โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

'พรรคไทยศรีวิไลย์' เรียกร้องเพิ่มโทษทางวินัย 'เฆี่ยน-โบย' ข้าราชการฉ้อโกง

Posted: 23 Jun 2018 05:10 AM PDT

'พรรคไทยศรีวิไลย์' เสนอวิธีลงโทษที่นำมาจากบางส่วนของ 'กฏหมายตราสามดวง' มาใช้ใหม่ ด้วยการ 'เฆี่ยน-โบย' ข้าราชการที่กระทำความผิดทางวินัย พร้อมให้ประชาชนมาร้องเรียนทั่วประเทศ ที่สำนักงานมูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เมืองทองธานี

 
 
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา MGR Online รายงานว่าที่สำนักงานมูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เมืองทองธานี นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ว่าที่หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขระเบียบการลงโทษทางวินัยของข้าราชการพลเรือน และข้าราชการสังกัดอื่นๆ ว่า ที่ผ่านมาข้าราชส่วนใหญ่กระทำความผิดโดยที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ภายใต้ระเบียบกฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556 ที่กำหนดบทลงโทษทางวินัยภายใต้ มาตรา 57 ในกรณีที่สั่งลงโทษข้าราชการพลเรือนสามัญที่กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง โดยระบุไว้ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดเงินเดือน เป็นต้น ซึ่งตนมองว่าบทลงโทษแบบเดิมนั้น เป็นการลงโทษที่ค่อนข้างเบา ส่งผลให้ข้าราชการไม่เกิดความหวาดกลัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทีทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการละทิ้งหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และทุจริตเบียดบังงบประมาณ ส่งผลให้ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างจริงจัง ตนจึงอยากเรียกร้องไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบ (คสช.) รวมถึงรัฐบาล ในการเพิ่มโทษทางวินัยในมาตรา 57 โดยเพิ่มเติมการลงโทษด้วยวิธีเฆี่ยนด้วยไม้เรียว และตีด้วยไม้พลองเพิ่มเติมไปจากเก่า ซึ่งเป็นการนำการลงโทษบางส่วนของกฏหมายตราสามดวงมาใช้ใหม่
 
ทั้งนี้ ในนามของศูนย์รับเรื่องร้องเรียนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม (ศยธ.) ตนจะลงพื้นที่สัญจรทั่วประเทศ ทั้ง 77 จังหวัด เพื่อรับเรื่องร้องเรียนต่างๆจากประชาชน โดยวิธีการรับร้องเรียนของ ศยธ. เราจะกำหนดจุดรับร้องเรียนในพื้นที่แต่ละจังหวัด เพื่อให้ประชาชนเตรียมเรื่องต่างๆ มาร้องเรียน จะต้องมีการแสดงสัญลักษณ์ คือ ตีระฆังร้องทุกข์ ในวันแรก รับเรื่องร้องทุกข์ วันที่สอง แก้ปัญหาต่างๆ ของเรื่องที่รับมาทันที นำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆว่าเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับส่วนราชการไหนบ้าง พร้อมทั้งร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อเป็นมิติใหม่ของบ้านเมืองในยุคศรีวิไลย์ พร้อมยังได้มีการจำลองเหตุการสมมุติในการเฆี่ยน ตี ข้าราชการที่กระทำผิด และประพฤติมิชอบ
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา 'พินิจ รธน. 2475 พิจารณา รธน. 2560' ชี้เอาคนปกป้องเผด็จการมาสร้างประชาธิปไตยไม่ได้

Posted: 23 Jun 2018 04:51 AM PDT

เสวนา  "พินิจ (รัฐ) ธรรมนูญ 2475 พิจารณารัฐธรรมนูญ 2560 เราเดินถอยหลังมาไกลแค่ไหนแล้ว?" 'โภคิน' ระบุ รธน. 2560 เปลี่ยนระบอบเป็นเผด็จการ ชี้เอาคนปกป้องเผด็จการมาสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ 

 
 
23 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พรรคใต้เตียง มธ. และคณะประชาชนเพื่อเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเสวนาเรื่อง "พินิจ (รัฐ) ธรรมนูญ2475 พิจารณารัฐธรรมนูญ 2560 เราเดินถอยหลังมาไกลแค่ไหนแล้ว?" โดยนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย และอดีตประธานรัฐสภา กล่าวตอนหนึ่งว่า 24 มิ.ย. 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบอบราชาธิปไตย มาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หัวใจสำคัญคือ การเขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจเป็นของราษฎรเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นแม้คณะรัฐประหาร ก็ไม่กล้าบอกว่าอำนาจสูงสุดไม่ใช่ของประชาชนตลอด 86 ปี ไม่มีใครเอาอำนาจไปจากราษฎรได้ แต่นี่เป็นวาทะกรรม สุดท้ายเขาก็เอาอำนาจไปหมด แต่อย่างน้อยวาทกรรมนี้คือความจริง ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญเขียนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจผ่านทางฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แล้วเวลาฉีกรัฐธรรมนูญ คุณฉีกอำนาจใคร ในรัฐธรรมนูญ 2517 จึงเขียนว่า การล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มอำนาจพระมหากษัตริย์จะทำไม่ได้
          
นายโภคิน กล่าวว่า ในบทเฉพาะการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาตรา 265 กำหนดให้ใช้ ม.44 ได้เหมือนเดิม จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ถ้าไม่เล่นการเมืองไม่เป็นไร แต่ถ้าจะเล่นการเมืองแล้วมี ม.44 ก็จะต้องไม่ใช้ประโยชน์นี้เพื่อการสืบทอดอำนาจ ซึ่งมาตรา 44 ก็มีเงื่อนไขในการใช้ เพื่อการปรองดอง ปฏิรูป และภัยคุกคาม แต่การใช้ย้าย ขรก.ท้องถิ่นเป็นพันๆคน ส่วนที่ศาลฎีกาบอกยึดอำนาจสำเร็จเป็นรัฎฐาธิปัตย์ แต่ไม่ได้บอกว่า จะกลับมาเป็นกบฎสักวันหนึ่ง ในสมัยสฤษดิ์ เคยมีการฟ้องมาตรา 17 ศาลบอกจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ขึ้นกับ ครม.จะพิจารณา กลายเป็นว่า ศาลรับรองความสมบูรณ์แบบการใช้อำนาจเผด็จการแบบสุดๆ ให้เป็นอย่างไรก็ได้ ทั้งนี้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญจะต้องนำไปสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่อำมาตยาประชาธิปไตย มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ 2560 กลับใหญ่กว่าบทจริง ทำให้มาตราก่อนหน้านั้นไม่มีความหมายกลายเป็นเปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปสู่เผด็จการ
          
นายโภคิน กล่าวอีกว่า มาตรา 265 โดยอาศัยมาตรา 279 คุ้มกัน ไม่ได้หมายความว่า มาตราอื่นไม่มีความหมาย สมมติใช้ ม.44 แบ่งแยกประเทศไทย ม.279 คุ้มครองให้ชอบด้วยกฎหมาย เรารับมันได้หรือไม่ มันสุดยอดของอำนาจ รัฎฐาธิปัตย์หนือรัฏฐาธิปัตย์ ทั้งที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ตุลาการภิวัฒน์ ที่มานั่งตกลงกันทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ศาล โดยอ้างความสงบเรียบร้อย ซึ่งการเอาคนที่ปกป้องเผด็จการ ยืนหยัดกับเผด็จการ ถามว่าจะสร้างประชาธิปไตยได้หรือไม่ วงจรอุบาทว์ยึดอำนาจเลือกตั้งยึดอำนาจเลือกตั้ง ยังไม่จบใน 86 ปี คนมีส่วนสำคัญคือ ศาล ถ้าศาลกล้ายืนหยัดในหลักนิติธรรม ประชาธิปไตย ตนเชื่อว่า ไม่มีใครกล้ายึดอำนาจ เพราะไม่รู้ว่า ยึดอำนาจแล้วจะเป็นอย่างไร
         
"ส่วนกลไกให้ ส.ว. 250 คน คสช.แต่งตั้งหมด ก็ย้อนอดีต การตั้งนายกรัฐมนตรีเดิมต้องทำในสภาผู้แทนราษฎร แต่ครั้งนี้ให้ทำในรัฐสภา ต้องได้ 376 เสียง ไม่ง่าย นอกจากประชาชนจะเทให้พรรคใดพรรคหนึ่งอย่างถล่มทลาย บางพรรคพูดไม่เอาทหาร แต่พอถึงเวลาต้องดูกัน นักการเมืองต้องซื่อสัตย์ ไม่ได้เกลียดทหาร แต่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งต้องสง่างาม ไม่อย่างนั้นน่ารังเกียจ มีทั้งตั้ง ส.ว. ดูดนักการเมืองกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แล้วด่านักการเมืองเลวทรามสารพัด บอกว่าจะปฏิรูปการเมือง แต่ก็มาทำแบบนี้ก็เท่ากับดูหมิ่นมาตรา 4 เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุณดูหมิ่นเหยียดหยามประชาชนเป็นบ่าว แต่แท้จริงแล้วเขาเป็นประชาชนเจ้าของอำนาจ จึงขอให้ประชาชนช่วยกันทำให้การเหยียดหยามนี้พ่ายแพ้" นายโภคินกล่าว
          
ส่วนนายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าในแง่การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จะถอยหลังหรือไม่ ลองคิดดูเพราะจากเดิมรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่คราวนี้กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งหรือการเห็นชอบจากสภาท้องถิ่นก็ได้ สิทธิเดิมที่เคยมีตามรัฐธรรมนูญเดิม ที่ให้ภาคประชาชนเสนอกฎหมายภาคประชาชน เช่น ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ปรากฎว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชามติปลอมๆ นี้ ก็ทำให้การเสนอกฎหมายจังหวัดปกครองตนเองโดยประชาชนทำไม่ได้
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เด็กผู้ลี้ภัยในเมืองที่ถูกกักใน ตม. มีความเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ

Posted: 23 Jun 2018 03:03 AM PDT

องค์การช่วยเหลือเด็กเปิดงานวิจัย "อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย" พร้อมจัดเวทีเสวนา "เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย สู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย" เผยข้อมูลมีเด็กผู้ลี้ภัยในเมืองถูกกักใน ตม.แยกจากครอบครัวจนทำให้เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ กรรมการสิทธิฯ เผยได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีจับกุมเด็กผู้ลี้ภัยอย่างไม่เหมาะสมในห้องกัก ตม. ชี้เป็นการละเมิดสิทธิเด็กสร้างความหวาดกลัวและบาดแผลด้านจิตใจกับเด็กและครอบครัว ระบุไม่ควรมีเด็กแม้แต่คนเดียวที่ต้องถูกควบคุมตัวในห้องกัก ตม. 

 
 
 
23 มิ.ย. 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กรช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the children) จัดงานเปิดตัวงานวิจัย "อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย" และเวทีเสวนา "เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย สู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย" เนื่องในสัปดาห์วันผู้ลี้ภัยโลกประจำปี 2561
 
น.ส.รติรส ศุภาพร ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็กระดับภูมิภาคเอเชีย ได้เปิดตัวงานวิจัยอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัยโดยระบุถึงรายละเอียดที่สำคัญในการจัดทำงานวิจัยเรื่องนี้ว่า วิกฤตผู้ลี้ภัยเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งปัจจุบันในส่วนของประเทศไทยได้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยได้อพยพหนีภัยสงคราม ภัยจากความขัดแย้งทางการเมือง หรือภัยจากการได้รับผลกระทบจากความเชื่อทางศาสนาเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ลี้ภัยในประเทศไทยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่พักอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทยเมียนมาและผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ภายนอกค่ายผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยในเมือง โดยผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ภายนอกค่ายผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยในเมือง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 
 
ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็กกล่าวต่อว่าจากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ระบุตัวเลขผู้ลี้ภัยในเมืองว่ามีประมาณ 6,000 คน ซึ่งเป็นเด็กมากกว่า 2,000 คน จากกว่า 50 ชาติพันธุ์ ประมาณ 55% เป็นคนปากีสถาน 10% มาจากเวียดนาม 6% มาจากปาเลสไตน์ และที่เหลืออีกกว่า 30% มาจากโซมาเลีย ซีเรีย อิรัก ศรีลังกา กัมพูชา จีน อิหร่าน และอื่นๆ โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้กำลังรอโอกาสที่จะได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ประเทศที่สาม แต่โอกาสมีน้อยมาก ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยจากไทยไปตั้งถิ่นฐานใหม่เพียงแค่ 5.5% จากจำนวนผู้ลี้ภัยในเมืองทั้งหมด 
 
น.ส. รติรส เปิดเผยข้อมูลต่อว่าในการทำวิจัยเราได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามเด็กๆ จำนวนหนึ่งที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพราะพ่อแม่ของพวกเขาถูกจับเด็กๆ ก็จะได้รับผลกระทบด้วยการถูกจับไปด้วย ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กๆที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานกักกันจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหรือได้รับการดูแลที่เหมาะสม เราพบว่าสถานกักกันเหล่านั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการอยู่ระยะยาว สภาพที่เป็นอยู่นั้นแออัด ห้องกักมีขนาดเพื่อรองรับคนประมาณ 10-20 คน เท่านั้น แต่มีคนถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องนั้นกว่า 150 คน มีห้องอาบน้ำ 1 ห้อง และห้องส้วม 1 ห้องเท่านั้น ผู้ต้องกักต้องผลัดกันยืน ผลัดกันนอน สิ่งแวดล้อมมีสภาพสกปรก มีหนอน หนู แมลงสาบ และยุง อีกทั้งพยาธิซึ่งนำมาซึ่งโรคติดต่อเช่น โรคตาแดง ไข้หวัด และอื่น ๆ  ซึ่งในสถานกักกันมีการกำหนดให้แยกกักผู้ชาย และผู้หญิงและเด็ก แต่จากการลงเก็บข้อมูลในงานวิจัยของเรา เราพบกรณีการกักกันอย่างไม่เหมาะสมกับเด็กๆ โดยเด็กชายที่มีลักษณะร่างกายค่อนข้างโตแล้วแต่อายุของเด็กยังน้อยอยู่ก็ถูกแยกไปอยู่ห้องผู้ต้องกักชาย โดยที่ไม่มีกำหนดเกณฑ์อายุที่ชัดเจนแต่อย่างใด ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วถ้าพ่อของเด็กถูกกักอยู่ในห้องกักนั้น เด็กชายคนนั้นก็ควรที่จะได้อยู่กับพ่อของเขา แต่มันก็ไม่เป็นเช่นนั้น เด็กชายคนนี้ก็จะถูกกักตัวโดยปราศจากผู้ปกครองในห้องกักที่มีผู้ใหญ่อีกมากกว่า 100 คน ซึ่งเราพบข้อมูลที่น่าน่าตกใจมากคือมีเหตุข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศในสภาพแวดล้อมเช่นนี้บ่อยครั้ง
 
"เด็กคนหนึ่งที่นำตัวออกมาถูกกระทำทางเพศ การที่เจ้าหน้าที่ ตม. ย้ายเด็กผู้ชายไปยังห้องกักชายเป็นเหตุให้พวกเขาถูกละเมิด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาหลายปี เด็กส่วนใหญ่หรือทั้งหมดถูกละเมิดที่นั่น แต่เด็กเหล่านี้ก็มีความหวาดกลัวและอายเกินไปที่จะรายงานเหตุที่เกิดขึ้น พวกเขาบอบช้ำมากเกินไปทำให้มีความนับถือตัวเองต่ำ" น.ส.รติรสกล่าว
 
ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็กระบุอีกว่า นอกจากเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กแล้วการจัดอาหารให้ผู้ต้องกักก็ไม่เพียงพอ ให้สภาพห้องที่คับแคบ ทำให้เด็กไม่สามารถที่จะควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบตัวพวกเขาได้เลย ด้วยเงื่อนไขความเป็นอยู่เช่นนี้ ประกอบกับการถูกตัดขาดจากโลกภายนอก การเข้าไม่ถึงการศึกษา และไม่มีพื้นที่ให้เล่น ล้วนส่งผลต่อปัญหาทางจิตใจของพวกเขาในระยะยาว
 
