โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เครือข่ายต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรังค้านแผน PDP 2010

Posted: 07 Jun 2012 10:48 AM PDT

เครือข่ายต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรังค้าน กพช.พิจารณาแผน PDP 2010 ฉบับ 3 ชี้เปิดรับฟังความเห็นแค่ครึ่งวัน ไม่ให้ความสำคัญการมีส่วนร่วม นักวิชาการเผยแผนอนุรักษ์พลังงานฯ ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 49 ล้านตัน/ปี เลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 นิวเคลียร์ 5

 
 
 
วันที่ 7 มิ.ย.55 เมื่อเวลา 11.20 น.ที่ศาลาชุมชุน มูลนิธิอันดามัน ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง เครือข่ายประชาชน อ.กันตัง จ.ตรัง เปิดแถลงข่าวการคัดค้านร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2553-2573 (PDP 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นำเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 8 มิ.ย.55 โดยมีชาวบ้านร่วมประมาณ 20 คน
 
นายชนะชัย สังข์แดหวา แถลงว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.55 กระทรวงพลังงานได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า2555-2573 (PDP2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาในวันที่ 8 มิ.ย.55 โดยร่างเนื้อหาได้กำหนดกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เมื่อสิ้นสุดปี 2573 ไว้ที่ประมาณ 71,087 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตปัจจุบันที่มีอยู่ 32,629 เมกะวัตต์
 
นายชนะชัย แถลงอีกว่า จากเอกสารนำเสนอของกระทรวงฯ ตามแผน PDP2010 ปรับปรุงครั้งที่ 2 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ 18,400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 7,740 เมกะวัตต์ ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ  10,982 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบพลังงานร่วม Co-generation 8,319 เมกะวัตต์ พลังงานหมุนเวียน 4,433 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4,000 เมกะวัตต์
 
สำหรับแผน PDP2010 ปรับปรุงครั้งที่ 3 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ 25,451 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4,400 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าซื้อจากต่างประเทศ 6,572 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบพลังงานร่วม Co-generation 6,374 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 9,516 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส 750 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์
 
“การจัดทำร่างแผน PDP มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี 2554 – 2573เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.54 ที่ได้กำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานไว้ที่ 96,653 ล้านหน่วย ในปี 2573 ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อราคาเชื้อเพลิงที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่กระทรวงพลังงานกลับกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานไว้ในร่างแผน PDP ฉบับนี้เพียงร้อยละ 20 หรือ 3,494 เมกะวัตต์ภายใน 20 ปี ของเป้าหมายที่ครม.ให้ความเห็นชอบ” นายชนะชัย ระบุ
 
นายไตรณรงค์ เกื้อเส้ง แถลงว่า เครือข่ายประชาชน อ.กันตัง จ.ตรัง มีความเห็นว่ากระทรวงพลังงานจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.55 แค่ครึ่งวัน และครั้งเดียวในกรุงเทพ โดยส่งหนังสือเชิญในวันที่ 30 พ.ค.55 อีกทั้งเปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าน้อยมากในการพิจารณาเอกสารร่าง ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภคมากขึ้น เพราะแผนนี้อาจจะนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้นทุนการผลิตจะกลายมาเป็นภาระแก่ภาคประชาชน
 
นายไตรณรงค์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลปัจจุบันมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.54 เห็นชอบเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน 17,470 เมกะวัตต์ ภายใน 20 ปี หากเพิ่มประสิทธิภาพตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ก็สามารถตัดพลังงานนิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ ถ่านหิน 4,400 เมกะวัตต์ ลดโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และการนำเข้าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนได้อีก 16 โรง 9,500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะลดต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างน้อย 400,000 ล้านบาทและสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับระบบพลังงานของประเทศ
 
“หากคิดกำลังผลิตไฟฟ้าที่ได้จากแผนอนุรักษ์พลังงาน อีกร้อยละ 80 ที่ถูกตัดออก จะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เกิดที่ จ.ตรัง ภาคใต้ และภาคอื่นๆ ของประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถลดความขัดแย้งในพื้นที่ได้” นายไตรณรงค์ กล่าว
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 เม.ย.55 ที่ห้องประชุมอาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช สถาบันวิจัยและพัฒนาหน่วยวิจัยพลังงานหมุนเวียน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นศูนย์ประสานงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา และองค์กรเครือข่าย จัดเสวนา “ปัญหาพลังงาน...ทำไมจึงกลายเป็นปัญหาของท้องถิ่น” โดยมีผู้เข้าร่วมจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร และตรัง ประมาณ 300 คน
 
นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการด้านพลังงานมูลนิธินโยบายสุขภาวะ นำเสนอผ่านการเสวนาว่า แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554 – 2573) ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน มีศักยภาพในการประหยัดไฟฟ้าภายในปี 2573 ภาคอุตสาหกรรม 33,500 ล้านหน่วย ภาคอาคารธุรกิจขนาดใหญ่27,420 ล้านหน่วย ภาคอาคารขนาดเล็กและบ้านเรือน 23,220 ล้านหน่วย รวม 84,140 ล้านหน่วย หรือ 24.2% ของแผน PDP 2010 โดยกำหนดเป้าหมายของแผนฯ ประมาณร้อยละ 82 ของศักยภาพ หรือประมาณ 69,000 ล้านหน่วย หรือประมาณ 10,500 เมกะวัตต์ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 49 ล้านตันต่อปี ประหยัดพลังงานได้ 272,000 ล้านบาทต่อปี
 
แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี เป็นแผนซึ่งมีความคุ้มค่าในการลงทุน คิดเฉลี่ย 2,000-6,000 บาทต่อตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เป้าหมายการประหยัดไฟฟ้าในปี 2573 เทียบเท่ากับการลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดได้ 10,500 เมกะวัตต์ หากรวมกำลังการผลิตสำรอง 15% แผนอนุรักษ์พลังงานฯ สามารถลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ 12,077 เมกะวัตต์ สามารถยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง (7,200 เมกะวัตต์) บวกกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง (5,000 เมกะวัตต์)
 
นายศุภกิจ กล่าวด้วยว่า แผนพัฒนาพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี พ.ศ.2555-2564 ของกระทรวงพลังงาน สามารถพัฒนาด้านพลังงานจากเปอร์เซ็นต์การทดแทนฟอสซิล 25% ไม่รวม NGV กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 9,201 เมกะวัตต์ ปริมาณความร้อน 9,335 ktoe เชื้อเพลิงชีวภาพ 39.97 ล้านลิตรต่อวัน เปอร์เซ็นต์ทดแทนน้ำมัน 44% สำหรับด้านเศรษฐกิจสามารถลดการนำเข้าน้ำมัน 5.74 แสนล้านบาท ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 4.42 แสนล้านบาท ด้านสิ่งแวดล้อม การลด CO2 จำนวน 76 ล้านตันต่อปี ในปี 2564 รายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิต 2.3 หมื่นล้านบาท ด้านการพัฒนางานนวัตกรรมและเทคโนโลยี แผนงานวิจัยมีแผนปฏิบัติการชัดเจน ปี 2555-2559
 
ส่วนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2553-2573 (แผน PDP 2010) ของกระทรวงพลังงาน พยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า จาก 22,315 เมกะวัตต์ ในปี 2552 เป็น 52,890 เมกะวัตต์ ในปี 2573 และพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 146,182ล้านหน่วยเป็น 347,947 ล้านหน่วยในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า กำลังการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจาก 29,212 เมกะวัตต์ ในปี 2552 เป็น 65,547 เมกะวัตต์ ในปี 2573
 
กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 2553-2573 เพิ่มขึ้น 54,005 เมกะวัตต์ โดยมาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ 16,670 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 11,669 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 5,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 8,400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 512 เมกะวัตต์ รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 4,617 เมกะวัตต์ และระบบผลิตพลังงานร่วมไฟฟ้า-ความร้อน 7,137 เมกะวัตต์
 
“ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดจนถึงเดือนมิถุนายน 2554 เท่ากับ 23,900 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าการพยากรณ์ตามแผน PDP 2010 คือ 24,568 เมกะวัตต์ ไปแล้ว 668 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับกำลังผลิตสำรองอีก 15% จึงสามารถเลิกโครงการโรงไฟฟ้าได้แล้ว 768 เมกะวัตต์” นายศุภกิจ กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้าฯ"

Posted: 07 Jun 2012 08:35 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้าฯ"

“พีมูฟ” สลายตัว หลังพอใจได้ข้อสรุปร่วมเจรจา “ยงยุทธ” สางปัญหา 20 มิ.ย.นี้

Posted: 07 Jun 2012 08:09 AM PDT

เครือข่ายประชาชนล้อมศาลากลางลำพูน จวกพ่อเมืองไม่รักษาคำมั่นที่ออกมารับหนังสือ-ลั่นวาจาจะทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์สื่อสารข้อเรียกร้องการเจรจาปัญหาชาวบ้าน ด้านคดีที่ดินลำพูนสิ้นสุดหลังคดียื้อมากว่า 15 ปี

 
 
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.55 เวลาประมาณ 14.00 น. ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P move ขึ้นเวทีปราศรัยบนรถติดตั้งเครื่องขยายเสียง หลังนำสมาชิกกว่า 800 คนร่วมกันปิดล้อมบริเวณทางเข้าอาคารศาลากลางจังหวังลำพูน พร้อมชี้แจงเหตุผลว่า นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนไม่ปฏิบัติตามที่รับปากไว้ แสดงให้เห็นว่าไม่ใส่ใจที่จะร่วมแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ตามที่ ขปส.ได้เรียกร้องขอให้มีการเจรจา 
 
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.55 เครือข่ายภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือ ถึงนายงานยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เพื่อให้รัฐบาลเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการกับ ขปส. เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งนายสุรชัยได้ออกมารับหนังสือพร้อมรับปากจะประสานไปยังนายกรัฐมนตรี
 
ข้อเรียกร้องตามหนังสือดังกล่าวมี 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.การเร่งรัดแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนชุมชนในคณะกรรมการบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน) 2.การดำเนินการโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 ชุมชน ตามมติ ครม.22 ก.พ.55 และ 18 มี.ค.54 3.การผลักดัน พ.ร.บ.การรับรองสิทธิที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ตามนโยบายรัฐที่แถลงต่อสภา โดยในระหว่างที่กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินการระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 และ พ.ศ.2555
 
4.เร่งรัดแก้ไขกฎหมายป่าไม้ทั้ง 5 ฉบับ ให้สอดคล้องรัฐธรรมนูญในหมวดว่าด้วยสิทธิชุมชน และแนวทางในการยุติการฟ้องร้อง การดำเนินคดีโลกร้อน 5.เร่งรัดการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่ ขปส.ได้ยื่นต่อรัฐบาลไว้แล้ว
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่มีการยื่นหนังสือ ขปส.ได้ปักหลักพักค้างคืนภายในบริเวณศาลากลางจังหวัดพูน เพื่อรอขอรับทราบคำตอบจากรัฐบาลผ่านทางผู้ว่าฯ ภายในวันที่ 6 มิ.ย. 55 ก่อนเวลา 12.30 น. แต่กลับไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ดังนั้นในช่วงบ่ายจึงกลับเข้ามาทวงคำตอบถึงหน้าศาลากลางอีกครั้ง หลังจากที่ได้เดินทางไปร่วมให้กำลังใจต่อแกนนำในคดีที่ดินลำพูน ตามที่ศาลจังหวัดลำพูนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำการปิดล้อมบริเวณทางเข้าอาคารศาลากลางจังหวังลำพูน และได้เกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ 2-3 ครั้ง บริเวณหน้าประตูทางเข้าอาคาร
 
กระทั่งเวลาประมาณ 15.30 น. นายสุรชัยได้ออกมาพบปะกับผู้ชุมนุมพร้อมนำหนังสือที่ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีส่งแฟกซ์มายังผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องของ ขปส.ตามหนังสือที่ นร.0105/5122 ลงวันที่ 6 มิ.ย.55 ชี้แจงมาชี้แจงด้วย
 
 
สำหรับหนังสือดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้ ตามที่ ขปส. ชุมนุมที่จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของ ขปส. และขอแต่งตั้งผู้แทนเข้าพบนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาในเรื่องเร่งด่วนของ ขปส. รวม 5 ข้อ อีกครั้งหนึ่งนั้น
 
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ประสานงานแล้ว รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีกำหนดให้ผู้แทนของ ขปส.เข้าพบเพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในวันที่ 20 มิ.ย.55 เวลา13.00 น. ณ ห้องรับรองศาลาว่าการทระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อผู้ชุมนุมรับทราบข้อมูลตามหนังสือของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็พึงพอใจ และแยกย้ายกันเดินทางกลับภายในเย็นวันเดียวกัน
 
ทั้งนี้ ในส่วนการอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ ในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ หรือคดีที่ดินลำพูน ที่มีจำเลยคือ นายประเวศ ปันป่า นายสืบสกุล กิจนุกร และ นายรังสรรค์ แสนสองแคว โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ จำคุกนายประเวศ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนอีก 2 แกนนำยกฟ้องด้วยเหตุที่หลักฐานไม่มีน้ำหนัก
 
ด้านนายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษา ขปส.กล่าวว่า ยังมีคดีที่ดินในลักษณะเดียวกันนี้อีกกว่าร้อยคดี และจะมีคดีที่จะตัดสิ้นในปีนี้อีกสองคดี ดังนั้นการพิพากษาชั้นฎีกาครั้งนี้ถือเป็นเพียงชัยชนะขั้นแรกเท่านั้น เพราะฉะนั้นพี่น้องจึงจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป ในการที่จะให้รัฐบาลต้องลงมาเจรจาร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อหาข้อยุติของปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนานให้คลี่คลาย และเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดี ความเป็นธรรม และความถูกต้อง
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หนุนรัฐบาลลดเหลื่อมล้ำมะเร็ง ยื่นนายกนำกองทุนภัยจากรถ เข้าฉุกเฉิน 3 กองทุน

Posted: 07 Jun 2012 07:48 AM PDT

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพหนุนรัฐบาลเดินหน้าสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ใช้รูปแบบเหมือนระบบฉุกเฉิน 3 กองทุน เสนอรัฐบาลทำเรื่องมะเร็ง คู่กับไตและเอดส์ ชี้มะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงสุดคนไทย ถ้าลดเหลื่อมล้ำได้จะช่วยคนได้อีกมาก เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ให้นำกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ เข้าโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วย ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการเรียกเก็บเงิน 30 บาท เรียกร้องนายกกำกับลดความเหลื่อมล้ำ เพราะขอบเขตเกินภารกิจของสธ. แต่เกี่ยวพันหลายกระทรวง ทั้งเรื่อง ราคายา ประกันสังคม กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ

นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแถลงจุดยืนสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ เพื่อสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว และเสนอรัฐบาลเดินหน้าลดเหลื่อมล้ำโรคมะเร็ง ควบคู่กับการที่รัฐบาลมีแนวทางจะลดความเหลื่อมล้ำโรคไตและโรคเอดส์ ในระยะต่อไป เพราะโรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย เป็นสาเหตุการตายสูงสุด 1 ใน 5 ของคนไทย ขณะที่สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของแต่ละกองทุนมีความแตกต่างกัน ทั้งสิทธิประโยชน์ วิธีการจ่ายเงินให้รพ. ยาที่ได้รับ หากรัฐบาลทำให้สิทธิประโยชน์โรคมะเร็งทั้ง 3 กองทุนเหมือนกันจะมีประโยชน์อย่างมากต่อความก้าวหน้าของนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ

นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จะยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรียกร้องให้นำกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ เข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว เนื่องจากที่ผ่านมา นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินยังถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะยังไม่สามารถรวมการบริหารจัดการกองทุนผู้ประสบภัยจากรถเข้ามาได้ ทำให้ประชาชนและหน่วยบริการยังประสบความยุ่งยากในการเบิกจ่ายเช่นเดิม ผู้ป่วยบางรายยังต้องจ่ายเงินล่วงหน้าไปก่อน ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยกับการเรียกการเก็บเงินจากประชาชน 30 บาท เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ป่วย และทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลยากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีและรมว.สธ.เคยพูดว่าจะต้องพัฒนาระบบริการคุณภาพก่อนจึงจะเก็บเงิน 30 บ. ดังนั้นต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าได้พัฒนาคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังมีปัญหาคุณภาพการเข้าถึงบริการอีกมาก จึงไม่ควรเก็บเงิน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายที่ดีในการเริ่มต้นสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เพียงแต่ในรายละเอียดการบริหารจัดการที่ยังทำให้นโยบายไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ ประเด็นนี้รัฐต้องเข้าไปกำกับอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญคือนายกรัฐมนตรีควรลงมากำกับดำเนินการให้มากขึ้น เพราะการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน มีขอบเขตของภารกิจของภารกิจมากกว่ารมว.สธ. แต่ครอบคลุมไปถึงการทำงานของหลายกระทรวง  เช่น การกำกับต้นทุนโครงสร้างราคายา ราคาบริการการแพทย์รพ.เอกชน การทำให้กองทุนผู้ประสบภัยจากรถร่วมในนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน สำนักงานประกันสังคม

