โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ผู้ปลูกฝิ่นเรียกร้องรัฐบาลพม่าเลิกปราบ-มุ่งงานพัฒนาและสร้างสันติดีกว่า

Posted: 07 Jun 2018 11:25 AM PDT

เกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงปลูกฝิ่นในพม่า ได้จัดการประชุมสามัญเป็นปีที่ 6 ที่เมืองล่าเสี้ยว รัฐฉาน พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลพม่าเลิกปราบปราม ชี้ฝิ่นเป็นพืชเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนในพื้นที่ขัดแย้ง ต่อให้กวาดล้าง-เดี๋ยวก็กลับมาปลูกใหม่ โดยเสนอโมเดล "ใบอนุญาตใช้ฝิ่นในทางการแพทย์" พร้อมเรียกร้องให้หันมาพัฒนาพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้พวกเขาเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์

การปลูกฝิ่นในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ทางตะวันออกของรัฐฉาน ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ภาพถ่ายปี 2558 (ที่มาของภาพ: Panglong.org/UNODC)

ในการจัดประชุมของเกษตรกรผู้ปลูกฝิ่นแห่งเมียนมา (Myanmar Opium Farmer's Forum -- MOFF) ที่เมืองล่าเสี้ยว รัฐฉาน ประเทศพม่า เมื่อ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 โดยมีชุมชนที่ยังคงปลูกฝิ่นทั่วพม่าเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก มีทั้งจากชาติพันธุ์คะเรนนี กะยัน ไทใหญ่ ปะโอ ลาหู่ และกะฉิ่น โดยสาระสำคัญของการประชุมปีนี้คือต้องการให้รัฐบาลพม่ายกเลิกแนวทางปราบปรามฝิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ความขัดแย้ง และมุ่งพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงเรียกร้องให้กองทัพพม่า เร่งกระบวนการสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ

สำหรับแถลงการณ์ของที่ประชุม MOFF (อ่านแถลงการณ์) ในปีนี้ระบุว่า ฝิ่นป็นพืชเศรษฐกิจของชนกลุ่มน้อยในพม่าเนื่องจากพวกเขาไม่มีความมั่นคงทางอาหาร และเข้าไม่ถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของรัฐ ทั้งในด้านการศึกษา และสาธารณะสุข การปลูกฝิ่นจึงเป็นหนทางเดียวที่ทำให้พวกเขามีรายได้มากพอมาจุนเจือครอบครัว ส่งลูกไปโรงเรียน และจ่ายค่ารักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฝิ่นยังคงเป็นพืชเสพติดที่ผิดกฎหมายในพม่า การกวาดล้างจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องจ่ายส่วยเป็นจำนวนมากเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทางกลุ่มเกษตรกรจึงเรียกร้องให้ทางรัฐบาลยุติการจับกุม และดำเนินคดีให้กับผู้ปลูกฝิ่น และหันมาพัฒนาพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้

"การปลูกฝิ่นคือวิธีการแก้ปัญหาของพวกเรา แต่รัฐบาลกลับจ้องจะกวาดล้างพวกเรา และเจ้าหน้าที่รัฐก็มักจะเรียกเก็บส่วย และภาษีอย่างผิดกฎหมาย สิ่งเหล่านี้เป็นการผลักเราเข้าสู่ความยากจนที่ถลำลึกลงไปมากกว่าเดิม ทุกๆ ปี รัฐบาลได้ทำลายไร่ฝิ่น และชุมชนของพวกเราก็ต้องรับผลกระทบเป็นอย่างมาก เราปลูกฝิ่น แล้วยังต้องอยู่กับกลัว เราปลูกฝิ่น แต่รัฐบาลเข้ามาทำลาย แต่เมื่อเราไม่มีทางเลือกอื่น เราก็ต้องปลูกใหม่ และรัฐบาลก็เข้ามาทำลายใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นวัฏจักรที่ไม่มีทางจบสิ้น" แถลงการณ์ของ MOFF ระบุ

แถลงการณ์ยังระบุถึงสรรพคุณที่หลากหลายของฝิ่น โดยกล่าวว่าชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐได้ จึงต้องอาศัยฝื่นซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านแทนยารักษาโรค ในบางชนเผ่า ฝิ่นยังถูกใช้เป็นเครื่องรางในการขับไล่ภูติผี ฝิ่นจึงไม่ใช่เป็นแค่พืชเศรษฐกิจ แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่มเกษตรกรจึงเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเอาโมเดลการออกใบอนุญาตการใช้ฝิ่นในทางการแพทย์ของต่างประเทศมาใช้ด้วย

"พวกเราหลายคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ทางรัฐบาลไม่สามารถจัดการบริการสาธารณขั้นพื้นฐานได้ ทั้งทางด้านสาธารณสุขและการศึกษา ในพื้นที่ดังกล่าว ฝิ่นจึงถูกใช้เป็นยาพื้นบ้าน ฝิ่นถูกใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อาการท้องเสีย มาลาเรีย และช่วยลดไข้ ฝิ่นยังถูกใช้ในการฝึกสัตว์ เช่นช้าง และยังสามารถรักษาโรคในสัตว์ได้หลากหลายชนิด ฝิ่นยังมีฤทธิ์ถอดพิษจากแมลงกดต่อย และใช้เป็นเครื่องปัดเป่าภูติผีปีศาจในหมู่ชนพื้นเมือง ฝิ่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของพวกเรา"

ทางกลุ่มเกษตรกรกล่าวต่อว่า การปลูกฝิ่นเป็นภาพสะท้อนหนึ่งของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า โดยในช่วงปี 1998-2002 ทางกองทัพพม่าได้ขับไล่ชนกลุ่มน้อยจำนวนมากออกจากพื้นที่และยึดไร่นาของพวกเขา หลายชุมชนที่ไม่เคยปลูกฝิ่นมาก่อนจึงต้องหันมาปลูก เนื่องจากทางกองทัพได้ทำลายพื้นที่ทำกินของพวกเขาไปจนหมด นอกจากนี้ ทั้งกองทัพและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ยังเรียกร้องส่วยและค่าคุ้มครองจากผู้ปลูกฝิ่น ซึ่งเงินเหล่านี้ก็ถูกนำไปใช้ซื้ออาวุธมาสานต่อความขัดแย้งต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยทางกลุ่มเกษตรกรชี้ว่าปัญหาทั้งหมดนี้เกิดจากการที่รัฐบาลยังไม่ปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์เฉกเช่นพลเมืองทั่วไป

"เราต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเฉกเช่นพลเมือง มีความเชื่อมที่ชัดเจนโยงระหว่างยาเสพติดกับความขัดแย้ง เราต้องจ่ายภาษีฝิ่นจำนวนมากให้กับกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม เจ้าหน้าที่รัฐ และกองทัพพม่า ตราบใดที่ยังไม่มีความเท่าเทียม ก็จะไม่มีสันติภาพในประเทศนี้ และตราบใดที่ยังไม่มีสันติภาพ ก็จะไม่มีการพัฒนา"

สุดท้าย ทางกลุ่มเกษตรกร MOFF ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าทบทวนกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย ทั้งกฎหมายยาเสพติด กฎหมายที่ดิน และให้ความสำคัญกับกระบวนการเจราเพื่อสันติภาพ โดยเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาเพื่อดูแลปัญหายาเสพติดในพื้นที่ความขัดแย้ง และจะต้องมีตัวแทนของ MOFF อยู่ภายในคณะทำงานดังกล่าวด้วย

แถลงการณ์จากที่ประชุมเกษตรกรผู้ปลูกฝิ่นในพม่าครั้งที่ 6

เผยแพร่ครั้งแรกโดย TNI

พวกเราตัวแทนประชาคมผู้ปลูกฝิ่นชาวทั้งจากชาติพันธุ์คะเรนนี กะยัน ไทใหญ่ ปะโอ ลาหู่ และกะฉิ่น ได้มารวมตัวกันที่เมืองล่าเสี้ยวในรัฐฉาน ระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2561 เพื่อพิจารณาถึงความท้าทายที่พวกเราต้องเผชิญในชีวิต และแบ่งปันประสบการณ์เพื่อให้ร่วมกัน ในปี 2013 เราได้ก่อตั้งที่ประชุมของเกษตรกรปลูกฝิ่นแห่งเมียนมา (Myanmar Opium Farmer's Forum -- MOFF) เพื่อสะท้อนเสียงของพวกเราให้เป็นที่รับรู้ และนี่มติจากการประชุมครั้งที่ 6 ของพวกเรา

นโยบายและกฎหมายยาเสพติดควรจะเคารพสิทธิของชุมชนผู้ผลิต และเราควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจที่มีผลต่อชีวิตเรา

การพัฒนาต้องมาก่อน

เราปลูกฝิ่นในฐานะพืชเศรษฐกิจเพราะพวกเรายากจน และขาดโอกาสในการมีชีวิตที่ดี เราไม่มีความมั่นคงทางอาหาร และภายในหมู่บ้านก็ไม่มีงานที่ให้ผลตอบแทนมากพอที่จะหาเลี้ยงครอบครัวได้ เราอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ตัดขาดจากการพัฒนา และมักได้ระบบผลกระทบจากพื้นที่ความขัดแย้งซึ่งไม่มีบริการสถารณะใดๆ การเข้าถึงตลาดเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าอื่นๆ ที่จำเป็นก็ทำได้ยากมาก เราต้องใช้เงินจากการขายฝิ่นเพื่อซื้ออาการและของใช้พื้นฐานภายในบ้าน ส่งลูกไปโรงเรียน และจ่ายค่ารักษาพยาบาล สำหรับเราการปลูกฝิ่นคือวิธีการแก้ปัญหาของพวกเรา แต่รัฐบาลกลับจ้องจะกวาดล้างพวกเรา และเจ้าหน้าที่รัฐก็มักจะเรียกเก็บส่วย และภาษีอย่างผิดกฎหมาย เมื่อเราไม่มีทางเลือกอื่น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการผลักเราเข้าสู่ความยากจนมากขึ้นไปกว่าเดิม ทุกๆ ปี รัฐบาลได้ทำลายไร่ฝิ่น และชุมชนของพวกเราก็ต้องรับผลกระทบเป็นอย่างมาก เราปลูกฝิ่น แล้วยังต้องอยู่กับกลัว เราปลูกฝิ่น แต่รัฐบาลเข้ามาทำลาย แต่เมื่อเราไม่มีทางเลือก เราก็ต้องปลูกใหม่ และรัฐบาลก็เข้ามาทำลายใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นวัฏจักรที่ไม่มีทางจบสิ้น

เราต้องการเปลี่ยนนโยบาย และต้องการเส้นทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่การทำลาย แทนที่จะมองพวกเราเป็นอาชญากร และพรากเอาวิถีชีวิตของพวกเราไป เราต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาชุมชนของเรา มองสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานให้พวกเรา และช่วยให้พวกเราเขาถึงตลาดเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าอื่นๆที่จำเป็น ข้อเรียกร้องของเราคือจะต้องไม่มีการจับกุม และทำให้ผู้ปลูกฝิ่นเป็นอาชญากร เลิกการทำลายไร่ของพวกเรา และมุ่งสู่การพัฒนา

พวกเราปลูกฝิ่นมาหลายต่อหลายรุ่น จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถหยุดปลูกฝิ่นได้ภายในทันที การลดปริมาณการปลูกฝิ่นจะต้องเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเราก็ต้องการความช่วยเหลือที่จำเป็นจากรัฐ ในระหว่างที่เรากำลังวิธีการอื่นในการดำรงชีวิต โดยโครงการพัฒนาดังกล่าว รวมไปถึงการปลูกพืชทดแทนนั้นจะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขภายในท้องถิ่นด้วย

สรรพคุณทางยาและการใช้ฝิ่นแบบพื้นบ้าน

พวกเราหลายคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ทางรัฐบาลไม่สามารถจัดการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานได้ ทั้งทางด้านสาธารณสุขและการศึกษา ในพื้นที่ดังกล่าว ฝิ่นจึงถูกใช้เป็นยาพื้นบ้าน ฝิ่นถูกใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อาการท้องเสีย มาลาเรีย และช่วยลดไข้ ฝิ่นยังถูกใช้ในการฝึกสัตว์ เช่นฝึกช้าง และยังสามารถรักษาโรคในสัตว์ได้หลากหลายชนิด ฝิ่นยังมีฤทธิ์ถอดพิษจากแมลงกดต่อย และใช้เป็นเครื่องปัดเป่าภูติผีปีศาจในหมู่ชนพื้นเมือง ฝิ่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของพวกเรา

เราต้องการให้เกิดการยอมรับสรรพคุณทางยา และการใช้แบบพื้นบ้านของฝิ่นภายในชุมชนของเรา การใช้ฝิ่นในปริมาณที่พอเหมาะควรเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ได้รับการอนุญาต และเพื่อให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาล เราจึงให้รัฐบาลมีโมเดลออกใบอนุญาตการปลูกฝิ่นทางการแพทย์ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ ประเทศอื่นๆ เช่นอินเดียก็ใช้โมเดลดังกล่าวด้วยเช่นกัน เราจึงอยากเห็นการนำร่องแนวทางดังกล่าวในพม่าด้วยเช่นกัน

