โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

มีชาติใดในโลกตัดแผ่นดินขายต่างชาติบ้าง

Posted: 09 Jun 2018 08:46 AM PDT



"เรียบร้อยโรงเรียนจีน" ไปแล้วในกรณีอีอีซีที่รัฐบาลให้ต่างชาติมาซื้อห้องชุดได้ 100% มาเช่าที่ดินได้ 99 ปี หลายท่านคงอยากทราบว่าแล้วมีชาติอื่น

ตอนนี้เห็นรัฐบาลออก พรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้ต่างชาติซื้อห้องชุดและที่ดินรวมทั้งเช่าที่ดิน 99 ปีได้แล้ว ผมขอค้านและไม่ใช่เพิ่งค้านแต่ค้านมานับสิบปีแล้ว แต่ไม่ได้ค้านตัวบุคคล ผมค้านหลักการ ในฐานะที่ปรึกษากระทรวงการคลังหลายประเทศ และทำงานสหประชาชาติ ผมจะพาไปดูประสบการณ์จากต่างประเทศกัน

กัมพูชา: ห้ามต่างชาติซื้อที่ดิน แต่เดิมเคยให้เช่า 99 ปี แต่ปัจจุบันกำหนดระยะเวลาไว้สูงสุด 50 ปีเท่านั้น เขาสรุปบทเรียนได้ว่าการให้เช่าระยะยาวเช่านั้นเสียเปรียบ

ไต้หวัน: มีนโยบาย 3-4-5 ให้คนจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาซื้ออสังหาริมทรัพย์ว่าจะต้องไม่ขายภายใน 3 ปีหลังซื้อเพื่อป้องกันการเก็งกำไร อยู่ในไต้หวันต่อเนื่องกันได้ไม่เกิน 4 เดือน และให้กู้ซื้อทรัพย์สินได้ไม่เกิน 50% ของมูลค่า

มาเลเซีย: เรื่องเช่าที่ดิน 99 ปี ในทางปฏิบัติแทบไม่มีได้พบเห็น เขาให้ต่างชาติซื้อบ้านตามโครงการ Malaysia My Second Home (MSH) ซึ่งเดี๋ยวนี้เพิ่มราคาเป็นอย่างน้อย 2 ล้านริงกิต (17 ล้านบาท) จะซื้อหรือเช่าที่ดินทั่วไปไม่ได้ โดยเฉพาะที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมและที่ดินชายแดน รัฐบาลมาเลเซียห้ามขาดไปเลย

ลาว: ไม่ให้ต่างชาติซื้อที่ดิน แต่เคยให้นายทุนเช่าที่ดิน 99 ปีเช่นกัน แต่เป็นเฉพาะพื้นที่ๆ กำหนด โดยมากเป็นนักลงทุนจีนเป็นสำคัญ (พวกนี้คงหวังขยายอิทธิพลเข้ามาในลาวเช่นเดียวกับชาวเวียดนามที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก) อย่างไรก็ตามหากให้เช่าทำสวนยางพาราก็มักเป็นเวลา 25 ปี (ตามอายุขัยของต้นยาง) แต่ส่วนใหญ่ที่สุดอย่างมากไม่เกิน 50 ปี จากการสัมภาษณ์ข้าราชการระดับผู้อำนวยการกองท่านหนึ่งในกระทรวงทรัพยากรฯ ของลาว ท่านกล่าวว่า ผลการให้เช่าที่ดินในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีนัยแต่อย่างใด

เวียดนาม: ห้ามต่างชาติซื้อที่ดิน ไม่มีการเช่า 99 ปี มีเช่าระยะ 50-70 ปี ที่สำคัญไม่ใช่ให้เช่าได้ทุกที่เปราะไปหมดเช่นในประเทศไทย ส่วนมากในนิคมอุตสาหรรมซึ่งไทยให้ซื้อได้อยู่แล้ว ไม่ต้องเช่าด้วยซ้ำไป (http://bit.ly/1Tya4g8)

สิงคโปร์: นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์สิงคโปร์บอกผมว่า ไม่มีการให้เช่าที่ดิน 99 ปีสำหรับชาวต่างชาติทั่วไป แต่มีให้เช่าสำหรับนักพัฒนาที่ดินที่จดทะเบียนเป็นบริษัทสิงคโปร์ที่ให้พัฒนาเฉพาะแปลงที่ทางองค์การฟื้นฟูเมือง (Urban Redevelopment Authority: URA) กำหนดไว้เท่านั้น (แทบไม่เคยมีต่างชาติมาแข่งด้วยเลย) แต่ต่างชาติอาจเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้ 30 ปี แต่สำหรับในประเทศในขณะนี้ให้ซื้อที่ดินในนิคมฯ ได้เลย ส่วนต่างชาติจะซื้อห้องชุด จะต้องเสียภาษีก่อนเลย 15% ในฐานะที่เป็นคนต่างชาติเพื่อหักห้ามการเก็งกำไร

ออสเตรเลีย: ให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ แต่ต้องเป็นบ้านในโครงการจัดสรรใหม่ๆ เท่านั้น ห้ามซื้อบ้านมือสองเพราะเกรงว่าจะทำให้ราคาบ้านขึ้นกระฉูด กระทบต่อประชาชนในประเทศ

อังกฤษและสหรัฐอเมริกา: ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ไม่อั้น แต่แต่ละปีต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 1-3% ของมูลค่า พวกคนรวยๆ ของไทยที่ถูกบริษัทนายหน้าข้ามชาติ "หลอก" ให้ไปซื้อทรัพย์สินในลอนดอนโอดโอยกันใหญ่ นอกจากนี้ยังมีภาษีมรดกที่หฤโหดอีกต่างหาก แต่ของไทยมีกฎหมายภาษีมรดก แต่เก็บแทบไม่ได้สักบาท เพราะออกกฎหมายที่มีช่องทางเลี่ยงไว้สำหรับคนรวยไว้แล้ว

อินโดนีเซีย: ห้ามขาดเรื่องขายที่ดินต่างชาติ แต่ให้ต่างชาติสิทธิต่างชาติซื้อบ้านโดยมีสิทธิการใช้สอยบ้าน (Right of Use หรือ Hak Pakai)เฉพาะที่ได้รับอนุญาตอาศัยอยู่หรือมีถิ่นพำนักอยู่ในอินโดนีเซีย ไม่ใช่ให้ใครต่อใครมาซื้อส่งเดช และในกรณีที่ชาวต่างชาตินั้นไม่ได้อยู่ในอินโดนีเซียแล้ว ชาวต่างชาตินั้นต้องขายออกในเวลา 1 ปี หาไม่รัฐบาลอินโดนีเซียจะยึดคืน (http://bit.ly/1RFzj0G)

ฮ่องกง: ต่างชาติซื้อห้องชุดได้ แต่ต้องเสียภาษี 30% ในฐานะที่เป็นคนต่างชาติ เพื่อป้องกันการเก็งกำไร แต่ไทยไม่เก็บอะไรสักบาท

สรุปแล้วแทบไม่มีใครขายที่ดินหรือให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ไทยเราจึงไม่จำเป็นต้องให้เช่ายาวนานเช่นนั้น ที่สำคัญ ไม่มีนักลงทุนรายใดเรียกร้องให้มีการเช่ายาวนานขนาดนั้นสักหน่อย ดังนั้นการให้ต่างชาติซื้อหรือเช่าที่ดิน 99 ปี จึงดูเป็นการ "ขายชาติ" ที่ระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังร่างอยู่นี้ และระบบภาษีมรดกที่แทบไม่เก็บภาษีเลย ก็เพราะตามตำรา "ชนชั้นใดออกกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น" รัฐบาลคงเห็นแก่คหบดีใหญ่โตรวยๆ และทายาท จึงแทบไม่เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและภาษีมรดกเลย

ทุกวันนี้เราให้ต่างชาติซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้ นำเงินเข้ามาลงทุน 40 ล้านก็ซื้อที่ดินอยู่อาศัยได้ 1 ไร่ ซื้อห้องชุดได้ 49% เช่าที่ดินทั่วไปได้ 30 ปี เช่าที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมได้ 50 ปี (http://bit.ly/29ioEr5) เช่าช่วงได้ด้วย แค่นี้ก็สุดคุ้มอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องไป "แก้ผ้า" ขนาดที่ EEC ให้คือ ให้เช่าได้ 99 ปี ซื้อห้องชุดได้ 100%ยิ่งกว่านั้น "ที่อ้างว่าเพื่อให้ต่างชาติมั่นใจในการลงทุนนั้น ไม่จริง เพราะจุดคุ้มทุนของธุรกิจไม่เกิน 10-30 ปีเท่านั้น ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีต่างชาติรายใดเรียกร้องให้เพิ่มระยะเวลาในการเช่า เป็น 99 ปี ในแง่ของเขตการค้าเสรี (FTA) ก็ไม่ได้กำหนดถึงเรื่องให้ต่างชาติเช่าหรือซื้อที่ดินแต่อย่างใด (www.thaifta.com)

มาตรการ "ประเคนที่ดิน" ให้ต่างชาติจึงไม่ได้ผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะในยามวิกฤติปี 2542-5 รัฐบาลก็เคยมีมาตรการให้ต่างชาติซื้อห้องชุด 100% ไม่ใช่แค่เช่า 99 ปี แต่ปรากฏว่ามีต่างชาติมาซื้อห้องชุดในเขต กทม.และปริมณฑลเพียง 5,465 ล้านบาท หรือประมาณ 1.2% ของอาคารชุดทั้งหมด จนสุดท้ายเมื่อปี 2547 จึงยกเลิกมาตรการนี้ (http://goo.gl/SQ960j)

งานนี้รัฐบาลพึงทบทวน หาไม่คนไทยคงต้องไปจดทะเบียนบริษัทนอกแล้วมาทำธุรกิจในไทย! 

 

ที่มา:  www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644820

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: มนุษย์ตู่ปรี๊ด

Posted: 09 Jun 2018 08:27 AM PDT



คืนวันศุกร์ ลุงตู่ไม่รู้ไปกินอะไรมา ชมเพจ Because We Care เพจแหม่มโพธิ์ดำ และเพจ Drama-Addict ว่าเป็น โซเชี่ยลสร้างสรรค์ รับเรื่องร้องเรียนเด็กและสตรี ทำงานร่วมกับภาครัฐ

ทำเอาจ่าพิชิตเขิน ขอเว้นการเมืองซักโพสต์

แต่พอวันจันทร์ อังคาร พุธ ท่านผู้นำกลับปรี๊ดสื่อ รวมถึงโลกโซเชี่ยลที่วิพากษ์วิจารณ์ ปรี๊ดเป็นชุด ทั้งอารมณ์ เนื้อหา วาจา ท่าทาง แผ่รังสีตั้งแต่เวทีบริหารจัดการน้ำ บึ้งคำตอบคำ เรื่องปู่ดอน ปรมัตถ์วินัย ตกบ่ายมายืนโค้งคำนับสื่อ แล้ววันอังคารก็ประชด "ผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย" เตือนว่าต่อไปใครวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่มีหลักฐาน จะเอาผิดหมิ่นประมาท รวมถึงชาวบ้านที่ใช้โซเชี่ยลก็ให้ระมัดระวัง

ด้วยความเคารพ เป็นสิทธิของท่านอยู่แล้วครับ ที่จะฟ้องหมิ่นประมาท หากไม่ใช้ประกาศคำสั่ง คสช.ปิดกั้น หรือ คสช.แจ้งจับคนวิจารณ์ท่าน ว่าผิด 116 เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือแจ้ง ปอท.ฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เพราะความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล ฯลฯ การฟ้องหมิ่นประมาทถือเป็นการใช้สิทธิอย่างสง่างาม

เพียงแต่ในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นผู้มีอำนาจ ผู้ใช้อำนาจ กฎหมายก็เปิดโอกาสให้สังคมติชมโดยสุจริต ถึงแม้ยึดอำนาจมา ไม่ได้อาสามาตามระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ว่าวิธีไหน อำนาจก็พร้อมความรับผิดชอบ และคำติชม ต้องรับดอกไม้รับก้อนอิฐ ลงกระโถน ไม่ว่าเต็มใจหรือไม่ นี่คือความจริงในสังคม ปิดกั้นยังไงก็หนีไม่พ้น ปรี๊ดยังไงก็ต้องโดน

ว่าที่จริง ชาวบ้านก็ยังสงสัย ท่านปรี๊ดเรื่องอันใด ดูข่าวย้อนหลังแล้วยังงง ข่าวการเมืองไม่เห็นมีเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวกับท่านโดยตรง หรือเพราะสั่งสมความอัดอั้นตันใจมานาน จนต่อมความเป็นมนุษย์แตกโพละพอดี

เท่าที่ฟังก็น่าเห็นใจ วิเคราะห์อาการในภาพรวมคือท่านน้อยใจ หงุดหงิด อัดอั้น ทำดีไม่มีใครเห็น เห็นแต่คนวิพากษ์วิจารณ์ โลกโซเชี่ยลก็ก่นด่า รัฐบาลทำงานเหมือนทีมฟุตบอล อุตส่าห์เหนื่อยยากแก้ไขปัญหา คนดูกลับด่าทุกวัน สื่อก็ไม่พูดถึงผลงาน แต่มีใครตำหนิรัฐบาลขยายไป 3 วัน 5 วัน

ล่าสุดก็อัดอั้นจนบ่นว่าท่านผิดที่มีความเป็นมนุษย์สูง มีโมโห มีโกรธา ทำดีแล้วไม่ได้ดี ถูกด่าว่าให้ร้าย ทำลายเกียรติยศ ผรุสวาททางโซเชี่ยลมีเดีย

ฟังท่านตัดพ้อแล้วน้ำตาจะไหล รู้ซึ้งหรือยัง หัวอกนายกฯ คนก่อนๆ ที่ถูกเรียกไอ้เรียกอี โดยไม่มีสิทธิโกรธชาวบ้านด้วยซ้ำไป ไม่มี ม.44 ไม่มีคำสั่งเป็นกฎหมาย ปิดปากสื่อไม่ได้

ถ้าย้อนดูท่านชมเพจดรามาแล้วกลับมาปรี๊ดสื่อ ก็เข้าใจได้ ความคิดลุงตู่คือ สื่อมีหน้าที่ร่วมมือทำงานกับภาครัฐ ช่วยสะท้อนปัญหา จับคนทำผิด จับขนมจีนราดน้ำปลา หรือวิพากษ์สังคม คดีมอมยาข่มขืน ฆ่าแฟนตาย ฯลฯ แต่อย่ามาวิจารณ์รัฐบาล ต้องช่วยสนับสนุนท่านทำงานเพื่อชาติ

คำถามคือท่านเข้าใจบทบาทหน้าที่สื่อผิดไปหรือเปล่า สื่อเป็นอิสระ ไม่ใช่เครื่องมือหรือกระบอกเสียงรัฐบาล ไม่ใช่บอกว่ารัฐบาลทำดีแล้วต้องสนับสนุน สื่อมีหน้าที่สะท้อนเสียงรอบข้าง โดยเฉพาะเสียงข้างน้อย ไม่ใช่บอกว่าเสียงข้างน้อยมาร้องสื่อ คือการทำให้วุ่นวาย

มิหนำซ้ำ ท่านยังพาดพิงถึงสื่อว่าต้องใช้เงินซื้อหรืออย่างไร ท่านมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สื่อก็มี พูดเช่นนี้ได้อย่างไร

รัฐบาลมีสื่อมากมายในมือ ทั้งสื่อรัฐ สื่อกองหนุน ซ้ำมีอำนาจปิดกั้นต่อรอง ยังต่อกรเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ อย่างนี้ควรโทษใคร

ในภาพรวมก็เข้าใจนะ 4 ปีที่ผ่านมา ลุงตู่หวังจะใช้อำนาจบังคับสังคม ให้เกิดฉันทามติ โดยบอกว่าเป็นการใช้อำนาจด้วยความปรารถนาดี สถาปนาระบอบที่กำกับดูแลโดยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้รักชาติรักแผ่นดิน ฉะนั้นประชาชนทุกคนมี "หน้าที่พลเมือง" ต้องให้ความร่วมมือ สนับสนุน เป็นกองเชียร์ ให้กำลังใจ เพื่อนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตยในแบบของพวกท่าน คืออยู่ในโอวาท เชื่อฟัง ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้าวุ่นวายไม่ได้เลือกตั้ง

แต่วิธีคิดเช่นนี้ อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้ แถมยิ่งอยู่นานยิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จนอัดอั้นจนทนไม่ไหว ต้องระเบิดออกมาเป็นพักๆ อย่างที่เห็นกันบ่อยไป ยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ไม่รู้ว่าทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ความสำเร็จความล้มเหลวอาจเกิดได้ในพริบตา

ในฐานะที่ห่วงใย ก็บอกได้แต่ว่าท่านต้องทำใจ ยอมรับเสียเถอะว่าอำนาจมาพร้อมกับเสียงวิจารณ์ นี่ยังดีเท่าไหร่ ที่อยู่ในระบอบนี้ ซึ่งท่านปรี๊ดได้ แต่ชาวบ้านสิครับ ปรี๊ดไม่ได้ ทั้งที่อัดอั้นตันใจจะระเบิดอยู่แล้ว

 

ที่มา: www.khaosod.co.th/politics/news_1184013

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: สรรพนามบุรุษที่สอง

Posted: 09 Jun 2018 08:19 AM PDT


ครูที่สอนภาษาอินโดนีเซียผมเลือกใช้ตำราชุดที่นักภาษาศาสตร์เป็นคนแต่ง ในตอนนั้นคงเป็นตำราเรียนภาษาอินโดนีเซียเล่มเดียวที่แต่งโดยนักภาษาศาสตร์ ทั้งไม่ได้แต่งเองที่บ้านหรือมหาวิทยาลัยในสหรัฐ หากนำทีมไปเก็บข้อมูลการใช้ภาษาที่จาการ์ตา ก่อนจะเอามาเขียนเป็นตำรา คงมุ่งหวังให้เป็นตำราเรียนภาษาที่มีชีวิตจริงๆ

ทำไมจึงเลือกจาการ์ตา แทนที่จะเป็นแหล่งซึ่งพูดภาษานี้ (มลายู) มาแต่ดั้งแต่เดิม เช่น เกาะเรียวหรือฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตรา ผมเข้าใจว่าเพราะจาการ์ตาเป็นที่รวมของคนต่างชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษามลายูมาแต่อ้อนแต่ออก และจำเป็นต้องสื่อสารกันด้วยภาษากลางใหม่ซึ่งเรียกว่าภาษาอินโดนีเซีย ดังนั้น ภาษาจาการ์ตาจึงจะเป็นภาษาที่แพร่หลายในสื่อทุกชนิด ไล่ไปถึงแบบเรียนสำหรับเด็ก และภาษาในที่ประชุมระดับชาติ ภาษาของจาการ์ตากำลังกลายเป็นภาษาใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ซึ่งไม่เหมือนมลายูแท้

ผลที่เกิดแก่ผมก็คือ เมื่อลองเอาภาษาอินโดนีเซียที่เรียนมาหัดพูดกับเพื่อนชาวอินโดนีเซีย เขาบอกว่าภาษาแบบนี้คือภาษาของคนไม่มีการศึกษา ไม่มีใครเขาพูดกันหรอก

ผมเชื่อว่า หากมีนักภาษาศาสตร์มาเก็บภาษาไทยที่ผู้คนใช้จริงในกรุงเทพฯ คนไทยก็จะตั้งข้อสังเกตอย่างเดียวกัน

ปัญหาที่เกิดแก่ผมอีกอย่างหนึ่งก็คือ นักภาษาศาสตร์เจ้าของตำราไปเก็บภาษาในช่วงเพิ่งตั้งประเทศ ยังอยู่ในบรรยากาศการปฏิวัติชาตินิยม ด้วยเหตุดังนั้นจึงบอกเราว่า สรรพนามบุรุษที่สองในภาษาอินโดนีเซียคือ saudara (อ่านตามเสียงว่าซะอุดารา แต่เขาออกเสียงว่าโซดารา) แปลว่าพี่หรือน้อง

มาในภายหลัง เมื่อผมใช้คำนี้กับชาวอินโดนีเซีย ปฏิกิริยาของเขาคือหัวเราะ หรือแนะนำให้ใช้คำอื่น เพราะไม่มีใครเขาใช้กันแล้ว