“สำหรับการดำเนินการในเดินหน้าทิศทางในอนาคตต้องครอบคลุมไปถึงโรคอื่นๆด้วย เช่น ไต มะเร็ง เอชไอวี/เอดส์ รวมถึงโรคอื่นๆที่ยังมีความเหลื่อมล้ำในอนาคต จึงต้องมีการวางแนวทางการรักษาของแต่ละโรค และกำกับให้แพทย์มีแนวทางการรักษาในแนวทางเดียวกัน มีระบบการจัดการที่เอื้อให้ผู้ป่วยเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้ และมีกรรมการควบคุมราคาอัตราค่าบริการทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์และยาด้วย ทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์ที่เกิดกับตัวผู้ป่วยโดยตรง และเป็นผลดีต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ” นายนิมิตร์ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดีตากใบยังไม่จบ ศาลนัดพิพากษาอุทธรณ์ ไม่เพิกถอนคำสั่ง ‘ขาดอากาศหายใจ’

Posted: 07 Jun 2012 07:40 AM PDT

ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ อุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งคดีไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลา 8 มิถุนายน 2555

 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เวลา 09.00 น. วันที่ 8 มิถุนายน 2555 ศาลอาญา กรุงเทพมหานคร นัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ ษ 43/2552 หมายเลขแดงที่ ษ 42/2552 กรณีญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 34 คน ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมอบอำนาจให้นางแยน๊ะ สะแลแม เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา

คดีนี้ เกิดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลา ได้มีคำสั่งในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพหรือคดีไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี  เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 78  คน  โดยศาลจังหวัดสงขลา มีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง  78  คน  เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ญาติผู้เสียชีวิตเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นไปโดยถูกต้อง และไม่เป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 , 27, 28, 32, 197 ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 2, 6, 7, 14 และไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา มาตรา 150 เนื่องจากหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง

แต่กรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบนี้  เมื่อรับฟังจากคำให้การพยานในคดีแล้ว  เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็นไปโดยไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม

โดยเมื่อวันที่ 29  มิถุนายน  2552  ญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 34 คน จึงได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลา ต่อศาลอาญา โดยอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลอาญามีเขตอำนาจทั่วอาณาจักร  เนื่องจาก กฎหมายกำหนดให้คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพถึงที่สุด จึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาต่อศาลอุทธรณ์ได้

ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตร เนื่องจากเห็นว่าศาลอาญาและศาลจังหวัดสงขลาเป็นศาลยุติธรรมชั้นต้นด้วยกัน เมื่อศาลสงขลารับคดีไว้พิจารณาแล้ว ศาลอาญาจึงไม่อาจพิจารณาได้อีก

ต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ญาติผู้เสียชีวิตดังกล่าว จึงได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องของศาลอาญาต่อศาลอุทธรณ์  และได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 8 มิถุนายน 2555 เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา กรุงเทพมหานคร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จดหมายเปิดผนึก 'RED USA' ถึงคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ ขอให้ลาออกทั้งคณะ

Posted: 07 Jun 2012 07:26 AM PDT

 

 

 

เรื่อง  
ขอให้ลาออกทันทีทั้งคณะ
ก่อนที่ประเทศชาติจะเสียหายเพราะพวกท่านไปมากกว่านี้

ดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ก่อกำเนิดมาจากคณะรัฐประหาร จึงนับว่ามีที่มาที่ไม่ชอบธรรม แต่กำเนิดมาเพียงเพราะขบวนการยุติธรรมไทยขลาดกลัว ลนลาน ก้มหัวยอมรับให้คณะรัฐประหารเป็นรัฐาธิปัตย์ มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน  เมื่อก่อเกิดมาแล้วก็มัวเมาอยู่ในอำนาจและผลประโยชน์ที่คณะรัฐประหารปรนเปรอให้ ซึ่งอำนาจและผลประโยชน์น่าจะสิ้นสุดไปพร้อมๆ กับการสลายตัวของคณะรัฐประหารหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้ว แต่ก็ยังด้านชาอยู่ในตำแหน่ง ท่ามกลางกระแสการประนามหยามเหยียดจากประชาชน  การคงอยู่ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศเป็นตัวตลก แต่ยังฉุดรั้งการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การลงทุน และการเมืองระหว่างประเทศ นอกเหนือจากเป็นองค์กรคอยสุมไฟแล้ว  ยังช่วยโหมกระหน่ำกระพือไฟแห่งความแตกแยกของคนในชาติให้ร้าวลึกยิ่งขึ้น เพียงเพื่อการดำรงอยู่ของตนเอง พวกพ้องและเจ้านายที่ถือปลายโซ่ดึงปลอกคอของพวกท่านอยู่ด้านหลังโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่เกิดกับประเทศชาติและประชาชนว่ามากมายเพียงใด

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำตัวเป็นตัวตลกในสายตาประชาคมโลก การตัดสินให้อดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร  สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยโดยใช้เพียงพจนานุกรมอ้างอิงในกรณีทำรายการอาหารออกโทรทัศน์ สร้างความขบขันให้คนทั้งโลกพร้อม ๆกับความขบขันและเสียงหัวเราะเยาะใส่หน้า ผลเสียที่ติดตามมายังใหญ่หลวงนัก นั่นคือความไม่เชื่อมั่นในขบวนการยุติธรรมของไทย ส่งผลต่อการลงทุนและการทำนิติกรรมระหว่างประเทศเพราะต่างชาติไม่มั่นใจว่าเมื่อไรขบวนการยุติธรรมของไทยจะเล่นตลกที่ขำไม่ออก แต่ส่งผลกระทบต่อความเป็นความตายของการลงทุนระหว่างประเทศ แต่ส่วนหนึ่งของคณะตุลาการที่กระชากนายสมัคร  สุนทรเวช ลงจากบัลลังก์นายกรัฐมนตรีด้วยข้อหารับจ้างตามพจนานุกรมนั้น  กลับไม่มองดูตัวเอง ที่ทำตัวเป็นลูกจ้าง มีรายได้จากการรับจ้างที่มากกว่าเสียอีก

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีโง่ให้ประเทศชาติเสียหาย การสั่งให้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาในเรื่องของการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกและการใช้ประโยชน์ของที่ดินทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นโมฆะนั้น  นับเป็นการสูญเสียอย่างมหาศาลของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต นั่นคือผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งการค้าชายแดนระหว่างสองประเทศที่มีมูลค่ามหาศาลต้องหยุดชะงักไปด้วย ซ้ำยังนำไปสู่ความแตกแยกฆ่าฟันกันเองของคนในชาติ และก่อให้เกิดการสู้รบตามชายแดนระหว่างไทยกับประเทศกัมพูชาเป็นเหตุให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมาย คำสั่งให้เป็นโมฆะของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูณในเรื่องนี้ยังส่งผลให้ประเทศกัมพูชาส่งเรื่องให้ศาลโลกรื้อฟื้นคำตัดสินคดีเขาพระวิหารเมื่อปี 2505 ซึ่งไทยเป็นผู้แพ้คดีขึ้นมาใหม่ และมีแนวโน้มอาจทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนให้ประเทศกัมพูชามากขึ้น เพราะรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนายชวน  หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี มรว.สุขุมพันธ์  บริพัตร เป็น รมช.ต่างประเทศได้ไปลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU 2543) ตอกย้ำคำตัดสินของศาลโลกอีกครั้ง

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสำนึกของความยุติธรรม  การตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัฌชิมาประชาธิปไตย เป็นการตัดสินที่มิได้ตั้งอยู่บนสำนึกของความเที่ยงธรรมตามจรรยาบรรณของขบวนการยุติธรรม ในขณะที่ตัดสินให้พรรคประชาธิปัตย์รอดจากการถูกยุบพรรคครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งๆ ที่มีหลักฐานและประจักษ์พยานยืนยันแน่นหนา การตัดสินที่ไร้มาตรฐานและขาดสำนึกของความชอบธรรมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่อถึงจิตวิญญาณที่ละโมภเอนเอียงเพียงเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องตลอดจนเจ้าของคอกที่ตนสังกัดได้เสพสุขดูดซับทรัพยากรของชาติ เกาะกุมอำนาจกดขี่ประชาชนต่อไป

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ   กระทำการล้ำแดนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของฝ่ายนิติบัญญัติ พฤติกรรมล่าสุดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้กระแสการเมืองร้อนระอุ ก่อให้เกิดความแตกแยกโหมกระพือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกคุกคาม และอธิปไตยของฝ่ายนิติบัญญัติถูกล่วงละเมิด คือการออกคำสั่งให้รัฐสภายุติการประชุมลงมติในวาระสามของการแก้ไขรัฐธรรมนูณมาตรา 291 จนกว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูณจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น การก้าวล่วงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการละเมิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป เป็นความผิดที่ต้องสะสางและชำระความให้เป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างคณะกรรมการตรวจการแผ่นดิน ต้องก้าวออกมาจัดการตรวจสอบและจัดการ เหมือนกับที่ท่านทำในกรณีของรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย

 จากพฤติกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น RED USA ขอเรียกร้องให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกทั้งคณะโดยทันที หากปล่อยให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะนี้คงอยู่ต่อไป จะนำมาซึ่งความแตกแยก ความเสียหาย ตลอดจนส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความสงบสุขโดยส่วนรวมของประเทศ และก่อนการลาออก ขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะ จัดแถลงข่าวขอโทษต่อประชาชนในพฤติกรรมที่ไร้สำนึกของความเป็นธรรมตลอดมาของตนเองและคณะที่ก่อความเสียหายให้ประเทศชาติและประชาชน หรือจะออกเป็นจดหมายแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน ก็ขึ้นอยู่กับสำนึก จริยธรรม และมโนธรรมของพวกท่าน

                                                จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการให้ลุล่วงตามคำร้อง
                                                5 มิถุนายน 2555

 

 

 

 

.

มอง คิด วิเคราะห์ “การเมือง” แบบไม่หยาบ

Posted: 07 Jun 2012 07:11 AM PDT

หลังจากที่หันหลังให้กับการเมืองมาเป็นเวลานาน เพราะรู้สึกว่าการเมืองเดินทางมาในจุดเดิมๆ ที่อย่างน้อยผลประโยชน์ก็มาก่อนอะไรทั้งนั้น แต่ก็นั่นแหละ มันคือการเมืองไม่ใช่มูลนิธิฯที่จะมาทำอะไรที่ไม่หวังผลตอบแทน หรือจะว่าไปก็ไม่ถูกเสียทีเดียวที่เราจะกล่าวว่า มูลนิธิฯไม่ได้แสวงหากำไร เพราะจากการที่มีโอกาสเข้าไปศึกษาถึงมูลนิธิฯหนึ่งที่ต่อสู่เรื่องป่าไม้มาเป็นเวลานานก็ไม่พ้นที่จะทำงานเพื่อผลตอบแทนบางอย่างมากกว่าสู้เพื่ออุดมการณ์อย่างสุดลิ่มตามที่ผู้เขียนคิดและจินตนาการไว้

ช่วงเวลานี้สิ่งที่สร้างปัญหาอย่างมากให้กับคนจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับการเมือง นั่นก็คือจุดยืนของผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน มีคำถามมากมายว่า เหตุใดเล่าบรรดาผู้ที่ต่อสู้ทางการเมืองเหล่านั้นไม่ได้สนับสนุนกันอย่างที่เคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีของกลุ่มคนที่สังคมเรียกว่าคนเสื้อแดงและดูเหมือนว่าทุกอย่างไม่ได้เป็นเอกภาพเสมอไปซึ่งก็มีคนที่ถูกใจและไม่ถูกใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแต่อันนั้นก็ไม่ใช่ประเด็น

สำหรับผู้เขียน ในที่นี้อยากกล่าวถึงหลักการคิดของผู้คนจำนวนหนึ่งที่ในที่สุดแล้วปัจจุบันเกิดความสับสนว่า “มันก็เป็นเสื้อแดงเหมือนกันนี่หว่า ทำไมมันไปคนละทาง” ผู้เขียนมองว่าปัจจุบันแล้วผู้คนจำนวนหนึ่งมักมองการเมืองและแบ่งแยกสิ่งต่างๆ แบบหยาบกระด้างเกินไป สิ่งเหล่านี้มันอาจจะเกิดขึ้นมาได้จากหลายกรณีด้วยกันแต่ผู้เขียนมองว่า ที่มันสำคัญที่สุดนั่นก็คือ ความไม่ใส่ใจและความขี้เกียจที่จะนั่งมองมันแบบลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นก็เอาเป็นว่าแบ่งมันแบบง่ายๆ เลยละกัน เช่น มองว่าทุกคนที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยเป็นเสื้อแดง หรือมองว่าผู้ที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนคือ คนเสื้อแดง หรือมองว่าผู้ที่เคลื่อนไหวในนามคนเสื้อแดงทุกคน คือผู้ที่ชอบอดีตนายกฯ ท้ายที่สุดสรุปสั้นๆ ก็คือ มองทุกอย่างตายตัวเพียงแคสองเฉดสีเท่านั้น (อาจจะสามหากเชื่อว่ามีคนที่อยู่ตรงกลาง)

เมื่อเขาคิดเช่นนั้นการคิดต่างๆ ทางการเมืองก็มักจะไม่รอบด้านเท่าที่ควรนัก เพราะที่สุดแล้วสมองก็จะสั่งการก่อนเลยว่า เขาเป็นพวกไหน หากเป็นพวกนี้ให้มองก่อนเลยว่าเป็นคนดี หรือหากเป็นพวกนี้ให้มองว่าเป็นคนเลวหรือคนโง่ ไปในที่สุด ดังนั้นในที่นี้ผู้เขียนอยากลองมองว่าเพราะเหตุใดเราจึงมองและคัดแยกแบบง่ายๆเช่นนี้เกิดจากฐานคิดอะไรเป็นสำคัญ

ในเรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าการมองในลักษณะนี้ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรเลย หลักการเชื่อในตัวบุคคลมากเกินไป ซึ่งในที่นี้อาจเกิดจากโครงสร้างเกือบทุกเรื่องของประเทศเรามักจะมีโครงสร้างในลักษณะแนวดิ่ง กล่าวคือ บนสุดของยอดความคิดมักจะมีบางสิ่งเป็นสัญลักษณ์เสมอ หากมองมันก็จะทราบได้ทันทีว่ามันเป็นตัวแทนของสิ่งใด ส่วนมากแล้วเรามักจะอิงกับบุคลเสมอ เช่นเมื่อนึกถึงประชาธิปไตยของไทยหลายคนคงมีภาพ ปรีดี พนมยงค์ เกิดขึ้นในหัวเป็นแน่หรือ เรามักมีสิ่งยึดเหนี่ยวที่ว่า หรือแม้แต่การนึกถึงเหล่าบรรดานักการเมืองผู้เป็นเผด็จการทั้งหมาย ถนอม ประภาส ณรงค์ ก็คงเป็นชื่อแรกๆที่คุณจะนึกถึง

หรือหากจะเป็นในส่วนของการกระทำ การกระทำก็จะกำหนดว่าคุณนั้นเป็นพวกใด ดังเช่น หากทำแบบนี้หรือไม่ทำ รักหรือไม่รัก ก็จะเป็นสิ่งที่บอกคุณได้ว่า “คุณเป็นหรือไม่เป็นคนในชาตินั้น”  สิ่งนี้ยังใช้ได้เสมอและมันก็ถูกพัฒนามาสู่เรื่องต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วในเรื่องของการเมือง เช่น ในสังคมเรามักจะกล่าวว่า ใครชอบพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นเสื้อเหลือง (หรือพูดง่ายๆไม่ใช่เสื้อแดง) ใครชอบพรรคเพื่อไทยก็เป็นเสื้อแดง ใครชอบคุณอภิสิทธิ์ก็ถูกพวกหนึ่งตราหน้าว่าเป็นสีหนึ่ง ใครชอบคุณทักษิณก็ตราหน้าว่าเป็นสีหนึ่ง หรือขนาดเอากันว่าชอบสีนี้เป็นคนดีและหากชอบสีนี้เป็นคนไม่ดี กันเลยทีเดียว ดังนั้นกล่าวโดยรวมแล้วหลักการยึดถือในตัวบุคคลหรือแค่การกระทำบางอย่างเป็นที่ตั้งก็น่าจะมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้การแบ่งแยกนั้นหยาบๆเกินไป

ต้องยอมรับก่อนว่าในองค์กรการเคลื่อนไหวของสังคมนั้นมีองค์ประกอบอยู่หลายส่วนด้วยกัน ในที่นี้ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงแนวคิดและทฤษฎีขบวนการทางการเมืองซักเล็กน้อยเพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ โดยในที่นี้ผู้เขียนขอใช้หลักการระดมทรัพยากร ซึ่งจะบ่งบอกถึงองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการเคลื่อนไหวหรือในขบวนการทางการเมือง

องค์การเคลื่อนไหวทางสังคมสามารถแบ่งออกได้หลายมิติ ดังนี้[i]

