ประชาไท | Prachatai3.info |
- สวีเดนบัญญัติ 'Kopimism' เป็นศัพท์ใหม่แล้ว
- ธิดา ถาวรเศรษฐ : “ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550”
- เด็ก 11 ขวบสร้างเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กของตัวเอง หลังถูกห้ามใช้เฟซบุ๊ก
- "สมาคมมิตรภาพไทย-เกาหลีเหนือ" แสดงความยินดีส่งดาวเทียมกวางเมียงซง-3 สำเร็จ
- จาก วรเจตน์ ถึงรัฐบาล: เลิกคิดเรื่องลงประชามติ-ปลดล็อกศาล รธน. ก่อน
- ทุนนิยาม: สำรวจตรวจตราแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตร ก่อนนโยบายค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ
- "เรืองไกร" ยื่น กกต. วินิจฉัย "อภิสิทธิ์" พ้นสภาพ ส.ส.
- บุญสม ทาวิจิตร
- ข้อแตกต่างวันปีใหม่อิสลาม และสากล
- ผังเมืองรวมนครราชสีมาและเขาใหญ่
- 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' ยื่นอุทธรณ์ 'คดี 3G' ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว
- รายงาน : จำคุก 10 ปี คดีลักลอบขนคนงานพม่า เสียชีวิตในรถห้องเย็น 54 ศพ
- เมืองในอาเจะห์เตรียมสั่งห้ามผู้หญิงนั่ง 'คร่อม' มอเตอร์ไซค์
- ชาวบ้านอยุธยา ฟ้องผู้ว่าฯ-ปลัดจังหวัดฯ ปลดผู้ใหญ่บ้านโดยมิชอบ
- TDRI: ระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า: สิ่งที่คนไทยพึงได้รับ
สวีเดนบัญญัติ 'Kopimism' เป็นศัพท์ใหม่แล้ว Posted: 03 Jan 2013 11:01 AM PST เว็บไซต์ TorrentFreak รายงานว่า หลังจากเมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศสวีเดนได้รับรองให้ Kopimism เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศ มาปีนี้ คำว่า 'kopimism' ก็ได้รับบรรจุเป็นศัพท์ใหม่อย่างเป็นทางการ คำว่า 'kopimism' เป็นคำที่ขยายความมาจาก 'kopimi' หรือ 'copy me' ในภาษาอังกฤษ ในแวดวงไพเรตในสวีเดน ('pirate' หรือ โจรสลัด เป็นชื่อที่เจ้าของธุรกิจดนตรีและภาพยนตร์ใช้เรียกคนที่แบ่งปันและดาวน์โหลดข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต) มีการใช้ศัพท์ที่ออกจะแปลกๆ กันเกือบทั่วไป มาไม่น้อยกว่า 7 ปีแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจในระดับนานาชาติอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งต้นปีที่แล้ว ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ไพเรต ได้ทำให้ความเชื่อของพวกเขาได้รับการยอมรับ แม้ว่าจะถูกปฏิเสธหลายครั้ง โดยสุดท้าย the Church of Kopimism ซึ่งมี CTRL+C และ CTRL+V เป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ ก็ได้รับการยอมรับเป็นศาสนาอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2012 ปีต่อมา (2013) คณะกรรมการภาษาสวีเดนได้เผยแพร่บัญชีคำใหม่ประจำปี ซึ่งมีคำว่า 'kopimism' รวมอยู่ด้วย โดยระบุว่าหมายถึง แนวคิดทางการเมืองและศาสนาซึ่งให้ความสำคัญกับเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร อย่างไรก็ตาม การอธิบายเช่นนี้ก็มีผู้ไม่เห็นด้วย Rasmus Fleischer หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Piratbyrån กลุ่มซึ่งก่อตั้งเว็บเดอะไพเรตเบย์ และคิดคำว่า kopimism บอกว่าถ้าให้โอกาสเขา เขาจะเลือกใช้คำอธิบายอื่น "สำหรับผม kopimi ไม่ใช่เรื่องข้อมูลข่าวสาร หรือเสรีภาพ แต่มันคือการก็อปปี!" เขาบอกว่า มันคือคำสั่งง่ายๆ 'copy me' (เลียนแบบฉัน) มันยังเป็นสัญลักษณ์ปิรามิดกับตัว K ถ้าคุณพูดว่า 'kopimi' หรือแสดงสัญลักษณ์ปิรามิดดังกล่าว นั่นคือคุณกำลังบอกว่าคุณอยากถูกก็อปปี มันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับใบอนุญาต คุณไม่ได้บอกว่าคุณกำลังอนุญาตให้ใครทำนั่นทำนี่ แต่คุณกระตุ้นให้เขาเลียนแบบ "ราวกับทัศนคติ หรือแม้แต่ปรัชญา kopimi กลายเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของ Piratbyrån คำว่า Kopimi ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ข้อมูลข่าวสาร จริงๆ แล้ว ต้นกำเนิดของคำนี้ มาจากเด็กวัยสองขวบที่กำลังเต้นและอยากให้ผู้ปกครองของเขาทำตาม ผมคิดว่ามันอาจจะทำให้กระจ่างขึ้น หากทำความเข้าใจคำว่า kopimi ผ่านการเต้น มากกว่าผ่านการแชร์ไฟล์" คณะกรรมการบอกว่าคำที่ปรากฏในบัญชีล้วนบ่งบอกถึงแนวโน้มในปัจจุบันและแนวโน้มของภาษา นอกจากนี้ ยังมีคำที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมทางภาษาด้วย "ใครก็ตามที่ใช้ภาษาสวีเดนกำลังสร้างและทำให้เกิดคำใหม่ขึ้น และเราได้ตัดสินใจว่าคำไหนบ้างที่จะบัญญัติเพิ่ม โดยเลือกจากคำที่เราใช้กันอยู่" Per-Anders Jande ผู้จัดการของคณะกรรมการภาษาระบุ ด้าน Gustav Nipe ประธานของลัทธิ the Missionary Church of Kopimism บอกว่า ศาสนจักรตื่นเต้นที่มีคำว่า kopimism ในบัญชีคำใหม่ และเชื่อว่า การรับรองศาสนา kopimism ส่งผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการภาษา "พวกเรามีความสุขมากๆ กับเรื่องนี้" เขากล่าวและว่า "Kopimism จะเป็นความเชื่อที่ได้รับการเคารพมากขึ้นเรื่อยๆ ในสวีเดน" เว็บ TorrenFreak ตั้งข้อสังเกตว่า น่าสนใจว่า แม้คำว่า Kopimism จะเกิดขึ้นแบบออฟไลน์ แต่ตอนนี้ มันถูกใช้ในพื้นที่ดิจิตอล คณะกรรมการภาษาสวีเดนบอกว่า ทุกวันนี้ บ่อยครั้งที่เราต้องแยกแยะว่าเรากำลังพูดถึงโลกไหนอยู่ "ตอนนี้ บ่อยครั้งที่เราต้องเน้นอย่างเฉพาะเจาะจงว่า เรากำลังพูดถึงการบริโภคแบบไม่ใช่ดิจิตอล เช่น ร้านที่เป็นรูปธรรม การเดินทางที่เป็นรูปธรรม แผ่นดิสก์ที่เป็นรูปธรรม ฯลฯ" พวกเขาอธิบาย และอีกสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าเขตแดนของพื้นที่ทางกายภาพและดิจิตอลสามารถข้ามและเชื่อมโยงกันได้ มาจาก Gustav Nipe ที่ทิ้งท้ายว่า "เราอยู่ระหว่างการขยาย the Missionary Church of Kopimism ไปสู่โลกทางกายภาพ แต่ผมจะไม่บอกอะไรมากกว่านั้นในตอนนี้" อย่างที่ Fleischer บอกว่าคำอธิบายแบบของคณะกรรมการภาษานั้นน่าผิดหวังเมื่อดูจากรากของคำ ดังนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่า ต่อไปมันจะยิ่งตกยุค เหมือนที่แนวคิดใหม่และการก็อปปีได้เปลี่ยนทิศทางความหมายของ kopimism "ทุกๆ การก็อปปีคือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายความว่าทุกๆ การใช้ kopimism คือการแปลงแนวคิดด้วย โดยไม่ต้องเป็นไปในทางที่ดีขึ้นเสมอไป" เขาอธิบาย "แต่ kopimi ก็เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างไม่ลงรอยกันอยู่เสมอ ผมรับรองการมีอยู่ของความหมายที่ถูกเติมเข้ามาและแม้แต่ที่ตรงข้ามกับ kopimi อย่างเต็มที่"
แปลและเรียบเรียงจาก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||
ธิดา ถาวรเศรษฐ : “ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550” Posted: 03 Jan 2013 09:27 AM PST ถ้ามองย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ปี 2516 อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2517 หรือหลังการต่อสู้ของประชาชนปีพ.ศ.2535 และการได้มาของรัฐธรรมนูญปีพ.ศ.2540 ที่ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นที่มาจากการทำรัฐประหาร ดูคล้าย ๆ เป็นผลจากการต่อสู้ของประชาชนในปีพ.ศ.2516 และปีพ.ศ.2535 เป็นลำดับ แต่ถ้าดูความจริง รัฐธรรมนูญทั้งฉบับปีพ.ศ.2517 และปีพ.ศ.2540 แม้จะก้าวหน้ากว่าฉบับของเผด็จการทหารก็ตาม แต่กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับยังอยู่ในกลุ่มของเครือข่ายระบอบอำมาตย์ ในฐานะสายพลเรือนที่ไม่ใช่พวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง รอบแรกนำโดยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รอบปีพ.ศ.2540 นำโดยคุณอานันต์ ปันยารชุน เมื่อมาพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2550 มีที่มาจากเผด็จการทหาร แต่ผู้ร่างเป็นคณะอำมาตย์สายพลเรือนมือชั้นเซียนที่ระดมกันมาในฐานะสภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยคมช. รวมมือชั้นเซียนของระบอบอำมาตย์ทางกฎหมายไว้หมดเต็มคณะ มือเซียนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับอภิมหาอำมาตยาธิปไตยไม่ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยล็อคไว้ที่มาตรา 165 ป้องกันการทำประชามติเพื่อไม่ให้มีผลลบล้างประชามติเดิมที่ได้รับรองรัฐธรรมนูญ 2550 ไว้ ที่ตั้งใจสร้างความชอบธรรมไว้ให้กับรัฐธรรมนูญ 2550 ในกติกาที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก เป็นเสียงข้างมากธรรมดาในครั้งนั้น แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขียนล็อคไว้ในมาตรา 165 ทั้งเรื่องตัวเลขที่ต้องใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ (แม้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะแบ่งเป็น 2 ขยักก็ตาม ขยักแรกก็ต้องมาออกเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ขยักที่สองใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ และถูกตีความโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่ได้แย้งกับมาตรา 165 ก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผู้ฟ้องร้อง) หมายความว่า จงใจจะให้การทำประชามติใหม่เพื่อแก้ไขตามมาตรา 165 เป็นไปได้ยากมากในเรื่องตัวเลข ยังวางหลุมระเบิดในแง่เนื้อหา ห้ามทำประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญและเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือคณะบุคคล ซึ่งแน่นอนว่าจะถูกฟ้องแย้งแน่นอน แม้นว่าผ่านด่านเรื่องตัวเลขมาแล้วก็ตาม การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ทันที นี่จึงมีความหมายทางการเมืองมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่ากระบวนการศาลรัฐธรรมนูญเข้ามารับช่วงต่อหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่อาจยับยั้งการโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1, วาระ 2 ไปแล้ว เหลือเวลา 15 วันจะลงมติก็เจอใบสั่งหยุดทันที อันเนื่องมาจากมีการฟ้องร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็แหกด่านอัยการสูงสุดมารับเรื่องฟ้องร้องโดยตรงอย่างรวดเร็ว เพื่อทำการวินิจฉัย กระบวนการทั้งหมดนี้ล้วนบ่งบอกถึงการป้องกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 อย่างสุดฤทธิ์ ไม่ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ผู้วิพากษ์วิจารณ์ที่อยู่ใน ระหว่างการประกันตัวก็ถูกถอนประกัน เช่น ก่อแก้ว พิกุลทอง, ยศวริศ ชูกล่อม สำหรับจตุพร พรหมพันธ์ ก็เกือบไป ทั้ง ๆ ที่รัฐสภาและรัฐบาลได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกประการ ก็ยังต้องหยุดชะงักดื้อ ๆ ไม่กล้าเดินหน้าต่อ แม้จะวินิจฉัยว่าไม่ได้ล้มล้างการเมืองการปกครอง แต่ก็ส่งคำเตือนแปลกประหลาดที่ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับ มีแต่อ้างเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ (เจตนารมณ์ของผู้ร่างบางส่วน!) ซึ่งเมื่อผู้เขียนอ่านทั้งคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตน ก็มึนว่าคำวินิจฉัยกลางไม่ได้มาจากคำวินิจฉัยรวม แต่เป็นแง่คิดของตุลาการบางท่านเท่านั้น เพราะ การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่สอง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติม โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ ได้อ้างอำนาจการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของประชาชนที่เหนือรัฐธรรมนูญ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้น (หมายถึงรัฐสภา) ใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญนั้น กลับไปแก้รัฐธรรมนูญนั้น เหมือนการใช้อำนาจแก้ไขกฎหมายธรรมดา นี่เป็นความเห็นในตอนต้น ต่อมาได้อ้างการตรารัฐธรรมนูญ 2550 มีกระบวนการผ่านการลงประชามติโดยตรงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะแก้เป็นรายมาตราก็เหมาะสม จากนั้นไปอ้างในประเด็นที่สามว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นรายมาตรา ในความเห็นที่กล่าวมาข้างบนนี้ มิได้อ้างบทบัญญัติใด แต่อ้างเจตนารมณ์ มาตรา 291 ซึ่งมิได้มีอะไรนอกจากให้รัฐสภาลงมติผ่านวาระ 1, วาระ 2 แล้วลงมติวาระ 3 หลัง 15 วันที่ผ่านวาระ 2 ที่สำคัญคำวินิจฉัยกลางนี้ไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 ท่าน กล่าวคือ ผู้มีความเห็นให้ทำประชามติเสียก่อนตามความเห็นกลางมีนายเฉลิมพล เอกอุรุ เพียงท่านเดียว ส่วนนายนุรักษ์ มาประณีต อ้างมาตรา 68 วรรค 1 อ้างว่า รัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เทียบกับอดีตไม่ได้ เพราะในอดีตยังไม่มีศาลรัฐธรรมนูญและไม่มีบทบัญญัติเรื่องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (ของคณะรัฐประหาร!) ในส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 จึงไม่ให้ทำการแก้ไขตามร่างแก้ไข ตามมาตรา 291 คนที่สามคือ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ให้แก้ได้เป็นรายมาตรา ใช้สภาร่างไม่ได้ ส่วนนายจรูญ อินทจาร ให้แก้ไขได้แต่ให้ทำประชามติทีหลัง อีก 4 คนที่เหลือล้วนให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติทำได้และหรืออ้างว่าไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบวินิจฉัยประเด็นนี้ได้แก่ ชัช ชลวร, วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์, บุญส่ง กุลบุปผาและอุดมศักดิ์ นิติมนตรี นี่จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องศึกษาว่าเป็นคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำ และมีกฎหมายบทบัญญัติใดรองรับ หรือเป็นคำแนะนำลอย ๆ โดยอ้างเจตนารมณ์ (ของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ?) ของรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณามาตรา 291 ที่ใช้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่มีการบ่งบอกใดว่าให้มีการทำประชามติเพื่อกลับไปถามประชาชนในฐานะผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด กลับเป็นเรื่องเกินเลยกว่าบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ น่าสงสัยว่าทำเกินกว่ารัฐธรรมนูญได้หรือไม่ (อาจถูกฟ้องร้องได้เช่นกัน) และเมื่อพิจารณามาตรา 165 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยประชามติ ก็กลับห้ามทำประชามติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ (แปลว่าจะทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ไหม?) ดังนั้น แผนล้ำลึกอำมาตย์ให้ทำประชามติเพื่อรับรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วออกมาหลอกประชาชนให้รับ ๆ ไปเพื่อจะได้เลือกตั้ง หาไม่จะไปเอารัฐธรรมนูญฉบับใดก็ได้แล้วแต่คมช.เลือก จึงเป็นความหลอกลวง ฉ้อฉลทางการเมืองอย่างไร้ยางอาย ไร้ศักดิ์ศรี ขอให้รัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติก่อนโดยวิธีการสกปรกอย่างไรก็ได้ ยิ่งกว่านั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญและผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็มาเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงเอง ทั้ง ๆ ที่มีเสียงเดียวและแนวร่วมอีก 2 คน ก็ยังทำให้ความเห็นกลุ่มข้างน้อยมาเป็นความเห็นส่วนกลางได้ ? และจะถือเป็นคู่กรณีขัดแย้งมาตัดสินเองได้หรือไม่? เมื่อเราจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงต้องตระหนักถึงการวางกับระเบิดเป็นทุ่งสังหารเต็มพื้นที่หมด แถมมีสไนเปอร์เป็นชุด ๆ เป็นระยะ ๆ ผ่านด่านวาระที่ 1, ที่ 2 แล้ว จึงมาพบด่านใหญ่ฉับพลันทันที ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าหลักการที่ต้องยึดในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ
การทำประชามติตามคำแนะนำเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารก็จริง เพราะเขาให้ทำได้ 2 กรณีคือเพื่อเป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องสำคัญ หรือเพื่อหาข้อยุติตามกฎหมายบัญญัติ (และต้องไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ อย่าลืม) ลงท้ายทำประชามติแล้วก็ไม่ผูกพันกับฝ่ายนิติบัญญัติแต่ประการใด แต่เพื่อให้รัฐบาลสบายใจ ฝ่ายนิติบัญญัติสบายใจว่าได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ (ที่เลื่อนลอย) และอาจให้ผ่านหรือคว่ำในการลงมติวาระ 3 ก็ได้ ความจริงก็เพื่อให้คว่ำมากกว่า นี่เป็นทัศนะของผู้เขียน เพราะแม้จะผ่านตัวเลขผู้ออกเสียงได้ ก็จะพบกับด่านเนื้อหาว่าทำไม่ได้อยู่ดี นี่ก็คือการถูกบังคับให้เล่นตามเกมส์อำมาตย์โดยแท้ ถ้าผ่านประชามติไปก็จะเจอความขัดแย้งต่อสู้รุนแรงจากกลุ่มอำมาตย์ไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญอยู่ดี ส.ส., ส.ว. ก็จะกลัวเหมือนเดิม ไม่กล้าโหวตให้ผ่านวาระ 3 อีก
นี่ไม่ใช่เป็นอย่างที่นักการเมืองพูดกันว่า ถ้าประชามติไม่ผ่านก็แก้เป็นรายมาตรา เพราะชาติหน้าตอนบ่ายคุณก็แก้ไขอะไรแทบไม่ได้ เขาจะยอมให้คุณแก้ไขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาอนุญาตเท่านั้น จบกันประเทศไทย!!! ประชาชนไทย!!! แล้วอนาคตจะอยู่อย่างไร? จะต้องสู้กันแบบไหนอีก? ผู้เขียนมองเห็นมีแต่ความมืดและเสียงคร่ำครวญโหยหวนของประชาชนทั้งที่มีชีวิตและที่ตายไปแล้ว....... เส้นทางของขบวนการประชาธิปไตยต้องยืนหยัดในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าทุกอย่างเดินไปได้ในระบบก็ต้องโหวตวาระสามในสภา ไม่ว่าคุณจะทำสานเสวนาหรือทำประชามติแบบปรึกษาหารือหรือแบบยุติ ก็ต้องโหวตวาระ 3 ซึ่งแน่นอนทำแบบไหนก็ถูกคัดค้านฟ้องร้องยุบพรรคหรือจัดการรัฐบาลอยู่ดี แล้วถ้าแก้ไม่ได้ โหวตวาระสามไม่ผ่าน ก็อาจพยายามใช้ร่างอื่นเช่น ร่างรัฐธรรมนูญ 40, ร่าง คปพร. หรือร่างของ นปช.ที่ค้างอยู่ มาโหวตใหม่ ซึ่งก็คงยากอีกแล้ว ถ้าแก้ในระบบไม่ได้ประเทศไทยก็ถึงทางตันแน่นอน กลายเป็นว่าการต่อสู้ในระบบไม่สัมฤทธิ์ผล ผู้เขียนไม่อยากทำนายอนาคตประเทศไทยว่าจะเป็นอย่างไร? ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||
