ประชาไท Prachatai.com |
- วงถกย้อนปมคณะราษฎรด้านเศรษฐกิจ การเมือง แห่งหนสถาบันกษัตริย์ในระบอบใหม่
- อนุสรณ์ อุณโณ: มรดกคณะราษฎรที่ถูกฝังกลบ รัฐพันลึกเผยตัว กับการตื่นรู้ของ ปชช.
- หมายเหตุประเพทไทย #215 อำนาจตะวันตก-อำนาจตะวันออก
- ธเนศปั่นป่วน #4 ธเนศกับวิชาการ
- 86 ปีประชาธิปไตยไทย #1 อภิสิทธิ์-จาตุรนต์-วราวุธ-อนุทิน ตัดเกรดประชาธิปไตย
- นักเศรษฐศาสตร์ระบุไทยยังต้องเผชิญกระแสเงินทุนไหลออกอีกระยะหนึ่ง
- 2475-ปัจจุบัน ไทยคือ "รัฐทหาร” มีเครือข่ายและฝั่งรากไว้อย่างกว้างขวาง
- 'สวนดุสิตโพล' ชี้คนนิยม 'เพื่อไทย' อันดับ 1 ตามมาด้วย 'อนาคตใหม่'
- ใบตองแห้ง: สิทธิมนุษยชนปกป้องโจร?
- 'เอกชัย-โชคชัย' ถูกสกัดไม่ให้ทำกิจกรรม 86 ปี 2475 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
- ใบตองแห้ง: สมบัติชาติขายไม่ออก
- ประเด็นโต้แย้งและข้อเสนอ กรณี ปปช ไม่รับคดีการชุมนุมปี 53
- สหภาพแรงงาน กฟภ. เดินหน้าค้าน ‘บริษัท RPS’
- วัฒนา เมืองสุข: เด็กน้อยชื่อ สฤษดิ์
- เรื่องเล่าเสมือนตำนานอันเป็นที่มาของเกร็ดประวัติศาสตร์เท็จ
วงถกย้อนปมคณะราษฎรด้านเศรษฐกิจ การเมือง แห่งหนสถาบันกษัตริย์ในระบอบใหม่ Posted: 24 Jun 2018 12:35 PM PDT วงเสวนาดอกผล กิ่งก้านปฏิวัติ 2475 ถกโจทย์ปัญหาหลายด้านตั้งแต่คณะราษฎรเรืองอำนาจจวบจนโรยรา สถาบันกษัตริย์บนเส้นทางประชาธิปไตย กับ ม.112 ที่สร้างสุญญากาศทางความคิด มอง 2475 ผ่านเลนส์อดีตและปัจจุบัน ปฏิวัติจบแต่การต่อสู้ไม่จบ สมยศชวนดูดอกผลปฏิวัติ คาดปัญหาเศรษฐกิจทำให้กระแสเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งใหญ่สุกงอม ซ้ายไปขวา: ไชยันต์ รัชชกูล วาด รวี พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เพียงคำ ประดับความ 24 มิ.ย. 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จัดงานเสวนา "86 ปี 2475 กิ่งก้านและผลพวงการอภิวัฒน์สยาม" งานเสวนามี รศ.ไชยันต์ รัชชกูล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวี สิริอิสสระนันท์ (วาด รวี) นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ SHINE รศ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย บรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ โดยมีเพียงคำ ประดับความ เป็นวิทยากร โจทย์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คณะราษฎรสอบตกพิชิต กล่าวว่า สิ่งที่ขาดไปคือเมื่อพูดถึงการปฏิวัติ 2475 คือการประเมินคณะราษฎรและเหตุการณ์ 24 มิ.ย. จากมุมมองของคณะราษฎรและผู้ร่วมก่อการ เป็นการตีความของฝ่ายนิยมเจ้า ในเวลาที่คณะราษฎรมีอำนาจอยู่ จนถึงวันสิ้นสุดของอำนาจด้วยรัฐประหารของสฤษดิ์ในปี 2500 รวมเวลาทั้งสิ้น 25 ปี ที่มีการปกครองลุ่มๆ ดอนๆ ของคณะราษฎร พวกเขาตอบโจทย์สิ่งที่ตั้งขึ้นใน 24 มิ.ย. มากน้อยเพียงใด พิชิตประเมินว่าโจทย์ของคณะราษฎรคือหลักหกประการที่ตั้งไว้ คือสัญญาประชาคมที่คณะราษฎรได้ให้กับประชาชน โดยวันนี้จะวิเคราะห์เรื่องความตอบโจทย์ในไม่กี่ประการ ในประเด็นการศึกษาถ้วนหน้า พิชิตกล่าวว่า ในปี 2464 สยามมีประชากร 14 ล้านคน ในจำนวนนี้ 6.8 ล้านคน หรือร้อยละ 68 ไม่รู้หนังสือ ถึงปี 2503 ประชากรเพิ่มจาก 14 ล้านเป็น 26 ล้าน อัตราการรู้หนังสือเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ระหว่างนั้น รัฐบาลคณะราษฎรได้ออกกฎหมายใหม่ในปี 2479 กำหนดการศึกษาภาคบังคับถึง ป.4 จนสิ้นยุคคณะราษฎร ปี 2503 ได้มีการกำหนดการศึกษาภาคบังคับเป็น ป.7 ในช่วง 25 ปีของคณะราษฎร การศึกษาภาคบังคับก็คืบหน้าไปพอสมควร แม้จะมีคนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้อยู่ก็ตาม หลักการเรื่องเศรษฐกิจ ที่เป็นความตั้งใจของคณะราษฎรที่จะไม่ให้ราษฎรอดตายนั้น หลังจากประกาศรธน 24 ธค 2475 ปรีดี พนมยงค์ สมาชิกคณะราษฎรได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษย์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) หรือสมุดปกเหลือง ซึ่งได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะพระบรมราชวินิจฉัยของ ร.7 อ่านแล้วเหมือนเหมือนโครงการเศรษฐกิจของสตาลินแห่งสหภาพโซเวียต กลายเป็นกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ยุคแรกเริ่ม ทั้งที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ยังไม่ถูกจัดตั้ง เป็นการปลุกผีคอมมิวนิสที่นำไปสู่การเกิด พ.ร.บ. การป้องกันการเป็นคอมมิวนิสต์ฉบับแรก ที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการจัดตั้ง พคท. เสียอีก เค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนั้นไม่ถูกนำมาใช้อีกเลยนับจากนั้น และก็ไม่มีใครทำการศึกษาในประเด็นการไม่ถูกหยิบมาใช้อีก แต่เพราะความล้มเหลวของเค้าโครงฯ ก็ทำให้คณะราษฎร์ ต้องหาโครงการเศรษฐกิจอื่นมาแทนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครอง สุดท้ายแนวทางเศรษฐกิจของคณะราษำณก็ไปทางขวา คือไปทางลัทธิชาตินิยมในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเข้ามาเป็นนายกฯ เกิดระบบเศรษฐกิจชาตินิยมแบบขวา รัฐบาลควบคุมการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเอกชน มีรัฐวิสาหกิจหลายร้อยแห่ง นำมาสู่ปัญหาเศรษฐกิจเยอะไปหมด โครงสร้างเศรษฐกิจที่เจอในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นดอกผลของความล้มเหลวของเค้าโครงฯ ในยุคแรกที่ไม่สามารถเอาแนวคิดของปรีดีมาใช้ เมื่ออ่านเค้าโครงเศรษฐกิจฯ จะพบว่ามีลักษณะเป็นเศรษฐกิจสังคมนิยม ประชาชนทุกคนอยู่ในกำกับของรัฐ ในเค้าโครงฯ เขียนว่าราษฎรเป็นข้าราชการหมด รัฐจะตั้งสหกรณ์หลายประเภทขึ้นมาและให้ประชาชนอยู่ในนั้นโดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินเดือนและเก็บภาษี คนในสหกรณ์ก็ทำงานและได้ผลตอบแทนตามที่ทำ มุ่งสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งตัวเอง มีการค้ากับต่างประเทศให้น้อยที่สุด ทรัพย์สินส่วนบุคคลยังให้มีที่ดินส่วนบุคคลเพื่ออยู่อาศัย รัฐเป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ เครื่องจักรก็เป็นของรัฐ ด้วยเหตุผลว่า การมีโรงงานโดยเอกชนจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง แต่กิจการส่วนบุคคลที่เป็นอาชีพก็ยังคงมีอยู่ แต่ในเค้าโครงฯ ก็ได้เขียนย้ำไว้หลายจุดว่าระบบเศรษฐกิจดังกล่าวไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เพราะไม่ได้เป็นการแย่งยึดกรรมสิทธิ์ประชาชน มีทางเลือกให้ประชาชนขายสินทรัพย์ให้รัฐได้ โดยรัฐจะออกใบกู้ ออกพันธบัตรแล้วให้ประชาชนกินดอกเบี้ย ซึ่งในตอนนั้นถือเป็นวิธีที่ก้าวหน้า การปฏิรูปที่ดินสมัยที่สหรัฐฯ เข้ายึดครองญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อทำลายระบอบเจ้าที่ดินเดิม และการปฏิรูปที่ดินในไต้หวันของเจียงไคเช็กก็ใช้วิธีเดียวกัน เห็นได้ว่าเป็นวิธีที่รัฐบาลที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ก็ทำกัน พิชิตกล่าวว่า หากจะมาพูดในวันนี้ว่าระบบเศรษฐกิจตามเค้าโครงฯ ใช้การไม่ได้จากประสบการณ์การล้มของเศรษฐกิจสังคมนิยมในจีน กัมพูชา และที่ใกล้จะล้มคือเกาหลีเหนือก็คงเป็นเรื่องมักง่ายไปหน่อย ถ้าย้อนเวลาไปช่วงนั้นซึ่งเป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง ช่วงนั้นเป็นยุคเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ตลาดหุ้นล้มละลาย ซึ่งนัยหนึ่งคือสาเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ 2475 เพราะตอนนั้นรัฐบาลสยามไม่สามารถส่งออกข้าว และไม่สามารถเก็บภาษีส่งออกข้าวได้ รายจ่ายเยอะ มีการปลดข้าราชการออกทำให้เกิดความไม่พอใจ ตอนนั้นเป็นช่วงของความเฟื่องฟูของระบบสหการรวมหมู่ ระบบทุนนิยมสูญเสียความน่าเชื่อถือ ไม่แปลกที่นักคิดอย่างปรีดีซึ่งเรียนจบจากฝรั่งเศสจะอยู่ในกระแสคิดดังกล่าวด้วย แนวคิดดังกล่าวถูกต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม เนื่องจากยิ่งอ่านก็ยิ่งเหมือนของสหภาพโซเวียต เมื่อปรีดีกลับเข้ามาร่วมรัฐบาลได้ ก็ไม่กล้านำเค้าโครงฯ เดิมกลับมาใช้ จุดนี้ตนวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะต้องการลดแรงเสียดทานจากฝ่ายต่อต้าน จนเมื่อจอมพล ป. ขึ้นสู่อำนาจและได้เลือกใช้ระบบเศรษฐกิจแบบฟาสซิสต์ อีกดอกผลที่คณะราษฎรสอบตกคือเรื่องบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เรากำลังพูดถึงสถาบันที่อยู๋ในองคาพยพของรัฐ เป็นตำแหน่งทางการเมืองและราชการในฐานะประมุขรัฐในเชิงสถาบัน ที่มีพระราชอำนาจในทางกฎหมายและประเพณี การปฏิวัติต่างๆ ทั่วโลก จะสำเร็จเด็ดขาดลงได้ต่อเมื่อตอบคำถามว่า บทบาท สถานะ พระราชอำนาจทางกฎหมายและประเพณีควรอยู่ตรงไหน เท่าใด มีขอบเขตแค่ไหน แต่ระยะเวลา 25 ปีของคณะราษฎรไม่ได้ตอบคำถามนี้อยางชัดเจนแม้จะมีกบฏบวรเดชเกิดขึ้น แต่ในที่สุดแล้วความไม่ชัดเจนทำให้ไม่มีแรงกดดันและความท้าทายให้คณะราษฎรต้องขีดเส้นให้ชัดว่าสถาบันกษัตริย์จะอยู่ที่ใดภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีเพราะในหลวง ร.8 ขึ้นครองราชย์ในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ และพำนักอยู่ต่างประเทศจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองจึงเสด็จกลับ ระหว่างช่วงนั้นจึงต้องมีผู้สำเร็จราชการ และผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับคณะราษฎรเป็นอย่างดี จึงไม่มีความขัดแย้ง ความขัดแย้งเรื่องพระราชอำนาจในเชิงกฎหมายและราชประเพณีจึงไม่ได้รับการตอบอย่างชัดเจน เพราะไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง นอกจากนั้นยังมีการจับกุมนักโทษการเมือง ก็คือกลุ่มนิยมเจ้าในยุคจอมพล ป. จับไปปล่อยเกาะตะรุเตาอย่างที่รู้กัน พอสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองก็จะเห็นชัดว่าคณะราษฎรปีกทหารแพ้ไปเพราะไปร่วมมือกับญี่ปุ่น ส่วนกลุ่มนิยมเจ้ายังเป็นนักโทษทางการเมืองที่ถูกจับกุมไว้ก่อน จึงเหลือแต่ปีกพลเรือนคือปรีดี ซึ่งท่านก็ต้องการความปรองดองแห่งชาติ แก้ไขไม่แก้แค้น หลังถูกญี่ปุ่นยึดครอง 3-4 ปี แปรจากประเทศแพ้สงครามเป็นชนะสงครามด้วยวิธีการทางการทูต จึงนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและอาชญากรสงครามทั้งหมด กลุ่มนิยมเจ้าและอดีตอาชญากรสงครามได้ร่วมมือยึดอำนาจปรีดีในยุค 2490 สุดท้ายจึงเหลือกลุ่มนิยมเจ้า จอมพล ป. และพรรคประชาธิปัตย์ที่กลุ่มนิยมเจ้าจัดตั้งขึ้น จนปี 2500 คณะนายทหารรุ่นใหม่ซึ่งเป็นคนละรุ่น เติบโตมาใต้ระบอบทหาร ระบอบขุนศึกโดยแท้ และไม่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากคณะราษฎร นำไปสู่การรื้อฟื้นพระราชพิธี พระราชอำนาจ บทบาท สถานะของพระบารมีของถาบันกษัตริย์เรื่อยมา สถาบันพระมหากษัตริย์บนเส้นทางประชาธิปไตย ม.112 ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ สร้างสุญญากาศทางความคิดวาดกล่าวว่า ธีมหลักที่จะพูดวันนี้คือ การยึดอำนาจจากกษัตริย์ทำให้เกิดอะไรขึ้น และลงเอยอย่างไร การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่ใช่เกิดขึ้นในเวลาไม่กี่วัน ไม่เกี่เดือน แต่มีการต่อต้านจากฝ่ายนิยมกษัตริย์เรื่อยมาจนสุดท้ายก็มีนิรโทษกรรม มีการคืนดีกันจนฝ่ายนิยมกษัตริย์มีกำลังขึ้นอีกครั้งและล้มคณะราษฎร แต่ประเด็นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงคือฝ่ายคณะราษฎรก็ไม่มีความเป็นเอกภาพ มีการแบ่งขั้วระหว่างจอมพล ป. กับปรีดี สภาวะดังกล่าวปรากฎตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจอมพล ป. หมดอำนาจหลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทำให้ขั้วปรีดี คือเสรีไทยที่จับมือกับฝ่ายกษัตริย์ไปอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรมีอำนาจ ซึ่งเท่ากับฝ่ายกษัตริย์ก็เข้มแข็งขึ้น หลังกรณีสวรรคตของ ร.8 ฝ่ายนิยมกษัตริย์ก็หันมาโจมตีปรีดีจนกระทั่งปรีดีต้องลี้ภัยไป ทำให้ฝ่ายจอมพล ป. กลับมามีอำนาจอีกครั้ง จอมพล ป. ก็สู้กับฝ่ายกษัตริย์ในเวลาต่อมาจนถูกยึดอำนาจไปในช่วง 2500 ทั้งหมดที่เล่ามากินเวลา 25 ปีตั้งแต่การยึดอำนาจในปี 2475 และปิดฉากด้วยความพ่ายแพ้ของคณะราษฎร ในที่สุดรัฐธรรมนูญ 2492 ถูกล้มเลิกไปเมื่อจอมพล ป. กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง และต่อมาก็แพ้ให้กับสฤษดิ์ หลังปี 2500 การเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงหลายทาง โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ที่ใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการสงครามเย็นในภูมิภาคอินโดจีน ก่อนถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีรัฐธรรมนูญถึง 9 ฉบับ วาดกล่าวว่า ประเด็นการเมืองก่อนจะเกิดวิกฤตการเมือง นึกถึงบรรยากาศก่อนจะเกิดวิกฤตการเมือง ก่อนหน้านี้ประเด็นคณะราษฎรไม่เคยกลับมาเป็นประเด็นในการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป้นช่วง 14 ต.ค. 6 ต.ค. หรือ พ.ค. 34-35 มันมีการรื้อฟื้นความสำคัญของคณะราษฎรโดยมุ่งฟื้นฟูเกียรติปรีดี แต่เป็นความพยายามฟื้นในแบบที่ไม่ขัดกับสถาบันกษัตริย์ วาดกล่าวต่อไปว่า ช่วงแรกของคณะราษฎรที่เถียงกันที่ประเด็น ร.7 กับคณะราษฎรเถียงกันตรงๆ ในเชิงประเด็น กระบวนทัศน์ในการถกเถียงเป็นเรื่องเดียวกัน ต่างคนต่างรู้ว่าอีกฝ่ายคิดอะไร ประเด็นคือจะจัดการอำนาจกษัตริย์อย่างไรในรัฐธรรมนูญ ตัดกลับมาที่ภาพเมื่อก่อนจะเกิดวิกฤตสมัยทักษิณ สภาพการเมืองตอนนั้นไม่มีแนวคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์ โฟกัสการเมืองอยู่ที่ทหาร ตำรวจและนักการเมือง ไม่มีใครเห็นสถาบันกษัตริย์ในระบบการเมือง คนไม่เห็นความเกี่ยวข้อง มีคำพูดทักษิณเมื่อนานแล้วที่ให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศว่ากษัตริย์ในไอเดียเขาเหมือนพระเจ้า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สิ่งที่มีอำนาจในระบบการเมือง คือล่องลอยอยู่นอกระบบ ตอนนั้นสังคมไทยภาพกว้างไม่ค่อยมีไอเดียเรื่องนี้ กลุ่มพันธมิตรก็ด่านักการเมืองเลว ทุนสามานย์ แต่ก็มีคนจุดประเด็นเรื่องพระราชอำนาจ มีพระราชดำรัสของในหลวง ต่อมาการเลือกตั้งก็เป็นโมฆะ ทักษิณจึงเริ่มรู้สึกตัวและเริ่มพูดถึงผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ หลังวิกฤตการเมือง 2549-2553 กระบวนทัศน์การเมืองที่คนไทยรับรู้นั้นเปลี่ยนไป คนเริ่มเห็นความจริงที่ไม่สามารถกลับไปไม่เห็นได้อีกแล้วไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายก้าวหน้า ไม่สามารถมองการเมืองแล้วไม่เห็นประเด็นสถาบันกษัตริย์ได้อีกแล้ว นี่คือประเด็นที่เป็นปัญหา เพราะนี่คือข้อแตกต่างระหว่างสมัยคณะราษฎรที่มีการโต้แย้งเชิงประเด็นอย่างเปิดเผย ก่อนวิกฤติการเมืองมองไม่เห็น แต่พอเกิดวิกฤตก็เห็นแล้วแต่ไม่สามารถแสดงออก วาดคิดว่าประเด็นสำคัญที่คณะราษฎรกลับมาคือปัญหาเรื่องพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งไม่เพียงแค่ว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ปัญหาคือการปิดปากด้วยกฎหมายไม่สามารถจะย้อนความคิดคนให้กลับไปมอง ไม่เห็นประเด็นนี้เหมือนเดิมแล้ว ถ้าไม่มีการปิดกั้น คนที่เห็นปรากฏการณ์ก็จะแสดงออกอย่างแตกต่างกันไป และเมื่อเห็นการแสดงออกก็จะเกิดจุดที่ปรับการรับรู้ เห็นการแสดงออกของคนอื่น เกิดการถกเถียงและจะเกิดการปรับการรับรู้ ทำให้ทราบขอบเขตของประเด็น ไม่งงว่าเถียงกันเรื่องอะไร แต่เมื่อมีความพยายามเปลี่ยนแปลงการรับรู้ ทำให้การจัดการทางการเมืองที่มีใจกลางอยู่ที่อำนาจของกษัตริย์ทำไม่ได้ ต่างคนก็ต่างเก็บความคิดไว้ในหัว เป็นการเดาทั้งนั้นว่าแต่ละคน แต่ละฝ่ายคิดอะไร เมื่อความคิดถูกขัง ความคิดไม่มีการจัดตั้งก็เกิดความสับสนอลหม่านที่เกิดจากการถูกห้าม แต่การห้ามก็ทำได้ไม่หมดเพราะความคิดถูกแพร่กระจายในยุคสมัยที่มีอินเทอร์เน็ต แต่คนที่ไม่เข้าอินเทอร์เน็ต ฟังแต่ คสช. ที่บ้านก็มี จึงมีสุญญากาศในสังคมที่เกิดจากการปิดกั้น จึงขาดไอเดียร่วมกัน ฉันทามติในสังคมก็ไม่เกิด ฉันทามติจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่สามารถพูดความคิดในหัวออกมา ทางออกคือการปรับการรับรู้ให้อยู่ในระดับที่เท่ากัน สมยศชวนดูดอกผลปฏิวัติ 2475 คาด ปัญหาเศรษฐกิจกำลังทำให้กระแสเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งใหญ่สุกงอมสมยศกล่าวว่า วันนี้เดินทางมามีรถตำรวจนำทางด้วย ก็ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังให้เกียรติในการสอบถามรายละเอียด ขอร้องในเรื่องบางเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่จะมาพูด โดยสิ่งที่ถูกขอร้องไม่ให้พูด คือเรื่องหมุดคณะราษฎรหาย ซึ่งตนก็ทั้งเกรงใจและกลัว ส่วนตัวไม่ได้ทราบเรื่องเพราะตอนที่หมุดหายนั้นอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็คงพูดไม่ได้มากเท่าวิทยากรท่านอื่น สมยศกล่าวต่อไปว่า การปฏิวัติ 2475 นำมาซึ่งอารยธรรมสมัยใหม่กับสังคมไทย เช่น ทำให้เกิดการศึกษาภาคบังคับ มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต่อมาได้เป็นสถานที่หนึ่งที่ผลิตนักการเมือง ซึ่งน่าเสียดายที่นักการเมืองเหล่านี้ไม่ได้รับเจตนารมณ์ 2475 มาใช้ จึงมีนักการเมืองที่หักหลังระบอบประชาธิปไตย เช่น ชวน หลีกภัย ส่วนประชาชนก็มีเสรีภาพ ได้ลืมตาอ้าปากบ้างแม้เสรีภาพจะผุกร่อน กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถูกเปลี่ยนจากจำคุก 7 ปี เป็น 15 ปี อัตราโทษถูกปรับขึ้นเมื่อมีการเข่นฆ่าประชาชนสมัย 6 ต.