โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อดีตจนท.รัฐเนปาลถูกจับในอังกฤษ เหตุสั่งทรมานในสงครามกลางเมือง

Posted: 07 Jan 2013 12:39 PM PST

ตำรวจเมโทรโปลิแตนในอังกฤษจับกุมอดีตเจ้าหน้าที่รัฐเนปาล เหตุสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานในสงครามกลางเมืองเนปาลเมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยใช้กฎหมายอาญาที่รับรองเขตอำนาจศาลสากล

7 ม.ค. 55 - เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ตำรวจเมโทรโปลิแตนในประเทศอังกฤษ ได้ดำเนินการจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวเนปาลในมณฑลอีสต์ ซัสเซ็กส์ เนื่องจากคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการซ้อมทรมานระหว่างสงครามกลางเมืองในเนปาลเมื่อปี 2548 

ตำรวจเมโทรโปลิแตนได้จับกุมชายชาวเนปาลวัย 46 ปีในเมืองเซนต์เลียวนาร์ดส์ ออน ซี ในมณฑลอีสต์ ซัสเซกส์ของอังกฤษเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา เนื่องจากสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดที่แล้วในเนปาล ซึ่งตำรวจได้ดำเนินการตามคำร้องของเจ้าทุกข์ที่มีทนายอยู่ในสหราชอาณาจักร 
 
ทั้งนี้ ตำรวจเมโทรโปลิแตนของอังกฤษ เป็นหน่วยที่รับผิดชอบการสืบสวนสอบสวนข้อหาที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรืออาชญากรรมสงคราม โดยในการจับกุมครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรา 134 ของพระราชบัญญัติความยุติธรรมทางอาญา พ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดเขตอำนาจศาลสากลในคดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ การซ้อมทรมาน หรือการข่มขืน ถึงแม้ว่าอาชญากรรมดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในสหราชอาณาจักรก็ตาม
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจเมโทรโปลิแตนได้ระบุในแถลงการณ์ว่า ในขณะนี้ ชายคนดังกล่าวถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจในมณฑลซัสเซ็กส์ และตำรวจได้เข้าค้นที่พักอาศัยของชายคนดังกล่าวในขณะที่ถูกจับกุมด้วย
 
อนึ่ง สงครามกลางเมืองในประเทศเนปาลระหว่างรัฐบาลเนปาลและกลุ่มกบฏเหมาอิสต์ ระหว่างปี 2540-2549 ส่งผลให้มีประชาชนกว่า 16,000 คนถูกสังหารและหายตัว และจำนวนอีกหลายพันคนถูกซ้อมทรมาน บาดเจ็บและสูญหาย อย่างไรก็ตาม หลังสงครามดังกล่าวยุติลงด้วยข้อสัญญาสันติภาพในปี 2549 ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ที่รับผิดชอบถูกดำเนินคดี มีเพียงเจ้าหน้าที่ระดับล่างของกลุ่มเหมาอิสต์เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีด้วยคดีฆาตกรรม และดูเหมือนจะไม่มีความพยายามนำมาซึ่งความยุติธรรมมากนัก ทั้งๆ ที่ยังคงมีการเรียกร้องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมือง 
 
ตามขั้นตอนแล้ว การสืบสวนคดีอาชญากรรมสงครามในอังกฤษ จะดำเนินตามข้อตกลงที่รัดกุมระหว่างตำรวจเมโทรโปลิแตนและสำนักงานอัยการ (Crown Prosecution Services) โดยเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องรวบรวมหลักฐานที่แน่ชัดในสหราชอาณาจักรก่อนจะสั่งดำเนินคดี และการสั่งฟ้องดังกล่าวยังต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดด้วย 
 
ที่ผ่านมา การดำเนินคดีด้วยกฏหมายดังกล่าวในอังกฤษที่ประสบความสำเร็จ มีสองคดีเท่านั้น คือในปี 2548 นายฟาร์ยาดี ซาร์ดาด หัวหน้ากองกำลังในอัฟกานิสถาน ถูกจับกุมในขณะที่หลบซ่อนตัวอยู่ในกรุงลอนดอน โดยเขาถูกดำเนินคดีในข้อหาซ้อมทรมานและจับตัวประกัน และถูกตัดสินจำคุก 20 ปี
ส่วนอีกคดีหนึ่งในปี 2542 ชายที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในสงครามสมัยนาซี ถูกดำเนินคดีและตัดสินลงโทษด้วยกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมสงครามพ.ศ. 2534 
 
ที่มา: 
Nepal torture suspect held by Metropolitan Police

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วิกิพีเดีย' ถอด '1 บทความ' พบเป็นเรื่องแต่งล้วนๆ หลังเผยแพร่นาน 5 ปี

Posted: 07 Jan 2013 12:03 PM PST

บทความเรื่อง Bicholim Conflict ซึ่งพูดถึงความขัดแย้งระหว่างโปรตุเกสกับจักรวรรดิในอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 17 ถูกลบออกจากเว็บวิกิพีเดียแล้ว หลังมีผู้พบว่าทั้งหมดเป็นเรื่องแต่ง

บทความนี้ถูกโพสต์ในเว็บวิกิพีเดีย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 มีความยาว 4,500 คำ มีแหล่งอ้างอิง 17 แหล่งและเรื่องแนะนำให้อ่านเพิ่มเติมอีก 3 แหล่ง โดยสองเดือนต่อมา บทความนี้ได้รับเลือกให้เป็นบทความระดับดีของวิกิพีเดีย

ผู้ใช้วิกิพีเดียที่ใช้ชื่อ "ShelfSkewed" ตรวจสอบพบว่า หนังสือที่ถูกอ้างว่าใช้เป็นหนังสืออ้างอิงนั้นไม่มีอยู่จริงเลย จึงเสนอให้มีการลบบทความดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ปีที่ผ่านมา

"ShelfSkewed" ระบุว่า หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและค้นคว้าบางส่วนแล้ว ได้ข้อสรุปว่าบทความนี้เป็นเรื่องแต่งที่ฉลาดและพิถีพิถัน แต่เรื่องแต่งก็คือเรื่องแต่ง เมื่อค้นหาเรื่อง Bicholim conflict หรือแหล่งอ้างอิงของบทความดังกล่าวทางออนไลน์ ก็เจอแต่เพียงในบทความนั้นเท่านั้น

หลังจากพิจารณาแล้ว บรรณาธิการวิกิพีเดียอีกหกคนก็เห็นตรงกันให้ลบบทความดังกล่าวออก

"โชคร้ายที่ข่าวลือในวิกิพีเดียไม่ใช่เรื่องใหม่ ยิ่งพวกเขามีฝีมือเท่าไหร่ ก็ยิ่งยากที่จะจับได้ไล่ทัน" วิลเลียม บิวท์เลอ ประธาน Beutler Wiki Relations บริษัทที่ปรึกษาของวิกิพีเดีย บอกและว่า "ใครก็ตามที่ฉลาดพอจะสร้างแหล่งอ้างอิงที่ดูน่าเชื่อถือ มีแรงจูงใจพอที่จะใช้เวลากับมัน ทั้งยังมีทักษะพอในการเขียนบทความที่ดูน่าเชื่อถือ ก็สามารถจะหลอกโลกอินเทอร์เน็ตทั้งหมดได้ อย่างน้อยก็ช่วงเวลาหนึ่ง"

บิวท์เลอ กล่าวด้วยว่า ในหลายๆ ด้าน วิกิพีเดียก็ไม่ได้ต่างจากโลกของสื่อมืออาชีพที่ต้องคัดกรองอย่างมากจากแหล่งข้อมูลที่มี ไม่มีแหล่งไหนสักแหล่งที่ไม่มีข้อผิดพลาดเลย แม้แต่กับชุมชนของเหล่าบรรณาธิการผู้เฝ้าดูอย่างระมัดระวังและใส่ใจในรายละเอียด

อย่างไรก็ตาม บทความ Bicholim Conflict ยังไม่ใช่เรื่องแต่งที่อยู่นานที่สุด โดยยังมีบทความหลายชิ้นก่อนหน้านี้ อาทิ เรื่องแต่งเกี่ยวกับเครื่องทรมานที่ชื่อ "Crocodile Shears" ซึ่งอยู่ในวิกิพีเดียนาน 6 ปี 4 เดือน เรื่องของเฉิน ฟาง นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาวาร์ดที่แกล้งใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้ว่าการไชน่าทาวน์ ซึ่งอยู่มานานกว่า 7 ปีกว่าที่บรรณาธิการของวิกิพีเดียจะมาเจอและลบออก เรื่องของการลอบสังหารจูเลียส ซีซาร์ ที่แต่งว่า ในภายหลังเขาถูกฆาตกรรมโดยโสเภณีชาย ซึ่งถูกจ้างโดยมาร์ค แอนโทนี ซึ่งอยู่ในเว็บมากว่า 8 ปีก่อนจะถูกลบออก

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า แม้บทความ Bicholim Conflict จะถูกลบจากวิกิพีเดียแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่ในเว็บที่ทำเลียนแบบวิกิพีเดีย อย่าง New World Encyclopedia และ Encyclo รวมถึงยังสามารถหาซื้อได้ในรูปแบบหนังสือเล่มด้วย

อนึ่ง เมื่อเดือนธันวาคม 2555 โพลล์ของบริษัทวิจัย the Pew Internet and American Life Project ระบุว่า กูเกิลและวิกิพีเดียติดสองอันดับแรกของเครื่องมือที่นักเรียนเกรด 6-12 ในสหรัฐฯ ใช้ทำรายงาน

 

 

ที่มา:
http://news.yahoo.com/blogs/sideshow/war-over-imaginary-bicholim-conflict-page-removed-wikipedia-234717353.html
http://www.dailydot.com/news/wikipedia-bicholim-conflict-hoax-deleted/
ผ่าน http://www.blognone.com/node/39641

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย วิพากษ์คำปราศรัยของอัสซาดเป็น 'โวหารไร้ความหมาย'

Posted: 07 Jan 2013 08:57 AM PST

ปธน. บาชาร์ อัล อัสซาด ของซีเรียออกกล่าวปราศรัยในประเด็นความขัดแย้ง ยืนยันฝ่ายกบฏมีชาติตะวันตกหนุนหลัง และยอมเจรจากับชาติตะวันตก 'ผู้เป็นนาย' แต่ไม่ยอมเจรจากับฝ่ายกบฏ 'ลูกสมุน' ด้านฝ่ายต่อต้านและชาติตะวันตกไม่ให้ความสำคัญกับคำปราศรัยนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางเผยคำปราศรัยชี้ให้เห็นว่ากองทัพซีเรียเป็นศูนย์กลางอำนาจ


เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ของซีเรียได้ออกมากล่าวปราศรัยต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่โรงละครโอเปร่าในกรุงดามาสกัส โดยกล่าวถึงประเด็นความขัดแย้งในซีเรีย

อัสซาดกล่าวว่า เขามีแผนการสันติภาพเพื่อยับยั้งสงครามกล่งเมืองในซีเรียแต่ก็ไม่ยอมเจรจากับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เขาบอกว่าเป็น "กลุ่มอาชญากรติดอาวุธ, ศัตรูของพระเจ้า และหุ่นเชิดของชาติตะวันตก"

อย่างไรก็ตามอัสซาดบอกว่าเขาจะยอมเจรจากับประเทศตะวันตกที่เขาเคยกล่าวหาว่าพยายามทำลายประเทศ อัสซาดไม่ปฏิเสธการเคลื่อนไหวทางการทูตและต้องการเจรจาต่อรองกับ "ผู้เป็นนาย ไม่ใช่ลูกสมุน"

อัสซาดกล่าวในการปราศรัยอีกว่า เขาเสนอให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และและมีการเลือกตั้งก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อความปรองดองในชาติ แต่จะไม่ยอมให้คนที่เขาเรียกว่า "กลุ่มคนที่ทรยศต่อชาติและจับอาวุธ" ซึ่งน่าจะหมายถึงกลุ่มกบฏเข้าร่วมกระบวนการด้วย

อัสซาดกล่าวอีกว่าประเทศซีเรียตกอยู่ใน 'ภาวะสงคราม' โดยที่มีอำนาจจากภายนอกใช้ให้ชาวซีเรียให้เข่นฆ่ากันเอง นอกจากนี้ยังกล่าวเน้นย้ำว่ามีกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนารวมอยู่ในหมู่นักรบกบฏโดยเรียกคนกลุ่มนั้นว่าเป็น 'ผู้ก่อการร้าย' และ 'ลูกสมุนผู้ที่ไม่รู้จักภาษาอื่นใดนอกจากการฆ่าฟัน'


ฝ่ายต่อต้านบอกอัสซาดปราศรัยเป็นเพียง 'โวหารไร้ความหมาย'

ทางด้านฝ่ายต่อต้านและต่างชาติที่สนับสนุนพวกเขาอยู่ต่างก็บอกว่าคำปราศรัยของอัสซาดไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์และย้ำว่าจะไม่มีการหยุดยิงจนกว่าอัสซาดและพรรคพวกซึ่งถูกหล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยนชนจะลงจากตำแหน่ง

ลูอัย ซาฟี สมาชิกกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติซีเรีย (SNC) กล่าวว่าคำปราศรัยของอัสซาดเป็นเพียง "โวหารไร้ความหมาย" เนื่องจากอัสซาดไม่ยอมลงจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการเจรจา ลูอัยแสดงความเห็นอีกว่าอัสซาดแสดงให้เห็นถึงความต้องการทำลายกลุ่มต่อต้านและหวังว่าตนจะได้อยู่ในอำนาจไปอีก 40 ปี

เหล่าแกนนำกลุ่มต่อต้านยืนยันมาตลอดว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับขอเสนออื่นนอกเหนือจากให้อัสซาดลงจากตำแหน่ง

ขณะเดียวกันประเทศอื่นที่ต่อต้านอัสซาดก็แสดงความรังเกียจหรือเพิกเฉยต่อคำปราศรัยของเขา เช่นอาห์เมด ดาวูโทกลู รมต.ต่างประเทศของตุรกีกล่าวว่าคำปราศรัยของอัสซาดเป็นการพูดซ้ำในสิ่งที่เขาเคยพูดไปแล้ว และดูเหมือนอัสซาดใช้เวลาไปกับการปิดขังตัวเองในห้องและอ่านแต่รายงานที่หน่วยข่าวกรองเสนอให้เขา

ทางด้าน วิกเตอเรีย นูแลนด์ โฆษกการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่าคำปราศรัยของอัสซาดเป็นการพยายามยึดกุมอำนาจและไม่ได้เดินหน้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นที่ประชาชนชาวซีเรียต้องการ

แคทเธอรีน แอชตัน ประธานฝ่ายการต่างประเทศของสหภาพยุโรปกล่าวว่าพวกเขายังยืนยันในจุดยืนเดิมคือการให้อัสซาดออกจากตำแหน่งและให้มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในซีเรีย

โรเบิร์ต ฟิสก์ : คำปราศรัยของอัสซาดชี้ฐานอำนาจอยู่ที่กองทัพ

โรเบิร์ต ฟิสก์ นักข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางเขียนบทความลงใน The Independent กล่าวแสดงความเห็นว่าอัสซาดตั้งใจพูดกับทหารของเขาในการปราศรัยเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยที่อัสซาดได้กล่าวชื่นชมยกยอเจ้าหน้าที่ทหารอย่างมากโดยไม่ได้กล่าวถึงพรรคบาธ (พรรคการเมืองของอัสซาด) เลย

"สิ่งที่เขาสื่อกับชาวซีเรียอย่างชัดแจ้ง คือการที่กองทัพเป็นฐานอำนาจที่แท้จริงของเขา" ฟิสก์กล่าว

ในบทความของฟิสก์กล่าวอีกว่าสำหรับคนเกลียดอัสซาดแล้วคงนึกเปรียบเทียบการกล่าวปราศรัยของอัสซาดในโรงละครโอเปร่ากับการกล่าวปราศรัยของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เผด็จการนาซีเยอรมัน ที่โรงละครโอเปร่าในกรุงเบอร์ลิน แต่ก็ไม่พร่ำเพ้อมากเท่าคำปราศรัยของฮิตเลอร์และดูน่าเบื่อสำหรับศัตรูของเขา

ฟิสก์กล่าวอีกว่าในคำปราศรัยของอัสซาดยังชี้ให้เห็นกลุ่มกบฏมีความขัดแย้งกับกลุ่มชนชาวเคิร์ตซึ่งมีพรรคการเมืองชื่อเดโมเครติก ยูเนียน ที่อยู่ข้างเดียวกับรัฐบาลซีเรีย ขณะที่กลุ่มกบฏมักจะสร้างความแปลกแยกและบางครั้งก็เหยียดหยามชาวเคิร์ต

ฟิสก์ประเมินอีกว่า การที่อัสซาดพูดถึงการเจรจาระดับชาติไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง จากการที่เขาให้ความสำคัญต่อบทบาทของกองทัพ การยืนยันว่าประเทศจีนและรัสเซียเป็นมิตรที่ดี และการกล่าวประณามว่ามีต่างชาติคอยหนุนหลังทำลายซีเรีย แสดงให้เห็นว่าเขาไม่มีใครให้เจรจาด้วย อีกทั้งอัสซาดและกองทัพยังไม่มีท่าทีล่าถอย สงครามในซีเรียก็ยังคงดำเนินต่อไป

 


เรียบเรียงจาก

Syrian opposition rejects Assad's peace plan, Aljazeera, 07-01-2013

Assad outlines peace deal and condemns opposition as 'murderous criminals', The Independent, 06-01-2013
Army was the target audience of President's theatre at the opera house, The Independent, 06-01-2013


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : รถคันแรก

Posted: 07 Jan 2013 08:18 AM PST

                ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ผมไม่คิดว่านโยบายรถคันแรกของรัฐบาลเลวร้ายอย่างที่ทีวีสาธารณะพยายามหยิบประเด็นขึ้นมาบ่อนทำลาย ไม่ได้ถูกต้องนักหรอก แต่ก็ไม่ผิดจนรับไม่ได้ มันก็เหมือนนโยบายของทักษิณโดยทั่วไป คือขาดความชัดเจนในเป้าหมาย และด้วยเหตุดังนั้นจึงขาดมาตรการหลายอย่างที่จะช่วยให้โครงการได้ผลในหลายๆ ด้าน ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนา เพราะไม่เตรียมการรองรับไว้ก่อน

                ระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกู้เงินมาแจกกันคนละ 2,000 บาท กับการลดภาษีให้แก่รถคันแรก อย่างไหนถึงจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภคภายในที่ได้ผลกว่ากัน เมื่อสิบปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นเคยใช้นโยบายแจกเงินเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายภายในมาแล้ว จนบัดนี้ญี่ปุ่นยังโงหัวไม่ขึ้นเลย

                ทำไมถึงต้องเป็นรถยนต์ ก็เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์จ้างงานโดยอ้อมสูงมาก ในการผลิตก็จ้างงานในโรงงานยาง, แบตเตอรี่ และชิ้นส่วนอีกนานาชนิด ไปจนถึงน้ำมันประเภทต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบรถยนต์ พอเอามาใช้ก็ต้องใช้แรงงานอีกมากนับตั้งแต่ช่างซ่อมบำรุงไปจนถึงแรงงานล้างรถ ทีวีสาธารณะพยายามหานักวิชาการซึ่งขับรถมาเตือนว่า มีรถยนต์ก็ทำให้ต้องเสียเงินอีกมาก แต่นั่นก็ตรงกับนโยบายไงครับ คือเร่งการบริโภคภายใน โดยไม่แจกเงินเฉยๆ แต่กระตุ้นการผลิตภายในไปพร้อมกัน

                แม้กระนั้น นโยบายนี้ก็หยาบเกินไป เพราะนอกจากกระตุ้นการบริโภคภายในได้แล้ว รัฐบาลยังผูกนโยบายนี้ไว้กับอีโคคาร์ด้วย โดยกำหนดว่ารถคันแรกต้องประหยัดน้ำมันด้วย (มีอัตราใช้น้ำมันหนึ่งลิตรต่อกี่กิโลเมตร... ซึ่งผมจำไม่ได้) แต่ก็เป็นอัตราที่ใจดีเกินไป

                รัฐบาลไทยหลายชุดมาแล้วตั้งเป้าว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีโคคาร์ แต่บริษัทรถยนต์ในประเทศไทยไม่สู้จะตอบสนองต่อนโยบายนี้เท่าไรนัก เพราะไม่มีตลาดภายในรองรับ จนกระทั่งมาถึงนโยบายรถคันแรก จึงเริ่มขยับตัวเข้ามาหากำไรในตลาดใหม่ที่รัฐบาลสร้างขึ้น แม้แต่รถเครื่อง 1500 ซีซี ยังเปลี่ยนมาผลิตใหม่ด้วยตัวถังเดิมให้เป็น 1200 ซีซี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าหลังจากที่ตลาดรถคันแรกไม่ได้สิทธิลดภาษีแล้ว คือเมื่อไม่มีตลาดภายในรองรับบริษัทรถยนต์ยังจะผลิตรถยนต์นั่งเครื่องขนาดเล็กต่อไปหรือไม่