เด็ก 11 ขวบสร้างเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กของตัวเอง หลังถูกห้ามใช้เฟซบุ๊ก Posted: 03 Jan 2013 08:54 AM PST แซคารี มาร์กส์ เด็กอายุ 11 ปีที่ปลอมอายุเข้าเล่นเฟซบุ๊กจนถูกพ่อสั่งห้ามเมื่อเห็นว่าใช้คำหยาบ หันมาสร้างโซเชียลเน็ตเวิร์กของตนเองในชื่อ Grom Social ที่มีระบบป้องกันความปลอดภัยให้แก่เด็กที่เข้าใช้ 2 ม.ค. 2013 เว็บไซต์ TechNewsDaily รายงานเกี่ยวกับเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ถูกสร้างโดยเด็กอายุ 11 ปี หลังจากที่เขาถูกพ่อห้ามไม่ให้ใช้เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ค "ถ้าเข้าร่วมไม่ได้ ก็สร้างขึ้นมาเองเลย" เป็นความคิดของเด็กชายอายุ 11 ชื่อ แซคารี มาร์กส์ หลังจากที่เขาถูกพ่อแม่ห้ามใช้เฟซบุ๊กและถูกยกเลิกบัญชีผู้ใช้ แทนที่เขาจะร้องงอแงหรือกระแทกประตูปึงปัง เขากลับหันไปสร้างโซเชียลเน็ตเวิร์กของตัวเองที่เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับเด็กโดยเฉพาะในชื่อ Grom Social ก่อนหน้านี้แซคารีเคยมีบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเองเป็นเวลาเพียง 1 สัปดาห์ จริงๆ แล้วเขาต้องอายุมากกว่านี้ 2 ปี ถึงจะเข้าเกณฑ์ที่เฟซบุ๊คกำหนดไว้เกี่ยวกับอายุผู้เข้าใช้คือ 13 ปีขึ้นไป แต่เขาก็โกหกเกี่ยวกับอายุของตนเองทำให้เข้าไปใช้ได้ จนกระทั่งพ่อแม่เขามาเจอเข้าว่าลูกกำลังทำอะไรเสี่ยงๆ ในโลกออนไลน์จึงถูกดึงสั่งห้าม แซคารี เล่าในหน้าเพจของเว็บ Grom Social ว่า เขาใช้เวลาในคอมพิวเตอร์ไปกับการแช็ทกับเพื่อน จนกระทั่งครั้งหนึ่งเขาทำผิดพลาด มีเพื่อนผู้ใหญ่คนหนึ่งใช้คำหยาบคายและโพสท์อะไรที่ไม่เหมาะสมทำให้เขาด่าหยาบคายตอบกลับไป อีกทั้งยังไปขอเป็นเพื่อนกับผู้ใหญ่ที่เขาไม่รู้จัก วันต่อมาพ่อของเขารู้เข้าก็โกรธเขามาก ทำให้เขาต้องยกเลิกบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเอง เมื่อเขาเข้าไปดูเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับเด็กหลายเว็บเขาก็ไม่รู้สึกสนใจในเว็บใดเลยเพราะคิดว่ามันดูเด็กเกินไป เขาจึงตัดสินใจสร้างโซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับกลุ่มคนที่เรียกว่า "Groms" ที่เป็นคำแสลงหมายถึงเด็กที่เล่นกระดานโต้คลื่น ซึ่งสำหรับแซชชารีแล้วเขาตั้งใจให้หมายถึง "เด็กที่มีอะไรเกินวัย" เนื่องจากต้องการให้สมาชิกเด็กๆ ในเว็บปลอดภัย จึงมีเพียงพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ได้รับการรับรองจากพ่อแม่แล้วเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วม Grom Social ได้ ส่วนพ่อแม่ของสมาชิกเด็กๆ ก็สามารถติดตามพฤติกรรมของลูกได้ผ่านอีเมลล์ ตัวเว็บไซต์ยังมีระบบกรองการใช้ภาษาเพื่อป้องกันไม่ให้มีเด็กที่ยังไม่รู้ความไปเห็นคำสบถหยาบคายเข้า นอกจากนี้แล้ว Grom Social ยังได้กล่าวแสดงความไม่พอใจกฏหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเด็กในโลกอินเตอร์เน็ต (Children's Online Privacy Protection Act หรือ COPPA) ที่มุ่งเฝ้าระวังความปลอดภัยของเด็ก โดยบางคนวิจารณ์ว่ากฏหมายนี้ไม่สามารถปฏิบัติใช้ได้จริงและเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กตามบทบัญญัติเพิ่มเติมที่ 1 แห่งรัฐธรรมนูญ ของสหรัฐฯ (บทบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความเห็น) ภายใต้กฏหมาย COPPA โปรแกรมแอปปลิเคชั่น และโปรแกรมเสริมพ่วง (Plug-ins) ต่างๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บข้อมูลจากเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปีโดยที่ไม่มีพ่อแม่ยินยอม แต่เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กในกระแสเช่น เฟซบุ๊ค, ทวิตเตอร์, ทัมเบลอร์ และโฟร์สแควร์ ต่างไม่อยากแบกรับภาระการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว จึงแบนไม่ให้มีสมาชิกที่อายุต่ำกว่า 13 ปี จนถึงตอนนี้ Grom Social มีสมาชิก 7,000 คน และเปิดให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 15 ปีที่อาศัยในสหรัฐฯ และแคนาดาเข้าร่วมได้
Kicked Off Facebook, Kid Creates Own Social Network, TechNewsDaily, 02-01-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||
"สมาคมมิตรภาพไทย-เกาหลีเหนือ" แสดงความยินดีส่งดาวเทียมกวางเมียงซง-3 สำเร็จ Posted: 03 Jan 2013 06:30 AM PST สื่อเกาหลีเหนือระบุ "สมาคมมิตรภาพไทย-เกาหลีเหนือ" ร่วมแสดงความยินดีกับเกาหลีเหนือที่สามารถส่งดาวเทียมกวางเมียงซง-3 รุ่น 2 ได้สำเร็จ พร้อมยกย่องความเป็นผู้นำของคิม จอง อึน ขณะที่นักดาราศาสตร์ตะวันตกระบุว่าดาวเทียมเกาหลีเหนืออยู่ในวงโคจร แต่ไม่สามารถใช้งานได้จริง แฟ้มภาพฐานปล่อยจรวดโซแฮ เมืองโชซาน จังหวัดปยองอันเหนือ ในเกาหลีเหนือ ในภาพเป็นการติดตั้งจรวดอึนฮา-3 (ทางช้างเผือก-3) สำหรับปล่อยดาวเทียมกวางเมียงซง-3 (ดาวจรัสแสง-3) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปล่อยจรวดในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งเกาหลีเหนือส่งจรวดอีกครั้งเมื่อ 12 ธ.ค. 55 ที่ผ่านมา (ที่มา: KCNA) ทางการเกาหลีเหนือจัดกิจกรรมต้อนรับให้กับคณะนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาดาวเทียมกวางเมืองซง 3 รุ่น 2 เมื่อ 27 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ศูนย์สุขภาพริวกัง กรุงเปียงยาง (ที่มา: KCNA) โปสเตอร์ปีใหม่ของเกาหลีเหนือ โดยเนื้อหาเป็นการโฆษณาเรื่องความสำเร็จในการส่งจรวดอึนฮา-3 หรือทางช้างเผือก-3 สำหรับปล่อยดาวเทียมกวางเมียงซง-3 หรือ ดาวจรัสแสง-3 รุ่นที่ 2 (ที่มา: KCNA) ภาพการปล่อยจรวดอึนฮา-3 เพื่อส่งดาวเทียมกวางเมียงซง-3 เมื่อ 12 ธ.ค. 55 ล่าสุดสำนักข่าวกลางเกาหลีระบุว่า "สมาคมมิตรภาพไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี" และ "สถาบันศึกษาแนวคิดจูเช่แห่งประเทศไทย" ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อการส่งดาวเทียมดังกล่าว (ที่มาของคลิป: KCTV) ภาพการฉลองการส่งดาวเทียมกวางเมียงซง-3 ที่กรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือเมื่อ 14 ธ.ค. (ที่มาของคลิป: KCTV) ตามที่เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือแถลงว่าประสบความสำเร็จในส่งดาวเทียมกวางเมียงซง-3 หรือดาวจรัสแสง-3 รุ่นที่ 2 จากศูนย์อวกาศโซแฮ เมืองโชซาน จังหวัดปยองอันเหนือ โดยใช้จรวดอึนฮา-3 หรือทางช้างเผือก-3 ขนส่งดาวเทียมดังกล่าวนั้น (ข่าวก่อนหน้านี้) ล่าสุดสำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) ของทางการเกาหลีเหนือ รายงานวันที่ 3 ม.ค. ว่า สมาคมมิตรภาพไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (Thailand-DPRK Friendship Association) หรือสมาคมมิตรภาพไทย-เกาหลีเหนือ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ยกย่องต่อความสำเร็จของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีหรือเกาหลีเหนือ ในการส่งดาวเทียมกวางเมียงซง 3.2 สมาคมมิตรภาพไทย-เกาหลีเหนือ กล่าวว่า ความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสำหรับการใช้ประโยชน์ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพอย่างสูงของเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองของเกาหลีเหนือ และความแข็งแกร่งของพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล่าสุดของชาติ แถลงการณ์ระบุด้วยว่า การส่งดาวเทียมครั้งนี้ได้ส่งเสริมเกียรติภูมิของเกาหลีเหนือในบรรดาชาติที่พิชิตอวกาศ สมาชิกของสมาคมมิตรภาพไทย-เกาหลีเหนือแสดงความหวังว่าในอนาคตประชาชนเกาหลีจะดำเนินการใช้สิทธิในอวกาศเพื่อประโยชน์ทางสันติ ด้วยการส่งดาวเทียมเพิ่มขึ้นอีกภายใต้การนำพาอันชาญฉลาดของผู้นำที่น่าเคารพอันเป็นที่รัก คิม จอง อึน องค์กรเพื่อการศึกษาแนวคิดจูเช่แห่งประเทศไทย ระบุด้วยว่า ยากยิ่งที่จะจินตนาการว่าด้วยขนาดของประเทศและจำนวนประชากรของเกาหลีเหนือ แต่พวกเขาได้จัดอันดับอยู่ในชาติผู้พิชิตอวกาศ "ความสำเร็จของเกาหลีเหนือเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดคิด หากปราศจากซึ่งแนวทางของประธานาธิบดีคิม อิล ซุง ซึ่งวางรากฐานความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความพยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของคิม จอง อิล และความเป็นผู้นำอันชาญฉลาดของคิม จอง อึน" แถลงการณ์ระบุ และยังแสดงความเชื่อมั่นต่อประชาชนเกาหลีที่จะเดินหน้าต่อความความสำเร็จในการส่งดาวเทียมภายใต้การนำพาอันชาญฉลาดของคิม จอง อึน ทั้งนี้การส่งจรวดอึนฮา-3 เพื่อส่งดาวเทียมดังกล่าว ถูกเฝ้าจับตามองจากทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมของเกาหลีใต้กล่าวหาเกาหลีเหนือโดยใช้คำว่า "การยิงจรวดพิสัยไกล" อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกออกมาระบุว่าดาวเทียมที่เกาหลีเหนือส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกไม่สามารถใช้การได้ หลังจากตรวจไม่พบสัญญาณใดๆ โดยนิวยอร์ก ไทมส์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของโจนาธาน แมคโดเวล นักดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริการะบุว่า "ดาวเทียมมีการหมุน แต่ไม่สามารถตรวจหาการส่งสัญญาณอะไรออกมา" เขาระบุด้วยว่า ในส่วนของจรวดที่ส่งดาวเทียมขึ้นไปถือว่า "ใช้การได้ดีมาก" สำหรับเกาหลีเหนือ "พวกเขาสามารถส่งขึ้นไปได้ถึงวงโคจร แต่จากหลักฐานที่มีน้ำหนักทำให้ชี้ได้ว่าดาวเทียมดังกล่าวเกิดล้มเหลว ในระหว่างที่ส่งขึ้นสูงวงโคจรหรือไม่ก็หลังจากนั้นเล็กน้อย" ที่มา: เรียบเรียงจาก DPRK′s Successful Satellite Launch Hailed by Thai Organizations, KCNA, January 3, 2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||
จาก วรเจตน์ ถึงรัฐบาล: เลิกคิดเรื่องลงประชามติ-ปลดล็อกศาล รธน. ก่อน Posted: 03 Jan 2013 06:15 AM PST บทสนทนาส่งท้ายปีเก่าและรับกระแสลงประชามติในปีใหม่ กับ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ โดยใบตองแห้ง, บ.ก.ฟ้าเดียวกัน และบ.ก.ข่าวประชาไท ชี้ข้อจำกัดทางกฎหมายของการลงประชามติแก้ รธน. พร้อมตั้งคำถามสำคัญถึงรัฐบาล เป้าหมายเชิงโครงสร้างของรัฐบาลคืออะไร เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของปี 2555 ก็คือการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา โดยพรรคร่วมรัฐบาลในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็ต้องสะดุดลงเมื่อเดินมาถึงการโหวตวาระสาม เมื่อมีผู้นำเรื่องไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่า การกระทำของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ แม้นักกฎหมายมหาชนจำนวนไม่น้อยออกมาแย้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยคำร้อง แต่ศาลก็รับคำร้องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยที่ชวนสงสัยออกมาเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2555 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ามีอำนาจวินิจฉัยคำร้อง ตามมาตรา 68 วรรค 2 และวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคร่วมรัฐบาลไม่เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ห้ามแก้ รธน. ทั้งฉบับ ต้องประชามติก่อน พร้อมเสนอว่า "ควร" จะให้มีการลงประชามติ ถ้าจำกันได้ ในช่วงเวลานั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ชัดเจนถึงผลบังคับ แต่ที่แน่ๆ ในทางการเมือง ชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคไทยรักไทยใช้หาเสียงเลือกตั้งกับประชาชนไว้นั้น ส่อแววว่าจะพบกับอุปสรรคขวากหนามโดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นก้างชิ้นใหญ่ ปลายปี กระแสการลงประชามติแก้รัฐธรรมนูญกระหึ่มขึ้นมาจากฟากรัฐบาล ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านไปปราศรัยกับประชาชนเริ่มรณรงค์แต่ไก่โห่ให้นอนหลับทับสิทธิลงประชามติ เนื่องจากข้อกำหนดการลงประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 นั้นกำหนดให้ต้องมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาลงคะแนนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง และเสียงโหวตเห็นด้วยต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของประชาชนที่ออกมาลงประชามติ ขวากหนามกองใหญ่ก็ปรากฏให้เห็นอีกครั้ง ประชาไทสนทนากับวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เพื่อถามความเห็นของเขาในเรื่องนี้ รวมไปถึงท่าทีของรัฐบาลต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาเห็นว่า รัฐบาลนี้หวาดกลัวมากเกินไป ผู้ร่วมสนทนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย ใบตองแห้ง คอลัมนิสต์ผู้มีลีลาเฉพาะตัว, ธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก.นิตยสารฟ้าเดียวกัน และพิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวประชาไท
000การลงประชามติ มีปัญหาทางกฎหมายพิณผกา: เรื่องลงประชามติ เงื่อนไขของการลงประชามติที่จะเกิดขึ้นน่าจะเป็นกับดักอันใหญ่ สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง วรเจตน์: ตอนนี้ผมคิดว่ารัฐบาลเองดูเหมือนมีแนวโน้มว่าจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ทีนี้ประเด็นก็คือว่าเรายังไม่ทราบรายละเอียด จริงๆ คือจะจัดหรือไม่ อันนี้ก็ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการออกมา แต่สมมติว่าเราเชื่อตามที่รัฐบาลได้แสดงท่าทีออกมาก่อนหน้านี้ รวมทั้งการโฟนอินของคุณทักษิณที่เขาใหญ่ ก็มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ปัญหาก็คือ การออกเสียงให้มีการลงประชามตินั้นจะทำในประเด็นไหน ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีความชัดเจน ดูเหมือนว่าหลายคนเชื่อมโยงการจัดให้มีการลงเสียงประชามติ กับการลงมติวาระสาม เพราะเราคงจำกันได้ว่าตอนนี้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเสนอต่อรัฐสภายังค้างการพิจารณาอยู่ในวาระสาม คือผ่านมาสองวาระ แล้วก็มีคนไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ แล้วก็เลยไม่มีการลงมติในวาระสาม เรื่องมันก็ยังค้างอยู่ แล้วก็ยังไม่ตกไปด้วย เพราะเหตุว่ารัฐธรรมนูญบอกว่าถ้าพ้นวาระสองให้รอไว้ 15 วัน มันก็ยังคาอยู่ จะตกไปก็ต่อเมื่อสภานี้ครบวาระ ร่างฯ ที่ค้างอยู่ก็จะตกไปเลย แต่ตอนนี้สภายังดำรงอยู่ อันนี้ก็จะค้างอยู่ จึงต้องมีการหยิบยกขึ้นมาตัดสินใจกัน แต่ทีนี้ผมเข้าใจว่าตอนนี้รัฐบาลอาจจะต้องการความชอบธรรมในการตัดสินใจ คือ ถ้าประชาชนมาออกเสียงประชามติเห็นด้วยมากก็อาจจะทำให้กล้าที่จะเดินหน้าผ่านวาระสามต่อไป ถ้าประชาชนมาออกเสียงน้อยหรือไม่เห็นด้วยก็อาจจะทำให้วาระสามตกไป ผมคิดว่าจะเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ การที่รัฐบาลตัดสินใจทำประชามติ อาจจะมีปัญหาในทางกฎหมายตามมาอยู่เหมือนกัน เพราะเหตุว่าการทำประชามติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้มีอยู่สองลักษณะ คือ การทำประชามติที่มีลักษณะให้เกิดข้อยุติขึ้น กับการทำประชามติในเชิงปรึกษาหารือ การทำประชามติในลักษณะซึ่งให้มีข้อยุตินั้นจะผูกพันการตัดสินใจของรัฐ คือการทำประชามติอันนั้นจะมีผลเป็นการตัดสินใจปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นยุติตามนั้น อีกอันคือการทำประชามติแบบหารือซึ่งไม่ผูกพัน เป็นเพียงแค่ประชาชนให้ความเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับรัฐบาลเท่านั้นเอง ถ้ารัฐบาลตัดสินใจทำประชามติแบบมีข้อยุติ ปัญหาเกิดขึ้นตามมาก็คือว่า ต่อให้ประชาชนเสียงข้างมาก คำว่า 'ข้างมาก' ผมหมายความว่ามีคนมาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ประมาณ 24 ล้านคน แล้วคนที่มาออกเสียงนั้น เห็นด้วยกับการโหวตผ่านวาระสามเป็นเสียงข้างมาก คำถามที่ตามมาก็คือว่า มันจะมีผลยุติอย่างไร มันจะมีผลยุติว่าจะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทุกคนจะต้องผูกพันตามนี้ คือต้องโหวตให้ผ่านวาระสามหรือเปล่า นี่คือประเด็นที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าออกเสียงแบบให้มีข้อผูกพัน จะผูกพันอย่างไรก็ไม่ผูกพันสมาชิกรัฐสภาอยู่ดี เพราะว่าทั้ง ส.ส. และ ส.ว.นั้น อยู่ภายใต้หลักที่ว่า ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติสั่งการใดๆ การออกเสียงไปทางใดทางหนึ่งเป็นเรื่องไปสั่งเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้จะผ่านประชามติข้างมากก็ตาม ก็ไม่เป็นเครื่องการันตีว่าส.ส. หรือส.ว. ต้องโหวตผ่าน แล้วก็ไม่มีผลเป็นการตัดสินใจด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องตลกมากๆ เพราะว่าเอาอำนาจสูงสุดของประชาชนมาใช้ ประชาชนบอกเห็นด้วยให้ผ่านวาระสาม ให้ส.ส. และส.ว. โหวต พอโหวตแล้วบางคนก็ไม่โหวตตาม และก็ไม่ผูกพันเขาอีกด้วย เพราะฉะนั้นการทำประชามติแบบมีข้อยุติผมคิดว่ามันไม่ผลอะไร คือต่อให้คุณทำก็จะไม่มีผลผูกพัน ส.ส. และส.