ค. 2519 อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติ 2475 ทำให้ประชาชนมีเสรีภาพ และประชาชนก็ยังต่อสู้เพื่อเสรีภาพอยู่ถึงทุกวันนี้ ด้านเศรษฐกิจ การปฏิวัติช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ การลงทุนแบบเสรีนิยมที่เกิดขึ้นจากปฏิวัติ 2475 ทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ไม่เช่นนั้นเราก็คงยังเป็นไพร่ที่ถูกรัฐกดขี่ หลังปี 2475 ก็มีการยกเลิกภาษีหลายประเภท เหลือแต่ภาษีแบบปัจจุบัน สมยศกล่าวว่า มีความผิดพลาดบางประการในการปฏิวัติ 2475 สิ่งหนึ่งคือคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับกลไกเชิงอำนาจ ถ่ายอำนาจจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่คณะราษฎรได้ แต่ก็ไม่มีอุดมการณ์ใหม่เข้าไปแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และไม่ได้ขุดรากถอนโคนระบอบดังกล่าวให้หมดไป ทำให้อุดมการณ์จารีตนิยมยังอยู่ วัชพืชเผด็จการยังอยู่และถูกพัฒนาจนงอกงามถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน กิ่งก้านของคณะราษฎรก็ถูกลิดรอนลงเรื่อยๆ จนหมดอย่างสิ้นเชิงในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ และในยุคนั้นได้มีการเปลี่ยนวันชาติไทยจากเดิมที่เป็นวันที่ 24 มิ.ย. ถูกเปลี่ยนเป็นวันที่ 5 ธ.ค. อดีตบรรณาธิการวอยซ์ออฟทักษิณกล่าวว่า ปัจจุบันลูกหลานคณะราษฎรก็ยังหลงเหลืออยู่ ตอนที่มีข่าวหมุดหายตนก็ได้ข่าวว่ามีลูกหลานคณะราษฎรไปทวงถามอยู่ ก็เห็นได้ชัดว่าความสัมพันธ์ทางสายโลหิตหมดไปเพราะลูกหลานหลายคนไม่ได้สืบเจตนารมณ์ของคณะราษฎร แต่ประวัติศาสตร์ไม่ได้ขาดตอนหรือถูกลบทิ้งไปอย่างง่ายๆ การปฏิวัติ 2475 ไม่ได้เกิดขึ้นแบบโดดๆ แต่เป็นผลมาจากความพยายามปฏิวัติประเทศไทยก่อนหน้านี้ หรือที่เรียกว่ากบฏ ร.ศ.130 สมัย ร.6 ที่มีการนำกลุ่มทหารเตรียมล้มล้างการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่แล้วเสร็จเพราะความลับรั่วไหล ร.6 ก็ได้ปราบปรามกลุ่มกบฏเสียก่อน ผู้ก่อการถูกประหารชีวิตบ้าง ถูกจำคุกบ้าง แต่สุดท้ายคนเหล่านี้ก็ได้รับการปล่อยตัวเมื่อมีปฏิวัติ 2475 ขึ้น ทั้งนี้ สมยศกล่าวว่า การที่หมุดหายไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีความพยายามที่จะทำลายสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ 2475 อยู่โดยตลอด ทั้งการบิดเบือนประวัติศาสตร์ 2475 ให้เป็นเรื่องการชิงสุกก่อนห่ามบ้าง ชิงทำปฏิวัติบ้างทั้งๆ ที่ ร.7 เตรียมพระราชทานประชาธิปไตยอยู่แล้ว จำกัดวงการรับรู้ประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 เปลี่ยนวันชาติ ทำลายสถาปัตยกรรมคณะราษฎร เช่น อาคารศาลฎีกา หมุดคณะราษฎรเป็นเพียงหนึ่งในความทรงจำเรื่องปฏิวัติ 2475 แต่ปรากฎการณ์ที่เห็นในปัจจุบันคือยิ่งทำลายก็ยิ่งโผล่ มีคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมา "ผมก็สังเวชใจกับประเทศไทยมาก เพราะเราไม่ควรจะคุยเรื่องนายกฯ คนนอกกันตั้งนานแล้ว เพราะพฤษภาทมิฬที่สู้กันบาดเจ็บล้มตายเพราะต่อต้านนายกฯ คนนอก ที่เจ็บใจคือ ยังอยากได้นายกฯ สมอง...แบบประยุทธ์ ก็ไม่เข้าใจว่าจะงงอะไรกับประวัติศาสตร์ เราล้มตายจาก 14 ตุลามาแล้ว พฤษภาทมิฬมาแล้ว แล้วยังต้องมีคนอยากเลือกตั้งแบบน้องโบว์ น้องโรม น้องนิวมาพูดเรื่องหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ความเท่าเทียม การเลือกตั้ง เราไม่ควรพูดเรื่องนี้แล้ว ควรจะไปไกลกว่านี้แล้ว แต่ก็ถือเป็นสีสันทางการเมืองที่ไม่ทำให้บ้านเมืองเป็นเรื่องการปกครองของคนแบบประยุทธ์คนเดียว" สมยศกล่าว สมยศระบุเพิ่มเติมว่า ช่วง 10 ปีต่อไปคงเป็นช่วงระทึกใจ เนื่องจากดูแล้วพบว่า มีองค์ประกอบที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เกิดขึ้น เพราะเศรษฐกิจแย่มาก เป็นภาวะที่ความยากจน ความเป็นหนี้สินเกิดทุกหย่อมหญ้า การรีดภาษีอากรในรัฐบาลประยุทธ์ที่ทำมาหากินไม่ค่อยเป็น พัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้ แต่กลับใช้เงินอย่างมือเติบ เมื่อไม่นานมานี้กลุ่ม 24 มิ.ย. ได้ไปยื่นข้อเรียกร้องสามข้อที่ทำเนียบรัฐบาล หนึ่ง คัดค้านการใช้ภาษีสรรพสามิต น้ำมัน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด สอง คัดค้านการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นร้อยละ 9 และสาม เลิกใช้งบประมาณฟุ่มเฟือยไปกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และขึ้นเงินเดือนของพวกพ้อง ส่วนกรณีหมุดราษฎรหาย สมยศกล่าวว่า วันนี้หายไปไม่เป็นไร วันดีคืนดีเราได้ประชาธิปไตย ได้รัฐบาลแล้วก็เอาของใหม่ไปติดตั้งแทนได้ อย่างน้อยก็เป็นสัญลักษณ์เชิงอุดมการณ์ของประชาธิปไตยและคณะราษฎร ชวนมอง 2475 ผ่านเลนส์อดีตและปัจจุบัน ปฏิวัติจบแต่การต่อสู้ไม่จบไชยันต์กล่าวว่า สี่ปีหลังรัฐประหาร 2557 มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ เมื่อก่อนฝ่ายที่จะเตะตัดขาประชาธิปไตยจะคุยกันในบ้านหรือในกองทหาร แต่ปรากฎว่าครั้งนี้เขาออกมาที่ถนน นี่เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในสังคมไทย ทำให้เรารู้ว่าฝ่ายไหนบ้างที่ไม่เอาประชาธิปไตย คนวิจารณ์การปฏิวัติ 2475 มากมาย ตนไม่เห็นด้วยกับเรื่องสอบตก ยกตัวอย่างเปรียบเปรยกับฟุตบอลว่า ไม่มีใครที่ชนะมีแล้วจะชนะตลอด อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องสู้ต่อ เกมการเมืองคือสิ่งที่ต่อเนื่องไปตลอด คณะราษฎรยิงประตูได้ใน 2475 แต่ก็ถูกโต้กลับไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าอีกฝ่ายโต้กลับได้ก็ไม่ใช่ว่าจะชนะตลอดเหมือนกัน ไชยันต์ยังระบุว่า การทำความเข้าใจการปฏิวัติ 2475 ต้องมาจากความเข้าใจทั้งอดีตและปัจจุบัน คือต้องสมมติว่าเอาปฏิวัติ 2475 วางตรงกลาง แล้วย้อนหน้าและย้อนหลังไปอย่างละ 86 ปี ก่อนจะเป็นการให้ความหมายของปฏิวัติ 2475 เอง เช่น ถ้ามีคนที่ไม่ชอบนักการเมืองก็จะมองปฏิวัติ 2475 ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของนักการเมืองที่ไม่ดี มองคณะราษฎรเป็นตัวขัดจังหวะสภาพชีวิตที่คิดว่าดีมาก่อน ตอนที่ ร.7 สละราชสมบัติ พระองค์ท่านเขียนว่า "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร" (ที่มา:nationtv) ก็มาคิดดูว่า ถ้าย้อนหลังไปจากปฏิวัติ 2475 ไป 80 ปี คือเมื่อ พ.ศ.2395-2475 คือสมัย ร.4 ถามว่ามีการปกครองไหนที่ฟังเสียงราษฎรโดยแท้จริง ก็ไม่มี แปลว่าการที่ ร.7 กล่าวอย่างนี้แปลว่า จะเอาสิ่งที่ไม่เคยมีมาเป็น new normal (ความปกติที่ไม่ปกติ) คำว่า new normal เป็นเรื่องที่สำคัญหากจะพูดเรื่อง 2475 เพรามันคือการเปลี่ยนความคิดอย่างมาก เป็นการวางประเด็นประชาธิปไตยบนโต๊ะ สถาปนาประชาธิปไตยไปอยู่ในหัวของเรา เมื่อเห็นแล้วจะกลับมามองไม่เห็นไม่ได้ แม้คนที่เป็นเผด็จการ หรือคนไม่อยากเลือกตั้งยังพูดเรื่องประชาธิปไตย การมีกฎหมาย นิติรัฐ นิติธรรม ถือการปักหมุดหมายทางความคิดใหม่ ประเด็นที่คณะราษฎรยกขึ้นมาคือจะขอเปลี่ยนคนขับเคลื่อนรัฐนาวาใหม่ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ และที่สำคัญคือจะนำไปทางไหน นี่เป็นคำถามและพยายามเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ นักประวัติศาสตร์ บางคน นักกิจกรรมหลัง 14 ต.ค. บางคนยังโจมตี 2475 โจมตีคณะราษฎรบ้างซึ่งก็วิจารณ์ได้และเราก็ควรวิจารณ์คณะราษฎร แต่ประเด็นกลับมาอยู่ที่ว่า เราได้สานต่อสิ่งที่คณะราษฎรได้ปลูกเอาไว้หรือไม่ หลังเกิด 14 ต.ค. ใหม่ๆ ปรีดีถูกเชิญไปพูดที่สมาคมนักเรียนไทยในหลายประเทศ มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ปรีดีเขียนว่า จงพิทักษ์ประชาธิปไตย ตอนนั้นตนไม่เข้าใจคำว่าพิทักประชาธิปไตย แต่ต่อมาได้มาเข้าใจคำนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค. ว่าคือเมื่อชนะแล้วก็ขอให้รักษาไว้ ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อนุสรณ์ อุณโณ: มรดกคณะราษฎรที่ถูกฝังกลบ รัฐพันลึกเผยตัว กับการตื่นรู้ของ ปชช. Posted: 24 Jun 2018 10:35 AM PDT อนุสรณ์ อุณโณ ขึ้นปาฐกถาเรื่องการปฏิวัติ 2475 เล่าความพยายามลบเลือนประวัติศาสตร์การเปลี่ยนระบอบการปกครองตั้งแต่หนังสือเรียนประถมศึกษาไปจนการแทนที่หมุดคณะราษฎร รัฐธรรมนูญใหม่เผยรัฐพันลึกออกมาชัดเจน คาด ยุคข่าวสารทั่วถึงจะไม่ทำให้ประชาชนถูกอำนาจเก่าจูงจมูกอีกต่อไป เมื่อ 24 มิ.ย. 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชากรเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จัดงานเสวนา "86 ปี 2475 กิ่งก้านและผลพวงการอภิวัฒน์สยาม" อนุสรณ์ อุณโน คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการในเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองหรือ คนส. ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิวัติปี 2475 ของคณะราษฎร มีใจความดังนี้ อนุสรณ์กล่าวว่า ได้รับเกียรติไปทานกาแฟหลังมีเหตุการณ์หมุดคณะราษฎรหายไปและถูกแทนที่ด้วยหมุดใหม่ และมีกระแสการตามหาหมุดที่หาย ก็ได้รับเกียรติไปรับประทานกาแฟพร้อมชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น ความสำคัญของหมุดและแนวทางการปฏิบัติตัว นำมาสู่ปาฐกถาที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิวัติ 2475 "แต่คำถามคือ หมุดคณะราษฎรมีความสำคัญอย่างไร ทำไมต้องถูกเคลื่อนย้ายและแทนที่ด้วยหมุดอันใหม่ สุดท้ายวันนี้ก็ถูกปิด ทำให้มลายหายไป ไม่มีใครเข้าไปสืบค้นได้อีก ประวัติศาสตร์การปฏิวัติปี 2475 มีความสำคัญอย่างไร ทำไมถึงถูกเล่าไม่ได้ และในทุกวันนี้ถูกเล่าใหม่ ถ้าอ่านหนังสือเรียนประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นจะพบว่าถูกเขียนไว้สั้นๆ กระชับๆ ว่าก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองก่อนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าเหมาะกับสังคมไทยสมัยก่อนอย่างไร ต่อมาด้วยความขัดแย้งหรืออะไรก็ตามแต่ จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำไมประวัติศาสตร์ถึงถูกเล่าใหม่ ทำไมการจัดกิจกรรม 2475 เมื่อปีที่แล้วถูกประกบตัวจนทำอะไรไม่ได้ ตนคิดว่าข้อหนึ่งที่สำคัญคือ เราอยู่ในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่การปฏิวัติ 2475 สำคัญต่อปัจจุบันและอนาคตของไทย เพราะสิ่งที่การปฏิวัติ 2475 ดังกล่าวทำอย่างสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงระบอบจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เป็นการเคลื่อนย้ายอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดจากพระมหากษัตริย์มาสู่ประชาชน การเปลี่ยนแปลงตรงนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง จึงถูกโต้กลับจากกลุ่มที่เสียอำนาจและประโยชน์ไป ในภาษาวิชาการอาจจะเรียกกลุ่มเหล่านั้นว่ากลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์บ้าง กลุ่มสถาบันจารีตในเชิงเครือข่ายบ้าง รัฐพันลึกบ้าง กลุ่มเหล่านี้มีความพยายามโต้กลับอย่างฉับพลัน ยกตัวอย่างเช่นกบฏบวรเดชซึ่งเกิดขึ้นหนึ่งปีหลังจากนั้น และจากนั้นก็มีความพยายามต่อต้านเรื่อยมาในการรื้อฟื้นสถานะการนำของพวกเขา ในสมัยที่ทหารเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือที่เห็นชัดขึ้นคือในสมัย 14 ต.ค. 2516 โดยเฉพาะในช่วงพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2534-2535 ในช่วงเวลาพฤษภาทมิฬนั้น เหมือนประหนึ่งว่าทุกภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นรัฐ ทุน ประชาชน หรือภาคประชาสังคมเห็นพ้องต้องกันในการจัดสรรอำนาจ หรือประโยชน์ให้กับสังคมไทย ถ้าดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจในขณะนั้นจะเห็นว่ามีความลงรอยของภาคส่วนต่างๆ เสมือนว่าประเทศนี้มีการจัดสรรอะไรๆ อย่างลงตัวแล้ว สิ่งที่เป็นความโกลาหลที่ผ่านมาคงไม่เกิดขึ้นอีก แต่โลกไม่ได้เป็นเช่นนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบทโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ทศวรรษเศษที่ผ่านมาก่อให้เกิดความปรารถนาใหม่ๆ แรงบันดาลใจใหม่ๆ การจัดสรรประโยชน์แบบสมัยก่อนอาจไม่พอที่จะตอบสนองความต้องการของผู้คนเสมอไป กระแสการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตั้งแต่การมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในปี 2535 รวมถึงการมีรัฐธรรมนูญ 2540 และการเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองมาให้ความสำคัญกับนโยบาย ทำให้คนรู้สึกว่า เสียงของพวกเขาซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยถูกนับ ไม่มีความหมาย ขึ้นมามีความสำคัญ คนเริ่มรู้สึกว่าอำนาจอธิปไตยที่เคยเขียนไว้แค่ในกระดาษมีความสำคัญ ทำให้เขารู้สึกว่าคนที่เลือกเข้าไปจำเป็นต้องตอบสนองเจตนารมณ์ของพวกเขา พูดให้ถึงที่สุดคือมันเกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน การเปลี่ยนแปลงตรงนี้คล้ายจะไปท้าทายหรือสั่นคลอนการจัดการอำนาจที่กลุ่มอำนาจเก่าเคยจัดไว้เมื่อทศวรรษ 2530 เพราะมีผู้นำกลุ่มใหม่ที่ขึ้นมาและอ้างฉันทานุมัติจากประชาชนในการที่จะเข้าไปแบ่งปันอำนาจที่กลุ่มชนชั้นนำเก่าเคยได้ไว้ ในขณะเดียวกันกลุ่มอำนาจเก่าก็เริ่มกังวลว่าประชาชนที่ตระหนักถึงอำนาจตัวเองมากขึ้นจะไม่ยอมรับความชอบธรรมของการจัดสรรอำนาจจากกลุ่มอำนาจเก่าอีกต่อไป ก็จริง มีการโต้กลับอีกระลอกหนึ่ง ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างน้อย 3-4 รูปแบบ มีกลไกตุลาการภิวัฒน์ มีการใช้อำนาจจากศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งมีการเขียนไว้ค่อนข้างจะชัด รัฐพันลึกที่แต่เดิมซ่อนตัวไ้วข้างหลังก็เผยตัวอย่างล่อนจ้อนและอุจาดมาก ขณะเดียวกันเขาก็ใช้มวลชนกึ่งจัดตั้ง เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา และค่อยคลี่คลายจนได้คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ขณะเดียวกันเราก็จะได้สิ่งที่เรียกว่ารัฐประหารที่เป็นหนึ่งกลไกของกลุ่มอำนาจเก่าที่พยายามเหนี่ยวรั้งอำนาจไว้กับพวกเขา รัฐประหารปี 2549 ก็เป็นส่วนหนึ่ง ปี 2557 ก็ใช่ ล่าสุดที่เราเห็นก็คือพรรคการเมือง เราเห็นพรรคการเมืองที่ไปจดจัดตั้งพรรคการเมืองและประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่นับรวมพรรคที่จดจัดตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะกิจ พรรคประชารัฐก็ดี พรรครวมพลังประชาชาติไทยก็ดี เหล่านี้ทั้งหมดค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นกลุ่มที่เครือข่ายอำนาจำเก่าต้องการใช้เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจและประโยชน์ที่พวกเขามีอยู่ โดยเฉพาะกับแนวปะทะต่อไปคือการเลือกตั้งที่ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเกิดขึ้น แต่ปัญหาคือ การโต้กลับไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เพราะคนปัจจุบันตื่นรู้มากขึ้นแล้ว รับรู้ข้อมูลข่าวสารและมีประสบการณ์ไม่ต่างจากคณะราษฎรที่อาจเป็นคนกลุ่มน้อยในปี 2475 ได้ประสบ คนปัจจุบันเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างไม่ต่างกัน ไม่แบ่งชั้นรวยจน เข้าถึงเฟซบุ๊กและไลน์ได้พอๆ กัน หรืออีกนัยหนึ่ง เราไม่ได้เป็นราษฏรที่ต้องรอให้คณะราษฎรมาบอกว่าประเทศนี้เป็นของใคร ใครเป็นผู้กดขี่อยู่ อะไรที่ไม่เป็นธรรม เราอยู่ในยุคที่ทุกคนเป็นพลเมืองที่ตระหนักรู้ดีด้วยตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้เป็นอย่างไรและจะต่อสู้กันแบบไหน การเคลื่อนไหวของมวชนกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมาไม่ว่าจะเป็นประชาชน นักวิชาการ นักศึกษาล้วนเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงการตื่นรู้ของพลเมืองในฐานะประชาชนที่ตระหนักว่าอำนาจอธิปไตยควรเป็นของประชาชน สุดท้ายก็คือ คณะราษฎรได้กรุยทางเอาไว้ แม้เป็นคนจำนวนน้อยแต่ก็เป็นเส้นทางที่ถูกต้อง พวกเราในฐานะคนปัจจุบันและลูกหลานอนาคต มีภารกิจที่จะส่านต่อตรงนี้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่ปีนี้เราสามารถจัดกิจกรรมได้ค่อนข้างจะกว้างขวางและคึกคักมากขึ้น ไม่ว่าจะได้เหตุผลใดๆ ก็ตามแต่ แต่ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีว่าการสานต่อภารกิจของคณะราษฎรในฐานะคนปัจจุบันก็คงจะทำได้อย่างมั่นคง"