1. สมาชิกผู้ร่วมจุดหมายเดียวกัน  คือ ปัจเจกบุคคล หรือองค์กรที่มีเป้าหมายเดียวกัน

2. สมาชิกผู้สนับสนุน คือ ปัจเจกบุคลที่สนับสนุนทรัพยากรแก่องค์กรที่เคลื่อนไหว

3. สาธารณชนผู้เฝ้ามอง คือ ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในขบวนการเคลื่อนไหว แต่รับรู้และไม่มีท่าทีในลักษณะการต่อต้าน

4. ฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ต่อต้าน

แน่นอนว่าตรงนี้หากมองกันดีๆแล้วก็จะมีความเข้าใจมากขึ้นว่า ในที่สุดแล้วการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะองค์กรใดในโลกก็มักจะมีส่วนประกอบที่สำคัญในลักษณะข้างต้นเสมอ ไม่ว่าเราจะมั่งใจในเหตุและผลของเราแค่ไหนสุดท้ายก็มักจะมีมุมมองที่เห็นต่างกับเราได้เสมอเช่นกัน

ดังนั้นข้อที่ควรคิดในการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ หากพูดถึงในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อหลากสี ฯลฯ ควรคำนึงเสมอว่ามีหลายส่วนด้วยกันที่อยู่ในกระบวนการเคลื่อนไหว และแม้แต่ในองค์กรการเคลื่อนไหวเองก็ตามก็ไม่ได้มีผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันเสมอไป อาจจะมีผู้ที่เห็นประโยชน์ในบางส่วน บางเรื่องเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากเราทำความเข้าใจได้ก็น่าที่จะลดความสงสัยเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นภายในองค์กรที่เคลื่อนไหวทางการเมืองไม่มากก็น้อย

นอกจากนี้ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนหรือองค์กรต่างๆ อาจจะจำแนกได้ในอีกลักษณะหนึ่งคือใช้ผลประโยชน์ที่ได้รับจากความสำเร็จของการเคลื่อนไหว ดังนี้[ii]

1. ผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง เป็นปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มองค์กรที่ได้ประโยชน์เมื่อการเคลื่อนไหวสำเร็จ

2. ผู้ให้การสนับสนุนแต่ไม่ได้รับผลประโยชน์ เป็นปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มองค์กรที่ไม่ได้ประโยชน์เมื่อการเคลื่อนไหวสำเร็จ แต่เป็นผู้มีความเห็นอกเห็นใจและเต็มใจที่จะให้ความช่วยเหลือ

ผู้ให้การสนับสนุนแต่ไม่ได้รับผลประโยชน์นั้น มักเป็นปัญหาเสมอต่อองค์กรเคลื่อนไหว เพราะเขาเหล่านี้มักจะเป็นกลุ่มบุคคลและมาจากหลายๆองค์กร เป็นกลุ่มที่มิได้แสวงหาประโยชน์ทางด้านวัตถุ ดังนั้นผู้สนับสนุนในลักษณะนี้มักจะไม่มีความยั่งยืนในการสนับสนุน อาศัยการเข้ามาเพียงครั้งคราวเท่านั้น[iii]

เมื่อมองจากสิ่งนี้ การแบ่งแยกแบบหยาบๆโดยมองแต่ตัวบุคคลแบบข้างต้นก็เท่ากับว่าเรามองข้ามองค์ประกอบอื่นๆในองค์กรการเคลื่อนไหว เราสรุปรวมเพียงว่าผู้ที่มาร่วมในองค์กรทางการเมืองเป็นผู้มีอุดมการณ์เดียววันเสมอ ดังนั้นเมื่อผู้นำคิดอย่างไรคุณก็ต้องคิดแบบนั้น หรือเมื่อคุณมีอุดมการณ์ที่ตรงกับผู้ใด ฝังไหน ก็มักจะถูกเหมารวมว่าคุณเป็นพวกเดียวกันกับกลุ่มนั้น และถ้าหากมองความเป็นจริงนักการเมืองส่วนมากก็มิได้มีอุดมการณ์เหมือนกันเท่าใดนัก หากแต่สิ่งที่เหมือนกันและทำให้เข้าร่วม ก็น่าจะเป็นเรื่องการได้รับผลประโยชน์และอิงแอบกับองค์การมากกว่า

สำหรับการเข้าๆออกๆของผู้ที่สนับสนุนองค์กรทางการเมืองนั้น หลักการระดมทรัพยากรกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเคลื่อนไหวแล้วก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่คนเหล่านั้นจะอยู่ยาวในการเคลื่อนไหวจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่ต้องการ หากการเคลื่อนไหวของผู้ที่ไม่ได้รับผลประโยชน์แล้วล่ะก็การเข้าๆออกๆก็เป็นสิ่งที่เห็นเป็นประจำ ดังนั้นสองคั่วนี้อาจจะมีปัญหากันได้ภายใต้การเคลื่อนไหว เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯในช่วงก่อนยึดอำนาจปี 2549 พรรคประชาธิปัตย์ก็เคลื่อนไหวอิงแอบกับพันธมิตร แต่ครั้นเสร็จศึกหลังจากนั้นสองฝั่งก็เกิดอาการไม่ลงรอยกัน เพราะสิ่งที่ผู้เขียนมองก็คือพรรคประชาธิปัตย์คงเป็นผู้เล่นที่อยู่ในกลุ่มของ ผู้สนับสนุนที่ไม่ได้รับประโยชน์ใดจากการเคลื่อนไหวโดยตรงแต่พวกเขาก็ได้ประโยชน์อย่างมากกับการกำจัดศัตรูทางการเมืองที่น่ากลัวที่สุดของเขาไป แต่น่าเสียดายแม้ว่าศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์จะไม่อยู่แต่วิญญาณของศัตรูหมายเลขหนึ่งของพวกเขาก็ยังตามหลอกหลอนอยู่และมิอาจหาหมอผีตนไปมากำจัดได้ และพวกเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุนผู้อื่นๆเช่นกันหากตนเองได้ประโยชน์เช่นเดียวกับที่กลุ่มพันธมิตรฯทำให้ ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่ขัดกันอย่างมากกับหมู่ที่เป็นผู้รับผลประโยชน์โดยตรง เกิดการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันตามมาและก็เกิดความขัดแย้งกันในที่สุดซึ่งก็เห็นๆกันอยู่ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล [iv]

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจกับหลักคิดที่มักจะหาผู้รับผิดชอบเสมอ เช่น เรามักมีบิดาของเรื่องต่าง เรามักมีผู้ที่ควรแก่การสรรเสริญในภาวะที่เศรษฐกิจดี เรามักมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบในวันที่เศรษฐกิจแย่ ทั่งที่ความเป็นจริงแล้วมันมีองคาพยพอื่นๆอีกมากมาย เช่นเดียวกับที่มองว่าที่บ้านเมืองที่เป็นเช่นนี้ เพราะอดีตนายกฯเพียงคนเดียวเท่านั้น หรือแม้แต่ผู้ที่ศรัทธาอดีตนายกผู้เขียนก็ไม่แน่ใจนักว่าวันที่เขากลับมาแล้วมันจะทำให้อะไรๆที่คุณคาดหวังดีขึ้น ผู้เขียนคิดว่ามันเป็นเรื่องตลกอย่างไม่น่าเชื่อที่คนเพียงหนึ่งคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากมายขนาดนั้นแต่ผู้เขียนก็ไม่ปิดโอกาสที่จะเชื่อและเฝ้ารอวันที่อดีตนายกฯลาโลกไปว่า ประเทศเราจะดีขึ้นหรือไม่ การกล่าวเช่นนี้มิได้ว่าผู้เขียนสนับสนุนอดีตนายกแต่อย่างใด แต่ว่าโดยหลักคิดของผู้เขียนมันอาจจะแตกต่างกับคนอื่นๆนั่นก็คือผู้เขียนมองว่าทุกคนเท่าเทียมกันและมันก็น่าที่จะหมดยุคของนักรบที่เราเคยดูในภาพยนต์ที่ต่อสู้เพื่อบ้านเมืองของตนเองจนได้รับชัยชนะเพราะความสามารถอันยอดเยี่ยมของเขาเพียงผู้เดียว และอีกเหตุผลที่สำคัญผู้เขียนไม่มีความศรัทธาในตัวบุคคล เพราะอย่างน้อยคนก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและไว้ใจไม่ได้มากที่สุด

ผู้เขียนได้บอกกับผู้อื่นตลอดเวลาว่าไม่นานนักการการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆในบ้านเราก็จะอ่อนแรงลงไป เนื่องจากเราอิงแอบกับตัวบุคคลมากเกินไป เมื่อเรามองบุคคลเป็นที่ตั้งวันหนึ่งคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นนักการเมืองด้วยแล้วเขาเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนไปเพราะการเมืองไม่ว่าจะเป็นที่ใด การเจรจาต่อรองให้ได้มาซึ่งประโยชน์ก็มาก่อนอุดมการณ์เสมอ ดังเช่นสถานการณ์ที่ต่อรองกันเรียบร้อยในสังคมบ้านเราของบรรดาผู้มีอำนาจที่ขัดแย้งกันมาเป็นเวลานานก็ส่อเค้าและสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับบรรดาผู้ที่ต่อสู้ด้วยหลักการมากกว่าเพื่อบุคคล

เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เป็นผลสะท้อนออกมาก็คือการเปลี่ยนไปของคนในกลุ่มซึ่งบางส่วนอาจจะรับไม่ได้ที่อยู่ๆคุณก็ไปกอดกันทั้งที่ก่อนหน้านี้คุณแทบจะฆ่ากันตายอยู่แล้ว มันจึงทำให้แนวร่วมบางส่วนต่างไปกันคนละทางและกระจัดกระจายมากขึ้น แต่เมื่ออ่านข่าวผ่านเสื่อออนไลน์ฉบับหนึ่งก็ได้เห็นบางอย่างขึ้นมาที่ทำให้อย่างน้อยก็เชื่อว่าการต่อสู้ก็ยังมีผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่บ้าง และคิดว่าน่าสนใจที่จะได้นำมากล่าวถึง

กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ [v] ได้สร้างสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าคนเสื้อแดงคนอื่นๆไม่กล้าที่จะทำนั่นก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์สัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงส่วนมาก นั่นก็คืออดีตนายกฯ มันทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าอย่างน้อยสังคมก็มีความหวังอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เมื่อออกมาเตือนสติของผู้คนที่มักจะเคลื่อนไหวตามคนมากกว่าอุดมการณ์ให้หันมาคิดดูบ้างว่า เห็นไหมล่ะว่าวันหนึ่งนักการเมืองมันก็เปลี่ยนไป เมื่อคุณใช้คนเป็นหลักยึดเมื่อไรคุณก็ต้องผิดหวังเมื่อนั้นเว้นแต่คุณเปลี่ยนตามไปด้วยดังเช่นนักการเมือง

นี่เป็นสิ่งที่ผู้เคลื่อนไหวจำนวนไม่น้อยที่พยายามจะบอกกับสังคมว่าควรยึดมั่นในหลักการมากกว่าตามผู้นำหรือตัวบุคคล อาทิเช่น นักวิชาการ ที่มักจะถูกตราหน้าเมื่อออกมาให้ความเห็นว่าใส่เสื้อสีโน้นสีนี้ จนทำให้นักวิชาการ ช่วงหลังไม่อยากที่จะออกมาวิจารณ์อะไรมาก เพราะเปลืองตัวสอนหนังสืออย่างเดียวดีกว่า ซึ่งผู้เขียนมองว่าเราเสียประโยชน์มากเพราะหน้าที่ของอาจารย์ทั้งหลาย คือนักคิด (ซึ่งบางคนอาจจะกล่าวว่าอยู่บนหอคอยงาช้าง) แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่นักวิชาการควรที่จะทำมากที่สุด มากกว่าการนั่งอยู่เฉยๆ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเพราะจากการต่อสู้ที่ผ่านมาในโลกนักต่อสู้แนวคิดสังคมนิยมอย่าง มาร์กซ ก็มักจะถูกพวกเดียวกันกล่าวหาทำนองนี้เช่นกัน

สิ่งที่ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งต่อการต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ต่อสู้กับการคอรัปชั่น กลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อสู่เพื่อประชาธิปไตย นั่นก็คือ การยึดมั่นและถือมั่นในอุดมการณ์ แน่นอนว่าการต่อสู่คงไม่สามารถใช้เวลาสั้นๆ ในการเปลี่ยนแปลงสังคม อาจจะใช้เวลาเป็นสิบเป็นร้อยปีก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยก็ทำให้มีความหวังว่าเราพร้อมที่จะเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมจริงๆมากกว่าการแอบอิงการต่อสู่เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของตัวเองและพวกพ้องแค่นั้น ในการต่อสู้เพื่ออะไรบางอย่างไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีที่ผิดและไม่สนใจต่อระเบียบบ้านเมือง การต่อสู้มันมีอีกหลายวิธีมาก แต่ถ้าคุณจะใช้วิธีที่ผิดหลักบ้านเมืองแล้ว สิ่งที่อยากให้ผู้เคลื่อนไหวทุกคนไม่ว่าใครยอมรับ นั่นก็คือปฏิบัติตามที่ท่านพูดนั่นก็คือ อารยะขัดขืน หรือว่าที่พูดไปท่านไม่ได้เข้าใจอะไรเลยแต่ใช้เพียงเพราะให้พวกของตนดูดีเท่านั้น และสิ่งสำคัญสุดท้ายคือ คุณอย่ายอมตายเพื่ออะไร เพราะการที่คุณอยู่คุณมีโอกาสได้สู้แต่ถ้าคุณตายการต่อสู้มันก็จบลงเมื่อคุณหยุดหายใจ

               

 



 

[i] ประภาส ปิ่นตกแต่ง. 2552. “ทฤษฎีการระดมทรัพยากร”   (บทที่ 2: 79-80 ). ในกรอบการวิเคราะห์การเมืองแบบทฤษฎีขบวนการทางสังคม. เชียงใหม่: มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์  สำนักกงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

 [ii]  เรื่องเดียวกัน.”   (บทที่ 2: 80 ).

 [iii]  เรื่องเดียวกัน.”   (บทที่ 2: 82 ).

 [iv] ที่มา  http://www.khaosod.co.th.  “วันก่อนด่าพ่อล่อแม่กันเสียๆ หายๆ วันนี้ พันธมิตร กับ ประชาธิปัตย์ กลับมารัดเอว จูบปากกันจ๊วบๆ” วันที่สืบค้น  วันที่สืบค้น 5 มิถุนายน 2555.

 [v] ที่มา www.komchadluek.net . “รถไฟไม่ใช่เรือ'แดง'แตกซัด'แม้ว'หนี”.   วันที่สืบค้น 5 มิถุนายน 2555.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียนประธานศาลรัฐธรรมนูญ (ครั้งที่สอง)

Posted: 07 Jun 2012 07:03 AM PDT

ได้ฟังท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง (คำอ่านตามที่ปรากฏในเวบไซต์ของราชบัณฑิตยสถาน) [1])  พร้อมกับทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นที่น่ากังวลมากยิ่งขึ้น

ด้วยความเคารพต่อท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ และจากการที่ท่านได้แถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ด้วยตนเองว่าท่านยินดีที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ท่านและศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงขออนุญาตวิจารณ์ท่านมา ณ ที่นี้ โดยในบทความนี้จะไม่ขอกล่าวถึงกรณีที่ทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญพยายามยกมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญมาสนับสนุนสิทธิในการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้โดยตรง ในประเด็นนี้ผู้เขียนไม่ขอเข้าไปอธิบายหรือแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) อันใดอีก เพราะได้แสดงความเห็นเอาไว้แล้ว และคาดหมายได้ว่าจะมีบทความ ข้อสังเกต หรือข้อวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มเติมในประเด็นการไม่มีอำนาจรับหรือไม่รับคำร้อง และผลของคำสั่งที่มีไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามมาอย่างแน่นอน ส่วนทางออกจะเป็นประการใดก็คงต้องพิจารณากันไปตามข้อกฎหมายต่อไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีท่าทีหรือดำเนินการต่อไปอย่างไร แต่หากศาลรัฐธรรมนูญจะยังคงเดินหน้าพิจารณาคำร้องต่อไปนั้น ผู้เขียนก็ขอเสนอข้อสังเกตที่เป็นข้อกังวลของผู้เขียนภายหลังจากดูและฟังบันทึกการแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ข่าวของท่านดังนี้

ข้อกังวลประการแรก จนถึงวันที่ท่านได้ออกมาแถลงข่าวทุกวันนี้ ท่านและเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ดำเนินการเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญในเวบไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นแต่ประการใด

ข้อกังวลประการที่สอง เป็นข้อกังวลที่สำคัญอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญในส่วนของข้อความคิดของหลักวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ ความเป็นกลาง และความเป็นอิสระของท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคำร้องนี้ด้วยเหตุผลสองประการดังนี้ ในที่นี้ขอยกถ้อยแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ของท่านที่ได้แถลงเอาไว้มาดังนี้คือ

“แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างว่า ลักษณะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างนี้เนี้ยะ เป็นการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วศาลรัฐธรรมนูญเพิกเฉยก็แปลว่าอยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไปช่างเขาได้หรือครับ สมควรหรือ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องไต่สวนทวนความก่อนว่าจริงหรือเปล่า นี่เป็นการแค่ชั้นรับคำร้องไว้พิจารณานะครับยังไม่ได้ชี้ขาดตัดสินว่าเป็นซ้ายหรือเป็นขวายังเลย ยังเลย แล้วก็ไอ้การที่ถ้าหากว่าทางสภาจะให้ความร่วมมือจะเลื่อนไปซักเดือนเศษๆ มันก็ไม่ได้เสียหายร้ายแรงอะไร เราก็ดูตรงนี้อยู่นะครับว่า ใช้เวลาประมาณเนี้ยะเดือนเศษๆ เท่านั้นก็คงเสร็จ (มีคำถามแทรก) ไม่ได้ก้าวล่วงคำสั่งที่เราแจ้งไปให้สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาทราบเท่านั้น เพราะในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐเพราะใครจะไปบังอาจสั่ง ผมมีหนังสือกราบเรียนประธานรัฐสภาเพื่อโปรดทราบเท่านั้น......ตอนนี้ใครเป็นหัวหน้าอำมาตย์ผมถามหน่อย ใครเป็นหัวหน้าอำมาตย์ ใคร ใคร ใครเป็นหัวหน้าอำมาตย์ถามหน่อย ใครหัวหน้าอำมาตย์ใคร....ขอประธานโทษนะหัวหน้าอำมาตย์ตัวจริงคือนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุดในประเทศไทยนั่นหัวหน้าอำมาตย์ตัวจริง.....เขาจะรับสารภาพไหมว่าเขาคิดอย่างนั้นจริง เอ้าพวกท่านว่าเขาจะรับสารภาพไหมว่าเขาคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจริง เขาคงไม่รับใช่ไหมฮะ เขาคงไม่รับเขาก็ปฏิเสธมาสิมีเหตุผลมีพยานหลักฐานมาก็มาพิจารณากัน แต่นี่เวลานี้เขาร้องว่าพวกท่านกำลังทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยวิธีนี้ แล้วถ้าท่านไม่ชี้แจง ท่านแอนตี้ ท่านไม่ชี้แจงท่านเข้ามาต่อสู้ไม่ต่อสู้คดีจะให้ศาลรับฟังว่ายังไงฮะ เขาฟ้องว่าท่านเป็นหนี้ ท่านเฉย ศาลจะทำยังไงฮะ ไม่ปฏิเสธ ศาลจะทำยังไง ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะทำยังไงที่เขาฟ้องว่าเขาร้องว่าการกระทำของพวกท่านๆ เหล่านั้นเนี้ยะจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นอย่างอื่น ถ้าท่านไม่ชี้แจงความจริง ท่านไม่เข้ามาต่อสู้ในทางคดี แล้วจะให้ศาลฟังว่ายังไงฮะ ฟังข้อเท็จจริงว่ายังไงว่า ตกลงมันจริงอย่างที่เขากล่าวหาหรือเปล่า.....”   

[2] แล้วท่านก็ลงท้ายในคลิปข่าวว่า “ศรีทนได้ค่ะ” อันเป็นประโยคที่ติดหูในโฆษณาสีทาบ้านยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งก็เรียกเสียงฮือฮาจากนักข่าวที่กำลังทำข่าวอยู่ได้อย่างดีทีเดียว

ผู้เขียนได้ฟังท่านแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ดังกล่าวข้างต้นแล้วก็ขอเรียนท่านว่า ท่านครับท่านอย่าเป็นศรีเลยครับ แล้วท่านก็อย่าทนเลยครับ และขอเรียกร้องให้ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญควรที่จะพิจารณาถอนตัวไม่เข้าร่วมในการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในคดีนี้ ผู้เขียนขออนุญาตชี้แจงเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนเห็นว่าท่านอาจจะไม่สมควรพิจารณาคำร้องในกรณีนี้ได้ดังต่อไปนี้

เหตุผลประการแรก เหตุผลที่เกี่ยวกับข้อความคิดในทางกฎหมายวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญของท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญเองเหตุผลในเรื่องของความเข้าใจต่อ “หัวใจ” หรือจะเรียกอีกประการหนึ่งว่า “แก่น” หรือ “สาระสำคัญ” ของวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือ “หลักการพิจารณาคดีโดยใช้หลักไต่สวน” นั่นหมายถึง ศาลจะไม่ผูกพันอยู่กับข้ออ้างของคู่กรณีที่หยิบยกมาในคดีเท่านั้น ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีเพื่อที่ให้ได้ข้อเท็จจริง และนำมาใช้ในการประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคดี

แต่ในการแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญกลับไปหยิบยกเอาตัวอย่างการฟ้องเรียกร้องให้ชำระหนี้คดีแพ่งในมาใช้เป็นตัวอย่าง ทำให้เกิดข้อกังวลสงสัยว่า ท่านในฐานะประธานศาลรัฐธรรมนูญท่านมีความรู้ความเข้าใจในหลักการพิจารณาคดีโดยใช้หลักไต่สวนหรือไม่เพียงใด การที่ท่านยกตัวอย่างคดีแพ่งที่ฟ้องขอให้ชำระหนี้มาเป็นตัวอย่างในคดีพิพาททางรัฐธรรมนูญนั้น ในคดีแพ่งที่มีหลักวิธีพิจารณาคดีโดยใช้หลักกล่าวหา ที่จะถือว่าการที่จำเลยไม่ปฏิเสธจะถือว่าจำเลยรับตามข้อกล่าวหาของโจทก์นั้น ไม่สามารถนำมายกตัวอย่างหรือนำมาใช้ในวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญได้ ด้วยความเคารพการยกตัวอย่างดังกล่าวเป็นการยกตัวอย่างแบบผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง อันที่จริงตัวอย่างที่ท่านอาจจะและสมควรยกมาประกอบได้ คือตัวอย่างที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณคดีปกครอง หรือในวิธีพจารณาคดีอาญา ซึ่งใช้หลักสำคัญในการพิจารณาพิพากษาอย่างเดียวกัน คือถือหลักไต่สวนเป็นสำคัญนั่นเอง

และโดยเฉพาะในกรณีวิธีพิจารณาคดีอาญานั้น ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ ๑๒/๒๕๕๕ ซึ่งท่านประธานเองก็เป็นเสียงข้างมากในการที่วินิจฉัยว่า บทสันนิษฐานความรับผิดทางอาญาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่เป็นบทบัญญัติของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่บัญญัติให้สันนิษฐานว่า ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลโดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

จากคำวินิจฉัยดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นการยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญโดยมีท่านประธานเป็นตุลาการเสียงข้างมาก ได้ยืนยันถึงหลักสำคัญในวิธีพิจารณาคดีอาญาซึ่งใช้หลักไต่สวนเป็นหลักการสำคัญ และในกรณีนี้แม้จะมีบทบัญญัติของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติกำหนดบทสันนิษฐาน แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดชี้ว่ากระทำความผิดจริง นั่นคือศาลจะต้องพิจารณาโดยต้องไต่สวนให้ได้ว่า จำเลยมีความผิดโดยปราศจากข้อสงสัยนั่นเอง

ดังนั้นกรณีของการหยิบยกคดีแพ่งอันเป็นข้อพิพาทในทางกฎหมายเอกชนมาประกอบเป็นตัวอย่างในวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญที่ใช้หลักไต่สวนนั้น จึงขอเรียนอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นการยกตัวอย่างที่ผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง และในฐานะที่ท่านเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญก็ย่อมจะเป็นที่คาดหวังว่า ท่านมีความรู้ความเข้าใจหลักหรือหัวใจสำคัญของวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี แต่ด้วยตัวอย่างของคดีแพ่งที่ท่านหยิบยกมาแถลง(อ่านว่า ถะ-แหลง) นั้น ด้วยความเคารพ กรณีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความสงสัยได้ว่า ท่านมีความเข้าใจที่ในสาระสำคัญของวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญที่ยึดถือหลักไต่สวนเป็นสำคัญหรือไม่เพียงใด

และหากพิจารณาถึงข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.๒๕๕๐(ระเบียบฯ) ในข้อ ๖ วรรคหนึ่ง ก็ได้กำหนดรับรองยืนยันถึงหลักการสำคัญของวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญเอาไว้ นั่นคือ ให้ใช้ระบบไต่สวน และก็ไม่ปรากฏว่าในระเบียบฯ ดังกล่าวได้กำหนดบทสันนิษฐานว่า ถ้าไม่มีการปฏิเสธถือว่ายอมรับเอาไว้แต่อย่างใด หากจะมีกำหนดเอาไว้ก็ย่อมขัดต่อการกำหนดให้ถือเอาระบบไต่สวนมาใช้ในวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ และหากจะมีการอ้างว่าในวรรคสองของข้อ ๖ ดังกล่าว กำหนดให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ ก็ไม่สามารถมาอธิบายถึงความชอบธรรมในการนำหลักสันนิษฐานในคดีแพ่งดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ เพราะหลักที่ว่าไม่ปฏิเสธให้ถือว่ายอมรับนั้น ย่อมขัดต่อสาระสำคัญของระบบไต่สวนอย่างชัดเจน

ประการที่สอง การที่ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญออกมาแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ด้วยตัวเองนั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นแต่ประการใด เพราะฝ่ายที่ไม่เชื่อว่าท่านมีอำนาจในการรับคำร้องในกรณีนี้ไว้พิจารณาเขาก็ยังคงเชื่อว่าท่านไม่มีอำนาจรับคำร้องอยู่ดี เพียงแค่ทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญออกมาชี้แจงยืนยันก็เป็นการเพียงพอแล้ว

อย่างไรก็ตามท่านก็ได้ออกมาชี้แจงแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ไขไปแล้ว และด้วยความเคารพ ด้วยจริยธรรมของตุลาการแล้ว การที่ท่านแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) โดยนำเอาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของคำร้องที่ท่านจะต้องพิจารณาวินิจฉัยต่อไปในอนาคต มาชี้แจงแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ไข ประกอบการยกตัวอย่างคดีแพ่งดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น กระผมเห็นว่าค่อนข้างจะสุ่มเสียงต่อความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการทำคำวินิจฉัยของตัวท่านเองเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่ท่านได้แถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ออกมานั้นล้วนแต่เป็นทัศนะในการใช้การตีความกฎหมายของท่านที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคำร้องที่พิพาทอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้นโดยเฉพาะในส่วนที่ท่านกล่าวว่า

“.....เขาจะรับสารภาพไหมว่า เขาคิดอย่างนั้นจริง เอ้าพวกท่านว่าเขาจะรับสารภาพไหมว่าเขาคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจริง เขาคงไม่รับใช่ไหมฮะ เขาคงไม่รับ เขาก็ปฏิเสธมาสิ มีเหตุผลมีพยานหลักฐานมาก็มาพิจารณากัน แต่นี่เวลานี้เขาร้องว่าพวกท่านกำลังทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยวิธีนี้แล้วถ้าท่านไม่ชี้แจง ท่านแอนตี้ ท่านไม่ชี้แจง ท่านเข้ามาต่อสู้ไม่ต่อสู้คดีจะให้ศาลรับฟังว่ายังไงฮะ เขาฟ้องว่าท่านเป็นหนี้ ท่านเฉย ศาลจะทำยังไงฮะ ไม่ปฏิเสธ ศาลจะทำยังไง ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะทำยังไงที่เขาฟ้องว่าเขาร้องว่าการกระทำของพวกท่านๆ เหล่านั้นเนี้ยะจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นอย่างอื่น ถ้าท่านไม่ชี้แจงความจริง ท่านไม่เข้ามาต่อสู้ในทางคดีแล้วจะให้ศาลฟังว่ายังไงฮะ ฟังข้อเท็จจริงว่ายังไงว่าตกลงมันจริงอย่างที่เขากล่าวหาหรือเปล่า.....”

ผู้เขียนจะไม่มีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตุลาการซึ่งในที่นี้ได้แก่ตัวท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใดหากการแถลง(อ่านว่า ถะ-แหลง) นั้น จำกัดอยู่เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจในการรับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณาเท่านั้น และไม่มีการกล่าวหรือแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ถึงมุมมองหรือทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี

ด้วยความเคารพต่อท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนเห็นว่าการที่ท่านนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในคดีมาแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) เช่น การหยิบยกเอาพฤติกรรมในอนาคตของผู้ถูกร้องมาว่าจะรับหรือจะปฏิเสธข้อกล่าวหาตามคำร้อง และการนำเอาตัวอย่างในคดีแพ่งซึ่งใช้หลักกล่าวหาในการดำเนินคดีแทนที่จะเป็นหลักไต่ส่วนโดยยกตัวอย่างในทำนองว่าถ้าผู้ถูกร้องไม่ปฏิเสธจะให้ศาลฟังว่าอย่างไร นั้น ในที่นี้จึงดูจะเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้แสดงถึงทัศนะ หรือคติของท่านในการที่จะดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไปในอนาคต และอาจก่อให้เกิดความสงสัยต่อความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของท่านในคดีนี้โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น และถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวต่อไป ด้วยความเคารพ ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนขอเรียกร้องให้ท่านพิจารณาถอนตัวในการที่จะเข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในคดีนี้ ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักความเป็นกลางในการพิจารณาคดี และหลักความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการไว้ในคดีนี้ต่อไป ท่านครับ ท่านอย่าทนเลยครับถอนตัวเถิดครับท่าน

 

 

.....................................................

 

[1] แถลง [ถะแหฺลง] ก. บอก เล่า หรือแจ้งให้ทราบเป็นทางการ เช่น แถลงข่าว, กล่าวอธิบาย เช่น จะแถลงให้ทราบ; แสวง เช่น บัดแถลง.(http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp)

 [2] ถอดความจากบันทึกการ แถลง(อ่านว่า ถะ-แหลง) ข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ (http://youtu.be/Bl9RoMAGi3c)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

Posted: 07 Jun 2012 06:44 AM PDT

ในมุมที่กว้างกว่า ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือการแสดงการเคลื่อนไหวของบทบาทศาล รธน. สะท้อนการช่วงชิงอำนาจนำทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งกับศาลที่เป็นพลังอนุรักษ์นิยม

7 มิ.ย. 2555

อัยการสรุปไม่ส่งคำร้อง 'ส.ส.-ส.ว.' แก้ รธน. ให้ศาล รธน.พิจารณาตาม 'ม.68'

Posted: 07 Jun 2012 05:57 AM PDT

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวภายหลังการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าที่ประชุมคณะทำงานอัยการ สรุปความเห็นไม่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 68 

มติชนออนไลน์รายงาน เวลา 19.55 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ว่า คณะทำงานอัยการที่มีนายอรรถพล ใหญ่สว่าง รองอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบุคคลและคณะบุคคล 6 ราย ยื่นหนังสือพร้อมหลักฐานให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ 416 ส.ส. – ส.ว. เสนอแก้รธน. มาตรา 291 เพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ ตาม รธน.มาตรา 68 ซึ่งนัดประชุมพิจารณากันตั้งแต่เวลา 13.00 น.วันนี้  (7 มิถุนายน) นานกว่า 5 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น

อ้านไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณียื่นศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า ตามที่บุคคลและคณะบุคคล รวม 6 ราย คือ นายวันธงชัย ชำนาญกิจ ,นายบวร ยสินทร กับพวกกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน ,นายวรินทร์ เทียมจรัส , พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวก ,นายวิรัตน์ กัลยาศิริ กับพวก , และ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กับพวกสมาชิกวุฒิสภา ได้มีหนังสือส่งเอกสารหลักฐานให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กรณีคณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานรัฐสภา ได้ร่วมกันเสนอรับพิจารณา และลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พุทธศักราช.... ซึ่งกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดยการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีผลเป็นการยกเลิกหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 นั้น คณะกรรมการฯ เห็นว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้อัยการสูงสุด เป็นผู้มีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวแล้ว ก็ให้อำนาจอัยการสูงสุด ในการที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง และวินิจฉัยถึงการกระทำดังกล่าว ว่าเป็นการกระทำที่ต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ด้วย เพื่อมิให้อัยการสูงสุดใช้อำนาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือพรรคการเมืองที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง ขณะที่เมื่อพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา แล้วก็เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวด 15 เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาล ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย จึงไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 68 และจากการตรวจสอบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พุทธศักราช.... ทั้งสามฉบับ ปรากฏว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/11 ทั้งสามฉบับ มีข้อความเหมือนกัน การจัดทำร่าง รธน.ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะกระทำมิได้ จึงเห็นได้ว่าการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้อง ไม่ได้มีเจตนา หรือต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับ ไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกมาตรา 291 ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองหลายพรรค เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ตามมาตรา 291 จึงไม่มีเนื้อหาเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กรณีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งหกข้อเท็จจริง ยังไม่พอฟังว่ามีพฤติการณ์ หรือการกระทำอันเป็นเหตุให้อัยการสูงสุด ต้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำการ ตามความในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยอัยการไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัยองค์กรอื่น

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์: พ่อ ‘ธันย์ฐวุฒิ’ ผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ

Posted: 07 Jun 2012 04:19 AM PDT

 



