โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

จับมือกันแล้วแต่ยังไม่มีผลอะไร "โดนัลด์ ทรัมป์" ขยายการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือต่อ

Posted: 25 Jun 2018 01:24 PM PDT

อัลจาซีราระบุถึงการที่โดนัลด์ ทรัมป์ พูดขัดแย้งกันเองหลังการประชุมหารือการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ ขณะที่เขาทวีตว่า "ไม่มีภัยนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนืออีกแล้ว" แต่ในการออกคำสั่งเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ทรัมป์กลับระบุว่าเกาหลีเหนือยังเป็น "ภัยคุกคามมากเป็นพิเศษ" และมีความเสี่ยงที่จะสะสมอาวุธนิวเคลียร์เพิ่ม นอกจากนี้สื่อต่างประเทศยังรายงานถึงเรื่องผลกระทบถ้าหากสหรัฐฯ เลิกซ้อมรบกับพันธมิตรสำคัญอย่างเกาหลีใต้

แฟ้มภาพ คิมจองอึน และโดนัลด์ ทรัมป์ ในการประชุมสุดยอดสหรัฐอเมริกา-เกาหลีเหนือ ที่เกาะเซ็นโตซา สิงคโปร์ เมื่อ 11 มิถุนายน 2561 (ที่มา: Facebook/Donald J. Trump)

หลังจากการประชุมหารือที่สิงคโปร์ร่วมกับผู้นำเกาหลีเหนือคิมจองอึนในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ล่าสุดประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะยืดเวลาการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือไปอีก 1 ปี โดยอ้างว่าเกาหลีเหนือยังคงเป็น "ภัยคุกคามมากเป็นพิเศษ" ถึงแม้ว่าเมื่อไม่นานนี้เคยระบุว่าเกาหลีเหนือไม่ได้เป็นภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์ต่อสหรัฐฯ อีกต่อไปแล้ว

โดยทรัมป์ออกคำสั่งพิเศษขยายการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือต่อไปเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นมาตรการคว่ำบาตรแบบที่เคยออกมาครั้งแรกตั้งแต่ปี 2551 แล้ว โดยที่ทรัมป์ยังเคยกล่าวไว้หลังจากการประชุมหารือการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือที่สิงคโปร์ว่าเขาจะไม่ยกเลิกการคว่ำบาตรจนกว่าเกาหลีเหนือจะปลดอาวุธนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตามการขยายการคว่ำบาตรดังกล่าวขัดแย้งกับสิ่งที่ทรัมป์เคยป่าวประกาศผ่านสื่อโซเชียลมีเดียไว้ว่า "ทุกคนในตอนนี้สามารถรู้สึกปลอดภัยได้มากกว่าขึ้นกว่าวันที่ผมเข้ามารับตำแหน่ง ไม่มีภัยนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนืออีกแล้ว"

แต่ในคำสั่งพิเศษที่ออกมาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ระบุว่ายังคงมีอาวุธนิวเคลียร์และความเสี่ยงในการสะสมอาวุธนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ รวมถึงระบุว่านโยบายของรัฐบาลเกาหลีเหนือยังคงเป็นภัยคุกคามมากเป็นพิเศษต่อความมั่นคง นโยบายระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ไม่หยุดคว่ำบาตร แต่เลื่อนซ้อมรบสหรัฐ-เกาหลีใต้แล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ก็สั่งระงับการซ้อมรบร่วมกับพันธมิตรสำคัญอย่างเกาหลีใต้อย่างไม่มีกำหนด ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่สร้างความแปลกใจให้กับเกาหลีใต้เช่นกัน โดยที่ทรัมป์อ้างแบบเดียวกันเกาหลีเหนือว่าการซ้อมรบด้วย "เกม" จำลองสถานการณ์สงครามจะเป็น "การยั่วยุ" ต่อเกาหลีเหนือ และบอกอีกว่ามัน "แพงเกินไป" นอกจากนี้ทรัมป์ยังกล่าวอีกว่าเขากำลังพิจารณาว่าจะถอนกำลังของกองทัพสหรัฐฯ ออกจากเกาหลีใต้ดีหรือไม่

ขณะที่โฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่าการตัดสินใจระงับการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้เป็นไป "เพื่อการส่งเสริมการปฏิบัติตามผลลัพธ์จากการประชุมซัมมิตที่สิงคโปร์" สื่ออัลจาซีราประเมินว่าการระงับการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ถือเป็นชัยชนะสำคัญสำหรับเกาหลีเหนือหรือแม้กระทั่งกับพันธมิตรของเกาหลีเหนืออย่างจีน

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯ ที่ประสานความร่วมมือกับเกาหลีใต้ แสดงความแปลกใจต่อการตัดสินใจของทรัมป์เช่นกัน โดยที่พันโท เจนนิเฟอร์ เลิฟเวตต์ โฆษกของกองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้กล่าวว่าทางคณะทำงานของพวกเขาไม่ได้รับข้อเสนอแนะแนวทางแบบใหม่หรือได้รับคำสั่งให้หยุดการซ้อมรบแต่อย่างใดและพวกเขาจะทำการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ต่อไปถ้าหากคำสั่งยังไม่มาถึง นอกจากนี้สื่อควอตซ์ยังรายงานว่าการยกเลิกซ้อมรบร่วมกันของสองประเทศไม่ได้อยู่ในรายละเอียดข้อตกลงที่คิมจองอึนผู้นำเกาหลีเหนือกับทรัมป์ลงนามร่วมกันด้วย

ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ดำเนินการซ้อมรบที่เรียกว่า "ฟรีดอมการ์เดียน" หรือ "ผู้พิทักษ์อิสรภาพ" กับกองทัพเกาหลีใต้เสมอมาในเชิงยุทธศาสตร์ตั้งรับ โดยในปีที่แล้วมีการซ้อมรบร่วมกันระหว่างทหารอเมริกัน 7,500 นาย และทหารเกาหลีใต้ 3,000 นาย

เรียบเรียงจาก

Trump renews sanctions on N Korea citing 'extraordinary threat', Aljazeera, 24-06-2018

Photos: The US-South Korean "war games" that Trump wants to cancel, Quartz, 12-06-2018

President Trump has ordered the Pentagon to cancel military exercises with South Korea — what happens next?, Military Times, 12-06-2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประท้วงขับไล่ประยุทธ์และ คสช. ที่ปารีส-เรียกร้องคืนประชาธิปไตยให้คนไทย

Posted: 25 Jun 2018 12:46 PM PDT

ชาวไทยที่พำนักอยู่ในปารีสและภาคพื้นยุโรปชุมนุมขับไล่คณะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่ระหว่างเยือนฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีผู้ประท้วงกลุ่มย่อยยืนชู 3 นิ้วให้ขบวนรถ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเดียวกันยังแจ้งผ่านกลุ่มข้าราชการผู้ติดตาม ครม. ว่าต้องการพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ แบบคนไทยที่ไม่มีปืนจ่อหัว โดยขอให้ออกมาเจอที่ชุมนุมได้เลย

ที่มาของภาพ: เฟสบุ๊คกลุ่มแอคชั่นเพื่อประชาธิปไตย

เมื่อเวลา 14.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นปารีส ของวันที่ 25 มิ.ย. ชาวไทยที่พำนักอยู่ในปารีสและภาคพื้นยุโรปชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และคณะรัฐมนตรีที่ติดตามไปเยือนปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยชูป้ายผ้าผืนใหญ่ "เรารู้สึกอับอายผู้นำเผด็จการมาเยือนฝรั่งเศส" นอกจากนี้ยังถือป้าย "เผด็จการบรรลัย ประชาธิปไตยจงเจริญ!" "คืนประชาธิปไตยให้คนไทย พวกเราต้องการเลือกตั้ง" ฯลฯ

อนึ่งในช่วงเช้าวันที่ 25 มิ.ย. ยังมีชาวไทยในภาคพื้นยุโรปอาทิ จรัล ดิษฐาอภิชัย, จรรยา ยิ้มประเสริฐ ไปยืนชู 3 นิ้วหน้าโรงแรมที่พักของหัวหน้า คสช. คณะรัฐมนตรี และผู้ติดตามด้วย โดยมีรายงานด้วยว่า กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวไทยกลุ่มนี้ ในช่วงที่นั่งรออยู่ในร้านกาแฟบริเวณดังกล่าว ได้เจอกับคณะของข้าราชการไทยที่ติดตามคณะรัฐมนตรีมาที่ปารีส จึงได้แจ้งว่าต้องการเจรจากับ พล.อ.ประยุทธ์ ในเวลา 16.00 น. โดยอยากพูดคุยแบบคนไทยที่ไม่มีปืนจ่อหัว อยากคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ออกจากที่พักมาเจอได้เลย อย่างไรก็ตามคณะของข้าราชการกลุ่มดังกล่าวได้ออกจากร้านกาแฟทันที

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. คนไทยในฝรั่งเศสและภาคพื้นยุโรปได้ยื่นหนังสือต่อประธานาธิบดีมาครง เรียกร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศสฟื้นฟูความสัมพันธ์เต็มรูปแบบกับรัฐบาลไทยที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เรียกร้องให้ผลักดันให้ยกเลิกมาตรา 44 ด้วย โดยมีรายงานด้วยว่าตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. มีการติดป้ายกระดาษหลายจุดในปารีสเพื่อประท้วงการมาเยือนฝรั่งเศสของ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมเรียกร้องไม่ให้ประธานาธิบดีฝรั่งเศส อย่าทำข้อตกลงใดๆ กับเผด็จการ คสช.

สำหรับการชุมนุมที่ปารีสเกิดขึ้นในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยเดินทางเยือนฝรั่งเศสระหว่างวันที่ 22 ถึง 25 มิถุนายน โดยคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดพบ กีโยม โฟรี ประธานบริษัทแอร์บัส เพื่อลงนามความตกลงสัญญากรอบการร่วมทุนของภาคเอกชนระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับบริษัทแอร์บัส เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ของแอร์บัสในประเทศไทยที่อู่ตะเภา

โดยคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ ประกอบด้วย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว. ต่างประเทศ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

ขณะที่กำหนดการในวันที่ 25 มิ.ย. ตามรายงานในสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ หารือกับ เอ็มมานูแอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส พล.อ.ประยุทธ์ ยังไปกล่าวเปิดสัมมนา Thailand Business Forum ซึ่งจัดโดยสภานายจ้างฝรั่งเศส (MEDEF) ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ยังมีการหารือกับภาคธุรกิจฝรั่งเศสที่สนใจร่วมลงทุนในไทย เช่น กลุ่มธุรกิจขนส่งมวลชนและกลุ่มบริษัทรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส และประชาสัมพันธ์โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ให้กับนักลงทุนฝรั่งเศส

ส่วนเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. คณะของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมหารือกับคณะเอกชนไทยที่ร่วมเดินทางมายังฝรั่งเศส ตั้งแต่ประธานสภาอุตสาหกรรม หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย ภาคเอกชนไทยอาทิไทยยูเนี่ยนฟู้ดส์, Loxley, มิตรผล, PTT, GC, Sea Value, Double A, Michelin Siam, ป่าใหญ่ครีเอชั่น และทีวีบูรพา โดยหารือกันที่โรงแรม Westin ในกรุงปารีส พร้อมบันทึกความเข้าใจและลงนามสัญญาระหว่างภาคเอกชนไทยกับฝรั่งเศสด้วยรวม 3 ฉบับ ทั้งนี้ตามรายงานในวอยซ์ทีวี

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า: จุดเริ่มต้นของการคุ้มครองทางสังคมทั้งระบบ

Posted: 25 Jun 2018 09:53 AM PDT

โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดที่รัฐบาลได้มอบให้สังคม โดยเป็นการปิดช่องว่างของระบบสวัสดิการ ทำให้เด็กเล็กได้มีโอกาสเข้าถึงระบบสวัสดิการ มีความมั่นคงทางการเงิน และเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวกลับมาถึง 7 เท่า เพราะเด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาต่อเนื่องไปช่วงวัยอื่นๆ

"การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมที่ดีที่สุดในระยะยาว โดยให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคต 7-10 เท่า" ศ.ดร.เจมส์ เจ เอคแมน, นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล 2542  


นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ประเทศไทยพยายามที่จะสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับทุกคนและทุกช่วงวัย และไทยถือได้ว่าเป็นผู้นำของประเทศกำลังพัฒนาในการมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อคุ้มครองสภาวการณ์ที่มีความเสี่ยงต่างๆ อาทิ สวัสดิการรักษาฟรี (สำหรับผู้ป่วย) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (สำหรับผู้สูงอายุ) เบี้ยยังชีพคนพิการ (สำหรับผู้พิการ) และสวัสดิการเรียนฟรีถ้วนหน้า (สำหรับวัยเรียน)  แต่ระบบสวัสดิการของไทยดังกล่าวบางส่วนได้ครอบคลุมในทุกกลุ่มอายุแล้ว โดยเฉพาะแรงงานในระบบประกันสังคมซึ่งได้รับเงินสงเคราะห์เด็กสำหรับบุตรอายุ 0-6 ปี ในขณะที่ลูกของแรงงานนอกระบบประกันสังคมไม่ได้รับ

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 เห็นชอบหลักการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยให้เงินอุดหนุนแก่เด็กแรกเกิด ที่เกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 30 กันยายน 2559 อยู่ในครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน รายละ 400 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 12 เดือน 