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หมายเหตุประเพทไทย #215 อำนาจตะวันตก-อำนาจตะวันออก Posted: 24 Jun 2018 08:24 AM PDT หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้พบกับ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ และชานันท์ ยอดหงษ์ พร้อมแขกรับเชิญอัครพงษ์ ค่ำคูณ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปรียบเทียบแหล่งที่มาของอำนาจตามคติแบบตะวันตกและตะวันออก ซึ่งลักษณะอำนาจแบบตะวันตกนั้นมีลักษณะ 1. เป็นนามธรรม 2. มาจากหลายแหล่ง 3. เพิ่มพูนได้ 4. มาพร้อมกับความลักลั่นของคุณธรรม ในขณะที่อำนาจแบบตะวันออก 1. ต้องเป็นสัญลักษณ์ เพราะเป็นรูปธรรม 2. มาจากแหล่งเดียว 3. อำนาจใช้ไม่รู้หมด4. การมีอำนาจไม่นำมาซึ่งคำถามว่าดีหรือชั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการถ่วงดุลอำนาจแบบตะวันตกอาจไม่ทำงานในโลกตะวันออก ตราบเท่าที่ผู้นำคนนั้นยังมีมีบุญมีบารมี ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ธเนศปั่นป่วน #4 ธเนศกับวิชาการ Posted: 24 Jun 2018 07:15 AM PDT คลิปจากงานเสวนา "ธเนศปั่นป่วน" ฉลอง 60 ปีแห่งความปั่นป่วนของธเนศ วงศ์ยานนาวา ในปีที่ 61 เมื่อ 22 มิถุนายน 2561 ที่พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน (ห้องไอยรา) ช่วงที่ 4 "ธเนศกับวิชาการ" อภิปรายแง่มุมการศึกษาและการทำงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับธเนศ วงศ์ยานนาวา ร่วมพูดคุยโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ดำเนินรายการโดย อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
86 ปีประชาธิปไตยไทย #1 อภิสิทธิ์-จาตุรนต์-วราวุธ-อนุทิน ตัดเกรดประชาธิปไตย Posted: 24 Jun 2018 07:03 AM PDT คลิปส่วนหนึ่งจากงาน WAKE UP THAILAND SPECIAL "86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" ตัวแทน 10 พรรคตัดเกรดประชาธิปไตย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ 5 คะแนนจากที่เคยได้ 8 เพราะอยู่ในยุคทหาร จาตุรนต์ ฉายแสง ให้ 3 เพราะรัฐประหารบ่อย แถมปลูกฝังรัฐประหารทำได้ไม่ผิด วราวุธ ศิลปอาชาให้ 6 เพราะหลัง 2475 มาถึงทุกวันนี้ได้มันต้องมีอะไรดีๆ บ้าง อนุทิน ชาญวีรกุล ให้สอบตกเพราะนอกจากรัฐประหารแล้ว คนในวงการเมืองยังใช้ประชาธิปไตยไม่เป็น ในงานเสวนาพิเศษ WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน "86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" ที่ Voice Space สถานีโทรทัศน์ Voice TV 21 ถนนวิภาวดีรังสิต ดำเนินรายการโดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ชวนตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมอภิปรายนั้น ช่วงแรกให้ผู้ร่วมอภิปรายให้คะแนนกับระบอบประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาจากคะแนน 0 ถึงเต็ม 10 โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าประเทศไทยเรามีความรู้ทันต่อระบบประชาธิปไตย แต่ยังหวาดกลัวระบอบการเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกว่าเรารู้ทันการเมือง แต่วันนี้เรามีรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร จึงถอยไปอยู่ที่คะแนน 5 จากที่เคยได้ 7 ถึง 8 คะแนน ต้องมาดูกันว่าเราจะสอบผ่านหรือสอบตก จะอยู่ที่สังคมไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2562 ว่าจะเป็นการเลือกตั้งเสรี เป็นธรรมหรือไม่ เป็นการเลือกตั้งที่แข่งขันสร้างสรรค์ รวมทั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องเคารพหลักธรรมาภิบาล เคารพเสรีภาพ เสียงข้างน้อย ไมทำลายกลไกที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย โดยเฉพาะองค์กรที่ใช้ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ ซึ่งจะทำให้เราขยับคะแนนมากขึ้น จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวว่าให้ 3 คะแนน เต็ม 10 เพราะมีรัฐประหารหลายครั้งเท่ากับว่าเรายังไม่มีรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญนี้ยังรับรองว่าการทำรัฐประหารนั้นไม่ผิด ยังครอบงำสังคมต่อไปอีก ทั้งยังเอาความคิดของคนเป็นผู้นำมาทำให้สังคมเชื่อว่าไม่สามารถกำหนดประเทศได้ ยังปลูกฝังว่าเรื่องรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งจำเป็น การบริหารแบบเบ็ดเสร็จเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ ทั้งนี้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพยังไม่เต็มที่ ทุกวันนี้พรรคการเมืองยังล้มลุกคลุกคลาน องค์กรภาคประชาชนที่ว่ามีอำนาจก็ไม่สามารถกำหนดอนาคตได้ ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่รับรองการรัฐประหารว่าใครก็สามารถยึดอำนาจได้ ฉะนั้นแล้วหนึ่งบทเรียนการต่อสู้ของประชาชนต้องตระหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพ วราวุธ ศิลปอาชา แกนนำชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ประเทศไทยล้มลุกกับประชาธิปไตยมานาน แต่ยังให้ 6 คะแนน แสดงว่าการเมืองมันต้องมีอะไรดีขึ้นสักอย่าง เพียงแต่ว่าตามระยะทางมันมีล้มบ้าง แต่ละพรรคแต่ละสีได้รับความบอบช้ำ ประชาธิปไตยอยู่เคียงข้างเรา การเลือกตั้งครั้งหน้าจะพิสูจน์ว่าไทยเราดีอย่างไรบ้าง การที่เราจะเดินไปข้างหน้า การเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าการเมืองจะมาจากแบบไหนก็ตาม ท้ายที่สุดก็ต้องมีการเลือกตั้ง เสียงประชาชนนั้นเป็นเสียงที่ยิ่งใหญ่ ความมีสิทธิมีเสียงของประชาชนใครก็ปิดไม่ได้ มั่นใจว่าต่อไปต้องดีกว่านี้ อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ยังไม่เห็นด้วยถ้าเราเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย ที่ให้คะแนนไม่ผ่านนั้นนอกจากเพราะรัฐประหารแล้ว คนที่อยู่ในวงการก็ใช้ประชาธิปไตยไม่เป็น เมื่อเราได้อำนาจของประชาชนและเขาไว้ใจเรา เราก็ควรไว้ใจและเชื่อใจเขาฟังเสียงเขามากขึ้นและทำตามใจเขา ต่อไปประชาธิปไตยก็จะออกมาสวยงาม การเลือกตั้งครั้งหน้าควรจะเป็นปี 2562 อย่างไรแล้ว ต่อจากนี้ไปให้นึกถึงประชาชน ดูแลประชาชนอย่างดี ไม่ใช่ข่มเหงประชาชน ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักเศรษฐศาสตร์ระบุไทยยังต้องเผชิญกระแสเงินทุนไหลออกอีกระยะหนึ่ง Posted: 24 Jun 2018 01:35 AM PDT คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เตือนประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และอาเซียนบางประเทศมีความเสี่ยงถูกโจมตีค่าเงินและตลาดการเงินอีก ขณะที่ไทยยังมีความเสี่ยงต่ำแต่ยังต้องเผชิญกระแสเงินทุนระยะสั้นไหลออกอีกระยะหนึ่ง อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 33.50-34 บาท/ดอลลาร์ฯ ในไตรมาสสามได้ 24 มิ.ย. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อสถานการณ์การไหลออกของเงินทุนระยะสั้นและการโจมตีค่าเงินว่าเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) และอาเซียนบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา บราซิล ตุรกี รัสเซีย มีความเสี่ยงถูกโจมตีค่าเงินและตลาดการเงินอีก เงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นในตลาดการเงินไหลออกกลับสหรัฐอเมริกาซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้และเศรษฐกิจโดยภาพรวมขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ที่ระดับ 2.5% ภาวะดังกล่าวทำให้ค่าเงินของประเทศในกลุ่ม Emerging Markets อ่อนตัวถ้วนหน้าโดยเฉพาะประเทศที่มีการฐานะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอ่อนแอและมีทุนสำรองระหว่างประเทศไม่สูงนัก รวมทั้งมีระดับเงินเฟ้อสูง ประเทศไหนที่มีเงินไหลออกมากๆจะเป็นเป้าหมายของการถูกโจมตีค่าเงินได้อีก บางประเทศอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดการไหลออกของเงินทุน อย่างประเทศฟิลิปปินส์ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับ 3.5% เพื่อสกัดเงินไหลออกและเงินเฟ้อ ขณะที่บางประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอจะอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากหากต้องตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ ส่วนเงินบาทไทยยังมีความเสี่ยงต่ำที่จะถูกโจมตีเพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง เงินเฟ้อต่ำและยังคงเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ยังต้องเผชิญกระแสเงินทุนระยะสั้นไหลออกอีกระยะหนึ่ง อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 33.50-34.00 ในไตรมาสสามได้ เงินบาทอ่อนลงส่งผลดีต่อภาคส่งออกไม่มากนักเพราะมีความผันผวนสูง และค่าเงินกลุ่มประเทศคู่แข่งใน Emerging Markets ก็ปรับตัวอ่อนค่าเช่นกัน และตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่อย่างใด หากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน เงินยังคงไหลออกจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ทางการไทยอาจต้องพิจารณาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยสำคัญ การปรับตัวลดลงและการปรับฐานราคาครั้งใหญ่ของราคาหุ้นจึงเป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ การทำ QE Exit และ ความวิตกกังวลเรื่องสงครามการค้า ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิไปแล้ว 165,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากในช่วงสองไตรมาสแรกของปีนี้ หากรวมยอดขายสะสมสุทธิที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ที่เริ่มมีเงินทุนระยะสั้นไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ จะได้ยอดขายสะสมทั้งหมดที่สูงถึง 498,000 ล้านบาท ตอนนี้ นักลงทุนต่างชาติมีน้ำหนักหุ้นไทยเฉลี่ยที่ 2.8% ซึ่งใกล้เคียงกับน้ำหนักหุ้นไทยใน MSCI Asia ex. Japan Index ที่ 2.6% แรงขายเพิ่มเติมจะเกิดจากการลดน้ำหนักการลงทุนของกองทุนต่างชาติในตลาดเกิดใหม่ ส่วนปัจจัยภายในของไทยที่กระตุ้นให้เกิดแรงเทขายจะเป็นผลมาจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ความเสี่ยงทางการเมืองมากกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ระบุว่ายังไม่มีการปรับเปลี่ยนการประเมินตัวเลขจีดีพีโดยมองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2561 ยังคงอยู่ที่ 4.1-4.7% อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.0-1.5% เนื่องจากผลของสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ระยะสั้นและระยะปานกลางยังคงมีทั้งผลบวกและผลลบต่อภาคส่งออกของไทย ส่วนหากปล่อยให้สงครามการค้ายืดเยื้อจะเกิดความเสียหายต่อปริมาณการค้าโลกและกระทบสุทธิต่อภาคส่งออกไทยเป็นลบ โดยในปี 2561 ดุลการค้ายังคงเกินดุลต่อเนื่องที่ระดับ 29-30 พันล้านดอลลาร์ คาดว่าจะมีการเร่งตัวของการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าทุน สะท้อนการฟื้นตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนโดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3-4% อย่างไรก็ตาม ภาคการลงทุนจะชะลอตัวลงทันทีหากประเทศไทยไม่สามารถจัดการเลือกตั้งหรือกลับคืนสู่ประชาธิปไตยได้ในช่วงต้นปีหน้า การบริโภคเอกชนจะขยายตัวได้ในระดับ 3% การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยไม่ได้ส่งผลให้ภาคบริโภคกระเตื้องขึ้นมากนักเพราะมีการชะลอการสร้างหนี้มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในปี 2561 การก่อหนี้เพื่อการบริโภคต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ สถาบันการเงินมีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นในการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภค ครัวเรือนหนี้สูงมีแนวโน้มชะลอก่อหนี้ใหม่ อย่างไรก็ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยยังมีลักษณะเป็นการเติบโตที่ยังกระจุกตัวในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น ขณะเดียวกันรายได้และผลประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่กระจายมายังกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กและประชาชนโดยทั่วไปมากนัก ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรบางตัวปรับตัวลดลงมากทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทไม่ดีนัก ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
2475-ปัจจุบัน ไทยคือ "รัฐทหาร” มีเครือข่ายและฝั่งรากไว้อย่างกว้างขวาง Posted: 24 Jun 2018 12:56 AM PDT นักวิชาการประวัติศาสตร์การเมืองไทยชี้ คณะราษฎรคือคนรุ่นใหม่ที่สอดรับกระแสประชาธิปไตยที่ตื่นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุคสฤษดิ์และถนอมพยายามจะลบล้างความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 2475 และบทสรุปอดีต-ปัจจุบัน ไทยคือ "รัฐทหาร" เผยเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีคือแนวคิดริเริ่มรัฐสวัสดิการ วันนี้ (24 มิ.ย. 61) มีการแสดงปาฐกถา "2475 อดีต ปัจจุบัน อนาคต" โดยธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในงาน "ครบรอบ 86 ปี การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม 24 มิถุนายน 2475" ณ สวนองุ่น มูลนิธิไชยวนา ซอยทองหล่อ กรุงเทพฯ จัดโดย มูลนิธิไชยวนาร่วมกับกลุ่มโดมรวมใจและเพื่อน ประชาไทได้สรุปความดังนี้ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (แฟ้มภาพ) คณะราษฎรกลุ่มคลื่นลูกใหม่ที่สอดรับกับกระแสประชาธิปไตยที่ตื่นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 1ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติ 2475 ที่พลิกโฉมหน้าประเทศไทยเปลี่ยนไปเป็นการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ตามนโยบายของคณะราษฎร "ไทยก่อนการปฏิวัติ 2475 จึงเป็นประเทศที่อยู่บนทางสองแพร่งของระบอบการเมือง คือ การรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เพิ่งถูกสร้างในสยามอันเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองส่งมาจากโลกตะวันตก กับการเปลี่ยนเป็นระบอบรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งนั่นเอง ขณะที่กระแสลัทธิคอมมิวนิสต์มีอิทธิพลน้อยมากยิ่งนักในประเทศไทยขณะนั้น การปฏิวัติ 2475 โดยคณะราษฎรนั้น ไม่ใช่การปรากฏตัวอย่างฉับพลันทันทีทันใด แต่เป็นการเกิดขึ้นบนพลังกระแสประชาธิปไตยที่มีระดับแรงมากขึ้นหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 และพลังลัทธิชาตินิยมที่เพิ่มพูนมากขึ้นในหมู่ประชาราษฎร คณะราษฎรคือกลุ่มไทยใหม่ เป็น The Young Thai ที่มุ่งสร้างชาติไทยขึ้นมาใหม่ เข้าแทนที่กลุ่มสยามเก่า The Old Siam ที่ไม่สอดรับกับกระแสโลกสมัยใหม่อีกต่อไป" ธำรงศักดิ์กล่าว ความพยายามที่จะลบล้างความทรงจำ 2475 ยุคสฤษดิ์และถนอม บทสรุปอดีต-ปัจจุบัน ไทยคือ "รัฐทหาร"ธำรงศักดิ์กล่าวถึงความพยายามที่จะลบล้างความรู้ความทรงจำเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ในยุครัฐทหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร (ปี 2500-2516) อันเป็นช่วงเฟื่องฟูของการปลูกฝั่งความนิยมในลัทธิทหาร และการฟื้นฟูราชาชาตินิยมและเรื่องราวสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามในหมู่อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ในแบบวิชาการ ที่อาจารย์เหล่านี้ได้กลับมาจากการศึกษาในโลกตะวันตก กับคำถามพื้นฐานมากๆ คือ ทำไมประชาธิปไตยของไทยจึงมีทหารข้าราชการประจำเป็นนายกรัฐมนตรี ทำไมสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงเป็นสภาตรายาง หรือ rubber stamp เต็มไปด้วยสมาชิกที่เป็นทหารสามเหล่าทัพและตำรวจข้าราชการประจำ ทำไมพรรคการเมืองไทยจึงอ่อนแอ ทำไมนักการเมือง หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่มีอำนาจบทบาททางการเมือง หนึ่งในบทสรุปที่สำคัญของการศึกษาวิจัยช่วงดังกล่าวของโลกตะวันตกคือ รัฐไทยเป็นรัฐราชการ (Bureaucratic Polity) แต่ในการศึกษาอีกหนึ่งทศวรรษกว่าถัดมาหรือเรื่อยมาถึงปัจจุบัน เราจะเห็นว่า สาระที่แท้จริงไม่ใช่ว่ารัฐไทยคือรัฐราชการ แต่รัฐไทยคือ "รัฐทหาร" (Military Polity) ที่มีเครือข่ายและฝั่งรากไว้อย่างกว้างขวาง "เค้าโครงเศรษฐกิจ" รัฐสวัสดิการของปรีดี และการกลับมาของความทรงจำ 2475 ในรูปแบบงานวิชาการธำรงศักดิ์กล่าวถึงปี 2526 เมื่อปรีดี พนมยงค์เสียชีวิต และหนังสือ "เค้าโครงการเศรษฐกิจ" ของปรีดีที่เขียนตั้งแต่ 2475 ถูกตีพิมพ์ ตัวอย่างหนึ่งคือ "ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" มีสาระสำคัญคือ ให้ประชาชนสัญชาติไทยทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศได้รับเงินเดือนโดยรัฐบาลจ่ายเป็นเงินสดหรือเป็นเช็คของธนาคารแห่งชาติ ทั้งนี้ให้จัดแบ่งเป็น 7 ช่วงชั้นอายุ ตั้งแต่อายุก่อน 1 ปี ถัดนั้นเป็นช่วงชั้นละ 5 ปี จนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มเกษียณที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป แนวความคิดนี้ทำให้เรานึกเปรียบได้กับการจ่ายเงินแก่ผู้สูงวัยเลย 60 ปีในปัจจุบัน นับจากนั้นมาก็มีการศึกษาและงานวิจัยทางวิชาการด้านข้อเท็จจริงออกมาอีกจำนวนมากทั้งเป็นการวิพากษ์และการชื่นชมในการปฏิวัติ 2475 "หากท่านคิดว่าระบอบเก่าและรัฐทหารบรรลุความสำเร็จจากการรัฐประหารได้ถึง 11 ครั้ง ก็อาจใช่ แต่ในด้านกลับกัน การที่ระบอบเก่าและรัฐทหารต้องกระทำรัฐประหารอย่างซ้ำๆ ซากๆ ถึง 11 ครั้ง หรือทุกๆ 6 ปีต้องลงมือทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งนั้น แสดงให้เห็นว่า ระบอบเก่าและรัฐทหารไม่อาจหยุดยั้งความปรารถนาของประชาชนไทยที่จะมุ่งไปสู่ประชาธิปไตยสากลคนเท่ากันเลือกตั้งทุกระดับได้แต่อย่างใด ปฏิวัติ 2475 คืออดีตที่เป็นแสงนำทางต่อการสร้างอนาคตประเทศชาติของเรา ด้วยแนวทางประชาธิปไตยสากลคนเท่ากัน เลือกตั้งทุกระดับ ด้วยแนวคิดสำคัญของคณะราษฎรที่ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือกุญแจที่ไขไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับรัฐ และสัมพันธภาพระหว่างสถาบันต่างๆ ของสังคม ประชาชนทุกคนร่วมสร้างประเทศชาติของเรา (The Nation We Build Together)" ธำรงศักดิ์กล่าว
