โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กองทัพคะฉิ่นเสียป้อมสำคัญ "ออง ซาน ซูจี" ออกวิทยุบีซีซีระบุชอบกองทัพพม่าเพราะพ่อตั้ง

Posted: 27 Jan 2013 11:13 AM PST

กองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่นยอมถอนกำลังออกจากที่มั่นบนยอดเขาแห่งหนึ่งใกล้เมืองไลซา ฐานบัญชาการใหญ่ หลังถูกกองทัพพม่าโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่อย่างหนักมาหลายสัปดาห์ ขณะที่รายการเพลงทางวิทยุบีบีซี 4 เผยคำให้สัมภาษณ์ "ออง ซาน ซูจี" ระบุรักกองทัพมากๆ เพราะคิดเสมอว่าเป็นกองทัพของพ่อ เและหวังว่ากองทัพซึ่งเคยทำสิ่งเลวร้ายควรจะได้กู้ชื่อเสียง

ชาวคะฉิ่นที่อยู่ในประเทศไทยมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติสงครามในรัฐคะฉิ่น ที่หน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ถ.สาธร เมื่อ 11 มกราคม 2556 ล่าสุด กองทัพคะฉิ่น KIA ยอมถอนกำลังออกมาจากป้อมบนยอดเขาใกล้เมืองไลซา ที่มั่นใหญ่ หลังพม่าโจมตีหนักมาหลายสัปดาห์ (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ทหารกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น KIA ที่แนวหน้า (ที่มา: Lachid-Kachin/แฟ้มภาพ)

การสูญเสียเสียป้อมสำคัญบนยอดเขา ซึ่งใช้ป้องกันฐานบัญชาการใหญ่ของที่เมืองไลซา กองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) ได้สร้างความหวาดกลัวขึ้นในเมือง ซึ่งฝ่ายกองทัพคะฉิ่นปกครองมากว่า 50 ปี โดยอาจจะต้องเสียฐานบัญชาการให้กองทัพพม่าเร็วๆ นี้ และทำให้มีผู้อพยพเข้าไปในจีน

ทั้งนี้ เดอะการ์เดี้ยนของอังกฤษ รายงานว่า กองทัพคะฉิ่น KIA ได้เสียป้อมคะยาบุม (Hka Ya Bum) จุดยุทธศาสตร์สำคัญบนยอดเขา ห่างจากไลซาเป็นระยะทาง 8 กม. ไปเมื่อวันเสาร์นี้ (26 ม.ค.) หลังพม่าโจมตีด้วยปืนใหญ่ ทำให้ฝ่ายกองทัพคะฉิ่นล่าถอยไปจากป้อมคะยาบุมไปทางทิศใต้ 

"กองทัพพม่าได้ควบคุมยอดเขาสูงสุด และตอนนี้ควบคุมแนวเทือกเขาส่วนมากแล้ว" พันเอกเซา ตอง จากกองบัญชาการกลาง KIA ที่ไลซากล่าว "ยังมีแนวเทือกเขาอีก 2 แห่งระหว่างคะยาบุม กับ ไลซา แต่ว่าคะยาบุมถือเป็นยอดเขายุทธศาสตร์ เป็นยอดที่สูงสุดของเทือกเขา นั่นหมายความว่ากองทัพพม่าไม่จำเป็นต้องเคลื่อนกำลังพลเข้ามา เพียงแค่พวกเขายิงปืนใหญ่ต่อไป พวกเราก็อาจจะต้องล่าถอย (จากไลซา) ในอนาคต"

ในขณะที่กองทัพคะฉิ่น KIA เคยควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ตลอดเแนวเทือกเขา ทว่า ตั้งแต่คริสมาสต์ที่ผ่านมา พวกเขาต้องตกเป็นฝ่ายทำสงครามตั้งรับ เมื่อกองทัพพม่าได้เปิดการบุกใหญ่โดยใช้เครื่องบินขับไล่ เฮลิคอปเตอร์ อาวุธหนัก และทหารจำนวนมาก

ข้อมูลของเดอะการ์เดี้ยน ระบุว่ากองทัพคะฉิ่น KIA ซึ่งมีกำลังจำนวนมากต้องกระจายกำลังในพื้นที่ใหญ่โต ทั้งนี้ในแต่ละวันมีการสู้รบไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ในพื้นที่ 4 แนวรบของรัฐคะฉิ่นที่กินพื้นที่ในพื้นที่ทางเหนือของพม่าจรดชายแดนอินเดียและจีน ทั้งนี้ KIA ไม่ยอมให้ข้อมูลเรื่องความสูญเสียดังกล่าว และปฏิเสธที่จะให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปเยี่ยมทั้งโรงพยาบาลพลเรือนและโรงพยาบาลทหารที่อยู่รอบไลซา

