โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะลงพื้นที่หาเสียง

Posted: 17 Jun 2018 11:53 AM PDT

สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ วัย 74 ปี ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่จังหวัดกัมปอตขณะลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้ง ขณะที่พระชายาถึงแก่กรรม และในเวลาต่อมาสมเด็จฯ รณฤทธิ์ถูกส่งมารักษาตัวที่พนมเปญโดยอยู่ในสภาพบาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้เจ้าชายรณฤทธิ์อยู่ระหว่างนำพรรคฟุนซินเปกลงสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้น 29 ก.ค.นี้

สภาพของรถยนต์โตโยต้า ไฮแลนด์เดอร์ ที่พุ่งชนรถยนต์ BMW ของสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ โดยรถยนต์ BMW อยู่ด้านหลังของภาพ (ที่มา: cambodiapolice.com)

สภาพของรถยนต์ BMW ทะเบียน "รัฐสภา5​ 2-090" ที่สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์โดยสาร (ที่มา: cambodiapolice.com)

สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคฟุนซินเปกวัย 74 ปี ทรงได้รับบาดเจ็บ หลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่จังหวัดกัมปอต ขณะเดินทางไปหาเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปช่วงปลายเดือนหน้า ขณะที่ชายาคือหม่อมอู๊ก พัลลา ได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา

พนมเปญโพสต์รายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของยุนมิน ผู้ว่าราชการจังหวัดกัมปอตว่า อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (17 มิ.ย.) โดยรถพระที่นั่งของสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ และหม่อมอู๊ก พัลลา พระชายา ได้ชนประสานงากับรถแท็กซี่ระหว่างเดินทางจากจังหวัดกำปอตไปยังจังหวัดพระสีหนุ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชาเพื่อพบปะหาเสียงกับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคฟุนซินเปก

ยุนมินระบุว่าจากข้อมูลของโรงพยาบาล หม่อมอู๊กเสียชีวิตเมื่อเวลา 12.00 น. ตอนที่เขาไปเยี่ยมก็พบว่าหม่อมอู๊กหมดสติแล้ว ส่วนสมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ก็กำลังอยู่ระหว่างรักษาอาการบาดเจ็บหนักและต้องให้อ็อกซิเจน

มีรายงานด้วยว่าสมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ถูกเคลื่อนย้ายทางอากาศเพื่อมารักษาตัวที่กรุงพนมเปญโดยอยู่ในอาการสาหัส

ยี ศุขขา รองผู้บัญชาการตำรวจของจังหวัดปัมปอตกล่าวว่านอกจากสมเด็จรณฤทธิ์และหม่อมอู๊กยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บรายอื่นด้วย โดยเขาไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

"พวกเขาถูกส่งไปโรงพยาบาล พวกเขาดูมีอาการบาดเจ็บหนัก สมเด็จรณฤทธิ์เองก็บาดเจ็บที่ขาซ้าย"

ข้อมูลของเว็บไซต์ตำรวจกัมพูชาระบุว่า สาเหตุอุบัติเหตุมาจากรถยนต์โตโยต้าไฮแลนด์เดอร์ ทะเบียน "​พนมเปญ 2L-9667" คนขับอายุ 34 ปี ขับมาจากจังหวัดพระสีหนุ มุ่งหน้าไปพนมเปญเกิดเสียการควบคุมและพุ่งชนรถยนต์ BMW ทะเบียน "รัฐสภา5​ 2-090" ที่สมเด็จรณฤทธิ์โดยสารในฝั่งตรงกันข้าม โดยรถยนต์โตโยต้าไฮแลนด์เดอร์พุ่งชนในขณะที่กำลังทำความเร็ว โดยทำให้มีผู้บาดเจ็บถึง 7 ราย 2 คนเป็นผู้หญิง และหลังจากอุบัติเหตุ ทั้งสมเด็จรณฤทธิ์และหม่อมอู๊กถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล

มีรายงานด้วยว่าเคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับสมเด็จรณฤทธิ์เช่นนี้มาแล้วเมื่อปี 2558 โดยในครั้งนั้นหม่อมอู๊กก็ได้รับบาดเจ็บหนัก

สำหรับสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุ และพระเชษฐาต่างพระมารดาของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชาพระองค์ปัจจุบัน ก่อนหน้านี้พระองค์เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชาร่วมกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ระหว่างปี 1993-1997

ปัจจุบันสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ทรงดำรงตำแหน่งทั้งประธานองคมนตรี และเป็นหัวหน้าพรรคฟุนซินเปก ลงสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.ค.นี้

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก

Ranariddh 'seriously injured', his wife dies in accident in Preah Sihanouk, The Phnompenh Post, 17 June 2018 | 15:38 ICT

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลิปคนงานเสี่ยงตายบนตึกสูงมาเลเซีย-สะท้อนสภาพการจ้างงานเลวร้าย

Posted: 17 Jun 2018 07:56 AM PDT

คลิปวิดีโอที่เผยให้เห็นสภาพการทำงานเสี่ยงตายบนตึกสูงในกัวลาลัมเปอร์โดยไม่มีระบบป้องกันภัย โดยสถิติรอบ 2 เดือนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการทำงาน 71 ราย ในจำนวนนี้ 32 รายเสียชีวิตจากงานก่อสร้าง และดูเหมือนรัฐบาลมาเลเซียจะไม่สนใจป้องกันแก้ไข โดยเฉพาะกับสวัสดิภาพของแรงงานข้ามชาติ

17 มิ.ย. 2561 ในหน้าโซเชียลมีเดียของชาวมาเลเซียมีการเผยแพร่วิดีโอที่สะท้อนให้เห็นการทำงานภายใต้สภาพเสี่ยงอันตรายของคนงานก่อสร้าง วิดีโอดังกล่าวเผยแพร่ในเฟสบุ๊คระบุข้อความใต้วิดีโอว่า "เพื่อที่จะมีรายได้เลี้ยงชีวิต" เผยให้เห็นคนงานก่อสร้างบนนั่งร้านทำงานกับตึกที่มีความสูงเสียดฟ้า พวกเขาทำงานโดยต้องเดินไปมาบนแท่งเหล็กหลายๆ แท่งที่เอามาเรียงกันเหมือนเป็นสะพานเชื่อม ดูแล้วขาดความปลอดภัยและชวนให้หวาดเสียวเพราะถ้าหากพลาดพลั้งขึ้นมาก็จะกลายเป็นหายนะ