น.ส.รติรส กล่าวว่านอกจากนี้เด็กๆผู้ลี้ภัยในประเทศไทยยังต้องเผชิญกับภาวะของการถูกทำให้โดดเดี่ยวเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย ผู้ลี้ภัยต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัวตลอดเวลา เพราะเหตุนี้ ครอบครัวผู้ลี้ภัยมักจะอาศัยอยู่อย่างหลบซ่อน และบางคนพยายามอยู่แต่ในบ้าน จะออกจากที่พักก็ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ ที่พักพิงในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นเพียงห้องหนึ่งห้องที่เด็กๆ ไม่มีพื้นที่ให้เล่น ผู้ลี้ภัยก็เกรงว่าเพื่อนบ้านของพวกเขาคิดว่าถ้าลูกของพวกเขาทำเสียงดังมาก พวกเขาจะโทรหาตำรวจ ด้วยเหตุนี้ผู้ปกครองมักจะคอยเฝ้าดูและจำกัดการเล่นของเด็กๆ
 
"สิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับเด็กคือการขาดอิสรภาพ พวกเขาไม่สามารถเล่นตรงระเบียงทางเดินได้ด้วยซ้ำ ครอบครัวๆ หนึ่งมีสมาชิกอย่างน้อยสี่หรือห้าคน ขนาดห้องของพวกเขามีขนาดเล็กมาก แล้วเด็กๆ จะเล่นได้ยังไง ถ้าพวกเขาไปเล่นตรงระเบียงทางเดิน และส่งเสียงดังก็อาจทำให้เพื่อนบ้านไม่พอใจ พวกเด็กๆ ก็ไม่เข้าใจ และก็โดนต่อว่า ทั้งที่มันไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเลย พวกเขาก็แค่อยากจะเล่นเท่านั้น" ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็กกล่าว
 
น.ส.รติรสกล่าวว่า การที่ต้องถูกกักบริเวณและใช้ชีวิตอยู่ในความหวาดกลัวอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดสภาวะที่ตึงเครียดมากสำหรับครอบครัวและเด็กๆ ผู้ลี้ภัยในเมือง การถูกทำให้โดดเดี่ยวเช่นนี้ขัดขวางการพัฒนาของเด็ก ตัวอย่างเช่น เด็กๆ อาจไม่รู้จักว่าควรประพฤติตัวหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นๆ อย่างไร สิ่งนี้อาจมีผลกระทบในระยะยาวสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก เนื่องจากการเรียนรู้ทางสังคมเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำความเข้าใจและคงไว้ซึ่งความรู้ ในที่สุดเด็กๆ ก็สะสมความวิตกกังวลและประสบปัญหาทางจิตใจได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาของการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การแต่งงานในวัยเยาว์ การค้ามนุษย์ ซึ่งการที่เด็กผู้หญิงไม่ได้ไปโรงเรียนก็ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การค้ามนุษย์
 
ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็กยังได้ยกตัวอย่างของประเทศมาเลเซียที่มีระบบการจัดการกับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในระหว่างการรอสถานะที่ทำให้เด็กและครอบครัวของผู้ลี้ภัยไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและหวาดกลัวและทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถดูแลตนเองได้ ที่มาเลเซียผู้ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนและอยู่ในระหว่างการรอพิจาณาสถานะจาก UNHCR หรือผู้ที่ได้รับสถานะจาก UNHCR ให้เป็นผู้ลี้ภัยแล้วและกำลังรอการเดินทางไปยังประเทศที่สามซึ่งรายชื่อของทุกคนที่ได้รับการรับรองแล้วจะถูกรวบรวมไปให้เจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำรายชื่อไปจัดทำเป็นฐานข้อมูลและเก็บไว้ในแอพพลิเคชั่นและเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเจอผู้ลี้ภัยที่สงสัยว่าเข้าเมืองอย่างถูกกฏหมายหรือไม่ก็สามารถเช็คข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นได้ และเมื่อผู้ลี้ภัยมีรายชื่อปรากฏในแอพพลิเคชั่นก็จะไม่ถูกจับกุมตัวและผู้ลี้ภัยบางกลุ่มสามารถทำงานได้
 
น.ส. รติรส กล่าวเพิ่มเติมว่าแม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 (the 1951 Refugee Convention) หรือพิธีสารเลือกรับ พ.ศ.2510 (the 1967 Protocol) แต่เมื่อเดือน ก.ย.ปี 2559 ที่ผ่านมาในที่ประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัย ที่กรุงนิวยอร์ก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะจัดตั้งกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยเองเพื่อจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์และสนับสนุนหลักการไม่ส่งกลับ (Non Refoulement) และรัฐบาลไทยยังได้สัญญาในการประชุมครั้งนั้นอีกว่าจะส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงบริการด้านการศึกษา สุขภาพ และการแจ้งเกิดให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังรับรองอีกว่าจะยุติการคุมขังผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่เป็นเด็ก แต่ในความเป็นจริงจากการลงพื้นที่เพื่อทำงานวิจัย เรื่อง "อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย"ขององค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ระบุถึงข้อมูลและสถานการณ์ของเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ภายนอกค่ายผู้อพยพ เรากลับพบว่าเด็กๆ ยังถูกละเมิดสิทธิและถูกปฏิเสธที่จะได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในหลากหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการถูกจับกุมคุมขังรวมกับผู้ใหญ่และถูกคุกคามทางเพศในสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เด็กในวัยเล็กๆ ต้องถูกแยกจากครอบครัว ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวและไม่ปลอดภัย นอกจากนี้แล้วเด็กๆ เหล่านี้ก็ไม่สามารถเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานและการศึกษา
 
ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็กกล่าวต่อว่านอกจากนี้ยังมีส่วนที่สำคัญที่สุดอีกเรื่องในการทำงานวิจัยชิ้นนี้คือเรื่องการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของเราพบว่าในกรุงเทพมหานครมีเด็กผู้ลี้ภัยอยู่ในโรงเรียนจำนวน 600 คน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ไม่ได้รับการยืนยันและอาจไม่ถูกต้อง สิ่งที่แน่นอนคือเด็กผู้ลี้ภัยและแสวงหาที่ลี้ภัยส่วนใหญ่ออกจากโรงเรียนหรือได้รับการศึกษานอกระบบ ในขณะที่กำลังแสวงหาที่พักพิงในกรุงเทพเด็กๆ อาจเสี่ยงที่จะสูญเสียโอกาสทางการศึกษา และต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับพบว่าอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยในเมืองมีดังต่อไปนี้ ถึงแม้ว่าไทยจะมีนโยบายว่า เด็กทุกคนไม่ว่าสัญชาติใดสามารถที่จะเข้าถึงการศึกษาของรัฐได้ฟรี แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ยังคงมีเด็กผู้ลี้ภัยที่ควรได้ไปโรงเรียนเข้าไม่ถึงการศึกษาด้วยปัจจัยต่างๆ ได้แก่การรับรองเอกสาร  ภาษาที่ใช้สอนและการเทียบระดับชั้น การกลั่นแกล้งและการเลือกปฏิบัติ ความปลอดภัย การเดินทาง และค่าใช้จ่าย  ศักยภาพของสถานที่รองรับและความสามารถของครูและความแตกต่างทางทัศนคติและการขาดความรู้ของผู้ที่ทำงานให้ความช่วยเหลือ
 
"ดังนั้นจากงานวิจัยที่เราได้จัดทำขึ้นมาจึงแสดงให้เห็นแล้วว่ามีเด็กๆ ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยจำนวนมากได้รับผลกระทบทั้งเรื่องการถูกกักตัวใน ตม.เรื่องการเข้าถึงการศึกษาและเรื่องการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เราจึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดูแลจัดการกับเด็กผู้ลี้ภัยอย่างเหมาะสมดังนี้ 1. ให้นำเด็กออกจากสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโดยทันที ไม่ควรมีเด็กคนไหนที่จะต้องถูกกันตัวในสถานที่และสภาพแวดล้อมแบบนั้น และให้รัฐจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมให้กับเด็กและครอบครัวได้พักอาศัยอยู่ร่วมกันโดยไม่แยกครอบครัวของเด็กด้วย  2.ขอให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กผู้ลี้ภัยตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัย ที่กรุงนิวยอร์กเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2559 ว่าจะส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงบริการด้านการศึกษา สุขภาพ และการแจ้งเกิดให้มากขึ้น ทั้งนี้เราขอให้การจัดการศึกษาของรัฐเป็นไปในรูปแบบของที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตต่อในประเทศที่สามหรือประเทศต้นทางของเด็กได้ ซึ่งองค์การช่วยเหลือเด็กมีต้นแบบการจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชนหลากหลายแห่งที่รับเด็กผู้ลี้ภัยเข้าไปศึกษาต่อที่จะร่วมใช้เป็นต้นแบบให้กับรัฐได้ 3.ขอให้รัฐมีการจัดอบรมและพัฒนาศักยภาพของครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนของรัฐ, ตำรวจตม ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจทั่วไป และผู้ทำงานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยให้เข้าใจถึงสิทธิและการปฏิบัติต่อเด็กๆผู้ลี้ภัยด้วย" น.ส.รติรสกล่าว 
 
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในเวทีเสวนา "เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กลี้ภัยสู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย" ว่าภาพรวมประเทศไทยยังไม่รับรองสถานะผู้ลี้ภัย และยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 ของสหประชาชาติ ไทยจึงไม่มีแนวทางในการจัดการปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ ในปัจจุบันเนื่องจากปัญหาความยากจน การขาดแคลนอาหาร ปัญหาภัยพิบัติ ภาวะความรุนแรงจากความขัดแย้ง หรือการสู้รบในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้ผู้คนในหลากหลายประเทศต้องย้ายถิ่น กลายเป็นเป็นผู้อพยพ (Migration) ผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิง และมีจำนวนไม่น้อยที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับครอบครัวโดยกลุ่มคนเหล่านี้จะขอสถานะผู้ลี้ภัย (Refugees) จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งหากได้รับสถานะผู้ลี้ภัยคนกลุ่มนี้ก็จะสามารถพำนักในประเทศไทยได้ โดยได้รับการดูแลจาก UNHCR เพื่อรอการเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยและหากเป็นผู้ไม่มีเอกสาร เช่นหนังสือเดินทาง หรือวีซ่า หรือหนังสือเดินทางหรือวีซ่าหมดอายุ คนกลุ่มนี้ก็จะอยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือ overstay ซึ่งหากเจ้าหน้าที่พบเห็นก็จะถูกจับกุมและถูกกักที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อรอการส่งกลับประเทศต้นทาง
 
"เคยมีเรื่องร้องเรียนมายัง กสม. เรื่องกักตัวเด็กที่เดินทางมาพร้อมผู้ปกครอง เพราะเมื่อผู้ปกครองถูกจับและถูกกักในห้องกัก เด็กก็จะถูกกักไปด้วย แม้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะมี Day Care ที่ใช้เป็นสถานที่ดูแลเด็กในเวลากลางวัน แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะรองรับเด็กทุกคน และแม้จะมีเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ เช่น IOM (International Organization for Migration) เข้ามาช่วยดูแลหรือสอนหนังสือเด็กในห้องกัก แต่ปัญหาสำคัญ คือ เด็กที่ย้ายถิ่นมากับครอบครัวยังคงถูกกักขัง และขาดโอกาสในการศึกษา และการพัฒนาตามวัย และหากเทียบกับผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ เมื่อคลอดลูกแล้วเด็กจะได้รับอนุญาตให้อยู่กับแม่ภายในบริเวณที่ไม่ใช่ห้องขัง และเมื่อเด็กอายุ  1 ปีก็ให้ญาติ หรือให้บ้านพักเด็กรับไปดูแลแทน แต่กรณีเด็กที่ย้ายถิ่นโดยเดินทางมาพร้อมผู้ปกครอง และถูกกักในห้องกัก ปัจจุบันหน่วยงานความมั่นคงกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการดูแลเด็ก" นางอังคณา กล่าว
 
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังยกตัวอย่างการบริหารจัดการที่ดีในการดูแลกลุ่มเด็กผู้ลี้ภัยที่ติดตามครอบครัว และถูกจับโดยอยู่ในการดูแลของบ้านพักเด็กในหลายจังหวัด เช่น เด็กๆชาวโรฮิงยาที่ได้รับการดูแลที่บ้านพักเด็กจังหวัดพังงา ซึ่งทางบ้านพักจะส่งเด็กไปโรงเรียนในท้องถิ่น ทำให้เด็กได้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และได้รับการพัฒนาตามวัย อีกทั้งทางบ้านพักยังสอนให้เด็กทำอาชีพเสริม เช่น การปลูกผัก หรือเลี้ยงปลาไว้ขายเพื่อมีรายได้ หรือที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีชาวเมียนมาที่อพยพเข้ามาหางานทำในฝั่งไทยจำนวนมาก โดยชาวเมียนมาที่นับถือศาสนาพุทธ และมีหนังสือรับรองสัญชาติจะได้รับใบอนุญาตทำงาน แต่ชาวเมียนมามุสลิมที่อพยพเข้ามาพร้อมครอบครัวมักไม่ได้รับสัญชาติ จึงกลายเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายเพราะไม่มีเอกสารทางทะเบียน และไม่สามารถขออนุญาตทำงานได้ คนเหล่านี้จึงต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ แต่ในชุมชนแม่สอด มีโรงเรียนอิสลามศึกษา ที่สอนศาสนาอิสลามได้รับเด็กๆ เหล่านี้ให้มีโอกาสเข้าเรียน โดยทางโรงเรียนมีการสอนแบบสามัญเพื่อให้เด็กมีโอกาสสอบเทียบในหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในขณะที่เด็กในครอบครัวผู้อพยพที่อยู่ในกรุงเทพฯยังพบมีปัญหาทัศนคติ ทำให้โรงเรียนหลายแห่งไม่รับเด็กๆเหล่านี้เข้าเรียนในโรงเรียน พบว่าโรงเรียนบางแห่งขอดูเอกสารการเข้าเมืองของบิดามารดา ทำให้บิดามารดาเกิดความหวาดกลัวว่าโรงเรียนจะแจ้งความจับ จึงไม่กล้านำเด็กไปโรงเรียน
 
นางอังคณา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการศึกษาแล้ว เด็กในครอบครัวผู้อพยพยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลด้วย พบว่าโรงพยาบาลของรัฐบาลบางแห่งติดป้ายประกาศว่าไม่รับรักษาผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาล หรือแม้แต่สิทธิในการได้รับวัคซีนป้องกันโรคตามวัย แต่ในขณะที่ในต่างจังหวัดหลายแห่งสามารถใช้สิทธิผู้ป่วยยากไร้เพื่อให้การรักษาแก่เด็กๆเหล่านี้ได้ 
 
"การเข้าไม่ถึงสิทธิในการศึกษา หรือการรักษาพยาบาล ถือว่าขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ "ประเทศไทยจำเป็นต้องรีบเร่งในการแก้ปัญหาเด็กที่อพยพมากับครอบครัว จะต้องไม่มีการกักขังเด็กอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเด็กไม่ได้ทำความผิด เด็กเป็นเพียงผู้ติดตามครอบครัวในการย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาที่ที่ปลอดภัย หรือเพื่อการมีชีวิตรอด การให้ความคุ้มครองเด็กและให้เด็กสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิในการศึกษา หรือการรักษาพยาบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากวันข้างหน้าเมื่อเด็กมีโอกาสได้เดินทางไปประเทศที่สาม หรือสามารถกลับประเทศต้นทางได้ เด็กๆเหล่านี้จะสามารถเริ่มชีวิตใหม่ได้" นางอังคณา กล่าว
 