ผลการประเมินสถานการณ์จำลองโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ (EPRI) พบว่าการให้เงินกลุ่มเป้าหมายทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อการลดลงของความยากจน โดยจะลดลงมากที่สุดหากรัฐบาลให้เงินอุดหนุนจำนวน 600 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี จะช่วยลดความยากจนได้มากกว่าการให้เงิน 400 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 1 ปี ถึง 6 เท่าตัว ข้อเสนอดังกล่าวทำให้คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22มีนาคม 2559 มีมติเห็นชอบให้ดำเนินงานโครงการต่อเนื่อง โดยให้เงินอุดหนุนแก่เด็กแรกเกิดจนถึง 3 ปี และเพิ่มเงินอุดหนุนเป็นรายละ 600 บาทต่อเดือน และเป็นโครงการแรกที่จ่ายเงินสวัสดิการผ่านระบบ e-payment

การศึกษาเบื้องต้นโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ (EPRI) พบผลที่น่าสนใจของการได้รับเงินอุดหนุน 3 ประการ ได้แก่

(1) เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนมีภาวะโภชนาการดีกว่า คือ ได้รับอาหารการกินที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับเงิน มีน้ำหนัก ส่วนสูงดีกว่า รวมทั้งโภชนาการของเด็กคนอื่นๆ ในครัวเรือนก็ดีขึ้นด้วย

(2) เด็กที่ที่ได้รับเงินอุดหนุนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับเงิน เช่น มีเงินเป็นค่าเดินทางไปพบแพทย์หรือเข้ารับการฉีดวัคซีนตามนัดได้มากขึ้น

(3) ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งและความมั่นคงทางจิตใจให้กับผู้หญิง จากการได้รับเงินอุดหนุนฯ เป็นประจำ ทำให้ผู้หญิงมีอำนาจในการตัดสินใจใช้จ่ายเงินที่ได้รับมาเพื่อจัดหาอาหารและสิ่งของที่จำเป็นได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจะดำเนินโครงการมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว แต่จากการประเมินการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของโครงการซึ่งกำหนดเงื่อนไข/คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะครอบครัวยากจนหรือเสี่ยงจน ซึ่งหมายถึงสมาชิกในครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ต้องมีผู้รับรองและผ่านการอนุมัติการขอลงทะเบียน เป็นเหตุให้เกิดภาวะการณ์ 2 รูปแบบ คือ "ภาวะรั่วไหล" หรือคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายแต่ได้รับเงิน (Inclusion error) และ "ภาวะตกหล่น" หรือการเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง (Exclusion error) และจากการศึกษาพบว่ายังมีภาวะการตกหล่นถึง 30% ซึ่งแม้ว่าตัวเลขนี้จะไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ดำเนินนโยบายในลักษณะเดียวกัน แต่ภาวะตกหล่นก็เป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญ เพราะหากเป้าหมายของสวัสดิการนี้คือการช่วยเหลือกลุ่มคนจนและเสี่ยงจนแล้ว เรื่องนี้ก็คงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และควรร่วมกันแก้ไข

ปัญหาจากการดำเนินงานอีกประการคือ การให้สวัสดิการแบบเฉพาะเจาะจงนี้จำเป็นต้องมีการกำหนดจำนวนกลุ่มเป้าหมายเพื่อตั้งงบประมาณ และการดำเนินงานในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาพบว่างบประมาณที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอสำหรับจ่ายให้กับผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุน โดยเกิดภาวะขาดจ่ายเงินอุดหนุนนานถึง 5 เดือน ในปี 2560 และ 3 เดือน ในปี 2561 การหยุดจ่ายเงินอุดหนุนส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ได้รับสิทธิ์ สังเกตได้จากจำนวนครั้งที่มีการติดตามสอบถามเรื่องการโอนเงินอุดหนุน รวมทั้งข้อร้องเรียนต่างๆ

สำหรับภาวะรั่วไหล หากจะแก้ไขปัญหานี้โดยเพิ่มความเข้มงวดของกระบวนการคัดกรองแล้ว ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดการกีดกันไม่ให้คนจนเข้าถึงเงินอุดหนุนมากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือภาวะตกหล่นก็จะยิ่งสูงขึ้น และกระบวนการที่เข้มงวดก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อการตรวจสอบที่มากขึ้นด้วย

ระบบการคัดกรองเป็นการตีตราคนจน เป็นการคิดแบบสงเคราะห์ แต่การใช้หลักถ้วนหน้า จะเป็นก้าวสำคัญนำไปสู่การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างถ้วนหน้า นอกจากนี้ การให้เงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้าจะลดปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ ผู้ได้รับสิทธิ์จะได้รับเงินอุดหนุนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งประโยชน์ที่เด็กจะได้รับก็จะได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างระบบฐานข้อมูลที่สมบูรณ์ ไม่มีเด็กตกหล่น และสามารถส่งต่อข้อมูลนี้เพื่อไปเชื่อมกับระบบสวัสดิการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบการศึกษา ซึ่งเป็นฐานของการสร้างระบบรัฐสวัสดิการในอนาคตที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น.

 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาสังคมชายแดนใต้อัดทหารตำรวจสนธิกำลังบุกบ้านนักสิทธิฯ หญิง มั่วข้อกฎหมาย

Posted: 25 Jun 2018 09:42 AM PDT

ภาคประชาสังคมเรียกร้องรัฐบาลตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารบุกค้นบ้านคุกคามนักวิชาการนักปกป้องสิทธิหญิงจังหวัดชายแดนใต้ ชี้ใช้อำนาจกฎหมายอย่างขาดความระมัดระวัง และขาดความถูกต้องชอบธรรม ระบุหากพบว่ามีความผิดจริงต้องมีมาตรการเยียวยา

 

แถลงการณ์ องค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้

ยุติและสอบสวนการอ้างใช้อำนาจกฎหมายพิเศษค้นบ้านพัก
ของหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (POAW)

เมื่อวันศุกร์ ที่ 22 มิถุนายน 2561 มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสนธิกำลังค้นบ้านพักนางโซรยา จามจุรี หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นนักวิชาการในสังกัดของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (POAW) รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มในการเสนอให้คู่ขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) สร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัย โดยให้ตกลงกันบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพในสถานการณ์ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้

เหตุเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 15.30 น. ได้มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ดังกล่าวประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจำนวน 2 คันรถ มาตรวจค้นบริเวณชุมชนและที่บ้านของนางโซรยา จามจุรี โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าอาจจะมีคนร้ายหลบซ่อนอยู่จากเหตุการณ์ที่มีคนร้ายวางระเบิดตู้เอทีเอมในช่วงเดือนรอมฏอนที่ผ่านมา โดยมีการตรวจค้นบ้านในบริเวณดังกล่าวประมาณสามหลัง

ทั้งนี้บ้านพักของหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2548 ตามอำนาจพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (2548) และพื้นที่ตามอำนาจ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก (2457) นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2547

ตามอำนาจ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน มาตรา 11 (4) ซึ่งให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาตามคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที

ในการตรวจค้นเนื่องจากเป็นการค้นบ้านที่อยู่อาศัย เมื่อหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนท่านนี้ ขอดูหมายค้นที่ออกโดยศาล ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกับตามหลักการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือต้องมีหมายค้นจากศาลในท้องที่ เช่นเดียวกับที่เมื่อเจ้าหน้าที่ต้องการจับกุมบุคคลก็ต้องขอให้ศาลงออกหมายควบคุมตัวที่เรียกกันว่า หมายฉฉ. เป็นต้น แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาแสดงตนขอค้นเคหะสถานไม่สามารถแสดงหมายค้นของศาลตามที่หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนขอให้แสดงได้ แทนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกลับไปขอหมายศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับอ้างใหม่ว่าใช้อำนาจเพื่อค้นตาม พรบ.กฎอัยการศึก ซีงหลังจากตรวจค้นแล้วก็ไม่พบคนร้ายหรือสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ แสดงให้เห็นถึงสภาพปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษฉบับต่างๆที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ จชต. อย่างสับสนตลอดมาดังนี้

1. กฎหมายพิเศษในพื้นที่ควรใช้อย่างระมัดระวังและให้ส่งผลกระทบถึงประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งยึดมั่นถึงเจตนารมณ์ โดยเฉพาะพ.ร.บ.ฉุกเฉินมีเจตนารมณ์เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติ ไม่ใช่การติดตามค้นหาผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วอย่างสุ่มเสียงที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งสิทธิในเคหสถานโดยไม่จำเป็น

2. การอ้างอำนาจตามกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นไปอย่างชัดเจนถูกต้องชอบธรรม เมื่ออ้างว่าต้องการค้นตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อถูกโต้แย้งว่าไม่มีหมายค้นจาก เจ้าหน้าที่กลับอ้างการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษอีกฉบับหนึ่งคือกฎอัยการศึก อันเป็นการใช้อำนาจอย่างสับสน และอาจมีลักษระตามอำเภอใจ ทำให้ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจซี่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย

นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง อาจเข้าข่ายการข่มขู่คุกคามและสร้างความหวาดกลัวนักกิจกรรมหญิงท่านนี้และครอบครัว บุคคลใกล้ชิด ชุมชน

โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ.2560 คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี องค์การสหประชาชาติต่อประเทศไทย ในการรายงานสถานการณ์สิทธิสตรีตามวาระของประเทศไทยที่รวมรายงานครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 เมื่อปีพ.ศ.2560 ในย่อหน้าที่ 30 ว่า คณะกรรมการฯ แสดงความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง ที่ทำงานรณรงค์โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในที่ดิน การปกป้องสิ่งแวดล้อม สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของคนชนบท เลสเบียน ไบเซ็กชัล หญิงข้ามเพศ และหญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตกเป็นเป้าหมายการฟ้องร้องดำเนินคดี การคุกคาม การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ที่เป็นผลจากการทำงานของพวกเธอโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรธุรกิจ โดยมีข้อเสนอว่า ให้มีในข้อ (b) ระบุว่าให้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินคดีและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างเหมาะสมทุกกรณีที่มีการคุกคาม การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้มีการเยียวยาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงด้วย

องค์กรภาคประชาสังคมและบุคคลตามรายนามด้านล่างนี้ข้อเสนอให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ ส่วนหน้าดำเนินการดังนี้อย่างเร่งด่วน

1. ขอให้มีการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระต่อการปฏิบัติงานครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกลุ่มดังกล่าว และแสดงความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมต่อกรณีที่มีการคุกคามหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยชอบ ใช้อำนาจสมควรแก่เหตุหรือสุจริตหรือไม่

2. หากพบว่าเป็นการข่มขู่หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องจัดให้มีการเยียวยาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในการข่มขู่ลักษณะเช่นนี้

 

รายชื่อองค์กรและบุคคลที่ลงนาม

1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

2. กลุ่มด้วยใจ

3. ศูนย์อัลกุรอ่านและภาษา QICC

4. มูลนิธิดารุสลามเพื่อเด็กกำพร้าจังหวัดปัตตานี

5. เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

6. มูลนิธิศักยภาพชุมชน

7. เครือข่ายชุมชนศรัทธา กัมปงตักวา

8. มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า(FECO)

9. มูลนิธินูซันตารอเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

10. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

11. เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ PERMATAMAS

12. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

13. องค์กรสันติภาพและเพื่อสิทธิมนุษย์ชน OPHR

14. เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสี่อำเภอจังหวัดสงขลา(จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย)

15. มาเรียม ชัยสันทนะ สมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กเยาวชนชายแดนใต้

16. แวอิสมาแอล แนแซ

17. รอฮานี จือนารา

18. ทวีศักดิ์ ปิ

19. แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา

20. ฟารีดา ปันจอร์

21. พาฮีสะห์ ท้วมงาม

22. รอมฎอน ปันจอร์

23. สมัชชา นิลปัทม์

24. นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

25. มูฮำหมัด ดือราแม

26. อิมรอน ซาเหาะ

27. ไฟซอล ดาโอ๊ะ อาจารย์คณะรัฐศาสต์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

28. อลิสา บินดุส๊ะ

29. ชลธิชา แจ้งเร็ว

30. ดร.ฟารีดา สุไลมาน

31. ฮุสนี เบ็นหะยีคอเนาะ ผู้จัดการรร.ศาสนบำรุง

32. อิมรอน โสะสัน นักศึกษาปริญญาเอกด้านนโยบายสาธารณะ AUT University, New Zealand

33. อิสมาเเอล หมัดอาดัม. สภาเครือข่ายมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี

34. อับดุลอาซิส ตาเดอินทร์

35. ศิริพร ฉายเพ็ชร มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

36. อันธิฌา แสงชัย ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู

37. อับดุลเราะมัน มอลอ รัฐศาสตร์ ม.หาดใหญ่/ สถาบันปาตานีเพื่อการวิจัยและพัฒนามนุษย์

38. เอกราช ซาบูร์ เครือข่ายมุสลิมแห่งเอเชีย

39. สุไลมาน เจ๊ะแม

40. ทัศนียา หะยีโซะ

41. ดาราณี ทองศิริ

42. ดันย้าล อับดุลเลาะ นักศึกษาปริญญาโทสาขาพัฒนาสังคม

43. รอดียะห์ บินติ อาลี สาลี นักวิชาการศึกษา

44. ซาหดัม. แวยูโซ๊ะ

45. นาดา ไชยจิตต์

46. Subaky Binkamit

47. วาสนา สาเมาะ

48. หวันมูหัมหมัด ฟาอิส เสมอภาพ

49. ฐิตินบ โกมลนิมิ

50. นารึรัตน์ สาเม๊าะ สมาคมสตรีมุสลิม สงขลา

51. รอดียะห์ บินติ อาลี สาลี นักวิชาการศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามศึกษา อ.แม่สอด