ปาฐกถา ฉบับเต็มของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์2475 : อดีต ปัจจุบัน อนาคต สวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ก่อนเข้าสู่เนื้อหา ขอแสดงความในใจบางประการ กล่าวคือ เมื่อผมได้รับทาบทามจากฝ่ายจัดงานในวันนี้ ขอให้มาพูดปาฐกถาในวาระครบรอบ 86 ปีของการปฏิวัติหรืออภิวัฒน์นั้น ขอแจ้งด้วยใจจริง ผมเคยคิดฝันตลอดมาว่า ในวาระพิเศษของ 24 มิถุนายน ในปีใดปีหนึ่ง ผมน่าจะได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐกฯ ที่รัฐสภาอันทรงเกียรติ หรือที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์อันโอ่อ่า หรือที่ที่เป็นหลักหมายสำคัญของการปฏิวัติ 2475 ผมไม่เคยคิดเลยว่า เมื่อถึงคราวที่ได้รับเชิญให้มาพูดนำจริงในวันนี้ ก็เป็นเพียงพื้นที่โล่งแจ้ง ที่ห่างไกลจากหลักหมายทางการเมืองของปฏิวัติครั้งนั้นอย่างยิ่ง ทั้งชื่อผู้จัดงานทั้งสององค์กร ผมก็พยายามคิดว่าเกี่ยวพันอย่างไรกับหลักหมายการเมืองนี้บ้าง ถึงวันนี้ก็ยังงงๆ อยู่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อใคร่ครวญอยู่หลายวัน และถูกเร่งรัดคำตอบ ผมคิดว่า ในยามยากเยี่ยงนี้ ผมควรแบ่งปันข้าวปลาอาหารความรู้ให้กับผู้ที่กระหายบ้าง แม้นว่าผมจะมีอยู่ไม่มาก ไม่แตกต่างจากผู้คนเหล่านั้นหรือทุกท่าน ณ ที่นี้ ผมจึงตอบรับด้วยความยินดีที่จะมาพูดในวันนี้
ในวันนี้ เมื่อมองไปยังสิ่งก่อสร้างต่างๆ มีอะไรที่ทำให้เราสามารถนึกถึงวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ได้บ้าง สิ่งแรกที่โดดเด่นสุดก็คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอาคารสองฟากถนนราชดำเนินกลาง โครงการสร้างย่านธุรกิจที่ทันสมัยของกรุงเทพฯนี้ เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2482 ปลายด้านหนึ่งของถนนช่วงนี้จะมีโรงแรมหรูและทันสมัยกลางพระนคร ซึ่งปัจจุบันยังเป็นโรงแรมอยู่เช่นเดิม ส่วนปลายถนนอีกด้านหนึ่งเป็นโรงละครที่หรู ทันสมัยและใหญ่ที่สุดกลางพระนครชื่อ "ศาลาเฉลิมไทย" ที่ต่อมาเป็นโรงภาพยนตร์ และถูกทุบทำลายลงเมื่อสามทศวรรษที่ผ่านมา ณ กึ่งกลางบนถนนราชดำเนินกลาง คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ที่ปิดห้ามเข้ามา 4 ปีแล้ว จากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันนี้ แต่ยังมองเห็นได้) การออกแบบอนุสาวรีย์นี้ได้ระบุตัวตนของการปฏิวัติด้วยเลข 24 ที่ความสูงของปีกทั้งสี่ด้าน เลข 3 คือเดือน 3 มิถุนายน ที่ความสูงของพานซ้อนกันสองชั้น หรือพานแว่นฟ้ารองรับสมุดไทยที่เขียนมาตรารัฐธรรมนูญไว้ (ขณะนั้นเปลี่ยนปีศักราชวันที่ 1 เมษายน ไทยเปลี่ยนปีศักราชเป็น 1 มกราคม ปีแรก ปี 2484) และตัวเลขปี 2475 จากจุดกึ่งกลางถึงเส้นรอบวง เป็นเลข 24 เมตร บวกกับปืนใหญ่โบราณ (แบบที่อยู่ด้านหน้ากระทรวงกลาโหม) ปักด้านปากกระบอกปืนลงดินโดยรอบ 75 กระบอก ภาพปูนปั้นแสดงกิจกรรมของการปฏิวัติในครั้งนั้นที่ฐานปีกทุกด้าน ยังมีป้อมตรงใจกลางอนุสาวรีย์ซึ่งตั้งพานสองชั้นที่วางสมุดรัฐธรรมนูญไว้นั้น สูง 6 เมตร มีประตูป้อม 6 บาน เลข 6 นี้ คณะราษฎรได้ประทับความทรงจำการปฏิวัติในครั้งนั้นไว้ว่า การสร้างระบอบการเมืองใหม่ การสร้างอนาคตใหม่ จะดำเนินตามนโยบายของคณะราษฎร 6 ข้อด้วยกัน ได้แก่ นโยบายด้านเอกราชของประเทศ นโยบายด้านความปลอดภัยของประชาชน นโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างความมั่งคั่ง นโยบายด้านสิทธิของทุกคนที่เสมอภาค คนเท่ากัน นโยบายด้านเสรีภาพของทุกคน และนโยบายด้านการศึกษา ที่มุ่งสร้างคนรุ่นใหม่ และเหนืออื่นใด รัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรได้สร้างขึ้นนั้นระบุทฤษฎีทางการเมืองไว้อย่างชัดเจนว่า ระบอบใหม่คือระบอบประชาธิปไตย "อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" ประชาธิปไตยสากลต้องมีการเลือกตั้งทุกระดับ ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ในวันเริ่มแรกก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนี้ คือวันที่ 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลคณะราษฎรได้สถาปนาวันนี้ให้เป็น วันชาติ และในปีแรกนี้ ให้เป็น "วันชาติและเฉลิมฉลองเอกราชอันสมบูรณ์" วันชาติ 24 มิถุนายน ให้มีวันหยุดราชการ 3 วัน คือวันที่ 24-25-26 มิถุนายน ขณะที่ วันฉลองรัฐธรรมนูญ หรือต่อมาชื่อ วันรัฐธรรมนูญ เป็นวันหยุดแห่งชาติ 3 วันมาตั้งแต่ปี 2475 คือวันที่ 10-11-12 ธันวาคม ดังนั้น เมื่อถึงปี 2482 หรือเมื่อ 80 ปีที่แล้ว ประเทศไทยของเราก็มีวันสำคัญของชาติและประชาชนเป็นวันหยุดแห่งชาติรวม 6 วัน มากกว่าวันหยุดด้านอื่นๆ วันที่ 24 มิถุนายน 2482 นี้เอง ที่ทุกท่านได้มีชื่อประเทศว่า ไทย และ Thailand แทนชื่อประเทศ สยาม หรือ Siam ของระบอบเก่า ทุกท่านได้แสดงความรักชาติ ด้วยการยืนตรงร้อง เพลงชาติไทย ในเวอร์ชั่นกองทัพบกมาจนถึงทุกวันนี้ เพียงแค่ท่านมองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มองอาคารสองฟากฝั่งถนนราชดำเนินกลาง ร้องเพลงชาติไทย ท่านรักเมืองไทย ท่านก็ไม่อาจหลบหลีกเรื่องราวของการปฏิวัติ 2475 ไปได้เลย นอกจากนี้ ณ ปลายถนนราชดำเนิน มีอาคารหินอ่อนที่สง่าเป็นหลักหมายแห่งความทรงจำเช่นกันว่า นั้นคืออาคารสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เริ่มสร้างระบอบประชาธิปไตยปี 2475 หรือรูปธรรมที่หลายท่านอาจคิดไม่ถึง นั้นคือ ที่ดินอันมีค่ามหาศาลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันนี้ ที่ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่ร่ำรวยมั่งคั่งที่สุด บนเนื้อที่ 1,196 ไร่ 32 ตร.วา อันเป็นทรัพย์สินเด็ดขาดของจุฬาฯนั้น ก็เพราะรัฐบาลคณะราษฎรและสภาผู้แทนราษฎรได้ตระหนักว่า ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน ดังนั้นจึงปลดล็อคด้วยการออกกฎหมาย "พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน อันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2482" หากคณะราษฎรไม่ปลดล็อดที่ดินให้กับจุฬาฯในวันนั้น จุฬาฯ ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปจากวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้น คณะราษฎรได้สร้างความทรงจำต่อนโยบาย 6 ข้อของระบอบการเมืองใหม่ไว้ที่ภาพเสา 6 เสาด้านหน้าของหอประชุมใหญ่จุฬาฯ ที่สร้างขึ้นปี 2481-2482 และเช่นกันที่ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สร้างในวาระครบรอบ 20 ปีมหาวิทยาลัยแห่งนี้ปี 2497 ตัวอย่างที่นำเสนอเบื้องต้นนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ยังเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราในวันนี้ ไม่ว่าท่านจะทราบ ไม่ทราบ หรือพยายามจะไม่ทราบ ก็ตาม อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ยังไม่มีในวันนี้คือ "สถาบันคณะราษฎร" ในลักษณะที่จัดตั้งแบบ "สถาบันพระปกเกล้า" อันเป็นสถาบันค้นคว้าวิจัยอบรมเผยแพร่ในสังกัดหน่วยงานของรัฐสภา ที่ได้งบประมาณรายจ่ายประจำปีจากรัฐบาลปีละหลายร้อยล้านบาทมากว่าสองทศวรรษแล้ว น่าใคร่ครวญว่า เรายังไม่มี "สถาบันคณะราษฎร"
เรื่องราวการปฏิวัติ 2475 ถูกลดทอนความสำคัญลงหลังการรัฐประหารปลายปี 2490 โดยการทำให้วันชาติและวันรัฐธรรมนูญที่เคยเป็นวันสำคัญที่สุดมีวันหยุดอย่างละ 3 วัน เหลือวันหยุดราชการ เพียงอย่างละ 1 วัน แต่ในท้ายสุด ชะตากรรมวันชาติ 24 มิถุนายนนั้นเศร้าสลด เมื่อต้องมีวันมรณะในปี 2503 ในสมัยรัฐบาลทหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่วนวันรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะยังอยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบัน เพราะคณะรัฐประหารทุกคณะยังต้องอ้างการสร้างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ จึงยังต้องรักษาวันหยุดแห่งชาตินี้ไว้ แต่ก็เป็นวันหยุดแห่งชาติที่ทุกคนก็คงงงๆ เพราะไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่โรงเรียน ไม่มีการยิงพลุเฉลิมฉลอง ไม่มีนายกรัฐมนตรีมากล่าวปราศรัยถึงประชาชนที่เคารพ ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับประชาชน เราทุกคนคงผ่านประสบการณ์ร่วมกันว่า วันหยุดรัฐธรรมนูญเป็นวันหยุดซักผ้า นอนอยู่บ้านให้นานๆ หรือดูหนังฟังเพลงตามใจปรารถนาของแต่ละคน และเราไม่เคยคิดถึง "รัฐธรรมนูญ" เอาเสียเลย วันชาติ 24 มิถุนายน มีกำเนิดปี 2482 ได้สิ้นชีวิต หรือมรณะในปี 2503 เป็นหลักหมายอย่างดีในด้านการเมืองของประวัติศาสตร์ คือนับแต่ปี 2503 เป็นต้นมา คณะราษฎรและปฏิวัติ 2475 รวมทั้งสิ่งที่สร้างสรรค์ระบอบใหม่ขึ้นมานั้น จะค่อยๆ เลือนไปจากความรับรู้ ความทรงจำ หรือหากจะเปรียบเปรยให้เห็นภาพที่สุด ขอยกตัวอย่างคนที่เกิดในปี 2497 ถึงวันนี้คนรุ่นนี้จะมีอายุ 64 ปี คนที่เกิดปีนี้และปีหลังจากนี้เป็นต้นมา รวมทั้งที่เกิดก่อนหน้านี้สักสิบปี ก็จะแทบไม่มีความรับรู้ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรและปฏิวัติ 2475 เพราะเรื่องราวเหล่านั้นได้ถูกกำจัดออกไปจากหนังสือตำราเรียน ชื่อของผู้นำคณะราษฎร และแม้แต่ชื่อคณะราษฎร ก็เป็นชื่อที่ไม่พึงเอ่ยถึง สิ่งที่คนเกิดรุ่นนี้จะได้รับภาพประทับใหม่คือความนิยมสูงสุดในชุดทหาร บทบาททหารที่เป็นผู้นำที่ท่านนายพลจะฉายแววเก่งกล้าสามารถ เป็นยุคลัทธิทหารและการฟื้นราชาชาตินิยม ประสบการณ์ของนักประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเราคนหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ในช่วงปี 2503-2506 ได้เล่าว่า สมัยที่เรียนอยู่นั้น ยังไม่รู้เลยว่าใครคือผู้สร้างธรรมศาสตร์ ชวนกันคิดว่าน่าจะเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งเป็นผู้สร้างเหมือนอย่างจุฬาฯ ยังคิดว่าน่าจะเป็นพระองค์เจ้าระพี เพราะมีวันระพีของชาวนิติศาสตร์เป็นหลักหมายประจำปี ทั้งไม่รู้จักชื่อปรีดี พนมยงค์เอาเสียเลย เรื่องเล่าความจำนี้ของอาจารย์ชาญวิทย์ ได้ชี้ให้เห็นอย่างสั้นและชัดมากว่า การลบล้างความรับรู้ความทรงจำเรื่องเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ค่อนข้างบรรลุผลอย่างมาก เพียงในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษหลังการสิ้นอำนาจของคณะราษฎรไปแล้วเท่านั้น ยุครัฐทหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่มีระยะเวลาถึงทศวรรษครึ่ง (ปี 2500-2516) นับว่าเป็นช่วงเฟื่องฟูของการปลูกฝั่งความนิยมในลัทธิทหาร และการฟื้นฟูราชาชาตินิยมและเรื่องราวสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระนั้นก็ตาม ความคิดแหวกแนวก็บังเกิดขึ้นในหมู่อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ในแบบวิชาการ ที่อาจารย์เหล่านี้ได้กลับมาจากการศึกษาในโลกตะวันตก กับคำถามพื้นฐานมากๆ คือ ทำไมประชาธิปไตยของไทยจึงมีทหารข้าราชการประจำเป็นนายกรัฐมนตรี ทำไมสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงเป็นสภาตรายาง หรือ rubber stamp เต็มไปด้วยสมาชิกที่เป็นทหารสามเหล่าทัพและตำรวจข้าราชการประจำ ทำไมพรรคการเมืองไทยจึงอ่อนแอ ทำไมนักการเมือง หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่มีอำนาจบทบาททางการเมือง อันที่จริงแล้ว คำถามต่อการเมืองไทยมากมายในครั้งนั้น เป็นคำถามที่นักวิชาการต่างประเทศที่ศึกษาเกี่ยวกับไทยในช่วงทศวรรษ 2500 ได้ร่วมด้วยช่วยกันที่จะเข้าใจประเทศนี้ เข้าใจบทบาทของทุกสถาบันทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ เข้าใจความคิดความเชื่อที่ฝั่งอยู่ในเรือนร่างของคนไทย ไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมทศวรรษ 2500 ในยุครัฐทหารเผด็จการอย่างที่สุดนั้น จึงแทบไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยใดๆ ออกมาจากมหาวิทยาลัย อันเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่มีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศ ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด คือ ยุคสมัยนี้มีวิชาการเมืองการปกครองสหรัฐและอีกหลายประเทศ แต่ไม่มีวิชาการเมืองการปกครองไทยในคณะรัฐศาสตร์ และไม่มีแม้แต่วิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทย หนึ่งในบทสรุปที่สำคัญของการศึกษาวิจัยในช่วงดังกล่าวของโลกตะวันตกคือ รัฐไทยเป็นรัฐราชการ (Bureaucratic Polity) ซึ่งเป็นข้อเสนองานศึกษาของ Fred W. Riggs ที่พิมพ์เผยแพร่ในโลกภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อปี 2509 นับแต่นั้นมา การสนทนาในวงวิชาการก็มีคำว่า รัฐราชการ นี้เป็นแนวคิดกระแสหลักมาจนถึงวันนี้ งานศึกษาของริกสนั้น ได้ศึกษาเกี่ยวกับรัฐมนตรีและเครือข่ายว่าเป็นคนกลุ่มไหนและสัมพันธ์กันอย่างไรจากปี 2475 ที่เริ่มมีรัฐบาลในระบอบใหม่มาถึงปีต้นๆ ของยุคจอมพลสฤษดิ์เท่านั้น แต่หากทุกท่านมีโอกาสศึกษาอีกหนึ่งทศวรรษกว่าถัดมาหรือเรื่อยมาถึงปัจจุบัน เราจะเห็นว่า สาระที่แท้จริงไม่ใช่ว่ารัฐไทยคือรัฐราชการ แต่รัฐไทยคือ "รัฐทหาร" (Military Polity) ที่มีเครือข่ายและฝั่งรากไว้อย่างกว้างขวาง ส่วนจะยังแข็งแกร่ง หรือเปราะบางชราภาพ นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ถัดจากนั้น นักวิชาการไทยที่ทยอยกลับจากการศึกษาจากโลกตะวันตก ก็มีผลงานวิชาการออกมาเพื่อทำความเข้าใจและตอบคำถามสำคัญของการเมืองไทย งานชิ้นที่สำคัญที่พิมพ์ในปี 2514 ซึ่งเป็นช่วงที่การเมืองรัฐทหารต้องเปิดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากปิดตายมาสิบปีแล้ว แต่ปลายปีดังกล่าวก็เกิดรัฐประหารตนเองอีกของจอมพลถนอม กิตติขจร ช่วงการเมืองแบบเปิดให้มีเสรีภาพช่วงสั้นๆ สองปีกว่าระหว่างปี 2512-2514 นี้ ทำให้อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์รุ่นใหม่ได้เริ่มเขียนงานวิชาการด้านการเมืองการปกครองอย่างจริงจัง จึงได้หนังสือรวมบทความเล่มสำคัญที่มี ชัยอนันต์ สมุทวณิช แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้นำทีม หนังสือชื่อ "สัตว์การเมือง" ซึ่งเป็นการนำแนวคิดสำคัญของนักปรัชญาการเมืองตะวันตกยุคกรีกโบราณนาม อริสโตเติล ที่กล่าวว่า "มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง" มาปรับใช้ หรือการจัดพิมพ์ "บันทึกพระยาทรงสุรเดช" ซึ่งเป็นหนึ่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่คณะราษฎร โดยการปัดฝุ่นของสองเพื่อนอาจารย์รุ่นใหม่นาม นรนิติ เศรษฐบุตร และชาญวิทย์ เกษตรศิริ จากรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หรืองานศึกษาของ ธวัช มกราพงษ์ ในภาษาอังกฤษที่แปลชื่อเรื่องได้ว่า "ประวัติศาสตร์การปฏิวัติของไทยฯ" งานของเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ เรื่อง "การปฏิวัติ 