ประชาไท Prachatai.com |
- สถานีต่อไปของสมยศ พฤกษาเกษมสุข สานต่อคณะราษฎร แก้ปมเศรษฐกิจ-การเมือง
- คืนวันพุธปลดอาวุธ คสช. iLaw X Prachatai | EP1 ผลกระทบคำสั่ง 3/58
- เลือกตั้งตุรกี 2018 : ชัยชนะของแอรโดอันกับความจริงที่ยากจะรับได้
- สงครามการค้า, ความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และโอกาสของไทยในธุรกิจโลกที่ผันผวน
- 86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน [WAKE UP THAILAND SPECIAL] อภิปราย 10 พรรค
- [คลิป] สำรวจ 9 จุดเช็คอินคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
- ปธ.สภานิสิตจุฬาฯ เลิกจัดแปล 'ไทม์' ให้ประวิตรฟังเหตุผู้บริหารขอมา มหา'ลัยปัดห้าม
- ตัดสินคดี 'ประเวศ' ยกฟ้อง 112 ลงโทษจำคุกเฉพาะ ม.116 รวม 16 เดือน
สถานีต่อไปของสมยศ พฤกษาเกษมสุข สานต่อคณะราษฎร แก้ปมเศรษฐกิจ-การเมือง Posted: 27 Jun 2018 12:14 PM PDT คุยกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถึงก้าวต่อไปของเขาและกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ระบุ มุ่งผลักดันประเด็นเศรษฐกิจ ในด้านการเมืองยึดตามหลัก 6 ประการคณะราษฎร สร้างประชาธิปไตย ต้านรัฐประหาร ส่วนตัวยังสนใจร่วมชุมนุมการเมือง ชี้ คสช. ยึดอำนาจครั้งดึงทุกองคาพยพมาร่วมสังฆกรรม เดิมพันสูงถึงขั้นพังทั้งระบบ เป็นเวลาเกือบสองเดือนแล้วหลังสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ นักต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน และหนึ่งในแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่เขาถูกจองจำยาวนานถึง 7 ปี จากคดีหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร หากทิ้งประเด็นเรื่องความเคยชินกับชีวิตประจำวันทั่วไปที่กรงขังและกาลเวลาได้พรากไปจากมือเขา จะพบว่านักกิจกรรมคนนี้ได้เริ่มใส่เกียร์เดินหน้าต่อและปรากฏตัวบนหน้าสื่ออีกครั้งอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากเมื่อ 8 มิ.ย. ที่เขาและกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้แก้ปัญหาเรื่องปากท้องประชาชนในประเด็นราคาน้ำมันแพง ค้านการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มและเรียกร้องให้รัฐบาลลดรายจ่ายที่ไม่ส่งผลดีกับเศรษฐกิจ สมยศยังได้ไปปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะวิทยากรบนเวทีเสวนาเรื่องดอกผลและกิ่งก้านของการอภิวัฒน์สยาม เมื่อ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมาที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ การมาของเขาถูกต้อนรับด้วยเสียงปรบมือที่ยาวนาน กึกก้อง และจบลงด้วยการรับมอบดอกไม้และม้วนโปสเตอร์รูปสมยศขนาดใหญ่ เขาเล่าว่าเวทีดังกล่าวเป็นเวทีเสวนา 'อย่างเป็นทางการ' เวทีแรกหลังได้รับอิสรภาพ แม้สมยศเล่าว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่กำชับก่อนจะมาถึงเวทีให้เพลาๆ เรื่องการพูดถึงหมุดคณะราษฎรที่หายไปเมื่อปีที่แล้ว โดยตำรวจบอกว่ามี 'ผู้ใหญ่' ท่านฝากมาก็ตาม หลังลงเวที ประชาไทมีโอกาสพูดคุยเรื่องเป้าหมายต่อไปในการเดินหน้าในประเด็นการเมืองของสมยศและกลุ่ม 24 มิถุนาฯ รวมถึงความเห็นเรื่องบทเรียนการปฏิวัติ 2475 ในมุมมองของเขา คำตอบของสมยศเป็นสัญญาณว่านี่คือการกลับมาของเสียงของผู้สนับสนุนประชาธิปไตยภายใต้บรรยากาศทางการเมืองสไตล์รัฐบาลทหารอย่างน้อยอีกหนึ่งคน "แล้วแต่ คนลง (บทสัมภาษณ์) รับผิดชอบ ไอ้คนพูดมันติดคุกจนชินแล้ว เดินเข้าคุกปิดตาเดินก็ไม่หลง แต่ว่าคนลงนี่ยังใหม่" เป็นคำพูดทิ้งท้ายของสมยศในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เริ่มจากประเด็นเศรษฐกิจ น้ำมันแพง ลด VAT ไม่ใช่งบแผ่นดินฟุ่มเฟือยเมื่อ มิ.ย. 2550 สมยศเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้งกลุ่ม 24 มิถุนาฯ เป็นการรวมตัวกันของประชาชนรากหญ้า ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านการรัฐประหารของ คมช. ที่เกิดขึ้นเมื่อ 19 ก.ย. 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา เผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูลเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตยให้กับประชาชนและสาธารณชน รวมกลุ่มประชาชนทุกสาขาอาชีพในการเข้าร่วมและสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ และประสานความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย ความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม แม้เวลาล่วงเลยไปเกือบ 11 ปี ที่ซ้อนทับกับเวลาที่สมยศในฐานะหนึ่งในแกนนำกลุ่มถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ แต่การดำเนินการตามวัตถุประสงค์แรกเริ่มของกลุ่มยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระและต่อเนื่องของกลุ่มในการทำงาน "เมื่อเราถูกดำเนินคดีก็ไปอยู่ในเรือนจำ กลุ่มก็ได้ดำเนินการด้วยกิจกรรมที่จะให้ปล่อยตัว มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องซึ่งหมายความว่ากลุ่มมีการดำเนินการอย่างอิสระและมีความต่อเนื่องแม้ว่าจะจับตัวผู้นำกลุ่มไป ผู้บริหารงานทั่วไปก็สามารถดำเนินงานต่อได้ เมื่อออกมากลุ่มนี้ก็ยังดำเนินการและสานต่อภารกิจเดิม คือสร้างประชาธิปไตยเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎร" สมยศกล่าว สมยศกล่าวเพิ่มเติมว่า โฟกัสของกลุ่มตอนนี้อยู่ที่ประเด็นเศรษฐกิจที่ประชาชนเดือดร้อนกันอยู่ โดยเริ่มจากการยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา "ตอนนี้ในแง่ของกลุ่ม 24 มิถุนาฯ เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจและความเดือนร้อนของประชาชนเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งเราก็วิเคราะห์แล้วว่าปัญหาในด้านเศรษฐกิจคือภาษีน้ำมันซึ่งส่งผลให้น้ำมันมีราคาแพง เมื่อน้ำมันมีราคาแพงก็ทำให้สินค้าอุปโภค บริโภคมีราคาแพงทำให้ประชาชนเดือดร้อน เงินเฟ้อในอัตราสูงก็ทำให้คนที่มีรายได้ประจำเสียหาย สมมุติว่าเคยซื้อเสื้อ 100 บาทเมื่อเดือนที่แล้วแต่เดือนนี้ต้องซื้อ 120 จะทำยังไงถ้ามีรายได้แค่ 100 บาท เราจึงเห็นว่าจะต้องควบคุมไปที่ราคาน้ำมันให้คงที่แล้วก็แก๊สหุงต้มที่ครัวเรือนใช้ ส่วนเรื่องที่สองที่เราคัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ทางเราคาดว่ารัฐบาลจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 9% ในเดือนตุลาคมนี้ กลุ่มเราก็จะเดินหน้าคัดค้านกันต่อไป" "แต่ที่สำคัญคือเราเห็นว่าปัจจุบันนี้เรามีงบประมาณเพียงพอ ปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐบาลเอาเงินไปใช้ในส่วนที่ไม่เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ เช่น เรื่องไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เหมือนเราไปซื้อ GT200 (อุปกรณ์ตรวจจับระเบิดที่หน่วยงานรัฐของไทยหลายแห่งซื้อใช้ตั้งแต่ปี 2547 และมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพจนถูกปลดประจำการในที่สุด) ไปซื้อเรือเหาะราคา 350 ล้านเอามาจอดเฉยๆ อย่างนี้มันเป็นการผลาญงบประมาณ กินเงินเดือนสองตำแหน่งกลายเป็นอภิสิทธิ์ชน ทำงานเหมือนสมาชิกนิติบัญญัติกินเงินเดือนสองตำแหน่งแบบนี้ต้องเลิก หรืออัตรานายพลล้นเกิน มีมากไป มีหลายตำแหน่ง ซึ่งประเด็นนี้มันก็สามารถลดจำนวนนายพลลงได้ แบบนี้คือการใช้งบประมาณของรัฐในทางที่ไม่ถูกต้อง เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย" ไม่รู้ว่าเป็นเพราะการเคลื่อนไหวของกลุ่ม 24 มิถุนาฯ หรือไม่ เพราะเมื่อ 13 มิ.ย. หลังจากที่สมยศและพวกได้ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลได้ห้าวัน ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบแนวทางลดภาระค่าครองชีพประชาชนในส่วนแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) ไทยรัฐรายงานว่า การตรึงราคาแก๊สแอลพีจีที่ไว้ที่ 363 บาทสำหรับครัวเรือน และ 325 บาทสำหรับกลุ่มหาบเร่แผงลอย ร้านขายอาหารขนาดเล็กและกลางได้เริ่มแล้วเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา ต้นทุนการทำอาหารที่ถูกลงย่อมหมายความว่าผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อกินข้าวกระเพราหมูกรอบพิเศษ+ไข่ดาวไม่ค่อยสุกจานเดิม แม้ไม่มีใครบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตอบสนองต่อหนังสือที่ยื่นไปหรือไม่ แต่สมยศก็ยังเห็นว่าเป็นการยิงลูกบอลเข้าประตูเดียวกัน คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายของคณะราษฎรในอดีต และกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ในปัจจุบัน เป้าหมายทางการเมืองยึดตามคณะราษฎร-ต้านรัฐประหารสมยศยืนยันว่าอุดมการณ์และเป้าหมายทางการเมืองของกลุ่มยังคงเป็นการต่อต้านการรัฐประหาร ที่ได้ทำมาในเรื่องการจัดเวทีเสวนาให้ความรู้ก็ยังทำอยู่ อย่างที่ไปยื่นข้อเสนอเรื่องเศรษฐกิจเมื่อครั้งที่แล้วก็เป็นข้อเสนอที่ตกลงกันในวงสัมมนาเรื่องราคาน้ำมัน ปัจจุบันกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยได้ร่วมมือกับกลุ่มผลักดันประเด็นทางการเมืองที่มีอยู่ในสังคมตอนนี้บ้างแล้ว "เราถือว่าเป็นการใช้อำนาจกับการเมืองโดยมิชอบธรรมทางเราจึงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แล้วก็ยังเดินหน้าอยู่ทั้งการสนับสนุนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เดินหน้าให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เรื่องการที่จะร่วมมือกับ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) ในการรณรงค์ลงนามยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. แม้สมยศไม่ได้ออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อ 21-22 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่เขายืนยันว่าถ้ามีการชุมนุมในลักษณะเดียวกันอีกก็พร้อมจะเข้าร่วม แม้มีความเสี่ยงจะถูกคดีความเพิ่มเติมในลักษณะเดียวกันกับที่ผู้ชุมนุมทางการเมืองได้รับเป็นดอกผลเมื่อมีน้ำเสียงฮึดฮัดกับ คสช. แต่สมยศกล่าวว่าพร้อมโดนคดีความเพิ่มเติมให้เป็นเกียรติประวัติไม่ให้น้อยหน้ากับนักกิจกรรมรุ่นหลัง คำตอบของสมยศสะท้อนถึงที่มาของการมองสถิติคดีความว่า เป็นเรื่องเดียวกันกับการได้รับเข็มกลัดบริจาคเลือดที่ยิ่งเยอะยิ่งดูมีเกียรติประวัติ ด้วยการมองว่าการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในช่วงที่สถานการณ์งวดเข้านั้นต้องใช้อิสรภาพเป็นเดิมพัน และทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นบนเวทีแห่งสันติวิธี "จะออกมาชุมนุมอย่างแน่นอน และยินดีด้วยที่จะขึ้นไปพูดจาปราศรัย เพราะน้องๆ มีคดีกันหมดแล้ว เราก็ต้องมีบ้างเป็นเกียรติประวัติ ซึ่งมันเหมือนกับสังคมช่วงเปลี่ยนผ่านมันจำเป็น" "จำเป็นในแง่ที่ว่าเรามีเสรีภาพแต่เขาไม่ให้ มันก็ต้องแลกกันกับอิสรภาพ ในเมื่อเรายืนยันที่จะใช้สิทธิเสรีภาพแต่รัฐบาลที่เป็นเผด็จการไม่ให้ คุณก็ต้องเลือกขอใช้สิทธิแม้ว่าจะต้องถูกจับหรือดำเนินคดี เมื่อมันเป็นหนทางที่สันติวิธี เราเป็นฝ่ายที่ได้รับความทรมาน แต่เพราะว่าเราต้องการการต่อสู้หรือไม่เราก็ต้องยอมจำนน ถ้ายอมจำนน สังคมก็หยุดนิ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเขาก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่เสียสละ เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่พยายามต่อสู้ แล้วเราจะอยู่เฉยได้ยังไง เราก็ต้องไปเข้าร่วมเพราะมันเป็นอุดมการณ์" เดิมพันสูงลิบ เมื่อการเมืองรัฐประหารเป็นเรื่องของทุกคน กับบทเรียนจาก 2475 ที่ประชาชนต้องไปต่อจากสายตาของหนึ่งในสมาชิกกลุ่มต่อต้านรัฐประหารที่มีช่วงชีวิตขององค์กรคาบเกี่ยวรัฐบาลทหารถึงสองรัฐบาล สมยศเปรียบเทียบว่า การรัฐประหารในปี 2557 มีตัวละครเยอะกว่าการรัฐประหารเมื่อปี 2549 หลายองค์กรแบไพ่ให้เห็นชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายใด ใครสนับสนุนการรัฐประหารบ้าง ดังนั้นการต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้จึงมีเดิมพันที่สูงอันอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ "งานนี้คณะรัฐประหารได้ไปดึงสถาบันต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก เช่น ศาล ข้าราชการทั้งหลายหรือตำรวจก็ถูกดึงมาใช้งาน ซึ่งมันทำให้เห็นโครงสร้างใหญ่ๆ ในสังคมว่า ปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองนี้อยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่มีลักษณะพิเศษ บางทีเราต้านคณะรัฐประหาร มันไม่ได้หมายความว่าเราต้านแค่ทหาร" "แบบนี้อันตรายมาก อัตราเสี่ยงสูงมาก เดิมพันก็สูง ถ้าพังก็พังทั้งระบบ เช่นระบบเศรษฐกิจ ระบบยุติธรรม ประเพณีโบราณ...มันไม่ใช่รัฐประหารธรรมดาหรือทำโดยคณะรัฐประหารแล้วกลายเป็นเผด็จการล้วนๆ แต่มันเป็นการดึงหน่วยงานทุกหน่วยงานมาใช้ มันก็จะเสียหายไปด้วยกันเหมือนลากศาลมาร่วมด้วย มันก็จะเสียหายไปตามๆ กัน...สมัยก่อนเราอาจจะแค่รัฐประหาร แต่ทุกวันนี้เราเห็นอะไรหลายๆอย่าง สังคมก็เลือกข้างอย่างชัดเจน คนนี้เผด็จการ คนนี้ประชาธิปไตย องค์กรหรือพรรคการเมืองอยู่ข้างไหน ทุกอย่างมันเห็นภาพอย่างชัดเจนซึ่งรวมไปถึงโครงสร้างด้วย" สมยศยังเล่าถึงบทเรียนการปฏิวัติปี 2475 ว่า การเปลี่ยนระบอบการปกครองยังไม่พอ ถ้าอุดมการณ์ความคิดของประชาชนยังไม่ถูกรื้อในขณะที่อำนาจถูกเปลี่ยนมือ ซึ่งตรงนี้สมยศถือเป็นความจำเป็นในการที่จะสานต่อการปฏิวัติปี 2475 ที่หมุดหมายประชาธิปไตยถูกปักลงด้วยคนไม่กี่คน แต่คนที่จะตอกหมุดให้มั่นคือประชาชนทั้งประเทศ "ถ้าเราดูการเปลี่ยนแปลง 2475 มันเปลี่ยนแปลงจากพระมหากษัตริย์มาหาขุนนางจนถึงคณะราษฎร ประชาชนไม่มีส่วนร่วมมาก แต่ว่า 2475 มันให้กำเนิดธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์มันให้กำเนิด 14 ตุลาคม 2516 มีบทบาทในการต่อสู้ 14 ตุลาคม ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของประชาชน เพราะฉะนั้นคำว่า อำนาจรัฐสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลายมันเกิดขึ้นหลัง 14 ตุลาคม พอมาถึงวันนี้ก็คือว่า ทำอย่างไรการสานต่อภารกิจของคณะราษฎรจะแล้วเสร็จตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎร อยู่ที่ประชาชนเป็นผู้กระทำ ในเรื่องหลัก 6 ประการ (หลักหกประการของคณะราษฎร: เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา/ ที่มาจากวิกิพีเดีย) รวมทั้งเรื่องเจตนาจะเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่แล้วเสร็จ หมายถึงว่าเขาเปลี่ยนได้แค่กลไกรัฐแต่เขาไม่ได้เปลี่ยนอุดมการณ์ทางสังคม สังคมก็ยังเป็นระบบไพร่ฟ้าอยู่ ยังมีระบบอุปถัมภ์ มีความเชื่อเรื่องเจ้านายลูกน้อง มีความเชื่อเรื่องฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ถ้าเกิดว่าคุณไม่ปฏิวัติความเชื่อเหล่านี้ ความเสมอภาคก็จะไม่เกิด เจตนารมณ์ของคณะราษฎรก็ไม่เกิด เรื่องความเสมอภาค รื้ออุดมการณ์เก่าเพื่อให้ได้อุดมการณ์ประชาธิปไตย อุดมการณ์ประชาธิปไตยมันไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาล แต่มันต้องเปลี่ยนความคิดของคนในสังคม เลิกขึ้นต่อเลิกพึ่งพา" สมยศกล่าวสรุป ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คืนวันพุธปลดอาวุธ คสช. iLaw X Prachatai | EP1 ผลกระทบคำสั่ง 3/58 Posted: 27 Jun 2018 09:39 AM PDT 27 มิ.ย. 2561 รายการ "คืนวันพุธปลดอาวุธ คสช." โดย iLaw X Prachatai ตอนแรก พูดคุยผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ทำให้การชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทหารมีอำนาจมาจับกุมได้ รวมทั้งพบกับ "พี่รูน" มัทนา อัจจิมา หนึ่งในผู้ร่วมการชุมนุมของ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 มาแล้วสี่คดี ที่จะมาบอกเล่าถึงผลกระทบในชีวิตจากการถูกดำเนินคดีเพียงเพราะการออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 เห็นด้วยกับเรา ช่วยกันคนละชื่อเพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช. รวม 35 ฉบับ ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและขัดต่อประชาธิปไตย โดยดูรายละเอียดขั้นตอนและวิธีการที่ www.ilaw.io ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เลือกตั้งตุรกี 2018 : ชัยชนะของแอรโดอันกับความจริงที่ยากจะรับได้ Posted: 27 Jun 2018 07:11 AM PDT ตุรกีมีกำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของตุรกี ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางทำให้หลายคนต้องยอมรับความจริงที่ยากจะรับได้ ซึ่งเป็นชัยชนะของ "แอรโดอัน" (เอ็ด-โด-อัน) พรรค AK และ "พันธมิตรของประชาชน"(People's Alliance) ด้วยกับผลคะแนนร้อยละ 52.55 สำหรับประธานาธิบดี และร้อยละ 53.62 สำหรับพันธมิตรของประชาชน ซึ่งถือว่าคะแนนเสียงดังกล่าวเป็นเสียงส่วนมากสำหรับแอรโดอันและ ส.ส.ของพันธมิตรของประชาชนในรัฐสภา ตุรกีมีกำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของตุรกี ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางทำให้หลายคนต้องยอมรับความจริงที่ยากจะรับได้ ซึ่งเป็นชัยชนะของ "แอรโดอัน" (เอ็ด-โด-อัน) พรรค AK และ "พันธมิตรของประชาชน"(People's Alliance) ด้วยกับผลคะแนนร้อยละ 52.55 สำหรับประธานาธิบดี และร้อยละ 53.62 สำหรับพันธมิตรของประชาชน ซึ่งถือว่าคะแนนเสียงดังกล่าวเป็นเสียงส่วนมากสำหรับแอรโดอันและ ส.ส.ของพันธมิตรของประชาชนในรัฐสภา
