ประชาไท | Prachatai3.info |
- อภิสิทธิ์เชื่อข้อเสนอนิติราษฎร์สุดท้ายจะพ่วงเรื่องทักษิณด้วย
- นักกิจกรรมมหาสารคามชวนลงชื่อยุติการส่งกลับชาวโรฮิงยา
- วันนี้! ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนการตาย ‘ลุงบุญมี’ เหยื่อกระสุน พ.ค.53 คดีที่ 5
- กลุ่ม Anonymous แฮกเว็บ MIT ไว้อาลัย 'อารอน'-จี้ปฏิรูป พ.ร.บ.คอม-ลิขสิทธิ์
- เอกสารลับเผย สมาชิกราชวงศ์อังกฤษมีอำนาจ 'วีโต้' การออกกม.
- อัลจาซีร่า : ผู้หญิงพลัดถิ่นในโซมาเลีย ยังอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8-14 ม.ค. 2556
- แอรอน ชวาร์ทซ์: คำประกาศเพื่องานวิชาการที่เข้าถึงได้โดยเสรีแบบกองโจร
- มาเรีย คลารา Inang Pilipinas: Subaltern และ เรื่องราวเบื้องหลังชุดสตรีประจำชาติฟิลิปปินส์ที่โลกลืม
- ฟังตัดสิน ‘คดีสลายม็อบท่อก๊าซ’ เช้าพรุ่งนี้ ชี้ขาด ‘เสรีภาพการชุมนุมอย่างสงบ’
- ‘การเข้าถึงความจริง’ ไม่ใช่สิ่งที่ตะวันตกเพิ่งจะสนใจใน ‘ระยะหลัง’: แลกเปลี่ยนกับสุรพศ ทวีศักดิ์
- สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ร้องทำเนียบ หลังถูกเลิกจ้างระหว่างเจรจา
- ปลัดกต. แจง กรณีเขาพระวิหาร ไทยอ้างอนุสัญญาโตเกียว 1941 ไม่ได้
- สงวน คุ้มรุ่งโรจน์: น.ส.พ.จีนในไทย บ้าก็บ้าว่ะ!!!
- สาระ+ภาพ ไข้หวัดประจำฤดูกาลระบาดหนักในสหรัฐ
อภิสิทธิ์เชื่อข้อเสนอนิติราษฎร์สุดท้ายจะพ่วงเรื่องทักษิณด้วย Posted: 15 Jan 2013 11:53 AM PST อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมของนิติราษฎร์ ถามทำไมปล่อยให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หากมีการพ่วงเรื่องแรงจูงใจทางการเมืองเข้าสู่การนิรโทษกรรมสุดท้ายก็ต้องมีการพ่วงเรื่อง "ทักษิณ" เข้าไปด้วย พร้อมแนะรัฐบาลยุติการแก้ รธน. ถอนร่างกฎหมายปรองดองเพื่อนำมาหารือกับทุกฝ่าย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสมาชิกรัฐสภาระหว่างการประชุมสภา (ที่มา: เฟซบุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ/แฟ้มภาพ)
หลังจากที่เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะนิติราษฎร์มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง และต่อมามีการอธิบายข้อเสนอดังกล่าว นำโดยวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ปิยบุตร แสงกนกกุล และจันทจิรา เอี่ยมมยุรา เมื่อวันที่ 13 ม.ค. นั้น [1] และ [2] ล่าสุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ระบุถึงข้อเสนอให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญของนิติราษฎร์ว่า เป็นการปฏิเสธกระบวนการที่มีอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งพยายามที่จะหาเงื่อนไขหรือหาข้อยกเว้น ซึ่งตนคิดว่า ทุกอย่างต้องมีขอบเขตเช่น การนิรโทษกรรม หากเป็นความผิดทางการเมืองโดยแท้ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถึงขั้นฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มีการยุยงให้ใช้ความรุนแรง ตนคิดว่าคงไม่ใช่ และคำถามคือเหตุใดจึงไม่ปล่อยให้กระบวนการเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อนเช่น กรณีการเผาศาลากลาง ที่ทางศาลมีการเขียนในคำพิพากษาว่า เมื่อมีมูลเหตุ มีความขัดแย้งทางการเมือง ท่านก็ลดโทษให้ นี่ก็คือการที่กระบวนการยุติธรรมรองรับตรงนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นความพยายามตรงนี้ก็ไม่มีอะไรนอกจากว่า พรรคพวกตัวเองทำอะไรก็บอกว่าจะไม่ผิด เป็นเรื่องเหตุจูงใจทางการเมือง และสุดท้ายในไม่ช้าก็ต้องพ่วงเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าไปด้วย นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า หาก พ.ต.ท.ยอมรับความผิดและยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทยและกลับประเทศ ประเทศไทยจะมีวิธีการให้อภัย พ.ต.ท.ทักษิณว่า ตนเชื่อว่า ปัญหาความขัดแย้งขณะนี้ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะทำคือ การเอาตัวบุคคลมาอยู่เหนือกฎหมาย แต่หากมีคนยอมรับกฎหมาย ทุกอย่างจะคลายลง และกระบวนการต่างๆ มีทั้งสิ้นเช่น การขอพระราชทานอภัยโทษ แต่หากคุณพยายามจะบอกว่าศาลตัดสินแล้ว ผมไม่ผิดนั้นเป็นไปไม่ได้ ส่วนพยายามของรัฐบาลในการหาทางออกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์เสนอว่า ความจริงตนเสนอไปแล้วคือ ควรยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับการถอนกฏหมายปรองดอง และมาหารือว่าตรงไหนที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักกิจกรรมมหาสารคามชวนลงชื่อยุติการส่งกลับชาวโรฮิงยา Posted: 15 Jan 2013 11:19 AM PST หลังเหตุตำรวจเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงยาถูกกักขังที่สะเดา กลุ่มคณาจารย์ นักกิจกรรม นักศึกษา ที่ จ.มหาสารคามชวนลงชื่อหยุดละเมิดสิทธิ-หยุดค้ามนุษย์-หยุดส่งชาวโรฮิงยากลับพม่า วอนรัฐบาลไทยทบทวนการส่งกลับเพราะเท่ากับส่งไปเผชิญความตาย เรียกร้องให้สมาคมอาเซียนกดดันพม่ายุติการปราบปรามโรฮิงยา ตามที่มีข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญาราว 800 คน ที่ถูกกักขังอย่างแออัด บริเวณป่าสวนยางบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียด้าน ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา รอการลักลอบข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้น ล่าสุดเมื่อวานนี้ (15 ม.ค.) "กลุ่มคณาจารย์ นักกิจกรรมทางสังคม และนิสิตนักศึกษา เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มหาสารคาม" อาทิ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฯลฯ ได้จัดกิจกรรมลงนามออนไลน์เพื่อเรียกร้องให้ หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชน หยุดค้ามนุษย์ หยุดส่งชาวโรฮิงญากลับพม่า ล่าสุดมีผู้ร่วมลงนามในแถลงการณ์จำนวนมาก โดยมีแถลงการณ์เชิญชวนของกลุ่มมีรายละเอียดดังนี้ 000 กลุ่มคณาจารย์ นักกิจกรรมทางสังคม และนิสิตนักศึกษา ชาวโรฮิงญาถือได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มากที่สุดในโลก พวกเขาต้องตกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย เนื่องมาจากลัทธิล่าอาณานิคมและการเกิดรัฐ-ชาติสมัยใหม่ โดยแผ่นดินเกิดของพวกเขาถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่า แต่รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็นพลเมืองของรัฐอันเนื่องมาจากการที่ชาวโรฮิงญานับถือศาสนาอิสลามที่แตกต่างกับศาสนาพุทธที่ถูกสถาปนาเป็นศาสนาประจำชาติ ชาวโรฮิงญาจึงกลายเป็นกลุ่มชาติพันธ์ถุ กูกแบ่งแยกโดยศาสนา ส่งผลให้พวกเขาเป็นคนไร้รัฐและต้องเผชิญกับการปฏิบัติที่มีอคติทางชาติพันธุ์และนำไปสู่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งจากทางการพม่าและพลเมืองกลุ่มอื่นในพม่าดังที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการเข่นฆ่าชาวโรฮิงญาในพม่าบ่อยครั้ง จนกระทั่งทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องหลบหนีออกนอกประเทศและส่วนหนึ่งต้องสูญเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง นอกจากนั้น ชะตากรรมของชาวโรฮิงญายังถูกซ้ำเติมจากขบวนการค้ามนุษย์ดังที่ชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งถูกกักขังและบีบบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาสที่ภาคใต้ดังที่เป็นข่าวในขณะนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าเสียงของชาวโรฮิงญาก็คือพวกเขาไม่ต้องการให้รัฐบาลไทยผลักดันพวกเขากลับพม่าเพราะพม่าไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็นพลเมือง การส่งกลับพม่าจึงเท่ากับส่งพวกเขาให้ไปเผชิญกับความตายที่พวกเขาหนีออกมา กลุ่มคณาจารย์ นักกิจกรรมทางสังคม และนิสิตนักศึกษาเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มหาสารคาม ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคณาจารย์ นิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาในมหาสารคาม และนักกิจกรรมทางสังคม มีความห่วงใยต่อชะตากรรมของชาวโรฮิงญาทั้งที่กำลังเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในพม่าและที่กำลังตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ทั้งที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาแล้วและที่คาดว่ายังไม่ได้รับการช่วยเหลืออีกมาก ดังนั้นกลุ่มจึงขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้ ประการแรก ขอเรียกร้องให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของรัฐสภา องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนทั้งของไทยและสากล เข้ามีบทบาทในการเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญาโดยเร่งด่วน โดยกดดันให้รัฐบาลไทยยุตินโยบายและปฏิบัติการที่เป็นการผลักดันชาวโรฮิงญากลับพม่า เพราะชาวโรฮิงญาแตกต่างจากผู้อพยพหรือแรงงานข้ามชาติกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากพวกเขาเป็นคนไร้รัฐ การผลักดันพวกเขาออกนอกประเทศกลับไปยังพม่าจะทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และหากพวกเขาหลบหนีออกมาอีกครั้งก็จะทำให้พวกเขาต้องสูญเสียชีวิตระหว่างหลบหนีหรือไม่ก็ต้องตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์อีก สำหรับนโยบายในการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญา รัฐไทยต้องให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งองค์กรพัฒนเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการ และภาคประชาสังคมเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติการของรัฐไทยต่อชาวโรฮิงญาเป็นกรณีเฉพาะ ประการที่สอง ขอเรียกร้องให้สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือประชาคมอาเซียนและรัฐบาลในประเทศกลุ่มอาเซียนนเข้ามีบทบาทในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาในประเทศพม่า โดยกดดันใหรัฐบาลพม่าและชาวพม่ากลุ่มอื่น ยุติการปราบปรามเข่นฆ่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ต่อชาวโรฮิงญาโดยทันที และให้การช่วยเหลือชาวโรฮิงญาทั้งที่ยังอย่ในประเทศพม่าและที่หลบหนีออกมา รวมทั้งที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์โดยเร่งด่วน หากประชาคมอาเซียนและรัฐบาลในประเทศกลุ่มอาเซียนเพิกเฉยต่อชาวโรฮิงญาก็เท่ากับแสดงให้เห็นว่าประชาคมอาเซียนเป็นเพียงการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวโดยไม่ตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาคมอาเซียนเอง ประการที่สาม ขอให้สังคมไทยร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลไทยดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 อย่างจริงจัง รวมทั้งทำการรณรงค์ให้ยุติการค้ามนุษย์ในประเทศไทยโดยเร่งด่วน สำหรับกรณีของชาวโรฮิงญาที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ที่ภาคใต้ใน ขณะนี้ ขอให้สังคมไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พวกเขาโดยเร่งด่วนโดยไม่มีอคติทางศาสนาและชาติพันธุ์ แต่ถือว่าชาวโรฮิงญาคือเพื่อนร่วมโลกของเรา ด้วยความสมานฉันท์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วันนี้! ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนการตาย ‘ลุงบุญมี’ เหยื่อกระสุน พ.ค.53 คดีที่ 5 Posted: 15 Jan 2013 10:29 AM PST 9.00 น. 16 ม.ค.นี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำสั่งไต่สวนการตาย นายบุญมี เริ่มสุข วัย 71 ปี ซึ่งถูกยิงที่ย่านบ่อนไก่ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 และเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 28 ก.ค.53 ทนายมั่นใจคำสั่งแนวเดียวกับ 4 คดีที่ผ่านมา