หากคำนี้เลิกใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่สองกันแล้ว มันก็น่าขำจริงเสียด้วย เหมือนคนไทยใช้คำว่า "สหาย" เป็นบุรุษที่สองในการสนทนา หรือคนผิวดำในสหรัฐใช้ brother หรือ sister เป็นบุรุษที่สอง… มันฟังดูเหมือนชวนปฏิวัติ ทั้งๆ ที่เราแค่ถามทาง

วันหนึ่งผมจึงถามอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ว่า ผมจะใช้คำอินโดนีเซียอะไรเป็นบุรุษที่สอง ใช้ anda ได้ไหม ท่านหยุดไปพักหนึ่งแล้วบอกว่ายากชิบเป๋ง แล้วอธิบายว่า ใช้ anda จะฟังดูเหมือนประกาศรัฐบาล หรือโฆษณาสินค้า แล้วท่านก็คิดออกว่าจะอธิบายอย่างไร ก็คือเหมือนภาษาไทยของมึงไง ใช้เรียกไปตามสถานะของผู้ฟัง และ/หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง แต่ไม่แบ่งแยกด้านสถานภาพเท่าภาษาไทย เพราะภาษามลายูมีธรรมชาติของความเสมอภาคมากกว่าแยะ

เออ ใช่ สรรพนามบุรุษที่สองในภาษาไทยก็เป็นเรื่อง "ยากชิบเป๋ง" เหมือนกัน หากต้องอธิบายให้คนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาใช้ให้ถูก

เรามีคำที่ใช้เป็นบุรุษที่สองไม่รู้จะกี่คำนะครับ นับตั้งแต่เอ็ง, มึง, เจ้า, ท่าน และ ฯพณฯ, คำนับญาติ (รวมหลวงพ่อและเจ้าพ่อด้วย), ใต้เท้า, ฝ่าบาท, ละอองพระบาท, ละอองธุลีพระบาท และที่ยังนึกไม่ออกอีกไม่น้อย จะใช้ทั้งหมดนี้ให้ถูกอย่างไร ไม่ใช่แค่เป็นเจ้าของภาษาเท่านั้น แต่ต้องซึมลึกลงไปถึงวัฒนธรรมหรือระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของคนไทยด้วย

แต่ทั้งหมดเหล่านี้ก็เพื่อตอกย้ำเสริมสร้างการแบ่งแยกสถานภาพของผู้คนออกจากกัน ตั้งแต่เกิดก็ค่อยเรียนรู้การใช้สรรพนามบุรุษที่สองอันละเอียดอ่อนเหล่านี้ไป จนในที่สุดก็ซึมซับความไม่เท่าเทียมของมนุษย์ไว้เป็นรากฐานของโลกทัศน์ของตนเอง คล่องแคล่วจนสามารถจะพลิกผันคำเรียกบุรุษที่สอง เพื่อแสดงสถานะที่ไม่เท่าเทียมกันได้อย่างแนบเนียน

เช่น เด็กเสิร์ฟผู้หญิงในร้านอาหารทุกคนต่างเป็น "น้อง" เหมือนกันหมด คำนับญาติถือเป็นสรรพนามบุรุษที่สองซึ่งแฝงนัยยะของความเหลื่อมล้ำน้อยแล้ว แต่ "น้อง" ในที่นี้ไม่ใช่คำนับญาติแท้ เพราะไม่เคยมีลูกค้าคนใดถาม "น้อง" เลยว่าอายุเท่าไร เพื่อจะได้ตัดสินใจถูกว่าควรเรียก "น้อง" หรือ "พี่" ดี แต่คนในสถานะอย่างนั้นย่อมเป็น "เด็ก (เสิร์ฟ)" เสมออยู่แล้ว ไม่ต่างจาก "บ๋อย" หรือ boy ที่ฝรั่งใช้เรียกคนดำในสถานะอย่างนั้นมาก่อน

ความไม่เท่าเทียมนั้นฝังลึกอยู่ในสำนึกความเป็นไทย สะท้อนออกมาในสรรพนามที่ใช้ในการสนทนากัน หากจำเป็นต้องพบคนแปลกหน้า สิ่งแรกที่ต้องทำคือหยั่งให้ได้ในเวลาอันรวดเร็วว่าเขาอยู่ในสถานภาพใด เพื่อต่างฝ่ายต่างสามารถใช้สรรพนามบุรุษที่สองได้ถูกต้อง

ในสมัยโบราณ ความจำเป็นนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะคนที่พบและสัมพันธ์ด้วยไม่ใช่คนแปลกหน้า ต่างฝ่ายต่างรู้สถานภาพของกันและกันอย่างดีแล้ว แต่เมื่อสังคมเมืองเริ่มขยายตัวมาตั้งแต่ ร.5 ลงมา ความจำเป็นต้องพบและสัมพันธ์กับคนที่ไม่คุ้นเคยก็เกิดขึ้นมากและบ่อยขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือกับคนต่างชาติ ซึ่งต้องใช้ภาษาไทยเป็นตัวกลาง แต่คนต่างชาติกลับใช้ภาษาไทยด้วย "ไวยากรณ์" ทางวัฒนธรรมของต่างชาติ แทนที่จะใช้ไวยากรณ์ทางวัฒนธรรมแบบไทย

ครับ ผมกำลังนึกถึงเจ๊กก่อน ภาษาจีนเป็นภาษาที่แปรผันตามสถานภาพทางสังคมระหว่างคู่สนทนาไม่สู้จะมากนัก เมื่อคนชั้นกลางกรุงเทพฯ เรียกรถเจ๊กหรือรถลากที่สารถีเป็นจีน ต่ำต้อยห่างเหินจากผู้โดยสารซึ่งนุ่งผ้านุ่งเนื้อดีและเสื้อราชปะแตน แต่เจ๊กลากรถก็เรียกผู้โดยสารว่า "ลื้อ" เหมือนที่ใช้กับเจ๊กลากรถคันอื่น

ผมคิดว่า "ลื้อ" เป็นสรรพนามบุรุษที่สองคำแรกที่แปร่งหูคนไทยที่สุด เพราะมันใช้กับคนสูงสุดไปจนถึงคนต่ำสุดได้เหมือนกัน มันแปร่งหูเท่ากับคำว่า "ฉัน-ท่าน" ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นำเข้ามาสู่ภาษาไทย ในฐานะสรรพนามที่ไม่แปรผันไปตามสถานภาพของผู้พูด-ผู้ฟังเลย และกลายเป็นเรื่องที่ปัญญาชนไทยสมัยหลังถากถางเยาะเย้ยหรือเอามาเล่นตลก แต่มันเป็นความพยายามที่น่าสนใจยิ่งอันหนึ่งของผู้นำคณะราษฎรในการเปลี่ยนประเทศไทย

คงไม่มีผู้นำคณะราษฎรคนใดที่ใส่ใจกับอำนาจทางวัฒนธรรมของระบอบเก่ายิ่งไปกว่าท่านจอมพล ป. ผมไม่ทราบว่าท่านต่อต้านอำนาจนั้นเพื่อหลักการประชาธิปไตย หรือหลักการความเป็นชาติที่แท้จริง (แต่ออกจะสงสัยว่าเป็นอย่างหลังมากกว่า) ความเป็นชาติของท่านตั้งอยู่บนหลักความเท่าเทียมของประชาชนทุกคน (ซึ่งเป็นหลักการที่ขาดไม่ได้ของความเป็นชาติทั้งโลก) เพื่อกล่อมเกลาให้เกิดความภักดีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือความภักดีต่อ "ชาติ" (อันอาจมีตัวท่านเองยึดกุมการนำไว้อย่างชัดเจน)

ท่านปรีดี พนมยงค์ พยายามเปลี่ยนประเทศไทยด้วยหลักการประชาธิปไตย ในขณะที่ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามเปลี่ยนรัฐราชสมบัติสยามให้เป็นรัฐชาติไทย ผมคิดว่าสำคัญทั้งสองด้าน และที่จริงควรเสริมกันและกันด้วย

รัฐราชสมบัติมิได้ตั้งอยู่ได้ด้วยอำนาจทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่อาศัยอำนาจทางวัฒนธรรมซึ่งฝังลึกและแน่นหนากว่าการเมืองเสียซ้ำ "การปฏิวัติ" ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเข้าไปปรับเปลี่ยนเรื่องที่ดูเหมือนไม่สำคัญ เช่น เสื้อผ้าหน้าผม, ดนตรี, ภาษาและอักขรวิธี, คำทักทาย ฯลฯ แต่ที่จริงคือการปรับระบบความสัมพันธ์ของผู้คนให้กลายเป็นสมาชิกที่เสมอภาคของ "ชาติ"

ว่าเฉพาะเรื่องสรรพนามบุรุษที่สอง ผู้ที่ช่วยท่านเลือกสรรพนามบุรุษที่สองซึ่งคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานภาพ จะเป็นใคร ผมไม่ทราบ แต่คงเป็นคนมีความรู้ จึงทำให้เข้าใจว่าน่าจะเป็นพระยาอนุมานราชธนและ/หรือพระสารประเสริฐ

ใครๆ ก็เข้าใจได้ว่า "ท่าน" เป็นคำที่ใช้แทน "ลื้อ" ในภาษาจีน หรือ you ในภาษาอังกฤษ แต่คำนี้ไม่ได้ถูกใช้เป็นครั้งแรก ผมได้พบสำนวนแปลนิยายจากภาษาอังกฤษใช้คำ "ท่าน" แทน you มาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภาษาไทยโบราณใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำยกย่อง เช่น พณะหัวเจ้าท่าน ซึ่งใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่สามก็ได้ หรือบุรุษที่สองอย่างเป็นทางการก็ได้ ดังนั้นหากทุกคนถูกเรียกเป็น "ท่าน" หมด จึงไม่แสดงการเหยียด แต่ก็ไม่ได้ยกจนเกินไปนัก (เช่น พระราชหัตถเลขาใน ร.4 ตรัสเรียกขุนนางบางคนว่า "ท่าน" แล้วต่อด้วยชื่อตำแหน่งหรือยศ)

หากจะแปลคำว่า "ลื้อ" หรือ you เป็นภาษาไทยแล้ว จึงไม่มีคำใดที่พอเหมาะพอควรดีไปกว่าคำว่าท่าน (ในสมัยนั้นนะครับ)