นับตั่งแต่ปี ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา อุณหภูมิการเมืองของตุรกีสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ตุรกีเป็นประเทศที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย และเป็นประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลางซึ่งมีบทบาทในการกำหนดชะตากรรมทางการเมืองของประเทศในภูมิภาคดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น ตุรกีเข้าไปมีส่วนร่วมในการรบในประเทศซีเรีย เป็นตัวถ่วงดุลกับพันธมิตรของประเทศซาอุดิอาระเบียในเหตุการณ์การปิดล้อมประเทศกาตาร์ และมีบทบาทในการสนับสนุนรัฐปาเลสไตน์ นอกจากนั้น ตุรกีภายใต้การนำของประธานาธิบดี ทายยิบ แอรโดอันยังต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพอียิปต์ และเป็นตัวแบบที่สำคัญของ "ประชาธิปไตยแบบมุสลิม" อีกด้วย กล่าวได้ว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้นอกจากจะเป็นตัวกำหนดนโยบายการเมืองภายในประเทศและยังเป็นการกำหนดนโยบายการต่างประเทศของตุรกีในอนาคตด้วย คู่ต่อสู้หลักในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ประธานาธิบดี เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน ซึ่งเป็นผู้นำพรรคเพื่อความยุติธรรมและพัฒนา (AKP อ่านว่า อา-แค-แพ หรือ พรรคอัค) และพันธมิตรของประชาชน กับ มูฮัรรอม อินเจ ผู้สมัครท้าชิงจากพรรคสาธารณรัฐประชาชน (CHP อ่านว่า แช-แห-แพ) กล่าวสั้น ๆ การแข่งขันกันในครั้งนี้เป็นการเดิมพันต่อสู้กันระหว่าง "พันธมิตรของประชาชน" กับ "พันธมิตรแห่งชาติ" พันธมิตรของประชาชนมีจุดยืนที่ต้องการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง มีอุดมการณ์แบบสภาพจริงนิยม สนับสนุนนโยบายรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียและส่งกองกำลังทหารเข้าไปแก้ไขปัญหาในประเทศซีเรีย นอกจากนั้น พรรค AK ยังมีนโยบายสนับสนุนกลุ่มขบวนการฟื้นฟูอิสลาม มีส่วนร่วมกับโลกมุสลิมและส่งเสริมประชาธิปไตยในตะวันออกกลางอีกด้วย ในขณะที่ พันธมิตรแห่งชาติมีนโยบายต่างประเทศในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยโดยการส่งตัวกลับประเทศและถอนกองกำลังทหารออกจากประเทศซีเรีย อีกทั้งยังต้องการสร้างระยะห่างกับ "โลกมุสลิม" แต่มุ่งเน้นไปสู่การเป็นพันธมิตรกับยุโรปและตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ อีกนัยหนึ่ง การเดิมพันครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อล้ม "ระบอบแอรโดอัน" แต่เป็นความพยายามที่จะล้มระบอบเก่าภายใต้แนวทางแบบประชาธิปไตยและสันติวิธี การต่อสู้ครั้งนี้เดิมพันไว้สูงเพราะฝั่งหนึ่งเป็นการ"เดินหน้า" เปลี่ยนระบบจากรัฐสภาไปสู่ระบบประธานาธิบดี และเป็นการ "คงไว้" ซึ่งนโยบายแบบความเป็นจริงนิยมของแอรโดอัน กับฝั่งด้านหนึ่งซึ่งชู "การเปลี่ยนแปลง" ไปสู่ความเป็นเสรีนิยมและเซคคิวล่าแบบตะวันตก และ "หันกลับ" ไปสู่การใช้ระบบรัฐสภาแบบเดิม โดยสรุป ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นตัวชี้ชะตาของประเทศตุรกีว่าจะเดินไปในทิศใดในอนาคตระหว่างสองแนวทางหลักข้างต้น ทั้งสองแนวทางชู "ประชาธิปไตย" เหมือนกันแต่ให้ความหมายไม่เหมือนกัน แนวทางแรกเป็นตัวแบบที่ชี้ให้เห็นว่า "ประชาธิปไตยกับอิสลาม" สามารถไปด้วยกันได้ มุสลิมสามารถอยู่ในการเมืองแบบเซคคิวล่า (ฆราวาสวิสัย) ได้และสามารถเป็นได้ทั้งมุสลิมและเซคคิวล่าในเวลาเดียวกัน[1] ในขณะที่แนวทางที่สองมองว่าประชาธิปไตยไม่สามารถไปได้กับความเป็นศาสนา (อิสลาม) เช่น การต่อต้านฮิญาบในพื้นที่สาธารณะ เพราะเซคคิวล่าคือการกำจัดศาสนาออกจากการเมือง ดังที่มุสตาฟา กามาล อาตาเติร์กได้กระทำในช่วงก่อสร้างรัฐชาติตุรกี เมื่อใดที่หลักการเซคคิวล่าถูกท้าทายจากความเป็นศาสนา กลุ่มนายทหารที่ถือตนว่าเป็นผู้ปกป้องแนวทางของอาตาเติร์กจึงมักนิยมการยึดอำนาจโดยการทำรัฐประหาร แนวทางที่สองในปัจจุบันมีพรรค CHP และ IYI เป็นหัวขบวน ในขณะที่แนวทางที่หนึ่งมีพรรค AK เป็นตัวแบบที่สำคัญ มโนทัศน์ประชาธิปไตยอาจแบ่งออกเป็นสองแบบ ได้แก่การให้ความสำคัญไปที่ "กระบวนการ" และ "สาระ" แนวทางแบบแรกชี้ให้เห็นว่าการได้มาซึ่งความชอบธรรมทางการเมืองคือการได้มาซึ่งอำนาจโดยกระบวนการประชาธิปไตยซึ่งมีการเลือกตั้งเป็นกฎเกณฑ์พื้นฐาน ในขณะที่แนวทางที่สองมองว่า "กระบวนการ" อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอในการได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตย แต่กลุ่มแนวทางที่สองก็ไม่สามารถสร้างนโยบายและวางอุดมการณ์ที่ชนะใจคนส่วนใหญ่ได้ กลุ่มที่สองจึงมักจะเรียกร้องโหยหา "สาระ" ของประชาธิปไตย และใช้ "สาระ" ดังกล่าวเป็นข้ออ้างว่ากลุ่มแนวทางแบบแรกไม่เป็นประชาธิปไตยโดยใช้ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตและการขาดความเป็นธรรมและเสรีในการเลือกตั้ง ที่ตลกร้ายกว่านั้นคือการที่ทหารกลุ่มหนึ่งมักใช้ข้ออ้างดังกล่าวในการก่อรัฐประหารอีกด้วย การเลือกตั้งครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการเลือกประธานาธิบดีโดยตรงและส่วนที่สองคือการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เข้าไปนั่งในสภา ถ้าหากว่าผลคะแนนการเลือกตั้งในครั้งไม่สามารถชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนร้อยละ 51 ได้ ก็จะมีการเลือกตั้งรอบสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าหากว่ามีผู้สมัครท่านใดสามารถได้คะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 51 ก็ถือว่าเป็นส่วนมากอย่างเป็นเอกฉันท์ ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้มีลักษณะทางประชากรคล้ายกับผลการลงประชามติครั้งล่าสุดใน ค.