นางอังคณา ยังเปิดเผยด้วยว่าในปลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียน ว่ามีเด็กผู้ลี้ภัยชาวแอฟริกา 4-5 คนถูกจับโดยลำพัง หลังจากกลับจากโรงเรียน ซึ่งเด็กเหล่านั้น อายุเพียง 11-12 ปี ทั้งที่ตามปกติเด็กจะถูกจับพร้อมผู้ปกครอง เมื่อได้ไปตรวจสอบที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า สตม. ได้รับเด็กจากสถานีตำรวจแห่งหนึ่งจึงต้องนำมากักไว้ในห้องกักโดยที่ สตม.ก็ไม่มีอำนาจในการกักเด็กต่ำกว่า 15 ปีได้เนื่องจากเด็กไม่ได้ทำความผิด กรณีนี้ สตม.ได้ขอให้ กสม.เป็นพยานในการส่งมอบเด็กให้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิที่ช่วยเหลือเด็ก แต่กรณีเด็กที่อายุมากกว่า 15 ปี ทาง สตม.ผ่อนปรนที่ให้มีการประกันตัวเด็กได้"
 
กรรมการสิทธิในมนุษยชนแห่งชาติ ยังระบุด้วยว่า กสม. และ องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัย ได้มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทางเลือกแทนการกักเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยการอนุญาตให้เด็กพร้อมผู้ปกครองมีโอกาสพักอาศัยนอกห้องกัก ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้รับทราบปัญหา และพัฒนาไปถึงการดำเนินการให้มีบันทึกความเข้าใจร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งหากสำเร็จจะถือว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้ามาก เนื่องจากเด็กและผู้ปกครองจะสามารถใช้ชีวิตข้างนอกห้องกัก ได้รับการศึกษาและกาพัฒนาตามวัยได้ อีกทั้งยังทำให้เด็กเข้าถึงสิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม เด็กมีโอกาสเรียนรู้ภาษาแม่และภาษาท้องถิ่น และเมื่อวันหนึ่งเด็กต้องกลับไปประเทศต้นทาง หรือเดินทางไปประเทศที่สาม เด็กจะสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้
 
"นอกจากนี้ประเทศไทยควรมีระบบคัดกรองผู้อพยพผู้ลี้ภัย เพื่อทำบันทึกประเทศไทยมีจำนวนผู้ลี้ภัยในเมืองทั้งสิ้นเท่าใด ระบบคัดกรองมีความสำคัญมากต่อการวางแผนบริหารจัดการผู้อพยพเหล่านี้ ที่ผ่านมา UNHCR  มีข้อเสนอต่อประเทศไทยว่าเด็กควรที่จะอยู่ในชุมชน หรือ เรียนในโรงเรียนทั่วไป เพราะถ้าเด็กถูกกัก หรือถูกแยกมาอยู่ในบ้านพัก โดยไม่มีโอกาสมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน จะทำให้เด็กไม่มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมได้ ทั้งนี้ในการบริหารจัดการเรื่องเด็กผู้ลี้ภัยสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ ผลประโยชน์ของเด็กต้องมาก่อนเป็นลำดับแรก" นางอังคณาระบุ
 
ขณะที่ น.ส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวว่าประเทศไทยไม่มีกฎหมายโดยตรงที่จะมีการจัดการกับผู้ลี้ภัย แม้ผู้ลี้ภัยและครอบครัวจะไปลงทะเบียนกับ UNHCR หรือ ได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยแล้วก็ตามแต่เมื่ออยู่ในประเทศไทยผู้ลี้ภัยที่เหล่านี้ก็ยังเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายอยู่ดีเพราะเครื่องมือที่รัฐใช้อยู่ขณะนี้ คือ พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งนี้การเข้ามาในประเทศไทยของผู้ลี้ภัยมีสองช่องทางคือการเข้ามาและขอสถานภาพอย่างถูกกฎหมาย โดยมีพาสปอร์ตและวีซ่าครบถ้วน แต่เนื่องด้วยการดำเนินการขอสถานะต้องใช้เวลานานทำให้ระหว่างรอการได้รับสถานะส่งผลให้วีซ่าหมดอายุ และตามพ.ร.บ.คนเข้าเมืองเมื่อวีซ่าหมดอายุก็จะส่งผลให้กลุ่มผู้ลี้ภัยเป็นคนผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ทันที โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 จะเจอปัญหาเช่นนี้ ขณะที่อีกสาเหตุหนึ่ง คือ การเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น เช่น เข้าทางตามช่องทางธรรมชาติ หรือ ใช้หนังสือเดินทางปลอม เพราะต้องหนีสงครามมาทำให้ไม่มีเอกสารใดๆ ติดตัว โดยการเข้ามาทั้งสองช่องทางส่วนใหญ่จะมีเด็กเป็นผู้ติดตามมาด้วยและเด็กๆซึ่งเป็นผู้ติดตามพ่อแม่ก็จะได้รับผลกระทบ 
 
"แม้ว่าโทษปรับเข้าเมืองผิดกฎหมาย จะเป็นโทษปรับที่อัตราโทษไม่รุนแรง แต่หลังจากนั้นคนเหล่านี้จะถูกส่งไปที่ตม.เพื่อส่งกลับประเทศต้นทาง ซึ่งในข้อเท็จจริงพวกเขากลับไม่ได้ เพราะเป็นผู้ลี้ภัย ถ้ากลับไปก็ตายแน่ ก็กลายเป็นว่าคนเหล่านี้จะถูกให้อยู่ในห้องกักอย่างไม่มีกำหนดซึ่งการต้องอยู่ในห้องกักของตม.เป็นระยะเวลานานไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ลี้ภัยที่เป็นผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นหากแต่ส่งผลกระทบกับเด็กซึ่งเป็นผู้ติดตามพ่อแม่เข้ามาด้วย โดยเฉพาะผลกระทบในเรื่องสิทธิการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ เพราะแม้ว่ารัฐไทย จะมีนโยบาย Education for all หรือการศึกษาเพื่อคนทั้งมวลสำหรับเด็กทุกคนแต่มีปัญหาอยู่ที่ ผู้ปกครองที่จะพาไปโรงเรียนยังถูกกักตัวอยู่ในตม. เด็กเองก็ยังถูกกักตัวพร้อมกับผู้ปกครอง และหากไม่ถูกกักตัวครอบครัวของผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเมืองหลวงก็ต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆซ่อนๆ และมีความเสี่ยงที่จะถูกจับจึงทำให้ไมกล้าส่งลูกไปโรงเรียนก็ทำให้เด็กๆขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาไป หรือแม้แต่เด็กที่โตหน่อยที่ไปโรงเรียนเองได้หน่อยก็ถูกจับระหว่างทางไปโรงเรียนก็มีการเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยจึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่รอการจัดการที่เหมาะสม" น.ส.ปริญญา กล่าว
 
น.ส.ปริญญา กล่าวด้วยว่าอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญในเรื่องการศึกษาของเด็กๆผู้ลี้ภัยคือการสื่อสาร เพราะการที่ผู้ลี้ภัยจะต้องเข้าเรียนที่โรงเรียนไทย มักมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาไทย แม้ว่าจะมีองค์กรเอกชนที่คอยสอนภาษาไทยเพื่อที่จะได้เข้าเรียนโรงเรียนไทยได้ แต่ในขณะเดียวกันงบประมาณก็มีอยู่อย่างจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการและจำนวนของเด็ก อีกทั้งผู้ลี้ภัยหลายคนไม่คิดว่าการรอส่งตัวไปประเทศที่สามจะใช้เวลาที่ยาวนานจึงไม่คิดว่าจะต้องเรียนภาษาไทย ทำให้สถิติผู้ลี้ภัยทั้งหมดเกือบครึ่งเป็นเด็ก และในจำนวนนี้มีหลักร้อยคนเท่านั้นที่ได้เข้าเรียน นอกจากบางครอบครัวที่มีศักยภาพ หรือ ในอดีตมีโรงเรียนอินเตอร์ บางแห่งให้ทุนการศึกษา
 
"มีเคสหนึ่งเมื่อปี 2016 เด็กผู้ลี้ภัยได้เรียนโรงเรียนอินเตอร์ เป็นนักกีฬา สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ไปทัศนศึกษาที่ จ.เชียงราย กับโรงเรียน แต่ปรากฏว่าขากลับเด็กกลับถูกจับ ต้องขึ้นศาลต่อสู้คดี แต่สุดท้ายศาลเยาวชน ก็ตัดสินว่าเด็กไม่ได้หนีไปไหน เด็กได้สถานะแล้วแต่กำลังจะไปประเทศที่สาม ให้กลับไปเรียนต่อได้ ซึ่งเคสนี้ถือว่าเป็นเคสที่โชคดี ที่ได้กลับไปเรียน และได้ขึ้นศาลเยาวชน เพราะปกติเวลาเด็กผู้ลี้ภัยในเมืองถูกจับส่วนใหญ่ขึ้นศาลผู้ใหญ่ ซึ่งถือว่ามีปัญหา และแม้ว่าที่ผ่านมารัฐจะบอกว่าไม่จับเด็ก จับเฉพาะผู้ใหญ่ แต่เด็กเหล่านี้คือผู้ติดตามพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ถูกจับจะเอาเด็กไปไว้ที่ไหน" น.ส.ปริญญา กล่าว
 
ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ยังระบุด้วยว่าไทยอยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งบทบัญญัติทางกฎหมายคุ้มครองเด็กทุกคน แต่ยังไม่ถูกนำไปใช้ จึงต้องผลักดันให้ใช้มากขึ้น นอกจากนี้ขอเสนอไปยังรัฐบาล ควรที่จะให้การรับรองการมีตัวตนของผู้ลี้ภัย เพื่อให้เขามีความหวาดกลัวน้อยลง เปิดทางให้เด็กได้ไปโรงเรียนมากขึ้น ซึ่งเห็นว่าในแง่นโยบายการศึกษาไทยดีอยู่แล้ว คือรัฐสนับสนุนให้ทุกคนได้เรียน แต่ควรแก้ไขในทางปฏิบัติ เพราะเมื่อเด็กไม่ได้รับสถานะ ก็ทำให้ไม่สามารถไปเรียนได้ ทำให้เกิดภาวะลักลั่นขึ้น นอกจากนี้ผู้ลี้ภัยที่ได้สถานะแล้วรัฐควรที่จะเปิดให้คนเหล่านี้ได้ทำงานอย่างถูกต้อง เพราะแม้จะเรียนฟรี แต่ผู้ปกครองต้องมีค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าเดินทางไปโรงเรียน หรือ ค่าอุปกรณ์การเรียน  ซึ่งหากดำเนินการตามข้อเสนอนี้จะทำให้ปัญหาต่างๆ ดีขึ้น
 
ขณะที่นางกรแก้ว พิเมย ผู้อำนวยการโครงการ Urban Education Project (UEP) องค์การเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย กล่าวว่าปัญหาที่พบเจอคือผู้ลี้ภัยขาดโอกาสทางการศึกษา ที่จะต้องเรียนตามระบบการศึกษาไทย แต่ปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมไทยและภาษาไทยลำบาก ทางองค์กรจึงได้เปิดคอร์สอบรมระยะสั้น 6 เดือน ให้ผู้ลี้ภัยจากหลากหลายเชื้อชาติได้เรียนฟรีในวิชาต่างๆ เช่น การสื่อสาร ตัดเย็บ หรือ คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะดูแลไปถึงค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน เพื่อเติมเต็มปัจจัยขั้นพื้นฐานเพื่อให้มาเรียนได้อย่างไม่ตัดขัดอะไร โดยจัดไปแล้ว 3 รุ่นๆ ละ 35 คน แต่ด้วยข้อจำกัดของเงินทุนทำให้ไม่พอเพียงต่อผู้ที่สนใจลงทะเบียนกว่า 400 คน  ทั้งนี้ในส่วนหลักสูตรที่สอนนั้น จะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้หางานทำต่อได้ ไม่ว่าในขณะที่อยู่ในไทยหรือไปประเทศที่สามแล้ว
 
"การอบรมครั้งหนึ่งจะเฉลี่ยทั้งเชื้อชาติ เพศอายุ แต่เราจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนก่อน เพราะผู้ใหญ่เขามีครอบครัว เขารู้ว่าต้องดำเนินชีวิตอย่างไร แต่กลุ่มยาวชน เป็นวัยรุ่นที่โตขึ้นมากำลังจะเป็นผู้ใหญ่ มีความสับสนจะเอาอย่างไรกับชีวิต ถ้าเราเอาเขามาเทรนด์ มารับการศึกษาทักษะ โดยเฉพาะทักษะการเข้าสังคมในพหุวัฒนธรรม มันก็จะดีกับเขา" นางกรแก้ว กล่าว
 
นางกรแก้ว ยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาสำคัญที่สุด คือการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ โดยองค์กรได้เน้นตั้งแต่เด็กวัยรุ่น เด็กโต รวมถึงผู้ใหญ่ ที่ในบางครั้งจะพาไปฝึกทักษะอาชีพกับหน่วยงานภาครัฐ แต่ขาดคุณสมบัติที่จะเรียนได้   เช่น ของกรุงเทพมหานคร ที่มีศูนย์ฝึกอาชีพแต่ให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น จึงอยากให้รัฐบาลเปิดโอกาส  อย่างน้อยต้องจัดโควต้าในแต่ละรอบ แต่ละปี เพราะถ้าพวกเขาเหล่านี้มีโอกาสพัฒนาทักษะต่างๆ หรือมีการศึกษาที่สูงขึ้น ก็จะสามารถนำไปต่อยอดในประเทศที่สามได้ หรืออย่าง กศน. ที่บอกว่ามาเรียนได้แต่เป็นภาษาไทย ซึ่งส่วนใหญ่ในกลุ่มของเด็กโตจะปรับตัวยากเพราะมีปัญหาเรื่องภาษา
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลสำรวจซูเปอร์โพลระบุ 93.4% เห็นด้วยให้มีโทษประหารชีวิต

Posted: 23 Jun 2018 01:20 AM PDT

สำนักวิจัยซูเปอร์โพลสำรวจความเห็น 1,123 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 93.4 เห็นด้วยให้มีโทษประหารชีวิต มีเพียงร้อยละ 6.6 ไม่เห็นด้วย

 
 
23 มิ.ย. 2561 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และการลงโทษประหารชีวิต" จากประชาชนทุกสาขาอาชีพจำนวน 1,123 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 19-22 มิ.ย. 2561
 
ผลสำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ 50.6 ยังไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร มีเพียงร้อยละ 10.5 เท่านั้นที่รู้ว่าเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ขณะที่ร้อยละ 38.9 เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของประชาธิปไตย เป็นเรื่องต้องปฏิบัติ เป็นระเบียบต่างๆ เป็นต้น โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.3 ไม่เคยเปิดอ่านรัฐธรรมนูญเลย ขณะที่ร้อยละ 31.7 เคยเปิดอ่าน ยิ่งไปกว่านั้นส่วนใหญ่ร้อยละ 87.1 ใช้ข้อมูลที่ฟังเขาเล่ามา พูดมาอีกที เขาบอกกันมาว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนดีกว่ากัน มีเพียงร้อยละ 12.9 ที่อ่านด้วยตนเอง เปรียบเทียบด้วยตนเอง
 
ที่น่าสนใจคือเมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญที่ดีควรมีบทบัญญัติอะไรบ้าง พบว่า อันดับแรกร้อยละ 66.3 ระบุว่า ปกป้อง เทิดทูน สถาบันหลักของชาติ รองลงมาร้อยละ 65.7 ระบุว่า ปกป้อง  รักษาสิทธิชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตามด้วยร้อยละ 57.2 ระบุว่า ขจัดอิทธิพลทางการเมือง ที่เอื้อผลประโยชน์เฉพาะครอบครัว ญาติพี่น้องและพวกพ้อง ร้อยละ 56.9 ระบุว่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องรักษาสิทธิและผลประโยชน์ชุมชน ร้อยละ 53.9 ระบุว่า รักษาผลประโยชน์ชาติ บ้านเมืองสงบสุข ร้อยละ 50.0 ระบุว่าขจัดปัญหาทุจริต คอรัปชั่น ร้อยละ 42.8 ระบุว่ามีวิธีคัดค้านอำนาจรัฐบาล และอำนาจอื่น ไม่ให้ใครมีมากเกินไป และร้อยละ 40.1 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. แต่ได้รับความนิยมจากประชาชน
 