ทําไมจึงไม่เป็นเธอ? เข้าใจว่าคำนี้มาจากคำว่า "ธะ" ซึ่งใช้เป็นบุรุษที่สามเรียกพระมหากษัตริย์ หากใช้เป็นบุรุษที่สองสากล ก็ดูจะยกเกินไป อย่างไรก็ตาม เมื่อแปลงมาเป็น "เธอ" กลับถูกใช้ในหมู่ "ผู้ดี" เป็นบุรุษที่สอง (หรือสามก็ได้) สำหรับพูดกับคนในสถานภาพใกล้กัน แต่ต่ำกว่า "เธอ" จึงดูยกเกินไปหากคิดถึงต้นกำเนิดของคำ และเหยียดเกินไปหากคิดถึงการใช้ภาษาที่มีมาก่อน

ใช้ "คุณ" ไม่ได้ เพราะในสมัยนั้นคำนี้ยังใช้สำหรับเรียกเชื้อพระวงศ์ระดับ ม.ร.ว. หรือใช้นำหน้าตำแหน่งของข้าราชสำนักฝ่ายใน เช่น "คุณท้าว"

อย่างไรก็ตาม จอมพล ป. (หรือแม้แต่คณะราษฎร) ก็อยู่ในอำนาจได้ไม่นาน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มี ในการสร้างวัฒนธรรมความ "ทันสมัย" ขึ้นจากประเพณีเดิม "การปฏิวัติ" ทางวัฒนธรรมของจอมพล ป. ไม่ได้สร้างนักปราชญ์ของตนเอง, สำนักวิชาการของตนเอง, หรือโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมใหม่ไว้แต่อย่างไร กล่าวโดยสรุปคือตั้งอยู่ได้ด้วยอำนาจทางการเมืองที่จอมพล ป. ถือเอาไว้เท่านั้น เมื่อท่านหมดอำนาจ นักปราชญ์ที่เคยให้การสนับสนุน (คงอย่างไม่เต็มใจนัก) ก็พากันกระจัดกระจายกลับไปอยู่กับวัฒนธรรมของรัฐราชสมบัติ ซึ่งเริ่มเฟื่องขึ้นตามลำดับหลังจากนั้น

แม้กระนั้นก็มีมรดกทางวัฒนธรรมของจอมพล ป. ที่เหลือตกทอดสืบมาอีกไม่น้อย เพียงแต่เป็นวัฒนธรรมที่ไม่กระทบต่อระบบความสัมพันธ์ทางสังคม หรือกระทบก็ไม่มากนัก เช่น สถาปัตยกรรมและวัตถุธรรมต่างๆ หรือเร่งความเสื่อมสลายของการแต่งกายด้วยผ้านุ่ง หรือแม้แต่การสวมเสื้อของหญิงชายอย่างทั่วหน้าในทุกวันนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีส่วนรับผิดชอบอยู่มาก

สรรพนามบุรุษที่สองของไทยจึงกลับเข้าสู่การจัดช่วงชั้นทางสังคมอย่างเดิมอีกครั้งหนึ่ง แต่จะใช้ "สูตรช่วงชั้น" เดิมได้ยากขึ้น เพราะแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมเผยแพร่จากโลกตะวันตกเข้าสู่สังคมไทยมากขึ้น และความเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่เปลี่ยนไป ผู้ชายมีปัญหาน้อย เพราะในที่สุดก็รับเอา "ผม-คุณ" มาใช้กับคนที่เท่าเทียมกันได้ ผู้หญิงมีปัญหากว่าแยะ นอกจากไม่มีสรรพนามบุรุษที่หนึ่งซึ่งคงที่ให้ใช้แล้ว ยังมีเรื่องของ "บทบาทและมโนภาพ" ของผู้หญิงในวัฒนธรรมไทยที่คอยกำกับการเลือกสรรพนามอีกมากกว่าผู้ชายอย่างยิ่ง

แต่คนไทยก็เก่งมากในเรื่องการแบ่งลำดับช่วงชั้น แม้ไม่อาจทำอย่างเปิดเผยได้ เพราะสังคมเปลี่ยนไปมากแล้ว อีกทั้งคนในช่วงชั้น "เบี้ย" (subaltern) ก็อาจไม่ชอบที่จะให้ผู้อื่นมาแสดงสถานะด้อยกว่าของตนอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นจึงนำเอาสรรพนามที่ดูเหมือนเท่าเทียมแต่เหยียดอยู่ในทีมาใช้อย่างแนบเนียน ดังคำว่าน้องในร้านอาหารดังที่ผมพูดไปแล้ว

อีกคำหนึ่งที่นักข่าวทีวีชอบใช้มากคือคำว่า "เรา" ใช้เป็นบุรุษที่สองสำหรับพูดกับคนไร้อำนาจและจน เช่น เด็กหรือชาวบ้านในชนบท (แต่ไม่กล้าใช้กับเอ็นจีโอซึ่งเป็นผู้นำชาวบ้านในการประท้วง) หากเป็นคุณหนูที่ชนะเลิศการประกวดแข่งขันเล่นเปียโน ก็ไม่ใช้ "เรา" อีกเหมือนกัน แน่นอนว่าไม่มีนักข่าวคนใดใช้ "เรา" เป็นบุรุษที่สองกับหัวหน้าคณะรัฐประหาร

"เรา" จึงเป็นอีกคำหนึ่งที่สะท้อนความไร้อำนาจ-ความมีอำนาจ, ความจน-ความมี, ไร้เกียรติ-มีเกียรติในสังคมไทยได้อย่างดี นักข่าวสามารถแปรเปลี่ยนสรรพนามบุรุษที่สองไปได้อย่างคล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติมาก อีกทั้งผู้ชมอาจไม่สะดุดกับการจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคมของนักข่าว ค่อยๆ ซึมซับลำดับช่วงชั้นนั้นไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกทัศน์ของตนเอง

ทีวีเป็นผู้ให้การศึกษาใหญ่สุดในสังคมไทยปัจจุบัน (ไม่ได้สอนแต่นักเรียนนะครับ สอนครูด้วย) จึงนับว่าสมแล้วที่ทีวีสาธารณะทุกช่องเคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ กปปส. ซึ่งยึดถือหลักการความไม่เท่าเทียมของพลเมืองไทยเป็นนโยบายทางการเมืองของตน

 

ที่มา: www.matichonweekly.com/column/article_106274

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ศาลฎีกา 22 มิถุนายน 2561 เตะสกัดเผด็จการ

Posted: 09 Jun 2018 08:07 AM PDT



ทุก ๆ ปี  24 มิถุนา มาขวัญเอ๋ย     ใครเล่าเคยหัวจะขาดอาจอาสัญ

ใครบ้างเล่าเฝ้านับคืนยืนนับวัน     ชวนตะครั่นตะครอต่อชีวิต

24 มิถุนายน ใครคนไหน      เอาหัวให้ประกันท้าอาญาสิทธิ์

พ.ศ.2475 พาสู่ทิศ          ประชาลิขิตอนาคตกฎกติกา


86 ปีที่ผ่านมาน่าสงสาร     อุดมการณ์ตะกุกตะกักเป็นนักหนา

ดั่งเกมฟุตบอลต้อนสกัดขัดบาทา     เตะตัดขา ผิดกติกาสารพัด

จะเอาความยุติธรรมนำมาค้าน     กรรมการร่วมเละเทะเตะสกัด

22 พฤษภา 57 เหตุล่าฆ่า รัฐ     รัฏฐาธิปัตย์ถูกฟ้องร้อง 22 มิถุนา


ศาลชั้นต้นจนอุทธรณ์ถอนคดี     เหลืออยู่ที่ฎีกาท้าความกล้า

ศาลเป็นหลักปักธงตรงวิชา     เป็นศรัทธาฟ้าดินสิ้นตัวตน

ศาลคือเงาเสาหลักปักปราดเปรื่อง     กบิลเมืองเรื่องประดาหาเหตุผล

แต่มาตรา 113 ยามอับจน     22 มิถุนายนคนอยากดู


กฎหมายอาญามาตรา 113 ในความผิด     ถ้าวินิจฉัยพลาด จะบาดหู

ศาลฎีกาจะว่าอย่างไรไม่หดหู่     ลูกหลานเหลนอยากรู้สู่ทางทิศ

หมุด 24 มิถุนา ถูกพาหนี 2475     นาฬิกากี่เรือนเทียบ เงียบสนิท

เลหลังแถวคลองถมขมชีวิต     เวลาผิดปิดแขนเสื้อเชื่อถือใด


กรรมเป็นเครื่องเรื่องเหตุชี้เจตนา     พิพากษาจากป่าเถื่อนเขยื้อนไหว

กรรมจากกลัวพัวพัน พากันไป     เดินทางในป่าชีวิต สิทธิ์ อ่อนล้า

ป่าหิมพานต์ฐานเทียบเปรียบป่านี้     ที่นี่มีเขาวงกตคดคุณค่า

คดในข้องอในกระดูกลูกหลานด่า     มีมาตรา 113 ไว้หยามใคร...?