                จะผลิตต่อไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับตลาดภายนอกจะเข้ามาช่วยเสริมมากน้อยเพียงไร ในช่วงที่ตลาดภายในแข็งแกร่งขึ้นนี้ รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรที่จะสร้างเงื่อนไขจูงใจให้บริษัทรถยนต์พยายามบุกตลาดอีโคคาร์ในต่างประเทศ นับตั้งแต่สร้างการรับรองมาตรฐานซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือ ไปจนถึงช่วยลดต้นทุนด้านการตลาดและอื่นๆ ฉะนั้นการเอานโยบายรถคันแรกไปผูกกับอีโคคาร์ จึงดูจะเป็นการผูกไปโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนอะไรเกี่ยวกับการเป็นศูนย์กลางของการผลิตอีโคคาร์

                จะเอานโยบายรถคันแรกไปผูกกับอะไรนั้น ถ้าไม่ประสงค์เพียงแค่หาเสียง มีเรื่องให้คิดและถกเถียงกันมากพอสมควร เช่น หากจะผูกกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ รถคันแรกน่าจะเป็นปิกอัพ ที่ห้ามต่อเติมในระยะเวลา 5 ปี มิฉะนั้นก็จะเรียกเงิน 1 แสนบาทคืนเข้าคลัง เพราะปิกอัพสร้างโอกาสของงานและงานจ้างมากกว่า จริงอยู่มันอาจจะอุ้ยอ้ายเกะกะท้องถนน แต่เราก็จะได้ภาษี (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) เพิ่มจากงานที่ปิกอัพสร้างขึ้น จำเป็นต้องขยายถนนส่วนที่ควรขยาย ก็ทำเลย

                ผมได้ยินคนขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯบ่นมานานแล้วว่า นโยบายรถคันแรกทำให้รถติดหนึบ ผมเห็นใจเสียงบ่นของเขา เพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่น ก็มีอาชีพขับแท็กซี่ รถติดมากนักจะขนแท็กซี่ขึ้นขนส่งสาธารณะไม่ได้นี่ครับ กระทบต่อทางทำมาหากินโดยตรงเช่นนี้ก็สมควรบ่นอยู่หรอก

                แต่เมื่อได้ยินนักวิชาการและคนทำงานทีวีสาธารณะพยายามบ่นนำทางทีวี ก็ให้รู้สึกคันปากอยากถามว่า คุณมีปัญญาจะเลื่อยขารัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่แค่นี้เท่านั้นหรือ

                เมื่อมีรถในถนนมากขึ้น ก็ย่อมทำให้รถติดมากขึ้นตามไปด้วยเป็นธรรมดา แต่สาเหตุที่ทำให้รถติดนั้น จะชี้ที่คันนั้นคันนี้ไม่ได้ รถคันแรกของคนจน ก็เป็นเหตุให้รถติดเท่ากับรถคันที่ห้าสิบของคนรวย หากคิดจะเอารถออกจากถนน ไม่ควรเจาะจงเอาแต่รถของคนจนออกไป เพื่อให้คนรวยได้ใช้รถคันที่ห้าสิบได้สะดวกขึ้น ขอประทานโทษ มึงเป็นเจ้าของรถ ไม่ใช่เจ้าของถนน

                ปัญหารถติดในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ทั่วประเทศไทยนั้น มีสาเหตุมาจากวิธีคิดอย่างนี้แหละครับ - คนอื่นคือนรก รถยนต์ทั้งถนนทำให้รถติด ยกเว้นรถกูคันเดียว ฉะนั้น อ้ายเบื๊อกที่ไม่ควรขี่รถยนต์ แต่ขี่ได้เพราะนโยบายรถคันแรก จึงต้องรับผิดชอบมากที่สุด อย่างน้อยก็เพราะมันเป็นอ้ายเบื๊อก

                ในฐานะประเทศที่ถูกประเมินว่า เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน การที่คนอีกมากควรมีรถยนต์ส่วนตัวไว้ใช้ ก็ไม่ใช่ความฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยานเกินไป ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า ไม่มีได้ก็ดี แต่ไม่ใช่เฉพาะคนที่เพิ่งเงยหน้าอ้าปาก ใครๆ ที่สามารถมีชีวิตที่เป็นสุขได้โดยไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ก็ไม่ควรมีทั้งนั้นแหละครับ แม้ว่าจะเป็นเศรษฐี, นักวิชาการ หรือทำงานทีวีสาธารณะ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ เมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนดีที่สุดในประเทศ และทำท่าจะดีขึ้นไปกว่านี้อีกมากด้วย

                ถ้าไม่คิดเพียงแค่หาเสียง รัฐบาลก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่า นโยบายรถคันแรกจะทำให้รถติดมากขึ้น แต่ไม่ควรยกเลิกนโยบายนี้เสียเพราะกลัวรถติด ตรงกันข้าม ควรใช้โอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ ในการจัดการกับรถติดในกรุงเทพฯอย่างเด็ดขาด

                สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ สำเหนียกถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยีไว้ให้ดี รถติดในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ต่างๆ นั้น เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง (ทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม และวัฒนธรรม) ซึ่งไม่มีเทคโนโลยีอะไรในโลกนี้จะช่วยได้ คนชั้นกลางไทยเชื่อเทคโนโลยีเหมือนเชื่อพระอินทร์ เพราะการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีทำให้ไม่ต้องไปรื้อโครงสร้างอำนาจไงครับ เช่น ความเหลื่อมล้ำจะมีมากสักแค่ไหน และจะเพิ่มขึ้นอีกมากแค่ไหน ก็ไม่ต้องไปแตะมัน ขอแต่ให้มีเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นเป็นพอ สังเกตให้ดีเถิดครับ ยิ่งมีอำนาจมากก็ยิ่งเชื่อเทคโนโลยีมาก เพราะเทคโนโลยีไม่กระทบต่ออำนาจของเขา

                ฉะนั้นเลิกพึ่งเทคโนโลยีอย่างมืดบอดเสียที แต่กล้าทำอะไรที่กระทบต่อคนมีอำนาจบ้าง เพราะการแก้ปัญหารถติดที่ได้ผลที่สุดก็คือ เอารถออกไปจากถนนเสียบ้าง ไม่ว่าจะเป็นรถคันแรกหรือคันที่ห้าสิบ

                จะเอารถยนต์ออกจากถนนได้ ก็ต้องพุ่งเป้าไปที่รถส่วนตัว วิธีการคือทำให้การใช้รถส่วนตัวไม่อำนวยความสะดวกเท่ากับการใช้รถสาธารณะ พูดอีกอย่างหนึ่งคือรังแกรถส่วนตัว โดยเพิ่มมาตรการรังแกไปทีละขั้นๆ ตามการพัฒนาของระบบขนส่งมวลชน

                มาตรการแรกที่น่าจะทำได้คือ ห้ามจอดในถนนสายหลักและเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนเกือบทั่วเมือง รถยนต์ส่วนตัวแทบหาที่จอดไม่ได้เลยระหว่าง 6 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็นของวันทำการทุกวัน

                แล้วจะมีรถคันแรกหรือคันที่ห้าสิบไปทำไม มีไว้ใช้สิครับ ไปช็อปปิ้งหรือไปเที่ยวต่างจังหวัดวันหยุด เมียเจ็บท้องก็สามารถส่งโรงพยาบาลได้เอง (อย่างน้อยในโรงพยาบาลก็น่าจะมีที่จอด) ไปรับพ่อแก่แม่แก่ที่สนามบินหรือสถานีขนส่ง ฯลฯ แต่รถยนต์ไม่ได้มีไว้ทำร้ายกันและกันหรือทำร้ายส่วนรวม

                การใช้รถส่วนตัวจะมีโสหุ้ยสูงขึ้น เพราะต้องไปเช่าที่จอดของเอกชนซึ่งคงคิดแพงพอสมควร เนื่องจากยังมีอยู่น้อย ซ้ำต้องวนกันหลายรอบกว่าจะหาที่จอดได้ เพียงแค่นี้คนจำนวนมากก็ยินดีทิ้งรถไว้ที่บ้าน แล้วขึ้นรถสาธารณะไปทำงาน เมื่อมีรถในถนนน้อยลง รถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์หรือแท็กซี่ก็จะวิ่งได้คล่องขึ้น ความอึดอัดในรถเมล์ก็หายไป เพราะรถวิ่งได้คล่อง ระบายผู้โดยสารได้เร็ว รถก็น่าจะแน่นน้อยลง แต่ละป้ายไม่ต้องรอนาน ซ้ำถึงปลายทางในเวลาที่รวดเร็วเสียอีก

                ปัญหาที่ตามมาก็คือ การสร้างตึกจอดรถ (parking structure) จะได้กำไรทางธุรกิจ ตึกจอดรถเป็นอสุรกายที่น่าเกลียดในทุกเมืองใหญ่ ต้องเคร่งครัดกับรูปแบบให้มากขึ้น ลดความอุจาดให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในอนาคตธุรกิจรับจอดรถก็จะไม่ค่อยได้ผลตอบแทนคุ้ม เมื่อผู้คนพากันทิ้งรถไว้ที่บ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนดีขึ้นไปกว่านี้

                เมื่อรถบนถนนน้อยลง ก็ขยายทางเท้า การสัญจรขั้นพื้นฐานในเมืองที่ไหนก็ตามทั่วโลก คือการเดินครับ ทำทางเท้าให้เดินได้สะดวก แม้แต่แก่คนตาบอดและพิการ เอาตำรวจที่คอยโบกรถยนต์มาอำนวยความปลอดภัยบนทางเท้า บางคนบอกว่าเมืองไทยแดดร้อน เดินไม่ได้ ในลอนดอน ฝนตกชั่วนาตาปี เราเรียกคนหนีบร่มในลอนดอนว่า ?ผู้ดี? ถ้าคนไทยในเมืองใหญ่จะหนีบร่มกันแดดบ้าง ทำไมจึงกลายเป็น ?ไพร่? ไปได้ล่ะครับ

                นอกจากทางเท้าแล้ว สร้างเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัยให้ทั่วเมือง ไม่มีพาหนะอันตรายทั้งหลาย นับตั้งแต่แมงกะไซค์ขึ้นไป เข้ามารบกวนในเส้นทางจักรยานได้เลย ถ้าคนไทยในเมืองใหญ่ใช้จักรยานเป็นพาหนะให้มากขึ้น เมืองใหญ่ของไทยจะเป็นเมืองน่าอยู่ติดอันดับโลกแน่นอน... ทุกเมืองด้วย

                มลภาวะทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ, ทางเสียง, ทางน้ำ ในเมืองใหญ่ทั้งหลายจะลดไปมาก ผมจะไม่พูดถึงล่ะครับ เพราะพูดกันมามากแล้ว แต่ยังมีมลภาวะอีกอย่างหนึ่งซึ่งผมอยากพูดถึง นั่นคือมลภาวะทางสังคม

                รถยนต์ทำให้สังคมหายไป ไม่ใช่เพียงแค่เราติดแอร์ปิดกระจกและสร้างโลกส่วนตัวขึ้นในรถของเราเท่านั้น แต่การจราจรที่ติดขัดทำให้เราหดตัวเราเองลงมาเหลือแต่ครอบครัว แม้แต่เพื่อนที่รักกันมากก็ได้พบกันแค่สองหน คือในงานแต่งงานและในงานศพของมันเท่านั้น สังคมมีราคาสูงเกินกว่าใครอยากจะรักษาไว้

                อย่าลืมนะครับว่า ในชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่ของโลกปัจจุบัน ทางเท้าและถนนคือพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่ที่สุด และครอบงำชีวิตคนมากที่สุด เราสำนึกถึงคนอื่นที่อยู่ร่วมสังคมกับเรา ก็บนทางเท้าและท้องถนนนี่แหละครับ

                ท่ามกลางทัศนคตินรกคือคนอื่นของเจ้าของรถยนต์ในเมืองใหญ่ ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ทำได้ในทางการเมืองหรือไม่?

                ยากครับ แต่ทำได้ และทำได้ง่ายขึ้นในสมัยคุณยิ่งลักษณ์นี่แหละ เพราะคะแนนเสียงท่วมท้นที่พรรคเพื่อไทยได้มานั้น ไม่ใช่เพราะเขาเชียร์พรรคนี้สุดลิ่มทิ่มประตู จำนวนมากหรืออาจถึงส่วนใหญ่เลือกคุณยิ่งลักษณ์ เพราะกลืนคุณอภิสิทธิ์และคุณเนวินไม่ลงต่างหาก พรรคเพื่อไทยไม่เคยมีสัญญาอะไรกับเรื่องขจัดรถส่วนตัวออกจากถนน ฉะนั้นไม่ทำอะไรเลยก็ได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือทำก็ได้

                โดยเฉพาะแลกกับการสนับสนุนให้คนไทยเป็นเจ้าของรถยนต์ด้วยนโยบายรถคันแรก การมีรถยนต์เป็นของตนเองนั้นไม่ใช่ความชั่วร้าย แต่จะเอารถยนต์ไปทำร้ายส่วนรวม และทำร้ายกันและกันนั้นเป็นความชั่วร้ายแน่ ดังนั้น พร้อมกับนโยบายรถคันแรก ก็ประกาศเลยว่า รัฐบาลมีนโยบายขจัดรถส่วนบุคคลออกจากถนน เป้าหมายคือปลดปล่อยถนนคืนแก่ประชาชน ทั้งที่มีรถยนต์และไม่มีรถยนต์ แต่วิธีที่จะค่อยๆ ขจัดออกไปนี้ควรทำอย่างไร รัฐบาลจะใช้กระบวนการปรึกษาหารือ เปิดเวทีสำหรับการโต้เถียงขัดแย้ง และเสนอแนะจากคนทุกฝ่าย แต่ในที่สุด รัฐบาลต้องตัดสินใจ และต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อการตัดสินใจนั้น

                นโยบายรถคันแรกก็จะเป็นจุดเริ่มต้นแก่ยุคใหม่ของสังคมเมืองที่สงบสุขในประเทศไทย

                นโยบายหลายแหล่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น มีข้อที่ควรตำหนิติติงทั้งนั้น แต่ติเพื่อจะหาทางเลือกที่สร้างสรรค์ หรือติเพื่อจองล้างจองผลาญด้วยจุดประสงค์จะล้มรัฐบาลนี้ให้ได้ ทีวีสาธารณะควรทำหน้าที่อย่างไหนกันแน่ หรือต้องการเป็นแค่บลูสกายสองเท่านั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 1-7 มกราคม 2556

Posted: 07 Jan 2013 07:44 AM PST

 

ดันทายาทรับบำเหน็จชราภาพ

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปีนี้จะดูแลผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี เช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร โดยปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการให้ดีขึ้น หรือย่างน้อยไม่ด้อยไปกว่าเดิม แม้มีการลดอัตราการส่งเงินสมทบของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละร้อยละ 1 ในปี 2556 จากปกติอยู่ที่ร้อยละ 5 เพื่อลดผลกระทบให้แก่สถานประกอบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทใน 70 จังหวัด และเร่งติดตามทวงเงินสมทบที่สถานประกอบการค้างชำระกองทุนประกันสังคมวงเงิน ทั้งหมดกว่า 4,000 ล้านบาท เร่งลงทุนด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ผลกำไรเข้าสู่กองทุนโดยตั้งเป้าไม่น้อยกว่าปีละ 40,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะผลักดันแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม 2553 กรณีเงินสิทธิประโยชน์ชราภาพ ซึ่งกำหนดให้หากผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเสียชีวิต ก่อนอายุ 55 ปี เงินสมทบที่ผู้ประกันตนส่งมาจะตกเป็นของทายาทของผู้ประกันตนในรูปแบบของเงิน บำเหน็จปรับปรุงระบบประกันสังคมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอา เซียน (เออีซี) อยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หาข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหากรณีกองทุนประกันสังคม จะอยู่ในภาวะติดลบในปี 2587 เนื่องจากมีผู้รับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพเป็นเงินบำเหน็จและบำนาญรวม 6.3 ล้านคน

"ปีหน้า สปส.จะจัดระบบข้อมูลผู้ป่วยและการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ไตวายเรื้อรังและเอดส์ระหว่างกองทุนประกันสังคมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้าและกองทุนสวัสดิการข้าราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งป่วย 3 โรคนี้สามารถโอนไปใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ทันที เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและมีมาตรฐานเดียวกัน "เลขาธิการสปส.กล่าว

(คมชัดลึก, 1-1-2556)

 

ปรับขึ้นค่าแรง 300 บ.ทั่วปท.มีผลแล้ว พาณิชย์เผยเงินเฟ้อปี 56 เพิ่ม 3.02%

รมว.แรงงาน ยันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. วอนแรงงานเพิ่มวินัยการทำงาน และรู้จักออม จับตา นายจ้าง เลี่ยงจ่ายค่าแรง ก.พาณิชย์ คาดการณ์ ราคาสินค้าปี 56 ไม่แตกต่างจากปี 55 อัตราเงินเฟ้อในปี 56 จะเพิ่มขึ้น 2.8-3.4% เชื่อเพิ่มค่าจ้างไม่กระทบ สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ยันไม่มีการปรับราคาสินค้า

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการประกาศปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ ที่มีผลในวันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ว่าเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน เพื่อที่จะก้าวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 คาดว่ามีแรงงานอย่างน้อย 3 ล้านคน ได้รับอานิสงส์จากนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว อยากให้แรงงานทุกคน มีวินัยในการทำงาน และรู้จักการออม

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมดูว่า มีผู้ประกอบการรายใดไม่ให้ความร่วมมือ หรือหลีกเลี่ยงในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งหากพบก็จะทำหนังสือเตือนไปยังผู้ประกอบการ

ขณะเดียวกันทางภาคเอกชน ต้องการให้รัฐบาลออกมามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบ

ด้าน นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวว่า ภาพรวมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคในปี 2556 จะไม่แตกต่างจากปี 2555 มากนัก ผู้ผลิต จะยังจะไม่ปรับราคาสินค้าในขณะนี้ เพราะราคาวัตถุดิบจากต่างประเทศยังทรงตัว และปริมาณยังไม่ขาดแคลน โดยกระทรวงพาณิชย์จะมีการแถลงอัตราเงินเฟ้อปี 2555 ในวันนี้ (2 มกราคม) ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน ธ.ค.อยู่ที่ 116.86 เพิ่มขึ้น 3.63% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 0.39% ซึ่งสูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ และคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 56 จะเพิ่มขึ้น 2.8-3.4% ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบอยู่ในช่วง 100-120 เหรียญ/บาร์เรล และรัฐบาลยังคงมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ส่วนผลจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 300 บาท/วันทั่วประเทศ คาดจะมีผลเพียง 0.1% ถือว่าไม่มีนัยสำคัญ

ขณะที่ นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ช่วงปลายปี 2555 และในช่วงต้นปีใหม่ 2556 ยังไม่พบว่ามีผู้ผลิตสินค้ากลุ่มใดแจ้งล่วงหน้ามาว่าจะมีการปรับขึ้นราคา สินค้า และเชื่อว่าตลอดปีนี้คงจะไม่มีสินค้ากลุ่มใดขอปรับขึ้นราคา เนื่องจากปีนี้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการใช้จ่ายเงินมากขึ้น เนื่องมาจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลที่ทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ไปแล้ว ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อผ่อนรถที่เป็นภาระใหญ่

(RYT9.COM, 2-1-2555)

 

เครือข่ายแรงงานเฝ้าระวังสถานการณ์เลิกจ้างจากค่าแรง 300 บาท

2 ม.ค.- เครือข่ายแรงงานวอนกระทรวงแรงงานเฝ้าระวังการนำสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้าง 300 บาท พร้อมเตรียมเสนอข้อมูลผลกระทบให้กระทรวงแรงงานในอีก 2-3 เดือน ขณะที่กรมสวัสดิการฯ เฝ้าระวัง 29 จังหวัดที่มีการปรับค่าจ้างสูง โดยเฉพาะพะเยาและขอนแก่น ที่พบแนวโน้มการเลิกจ้างแล้ว

นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ขณะได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง 29 จังหวัดที่มีการปรับค่าจ้างสูง โดยเฉพาะในจังหวัดพะเยา และขอนแก่น ซึ่งเป็นกิจการผลิตเสื้อผ้า และเซรามิก ที่มีแนวโน้มการเลิกจ้างให้ออกตรวจสถานประกอบการอย่างเข้มงวดเดือนละ 4,000 แห่งต่อเดือนและให้รายงานผลทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป แต่หากพบสัญญาณที่รุนแรงสามารถแจ้งมาที่ตนเองได้ตลอดเวลา  หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างหรือนำสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้างก็จะมีความผิดตาม กฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นการออกคำเตือนแต่หากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนนายจ้างที่แจ้งการจ่ายค่าจ้างเท็จหากตรวจพบจะต้องจ่ายเงินส่วนต่างย้อน หลังให้กับแรงงานแม้ว่าลูกจ้างจะยินยอมซึ่งเรื่องนี้มีอายุความ 2 ปีนับจากวันที่เกิดสิทธิ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการตรวจสอบสาเหตุการเลิกจ้างที่แท้จริงนั้นทำได้ยาก ดังนั้น ไม่ว่านายจ้างจะลูกจ้างด้วยสาเหตุใดจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า  ในช่วงเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา ยังไม่พบสัญญาณการเลิกจ้างอย่างรุนแรงตามที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะทราบสถานการณ์ที่แน่ชัด ซึ่งคณะนี้ คสรท.ได้เปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์จากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และตามจังหวัดต่างๆ หรือหมายเลขโทรศัพท์  02-251-3170  ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทในรอบแรก  เพื่อรับฟังสภาพปัญหาและสถานการณ์การเลิกจ้างจากแรงงาน และจะรวบรวมข้อมูลให้กระทรวงแรงงานภายใน 2-3 เดือน  ทั้งนี้ ต้องการให้กระทรวงแรงงานเข้มงวดในการตรวจสอบเรื่องการนำเอาสวัสดิการมารวม เป็นค่าจ้าง 300 บาทด้วย

(สำนักข่าวไทย, 2-1-2556)

 

พนง.ผลิตชุดชั้นในโดนพิษ 300 บาท ประท้วงบริษัทหลังถูกลอยแพ

สระบุรี - กลุ่มพนักงานสตรีบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ผลิตชุดชั้นใน กว่า 200 คนชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดสระบุรี ประท้วงบริษัทประกาศปิดโรงงาน ลอยแพพนักงาน โดยที่ไม่แจ้งให้พนักงานได้รับทราบล่วงหน้าหลังมีการเจรจาค่าจ้างแรงงาน 300 บาท จนได้รับความเดือดร้อนตั้งแต่ต้นปี 56

เมื่อเวลา 12.00 น.วันนี้ (2 ม.ค.56) กลุ่มพนักงานสตรีของบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ผลิตชุดชั้นใน ตั้งอยู่เขตอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี กว่า 200 คน ได้เดินทางมาชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดสระบุรี เพื่อประท้วงบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด โดยมีนายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี เป็นแกนนำ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายถาวร พรหมมีชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี

โดยนายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี ระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดส่วนใหญ่ทำงานกับบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ผลิตชุดชั้นในมานานกว่า 10 ปีทุกต่างได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากทางบริษัทฯได้ปิดประกาศปิดโรงงาน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยที่ไม่แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าว่าจะมีการปิดโรงงาน

"ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ธันวคาม 2555 ที่ผ่านมา ทางบริษัทได้เคยเรียกตัวแทนพนักงานเข้าประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่า จ้างแรงงาน 300 บาทที่พนักงานควรจะได้รับแล้ว แต่ทางบริษัทบอกว่าไม่สามารถจ่ายได้ เนื่องจากต้นทุนและวัตถุในการผลิตสูง ซึ่งการประชุมในวันดังกล่าวทั้งทางตัวแทนพนักงานและทางบริษัทยังหาข้อตกลง กันไม่ได้ ทางบริษัทจึงขอเลื่อนการนัดเจรจากับตัวแทนพนักงานออกไปก่อน แต่หลังจากวันที่ 25 ธันวาคม 2555 ทางบริษัทก็ไม่ได้ติดต่อกับตัวแทนพนักงานที่จะมีการนัดเจรจากันอีกเลย จนกระทั่งพนักงานมาพบในวันนี้ว่าทางบริษัทได้ประกาศปิดโรงงานไปแล้วเมื่อวัน ที่ 30 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยที่ทางบริษัทเองก็ไม่ได้แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า ทำให้กลุ่มพนักงานทั้งหมดได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะแต่ละคนต้องอาศัยเงินเดือนในการเลี้ยงครอบครัวทั้งสิ้น" นายบุญสม ทาจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี กล่าว

ต่อมานายชโลธร ผาโคตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ออกมารับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม จากนั้นผู้ชุมนุมได้แยกย้ายกันกลับ ส่วนทางด้านนายสมาน พงษ์พันธ์เดชา เจ้าของโรงงาน บริเษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไม่สามารถที่จะติดต่อขอทราบรายละเอีย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-1-2556)

 

อสังหาฯ ผวาขาดแรงงาน กระทบเลื่อนเปิดโครงการใหม่ปี 56

3 ม.ค. 55 - นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังเป็นอุปสรรคสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2556 โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่รัฐบาลประกาศให้ 70 จังหวัดปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานเป็น 300 บาทต่อวัน ทำให้มีแรงงานส่วนหนึ่งกลับไปหางานทำในภูมิลำเนา ประกอบกับแรงงานอีกจำนวนหนึ่งไปทำงานก่อสร้างในโครงการสาธารณูปโภค เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการสร้างถนน ส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอสังหาริมทรัพย์รุนแรงขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะชะลอการเปิดตัวโครงการ ใหม่ และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเสร็จช้ากว่ากำหนด

ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยการจัดสร้างหรือจัดหาผนังสำเร็จรูปและชิ้นส่วนอุปกรณ์สำเร็จรูปมาใช้มาก ขึ้น เพื่อลดการพึ่งพิงแรงงาน รวมทั้งหาแรงงานทดแทนด้วยการใช้แรงงานต่างด้าว โดยในภาคอสังหาริมทรัพย์มีการใช้แรงงานต่างด้าวประมาณร้อยละ 90 ส่วนใหญ่เป็นแรงงานพม่า กัมพูชา ลาว และบังกลาเทศ

"ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555 และเชื่อว่าจะรุนแรงมากขึ้นในปีนี้ เพราะผลกระทบจากค่าแรง 300 ทั่วประเทศ ทำให้มีแรงงานบางส่วนย้ายกลับไปทำงานในภูมิลำเนา ประกอบกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตลาดที่อยู่อาศัยไปตาม จังหวัดใหญ่มากขึ้น แรงงานเหล่าก็ไปทำงานในต่างจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการใน กทม. และปริมณฑลขาดแคลนแรงงาน ผู้ประกอบการหลายรายต้องแก้ปัญหา โดยใช้แรงงานในกลุ่มเดียวกัน" นายสัมมา กล่าว

(สำนักข่าวไทย, 3-1-2555)

 

แรงงานเตรียมหารือคลังขยาย 11 มาตรการช่วยเหลือนายจ้างออกไปอีก 1 ปี

3 ม.ค.- นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า  ยังไม่เห็นผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทที่ชัดเจน เนื่องจากการปรับค่าจ้างเพิ่งมีผลบังคับ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา โดยคาดว่าในเดือนมีนาคมจะมียอดแรงงานและสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้ง หมด  ขณะที่การเลิกจ้างในปัจจุบันมีเพียง 5 แห่งเท่านั้น ที่เกิดจากการปรับค่าจ้าง ซึ่งได้กำชับให้ทุกจังหวัดเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว

ในวันพรุ่งนี้ (4 ม.ค.) จะหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติมจากที่ขยายมาตรการช่วยเหลือเดิม 11 มาตรการออกไปอีก 1 ปี ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะนำผลการหารือเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาออกมาตรการ เพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 70 จังหวัด

(สำนักข่าวไทย, 3-1-2555)

 

ก.แรงงานร่วมเอกชนเปิดศูนย์อบรมแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง

3 ม.ค. 55 - นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านการก่อสร้าง ซึ่งขาดประมาณ 300,000 คน ว่า กระทรวงฯ จะลงนามความร่วมมือกับบริษัทก่อสร้าง 3 แห่ง ได้แก่ บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิจิตรภัณฑ์ กรุ๊ป จำกัด ภายในเดือนนี้ เพื่อร่วมจัดตั้งสถาบันพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานด้านก่อสร้างและจัดทำหลักสูตร ฝึกอบรม ซึ่งหลังจากลงนามความร่วมมือแล้ว คาดว่าจะเปิดอบรมได้ทันที โดยสถานที่ฝึกอบรมจะใช้สถานที่ของบริษัทก่อสร้างทั้ง 3 แห่ง เป็นหลักสูตรระยะสั้น เช่น การขับรถเครน การใช้อุปกรณ์และเครื่องจักรกลที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการก่อสร้างโดยจะเปิดรับพนักงานบริษัทก่อสร้างทั้ง 3 แห่ง รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา แรงงานและประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ การอบรมในส่วนแรงงานและประชาชนที่สมัครเข้าอบรมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายยก เว้นพนักงานบริษัทก่อสร้างทั้ง 3 แห่งที่เข้ารับการอบรมฟรี ซึ่งกระทรวงฯ จะออกวุฒิบัตรรับรองการให้แก่ผู้เข้าอบรมทุกกลุ่ม เพื่อส่งเสริมให้มีโอกาสเข้าทำงานในบริษัทก่อสร้าง ขณะเดียวกันจะมีการนำเข้าแรงงานต่างชาติผ่านระบบความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ตามที่ภาคธุรกิจด้านการก่อสร้างยื่นขอโควตาไว้ด้วย

(สำนักข่าวไทย, 3-1-2555)

 

บ.ผลิตชุดชั้นในปิดกิจการเหตุขาดทุนสะสมไม่เกี่ยว 300

เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2556 นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีพนักงานบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ซึ่งผลิตชุดชั้นใน ตั้งอยู่ใน อ.วิหารแดง จ.สระบุรี ชุมนุมและยื่นหนังสือกับผู้ว่าฯจังหวัดสระบุรีเนื่องจากบริษัทปิดกิจการโดย ไม่แจ้งล่วงหน้าว่าก่อนหน้านี้ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2555 ทางบริษัทได้แจ้งกับลูกจ้างว่ามีประสบภาวะขาดทุน ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงได้แจ้งพนักงานที่มีอยู่ 287 คน หากพนักงานรายใดสมัครใจลาออกทางบริษัทยินดีจ่ายเงินชดเชย ต่อมาวันที่ 30 ธ.ค.2555 ทางบริษัทได้ปิดกิจการ ทำให้พนักงานไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันระหว่างผู้ว่าจังหวัดสระบุรี เจ้าหน้าที่กสร. ตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างได้ข้อยุติว่า ทางบริษัทจะจ่ายเงินค่าชดเชยการถูกเลิกจ้างและเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ ลูกจ้างจะต้องได้รับในวันที่ 5 ม.ค.นี้

นอกจากนี้ วันนี้(3ม.ค.)ตนยังได้รับรายงานจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดนครปฐมว่า บริษัทมาสเตอร์พีซ การ์เม้นท์ แอนด์ เท็กซ์ไทล์ จำกัด จ.นครปฐม ซึ่งเป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเคยถูกออกคำสั่งให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายมาแล้ว โดยระหว่างนี้จะเร่งประสานกับนายจ้าง เพื่อขอให้มาเจรจากับพนักงาน และหากพบว่าในวันที่ 5 มกราคมนี้ บริษัทยังไม่จ่ายค้าจ้าง ระหว่างวันที่ 16-31 ธ.ค.2555 ก็จะมีคำสั่งให้นายจ้างค่าจ้างอีกครั้ง โดยหากฝ่าฝืนก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายปกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีของบริษัทวีณาการ์เมนต์ จำกัด และบริษัทนครหลวงยิ่งเจริญการทอที่ปิดกิจการนั้นเกิดจากการขาดทุนสะสม ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่ได้เกิดจากการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยกรณีบริษัทนครหลวงยิ่งเจริญการทอนั้นค้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมประมาณ 5 ล้านบาท ส่วนกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)แจ้งว่า ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ทำให้โรงงานผลิตรองเท้าปิดกิจการไป 30 แห่งนั้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานเข้มข้นเช่น รองเท้า สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มมีปัญหาในการดำเนินการกิจการมาเป็นระยะและทยอยปิดตัวไปเงียบๆ ก่อนปรับขึ้นค่าจ้าง

(เนชั่นทันข่าว, 3-1-2556)

 

คนงานวีณาการ์เม้นท์เตรียมบุก ก.แรงงาน หากนายจ้างเบี้ยว

วันนี้ (3 ม.ค.) นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีกลุ่มพนักงานสตรีของบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชุดชั้นใน ตั้งอยู่เขตอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี กว่า 200 คน ได้เดินทางมาชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดสระบุรี เพื่อประท้วงบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ที่ได้ประกาศปิดโรงงานไปเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.55 ที่ผ่านมา โดยที่ไม่แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า เนื่องจากทางบริษัทได้รับผลกระทบจากค่าจ้างแรงงาน 300 บาท ไปเมื่อวันที่ 2 ม.ค.56 ที่ผ่านมาว่า เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ชี้แจงต่อตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมไปแล้วว่า ได้ติดต่อกับนายสมาน พงษ์พันธ์เดชา เจ้าของโรงงานทางโทรศัพท์แล้ว ซึ่งได้รับการยืนยันว่า ทางบริษัทจะจ่ายเงินเดือนที่ค้างให้ในวันที่ 5 ม.ค.นี้ ส่วนเงินชดเชยนั้นตนได้เสนอให้ผู้เรียกร้องเขียนคำร้อง คร.7 เพื่อขอรับเงินชดเชยค่าจ้างตามกฎหมายต่อไป

ด้านนายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มพนักงานที่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เปิดเผยว่า กลุ่มพนักงานทั้งหมดกว่า 200 คนต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน หากทางบริษัทยืนยันที่จะปิดโรงงาน เพราะแต่ละครอบครัวนั้นต่างดำรงชีพอยู่ด้วยการเป็นพนักงานของบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ทั้งสิ้น

"ในส่วนของการช่วยเหลือจากทางบริษัทในวันที่ 5 ม.ค.56 ที่ทางบริษัทรับปากว่าจะจ่ายเงินเดือนที่ค้างให้แก่พนักงานนั้น หากมีการผิดพลาด หรือผิดเงื่อนไขตามที่พนักงานเรียกร้อง ทางกลุ่มพนักงานทั้งหมดก็จะไปรวมตัวกันที่บริเวณหน้าบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด พร้อมทั้งจะเพิ่มความกดดัน และจะเดินทางเข้าไปที่กระทรวงแรงงาน เพื่อพบนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป" นายบุญสม กล่าว

ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น 300 บาทที่บรรดาแรงงานในจังหวัดสระบุรี จะอยู่ที่อัตรา 269 บาท

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-1-2556)

 

โรงงานตากปิดกิจการ 8 แห่งลอยแพแรงงาน 1,343 คน

นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดตากปรับขึ้นจากวันละ 163 บาท เป็น 226 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 40% มีสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง รอบแรกในช่วง 8 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 ธันวาคม 2555 ปิดกิจการไปถึง 8 แห่ง มีลูกจ้างตกงานทั้งหมดราว 1,343 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท โดยโรงงานสุดท้ายปิดกิจการไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคมก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 เป็นวันละ 300 บาท โรงงานส่วนใหญ่ที่ปิดกิจการไป มีทั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป อิเล็กทรอนิกส์ และหินแกรนิต ฯลฯ

ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 เป็นวันละ 300 บาทที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา เป็นการปรับขึ้นมาอีก 40% รวมทั้งสองครั้งจังหวัดตากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 80% นับเป็นการปรับเพิ่มในสัดส่วนที่มากจนเป็นภาระหนักกับผู้ประกอบการ หลายรายพยายามปรับตัวและทำทุกวิถีทางเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด และรอความหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจับต้องได้ มากว่ามาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้กว่า 20 ข้อ แต่ช่วยเหลือได้เพียงส่วนน้อยและไม่มีผลอะไรมากนัก เช่น ลดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจาก 5% เหลือ 4% หรือ สนับสนุนวงเงินสินเชื่อให้ผู้ประกอบการกู้ยืมนำมาจ่ายค่าจ้างเพื่อส่งเสริม การจ้างงาน แต่ข้อเท็จจริงเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการมากขึ้น ขณะเดียวกันการเข้าถึงแหล่งทุนก็เป็นไปได้ยากเพราะหลักทรัพย์ของผู้ประกอบ การส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินอยู่ก่อน แล้ว

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เชื่อว่านับจากนี้อีก 2 - 3 เดือนจะเห็นภาพสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดตากทะยอยปิดกิจการ เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 80% ได้ เพราะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กว่า 90% เป็นเอสเอ็มอีและกว่า 90% เป็นกิจการประเภทรับจ้างผลิตไม่มีออร์เดอร์เป็นของตัวเองจึงมีการใช้แรงงาน เข้มข้นมากกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่น การเข้ามาตั้งโรงงานในพื้นที่ชายแดนเป็นความหวังหนึ่งที่จะลดต้นทุนด้านแรง งานแต่ปรากฎว่ารัฐบาลกลับมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่มีเพียงส่วนน้อยที่พอปรับตัวได้ แนวทางปรับตัวส่วนใหญ่ คือ ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำถูกกว่าประเทศไทย เช่น พม่า และกัมพูชา แต่การย้ายฐานไปพม่ายังมีน้อยเพราะความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน

(เนชั่นทันข่าว, 5-1-2556)

 

องอาจจี้รัฐเร่งหามาตรการช่วยผลกระทบค่าแรง 300 บาท

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลกระทบของนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทขอรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและกลุ่มแรงงานอย่างเป็น รูปธรรมเพราะขณะนี้เริ่มเกิดผลกระทบมากโดยเฉพาะกับกลุ่ม SMEs ในกลุ่มเสี่ยงนับล้านรายและกลุ่มแรงงานกว่าแสนคนที่กำลังจะประสบปัญหา เพราะเชื่อว่านโยบายจะเป็นตัวเร่งให้มีการปิดกิจการเร็วขึ้น รวมถึงขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมนุ่งห่มและสิ่งทอยังเริ่มย้ายฐานการผลิตไป ประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากประสบปัญหาค่าแรง ทั้งนี้ยืนยันว่าทางพรรคประชาธิปัตย์มีความประสงค์ให้ขึ้นค่าแรงเช่นกันแต่ ต้องทำควบคู่มาตรการรองรับที่เหมาะสมคือการพัฒนาฝีมือแรงงานเพราะจะสามารถ แก้ปัญหาในระยะยาวได้

(โพสต์ทูเดย์, 5-1-2556)

 

"กิตติรัตน์" ยืนยันเสนอมาตรการลดผลกระทบค่าแรงเข้า ครม.

