โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ศรีสุวรรณ เรียกร้องประยุทธ์ นำสับปะรดทำบาร์เตอร์เทรดกับอาวุธและดาวเทียม

Posted: 20 Jun 2018 08:47 AM PDT

ศรีสุวรรณ จรรยา คราวนี้มาในนาม เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรียกร้องให้ ประยุทธ์นำสับปะรดและสินค้าเกษตรไปบาร์เตอร์เทรดซื้ออาวุธและดาวเทียมแทนที่จะใช้เงินซื้อในทริปไปเยือนอังกฤษ-ฝรั่งเศษ เพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตไปด้วย

แถลงการณ์สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

เรื่อง ขอเรียกร้องให้นายกฯนำสับปะรดและสินค้าเกษตรไปบาร์เตอร์เทรดซื้ออาวุธและดาวเทียมในคราวไปอังกฤษ-ฝรั่งเศษ

..............................................

ตามที่ปรากฏเป็นการทั่วไป ราคาสับปะรดตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ราคาหน้าสวนเหลือเพียงกิโลกรัมละ 1-2 บาทเท่านั้น ทำให้เกษตรกรบางจังหวัดต้องนำมากองแจกจ่ายให้กับผู้บริโภคเพื่อประชดการขาดความเหลียวแลของรัฐบาลนั้น

ปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงผลงานของรัฐบาลยุค คสช. ที่เด่นชัดยิ่ง ไม่เฉพาะสับปะรดเท่านั้นที่ราคาตกต่ำแต่พืชผลทางการเกษตรหลายชนิดก็ราคาตกต่ำไม่ต่างกัน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ข้าวโพด มะนาว ฯลฯ แม้นายกรัฐมนตรีจะยืนยันกับเกษตรกรในยามลงพื้นที่พบปะชาวบ้านว่าประเทศไทยเป็น "ครัวของโลก" แต่ก็เป็นเพียงลมปากของนักการเมืองที่ไร้ความสามารถและไร้ความรับผิดชอบเป็นอย่างยิ่ง

รัฐบาลมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหานี้มากมาย และสามารถล่วงรู้ปริมาณและสถานการณ์ของผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ ล่วงหน้าแล้วก็ตาม เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แต่ทว่ากลับไม่สามารถจัดการปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ ตกต่ำได้ แม้จะกล่าวอ้างว่าเป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 แต่ก็เป็นเพียงม๊อตโต้ของหน่วยงานราชการที่จะใช้เป็นข้ออ้างในการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งานในหน่วยงานตน แต่งานที่จะเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรยังเป็นเพียงเช้าชามเย็นชาม ในยุคไทยแลนด์ 1.0 เท่านั้น

ปัญหาสับปะรดและสินค้าเกษตรต่าง ๆ ตกต่ำเป็นความทุกข์ระทมของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งควรที่นายกฯควรที่จะสั่งการให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ เข้าไปช่วยดูแลแก้ไขให้เป็นการเร่งด่วน แต่ทว่านายกฯกลับโบ๊ยปัญหาและหนีไปอังกฤษและฝรั่งเศษเพื่อเซ็นต์สัญญาซื้อดาวเทียมธีออส 2 หรืออาจจะพ่วงด้วยการซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย โดยไม่สนใจเลยว่าปัญหาของเกษตรกรจะล้มหายตายจากไปอย่างไรก็ช่าง หรือนายกฯอยากจะซื้อดาวเทียมหรือซื้ออาวุธในคราวนี้ ก็ควรนำผลผลิตทางการเกษตรไปเจรจาซื้อขายแบบบาร์เตอร์เทรด (G to G) แทนมากกว่าที่จะหอบเอาเงินของชาติไปซื้อเขาเป็นอย่างเดียว จนมีหนี้สาธารณะสะสมมากว่า 5.18 ล้านล้านบาทในขณะนี้

นอกจากนั้น พรรคการเมืองทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า ที่ชูคอสลอนว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ ควรที่จะออกมาแสดงความสามารถในการแก้ไขปัญหาสับปะรดและผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ ตำต่ำว่าจะช่วยเกษตรกรได้อย่างไรด้วย ไม่ใช่จะแสดงความสามารถเพียงแค่เก่งในทางเชลียร์ หรือเก่งแต่การดูด แต่เพียงอย่างเดียว

แถลงมา ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2561

นายศรีสุวรรณ  จรรยา

เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายแบนสารพิษโวย ก.เกษตรไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลต่อทะเบียนสารพิษ 3 ชนิด

Posted: 20 Jun 2018 08:35 AM PDT

ใช้เวลาพิจารณานาน 5 เดือน กรมวิชาการเกษตรไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลต่อทะเบียนสารพิษ 3 ชนิด ขายได้อีก 6 ปี ภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง เดินหน้าอุทธรณ์ ชี้ข้อมูลที่เกี่ยวพันกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ

วันนี้ (20 มิถุนายน 2561) จากการที่เมื่อเดือน พฤศจิกายน 3560 กรมวิชาการเกษตร ได้อนุญาตให้มีการต่อทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ทั้งที่ขัดกับมติคณะกรรมการขับเคลื่อน ปัญหาการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงกระทรวงสาธารณสุข

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายฯ เปิดเผยว่า ทางภาคีเครือข่ายฯ ได้ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารตามทางราชการ พ.ศ 2540 ขอให้ทางกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับการต่ออายุใบสำคัญ บัญชีรายการสารเคมีที่ต่อทะเบียน คำจอต่อทะเบียน และรายงานการประชุมที่เกี่ยวข้องแต่กรมวิชาการเกษตรได้ใช้เวลาถึง 5 เดือนเต็มที่จะตอบและยังปฏิเสธในการให้ข้อมูลดังกล่าว โดยอ้างว่าต้องขออนุญาตกับผู้ขอต่อทะเบียนเฉพาะราย และบัญชีรายชื่อสารเคมีที่ได้รับการต่อทะเบียนนั้นไม่ควรเปิดเผยโดยเห็นว่าอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ทางภาคีเครือข่ายฯจึงต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางราชการ เพราะข้ออ้างของกรมวิชาการเกษตรนั้นขัดกฎหมายหลายฉบับ

"การที่กรมวิชาการเกษตรมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยไม่ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลของคำสั่งหรือการใช้ดุลพินิจให้ทราบโดยชัดแจ้ง มีเพียงการกล่าวถึงข้อกฎหมายที่อ้างอิง จึงขัดต่อมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

เอกสารบัญชีรายการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เรื่อง การกำหนดให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามมาตรา 9(8) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมิได้กระทบถึงประโยชน์หรือส่วนได้เสียของผู้ใดเป็นการเฉพาะราย แต่ข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าว กระทบถึงส่วนได้เสียสำคัญของประชาชนอันอาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการอนุญาตให้ใช้วัตถุอันตรายดังกล่าว

ทางภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ขอข้อมูลข่าวสารที่เป็นเอกสารประกอบคำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทั้งหมดที่มีผู้ยื่นต่อกรมวิชาการเกษตร ไม่ได้ขอข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าตามที่มีกฎหมายห้ามเปิดเผยแต่อย่างใด และไม่เป็นข้อมูลที่หากเปิดเผยจะกระทบต่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอันจะต้องสอบถามความยินยอมจากผู้มีส่วนได้เสียนั้นก่อน  ตรงกันข้ามกลับเป็นข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะและสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐสามารถใช้ดุลพินิจที่จะมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันตามหลักเกณฑ์มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

ดังนั้น การที่กรมวิชาการเกษตรมิได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอโดยกล่าวอ้างว่าต้องขอความยินยอมจากผู้ยื่นคำขอต่ออายุทะเบียนเป็นรายกรณีเสียก่อนจึงจะเปิดเผยข้อมูลได้นั้น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ด้วย

ทางภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง จึงตัดสินใจอุทธรณ์และขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามคำขอทั้งหมด เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสร้างบรรทัดฐานที่ดีเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลของราชการโดยมิให้ล่าช้า อันมีลักษณะขัดขวางการเข้าถึงข้อมูลในการใช้สิทธิตามกฎหมายและเพื่อให้หน่วยงานรัฐยึดถือปฏิบัติต่อไป"

หลังการต่อทะเบียนของกรมวิชาการเกษตรให้กับสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงเหล่านี้ พบว่า มีการนำเข้าอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะ พาราควอต ปี 2560 นำเข้ามากถึง 44.5 ล้านกิโลกรัมเป็นการนำเข้ามากถึง 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 2557 และมากกว่าการนำเข้าในปี 2559 มากกว่า 41% ในขณะที่มีการนำเข้าคลอร์ไพรีฟอสเพิ่มขึ้นกว่า 60% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สตรีหมายเลขหนึ่งสหรัฐฯ ทั้งเก่าและใหม่ร่วมต้านนโยบายพรากลูกจากผู้อพยพ

Posted: 20 Jun 2018 08:29 AM PDT

เหล่าสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ รวมถึงเมลาเนีย ทรัมป์ ภริยาของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ต่อต้านรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ กรณีพรากเด็กจากผู้ปกครองด้วยนโยบายกีดกันผู้อพยพโดยอ้างเรื่องการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย  นักวิชาการระบุ พูดเสียงเดียวกันแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ

20 มิ.ย. 2561 สื่อ NPR รายงานว่าสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในสหรัฐฯ หลายคนประสานเสียงพร้อมกันในเรื่องนโยบายกีดกันผู้อพยพที่พรากลูกจากผู้ปกครอง โดยไม่เกี่ยงว่าจะมาจากฝ่ายพรรครีพับลิกันหรือพรรคเดโมแครต รวมถึงเมลาเนีย ทรัมป์ ภริยาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เองก็ออกมาเรียกร้องในประเด็นการพรากลูกด้วย

สเตฟานี กริสแฮม โฆษกของเมลาเนียแถลงว่าสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้นี้ไม่ชอบที่จะเห็นเด็กถูกแยกจากครอบครัวของพวกเขา และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ปกครองประเทศด้วยหัวใจ นอกจากนี้ยังแสดงความคาดหวังให้มีการปฏิรูปประเด็นผู้อพยพเข้าเมืองโดยอาศัยความร่วมมือจากทั้งสองฝ่าย ก่อนหน้านี้เมลาเนีย ทรัมป์ เคยมีการริเริ่มนโยบายที่ชื่อ "บีเบสต์" ซึ่งเน้นเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก

นอกจากเมลาเนียแล้ว อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งจากพรรครีพับลิกัน ลอรา บุช ก็เคยแสดงความคิดเห็นในสื่อวอชิงตันโพสต์และในทวิตเตอร์ระบุว่ าการพรากเด็กจากพ่อแม่ของพวกเขานั้นเป็นเรื่องโหดร้ายและไร้ศีลธรรม

ทางด้านอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งจากเดโมแครตก็กล่าววิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลทรัมป์อย่างรวดเร็วและทรงพลังยิ่งกว่าเหล่าสามีของพวกเธอ โดยที่มิเชลล์ โอบามา ภริยาของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา รีทวิตข้อความของเบตต์พร้อมระบุว่า "บางครั้ง ความจริงก็ก้าวข้ามพรรคการเมือง"

ฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งและผู้สมัครลงเลือกตั้งประธานาธิบดีตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งปี 2559 เป็นหนึ่งในคนที่ต่อต้านนโยบายผู้อพยพแบบของทรัมป์เสมอมา เธอระบุวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้หลายครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้สนับสนุนเธอบริจาคให้กับองค์กรด้านสิทธิผู้อพยพ

จากการวิพากษ์วิจารณ์ของพวกเธอทำให้สามีของพวกเธอออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้ตาม เช่น อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ทวีตว่า "เด็กเหล่านี้ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง" ในการถกเถียงเรื่องผู้อพยพ ขณะที่บารัก โอบามารีทวีตข้อความของมิเชลล์

โรซาลินน์ คาร์เตอร์ ภริยาของอดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ก็ร่วมพูดถึงเรื่องนี้ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 มิ.ย. 2561) ระบุว่านโยบายกีดกันผู้อพยพของรัฐบาลทรัมป์ "ช่างอัปยศและน่าละอายสำหรับประเทศพวกเรา"

มีคนตั้งข้อสังเกตว่านานๆ ครั้งถึงจะเห็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งออกมาพูดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งพร้อมๆ กัน ไปในทิศทางเดียวกัน ผู้ตั้งข้อสังเกตคือ ปีเตอร์ สเลวิน ศาตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์และผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของมิเชลล์ โอบามา ให้สัมภาษณ์ต่อ NPR ว่าสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเหล่านี้มักจะใช้ความเสียงดังของตัวเองในการพูดเรื่องต่างกันออกไป หรือบางคนไม่ได้ใช้มันเลย มันจึงเป็นเรื่องพิเศษมากที่พวกเขาร่วมกันกล่าวโจมตีนโยบายของทรัมป์ สเลวินตั้งข้อสังเกตอีกว่าเมื่อเมลาเนียออกมาเรียกร้องให้เหล่าผู้นำภายใต้รัฐบาลของสามีตัวเองปกครองประเทศ "ด้วยหัวใจ" มากขึ้นมันก็แสดงให้เห็นว่าเมลาเนียมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนอื่นๆ มากกว่า

แต่ก็มีคำถามว่าการเรียกร้องจากพวกเธอจะได้ผลหรือไม่ จานน์ เอบรามส์ นักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ บอกว่า สุภาพสตรีเหล่านี้มักจะมีบทบาทเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อสามีของพวกเธอและมักจะก้าวล้ำกว่าสามีของพวกเธอหนึ่งก้าวในประเด็นทางสังคม เช่น กรณีของอบีเกล อดัมส์ เคยเขียนจดหมายถึงสามีเธอ ประธานาธิบดีจอห์น อดัม ในเรื่องการเรียกร้องสิทธิสตรี และกรณีของ เอเลเนอร์ รูสเวลต์ ภริยาของธีโอดอร์ รูสเวลต์ ก็เคยเป็นผู้รณรงค์เรื่องสิทธิพลเมืองจนทำให้สามีของเธอรับประเด็นสิทธิพลเมืองเอาไว้ด้วย

ขณะเดียวกัน เอบรามส์ก็เตือนว่าขณะที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนอื่นๆ อาจจะค่อยๆ เปลี่ยนใจสามีของพวกเธอได้อย่างช้าๆ แต่กรณีของโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นดูมีความดื้อด้านมากกว่าอดีตประธานาธิบดีคนอื่น

เรียบเรียงจาก

First Ladies Unite Against Separating Children At Border, NPR, Jun. 19, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้กดดันนายกอังกฤษวิจารณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนไทยในการเดินทางมาเยือนของประยุทธ์

Posted: 20 Jun 2018 07:58 AM PDT

เคท อัลเลน ผอ. แอมเนสตี้ สหราชอาณาจักรแถลงว่า เทเรซา เมย์ นายกฯ อังกฤษ ต้องไม่เกรงใจและวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา เมื่อประณามสถานการณ์ที่เลวร้ายด้านสิทธิมนุษยชนในไทย อัดเรื่องการคุกคามฝ่ายตรงข้าม กำหนดข้อห้ามทางการเมืองและรื้อฟื้นโทษประหาร

