โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ประวิตรประกาศนั่งหัวโต๊ะคุยนักการเมือง ไม่ให้ไลฟ์เฟสบุ๊ค ไม่สนหาก อคม.ไม่เข้าร่วม

Posted: 13 Jun 2018 09:05 AM PDT

รมว.กลาโหม รองนายกฯและรองหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.เผยอาจปลดล็อกพรรคการเมืองเพียงบางส่วนเช่นให้หาสมาชิกพรรคได้ แต่จะยังไม่ให้หาเสียงจนกว่ากฎหมายลูกจะออกก่อน เชื่อสามารถแก้ปัญหาได้


วันนี้ (13 มิถุนายน 2561)  มติชนรายงานว่า ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการเชิญพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาหารือการจัดการเลือกตั้งว่า ทาง พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานในการประชุมครั้งแรก ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ โดยเบื้องต้นจะดูว่าปลดล็อกอะไรก่อน แต่ยังไม่ปลดล็อกทั้งหมด จะเน้นการเปิดให้หาสมาชิกพรรคการเมืองได้ ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งยังไม่อนุญาต เพราะต้องรอกฎหมายลูกเรียบร้อยก่อน

เมื่อถามถึงกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกมาระบุว่า หากในที่ประชุมไม่ให้ไลฟ์สด ก็จะไม่เข้าร่วมด้วย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ก็แล้วแต่อยากมาก็มา ถ้าไม่อยากมา ก็ไม่ต้องมา แต่จะไม่ให้ไลฟ์สด เพราะต้องพูดคุยกันก่อน จะมาไลฟ์สดอะไร ผมเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาทั้งพรรคการเมืองใหม่และพรรคการเมืองเก่า ปัญหาระดับโลกเขายังแก้ไขกันได้ ของเราเรื่องแค่นี้ "
 


ที่มา: https://www.matichon.co.th/politics/news_996009

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป้อมออกตัวดูเรื่องให้ 2 ขั้น เจ้าหน้าที่ คสช.เอง หลัง ครม. ตีกลับ

Posted: 13 Jun 2018 08:19 AM PDT

หลัง ครม.ตีกลับให้ต้นเรื่องพิจารณาตามความจำเป็นและจำนวนคนที่เหมาะสมในการขอบำเหน็จสองขั้น ชี้ยังมีเวลาขอถึงตุลาคม 61 ด้าน ประวิตร วงษ์สุวรรณ บอกยังไม่ผ่านตาแต่จะขอดูความเหมาะสมเอง ยอมรับกำลังพลที่เสนออาจมากไปนิดหน่อย

วันนี้ (13 มิ.ย.2561) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ รองหัวหน้า คสช. ได้กล่าวถึงกรณีการขอเพิ่มบำเหน็จพิเศษ 2 ขั้น ให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานใน คสช.จำนวน 600 นาย ว่าที่คณะรัฐมนตรีได้ตีกลับให้มีการทบทวนว่า ครม.ส่งเรื่องกลับมา โดยผมจะเอากลับมาดู ว่ามันเหมาะสมขนาดไหน ผมจะเอากลับมาดู เพราะผมยังไม่ได้ดู

"จำนวนอาจจะมากไปนิดหน่อย เดี๋ยวดูก่อนว่าเขาให้เหมาะสม หรือไม่ เพราะเรามีบำเหน็จปกติอยู่แล้ว"

ประวิตรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้มีการอนุมัติหลักการว่า ให้ได้อยู่แล้ว แต่ต้องดูจำนวนด้วย เพราะจากปีที่แล้วเสนอขอไปกว่าพันคนส่วนปีนี้ลดลงเหลือราว 600 คน เพราะคนที่มาทำงานกับ คสช. ลดน้อยลง แต่สัดส่วนเท่าเดิม

กรณีดังกล่าวเริ่มต้นจากการที่ สำนักเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สลธ.คสช.) ได้เสนอ ครม.ให้พิจารณาอนุมัติหลักการโควตาบำเหน็จประจำปี (2 ขั้น) นอกเหนือจากโควตาปกติให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใน คสช. ประจำปีงบประมาณ 2561 (1 ต.ค. 60 - 30 ก.ย. 61) จำนวน 600 นาย โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ทุ่มเท เสียสละ มีผลการปฏิบัติงานเด่นชัด เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หลังเกิดความขัดแย้งการเมืองอย่างรุนแรง เกิดการชุมนุมประท้วงในห้วงปี 2556-2557

และหลังจากการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.นครสวรรค์ (12 มิ.ย.2561) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงถึงผลการหารือ ว่าคณะรัฐมนตรียังไม่อนุมัติเรื่องดังกล่าว โดยให้ สลธ.คสช. ไปดูความจำเป็นของการทำงาน และเรื่องของจำนวนคนที่เสนอมา ที่ถือว่าลดลงมาเป็นลำดับจากปีแรกที่มี 1,000 คน และนายกฯ ระบุว่าควรลดลงให้ได้มากกว่านี้ โดยขอให้ดูเท่าที่มีความจำเป็น แต่ในส่วนที่จะเสนอ ครม. กลับมาเมื่อไรนั้นยังไม่มีกำหนดตายตัว ไม่ต้องรีบเร่ง เพราะครอบคลุมเวลาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2561


.

.

.

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อานันท์ชวนทำบุญช่วยภาคประชาสังคม

Posted: 13 Jun 2018 07:26 AM PDT

อดีตนายกฯ ชวนร่วมบุญทอดผ้าป่า หนุนตั้งกองทุนภาคประชาสังคม ชี้เป็นกลไกสำคัญพัฒนาชาติไทย ช่วยปิดจุดอ่อน ลดช่องว่างที่รัฐเอื้อมไม่สามารถทำได้ ชี้ ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง

ไทยรัฐรายงานว่า เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2561) อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์ฝ่ายฆราวาส ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานทอดผ้าป่าสามัคคีครั้งนี้ เป็นการระดมทุนเข้ากองทุนภาคประชาสังคม ส่งเสริมชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในครั้งนี้ ว่า วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.00 น. ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมบุญทอดผ้าป่าสามัคคี ที่วัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร

อานันท์กล่าวว่าวัตถุประสงค์สำคัญคือ การสร้างพลังพลเมือง โดยการสนับสนุนไปยังกว่า 200 โครงการทั่วประเทศ เพื่อเป็นทุนพัฒนาอาชีพ พัฒนาเด็กและการศึกษา ตลอดจนการเฝ้าระวังปัญหาคอร์รัปชัน และการแก้ปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ที่มีความตื่นตัว สนใจ พร้อมมีส่วนร่วมแก้ปัญหาสังคม และกลายเป็นผู้มีจิตสาธารณะมากขึ้น

"การทอดผ้าป่าฯ ครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ขบวนการภาคประชาสังคมเติบโต และเป็นประกายแห่งความหวังพัฒนาสังคม ด้วยมือของทุกคนที่ร่วมลงแรงลงทุนไปด้วยกัน เป็นการร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาทรัพยากรรุ่นหลังของประเทศชาติ และโอกาสที่ทัดเทียมกันแก่ทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกศาสนา และทุกพื้นที่ในสังคม ได้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศ ให้ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ ยอมรับความหลากหลายในสังคม" นายอานันท์ กล่าว

นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า การบริหารจัดการและพัฒนาประเทศชาติทุกวันนี้ แม้รัฐจะมีข้อมูลและอำนาจที่กว้างขวาง แต่ก็ไม่สามารถจัดการและรับรู้ได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะกับสังคมไทยที่ทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง จึงไม่สามารถฝากความหวังไว้ที่ราชการได้เพียงลำพังอีกต่อไป การมีภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาช่วยปิดช่องว่าง ปิดจุดอ่อนที่เกิดขึ้นจากการทำงานของภาครัฐ ซึ่งเอื้อมไม่ถึง จึงเป็นสิ่งจำเป็น และทั่วโลกกำลังเดินไปในทิศทางนี้

ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างให้มีรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบ และปกป้องสังคมจากการใช้อำนาจที่มากเกินไปของฝ่ายบริหารและเอกชนที่เอาเปรียบสังคม หรือสร้างปัญหาให้ส่วนรวม หัวใจสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของพลเมืองทุกคน ในการรวมกลุ่มและพัฒนาสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างพลเมืองที่เข้มแข็ง ยังถือเป็นการช่วยลดภาระให้กับรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นด้วย

"การมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ประชาธิปไตยก็จะมีพลัง เปิดโอกาสให้ความหลากหลายของเรารวมพลังในการร่วมพัฒนาสังคมไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง ผมมีความเชื่อมั่นอย่างจริงใจถึงพลังของคนไทย และพื้นฐานความดีในจิตใจของพลเมืองชาวไทยทุกคน" นายอานันท์ กล่าวทิ้งท้าย.

 

ที่มา: https://www.thairath.co.th/content/1306757

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: พระรับเงินกับปัญหาธรรมวินัยและหลักการของรัฐสมัยใหม่

Posted: 13 Jun 2018 01:29 AM PDT

 

คำถามว่า พระรับเงินผิดหรือไม่? ในแง่ธรรมวินัยพุทธะกล่าวไว้ว่า  "ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านมีศรัทธาเลื่อมใสมอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการก สั่งว่า พวกท่านจงจัดหาของที่สมควรมาถวายแก่พระคุณเจ้าด้วยเงินทองนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีสิ่งของที่เป็นกัปปิยะ จากเงินทองนั้น แต่เรามิได้กล่าวไว้เลยว่า ภิกษุพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ " (วิ.มหาวิ. 2/149 , วิ.มหาวิ.อฏ. 1/862)

ความหมายของข้อความข้างบนคือ หากมีชาวบ้านเขาอยากถวายของที่จำเป็นแก่พระ แต่ตัวเองไม่สะดวกที่จะหาสิ่งของนั้นมาถวายเอง เขาก็ฝากเงินทองไว้แก่ "กัปปิยการก" คือคนที่คอยจัดหาของจำเป็นสำหรับถวายพระได้ (ปัจจุบันเรียก "ไวยาวัจกร") พุทธะไม่ให้พระรับเงินทองไว้เอง และถือว่าการยินดีในเงินทอง และยินดีในการแสวงหาเงินทองด้วยวิธีใดๆ เป็นสิ่งที่ผิดสำหรับพระผู้ละการใช้ชีวิตแบบฆราวาสแล้ว ส่วนของที่จำเป็นหรือเหมาะควรแก่ชีวิตพระเรียกว่า "กัปปิยะ"  ก็มีไม่กี่อย่างเรียกว่า "อัฐบริขาร" คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกน เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ ดังนั้น เงินที่ชาวบ้านฝากไว้กับไวยาวัจกรก็มีจุดประสงค์ชัดเจนว่าเพื่อนำไปจัดหา "ของที่จำเป็น" ดังกล่าวนี้เท่านั้น ถ้านำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นนอกจากนี้ก็ผิดจุดประสงค์

อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามเช่นนี้ก็เกิดขึ้นในบริบทสังคมชมพูทวีป เมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว ที่เงินไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ขาดไม่ได้ในการดำเนินชีวิตผู้คนเหมือนยุคปัจจุบัน และวิถีชีวิตพระสมัยนั้นกับสมัยนี้ก็ต่างกันมาก ดังนั้นเพื่อปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของโลก พระในโลกสมัยใหม่จึงจำเป็นต้องรับเงิน

แต่การที่พระรับเงินในยุคปัจจุบัน ก็มีปัญหาพื้นฐานสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ปัญหาหลักการธรรมวินัยและหลักการของรัฐสมัยใหม่

1. ปัญหาหลักการธรรมวินัย เมื่อมีธรรมวินัยระบุว่าพระรับเงินเป็นสิ่งที่ผิด (ต้องอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์) ก็ต้องยอมรับว่าผิด ไม่ใช่เลี่ยงบาลีว่าไม่ผิด คือควรยอมรับตรงไปตรงมาว่าวิถีชีวิตพระในโลกสมัยใหม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงจำเป็นต้องได้รับการ "ยกเว้น" ไม่ปฏิบัติตามวินัยพระข้อนี้

อย่างไรก็ตาม ประเด็น "ความจำเป็น" ก็มีข้อพิจารณาคือ ประการแรก จะเห็นว่าเจตนารมณ์ของธรรมวินัยคือไม่ต้องการให้พระสะสมเงินทอง เพราะขัดกับวิถีชีวิตสมณะ แต่ในความเป็นจริงพระในปัจจุบันกลับมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวได้เป็นแสนเป็นล้าน หรือสิบล้าน ร้อยล้านก็ได้ โดย "ไม่ต้องเสียภาษี" นี่เป็นความจำเป็นที่ขัดเจตนารมณ์ธรรมวินัยแน่นอน แต่ก็เป็นปัญหาที่วงการสงฆ์แก้ไม่ได้ หรือไม่เคยแก้

ประการที่สอง การอ้างว่าพระจำเป็นต้องรับเงิน เท่ากับเป็นการยืนยัน "สิทธิ" ส่วนบุคคลของพระในการครอบครองทรัพย์สินส่วนตัว และสิทธินี้ย่อมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเท่ากับพระสามารถอ้าง "สิทธิมนุษยชน" เพื่อ "ยกเว้น" การไม่ปฏิบัติตามธรรมวินัยบางข้อได้ แต่ปัญหาคือ พระไทยยืนยันว่าการบวชภิกษุณีต้องทำให้ถูกต้องตามธรรมวินัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถอ้างสิทธิมนุษยชนมาเป็นข้อยกเว้นได้

จะเห็นได้ว่า ข้ออ้างดังกล่าวสะท้อนลักษณะ "ศรีธนญชัย" 2 ด้าน คือ "การตีความธรรมวินัยแบบ 2 มาตรฐาน" คือพระตีความธรรมวินัยในเชิงผ่อนปรนสำหรับความจำเป็นของตนเอง แต่ไม่ยอมผ่อนปรนสำหรับความจำเป็นของคนอื่น และ "อ้างสิทธิแบบ 2 มาตรฐาน" คือตัวเองมีสิทธิได้รับการยกเว้นไม่ทำตามธรรมวินัยบางข้อได้ แต่คนอื่น(ผู้หญิงที่ต้องการบวชภิกษุณี)ไม่มีสิทธิเช่นนี้

2. ปัญหาหลักการของรัฐสมัยใหม่ ในวงการพุทธศาสนาบ้านเรามีการอ้างเสมอว่า กษัตริย์อุปถัมภ์พุทธศาสนามาแต่โบราณ เช่นให้ที่ดินแก่วัดต่างๆ ให้สมณศักดิ์แก่พระ และเบี้ยหวัดเงินเดือน หรือ "นิตยภัต" แต่พระตามลำดับสูง ต่ำทางสมณศักดิ์ ดังนั้นพระก็รับเงินกันเป็นประเพณีมายาวนานแล้ว รัฐก็อุปถัมภ์พุทธศาสนามายาวนาน และพระสงฆ์ก็ทำประโยชน์แก่สังคมไทยมายาวนานเช่นกัน

ข้ออ้างดังกล่าว ขาดการพิจารณาจำแนกแยกแยะหลัก "ความชอบธรรม" ของรัฐสมัยเก่ากับรัฐสมัยใหม่ กล่าวคือ ที่ว่ารัฐสมัยเก่าทำแบบนั้น เพราะเป็น "รัฐพุทธศาสนา" ที่พุทธศาสนาสถาปนากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์, พระพุทธเจ้าอยู่หัว, สมมติเทพ และกษัตริย์ที่มีสถานะเช่นนั้นซึ่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์ย่อมมีความชอบธรรมที่จะให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนา และศาสนาอื่นๆ แต่รัฐสมัยใหม่ที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยถือหลักการว่า รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนาและให้หลักประกันเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนา รัฐไม่ได้มีหน้าที่อุปถัมภ์ศาสนาใดๆ