                                                    

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมรับมือ 'ลำไยล้นตลาด' หลังอินโดนีเซียระงับนำเข้า 9 หมื่นตัน

Posted: 09 Jun 2018 12:02 AM PDT

รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งเตรียมรับมือลำไยล้นตลาดหลังอินโดนีเซียระงับนำเข้าลำไย 9 หมื่นตันจากไทย เล็งใช้กลไกสหกรณ์เร่งระบายผลผลิตกระจายสู่ตลาด

 
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2561 ว่านายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเเผยว่านายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในการแก้ปัญหาลำไยราคาตกต่ำ โดยปีนี้ลำไยภาคเหนือคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตออกมาจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลทำให้ราคาปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งไทยได้ส่งลำไยไปขายอินโดนีเซียปีละประมาณ 90,000 ตัน แต่ปีนี้ทางอินโดนีเชียห้ามนำลำไยสดจากประเทศไทย ซึ่งได้ปรับแผนกระจายผลิตออกนอกพื้นที่โดยสหกรณ์ที่รวบรวมลำไยสดใน 6 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 15 แห่ง วางแผนในการรวบรวมลำไยสด และส่งกระจายผ่านช่องทางตลาดต่างๆ โดยกระทรวงพาณิชย์จะมีงบอุดหนุนให้กับสหกรณ์ในการระบายผลผลิต และสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้สหกรณ์รวบรวมลำไยไว้แปรรูปเป็นลำไยอบแห้งเพื่อรอการจำหน่ายในฤดูกาลหน้า เพื่อดึงพ่อค้าที่ต้องการ ซื้อลำไยอบแห้งเข้ามา คาดว่าน่าจะทำตลาดได้ดีกว่าขายเป็นลำไยสด
 
เป้าหมายสหกรณ์ในการรวบรวมผลผลิตลำไยแบบสดคาดว่าจะดำเนินการได้ประมาณ 3,000 ตัน มูลค่า 90 ล้านบาท เพื่อทำตลาดลำไยสดช่อคุณภาพ ลูกสม่ำเสมอ ซึ่งขณะนี้มีสหกรณ์ 7 แห่ง ใน 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ พะเยา เชียงใหม่ และน่าน ได้ส่งเสริมสมาชิกให้ผลิตลำไยคุณภาพอย่างต่อเนื่องและพยายามรักษาตลาดเดิมเอาไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับประทานลำไยรสชาติดีมีคุณภาพ
 
โดยทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย จะเปิดรับออเดอร์จากผู้บริโภคปลายทาง แล้วแจ้งยอดการสั่งซื้อลำไยกับทางสหกรณ์ ซึ่งดูดซับลำไยบางส่วนออกมาจากพื้นที่ นำมาคัดเกรดเป็นลำไยสดช่อคุณภาพดี ขนาดไม่เกิน 80 ลูกต่อกิโลกรัม มีสัดส่วนขนาด AAA 70:30 ก้านช่อยาวไม่เกิน 6 นิ้ว และบรรจุลงตะกร้า ขนาด 10 กก. ตะกร้าขนาด 3 กก.และกล่องกระดาษขนาด 10 กก. ราคาขายจะเป็นราคารับซื้อจากเกษตรกรบวกค่าบริหารจัดการตามระยะทาง ที่กำหนดในเบื้องต้นราคาจำหน่ายลำไยคุณภาพสดช่อถึงมือผู้บริโภค 30-34 บาทต่อกิโลกรัม และจะมีการรับประกันสินค้าด้วย
 
ทั้งนี้ภาพรวมตลาดลำไยของ 7 สหกรณ์ ผลผลิตส่วนใหญ่นำไปอบแห้งทั้งเปลือก ส่งขายตลาดในประเทศจีนเป็นหลัก ซึ่งการทำตลาดลำไยรูดอบแห้งสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 70% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ซึ่งการขายลำไยอบแห้งจะขายได้ดีกว่าลำไยสด และคุ้มค่ากับต้นทุนมากกว่า ซึ่งสหกรณ์จะแบ่งตลาดชัดเจน ลำไยสดจะขายตลาดในประเทศ ลำไยอบแห้งส่งขายประเทศจีน เนื่องจากคนจีนนิยมลำไยอบแห้งเพราะเขาใช้ลำไยอบไปเซ่นไหว้ และกินเป็นยาอายุวัฒนะ ที่ผ่านมา ราคาลำไยสดจะขึ้นอยู่กับตลาดลำไยอบแห้งเป็นหลัก
 
แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะอยู่ที่กิโลกรัมละกี่บาท เพราะในแต่ละปีตลาดลำไยสดขนาดใหญ่ของไทย คือ จึงต้องใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาช่วยรองรับผลผลิตลำไยของเกษตรกรและเร่งกระจายสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม กรมฯมีนโยบายในการส่งเสริมตลาดผลไม้ของสหกรณ์ จะคัดเฉพาะที่มีคุณภาพทั้งหมด เพื่อให้ผู้บริโภคที่อยู่นอกแหล่งผลิตได้บริโภคสินค้าดีมีคุณภาพ โดยจะเริ่มจากการทำตลาดลำไยคุณภาพในเดือนกรกฎาคมนี้
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชี้ กม.จัดซื้อใหม่ทำวัคซีนไข้หวัดใหญ่กระจายไม่ถึง รพ. เหตุ รพ.ราชวิถีไม่กล้าออกใบสั่งซื้อ

Posted: 08 Jun 2018 09:19 PM PDT

บอร์ด สปสช.ภาคประชาชนโวยหลังเปลี่ยน รพ.ราชวิถีทำหน้าที่จัดซื้อยาแทน สปสช.ติดระเบียบและกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ทำ รพ.ราชวิถีไม่กล้าออกใบสั่งซื้อยาไปที่ อภ. ล่าสุดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เตรียมฉีดให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงมีอยู่เต็มคลัง อภ.แต่เอาออกมาใช้ไม่ได้ ชี้สุดท้ายคนรับกรรมคือประชาชน

 
 
9 มิ.ย. 2561 น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่าสิทธิประโยชน์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนทุกสิทธิการรักษามีมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีปัญหาการกระจายวัคซีนให้กับโรงพยาบาล แต่ในปี 2561 นี้ หลังจากมีปัญหาที่ สปสช.ถูกตรวจสอบว่าไม่สามารภทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะทำได้ดี ช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ แต่ถูก สตง.ตรวจสอบว่ากฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่อนุญาตให้ทำ จึงมีการแก้ไขปัญหาให้ รพ.ราชววิถีทำหน้าที่จัดซื้อแทน เปลี่ยนให้ สปสช.ทำหน้าที่จัดทำแผนความต้องการ และ อภ.ทำหน้าที่กระจายยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งภาคประชาชนก็กังวลมาตลอดว่าจะมีปัญหาแน่นอน และสุดท้ายคนที่รับกรรมคือประชาชน
 
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ขณะนี้ถึงช่วงที่ต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงแล้ว แต่การเปลี่ยนผู้จัดซื้อ ติดขัดกับระเบียบราชการมากมาย จึงทำให้วัคซีนยังกระจายไม่ถึงในโรงพยาบาลบางแห่ง เนื่องจาก รพ.ราชวิถีติดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างจากกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่ออกมา จึงทำให้ยังไม่สามารถออกใบสั่งซื้อให้กับทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ ซึ่งขณะนี้วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีอยู่เต็มคลังของ อภ.ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. 2561 แล้ว เพื่อเตรียมที่จะกระจายให้ รพ.เพื่อเริ่มฉีดให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา แต่เมื่อไม่มีใบสั่งซื้อจาก รพ.ราชวิถี จึงทำให้นำวัคซีนออกมาใช้ไม่ได้
 
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้น รพ.ราชวิถีแก้ปัญหาโดยใช้วิธียืมวัคซีนจากทาง อภ.ก่อน แต่ อภ.ไม่สามารถให้ยืมได้อีก เนื่องจากก่อนหน้านี้ในรายการยาตัวอื่นที่ รพ.ราชวิถีจัดซื้อก็ใช้วิธียืมยาจาก อภ.มากกว่า 5 พันล้านบาทแล้ว ที่สุดใกล้ถึงช่วงเวลาจะฉีดวัคซีนให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ก็ยังกระจายวัคซีนให้ รพ.ไม่ได้ ทางคณะอนุกรรมการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่มี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติว่า อภ.ต้องยอมให้ รพ.ราชวิถียืมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปก่อนได้ จึงได้เริ่มกระจายวัคซีนให้ รพ.ไปรอบแรก ซึ่งยังมี รพ.หลายแห่งที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ ที่น่าสงสัยคือทำไมปลัด สธ.ไม่รายงานตรงไปตรงมาว่ามีปัญหาอะไรจะได้ช่วยกันแก้ไข ตอนมารายงานความคืบหน้าก็บอกไม่มีปัญหาตลอด ปัญหาการยืมยาก็บอกว่าเคลียร์เรื่องระเบียบต่างๆ กับกรมบัญชีกลางแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่จริง พอแบบนี้ประชาชนไปรอฉีด แต่กลับไม่มีวัคซีนให้ ก็เสียหายไปหมด
 
"ด้วยเหตุนี้จึงมีปัญหาในหลายพื้นที่ ที่ประชาชนที่เป็น 7 กลุ่มเสี่ยงไปขอรับวัคซีนแต่วัคซีนยังมาไม่ถึง รพ. จะเห็นว่าเรื่องนี้สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน จากการตรวจสอบ ระเบียบราชการ และกฎหมายที่ออกมาโดยไม่คำนึงถึงหลักปฏิบัติที่เป็นจริง ในที่ประชุมบอร์ด สปสช. กรรมการที่เป็นตัวแทนภาคประชาชนก็ถามย้ำทุกครั้งว่าจะมีผลกระทบเสียหายกับประชาชนหรือมา หากเปลี่ยนผู้ทำหน้าที่จัดซื้อ ส่วนใหญ่ก็บอกว่าไม่มีแน่นอน แต่สุดท้ายก็มี และคนที่รับผลกระทบหนักคือประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่หน้างาน" น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สพฐ.สั่งให้โรงเรียนใช้ระบบ 'School Lunch' ลดโอกาสทุจริต

Posted: 08 Jun 2018 08:52 PM PDT

สพฐ.สั่งให้โรงเรียนใช้ระบบไทยสคูลลันซ์ (Thai School Lunch) จัดเมนูอาหารกลางวัน ชี้ช่วยคำนวนปริมาณอาหาร ปริมาณวัตถุดิบที่เหมาะสม ลดโอกาสทุจริต

 
 
9 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายทรงวุฒิ มะลิวัลย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนทั่วประเทศ หลังปรากฎคลิปโรงเรียนบ้านท่าใหม่ ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ให้นักเรียนรับประทาน ขนมจีนกับน้ำปลาเป็นอาหารกลางวัน โดยมีการตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงพบข้อมูลว่า ผอ.โรงเรียน ควบคุมเงินและเป็นคนจัดซื้อวัตถุดิบต่างๆด้วยตนเองและยังพบประเด็นไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานอื่นๆ ว่าตามกระบวนการเมื่อโรงเรียนได้รับเงินค่าอาหารกลางวันจาก อปท.จะมีคณะกรรมการ 1 ชุดซึ่งมี ผอ.ครู และคนนอก เช่น กรรมการสถานศึกษาเข้าร่วม
 