ที่ดินและการปลูกฝิ่น

เราบริหารจัดการและอาศัยอยู่ในที่ดินของเรามาหลายรุ่นโดยใช้ระบบทำเนียบปฏิบัติ แต่กฎหมายที่ดินสมัยใหม่กลับมารับรองธรรมเนียมปฏิบัติของชนกลุ่มน้อย หรือแนวทางการบริหารจัดการที่ดินร่วมกัน การปลูกพืชหมุนเวียนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่แพร่หลายของคนปลูกฝิ่นเนื่องจากมันเป็นพืชผิดกฎหมาย เป็นสิ่งที่รัฐไม่ให้การยอมรับโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ ที่ดินของบรรพบุรุษเราจำนวนมากจึงถูกยึดไป

การไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มั่นคงคือหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมชุมชนของเราบางกลุ่มยังคงต้องพึ่งพาการปลูกฝิ่นเพื่อเครื่องดำรงชีวิต ในกรณีศึกษาหนึ่ง หลังกองทัพพม่ายึดไร่นาของพวกเรา เราก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขึ้นไปปลูกในที่สูงขึ้นเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

ฉะนั้น กฎหมายปัจจุบันที่เกี่ยวกับฝิ่นควรจะต้องถูกยกเลิก และกฎหมายที่ดินแห่งชาติฉบับใหม่ควรจะต้องรับรอง ปกป้อง และ สนับสนุน ธรรมเนียมปฏิบัติของพวกเรา

การปลูกฝิ่นและสันติภาพ

ชุมชนของเราบางกลุ่มต้องถูกพลัดพรากจากที่อยู่เดิมในช่วงการดำเนินนโยบาย "สี่ตัด" ที่กองทัพพม่าดำเนินการกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย ตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 1998-2002 หมู่บ้านหนึ่งในสมาชิกของพวกเราถูกกองทัพพม่าบังคับให้ออกจากพื้นที่ทั้งหมู่บ้าน "ตอนเรากลับไปที่หมู่บ้านของเรา มันไม่มีเหลืออยู่เลย เราไม่อะไรจะกิน เมื่อก่อนเราไม่ได้ปลูกฝิ่น แต่หลังจากกลับมา เราไม่มีทางเลือกอื่น จากนั้นทั้งหมู่บ้านเลยต้องปลูกฝิ่น"

สันติภาพเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเรา หลายชีวิตในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ในพื้นที่ดังกล่าว มันยากมากที่จะปลูกพืช ภูมิภาคของเราไม่มีการพัฒนาใดๆ และไม่มีบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐบาล เราต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเฉกเช่นพลเมือง มีความเชื่อมโยงระหว่างยาเสพติดกับความขัดแย้ง เราต้องจ่ายภาษีฝิ่นจำนวนมากให้กับกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม เจ้าหน้าที่ของรัฐ และกองทัพพม่า ตราบใดที่ยังไม่มีความเท่าเทียม ก็จะไม่มีสันติภาพในประเทศนี้ และตราบใดที่ยังไม่มีสันติภาพ ก็จะไม่มีการพัฒนา

เพื่อแก้ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ ควรจะต้องมีกระบวนการแยกย่อยในเรื่องของยาเสพติดกับสันติภาพ และการพูดคุยทางการเมือง โดยในกระบวยการดังกล่าว ควรจะมีตัวแทนในจำนวนที่เหมาะสมเข้าร่วม เราต้องการให้ตัวแทนของ MOFF รวมอยู่ในการพูดคุยนั้นด้วย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีมชาติอาร์เจนยกเลิกนัดกระชับมิตรที่เยรูซาเลม ประท้วงอิสราเอลสังหารประชาชน

Posted: 07 Jun 2018 08:58 AM PDT

กลุ่มสิทธิมนุษยชนรวมถึงกลุ่มชาวยิวเพื่อสันติภาพในสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมทีมฟุตบอลทีมชาติอาร์เจนตินาที่บอยคอตอิสราเอลด้วยการยกเลิกการแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรในกรุงเยรูซาเลม ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการตอบโต้ที่กองทัพอิสราเอลสังหารผู้ชุมนุมชาวปาเลสไตน์ช่วง มี.ค.-เม.ย. รวมถึงสไนเปอร์ยิงนักฟุตบอลทีมชาติปาเลสไตน์ผู้เข้าร่วมชุมนุม

ภาพจาก DasWortgewand

ฟุตบอลทีมชาติอาร์เจนตินาบอยคอตอิสราเอลด้วยการยกเลิกการแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรกับทีมชาติอิสราเอล ซึ่งมีกำหนดการแข่งขันในช่วงวันเสาร์ที่จะถึงนี้ (9 มิ.ย. 2561) ที่กรุงเยรูซาเลม โดยบอกว่าเพื่อแสดงการต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ เรื่องนี้ทำให้ทีมฟุตบอลอาร์เจนตินาได้รับการชื่นชมจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนรวมถึงกลุ่มชาวยิวเพื่อสันติภาพในสหรัฐฯ

จิบริล ราจุบ ประธานสมาคมฟุตบอลปาเลสไตน์แถลงข่าวยินดีกับการตัดสินใจของทีมฟุตบอลอาร์เจนตินา โดยบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกแล้ว ราจุบบอกว่าตามบัญญัติของฟีฟ่าระบุถึงหลักการและภารกิจในการแข่งขันกีฬาของพวกเขาคือการ "สร้างสะพาน" เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแทนที่จะใช้การแข่งกีฬาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อตัวเอง ราจุบมองว่าการแข่งขันนัดกระชับมิตรในเยรูซาเลมมีขึ้นเพราะรัฐบาลอิสราเอล "พยายามใช้เมสซี (ลีโอเนล เมสซี) และดารานักฟุตบอลคนอื่นจากอาร์เจนตินาเป็นเครื่องมือ"     

เดิมทีแล้วการแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรก่อนศึกฟุตบอลโลกระหว่างทีมชาติอาร์เจนตินากับทีมชาติอิสราเอลจะมีขึ้นที่สนามกีฬา "เทดดีโคลเลค" ในเยรูซาเลม ซึ่งเป็นสนามฟุตบอลที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของหมู่บ้านอัลมาลฮาของชาวปาเลสไตน์ นอกจากนี้สื่อฮาร์เร็ตซ์ยังตั้งข้อสังเกตกว่าการจัดแข่งฟุตบอลนัดกระชับมิตรนี้ถูกย้ายการแข่งขันจากไฮฟาไปยังเยรูซาเลมโดยการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลอิสราเอล ราวเป็นการแสดงออกให้ชาวปาเลสไตน์จำต้องยอมรับว่าเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเช่นที่ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศให้การยอมรับในเรื่องนี้

อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้อาร์เจนตินาถอนการแข่งขันล่าสุดเนื่องจากนักสิทธิมนุษยชนและชาวปาเลสไตน์จำนวนมากเรียกร้องในเรื่องนี้ หลังจากที่มีการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซารอบล่าสุด ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ตกเป็นเป้าสไนเปอร์ของทหารอิสราเอลคือผู้เล่นฟุตบอลทีมชาติปาเลสไตน์ที่ชื่อ โมฮัมเหม็ด คาลิล ผู้ที่เข้าร่วมการประท้วงทวงคืนดินแดนจากอิสราเอลในเดือน มี.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา

กอนซาโล อิกัวอิน กองหน้าของทีมชาติอาร์เจนตินาและปัจจุบันอยู่ในสังกัดทีมสโมสรยูเวนตุสกล่าวว่าทีมชาติอาร์เจนตินา "ทำในสิ่งที่ถูกต้องในที่สุด" 

รองประธานสมาคมฟุตบอลอาร์เจนตินา ฮูโก โมยาโน ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่าการระงับการแข่งขันระหว่างทีมชาติของพวกเขากับอิสราเอลถือเป็นเรื่องดีเนื่องจากในอิสราเอลมีการสังหารประชาชนจำนวนมาก "ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คุณคงยอมรับอะไรแบบนี้ไม่ได้ไม่ว่าจะในทางใดก็ตาม"

กลุ่มต่อต้านอิสราเอลรณรงค์ในเรื่องนี้ด้วยวิธีการ บอยคอต, ถอนทุน และคว่ำบาตร (B.D.S.) อาศัยการกดดันผ่านทางนักฟุตบอลชื่อดัง ลิโอเนล เมสซี ผู้ที่ปัจจุบันเล่นให้สโมสรบาร์เซโลนาและสังกัดทีมชาติอาร์เจนตินา โดยในคำร้องระบุว่าอิสราเอลมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมายาวนาน "ทั้งในและนอกสนาม"

หนึ่งในหน่วยงานที่มีส่วนกดดันในเรื่องนี้คือกลุ่มรณรงค์ชาวปาเลสไตน์เพื่อการบอยคอตอิสราเอลในทางวัฒนธรรมและทางวิชาการ (Palestinian Campaign for the Academic and Cultural Boycott of Israel หรือ PACBI) โอมาร์ บาร์กูตี ตัวแทนจากหน่วยงานนี้ระบุว่าการเข้าร่วมลงแข่งกับอิสราเอลถือเป็นสิ่งที่ "ไม่เป็นมิตรต่อสิทธิมนุษยชนอย่างมาก" เนื่องจากอิสราเอลมีการกีดกันชาวปาเลสไตน์ทางเชื้อชาติและล่าสุดก็มีการสังหารหมู่ผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ ผู้เรียกร้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเรียกร้องกลับคืนสู่ถิ่นฐานตามเงื่อนไขของสหประชาชาติ

บาร์กูตีกล่าวอีกว่าการพยายามจัดแข่งฟุตบอลนัดกระชับมิตรโดยอิสราเอลถือเป็นความพยายามอ้างใช้กีฬาในการล้างบาปให้ตนเองและใช้การจัดงานระดับโลกกลบเกลื่อน "อาชญากรรมสงคราม" และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ แต่การที่แฟนบอลชาวอาร์เจนตินาและนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกทำสำเร็จในการบอยคอตการแข่งขันนี้ทำให้รู้สึกมีความหวังขึ้นมาก

แม้แต่กลุ่มชาวยิวเพื่อสันติ (Jewish Voice for Peace) ที่เป็นกลุ่มในสหรัฐฯ ก็ระบุข้อความทวิตเตอร์ยินดีในเรื่องนี้ "ขอแสดงความยินดีกับนักกิจกรรมทั่วโลกที่ช่วยทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้"

เรียบเรียงจาก

Following Push by Human Rights Campaigners, Argentina Calls Off #NotFriendly Soccer Match With Israel, Common Dreams, 06-06-2018

Palestinians welcome Argentina decision to cancel Israel game, Aljazeera, 06-06-2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฉลุยงบ 3 ล้านล้าน สนช.ชมรัฐบาลเสนอเหมาะสม-‘สมชาย’ซัดสื่อเก็บภาพนั่งหลับ

Posted: 07 Jun 2018 08:31 AM PDT

ประยุทธ์ร่ายยาว 2 ชั่วโมงงบรายจ่ายปี 62 วงเงิน 3 ล้านล้าน งบขาดดุล 4 แสนล้าน โวยอย่าจ้องจับผิดขอให้ไว้ใจและอย่าหมิ่น "ตำแหน่งนายก" สื่อจับตากองทุนหมุนเวียน 4 หมื่นล้านไม่มีรายละเอียด ด้านสมาชิก สนช.แห่ชมรัฐบาลจัดงบได้เหมาะสม สมชาย แสวงการ สนช.สายสื่อซัดสื่อถ่ายรูปสมาชิกนั่งหลับ ที่ผ่านมาสิ่งเดียวที่ยังไม่ได้ปฏิรูปคือ สื่อมวลชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อภิปรายเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 กว่า 3 ล้านล้านบาท โดย สนช. ยกมือหนุนท่วมท้น (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

7 มิ.ย.2561 การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอวงเงินงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท และเป็นงบขาดดุล 4 แสนล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 กว่า 1 แสนล้านบาท

แบ่งเป็นรายจ่ายประจำกว่า 2 ล้านล้านบาท งบลงทุน 660,000 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้กว่า 78,000 ล้านบาท หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด คือ กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 489,789 ล้านบาท รองลงมา คือ งบกลาง 468,032 ล้านบาท และกระทรวงมหาดไทย 373,519 ล้านบาท  (อ่านคำแถลงของนายกรัฐมนตรีด้านล่าง)

เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวชี้แจงร่วม 2 ชม.ว่า ร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สอดคล้องแผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 รวมทั้งน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางจัดสรรงบประมาณ

หากจำแนกรายจ่ายตามยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณ แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์ความมั่นคง 329,239 ล้านบาท 2. ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศ 406,496 ล้านบาท 3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 560,884 ล้านบาท 4. ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ 397,581 ล้านบาท 5. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 117,266 ล้านบาท และ 6. ยุทธศาสตร์การปรับสมดุล และพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 838,422 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า งบรายจ่ายที่สูงถึง 3 ล้านล้านบาทนั้น หลายคนกังวลว่าหากงบมากอาจมีการทุจริตมาก ถ้าคิดแบบนี้คงทำอะไรไม่ได้ รัฐบาลนี้ถูกตรวจสอบทุกวัน อย่าให้ใครไปใช้ประโยชน์บิดเบือน การทุจริตไม่ได้อยู่ที่ระบบแต่อยู่ที่คน อย่าโทษระบบแต่เพียงอย่างเดียว ขอให้ใช้สติปัญญาอย่าใช้ความรู้สึก ไม่ใช่ไปจับผิดจนทำอะไรไม่ได้ เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณนั้นขอให้ไว้ใจตน ไม่ได้ให้แบบส่งเดชแบบใครขอมาก็ให้ วันนี้แสดงให้เห็นว่าทุกภาคได้เงินใกล้เคียงกัน ไม่ได้ให้เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวันข้างหน้ารัฐบาลที่ทุกคนคาดหวังจะทำได้แบบนี้ ส่วนการปฏิรูปประเทศ แม้จะทำมาหลายปีก็ยังทะเลาะกันไม่เลิก ไม่มีเหตุผล ไม่มีหลักการ ไม่คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น ทะเลาะแบบปากต่อปากในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นสถานการณ์ที่สร้างความขัดแย้งเป็นปัญหามา 10 ปีแล้วจึงต้องแก้วันนี้ และแก้ให้ได้ก่อนการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามโรดแม็ปที่กำหนด