ศ. 2017[2] ในแง่ที่ว่าประชาชนในเมืองแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหรือทางทิศตะวันตกของประเทศตุรกี (เช่น อิซมิร มูลา อัยดึน) ให้คะแนนเสียงกับพรรคฝ่ายค้านเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ดิยารบาคิรและหักคารึ ซึ่งเป็นพื้นของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเคิร์ดประชากรส่วนใหญ่เทคะแนนเสียงให้กับพรรคประชาธิปไตยประชาชน (HDP อ่านว่า แฮ แด แพ) ซึ่งเป็นพรรคที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวเคิร์ด ส่วนพรรค AK ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่จากทั่วประเทศโดยเฉพาะในเขตที่มีความเคร่งศาสนาสูง อย่างเช่น คอนย่า ริเซ แอรซูรูมและไคซีรี เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ลักษณะทางประชากรที่แตกต่างออกไปจากผลการเลือกตั้งครั้งก่อนคือ ชัยชนะของแอรโดอันและพรรค AK ในเขตเมืองใหญ่ที่สำคัญ อย่างเช่น อิสตันบูล ชัยชนะในหัวเมืองใหญ่เปรียบเสมือนการยัดเยียดความปราชัยที่มีความชอบธรรมให้กับพันธมิตรฝ่ายค้านที่มักอ้างวาทกรรมว่า "คนเมืองที่มีการศึกษาไม่เลือกพรรค AK ในขณะที่คนชนบทที่ยากจนมักจะเลือกพรรค AK เพราะสามารถซื้อเสียงได้ง่าย" มีข้อสังเกตที่สำคัญสองประการในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประการแรก การรวมตัวกันของ "พันธมิตรแห่งชาติ" ซึ่งประกอบด้วยพรรค CHP, IYI และ SP บ่งชี้ให้เห็นการรวมตัวที่แปลกประหลาด กล่าวคือ พรรค SP คือพรรคที่มีอุดมการณ์อิสลามนิยมและมีจุดยืนฝั่งขวาสุดโต่งสามารถจับมือกันได้กับพรรคที่มีอุดมการณ์เซคคิวล่า เสรีนิยมและมีจุดยืนฝั่งซ้าย การจับมือกันระหว่างพรรคอิสลามนิยมกับพรรคอาตาเติร์กนิยมชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งทางอุดมการณ์ หรืออาจกล่าวได้ว่า การผนึกกำลังครั้งนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนการต่อสู้ที่อุดมการณ์ทางการเมืองแต่เป้าหมายสูงสุดคือการกำจัด "ระบอบแอรโดอัน" เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี แม้ว่าฝ่ายค้านจะเอือมระอากับการปกครองของระบอบที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "อำนาจนิยม" แต่กระนั้น ทุกพรรคก็พร้อมเดินหน้าหาทางออกให้กับปัญหาทางการเมืองด้วยการเลือกตั้ง ประการที่สอง พลเมืองชาวตุรกีส่วนใหญ่ยังคงไว้วางใจ "แอรโดอัน" (60%) และพรรค AK (51%) ให้บริหารประเทศต่อ แต่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าชาวตุรกีในทวีปอเมริกา รัสเซียและจีนส่วนใหญ่เลือกเทคะแนนเสียงให้พรรคฝ่ายค้าน ในขณะที่ชาวตุรกีในยุโรปตะวันตกและสแกนดิเนเวีย อาทิ เยอรมัน ฝรั่งเศส นอร์เวย์และสวีเดนเทคะแนนเสียงส่วนใหญ่กับแอรโดอันและพรรค AK ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่ที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศไว้วางใจระบอบแอรโดอัน จะกล่าวได้หรือไม่ว่าเสียงเหล่านี้ไม่มีคุณภาพและไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเราควรกล่าวหาระบบการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้งของตุรกีว่าไม่เป็นธรรมและไม่เสรี การเลือกปฏิบัติและกีดกันพรรคฝ่ายค้านทำให้ผู้คนจำนวนกว่า 26 ล้านคน (52.5%) ของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมดจำนวน 59 ล้านคนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบด้านกระนั้นหรือ? ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สร้างความผิดหวังให้กับหลายฝ่าย อาทิ ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยตะวันตก ฝ่ายเซคคิวล่า ฝ่าย Gulen และกลุ่มซาลาฟีหัวรุนแรง แต่อีกด้านหนึ่งก็นำความปิติยินดีมาให้กับฝ่ายมุสลิมที่นิยมประชาธิปไตย ขบวนการฟื้นฟูอิสลาม และผู้นำประเทศมุสลิมหัวก้าวหน้า เช่น ในมาเลเซีย อาเซอร์ไบจานและกาตาร์ แม้ว่ามันจะเป็นความจริงที่ยากจะรับได้สำหรับหลายคน แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีพรรคที่แพ้เลือกตั้ง ก็คงจะให้ความหวังและอนาคตที่ดีกว่าและคงดีกว่าการเมืองที่ไม่มีการเลือกตั้งกระมัง
เชิงอรรถ
[1] โปรดดูข้อสังเกตเพิ่มเติมได้ที่ Voll, John O. "Turkish Elections: Important Reminders about Secularism, Democracy, and Islam." Prince Alwaleed Bin Talal Center for Muslim-Christian Understanding. Accessed June 24, 2018. https://acmcu.georgetown.edu/turkish-elections-important-reminders. [2] อันวาร์ กอมะ. "ประชาธิปไตยลูกผสมจากตุรกีถึงไทย." ใน ประชาธิปไตยและอิสลาม: ข้อสังเกตเบื้องต้น, เอกรินทร์ ต่วนศิริ และ อันวาร์ กอมะ บรรณาธิการ. ปัตตานี: ปาตานีฟอรั่ม, 2018. ฉบับออนไลน์โปรดดูที่ อันวาร์ กอมะ. "บันทึกจากตุรกีว่าด้วยผลประชามติถึงประชาธิปไตยไทย ตอนจบ." Patani Forum. Last modified 2017. Accessed April 18, 2017. http://www.pataniforum.com/single.php?id=688.