ทุกครั้งที่มีการซื้อวัตถุดิบเพื่อทำอาหารกลางวันก็จะต้องมีการตรวจรับ จัดทำบัญชีชัดเจนเพื่อใช้ประกอบการตรวจสอบ เพื่อป้องกันการทุจริตซึ่งทุกปี สพฐ.จะมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานสุ่มตรวจสอบการดำเนินการของโรงเรียนทั่วประเทศปีละ 2 ครั้งภาคการศึกษาละครั้ง
 
"ส่วนใหญ่ที่สุ่มพบก็มีทั้งที่ทำได้ดี และยังติดขัดเรื่องการดูแลโภชนาการของเด็ก แต่ไม่พบการทุจริตหากพบก็จะแจ้งเขตพื้นที่ดำเนินการ ซึ่งกรณีโรงเรียนบ้านท่าใหม่ที่ผ่านมายังไม่เคยลงไปตัวสอบ ทราบว่าเป็นการใช้อำนาจของผู้บริหารมาจัดการครูจึงเกรงใจ ยอมรับว่าเราอาจจะดูแลไม่ทั่วถึง เพราะเวลานี้ขาดบุคลากรเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอมีการโอนย้ายไปสังกัดศึกษาธิการจังหวัดทำให้คนหายไปเกือบ 2 พันคน" นายทรงวุฒิกล่าว
 
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2560 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ.มีนโยบายให้โรงเรียนใช้ระบบ Thai School Lunch (ไทยสคูลลันซ์) ซึ่งระบบนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่โรงเรียนว่าเมนูนี้ใช้วัตถุดิบที่ใช้อะไรบ้าง ปริมาณเท่าไร คุณค่าทางโภชนาการเพื่อช่วยโรงเรียนจัดซื้อได้เหมาะสม ช่วยลดโอกาสที่จะมีการทุจริต แต่ปัญหาคือโรงเรียนยังไม่ค่อยใช้ มีเพียงจำนวนหนึ่งที่ร่วมนำร่องใช้งาน ยังมีปัญหาครูไม่เข้าใจการใช้งาน ดังนั้น จะเร่งอบรมให้ความรู้และให้โรงเรียนที่ดำเนินการโครงการอาหารกลางวันทุกแห่งต้องใช้ระบบดังกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' ระบุถ้า 'สนช.' หลับอีกจะไม่ให้เป็นอะไรอีกเลย

Posted: 08 Jun 2018 08:25 PM PDT

'ประยุทธ์' เผยส่งเรื่องสมาชิก สนช. หลับระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2562 ให้ประธาน สนช. แล้ว ระบุถ้าหลับอีกจะไม่ได้เป็นอะไรอีกเลย

 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
 
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลับในที่ประชุมระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2561 ว่าอยากให้สื่อมวลชนไปสอบถามสมาชิก สนช.ที่หลับด้วยตนเองว่าง่วงหรือไม่ 
 
"ผมมองไม่เห็นสมาชิกที่หลับ แม้จะเป็นช่วงที่ผมกำลังชี้แจงการพิจารณางบประมาณฯ เพราะ สนช.หลับอยู่ด้านล่างที่ประชุม" นายกรัฐมนตรีกล่าว 
 
ส่วนเรื่องนี้จะส่งผลกระทบกับนายกรัฐมนตรีหรือไม่เพราะเป็นผู้เลือก สนช. เข้ามาทำหน้าที่ นายกรัฐมนตรีไม่ตอบคำถามพร้อมตำหนิสื่อมวลชนว่าเป็นคำถามที่ไร้สาระพร้อมย้อนถามถึงสาระสำคัญของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ  
 
"ผมย้ำสมาชิกและส่งภาพไปยังประธาน สนช.แล้ว ซึ่งประธาน สนช.เห็นภาพแล้วเชื่อว่าจะกำชับใน สนช.กันเอง เรื่องทั้งหมดขึ้นอยู่กับตัว สนช. พร้อมขออย่าไปจับผิดกับเรื่องเช่นนี้มาก ไม่เช่นนั้นจะหาเรื่องที่เป็นสาระไม่ได้ เมื่อภาพไม่ดี สื่อมวลชนไม่ควรนำเสนอออกไป อย่างไรก็ตามครั้งต่อไปหากใครหลับอีกก็จะเป็นอะไรไม่ได้อีกต่อไป เพราะผมดูและรู้หมดถ้าหากจะหลับอีกให้ไปนอนที่บ้าน วันนี้ถือว่าอยู่ให้จบกันไปก่อนเพราะงานอย่างอื่นยังมีให้ทำ" นายกรัฐมนตรีกล่าว 
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกลุ่มชาวนาส่วนหนึ่งใส่เสื้อสีฟ้าที่เขียนข้อความด้านหลังว่า "กองหนุนลุงตู่" ว่าไม่ทราบเรื่องแต่ก็ขอบคุณพร้อมย้อนถามสื่อว่าไม่ปลื้มตนเองบ้างหรือ
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลชี้คน กทม.ไม่เชื่อภาครัฐควบคุมการเล่นพนันช่วงบอลโลกได้

Posted: 08 Jun 2018 07:56 PM PDT

กรุงเทพโพลสำรวจคน กทม. 1,206 คน พบว่าคอบอลไทย 97.3% รอชมถ่ายทอดสดบอลโลก 2018 คอบอลไทยเชียร์ทีมชาติเยอรมนีมากที่สุด พร้อมยกให้เป็นเต็งแชมป์บอลโลก 2018 93.0% เชื่อสถานการณ์การพนันบอลในช่วงบอลโลก 2018 จะมีค่อนข้างมากถึงมากที่สุด 77.7% เชื่อหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถควบคุมและปราบปรามการเล่นพนันในช่วงบอลโลกได้

 
 
 
9 มิ.ย. 2561 กรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "คอบอลไทยกับฟุตบอลโลก 2018" โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,206 คน พบว่า คอบอลไทยร้อยละ 97.3 จะติดตามชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย โดยในจำนวนนี้  ร้อยละ 66.0 คาดว่าจะติดตามชมบางคู่เฉพาะทีมที่เชียร์ และทีมใหญ่ๆ และร้อยละ 31.3 คาดว่าจะติดตามชมทุกคู่ที่สามารถดูได้ ขณะที่ร้อยละ 2.7 จะไม่ติดตามชมเพราะไม่มีเวลา ต้องเรียน ต้องทำงาน 
 
สำหรับทีมชาติที่คนไทยเชียร์มากที่สุดในฟุตบอลโลก 2018 อันดับแรกคือ เยอรมนี (ร้อยละ 24.5) รองลงมาคือ บราซิล (ร้อยละ 18.7) อังกฤษ (ร้อยละ 18.6) สเปน (ร้อยละ 10.8) และอาร์เจนตินา (ร้อยละ8.9) ส่วนทีมชาติที่คิดว่าจะเป็นเต็งแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 อันดับแรกคือ เยอรมนี (ร้อยละ 32.0) รองลงมาคือ บราซิล (ร้อยละ 22.6) สเปน (ร้อยละ 13.0) อาร์เจนตินา (ร้อยละ 8.0) และฝรั่งเศส (ร้อยละ 7.6)
 
เมื่อถามว่าท่านจะเสี่ยงทายผลบอลหรือพนันผลบอลหรือไม่  ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.6 คาดว่าจะเสี่ยงทายผลบอลหรือพนันผลบอล โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 36.3 จะส่งไปรษณียบัตร / กิจกรรมทายผลอื่นๆ  รองลงมาคือ ร้อยละ 16.2 จะเดิมพันเล่นกับเพื่อนๆ ร้อยละ 6.6 จะเล่นพนันผ่านช่องทางออนไลน์ และร้อยละ 3.7 จะเล่นพนันผ่านโต๊ะบอล ขณะที่ร้อยละ 48.4 ไม่คิดว่าจะมีการเสี่ยงทายผลบอลหรือพนันผลบอล
 
เมื่อแยกพิจารณาเฉพาะผู้ที่จะเล่นพนันผ่านช่องทางออนไลน์ (ร้อยละ 6.6) พบว่าอยู่ในกลุ่มลูกจ้างเอกชนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 2.7 รองลงมาเป็นกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 1.2 และกลุ่มค้าขาย / ทำงานส่วนตัว คิดเป็นร้อยละ 1.1 และเมื่อแยกพิจารณาเฉพาะผู้ที่จะเล่นพนันผ่านโต๊ะบอล (ร้อยละ 3.7) พบว่าอยู่ในกลุ่มลูกจ้างเอกชนและกลุ่มค้าขาย/ทำงานส่วนตัวมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 1.3 เท่ากัน รองลงมาคือกลุ่มเจ้าของกิจการ คิดเป็นร้อยละ 0.6
 
นอกจากนี้เมื่อถามว่าสถานการณ์การพนันฟุตบอลในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 จะมีมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 93.0 เห็นว่าจะมีค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 7.0 เห็นว่าจะมีค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ส่วนเมื่อถามว่าหน่วยงานภาครัฐจะสามารถควบคุมและปราบปรามการเล่นการพนันในช่วงฟุตบอลโลก 2018 ได้หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 77.7 คิดว่าทำไม่ได้ ขณะที่ร้อยละ 10.9 คิดว่าทำได้ ส่วนร้อยละ 11.4 ไม่แน่ใจ
 
สุดท้ายเมื่อถามถึงความหวังที่อยากเห็นจากวงการฟุตบอลไทยพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 64.4 อยากเห็นการพัฒนาฟุตบอลระดับรากหญ้า เยาวชน รองลงมาคือ ร้อยละ 49.5 อยากเห็นการบริหารวงการฟุตบอลไทยดีกว่านี้ พัฒนาเพิ่มขึ้น และร้อยละ 48.2 อยากเห็นมาตรฐานฟุตบอลลีกไทย แบบในต่างประเทศ
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนแต่งกายเลียนแบบคิมจองอึน ถูกกักตัวชั่วคราวที่สนามบินของสิงคโปร์

Posted: 08 Jun 2018 07:32 PM PDT

คนแต่งกายเลียนแบบผู้นำเกาหลีเหนือ 'คิมจองอึน' ถูกกักตัวสอบสวนที่สนามบินชางกี ประเทศสิงคโปร์ ขณะที่เขาพยายามเข้าประเทศในช่วงใกล้กับการเจรจายับยั้งวิกฤตนิวเคลียร์ระหว่างตัวแทนสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ โดยถูกกักไว้ 2 ชั่วโมงก่อนจะได้รับการปล่อยตัว กำชับให้อยู่ห่างๆ จากพื้นที่จัดการประชุม