นายชีเกียง วัย 74  ปี บิดาของนายธันย์วุฒิ เดินทางมาเยี่ยมลูกชายที่เรือนจำพร้อมให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ความรู้สึก และความคาดหวังต่อการขอพระราชทานอภัยโทษ

“พูดในนามพ่อของลูกคนหนึ่ง ตอนที่ลูกถูกจับมีอาการแย่มากเลย เคว้งคว้างไปหมด ไม่รู้จะทำยังไง”

“ญาติพี่น้องเขาก็กลัว ไม่กล้าเลย ไม่มีใครกล้ามาเยี่ยมเลย แม้แต่พี่น้องของหนุ่มเองก็ไม่กล้า แม่เขาก็กลัว แต่เรามันกลัวไม่ได้ เพราะเราเป็นพ่อ จะกลัวได้ไง ลูกคนหนึ่งติดคุกอยู่”

“มันก็แย่มากขนาดเราขอประกันไป เที่ยวนี้เที่ยวที่หกที่เจ็ดแล้วมั้งก็ไม่ได้นะ”

“ตกใจ หมดแรงเลย โฮ ข่าวก็ออกมาหราเลย ธันย์ฐวุฒิ โดนตัดสินคดีหมิ่น 13 ปี ตอนนั้นหมดแรงเลย จริงๆ ตอนแรกๆ เราก็อยากให้เขารับสารภาพ บอก เออ ถึงไม่ได้ทำก็รับสารภาพไปเถอะอย่างน้อยมันก็ได้ลดครึ่งนึง”

“อย่าให้ถึง 13 ปีเลย  13 ปี แย่เลย แล้วเราจะอยู่ถึงเหรอ 13 ปี นี่ปีนี้ก็ 74 แล้ว อีก 13 ปี ก็ 80 กว่าคงไม่ไหว อยากจะออกมาเจอลูกก่อน อยากให้ลูกบวช”

 

 

ข้อมูลเบื้องต้น

 

ชื่อ :                              ธันย์ฐวุฒิ  (ขอสงวนนามสกุล)

ที่อยู่ :                            เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แดน 1

ระยะเวลาที่ถูกคุมขัง :        2  ปี  2 เดือน

ถูกจับกุม :                      1 เมษายน 2553  

                                     (ขังตั้งแต่วันจับกุม ยื่นประกันรวม 6-7 ครั้ง ศาลยกคำร้อง)

พิพากษา :                      15 มีนาคม 2554 จำคุก 13 ปี
ฐานความผิด :                  -มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

                                    -พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

                                    มาตรา 14 (3)  

ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 15

ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตาม มาตรา 14

 

ข้อกล่าวหา :                   -เป็นผู้ดูแลระบบ เว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ และ นปช.ยูเอสเอ 2

-มีการโพสต์ข้อความเข้าข่ายความผิด ม. 112  รวม 3 ข้อความ (เป็นไฟล์ภาพ) โดยถูกกล่าวหาว่า “admin” โพสต์เอง 2 ข้อความ ผู้อื่นโพสต์แต่ไม่ลบ 1 ข้อความ

-เหตุเกิด 13 มีนาคม 2553 ซึ่งเป็นวันหลังจาก นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 12 มีนาคม 2553 ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง การสลายการชุมนุมในเดือนถัดๆ มา (เมษายน-พฤษภาคม 2553)

-อ่านรายละเอียดคดีและประเด็นการต่อสู้คดีได้ที่
http://freedom.ilaw.or.th/th/case/19#detail

สถานะคดี :                     ยื่นอุทธรณ์ และทนายจำเลยถอดอุทธรณ์ เมื่อเดือนเมษายน 2555 จนถึงปัจจุบัน

                                    ยังไม่มีจากคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้คดีเป็นที่สิ้นสุด


สถานภาพก่อนถูกจับ
:       หย่าร้าง เลี้ยงดูบุตรชาย 1 คน วัย 10 ปี (ขณะถูกจับ) เพียงลำพัง


อาชีพก่อนถูกจับ
:            รับจ้างออกแบบเว็บไซต์

 

หมายเหตุ :                     -ชื่อของธันย์ฐวุฒิ ปรากฏอยู่ใน “ผังล้มเจ้า” ที่จัดทำขึ้นโดย ศอฉ.

                                    -ข้อสังเกตต่อคำพิพากษา

เครือข่ายพลเมืองเน็ต: ข้อสังเกตต่อคำพิพากษาคดีผู้ออกแบบเว็บ นปช.ยูเอสเอ

-ประวัติความคิดทางการเมืองของธันย์ฐวุฒิ

เสียงจากนักโทษคดีหมิ่นฯ: ประวัติชีวิตบนเส้นทางสายแดง ผิดด้วยหรือที่เลือกยืนฝั่งนี้” (1)

เสียงจากนักโทษคดีหมิ่นฯ: เส้นทาง นักรบไซเบอร์และคำถามถึงคนชั้นกลาง (2)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวพลเมือง: กรมคุ้มครองสิทธิฯ จัดถก พิธีสารเลือกรับด้านสิทธิ-โทษประหาร 3 ฉบับ

Posted: 07 Jun 2012 04:08 AM PDT

 

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดการสัมมนา เรื่อง พิธีสารเลือกรับของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และพิธีสารเลือกรับแห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ชุตินทร คงศักดิ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การสหประชาชาติ การยอมรับและปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแสดงถึงพัฒนาการในทางที่ดีของสิทธิมนุษยชน แต่ทั้งนี้ ประเทศไทยมีหลักการสำคัญว่าถ้ารับรองอนุสัญญาเหล่านั้นแล้วต้องสามารถปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงภายในประเทศด้วย ไม่ใช่เข้าเป็นภาคีแต่เพียงในนาม

ด้าน วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแสดงความยินดีที่หน่วยงานราชการ เช่น กรมคุ้มครองสิทธิฯ ทำงานเชิงรุกในการสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนด้านบวกเพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น เช่น ที่ผ่านมามีการแก้ไขกฎหมายห้ามไม่ให้ลงโทษประหารชีวิตบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และหญิงมีครรภ์ นี่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุดที่รัฐควรกระทำเพื่อเคารพสิทธิในการมีชีวิต สหประชาชาตินั้นระบุไว้ชัดเจนว่าคดียาเสพติดไม่จัดเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ต้องลงโทษประหารชีวิต

วิทิต กล่าวต่อว่า สำหรับกระบวนการสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระดับโลกมี 2 แขน แขนที่หนึ่ง คือ กระบวนการตรวจสอบภายใต้อาณัติของสหประชาชาติ คือ กระบวนการ Universal Periodical Review (UPR) ที่ทุกประเทศสมาชิกไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต้องเข้ารับการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ แขนที่สอง คือ การเป็นภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งปัจจุบันมี 9 ฉบับหลัก และไทยรับเป็นภาคี 7 ฉบับ ได้แก่ CEDAW, CRC, ICCPR, ICESCR, CERD, CAT, CRPD ส่วน CED ไทยลงนามแล้วเมื่อมกราคม 2555 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน และยังไม่ได้เป็นภาคี ICRMW เมื่อประเทศไทยเป็นภาคีแล้วต้องทำรายงานตรวจสอบสิทธิที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาต่อคณะกรรมาธิการอนุสัญญาแต่ละฉบับ เป็นการประเมินตนเองเพื่อการปรับปรุง

วิทิต กล่าวว่า พิธีสารเลือกรับทั้งสามฉบับที่จะอภิปรายกัน คือ พิธีสารเลือกรับ ฉบับที่ 1 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เรื่อง กระบวนการรับและพิจารณาข้อร้องเรียน (OP-ICCPR No.1) โดยพิธีสารดังกล่าวหากรัฐรับเป็นภาคีสมาชิกจะเปิดโอกาสให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Committee) โดยผู้ร้องต้องระบุตัวตนและมีเงื่อนไขสำคัญว่าผู้ร้องต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศจนเสร็จสิ้นกระบวนความ (Exhaust local remedies) เสียก่อน

พิธีสารเลือกรับ ฉบับที่ 2 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เรื่อง การมุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต (OP-ICCPR No.2) สาระสำคัญ คือ รัฐสมาชิกต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยอาจตั้งข้อสงวนไว้ได้ในยามสงคราม แต่จุดมุ่งหมายหลัก คือ การรับรองสิทธิในการมีชีวิต การหาวิธีการลงโทษไม่ให้รัฐต้องเกี่ยวข้องกับการทำลายชีวิต แม้ว่าในหลายประเทศ กระแสสังคมจะเห็นด้วยกับการคงไว้ซึ่งโทษประหารก็ตาม การตัดสินใจเข้าเป็นภาคีของพิธีสารฉบับนี้จึงต้องอาศัยภาวะผู้นำอย่างสูง ปัจจุบันมีรัฐเป็นสมาชิกจำนวน 74 ประเทศ ประเทศในภูมิภาคเอชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นสมาชิก เช่น ฟิลิปปินส์ และติมอร์ตะวันออก เหตุผลสนับสนุนการยกเลิกโทษประหาร คือ มีรายงานทั่วโลกที่ระบุว่าโทษประหารไม่ช่วยยับยั้งอาชญากรรมตามที่สังคมคิด และในหลายประเทศ มีปัญหาเรื่องของความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมที่เราไม่อาจเชื่อมั่นได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ส่วนพิธีสารแห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OP-CAT) มีสาระสำคัญ คือ การพัฒนาระบบการเข้าเยี่ยมสถานกักกัน เช่น เรือนจำ โดยหน่วยงานระดับนานาชาติและระดับชาติเพื่อป้องกันการทรมานและการละเมิดด้านอื่นๆ โดยรัฐภาคีจะอนุญาตให้คณะอนุกรรมการระดับนานาชาติตามสนธิสัญญา CAT เข้าเยี่ยมสถานกักกันในรัฐสม่ำเสมอ และสร้างกลไกระดับชาติที่สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระเข้าตรวจเยี่ยมสถานกักกันและทำข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติและสภาพการควบคุมตัวต่อรัฐ


อัยการชี้ "เข้าเป็นภาคี" สะท้อนความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนประเทศ

กุลพล พลวัน อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า จากการที่ไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติทำให้ไทยมองสัญญาระหว่างประเทศทุกชนิดด้วยความหวาดระแวง กลัวว่าจะเป็นการก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยของรัฐ เช่น การพิจารณาเข้าเป็นภาคี ICCPR ใช้เวลายาวนานเกือบ 10 ปี แต่จริงๆ แล้ว การเข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศเหล่านี้แสดงถึงความก้าวหน้าของประเทศเรื่องสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมเขตอำนาจภายในของรัฐ ปัจจุบัน ประเด็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ต่างชาติใช้อ้างความชอบธรรมในการก้าวล่วงเขตอำนาจภายในของรัฐได้ และยังก้าวหน้าถึงขั้นให้สิทธิบุคคลในการร้องเรียนรัฐต่อองค์กรระหว่างประเทศ เช่น คดีในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

อัยการอาวุโส ระบุว่า สนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้น การเข้าเป็นสมาชิกในทางกฎหมายทำได้ไม่ยาก แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยากเพราะบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิมักเป็นคนจน คนด้อยโอกาส ไม่มีเงิน ไม่มีทนาย แต่การร้องเรียนมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และที่สำคัญต้องใช้กระบวนการศาลภายในประเทศให้ครบเสียก่อน เช่น ในไทยมีศาลปกครองที่ตัดสินคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับหน่วยงานรัฐอยู่แล้ว หรือ ศูนย์ดำรงราชานุภาพก็สามารถรับเรื่องร้องเรียนได้ ดังนั้น ปัญหาหลักของรัฐ คือ ศักยภาพในการปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญาฯ

กรณี OP-ICCPR No.1 อุปสรรค คือ กระบวนการเยียวยาภายในประเทศเองใช้เวลายาวนานมากและมีค่าใช้จ่ายสูง ผู้ร้องเรียนอาจไม่มีศักยภาพมากพอที่จะร้องเรียนในระดับนานาชาติ รัฐที่ถูกร้องเรียนต้องชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ ภายใน 6 เดือน แต่รัฐภาคีสามารถบอกยกเลิกการเป็นสมาชิกเมื่อไหร่ก็ได้

กรณี OP-ICCPR No.2 เป็นรูปธรรมที่สามารถแก้กฎหมายได้ง่าย เช่น การห้ามลงโทษประหารเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็แก้ที่มาตรา 18 ของประมวลกฎหมายอาญา แต่รัฐธรรมนูญไทย มาตรา 32 เองกลับยอมรับการลงโทษประหารโดยศาลว่าไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องแก้กฎหมายภายในประเทศ ตามกฎหมายไทยสำหรับบุคคลที่ได้รับการยกเว้นโทษประหารมีสามกลุ่ม คือ (1) เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี (2) หญิงมีครรภ์ ให้เลี้ยงดูลูกได้จนลูกอายุครบ 3 ปีแล้ว ให้เปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต ถ้าลูกเสียชีวิตก่อนหน้านั้นให้นำตัวไปประหารได้ (3) บุคคลวิกลจริต ให้รักษาจนกว่าจะหายภายใน 1 ปี ถ้าไม่หายให้เปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ในระบบยุติธรรมของไทยแม้ได้รับโทษประหารก็สามารถยื่นฎีกาขออภัยโทษได้และมักได้รับการเปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต

กรณี OP-CAT พันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามที่สำคัญ ได้แก่ (1) การให้คณะกรรมการอนุสัญญา CAT เข้าเยี่ยมสถานกักกันเพื่อป้องกันการทรมาน (2) สำคัญที่สุดคือ การพัฒนากลไกระดับชาติที่มีหน้าที่ตรวจสอบและตรวจเยี่ยมสถานกักกัน และเป็นหน่วยงานอิสระ หน่วยงานที่อยู่ในข่าย เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ในไทยมีคณะกรรมการของกระทรวงยุติธรรมที่ตรวจเยี่ยมเรือนจำทั่วประเทศอยู่ เดิมห้องขังในโรงพักเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อการซ้อมทรมาน แต่ปัจจุบันเรือนจำกลับมีความเสี่ยงเพิ่มมากกว่า (3) รัฐสมาชิกต้องอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานหรือองค์กรที่มาตรวจสอบสถานกักกัน (4) แต่งตั้งอนุกรรมการภายในประเทศเพื่อตรวจตราป้องกันการทรมาน

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ทั้งหมดนี้มีความท้าทาย คือ งบประมาณสนับสนุนในการทำกิจกรรมข้างต้น โดยมาตรา 26 ของสัญญาได้ระบุไว้ให้จัดตั้งกองทุนรับบริจาคจากสมาชิกเพื่อสนับสนุนรัฐภาคีในการดำเนินการ ข้อเสนอต่อรัฐ คือ ให้ใช้อำนาจสั่งการสนับสนุนผ่านระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อสร้างกลไกดังกล่าว แต่ความเห็นส่วนตัวคิดว่าการรับรอง OP-CAT มีอุปสรรคมากกว่าเพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่าเรื่องการยกเลิกโทษประหาร

พิทยา จินาวัฒน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า จากการที่เคยทำงานในทั้งสองฝ่ายความคิด คือ ฝ่ายปราบปรามยาเสพติด (อดีต คือ รองเลขาธิการ ปปส.) และปัจจุบัน คือ ฝ่ายคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เรื่องยาเสพติดและโทษประหารมีการถกเถียงกันเรื่อยมา ล่าสุด คือ รัฐบาลขอระดมความเห็นเรื่องการย่นระยะเวลาการประหารให้เร็วขึ้นภายใน 15 วันสำหรับนักโทษคดียาเสพติดที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาประหารชีวิต แต่กระทรวงยุติธรรมคัดค้านเรื่องดังกล่าว การพิจารณากฎหมายเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง ซึ่งการตัดสินใจแต่ละครั้งต้องมีข้อมูลประกอบจากทีมวิชาการของพรรค เสียงที่นักการเมืองฟังและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ คือ (1) เสียงประชาชนทั่วไป กระแสสังคม (2) นักวิชาการ (3) ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และสื่อมวลชน ในการพัฒนามาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศบางครั้งก็ต้องอาศัยแรงจูงใจจากภายนอกประเทศ ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐมองเป็นการแทรกแซง แต่อยากให้มองเป็นการยกระดับคุณภาพงาน การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี พัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน จะเป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวม เช่น การใส่โซ่ตรวนนักโทษ ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใช้ในการติดตามตัวนักโทษและป้องกันการหลบหนีได้ดีกว่าโซ่ตรวน


ช่วงรับฟังความคิดเห็น


แนะระวังวาระซ่อนเร้นทางกฎหมาย

ผู้แทนจากสำนักอัยการสูงสุด ชี้แจงว่าอาจจะต้องระวังวาระซ่อนเร้นทางกฎหมายที่ประเทศมหาอำนาจเช่น สหรัฐฯ ที่ต้องการจะผลักดันกฎหมายบางเรื่อง เช่น การสร้าง Universal Jurisdiction (เขตอำนาจรัฐตามหลักสากล) ให้คดีละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงภายใต้ศาลอาญาระหว่างประเทศ ส่วนการยกเลิกโทษประหารนั้นแกนนำสำคัญจริงๆ คือ ประเทศในยุโรป ซึ่งมีหลักศาสนาคริสต์ที่เคร่งครัดว่าห้ามทำลายชีวิต การนำมาใช้ในประเทศไทยต้องพิจารณาอีกครั้งว่ามีผลได้ผลเสียอย่างไร