ที่มา: www.pataniforum.com
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สงครามการค้า, ความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และโอกาสของไทยในธุรกิจโลกที่ผันผวน Posted: 27 Jun 2018 06:44 AM PDT
อเมริกาเปิดสงครามการค้ากับจีนด้วยการขึ้นภาษีร้อยละ 25 กับสินค้าหลายประเภทที่มาจากจีน จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากอเมริกาด้วยมาตรการแบบเดียวกัน การตอบโต้ทางการค้าของทั้งสองประเทศลามไปถึงยุโรป, แคนาดาและเม็กซิโก และทำให้หลายฝ่ายกังวลใจกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อการค้าโลกอย่างที่กรุงเทพธุรกิจเขียนไว้ในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ในวันจันทร์ที่ผ่านมา แน่นอนว่าเราตระหนักถึงความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นกับการค้าโลก แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความผันผวนย่อมนำมาซึ่งโอกาส และผู้ที่คว้าโอกาสไว้ได้ อาจครอบครองส่วนแบ่งการตลาดใหม่ๆ ไปอีกนาน รายการสินค้ากว่า 1,300 รายการ ที่อเมริกาตั้งกำแพงเพิ่มภาษีจากจีนคือโอกาส รายการทั้งหมดมียอดนำเข้าจากจีนปีละ 34,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี ผมได้เข้าไปดูรายการที่โดนขึ้นภาษีและเห็นว่าหลายรายการเป็นรายการที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต เช่น เคมีภัณฑ์ (โพลีไวนิล, โพลีเอทธีลีน), แม่พิมพ์ขึ้นรูปงานพลาสติกประเภทต่างๆ , เครื่องจักรขึ้นรูปโลหะด้วยระบบไฮโดรลิค (hydraulic press) หรือหลอดไฟแอลอีดี เป็นต้น เฉพาะหลอดไฟแอลอีดีอย่างเดียว อเมริกานำเข้าจากจีนปีละ 637 ล้านดอลลาร์ หรือคร่าวๆ 2 หมื่นล้านบาท หากเราสามารถระบุบริษัทที่นำเข้าหลอดไฟแอลอีดีในอเมริกาแล้วเชิญให้ลองใช้ผลิตภัณฑ์จากไทยได้ เราอาจได้ส่วนแบ่งการตลาด 2 หมื่นล้านนี้บางส่วน กว่าสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกาจะจบ ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทนำเข้าในอเมริกาและบริษัทส่งออกจากไทยอาจแน่นแฟ้นเกินกว่าจีนจะเอาส่วนแบ่งการตลาดคืนไปแล้ว รายการที่จีนตอบโต้สินค้านำเข้าจากอเมริกาน่าสนใจไม่แพ้กัน ส่วนใหญ่เป็นรายการสินค้าเกษตรซึ่งมาจากรัฐที่เป็นฐานเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์, พลังงานในรูปแบบต่างๆ , เคมีภัณฑ์, น้ำมันหล่อลื่นและรถยนต์ประเภทเอสยูวี สินค้าที่รัฐและเอกชนไทยน่าจะรีบติดต่อทางการค้าในโอกาสที่ผู้นำเข้าต้นทุนกำลังจะเริ่มสูงขึ้นในการนำเข้าสินค้าครั้งต่อไป คือรายการที่อยู่ใบบัญชีที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน เช่นเคมีภัณฑ์, ข้าว, ลองกอง, ทุเรียน และรถยนต์เอสยูวี (ดู disclaimer) มองให้ไกลกว่านั้น การลดกำแพงภาษีอาจไม่เกิดขึ้นง่าย เราสามารถใช้โอกาสนี้ดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยโดยอาศัยความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมโลก บริษัทที่อยู่ในอเมริกาและสินค้าของบริษัทของบริษัทนั้นโดนภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 คือเป้าหมายที่เราสามารถชักจูงให้บริษัทเหล่านั้นย้ายฐานการผลิตจากอเมริกามาผลิตที่ไทย (รวมถึงในทางกลับกัน คือใช้ไทยไปอเมริกา) อันจะนำมาซึ่งการลงทุนและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ภายใต้กระแสการแข่งขันที่เชี่ยวกรากในอุตสาหกรรมระดับโลก เราต้องไม่มองแค่ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่มองว่าเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้วจะนำไปสู่อะไร ความสำเร็จไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มาจากการมองเห็นโอกาสและกล้าไขว่คว้ามัน
ป.ล.1: ผมนั่งไล่ดูรายการสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากทั้งสองประเทศจาก Financial Times ตามที่แนบมา ป.ล.2: disclaimer – บริษัทที่ผมเคยทำงานมีส่วนได้ส่วนเสียหากผลักดันการส่งออกเอสยูวีจากไทยไปจีน
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน [WAKE UP THAILAND SPECIAL] อภิปราย 10 พรรค Posted: 27 Jun 2018 03:32 AM PDT งานเสวนาพิเศษ WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน "86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" ที่ Voice Space สถานีโทรทัศน์ Voice TV 21 ถนนวิภาวดีรังสิต ดำเนินรายการโดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ชวนตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมอภิปราย ประกอบด้วย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย วราวุธ ศิลปอาชา แกนนำชาติไทยพัฒนา อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตวุฒิสมาชิกสรรหาแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. และว่าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังพลเมือง ชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งพรรคเกรียน หรือพรรคเกียน 86 ปีประชาธิปไตยไทย #1 อภิสิทธิ์-จาตุรนต์-วราวุธ-อนุทิน ตัดเกรดประชาธิปไตย86 ปีประชาธิปไตยไทย #2 สัมพันธ์-ชวน-ธนาธร-บ.ก.ลายจุด ตัดเกรดประชาธิปไตยพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ "มีอะไรมาครอบปากเราไปเสียหมด แล้วยังเป็นประชาธิปไตยหรือ"ไพบูลย์ นิติตะวัน นิยามประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีส่วนร่วม รับฟังแม้ไม่เห็นด้วยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มุ่งเปลี่ยนไพร่เป็นพลเมือง ทำให้ คสช. เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