ดังนั้น จึงมีปัญหาสำคัญว่า การที่พระ (และผู้นำศาสนาอื่นๆ ) มียศศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมาย เงินเดือน และรับงบประมาณอุปถัมภ์ศาสนาจากรัฐ เป็นการขัดหลักความเป็นกลางทางศาสนา และขัดหลักเสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนาหรือไม่ รัฐมีความชอบธรรมในการทำหน้าที่ทางศาสนาเช่นนี้หรือไม่ หรือศาสนาต่างๆ มีสิทธิหรือมีความชอบธรรมอะไรในการเอาอำนาจสาธารณะ(กฎหมาย)และเงินภาษีประชาชนของคนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาไปใช้ในการปกป้องและอุปถัมภ์การเผยแพร่ความเชื่อทางศาสนา อันเป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่มศาสนาของตนๆ

ดังนั้น การแก้ปัญหาในวงการสงฆ์ หรือการปฏิรูปพุทธศาสนา จึงไม่ใช่เรื่องที่จะตั้งโจทย์เดิมๆ ว่าทำอย่างไรจึงจะปฏิรูปให้พระสงฆ์สอนถูกปฏิบัติถูกหลักธรรมวินัยในพระไตรปิฎก เพราะไม่มีทางทำได้สำเร็จอยู่แล้ว แต่ควรตั้งโจทย์ใหม่ที่ถูกต้องว่า จะจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาใหม่ให้มี "ความชอบธรรม" ตามหลักการของรัฐประชาธิปไตย ที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา และให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาได้อย่างไร

ถ้าตั้งโจทย์ถูก ย่อมสาสารถนำไปสู่การแก้ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญได้คือ แก้ปัญหา "ความไม่ชอบธรรม" ที่รัฐไปให้ยศศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมาย เงินเดือนแก่พระสงฆ์และผู้นำศาสนาต่างๆ และให้งบฯอุปถัมภ์พุทธศาสนาและศาสนาต่างๆ (ที่ว่า "ไม่ชอบธรรม" เพราะขัดหลักความเป็นกลางทางศาสนาและหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนา)

ส่วนการนักบวชในพุทธศาสนาพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ รับยศศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมาย เงินเดือน งบฯอุปถัมภ์จากรัฐ ก็ "ไม่ชอบธรรม" ตามหลักธรรมวินัยและหลักศาสนาของตนเองเช่นกัน เพราะศาสนาควรอยู่ด้วยเงินบริจาคจากศรัทธาของประชาชนที่นับถือศาสนานั้นๆ เท่านั้น ไม่ใช่รับเงินภาษีที่บังคับเอาโดยกฎหมาย และเป็นเงินที่มาจากประชาชนทุกคนรวมทั้งของคนไม่มีศาสนา หรือคนที่นับถือลัทธิ ความเชื่อ ศาสนาบ้านๆ ที่รัฐไม่รับรองและอุปถัมภ์เหมือนศาสนาหลักๆ ด้วย 

สรุปคือ เรื่องปัญหาพระรับเงินถูกหรือผิด เผยให้เห็นปัญหาที่ซับซ้อนอื่นๆ อีก ซึ่งปัญหาพื้นฐานที่สำคัญคือ ปัญหาความไม่ชอบธรรมตามหลักการของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ และปัญหาความไม่ชอบธรรมตามหลักการธรรมวินัยเอง ดังที่กล่าวมา

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“เรารักนายหลวง”: การสร้างอัตลักษณ์ ตัวตน และอำนาจอธิปไตยในสามจังหวัดชายแดนใต้

Posted: 13 Jun 2018 12:22 AM PDT

จากคำว่า "ในหลวง" ที่สะกดไม่ถูกสู่หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของอนุสรณ์ อุณโณ ที่เจ้าตัวลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ไปศึกษาเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ชี้อำนาจอธิปไตยแข็งตัวคือต้นตอความขัดแย้ง ต้องเลิกคิดแบบรวมศูนย์ ให้คนในพื้นที่กำหนดชะตากรรมตัวเอง เผยการเมืองระดับชาติมีผลต่อความขัดแย้งในพื้นที่ 

นับตั้งแต่ความขัดแย้งระลอกในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ปะทุขึ้น มีงานวิชาการจำนวนมากที่พยายามจะอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวจนอาจจะกล่าวได้ว่าสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นแหล่งอุตสหกรรมงานวิชาการที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ แต่งานวิชาการเหล่านั้นก็มักจะวิเคราะห์ผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์ ความมั่นคง หรือนโยบายสาธาณะ น้อยมากที่จะอธิบายผ่านมุมมองมานุษยวิทยา ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ศึกษาจะต้องลงไปคลุกคลีอยู่กับคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพื่อค้นหาว่าคนธรรมดาสามัญใช้ชีวิตอย่างไรในสภาวะที่ความตายสามารถมาเคาะประตูบ้านพวกเขาได้ตลอดเวลา

เพื่ออุดช่องว่างทางวิชาการดังกล่าว อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงลงไปใช้ชีวิตในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเวลาหนึ่งปีที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา จนกลายมาหนังสือที่ชื่อว่า "We Love Mr.King: Malay Muslims of Southern Thailand in the Wake of Unrest" ซึ่งอาจจะพอแปลไทยคร่าวได้ว่า "เรารักนายหลวง: มุสลิมมาเลย์ชายแดนใต้ในกระแสความไม่สงบระลอกใหม่" โดยอนุสรณ์ได้พูดคุุยกับประชาไทถึงความเป็นมาเป็นไปของหนังสือชื่อชวนอ่านเล่มนี้ รวมถึงข้อค้นพบจากในพื้นที่ที่สะท้อนภาพปัญหาการเมืองระดับชาติได้เป็นอย่างดี

 
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ (ภาพจากเฟสบุ๊ค)

หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นอย่างไร?

ในแวดวงการศึกษาเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกล่าสุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนังสือเล่มนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่สามข้อด้วยกัน ข้อที่หนึ่งก็คือถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยเกิดขึ้นจำนวนมากจนกระทั่งเกิดการประชดประชันขึ้นว่าเป็นสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นอุตสาหกรรมงานวิจัย หรือเป็นมหาสมุทรแห่งงานวิจัย แต่น้อยมากที่จะมีงานศึกษาในเชิงชาติพันธุ์วรรณา หรือ ethnography ซึ่งอันนี้ข้าใจได้เพราะว่าเหตุการณ์ความไม่สงบนี้มันเป็นเรื่องของความเสี่ยงในชีวิต งานชาติพันธุ์วรรณามันแปลว่าคุณจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่อย่างน้อยที่สุดโดยมาตรฐานระดับปริญญาเอกคือหนึ่งปี ซึ่งการลงไปในพื้นที่แบบนี้อย่าว่าแต่คนนอกเลย คนในกันเองก็ยังไม่ไว้ใจกันเพราะคุณก็ไม่รู้ว่าใครอยู่ฝ่ายไหน ฉะนั้นงานทางชาติพันธุ์วรรณามันจึงหายไปโดยปริยาย หนังสือของผมเล่มนี้จึงเป็นงานชาติพันธุ์วรรณาที่ว่าด้วยชีวิตของผู้คนสามัญ ที่เป็นมลายูมุสลิมในสถานกาณ์ความไม่สงบ

อันที่สองคือ งานชิ้นนี้ลงไปดูว่าสถานการณ์ความไม่สงมันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนเหล่านี้ยังไง พวกเขาเผชิญมันแบบไหน เขาเข้าใจและอธิบายมันอย่างไรแลพยายามจะต่อสู้ดิ้นรน ประคับประคองชีวิตเขาให้อยู่รอดในสถานการณ์เหล่านี้ได้ยังไง ประการที่สามก็คือที่ผ่านมามันแทบจะไม่มีงานชิ้นไหนที่พยายามจะสร้างทฤษฎี (theorize) มาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น งานส่วนใหญ่มักจะกระจุกตัวอยู่กับคำถามที่ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบมันเป็นเรื่องของอะไร ใครอยู่เบื้องหลัง และต้องการอะไร เพราะความไม่สงบระลอกใหม่มีความแตกต่างกับระลอกก่อนหน้า คือมีลักษณะนิรนาม ในแง่ที่ว่ามันเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง และต้องการอะไร คำถามพวกนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ในแวดวงวิชาการหลังเหตุการณ์มันปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เพราะมันไม่มีใครอ้างว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความไม่สงบและต้องการอะไร มันเป็นความรุนแรงที่นิรนามมากๆ และงานอีกกลุ่มก็จะเป็นงานเชิงประวัติศาสตร์ คืออธิบายสาเหตุของความขัดแย้งว่ามาจากประวัติศาสตร์ซึ่งมีการขับเคี่ยวกันมานานระหว่างสยามกับหัวเมืองมลายู งานทางรัฐศาสตร์ก็จะดูในเรื่องของรูปแบบการปกครอง แต่มันไม่มีงานที่พยายามจะสร้างทฤษฎีขึ้นมา ประวัติศาสตร์เขาก็จะเล่นข้อเท็จจริงเป็นหลัก การเมืองการปกครองก็จะไปดูกลไกของรัฐหรืออะไรก็ว่ากันไป แต่งานของผมมันจะแยกตัวออกมาในแง่ที่ว่ามัน theorize สิ่งที่เกิดขึ้น

ผมมองเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่เป็นผลพวงประการหนึ่งของการบรรจบกันระหว่างสิ่งที่ผมเรียกว่าอำนาจเหนือชีวิต หรืออำนาจแบบ soveriegn power ซึ่งมีหลากหลายชนิดและพยายามที่จะกดลงไป จัดวางตัวเองลงไป หรือพยายามกำกับควบคุมผู้คนในพื้นที่ เหตุการณ์ความไม่สงบรอบนี้มันคือการปะทะกันของบรรดาอำนาจเหนือชีวิตหลายๆ ประเภท ที่พยายามจะแทรกตัวเองลงไปในชีวิตของผู้คนตรงนั้น ในขณะเดียวกันผมก็ลงไปดูว่าผู้คนในพื้นที่เองก็พยายามที่จะเจรจาต่อรองกับอำนาจเหนือชีวิตชนิดต่างๆ เหล่านี้อย่างไร พยายามจะดูว่าพวกเขาพยายามที่จะอิงอาศัย อำนาจเหนือชีวิตเหล่านี้ในการจะได้มาซึ่งตัวตน หรือที่ในทางมานุษยวิทยาเรียกว่าศักยภาพกระทำการหรือ agency ในนามของผู้คนเหล่านี้อย่างไร นี่ก็เลยเป็นที่มาของประโยคที่ว่าเรารักนายหลวง มันเป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการที่คนในพื้นที่พยายามที่จะสร้างตัวตนของเขาผ่านอำนาจเหนือหัวคือองค์อธิปัตย์ซึ่งก็คือกษัตริย์ไทย เพื่อที่ตัวเองจะได้ใช้หรือได้มาซึ่ง agency และใช้ไปในพื้นที่ 

"เรารักนายหลวง" คืออะไร?

ถามว่าประโยค "เรารักนายหลวง" มันมาได้อย่างไร มันเป็นประโยคที่คนในพื้นที่ที่ผมศึกษาเขาสลักลงไปในพานพุ่มที่ทำเพื่อที่จะเข้าร่วมพิธีขบวนพาเหรดในพิธีเปิดงานที่เราเรียกว่าตาดิกาสัมพันธ์ คือเป็นงานกีฬาสีระหว่างโรงเรียนตาดีกา ซึ่งเป็นโรงเรียนศาสนาระดับประถม ที่อยู่ในความดูแลของมัสยิดแต่ละแห่ง เด็กที่เรียนอยู่ในตาดิกาก็จะเข้าสู่โรงเรียนปอเนาะในระดับมัธยม เดิมทีตาดีกาสัมพันธ์มันจะจัดโดย ตาดีกาของแต่ละตำบล เป็นเจ้าภาพและแข่งกันเองระดับตำบล แต่ตอนที่ผมไปศึกษา ในปีนั้นเป็นปีแรกที่ทางอำเภอกับปลัดอำเภอมาแจ้งว่าต่อไปนี้ ให้งานงานตาดีกาสัมพันธ์ในอำเภอรามันไม่ต้องมีการจัดระดับตำบลแล้ว แต่ให้มาจัดร่วมกันระดับอำเภอโดยอ้างว่าต้องการลดภาระค่าใข้จ่ายในกับตาดีกาแต่ละตำบล คนในตาดีการู้ดีว่าสาเหตุ จริงๆ ไม่ใช่ต้องการลดค่าใช้จ่าย เพราะในความเป็นจริงทางอำเภอก็ไม่เคยช่วยค่าใช้จ่ายอะไรเลย แต่เหตุผลจริงๆ คือต้องการจะมาสอดส่งตรวจตราทุกๆ กิจกรรมของตาดีกา คล้ายๆ กับที่เขาเข้าไปสอดส่องปอเนาะ เพราะเขาคิดว่ามันเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดอิสลามสุดขั้วที่เขาเชื่อว่าเป็นเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบมันปะทุขึ้นมา เขาจึงต้องการสอดส่องทุกอย่าง

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะรู้ว่าวัตถุประสงค์คืออะไร ถึงแม้จะไม่ค่อยสมัครใจที่จะไปเข้าร่วมแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ ไม่งั้นก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าต่อต้านรัฐ หรือฝักใฝ่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหว จึงต้องจำใจเข้าร่วม แต่จะเข้าร่วมยังไงเพื่อให้ได้รับการเคารพองค์อาจภาคภูมิ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องพินอบพิเทาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ตัวเองไม่ชอบหน้า ก็เลยคิดได้ว่าไปในฐานะเป็นพสกนิกรที่จงรักภักดี ก็จึงกลายเป็นเรารักนายหลวง เพราะประโยคนี้แสดงให้เห็นว่าคุณปวารณาตัวเองเป็นพสกนิกรที่จงรักภักดี คุณไม่ได้ไปที่นั่นในฐานะพลเมืองของรัฐไทย แต่ในฐานะพสกนิกรที่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ เมื่อเข้าไปแบบนี้คุณจึงไม่ต้องพินอบพิเทาต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ผมจึงชี้ว่านี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิธีการที่คนในพื้นที่พยายามจะสร้างและแสดงออกซึ่งศักยภาพกระทำการผ่านการสร้างตัวตน ผ่านตัวของกษัตริย์ไทยในฐานะที่เป็นองค์อธิปัตย์ 

แต่เรื่องมันซับซ่อนขึ้นไปกว่านั้น เพราะว่าองค์อธิปัตย์ในความหมายนี้มันไม่ง่ายเสียทีเดียว คำว่านายหลวงมันเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ว่า ผมอยู่ในศาลาหน้าบ้านและเด็กที่จะไปร่วมงานก็จะเอาพานพุ่มที่มาวางบนโต๊ะ ผมก็เห็นว่าเขียนผิด เลยถามว่าทำไมถึงใช้คำว่านายหลวง เขาก็งง ทุกคนคิดว่าสะกดถูก ทุกคนก็ประหลาดใจ ปนตลกว่าทำไมตัวเองถึงไม่รู้เรื่องอะไร หากมองโดยผิวเผิน การสะกดผิดจากในหลวงเป็นนายหลวงมันอาจจะเป็นภาพสะท้อนถึงความล้มเหลวของกระบวนการศึกษาไทยที่ไม่สามารถสอนหนังสือให้คนในพื้นที่สะกดในหลวงอย่างถูกต้องได้ หรืออาจจะเป็นผลพวงอันไม่ตั้งใจของการโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐ แต่ผมตีความมันอีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่านี่เป็นความพยายามของคนในพื้นที่ที่จะสร้างตัวตนของเขาผ่านกษัตริย์ และใช้ agency ผ่านกษัตริย์ โดยที่เขาไม่กระทำผิดข้อบังคับทางศาสนา 