เว็บไซต์ France 24 ทำการสำรวจวิดีโอดังกล่าวเพื่อระบุว่าเป็นวิดีโอที่ถ่ายจากที่ไหนของมาเลเซียกันแน่ พวกเขาสังเกตเห็นว่าฉากหลังของวิดีโอมีอาคารอย่างตึกคู่ของปิโตรนาส และโรงแรมแพลตตินัมโฮเทลทำให้ลงความเห็นว่าเป็นฉากที่เกิดขึ้นในกรุงกลัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย สื่อต่างประเทศพิจารณาจากฉากหลังโดยรอบร่วมกับแผนที่แล้วลงความเห็นว่าอาจจะเป็นตึกสูงแห่งหนึ่งบนถนนอัมปังติดกับซันเดย์ทาวเวอร์

ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อมูลออนไลน์ระบุได้ชัดเจนว่าสภาพการทำงานเสี่ยงภัยเช่นนี้เกิดขึ้นที่ตึกใด แต่เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นเรื่องปัญหาสภาพการจ้างงานที่เกิดขึ้นทั่วไปในมาเลเซีย นักข่าวและทนายความด้านสิทธิมนุษยชนในมาเลเซียเปิดเผยว่าพวกเขามักจะเห็นไซต์ก่อสร้างที่ละเลยความปลอดภัยขั้นพื้นฐานแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง

เอนรา มาห์ยูนี นักข่าวมาเลเซียกล่าวว่า วิดีโอนี้ไม่ได้นำเสนออะไรที่ต่างไปจากสภาพทั่วไปที่เห็นได้ในมาเลเซียสักเท่าใด การก่อสร้างในมาเลเซียมักจะขาดมาตรการด้านความปลอดภัยอยู่แล้ว มาห์ยูนีกล่าวอีกว่าคนทำงานก่อสร้างส่วนใหญ่มากจะมาจากบังกลาเทศ, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และพม่า ปัญหานี้ไม่ได้มาจากการไม่มีกฎหมายคุ้มครองคนงาน แต่ขาดการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้มากกว่า

ข้อมูลสถิติจากทางการมาเลเซียเองก็แสดงให้เห็นถึงปัญหานี้ โดยที่กรมด้านความปลอดภัยและสุขภาวะในอาชีพการทำงานของมาเลเซียระบุว่าในช่วง 2 เดือน ที่ผ่านมา มีคนงานเสียชีวิตไปแล้ว 71 ราย ในจำนวนนั้นมี 32 รายที่เป็นคนงานภาคส่วนการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของคนงานในมาเลเซียเพิ่มมากขึ้นในปี 2559 คือ ในจำนวนคนงาน 100,000 ราย มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 4.84 ราย เมื่อเทียบกับสถิติปี 2557 ที่มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 4.21 ราย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว สิงคโปร์มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1.2 ราย และตัวเลขโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปอยู่ที่ 1.5 ราย

ชาร์ล เฮกเตอร์ ทนายความด้านสิทธิแรงงานในมาเลเซียกล่าวว่า ปัญหานี้มาจากการที่รัฐบาลไม่ได้มองเรื่องความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ไม่เคยเผยแพร่สถิติเรื่องการตรวจตราความปลอดภัยในที่ทำงานเลย อีกทั้งเฮกเตอร์ยังสงสัยอีกว่าอาจจะมีการติดสินบนและทุจริตคอร์รัปชันเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย

เฮกเตอร์เปิดเผยอีกว่าในมาเลเซียมีแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายมากกว่า 2 ล้านคน และมีแรงงานที่ยังไม่มีเอกสารอนุญาต 5 ล้านคน กลุ่มหลังจะไม่มีสิทธิอะไรเลย พวกเขาร้องเรียนอะไรก็จะถูกนายจ้างสั่งไล่ออกหรือเสี่ยงถูกจักขังคุกหรือไล่ออกจากประเทศ ระบบของรัฐเอื้อให้นายจ้างข่มเหงรังแกลูกจ้างอย่างอ้อมๆ รวมถึงทำให้นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อลูกจ้างคนข้ามชาติเสียชีวิต อีกทั้งนายจ้างยังมองว่าการจ่ายค่าชดเชยราคาถูกกว่าการจ่ายเพื่อเพิ่มมาตรการความปลอดภัย

อีกเรื่องหนึ่งคือกฎหมายที่ทำให้บริษัทก่อสร้างจ้างงานจากซับคอนแทร็กหรือการจ้างเหมาช่วงซึ่งมีขึ้นตั้งแต่ปี 2549 ทำให้สถานการณ์ในเรื่องนี้แย่ลง เฮกเตอร์จึงเสนอแนะว่าถ้าจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ควรจะมีการยกเลิกกฎหมายที่ให้จ้างแบบซับคอนแทร็กเสียก่อนแล้วให้บริษัทจ้างคนงานโดยตรง

องค์กรสิทธิมนุษยชนแอมเนสตียังเคยเผยแพร่รายงานเรื่องสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของคนงานข้ามชาติในมาเลเซียเมื่อปี 2553 ระบุว่าคนงานเหล่านี้ต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกยึดพาสปอร์ต การถูกกดขี่ค่าแรง การใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ การบังคับใช้แรงงาน และสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย

เรียบเรียงจาก

Chilling video reveals perils of construction work in Malaysia, France24 ,08-06-2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่ว่าพระแท้หรือพระปลอม ก็ไม่ควรถูกจับสึก

Posted: 17 Jun 2018 07:36 AM PDT



ความเป็นพระจริง/พระปลอม เป็นนามธรรมที่พิสูจน์ไม่ได้ วาทกรรมนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำลายคนเห็นต่างและยกย่องสำนักลัทธิเดียวกันเท่านั้น แต่ไม่ว่าท่านจะแท้หรือปลอม หลักการทางพระวินัยไม่มีการสั่งบังคับให้เขาต้องสึกออกไปจากการเป็นสมณะ การละเมิดเช่นนี้เกิดขึ้นในรัฐศาสนาเท่านั้น ซึ่งพระเองทำตัวเป็นข้าราชการและยอมอยู่ภายใต้คำสั่งของผู้นำฆราวาส


พระแท้/พระปลอมตามธรรมวินัย

ตามพระธรรมวินัย พระแท้คือ อริยบุคคลทั้ง 8 ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตผล พระแท้ประเภทนี้ไม่จำกัดสถานภาพว่าจะต้องเป็นนักบวชหรือผู้ครองเรือน อยู่ที่ศักยภาพในการเข้าถึงไตรลักษณ์ นั่นหมายความว่า พระที่เข้าพิธีบวชห่มจีวรทั่วไป เป็นเพียงพระปลอม (สมมติสงฆ์) ถูกคณะสงฆ์สมมติขึ้นเพื่อเขาจะเปลี่ยนสถานะจากผู้ครองเรือนมาเลี้ยงชีพด้วยการขออาหารบิณฑบาต ฉะนั้น หากพูดให้แรงขึ้น พระทุกรูปที่เราเห็นล้วนเป็นพระปลอม (สมมติสงฆ์) แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะท่านอาจกำลังปฏิบัติเพื่อเป็นพระแท้ก็ได้