ภาพนายบุญมี เริ่มสุข ขณะรักษาตัวก่อนเสียชีวิต 16 ธ.ค.56 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลได้นัดฟังคำสั่งคดีหมายเลขดํา ที่ ช. 7/2555 ที่พนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ขอให้ ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิต ของนายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ซึ่งถูกยิงที่ย่านบ่อนไก่ บริเวณท้อง ด้านซ้ายกระสุนตัดลำไส้เล็กขาดตอน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 และเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 28 ก.ค.53 ขณะถูก ยิงเป็นช่วงที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายก รัฐมนตรี นายณัฐพล ปัญญาสูง ทีมทนายจากมูลนิธิไทยรักไทย ในฐานะทนายญาติผู้เสียชีวิต มั่นใจว่าจากพยานหลักฐานที่ได้มีการไต่สวนมาคำสั่งศาลจะออกมาในแนวทิศทางเดียวกับคดีนายชาติชาย ชาเหลา รวมทั้งอีก 3 คดีคือ คดีนายพัน คํากอง คดีนายชาญณรงค์ พลศรีลา และคดี ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ที่คำสั่งศาลระบุว่าเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งลุงบุญมีก็ไม่ได้เป็นผู้ร่วมชุมนุม แต่เป็นประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุมานั่งรอรับหลานและถูกยิง ทั้งนี้ในการไต่สวนเมื่อวันที่ 15 ส.ค.55 ที่ผ่านมาได้มีการนำ ช่างภาพสถานีโทรทัศน์หลักแห่งหนึ่ง มาเบิกความในฐานะพยานที่ได้บันทึกภาพเหตุการณ์ช่วงเวลาขณะเกิดเหตุได้ โดยเขาเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ 14 พ.ค.53 ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณที่เกิดเหตุบริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี ถนนพระราม 4 เพื่อเก็บภาพ ต่อมาเวลาประมาณ 13.00 น. ได้มีการตอบโต้กันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั๊มน้ำมันปตท. และพยานได้ถ่ายภาพผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ทราบว่าผู้ที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณดังกล่าวคือใคร จนกระทั่งพนักงานสอบสวนในคดีนี้ได้นำภาพถ่ายที่พยานได้ถ่ายไว้ให้ดู และไม่ทราบว่า หลังจากนั้น ผู้ตายไปรักษาพยาบาลใดและเสียชีวิตเมื่อใด ต่อมา เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ นักข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพยานได้เตือนให้ระวังตัวด้วยเนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารจะมีการใช้กระสุนจริง ขณะที่ถ่ายภาพยังมีเสียงระเบิดดังขึ้นมาจากฝั่งผู้ชุมนุมด้วย ส่วนพลุที่กลุ่มผู้ชุมนุมยิงมาใส่ฝั่งทหารนั้นไม่เป็นเหตุให้ทหารได้รับบาดเจ็บ ขณะบันทึกภาพมีกลุ่มผู้ชุมนุมถือไม้กระบองและขว้างก้อนหิน ขณะที่การไต่สวนในวันที่ 20 พ.ย.55 พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ เจ้าหน้าที่สอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) และ พ.ต.ท.สาธิต ภักดี เจ้าหน้าที่สอบสวน ผู้ชำนาญการพิเศษ สน.บางรัก ซึ่งทั้งสองปากเบิกความยื่นยันจากผลการสอบสวนเชื่อว่าเป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ คือจากคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณที่เกิดเหตุยืนยันว่าได้ปฏิบัติการบริเวณนั้นจริง หัวกระสุนที่อยู่ในร่างผู้เสียชีวิตเป็นกระสุนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ที่ใช้กับปืนเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่เบิกมาใช้ในการปฏิบัติการ ผลการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่พยานไปร่วมตรวจสอบด้วย พบรอยกระสุนจำนวนมากที่มีวิถีมาจากฝังเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ รวมทั้งรายงานการชุนสูตรพลิกศพที่ระบุว่าเสียชีวิตจากการติดเชื่อในกระแสเลือดรวมทั้งบาดแผลจากกระสุนปืน นอกจากนี้ผู้ตายยังได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับผู้เข้าเยี่ยมซึ่งมีบันทึกเป็นวีดีโอในระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล ระบุว่าถูกทหารยิง และตรงกับประจักษ์พยานที่ได้มาให้ปากคำ
วีดีโอคลิปสัมภาษณ์นายบุญมี ขณะเข้ารับการรักษาที่ รพ.ตำรวจ ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยในวีดีโอคลิป น.ส.กาญจน์ชนิษฐา เอกแสงศรี และนายวสันต์ สายรัศมี หรือเก่ง อายุ 28 ปี เจ้าหน้าที่กู้ภัยและอาสาพยาบาลฯ ได้มีสอบถามถึงอาการบาดเจ็บและการรักษาพยาบาลกับนายบุญมี และนายบุญมียังได้กล่าวถึงกระสุนที่ยังฝังอยู่บริเวณสะโพกของตนและเล่าเหตุการณ์ที่ตนถูกยิงด้วยว่ากระสุนยิงมาจากฝั่งทหารและขณะนั้นตนอยู่ไกลฝั่งทหาร โดนยิงเวลาประมาณ 4 โมงเย็น ซึ่งปรกติเวลานั้นบริเวณดังกล่าวจะเป็นตลาดนัดจึงได้ออกมาหาของกินตามปรกติ นอกจากนี้ น.ส.กาญจน์ชนิษฐา ยังได้มีการโพสต์ข้อความกำกับไว้ใต้วีดีโอคลิปด้วยว่า ลุงบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ยืนยันว่าถูกทหารยิง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 โดยโดนยิงเข้าบริเวณช่องท้อง ลุงเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ว่า "ผมคิดว่าที่ทหารเขายิงชาวบ้าน เพราะถูกนักรบโบราณยิงหนังสติ๊กใส่ ผมมองเห็นว่าทหารหลายนายหลบกลัวกระสุนหนังสติ๊ก ทหารจึงใช้ทั้งกระสุนจริง กระสุนยาง แก๊สน้ำตายิงใส่ประชาชน สังเกตว่ากระสุนยางจะยิงทีละนัด หากเป็นเอ็ม 16 จะยิงเป็นชุด" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กลุ่ม Anonymous แฮกเว็บ MIT ไว้อาลัย 'อารอน'-จี้ปฏิรูป พ.ร.บ.คอม-ลิขสิทธิ์ Posted: 15 Jan 2013 09:41 AM PST
ทั้งนี้ อารอน สวาร์ตซ์ เป็นผู้ร่วมบุกเบิกระบบฟีด RSS 1.0 ผู้ร่วมสร้างเว็บ Reddit และนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต โดยร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายปกป้องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนโลกอินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ หรือ SOPA ในปี 2554 เขาถูกจับกุมและตั้งข้อหาว่าลักลอบดาวน์โหลดงานวิชาการกว่าสี่ล้านชิ้น จาก JSTOR ซึ่งเป็นฐานข้อมูลวารสารวิชาการที่ต้องเป็นสมาชิกเท่านั้นจึงจะดาวน์โหลดได้ เพื่อนำไปแจกให้อ่านฟรี ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของ MIT ในศาลชั้นต้น เขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยเขามีกำหนดการจะขึ้นศาลระดับประเทศ ในเดือนหน้า ทั้งนี้ หากเขาถูกตัดสินว่ามีความผิด เขาอาจต้องถูกจำคุก 35 ปี และปรับ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เขาได้ฆ่าตัวตายภายในอพาร์ทเมนต์ของเขาที่นิวยอร์ก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นผลใหักรมยุติธรรมได้ถอนข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ม.ค.) ในแถลงการณ์จากครอบครัวของเขาระบุว่า การกระทำของ MIT และสำนักงานอัยการรัฐแมสซาชูเซตส์ มีส่วนต่อการเสียชีวิตของสวาร์ตซ์ "การเสียชีวิตของอารอนไม่ใช่เพียงโศกนาฏกรรมทั่วไป แต่เป็นผลที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่อุดมไปด้วยการข่มขู่และการฟ้องร้องที่เกินกว่าเหตุ" เมื่อตอนที่สวาร์ตซ์ถูกตั้งข้อหา คาร์เมน ออทิซ อัยการรัฐแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า การขโมยก็คือการขโมย ไม่ว่าจะโดยใช้คำสั่งคอมพิวเตอร์หรือชะแลง ไม่ว่าสิ่งที่เอาไปจะเป็นเอกสาร ข้อมูล หรือเงินก็ตาม เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ราฟาเอล รีฟ อธิการบดี MIT แสดงความชื่นชมการยึดถือในอุดมการณ์และความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นเลิศของสวาร์ตซ์ และบอกว่า เขาเจ็บปวดเมื่อคิดว่า MIT มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ซึ่งจบลงด้วยโศกนาฏกรรม เขาระบุว่า เขาและทุกคนใน MIT เสียใจอย่างยิ่งต่อการจากไปของสวาร์ตซ์ อย่างไรก็ตาม ออริน แคล์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน เขียนในบล็อกของเขาว่า การกระทำของอัยการอยู่บนฐานของการตีความกฎหมายที่เที่ยงธรรมแล้ว และไม่มีข้อหาใดที่ตีความเกินกฎหมาย รวมถึงไม่มีการฟ้องร้องใดที่เกินเหตุ
นอกจากนี้ พวกเขายังเรียกร้องให้โศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้ที่มากขึ้นถึงการกดขี่และความอยุติธรรมที่เพิ่มขึ้นรายวันโดยบุคคลและสถาบันของรัฐ ที่กระทำต่อใครก็ตามที่กล้าลุกขึ้น ยืนยันความเชื่อของตัวเอง และเป็นจุดเริ่มต้นของการสมานฉันท์ที่มากขึ้นและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงเรียกร้องให้เริ่มต้นพันธกิจใหม่ในการทำให้อินเทอร์เน็ตเสรี เป็นอิสระจากการเซ็นเซอร์ ด้วยความเท่าเทียมในการเข้าถึงและเป็นสิทธิสำหรับทุกคนด้วย
ข้อความที่ติดแฮชแท็ก #pdftribute จะถูกดึงไปรวมที่ http://pdftribute.net/ มิคาห์ อัลเลน นักวิจัยเรื่องวิทยาศาสตร์พุทธิปัญญา (cognitive science) และประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) เป็นผู้เสนอไอเดียนี้ในเว็บ Reddit เว็บข่าวสังคมยอดนิยม ที่สวาร์ตซ์มีส่วนช่วยออกแบบ ท่ามกลางคำไว้อาลัยจำนวนมากที่มีผู้มาโพสต์ไว้ โดยบอกว่า การไว้อาลัยแด่อารอนที่เหมาะที่สุดน่าจะเป็นการประท้วงใหญ่ด้วยการอัพโหลดงานวิชาการที่มีลิขสิทธิ์ โดยโพสต์ในกูเกิลดอกซ์และทวีตลิงก์ ทั้งนี้ อัลเลนได้เขียนบล็อกให้เครดิตกับ เจสสิกา ริชแมน นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และอีวา วิวาลต์ นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ซึ่งคิดแฮชแท็กนี้ขึ้น ติดต่อคนที่เห็นด้วย และต่อไปยังกลุ่ม Anonymous ให้ช่วยทำให้การประท้วงครั้งนี้ติดตลาด
ที่มา: http://news.cnet.com/8301-1023_3-57563752-93/anonymous-hacks-mit-after-aaron-swartzs-suicide ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เอกสารลับเผย สมาชิกราชวงศ์อังกฤษมีอำนาจ 'วีโต้' การออกกม. Posted: 15 Jan 2013 09:16 AM PST หลังจากศาลสั่งให้สำนักรัฐมนตรีต้องเปิดเผยเอกสารลับ พบราชินีและเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ของอังกฤษมีอำนาจการตัดสินใจในกฎหมายต่างๆ กว่า 30 ฉบับ บ้างเกี่ยวข้องกับงบประมาณและทรัพย์สินส่วนพระองค์ 15 ม.ค. 56 - เว็บไซต์เดอะ การ์เดียน รายงานว่า มีการเปิดเผยเอกสารลับของสำนักงานคณะรัฐมนตรีจากคำสั่งศาลในอังกฤษ ซึ่งระบุว่า พระราชินีเอลิซาเบ็ธและเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์แห่งสหราชอาณาจักรมีอำนาจอย่างลับๆ ในการคัดค้านการออกกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับงบประมาณและทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์ ไปจนถึงเรื่องการศึกษา ทำให้ฝ่ายต่างๆ วิจารณ์อำนาจและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ว่าไม่เหมาะสม เอกสารดังกล่าว ถูกเปิดเผยหลังจากที่นักวิชาการด้านกฎหมาย จอห์น เคิร์กโฮป ได้ยื่นคำร้องผ่านคณะกรรมาธิการด้านข้อมูลข่าวสารให้สำนักงานคณะรัฐมนตรีเปิดเผยเอกสารลับดังกล่าว ซึ่งต่อมากรรมาธิการมีคำสั่งให้คณะรัฐมนตรีทำเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้ยื่นอุทธรณ์การตัดสินใจดังกล่าวต่อตุลาการด้านข้อมูลข่าวสาร แต่แพ้อุทธรณ์ เอกสารดังกล่าวที่มีชื่อว่า Whitehall papers ระบุถึงแนวทางการออกกฎหมายที่จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากสมาชิกราชวงศ์ระดับสูง และอำนาจของสมาชิกราชวงศ์ที่สามารถวีโต้กฎหมายได้ ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องรวมถึงการตัดสินใจเรื่องการเข้าสู่สงคราม การจัดการทรัพย์สมบัติและงบประมาณส่วนพระองค์ ไปจนถึงการศึกษา และการออกบัตรประชาชน มีรายงานว่า ในปี 2542 ราชินีได้วีโต้การออกพ.ร.บ. ว่าด้วยการทำสงครามกับอิรัก ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งจะถ่ายโอนอำนาจจากสถาบันกษัตริย์ไปสู่รัฐสภา ในการให้ความเห็นชอบการโจมตีทางทหารในอิรัก ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว ระบุคำเตือนจากที่ปรึกษารัฐสภาด้วยว่า หากการออกกฎหมายฉบับใดๆ ดูเหมือนจะไม่ได้รับการยินยอมจากสมาชิกของราชวงศ์ ก็จะมีความเสี่ยงว่าเนื้อหาของกฎหมายฉบับนั้นต้องถูกแก้ไขหรือปรับปรุงค่อนข้างเยอะ แอนดรูว์ จอร์จ ส.ส. พรรคลิเบอรัลเดโมแครตจากเขตเซนต์ไอฟว์ กล่าวว่า เอกสารดังกล่าวเป็นที่เปิดหูเปิดตาสำหรับคนที่เชื่อว่าราชินีมีบทบาทเฉพาะด้านพิธีการเท่านั้น "มันแสดงให้เห็นว่าราชวงศ์เข้ามามีบทบาทที่ชัดเจนในกระบวนการประชาธิปไตย และเราต้องการความโปร่งใสมากกว่านี้ในรัฐสภา เพื่อจะสามารถประเมินได้ว่าอำนาจของอิทธิพลเหล่านี้และการวีโต้เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งไม่ว่า ณ จุดไหนก็ตาม เรื่องนี้ก็อาจจะทำให้แปลกใจได้เรื่อยๆ และเราก็อาจจะพบว่ารัฐสภานั้นมีอำนาจน้อยกว่าที่เราคิดก็ได้" เขากล่าว ด้านโฆษกของพระราชวังบักกิงแฮมกล่าวว่า การที่รัฐสภาจะขอความเห็นชอบจากราชินีในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องความผลประโยชน์ของสถาบันกษัตริย์ เป็นเรื่องทางประเพณีที่มีมานานแล้ว และพระองค์ก็ยังไม่เคยปฏิเสธการเห็นชอบการออกกฎหมายฉบับใด นอกจากจะได้รับคำแนะนำจากรัฐมนตรี เกรแฮม สมิธ ผู้อำนวยการองค์กรรีพับลิก ซึ่งรณรงค์ให้ประมุขของประเทศมาจากการเลือกตั้ง ได้เรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายละเอียดที่ครบถ้วนเกี่ยวกับการปฏิเสธการให้คำยินยอมของสมาชิกราชวงศ์ ในการออกกฎหมาย เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่ามีกฎหมายใดบ้างที่ถูกแก้ไขจากอิทธิพลของสถาบันกษัตริย์
ที่มา: Secret papers show extent of senior royals' veto over bills
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อัลจาซีร่า : ผู้หญิงพลัดถิ่นในโซมาเลีย ยังอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย Posted: 15 Jan 2013 09:04 AM PST โซมาเลีย ประเทศที่มีสงครามภายในและอยู่ในสภาวะคลอนแคลนมายาวนาน แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะคลี่คลายบ้างแล้วแต่ยังมีเหล่าผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่ลี้ภัยจากการต่อสู้ยังต้องพะวงเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีรายงานเรื่องการข่มขืนจำนวนมากโดยที่ผู้กระทำลอยนวล เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2013 ผู้สื่อข่าวไลลา อาลี ได้รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้หญิงพลัดถิ่นในประเทศโซมาเลียลงในเว็บไซต์อัลจาซีร่า ที่แม้ว่าการต่อสู้กันภายในประเทศจะสงบลงบ้างแล้ว แต่พวกเขายังต้องระวังภัยจากการล่วงละเมิดทางเพศขณะอาศัยอยู่ในที่พักหลบภัยชั่วคราว ผู้สื่อข่าวรายงานสภาพทั่วไปของโซมาเลียว่า ความขัดแย้งยึดเยื้อยาวนานกว่า 2 ทศวรรษในโซมาเลียเริ่มสงบลงบ้างแล้ว ตามท้องถนนมีคนสวมชุดยูนิฟอร์มเดินตรวจตราแทนที่จะเป็นกลุ่มคนติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายแบบที่ผ่านมา แผงกั้นถนนที่แบ่งแยกระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับเขตควบคุมของกลุ่มอัล-ชาบับก็ถูกนำออกไปทำให้การสัญจรกลับมาเป็นปกติ ผู้คนไปรวมตัวกันอยู่ตามชายหาด บ้านหลังเก่าๆ ก็ได้รับการบูรณะ แต่ก็มีบางส่วนที่ยังไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีนัก มีค่ายผู้อพยพที่เต็มไปด้วยคนพลัดถิ่นภายในประเทศ พวกเขาต้องหลบหนีจากพื้นที่บ้านเกิดจากสาเหตุความรุนแรงและความไม่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป และกับผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในค่ายนั้น เรื่องความรุนแรงและความไม่ปลอดภัยก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เช่นกรณีของ นูรา เฮียร์ซี แม่ม่ายที่อาศัยอยู่ในแคมป์คนพลัดถิ่นภายในประเทศ ที่กรุงโมกาดิชู เธอบอกว่าเธอถูกรุมข่มขืนโดยทหารฝ่ายรัฐบาล 7 คน นูราบอกว่าในตอนนั้นลูกๆ ของเธอกำลังหลับ พวกเขามีอาวุธปืน AK47 พากันตบเธอและบังคับให้เธอออกไปข้างนอกแล้วข่มขืน โดยที่เธอไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากพวกเขาเป็นคนติดอาวุธถึง 7 คน นูรา กล่าวอีกว่าไม่มีใครมาช่วยเธอเพราะทุกคนกลัวการออกจากบ้านตอนกลางคืน หลังจากนั้นในตอนเช้าเธอก็ไปที่โรงพยาบาลเพื่อรับยามาจำนวนหนึ่งแต่ก็ไม่ได้เล่าเรื่องจริงทั้งหมดไปเพราะเธอไม่อยากให้ชาวโซมาเลียด้วยกันรับรู้ และเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้รับรู้เรื่องการข่มขืนจริงจังนัก โซมาเลียมีรัฐบาลใหม่มาได้สองเดือน แต่เจ้าหน้าที่รัฐอย่าง อะไวส์ ฮัดแดด อธิบดีกรมแรงงาน, เยาวชน และกีฬา ก็ปฏิเสธว่า กองกำลังของรัฐไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทางเพศอย่างกรณีของนูรา ฮัดแดด แต่เขาบอกว่าอาจมีคนสวมรอยใส่ชุดฟอร์มของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร และอาจเป็นฝีมือของฝ่ายกบฏชาบับ ซึ่งหากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนในกรณีนี้จะมีการจัดการอย่างจริงจัง สื่อและรัฐเพิกเฉย อับดัลล์ มูมิน ผู้สื่อข่าวชาวโซมาเลียกล่าวถึงการข่มขืนในโซมาเลียว่า สื่อในประเทศส่วนมากเพิกเฉยต่อความรุนแรงทางเพศรวมถึงไม่สนใจข่าวที่มาจากกลุ่มคนพลัดถิ่นในประเทศ และโซมาเลียก็มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่ไม่มีใครกล้าพูดว่าตนถูกข่มขืน แต่มักจะบอกว่ามีคนพยายามข่มขืนตน ขณะเดียวกันโซมาเลียก็มีองค์กรสตรีชื่อ 'ซิสเตอร์โซมาเลีย' ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 ซึ่งได้เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเรื่องการข่มขืนในกรุงโมกาดิชู และมีเหยื่อรายใหม่ๆ มากถึง 7 รายต่อสัปดาห์มาขอคำปรึกษา ซึ่งรวมทั้งหมดแล้วมีราว 400 ราย ฟาร์ตุน อับดิซาลาน อาดาน ผู้ร่วมก่อตั้งซิสเตอร์โซมาเลียกล่าวว่า ประเด็นเรื่องการข่มขืนไม่ใช่ประเด็นต้องห้ามอีกแล้ว และควรมีการจัดการปัญหาอย่างจริงจัง เธอกล่าวถึงประสบการณ์การทำงานอีกว่าในตอนแรกรัฐบาลและผู้ชายในโซมาเลียไม่ยอมรับเรื่องนี้และผู้หญิงส่วนมากก็อายขะพูดถึงเรื่องนี้ แต่พวกเขาก็ค่อยๆ ได้รับความเชื่อใจมากขึ้น แต่ในตอนนี้ประชาชนในโซมาเลียเริ่มพูดถึงเรื่องนี้และไม่มีใครปฏิเสธว่ามันเกิดขึ้นอีกแล้ว ฟาร์ตุน บอกอีกว่าสภาพที่พักของค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศทำให้เกิดความเสี่ยงเนื่องจากผู้อาศัยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก และในค่ายก็ไม่มีประตูทำให้คนเข้ามาทำอะไรก็ได้ ซึ่งทางซิสเตอร์โซมาเลีย จะคอยช่วยเหลือผู้มารับคำปรึกษาในเรื่องการรักษาพยาบาล รวมถึงความช่วยเหลือด้านการย้ายถิ่นฐานหากเหยื่อรายนั้นๆ ต้องการออกจากค่ายผู้อพยพเพื่อกลับบ้าน และมีเซฟท์เฮาส์ให้พักชั่วคราว ซึ่งมีบางกรณีที่หญิงวัยรุ่นตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืนไม่ต้องการพบครอบครัวมาขออยู่เซฟท์เฮาส์ ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิง ฮาวา อเดน โมฮาเม็ด นักกิจกรรมผู้ได้รับรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นของสหประชาชาติกล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับวัฒนธรรมการที่เหยื่อไม่กล้าพูด และการที่ผู้กระทำผิดไม่ได้รับโทษ "มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเรียกร้องการบังคับใช้กฏหมายเมื่อกฏหมายขาดความเข้มงวดหรือไร้ความสำคัญ" ฮาวากล่าว "จากประสบการณ์แล้ว ผ้หญิงร้อยละ 90 ที่ถูกข่มขืนรั้งรอที่จะรายงานเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่เนื่องจากพวกเขาเกรงว่าจะไม่มีใครทำอะไรกับเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังต้องมีการให้ความรู้ เพราะมีผู้หญิงหลายคนมองตัวเองว่าเป็น 'ฮะรอม' (haram) หรือผู้ที่มีมลทิน ทำให้ไม่อยากพูดเรื่องนี้" ฮาวา บอกอีกว่านี่เป็นประเด็นที่ไม่ใช่แค่ประเด็นของผู้หญิง แต่เป็นประเด็นทางสังคมที่รัฐบาลโซมาเลียต้องเข้ามาจัดการ
(หมายเหตุจากต้นฉบับ : มีการเปลี่ยนชื่อของผู้ถูกข่มขื่นเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิส่วนบุคคล) เรียบเรียงจาก Displaced women still vulnerable in Mogadishu, Laila Ali, Aljazeera, 14-01-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8-14 ม.ค. 2556 Posted: 15 Jan 2013 08:48 AM PST
แจงค่าแรงงาน 300 บาทกระทบการท่องเที่ยวน้อย
ภาคก่อสร้าง ภาคเหนือขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก
นราธิวาสไม่พบแนวโน้มเลิกจ้างจากค่าแรง 300 บาท
เอกชนอัด รบ.ลดภาษี "เอสเอ็มอี" เกาไม่ตรงที่คัน เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีกำไร
มติ ครม.ออก 6 มาตรการการ อุ้ม SMEs ชงลดภาษีเหลือ 15% หลังขึ้นค่าแรง
กมธ.เตรียมเชิญแรงงาน-คลัง-พณ.แจงค่าแรง 300 บาท นอกจากนี้ เมื่อเกิดปัญหารัฐบาลจึงออกมาตรการรองรับจนมีมติครม.เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งอยากเรียกมาตรการดังกว่าเป็นมาตรการแต่งหน้าศพเพราะกว่าจะออกแนวทางการ แก้ปัญหาก็ปล่อยให้กิจการต่างๆ ล้มหายตายจากไปแล้ว ถือว่าเป็นการออกมาตรการไม่ทันท่วงที เป็นการแก้ปัญหาแบบวิ่งไล่ตามปัญหา
รัฐบาลแจงกระทู้ โรงงานปิดไม่มีออร์เดอร์
รัฐบาลแจงกระทู้ โรงงานปิดไม่มีออร์เดอร์
เทสโก้โลตัสยันไม่ใช้แรงงานต่างด้าว-คนไม่ขาด
ก.แรงงานยืนยันการเลิกจ้างอยู่ในภาวะปกติ
เชียงใหม่ -โรงแรมขนาดกลาง-เล็ก กระทบหนักจากค่าแรง 300 บาท
ค่าแรง 300 บาทอาจลดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกับชาติอาเซียน
Electrolux ระยองเลิกจ้างสหภาพแรงงานฯ ยกเข่ง หลังต่อรองปรับค่าจ้าง 300
ชัยนาทเผยค่าแรง 300 บาท พ่นพิษ-ลดสวัสดิการเพื่ออยู่รอด
ส.ว.โวยเอกชนมั่วนิ่ม อ้างค่าแรง 300 ลดโควตารับแรงงานพิการ
จังหวัดลำพูนใช้ 5 มาตรการ บรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แอรอน ชวาร์ทซ์: คำประกาศเพื่องานวิชาการที่เข้าถึงได้โดยเสรีแบบกองโจร Posted: 15 Jan 2013 07:34 AM PST แอรอน ชวาร์ทซ์: คำประกาศเพื่องานวิชาการที่เข้าถึงได้โดยเสรีแบบกองโจร [1]
[คำกล่าวนำผู้แปล: ในตอนนี้สื่อสารพัดทั้งในต่างประเทศและในไทยได้ให้ความสำคัญกับการเสียชีวิตของแอรอน สวาร์ทซ์ในฐานะของผู้มีคุณณูปการแด่แวดวงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ดีจุดยืนสิ่งที่แอคทิวิสต์หนุ่มผู้นี้มีที่นำเขาไปสู่ความกดดันในระดับที่เขาต้องจบชีวิตด้วยมือตนเองนั้นก็คือเรื่องเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารและความรู้ [3] และคงจะไม่มีที่ไหนที่เขาแสดงจุดยืนดังกล่าวไว้ชัดเจนเท่ากับคำประกาศที่เขาเขียนขึ้นมาในปี 2008 ชิ้นนี้]
ข้อมูลคืออำนาจ แต่มันก็ไม่ได้ต่างจากอำนาจอื่นๆ มันมีคนที่ต้องการจะเก็บมันเอาไว้สำหรับตัวเองเท่านั้น มรดกทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมทั้งหมดของโลกที่มีการตีพิมพ์มาในหนังสือและวารสารเป็นร้อยๆ ปีกำลังถูกทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลและเก็บไว้ในมือของบรรษัทเอกชนเพียงกำมือหนึ่ง ถ้าคุณต้องการอ่านงานวิชาการต่างๆ ที่ว่าด้วยค้นพบครั้งสำคัญทางวิทยาศาสตร์ คุณก็ต้องจ่ายเงินมหาศาลให้สำนักพิมพ์อย่างรีด เอลเซเวียร์ (Reed Elsevier) ก่อน มีผู้คนที่ต่อสู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงภาวะนี้ ขบวนการงานวิชาการที่เข้าถึงได้โดยเสรี (Open Access Movement) ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อที่เราจะมั่นใจได้ว่านักวิทยาศาสตร์จะไม่เซ็นมอบลิขสิทธิ์งานให้เหล่าบรรษัท แต่จะตีพิมพ์งานของเขาบนอินเทอร์เน็ตแทนในเงื่อนไขที่ว่าทุกๆ คนจะเข้าถึงมันได้แทน อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ที่ดีที่สุดแล้ว ความพยายามของขบวนการนี้จะมีผลต่อสิ่งที่จะตีพิมพ์ต่อไปในอนาคตเท่านั้น เราจะสูญเสียทุกสิ่งที่พิมพ์มาจนถึงวันนี้ไปทั้งหมดอยู่ดี นั่นเป็นราคาที่สูงเกินกว่าที่เราจะจ่าย เราจะบังคับให้นักวิชาการจ่ายเงินเพื่อที่จะอ่านงานที่เพื่อนนักวิชาการเขียนหรือ? เราแสกนห้องสมุดไปทั้งห้องแล้ว แต่เราจะให้เพียงแค่คนในบริษัทกูเกิลอ่านหรือ? เราให้บทความวิทยาศาสตร์กับผู้คนที่มหาวิทยาลัยชั้นสูงในโลกที่หนึ่งอ่าน แต่เราจะไม่ให้เด็กๆ ในซีกโลกใต้อ่านหรือ? มันเป็นสิ่งที่น่าโมโหและยอมรับไม่ได้ หลายๆ คนบอกว่า "ฉันเห็นด้วย แต่เราจะทำอะไรได้? บริษัทเหล่านี้ถือครองลิขสิทธิ์ พวกเขาทำเงินมหาศาลจากการคิดเงินค่าธรรมเนียมการเข้าถึงบทความเหล่านี้ และมันก็ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เราไม่มีทางจะทำอะไรที่หยุดยั้งพวกเขาได้เลย" แต่มันก็มีบางสิ่งที่เราทำได้ บางสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว เราสู้กลับได้ ผู้ที่สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทางความรู้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา บรรณารักษ์ และนักวิทยาศาสตร์ พวกคุณคือผู้มีอภิสิทธิ์ คุณได้เข้ามาในงานเลี้ยงความรู้นี้ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของโลกถูกกันอยู่ด้านนอก แต่คุณไม่จำเป็นต้องเก็บอภิสิทธิ์นี้ไว้ใช้เองเท่านั้น (เอาจริงๆ แล้วถ้าว่ากันในเชิงศีลธรรม คุณไม่สามารถจะเก็บอภิสิทธิ์นี้ไว้ใช้เองได้ด้วยซ้ำ) คุณมีหน้าที่จะแบ่งปันมันกับคนอื่นๆ ในโลกและคุณก็ได้ทำมันบ้างแล้วเมื่อคุณ แลกเปลี่ยนพาสเวิร์ดกับเพื่อนร่วมงานของคุณไปจนถึงช่วยดาวน์โหลดบทความต่างๆ ให้เพื่อนๆ คุณ ตามที่พวกเขาร้องขอ ในขณะเดียวกัน ผู้คนที่ถูกกันออกไปด้านนอกก็ไม่ได้ยืนบื้ออยู่เฉยๆ พวกคุณได้แอบลอดเข้ามาในรูและปีนข้ามรั้ว พวกคุณได้ปลดปล่อยข้อมูลที่บรรดาสำนักพิมพ์เคยกักกันไว้และแบ่งปันมันกับเพื่อนๆ ของคุณ แต่การกระทำเหล่านี้ทั้งหมดก็ดำเนินไปในความมืด มันซ่อนอยู่ใต้ดิน มันถูกเรียกว่าการขโมยหรือการทำสำเนาเถื่อน (piracy) ราวกับว่าการแบ่งปันความมั่งคั่งของความรู้นั้นจะเป็นความผิดทางศีลธรรมที่เทียบเท่ากับการปล้นเรือและฆ่าลูกเรือ แต่การแบ่งปันก็ไม่ใช่สิ่งผิดศีลธรรม มันเป็นการกระทำทางศีลธรรมที่จำเป็นด้วยซ้ำ มีแต่คนที่มืดบอดไปด้วยความตระหนี่ถี่เหนียวเท่านั้นที่จะปฏิเสธไม่ให้เพื่อนทำสำเนา แน่นอนว่าบรรดาบรรษัทใหญ่นั้นล้วนมืดบอดไปด้วยความตระหนี่ถี่เหนียว และนี่เป็นสิ่งที่บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องทำตามกฎหมาย ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ พวกเขาก็รอรับการประท้วงจากบรรดาผู้ถือหุ้นได้เลย นอกจากนี้เหล่านักการเมืองที่พวกเขาซื้อไปก็คอยหนุนหลังอยู่โดยการผ่านกฏหมายที่ให้อำนาจผูกขาดในการกำหนดว่าใครจะทำสำเนาได้แก่บรรษัทเหล่านั้น มันไม่มีความยุติธรรมใดเกิดขึ้นจากการทำตามกฎหมายอันอยุติธรรม มันถึงเวลาแล้วที่เราจะออกมาจากความมืดและมาเข้าร่วมจารีตของการดื้อแพ่ง เราควรจะประกาศจุดยืนต่อต้านการปล้นศิลปวัฒนธรรมสาธารณะโดยเอกชนนี้ออกมา เราต้องนำข้อมูลออกมาไม่ว่ามันจะถูกเก็บไว้ที่ไหน เราต้องนำมันออกมาเพื่อทำสำเนาและแบ่งปันมันกับคนอื่นๆ ในโลก เราต้องเอาของที่หมดลิขสิทธิ์ไปแล้วมาใส่คลังจดหมายเหตุ เราต้องซื้อฐานข้อมูลลับและเอามันขึ้นเว็บ เราต้องดาวน์โหลดวารสารวิทยาศาสตร์และอัปโหลดมันขึ้นบนเครือข่ายแชร์ไฟล์ เราต้องสู้เพื่องานวิชาการที่เข้าถึงได้โดยเสรีแบบกองโจร ถ้าพวกเราทั่วโลกมีพอ เราจะไม่ได้ทำแต่เพียงแค่ส่งสารต่อต้านการทำความรู้ให้เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลเท่านั้น แต่เราจะทำให้มันเป็นอดีตไปเลยด้วยซ้ำ คุณจะเข้าร่วมกับเราไหม? แอรอน ชวาร์ทซ์