 
 
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2561 ผู้ให้ความบันเทิงชาวฮ่องกงที่แต่งกายและแสดงออกเลียนแบบคิมจองอึนถูกควบคุมตัวอยู่ที่สนามบินชางกีในสิงคโปร์ หลังจากเข้าเดินทางกลับมาที่สิงคโปร์อีกครั้งก่อนหน้าการประชุมครั้งใหญ่ที่จะมีการเจรจาหารือระหว่างตัวแทนสหรัฐฯ และตัวแทนเกาหลีเหนือในประเด็นระดับโลกอย่างอาวุธนิวเคลียร์ขอองเกาหลีเหนือ
 
นักแสดงชาวฮ่องกงที่เรียกตัวเองว่า ฮาเวิร์ด เอ็กซ์ เป็นผู้แต่งกายเลียนแบบให้ตัวเองดูคล้ายคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เขาเคยปรากฏตัวในสื่อต่างๆ หลายครั้ง เช่นในช่วงกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาวที่เกาหลีใต้ เขาแต่งตัวเป็นคิมจองอึนเข้าไปในสนามแข่งขันฮ็อกกี้ทีมชาติหญิงระหว่างทีมร่วมชาติเกาหลีเหนือ-ใต้กับทีมญี่ปุ่น เขาถูกตำรวจนำตัวออกไปจากสนามแข่งขันหลังจากลงไปเต้นร่วมกับเชียร์ลีดเดอร์ของทีมชาติเกาหลีเหนือ เอ็กซ์กล่าวว่าที่เขาทำลงไปนั้นเพราะต้องการทำให้เกิดบรรยากาศตลกเสียดสีทางการเมือง
 
ในช่วงปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาฮาเวิร์ด เอ็กซ์็เคยเดินทางเข้าไปในสิงคโปร์และมีสื่อถ่ายภาพวิดีโอของเขาแสดงออกล้อเลียนผู้นำเกาหลีเหนือ เอ็กซ์กล่าวว่าเขาต้องการเดินทางมาที่สิงคโปร์เพื่ออวยพรให้การประชุมหารือเรื่องปัญหานิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือประสบผลสำเร็จ 
 
แต่ในครั้งล่าสุดเมื่อเขาพยายามเดินทางเข้าสู่สิงคโปร์อีกครั้งเขาก็ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลา 2 ชั่วโมงก่อนจะได้รับการปล่อยตัวพร้อมทั้งบอกให้อยู่ห่างๆ จากพื้นที่จัดการประชุม
 
เอ็กซ์เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ถามเขาว่ามีแนวคิดทางการเมืองอย่างไรและถามประวัติว่าเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงหรือการจลาจลในประเทศอื่นๆ หรือไม่ "ผมรู้สึกเหมือนว่าพวกเขาพยายามจะขู่ผม แต่ถ้าหากผมถูกส่งตัวออกนอกประเทศ มันจะต้องกลายเป็นข่าวใหญ่แน่"
 
เอ็กซ์บอกว่าเขาตอบกลับผู้ไต่สวนไปว่าเขาเคยเข้าไปอยู่ในพื้นที่ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงในฐานะเป็นนักดนตรีที่เล่นตีกลอง แต่เขาไม่เคยก่อจลาจลและไม่คิดที่จะก่อจลาจลเป็นอันขาด
 
ประเทศศูนย์รวมทางการเงินอย่่างสิงคโปร์มีการเตรียมการรับการมาเยือนของสองผู้นำตัวแทนประเทศสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือในการเจรจาทั้งทางด้านความเข้มงวดด้านการตรวจค้นขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการพยายามคว้าโอกาสนี้สรางสินค้าเกี่ยวกับการประชุมในครั้งนี้อย่างเบอร์เกอร์ฟิวชั่นทรัมป์-คิม และค็อกเทลที่มาในธีมของการเจรจาของสองผู้นำ
 
ในแง่ของความเข้มงวดนั้น นอกจากเอ็กซ์ แล้ว ยังมีนักข่าวเกาหลีใต้สองคนจากสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเคบีเอสถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมาโดยถูกกล่าวหาว่าบุกรุกเขตสถานทูตเกาหลีเหนือในสิงคโปร์
 
สำหรับเอ็กซ์ เขาพูดถึงเป้าหมายในการเข้าสิงคโปร์ช่วงการประชุมว่าเขาต้องการร่วมกับช่วงเวลาประวัติศาสตร์และเข้าถึงบุคลิกของคนที่เขาแสดง "ผมหวังว่า สิ่งสำคัญอย่างแรกของการประชุมหารือของจริงในครั้งนี้คือการให้คิมเลิกยิงขีปนาวุธและเลิกทำลายเสถียรภาพในภูมิภาค"
 
ฮาเวิร์ด เอ็กซ์ เป็นคนที่เกิดในฮ่องกงและเติบโตในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เขามีงานเป็นโปรดิวเซอร์เพลงและใช้เวลาว่างมาทำการแสดงเลียนแบบนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา เอ็กซ์บอกว่าเขามีกำหนดการจะปรากฏตัวในช่วงสุดสัปดาห์นี้พร้อมกับ เดนนิส อลัน ผู้แต่งกายเลียนแบบโดนัลด์ ทรัมป์ โดยที่ทั้งเอ็กซ์และอลันได้รับการสนับสนุนสปอนเซอร์จากบริษัทในสิงคโปร์ให้เข้าร่วมงานประชาสัมพันธ์บริษัทเกี่ยวกับห้างและร้านอาหารทะเล
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Kim Jong Un Impersonator Gets Detained at Singapore Airport, Bloomberg, 08-06-2018
 
Australian Kim Jong-un impersonator 'detained, questioned' on arrival in Singapore
 
Kim Jong Un impersonator poses for selfies in Singapore, CNBC, 27-05-2018
 
Photos: North Korean Olympic cheerleaders react to a Kim Jong-un impersonator, Quartz, 14-02-2018
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชี้ สนช.นั่งหลับผิดจริยธรรม ร้องหาสปิริตเหมือน รมว.ญี่ปุ่นบ้าง

Posted: 08 Jun 2018 07:08 PM PDT

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุ สนช. ที่นั่งหลับไม่ได้ดีเด่นหรือดีกว่า ส.ส. ในอดีต เข้าข่ายความผิดตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการ ข้อ 8 ข้อ 18 ข้อ 22 ข้อ 28 เรียกร้องให้มีสปิริตเหมือน รมว.คลังของญี่ปุ่น

 
9 มิ.ย. 2561 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยออกแถลงการณ์ระบุว่าตามที่ปรากฏภาพข่าวในสื่อสังคมออนไลน์เป็นการทั่วไปว่า ในขณะที่นายกรัฐมนตรีถกแถลงชี้แจง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 เพื่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมานั้น มีสมาชิก สนช.จำนวนมาก รวมทั้งรัฐมนตรีนั่งหลับใน อันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สนใจใยดีต่อเนื้อหาสาระของถ้อยแถลงของงบประมาณที่ถือว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญที่สุดของประเทศเลยนั้น
 
พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการสะท้อนความจริงที่ดำรงอยู่ในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ เพียงแต่ทว่าพี่น้องสื่อมวลชนไม่ค่อยได้นำเสนอให้ประชาชนทั้งประเทศไม่ได้มีโอกาสรับรู้ทุกครั้งที่มีการพิจารณากฎหมายต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น
 
แต่ทว่าวันนี้ได้ประจักษ์ชัดโดยปริยายแล้วว่า สมาชิก สนช. ที่นั่งหลับไม่ได้ดีเด่นหรือเก่งฉกาจในการทำหน้าที่เหนือไปกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในอดีตที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่เคยมีพฤติกรรมดังกล่าว จนถูกประชาชนตำหนิมาก่อนแล้วมากมาย แต่อาจจะหนักข้อไปเสียยิ่งกว่าด้วยซ้ำเพราะสมาชิกส่วนใหญ่ใน สนช.ล้วนเป็นผู้สูงวัย เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง ที่อาจหมดความองอาจ กระเหี้ยนกระหือเหมือนสมัยวัยรุ่น ที่อาจจะมีความคิดความอ่านที่กว้างไกลในยุคก่อนไทยแลนด์ 4.0 ก็ได้
 
ทั้งนี้เมื่อภาพข่าวถูกเผยแพร่ออกมา ปรากฏว่ามีสมาชิก สนช. บางรายได้ออกมาอภิปรายด้วยน้ำเสียงไม่พอใจ ถึงการเผยแพร่ภาพดังกล่าว โดยกล่าวว่ามีการบิดเบือนโจมตีการทำงานของแม่น้ำ 5 สาย นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ภาพสนช.นั่งหลับทางโซเชียลมีเดีย แถมยังตำหนิสื่อด้วยว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เห็นว่าสิ่งเดียวที่ไม่เคยปฏิรูปตัวเองเลย คือสื่อมวลชนที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความบิดเบือน สร้างความขัดแย้ง ทั้ง ๆ ที่เรื่องดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดีมีอุดมการณ์จะพึงรายงานข้อเท็จให้ประชาชนทราบ นอกจากคนที่เคยเป็นสื่อบางคนเท่านั้นที่พอได้ดิบได้ดีกลับคิดแต่เชลียร์ผู้มีอำนาจจนลืมอุดมการณ์ของความเป็นสื่อไปเสียสิ้น
 
การกระทำของ สนช. และรัฐมนตรีที่นั่งหลับในกรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการ พ.ศ. 2561 ข้อ 8 ข้อ 18 ข้อ 22 ข้อ 28  ซึ่งเพิ่งประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา หาก สนช.จะมีสปิริตเหมือน รมว.คลังของญี่ปุ่นบ้างสักเสี้ยวหนึ่งคนไทยก็คงจะสรรเสริญ ซึ่งเรื่องดังกล่าวสมาคมฯจะไม่เสียเวลาเดินทางไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการจริยธรรมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีรองประธาน สนช.เป็นประธาน เพราะข้อสรุปในอนาคตที่ออกมาจะเป็นเช่นใดนั้น คนไทยทั้งประเทศก็คงจะคาดเดาได้อยู่แล้ว สู้เอาเวลาไปหาหลักฐานจับกังฉินหรือโจรในเสื้อนอกดีกว่า
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์: ถึงเวลาปฏิรูปกฎหมายการจัดการขยะพิษอุตสาหกรรมหรือยัง?