2475" ตัวอย่างเบื้องต้นเหล่านี้ ซึ่งจากเดิมเรื่องราวอดีตการเมืองจะเป็นงานของนักเขียนสารคดีในหน้าหนังสือพิมพ์ในวารสาร ได้เปลี่ยนมาเป็นงานวิชาการ ทำให้คนรุ่นใหม่ในยุคห้าสิบปีที่แล้ว เริ่มมีความรู้และฟื้นความจำเกี่ยวกับปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่าทิศปลายทางของอารมณ์ความรู้สึกของผู้รับสารจำนวนมากจะมุ่งไปสู่ทัศนคติเชิงลบต่อปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ด้วยถูกอธิบายว่ากำเนิดบทบาททหารที่แทรกแซงการเมืองไทยนั้นเริ่มต้นมาจากปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรนี้เอง คนในยุคห้าสิบปีที่แล้วนั้นต้องการสร้างประเทศใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีทหารอยู่ในการเมือง ผลก็อย่างที่เราทราบคือการเกิดขึ้นของ "ปฏิวัติตุลาคม" หรือ 14 ตุลา 2516 แต่ที่น่างงงวยยิ่งกว่า เมื่อผ่านมาอีก 5 ทศวรรษ คนในรุ่นนั้นหลายๆ คนได้แปรผันมาเป็นกำลังสนับสนุนการรัฐประหารในปัจจุบันนี้ นี้คือความหมายที่แท้จริงของคำว่า "สัตว์การเมือง" ปฏิวัติตุลาคม 2516 แม้ว่าจะได้เทิดพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้ฟื้นกลับมามีพื้นที่ในหน้าประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยอีกครั้ง กระทั่งได้มีสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งรัชกาลที่ 7 น่าจะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีพระนามเป็นสถาบันวิจัย ที่มีเงินรายจ่ายประจำปีจากรัฐบาลหลายร้อยล้านบาทดังที่กล่าวแล้วนั้น แต่อีกด้านหนึ่ง เรื่องราวปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ก็เป็นเรื่องที่ชวนให้สืบเสาะค้นหา ว่าใครเป็นใครกันในปรากฏการณ์สำคัญของการเมืองไทยในปีดังกล่าว หนังสือ 2 เล่มที่เปิดเผยเรื่องปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ที่ตีพิมพ์ในช่วงสามปีของการฟื้นฟูประชาธิปไตยอีกครั้ง ระหว่างปี 2516-2519 ที่ควรกล่าวถึง เล่มแรกคือ "เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2475-2500" หนังสือรวมข้อเขียนบันทึกของคนหลายคน มีความหนาถึง 580 หน้า หนังสือนี้ทำให้เราเห็นมิติด้านความเป็นมนุษย์ของคนต่างๆ ในทุกฝ่าย ทั้งผู้ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และกลุ่มการเมืองใหม่ที่มากับการปฏิวัติ 2475 เล่มที่สองคืองานรวบรวมบันทึกของอดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ เรื่อง "รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517)" ที่มีความหนาถึง 1,156 หน้า หนังสือเล่มนี้ได้รวมข้อมูลตั้งแต่วันปฏิวัติ 2475 และเกิดอะไรขึ้นตามลำดับเวลามากที่สุดที่เคยมีมา ทำให้เราเห็นข้อมูลว่าคณะราษฎรได้ทำอะไรไปบ้างหลังการปฏิวัติ ซึ่งก่อนหน้านี้แทบไม่ทราบกัน หนังสือสองเล่มนี้ได้กระตุ้นให้มีการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ในบริบทยุคฟื้นฟูประชาธิปไตยอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศึกษาบทบาทของทุกสถาบันทางการเมือง ในช่วงนี้ได้มีเรื่องราวและผลงานของสองบุคคลในอดีตที่ฟื้นกลับมา คนหนึ่งคือ "ปัญญาชนปฏิวัติ" จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งถูกยิงตายที่ชายป่าภูพานสกลนครเมื่อปี 2509 อีกหนึ่งคือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ที่ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่จีนและฝรั่งเศสตลอดชีวิต ซึ่งถูกสร้างให้เป็นปีศาจการเมืองและถูกใช้ประโยชน์โดยรัฐทหาร ทั้งด้านเกี่ยวกับการสวรรคตของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 และการรุกรานของคอมมิวนิสต์ตลอดมานับแต่หลังรัฐประหาร 2490 การกลับมาของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ที่ทำให้การศึกษาและวิพากษ์สังคมไทยว่ามีโฉมหน้าเป็นศักดินาอย่างไรในปัจจุบันนั้นกลับมามีความคึกคักในหมู่ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า ขณะที่การกลับมาของนายปรีดี พนมยงค์ ทำให้เกิดความสนเท่ห์สงสัยต่อเรื่องราวของคณะราษฎร ปฏิวัติ 2475 ตลอดถึงยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าที่เขียนที่แต่งกันมาหลายสิบปีนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือเป็นเรื่องเล่าที่เสกสรรปั้นแต่งกันขึ้นมา ในช่วงเวลานี้ ผู้นำทีมทางวิชาการที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง เช่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับอาจารย์อีกหลายคน ก็ได้ผลักดันให้มีการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ ทั้งรวบรวมเอกสารตีพิมพ์เผยแพร่ เช่นหนังสือ "เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477" (พิมพ์ปี 2518) ซึ่งเป็นการย้อนเปิดเอกสารไปถึงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะมีการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ว่ามีเรื่องเกี่ยวกับแนวความคิดรัฐธรรมนูญ สภา รัฐบาล ในสังคมไทยหลายสิบปีก่อนปฏิวัติ 2475 แล้ว จนมาถึงเอกสารสละราชสมบัติของพระปกเกล้าฯรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ต้องสละราชสมบัติและเป็นยุคสิ้นสุดระบอบทางการเมืองเดิม อีกเล่มคือ "การเมือง-การปกครองไทยสมัยใหม่ : รวมงานวิจัยทางประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์" (พิมพ์ปี 2520) หนังสือเล่มนี้เป็นการทำให้วิทยานิพนธ์จำนวนมากมาอยู่ในรูปบทความวิชาการ อันถือได้ว่าองค์ความรู้ต่ออดีตที่ดูเหมือนถูกปิดไว้อย่างยาวนาน ได้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา แม้การปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ดูจะอยู่ในรูปของผู้ร้าย ผู้แย่งชิงอำนาจ หรือด้านลบก็ตาม แต่ก็ทำให้มีการกล่าวถึงสองชื่อนี้กันอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น ผลปลายทางของเส้นทางงานศึกษาของกลุ่มนี้จะออกมาในรูป แผนพัฒนาประชาธิปไตยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ แนวพระราชดำริทางการเมืองของรัชกาลที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 เป็นต้น ผลของกระบวนการนี้ ทำให้พระบรมราชานุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ ได้ประดิษฐ์ที่หน้าอาคารรัฐสภาในปี 2523 ในยุครัฐบาลทหารตามแผนพัฒนาประชาธิปไตยที่วางไว้ในการรัฐประหารเมื่อปี 2519 อย่างเงียบๆ มุมหนึ่งในศูนย์กลางทหารปืนใหญ่ ลพบุรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำทหารของคณะราษฎร ก็ได้มีอนุสาวรีย์ในค่ายทหารเปิดตัวปี 2523 ด้วยเช่นกัน และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อนุสาวรีย์จอมพล ป. ก็ได้สร้างเพิ่มอย่างเปิดเผยที่กลางเมืองลพบุรี ประวัติศาสตร์นั้นมีได้ในหลายมุม ด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ตามหลักวิชาที่ขยายตัวมากขึ้น บวกกับแนวคิดต่อการอธิบายอดีตแบบใหม่ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและความเข้าใจใหม่ต่อการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ในวาระครบ 50 ปีปฏิวัติ 2475 ในปี 2525 กล่าวได้ว่าเป็นวาระโอกาสสำคัญต่อการรื้อฟื้นอดีตการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร เปิดฉากด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานที่ยิ่งใหญ่เพื่อฉลอง "กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย" รวม 4 วันด้วยกัน ระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน เริ่มงานที่วันปฏิวัติ 2475 จบงานที่วันรัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงานข้อแรกคือเพื่อ "ระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่ได้อุทิศตนเพื่อเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย" ทั้งยังประสานให้นายปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้นำคณะราษฎรได้เขียนและอ่านสุนทรพจน์ผ่านการถ่ายทอดเทปเสียงในงานในชื่อเรื่อง "คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน" งานนี้จัดโดย คณะกรรมการอำนวยการจัดงานกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย ร่วมกับ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทำงานโครงการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ในวาระเดียวกันนี้ ได้มีการสัมมนาวิชาการเรื่อง "50 ปีบนเส้นทางประชาธิปไตยไทย" ซึ่งวารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองก็ได้ถอดเทปจัดพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อเดียวกันในปีต่อมา ดังนี้แล้ว อดีตการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร ก็ได้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้งในวงการศึกษาวงวิชาการ และในยุคที่ระบอบประชาธิปไตยได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งเช่นกัน ในช่วงเดียวกันนั้น ที่ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วารสารธรรมศาสตร์ ที่มี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นบรรณาธิการ ได้พิมพ์บทความวิชาการขนาดยาวของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นิสิตปริญญาโทประวัติศาสตร์ จุฬาฯ เรื่อง "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของสยาม : พรมแดนแห่งความรู้" เป็นบทความในแนวประวัติศาสตร์นิพนธ์และได้มีการจัดเวทีสัมมนา มีผู้วิจารณ์บทความ งานชิ้นนี้ได้ช่วยคลี่ภาพความเข้าใจอดีตปฏิวัติ 2475 ให้แจ่มชัดด้วยข้อสรุปที่สั้นกระชับมากว่า ในช่วงปี 2475-2490 ประวัติศาสตร์ปฏิวัติ 2475 มีเนื้อหาแบบหนึ่ง แต่ที่เรา (ปี 2525 เมื่อกว่า 35 ปีมาแล้ว) รู้จักประวัติศาสตร์ปฏิวัติ 2475 นั้นมาจากการรับรู้และงานเขียนหลังรัฐประหารปี 2490 ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการลดทอนและทำลายประวัติศาสตร์คณะราษฎรที่มีต่อสังคมไทย นอกจากนั้น ในวารสารฉบับเดียวกัน ยังมีบทความสั้นเพียง 7 หน้า ที่โต้แย้งแนวทางอธิบายแบบเดิมว่าด้วยการทำปฏิวัติ 2475 นั้น เป็นการ "ชิงสุกก่อนห่าม" เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เขียน "ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหว 24 มิถุนายน 2475" ผู้เขียนนำเสนอว่า แม้รัชกาลที่ 7 จะพยายามปรับเปลี่ยนสถาบันเพื่อรักษาสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ต่อไป แต่ก็ถูกคัดค้านจากสายอนุรักษ์นิยมในหมู่พระญาติอย่างสูง ดังนั้น "การต่อสู้ 2475 ก็เป็นเรื่องจำเป็นและเลี่ยงไม่พ้น" ทั้งสองบทความข้างต้น รวมทั้งการจัดงานวิชาการรำลึกถึงวาระ 50 ปีของการปฏิวัติ 2475 ได้เป็นหลักหมายของการฟื้นฟูความจริงอีกหลายมุมเกี่ยวกับปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรแต่นั้นมา ปี 2526 เมื่อนายปรีดี พนมยงค์สิ้นชีวิตที่ฝรั่งเศส หลังจากต้องลี้ภัยการเมืองหลายสิบปี ทำให้เรื่องราวและผลงานของนายปรีดีได้รับการเผยแพร่อย่างจริงจัง เช่นการรวมงานนายปรีดีมาพิมพ์ใหม่ในชื่อ "ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย" หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ "เค้าโครงการเศรษฐกิจ" ที่เขียนขึ้นปี 2475 ของนายปรีดีทั้งฉบับ โดยวางให้เป็นเนื้อหาทางคอลัมน์ด้านซ้าย และพิมพ์พระราชหัตถเลขาวิพากษ์ของพระปกเกล้าฯ ไว้คอลัมน์ด้านขวา กล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้ทำให้คนทั่วไปได้อ่านเนื้อหาจริงๆ หลังจากฟังเขาเล่าว่า มาอย่างยาวนาน และแง่มุมประวัติศาสตร์เรื่องเกี่ยวกับปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรก็แตกต่างจากเรื่องเล่ากระแสหลักที่มีมาก่อนหน้านี้ ตัวอย่างหนึ่งที่ขอยกขึ้นมาเล่า นายปรีดีได้เสนอ "ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" เป็นกฎหมายแนบท้าย "เค้าโครงการเศรษฐกิจ" เพื่อให้การสร้างชาติทางเศรษฐกิจบรรลุเป้าหมาย โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ประชาชนสัญชาติไทยทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศได้รับเงินเดือนโดยรัฐบาลจ่ายเป็นเงินสดหรือเป็นเช็คของธนาคารแห่งชาติ ทั้งนี้ให้จัดแบ่งเป็น 7 ช่วงชั้นอายุ ตั้งแต่อายุก่อน 1 ปี ถัดนั้นเป็นช่วงชั้นละ 5 ปี จนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มเกษียณที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป แนวความคิดนี้ทำให้เรานึกเปรียบได้กับการจ่ายเงินแก่ผู้สูงวัยเลย 60 ปีในปัจจุบัน (ที่เกษียณอายุจาก 55 ปีมา 60 ปี ถูกแก้ไขโดยรัฐทหารเมื่อปี 2494 อย่างน้อยก็เพื่อให้สองนายพลทหารบกยังคงมีอำนาจทางการเมืองการทหารในยุคดังกล่าวเป็นสำคัญ) ปี 2527 เป็นปีหลักหมายครบรอบ 50 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นปีที่นายปรีดี พนมยงค์ได้มีอนุสาวรีย์อย่างเปิดเผยในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และต่อมาในวาระครบรอบ 100 ปี นายปรีดีก็ยังได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยองค์การยูเนสโก ทั้งนายปรีดีและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเป็นเรื่องเล่าใหม่และเปิดเผย ไม่ต้องซุบซิบแบบก่อนๆ เกี่ยวกับประวัติการก่อกำเนิดประชาธิปไตยไทย และการดำเนินงานด้านต่างๆ ของคณะราษฎร งานศึกษาประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นำทีมโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ได้ศึกษาทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียดจากยุคก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน 50 ปีนั้น ได้ฉายภาพการปฏิวัติ 2475 ใหม่ๆ หลายอย่าง เช่น ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ให้มีวิชารัฐธรรมนูญ วิชาการเมือง วิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่อาจทำให้ประชาชนไม่ภักดีต่อระบอบการปกครอง วิชาเหล่านี้จะเริ่มมีเรียนหลังการปฏิวัติ 2475 แล้วนั้นเอง เพียงตัวอย่างเดียวนี้ เราทราบทันทีว่า ระบอบการปกครองเก่าก็ต่อสู้ปกป้องการเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มที่ เช่นกัน ในปีเดียวกันนั้นเอง วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกภาษาอังกฤษที่ได้ตีพิมพ์ในชื่อเรื่อง "The End of the Absolute Monarchy in Siam" ที่อีกกว่าสิบปีต่อมาจึงได้แปลพิมพ์ในภาษาไทยในชื่อ "อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ของ เบนจามิน เอ. บัทสัน (แปลพิมพ์ครั้งแรกปี 2543) ก็เป็นการศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงปัจจัยภายในของกลุ่มเจ้านายผู้ปกครองว่าได้มีการปรับตัวหรือไม่อย่างไร มีความขัดแย้งทั้งความคิดและอำนาจกันอย่างไร อันนำมาสู่การสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีระยะเวลาสั้นนักเพียง 40 ปีเท่านั้น นับแต่ปี 2435 เมื่อมีการสร้างระบอบนี้ตามแนวทางการปกครองของราชวงศ์ในโลกตะวันตกที่รวบอำนาจหรือรวมอำนาจเข้าสู่ประมุขแห่งรัฐ (Head of State) ที่พระราชวังหลวง (Royal Palace) หรือที่ศูนย์กลางอำนาจ นับจากนั้นเป็นต้นมา การฟื้นอดีตตามหลักวิชาการ ก็แผ่ขยายไปสู่การศึกษาในระดับสูงและการวิจัยจำนวนมากในทศวรรษที่ 2530 และปรับผลงานให้เป็นหนังสือวางจำหน่ายในทศวรรษต่อๆ มา เช่น เสน่ห์ จามริก ปี 2529 เรื่อง "การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ" สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ ปี 2532 เรื่อง "ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทย" ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ปี 2533 เรื่อง "ประวัติการเมืองไทย 2475-2500" และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ "ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475" สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ปี 2534 เรื่อง "แผนชิงชาติไทย" นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ปี 2535 เรื่อง "การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475" และชาญวิทย์ เกษตรศิริ "2475 การปฏิวัติสยาม" พร้อมเอกสารการปฏิวัติครั้งนั้น อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ปี 2538 เรื่อง "การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4-พ.ศ.2475" ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ปี 2543 เรื่อง "2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ" ชาตรี ประกิตนนทการ ปี 2548 เรื่อง "คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมือง หลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม 'อำนาจ'" บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ปี 2549 เรื่อง "รัฐธรรมนูญสถาปนา" ณัฐพล ใจจริง ปี 2556 เรื่อง "ขอใฝ่ฝันในฝันอันเหลือเชื่อ : การเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ.2475-2500)" และปี 2559 เรื่อง "กบฏบวรเดช : เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475" ศราวุฒิ วิสาพรม ปี 2559 เรื่อง "ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ" สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ ปี 2561 "ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมในสยาม" และขอปิดท้ายด้วยงานวิเคราะห์ภาพรวมของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ปี 2561 เรื่อง "ข้ออ้างการปฏิวัติรัฐประหารในการเมืองไทยสมัยใหม่" จากที่กล่าวรายชื่อหนังสือวิชาการขึ้นมาเพียงเล็กน้อย สิบกว่าเล่ม ในระยะเวลาสามทศวรรษของความก้าวหน้าการศึกษาวิจัย ซึ่งยังมีวิทยานิพนธ์อีกจำนวนมาก ความรู้เกี่ยวกับปฏิวัติ 2475 นั้นก้าวหน้าไปไกลอย่างยิ่ง มีทั้งการเจาะลึกไปยังการต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องของฝ่ายคณะเจ้า เรื่องปีแห่งเหตุการณ์ เรื่องการต่อสู้ปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลงของฝ่ายระบอบเก่า เรื่องการต่อสู้ในพื้นที่ขบวนการเสรีไทย เรื่องทศวรรษ 2490 กับทำลายการปฏิวัติ 2475 เรื่องผลการปฏิวัติด้านผัวเมีย ด้านประติมากรรมสถาปัตยกรรม ด้านการเข้ามีส่วนร่วมในระบอบใหม่ของประชาชนสามัญชน เป็นต้น ดังนั้น ในวันนี้ของเรา ปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร จึงเป็นเรื่องที่ได้เพิ่มความรู้ให้กับสังคมไทยเราอย่างกว้างขวาง ทั้งด้วยสายตาที่ชื่นชมและวิพากษ์ แต่เป็นการฟื้นอดีตตามหลักวิชา ไม่ใช่อคติแบบกำจัดทำลายในแบบยุคสามทศวรรษรัฐทหารก่อนหน้านั้น