"ช่วงสี่ปีหลังรัฐประหาร รัฐบาลทหารไทยได้ออกมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้นในประเทศ รวมทั้งการออกกฎหมายเพื่อขัดขวางผู้วิพากษ์วิจารณ์ และขู่ให้ประชาชนหวาดกลัวจนต้องยอมจำนน และในสัปดาห์นี้เอง ประเทศไทยมีการประหารชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษ ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความถดถอยด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ การประชุมระดับสูงเช่นนี้ ไม่ควรเป็นเพียงการเจรจาค้าขายด้วยการเซ็นเช็คและทำใบสั่งซื้อ หรือเพียงเพื่อหาความตกลงทางการค้ามาชดเชยผลกระทบด้านธุรกิจภายหลังการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ อังกฤษต้องไม่ยอมแลกเปลี่ยนความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์ต่อการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้าย กับผลประโยชน์ใดๆ"

ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรเน้นย้ำถึงความประสงค์ในการเจรจาทางการค้ากับประเทศไทย

แอมเนสตี้ย้ำว่า เทเรซา เมย์ อย่าพูดแสดงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ควรลงรายละเอียดที่ชัดเจนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ของไทย  ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นหลักฐานกดดันให้เขาต้องรับผิดชอบต่อพันธกิจที่แสดงไว้ให้ได้

ในแถลงการณ์ขององค์กรแอมเนสตี้ยังได้ลงรายละเอียดประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย 3 ข้อ คือ

สิทธิมนุษยชนถูกคุกคาม

นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว นักการเมือง นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต่างถูกจับกุม ควบคุมตัวและดำเนินคดีอย่างสม่ำเสมอ สืบเนื่องจากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลและราชวงศ์อย่างสงบ ประเทศไทยมีกฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ที่เข้มงวด ซึ่งเอาผิดกับความเห็นใดๆ ที่ถูกมองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ กฎหมายเหล่านี้ได้ถูกใช้เพื่อดำเนินคดีและคุมขังผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ทางการไทยยังคงใช้มาตรการควบคุมจำกัดจนเกินกว่าเหตุต่อเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม นอกจากนั้น ยังเพิ่มบทบาทของทหารในการบริหารงานยุติธรรม ซึ่งเห็นได้จากการให้อำนาจเจ้าพนักงานทหารในการจับกุมและควบคุมตัว และการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิที่จะมีอิสรภาพและความมั่นคงของบุคคลและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

ข้อห้ามทางการเมือง

ทางการไทยปฏิเสธที่จะยกเลิกคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง ก่อนการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี 22562 หลังจากรัฐประหาร มีการควบคุมตัวบุคคลหลายร้อยคนเพื่อให้เข้ารับ "การปรับทัศนคติ" ซึ่งเป็นการลงโทษเชิงบังคับรูปแบบหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเป็นผู้ที่ถูกมองว่าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และพวกเขายังต้องยอมรับเงื่อนไขที่เข้มงวดเพื่อแลกกับการปล่อยตัวออกมา

นับแต่เข้าสู่อำนาจ รัฐบาลทหารได้ปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการใช้กฎหมายที่ควบคุมจำกัด การออกกฎหมายและคำสั่งใหม่ ๆ ที่จำกัดการใช้สิทธิอย่างเข้มงวด

การรื้อฟื้นโทษประหารชีวิต

วันจันทร์ที่ผ่านมา ทางการไทยได้ประหารชีวิตชายวัย 26 ปีที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยทารุณ นับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 จากตัวเลขของกระทรวงยุติธรรมเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ระบุว่า ไทยมีนักโทษประหารอยู่จำนวน 510 คน เป็นผู้หญิง 94 คน ในจำนวนนี้ 193 คนเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ผ่านกระบวนการอุทธรณ์คดีหมดสิ้นแล้ว เชื่อว่ากว่าครึ่งหนึ่งของนักโทษเหล่านี้ต้องโทษประหารในคดียาเสพติด

 

PRESS RELEASE

FOR IMMEDIATE RELEASE: TUESDAY 19 JUNE 2018 

THERESA MAY 'MUSTN'T MINCE WORDS' OVER THAILAND'S HUMAN RIGHTS RECORD DURING PM VISIT THIS WEEK

 

'In the four years since the coup, the Thai military have tightened their stranglehold on the country, issuing new laws to gag critics and scare people into submission' – Kate Allen

 

Ahead of tomorrow's visit (Wednesday 20 June) from the Prime Minister of Thailand, Prayut Chan-O-Cha, Amnesty International has called on Theresa May to convey her deep concern at the deteriorating human rights situation in the country.

 

Amnesty has repeatedly condemned the imposition of a restrictive human rights environment in Thailand since the 2014 coup, which brought to power the National Council for Peace and Order under Prime Minister and military General Prayut Chan-O- Cha.

 

Amnesty said the meeting is an opportunity to raise significant human rights concerns about the country, in particular those relating to freedom of expression and peaceful assembly, which has involved the detention and prosecution of hundreds of individuals. Amnesty also called on Mrs May to condemn the first execution in Thailand since 2009, which was carried out on Monday.

 

Amnesty International UK Director Kate Allen said:

         

"Theresa May mustn't mince her words when she condemns the woeful state of human rights in Thailand. She must convey tghat this requires the Thai government's urgent action, regardless of their plans for elections. 

"Just this week Thailand used the death penalty for the first time in nearly a decade, a grim sign of the country's human rights decline.

 

"In the four years since the coup, the Thai military have tightened their stranglehold on the country, MISUSING THE criminal justice system to gag critics and scare people into submission.

 

"These sorts of high-level meetings shouldn't just be about getting out the cheque books and order forms. In the scramble to secure business deals, Britain mustn't trade away its ability to speak out about appalling human rights violations."

 

The UK Government has previously highlighted its pursuit of trade deals with Thailand.

 

Amnesty said that Theresa May should go beyond merely saying she had raised human rights concerns and give details of the specifics of the discussion, including the response of Prime Minister Prayut Chan-O-Cha so that he can be held to any commitments made.

 

Human rights under attack

Activists, journalists, politicians, human rights lawyers and human rights defenders are routinely arrested, detained and prosecuted for peacefully expressing opinions about the government and monarchy.  Strict "lèse-majesté" laws that criminalise comment deemed critical of the royal family and have also been used to prosecute and imprison government critics.

 

The Thai authorities continue to impose excessive restrictions on freedom of expression, peaceful assembly and association. In addition, the expanded role of the military in the administration of justice as evidenced by arrests and detention by military personnel and the trial of civilians in military courts – has been detrimental to the right to liberty and security of the person and the right to a fair trial.

 

Political ban

The Thai authorities are refusing to lift the ban on political activities ahead of elections scheduled for 2019. Hundreds of individuals detained after the coup for 'attitude adjustment' - a form of coercive punishment targeting perceived critics of the government, are bound by restrictive conditions of release.

. Since coming to power the ruling junta has routinely repressed freedom of expression, including by USING existing repressive legislation and introducing new laws and orders heavily restricting the exercise of rights.

 

Resumption of death penalty

On Monday Thailand executed a 26-year-old man convicted of aggravated murder, in the country's first execution since August 2009. [not important here – my opinion] Figures provided by the Ministry of Justice in March 2018 state that 510 people, including 94 women, were on death row of whom 193 had exhausted all final appeals. More than half are believed to have been sentenced for drug-related offences.

For more information and interviews, contact the press office

ENDS 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ทบทวนตราชั่งเธอ

Posted: 20 Jun 2018 06:08 AM PDT

 

ไม่มีใครมีสิทธิตัดสินใคร
เรายิ่งไม่มีอำนาจชี้ขาดชั่ว
ไม่ดีพอจะตั้งดีชี้บอกตัว
มีแต่หัวคอยครุ่นคิดพินิจนึก

รู้ว่าผลของการกระทำนั้นมีแน่
เพียงแต่จะช้าเร็วจึงตกผลึก
ไม่ตั้งป้อมประจัญกันพันลึก
ไม่เอาน้ำลายทำน้ำหมึกพิพากษ์คน

เชื่อในความเป็นมนุษย์เสมอมา
เห็นแววตาก็เห็นใจ และเลือดข้น
แม้จะร้ายเลวชาติใช่อาจดล
ดาลผลมรณกรรมโดยผู้ใด

โลกสงบสันติสุขด้วยเมตตา?
มิอาจอยู่ด้วยการฆ่าใช่หรือไม่?
เราไม่มีหน้าที่ตัดสินใคร
ทวนให้แน่ทุกแง่นัยแจ่มใจเธอ!

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประหารชีวิตสร้างสังคมสงบสุขได้จริงหรือ? : บทเรียนจากประวัติศาสตร์จีน

Posted: 20 Jun 2018 05:33 AM PDT

ขอพูดถึงข่าวเรื่องการประหารนักโทษคนล่าสุดสักเล็กน้อย(ขอสเตตัสนี้สเตตัสเดียว) ในฐานะที่ทั้งนักโทษผู้ถูกประหาร และเหยื่อผู้ถูกกระทำล้วนเป็นคนบ้านเดียวกับผม คือต่างก็เป็นชาวจังหวัดตรังครับ

เท่าที่ตามอ่านๆ ดูข้อถกเถียงทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้คงโทษประหารไว้ กับฝ่ายที่สนับสนุนให้ยกเลิกโทษประหาร มีประเด็นที่น่าสนใจบางอย่างที่ควรจะต้องนำมาขบคิดกันจริงจังครับ

"โทษประหารชีวิต" เป็นสิ่งที่มีในระบบกฎหมายและการปกครองรัฐต่างๆในโลกมาตั้งแต่บุพกาล นับพันนับหมื่นปีมาแล้ว อย่างน้อยที่สุด เอาเฉพาะกรณีของจีน ก็มีมาไม่ต่ำกว่ายุคราชวงศ์เซี่ยซึ่งเป็นราชวงศ์แรกของจีน เมื่อราวๆสามพันกว่าปีที่แล้ว

แล้วไอ้โทษประหารแบบจีนโบราณ มีวิธีการทำให้ตายสารพัดแบบมาก อ้างเฉพาะจากกฎหมายสมัยราชวงศ์ฮั่นเนี่ย มีตั้งแต่แบบตายเบาๆ เช่นการให้ดื่มยาพิษ หรือใช้ผ้ารัดคอ ไปยันกระทั่งห้าม้าแยกร่าง หรือฟันคอ สับเนื้อเป็นชิ้นๆ แล่เนื้อถลกหนัง ฟันกี่ดาบว่าไปตามระดับความหนักเบาของความผิดตามกฎหมาย สูงสุดคือฟัน 3600 ดาบ (หมายถึงลงดาบฟันผู้ถูกประหาร 3600 ครั้ง)

แต่คำถามคือ การประหารชีวิตที่มีมากมายหลายรูปแบบขนาดนี้ ทำให้สังคมจีนสงบสุข ไม่มีโจรผู้ร้าย ไม่มีการฆ่ากันตาย ไม่มีใครกล้าก่อความวุ่นวายจริงหรือ?

คำตอบคือไม่ครับ

ท้ายสุด เมื่อถึงคราวที่ข้าวยากหมากแพง คนไม่มีจะกิน ก็ต้องไปเป็นโจรปล้นชิง เมื่อคนคนหนึ่งถูกคนข่มเหงรังแกมากเข้า โดยที่ไม่มีใครช่วยเหลือให้ความเป็นธรรมแก่เขาได้ เขาก็จำต้องลุกขึ้นมาฆ่าผู้นั้นเพื่อปกป้องตนเอง เมื่อใดที่เหล่าชาวนาผู้ทุกข์ยากทนการกดขี่ของราชสำนักไม่ไหว ก็พากันจับจอบเสียมลุกฮือขึ้นก่อกบฎ

นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวงจรวัฎจักรประวัติศาสตร์จีนนับพันปี

แสดงว่าลำพังการมีโทษประหารชีวิต ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สังคมสงบสุข ทำให้ทุกคนไม่มีใครกล้ากระทำผิดกฎหมาย

นี่ยังไม่พูดถึงกรณีจับแพะ จับคนผิด แต่ถูกข่มขู่บังคับ หรือหลอกล่อให้ยอมรับสารภาพ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในละครเปาบุ้นจิ้นมากมายหลายตอน เพราะเค้าโครงของเรื่องก็มาจากนิยายที่เขียนขึ้นในยุคราชวงศ์ชิง ซึ่งก็มีคดีที่ไม่เป็นธรรมแบบนี้มากมาย

เท่ากับว่าโทษประหารไม่เพียงไม่ได้ช่วยให้อาชญากรรมหมดไป แต่ยังทำให้ผู้บริสุทธิ์อีกไม่น้อยต้องตายไปฟรีๆ

นี่ยกตัวอย่างแค่ของจีนนะครับ ยังไม่ได้พูดถึงประเทศอื่นอีกกว่าสองร้อยประเทศทั่วโลก

ก่วนจ้ง (管仲) รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในยุคชุนชิวกล่าวว่า "ก่อนจะสอนให้คนรู้จักจารีตและความละอาย ควรให้เขาได้กินอิ่มนุ่งอุ่นเสียก่อน (仓廪实而知礼节,衣食足而知荣辱)

สวินจื่อ (荀子) นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคจ้านกั๋วกล่าวว่า "หากไม่ปีนเขา ย่อมไม่อาจหยั่งรู้ความสูงของฟ้า หากไม่ดำลงไปในน้ำ ย่อมไม่อาจหยั่งรู้ความลึกของแผ่นดิน" (不登高山,不知天之高也;不臨深溪,不知地之厚也。)

ในท้ายที่สุดแล้ว ปราชญ์โบราณของจีนจึงมองว่า วิธีการแก้ปัญหาอาชญากรรม ให้สังคมสงบสุขได้จริงๆ อยู่ที่ต้องแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ให้ชาวบ้านทุกคนอยู่ดีกินดีก่อน แล้วจึงกล่อมเกลาด้วยการศึกษา ให้รู้จักคุณธรรมจริยธรรมเสียก่อน ถ้าพูดแบบโบราณ แต่ถ้าพูดแบบปัจจุบันก็คือ ใช้การศึกษาทำให้ชาวบ้านรู้จักในสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของตน และรู้จักที่จะเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เมื่อคนมีกินมีใช้ไม่ขาดแคลน ได้รับการศึกษาขัดเกลามาอย่างดี รู้จักสิทธิเสรีภาพหน้าที่ของตน และรู้จักเคารพสิทธิเสรีภาพไม่ไปละเมิดผู้อื่น แล้วจะไปทำร้ายเข่นฆ่าผู้อื่นเพื่อปล้นชิงทำไมอีกเล่า

เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเที่ยงธรรมไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นใคร ดุจเดียวกับที่ไห่รุ่ยซึ่งเป็นนายอำเภอกล้าสั่งโบยคุณชายลูกชายผู้ว่ามณฑลซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตนที่มาก่อเรื่องกระทำผิดกฎหมายในเขตอำเภอของตน แล้วไยราษฎรจะคับแค้นใจจนจับอาวุธฆ่าคนที่มาข่มเหงรังแกตนอีกเล่า

เมื่อบ้านเมืองมีการปกครองที่ดี ประชาชนไม่ถูกกดขี่ข่มเหงจากเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วไยราษฎรจะจับจอมเสียมลุกฮือขึ้นก่อการกบฎอีกเล่า