52. ดร.ฆอซอลี เบ็ญหมัด

53. สถาบันปอเนาะบัยตุลอิฮซาน

54. ดุลยรัตน์ บูยูโส๊ะ

55. เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

56. มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรินทร์: ชาวบ้านเดือดร้อน นายทุนรุกที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ไล่ชาวบ้านไปเลี้ยงวัวที่อื่น

Posted: 25 Jun 2018 09:22 AM PDT

กลุ่มผู้เลี้ยงวัวบ้านพนม จ.สุรินทร์ยื่นหนังสือร้องผู้ใหญ่บ้าน ที่สาธารณะประโยชน์ที่มีไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ของชุมชนถูกบุกรุกจับจอง ผู้บุกรุกอ้างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ปลัดอำเภอ/กำนัน ลงตรวจสอบพื้นที่เห็นร่องรอยการบุกเบิก แต่ยังไม่ได้พบผู้บุกรุก

วันนี้ (25 มิ.ย.61) ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สุรินทร์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 61 ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านมีชาวบ้านผู้เลี้ยงวัว บ้านพนม หมู่ 7 ต.ประทัดบุ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ กว่า 20 คน เข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายเปรียว สุขลอย ผู้ใหญ่บ้าน บ้านพนม หมู่ 7 ต.ประทัดบุ โดยในหนังสือมีข้อความระบุว่า พวกเราชาวบ้านผู้เลี้ยงวัว บ้านพนม หมู่ 7 ตำบลประทัดบุ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ได้พบเห็นนาย ก.(นามสมมุติ) ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน แห่งหนึ่งในตำบลประทัดบุ ได้ทำการไถพื้นที่ป่าทำเล ป่าเสมาะเกรียล ป่าประเลียน ป่าปวงตึก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พวกเราใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงวัว ซึ่งกลุ่มบุคคลที่มาทำการไถเพื่อเป็นพื้นที่เช่าในการปลูกมันสัมปะหลัง ได้บอกว่า ไม่ใช่ที่ของทำเลเลี้ยงวัว และได้บอกให้ไล่วัวไปเลี้ยงบนเขาสวาย และยังบอกว่าจะทำการไถเพื่อแบ่งเป็นล็อกๆให้บุคคลที่ต้องการปลูกมัน มาเช่าเพื่อทำการปลูกมันสำปะหลัง ต่อมาชาวบ้านยังพบเห็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งเป็นลูกน้องของหัวหน้า ( ต.) ได้มาชี้เขตให้กับนาย ก.(นามสมมุติ) และนายทุน พวกเราไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะได้รับความเดือดร้อนไม่มีที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ขอให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยพวกเรา ชาวบ้านกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ช่วยตรวจสอบว่าพวกเราสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวเลี้ยงวัวได้ไหม



นายเปรียว สุขลอย ผู้ใหญ่บ้าน บ้านพนม หมู่ 7 ต.ประทัดบุ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง นายพิสิฐ ประดับวัน กำนันตำบลประทัดบุ เพื่อทราบแล้วหาแนวทางประสานช่วยเหลือต่อไป

ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่ป่าเสมาะเกรียล ป่าประเลียน ป่าปวงตึก หมู่ 7 ต.ประทัดบุ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ นายเขศทัต วรรณสัย ปลัดอำเภอปราสาท นายพิสิฐ ประดับวัน กำนันตำบลประทัดบุ รองประธานสภา อบต. สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านในตำบลประทัดบุกว่า 14 คน และชาวบ้านผู้เสี้ยงวัวอีกกว่า 20 คน ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ว่าที่ดินป่าทำเลมีนายทุนมาบุกรุก และไล่ชาวบ้านผู้เลี้ยงวัวออกนอกพื้นที่ ซึ่งได้เคยมีการรังวัดสอบแนวเขต เมื่อปี 2528 แล้วได้เนื้อที่กว่า 1,801 ไร่ 2 งาน 15 ตารางวา แต่ในการตรวจสอบในครั้งนั้น ยังไม่มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้ ต่อมาเมื่อปี 2557 คณะกรรมการชี้แนวเขตนำชี้ในพื้นที่แปลงนี้ และในการตรวจสอบนั้น มีชาวบ้านมาคัดค้านหลายราย ซึ่งในส่วนที่ไม่มีการคัดค้าน มีเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่ แต่มีชาวบ้านแอบมาจับจองครอบครองที่ส่วนนี้ และได้ตกลงขายที่ส่วนนี้ให้นายทุนไป

นางพลอย (นามสมมุติ) เป็นคนบ้านพนม หมู่ 7 ต.ประทัดบุ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เล่าว่า เมื่อก่อนตนเคยถามพ่อตนว่า ทำไมไม่ไปจับจองที่ดินตรงนี้เหมือนเขา พ่อตนเลยบอกกลับมาว่า ที่ตรงนี้ไม่ต้องไปจับจองหรอก มันเป็นที่ป่าทำเล ถึงจะจับจองไปเดี๋ยวหลวงก็มาเอาคืน ส่วนตอนนี้ มีนายทุน มาซื้อเอาจากชาวบ้านที่กล้ามาจับจองในสมัยก่อน เขาก็มาขายให้นายทุน นายทุนก็ส่งคนเอารถมาไถที่ แบ่งเป็นแปลง ซึ่งเขามาบอกก็คนเลี้ยงวัวแถวนี้ว่า เขาดำเนินคดีชนะแล้ว เลยมาไถไว้เป็นแปลงๆ ไว้ให้ชาวบ้านมาเช่าที่ปลูกมันสำปะหลัง ตอนนี้พวกตน กลุ่มคนเลี้ยงวัวกว่า 20 คน มีวัวทั้งหมดกว่า 1,000 ตัว เดือดร้อนหนัก ไม่มีที่เลี้ยงวัวแล้ว ซึ่งนายทุนก็ได้ไล่พวกตนให้ไปเลี้ยงวัวอยู่บนเขา แต่บนเขามันมีแต่ต้นไม้ ไม่สามารถจะเอาวัวไปเลี้ยงได้

นายเติม ปรึกษาดี อายุ 73 ปี ชาวบ้านพนม หมู่ 7  ต.ประทัดบุ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนเลี้ยงวัวอยู่ 30 ตัว และตนก็ไม่รู้จะทำยังไงหากนายทุนมากีดกันไม่ให้นำวัวมาเลี้ยงบริเวณนี้ ซึ่งเท่าที่ตนเห็นการไถแล้ว เหมือนว่า แบ่งเป็นแปลงๆ เพื่อให้ชาวบ้านมาเช่าทำกิน ตนอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยมาดู ให้มันกระจ่างเสียทีว่าที่ดินแปลงนี้มันเป็นยังไง แค่ให้เป็นที่เลี้ยงวัวได้ตนก็พอใจแล้ว ซึ่งตอนนี้เอง มีชาวเลี้ยงวัวอีกหลายๆ คนไม่กล้านำวัวมาเลี้ยงที่บริเวณนี้ เพราะกลัวเรื่องข้อพิพาทที่กำลังเกิด

นางแปะ มั่งคั่ง อายุ 68 ปี อยู่บ้านพนม หมู่ 7  ต.ประทัดบุ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ กล่าวว่า มีชาวบ้านที่นำวัวมาเลี้ยงเมื่อหลายวันก่อนได้พบเห็นคนๆ หนึ่ง กำลังใช้ไถนามาไถที่ดินในแปลงนี้  เลยถามไปว่า จะมาไถทำไม ทำไมถึงกล้าไถ ไม่กลัวหลวงมายึดรถไถเหรอ คนไถนาเลยตอบมาว่า จะกลัวไปทำไม คุณเอ (นามสมมุติ) ให้มาไถ ไม่กลัว ไถเป็นล็อกๆไว้แล้ว

ซึ่งที่ดินตรงนี้ที่ตนทราบมาคือ เป็นที่ทำเลสาธารณะประโยชน์ มาตั้งแต่สมัย ปู่ ย่า ตา ทวดแล้ว ในสมัยที่ปู่ทวดของตนซึ่งอดีตเคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านพนมแห่งนี้ สมัยนั้นปู่ทวดท่านก็ไปจับจองที่ดิน ตรงที่มีโฉนดเท่านั้น ส่วนที่ดินสาธารณประโยชน์ ปู่ทวดจะไม่มายุ่งไม่มาจับจอง เพราะว่ามันครอบครองไม่ได้ ตอนนี้ตนก็อายุจะ 70 ปีแล้ว และก็ไม่เคยทราบเรื่องมาก่อนว่ามีการซื้อขายที่ดินป่าทำเลแห่งนี้ ซึ่งตนประกอบอาชีพเลี้ยงวัวมาแล้วกว่า 20 ปี เลี้ยงทั้งหมด 23 ตัว และหากที่ป่าทำเลนี้ไปตกเป็นของนายทุน ตนเดือดร้อนแน่ๆ ไม่มีที่เลี้ยงวัวแล้ว

นายพิสิฐ ประดับวัน กำนันตำบลประทัดบุ เล่าว่า ในอดีตที่แปลงนี้เป็นที่ป่าทำเล ชื่อป่าเสมาะเกรียล ป่าประเลียน ป่าปวงตึก ซึ่งได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2468 มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,500 ไร่ ต่อมาได้มีการรังวัดสอบแนวเขต เมื่อปี 2528 ได้เนื้อที่ 1,801 ไร่ 2 งาน 15 ตารางวา ซึ่งในการตรวจสอบในครั้งนี้ ยังไม่มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แต่ก็ไม่มีเรื่องคืบหน้า จนกระทั่ง เมื่อปี 2557 มีชาวบ้านร้องเรียนไปที่สำนักปลัดนายกฯ ทางสำนักปลัดนายกฯ ก็ได้มีหนังสือสั่งการลงมาให้ทาง จังหวัดสุรินทร์เข้าตรวจสอบ จังหวัดก็สั่งการมาที่อำเภอปราสาท ทางอำเภอปราสาทก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบ คือคณะกรรมการชี้แนวเขต เพื่อที่จะนำชี้ในพื้นที่แปลงนี้ และในการตรวจสอบนั้น มีชาวบ้านมาคัดค้านหลายราย ซึ่งในส่วนที่ชาวบ้านมาคัดค้านตนเองก็ไม่ติดใจอะไร ตนติดใจในส่วนที่ไม่มีการคัดค้าน ตนอยากจะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ช่วยมาผลักดันให้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยวัย เพราะไม่งั้น ชาวเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวก็จะได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

ต่อมาเมื่อไม่กี่วันก่อน ตนได้รับหนังสือร้องเรียนจากทางผู้ใหญ่บ้าน ว่ากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวบ้านพนม โดนบุคคลที่มาไถที่ดินแปลงนี้ ไล่ให้ไปเลี้ยงวัวที่อื่น ว่าที่ดินแปลงนี้ไม่ใช่ที่ป่าทำเล เป็นที่ส่วนบุคคล เป็นที่มรดก อะไรประมาณนั้น ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างมากเลยทำหนังสือร้องเรียนผ่านทางผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งการที่ตนลงมาตรวจสอบพื้นที่ในวันนี้ เห็นมีการไถแบ่งเป็นล็อกๆไว้ โดยไม่ทราบเจตนาของผู้ที่มาไถ แต่ตนได้สอบถามผู้เสี้ยงวัวว่าคนที่มาไถ มีเจตนาจะแบ่งล็อกให้เช่า

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจ้าของร้านอาหารระบุเชิญโฆษกทำเนียบขาวพ้นร้านเพราะเธอทำงานให้ รบ.ทรัมป์ที่โหดร้าย

Posted: 25 Jun 2018 08:57 AM PDT

ซาราห์ ฮัคคาบี แซนเดอร์ส โฆษกของทำเนียบขาวและที่ปรึกษาด้านการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกเชิญออกจากร้านอาหารแห่งหนึ่งเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่พอใจที่เธอทำงานให้กับรัฐบาลที่ "ไร้มนุษยธรรม" และเจ้าของร้านก็บอกว่าคนแบบนี้ต้อง "รับผิดชอบกับความผิดของตัวเองบ้าง" โดยที่ตัวฮัคคาบีเองก็เคยกล่าวสนับสนุนการเหยียดและกีดกันคนรักเพศเดียวกันจากการใช้บริการทางธุรกิจมาก่อน

ซาราห์ ฮัคคาบี แซนเดอร์ส โฆษกของทำเนียบขาว (แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

25 มิ.ย. 2561 วอชิงตันโพสต์สัมภาษณ์เจ้าของร้านอาหารในรัฐเวอร์จิเนียที่กลายเป็นข่าวในสหรัฐฯ ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากร้านอาหารเล็กๆ ที่ชื่อ "เรดเฮน" ร้านนี้ปฏิเสธไม่ให้บริการกับซาราห์ ฮัคคาบี แซนเดอร์ส โฆษกของทำเนียบขาวและที่ปรึกษาด้านการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยให้เหตุผลว่าฮัคคาบีทำงานให้กับรัฐบาลที่โหดร้าย "ไร้มนุษยธรรมและไร้จรรยาบรรณ"

สเตฟานี วิลคินสัน เจ้าของร้านอาหารแห่งนี้กล่าวว่าถ้าหากเป็นไปได้เธอก็จะทำแบบเดียวกันอีก "พวกเราแค่รู้สึกว่า มันมีช่วงเวลาหนึ่งที่คนเราควรจะต้องรับผิดชอบกับความผิดของตัวเองเสียบ้าง และนี่ก็คือช่วงเวลาที่ว่า"

หลังเกิดเหตุการณ์นี้ ฮัคคาบีก็โพสต์ในทวิตเตอร์ลงวันที่ 23 มิ.ย. ระบุว่าเธอถูกเชิญให้ออกจากร้านอาหารเรดเฮนในเมืองเล็กซิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย เนื่องจากเธอทำงานให้กับรัฐบาลทรัมป์