"ผมก็คือผม ความเป็นมนุษย์สูงหน่อย นายกรัฐมนตรีคือ ตำแหน่ง ดังนั้นจะมาหมิ่นตำแหน่งนายกฯ ไม่ได้ ถ้าจะด่าก็ด่าผมได้ แต่ถ้าผมเป็นนายกฯ อยู่ เวลาด่าผม กรุณาระวังหน่อยแล้วกัน ตำแหน่งนายกฯ เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ ผมอยากรักษาให้ตำแหน่งนี้มีเกียรติ การทำงานไม่ง่าย ถ้าไม่ให้กำลังใจกัน คนดีก็หมด คนไม่ดีก็ออกมาใหม่" นายกฯ กล่าวปิดท้าย โดยใช้เวลาอภิปรายกว่า 2 ชั่วโมง

กองทุนหมุนเวียน คลังขอสูงสุด 4 หมื่นล้าน

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า รายละเอียดที่น่าสนใจในกฎหมายงบประมาณฉบับนี้ คือ มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้สำหรับกองทุนหมุนเวียน ตามมาตรา 34 วงเงิน 42,822 ล้านบาท ซึ่งจัดสรรให้ทั้งหมด 18 กองทุน ใน 13 หน่วยงาน โดยมีกองทุนที่เพิ่มขึ้นใหม่และน่าสนใจ อาทิ กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก วงเงินที่เสนอขอ 4 หมื่นล้านบาท ของกระทรวงการคลังที่แยกเป็นการของบอีกส่วนที่ไม่รวมกับงบดำเนินงานและงบรายจ่ายประจำของหน่วยงานในสังกัด ซึ่งเป็นการเสนอที่สูงที่สุด นอกจากนั้นยังมีกองทุนที่ตั้งไว้สำหรับเกษตรกร ผู้ยากจน ทั้งการพัฒนาเกษตรกร และการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ประมาณ 900 ล้านบาท ของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังมีกองทุนการท่าอากาศยานอู่ตะเภา วงเงิน 199 ล้านบาท ของกระทรวงกลาโหม

ทั้งนี้การเสนอของบประมาณส่วนดังกล่าวไม่มีรายละเอียดระบุไว้ในเอกสารรายละเอียดการเสนอของบประมาณที่เกี่ยวข้องว่าจะนำไปจัดสรรและใช้ในโครงการใดบ้าง ระบุเพียงใช้เพื่อความมั่นคงของยุทธศาสตร์ประเทศที่กำหนดไว้ในแต่ละด้านเท่านั้น

นอกจากนั้นยังมีการเสนอของบประมาณจากหน่วยงานรัฐสภา เพื่อใช้ในกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา 277 ล้านบาท กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง เพื่อใช้สำหรับจัดสรรให้พรรคการเมือง วงเงิน 130 ล้านบาท ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  การเสนอของบประมาณในส่วนของกองทุน วงเงินกว่า 42,822 ล้านบาทนั้นถูกตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายที่จัดทำงบประมาณ และสมาชิกสนช. ว่า เป็นไปเพื่อรองรับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อต่อการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่

สนช.ชื่นชมรัฐบาลตั้งงบเหมาะสม-สมชาย ซัดสื่อถ่ายรูปสมาชิกนั่งหลับ

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานด้วยว่าภายหลังการชี้แจงของนายกรัฐมนตรี สมาชิก สนช.ได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับวงเงิน 3 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลตั้งไว้โดยเห็นว่า พอเหมาะพอดีสอดคล้องกับภารกิจของรัฐบาล ทั้งการผลักดันโครงการไทยแลนด์ 4.0 การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ เสริมสร้างศักยภาพของคนในประเทศ รวมถึงการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ขณะเดียวกัน การชำระคืนเงินกู้กว่า 7.8 หมื่นล้านบาท ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ส่วนการใช้จ่ายงบประมาณ ปี 2561 ฝากไปยังกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการใช้งบปี 2561 ให้ลงสู่ประชาชน และเกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ เพราะยังมีหลายหน่วยงานที่เบิกงบไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช. อภิปรายว่า คสช.พยายามรวมหน้าที่และภารกิจเพื่อบูรณาการการทำงานของส่วนราชการเข้าด้วยกัน แต่อุปสรรคที่สำคัญคือเชิงโครงสร้าง ความเป็นนิติบุคคลของส่วนราชการระดับกรม กระทรวง ที่มีอำนาจหน้าที่เฉพาะ แม้จะทำแผนบูรณาการและมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน แต่การทำงานแยกส่วน ทำให้การขับเคลื่อนในทางปฏิบัติยังมีอุปสรรค เช่น การบริหารจัดการน้ำ หรือ การปราบปรามทุจริต เป็นต้น

ระหว่างที่สมาชิกสนช.การอภิปราย นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) ได้ลุกขึ้นอภิปรายด้วยว่า มีสื่อสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่ภาพดังกล่าว สมาชิกสนช.นั่งหลับหลายรายในระหว่างที่นายกฯ ชี้แจงงบประมาณฯ โดยกล่าว่า ที่ผ่านมามีการบิดเบือนการทำงานของแม่น้ำ 5 สาย นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ภาพ สนช.นั่งหลับทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งตนเห็นว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีสิ่งเดียวที่ไม่เคยปฏิรูป คือ สื่อมวลชน แม้ว่า ส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นสื่อดี แต่ยังมีส่วนหนึ่งยังบิดเบือน สร้างความขัดแย้ง

ทั้งนี้ PPTV ได้เผยแพร่ภาพสมาชิก สนช. นั่งหลับระหว่างการอภิปรายด้วย โดยในโลกอินเทอร์เน็ตมีการทำมีมล้อเลียนเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

ที่มา: PPTV

ที่มา: ไข่แมวX

ที่มา: คาราโอเกะชั้นใต้ดิน

คำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ณ ห้องประชุมรัฐสภา อาคารรัฐสภา 1 ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพฯ วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2561

คำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พุทธศักราช 2561

---------------------------

ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เคารพ

                   คณะรัฐมนตรีขอเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562  โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้
 
 
หลักการ
 
                   ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เป็นจำนวนไม่เกิน  3,000,000,000,000 บาท (สามล้านล้านบาท)
 
 
เหตุผล
 
                   เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ได้มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำหรับใช้เป็นหลัก ในการจ่ายเงินแผ่นดิน
 
ท่านประธานที่เคารพ
               ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันนี้ เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สำหรับคำแถลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้นำเสนอต่อท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นเอกสารแล้ว โดยกระผมขออนุญาตนำเสนอสาระสำคัญโดยสรุป ดังต่อไปนี้
 
ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป
               เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 – 4.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 2559 และร้อยละ 3.9 ในปี 2560 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในปี 2561 อยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศและการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ  0.7 – 1.7 ในขณะที่ ดุลบัญชีเดินสะพัด  คาดว่าจะเกินดุลร้อยละ 8.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
               สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.9 - 4.9  โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนที่มีการขยายตัวสูงขึ้น รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้าง ในขณะที่การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวยังมีการขยายตัวดีตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2562 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง ร้อยละ 0.9 – 1.9 ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 6.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
 
ฐานะและนโยบายการคลัง
               ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,673,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากปีก่อน เมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอน  การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 123,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,550,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
               ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่คณะรัฐมนตรีได้นำเสนอต่อสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ในวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,000,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,550,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 450,000 ล้านบาท
               ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 317,166 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
 
ฐานะและนโยบายการเงิน
               เศรษฐกิจไทยในปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น จากแรงขับเคลื่อนของภาคส่งออกที่ขยายตัวดีและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นเป็นลำดับ  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำ แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นตามการขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 ในการประชุม 2 ครั้งแรกของปี 2561     เพื่อรักษาภาวะการเงินให้อยู่ในระดับผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ
                สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน 2561 มีจำนวน 215,152.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 3.6 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
 
ท่านประธานที่เคารพ              
                ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติฉบับนี้ รัฐบาลได้จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อให้ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และมีความสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล รวมทั้งได้น้อมนำ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ โดยกำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่สำคัญ ดังนี้
               1. จำแนกงบประมาณเป็น 6 กลุ่ม เพื่อแสดงประเภทค่าใช้จ่ายแต่ละกลุ่มงบประมาณให้ชัดเจนและสามารถจัดสรรงบประมาณตามลำดับความสำคัญได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน (Function) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 21 เรื่อง กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area) จำนวน 3 เรื่อง กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และกลุ่มงบกลาง
               2. พิจารณาการใช้จ่ายครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ทั้งเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ และแหล่งเงินอื่น โดยให้นำเงินรายได้และเงินสะสมคงเหลือ มาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
               3. ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน จัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ มีการกระจายตัวอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง และตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชน  มีรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน สมเหตุสมผล โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งสนับสนุนโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วน มีความพร้อมสูง มีความคุ้มค่า ตลอดจนนำผล  การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และ 2561 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงาน
               4. ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ  พ.ศ. 2561 กำหนดไว้เกี่ยวกับการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีครบถ้วนแล้ว
 
สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
ท่านประธานที่เคารพ
                ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอต่อสมาชิกผู้ทรงเกียรติ มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,000,000 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,261,488.7 ล้านบาท  หรือคิดเป็นร้อยละ 75.4  ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 660,305.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 78,205.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.6 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งจะได้เรียนให้ทราบถึงสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยสรุปดังนี้
 
1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย 6 กลุ่มงบประมาณรายจ่าย สรุปได้ดังนี้
 
1. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 1,060,869 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35.4 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของบุคลากรภาครัฐด้วยแล้ว
 2. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน (Function) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวน 764,128.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25.5 ของวงเงินงบประมาณ จำแนกเป็น 2 แผนงานหลัก ประกอบด้วย
          2.1 แผนงานพื้นฐาน จำนวน 311,267.9 ล้านบาท
          2.2 แผนงานยุทธศาสตร์ จำนวน 452,860.9 ล้านบาท
3. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 487,791.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.3 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อดำเนินงานเรื่องสำคัญ จำนวน 21 เรื่อง
4. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 325,600.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.8  ของวงเงินงบประมาณ เพื่อดำเนินงานบูรณาการในระดับพื้นที่ จำนวน 3 เรื่อง  
5. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็น จำนวน 259,609.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 78,205.5 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 181,404.4 ล้านบาท
6. กลุ่มงบกลาง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 102,000  ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง และสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
 
2. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ
                 รัฐบาลได้ริเริ่มการจัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำแนก 6 ด้าน เพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้จัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สอดคล้องตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยได้กำหนดไว้จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง
                รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 329,239.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของวงเงินงบประมาณ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
                รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 406,496 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.5 ของวงเงินงบประมาณ  
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 
               รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 560,884.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.7 ของวงเงินงบประมาณ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเติบโตจากภายใน
               รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 397,581.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.3 ของวงเงินงบประมาณ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
               รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 117,266 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.9 ของวงเงินงบประมาณ   
ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
               รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 838,422.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27.9 ของวงเงินงบประมาณ
รายการค่าดำเนินการภาครัฐ
               รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 350,109.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.7 ของวงเงินงบประมาณ
  
ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ
              กระผมขอสรุปสาระสำคัญของการดำเนินการของรัฐบาล ภายใต้ร่างพระราชบัญญัตินี้ ในบางประเด็นสำคัญ ดังนี้
 
การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ รัฐบาลมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ รักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศควบคู่กับผลประโยชน์ของชาติ และบริหารจัดการภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อำนวยความปลอดภัยและเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ   ความมั่นคงทางไซเบอร์ การก่อการร้าย และภัยคุกคามทุกรูปแบบ โดยให้มีระบบการกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่ไม่มีสถานภาพ เสริมสร้างประสิทธิภาพงานด้านข่าวกรองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ป้องกันการตกเป็นเหยื่อ การค้ามนุษย์ ไม่น้อยกว่า 1.1 ล้านคน คุ้มครองช่วยเหลือและฝึกอาชีพแก่เหยื่อผู้เสียหาย จากขบวนการค้ามนุษย์เพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมอย่างปลอดภัย
               การแก้ไขปัญหาและลดจำนวนเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มุ่งเน้นการดำเนินงานในมิติด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนา และด้านการสร้างความเข้าใจ ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม มุ่งเน้นงานการข่าวและการมี ส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่พึ่งพาตนเองได้ด้วยหลักประชารัฐ ส่งเสริมโอกาสและมาตรฐานในการศึกษา การประกอบอาชีพเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ครัวเรือน รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ความไม่สงบ
 
การเกษตร ผลักดันให้การผลิตภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ที่ผ่านมา  ในปีการผลิต 2556/57 ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตรสุทธิ 48,500 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 58,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และจะยกระดับรายได้เงินสดทางการเกษตรสุทธิในปีการผลิต 2561/62 เป็น 61,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ผ่านนโยบายและมาตรการของรัฐบาลที่ริเริ่มขึ้นหรือดำเนินการต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmers) เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 100,000 ราย ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรสู่เกษตรสมัยใหม่ 4.0 ส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ ไม่น้อยกว่า 4,600 แปลง ปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ไม่น้อยกว่า 220,000 ไร่ และส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 700,000 ไร่
 
