.พิทักษ์ ใจสมุทร รอง หน. บก. ฉก. พร้อมเจ้าหน้าที่แต่งกายชุดสีดำ (จำนวน 15 - 20 คน) และมีอักษรเขียนว่า CSI ที่เสื้อ มาที่โรงเรียนอนุสรณ์เตรียมปัญญา ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งในขณะนั้นมีนักเรียนจำนวนมาก มีทั้งนักเรียนอนุบาลและนักเรียนประถมปีที่ 6 รวมถึงบุคคลากรครูที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและครูผู้ชาย 4 คน เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงนายอับดลเลาะ แมเราะ ผู้บริหารโรงเรียนเชิญเข้าไปในห้องประชุมและกล่าวตอนรับตามธรรมเนียมเจ้าของบ้าน หลังจากนั้นก็ให้หัวหน้าคณะที่มาได้บอกถึงวัตถุประสงค์การเข้ามาในครั้งนี้ (หลังจากนั้นนายอับดลเลาะ แมเราะ ขอดูคำสั่งในการเข้ามาตรวจในครั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้ตอบว่า ผู้ว่าฯ ยังไม่ได้เซ็นต์คำสั่ง) เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไปเจอใบเสร็จชื่อโรงเรียนไปซื้อของร้านเจ๊ะกูฟาตอนี นายอับดลเลาะ แมเราะ ตอบว่าไม่เคยไปและไม่รู้จักร้านเจ๊ะกูฟาตอนี เจ้าหน้าที่จึงตรวจเอกสารทั้งหมดของโรงเรียน ทั้งเอกสารการเงิน การเรียนฟรีของนักเรียน อาหารกลางวันและอื่นๆ (สำหรับกรณีใบเสร็จนั้นได้สอบถามเจ้าหน้าที่ว่าใบเสร็จที่พบซื้อของกับร้านเจ๊ะกูฟาตอนีนั้นซื้ออุปกรณ์อะไร ราคาเท่าไร ทางเจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่มีและได้บอกว่านายอับดลเลาะ แมเราะเป็นหุ้นส่วน แต่นายอับดลเลาะปฏิเสธและแจ้งว่าจะเป็นหุ้นส่วนได้อย่างไร เพราะไม่ได้เป็นสมาชิก ทำให้โรงเรียนเสียหายและกลายเป็นโรงเรียนเป้าหมายในด้านความมั่งคง ทำให้บุคลากรทุกคนกลัวและไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว)

จากผลการตรวจค้นโรงเรียนในลักษณะดังกล่าว ทำให้โรงเรียนและบุคคลากรตกเป็นผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีกระบวนการที่ถูกต้อง ส่งผลให้ทางโรงเรียนถูกมองจากผู้ปกครองว่ามีการกระทำผิด ผู้ปกครองโทรมาสอบถามทุกวันและไม่มีความมั่นใจในโรงเรียน เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหาทำให้ทางโรงเรียนไม่สามารถอธิบายทำความเข้าใจให้กับผู้ปกครองให้กระจ่างได้ เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาไม่สามารถแสดงหลักฐาน หนังสือหรือทำให้ผู้บริหารโรงเรียนมั่นใจว่าจะถูกดำเนินการจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเป็นธรรมและปราศจากอคติ

การตรวจค้นดังกล่าวอาจเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของโรงเรียน ขณะเดียวกันนั้นครูและนักเรียนมีความหวาดกลัว เสียขวัญ ครูผู้ชายกังวลถึงความปลอดภัยของตนเองจากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งเหตุการณ์ตรวจค้นโรงเรียนบากงวิทยาและโรงเรียนประสานวิทยา จังหวัดปัตตานีตามที่เป็นข่าวในสื่อไทยและในสื่อต่างประเทศโดยในบันทึกหลังการตรวจค้นพบว่าใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ลงวันที่1 เมษายน 2558 เพื่อทำการตรวจค้น/ตรวจยึดเอกสารเพื่อ สอบการทุจริตโรงเรียน โดยอ้างว่าเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้

ทางเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาคือ จะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย ซึ่งอยู่ภายใต้สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา ขอแสดงจุดยืนและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

  1. ขอแสดงจุดยืนเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชันและเชื่อมั่นว่าการบริหารจัดการการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนเป็นการบริหารกิจการที่สำคัญต่อการพัฒนาชีวิตของเด็กและเยาวชน การคอร์รัปชันทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
  2. กรณีตรวจค้นโรงเรียนอนุสรณ์เตรียมปัญญานั้นใช้อำนาจใดและมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่อย่างไร หากผลการดำเนินของเจ้าหน้าที่มีผลกระทบต่อโรงเรียนซึ่งอาจเป็นการกระทำทางปกครองที่ส่งผลให้ผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร การกระทำที่เกินกว่าอำนาจ ดังนั้นขอให้หน่วยงานที่กระทำแสดงความรับผิดชอบผ่านสื่อ พร้อมทั้งตั้งกรรมการสอบสวนทั้งทางวินัยและอาญา อีกทั้งคืนเอกสารสำคัญของโรงเรียนทั้งหมดทันที
  3. การใช้อำนาจมาตรา 44 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558  หรือแม้กระทั่งคำสั่งที่ 35/2561 ของหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ตามคำสั่ง กอ.รมน.ที่ 236/2561 ถือเป็นคำสั่งที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการการศึกษาของโรงเรียน โดยเป็นการเลือกตรวจสอบแต่เฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยการนำกำลังทหารที่อาจติดอาวุธเข้าไปในสถานศึกษาเพื่อขอตรวจค้นเอกสารในลักษณะจู่โจม ใช้กำลังคนจำนวนมาก ทำให้สถานศึกษาเสียภาพลักษณ์ บุคคลากรทางการศึกษาและนักเรียนมีหวาดกลัวและรบกวนการเรียนการสอน อาจถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  4. การตรวจสอบการคอร์รัปชันในกิจการของโรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นหน้าที่และบทบาทของหน่วยงานพลเรือนมาโดยตลอด แต่การนำกองกำลังทหารเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวอาจเป็นการทำให้โรงเรียนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเกินความจำเป็นเพราะหน่วยงานพลเรือนย่อมมีความเข้าใจในการบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ การใช้การทหารนำกิจการพลเรือนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ส่งผลให้เกิดความรุนแรงยืดเยื้อยาวนาน
  5. เครือข่ายมีความยินดีในการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบโรงเรียนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์และโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล แต่ขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการโดยยึดหลักในนิติธรรม นิติรัฐ ไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและศาสนา และเครือข่ายขอแสดงเจตจำนงในการปกป้องสิทธิความเป็นพลเมืองไทย

ข้อเสนอแนะ

1. ขอให้ตรวจสอบจากต้นสังกัดโดยตรงและมีการพิจารณาร่วมกันกับต้นสังกัด กรณีมีข้อมูลหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีการคอร์รัปชัน โดยจัดให้มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการที่จัดขึ้นร่วมกันและให้หน่วยงานพลเรือนเป็นผู้กำกับดูแล

2. ขอให้มาตรการดังกล่าวดำเนินการโดยโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติต่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเท่านั้น การดำเนินการตรวจสอบตามข้อสงสัยของทางทหารมักขาดซึ่งการตรวจสอบถ่วงดุลจากหน่วยงานอื่นๆ มักเป็นการพิจารณาเป็นการภายในหรือเป็นไปในทางลับ หากแต่การดำเนินการต่อสถานศึกษานั้นส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของโรงเรียน ต่อครู ต่อผู้ปกครองและนักเรียน และชุมชนสังคมในวงกว้าง การกระทำโดยฝ่ายทหารที่ไม่โปร่งใสอาจทำประชาชนท้องถิ่นเข้าใจไปได้ว่า ทางทหารโดย กอ.รมน.เลือกปฏิบัติและยังผลต่อความรู้สึกไม่เชื่อมั่นต่อการตรวจสอบดังกล่าว

3. รัฐควรตรวจสอบจากเงินอุดหนุนนักเรียนทุกสังกัดด้วยการใช้โปรแกรมเดียวที่สามารถเชื่อมและตัดยอดได้ทุกเดือนของทุกหน่วยงานที่จัดการศึกษาของรัฐให้การสนับสนุน

4. แต่งตั้งคณะทำงานพิเศษเกี่ยวกับการบริหารหลักสูตรการเรียนการสอนศาสนาสามัญ การบรรจุบุคลากรศาสนาสามัญ การพิจารณาเงินอุดหนุนตามความเป็นจริงและเหมาะต่อพื้นที่และลักษณะพิเศษของโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาด้านนิตินัยและพฤตินัยและอื่นๆ