ตัวของฮัคคาบีเองก็เคยเป็นผู้ที่เคยสนับสนุนการกีดกันคนรักเพศเดียวกันมาก่อน ด้วยการบอกว่าเธอยอมรับได้ถ้าหากคนทำเค้กต้องการแขวนป้ายระบุว่า "พวกเราไม่รับทำเค้กให้กับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน" จากกรณีก่อนหน้านี้ที่เจ้าของร้านมาสเตอร์พีซเค้กชอปปฏิเสธไม่ทำเค้กให้กับคู่แต่งงานคนรักเพศเดียวกัน สื่อ Vox ระบุว่านั่นทำให้เรื่องที่ฮัคคาบีขุดร้านนี้มาแฉต่อสาธารณะเป็นเรื่องที่ "มือถือสากปากถือศีล" ย้อนแย้งกันในตัวเองกับสิ่งที่เธอปฏิบัติต่อชาวเกย์

วิลคินสันบอกอีกว่าหนึ่งในสาเหตุที่เธอปฏิเสธไม่บริการให้กับฮัคคาบีเพราะสาเหตุเรื่องจุดยืนของฮัคคาบีต่อสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน คนทำงานในร้านของเธอเองก็มีหลายคนที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งนอกจากพวกเขาจะรู้สึกแย่กับจุดยืนเรื่องคนรักเพศเดียวกันแล้วพวกเขายังไม่พอใจที่ฮัคคาบีปกป้องนโยบายพรากลูกจากผู้อพยพของรัฐบาลทรัมป์ด้วย

สื่อ Vox ระบุอีกว่ารัฐบาลทรัมป์มักจะใช้วิธีการแบบหยาบคาย ไม่ว่าจะเป็นการทวีตหรือพูดจาแย่ๆ ต่อกลุ่มบุคคลต่างๆ แม้กระทั่งกล่าวหาว่าเรื่องการพรากลูกจากผู้อพยพที่ชายแดนเป็น "เรื่องกุขึ้น" ถึงแม้จะมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลทรัมป์ให้ยาทางการแพทย์กับเด็กโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากครอบครัวหรือตัวเด็กเอง

วิลคินสันเปิดเผยอีกว่าในตอนที่ฮัคคาบีมาที่ร้านนั้นตัวเธอเองไม่ได้อยู่ที่ร้าน แต่มีพนักงานนร้านอาหารติดต่อเธอว่าฮัคคาบีเข้ามาที่ร้านและทำให้เหล่าพนักงานรู้สึกเป็นกังวล ทำให้วิลคินสันเดินทางไปที่ร้านและบอกกับพนักงานว่าเธอจะเป็นคนขอเชิญให้ฮัคคาบีออกจากร้านเอง ซึ่งพนักงานก็เห็นด้วย

วิลคินสันบอกว่าตัวเธอเองไม่ใช่คนที่ขอบการเผชิญหน้าสักเท่าใด เธอก็มีธุรกิจที่อยากจะให้มันเติบโต แต่การทำเช่นนี้มันก็ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับชีวิตในระบอบประชาธิปไตยที่คนเราอาจจะต้องทำในสิ่งที่ไม่สะดวกใจบ้างเพื่อดำรงจุดยินของตัวเอง

กีดกันเกย์ กับกีดกันตัวบุคคลเหมือนกันหรือไม่

ในประเด็นเรื่อง การเหมารวมกีดกัน-เลือกปฏิบัติ หรือที่เรียกว่า "discrimination" นั้น ความหมายระดับนานาชาติของคำๆ นี้หมายถึงการกีดกันด้วยฐานคติจากอัตลักษณ์ติดตัวบุคคลต่างๆ เช่น เพศสภาพ, เพศวิถี, เชื้อชาติ, ความพิการ เป็นต้น การกีดกันปัจเจกบุคคลคนๆ หนึ่งด้วยความไม่พอใจพฤติกรรมหรือนโยบายทางการเมืองที่พวกเขามีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่ถูกเหมารวมไปด้วย ไม่ถือเป็นการ discrimination เพราะพฤติกรรมและนโยบายทางการเมืองไม่ใช่อัตลักษณ์ที่ติดตัวบุคคล

เรียบเรียงจาก

The owner of the Red Hen explains why she asked Sarah Huckabee Sanders to leave, Washington Post, 23-06-2018

'I Would Have Done the Same Thing Again.' Restaurant Owner on Why She Asked Sarah Huckabee Sanders to Leave, Time, 24-06-2018

Sarah Sanders is upset because a restaurant wouldn't serve her. She's okay with it happening to gays., Vox, 23-06-2018

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Equality and Non-discrimination, UN

Discrimination, Wikipedia
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาถกวิกฤต-โอกาส กรณีให้ E-sport เป็นกีฬา หวั่นเป็นดาบสองคม

Posted: 25 Jun 2018 07:58 AM PDT

วงผู้เชี่ยวชาญหลากวิชาชีพวิเคราะห์ปมการให้ E-sport เป็นกีฬา แม้จะเป็นอีกหนทางความสำเร็จสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ยังขาดคุณสมบัติในการเป็นกีฬาหลายประการทั้งด้านเนื้อหาเกม ความเป็นสาธารณะ ปัญหาสุขภาพ และความไม่เข้าใจในสังคมไทย แนะทบทวนใหม่โดยมีการพูดคุยกันจากหลายๆฝ่าย

ซ้ายไปขวา:ผศ.ฉัตรชัย ฉัตรปุณญกุล ผศ. กมล จิราพงษ์ ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก ณัฐวุฒิ เรืองเวส นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ (ที่มา: Thai PBS)

เมื่อ 15 มิ.ย. 2561 สถานีวิทยุและโทรทัศน์สุขภาพแห่งชาติจัดเวทีเสวนาเจาะประเด็น หัวข้อ "E-Sport" เกม กีฬา ท้าทาย "โรคดิจิทัล" ครั้งที่ 2/2561 ณ ห้องจัดเลี้ยง 2 ชั้น 3 อาคารสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

งานเสวนามีวิทยากรทั้งหมด 6 คนได้แก่ ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก จากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ผศ.ฉัตรชัย ฉัตรปุณญกุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.กมล จิราพงษ์ คณบดีคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย โดยมีเสถียร วิริยะพรรณพงศา จากสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เป็นผู้ดำเนินรายการ

เสวนานี้จัดขึ้นหลังจากที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) รับรอง E-Sports เป็นกีฬาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวบล็อกนันรายงานว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ประชุมการกีฬาแห่งประเทศไทยมีมติเห็นชอบพิจารณาให้ E-Sports เป็นกีฬาที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมได้ และจากการอนุมัติในครั้งนี้หากมีการจัดตั้งสมาคมได้สำเร็จ จะทำให้ประเทศไทยสามารถส่งนักกีฬาไปแข่งขัน E-Sports ในฐานะทีมชาติได้ และต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 สกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย มีหนังสือแจ้งมายังสมาคมไทยอีสปอร์ต (TESA) รับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย

มองต่างมุม ถกข้อดี-ข้อเสีย ช่องว่างและช่องโหว่ระหว่างการเป็น 'เกม' กับ 'กีฬา'

ณัฐวุฒิกล่าวว่า การที่ กกท.รับรองให้ E-sport เป็นกีฬาชนิดหนึ่งป็นไปเพื่อการค้นหาผู้ที่สามารถไปแข่งขันในนามประเทศเพื่อสร้างชื่อเสียงและสามารถต่อยอดเป็นกีฬาต่อไปในอนาคตได้ แต่ยอมรับว่า E-sport มีเส้นแบ่งระหว่างเกมและกีฬาที่บางมาก และมีผลกระทบทางสังคมสูง อย่างไรก็ตาม กกท. ได้แบ่งกลุ่มผู้เล่นเกม เป็น 3 รูปแบบ หนึ่ง กลุ่มนักกีฬาที่มีการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนอย่างจริงจัง สอง กลุ่มบุคคลทั่วไปที่เล่นเพื่อความบันเทิง และสาม กลุ่มติดเกม โดย กกท. มีแนวคิดว่าถึงแม้จะไม่มีการอนุมัติให้ E-sport เป็นกีฬาอย่างเป็นทางการก็ยังมีคนเล่น (E-sport) อยู่ดี และไม่ควรยกปัญหาของกลุ่มเด็กติดเกมมาปิดกั้นกลุ่มที่เป็นศักยภาพพอที่จะเป็นนักกีฬาได้ ควรแยกประเด็นปัญหาของกลุ่มติดเกมออกจากการเฟ้นหาผู้ที่มีความสามารถที่จะต่อยอดได้ในอนาคต นอกจากนี้การประกาศให้ E-sport เป็นกีฬา ทาง กกท. ก็สามารถมีส่วนร่วมในการดูแล และเมื่อมีผลกระทบหรือปัญหา กกท. ก็สามารถทบทวนมติใหม่ได้ ดีกว่าไม่อนุมัติแล้วอยู่นอกระบบ ไม่มีส่วนร่วมในการดูแลและแก้ไขปัญหาต่างๆ

ยงยุทธกล่าวว่า มีอยู่ 2 ปัญหาที่ทำให้ E-sport ยังมีหนทางอีกยาวไกลสู่ความเป็นกีฬา คือ การไม่ระบุเนื้อหาของเกมที่เพียงพอ ในปัจจุบัน ทั้งเกมแนวกีฬาอย่าง NBA2K หรือ FIFA (เกมกีฬาบาสเกตบอลและฟุตบอลตามลำดับ) หรือเกมหมากรุก อาจนับว่าเป็น E-sport ได้ แต่ปัญหาคือเกมที่มีความรุนแรงหรือเกมแนววางแผนต่อสู้ออนไลน์ (MOBA) ประเทศไทยกลับนับให้เป็น E-sport เช่นกัน ซึ่งในบางประเทศยังมองว่า E-sport ต้องเป็นกีฬาที่ไม่ใช้ความรุนแรง และอีกปัญหาหนึ่งคือการที่ไม่มีองค์กรที่ดูแล วางมาตรฐาน และลงโทษได้ในกรณีที่มีการทำผิดกฎ

ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อกล่าวว่า กีฬาต้องปราศจากการผูกขาดและเป็นกรรมสิทธิ์จากบริษัทใดบริษัทหนึ่ง อย่างเช่น ฟุตบอล ที่ใครๆก็สามารถเล่นได้โดยไม่ต้องมีการลงทะเบียน โดยที่องค์กรที่ดูแลเรื่องฟุตบอลไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไร แต่ E-sport และเกมประเภทต่างๆ ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทเอกชน ที่มีรายได้จากผู้เล่นทุกคน นอกจากนี้ กีฬายังต้องมีการออกแรงและใช้ทักษะทางกายภาพ  ซึ่ง E-sport ที่มีการออกแรงแค่นิ้วที่กดเล่นเกมนั้นไม่มีใครนับว่าเป็นทักษะ แต่จัดให้เป็นแค่ความคล่องแคล่วเท่านั้น และในต่างประเทศไม่มีการเรียกผู้เข้าแข่งขัน E-sport ว่าเป็นนักกีฬาแต่จะเรียกว่านักเล่นเกมมืออาชีพเท่านั้น (Professional gamer/ Professional player)

ฉัตรชัยกล่าวว่า การเคลื่อนไหวของ กกท. ทำให้ประเด็นเห็นได้ชัดขึ้นกว่าเดิมที่เกมเป็นเรื่องใต้ดิน ส่วนตัวมองว่า E-sport สามารถเป็นกีฬาได้ แต่ไม่ใช่ทุกเกมจะเป็นกีฬาได้ นอกจากประเด็นถกเถียงเรื่อง E-sport เป็นกีฬาหรือไม่ ยังต้องพูดคุยกันในเรื่องเชิงสถาบันว่าจะต้องมีการควบคุม มาตรฐานของ E-sport อย่างไร ซึ่ง E-sport ยังไม่มีการกำหนดเรื่องนี้อย่างชัดเจนจึงยังไม่ถูกนำเข้าสู่ระบบกีฬา

ภูรินุช บัญชาจารุวัฒน์ จากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยกล่าวว่า E-sport ยังมีความนิยามไม่ชัดเจน แต่การที่อนุมัติให้ E-sport เป็นกีฬา เป็นเหมือนการรับรองทั้งๆ ที่องค์ประกอบต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทุกเกมเป็น E-sport ซึ่งกังวลว่าเป็นการบิดเบือน ทำให้เด็กเข้าใจว่าการเล่นเกมคือการเล่นกีฬา ดีต่อสุขภาพ และครอบครัวไม่ควรขัดขวาง ภูรินุชเสนอว่า รัฐสภา หน่วยงานต่างๆไม่ควรผลักภาระให้ผู้ปกครอง ต้องมีส่วนเข้าไปดูแล กำหนดนิยามและองค์ประกอบที่ชัดเจน รับฟังความคิดจากหน่วยงานต่างๆอย่างแพทย์ และโดยเฉพาะเด็กที่ทั้งเล่นเกมและไม่เล่นเกม โดยเคารพความคิดเห็นของเด็กๆ ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องตัวเด็กเอง นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลถึงการพนัน E-sport ที่เริ่มมีมากขึ้น

พญ. สยมพร ศิรินาวิน ประธานคณะทำงานจัดการข้อมูลประเด็นเด็กไทยกับไอที มองว่าประเทศไทยไม่ควรจะส่งเสริม E-sport ให้เป็นสิ่งที่เด็กต้องโหยหาและมองว่าเป็นอีกหนทางสู่ความสำเร็จ E-sport เป็นโอกาสสำหรับคนบางคนเท่านั้นแต่ไม่ใช่รูปแบบการดำเนินชีวิตที่ดี มีกีฬาอีกมากมายที่ดีกว่า E-sport