[คลิป] สำรวจ 9 จุดเช็คอินคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 Posted: 27 Jun 2018 02:11 AM PDT วิดีโอเรียบเรียงโดย ทัศมา ประทุมวัน และอัจฉริยา บุญไชย สำรวจ 9 จุดเช็คอิน สถานที่และความทรงจำรำลึก ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงแม้ว่าบริเวณที่ในอดีตเคยเป็นจุดฝัง "หมุดคณะราษฎร" ปัจจุบันกลายเป็นจุดเปิดวาร์ปเรียกตำรวจ-ทหารมาสอบสวนหากคิดจะนำ "หมุดคณะราษฎรจำลอง" ไปติดตั้งคืนที่เดิม [1] หรือถูกซักถามทั้งโทรศัพท์หรือมาประกบถึงตัวหากบุคคลนั้นมีแนวโน้มจะไปรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ บริเวณนั้น [2] ก็ตาม แต่ก็ยังมีจุดเช็คอินอื่นๆ ที่จะขอแนะนำรวมเป็น 9 สถานที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคณะราษฎรและเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ชนิดที่ใกล้ตัวคุณผู้อ่านอย่างคาดไม่ถึง อ่านเพิ่มเติมที่ 9 จุดเช็คอินคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475, ประชาไท, 25 มิถุนายน 2560
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปธ.สภานิสิตจุฬาฯ เลิกจัดแปล 'ไทม์' ให้ประวิตรฟังเหตุผู้บริหารขอมา มหา'ลัยปัดห้าม Posted: 27 Jun 2018 12:18 AM PDT ประธานนิสิตจุฬาฯ และเพื่อนเตรียมจัดกิจกรรมแปลบทสัมภาษณ์ประยุทธ์ในนิตยสารชื่อดัง 'ไทม์' ให้ประวิตร วงษ์สุวรรณฟังหลังบอกนักข่าวว่าอ่านไม่ออก แต่ต้องยกเลิกเพราะผู้บริหารจุฬาฯ ขอให้เลื่อน-เปลี่ยนไปจัดนอกจุฬาฯ เนื่องจากกลัวเสียภาพลักษณ์ ทางจุฬาฯ ปฏิเสธ ระบุ เคารพเสรีภาพการแสดงออก หนุนกิจกรรมนิสิตที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ โพสท์ของธนวัฒน์เรื่องการยกเลิกกิจกรรม 27 มิ.ย. 2561 สืบเนื่องจากกรณีที่ธนวัฒน์ วงศ์ไชย นิสิตชั้นเศรษฐศาสตร์ชั้นปีที่ 4 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โพสท์บนบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าถูกผู้บริหารขอให้ยกเลิกการจัดกิจกรรม "แปลภาษาอังกฤษให้ประวิตรฟัง" ที่กำหนดจะจัดขึ้นที่จุฬาฯ เมื่อวานนี้ (26 มิ.ย. 2561) ธนวัฒน์ได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า เดิมได้วางแผนกับเพื่อนว่าจะแปลบทความของนิตยสารไทม์ ที่ได้สัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กจากห้องประชุมสภานิสิต อาคารจุลจักรพงษ์ เวลาราว 17.00-18.00 ของเมื่อวานนี้ ภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรมจากเฟซบุ๊กของธนวัฒน์ แต่ระหว่างที่จะจัดกิจกรรม ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของจุฬาฯ มาสังเกตการณ์ประมาณ 5-6 คน และมีผู้บริหารจุฬาฯ บางคนที่ธนวัฒน์ไม่ประสงค์ออกนาม ได้ติดต่อตนทางโทรศัพท์ รวมถึงฝากข้อความให้คนที่รู้จักกับตนมาขอให้เลื่อนการจัดกิจกรรมหรือไม่ก็ไปจัดกิจกรรมดังกล่าวนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย "ก่อนจัดกิจกรรมก็มีเหมือนจะเป็นคำร้องของของผู้บริหารบางท่านขอให้เลื่อนการจัด หรือไปจัดนอกรั้วจุฬาได้ไหม เพราะถ้าจัดกิจกรรมการเมืองในรั้วจุฬาฯ จะเป็นภาพลักษณ์ที่เสียต่อมหาวิทยาลัย ถ้าจะจัดต่อก็ไม่รู้ว่าจุฬาฯ จะมีมาตรการบังคับหรือลงโทษอย่างไร เพื่อความสบายใจของเพื่อนที่จะจัดกิจกรรมจึงตัดสินใจยกเลิก" ธนวัฒน์กล่าว ประธานสภานิสิตจุฬาฯ คนปัจจุบันระบุว่า ตั้งใจจะจัดกิจกรรมเช่นนี้เนื่องจากได้ยินว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่ายังไม่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของประยุทธ์บนนิตยสารไทม์ เพราะอ่านไม่ออกเนื่องจากเป็นภาษาอังกฤษ จึงอยากจัดกิจกรรมเพื่อให้คนไทยรู้เนื้อหาของนิตยสารไทม์ ว่าจริงๆ แล้วนิตยสารชื่อดังต่างประเทศได้ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์ประยุทธ์มากขนาดไหน โดยต่อจากนี้คงจะแปลบทสัมภาษณ์ดังกล่าวแล้วเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ธนวัฒน์กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าผู้บริหารบางท่านของจุฬาฯ เลือกปฏิบัติกับกิจกรรมของนิสิต สะท้อนว่าเสรีภาพทางวิชาการของมหาลัยในรัฐบาลทหารค่อนข้างจะตกต่ำ อย่างไรก็ตาม หลังจากธนวัฒน์ได้โพสท์เรื่องการยกเลิกการจัดกิจกรรมแล้ว เฟซบุ๊กเพจสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสท์ชี้แจงว่าการกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยมหาวิทยาลัยเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและสนับสนุนกิจกรรมนิสิตที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์เสมอ ทั้งนี้ ธนวัฒน์กล่าวกับประชาไทว่า ผู้บริหารที่ฝากข้อความมาถึงตนก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรมนั้นไม่ได้มาจากฝ่ายกิจการนิสิต เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา จุฬาฯ เป็นสถานที่จัดปาฐกฐาพิเศษจากประยุทธ์ ในหัวข้อ"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน มีการประชาสัมพันธ์ให้นิสิตหอพักรับชมผลงานการวิจัยและนวัตกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระยะเปลี่ยนผ่าน และร่วมรับฟังปาฐกถาพิเศษดังกล่าว