5. การใช้อำนาจกฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก น่าจะใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็น สำหรับพื้นที่เป็นพื้นที่การประกาศกฎอัยการศึกก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกในทุกเรื่อง ถ้าเป็นกรณีการแก้ปัญหาเรื่องทุจริตในสถานศึกษาควรจะใช้กฎหมายปกติ เพราะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงโดยตรง และเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายก็น่าจะสนับสนุนให้ใช้หมายค้น และขอให้มีการปรับเปลี่ยนท่าทีและทัศนคติที่ดูเหมือนกับการข่มขู่คุกคาม

6. จัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้จากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาที่สอดคล้องกับพื้นที่และมีมาตรฐานสากล


เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

28 รอมฎอน ฮ.ศ. 1439
วันที่ 13 มิถุนายน 2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อสหรัฐฯ วิจารณ์นโยบายกีดกันผู้ลี้ภัยหลังแม่ลูกถูกพรากขณะให้นม

Posted: 14 Jun 2018 10:06 PM PDT

นโยบายกีดกันผู้อพยพแบบพรากครอบครัวของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์กำลังเป็นประเด็นร้อนในสหรัฐฯ หลังล่าสุดแม่ชาวฮอนดูรัสผู้ต้องการอพยพเข้าเมืองในสหรัฐฯ ถูกแย่งลูกออกไปจากอกทั้งที่กำลังให้นมอยู่ ทำให้เกิดข้อวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม

ชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก (ที่มา:วิกิพีเดีย)

15 มิ.ย. 2561 กรณีล่าสุดที่นโยบายกีดกันผู้อพยพของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ทำให้เกิดการพรากแม่พรากลูกเกิดขึ้นกับหญิงชาวฮอนดูรัส เธอเล่าว่าทางการสหรัฐฯ จับกุมตัวเธอแล้วถูกแย่งลูกออกไปจากอกในขณะที่เธอกำลังให้นมลูกอยู่ หญิงรายนี้เป็นผู้อพยพที่ยังไม่ได้เอกสารอนุญาตจากทางการ เธอถูกคุมขังด้วยข้อหาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

มิเกล เอ โนกูราส ผู้ช่วยทนายความจากเมืองแมคอัลเลน รัฐเท็กซัสเปิดเผยว่านับตั้งแต่มีการใช้นโยบายนี้อย่างจริงจัง ก็มีเด็กถูกพรากออกไปจากครอบครัวแล้วราว 500 ราย อีกทั้งมีพ่อแม่บางคนที่ถูกจับกุมบอกว่าพวกเขาไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับลูกของพวกเขาบ้าง นาตาเลีย คอร์เนลลิโอ ทนายความของโครงการสิทธิพลเมืองเท็กซัสซึ่งเป็นผู้สัมภาษณ์หญิงชาวฮอนดูรัสที่ถูกแย่งลูกไปจากอกกล่าวว่าการที่รัฐบาลทำเช่นนี้ถือเป็นการทารุณผู้อพยพที่เป็นพ่อแม่คน

คอร์เนลลิโอเปิดเผยอีกว่า การสัมภาษณ์คนที่ถูกพรากลูกเหล่านี้ทำให้หลายคนแสดงความเศร้าโศกออกมาอย่างฉับพลัน "ผู้หญิงทุกคนจะเริ่มร้องไห้และต้องใช้เวลาสัก 2-3 นาทีเพื่อที่จะสามารถเล่าเรื่องของพวกเธอต่อได้อีกครั้ง" คอร์เนลลิโอกล่าว

การพรากลูกเช่นนี้กลายเป็นกรณีวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่เดือนที่แล้ว (พ.ค. 2561) จนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่ เจฟฟ์ เซสชัน รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ประกาศว่าจะไม่ปล่อยให้มี "การข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย" เข้ามาในสหรัฐฯ อีกต่อไป ซึ่งเรียกว่า "zero-tolerance policy" โดยจะมีการแยกจับกุมคนเข้าเมืองที่เป็นผู้ใหญ่ และแยกเด็กออก รวมถึงเด็กแบเบาะที่มากับพ่อแม่ออกไปต่างหากโดยไม่ตั้งข้อหาแล้วจะให้เด็กเหล่านั้นตัดสินใจเองว่าจะขอลี้ภัยในสหรัฐฯ หรือไม่