สรุปก็คือ ลำพังแต่การมีกฎหมายอาชญาทัณฑ์รุนแรง ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรมจริงๆ แต่การปกครองที่ดี เศรษฐกิจที่ดี การศึกษาที่ดี และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ดีต่างหาก ที่จะช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรม ทำให้สังคมสงบสุขจริงๆ

นี่เป็นข้อที่พึงพิจารณาให้จงหนักครับ

 


ภาพประกอบ: การประหารชีวิตนักโทษในคดีกบฎอี้เหอถวน หรือกบฎนักมวยในช่วงปลายราชวงศ์ชิง ซึ่งท้ายสุดก็ไม่อาจดับกระแสการต่อต้านราชวงศ์ชิงให้หมดไปได้ แต่กลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จนในที่สุดราชวงศ์ชิงก็ถูกโค่นล้มในเวลาต่อมา


เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Worapong Keddit

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความตกลง RCEP ที่ไทยเตรียมเจรจา จะก่อผลกระทบต่อชาวนา ที่ดิน และอาหาร

Posted: 20 Jun 2018 03:28 AM PDT

ข้อห่วงกังวลเรื่องความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ไทยร่วมเจรจาพร้อมกับ 16 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในเดือนกรกฎาคมนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยของภูมิภาค 420 ล้านคน ทั้งในเรื่องการกว้านซื้อและเวนคืนที่ดินขนาดใหญ่ เมล็ดพันธุ์ในมือบรรษัท ความไม่มั่นคงของเกษตรกรรายย่อยและธุรกิจค้าปลีก รวมทั้งการใช้สารเคมีในไร่นาจะพุ่งสูงขึ้น

ภาพประกอบโดย อิศเรศ เทวาหุดี | ดัดแปลงจากแหล่งภาพประกอบ: Wikipedia (Public Domain) CEphoto/Uwe Aranas และ Crisco 1492 (CC BY-SA 3.0)

ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) เป็นข้อตกลงทางการค้าขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาของ 16 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือประเทศอาเซียนกับอีกหกประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย หากความตกลง RCEP ได้รับการเห็นชอบ จะมีผลต่อประชาชนคิดเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด รวมทั้งเกษตรกรรมรายย่อย 420 ล้านคนซึ่งผลิตอาหารคิดเป็นร้อยละ 80 ในภูมิภาค ความตกลง RCEP จะส่งผลให้บรรษัทด้านอาหารและการเกษตรมีอำนาจมากขึ้นในนามของการส่งเสริมการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ ประเทศร่วมเจรจา RCEP หลายแห่งยังเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership Agreements - TPP) ซึ่งเป็นความตกลงระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ที่เอื้อประโยชน์แก่บรรษัทขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน แม้ว่าชะตากรรมของความตกลง TPP จะยังไม่แน่นอน แต่ทั้ง TPP และ RCEP อาจหนุนเสริมซึ่งกันและกัน โดยมีแรงกดดันที่จะบีบให้ความตกลงทั้งสองมีเงื่อนไขให้สอดคล้องกันในหลายข้อ สรุปแล้ว RCEP จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกรในภูมิภาคหลายด้าน โดยการเจรจารอบที่ 24 กำลังจะเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

 

ข้อตกลงการค้าข้ามชาติที่ไทยเจรจา ทำชาวนาสูญเสียการควบคุมเมล็ดพันธุ์

(เอกสารประกอบ) RCEP ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ปล้มสะดมจากชุมชนเพื่อผลกำไร

 

1. การกว้านซื้อและเวนคืนที่ดินขนานใหญ่

ประเทศภายใต้ความตกลง RCEP ส่วนใหญ่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยกำหนดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าซื้อ ได้รับใบอนุญาตหรือสัมปทาน และมีข้อจำกัดในรูปแบบที่แตกต่างกัน ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เนื่องจากบรรษัทและกองทุนเพื่อการลงทุน ต่างพยายามอย่างยิ่งที่จะกว้านซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรไว้เป็นแหล่งรายได้ใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในบรรดาประเทศภายใต้ความตกลง RCEP

นับแต่ปี 2551 เป็นต้นมา มีการกว้านซื้อที่ดินโดยบรรษัทต่างชาติเพื่อทำการเกษตรคิดเป็น 60 ล้านไร่ การถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินลักษณะนี้ส่งผลให้บรรษัทขนาดใหญ่มีอำนาจควบคุมในสิทธิในการใช้ประโยชน์ ทั้งยังทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นมาก นำไปสู่การเก็งกำไร และส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยต้องถูกผลักดันออกจากที่ดิน

มีสองหมวดของเนื้อหาความตกลง RCEP ที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากในการเข้าถึงที่ดิน จากข้อมูลในร่างความตกลงที่รั่วไหลออกมา ในหมวดการลงทุน มีการเสนอให้รัฐบาลต้องปฏิบัติต่อนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ ภายใต้ความตกลง RCEP เช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศ ('national treatment') ซึ่งหมายถึงว่านักลงทุนจากต่างชาติเหล่านี้ ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศในการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เว้นแต่รัฐบาลประกาศใช้ข้อยกเว้นเป็นการเฉพาะ เนื้อหาตามร่างในหมวดนี้ยังกำหนดให้มีวลี 'standstill' และ 'ratchet' ซึ่งหากมีการรับรองจะส่งผลให้รัฐบาลต้องรักษาระดับการเปิดเสรีที่เป็นอยู่เอาไว้ หากในปัจจุบันมีการเปิดเสรีมากกว่าที่แสดงเจตจำนงไว้ตามความตกลง RCEP แล้ว รัฐบาลสามารถควบคุมกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับความตกลง RCEP ได้

ส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวกับภาคบริการ มีการเสนอให้ผู้ให้บริการจากต่างชาติต้องได้รับประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าบริษัทในประเทศ ('national treatment') รวมทั้งการเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อด้านงานบริการ ทั้งนี้ ประเทศต่าง ๆ อาจสามารถระบุข้อยกเว้นในด้านที่ดินภาคเกษตรได้ แต่จำเป็นต้องผ่านการเจรจาและได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายเสียก่อน

หากรัฐบาลไม่ประกาศข้อสงวนต่อข้อกำหนดด้านที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ความตกลง RCEP จะเอื้อให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินอย่างกว้างขวางในภูมิภาค และทำลายนโยบายการปฏิรูปที่ดินและการเกษตรที่เกิดขึ้นอยู่ในบางประเทศ ในปัจจุบัน เกษตรกรที่พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินต่างตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดี การจับกุมและคุมขัง และอาจถูกสังหาร ด้วยเหตุนี้ การเห็นชอบในความตกลง RCEP อาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรงทั้งจากรัฐและเอกชนมากยิ่งขึ้นในหลายพื้นที่

 

2. เมล็ดพันธุ์จะอยู่ในมือนายทุนยักษ์ใหญ่
และสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) จะแพร่หลายยิ่งขึ้น

ปรกติเกษตรกรมักเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์จากการเก็บเกี่ยวเพื่อใช้ในการเพาะปลูกรอบใหม่ แต่บริษัทเมล็ดพันธุ์และเคมีพันธุ์การเกษตรขนาดใหญ่อย่าง Monsanto และ Bayer ไม่ต้องการเช่นนั้นเพราะต้องการให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่เรื่อยๆ สำหรับรอบการเพาะปลูกแต่ละครั้ง เนื่องจากบริษัทจะได้ขายเมล็ดพันธุ์ได้มากขึ้น โดยบริษัทสามารถค้ากำไรลักษณะนี้ด้วยการล็อบบี้รัฐบาลให้ขยายกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้ครอบคลุมชนิดพันธุ์พืชและสัตว์หลากหลายชนิด ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของโลกในปัจจุบันอยู่ในกำมือของบรรษัทขนาดใหญ่สามแห่ง คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 60% ของการค้าเมล็ดพันธุ์ของโลก โดยบริษัท ChemChina ของจีน กำลังเจรจาควบซื้อบริษัท Syngenta ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ จะเห็นว่าจีนนั้นก็เล็งเห็นถึงผลประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้นจากข้อกำหนดด้านเมล็ดพันธุ์ตามความตกลง RCEP เช่นเดียวกัน

ข้อมูลในร่างความตกลง RCEP ในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญาที่รั่วไหลออกมา ชี้ให้เห็นว่าประเทศต่าง ๆ อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ พยายามผลักดันให้ประเทศภายใต้ความตกลง RCEP ยอมเห็นชอบต่อ "อนุสัญญา UPOV 1991" ซึ่งเป็นระบบสิทธิบัตรของเมล็ดพันธุ์อย่างหนึ่ง โดยภายใต้อนุสัญญา UPOV 1991 เกษตรกรจะถูกห้ามไม่ให้เก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิบัตรไว้เพาะปลูกต่อ โดยอาจมีข้อยกเว้นบ้างแต่เข้มงวดมาก ภายใต้ข้อกำหนดนี้ เกษตรกรต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์เมื่อต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ตนเองเก็บไว้เพาะปลูก โดยเฉลี่ยแล้วค่าลิขสิทธิ์คิดเป็นสัดส่วนราว 10-40% ของราคาเมล็ดพันธุ์ในท้องตลาด และมีราคาแพงกว่าเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บรักษาในชุมชน ภาคประชาสังคมที่ตามเรื่องนี้อยู่วิเคราะห์ว่าอนุสัญญา UPOV 1991 จะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 200-600 ในประเทศไทย และเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 400 ในฟิลิปปินส์

ยังเป็นไปได้อีกว่าจะมีการหนุนให้ความตกลง RCEP มีเนื้อหาใกล้เคียงกับ TPP โดยความตกลง TPP กำหนดให้รัฐต้องอนุญาตให้มีสิทธิบัตรด้านนวัตกรรมที่ "พัฒนามาจากพืช" ("derived from plants") ซึ่งก็หมายถึง สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) นั่นเอง ในปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมนั้นผิดกฎหมายในประเทศสมาชิก RCEP ยกเว้นออสเตรเลีย อินเดีย พม่า และฟิลิปปินส์ รวมทั้งในหลายมณฑลของประเทศจีนและเวียดนาม แม้มีแนวโน้มว่าความตกลง RCEP จะมีหมวดให้ปรับมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางอาหาร แต่เรายังไม่เห็นหน้าตาของร่างดังกล่าว และไม่ชัดว่าจะมีการกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมหรือไม่ นโยบายเหล่านี้ไม่เพียงจะส่งผลให้ราคาเมล็ดพันธุ์สูงขึ้นแต่อาจนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ อำนาจของบรรษัทข้ามชาติเพิ่มสูงขึ้น และการกำกับดูแลที่ลดลงสำหรับผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงสูงเช่นสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม

 

3. เกษตรกรเลี้ยงโคนมและเกษตรกรรายย่อยอื่น ๆ จะตกงาน

อินเดียมีเกษตรรายย่อยราว 100 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะทำปศุสัตว์ด้วย พวกเขานับเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมนมของอินเดีย แต่สถานการณ์กำลังเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เกษตรกรขายสินค้าได้ในราคาต่ำลง ส่งผลให้เกษตรรายย่อยจำนวนมากตกอยู่ในภาวะยากลำบาก

ความตกลง RCEP จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก โดยก่อนหน้านี้ เนื่องจากนิวซีแลนด์ไม่สามารถตกลงเจรจาทวิภาคีกับอินเดียได้สำเร็จ บริษัทผลิตสินค้านม Fonterra สัญชาตินิวเซีแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่สุดของโลก จึงหวังใช้ RCEP เจาะตลาดสินค้านมในอินเดีย โดยได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่า RCEP จะช่วยให้บริษัทเปิดตลาดใหญ่ ๆ ในประเทศอื่น ซึ่งในปัจจุบันตลาดในประเทศ RCEP หลายแห่งมีมาตรการปกป้องสินค้าในประเทศ รวมถึงตลาดของอินเดียด้วย โดยในอินเดีย Fonterra จะต้องเจอกับคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Amul ซึ่งเป็นสหกรณ์โคนมของอินเดีย นำมาสู่ข้อกังวลว่าเกษตรกรโคนมของอินเดียอาจต้องตกงาน หรือไม่ก็กลายเป็นลูกจ้างให้บริษัท Fonterra เพราะไม่สามารถแข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ เกษตรกรโคนมในเวียดนามก็น่ากังวลเช่นเดียวกัน เพราะทาง Fonterra ก็ได้พยายามลงทุนเพื่อเข้าไปขยายกิจการในเวียดนาม

ในขณะเดียวกัน ประเทศภายใต้ความตกลง RCEP บางส่วน อย่างเช่น ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ไม่เพียงทุ่มงบมหาศาลเพื่ออุดหนุนราคาพืชผลของตนเอง หากยังกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่ไม่สอดคล้องกับวิถีการผลิตอาหารและการแปรรูปอาหารของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศ RCEP อื่นๆ ผลกระทบที่ตามมาคืออาจมีการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้านอาหารเพื่อส่งออกตลาดที่มีมูลค่าสูง อย่างเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในอินเดีย และพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ทำให้มีการกีดกัน หรือถึงกับเข้ามาทดแทนเกษตรกรรายย่อยและธุรกิจแปรรูปอาหารระดับครอบครัว ซึ่งเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ในชนบททั่วเอเชีย

 

4. การใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงจะเพิ่มขึ้น

คาดว่ายอดขายปุ๋ยและยาฆ่าแมลงจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในเอเชียแปซิฟิก โดยที่ผ่านมาได้เพิ่มมูลค่าการค้าจาก 1 แสนล้านเหรียญ เป็น 1.2 แสนล้านเหรียญต่อปี ภายในปี 2564 จีนจะเป็นประเทศที่ใช้สารเคมีทางการเกษตรมากสุด ส่วนในอินเดียมีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ในขณะที่ประเทศทางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้นำเข้าสารเคมีทางการเกษตรมากขึ้น การที่จีนจะซื้อบริษัท Syngenta ซึ่งเป็นบริษัทสารเคมีทางการเกษตรใหญ่สุดของโลก และมีส่วนแบ่งการตลาดยาฆ่าแมลงในโลกกว่า 20% จะทำให้จีนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในความตกลง RCEP

รัฐบาลจีนคงเรียกร้องให้มีการเพิ่มระดับการเข้าถึงตลาดมากขึ้น โดยผ่านการเจรจาในหมวดการค้าสินค้าของ RCEP ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2560 จีนประกาศว่าจะยกเลิกการกำหนดพิกัดศุลกากรส่งออกสำหรับปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดนอกประเทศ เช่นเดียวกัน รัฐมนตรีการค้ากลุ่มประเทศ RCEP สัญญาจะลดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรให้เหลือร้อยละ 0 สำหรับร้อยละ 65 ของการค้าสินค้า และจะลดภาษีในขั้นต่อมาสำหรับสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้รวมถึงสารเคมีที่ใช้ในภาคเกษตรด้วย การใช้สารเคมีที่มากขึ้นนี้ย่อมทำให้สารตกค้างในอาหารและน้ำมากขึ้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน

นอกจากนี้ หากรัฐบาลเห็นชอบตามร่างเนื้อหาด้านทรัพย์สินทางปัญญา ความตกลง RCEP จะส่งผลให้เกิดการจดสิทธิบัตรวัตถุดิบอื่น ๆ มากขึ้น รวมทั้งเวชภัณฑ์สำหรับปศุสัตว์ เครื่องจักรกลการเกษตร สินค้าที่ผลิตจากจุลินทรีย์ และสารเคมีทางการเกษตร การขยายอายุสิทธิบัตรจะทำให้สินค้าเหล่านี้มีราคาแพงขึ้น