ว. ในทางกฎหมาย โอเค อาจจะมีคนแย้งว่ามันก็จะมีผลในทางการเมือง ในทางสนับสนุนการตัดสินใจ แต่ในทางกฎหมายนั้นไม่มีผล แล้วเมื่อในทางกฎหมายไม่มีผล มันก็ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตจำนงออกเสียงประชามติ เพราะว่าในทางหลักประชาธิปไตย เราถือว่าประชาชนมีอำนาจได้ในสองลักษณะ คือใช้อำนาจรัฐที่เขาเป็นเจ้าของได้โดยตรง อีกประการก็คือใช้อำนาจผ่านการออกเสียงเลือกตั้ง ก็คือการเลือกผู้แทนเข้าไปใช้อำนาจแทนตัวเอง ซึ่งการใช้อำนาจโดยตรงต้องถือว่าเป็นการใช้อำนาจระดับสูงสุดแล้วในระบอบนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าออกเสียงให้เป็นข้อยุติ ต้องยุติตามนั้น แต่ถ้าเกิดออกเสียงเป็นยุติแล้วยังต้อไปโหวตวาระสามอีก แล้วจะโหวตผ่านก็ได้ ไม่ผ่านก็ได้ ก็จะกลายเป็นเรื่องโจ๊ก เพราะฉะนั้นถ้าจะทำประชามติเกี่ยวกับวาระสาม ผมคิดว่าจะมีปัญหาแน่ๆ ส่วนถ้าจะเป็นการทำประชามติแบบปรึกษาหารือ ก็แน่นอนว่ามันไม่ผลอะไร ก็อาจจะอ้างได้ว่า เรืองนี้ไม่ใช่กิจการของคณะรัฐมนตรีเลย กรณีการแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่ได้รับการส่งต่อมาในรัฐธรรมนูญที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็คือเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม มันไม่ใช่กิจการของคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจะไปของปรึกษาหารือทำไม การปรึกษาหารือนั้นคือการปรึกษาหารือในกิจการบางอย่างที่ครม. เห็นว่าควรจะฟังความเห็นของประชาชน เช่น ประเทศไทยควรจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ อันนี้อาจจะถามในเชิงปรึกษาหารือได้ แต่เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งตอนนี้รัฐสภาเป็นคนใช้อำนาจนั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะทำประชามติแบบปรึกษาหารือก็จะมีข้อแย้งว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีโดยตรง การทำประชามติแบบนี้ก็จะมีประเด็นที่ถูกแย้งขึ้นมา อาจจะมีคนอ้างว่า ก็ทำตามศาลรัฐธรรมนูญแนะนำไง แต่ถ้าไปอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดีๆ ศาลไม่ได้วินิจฉัยแบบมีสภาพบังคับเลยว่าต้องทำประชามติ แล้วคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้มีปัญหามากๆ ทั้งในทางกฎหมายและในแง่ของการเอาไปปฏิบัติ คือผมฟังคำวินิจฉัยวันนั้นผมก็ยังงงว่าตกลงศาลต้องการอะไร ต้องการจะบอกอะไรกันแน่ ความชัดเจนในคำวินิจฉัยนี้แทบจะไม่มี รู้อย่างเดียวก็คือว่ามีผลในทางการเมืองเป็นการเบรกการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลจะอ้างศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลังยัน ผมก็คิดว่าไม่แน่นะว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยอมรับว่าคำวินิจฉัยของตัวเองให้ใช้เป็นหลังพิงได้ อาจบอกว่า "ควรจะ" ทำประชามติเท่านั้นเอง แต่ว่าปัญหาก็คือว่าการจะทำอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่คนจัดทำประชามติจะต้องรับผิอดชอบในทางข้อกฎหมายเอง พูดง่ายๆ ในความเห็นผม คือ บัดนี้ฝ่ายซึ่งไม่ต้องการให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตอนนี้ ผมว่าเขาเดินยิ้มกริ่มอารมณ์ดีกันทุกคน ถูกไหมฮะ ถามว่าทำไมเขายิ้มกริ่มอารมณ์ดี คำตอบก็คือเมื่อรัฐบาลถอย ไม่ยอมโหวตวาระสามตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทั้งที่ตอนนั้นมันชัดเจนมากๆ ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคดีนี้ไว้เข้าสู่การพิจารณา แล้วก็เสียงของนักวิชาการตอนนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นข้างมากมีความเห็นว่าควรจะต้องโหวตวาระสาม การสั่งเบรกคุ้มครองชั่วคราวเขาก็สั่งไปที่สำนักเลขารัฐสภา ไม่ได้สั่งไปที่ตัวรัฐสภาสักหน่อย แต่ว่าฝ่ายสภาไปฟังแล้วก็ไม่โหวตวาระสาม ฝ่าย ครม. เองก็กลัวว่าถ้าโหวตวาระสามแล้วนำขึ้นทูลเกล้าแล้วเดี๋ยวจะเป็นปัญหากับฝ่ายที่มีการกลั่นกรองเรื่องเสนอให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ซึ่งเป็นการกลัวไปก่อนหน้า ทั้งๆ ที่ความจริงก็คือว่า ถ้าเกิดนำขึ้นทูลเกล้าฯ องค์พระมหากษัตริย์ก็ทรงมีพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะวีโต้ เมื่อวีโต้ก็กลับมาที่สภา กลับมาที่สภา สภายืนยันไม่ถึง 2 ใน 3 ร่างฯ ก็ตก นี่คือกติกา คือถ้าเกิดทำไปตามกติกา ทำไปตามหลักการที่ถูกต้อง ผมว่าไม่เห็นต้องกลัวอะไรเลย ที่นี้ก็กลัวกันว่ารัฐบาลจะล้ม ผมถามว่าจะล้มได้อย่างไร เพราะว่านี่คือกิจการที่เป็นอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งระบบของเราให้ไว้กับรัฐสภาเป็นผู้ใช้ พิณผกา: แต่สิ่งที่กังวลกันก็คือ พอเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญมีการใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ก็คาดกันว่าถ้าขืนดึงดันต่อไป ไปแก้รายมาตรา ก็อาจจะต้องเข้าไปสู่การให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทุกมาตรา วรเจตน์: ก็ถูก คือผมคิดว่าอย่างหนึ่งที่เขากลัวกันคือกลัวว่าการทำแบบนี้ การลงมติต่อไปเดี๋ยวจะกลายเป็นประเด็นถูกหาว่าล้มล้างการปกครอง กลายเป็นต้องถูกยุบพรรค ส.ส. ต้องมีคดีความต่อเนื่องกันไป ผมคิดว่าถ้าเราปล่อยให้ความกลัวแบบนั้นเข้าครอบงำมาก เราก็คงไม่ต้องทำอะไรกัน คือผมเข้าใจได้ว่า โอเค ตุลาการภิวัตน์สำแดงเดชมาหลายครั้งแล้ว พวกนี้ก็อาจจะมีความกลัวอยู่ แต่ผมถามว่าการใช้อำนาจในทางกฎหมาย พอถึงจุดๆ หนึ่งถ้ามันขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิงมันก็เป็นชนวนทำให้เกิดการเปลี่ยนในทางโครงสร้างทั้งหมด ผมถามว่าแล้วจะกลัวอะไร คนจำนวนมากที่เขาเฝ้าติดตามการเมืองอยู่เขาก็เห็นว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่มีความชอบธรรม ฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ไม่มีความชอบธรรม นี่คือกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญตามกระบวนการธรรมดาที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้นเอง มันจะกลายเป็นเรื่องที่จะต้องถูกยุบพรรคไปได้อย่างไร แต่ถ้าถามว่าถ้าเกิดถึงขั้นนั้นจริง แน่นอนมันก็เป็นการสู้กันในทางความเป็นจริงน่ะ ผมก็พยากรณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทีนี้บางคนก็อาจจะบอกว่า นี่ไง เขาต้องการปลดสลักความขัดแย้งก็เลยไม่ลงวาระสาม ถอยมา จะได้ไม่มีการปะทะกัน แต่ผมว่า ถ้ากลัวแบบนี้ มันก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็อย่าคิดจะแก้รัฐธรรมนูญเสียเลย ประกาศไปเลยว่าเราจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมไปตลอดชั่วกัลปาวสาน เพราะว่าถ้าไปแตะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อไร กลไกรัฐธรรมนูญนั้นจะออกมาขับเคลื่อน นักวิชาการฝ่ายที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะออกมาขัดขวาง ออกมาตีความกฎหมายในทางขัดขวางการแก้ไขทั้งหมด คุณห้ามแตะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็บอกมาเลย ก็อย่าไปแตะมัน แล้วสุดท้ายประชาชนที่เขาต้องการแก้เดี๋ยวเขาหาวิธีการเองในการที่จะไปจัดการรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะการแก้ตามระบบไม่ได้ มันก็ต้องแก้ด้วยวิธีการอื่น อันนี้เป็นธรรมชาติ เป็นสัจธรรมธรรมดา การที่เขาบอกให้แก้แปลว่าเขาต้องการเปิดให้มีการพูดคุยและแก้ตามระบบ แต่ถ้าใครก็ตามที่พยายามทำตามระบบ แก้ตามระบบแล้ว คนที่อยู่ในระบบนั้นกลับขวางไม่ให้มีการแก้ไปตามระบบ อ้างสาเหตุโน้นสาเหตุนี้มา สุดท้ายก็ต้องไปสู่การปะทะ จริงๆ มันก็เป็นเรื่องที่อาจจะหลีกเลี่ยงแทบจะไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ธนาพล: แล้วถ้าพยายามคิดในแง่ของเพื่อไทยที่เขาโดนทั้งในแง่ของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งกรณีของคุณสมัคร คุณสมชาย นี่เป็นเหตุผลพอที่จะกลัวศาลรัฐธรรมนูญได้หรือเปล่า วรเจตน์: มันก็คงเป็นเหตุผลอันหนึ่ง แต่ผมถามว่าถ้าเกิดแบบนี้ยังกลัว วันหน้าคุณจะเจออื่นๆ อีก นึกออกไหมครับว่า ไม่ใช่ว่าการถอยครั้งนี้จะทำให้กลไกทางกฎหมายอื่นๆ ขับเคลื่อนเข้าบดขยี้หรือดำเนินการต่อไป ใจผมยังคิดอย่างนี้ด้วยซ้ำไปว่า สภาพที่เป็นอยู่แบบนี้ เอาเข้าจริงมันคือการพยายามจะบอกว่าให้รัฐบาลอยู่ในวาระต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผมคิดว่ามี ส.ส. จำนวนหนึ่ง มีผู้ที่เป็นรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งเชื่อว่าสภาพแบบนี้เขาไม่ได้เสียเปรียบอะไร เพราะว่าเมื่อเขาลงเลือกตั้งแม้ภายใต้กติกาปี 50 เขาก็ชนะการเลือกตั้ง อย่างน้อยเขาก็ยังยึดกุมอำนาจทางบริหารอยู่ส่วนหนึ่ง แล้วในการที่เขายึดกุมอำนาจในทางบริหารเขาก็ค่อยๆ ใช้วิธีการในการเจรจาประนีประนอมกับองค์กรต่างๆ เขาก็ยังยึดกุมอำนาจอีกส่วนหนึ่งได้ดีกว่าไปเสี่ยง เพราะถ้าเกิดไปเสี่ยง มันอาจจะหลุดไปทั้งหมดเลยก็คือว่าอำนาจไม่มีเลย แต่เขาก็ลืมนึกต่อไปว่าการทีเขาไม่เสี่ยงทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่ความจริงบางเรื่องมีหลักการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ชอบธรรม และมีคนเห็นด้วยอยู่จำนวนไม่น้อย มันทำให้ที่สุดแล้วมันไม่มีหลักประกันหรอกว่าเขาจะไม่ถูกกลไกเหล่านี้เข้าบดขยี้ แต่อันนี้อย่างที่ผมบอกตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่านี่เป็นเรื่องของรัฐบาลเอง ไม่ใช่เรื่องของผม ผมแค่ชี้ให้เห็นว่าก็คงมีคนจำนวนหนึ่งคิดแบบนี้ สมมติว่าตอนนี้ หนึ่งในคนที่สัมภาษณ์ผมเป็นรัฐมนตรี คุณเป็นรัฐมนตรีอยู่ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คุณมีตำแหน่งอยู่ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อะไรที่คุณคิดครับ สิ่งที่คุณคิดก็คือว่าคุณจะทำอย่างไรให้รัฐบาลนี้อยู่ได้นานที่สุด ใครเสนออะไรก็ตามที่คุณระแวงว่าจะทำให้รัฐบาลอายุสั้นถ้าเกิดไปเอาตาม อย่างที่รัฐมนตรีบางคนเรียกว่า "พวกช่างยุ" อะไรประมาณนี้ เขาก็ไม่เอา ถูกไหมครับ ซึ่งไอ้พวกนี้ความเห็นของผมก็คือฟังไปเฉยๆ แต่ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจากหลักการไง แล้วถ้าเกิดเราคิดว่าบ้านเมืองเราปกครองกันในเชิงหลักการ มันต้องคิด แน่นอน การที่ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าผมไม่คิดทางการเมืองนะ คือ คุณต้องประเมินกำลังในทางการเมือง แต่อย่างที่ผมบอกว่า การที่คุณถอยตลอดเวลาเพื่อรออะไรบางอย่างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยตัวของมันเองมันไม่เป็นผลดีกับระบบทั้งหมด ผมว่าสุดท้ายคนก็จะเห็นว่าการทำแบบนี้มันไม่เป็นผลดีกับระบบ ไม่เป็นผลดีกับโครงสร้างทั้งหมด ไม่มีใครได้ประโยชน์เลยนอกจากคนซึ่งกุมอำนาจอยู่ทุกฝ่ายในเวลานี้ ผมหมายความว่า ไม่ใช่ฝ่ายรัฐมนตรีที่เขาอยู่ในตำแหน่งเท่านั้น หรือ ส.ส. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ แต่ผมหมายถึงฝ่ายที่อยู่ที่องค์กรอิสระ ฝ่ายศาล ทุกฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจในระดับบนของสังคมเขาก็เจรจากันแล้ว เขาก็อยู่กันไปแบบนี้ ซึ่งถามว่าคนทั่วๆ ไปที่เขาอยากจะเห็นประเทศนี้ปกครองโดยหลักการที่ถูกต้องได้อะไร ไม่ได้อะไรเลย แล้วก็มีแต่ความสูญเสีย แต่ไม่ได้อะไรเลย ซึ่งในแง่นี้มันไม่แฟร์ ธนาพล: มันมีอีกประเด็นหนึ่ง คือถ้าเกิดผ่านวาระสาม แล้วในหลวงไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็เท่ากับส่งนายกเข้าสู่.... วรเจตน์: ไม่จริงเลยครับ อันนี้เป็นการสมมติคาดหมายไปล่วงหน้าด้วย ก็อย่างที่ผมบอกว่าถ้าเกิดในหลวงไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย มันก็เข้าสู่กลไกปกติไงครับ คือพระราชทานกลับคืนมาหรือทรงใช้อำนาจวีโต้ วีโต้ สภาก็มาประชุมกันสิครับ ถ้าคุณยืนยันด้วยคะแนนเสียงสองในสาม ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้งหนึ่ง ถ้าไม่ลงพระปรมาภิไธยอีกก็นำไปประกาศเสมือนหนึ่งว่าลงพระปรมาภิไธยแล้ว ถ้าคุณยืนยันไม่ถึงสองในสาม มันก็ตก นี่ก็มีกลไกตามรัฐธรรมนูญรองรับเป็นขั้นเป็นตอนอยู่ ธนาพล: แปลว่า "ต้องชน" วรเจตน์: ผมไม่เรียกว่าชน ผมเรียกว่า ทำไปตามระบบที่รัฐธรรมนูญวางเอาไว้ เพราะว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญไงครับ ไม่อย่างนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันไม่ได้แก้หรอก เราเห็นไหมว่า ความแสนกล ความเจ้าเล่ห์ และรวมทั้งไหวพริบปฏิภาณและความหลักแหลมของฝ่ายซึ่งไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญนั้นมีมาตั้งแต่ตอนให้รับรัฐธรรมนูญ จากที่ผมเคยพูดตอนนั้นว่าทั้งปลอบและทั้งขู่ ปลอบคือ บอกว่าคุณรับไปก่อนเถอะ แล้วเดี๋ยวคุณมาตั้ง ส.ส.ร. แก้ได้ง่าย ไปดูสิว่าใครพูดไว้ในวันดีเบตรัฐธรรมนูญ แล้วตอนนี้คนพูดอยู่ในตำแหน่งอะไร นั่นคือการปลอบให้รับ การขู่คือการบอกว่า เฮ้ย ถ้าพวกคุณไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คมช. กับ ครม. สามารถไปหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาแก้ไขและประกาศใช้ได้เลยโดยที่ไม่ต้องฟังเสียงพวกคุณ นี่คือการขู่ แล้วพอรัฐธรรมนูญผ่านมาแล้วเกิดอะไรขึ้น กลไกต่างๆ มันวางไว้เป็นหมากล้อมตัวรัฐธรรมนูญทั้งหมด พอไปแตะปุ๊บ เป็นปัญหาทันทีเลย แล้วตอนนี้ก็ไปยกเรื่องคุณทักษิณ เรื่องมาตรา 391 คดีอะไรพวกนี้มาเพื่อมาใช้อ้าง และในขณะที่ฝ่ายซึ่งควรจะออกมาสู้ในทางหลักการไม่ออกมาพูดในทางหลักการเลย ผมถามว่าคดีต่างๆ ของคุณทักษิณนั้นทำไมคุณไม่พูดในทางหลักการล่ะ ไม่เห็นมันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเลย แล้วมันเป็นการพูดไปในหลักการที่ถูกต้องเหมือนกับนิติราษฎร์เสนอลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร สำหรับผม ผมบอกจริงๆ นะ คดีของคุณทักษิณ คดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ วันนี้ต่อให้คุณทักษิณยอมรับอะไรไปก็ตามในส่วนของเขาเอง จะบอกว่าไม่นิรโทษกรรมอะไรก็ตาม ผมยืนยันว่าคดีนี้มีปัญหาในทางกฎหมาย แล้วคุณต้องกล้ายืนยันในหลักการแบบนี้ว่าการตัดสินคดีนี้มันมีปัญหาในทางกฎหมายจริงๆ คุณทักษิณ คุณจะมีท่าทีอย่างไร คุณจะแข็งกร้าวในตอนแรก คุณจะอ่อนในตอนต่อมาไม่เกี่ยวกับประเด็นนี้ เพราะนี่คือประเด็นในทางหลักการ แล้วผมเชื่อว่าถ้าเกิดรัฐบาลยืนยันประเด็นในทางหลักการแบบนี้ เอาหลักการมาพูดให้คนฟัง ผมคิดว่าคนที่มีใจเป็นกลางจำนวนหนึ่งในสังคม เขาก็คงจะเห็นว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับตัวบุคคลแต่มันเกี่ยวกับเรื่องหลักการ คุณทักษิณจะพูดยังไงวันนี้ก็ไม่เกี่ยวกับผม ผมก็ยืนยันว่าที่ผมได้พูดไปทั้งหมดเกี่ยวกับ 2 คดีนี้ ผมยังยืนยันว่ามันไม่ถูกต้องในทางกฎหมาย มีบางคนประเมินบอกว่า เข้าสู่สภาแล้วอาจจะไม่ผ่าน ก็ให้มันรู้ไปว่ามันไม่ผ่าน ไม่ผ่านก็ดี คุณก็ได้มาเริ่มต้นกระบวนการใหม่ ไม่ผ่านก็ไม่ได้หมายความว่าแก้ไม่ได้ ถ้าวาระสามไม่ผ่านโหวตในสภา สำหรับผมนะครับ คุณเดินหน้าโหวตวาระสาม ถ้าไม่ผ่านในสภา มันไม่ได้หลักการอะไรบอกว่ารัฐบาลจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ถ้าไม่ผ่านสภา เพราะว่าส.ส. ไม่เห็นด้วยหรืออะไรก็ตาม ก็ทำประชามติเลย ถึงตอนนั้นทำเลยครับ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีคำถามอีกว่า ประชามติแบบนี้ทำได้หรือเปล่า เพราะมาตรา 165 ก็ระบุว่า การกระทำที่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญนั้นกระทำไม่ได้ นี่ก็เป็นกลไกที่เขาซ่อนเอาไว้ แต่ในกรณีอาจจะเป็นการทำกฎหมายออกมาเพื่อถามประชาชนให้ลงประชามติเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้ความเห็นของประชาชนเพราะไม่อย่างนั้นเราก็ไม่รู้ว่าประชาชนเห็นจริงๆ อย่างไร ถ้ามีคนมาค้านว่าทำไม่ได้ คุณก็ต้องมีกฎหมายอันหนึ่งรองรับภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแล้วก็ถามประชาชนเสียในตอนนั้น ธนาพล: ถ้าคิดกลับกันว่ารัฐบาลเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย แล้วค่อยไปหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่ารัฐบาลนี้จะเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญ วรเจตน์: (หัวเราะ) ก็รัฐบาลก็หาเสียงมาแล้วไงครับในครั้งที่แล้ว ก็มันเป็นนโยบายอันหนึ่งที่รัฐบาลหาเสียงมาแล้ว คุณจะไปหาเสียงอีกกี่รอบล่ะ เดี๋ยวไปหาเสียงคราวหน้า ก็โอเค ถูกฝังรอไปอีก 4 ปี อ้าว คราวนี้หาเสียงใหม่เป็นรูปธรรมว่าจะแก้หมวดนี้ๆ แล้วพอโดนค้านอีก รัฐบาลก็ไปหาเสียงว่าจะแก้หมวดนี้ๆ ต่อไป ก็ไม่ได้แก้ ธนาพล: รัฐบาลก็บอกได้สิว่า การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็เป็นประชามติโดยตัวมันเองอยู่แล้วเพราะว่ารัฐบาลก็ไปหาเสียงแล้ว เป็นความชอบธรรมที่จะเดินหน้าวาระสาม วรเจตน์: จริงๆ มันเป็นความชอบธรรมอยู่แล้ว ต้องเข้าใจแบบนี้ว่า มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่สุดท้ายทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่มีทางเป็นไปได้ เราอย่าไปฝันว่าทุกคนจะเห็นพ้องต้องกัน คนที่เสียประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีทางที่เขาจะเห็นด้วยอยู่แล้ว เราตัดคนพวกนี้ทิ้งไปเลย คนที่มีความคิดความเชื่อบางอย่างฝังใจเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญเขาก็จะไม่มีทางเห็นด้วย แต่ระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่เปิดให้ทุกคนเอาความเห็นขึ้นมาบนพื้นที่สาธารณะ แล้วแต่ละฝ่ายดีเบตกันถึงข้อดีข้อเสียแล้วตัดสินใจ และผมว่าวันนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่าฝ่ายที่ต้องการผลักให้เกิดการแก้ไขเจอเล่ห์เหลี่ยมแสนกลของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เกิดการแก้ไขตั้งแต่ตอนรับรัฐธรรมนูญมา แล้วเขาไม่เคยเปลี่ยนอุปนิสัยพื้นฐานอันนี้เลย ไม่ว่าระยะเวลาจะผ่านไปกี่ปี อุปนิสัยพื้นฐานเจ้าเล่ห์แสนกลอันนี้ไม่เคยเปลี่ยน แฟ้มภาพ ประชาไท พักเรื่องประชามติ แก้มาตราที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญก่อนพิณผกา: แต่ถ้ามองในแง่ร้ายไปเลย นี่พูดในฐานที่ยังมองว่ารัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ข่าวเรื่องรัฐบาลจะเสนอให้ออกเสียงลงประชามติโดยคนที่มีสิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งตามแนวทางนี้ ความเป็นไปได้ก็ต่ำมากที่จะได้ถึงระดับนั้น วรเจตน์: ใช่ มันมีความพยายามไงว่า จะต้องได้เสียงเห็นด้วยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ซึ่งผมคิดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ พิณผกา: ซึ่งถ้าประชามติไม่ผ่าน รัฐบาลก็มีความชอบธรรมทีจะอธิบายคนฝั่งที่เชียร์ตัวเองและผิดหวัง โดยการอ้างประชามติได้เหมือนกัน วรเจตน์: ก็เป็นไปได้ คือสุดท้ายผมว่าเป็นไปได้หลายอย่าง คือรัฐบาลอาจจะรู้อยู่แล้วว่าข้างหน้าเจอด่านเยอะ ไม่อยากจะฝ่าด่านแบบนี้ แต่จะปล่อยให้ตกวาระสามก็เสีย โอเค ในด้านหนึ่งรัฐบาลอาจจะไม่ต้องลาออก แต่ก็เสียเพราะเป็นกฎหมายสำคัญแล้วรัฐบาลทำให้ผ่านไม่ได้ จริงๆ โดยสภาพก็อาจจะต้องยุบสภาแล้วก็เลือกตั้งพร้อมกับทำประชามติในวันเลือกตั้งไปเลย ถ้าจะพูดถึงกลไกในทางระบอบ แต่จริงๆ ถ้าถามผมตอนนี้ ถ้าเกิดคุณจะทำประชามติหรือโหวตอะไรก็ตาม คุณเจอกลไกรัฐธรรมนูญหมด สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าจะต้องทำก่อนในบางมาตรา ถ้าต้องทำก่อนนะ และผมคิดว่าจะดีกว่าการทำประชามติด้วย นั่นก็คือการพุ่งไปที่การแก้บางหมวด ซึ่งเรื่องแรกที่จะต้องแก้ก็คือเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญนั้น พูดง่ายๆ ว่า ที่เราเป็นปัญหาทุกวันนี้เพราะเราถูกล็อคด้วยตัวคำวินิจฉัยด้วยส่วนหนึ่งที่สภากลับไปยอมรับ คุณต้องไปปลดตรงนี้ก่อน คุณต้องทำหมวดนี้ ไม่ใช่ออกเสียงประชามติ แต่ประเด็นก็คือมีคนบอกว่า ขนาดวาระสามยังไม่กล้าเลย คุณจะไปแก้เรื่องนี้ได้อย่างไร แต่ถ้าเกิดคุณไม่กล้าลงวาระสาม เพราะเหตุกังวลว่าเดี๋ยวจะไปติดประเด็นแก้ทั้งฉบับเป็นเรื่องทำไม่ได้ ผมคิดว่าที่ดีกว่าไปทำประชามติคือไปทำเรื่องศาลรัฐธรรมนูญก่อน ต้องทำตรงนี้ก่อน ไม่อย่างนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีทางแก้ได้ ถ้าแก้ได้ ก็จะแก้แบบประนีประนอมกันอย่างที่สุด คือฝ่ายการเมืองจะได้อะไรบางอย่างมา เช่น เลิกมาตรา 237 คือเรื่องทำผิดคนเดียวยุบทั้งพรรค อาจจะปรับเรื่องสิทธิเสรีภาพบางอย่างนิดหน่อย กลไกตรวจสอบนิดหน่อย แต่หลักๆ นั้นผมคิดว่าจะไม่ได้อะไร อำนาจอิสระจะคงอยู่แทบจะเป็นแบบเดิม อำนาจศาลก็จะไม่ถูกแตะ ผมว่าเป็นแบบนั้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำแบบนี้คุณจะถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ทันที แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็จะเข้ามาบอกทันที แต่ถ้าคุณปรับเรื่องศาลรัฐธรรมนูญก่อน ศาลรัฐธรรมนูญทำเรื่องนี้ลำบากแล้วเพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทันทีถ้าคุณเข้ามาตัดสินเรื่องนี้ เพราะมันเป็นการแก้รัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวกับพวกคุณ เพราะฉะนั้นข้อเสนอที่นิติราษฎร์เคยเสนอไปเรื่องยุบศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ นี่เป็นการเสนอที่ไม่ได้เสนอโดยอารมณ์ความรู้สึกนะครับ แต่เสนอจากการคิดตรึกตรองว่าถ้าคุณจะปลดล๊อคคุณต้องปลดตัวนี้ก่อน นี่คือตัวสำคัญที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าถ้าจะขยับทำเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเสียงก็จะอึงคนึงเซ็งแซ่เหมือนกัน แต่ผมจะบอกว่าไม่ว่าจะทำอย่างไรก็เป็นปัญหาหมด ธนาพล: ถึงที่สุดนี่ไม่ใช่เรื่องข้อกฎหมายเลย แต่เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ วรเจตน์: เรื่องการเมืองล้วนๆ ธนาพล: ดังนั้น ถึงที่สุดแล้วตอนนี้มีคนพยายามทำให้เป็นเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องข้อกฎหมาย มันเป็นเรื่องการเมือง วรเจตน์: ถูกต้อง คือที่พูดว่าเป็นเรื่องการเมือง จริงๆ เป็นมาหลายปีแล้วนะ คือกฎหมายมหาชนมันคือกฎหมาย มีเกณฑ์ของมันอยู่ที่ใช้ในการวินิจฉัยบางอย่าง บางเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ก็อาจจะมีความเห็นต่างกันได้ ก็ต้องว่ากันโดยข้างมากว่าอย่างไรก็เอาตามนั้น แต่หลายเรื่องมันยุติโดยหลักการที่ถูกต้อง มีถูกมีผิด แต่ตอนนี้มันถูกทำให้แทบจะเป็นการเมืองหมด ทุกคนร่วมกระโจนเข้าไป มีดีเบตในปัญหาบางอย่างแล้วไม่ต้องสนใจหลักการอะไร พูดไปจากความต้องการ ความปรารถนาทางการเมืองของตัวเองถ่ายเดียว แล้วก็เอากฎหมายมาตีให้มันเละ ให้มันมั่วเข้าไว้ ยิ่งกฎหมายมันเละมันมั่วเท่าไรมันยิ่งทำอะไรไม่ได้ มันจะเกิดสภาพแบบนี้ครับ คือความโกลาหลในทางกฎหมาย ใบตองแห้ง: ตัวกฎหมายประชามติ และรธน. 165 ก็เป็นปัญหาด้วยสิ ทำไมถึงไม่มีผลผูกพัน วรเจตน์: ประชามตินั้นมี 2 แบบ คือประชามติแบบมีข้อยุติ และประชามติแบบปรึกษาหารือ ประชามติแบบมีข้อยุติ คือประชามติแบบมีผลผูกพัน ส่วนประชามติแบบหารือนั้นไม่ผูกพัน พูดง่ายๆ คือตอนทำประชามตินั้น รัฐต้องบอกตั้งแต่แรกเลยว่าประชามติแบบนี้เป็นประชามติแบบมีข้อยุติ หรือประชามติแบบขอความเห็นเพื่อหารือเท่านั้น ประชามติแบบมีข้อยุติคือเมื่อประชาชนชี้อย่างไรต้องผูกพันตามนั้น ใบตองแห้ง: แต่เนื่องจากวาระสาม มันไม่สามารถเป็นประชามติแบบข้อยุติได้ วรเจตน์: ถูกต้อง มันทำไม่ได้เพราะดุลยพินิจในการโหวตวาระสามมันอยู่ที่ ส.ส. และสว. และที่จริงเรื่องนี้มีคนบอกว่าการทำประชามติก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัตินั้น ไม่ใช่นะครับ สภาไม่ได้อำนาจนิติบัญญัติ แต่เป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งเวลาที่เขาโหวตเขาได้รับการประกันตามรัฐธรรมนูญว่าเขามีอิสระในการโหวต ผมถึงบอกว่ามันกลายเป็นโจ๊ก เพราะถ้าทำแบบมีข้อยุติคุณจะเจอทันทีเลย หลัก Free Mandate คือถ้าทำแบบมีข้อยุติมันไม่ต้องโหวตวาระสามสิ มีข้อยุติหมายถึงประชาชนโหวตให้แก้ตามร่างที่ค้างเอาไว้ คุณนำขึ้นทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยเลย ซึ่งทำไม่ได้ ต้องมาโหวตวาระสามอยู่ดี ซึ่งก็ไม่ผูกพันส.ส. ส.ว. อยู่ดีในการโหวต ผมจึงมองว่าจริงๆ ต้องไม่สนใจเรื่องประชามติแต่แรกเลย แต่ผมไม่ทราบว่ามันเกิดอะไรขึ้นในแง่ของการวิเคราะห์ข้อกฎหมายของฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล อาจเพราะด้านหนึ่งนักการเมืองคิดเอาง่ายๆ ว่า ก็ไปถามประชาชนสิ ประชาชนว่าไงก็จะได้มีเสียงสนับสนุน ถ้าประชาชนไม่เอาด้วยก็เลิกไป คือคิดแบบนี้ไง แต่ว่ามันมีกลไกที่มารองรับ แล้วประชามติแบบ 165 ก็เป็นปัญหาในตัวบทด้วย ใบตองแห้ง: ผมคิดว่าฝ่ายการเมืองเขาก็ตีความกฎหมายแบบเราแหละ แต่เขาตีความทางการเมืองว่าถ้าเขาผ่านวาระสาม เขาก็อาจจะโดนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เล่นเกมประชามติดีกว่า วรเจตน์: ก็อาจจะเป็นไปได้ ทีนี้พอเล่นเกมประชามติ (หัวเราะ) มันก็จะเป็นปัญหาเหมือนกัน คือถ้ามองในทางการเมืองคือประชามติเกิดขึ้นจริง ซึ่งผมไม่ค่อยแน่ใจว่าประชามติจะเกิดขึ้นจริงนะ แต่ถ้าเดินหน้าไปแบบนั้นจริงๆ ภายใต้กรอบกลไกแบบนี้ แล้วเราติ๊งต่างว่าข้างมากของประชาชนผ่าน ผมยังมองว่าถ้าสภาพการณ์ประชาชนจะออกมาเยอะมันก็ต้องมีกระบวนการที่จะทำให้ไม่ได้เสียงแบบนั้น จะมีวิธีการของมันมาบอกแบบนั้นแบบนี้แบบโน้นเต็มไปหมด ให้มันวุ่นวายเข้าไว้ เพราะทางนั้นก็รู้ว่ารัฐบาลจะเอาประชาชนหนุนหลังในการผลักสาระสาม แล้วข้อกฎหมายที่ผมบอกจะถูกเอามาพูดกัน จริงๆ ผมไม่อยากพูดเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะเรื่อง Free Mandate เรื่องไม่ผูกพันส.ส. ส.ว. ยังไม่เป็นประเด็นสู่สาธารณะ ยังไม่มีใครหยิบประเด็นนี้ออกมา แต่จริงๆ มันเป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อประชาชนออกเสียงประชามติแล้วมันต้องกลับไปวาระสาม พูดง่ายๆ คือ โดยโครงสร้างของการทำรัฐธรรมนูญตอนนี้ การทำประชามติมันไม่ถูกต้องในแง่ของกระบวนการ คือมาทำในระหว่างกลางไม่ได้แล้ว อย่างที่ผมบอกคือ ถ้าคุณจะทำก็คือวาระสามคุณตกไป แล้วไปหาวิธีทำประชามติ แบบนี้ได้ คือเลิกอันนี้ไปก่อน แต่ถ้าจะเอาประชามติไปเชื่อมกับทีค้างอยู่ในวาระสาม ผมคิดว่าทำไม่ได้ ใบตองแห้ง: ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม สมมติตั้งคำถามประชามติว่ารัฐสภาควรผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วาระสาม หรือไม่ วรเจตน์: ก็จะตลก คืออาจจะบอกว่าเป็นประชามติแบบหารือ แต่ประชามติแบบหารือนั้น ครม. เป็นคนทำ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องของครม. นี่เป็นเรื่องของรัฐสภา ใบตองแห้ง: แต่กฎหมายบอกให้รัฐบาลเป็นคนทำ วรเจตน์: ให้รัฐบาลเป็นคนทำ แต่ถ้าเป็นประชามติแบบปรึกษาหารือ ลองดูสิ รัฐธรรมนูญเขาเขียนเอาไว้ใช้คำแบบนี้ มาตรา 165 คำใช้คำแบบนี้ "ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้กระทำได้ในเหตุ ดังต่อไปนี้ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้... การออกเสียงประชามติ อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ หรือเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็ได้" เพราะฉะนั้น ประชามติให้คำปรึกษา มันกลายเป็นการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีไป คือความมุ่งหมายในเบื้องต้นก็คือ เรื่องที่ ครม. ต้องตัดสินใจ เช่น เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะกระทบคนหมู่มากแล้วครม. อยากจะฟังประชาชนว่าประชาชนจะเอาอย่างไรเพื่อที่จะทำให้ไปผลักนโยบายต่อไป ใบตองแห้ง: ถ้าสมมติเราถามว่า ควรตั้ง ส.ส.ร. เพื่อการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ถ้าเราถามตอนนี้อาจารย์บอกว่าติดวาระสามใช่ไหม แต่ถ้าถามก่อนหน้านั้น คือก่อนจะเริ่มวาระ 1 มันจะเข้าข่ายไหน วรเจตน์: ถ้าถามก็จะมีหมอความมาตีความว่า รัฐธรรมนูญ 165 เขียนว่า "การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้" ก็จะมีคนบอกว่า การทำประชามติให้แก้ทั้งฉบับนั้นขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดกลไกตาม 291 เอาไว้ว่าจะต้องแก้ตามนี้ คือตอนนี้มันล็อคหมดเลย แม้แต่เรื่องการทำประชามติ ซึ่งจริงๆ มันไม่ควรจะถูกล็อคแบบนี้ไง มันก็มีหมากวางเป็นหมากล้อมเอาไว้ เมื่อกี้ผมถึงพูดว่านักกฎหมายอีกฝ่ายหนึ่งคงเดินยิ้มสบายใจแล้ว เพราะว่ามันมีอะไรให้เล่นเยอะเลยตอนนี้ ธนาพล: จริงๆ เราก็ควรเลิกพูดเรื่องประชามติ ถ้ายิ่งพูดก็ยิ่งไปเข้าทาง ก็คือไม่มีทางออก วรเจตน์: ถูก ก็อย่างที่ผมให้สัมภาษณ์วันนี้ โอเค อีกฝ่ายชอบใจเลยเนี่ย เห็นไหมผมมาชี้ว่ามีเรื่อง Free Mandate อยู่นะ จริงๆ ต้องโคว้ทมาตรานี้ด้วยว่าทำไมวาระสามจึงเป็นปัญหา มาตรา 122 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เห็นไหมครับ เขาบอกว่า "ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ"ความจริงมาตรานี้เขียนไม่ค่อยดีนะ แต่ว่ามันมีหลักแกนของมันอยู่เรียกว่าหลัก Free Mandate ก็คล้ายๆ กับหลักที่ว่า ตุลาการต้องมีอิสระในการตัดสินคดี ส.ส. ก็ต้องมีอิสระในการออกเสียงลงคะแนน ใบตองแห้ง: แต่ถ้าเราบอกว่าประชามติใหญ่กว่า ส.ส. ล่ะ วรเจตน์: ถูก กรณีอื่นๆ น่ะใหญ่กว่าแต่ว่าถ้าประชามติใหญ่กว่า ส.ส. ก็จะมีคนถามว่าแล้วทำประชามติแล้วจะไปโหวตวาระสามทำไม อย่างที่ผมเสนอไว้เมื่อสักครู่ว่าพอประชามติแล้วคุณต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะฉะนั้นที่รัฐบาลทำตอนแรกจึงถูกต้องในทางกระบวนการ ก็คือว่าจัดให้มี ส.ส.ร. เสียก่อน ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เสร็จแล้วพอมีรัฐธรรมนูญสองฉบับก็ไปออกเสียงประชามติ โดยฐานของรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขแล้วนั้น ประชามติแบบนั้นถูกแล้ว แล้วจริงๆ ต้องยืนยันกับศาลรัฐธรรมนูญว่าก็จะทำประชามติอยู่แล้วแต่ทำหลังจากที่มีตัวร่างแล้ว ที่ตัวเองเดินมานั้นเดินตามหลักที่ถูกแล้ว คุณจะมายอมเสียหลักมาทำในขั้นตอนนี้เพียงเพราะกลัวว่าจะถูกยุบพรรค หรือว่ากลัวเรื่องแรงเสียดทางทางการเมือง ถ้าอย่างนั้น อย่าตัดสินใจทำตั้งแต่เข้าวาระแรก พอตอนนี้ ทางนี้เขาวางหลักขีดให้เดินแบบนี้ เพราะอะไร เพราะอีกฝ่ายเขาก็รู้ว่า วิกาลยาวนานฝันยุ่งเหยิง คือคุณปล่อยให้ราตรีกาลมันยาวนาน ความฝันมันยิ่งยุ่งเหยิงวุ่นวายไปหมด ยิ่งยืดออกไปเท่าไร คุณยิ่งมั่วไปหมดเลย ผมถึงบอกว่า ถ้าตอนนี้ สำหรับผมคุณก็ปล่อยวาระสามตก ซึ่งโอเคคนอาจจะมองว่าคุณปาหี่หรือเปล่า ถ้าปล่อยวาระสามตก สิ่งทีคุณจะบอกว่าให้เขาแก้ไขเรื่องศาลรัฐธรรมนูญก่อนคงจะยาก แต่อย่างที่ผมบอกว่า ตอนนี้ถ้าทำอะไรไม่ได้ ถ้าจำเป็นต้องแก้บางมาตราก่อน และสุดท้ายผมก็คิดว่าต้องไปแก้บางมาตราก่อน เว้นแต่ว่าเกิดปาฏิหาริย์ว่ารัฐบาลเกิดใจกล้าเดินหน้าไปข้างหน้า ก็ต้องแก้เรื่องศาลรัฐธรรมนูญก่อน เป็นความจำเป็นอันดับหนึ่ง คุณต้องปลดตรงนี้ก่อน คุณจะเอาแบบนิติราษฎร์ก็ได้ หรือคุณจะเปลี่ยนองค์ประกอบของศาล อะไรก็ว่าไป แล้วผมจะบอกให้ว่าเมื่อคุณขยับจะแก้เรื่องศาลรัฐธรรมนูญจะมีคนบอกทันทีว่าทำไม่ได้ ใบตองแห้ง: แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะมาตัดสินไมได้ วรเจตน์: ใช่ เพราะว่าเขาแก้ตามกลไก 291 ยื่นญัตติตาม 291 ทำเฉพาะหมวดศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน ทำไปตามระบบ แล้วดูซิว่าจะไปเอาช่องไหนมาบอกว่าทำไม่ได้อีก เพราะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเมื่อไร ศาลรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นคนที่มีประโยชน์ทับซ้อนทันที เพราะจะแก้ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณ แล้วอำนาจในการแก้เป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจก่อตั้งตัวศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา ใบตองแห้ง: ถ้าย้อนไปเรื่องประชามติ จริงๆ แล้ว ฝ่ายที่คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ ในทางการเมืองก็ไม่สามารถค้านได้อย่างอาจารย์นะ ว่าไม่เอาประชามติ ประชามติไม่ถูก เพราะ หนึ่ง) ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนแนะนำให้ลงประชามติ วรเจตน์: ใช่ ถูกต้อง ใบตองแห้ง: สอง) พวกพันธมิตรก็เคยพูดให้ทำประชามติ ประชาธิปัตย์ก็บอกให้ทำประชามติ วรเจตน์: คุณไปถามใหม่สิ ไปถามใหม่ตอนนี้ ใบตองแห้ง: ถ้าเขาเล่นแบบนี้ได้ไหม ว่าไปตีความว่าทำประชามติไม่ได้ แล้วศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าทำปะชามติไม่ได้ มันก็โจ๊กสิ วรเจตน์: ก็โจ๊กไง แต่ศาลรัฐธรรมนูญเขาจะไม่ยุ่งอันนี้แล้วนะครับ เขาจะถอยออกไปทันทีเลยตอนนี้ เขาถือว่าเขาวางอันนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว คุณสังเกตดูสิ เขาจะไม่มายุ่ง เขาจะบอกว่าอันนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลคุณไปคิดเอาเองแล้ว คุณจะทำยังไง แล้วเราสังเกตดูตอนนี้ ฝ่ายประชาธิปัตย์ หรือฝ่ายอะไรก็ตามที่เป็นฝ่ายที่จะไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญตอนนี้ก็จะหยิบประเด็นเก่า คือประเด็นเรื่องคุณทักษิณเข้ามาแล้ว แล้วก็พร้อมจะบอกว่า ประชามติก็คือประชาชนไม่ต้องไปลงคะแนนเพื่อให้การออกเสียงประชามติมันล่ม แล้วยิ่งไปถึงตอนนั้น ความชอบธรรมในการแก้ก็ยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก จริงๆ ถ้าจะทำประชามติ อย่างน้อยกติกามันควรจะเป็นแบบ 2550 คือเอาตามเสียงข้างมากของคนที่ไปออกเสียงลงคะแนน แต่นี่มันล็อค 2 ที ก็คือล็อคว่าต้องมีคนไปออกเสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมด ซึ่งลองนึกดูสิ ในการออกเสียงแต่ละครั้งจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ออกไปอยู่แล้ว และถ้าเกิดฝ่ายค้านบอกว่าไม่ต้องออกไปอยู่บ้านเฉยๆ ด้วย 24 ล้าน ไม่ใช่ของง่าย เพราะประเด็นมันจะกลายเป็นว่า ออกไปโหวตหรือไม่ออก ไม่ใช่ประเด็นโหวตแก้หรือไม่แก้ มันจะเปลี่ยนประเด็นไปทันที ซึ่งฝ่ายไม่ออกนั้นได้เปรียบเพราะว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ออกอยู่แล้ว ไม่รู้ร้อนรู้หนาว กับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งตั้งใจไม่ออกเพื่อจะทำลายเรื่องการทำประชามติ ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหาน่าคิดว่าการรณรงค์ไม่ให้ออกไปลงประชามติ ในสภาพกฎเกณฑ์อย่างนี้ทำได้หรือเปล่า เพราะวัตถุประสงค์ของการรณรงค์ไม่ให้ออกไปโหวต เป็นวัตถุประสงค์ของการทำลายกระบวนการในทางประชาธิปไตย คือการออกเสียงประชามติ การรณรงค์ให้ไม่ออกไปออกเสียงลงประชามตินั้นยิ่งกว่าพรรคการเมืองไม่ลงเลือกตั้งอีก ขนาดพรรคการเมืองไม่ลงเลือกตั้งในบางประเทศเขาเขียนไว้เลยว่า ถ้าคุณไม่ลงเลือกตั้งเกินสองครั้งคุณถูกยุบพรรค เพราะถือว่าคุณไม่ศรัทธาในตัวระบอบประชาธิปไตยแล้ว ผมคิดว่าการรณรงค์นี้น่าจะไม่ถูกต้อง ใบตองแห้ง: แล้วถ้าย้อนกลับไปว่า ประชามติไม่กระทบ Free Mandate แต่ผลการลงประชามติออกมาว่าคนให้แก้ 17 ล้าน คือไม่ถึงครึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด แต่อีกฝ่ายไม่ออกมา อาจจะเป็น 17 ล้าน ต่อ 2-3 หมื่น ก็จะมีความชอบธรรมให้สภาลงมติวาระสาม ไหม วรเจตน์: สมมติสภาผ่านวาระสามแบบนั้น มันก็มีปัญหาตามมาคือมีคนบอกว่า ไปถามประชาชน ประชาชนไม่ใช่เสียงข้างมากเลย จะแก้ทั้งฉบับเหรอ คือมันจะถูกอ้างแบบนี้ ใบตองแห้ง: แต่มันมากกว่า 14 ล้าน มากกว่าปี 2550 วรเจตน์: จะมากกว่าก็ตาม แต่อีกฝ่ายจะอ้างข้อกฎหมายทันทีเลย ว่าเห็นไหมไม่ได้เกณฑ์ตามที่กฎหมายบอก ใบตองแห้ง: คือถ้าคนออกมาไม่ถึง 24 ล้าน ประชามติก็ใช้ไม่ได้ ตีความตั้งแต่ต้นเลยว่าเป็นประชามติแบบปรึกษาหารือ เนื่องจากว่ามันไม่สามารถยึดเป็นข้อยุติ วรเจตน์: ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องตีความแบบนั้น แต่ว่าความจริงการออกเสียงลงประชามติต้องบอกแต่แรกว่าจะเป็นประชามติแบบไหน แต่ปัญหาคือจะมีคนยกประเด็นขึ้นมาว่าคุณปรึกษาหารือเรื่องนี้ได้เหรอ เรื่องแบบนี้มันเปิดโอกาสให้มีการปรึกษาหารือหรือเปล่าในระหว่างกระบวนการ คือถ้าคุณปรึกษาหารือซะก่อนก็โอเค แต่คุณทำมาแล้วน่ะ ความชอบธรรมในการหารือแทบจะเรียกได้ว่าน้อยมาก คือตอนนี้ความชอบธรรมในการทำประชามติของรัฐบาลก็มีน้อยนะ เว้นแต่รัฐบาลจะอ้างอย่างเดียวว่าทำตามศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอย่างที่ผมบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญเขาไม่ได้มารับผิดชอบอะไรด้วยกับการทำประชามติ แล้วถ้าไปอ่านในคำวินิจฉัยดีๆ เขาก็ไม่ได้บอกนะว่าเป็นเรื่องบังคับให้ทำ ในตัวคำวินิจฉัยเขาใช้คำว่า "ควร" ไม่ใช่เหรอ แต่ "ควร" นี่คือ "ควร" ยังไง ควรของเขาผมก็ไม่อยากตีความให้เขาเลยนะ แต่ผมคิดว่า ควร ก็คือ เลิกกระบวนการที่ค้างอยู่นี้ไปก่อน แล้วก็เริ่มหารือตั้งแต่แรก หรือว่าควร ก็คือทำในขั้นตอนก่อนวาระสาม ซึ่งอ่านจากคำวินิจฉัยก็ไม่เป็นอย่างนั้น ผมถึงบอกว่าตรงนี้เป็นปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญที่เขียนคำวินิจฉัยที่ไม่รู้ว่าต้องการอะไร มันจึงไม่มีความผูกพันเพราะไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร คือสิ่งที่เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งทางปกครองเป็นการใช้อำนาจทางมหาชน เวลาใช้ออกไปมันต้องมีความชัดเจนแน่นอนตามนิติรัฐว่าคนที่รับคำสั่ง คนที่อยู่ภายใต้คำพิพากษาเขารู้ว่าคุณต้องการให้ทำอะไรกันแน่ ไม่ใช่มาอ่านแล้วงง เฮ้ย เอายังไงกันแน่วะ คือปัญหามันเป็นทั้งหมด เป็นเรื่องการเมืองทั้งหมดเลยตอนนี้ ในใจผมถึงบอกว่าถ้าคุณไม่กล้าเดินหน้าวาระสาม ก็เอาเรื่องนี้แหละ เอาเรื่องศาลรัฐธรรมนูญก่อน ถ้าคุณปลดเรื่องนี้ได้ โอกาสที่คุณจะทำเรื่องอื่นต่อไปได้ คุณมี แต่ถ้าคุณปลดเรื่องนี้ไม่ได้คุณเสร็จเลย เพราะมาตรา 68 ตอนนี้มันถูกตีความไปแบบนั้นแล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญให้ความหมายแล้ว เพราฉะนั้นเราต้องปลดตรงนี้เสียก่อน เปลี่ยนองค์กรที่ให้ความหมายตรงนี้ก่อนไม่อย่างนั้นทำอะไรไม่ได้ พิณผกา: ปลดล็อกศาลรัฐธรรมนูญ ยังต้องผ่านวาระ 3 ก่อนไหม วรเจตน์: ไม่ใช่ ในด้านหนึ่งก็คือ ปล่อยวาระสามตกแล้วทำใหม่ ทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือไม่อย่างนั้น ผมจะบอกให้ วาระสามนี้คาเอาไว้ แล้วคุณยื่นเข้าไปตอนนี้เลย แก้เฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ มันต้องแก้แบบนี้ แล้วมีความชอบธรรมด้วย เพราะเป็นการโต้ศาลรัฐธรรมนูญด้วยอำนาจที่สูงกว่าคืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ บอกได้เลยว่าการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 68 อย่างนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของผู้ที่สถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งบัดนี้สภาเป็นคนใช้อำนาจแบบนี้ ต้องเรียนก่อนว่าไม่ใช่อำนาจนิติบัญญัตินะ แต่เป็นอำนาจในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญของเราหลังผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว มอบให้กับรัฐสภา แล้วยันกับนักกฎหมายฝ่ายที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ 50 ผ่านการทำประชามติ คุณอ้างอย่างนั้นใช่ไหม รัฐธรรมนูญ 50 ผ่านประชามตินะ แล้วก็แก้ได้ตาม 291 นะ ผมบอกว่า ผมแก้ตาม 291 นี่แหละ แต่แก้เรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ในทางกฎหมายมันต้องแก้อย่างนี้ ส่วนในทางการเมืองคุณจะชี้ให้คนเห็นยังไง อันนี้เป็นเรื่องที่คุณต้องไปทำ ใบตองแห้ง: หมายถึงว่า เราแช่วาระ 3 ไว้ได้อีกเป็นปีก็ได้ใช่ไหม วรเจตน์: แช่ได้ ก็แช่ไป ใบตองแห้ง: แล้วแก้เป็นรายมาตราเป็นบางอย่างได้ วรเจตน์: ก็แก้ไปในช่วงนี้ก็แก้ไปเป็นรายมาตรา ธนาพล: แล้วข้อวิจารณ์ของอาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) ที่ท้วงติงเรื่องข้อเสนอของนิติราษฎร์ให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญล่ะ วรเจตน์: อาจารย์เกษียรท่านวิจารณ์เรื่อง จะเทน้ำทิ้งอะไรเนี่ย ถ้าไปถามอาจารย์เกษียรใหม่วันนี้ ท่านอาจจะเปลี่ยนความเห็นก็ได้นะในภาวะแบบนี้ วันที่ท่านอาจารย์เกษียรปาฐกถาวันจัดงานครั้งที่แล้ว ผมพูดเหมือนกันว่านิติราษฎร์คิดเรื่องยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญละเอียดนะ แล้วเปลี่ยนองค์กรใหม่ ไม่ใช่ทำแบบประชดประชันอะไรเลย ผมเห็นอยู่แล้วว่าในสภาวะแบบนี้ มันจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ หมายความว่า ถ้าเรายังอยากจะแก้รัฐธรรมนูญในระบอบอยู่ สู้กันในทางกฎหมายในสันติวิธีในระบอบแบบนี้ คุณต้องเปลี่ยนกลไกตรงนี้ก่อน ไม่อย่างนั้นมันจะไปบีบให้แก้นอกระบอบ เพราะในระบอบถูกปิดหมดเลย คือ น้ำเดือดๆ อยู่ รูนั้นคุณปิด รูนี้คุณปิด ปิดทุกรู เราอย่าเพิ่งไปมองว่า อย่างนี้เท่ากับเราโยนอำนาจไปให้ฝ่ายการเมือง เพราะอย่างที่เราเสนอว่า องค์กรที่เราเสนอขึ้นมาเป็นองค์กรที่ใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านเอง แล้ววุฒิสภาครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา ซึ่งโดยธรรมชาติจะเป็นปฏิปักษ์กับคณะตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งขึ้นใหม่อยู่แล้ว มันจะเช็คตรงนั้นอยู่แล้ว อันนี้คิดจากข้อกฎหมาย แต่มองจากบริบทความเป็นจริงทางการเมืองนะ ถ้าเป้าหมายคือคุณต้องการแก้รัฐธรรมนูญ คุณมีความชอบธรรมเต็มที่ที่คุณจะแก้ ความชอบธรรมของคุณมีตั้งแต่ตอนรับร่างรัฐธรรมนูญเลย คุณไปถามคนที่เป็น ส.ส.ร.ก็บอกว่าแก้รัฐธรรมนูญได้ มาวันนี้คุณถูกหักหลัง ตอนนี้ประชาชนโดยเฉพาะคนที่ไปออกเสียงรับรัฐธรรมนูญ 50 คุณถูกหักหลังแล้ว หลายคนยังไม่รู้ แล้วเรากำลังจะบอกว่าจะทำยังไงให้มันไปได้ในระบบนี้ คุณต้องแก้ตรงนี้ นี่คือกุญแจสำคัญเลย
เวลาที่คุณประเมินทางการเมือง คุณถอยอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องรุกไปข้างหน้า
ใบตองแห้ง: ที่อาจารย์พูดคือ เป็นศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะกาล ในช่วงก่อนที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ คือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หน้าตาองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญหน้าตาจะเป็นอีกแบบหนึ่ง
วรเจตน์: ถูกต้อง หน้าตาอาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ระบบกลไกการเอาออกจากตำแหน่งอาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่อันนี้เราแก้แค่น็อตตัวนี้ อันอื่นมันยังอยู่นี่ ทีนี้อาจารย์เกษียรท่านมองว่า มันเหมือนการประชดประชันเลย ศาลรัฐธรรมนูญบอกไม่ให้แก้ปุ๊บ ยุบเลิก แล้วคนทั่วไปเวลามองปฏิกิริยา ก็มองอย่างนั้นว่า ตัดสินไม่ได้ดั่งใจนิติราษฎร์ ไม่ได้อย่างใจผม ก็เลยบอกให้เลิกจริงๆ ไม่ใช่เลย ถามว่ารู้สึกขัดใจไหม ผมขัดใจแน่ๆ ผมรู้สึกว่าอันนี้ เป็นการตีความกฎหมายที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ผมเห็นเช่นนั้น แต่ผมมีสติสัมปชัญญะดีพอที่ผมรู้ว่าเสนออะไร ผมเห็นอะไรอยู่ แน่นอน ที่ผมเห็นอาจจะไม่ถูกก็ได้ แต่ต้องแย้งว่าไม่ถูกยังไง แน่นอนไม่ใช่ประชดประชันว่าให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญเพราะเขาตัดสินคดีไม่ถูกใจ แต่การตัดสินอย่างนี้ มีผลเป็นการบล็อกกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความรุนแรงของคำวินิจฉัยนี้ ผมว่ารุนแรงที่สุดเลยเทียบกับคำวินิจฉับทุกๆ อัน บางคนอาจจะบอกว่าธรรมดา มีคนเขียนจดหมายมาถามผมว่า การตัดสินอย่างนี้ไม่ดียังไง มันลดการเผชิญหน้า ทำให้คนไม่ออกมาปะทะกัน แต่จริงๆ ไม่เป็นอย่างนั้นหรอก มันเป็นการบล็อกกระบวนการแก้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลกล้าคุณต้องปลดล็อคตัวนี้ เรื่องทางการเมืองผมไม่รู้ อันนี้ไม่ใช่เรื่องทางกฎหมายอย่างเดียว คุณต้องประเมินทางการเมือง แต่อย่างที่ผมบอก เวลาที่คุณประเมินทางการเมือง คุณถอยอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องรุกไปข้างหน้า คุณต้องเอาประเด็นออกมา คุณต้องชี้อย่างที่ผมชี้เพื่อให้กลไกตามรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ และเราต้องรู้ว่ามันยากลำบาก ทำไมผมจะไม่รู้ ผมรู้ตั้งแต่ตอนไปดีเบตตอนห้าหกปีที่แล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าผ่านไปแล้วมันจะแก้ยาก เขาจะไม่ให้แก้ เพราะกลไกต่างๆ มันขับเคลื่อนหมด บางคนอาจจะเฉยๆ กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ เมื่อคุณได้ประโยชน์จากโครงสร้างรัฐธรรมนูญแบบนี้ คุณไปเป็นกรรมการนั่นนี่ คุณไปเป็นองค์กรอิสระ คุณจะอยู่ร่วมในขบวนการของคนที่ไม่ให้แก้ เพราะมันไปกระทบผลประโยชน์ของพวกคุณ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปดูเถอะ ประโยชน์มันหลายเรื่อง ไปดูตั้งแต่อายุเกษียณผู้พิพากษา ไปดูอำนาจของศาลในการแปรญัตติเรื่องงบประมาณที่มันซ่อนอยู่เต็มไปหมด ที่เรายังมีโอกาสพูดกับสาธารณชนทั้งหมด มันเป็นอย่างนี้ มันจึงแก้ยากมาก คือผมไม่รู้ว่ามันจะแก้ได้ในกลไกปรกติหรือเปล่านะ ใบตองแห้ง: ถ้ามองในแง่การเมือง ฝ่ายการเมืองเท่าที่ผมฟัง มันก็เหมือนกับการซื้อเวลา แต่เหมือนว่าเขารู้ว่าเขาแตกหักลำบาก เขาต้องการดึงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญออกมาสู่สาธารณะ ชวนมาเล่นเกมประชามติ ชวนเล่นเกมมวลชน คุณไม่สามารถที่จะเล่นเกมมวลชนแบบม็อบได้ คุณไม่มีความชอบธรรมที่จะม็อบอะไรเลย ถัดจากนี้ไป 4-5 เดือน คุณต้องเล่นประชามติกับเราแบบนี้ คุณไปรณรงค์ไม่ให้คนมาออกคะแนนเสียงก็เลวร้ายเลย วรเจตน์: คือ อันนี้คิดช้าไป ควรทำก่อนหน้านั้น มาทำในขั้นตอนนี้มันเสียกระบวนไปหน่อย โอเค มันอาจจะดีก็ได้นะในตอนท้าย จริงๆ ผมเห็นด้วยนะกับการมีกระบวนในการพูดเรื่องแบบนี้ในทางสาธารณะ แล้วก็ชี้ให้เห็นว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน แต่แน่นอนคนที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องทำใจว่ามันจะช้าไปอีก การตั้งท่าแก้รัฐธรรมนูญทำมาตั้งแต่รัฐบาลสมัยคุณสมัคร (สุนทรเวช) หลังเลือกตั้ง พอแตะปุ๊บ รัฐบาลไป ไม่ทันไรเลยคุณเจอค้านทันที ต่อให้มีกระบวนการแบบนี้จริง ผมเชื่อว่าสุดท้ายก็ต้องมีคนค้าน คือ บ้านเมืองเรามาถึงจุดที่ไม่ฟังกันแล้ว ประเด็นก็คือ สิ่งที่รัฐบาลเห็นมีอยู่อันเดียวคือ คนที่ยังอยู่กลางๆ อยู่ แล้วดึงตรงนี้ ถ้าเป็นประเด็นอย่างนี้ผมโอเคนะ ในแง่ของการทำให้คนสว่างมากขึ้น เห็นเหตุเห็นผลมากขึ้น แต่ถามว่ารัฐบาลจะเอาใครออกมาทำเรื่องนี้ในตอนนี้ ใครที่เป็นตัวนำหลักที่จะนำตัวนี้ออกสู่สาธารณะที่ยืนยันในหลักการออกมาได้ให้รัฐบาล นี่คือปัญหา เพราะว่านักกฎหมายส่วนใหญ่ยืนอีกข้างหมดเลย ใบตองแห้ง: เวลาเราดูโพลล์ต่างๆ หลายๆ โพลล์ ไม่ต้องดูว่าเอียงไม่เอียง เราวัดความรู้สึกของคนกลางๆ เขาไม่อยากให้รัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 เพราะกลัวขัดแย้ง และกลัววุ่นวาย เพราะฉะนั้นรัฐบาลถึงกรรเชียงไปอีกทางหนึ่ง เพื่อคงสถานภาพ ถ้ามองระยะยาว แน่นอนว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหลังจากนี้อาจจะเป็นไปไม่ได้ ยากมากด้วย แต่จะคล้ายๆ เกมการเมืองรัฐบาลก็จะดึงคนกลางๆ ไว้อยู่เรื่อยๆ แล้วฝ่ายตรงข้ามก็จะเหมือนกับม็อบแช่แข็ง ออกมาโวยวาย ออกมาทำอะไรที่สุดโต่งอยู่เรื่อยๆ ผมมองว่า ถ้าเขาเล่นไปอย่างนี้เรื่อยๆ ในทางกฎหมายจะเป็นยังไง วรเจตน์: ผมมองว่ารัฐบาลมีสิทธิไปก่อนที่จะเล่นเกมนี้เสร็จ เราต้องไม่ลืมว่าระหว่างที่รัฐบาลเล่นเกมนี้ ฝ่ายที่เป็นกลไกที่เป็นปฏิปักษ์อยู่ตอนนี้ เขาก็หาช่องทางในทางกฎหมายอยู่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดช่องในหลายส่วน ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องประเมินเอง ในระหว่างนี้คุณจะไปยังไง ไม่ใช่ว่ากลไกทางกฎหมายอย่างอื่นจะไม่ขยับขับเคลื่อนนะในการที่จะจัดการ คุณต้องประเมินเอาเองในทางการเมืองว่าคุณมีเวลามากน้อยขนาดไหนในการเล่นเกมแบบนี้ เพราะเป็นเกมที่ค่อนข้างจะยาว ผมว่าทางด้านหนึ่งรัฐบาลอาจจะประเมินว่าทำทางเศรษฐกิจต่อไปให้ดี มวลชนที่รักประชาธิปไตยจริงๆ รักความถูกต้องอาจจะอึดอัดตอนนี้ ซึ่งเขาบอกว่ายังทำอะไรให้ไม่ได้ จะทำแบบนี้ไป เขาอาจจะคิดลักษณะแบบนี้ แต่ผมคิดว่าจริงๆ คุณประเมินให้ดี ผมไม่มีข้อมูล แต่ที่ผมรู้ กลไกตรงนี้มันขยับขับเคลื่อน มีจังหวะเมื่อไร คุณโดนทันที แล้วการที่อยู่ทางการเมือง เหมือนกับการขึ้นชกมวย การ์ดคุณต้องสูงตลอดเวลา ยิ่งในสภาวะแบบนี้การ์ดคุณต้องสูงกว่าปรกติด้วยซ้ำในแง่ของการตั้งรับ และถ้าคุณตั้งรับอย่างเดียวโดยที่ไม่รุกออกไปบ้าง วันหนึ่งจะพลาด แล้วที่สุดคุณก็จะโดน นี่คือ ผมมองจากการเมืองเท่าที่ผมเห็นใน 5-6 ปีที่ผ่านมา แล้วประเมินสิ่งที่มันจะเป็นไป ธนาพล: อีกด้านหนึ่งก็ดูตลก คือ รัฐบาลโยนภาระให้ประชาชนทั้งหมดเลย ทั้งๆ ที่ประชาชนเลือก วรเจตน์: ผมยังมองแบบคุณธนาพลเลย การแก้บางมาตราก็เป็นปัญหา คือ มันจะไม่เป็นปัญหาหากคุณแก้บางมาตราแบบหน่อมแน้มมากๆ โครงสร้างหลักๆ ยังอยู่กันเกือบหมด คุณได้นิดๆ หน่อยๆ อาจไปเพิ่มสิทธินิดๆ หน่อยๆ รัฐมนตรีที่เป็นอยู่ตอนนี้แฮปปี้ ครม.แฮปปี้ ส.ส.รัฐบาลส่วนใหญ่อาจจะแฮปปี้ คุณอยู่ในตำแหน่งต่อไป เลือกตั้งอีกทีหนึ่ง แนวโน้มที่คุณจะชนะก็จะสูง เพราะว่า พูดก็พูดเถอะ ฝ่ายค้านคุณไม่ทำตัวให้เป็นทางเลือก มันมองไม่เห็น แต่ที่น่าเศร้าคือมันไม่มีตัวเลือกอื่นอีกที่จะเป็นทางที่นำประชาชน ตอนนี้สภาพการณ์บ้านเราเป็นแบบนี้ ก็อาจต้องจำยอมว่าเราอาจจะต้องอยู่ในสภาวการณ์แบบนี้ไปอีกช่วงหนึ่ง สุดท้ายผมก็ไม่รู้ว่าทางที่อีกข้างหนึ่งเขาทำเขามีโอกาสเมื่อไรก็ทำเมื่อนั้น เอาอย่างนี้ดีกว่า ใบตองแห้ง: ถ้ารัฐบาลไม่แก้ทั้งฉบับ แต่แก้รายมาตรา สมมติว่าแก้มาตรา 237 แล้วแก้เรื่องเลือกตั้งวุฒิสมาชิก และที่มาองค์กรอิสระ ถ้าทำอย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น วรเจตน์: มันก็จะโดนตีรวน หมายถึงสุดท้ายเวลาคุณแก้ ก็จะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าทำไม่ได้ แก้ตรงนี้มันจะโยงไปที่หมวดอื่น และกระทบกับหลักประชาธิปไตย การแก้อันนี้มีผล หลังจากทำไม่สำเร็จแสดงถึงเจตนาของรัฐบาลแล้วใช่ไหมว่าจะแก้ทั้งฉบับ เมื่อทำไม่สำเร็จจึงมาแก้ตรงนี้ๆ ก็จะใช้หลักนี้โยงกันต่อมา มันจะเป็นแบบนั้น ทีนี้ โอกาสที่จะแก้ได้ ที่จะสำเร็จมากหน่อย ก็เหมือนกับตอนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์แก้คราวที่แล้วคือ แก้ระบบเลือกตั้ง แก้มาตรา 190 มันก็จะเป็นประมาณนี้ ใบตองแห้ง: สมมติถ้ารัฐบาลแก้ว่าวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง ผมคิดว่ามาตรา 237 ไม่มีปัญหาแล้ว สังคมยอมรับหมดละว่ายอมให้แก้ได้ และกรรมการสรรหาองค์กรอิสระมีอำนาจน้อยกว่าวุฒิสมาชิก ให้มาจากหลายๆ ส่วนขององค์กรอิสระ ถ้าแก้ตรงนี้ สิ่งที่ยังเหลืออยู่ในรัฐธรรมนูญ ในทางกฎหมายจะยังมีอะไรที่เป็นพิษภัย วรเจตน์: สมมติว่าแก้ได้ อำนาจศาลก็ยังเป็นอยู่ เพราะศาลยังอยู่เหมือนเดิม ต้องไม่ลืมว่าเวลาแก้ ต้องอีกระยะหนึ่งกว่ามันจะไปครบวาระ กว่าที่คนใหม่จะเข้า แล้วคนใหม่ที่เข้ามาก็ไม่รู้ว่าจะเป็นคนยังไงอีก มันอาจจะดีขึ้นบ้างก็ได้ แต่ก็ยังไม่แก้ปัญหาทั้งหมดอยู่ดี คือตอนนี้มันเป็นปัญหาหมด พอรับมาปุ๊บก็จะเป็นแบบนี้แหละ ไม่ง่าย ใบตองแห้ง: ถ้าเป็นไปได้ยากที่จะแก้ทั้งฉบับ การแก้ทีละชุดๆ เอาเข้าจริงในทางหลักกฎหมายแล้ว มันจะติดนั่นติดนี่พันกันอยู่ แต่สมมติว่าทำมั่วๆ ไปแบบการเมืองไทยอย่างนี้แหละ แก้ทีละเรื่องๆ ไป มันทำได้ไหม แล้วถ้าเอาเรื่องสำคัญๆ ออกไปก่อน ซึ่งรณรงค์ให้สังคมยอมรับได้ ส่วนที่เหลือเราพอจะอยู่กับมันได้ระดับหนึ่งไหม แล้วรอให้สังคมพร้อมค่อยแก้อีกทีหนึ่ง วรเจตน์: บางเรื่องอาจจะสำเร็จได้ แต่ต้องใช้เวลามาก เราก็จะง่วนอยู่แต่กับการแก้รัฐธรรมนูญ ลองดูแต่ละเรื่องเวลาแก้ไม่ใช่ของง่าย ถ้าไม่ได้ฉันทามติจริงๆ อาจจะยาก แล้วสภาวะอย่างนี้ก็จะถูกตีรวนในสภา คือสุดท้ายคงแก้ได้บางเรื่อง แต่ว่าจะไม่ถึงระดับที่เราจะออกจากวิกฤตที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้ พูดก็พูดเถอะ รัฐธรรมนูญในโลกนี้ เป็นผลมาจากการต่อสู้ รัฐธรรมนูญเป็นผล คือในทางการเมืองมันจบแล้ว อุดมการณ์มันเกิดแล้ว และรัฐธรรมนูญจึงทำตามมา เรากำลังทำกลับทาง คือทำรัฐธรรมนูญเพื่อไปสู่อุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งมันยาก โอเค ถ้ามันสามารถเปลี่ยนได้ในเชิงสันติในระบบ ขบวนการที่ผมกำลังเสนอคือการทำอย่างสันติในระบบ ถ้าทำได้ก็ดี แต่อย่างที่บอกว่า ในสภาวะซึ่งประโยชน์มหาศาล โครงสร้างยังเป็นอยู่อย่างนี้ เราลองนึกดูสิกลุ่มที่เขาครองอำนาจอยู่ เขาไม่ยอมง่ายๆ รัฐธรรมนูญมันกลายเป็นสนามการต่อสู้ทางอุดมการณ์ มันก็เลยเป็นแบบนี้ไง ซึ่งมันต้องการความกล้าในบางสถานการณ์อยู่เหมือนกัน ทุกสถานการณ์ไม่มีหรอกร้อยเปอร์เซ็นต์ มันจะเป็นอย่างนี้เสมอ ปัญหาคือการประเมิน ความแตกต่างของรัฐบุรุษกับนักการเมืองมันอยู่ตรงนี้แหละ คุณตัดสินใจในสถานการณ์อันหนึ่งแล้วมันผ่าสถานการณ์แบบนี้ไป แล้วมันไปได้ ใครจะไปรูล่ะว่า ถ้าผ่านวาระ 3 ไปแล้ว มันอาจจะไปก็ได้ หรือมันอาจจะไปไม่ได้ก็ได้ ถ้าไปไม่ได้ มันก็ยกระดับการต่อสู้ทางอุดมการณ์ไปอีกระดับหนึ่งนะ มันไม่ใช่จะหยุดอยู่ตรงนี้ ผมมองอย่างนี้ ใบตองแห้ง: อาจารย์หมายความว่า ถ้ารัฐสภาลุยวาระ 3 