สำหรับการประเมินความรู้ตัวเองเรื่องประชาธิปไตย พบว่า ร้อยละ 40.0 คิดว่ารู้และคิดว่าตอบได้ถูกต้องว่าประชาธิปไตยคืออะไร ขณะที่ร้อยละ 35.7 คิดว่ารู้แต่ไม่แน่ใจ และร้อยละ 24.3 ไม่รู้ อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ร้อยละ 74.5 ระบุว่า ทุกวันนี้มีอิสระ เสรีภาพ เพียงพอแล้วต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะที่ร้อยละ 25.5 ระบุยังไม่เพียงพอ
 
ส่วนความเห็นต่อการลงโทษประหารชีวิตผู้ที่ฆ่าผู้อื่นด้วยความโหดร้ายทารุณ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 93.4 เห็นด้วยให้มีโทษประหารชีวิต มีเพียงร้อยละ 6.6 ไม่เห็นด้วย และเมื่อจำแนกคนตอบออกตามช่วงอายุ พบว่า คนทุกกลุ่มช่วงอายุส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการลงโทษประหารชีวิต โดยคนตอบยิ่งมีช่วงอายุสูงขึ้นยิ่งเห็นด้วยกับการลงโทษประหารชีวิต คือ ร้อยละ 87.5 ของคนที่อายุไม่เกิน 24 ปี คนร้อยละ 93.6 ของคนอายุ 25-59 ปี และร้อยละ 96.6 ของคนอายุ  60 ปีขึ้นไปเห็นด้วยต่อการลงโทษประหารชีวิตคนที่ฆ่าผู้อื่นด้วยความโหดร้ายทารุณ นอกจากนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 90.2 สนับสนุนอธิบดีกรมราชทัณฑ์กรณีบังคับโทษประหาร ขณะที่มีเพียงร้อยละ 9.8 ไม่สนับสนุน
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ธนาธร’ เยือนอุตรดิตถ์ ชี้พรรคไหนหนุน คสช. เท่ากับทรยศวิชาชีพตัวเอง

Posted: 22 Jun 2018 11:15 PM PDT

'ธนาธร' เยือนอุตรดิตถ์เป็นจังหวัดที่ 20 กว่าแล้วจากเป้าหมายทั่วประเทศไทย ระบุพรรคการเมืองใดสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ คสช. ควรประกาศตัวให้ชัดเจน ชี้ทรยศต่อวิชาชีพของตัวเองเพราะทรยศต่อระบอบประชาธิปไตย ลั่นพรรคอนาคตใหม่พร้อมชนะในเกมที่ คสช.กำหนด 

 
 
23 มิ.ย. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 09.09 น. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อม น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่และคณะ นำดอกไม้ธูปเทียนเข้าสักการะอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ มีนายปัณณวัฒน์ นาคมูล อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุตรดิตถ์ ประธานกลุ่มนปช.อุตรดิตถ์ นำสมาชิก นปช.และคนเสื้อแดง จ.อุตรดิตถ์และ จ.พะเยา ให้การต้อนรับพร้อมนำดอกกุหลาบมอบให้กับนายธนาธรท่ามกลางเสียงตะโกนของกลุ่ม นปช.อุตรดิตถ์ว่า ขอให้ได้รับเลือกเข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เป็นคนรุ่นใหม่ที่รอคอยมานาน
 
ธนาธร กล่าวว่าการมา จ.อุตรดิตถ์ ครั้งนี้ก็เป็นจังหวัดที่ 20 กว่าแล้วจากเป้าหมายทั่วประเทศไทย เพื่อออกรับรู้รับฟังปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในพื้นที่จริงว่า จ.อุตรดิตถ์ ชาวบ้านในพื้นที่มีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อเก็บปัญหาเหล่านั้นเอาไปออกแบบนโยบายที่ตอบสนองกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ตอบสนองกับปัญหาของชาวบ้านจริงๆ
 
ธนาธรยังให้สัมภาษณ์กรณีการดูด ส.ส.ว่าการย้ายพรรคของ ส.ส.นั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ และถ้าการย้ายพรรคด้วยเรื่องของอุดมการณ์ก็เป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ประชาชนอย่างรู้อย่างยิ่งในเวลานี้คือ พรรคการเมืองใดสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ควรจะต้องประกาศตัวออกมาให้ชัดเจน เนื่องจากประเด็นนี้สำคัญอย่างยิ่งเพราะในระบอบประชาธิปไตยทำให้มีอาชีพนักการเมือง อาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี เป็นอาชีพที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ดังนั้นจึงเป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจ ถ้าไม่มีประชาธิปไตยก็จะไม่มีอาชีพนักการเมือง ดังนั้นนักการเมืองที่ทรยศต่อระบอบประชาธิปไตยที่ไปสนับสนุนระบอบเผด็จการ นักการเมืองที่ไปสนับสนุนการสืบอำนาจของ คสช.กำลังทรยศต่อวิชาชีพของตัวเอง
 
"เรื่องของการย้ายพรรคนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญและจริงๆ แล้วเรื่องนี้ผมก็พูดมาหลายครั้งแล้ว ควรออกมาประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่า พรรคไหนสนับสนุนการต่ออำนาจของ คสช.และเผด็จการแล้วให้ประชาชนเป็นคนตัดสินเอง พรรคอนาคตใหม่ก็ต่อต้านเรื่องนี้มาโดยตลอดและนานแล้ว พรรคอนาคตใหม่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช.ทุกรูปแบบอยู่แล้ว ถ้ามีโอกาสเข้าไปทำงานในสภา ผมจะขอมติจากประชาชน เพื่อขอตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่ยึดโยงมาจากประชาชน แล้วทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำมาใช้ทดแทนรัฐธรรมนูญปี 2560 พูดง่ายๆ คือต้องแก้ไขทั้งฉบับนั่นเอง" นายธนาธร กล่าว
 

ลั่นพรรคอนาคตใหม่พร้อมชนะในเกมที่ คสช.กำหนด 

 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้เฟสบุ๊คไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม เชิญพรรคการเมืองเข้าหารือในวันที่ 25 มินายนนี้ โดยนายธนาธร กล่าวตอนหนึ่งว่า "ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯจริงใจให้มีการเลือกตั้งจริงๆ ตนคิดว่า 90 วันก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้ แต่ทั้งนี้จะเร็วหรือช้าขอให้รัฐบาลประกาศเลย พรรคอนาคตใหม่พร้อมเสมอ แต่สิ่งที่พรรคต้องการคือความชัดเจน บอกมาเลยไม่ต้องเรียกเราไปคุย ประกาศออกมาว่า จะเอาอย่างไร เราพร้อมจะชนะในเกมของคสช. ทั้งวันเลือกตั้งที่คสช.กำหนด บอกมา เราเล่นหมด แล้วจะชนะในเกมที่คสช.กำหนดด้วย รวมไปถึงกติกาที่คสช.กำหนดด้วย โดยฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องรวมพลังกัน มี 1 เสียง เอา 1 เสียงเพื่อไปขยายความคิด แล้วต้องชนะคสช. เพื่อแสดงให้เห็นว่า คสช.คือประวัติศาสตร์ คสช.ไม่ใช่อนาคต"
 
ขณะที่ปิยบุตรกล่าวว่า "รัฐบาล คสช.ไม่ต้องเป็นต้องเรียกพรรคการเมืองเข้าไปคุย เพราะพรรคการเมืองต่างๆมีช่องทางในสื่อสารอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน พรรคต่างๆก็มีข้อเรียกร้องไปแล้วว่า ต้องปลดล็อก แต่รัฐบาลก็พยายามนำกระบวนการต่างๆมาเป็นแทคติกเพื่อดีเลย์การเลือกตั้งออกไปเสมอ บทพิสูจน์เรื่องนี้ง่ายนิดเดียวในกรณีนี้ ถ้ารัฐบาลจริงใจต้องปลดล็อกกติกาต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพรรคการเมือง รวมไปถึงการใช้เสรีภาพของพี่น้องประชาชน แค่นี้ก็ชัดเจนแล้ว กกต.ในฐานะคนคุมกติกา เขาพร้อมทำหน้าที่ ขณะที่ผู้เล่นทั้งพรรคเก่า พรรคใหม่ ก็พร้อมเช่นกัน เพราะเวลาคุณถือกฏหมายใช้อำนาจรัฐ แล้วไม่ทำกติกาให้มันชัดเจนมันเป็นสิ่งอันตรายเพราะคนที่ภายใต้อำนาจรัฐ เขาไม่รู้ว่า ทำแบบไหนแล้วจะมีความผิด การปล่อยให้คลุมเครือแล้วผู้มีอำนาจก็มาเลือกปฏิบัติว่าอยากจะเล่นใครก็หยิบกฏหมายมา 1 มาตรา แต่ถ้าไม่อยากก็ปล่อยๆไปแบบนี้ จึงทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความกลัวไปด้วย"
 
"พี่น้องประชาชนต้องใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ ที่ผ่านมามักถูกครหาว่า การเลือกตั้งไม่ใช้ทุกอย่าง เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม แค่ 4 วินาที เสร็จแล้วก็กลับบ้านอำนาจนั้นก็จะหลุดจากมือคุณ แต่ผมยืนยันว่า การเลือกตั้งที่จะถึงจะเป็น 4 วินาทีที่มีค่ามหาศาล เพราะ 4 วินาทีไม่ได้เกิดมาหลายปีแล้วตั้งแต่ปี 2554 หรือเกือบ 8 ปีมาแล้ว ดังนั้น จะต้องใช้ให้คุ้มค่าเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประชาชนจะเอาหรือไม่เผด็จการ เป็นการแสดงตัวแบบวิทยาศาสตร์ นับคะแนนกันเลย โดยไม่ต้องหวั่นเกรงอำนาจใดๆเพราะคุณใช้สิทธิโดยลับในคูหา ไม่มีใครเห็น ไม่ต้องกลัวต่อภายคุกคาม ใช้ 4 วินาทีนี้แสดงพลังว่า เห็นด้วยกับ คสช.กี่คน ไม่เอา คสช.กี่คน" ปิยบุตรระบุ
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ไทม์' ระบุ 'ประยุทธ์' สร้างกองทัพให้กุมอำนาจ สิทธิ เสรีภาพต้องอยู่ใต้กฎหมาย

Posted: 22 Jun 2018 10:29 PM PDT

นิตยสาร 'ไทม์' ปก 'ประยุทธ์' ระบุพยายามสร้างระบบใหม่ฟื้นคืนอำนาจ แต่ให้ทหารกุมอำนาจ สิทธิมนุษยชนต้องอยู่ใต้กฎหมาย ปล่อยชุมนุมเสรีเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ย้อนถามผู้ชุมนุมกรณีสร้างความรำคาญให้สาธารณะ

 
 
เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 ว่านิตยสารไทม์ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นปกฉบับล่าสุด โดยมีเนื้อหาวิจารณ์ว่าแทนที่ผู้นำไทยคนนี้จะฟื้นฟูประชาธิปไตย กลับพยายามกุมอำนาจมากยิ่งขึ้น
 
โดยเนื้อหาในนิตยสารไทม์ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นปกฉบับล่าสุดได้ระบุเรื่อง "ประชาธิปไตย หรือ เผด็จการ เส้นทางไหนที่ประยุทธ์ จันทร์โอชาของไทยจะเลือก"  ระบุว่าพลเอกประยุทธ์ที่เป็นทหารมานาน 4 ทศวรรษ ยังคงยอมรับว่าไม่คุ้นเคยกับบทบาทใหม่นอกกองทัพ และยืนยันว่า การเข้าคุมอำนาจบริหารในขณะนี้ทำไปด้วยความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ นายกฯบอกกับไทม์ด้วยว่า  "เมื่อประชาชนมีปัญหา เรา ทหารก็อยู่เคียงข้างพวกเขา"
 
ผ่านมา 4 ปีแล้วที่พลเอกประยุทธ์เข้ายึดอำนาจ ซึ่งเป็นการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จครั้งที่ 12 ของประเทศไทย และเขาได้ให้สัญญาว่าจะนำประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่จนถึงวันนี้คนไทยยังคงเฝ้ารอวันที่จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง  และหลายฝ่ายทั้งในประเทศและในภูมิภาคต่างวิตกว่า ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จะทำให้ไทยถอยหลังเข้าสู่เผด็จการถาวร
 
พลเอก ประยุทธ์ ให้เหตุผลในการยึดอำนาจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองว่า "ผมไม่อาจปล่อยให้เกิดความเสียหายกับประเทศของผมไปมากกว่านี้" 
 
ประยุทธ์ บอกกับไทม์ว่า "4 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่การเสริมสร้างความแข็งแกร่ง แต่เป็นช่วงเวลาของการแก้ไขปัญหา เอาชนะอุปสรรค และสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคงเพื่อให้ก้าวต่อไปในอนาคต"
 
ไทม์ระบุว่าแม้พลเอกประยุทธ์พยายามสร้างระบบการเมืองใหม่ที่จะฟื้นคืน ประชาธิปไตยสู่ประเทศ แต่ยังคงให้กองทัพมีอำนาจสำคัญ และแม้จะมีการเลือกตั้ง กองทัพยังสามารถแต่งตั้งสมาชิกสภาได้ถึง 1 ใน 3 และมีอำนาจชี้ขาดสุดท้ายในการตัดสินใจด้านนโยบายสำคัญ 
 
ในขณะที่มีการเสนอจัดเลือกตั้งอย่างเร็วสุดในเดือน ก.พ.ปีหน้า แต่นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ท่านประยุทธ์พยายามทำทุกอย่างเพื่ออยู่ในอำนาจ" และธิดา ถาวรเศรษฐ หนึ่งใน แกนนำคนเสื้อแดง บอกว่า หากไม่มีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายได้
 

สิทธิมนุษยชนต้องอยู่ใต้กฎหมาย ปล่อยชุมนุมเสรีเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ย้อนถามผู้ชุมนุมกรณีสร้างความรำคาญให้สาธารณะ

ต่อคำถามว่าประชาธิปไตยของไทยจะออกมาเป็นแบบไหน ประยุทธ์ตอบกับไทม์ว่า สิ่งที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยคือการสร้างการร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านกระบวนการที่เหมาะสม เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ละเมิดกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น แม้ว่าการมีเสรีภาพเป็นสิทธิที่พึงมีตามหลักประชาธิปไตย เสรีภาพก็ไม่ควรจะถูกใช้เพื่อละเมิดสิทธิผู้อื่น สิ่งที่สำคัญมากก็คือเส้นแบ่งระหว่างสิทธิมนุษยชนและการฝ่าฝืนกฎหมาย พวกเราไม่สามารถดูแลคนส่วนใหญ่แต่เพิกเฉยกับเสียงส่วนน้อยเหมือนประชาธิปไตยไทยในอดีต

ต่อคำถามว่า คนไทยควรได้รับอนุญาตให้มีการชุมนุมประท้วงโดยสันติหรือไม่ หัวหน้ารัฐบาลทหารกล่าวว่า รัฐบาล คสช. จัดให้มีช่องทางให้พวกเขาขออนุญาต ในการชุมนุมประท้วง รวมถึงยังรับฟังและพิจารณาข้อเรียกร้องของพวกเขา แต่ถ้าอนุญาตให้มีการชุมนุมอย่างเสรี การเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยก็อาจจะเป็นเรื่องยากเกินไป สิ่งที่ต้องการทำให้สำเร็จคือการเลือกตั้ง

"คุณรู้ไหม พวกเราต้องพิจารณาการเคลื่อนไหวของเด็กๆ เหล่านี้อย่างถี่ถ้วน และถ้าพวกเราเข้าใจพวกเขาอย่างแท้จริง พวกเราไม่เคยต้องการจะใช้มาตรการทางกฎหมายกับพวกเขา พวกเราค่อนข้างจะใช้มาตรการผ่อนคลาย มีหลายครั้งหลายหนที่พวกเราไม่ได้จับกุมพวกเขาและได้ปล่อยตัวเสียด้วยซ้ำ และผมคิดว่าพวกเขารู้ว่าเราไม่ได้เคร่งครัดกับพวกเขาเท่าที่ควรจะเป็น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าพวกเรามองพวกเขาในฐานะของผู้เป็นเด็ก" ประยุทธ์กล่าวกับไทม์