7 ม.ค.55 - นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวยืนยันว่าในการประชุม ครม.วันที่ 8 ม.ค.นี้ จะนำเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศให้ที่ประชุมพิจารณาแน่นอน ซึ่งรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่ภาคเอกชนนำเสนอมาโดยเฉพาะการขอให้รัฐบาลจ่ายค่าส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่ม ขึ้นแทนเอกชน แม้ว่าหลายหน่วยงานจะเห็นว่าเป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสมก็ตาม แต่ทั้งหมดต้องให้ ครม.เป็นผู้พิจารณาตัดสิน แต่ในเวลานี้ขอยืนยันว่านโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้นถือเป็นนโยบายที่ถูกต้องเพราะเห็นได้จากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง จากการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าไม่เหมาะวันที่ 1 เม.ย.55 ที่ผ่านมา ได้ทำให้ประสิทธิภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 9  ขณะเดียวกันยังมีประสิทธิภาพในส่วนอื่นเพิ่มตามขึ้นมาด้วย แสดงให้เห็นว่าการเดินหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถือเป็นการพัฒนาประเทศที่ถูก ต้องแล้ว โดยมั่นใจว่าผู้ประกอบการต้องอยู่ได้แน่นอนในเมื่อทุกอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มมากขึ้นทั้งฝีมือแรงงาน หรือคุณภาพสินค้า

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าแรงอาจส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอให้อดทนสักระยะหนึ่งเพราะผลจากการปรับขึ้นค่าแรงจะกลับ คืนมาในรูปของกำลังซื้อในประเทศซึ่งจะเข้าสู่ภาคเอกชนในการหมุนรอบต่อไปของ ระบบเศรษฐกิจเพราะกำลังซื้อภายในประเทศจะเกิดขึ้นตามมาภายหลังจากที่ค่าแรง ปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริหารของภาคเอกชนเองที่ได้รับเงินเดือนสูง ๆ ก็ต้องใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพิ่ม มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในประเทศมีผู้ประกอบการเกือบ 1 ล้านราย และที่ผ่านมาก็มีทั้งปิดกิจการ เปิดกิจการ ขยายกิจการ หลายร้อยรายอยู่แล้วในแต่ละสัปดาห์ ไม่ว่าจะปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นเรื่องของการทำธุรกิจซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และการปรับขึ้นค่าแรงใน 7 จังหวัดเมื่อปี 55 ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแม้ว่าจะเป็นการปรับขึ้นเพียง 7 จังหวัดนำร่องแต่ก็มีจำนวนกิจการเกินกว่าร้อยละ 50 ของสถานประกอบการทั่วประเทศ ซึ่งทำให้แรงงานมีคุณภาพดีขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น นายจ้างลดการสูญเสียประเภทอื่นลงได้มาก

(สำนักข่าวไทย, 7-1-2556)

 

จี้รัฐบาลรับประกันแรงงานไม่ตกงานหลังขึ้นค่าแรง 300 บาท

7 ม.ค.56 - นายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่รัฐบาลปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศว่า รัฐบาลจะต้องรับประกันว่า ไม่มีแรงงานตกงานจากนโยบายดังกล่าว และขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะนโยบายค่าแรง 300 บาท เป็นการนำเงินภาคธุรกิจไปสร้างคะแนนเสียงให้รัฐบาลจึงต้องมีการชดเชยที่ เหมาะสมให้กลับคืนไปยังภาคธุรกิจด้วย ทั้งนี้เห็นว่า 11 มาตรการแรกที่ออกไปก่อนหน้านี้เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะเป็นเพียงนำมาตรการที่มีอยู่แล้วมายำรวมกันและอ้างว่า เป็นมาตรการในการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท ส่วนอีก 5 มาตรการที่จะเข้าที่ประชุมครม.วันที่8ม.ค.เป็นมาตรการแก้ปัญหาไม่ถูกทาง โดยรัฐบาลบอกว่าจะขอดูผลกระทบ 3 เดือนค่อยคิดว่าจะช่วยอย่างไร คิดว่าหากทำเช่นนั้นก็สายเกินไป คือ มีการเลิกกิจการแล้ว มีการตกงานเกิดขึ้นแล้ว ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า นโยบายใหญ่ขนาดนี้ทำไมจึงไม่มีการศึกษามาตรการรองรับให้เท่าทันเหตุการณ์ แต่กลับทำเหมือนเด็กเล่นคือ ลองผิดลองถูก เมื่อดูผลมีความเสียหายค่อยออกมาตรการชดเชย

นายสรรเสริญกล่าวว่า ทั้งๆที่มีธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะได้รับผลกระทบถึง 3 ล้านรายและกระทบการจ้างงานถึง 10 ล้านคน จึงต้องมีมาตรการรองรับก่อนออกนโยบาย ทั้งนี้พรรคเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงแต่ต้องค่อยเป็นค่อยไปให้เอกชนมีเวลา ปรับตัว ไม่ใช่ขึ้นพรวดเดียวเป็น300บาท แต่เมื่อมีการดำเนินการแล้วรัฐบาลก็ต้องชดเชยในช่วงที่ภาคเอกชนปรับตัวด้วย

ส่วนกรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ระบุว่า การขึ้นค่าเเรง300บาทนั้น ให้เวลาภาคเอกชนเตรียมตัวมา 1 ปีแล้วนั้น นายสรรเสริญ กล่าวว่า ในบางจังหวัดค่าแรงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเช่น จ.พะเยาจาก 159 บาทเป็น 300 บาท ศรีษะเกษจาก 160 บาทเป็น 300 บาท จึงปรับตัวไม่ทัน ดังนั้นนายกิตติรัตน์ต้องเป็นนักธุรกิจเองจะได้รู้ว่า ค่าแรงที่ปรับแบบก้าวกระโดดเช่นนี้จะเอาอยู่หรือไม่ ทั้งนี้จาก 77 จังหวัด มีเพียง 7 จังหวัดเท่านั้นที่ค่าแรงอยู่ที่กว่า 200 บาท นอกจากนั้นต่ำกว่า 200 บาททั้งสิ้น ดังนั้นจึงควรจะชดเชยตามข้อเรียกร้องของเอกชน 3 ปีแบบขั้นบันได แต่รัฐบาลก็ไม่ตอบรับในประเด็นนี้ จึงนำมาสู่คำถามซึ่งพรรคอยากให้รัฐบาลตอบว่า ทำไมจึงไม่ดำเนินการเรื่องนี้ การอ้างว่าใช้เงินเปลืองกลัวว่าไม่มีเงินนั้น ทำไมจึงเอาเงินไปทำโครงการจำนำข้าวที่มีการทุจริตเป็นแสนล้านบาทต่อปีรัฐบาล ยังเดินหน้า แต่การชดเชยค่าแรงซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน รวมถึงประชาชนทั่วไป ทำไมรัฐบาลกลับถอยหลังไม่เดินหน้าช่วยเหลือ ถ้าอ้างว่าไม่มีเงินพรรคขอเสนอว่าให้ยกเลิกโครงการจำนำข้าวเป็นประกันรายได้

นายสรรเสริญ กล่าวด้วยว่านโยบายที่จะลดภาษีให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีจาก 3 %เหลือ 2 % ซึ่งจะทำให้รัฐขาดรายได้ 6.4 หมื่นล้านบาทต่อปีนั้น หากนำมาทอนเป็นตัวเงินให้กับภาคธุรกิจถือว่าน้อยมากจากมาตรการดังกล่าว เหมือนกับการนำค่าแรงมาหักภาษี จึงเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือไม่ตรงจุดเช่นเดียวกับการลดภาษีนิติบุคคลเพราะ เป็นการหว่านแหช่วยทุกธุรกิจไม่ได้ดูเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลจึงควรทบทวนแนวทางใหม่ด้วยการชดเชยให้ตรงจุดกับธุรกิจที่ได้รับผล กระทบจริงซึ่งจะเป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

"และยังเห็นว่านโยบายประชานิยมหลายนโยบายของรัฐบาลไม่ได้เป็นไปตามเป้า หมายที่วางแผนไว้ เช่น โครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งเดิมรัฐบาลคาดว่าจะเสียรายได้จากภาษีประมาณสามหมื่นล้านบาท แต่กลับกลายเป็นว่ายอดทะลุเกือบแสนล้านบาทแล้ว และที่อันตรายที่สุดคือ นโยบายที่ยังไม่ได้แจกแจงตัวเลขคือใช้วิธีให้องค์กรอื่นเช่น ธนาคารรัฐควักเงินไปก่อน หมกเม็ดตัวเลขความเสียหาย เป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด เพราะถ้าบานปลายจะเห็นชัดในปีหลัง ๆ เช่น จำนำข้าวเสียหายปีละ 1-1.5 แสนล้านบาท เป็นตัวถ่วงในเรื่องงบประมาณและเพิ่มหนี้สาธารณะ หากรัฐบาลชุดนี้บริหารครบ 4 ปีมีความเป็นไปได้หนี้สาธารณะทะลุ 60 % ของจีดีพี"นายสรรเสริญกล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 7-1-2556)

 

เผดิมชัยอ้อมแอ้มรับพิษ 300 บ. เข้าคิวเจ๊งอีก 7 โรงงาน

เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่กระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ?จากการรายงานสถานการณ์ด้านแรงงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ณ วันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1-4 มกราคม 2556 มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ ?300 บาท จำนวน 4 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 275 คน ส่วนสถานประกอบการที่แนวโน้มการเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้าง จำนวน 2 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 480 คน และมีอีก 5 แห่ง ที่ส่งสัญญาณการขาดสภาพคล่องและหมดสัญญาเช่าที่มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 999 คน

นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ตนได้กำชับให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบจาก การปรับขึ้นค่าจ้างโดยเฉพาะการเลิกจ้างแรงงาน โดยให้ กสร.กำชับไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ให้เข้าไปช่วยลูกจ้างเจรจากับนายจ้างทันทีที่ทราบว่า มีสถานประกอบการในพื้นที่ปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงาน เพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องการจ่ายเงินชดเชยและเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเร็วที่สุด ไม่ให้เรื่องนี้ยืดเยื้อ เพื่อที่ลูกจ้างจะได้มีเงินไว้ใช้จ่ายระหว่างเริ่มต้นหางานใหม่

ส่วนกรณีนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผล กระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างโดยจัดสรรงบ 5,000 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนเงินกู้เสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ เป็นเวลา 1-2 ปีนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล แต่ในส่วนของกระทรวงแรงงานจะเน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่ สถานประกอบการ รวมทั้งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็มีโครงการให้สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานวงเงินกว่า 9,000 ล้านบาท โดยให้กู้ผ่านธนาคาร 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ?ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย ?จำกัด (มหาชน) และธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ปรับเพิ่มวงเงินกู้ให้แล้ว เช่น สถานประกอบการมีลูกจ้างไม่เกิน 50 คนแต่เดิมกู้ได้เพียง 1 ล้าน ก็ปรับเพิ่มเป็น 2 ล้านบาท ?ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีมายื่นกู้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556

รมว.แรงงาน ยังกล่าวถึงกรณี น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ออกมาแถลงข่าวนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ทำให้แรงงานนอกระบบกว่า 24 ล้านคน ได้รับผลกระทบเพราะค่าครองชีพและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นเท่ากับ นโยบายนี้ฆ่าคนจนให้ตายทั้งเป็น ว่า ?น.ส.มัลลิกา ไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ด้านแรงงาน ซึ่งความจริงแล้วผู้ที่แถลงข่าวควรเป็น ส.ส.พรรค ปชป.ที่เคยเป็นอดีต รมว.แรงงาน ที่มีอยู่ถึง 2 คน และช่วงที่รัฐมนตรีของพรรค ปชป.มานั่งบริหารกระทรวงแรงงาน ก็ไม่ได้สะสางปัญหาต่างๆ ในกระทรวงแรงงานให้เรียบร้อย เช่น ปัญหาแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศถูกเรียกเก็บค่าหัวคิวสูงเกินจริง

(แนวหน้า, 7-1-2556)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘คดีคลิตี้’ 9 ปี แห่งการรอยคอย – ลุ้นพิพากษา 10 ม.ค.นี้

Posted: 07 Jan 2013 07:32 AM PST

 

หลังการรอคอยด้วยความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างยาวนาน ในวันที่ 10 ม.ค.56 เวลา 9.00 น.ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 214/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 637/2551 ระหว่าง ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่าง จำนวน 22 คน ผู้ฟ้องคดี กับกรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องคดี
 
 
จากกรณีที่บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้ดำเนินกิจการทำเหมืองแร่ และโรงแต่งแร่ มาตั้งแต่ปี 2510 และมีการลักลอบทิ้งน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจากบ่อกักตะกอนลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ทำให้สารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วย โดยสะสมในน้ำ ดิน และสัตว์น้ำในปริมาณสูง ส่งผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดี และชุมชนคลิตี้ล่างซึ่งมีวิถีชีวิตแบบพึ่งพิงธรรมชาติ
 
ภายหลังจากเป็นข่าวตั้งแต่ปี 2541 หน่วยงานรัฐได้เข้าไปตรวจสอบและพบการปนเปื้อนของตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ทั้งในน้ำ ตะกอนดิน และสัตว์น้ำ จนกระทรวงสาธารณสุขได้ติดป้าย "ห้ามใช้น้ำ" และ "ห้ามจับสัตว์น้ำชั่วคราว" ตั้งแต่ปี 2542 และได้มีการสั่งปิดโรงแต่งแร่คลิตี้ชั่วคราวและปรับเป็นเงิน 2,000 บาท แต่ในประเด็นการแก้ไขปัญหามลพิษไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ 

ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้ยื่นขอให้สภาทนายความช่วยเหลือคดีโดยมีการมอบให้สภาทนายความ และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อมเป็นผู้แทนในการดำเนินการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 214/2547 เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2547 โดยยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจในการควบคุม ฟื้นฟูระงับเหตุอันตรายจากมลพิษ และบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม นั่นคือบังคับให้บริษัทฯ ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วย แต่ถ้าบังคับไม่ได้ ก็สามารถดำเนินการฟื้นฟูเองแล้วเรียกค่าเสียหายจากผู้ก่อมลพิษได้ตาม มาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ผู้ฟ้องคดีมีคำขอต่อศาลดังนี้ 1.ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการกำจัดมลพิษและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยจัดให้มีแผนการดำเนินงานภายใต้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้ลำห้วยคลิตี้และสภาพนิเวศกลับคืนสู่สภาพเดิม และเป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมาย โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีเรียกค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายจากผู้ก่อมลพิษในภายหลัง

2.ให้กำหนดมาตรการอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของสารตะกั่วบริเวณลำห้วยคลิตี้ และฟื้นฟูระบบนิเวศบริเวณดังกล่าว โดยคำนึงถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมของราษฎรบ้านคลิตี้ล่างตามรัฐธรรมนูญ 3.ขอให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ใน สิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงค่าเสียหาย เนื่องจากชาวบ้านต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการซื้ออาหาร

กรณีนี้เป็นคดีตัวอย่างเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูปัญหามลพิษ และเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญของชุมชนซึ่งนับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย 

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ศาลปกครองชั้นต้นมีพิพากษาในประเด็นสำคัญว่า 1.กรมควบคุมมลพิษล่าช้าเกินสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ที่บริษัทเอกชนก่อให้เกิดการปนเปื้อน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม 
 
2.กรมควบคุมมลพิษละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ก่อมลพิษและปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูและระงับการปนเปื้อนล่าช้าเกินสมควร จึงเป็นละเมิดและก่อให้เกิดความเสียหายที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทดแทนอาหารที่เคยมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ให้จ่ายเงินชดใช้เดือนละ 1,050 บาทต่อคน
 
3.ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดีเมื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมถูกคุกคามก็สามารถที่จะบังคับการตามวัตถุแห่งสิทธิได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าได้เกิดความเสียหายขึ้นกับชีวิต สุขภาพอนามัย และสุขภาพของผู้นั้นมากน้อยเพียงใด พิพากษาให้ค่าเสียหายจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอัตราเดือนละ 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันยื่นฟ้อง

ต่อมา ชาวบ้านคลิตี้ล่างยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้โดยเร็ว และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายในอนาคตเพิ่มเติม ขณะที่กรมควบคุมมลพิษก็ยื่นอุทธรณ์ปฏิเสธว่ามิได้ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งหลังจากนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 10 มกราคม นี้

นับแต่ทราบเหตุในปี 2541 กรมควบคุมมลพิษมีความล่าช้าในการแก้ไขฟื้นฟูมาตลอด 15 ปี แม้ว่าจะมีผลของคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นว่าปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจนเกินสมควรแล้วก็ตาม
 
ในปัจจุบันผลจากการตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อมของรัฐ และกรีนพีซในเดือนพฤษภาคม 2555 ก็มีลักษณะทำนองเดียวกันว่ายังคงมีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ โดยเฉพาะการปนเปื้อนในตะกอนดินสูงกว่าภาวะปกติทั่วไปที่มีอยู่ตามธรรมชาติหลายร้อยเท่า และมีปริมาณตะกั่วทั้งหมดสะสมอยู่ในลำห้วยเป็นระยะทาง 19 กิโลเมตร ถึง 576 ตัน ซึ่งแนวทางการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองที่กรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้างไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จนถึงปัจจุบัน

ความทุกข์ยากจากการเผชิญกับปัญหามลพิษที่ตนเองไม่ได้ก่อของชาวบ้านคลิตี้ซึ่งต้องดำรงชีวิตภายใต้ความเสี่ยงมีโอกาสได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายเพราะความจำเป็นต้องใช้น้ำและบริโภคกุ้ง หอย ปู ปลา ในลำห้วยคลิตี้ซึ่งมีตะกอนตะกั่วปนเปื้อน การใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลปกครองก็โดยประสงค์ให้กระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันให้รัฐดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้ตามธรรมชาติอย่างรวดเร็วและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม

คำพิพากษาแห่งคดีนี้ย่อมเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการเยียวยาฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายและการชดเชยค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ก่อมลพิษ ตามหลักกฎหมาย "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย"
 
ผลของคำพิพากษานี้จะมีผลทั้งโดยตรงกับการแก้ไขปัญหากรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำ และเป็นบรรทัดฐานต่อกรณีปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน กรณีอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยอีกหลายพื้นที่
 

 
 
'คดีแพ่ง' ความเสียหาย 'ห้วยคลิตี้'
 
นอกจากคดีข้างต้นแล้ว กรณีสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้นี้ ยังมีการฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายรวม 3 คดี อันได้แก่ คดีที่ชาวบ้านฟ้องบริษัทฯ 2 คดี และคดีที่กรมควบคุมมลพิษฟ้องบริษัทฯ อีก 1 คดี ซึ่งทั้งหมดได้มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ดังมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

1. คดีหมายเลขแดงที่ 3426/2550 
คดีนี้ นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ที่ 1 กับพวกรวม 8 คน (โจทก์)ยื่นฟ้อง บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัดที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (จำเลย) ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาว่าโรงแต่งแร่คลิตี้ปล่อยสารตะกั่วลงในห้วยคลิตี้มาเป็นเวลานานหลายปี และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและครอบครองมีอำนาจควบคุมสั่งการกิจการโรงแต่งแร่คลิตี้ หากเกิดความเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้ จึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนี้ จึงให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ทั้ง 8 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 29,551,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง ส่วนกรณีขอให้บังคับบริษัทจำเลยดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายได้รับรองสิทธิดังกล่าวไม่สามารถบังคับได้ ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา

2. คดีหมายเลขแดงที่ 2604/2554
คดีนี้ นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ที่ 1 กับพวกรวม 151 คน (โจทก์)ยื่นฟ้อง บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัดที่ 1 กับพวกรวม 7คน (จำเลย) ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาว่า โรงแต่งแร่ของจำเลยที่ 1 ปล่อยตะกอนแร่ลงไปในลำห้วยคลิตี้ ก่อให้เกิดมลพิษแก่น้ำในลำห้วยที่โจทก์ใช้บริโภคอุปโภคจริงเมื่อจำเลยเป็นกรรมการบริษัท จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดเป็นการส่วนตัวกับจำเลยที่ 1 โดยความรับผิดไม่อาจพิจารณาจากปริมาณตะกั่วภายในเลือดซึ่งเกินกว่าหรือต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้เพียงประการเดียวได้ เมื่อชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้ง 151 คนได้รับพิษจากสารตะกั่วอันเป็นผลโดยตรงจากการปล่อยน้ำเสียและตะกอนหางแร่ของโรงแต่งแร่ ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 96 วรรค 1 จำเลยทั้งเจ็ดจึงต้องร่วมกันใช้เงินโจทก์ทั้ง 151 คน ทั้งสิ้น 36,050,000 บาท กรณีขอให้บริษัทจำเลยดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 96 ไม่ได้ให้สิทธิชาวบ้านผู้เสียหายร้องขอให้ศาลบังคับบริษัทฯ ในกรณีดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของกรมควบคุมมลพิษ

3. คดีหมายเลขแดงที่ 1048/2554
คดีนี้กรมควบคุมมลพิษยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับกรรมการบริษัท เป็นจำเลย รวม 7 คน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาว่า การปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ เชื่อว่าเกิดจากการดำเนินกิจการโรงแต่งแร่ ซึ่งทำให้ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่างได้รับอันตรายหรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหาย จำเลยในฐานะกรรมการได้ยินยอมให้มีการปล่อยสารตะกั่ว จึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ทั้งนี้ ความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติจนชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำได้ ไม่ใช่ความเสียหายแก่รัฐ โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ไม่ได้ แต่เรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่โจทก์ดำเนินการตรวจสอบแก้ไขการปนเปื้อนสารตะกั่วได้ เนื่องจากโจทก์มีหน้าที่ฟื้นฟูมลพิษโดยตรง จำเลยทั้ง 7 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายรวม 1,341,962.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาไทการ์ตูน: หมู่บ้านนี้อยู่กันมาตั้งนาน

Posted: 07 Jan 2013 05:04 AM PST


คลิกเพื่อดูภาพใหญ่ที่นี่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้กรมเจรจาฯ เปิดฟังความเห็นร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู

Posted: 07 Jan 2013 01:58 AM PST

เอฟทีเอ ว็อทช์ จี้กรมเจรจาฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ตั้งข้อสงสัยอยากเริ่มเจรจาให้ได้ภายในเดือนนี้ แต่ไม่ยอมเปิดเผยร่างกรอบฯ