ตอนนี้ อาจจะเสี่ยงต่อการที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งถอดถอน แต่ถ้าผ่านมันก็ไปได้ หรือถ้าแพ้จะเกิดอะไรขึ้นอีก วรเจตน์: แพ้มันก็ยกระดับขึ้นไปอีก จะเห็นว่าตอนนี้มันก็ช้าไปนิดหนึ่งแล้วเมื่อเทียบกับหลายเดือนก่อน ตอนนั้นโอกาสมันงามมากๆ เลยนะ ผมเสียดายโอกาสอันนั้นจริงๆ ถ้าผมเป็นคนซึ่งสามารถมีอำนาจแล้วก็ สวนแน่นอน ทีนี้ฝ่ายรัฐมนตรีก็บอกว่าผมไม่ได้เป็นรัฐมนตรีนี่ ผมก็ไม่รู้สึกเสียดายเก้าอี้รัฐมนตรีสิ ธนาพล: หรือว่าควรกลับกันว่า เราควรทำใจแล้วว่ารัฐบาลต้องถอย ในที่สุดผมเข้าใจว่า ประชามติก็แค่ทางถอยของรัฐบาลเพื่อจะไม่ทำอะไร ในด้านกลับก็คือว่า ถ้าเราเชื่อว่าอุดมการณ์ของเรายังต่อสู้กันอีก แล้วช่องทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นช่องทางสันติวิธีที่ปิดไปแล้ว ก็คงต้องจบกันที่ความรุนแรง เหมือนกับประตูที่จะแก้ไขถูกปิด วรเจตน์: ซึ่งไม่ได้เป็นความผิดของฝ่ายที่ก้าวหน้า หมายถึงถ้าเรามีหลักในทางศีลธรรม มันไม่ได้เป็นความผิดของฝ่ายนี้ คือเราได้พยายามทุกวิถีทาง ทุกวิธีการ แต่ว่าถูกปิดหมด เป็นอย่างนั้น ใบตองแห้ง: ถ้าย้อนไปว่า การแก้รายมาตรา รัฐธรรมนูญฉบับนี้บางทีเราคิดในเชิงยุทธวิธี การแก้รายมาตราจะดีกว่าไหม เพราะเหมือนกับว่ามันซ้อนพิษร้ายและเล่ห์เหลี่ยมเป็นตับ แล้วชาวบ้านไม่รู้เรื่องจริงๆ คือเราอธิบายคนยากมาก แต่ถ้าแก้รายมาตราคือ พูดทีละเรื่อง ทีละเซ็ต การพูดทีละเซ็ตทำได้ไหม ในทางหลักรัฐธรรมนูญเหมือนกับว่าถอนพิษทีละส่วนไม่ได้ ต้องถอนทั้งหมด แต่ถอนทีละส่วนมันสามารถจะทำให้คนเข้าใจได้ง่ายกว่า วรเจตน์: ผมก็ไม่แน่ใจ คือเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2555 ตอนที่นิติราษฎร์เสนอรื่องรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นก็มีการคุยกันเหมือนกันว่าเสนอไปแบบนี้เราโดนถล่มทุกทิศแน่นอน เพราะไปปฏิรูปหมดทุกระนาบทั้งหมด เราก็ตัดสินใจกันตอนนั้นว่าจะเอาอย่างไรดี จะเสนอไปทีละส่วนๆ ไหม แต่ก็สรุปว่า มันต้องพูดภาพรวมให้คนเห็นทั้งหมด ซึ่งมันก็ไม่ผิดความคาดหมายคือเราโดนถล่มจากทุกทิศทุกทาง แต่โอเค อย่างน้อยเราก็เอาตัวเราเป็นเหยื่อในแง่ของการทำให้คนเห็นปัญหาว่ารัฐธรรมนูญควรจะแก้อย่างไร ปัญหาคือว่า ถ้าวันนี้ต้องประเมินกันระหว่างการแก้ทั้งหมดกับแก้บางส่วน ผมมองว่าสุดท้ายมันยุ่งยากไม่ต่างกันมากหรอก คือคุณจะแก้ทั้งหมด หรือแก้บางมาตรา คุณก็จะเจออุปสรรคอยู่ดี เว้นแต่ว่าเป็นการแก้น้อยมาก คือแก้โดยปล่อยโครงอันเก่าเอาไว้จากที่เขาสถาปนาขึ้นมาในปี 2550 คุณปล่อยเอาไว้ ไม่แตะอะไรก็อยู่กันไปแบบนี้ ถูลู่ถูกังกันไปอย่างนี้ สุดท้ายก็อาจจะไม่ได้แก้ คือผมมองว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้ทางประชาธิปไตยกับคน และต้องทำใจกับมัน คือถ้าจะบอกว่าจะแก้ให้ได้ แล้วมันแก้ไม่ได้มันจะทุกข์ใจ แต่ถ้าคุณมองว่าระยะเวลาที่ทอดยาวนานไป ถ้าคุณใช้โอกาสแสดงให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องของรัฐธรรมนูญนี้เท่าไหร่ มันก็เหมือนกับการเก็บต้นทุนเอาไว้ใช้ในอนาคต ผมว่าตอนนี้ต้องมองแบบนี้แล้ว เพราะดูจากสภาพทางการเมืองมันคงไม่ได้ง่ายนัก เว้นแต่ว่ามันมีปัจจัยไม่คาดหมายแทรกซ้อนเข้ามาในระหว่างนี้ แต่ถ้าไม่มีก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป นี่เรายังไม่ได้พูดถึงปัจจัยทางการเมืองบางอย่างซึ่งเราอาจจะไม่สามารถพูดได้ทั้งหมดด้วย แต่แน่นอนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะถูกต้านเยอะกว่า เพราะทุกฝ่ายจะมารวมกันหมด เพราะกระทบหมดทุกส่วน แต่ถ้าแก้ไปเป็นบางส่วน กำลังที่จะมาต้านก็จะเป็นส่วนๆ ไปซึ่งมันอาจจะง่ายกว่า แต่ว่ามันจะยืดเยื้อ ยาวนานและก็ยุ่งยาก แล้วบางทีแก้ส่วนหนึ่งไปกระทบส่วนอื่นอีก บางทีอาจจะยิ่งทำให้การแก้รัฐธรรมนูญยิ่งแย่ลงไปอีก ก็เป็นไปได้ สุดท้ายก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองคงต้องประเมินเพราะว่าผมไม่มีอำนาจทางการเมือง ถ้าผมมีอำนาจทางการเมือง ถ้าลงประชามติไม่ได้ผมจะแก้เรื่องศาลรัฐธรรมนูญก่อนเลย ใบตองแห้ง: คือคนเข้าใจยาก เช่น ถ้าบอกว่า ประธานศาลฎีกาถ้ามาผ่านการรับรองของที่ประชุมรัฐสภาอะไรต่างๆ คนจะรู้สึกว่ายังไม่เก็ท แต่ถ้าบอกว่า ส.ว. มาจากากรเลือกตั้ง โอเคแบบนี้ฝ่ายที่แก้ชนะ คล้ายๆ กับถ้าเราชี้ว่าปัจจุบันอำนาจกรรมการสรรหามันสูงกว่าอำนาจ ส.ว. สูงกว่าอำนาจของที่ประชุมวุฒิสภา มันเป็นไปไม่ได้แบบนี้คนจะเก็ท คือคนไทยไม่อ่านหนังสือเยอะอยู่แล้ว วรเจตน์: มันง่ายกว่า ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่เราประเมินฝ่ายที่จะต้านไหม เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าต่อไปคุณจะขยับคืบ คิดว่าศาลเขาจะไม่มองตั้งแต่คุณแก้เรื่องวุฒิเหรอ ผมว่าเขามองนะ ใบตองแห้ง: เขามอง แต่ว่าเขาจะขวางลำบาก วรเจตน์: เออ อันนี้มีประเด็น คือการที่เขาจะมาขวางอาจจะไม่ง่ายนัก มันก็มีประเด็นอยู่ คล้ายๆ กินทีละคำ แต่อย่างที่ผมบอกว่า การที่คุณกินที่ละคำในสภาวะที่มันปลอดโปร่งโล่งตลอดก็โอเค แต่ในสภาวะแบบนี้ คุณแน่ใจเหรอว่าเวลาที่คุณมีอยู่มันราบรื่นแค่ไหน เวลาที่คุณมีอยู่ คุณแน่ใจหรือว่าคุณจะไม่ถูกกระทำ และในระหว่างที่คุณค่อยๆ ทำอยู่คุณได้เสียการสนับสนุน กำลังใจคนส่วนหนึ่งเสียไปเรื่อยๆ คุณอาจจะได้คนเป็นกลางส่วนหนึ่ง แต่คนที่เป็นกำลังหลักในการต่อสู้มาเขาเริ่มเสียกำลังใจ ผมว่าสภาพแบบนี้เริ่มเกิดขึ้นนะในหมู่ของคนซึ่งต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เขารอมาตั้งหลายปีแล้ว หลายรัฐบาลแล้ว ผมว่านี่เป็นเรื่องความรู้สึกที่เป็นเรื่องยาก ต้องประเมินเอา ใบตองแห้ง: ดูเหมือนว่าฝ่ายการเมืองมองเกมยาว ธนาพล: ไม่ ผมว่าไม่ใช่มองยาว แต่มองสั้น มองปัญหาแค่เฉพาะหน้าแต่อยากอยู่ยาวๆ นี่คือการมองสั้นนะ คืออยากอยู่ยาวๆ โดยไม่ทำอะไร แต่ถ้ามองยาวจริงๆ ต้องปฏิรูปโครงสร้าง นี่ถ้าพูดแบบยังไม่รวมว่ารัฐบาลนี้มาจากการปลุกประชาชนไปสู้กับอำมาตย์ สู้กับโครงสร้าง มีคนตายไปเยอะแยะ วรเจตน์: ถ้ายาว ก็ยาวในแง่อยากอยู่ยาว คือเราต้องเข้าใจว่าประวัติศาสตร์โลกสอนเราอยู่เสมอมาว่าการปฏิรูปโครงสร้างพวกนี้ นักการเมืองทำไม่ได้ พวกนี้เป็นผลผลิตทั้งนั้นน่ะ เราต้องมองแบบนี้ สุดท้ายก็คงต้องหาทางอื่นขึ้นมา ใบตองแห้ง: แต่มันเป็นธรรมชาติของแต่ละฝ่าย แต่ว่าเขาเองเขาก็จะเดินอย่างนี้ ฝ่ายประชาชนก็จะคอยจี้อยู่ แต่ฝ่ายประชาชนจี้แล้วอาจจะเสียกำลังใจบ้าง อาจจะยั๊วะกันกับฝ่ายรัฐบาล แต่ฝ่ายรัฐบาลก็จะมองว่ายังไงคุณก็ไม่ไปอยู่ฝั่งตรงข้ามหรอก วรเจตน์: ใช่ เพราะอีกข้างไม่มีอะไรให้ไปสนับสนุนได้ไง ธนาพล: นี่แหละที่ทำให้รัฐบาลกร่าง วรเจตน์: แล้วสภาพที่รัฐบาลเป็นอย่างนี้ เขาจะพลาดสักวันหนึ่ง ผมเชื่อเลย นี่เป็นสภาวะทางการเมือง พอคุณรู้สึกว่าอย่างไรก็ต้องสนับสนุนคุณ เดี๋ยวคุณก็ต้องมีเรื่อง พอมีเรื่องอีกข้างหนึ่งก็เตรียมทันที ใบตองแห้ง: แต่ถ้าเขาประเมินว่า หนึ่ง) รัฐประหารเป็นไปได้ยากมาก สอง) ยุบพรรค ก็ไม่มีความหมาย ยากมาก อย่างไรก็ต้องเป็นรัฐบาลจนครบสี่ปี คุณจะหาเรื่องยิ่งลักษณ์เหรอ ก็ถอดไปสิ เขาก็เอาคนอื่นมาเป็น ยังไงก็อยู่ครบสี่ปี ชนะเลือกตั้งอีกต่างหาก เขาประคองเกมอยู่อย่างนี้ วรเจตน์: ใช่ เขามองแบบนี้ ผมก็เข้าใจ ไม่ใช่ผมไม่เข้าใจ ยุทธศาสตร์การต่อสู้นี้ไม่ใช่ผมไม่เข้าใจ เขามองในลักษณะที่ว่า ช้า แต่อย่างน้อยอำนาจส่วนหนึ่งของรัฐอยู่ในมือของเขา แต่เราก็ต้องดูกันต่อไป คือสุดท้ายมันจะได้มาซึ่งการเปลี่ยนปลง ปฏิรูปจริงๆหรือเปล่า หรือว่าสุดท้ายเกมมันยาวไป คุยกันไปแล้วก็เกี๊ยเซี๊ยะกันไป จบลงไปแบบนี้ คนที่สู้มาไม่ได้อะไร สุดท้ายก็ลุกขึ้นมาทำอะไรกันเอง อย่างที่ผมว่ามันก็เป็นเรื่องจัดการความรู้สึกน่ะ ผมคิดว่าจริงๆ ต้องถามว่า สุดท้ายเป้าหมายของรัฐบาล คุณต้องการทำอะไรแค่ไหน บางทีพอเราตั้งคำถามแบบนี้ขึ้นมา เราอาจจะได้คำตอบว่าสุดท้ายบางทีเขาอาจจะไม่ได้คิดอย่างที่เราคิด หรืออย่างที่ผมคิดในแง่ของโครงสร้าง เพราะขนาดรัฐธรรมนูญเป็นอย่างนี้เขายังชนะการเลือกตั้งเลย เขาจะไปดิ้นรนให้เขาต้องเจ็บตัวทำไม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||
ทุนนิยาม: สำรวจตรวจตราแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตร ก่อนนโยบายค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ Posted: 03 Jan 2013 06:01 AM PST
นโยบาย 'เอาใจ' และ 'อุดหนุน' ภาคเกษตรของรัฐบาลไทยในหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมนี้ดูมีอนาคตสดใสมากขึ้น แต่กระนั้น เมื่อมองไปถึงเรื่องแรงงาน พบว่าคนไทยเป็นแรงงานในภาคนี้น้อยลง และแรงงานข้ามชาติก้าวเข้ามาเป็นฟันเฟืองที่สำคัญ แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพความเป็นอยู่และสภาพการจ้างงานแรงงานข้ามชาติเหล่านี้แล้ว ก็ดูเหมือนว่าเรากำลังจะย้อนกลับไปใช้ 'แรงงานทาส' อีกครั้ง
สภาพความเป็นอยู่ ในพื้นที่บ้านติดที่ดินในไร่นายจ้างของแรงงานข้ามชาติในเขต อ.แม่สอด จ. ตาก (ที่มาภาพ: จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ) นอกเหนือจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศแล้ว อีกหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ได้ให้สัญญาประชาคมไว้ก่อนเลือกตั้ง และได้ลงมือปฏิบัติจริงไปแล้วก็คือนโยบายรับจำนำข้าว โดยประกาศจำนำราคาข้าวไว้ที่ 15,000 บาท ต่อตัน ซึ่งถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้คนในสังคมมองย้อนกลับไปให้ความแก่ภาคเกษตรอีกครั้ง ด้านกระแสสังคมก็มีการพูดถึงกลุ่ม 'ชาวนา' ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้เป็นหลักมากขึ้น แต่กระนั้นเมื่อเราพิจารณาให้ยิบย่อยและลึกลงไปอีก ในหน้าข่าวกระแสหลักก็อาจจะมีเพียงแค่การพูดถึง 'ชาวนายากจน' และ 'ชาวนาร่ำรวย' เท่านั้น ส่วน 'แรงงานรับจ้างในภาคเกษตร' แทบที่จะไม่มีใครพูดถึง จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศเกือบครึ่งหนึ่งทำงานในภาคการเกษตร (ร้อยละ 41.1 ในปี 2554) แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยังคงต้องพึ่งพาการผลิตจากนอกภาคเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากแผนพัฒนาต่างๆ ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชากรมีโอกาสได้รับการศึกษามากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานก็หันเหจากภาคเกษตรกรรมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองว่าการทำงานภาคเกษตร เป็นงานที่เหนื่อยยากต้องพึ่งพาธรรมชาติ รายได้น้อยไม่แน่นอน และไม่มีสวัสดิการที่มั่นคงจึงทำให้วัยแรงงานในปัจจุบันไม่สนใจงานภาคเกษตร นอกจากนี้แรงงานภาคการเกษตร มาจากลักษณะงานที่เป็นงานหนัก มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก อีกทั้งยังได้รับผลตอบแทนต่ำ รายได้มีความไม่แน่นอนสูง โดยในปี 2552 ครัวเรือนลูกจ้างภาคเกษตรมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 11,087 ต่อเดือนเท่านั้น ขณะที่รายได้ของครัวเรือนไทยเฉลี่ย 20,903 ต่อเดือน จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของสัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรของไทยลดลงอย่างเห็นชัดเจนจากปี 2533 ที่มีแรงงานภาคเกษตรสูงเกือบ 2 ใน 3 ของผู้มีงานทำทั้งหมด (ร้อยละ 63.4) เหลือเพียงร้อยละ 41.1 ในปี 2554 ในทางกลับกันแรงงานได้ก้าวเข้าไปทำงานในภาคบริการ และภาคการผลิตเพิ่มขึ้น ข้อมูลดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันแรงงานไทยหันไปประกอบอาชีพด้านการผลิต และการบริการเป็นจำนวนมาก และทำงานด้านการเกษตรลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และ 'แรงงานข้ามชาติ' ก็เป็นคำตอบสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการเกษตรในปัจจุบัน
ชีวิตความเป็นอยู่และสภาพการจ้างงาน ทำไมผู้ประกอบการภาคการเกษตรจึงนิยมใช้แรงงานข้ามชาติ? ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าลักษณะงานที่เป็นงานหนัก มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก อีกทั้งยังได้รับผลตอบแทนต่ำ รายได้มีความไม่แน่นอนสูง กอปรกับทัศนะคติที่ผู้ประกอบการที่มีต่อแรงงานข้ามชาตินั้น เอื้อให้มีการพยายามแสวงหาแรงงานข้ามชาติมาเป็นปัจจัยผลิต ในด้านปัจจัยที่ทำให้แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากฝั่งพม่า (จากการลงพื้นที่สำรวจใน อ.แม่สอด จ.ตาก) ต้อง 'จำยอม' รับสภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคง และทนอยู่ในสภาพมาตรฐานคุณภาพชีวิตในระดับต่ำ ก็สืบเนื่องมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ รายได้ที่ต่ำกว่าอย่างมากในฝั่งพม่า รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองในอดีตของพม่าที่ไม่เอื้อแก่การดำรงชีวิตอย่างมี 'อนาคต' ได้ จากงานศึกษาของ โลมฤทัย วงษ์น้อย (สถานภาพการจ้างแรงงานต่างด้าวภาคการผลิตเกษตรของอำเภอพบพระ จังหวัดตาก, วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550) พบว่าเขตชายแดนนั้น (โดยเฉพาะ จ.ตาก) ผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่านั้น มีทัศนะคติเห็นว่า แรงงานข้ามชาติมีจํานวนมากและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น แรงงานข้ามชาติมีความอดทนในการทํางานมากกว่าแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติไม่เกี่ยงในหน้าที่การงานถึงแม้ว่างานนั้นจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพสูง รวมถึงลักษณะของงานที่ทําเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานซึ่งเหมาะกับแรงงานข้ามชาติ, แรงงานข้ามชาติทําให้งานไม่หยุดชะงักในฤดูกาลการเก็บเกี่ยวผลผลิต และแรงงานข้ามชาติทําให้งานไม่เสียหายและสามารถทําได้ต่อเนื่องกันตลอดทั้งปี ทั้งนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจแรงงานในภาคเกษตร เขต จ.ตาก เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2555 รวมถึงการเก็บข้อมูลในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยของ จ.เชียงใหม่ และลำพูน และรายงานข่าวจากจังหวัดในเขตชายแดนไทย-กัมพูชา (ช่วงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2555) พบประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่อง 'ชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ดี' และ 'สภาพการจ้างงานที่ขาดความมั่นคง' โดยสภาพการทำงานต้องทำงานตั้งแต่ 8.00 น. – 17.00 น. (หรืออาจจะมากกว่านั้น เช่น การเฝ้าไร่นาให้นายจ้างตลอดเวลา) ทำงานแทบจะทุกอย่างในขั้นตอนเพาะปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนด้านการจ้างงานนั้น นายจ้างจ่ายค่าแรงแบบรายวัน (พบในการลงพื้นที่สำรวจใน จ.ตาก) หรือแบบจ้างเหมา (พบในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และเขตชายแดนไทย-กัมพูชา) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด (จากการลงพื้นที่สำรวจใน จ.ตาก) ด้านค่าแรงมีความน่าสนใจคือ ในเขตตัว อ.แม่สอด จะมีการจ่ายค่าแรงที่สูงกว่าคือ 150 บาท แต่ในเขต ต.แม่กุ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลออกไป จะมีการจ่ายค่าแรงแค่ 100 บาท ต่อวัน (สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย) ในด้านสวัสดิการถึงแม้นายจ้างจะอนุญาตให้มีพื้นที่ปลูกบ้านพัก แต่ก็ไม่อนุญาตให้ทำการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพเอง (ถ้าจะให้เลี้ยงสัตว์ก็เป็นการเลี้ยงสัตว์ให้นายจ้าง ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนตัวของคนงาน) ส่วนเรื่องอาหารก็เป็นสิ่งที่คนงานต้องจัดหากันเอง รวมถึงการรักษาพยาบาลและยารักษาโรคต่างๆ คนงานก็ต้องจัดหากันเอง
นอกจากนี้ยังพบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงอีกรูปแบบที่น่าสนใจในอีกหลายที่ เช่น การจ้างแรงงานเกี่ยวข้าว ชายแดนไทย-กัมพูชา พบว่าลักษณะการจ้างงานจะเป็นการจ้างรายวัน โดยแรงงานชาวกัมพูชาจะรอให้นายจ้างชาวไทยมารอรับเพื่อข้ามแดนไปเกี่ยวข้าวในฝั่งไทย พร้อมนำเอกสารของนายจ้างชาวไทยที่มารอรับส่งตัว อาทิ บัตรประชาชนและทะเบียนบ้านเพื่อมาลงบันทึกในหนังสือรับส่งตัวเพื่อขอรับแรงงานชาวกัมพูชาข้ามแดนกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง หรือใช้วิธีการแบบอื่นในการเข้าเมือง และสภาพการจ้างงานนั้น จะจ้างเกี่ยวข้าวโดยเหมาเป็นไร่ ไร่ละ 550 บาท หรือจ้างเป็นรายวันอยู่ที่คนละ 180-220 บาท และการจ้างแรงงานเก็บลำไย ในเชียงใหม่และลำพูน นิยมใช้การจ้างแรงงานเป็นรายวัน วันละ 200 – 300 บาท หรือจ้างเหมาเป็นกิโลกรัม กิโลกรัมละ 2.5 บาท (ไม่มีสวัสดิการอื่นๆ เช่นที่พักหรืออาหาร คนงานต้องรวมกลุ่มกันเช่าบ้านและจัดหาอาหารกันเอง) เป็นต้น ทั้งนี้พบว่าแรงงานในภาคเกษตร โดยเฉพาะในเขตชายแดนอย่าง อ.แม่สอด จ.ตาก มีสภาพคล้ายกับถูกบังคับใช้แรงงานทางอ้อม ไม่มีสิทธิในการต่อรองเรียกร้องค่าจ้างหรือการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ ไม่มีสิทธิในการรวมตัวเพื่อต่อรอง เนื่องด้วยสถานะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้นายจ้างมีอำนาจต่อรองสูงกว่าคนงานเป็นอย่างมาก ค่าแรงที่ต่ำและการขาดอำนาจต่อรองของแรงงานข้ามชาตินี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นายจ้างในภาคเกษตรนิยมใช้แรงงานข้ามชาติที่มีสถานะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และอาจจะกล่าวได้ว่าการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรมีความยืดหยุ่นสูงมากกว่าในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยซ้ำ.