อ้างอิง:
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
มาเรีย คลารา Inang Pilipinas: Subaltern และ เรื่องราวเบื้องหลังชุดสตรีประจำชาติฟิลิปปินส์ที่โลกลืม Posted: 15 Jan 2013 07:24 AM PST บทความนี้มองว่าการวางผู้หญิงไว้บนแท่นบูชาแห่งความรักและความอมตะเป็นดาบสองคม นำพามาซึ่งการริดและรีดเอาอณูชีวิตผู้หญิงจริงๆ ออกไป เหลือเพียงความคิดคุณค่าสตรีฟิลิปปินส์ตัวอย่าง ผู้หญิงกลายเป็นหุ่นเชิดไร้ชีวิต และเรื่องราวของเธอถูกกลืนกินไปในเรื่องราวของการสร้างชาติที่ผู้ชายมักเป็นผู้ออกโรงสร้างและรื้อถอนแท่นบัลลังก์แห่งอำนาจสังคมการเมือง
(เลโอนอร์ ริเวรา ที่มา: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/c9/Leonor_Rivera.jpg) เมื่อปี ค.ศ. 1880 เด็กหญิงนาม เลโอนอร์ ริเวรา (เกิดปี ค.ศ. 1867) ซึ่งขณะนั้นอายุ 13 ปี ได้พบชายหนุ่มผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องอายุ 19 ปี ชายหนุ่มคนนี้หน้าตาดี พูดจาฉลาดเฉลียว และมีอนาคตไกล เพราะสองปีต่อมาหลังจากที่ทั้งคู่พบกันครั้งแรก ชายหนุ่มผู้นี้จะได้เดินทางไปเรียนวิชาการแพทย์ที่ยุโรป อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ความฉลาดปราดเปรื่องของเขาก็จะเป็นที่เลื่องลือ ด้วยเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติทางภูมิปัญญาและปลุกจิตสำนึกขบวนการเรียกร้องเอกราชของฟิลิปปินส์จากสเปนด้วยปลายปากกา เด็กหญิงวัย 13 คงจะพอเห็นแววความไม่ธรรมดาของเขา แต่คงนึกไม่ถึงหรอกว่าหนุ่มวัย 19 ผู้นี้ในวันข้างหน้าจะกลายเป็นนักเขียนและวีรบุรุษกู้ชาติคนสำคัญ เป็นเสมือนตัวแทนความเป็นชาตินิยมฟิลิปปินส์ ชายหนุ่มหวานใจวัยเด็กของเลโอนอร์มีนามว่า โฮเซ ริซัล (เกิดปี ค.ศ. 1861 ตาย ปี ค.ศ. 1896) ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกผ่านนวนิยายสองเล่มที่วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิอาณานิคม เปิดโปงความฟอนเฟะของศาสนจักร และเสียดสีสเปนซึ่งเจ้าอาณานิคม อันได้แก่ Noli me Tangere (เขียนเสร็จและตีพิมพ์ระหว่างปี ค.ศ. 1886 ถึง ค.ศ. 1887) และ El filibusterismo ซึ่งเป็นภาคต่อ (ตีพิมพ์ปีค.ศ. 1891) ทั้งสองเล่มนี้เขียนเป็นภาษาสเปน
(โฮเซ ริซัล ภาพจาก http://www.latinamericanstudies.org/rizal/rizal.gif) เลโอนอร์และโฮเซรักใคร่ชอบพอกันและเขียนจดหมายหากันสม่ำเสมอ เป็น long distance relationship ที่หวานบาดใจก่อนยุคที่มี Skype และ facebook แหล่งข่าวแจ้งว่าทั้งคู่ได้ตกลงหมั้นกันเอง และแน่นอน เพราะพ่อของทั้งคู่เป็นญาติสนิท ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ย่อมเป็นหนามทิ่มแทงหัวใจพ่อแม่ของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เมื่อโฮเซ นายแพทย์นักเรียนนอกวัย 26 ปี เดินทางกลับบ้านเมื่อปี ค.ศ. 1887 และหมายมั่นจะแต่งงานกับเลโอนอร์ ทั้งคู่กลับถูกทางครอบครัวกีดกัน พ่อของโฮเซถึงขั้นสั่งห้ามไม่ให้ไปพบหญิงสาวที่เขารัก ด้วยในขณะนั้น โฮเซได้รับตีตราหมายหัวจากทางการเจ้าอาณานิคมสเปนว่าเป็น Filibustero หรือ พวกหัวรุนแรง เพราะถ้อยคำเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์ใน Noli me Tangere พ่อของโฮเซกลัวว่าหากโฮเซไปมาหาสู่ครอบครัวของเลโอนอร์บ่อยๆ ก็อาจพลอยทำให้ครอบครัวของญาติตกอยู่ในอันตรายได้ หลังจากนั้นไม่นาน โฮเซมีเหตุต้องเดินทางออกนอกประเทศบ้านเกิดอีกครั้งหนึ่งตามประสาปัญญาชนอนาคตไกล เขาเขียนจดหมายหาเลโอนอร์เป็นประจำตามปกติ แต่ก็ไม่ได้รับจดหมายตอบจากเธออีกเลย มาล่วงรู้ภายหลังว่าแม่ของเลโอนอร์ได้จัดการคลุมถุงชนให้ลูกสาวแต่งงานกับเฮนรี ชาร์ลส์ คิปปิง ซึ่งเป็นวิศวกรรถไฟชาวอังกฤษ หัวใจของโฮเซแตกสลาย แต่เขาก็คงปลอบใจตัวเองเมื่อได้คิดว่าเขาได้โอบกอดและเก็บรายละเอียดทุกอณูของความเป็นเลโอนอร์ไว้ในหนังสือ Noli me Tangere ผ่านการรังสรรค์ตัวละครที่ชื่อว่า มาเรีย คลารา ซี่งโฮเซเองขนานนามว่าเป็น Inang Pilipinas (อินัง ปิลิปินัส) ซึ่งแปลว่า มารดาแห่งฟิลิปปินส์ เรามาทำความรู้จักกับตัวละครที่ชื่อมาเรีย คลารา เดอ ลอส ซานโตส ซึ่งเป็น เลโอนอร์ ริเวราภาคที่ผ่านกระบวนการสังเคราะห์และผ่านศัลยกรรมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีให้คงคุณค่าสวยอมตะ ใน Noli me Tangere ผ่านข้อความต่อไปนี้กัน
ดวงตาของมาเรีย คลาราไม่เล็กเช่นดวงตาบิดา หากเช่นมารดา มาเรีย คลารานั้นมีนัยน์ตาโต สีดำขลับ ขนตางอน เป็นดวงตาที่ร่าเริงและยิ้มแย้มยามเล่นสนุก แต่เป็นดวงตาที่เศร้าและตกอยู่ในห้วงลึกแห่งภวังค์ยามสำรวม เมื่อครั้งเป็นเด็ก ผมของมาเรีย คลาราหยิกเป็นลอน สีผมค่อนไปทางสีบลอนด์ จมูกเป็นสันไม่โด่งหรือแหลมจนเกินไป ส่วนปากที่ขนาบไปด้วยลักยิ้มดูร่าเริงทำให้นึกถึงปากเล็กๆ น่าชมของมารดา ผิวของมาเรีย คลาราเรียบลื่นดุจพื้นผิวเปลือกหัวหอม และขาวดุจสำลี ซึ่งล้วนเป็นที่น่าฉงนใจในหมู่มวลญาติผู้มองเห็นเค้าและร่องรอยของกัปตันตีอาโกผู้เป็นบิดาที่ใบหูเล็กๆ ได้รูปของเธอ
ดั่งเทวีในดวงใจของทุกคน มาเรีย คลาราเติบโตท่ามกลางรอยยิ้มและความรัก บรรดาบาทหลวงต่างใส่ใจและเอาใจ เมื่อเธอปรากฏตัวร่วมเดินขบวนแห่ทางศาสนาในชุดสีขาว ผมยาวดกงามถักเป็นเปียแซมด้วยดอกซ่อนกลิ่นและดอกมะลิ เสื้อมีติดปีกสีเงินและสีทองเล็กๆ มือสองข้างประคองนกพิราบขาวหนึ่งคู่ที่ขาผูกติดกันด้วยริบบิ้นสีฟ้า
(ภาพตัวละครมาเรีย คลาราซึ่งจินตนาการจากงานวรรณกรรมของโฮเซ ริซัล ที่มา: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/1f/Crayon_sketch_of_Leonor_Rivera_by_Rizal.jpg/200px-Crayon_sketch_of_Leonor_Rivera_by_Rizal.jpg)
ณ ชนบททางใต้ เด็กผู้หญิงที่อายุประมาณสิบสามสิบสี่มักแปลงร่างกลายเป็นหญิงสาววัยสะพรั่งดุจดอกไม้ตูมแห่งรัตติกาลเริ่มแย้มบานมาในช่วงรุ่งอรุณ ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยความลึกลับและความโรแมนติกเช่นนี้ มาเรีย คลาราถูกส่งไปอยู่สำนักชีเซนต์แคธริน ตามคำแนะนำของบินอนโด บาทหลวงผู้สอนศาสนา เพื่อที่เธอจะได้ศึกษาวิชาคำสอนจากบรรดาแม่ชีอย่างเคร่งครัดเข้มงวด มาเรีย คลาราน้ำตานองเมื่อไปกล่าวลาคุณพ่อดามาโซและหนุ่มน้อยที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เล็ก นั่นคือ คริซอสโตโม อิบาร์รา ผู้ไม่ช้าไม่นานก็ถูกส่งตัวไปยังยุโรป มาเรีย คลารา อาศัยในอารามซึ่งติดต่อสื่อสารกับทางโลกผ่านซี่กรงขัง ภายใต้การควบคุมดูแลของบรรดาแม่ชี เป็นเวลานานร่วมเจ็ดปี (ที่มาของบทแปลภาษาอังกฤษ: http://www.gutenberg.org/files/6737/6737-h/6737-h.htm บทแปลภาษาไทย โดย วริตตา ศรีรัตนา)
ชีวิตของโฮเซ ริซัล กลายมาเป็นตำนานเล่าขาน มีหนังสือเขียนบรรยายชีวประวัติผ่านเลนส์ชาตินิยมนับไม่ถ้วน แต่ไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องราวชีวิตของเลโอนอร์ ผู้หญิงคนสำคัญในชีวิตของโฮเซ ผู้หญิงที่โฮเซรังสรรค์แท่นแห่งความอมตะให้ยืนไปชั่วกัลปาวสานในงานวรรณกรรมของตน นอกเหนือไปจากข้อที่ว่าเธอเป็นหญิงกุลสตรี ซื่อตรงต่อชายคนรัก ไม่เถียงพ่อแม่ ไม่ออกความเห็นต่อต้านสังคม เพรียบพร้อมสมเป็นแบบอย่างสตรีฟิลิปปินส์ผู้ให้ความรักและการสนับสนุนชายชาตรีที่ต้องการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อชาติบ้านเมือง มีสถานะเป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่งเท่านั้น ในบทบรรยายเราจะเห็นว่าเลโอนอร์ถูกแปรสภาพเป็นมาเรีย คลารา สตรีผู้คงคุณค่าความเป็นฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายถึงการเป็นคาธอลิคที่เคร่งศาสนา มีรูปร่างลักษณะเป็น "เมสติซา" (Mestiza) คือมีเชื้อยุโรป จมูกต้องโด่ง ตาต้องโต ผิวต้องขาว ผมต้องยาวหยิก สีผมค่อนไปทางน้ำตาลหรือบลอนด์ ทั้งหมดนี้ได้เป็นตัวกำหนดมาตรฐานความงามของสตรีฟิลิปปินส์มาตั้งแต่สมัยปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน ชื่อและคุณค่าของความเป็นมาเรีย คลารา นั้นได้ถูกรังสรรค์เป็นชุดประจำชาติ ชุดมาเรีย คลารานี้ออกแบบเพื่อมุ่งเน้นความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ความบอบบางน่าทะนุถนอม และความสำรวมเคร่งศาสนาของสตรีฟิลิปปินส์ ตามตำรากุลสตรีศรีฟิลิปปินส์ ผู้สวมชุดมาเรีย คลาราจะต้องพกและถือพัดเพื่อใช้ปัดป้องหลบซ่อนอารมณ์ความรู้สึก และเพื่อพัดวีกันเป็นลม (ในหนังสือจะเห็นว่ามาเรีย คลาราร่ำจะเป็นลมเป็นแล้งค่อนข้างบ่อยทีเดียว)
(ที่มา: http://en.wikipilipinas.org/images/b/bc/Mariaclara.jpg) ผู้เขียนบทความนี้มองว่าการวางผู้หญิงไว้บนแท่นบูชาเยี่ยงนี้เป็นดาบสองคม เพราะแท่นแห่งความรักและความอมตะนำพามาซึ่งการริดและรีดเอาอณูชีวิตผู้หญิงจริงๆ ออกไป เหลือเพียงความคิดคุณค่าสตรีฟิลิปปินส์ตัวอย่าง ผู้หญิงกลายเป็นหุ่นเชิดไร้ชีวิต และเรื่องราวของเธอถูกกลืนกินไปในเรื่องราวของการสร้างชาติที่ผู้ชายมักเป็นผู้ออกโรงสร้างและรื้อถอนแท่นบัลลังก์แห่งอำนาจสังคมการเมือง ข้อที่ว่าผู้ชายเป็นผู้เขียน ชำระ และเรียบเรียงประวัติศาสตร์เสมอ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ทั่วทุกประเทศในโลกเราจะเห็นว่าบุคลาธิษฐานของความเป็นชาติมักนำเสนอผ่านภาพลักษณ์ของสตรีแทบทั้งสิ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อินเดีย ความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมอินเดียนั้นนำเสนอผ่านภาพลักษณ์ของเทวีที่มีนามว่า ภารตมาตา ชื่อนี้ก่อกำเนิดมาจากตัวละครในบทละครของ Kiran Chandra Bannerjee คำว่า ภารตมาตา นั้นใช้กันแพร่หลายตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงขบวนการชาตินิยมเรียกร้องเอกราชในอินเดีย จนถึงทุกวันนี้
(ที่มา: http://i10.photobucket.com/albums/a137/ECdoesit/filipiniana2.jpg) ในบทความสุดคลาสสิคของ Gayatri Chakravorty Spivak ที่ชื่อ "Can the Subaltern Speak?" (เวอร์ชันปรับปรุงเพิ่มเติม) Spivak กล่าวว่าเป็นความรับผิดชอบของนักวิชาการที่จะต้องพยายามทำความเข้าใจว่าคนที่เข้าข่ายเป็น subaltern นี้มีใครบ้าง คำว่า subaltern นี้เดิมเป็นคำที่ใช้เรียกนายทหารชั้นผู้น้อยในกองทัพอังกฤษ ต่อมาอันโตนิโอ กรัมชี (เกิดปี ค.ศ. 1891 ตายปี ค.ศ. 1937) นักคิดแนวมาร์กซิสต์ชาวอิตาเลียนซึ่งในเวลานั้นอยู่ระหว่างจองจำในคุกการเมือง ใช้คำนี้เขียนเรียกแทนคำว่า proletariat หรือชนชั้นล่างหรือชนชั้นใช้แรงงาน เพื่อเลี่ยงการถูกเซนเซอร์โดยเจ้าหน้าที่รัฐฟาชิสต์ใต้มุสโสลินี ต่อมาเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1980s บรรดานักวิชาการอินเดีย ที่เด่นคือ Dipesh Chakrabarty Partha Chatterjee Ranajit Guha และ Gayatri Chakravorty Spivak ได้ลุกขึ้นมาจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์การชำระและสร้างความเข้าใจทางประวัติศาสตร์อินเดียแบบมาร์กซิสต์อันมองว่าชนชั้นนำหรือปัญญาชนเท่านั้นที่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม มาร์กซ์เองก็มองว่าอินเดียก่อน British Raj ก่อนอังกฤษเข้ามาปกครองเป็นเจ้าอาณานิคม นั้นไม่มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง:
(ที่มา: http://www.marxists.org/archive/marx/works/1853/07/22.htm) กลุ่ม subaltern studies ได้รื้อฟื้นคำและแนวคิด subaltern โดยมุ่งศึกษาบุคคลหรือกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชนชั้นนำ ไม่ใช่ผู้กุมอำนาจทางภาษาและวาทกรรมทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ แต่กระนั้น สถานะ subaltern ไม่ได้เป็นสถานะอัตโนมัติของชนชั้นล่างและวรรณะล่าง เสมอไป Spivak เน้นว่านักวิชาการต้องพยายามอย่าใช้อำนาจหรืออย่าใช้ความได้เปรียบของการที่ตนอยู่ ภายใน ระบบภาษาปัญญาชนเพื่อนิยามแปะป้าย พูดแทน บุคคลชายขอบนิรนามหรือบุคคลที่มักถูกวาทกรรมภูมิปัญญาตะวันตกกลืนกิน ถูกคนทั่วไปปล้น รื้อ สร้าง หรือ แปะป้ายอัตลักษณ์ใหม่เพื่อเสริมอำนาจนำในสังคม ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า subaltern คือพวกที่มักถูกเข้าใจผิด ถูกตีความ agency และเจตนาของตนแบบผิดๆ เป็นพวกที่จนมุมเพราะไม่สามารถออกมาแก้ต่างให้ตัวเอง หรือลุกขึ้นมาเรียบร้องสิทธิในระบบภาษาและสังคมที่มุ่งที่จะผลักให้ตนไปอยู่ชายขอบของชายขอบหรือแม้กระทั่งนอกชายขอบ หรือแม้กระทั่งในอาณาบริเวณที่ไม่มีชื่อเรียก ซึ่งแย่ยิ่งว่าอเวจี เพราะอย่างน้อยนรกก็มีชื่อเรียก สามารถนึกภาพเข้าใจได้ แน่นอน โปรเจคพุ่งชนทำนอง subalternist นี้มิวายอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกและเป็นปฏิพากย์กับตัวเอง เพราะการพยายามทำความเข้าใจหรือพยายามนิยามคำว่า "subaltern" นี้สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำสิ่งที่พวกนักวิชาการอย่าง Dipesh Chakrabarty Partha Chatterjee Ranajit Guha และ Gayatri Chakravorty Spivak ต่อต้าน กล่าวคือการลุกขึ้นมา พูดแทน และเขียนประวัติศาสตร์ให้ subaltern กลายเป็นผู้ไร้เสียง ไร้เจตจำนง และไร้ร่องรอยสืบไป แน่นอน essentialisation หรือการนิยาม ให้เนื้อหนังมังสา ให้ค่าความหมายของ subaltern นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในทัศนะของ Spivak เพราะไม่อย่างนั้นเราจะสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาได้อย่างไร ในประเด็นนี้เธอย้ำว่ามันพอมีทางออก คือ นักวิชาการจะต้องตระหนักรู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ การแปะป้ายนิยาม subaltern ไม่สามารถที่จะเป็นสิ่งที่ถาวรตายตัวได้ ผู้เขียนบทความขอยกความพยายามของ Spivak ที่จะนิยามผู้ที่เข้าข่ายว่าเป็น subaltern ดังต่อไปนี้
(อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ http://gcpoliticaltheory.wikispaces.com/file/view/Can+the+Subaltern+Speak.pdf) ข้อหนึ่ง เพียงแค่บุคคลหรือกลุ่มคนดังกล่าวเป็นพวก postcolonial อยู่ในวิถีระบบอาณานิคมหรือผลพวงของระบบอาณานิคม ไม่ได้ทำให้คนพวกนี้มีสถานภาพเป็น subaltern โดยอัตโนมัติ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ โฮเซ ริซัลเอง ซึ่งมีผู้ยกย่องเชิดชู มองได้ว่าเป็น postcolonial subject คนแรกในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมนั้น ก็เป็นผู้ที่อยู่ในสถานะตกอยู่ใต้อาณัติปกครองของสเปน แต่สถานภาพของเขาช่างห่างไกลจากการเป็น subaltern หรือบุคคลชายขอบนิรนามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเลโอนอร์ เรายังสามารถได้ยินเสียงของโฮเซก้องกังวานในเรื่องราวประวัติศาสตร์กู้เอกราชและสร้างชาติของฟิลิปปินส์ (และแม้ โฮเซ มักจะถูกกล่าวถึงว่าเป็น Malay writer เทียบกับเลโอนอร์แล้ว การรื้อถอนและสร้างอัตลักษณ์ของโฮเซนั้นยังถือว่าไม่รุนแรงในเชิง epistemic violence หรือความรุนแรงทางการสร้างองค์ความรู้ในมุมมองของ Foucault อนึ่ง ผู้เขียนบทความไปศึกษาล่วงรู้มาว่าเหตุที่มีผู้จัดโฮเซว่าเป็น Malay ก็เพราะคนฟิลิปปินส์ทั้งในอดีตและปัจจุบันใช้คำว่า Malay ในการเรียกชนพื้นเมืองบนเกาะจนถึงผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะบอเนียว คาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา เกาะซูลาเวซีและหมู่เกาะโมลุกกะ ทั้งนี้เป็นการเรียกแบบเหมารวมตามสเปนซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเรียกผู้คนบนเกาะฟิลิปปินส์ รวมทั้งพื้นที่ที่กล่าวมาแล้วว่า Indio เรื่องอัตลักษณ์มาเลย์กับโฮเซ ริซัลนี้น่าสนใจ และสามารถเป็นหัวข้อบทความยาวๆ ได้อีกหนึ่งบทความ จึงขอละไว้แต่เพียงเท่านี้ และเปิดทางให้มาเรีย คลาราออกมาส่งเสียงบ้าง) ข้อสอง การที่นักวิชาการ romanticise หรือนำบุคคลหรือกลุ่มพวก subaltern ขึ้นหิ้งบูชา ชำระภาพลักษณ์จนกลุ่มคนพวกนี้งดงามราวนักบุญบริสุทธิ์ผุดผ่อง (อันสะท้อนในความพยายามของโฮเซ ริซัล ที่จะยกเลโอนอร์ ริเวรา ไว้บนแท่น ผ่านการสร้างตัวละครสตรีประจำชาติอย่างมาเรีย คลารา) เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เพราะมันไม่ได้ทำให้เข้าใจ subaltern มากกว่าเดิม การรื้อฟื้นเรื่องราวของคนเหล่านี้แล้วนำไปใส่ในกล่องแก้วรักษาในพิพิธภัณฑ์แห่งความรู้สึกผิดทางชนชั้น ไม่ได้ต่างอะไรกับการ พูดแทน subaltern ไม่ได้ต่างอะไรกับการปิดปากไม่ให้ subaltern พวกนี้มีสุ้มมีเสียงเล่าเรื่องของตนเอง คลิปด้านล่างนี้ มิเป็นเพียงตัวอย่างของการชำระประวัติศาสตร์อย่างเลือกจำเลือกลืม มิเป็นเพียงตัวอย่างของการกู้เสียง subaltern และนำ subaltern ขึ้นหิ้งบูชา แต่ยังเป็นตัวอย่างแนวคิดชายเป็นใหญ่ในประวัติศาสตร์นิพนธ์และขบวนการชาตินิยมที่ดีอีกด้วย คลิป "Lupang Hinirang" (ลูปัง ฮินิรัง – แปลว่า "The Chosen Land" หรือ ดินแดนที่ได้รับเลือก/ดินแดนแห่งความหวัง) ซึงเป็นชื่อเพลงชาติฟิลิปปินส์นี้ จัดทำโดย GMA Network ซึ่งเป็นเครือข่ายโทรทัศน์รายใหญ่ของฟิลิปปินส์ และเริ่มถ่ายทดเผยแพร่เมื่อประมาณสามปีที่แล้ว:
http://www.youtube.com/watch?v=vdNOmKphK-M จากเหตุการณ์ Tagumpay sa Mactan (ตะกุมปาย ซา มัคตัน) หรือ ชัยชนะที่มัคตัน เมื่อปี ค.ศ. 1521 อันเป็นเหตุการณ์ที่ ดาตู ลาปู-ลาปู (เกิดปี ค.ศ. 1491 ตายปี ค.ศ. 1542) เจ้าครองเกาะมัคตันและนักรบของเขาสู้รบมีชัยเหนือกองทหารของนักเดินเรือชาวโปรตุเกสเฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน (เกิดปี ค.ศ. 1480 ตายปี ค.ศ. 1521) ซึ่งเดินเรือในนามของกษัตริย์สเปน ถึงหน้าประวัติศาสตร์จารึกของ Kabayanihan ni Jose Rizal (ค.ศ. 1896) (กาบายานิฮัน นิ โฮเซ ริซัล) หรือ วีรกรรมของโฮเซ ริซัล จนถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สุดท้ายในคลิปคือ Rebolusyong EDSA (ปีค.ศ. 1986) หรือการปฏิวัติที่ Epifanio de los Santos Avenue (EDSA) เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส หลังเหตุการณ์การสังหารรัฐบุรุษ เบนิกโน "นีนอย" อาคีโน จูเนียร์ (เกิด ปีค.ศ. 1932 ตาย ปี ค.ศ. 1983) ผู้เป็นสามีของโคราซอน อาคีโน และบิดาของนอยนอย อาคีโน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฟิลิปปินส์ จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่นำเสนอในคลิปเพลงชาติเป็นกิจกรรมและกิจการของผู้ชายแทบทั้งสิ้น หากไม่นับซิสเตอร์นัยน์ตาเศร้าในเหตุการณ์ EDSA และสตรีในชุดมาเรีย คลาราที่นั่งเย็บธงฟิลิปปินส์ในภาพเหตุการณ์ Paglikha ng Watawat ng Pilipinas (ปักลีคา นัก วาตาวัต นัก ปิลิปีนัส) หรือการรังสรรค์ธงชาติฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ. 1898 โดยมาร์เซลลา อาร์กอนซิลโล (เกิดปี ค.ศ. 1860 ตายปี ค.ศ. 1946) ด้วยความช่วยเหลือลูกสาวคือลอเรนซา และความช่วยเหลือของเดลฟีนา เฮร์โบซา เด นาตีวีดาด ซึ่งเป็นหลานสาวของโฮเซ ริซัลเอง เราจะเห็นว่าผู้หญิงเป็นตัวประกอบ หรือไม่ก็เป็นฉากหลัง หรือไม่ก็อันตรธานสลายตัวไปในพื้นผิวฉากหลังของการนำเสนอและรื้อฟื้นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์
(ชุดมาเรีย คลาราแบบประยุกต์ ซึ่งอิเมลดา มาร์กอส เป็นผู้นำเทรนด์ ที่มา: http://www.funkypanda.com/dictators/imelda1.jpg) เมื่อ ค.ศ.1893 เลโอนอร์ ริเวราเสียชีวิตหลังให้กำเนิดลูกคนที่สองกับสามีชาวอังกฤษ สิริรวมอายุได้ 26 ปี คนฟิลิปปินส์รุ่นใหม่มักคุ้นชื่อเธอ แต่ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าข้อที่ว่าเธอเป็น "แฟน" หรือ "กิ๊กเก่า" สมัยเด็กของวีรบุรุษโฮเซ ริซัล ผู้ยิ่งใหญ่ แต่ใครกันคือมาเรีย คลารา หรือ อินัง ปิลิปีนัส มารดาแห่งฟิลิปปินส์ ตัวจริง เกิดอะไรขึ้นกับเลโอนอร์ ริเวรา ผู้หายสาบสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์อำนาจ หรือเธอจะไม่สำคัญจริงๆ หรือเธอจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่ถูกปล้นอัตลักษณ์ ของผู้หญิงที่ตกอยู่ใต้อาณัติอำนาจ "อาณานิคม" ของคุณค่าชายเป็นใหญ่ หญิงที่ไร้นาม ไร้หน้า ไร้เรื่องราวตกทอด… เมื่อการเมืองและขบวนการชาตินิยมที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศอาณานิคมอย่างฟิลิปปินส์นั้น—เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก—มิเพียงตั้งอยู่บนฐานของความไม่เสมอภาคทางเพศ หากยังส่งเสริมระบบอำนาจที่กดขี่บุคคลชายขอบนิรนาม ไม่ว่าจะชายหรือหญิง ที่ล้วนหายตัวไปโดยไม่ทิ้งแม้กระทั่งรอยเท้าบนผืนทรายแห่งประวัติศาสตร์หรืออณูอากาศบนฉากหลังของการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ที่โลกเลือกจำหรือเลือกลืม เราคงต้องไปตามหาเลโอนอร์ภาคอวตาร ในดวงหน้าของแรงงานสตรีฟิลิปปินส์อพยพ เช่น คนใช้ พี่เลี้ยงเด็ก ที่ส่งเงินส่งข้าวของเครื่องใช้กลับบ้านกระมัง เราต้องไปหาร่องรอยของเลโอนอร์ในหมู่แรงงานฟิลิปปินส์ทั้งผู้ที่ยากจนหรือผู้ที่ประสบความสำเร็จสร้างเนื้อสร้างตัวร่ำรวยอยู่เมืองนอก ส่งเงินให้ญาติที่รออยู่เป็นนิจจนสุขสบายไม่แพ้กัน และยังไม่วายส่งข้าวของเครื่องใช้กลับบ้านเป็นพิธี มูลค่าและเม็ดเงินในแต่ละปีนั้นจำนวนมหาศาล
(คนใช้ชาวฟิลิปปินส์กลุ่มหนี่งที่ประเทศกาตาร์ ที่มา: http://www.texaninthephilippines.com/filipino-maids-to-get-model-job-contract/) [ผู้เขียนบทความขอเรียกว่าวัฒนธรรมการส่งเงินส่งของกลับบ้าน (ทั้งที่ทางบ้านขาดแคลนหรือไม่ขาดแคลนจริงๆ) ว่าวัฒนธรรม Balikbayan box (บาลิกบายันบักซ์) หรือวัฒนธรรมส่งกล่องของขวัญจากชาวฟิลิปปินส์ข้ามชาติ คำว่า box ภาษาอังกฤษที่อ่านแบบสำเนียงฟิลิปปินส์เป็น "บักซ์"นี้ แปลว่า กล่อง ส่วนคำภาษาตากาลอก Balikbayan เป็นคำประสมของคำว่า balik ที่แปลว่า "กลับ" และ bayan ซึ่งแปลว่า "บ้านเกิด" วัฒนธรรมนี้ก่อให้เกิดธุรกิจส่งของข้ามน้ำข้ามทะเลไปฟิลิปปินส์ ก่อให้เกิดบริษัทจัดการ shipของส่งของ Balikbayan box กลับประเทศมากมายจริงจัง]
(ที่มา: http://www.dimensionsinfo.com/wp-content/uploads/2011/05/Balikbayan-Box-Size.jpg)
(As a side note: คลิปมิวสิควิดีโอด้านล่างเป็นการล้อเลียนข้อความจริงที่ว่า spam หรือเนื้อหมูแฮมกระป๋อง อันเป็นมรดกตกทอดตั้งแต่ยุค GI เข้ามาในฟิลิปปินส์นั้น เป็นหนึ่งในของฝากบาลิกบายันยอดฮิต เสมือนสิ่งแทนความโหยหาคิดถึงบ้านของชาวฟิลิปปินส์โพ้นทะเล คลิปนี้สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนาธรรมบาลิกบายันบักซ์นั้นยังคงอยู่ดี และจะเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นฟิลิปปินส์ในโลกสมัยใหม่เรื่อยไป: http://www.youtube.com/watch?v=NC6AryKPQfk) อยากจะรู้นักว่าเลโอนอร์จะว่าอย่างไร เมื่อเห็นประเทศ ลูก ของเธอขับเคลื่อนไปด้วยอำนาจของสตรีแรงงานอพยพฟิลิปปินส์ ลูกสาวของเธอ ผู้เป็นเจ้าแม่แห่ง Balikbayan box เป็นเทวีแห่งความหวัง เป็นเหยื่อของการกดขี่กระทำชำเราทางกายและใจ เป็นมรณสักขีและมารดาอุปถัมภ์ทางเศรษฐกิจและผู้สร้างเสริมทุนทางสังคมของประเทศโดยแท้จริง—มาเรีย คลารา คงจะหยิบพัดมากางบังรอยน้ำตาแห่งความเศร้าใจและบังรอยยิ้มกระหยิ่มใจ เมื่อเห็น บรรดาอินัง ปิลิปีนัส ของศตวรรษที่ 21 ที่แม้ไม่ได้สวมชุดมาเรีย คลารา แต่ก็ยังทำความสะอาดและดูแลบ้านของ "เจ้าอาณานิคม" แห่งทุนนิยมและสวดมนต์ยึดมั่นในศาสนาแห่งแรงงานข้ามชาติอย่างภักดีไม่เสื่อมคลาย
(ที่มา: http://farm8.staticflickr.com/7039/6953212197_46e46c1caf_z.jpg)
จากบทความเดิมชื่อ :มาเรีย คลารา: Inang Pilipinas (มารดาแห่งฟิลิปปินส์) Subaltern บุคคลชายขอบนิรนาม หุ่นเชิดคุณค่าความงามสตรี เรื่องราวเบื้องหลังขบวนการชาตินิยมและชุดประจำชาติฟิลิปปินส์ ที่โลกเลือกลืม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ฟังตัดสิน ‘คดีสลายม็อบท่อก๊าซ’ เช้าพรุ่งนี้ ชี้ขาด ‘เสรีภาพการชุมนุมอย่างสงบ’ Posted: 15 Jan 2013 07:14 AM PST ศาลปกครองสงขลานัดอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีสลายการชุมนุมชาวบ้านจะนะ เมื่อปี 2545 วันที่ 16 ม.ค.นี้ เอ็นจีโอหวังคำตัดสินจะสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ต่อการชุมนุมโดยสงบของชาวบ้าน "เราอยากปกป้องบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากรที่สืบทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด เอาไว้ให้ลูกหลาน" คำกล่าวของนางสุไรด๊ะห์ โต๊ะหลี ชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา ผู้ร่วมในเหตุการณ์สลายการชุมนุมชาวบ้านจะนะ เมื่อปี 2545 หลังจากเดินทางมาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีนัดแรกของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 13 ก.ย.54 นับตั้งแต่ปี 2546 ที่มีการฟ้องร้องของกลุ่มชาวบ้าน ในคดีหมายเลขดำที่ 454/2546 คดีหมายเลขแดงที่ 51/2549 เพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.45 นางสุไรด๊ะห์ ย้ำด้วยว่า วันนั้นชาวบ้านไม่มีอาวุธ ชาวบ้านไม่ได้ไปรบ เพียงแต่ต้องการเข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่เดินทางไปที่โรงแรม เจบี.หาดใหญ่ จึงอยากไปพบเพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว ขณะนี้ ศาลปกครองสงขลากำหนดนัดอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีประวัติศาสตร์การละเมิดเสรีภาพการชุมนุม อันเกี่ยวเนื่องจากการใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน หลังผ่านมานานกว่า 10 ปี ในวันที่ 16 ม.ค.56 เวลา 9.30 น.ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลปกครองสงขลา ด้าน น.ส.