กิตติ ชูวัฒนานุรักษ์ นักพัฒนาการเรียนรู้ ผู้จัดแคมป์นักแคสเกมเงินล้านมองว่าทัศนคติในการสื่อสารกันต้องมีการปรับปรุง ผู้ปกครองและเด็กเหมือนคุยกันคนละภาษา สิ่งที่ตนมองเห็นคือ การที่ กกท. ประกาศให้ E-sport เป็นกีฬาคือการโยกย้ายกลุ่มผู้เล่นเพื่อความบันเทิงกลายมาเป็นกลุ่มติดเกมแทน เนื่องจากคิดว่าเป็นหนทางแห่งความสำเร็จโดยที่ขาดรูปแบบการซ้อมที่ถูกต้อง ขาดความเข้าใจว่าต้องใช้ทักษะอะไรในการเล่นจนเป็นนักกีฬา เด็กจะคิดแค่ว่าเล่นให้มากที่สุดถึงจะได้เป็นนักกีฬา

E-sport ความหวังและโอกาสของคนในยุคที่มีอะไรมากกว่า 'เกม' และ 'คนเล่นเกม'

กมล จิราพงษ์ คณบดีคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่าประเด็น E-sport  ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของการตลาดของนักพัฒนาเกม ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม ในฐานะที่เริ่มต้นผลักดัน E-sport เป็นมหาวิทยาลัยแรกไม่ได้มองแค่การผลิตนักกีฬาอย่างเดียว แต่อย่างไรก็คิดว่าควรมีการจัดระเบียบ กำหนดเป้าหมายและรูปแบบ โดยผู้ใหญ่ควรทำให้เด็กเห็นทางเลือกในโลกดิจิทัลในปัจจุบัน และมองว่าถึงไม่มีการประกาศ ให้ E-sport เป็นกีฬา เด็กติดเกมก็เป็นปัญหาสังคมอยู่ดี การจัดระเบียบนี้ต้องยอมรับความจริง และชี้แนะแนวทางให้เด็กอย่างถูกต้อง การไม่เข้าไปดูแล ไม่จัดระเบียบและกำหนดเป้าหมายให้เด็ก เด็กก็จะเล่นเกมอย่างไร้จุดหมาย การจะเรียกเป็นกีฬาหรือไม่นั้นเป็นเรื่องทางเทคนิค ในวงการ E-sport นอกจากจะมีอาชีพนักกีฬาแล้ว ยังมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกมอีกมากมาย อย่าเอาปัญหาเด็กติดเกมมาตัดโอกาสส่วนนี้ กมล ยังกล่าวอีกว่า ไม่ได้มองว่า E-sport ต้องเป็นกีฬาหรือไม่ แต่มองเห็นโอกาสที่จะต่อยอดหลายๆ ด้านในอนาคต โดยเฉพาะด้านธุรกิจ

ในงานเสวนายังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักพากย์ E-sport นักเล่นเกม และผู้เล่นอาชีพอีกด้วย ตรีภพ เที่ยงตรง นักเล่นเกม เจ้าของฉายา Xyclopz อันดับ 9 ของโลก เล่าประสบการณ์ของตนเองว่า เคยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย บุคลิกภาพไม่ดี แต่ก็ได้พัฒนาตนเองจากการเล่นเกม ได้เป็นพิธีกรรายการต่างๆ ตรีภพมองว่า การประสบความสำเร็จในด้านกีฬายากเหมือนกันทุกกีฬาเพราะฉะนั้นจึงไม่ควรปิดหนึ่งในทางเลือกของเด็กๆ ถึงจะไม่เป็นผู้เล่นอาชีพ แต่ก็มีอาชีพอื่นๆ อีกมากมายเกี่ยวกับเกม

พีรัช อิงคุทานนท์ นักกีฬา E-sport ทีม Beyond กล่าวว่า ได้เลิกเรียนเพื่อเตรียมตัวแข่งอย่างจริงจัง ซึ่งครอบครัวสนับสนุนโดยการจัดคอร์สออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายพร้อมกับการเล่นเกมหลายชั่วโมง พีรัชยังกล่าวอีกว่า เมื่อความชอบเล่นเกมกลายมาเป็นอาชีพ ทำให้มีความสุขมาก มองว่าเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีคำว่าสายเกินไป โดย ผศ.กมลกล่าวเสริมว่า การจัดระเบียบตัวเอง การวางแผนชีวิตและการมีครอบครัวสนับสนุน ผลักดันพีรัชไปสู่อนาคตที่สดใสมาก ไม่ใช่แค่การเป็นนักกีฬาเท่านั้นแต่อาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ภาวิต ลิมปสุวรรณ นักเล่นเกม และนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า E-sport น่าสนใจมาก เป็นการยกระดับการเล่นเกมทำให้การเล่นเกมมีเป้าหมายมากขึ้น สร้างรายได้ พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ฐานิต ลิมปสุวรรณ ผู้ปกครองของ ภาวิต กล่าวว่าทั้งหมดนี้ต้องสอนการแบ่งเวลาและจัดลำดับความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนที่ต้องมาก่อน

ปฏิพัทธิ์ รัตน์อนากุล ประธานชมรม E-sport จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า มีการผลักดัน TU E-sport ชมรม E-sport ของโรงเรียนเตรียมอุดม ให้มีการแข่งขันนอกโรงเรียน มีจำนวนสมาชิกเยอะมากจนต้องมีการคัดตัวเข้าชมรม โดยมีครูให้การสนับสนุน หลังจากที่คว้าชัยชนะระดับประเทศเมื่อปีที่แล้ว นพ. ยงยุทธ แย้งว่าได้มีการแข่งขันในหมู่เยาวชนโดยที่ขาดองค์กรที่ดูแลการแข่งขัน และไม่มีการกำหนดเนื้อหาอย่างชัดเจน ทางด้าน ผศ. กมล กล่าวว่า เนื่องจากเริ่มดำเนินการช้า แต่เป็นการดีที่มีการพูดคุยกัน ณัฐวุฒิตอบในกรณีนี้ว่า เนื่องจากเริ่มมีการแข่งขันในวงกว้างแล้ว และการแข่งขันแต่ละครั้งมีการกำหนดเกมที่จะแข่งอย่างชัดเจน จึงต้องอนุมัติให้มีการแข่งขันไปก่อน ซึ่งทาง กกท. จะระบุในส่วนของเนื้อหาในภายหลัง

วิษณุ โคตจรัศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์จุฬาฯ กล่าวว่า นักเล่นเกม E-Sport อาจจะใช้เวลาต่อการเล่นหนึ่งครั้งน้อยกว่า แต่ใช้เวลาฝึกฝนมากกว่า รวมถึงคนเล่นเกมสามารถเทิร์นเป็นนักกีฬา E-Sport ได้ หากรู้จักวินัยในการใช้ชีวิต โดยวิษณุได้ยกกรณีของชมรม E-Sport ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีกติกาว่าหากผลการเรียนต่ำก็จะไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมของชมรม

หลายฝ่ายหวั่นปัญหาสุขภาพ-นายทุนใช้เกมหากินกับเด็ก

ธาม เสนอข้อมูลเชิงสถิติว่า ในปัจจุบัน เกมที่ผู้เล่นมากที่สุดในโลกคือเกม League of Legends ซึ่งเป็นเกมแนว MOBA มีต้นกำเนิดจากประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้เล่นในแถบอเมริกาเหนือถึง 67 ล้านคน แต่ผู้เล่นอาชีพที่มีการเซ็นต์สัญญากับบริษัทมีเพียง 57 คน เท่านั้น คิดเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 1,300,000 คน ถือว่ามีผู้ประสบความสำเร็จในฐานะนักเล่นเกมมืออาชีพน้อยมาก นอกจากนี้ผู้เล่น E-sport ยังมีอายุกีฬาที่สั้นมาก โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้เล่นอาชีพมักเลิกเล่นเมื่ออายุ 26 ปี ในส่วนของระบบการเล่นเกม ธามกล่าวว่า เกมออนไลน์มักวางระบบในระยะแรกของการเล่นเป็นแบบ Free to Play คือระบบที่เล่นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่เมื่อเล่นไปได้สักระยะหนึ่ง เมื่อผู้เล่นเริ่มมีอาการติด จะเริ่มเป็นระบบ Pay to Win คือต้องการเติมเงินซื้อไอเทมต่างๆ ในเกมเพื่อให้เล่นชนะ ซึ่งถือเป็นระบบที่ทำเงินให้กับบริษัทที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เกมอย่างมหาศาล

ธีรารัตน์ ให้ข้อมูลเชิงสถิติว่า ปี 2012 มูลค่ารวมของตลาด E-sport อยู่ที่ 1,400 ล้านบาท และในปี 2017 มูลค่าได้พุ่งมาถึง 20,960 ล้านบาท คาดว่าในปี 2020 E-sport จะมีมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ทั้งยังคำถามว่าว่าใครบ้างที่จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบโดยไม่ผลักภาระให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรวมทั้งต้องมีการทบทวนว่าค่านิยมเกี่ยวกับเกมและกีฬาในสังคมไทยคืออะไร

ธีรารัตน์เสนอประเด็นที่เห็นว่าสำคัญอีกประการคือ สินค้าต่างๆ  ต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากเด็กเกินความเหมาะสม นอกจากนี้ การพนันเกมออนไลน์เริ่มกลายเป็นวาระของชาติเนื่องจากความเข้าถึงง่าย จึงต้องพิจารณาว่าผู้มีส่วนร่วมควรทำอย่างไรบ้าง ในเมื่อยิ่งมีเด็กเล่นก็หมายถึงยิ่งมีเม็ดเงินมหาศาล และต้องพิจารณาว่าโรงเรียนจัดแข่งขันหรือไม่ นอกจากนั้น การนำเสนอข่าวเรื่อง E-Sport ควรทำให้รอบด้านทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะสังคมไทยยังขาดข้อมูล และไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน นอกจากนั้น การกำกับดูแลบนเวทีสาธารณะต้องมีมาตรฐาน ไม่มีฝ่ายใดได้รับประโยชน์ หรือถูกผลักภาระอยู่ฝ่ายเดียว

ยงยุทธกล่าวว่าสมองของมนุษย์มี 2 ส่วน คือส่วนอยากและส่วนคิด ซึ่งเกมแนว MOBA ที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน กระตุ้นสมองส่วนอยาก ทำให้ลดประสิทธิภาพในการใช้ความคิด ก่อให้เกิดอาการติดเกม และทำลายสุขภาพเด็กไทย

พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น  แสดงความกังวลในเรื่องของการเติมเงินซื้อไอเทม ที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เป็นผลเนื่องมาจาก E-sport เช่นในกรณีที่นักศึกษาเป็นหนี้ 4 แสนบาท นอกจากนี้ ยังพบว่าปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวในเยาวชนทวีความรุนแรงมากขึ้น เด็กที่ติดเกมมากมักจะมีอาการถอนรุนแรง ทำเมาส์ทำคีย์บอร์ดแตก การกระตุ้นสมองส่วนอยากแต่ขาดการใช้สมองส่วนคิดทำให้เด็กมีความจำแย่ สมาธิสั้น ขาดการใช้เหตุและผล เช่นในกรณีที่เด็กผู้หญิงติดเกมที่ใช้ความรุนแรง ตีหัวแม่แล้วบอกมือลั่น หรือเด็กผู้ชายเอาไม้มาตีหัวครูที่โรงเรียน นอกจากพฤติกรรมก้าวร้าวแล้วยังพบโรคซึมเศร้า สมาธิสั้น และวิตกกังวล

ศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า เด็กมีแนวโน้มเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าอายุที่เข้าถึงจะต่ำลงเรื่อยๆ แต่อัตราการเสพติดเกมของวัยรุ่นไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เด็กทุกคนที่เล่นเกม มีโอกาสติดเกม ยิ่งเล่นตั้งแต่อายุน้อยก็ยิ่งมีปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตรุนแรง จนเป็นความเจ็บป่วยเรื้อรังและมีผลเสียอื่นๆ ตามมา

ศรีดายังกล่าวว่า ในขณะนี้ไม่ค่อยมีใครนำเสนอถึงผลกระทบจากเกม เพราะแวดวงธุรกิจนำเสนอแต่ด้านดี ต้องมีองค์กรที่ชัดเจนในการปกป้องเด็ก นโยบายสาธารณะที่กระทบคนหมู่มาก ต้องทำให้การกำกับดูแลเกิดขึ้นโดยเร็ว

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไพบูลย์ นิติตะวัน นิยามประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีส่วนร่วม รับฟังแม้ไม่เห็นด้วย

Posted: 25 Jun 2018 07:37 AM PDT

ไพบูลย์ นิติตะวัน ร่วมตัดเกรดประชาธิปไตยชี้จนถึงปี 2557 ยังสอบไม่ผ่าน ประชาชนเห็นว่าประชาธิปไตยมีปัญหาต้องปฏิรูป ส่วนยุค คสช. ต้องถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ต้องให้คะแนน เชื่อเมื่อไหร่ที่พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือประชาชน ประชาชนมีบทบาทโดยตรง ประชาธิปไตยไทยจะมั่นคงสอบผ่านแน่นอน