ในประโยคเรารักนายหลวง คำว่า "รัก" มันแสดงออกซึ่งความใกล้ชิดสนิทสนม ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ไม่ใช่การแสดงความเคารพสักการะต่อสิ่งที่เหนือกว่า ซึ่งสำหรับมุสลิมแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่คุณจะเคารพสักการะได้ยกเว้นแต่อัลเลาะห์ ส่วนคำว่า "นายหลวง" มันก็คือ Mister มันก็คือคนชื่อหลวง หรือมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่กษัตริย์แต่อย่างใด เรารักนายหลวงจึงเป็นการแสดงออกซึ่งความใกล้ชิดสนิทสนม ระหว่างมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ไม่ใช่การแสดงออกถึงความเคารพสักการะแบบสาวกต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำว่านายหลวงเป็นการพรากเอาสภาวะกึ่งเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ออกไปเพื่อจะทำให้การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เป็นไปได้ เพราะอะไร เพราะกษัตริย์ไทย แม้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่เป็นต้นมาจะมีการเอาแนวคิดธรรมราชาเข้ามาเนื่องจากอิทธิพลจากตะวันตกรวมถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ชนชั้นนำไทยทำก็คือพรากเอาความเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือความเป็นสมมติเทพออกจากสถาบันกษัตริย์ตามคติเทวราชา แล้วรับเอาแนวคิดธรรมราชาไปใช้ รัชกาลที่เก้าก็ขึ้นครองราชย์ในฐานะธรรมราชา อย่างไรก็ดี ตั้งแต่จอมพลสฤษฎิ์ขึ้นมามีอำนาจเป็นต้นมา มีการฟื้นฟูประเพณีหลายอย่างที่มีอิทธิพลจากพราหมน์ฮินดูขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษ 2530 ที่มีการเร่งสร้างสภาวะความเป็นกึ่งเทพของกษัตริย์ขึ้นมา ก็ทำให้กษัตริย์ไทยในแง่หนึ่งมีลักษณะประหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในทางสังคมศาสตร์ เขาเรียกกระบวนการนี้ว่า remystification of the monarchy คือการทำให้สถาบันกลับไปเป็นสิ่งเร้นลับขึ้นอีกครั้งหนึ่ง 

ผลพวงที่เกิดขึ้นคือ ในความเห็นหรือความเชื่อของคนไทยจำนวนมากในหลวงรัชกาลที่เก้าทรงเป็นคล้ายกึ่งเทพ ไม่ใช่บุคคลธรรมดา ความเป็นกึ่งเทพตรงนี้มันจึงทำให้มุสลิมไม่สามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์ได้เหมือนกับคนไทยทั่วไป สุดท้ายผมไปถามคนที่ทำพานพุ่มว่าคำว่า "นายหลวง" เขาหมายถึงอะไร เขาก็ตอบว่า ในหลวงคือคนธรรมดาสามัญเหมือนกับพวกเขา มันก็เลยสามารถทำให้เขาสถาปนาความสัมพันธ์ตรงนี้ขึ้นได้โดยไม่ละเมิดหลักการศาสนา ไม่ว่าเขาจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เขาอาจจะไม่ได้มีเจตนาจะพรากสถานะความเป็นเทพของกษัตริย์ผ่านคำคำนี้ เพราะสำหรับเขาเขาคิดว่ามันสะกดถูก แต่นายหลวงสำหรับเขาคือมนุษย์ปุถุชนธรรมดา มุสลิมก็จะไม่มีปัญหากับการรักนายหลวง เพราะเป็นการแสดงความรักระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง นี่จึงเป็นที่มาที่ไปของชื่อหนังสือ 

 

 

ตัวอย่างปกหนังสือ We Love Mr King (ภาพจาก เฟสบุ๊ค Anusorn Unno)

ข้อค้นพบใหม่ในพื้นที่มีอะไรบ้าง?

สิ่งที่น่าสนใจคือหนึ่งคือในเชิงของวิวาทะกับประวัติศาสตร์ เรามักจะมองประวัติศาสตร์ปัตตานีเป็นชิ้นใหญ่ๆ แต่มองไม่เห็นความสลับซับซ้อนข้างในนั้น ไม่ว่าจะเป็น การปะทะกันระหว่างชาตินิยมไทยหรือชาตินิยมมลายู เวลาฝ่ายขบวนการจะชูประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็มักจะบอกว่าเราเคยเป็นอาณาจักรปัตตานีที่ยิ่งใหญ่ แต่เอาเข้าจริง งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่ามีรายละเอียดที่สลับซับซ้อนกว่านั้น เพราะในหมู่บ้านที่ผมไปศึกษามีตำนานการตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านว่าถูกตั้งขึ้นมาโดยญาติของเจ้าเมืองรามัน ซึ่งถูกมอบหมายให้มาฝึกช้างศึกม้าศึกในสงครามกับอาณาจักรปัตตานี บวกกับมีเรื่องเล่าต่อมาว่าคนในหมู่บ้านเป็นลูกหลานหรือได้รับการรับเลี้ยงดูจากคนในรั้วในวังรามัน ฉะนั้นปัตตานีในความนึกคิดของคนในหมู่บ้านจึงเป็นอริกับพวกเขา ฉะนั้นเวลากลุ่มเคลื่อนไหวพยายามจะชูประวัติศาสตร์ปัตตานีอันยิ่งใหญ่มันจึงไม่มัดใจคนในหมู่บ้านนี้ สิ่งที่มันเวิร์คมากกว่าในการชักจูงให้คนเข้าร่วมกับขบวนการจึงเป็นเรื่องของความอยุติธรรมที่คนในปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่มากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ประสบพบเจอเหมือนๆ กัน

อันที่สองก็คือ ในแง่หนึ่ง เราพบว่าเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่มันทำให้อำนาจเหนือความเป็นความตายของคนในพื้นที่ มันขยายตัวอย่างกว้างขวาง และมันก็มีหลากชนิด มันไม่ได้มีแค่เจ้าหน้าที่รัฐนอกรีตที่จะพรากเอาชีวิตพวกเขา มันมีทั้งฝ่ายกระบวนการเคลื่อนไหว คนที่อยู่ในขบวนการผิดกฎหมาย หรือเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งคนเหล่านี้สามารถที่จะใช้ความรุนแรง หรือพรากเอาชีวิตคนได้โดยที่ไม่ต้องรับผิด ฉะนั้นมันไม่ได้มีเฉพาะคนระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับฝ่ายเคลื่อนไหวเท่านั้นที่ชาวบ้านจะต้องต่อรองด้วย หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านเขาอยู่ในสภาวการณ์แบบนี้ได้อย่างไร และการที่เหตุการณ์ความไม่สงบมันทวีความรุนแรงขึ้น มันทำให้อำนาจเหนือความเป็นความตายในชีวิตประจำวันมันกระจายตัวอย่างกว้างขวางในชีวิตประจำวันของคนเหล่านี้ได้อย่างไร แต่ชาวบ้านเขาก็ไม่ได้ง่อยเปลี้ยเสียขา เขาก็เจรจาต่อรองอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเรารักนายหลวงก็ชี้ให้เห้นถึงความพยายามในการเจรจาดังกล่าว

อีกสิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นก็คือ ถึงแม้ว่าการประดับประโยคเรารักนายหลวงลงบนพานพุ่มจะเป็นการจัดวางให้กษัตริย์ไทยให้อยู่ในสภาวะยกเว้นจากความเป็นกึ่งเทพ แต่กระบวนการสร้างตัวตนหรือแสดงออกซึ่งศักยภาพกระทำการผ่านองค์อธิปัตย์ มันมีความขัดแย้งกันภายในตัวเอง เพราะในฟากหนึ่งเราสามารถที่จะสร้างตัวตนของเราได้ผ่านกษัตริย์ด้วยการพรากสถานะความเป็นกึ่งเทพของกษัตริย์ไป แต่เวลาคุณจะใช้ศักยภาพกระทำการผ่านกษัตริย์ คุณก็ต้องกลับไปหาความเป็นกึ่งเทพขอกษัตริย์อีกอยู่ดี เพราะถ้ากษัตริย์เป็นคนธรรมดา คุณก็ไม่สามารถใช้ agency ตรงนี้ได้ ด้วยเหตุนี้มันจึงมีกระบวนการที่ขัดกันเองภายใน คือพรากสถานะกึ่งเทพออกมา แต่พอจะใช้ก็ต้องคืนสถานะกึ่งเทพนั้นกลับไปอีกอยู่ดี โดยปกติแล้วถ้าสิ่งที่คนในพื้นที่เรียกร้องเป็นเรื่องของความเสมอภาค และความเท่าเทียม แต่สถานะของกษัยรติ์มันเป็นการจัดวางลำดับอำนาจเชิงศีลธรมที่มันเป็นลำดับชั้น ซึ่งมันไปด้วยกันไม่ได้กับความเสมอภาค หรือเท่าเทียม ฉะนั้นสิ่งที่ผมเสนอไปในหนังสือก็คือ กษัริย์ไทยจะต้องไม่ใช่ "ศูนย์รวมจิตใจ" (embodiment) ของรัฐไทยในสภาวะยกเว้น หากจะต้องเป็นรัฐไทยที่ใช้อำนาจอธิปไตยอย่างยืดหยุ่นและแยกย่อย คนมาเลย์มุสลิมจึงจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ และเหตุการณ์ความไม่สงบมันถึงจะคลี่คลายได้

ประการที่สามก็คือ บทสรุปของหนังสือของผม ผมตั้งชื่อว่า soveriegnty in crisis คืออำนาจอธิปไตยในสภาวะวิกฤติ ผมสรุปความคิดในหนังสือทั้งหมดว่าเป็นปัญหาของอำนาจอธิปไตยที่มันจัดการไม่ได้ ตั้งแต่สมัยอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับหัวเมืองมลายูมันเป็นระบบรัฐบรรณาการ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของอธิปไตยแบบเด็ดขาด และไม่มีเส้นเขตแดนที่ชัดเจน จึงเกิดการปะทะกัน เกิดสงครามรบพุ่งกันเรื่อยมา จนกระทั่งสยามกลายเป็นรัฐสมัยใหม่และผนวกเอาหัวเมืองมลายูเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสมยใหม่ ปัญหาอำนาจอธิปไตยที่คลุมเครือจบไป แต่ปัญหาใหม่เกิดขึ้นมา ปัญหาคือมันทำให้ ตัวตน หรือ subjectivity ของคนในพื้นที่มีปัญหา เนื่องจากอุดมการณ์ของรัฐไทย ที่มีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นตัวตั้ง มันไปผูกอยู่กับชาติพันธุ์ไทยและศาสนาพุทธ ขณะที่คนในพื้นที่เป็นคนมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม มันจึงเกิดวิกฤตของอำนาจอธิปไตย ตัวตนของคนในพื้นที่จึงขัดแย้งกับตัวตนของประชาชนที่รัฐไทยอยากให้เป็น และปัญหานี้มันก็ยิ่งลุกลามบานปลายมากขึ้น เพราะรัฐไทยมีลักษณะเป็นรัฐรวมศูนย์หนักขึ้นเรื่อยๆ เอาความมั่นคงของรัฐไปตัวตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนจะมีการรัฐประหาร มีการพยายามจะเสนอรูปแบบการปกครองแบบพิเศษ หรือการรูปแบบการปกครองตนเอง มีข้อเสนอเต็มไปหมด เช่นปัตตานีมหานคร จังหวัดจัดการตนเอง หรืออะไรก็ว่ากันไป ซึ่งเป็นรูปแบบของการจัดการอำนาจอธิปไตยที่ยืดหยุ่น และแยกย่อย แต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมาประตูนี้ถูกปิดตาย ทหารนำประเทศ ความมั่นคงเป็นหลัก ประชาชนไม่มีความหมายอะไร 

ฉะนั้นยิ่งตอนนี้ ตัวแทนอำนาจอธิปไตยเพิ่มขึ้นมาอีกคนคือประยุทธ์ ที่คุณ มีมาตรา 44 ที่สามารถประกาศสภาวะยกเว้นได้ตลอดเวลา มันก็ยิ่งหนักข้าไปอีก ทั้งสองเรื่องมันเป็นเรื่องเดียวกัน คือปัญหาที่ว่าอำนาจอธิปไตยจะเป็นของใคร ในระดับประเทศเราตอบไม่ได้แต่ไม่ใช่ของปวงชนแน่ๆ ขณะที่ในพื้นที่เอง อำนาจอธิปไตยที่เขาอยากจะบ่งชี้ตัวเองผ่าน มันก็ดันไปผูกกับ ศาสนาพุทธและชาติพันธุ์ไทย และมีแนวโน้มที่จะแคบลงเรื่อยๆ ทั้งสองเรื่องนี้ไม่สามารถจะแก้ได้เลย ตราบเท่าที่อำนาจอธิปไตยของประเทศ นี้ยังไม่ถูกใช้ในรูปแบบประชาธิปไตย 

ทำไมปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในภาคใต้ถึงแรงกว่าภาคอื่นๆ?