การปฏิวัติ 2475 สร้างประชาธิปไตยสากลคนเท่ากัน คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ อันเป็นส่วนหนึ่งของบริบทโลกในกระแสประชาธิปไตย และกระแสพลังลัทธิชาตินิยม ที่บังเกิดขึ้นทั้งในประเทศที่เกิดใหม่ หรือเพิ่งได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 2457-2461) และในประเทศที่ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างยาวนาน ซึ่งขณะนั้น ไทย (ขณะนั้นชื่อ สยาม) "ยังเป็นประเทศเอกราชประเทศเดียวในโลกที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญ" รัฐธรรมนูญในช่วงเวลานั้น มีความหมายที่ซ้อนทับกับคำว่า "ประชาธิปไตย" (Democracy) ทั้งในแบบสาธารณรัฐ และแบบสภาเลือกตั้งที่มีประมุขรัฐแบบต่างๆ นั่นคือ "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" (ดังปรากฏในมาตราที่ 1 ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย 27 มิถุนายน 2475) ที่ก่อเกิดกระบวนการทางการเมืองเพื่อแสดงถึงอำนาจของประชาชน เช่น การเลือกตั้งและสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ "ศิวิไลซ์" ของประเทศเท่านั้น ทว่ายังเป็นหลักหมายของการประกันสิทธิเสมอภาคและเสรีภาพของประชาชนอีกด้วย รัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะราษฎรมีเพียง 39 มาตราสั้นๆไม่กี่หน้ากระดาษ โดยทั่วไป ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลกได้ค่อยๆ ถูกเปลี่ยนเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คือแบบประธานาธิบดี ในแบบสหรัฐอเมริกาและจีน หรือแบบจักรพรรดิ/สุลต่าน/พระราชาธิบดี/กษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ ในแบบอังกฤษและญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศอีกส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนการปกครองไปเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น สหภาพโซเวียต ในบริบทโลกดังกล่าวนี้ ไทยก่อนการปฏิวัติ 2475 จึงเป็นประเทศที่อยู่บนทางสองแพร่งของระบอบการเมือง คือ การรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เพิ่งถูกสร้างในสยามอันเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองส่งมาจากโลกตะวันตก กับการเปลี่ยนเป็นระบอบรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งนั่นเอง ขณะที่กระแสลัทธิคอมมิวนิสต์มีอิทธิพลน้อยมากยิ่งนักในประเทศไทยขณะนั้น คณะเจ้า นับแต่ยุคสมัยพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา กล่าวได้อย่างหนักแน่นว่า ชนชั้นผู้ปกครองไทยรับรู้ดี ถึงระบอบประชาธิปไตยและกระแสประชาธิปไตยของโลกในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 และพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ซึ่งต่างก็เป็นนักเรียนนอกที่อังกฤษเป็นเวลาราวหนึ่งทศวรรษนั้น ย่อมได้เรียนรู้อย่างดีถึงความผันผวนปรวนแปรของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในการรักษาสถานภาพของตนเองภายใต้รัฐธรรมนูญ ด้วยบริบทโลกนี้ ในแต่ละรัชสมัยจึงมีการกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ก็จะเป็นเพียงแนวคิดในลักษณะ "ร่างเค้าโครงเบื้องต้น" ซึ่งในยุคสมัยรัชกาลที่ 7 สิ่งเหล่านี้ต่างเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่ได้ประสงค์จะสื่อสารกับประชาชนคนไทยภายในประเทศขณะนั้นอย่างแน่นอน แต่เกมประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ เป็นเกมที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องเล่น ต้องปรับตัว แต่จะเล่นและปรับตัวอย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดที่คณะเจ้าต้องวิพากษ์ถกเถียงขัดแย้งกันเองอย่างมากมาย เพราะเมื่อกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ ก็ต้องสัมพันธ์กับประเด็นการเลือกตั้งและการมีสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ก็หมายความว่ายอมให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศชาติร่วมด้วย ซึ่งในข้อเท็จจริงทางทฤษฎีอำนาจทางการเมือง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นมีทฤษฎีอำนาจทางการเมืองว่า อำนาจสูงสุดของแผ่นดินเป็นของประมุขรัฐที่สืบทอดอำนาจโดยสายโลหิต ดังนั้น เรื่องการเลือกตั้งโดยประชาชนและผู้แทนราษฎร จึงเป็นเรื่องยากอย่างที่สุดที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์จะสามารถคิดถึงและพัฒนาการเมืองเรื่องประชาธิปไตยต่อไปได้ ทว่าในอีกด้านหนึ่งของพัฒนาการทางการเมืองการปกครองไทย คณะเจ้าสามารถนำรูปแบบและการดำเนินงานของสถาบันทางการเมืองตะวันตก เช่น Council of State หรือ สภาแห่งรัฐ มาช่วยทำหน้าที่ร่างกฎหมาย สร้างความชอบธรรมในการบังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติในต้นสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อกระชับและรวมอำนาจเข้าศูนย์กลางที่องค์พระมหากษัตริย์ กำจัดอำนาจของขุนนางในกรุงและท้องถิ่นออกไป แล้วสร้างระเบียบราชการจากศูนย์กลางแผ่ออกไปทั่วประเทศ ซึ่งถูกเรียกความสำเร็จนี้ว่า การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีจุดเริ่มในปี 2435 ซึ่งเรียกว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ต้องใช้กระบวนการสร้างการกระชับอำนาจนี้ตลอดกว่าสองทศวรรษท้ายของรัชสมัยและในรัชสมัยต่อมา สถาบันที่เรียกว่า Council of State หรือ "ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน" นี้ ก็หมดบทบาทเมื่อรัชกาลที่ 5 ค่อนข้างบรรลุความสำเร็จในการรวมศูนย์อำนาจทางการเมือง และไม่ต่างจากดุสิตธานี บ้านเมืองขนาดย่อม บนเนื้อที่ 2 ไร่ครึ่งในพระราชวังพญาไทของรัชกาลที่ 6 ที่ในช่วงไม่กี่ปีนั้น มุ่งเน้นสื่อสารต่อข้าราชบริพารใกล้ชิดว่า ถ้าหากอยากได้ประชาธิปไตยก็ต้องอบรมบ่มเพาะศึกษาเล่าเรียนก่อน รูปแบบประชาธิปไตยของดุสิตธานี จึงถูกทำให้กลายเป็นเวทีแสดงและแบบฝึกหัดของข้าราชบริพาร แทนการเข้าร่วมทางการเมืองของประชาชนที่สามารถมีอำนาจจัดสรรสิ่งที่มีค่าของสังคม ว่าใคร ได้อะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร ส่วนกระแสประชาธิปไตยในประชาราษฎร คือการเกิดแนวความคิดว่าประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศชาติ เป็นเจ้าของแผ่นดินนี้ร่วมกัน ประเทศชาติเราทุกคนร่วมกันสร้าง การมีรัฐธรรมนูญ มีสภาผู้แทนราษฎร มีการเลือกตั้ง รวมทั้งการเลือกตั้งฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลนั้น เป็นสิ่งสำคัญของระบอบการเมืองใหม่ที่ประเทศชาติต้องมี แทนการปกครองที่ถูกมองว่าไม่ศิวิไลซ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นการปกครองโดยบุคคลเพียงคนเดียวและเครือข่าย การเกิดกรณีของบุคคลชื่อ เทียนวรรณ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เป็นสามัญชนได้ท่องโลกตะวันออกตะวันตกและอ่านออกเขียนภาษาอังกฤษได้ ได้เสนอเรื่องการมีสภาผู้แทน ให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และให้เลือกตั้งฝ่ายบริหาร การเกิดกรณีคณะทหารหนุ่ม อายุส่วนใหญ่ระหว่าง 18-25 ปี เตรียมการปฏิวัติเพื่อสร้างประชาธิปไตยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเมื่อปีที่สองของรัชกาลที่ 6 ซึ่งกลายเป็น "กบฏ ร.ศ.130" หรือ "กบฏยังเติร์ก" (ปลายปี 2454) อันเป็นเหตุการณ์ก่อนหน้าการปฏิวัติ 2475 ราว 20 ปีนั้น ทั้งสองกรณีสำคัญนี้ได้แสดงให้เห็นว่า การปฏิวัติ 2475 โดยคณะราษฎรนั้น ไม่ใช่การปรากฏตัวอย่างฉับพลันทันทีทันใด แต่เป็นการเกิดขึ้นบนพลังกระแสประชาธิปไตยที่มีระดับแรงมากขึ้นหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 และพลังลัทธิชาตินิยมที่เพิ่มพูนมากขึ้นในหมู่ประชาราษฎร ดังนั้น ย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นด้วยว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ซึ่งเป็นระบอบนำเข้ามาจากตะวันตกด้วยเช่นกันอันเพิ่งมีระยะเวลาในสยามไทยเพียง 40 ปีนั้น ก็ไม่อาจที่จะปรับเปลี่ยนเชิงสถาบันเพื่อตอบรับกระแสประชาธิปไตยและความเป็นสมัยใหม่ได้นั่นเอง แม้ว่าจะได้มีความพยายามในบางส่วนแล้วก็ตาม คณะราษฎร ก่อตั้งขึ้นโดยคนหนุ่ม 7 คน อายุระหว่าง 26 ปี ถึง 29 ปี โดยร่วมคิดก่อการเมื่อ 5 ปีกว่าก่อนการปฏิวัติ 2475 คนหนุ่มผู้กล้าหาญ ที่เราพึงเคารพชื่นชมชมยกย่องเหล่านี้ ผมขอคารวะ ณ ที่นี้ โดยขอเชิญทุกท่านลุกขึ้นยืนรำลึกถึงบุคคลทั้ง 7 และคณะราษฎรทั้งหมด ที่ได้เริ่มคิดและกระทำการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมเมื่อ 86 ปีมาแล้ว เพื่อสร้างความเจริญมั่งคั่งศิวิไลซ์ให้กับประเทศชาติและลูกหลานของเรา โดยการอ่านชื่อของท่านทั้ง 7 ดังนี้ 1) นายปรีดี พนมยงค์ 2) นายร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ 3) นายร้อยโทประยูร ภมรมนตรี 4) นายร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี 5) หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) 6) นายตั้ว ลพานุกรม และ 7) นายแนบ พหลโยธิน (ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมรำลึกถึงวีรสามัญชนผู้กล้าหาญทั้ง 7 และคณะราษฎร) ในที่นี้ขอกล่าวอย่างสั้นๆ ว่า การตั้งคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนระบอบการเมืองของประเทศให้เป็นของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั้น ท่านเหล่านั้นได้กำหนดเจตจำนงว่าจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ยังคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ว่าท่านเหล่านั้นจะตระหนักดีถึงความผันผวนหลังการปฏิวัติ อย่างที่เกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศอังกฤษ และของฝรั่งเศส เจตจำนงต่อวิธีการเปลี่ยนแปลง คือการเปลี่ยนระบอบจากบนลงล่าง ที่กลุ่มผู้ปกครองและระบอบปกครองเก่าได้เปราะบางอย่างที่สุด เพียงผลัก ก็ล้ม แต่ก็ตระหนักว่ามีจุดอ่อนอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของคนที่ถูกปลูกฝังในระบอบเก่ามายาวนาน รวมทั้งเหล่าบรรดาคนที่มีผลประโยชน์ด้านต่างๆ ภายใต้ระบอบเก่า การปฏิวัติต่อสู้เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยทั้งของอังกฤษและฝรั่งเศส ได้เป็นแนวทางอย่างดีที่ชี้ให้เห็นว่า หากสถาปนาระบอบประชาธิปไตยได้แล้ว จะมีทั้งกลุ่มคนที่ต่อต้านระบอบใหม่ และกลุ่มคนที่เปลี่ยนย้ายมาอยู่ข้างระบอบใหม่เมื่อเห็นอนาคตที่เป็นประโยชน์ของตน ครอบครัว และประเทศชาติในท้ายสุด ห้าปีกว่าของการเคลื่อนไหวอย่างลับๆ ขยายสมาชิกอย่างคัดสรรออกไปในหมู่ทหารบก ทหารเรือ และข้าราชการพลเรือน ได้สมาชิก 102 คน ครึ่งหนึ่งเป็นทหาร ครึ่งหนึ่งเป็นพลเรือน เกือบทั้งหมดคือข้าราชการ มีหัวหน้าผู้อาวุโสที่สุด คือ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา อายุ 45 ปี ในวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 สมาชิกคณะราษฎร มีเพียง 4 ท่านที่ถือว่าอาวุโส มีอายุระหว่าง 38-45 ปี สมาชิกส่วนใหญ่อายุตั้งแต่ 20 ปี จนถึง 35 ปีเพียงเท่านั้น คณะราษฎรคือกลุ่มไทยใหม่ เป็น The Young Thai ที่มุ่งสร้างชาติไทยขึ้นมาใหม่ เข้าแทนที่กลุ่มสยามเก่า The Old Siam ที่ไม่สอดรับกับกระแสโลกสมัยใหม่อีกต่อไป ห้าปีกว่าของความตั้งใจและความมุ่งมั่น ย่อมแสดงให้เราเห็นถึงอุดมการณ์อันแกร่งกล้า ไม่หวั่นไหว ต่อการเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรคและความยากลำบาก ยอมเสียสละชีพเพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่ง เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กลุ่มคนอายุน้อยและกลุ่มไทยใหม่ ได้ร่วมกันพลิกแผ่นดินเพื่อปลูกความเจริญมั่งคั่งศิวิไลซ์ครั้งสำคัญ เหมือนยุคสิ้นระบอบเก่าราชอาณาจักรอยุธยา ที่กลุ่มคนอายุน้อยรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ยุคสมัยกรุงธนบุรี ภายใต้การนำของพระเจ้าตากสินมหาราช หรือในการปฏิวัติตุลาคม 2516 ในแต่ละช่วงเวลา The Young Thai คือผู้ที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญมั่งคั่งศิวิไลซ์ขึ้นไป หาใช่ The Old Siam หรือ The Old Thai แต่อย่างใดไม่ ชื่อ คณะราษฎร หรือ The People's Party คือชื่อของพรรคการเมืองหนึ่งที่อุทิศตนให้เป็นผู้แทนประชาราษฎรในขณะนั้น ต่อสู้เพื่อล้มระบอบการปกครองของคณะเจ้านาย ข้อพึงสังเกตคือ การใช้คำแปลว่า คณะ จากคำว่า Party หรือที่เราแปลกันว่า พรรคการเมือง ในปัจจุบันนั้น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ภายใต้ระบอบการปกครองเก่านั้น คำทางการเมืองถูกห้ามสร้างห้ามคิดในพื้นที่สาธารณะ ดังนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเปิดเผยเลย เพราะไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เหมือนเช่นในสภาวะหลายปีมานี้ของยุคเรา แต่กระนั้น ในที่สุด การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่ชนชั้นปกครองเก่า The Old Thai ไม่มีวันตระหนักรู้และเข้าใจ หากแต่หลงอยู่ในวังวนความเชื่ออย่างลมๆ แล้งๆ ว่าทุกอย่างควบคุมได้และทุกอย่างดูสงบเรียบร้อย การปฏิวัติ 2475 ถูกสร้างวาทกรรมให้เชื่อว่าเป็นการเปลี่ยนระบอบทางการเมืองที่ "ไร้การนองเลือด" ที่ฝ่ายกลุ่มผู้ปกครองเดิมสละอำนาจและผลประโยชน์ทั้งสิ้นด้วยความยินดีปรีดา แต่ในข้อเท็จจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะการต่อสู้ช่วงชิงเพื่อพิทักษ์อำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ปกครองระบอบเก่า ภายใต้ระบอบใหม่ มีขึ้นตลอดเวลา ทั้งในรูปแบบการต่อสู้ในเกมการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ตามมาด้วยการรัฐประหารครั้งแรกโดยพระราชกฤษฎีกาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา* (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่) นายกรัฐมนตรีที่เป็นนักกฎหมาย เป็นผู้พิพากษาและอธิบดีศาลอุทธรณ์ เมื่อ 1 เมษายน 2476 กลายเป็นรัฐบาลพระยามโนฯ ที่มีอำนาจเผด็จการ 81 วัน พระยามโนฯได้เป็นจอมเผด็จการคนแรกในยุคระบอบใหม่นี้ ทั้งพระยามโนฯยังใช้อำนาจเผด็จการออกกฎหมาย "คอมมิวนิสต์" มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดผู้นำฝ่ายตรงข้าม คือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำสายพลเรือนของคณะราษฎร ยุคมโนเครซี (Monocracy) จบลงด้วยการรัฐประหารกลับของฝ่ายคณะราษฎรกลุ่มทหารหนุ่ม เมื่อ 20 มิถุนายน 2476 เพื่อยุติการฟื้นระบอบเก่าในเสื้อคลุมระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และยืนยันแนวทางของประเทศว่าด้วยรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยสากลคนเท่ากันที่คณะราษฎรได้จัดสร้างขึ้นเมื่อหนึ่งปีก่อนนั้น แต่ในอีก 3 เดือนต่อมา ก็ถูกตีโต้ด้วยการใช้กำลังทหารของฝ่ายระบอบเก่าทำรัฐประหารในนาม "คณะกู้บ้านกู้เมือง" เมื่อเดือน