เสนอศึกษามุมกลับ ผลยกเลิกโทษประหารต่อจำนวนอาชญากรรม

ผู้แทนจากกรมพระธรรมนูญ เสนอว่าควรมีการศึกษาวิจัยในมุมกลับด้วยว่าการยกเลิกโทษประหารทำให้จำนวนอาชญากรรมเพิ่มขึ้นหรือไม่ และหากจะเปลี่ยนโทษประหารเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต ควรมีเงื่อนไขว่าต้องรับโทษอย่างน้อย 20-25 ปีก่อนที่จะสามารถพิจารณาลดหย่อนโทษได้ นอกจากนี้ มองว่าโทษประหารยังเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ต่างชาติมักจะอ้างว่าไทยยังใช้โทษประหารชีวิตดังนั้นจะไม่ส่งตัวผู้ต้องสงสัยให้ดำเนินคดีในศาลไทย อย่างไรก็ตาม ต่อบทบาทและขอบเขตหน้าที่ของกาชาดสากล หรือ ICRC ที่เดิมมีอำนาจในการตรวจเยี่ยมค่ายเชลยศึกระหว่างสงคราม แต่การตรวจเยี่ยมสถานกักกันในกรณีที่เป็นความขัดแย้งภายในประเทศรัฐสามารถปฏิเสธคำขอได้ และไม่แน่ใจว่า ICRC มีอำนาจที่จะตรวจตราคุกทั่วไปด้วยหรือไม่


ถาม “ทำไมเราต้องฆ่าคนเพื่อพิสูจน์ว่าการฆ่าเป็นสิ่งที่ผิด”

ผู้แทนจากสำนักบัณฑิตสตรีฯ ตั้งคำถามสำหรับทุกคนว่า “ทำไมเราต้องฆ่าคนเพื่อพิสูจน์ว่าการฆ่าเป็นสิ่งที่ผิด” พร้อมเสนอแนะว่ารัฐสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกควบคู่ไปกับการจำคุก เพื่อทำให้คนทำผิดสำนึก กลับตัว และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ ที่สำคัญ คือ ควรระลึกไว้เสมอว่าแม้นักโทษจะอยู่ในคุกแต่เขาก็ยังเป็นคนไทย ควรได้รับการปกป้องดูแลตามกฎหมายเช่นกัน

ผู้แทนจากกรมพินิจและคุ้มครองเยาวชนฯ เสนอว่า การพิจารณาต้องรับฟังความรู้สึกของเหยื่ออาชญากรรมและการชดเชยที่เหมาะสมให้กับครอบครัวเหยื่อด้วย และใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เพื่อเตรียมผู้กระทำผิดให้พร้อมกลับเข้าสู่ชุมชนและเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพอีกครั้ง

ผู้แทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวย้ำถึงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในกระบวนการยุติธรรมที่อาจทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องรับโทษประหารซึ่งไม่อาจย้อนผลการลงโทษได้ และการสร้างความทุกข์ครั้งใหม่ให้กับครอบครัวของผู้ถูกประหาร ผู้ที่ถูกลงโทษประหารโดยเฉพาะคดียาเสพติดมักเป็นเพียงคนขนยา เป็นปลาเล็กปลาน้อย ไม่ใช่ผู้สั่งการใหญ่

ผู้แทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชี้แจงว่า เมื่อ 35 ปีที่แล้วที่แอมเนสตี้ฯ เริ่มทำงานรณรงค์ยกเลิกโทษประหาร มีเพียง 20 ประเทศที่ยกเลิก แต่ปัจจุบันมีถึง 141 ประเทศ จาก 198 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหาร จุดมุ่งหมายของการลงโทษน่าจะเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้กระทำผิดเพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพกลับสู่สังคมอีกครั้ง มากกว่าการทำลายชีวิต เพราะผู้กระทำผิดเหล่านี้เป็นผลผลิตของสังคมนั้นๆ อาจเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติ เป็นผู้ด้อยโอกาส ไม่ได้รับการศึกษา การใช้โทษประหารเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ต้นตอ คือ โครงสร้างสังคมที่ทำให้เกิดปัญหาสังคม ปัญหายาเสพติดต่างๆ เป็นต้น การลงโทษประหารจึงไม่ใช้ทางออกที่ยั่งยืนในการลดยาเสพติดหรือป้องกันอาชญากรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบนักเคลื่อนไหวจีนสมัยเทียนอันเหมินแขวนคอตาย หลังถูกจำคุก 20 ปี

Posted: 07 Jun 2012 02:22 AM PDT

"ลี่ วางหยาง" นักสหภาพแรงงานจีนที่ถูกคุมขังกว่า 20 ปีเมื่อเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ถูกพบเสียชีวิตจากการแขวนคอตายในรพ. เมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังจากได้รับการปล่อยตัวออกมา 1 ปี โดยญาติมองว่าสาเหตุการตายดูผิดปกติ 

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 55 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า "ลี่ วางหยาง" นักสหภาพแรงงานจีนที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์เทียนอันเหมินและคุมขัง 20 ปี ถูกพบเสียชีวิตในโรงพยาบาลในสภาพแขวนคอตายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยญาติของเขาตั้งข้อสงสัยกับสาเหตุการตายที่รัฐระบุ

ลี่ วางหยาง เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสหภาพแรงงานในมณฑลหูหนานของจีน และถูกจับกุมในขณะที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุมครั้งใหญ่ในจตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 เขาถูกปล่อยตัวเมื่อปี 2554 

เซา เป๋าซื่อ พี่ชายของเขากล่าวว่า เขาค่อนข้างตั้งข้อสงสัยกับการเสียชีวืตของลี เพราะเขาไม่เคยแสดงความอยากที่จะฆ่าตัวตายเลย ถึงแม้เขาจะถูกคุมขังในคุกถึง 20 ปีและเจ็บป่วยมากก็ตาม เซาระบุว่า เมื่อวันก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ลีก็ยังดูปรกติดี

"เขาเป็นคนที่เข้มแข็งมาตลอด ไม่มีสัญญาณเลยว่าเขาคิดที่จะฆ่าตัวตาย" พี่ชายลี่กล่าว "ถึงแม้ว่าเขาจะมีโรคภัยไข้เจ็บมากมายและใช้ชีวิตกว่า  20 ปีในเรือนจำ แต่เขาไม่เคยพูดถึงการฆ่าตัวตายเลย ฉะนั้นผมจึงไม่เชื่อเท่าไร" 

เซากล่าวว่า หลังจากที่เขามาถึงโรงพยาบาลในวันพุธเช้าหลังจากที่ได้รับแจ้งว่าลี่เสียชีวิต ก็พบลี่ในสภาพแขวนคอตายโดยมีผ้าฝ้ายสีขาวผูกที่คอห้อยมาจากคานหน้าต่าง 


ภาพจาก Radio Free Asia

มีนักกิจกรรมบางส่วนมองว่า สภาพการตายของลี่เป็นไปอย่างน่าสงสัย เพราะดูจากรูปภ่ายแล้ว จะพบว่าเท้าของเขายังแตะถึงพื้น

ทั้งนี้ ลี่ วางหยาง ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2532 หรือ 5 วันหลังจากเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ในข้อหา "เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อที่ต่อต้านระบอบและยุยงปลุกปั่น" เขาถูกลงโทษด้วยการใช้แรงงานในระหว่างการจำคุก 11 ปี องค์กรสิทธิมนุษยชนในจีนชี้ว่า ในระหว่างนั้น เขาถูกขังเดี่ยวและถูกซ้อมหนักมากจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 

หลังจากได้รับการปล่อยตัวในปี 2544  เขาได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือปัญหาสุขภาพของเขาที่เกิดจากการถูกซ้อมทรมานในเรือนจำ ทำให้เขาถูกลงโทษจำคุกอีก 10 ปีในข้อหาคิดเป็นกบฎต่อรัฐบาล

ในทวิตเตอร์ของหมู่นักเคลื่อนไหวก็ได้ไว้อาลัยกับการจากไปของลี่ วางหยาง รวมถึงทนายความสิทธิมนุษยชนเต็ง เป๋า ผู้ซึ่งโพสต์ภาพวาดตัวอักษรจีนที่มีข้อความว่า "แต่ละหยาดเลือดเพื่อแต่ละตารางนิ้วของเสรีภาพ แม่น้ำหลากร้อยไมล์ก็นำมาซึ่งความโศกเศร้าสลด"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา “อำนาจในการบัญญัติรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ใคร ?"

Posted: 06 Jun 2012 10:46 PM PDT

วงเสวนาชี้ ตามหลักกฎหมาย รธน. มาตรา 68 ไม่โยงถึงการยุบพรรคเพื่อไทย แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ในประเทศนี้ ส่วนการยื่นถอดถอน อาจจะไม่สำเร็จแต่ส่งแรงกระเพื่อมให้ ตลก. รธน. ปรับตัว ศ.ลิขิต ธีระเวคิน แนะตลก. ถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของหลักกฎหมาย สมชาย ปรีชาศิลปะกุล เสนอปฏิรูปศาลรธน.

7 มิ.ย. 2555 สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดการเสวนา รัฐธรรมนูญ เสวนาวิชาการหัวข้อ “อำนาจในการบัญญัติรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ใคร ?" โดยผู้อภิปรายประกอบด้วย รศ.มานิตย์ จุมปา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์และ นายมะโน ทองปาน นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตกรรมการบริหารสภาทนายความ ดำเนินรายการ โดยศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

 

ลิขิต ธีระเวคิน: การพิจารณาคำร้องตามาตรา 68 นั้นเป็นการดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมผิดตั้งแต่ต้น

ศ. ลิขิต ธีระเวคิน กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งเกิดขึ้นจากการรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนหน้านี้เป็นองค์กรที่ไม่มีในประเทศไทย และต้องการปฏิรูปการเมืองจึงพูดถึงองค์กรอิสระและองค์กรตุลาการอีก 10 หน่วยงาน อาทิ ศาลปกครอง ศาลรธน. กกต. กสม. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาดำรงตำแหน่งการเมือง กสช. กทช.

ศาลรธน. เป็นศาลการเมือง ต้องมีคนรู้ทางัฐศาสตร์มาอยู่ในองค์คณะด้วยเพราะไม่ใช่การพิจารณาจากตัวลายลักษณ์อักษรอย่างเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ศาลรธน. จึงเกิดขึ้น แต่มักจะต้องใช้คนจบนิติศาสตร์ ห้าคน เป็นคนที่รู้กฎหมาย และกฎหมายในประเทศไทยที่เป็นกฎหมายมหาชนมีไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นแพ่งอาญา ส่วนใหญ่อ่านสำนวน ขนเอาวิธีคิดคิดแบบแพ่งและอาญามาใช้ การบอกว่ามีวิธีชั่วคราว เป็นการคิดแบบวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเอามาใช้ไม่ได้ เพราะนี่เป็นกฎหมายมหาชน

ศ.ลิขิตกล่าวว่า การพิจารณาคำร้องตามาตรา 68 นั้นเป็นการดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมผิดตั้งแต่ต้น “ส่วนมาตรา 68 ไปอ่านดูให้ดีนะ เป็นมาตราที่ใช้คำว่าและ เดิมมันแปลว่าเพื่อ คือเพื่อให้อัยการส่งต่อ ส่งไม่ได้จนกว่าอัยการจะบอกว่ามีมูล อันนี้เป็นประเด็นต้องชัดแม้จะอ้างภาษาอังกฤษ เพราะคนอ้างอาจจะไม่รู้ภาษาอังกฤษ ในมาตรานี้เห็นชัดว่าศาลจะวินิจฉัยอะไรนั้นต้องผ่านอัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริงมาก่อน ในเรื่องของการตีความกฎหมายมีสองอย่าง หนึ่งคือตามลายลักษณ์ และสองคือเจตนารมณ์ ไม่ใช่ทำซีซั้ว อัยการตองตรวจสอบจะได้ไม่รกศาล ดังนั้นทั้งเจตนารมณ์และลายลักษณ์ตองผ่านอัยกาสูงสุด”

ประเด็นต่อมาคือ การใช้วิธีการชั่วคราวคือการเอาวิธีพิจารณาความแพ่งมาปรับใช้ เพราะศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่ารธน.

“ส่วนที่บอกว่าไปดูภาษาอังกฤษ การบอกว่าภาษาอังกฤษใช้ได้ ในการทำสัญญาระหว่างประเทศถ้าอยู่ในประเทศไทย เขาจะทำภาษาท้องถิ่นก่อนภาษาอังกฤษ และเขียนว่าในกรณีมีความขัดแย้งเกิดขึ้นให้ใช้ภาษาไทย แล้วขึ้นศาลไทย แต่อยู่ศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ไปเอาภาษาอังกฤษเป็นหลัก และแม้แต่ภาษาอังกฤษและภาษาไทยก็ไม่ต่างกัน และโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถ้าบอกภาษาอังกฤษถูกแปลว่าภาษาไทยไม่ถูกใช่ไหม”

ศ. ลิขิต กล่าวว่า ในทางรัฐศาสตร์ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีสองระบอบ อังกฤษ สหรัฐ ฝรั่งเศส อังกฤษ คือระบบรัฐสภา อีกระบบคือระบบประธานาธิบดี และระบบฝรั่งเศส

ในระบบอังกฤษ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน คือมาตรา สามของไทย สองคือหลักการตรวจสอบและถ่วงดุล เพื่อนำไปสู่ The rule of Laws ไม่ใช่ The rules by law หลักต่อมา คือการถ่วงดุลอำนาจ และหลักตรวจสอบ

อำนาจทั้งสามต้องถ่วงดุลย์ซึ่งกันและกัน การวินิจฉัยไม่ใช่การก้าวก่าย หยุดยั้งการดำเนินงาน การที่ศาลรธน. ไปยับยั้งการดำเนินการตามวาระสามของรัฐสภาไม่ได้ ที่จะบอกว่าถ่วงดุลนั้น หมายความว่าต้องไม่ก้าวก่ายกัน และถ้าสภาปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นสภาก็จะมีความผิดด้วย คือผิดฐานละเมิดต่อหน้าที่ตามกฎหมายอาญามาตรา 157 และละเมิดรธน. มาตรา 270 ด้วย จงใจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถอดถอนได้

“ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดให้เคลียร์ ผมไม่อยากให้บ้านเมืองเราไม่มีขื่อแป สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ มันไม่ใช่เรื่องเฉพาะความขัดแย้งแต่มันเป็นเรื่องอนาคตของประเทศไทย ของประชาธิปไตย หลักการจะให้กลิ้งไปมาไม่ได้”

ศ. ลิขิต กล่าวว่าโดยส่วนตัวเขาไม่เชื่อว่าตุลาการจะได้รับแรงกดดันจากอำนาจนอกระบบใดๆ น่าจะยังเป็นตุลการที่มีความเคารพนับถือ แต่เข้าใจว่าที่เป็นอย่างนี้อาจจะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าถูกต้องแล้ว โดยเชื่อว่าอาจจะระงับให้เกิดความปั่นป่วน เป็นความหวังดี แต่ความหวังดีต้องตั้งอยู่บนหลักนิติธรรม “เพราะตอนนี้แทบจะไม่เหลือหลักอะไรอยู่แล้ว ที่จะสอนอะไรก็ไม่ได้ สอนว่ากฎหมายย้อนหลังได้ไหม ก็ต้องบอกว่าไม่รู้ ไม่รู้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะ This is Thailand” ศ. ลิขิตกล่าวทิ้งท้าย

 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล : บทบาทศาลรธน. สะท้อนการช่วงชิงอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งกับพลังอนุรักษ์นิยม

สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่าเวลาสอนกฎหมายปัญหาขณะนี้ไม่ใช่เพราะไม่รู้ แต่พบว่าที่สอนอะไรไป ศาลตัดสินมาคนละเรื่องเลย “อย่างกรณีคุณสมัคร ถามนักกฎหมายก็บอกว่าไม่ใช่ลูกจ้าง แต่ศาลก็ตัดสินว่าเป็นลูกจ้าง เพราะว่านี่เป็ฯนัการเมืองจึงต้องใช้การตีความแบบทั่วไป เมื่อคืนที่ฟังคณะศาลรัฐธรรมนูญบอกให้เปิดรธน. ภาษาอังกฤษ นี่เหมือนครั้งที่สยามเราร่างประมวลกฎหมายแพ่งครั้งแรกหรือไม่ ที่เราร่างภาษาอังกฤษแล้วค่อยแปล แต่รธน. ผมเข้าใจว่าร่างฯ เป็นภาษาไทยนะ แล้วค่อยแปลเป็นภาษาอังกฤษ นี่กำลังแสดงให้เห็นว่าเหตุผลที่ศาลกำลังจะใช้เริ่มจะค่อยๆ มีปัญหา”

กรณีเรื่องนี้มีข้อเถียงกันอยู่สามเรื่องใหญ๋ๆ คือ 1) ช่องที่รับคำร้อง ประชาชนยื่นได้ตรงหรือไม่ 2) ประเด็นที่รับคำร้อง คือ กรณีที่สภา พิจารณาร่างฯ เป็นการล้มล้างได้หรือไม่ และ 3) คืออำนาจศาลรธน.