อุตสาหกรรม สร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ ยกระดับผลิตภาพและเพิ่มประสิทธิภาพของสถานประกอบการ แรงงาน ผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotic Excellence : CORE) สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง "CLMV" เพื่อยกระดับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมศักยภาพ พัฒนาและส่งเสริม SME โดยปรับปรุงข้อมูล พัฒนาผู้ให้บริการ  แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และขับเคลื่อนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและบริการดิจิทัล โดยจัดให้มีการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน 10,000 ชุมชน พัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0
               พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น สนับสนุนการจัดระบบแรงงานต่างด้าวแบบไป-กลับ และระบบการจัดการด้านความมั่นคงตรวจคนเข้าเมืองที่ได้มาตรฐาน จัดกิจกรรมการค้าชายแดน บริการออกใบอนุญาตทำงานในศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จด้านแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศ ที่ขับเคลื่อนและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มศักยภาพ
               รัฐบาลได้ริเริ่มการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้ขับเคลื่อนต่อเนื่องในทุกด้าน เพิ่มมูลค่า การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จัดตั้งสถาบันไอโอทีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการให้กับนักลงทุน พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่ง ทั้ง ทางถนน ทางราง สร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา ปรับปรุงทางเข้าท่าเรือจุกเสม็ด และศึกษาความเหมาะสมรถไฟทางคู่ สายชุมทางศรีราชา – ระยองและมาบตาพุด – จันทบุรี - คลองใหญ่ ทางน้ำ ปรับปรุงร่องน้ำและบริเวณพื้นที่จอดเรือท่าเรือจุกเสม็ด และท่าเทียบเรือน้ำมันเพื่อเป็น ท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ พัฒนาพื้นที่ธุรกิจและบริการเชื่อมต่อพื้นที่ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่  และท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณเกาะจระเข้ ทางอากาศ พัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา และในด้านอื่น ๆ อาทิ การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปารองรับความต้องการของภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม และจัดทำระบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมและเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
 
การท่องเที่ยวและบริการ เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรมให้มีมูลค่า ไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาท สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับนานาชาติจากทุกภาคส่วน สนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพระดับโลกและมหกรรมกีฬานานาชาติ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทย ยกระดับสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน พัฒนาและขยายแหล่งท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการสร้างแบรนด์การค้าประเทศไทยสู่ประเทศไทย 4.0 พัฒนาช่องทางการตลาดหลายรูปแบบ สร้างความเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศในอาเซียน พัฒนาและส่งเสริมครัวไทยสู่ครัวโลก
 
เพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ สนับสนุนการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง ให้โครงข่ายคมนาคมมีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ จาก 1.876 ล้านล้านบาท  ในปี 2557 เป็น 1.913 ล้านล้านบาท ในปี 2558 และจะเป็น 1.640 ล้านล้านบาทในปี 2564  ด้วยการเชื่อมโยงจากถนนสู่ทางราง    ทางน้ำ และทางอากาศให้ทั่วถึง ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า สนับสนุนการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ และพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะทางราง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางอากาศด้วยการติดตั้งระบบจัดการรักษาความปลอดภัยพื้นที่การบินตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการและผู้ประกอบการ อำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยระบบ National Single Window (NSW) ที่ช่วยลดเวลาการนำเข้า – ส่งออก
 
การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมตามโปรแกรมยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ซึ่งเป็นโปรแกรมวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมสูง รวมทั้งส่งเสริมการจัดการและการถ่ายทอดองค์ความรู้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
 
การศึกษา สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยพัฒนาคุณภาพและเตรียมความพร้อมให้กับเด็กปฐมวัย จำนวน 980,900 คน   เด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาไม่น้อยกว่า 829,600 คน  การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี แก่ประชากรวัยเรียน รวมถึงเด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาในทุกสังกัด ไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน สนับสนุนการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้แก่โรงเรียน ส่งเสริมการจัดการศึกษาทางไกลไม่น้อยกว่า 30,400 โรง พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนประชารัฐ ไม่น้อยกว่า 4,500 โรง สนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับเด็ก เยาวชน และครู ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์  หรือมีความสามารถพิเศษในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ปริญญาตรี ถึงปริญญาเอก     ทั้งในและต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 10,600 คน ส่งเสริมสถานศึกษาอาชีวศึกษาให้จัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วม ไม่น้อยกว่า 46,100 แห่ง สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นปราชญ์แห่งการพัฒนาท้องถิ่น สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ ทัศนคติที่ดี และมีอาชีพที่มั่นคง ยกระดับผลสัมฤทธิ์การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net) ในทุกระดับ ครูผู้สอน 50,000 คน  ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกสังกัดได้รับการพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์และศิลปศาสตร์ (STEM & STEAM Education) จัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) 58,461 คน สร้างความร่วมมือการพัฒนาทักษะวิชาชีพผ่านประสบการณ์ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานหรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อตอบสนองภาคการผลิตและบริการใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก (New Engine of Growth) จำนวน 2,500 คน ผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จำนวน 5,337 คน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างให้คนไทยมีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ความมีวินัย จิตสาธารณะ จิตสำนึกและค่านิยมที่ดีงาม โดยนำหลักธรรมทางศาสนาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต
 
การสาธารณสุข ระบบประกันสุขภาพมีคุณภาพ ทั่วถึง เท่าเทียม และครอบคลุมกลุ่มประชากรไทยประมาณ 66 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.95 ของประชากรทั้งประเทศ โดยอยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 48.6 ล้านคน ระบบประกันสังคม 12.7 ล้านคน และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 4.5 ล้านคน สำหรับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านเป้าหมายและอัตราค่าใช้จ่ายของผู้รับบริการทั้งกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดี โดยให้บริการสุขภาพ        แก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงผู้ป่วยติดเชื้อ เอช.ไอ.วี และผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง การบริการสาธารณสุขเพื่อควบคุมความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และขยายผลการให้บริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัวที่ได้ริเริ่มขึ้น รวมทั้งให้บริการทางการแพทย์สำหรับบุคคลที่ปัญหาสถานะสิทธิ ไม่น้อยกว่า 570,000 คน จัดสรรเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ ไม่น้อยกว่า 387,600 คน  ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนและวิกฤต สามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนนอกเครือข่ายได้ทุกแห่ง ภายใต้นโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินของรัฐบาลทั้งกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน สนับสนุนการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านครั้ง เพิ่มประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพบริการ โดยพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์หลัก/กลาง ในเรื่องนโยบายสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยสนับสนุนให้สามารถขึ้นทะเบียนสัตว์และฉีดวัคซีนได้ไม่น้อยกว่า 12 ล้านตัว
 
สวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจฐานราก ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินงานโครงการไทยนิยมยั่งยืน ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สำหรับงบประมาณ 2562 มุ่งขยายผลด้านการพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ ลดหนี้สิน โดยวางแนวทางการพัฒนาส่งเสริมอาชีพสำหรับประชาชน ไม่น้อยกว่า 280,000 ครัวเรือน บริหารแผนชุมชนระดับตำบล จำนวน 6,766 ตำบล พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 7,600 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาผู้ประกอบการชุมชน จำนวน 3,800 กลุ่ม ส่งผลให้ปัญหาหนี้สินลดลง ในขณะที่ศูนย์ดำรงธรรมในระดับจังหวัด 76 จังหวัด และอำเภอ 878 อำเภอ จะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ประโยชน์และความพึงพอใจ ผ่านการรับเรื่องราวร้องทุกข์ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การบริการข้อมูลข่าวสารทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง จำนวนเป้าหมายเรื่องเข้าสู่กระบวนการ 2,350,000 เรื่อง และมีการแก้ไขปัญหาและยุติเรื่องได้ จำนวน 1,880,000 เรื่อง สร้างความมั่นคงทางการเงินแก่ผู้มีรายได้น้อยตามแนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการ ไม่น้อยกว่า 11.4 ล้านคน วงเงิน 40,000 ล้านบาทอย่างต่อเนื่อง
                  พัฒนาศักยภาพของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการพัฒนาศักยภาพด้านการสร้างครอบครัวเข้มแข็ง ไม่น้อยกว่า 112,000 คน ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว 40,000 คน ส่งเสริมสนับสนุนให้ครอบครัวเข้าถึงการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อนำไปสู่การสร้างหลักประกันความมั่นคงของครอบครัวที่ครอบคลุมในทุกมิติ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน ราษฎรบนพื้นที่สูง และสมาชิกนิคมสร้างตนเอง ไม่น้อยกว่า 298,200 คน ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีและลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม ไม่น้อยกว่า 1,246,700 คน คุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ไม่น้อยกว่า 5,900 คน สนับสนุนการพัฒนาและสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่ประชาชนจัดตั้งขึ้น ไม่น้อยกว่า 1,150,000 คน  แก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและสิทธิในที่ดินเป็นของตนเองเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 18,000 ครัวเรือน สนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมีที่อยู่อาศัย ไม่น้อยกว่า 21,700 ครัวเรือน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและสนับสนุนการจัดหาที่ดินทำกินให้กับประชาชนผู้ยากไร้
 
การพัฒนาตลอดช่วงอายุ กลุ่มเด็กแรกเกิดและปฐมวัย มีการเตรียมความพร้อมครอบครัว  ก่อนมีบุตร สนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิดจนถึง 3 ปี ในครอบครัวยากจน ไม่น้อยกว่า 463,800 คน   กลุ่มเด็กนักเรียนได้รับการสนับสนุนอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) ไม่น้อยกว่า 6  ล้านคน กลุ่มแรงงานได้รับการส่งเสริมและการจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ ไม่น้อยกว่า 16,200 แห่ง และได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม ไม่น้อยกว่า 15 ล้านคน ต่างด้าวเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่น้อยกว่า 943,600 คน จัดทำประวัติและออกบัตรประจำตัวแก่บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย 133,000 คน กลุ่มผู้สูงอายุ สนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 9.10 ล้านคน    มีการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบาก 15,000 คน และค่าใช้จ่ายจัดงานศพ ผู้สูงอายุตามประเพณี ไม่น้อยกว่า 12,600 คน  เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุให้กับประชาชน 121,800 คน ส่งเสริมให้มีการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ ไม่น้อยกว่า 700,000 คน สนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น ไม้เท้าช่วยเดิน หุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย/ผู้พิการ จากระบบประสาทส่วนกลางในผู้สูงอายุ และการดูแลสุขภาพช่องปาก จำนวน 205,700 คน พัฒนาอาสาสมัครในการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งจัดให้มีศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ  มีมาตรฐานและครบวงจร เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพและการคุ้มครองทางสังคม 118,000 คน  และได้เริ่มดำเนินโครงการศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ  เพื่อให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศในการศึกษาอบรมด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแบบสหวิชาชีพ เป็นศูนย์กลางในการผลิตงานวิชาการด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนทุกวัยเพื่อให้มีสุขภาวะที่ดี ไม่น้อยกว่า 3,700 แห่ง
                 สนับสนุนเบี้ยยังชีพความพิการ ไม่น้อยกว่า 1.98 ล้านคน ส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพให้กับคนพิการที่ต้องการทำงาน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ 
 
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้   มีแนวโน้มดีขึ้น สนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ในพื้นที่เป้าหมายเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 55,000 ไร่ จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือเฝ้าระวังทรัพยากรป่าไม้ สร้างจิตสำนึกประชาชน ในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการสร้างป่าไม้ชุมชน การปลูกป่าเศรษฐกิจ   ไม่น้อยกว่า 27,000 ไร่ ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐทั้งในเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติแบบบูรณาการ ไม่น้อยกว่า 14,500 ระวาง การจัดเตรียมร่างประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 12 พื้นที่ ฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง จัดหาและกำหนดแหล่งทางทรัพยากรธรณีที่สำคัญของประเทศ บริหารจัดการข้อมูลที่ดินบนแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ตลอดจนจัดทำผังเมือง เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน   และรองรับการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลดการเกิดขยะมูลฝอยที่ต้นทางและการนำขยะไปใช้ประโยชน์เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการการจัดเก็บ ขนส่ง การกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ของเสียอันตราย  มูลฝอยติดเชื้อและกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายให้ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง  ไม่น้อยกว่า 19.3 ล้านตัน ส่งเสริมให้มีระบบการกำจัดขยะมูลฝอยและการบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้น 24 แห่ง และบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ ตลอดจนควบคุมคุณภาพอากาศในพื้นที่วิกฤตและเขตควบคุมมลพิษให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ตลอดจนพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเมืองที่เป็นมิตร     กับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
 