เราไม่มีเครื่อง GT 200 ตรวจวัดระดับจิตใจว่าใครเป็นพระแท้/พระปลอม สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าในฐานะผู้ก่อตั้งองค์กรพุทธก็พยากรณ์ (ประกาศ) ออกมาว่าใครเป็นอริยบุคคลแล้วบ้าง ต่อมาเหล่าสาวกก็พยากรณ์กันเอง แต่ละสำนักก็ใช้เกณฑ์ต่างกัน เช่น คนที่หลวงตามหาบัวยืนยันว่าเป็นอรหันต์ อาจไม่ได้รับการยอมรับในสายสวนโมกข์เป็นต้น แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาอีกเหมือนกัน เพราะแต่ละองค์กรก็เรียกศรัทธาและขับเคลื่อนกันไปได้

ที่บอกว่า ทุกรูปล้วนเป็นพระปลอม เพราะการบวชเป็นแต่เพียงการประชุมสงฆ์เพื่อสมมติให้นาย ก. เป็นพระในพุทธศาสนา เป็นการรับสมาชิกใหม่ แต่เพราะใช้ภาษาบาลี (เพื่ออ้างว่าตนเป็นพุทธแท้) จึงทำให้ชาวพุทธเข้าใจผิดไปว่าน่าจะเป็นการสวดยัดความเป็นพระเข้าไปในตัวคน แต่ก็ไม่แปลก เพราะพุทธไทยมีรากฐานมาจากศาสนาผี เชื่อว่าพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จะเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นพระแท้ได้ ซึ่งความเป็นพระแท้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขาปฏิบัติจนได้มรรคผล

ความเป็นพระจึงไม่มีอยู่จริง มีแต่สถานะใหม่ที่สังคมสงฆ์มอบให้ผ่านการทำหน้าที่สมณะ คนที่เข้าพิธีบวชแล้วรู้สึกว่าความเป็นพระเข้ามาอยู่ในตัวเอง (เหมือนถูกผีสิงหรือถูกล้างบาป) ตัวเองบริสุทธิ์กว่าคนอื่นๆ มองฆราวาสว่าไม่มีองค์/คุณธรรมของความเป็นพระ หรือเมื่อตนละเมิดวินัยก็รู้สึกว่าความเป็นพระลดลงไป คนประเภทนี้เป็นคนไม่ปกติ และถูกแนวคิดความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีครอบงำอย่างมาก เพราะวินัยต่างๆ มีไว้เพื่อให้ฝึกสติและก้าวสู่การพัฒนาปัญญาต่อเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มหรือลดความศักดิ์สิทธิ์ของสถานะพระสงฆ์แต่อย่างใด ที่เป็นเช่นนั้น เพราะพระก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง


ปาราชิกแล้ว จะไม่สึกก็ได้


อาบัติชนิดที่ร้ายแรงที่สุดของพระเรียกว่า "ปาราชิก" แปลว่า "พ่ายแพ้" หมายถึง เมื่อละเมิดอาบัติใหญ่ข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อแล้วต้องพ่ายแพ้ต่อข้อกำหนดที่พระพุทธเจ้าตั้งไว้ แต่ไม่มีโทษถึงขั้นหมดสิทธิ์พัฒนาตน พระพุทธเจ้า"มิได้"ตรัสว่า พระที่อาบัติปาราชิกต้องหมดโอกาสได้สวรรค์ ได้นิพพาน หรือไม่มีทางเจริญในชีวิต ยิ่งกว่านั้น ปาราชิกแล้ว มิได้หมายความว่า ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเป็นภิกษุ แบบที่สอนกันในประเทศเถรวาททั่วไป

การล่วงอาบัติปาราชิก พระพุทธเจ้ากำหนดโทษไว้คือ "นาสนะ" แปลว่า การทำให้ไม่เห็นหน้าอีก กล่าวคือ การขับไล่ไปจากสำนัก (พระธรรมกิตติวงศ์, 2550, น. 352) เรียกอีกอย่างตามภาษาพระวินัยคือ อสํวาโส (วินัยปิฎก เล่ม 1 ข้อ 20) แปลว่า ไม่มีสังวาส กล่าวคือเมื่อทำอาบัติปาราชิกแล้ว ไม่มีสิทธิจะอยู่ร่วมกับคณะสงฆ์ที่ยังบริสุทธิ์ หมายความว่า ควรถูกไล่ออกไปจากคณะ

สิ่งที่ควรเน้นย้ำคือ การไล่ออกจากคณะสงฆ์ ไม่ใช่การจับสึกหรือบังคับให้เปลี่ยนเสื้อผ้า เพราะการตัดสินใจเป็นสมณะเป็นสิทธิพื้นฐานที่แต่ละคนจะทำเมื่อไรก็ได้ เช่นเดียวกับที่เจ้าชายสิทธัตถะก็บวชด้วยตนเอง ฉะนั้น สิ่งที่เจ้าลัทธิต่างๆ จะทำได้คือ เมื่อเขาไม่สามารถทำตามข้อปฏิบัติที่ตนกำหนด ก็ไล่ออกไปจากการสังกัดของตน ส่วนเขาจะไปอยู่สำนักลัทธิไหน หรืออยู่คนเดียว ตั้งสำนักใหม่ ให้ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล

พระเทวทัตพยายามแยกสงฆ์ด้วยข้อเสนอ 5 ประการคือ ภิกษุต้องอยู่ป่าตลอดชีวิต บิณฑบาตเท่านั้น (ไม่รับงานนิมนต์) ใช้ผ้าบังสุกุล อยู่เฉพาะใต้โคนไม้ (ไม่อยู่ในกุฏิ) และไม่ฉันเนื้อสัตว์ เมื่อพระพุทธเจ้าปฏิเสธ ท่านก็ได้ชักชวนผู้ที่สนใจในข้อวัตรที่เคร่งครัดเหล่านี้แยกตัวออกไป โทษตามพระวินัยที่พระเทวทัตกระทำคือ สังฆาทิเสส อาบัติชนิดนี้จะแก้ได้ด้วยการเข้ามาสารภาพผิดและอยู่ปฏิบัติธรรมภายใต้การดูแลของคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นอาบัติในระดับเดียวกับการที่พระสำเร็จความใคร่หรือจับต้องตัวสตรี พระพุทธเจ้ามิได้จับสึกพระเทวทัต แต่ตัดสินให้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส นั่นคือ หากพระเทวทัตอยากอยู่ในคณะสงฆ์ของพระองค์ต่อก็ต้องปรับปรุงตัวเอง แต่หากไม่อยากอยู่ด้วยแล้ว ก็ถือเป็นสิทธิของพระเทวทัต และแน่นอนว่า พระองค์ไม่ทรงขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าแผ่นดิน ให้ช่วยจับสึกพระเทวทัตในฐานะที่ทำลายพระพุทธศาสนา   