ข้อมูลประกอบการเขียน ข้อมูลลงพื้นที่สำรวจ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 3 – 4 พ.ย. 2555 ทิศทางการทำงานของแรงงานไทย (http://service.nso.go.th, เข้าดูเมื่อ 20-11-2555) แรงงานเขมรทะลักเกี่ยวข้าวไทย (โพสต์ทูเดย์, 21-11-2555) สถานภาพการจ้างแรงงานต่างด้าวภาคการผลิตเกษตรของอำเภอพบพระ จังหวัดตาก (โลมฤทัย วงษ์น้อย, วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550) สศก. เปิดผลศึกษาการจ้างแรงงานต่างด้าวใน 3 จ. ภาคกลาง ระบุมีแนวโน้มการจ้างที่ถูกกฎหมายมากขึ้น (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 12-3-2555)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||
"เรืองไกร" ยื่น กกต. วินิจฉัย "อภิสิทธิ์" พ้นสภาพ ส.ส. Posted: 03 Jan 2013 05:35 AM PST เรืองไกร ลีกิจวัฒนะยื่น กกต. วินิจฉัยว่า "อภิสิทธิ์" พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. แล้วหรือไม่ หลัง รมว.กลาโหม ลงนามคำสั่งถอนการบรรจุเป็นข้าราชการสัญญาบัตร และคำสั่งแต่งตั้งเป็นว่าที่ร้อยตรี ตามที่เมื่อวานนี้ (2 ม.ค.) มีข่าวว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ลงนามคำสั่งกระทรวงกลาโหม เพิกถอนการบรรจุเป็นข้าราชการสัญญาบัตรกับคำสั่งแต่งตั้งเป็น "ว่าที่ร้อยตรี" ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้นำ ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยอ้างเหตุจากความไม่สุจริต กรณีหลีกเลี่ยงขัดขืนการหลบหนีเกณฑ์ทหารเมื่อปี 2530 และทางกระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการต่อนายอภิสิทธิ์ กรณีนำหลักฐานไม่ถูกต้อง เข้ารับราชการ ทั้งการบรรจุ การแต่งตั้งยศ พร้อมระบุว่ากระบวนการดังกล่าวถือว่าสิ้นสุด และเสร็จสิ้นตามกระบวนการอย่างสมบูรณ์ พ้นขั้นตอนของกระทรวงกลาโหมนั้น ล่าสุดวันนี้ (3 ม.ค.) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. ได้ทำเรื่องร้องไปยังประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนุญ มาตรา 62 เพื่อให้ กกต. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคสาม และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา 10 (11) โดยการต้องส่งเรื่องกรณีที่สมาชิกภาพของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส. มีเหตุสิ้นสุด ไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ทั้งนี้จากรายงานในมติชนออนไลน์ ในหนังสือของนายเรืองไกร ได้มีหนังสือที่อ้างถึง 1. ร้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคสาม ด้วยการส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (6) จากกรณีถูกปลดออกจากราชการตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 1163/2555 หรือไม่ ซึ่งต่อมา กกต. ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ลต 0601/18440 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2555 เชิญให้ไปชี้แจงข้อเท็จจริง ดังความควรแจ้งแล้วนั้น ภายหลังจากที่ระยะเวลาได้ล่วงมาร่วม 50 วัน ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2556 กระทรวงกลาโหมได้มีข่าวออกมาที่เกี่ยวกับกรณีการเพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหม ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงในเว็บไซด์ข่าวสด ดังความต่อไปนี้ นายเรืองไกร ได้อ้าง เว็บไซด์ข่าวสด วันที่ 2 มกราคม 2556 ลงข่าวไว้ดังนี้ "บิ๊กโอ๋" เซ็นปลดออก-ถอดยศ "ว่าที่ร.ต.มาร์ค" หลักฐานชัดขาดคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในหนังสือคำสั่งเพิกถอนการบรรจุเข้ารับราชการทหาร และเพิกถอนการแต่งตั้งยศว่าที่ร้อยตรี ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว โดยดำเนินการต่อจากที่เคยทำมาแล้วให้ครบตามกระบวนการเท่านั้น ไม่มีอะไรใหม่ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะมีผลในทางปฏิบัติทันที จากนี้ไปผู้ถูกเพิกถอนก็ไม่สามารถใช้คำว่า ว่าที่ร.ต. นำหน้าชื่อได้อีก พล.อ.ชาญ โกมลหิรัญ เจ้ากรมเสมียนตรา กล่าวว่า รมว.กลาโหมลงนามในคำสั่งดังกล่าวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งเป็น 2 คำสั่งคือ การเพิกถอนการบรรจุเข้ารับราชการทหาร และการเพิกถอนการแต่งตั้งยศว่าที่ร.ต. ซึ่งกระทรวงกลาโหมออกเป็นคำสั่งไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงกลาโหมระบุว่าวันนี้กระทรวงกลาโหมได้ส่งจดหมายเรื่องเพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหมไปยังบ้านของนายอภิสิทธิ์ แล้วเพื่อให้เข้ารับทราบ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อ.สุกำพลได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1/2556 เรื่อง การเพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหม ในการบรรจุนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ารับราชการทหารและเพิกถอนคำสั่งการแต่งตั้งว่าที่ร.ต.อภิสิทธิ์ เป็นนายทหารสัญญาบัตร โดยคำสั่งมีใจความว่า จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2530 นายอภิสิทธิ์สมัครเข้ารับราชการในโรงเรียนนายร้อย จปร. โดยขาดคุณสมบัติการบรรจุเข้ารับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตร เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ในวัย 23 ปี เป็นบุคคลที่ไม่ผ่านการรับราชการทหาร ไม่ผ่านการตรวจเลือกทหารกองเกิน ไม่มีเอกสารใบสำคัญทางทหารหรือเอกสารการผ่อนผันที่ถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบกับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้ปกปิดข้อความอันเป็นจริง และหลอกลวงเจ้าหน้าที่ให้ผิดหลงว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน จากการตรวจสอบของคณะกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนกองประจำการและการแต่งตั้งยศทหารของนายอภิสิทธิ์เห็นว่าคำสั่งแต่งตั้งให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายทหารสัญญาบัตรนั้น เป็นคำสั่งที่ออกด้วยความผิดหลงและมีที่มาจากความไม่สุจริต จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งสิทธิและหน้าที่ประโยชน์ที่ได้รับจากคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้รัฐและราชการของกระทรวงกลาโหมเสียหาย จึงจำเป็นให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ประกอบกับมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.ยศทหาร พ.ศ.2479 และข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการบรรจุปลดย้าย เลื่อนและลดตำแหน่งข้าราชการกลาโหม พ.ศ.2502 หมวด 1 ข้อ 4(2) จึงให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหม ดังนี้ 1.คำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 720/30 ลงวันที่ 7 ส.ค.2530 เรื่องบรรจุเข้ารับราชการเฉพาะหมายเลข 1 นายอภิสิทธิ์ หมายเลขประจำตัว 6302030807 เป็นข้าราชการกระทรวงกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตรตำแหน่งรรก.อจ.ส่วนการศึกษารร.จปร. (ชกท.2701) อัตราพ.ต.รับเงินเดือนระดับน.1 ชั้น 3 (2,765 บาท) นอกนั้นคงเดิม 2.คำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 339/31 ลงวันที่ 26 เม.ย.2531 เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการกระทรวงกลาโหมพลเรือน เป็นนายทหารสัญญาบัตรเฉพาะในรายหมายเลข 1 ว่าที่ร.ต.อภิสิทธิ์ หมายเลข 6302030807 รรก.อจ.ส่วนการศึกษารร.จปร.(เหล่าสบ.) นอกนั้นคงเดิม ข้อ 2. จากความในคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1/2556 ดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า กระทรวงกลาโหมได้ยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลายเป็นผู้เคยถูกปลดออกจากราชการ ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (6) แล้วโดยสมบูรณ์ โดยคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1163/2555 เรื่อง ให้นายทหารสัญญาบัตรออกจากราชการ และคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1/2556 เรื่อง เพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหม จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคสาม อย่างชัดแจ้ง และเป็นเรื่องที่ กกต. ควรรีบเร่งทำหน้าที่โดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้ได้มีการเปิดสมัยประชุมสภาแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านหรือในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมไม่สง่างามและไม่เหมาะสม จนกว่าจะได้ข้อยุติจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนที่มิควรปล่อยให้เนิ่นช้านานอีกต่อไป อีกทั้งการอ้างเหตุไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือร้องต่อ ป.ป.ช. ก็อาจเข้าลักษณะเป็นการฟ้องหรือร้องต่อองค์กรอื่น ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของ กกต. แต่อย่างใด ข้อ 3. จึงเรียนมาเพื่อขอยืนยันคำร้องให้ กกต. รีบเร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๑ วรรคสาม และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา 10 (11) โดยการต้องส่งเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไปโดยเร็วด้วย ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 91 วรรคสาม ระบุเรื่องสมาชิกสภาพของ ส.ส. ว่า "ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก และให้ประธานแห่งสภานั้นส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง" ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 106 วรรค 5 ระบุว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 102 โดยมาตรา 102 วรรค 6 ระบุว่า "เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ" เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||
Posted: 03 Jan 2013 05:19 AM PST "..สื่อหลายสำนักต่างเสนอจับประเด็นไปที่ผลกระทบจาก 300 บาท? หลายสำนักข่าวติดต่อ ทำสกู๊ปชีวิตลูกจ้างหลัง 300 บาท ต่างมุ่งประเด็นเพราะนโยบายค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศจึงทำให้เกิดการเลิกจ้าง ปิดกิจการ ประหนึ่งเหมือนว่านายทุนพวกนั้นถูกกระทำ และสมน้ำหน้าลูกจ้างเหล่านี้ที่ถูกลอยแพ? แต่พวกคุณรู้หรือไม่ว่า นายจ้างเหล่านั้น รอเวลาหาเหตุที่จะกระทำเช่นนั้นอยู่แล้ว.." 3 ม.ค.56, ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีกล่าวถึงกรณีการนำเสนอข่าวบริษัทแห่งหนึ่งย่านสระบุรีปิดกิจการลอยแพลูกจ้างกับนโยบายค่าแรง 300 บาท | ||||||||||||
ข้อแตกต่างวันปีใหม่อิสลาม และสากล Posted: 03 Jan 2013 04:13 AM PST ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีวันปีใหม่อิสลาม และสากลแด่ผู้อ่านทุกท่านหรือ Selamat Tahun Baru 1434 Hijriah/2556/2013 เป็นที่ทราบกันดีว่าคนไทยมีการแบ่งช่วงเวลาและนับศักราช โดยใช้พื้นฐานจากความเชื่อตามแนวพุทธศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ และเบื้องหลังด้านรูปแบบการปกครอง อันได้แก่ 1. พ.ศ. หรือ พุทธศักราช เป็นการนับศักราชแบบตะวันออกที่นับถือพระพุทธศาสนา โดยเริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน เป็น พ.ศ. 1 2. จ.ศ. หรือ จุลศักราช หรือ ศักราชน้อย เป็นศักราชที่ไทยใช้กันก่อนใช้รัตนโกสินทร์ ซึ่งเริ่มภายหลังพุทธศักราช 1181 ปี มาภายหลังก็ค่อย ๆ ลดความนิยมลงไป 3. ร.ศ. หรือ รัตนโกสินทร์ศก เริ่มใช้ตั้งแต่ปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ร.1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใน พ.ศ. 2325 สำหรับการแบ่งช่วงเวลาสากลที่นิยมใช้ทั่วโลกนั้น จะแบ่ง ค.ศ. หรือคริสต์ศักราช เป็นการนับตามแบบตะวันตก หรือประเทศที่นับถือ ศาสนาคริสต์ โดยเริ่มนับจากปีประสูติของพระเยซูคริสต์ และในปีปัจจุบันคือ ค.ศ.2013 ในขณะที่ ฮ.ศ. หรือ ฮิจเราะห์ศักราชนั้น นิยมใช้ในประเทศแถบตะวันออกกลางที่นับถือศาสนาอิสลามและชุมชนมุสลิมรวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนับตั้งแต่ปีที่ศาสดามุฮัมมัดอพยพจากเมืองมักกะห์ไปเมืองมะดินะห์ประเทศซาอุดิอารเบีย นับเป็นปี ฮ.ศ. 1 ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 610 หรือ ราว พ.ศ. 1153 สำหรับในปีนี้ กล่าวคือ 1 มกราคม พ.ศ. 2556ซึ่งเป็นปีใหม่สากล กับ ปีฮิจเราะห์ศักราชอิสลามใหม่ หรือ 1 เดือน มุฮัรรอม ฮ.ศ.1434 มีความห่างกันหนึ่งเดือนครึ่ง (ตรงกับวันพฤหัสที่ที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ) ปี ค.ศ.และปี พ.ศ. นั้นคิดตามการหมุนเวียนของดวงอาทิตย์ ในขณะที่ปี ฮ.ศ. ตามดวงจันทร์ ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรอานมีการกล่าวถึงดวงอาทิตย์ 33 ครั้ง มีการกล่าวถึงดวงจันทร์ 27 ครั้ง รวมกันได้ 60 ครั้ง คิดเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับ 30 ครั้ง ความเป็นจริงฮิจเราะห์เป็นคำภาษาอาหรับ ตามรากศัพท์แปลว่า การตัดขาด หรือการเคลื่อนย้าย แต่เมื่อพิจารณาความหมายในทางวิชาการแล้วจะหมายถึง: การละทิ้งสิ่งที่พระเจ้าทรงห้าม หรือการโยกย้ายจากสถานที่ที่น่าสพรึงกลัวไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย หรือการอพยพจากสถานที่อันไม่สามารถแสดงตนเป็นมุสลิมไปสู่อาณาจักรอิสลาม สำหรับวิถีวัฒนธรรมของมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอดีตหลายชุมชนสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะมีการอ่านบทขอพรเป็นการส่วนตัวหรือหมู่คณะในมัสยิดของชุมชนเพื่อขอภัยโทษในอดีตที่ผ่านมา และขอความเป็นศิริมงคลในปีถัดไป ถึงแม้หลายชุมชน หรือหลายคนจะไม่ปฏิบัติเพราะถือว่าท่านศาสนฑูต มุฮัมมัด ไม่เคยทำเป็นแบบอย่าง แต่ในช่วงยี่สิบปีก่อนหน้านี้ พบว่า โรงเรียนสอนศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อบรมประจำมัสยิด (ตาดีกา) โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา จะมีกิจกรรมรำลึกปีฮิจเราะห์ศักราชใหม่อย่างเอิกเกริก ซึ่งมีกิจกรรมมากมายในงาน ไม่ว่าจะเป็นการเดินพาเหรดเชิงสร้างสรรค์ การประกวดกิจกรรมบนเวที กีฬาต่างๆ ทั้งพื้นบ้านและสากล รวมทั้งการบรรยายธรรมเรื่องคุณค่าและบทเรียนฮิจเราะห์ศักราชใหม่ สำหรับหลักการที่เกี่ยวข้องกับการฮิจเราะห์สามารถทำความเข้าใจได้ดังนี้ (โปรดดู วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ .การฮิจเราะห์ในประชาไทออนไลน 8/9/2548 ) 1.ในยุคแรกของอิสลาม การฮิจเราะห์ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิญาณตนเข้ารับอิสลามทุกคน จากเมืองมักกะห์ ไปยังเมืองมาดีนะห์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ใประเทศซาอุดิอาระเบีย ทั้งนี้เพื่อสร้างประชาคมมุสลิมที่นครมาดีนะห์เป้นมหานครแห่งสันติสุข เนื่องจากประชากรมุสลิมที่นั่นมีน้อย ยกเว้นคนอ่อนแอที่ขาดปัจจัย เช่น คนชรา เด็ก สตรีหรือทาส เป็นต้น 2.ภายหลังการบุกเบิกนครมักกะห์ในปีที่ 8 หลังการฮิจเราะห์ (ของศาสนฑูตมูฮัมหมัด) บทบัญญัติเกี่ยวกับการฮิจเราะห์ ก็เปลี่ยนไป เนื่องจากสถานการณ์ในมักกะห์เปลี่ยนไป กล่าวคือการปฏิบัติศาสนากิจใดๆ สามารถทำได้โดยอิสระเสรี การฮิจเราะห์จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป ดังวัจนะของศาสนฑูตมุฮัมหมัด ที่บันทึกไว้โดยอิหม่ามบูคอรีย์และมุสลิมความ ว่า "ไม่มีการฮิจเราะห์อีกแล้ว หลังการบุกเบิกมักกะห์ แต่การณ์ทั้งหลายขึ้นอยู่กับการเจตนาและการต่อสู้" (บันทึกไว้โดยอิหม่ามบูคอรีย์และมุสลิม) 3.โดยนัยยะนี้ อิหม่ามชาฟีอีย์ จึงระบุในตำรา "อัลอุม" ของท่านว่า "วัตรปฏิบัติแห่งบรมศาสดา บ่งชี้ว่า ข้อกำหนดให้ฮิจเราะห์สำหรับผู้ที่สามารถทำได้นั้น เป็นข้อบังคับเหนือผู้ที่ไม่สามารถดำรงตนเป็นมุสลิมอยู่ได้ในแผ่นดินที่ผู้นั้นอยู่อาศัย (ส่วนผู้ที่สามารถดำรงตนเป็นมุสลิมได้อย่างเสรีก็ไม่จำเป้นต้องฮิจเราะห์) เห็นได้จากที่บรมศาสนฑูตอนุญาตให้ลุงของท่าน คือ อับบาส และคนอื่นๆ อีกหลายคน คงอยู่ในมักกะห์ต่อไป เพราะคนเหล่านี้เข้มแข็งพอที่จะรักษาความเป็นมุสลิมของเขาไว้ได้ ฮาฟิซ อิบนุ หะญัร กล่าวไว้ในตำรา "ฟัตหุล บารี" เล่มที่ 7หน้า 229 ว่า "โดยนัยนี้ผู้ที่สามารถเคารพสักการะบูชาอัลเลาะห์ได้ ในแผ่นดินใดก็ตามที่เขาอยู่ เขาไม่จำเป็นต้องฮิจเราะห์ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จำเป็น" ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2556 ถึงแม้ตามหลักการอิสลามมุสลิมจะร่วมฉลองอย่างคนสากลไม่ได้เพราะมีหลักเกณฑ์ วิถีปฏิบัติตามศาสนบัญญัติห้ามไว้ แต่มิได้หมายความว่าจะอวยพรในวาระที่ดีๆ ของคนอื่น วัฒนธรรมอื่น อันเป็นการแสดงน้ำใจที่ดีต่อต่างศาสนิกภายจรรยาบรรณของอิสลามมิได้ ดั่งเช่นคำอวยพรของผู้นำศาสนาอิสลามอียิปต์ ศ.กร.อาลี ญุมอะห์ต่อชาวคริสเตียนในอียิปต์ในวัน คริสต์มาสปีนี้ (โปรดดูใน https://www.facebook.com/photo.php?fbid=577724435587120&set=a.567624673263763.147366.172793899413511&type=1&ref=nf) ดังนั้นในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2556 และ ฮ.ศ.1434 นี้ หวังว่าทุกคนคงจะไม่ลืมทบทวนเรื่องราวในอดีต ปี 2555 /ฮ.ศ. 1434 โดยเฉพาะเหตุการณ์ร้ายในจังหวัดชายแดนใต้ ดังนั้นขอให้เหตุร้ายต่างๆ จงอพยพจากเราไป และทดแทนด้วยความสุขและสมานฉันท์ คนที่เป็นคนผิดก็จงกลับใจเป็นคนดีสมกับเป้าหมายของการฮิจเราะห์ มุสลิมเองก็ควรยึดหลักการอยู่ร่วมอย่างสันติตามคำสั่งของพระเจ้า แนวทางศาสนฑูตมูฮัมมัดและอัครสาวกของท่าน ดังที่อัลลอฮได้ตรัสไว้ความว่า อัลลอฮมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ไม่ได้ต่อต้านเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะทำความดี แก่พวกเขาและให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮทรงรักผู้มีความยุติธรรม? (ซูเราะฮอัลมุนตะฮินนะฮ: 8) ในสมัยอุมัรอิบนุค๊อฎฏ๊อบ กาหลิบ (คอลีฟะฮ) ที่ 2 ผู้ทรงธรรม เคยนำเงินจากองทุนบัยตุลมาล (คลังของรัฐ) ให้แก่ผู้ขัดสน อนาถา ชาวคัมภีร์ (คริสต์และยิว) โดยท่านได้ยกโองการความว่า ?แท้จริงซะกาตนั้นเป็นกรรมสิทธฺของผู้ยากจน และอนาถา?และท่านกล่าวเสริมว่า นี่คือผู้ยากจน อนาถา ชาวคัมภีร์ (โปรดดูหนังสือ Figh al- Zakah : Qardhawi,1993 2/705-706 )และเมื่อท่านอุมัร (ร่อฎียัลลอฮุอันฮ) ไปเยี่ยมราษฎรที่เมืองชาม (ซีเรียปัจจุบัน) ณ ที่นั่นท่าพบชาวคริสต์เผ่ามุจซูมีน ซึ่งประสบความลำบาก ดังนั้น ท่านจึงใช้เจ้าหน้าที่กองคลัง บัยตุลมาล นำเงินกองทุนดังกล่าวจ่ายให้กับพวกเขา (al-Qardhawi,1994: 2/675)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||
ผังเมืองรวมนครราชสีมาและเขาใหญ่ Posted: 03 Jan 2013 04:09 AM PST ขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมื จะสังเกตได้ว่าผังเมืองรวมทั้ง 3 ฉบับล้วนหมดอายุแล้ว และได้ต่ออายุครั้งละ 1 ปี ครบ 2 ครั้ง จนขาดอายุผังเมืองหมดไปแล้ว ขณะนี้ถือว่าเกิดสุญญากาศผังเมื ขณะนี้ตามร่างผังเมืองรวมจังหวั สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่ ข้อนี้ทำให้เกิดการร้องเรี มีข้อวิตกจริตว่าการที่ผังเมื การสร้างห้องชุดตากอากาศ หรือโรงแรมที่มีหลายชั้น ในพื้นที่เขาใหญ่ก็ไม่มีอาคารสู การห้ามจัดสรร ห้ามสร้างอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ ยิ่งผลักดันให้ผู้ซื้ออสังหาริ การที่รัฐบาลใช้มาตรการแข็งกร้ ยิ่งกว่านั้นโดยที่เขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่เกินกว่าจังหวั แต่การออกข่าวอย่างนี้ ก็เท่ากับเป็นการช่วยกระตุ้ และในที่สุดแล้ว เชื่อว่าผังเมืองรวมฉบับที่ใหญ่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||