ทรัพยากรน้ำ มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพและยั่งยืน   โดยการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน จาก 30.3 ล้านไร่ในปี 2557 เป็น 33.1 ล้านไร่ ในปี 2561 สำหรับในปี 2562 จะขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 272,400 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 3.5 ล้านคน ขยายเขตระบบประปาให้ทุกหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคและบริโภค และประชาชนเข้าถึงระบบประปาเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 362,300 ครัวเรือน โรงเรียนมีระบบน้ำดื่มสะอาดเพิ่มขึ้น 519 แห่ง และขยายเขตระบบประปาเมือง ก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน 1,197 แห่ง และปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านให้มีมาตรฐาน จัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับภาคเกษตรและอุตสาหกรรม อนุรักษ์ ฟื้นฟู เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ 345 แห่ง ปฏิบัติการฝนหลวง 230 ล้านไร่ เชื่อมโยงระบบเครือข่าย/ลุ่มน้ำ และก่อสร้างระบบกระจายน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนไปยังพื้นที่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 709,000 ไร่ ลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และพื้นที่การเกษตร ไม่น้อยกว่า 418,000 ไร่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 24 ร่องน้ำ และป้องกันตลิ่ง 106,900 เมตร พื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมได้รับการฟื้นฟูระบบนิเวศ 60,000 ไร่ ควบคุมคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศอยู่ในระดับดีขึ้น ป้องกันระดับความเค็มของดินไม่เกินมาตรฐานของการเกษตร ตลอดจนพัฒนาระบบฐานข้อมูลการบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างสมดุลทั้ง 25 ลุ่มน้ำ
 
พลังงาน มีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น โดยส่งเสริมการจัดหาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน สร้างความร่วมมือ ด้านพลังงานทั้งในและต่างประเทศ      สร้างเครือข่ายสนับสนุนการจัดหาพลังงานในพื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกและอ่าวไทย ตลอดจนขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปพลังงาน เพื่อสร้างการบริหารกิจการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และวางรากฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านไฟฟ้า ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในทุกรูปแบบ  ด้วยการกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตพลังงานทดแทน จัดทำมาตรฐานเชื้อเพลิง ชีวมวลที่มีคุณภาพเหมาะสมกับเทคโนโลยี พัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่ง และส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มมากขึ้น ไม่น้อยกว่า 550 แห่ง
 
ด้านบริหารจัดการในระดับพื้นที่ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เงินอุดหนุนแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,852 แห่ง วงเงินงบประมาณ 276,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 12,978 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.9 เพื่อให้ประชาชน จำนวน 28.58 ล้านคน ได้รับการบริการสาธารณะในด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง
               การจัดสรรงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่ ตั้งแต่ระดับภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2562 จะมีความแตกต่างจากที่ผ่านมาซึ่งยังขาดความชัดเจนในทิศทางและเป้าหมายในการพัฒนามีการดำเนินงานแบบแยกส่วน ส่งผลให้การกระจายงบประมาณในระดับพื้นที่เกิดปัญหาไม่เป็นธรรม  ไม่ตอบสนองต่อสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ มีการกระจุกตัวของงบประมาณในบางพื้นที่ การพัฒนาพื้นที่ขาดความต่อเนื่อง ขาดความเชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาระดับชาติ ได้เพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ซึ่งเดิมจะได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปีละ 18,000 ล้านบาท เป็นปีละกว่า 20,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนงบประมาณตั้งแต่  ปี 2558 – 2562 เป็นจำนวน 279,335.7 ล้านบาท โดยเป็นของกลุ่มจังหวัด 90,929.4 ล้านบาท และจังหวัด 188,406.3 ล้านบาท
               ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยยกระดับเป็นการบูรณาการระดับภาคเป็นครั้งแรก  ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกลไก การบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ จากเดิมที่มีเฉพาะกลไกระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด     ได้เพิ่มกลไกระดับภาคเพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาระดับพื้นที่ตั้งแต่หมู่บ้าน/ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด ไปยังระดับภาค โดยใช้ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมีการกำหนดยุทธศาสตร์ระดับภาคเป็นครั้งแรก เป็นกรอบในการจัดทำแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ระดับต่าง ๆ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 ดังนั้น การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีมิติพื้นที่ ทั้งระดับภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงมีความชัดเจน ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมในการกระจายงบประมาณเพื่อการพัฒนาตามศักยภาพและทิศทางการพัฒนาพื้นที่ที่ชัดเจน โดยในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ฉบับนี้   ได้จัดสรรเพิ่มเติมอีก 20,799.3 ล้านบาท
               และเมื่อพิจารณาด้านการลงทุนสู่ภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะพบว่าได้กระจายการจัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 411,552.3 ล้านบาท ลงสู่พื้นที่ตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นรายภาค 6 ภาค ปรากฏสัดส่วนดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 27.5 (113,479.6 ล้านบาท) ได้แก่
- ออกแบบ/พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 
- บริหารจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย
- จัดระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการให้เพียงพอและมีคุณภาพ
- ส่งเสริมบุคลากร เรียนรู้นวัตกรรม เพื่อพัฒนาด้านสินค้า/พัฒนา OTOP   
 
ภาคใต้ ร้อยละ 13.8 (56,802.3 ล้านบาท) ได้แก่
- พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพียงพอและมีมาตรฐาน
- พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่มีศักยภาพ
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว
- พัฒนาเมืองภูเก็ต เมืองหาดใหญ่ และเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคใต้เป็นเมืองน่าอยู่และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
- ป้องกันทรัพยากรและรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ
 
ภาคเหนือ ร้อยละ 19 (78,144.4 ล้านบาท) ได้แก่
- พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อารยธรรมล้านนา และกลุ่มชาติพันธุ์
- พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก และธรรมชาติ
- พัฒนาระบบดูแลและยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุข
- อนุรักษ์และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   
 
ภาคกลาง ร้อยละ 23 (94,562 ล้านบาท) ได้แก่
- โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครและเมืองปริมณฑล
- สนับสนุนการรวบรวม ขนส่ง และจัดจำหน่ายผลผลิตการเกษตร
- พัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐาน
- ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ
 
ภาคตะวันออก ร้อยละ 13.3 (54,658.1 ล้านบาท) ได้แก่
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองสำคัญและเมืองน่าอยู่ภาคตะวันออก
- ส่งเสริมการตลาดผลไม้ภาคตะวันออก
- อนุรักษ์และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก
 
ภาคใต้ชายแดน ร้อยละ 3.4 (13,905.9 ล้านบาท) ได้แก่
- พัฒนาและส่งเสริมโครงข่ายคมนาคม
- เพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร
-เพิ่มศักยภาพช่องทางการตลาดเพื่อการท่องเที่ยว
- โครงการส่งเสริมการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนทุกช่วงวัย
ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนประชากร พื้นที่ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลในแต่ละภาคอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจระดับภาคเติบโตตามศักยภาพ ประชาชนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตดีขึ้น
 
ท่านประธานที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ
               สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2562 ตามที่รัฐบาลได้แถลงมานั้น เป็นเพียงส่วนสำคัญที่ควรนำมาแถลงให้ทราบ สำหรับรายละเอียดปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณที่ได้นำเสนอต่อท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านแล้ว จากที่กล่าวมารัฐบาลเชื่อมั่นว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่นำเสนอนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงเจตนาอันแน่วแน่ของรัฐบาลในการใช้จ่ายงบประมาณ  เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูปประเทศ แก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญทุกภาคส่วนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ให้สามารถพึ่งตนเอง และเกิดความยั่งยืนในการพัฒนาปประเทศ   บนพื้นฐานของความพอเพียงในระยะยาว และสามารถแข่งขัน ในเวทีโลกได้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบูรณาการเชิงพื้นที่โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่  เป็นลำดับแรก
               กระผมจึงหวังว่าท่านประธานและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติจะให้การสนับสนุนและรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อจะได้ยึดถือเป็นหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานหญิงเผชิญการล่วงละเมิด-รังแกในโรงงาน แบรนด์ดัง GAP H&M เร่งตรวจสอบ

Posted: 07 Jun 2018 08:17 AM PDT

รายงานองค์กรสิทธิแรงงานนำเสนอ 540 กรณีละเมิดสิทธิแรงงานหญิงในโรงงานผลิตเสื้อผ้าชั้นนำอย่าง Gap และ H&M ที่ตั้งอยู่หลายประเทศในเอเชีย ทั้งการด่าว่า ทำร้ายร่างกาย สร้างบรรยากาศเอื้อการล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ องค์กรระหว่างประเทศและบริษัทกำลังตรวจสอบ-แก้ปัญหา

7 มิ.ย. 2561 สื่อเดอะการ์เดียนอ้างอิงรายงานสองฉบับขององค์กรสิทธิแรงงาน โกลบอล เลเบอร์ จัสติส (Global Labor Justice) ที่ระบุถึงปัญหาที่เกิดกับแรงงานมากกว่า 540 ชีวิตในโรงงานอุตสาหกรรมของบรรษัทเสื้อผ้าแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Gap และ H&M รวมถึงปัญหาความรุนแรงที่มีสาเหตุพื้นฐานจากเรื่องเพศสภาพ (gender-based violence) ด้วย

ในรายงานเหล่านี้มีการรวบรวมข้อมูลจากปากคำของแรงงานในหลายประเทศแถบเอเชียไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา, อินโดนีเซีย, บังกลาเทศ, อินเดีย และศรีลังกา ในช่วงเดือน ม.ค. ถึง พ.ค. 2561 โดยมีการนำรายงานนี้ไปหารือในที่ประชุมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อแก้ปัญหาการข่มเหงรังแกในที่ทำงาน ทำให้มีการกดดันเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนสภาพการทำงาน

โตลา เมือน ประธานองค์กรเซนทรัลแคมโบเดียที่ร่วมวิจัยในเรื่องนี้บอกว่าแรงงานหญิงที่ทำงานในภาคส่วนเสื้อผ้า-สิ่งทอ ต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดอยู่ทุกวันและกรณีส่วนใหญ่ไม่ได้รับรายงานเพราะว่าผู้ถูกล่วงละเมิดกลัวการแก้แค้นในที่ทำงาน โดยแรงงานเหล่านี้ทำงานให้กับบรรษัทเสื้อผ้าอย่าง Gap และ H&M

ทางบรรษัท Gap และ H&M ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเดอะการ์เดียนว่าพวกเขาจะสืบสวนต่อกรณีข้อกล่าวหาเหล่านี้้และยินดีที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นรวมถึงปฏิบัติตามอนุสัญญาของ ILO

เจนนิเฟอร์ โรเซนบาม ประธานองค์กรโกลบอลเลเบอร์จัสติสสาขาสหรัฐฯ กล่าวว่าปัญหาความรุนแรงที่มีพื้นฐานจากเรื่องเพศสภาพนั้นมาจากโครงสร้างของระบบห่วงโซ่อุปทานโลก บรรษัทอย่าง H&M และ Gap ต่างก็จัดการโครงสร้างระบบในแบบที่ทำให้เกิดเป้าหมายการผลิตล้นเกินอย่างไม่สมเหตุสมผล สัญญารับเหมาที่มีมูลค่าต่ำเกินไปจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างหญิงถูกขูดรีดให้ต้องทำงานล่วงเวลาแบบไม่ได้รับค่าจ้างและต้องทำงานอย่างรวดเร็วมากภายใต้การกดดันอย่างรุนแรง

โรเซนบามบอกอีกว่าทั้งสหภาพแรงงานหลายสหภาพและรัฐบาลจำนวนมากก็เล็งเห็นว่าอนุสัญญาของ ILO ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงบนพื้นฐานเรื่องเพศสภาพถือเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าจะยังมีนายจ้างบางคนที่ต่อต้านเรื่องนี้

ในช่วงวันที่ 28 พ.ค. - 8 มิ.ย. 2561 ILO มีการประชุมหารือเพื่อวางมาตรฐานนานาชาติเรื่องความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโลกของการทำงาน รวมถึงความรุนแรงที่มีพื้นฐานมาจากเรื่องเพศสภาพด้วย ในการประชุมหารือครั้งนี้มีทั้งรัฐบาลและผู้นำสหภาพแรงงานหลายองค์กรเข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานภาคธุรกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างมาตรฐานระดับโลกในการคุ้มครองแรงงานโดยเฉพาะแรงงานหญิงในทุกภาคส่วน รายงานของโกลบอลเลเบอร์จัสติสก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมดังกล่าวนี้เพื่อเน้นพูดถึงแรงงานค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นผู้หญิง

รายงานของโกลบอลเลเบอร์จัสติสยังระบุถึงกรณีของแรงงาน H&M 235 ชีวิตในอินเดียที่มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงทั้งทางวาจาและทางกาย แรงงานสิ่งทอหญิงคนหนึ่งกล่าวว่ามีคนดึงผมเธอมาชกแล้วด่าทอเพศสภาพกับชนชั้นวรรณะของเธอ แรงงานหญิงอีกรายหนึ่งเล่าว่าหัวหน้างานเธอทุบตีทำร้ายเธอเพราะเธอผลิตออกมาไม่ได้ตามเป้าหมาย โดยการที่เธอถูกดึงออกจากเก่าอี้จักรเย็บผ้าที่เธอทำงานอยู่แล้วทุบตีตัวเธอรวมถึงที่หน้าอกรวมถึงผลักเธอลงกับพื้นแแล้วเตะเธอ

ในโรงงานผู้ผลิตให้ H&M ในศรีลังกาก็มีผู้หญิงเล่าว่าเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยคนควบคุมเครื่องจักร เมื่อเธอตะโกนตอบโต้ เขาก็แก้แค้นเธอด้วยการแกล้งทำให้เครื่องจักรไม่ทำงาน หรือแกล้งไม่ยอมมาซ่อมเครื่องจักรตามเวลา ทำให้พวกเธอถูกหัวหน้างานตะคอกต่อว่าเพราะพวกเธอไม่สามารถทำยอดงานได้ตามเป้าหมาย