24 มิ.ย. 2561 ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตวุฒิสมาชิกสรรหาแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. และว่าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปร่วมให้คะแนนประชาธิปไตยไทย ชี้นิยามของประชาธิปไตยของเขาคือ 1. ประชาชนต้องมีส่วนร่วม มีบทบาทโดยตรง 2. มีสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็น รวมทั้งรับฟังความเห็นต่างเคารพความคิดเห็นคนอื่นแม้ว่าจะไม่เห็นด้วย ซึ่งอย่างน้อยต้องขอชมเชยผู้ที่มาร่วมงานเสวนาครั้งนี้ที่ยอมรับฟังความเห็นต่างได้ ถือเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ถ้าพูดถึงสถานการณ์ประเทศตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 ต้องแยกมิติ เพราะ 2475 เริ่มต้นโดยคณาธิปไตย

จากนั้นมีช่วงที่เสียงไมโครโฟนของไพบูลย์หายไป ทำให้ทีมของผู้จัดงานต้องช่วยเปลี่ยนไมโครโฟน โดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ กล่าวแซวว่า "ไม่ได้แกล้งนะครับ หรือจะเป็นทีมงาน" ทำให้ไพบูลย์ตอบติดตลกว่า "ว่าแล้ว"

ไพบูลย์พูดต่อว่าถ้าประชาธิปไตยในนิยามที่จะต้องมีการเลือกตั้ง ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงหลายๆ บทบาทหรือทางอ้อมก็แล้วแต่ แต่ในปี 2475 เป็นคณาธิปไตย และหลังจากนั้นก็มีการรัฐประหารหลายครั้ง รวมทั้งตอนปัจจุบันต้องถือว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ต้องให้คะแนน เพราะเขาบอกว่าเขาเป็นรัฐประหาร

สิ่งที่สำคัญถ้าพูดถึงประชาธิปไตย ต้องพูดถึงช่วงที่มีการเลือกตั้ง ถ้าผมจะให้คะแนนผมต้องให้คะแนนช่วงที่มีการเลือกตั้ง จนมีระดับพัฒนาการมาจนถึงปี 2557 ซึ่งการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วม มีความเห็นต่างๆ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แต่มีประชาชนจำนวนมากประเมินว่าประชาธิปไตยของไทยในเวลานั้นมีปัญหาต้องปฏิรูป ดังนั้นการเลือกตั้งในปี 2557 ไม่รวมช่วงนี้ ถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่สอบตก

ในช่วงนี้มีผู้ชมตะโกนขึ้นมา ทำให้ไพบูลย์ตอบว่า "เป็นความคิดเห็นของผมนะครับ" แล้วพูดต่อว่าประชาธิปไตยที่สำคัญคือการแสดงความคิดเห็น ผมก็เห็นอย่างนี้ ผมก็แสดงความคิดเห็น ความสวยงามอยู่ตรงนี้ ผมเห็นว่าไม่ผ่านจนถึงปี 2557 แต่ว่าช่วงนี้เวลานี้เฉพาะเวทีนี้เป็นประชาธิปไตยนะ ส่วนของนอกเขายอมรับว่าเขาไม่เป็นประชาธิปไตย

ต่อมา ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ถามว่าเป็นเพราะนักเลือกตั้งที่ฉ้อฉลหรือเปล่า ถ้าเทียบกับคณะรัฐประหาร อันไหนคืออุปสรรค ทำให้ไพบูลย์ตอบว่า ผมว่ามันไปเทียบกันไม่ได้ นักรัฐประหารชื่อก็บอกอยู่แล้วไม่ได้มาตามแบบประชาธิปไตย แต่ถ้าเป็นประชาธิปไตย การเมืองในมิติที่ผ่านมา ส่วนใหญ่นักการเมือง พรรคการเมืองถ้ายังอิงแอบประชาธิปไตย แล้วใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ ประชาธิปไตยไม่มีวันก้าวหน้า แต่ถ้าเมื่อไหร่สามารถทำให้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือของประชาชน แล้วประชาชนใช้อำนาจโดยตรงได้ ประชาชนมีบทบาทโดยตรงกับการเมืองแล้ว ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยจะมั่นคงแล้วก็สอบผ่านอย่างแน่นอน

คลิปอภิปรายเป็นส่วนหนึ่งจากงานเสวนาพิเศษ "WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน "86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" ที่ Voice Space สถานีโทรทัศน์ Voice TV 21 ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อ 24 มิถุนายน 2561 ดำเนินรายการโดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ชวนตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมอภิปราย

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นับถอยหลัง ‘6 วัน’ เตรียมตรวจใบอนุญาตทำงานข้ามชาติ กวาดล้างเข้าเมืองผิด กม.

Posted: 25 Jun 2018 07:23 AM PDT

รมว.แรงงาน เตือนนายจ้างตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน เอกสารของแรงงานต่างด้าวก่อนพามาดำเนินการ ย้ำ เหลือเวลาอีก 6 วัน เท่านั้น ประกาศไม่ผ่อนปรน ไม่ขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติ ขออนุญาตและจัดทำทะเบียนประวัติใน 1 กค.นี้ ขู่ตรวจเข้มพบผิดกฎหมาย  ถูกจับ ปรับ ส่งกลับ

วันนี้ (25 มิ.ย. 61) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ได้จัดระเบียบการทำงานของคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองตามกฎหมาย ตามมาตรฐานสากล ซึ่งที่ผ่านมา ได้ประสานกับประเทศต้นทาง เข้ามาพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย และเปิดให้มีการจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ ตรวจลงตรา (วีซ่า) และขออนุญาตทำงาน ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) โดยมีแรงงานที่ต้องพิสูจน์สัญชาติทั้งสิ้น 122,291 คน เป็น กัมพูชา 96,257 คน ลาว 8,327 คน เมียนมา 17,707 คน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 113,411 คน คงเหลืออีก 8,880 คน เป็น กัมพูชา 8,146 คน ลาว 734 คน

ส่วนแรงงานที่ต้องเข้าศูนย์ OSS ตามมติคณะรัฐมนตรี 16 มกราคม 2561  มีจำนวน 1,320,035 คน โดยดำเนินการไปแล้วภายใน 31 มีนาคม 2561 จำนวน 961,946 คน และต่อมามติ ครม.ได้มีการขยายเวลาให้เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2561 ซึ่งมียอดที่ต้องเข้าศูนย์ OSS ในระยะ 2 อีก 348,022 คน ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 316,463 คน คิดเป็น 90.93 % คงเหลืออีก 31,559 คน คิดเป็น 9.07 % ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิ.ย. 61

"ขอให้นายจ้างตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน ว่าถูกต้องตามกฎหมาย หมดอายุหรือไม่ และเอกสารของแรงงานต่างด้าวก่อนพามาดำเนินการ เพื่อลดเวลาในการดำเนินการ ไม่ถูกแรงงานต่างด้าวหลอก และทันภายในกำหนด หากไม่ทันแนะนำให้กลับประเทศต้นทางก่อน แล้วกลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งในรูปแบบการนำเข้าตามระบบ MOU ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีก 6 วัน เท่านั้น จึงขอให้นายจ้างเร่งพาแรงงานต่างด้าวไปดำเนินการให้ทันภายในกำหนด โดยกระทรวงแรงงานพร้อมจะให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าวอย่างเต็มที่ "

"ขอยืนยันชัดเจนว่ารัฐบาลจะไม่มีการผ่อนปรน ไม่ขยายเวลาอย่างแน่นอน พ้น 30 มิถุนายน 2561 ยังไม่มาดำเนินการ แรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้ ซึ่งภายในช่วงสัปดาห์สุดท้ายจะมีแผนระดมกวาดล้างผู้กระทำผิดกฎหมายครั้งใหญ่ เริ่ม 1 กรกฎาคมนี้ หากพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ ขณะเดียวกันนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000 - 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หากแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงาน ในประเทศไทยจะต้องเข้ามาในรูปแบบการนำเข้าตามระบบ MOU เท่านั้น ทุกขั้นตอนของการใช้กฎหมายต้องถูกต้องชอบธรรม และสังคมยอมรับได้"

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไร้เงาเพื่อไทย อนาคตใหม่ วงหารือ 74 พรรคการเมือง+คสช. เตรียมเลือกตั้ง

Posted: 25 Jun 2018 06:59 AM PDT

ยึดมือถือตัวแทนพรรคการเมือง กลัวไลฟ์สดถ่ายภาพอัดเสียงวงเจรจา วิษณุแถลงลำดับขั้นตอนเตรียมการเลือกตั้ง ยังไม่ปลดล็อก ประชุมพรรคยังต้องขออนุญาต พร้อมตั้งเงื่อนไข 5 ข้อเน้นความสงบเรียบร้อยช่วงราชาภิเษก ไพร์มารีโหวตยังไม่มีข้อยุติ กกต.ขอเวลา 60 วัน แบ่งเขตเลือกตั้ง 

25 มิ.ย.61 ที่สโมสรกองทัพบก  วงหารือ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และพรรคการเมือง เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้ง ในช่วงบ่ายที่ผ่านมา มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ชี้แจงถึงข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง พร้อมเปิดโอกาสให้ พรรคการเมืองซักถามประเด็นที่สงสัย

ผู้แทนจาก 74 พรรคการเมือง รวม 199 คน อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย ฯลฯ  โดยพรรคการเมืองที่เข้าร่วมหารือเป็นพรรคการเมืองพรรคเก่า จำนวน 45 พรรค พรรคที่ยื่นขอจดแจ้งจัดตั้งพรรค จำนวน 9 พรรค พรรคที่อยู่ระหว่างการจัดตั้งพรรค จำนวน 7 พรรค และพรรคที่ขอเข้าประชุมเพิ่มเติมอีก 13 พรรค แต่ไม่มีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่เข้าร่วม

ตัวแทนจากพรรคการเมืองจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าไปในห้องประชุม เพื่อป้องกันการถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊ค และการบันทึกภาพและเสียงออกมา แต่มีเจ้าหน้าที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) ที่ได้บันทึกวิดีโอตลอดงานเพื่อ "ใช้เป็นข้อมูลภายใน"

ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง ประชุมใหญ่ต้องขออนุญาต

ภายหลังการหารือเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ระบุสาระสำคัญจากการหารือได้ 4 ประเด็น พร้อมกับแนวทาง "ปลดล็อก" ปัญหา ซึ่งสัมพันธ์กับเงื่อนเวลาในการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใต้สูตร 90+90+150 (กระบวนการทูลเกล้าฯ/ และรอการโปรดเกล้าฯ /พระราชทานกฎหมายลงมาภายใน 90 วัน, กำหนดให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ใน 90 วันหลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้) ว่าในช่วง 90 วันแรกที่รอกฎหมาย "จะไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น" ส่วนการ "ปลดล็อก" ปัญหาต่าง ๆ จะเกิดขึ้นใน 90 วันช่วงที่สอง

รัฐบาลได้นำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปเมื่อ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า 90 วันช่วงที่สอง จะอยู่ในระหว่าง 15 ก.ย.-15 ธ.ค. ทั้งนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าวตามที่รองนายกฯ ชี้แจงมีรายละเอียด ดังนี้

ประเด็นแรก การประชุมใหญ่ของพรรค ให้พรรคการเมืองจัดการประชุมได้ แต่ในระหว่างนี้หากพรรคใดต้องการเรียกประชุมให้ทำหนังสือขออนุญาตจาก คสช. เป็นรายกรณีไป ซึ่งที่ผ่านมา คสช. อนุญาตให้ตามคำขอ 40 จากทั้งหมด 60 รายการ

ประเด็นที่สอง การจัดตั้งสาขาพรรค จะปลดล็อกให้พรรคจัดประชุมใหญ่, ทำการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพร์มารี) และคัดเลือกตั้งผู้สมัครได้โดยไม่ต้องมี "หัวหน้าสาขา" ครบทั้ง 4 ภาค

ประเด็นที่สาม การแบ่งเขตเลือกตั้ง กกต. จะใช้เวลา 60 วันในการแบ่งเขตเลือกตั้ง และอีก 30 วันในการทำไพร์มารี ซึ่งเป็นกำหนดเท่ากับ 90 วันช่วงที่สองพอดี

ประเด็นที่สี่ การจัดการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพร์มารีโหวต) พล.อ.ประวิตรรับข้อเสนอในที่ประชุมพรรคการเมืองวันนี้ ไปแจ้งต่อที่ประชุม คสช. กกต. และ กรธ. โดยมี 3 แนวทางคือ เปลี่ยนการทำไพร์มารีแบบรายเขตเป็นแบบรายภาค, ให้ยกเลิกระบบไพร์มารี และให้เลื่อนการนำไพร์มารีไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ในการ "ปลดล็อก" ปัญหาทั้ง 4 ประเด็นนี้ นายวิษณุยอมรับว่าต้องแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนจะแก้ด้วยวิธีไหนอย่างไร ไม่ขอเปิดเผย แต่ไม่ใช่การ "ปลดล็อกอย่างสิ้นเชิง" เพราะหากต้องเป็นเช่นนั้น จะต้องยกเลิกประกาส คสช. ฉบับที่ 57/2557 คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปจนกว่าจะมีการประชุมครั้งที่ 2 ซึ่งนายกฯ เป็นประธานเอง

วางเงื่อนไข 5 ข้อ ก่อนปลดล็อก เน้นความสงบเรียบร้อยช่วงราชาภิเษก

นายวิษณุกล่าวว่า ในการประชุมครั้งที่ 2 จะทราบทั้งเรื่องการปลดล็อกพรรคการเมือง และทราบวันเลือกตั้ง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ประการ ประกอบด้วย 1. ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2. การได้รับพระราชทานร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 3. การผลัดเปลี่ยนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ 4. การเลือกตั้งท้องถิ่นจะจัดขึ้นเมื่อใด และ 5. ความสงบเรียบร้อยโดยทั่วไปของบ้านเมือง

ประธาน กกต. เผยพรรคการเมือง เร่ง คสช. ปลดล็อก และงดทำไพรมารี่โหวต ระบุขอเวลา 60 วัน กำหนดแบ่งเขตเลือกตั้ง

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า มีหลายพรรคการเมืองได้หารือเกี่ยวกับความชัดเจนในการกำหนดวันเลือกตั้ง ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้ เนื่องจากต้องรอให้กฎหมาย ประกาศราชกิจจานุเบกษาก่อน จากนั้นรอไปอีก 90 วัน จึงมีผลบังคับใช้ และต้องรอกระบวนการอีก 150 วัน จึงจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ ส่วนคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ซึ่งส่วนใหญ่เสนอให้ปลดล็อกและงดทำไพรมารีโหวตรวมถึงเสนอแนวทางแก้ไข  แต่ก็มีบางพรรคก็ให้คงไว้  

ประธาน กกต. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ระหว่าง 90 วันที่รอให้กฎหมายทั้งสองฉบับมีผลบังคับใช้ ทาง กกต. จะขอให้การแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนใน 60 วัน จากนั้นต้องไปถามความคิดเห็นพรรคการเมืองและประชาชนในเขตนั้นๆ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 27 ของร่างกฎหมาย ส.ส.