Posted: 08 Jun 2018 04:57 PM PDT

ปัญหากฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และการจัดการขยะพิษอุตสาหกรรม



ที่มาภาพประกอบ: INESby(CC0)

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่อันหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสื่อมวลชนและสาธารณชนก็คือ ข่าวการบุกตรวจค้นโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การตรวจค้นโรงงานประเภทนี้อีกหลายแห่งทั้งที่ตั้งอยู่ใน จ. ฉะเชิงเทรา และนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง รวมทั้งตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบังอีก 7 ตู้ที่ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากฮ่องกงและประเทศญี่ปุ่น โรงงานที่ถูกตรวจค้นหลายแห่งกระทำผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และมีการกำจัดกากของเสียอันตรายที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ทางราชการกำหนด ซึ่งหมายความว่ามีของเสียอันตรายจำนวนมากที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็น เหล็ก ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โครเมียม และนิกเกิล สามารถรั่วไหลออกไปปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมภายนอกและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรระบุว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกที่พักค้างอยู่ที่ฮ่องกงจำนวนหลายแสนตัน โดยประเทศจีนไม่อนุญาตให้นำเข้า นักลงทุนจึงมาตั้งโรงงานรีไซเคิลในประเทศไทย เมื่อมีการคัดแยกได้วัสดุที่รีไซเคิลได้และเป็นประโยชน์ก็จะส่งกลับประเทศจีน ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ก็จะนำใส่กระสอบไปลักลอบทิ้งตามบ่อขยะในประเทศไทย

กรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ข้อมูลว่า ในปี 2560 ประเทศไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณกว่า 6 หมื่นตัน แบ่งออกเป็นขยะที่มาจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศจำนวนประมาณ 7,400 ตัน และนำเข้าประมาณ 53,000 ตัน ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตบำบัดและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 148 แห่ง ประกอบด้วยโรงงานคัดแยกขยะ โรงงานบำบัดและกำจัดขยะ และโรงงานสกัดโลหะมีค่านำกลับมาใช้ใหม่ ขยะที่นำเข้ามารีไซเคิลส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ร้อยละ 98 เป็นโทรศัพท์มือถือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ กรมโรงงานฯได้ออกใบอนุญาตให้มีการนำเข้า 7 โรงงาน มีโควต้าการนำเข้ารวมประมาณ 117,000 ตันต่อปี ในจำนวนนี้มี 5 โรงงานที่เข้าข่ายมีการนำเข้าโดยผิดเงื่อนไขในใบอนุญาต ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันไทยเรามีการนำเข้าขยะอิเล็ทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก คำถามสำคัญที่สร้างความกังวลใจก็คือ กฎหมายและกลไกของรัฐมีความพร้อมและประสิทธิภาพมากเพียงพอที่จะรองรับการจัดการขยะอุตสาหกรรมจำนวนมากมาย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในระยะยาวหรือไม่

ในส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการลักลอบนำเข้า กรมโรงงานอุตสาหกรรมชี้แจงว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-waste ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยได้โดยง่ายเนื่องจากช่องว่างทางกฎหมาย ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษ รวมทั้งการปลดเงื่อนไขของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้เอื้อต่อการเปิดเสรีทางการค้าและการประกอบกิจการของนายทุนไทยกับนายทุนต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเคร่งครัด ผู้นำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายโดยดำเนินการตามขั้นตอนของอนุสัญญาบาเซล และกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะอนุญาตให้โรงงานรีไซเคิลนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานของตนเท่านั้น ปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาตส่วนหนึ่งจึงอาจมาจากการสำแดงข้อมูลอันเป็นเท็จต่อศุลกากร อย่างไรก็ดี เนื่องจากอนุสัญญาบาเซลฯซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 กำหนดให้การเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดนต้องได้รับความยินยอมอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานภาครัฐของประเทศต้นทางและปลายทาง  ทำให้เกิดการล๊อบบี้เพื่อนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หากรัฐบาลสองประเทศตกลงกันได้ ก็จะสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาฯเข้ามากำจัดในประเทศปลายทางได้ เช่น จีนอนุญาตให้นำขยะพิษจากจีนเข้ามาแปรรูปในประเทศไทยได้ เป็นต้น การทลายโรงงานเถื่อนซึ่งสำแดงการนำเข้าเป็นเท็จ สะท้อนปัญหาจากกฎระเบียบต่างๆที่หย่อนยาน รวมทั้งอาจมีการทุจริตและแบ่งผลประโยชน์กันในกลุ่มข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจ

ข้อเท็จจริงทั้งปวงดังกล่าวมาข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงปัญหากฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และการจัดการขยะพิษอุตสาหกรรมดังนี้

1. ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องประสบกับปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายเพิ่มมากขึ้น ความตกลงการค้าเสรีที่ไทยได้ทำไว้กับหลายประเทศก่อให้เกิดข้อผูกพันต้องยกเว้นอากรขาเข้าให้แก่สินค้าหลายรายการ ซึ่งรวมถึงของเสียเคมีวัตถุและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เท่าที่ผ่านมา ระบบควบคุมทางศุลกากรใช้วิธีการบริหารความสี่ยงโดยคัดกรองสุ่มตรวจเฉพาะกรณีที่มีข้อสงสัยจากประวัติของบริษัท จึงไม่มีการตรวจสอบทางกายภาพกับสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้า มีการตั้งเป้าการเปิดตรวจสินค้าขาเข้าไว้ไม่เกินร้อยละ 5 และจะลดการตรวจลงไปอีกตามแนวนโยบายส่งเสริมการค้าเสรี

2. ปัญหาความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานผู้อนุญาตการประกอบกิจการโรงงานและการนำเข้าของเสียอันตราย ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน เมื่อประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหากลิ่น น้ำเสีย และมลพิษอื่นๆที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน มาตรการที่ใช้ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ก็คือ การออกคำสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายปรับปรุงแก้ไขโรงงาน หรือหากเป็นกรณีที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรง ก็อาจออกคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว เมื่อโรงงานดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ก็มักจะกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปรกติ จึงปรากฎอยู่บ่อยครั้งว่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข แม้ว่าบางโรงงานจะกระทำผิดกฎหมายซ้ำๆ ข้อสังเกตดังกล่าวนี้สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาวิจัยปัญหาการจัดการขยะอุตสาหกรรมของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สสส.) จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะปฏิรูปกฎหมายด้านการบริหารจัดการมลพิษอุตสาหกรรม โดยกำหนดให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กรมควบคุมมลพิษ เข้าไปมีบทบาทในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานได้โดยตรง แทนที่จะกระทำได้เพียงรายงานปัญหาและทำหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมให้ดำเนินการตามกฎหมายดังเช่นที่ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้

3. พระราชบัญญัติโรงงานฯกำหนดบทลงโทษไว้ต่ำมาก ไม่มีการกำหนดระวางโทษขั้นต่ำ อีกทั้งยังกำหนดให้การฝ่าฝืนกฎหมายโรงงานเป็นความผิดที่เปรียบเทียบปรับได้ ฉะนั้น เมื่อมีการปล่อยมลพิษหรือลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ไม่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด แม้กฎหมายกำหนดระวางโทษปรับสูงสุดไว้ไม่เกิน 2 แสนบาท แต่ในทางปฏิบัติคดีทั้งหลายก็มักสิ้นสุดลงในขั้นตอนการเปรียบเทียบปรับโดยผู้ฝ่าฝืนกฎหมายต้องเสียค่าปรับในหลักหมื่นเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการจึงไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมองว่าการฝ่าฝืนกฎหมายให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ หากจะให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ก็จะต้องเพิ่มบทลงโทษ กำหนดโทษขั้นต่ำ และยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดให้เปรียบเทียบปรับได้

4. การที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่ามีการลอบบี้ให้นำเข้าของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล รวมทั้งอาจมีการทุจริตและการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจ แสดงให้เห็นว่าการวิ่งเต้นเพื่อให้มีการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้มีอำนาจในการตัดสินใจขาดธรรมาภิบาล

5. ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายซึ่งกำหนดให้มีระบบรับคืนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste electrical and electronic equipment หรือ WEEE) ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ทำให้มีการจัดการ WEEE อย่างไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่ถูกนำไปถอดแยกชิ้นส่วนในร้านรับซื้อของเก่าเพื่อนำเอาส่วนที่มีมูลค่าไปขายหรือใช้ประโยชน์ และทิ้งส่วนที่ไม่มีมูลค่ากลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการจัดการของเสียอันตรายที่อยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านั้น กรมควบคุมมลพิษได้พยายามผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์มานานกว่าทศวรรษ สมควรแก่เวลาที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญแก่การออกกฎหมายดังกล่าว โดยยึดหลักความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended producer responsibility: EPR) ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีส่วนรับผิดชอบในการรับคืน WEEE เพื่อให้มีการนำไปจัดการอย่างถูกต้องต่อไป

ข่าวการทลายโรงงานที่ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ช่วยสะท้อนถึงปัญหาเรื้อรังหลายประการ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเราพูดกันมากเรื่องการปฏิรูป มีการตั้งสภาปฏิรูปและคณะกรรมการปฏิรูปในหลายด้าน ซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดินไปแล้วมากมาย แต่ก็ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิรูปกฎหมายและระบบการกำกับดูแลการจัดการขยะพิษอุตสาหกรรม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาที่ปรากฎชัดเจนอยู่ตรงหน้ามานานหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องการกำหนดโทษขั้นต่ำสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎกระเบียบที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและพิจารณายกเลิกบทบัญญัติในพระราชบัญญัติโรงงานฯที่กำหนดให้มีการเปรียบเทียบปรับได้สำหรับความผิดฐานลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมหรือปล่อยมลพิษที่ไม่ผ่านการบำบัดให้เป็นไปตามคุณภาพที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ จะต้องปฏิรูประบบสถาบันโดยกำหนดให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่กำกับดูแลโรงงานแยกต่างหากจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานผู้อนุญาต อันเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากลในหลายๆประเทศ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น