ตุลาคมปี 2476 ซึ่งเป็นเดือนที่การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกของประเทศกำลังเริ่มขึ้น เป้าหมายของการรัฐประหารของกลุ่มระบอบเก่าครั้งนี้เพื่อพิทักษ์เพิ่มพูนอำนาจและบทบาทของประมุขแห่งรัฐในระบอบใหม่ ตลอดถึงการพิทักษ์ทรัพย์ของกลุ่มผู้ปกครองระบอบเก่า ทว่าจบลงด้วยการรบนองเลือดทางการทหารของทั้งสองฝ่าย ผู้หญิงผู้ชายจำนวนมากในกรุงเทพฯได้ลุกขึ้นมาร่วมสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎร ด้วยการทำข้าวปลาอาหารส่งไปยังการรบที่แนวหน้า เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกเรียกว่า "กบฏบวรเดช" ถัดจากนั้น ตามมาด้วยการต่อรองทางการเมืองเรื่องการสละราชย์ที่สิ้นสุดลงเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2477 ซึ่งสาระสำคัญของการต่อสู้จากฝ่ายระบอบเก่าที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องการแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่ 2 ที่มีจำนวนครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร (อีกครึ่งมาจากการเลือกตั้ง) นั้นให้เป็นอำนาจของประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่อำนาจของคณะราษฎรผู้แทนประชาชน การต่อสู้ตลอดมาของฝ่ายระบอบเก่าก็เพื่อเปลี่ยนรูปทางการเมือง จากระบอบพระมหากษัตริย์ "ใต้" รัฐธรรมนูญ ที่มุ่งสร้างประชาธิปไตยของการปฏิวัติ 2475 ให้กลายเป็นระบอบราชาธิปไตย "ตาม" รัฐธรรมนูญที่จะเปลี่ยนแปลงไป หรือกลายเป็นระบอบเก่าราชาธิปไตย "ที่มี" รัฐธรรมนูญ นั้นเอง การต่อสู้ของฝ่ายระบอบเก่ายังคงดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมาในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยมีคณะทหารได้ทำรัฐประหารอีก 11 ครั้งตั้งแต่ปี 2490 มาจนถึงปัจจุบัน กระนั้นก็ตาม ขอชี้ให้เห็นด้วยตัวอย่างที่สั้นกระชับว่า ความพยายามของการยื้อรื้อถอนการสร้างประชาธิปไตยสากลคนเท่ากันของคณะราษฎรในรอบ 71 ปีที่ผ่านมา หากท่านคิดว่าระบอบเก่าและรัฐทหารบรรลุความสำเร็จจากการรัฐประหารได้ถึง 11 ครั้ง ก็อาจใช่ แต่ในด้านกลับกัน การที่ระบอบเก่าและรัฐทหารต้องกระทำรัฐประหารอย่างซ้ำๆ ซากๆ ถึง 11 ครั้ง หรือทุกๆ 6 ปีต้องลงมือทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งนั้น แสดงให้เห็นว่า ระบอบเก่าและรัฐทหารไม่อาจหยุดยั้งความปรารถนาของประชาชนไทยที่จะมุ่งไปสู่ประชาธิปไตยสากลคนเท่ากันเลือกตั้งทุกระดับได้แต่อย่างใด การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้มีการเลือกตั้งทุกระดับของสถาบันทางการเมือง นั้นคืออุดมการณ์ของปฏิวัติ 2475 การจัดตั้งให้มีเทศบาลทุกตำบลที่ฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งแม้สองทศวรรษที่ผ่านมาจะเป็นเพียงองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. นั้นคืออุดมการณ์ปฏิวัติ 2475 การที่ต้องมี สภาผู้แทนราษฎร ตลอดมา ได้เป็นสิ่งยืนยันว่า มรดกการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรยังคงอยู่กับประชาชนทุกคนถึงวันนี้
2475 ยังมีอนาคตอยู่หรือไม่? ประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 ได้ผ่านช่วงตกต่ำมืดมิดอย่างที่สุดไปแล้วในช่วงสามทศวรรษ ระหว่างทศวรรษ 2490 ถึงทศวรรษ 2510 อันเป็นยุครัฐทหารและการฟื้นฟูราชาชาตินิยมอย่างเข้มข้น ดังนั้น ในช่วงกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐทหารและพลังราชาชาตินิยมยังคงอยู่อย่างเสมอมา แต่ดังที่ได้กล่าวถึงเกี่ยวกับงานศึกษาจำนวนมากของการปฏิวัติ 2475 จึงเป็นช่วงที่สปิริตของการปฏิวัติ 2475 ได้แผ่กระจายไปยังทุกอณูทางความคิด ความทรงจำ และความหวัง ปฏิวัติ 2475 คืออดีตที่เป็นแสงนำทางต่อการสร้างอนาคตประเทศชาติของเรา ด้วยแนวทางประชาธิปไตยสากลคนเท่ากัน เลือกตั้งทุกระดับ ด้วยแนวคิดสำคัญของคณะราษฎรที่ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือกุญแจที่ไขไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับรัฐ และสัมพันธภาพระหว่างสถาบันต่างๆ ของสังคม ประชาชนทุกคนร่วมสร้างประเทศชาติของเรา (The Nation We Build Together) ขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ร่วมรับฟังในวันนี้ เพียงกล่าวคำนี้ว่า ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน จิตวิญญาณของการปฏิวัติ 2475 ว่าด้วยสิทธิเสมอภาค ก็มีอยู่ในตัวของทุกท่านแล้วอย่างแน่นอน ขอบคุณครับ
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'สวนดุสิตโพล' ชี้คนนิยม 'เพื่อไทย' อันดับ 1 ตามมาด้วย 'อนาคตใหม่' Posted: 23 Jun 2018 11:06 PM PDT สวนดุสิตโพล สำรวจความเห็น 1,105 คน ระบุพรรคการเมืองที่อยู่ในความสนใจประชาชน 'เพื่อไทย' ครองอันดับ 1 ตามมาด้วย 'อนาคตใหม่' และ 'ประชาธิปัตย์' 24 มิ.ย. 2561 สืบเนื่องจากกระแสการเมืองในช่วงนี้มีความร้อนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง ของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหว ทั้งการดูดตัวผู้สมัครเข้าสู่พรรค การเตรียมตัวของพรรคการเมืองเก่า รวมถึงการเปิดตัวพรรคใหม่ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อ "พรรคการเมืองเก่า" กับ "พรรคการเมืองใหม่" "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,105 คน ระหว่างวันที่ 19-23 มิ.ย. 2561 สรุปผลได้ ดังนี้ 1. "3 อันดับพรรคการเมืองเก่า" ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ณ วันนี้ คือ อันดับ 1 เพื่อไทย 55.59% อันดับ 2 ประชาธิปัตย์ 39.89% อันดับ 3 ภูมิใจไทย 4.52% 2. "3 อันดับพรรคการเมืองใหม่" ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ณ วันนี้ คือ อันดับ 1 อนาคตใหม่ 57.51% อันดับ 2 พลังประชารัฐ 24.35% อันดับ 3 พลังชาติไทย 18.14% 3. เมื่อพิจารณาความสนใจในภาพรวมทั้ง "พรรคการเมืองเก่า" และ "พรรคการเมืองใหม่" "5 อันดับพรรคการเมือง" ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ณ วันนี้ คือ อันดับ 1 เพื่อไทย 55.02% เพราะ ชื่นชอบ เป็นพรรคใหญ่ อยากให้เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ช่วยเหลือประชาชน มีนักการเมืองเก่ง มีชื่อเสียง ฯลฯ อันดับ 2 อนาคตใหม่ 34.18% เพราะ เป็นพรรคใหม่ มีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน มีนโยบายน่าสนใจ อยากเปิดโอกาสให้เข้ามาทำงาน ฯลฯ อันดับ 3 ประชาธิปัตย์ 33.88% เพราะ เป็นพรรคเก่าแก่ ก่อตั้งมานาน มีประสบการณ์ ชื่นชอบการทำงาน มีผู้สมัครที่น่าสนใจ เลือกพรรคนี้มาโดยตลอด ฯลฯ อันดับ 4 พลังประชารัฐ 17.39% เพราะ มีกระแสต่อเนื่อง เกี่ยวข้องกับรัฐบาลปัจจุบัน เป็นพรรคใหม่ มีนักการเมืองเข้ามาร่วมหลากหลาย ฯลฯ อันดับ 5 ภูมิใจไทย 12.59% เพราะ ชอบการบริหารงานที่ผ่านมา เป็นพรรคเล็กที่มีบทบาทสำคัญ อยากรู้ความเคลื่อนไหว ฯลฯ 4. ผู้สมัคร ส.ส. ที่สังกัด "พรรคการเมืองเก่า" กับ "พรรคการเมืองใหม่" มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนหรือไม่ อันดับ 1 มีผล 54.33% เพราะ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ชอบคนแต่ไม่ชอบพรรค นโยบายแต่ละพรรคแตกต่างกัน นอกจากจะ ดูที่ตัวบุคคลแล้วก็ดูว่าสังกัดพรรคที่ชอบด้วยหรือไม่ การเลือกสังกัดพรรคส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ ฯลฯ อันดับ 2 ไม่มีผล 45.67% เพราะ ดูที่ตัวบุคคล ประวัติ ประสบการณ์ ผลงานที่ผ่านมา ชอบเป็นการส่วนตัว ไม่พิจารณาว่าสังกัดพรรคใดหากเป็นคนดีอยู่พรรคใดก็ท างานได้ ฯลฯ 5. ในการเลือก ส.ส. ระหว่าง "ตัวผู้สมัคร" กับ "พรรคที่สังกัด" ประชาชนให้ความสำคัญอะไรมากกว่ากัน อันดับ 1 พอ ๆ กัน 41.63% เพราะ ต้องพิจารณาทั้งตัวผู้สมัครและพรรคที่สังกัดไปพร้อม ๆ กัน อยากได้ทั้งผู้สมัครและพรรคที่ดีมีคุณภาพ หากพรรคมีนโยบายที่ดี ก็จะส่งผลให้ผู้สมัครทำงานได้ดี มีผลงาน ฯลฯ อันดับ 2 ตัวผู้สมัครมากกว่า 36.92% เพราะ เน้นที่ตัวผู้สมัคร อยากได้คนดี ทำงานเป็น มีผลงาน มีความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่ พรรคการเมืองที่ดี ต้องมีผู้สมัครที่ดี ฯลฯ อันดับ 3 พรรคที่สังกัดมากกว่า 21.45% เพราะ พรรควางนโยบายของผู้สมัคร พรรคที่มีการบริหารที่ดีจะทำให้ผู้สมัครทำงานได้ดียิ่งขึ้น ผู้สมัครต้อง ปฏิบัติตามแนวทางของพรรค พรรคที่เข้มแข็งสามารถให้การสนับสนุนผู้สมัครได้เต็มที่ ฯลฯ ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ใบตองแห้ง: สิทธิมนุษยชนปกป้องโจร? Posted: 23 Jun 2018 10:25 PM PDT
บ้างก็บอกให้พวกแอมเนสตี้เอานักโทษประหารไปเลี้ยงที่บ้าน ไม่ต่างจากบอกให้ฐปนีย์ เอียดศรีชัย เลี้ยงโรฮิงยา สนุกปากเฮฮากับการเย้ยหยัน เรียกเพื่อนกดไลก์กระหน่ำ (แต่พอ UNHCR เอาดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็ช่วยกันบริจาคตังค์เพื่อผู้อพยพ ซาบซึ้งจัง เมืองไทยเมืองพุทธ) มองย้อนการเมืองแต่ละข้าง UN นักสิทธิมนุษยชน ก็โดนด่ามาทั้งนั้น ไม่ว่ายุคทักษิณ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีฆ่าตัดตอน กรือเซะ ตากใบ หรือยุคอภิสิทธิ์ ที่สั่งใช้กระสุนจริง 99 ศพ มากระทั่งยุคนี้ ที่ชาวโลกเรียกว่าเผด็จการ เพียงแต่บางช่วงก็จะมีพวกช่วยอ้างสิทธิมนุษยชนเป็นอาวุธ เช่นด่าทักกี้อุ้มฆ่า 3 จังหวัดใต้ แต่ที่ไหนได้เชียร์รัฐประหาร หนุนการกระชับพื้นที่แล้วบิ๊กคลีนนิ่ง นักสิทธิมนุษยชนตัวจริงที่วิจารณ์ทุกฝ่ายก็กลายเป็นหมาหัวเน่าไป ยังจำได้ไหม ปี 47-48 หลังคดีปล้นปืน "โจรใต้" ฆ่าคนบริสุทธิ์ นักสิทธิวิจารณ์การใช้ความรุนแรงกรือเซะ ตากใบ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใช้กฎอัยการศึกคุมตัวผู้ต้องสงสัย ก็ถูกตอบโต้ "สิทธิมนุษยชนไม่ได้มีไว้ปกป้องโจร" นักสิทธิคำนึงถึงหัวอกครอบครัวคนบริสุทธิ์ที่ถูกฆ่าไหม คำถามคือการใช้ความรุนแรง ใช้อำนาจเกินกฎหมาย ทำให้คนบริสุทธิ์ถูกฆ่าตายมากขึ้นหรือน้อยลง ทำให้สถานการณ์ลดลงหรือเปล่า ซึ่งยังคงมีคำถามถึงทุกวันนี้ ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดใต้อาจมีหลายมิติ ประวัติศาสตร์ การเมือง ศาสนา อัตลักษณ์ ฯลฯ แต่หลักการเบื้องต้น ถ้ารัฐมุ่งปราบปรามโดยไม่แยแสสิทธิมนุษยชน ไม่คำนึงความยุติธรรม ก็ยิ่งผลักคนไปเป็น "โจร" ยิ่งทำให้คนบริสุทธิ์ตายมากขึ้น โทษประหารก็คล้ายกัน แม้เป็นการลงทัณฑ์ผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่ที่ UN แอมเนสตี้ รณรงค์ให้ยกเลิก เพราะเขาเชื่อว่าไม่ช่วยลดอาชญากรรม ดังมีสถิติในหลายประเทศ แม้ลงโทษอย่างรุนแรง อาชญากรรมก็ยังแรง แต่ประเทศที่ยกเลิกโทษประหาร แล้วหันไปควบคุมสาเหตุด้านอื่นๆ กลับมีคนบริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อน้อยลง ก็เป็นวาทกรรมเท่ๆ ของสังคมที่ไม่เคยมองกว้างไปกว่าใช้ยาแรงลงโทษคนเลว ยิ่งพูดได้สะใจ ยิ่งทำให้ตัวเองเป็นคนดี แบบข่มขืนประหาร เฆี่ยนต่อหน้าสาธารณะ แต่ไม่เคยวิเคราะห์ว่า โทษประหารลดอาชญากรรมได้จริงหรือ ยาแรงปราบโกงได้จริงไหม ที่น่าอนาถใจคือคนอีกข้างที่เคยโวยความยุติธรรมสองมาตรฐาน กลับมีไม่น้อยที่เห็นด้วยกับโทษประหาร การใช้ยาแรง ทั้งที่ประเด็นสำคัญกว่ายกเลิกโทษประหารหรือไม่ คือทำอย่างไรจะให้ประชาชนเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม ว่าไม่มีจับแพะ ยัดข้อหา หรือคนทำผิดเชื่อว่าตัวเองสามารถหลุดคดีได้ กระบวนการลดโทษทำอย่างไรให้สังคมมั่นใจว่าเสมอภาคเที่ยงธรรม นั่นต่างหาก ที่จะทำให้คนทำผิดหลาบจำ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ไม่ได้อยู่ที่โทษประหารชีวิต หากอยู่ที่ความยุติธรรมศักดิ์สิทธิ์ สังคมเชื่อมั่น สิ่งที่คนไทยไม่ทันมอง ก็คือท่าที UN แอมเนสตี้ "ผิดหวัง" เพราะในที่ประชุม UPR เมื่อเดือน พ.ค.59 เราไปยอมรับ ข้อเสนอทบทวนการยกเลิกโทษประหารชีวิต ไว้ในแผนสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 แม้ยังไม่รับปากยกเลิก แต่วิษณุ เครืองาม ก็เคยพูดเองว่า "เราได้รับปากในที่ประชุมกรรมการสิทธิมนุษยชนที่กรุงเจนีวา ซึ่งเขาขอร้องให้เรายกเลิก ซึ่งเรายังทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ความผิดใหม่จะไม่กำหนดโทษประหารชีวิต และจะทยอยเปลี่ยนจากโทษที่บังคับให้ประหารชีวิตอย่างเดียว ให้มีทางเลือกจำคุกตลอดชีวิตได้" คือถ้าไทยมีการลงโทษประหารมาต่อเนื่อง UN แอมเนสตี้ก็ไม่ท้วงหรอกว่า ผิดคำมั่น โดยพอดีกันเลยที่ลุงตู่จะไปยุโรป เห็นข่าวคนไทยที่นั่นจะประท้วงหัวหน้าคณะรัฐประหาร เผลอๆ จะมีแอมเนสตี้ยุโรปออกมาคัดค้านด้วย แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็หายห่วง รับประกันคนไทยส่งกำลังใจให้ลุงตู่ล้นหลาม ตอบ UN ไปเลยว่าคดีข่มขืนเรายังจะเพิ่มโทษตัดหำด้วย
ที่มา: https://www.khaosod.co.th/politics/news_1246142
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'เอกชัย-โชคชัย' ถูกสกัดไม่ให้ทำกิจกรรม 86 ปี 2475 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า Posted: 23 Jun 2018 10:18 PM PDT
24 มิ.ย. 2561 ทวิตเตอร์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานว่ากิจกรรมแรกในวันครบรอบ 86 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 'เอกชัย หงส์กังวาน' ได้นัดหมายไปร้องเพลงชาติเพลงแรกของไทยที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เวลา 8.00 น. เอกชัยออกจากบ้านเวลา 6.00 น. โดยพบว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย ดักรอหน้าบ้านและขี่จักรยานยนต์ตามรถเมล์ที่เขานั่ง เวลาประมาณ 08.10 น. ตำรวจพยายามยุติกิจกรรม ขณะเอกชัย เปิดเพลงชาติเพลงแรกเนื่องในวันครบรอบ 86 ปี 24 มิ.ย. 2475 บริเวณใกล้ลานพระบรมรูปทรงม้า และนำตัวเอกชัยขึ้นรถ แจ้งว่าจะพาไปส่งที่ มธ. ท่าพระจันทร์ มีรายงานว่าตำรวจนอกเครื่องแบบตรึงกำลังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าราว 20 นาย กลุ่มคนรุ่นใหม่อยากเลือกตั้ง จัดกิจกรรมครบรอบ 86 ปี เเฮปปี้เบิร์ธเดย์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้ คสช.จัดเลือกตั้ง ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่ามื่อเวลา 11.20 น. ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กลุ่มคนรุ่นใหม่ในขบวนการคนอยากเลือกตั้งซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบันรวมตัวกันประมาณ 15 คน รวมตัวจัดงานกิจกรรม งานเเฮปปี้เบิร์ธเดย์ 86 ปีประชาธิปไตยในโอกาสครบรอบ 86 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยโดยมีเอกชัย หงษ์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง ร่วมสังเกตุการณ์ โดยการจัดกิจกรรมนั้นมีเหล่านักศึกษาซึ่งเเต่งตัวเป็นผีประชาธิปไตย 4 คน โดยสวมผ้าคลุมสีขาว ทาหน้าสีขาวใส่หมวกรูปพานประชาธิปไตย โดย 1 ใน นักศึกษาซึ่งเเต่งกายเป็นผีประชาธิปไตย ได้อ่านเเถลงการณ์ และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ น.ส.วิรัลพัชร รอดแก้ว นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยเป็น 1 ใน นศ. ที่ชูป้าย "ชาวจุฬารักลุงตู่ (เผด็จการ)" ก่อนหน้านี้ให้สัมภาษณ์ว่าว่าวันนี้เป็นวันครบ 86 ปี ที่มีการเปลี่ยนเเปลงการปกครอง ก็เลยมาเเฮปปี้เบิร์ธเดย์ประชาธิปไตยไทยกันเเต่อย่างที่เห็นว่าประชาธิปไตยโดนฆ่ามาเเล้ว 13 ครั้งมีตัวตนบ้าง ไม่มีบ้าง เราจึงให้ผีมาสื่อถึงประชาธิปไตยเรา ในวันนี้ประชาธิปไตยเราถูกทำลายมา 4 ปีเเล้ว เเละยังไม่มีทีท่ากลับมา ทั้งที่เราเปลี่ยนระบอบการปกครองมา 86 ปี เเล้วเเต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนเเปลงระบอบการปกครองที่เเท้จริง กลับมาให้บ้านเมืองเรา ซึ่งเราจะเห็นที่เเสดงในวันนี้ว่าผีประชาธิปไตยเราหิวโหย เพราะยังไม่มีใครที่จะคิดถึงประชาธิปไตยของเรา วันนี้จึงมาทำกิจกรรมลำลึกเล็กๆน้อยๆ โดยซึ่งที่เราอยากเรียกร้องอันดับเเรกคือการเลือกตั้ง "สำหรับกลุ่มเรานั้นก็มีการทำงานร่วมกลับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งโดยวันนี้ มีการกิจกรรมหลายกิจกรรม อาทิการเสวนาเเละเเสดงดนตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงการเสวนาที่อนุสรณ์ 14 ตุลาฯ โดยที่มาในวันนี้ก็ไม่คิดว่าจะถูกดำเนินคดีเพราะเรามาอย่างสงบไม่ได้สร้างความเดือดร้อน เเละไม่กลัวว่าจะโดนดำเนินคดีที่หลังเพราะถ้ากลัวคงไม่มาที่นี่" น.ส.วิรัลพัชรกล่าว เวลาประมาณ 09.10 น. เอกชัย และ 'โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ' ได้เปิดเพลงชาติเพลงแรกรำลึกครบรอบ 86 ปี 24 มิ.ย. 2475 ที่หมุดคณะราษฎรจำลอง บริเวณข้างคณะนิติ มธ.ท่าพระจันทร์ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ราว 10 นาย หลังช่วงเช้าถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวางไม่ให้เข้าไปทำกิจกรรมที่หมุดคณะราษฎรเดิม ลานพระบรมรูปทรงม้า ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ใบตองแห้ง: สมบัติชาติขายไม่ออก Posted: 23 Jun 2018 10:16 PM PDT