 

5. ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่จะทำลายร้านค้าปลีกท้องถิ่น

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดของธุรกิจค้าปลีกด้านอาหารคิดเป็นกว่าครึ่งของโลก โดยญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำด้านนี้ ผ่าน 7-Eleven และ Aeon โดย Aeon Agri Create ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ป้อนสินค้าเกษตรให้กับ Aeon ได้ก่อตั้งฟาร์มหลายแห่งในญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ Aeon ยังมีเป้าหมายผลักดันให้เกิด "ฟาร์มเกษตรอัจฉริยะแบบไอซีที" ('ICT farming') ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการบริหารในแปลงเกษตร เมื่อเร็วๆ นี้ อินเดียได้เปิดให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจการค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ แม้ว่าในหลายรัฐยังไม่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาเปิดร้านค้าปลีกประเภทที่จำหน่ายสินค้าหลายยี่ห้อ (multibrand retail) แต่ความตกลง RCEP จะยิ่งเร่งให้เกิดกระแสดังกล่าวรวดเร็วขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกรายย่อยท้องถิ่น เช่น ร้านชำที่อยู่ในชุมชน

จากข้อมูลในร่างความตกลงที่รั่วไหลออกมา หมวดว่าด้วยภาคบริการของความตกลง RCEP จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถจำกัดหรือควบคุมเชนซุปเปอร์มาร์เก็ตจากประเทศ RCEP อื่น ๆ นอกจากนี้ รัฐบาลอาจไม่สามารถออกข้อกำหนดให้ผู้ให้บริการอย่างเช่น Alibaba หรือ Aeon ต้องมีสำนักงานตัวแทนในประเทศ หรือต้องจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ

หากสถานการณ์ดำเนินไปแบบเดียวกับความตกลง TPP ความตกลง RCEP จะมุ่งสนับสนุนฟาร์มเกษตรอัจฉริยะขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปาทานและอีคอมเมิร์ชในภูมิภาค โดยเมื่อเร็วๆ นี้ อาลีบาบาของจีนเพิ่งลงทุนเป็นเงินจำนวน 1.25 พันล้านเหรียญเพื่อพัฒนาบริการส่งอาหารออนไลน์ ซึ่งการค้าปลีกจะเข้าไปผูกกับเทคโนโลยีมากขึ้น และเชื่อมโยงกับสินค้าท้องถิ่นและผลิตผลตามฤดูกาลน้อยลง พัฒนาการต่าง ๆ เหล่านี้นับเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อผู้ค้ารายย่อยและร้านค้าปลีกอื่น ๆ ในเอเชีย

ความตกลง RCEP จะทำให้บทบาทของภาคบรรษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีอำนาจควบคุมเหนือภาคอาหารและเกษตรของเอเชีย จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในภูมิภาคอื่น ๆ การที่บรรษัทเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจะทำให้เกิดทางเลือกที่แท้จริงน้อยลง และทำให้ราคาสำหรับผู้บริโภคแพงขึ้น ในอุตสาหกรรมอาหาร ปรากฏการณ์เช่นนี้ยังส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการใช้ยาฆ่าแมลงและการใช้สารเคมี รวมทั้งยังส่งผลให้มีการกดค่าแรง และราคาพืชผลการเกษตรสำหรับเกษตรกร

คำตอบของภาคประชาชนไม่ได้อยู่ที่การปฏิรูป RCEP แต่เราจำเป็นต้องต่อต้านความตกลงลักษณะนี้ เนื่องจากเป็นรูปแบบที่เอื้อให้บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่มีอำนาจทางกฎหมายและเศรษฐกิจในการควบคุมเหนือภาคเกษตร ซึ่งไม่มีทางที่ภาคประชาชนจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราจำเป็นต้องร่วมกันคิดและออกแบบนโยบายทางเลือกที่ส่งเสริมให้ระบบผลิตอาหารและการเกษตรมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ข้อตกลงการค้าควรมีจุดประสงค์เพื่อรับใช้ระบบที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตอาหารและผู้บริโภค มิใช่ระบบที่มีบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่พร้อมเอาเปรียบและคำกำไรจากประชาชน

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แม้โรงงานน้ำตาลเริ่มก่อสร้างแล้ว แต่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายยังคัดค้านต่อไป

Posted: 20 Jun 2018 02:27 AM PDT

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ร่วมกันขึ้นป้ายยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ยืนยันที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จ.ยโสธร ร่วมกันขึ้นป้ายยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ถึงแม้ว่าโรงงานน้ำตาลจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง แต่ชาวบ้านที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่ยโสธรไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการตัดสินใจตั้งแต่เริ่มต้น

มิตร มรรคผล กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวว่า ถึงโรงงานน้ำตาลจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วก็ตาม แต่ชาวบ้านก็ยังยืนหยัดในการคัดค้านมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าการสร้างโรงงานจะก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้านต่อทรัพยากรธรรมชาติที่เราเคยพึ่งพิง อย่างเช่น ลำน้ำเซบายที่ชาวบ้านได้อาศัยมาโดยตลอดที่อาจจะมีการแย่งชิงน้ำ ทั้งก็ยังอยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง แต่กลับไม่ได้รับรู้ข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าจะมีการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลใกล้แหล่งน้ำลำเซบายและชุมชน ซึ่งชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น

"เราก็พยายามคัดค้านหลายวิธีทั้งทำหนังสือส่งไปหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการขึ้นป้ายคัดค้าน ซึ่งป้ายผ้าที่ได้มาเราได้รับบริจาคมาจากวัด จากชาวบ้านด้วยกัน เราไม่ได้มีนายทุนอยู่เบื้องหลังแต่พวกเราทำเพราะจิตสำนึกที่เรารักทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ไม่อยากจะให้มีโรงงานใกล้ลำน้ำเซบายและชุมชนของเรา วันนี้การขึ้นป้ายคัดค้านทางกลุ่มก็พยายามสื่อสารให้ผู้คนได้รับรู้ว่าถึงแม้โรงงานน้ำตาลจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างแต่ทางกลุ่มก็ยังจะคัดค้านเหมือนเดิม" มิตร กล่าว

สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวว่า ถึงแม้ว่าทางบริษัทจะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) จากกรมโรงงานอุสาหกรรม และเริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว แต่ตนเห็นว่า ว่าอีไอเอก็ยังมีข้อขัดแย้งกับข้อมูลพื้นที่ เนื่องจากในรัศมี 5 กิโลเมตรพื้นที่คาบเกี่ยวกัน 2 จังหวัด คือ จ.อำนาจเจริญ และ จ.ยโสธร โดยในส่วนของจังหวัดยโสธรไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่เริ่มต้น แต่จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมที่ผ่านมาไม่ได้ทำตามกระบวนการการมีส่วนร่วมที่แท้จริง เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมจะต้องทำตั้งแต่การให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือการเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงซึ่งจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิสิต นักศึกษารวมตัวตั้งกลุ่ม สนท. หวังผลักสังคมไทยพ้นจากความสิ้นหวัง

Posted: 20 Jun 2018 01:18 AM PDT

นักเรียน นิสิต นักศึกษาหลายสถาบันรวมตัวก่อตั้งสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย หวังเป็นองค์กรเคลื่อนไหวผลักสังคมไทยออกจากความสิ้นหวัง และสร้างสรรค์อนาคตของสังคมไทย

20 มิ.ย. 2561 ที่ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากหลายสถาบัน อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ท่าพระจันทร์ และลำปาง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาเขตปัตตานี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยราชมงคลรัตนโกสินทร์  ได้ร่วมกันก่อตั้ง สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)

โดยคำประกาศของ สนท. ระบุว่า

เรา นักเรียน นิสิต นักศึกษาจากหลายสถาบันการศึกษา ได้ร่วมกันพิจารณาความเป็นไปของสังคมไทย และมีความเห็นพ้องต้องกันว่าสังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาร้ายแรง และเรื้อรัง 3 ประการดังต่อไปนี้
 
1.ความไม่เป็นประชาธิปไตย 2.ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 3.ความไม่เท่าเทียมทางสังคม
 
เราเห็นว่าปัญหาสังคมทั้ง 3 ประการล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคสำคัญอันส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและอนาคตของเพื่อน นิสิต นักศึกษา และประชาชนไทยทั้งมวล เราจึงได้หารือและมีฉันทามติร่วมกันก่อตั้งสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยเพื่อขับเคลือนสังคมไทยพ้นจากปัญหาข้างต้น โดยมีพันธกิจดังต่อไปนี้
 
1.เป็นองค์กรในการจัดกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษา
 
2.สร้างสันติภาพ เครือข่าย และความร่วมมือระหว่างเพื่อนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ต่างสถาบันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง
 
3.ส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นิสิต นักศึกษา
 
4.พิทักษ์สิทธิ เสรีภาพ สวัสดิภาพ และสวัสดิการ รวมถึงผลประโยชน์อื่นๆ อันเป็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน
 
สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยจะยึดมั่นดำเนินการตามพันธกิจทั้ง 4 ข้อ และร่วมมือกับประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตย มีความเท่าเทียม เสมอภาค และเป็นธรรมในทุกมิติ และเคารพสิทธิมนุษยชน ในการนี้ เราขอเชิญชวนเพื่อนนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีเจตนารมย์เดียวกัน ร่วมสมัครเป็นสมาชิกสหภาพ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวผลักดันสังคมไทยให้พ้นจากความสิ้นหวังและสร้างสรรค์อนาคตของสังคม

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรชาติ บำรุงสุข : การปฏิรูปภาคความมั่นคงกับแนวคิด SSR แนะใช้หลัก ปชต.ควบคุม

Posted: 20 Jun 2018 12:31 AM PDT

รายงานคำบรรยายของ 'สุรชาติ' ต่อแนวคิด 'Security Sector Reform' ที่เป็นทั้งกระบวนการทางการเมืองและเทคนิค ในฐานะกระแสโลกหลังสงครามเย็น แต่บ้านเรายังขาด แนะคุมหน่วยงานความมั่นคงด้วยหลักประชาธิปไตย ย้ำการปฏิรูปไม่ได้เกิดขึ้นโดยปีกขวาจัด แต่ถ้าจะมีก็ต้องเป็นปีกขวาที่ก้าวหน้า

สุรชาติ บำรุงสุข (แฟ้มภาพ)

ภายในห้องเรียนของศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ TCIJ School Season 5 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา จัดบรรยายเรื่อง "Security Sector Reform" โดย สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายละเอียดดังนี้

สุรชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นโจทย์ระยะยาวของสังคมไทย หลังจากปี 35 ตนเป็นคนหนึ่งที่จะบอกว่ารัฐประหารจะไม่จบในสังคมไทย ถ้าลองย้อนกลับไปปี 2535 หลายคนฝันว่ากองทัพจะออกจากการเมืองเหมือนในภูมิภาคอื่นๆ ในปี 34 ที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นเราเคยเชื่อว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย แต่มีสิ่งที่น่าสนใจมากถ้าลองเปรียบเทียบไทยกับเวทีโลก จากปี 49 ถึงปี 57 ไม่ถึง 10 ปีแต่มีการทำรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำ 2 ครั้ง มีประเทศไหนในโลกบ้างที่ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีแต่มีการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง มีเพียง 3 ประเทศประเทศแรกคือฟิจิ สองคือ บูร์กินาฟาโซ ส่วนที่สามคือประเทศไทย

วันที่เจ้าของรายการวันศุกร์ตอนค่ำเขายึดอำนาจ ตนก็ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขาจะอยู่ได้นานแค่ไหนแต่ตนคิดว่าแค่ 2 ปี เพราะ 2 ปีก็น่าจะยาวพอสมควรถ้าเราดูการเมืองไทยในอดีต รัฐประหารของไทยอยู่ได้แค่ประมาณปีครึ่ง เพราะผู้นำทหารรู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางแบกภาระไหว ถ้ายิ่งอยู่นานภาระก็จะตกไปอยู่ที่ตัวคณะรัฐประหารเอง เพราะฉะนั้นคณะรัฐประหารชุดนี้มีสิ่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือการยึดรายการทีวีไปล้างสมองคนทำให้คนเชื่อ อย่าคิดว่าพอเราไม่เชื่อแล้วคนอื่นไม่เชื่อเหมือนเรา ซึ่งส่วนตัวคิดว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อในรายการวันศุกร์มากกว่าที่เราคิด เพราะว่ามันมีทุกศุกร์แล้วไม่ใช่แค่วันศุกร์ยังมีทุกวันธรรมดาตอนเย็น ถ้าถามว่ารัฐบาลเลือกตั้งทำแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้นตอบให้ได้เลยคือถูกด่าและไม่มีทางทำได้ แต่ในระบบนี้พอมันนานขึ้นตนคิดว่าเห็นกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย แล้วในสภาพที่เราเห็นมีข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปจากรัฐประหารในทุกๆ ด้าน

กระแสโลก ว่าด้วย SSR

สุรชาติ กล่าวว่า สิ่งที่ตนตั้งคำถามตั้งแต่มีการยึดอำนาจ จริงๆ ตนเห็นด้วยถ้าคุณจะปฏิรูป แต่คำถามคือ การปฏิรูปอยู่ตรงไหน ? โจทย์ใหญ่สำหรับคนทำเรื่องความมั่นคงหรือทางการทหาร เวลาเขาพูดคิดว่าในโจทย์ชุดใหม่ ซึ่งมันเป็นโจทย์ในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์ มันไม่ใช่เรื่องของการปฏิรูปกองทัพ ตอนที่สงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดตนคิดว่าเราเห็นกระแสโลกชุดนั้น บ้านเราเรียกกันง่ายๆว่ากระแสโลกาภิวัตน์ ในโลกาภิวัตน์มันมีกระแสความมั่นคงชุดหนึ่งซึ่งเป็นผลพวงมาจากทางยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะที่ระบบสังคมนิยมมันโค่นล้มลงไป เมื่อโครงสร้างเดิมมันล้มลงไปแต่ยังคงมีบุคลากร มีบุคคลเหลืออยู่คำถามก็คือจะทำยังไงกับคนพวกนั้น ซึ่งในโครงสร้างในบุคลากร มันไม่ได้มีแค่ทหารมีมากกว่านั้น ในยุโรปตะวันออกมีกลไกที่แข็งมากชุดหนึ่งคือหน่วยงานรัฐ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันผลักดันมาในกระแสโลกหรือในโลกาภิวัตน์ชุดนี้ก็คือ Security Sector Reform  หรือใช้ตัวย่อว่า SSR