ต่อคำถามว่าเขาเป็นผู้มีความเชื่อในสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ประยุทธ์ตอบว่า ต้องเข้าใจว่ามีคนบางกลุ่มที่พวกเขาก็รู้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พยายามจะยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อบิดเบือนภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวโลก ดังนั้นจึงควรจะโฟกัสไปที่การให้คำนิยามว่าอะไรคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คือการใช้ความรุนแรงโดยไม่จำเป็น ไปทำร้ายร่างกายประชาชน และยังตั้งคำถามถึงพฤติการณ์ของผู้ชุมนุม

"รัฐบาลของผมไม่เคยเห็นชอบกับเรื่องเหล่านี้ และได้ลงโทษเจ้าหน้าที่ [ที่กระทำผิด] เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิด ในทางกลับกัน แล้วพวกนักกิจกรรมที่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไปสร้างความรำคาญให้กับสาธารณชน ไปปิดถนนและทำให้ประชาชนมีความลำบากในการดำเนินชีวิตหรือกิจวัตรประจำวันล่ะ"

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดือน พ.ค. 2561 ผู้ประกันตนว่างงาน 160,180 คน

Posted: 22 Jun 2018 09:31 PM PDT

เดือน พ.ค. 2561 พบผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม 160,180 คน ส่วนอัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคม ม.33 อยู่ที่ 24,608 คน


ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

23 มิ.ย. 2561 จาก ข้อมูลเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน พ.ค. 2561 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าภาวะการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือน พ.ค. 2561 การจ้างแรงงานในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จำนวน 11,365,815 คน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 7.80 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน พ.ค. 2560) ซึ่งมีจำนวน 10,543,612 คน หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (%YoY) ของเดือน พ.ค. 2561 เทียบกับเดือน เม.ย. 2561 พบว่าในเดือน พ.ค. 2561 มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 7.80 ขยายตัวจากเดือน เม.ย. 2561 ซึ่งอยู่ที่ ร้อยละ 3.97 สถานการณ์การจ้างงานขยายตัวมากกว่าร้อยละ 1 จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ

สถานการณ์การว่างงาน จากข้อมูล ณ เดือน พ.ค. 2561 มีผู้ว่างงานจำนวน 160,180 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.86 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน พ.ค. 2560) ซึ่งมีจำนวน 155,719 คน และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (เดือน เม.ย. 2561) ซึ่งมีจำนวน 155,559 คน โดยมีอัตราการขยายตัว เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.97 และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือน พ.ค. 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.41 มีอัตราชะลอตัวเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน เม.ย. 2561ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.42 ทั้งนี้จากข้อมูลอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือน พ.ค. 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 มีอัตราการว่างงานลดลงเมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.1

สถานการณ์การเลิก อัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คิดจากจำนวนผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง ต่อจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือน พ.ค. 2561 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจำนวนทั้งสิ้น 24,608 คน คิดเป็นร้อยละ 0.22 มีอัตราเท่ากับเดือน เม.ย. 2561 ที่มีอัตราการเลิกจ้างลูกจ้างที่ร้อยละ 0.22 แต่มีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว ที่มีอัตราการเลิกจ้างลูกจ้าง ที่ร้อยละ 0.23

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไม ‘คนดี’ ในระบบคิดแบบพุทธไทยไม่เคารพหลักการสาธารณะ

Posted: 22 Jun 2018 08:51 PM PDT

 


ในความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ดำเนินไปกว่าสิบปีและยังดำเนินต่อไป มีการอ้างธรรม ศีลธรรม ความดี คนดีตามกรอบคิดพุทธไทยให้ความชอบธรรมกับการละเมิดหลักการสาธารณะ หรือสนับสนุนการแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นที่สุด

ข้อแก้ต่างที่ว่า นั่นเป็นความผิดของ "คน"  ไม่ใช่ความผิดของ "ศาสนา" เป็นข้อแก้ต่างแบบกำปั้นทุบดินและผิวเผินมากเกินไป เพราะบรรดาชาวพุทธที่อ้างธรรม ศีลธรรม ความดี คนดี เพื่อเป็น "ข้อยกเว้น" ที่จะไม่ยึดถือปฏิบัติตามหลักการและกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่ชาวพุทธบ้านๆ หากแต่เป็นพระสงฆ์และฆราวาสระดับปราชญ์ ราษฎรอาวุโส นักวิชาการ ผู้รู้ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียง บางคนเป็นแกนนำมวลชน เป็นสื่อมวลชน กระทั่งเป็นบุคคลที่เข้าไปทำงานให้รัฐบาลจากรัฐประหาร อย่างวิษณุ เครืองาม, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นต้น

ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่บรรดาผู้รู้ทางพุทธศาสนาทั้งพระและฆราวาสอ้างธรรม ศีลธรรม ความดี คนดี ตามกรอบคิดพุทธศาสนาในทางเป็นข้อยกเว้นที่จะไม่ปฏิบัติตามหลักการสาธารณะ หรืออ้างในทางยอมรับและสนับสนุนความชอบธรรมของรัฐประหาร จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาของ "คน" เท่านั้น รากฐานสำคัญของปัญหาน่าจะเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังที่มีอิทธิพลในการกำหนดวิธีคิดและบทบาทของคนเหล่านั้นมากกว่า

ตามความเห็นผม (เท่าที่คิดได้เวลานี้) อิทธิพลเบื้องหลังปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ "กรอบคิดศีลธรรมแบบพุทธ + ระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำไทย" ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นมิตรสหายอุปถัมภ์ค้ำจุนกันมายาวนานมาก

กรอบคิดศีลธรรมแบบพุทธถือว่า "ความดีอยู่ที่ตัวบุคคล" เชื่อว่าการกระทำที่ถูกต้องคือการกระทำที่ออกมาจากคนที่เป็นคนดี, คนมีคุณธรรม หรือเชื่อว่าคนดี คนมีคุณธรรมคือคนที่มีวิจารณญาณในการตัดสินอย่างถูกต้องว่าในสถานการณ์แบบไหนควรจะทำอะไร ดังนั้นคนดีในความหมายนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีพันธะในการปฏิบัติตามหลักการสาธารณะ หากในบางสถานการณ์เขาเห็นว่าควรใช้ศีลธรรมแบบพุทธ เช่นใช้เจตนาดี (เป็นต้น) ที่บอกกับตนเองและคนอื่นว่ามุ่งทำเพื่อส่วนรวม เพื่อชาติ เขาก็สามารถละเมิดหลักการสาธารณะหรือล้มระบบประชาธิปไตยได้ และเป็นความจริงว่าในสังคมที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธอย่างบ้านเราเวลานี้ มีคนจำนวนมากที่ยอมรับและสนับสนุนรัฐประหารทั้งโดยตรงและโดยอ้อมใช้กรอบคิดศีลธรรมพุทธแบบนี้เป็นกรอบอ้างอิงรองรับความชอบธรรมให้กับการตัดสินใจของตนเอง

กรอบคิด "ความดีอยู่ที่ตัวคน" หรือ "ความถูกต้องมาจากคนดี" ดังกล่าวนี้มีที่มาจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา เนื้อหาของธรรม ศีลธรรมในคัมภีร์นั้นมีมาก แต่หลักใหญ่ใจความคือธรรม ศีลธรรมเป็นเรื่องการปฏิบัติของบุคคล เมื่อเขาปฏิบัติตามคำสอนนั้นเขาย่อมเป็นคนดี และคนดีย่อมทำสิ่งที่ถูกต้อง และถ้าเขาปฏิบัติจนหลุดพ้นจากกิเลส เขาก็จะทำแต่สิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น ไม่ทำผิดศีลธรรมใดๆ อีกเลย

กรอบคิดศีลธรรมแบบพุทธดังกล่าวนี้อยู่คู่กับ "ระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำไทย" มายาวนาน ระบบอำนาจนิยมนี้ถือว่าชนชั้นบนคือผู้มีอำนาจกำหนดว่าอะไรถูก ผิดในทางสังคมและการเมือง เริ่มจากชนชั้นบนสุดคือ "ผู้ปกครอง" และผู้มีอำนาจหลดหลั่นลงมา ดังนั้น ปรากฏการณ์ฉีกกติกาสาธารณะซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ก็คือปรากฏการณ์ที่เกิดซ้ำบนกรอบคิด "ความถูกต้องมาจากคนดี + ระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำไทย" แน่นอน มันมีปัจจัยซับซ้อนอื่นๆ อีกมากที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านั้น แต่ถ้าวิเคราะห์ลึกลงไปจะเห็นว่า "รากฐาน" ของปัญหามาจากกรอบคิดทางศีลธรรมบวกระบบอำนาจนิยมดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญมาก

ประเด็นคือ กรอบคิด "ความถูกต้องมาจากคนดี + ระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำไทย" ย่อมขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับกรอบคิด "หลักการสาธารณะ" ในระบอบประชาธิปไตย เพราะกรอบคิดหลักการสาธารณะถือว่า "ความถูกต้องมาจากหลักการ" หมายถึง ตัวหลักการเป็นตัวกำหนดว่าการกระทำแบบไหนถูกหรือผิด มันจึงไม่จำเป็นว่าผู้กระทำจะเป็นใคร หากเขาทำถูกหลักการคือถูก ทำผิดหลักการคือผิด

ขณะที่กรอบคิด "ความถูกต้องมาจากคนดี + ระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำไทย" เชื่อมโยงประชาชนให้เป็นเอกภาพภายใต้การยึด "ตัวบุคคล" บนสำนึกที่ว่า ถ้าได้คนดีมาเป็นผู้ปกครองและประชาชนเชื่อฟังอำนาจผู้ปกครองเช่นนั้น บ้านเมืองย่อมสงบสุข แต่ "กรอบคิดหลักการสาธารณะ" สิ่งที่เชื่อมโยงประชาชนเป็นให้เอกภาพได้คือหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของทุกคนเท่ากัน หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคที่ใช้เป็นรากฐานในการสร้างสำนึกร่วมและออกแบบรัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นๆ ตลอดทั้งกำหนดสถานะและบทบาทหน้าที่ของทุกสถานบันทางการเมือง ทางสังคม เศรษฐกิจและอื่นๆ และปัจเจกบุคคลให้อยู่ภายใต้หรือมีพันธะต้องปฏิบัติตามหลักการสาธารณะดังกล่าว

เมื่อกรอบคิด "ความถูกต้องมาจากคนดี + ระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำไทย" ขัดแย้งกันอย่างถึงรากกับ"กรอบคิดหลักการสาธารณะ" แต่กลับมีวัฒนธรรมการอ้างธรรม ศีลธรรม ความดี คนดีตามกรอบคิดเช่นนั้นในทางสนับสนุนระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำตลอดมา ย่อมทำให้ "คนดี" ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่เป็นคนดี, พระที่เป็นคนดี, นักวิชาการพุทธ, ปัญญาชนพุทธ, ราษฎรอาวุโสพุทธ, พลเมืองพุทธที่เป็นคนดี ไม่เคารพ, ละเมิด หรือยอมรับ, สนับสนุน หรือ (อย่างดีหน่อยก็) เพิกเฉยต่อการละเมิดหลักการสาธารณะเสมอไป

บางคนอาจจะบอกว่า คนดีแบบพุทธเหล่านั้นอาจไม่ใช่ "คนดีที่แท้จริง" ก็ได้ ถ้าเป็นคนดีที่แท้จริงเขาย่อมไม่ทำผิดหลักการสาธารณะ ผมคิดว่าคำโต้แย้งแบบนี้ไม่มีน้ำหนัก เพราะต่อให้เป็นคนดีที่แท้จริง ถ้าหากเขาทำตามกรอบคิดธรรม ศีลธรรม ความดี คนดีที่ไม่ยึดโยงอยู่กับหลักการสาธารณะของโลกสมัยใหม่ คนดีที่แท้จริงเช่นนั้นก็ไม่เคารพหลักการสาธารณะอยู่ดี เช่นคนดีแท้จริงอย่างพระเวสสันดรก็บริจาคลูกเป็นทาสได้ แม้แต่คนดีที่สุดอย่างพุทธะเองก็ช่วยเหลือโจรฆ่าคนนับพันอย่างองคุลีมาลให้ไม่ต้องรับผิดใดๆ ทางกฎหมายได้

ถ้าใครจะแย้งผมว่า "ก็พระเวสสันดรกับพุทธะท่านทำตามบริบทสังคมสมัยนั้น เขาทำแบบนั้นกันได้ ไม่ถือว่าผิด คุณจะเอาหลักการปัจจุบันไปตัดสินการกระทำในอดีตได้อย่างไร" ผมก็ขอตอบว่า "ผมเห็นด้วยว่าข้อโต้แย้งนี้ฟังขึ้น" แต่คำถามของผมก็คือ แล้วทำไมจึงนิยมอ้างธรรม ศีลธรรม ความดี คนดีแบบพุทธให้ความชอบธรรมกับระบบอำนาจนิยมที่ขัดกับหลักการสาธารณะในสังคมสมัยใหม่ล่ะ

ไม่มีปัญหาเลยครับที่ใครจะสมาทานความเชื่อเรื่องธรรม ศีลธรรม ความดี คนดีแบบพุทธเพื่อความสุขส่วนตัว หรือความ "พ้นทุกข์ส่วนตัว" เพราะนั่นเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล แต่ไม่ใช่อ้างความเชื่อเรื่องธรรม ศีลธรรม ความดี คนดีแบบพุทธมาให้ความชอบธรรมในการไม่เคารพ ละเมิด หรือล้มหลักการสาธารณะอย่างที่เป็นมาและเป็นอยู่ เพราะนี่คือการ "ก่อทุกข์ทางสังคม" อย่างเลือดเย็น

มันจะมีประโยชน์อะไรเล่ากับการประกาศความดีงามของพุทธศาสนาว่า เป็นศาสนาที่สอนสัจธรรมช่วยให้คนพ้นทุกข์ทางใจ มี "เสรีภาพด้านใน" แต่พุทธศาสนาไทยกลับสร้างทุกข์ทางสังคม ด้วยการสร้างความชอบธรรมแก่ระบบอำนาจนิยม ที่ทำลาย "เสรีภาพทางสังคมการเมือง" อันเป็นหลักการสาธารณะเสียเอง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยและอาเซียนแบกภาระรีไซเคิลขยะพลาสติกจากอังกฤษ หลังจีนสั่งแบนการนำเข้า

Posted: 22 Jun 2018 08:47 PM PDT

สื่อมาเลเซียรายงานว่าการสั่งแบนนำเข้าพลาสติกของจีน ซึ่งแต่เดิมเป็นประเทศที่รับรีไซเคิลขยะพลาสติกรายใหญ่จากอังกฤษส่งผลให้ภาระตกมาเป็นของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน เช่น มาเลเซียที่รับภาระจากพลาสติกเพิ่มมากขึ้น 3 เท่า ขณะที่ไทยรับเพิ่มมากขึ้นถึง 50 เท่า

 
23 มิ.ย. 2561 สื่อฟรีมาเลเซียทูเดย์รายงานว่าหลังจากที่ประเทศจีนประกาศแบนการนำเข้าพลาสติกตั้งแต่ 4 เดือนที่แล้ว สหราชอาณาจักรก็หันมาส่งออกขยะพลาสติกให้กับมาเลเซียแทน ทำให้มาเลเซียแบกรับขยะเหล่านี้มากกว่าเดิม 3 เท่า และส่งผลให้มาเลเซียกลายเป็นแหล่งนำเข้าขยะพลาสติกจากอังกฤษแหล่งใหญ่ที่สุด 
 
แต่ประเทศไทยเองก็ไม่น้อยน่า รับขยะพลาสติกจากอังกฤษเพิ่มขึ้นถึง 50 เท่า ส่วนเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 สื่อดิอินดิเพนเดนต์ระบุว่าทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นแหล่งติดอันดับ 10 อันดับ แรกที่มีการรับนำเข้าพลาสติก โดยประเทศส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดขยะทางทะเลคือประเทศกำลังพัฒนา
 