การประมูลคลื่น 1800 MHz ที่ลอยค้างกลางอากาศ เพราะ AIS true dtac ไม่มีใครอยากได้ กลายเป็นเรื่องโทษกันไปด่ากันมา ในบรรดาผู้รักชาติ ที่เห็นคลื่นความถี่เป็นคลังมหาสมบัติ อยากให้ค่ายมือถือทั่วโลกเร่เข้ามา ตั้งซุ้มเคาะราคาทีละร้อยล้านพันล้าน ให้ทีวีดิจิทัล (ที่ประมูลมาแข่งกันเจ๊ง) ถ่ายทอดสดบรรยากาศการแข่งขันสุดตื่นเต้น ให้คนไทยอ้าปากค้าง รัฐบาลก็ได้งบแสนล้านไปทุ่มให้ไทยนิยมประชารัฐ แหม่ น่าจะรู้กันตั้งแต่ยังไม่ออกประกาศ ว่าไม่มีใครอยากได้หรอก เมื่อ กสทช.ตั้งราคาสูงซะขนาดนั้น ราคาเริ่มต้นที่ 37,457 ล้านบาท ซึ่งมาจากราคาประมูลครั้งที่แล้ว แต่สถานการณ์มันต่างกัน ครั้งนั้นแข่งดุเดือด 4 ราย ต่างฝ่ายต่างเลือดเข้าตา กลัวไม่มีคลื่นมาให้บริการ ครั้งนี้รายเก่า 3 ราย ต่างก็มีคลื่นพอใช้ไปก่อน แม้ยังอยากได้ แต่จ่ายแพงกว่าทำไม รอให้ กสทช.เงื้อง่า แบบค้างแล้วค้างอีก จำใจต้องติดป้าย SALE แล้วค่อยซื้อไม่ดีกว่าหรือ กสทช.ก็รู้ แต่ทำไงได้ จะให้ตั้งราคาต่ำกว่า 2 ปีที่แล้วแบบลดครึ่งหรือลด 70% ยังกะแบรนด์เนมตกรุ่น จะทำได้หรือ นอกจากโดนผู้รักชาติด่าขรม ยังอาจโดนเล่นแง่เอาผิด ฐากร ตัณฑสิทธิ์ จึงบอกตอนประกาศประมูลใหม่โดยใช้เกณฑ์เดิมว่า ยอมเสียหน้าดีกว่าติดคุก ก็เลยงงเหมือนกันที่ อ.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แห่ง TDRI กลับบอกไม่ควรใช้เกณฑ์เดิม โดยเปรียบเทียบประมูลทีวีดิจิทัลว่า ถ้าเปิดใหม่ปี 61 ใช้ราคาเริ่มต้นเท่าที่ประมูลได้ปี 56 ก็คงไม่มีใครเอา (ความจริงบาทเดียวก็ไม่มีใครเอา) แล้ว อ.สมเกียรติก็บอกว่า มีการล็อบบี้จากผู้ชนะประมูลครั้งที่แล้ว เพราะราคาที่ตัวเองชนะสูงมาก กลัวเสียเปรียบคู่แข่งในอนาคต จึงให้ กสทช.สัญญาไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาตว่า การประมูลรอบต่อไปต้องตั้งต้นด้วยราคาไม่ต่ำกว่านี้ ฟังไปฟังมา ดีไม่ดี การตั้งราคาโดยใช้เกณฑ์เดิม ก็จะกลายเป็น กสทช.โดนล็อบบี้ มีสิทธิติดคุกเหมือนกัน ไม่ทราบนะครับว่า มีใครล็อบบี้จริงไหม แต่ล็อบไม่ล็อบ อย่างน้อยก็ควรคำนึงถึง "ความเป็นธรรม" เอกชนที่ทำสัญญากับรัฐ ก็ต้องได้รับความเป็นธรรม ไม่ใช่มองว่ามันเป็นนายทุน รีดได้ต้องรีดเอา เข้ากระเป๋าสมบัติชาติ การประมูลครั้งที่แล้ว คลื่น 1800 AIS ได้ไปในราคา 40,986 ล้านบาท ทรู 39,792 ล้านบาท ที่แพงหูดับเพราะ JAS สู้จนราคาสุดท้าย 38,996 ล้านบาท คลื่น 900 ชุดที่ 1 JAS ได้ไป 75,654 ล้านบาท ชุดที่ 2 ทรู 76,298 ล้านบาท ต่อมา JAS "ชักดาบ" ผู้รักชาติรุมยำต้องเอาให้ตาย AIS ยอมจ่ายแทนและได้สัมปทานไป ยอมรับความจริงไหมว่าถ้า JAS ไม่เข้าประมูลตั้งแต่ต้น สมบัติชาติคงขายได้ไม่ถึง 1.5 แสนล้าน ไอ้ที่ได้ไปตอนนั้นราคามันเว่อร์ แต่เมื่อทรูและ AIS ได้ไปในราคาเว่อร์ ๆ ไม่ว่าจะตั้งเงื่อนไขในสัญญาหรือไม่ก็ตาม กสทช.ก็ต้องคุ้มครอง "ให้ความเป็นธรรม" ไม่ใช่อีก 2 ปีลดราคาดัดหลัง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ทราบเหมือนกัน ทำไมผู้รักชาติไม่ยักโวย TOT ที่ให้ DTAC เช่าคลื่น 2300 จนมีคลื่นให้ใช้พอ ทั้งที่รัฐให้คลื่น ไปทำธุรกิจแข่งขัน ไม่ใช่ย้อนยุคองค์การโทรศัพท์ เสือนอนกินแต่โบราณ
ที่มา: www.kaohoon.com/content/237226
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประเด็นโต้แย้งและข้อเสนอ กรณี ปปช ไม่รับคดีการชุมนุมปี 53 Posted: 23 Jun 2018 10:06 PM PDT
ปปช.ให้เหตุผล 5 ข้อที่ยกคำร้อง ซึ่งไม่สมเหตุสมผล และสาธารณชนสามารถแย้งได้ ดังนี้ 1. ปี 51 ไม่มีการสั่งการและวิธีปฎิบัติไปถึงระดับเจ้าหน้าที่ ปี 53 มีวิธีปฎิบัติที่ดี มันไม่ได้อยู่ที่แผนดี แผนไม่ดี ผลที่เกิดขึ้นจะบอกว่ามีการปฎิบัติที่ดี และถูกต้องหรือไม่ ในปี 53 มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จะมาบอกว่ามีแผนดี เลยไม่ผิดไม่ได้ ไม่งั้นกรมตำรวจที่จับผู้ร้ายทุกวันนี้ เค้ามีกฎหมายทั้งนั้นว่าทำอะไรได้ไม่ได้ อย่างงี้ก็ไม่ผิดกันได้เลย เพราะแผนดี ข้อนี้ยกมาอ้างไม่ได้ เพราะผลลัพธ์มันไม่ดี เปรียบเทียบง่ายๆ กู้เงินธนาคาร มีแผนธุรกิจดีมาก แต่ทำแล้วเจ๊ง บอกจะมายึดผมได้ไง แผนผมดี ที่ถูกต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่ถูก แต่นายก หรือศอฉ กำกับแล้วแต่เป็นเหตุจากเจ้าหน้าที่ มีข้อพิสูจน์เหล่านั้นหรือไม่ 2. ปี 51 ไม่ปรับแผน เมื่อมีผู้เสียชีวิต ปี 53 มีการปรับแผนเมื่อมีผู้เสียชีวิต ปี 51 เกิดเหตุในวันเดียว และเมื่อขึ้นสู่ศาล ศาลยกคำร้อง และไม่มีการเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากเหตุการณ์ที่บานปลายต่อเนื่อง เนื่องจากมีการบุกเข้าไปที่สถานีตำรวจ ซึ่งศาลรับฟัง แต่ปี 53 เหตุเกิดยาวนาน บอกว่าปรับแผน ใครก็พูดได้ หรือทำบันทึกมาแสดงได้ ข้อเท็จคือ คนเสียชีวิตมากขึ้น โดยในวันสุดท้ายมีทั้ง พยาบาล นักข่าว ประชาชน ข้อนี้เหมือนข้อแรกเอาทฤษฎีมาพูด แต่ผลไม่เป็นอย่างงั้น ถ้าจะตอบอย่างนี้ ปปช ลองตอบสิว่า ทำไม่ปรับแล้ว ผู้บริสุทธ์ พยาบาล กู้ชีพ ตายมากขึ้น ทหารไม่ตายเลย การปรับอาจจะมีแต่คุ้มครองเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ใช่เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ชุมนุม ผู้เสียชีวิตฝั่งผู้ชุมนุม ไม่ปรากฎว่า มีอาวุธ หรือถืออาวุธ เลยแม้แต่รายเดียว 3. ปี 51 ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ปี 53 การชุมนุมไม่โดยสงบตามรัฐธรรมนูญ มีผู้มีอาวุธปะปน การชุมนุมปี 51 ไม่ชัดเจนว่ามีอาวุธ หรือไม่ แต่การล้อมรัฐสภา เพื่อไม่ให้รัฐบาลที่ถูกต้องตามรัฐธรรมเข้าแถลงนโยบายเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ หรือ ปปช คิดว่าการล้อมรัฐสภาเป็นการชุมนุมโดยสงบ ข้อโต้แย้งนี้ศาลก็บอกมาแล้วว่าผู้ชุมนุมกระทำผิด ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง ควรเข้าข่ายกบฎ ต้องการให้ประเทศเดินต่อไม่ได้ ควรถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถ้าเป็นต่างประเทศถ้าไปปิดล้อมสภาของอเมริกา ไม่อยากจะคิด แต่ ปปช อาจไม่สนใจอำนาจอธิปไตยของปวงชน สำหรับเหตุการณ์ปี 53 บอกว่าไม่สงบ มีอาวุธ แต่ปรากฎว่าผู้เสียชีวิตฝั่งประชาชน ก็มีอาวุธ ไม้ หนังสติก ธง เหมือน ปี 51 ไม่ปรากฎว่าทหารสังหารชายชุดดำ ผู้เสียชีวิตไม่มีอาวุธ หรือ ไม้ และยังมีนักข่าว อิตาลี่ ญี่ปุ่น กู้ภัย พยาบาล เสียชีวิต และกรณีเหล่านี้ศาลยืนยันว่ายิงมาจากฝั่งทหาร เหตุใดจึงไม่ให้มีการพิสูจน์ว่า ทหารยิงแต่ละรายเพราะเหตุสุดวิสัย ทหาร ผู้ปฎิบัติ ผู้บังคับบัญชาต้องแสดงข้อพิสูจน์มา เพราะศาลบอกว่าคุณทำให้คนตาย ทำไม ปชป ไม่ยอมให้มีการพิสูจน์ หรือ เช่นเดียวกับที่กองทัพไม่ให้ดูกล้องวงจรปิดกรณีชัยภูมิ เหตุผลข้อ 1 ช้อ 2 ที่ ปปช ยกมา ไม่ได้พิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่กระทำเพราะสุดวิสัย บอกว่ามีแผนอย่างดี แต่ข้อเท็จจริง คือเข้าหัว และทหารยิง แค่นี้ก็เป้นข้อมูลใหม่แล้วว่าที่เข้าใจว่าแผนดี มีการสั่งการดี ของจริงไม่เป็นเช่นนั้น ข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นจริง ก็ต้องมาพิสูจน์สิว่า การกำกับสั่งการดี แต่เจ้าหน้าที่ปฎิบัติการผิด ข้ออ้างชายชุดดำหรือมีอาวุธ ใช้ได้ในกรณีที่ผู้ตายมีอาวุธ และต่อสู้ แต่ไม่พบกรณีแบบนั้น มีแต่ผู้ตายไม่มีอาวุธ หรือไม่เกี่ยวข้องเกือบทั้งหมด 4.ปี 51 เป้าหมายของการสลายการชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลนายสมชายเข้าแถลงนโยบาย แต่ปี 53 เพื่อรักษาความสงบสุขของบ้านเมือง ข้อนี้เปิดเผยตัวตนและอคติของ ปปช ได้ดีที่สุด ปี 53 ใช้เหตุว่าสลายการชุมนุมเพื่อความสงบสุข ปี 51 เจาะจงบอกเพื่อให้รัฐบาล (นายสมชาย) เข้าสภา ถ้ามีคนมาล้อมรัฐสภา ไม่ให้รัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเข้าสภา ทำไมจึงไม่เป็นเพื่อความสงบสุข ทำไมปี 2553 ไม่กล่าวว่าสลายการชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลอภิสิทธิ์อยู่ต่อโดยไม่ต้องยุบสภาตามที่ผู้ชุมนุมต้องการ จะเห็นเป็นเหตุที่อ่อนและให้โวหาร ที่จริงแล้ว ผู้ชุมนุมในปี 51 ปิดรัฐสภา ไม่ให้รัฐบาลทำงาน กระทำความผิด และอาจจะทำให้ประเทศเสียหายอย่างมาก จำเป็นต้องสลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ชุมนุมในปี 2553 เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ซึ่งเป็นสิทธิ์ และไม่ได้ปิดล้อมหรือยึดสถานที่ราชการ ทำผิดกฎหมาย คือกฎจารจร ปิดถนน แต่รัฐทำงานได้ ดังจะเห็นได้ว่าการชุมนุมยืดเยื้อเป็นเดือน หากอ้างว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ หรือ ชายชุดดำ เป็นที่ยอมรับกันว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นพันเป็นหมื่นไม่ใช่ผู้มีอาวุธ ไม่มีเหตุให้ต้องสลายอย่างทันทีทันใด สามารถลดความสูญเสียได้ ข้อเสนอแนะ ผู้มีอำนาจเป้นผู้เกี่ยวข้องในคดี ผู้มีอำนาจเป็นผู้คัดเลือก ปปช. ผู้ได้รับความเสียหาย และ นปช ควรไปเริ่มจากศาลฟ้องผู้บังคับหน่วยที่ดูแลพื้นที่ จนถึงผู้อำนวยการ ศอฉ. ในทางการเมืองเข้าใจว่าในรัฐบาลก่อนต้องการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับทหาร และต้องการเอาผิดระดับบน สุดท้ายอาจต้อง bottom up เริ่มจากระดับล่างขึ้นไป
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สหภาพแรงงาน กฟภ. เดินหน้าค้าน ‘บริษัท RPS’ Posted: 23 Jun 2018 09:55 PM PDT แม้ 'การไฟฟ้า-ก.พลังงาน' หารือได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า 'บริษัท RPS' จะตั้งเพียงโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลเท่านั้น การจำหน่ายกระแสไฟฟ้ายังคงเป็นหน้าที่ของ กฟภ. เช่นเดิม แต่สหภาพแรงงาน กฟภ. ยังคงจับตาอย่างใกล้ชิด และคัดค้านการแปรรูปนี้อย่างเต็มกำลัง 24 มิ.ย. 2561 สืบเนื่องจากการประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2561 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางพลังงาน และการบริหารจัดการกิจการด้านพลังงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อที่ประชุม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบการนำเสนอรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการใหม่และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกระทรวงพลังงานสนับสนุนผ่านกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ดำเนินการให้เร็ว เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาลนี้ให้ได้ จากนโยบายนี้มีการคาดการกันว่าจะมีการจัดตั้งในรูปแบบของ 'บริษัท RPS' หรือ Regional Power System Company โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้นในอัตรา 24.5% และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ถือหุ้นในอัตรา 24% และกลุ่มทุนในนามของวิสาหกิจชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือหุ้นในอัตรา 51% เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 เรื่องการคัดค้านแผนการก่อตั้งบริษัท RPS โดยระบุว่าตามที่คณะผู้บริหารระดับสูงของ กฟภ. ได้หารือร่วมกับ สร.กฟภ. เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 ณ ห้องประชุม กฟภ. ชั้น 23 อาคาร LED กฟภ. สำนักงานใหญ่ ซึ่งได้ข้อสรุป จำนวน 4 ข้อ (ในแถลงการณ์ฉบับที่ 2) สำหรับนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบ และจะนำไปชี้แจงให้คณะกรรมการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกระทรวงพลังงานที่จะดำเนินแผนการก่อตั้งบริษัท RPS ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลใจของประชาชนและพนักงาน กฟต.3 (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 3 จังหวัดชายแดนใต้) อย่างกว้างขวางนั้น เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 เวลา 14.00 น. ผู้บริหารระดับสูง 3 ฝ่ายประกอบด้วย กฟภ., กฟผ. และผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน ได้หารือกันที่ห้องประชุมชั้น 23 อาคาร LED กฟภ. สํานักงานใหญ่ โดย กฟภ. เป็นเจ้าภาพในการประชุม ซึ่งมีผลสรุปจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ยืนยันว่าท่านผู้ว่าการ กฟภ. ได้ชี้แจงใน 4 ประเด็น ดังกล่าวให้ผู้บริหารของ กฟผ. และกระทรวงพลังงานทราบอย่างละเอียดพร้อมทั้งตอบข้อซักถามและข้อกังวลใน ผลกระทบด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และพนักงาน กฟต.3 ในพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องจนเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายในที่ประชุม โดยการร่วมทุนของทั้ง 3 ฝ่ายจะทำได้เพียงการตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลเท่านั้น การจำหน่ายกระแสไฟฟ้ายังคงเป็นหน้าที่ของ กฟภ. เช่นเดิม โดยผู้แทนจากกระทรวงพลังงานจะนำประเด็นนี้เข้าไปรายงานให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงพลังงานรับทราบต่อไป จากประเด็นการหารือของผู้บริหารทั้ง 3 ฝ่าย ครั้งนี้ สร.กฟภ. ยังมีความกังวลและยังไม่ไว้วางใจเพราะความชัดเจนยังไม่ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น สร.กฟภ. จึงได้ร่วมกับเครือข่ายไฟฟ้า-ประปา และยา เพื่อชาติ ประชาชน กำหนดมาตรการการเคลื่อนไหวคัดค้านการตั้งบริษัท RPS โดยเครือข่ายฯ จะรวบรวมผลกระทบต่างๆ ที่มีต่อประเทศชาติและประชาชนขององค์กรสมาชิกเครือข่ายฯ ทั้ง 6 องค์กร ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งนี้ นำเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2561 นี้ โดย สร.กฟภ.จึงขอเชิญชวนผู้ที่รักในความเป็นรัฐวิสาหกิจของ กฟภ. สวมใส่เสื้อดำและแสดงพลังไปก่อน จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ และเดือนหน้า ก.ค. เป็นเดือนมหามงคล สร.กฟภ. ขอเชิญชวนสวมใส่เสื้อสีเหลือง เพื่อแสดงถึงความเคารพและความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ของไทย
แถลงการณ์ฉบับที่ 1-3 ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วัฒนา เมืองสุข: เด็กน้อยชื่อ สฤษดิ์ Posted: 23 Jun 2018 09:51 PM PDT การที่นิตยสาร Times เรียกผู้นำเผด็จการของไทยว่า "สฤษดิ์น้อย" ผมเห็นว่าเป็นความตื้นเขินขาดองค์ความรู้ ความจริงแล้วจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังไม่อาจถือเป็นเผด็จการที่เลวจนสมบูรณ์แบบ จึงไม่ควรถูกยกเป็นแบบอย่างของเผด็จการ กล่าวคือ จอมพลสฤษดิ์ถึงแม้จะทำเลวทรามกับบ้านเมืองไว้มาก แต่การกล้ารับผิดชอบดังวลีที่พูดจนติดปากว่า "ข้าพเจ้าของรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" จึงยังเป็นเผด็จการกระจอก เพราะการจะเป็นจอมเผด็จการที่เลวสมบูรณ์แบบต้องหน้าไหว้หลังหลอก ขี้ขลาดไม่กล้ารับผิดชอบพร้อมที่จะโยนความผิดหรือโทษคนอื่นทุกเรื่อง ถ้าจะให้ดีต้องกล้านิรโทษกรรมตัวเองหนีความรับผิดชอบทั้งที่ทำมาแล้วและในอนาคต จอมพลสฤษดิ์ยังมีจุดอ่อนคือไม่กล้าประดิษฐ์วาทกรรมทำหล่อ เช่น ไม่กล้าโกหกประชาชนว่าตัวเองมีธรรมาภิบาลเพราะเป็นเผด็จการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนแทบทุกข้อ ไม่สร้างภาพบอกผู้คนให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่ร่างเองฉีกเองตามใจชอบ แถมยังไม่มีปัญญาหาผู้คนแวดล้อมที่มีประวัติฉาวโฉ่หน้าหนา เช่น มีทรัพย์สินที่ชี้แจงไม่ได้แต่ก็ยังอยู่กันได้แบบหนาๆ จนคนถามต้องอายไปเอง จอมพลสฤษดิ์ยังไม่กล้าโกหกซ้ำซาก ไม่กล้าหลอกประชาชนเรื่องเลือกตั้ง ไม่เคยคิดอยากไปจับมือกับฝรั่งจึงไม่เคยไปแสดงกิริยาวาจาแบบคนไร้การอบรมที่ต่างประเทศให้คนไทยต้องอับอาย แถมยังไม่มีสันดานขี้คด ไม่ตั้งพรรคการเมืองหวังสืบทอดอำนาจด้วยวิธีสกปรกและเอาเปรียบพรรคอื่น ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนคงเห็นด้วยกับผมว่า จอมพลสฤษดิ์ยังห่างความเป็นจอมเผด็จการไม่ควรถูกยกเป็นแบบอย่าง ที่เลวกว่านั้นยังมีอีกแต่จะเป็นประเทศอะไรความรู้ผมไม่พอคงต้องฝากพี่น้องประชาชนช่วยกันค้นคว้า หาเจอแล้วส่งข่าวกันบ้างนะครับ
ที่มา: Facebook Watana Muangsook
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เรื่องเล่าเสมือนตำนานอันเป็นที่มาของเกร็ดประวัติศาสตร์เท็จ Posted: 23 Jun 2018 09:42 PM PDT
เสียงอาเจียรนั้นมีใครแพ้ท้องหรือ ? นี่คืออาคารสูง 7 ชั้น มีห้อง 112 ห้อง เวลาผ่านไป 10 เดือน ไม่มีเรื่องเล่าเรื่องอื่น หมาหอนกลางแสงแดดจ้า
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น