โดยนับกิจกรรมดังกล่าวเป็นคะแนนหอพัก ซึ่งเป็นเกณฑ์คะแนนที่นำไปใช้พิจารณาในช่วงปลายปีการศึกษาว่าจะได้อยู่หอพักนิสิตต่อหรือไม่ในปีการศึกษาต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตัดสินคดี 'ประเวศ' ยกฟ้อง 112 ลงโทษจำคุกเฉพาะ ม.116 รวม 16 เดือน Posted: 26 Jun 2018 10:10 PM PDT ศาลอาญาพิพากษาว่ามีความผิดจากการโพสต์เฟสบุ๊คชักชวนคนเสื้อเหลือง-แดงร่วมรณรงค์ต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องระบอบสาธารณรัฐ-สหพันธรัฐ ผิดตาม ม.116 จำคุกรวม 15 เดือน ไม่เซ็นชื่อชั้นสอบสวนจำคุก 1 เดือน แต่ไม่ลงโทษตาม ม.112 ที่ถูกฟ้องไว้ถึง 10 กรรมโดยไม่ได้บรรยายเหตุผลประกอบ จำเลยอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 14 เดือน อีกสองเดือนปล่อยตัว
27 มิ.ย.2561 เวลา 9.45 น. ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีประเวศ ประภานุกูล ซึ่งอัยการฟ้องในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 10 กรรม มาตรา116 จำนวน 3 กรรม และ มาตรา14 (3) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 โดยศาลตัดสินว่า จำเลยไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมเท่ากับปฏิเสธสิทธิที่จะสู้คดี การโพสต์เฟสบุ๊คของจำเลยตั้งค่าเป็นสาธารณะ ข้อความดังกล่าวมีความผิดตามมาตรา 116 และมาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่เนื่องจากเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษในบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จึงให้ลงโทษจำคุกในความผิดมาตรา 116 จำนวน 3 กรรม กรรมละ 5 เดือน รวม 15 เดือน นอกจากนี้ให้ลงโทษจำคุกฐานไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวนตามประกาศ คปค.ที่ 25/2549 อีก 1 เดือน รวมโทษจำคุกทั้งหมด16 เดือน ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ตามในคำพิพากษาที่อ่านในวันนี้มิได้บรรยายการวินิจฉัยมาตรา 112 แต่อย่างใด สำหรับข้อความที่เป็นความผิดตามมาตรา 116 นั้น ศาลอ่านสรุปความได้ว่าเป็นการชักชวนให้คนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงร่วมกันถือป้ายรณรงค์ต่อต้านเผด็จการ และร่วมเรียกร้องระบอบสาธารณรัฐ สหพันธรัฐ โดยยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลให้ทุกคนที่มาฟังคดีนี้ยืนขึ้นเพื่อรับฟังคำพิพากษาพร้อมจำเลย หลังฟังคำพิพากษาญาติและผู้มาสังเกตการณ์คดีต่างแสดงความดีใจ รวมทั้งมีผู้เผลอปรบมือหลังศาลอ่านคำพิพากษาจบด้วย จากนั้นก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำตัวประเวศออกไป เขาได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้มาให้กำลังใจว่า อย่างไรก็ไม่อาจยอมรับกระบวนการเช่นนี้ว่าเป็นกระบวนการยุติธรรม หากแต่เป็นการไล่ล่าคนเห็นต่างจาก คสช. "วันหนึ่งข้างหน้าประวัติศาสตร์โลกจะตัดสินพวกเขาเอง" ประเวศกล่าว อนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" บัญญัติไว้ว่า "มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี"
ลำดับความเป็นมาของคดี ประเวศ ประภานุกูล ก่อนจะถึงวันพิพากษา 29 เม.ย.60 ทหารบุกคุมตัวประเวศ และคนอื่นๆ หลากหลายอาชีพที่บ้านของพวกเขาอีก 5 คน รวมเป็น 6 คนในวันเดียวกันแล้วนำไปควบคุมตัวที่ค่ายทหาร มทบ.11 ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ติดต่อทางบ้าน มิตรสหายของประเวศเริ่มต้นตามหาประเวศและเริ่มมีข่าวว่าคนนั้นคนนี้หายไป 3 - 4 พ.ค.60 ทหารทยอยนำตัวทั้งหมดผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 6 คน ส่งให้ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาและยื่นคำร้องฝากขังต่อศาล ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ประกันตัวรวมถึงประเวศ ผู้ต้องหา 5 คนถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 จากการแชร์สเตตัสของสมศักดิ์ เจียมฯ ที่วิจารณ์เรื่องหมุดคณะราษฎร พวกเขาถูกคุมขังอยู่หลายผัดในเรือนจำ แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัวและไม่มีการสั่งฟ้อง ขณะที่กรณีประเวศไม่เป็นเช่นนั้น เขาถูกแยกฟ้องในข้อหาหนักมาก ทั้งหมดมาจากการแสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊คส่วนตัวของเขา โดยแบ่งเป็น มาตรา 112 หมิ่นประมาทกษัตริย์ จำนวน 10 กรรม โดยที่สื่อต่างประเทศหลายสำนักพาดหัวว่าทนายความสิทธิฯ เผชิญกับข้อหาที่อาจถูกจำคุกถึง 150 ปี อันเป็นการคำนวณจากโทษสูงสุดของมาตรานี้ นั่นคือ 15 ปีคูณด้วย 10 กรรม แต่ในความเป็นจริงแม้ศาลลงโทษสูงสุดดังนั้น กฎหมายอาญามาตรา 91 ก็ระบุให้จำคุกโทษฐานนี้ได้สูงสุด 50 ปี 18 ก.ย. 60 เมื่อศาลนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน ประเวศตัดสินใจถอนทนายความของเขาทั้ง 3 คนและประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาล เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการในห้องพิจารณาคดี อัยการลงไปที่ศูนย์นัดความเพื่อกำหนดวันสืบพยานโจทก์เพียงฝ่ายเดียว พวกเขาเปิดสมุดจดงาน แล้วนัดสืบพยานห่างออกไปถึง 8 เดือน นั่นคือ 8-11 พ.ค.2561 ในครั้งนั้นมีคนอยู่ร่วมสังเกตการณ์คดีในห้องรวมๆ แล้วน่าจะไม่เกิน 10 คน และต่อมาสื่อไทยก็พาดหัวข่าวว่า ทนายหมิ่นเบื้องสูงหัวแข็ง แถลงรัวไม่รับระบบศาลไทย (เดลินิวส์)
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น