อย่างน้อยที่สุด ภูมิภาคอื่นๆ มันยังแชร์กันในเรื่องของศาสนา คืออย่างน้อยก็ยังเป็นพุทธเหมือนกัน แต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มันเป็นจุดปะทะที่มีนัยสำคัญยิ่งระหว่างโลกสองโลก โลกที่เป็น mainland Southeast Asia มันถูกครอบครองโดยพุทธ ในขณะที่โลกในแถบคาบสมุทรมันถูกครอบครองโดยอิสลาม และสามจังหวัดมันคือข้อต่อระหว่างสองโลกนี้ มันจึงเป็นจุดปะทะอันยิ่งใหญ่มาก ในบริเวณอื่นๆ มันอาจจะยังมีความคุกรุ่นอยู่บ้าง แต่มันก็จัดการได้ระดับหนึ่ง ในภาคเหนือ หรือล้านนา อาจจะมีความต่างในในทางชาติพันธุ์ แต่อย่างน้อยที่สุดศาสนาพุทธก็เข้าไปครอบงำความเชื่อท้องถิ่นได้ระดับหนึ่ง เช่นเดียวกันในทางอีสาน พุทธก็เข้าไปครอบงำได้ แต่สามจังหวัดมันไม่ได้ เพราะเขาเป็นอิสลาม อีกข้อก็คือ มลายูเองก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่แยกออกมาจากจากภูมิภาคอื่นๆ ในแง่ของภาษา ภาคกลาง เหนือและอีสาน ก็จะคล้ายคลึงกันระดับหนึ่ง ตัวเขียนก็ยังคล้ายๆ กัน อย่างคนลาวนี่คือแทบจะพูดภาษาเดียวกันกับเราเลย มลายูมันคนละเรื่อง คนละภาษา เพราะฉะนั้นมันไปด้วยกันไม่ได้เลยทั้งในแง่ภาษา ศาสนา และชาติพันธุ์ มันจึงทำให้การสร้างตัวตนของรัฐไทยในภาคอื่นๆ พอจะทำได้ แต่สามจังหวัดทำไม่ได้เลย

รัฐไทยเวลามันเผชิญกับโจทย์ทางด้านความต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาแทนที่มันจะปรับตัวเอง ให้มีความยืดหยุ่น และสามารถจะแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง มันกลับไปสร้างสภาวะยกเว้นขึ้นมา และเรียกมันว่าราชอาณาจักรไทย โดยมีกษัตริย์เป็นศูนย์รวมของของตัวนั้น และให้ราชอาณาจักรไทยเป็นเครื่องดูแลความต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ชัดว่ากษัตริย์เป็นอัครศาสนูปถัมพก คือจะต้องดูแลคนทุกศาสนา และชาติพันธุ์ แต่รัฐไทยมันไปบ่งชี้ตัวเองเข้ากับศาสนาพุทธและชาติพันธุ์ไทย มันก็เลยไม่มีที่ว่างให้มลายูมุสลิมเข้าไป ปัญหาคือวิธีการเช่นนี้มันไม่จีรัง ลักษณะที่มันเป็นสภาวะยกเว้นเช่นนี้เกิดจากการใช้อำนาจที่มันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและมันไม่ตอบสนองต่อความแตกต่างหลากหลายของผู้คนได้ในระยะยาว ฉะนั้นแทนที่คุณจะอาศัยกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของรัฐไทยในสภาวะยกเว้นในการเผชิญกับโจทย์เรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์ และศาสนา เราต้องการรัฐที่มีความยืดหยุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้อำนาจอธิปไตย ที่จะโอบรับความแตกต่างหลากหลายได้ ไม่เฉพาะในเรื่องของชาติพันธุ์และศาสนา แต่รวมถึงจินตนาการทางการเมืองประเภทอื่นๆด้วย ไทยต้องเลิกเป็นรัฐรวมศูนย์เหมือนที่ประเทศอื่นเขาทำกัน

ถามว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้มีกี่ประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวรวมศูนย์ คำตอบคือมีแค่สองประเทศคือไทยกับกัมพูชา และทั้งสองประเทศนี้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษแบบเดียวกันคือ the Kingdom of Cambodia กับ the Kingdom of Thailand กัมพูชาไม่เจอปัญหาเพราะชาติพันธุ์เขาค่อนข้างจะคล้ายคลึงกัน จึงไม่เจอโจทย์เรื่องชาติพันธุ์และศานา แต่ของเราเรามีความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา และหลายประเทศในโลกนี้เวลาเขาเจอปัญหาดังกล่าว เขาจะใช้รูปแบบรัฐในลักษณะอื่น ที่มันยืดหยุ่นและแยกย่อยมากขึ้น กลายเป็นระบอบสหพันธรัฐ สาธาณรัฐ เพราะมันประจักษ์กันแล้วว่าไอรูปแบบของรัฐเดี่ยวมันไม่มีความสามารถมากพอที่จะรองรับ ความแตกต่างหลากหลายของผู้คนที่อยู่ในชาติได้ มันทำได้ระดับหนึ่งแต่ถึงที่สุดแล้วมันก็จำเป็นจะต้องปรับตัว 

รัฐไทยสอดส่องมากขึ้นในรัฐบาลทหาร?

จริงๆ แล้วการสอดส่องมันก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐไทยพยายามตลอดเวลาที่จะเข้าไปแทรกแซง ซึ่งมันสร้างความไม่พึงพอใจให้กับคนในพื้นที่อย่างมาก ยิ่งในรัฐบาลนี้พื้นที่ทางการเมืองมันปิดตาย เขามีความไม่พอใจสูงกว่าเมื่อก่อนแต่ไม่สามารถจะระบายออกได้ เมื่อประเทศถูกปกครองด้วยทหารโอกาสที่จะต่อรองจึงถูกปิดลง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความคุกรุ่น ที่มันเก็บกดเอาไว้ และรอเวลาปะทุขึ้น ความสงบที่เกิดขึ้น จริงๆแล้ว มันเป็นแค่ชั่วคราว แต่เรากำลังก็จะเจอฉากใหม่อีกเยอะ

คนในพื้นที่เองก็พูดชัดเจนว่า เมื่อก่อนเขาไม่เคยเข้าใจเลยว่ารัฐประหารมันจะส่งผลต่อปัญหาภายในพื้นที่อย่างไร แต่สี่ปีที่ผ่านมานี้ เขาตระหนักดีแล้วว่ามันเกี่ยวกัน แม้มันอาจจะแก้ได้ไม่หมด แต่อย่างน้อยที่สุดการมีรัฐบาลพลเรือน ที่มาจากกระบวนการที่ชอบธรรมและถูกต้องตามแนวทางประชาธิปไตย จะเปิดพื้นที่ให้กับพวกเขาในการเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่สำหรับกลุ่มติดอาวุธ แต่หมายถึงในพื้นที่ทางการเมืองแบบเปิดด้วย ที่สำคัญคือกลุ่มติดอาวุธจำนวนหนึ่งเขาเคลื่อนไหวต่อสู่ด้วยอุดมการณ์ และอุดมการณ์มันเป็นเรื่องของการขับเคี่ยวกันทางความคิดและการเมือง ถ้าคุณเปิดพื้นที่ให้เขาได้ลุกขึ้นมาและพูดถึงอุดมการณ์ของเขาได้อย่างเปิดเผย ได้มาถกเถียงพูดคุยกันอย่างเปิดเผยและไม่ผิดกฎหมาย โอกาสที่ความรุนแรงจะลดลงก็จะมีมากขึ้น

เดิมทีเราไม่เคยเห็นความไม่สงบในภาคใต้เป็นเรื่องเดียวกับความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพฯ แต่สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นคือทั้งสองเรื่องมันโจทย์เดียวกัน คือมันเป็นปัญหาวิกฤติของอำนาจอธิปไตย ในระดับประเทศ มันคือการตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร คือคุณเขียนในรัฐธรรมนูญว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ใช่ ในพื้นที่ก็เช่นเดียวกัน เขาไม่ได้ยอมรับอำนาจอธิปไตยของสยาม มาตั้งแต่แรก พอมันถูกผนวกเข้ามา โดยไม่ได้ถามความยินยอมพร้อมใจของคนในพื้นที่ สนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909 มันทำกันโดยกรุงเทพกับอังกฤษ มันไม่ได้มาถามคนในพื้นที่มาตั้งแต่ต้น ในตอนแรกๆ คนที่กระด้างกระเดื่องคือเจ้าเมืองในพื้นที่ที่สูญเสียอำนาจไป แต่ ณ ปัจจุบัน คนที่ได้รับผลกระทบคือคนธรรมดาสามัญ ที่ไม่สามารถระบุตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยได้ กลุ่มติดอาวุธเขาก็เลยสามารถดึงแรงสนับสนุนจากฐานล่างขึ้นมาได้เยอะ 

ทางออกที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง?

อย่างน้อยที่สุด คนในพื้นที่เขาต้องการอิสระในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง อิสระที่จะมีความคิดความเชื่อ อิสระที่จะปฏิบัติกิจวัตรทางศาสนาโดยไม่ถูกขัดขวาง อิสระที่จะปฏิบัติตามอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่เขาเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งกาย การใช้ภาษา ให้เขาได้มีอิสระได้แสดงออกกันไป กล่าวรวมๆ คือต้องให้อิสระเขาในการดูแลตัวเอง ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ถ้ารัฐส่วนกลางไม่อนุญาต รัฐเดี่ยวแบบรัฐไทยมันไม่ยืดหยุ่นพอ ที่จะทำได้ ตอนนี้เราก็มีรูปแบบการปกครองพิเศษ เช่นกรุงเทพมหานคร พัทยา เลือกตั้งผู้ว่าเองได้ มันก็คือโมเดลเดี่ยวกัน คือให้อิสระในการดูแลตัวเอง คือมันไม่ใช่เรื่องใหม่เลยสำหรับประเทศไทย คุณแค่ไม่ให้เขาเพราะคุณกลัวไปเองว่ามันจะนำไปสู่ปัญหาที่บานปลาย

ถามว่าความกลัวนี้มันเกิดจากอะไร อาจเป็นเพราะคุณลักษณะโดดเด่นประการหนึ่งของอิสลามคือ มันไม่แยกมิติต่างออกไปจากศาสนาเลย อิสลามมันจึงไม่ใช่แค่ศาสนาแต่มันครอบคลุมไปทุกมิติของชีวิตคุณ การเมืองก็มีการเมืองแบบอิสลาม เศรษฐกิจแบบอิสลาม มีกฎหมายองตัวเอง แต่เราไม่มีการเมืองแบบพุทธ หรือเศรษฐกิจแบบพุทธ อิสลามมันมีหมดเพราะมันเป็นคำสอนที่ครอบคลุมทุกมิติชีวิตของคน พอเป็นเช่นนี้ เวลามีการปะทะต่างๆ ความเป็นอิสลามมันจึงเด่นชัดขึ้นมากลายเป็นสิ่งที่กระทบชีวิตของคนเป็นอันดับแรกๆ  คนไทยสวนใหญ่จึงไม่เข้าใจปัญหาของคนในพื้นที่ เพราะศาสนาพุทธไม่ได้ครอบคลุมชีวิตคนไปทุกมิติแบบนี้

คำถามสุดท้าย ผู้อ่านจะได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้?

คุณจะเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงที่ผ่านมาในลักษณะที่มันปราณีตและละเอียดละออขึ้น แทนที่จะเป็นเรื่องของความรุนแรงเลือดสาด คุณจะเห็นชีวิตประจำวันของคนสามัญ ที่เขาอยู่ภายใต้สถานการณ์นั้น อันที่สองคือ มันจะชี้ชวนให้เราทำความเข้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นโจทย์ที่งานศึกษาทั่วไป  ยังไม่เคยตอบหรือตั้งคำถาม คือโจทย์ว่าด้วยวิกฤติของอำนาจอธิปไตยและวิกฤตการสร้างตัวตนของคนในพื้นที่ สามคือ สองวิกฤติใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าในช่วงทศวรรษเศษที่ผ่านมา คือการเมืองระดับประเทศกับในสามจังหวัด ซึ่งดูเหมือนจะแยกขาดจากกัน แต่เอาเข้าจริงสำหรับผมมันเรื่องเดียวกัน มันคือวิกฤตของอำนาจอธิปไตยในประเทศนี้ที่ยังจัดการไม่ลงตัวเสียที 

คำถามสุดท้ายจริงๆ ตอนเลือกชื่อหนังสือ กลัวบ้างไหม?

ไม่กลัว เราก็วิเคราะห์ไปตามเนื้อผ้า มันมีทฤษฎีรองรับเยอะ แต่ผมไม่อยากพูดภาษาทฤษฎีในบทสัมภาษณ์ลองไปอ่านในหนังสือดู 

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การต่อสู้ของฉัน: เพื่อคุณลุง ประชาชนและประเทศเอริเทรีย

Posted: 12 Jun 2018 11:24 PM PDT

 

วันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ในงาน Oslo Freedom Forum 2018 ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ นอกเหนือจากปาฐกถาที่น่าสนใจอย่างของ Wael Ghonim ผู้นำการปฏิวัติอียิปต์คนสำคัญที่ได้พูดให้ข้อคิดต่อนักเคลื่อนไหวแล้ว ยังมีปาฐกถาของ Vanessa Berhe เพื่อนของผมอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีอายุเท่ากับผม แต่เธอรณรงค์ในสิ่งที่ดูเล็กๆ แต่ยากยิ่งกว่า นั่นก็คือการทวงคืนอิสรภาพชีวิตของคุณลุงเธอที่ถูกเผด็จการในประเทศเอริเทรียพรากไปกว่า 17 ปีแล้ว เธอเริ่มต้นเล็กๆ จนการรณรงค์ของเธอ จนก่อตั้งองค์กร One Day Seyoum เป็นที่รู้จักไปในระดับโลก บทปาฐกถาของเธอนอกจากจะให้ข้อมูลถึงเผด็จการอันเลวร้ายในประเทศนั้น ยังให้เราเห็นว่าคนเล็กๆ ที่สนใจต่อปัญหาอย่างจริงใจก็อาจจะสร้างแรงกระเพื่อม ใหญ่ได้   ผมและภวัต อัครพิพัฒนา จึงถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทยมีข้อความดังต่อไปนี้ - เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

 


วันที่ 21 กันยายน 2001 มีเสียงคนเคาะประตูบ้านลุงของฉันในอัสมารา เมืองหลวงของเอริเทรีย ตอนนั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ ลุงของฉันยังอยู่บนเตียงนอนกับภรรยาของท่านซึ่งท้องได้เจ็ดเดือนแล้ว กับลูกเล็กๆ วัยสองขวบที่นอนหลับสนิทอยู่ข้างๆ คุณลุงของฉันท่านลุกขึ้นไปเปิดประตู และไม่กี่นาทีต่อมาก็กลับมาบอกภรรยาว่า ตำรวจต้องการเรียกท่านไปพบ ท่านจะกลับมาในช่วงบ่าย เวลาตอนนี้ก็ผ่านไปเกือบสิบเจ็ดปีแล้ว ลุงของฉันก็ยังคงไม่ได้กลับมาที่บ้าน

ปี 2001 เป็นปีสำคัญของประวัติศาสตร์เอริเทรีย ความสำคัญนั้นมาจากคำสัญญาที่ผู้นำผู้ซึ่งปลดปล่อยประเทศเมื่อสิบปีกว่าก่อนได้ให้ไว้ เมื่อกลุ่มกองโจรชื่อ EPLF เอาชนะสงครามที่ดำเนินมากว่ากว่าสามสิบปีเพื่ออิสรภาพจากเอธิโอเปีย กลุ่มนี้ได้กลายมาเป็นพรรคการเมืองชื่อ PFDJ หัวหน้ากลุ่ม ไอซัส อเฟเวิรกี้ ได้กลายเป็นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ สงครามนี้แรกเดิมทีได้ก่อขึ้นในฐานะของการสู้เพื่อประชาธิปไตย ความยุติธรรม และความเท่าเทียม แต่การเลือกตั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากนั้น ผู้นำของเอริเทรียสัญญาว่าการไม่มีประชาธิปไตยเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น ผู้นำระบอบใหม่จำเป็นต้องใช้เวลาสักหน่อยในการวางรากฐานประชาธิปไตย และประชาชนก็ให้เวลาแก่พวกเขา


ไอซัส อเฟเวิรกี้

เวลาชั่วคราวถูกกำหนดให้สิ้นสุดลงในปี 2001 สิบปีให้หลังการประกาศอิสรภาพของเรา สงครามระหว่างเขตแดนอันโหดร้ายกับเอธิโอเปียได้สิ้นสุดลงแล้ว การเลือกตั้งได้ถูกกำหนดให้มีขึ้นในช่วงท้ายของปีนั้น แต่บรรยากาศแห่งความตรึงเครียดได้แพร่กระจายไปทั่ว ประชาชนต่างก็มีความเข้าใจที่ชัดเจนว่า เหตุการณ์ในปี 2001 จะเป็นแม่แบบสำหรับชาติที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นี้ ทำให้พรรคต่างๆ ที่มีบทบาททางการเมืองต่อสู้ฟาดฟันกันอย่างหนักหน่วงเพื่อให้วิสัยทัศน์แห่งเอริเทรียในแบบของพวกเขากลายเป็นจริง