“กรณีช่องที่รับ ศาลยังสู้ โดยอ้างว่าภาษาอังกฤษ, ประเด็นที่รับ ศาลอ้างว่า เป็นเหตุที่ใหญ่มากถ้าปลาอยไปจะเป็นปัญหา

โอเคต่อให้สองประเด็นนี้ถูกต้อง แต่คำถามคืออำนาจที่สั่งมาจากไหน มาจากมาตราไหน ไม่มีครับ ต่อให้ตีความแบบเข้าข้างเลย อำนาจที่สั่งมาจากไหน ความเห็นส่วนตัวอยู่ไหน ไม่เห็น ประเด็นนี้ผมเห็นว่าศาลตระหนักว่าเป็นจุดอ่อน ก็เลยบอกว่าไม่ได้วินิจฉันอะไนร ก็แจ้งๆ กันไป นี่เป็นประเด็นที่ศาลรธน. ตอบไม่ได้ อำนาจอยู่ที่ไหนในการเข้ามาพิจารณาเข้ามแทรกแซงสถาบันนิติบัญญัติ อำนาจในการตรวจสอบนั้นศาลมีอำนาจหลังจากสภาพิจาณณาเสร็จแล้ว แต่ตราบที่วาระสามเขายังไม่ลงคะแนนเขายังเถียงๆ กันอยู่ อยู่ดีๆ ศาลบอกว่าขอเถียงด้วย ถ้าจะเถียงด้วยต้องไปเป็นสว. หรือสส. “

“ศาลรธน. ในทัศนะผมนะ จะมีน้ำหนักไม่ใช่เพียงอ้างโน่นนี่ แต่ต้องให้สาธารณะชนเห็นด้วย เมื่อกี๊ที่ฟังอาจารย์ลิขิต ฟังแล้วเห็นด้วย แต่รอบสี่ห้าปีมานี้ฟังศาลแล้วอ่อนใจ นี่เราเรียนหรือ่อานกฎหมายฉบับเดียวกันหรือเปล่าวะ ทำไมตีความคนละเรื่องละราวเลย”

“ในมุมที่กว้างกว่า ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือ การแสดงการเคลื่อนไหวของบทบาทศาลรธน. สะท้อนการช่วงชิงอำนาจนำทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งกับศาลที่เป็นพลังอนุรักษ์นิยม

“การปรากฏตัวของศาลรธน. ครั้งนี้ค่อนข้างน่าแปลกใจเนื่องจากตัวกฎหมายให้อำนาจไม่ชัด และนี่คือภาพที่พยายามแสดงให้เห็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจนำทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐสภากับผฝ่ายตุลาการ ซึ่งนี่เป็นความขัดแย้งในสังคมไทยตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 – 2550 คือรธน. 2550 เพิ่มอำนาจโดยสัมพัทธ์แก่ตุลาการ เพิ่มอำนาจในการควบคุมและตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร ซึ่งบัญญัติในรธน. ฉบับ 2550 หลายมาตรา

“ทัศนะของผมไม่ใช่ปัญหาเรื่องประธานศาลรธน. เท่านั้นแต่เป็นปัญหาของสังคมไทยทั้งหมด คล้ายๆ ว่าเราจะเลือกเอาอะไร อย่างอาจารย์นิธิ ถามว่าเราจะเอาคนดีที่ตรวจสอบไม่ได้ หรือเป็ฯคนที่ชั่วบ้างแต่มีระบบที่ตรวจสอบได้ ในสังคมประชาธิปไตยคิดว่าคนสามารถดีชั่วได้ แต่ที่สำคัญและมีคยวามหมายมากกว่านั้นคือต้องมีระบบการเมืองที่เข้ามาตรวจสอบ และทำให้คนเหล่านี้อยู่ในร่องรอย มากกว่าการคาดหวังกับคนที่ดีแต่เราไม่รู้ว่าจะเสียคนเมื่อไหร่”

 

มานิตย์ จุมปา: การตีความรธน. มาตรา 68 ของศาลรธน. ส่งผลที่แปลกประหลาด ทำให้บทบัญญัติที่ระบุหน้าที่อัยการไร้ความหมาย

รศ. มานิตย์ จุมปา จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ทุกอำนาจย่อมตรวจสอบอำนาจซึ่งกันและกันได้ เมื่อศาลรธน. รับคำฟ้องเหมือนหนึ่งมีเจตนาดี แต่ปัญหาคือวิธีการที่นำไปสู่เป้าหมายนั้น ถ้าศาลบอกให้สภารอหน่อย จริงๆ ศาลก็น่าจะรอหน่อย รออัยการสูงสุดหน่อย เพราะการที่ไม่รออัยการสูงสุดแล้วรับคำร้อง โดยตรงนั้นกระทบต่อหลักการตีความกฎหมาย ซึ่งปกติแล้วถ้าลายลักษณ์อักษรไม่แน่ชัดก็ต้องดูที่เจตนารมณ์

การตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ต้องมีกรณียื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเสียก่อน และเมื่อมีคำสั่งแบบนี้ผมต้องอธิบายต่อนักศึกษาค่อนข้างมากว่เหตุใดศาลจึงมีคำสั่งเช่นนั้น แต่สำคัญที่สุดคือเมื่อลายลักษณ์ไม่ชัดต้องดูประกอบเจตนารมณ์ ของผู้ร่าง ก็ไม่ปรากฏว่าให้ประชาชนยื่นคำร้องโดยตรงในมาตรา 68 ได้ ทั้งๆ ที่ในรธน. 2540 นั้นมีการพูดคุยว่าไม่ควรเปิดให้ประชาชนยื่นโดยตรง พอมารธน. 2550 มีการพูดคุยว่าน่าจะถึงเวลาที่จะเปิดให้ประชาชนยื่นตรวจสอบได้ แต่ต้องเป็นในกรณีที่ไม่สามารถตรวจสอบในด้านอื่นๆ แล้ว แต่ต้องเป็นกรณีที่เขียนไว้ชัดแจ้ง แต่มาตรา 68 ไม่ได้เขียนไว้ชัดแจ้ง และการตีความกฎหมายใดกฌแล้วแต่ต้องมี่ตีความให้เกิดผลที่แปลกประหลาด

“ผลที่แปลกประหลาดต่อการตีความมาตรา 68 คือ แล้วเราจะเขียนให้ยื่นต่ออัยการไปทำไม เพราะถึงอย่างไรไม่ว่าอัยการสูงสุดวินิจฉัยเป็นอน่างไร ศาลรธน. ก็รับ อัยการก็ไร้ซึ่งความหมาย และเป้าหมายที่ให้อัยการคือ ประสงค์จะแย่งเบาศาล เพื่อไม่ให้คดีรกศาลเพื่อให้ตัดสินคดีใหญ่ๆ และให้สังเกตว่าศาลรธน. มีศาลเดียว ดังนั้นการตีความที่รับคำร้องนั้นก่อให้เกิดผลประหลาด ทำให้การเขียนว่าอัยการสูงสุดรับคำร้องก็จะไม่มีผลอย่างใดทั้งสิ้น” โดยเขาเห็นว่ากรณีนี้ สรุปว่าอัยการทำงานฟรี เพราะศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้เรียบร้อยแล้ว

“และการวินิจฉัยในทางกฎหมายมหาชน ถ้าจะให้โฆษกแถลงแต่ครั้งแรกต้องให้แถลงกฎหมายที่ล้ำลึกและชัดเจน แต่คำแถลงในแง่เหตุผลก็ยากที่จะรับฟังได้ เมื่อตุลาการมาแถลงอีกแทนที่จะทำให้ชัดเจน ยิ่งทำให้เกิดข้อขัดแย้งทางกฎหมาย ให้ไปดูภาษาอังกฤษ และในวงการกฎหมายก็สอนกันมา ว่าสมัยแรกๆ ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ท่างเป็ภาษาอังกฤษก่อน เป็นต้นต่างที่ใช้พิจารณา เพราะมีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาช่วยนร่าง แต่รธน. ยกร่างกันเป็นภาษาไทย แต่พอมีปัญหาแล้วบอกให้ย้อนไปดูภาษาอังกฤษ กลับก่อให้เกิดข้อสงสัยยิ่งกว่า”

“แล้วเช่นนี้จะตรวจสอบได้อย่างไร ท่านก็แอ่นอกว่าถ้าจะยื่นถอดอนกยื่นเลย ซึ่งจริงๆ การยื่นถอดถอนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก”

 

การเสนอให้ถอนถอนเป็นการหมิ่นศาลหรือเปล่า

นายมะโน ทองปาน อดีตกรรมการบริหารสภาทนายความ กล่าวว่าช่องทางที่จะนำกรณีไปสู่ศาลรธน. นั้นชี้ชัด คือต้องเป็นกรณีถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่บัญติไวในรธน. ตามมาตรา 122 อีกกรณีคือกรณีมีปัญหาโต้แย้งทางกฎหมาย โดยคู่ความเห็นว่าบทบัญญัตตินั้นขัดรธน. ศาลที่ทำการพิจาณาคดีจะส่งกรณีให้ศาลรธน.เอง “ส่วนมาตรา 68 ผมมองว่า ในเมื่อมีการเขียนบทบัญญัติไวอย่างนี้ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์มานิตย์ เมื่อศาลรธน. ขโมยคำว่าและไปใช้แล้ว อัยการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเอาไปไหน ก็เอาไว้ในลิ้นชักครับ”

นายมะโน กล่าวต่อไปว่าคำร้องตามาตรา 68 ต้องเป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้อำนาจมาโดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามรธน. แต่รธน. 291 นี้ จะต้องห้ามไม่ให้มีการไปกระทบเรื่องระบบ แม้คำร้องจะร้องมาโดยชอบ ก็ไม่มีเหตุให้รับคำร้อง เพราไม่มีเหตุที่ไปกระทบกับสิ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 68 แต่อย่างใด

ในเรื่องการของการถอดถอน ถ้าการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญเข้าองค์ประกอบมาตรา270 ก็เป็นเรื่องทำได้ เป็นการคานอำนาจกันและกันอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องการละเมิดอำนาจศาล คือเมื่อมีการละเมดการพิจาณราโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลสั่งขังได้ แต่ระเบียบข้อบังคับของศาลรธน. นั้นยังไม่มีบทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลไว้ โดยนายมะโนย้ำว่าถ้าดูตามเจตนาแล้ว การกระทำทั้งหมดก็ป็เนเรื่องมีเหตุมีผลสมควรที่จะดำเนินการถอดถอนต่อไปได้

ในประเด็นการละเมิดอำนาจศาลนี้ ศ. ลิขิต ขยายความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องห้ามต่อเมื่อมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ส่วนการอ้างเรื่องการละเมิดอำนาจศาลต้องเกี่ยวกับอรรถคดี แต่เมื่อ รธน. 270 ระบุชัดแล้วว่าการยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำไดอย่างไร ถ้ามีการยื่นถอดถอนตามรธน. มาตรา 270 จะอ้างว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลไม่ได้ และเสนอให้ศาลรธน. ยอมถอยเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาล

“ถอยหนึ่งกว้าง ขอบฟ้าจะกว้างขึ้น เป็นการทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ และเป็นการรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาลด้วย เพราะไม่มีใครอยูเนหือรัฐธรรมนุญ ทุกคนเท่าเทียมกันตามมาตรารัฐธรรมนูญมาตรา 5”

นายสมชาย แสดงความเห็นว่า หลายประเทศมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลที่เกี่ยวข้องกับการพิจาณณา แต่กรณีไทย มีการใช้อำนาจศาลเกิน กรณีชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ถือข้าวผัดโอเลี้ยงไปเยี่ยมชุดที่ถูกจำคุกก็ถูกขู่ว่าจะเป็นการละเมิดอำนาจศาลเช่นกัน “การละเมิดศาลต้องเกี่ยวข้องกับกับกระบวนวิธีพิจาณณานะครับ นี่เป็นปัญหาอีกเรื่องในบ้านเราคือถูกตีความอย่างกว้าง”

นายสมชายยังอภิปรายถึงการยกกรณีศึกษาจากต่างประเทศมาอ้างอย่างไม่เป็นระบบว่า ในตอนนี้มีการเถียงกันว่าการทีประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลรธน. โดยตรง ในต่างประเทศก็มี แต่เวลาที่เราถกเถียงกันหลายๆ เรื่องเรามักจะหยิบเอามาเป็นชิ้นๆ เช่น สว. มาจากการเลือกตั้ง ก็จะมีคนบอกว่า อังกฤษยังมีสว. แต่งตั้ง เราต้องเอาทั้งระบบ

“ กรณีเยอรมัน บอกว่าประชาชนยื่นคำร้องโดยตรง คุณเอาความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายมาใช้ด้วยสิ ในต่างประเทศเขามีเขาก็มีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยเชนเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ศาล”

 

เสนอปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มช. ระบุว่า เมื่อพูดถึงปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เพียงปัญหาเฉพาะตัวบุคคล แต่เป็นปัญหาโครงสร้างของศาลรธน. ในรธน. 2550 โดยเขาเสนอว่าต้องปฏิรูปอย่างน้อยสามเรื่อง คือ หนึ่ง ที่มา ซึ่งอยู่ในวงแคบ และปัจจุบันตลก. รธน. มาจากตุลาการดั้งเดิม

สอง ขีดอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนว่าศาลมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน ในหลายประเทศมีการตุลาการภิวัตน์ เกิดจากากรที่ศาลตีความขยายสิทธิเสรีภาพขอปงระชาชน ไม่ใช่การทำบทบาทโดยไปยืนอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องทำให้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ตุลการชัดเจน

สาม การตรวจสอบและควบคุม ต้องมีความรับผิดทางการเมือง สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งมีหลายวิธี คือ ต้องทำให้สังคมสามารถวิพากษ์วิจารณ์ และยื่นถอดถอนได้ อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าปัจจุบันการเข้าชื่อถอดถอน มีความเป็นไปได้ทางปฏิบัติยาก เนื่องจากต้องอาศัยเสียงสามในห้าของวุฒิสภา เพราะว่าวุฒิกึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง จึงไม่ได้เป็นไปได้ง่ายนัก

นายมานิตย์ จุมปา กล่าวว่า ประเด็นการถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่เคยมีกรณีที่ประสบความสำเรจแต่การยื่นถอดถอนก็เป็นการเขยื้อนภูเขาแล้ว เพราะถ้าการใช้อำนาจไม่มีเหตุผล เข้าข่ายการใช้อำนาจตามอำภอใจ ก็ต้องถูกตรวจสอบ

“เมื่อกระบวนการตรวจสอบเริ่มต้น แต่มีข่าว ก็เริมมีการเสนอข่าวว่าตุลาการท่านจะเครียดไหม ท่านก็บอกว่าไม่เครียดแต่ท่านก็ออกมาแถลง ตามหลักปกติของตุลการ การนิ่งสงบอยู่ในถ้ำ เป็นวิถีมทางที่ดีที่สุด แต่เมื่อการออกมาแถลงก๋มีเสียงกระหน่ำมากขึ้นเรื่อยๆ แม่ท้ายที้สุดจะไม่ถูกถอดถอน แต่ระหว่างเส่นทางนั้น ก็ไม่ใช่ทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะบุคคลใดๆ ก็ตามที่นั่งอยู่บนบัลลังก์มาเกือบตลอดชีวิตไม่เคยถูกเป็นจำเลยเท่าไหร่”

“เมื่อการตรวจสอบตามรธน. เริ่มเดินหน้า องค์กรต่างๆ อาจจะต้องถอยสักหนึ่งก้าว และกลับสู่ระบบที่ควรจะเป็น มากกว่าที่จะปล่อยให้ล้ำเส้นสมมมติตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ เมื่อก้าวล้ำไป อีกอำนาจหนึ่งก็ต้องเข้ามาตรวจสอบ เมื่ออำนาจสมดุลกัน ประชาธิปไตยจะเดินหน้า แต่หากอำนาจใดก้าวล้ำก็เหมือนอำนาจนั้นควบคุมประเทศไทย”

และเขากล่าวด้วยว่า mindset ของศาลนั้นอาจจะตองถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยน โดยเฉพ่ะอย่างยิ่งประเด็นการบะเมิดอำนาจศาล ซึ่งต้องเป็นกรณีการละเมิดกระบวนวิธีพิจารณา แต่ปัจจุบันนี้ แม้แต่ตัวเขาเองนั่งไว้ห้างในศาล ยังเคยถูกตะเพิด

อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬายกตัวอย่างความหนักแน่นของคำตัดสินของศาลสูงในสหรัฐว่า เวลาศาลจะตัดสินคดีสำคัญมีความโปร่งใส่ เหตุผลที่ให้นั้นมีการค้นคว้างอ้างอิงหนักแน่น ก่อนหน้านั้นอาจจะมีการประท้วงแสดงความเห็นได้เตมที่ และศาลฎีกาไม่เคยออกมาบอกว่าหมิ่นประมาทศาล แต่เมื่อตัดสินแล้ว ยอมรับได้เพราะเหตุผลที่ศาลให้เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่วันนี้ เหตุผลกรณีมาตรา 68 นั้นเหตุผลนั้นอยู่ในระดับปุยนุ่น ยิ่งออกมาให้ความเห็นเหมือนปุ่ยนุ่นยิ่งปลิวไป จดนี้แหละที่แม่กลไกการถอดถอนที่เขียนในรัฐธรรมนูญอาจจะไม่บรรลุเป้าหมายแต่ได้ส่งเสียงกระหึ่มให้ต้องถอย