บ้านเรามาทุกกระแส แต่ไม่มี SSR

สำหรับ SSR นั้น สุรชาติ อธิบายว่า เป็นเงื่อนไขสำคัญมากสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วนำมาใช้ช่วยประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศที่ประสบปัญหาแล้วได้รับความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก มีเงื่อนไขว่าต้องมีกระบวนการ SSR เกิดขึ้นในบ้านเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนจะได้รับการเคารพ แต่สังเกตไหมว่าในกระแสโลกาภิวัตน์ในบ้านเรานั้นกระแสของ SSR ไม่มาด้วย เพราะถ้าเราสังเกตหลังจากสงครามคอมมิวนิสต์ยุติในไทย หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดในเวทีโลกตอนปี 1989 หรือตอนเหตุการณ์ล้มชาติของเยอรมัน แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับตนคือกระแสนี้มันไปทั่วโลก หรืออาจจะเป็นเพราะสังคมไทยไม่มีเงื่อนไขของการรับความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก เลยไม่ได้รับแรงกดดันในภาคการปฏิรูปความมั่นคง เพราะฉะนั้นในกระแสโลกาภิวัตน์ของบ้านเราที่จะเห็นส่วนใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจ, กระแสเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ, กระแสนิยมทางการเมือง,กระแสโลกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมทั้งกระแสเรื่องของการพูดถึงสิทธิมนุษยชน แต่ไม่มีกระแสของ SSR ในการปฏิรูปชุดใหญ่ชุดนี้ พอไม่มีกระแสตัวนี้เข้ามาในบ้านเรา เราก็จะพูดกันว่าเป็นการปฏิรูปทหาร แต่ทั้งหมดนี้ตนจะลองเปิดประเด็นว่าถ้ามองกรอบใหญ่ของเวทีโลก ใน SSR มันมีภาษาแต่ภาษาพวกนี้ให้ตระหนักว่ามันเป็นเหมือนแบรนด์แต่ตัวสาระนั้นไม่ต่างกัน บางคนอาจจะเห็นตัวย่อ SSG ที่ย่อมาจาก Security Sector Governance หรือตัวย่อ SSG/R ย่อมาจาก Security Sector Governance and Reform ซึ่งตัวย่อเหล่านี้ก็มีความหมายเดียวกันกับ SSR ความหมายของ SSR นั้นก็คือกระบวนการที่จะปฏิรูป เงื่อนไขก็คือว่าตัว Security Sector มันไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับรัฐหรือคน ซึ่ง Security หรือความมั่นคงที่พูดถึงต้องอยู่ในหลักการประชาธิปไตย แนวคิดของเรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 1994 ซึ่งต้องยอมรับว่าในแนวคิดที่มันเป็นตะวันตกมันถูกส่งออกเป็นกระแสโลก เพราะว่าพวกนี้เป็นรัฐให้ความช่วยเหลือกับประเทศด้อยการพัฒนา อันนี้เป็นเงื่อนไขของการต่อรอง ถ้าคุณอยากได้รับการช่วยเหลือคุณต้องปฏิรูปยังไง เพราะฉะนั้นในปี 1999 ตัวชุดความคิดนี้มันเกิดขึ้นจริงแต่แนวคิดหลักที่เกิดขึ้นนั้นก็คือในปี 2014 ซึ่งตรงกับปีที่มีการยึดอำนาจ

ด้านวัตถุประสงค์ของ SSR 1.) เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสร้างประชาธิปไตย เพราะชุดความคิดชุดนี้ถูกผลักดันเข้าไปสู่รัฐที่มีปัญหา  2.) นิติรัฐ ซึ่งในไทยเราจะไม่เห็นท่านผู้นำพูดเรื่องนิติรัฐแต่จะเห็นแค่พูดเรื่องบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นต้องพูดว่า SSR ทำให้รัฐเป็นนิติรัฐไม่ใช่ทำเพื่อให้รัฐปกครองโดยกฎหมาย 3.) สิทธิมนุษย์ 4.) คำอภิปราย 5.) ความโปร่งใส 6.) โอกาสในการตรวจสอบหรือโอกาสที่สังคมจะเข้าไปตรวจสอบรัฐ ในสามข้อหลังนี่คือสิ่งที่หายไปในปีรัฐประหาร ไม่มีคำอภิปราย ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีโอกาสของการตรวจสอบรัฐตั้งแต่เรื่องซื้อรถถังหรือเรือดำน้ำซึ่งพวกนี้คือตัวอย่าง 7.) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลายคนอาจจะงงว่าเศรษฐกิจไปอยู่กับความมั่นคงได้ยังไง ซึ่งการขับเคลื่อนความมั่นคงมีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจพัฒนา เพราะรัฐจะเป็นรัฐที่มีความโปร่งใสมากขึ้น 8.) หลังจากปฏิรูประบบความยุติธรรมหรือการให้บริการทางสังคมจะยังคงยั่งยืน 9.) ในอนาคตข้างหน้าจะไม่เกิดความขัดแย้ง 10.) เกิดการฟื้นตัวของสังคมที่มีความขัดแย้ง 11.) กระบวนการสร้างความเป็นอาชีพ 12.) การสร้างความมั่นคงสำหรับพลเรือน 13.) ประสิทธิภาพของความมั่นคง 14.) ความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงแห่งชาติกับความมั่นคงของมนุษย์ และสุดท้ายข้อ 15.) กระบวนการปฏิรูปต่อการเป็นผู้นำ

แต่ถ้าพูดถึงวัตถุประสงค์หลักจริงๆ ของกระบวนการนี้ที่เกิดขึ้นคืออย่างแรกต้องยอมรับว่า แนวคิด SSR ใช้กับพื้นที่ที่มีความขัดแย้งเพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำในกระบวนการนี้คือ SSR จะนำไปสู่การปลดอาวุธ ต่อมาคือยุติการเคลื่อนไหว ส่วนอันที่สามคือ กระบวนการที่จะนำเอาคนที่มีความขัดแย้งกลับเข้าสู่สังคม ที่ไทยเราก็เคยมีในช่วงหลังสงครามคอมมิวนิสต์ คือการนำเอาคนเข้าป่าออกจากป่า สมมุติถ้าคิดเล่นๆว่า ถ้าเอาแนวคิด SSR ไปใช้กับ 3 จังหวัดชายแดนใต้นี่คือสิ่งที่อยากเห็นคือเอา SSR เข้าไปใช้เพื่อปลดอาวุธคู่ขัดแย้งหรืออีกส่วนหนึ่งคือยุติการเคลื่อนไหวและสุดท้ายนี้จะทำยังไงที่จะเอาคู่ขัดแย้งกลับสู่สังคมให้เป็นปกติได้อย่างไร เงื่อนไขของการใช้ SSR ก็คือจะใช้ในประเทศที่มีความขัดแย้ง แล้วก็แนวคิดชุดนี้เป็นช่วงหลังความขัดแย้ง อีกอันหนึ่งคือเป็นช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ส่วนอีกข้อบ้านเราจะไม่ค่อยชอบคำนี้เท่าไหร่คือใช้กับประเทศที่ด้อยการพัฒนา บางประเทศที่บอกว่าพัฒนาแล้วแต่ตนก็ยังมองว่าเป็นประเทศที่ยังด้อยการพัฒนาอยู่

ภาคความมั่นคงมันไม่ใช่แค่ทหาร SSR ที่เป็นกระบวนการทางการเมืองและเทคนิค

การตีความของคำว่าภาคความมั่นคงนั้น สุรชาติ กล่าวว่า อย่างแรกเลยก็คือกองทัพ ต่อมาคือเรื่องของการรับผิดชอบด้านชายแดนและที่จะโยงเข้าด้วยกันก็คือด่านตรวจคนเข้าเมือง ส่วนการตีความต่อมาของคำว่าภาคความมั่นคงมันไม่ใช่แค่ทหารแต่มันรวมถึงตำรวจด้วย และรวมไปถึงเรื่องของผู้นำรัฐบาล, รัฐสภา, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, สภาความมั่นคง, ระบบศาลและระบบที่จัดการเรื่องงบประมาณ อีกเรื่องที่น่าสนใจของภาคความมั่นคงที่จะคลุมเรื่องใหญ่ที่สุดอยู่ชุดหนึ่งคือ เรื่องเพศ แล้วก็พูดถึงบทบาทของผู้หญิง

SSR เป็นกระบวนการทางการเมืองและเป็นกระบวนการทางเทคนิค ซึ่งเราจะคิดไปที่เรื่องกฎหมายหรือทางการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องคิดทั้งสองเรื่องนี้ให้เป็นคู่ขนานกันให้ได้ มีงานชุดหนึ่งแต่คิดว่าสังคมไทยอาจจะไปไม่ถึงหรือมีโจทย์ชุดหนึ่งที่อยู่ใน SSR คือการปฏิรูปการบวนการยุติธรรม ซึ่งมันจะคลอบคลุมทั้งศาล,อัยการ แล้วก็ราชทัณฑ์ ถ้าจะให้ถามกันตรงๆเลยก็คือว่าการปฏิรูปศาลทำได้ไหมในสังคมไทย เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นว่าเรื่องบางเรื่องมันก็ต้องการความรู้ทางเทคนิคมาช่วย ส่วนเงื่อนไขของความสำเร็จในแนวคิดนี้ถ้าถามตน ตนคิดว่ามีอยู่สองข้อหลักๆก็คือต้องสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของในระดับชาติให้ต่อคนในสังคม แล้วตัวรัฐบาลที่ตัดสินใจทำต้องมีเจตจำนงที่ชัดเจน ไม่มีเจตจำนงทำไม่ได้ในแนวคิดชุดนี้

ตนมีโอกาสได้ลองทบทวนต้นเหตุในหลายปีว่าถ้ามองเรื่องนี้อะไรคือข้อเตือน จากที่ได้ลองทบทวนมาเรื่องแรกที่ต้องพูดถึงก็คือเรื่องทางการเมือง ซึ่งหมายความว่ากุญแจดอกใหญ่ที่สุดคือความเข้าใจทางการเมือง จำเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้นทั้งในระดับปานกลาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวของภาคประชาสังคม ในส่วนต่อมาคือทำยังไงที่จะสร้างพื้นที่ของการปฏิรูป เรื่องนี้ต้องคิดตามความเป็นจริงว่าถ้าจะปฏิรูปพื้นที่ของการปฏิรูปจะต้องเปิดออกก่อน แต่ว่าต้องยอมรับข้อดีของกปปส.ที่ทิ้งพื้นที่นี้ไว้ให้เรา แต่ในชุดความสามารถหรือชุดความคิดทางการเมืองพวกเขาทำตัวนี้ไม่ได้ ซึ่งการปฏิรูปทุกครั้งเป็นการคุกคามต่อชนชั้นนำ ถ้าคิดเรื่องนี้ต้องคิดคู่ขนาดกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม พูดง่ายๆ คือเตือนให้เราตระหนักถึงสภาพทางสังคมที่เราทำการปฏิรูป อย่างเช่นข้อเรียกร้องบางอย่างเราอาจจะดำเนินการไม่ได้เด็ดขาดเพราะเงื่อนไขทางสังคมไม่เปิด

ควบคุมหน่วยงานความมั่นคงด้วยหลักการประชาธิปไตย

สุรชาติ กล่าวว่า การควบคุมหน่วยงานความมั่นคงด้วยหลักการประชาธิปไตย ซึ่งถ้าไม่มีตัวนี้มันก็จะเกิดการตอบสนองต่อการปฏิรูป ซึ่งประเทศไทยเรายังไม่สามารถสร้างข้อนี้ได้เลยในเบื้องต้น จงยอมรับว่าถ้าจะทำการปฏิรูปเราปฏิเสธอำนาจชนชั้นนำไม่ได้ มันแปลว่าห้ามคิดเพ้อฝันเพราะถ้าเชื่อว่ามีอำนาจแล้วจะผลักดันการปฏิรูปได้บอกไว้เลยว่าไม่ใช่ ถ้าคิดอีกมุมหนึ่งคือเรื่องใหญ่มากเพราะถ้าคุณมีอำนาจรัฐแล้วคุณต้องการที่จะผลักดันการปฏิรูปคุณจะตกลงกับชนชั้นนำอย่างไรในสังคม ในข้อนี้ถ้าเกิดว่าทำข้อตกลงกับชนชั้นนำไม่สำเร็จคุณก็จะเกิดการปะทะและสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือคุณแพ้ ถ้าหวังกระบวนการช่วยเหลือจากภายนอก ทุกการปฏิรูปทั่วโลกในปัจจุบันคุณจำเป็นต้องพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอก แต่ก็ต้องรู้ไว้ว่าอิทธิพลเขามีข้อจำกัด 4 ปีหลังรัฐประหารตนพูดเสมอว่าถ้าสังคมไทยต้องสู้เรื่องประชาธิปไตย แล้วคุณหวังว่าแรงกดดันภายนอกจะบีบรัฐบาลทหารไทยอย่างเดียวไม่ได้ วันนี้เราก็จะเห็นคือปัจจัยภายในต้องเคลื่อนด้วยเพราะว่าปัจจัยภายนอกมีข้อจำกัด

"อีกข้อที่เป็นข้อเตือนใจอีกแบบหนึ่งคือทำอย่างไรที่จะต้องรู้ว่าสิ่งที่เราวางเป้าหมายไว้นั้นมันมีข้อจำกัดมันไม่ใช้ว่าจะได้ทุกอย่าง คือมันไม่มีทางที่จะปฏิรูปได้อย่างสมบูรณ์แบบ เหมือนที่ไทยชอบใช้ว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แต่ของจริงแล้วมันไม่มีทาง สังคมไทยชอบสร้างจินตนาการสูงสุดจนเกิดเป็นวาทกรรมแต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง นั่นหมายความว่าถ้าเราเป็นนักปฏิรูปเราต้องคิดว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มันจะต้องเป็นจริง ซึ่งภาคความมั่นคงของแต่ละประเทศนั้นมันมีลักษณะเฉพาะ ของไทยคือตัวอย่างเพราะทุกประเภทถูกเชื่อมโดยประวัติศาสตร์ โดยเงื่อนไขทางการเมืองทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ทางศาสนาหรือตัวบริบทอื่นๆของความเป็นชาติ ในข้อนี้สำหรับผมเป็นหัวข้อที่มีอิทธิพลใหญ่ๆ เพราะถ้าลองคิดว่าจะให้ตำรวจไม่ต้องมียศมันทำได้ไหม ซึ่งก็คือทำไม่ได้แน่นอน หรือมีครั้งหนึ่งที่ผมเคยร่วมเสวนาเรื่องการใส่เครื่องแบบ ผลสรุปคือมันขาดเครื่องแบบไม่ได้ขนาดไปรษณีย์ยังต้องใส่เครื่องแบบ" สุรชาติ กล่าว

สะท้อนความเป็นรัฐราชการ

สุรชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้มันก็สะท้อนไปถึงความเป็นรัฐราชการและมันถูกตอกย้ำด้วยรัฐประหารในปัจจุบัน สังเกตไหมว่าทำไมมีการประชุมข้าราชการทำไมต้องใส่ชุดเครื่องแบบ ยุคของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ผ่านมา ครม.แทบจะไม่ได้ใส่ชุดเครื่องแบบ ในปัจจุบันถ้ามีการประชุมครม.หรือทำเนียบทุกคนต้องใส่ชุดราชการหมด ซึ่งทั้งหมดนี้มันเป็นอะไรที่แวดล้อมชุดความคิดของเราอยู่และมันไปเชื่อมกับตัวภาคความมั่นคงคือให้มีรูปแบบ คุณลักษณะ หรือให้มีชุดความคิดบางอย่าง สำคัญที่สุดคือมีวาทกรรมบางเรื่องที่เราอาจจะเบี่ยงไม่ได้ และสุดท้ายต้องตระหนักด้วยว่าเรื่องนี้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายและหลายฝ่ายมากกว่าที่เราคิด

สุดท้ายเรื่องการปฏิรูปคือมีผู้ชนะแล้วก็ผู้แพ้ ถ้าการปฏิรูปสำเร็จคือต้องมีผู้แพ้แน่ๆ ในช่วงนี้เห็นว่ามีละครประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่ Thai PBS เอามาฉายเขาพูดถึงผู้หญิงที่ถูกส่งไปแต่งงานกับโชกุน และพูดถึงซามูไรท่านหนึ่งที่มีความคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแล้วถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ถ้าใครที่ดูละครซึ่งเกี่ยวกับการอิงประวัติศาสตร์ มันจะเห็นกระบวนการปฏิรูปเกิดในญี่ปุ่น คือปี 1868 ปีเดียวกับรัชกาลที่ 5 ของเรา ญี่ปุ่นกับเรานั้นเริ่มสร้างชาติสมัยใหม่หรือสร้างรัฐสมัยใหม่ในปีเดียวกัน ของเราน่าสนใจคือพอรัชกาลที่ 5 ท่านขึ้นไปได้ถึงจุดหนึ่งบรรดาขุนนางเก่าที่เป็นอนุรักษ์นิยมคือสายของสมเด็จเจ้าพระยากลับไปอยู่บ้านคือราชบุรี ซึ่งนี่ก็แปลว่ากระบวนการปฏิรูปในศาลมันไม่มีแหล่งปะทะแบบที่ญี่ปุ่น ตนเคยเขียนเปรียบเทียบเรื่องการปฏิรูปไว้ 3 ประเทศคือ ไทย ญี่ปุ่น แล้วก็จีน

จะเห็นได้เลยว่าผู้แพ้กับผู้ชนะนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะความสำเร็จหรือความล้มเหลวนั้นมันคือชีวิตของคน ในของไทยถือว่าโชคดีที่รัชกาลที่ 5 ท่านพลักดันแล้วขุนนางหัวเก่าก็กลับบ้านซึ่งคือจบ และในบรรดาคนรุ่นใหม่คือราชโอรสก็ขึ้นรับตำแหน่ง อีกอย่างหนึ่งคือทุกอย่างนั้นมีความเสี่ยง ตนถูกสอนอย่างหนึ่งคือเมื่อถึงเวลาทานข้าว มีข้าวก็ต้องทานเพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะได้ทานไหม ถ้าคุณตัดสินใจเคลื่อนไหวทางการเมืองคือต้องรู้ว่ามันมีความเสี่ยงเป็นเงื่อนไขที่คุณจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าตัดสินใจที่จะทำการปฏิรูปคือมีความเสี่ยงมาก และต้องตระหนักว่ากระบวนการการปฏิรูปเป็นกระบวนการจากบนลงล่าง การปฏิรูปไม่ใช่กระบวนการจากล่างขึ้นบน กระบวนการปฏิรูปคือคุณต้องปีนทางความคิดของส่วนบนให้ได้เพื่อที่จะผลักดันความคิดนั้นออกมา

การปฏิรูปไม่ได้เกิดขึ้นโดยปีกขวาจัด มีแต่จะขัดขวาง

สุรชาติ กล่าวโดยสรุปว่า นิติรัฐมันเป็นเหมือนกฎจราจรบนถนน แต่ SSR มันคือกระบวนการการให้ความรู้แก่คนขับรถซึ่งมันก็คือเรื่องจริง ตนเปิดประเด็นให้เห็นภาพว่า โจทย์วันนี้ไม่ใช่โจทย์ของการปฏิรูปกองทัพโจทย์เดียว เมื่อเวลาพูดถึงเศรษฐศาสตร์กรอบมันใหญ่กว่าการปฏิรูปกองทัพมาก แต่แค่เรื่องปฏิรูปกองทัพเรื่องเดียวสำหรับบ้านเราก็ยังมองภาพไม่ออกเลยว่าจะสำเร็จไหม เพราะลองคิดแค่ว่าเมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นคุณไม่มีทางได้รัฐบาลพลเรือนที่เข้มแข็งเลย แล้วถ้าไม่มีรัฐบาลพลเรือนที่เข้มแข็งนั้นใครจะเป็นผู้นำการปฏิรูปหรือจะให้เจ้าของรายการวันศุกร์พาปฏิรูปอีกเรายังจะเชื่อเขาอีกไหมว่าพวกเขาปฏิรูปได้

"การปฏิรูปไม่ได้เกิดขึ้นโดยปีกขวาจัด สิ่งที่ปีกขวาจัดทำได้จริงๆ คือการขัดขวางการปฏิรูปถ้าปีกขวาจะทำการปฏิรูปได้ก็ต้องเป็นปีกขวาที่ก้าวหน้า ผมเขียนลงมติชนหลายรอบเพื่อจะชี้ให้เห็นว่ากระบวนการขวาจัดในสังคมไทยที่มีอำนาจ ณ ปัจจุบันนำพาการปฏิรูปไม่ได้พวกเขาล้าหลังเกินไปทางความคิด เพราะฉะนั้นในชุดความคิดขวาจัดผมมองว่าไม่มีประโยชน์กับการสร้างอนาคตของสังคมไทย ขวาไทยนั้นล้าหลังเกิดไปถ้าดูจากหลายๆปีที่ผ่านมา แต่ถ้าปฏิรูปเราต้องการปีกขวาที่ก้าวหน้า หรือจะพูดอีกแบบคือเราต้องการคนที่เป็นกลางปีกขวาที่เป็นกลางและปีกซ้ายที่เป็นกลาง ถ้ามองโจทย์ในแง่ของคนรุ่นใหม่ผมคิดว่าสังคมยุโรปแบ่งพรรคการเมืองโดยจุดยืนและแบ่งคนในสังคมโดยจุดยืน มากกว่าภาษาเก่าที่ใช้ว่าซ้ายกับขวา ถ้าคุณซ้ายคุณก็จะทำได้อย่างเดียวคือปฏิวัติ แต่ถ้าขวาคุณก็จะทำได้อย่างเดียวคือลากสังคมกลับสู่ยุคเก่าที่สุด แต่ถ้าต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงมันก็คือต้องอยู่ตรงกลาง" สุรชาติ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับ ทัศมา ประทุมวัน ผู้รายงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 1/2561 จากคณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความสนใจด้าน ข่าว การเมือง การ์ตูน และซีรีส์เกาหลี

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรแรงงานอังกฤษขอนายจ้างอะลุ่มอล่วยให้พนักงานมีโอกาสชมฟุตบอลโลกนัดสำคัญ

Posted: 20 Jun 2018 12:29 AM PDT

สภาสหภาพแรงงานอังกฤษ (TUC) ขอนายจ้างอะลุ่มอล่วยให้พนักงานมีโอกาสชมฟุตบอลโลกนัดสำคัญ จัดพื้นที่ชมการแข่งขันระหว่างการทำงาน, อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านได้, อนุญาตให้พนักงานเข้างานเร็วหรือสายกว่าปกติ และมีความยืดหยุ่นในกรณีการขอลาพักร้อนประจำปี

20 มิ.ย. 2561 เมื่อช่วงก่อนพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย ฟรานเซส โอเกรดี (Frances O'Grady) เลขาธิการองค์กรสภาสหภาพแรงงานอังกฤษ (TUC) ได้ออกมาขอร้องให้นายจ้างให้อะลุ่มอล่วยให้กับพนักงาน โดยการเปิดโอกาสให้พนักงานที่เป็นแฟนฟุตบอลสามารถชมการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญๆ ระหว่างการทำงาน

โอเกรดียังระบุว่านายจ้างไม่ควรมุ่งเป้าหมายทางธุรกิจอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความสุขในการทำงานของพนักงาน นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวทางที่นายจ้างสามารถดำเนินการอำนวยความสะดวกแก่พนักงานที่เป็นแฟนฟุตบอลในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก อาทิเช่น

  • จัดพื้นที่ชมการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญๆ ระหว่างการทำงาน
  • อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านได้
  • อนุญาตให้พนักงานเข้างานเร็วหรือสายกว่าปกติ
  • มีความยืดหยุ่นในกรณีการขอลาพักร้อนประจำปีของพนักงาน

ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วการถ่ายทอดสดการแข่งขันในอังกฤษจะเริ่มในเวลา 11.00 น. ซึ่งตรงกับเวลาทำงาน ส่วนในรายงานข่าวของ BBC ระบุว่าสำหรับประเทศอื่นๆ ที่ปรับเวลาการทำงานให้มีความยืดหยุ่นในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้คือ 'บราซิล' โดยพนักงานในองค์กรรัฐจะมีการปรับเปลี่ยนเวลาทำงานจากปกติในวันที่ 22 และ 27 มิ.ย. เนื่องจากทีมชาติบราซิลจะลงเตะกับทีมชาติคอสตาริกาและทีมชาติเซอร์เบีย

อนึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงฟุตบอลโลก หลายประเทศมักจะมีนโยบายอำนวยความสะดวกให้คนทำงานในประเทศได้รับชมการแข่งขัน อย่างในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล ประเทศ 'เยอรมนี' (ซึ่งเป็นแชมป์ในครั้งนั้น) สหภาพนายจ้างของเยอรมนีอนุญาตให้พนักงานสามารถมาทำงานสายได้ เพื่อสนับสนุนบุคลากรในองค์กรให้มีส่วนร่วมกับฟุตบอลโลก

ส่วนที่จีนเมื่อฟุตบอลโลก 2014 ถึงกับมีธุรกิจออกใบรับรองแพทย์ปลอมไว้ให้สำหรับพนักงานลางานเพื่อชมการแข่งขันฟุตบอลโลกได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งยังมีนายจ้างบางส่วนเอาใจพนักงานโดยการให้พนักงานลางานได้ 3 วันโดยไม่ถูกหักเงินช่วงบอลโลกด้วย

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Let footie fans work flexibly to watch the World Cup, says TUC (TUC, 12/6/2018)
Unions in World Cup match plea to bosses (BBC, 14/6/2018)

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อสังเกตบางประการต่อปรากฏการณ์ "ประหารชีวิตฟีเวอร์" ในสังคมไทย

Posted: 20 Jun 2018 12:18 AM PDT



การบังคับโทษประหารชีวิตที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีเมื่อเย็นวานนี้ ก่อให้เกิดกระแสในสังคมออนไลน์ที่น่าสนใจและน่าหนักใจพอสมควรสำหรับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและคนทำงานด้านสันติวิธีในประเทศไทย

ปรากฏการณ์ที่เราเห็นคือดูเหมือนผู้ใช้โซเชียลส่วนใหญ่จะเห็นคล้อยตามหรือสนับสนุนการนำโทษนี้กลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการเรียกร้องให้นำมาใช้ให้มากขึ้น พร้อมกันนั้นบางส่วนก็แซะนักสิทธิฯ ที่ออกมาวิจารณ์หรือเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ทำนองว่าดีแต่เรียกร้องสิทธิให้อาชญากร ไม่สนใจฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อ หนักหน่อยก็มีสาปแช่งให้นักสิทธิฯ เหล่านั้นตกเป็นเหยื่อเสียเอง เอาเป็นว่างานนี้นักสิทธิฯ ตกเป็นผู้ร้าย (อีกแล้ว) ในขณะที่กระทรวงยุติธรรมเป็นพระเอกหล่อ ๆ มีทิ้งท้ายได้ใจคนไทยไปอีก

อันที่จริงเรื่องนี้ก็เดาได้ไม่ยากว่ากระแสสังคมไทยจะเป็นไปในทางใด และใครก็ตามที่ออกมาสวนกระแสนี้ก็คงต้องทำใจกับการถูกบูชายัญในข้อหาลิเบอรัลจนเกินขอบเขต จนบางคนก็อาจเลือกเงียบเสียดีกว่าไม่เปลืองตัว ถ้าจะพยายามวิเคราะห์ว่าปรากฏการณ์นี้เกิดจากอะไร ใคร ๆ ก็คงพอเห็นได้ว่ามันสะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมจำนวนมากกำลังรู้สึกอัดอั้นกับความล้มเหลวของการบังคับใช้กฎหมาย รู้สึกโกรธเกรี้ยวต่ออาชญากรรมที่ละเมิดต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ที่อาจกระทบถึงตัวเราเข้าสักวัน) ตลอดจนความรู้สึกทางศีลธรรมที่ต้องการให้กฎแห่งกรรมทำงานอย่างทันตาเห็น ฯลฯ ความโกรธเกรี้ยวเหล่านี้ย่อมบรรเทาเบาบางลงเมื่อได้เห็นอาชญากรกำลังได้รับโทษอย่างสาสมด้วยโทษหนักที่สุด (แม้บางคนอาจเห็นว่าฉีดยาเป็นโทษที่ทรมานน้อยไปก็ตาม) หลายคนจึงช่วยไม่ได้ที่จะไม่สบอารมณ์นักสิทธิฯ ที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้

ผมไม่ใช่นักอาชญาวิทยาและมีความรู้ด้านนี้น้อยมาก แต่ก็พอจำได้ราง ๆ ว่านี่คือวัตถุประสงค์ที่เก่าแก่สุดของการมีการลงโทษ คือการแก้แค้นทดแทน ซึ่งมันใช้กันมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์อย่างที่กฎหมายโบราณใช้วิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน เมื่อได้แก้แค้นแล้วก็รู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมกลับคืนมา (แม้ว่าการแก้แค้นนั้นจะไม่ได้มีผลทำให้ตนเองได้รับการเยียวยาความเสียหายอย่างใด ๆ เลยก็ตาม) เมื่ออาชญากรเป็นผู้ละเมิดความสงบสุขร่วมกันของสังคม การลงโทษประหารชีวิตอาชญากรก็คือการที่รัฐทำหน้าที่แก้แค้นแทนพวกเราทุกคนนั่นเอง เราจึงมีความรู้สึกพออกพอใจและรู้สึกว่าเราได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา แม้ว่าเราจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นเลยก็ตาม พร้อมกันนั้น การลงโทษที่รุนแรงในลักษณะนี้ก็ยังเป็นการกำจัดบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ออกจากสังคม และเป็นการป้องปรามผู้อื่นไม่ให้ดูเป็นเยี่ยงอย่างอีกด้วย ดังนั้นในสมัยโบราณการประหารชีวิตอาชญากรจึงต้องทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ และยิ่งเป็นโทษอุกฉกรรจ์เท่าใดวิธีการประหารก็ยิ่งทารุณขึ้นเท่านั้น

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทฤษฎีอาชญาวิทยาในอีกกระแสหนึ่งมองว่าการลงโทษควรมีเป้าหมายเพื่อการขัดเกลาบุคคลเหล่านี้ ในฐานะเป็นสมาชิกของสังคมที่กระทำผิดพลาดไป จึงควรให้โอกาสเขาได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเมื่อพร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมก็จะกลายเป็นสมาชิกของสังคมที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาซ้ำใหม่ แนวคิดนี้อาจมีมูลเหตจูงใจจากการที่เห็นว่า การกระทำของปัจเจกหนึ่ง ๆ นั้นเกิดจากหลายปัจจัยที่สังคมต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย เช่น การที่เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นจนกลายเป็นอาชญากร ก็ต้องทบทวนด้วยว่าเด็กคนนี้เติบโตมาในครอบครัวแบบไหน ในสภาพแวดล้อมแบบใด เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มิใช่เรื่องที่ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวตัดขาดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม และเป็นเรื่องใหญ่โตเกินกว่าที่จะชี้นิ้วหาสาเหตุกันง่าย ๆ ที่ "สันดานอาชญากร" ของบุคคลอย่างเดียว แนวคิดนี้จึงไม่เห็นด้วยกับการลงโทษประหารชีวิต เพราะนั่นคือการตัดโอกาสการกลับเนื้อกลับตัวของคนอย่างสิ้นเชิง ยังไม่นับปัญหาในเชิงปฏิบัติในเรื่องความถูกต้องแน่นอนของกระบวนการยุติธรรม ที่อาจมีความเสี่ยงที่จะมีความผิดพลาดจนมี "แพะ" เกิดขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่เงินและอิทธิพลซื้อได้ทุกอย่างเช่นประเทศไทย

ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้แต่ทฤษฎีทางอาชญาวิทยาก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันในแนวทางของการลงโทษ ไม่นับถึงข้อถกเถียงในเชิงหลักการกฎหมาย ที่ว่า สัญญาประชาคมที่มอบอำนาจให้รัฐมีอำนาจเหนือพลเมืองนั้น รวมถึงอำนาจที่จะปลิดเอาชีวิตของพลเมืองไปหรือไม่ หรือมีความชอบธรรมอย่างไรที่รัฐจะไปกระทำตัวเยี่ยงเดียวกับอาชญากรที่ผลาญชีวิตผู้อื่น โดยการที่รัฐเป็นผู้ลงมือผลาญชีวิตเสียเอง แม้จะเป็นชีวิตของอาชญากรก็ตาม นอกจากนั้น การต้องรักษาโทษประหารชีวิตไว้เพื่อข่มขู่มิให้มีผู้คิดกระทำตามก็สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐและสังคมนั้นในการกล่อมเกลาพลเมืองของตน จนถึงกับต้องใช้การข่มขู่ด้วยโทษประหารแทน ด้วยเหตุนี้กระมัง จึงเห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้จึงมีแนวโน้มที่จะเลิกการลงโทษประหารชีวิต ไม่ว่าจะด้วยการยอมรับในกฎหมายหรือในทางปฏิบัติก็ตาม

ในกรณีของประเทศไทยนั้น ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะบอกได้ว่า เราควรจะยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตได้แล้วหรือยัง (แม้โดยส่วนตัวหลายท่านก็คงเดาได้ว่าผมเห็นว่าอย่างไร) แต่ที่เห็นจากข้อถกเถียงตอบโต้ของฝั่งที่สนับสนุนโทษประหารก็จะเป็นเหตุผลหลักในการป้องปรามมิให้มีผู้เอาเยี่ยงอย่าง ถ้าด้วยเหตุผลนี้จริงก็น่าจะต้องศึกษากันอย่างเป็นระบบสักที (หากมีใครทำแล้วก็ต้องขออภัย) ถึงปัจจัยในการก่ออาชญากรรมของอาชญากร น่าจะลองไปเก็บข้อมูลดูว่าอาชญากรในขณะที่ก่อเหตนั้น ได้คิดถึงโทษที่จะได้รับหรือไม่ ถ้าหากผลออกมาเป็นว่าส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงโทษที่จะได้รับเลย หรือคำนึงถึงแล้วแต่ก็ยังทำ ก็ต้องแปลว่าต่อให้กำหนดโทษให้หนักก็ไม่มีผลในการป้องปรามการกระทำผิดแต่อย่างใด กรมราชทัณฑ์น่าจะลองให้สถาบันการศึกษาทำการวิจัยเรื่องนี้กับนักโทษเด็ดขาดดูนะครับว่าเขารู้สึกอย่างไรในขณะที่ลงมือ จะได้ใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจในเรื่องนี้ ซึ่งน่าจะดีกว่าการนั่งนึกเอาเองว่าช่วยได้หรือช่วยไม่ได้

นอกจากนี้ เคยอ่านพบจากที่ไหนสักแห่งว่า การมีโทษหนักไม่ได้มีผลในการป้องปรามการก่ออาชญากรรม ตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมยังด้อยประสิทธิภาพในการนำตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดี พูดง่าย ๆ ก็คือหากก่อเหตุแล้วมีโอกาสที่จะหลุดรอดมากกว่าถูกดำเนินคดี ผู้ก่อเหตุก็จะคิดเข้าข้างตัวเองเสมอว่าเราจะรอด นี่ยังไม่รวมความบิดเบี้ยวในกระบวนการยุติธรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละขั้นตอน จนกระทั่งสุดท้ายมีความผิดจริงก็อาจไม่ต้องได้รับโทษหรือได้รับโทษน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นี่มิใช่หรือปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่เราเห็นกันอยู่เสมอ ๆ การฝากความหวังไว้กับการมีโทษประหารชีวิตว่าจะช่วยทำให้อาชญากรยับยั้งชั่งใจในการก่อเหตุจึงอาจไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปของปัญหา ตราบใดที่ปัญหาใหญ่ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายังคงอยู่ การวุ่นวายอยู่กับเรื่องโทษประหารชีวิตอาจกลายเป็นเหมือนยันต์กันผีที่มีเอาไว้อุ่นใจคนเป็น แต่ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ก็ได้

ท้ายที่สุด ผมคงไม่ประสงค์จะถกเถียงกับใคร ๆ ในประเด็นนี้ แต่ไหนๆ เราก็มีการประหารชีวิตกันไปแล้ว ก็น่าจะใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ในการช่วยกระทุ้งให้สังคมไทยกลับไปดูปัญหาเรื่องนี้ตรงที่รากเหง้าของกระบวนการทัณฑวิทยาของไทย ตั้งแต่การขัดเกลาเยาวชนผู้กระทำผิดของสถานพินิจ กระบวนการขัดเกลาผู้ต้องโทษในเรือนจำของราชทัณฑ์ การรอการลงโทษ การลดโทษ การอภัยโทษ การดูแลผู้กระทำผิดหลังจากพ้นโทษ ฯลฯ เพื่ออุดช่องว่างที่ทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ หรือป้องกันมิให้เยาวชนที่ผ่านสถานพินิจกลายมาเป็นอาชญากรเต็มตัวในอนาคต และในฐานะนักกฎหมาย ผมเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เกี่ยวข้องเฉพาะแต่นักสิทธิมนุษยชน แต่มันคือสิ่งที่นักกฎหมายควรให้ความรู้แก่สังคมและยกเป็นวาระให้สังคมร่วมกันคิดและทำเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปในเรื่องเหล่านี้อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กว่าการตามกระแสสังคมด้วยการเห็นดีเห็นงามกับการประหารชีวิตเสียท่าเดียว

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Teerawat Kwanjai

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จเยือนพื้นที่ประสบภัยครั้งสุดท้ายก่อนสละราชสมบัติ

Posted: 20 Jun 2018 12:01 AM PDT

เอ็นเอชเค รายงานว่าสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะทรงเสด็จเยือนพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางภูมิภาคโทโฮคุทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะหยุดปฏิบัติพระราชกรณียกิจและเตรียมสละราชสมบัติภายในเดือน เม.ย. 2562

สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ

เอ็นเอชเคระบุว่าตั้งแต่รัชสมัยเฮเซซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2532 ที่จักรพรรดิอะกิฮิโตะเริ่มครองราชย์มาจนถึงทุกวันนี้หนึ่งในพระราขกรณียกิจหลักของจักรพรรดิและจักรพรรดินีของญี่ปุ่นคือการเสด็จเยือนพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในช่วงยุคสมัยเฮเซเองก็มีภัยพิบัติใหญ่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นหลายครั้ง เช่นในปี 2534 มีกรณีภูเขาไฟอุนเซน-ฟุเกนปะทุในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น เหตุแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชินในปี 2538 เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2554

จักรพรรดิและจักรพรรดินีของญี่ปุ่นทรงเสด็จเยือนพื้นที่ประสบภัยเหล่านี้ทุกแห่ง และได้ทรงพบปะกับผู้รอดชีวิตที่สูญเสียคนรู้จัก และตรัสให้กำลังใจผู้คนเหล่านี้รวมถึงทอดพระเนตรการทำงานฟื้นฟูพื้นที่เหล่านี้ โดยล่าสุดทั้งสองพระองค์เสด็จเยือนภูมิภาคโทโฮคุก่อนเตรียมสละราชสมบัติ

เอ็นเอชเครายงานว่าทั้งสองพระองค์เดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงไปถึงฟุกุชิมาเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยเริ่มเสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์การเคหะสำหรับผู้อพยพจากภัยพิบัติในเมืองอิวากิ ผู้คนจำนวนมากราว 440 รายจากเมืองต่างๆ จำต้องอพยพหลังจากเกิดภัยพิบัติที่ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหล นอกจากนี้เอ็นเอชเคยังรายงานถึงรายละเอียดที่ทั้งสองพระองค์มีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนถึงสภาพความเป็นอยู่ รวมถึงรับฟังความรู้สึกของผู้ประสบภัย

สื่อเอ็นเอชเคซึ่งรวมขบวนเสด็จของทั้งสองพระองค์รายงานสภาพพื้นที่ที่กลายเป็นที่ต้องห้ามเพราะมีระดับกัมมันตภาพรังสีสูงว่าจากเดิมที่เป็นทุ่งนาในตอนนี้มีแต่วัชพืชรกร้าง ถนนกลายเป็นพื้นที่เก็บสิ่งของเหลือทิ้งปนเปื้อนและมีแต่บ้านที่ว่างเปล่า ภาพเช่นนี้ชวนให้รู้สึกว่ามีความคืบหน้าของการฟื้นฟูก่อสร้างบริเวณนี้น้อยมาก

สื่อญี่ปุ่นยังระบุถึงพระอาการประชวรของสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะในช่วงวันที่ 11 มิ.ย. แต่ก็ยังทรงเข้าร่วมพิธีรำลึกถึงเหตุภัยพิบัติที่เมืองโซมะ เมืองชายฝั่งที่ภัยพิบัติเคยคร่าชีวิตผู้คนไป 200 ราย และมีการจัดอนุสรณ์สถานในเขตฮารากามะเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต จากนั้นทั้งสองพระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าเรือประมงที่สร้างขึ้นใหม่หลังจากได้รับความเสียหายจากสึนามิ อย่างไรก็ตามชาวบ้านในฟุกุชิมะก็ได้รับผลกระทบจากข่าวลือเรื่องปลาปนเปื้อนทำให้จับปลาได้ลดลง ทำให้ทั้งสองพระองค์ให้กำลังใจรวมถึงแแสดงความชื่นชมความอดทนของชาวประมง และทรงซื้อสินค้าประมงรวมถึงเสวยพระกระยาหารกลางวันที่ทำจากอาหารทะเลของฟุกุชิมะ

เอ็นเอชเครายงานต่อไปว่าหลังจากเสร็จพระราชกรณียกิจในการไปเยี่ยมผู้ประสบภัยแล้วทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินผ่านฝูงชนด้วยท่าทีรั้งรอเหมือนไม่อยากกลับไป ยูคาตะ คาวาชิมะ ผู้เคยเป็นประธานกรรมการของกรมวังแห่งสำนักพระราชวังญี่ปุ่นในช่วงที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่นกล่าวว่า "ทั้งสองพระองค์พยายามมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และทรงสบตากับประชาชน ทรงให้กำลังใจและทำให้ประชาชนมีแรงพลังในการเดินต่อไปข้างหน้า ฉันเชื่อว่าทั้งสองพระองค์จะยังทรงพยายามมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันสละราชสมบัติ"

 

เรียบเรียงจาก

Imperial Couple's "Final Visit" to Disaster-hit Northeast, NHK, 19-06-2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดูการต่อสู้ของแฟนบอลชาวเกย์ เมื่อบอลโลกจัดในประเทศที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน

Posted: 19 Jun 2018 09:22 PM PDT

หนึ่งข้อกังวลของแฟนบอลรักเพศเดียวกันคือการมาดูฟุตบอลโลกในรัสเซีย ประเทศที่สังคมเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน พวกเขาถูกกดดัน คุกคามจากทั้งผู้อยู่อาศัย และนโยบายจากรัฐที่ไม่สนับสนุนให้เปิดเผยตัวตน แม้ฟีฟ่ามีมาตรการจัดการการเหยียดในสนาม แต่สถานการณ์นอกสนามยังคงไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ

ภาพบรรยากาศมหกรรมฟุตบอลโลก 2561 ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย (ที่มา: Facebook/ FIFA World Cup)

มีความกังวลจากชาว LGBT ในเรื่องความปลอดภัยของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่เข้าร่วมชมมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2561 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากมีกรณีอาชญากรรมจากความเกลียดชังและความเกลียดกลัวอย่างไม่มีเหตุผลต่อคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) มากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศที่มีสังคมแบบอนุรักษ์นิยม

ดี คันนิงแฮม หนึ่งในแฟนบอลชาวอังกฤษที่เดินทางไปเยือนรัสเซียโดยเข้าใจสถานการณ์ความเกลียดกลัวเป็นอย่างดี เธอเป็นออร์แกนไนเซอร์ของกลุ่ม "ทรีไลออนส์ไพรด" ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนแฟนบอลชาว LGBT ในอังกฤษ คันนิงแฮมเปิดเผยว่าแฟนบอลที่เป็น LGBT หลายคน โดนข่มขู่คุกคามว่าจะถูก "แทง" ถ้าหากเดินทางเข้ารัสเซีย คันนิงแฮมยังบอกอีกว่ามันเป็นเรื่องโชคร้ายที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่าจัดแข่งฟุตบอลในประเทศที่ "คนบางกลุ่มไม่ได้รับการต้อนรับ"

แต่นั่นไม่ทำให้คันนิงแฮมล่าถอย ในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อก่อนหน้านี้เธอบอกว่ายังคงมีแผนการชมฟุตบอลนัดเปิดสนามที่อังกฤษแข่งกับตูนีเซีย และมีแผนประท้วงด้วยการชูป้ายผ้าที่มีธงสีรุ้งขณะรับชมการแข่งขัน รวมถึงอาจจะมีการโบกธงสีรุ้งที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย

ถึงแม้ทางการรัสเซียระบุว่าพวกเขาจะไม่ดำเนินการปลดป้ายผ้าในสนามฟุตบอลออก แต่ก็เตือนว่าการนำเสนอเรื่องแบบนี้ตามท้องถนนอาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายข้อหา "ห้ามโฆษณาเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกัน  (gay propaganda)" ตามกฎหมายของรัสเซียที่เพิ่งออกมาเมื่อปี 2556 โดยถึงแม้ว่ารัสเซียจะทำให้ความรักระหว่างคนเพศเดียวกันกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2536 แล้ว แต่หลังจากที่มีกฎหมาย "ห้ามโฆษณาเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกัน" ออกมาก็ทำให้เกิดอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime) ต่อชาว LGBT มากขึ้น

สื่อพิงค์นิวส์รายงานว่า ก่อนหน้าวันแข่งขันฟุตบอลโลกไม่กี่วันก็มีเหตุทำร้ายคนรักเพศเดียวกันจนมีคนเข้าโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีคนส่งคำขู่ฆ่ากลุ่มนักกิจกรรม LGBT ที่ชื่อ "ไพรด์อินฟุตบอล" ทางการรัสเซียเตือนว่าคนรักเพศเดียวกันควรแอบซ่อนเพศวิถีของตัวเองไว้ขณะอยู่ในที่สาธารณะ นอกจากนี้ทางการอังกฤษก็ออกคำเตือนเอาไว้ในทำนองเดียวกัน รวมถึงเตือนว่าแฟนบอลชาวอังกฤษอาจจะต้องเผชิญความเสี่ยงต่างๆ ในการเข้าชมฟุตบอลในรัสเซียเช่น "การทำร้ายโดยมีแรงจูงใจมาจากการเหยียดเชื้อชาติสีผิว ความเกลียดกลัวอย่างไม่มีเหตุผลต่อคนรักเพศเดียวกัน หรือกระทั่งจากความรู้สึกต่อต้านชาวอังกฤษ"