ด้าน สำนักข่าวคะฉิ่น (KNG) ระบุว่า ในการโจมตีป้อมคะยาบุมดังกล่าว ทหารพม่าได้ใช้ยิงกระสุนปืนใหญ่แบบดาวกระจายด้วย ซึ่งทำให้มีสะเก็ดระเบิดย่อยแตกอยู่รอบๆ พื้นที่ ทั้งนี้มีจำนวน 100 กว่าประเทศในโลกที่ลงนามในอนุสัญญาห้ามใช้ระเบิดดาวกระจาย ขณะที่เมื่อปี 2554 องค์การต่อต้านการใช้ระเบิดดาวกระจายได้ประณามในกรณีที่กองทัพไทยใช้ระเบิดดาวกระจายในช่วงที่ขัดแย้งกับกัมพูชา (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

รายงานของเดอะการ์เดี้ยน ระบุด้วยว่าแม้ว่ารัฐบาลพม่าจะเห็นชอบให้มีการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่การต่อสู้ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (24 ม.ค.) มีการยิงกระสุนปืนครกกว่า 1,200 นัด กินเวลานานกว่า 2 ชั่วโมงเข้าใส่ป้อมคะยาบุม นับเป็นสถิติที่มากที่สุดนับตั้งแต่มีการสู้รบกันในรัฐคะฉิ่นในรอบ 50 ปี ขณะที่ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ มีกระสุนครกสองนัดได้ตกใส่ไลซา และทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บสี่ราย

หน่วยงานบรรเทาทุกข์ที่ทำงานในรัฐคะฉิ่นเชื่อว่ามีผู้อพยพภายในรัฐคะฉิ่นราว 1 แสนคนเนื่องจากเหตุปะทะ

ทั้งนี้ความขัดแย้งจนเกิดปะทุเป็นสงครามระหว่างกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) และรัฐบาลพม่า เริ่มมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 หลังจากเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกัน นับเป็นเงาอีกด้านหนึ่งของพม่าที่ด้านหนึ่งก็พยายามจะปฏิรูปประเทศ โดยประชากรชาวคะฉิ่นส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของพม่าเป็นชาวพุทธ และกองทัพคะฉิ่น KIA ก็เป็นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เดียวที่ยังไม่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับประธานาธิบดีเต็ง เส่งของพม่า ผู้เริ่มดำเนินการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมืองนับตั้งแต่เข้าสู่อำนาจในปี 2554 ในขณะที่ชาวคะฉิ่นเองถือว่าตนถูกกดขี่มาอย่างยาวนานโดยรัฐบาลพม่า และต้องการสิทธิในการปกครองตนเอง

แม้ว่าเมื่อสัปดาห์ก่อน ประธานาธิบดีเต็ง เส่งจะกล่าวว่า กองทัพพม่าจะไม่เข้ายึดเมืองไลซา แต่ชาวคะฉิ่นจำนวนมากกลับเชื่อว่าไม่น่าจะจริงว่ากองทัพพม่าจะรักษาสัญญา เพราะกองทัพพม่านั้นมีท่าทีชัดเจนในการปฏิเสธข้อเรียกร้องหยุดยิงจากประธานาธิบดีเต็ง เส่งที่มีก่อนหน้านี้

ทั้งนี้เดอะการ์เดี้ยนของอังกฤษ รายงานโดยอ้างคำกล่าวของนายกเทศมนตรีเมืองไลซา หน่อ ออน ซึ่งระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของเมืองไลซา เมืองซึ่งมีประชากร 15,000 คน และมีเพียงลำธารคั่นจากชายแดนจีน พร้อมแล้วที่จะละทิ้งเมือง ทั้งนี้ร้านค้าส่วนใหญ่ของเมืองได้ปิดทำการ บ้านจำนวนมากถูกปล่อยร้าง มีแต่สุนัขจรจัดที่เดินไปในความมืด ถนนก็อยู่ภายใต้คำสั่งเคอร์ฟิวส์ ทั้งนี้เจ้าของส่วนใหญ่ได้ทิ้งบ้านเรือนไว้

"พวกเขาที่อยู่ห่างจากพื้นที่ชายแดนจีน ควรจะย้ายมาอยู่ในที่ๆ ปลอดภัยกว่าเดิม เพราะกองทัพพม่ายิงปืนใหญ่อย่างย่ามใจ ใช่ ผมสนับสนุนให้ประชาชนย้าย" นายกเทศมนตรีกล่าวพร้อมมองไปทางด้านชายแดนจีน

 