'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' ยื่นอุทธรณ์ 'คดี 3G' ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว Posted: 03 Jan 2013 02:29 AM PST ความคืบหน้าหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและไม่คุ้มครองชั่วคราวในคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประมูลคลื่นความถี่ ย่าน 2.1GHz พร้อมทั้งออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผลว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่มีสิทธิและหน้าที่ เสมือนหนึ่งผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.55 ล่าสุด (3 ม.ค.56) ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องของศาลปกครองกลางแล้ว โดยเว็บไซต์เนชั่นทันข่าว รายงานว่า รักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องของศาลปกครองกลางกรณีขอให้เพิกถอนการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว โดยยื่นทางไปรษณีย์ไปเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2555 และตรวจสอบแล้วว่าคำร้องอุทธรณ์ส่งถึงสำนักงานศาลปกครองแล้วเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 2 ม.ค. 2556 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการยื่นในประเด็นเดิมโดยผู้ตรวจฯ ได้ยืนยันว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ไม่ได้มีสภาพเป็นนิติบุคคล การดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยธุรการที่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย คือสำนักงาน กสทช. ซึ่งอยู่ในอำนาจของผู้ตรวจฯที่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลฯ ได้ นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถยื่นเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองได้ในกรณีที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเรื่องที่มีผลกระทบต่อความเสียหายของประชาชนส่วนรวม หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในกรณีการประมูลคลื่นความถี่ 3G ผู้ตรวจฯ เห็นว่าไม่ได้มีการแข่งขันที่เสรีเป็นธรรม และสังคมมีความคลางแคลงใจในประเด็นนี้ ซึ่งยังไม่ได้มีการวินิจฉัย กรณีดังกล่าวจึงมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ประกอบมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 ซึ่งเชื่อว่าศาลปกครองสูงสุดน่าจะรับคำอุทธรณ์ของผู้ตรวจฯไว้พิจารณา และมีการพิจารณาคำขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอให้กำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาที่ขอให้ศาลฯสั่งระงับการออกใบอนุญาต 3G ไว้ก่อนด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||
รายงาน : จำคุก 10 ปี คดีลักลอบขนคนงานพม่า เสียชีวิตในรถห้องเย็น 54 ศพ Posted: 03 Jan 2013 02:09 AM PST เป็นเวลาร่วม 5 ปีกว่าคดีนี้จะสิ้นสุดลง เหตุเกิดเมื่อ 9 เม.ย.51 แรงงานพม่าเสียชีวิต 54 รายจาก 120 รายที่ลักลอบขน ย้ายคนด้วยรถห้องเย็นในสภาพแออัดยัดเยียด เป็นข่าวครึกโครม ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งหมดลดหลั่นกันไปตั้งแต่ 3-10 ปี
คดีแรงงานพม่าเสียชีวิต 54 ศพเมื่อปี พ.ศ.2551 ศาลพิพากษาชั้นต้นตัดสินคดีไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.55 ที่ผ่านมา ณ ศาลจังหวัดระนอง โดยตัดสินจำคุกจำเลยทั้งหมด แต่มีโทษลดหลั่นกันได้แก่ นายดำรง ผุสดีจำคุก 10 ปีฐานประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย บาดเจ็บสาหัส และฐานร่วมกันช่วยให้คนต่างด้าวพ้นจาการจับกุม นายเฉลิมชัย วิฤทธิ์จันทร์ปลั่งจำคุก 9 ปี ฐานทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย บาดเจ็บสาหัส และฐานร่วมกันกระทำการให้การช่วยเหลือให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้งร่วมด้วยช่วยกันให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม นายจิรวัฒน์ โสภาพันธ์วรากุล และนางปัญชลีย์ ชูสุข จำคุก 6 ปีและ 3 ปีตามลำดับ ฐานมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้ความช่วยเหลือและความสะดวกแก่คนต่างด้าว แต่นางปัญชลีย์ให้การสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 3 ปี นอกจากนี้ศาลยังตัดสินให้นายดำรง ผุสดี และนายเฉลิมชัย วิฤทธิ์จันทร์ปลั่งจ่ายเงินชดเชยและค่าไร้อุปการะแก่บุตรผู้เสียชีวิตจำนวน 10,000 และ 653,134 บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จ่ายให้แก่โจทย์ คือ นายอู้ตัดล่วย ซึ่งเป็นสามีผู้เสียชีวิตและเป็นเหยื่อผู้เสียหายในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย เป็นเวลาร่วม 5 ปีกว่าคดีนี้จะสิ้นสุดลง ผู้เขียนจำได้ว่าเหตุการณ์เกิดก่อนวันรื่นเริงอันสำคัญของไทยคือ วันสงกรานต์ไม่กี่วัน เหตุเกิดเมื่อวันคืนวันที่ 9 เมษายน 2551 เป็นข่าวสะเทือนขวัญไปทั่วโลก คนตายจำนวน 54 ราย จากการขนย้ายคนด้วยรถห้องเย็นขนาดกว้าง 2.44 เมตร ยาว 6.25 เมตร สูง 2.50 เมตร มีการกวาดต้อนแรงงานพม่าจำนวนถึง 120 คนเข้าไปอยู่ในนั้น สภาพที่แออัดยัดเยียดเบียดเสียดกันยืนในห้องเย็น เพื่อเดินทางจากระนองไปภูเก็ต แต่รถเคลื่อนตัวออกไปได้เพียงครึ่งทาง เครื่องทำความเย็นกลับใช้การไม่ได้ ทำให้แรงงานพม่าขาดอากาศหายใจ ดิ้นทุรนทุรายภายในห้องเย็น กว่าคนขับจะทราบว่าเครื่องทำความเย็นใช้การไม่ได้ก็สายเกินไป เมื่อคนขับเปิดประตูห้องเย็น ได้พบร่างผู้คนนอนทับกันเรียงราย จากนั้นคนขับรถก็หลบหนีไป นับเป็นความตายและบาดเจ็บที่ทุกข์สาหัส หากไม่ใจแคบเกินไปที่จะรู้สึก กรณีการเสียชีวิตหมู่ครั้งนั้น ส่งผลให้หลายฝ่ายให้ความสนใจแม้แต่รัฐบาลพม่า ซึ่งละเลยประชาชนของตนเองมานาน ได้เข้ามาดูแลคดีนี้อย่างใกล้ชิด เป็นประวัติศาสตร์ของการดูแลประชาชนที่อยู่นอกประเทศของพม่าเลยทีเดียว ด้านฝ่ายไทย มีองค์กรพัฒนาเอกชนและคณะกรรมการสิทธิเข้าไปให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น และเป็นกรณีแรกที่มีการตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น แต่ในการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอดคือ นายธนู เอกโชติ นายนัสเซอร์ อาจวาริน จากสภาทนายความและนายกฤษดา สัญญาดี ทนายความจากโครงการประสานชาติพันธุ์ อันดามันภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ผู้เขียนเคยสรุปบทเรียนกรณี 54 ศพเมื่อปี 2552 ปัญหาอุปสรรคทางด้านกฎหมายต่อกรณีนี้คือ เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 กำลังจะประกาศใช้ แต่กรณีของ 54 ศพ ถูกมองว่าไม่เข้าข่ายข้อกฎหมายของการค้ามนุษย์ การต่อสู้ทางกฎหมายจึงใช้กฎหมายอื่นๆ ในการต่อสู้เอาผิดผู้กระทำผิดและเรียกร้องค่าเสียหาย เบื้องต้นศาลตัดสินยกฟ้อง แต่คณะทนายความได้ยื่นอุทร โดยให้นายอู้ตัดลวยเป็นโจทย์ยื่นฟ้องตามกฎหมายอาญา ต่อสู้คดีมาอีก 3 ปี จนกระทั่งศาลได้ตัดสินคดีในวันนี้ นายกฤษดา สัญญาดี ทนายความโครงการประสานชาติพันธุ์อันดามันภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป กล่าวว่า "คดีนี้ในระยะแรกมีองค์กรต่างๆ ให้ความสนใจอย่างมาก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปหลายองค์กรได้หายไปหมด แต่คดีนี้เป็นคดีที่ทางฝ่ายศาลส่วนกลางให้ความสำคัญมาก เป็นประเด็นที่สาธารณะให้ความสนใจเพราะครั้งหนึ่งเคยถูกยกฟ้องแล้วเรากลับมาต่อสู้อีกครั้ง โดยให้เหยื่อเป็นโจทย์ยื่นฟ้องเอง ในทางกฎหมายเป็นคดีที่สำคัญมากทีเดียว มีผลสะเทือนต่อทางสังคมในวงกว้าง" ด้านนายอู้ตัดล่วย เมื่อทราบผลการตัดสิน เขาเพียงแต่ยิ้มบนใบหน้า จากการสื่อสารผ่านล่ามเขาระบุว่า ดีใจที่กฎหมายไทยศักดิ์สิทธิ์ การขึ้นศาลในฐานะแรงงานข้ามชาติไม่ง่ายนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสียเวลา เสียขวัญ เสียกำลังใจ เสียเงินทอง เมื่อครั้งเกิดเหตุลูกชายคนโตอายุเพียง 13 ปี ปัจจุบันอายุ 18 ปี เป็นเวลา 5 ปีกับการสู้เพื่อความเป็นธรรม เมื่อล่ามบอกจำนวนเงินชดเชยที่เขาจะได้รับ จำนวน 6 แสนกว่าบาท (หากไม่มีการต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลย ต้องรอจนกว่าคดีจะสิ้นสุดอีกครั้ง) แม้จะเป็นเงินจำนวนมาก แต่เรากลับไม่เห็นอาการของความต้องการเงิน เขานิ่งและยิ้มเพียงเท่านั้น เป็นยิ้มที่ได้รู้ว่ากฎหมายไทยมีความยุติธรรม เขาบอกผ่านล่ามว่าจะไปสุสานที่เก็บศพภรรยา ซึ่งอยู่ที่จังหวัดระนอง เพื่อบอกกล่าวเรื่องราวของวันนี้กับภรรยา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||
เมืองในอาเจะห์เตรียมสั่งห้ามผู้หญิงนั่ง 'คร่อม' มอเตอร์ไซค์ Posted: 03 Jan 2013 01:41 AM PST เตรียมออกกฎหมายแบนพฤติกรรมดังกล่าว เหตุผู้ว่าฯ ระบุเป็นการละเมิดกม. ชารีอะห์และทำให้ศีลธรรมตามศาสนาอิสลามตกต่ำ โดยก่อนหน้านี้อาเจะห์ได้สั่งห้ามการใส่กางเกงรัดรูปในหมู่สตรีด้วย 3 ม.ค. 55 - เว็บไซต์จาการ์ตาโพสต์รายงานว่า ที่ว่าการเมืองโลคเสมาเว เมืองที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองในเขตปกครองพิเศษอาเจะห์ ได้เตรียมออกกฎหมายสั่งห้ามผู้หญิงนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ขณะโดยสารซ้อนท้าย โดยผู้ว่าฯ เมืองดังกล่าวระบุว่า พฤติกรรมดังกล่าวไม่เหมาะสมและขัดต่อกฎหมายชารีอะห์ ภายใต้กฎหมายดังกล่าว สตรีในเมืองโลคเสมาเว ในเขตอาเจะห์ จำเป็นต้องโดยสารซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์โดยห้อยขาทั้งสองข้างมาไว้ด้านเดียวกันเท่านั้น ทั้งนี้ การออกกฎหมายดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลท้องถิ่นอาเจะห์ได้ออกกฎหมายสั่งห้ามสตรีใส่กางเกงที่รัดรูปจนเกินไป การกำหนดให้การปาหินเป็นบทลงโทษต่อผู้ที่คบชู้ และให้เฆี่ยนลงโทษผู้ที่รักเพศเดียวกัน ซูไอดี ยาห์ยา ผู้ว่าฯ เมืองโลคเสมาเว กล่าวในคำปราศรัยวันปีใหม่ว่า การเตรียมออกกฎหมายดังกล่าวมาจากการปรึกษาหารือระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว รวมถึงอุลามา หรือครูสอนศาสนาท้องถิ่น เขายังกล่าวด้วยว่า นโยบายดังกล่าว จะเป็นการฟื้นฟูคุณธรรมและค่านิยมท้องถิ่นที่ดีให้กลับมาได้ และยังเป็นการเชิดชูศักดิ์ศรีของสตรีในภูมิภาคนี้ ซูไอดีกล่าวว่า ทางที่ว่าการท้องถิ่น จะเริ่มประชาสัมพันธ์นโยบายดังกล่าวแต่สาธารณะตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ก่อนจะบังคับใช้ข้อห้ามดังกล่าวเป็นกฎหมาย เขาเสริมด้วยว่า ยังพิจารณาเรื่องการสั่งห้ามสตรีใส่กางเกงยีนส์ด้วย "ในศาสนาอิสลาม สตรีห้ามสวมใส่กางเกงยีนส์" เขากล่าว อย่างไรก็ตาม มีเสียงคัดค้านจากองค์กรด้านสิทธิสตรีที่มองว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการใช้อคติต่อสตรีมากกว่าแก้ปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง "ฉันไม่เข้าใจเป้าหมายของนโยบายดังกล่าว รัฐบาลท้องถิ่นน่าจะให้ความสนใจกับการพิทักษ์และให้บริการแก่สตรีที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง และส่งเสริมการศึกษาแก่สตรีมากกว่า" ยูนิยานติ ชูไซฟาห์ ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยความรุนแรงต่อสตรีกล่าว สมาชิกสภากฎหมายท้องถิ่น เอวา คูซุมา ซุนดาริ เห็นด้วยกับยูนิยานติ โดยกล่าวว่า การโดยสารซ้อนท้ายแบบข้างอาจจะทำให้ผู้โดยสารเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้มากกว่า เธอกล่าวว่า ในประเทศมาเลเซีย ผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จะต้องนั่งคร่อมตามกฎหมายด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย "ในกรณีนี้ มาเลเซียเห็นจะฉลาดกว่าที่ว่าการเมืองโลคเสมาเว" เธอกล่าว "คุณไม่สามารถออกกฎหมายจากอารมณ์ความรู้สึกที่ขึ้นอยู่กับปัจเจกแต่ละคน นโยบายสาธารณะจำเป็นต้องส่งเสริมการพิทักษ์สาธารณะ" ด้านนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีจากเอ็นจีโอท้องถิ่น ได้คัดค้านการออกนโยบายดังกล่าว และเรียกมันว่าเป็นนโยบายที่บ้าบิ่น "วิธีที่สตรีขี่จักรยาน วิธีที่พวกเธอจะพูดจา หรือการแต่งตัว ไม่ควรเป็นเรื่องของรัฐบาล" นอร์มา มานาลู ตัวแทนจากเอ็นจีโอด้านสิทธิสตรีกล่าว ทั้งนี้ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีศาสนิกในศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก แต่ประชากรส่วนใหญ่ดำเนินตามศาสนาอิสลามสายกลาง อย่างไรก็ตาม ในอาเจะห์ ได้มีการใช้กฏหมายศาสนาอิสลาม หรือ กฎหมายชารีอะห์ตั้งแต่ปี 2544 หลังจากที่ได้แยกตัวเป็นเขตปกครองพิเศษจากอินโดนีเซีย มีรายงานว่าในปัจจุบัน ยังมีการสั่งเฆี่ยนผู้ที่ถูกจับได้ว่าเล่นการพนันหรือดื่มแอลกฮอลล์ในอาเจะห์ด้วย เรียบเรียงจาก: Aceh Town to Ban Female Passengers from Straddling Motorcycles ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||
ชาวบ้านอยุธยา ฟ้องผู้ว่าฯ-ปลัดจังหวัดฯ ปลดผู้ใหญ่บ้านโดยมิชอบ Posted: 03 Jan 2013 01:28 AM PST จวกลุแก่อำนาจทางปกครองทั้งที่คณะ กก.ตรวจสอบแล้วไม่มีมูล รวบรัดสั่งปลดผู้ใหญ่บ้านโดยไม่มีความผิด นายกสมาคมต้านโลกร้อยเผยใช้เป็นคดีตัวอย่างเจ้าหน้าที่รัฐรังแกตัวแทนประชาชน พร้อมเรียกค่าเสียหาย นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า วันนี้ (3 ม.ค.56) เวลา 13.00 น.สมาคมฯ ได้เป็นตัวแทนชาวบ้านหมู่ที่ 5 ต.พยอม อ.วังน้อย จ.อยุธยา จำนวน 199 คน ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อศาลปกครองกลาง ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 และชาวบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 นายศรีสุวรรณ ระบุว่า เหตุดังกล่าวเกิดจากการที่มีกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์และผู้สนับสนุนผู้พ่ายแพ้การเลือกผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ต.พยอม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.55 ได้พยายามร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านดังกล่าวต่อนายอำเภอวังน้อย และผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยา ภายหลังจากที่ทราบผลการเลือกตั้งว่าฝ่ายตนพ่ายแพ้การเลือกตั้งไป 4 คะแนน จึงหาเหตุชักจูงแนวร่วมในพื้นที่ให้ส่งหนังสือคัดค้านผลการเลือกผู้ใหญ่บ้านดังกล่าว ซึ่งต่อมาเมื่อคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่นายอำเภอแต่งตั้งได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าไม่มีมูล จึงมีความเห็นให้ยกเลิกคำร้อง จนทำให้กลุ่มผู้ร้องดังกล่าวเป็นเดือดเป็นแค้นและได้ร้องเรียนกล่าวหานายอำเภอวังน้อยต่อไปอีกว่าทุจริตต่อหน้าที่ แต่นายอำเภอก็สามารถชี้แจงได้ครบถ้วน กระจ่างทุกประเด็น อย่างไรก็ตามปลัดจังหวัดอยุธยาซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วย จึงลุแก่อำนาจมีคำสั่งปลดผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ต.พยอมออกจากตำแหน่งทันที เมื่อวันที่ 24 ก.ย.55 โดยไม่เคยเรียกผู้ถูกกล่าวหาและผู้มีส่วนได้เสียไปชี้แจงแต่อย่างใด และไม่ยอมพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ของผู้ใหญ่บ้านดังกล่าวเลย จนผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในท้องที่หมู่ที่ 5 จำนวน 199 คนต้องมามอบอำนาจให้สมาคมฯ เป็นธุระในการฟ้องศาลปกครองเพื่อเรียกความเป็นธรรมกลับคืนมา นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า คดีนี้นอกจากจะฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งปลดผู้ใหญ่บ้านดังกล่าวแล้ว ยังขอให้ศาลสั่งให้ผู้ว่าฯ และปลัดจังหวัดชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีด้วยอีก 2 แสนกว่าบาท พร้อมกับให้ตั้งคณะกรรมการอิสระมาสอบวินัยปลัดจังหวัดดังกล่าวด้วย โดยคดีนี้จะใช้เป็นต้นแบบคดีตัวอย่างที่ใช้เป็นหลักให้กับผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทางปกครองของรัฐรังแกตัวแทนประชาชนด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||
TDRI: ระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า: สิ่งที่คนไทยพึงได้รับ Posted: 02 Jan 2013 11:28 PM PST
งานวิจัย สู่ระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าภายในปี พ.ศ.2560 โดย ดร. สมชัย จิตสุชนและคณะ (โดยการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ชี้ให้เห็นว่าความกังวลสองประการข้างต้นสามารถหลีกเลี่ยงได้หากมีการจัดการที่ดีพอ โดยงานวิจัยเริ่มจากระดมความเห็นเพื่อกำหนดประเภทและระดับสวัสดิการที่คนไทยควรได้รับตั้งแต่เกิดจนตาย โดยยึดหลักความสมเหตุสมผล ไม่มากไปและไม่น้อยไป (เรียกว่าสวัสดิการอันพึงปรารถนา) จากนั้นทำการคำนวณงบประมาณภาครัฐที่จะต้องใช้โดยอิงกับฐานข้อมูลการใช้จ่ายจริงต่อหัว แล้วจึงเสนอแนะแนวทางในการจัดหาและจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อให้คนไทยสามารถมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าพื้นฐานและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังระยะยาวได้ เริ่มจากส่วนแรก สวัสดิการอันพึงปรารถนาที่ได้จากการระดมความเห็นแสดงในตารางข้างล่าง
ด้วยฐานความคิดข้างต้น คณะนักวิจัยได้พิจารณาทางเลือก 'ชุดสวัสดิการ' 4 ชุด คือ
สวัสดิการชุดที่สี่เป็นทางเลือกดีที่สุดและควรส่งเสริม สิ่งที่ต้องคิดต่อเนื่องคือจะจัดหางบประมาณภาครัฐมาสนับสนุนได้อย่างไร จากการคำนวณงบประมาณที่ต้องใช้อย่างละเอียดถี่ถ้วน พบว่าการจัดสวัสดิการในชุดที่สี่จะทำให้รัฐบาลมีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นจากระบบปัจจุบันประมาณ 2 แสนถึงกว่า 3 แสนล้านบาทในระยะ 3-4 ปีแรก จากนั้นจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นช้าๆ ตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินนี้คิดเป็นเพียงร้อยละ2-3 ของรายได้ประชาชาติเท่านั้น อันอยู่ในวิสัยที่เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับได้และไม่ก่อให้เกิดภาวะหนี้พอกพูนต่อเนื่อง โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลต้องสร้างความยั่งยืนของระบบสวัสดิการถ้วนหน้าด้วยการปฏิรูประบบภาษี ซึ่งปัจจุบันรายได้ภาษีรวมคิดเป็นเพียงร้อยละ 16-18 ของรายได้ประชาชาติต่ำกว่าศักยภาพในการเสียภาษีของเศรษฐกิจไทย (ร้อยละ 20-21 ของรายได้ประชาชาติ ตามงานวิจัยของธนาคารโลก) อยู่มาก หากมีการจัดเก็บตามศักยภาพแล้วก็สามารถรองรับการจัดสวัสดิการได้แน่นอน และยังเหลืองบประมาณมาพัฒนาด้านอื่นๆ ที่จำเป็นด้วย เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เป็นต้น การจะเพิ่มรายได้ภาษีให้ได้ตามศักยภาพนั้นต้องมีการขยายฐานภาษี โดยยึดหลักความเสมอภาคของระบบภาษี กล่าวคือต้องทำให้ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันเสียภาษีเท่ากัน และผู้มีฐานะดีกว่าเสียภาษีมากกว่า ซึ่งระบบภาษีปัจจุบันยังไม่เป็นไปตามหลักนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขนาดที่ใหญ่ของภาคเศรษฐกิจนอกระบบ (informal sector) และมีการจัดเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินน้อยเกินไป และที่สำคัญอีกประการคือรัฐบาลและสังคมไทยต้องเลิกความเชื่อที่ไม่จริงว่าคนในอาชีพใดอาชีพหนึ่งเป็นคนยากจนแล้วทำการยกเว้นภาษีตามกลุ่มอาชีพ (ทั้งที่ระบุในตัวบทกฎหมายภาษีหรือในการบังคับใช้) ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ยังนำไปสู่การใช้จ่ายงบประมาณด้านนโยบายประชานิยมที่มักไม่เป็นการช่วยคนจนอย่างแท้จริงดังที่กล่าวถึงข้างต้น เนื่องจากนโยบายประชานิยมส่วนใหญ่เป็นการให้ประโยชน์ตามกลุ่มอาชีพ เช่นการทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อช่วยเพียงอาชีพชาวนาเพราะมีสมมุติฐานว่า ชาวนาทุกคนยากจน ทั้งที่งานวิจัยของทีดีอาร์ไอและนักวิชาการอื่นได้ชี้ชัดแล้วว่าคนยากจนทุกคนไม่ได้เป็นชาวนา และชาวนาทุกคนก็ไม่ได้เป็นคนยากจน มีชาวนาที่ฐานะดีและฐานะปานกลางจำนวนมากเกินกว่าการรับรู้ของคนทั่วไป แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือมีคนจนที่ไม่ใช่ชาวนาและไม่ได้ประโยชน์จากงบประมาณรัฐจำนวนมากที่รัฐบาลใช้ซื้อข้าว ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ หาบเร่แผงลอยรายเล็ก คนเก็บขยะ เป็นต้น สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกถึงเสมอคือการใช้จ่ายในด้านสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้านั้น ไม่ใช่เงินที่สูญเปล่าหรือเงินสงเคราะห์คนจนและผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น หากเป็นการลงทุนทางสังคมที่จะให้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่าการลงทุนในสิ่งปลูกสร้างหรือเครื่องจักรกล เพราะจะมีผลสืบเนื่องไปถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างทั่วถึง และเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังจะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอันเป็นปัจจัยสำคัญของความขัดแย้งในสังคมและการเมืองของไทยในระยะหลายปีที่ผ่านมาอีกด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น