ตามที่นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในเดือนม.ค.นี้ ฝ่ายไทยจะสามารถประกาศเปิดการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ได้จัดทำกรอบการเจรจาในการเปิดเสรีเสร็จแล้ว เพื่อให้การเจรจาแล้วภายใน 2 ปี มีผลบังคับใช้ปี 2558 จะได้ช่วยทดแทน หากไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในปี 2557

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า เมื่อกรมเจรจาฯชี้แจงว่า กรอบเจรจาฯเสร็จสิ้นแล้ว ก็ควรเปิดเผยต่อสาธารณชน เพราะตั้งแต่ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ร่างกรอบเจรจาฯดังกล่าวยังถูกปิดเป็นความลับ หากยังปิดเป็นความลับเช่นนี้ ใครจะไปให้ความเห็นหรือข้อกังวลตามที่กรมเจรจาฯประกาศได้

"เมื่อมีกรอบเจรจาฯแล้ว ก็ควรจัดรับฟังความคิดเห็นในส่วนกลาง 1 ครั้งก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาตามมาตรา 190 เพราะไม่ใช่ทุกภาคส่วนจะสามารถเข้าถึงผู้ใหญ่ในกรมเจรจาฯได้ จึงควรจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกรอบเจรจาฯ ไม่ควรห่วงแต่ภาคธุรกิจ หากกรมเจรจาฯไม่เปิดเผยกรอบ ก็ไม่สามารถแสดงความกังวล-ข้อคิดเห็นที่จะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมและพัฒนาท่าทีการเจรจาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภาควรมีเวลาเพียงพอที่จะศึกษาร่างกรอบเจรจาและการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปนี้ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง"

ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล สมาชิก เอฟทีเอ ว็อทช์ เปิดเผยว่า วันนี้ 14 องค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบด้านต่างๆ ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบกระบวนการจัดทำการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thai-EU FTA)

"เครือข่ายประชาชน (ตามรายชื่อแนบท้าย) ได้ติดตามตรวจสอบเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด พบว่า กระบวนการจัดทำการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) ที่ดำเนินการโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ไม่เป็นไปตามขั้นตอนการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ที่กำหนดไว้ใน มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้คณะรัฐมนตรีจะต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ อีกทั้งร่างกรอบเจรจาฯไม่เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศต่อรัฐสภา ที่ระบุว่า  'มีนโยบายขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการตลาดภายใต้กรอบความร่วมมือและข้อตกลงการค้าเสรีในระบบพหุภาคีและทวิภาคี โดยเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว พร้อมทั้งวางแนวทางป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้น กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเตรียมพร้อมในการพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ' ซึ่งจะนำไปสู่การไม่มีแนวป้องกัน หรือการเตรียมมาตรการใดๆรองรับให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีที่จะมีขึ้น นอกจากนี้ยังไม่มีการวางแนวป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับระบบสาธารณสุขของไทยดังที่งานวิจัยของสถาบันวิจัยหลายสำนักที่หน่วยราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุมัติให้จัดทำได้เคยเสนอแนะไว้

การกระทำดังกล่าว ถือได้ว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กำลังกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190 และเป็นการกระทำที่ขาดธรรมาภิบาลที่ข้าราชการพึงมี ดังนั้นเครือข่ายประชาชน จึงขอให้คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะพฤติกรรมและธรรมาภิบาลของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในฐานะเลขานุการการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทยและตรวจสอบผลกระทบของการจัดทำการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) ต่อระบบสาธารณสุขไทย รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและรัฐสภาในการปรับปรุงร่างกรอบเพื่อวางแนวป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น"

เครือข่ายประชาชนที่ทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ประกอบไปด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์,มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทยและกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเหมือนที่แตกต่างไทย? ศาสนจักร?

Posted: 07 Jan 2013 01:53 AM PST

คงจะมีความหวังกว่านี้ ถ้าชนชั้นปกครองจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของรัฐอื่นๆ จะได้พบว่า จุดจบของความดื้อดึงมีแนวโน้มจะเป็นเช่นไร

 

เกริ่นนำ
เริ่มต้นด้วยความพยายามที่จะเทียบเคียงไทยกับศาสนจักร เพื่อให้นึกภาพรัฐศาสนาหรือศิลปะในศาสนาชัดเจนขึ้น มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเข้าฉายในประเทศไทย คือ "รหัสลับ ดาวินชี" (2006) เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวนขายดีของ แดน บราวน์  เนื้อหาได้อ้างถึง งานศิลปะหลังยุคมืด หรือที่ หลายคนเรียกว่ายุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) บราวน์ชวนให้เรารู้จักภาพวาดสำคัญที่สุดภาพหนึ่งของชาวคริสต์ คือ "ภาพงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้าย" (The Last Supper) แน่นอน วาดโดย ดาวินชี (Da vinci) อัจฉริยศิลปิน ผู้ซึ่งบราวน์ชวนให้เราเชื่อว่า ดาวินชีจะทำสัญลักษณ์บางอย่างลงไปที่รูปวาดของเขาเพื่อสื่อความหมายเร้นลับบางอย่าง น่าสนใจกว่านั้น  บราวน์เสนอผ่านตัวเอกของเรื่อง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การกดขี่เสรีภาพที่กระทำผ่านการฆ่าในนามพระเจ้าและการทำลายงานศิลปะของศาสนจักร (Chruch,Ecclesia) แน่นอน เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอำนาจและการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย บราวน์ตั้งใจเขียนให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยในประวัติศาสตร์กระแสหลักหลายๆ ประเด็น เฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์แบบที่ครอบงำชาวคริสต์หลายคน (ที่จริงไม่เฉพาะแต่หลายคน แต่ถึงกับบางรัฐในสหรัฐอเมริกา !) แรงปฏิกิริยาของศาสนจักรต่อเรื่องนี้ คือ ยื่นฟ้องบราวน์ โทษฐานเขียนเรื่องเท็จ ? น่าสนใจว่า ทำไมผู้ถืออำนาจของศาสนจักร (Authority,Magisterium) จึงทำเช่นนั้นในยุคนี้?

เนื้อหา
ทั้งๆที่พ้นจากยุคมืดไปแล้วศาสนจักรค่อยๆหมดอำนาจในการบังคับเจ้าผู้ปกครองรัฐ แม้กระนั้น สิ่งที่ยุคมืดฝากไว้ยังสร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้คนในสังคมนานนับร้อยปี เป็นต้น ความหวาดกลัวลัทธิล่าแม่มด การเผาตำราทางวิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็ตามที่ตั้งคำถามกับรัฐศาสนา มีก็แต่ชนชั้นสูงหรือผู้ที่อาศัยบารมีของชนชั้นสูงเท่านั้น(กลุ่มอำนาจใหม่ เช่น เยอรมัน) ที่พอจะปกป้องตัวเองจากกลุ่มอำนาจเก่าได้ ซึ่งเรื่องราวที่คล้ายๆ กันกับนวนิยายของบราวน์แสดงตัวตนจริงว่ามันเคยมีอยู่ในประวัติศาสตร์การสังคายวาติกัน ครั้งที่ 2 (Vatican Council II) เราได้เห็นกลุ่มอำนาจเก่าที่เกิดร่วมสมัยกับเรา ในศตวรรษที่ 20 นี้ แสดงความกล้าหาญและบ้าคลั่งมากพอที่จะปกป้องอำนาจในการควบคุมของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักเทววิทยาหัวก้าวหน้า การบังคับให้ใช้ภาษาลาตินเท่านั้นในการสื่อสาร แต่จุดสูงสุดของเหตุการณ์อยู่ที่ "วันพฤหัสบดีสีดำ" (Black Thursday-1964) เพราะวันนั้นเป็นอะไรที่จำเป็นต้องแตกหัก เนื่องจากมีการเสนอญัตติให้ออกเอกสารในนามสภาสังคายนาว่าด้วยเรื่อง "เสรีภาพในการนับถือศาสนา" (Dignitatis Humanae-1965)

ทั้งๆที การให้ความหมายคำว่า "เสรีภาพ" ถูกพัฒนาไปนานแล้ว จากนักคิดสำคัญๆ เช่น Hobbes หรือ Locke แต่สำหรับศาสนจักร แม้กระทั่งในศตวรรษที่ 20 (หรือ 21 ก็ตาม) คำนี้ก็ยังใหม่ ! น่าสนใจตรงที่ ประเทศไทยแม้ไม่ใช่รัฐศาสนาโดยตรงตามทฤษฎี แต่ดูเหมือนจะมีความพยายามผลิตความเป็นรัฐศาสนาให้ได้ และนั่นทำให้เหตุการณ์ปี 1964 อาจเกี่ยวข้องกับประเทศไทยได้ กล่าวคือ "เสรีภาพ" ซึ่งมีผู้พัฒนาล่วงหน้าไปก่อนแล้วในโลกกลับยังเป็นที่น่าสงสัยสำหรับชนชั้นปกครองในประเทศไทย? สำคัญกว่านั้นเสรีภาพเป็นอะไรที่น่าหวาดกลัวสำหรับชนชั้นใต้ปกครองด้วย? และเรื่องราวเกือบจะตรงกันเมื่อมีนักคิดหัวก้าวหน้าในประเทศเรียกร้องให้ออกข้อตกลงหรือกฎหมายบางอย่างที่สนับสนุนเสรีภาพภายในรัฐของตน แต่นั่นเองก็ทำให้เกิดวาระซ่อนเร้น (Hidden Agenda) มากมายในอันที่จะยับยั้งเรื่องนี้

กลับมาที่ศิลปะ ในสถานะเดียวกับ ศาสนจักร ไทยอาจจะลำบากกว่าด้วยซ้ำเกี่ยวกับเสรีภาพ เพราะศาสนจักรในศตวรรษที่ 21 ยอมรับพอสมควร (เรียกว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเคลื่อนไหวก็ได้) อย่างน้อย งานศิลปะที่ดูแล้วเกิดความหมิ่นเหม่ว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นหรือไม่  เช่น งานของ David LaChapelle ซึ่งจัดวางพระเยซูในฐานะองค์ประธานของงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายท่ามกลางวัยรุ่นติดยา?  แต่ศาสนจักรเองไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เสรีภาพที่ถูกปลดปล่อยนั้นอาจเป็นประโยชน์กับศาสนจักรมากกว่า และการทำทีเป็นยอมให้มีเสรีภาพก็ไม่เสียหายอะไร แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีงานศิลปะเชิงปลดแอกอีกหลายชิ้น นี่เป็นการยืนยันว่า พระเจ้าตายแล้วจริงๆ แต่ถ้าศาสนจักรจัดแจงเผาทุกสิ่งอย่างที่ขัดต่อนโยบายของตัวเอง คงไม่มีอะไรใหม่ และนั่นอาจเป็นการล่มสลายของรัฐที่ไม่มีอะไรเลย

กลับมาที่ประเทศไทย เรายอมให้มีความสร้างสรรค์แบบนั้นในงานศิลปะหรือไม่? หรือศิลปะต้องรับใช้ศาสนาและสิ่งสูงสุดของสังคมเสมอในลักษณะเดียวกับยุคกลาง ? แม้ว่า รัฐศาสนาไทยจะยังไม่พร้อมพอๆ กับศาสนจักรในอันที่จะทำทีเป็นยอมรับงานเขียนของพวกหัวก้าวหน้าได้ อย่างไรก็ตาม ศาสนจักรได้นำหน้าเราไปแล้วทั้งๆ ที่เก่าแก่กว่าด้วยเรื่อง "การทำเป็นยอมให้มีเสรีภาพ"  เพราะถ้ายิ่งต่อต้านก็อาจจะสูญเสียผลประโยชน์จากความศรัทธายิ่งขึ้น ที่จริง ศาสนจักรเองรู้อยู่แก่ใจในประวัติศาสตร์ของตนและฉลาดพอที่จะไม่ทำผิดซ้ำรอยโดยการแสดงว่า ฉันมีอำนาจอิทธิฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ล้นฟ้าล้นแผ่นดิน (เล่นบทบาทผู้ยอม) แต่นั่นอาจทำให้เราพอมองเห็นแล้วว่า ทำไม "ศิลปะแห่งการควบคุมในประเทศไทย" จึงยังเจริญรุ่งเรืองอยู่จนถึงทุกวันนี้?

บทส่งท้าย
ความดื้อดึงของใครสักคนอาจทำลายทุกอย่างจะดำเนินต่อไปอย่างสร้างสรรค์ให้กลายเป็น ประวัติศาสตร์ที่อยากจะลืมมากที่สุด การลิดรอนเสรีภาพในงานศิลปะเป็นเครื่องหมายที่ชัดเจนหนึ่ง เราทราบกันดีว่าในประเทศของเรา เราจะทำงานศิลปะอะไรได้บ้าง และห้ามทำงานศิลปะอะไรบ้าง คงจะมีความหวังกว่านี้ ถ้าชนชั้นปกครองจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของรัฐอื่นๆ จะได้พบว่า จุดจบของความดื้อดึงมีแนวโน้มจะเป็นเช่นไร และที่สำคัญไปกว่านั้น แรงปฏิกิริยาอันเนื่องมาจากการถูกกดขี่ทางเสรีภาพมาเป็นระยะเวลานานจะน่ากลัวเพียงใด? และการทำเป็นยอมบ้างไม่น่าจะส่งผลร้ายแรงอะไรเมื่อเทียบกับอนาคตของการปลดปล่อยแบบลุกฮือขึ้นมาอย่างน่าสะพรึงกลัว!

 

เพื่อความสะดวกในการสืบค้น
http://en.wikipedia.org/wiki/Second_Vatican_Council
http://en.wikipedia.org/wiki/Dignitatis_Humanae
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มือดีแฮกเว็บช่อง 3 ถาม "เหนือเมฆข้าอยู่ไหน?"

Posted: 07 Jan 2013 01:41 AM PST

 

วันนี้ (7 ม.ค.56) มีรายงานว่า มีมือดีเข้าไปแฮกเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 http://www.thaitv3.com/ และใส่ภาพจากละคร "เหนือเมฆ 2" มีข้อความ "เหนือเมฆข้าอยู่ไหน?" พร้อมมีโลโก้กลุ่มชื่อ Unlimited Hack Team แทน โดยจนถึงขณะนี้ (17.00น.) ภาพที่ถูกแฮกยังคงอยู่
 

 


ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จะมีการจัดเสวนาเรื่อง "บอกความจริงเรื่อง 'เหนือเมฆ 2': สงสารช่อง 3 หรือประชาชนดี'" ที่ห้อง 1001 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เวลา 13.30-15.30 น.  โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย สมรักษ์ ณรงค์วิชัย ผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 (อยู่ระหว่างการติดต่อ) นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้กำกับละคร "เหนือเมฆ 2" (อยู่ระหว่างการติดต่อ) สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สุวรรณา สมบัติรักษาสุข อดีตประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย จำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และสุภาพร โพธ์แก้ว หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธเนศ วงศ์ยานาวา

Posted: 06 Jan 2013 08:21 PM PST

ชุดความคิดที่ว่าคุณมันคือไพร่ มีลำดับชั้นของมัน และคุณควรจะปฏิบัติตัวให้ตรงตามฐานันดรของมัน นี่คือการจัดระเบียบของเรา เราถูกควบคุมตลอดเวลา และอันนี้เป็นศิลปะแห่งการควบคุมอย่างหนึ่งในสังคมไทย เมื่อเราเกิดมาแล้วก็ถูกจัดระเบียบไว้
"ขอสรุปไว้ตรงนี้ว่า คนที่คิดที่จะสู้ จะต้องสู้อีกยาว และสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องสู้ ก็คือ สู้กับตัวเราเอง สำหรับผมมันอยู่ในชีวิตคุณ ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ"

5 ม.ค.56, กล่าวในเสวนาหัวข้อ "การควบคุม...ศิลปะ"

รายงาน: ก้าวข้ามโลกอคติมายา ก้าวหน้าสู่โลกจริง

Posted: 06 Jan 2013 04:35 PM PST



"ลาว คำหอม" คำสิงห์ ศรีนอก    ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร่วมเสวนา
"ก้าวข้ามโลกอคติมายา ก้าวหน้าสู่โลกจริง"  ในงาน "ฟ้าแดงที่ไร่ธารเกษม" อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
"ครบรอบ 82 ปี ลาว คำหอม" อังคารที่ 25 ธันวาคม 2555  เพียงคำ ประดับความ ดำเนินรายการ

 

ในโลกแห่งเสรีที่ดูเหมือนจะไร้กรอบกั้น  กลับถูกจำกัดด้วยมายาคติอันคับแคบของจิตใจมนุษย์ 
ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ว่าคุณจะเห็นพ้อง หรือไม่เห็นพ้องก็ตาม ไม่ว่าจะมีจุดด่างพร้อยเกิดขึ้นมากแค่ไหน
เหตุการณ์ที่ไม่น่าจดจำอย่างไร  การอยู่ร่วมกันในสังคมก็ยังดำเนินต่อไป ภายใต้มายาคติหรือความเป็นจริงของแต่ละผู้คน

 


เพียงคำ ประดับความ : เราจะก้าวข้ามโลกอคติมายาได้อย่างไร

ลาว คำหอม :   รู้สึกตื่นเต้นและเป็นเกียรติ อยากพูดถึงความเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวเพื่อเป็นการปูพื้น ในโลกของความเปลี่ยนแปลง เมื่อสองสามวันก่อนมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาเยี่ยมและถามว่าบ้านเมือง เรานี้ เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ ? ไม่ช่วยกันหาทางออกหรือ?

ก็ถามว่าเอาเข้าจริง ๆ แล้วเราจะยังอยู่กับภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้อย่างไร ผมตอบว่า หลังการปฏิวัติ ครั้งสุดท้าย ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่มีอำนาจใดที่จะสามารถทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่ไทยดั้งเดิม ที่เป็นมาอยู่ก่อน ท่านถามว่าทำไม อะไรที่ทำให้คุณคำสิงห์คิดว่าเปลี่ยนแปลงจนทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่สถานะ ดั้งเดิม อีกไม่ได้ ผมตอบสั้นๆ ว่าปัญหาหลังจากปฏิวัติครั้งสุดท้ายได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในประเทศไทย ซึ่งตื่นเต้นมากคือ พลังปัญญาและพลังความกล้าหาญได้ปรากฏตัวชัดเจนขึ้น

ยกตัวอย่างหนังสือที่ไม่เคยคิดว่าในชีวิตจะได้เห็นและได้อ่านคือฟ้าเดียวกัน การที่ฟ้าเดียวกันเกิดขึ้น และดำรงอยู่ได้ แสดงให้เห็นว่าพลังปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ผมอ่านหลัก ๆ ในหนังสือฟ้าเดียวกันนั้น ผมเห็นว่าผู้ทำได้ทำหน้าที่ เหมือนกำลังลบความขุ่นมัวในภาพกระจกโบราณให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เนื่องจากภาพโบราณ ผมหมายถึงประวัติศาสตร์ ที่แล้วมามันขมุกขมัวหลายแง่หลายมุม ภาพไม่ชัดเจนนัก แต่หลังจากการปฏิวัติครั้งสุดท้ายพลังปัญญาได้งอกงามขึ้น ปรากฏการณ์ที่มีหนังสือฟ้าเดียวกันเกิดขึ้น และอยู่มาจนถึงวันนี้ ผมมองว่าประวัติศาสตร์กำลังถูกชำระโดยคนรุ่นใหม่ ด้วยความกล้าหาญ ด้วยความสงสัย ค่อยๆ ทำให้โลกสว่างขึ้น ต้องยอมรับว่าพลังแห่งการชำระประวัติศาสตร์เกิดขึ้น อย่างน่าทึ่ง เพราะฉะนั้นเป็นความเปลี่ยนแปลงหนึ่ง

เรื่องที่ 2 พลังปัญญา ที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นในชีวิตนี้ การปรากฏตัวของคณะนิติราษฎร์ คณาจารย์ รุ่นใหม่มีพื้นฐานทางปัญญาชัดเจน กล้าหาญ สุขุม และชี้ทางออกให้กับสังคมที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ปัญหาจริงๆ ของประเทศไทยอยู่ที่ไหน จะแก้อย่างไร คนแก่ไม่กล้าชี้หรอกครับปัญหาอย่างนั้น คณาจารย์โบราณก็ไม่ชี้หรอกครับ คณาจารย์นิติราษฎร์ได้แสดงให้เราเห็นชัดเจนว่า ถ้าเราอยากมีสังคมปกติสุข ต้องพยายามขจัดปัญหาเหล่านั้น และให้คำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไร

ประการ ที่ 3 ที่เป็นสิ่งใหม่ ๆ หลังการปฏิวัติครั้งสุดท้ายคือพลังมวลชน คือการเกิดขึ้นของกลุ่มคนเสื้อแดง จะด้วยอะไรก็ตาม ผมเคยพูดกับวัฒน์ วรรลยางกูร ว่าเราต้องขอบคุณ คุณสนธิ นายพลเอกสนธิ (พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน) ที่ทำรัฐประหาร เพราะการทำรัฐประหารก่อให้เกิดกระบวนการประชาชนที่ลุกขึ้นทวงสิทธิ์ ถ้าไม่มีรัฐประหาร เราไม่สามารถบ่มเพาะ ประชาชนให้เกิดกลุ่มชนที่มีพื้นฐานหนักแน่น หนักหน่วง เติบโต ขยาย แก่ตัวขึ้นมาได้ โดยปัจจัยเหล่านี้เองจึงไม่สามารถ ทำให้อำนาจใดๆ ที่ดูเคยดูแลประเทศไทยก่อนการปฏิวัติครั้งสุดท้ายกลับมาได้อีก ด้วยพลัง 3 ปัญญา และพลังมวลชน จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจน

หลังจากที่ตอบไป ผู้ใหญ่ก็ถามว่าดูไปแล้วก็ยังมีการเผชิญหน้ากันอยู่ ผมเห็นด้วย แล้วทางออกมีมั้ย ที่เราจะลดความเสี่ยงภัย ประเทศไทยจะเกิดการเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งมั้ย เราคนแก่ก็มองหน้ากัน ในที่สุด ท่านพยักหน้า ผมถามให้คุณตอบว่ามีทางมั้ยที่จะหลีกเลี่ยงหายนะ ถ้าจัดการไม่ดีกับพลังใหม่ที่เกิดขึ้น กับอำนาจเก่า ก็เป็นอันตรายอย่างยิ่ง อาจนำความหายนะมาสู่ประเทศไทย มีทางมั้ย ผมตอบว่ามีแน่นอน คำตอบนั้นคือวิถีทาง ประชาธิปไตย เราไม่มีทางปฏิเสธประชาธิปไตยได้อีกต่อไปแล้ว หลังการปฏิวัติครั้งสุดท้าย ในมุมหนึ่งได้เกิดพลังมวลชน และพลังปัญญาชนที่เคลื่อนเข้าหากันเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้ว ซึ่งพลังอย่างนี้ไม่มีอะไรจะยับยั้งได้ เพราะฉะนั้น คำตอบอยู่ที่ประชาธิปไตย พวกท่านที่มีอำนาจจงพิจารณาว่าประชาธิปไตยจะเป็นคำตอบ

 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ :  เวทีนี้รู้สึกเกร็ง เพราะลุงคำสิงห์ ศรีนอก ได้อ่านหนังสือของลุงตั้งแต่เด็ก และมีเกียรติได้มาพูดคุย ในเวทีเดียวกัน ยังจำความรู้สึกที่อ่านฟ้าบ่กั้นครั้งแรก ได้อ่านงานอย่างเดียว ไม่เคยพบตัว รู้สึกเป็นเกียรติ ทำให้ประหม่า

เราจะก้าวข้ามผ่านมายาคติที่มี อยู่ในสังคมไทยได้อย่างไร เราคงไม่สามารถก้าวข้ามผ่านได้หรอก ตราบใดที่ยังมีข่าวหัวค่ำ จริงๆ แล้วสังคมไทยที่มีมายาคติที่อยู่ในสังคมไทย คือ เรื่องการอวยสถาบันกษัตริย์เกินจริง สองเรื่องศาสนา เป็นมายาคติที่ใหญ่มาก  มีความพยายามอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5  ที่จะทำให้สถาบัน กษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งกับความเชื่อในเรื่องศาสนา ละเว้นเรื่องศาสนาไว้ก่อน

ผมเชื่อว่าหลายคนในที่นี้มีความเชิดชู นิยมสังคมมิยม หลายคนเคยเป็นฝ่ายซ้ายเก่า คนที่ยึดมั่น ในอุดมการณ์นี้อยู่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในบ้านพักคนชรา สิ่งที่เรากำลังต่อสู้อยู่วันนี้ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่วันนี้ มีกลิ่นอายของ สังคมนิยมไม่เยอะ มีกลิ่นอายฝ่ายซ้ายเก่าไม่เยอะ หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต กำแพงเบอร์ลิน อุดมการณ์ฝ่ายซ้าย ก็ตกต่ำลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายซ้ายหรือไม่ก็ตาม คำถามว่าการต่อสู้ครั้งนี้ทำไมถึงสำคัญ ทำไมการต่อสู้ ครั้งนี้ทำไมถึงจำเป็น เพราะการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการสร้างเวทีให้ทุกคน มีความได้เปรียบเสียเปรียบในการเจรจาต่อรอง เท่าเทียมกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา เสรีนิยม สังคมนิยม ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรวย หรือคนจน มันกำลังสร้างโอกาส ในการต่อรองเรื่องการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ ผลประโยชน์ ให้เท่าเทียมกัน

เวลาที่เราอ่านฟ้าบ่กั้น เนื้อหาหลัก ๆ ของฟ้าบ่กั้นไม่ว่าจะเป็นความจงใจหรือไม่ก็แล้วแต่ มันพูดถึง ความอัตคัต การโดนเอาเปรียบ ความเสียเปรียบของชนบทต่อคนเมือง คล้าย ๆ กับที่ อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์  เขียนเรื่อง แผลใหม่ไว้ ก็คือในแผลเก่าแม้ไม่พูดเรื่องเศรษฐกิจ สังคม โดยตัวมันเอง ไม่ได้พูดถึงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมโดยตัวมันเอง แต่ตัวละครแสดงให้เห็นถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบ การถูกแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติของผู้ถูกเอาเปรียบตลอดมา

ผมคิดว่า การสร้างประชาธิปไตยคือการสร้างอำนาจในการต่อรอง คนชนบทขึ้นอยู่กับและทำงานให้กับ กรุงเทพฯ มานานเกิดไป ถึงเวลาแล้วที่คนผู้ถูกกดขี่ คนจน จะต้องมีอำนาจ มีเครื่องมือกลไก ที่จะสร้างอำนาจต่อรอง ให้กับตนเอง และเครื่องมือนั้น ประวัติศาสตร์มนุษยชาติไม่ปรากฏว่าชนชั้นนำเป็นผู้มอบเครื่องมือให้ ไม่ปรากฏว่าชนชั้นนำ เป็นผู้มอบสิทธิเสรีภาพ ไม่ปรากฏว่าชนชั้นนำเป็นผู้มอบประชาธิปไตยให้กับสังคมไหนในโลก ถ้าอยากได้ประชาธิปไตย ถ้าอยากได้สิทธิเสรีภาพ ในการกำหนดอนาคตของตัวเรา มีทางเดียวที่จะได้มาคือการต่อสู้ และนั่นคือสิ่งที่พวกเรา กำลังทำอยู่ นั่นคือสิ่งที่คนเสื้อแดงกำลังทำอยู่ คือภารกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้นของ 2475 ขอพูดในวันนี้ว่าอย่าใจร้อน การปฏิวัติ ไม่ได้อยู่ที่เงื่อนเวลา การปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษเป็นเวลาร้อยปี หลังจากฝรั่งเศสตัวหัวพระเจ้าหลุยส์และพระนางมารี อังตัวแนตต์ ใช้เวลาอีกหลายร้อยปี เกิดฐานันดรที่ 3 ฐานันดรที่ 4 ใช้เวลาอีกเยอะมากกว่าที่จะสร้างความเป็นประชาธิปไตย กว่าที่จะสถาปนาคำว่ามนุษย์เท่าเทียมในสังคมได้ใช้เวลายาวนาน

การปฏิวัติโครงสร้างสังคมไม่ใช่เรื่องของเวลา ความฉับพลัน แต่เป็นเรื่องของการถึงรากถึงโคน แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานความเชื่อทางเศรษฐกิจและสังคมใน ประเทศนั้น ๆ สิ่งที่จะบอกได้อย่างหนึ่งคือ ชนชั้นนำไทยไม่ได้คิดอย่างที่เราคิดหรอก ไม่ได้คิดอย่างที่เราคิดว่าคนเท่ากัน และชนชั้นนำไทย นอกจากการทำรัฐประหาร ไม่รู้กี่ครั้งกี่หนในประวัติศาสตร์สังคมไทยที่ผ่านมา ยังต้องการกุมอำนาจเศรษฐกิจและสังคมให้อยู่มือด้วย ไม่ต้องการให้ คนจนลืมตาอ้าปากได้ ไม่ต้องการให้คนเข้าใจและรับรู้ถึงโครงสร้างที่เอารัดเอาเปรียบ ที่คนจนและคนไม่มีความรู้เกิดจาก ความจงใจ ยกตัวอย่างง่ายๆ เราเรียนการศึกษาในระบบ 12 ปี ในระบบการศึกษา 12 ปี พูดถึง ปรีดี พนมยงค์ 2 ย่อหน้า เราเรียนประวัติศาสตร์ประเทศไทย เราพูดถึง 2475 ไม่เกิน 10 หน้า เราไม่เคยพูดถึง 2490  2500  2516  2519 ผมไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์จะจดจำ 2549 ยังไง ผมไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์จะจดจำ 2553 ยังไง ผมไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์ จะจดจำสิ่งเหล่านี้ยังไง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้ นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยไม่ต้องการจดจำประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพี่น้อง ประชาชน ประเทศไทยไม่ต้องการบันทึกประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกัน  ผมคิดว่าคนยุคผมเกิดแล้วถูกจัดตั้ง โดยคนยุคตุลามาก่อน อาจจะไม่โดยตรง อาจจะไม่ใช่เชื้อสาย ผมกำลังคิดอยู่ว่าอีก 20 ปี จากนี้ เขาจะเรียกพวกเราว่าอะไร คนยุคพฤษภา 53 คนยุคกันยา อีกหนึ่งอย่างที่ต่างกันแน่นอนคือคนยุคนี้นับเป็นล้าน จะนับเป็นพันเป็นหมื่นอย่างยุคตุลา ไม่ได้ คนยุคนี้นับเป็นล้าน และคิดว่าคนยุคนี้ที่ร่วมต่อสู้กันมา โดยเฉพาะคนในภาคอีสานที่มีความพยายามและต่อสู้กับ อำนาจรัฐที่เฮงซวย ห่วยแตก กับสังคมไทยมาตั้งแต่กบฏผีบุญ ที่ปฏิเสธอำนาจรัฐไทยมาตั้งนานแล้ว คนอีสานในสมัยก่อน ยังไม่รู้จักในหลวงด้วยซ้ำไป ก่อน 2500 แล้ว ยังไม่รู้จักปฏิวัติศาสตร์ของคนอีสานในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ แต่ในการต่อสู้ ครั้งนี้ที่แตกต่างจากกบฏผีบุญ คือการต่อสู้ของเราครั้งนี้ไม่ได้ปฏิเสธรัฐ ไม่ต้องการล้มรัฐ แต่การต่อสู้ครั้งนี้เราต้องการเป็น ส่วนหนึ่งของรัฐสมัยใหม่ที่บอกว่าคนทุกคนเท่ากัน

ประโยคฟ้าเดียวกันทราบมั้ยครับมาจากคำว่าอะไร คำเต็มที่ว่าก็คือ "เจ้า ข้า ฟ้าเดียวกัน" พูดง่ายๆ คือ ไม่ว่าคุณจะมีตำแหน่งแห่งที่ จะรวยพันล้าน หมื่นล้าน ไม่ว่าคุณจะเป็นหม่อม ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้า ไม่ว่าคุณจะเป็น นายธรรมดา ตาสีตาสา คุณมีค่าความเป็นคนเท่ากัน เรามีค่าในความเป็นมนุษย์เท่ากัน และสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สังคม จะต้องเชิดชูและร่วมกันปกป้อง แต่สังคมไทยในปัจจุบันยังไม่ถึงจุดนั้น มันทำให้เราต้องมาคุยกันที่นี่ในวันนี้ เพื่อที่จะทำยังไง ให้การสร้างพื้นฐาน จะทำยังไงในการปฏิเสธมายาคติ คือการมีมายาคติทำให้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ทำงาน การถูกกดทับ ด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยม การถูกกดทับด้วยรูปภาพที่ยกลง การกดทับด้วยสิ่งเหล่านี้ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ทำงาน มันทำให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ไม่ถูกปลดปล่อย เอาเข้าจริงๆ แล้ววัตถุประสงค์สุดท้ายของสังคมนิยมไม่ได้พูดถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป เขาพูดว่าทำยังไงที่ศักยภาพของมนุษย์ถูกปลดปล่อย มนุษย์จะเป็น ตัวของตัวเองได้เต็มที่สุด โครงสร้างสังคมไทยแบบนี้มันห่วยแตก คือไม่ได้บอกเลยว่าคุณมีคุณค่า มันไม่บอกเลยว่าเรามีพลัง เรามีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำให้สังคมดีกว่านี้ได้ มันบอกแต่ว่าคุณไม่ต้องทำอะไร คุณงอมืองอเท้ารอฝน วงเล็บไว้ด้วยว่า ฝนเทียม คุณงอมืองอเท้ารอผู้มีบุญ รอผู้มีอำนาจมาประทานพร

ดังนั้น ถ้าจะกำจัดมายาคติ เราไม่รู้หรอกว่าโลกที่ดี เป็นยังไง เราไม่รู้หรอกว่าโลกที่สดใสเป็นยังไง เราไม่รู้หรอกว่าโลกที่เท่าเทียมเป็นยังไง เราไม่รู้หรอกว่าโลกที่เราอยากจะสร้าง โลกที่เราอยากจะอยู่มันเป็นยังไง แต่อย่างน้อยที่สุดการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิที่เท่าเทียมกันคือพื้นฐาน คุณเชื่อว่าสังคมนิยม เป็นสังคมที่ดี คุณเชื่อว่าการเปิด เสรีนิยมจะเป็นสังคมที่ดี คุณเชื่อว่าการยึดอำนาจรัฐเป็นสังคมที่ดี หรืออะไรก็ตามที่จะนำไปสู่สังคมที่ดีได้ แต่สิ่งที่คุณต้องทำ อย่างแรกคือการเปิดประตูความคิดการทำลายเพดานที่กดดันความคิดของเราอยู่ และทำให้ทุกคนพูดถึงอนาคตของตัวเอง ได้อย่างเสรีว่าสังคมในอุดมคติของคุณเป็นอย่างไร และจะสร้างมันยังไง ปัญหาของสังคมไทย คือเราพูดเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เลย ใครอยากได้โลกเขียว ใครอยากได้โลกที่ปราศจากมลภาวะ เสนอมา ใครอยากได้โลกอะไร เสนอมา ว่าโลกที่สวยงามของคุณ เป็นอย่างไร โลกใหม่ของคุณเป็นยังไง แต่วันนี้เราเสนอ ทำอะไรแบบนั้นไม่ได้ ถ้าตราบใดที่ยังมีสถาบันที่ควบคุมความคิด สถาบันที่กดทับความคิดสร้างสรรค์อยู่ เราก็ไปถึงจุดนั้นไม่ได้ นี่คือสิ่งที่คุณอาจจะเรียกว่ามายาคติ คุณอาจจะเรียกว่า อะไรก็ตาม พื้นฐานขั้นแรกผมเชื่อว่าเราต้องทำลายมัน ต้องเปลี่ยนแปลงจุดนี้ก่อน

ชื่อผมอยู่ในผังล้มเจ้า ทางที่ผมคิดว่าดีที่สุดและต้นทุนต่ำที่สุดในความหมายของชีวิตและเลือดเนื้อ ประชาชนคือการยอมรับข้อเท็จจริงว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่แค่ในหลวง แต่คือสถาบันทั้งสถาบัน องคมนตรีอายุเฉลี่ย 70 กว่า คุณจะเอาอีกนานสักเท่าไหร่ ถ้าผมจำไม่ผิดรู้สึก 70 ปลายๆ ด้วยมั้ง องคมนตรีอายุ 70 คุณจะเอาอีกนานเท่าไหร่ ที่องคมนตรีชุดนี้จะอยู่ได้ และการจะเอาใครขึ้นมาเป็นประธานองคมนตรีที่สามารถมีบารมีพอที่จะสกรีนโผทหาร ได้ นอกจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แล้ว ผมเข้าใจว่ามีการพยายามดึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นมาเป็นประธานองคมนตรี คนต่อไป ผ่านการแต่งตั้งเข้าเป็นนายกฯ แบบ พล.อ.เปรม ที่เป็นนายกฯ โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ก็พยายามโปรโมท พล.อ.สุรยุทธ์ แต่ผมคิดว่าบารมีต่างกับ พล.อ.เปรม อีกหลายขุม คือมันไม่มีทางที่โครงสร้างแบบนี้มันจะอยู่นานกว่านี้ ได้หรอก

 

เพียงคำ ประดับความ : หลังจากการเกิดขึ้นของฟ้าเดียวกัน คณะนิติราษฎร์ คนเสื้อแดง ทำให้เรารู้ว่ามายาคติของสังคมไทยคืออะไร คำถามคือเราจะก้าวหน้าสู่โลกจริงได้อย่างไร

 

ลาว คำหอม : ความ จริงเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ถ้าเราจะตอบ หรือพยายามตอบ ก็คงใช้เวลายาวนานมาก แต่ถึงอย่างไร ผมขออภิสิทธิ์ขอพูดนอกเรื่อง ก่อนจะถึงคำถาม วันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นวันหนึ่งที่ผมมีความสุขมาก ในฐานะคนเขียนหนังสือ เขียนไม่มาก แต่ก็ได้มีหนังสือออกมาเล่มหนึ่งที่พวกเห็นนี้

ถ้าสังเกตในคำนำผมเคยเขียนไว้ครั้งหนึ่งว่า ผมเขียนฟ้าบ่กั้นนั้น ในฐานะที่เป็นคำร้องทุกข์ ที่ต่อมา ในตอนหลังผมไม่ชอบเลยที่ใช้คำร้องทุกข์ ผมควรจะใช้คำอื่น แต่ไม่เป็นไร เมื่อเขียนไปอย่างนั้นแล้ว ผมเขียนเหล่านี้ ไม่ได้ปรารถนาจะให้ชาวไร่ชาวนาหรือคนอีสานอ่านกันเท่าไหร่หรอก เพราะคงไม่สนุกนักที่จะมาอ่านเรื่องของตัวเอง แต่ว่าเป้าหมายของผม จุดมุ่งหมายของผม ผมปรารถนาจะเขียนให้ครูบาอาจารย์ นักศึกษา หรือผู้มีฐานะในสังคม ในเมืองหลวง ได้เข้าใจได้เห็นสภาพเพื่อปลุกเร้ามโนธรรม เพื่อให้เข้าใจสภาพอย่างนั้น ตอนนั้นผมคิดว่า ผมฝันลมๆ แล้งๆ ผมตั้งใจอย่างนั้นจริงๆ แต่วันนี้ผมได้ฟัง อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ หนูไอดา (ไอดา อรุณวงศ์) และคุณธนาธร ผมรู้สึกตื่นเต้นว่า ในที่สุดสิ่งที่ผมตั้งเป้าหมายไว้อยากให้คนที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง สังคมได้อ่าน ได้เห็น ได้เข้าใจ พึ่งประจักษ์ ในวันนี้เองว่าความตั้งใจของผมนั้นใช้ได้ อย่างน้อยมี 3 คน ที่ระบุชื่อมานี้ ซึ่งคนเหล่านี้มีศักยภาพสูงมากในการเปลี่ยนแปลง สังคมในขณะนี้ ในฐานะคนเขียนหนังสือผมรู้สึกตื่นเต้น ดีใจ เหมือนที่คุณธนาธรพูดนั่นแหละ ไม่ใช่ธนาธรคนเดียวที่รู้สึก ประหม่า ผมเองก็รู้สึกประหม่าเหมือนกัน เพราะประเด็นอย่างนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องที่สำคัญต่อปัญหาปัจจุบันมาก

ต่อ ไปนี้ผมจะพูดถึงเรื่องมายาคติว่าเราจะก้าวข้ามไปได้อย่างไร สิ่งนี้เป็นปัญหาใหญ่ของเราจริงๆ ผมอยากจะปรับทุกข์กับเพื่อนพ้อง มิตรสหาย ในวันนี้ว่า ปัญหาของประเทศไทยในทุกวันนี้ในความรู้สึกของผมว่า ประเทศไทยในฐานะเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ อย่างไรเราก็รู้กันอยู่ แต่เราใช้จ่ายเงินในการสร้างภาพมากเหลือเกิน เกือบจะไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่ใช้งบประมาณในการสร้างภาพ ภาพที่สร้างนั้นใหญ่โตขึ้นทุกวันๆ ใหญ่มากขึ้นๆ จึงในตอนนี้เป็นปัญหา ภาพนั้นเป็นมายาภาพ พบว่าในที่สุดกระบวนการสร้างภาพซึ่งใช้เงินมหาศาลตลอดเวลาหลายๆ ปีนี้ ภาพนั้นมันใหญ่ และในที่สุดพบว่ามันเป็นมายาภาพที่ไม่มีพื้นฐาน ตอนนี้ประเทศไทยกำลังใช้งบประมาณในการรักษาภาพ ที่สร้างขึ้นนั้นให้อยู่อย่างไร เราใช้เงินมหาศาลในการสร้างภาพ แต่ตอนนี้เรากำลังจะใช้เงินมหาศาลในการรักษาภาพ เพราะฉะนั้นภาพที่สร้างขึ้นอย่างที่ผมว่านั้นเป็นมายาภาพ ตอนนี้งบประมาณในการรักษาภาพคนชักทักท้วง และทำไม่ได้ง่าย ปัญหาใหญ่ของการสร้างภาพในระยะยาวนานอย่างที่เป็นมา อย่างที่เรารู้ เวลานี้ถึงตอนที่ทำต่อไปยาก