ปชป.พอใจหลังคสช.รับปากคลายล็อกช่วง กม.เลือกตั้งบังคับใช้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการหารือว่า การเลือกตั้งยังคงเป็นไปตามเงื่อนเวลาคือ 3-3-5 คือช่วง 3 เดือนแรกคือช่วงทูลเกล้าฯ 3 เดือนที่สองคือ ช่วงที่รอกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ และช่วงที่สาม คือ 5 เดือน ในการจัดการเลือกตั้งโดยจะหาทางคลายล็อกให้ช่วง 3 เดือนที่สอง ส่วนรายละเอียดต่างๆต้องรอดูที่จะปรากฎออกมาตามคำสั่งใหม่ด้วย เพราะขนาดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ยังมีรายละเอียดที่ทับซ้อนกับกฎหมายต่างๆ ที่ทำให้พรรคการเมืองมีปัญหา ส่วนประเด็นการจัดทำไพรมารี่โหวต ที่ประชุมยังไม่มีความชัดเจนใดๆ อย่างไรก็ตามภาพรวมการประชุมในวันนี้ตนพอใจเพราะได้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องการคลายล็อกว่าจะมีแน่นอน ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอดูว่าผลจะออกมาอย่างไร

"ประวิตร" พอใจผลถก! เชื่อ 3 เดือนก่อนเลือกตั้ง พรรคการเมืองเตรียมตัวทัน

หลังการเจรจานาน 3 ชม.  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับการพูดคุยในวันนี้ และไม่มีอะไร ส่วนที่ระบุว่า มีเวลา 3 เดือนให้พรรคการเมืองเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้งคิดว่าพรรคการเมืองเตรียมตัวทัน



ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ, มติชนออนไลน์, BBC Thai

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

(คลิป) ปาฐกถา 86 ปี การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

Posted: 25 Jun 2018 06:18 AM PDT

24 มิ.ย. 2561 มูลนิธิไชยวนา ร่วมกับ กลุ่มโดมรวมใจ และเพื่อนจัดรำลึกครบรอบ 86 ปี การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม 24 มิถุนายน 2475 ณ สวนครูองุ่น มาลิก ทองหล่อ ซอย 3 สุขุมวิท 55 ในงานดังกล่าว การแสดงปาฐกถา "2475 อดีต ปัจจุบัน อนาคต" โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย (อ่านรายละเอียดคำปาฐกถาได้ที่นี่ https://prachatai.com/journal/2018/06/77554)

นอกจากนี้ยังมี การเล่าความทรงจำการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม ผ่าน พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ "มีอะไรมาครอบปากเราไปเสียหมด แล้วยังเป็นประชาธิปไตยหรือ"

Posted: 25 Jun 2018 05:40 AM PDT

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ให้ 0 คะแนนประชาธิปไตยไทย เหตุรัฐประหารจนเป็นอันดับ 4 ของโลก "จะพูดก็ไม่ได้ จะคิดก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ มีอะไรมาครอบปากเราเสียหมด แล้วยังเป็นประชาธิปไตยหรือ" พอ คสช. ยึดอำนาจ ก็เลื่อนเลือกตั้ง เลื่อนแล้วเลือกอีก ไม่ยึดโรดแมป เขียนรัฐธรรมนูญ ทำประชามติก็โกง แถมคิดสืบทอดอำนาจ บอกขอเวลาอีกไม่นาน จะคืนความสุขให้ "แม่งหลอกพวกเราอยู่นั่นแหละ"

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้คะแนนประชาธิปไตยไทย 0 คะแนนเหตุรัฐประหารจนเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยึดอำนาจมากที่สุด "แล้วเป็นอย่างไรครับปัจจุบัน เราจะพูดก็ไม่ได้ จะคิดก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ มีอะไรมาครอบปากเราเสียหมด แล้วยังเป็นประชาธิปไตยหรือ"

แถม คสช. เลื่อนเลือกตั้ง เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ไม่ยึดโรดแมป นอกจากนี้โกงแล้วยังไม่พอ ยังคิดสืบทอดอำนาจ บอก "ขอเวลาอีกไม่นาน" จะคืนความสุขให้ แม่งหลอกพวกเราอยู่นั่นแหละ

พร้อมแซวพรรคใหม่ "พลังประชารัฐ" ชื่อเหมือน "โครงการประชารัฐ" ของรัฐบาล คสช. พร้อมแซวชื่อผู้จัดตั้งพรรค "ชวน ชูจันทร์" "ชื่อชวนขอโทษนะพี่ ชื่อชวน ชื่อพี่โบราณเหลือเกิน" เหมือนชื่อพ่อของเขาที่ชื่อ "ชื้น" "ชื่อปัจจุบันต้องเสรีพิศุทธ์อย่างนี้ ถึงจะเท่หน่อย"

พร้อมแซวคุณชวนมีวิธีไปดึงเอาสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข, สุชาติ ตันเจริญ ฯลฯ มาเข้าพรรคได้ยังไง

คลิปอภิปรายเป็นส่วนหนึ่งจากงานเสวนาพิเศษ "WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน "86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" ที่ Voice Space สถานีโทรทัศน์ Voice TV 21 ถนนวิภาวดีรังสิต ดำเนินรายการโดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ที่ชวนตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมให้คะแนนกับระบอบประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาจากคะแนน 0 ถึงเต็ม 10

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2561

Posted: 25 Jun 2018 05:27 AM PDT

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากลเผยผลสำรวจ 'ITUC Global Rights Index 2018' ระบุ 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานได้แก่ แอลจีเรีย, บังกลาเทศ, กัมพูชา, โคลัมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์, ซาอุดิอาระเบีย และตุรกี ส่วน 'ไทย' ยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ เหมือน 3 ปีก่อน

25 มิ.ย. 2561 ในรายงาน 2018 ITUC Global Rights Index ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation หรือ ITUC) ที่เผยแพร่เมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่าจากการประเมินประเทศทั้งหมด 142 ประเทศ พบว่ามีการลดพื้นที่ทางประชาธิปไตยซึ่งทำให้เกิดการจำกัดการเคลื่อนไหวของแรงงานโดยตรง รวมทั้งการเอาเปรียบแรงงานของภาคกรธุรกิจที่มักจะไม่ได้รับการตรวจสอบมีเพิ่มมากขึ้นในปี 2561 โดยในรายงานฉบับนี้ได้ประเมิน 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานไว้ คือ แอลจีเรีย, บังกลาเทศ, กัมพูชา, โคลัมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์, ซาอุดิอาระเบีย และตุรกี

จากประเทศทั้งหมด 142 ประเทศที่ ITUC ได้ทำการประเมินนั้น มีประเทศที่มีการจับกุมและคุมขังแรงงานโดยพลการเพิ่มขึ้นเป็น 59 ประเทศ (จาก 44 ประเทศ ในปี 2560) ส่วนการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นนั้นมีถึง 54 ประเทศ นอกจากนี้มี 65% ที่ตัดเรื่องการรวมตัวกันของคนทำงานออกจากกฎหมายแรงงาน อีก 87% มีการละเมิดสิทธิในการหยุดงานประท้วงของคนทำงาน และมีถึง 81% ที่ปฏิเสธการเจรจาต่อรอง (บางส่วนหรือทั้งหมด) กับคนทำงาน

ส่วนจำนวนประเทศที่มีความรุนแรงทางร่างกายและภัยคุกคามต่อคนทำงานเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งรวมถึงประเทศบาห์เรน, ฮอนดูรัส, อิตาลี และปากีสถาน ส่วนประเทศที่มีการฆาตกรรมสมาชิกสหภาพแรงงานมี 9 ประเทศ คือ บราซิล, จีน, โคลัมเบีย, กัวเตมาลา, กินี, เม็กซิโก, ไนเจอร์, ไนจีเรีย และแทนซาเนีย

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่าภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนคนงาน ระบบค้ำประกันโดยผู้อุปถัมภ์ (Kafala) ทำให้คนทำงานในภูมิภาคนี้เปรียบเสมือนทาสยุคใหม่นับล้านคน การปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทำงานยังคงอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ส่วนความขัดแย้งในลิเบีย, ปาเลสไตน์, ซีเรีย และเยเมน ได้นำไปสู่การล่มสลายของหลักนิติธรรม การเลือกทำงานที่มีคุณค่าเป็นเรื่องที่ยากลำบาก การประท้วงอย่างสันติได้รับการโต้ตอบอย่างรุนแรงโดยรัฐ และความพยายามในการจัดตั้งขบวนการแรงงานที่เป็นอิสระก็ถูกบั่นทอนอย่างเป็นระบบโดยรัฐในประเทศแอลจีเรียและอียิปต์

ส่วนในเอเชียแปซิฟิก ความรุนแรงต่อคนทำงานก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิทธิในการนัดหยุดงานถูกบั่นทอน มีการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมแรงงานและผู้นำสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทั้ง 22 ประเทศในภูมิภาคนี้ได้ละเมิดการเจรจาต่อรองและสิทธิในการประท้วงของคนทำงาน การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมยังคงมีให้เห็น เช่นในอินโดนีเซียมีการปลดพนักงานถึง 4,200 คน ที่บริษัทเหมืองแร่ PT Freeport ส่วนที่กัมพูชาโดยมีพนักงาน 558 คน ถูกไล่ออกหลังจากการประท้วงที่โรงงานเพียงแห่งเดียว เป็นต้น

ในแอฟริกาแรงงานมีความรุนแรงทางกายภาพถึง 65% ของประเทศในภูมิภาค การประท้วงในประเทศไนจีเรียถูกกองทัพปราบปรามอย่างรุนแรงและคนงานคนหนึ่งถูกสังหารโดยมือปืนปริศนาระหว่างการประท้วง

ทวีปอเมริกายังคงคุกรุ่นไปด้วยความรุนแรงในการปราบปรามคนทำงานและสมาชิกสหภาพแรงงาน ในโคลอมเบียเพียงประเทศเดียว มีนักสหภาพแรงงาน 19 คน ถูกฆาตกรรมเมื่อปีที่ผ่านมา

ส่วนประเทศในยุโรป 58% มีการละเมิดสิทธิการเจรจาต่อรอง และ 3 ใน 4 ของประเทศทั้งหมดมีการละเมิดสิทธิในการประท้วงของคนทำงาน

อนึ่งดัชนีนี้ ITUC ได้จัดอันดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิแรงงานจากมากไปหาน้อยอีก 6 ระดับไล่ตั้งแต่รุนแรงมากไปหาน้อย (คือตั้งแต่ +5,5,4,3,2 และ 1) สำหรับประเทศไทย ITUC จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ (ความรุนแรงระดับที่ 4) เช่นเดียวกับรายงานเมื่อปี 2560 ปี 2559 และปี 2558

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2560
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2559
องค์กรแรงงานสากลเผย 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2558

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลขาฯชงความเคลื่อนไหวทักษิณ เข้า กกต. จับตาผิดครอบงำ พท.