ถึงแม้ว่าประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะตั้งการจำกัดการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศแล้ว โดยมีมาตรการสั่งแบนชั่วคราวในเวียดนาม ไทย และมาเลเซีย หลังจากที่มีขยะพลาสติกนำเข้าตกค้างเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าการที่จีนสั่งแบนการนำเข้าขยะพลาสติกเข้าประเทศตัวเองล่าสุดก็ทำให้ประเทศที่ส่งออกขยะพลาสติกจำนวนมากอย่างอังกฤษหันมาส่งออกไปยังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้แทน
 
จากเดิมที่อังกฤษเป็นผู้ส่งออกพลาสติก 494,000 ต้น และกระดาษรีไซเคิล 1.4 ล้านตัน ให้กับจีน แต่หลังจากที่จีนสั่งแบนการนำเข้าก็ทำให้อังกฤษส่งออกขยะเหล่านี้ไปให้ที่อื่น ไซมอน เอลลิน ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมรีไซเคิลอังกฤษเคยเตือนตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2560 ว่าการที่จีนสั่งแบนการนำเข้าจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับอังกฤษในเรื่องนี้
 
ประเทศเวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และไทย ต่างก็เป็นประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดึงดูดนักลงทุนจากจีนในภาคส่วนการรีไซเคิลพลาสติกมาตั้งแต่ปีที่แล้วเพื่อให้ช่วยทำแทนในส่วนที่จีนทำไม่ได้ สื่อรอยเตอร์เคยรายงานว่ามาเลเซียมีขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น 450,000-500,000 ตัน ในปี 2560 เทียบกับ 288,000 ตันในปี 2559
 
งานรีไซเคิลพลาสติกคือการนำพลาสติกมาแยกออกเป็นชิ้นๆ ทำความสะอาด และแยกออกเป็นพลาสติกเรซินต่างๆ กัน ก่อนที่จะทำเป็นก้อนเล็กเพื่อนำไปหลอมเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
 
จากรายงานของวารสารไซเอนซ์ในปี 2558 ระบุว่าจากปริมาณขยะพลาสติกมากขนาดนี้พวกมันจะกลายเป็นเศษซากในท้องทะเล สร้างปัญหาใหญ่ให้กับสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบเลวร้ายต่อสัตว์น้ำ
 
อย่างไรก็ตามสำหรับคนทำงานรีไซเคิลพลาสติกแล้วเขาบอกว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวพลาสติกเองที่เป็นมลภาวะแต่ปัญหามาจากการขาดความรู้เรื่องพลาสติกว่ามันนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างไร คนทำงานรีไซเคิลบอกว่าพลาสติก "เป็นสิ่งที่มีมูลค่าซ่อนอยู่ในตัวมาก"
 
ทางด้านนักการเมืองท้องถิ่นมาเลเซีย ซุไลดา คามารูดดิน ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่นมาเลเซียประกาศว่ารัฐบาลมาเลเซียมีความตั้งใจอยากเสนอให้สั่งแบนพลาสติกทั่วประเทศเป็นเวลาหนึ่งปีเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้กระเป๋าที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
China ban sees UK plastic waste exports to Malaysia trebling, Free Malaysia Today, 21-06-2018
 
UK now exporting more waste to countries with highest levels of ocean plastic pollution, The Independent, 17-06-2018
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดันวาระ ‘อีสปอร์ต’ สู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้

Posted: 22 Jun 2018 08:33 PM PDT

คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ห่วงสุขภาพเด็กวิกฤตติดหน้าจอ แยกจากสังคมดันวาระ 'อีสปอร์ต' สู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้

 
 
23 มิ.ย. 2561 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ประกาศนำประเด็น "อีสปอร์ตกับสุขภาวะ" เข้าเป็นระเบียบวาระใหม่ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปลายปีนี้ หวังกระตุกสังคมรู้เท่าทัน ป้องกันเด็กเยาวชนจากพฤติกรรมนั่งเล่นเกมออนไลน์หลายชั่วโมงต่อวัน ย้ำฟังทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเสียงสะท้อนของเด็กและเยาวชน
 
นพ.กิจจา เรืองไทย ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ.2561-2562 กล่าวว่า ที่ประชุม คจ.สช. ครั้งที่ 3/2561 ได้เห็นชอบแนวคิดหลัก (Theme) สำหรับเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ที่จะจัดขึ้นในเดือน ธ.ค. 2561 นี้แล้ว โดยใช้ชื่อ Theme ว่า "รู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ" ซึ่งจะนำไปใช้กำหนดกิจกรรมต่างๆ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้สอดคล้องกันต่อไป ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังเห็นชอบประเด็น "อีสปอร์ตกับสุขภาวะ" เป็นระเบียบวาระที่ 3 ของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 หลังประกาศระเบียบวาระไปก่อนหน้านี้แล้ว 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Health Literacy for NCDs) และ 2.การพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาอย่างยั่งยืน: เขตเมือง 
 
นพ.กิจจา กล่าวว่าที่ประชุม คจ.สช. ตระหนักถึงผลกระทบจากการส่งเสริมอีสปอร์ต ซึ่งก็คือการแข่งขันวิดีโอเกมออนไลน์ที่มีผู้เล่นมากกว่า 1 คนเพื่อชิงเงินรางวัล ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ประกาศให้อีสปอร์ตเป็นกีฬาแล้ว เมื่อเดือน ก.ค. 2560 
 
"เราหวังว่ากระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะเป็นกลไกหนึ่งในการทำให้สาธารณะรู้เท่าทันอีสปอร์ต ซึ่งมีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยเฉพาะต่อสุขภาพ โดยจะสานพลังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐ เอกชน เด็กและเยาวชนร่วมหาทางออกเพื่อให้มตินี้นำไปปฏิบัติได้จริง" 
 
นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันอีสปอร์ตกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง มีเด็กและเยาวชนเข้ามาเล่นจำนวนมาก โรงเรียนหลายแห่งจัดตั้งชมรมอีปอร์ต มหาวิทยาลัยก็จัดการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับสาขานี้ จึงมีเด็กเยาวชนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเข้าสู่เส้นทางอีสปอร์ตทั้งในฐานะผู้เล่นและนักพากย์เกม (Game Caster)
 
"การขับเคลื่อนในเรื่องนี้ควรมีเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม และต้องไม่ใช้มุมมองผู้ใหญ่แบบเดิมๆ มาเป็นพื้นฐาน แต่ต้องใช้ชุดความคิดใหม่พูดคุยหาทางออกร่วมกัน ดึงทุกภาคส่วนมาร่วมหารือ โดยเฉพาะสมาคมกีฬาอีปอร์ตแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลด้านเทคนิคและผลักดันให้นำมาตรการต่างๆ ไปปฏิบัติ" นางอรพรรณ กล่าว
 
รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธาน คจ.สช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวิชาการ กล่าวว่า อีสปอร์ตจำเป็นต้องมีแนวทางในการดูแล โดยเฉพาะเกมที่ไม่สร้างสรรค์และมีการพนันออนไลน์แฝงอยู่ ขณะที่สังคมยังรับรู้น้อยมาก ต้องสื่อสารผลบวกและลบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพจากการอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการสมัชชาสุขภาพจะเป็นช่องทางกระตุกเตือนสังคมได้
 
ทั้งนี้ข้อมูลจาก Interactive Game & Entertainment Association (IGEA) ประเมินว่า ปัจจุบันมีผู้เล่นเกมทั่วโลกกว่า 1,200 ล้านคน โดยมี 700 ล้านคนเล่นเกมออนไลน์ และ 205 ล้านคนเป็นผู้ชมอีสปอร์ต ส่วนใหญ่อายุ 18-34 ปี 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาญณรงค์ บุญหนุน: เงิน กับ นิพพาน

Posted: 22 Jun 2018 07:54 PM PDT

หากพิจารณาจากบริบทของพุทธศาสนา โลกของวัตถุและทรัพย์สินในโลกของฆราวาสมีความสำคัญในระดับพื้นฐานในฐานะองค์ประกอบสำคัญที่จะอำนวยให้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข มนุษย์เกิดขึ้นมาท่ามกลางธรรมชาติหลากหลายแต่ความต้องการของมนุษย์กลับหลากหลายและมากยิ่งกว่าจำนวนธรรมชาติที่มีอยู่ และภายใต้ศักยภาพของมนุษย์ที่แตกต่างกัน การแย่งชิงประโยชน์จากทรัพยากรระหว่างมนุษย์เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เนื่องจากมนุษย์มีความโลภอยู่ในเรือนใจ การแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตเพื่อกันและกันจึงเป็นอุดมคติที่พุทธศาสนาบรรจุไว้ในคำสอนเรื่องบุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ ได้แก่ บุญที่สำเร็จด้วย "ทาน ศีล ภาวนา" แต่การจะให้การแบ่งปันเกิดขึ้นอย่างถ้วนทั่วระหว่างมนุษย์ด้วยกันในความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาคุณลักษณะส่วนตัวในปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว

ผู้นำรัฐจึงมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมให้พลเมืองมีหลักประกันว่า "ทุกคนจะมีวัตถุปัจจัยเลี้ยงชีวิตอย่างเพียงพอและเท่าเทียม" โดยผู้นำรัฐมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้พลเมืองภายในรัฐสามารถประกอบอาชีพตามความถนัดอันจะช่วยให้มีโภคทรัพย์พอหล่อเลี้ยงชีวิตของตนและผู้อื่นที่เกี่ยวข้องได้โดยไม่ละเมิดบรรทัดฐานของสังคม ภายใต้หลักความเที่ยงธรรมแห่งรัฐและมีผู้นำที่ดี ครอบครัวอันเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคมก็จะมั่นคงและมีความสุข พุทธศาสนายังเชื่อว่า เมื่อสังคมปลอดภัย ความสุขในครอบครัวจึงอาจเป็นไปได้ ผู้นำระดับครอบครัวเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้สังคมโดยรวมธำรงรักษาระเบียบระบบของสังคมที่ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนแต่ยังเป็นประโยชน์สำหรับตัว "คหปติ" เองด้วยเพราะภายใต้ความสงบสุขของสังคมโดยรวมและมีความเที่ยงธรรม เขาจึงอาจปฏิบัติความสัมพันธ์กับคนภายในครอบครัวและนอกครอบครัวได้อย่างปกติ สม่ำเสมอและถ้วนทั่ว

ทั้งนี้พุทธศาสนาเชื่อว่า รูปแบบการใช้ชีวิตเหมาะสม การแสวงหาทรัพย์สินและได้มาในทางที่ชอบธรรม การใช้จ่ายทรัพย์ในทางที่ถูกต้อง มีความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติความสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เขาดำเนินบทบาทการเป็นผู้นำครอบครัวที่ดีงามได้ ภายใต้บริบทดังกล่าวนี้เองที่เขาจะสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศาสนาที่ตนนับถือหรือที่เป็นค่านิยมในสังคมที่เขาเป็นสมาชิกด้วยการบริจาคทรัพย์หรือบำเพ็ญกุศลที่เป็นคุณประโยชน์แก่ผู้บำเพ็ญตนเพื่อเป้าหมายสูงสุดทางศาสนา

จุดเชื่อมโยงระหว่างโลกฆราวาสกับพระสงฆ์ก็คือ พุทธศาสนายอมรับคติแบบอินเดียโบราณที่สมณะและพราหมณ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องการแสวงหาความรู้ การขัดเกลาตนเองเพื่อบรรลุธรรมสูงสุดและการชี้นำสั่งสอนจริยธรรมหรือการให้การศึกษาแก่พลเมือง ในบริบทของอินเดีย ผู้นำในเชิงจิตวิญญาณไม่เพียงแต่แสดงออกด้วยการมีจิตใจอันบริสุทธิ์ มีเมตตาและความสามารถในการให้การศึกษาอบรม ชี้นำหนทางแห่งอนาคต แต่ยังต้องมีรูปแบบวิถีชีวิตที่แตกต่างจากฆราวาสทั่วไป ชีวิตที่ยากจนหรือครอบครองความเรียบง่าย มีอิสระในการดำเนินชีวิต ปราศจากข้อผูกพันในบ้านเรือน ทรัพย์สินและกามารมณ์จึงเป็นแบบอย่างที่เกื้อกูลต่อทั้งต่อตนเองและคนอื่นในฐานะผู้ที่จะนำตนเองสู่เป้าหมายทางศาสนาและนำทางผู้อื่นสู่หนทางอันดีงาม ดังนั้น พระสงฆ์จึงต้องมีทรัพย์สินเท่าที่จำเป็นต่อการยังอัตภาพให้เป็นไปได้ด้วยดีเท่านั้น บาตรและจีวรเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะทำให้บรรพชิตหรือพระสงฆ์มีชีวิตอยู่ได้โดยปกติสุข ที่อยู่อาศัยหรือเสนาสนะที่เป็นถาวรวัตถุนั้นจำเป็นเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องพักจำพรรษาตลอด 3 เดือน ชีวิตแบบสมณะที่ต้องสัญจรแสวงหาความรู้และความหลุดพ้นไม่ต้องการทรัพยากรใหญ่โตและสิ้นเปลือง ทรัพยากรที่จะได้รับก็จึงต้องอาศัยฆราวาสผู้เลื่อมใสศรัทธา

การที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้ภิกษุมีชีวิตที่สัปปายะพอที่จะบำเพ็ญสมณธรรมได้สะดวกและเพื่อตอบสนองต่อศรัทธาที่ของฆราวาสผู้ปรารถนา "สวรรค์" พระพุทธเจ้ายอมให้ภิกษุรับวัตถุปัจจัยจากฆราวาสผู้แสวงบุญในศาสนาได้ แต่วัตถุสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำบุญที่เกินจากบาตรและจีวรนั้นตกเป็น "สมบัติส่วนรวม" ที่ชุมชนสงฆ์ใช้ร่วมกัน นี่คือจุดที่อาจเรียกว่าเป็นทางสายกลางระหว่างชีวิตที่แสวงหาความหลุดพ้น ชีวิตที่ปราศจากความยึดมั่น และบริสุทธิ์กับการถือครองทรัพย์สินอันอาจทำลายเป้าหมายการดำเนินชีวิตของสมณะ ด้วยทรงหวังว่าจารีตดังกล่าวนั้นจะยังช่วยให้พระสงฆ์ดำรงความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นนาบุญของฆราวาสผู้มุ่งแสวงบุญในศาสนาและดำเนินวิถีชีวิตเป็นอาจเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ปรารถนาจะก้าวออกจากพันธะทางสังคมและครอบครัว

ในขุททกขันธกะ มีกรณีที่น่าสนใจเกิดขึ้นและน่าจะสะท้อนแนวคิดสำคัญของพุทธศาสนาเกี่ยวกับสิ่งของหรือวัตถุใช้สอยที่เป็นทรัพย์สินที่มีค่ามีราคาที่เหมาะสมแก่พระสงฆ์

มีเรื่องเล่าว่า เศรษฐีได้ปุ่มไม้แก่นจันทร์ที่มีค่ามากมา จึงให้กลึงเป็นบาตรเพื่อถวายแก่นักบวช ส่วนผงไม้จันทร์เก็บไว้ใช้เป็นยา เมื่อกลึงไม้แก่นจันทร์เป็นบาตรเสร็จแล้วจึงใส่สาแหรกแขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ซึ่งผูกต่อกันสูงขึ้นไปเหนือปราสาทของตน ประกาศว่า สมณะหรือพราหมณ์รูปใดเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์จงเหาะขึ้นไปปลดบาตรนั้นแล้วนำไปใช้เถิด หลายวันผ่านไปไม่มีท่าทีว่าจะมีพระอรหันต์ที่มีฤทธิ์ใดเหาะขึ้นไปนำบาตรลงมา วันหนึ่งพระโมคคัลลานะและพระปิณโฑลภารทวาชะไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์พระปิณโฑลภารทวาชะกล่าวแก่พระโมคคัลลานะว่าบาตรนั้นเหมาะจะเป็นของพระโมคคัลลานะเพราะเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ แต่พระโมคคัลลานะไม่ต้องการจึงบอกว่าควรจะเป็นของพระปิณโฑลทวาชะเพราะเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์เช่นกัน พระปิณโฑละจึงเหาะขึ้นไปปลดบาตรนั้นลงมาโดยเหาะเวียนรอบกรุงราชคฤห์ถึงสามรอบก่อนจะเข้าไปรับบิณฑบาตในบ้านเศรษฐีคนดังกล่าวแล้วเดินทางกลับไปยังอาราม เมื่อผู้คนเห็นเช่นนั้นจึงติดตามท่านไป เสียงอื้ออึงทำให้พระพุทธเจ้าทรงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น