ผมคิดอย่างนี้ครับ ตอนที่ปัญหาในไร่ส้มนั้นเขาคิดเพียงเสี้ยววินาทีที่เหลื่อมกันนั้น ในที่สุดสรยุทธ (สรยุทธ สุทัศนจินดา) ต้องจ่ายเงินคืนเป็นจำนวน นับเป็นร้อยๆ ล้าน แสดงให้เห็นว่าเวลาเป็นสิ่งที่ราคาแพงมาก และประเทศไทยได้ใช้เวลาในการ สร้างภาพคิดเป็นเงินออกมาแล้วเป็นจำนวนมหาศาล จนภาพมันใหญ่เกินกว่าที่จะขยายต่อไปได้อีก ปัญหาก็กลับมา ในการที่จะรักษาภาพที่ได้สร้างไว้นั้นได้อย่างไร ปัญหาปัจจุบันกำลังปรากฏต่อหน้าเราในขณะนี้ ทางหลีกเลี่ยงเราควรจะ อยู่ห่างๆ หน่อย อย่าอยู่ใกล้นัก เพราะว่าภาพอาจจะล้มทับ เราเจ็บปวดเสียหาย แล้วก็หลีกมาไกลๆ แล้วก็สร้างสังคม ที่จะรองรับเป็นพื้นฐาน

อย่าง ที่ผมบอกแล้ว เราต้องไม่ลืมว่า ใจเย็นๆ นะครับ ก้าวเดินไปสู่หนทางประชาธิปไตย ผมก็เหมือนคนอื่น เคยใจร้อน สนใจคำว่าปฏิวัติ แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่าการปฏิวัติ เงื่อนไขอย่างนี้ สภาพการณ์อย่างนี้ คงเจ็บปวดกันถ้วนหน้า เพราะฉะนั้นวิธีจะบรรเทา ผ่านพ้นภาวะนี้ไปได้ ก็ขบวนคนเสื้อแดงนั่นแหละกำลังทำอยู่ เห็นว่ากำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และผมในฐานะประชาชนคนหนึ่งสนับสนุนสุดอกสุดใจ ขอให้มุ่งมั่น เชื่อมั่น การที่พลังประชาชนเติบโตได้ขนาดนี้ หนทาง ข้างหน้าค่อนข้างจะชัดเจน เราจะก้าวข้ามมายาคติและมายาภาพไปได้ด้วยวิถีทางแห่งประชาธิปไตยอันมีเสื้อ แดง มีส่วนสำคัญในการผลักดัน ก็ขอให้กำลังใจ

 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : ผมตลกคำนี้ คิดว่าน่าจะมีคนนำไปใช้ต่อ ประชาธิปไตยอันมีเสื้อแดง...(หัวเราะ) ...เป็นกำลังหนุน คือผมคิดอย่างนี้ เวลาเราพูดถึงเรื่องเสื้อแดง มันต้องมีขีดจำกัด พูดถึงคนที่มาเป็นเสื้อแดง มาเป็นอะไร พูดถึงสิทธิเสรีภาพ พูดง่ายๆ คือ เราพูดถึงการยอมรับโครงสร้างทุนนิยม คือการยอมรับโครงสร้างแบบเสรีประชาธิปไตย เสรีทางเศรษฐกิจ อย่าให้ใครมามีอำนาจ รวยได้คนเดียว เราพูดถึงการใช้อำนาจทางการเมืองมาโดยคนๆ เดียว ผมคิดว่า นี่คือขีดของคนเสื้อแดงเหมือนกัน ในสังคมทุนนิยมเองก็ไม่ได้เท่าเทียม ในสังคมเสรีประชาธิปไตยโลกก็ไม่ได้สวยหรู ก็ยังมีการกดขี่ ยังมีการขูดรีด ยังมีการเอารัดเอาเปรียบ มีความไม่เป็นธรรมในสังคมอยู่สูงเหมือนกัน ต่อให้เสื้อแดงชนะวันนี้ ที่ไกลที่สุดที่เสื้อแดงพาไปคือเสรีนิยมประชาธิปไตย นี่คือขีดของเสื้อแดง มันไม่ใช่ว่าการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงไม่ใช่ คุณูปการ ไม่ใช่อย่างนั้น ผมคิดว่ามันไม่ง่ายในการสร้างสังคมอุดมคติจริง คือผมเข้าใจได้เลยว่าเรื่องมายาคติ คติคือความเชื่อ ความคิด มายาคือความไม่จริง คือความเชื่อที่มันไม่จริงที่มันหลอกลวงมากที่สุดในสังคมคืออะไร

ผม พูดอย่างนี้ก่อน ผมเชื่อว่าเราชนะ ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็แล้วแต่ ผมเชื่อว่า ถ้าเรามองย้อนหลังในช่วงเวลาสามสี่ปีที่ผ่านมา คนจะพูดถึงสามสี่ปีนี้ว่านี่คือจุดเปลี่ยนแปลง เหมือนกับที่เราพูดถึง 2475 อย่างที่บอกไปแล้วว่าผมเชื่อว่าเราชนะ เพราะโครงสร้างสังคม โครงสร้างอำนาจที่มันเฮงซวยอย่างนี้ มันคงอยู่ตลอดไปไม่ได้ และถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเสื้อแดงจะต้องทำคุณูปการให้กับสังคมไทยกว่านี้ มันต้องไปไกลกว่านี้ด้วย มันต้องพูดด้วยว่าเสรีนิยมประชาธิปไตย ก็เป็นปัญหา มันก็มีปัญหาในตัวมันเองเหมือนกัน มายาคคติทีมันอยู่กับเรา ใกล้ตัวมากกว่า ก็คือมายาคติเรื่องการเชียร์พรรคเพื่อไทยอย่างไม่ลืมหูลืมตา ผมคิดว่าเรื่องนี้ก็ต้องพูดเหมือนกัน คนเราในฐานะมนุษย์ ในฐานะปุถุชน มันมีเลว มีชั่ว ทุกคนอึเหม็นหมด ไม่มีใครอึหอมหรอก คนเราเป็นมนุษย์มีดีมีชั่ว เพื่อไทยก็มีโอกาสทำถูกทำผิด มายาคติอย่างนี้เราก็ต้องสู้ด้วย คือมันไม่ใช่ว่าเสรีประชาธิปไตยมันดีที่สุด

ผมคิดว่า เรากำลังขีดเส้นให้ตัวเอง ให้เราก้าวไปไกลกว่านั้นไม่ได้ เราไม่รู้หรอกว่าที่ไกลกว่านั้น สังคมที่ดีกว่านั้น เราไม่รู้หรอกว่า สังคมที่ดีเป็นอย่างไร สังคมที่ทำให้เราเท่าเทียม สังคมที่ไม่มีการกดขี่ขูดรีดในสังคมเป็นยังไง หน้าตามันเป็นยังไง เราไม่รู้หรอก แต่เราต้องไปไกลกว่านั้นด้วย เราอย่าขีดเส้นให้ตัวเอง ว่าจุดหมายปลายทางของคนเสื้อแดงคือเสรี ประชาธิปไตย เรามีตัวอย่างให้เห็นแล้ว เสรีประชาธิปไตยในยุโรป ในอเมริกา ก็กำลังมีปัญหา ใช่มั้ยครับ เราเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ และผมคิดว่าอย่าให้มายาคติ ไม่ว่าจะเป็นมายาคติสีเหลือง สีม่วง หรือว่าสีแดง มันครอบงำเรา ถ้าเป้าหมาย ของเราคือการล้มล้างความอยุติธรรมในสังคม ล้มล้างความเป็นประชาธิปไตย ทั้งหมดในสังคม อย่าขีดเส้นตัวเอง ที่พรรคเพื่อไทย อย่าขีดตัวเองที่เสื้อแดง มันยังมีทางไปไกลกว่านั้น แน่นอนที่สุดเราไม่ได้ ปฏิเสธคุณูปการของคนเสื้อแดง แต่สิ่งที่ผมพยายามจะบอกก็คือเสรีประชาธิปไตยก็ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย มนุษย์เรามีทรัพยากร มีความสามารถ มีปัญญา เพียงพอ ที่จะสร้างสังคมที่คนทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่มีความเร่งรีบ ไม่มีการขูดรีด นั่นคือสิ่งที่ผมเชื่อ

 

เพียงคำ ประดับความ : ผู้ดำเนินรายการได้เสริมไปว่า คำว่าไปไกลกว่าเสรีประชาธิปไตยหมายถึงอะไรได้มั้ย


ธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ : หัวเราะ...หมายถึงอะไร ถ้าผมพูดได้ผมก็ไกลกว่ามาร์กซ์แล้วครับ..หัวเราะ.. หนวดเคราคงเฟิ้มกว่านี้ ถ้าจะพูดว่าหมายถึงสังคมนิยมอย่างที่เพื่อนเราบางกลุ่มตั้งเป้าว่าจะไป หนึ่งในความเชี่ยวชาญของผมคือ เศรษฐกิจ ทุน แต่วันนี้ไม่ได้พูด เรื่องทุนเป็นเรื่องเชี่ยวชาญของผม ผมอาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญข้อกฎหมายเหมือน คณะนิติราษฎร์ ผมอาจไม่เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมเหมือน อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ แต่หนึ่งอย่างที่ผมเชี่ยวชาญคือเรื่องทุน คือ ก่อนป่าแตกมีงานวิชาการ มีความพยายามเยอะแยะที่จะศึกษาทุนในประเทศไทยว่ากดขี่ขูดรีดยังไง ใครกดขี่ยังไง ใครผูกขาดยังไง มันมีความพยายามเยอะมากก่อนป่าแตก หลังจากป่าแตกหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องทุน แทบจะหายไปจากสังคมไทยว่านายทุนกลุ่มไหนไปกดขี่ใคร นายทุนกลุ่มไหนสะสมทุนยังไง งานวิชาการเหล่านี้ หายไปจากสังคมไทย เพราะมันไม่คิดว่าทุนเป็นปัญหา หลังจากป่าแตกมันไม่คิดว่าทุนเป็นปัญหา มันคิดว่ารัฐบาล มันคิดว่าการเมืองเป็นปัญหา

คนต่อสู้พฤษภา 35 คนต่อสู้อะไรพวกนี้ คิดอย่างเดียวคือการเมืองมีปัญหา แต่การคิดว่า ทุนรูปแบบของสังคม ทุนนิยมปัจจุบันมีปัญหาที่เงินกินคน มันมีปัญหาแต่ถูกพูดน้อยมากในยุคหลังป่าแตก เหตุผลง่ายๆ คือ การศึกษาเรื่องทุนส่วนหนึ่งมันเป็นเพราะหลักทฤษฎีที่บอกว่าทุนนิยมขูดรีดแรง งาน พอเราไม่พูดถึงสังคมนิยม เราก็ลืม พูดถึงเรื่องนี้ไปหมดเลย เราลืมพูดถึงทุน โดยที่เราไม่รู้เลยว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการเมืองกับคนที่กดขี่ทุนนิยม ไทยอยู่ คือคนเดียวกัน เราไม่รู้เรื่องพวกนี้เลย เพราะเราหลงลืมที่จะศึกษามันไป เราหลงลืมที่จะศึกษาเรื่องพวกนี้ ไปว่า นายทุนชั้นนำในสังคมไทยมันสะสมทุนยังไง นายทุนชั้นนำในสังคมไทยได้ทำอะไรไว้บ้าง นี่คือเรื่องที่เราไม่ได้ศึกษาเลย เราหลงลืมในการพูดถึง

แต่ถามว่าสังคมในอุดมคติเป็นยังไง ผมคิดว่าผมไม่มีปัญญาพอ ต้องยอมรับเลยว่าผมไม่รู้หรอก ผมรู้อย่างเดียวว่าสังคมอุดมคติเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีประชาธิปไตย เมื่อให้เรามีโอกาสถกเถียง แลกเปลี่ยน เอาปัญญา มานั่งถกเถียงกันอย่างจริงจัง ผมว่านี่คือพื้นฐานเบื้องต้น นี่คือเงื่อนไขที่ต่ำที่สุด ที่จะทำให้สังคมที่ดีงาม สังคมที่ไกลกว่า เสรีประชาธิปไตยได้ อย่างแรกต้องมีประชาธิปไตยก่อน อย่างแรกคือเราต้องทำให้คนทุกคนสามารถยืนถกเถียงเรื่องพวกนี้ ได้อย่างเท่าเทียมกัน ผมคิดว่านั่นคือเงื่อนไขที่ต่ำที่สุดในการสร้างอะไรที่ไกลกว่านี้

 

เพียงคำ ประดับความ : ถ้าเพื่อนนักกิจกรรมมาบอกว่าต้องไปไกลกว่าเสรีนิยม ก็จะเสนอสังคมนิยม ในฐานะที่คุณธนาธร เป็นนายทุน เราควรจะจัดวางอย่างไรดีกับที่บางคนก็บอกว่าทุนมีปัญหา แต่บางคนก็บอกว่าเราต้องเป็นทุนให้เต็มที่ไปก่อน


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : ผมเชื่ออย่างนี้ อันนี้อาจจะไกลกว่านี้อีกนะ เวลาเราค้านโลกาภิวัตน์ เราค้านเพราะอะไร เวลาเราไปต่อต้านโลกาภิวัตน์ เราบอกว่าโลกาภิวัตน์ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยห่างกันมากขึ้น โลภาภิวัตน์ทำให้บริษัทข้ามชาติเข้ามา เอาเปรียบทรัพยากรในประเทศไทย เราบอกว่าโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดแรงงานเด็ก เราบอกว่าโลกาภิวัตน์มันเป็นสิ่งเลวร้าย นี่คือการตอบโต้โลกาภิวัตน์ของประเทศกำลังพัฒนา ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ไปดูประเทศไหนก็ได้ก็พูดอย่างนี้เหมือนกันว่า ต่างชาติเข้ามาครอบงำอธิปไตยเรา ต่างชาติเข้ามาครอบงำทรัพยากรธรรมชาติของเรา แต่เวลาเราไปดูที่ยุโรป ที่อเมริกา เหตุผลหลักที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เป็นสังคมในทุนก้าวหน้า เพราะทำให้งานออกจากประเทศของเขา ยกตัวอย่างเรื่อง ค่าแรงขั้นต่ำ ค่าแรง 9,000 เราดีใจมาก อย่างญี่ปุ่น ยุโรป ค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าเรา 20 เท่า คุณไม่สามารถผลิตเสื้อผ้า คุณไม่สามารถผลิตรองเท้าไนกี้ คุณไม่สามารถผลิตรถยนต์ คุณไม่สามารถผลิตอะไรได้เลย ในประเทศพวกนั้น ประเทศพวกนั้นอุตสาหกรรมมันย้ายมาอยู่ในจีน ในไทย ในอินเดีย ในเวียดนาม หมดแล้ว ดังนั้น คนยุโรปที่ต่อต้าน โลกาภิวัตน์คือทำให้เขาเสียงาน กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยเมื่อไหร่ กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ ที่สูงที่สุดในประเทศไทย คืออะไรรู้มั้ยฮะ คือเศรษฐกิจพอเพียง พูดจริงๆ เลยนะ นี่กลับมาพูดในประเทศไทยเลยนะ

คนที่นำการต่อต้านโลกาภิวัตน์ในประเทศไทยไม่ใช่คนอย่างพวกคุณ ไม่ใช่คนที่เสียเปรียบจากโลกาภิวัตน์ คนที่นำกระแส ต่อต้านโลกาภิวัตน์ในประเทศไทย จริงๆ คือนายทุนไทย และกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่แรงที่สุด คือ เศรษฐกิจพอเพียง คือสาย นพ.ประเวศ วะสี คือสายพวกนี้ทั้งนั้นเลยที่ออกมาต่อต้านโลกาภิวัตน์ ต้องเข้าใจอย่างว่า วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 มันหนักหนามาก สำหรับคนธรรมดาอาจจะ รู้สึกบ้างไม่รู้สึกบ้าง แต่สำหรับนายทุนไทยเป็นเรื่องที่ หนักหนาสาหัสมาก หนี้เน่าที่ใหญ่ที่สุดในธนาคารพาณิชย์ไทย ณ วันนั้น คือทีพีไอ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ที่เป็นแกนนำ เสื้อเหลืองในวันนี้ ที่เอาอุดมการณ์ชาตินิยมแบบไทยๆ เอามาต่อต้านโลกาภิวัตน์ ใครเป็นหนี้เน่ารายที่ 2 ในระบบ ธนาคารไทยคือกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย คนเหล่านี้ กลุ่มทุนเหล่านี้ กลุ่มทุนทั้งหมดเลย ไม่ได้ระบุเฉพาะกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้อง กับสำนักงานทรัพย์สิน ผมพูดถึงกลุ่มทุนโดยภาพรวม เขารู้สึกถูกคุกคามและทางรอดทางเดียวของเขาคือ สร้างความรู้สึก ชาตินิยมแบบเหลืองๆ สร้างความนิยมเศรษฐกิจพอเพียง โดยเนื้อแท้แล้วมันบอกว่าสังคมไทย สังคมชนบท อย่างนี้ดีแล้ว พวกคุณขอพรจากฟ้าน่ะดีแล้ว ต่างชาติกำลังเข้ามาทำลาย ศีลธรรมอันดีงามที่มีมาแต่ก่อนเก่าในสังคมไทย นี่คือ เศรษฐกิจพอเพียง มันกำลังบอกคุณว่าคุณอย่าริอ่านข้ามชนชั้นนะ คุณเป็นชนชั้นล่างก็เป็นชนชั้นล่างต่อไป คุณพอเพียงอยู่เท่านี้ นี่คือการต้านโลกาภิวัตน์ในสังคมไทย คนที่ต้านโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่ประชาชนคือกลุ่มทุน คือชนชั้นนำ ที่ออกมาบอกว่ารู้สึกถูกคุกคาม เพราะแน่นอนทรัพย์สินเขาที่หายไปเป็นแสนล้านในชั่วพริบตา เพียงแค่ลอยตัวค่าเงินบาท กลุ่มทุนไทยเจ๊งไม่รู้กี่กลุ่มทุน