Posted: 25 Jun 2018 04:42 AM PDT

พท. แนะ กกต. ระวังเป็นเครื่องมือทำลายล้างพรรคการเมือง  ขยายความขัดแย้ง มาร์คผสมโรง ชี้สองพี่น้องชินวัตรไม่ทบทวนว่า มีส่วนในการก่อปัญหาให้ประเทศ

25 มิ.ย. 61 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอของนายทักษิณ ชินวัตร ระบุพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งในอีสานในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า ขณะนี้ทางสำนักงานกำลังดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า เข้าข่ายผิดกฎหมายซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยถูกยุบพรรคหรือไม่ โดยจะนำรายงานเบื้องต้นเข้าที่ประชุม กกต.ในวันที่ 26 มิ.ย. นี้ ส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบสวน จะตั้งก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ไปถึงขั้นว่าพรรคมีการยินยอมให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้ามาชี้นำ ครอบงำ การดำเนินกิจกรรมของพรรค แต่ขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถจัดประชุมใหญ่ของพรรคได้ การเคลื่อนไหวในฐานะพรรคการเมืองของพรรคเพื่อไทย จึงยังอาจบอกไม่ได้ว่าเข้าข่ายความผิดนี้หรือไม่

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวถึงการตรจสอบของ กกต.ว่า หาก กกต. จะแสดงความตื่นตัวในการติดตามความเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมือง ก็ไม่ควรมองเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งยังดำเนินกิจการพรรคการเมืองไม่ได้เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นๆ โดยระบุด้วยว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นการพูดถึงสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เชื่อเหมือนกันว่าพรรค พท.จะชนะ จะเรียกว่าครอบงำพรรคได้อย่างไร

เช่นเดียวกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ระบุว่า การที่อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกฯ จะพูดคุยถึงความเป็นไปของบ้านเมือง หรือให้ความเห็นต่อการดูด ส.ส.ของฝ่ายผู้มีอำนาจ ใครจะชนะจะแพ้ ใครจะถูกหลอก ควรเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ที่ใครๆ ก็มีสิทธิที่จะแสดงความเห็นได้ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจจะทำได้ฝ่ายเดียว ทั้งนี้ เรื่องครอบงำเป็นกฎหมายใหม่ที่ผู้มีอำนาจชุดนี้เขาคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ซึ่งมั่นใจว่า กรณีนี้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดใดๆ เลย เพราะความผิดนี้พรรคการเมืองต้องยินยอมให้ครอบงำ ซึ่งไม่ปรากฏว่า พรรคเขาไปมีส่วนรู้เห็นอะไรด้วย หรือต้องมีการครอบงำกิจกรรมของพรรคการเมือง ก็ไม่ปรากฏว่าพรรคเขาทำกิจกรรมอะไร จริงๆ ก็ทำไม่ได้ด้วย จึงไม่รู้ว่าไปแทรกแซงครอบงำกิจกรรมอันใด

"กกต.จะตรวจสอบอะไรก็คงไม่ว่ากัน แต่กรุณาเข้าใจบริบททางการเมืองให้ถ่องแท้ และไม่ควรใช้กฎหมายที่สร้างขึ้นแบบลุแก่อำนาจ เป็นเครื่องมือทำลายล้างพรรคการเมือง ไม่เป็นผลดีอะไรเลย มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งแตกแยกขยายใหญ่โตออกไปอีก ในขณะที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าพรรคการเมืองนี้ฆ่าไม่ตายสักที" นายชูศักดิ์กล่าว

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีว่า ต้องดูว่ามีการแทรกแซงครอบงำพรรคหรือไม่ ขอให้คนทำหน้าที่รักษากฎหมายเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องนี้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าเรื่องนี้สะท้อนว่าบางคนบางฝ่ายยังไม่ยอมรับว่า การที่ประเทศเข้ามาสู่ปัญหาตรงนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมรับผิดชอบและร่วมกันทบทวนแล้วทำบางสิ่งที่ต่างจากเดิม แต่การที่นายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแสดงออกมานั้น ทำให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้คิดว่าการกระทำของเขาในอดีตมีส่วนในการก่อปัญหาให้ประเทศ ซึ่งตรงนี้ถือว่าอันตราย

"ขอดูว่าพรรค พท.ได้เรียนรู้แล้วหรือไม่ ถ้าเขายังอยู่ภายใต้การครอบงำของครอบครัวชินวัตร ยังมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ของครอบครัวชินวัตรอยู่ มันจับมือกันไม่ได้" นายอภิสิทธิ์ระบุ

ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิจารณาว่า เข้าข่ายยุบพรรคหรือไม่ โดยต้องพิจารณาจากกฎหมาย โดยย้ำว่า ไม่ได้สั่งการ กกต. เพราะเป็นการดำเนินการของทางคณะกรรมการการเลือกตั้งเอง

 

 

ที่มา: มติชนรายวัน โพสต์ทูเดย์

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โบว์ ณัฏฐา โต้ข่าวปลอม-ปั่นโทษประหารชีวิต ชวนสังคมแลกเปลี่ยนอย่างประชาธิปไตย

Posted: 25 Jun 2018 01:00 AM PDT

โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา แถลงโต้หลังมีหลายเพจตัดต่อใบหน้ากับข้อความที่ไม่ได้พูดเอง กรณีแชร์กิจกรรมเรื่องโทษประหาร ปั่นกระแสคุกคามถึงขั้นขู่ข่มขืนฆ่าออนไลน์ เบื้องต้นจะส่งข้อมูลเพจให้เจ้าหน้าที่พิจารณาดำเนินคดี ถ้าวันพุธเพจยังเฉยจะแจ้งความต่อ ชวนสังคมปลูกฝังแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างมีวุฒิภาวะ เป็นประชาธิปไตย

ณัฏฐา มหัทธนา

25 มิ.ย. 2561 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ณัฏฐา มหัทธนา (โบว์) นักกิจกรรมการเมือง อาจารย์ และอดีตพิธีกรช่องวอยซ์ทีวี ได้แถลงข่าวกรณีข่าวปลอมและการคุกคาม "จากการแสดงความคิดเห็น ถึงอาชญากรรมออนไลน์ กับวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ต้องสร้าง"

ณัฏฐากล่าวว่า ตนไม่ได้ตามข่าวเรื่องมีการประหารชีวิตขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 ปี แต่กรรมการขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งมีนักกิจกรรมที่ตนรู้จักเป็นการส่วนตัวได้แชร์โพสท์กิจกรรมวางดอกไม้เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้โทษประหารเมื่อ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตนก็ถือเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์อย่างสันติจึงได้แชร์โพสต่อ ทั้งนี้ขอชี้แจงแทนแอมเนสตี้ฯ ว่ากิจกรรมของแอมเนสตี้ฯ ไม่ได้เป็นไปเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้ถูกประหาร แต่แสดงความไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร ไม่ได้ต้องการให้อาชญากรไม่ถูกลงโทษ แต่ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษด้วยวิธีประหารชีวิต กิจกรรมที่จัดนั้นสอดคล้องตามหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติข้อ 3 กับ 5 เรื่องสิทธิในการมีชีวิต เวลามีการรณรงค์สิทธิการมีชีวิตอยู่นั้นก็รณรงค์ให้กับทุกคนทั้งอาชญากรและเหยื่อด้วย

ต่อมามีการเผยแพร่ข่าวปลอมจากเพจเฟซบุ๊คที่อ้างว่าเป็นสื่อ มีการลอกเลียนและแชร์ต่อโดยหลายเพจและผู้ใช้งานเฟซบุ๊คนับแสนคน จนมีการคุกคามและถกเถียงในโพสท์ที่แชร์ โดยณัฏฐายกตัวอย่างโพสท์ที่เป็นภาพกราฟฟิกจากเพจทีนิวส์ เพจมั่นใจคนไทยทั้งแผ่นดินเชียร์ลุงตู่และเพจเดรัจฉานนิวส์ ขึ้นมา เป็นภาพกราฟฟิกตัดภาพตนเข้ากับถ้อยคำที่ไม่เคยพูด ซึ่งเป็นหนึ่งในโพสท์ที่ได้รับการเข้าถึงและเผยแพร่จำนวนมาก

ลักษณะคอมเมนท์ที่เป็น 'ข้อเท็จ' บนโลกโซเชียลตามคำชี้แจงของโบว์-ณัฏฐา

  • ผิดฝาผิดตัว (คิดว่าเป็นผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ คิดว่าณัฏฐาได้เงินเดือนจากแอมเนสตี้ฯ)

  • ข่มขู่คุกคามจะใช้ความรุนแรงกับณัฏฐาและคนในครอบครัว

  • ส่งต่อถ้อยคำ (โควท) ที่ณัฏฐาไม่เคยพูด เช่น ถ้าโดนข่มขืนฆ่าก็จะไม่เอาเรื่อง

ภาพประกอบจากสไลด์ของโบว์ ณัฏฐา

นักกิจกรรมจากกลุ่มคนอยากเลือกตั้งพบว่าเพจที่โจมตีเธอมาอาจมีแรงจูงใจทางการเมือง เพราะว่าเพจทั้งหลายที่โพสท์และแชร์ข่าวปลอมมีจุดยืนทางการเมืองอยู่คนละข้างกับตน เมื่อโพสท์ข่าวปลอมมีการแพร่หลายออกไปตามแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ และมีการคัดลอกไปโพสท์เองด้วย คาดว่าคนเข้าถึงโพสท์เหล่านี้ไปหนึ่งแสนกว่าคนแล้ว ตอนไปโรงพักคดีคนอยากเลือกตั้งก็มีตำรวจมาถามเรื่องนี้

ณัฏฐากล่าวว่า ข่าวปลอมและคอมเมนท์ต่อเนื่องต่างๆ เกิดจากความไม่รับผิดชอบของคนที่เรียกตัวเองว่าสื่อมวลชน ที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จเพื่อเร่งเร้าอารมณ์โกรธเกรี้ยวให้เกิดขึ้นสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นมีคำเรียกเฉพาะว่าการคุกคามทางออนไลน์ (Cyber Bullying) กรณีคำถามว่าจะดำเนินคดีต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข่าวปลอมหรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่าเป็นความผิดพลาดของตัวเองที่เอาการถกเถียงละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาถกเถียงบนโซเชียลมีเดีย ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ยากต่อการแลกเปลี่ยนกันอย่างครบถ้วนและรอบด้านกับทุกคน

ณัฏฐากล่าวว่า จะยังไม่ดำเนินคดีกับคนทั่วๆ ไปที่แชร์ ยังไม่ดำเนินคดีต่อคอมเมนท์และการข่มขู่ทำร้ายทุกคอมเมนท์ เพราะเชื่อว่าคอมเมนท์เหล่านั้นเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ ตนเข้าใจดีถึงข้อจำกัดทางวุฒิภาวะทางอารมณ์ และทักษะในการวิเคราะห์แยกแยะของผู้บริโภคข่าวจึงขออโหสิกรรมให้ แต่จะยื่นข้อมูลของเพจที่ผลิตข้อมูลเท็จทั้งหลายให้กับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง และจะดูว่าเจ้าหน้าที่มีความขยันขันแข็งในการดำเนินการเรื่องนี้เหมือนกับที่ขยันปิดเพจที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือไม่ จึงฝากให้สังคมช่วยกันจับตาการทำงานของเจ้าหน้าที่ต่อไป โดยคาดว่าจะส่งข้อมูลของเพจทีนิวส์ เดรัจฉานนิวส์ มั่นใจคนไทยทั้งแผ่นดินเชียร์ลุงตู่ Youlike คลิปไทย และเพจที่เผยแพร่เฮทสปีชทั้งหลายที่รุนแรงและผิดกฎหมายจริงๆ

ทั้งนี้ หากวันพุธตนพบว่ายังมีการดำเนินการต่อไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ต่อ ไม่ลบโพสท์หรือคอมเมนท์ที่ผิดกฎหมายก็จะสุ่มดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เพราะถือว่าได้มีการชี้แจงแล้ว และระยะเวลาที่ผ่านมาก็น่าจะนานพอจะทำให้สังคมเริ่มกลับมาสู่สติและเข้าใจข้อเท็จจริงตามที่ให้ไว้ในงานแถลงข่าววันนี้ ส่วนตัวกฎหมายที่ใช้คาดว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และหมิ่นประมาท แต่ก็ขอให้เป็นการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ขอระบุว่าเป็นกฎหมายใดเป็นการเฉพาะ

ส่วนกรณีที่เสกสรรค์ ศุขพิมาย หรือเสก โลโซ ได้แชร์โพสท์ของเพจเฟซบุ๊คเดรัจฉานนิวส์ออกไป และในโพสท์ก็ได้มีการเรียกขอคอมเมนท์ และเพิ่มเติมว่าถ้าข่าวไม่จริงก็ขอให้ทุกคนช่วยกันประณามเพจ ณัฏฐากล่าวว่า จะไม่ดำเนินคดีกับเสก เพราะได้มีการลบโพสท์ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีการแสดงท่าทีการขอโทษออกมา ตนก็อยากสื่อสารว่าบุคคลสาธารณะที่หลายคนมีผู้ติดตามเยอะยิ่งกว่าเพจข่าวบางที่เสียอีก จึงชวนให้บุคคลสาธารณะต้องมีวิจารณญาณที่มากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า การแชร์ข้อมูลเรียกความเห็นโดยไม่ระมัดระวัง แม้จะบอกกับแฟนเพจว่าไม่แน่ใจว่าเป็นของปลอมหรือไม่ก็ไม่ได้ทำให้พ้นจากความรับผิดชอบ "ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว มีคนเข้าใจผิดเข้ามาด่าทอและนำไปเผยแพร่ต่อจำนวนมหาศาล โบว์ไปที่ไหนก็มีคนถามว่าเราทำจริงหรือ ซึ่งคุณเสกเองก็เคยโดนกลั่นแกล้งในลักษณะเดียวกัน ยิ่งควรระวังมากที่จะไม่เป็นผู้ทำร้ายคนอื่นเสียเอง ขอให้เป็นความผิดพลาดครั้งสุดท้าย ไม่ติดใจเอาความค่ะ" ณัฏฐาระบุไว้ในเอกสารแถลงข่าว

ในเอกสารแถลงข่าวยังระบุข้อความของณัฏฐาว่า "ความเสียหายส่วนบุคคลที่เกิดกับตัวเราถือเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อไปในสังคมที่ยังไม่มีวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเหตุผลและเคารพในความต่างอย่างเป็นประชาธิปไตย จึงอยากชวนให้ทั้งสังคม สื่อมวลชน ครูอาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ได้ร่วมกันทำงานให้หนักขึ้นเพื่อสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย ซึ่งคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียกร้องให้ประเทศเรามีการปกครองแบบประชาธิปไตยจริงๆ เสียก่อน แล้วก็พยายามปลูกฝังค่านิยมกันอย่างต่อเนื่อง เพราะในอนาคตเรายังเรื่องอื่นๆ อีกมากที่ต้องถกเถียงหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งหากทำได้อย่างมีวุฒิภาวะและเคารพกติกา เราก็จะมีสังคมที่ก้าวหน้ารออยู่ปลายทาง""

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น