ในอินโดนีเซีย พนักงานหญิงผู้ทำงานในสายการผลิตให้กับ Gap ก็กล่าวว่าเธอถูกด่าว่าโง่ทุกวันและถูกเยาะเย้ยและถูกขู่เลิกจ้างเพราะเธอทำงานได้ไม่เร็วพอ บางครั้งการข่มขู่ก็ทำไปในแบบที่ไม่ได้แตะเนื้อต้องตัวโดยตรงแบบที่จะเป็นหลักฐานให้ตำรวจได้แต่ก็เป็นไปในลักษณะใช้ความรุนแรง เช่นการขว้างปาวัตถุดิบ หรือการเตะเก้าอี้ที่พวกเธอทำงาน

เดบบี เคาล์เตอร์ จากองค์กรมาตรฐานจริยธรรมพื้นฐานทางการค้า (Ethical Trading Initiative หรือ ETI) ที่ทั้ง H&M และ Gap เป็นสมาชิกกล่าวว่า ข้อกล่าวหาต่อบรรษัทเหล่านี้ทำให้รู้สึกน่าเป็นห่วงเพราะความรุนแรงจากสาเหตุพื้นฐานทางเพศสภาพไม่ใช่สิ่งที่จะยอมรับได้ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ตาม แบรนด์เหล่านี้ควรจะให้การคุ้มครองคนงานในห่วงโซ่การผลิตของพวกเขาเอง รวมถึงควรมีการตรวจสอบการกระทำผิดที่เกิดขึ้นและเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งสองแบรนด์นี้ระบุว่าพวกเขายอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นน่าเป็นห่วงจริงและจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ โดยที่ H&M ระบุในอีเมลตอบกลับเดอะการ์เดียนว่าพวกเขาไม่ยอมรับการข่มเหงรังแกและล่วงละเมิดทุกรูปแบบ และความรุนแรงต่อผู้หญิงถือเป็นหนึ่งในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความรุนแรงที่มีพื้นฐานจากเรื่องเพศสภาพทำร้ายผู้หญิงทั้งในทางสุขภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความปลอดภัย H&M ระบุว่าพวกเขาจะดำเนินการตามสิ่งที่หารือในที่ประชุม ILO เพื่อตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ในระดับโรงงานท้องถิ่นต่างๆ

ส่วน Gap ระบุว่าพวกเขาจะตรวจสอบเรื่องเหล่านี้เช่นกันเพื่อให้แน่ใจว่างานผลิตเสื้อผ้าของพวกเขามีสภาพการจ้างงานที่ปลอดภัยและมีการเคารพต่อคนงาน พวกเขายอมรับว่าความรุนแรงที่มีพื้นฐานจากเรื่องเพศสภาพที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและจะมีการลงมือแก้ไขปัญหาทันทีถ้าพบว่าภาคห่วงโซ่การผลิตของพวกเขามีการกีดกันหรือข่มเหงรังแกคนงานในเรื่องนี้

 

เรียบเรียงจาก

Abuse is daily reality for female garment workers for Gap and H&M, says report, The Guardian, 05-06-2018

 

รายงานของ Global Labor Justice

https://www.globallaborjustice.org/handm/

https://www.globallaborjustice.org/gap/

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฉายออนไลน์ครั้งแรก "MISSÄ MARJAT" ตีแผ่ชีวิตคนไทยเก็บเบอร์รีฟินแลนด์

Posted: 07 Jun 2018 07:15 AM PDT

ฉายออนไลน์แล้ววันนี้! "MISSÄ MARJAT" หรือ "เบอร์รีอยู่ไหน?" สารคดีตีแผ่ชีวิตและการต่อสู้ของแรงงานไทยที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์ แล้วถูกเอารัดเอาเปรียบจนต้องลุกขึ้นสู้ทุกทาง เผยแพร่เป็นครั้งแรกในช่องทางออนไลน์ โดยเวอร์ชันก่อนหน้านี้เคยฉายตามมหาวิทยาลัยที่เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และรัฐสภาฟินแลนด์มาแล้ว

"MISSÄ_MARJAT" สารคดีตีแผ่ชีวิตและการต่อสู้ของแรงงานไทย 50 คน ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์ แล้วถูกเอารัดเอาเปรียบ เผยแพร่เป็นครั้งแรกในช่องทางออนไลน์ [คลิกเพื่อรับชมสารคดี]

สารคดี  "MISSÄ_MARJAT" ฉบับเผยแพร่ออนไลน์ (ที่มา: YouTube/Act4Dem)

สารคดีดังกล่าวซึ่งมีผู้กำกับคือ "จรรยา ยิ้มประเสริฐ" นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานและประชาธิปไตย ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ประเทศฟินแลนด์ เผยแพร่เรื่องราวของการต่อสู้ของคนงานไทย 50 คน ที่ถูกบริษัทนายหน้าพามาเก็บเบอร์รีป่าที่ฟินแลนด์ในปี 2556

อย่างไรก็ตามเมื่อพวกเขาเผชิญกับสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายแรงงานไม่ให้ความคุ้มครองพวกเขา การฟ้องร้องข้อหาถูกค้ามนุษย์ของพวกเขาถูกปฏิเสธ ทำให้พวกเขาต้องกลับบ้านเช่นเดียวกับคนงานที่ผ่านมาจำนวนมาก เพื่อไปเผชิญหน้ากับภาวะสูญญากาศของความยุติธรรมในประเทศไทย และไม่ว่าจะอย่างไรพวกเขาไม่ยอมแพ้ พวกเขายังตั้งมั่นในหัวใจว่าจะต้องต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพื่อหยุดยั้งขบวนการค้าทาสคนงานหลายพันคน ที่ถูกชักชวนมาเก็บเบอร์รีป่าที่ฟินแลนด์

โดยสารคดี "MISSÄ MARJAT" นำเสนอ 3 ภาษาคือภาษาไทย ภาษาฟินน์ และภาษาอังกฤษ ความยาว 50 นาที สำหรับสารคดีเวอร์ชันนี้เป็นเวอร์ชันตัดต่อและปรับปรุงใหม่ล่าสุดโดยผู้กำกับ โดยก่อนหน้านี้สารคดีดังกล่าวเคยนำไปฉายให้คนงานไทยที่เกาหลีใต้เมื่อปี 2559 ที่ Sungkonghoe University กรุงโซล ฉายที่ Harvard University, Colby College and Siena College ที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนมีนาคม 2560 และฉายที่รัฐสภาฟินแลนด์เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2560

ตัวอย่างภาพยนต์สารคดี "MISSÄ MARJAT"

50 คนงานเก็บเบอร์รีชาวไทยที่แคมป์ Saarijarvi ประเทศฟินแลนด์เมื่อเดือนกันยายนปี 2556 ตัดสินใจฟ้องบริษัทเก็บเบอร์รี Ber-ex หลังประสบสภาพการจ้างงานย่ำแย่และถูกบริษัทกดดันให้เดินทางกลับประเทศก่อนกำหนด (แฟ้มภาพ)

ภาพเมื่อเดือนกันยายนปี 2556 บริษัทเก็บเบอร์รีแจ้งตำรวจให้มาไล่คนงานออกจากแคมป์ที่พัก แต่เมื่อตำรวจมาถึงได้แจ้งคนงานเก็บเบอร์รีว่าไม่สามารถบังคับให้คนงานออกจากแคมป์ได้ คนงานต้องออกด้วยความสมัครใจ โดยหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คนงานเก็บเบอร์รีกลุ่มนี้ตัดสินใจฟ้องร้องคดีต่อบริษัท Ber-ex (แฟ้มภาพ)

ทั้งนี้ทุกๆ ปีในประเทศไทยจะมีบริษัทค้าแรงงานจัดหาเกษตรกร 3,000 คน เดินทางไปเก็บเบอร์รี่ป่าที่ฟินแลนด์ โดยพวกเขาต้องเสียจ่ายค่าใช้จ่ายทุกอย่างในการทำงาน 70 วันที่ฟินแลนด์ ครอบครัวของพวกเขาต้องหาทุกช่องทางเพื่อกู้เงินเป็นค่าใช้จ่ายถึง 160,000 บาท โดยส่วนมากเป็นเงินกู้นอกระบบ โดยคนงานที่ถูกพันธนาการด้วยหนี้เหล่านี้ ต้องเก็บเบอร์รีป่าอย่างน้อย 4,000 กิโลกรัม ให้กับอุตสาหกรรมเบอร์รี่ป่า เพื่อที่จะให้เหลือเงินเก็บกลับบ้าน

สำหรับรูปแบบการทำงานกับบริษัทเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์ จะไม่ใช่การจ่ายค่าจ้างประจำ แต่เป็นการใช้แรงงานตัวเองเก็บเบอร์รีให้ได้มากที่สุดในแต่ละวัน แล้วนำมาชั่งน้ำหนักขายกับบริษัท โดยผลไม้ป่าประเภทเบอร์รีในฟินแลนด์ที่นิยมเก็บมี 2 ชนิดหลักคือ ลิงงอนเบอร์รี (lingonberry) หรือที่คนเก็บเบอร์รีนิยมเรียกว่า "หมากแดง" และบลูเบอร์รี (blueberry) ที่คนเก็บเบอร์รีเรียกว่า "หมากดำ" โดยพืชทั้ง 2 ชนิดจะขึ้นเป็นพุ่มเรี่ยดิน คนงานจะต้องก้มตัวอยู่ตลอดเวลาในการเก็บผลไม้ และแบกน้ำหนักผลไม้ที่เก็บได้หลายกิโลกรัมเดินเข้าไปในป่า เนินเขา หรือพื้นที่ๆ คาดว่าจะมีผลไม้ดังกล่าวขึ้นอยู่ วันหนึ่งกินเวลา 12-15 ชั่วโมง จากนั้นรวบรวมผลผลิตมาชั่งน้ำหนักขายให้กับบริษัท ซึ่งเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อ โดยจะนำยอดขายมาหักหนี้ที่เกิดขึ้นจากการมาทำงาน ทั้งนี้คนงานเก็บเบอร์รีต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อออกไปตระเวนเก็บเบอร์รี และกลับมาที่แคมป์ในช่วงหัวค่ำถึงกลางดึก โดยมีเวลาพักผ่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมง

ส่วนคนงานไทยที่ถูกบริษัทนายหน้าพามาเก็บเบอร์รีป่าที่ฟินแลนด์ในปี 2556 นั้น พวกเขาต้องรอถึง 4 ปี ก่อนที่ในวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายนปี 2560 ศาลแขวงจังหวัด Kainuu ประเทศฟินแลนด์ ได้นัดไต่สวนคดีที่กลุ่มคนงานเก็บเบอร์รีชาวไทย 50 คน เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท Ber-ex ในคดีแพ่ง โดยเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยรวม 12 ล้านบาท หรือประมาณ 3 แสนยูโร ประกอบด้วยค่าจ้างค้างจ่ายผลไม้ และค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างไปทำงานเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ ทั้งนี้ฝ่ายโจทก์กล่าวหาว่า บริษัทเพราะไม่มีจริยธรรมทางธุรกิจและทำให้เกิดความเสียหายกับพวกเขา อย่างไรก็ในวันที่ 7 กรกฎาคมปีเดียวกัน ตามศาลแขวงได้ยกฟ้องคดีดังกล่าว โดยทนายของฝ่ายคนงานได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ

จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้กำกับสารคดีและเป็นผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของแรงงานไทยที่ไปทำงานเก็บเบอร์รีในฟินแลนด์กล่าวว่า สารคดี "MISSÄ MARJAT" ต้องการนำเสนอเสียงจากคนงาน 50 คน ให้พวกเขาได้นำเสนอปัญหา และเป็นพยานด้วยการเล่าเรื่อง ด้วยตัวของพวกเขาเอง และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเรื่องสิทธิแรงงาน โดยทั้งเธอและกลุ่มคนงานต่อสู้กับรัฐบาลฟินแลนด์มาโดยตลอด เพื่อให้ยอมรับการมีส่วนร่วมและการกำหนดนโยบายโดยคนงาน

ผู้กำกับสารคดีกล่าวถึงการปรับนโยบายของรัฐบาลฟินแลนด์ด้วยว่า ที่ผ่านมาหลังเกิดกรณีฟ้องร้องของคนงานไทย ทำให้หลังจากนั้น มีกรณีของคนงานเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์อีกกลุ่ม ที่เจอสภาพเงื่อนไขการทำงานแบบเดียวกัน ตัดสินใจฟ้องเอกชนในข้อหาค้ามนุษย์ แล้วศาลรับฟ้อง โดยศาลรีบจัดการคดีดังกล่าวภายในปีเดียว

อย่างไรก็ตามกรณีที่การฟ้องร้องของกลุ่ม 50 คนงานเก็บเบอร์รี ยังคงมีกระบวนการที่ยืดยาวนั้น ก็สะท้อนให้เห็นภาพรวมของสภาพการจ้างงานในอุตสาหกรรมเก็บเบอร์รีของฟินแลนด์ และมีภาวะที่รัฐบาลฟินแลนด์ต้องตัดสินใจว่าจะให้ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือจะเอาแต่ปกป้องอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกลไกของรัฐบาลฟินแลนด์เข้ามาเกี่ยวข้องในการพาคนงานจากต่างประเทศเข้ามาเก็บเบอร์รี ตั้งแต่การกำหนดโควตาให้บริษัทนำคนงานเข้าประเทศ ที่กระทรวงกิจการเศรษฐกิจและการจ้างงานของฟินแลนด์เป็นคนกำหนดโควตาให้บริษัท รวมไปถึงสถานทูตฟินแลนด์ในประเทศไทยก็อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทเอเยนต์จัดหาคนงาน อำนวยความสะดวกเรื่องทำวีซ่า เพื่อให้คนงานไทยเข้าประเทศ