การสึกเป็นความประสงค์ส่วนบุคคล ไม่มีการบังคับ

การลาสึก (วิพฺภม) จึงเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่คนอื่นไม่สามารถละเมิดได้ การล่วงอาบัติปาราชิกของพุทธศาสนา ก็ลงโทษด้วยการนาสนะหรือไล่ออกจากคณะ เพื่อไม่ให้อยู่ร่วมกับคณะสงฆ์ที่เหลือเท่านั้น ให้สังเกตว่า เมื่อพระภิกษุทำความผิดขั้นปาราชิกแล้ว พระพุทธเจ้าจะตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุ เธอปาราชิกแล้ว" หรือ "ดูก่อนภิกษุ เธอยังไม่ปาราชิก" (วินัยปิฎก เล่ม 1 ข้อ 49) กล่าวคือ เขาพ่ายแพ้จากการเป็นพระในพุทธศาสนาเท่านั้น แต่สถานะ "ภิกษุ" ซึ่งเป็นอาชีพเดิมของเขายังไม่หายไปไหน

ภิกษุ แปลว่า ผู้ขอ (พระธรรมกิตติวงศ์, 2550, น. 488) เป็นอีกสถานะหนึ่งที่แยกออกจากคฤหัสถ์หรือผู้ครองเรือนทั่วไปตามแบบสังคมอินเดียโบราณ (ปัจจุบันก็ยังปรากฏให้เห็น) ผู้คนจำนวนมากเห็นดีเห็นงามกับการใช้ชีวิตทั่วไป มีการประกอบอาชีพ แต่งงาน ดูแลสมาชิกในครอบครัว ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ปฏิเสธชีวิตรูปแบบนั้น พวกเขาจึงสละเรือน ละทิ้งอาชีพ ใช้ชีวิตด้วยการขอทาน คนเหล่านี้จึงเรียกว่า ภิกษุ หรือ บรรพชิต แน่นอนว่า พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ทั่วไปก็จัดเป็นภิกษุในนิยามนี้ สถานะภิกษุจึงไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสร้างขึ้น เพราะพระองค์ก็เลียนแบบวิถีนักบวชที่มีอยู่ก่อนแล้ว

ภิกษุเป็นสถานะที่ต่ำที่สุดในแง่เศรษฐกิจ คนเหล่านี้เลี้ยงชีพด้วยการขอทาน และเอาเวลาที่เหลือไปแสวงหาความสุขภายใน วิธีการแสวงหาความสุขจึงมีหลากหลายแล้วแต่เจ้าลัทธิจะเสนอ ภิกษุแต่ละรูปจึงมีลักษณะลื่นไหล คือออกจากสำนักนี้ไปสู่สำนักใหม่ เมื่อเห็นว่าดีก็อยู่นาน ไม่ดีก็ลาออกไป หรือเมื่อละเมิดข้อกำหนดก็ถูกไล่ออก (นาสนะ) การไปจับสึกหรือบังคับให้เปลี่ยนเป็นฆราวาสจึงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ และพระพุทธเจ้าเองก็ใช้รูปแบบเดียวกันนั้นในการรับเข้าหรือขับออก

หลักฐานสำคัญที่สะท้อนว่า ภิกษุไม่ได้เป็นสถานภาพของพุทธศาสนาคือ เทศนากัณฑ์แรกที่พระพุทธเจ้าตรัสกับนักบวชทั้ง 5 (ปัญจวัคคีย์) พระองค์ทรงเรียกผู้ฟังเหล่านั้นว่า "ภิกษุ (ภิกฺขเว)" ทั้งที่พวกเขาเป็นเพียงนักบวชทั่วไป เมื่อจบธรรมเทศนา โกณฑัญญะได้บรรลุโสดาบัน และได้รับการเข้าสังกัดเป็นสมาชิกรูปแรก (วินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม 4 ข้อ 13) กล่าวให้ชัดคือ พระพุทธเจ้าไม่ได้ประทานสถานะภิกษุให้แก่โกณฑัญญะ เพราะท่านเป็นภิกษุ (นักบวช) อยู่ก่อนแล้ว หากแต่เพียงรับท่านเข้ามาเป็นสมาชิกของสังฆะในพุทธศาสนาเท่านั้น

ต่อมามีการตีความ "ภิกษุ" ให้กว้างกว่านั้น นอกจากจะหมายถึงผู้ขอ ที่เลี้ยงชีพด้วยการขอทานแล้ว ภิกษุยังหมายถึง "ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ" (พระธรรมกิตติวงศ์, 2550, น. 488) กล่าวคือ ใครก็ตามที่ตระหนักว่า ชีวิตเต็มไปด้วยทุกข์ และพยายามปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ เขาก็คือ ภิกษุ นิยามนี้อาจใช้ได้ในทางธรรม แต่ในสถานะทางสังคม ต้องยอมรับว่า ภิกษุ ใช้กับนักบวชเท่านั้น ข้อสังเกตคือ พระพุทธเจ้าไม่เคยเรียก วิสาขา อนาถปิณฑิกเศรษฐี โพธิราชกุมาร หรือ ฆราวาสคนอื่นๆ ว่า "ภิกษุ" แม้พวกเขาจะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลแล้วก็ตาม  

เป็นไปได้ว่า เนื่องจากคำสอนของพระพุทธเจ้าส่วนใหญ่เจาะจงไปที่พระภิกษุ จึงมักเริ่มต้นด้วยคำว่า "ดูก่อนภิกษุ" สิ่งนี้อาจทำให้ฆราวาสรู้สึกเหินห่าง นักปราชญ์จึงพยายามอธิบายว่าพุทธศาสนามีความเป็นสากล คือ ใครก็สามารถนำไปปฏิบัติและได้ผลเช่นเดียวกัน นิยามใหม่นี้ได้รับความนิยมในคัมภีร์ยุคหลัง หนึ่งในนั้นคือ วิสุทธิมรรค ซึ่งเกิดหลังพุทธปรินิพพานราว 700 ปี (มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2508, น. 7)