คุณลุงของฉันเป็นคนที่มีวาทศิลป์ ไม่เกรงกลัวอำนาจ และเป็นคนโด่งดังคนหนึ่ง แม้ตอนในระหว่างสงครามเพื่อเอกราช ท่านก็มีปัญหากับผู้นำซะแล้ว ท่านถูกคุมขังอยู่หนึ่งปีขณะที่ทำงานเป็นครูในค่ายกองโจร นี่ก็เพราะการเห็นด้วยกับทัศนะประชาธิปไตย

ในระหว่างสงคราม ท่านเป็นช่างภาพและนักทำสารคดีที่มีฝีมือยอดเยี่ยมและเป็นที่รู้จักนับถือ งานของท่านเป็นที่รู้จักและยกย่องไปทั่วโลก หลังจากได้รับเอกราชแล้ว ท่านได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เอริทีวี แต่เพราะเขายังคงพูดต่อต้านผู้นำอยู่เนืองๆ เขาถูกย้ายจากตำแหน่งอันทรงอำนาจนี้ไปอยู่ในตำแหน่งที่มีสร้างพิษภัยได้น้อยลงนั่นก็คือ กระทรวงการท่องเที่ยว แต่แล้วในที่สุด เซเย็มก็ลาออก เขามาเป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระ ทำประเด็นในเรื่องความอยู่ดีมีสุขของประชาชนชาวเอริเทรียน

และขณะที่นโยบายของรัฐบาลก็เพิ่มความเป็นเผด็จการขึ้นเรื่อยๆ การรายงานข่าวของเซเย็มก็เข้มข้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน ท่านเข้าร่วมในขบวนการของนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองผู้เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปจากผู้นำระดับสูงที่สุดในรัฐบาล พวกเขาเหล่านี้ใช้แค่ปากกาและเสียงของเขาเท่านั้นเป็นอาวุธ

เมื่อนักศึกษาผู้ประท้วงนโยบายใหม่ซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเขาในเดือนเมษายนปี 2001 ถูกสลายโดยกำลังของตำรวจ กักขังตัว และฆ่าตายในระหว่างการกักกัน  เซเย็ม เขียนว่า "ผู้นำในอนาคตกำลังถูกฆ่าตายโดยผู้นำในวันนี้" ท่านกดดันรัฐบาลให้เปิดการสนทนากับประชาชนเพื่อให้ประเทศได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ในขณะเดียวกัน กลุ่มของนักการเมืองที่รวมกันสิบห้าคนและผู้นำระดับสูงของกองทัพก็เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี ไอซัส อเฟเวิรกี จดหมายนี้วิพากษ์วิจารณ์ข้อเท็จจริงที่ว่า ยังไม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเลย พวกเขาเรียกระบอบของประธานาธิบดีว่าผิดกฏหมายและผิดรัฐธรรมนูญ คนกลุ่มนี้ถูกเตือนว่าอย่ากระทำเช่นนี้อีก แต่พวกเขาก็ยังทำ และทำออกมาดังเสียด้วย เจ้าหน้าที่ข้าราชการเหล่านี้พูดทั้งในระดับท้องถิ่นและในสื่อต่างชาติ และประเด็นนี้ก็ขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ


คุณลุงและฉัน

วันที่ 18 สิงหาคม 2001 โลกทั้งใบกำลังจับจ้องไปที่กรุงนิวยอร์กและการโจมตีก่อการร้ายที่เกิดก่อนหน้านั้นหนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลเอริเทรียน ปิดสื่ออิสระทั้งหมดอย่างเงียบๆ ไม่กี่วันหลังจากนั้น นักหนังสือพิมพ์สิบคน รวมถึงคุณลุงของฉันและนักการเมืองอีกสิบเอ็ดคนผู้ซึ่งมีบทบาทกับกลุ่มประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกจับตัวไปจากบ้านและจับขังคุก

จนกระทั่งทุกวันนี้ ไม่มีใครเลยที่ถูกกล่าวหา ถูกลงโทษ หรือได้รับคำสั่งจากทางการถึงเหตุผลของการจับกุมนี้ กระทั่งทุกวันนี้ ข่าวสารที่เรารู้เกี่ยวกับพวกเขานั้นมาจากผู้คุมนักโทษซึ่งหนีออกมาและเล่าว่านักโทษเหล่านี้อยู่ในคุกที่ควบคุมความปลอดภัยเข้มข้นที่สุดกลางทะเลทราย ที่ตอนเช้าร้อนดั่งไฟ และเย็นน้ำแข็งในตอนค่ำ พร้อมกับแขนและขาที่ถูกมัดแน่นตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง กระทั่งถึงทุกวันนี้ ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ไปเยี่ยมพวกเขา และยังไม่มีใครในหมู่พวกเขาได้รับการปล่อยตัวออกมา

ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา เอริเทรียก็ไม่มีการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญ สภา และการเลือกตั้งใดๆ อีกเลย และตั้งตอนตอนนั้นประเทศนี้ไดกลายเป็นประเทศที่มีการเซ็นเซอร์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก กลายเป็นประเทศเดียวในแอฟริกาเท่านั้นที่ปราศจากสื่อสารมวลชนอิสระใดๆ เลย และก็มีคนเพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต นั่นก็คือเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และกระนั้นก็ยังถูกสอดส่องอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาล ที่นี่ปราศจากพื้นที่ของประชาชน แม้มหาวิทยาลัยที่มีเพียงแห่งเดียวก็ยังถูกสั่งปิด และไม่มีแม้แต่คนเดียวในประเทศนี้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในที่สาธารณะ สัญลักษณ์ของการต่อต้านใดๆ ที่เกิด ผลลัพธ์จะตามด้วยการข่มขู่ การจำคุก หรือความตาย การคุกคามนี้แผ่ซ่านไปทั่วประเทศ

ตอนที่คุณลุงของฉันได้รับการเตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดจากงานของท่าน ท่านตอบกลับว่า "ถ้าเราไม่ให้เสียงแก่ประชาชนแล้ว ก็จะไม่มีใครให้แก่พวกเขา" คุณลุงท่านพูดถูก การคุมขังคุณลุงและเพื่อนของท่านเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ใหญ่กว่าของประธานาธิบดีเอริเทรียในการควบคุมประชาชนชาวเอริเทรียนอย่างเบ็ดเสร็จ การปิดสื่อสารมวลชนอิสระคือการทำลายประชาธิปไตยโดยรวม นี่คือเหตุว่าทำไมในสัปดาห์นั้นของเดือนกันยายนปี 2001 เป็นที่รู้จักกันในฐานะของสัปดาห์ที่เอริเทรียนได้ถูกปกครองด้วยเผด็จการอย่างเป็นทางการ

การปิดกั้นเสียงของคนที่กล้าจะต่อต้านอาชญากรรรมของพวกเขา การปิดกั้นสถาบันที่สนันสนุนให้เกิดการสนทนาและการถกเถียง และสร้างสภาพแวดล้อมที่การพูดต่อต้านต้องแลกมาด้วยชีวิต ทำให้รัฐบาลเอริเทรียสามารถทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาปรารถนา โดยไม่มีเสียงใดๆ คัดค้าน

ทุกวันนี้ ประชาชนชาวเอริเทรียนกำลังทุกข์ระทมอย่างหาที่สุดไม่ได้

ในประเทศที่มีประชากรห้าล้านคน มีเรือนจำกว่าสามร้อยแห่ง กว่าพันชีวิตที่ถูกพราก โดยปราศจากกระบวนการยุติธรรม ด้วยเหตุผลร้อยแปด สภาพความเป็นอยู่และการซ้อมทรมานในคุกเหล่านี้รุนแรงเกินกว่าจะจินตนาการได้ ในปี 2015 คณะกรรมาธิการของสหประชาชาติกล่าวหาว่ารัฐบาลเอริเทรียนทำอาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติในคุกตาราง ค่ายทหาร และพื้นที่อื่นๆ รอบประเทศ

ที่นี่ไม่มีเสรีภาพทางทางศาสนา การรวมตัว และการเคลื่อนไหว คุณจะไม่ได้รับการอนุญาตออกนอกประเทศถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ซึ่งนั่นก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลต้องการให้คุณอยู่ในประเทศ

และเหยื่อที่ถูกทำร้ายมากที่สุดก็คือเหล่าเยาวชน  อเฟเวิรกี้ กำลังปล้นเอาอนาคตของเยาวชนไปจากพวกเขา

คนหนุ่มสาวถูกบังคับให้ในปีสุดท้ายของมัธยมปลายคือการเกณฑ์ทหาร และหลังจากนี้ พวกเขาต้องเข้าโครงการรับใช้ชาติโดยบังคับ ซึ่งทำงานเพื่อรัฐบาลในภาคส่วนต่างๆ อย่างไม่ได้รับค่าตอบแทน

ปัญหาไม่ใช่ว่าเอริเทรียนั้นมีโครงการรับใช้ชาติแบบเกณฑ์ทหารหรือการรับใช้ชาติแบบอื่นๆ ประเทศอื่นๆ ก็มี แต่ปัญหาที่เรามีก็คือการกระทำอย่างเหี้ยมโหดต่อคนงานที่ทำงาน และข้อเท็จจริงอื่นๆ อีกมากมาย รายงานของสหประชาชาติในปี 2015 โยงโครงการเหล่านี้ให้อยู่ประเภทเดียวกับการค้าทาส มีไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ศึกษาในวิทยาลัยเทคนิคที่มีไม่กี่แห่ง และกระนั้นก็ตาม รัฐบาลก็ยังคงเป็นผู้ตัดสินด้วยว่าวิชาใดที่คุณจะต้องศึกษา เมื่อพวกเขาเรียนจบแล้ว พวกเขาต้องเข้าร่วมกับประชาชนคนอื่นๆ ในโครงการรับใช้ชาติที่ไม่มีการกำหนดแน่ชัด ไม่ใช่แค่คนที่ไปเกณฑ์ทหารจะถูกกระทำอย่างย่ำแย่และถูกละเมิดสิทธิต่างๆ แต่ศักยภาพของพวกเขาซึ่งสามารถนำมาพัฒนาและใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและโลกก็ถูกทำให้เสียเปล่าอย่างที่สุด

คนหนุ่มสาวถูกบังคับให้เลือกระหว่างชีวิตในประเทศเอริเทรียซึ่งไร้อนาคต หรือหนีไปในที่พวกเขาอาจจะต้องเจอเหตุการณ์อันเลวร้ายที่ไม่คาดฝันซึ่งย่ำยีหรือกระทั่งฆ่าพวกเขา คนมากกว่าห้าพันคนหนีในทุกๆ เดือน - เลือกที่จะตายจากการหนีมากกว่าการอยู่อย่างเป็นทาส

ผู้นำทุกวันนี้กำลังฆ่าผู้นำในอนาคต - เหมือนที่คุณลุงของฉันได้เตือนไว้ตั้งแต่ปี 2001

ฉันเกิดและเติบโตในประเทศสวีเดน ห่างไกลจากคุณลุงของฉันและเอริเทรียมาก แต่แม้ระยะทางจะห่างระหว่างเรา แม่ของฉันก็มักจะบอกเล่าเรื่องราวของพี่ชายของเธอเพื่อให้เรื่องราวเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตฉัน เมื่อฉันเข้าเรียนมัธยมปลาย ฉันตัดสินใจแล้วว่านั่นคือช่วงเวลาที่ฉันต้องทำอะไรสักอย่างในนามของคุณลุงของฉัน

ฉันปวดร้าวใจจากความไม่ยินดียินร้ายที่มีต่อกรณีของคุณลุงของฉัน และต่อสถาณการณ์ต่างๆ ในเอริเทรีย และฉันก็พบว่าตัวฉันเองก็เป็นหนึ่งในปัญหานั้นด้วย ตอนที่ฉันอายุ 16 ปี อายุมากพอที่จะแบกรับความรับผิดชอบ และในช่วงสามปีมานี้ ฉันได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งทำงานอย่างแข็งขัน นั่นแปลว่าฉันเองก็มีทักษะการรณรงค์อยู่บ้าง ฉันยังอยู่ในประเทศที่เครื่องมือคือการประท้วงและการพูดนั้นสามารถทำได้อย่างอิสระเสรี ฉันไม่มีข้ออ้างที่จะนิ่งเฉยอีกต่อไป 

ในโอกาสครบรอบปีที่คุณลุงของฉันถูกคุมขังในปี 2013 ฉันเปิดตัวองค์กร สักวันหนึ่งเซเย็ม (One Day Seyoum) ขึ้น โดยมีพันธกิจที่จะให้ชื่อของคุณลุงฉันมีความสำคัญ เราเริ่มทำการรณรงค์ในอินเทอร์เน็ตใช้วิดีโอ และการร่วมลงชื่อ และสร้างกลุ่มรณรงค์ในโรงเรียนมัธยมสามแห่งในกรุงสตอกโฮลม์ การจัดตั้งของเราถูกนำเสนอในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในสวีเดน และไม่นานข่าวก็เริ่มกระจายไปทั่วโลก ตั้งแต่ตอนนั้นเรายังคงรณรงค์อย่างแข็งขันไม่หยุดนิ่งเพื่อคุณลุงของฉันและเพื่อนๆ ของท่าน ซึ่งถูกคุมขังพร้อมกับท่าน เราใช้การรณรงค์ทางกฏหมาย ทางการเมือง ทางสากล วิดีโอเป็นตอนๆ และทูตประจำโรงเรียนและมหาวิทยาลัยรอบโลกเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในเอริเทรีย

วันหนึ่ง เซเย็ม องค์กรของเราขับเคลื่อนจากความมุ่งมั่นที่เข้มแข็งของคุณลุงของฉันต่อประชาธิปไตย การตรวจสอบ และเสรีภาพในการแสดงออก เซเย็มตระหนักถึงอำนาจของการสื่อสารและเราก็ใช้กลยุทธ์ของคุณลุงเพื่อช่วยให้ท่านเป็นอิสระ เราทำทุกอย่างภายใต้อำนาจของเราเพื่อมิให้คุณลุงของฉันและเพื่อนของท่านถูกลืมเลือน ขณะเดียวกัน เราก็เผยแพร่เรื่องราวของประชาชนเอริเทรียนที่พวกเขาต้องการจะบอกเล่าหากพวกเขามีอิสระ เรื่องราวซึ่งรัฐบาลพยายามอย่างยาวนานในการปิดซ่อนกำบังไว้

ฉันส่งเสียงของฉันนั้นก็เพราะไม่มีราคาอะไรที่สูงเกินไป ประเทศของฉันกำลังถูกจับตัวเป็นตัวประกัน เรากำลังอยู่ในความเสี่ยงที่จะเห็นคนรุ่นที่สูญเปล่า ทว่าโลกทั้งใบก็ดูจะเงียบเชียบ ฉันส่งเสียงของฉันก็เพราะว่าความเงียบนั้นน่ะเป็นสิ่งค้ำจุนอำนาจของระบบ ฉันส่งเสียงของฉันเพราะมันเป็นภารกิจของฉัน ฉันเป็นชาวเอริเทรียนที่โชคดีเพียงพอได้เกิดที่นอกประเทศ ความโชคดีนั้นไม่ได้ลบเลือนความรับผิดชอบ แต่กลับเพิ่มมันมากขึ้น และที่ฉันส่งเสียงของฉันก็เพราะนั่นเป็นสิ่งที่คุณลุงสอนฉันมา ถ้าฉันไม่ทำ ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครหละจะทำ

พวกเราจำนวนมากโชคดี เรามีเครื่องมือในการสื่อสารและประท้วง เราไม่มีข้ออ้างที่จะนิ่งเงียบได้ เราต้องใช้ความโชคดีนั้น อำนาจนั้น ในการแพร่กระจายเรื่องราวเหล่านี้ไปทั่วโลกและกดดันต่อรัฐบาลเอริเทรียนอย่างไม่ลดละ ไม่ว่ามันจะใช้เวลายาวนานแค่ไหนกว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ความจริงที่ว่าเรายังต้องต่อสู้อีกยาวนานไม่ควรทำให้เราเสียกำลังใจ ไม่มีเผด็จการใดหรอกสืบเนื่องไปตลอดกาล แต่พวกเขาจะสืบเนื่องต่อไปอีกยาวนานถ้าหากพวกเขาไม่โดนท้าทาย

ฉันจะอุทิศชีวิตที่เหลือทั้งหมดถ้าฉันจำเป็นต้องทำ เพื่อให้เห็นวันหนึ่งที่ไม่ใช่แค่คุณลุงฉันที่จะได้เป็นอิสระกลับบ้านของท่านได้ แต่รวมถึงประเทศเอริเทรียที่ท่านฝันใฝ่ถึง - ที่ที่ชาวเอริเทรียจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง - จะกลายเป็นความจริงขึ้นมา ฉันขอเรียกร้องต่อพวกเราทุกๆ คนให้เข้าร่วมกับฉันในทุกๆ ทางเท่าที่พวกท่านสามารถทำได้



หมายเหตุ: พูดที่งาน Oslo Freedom Forum 2018 จัดโดย Human Rights Foundation

ผู้อ่านสามารถฟังต้นฉบับได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Qf37EaGy9yo นาทีที่ 48.34 ถึง 59.22

'One Day Seyoum' © Vanessa Berhe 2018 Translated by Netiwit Chotiphatphaisal and Pawat Akarapipattana


 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวเกาหลีใต้ 5 คน ถูกจับกุมขณะประท้วงหน้าโรงแรมที่คิมจองอึนพักในสิงคโปร์

Posted: 12 Jun 2018 11:16 PM PDT

วานนี้ ตำรวจสิงคโปร์จับกุมผู้ประท้วงชาวเกาหลีใต้ 5 รายที่เดินทางประท้วงไปตามสถานที่ต่างๆ ในสิงคโปร์ก่อนการประชุมหารือยับยั้งอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ โดยพวกเขาได้ไปที่โรงแรมที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายใช้จัดประชุม โรงแรมที่ฝ่ายผู้นำสหรัฐฯ พักอยู่ สุดท้ายถูกจับกุมขณะที่กำลังประท้วงหน้าโรงแรมที่คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือพักอยู่

เมื่อ 12 มิ.ย. 2561 ในช่วงที่มีการประชุมเจรจายับยั้งอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสองผู้นำสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ มีชาวเกาหลีใต้ 5 รายไปประท้วงในสิงคโปร์และถูกตำรวจจับกุมตัวในการประท้วงช่วงคืนวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยอ้างกฎหมายความสงบเรียบร้อยสาธารณะ หลังจากที่ทางตำรวจผู้ชุมนุมให้หยุดการประท้วงหลายครั้งแล้ว

ผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมเป็นชาวเกาหลีใต้ที่ทำการประท้วงหน้าโรงแรมเซนต์เรจิสสิงคโปร์ที่คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือเข้าพักในช่วงที่มีการเจรจา ถ้อยแถลงจากตำรวจสิงคโปร์ระบุว่าพวกเขาจับกุมชาวเกาหลีใต้ 5 รายที่ถนนแทงลินเมื่อราว 21.10 น. ของวันจันทร์ (11 มิ.ย.)

สื่อทูเดย์ออนไลน์ของสิงคโปร์ระบุว่าพวกเขาได้ยินเสียงกรีดร้องช่วงราว 21.00 น. ที่หน้าร้านขายอาหารบนถนนนาสซิม ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของโรงแรมเซนต์เรจิส ผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ที่ประท้วงพยายามดิ้นรนขัดขืนการจับกุมของตำรวจพร้อมทั้งตะโกนเป็นภาษาเกาหลี

ทูเดย์ออนไลน์รายงานอีกว่าก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน กลุ่มผู้ประท้วงกลุ่มนี้ได้เดินทางไปใกล้ๆ กับโรงแรมคาเปลลาบนเกาะเซนโตซา ซึ่งเป็นโรงแรมที่ใช้ดำเนินการประชุมระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ และคิมจองอึนผู้นำเกาหลีเหนือ ที่เริ่มต้นการหารือกันตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. นี้

พอถึงช่วงเย็นผู้ประท้วงกลุ่มนี้เดินทางไปเปิดป้ายผ้าประท้วงเกี่ยวกับประเด็นของตัวเองที่ใกล้ๆ โรงแรมแชงกรีลาซึ่งเป็นสถานที่พักของตัวแทนจากฝ่ายสหรัฐฯ แต่ทางตำรวจก็ไม่ได้เปิดเผยว่าป้ายผ้าไว้ว่าอย่างไร

ในช่วงที่มีการประชุมของสองผู้นำ ทางการสิงคโปร์มีการจัดระบบความปลอดภัยเข้มงวดเพิ่มขึ้นในเขตพิเศษอย่างโรงแรมที่พักของสองผู้นำและแถบพื้นที่เกาะเซนโตซา โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการเตือนผู้ประท้วงให้ออกไปจากพื้นที่พิเศษเหล่านี้ก่อน เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงไม่ทำตามคำสั่ง และยังมุ่งหน้าเดินทางไปที่โรงแรมเซนต์เรจิส เจ้าหน้าที่ก็สั่งหยุดและตักเตือนผู้ประท้วงอีกครั้ง จนกระทั่งเมื่อผู้ประท้วงไม่ยอมให้ความร่วมมือและเริ่มส่งเสียงตะโกนทำให้เจ้าหน้าที่ทำการจับกุม

ตำรวจสิงคโปร์ระบุอีกว่าในช่วงที่มีการจับกุม ผู้ประท้วงพยายามขัดขืนและไม่ให้ความร่วมมือ มีการตรวจค้นพบสิ่งของในครอบครองคือป้ายประท้วง โดยที่ตำรวจสิงคโปร์จะดำเนินการสืบสวนผู้ประท้วงกลุ่มนี้ต่อไป

เรียบเรียงจาก

5 South Korean protesters arrested near St Regis hotel under Public Order Act, Today Online,  Jun. 12, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดาวเทียมสอดแนมประวิตร ทุกเรื่องที่ควรรู้ บทวิเคราะห์ ผลาญแค่ไหน คุ้มไหม

Posted: 12 Jun 2018 10:47 PM PDT

จาก ข่าวล่าสุด ที่พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหมได้ออกมาโต้ข่าวลือจาก "ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่รอบรู้ไปเสียทุกเรื่อง" ว่าพวกเขาไม่ได้มีโครงการจะทำดาวเทียมสอดแนม วันนี้ทีมงาน SPACETH.CO ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เชียวชาญด้านกฏหมายแต่เป็นเพียงผู้สนใจและศึกษาด้านอวกาศ จะพาทุกท่านไปดูกันว่าโครงการที่กระทรวงกลาโหมจะทำนั้นคืออะไร เราควรกังวลหรือไม่อย่างไร

หลังจากที่ประวิตร ได้โชว์วิสัยทัศน์ กลาโหมยุค"บิ๊กป้อม"เตรียมออกนอกอวกาศขยับดัน"ดาวเทียมทหาร"อ้างเพื่อความมั่นคง ก็มีข่าวเด็ด ๆ ออกมาไม่เว้นแต่ละวันและที่เป็นที่พูดถึง ณ ตอนนี้ก็คือโครงการดาวเทียมสอดแนม


สรุปแล้วกระทรวงกำลังจะทำอะไร

วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีข่าวออกมาว่า "จะมีการนำเสนอแนวความคิดด้านกิจการอวกาศ ของกระทรวงกลาโหม เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2561-2570 โดยมีเป้าหมายให้ กระทรวงกลาโหม จะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการใช้เทคโนโลยีอวกาศด้านความมั่นคงของประเทศโดยตรง มิใช่เพียงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับหน่วยงานอื่นเท่านั้นทั้งนี้ วิสัยทัศน์กระทรวงกลาโหม เป็นองค์กรหลักด้านกิจการอวกาศ ที่มีศักยภาพใน การเตรียมกำลัง ผนึกกำลัง และพัฒนาด้านกิจการอวกาศ เพื่อการป้องกันประเทศ"

ประวิตรกับนาฬิกาของเขา ไม่ปรากฏที่มา ผ่าน ThaiPublica

ซึ่งมันประจวบเหมาะกับการที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะทำงานในคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ พลอากาศเอก ประจิน  จั่นตอง ได้เดินทางไปรับฟังบรรยายจาก THEIA GROUP เกี่ยวกับโครงการ Thailand Satellites Data Information Processing Center ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา และอีกครั้งในเดือนเมษายนที่คุณ Ronald Fogleman ประธานบริษัท THEIA GROUP เดินทางมาไทย ซึ่งเป้าหมายหลักของดาวเทียมนั้นก็คือเสริมสร้างศักยภาพด้านข้อมูลดิจิตัลในทุกมิติให้กับประเทศไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล

และจากข้อมูลล่าสุดที่เรามีอยู่ตอนนี้ ดาวเทียมทั้ง 112 ดวงจะมีสนนราคาอยู่ที่ประมาณ 91.2 พันล้านบาท โดยสำหรับบริษัท THEIA GROUP นั้นพวกเขาเป็นบริษัททำเทคโนโลยี Stealth หรือล่องหนที่ลึกลับจนเราแทบไม่พบข้อมูลเลย (ฮา) นอกจากว่ามันอยู่ในฟิลาเดเฟีย สหรัฐอเมริกา กับชื่อท่านประธานที่ได้มาจากรายงานของไทย

เราสามารถอ่านข่าวที่เกี่ยวข้องได้ที่ รองนายกรัฐมนตรี หารือเรื่องการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม กับหน่วยงานต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา


แล้วสรุป THEIA คือใคร

เราอาจจะรู้จัก Boeing, SpaceX, Space System Lorel, Lockheed Marin ซึ่งเป็นบริษัทด้านอวกาศชื่อก้องโลก ใคร ๆ ก็รู้จัก แต่เมื่อพูดถึง THEIA คำถามเลยก็คือ มันคือบริษัทอะไร จากที่ได้ลองศึกษาข้อมูลจาก cbinsights บริษัท THEIA ไม่มีข้อมูลด้านการนักลงทุน ไม่มีข้อมูลผู้ถือหุ้น รู้แค่ชื่อที่อยู่และก่อตั้งในปี 2015 เท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ THEIA เป็นบริษัททำดาวเทียมที่มีรายชื่ออยู่ร่วมกับบริษัทอื่น ๆ รวมถึง SpaceX ในการยื่นจดทะเบียนเพื่อส่งดาวเทียมแบบ Low Earth Constellation หรือโครงข่ายสื่อสารบนวงโคจรต่ำของโลก ในปี 2016 ที่ผ่านมา จำนวน 112 ดวง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตรงกับที่ออกมาเป๊ะเลย ข้อมูลนี้มาจากเว็บไซต์ Parabolic เว็บด้านการสำรวจอวกาศที่ละเอียดมาก ๆ เว็บนึง

ดาวเทียมแบบ Constellation ของ Iridium บรรจุใน Payload Faring
ของบริษัท SpaceX ที่มา – Iridium ผ่าน Spaceflight Insider

นั่นหมายความว่า THEIA นั้น ณ ปัจจุบันไม่มีประสบการณ์ที่เห็นได้ชัด และยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก FAA ให้ส่งอะไรขึ้นไปบนอวกาศด้วยซ้ำ ยังไม่นับเทคโนโลยีดาวเทียมที่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นดาวเทียมแบบไหน อะไรยังไง งงไปหมดแล้ว และต่อให้ FAA อนุมัติ ถ้านับว่าตอนนี้ THEIA มีดาวเทียมอยู่ 0 ดวง กว่าจะสร้าง Constellation ได้ครบตามที่บอก อาจจะต้องใช้เวลานานตั้งแต่ 3-10 ปี ยังไม่นับประสบการณ์ที่จะต้องตามบริษัทใหญ่ ๆ ระดับโลกให้ทัน

ก็ถามตัวเองดูละกันว่าการเอาเงินเก้าหมื่นล้านไปทุ่มกับบริษัทที่ไม่มีบทบาทและเป็นเด็กหัดเดินในวงการอวกาศที่แข่งกันจะไปดาวอังคารแล้วมันคุ้มค่าหรือไม่


แล้วมันสอดแนมจริงเหรอ

จากสเปคของมันที่ว่าสามารถถ่ายรูปได้ที่ความละเอียด 0.5 เมตรทุก ๆ วินาทีนั้น มันคือนิยามของดาวเทียม Earth observation ที่โคจรอยู่ใน Low Earth Orbit (ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือแบบเดียวกันกับที่ใช้ใน Google Maps นั่นแหละ) ขนาดหน้าเว็บของ THEIA ยังบอกเองว่าดาวเทียมชุด THEIA นั้นเป็นดาวเทียมแบบ Communication ที่สามารถถ่ายรูปโลกได้

Digital Globe บริษัทดาวเทียมยักษ์ใหญ่ หนึ่งในผู้ถ่ายรูปโลกให้กับ Google มีเทคโนโลยีล่าสุดที่เรียกว่า 30cm คือภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดสูงมาก ซึ่งแน่นอนว่าราคาก็แพงมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน แต่ก็นับว่าสุดยอดที่สุดแล้วสำหรับดาวเทียมใช้งานในเชิงพานิชย์ไม่ใช่ด้านการทหาร


ตัวอย่างภาพ 30cm จาก Digital Globe ที่มา – Digital Globe

สรุปชัด ๆ ตรงนี้ก็คือ เราจะไม่ได้ดาวเทียมสอดแนมมาสอดส่องคนในประเทศกันแน่ เพราะคุณภาพมันยังแอบห่วยกว่าภาพที่ Google เอามาใช้เลยด้วยซ้ำ แม้ว่าอาจจะมีข้ออ้างว่า ก็ถ่ายรูปซ้ำได้ทุก 1 นาทีทำให้ได้ภาพสด ๆ ณ ตอนนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ก็มีบริษัทหลายบริษัทที่ทำภาพถ่ายดาวเทียมแนวนี้อยู่แล้ว 


ไม่ต้องมีดาวเทียมเองแต่ต้องฉลาด

ยกตัวอย่างบริษัทดาวเทียมที่เน้นการถ่ายภาพบนพื้นโลก ด้วย Low Earth Constellation เช่น Planet Lab มีดาวเทียมขนาดเล็กนับร้อยดวงที่ถูกส่งขึ้นไป สามารถถ่ายภาพโลกได้อย่างชัดเจน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการทำงานในอุตสาหกรรมจะต้องมีดาวเทียมเป็นของตัวเองเสมอไป ยกตัวอย่างบริษัทที่ไม่จำเป็นต้องสร้างและพัฒนาดาวเทียมเอง แต่จะใช้ลักษณะการดีล และซื้อบริการจากบริษัทดาวเทียมอื่นและเน้นทำงานที่เกี่ยวกับภาพถ่ายดาวเทียม เช่น การนำมาทำ Analysis การทำ Data Science  อย่าง UretheCast