ศุภวรรณ ชนะสงคราม นักพัฒนาเอกชนในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวตั้งความหวังว่า คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ต้องรับผิดรับชอบ และไม่ละเมิดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบภายใต้กรอบสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชน อีกทั้งสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการ ปกป้อง และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีมาตรฐานที่เปลี่ยนไปหลังจากนี้ด้วย สำหรับลำดับเหตุการณ์ของคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.49 ศาลปกครองสงขลาได้มีคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ต้องชำระเงินแก่ชาวบ้าน รายละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสังกัดจังหวัดสงขลา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ไม่ปรากฏว่ามีส่วนร่วมในการกระทำละเมิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ด้วย จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต่อมา สตช.ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองสงขลาต่อศาลปกครองสูงสุด ในประเด็นว่าศาลปกครองสงขลาพิพากษาเกินกว่าคำร้องที่รับฟ้อง และการปราบปรามเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยมิชอบ ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ก.ย.54 ในการพิจารณาคดีนัดแรกของศาลปกครองสูงสุด ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นให้ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลา โดยคำแถลงมีสาระสำคัญคือ การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดเสรีภาพการชุมนุม เนื่องจากการชุมนุมของชาวบ้านเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แม้จะมีการยึดอาวุธ เช่น หนังสติ๊ก ด้ามไม้ มีดสปาต้า แต่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้มาชุมนุมจึงถือเป็นกรณีเฉพาะราย ส่วนกรณีการใช้ด้ามธงต่อสู้กับกระบองของตำรวจนั้น ถือเป็นอาวุธตามสภาพ ชาวบ้านไม่ได้มีเจตนาพกพาเพื่อก่อความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ความเห็นตุลาการผู้แถลงคดี แม้จะเป็นความเห็นตามกระบวนพิจารณาคดีปกครอง แต่ไม่ได้ผูกพันองค์คณะในการพิพากษาคดี ส่วนประเด็นที่ทนายความผู้ฟ้องคดีจากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAW) ตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นบรรทัดฐานต่อไป คือ การทำให้เห็นว่าการชุมนุมโดยสงบภายใต้กรอบสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร และเจ้าหน้าที่รัฐควรดำเนินการอย่างไรเมื่อเกิดการชุมนุมประท้วง จากข้อมูลของโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAW) ระบุว่า เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.45 บริเวณสะพานจุติ บุญสูง ใกล้โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้รวมตัวกันชุมนุมโดยสงบ เพื่อเตรียมไปยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้อง ให้รัฐบาลทบทวนการอนุมัติโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งมีกำหนดการเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ โรงแรมดังกล่าว ในวันที่ 21 ธ.ค.45 เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงอำเภอหาดใหญ่ บริเวณถนนจุติอนุสรณ์ ใกล้โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ ก็ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำหนดให้เส้นทางโดยรอบโรงแรมเป็นพื้นที่ รักษาความปลอดภัย โดยตั้งแผงเหล็กและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวปิดกั้นไว้บริเวณสะพานจุติ บุญสูง ซึ่งอยู่ห่างจากโรงแรมประมาณ 400 เมตร ผู้ร่วมชุมนุมจึงหยุดรอหน้าแผงเหล็กและรอการเจรจาเพื่อขอเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมเข้าไปบริเวณสวนหย่อมใกล้อาคารจอดรถของโรงแรม อันเป็นจุดนัดหมายที่ได้กำหนดไว้ก่อนแล้ว แต่ในระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านหยุดรอการเจรจา และกำลังจับกลุ่มกันรับประทานอาหาร และประกอบพิธีละหมาดตามหลักทางศาสนาอิสลามอยู่นั้น ในเวลาประมาณ 21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วน เป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ รถยนต์ที่ใช้เป็นพาหนะ ได้รับความเสียหาย และไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้ ต่อมา ผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมจึงได้ยื่นขอให้สภาทนายความดำเนินการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้รับรองและคุ้มครองไว้ โดยมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งถือเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายต่อหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากการละเมิดเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย ของบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นการพัฒนาการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วม (JDA) โดยการร่วมทุนระหว่าง ปตท.และบริษัทปิโตรนาส กาลิการี่ ของมาเลเซีย ในอัตราส่วน 50:50 มีมูลค่าการลงทุนราว 40,000 ล้านบาท ตัวโครงการประกอบด้วยการวางท่อในทะเลจากแหล่งผลิตมาขึ้นฝั่งที่ อ.จะนะ ไปเชื่อมต่อกับระบบในประเทศมาเลเซียผ่านทางชายแดน อ.สะเดา จ.สงขลา รวมระยะทาง 353 กิโลเมตร แนวท่อก๊าซบนบกจะพาดผ่านพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.นาหม่อม อ.หาดใหญ่ และอ.สะเดา ใน 15 ตำบล 49 หมู่บ้าน ส่วนโรงแยกก๊าซ เป็นโรงแยกขนาดกำลังผลิต 425 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คาดว่าจะตั้งอยู่ในเขตคาบเกี่ยวระหว่างบ้านตลิ่งชันและบ้านโคกสักของ อ.จะนะ กลุ่มชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการดังกล่าวเห็นว่าการดำเนินโครงการฯ ซึ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกระทำไปโดยไม่ชอบ อีกทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็จัดทำโดยคลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วนตามความเป็นจริง และมีหลักฐานหลักฐานน่าเชื่อถือได้ว่า ผลการดำเนินโครงการจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชุมชน และเป็นการจัดการทรัพยากรของชาติที่ส่งผลเสียหายต่อส่วนรวม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘การเข้าถึงความจริง’ ไม่ใช่สิ่งที่ตะวันตกเพิ่งจะสนใจใน ‘ระยะหลัง’: แลกเปลี่ยนกับสุรพศ ทวีศักดิ์ Posted: 15 Jan 2013 06:03 AM PST จากบทความเรื่อง พุทธศาสนาไม่สนใจ 'การเข้าถึงความจริง' ของสุรพศ ทวีศักดิ์ ซึ่งได้วิเคราะห์คำอภิปรายของธเนศ วงศ์ยานนาวา โดยอ้างถึงแนวคิดของธเนศไว้บางส่วน ดังนี้ "การรู้จักธรรมชาติในฐานะ Nature มันคือการเข้าถึง God ความจริงจึงสำคัญมากในคริสตศาสนา การที่คุณไปถึงความจริง คือเข้าใจธรรมชาติและสรรพสิ่ง ฉะนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งที่อธิบายคริสตศาสนาในทางที่สามารถพัฒนาความเป็นศาสตร์ขึ้นมาได้ ในแง่ปรัชญา คนตะวันออกไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะความจริงกับนิพพานไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ในโลกของคริสตศาสนา การไปถึงความจริงกับการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า คือเส้นทางเดียวกัน" สุรพศได้นำเสนอมุมมองที่แย้งกับธเนศในบางจุด และผู้เขียนเห็นว่าสามารถนำมาอภิปรายต่อได้อีก ผู้เขียนจึงขอสรุปสาระในข้อโต้แย้งของสุรพศ โดยสังเขป ดังนี้ 1. การเข้าถึงความจริง (ในระบบของธรรมชาติ) กับนิพพานเป็นสิ่งเดียวกัน (แต่ธเนศกลับมองว่าแยกกัน) ในมุมมองของสุรพศ การเข้าถึงอริยสัจ 4 และนิพพาน ถือเป็นการเข้าถึงธรรมชาติของชีวิตที่สัมพันธ์กับ 'ระบบของ Nature ทั้งหมด' ไม่ได้แยกจากกัน 'เส้นทางสู่นิพพานจึงเป็นเส้นทางของการแสวงหาความจริง' ด้วย ซึ่งรวมถึงความจริงในธรรมชาติทั้งระบบ สุรพศเสนอว่า ถึงแม้ในที่สุดแล้ว 'ความจริงทางศาสนากับความจริงทางวิทยาศาสตร์มีแง่มุมที่แตกต่างกันอยู่' แต่เส้นทางศาสนาที่มีเป้าหมายเรื่องการพ้นทุกข์นั้น (มรรค 8 และไตรสิกขา) ก็ยังมีแกนหลักของการเข้าถึงความจริงอยู่นั่นเอง กล่าวให้กระชับ สุรพศเห็นว่า ความเป็นตะวันออกในแบบพุทธะเป็น 'ผู้รู้ความจริง' อย่างครอบคลุม ความจริงตามธรรมชาติ (ตามฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์) หาใช่สิ่งที่พุทธศาสนาละเลย เส้นทางของการบรรลุมรรคผลทางศาสนานั้นจะต้องผ่านการทำความเข้าถึง Nature โดยไม่แยกขาดจากกัน 2. การที่คริสตศาสนาพัฒนาเป็นศาสตร์ได้ เพราะถือเอาการเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญและถือว่าเป็นหนึ่งเดียวกับการเข้าถึงพระเจ้า สุรพศพยายามชี้ให้เห็นว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่คริสตศาสนา 'พัฒนาขึ้นในระยะหลัง' เพราะหากเป็นแนวคิดที่มีอยู่เดิม เหตุใดความคิดต่างๆ ของฝ่ายก้าวหน้า (กาลิเลโอ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ตลอดจนแนวคิดแบบ Humanism และ Liberalism เป็นอาทิ) เคยถูกกดทับไว้ และคริสตศาสนาเคยประณามว่าเป็นความคิดที่ผิดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นิกายโปรเตสแตนท์เปิดรับสิ่งเหล่านี้มากขึ้นจนอาจจะนำไปช่วยพัฒนาความเชื่อทางศาสนาให้รับกับความจริงทางธรรมชาติได้ในที่สุด ผู้เขียนขอแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนตามประเด็นในข้อ 2 ก่อนที่จะกลับไปยังข้อ 1 ในภายหลัง พัฒนาการของภูมิปัญญาตะวันตกนั้นมีข้อเท็จจริงดังที่ธเนศกล่าวไว้ หากอธิบายโดยย่อ ภูมิปัญญากรีกเป็นรากฐานสำคัญที่เริ่มให้ความสนใจกับความจริงในธรรมชาติ แต่ด้วยเส้นทางประวัติศาสตร์ทำให้ความคิดแบบกรีกถูกบั่นทอนพลังลงไปในสมัยโรมัน และคริสตศาสนาค่อยๆ สถาปนาตนเองขึ้นในระบบภูมิปัญญาตะวันตกแทน เมื่อเข้าถึงช่วงรุ่งเรืองของสมัยกลาง (High Middle Ages) ปราชญ์คริสเตียนจำนวนหนึ่งเริ่มสร้างระบบคำสอนทางคริสตศาสนาที่สอดคล้องกับ 'ระบบของ Nature ทั้งหมด' จนเกิดสำนัก Scholastic ที่มีปราชญ์ผู้โด่งดังอย่าง St. Thomas Aquinas สิ่งที่ Aquinas ทำคือ การนำระบบธรรมชาติที่อริสโตเติลเคยศึกษาไว้มารวมเข้ากับความรู้ทางเทววิทยา การที่อริสโตเติลศึกษาธรรมชาติอย่างรอบด้านและสรุปว่า ธรรมชาติมีลำดับชั้น (Hierarchy) ช่วยยืนยันว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติให้แตกต่างกันและมีลำดับสูงต่ำ แนวคิดสำคัญที่พวก Scholastic สถาปนาขึ้น คือ Great Chain of Being ซึ่งถือว่าสวรรค์และจักรวาลเบื้องบน (นามธรรมและอยู่เหนือประสาทสัมผัส) กับโลกและสรรพสิ่งทางธรรมชาติ (รูปธรรมที่รับรู้และสัมผัสได้) มีความสืบเนื่องถึงกัน ทั้งสองส่วนล้วนอยู่ภายใต้อาณัติของพระผู้เป็นเจ้า ภายใต้ระบบนี้ Physical World เข้ากับ Spiritual World ถือเป็นหนึ่งเดียวกัน ต่อมาได้เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) แต่โดยเนื้อแท้แล้ว การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ไม่ใช่การล้มล้างหรือต่อต้านศาสนาดังที่คนจำนวนมากมักเข้าใจผิด กระบวนการศึกษาธรรมชาติที่ปรากฏในระยะนี้เป็นกระแสความคิดที่ตั้งข้อสงสัยว่า ปรัชญาธรรมชาติแบบอริสโตเติลนั้นขาดความลุ่มลึก เช่น อริสโตเติลบอกว่าสรรพสิ่งธรรมชาติ 'เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป' ถือเป็นขั้นตอนการบรรลุเป้าหมายของศักยภาพที่แฝงอยู่ภายใน เพราะถึงที่สุดแล้ว คำอธิบายของอริสโตเติลมักจะเป็นไปตามตรรกะและขั้นตอนที่ธรรมชาติแสดงออกมา แต่ไม่ได้อธิบายสิ่งที่ธรรมชาติซ่อนไว้เบื้องหลังอย่างกระจ่างชัด นักคิดจำนวนหนึ่งเริ่มหันไปรับอิทธิพลทางภูมิปัญญาจากระบบปรัชญาแบบ Platonism จนกลับมาเป็นที่นิยมในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) โดยแนวคิดแบบเพลโตถือว่า สิ่งที่แฝงในธรรมชาตินั้นจะต้องมีรูปแบบที่แน่นอนและอธิบายได้ด้วยภาษาในเชิงคณิตศาสตร์ เห็นได้จากศิลปะยุค Renaissance จำนวนมากมีการใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือประกอบ แม้แต่แนวคิดแบบ Humanism เองก็อยู่ภายใต้อิทธิพลนี้ ดังเช่นภาพ Vitruvian Man ที่สนใจเรื่องการวัด (Measurement) สัดส่วนของมนุษย์ให้สัมพันธ์กับรูปทรงเรขาคณิต ดังนั้น กระแสวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จึงกระทบกับคริสตศาสนาในจุดนี้ เพราะวิทยาศาสตร์ตั้งคำถามกับระบบปรัชญาของอริสโตเติลอันเป็นสิ่งที่คริสตศาสนาโดยเฉพาะสำนัก Scholastic นำมาผนวกไว้กับคำอธิบายทางเทววิทยา ในอดีต คริสตศาสนาปฏิเสธแนวคิดจำนวนมากของกรีก และประณามว่าเป็นแนวทางนอกรีต (Pagan) แม้แต่แนวคิดบางส่วนของ Plato ก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับคริสตศาสนา การรับระบบปรัชญาของอริสโตเติลมาใช้จึงเป็นสิ่งที่คริสตศาสนาเลือกสรรแล้ว (Selective) ว่าเข้าได้กับระบบคำสอน จากจุดนี้ การที่ศาสนาจักรกักบริเวณกาลิเลโอ หรือต่อต้านคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ในบางเรื่องนั้น