ทำไมสังคมไทยจึงไม่เข้าใจระบบ "ภิกษุ" ในแบบพุทธกาล

เหตุที่คนไทยนึกภาพภิกษุในฐานะเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมีและไม่ควรถูกละเมิดด้วยการจับสึกไม่ได้ เพราะการเป็นภิกษุในประเทศไทยไม่สามารถทำได้เองแบบที่มีในอินเดีย แต่ต้องเขียนใบสมัครเพื่อเข้ารับการบรรพชา-อุปสมบท กับพระอุปัชฌาย์ ผู้ซึ่งถูกแต่งตั้งมาจากมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นคณะสงฆ์ของรัฐและรับเงินเดือนงบประมาณแผ่นดิน กล่าวคือ ผู้ที่สนใจปฏิบัติและเรียนรู้พุทธศาสนาภายใต้ระบอบแบบนี้ ไม่ได้เป็นภิกษุที่อธิษฐานบวชด้วยตนเองมาก่อน การไล่ออกของคณะสงฆ์ไทยจึงใช้วิธีจับสึก เพราะถือว่า การบวชทั้งหมดเป็นสิ่งที่ท่านมอบให้เอง แต่ทั้งนี้ก็ถือเป็นการละเมิดพระวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้ากำหนดให้นาสนะ (หรือไล่ออกจากคณะสงฆ์) เท่านั้น มิได้ให้อำนาจในการจับสึกหรือถอดเขาออกจากการเป็นภิกษุ  อย่างน้อยที่สุด สิ่งนี้ก็สะท้อนว่า รูปแบบการปกครองของคณะสงฆ์ไทยไม่ได้เป็นไปตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้ากำหนด เพราะละเมิดเสรีภาพผู้อื่นอย่างมาก


วิธีสร้างพระแท้

สังคมไทยมีกระบวนการสร้างพระแท้หลายชุดในแบบของตน ธรรมกายมีหนังสือ "คู่มือพระแท้" พระแท้ของธรรมกายต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นคือ รู้วิธีซักตากจีวร วิธีกวาดขยะ ถูพื้น ล้างห้องน้ำ ตลอดจนสามารถท่องจำบทสวดมนต์พระปริตรต่างๆ และเทศน์สอนพุทธบริษัทได้ตามคำอธิบายของธรรมกาย พุทธทาสก็ผลิตหนังสือ "คู่มือดูพระ" เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงพระดี/ไม่ดี ว่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง พระแท้ในแบบสวนโมกข์คือผู้เข้าใจอริยสัจและปฏิจจสมุปบาท อีกทั้งปฏิบัติอานาปานสติการคำอธิบายของพุทธทาสภิกขุ ส่วนพระแท้ในสายวัดป่า คือผู้ที่ดูแลครูอาจารย์ รักษาข้อวัตรและปฏิบัติธรรมภายใต้การแนะนำของท่านอย่างใกล้ชิด การปฏิบัติในสายต่างๆ ไม่เพียงแต่บอกวิธีการปฏิบัติเพื่อเป็นพระแท้ แต่แนะนำไปในตัวว่า หากปฏิบัติผิดไปจากตน เข้าใจพุทธศาสนาต่างจากตน คนเหล่านั้นล้วนเป็นพุทธ/พระปลอม   


สังคายนาเกิดขึ้นเพื่อกำจัดพระปลอม

วาทกรรมเรื่องพระปลอม ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำจัดภิกษุที่เห็นต่างไปจากตน ปรากฏการณ์นี้พบได้เมื่อครั้นสังคายนาครั้งที่ 3 ที่เชื่อกันว่า พระเจ้าอโศกเป็นองค์อุปถัมภ์โดยการให้พระโมคคัลลีปุตติสสเถระเป็นผู้คัดกรองพระภิกษุด้วยการทดสอบความรู้ทางศาสนา พระรูปใดตอบไม่ตรงกับที่พระเถระ (ผู้ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอรหันต์) เสนอก็จะถูกจับสึกไปเสีย อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่านี้พบในคัมภีร์ของเถรวาท และถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองเสมอมาของประเทศพุทธศาสนาเถรวาท ด้วยข้ออ้างที่ว่า ทำเช่นนี้แล้ว พระปลอมจะสูญหายไปและทำให้ศาสนาเจริญยิ่งขึ้น

แต่จารึกของพระเจ้าอโศก ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบและยอมรับกันทั่วไป ไม่ได้บันทึกเรื่องราวครั้งนั้น หากแต่พบอีกเสาซึ่งระบุว่า พระองค์ทรงมีความเป็นกลางทางศาสนาและสนับสนุนให้ทุกศาสนิกเคารพความเชื่อที่แตกต่างของกันและกัน การทำสังคายนาครั้งที่สามจึงตีความได้อย่างน้อย 2 ทางคือ 1) ชาวเถรวาทแต่งเรื่องนี้ขึ้นเองเพื่ออธิบายที่มาของตนและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพระราชา เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับรัฐต้องรับหน้าที่สนับสนุนศาสนาพุทธเป็นหลัก 2) พระเจ้าอโศกสนับสนุนให้ทำสังคายนาและจับสึกพระหลายรูปจริง แต่ไม่บันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้ เพราะอาจรู้สึกผิดที่ล่วงละเมิดหรือทำลายสถานะพระภิกษุของผู้เห็นต่าง แต่อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธเถรวาทเชื่อว่าพระองค์ทรงทำเช่นนั้นจริงและกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูป/จับสึกพระ ยังคงดำรงอยู่จนปัจจุบัน

สังคายนาครั้งที่ 1 ไม่มีการทำเช่นนี้ ปุราณะ เป็นพระมหาเถระซึ่งมีลูกศิษย์มากมายไม่ได้รับการนิมนต์จากพระมหากัสสปะ (ประธานในพิธี)  ท่านเองไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตกลงกัน เพราะบางอย่างท่านได้ฟังจากพระพุทธเจ้าไม่สอดรับกับการทำสังคายนาครั้งนี้ จึงยืนยันว่า ท่านจะยังคงปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสต่อไป พระมหากัสสปะก็ไม่กล่าวหาว่าปุราณะเป็นพระปลอม แต่นักวิชาการพุทธเถรวาทยุคหลังมองว่า ปุราณะอาจเป็นต้นกำเนิดของมหายาน คือ กลุ่มพระที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสังคายนาครั้งแรกและแยกตัวออกไปปฏิบัติในรูปแบบของตน (ซึ่งก็อ้างได้ว่าจริงแท้ เพราะฟังมาจากพระพุทธเจ้าเช่นกัน)

เป็นความโชคดีที่พุทธศาสนาสมัยพุทธกาลแยกขาดจากอำนาจรัฐ หากเป็นเช่นปัจจุบัน พระมหากัสสปะอาจขอให้พระเจ้าอชาตศัตรูจับสึกพระปุราณะและลูกศิษย์ในโทษฐานกระด้างกระเดื่องต่อพระอรหันต์ 500 รูป อันจะส่งผลให้พุทธบริษัทแตกแยกและพุทธศาสนาเสื่อม

สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การปฏิรูปหรือทำสังคายนาไม่สามารถผสานคณะสงฆ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ ในทางตรงกันข้ามจะนำมาสู่ความแตกแยก ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะปกติของมนุษย์มีความหลากหลาย จะน่ากลัวก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายใช้อำนาจรัฐเข้าจัดการทำลายความเป็นภิกษุของผู้คิดต่าง ซึ่งเป็นการละเมิดเสรีภาพทางความเชื่อ


ถูกจับขังคุกแล้วยังเป็นพระอยู่ไหม?