เซสชันกล่าวหาพ่อแม่ผู้ปกครองที่นำเด็กลี้ภัยความรุนแรงจากประเทศตัวเองเข้าสู่สหรัฐฯ ว่า 'เป็นการลักลอบนำเด็กเข้าเมือง' เรื่องนี้ทำให้สื่อแอลเอไทม์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้คำเรียกพ่อแม่ผู้ปกครองที่พาลูกหลานครอบครัวตัวเองอพยพเข้าสหรัฐฯ อีกทั้งยังวิจารณ์ว่าการปฏิเสธไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กเข้าสู่ประเทศขัดต่อหลักการสนธิสัญญาของนานาชาติที่สหรัฐฯ ร่วมลงนามด้วย สนธิสัญญาดังกล่าวระบุว่าประชาชนที่หนีออกจากประเทศของตัวเองสามารถเข้าสู่ประเทศอื่นๆ อย่างถูกกฎหมายและสามารถขอลี้ภัยที่ไหนก็ได้ ดังนั้นถ้าหากสหรัฐฯ ใช้กฎหมายลงโทษบุคคลที่อพยพเข้าเมืองเหล่านี้ก็จะถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติ

สถานการณ์ในภูมิภาคอเมริกากลางที่มีกลุ่มอิทธิพลข่มขู่คุกคามและสภาวะไร้ขื่อแปบีบให้ประชาชนหลายคนต้องการลี้ภัยเข้าสู่สหรัฐฯ ไม่ว่าพวกเขาจะมากับครอบครัวด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่ลักษณะการใช้คำพูดและท่าทีแสดงออกของเซสชันก็พยายามป้ายสีให้ผู้คนเหล่านี้ดูเหมือนเป็น "คนต่างด้าว" ที่เข้ามา "รุกราน" แต่มาตรการใหม่ที่พวกเขาอ้างใช้ก็มีลักษณะโหดร้ายและละเมิดหลักการผู้ลี้ภัยของนานาชาติ ไม่เพียงเท่านั้นมันยังเป็นมาตรการที่ใช้ไม่ได้ผลจริงในการจัดการปัญหา มีแต่จะเป็นการเพิ่มงานให้กับเหล่าอัยการและผู้พิพากษาเป็น 5 เท่า และสร้างผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นให้รัฐมีรายจ่ายเพิ่ม

แอลเอไทม์เปรียบเทียบว่าระบบการจัดการผู้อพยพสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา มีตวามคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าและมีวิธีการที่มีมนุษย์ธรรมมากกว่าโดยอาศัยการให้ผู้จัดการรายกรณีคอยตรวจสอบผู้ขอลี้ภัยโดยที่ไม่คุมขังพวกเขา แต่รัฐบาลทรัมป์ก็ยกเลิกการใช้วิธีนี้

เรียบเรียงจาก

She says federal officials took her daughter while she breastfed the child in a detention center, CNN, Jun. 14, 2018

What kind of country would tear apart and lock up families fleeing violence in their homelands? Ours, Los Angeles Times, May, 8, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.อนุมัติปรับระบบ อปท. ใช้บัตรประชาชน Smart Card เบิกจ่ายตรง

Posted: 14 Jun 2018 09:06 PM PDT

 นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ได้เห็นชอบให้มีการดำเนินการใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด (Smart Card) ในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น แทนการเบิกจ่ายตรง ตามที่คณะอนุกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เห็นชอบก่อนหน้านี้

โดยเป็นการดำเนินการตามที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้มีประกาศปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้สิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลของข้าราชการ โดยยกเลิกการการลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงและเปลี่ยนมาใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดแทนทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา

นพ.การุณย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนใช้บัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดในการเข้ารับการรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น บอร์ด สปสช.ได้มอบให้ สปสช.ศึกษาข้อมูลการใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดในการเข้ารับการรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการแทนการลงทะเบียนเบิกจ่ายตรง โดยกรมบัญชีกลางได้มอบให้ธนาคารกรุงไทยดำเนินการจัดระบบในสถานพยาบาล การออกเลขรหัสอนุมัติ และระบบรายงานที่สถานพยาบาลสามารถพิมพ์รายงานจากระบบ และส่งรายงานข้อมูลการใช้สิทธิและการเบิกจ่ายเป็นรายวัน

นพ.การุณย์ กล่าวว่า การใช้บัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดแทนการลงทะเบียนเบิกจ่ายตรง มีข้อดีทำให้ผู้ป่วยเบิกจ่ายตรงในสถานพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง ไม่ต้องลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงที่หน่วยบริการอย่างที่ผ่านมา เพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการให้กับผู้มีสิทธิ ขณะที่การตรวจสอบและควบคุมงบประมาณยังสามารถติดตามและตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายของผู้มีสิทธิได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น