ทั้งนี้นายมานิตย์กล่าวว่า ท่าทีของศาลรธน. ที่ให้สัมภาษณ์ว่ารับคำร้องแล้วอาจจะยกได้ ก็เหมือนถอยครึ่งก้าวแล้ว อย่างไรก็ตาม ศ.ลิขิตกล่าวว่า แต่การรับคำร้องโดยไม่มีอำนาจและสั่งระงับการพิจารณวาระสามโดยไม่มีอำนาจนั้น ความผิดเกิดขึ้นแล้ว

 

คำร้องมาตรา 68 โยงไปสู่การการยุบพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่

สำหรับกรณียุบพรรคเพื่อไทยนั้น นายสมชายกล่าวว่า ต้องเป็นกรณีที่มีความผิดเกิดขึ้น แต่ประเด็นขณะนี้คือ ต้องถกเถียงกันก่อนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉันและสั่งประเด็นหรือไม่ ประเด็นจึงไม่น่าจะไปไกลได้ถึงขนาดนั้น

ขณะที่นายมานิตย์กล่าวว่า นี่เป้ฯการกระทำของรัฐสภา จะไปเชื่อมโยงว่าเป้นการกระทำของพรรคการเมืองก็ยังห่างไกลเกินไป เพราะบทบัญญัติมาตรา 68 ส่งผลค่อนข้างรุนแรง การตีความขยายความเกินไปค่อนข้างจะบั่นทอนประชาธิปไตย และถ้าจะโยงไปยังพรรคเพื่อไทยว่ามีเจตนา ถ้ามองในแง่กฎหมายยังมีขอสงสัยอย่างลึกซึ้งว่าจะเชื่อมได้อย่างไร แต่อย่างไรก็ดี ที่นี่ประเทศไทย

นายมะโน ทองปาน เสริมว่า จะโยงไปเรื่องยุบพรรคได้ ต้องปรากฏตามข้อเท็จจริงในมาตรา 68 แล้ว หรือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้อำนาจรัฐมา ซึ่งถ้าดูมาตรา 68 เป็นหมวดพิทักษ์รัฐธรรมนุญ พูดง่ายๆ คือช่วยดูแลสอดส่องคนที่จะล้มล้างรธน. คนที่จะก่อการกบฏ เป็นต้น ไม่ใช่กรณีที่มีคนเสนอแก้รัฐธรรมนุญแล้วจะมาบอกว่า ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 68

 

หมายเหตุ

มาตรา ๖๘ บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ

ในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว

 

ข้อเท็จจริงการรับคำร้องตามมาตรา 68

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และกลุ่ม 40 ส.ว., นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายวรินทร์ เทียมจรัส, นายบวร ยสินทร และคณะ ยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธรและคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

โดยคำร้องดังกล่าวขอให้ตุลาการวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

1 มิ.ย. ตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้องพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังดำเนินนั้นมีลักษณะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งยังมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภาระงับการดำเนินเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลมีคำวินิจฉัยด้วย

โดยนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมกันแถลงว่า “เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ศาลมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภาระงับการดำเนินเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลมีคำวินิจฉัย นอกจากนี้ ให้ ครม. , รัฐสภา, พรรคเพื่อไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, นายสุนัย และนายภราดร มีหนังสือชี้แจงต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งสำเนาคำร้องและนัดคู่กรณีไต่สวนวันที่ 5-6 ก.ค.2555 เวลา 09.30 น. ซึ่งตุลาการจะเป็นการออกนั่งบัลลังก์ และหากไต่สวนได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว คณะตุลาการก็อาจนัดวันฟังคำวินิจฉัยได้เลย แต่หากข้อเท็จจริงยังไม่ครบถ้วนก็อาจไต่สวนเพิ่มเติมได้"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลขอเดา: "เพื่อไทย คง "ถอย" เรื่อง รธน."

Posted: 06 Jun 2012 08:10 PM PDT

หมายเหตุ: เช้าวันนี้ (7 มิ.ย. 55) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้โพสต์แสดงความเห็นในเฟซบุค ตั้งสถานะเผยแพร่สาธารณะ ต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคาดการณ์การตอบโต้ของพรรคเพื่อไทย โดยเชื่อว่าพรรคเพื่อไทย "จะถอย" โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

000

อันนี้ ต้องเช็คกันเองอีกที หรือ เช็คจาก นสพ.ไทยด้วยนะครับ ผมอ่านเอาจาก Bangkok Post เช้านี้ (ในฉบับพิมพ์ ทำเป็น "ล้อมกรอบ" หน้าแรก)

http://www.bangkokpost.com/news/politics/296893/pheu-thai-plans-charter-vote

โดยสรุป มี 2 เรื่องที่น่าสนใจ

(1) เรื่องในสภา "แหล่งข่าว" ในพรรคเพื่อไทย บอกว่า พรรคได้ตกลงกำหนดตัว สส.20 คน นำโดยคุณเฉลิม ให้อภิปรายวิพากษ์คำวินิจฉัยของศาล

หลังอภิปรายแล้ว จะเสนอญัตติว่า ให้สภาลงมติ คัดค้านคำสั่งศาล

ที่น่าสังเกตคือ ดูเหมือนว่า ตาม "แผน" ของ เพื่อไทย (ถ้า "แหล่งข่าว" นี้ถูกต้อง) จะไม่ถึงกับมีการดันให้มีการลงมติ วาระ 3 แก้ รธน.นะ (ตามหมายกำหนดการประชุมสภา ก็ไม่มีวาระนี้ มีแต่วาระ "รับทราบ" คำสังศาล เท่านั้น)

ดังนั้น ในทีสุด ผมกำลังสังหรณ์ว่า เพื่อไทย คงไม่ "ชน" กับศาลจริงๆ คือ คงไม่มีการให้มีการลงมติ วาระ 3 แต่จะแค่ให้ มี มติ คัดค้าน คำสังศาลเฉยๆ แต่ตัว วาระ 3 คงไม่ได้ทำตอนนี้ 

ซึ่งเอาเข้าจริง ถ้าเพียงแค่ "สภามีมติคัดค้านคำสั่งศาล" (แต่ไม่ได้ลงมติ วาระ 3 จริงๆ) ก็จะไม่มีผลทางกฎหมาย หรือการเมืองอะไรนัก เพราะ "มติ" ที่่ว่า ถ้าผลักให้มีลงจริง ก็ไม่มีผลอะไรต่อศาล เหมือนกัน และการดำเนินการ "ไต่สวน" ของศาล ก็อาจจะดำเนินต่อไปได้ตามปกติ

ผมเดาว่า นี่อาจจะเป็นอะไรที่ เพื่อไทย คิดว่า ทำเฉพาะหน้า แล้วรอดูสถานการณ์ต่อ หรือ รอตัดสินใจต่อ ก็ได้ (คือเรื่อง วาระ 3 จริงๆ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเอายังไง)

 

(2) เรื่องการชุมนุมนอกสภา

เมื่อวาน ผมเขียนทำนองแสดงความห่วงใย ว่า การชุมนุมนอกสภา ของ นปช. จะ ".....ต้องระมัดระวังเหมือนกัน ไม่ให้การชุมนุม ออกมาในลักษณะที่ อีกฝ่าย (รวมทั้งการ "นำเสนอ" ที่ออกมาทาง "สื่อ") สามารถนำไปสร้างภาพด้านลบ ("ม็อบ กดดัน ศาล" ฯลฯ) แล้วทำให้ประเด็นความได้เปรียบทางกฎหมายของเรา "เบลอ" ได้...."

Bangkok Post อ้าง คำของคุณวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ ว่า ตกลง นปช. จะ "ลดระดับ" การชุมนุม เป็นเพียงวันนี้ ถึงตอนเที่ยงเท่านั้น (ไม่มีพรุ่งนี้)

ถ้าเรื่องนี้จริง ผมก็ว่า ดีเหมือนกัน เพราะจริงๆ ตัวสำคัญในเรื่องนี้จริงๆ ต้องอยู่ที่ ส.ส. ในสภา อยู่แล้ว

ปัญหาใหญ่ ยังคงอยู่ที่ ใน สภา ว่า เพื่อไทย ตกลงจะเอาถึงระดับไหนกันแน่

อย่างที่เขียนข้างต้น ผมสงสัยว่า ในขั้้นนี้ เพื่อไทย คงไม่ "ชน" จริงๆ คือ คงไม่ดันให้มีการลงมติ วาระ 3 จริงๆ แค่ลงมติ "คัดค้านคำสังศาล"

ถ้าเป็นเช่นนี้จริง และทางฝ่าย ศาล เอง เนืองจากไม่มีกำหนดว่า ต้องทำการไต่สวนเรื่องคำร้อง ตาม ม.68 เมื่อไร เผลอๆ เรืองนี้ ก็จะ "ดีเลย์" ออกไปเรื่อยๆ ซึงผลลงเอย ก็จะเหมือนกับที่พันธมิตร ต้องการ คือ ไม่มีการแก้ 291 และการตั้ง สสร.

 

000

ผมกำลังสังหรณ์ว่า ในที่สุด เรื่อง รธน. "เพื่อไทย" คงลงเอย เหมือนเรื่อง พรบ.ปรองดอง คือ จะ "ถอย"

คือคงจะมีการเสนอญัตติให้สภา "ลงมติคัดค้านคำสังศาล" แต่คงไม่ทำอะไรกับ วาระ 3 รธน. ไม่วาวันพรุ่งนี้ หรือสัปดาห์หน้า แล้วสภา ก็คงปิดประชุมไป จนกว่า สิงหาคม

ซึ่งถ้ามองโดยรวม ฝ่ายพันธมิตร+ปชป. ก็เรียกว่าประสบความสำเร็จ ในการ ดีเลย์ เรื่อง รธน. ออกไป (เช่นเดียวกับเรื่อง พรบ.ปรองดอง)

จากที่ผม "เดา" หรือ คาดการณ์ในกระทู้ข้างล่างว่า เพื่อไทย คง "ถอย" เรื่อง รธน. คือ จะไม่ดันการลงมติวาระ 3 รธน. แล้วปิดสมัยประชุม ไปจนกว่าสิงหาคม

บางท่าน ก็แสดงความเห็นว่า ต้องทำเช่นนี้อยู่แล้ว เพราะถ้า "ชน" ลงมติ วาระ 3 จะถูกยุบพรรค อะไร

เรื่องยุบพรรค ความจริง ผมว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ที่จะเป็นเรื่องใหญ่มากกว่า คือ ถ้ามีการลงมติ วาระ 3 จริงๆ แล้วจะเกิดภาวะ Constitutional Crisis ที่ยังนึกไม่ออกว่า จะทำยังไงต่อ

แต่ผมยังเห็นว่า น่า "ชน" เรื่องลงมติ วาระ 3 เพราะผมคิดว่า ถึงเวลา ปชป. จะต้องเป็นฝ่าย "วอคเอ๊าท์" ทำให้การลงมตินั้น ทำไม่ได้

ทีเคยเขียนไปแล้ว่ว่า เพื่อไทย ควร go ahead ท้าทายคำสังศาล (ไม่ใช่แค่ให้สภาลงมติ ไม่เห็นด้วย อย่างที่วางแผนจะทำกันพรุ่งนี้)

แล้วให้ ปชป. เป็นฝ่าย "เดิน" next move ทำให้สภาล่มเอง

 

000

ผมเสียดาย ที่มีประเด็นหนึงใน แถลงการณ์นิติราษฎร์ ที่ เพือไทย หรือคนที่คัดค้าน ศาล ไม่มีใครนำไป ชู ต่อเท่าไรนะ

คือ ประเด็นที่ว่า จริงๆแล้ว การผ่าน แก้ ม.291 ของรัฐสภา จะถือเป็น "การกระทำของบุคคลหรือพรรคการเมือง" ตาม ม.68 ไม่ได้ ต้องถือเป็นการกระทำของ สภา ซึงสภา ไมใช่ "บุคคลหรือพรรคการเมือง"

คือ การที่ แก้ 291 ผ่านมาถึงวาระ 3 นี้ และต่อให้ เพือไทย และ สภา go ahead ให้มีการลงมติ ผ่าน วาระ 3 นะ

และแม้ว่า ปชป. จะเป็นฝ่ายลงคะแนนไม่เห็นด้วยมาในวาระ 1 และ 2 และอาจจะลง ไม่เห็นด้วย ในวาระ 3 ด้วย (ผมคิดว่า เขาคง วอคเอ๊าท์ ไม่ให้มีการลงมติเลยมากกว่า)

ก็จะถือว่า เป็นการกระทำของ เพือไทย ไม่ได้

ต้องถือเป็นการกระทำร่วมกัน หรือ collective responsibility ของสภาทั้งหมด (รวมทั้งของ ปชป ทีลงมติไม่เห็นด้วย) ซึง ศาล ไมมีอำนาจมาควบคุม

นี่เป็นเหตุผลประกอบอีกอัน ที่ผมยืนยันว่า เพือไทย ต้องดันให้มีการลงมติ วาระ 3 ไมใช่แค่ ดันให้สภามีมติ "ไม่เห็นด้วยกับศาล" อย่างที่เตรียมไว้พรุ่งนี้เท่านั้น

 

000

จากที่เขียนมาหลายอัน เช้านี้ 

ผมสรุปว่า ผมคิดว่า งานนี้ เมือ่ถึง สัปดาห์หน้า ที่จะมีการปิดสมัยประชุมสภา

จะลงเอยที่ พันธมิตร+ปชป. เป็นฝ่าย "ชนะ" ในครั้งนี้ ทั้งเรือ่ง พรบ.ปรองดอง และ เรื่อง แก้ รธน. วาระ 3

และ เพื่อไทย+นปช เป็นฝ่าย "ถอย"

อันนี้ เป็นอะไรที่จริงๆ ผมก็เขียนไว้ตังแต่หลายวันก่อน ทีว่า จะต้อง "ทำใจเผื่อ" ล่วงหน้าว่า มันจะออกมาแบบนี้

และทีสำคัญ ผมจึงมองว่า ผ่านงานนี้ไป ทักษิณ-เพื่อไทย-นปช จะต้อง rethink ยุทธศาสตร์การเมือง ใหม่ทั้งหมด

 

000

อีกอันที่ผมอยากทิ้งท้ายไว้คือ ผมเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึั้นในไม่กี่สัปดาห์นี้ เป็นเรื่องยืนยันว่า บรรดาท่านที่ชอบหลับหูหลับตา ดีเฟนด์ สิ่งที่ แกนนำ ทักษิณ-เพือ่ไทย-นปช ทำ แล้วก็ด่า คนทีวิจารณ์นั้น

เป็นการกระทำที่ไม่ถูกหรอก

ทักษิณ-เพือไทย-นปช ไมใช่เทวดา ที่วิจารณ์ไม่ได้ ที่ไม่มีวันทำผิด และทีสำคัญ พวกเขา มีทั้งในแง่ "ผลประโยชน์" ทั้งในแง่สถานะ ที่อยู่ในอำนาจ เป็นส่วนหนึงของ "โครงสร้างอำนาจ" ร่วมกันกับบรรดา "อีลึต" ทั้งหลายอยู่

วิธีคิด การตัดสินใจ และการกระทำ ของพวกเขา ไมใช่ว่า จะมาจากหลักการหรืออุดมการณ์ เพื่อประชาธิปไตย เพื่อคนตัวเล็กตัวน้อย เสมอไป

 

000

พูดถึงการ rethink ยุทธศาสตร์การเมือง ใหม่

ผมเห็นว่า หลังงานนี้ คือหลังจาก เพื่อไทย คง "ถอย" เรื่อง รธน.วาระ 3 (คือ คงไม่มีการดันให้สภาลงมติ รธน. แค่ให้สภาลงมติ เรื่อง ไม่เห็นด้วยกับคำสังศาล ซึงก็ไม่มีผลอะไรทางกฎหมาย) เช่นเดียวกับที่ถอย เรื่อง พรบ.ปรองดองมา

แกนนำ ทักษิณ-เพื่อไทย-นปช. น่าจะพิจารณาอย่างซีเรียส ทีจะ "ดรอป" คำขวัญเรื่อง "ปรองดอง" ไปเสียเลย

หาทาง เสนออะไรในทำนอง "ปฏิรูปประเทศไทย เป็นประชาธิปไตย" อะไรประเภทนี้ ขึ้นมาเป็นประเด็นใจกลางแทน มากกว่า

คือ จริงๆ แล้ว ไอเดีย "ปรองดอง" ทั้งในแง่คำขวัญ ในแง่ยุทธศาสตร์ ที่กำหนด ("ทอดไมตรี" ฯลฯ) เป็นอะไรที่ ไมมีความหมาย และ misleading (ไม่ตรงความจริง) และ ไม่ถูกในหลักการหลายอย่างแต่ต้น อยู่แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น