ดังกล่าวไปแล้วว่า แม้จะทำผิดวินัยขั้นร้ายแรงถึงปาราชิกก็ตาม คณะสงฆ์ลงโทษได้เพียงขับออกจากหมู่ (นาสนะ/ไม่ให้อยู่ร่วมด้วย) แต่ไม่มีสิทธิในการจับสึกหรือบังคับให้ต้องเปลี่ยนชุดฆราวาส นี่ยังไม่ต้องพูดถึงกรณีที่พระเหล่านั้นบริสุทธิ์ ไม่ได้ทำผิดตามข้อกล่าวหา เพราะการสึกเป็นเจตจำนงของปัจเจกบุคคลเท่านั้น และแน่นอนว่า ความเป็นพระไม่ได้อยู่ที่จีวร เพราะพระที่ถูกโจรขโมยจีวรจนต้องนุ่งห่มเปลือกไม้ใบหญ้า หรือแก้ผ้าอาบน้ำก็ไม่ได้ขาดจากความเป็นพระ กล่าวโดยสรุปคือ แม้จะเป็นแค่พระปลอม (สมมติสงฆ์) แต่ใครก็ทำลายไม่ได้ เพราะเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล

ประเด็นที่สังคมไทยสนใจคือ หากพระเหล่านั้นเป็นพระราชาคณะ มียศถาบรรดาศักดิ์ที่ได้รับการถวายโดยพระมหากษัตริย์ เมื่อพ้นโทษแล้วจะได้ตำแหน่งนั้นกลับคืนหรือไม่ กรณีของพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) เป็นตัวอย่างของพระที่ต้องคดีและได้รับการถวายคืนสมณศักดิ์ในที่สุด


ยิ่งมีพระปลอมมาก ยิ่งกลายเป็นรัฐโลกวิสัย

ขอทานอินเดียจำนวนมากได้เปลี่ยนมาห่มจีวรและนั่งขอทานอยู่ตามสังเวชนียสถาน พระเหล่านี้ได้เงินบริจาคจากชาวพุทธทั่วโลกที่เดินทางไปแสวงบุญ เสร็จภารกิจในช่วงเย็นก็ถอดจีวรออกใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป คนอินเดียไม่ได้มองว่าเป็นภัย เพราะเขาเลือกที่จะทำบุญหรือไม่ก็ได้ พระธรรมทูตไทยพยายามขอให้รัฐช่วยจับสึกพระปลอมเหล่านี้ แต่ไม่สำเร็จ เพราะนั่นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะรับเงินบริจาคโดยไม่ได้บังคับขูดรีดใคร ใครศรัทธาอยากช่วยก็ทำบุญ ไม่อยากช่วยก็ไม่ต้องทำ

ถ้าสังคมไทยมีพระปลอมเช่นนี้เป็นจำนวนมาก มีวิธีต่างๆ ในการหาเลี้ยงชีพ จะทำให้ชาวพุทธรู้จักเลือกพระที่จะทำบุญด้วย แต่น่าเสียดาย ที่คนไทยและรัฐไทยมีนิสัยชอบปฏิรูป ทนไม่ได้กับความคิดต่าง อยากให้ทุกคนเป็นแบบเดียวกัน เราจึงพยายามทำให้พระสงฆ์เป็นแบบเดียวเพื่อจะรับการทำบุญของคน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า คนทั่วไปโง่เขลา ไม่สามารถพิจารณาได้ว่า พระรูปไหนเป็นพระแท้/พระปลอม เป็นคนดี/คนชั่ว เราจึงต้องใช้วิธีเผด็จการเลือกให้เขา สิ่งนี้ไม่ต่างกับการเติบโตอย่างช้าๆ ของประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง กล่าวในทางตรงกันข้ามคือ ยิ่งอยากทำลายพระปลอมและสร้างพระแท้รูปแบบเดียวมากเท่าไหร่ ไทยยิ่งกลายเป็นรัฐเผด็จการทางศาสนาและทำลายเสรีภาพมากขึ้นเท่านั้น



เอกสารอ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช). (2550). ศัพท์วิเคราะห์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: เลี่ยงเชียง.

มหามกุฏราชวิทยาลัย. (2508). วิสุทธิมรรคแปล ภาค 1 ตอน 1. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย.
 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #214 มุขปาฐะและเพศศึกษา LGBT

Posted: 17 Jun 2018 06:09 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยในเดือน Pride Month ของชุมชนความหลากหลายทางเพศ พูดคุยกับเคท ครั้งพิบูลย์ ถึงแนวทางการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาและความหลากหลายทางเพศ ตัวอย่างจากสังคมโลกถึงสังคมไทย ตั้งแต่ หนึ่ง รูปแบบไม่เป็นทางการ เช่น กลุ่มเพื่อน หรือครอบครัว อย่างไรก็ตามแม้การปรึกษาบางเรื่องอาจจะสนิทใจกัน แต่การกินยากินฮอร์โมน แบบอาศัยเพื่อนบอกต่อ โดยไม่ได้รับคำปรึกษาทางการแพทย์ หรือตรวจวัดระดับฮอร์โมน ก่ออาจก่อผลกระทบต่อสุขภาพได้ ดังนั้นอีกรูปแบบก็คือ สอง การเรียนรู้แบบเป็นทางการ ทั้งผ่านการจัดหลักสูตรการศึกษา หรือขอรับคำปรึกษาด้านสาธารณสุข ฯลฯ