ส่วนของกลไกราชการไทย ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ แรงงานก็ใช้เอกสารจากบริษัทเอเยนต์เพื่อที่จะสามารถขอกู้เงินได้จาก ธกส. รวมทั้งกระทรวงแรงงานเองก็เข้ามารับรองบริษัทจัดหางานเหล่านี้ ทำให้คนงานสามารถเดินทางออกนอกประเทศไปฟินแลนด์เพื่อไปทำงานเก็บเบอร์รีได้

อย่างไรก็ตามพอไปถึงฟินแลนด์ แทนที่จะได้สถานะคนงาน พอเข้าเมืองคนงานเก็บเบอร์รีกลับถูกประทับตราในหนังสือเดินทางว่าเป็น "นักท่องเที่ยวที่จ้างงานตนเอง" (self-employed tourist) หรือ "ผู้ประกอบการ" (entrepreneur) นอกจากนี้เมื่อเข้ามาทำงานก็ไม่มีกลไกคุ้มครองสิทธิแรงงาน อย่างกรณีคนงานเก็บเบอร์รีถูกละเมิด เมื่อคนงานพยายามใช้ช่องทางกฎหมายแรงงานคุ้มครอง มีการเจรจากับคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ฟินแลนด์กินเวลานับปี แต่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นกรณีพิพาทแรงงาน

"ในขณะที่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านคือสวีเดน ซึ่งมีอุตสาหกรรมเก็บเบอร์รีเช่นกัน ปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 2553 มีการปรับปรุงสภาพการจ้างงาน โดยกำหนดให้ทุกบริษัททำสัญญาจ้างคนงาน ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายแรงงานสวีเดน ขณะที่ฟินแลนด์ยังไม่มีมาตรการเช่นนี้" จรรยากล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรัญชัย โชคชนะ จุดไต้-ยื่นหนังสือ UN แจงเหตุประชาชนอยากเลือกตั้ง

Posted: 07 Jun 2018 05:31 AM PDT


ภาพจากเพจ Banrasdr

7 มิ.ย.2561 ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถนนราชดำเนินนอก กลุ่มคนอยากเลือกตั้งกว่า 40 คนที่โดนแจ้งข้อกล่าวหาจากการชุมนุมในวาระครบ 4 ปีรัฐประหาร (#UN62) นัดรวมตัวกันเพื่อเดินเท้าไปยัง สน.นางเลิ้ง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.และมาตรา 116

ท่ามกลางขบวนของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งปรากฏร่างชายสูงวัยที่ยังแอคทีฟทางการเมืองมาตลอดหลายสิบปีจนปัจจุบันคือ วรัญชัย โชคชนะ โดยเขามีเป้าประสงค์เพื่อยื่นหนังสือต่อเลขาธิการยูเอ็น ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์คุยกับเขาหลังกิจกรรม สรุปได้ดังนี้

ผู้สื่อข่าว: คุณวรัญชัยไปยื่นหนังสือที่ยูเอ็น ในนามกลุ่มอะไรหรือไม่ ไปกันกี่คน

วรัญชัย: ผมไปกับเพื่อนรวมแล้ว 3 คน ไปในนามกลุ่มพลังประชาธิปไตย กลุ่มผมเอง

ผู้สื่อข่าว: แต่เห็นในภาพคนร่วมกิจกรรมเยอะเลย

วรัญชัย: พอดีผมทราบมาว่ากลุ่มคนอยากเลือกตั้งเขารวมตัวกันเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา ผมไม่ใช่สมาชิกอะไรเขา แต่เห็นด้วยกับเขา อยากให้กำลังใจเขา และคิดว่าน่าจะทำกิจกรรมอะไรด้วย พอไปถึงก็มีคนรู้จักบ้าง เขาเห็นก็มาร่วมด้วย สื่อก็เยอะมากตอนยื่นหนังสือ คุณเห็นทีวีช่องไหนออกข่าวบ้างไหม

ผู้สื่อข่าว: พอดีไม่ได้มอนิเตอร์ข่าวทีวี เลยไม่ทราบว่ามีที่ไหนออกข่าวบ้าง

วรัญชัย: กล้องเยอะเลยที่ถ่าย น่าจะออกสักช่องแหละนะ ถ้าเห็นโทรบอกผมที ผมยังใช้มือถือแบบเก่า รับสื่อแบบเก่า แบบใหม่ไม่ถนัด

ผู้สื่อข่าว: น่าจะต้องหันมาใช้สมาร์ทโฟน

วรัญชัย: ผมคิดอยู่ ให้เผด็จการไปก่อนแล้วผมจะใช้ ช่วงนี้ใช้แบบนี้ไปก่อน

ผู้สื่อข่าว: เนื้อหาในหนังสือโดยสรุปว่าอย่างไรบ้าง

วรัญชัย: ผมขออธิบายอย่างอื่นก่อน ผมมีอุปกรณ์ประกอบด้วยคือ ขี้ไต้แบบโบราณ หายากมาก แต่ก็ไปหามาจนได้ พวกตะเกียง พวกเทียนนี่เบื่อแล้ว มันสะท้อนถึงยุคมืดในระบอบประชาธิปไตย เรามีป้ายเขียนคำนั้นด้วย พอจุดไต้คนสนใจเยอะเลย สงสัยเขาไม่เคยเห็นกัน แต่ข้อเสียคือไฟมันลุกแรง ตอนอ่านจดหมายมวลชนเขาก็บอก "ไหม้แล้วๆ"


ไต้ไฟลุกจนคนถือไต้ต้องสละไต้ แล้วช่วยกันดับไฟ ภาพจาก The Standard

ผู้สื่อข่าว: แล้วเนื้อหาในหนังสือ

วรัญชัย: กราบเรียน ท่านเลขาธิการสหประชาชาติ

ผู้สื่อข่าว: หมายถึง เนื้อหาโดยสรุป

วรัญชัย: กระผมกลุ่มคนที่อยากเลือกตั้ง อยากกราบเรียนว่า

ผู้สื่อข่าว: หมายถึงโดยสรุปอย่างสั้นที่สุด

วรัญชัย: ตั้งแต่มีการยึดอำนาจมา 4 ปี ประชาชนลำบากมาก หนึ่ง ประชาธิปไตยสูญหาย สอง สิทธิเสรีภาพสูญหาย สาม เศรษฐกิจปากท้องก็ย่ำแย่ สี่ เขาไม่รู้จะคืนอำนาจให้เมื่อไหร่ เลื่อนไปเรื่อย แม้แต่กุมภานี้ก็ยังไม่น่าเชื่อ อยากให้คืนอำนาจ จัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด จึงแจ้งทางยูเอ็นเพื่อทราบ

ผู้สื่อข่าว: หลายคนเคยพูดว่ายูเอ็นไม่ใช่พ่อ คุณทักษิณก็เคยพูด คุณวรัญชัยทำไมต้องแจ้งยูเอ็น  

วรัญชัย: คุณทักษิณพูดก็คำพูดเขา นั่นยุคนั้น ตอนนี้ยุคนี้ และผมก็ไม่ใช่คุณทักษิณ ผมก็อยากให้ต่างชาติเขารับรู้ ซึ่งจริงๆ เขาก็คงรู้ดีอยู่แล้ว ผมอยากให้เกิดการเลือกตั้งกุมภา แต่มันไม่มั่นใจ เลื่อนมาตั้งแต่ 58 มา 59 มา 60 มาพฤศจิกา 61 แล้วก็กุมภา 62

ผู้สื่อข่าว: กลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุมหลายครั้ง ประชาชนที่ร่วมชุมนุมโดนหลายคดี คุณวรัญชัยโดนกี่คดี

วรัญชัย: ผมโดนคดีแรกคดีเดียว ที่สกายวอล์ค (MBK39-ประชาไท) อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่เขาต้องส่งเรื่องไปที่อัยการสูงสุดอีก แล้วก็นัดฟังคำสั่ง นี่เลื่อนมา 3 ครั้งแล้ว นัดอีกที 26 เดือนนี้ ผมรำคาญที่ต้องไปตามนัดบ่อย ทนายบอกว่าจะไม่มาแล้วเซ็นมอบอำนาจก็ได้ ผมบอกว่าดีเลย ผมเลยเซ็นให้ทนายหลายใบเลย   

ผู้สื่อข่าว: สมมติถ้าเขาฟ้อง

วรัญชัย:  คิดว่าอาจยอมรับสารภาพ คนที่รับไปก่อนหน้าโดนปรับ 3,000 มันรำคาญที่ต้องเดินทาง

ผู้สื่อข่าว: แบบนี้ไม่เสียประวัตินักต่อสู้หรือ

วรัญชัย:  เออ อันนี้ก็น่าคิด เขาจะหาว่าทิ้ง หนีเอาตัวรอดไหม อย่างนั้นนัดกี่ครั้งๆ ก็คงต้องไป

00000

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนอยากเลือกตั้ง' เข้ารับทราบหลายข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง รอบชุมนุม 4 ปี รัฐประหาร

Posted: 07 Jun 2018 03:40 AM PDT

กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เดินเท้าจาก UN ไป สน.นางเลิ้ง รับทราบข้อกล่าวหา จากการชุมนุมรอบ 4 ปี รัฐประหาร จนท.ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดเหตุไม่ขอฝากขัง นัดอีกครั้ง 29 มิ.ย.นี้ เพื่อส่งตัวให้อัยการ 'วรัญชัย' ถือคบเพลิงร้อง UN กดดันรัฐบาลไทยจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

ภาพจาก Banrasdr Photo 

7 มิ.ย.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง #UN62 รวมตัวกันที่หน้าอาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติ(UN) ถนนราชดำเนิน ก่อนที่จะเดินเท้าไปยังสน.นางเลิ้ง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา สืบเนื่องจากถูก คสช.แจ้งดำเนินคดีเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เหตุนัดชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยในวันนี้มีเพียง 45 จาก 62 คน ที่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาเพราะ จำนวน 15 คนถูกจับพร้อมแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว และอีก 2 คนที่ไม่ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา คือ บุญสิน หยกทิพย์ และอาอิซะห์ เสาะหมาน  

ข่าวรายงานว่า ก่อนเดินขบวน สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) อ่านแถลงการณ์ให้กำลังใจกับคนที่ถูกดำเนินคดีโดยคาดว่าวันนี้ทั้ง 47 คนจะถูกส่งไปฝากขังที่ศาล ในส่วนทิศทางการเคลื่อนไหว จะดำเนินการตามโรดแมพ ติดตามเรื่องการปลดล็อคคำสั่ง คสช.ในเดือนนี้เรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง อีกทั้งยังมีจุดมุ่งหมายที่จะสื่อสารกับสังคมต่อไปเพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นของคนทั้งประเทศ และสุดท้ายถ้ารัฐบาลยังเลื่อนการเลือกตั้งอีกกลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็จะเคลื่อนไหวต่อไปและจะเคลื่อนไหวให้ใหญ่กว่าเดิม ในระหว่างเดินขบวนตำรวจตั้งด่านสกัดพร้อมทั้งให้เปลี่ยนเส้นทางเดินขบวน รังสิมันต์ โรม จึงเข้าเจรจาจนสุดท้ายตำรวจเปิดให้ใช้เส้นทาง แต่ยังคงมีการตรวจกระเป๋า

Banrasdr Photo รายงานด้วยว่า วรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถือคบเพลิงยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว เพราะยิ่งเลื่อนเวลาออกไปจะกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้ง สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดของประชาชนและสื่อมวลชนถูกจำกัดจากรัฐบาลมาโดยตลอด

ทางด้าน สน.นางเลิ้ง เจ้าหน้าที่จากสถานทูตต่างๆ ได้แก่ สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา,อังกฤษ,ฟินแลนด์,เยอรมัน,เนเธอร์แลนด์,เบลเยี่ยม,เดนมาร์ก,ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ เดินทางมาสังเกตการณ์ในครั้งนี้และมีการสอบถามเกี่ยวกับการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้สังเกตการณ์การชุมนุม ทั้งนี้ตำรวจปฏิเสธว่าไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้สังเกตการณ์

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าข้อเท็จจริงตำรวจได้มีการออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหากับ นีรนุช เนียมทรัพย์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ได้ไปปฏิบัติหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาด้วย

เมื่อเดินทางถึงสน.พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาโดยมี 41 คนถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ชุมนุมด้วย มาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, มาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ส่วน 6 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่าด้วย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน, มาตรา 215 เป็นหัวหน้า หรือผู้สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป,มาตรา 216 และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12

อีกทั้งยังมีข้อหาอื่นคือ ข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้แก่ กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการและสถานศึกษา ตามมาตรา 8 (1)(3), มีการชุมนุมระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุมฯ ตามมาตรา 11, ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม ตามมาตรา 16(1)(4)(7)(9) และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 19 นอกจากนั้นยังมีข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 4 วรรคแรก และฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจราจรทางบก มาตรา 108 เดินขบวนในลักษณะกีดขวางการจราจร โดยรังสิมันต์, สิรวิชญ์ และปิยรัฐ ถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 114 กระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและสอบคำให้การกลุ่มคนอยากเลือกตั้งไปได้บางส่วนแล้ว ทั้งแจ้งว่าครั้งนี้จะปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดให้เดินทางกลับได้ เนื่องจากจะไม่ส่งตัวไปศาลเพื่อขอฝากขัง และนัดให้มาอีกครั้งในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ เพื่อส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนให้อัยการ

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพจ่อฟ้องศรีสุวรรณเรื่อง 'ดาวเทียมจารกรรม'-เจ้าตัวพร้อมสู้ขู่ฟ้องกลับ