จึงเกิดจากความหวั่นเกรงว่า ระบบคำสอนแบบ Scholastic จะถูกหักล้าง ซึ่งหมายความว่า ศาสนจักรตีความธรรมชาติอย่างผิดพลาด และหากนักวิทยาศาสตร์อธิบายธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างได้ถูกต้องแม่นยำ ศาสนจักรจะไม่สามารถอวดอ้างได้อีกว่า เข้าใจทุกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก แม้แต่ Copernicus และ Sir Isaac Newton ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะต่อต้านคริสตศาสนา นักวิทยาศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 16 – 17 แทบทั้งหมดพยายามนำเสนอตัวแบบ (Model) ที่ใช้อธิบายระบบธรรมชาติได้อย่างถูกต้อง ในรูปของกฎที่แน่นอนทางธรรมชาติ โดยถือว่านั่นเป็นวิธีที่จะนำไปสู่การเข้าใจพระผู้เป็นเจ้าอย่างถูกต้อง ด้วยลำดับเหตุการณ์ข้างต้น การที่สุรพศเสนอว่า การเปิดรับความจริงแบบวิทยาศาสตร์จนทำให้คริสตศาสนาพัฒนาเป็นศาสตร์ได้นั้น มาเกิดขึ้นใน 'ระยะหลัง' เพราะแต่เดิมคริสตศาสนาเคยปิดกั้นความจริงทางวิทยาศาสตร์มาก่อน (เช่น กักบริเวณกาลิเลโอ) จึงเป็นแนวความคิดที่คลาดเคลื่อน โดยข้อเท็จจริงแล้ว คริสตศาสนามีแนวโน้มที่จะสร้างความกลมกลืนระหว่างความรู้ทางธรรมชาติวิทยากับเทววิทยาตลอดช่วงศตวรรษที่ 12-17 และนั่นเกิดขึ้นก่อนการถือกำเนิดของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ สิ่งที่เกิดในช่วงการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เป็นการทำลายความชอบธรรมของธรรมชาติวิทยาในแบบอริสโตเติลและแทนที่ด้วยตัวแบบทางธรรมชาติภายใต้อิทธิพลแบบ Platonism เป็นเหตุให้ศาสนจักรขาดความมั่นใจเนื่องจากจัดวางตนเองไว้ร่วมกับระบบของอริสโตเติลอย่างลงตัวมาเป็นเวลานาน ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถดูดกลืน (assimilate) ตัวแบบทางธรรมชาติแบบ Platonism ไว้ได้ เพราะระบบของเพลโตอ้างอิงรูปแบบทางคณิตศาสตร์ซึ่งยากจะยึดโยงให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระคัมภีร์ ดังนั้น ที่สุรพศเสนอว่า ความคิดแบบก้าวหน้าพัฒนาขึ้นจากการ 'ต่อต้านอำนาจครอบงำของศาสนจักรยุคกลาง' นั้น มีส่วนที่เป็นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่า การครอบงำแบบศาสนจักรยุคกลางคือการครอบงำให้ยอมรับความจริงแบบศาสนาโดยสิ้นเชิงจนปฏิเสธความจริงทางธรรมชาติ เหตุที่ศาสนจักรพยายามครอบงำนั้น เป็นเพราะศาสนจักรพยายามจะฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลง โดยยืนยันเฉพาะตัวแบบทางธรรมชาติวิทยาที่ตนใช้ซึ่งได้ผสมผสานการหาความจริงทางธรรมชาติและทางศาสนาไว้ได้สำเร็จแล้ว กล่าวโดยสรุป คำกล่าวของธเนศที่ว่า โลกตะวันตกมีคติที่ต้องเข้าถึง Nature และ God ไปพร้อมๆ กัน ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใน 'ระยะหลัง' (หมายถึงหลังจากวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับ) ดังที่สุรพศแย้ง หากแต่ปรากฏการณ์ทางภูมิปัญญานี้เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายร้อยปีนับตั้งแต่สมัยกลาง โดยมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นระหว่างระบบปรัชญากรีก 2 ระบบในช่วงศตวรรษที่ 12-17 เพื่อบรรลุคติดังกล่าว ที่สำคัญ การที่ศาสนจักรกดทับและประณามความคิดแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ไม่ได้เกิดจากความต้องการแยกความจริงทางธรรมชาติออกจากความจริงทางศาสนาแต่อย่างใด สำหรับประเด็นที่ 1 ผู้เขียนอาจไม่มีความสามารถที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นได้มากนัก เพราะไม่มีความคุ้นเคย แต่อาจารย์ท่านหนึ่งของผู้เขียนเคยอภิปรายเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกันของความจริงทางธรรมชาติกับนิพพานของพุทธศาสนา โดยหยิบยกเรื่อง โลกจินตา ซึ่งเป็นหนึ่งในอจินไตย 4 อันหมายถึงสิ่งที่ไม่พึงคิด โลกจินตา คือการคิดคำนึงเกี่ยวกับโลก อาทิ โลกมีความเป็นมาอย่างไรและจะมีความเป็นไปอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้เมื่อคิดแล้วไม่มีความจำเป็นต่อการพ้นทุกข์ ดังนั้น ถึงแม้พุทธศาสนาจะมีคำสอนที่อธิบายเรื่องการพ้นทุกข์ (อริยสัจ 4 หรือ นิพพาน) ที่ยึดโยงเข้ากับความจริงตามธรรมชาติ (ไตรลักษณ์) แต่ความจริงทางธรรมชาติเหล่านั้นก็เป็นไปในเชิงข้อเท็จจริงและตรรกะพื้นฐาน เช่น การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของสรรพสิ่ง ไม่ใช่ความจริงในเชิงกฎธรรมชาติ อันเป็นตัวแบบที่มีความแน่นอนทางวิทยาศาสตร์หรือเป็นสมการที่มีตัวแปรเกี่ยวข้องกันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งแง่มุมแบบอจินไตยไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความจริงทางธรรมชาติที่สัมพันธ์กับหนทางพ้นทุกข์ แต่ประวัติของคริสตศาสนาได้ผ่านการต่อสู้ในจุดนี้ไปแล้ว คริสตศาสนาผ่านประสบการณ์ที่พยายามดูดกลืนธรรมชาติวิทยาไว้เป็นส่วนหนึ่งของระบบคำสอน ระบบปรัชญากรีกทั้งของอริสโตเติลและของเพลโตเคยถูกนำมาใช้ดังที่อธิบายมา แต่เมื่อถึงศตวรรษที่ 18 ได้เกิดแนวคิดที่โลกตะวันตกเรียกว่า ฆราวาสนิยม (Secularism) ขึ้น ทำให้เส้นแบ่งระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์ยิ่งชัดเจน เพราะฆราวาสนิยมพยายามแยกองค์ความรู้ทางธรรมชาติแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นภววิสัย (Objective) ออกไป และเริ่มตีกรอบให้กับความจริงทางศาสนา ด้วยเห็นว่าความจริงทางศาสนาเป็นอัตตวิสัย (Subjective) ซึ่งหากเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล ก็จะสามารถปฏิบัติตามศรัทธาและการตีความที่แตกต่างกันได้ ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือการครอบงำ ด้วยเหตุนี้คริสตศาสนาจึงมีบทบาทดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน คือเป็นที่ยอมรับในฐานะความเชื่อและวิถีปฏิบัติส่วนบุคคล และไม่ถือเอาพระคัมภีร์ว่า เป็นแหล่งความรู้ของสัจธรรมทางธรรมชาติที่จะนำมาหักล้างกัน โลกตะวันตกปัจจุบันยอมรับว่า สาระในพระคัมภีร์เป็นความจริงในอีกด้านหนึ่งที่อิงกับศรัทธา และคริสตศาสนาสามารถมีที่ยืนควบคู่ไปกับแนวคิดฆราวาสนิยมได้โดยไม่ก้าวล่วงในความจริงทางธรรมชาติแบบวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนเห็นว่า การอธิบายของสุรพศเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างความจริงทางธรรมชาติและความจริงทางพุทธศาสนายังมีความไม่ลงรอยกัน กรณีของอจินไตยอาจนับเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ ความจริงทางธรรมชาติที่พุทธศาสนายอมรับ ยังมีลักษณะ selective คือ คัดเลือกบางประเด็นที่เกื้อหนุนกับอรรถาธิบายทางพุทธศาสนาเท่านั้น เทียบกับพัฒนาการของคริสตศาสนาที่อธิบายมาก่อนหน้านี้ ในยุคของพวก Scholastic ความจริงทางศาสนาดูจะเป็นหนึ่งเดียวและลงรอยกับความจริงทางธรรมชาติวิทยาในแบบอริสโตเติล นั่นเพราะมุมมองแบบอริสโตเติลมีลักษณะ selective โดยละเว้นในเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายได้ แต่เมื่อระบบปรัชญาแบบเพลโตถูกนำมาใช้เพื่อค้นหารูปแบบที่แน่นอนในธรรมชาติซึ่งเป็นคนละแนวทางกับความจริงทางศาสนา ช่องว่างนี้จึงเห็นชัดขึ้นและทำให้เกิดความแปลกปลอมระหว่างความจริงทางวิทยาศาสตร์กับความจริงทางศาสนา ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงศตวรรษที่ 18 นักคิดในกลุ่ม philosophe จึงหันไปยึดมั่นในแนวคิดฆราวาสนิยมแทน ถึงแม้นักคิดในช่วงปฏิวัติวิทยาศาสตร์จำนวนมากถือว่า ผลงานของตนเป็นการเปิดเผยระบบธรรมชาติที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นก็ตาม สรุปแล้ว คริสตศาสนาและตะวันตกมีมุมมองในเรื่อง 'การเข้าถึงความจริง' ที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการทำความเข้าใจสถานะของคริสตศาสนาในภูมิปัญญาตะวันตกปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางฆราวาสนิยมมากกว่าการพัฒนาให้เป็นศาสตร์ที่หลอมรวมความจริงทางธรรมชาติและทางศาสนาเข้าด้วยกัน
. |
สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ร้องทำเนียบ หลังถูกเลิกจ้างระหว่างเจรจา Posted: 15 Jan 2013 05:59 AM PST สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ยื่นหนังสือทำเนียบรัฐบาล - กมธ.แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เหตุถูกเลิกจ้างระหว่างเจรจาขึ้นค่าแรง 300 บาท ระบุขอการคุ้มครองสิทธิสหภาพแรงงานและให้นายจ้างปรับผลต่างของค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลประกาศกำหนดให้กับลูกจ้างทุกคน ด้านประธานสหภาพ เจรจาอีกรอบกับผู้บริหารที่ จ.ระยอง ไม่เป็นผล เตรียมร้องขอความช่วยเหลือผู้ว่าฯ ต่อ 15 ม.ค. 56 - สืบเนื่องจากกรณีที่พนักงานของบริษัท อีเลคโทรลักซ์ จ.ระยอง ได้ยื่นข้อเสนอขอให้บริษัทฯ ให้พิจารณาเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีและโบนัส ซึ่งเห็นว่าเกิดความไม่เป็นธรรม กรณีพนักงานเก่าที่มีอายุงานมากกับพนักงานที่มีอายุงานน้อย ค่าจ้างจะปรับมาอยู่ในระดับเดียวกัน และได้ถูกเลิกจ้างไปถึง 127 คน ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการสหภาพฯ สมาชิกสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย เป็นส่วนใหญ่ โดยบริษัทฯ ระบุว่ามีความผิดละทิ้งหน้าที่ในการปฏิบัติงานนั้น มาวันนี้ (15 ม.ค.) เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านตัวแทนผู้รับเรื่องร้องทุกข์ โดยมีข้อเรียกร้องคือ 1.ให้บริษัทฯ รับพนักงานทุกคนเข้ากลับทำงานในตำแหน่งและหน้าที่เดิมและสภาพการจ้างเดิมก่อนที่จะออกมาร่วมชุมนุมทุกประการ 2. ห้ามมิให้นายจ้างขัดขวาง คุกคามการดำเนินงานหรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้ สมาชิกสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ 3. ห้ามมิให้นายจ้างขัดขวางในการที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกหรือให้ลูกจ้างออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน หรือให้ หรือตกลงจะให้เงิน หรือให้ทรัพย์สินแก่ลูกจ้างหรือเจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงานเพื่อมิให้สมัครหรือรับสมัครลูกจ้างเป็นสมาชิก หรือเพื่อให้ออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน 4. ห้ามมิให้นายจ้างขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงาน หรือขัดขวางการใช้สิทธิของลูกจ้างในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือเข้าแทรกแซงในการดำเนินการของสหภาพแรงงาน โดยไม่มีอำนาจโดยชอบโดยกฎหมาย 5. ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับ หรือขู่เข็ญโดยทางตรง หรือทางอ้อม ให้ลูกจ้างต้องเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 6. ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ 7. ให้นายจ้างปรับผลต่างของค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลประกาศกำหนดให้กับลูกจ้างทุกคน ร้อง กมธ.แรงงาน รับเรื่องเตรียมเรียกกระทรวงและผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง จากนั้นในวันเดียวกันนี้ (15 ม.ค.) กลุ่มตัวแทนสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ก็ได้เดินทางมายังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือให้กับคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนาย นิทัศน์ ศรีนนท์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ โดยนายนิทัศน์ ได้มอบหมายให้ตัวแทนคณะกรรมาธิการรับเรื่องร้องทุกข์ไว้แทน โดยตัวแทนคณะกรรมาธิการได้ระบุว่าจะนำเรื่องนี้ให้คณะทำงานกลั่นกรองเรื่องร้องเรียนพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (16 ม.ค.) และจะเรียกตัวแทนกระทรวงแรงงาน ตัวแทนบริษัทฯ และตัวแทนสหภาพแรงงานเข้ามาชี้แจงต่อไป เจรจาอีกรอบกับผู้บริหารที่ระยองไม่เป็นผล เตรียมร้องขอความช่วยเหลือผู้ว่า ด้านที่ จ.ระยอง ในวันเดียวกันนี้ (15 ม.ค.) พนักงานที่ถูกเลิกจ้างยังคงปักหลักชุมนุมกันอยู่หน้าโรงงาน พร้อมชูป้ายข้อความขอความเป็นธรรมให้รับกลับเข้าทำงานทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ได้ส่งตัวแทนเข้าเจรจากับผู้บริหารบริษัทฯ โดยมีตัวแทนของทางสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จังหวัดระยอง เข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วย โดยประธานสหภาพแรงงานฯ ได้ระบุว่าการเจรจากับผู้บริหารบริษัทฯ ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งจะทางพนักงานก็จะต้องมาคุนกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งอาจจะเดินขบวนไปที่ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง เพื่อยื่นหนังสือกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปลัดกต. แจง กรณีเขาพระวิหาร ไทยอ้างอนุสัญญาโตเกียว 1941 ไม่ได้ Posted: 15 Jan 2013 05:47 AM PST ปลัดกต. แจงกรณีกลุ่มธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทยออกมาเคลื่อนไหวอ้างอนุสัญญาโตเกียว 1941 ทวงสิทธิเหนือปราสามเขาพระวิหารว่า การที่ไทยเข้าเจรจากับมหาอำนาจและเข้าเป็นสมาชิกสหประชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผลเป็นการยกเลิกอนุสัญญาโตเกียวและไทยต้องคืนดินแดนที่ได้มาภายใต้อนุสัญญาโตเกียวให้กับฝรั่งเศสซึ่งปกครองอินโดจีนอยู่ในขณะนั้น 15 ม.