เมื่อพระอานนท์กราบทูลที่มาของเสียงอื้ออึงดังกล่าวทราบแล้ว พระองค์จึงตรัสเรียกพระปิณโฑละมาเข้าเฝ้าทรงตำหนิว่า ท่านได้กระทำในสิ่งที่ไม่สมควร ไม่เหมาะสม ไม่คล้อยตาม ไม่ใช่กิจของสมณะ "ภารทวาชะ ไฉนเธอจึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นอุตริมนุสสธรรมแก่คนทั้งหลายเพราะเหตุแห่งบาตรไม้ไม่มีค่าเล่า การที่เธอแสดงปาฏิหาริย์เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ที่ไม่มีค่านี้ เปรียบเหมือนกับมาตุคามแสดงของที่ควรปกปิดเพราะเห็นแก่เงินเล็กน้อยฉะนั้น ภารทวาชะ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำให้คนที่ยังไม่เลื่อมใสเกิดความเลื่อมใส แต่ประการใด" พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้ภิกษุใช้บาตรไม้ ส่วนบาตรไม้แก่นจันทร์ที่พระปิณโฑละได้มาจากเศรษฐีนั้น ทรงให้ทำลายเสีย บดให้ละเอียดแล้วใช้เป็นยาหยอดตาของภิกษุทั้งหลาย

"ไม้แก่นจันทร์" เป็นของมีคุณค่ามากในวิถีความคิดของชุมชนอินเดียโบราณทั้งนี้เพราะใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคตาได้ แต่พอนำมาทำเป็น "บาตร" พระพุทธเจ้ากลับทรงเห็นว่าเป็นสิ่งไร้ค่าที่ภิกษุควรจะแลกด้วยการเปิดเผยอุตริมนุสสธรรม(ในที่นี้หมายถึง ความสามารถในการแสดงปาฏิหาริย์อันเป็นคุณสมบัติส่วนตัวของพระอรหันต์) เป็นไปได้ว่า "คุณค่า" ที่มนุษย์ทั่วไปมอบให้แก่วัตถุนั้นเป็นค่าสมมติที่จะก่อให้เกิดการยึดมั่น ความลุ่มหลงและความทุกข์ บาตรไม้แก่นจันทร์สำหรับเศรษฐีหรือชาวบ้านทั่วไปนั้นมีสูงค่าเกินกว่าจะถวายเป็นสมบัติของสมณะและพราหมณ์ที่ไร้คุณวิเศษใดๆ เพราะเป็นของหายาก พระพุทธเจ้ากลับตรัสว่าไม่มีค่าที่จะแลกมาด้วยการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เหมือนสตรีเลือกเผยกายตนเพื่อแลกเศษเงินเล็กๆ น้อยๆ

อาจตีความได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้พระสงฆ์ยึดติดกับคุณค่าที่คนทั่วไปยึดถือ โดยเฉพาะในกรณีที่คุณค่านั้นเป็นสิ่งสมมติ นอกจากไม่ได้มีคุณค่าอย่างแท้จริงแล้วยังเป็นปฏิปักษ์ต่อวิถีของสมณะอีกด้วย คุณค่าของความเป็นสมณะนั้นอยู่ที่ความเรียบง่าย สันโดษ เบาสบาย ปราศจากการยึดมั่นถือมั่นในวัตถุสิ่งของ การมีวัตถุมีค่าเป็นเครื่องใช้สอยติดตัว ไม่เพียงแต่จะทำให้ชีวิตของพระตกอยู่ในอันตรายเพราะถูกปล้น แต่ยังทำให้พระสงฆ์ติดยึดกับกิเลสตัณหา และนำไปสู่ความทุกข์อีกด้วย การบัญญัติสิกขาบทกรณีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของมีค่าดูเหมือนจะเข้าลักษณะ "การบังคับให้ปล่อยวาง"เหมาะสมและสอดคล้องกับ "ความเป็นสมณะ" เป็นไปตามวิถีแห่งอริยะ (วินัย) ที่มุ่งสร้างสรรค์วัฒนธรรมชุมชนที่มีความเจริญงอกงาม โดยอาศัยกรอบคิดนี้ เราจะเข้าใจแนวคิดและแบบแผนการดำรงชีพของสมณะอันเกี่ยวเนื่องกับวัตถุสิ่งของที่มีค่ามีราคาตามแนวคำสอนของพุทธศาสนาได้ชัดเจนและง่ายขึ้น

บาตรและจีวรเท่านั้นที่เป็นสมบัติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตพระสงฆ์ที่จะนำติดตัวเสมอ จีวรเป็นเครื่องนุ่งห่มที่จำเป็นสำหรับปิดบังร่างกายและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายในฤดูหนาว บาตรใช้เป็นภาชนะสำหรับขออาหาร ใน "อรรถกถาธรรมบท" มีเรื่องเล่าหลายเรื่องที่แสดงถึงความสำคัญของสมบัติ 2 ชนิดนี้ ตัวอย่างเช่น เมื่อพระทาหิยทารุจิริยะฟังธรรมของพระพุทธเจ้าขณะที่เสด็จไปบิณฑบาตแล้วบรรลุอรหันต์ด้วยพุทธพจน์เพียงประโยคเดียว แล้วประสงค์จะบวชเป็นภิกษุ พระพุทธเจ้าตรัสให้ท่านไปแสวงหาบาตรและจีวร ขณะที่กำลังแสวงหาบาตรและจีวรอยู่นั่นเองท่านก็ถูกวัวบ้าขวิดตาย บาตรและจีวรจึงสมบัติที่ขาดไม่ได้สำหรับนักบวช

อย่างไรก็ตาม พระวินัยมีข้อห้ามไม่ให้ใช้บาตรที่ทำด้วยวัตถุมีค่าต่างๆ เช่น บาตรทองคำ บาตรเงิน บาตรแก้วมณี บาตรแก้วไพฑูรย์ บาตรแก้วผลึก บาตรสัมฤทธิ์ บาตรกระจก บาตรดีบุก บาตรตะกั่วและบาตรทองแดง ทรงอนุญาตให้ใช้บาตรสองชนิดเท่านั้นคือ บาตรเหล็กและบาตรดิน พระวินัยไม่ได้บอกเหตุผลของการห้ามบาตรชนิดต่างๆ แต่สาเหตุที่ทรงห้ามนั้นก็เนื่องจากชาวบ้านมองว่า ถ้าสมณะมีเครื่องใช้เป็นวัตถุมีค่ามีราคาชีวิตสมณะก็ไม่ต่างอะไรจากคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ในพระไตรปิฎก มีสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ หลายข้อบัญญัติขึ้นเพราะชาวบ้านมองว่าไม่เหมาะสมควรแก่สมณะ สมณสารูปที่คาดหวังในสังคมอินเดียโบราณนั้นคือการมีอาจาระ(มรรยาท)ที่แตกต่างจากคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม นอกจากเครื่องนุ่งห่ม กิริยามารยาท อิริยาบถที่น่าเลื่อมใสงดงามตามครรลองของสมณะ สิ่งที่จะทำให้ชีวิตของสมณะมีความหมายน่านับถือก็คือ การไม่ครอบครองวัตถุที่มีค่า ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือสิ่งที่ใช้แทนเงินหรือทอง ซึ่งมีมูลค่าแลกเปลี่ยนได้

พระวินัยปรับอาบัติในความผิดมีโทษสถานเบา (นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์, ปาจิตตีย์, ทุกกฎ แล้วแต่กรณี) กรณีที่มีการละเมิดวินัยข้อเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ พระพุทธเจ้าต้องการให้ภิกษุผู้ทำผิดวินัยมีความสำนึกผิด (มีความละอายใจ) และแสดงความรับผิดต่อหน้าภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง สัญญาว่าจะแก้ไขปรับปรุงตนโดยจะไม่กระทำเช่นนั้นอีก กรณีที่มีวัตถุที่ต้องสละ เช่น เงินหรือทองที่รับมาเป็นต้น จะต้องสละวัตถุสิ่งของนั้นแก่สงฆ์ แก่คณะ หรือแก่บุคคลก่อนจึงแสดงอาบัติต่อหน้าสงฆ์หรือบุคคล เพียงเท่านี้ก็ฟื้นคืนความบริสุทธิ์แห่งศีลของตนได้ แม้กระนั้นก็มีนัยน่าสนใจเกี่ยวกับเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาว่าภิกษุสงฆ์ควรมีอาจารหรือแนวปฏิบัติอย่างไรต่อวัตถุสิ่งของที่มีค่า และควรปรับอาบัติภิกษุหรือภิกษุณีในกรณีๆ เล็กน้อยๆ เหล่านี้หรือไม่อย่างไร

เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินในกรณีเหล่านี้คือ "พระสงฆ์ไม่ควรประพฤติเยี่ยงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม" เกณฑ์นี้จะเรียกว่า หลัก "มาตรฐานเรื่องความแตกต่าง" ก็ได้ อะไรบ้างคือสิ่งที่ทำให้ภิกษุเหมือนกับคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ในขุททกขันธกะ ระบุถึงการมีหรือการใช้วัตถุสิ่งของที่ทำด้วยของมีค่าต่างๆ เช่น ปลอกนิ้วมือชนิดต่างๆ ที่ทำด้วยเงิน ด้วยทอง หรือการมีไม้แคะหูที่ทำด้วยเงินด้วยทอง การสะสมโลหะหรือทองสัมฤทธิ์ เป็นต้น น่าสังเกตว่า ของมีค่าที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายได้ เช่น เงิน และ ทอง ถูกเอ่ยถึงบ่อยในฐานะสิ่งที่ถูกห้ามมีไว้ใช้สอยหรือเก็บเป็นสมบัติส่วนตัวของภิกษุ

ในสามัญญผลสูตร (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค) กล่าวถึงรูปแบบชีวิตสมณะต้องเว้นขาดจากพฤติกรรมหลายประการ เช่น การไม่ประพฤติอกุศลกรรมบถ 10 การละความประพฤติที่เป็นของชาวบ้านทั่วไป เช่น การขับร้อง ประโคมดนตรี การตกแต่งร่างกายด้วยของหอมเครื่องประทินผิว การไม่นอนบนที่นอนอันสูงใหญ่ การรับอาหารที่ยังไม่ได้ปรุงให้สุก การมีทาสหญิงชาย มีสัตว์เลี้ยงชนิดต่างๆ เรือกสวนไร่นาและที่ดิน เว้นจากการชื้อขาย การโกงด้วยตาชั่ง การรับสินบน การล่อลวงหรือการตลบตะแลง การทำร้ายร่างกายผู้อื่น การทรมาน การฆ่า การจองจำ การวิ่งราว การปล้นและการขู่กรรโชก ในที่นี้เราจะพบว่า ประเด็นเงินกับพระสงฆ์นั้นแฝงอยู่ใน "การห้ามการซื้อขาย" ในนิสสัคคียปาจิตตีย์ โสกิยวรรค พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามภิกษุแลกเปลี่ยนกันด้วยรูปิยะชนิดต่างๆ ในสิกขาบทนี้ พระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุรับหรือใช้ให้ผู้อื่นรับเงินและทอง ไม่เพียงแต่เท่านั้นยังห้าม "ยินดี" ในเงินและทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตนอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้พระมีพฤติกรรมแตกต่างจากคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม แต่พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้ละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่น จึงมีโทษสถานเบา

แม้กระนั้น เมื่อต้องทำผิดก็ไม่อาจจะปลงอาบัติหรือฟื้นความบริสุทธิ์ได้โดยง่ายนัก พระพุทธเจ้าแสดงวิธีปรับโทษภิกษุรูปที่มีความผิดว่า ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่า เข้าไปหาสงฆ์ กราบเท้าภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่า นั่งกระโย่งประนมมือ แล้วกราบเรียนว่า "ท่านผู้เจริญ กระผมรับรูปิยะไว้ รูปิยะนี้ของกระผมเป็นนิสสัคคีย์ (สิ่งที่พึงสละ) กระผมขอสละรูปิยะนี้แก่สงฆ์" จากนั้นจึงแสดงอาบัติ (กล่าวคำพูดที่แสดงถึงการรู้สำนึกและสัญญาว่าจะมีการปรับแก้ไขตนเอง) พระวินัยกล่าวต่อไปว่า เมื่อภิกษุนั้นกล่าวสละรูปิยะท่ามกลางสงฆ์แล้ว ถ้ามีคนงานวัดหรืออุบาสกเดินผ่านมา ภิกษุผู้ฉลาด (ที่เป็นประธานในพิธีสละรูปิยะ) พึงบอกเขาให้เขานำรูปิยะไปใช้เพื่อสงฆ์ ถ้าเขาถามว่าจะให้แลกสิ่งใดมา พระสงฆ์ไม่ควรบอกว่าให้นำไปแลกของชนิดนั้นชนิดนี้มา แต่อาจให้ข้อมูลว่ามีของอะไรบ้างที่ควรแก่พระสงฆ์ (กัปปิยะ) เมื่ออุบาสกหรือคนงานวัดนำรูปิยะนั้นไปแลกของที่ควรถวายสงฆ์มาแล้ว ทุกรูปฉัน (รับประทาน) ได้ ยกเว้นภิกษุที่เป็นเจ้าของรูปิยะ พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าทำได้อย่างนี้เป็นการดี ถ้าเขาทำไม่ได้ ให้บอกคนงานหรืออุบาสกนำรูปิยะนั้นไปทิ้ง แต่ถ้าเขาไม่ยอม ก็ให้สงฆ์แต่งตั้งภิกษุผู้เที่ยงธรรมและรู้งานเป็นผู้ทิ้งรูปิยะนั้น ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นเมื่อทิ้งรูปิยะต้องไม่หันไปมองดูว่ารูปิยะนั้นตกที่ตรงไหน ถ้ารู้ว่ารูปิยะนั้นตกตรงไหน ปรับอาบัติภิกษุนั้นเป็นทุกกฎ

พระวินัยไม่เพียงแต่ห้ามแลกเปลี่ยนรูปิยะเท่านั้นยังห้ามการแลกเปลี่ยนกันด้วยสิ่งของด้วย แม้แลกเปลี่ยนด้วยสิ่งของประเภทเดียวกัน เช่น ผ้านุ่งห่ม หากเข้าข่ายการแลกเปลี่ยนการซื้อขายก็ทรงห้ามด้วยเช่นกัน "เมื่อสิ่งของของตนตกไปอยู่ในมือของคนอื่น และสิ่งของของคนอื่นตกมาอยู่ในมือของตน จัดเป็นการซื้อขายกัน" ของที่ตกมาอยู่ในมือตนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล วิธีที่สละของที่เป็นรูปิยะกับบาตรหรือจีวรที่ได้มาด้วยการแลกเปลี่ยนนั้นอาจแตกต่างกันอยู่บ้าง กล่าวคือ กรณีจีวรหรือผ้านุ่งห่ม เจ้าของเดิมที่ได้สิ่งของมาเพราะการแลกเปลี่ยน ถ้าเจ้าของมีเจตนาจะสละสิ่งของนั้นแก่สงฆ์ก็ต้องประชุมสงฆ์และประกาศให้ทราบทั่วกัน สงฆ์จะต้องดำเนินการต่อโดยมอบผ้าที่แลกเปลี่ยนซื้อขายมาแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง การสละแก่คณะ (ภิกษุมากกว่า 1 รูป แต่ไม่ถึง 4 รูป เรียกว่า คณะ) ก็เช่นกัน พระในคณะนั้นอาจมอบผ้าดังกล่าวนั้นแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แต่ถ้าสละแก่บุคคล ภิกษุผู้รับผ้าที่สละนั้นเมื่อรับทราบความผิดของภิกษุผู้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้จีวรดังกล่าวมาแล้ว ก็จะต้องคืนของให้ภิกษุรูปนั้นไป