Posted: 07 Jun 2018 02:59 AM PDT

7 มิ.ย.2561 หลังจาก ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญออกมาเปิดประเด็นเรื่อง 'ดาวเทียมจารกรรม'หรือดาวเทียม THEIA มูลค่าสูงถึง 90,000  ล้านบาทที่กองทัพศึกษาและลงนามข้อตกลงบางอย่างกับบริษัทในสหรัฐอเมริกาจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และเป็นข่าวตอบโต้กันไปมาระหว่างกองทัพและตัวเขาอยู่หลายวัน

ล่าสุด พล.อ.อ. มณฑล สัชฌุกร โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุธติธรรม ระบุว่า พล.อ.อ.ประจินได้ให้ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมไปตรวจสอบและแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับนายศรีสุวรรณฯในฐานให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อ ป.ป.ช. และเป็นการสร้างความเสียหายต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรองนายกรัฐมนตรีและสร้างความสับสนต่อสังคม สำหรับข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวนี้คือ โครงการดาวเทียมเธเออ (THEIA) เป็นดาวเทียมสื่อสารเชิงพาณิชย์ มีแค่การศึกษาด้านเทคนิคโดยอนุกรรมการนโยบายอวกาศ กับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สทป. เท่านั้น ยังไม่มีนโยบายและโครงการรองรับและไม่มีการทำข้อตกลงแต่ประการใดของคณะกรรมการศึกษาข้อมูลทางเทคนิค ทั้งนี้เป็นไปตามการชี้แจงของโฆษกกระทรวงกลาโหมทุกประการ

ด้านศรีสุวรรณ โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวระบุว่า "ถ้าคิดจะฟ้องปิดปากผมด้วยการฟ้องศาล... ผมก็พร้อมสู้และจะฟ้องกลับฐานฟ้องเท็จครับ"

การฟ้องกลับนี้เกิดขึ้นหลังจากที่วานนี้ (6 มิ.ย.) ศรีสุวรรณได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนและวินิจฉัยว่าการที่ สปท. ไปลงนามในหนังสือแสดงการรับรู้ หรือ LOA (Letter of Acknowledge) หนังสือแสดงความจำนง หรือ LOI (Letter of Intent) และ หนังสือยืนยัน หรือ LOC (Letter of Confirm)  เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 178 หรือไม่ และการที่บริษัทเจ้าของดาวเทียมจารกรรมจ่ายค่าเดินทางและค่ารับรองคณะของ สทป. และคณะของรองนายกฯ ประจินที่ไปดูงานดาวเทียมที่สหรัฐอเมริกาเป็นการผิดกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103 หรือไม่ด้วย

รัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการทําหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทย มีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอํานาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือจะต้องออก พระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบ ของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภา พิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ

หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุน ของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทําให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด หรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

ให้มีกฎหมายกําหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับ การเยียวยาที่จําเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทําหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย

เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่ คณะรัฐมนตรี จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคําขอ

มาตรา 103 ของกฎหมาย ป.ป.ช. กำหนดห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกจากมีกฎหมายบัญญัติให้รับได้ เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด มาตรา 103 ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกตำแหน่ง และบังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาแล้วยังไม่ถึง 2 ปี

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัดกรมทรัพย์สินฯ เสี่ยงปล่อยคำขอสิทธิบัตรต่างชาติ กัญชารักษาลมบ้าหมู - รัฐยันยังไม่อนุมัติ

Posted: 07 Jun 2018 01:46 AM PDT

นักวิจัยอัดกรมทรัพย์สินทางปัญญาปล่อยคำขอสิทธิบัตรของต่างชาติในการใช้กัญชารักษาโรคลมบ้าหมู ผ่านขั้นตอนต่างๆ จนมาถึงการประกาศโฆษณา ทั้งที่ไม่เข้าเกณฑ์ ขัดต่อ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ขัดขวางนักวิจัยอื่นในการใช้และพัฒนาต่อยอด ด้านรัฐมนตรีพาณิชย์ยันยังไม่ได้จดสิทธิบัตร มีขั้นตอนอีกมาก สารสกัดจากพืชไม่อาจรับจดทะเบียนได้ ขอให้ประชาชนนักวิจัยอย่างได้กังวล
 
7 มิ.ย.2561 ตามที่มีรายงานการตรวจสอบข้อมูลสิทธิบัตรยา พบว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศโฆษณาคำขอที่ 1101003758 ชื่อการประดิษฐ์ การใช้ไฟโตแคนนาบินอยด์หรือสารผสมของสารดังกล่าวในการรักษาโรคลมบ้าหมู
ที่มีการยื่นคำขอเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2553 โดยผู้ยื่นคำขอคือ โอกะ ฟาร์มาคิวติคอล คอมปะนี ลิมิเต็ด และ จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ผู้ประดิษฐ์ คือ วาสลีย์ เบน, สตีเฟนส์ แกรี, วิลเลียมส์ แคลร์, กาย จีออฟเฟรย์, ไวร์ท สตีเฟ่น, คิคูชิ เคทซูโร นั้น
 
ล่าสุดวันนี้ ดร.อุษาวดี สุตะภักดิ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ นักวิจัยด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ให้ความเห็นว่า แม้คำขอนี้ยังไม่ได้สิทธิบัตร แต่เป็นคำขอที่ขัดต่อ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ไม่สมควรผ่านขั้นตอนจนมาถึงการประกาศโฆษณาได้ ทำให้ขัดขวางนักวิจัยอื่นในการใช้และพัฒนาต่อยอดสารประกอบกัญชาในการรักษาโรค
 
"คำขอสิทธิบัตรการใช้กัญชาในการรักษาโรคนี้ ขัดมาตรา 9(1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากพืชหรือสัตว์ เนื่องจาก cannabinoid หรือโดยเฉพาะ cannabinoid ชนิด THCV เป็นสารสกัดจากกัญชา และยังขัดต่อมาตรา 9(4) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือการรักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์ การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ปล่อยให้คำขอดังกล่าวผ่านขั้นตอนการประกาศโฆษณาจึงถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ ทั้งที่สามารถสกัดหรือไม่รับคำขอได้ตั้งแต่แรก เนื่องจากก่อนการประกาศโฆษณานั้น ผู้ตรวจสอบต้องพิจารณาว่าขัดมาตรา 9 หรือไม่" ดร.อุษาวดี กล่าว
 
นักวิจัยด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ชี้ว่า คำขอนี้ ประกาศโฆษณาในวันที่ 30 มิ.ย. 2559 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังการใช้คู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางยา ซึ่งในคู่มือดังกล่าวระบุไว้อย่างชัดเจนว่าคำขอที่เป็นลักษณะการใช้..เพื่อการรักษาโรค นั้นขัดต่อมาตรา 9(4) เป็นคำขอที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง 
 
"การปล่อยให้มีคำขอลักษณะนี้ผ่านขั้นตอนต่างๆ แสดงให้เห็นว่า กรมทรัพย์ไม่มีการใช้คู่มือที่พัฒนาขึ้นอย่างจริงจัง ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการสร้างความสมดุลย์ระหว่างการคุ้มครองผู้ทรงสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภค" ดร.อุษาวดี กล่าว
 
ทั้งนี้ยังพบว่าในตำราแพทย์ไทยทั้งในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นตำราแพทย์ฉบับหลวง ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 รวมถึงคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ ของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ ก็ระบุว่ามีการใช้กัญชาเป็นเครื่องประกอบในยารักษาโรคลมต่างๆ รวมถึง ลมชัก ลมบ้าหมู อยู่แล้ว จึงกล่าวได้ว่าการใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษาลมชัก ลมบ้าหมู เป็นองค์ความรู้ดั้งเดิมแต่โบราณ ไม่มีความใหม่ในประเทศไทย
 
ด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า เท่าที่ทราบมา ยังมีคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการใช้กัญชาที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศโฆษณาแล้วอีก 3 คำขอเกี่ยวกับการใช้รักษาโรคลมชัก ใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก และ มะเร็งเต้านม 
 
"ทุกคำขอดังกล่าวยื่นผ่านระบบ pct ที่ผ่านมาทีมวิชาการที่ทำงานเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและเข้าถึงยาเตือนมาตลอดว่า เป็นคำขอที่ต้องตรวจอย่างละเอียด แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ทำใหสามารถอนุมานได้ว่า ทุกคำขอที่ยื่นผ่านระบบดังกล่าวนั้น กรมทรัพย์สินฯอาจไม่พิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากเห็นว่ามีการขอรับสิทธิบัตรในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย การขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบย่อมกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนายาภายในประเทศ รวมถึงปัญหาด้านสาธารณสุข" กรรณิการ์ กล่าวพร้อมระบุว่า ขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดเผยรายงานการสืบค้นข้อมูลประกอบการประกาศโฆษณา (publication of search report) เพื่อให้สาธารณะได้ร่วมตรวจสอบได้ และการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรขณะนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเขียนมาตรา 9 ให้ชัดเจนมากขึ้น และจัดการปฏิเสธคำขอลักษณะนี้ก่อนประกาศโฆษณา"
 
พาณิชย์ยันยังไม่ได้ให้สิทธิบัตร รับรองรอบคอบ

วันเดียวกัน MRGonline รายงานว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวในสื่อว่า ขณะนี้บริษัทยาต่างประเทศได้จดทะเบียนสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาในไทยแล้วตั้งแต่ปี 2553 ว่าข้อเท็จจริงมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรตามข่าวแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาพบว่า คำขอดังกล่าวมีผู้ยื่นไว้เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2553 โดยยังไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบการประดิษฐ์ (substaintive examination) ตามเงื่อนไขกฎหมายแต่อย่างใด

โดยตามกฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 การประดิษฐ์ที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้จะต้องไม่เป็นการประดิษฐ์ที่ต้องห้าม เช่น สารสกัดจากพืช วิธีการบำบัดรักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์ เป็นต้น และยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่กฎหมายระบุ ได้แก่ เป็นการประดิษฐ์ใหม่ เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทางอุตสาหกรรม

"สารสกัดจากพืชตามที่เป็นข่าว ย่อมไม่อาจรับจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ ขอให้ประชาชนและนักวิจัยอย่ากังวลในเรื่องนี้ และการจะจดสิทธิบัตรแต่ละฉบับยังมีขั้นตอนต้องพิจารณาอีกมาก ซึ่งได้กำชับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้วว่าให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เฝ้าระวัง และดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายอย่างเคร่งครัด" นายสนธิรัตน์กล่าว

สำหรับหลักการของการจดสิทธิบัตรของไทย สิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่น สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช ไม่สามารถขอรับความคุ้มครองได้ และไม่เปิดโอกาสให้บุคคลใดอ้างสิทธิเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว ขณะเดียวกันจะมีการดำเนินการตรวจสอบสิทธิบัตรตามกฎหมายสิทธิบัตร และปฏิบัติตามคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตร ซึ่งได้มีการจัดทำโดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนซึ่งจะไม่ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายจับผู้บริหารท้องถิ่นไม่มาศาล ข้อหาให้การเท็จช่วยตำรวจซ้อมวัยรุ่น

Posted: 06 Jun 2018 11:50 PM PDT

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2560 นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ในฐานะโจทก์ที่ 1 และ นายสมศักดิ์ชื่นจิตร (บิดา) โจทก์ที่ 2 ได้ยื่นฟ้องผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคนหนึ่งซึ่งได้เข้าเป็นพยานให้การเท็จต่อ ป.ป.ท. เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซ้อมทรมานนายฤทธิรงค์  ในคดีที่นายฤทธิรงค์ร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน 5 คน ที่ซ้อมทรมานตน  โดยยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรีเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1009/2560 ในข้อหาความผิดต่อเจ้าพนักงาน ในการยุติธรรม และความผิดเกี่ยวกับเอกสาร กล่าวคือเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย และเป็นการแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137,172 และ 267  

โดยกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคนดังกล่าวได้เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ท. ในฐานะพยาน ด้วยข้อความอันเป็นเท็จเพื่อช่วยเหลือตำรวจทั้ง 5 ราย ให้พ้นข้อกล่าวหาเรื่องซ้อมทรมาน และยังได้กล่าวให้ร้ายแก่นายฤทธิรงค์และนายสมศักดิ์ ชื่นจิตร ซึ่งต่อมา ได้ ป.ป.ท. มีคำสั่ง ที่ 40/2556 ชี้มูลว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาของนายฤทธิรงค์ ทำให้นายฤทธิรงค์และนายสมศักดิ์ โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปราจีนบุรีออกนั่งพิจารณานัดสอบคำให้การผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคนดังกล่าวซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีนี้  แต่จำเลยไม่มาศาล ทั้งที่ได้ทราบวันนัดของศาลโดยชอบแล้ว  ด้วยเหตุนี้ศาลจังหวัดปราจีนบุรีพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์จงใจหลบหนี  จึงได้ออกหมายจับจำเลยเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีต่อไป และศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะจับจำเลยมาดำเนินคดีได้

ทั้งนี้เหตุการณ์ทำร้ายและซ้อมนายฤทธิรงค์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 นายฤทธิรงค์ อายุ 17 ปีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองจังหวัดปราจีนบุรีจับกุมในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ แล้วส่งตัวนายฤทธิรงค์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนนำไปควบคุมและได้ร่วมกันซ้อมทรมานให้รับสารภาพว่าเป็นคนวิ่งราวทรัพย์ทั้งๆ ที่นายฤทธิรงค์ไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องนายฤทธิรงค์และคดีถึงที่สุด

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น