UretheCast อาศัยการแข่งขันของบรรดา startup ด้านอวกาศ และใช้ตรงนี้ในการเป็นบุคคลกลาง ทำให้บริษัทดาวเทียมด้านเทคโนโลยีได้ไปโฟกัสกับตัวดาวเทียม ทำให้ได้ภาพออกมาดีและสมบูรณ์ที่สุด เรื่องของการขายนั้นเขาจะจัดดีลให้ได้ราคาที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ


ภาพ DroneShip สำหรับลงจอดจรวดของ SpaceX
ภาพนี้ถ่ายโดยดาวเทียมของ UrtheCast ที่มา – UrtheCast

ในช่วงยุคแรกเริ่มดาวเทียมที่มีกล้องนั้นถูกนับว่าเป็นดาวเทียมสอดแนม เนื่องจากวัตถุประสงค์มันคือการถ่ายภาพจากอวกาศ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการทหาร น่าจะทราบกันดีว่าเทคโนโลยีอวกาศเกิดขึ้นมาจากสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ไม่ปฏิเสธว่าการมองโลกผ่านอวกาศเป็นสุดยอดแห่งการทำสงคราม เมื่อ 50 ปีที่แล้ว โซเวียตถึงขนาดมีโครงการสถานีอวกาศที่ทำเพื่อสอดแนมโดยเฉพาะ (สามารถไปศึกษาต่อได้ ชื่อโครงการว่า Almaz) แต่ ณ ตอนนี้ อาจจะต้องลองย้อนคิดดูซักนิดว่าทุกวันนี้ เราแข่งกันด้านอวกาศเรากำลังแข่งอะไรกัน ? เหมือน 50 ปีก่อนหรือเปล่า 


เรือดำน้ำก็แล้ว ยังจะมีดาวเทียมอีก

ผู้เขียนขอยก 2 ประเด็นหลัก ๆ มาใช้ประกอบการแสดงความเห็นในเรื่องนี้

  • ข้อแรก เรือดำน้ำ 3 ลำมีราคา 36 พันล้านบาท ดังนั้นดาวเทียมมีราคาแพงกว่าแน่นอน
     
  • ข้อที่สอง ดาวเทียมพวกนี้จะมีความสามารถเพียงแค่การถ่ายภาพบนโลกเท่านั้น (และสื่อสารนิดหน่อย) ที่สำคัญคือการทำ Constellation จำนวน 112 ดวงนั้นเป็นการลงทุนที่เหมือนขนเงินสดไปเผาทิ้งในอวกาศ แบบไม่ต้องคาดหวังอะไรมาก และก็มีหลายบริษัทที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้วดังเช่นที่กล่าวไปด้านบนว่าทุกวันนี้ นิยามของการครอบครองเทคโนโลยีอวกาศได้เปลี่ยนไป


ดาวเทียมในห้องทดสอบสัญญาณของบริษัท Lockheed Martin
ที่มา – Lockheed Martin

และที่สำคัญที่สุด THEIA GROUP ณ ตอนนี้ เทียบอะไรไม่ได้เลยกับ Boeing, SpaceX, DigitalGlobe, Planet, SSL, Lockheed Martin และอีกหลาย ๆ เจ้าที่เป็นบริษัททำดาวเทียมระดับโลก ถามว่าถ้าเราทุ่มเงินก้อนนี้เพื่อจะตามหลังชาวบ้านเขา 20-30 ปีแล้วมันจะคุ้มหรือไม่ ?


เงินเกือบแสนล้าน ทุ่มงบอวกาศได้มากแค่ไหน

สมมติถ้ากระทรวงเอาเงิน 91.2 พันล้านบาท (2.85 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ไปจ่ายค่าโครงการสำรวจอวกาศ พวกเขาจะได้โครงการเหล่านี้

  • ค่าใช้จ่ายยาน New Horizons ที่ไปสำรวจดาวพลูโตและวัตถุ 2014 MU69 ตลอดทั้งภารกิจ (700 ล้านเหรียญสหรัฐ)
  • ค่าใช้จ่ายยาน Juno ที่สำรวจดาวพฤหัสตลอดทั้งภารกิจ (1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
  • ค่าใช้จ่ายโครงการมารีเนอร์ทั้ง 10 ลำตลอดทั้งภารกิจ (554 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ภาพถ่ายดาวพลูโต จากโครงการ New Horizons ที่ใช้เงินน้อยกว่า THEIA อะไรนี่อีก
ที่มา – NASA/John Hopkins University

นอกจากจะได้ทั้งสามภารกิจข้างต้นแล้ว ถ้าคุณเพิ่มงบไปอีกประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะได้งบค่าใช้จ่ายโครงการวอยาเจอร์ตลอด 46 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 865 ล้านเหรียญสหรัฐ

ซึ่งนั่นก็คือเราสามารถส่งยานไปสำรวจดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะได้ด้วยงบที่ใช้ซื้อ THEIA นี้ด้วยซ้ำ และการคำนวณงบข้างต้นนี้รวมค่าวิจัย ค่าดำเนินการ ค่าจัดส่งและทุกค่าใช้จ่ายตลอดภารกิจแล้ว (อย่าลืมว่า THEIA ไม่รวมค่าจัดส่ง)

สรุปแล้วเราจะได้อะไร โดนสอดแนมไหม

กระทรวงกลาโหมไม่ได้จะทำดาวเทียมสอดแนมหรือดาวเทียมทหารหรอก เพราะรุ่นที่เขาซื้อมันไม่ใช่ไง มันคือการเอาเงินไปเผากับของที่เราเชื่อว่าคนซื้อไม่ได้ศึกษา คนศึกษาไม่ได้ซื้อ

และสำหรับ THEIA กับดาวเทียม 112 นี้ แน่นอนว่าสิทธิทุกอย่างมันก็เป็นของ THEIA โดยในตอนนี้เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าเงินหลักแสนล้านนั้นจะเอาไปใช้จ่ายกับบริการดาวเทียมโดย THEIA หรือไปซื้อดาวเทียมแบบ THEIA เป๊ะ ๆ THEIA ดวงมากันแน่ ถ้าท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายมาอ่านบทวิเคราะห์นี้อยากให้ช่วยตอบคำถามให้แน่ชัดด้วย สรุปแล้วมันคือการซื้อ Service หรือ Product ? 

ถ้ามันไม่ใช่ดาวเทียมสอดแนม กระทรวงต้องสามารถออกมาให้คำตอบเรื่องดาวเทียมได้ การเอางบหลักแสนล้านไปลงทุนนี้พวกเราคิดว่าประชาชนควรที่จะได้รายละเอียดที่ชัดเจนและเพียงพอต่อการตัดสินใจ ไม่งั้นก็คงห้ามไม่ให้ประชาชนคิดไม่ได้ว่า รัฐบาลรัฐประหารนี้ทำอะไรไม่คิดและไม่เคยทำอะไรที่ดูชาญฉลาดหรือมีกลยุทธ์อะไรเลย

ถ้าผู้เขียนเป็นรัฐบาล ผู้เขียนจะพยายามตอบคำถามเหล่านี้

  • ได้ศึกษาโครงการดีหรือยัง และได้ศึกษาแนวโน้มพัฒนาการด้านอวกาศในโลกปัจจุบันหรือไม่
     
  • ทำไมเลือกบริษัทโนเนม ที่ไม่มีแม้กระทั่งใบอนุญาต และไม่มีประสบการณ์กับดาวเทียมซักดวง
     
  • สรุปแล้ว เป็นการซื้อขาด หรือ เช่า แล้วเราจะได้อะไรบ้าง หรือรู้ไหมว่าราคานี้เขาไม่ได้ขายให้นะ
     
  • คิดว่าประเทศอื่นโดยเฉพาะที่รวยกว่าไทยอยากได้โครงการนี้ไหม และประเทศอื่นมีไหม ถ้าไม่มีทำไมเขาถึงไม่มีหรือไม่อยากได้
     
  • เมื่อไหร่จะออกไปซักที
     

Disclaimer : บทความนี้ไม่ใช่ข่าว และเว็บสเปซทดอทซีโอ เป็น Media ที่เน้นใช้ความเห็นของตัวเองเข้าร่วมในการนำเสนอเนื้อหา ทั้งนี้ข้อมูลต่าง ๆ ประกอบสามารถอ้างอิงได้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เว็บไซต์มีนโนบายไม่จำเป็นต้องวางตัวเป็นกลางเมื่อไม่มีการบิดเบือนข้อมูลที่นำเสนอ

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO


ที่มา: http://spaceth.co/thailand-military-sat/

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนแล้วเลื่อนอีก สืบพยานคดี ร.ต.สนานตายระหว่างฝึก เหตุพยานโจทก์ไม่มาศาลรอบที่ 2

Posted: 12 Jun 2018 10:19 PM PDT

ยังไม่ได้สืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นทหาร 3 ปากสำคัญในคดีแพ่งกรณีร้อยตรีสนาน ทองดีนอก เสียชีวิตระหว่างฝึกหลักสูตรทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์รุ่น 11 เหตุพยานทั้ง 3 คนไม่มาศาลรอบที่ 2 ศาลนัดอีกครั้ง 23 พ.ย. 2561

ร้อยตรีสนาน ทองดีนอก

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2561 มูลนิธิผสานวัฒธรรมแจ้งข่าวว่า ที่ศาลแพ่ง รัชดา ผู้พิพากษาศาลแพ่งออกนั่งพิจารณาคดี หมายเลขดำที่ พ.2580/2559 หรือ คดีมารดาและภรรยาร้อยตรีสนาน ทองดีนอก ฟ้องกองทัพบก เรียกค่าเสียหายจากเหตุการณ์ร้อยตรีสนาน ทองดีนอก เสียชีวิตในระหว่างฝึกหลักสูตรทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (UKBT) รุ่นที่ 11

สำหรับข้อเท็จจริงที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ระบุว่า ร้อยตรีสนาน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2558 โดยระหว่างการฝึกว่ายน้ำตามหลักสูตรได้ถูกบังคับให้ว่ายน้ำเกินกำลังความสามารถที่ร่างกายจะทนได้ โดยว่ายน้ำไป-กลับภายในสระว่ายน้ำโดยไม่มีการหยุดพักหลายสิบรอบและเป็นเวลานาน จนเป็นเหตุให้จมลงไปในก้นสระเป็นเวลานานจนขาดอากาศหายใจ

สำหรับวันนี้ฝ่ายโจทก์ มีทนายของมารดาและภรรยาร้อยตรีสนานฯ ส่วนทางฝ่ายจำเลยมีพนักงานอัยการ มาศาล ส่วนพยานที่ทางฝ่ายโจทก์ได้ขอหมายเรียกให้มาเบิกความต่อศาลนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ทหารสามนายซึ่งเป็นประจักษ์พยาน ได้แก่ผู้เข้ารับการฝึกหลักสูตรทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (UKBT) รุ่นที่ 11 จำนวนสองนาย และนายทหารชุดครูฝึกซึ่งเป็นแพทย์สนามหนึ่งนาย ปรากฏไม่มีพยานคนใดมาศาล ทนายโจทก์จึงได้แถลงต่อศาลว่าได้ดำเนินการส่งหมายเรียกพยาน แต่ปรากฎว่าในรายของผู้เข้ารับการฝึกรุ่นเดียวกับผู้ตายนั้น คนแรกเจ้าหน้าที่ศาลได้ดำเนินการปิดหมายแล้วตามที่อยู่ในทะเบียนราษฎร แต่ไม่สามารถส่งหมายโดยวิธีธรรมดา และวิธีปิดหมายได้เนื่องจากไม่พบที่อยู่ตามทะเบียนราษฎรดังกล่าว ส่วนคนที่สองติดภารกิจไม่สามารถเดินทางมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลได้ตามวันนัด และท้ายสุดนายทหารชุดครูฝึกฯ เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งว่าได้ดำเนินการส่งหมายโดยชอบด้วยวิธีการปิดหมายแล้ว ด้วยเหตุนี้ทำให้โจทก์ทั้งสองยังไม่สามารถติดตามพยานทั้งสามปากมาเบิกความต่อศาลตามวันนัดได้ จึงขอเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ในครั้งนี้เพื่อติดตามพยานทั้งสามมาเบิกความต่อศาลในนัดหน้า

ทั้งนี้พยานทั้งสามคนไม่ได้มาตามนัดหมายของศาลไปแล้ว 1 ครั้ง อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้พิพากษาได้สอบถามพนักงานอัยการทนายจำเลยแล้ว ทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้าน และได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานทั้งสามปากเป็นประจักษ์พยานคนสำคัญในคดีและมีเหตุอันควรให้เลื่อนคดี เนื่องจากโจทก์ได้พยายามติดตามพยานแล้ว แต่ไม่สามารถติดตามได้ จึงอนุญาตให้เลื่อนนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันที่ 20พฤศจิกายน และนัดสืบพยานจำเลยระหว่างวันที่ 21 ถึงวันที่ 23 พ.ย. 2561 เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้อง จนท. บกพร่องกรณีแยกสมบัติรัฐจาก ปตท. เสียหาย 3 หมื่นล้าน

Posted: 12 Jun 2018 09:55 PM PDT

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่รัฐ-รัฐวิสาหกิจข้อหาประพฤติมิชอบกรณีแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจาก ปตท. ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองและมติ ครม. เมื่อปี 2550 ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ภาพในงานแถลงข่าว ซ้ายไปขวา: รสนา โตสิตระกูล สารี อ๋องสมหวัง บุญยืน ศิริธรรม

เมื่อ 12 มิ.ย. 2561 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) แถลงข่าวในนามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า มูลนิธิฯ ได้มีมติคณะกรรมการมูลนิธิฯ ให้ฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ข้อหาประพฤติมิชอบในการแบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2561 และศาลได้นัดฟังคำตัดสินว่าจะรับเป็นคดีหรือไม่ในวันที่ 19 มิ.ย. 2561

เมื่อ 2 เม.ย. 2558 มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับรสนา โตสิตระกูล และบุญยืน ศิริธรรม ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติ ครม. วันที่ 18 ธ.ค. 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 ว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีการแบ่งแยกทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด หมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติทางทะเลและทางบกบางส่วนจากมูลค่าทรัพย์สินที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2544 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการเสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สิน ประกอบกับคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มิได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินออกจากทรัพย์สินของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) วันที่ 25 ธ.ค. 2551 โดยแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญและปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่ต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด รายละเอียดปรากฏตามข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

ในเอกสารแถลงข่าวระบุถึงเหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาถึงการเคลื่อนไหวของมูลนิธิฯ  ยื่นคำร้องต่อ คตง. และฟ้องศาลอาญาในปี 2558 และ 2561 ตามลำดับ โดยเหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อปี 2549 ที่มูลนิธิฯ ได้ฟ้องคดีปกครองเรื่องพิพาทความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ. กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และ พ.ร.ฎ. กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 ร่วมกับรสนา โตสิตระกูล สายรุ้ง ทองปลอน ภินันท์ โชติรสเศรณี และบุญยืน ศิริธรรม ต่อผู้ถูกฟ้องคดีสี่รายได้แก่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ต่อมา ในปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 จนเมื่อ 18 ธ.ค. 2550 ครม. ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าว และหากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป

เอกสารแถลงข่าวระบุเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ร่วมดำเนินการติดตามทวงถามการปฏิบัติตามคำพิพากษามาโดยตลอดร่วมกับผู้ฟ้องคดีและเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน ซึ่งเป็นระยะเวลาล่วงเลยมากว่า 10 ปี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงตระหนักถึงความจำเป็นในการฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อคืนความชอบธรรมต่อผู้บริโภคจำนวน 65 ล้านคนซึ่งเป็นประชาชนไทย ซึ่งได้รับความเสียหายต่อการประพฤติมิชอบในการคืนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: 24 มิถุนา 2475 ชิงสุกก่อนห่าม ?