มีข้อสังเกตว่า การจัดการเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนตัวของภิกษุ พระวินัยอนุญาตให้ต้องกระทำโดยสงฆ์ ทั้งในแง่การได้มา การแจกจ่ายทรัพย์สินเพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยแก่ชุมชนสงฆ์ และการลงโทษผู้ละเมิดพระวินัยหรือการฟื้นคืนความบริสุทธิ์ของภิกษุที่ละเมิดวินัย เมื่อพิจารณาที่ตัวรายละเอียดของกระบวนการที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ในพระวินัย จะพบเสมอว่า ผู้ที่จะได้รับหน้าที่ให้จัดการเรื่องต่างๆ ต้องได้รับการยอมรับจากสงฆ์ทั้งหมดและมีคุณสมบัติสำคัญคือดำเนินการต่างๆ ได้อย่างเที่ยงธรรม (ไม่มีอคติ) และเข้าใจเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างดี ความยุติธรรมหรือความเที่ยงธรรมจึงเป็นคุณธรรมสำคัญ

ในแง่การปฏิบัติ พระพุทธเจ้าไม่ได้มอบภาระให้พระรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้นำแต่ทรงอนุญาตให้สงฆ์เป็นผู้นำ และทรงคาดหวังว่าสงฆ์จะเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดดำเนินการในฐานะตัวแทนสงฆ์ โดยข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานที่สุดสำหรับผู้จะทำหน้าที่แทนสงฆ์คือ ต้องเป็นบุคคลที่มี "ความเที่ยงธรรม"และ"ความรู้"

เฉพาะกรณีการจัดการทรัพย์สินในแง่มุมของพุทธศาสนา วัตถุเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตพื้นฐานดำเนินไปด้วยดี แต่ก็อาจนำชีวิตไปสู่ความทุกข์ทั้งในแง่จิตใจ ร่างกายและสังคมโดยรวมได้ เพื่อชีวิตที่ดี สังคมต้องสร้างระบบวัฒนธรรมสัมพันธ์อันเกี่ยวเนื่องกับวัตถุอย่างเหมาะสมเพื่อจะให้ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเที่ยงธรรม รัฐจัดระบบโครงสร้างของรัฐเพื่อรับประกันความเที่ยงธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรสำหรับทุกคน

ในระดับครอบครัว ความสัมพันธ์ที่ดีงามภายในครอบครัวและกับสมาชิกสังคมอื่นๆ นอกครอบครัวเป็นตัวตั้งในฐานะที่การปฏิบัติความสัมพันธ์อย่างเหมาะสมจะช่วยธำรงระบบระเบียบของสังคมโดยรวม ทรัพย์สินหรือวัตถุเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ดังกล่าวให้เป็นไปด้วยดี การให้หรือการแบ่งปันวัตถุ ทรัพยากร หรือทรัพย์สินความมั่งคั่งจึงเป็นวิธีที่คนจะสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จึงต้องมี "วัฒนธรรม" อันเกี่ยวเนื่องกับวัตถุต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของมนุษย์โดยเฉพาะวัตถุทางวัฒนธรรม (ทรัพย์สิน เงิน ทอง ความมั่งคั่ง) พุทธศาสนาเชื่อว่า เมื่อวัตถุทางวัฒนธรรมได้รับการจัดการอย่างดีแล้ว ชีวิตทางวัฒนธรรมของมนุษย์ เช่น สัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เป็นต้นก็จะได้รับการพัฒนาในแนวทางที่ส่งเสริมให้ชีวิตคฤหัสถ์หรือฆราวาสมีความสุข มีความปลอดภัย และใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย

การจัดระเบียบ "วัฒนธรรม" อันเกี่ยวเนื่องกับวัตถุและทรัพย์สินยังจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของสงฆ์ เพราะการดำรงชีวิตแบบสมณะมีเป้าหมายอยู่ที่การหลุดพ้นจากทุกข์ การมีทรัพย์สินวัตถุปัจจัยในครอบครองส่วนตัวย่อมขัดแย้งกับชีวิตสมณะที่ต้องได้รับการขัดเกลาจิตใจให้เป็นอิสระจากการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ วัตถุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของสงฆ์จึงต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม คือให้มีทรัพย์สินส่วนตัวเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตสมณะ สิ่งของต่างๆ ที่เพิ่มพูนขึ้นโดยศรัทธาของฆราวาสผู้ใคร่ในการทำบุญจึงถูกกำหนดให้ตกเป็นของสงฆ์

ทางหนึ่งเพื่อป้องกันการสะสมวัตถุสิ่งของไว้เป็นของส่วนตัวและขาดอิสระในการแสวงหาสัจธรรม ความรู้ ความดีและความงาม ทางหนึ่งเพื่อให้สมาชิกของชุมชนทุกคน (สงฆ์) ได้รับประโยชน์จากการอนุเคราะห์ของฆราวาส การใช้ทรัพยากรที่ได้มาจากศรัทธาเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเอื้อคุณประโยชน์ทั้งต่อการปฏิบัติธรรม การสั่งสอนธรรมและการบรรลุนิพพาน และเพื่อประกันว่าทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดี พระวินัยได้วางบทบัญญัติเบื้องต้นไว้เพื่อพระสงฆ์จะได้ไม่ละเมิดบรรทัดฐานที่สำคัญ ฆราวาสจะได้รับทราบแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในการแสวงบุญในศาสนา ทั้งหมดนั้นก็เพื่อจะให้ทุกชีวิตได้บรรลุความสุขตามวิถีแห่งธรรมวินัยนั่นเอง

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Channrong Boonnoon 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความวิจัย "ความมั่งคั่ง วินัย นิพพาน" ในหนังสือรวมบทความวิจัยเรื่อง "เศรษฐศิลป์ ผู้นำกับโลกแห่งวัตถุ ในปรัชญาตะวันออก" โครงการผู้นำแห่งอนาคต ของสสส. https://www.leadershipforfuture.com

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน และโทษประหาร

Posted: 22 Jun 2018 07:01 PM PDT



ตอนนี้เรื่องโทษประหารเป็นประเด็นการถกเถียงที่ฮ็อตฮิตมาก ซึ่งเอาจริง มันเป็นประเด็นที่ไม่รู้จบ ไม่มีใครบอกได้ว่าคำตอบที่ถูกหรือผิดคืออะไร เพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตัวเอง

นี่ตอนแรกก็ว่าจะไม่เขียนอะไรเรื่องนี้ เพราะชีวิต ป.เอกก็ยังกระดึ๊บๆ อยู่ ไม่ควรหาเรื่องงานงอกตอนนี้ 5555 มั่นใจว่าเดี๋ยวอีกไม่นาน น่าจะมีบทความวิชาการจากคณาจารย์ที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ออกมาให้ได้ยลโฉมกันแน่นอน

ที่เขียนโพสต์นี้ ไม่ใช่จะแสดงความคิดว่าว่าควรมีโทษประหารหรือไม่นะคะ (อ้าว เดี๋ยวๆ อ่านก่อน อย่าเพิ่งหยุดตรงนี้) เพียงแต่เห็นว่า สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร จะมีการยกเหตุผลเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิในการมีชีวิต ซึ่งเป็นเหตุผลทางวิชาการ มีทฤษฎีรองรับ

ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยกับโทษประหาร จำนวนนึงจะบอกว่าเฮ้ย ลองญาติคุณโดนฆ่าสิ หยุดโลกสวยได้แล้ว ฟีลลิ่งมันบอกอะ ว่าต้องมีโทษประหาร คนชั่วต้องได้รับผลกรรมดิ เดี๋ยวต่อไปอาชญากรก็เต็มบ้านเมืองถ้ายกเลิกโทษประหาร (ทุกวันนี้มีโทษประหาร อาชญากรรมยังเต็มไปหมดเลย 555) ซึ่งพอพูดแบบนี้ไป ก็จะโดนต่อว่ากลับว่าเถียงโดยใช้อารมณ์อี๊ก จริงๆ มันมีเหตุผลและทฤษฎีอยู่เบื้องหลังนะเออ

เพราะงั้น มาค่ะ!! เพื่อไม่ให้เถียงกันด้วยอารมณ์ เรามาจับทฤษฎีประกอบแหมะเข้าไปในการให้แสดงความคิดเห็นกันค่ะ บรรยากาศจะได้ไม่รุนแรงแล้วเกลียดชังกัน

ในวิชาอาญาหลักทั่วไป เราได้สอนเกี่ยวกับเรื่องโทษ และวัตถุประสงค์ของการลงโทษ มั่นใจว่านิสิตที่อ่านโพสต์นี้คงจำได้เนอะ (กรุณาตอบทีว่ายังจำมันได้อยู่)

วัตถุประสงค์ของการลงโทษมีหลายประการมากค่ะ ไม่ว่าจะเพื่อแก้ไขฟื้นฟูให้เขากลับมาเป็นคนดีของสังคม (rehabilitation) หรือเพื่อยับยั้งป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำความผิด (deterence) แต่หนึ่งในวัตถุประสงค์ที่เก่าแก่มีมาแต่ดั้งเดิมโบราณกาล คือการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน (retribution/retaliation/revenge)

"แก้แค้น" คำมันดูน่าตกใจ ดูโหดร้าย ฟีลลิ่งตาต่อตาฟันต่อฟันมาก นี่มันยุค 4.0 แล้ว จิตใจเราควรสูงส่งขึ้น ไม่แก้แค้นกันแล้วสิ!!

ทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนนี้ปรับปรุงพัฒนาตามยุคสมัยแล้วค่ะ มันไม่ใช่ตาต่อตา ฟันต่อฟันละค่ะ แต่เป็นการลงโทษให้ได้สัดส่วนกับความผิดที่กระทำลงไป พวกตาต่อตา ฟันต่อฟันอะ เค้าเรียกว่า lex talionis บุร่ำบุราณมาก ปัจจุบัน modern retributivist จะใช้หลัก Just desert (ไม่ใช่แปลว่าแค่ทะเลทรายนะ เดี๋ยวก่อน) เป็นหลักที่ว่าต้องลงโทษให้ได้สัดส่วนกับความผิดที่กระทำลงไป (seeking proportionality) ไม่ใช่ exact vengeance แล้ว

ทำไมเราต้องแก้แค้นทดแทน?

เหตุผลประการหนึ่งเลยคือ เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมค่ะ

กฎหมายมีขึ้นเพื่อให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อย ยังจำข่าวคดีข่มขืนกันได้ไหมคะ ที่สังคมออกมาเรียกร้องให้ ข่มขืน = ประหาร (ซึ่งอันนี้มันมีประเด็นของมันเองอีก ขอไม่พูดตรงนี้ เดี๋ยวจะยาว) หรือที่เกิดเหตุแก๊งวัยรุ่นรุมทำร้ายชายขายขนมปังจนเสียชีวิต

ตอนนั้นสังคมโกรธแค้นและประณามผู้กระทำความผิดอย่างรุนแรง เรียกร้องให้มีการประหาร เรียกร้องให้มีการลงโทษให้สาสม เนี่ยแหละค่ะคือสาเหตุที่ทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน ยังคงมีอยู่ในทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะ 4.0 หรือยุคเทียมเกวียน

ก็เพราะว่า หากกฎหมายไม่เข้ามาจัดการลงโทษให้ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงในการกระทำของคนร้ายแล้ว คนอื่นในสังคมก็อาจรู้สึกได้ว่า อะไรฟระ!! โลกช่างไม่ยุติธรรม!! ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว!!

และเมื่อกระบวนการทางกฎหมายไม่อาจเป็นที่พึ่งให้ได้ ไม่สามารถทำให้เหยื่อหรือคนในสังคมรู้สึกถึงความเป็นธรรมได้ เมื่อนั้นคนเหล่านั้นจะลุกขึ้นมาทำตนเป็นศาลเตี้ย ไม่ต้องรอกฎหมายจัดการมันแล้ว ไม่ต้องแจ้งตำรวจ ไม่ต้องฟ้องศาลหรอก ฆ่ามันเองซะเลย (ฟีลลิ่งละครเรื่องล่าจะมา) และสังคมก็จะไม่มีขื่อมีแป เละเทะไปหมด เพราะเหตุนี้ ระบบกฎหมายจึงต้องเข้ามาจัดการแก้แค้นทดแทนให้ ก็เพื่อให้เกิดความสงบสุขเนี่ยแหละค่ะ เพื่อไม่ให้คนดี กลับกลายเป็นคนทำผิดเสียเอง และเพื่อไม่ให้ประชาชนสูญสิ้นศรัทธาในการทำดี ละเว้นความชั่ว

ใช่ค่ะ มันก็จะมีเหตุผลแย้งได้ว่า คนร้ายฆ่าคน เป็นสิ่งไม่ดี แต่เราไปฆ่าเพื่อแก้แค้น เราก็เลวไม่ต่างจากเค้า ความคิดเช่นนี้ก็ไม่ใช่ไม่จริงนะคะ แต่ทุกท่านคงเห็นแล้ว ว่าตอนนี้บรรยากาศเวลาถกเถียงเรื่องนี้เป็นยังไง มันจะมีถ้อยคำที่ว่า "ลองเป็นครอบครัวคุณโดนฆ่าสิ" คำเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ปฏิกิริยาตอบสนองของมนุษย์ไม่เหมือนกัน ตัวเราอาจให้อภัยคนร้ายได้ แต่คนจำนวนหนึ่งก็รู้สึกไม่เป็นธรรม ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้คนเหล่านั้นลุกขึ้นมาจัดการเป็นศาลเตี้ยจนสังคมวุ่นวาย กฎหมายจึงยังคงไว้ซึ่งการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน และนั่นคือสาเหตุที่โทษประหารยังคงมีอยู่ (แม้จะไม่ค่อยได้บังคับใช้นักก็ตาม)

เหตุผลอีกประการหนึ่งของการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนคือ เพื่อให้เกิดจุดสมดุลทางสังคม (social equilibrium)

เรื่องของเรื่องคือ เราทุกคนในสังคม ยอมสละสิทธิเสรีภาพบางส่วนให้แก่รัฐ ยอมเคารพกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนดขึ้น เพื่อให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อย คนที่ไม่เคารพกฎเกณฑ์เหล่านั้น หากไม่ได้รับการลงโทษอย่างได้สัดส่วนกับการกระทำชั่วแล้ว นั่นแปลว่าคนที่เคารพกฎหมายขาดทุน คนทำชั่วได้กำไร (ขอพูดง่ายๆ แบบนี้เนอะ) เพราะงั้น ต้องมีการลงโทษให้ได้สัดส่วน เพื่อดึงให้เกิดสมดุลทางสังคมขึ้น

นี่เป็นเหตุผลหลักบางประการค่ะ ที่ทำให้ไม่ว่าประเทศจะพัฒนาไปแค่ไหน ไม่ว่าเราจะมีมาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเพิ่มขึ้นมา เพื่อสร้างคนดีคืนสู่สังคม แต่การลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนก็ยังคงมีอยู่ เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมนั่นเอง

ทีนี้จะแก้แค้นทดแทนแค่ไหน จุดไหนคือได้สัดส่วน ต้องถึงขั้นประหารชีวิตไหม ก็ต้องนำมาชั่งน้ำหนักกับเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิในการมีชีวิตอีก มีอะไรอีกมากมายให้เราเถียงกันเพื่อเสริมสร้างปัญญาไปเรื่อยๆ

สรุป ที่เขียนโพสต์นี้ เพราะอยากเสริมให้เราเอาหลักการและเหตุผลของการแก้แค้นทดแทนมาพิเคราะห์กันด้วยค่ะ ต่อไปถ้าจะเถียง เราจะได้ไม่ใส่อารมณ์กัน เราใส่ทฤษฎีและเหตุผลกันไปค่ะ ฉลาดสวยดูดีมีคุณค่า เรื่องนี้เคยให้เอามาถกเถียงเล่นๆ ในคาบกฎหมายอาญาภาคภาษาอังกฤษกับรุ่น 57 แล้ว สนุกสนานเมามันนะ ขอบอก

จบโพสต์ที่ยาวมาก และเป็นการอู้งานปอเอกโดยหลอกตัวเองเบาๆ ว่านี่เป็นการเล่นเฟสบุ๊คมีสาระทางวิชาการ 555555



ที่มา: Facebook Thitinant Tina Tengaumnuay

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น