ที่ผู้ดำเนินรายการถามว่าไกลออกไปมันคืออะไร ไม่ว่าเราคิดอะไร ณ วันนี้ เราปฏิเสธความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ กับเศรษฐกิจโลกไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นอะไรมันต้องมีกลิ่นอายของความเป็นสากล ความเป็นนานาชาตินิยมอยู่ด้วย ไม่ใช่แค่สังคมอุดมคติมันจะเกิดขึ้นในชาติไทย มันไม่เกิดง่ายๆ ถ้าเราบอกว่าสังคมไทย ดีแล้ว เราพอเพียง ทุกคนมาช่วยทำนา ทำไร่ ทำสวน ทุกคนอยู่อย่างนี้อย่าใช้ปุ๋ย อย่าไปอะไร เวลาเราคิดอย่างนี้จะคิดได้ โดยเงื่อนไขเดียวเราผลิตทุกอย่างได้ในประเทศไทย เรามีทรัพยากรเพียงพอ เราจะพอเพียงได้ด้วยเงื่อนไขเดียวเท่านั้นเอง คือสังคมไทยทั้งประเทศผลิตทุกอย่างได้ มีทรัพยากรพอเพียง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้านำรายชื่อสินค้านำเข้าทั้งสังคมไทยมาดูว่าปีหนึ่งสังคมไทยนำเข้าสินค้าอะไรมากที่สุด เรานำเข้าสินค้าอะไรมากที่สุดรู้มั้ยฮะ น้ำมัน ประเทศไทยนำเข้า พลังงานเยอะที่สุดถ้าดูในรายสินค้า ถ้าคุณอยากอยู่อย่างพอเพียงลองตอบว่าจะเอาเงินที่ไหนซื้อพลังงาน ตอบไม่ได้ คุณจะมีเงินมาซื้อพลังงานก็ต่อเมื่อคุณส่งออกบางอย่างแล้วเอาเงินเข้ามานำ เข้าบางอย่าง คุณต้องส่งออกอะไรบางอย่าง เพื่อนำเข้าอะไรบางอย่าง คุณไม่มีทางพอเพียงได้เลย เพราะถ้าคุณพอเพียง คุณไม่คิดว่าต่างชาติเขาอยากส่งออกเหรอ เวียดนามเขาไม่อยากส่งออกเหรอ อินเดียไม่อยากส่งออกเหรอ ทุกคนอยากส่งออกทั้งนั้น คุณพอเพียงเมื่อไหร่ คุณเลิกพัฒนาตัวเองเมื่อไหร่ ตลาดส่งออกก็ถูกคนอื่นแย่งชิงไป เพราะคนอื่นไม่มีใครมาสอนให้พอเพียงหรอก ไม่มีประเทศไหนสอนคนให้พอเพียง ไม่มีใครสอนให้พอเพียงได้ ในเมื่อต้องนำเข้าน้ำมันมหาศาล คุณเอาเงินที่ไหนนำเข้า ถ้าคุณไม่ส่งออก คืออย่างเรื่องนี้ผมคิดว่ามันเป็นปัญหากับสังคมไทยจริงๆ คุณสร้างค่านิยมผิดๆ บอกคนว่าคุณอย่าริอ่าน มาเสนอหน้านะ คุณอย่าก้าวผ่านชนชั้นนะ มันไม่ใช่ มันผิดหลักทุนนิยม มันผิดหลักอะไรก็แล้วแต่ที่คุณจะยึดถือ ก็คงเท่านี้นะ ผมไม่มีคำตอบจริงๆ กับคำถามว่าอะไรที่ไกลกว่าเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่ผมเชื่อว่ามนุษยชาติ พวกเรามีปัญญา และเราสามารถค้นหาคำตอบร่วมกันได้ ผมเชื่ออย่างนั้น และพื้นฐานที่จะทำให้เราทำอย่างนั้นได้ก็คือ การสร้างประชาธิปไตย


คำสิงห์ ศรีนอก :  ผมฟังคุณธนาธร พูดแล้วทำให้เห็นปัญหาเพิ่มขึ้นมาอีกตอนแรกผมคิดว่าสถานภาพของประเทศไทยใน วันนี้ เรามีพลังหลักที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม หรือผลักดัน ให้สังคมก้าวหน้านั้นเกือบจะพร้อมมูล คือเรามีพลังปัญญา และพลังมวลชน แต่พอฟังคุณธนาธรแล้ว สองพลังนี้ไม่น่าจะพอ ที่จะผลักดันสังคมให้ไปสู่จุดมุ่งหมายที่เราต้องการ เพราะฉะนั้นเราต้องศึกษาต่อ ต้องเพิ่มพลังปัญญาให้มากขึ้น ขณะเดียวกันในสถานการณ์ปัจจุบันควรที่พวกเราจะได้ช่วยกันคิด คือเราจะหยุดนิ่งไม่ได้ แต่เราควรจะก้าวเดินอย่างมีสติ เพราะฉะนั้นพลังที่ 3 หลังจากที่ฟังปัญหาที่คุณธนาธร พูดมาแล้ว เราต้องเพิ่มพลังที่ 3 ขึ้นมา พลังปัญญา พลังมวลชน พลังสติ และต้องขวนขวาย หาทางศึกษา คิดให้รอบคอบว่าเราจะเดินหน้าไปได้อย่างไร เพราะการเกิดพลังต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ ผมตื่นเต้น แต่ต้องยอมรับว่าผมไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าผมจะได้เห็นขบวนการประชาชนที่เป็น มวลชน เราเคยอยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่นั้นเป็น mass ธรรมดา ไม่ใช่มวลชน คือไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีทิศทางที่แน่นอน เพียงแต่ผลักดันสถานการณ์เฉพาะหน้า พอเสร็จแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไร เหมือนเสกสรรค์ (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) ได้มวลชนมากพอ ที่จะขับไล่รัฐบาลออกไปได้ แต่เสร็จแล้วก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรต่อไป หรือจะทำอะไรต่อไป ในที่สุด ก็เดินไปเรื่อยๆ เพื่อจะหาคำตอบที่จะช่วยแก้ปัญหาที่ช่วยสร้างพลังที่สร้างขึ้น ว่าจะหยุดยั้งพลังที่ขับไล่ทรราชออกไปได้ อย่างไร ในที่สุดก็ไปพึ่งอำนาจอีกชนิดหนึ่งที่ผมคิดว่าก่อนหน้านั้นเสกสรรค์ ก็ไม่ได้คิด จึงขอย้ำอีกทีว่าเรามีพลังเหล่านี้แล้ว สิ่งที่เราควรจะได้คิดร่วมกันคิดต่อไปคือสะสมพลังสติให้มาก ๆ และก้าวเดินต่อไปอย่างมีจังหวะ เราคงจะถึงจุดหมาย ปลายทางได้อย่างแน่นอน ผมมั่นใจ


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : ผมเสริมนิดหนึ่งนะครับ ตอนนี้กำลังจะแก้รัฐธรรมนูญ ใครชอบอ่านหนังสือลองไปเปิดรัฐธรรมนูญดู มีมาตราที่ผมคิดว่าปัญญาอ่อนที่สุดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้นะ (2550) มันปัญญาอ่อนกว่ามาตราเรื่องศาลอีก เรื่องศาล เรารู้กัน การแต่งตั้งศาล เรื่อง พ.ร.บ.กลาโหม ศาลแต่งตั้งกันเอง แต่งตั้ง ส.ว. เลือกตั้งอะไรอย่างนี้ ผมว่าปัญญาอ่อนแล้วนะ มันรับไม่ได้เลย พื้นฐานของประชาธิปไตยเรื่องพวกนี้รับไม่ได้เลย แต่ที่ผมคิดว่าปัญญาอ่อนที่สุดเลยนะ ลองไปดูมาตราหนึ่ง ผมจำเลขมาตราไม่ได้ รู้สึกจะเป็นมาตรา 70 กว่า ๆ บอกว่า ประเทศไทยต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเศรษฐกิจ พอเพียง นี่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ผมไม่ได้พูดเล่น ลองไปเปิดดู คืออย่างที่ผมบอก หากคุณอยากจะอยู่ในเศรษฐกิจ แบบไหน คุณจะอยู่ในเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม คุณจะอยู่ในสังคมนิยม คุณจะอยู่ในพอเพียง นี่คือเรื่องของประชาชน มาตัดสินกัน ใช่มั้ยครับ มันไม่ใช่ไปเขียนในรัฐธรรมนูญ คือที่ผมอ่านนะ ผมคิดอย่างนี้ คือผมอาจจะคิดการเมืองไปนิดหนึ่ง แต่ผมคิดอย่างนี้จริงๆ ผมคิดว่าที่เขาเขียนอย่างนี้เพื่อใช้ล่อเพื่อไทย นึกออกมั้ย คือเราก็เห็นกันว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความ ยังไง เราเห็นใช่มั้ย ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญตีความห่วย ๆ เยอะ ผมคิดว่าเขียนให้มันกำกวมไว้ แล้วพรรคเพื่อไทยทำประชานิยม ทำอะไรเพื่อคนจน ก็จัดการด้วยนี่แหละเศรษฐกิจพอเพียง คุณกำลังดำเนินการ นโยบายประเทศผิดรัฐธรรมนูญ เวลาเขาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมงงมาก ไม่มีประเทศไหนหรอกมาบอกว่าคุณจะต้อง ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบไหน มีประเทศนี้ประเทศเดียวที่คุณต้องดำเนินนโยบายแบบเศรษฐกิจพอเพียง ผมคิดว่า อุดมการณ์ที่ครอบงำเศรษฐกิจพอเพียงอยู่มันใหญ่โตมโหฬาร มันเป็นมายาคติที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทย ตราบใดที่ยัง ไม่สามารถทำลายมายาคติแบบนี้มันก้าวไปไหนไม่ได้ สังคมไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้เลย เป็นประเทศ ทุนนิยมก้าวหน้าไม่ได้เลย หมดสิทธิ์
 

ผู้ร่วมฟังเสวนาได้ตั้งคำถามเพิ่มเติมว่า กลัวกับการเสวนาที่อาจหมิ่นหรือไม่


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  : ผม ไม่คิดว่าผมหมิ่นอะไร คือเรื่องนี้ผมได้มรดกทางปัญญามาจาก อ.สมศักดิ์ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) เรื่องหนึ่งคือ ผมเห็นด้วยกับ อ.สมศักดิ์ ก็มี และไม่เห็นด้วยก็มี แต่สิ่งที่ผมเข้าใจ อ.สมศักดิ์ ก็คือถ้าไม่มีคนที่มีต้นทุน ทางสังคมมาพูด เรื่องนี้มันไม่เกิดหรอก มันต้องมีคนที่มีต้นทุนทางสังคมมาพูด และผมไม่ได้คิดว่าผมพูดหมิ่น ผมคิดว่า ผมพูดความจริง ผมไม่ได้หมิ่นใคร

มีเสื้อแดงหลายคน มีความพยายามไปผิดวิธี คือพยายามไปโจมตีเรื่องบุคคล ผมยกตัวอย่าง ผมจำได้เลย หลังรัฐประหาร 19 กันยา แรกๆ กลุ่ม 19 กันยา เดินไปบ้านสี่เสา ระหว่างทางเดินไปบ้านสี่เสา มีมวลชนกลุ่มหนึ่ง มีคนกลุ่มหนึ่ง ตะโกน เขาตะโกนว่าอะไรรู้มั้ยฮะ เขาตะโกนว่า "กะเทยเฒ่าออกไป" มันตลกหรืออะไร ก็แล้วแต่ แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องพูดคือ เราต้องไม่พูดเรื่องส่วนตัวไง เราไม่ได้พูดเรื่องส่วนตัว เรากำลังพูดถึงปัญหาของสังคม ปัญหาเชิงโครงสร้าง คุณมีสิทธิ์เป็นเกย์มั้ย มีสิทธิ์ เราไม่ควรไปว่าเค้าเพราะว่าเค้าเป็นกะเทย เราควรจะพูดไปไกลกว่านั้น เราควรจะพูดที่ใหญ่กว่านั้น ว่าการกระทำของคนที่มีอำนาจนอกระบบมันเป็นปัญหากับสังคมไทยยังไง เราไม่ควร ใครจะไปจัดปาร์ตี้อะไร แบบไหน ข้างสระน้ำ คุณไม่ต้องพูดถึง อ้าว ! นี่ผมไม่ได้พูดเล่น ผมพูดว่าทุกคนมีสิทธิ์ทำอย่างนั้น บางทีรสนิยมทางเพศเราอาจเป็นอย่างนั้นก็ได้ ไม่แปลก ใช่มั้ยฮะ รสนิยมทางเพศของเราเป็นอย่างนั้นก็ได้ ไม่ผิด ไม่แปลก ตราบใดที่คุณไม่ไปรุกรานสิทธิ์ของคนอื่น การโจมตีอีกฝั่งหนึ่งด้วยเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องอะไรที่เป็นสิทธิ์ของเขา อย่าไปทำ มันไม่ได้สร้างให้เราสูงส่งขึ้น ทำได้อย่างเดียวในวงเหล้า เอามัน แต่ถ้าถามว่าโจมตีเรื่องนี้มันเป็นคุณูปการมั้ย ผมว่าไม่ มันจะสร้างค่านิยมผิด ๆ ในหมู่พวกเราเอง

ดังนั้น ถามว่าผมกลัวมั้ย ผมคิดว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิดที่มานั่งอยู่ที่นี่ คือผมไม่ได้ไปด่าใคร และที่ตลกมาก ในสังคมไทยมีอยู่มาตราหนึ่งในหลักสากลทั่วโลกนะ เวลาที่คุณบอกว่าคุณหมิ่นใคร ต้องพิสูจน์ สมมุตินะ ผมว่าคุณมา (เพียงคำ ประดับความ) ไปโกงเงินคนอื่น คุณมา มาฟ้องผมว่าผมหมิ่นเค้า สิ่งที่ศาลต้องพิสูจน์สิ่งแรกคือ ศาลต้องพิสูจน์ ก่อนว่าคุณมาโกงเงินมาจริงหรือเปล่า แล้วถึงจะบอกว่าผมผิดหรือเปล่า ถ้าศาลพิสูจน์แล้วว่าคุณมา โกงเงินคนอื่นจริง ผมไม่ได้หมิ่นนะ เข้าใจที่ผมพูดมั้ย แต่ปัญหาคือตอนนี้คือคุณพิสูจน์อะไร คุณไม่ได้พิสูจน์ จริงๆ นะ ผมคิดว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย เวลาที่ผมพูดผมก็ระวังตัวมาก
 

เพียงคำ ประดับความ : คิดอย่างไรที่บางคนบอกว่าจะปฏิวัติด้วยเสียงกระซิบที่จะทำให้สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์
กลายเป็นสิ่งไม่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยเรื่องซุบซิบนินทา


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : มันเป็นเพราะเราไม่สามารถพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะได้ คุณถึงต้องมีเรื่องซุบซิบ นึกออกมั้ย.. เจ้าหญิงไดอาน่า ไปนอนถอดอกเปลือยอยู่ชายหาด คุณจะไปสนใจเค้าทำไม มันเป็นสิทธิ์ที่เขาทำได้ ผมคิดว่าอย่างนี้ เวลาที่เราพูดถึงเรื่อง 112 หรือเรื่องหมิ่น เหตุผลที่เราต้องมากระซิบกันอยู่ทุกวันนี้ อย่างณัฐวุฒิบอก ตาสว่าง แต่ปาก ไม่ต้องสว่างก็ได้ คุณคิดว่าสังคมไทยควรจะอยู่ด้วยความกลัวหรือเปล่า สังคมไทยควรจะถูกปกครองด้วยความกลัว อย่างนี้หรือเปล่า ถ้าเราคิดว่าการปกครองคนทำได้ด้วยความกลัว ทำไปเลย แต่ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น ผมไม่คิดว่าความกลัว คือรูปแบบการปกครอง ถ้ามีผู้ปกครอง สิ่งที่ผมคิดว่าจะทำให้ผู้ปกครองหรือสังคมนั้นมันแข็งแกร่งได้ คือคนทุกคนมีสิทธิ์ พูดถึงผู้ปกครอง วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่เอาความกลัวมากดขี่กัน ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ผิด และระบบแบบนี้อยู่ไม่ได้หรอก สักวันต้องล้ม

อย่างที่บอกว่าเอา เรื่องกระซิบมาทำให้หมดความศักดิ์สิทธิ์ ก็ใช่ คือคุณต้องมองว่ามันไม่ศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่แรก แล้ว ทุกคนขี้เหม็นเหมือนกัน คุณลุงก็ขี้เหม็น ผมก็ขี้เหม็น มันขี้เหม็นน่ะ เราเป็นมนุษย์ เราเป็นปุถุชนธรรมดา คุณไม่ต้องมาพูดอะไรหรอก ผมคิดว่าเวลาเราพูดเรื่องนี้ โอเค มันเอามัน เอาอะไรได้ แต่ไม่ใช่เป้าหมาย ไม่ใช่จุดยืนของเรา ใครมีรสนิยมทางเพศยังไงไม่เป็นไร เราไม่ว่ากัน คุณเป็นเกย์ เป็นเกย์ อยากเป็นทอม เป็นทอม คือสิทธิ์ในชีวิต ในร่างกาย คุณเลือกที่จะเชื่อ คุณก็เป็นไป ไม่ว่าอะไรใช่มั้ยฮะ

คำสิงห์ ศรีนอก : ผมขอเป็นกำลังใจนะ จริงๆ ผมรู้สึกอย่างนั้น อย่ากลัวอะไรมากเกินกว่าเหตุ ผมมีความรู้สึกอย่างนี้มาจนถึง ปัจจุบันนี้ ความจริงเป็นอาวุธชนิดหนึ่งในการต่อสู้ โดยเฉพาะทางการเมืองและการเคลื่อนไหวโดยทั่วไป ถ้าเราอยู่กับ ความจริง ความจริงนั้นแหละคืออาวุธอันศักดิ์สิทธิ์ ผมไม่เชื่อว่าความเท็จจะเอาชนะความจริง เราอาจจะเจ็บ เราอาจจะปวด จากความเท็จ ตัวผมเองในชีวิตต้องเผชิญกับสงครามที่ใช้ความเท็จเป็นอาวุธมายาวนานมาก บางครั้งก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่บางครั้งสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ผมพบว่าความโปร่งใสในโลกนี้มีมากขึ้นแล้ว จากความโปร่งใสนี้เองจะเป็นภูมิป้องกัน คนที่พูดความจริง ความจริงจะเป็นอาวุธศักดิ์สิทธิ์ ขอให้คุณธนาธรพูดความจริงเถอะ ความจริงจะคุ้มครองคุณ เพราะฉะนั้น เราทุกคนจะเป็นกำลังใจให้คุณ                      

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : ก็ กลัวอยู่เหมือนกันครับ พูดหมดก็ไม่ได้นะครับ (หัวเราะ)ถ้าผมพูดอะไรสุดท้ายได้ เป็นค่ำคืนที่ผมได้พบคุณลุงตัวเป็น ๆ คือ คุณูปการของฟ้าบ่กั้น ผมคิดว่ามันทำให้ เรื่องความไม่ยุติธรรม การขูดรีด มันเป็นการเล่นเสียดสี เล่นตลกกับเรื่องนี้ในชีวิต มันทำให้ชนชั้นกลางเสพได้ มันทำให้เรา มองเห็นการกดขี่ขูดรีดพวกนี้จากความเป็นจริงของชีวิต ชีวิตตัวละครในฟ้าบ่กั้น ผมก็เติบโตมากับการอ่านหนังสือนี้ แล้วทำให้เราเริ่มต้นที่ความเป็นคน คือเรารู้สึกว่ามันไม่ควรมีคนอย่างนั้น มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างนั้น กับคนที่มีชีวิต ความเป็นอยู่แบบผม ในสังคมเดียวกัน มันเริ่มด้วยความรู้สึกเป็นมนุษย์ มีความรู้สึกเข้าใจและเห็นใจ กับคนอื่นเป็นอย่างไร ผมไม่รู้ แต่สำหรับผมฟ้าบ่กั้นคือคุณูปการต่อสังคมไทย

คำสิงห์ ศรีนอก :ที่ ฟังมา ที่คุยมา ผมคิดว่าเราอาจจะพูดข้ามไปข้ามมาบ้าง แต่เราได้ความรู้เยอะ ผมคิดว่านี่แหละคือ ช่วยกันคิดสิ่งที่เราพูดสิ่งที่เราคุยกันในวันนี้เพื่อให้ต่อยอดเป็นความคิด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตคุณธนาธร หรือแม้แต่ผมเอง ระมัดระวัง ก็คือในภาษาไทยใหม่ๆ นี้มันมีคำหนึ่งที่เกิดขึ้น เป็นคำประหลาด จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นในภาษากฎหมาย ก็คือคำว่า ขยายผล เพราะฉะนั้นการพูดต่อที่ชุมชนหรือพื้นที่สาธารณะพูดครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้ ทำให้เกิดการขยายผล เสียผล วันนี้ผมชื่นชมนะ สิ่งที่พูด เราพูดชัดเจน การพูดไม่ชัดเจนคนอื่นนำไปขยายผลทำให้ตามแก้ไม่ได้ เหมือนเสื้อดำเผาบ้าน เผาเมือง เกิดจากการขยายผล พูดคะนองปาก แต่วันนี้เราทั้งสามคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ ผมสังเกตพวกเรามีความระมัดระวัง พูดอะไรไม่ให้คนจับไปขยายผลได้ ผมหวังว่าอย่างนั้นนะครับ ผมคิดว่าเราดีแล้วที่ได้พูดในปัญหาที่พูดยากที่สุด แต่ก็ดูเหมือนว่าทุกคนฟังก็ดูเหมือนจับความได้ว่าสิ่งที่เราพูดนั้นคืออะไร และพูดอย่างไร

วงเสวนาในค่ำคืนของฤดูหนาว ที่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางแมกไม้  กองไฟที่ลุกโชนอยู่เบื้องหน้าของผืนป่าใหญ่  ต่อหน้าผู้ร่วมงานทุกคน เปรียบประหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าหนทางข้างหน้าแม้จะมืดมิดหนาวเหน็บเพียงไร ยังมีกลุ่มไฟที่พร้อมให้แสงสว่างส่องทาง และให้ความอบอุ่นไปพร้อมๆ กัน เราต่างเป็นผู้เติมเชื้อไฟให้ลุกโชนขึ้นในหัวใจ ของกันและกัน และจะส่งสะท้อนต่อไปยังหัวใจของผู้รักความเท่าเทียมอีกหลายๆ ดวง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น