Posted: 12 Jun 2018 08:24 PM PDT


 

หนึ่งในบรรดาประเด็นข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงโดยตลอดนับตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎรก็คือ ประเด็นที่ว่าพระปกเกล้าฯ เตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ราษฎรอยู่แล้ว แต่คณะราษฎรใจร้อนชิงเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นความผิดของคณะราษฎร ที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยต้องล้มลุกคลุกคลานมาจนถึงบัดนี้ ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่ออนุชนรุ่นหลัง และเป็นการกล่าวโทษที่ไม่เป็นธรรมต่อคณะราษฎรที่เสี่ยงชีวิตเข้าแลก เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ราษฎรมีสิทธิมีเสียงในการที่จะเลือกผู้ที่จะมาปกครองตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมวลมนุษยชาติทั้งหลาย

ก่อนที่เราจะด่วนพิจารณาตัดสินความผิดถูกในประเด็นนี้ เราต้องดูพื้นเพภูมิหลังของคณะผู้ก่อการซึ่งล้วนแล้วประกอบไปด้วยผู้ที่มีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในราชการระบบเก่าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ,นายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม, นายนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย, อำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ฯลฯ ซึ่งหากเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่สำเร็จแล้ว อย่าว่าแต่ยศถาบรรดาศักดิ์ทั้งหลายจะสูญสิ้นไปเลย แม้แต่หัวก็จะหลุดออกจากบ่าเอาเสียด้วยซ้ำ แต่คณะราษฎรก็เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

สำหรับในประเด็นที่ว่าพระปกเกล้าฯ เตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่คณะราษฎรใจร้อนชิงลงมือเสียก่อนนั้น อันที่จริงแล้วพระปกเกล้าฯ ทรงเคยปรึกษากับ ฟรานซีส บี แซร์ หรือพระยากัลยาณไมตรี เมื่อปี 2469 มาแล้วครั้งหนึ่ง จนถึงปี 2475 จึงรับสั่งให้ พระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ และนายเรมอนต์ บี สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญถวาย และกำหนดกันว่าจะพระราชทานในวันจักรี ที่ 6 เมษายน 2475

ร่างรัฐธรรมนูญของพระยาศรีวิสารวาจาและนายสตีเวนส์ที่ว่านี้ ที่จริงแล้วเป็นแต่เพียงเค้าโครงการจัดรูปแบบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น มิใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

รูปแบบและที่มาของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญปรากฏในเอกสารสำคัญ 2 ชิ้น ชิ้นแรกคือ ร่างกฎหมาย ปี 2469 ฉบับพระยากัลยาณไมตรี (Francis B. Sayre) (ในต้นฉบับไม่ระบุชื่อกฎหมายและไม่ได้เรียกว่ารัฐธรรมนูญ) และร่างกฎหมาย ปี 2474 ซึ่งเขียนโดยเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา เอกสารนี้ใช้ชื่อว่าเค้าโครงร่างการเปลี่ยนรูปรัฐบาล (An Outline of Changes in the Form of the Government) ซึ่งมิได้ใช้คำว่ารัฐธรรมนูญเช่นกัน มีหลักการโดยสรุปว่า

1.ให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแทนองค์พระมหากษัตริย์ ให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิเลือกคณะรัฐมนตรี แต่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยพระองค์เองตามพระราชอัธยาศัย โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นสมาชิกสภาโดยตำแหน่ง จะทำหน้าที่บริหารโดยมีกำหนดวาระ แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงแต่งตั้งใหม่ หรือพระมหากษัตริย์จะทรงให้ออกเมื่อใดก็ได้

2.ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎร ให้ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 50 คน อย่างมาก 75 คน กึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระราชอัธยาศัย กึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี อ่านออก เขียนได้ และเป็นผู้เสียภาษีในจำนวนที่แน่นอน

สมาชิกอยู่ในวาระคราวละ 4 ปี หรือ 5 ปี แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงยุบสภาเมื่อใดก็ได้ และมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ผ่านสภา รวมทั้งพระราชอำนาจที่จะทรงทำสัญญาหรือข้อตกลงกับต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องผ่านสภา และในกรณีที่สภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้วรัฐบาลจะต้องลาออก แต่พระมหากษัตริย์จะทรงรับใบการลาออกหรือให้อยู่เป็นรัฐบาลต่อไปก็ได้

อย่างไรก็ตาม อภิรัฐมนตรีส่วนข้างมากและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งพระยาศรีวิสารวาจาและนายสตีเวนส์ ผู้ร่างถวาย มีความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนั้น วันที่ 6 เมษายน 2475 จึงผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ในประเด็นของความรับผิดชอบของผู้ที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรนั้น ภายหลังจากที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ พยายามเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ แต่ก็ถูกขัดขวาง โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผู้ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ทำรัฐประหารเงียบโดยได้สั่งปิดสภาฯ โดยไม่มีกำหนด และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเป็นการกระทำที่เสมือนหนึ่งการฉีกรัฐธรรมนูญ และได้เนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ ออกนอกประเทศ ด้วยความมุ่งหมายที่จะทำลายคณะราษฎร เพราะเข้าใจกันว่านายปรีดีเป็นมันสมองของคณะราษฎร และแผนต่อไปก็คือการจับกุมคณะราษฎรมาลงโทษฐานขบถ

แต่พระยามโนฯ ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้ยึดอำนาจคืนจากพระยามโนฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้กลับสู่ประเทศอีกครั้งหนึ่ง และได้เข้าร่วมบริหารราชการแผ่นดินกับคณะราษฎรรวมเวลา 14 ปี นับแต่ปี 2476 ถึงปี 2489 ก็ได้มอบคืนอำนาจนั้นให้แก่ราษฎร ตามรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 โดยยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 (ที่มาจากการแต่งตั้ง) และให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข และสิทธิในการที่จะนิยมลัทธิการเมืองใดๆ ก็ได้

แต่ในที่สุดก็ได้มีรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ เกิดขึ้น ซึ่งนับแต่นั้นมา คณะราษฎรก็ถูกบังคับให้ยุติบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิง และการถือครองอำนาจรัฐก็ตกแก่คณะรัฐประหารของพลโท ผิน ชุณหะวัณ คณะปฏิวัติของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คณะปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร คณะปฏิรูปฯ ของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะอื่น ๆ อีกหลายคณะ จนมาถึงคณะ คสช.ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557

จึงเห็นได้ว่าช่วงระยะเวลาที่คณะราษฎรถือครองอำนาจรัฐนั้นมีเพียง 14 ปี จากทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน 86 ปี ส่วนที่เหลืออีก 72 ปี ล้วนแต่อยู่ในอำนาจของกลุ่มอำนาจอื่นไม่ว่าจะเป็นจากทหารหรือพลเรือนที่มีส่วนทำให้ประชาธิปไตยไทยบิดเบี้ยวมาจวบจนปัจจุบันนี้

 

หมายเหตุ: ปรับปรุงจากบทความเดิม "24 มิถุนายน 2475 : คณะราษฎรรีบร้อนจริงหรือ"

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช. กระทรวงแรงงานบุกแจกเงินให้ชาวไทยมุสลิมเขตดินแดงอ้างประชารัฐ

Posted: 12 Jun 2018 07:47 PM PDT

อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และรองหัวหน้าคณะ คสช.ดอดมอบเงินและกระเช้าให้กับผู้นำชาวไทยมุสลิมย่านดินแดง อ้างสร้างการมีส่วนร่วม แสดงออกถึงการเสริมสร้างความรัก สามัคคี การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ตามแนวทางประชารัฐและตามนโยบายรัฐบาล 

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กระทรวงแรงงานรายงานว่า วันที่ 12 มิถุนายน 2561 เวลาประมาณ 18.00 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรองหัวหน้าคณะ คสช. พร้อมกับ นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน   เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วยได้เดินทางไปมอบกระเช้าพร้อมเงินจำนวนหนึ่งในการส่งเสริมศาสนาแก่ ให้แก่ นายสมหวัง (ฮัจยีอิมรอน) สว่างนวล ประธานมัสยิดมูฮายีรีน เนื่องในโอกาสเดือนแห่งการถือศีลอด หรือเดือนรอมฎอน ณ มัสยิดมูฮายีรีน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่าเป็นการเป็นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อแสดงออกถึงการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข สอดคล้องกับแนวทางประชารัฐตามนโยบายรัฐบาล 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปัตตานี: เปิดศูนย์ช่วยเหลือแรงงานประมงและลูกหลานแรงงานข้ามชาติ

Posted: 12 Jun 2018 05:01 PM PDT

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO สนับสนุนเปิดศูนย์ใหมที่ปัตตานี ประสานหน่วยงานราชการนายจ้าง,ลูกจ้าง และภาคประชาสังคมร่วมต่อต้านการใช้แรงงานเด็กและร่วมกันปรับปรุงสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน 

ปัตตานี (ข่าวสารไอแอลโอ) -12 มิถุนายน 2561 – โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งที่ได้รับงบประมาณจากสหภาพยุโรป ได้จัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการของศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลและศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัวแรงงานเพื่อนบ้านที่ปัตตานี ในปีนี้  การเปิดศูนย์ใหม่สำหรับแรงงานประมงเป็นการร่วมเฉลิมฉลองวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลกและวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยโลก (SafeDay) เพื่อชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องยุติการใช้แรงงานเด็กและปรับปรุงความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของแรงงานผู้เยาว์

ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลได้เปิดให้บริการตั้งแต่ต้นปี 2560 ควบคู่กับอีกสองศูนย์ที่เปิดทำงานแล้วที่ระยองและชลบุรีภายใต้โครงการเดียวกัน ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา มีแรงงานมากกว่า 7,000 คน ที่ได้เข้ารับการบริการที่ศูนย์ในเรื่องสุขภาพ การขอรับคำปรึกษาด้านกฎหมาย และเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิและความรับผิดชอบในฐานะแรงงาน
ข้ามชาติและแรงงานประมงภายใต้กฎหมายไทย 

การเปิดศูนย์เรียนรู้ใหม่ให้เด็กข้ามชาติมีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยเหลือเด็กชาวกัมพูชามากกว่า 80 คน ซึ่งส่วนใหญ่  อายุ 5-13 ปี ที่อาศัยอยู่ใกล้ท่าเรือปัตตานีเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้และป้องกันพวกเขาจากภัยอันตรายจากที่ทำงาน  ผู้ปกครองของเด็กมีส่วนในการบริหารจัดการศูนย์และจะสนับสนุนค่าเล่าเรียนและช่วยเหลือการบริหารจัดการ

จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยปี 2557 ได้ประมาณการว่า มีแรงงานเด็กข้ามชาติและไม่มีเอกสารประจำตัวจำนวนมากกว่า 4 แสนคน ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ในประเทศไทย งานวิจัยข้อมูลพื้นฐานปี 2560 ของโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในเรื่องสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล โดยร้อยละ 99 ดำเนินการตามกฎหมายเรื่องอายุขั้นต่ำที่ 18 ปี อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 19 ของแรงงานประมงและการแปรรูปอาหารทะเลได้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานที่ต้องไปพบแพทย์ แยกเป็นร้อยละ 27 สำหรับแรงงานประมงและ ร้อยละ 13 ในกิจการแปรรูปอาหารทะเล โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้ความรู้กับแรงงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในภาคประมง

พิธีเปิดศูนย์ได้มีตัวแทนหน่วยราชการของจังหวัด ตัวแทนนายจ้างและลูกจ้าง ตลอดจนภาคประชาสังคมได้ร่วมมือแสดงเจตนารมณ์ที่จะทำงานร่วมกันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กและร่วมกันปรับปรุงสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน ซึ่งมีการจัดกิจกรรมบรรยายและเล่นเกมส์ให้ความรู้แก่เด็กเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย
ในบริเวณท่าเรือ

อนันต์ บวรเนาวรักษ์ ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ย้ำถึงความมุ่งมั่นในการยุติการใช้แรงงานเด็กและรูปแบบของการละเมิดแรงงานทุกรูปแบบในอุตสาหกรรมประมงและที่เกี่ยวเนื่อง  ซึ่งการจัดตั้งศูนย์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เพื่อให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองตามสิทธิแรงงานและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม 

ลุยซา แร็กเฮอร์ อุปทูตของคณะผู้แทนสหภาพยุโรประจำประเทศไทย กล่าวว่าข้อริเริ่มการเปิดศูนย์เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเพราะเป็นการนำหลักการมาทำให้เป็นรูปธรรมตามที่ได้หารือในช่วงเวทีเสวนาระหว่างสหภาพยุโรปและไทยในที่ประชุมบรัสเซลส์  เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ซึ่งสหภาพยุโรปและประเทศไทยมีความร่วมมือกันเพื่อรับประกันสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่มีคุณค่าให้คนทำงานทุกคน รวมทั้งครอบครัวและลูกหลาน และผลักดันเรื่องการโยกย้ายที่ปลอดภัยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและวาระงานที่มีคุณค่า 

อภิญญา ทาจิตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล (สเตลล่า มาริส) กล่าวว่ามีภารกิจทั่วโลกในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสวัสดิภาพแก่แรงงานประมงโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ประสบกับความทุกข์ยากและต้องการความช่วยเหลือ โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและสีผิว ส่งเสริมให้ปฎิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของตน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่

สุภาวดี โชติกญาณ เจ้าหน้าที่ประสานงาน สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สปป. ลาว ได้กล่าวว่าไอแอลโอทำงานบนพื้นฐานของการหารือไตรภาคีโดยร่วมกับภาครัฐ องค์กรนายจ้างและลูกจ้าง สหภาพแรงงานและภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาสภาพการทำงานและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย  พวกเราเชื่อว่าศูนย์การเรียนรู้ใหม่จะเป็นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและสร้างพลังให้ผู้ปกครองของแรงงานข้ามชาติร่วมมือกันบริหารจัดการศูนย์เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งของไอแอลโอ โดยทุนสนับสนุนของสหภาพยุโรป มุ่งป้องกันและลดการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานบังคับ แรงงานเด็ก และการใช้แรงงานในรูปแบบที่ยอมรับไม่ได้อื่นๆ เพื่อขจัดการใช้แรงงาน   ที่ไม่เป็นธรรมให้หมดไปในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมการประมงและอาหารทะเลไทย โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงแรงงาน หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ และภาคีทางสังคมต่างๆ

ในปีนี้ วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล (SafeDay) และวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลกได้รวมตัวกันรณรงค์เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของแรงงานผู้เยาว์ รวมทั้งยุติการใช้แรงงานเด็ก ในวันที่ 12 มิถุนายนของทุกปีกำหนดให้เป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ที่ได้มีการเปิดงานเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2545 เพื่อสร้างความตระหนักถึงการป้องกันการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ  และทุกปีในวันที่ 28 เมษายนถือเป็นวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากลเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสปป. ลาว

อัญมณี ทับทิมศรี
เจ้าหน้าที่ประสานงานภาคสนาม
อีเมย์: tabtimsri@ilo.org
โทร: 6689-529-1139

สุภาวดี โชติกญาณ
ผู้ประสานงานโครงการ
อีเมล: chotikajan@ilo.org
โทร: 6687-825-6461

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น