เคทเสนอด้วยว่าการเรียนรู้เรื่องสุขภาวะที่ควรมีในตำราเพศศึกษาในประเด็นความหลากหลายทางเพศ ต้องประกอบด้วย 1. การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นเพศของตัวเองได้อย่างไร 2. การเลือกเพศวิถี หรือ Sexual orientation ต้องทำให้การเลือกนั้นไม่ทำให้เกิดความรู้สึกผิด และต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อทำให้เขามีความสุขทางเพศ และ 3. มีระบบสนับสนุนเรื่องความปลอดภัยในการมีเพศวิถีของตัวเอง ทั้งด้านร่างกายและพื้นที่ทางสังคม

โดยทั้งหมดนี้ติดตามได้ในรายการ "หมายเหตุประเพทไทย" ตอน "มุขปาฐะและเพศศึกษา LGBT" ชานันท์ ยอดหงษ์ และประภาภูมิ เอี่ยมสม พูดคุยกับ เคท ครั้งพิบูลย์

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค 
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สวนชลฯ ยังเด็ก จูบดินอ่อนไป นศ.ราชภัฎพระนครมาแรงจูบก้นถ่ายคลิปส่งพี่รหัส

Posted: 16 Jun 2018 11:21 PM PDT

ผอ.สวนกุหลาบ ชลบุรี ปฏิเสธไม่รับรู้จูบดิน เผยรุ่นพี่ถามความสมัครใจในการแสดงความรักต่อโรงเรียน แถมเป็นการจูบแบบสั้นๆ ไม่แช่ เรียกครูและรุ่นพี่คุยแล้ว รับปากปีหน้าไม่มีจูบดิน ด้านเพจ ANTI SOTUS โพสต์คลิปใหม่นักศึกษาสาขาการตลาด มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ให้รุ่นน้องปี 1 จูบก้นกันพร้อมกับถ่ายคลิปส่งพี่รหัสเพื่อเป็นการรายงานตัว 

แฟนเพจ ANTI SOTUS โพสต์คลิปใหม่ นศ.สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ให้รุ่นน้องปี 1 จูบก้นกันพร้อมกับถ่ายคลิปส่งพี่รหัสเพื่อเป็นการรายงานตัว 

ในส่วนของกรณีให้นักเรียนจูบดินของ รร.สวนกุหลาบ ชลบุรี มติชน รายงานว่าเมื่อวานนี้ (16 มิถุนายน 2561) นายวันชัย ทันสมัย ผู้อำนวยการโรงเรียนได้ให้ข้อมูลจากกรณีที่เฟสบุ๊คเพจ ANTI SOTUS เผยแพร่ภาพเหตุการณ์กิจกรรมวันละอ่อนของโรงเรียนสวนกุหลาบ ชลบุรี ว่ามีการให้นักเรียนจูบดิน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสมและเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน ว่าอาจจะติดเชื้อโรคจากดินว่า ชี้แจงว่ากิจกรรมวันละอ่อน ไม่เกี่ยวกับกิจกรรมรับน้อง และไม่เกี่ยวกับวันไหว้ครู แต่เป็นกิจกรรมที่รับมาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ โดยกิจกรรมวันละอ่อน แบ่งเป็น 4 ฐาน ประกอบด้วย ฐานความเป็นผู้นำ ฐานความรับผิดชอบ ฐานไว้วางใจและฐานความตระหนัก เป้าหมายเพื่อลดความอ่อนของวัยและสร้างความเป็นผู้นำให้แก่นักเรียนน้องใหม่คือ ม.1 และ ม.4 ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ดี โรงเรียนสวนกุหลาบ ชลบุรี มีจุดแข็งตรงที่รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้องทำให้ไม่มีปัญหานักเรียนออกนอกลู่นอกทาง ทั้งนี้ตลอดโครงการ ยืนยันว่ามีครูดูแลอยู่ตลอด

วันชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการจูบดินนั้น ชี้แจงว่าตอนที่นักเรียนม.6 นำเสนอรายละเอียดโครงการมานั้น ไม่มีเรื่องจูบดินอยู่ในสคริปต์ โดยกิจกรรมดำเนินการมาถึงช่วงสุดท้าย จะจบแล้ว ครูก็ถอยออกมา รุ่นพี่ ม.6 เรียกรุ่นน้องมารวมอยู่กลางสนาม จากนั้นรุ่นพี่ม.6 พูดทำนองว่าตนเองผูกพันกับโรงเรียน ได้ดิบได้ดีก็เพราะสถาบัน ประกอบกับเป็นแผ่นดินเกิด ตนเองรักโรงเรียน รักแผ่นดินเกิด ถ้าใครรักโรงเรียน ก็ขอให้จูบ ก็เลยเกิดภาพนักเรียนจูบดินเกิดขึ้น แต่ชี้แจงว่าช่วงการจูบดินเป็นช่วงเวลาสั้นๆ จูบแล้วเงยขึ้นทันที ไม่ได้แช่ และสนามหญ้าก็ไม่ได้เป็นดินเฉอะแฉะ และจากนักเรียนน้องใหม่ 700-800 คน มีไม่มีกี่ที่จูบดิน ส่วนใหญ่เอาหน้าผากสัมผัสดิน และการที่มีผู้ถ่ายภาพนำไปโพสต์ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมดังกล่าว เพียงแต่ที่เกิดกระแสดราม่าขึ้น เพราะเพจหนึ่งไปพบเห็นเข้าและนำมาโพสต์เผยแพร่ต่อ ประกอบกับมีมีศิษย์เก่าและผู้ปกครองไปโต้กับเพจดังกล่าวแทนโรงเรียน ก็เลยเกิดเป็นกระแสดราม่าขึ้นมา

วันชัย ยังได้ชี้แจงว่า อย่างไรก็ตามทางโรงเรียนไม่ได้เพิกเฉยหรือเฉยเมยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รับรู้ว่าการที่เพจดังกล่าวนำไปเผยแพร่ก็เพราะปรารถนาดี และห่วงใย เห็นว่าการจูบดินอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็ก ฉะนั้นเช้าวันนี้ตนจึงได้เรียกประชุมครูผู้รับผิดชอบโครงการ ตลอดจนนักเรียนรุ่นพี่ม.6 มาพูดคุยทำความเข้าใจแล้ว ตนเข้าใจเจตนาดีของนักเรียนรุ่นพี่ม.6 ที่ต้องการให้น้องๆ รักสถาบัน แต่ตนก็ได้กำชับว่าสิ่งดีๆ ที่เป็นจุดแข็งของกิจกรรมวันละอ่อน ก็ให้คงอยู่ต่อไป แต่อะไรที่เปราะบางหรือเป็นจุดอ่อน ก็ต้องปรับปรุงแก้ไข โดยตนยืนยันว่าการจูบดิน จะไม่เกิดขึ้นอีกแน่ในปีต่อไป

 