ค. 2555 นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงกรณีที่กลุ่มธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทย ในกรณีเขาพระวิหารและมลฑลบูรพา เตรียมใช้อนุสัญญาโตเกียว 1941 ในการต่อสู้เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลโลกคดีปราสาทพระวิหาร ว่าอนุสัญญาโตเกียวทำในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไทยมีความขัดแย้งกับฝรั่งเศส ขณะที่เข้าข้างญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นได้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย และภายใต้อนุสัญญาโตเกียว ทำให้ไทยได้ดินแดนบางส่วนมาจากฝรั่งเศส แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ทำให้ต้องเจรจากับมหาอำนาจ รวมทั้ง ฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศที่ชนะสงคราม จึงมีการเจรจาและนำมาสู่ความตกลงกรุงวอชิงตัน จึงเท่ากับเป็นการยกเลิกอนุสัญญาโตเกียว ส่งผลให้ไทยต้องคืนดินแดนที่ได้มาภายใต้อนุสัญญาโตเกียวให้กับฝรั่งเศสซึ่งปกครองอินโดจีนอยู่ในขณะนั้น ส่วนการที่บางฝ่ายเห็นว่าไทยควรถอนตัวจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลก นายสีหศักดิ์กล่าวว่าไม่น่าเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร เพราะคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาเฉพาะการขึ้นทะเบียนและการดูแลมรดกโลก ส่วนหัวข้อการประชุมมรดกโลกก็ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร แม้ประธานมรดกโลกเป็นกัมพูชาก็ตาม เพราะประเทศที่เป็นประธานคณะกรรมการมรดกโลกไม่ได้กำหนดหัวข้อประชุม แต่กำหนดโดยสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก รวมทั้ง ไทยที่เป็นรองประธานคณะกรรมการมรดกโลกด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สงวน คุ้มรุ่งโรจน์: น.ส.พ.จีนในไทย บ้าก็บ้าว่ะ!!! Posted: 15 Jan 2013 05:23 AM PST ผู้สื่อข่าวอาวุโสที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์จีนทั้งในไทยและต่างประเทศ บันทึกประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ไทยช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งวลี 'ลูกจีนรักชาติ' ของสนธิ ลิ้มทองกุล ทำให้ระยะ 6-7 ปีนี้ หนังสือพิมพ์จีนในไทย 'บ้าก็บ้าว่ะ' เจริญรอยตามเป็นแฟชั่นสื่อหลักที่ "แบ่งเหลืองแบ่งแดง" กับเขาด้วย ถึงบางครั้งมีบทความด่าข้ามฉบับ อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ที่ Media Inside Out หนังสือพิมพ์ภาษาจีนรายวันที่พิมพ์จำหน่ายในกรุงเทพฯที่อยู่มายาวนาน 30-60 กว่าปี ทั้ง 6 ฉบับ ปัจจุบันยังไม่ปรากฎรายงานว่าได้ล้มหายตายจากดั่งเช่นสื่อไทย ทั้งๆที่คำว่า 'เรียบร้อยโรงเรียนจีน' นั้นก็ยังไม่เรียบร้อยเหมือนอย่างที่คนไทยทั่วไปเข้าใจกัน เพราะความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศและเทคโนโลยีก้าวไกลไม่หยุดของประเทศจีนในปัจจุบัน ยิ่งมีส่วนเพิ่มให้กับการเรียนภาษาจีนและสื่อที่เป็นภาษาจีนมีบทบาทสูงขึ้นในไทยด้วย ซึ่งหากเป็นเมื่อ 30-40 ปีแล้ว คนที่เคยทำสื่อจีนมาก่อนอย่างข้าพเจ้าจะถูกเพื่อนที่ทำเนียบเยาะเย้ยว่า 'เล่นงิ้ว' และฐานะหนังสือพิมพ์จีนในไทยในสายตาของทางการไทยคือ 'ลูกเมียน้อย' เขียนไปก็ไม่มีคนอ่าน!! ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 "รัฐบาลหอย" ของธานินทร์ กรัยวิเชียร มาด้วยอำนาจรัฐประหารหลังมีการปราบปรามนักศึกษาอย่างโหดเหี้ยม สิ่งพิมพ์ภาษาจีนซึ่งตอนนั้นมีเกือบ 10 ฉบับก็มีชะตากรรมเช่นเดียวกับสื่อไทยคือต้องถูกตรวจสอบเบื้องหลังว่า "ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์" หรือไม่จึงจะสามารถได้รับใบอนุญาตเปิดใหม่ได้ เพราะยิ่งถูกปิดนานวัน ภาวะขาดทุนย่อมมีมาก บางเจ้าถึงขนาดยอม 'ยัดเงินใต้โต๊ะ' เพื่อเปิดหัวหนังหนังสือใหม่ก็มี และเป็นเรื่องจริงที่จำเป็นต้องมีบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมไทยเป็น 'ยันต์กันเหนียว' เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของธุรกิจสื่อ ในจำนวนนั้น หนังสือพิมพ์จีนฉบับหนึ่งเชิญอดีตอธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจเอกพจน์ เภกะนันทน์ อีกรายเชื้อเชิญมือกฎหมายชั้นเอกอย่างดร.สมภพ โหตระกิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี โดยให้ตำแหน่ง 'ประธานกรรมการบริษัท' หนังสือพิมพ์จีนพร้อม "เบี้ยเลี้ยง" หกพันบาทต่อเดือน ทั้งๆที่สองคนนี้ไม่มีหุ้นอะไรเลยในบริษัทแม้แต่สลึงนึง และอ่านภาษาจีนไม่ออกแม้แต่ตัวเดียว! ยุคที่ผ่านมา น.ส.พ.ภาษาจีนค่อนข้าง 'รักนวลสงวนตัว' ทุกครั้งที่ฤดูเลือกตั้งมาเยือน เจ้าของหนังสือพิมพ์จะประกาศจุดยืนแน่วแน่นไม่ถือหางพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยให้ความสำคัญกับการเสนอข่าวกิจกรรมสังคมชาวจีนเป็นหลัก แม้ว่าแหล่งรายได้โฆษณาหลักที่ได้มาคือจากธุรกิจ "แดง" และ "ขาว" ซึ่ง "แดง" ในความหมายศัพท์สื่อโฆษณาจีนคืองานมงคล เช่นงานแต่งงานหรือฉลองเปิดร้านใหม่ ส่วน "ขาว" คือการไว้ทุกข์ ลงโฆษณาคนตายหรืองานกงเต๊ก แต่จริงๆก็รับลงโฆษณาเลือกตั้งโดยเฉพาะทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หัวคะแนนที่พูดจีนได้ต้องพาผู้สมัครมาที่โรงพิมพ์จีนทั้งหมด เพื่อให้ 'ดูตัว' ขอร้องให้ช่วยเชียร์ ซึ่งคนทำหนังสือพิมพ์ก็แค่พะยักหน้าร้อง 'ฮ้อฮ้อ' เท่านั้น ไม่ได้ให้สัญญาอะไรทั้งนั้น ช่วงโค้งสุดท้ายของการแข่งขัน พรรคการเมืองต่างๆก็ทุ่มงบลงโฆษณาแนะนำผู้สมัคร ที่เหมือนกันทุกคนก็คือ "มีเชื้อจีน" ขอให้อาแปะอาซิ้มสนับสนุนด้วย และไม่ควรปฏิเสธเลยว่า ผู้ว่า กทม.บางคนที่กวาดคะแนนจากย่านชุมชนจีนได้หลายครั้ง ก็ด้วยแรงโฆษณาภาษาจีนนั่นเอง สิ่งที่นึกไม่ถึงว่าอิทธิฤทธิ์ของเจ้าของวลี 'ลูกจีนรักชาติ' อย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ทำให้ระยะ 6-7 ปีนี้ หนังสือพิมพ์จีนในไทย 'บ้าก็บ้าว่ะ' เจริญรอยตามเป็นแฟชั่นสื่อหลักที่ "แบ่งเหลืองแบ่งแดง" กับเขาด้วย ถึงบางครั้งมีบทความด่าข้ามฉบับ เหมือนช่วงก่อนที่ไทยจะเปิดความสัมพันธ์ทางทูตกับปักกิ่งวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 หนังสือพิมพ์จีนขณะนั้นได้แบ่งเป็นค่ายฝักใฝ่ฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง และโปรพรรคก๊กมิ่นตั๋งของเจียงไคเชค ถึงขนาดคนทำหนังสือพิมพ์จีนความคิดไม่ลงรอยกันต้องชกต่อยกันกลางงานสังคมก็มีมาแล้ว ที่เด่นชัดที่สุดคือหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า หลังจากสองปีที่แล้วเปลี่ยนมือจากลูกเขยของทายาทยาหม่องตราเสือ ลี สันติพงศ์ไชย เชื้อสายจีนพม่า มาเป็นเสี่ยไมค์ สดาวุธ เตชะอุบล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด และในฐานะนายกสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย จุดยืนที่ 'เป็นกลางเอียงขวา' ในอดีตก็เปลี่ยนหมด ทุกวันนี้ การเสนอข่าวและการ์ตูนล้อเลียนการเมืองไทย ล้วนแต่มุ่งโจมตีการทำงานของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอย่างต่อเนื่อง และเป็นกระบอกเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มที่ ซึ่งก็ไม่แปลกเลย เพราะนายทุนใหม่ที่จบการศึกษาจากออสเตรเลียผู้นี้ น้องชายร่วมสายโลหิตคือ "เสี่ยโต" อภิชัย เตชะอุบล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ในยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับการชักชวนจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าสู่สนามการเมือง เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และลงสมัคร สส.ปาร์ตี้สิสต์พรรคประชาธิปัตย์ แต่สอบตก เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว "เสี่ยโต" ก็หวนกลับสู่ธุรกิจที่ถนัดอีกครั้งส่วน "คู่กัด" ของซิงเสียนเยอะเป้ายุคใหม่ ดูจากพาดหัวข่าวที่ออกจะเห็นใจชาวรากหญ้าเสื้อแดงและเคยวิจารณ์ 'ความอำหิต' ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็คือ หนังสือพิมพ์เกียฮั้วตงง้วนรายวัน (ศิรินคร) ซึ่งเคยจดทะเบียนในนามของกรมประชาสัมพันธ์หรือ 'เอเชียนิวส์ไทม์' น้องใหม่วงการในขณะที่ฉบับอื่นค่อนข้างมีท่าทีเป็น 'จีนมุง' เสียมากกว่า บางครั้งเป็น 'อีแอบ' กล้าๆกลัวๆ ยุคที่การเมืองไทยบ้าคลั่งไร้สติ หนังสือพิมพ์จีนบางแห่งถึงกับ "ฉีกพรมจารีย์" ที่เคยสาบานว่าไม่ม้วนเข้ากระแสการเมืองใดๆ กลับยอมเข้ากับปรากฎการณ์ 'ลูกจีนรักชาติ' กับเขาด้วย มีการเห็นดีเห็นงามกับการต่อต้าน 'ระบอบทักษิณ' ด้วยการยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ถึงขนาดยอมเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มพันธมิตร เรียกร้องให้ไฮซิ้มไฮซ้อส่งกระเพาะปลา ก๋วยเตี้ยวลูกชิ้นปลา หอยทอด ฯลฯ อาหารเลิศรสเป็นเสบียงบำรุงกองทัพ 'กู้ชาติ' ขับไล่บรรดา 'นอมินี'ทักษิณจนได้รับ 'ชัยชนะ' ซึ่งผู้ชุมนุมรุ่นอากงอาม่าที่ถูกชักชวนไปนั้น บางคนก็ยังไม่รู้ไปเพื่ออะไร แต่ 'เฮียลิ้ม' ใช้จิตวิทยา 'กากี่นั้ง' ทักทายเป็นภาษาแต้จิ๋ว ทั้งที่ตัวเองเป็นไหหลำ และบางครั้ง 'เฮียลิ้ม' ก็ทำตัวเป็นดีเจจำเป็นเสียเอง เปิดเพลงจีนสากลอมตะของเติ้งลี่จวินหรือไช่ฉินมาเอาใจพวกเขาเหล่านั้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สาระ+ภาพ ไข้หวัดประจำฤดูกาลระบาดหนักในสหรัฐ Posted: 15 Jan 2013 04:56 AM PST ข้อมูลจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดของสหรัฐอเมริกา (CDC) เปิดเผยว่า สถิติช่วงสัปดาห์แรกของปี 2013 มีการตรวจหาเชื้อไข้หวัด H3N2 จำนวน 12,876 กรณี และพบการติดเชื้อไข้หวัด 4,222 (32.8%) กรณี อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถิติในรอบสัปดาห์ถัดมาน่าจะสูงขึ้นมากหลังจากที่ นายแอนดรูว์ คูโอโม่ ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า มีผู้ติดเชื้อในนิวยอร์กแล้วราว 20,000 คน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไข้หวัด H3N2 ทั่วสหรัฐขณะนี้คือ 20 คน ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรค ได้แก่เด็กทีมีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, หญิงมีครรภ์ โดย CDC ระบุด้วยว่า อินเดียนอเมริกันและ อลาสกันอเมริกันมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการซับซ้อนกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ CDC แนะนำวิธีป้องกันการติดเชื้อ คือ ไม่สัมผัสผู้ป่วย, หากมีอาการป่วย ควรหลีกเลี่ยงออกไปพบผู้คน พักผ่อนอยู่กับบ้านอย่างน้อย 24 ชม. หลังอาการไข้หายแล้ว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งนี้อาการไข้ลดเองได้โดยไม่ต้องใช้ยา, ปิดปากและจมูกด้วยทิชชูเมื่อจามหรือไอเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค และล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำอย่างสม่ำเสมอ หากไม่มีสบู่และน้ำให้ใช้น้ำยาล้างมือแบบแห้งที่มีแอลกอฮอล์ผสม CDC ระบุข้อมูลเชิงสถิติว่า การติดเชื้อไข้หวัดในฤดูระบาดของสหรัฐอเมริกา จากระหว่างปี 1976-1977 มาจนถึง ระหว่างปี 2006-2007 นั้น มีจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำสุดคือ ประมาณ 3,000 คน และสูงสุดคือ 49,000 คน โดย CDC ระบุด้วยว่า ไข้หวัดคือโรคที่คร่าชีวิตประชาชนประมาณ 24,000 คนต่อปี สำหรับปีนี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดคือ 20 ราย มีผู้ติดเชื้อใน 47 รัฐ โดยมีพื้นที่ระบาดรุนแรง 24 รัฐ ได้แก่อลาบามา, อลาสกา, อาริโซนา, อาร์คันซัส, โคโลราโด, คอนเนกติกัต, หลุยเซียนา, เดลาแวร์, ฟลอลิดา, จอร์เจียร์, เคนตักกี, ไอดาโฮ, อิลลินอยส์, อินเดียนา, ไอโอวา, แคนซัส, เมน, แมรีแลนด์, แมสซาจูเซตต์, มิชิแกน, มิสซูรี, มอนทานา, เนบราสกา, เนวาดา, นิวแฮมเชียร์, นิวเจอร์ซี, นิว แมกซิโก, นิวยอร์ก, นอร์ธแคโรไรนา, นอร์ธ ดาโกตา, โอไฮโอ, โอกลาโฮมา, โอเรกอน, เพนซิลวาเนีย, โรด ไอร์แลนด์, เซาท์แคโรไลนา, เซาท์ ดาโกตา, เทนเนสซี, เท็กซัส, ยูทาห์, เวอร์มอนท์, วอชิงตัน, เวสท์เวอร์จิเนีย, วิสคอนซิน และ ไวโอมิง เว็บไซต์ http://www.flu.gov ระบุว่า ฤดูกาลระบาดหนักของไข้หวัดในสหรัฐโดยปกติคือช่วงเดือนมกราคม หรือ กุมภาพันธ์ แต่ก็อาจจะมีกรณีที่ระบาดเร็วกว่านั้นคือ ตุลาคม หรือพฤษภาคม
ฐานข้อมูล http://www.cdc.gov/flu/about/disease/high_risk.htm http://www.bbc.co.uk/news/world-us-canada-20995491 http://www.flu.gov/about_the_flu/seasonal/index.html ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น