ฮวน ปาโบล โมริโน เลขาธิการฝ่ายกีฬาของสมาพันธ์ผู้มีความหลากหลายทางเพศแห่งอาร์เจนตินาวิจารณ์ในเรื่องนี้ว่า การที่รัสเซียไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามการกีดกัน-เลือกปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกัน แต่กลับปกป้องเสรีภาพในการกระทำของกลุ่มคนที่ต่อต้านชาว LGBT ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ส่งเสริมให้เกิดการทำร้ายชาว LGBT เรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิพลเมืองโดยตรง โมริโนกล่าวอีกว่าแม้ในกรณีการเข้าร่วมฟุตบอลโลกจะมีเรื่องน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการกระทำจากความเกลียดชังอัตลักษณ์ แต่เขาก็อยากลองนึกสภาพของ LGBT ในรัสเซียที่ต้องมีชีวิตอยู่แบบนี้โดยตลอดไม่เพียงแค่ช่วงฟุตบอลโลก

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มต่างๆ รวมถึงฟีฟ่าที่พยายามแก้ปัญหาในจุดนี้ หนึ่งในนั้นคือเครือข่ายนานาชาติเพื่อการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติในกีฬาฟุตบอลของยุโรป (FARE) ริเริ่มให้มีการจัด "พื้นที่ปลอดภัย" ให้กับกลุ่ม LGBT และชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธ์ ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในชื่อว่า "บ้านแห่งความหลากหลาย" (Diversity House) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมบรรยากาศที่ยอมรับความต่างของแฟนฟุตบอลที่เป็นชาวเกย์และแฟนบอลที่ไม่ใช่คนขาว

FARE ซึ่งร่วมมือกับฟีฟ่าในโครงการนี้ระบุว่า "บ้านแห่งความหลากหลาย" จะเป็นพื้นที่ที่ไม่เพียงแค่ให้ผู้คนมาพบปะสังสรรค์หรือจัดประชุมกันเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ไว้สำหรับจัดแสดงในเรื่องความหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลด้วย "ถ้าไม่มีความหลากหลายเราก็คงไม่มีฟุตบอล" เปียรา โพวาร์ ผู้อำนวยการของ FARE กล่าว "พวกเราต้องการเฉลิมฉลองความหลากหลายและให้พื้นที่สำหรับแฟนบอลที่มาเยือน ถ้าหากคุณรักฟุตบอล และคุณเชื่อว่าฟุตบอลจะเป็นพลังสำหรับความเปลี่ยนแปลงได้ ฟุตบอลโลกในรัสเซียจะเป็นฟุตบอลโลกที่น่าสนใจมาก"

แต่ทว่ารัสเซียก็ไม่ได้ทำตัว "น่าสนใจ" มากเท่าที่คิด โครงการนี้กลับถูกยกเลิกสัญญาอย่างกระทันหันโดยเจ้าของสถานที่รวมถึงล็อกประตูไม่ให้ผู้จัดงานเข้าไปใช้พื้นที่ได้ ผู้จัดงานบอกว่าคนไล่ที่พวกเขาปฏิบัติกับพวกเขาอย่างหยาบคายมาก มีการปิดไฟและไม่ยอมอธิบายอะไรกับผู้จัดงาน ซึ่งทาง FARE เห็นว่าเรื่องนี้มีแรงจูงใจทางการเมือง และอาจจะมาจากความกลัวกฎหมาย "ห้ามการโฆษณาเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกัน" โพวาร์กล่าวว่าการสั่งปิดพื้นที่เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าการหารือเรื่องสิทธิมนุษยชนในรัสเซียถูกปิดกั้นจากกลุ่มการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้อย่างไร

ทางฟีฟ่าเองก็มีการวางระบบตรวจสอบเพื่อสกัดกั้นการกัดกัน-เลือกปฏิบัติเพื่อส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย โดยระบุว่าจะมีการวางตัวผู้สังเกตการณ์ 3 คนบนสแตนด์เชียร์ในแต่ละแมทช์ของฟุตบอลโลกเพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรมของผู้ชมในสนาม อีกทั้งยังให้อำนาจกับกรรมการในการสั่งระงับการแข่งขันชั่วคราวหรือแม้กระทั่งสั่งยกเลิกการแข่งขันถ้าหากยังคงมีพฤติกรรมในเชิงกีดกันเกิดขึ้น

เฟเดอริโก แอดดีชี ประธานฝ่ายความยั่งยืนและความหลากหลายของฟีฟ่าแถลงไว้ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าพวกเขามีระบบการตรวจสอบเฝ้าระวังที่เข้มงวด อีกทั้งยังมีการฝึกอบรมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันทุกคนไม่ว่าจะเป็นคณะทำงานต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการดำเนินการอย่างถูกต้องถ้าหากมีเหตุการณ์กีดกัน-เลือกปฏิบัติเกิดขึ้น

ถึงแม้ว่ากลุ่มด้านสิทธิต่างๆ และกลุ่มแฟนบอลชาว LGBT จะยินดีที่ฟีฟ่ามีมาตรการพยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยภายนอกสนามฟุตบอล

"พวกเรามีความรู้สึกอย่างแท้จริงว่าพวกเขาจะปลอดภัยภายในสนามฟุตบอล แม้พวกเราจะมีสัญลักษณ์ที่เป็นสีรุ้งที่เรามีเสรีภาพในการใช้มันเพื่อแสดงการสนับสนุนทีมของพวกเราในแง่ของการส่งเสริมประชาคม LGBT ในวงการฟุตบอลได้ แต่มันก็ยังไม่ชัดเจนว่าพวกเราจะปลอดภัยมากน้อยแค่ไหนถ้าหากเราแสดงตัวตนในฐานะแฟนบอลขณะอยู่ในเมืองที่จัดการแข่งขัน" คันนิงแฮมกล่าว

เรียบเรียงจาก

England fan ready to fly the flag for gay rights in Russia, Reuter, Jun. 18, 2018

Russia, football World Cup and rising homophobia, Aljazeera, Jun. 18, 2018

World Cup 2018: 'Safe space' for Russia LGBT football fans shut, BBC, Jun. 17, 2018

Gay World Cup fan left with brain injuries after brutal attack, Pink News, Jun. 15, 2018

FIFA joins opening of Diversity House initiative in Russia, FIFA, Jun. 14, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Penology กับโทษประหาร

Posted: 19 Jun 2018 06:27 PM PDT

 

แนวความคิดเรื่องกระบวนการยุติธรรม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มนุษย์เรายังไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์แบบที่สุด เผลอๆ คำตอบที่สมบูรณ์แบบที่สุด อาจจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวความคิดเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่แตกแขนงกันออกไป

ส่วนหนึ่งในนั้น ก็คือแนวความคิดเรื่องของการ "ลงโทษผู้กระทำผิด" ที่ก็ยังมีอยู่หลายแนวความคิด แต่โดยทั่วไปแล้ว จุดประสงค์หลักของการมีบทลงโทษนั้น ก็คือเพื่อที่จะพยายามลดจำนวนผู้ที่กระทำผิดให้น้อยลงที่สุด แขนงของปรัชญาที่ถกเถียงกันถึงเรื่องของวิธีการที่จะนำมาซึ่งการลดจำนวนอาชญากรรมนั้นเรียกว่า Penology

1. แนวความคิดหนึ่ง มองว่าการลงโทษผู้กระทำผิด เป็นเรื่องของ Retribution หรือ Retributive Justice [1] นั่นก็คือการ "ลงโทษ" ผู้กระทำผิดให้ "สาสม" แก่ความผิดที่ได้กระทำเอาไว้ ตามทฤษฎีนี้แล้ว เมื่อใดก็ตามที่มีผู้ใดละเมิดกฏหมาย ผู้นั้นก็สมควรที่จะได้รับผลลัพธ์จากการกระทำผิดกฏหมายนั้น อย่างไรก็ตาม Retribution นั้น แตกต่างจาก Revenge เพราะว่า Retribution นั้นมุ่งเน้นไปแต่ที่ผู้ที่กระทำความผิด มีขอบเขตที่ชัดเจน ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนบุคคล และที่สำคัญที่สุด ไม่ได้ทำไปเพื่อความพึงพอใจของใคร พูดง่ายๆ Retribution นั้นก็คือเป็นเรื่องของ "กรรม" นั่นเอง

2. อีกแนวคิดหนึ่ง มองว่าการลงโทษ เป็นเรื่องของ Deterrence [2] นั่นก็คือบทลงโทษนั้นมีเอาไว้ในจุดประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะโดยการทำให้ผู้ที่กระทำผิดนั้นไม่สามารถกลับไปกระทำผิดได้อีก หรือว่าจะโดยการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" เพื่อไม่ให้มีผู้กระทำผิดซ้ำสอง Deterrence นี้ต่างจาก Retributivism ตรงที่ว่าการลงโทษไม่ได้ทำไปเพื่อผลกรรม เพื่อสักแต่ว่าผู้กระทำผิดต้องได้รับผลกรรมที่ทำเอาไว้ แต่บทลงโทษมีเอาไว้เพื่อ "ขู่" ไม่ให้มีผู้กระทำผิด

3. ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ "การลงโทษ" แต่เป็นการเน้นไปที่การ Rehabilitation [3] หรือ "บำบัด" เพื่อที่จะลดการผู้ที่เคยกระทำผิดจะไม่กลับมาอีกครั้งหนึ่ง และให้ผู้ที่เคยกระทำความผิด สามารถกลับมาเป็น contributing member of society และสามารถกลับมาอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง เช่น ผู้ที่มีอาการป่วย ที่ทำบางอย่างลงไปเพียงเพราะความบกพร่องที่เกิดจากร่างกายหรือจิตใจ เราก็ควรที่จะ "บำบัด" จนเขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตปรกติโดยไม่กระทำผิดได้อีก กลับมามีโอกาสใช้ชีวิตอีกครั้งหนึ่ง อีกกรณีหนึ่งที่เราใช้คำว่า Rehabilitation เช่นเดียวกัน ก็คือผู้เสพสารเสพติด ที่เราพยายามให้โอกาส และมุ่งเน้นไปที่การบำบัดให้หายจากสารเสพติดเสียมากกว่าจับมาลงโทษเพียงเพราะว่าเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

แนวคิดการ "บำบัด" นี้จึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างความยากลำบากให้กับ "นักโทษ" หรือกีดกัดทางสังคมเสียจนไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อีก จนต้องถูกบีบให้ใช้ชีวิตอาชญากรรมอีกครั้งหนึ่ง แต่จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างวิชาชีพที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และเชื่อมโยงกับโลกภายนอกเพื่อที่พร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคม แน่นอนว่าการ "บำบัด" นั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถวินิจฉัยต้นเหตุของการกระทำผิดได้ เช่น ผู้กระทำผิดที่เป็น psychopath นั้นอาจจะไม่สามารถตระหนักถึงความผิดที่ตัวเองกระทำได้เท่ากับบุคคลปรกติ และอาจจะต้องได้รับการ "บำบัด" ที่แตกต่างกันออกไป

ตัวอย่างที่ดีของประเทศที่ยึดแนวทาง Rehabilitation นี้ ก็คือประเทศนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์มีคุกที่หรูหราที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ผู้ถูกขังจะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างเช่นเดียวกับผู้ที่อาศัยอยู่ภายนอก ไม่ว่าจะตู้เย็น ทีวีจอแบน ห้องน้ำส่วนบุคคล สนามหญ้า ฯลฯ และมีห้องครัวและห้องนั่งเล่นที่นักโทษสามารถใช้ร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็น "ครอบครัว" ภายในเรือนจำ ซึ่งแยกตามความจำเป็นในการบำบัดทางการแพทย์หรือจิตแพทย์ รวมไปถึงการสอนวิชาชีพที่สามารถนำออกมาใช้ได้เมื่อพ้นโทษจากเรือนจำ

เราอาจจะมองว่าชีวิตที่แสนสบายของนักโทษเช่นนี้ แล้วคนจะอยากออกจากคุกทำไม แต่ผลกลับกลายเป็นว่าประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่มีอัตราผู้กลับมากระทำความผิดซ้ำ (recidivism rate) น้อยที่สุดประเทศหหนึ่งในโลก

มองกลับมาที่โทษประหารชีวิต อาจจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนหากเราต้องการหาคำตอบว่า โทษประหารชีวิตนั้นมีที่ในสังคมยุคปัจจุบันหรือไม่ หรือว่าโทษใดสมควรจะได้รับการประหารชีวิต แต่คำถามที่เราสามารถตอบได้ง่ายกว่านั้นมาก หากเราต้องการเรียกร้องโทษประหารชีวิต เรากำลังเรียกร้องกันไปด้วยเหตุผลใด?

หากเราย้อนกลับมาถามว่าโทษประหารชีวิตนั้นตรงกับแนวคิดแบบใด? แน่นอนว่าไม่ใช่เพื่อการ "บำบัด" แน่นอน หรือว่าเป็นไปเพื่อ Deterrence เพื่อไม่ให้มีผู้กระทำผิด? ปรากฏว่าผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมีความเห็นว่าโทษประหารชีวิตนั้นไม่ได้ลดอัตราการเกิดอาชญากรรมแต่อย่างไร เมื่อเปรียบเทียบประเทศที่ใกล้เคียงกันที่มีโทษประหารชีวิตต่างกัน หนำซ้ำ การมีโทษประหารชีวิต กลับทำให้อาชญากรรมมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น หากการข่มขืนมีโทษประหาร ก็จะทำให้เกิดการฆ่าปิดปากมากยิ่งขึ้น เพราะว่าโทษที่ได้รับหากถูกจับได้นั้นไม่แตกต่างกัน และจะยิ่งผลักดันให้เกิด sociopathic behavior ได้มากขึ้น [4]

เราอาจจะมองว่าโทษประหารชีวิตเป็นเรื่องของ Retribution แต่เราต้องอย่าลืมว่า Retribution นั้นควรจะเป็นเรื่องของผลของการกระทำผิด และไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล หรือทำไปเพื่อความพึงพอใจของใคร

แต่หากว่าเรากำลังเรียกร้องให้ประหารชีวิต เพื่อความ "สะใจ" เราก็ควรจะหยุด แล้วก็ถามดูสักนิดว่า เรากำลังจะประหารไปเพื่ออะไร? และการประหารเพื่อความ "สะใจ" นั้น ควรจะเป็นความ "ยุติธรรม" หรือไม่?



Disclaimer: บทความนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือเรียนมาทางด้าน criminology แต่อย่างใด ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นและอภิปราย

 

อ้างอิง:
[1] https://en.wikipedia.org/wiki/Retributive_justice
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/Deterrence_(legal)
[3] https://en.wikipedia.org/wiki/Rehabilitation_(penology)
[4] ProCon.org: Does the Death Penalty Deter Crime?

 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น