หมายเหตุ: ภาพจาก Fanpage ANTI SOTUS

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อเดลีบีสต์โยงนโยบายกีดกันผู้อพยพของ 'ทรัมป์' เอื้อประโยชน์ธุรกิจเอกชนด้านความมั่นคง

Posted: 16 Jun 2018 10:34 PM PDT

สื่อสหรัฐฯ เปิดโปง รบ.ทรัมป์ ดำเนินนโยบายกีดกันผู้อพยพ แยกเด็กจากพ่อแม่ คาดมีการเอื้อประโยชน์ในการจัดจ้างผู้รับเหมาเอกชนด้านความมั่นคงและข่าวกรอง"ดูแล" และจัดหาแหล่งพักพิงให้เด็กเหล่านี้ รวมทั้งตั้งคำถามถึงความเหมาะสม

16 มิ.ย. 2561 สื่อเดอะเดลีบีสต์รายงานว่า กรณีการพรากลูกออกจากผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นั้นไม่ใช่เพียงแค่นโยบายกีดกันผู้อพยพที่ดูโหดร้ายต่ออารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการเอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจผู้รับเหมาในด้านข่าวกรองและด้านกลาโหมด้วย โดยที่กลุ่มเหล่านี้มีการโฆษณาจ้างวานเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับเด็กที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ พรากมาจากผู้ปกครอง หนึ่งในนั้นมีธุรกิจที่เคนมีประวัติอื้อฉาวอยู่ด้วย

บริษัท MVM ในเวอร์จิเนีย เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประกาศรับคนทำงานเพิ่มเพื่อช่วยเหลือ "การสร้างที่พักพิงฉุกเฉินให้กับเด็กผู้ลี้ภัยที่ไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย" โดยที่ MVM เชื่อว่าธุรกิจของพวกเขากำลังเติบโต มีการโฆษณารับคนทำงานดูแลเยาวชนตั้งแต่ช่วง 20 วันที่ผ่านมา

แมธธิว โคลเคน ทนายความด้านผู้อพยพที่มักจะว่าความให้กับเด็กอพยพเข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารอนุญาตกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อเดลีบีสต์ว่าเขามีความกังวลในเรื่องการจ้างงานในเรื่องนี้มาก เพราะถึงแม้ว่าหน้าฉากจะอ้างว่าเป็นงาน "ดูแลเด็กและเยาวชน" แต่บริษัทเหล่านี้ไม่มีปัจจุยัใดๆ ในการที่จะดูแลเด็กในแบบที่จะเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ของพวกเขาได้เลย

นโยบายที่ชื่อว่า "zero-tolerance" ของรัฐบาลทรัมป์ทำให้เกิดการจับกุมผู้อพยพและแยกลูกของพวกเขาออกมา แม้ว่าผู้อพยพบางคนจะไดรับการประกันตัวออกมาพร้อมกับถูกจับตาดู แต่ก็มีการพรากเด็กหลายร้อยคนแล้วนับจากการเปลี่ยนแปลงเป็นนโยบายนี้ โดยเด็กที่ถูกแยกจากพ่อแม่จะอยู่ภายใต้ความควบคุมดูแลของสำนักงานการตั้งรกรากใหม่ของผู้ลี้ภัย (ORR) โดยที่ ORR ได้ผลักให้เด็กเหล่านี้ไปอยู่ในการดูแลของแหล่งพักพิงหรือแหล่งอุปการะเด็ก จุดนี้เองที่เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจเข้ามาร่วมดำเนินการกิจการที่เกี่ยวข้องกับเด็กเหล่านี้ ทั้งในด้านการขนส่งลำเลียงและ "การดูแล" รวมถึงมีจำนวนแหล่งพักพิงสำหรับเด็กไว้มากเกินความต้องการช่วงก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่ากลุ่มผู้รับเหมาที่เสนอตัว "ดูแล" เด็กเหล่านี้ระบุว่าเด็กที่แยกจากพ่อแม่ผู้อพยพอาจจะเคยมีประสบการณ์ผ่านความยากจนอย่างหนัก ถูกเกณฑ์เข้าแก็งค์อาชญากร หรือเผชิญความรุนแรงในครอบครัว ขณะที่บริษัทที่ชื่อ MVM บอกว่าตัวเองเป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการต่อต้านอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติด และประเด็นความมั่นคง อีกทั้งยังเคยเป็นผู้รับเหมาที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เคยจ้างวาน กลุ่ม MVM นี้ยังเคยมีเรื่องอื้อฉาวที่เกี่ยวกับการจัดหาอาวุธที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการในช่วงที่เป็นผู้รับจ้างคุ้มกันให้กับหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ในอิรัก

เรื่องอื้อฉาวของ MVM ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อคนงานของตัวเอง เมื่อปี 2560 มีกรณีที่คณะกรรมาธิการด้านโอกาสการจ้างงานอย่างเท่าเทียมกันฟ้องร้อง MVM ในเรื่องที่พวกเขาห้ามพนักงานปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม สั่งให้ลูกจ้างของพวกเขาโกนเครา มีนายจ้างที่เรียกลูกจ้างด้วยคำเหยียดสีผิว จนทำให้บริษัทแพ้คดีจ่ายค่าชดเชยให้ในอีกหลายเดือนต่อมา

MVM ให้สัมภาษณ์ต่อเดลีบีสต์โต้แย้งว่า เรื่องกรณีการเหยียดสีผิวและเลือกปฏิบัติกับพนักงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นการประกาศจ้าง "คนดูแลเด็ก" และเมื่อสื่อถามว่ามันเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ที่ให้บริษัทรับเหมาด้านความมั่นคงทำงานเกี่ยวกับการดูแลเด็กเช่นนี้ โจ อราบิต ประธานฝ่ายความมั่นคงมาตุภูมิและความปลอดภัยสาธารณะกล่าวว่าการจัดการขนส่ง ความปลอดภัย และหาที่พักให้กับเด็กเหล่านี้มี "มีความอ่อนไหว" อยู่ และพวกเขาสามารถให้ข้อมูลได้ในจำนวนจำกัดเนื่องจากสัญญาจ้างที่มีอยู่ตอนนี้

นีล กอร์ดอน ผู้สืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการทุจริตด้านการจัดจ้างของรัฐบาลหรือ "Project on Government Oversight" กล่าวว่าเรื่องเหล่านี้แสดงมห้เห็นว่านโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของรัฐบาลทรัมป์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเอื้อผลประโยชน์กับการจัดจ้างผู้รับเหมาเอกชน

 

เรียบเรียงจาก

Defense Contractors Cashing In On Immigrant Kids' Detention, The Daily Beast, 14-06-2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น