ออง ซาน ซูจี กล่าวว่ายังคงรักในกองทัพพม่า แม้จะขังเธอ 15 ปี

แฟ้มภาพออง ซาน ซูจี ระหว่างการปราศรัยย่านเหล่งทะยา ในย่างกุ้ง เมื่อ 17 พ.ย. 2554 (ที่มา: Htoo Tay Zar / Wikimedia (CC)/) 

ขณะเดียวกัน บีบีซี รายงานด้วยว่า ผู้นำฝ่ายค้านพม่านางออง ซาน ซูจี กล่าวว่าเธอยังคงรักในกองทัพพม่า แม้ว่าจะกักบริเวณเธอยาวนานกว่า 15 ปีก็ตาม ทั้งนี้ในการสัมภาษณ์ออกรายการเพลง ทางวิทยุ BBC Radio 4 "Desert Island Discs" ออง ซาน ซูจีกล่าวกับผู้ดำเนินรายการคริสตี ยังว่า ด้วยความศรัทธาของเธอต่อพุทธศาสนาได้ช่วยเธอในการแข็งขืนต่อเผด็จการพม่า และต่อมาเธอก็ต้องเผชิญหน้ากับพวกเขาเมื่อเข้าไปเป็น ส.ส. ในสภา

ทั้งนี้พ่อของนางออง ซาน ซูจี คือนายพลออง ซาน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นบิดาของกองทัพพม่าสมัยใหม่

โดยรายการวิทยุดังกล่าว บันทึกเสียงที่บ้านของนางออง ซาน ซูจี ในพม่า ช่วงเดือนธันวาคม ก่อนนำมาออกอากาศเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ซูจีกล่าวด้วยว่า "เป็นเรื่องแท้จริง ที่ฉันรักในกองทัพ"

"คนอาจจะไม่ชอบที่ฉันกล่าวเช่นนั้น มีคนจำนวนมากที่วิจารณ์ฉันว่าเป็นนางแบบโปสเตอร์ให้กองทัพ - ช่างน่าดีใจมากที่เห็นฉันเป็นนางแบบโปสเตอร์สำหรับสิ่งใดก็ตามในเวลานี้ - แต่ฉันคิดว่าในความเป็นจริงก็คือ ฉันรักกองทัพมากๆ เพราะฉันคิดเสมอว่านี่เป็นกองทัพของพ่อ"

ออง ซาน ซูจี อธิบายด้วยว่า ในขณะที่กองทัพพม่าได้ทำสิ่งเลวร้ายในพม่า เธอหวังว่ากองทัพควรที่จะกู้คืนชื่อเสียงของตน

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 2491 กองทัพได้ปกครองพม่ามาเกือบ 5 ทศวรรษนับตั้งแต่การรัฐประหารโดยนายพลเนวิน ในปี 2505 มีการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน และคุมขังฝ่ายค้านรวมทั้งตัวนางออง ซาน ซูจี จนกระทั่งรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยอดีตนายพล เต็ง เส่ง ได้ขึ้นสู่อำนาจในปี 2554 และอนุญาตให้ออง ซาน ซูจี และพรรคการเมืองของเธอลงชิงชัยในการเลือกตั้งซ่อมจนมีที่นั่ง  ส.ส. อยู่ในรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม ออง ซาน ซูจี ก็ถูกชนกลุ่มน้อยวิจารณ์ต่อกรณีที่ไม่แสดงท่าทีอย่างแข็งขันต่อกองทัพพม่าที่ปฏิบัติการทางทหารอยู่ในรัฐคะฉิ่นมาตั้งแต่กลางปี 2554

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI ชี้ปี 56 เศรษฐกิจโต 5% หนี้ยังบาน ย้ำวินัยการคลัง-เพิ่มผลิตภาพด่วน

Posted: 27 Jan 2013 10:18 AM PST

 

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.55 ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีการจัดแถลงข่าวเรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2556" โดยมีการนำเสนอประเด็นหลัก คือ

1.แนวโน้มหนี้สาธารณะ 2556 – 2560 โดย สมชัย จิตสุชน

2. ข้อเสนอการปรับตัวของภาคการผลิต หลังขึ้นค่าแรง 300 บาท  โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

3.แนวทางการหนี 'กับดักรายได้ปานกลาง' กับการปฏิรูปภาคบริการ โดย เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

ทั้งนี้ งานแถลงข่าวครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก

สมเกียรติ กล่าวว่า ภาพรวมการนำเสนอในวันนี้ เราเห็นว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว เศรษฐกิจไทยก็มีความเติบโต ทำท่าว่าจะไปได้ดี แต่ท่ามกลางการเติบโตนี้มีความเปราะบางอยู่ โดยเฉพาะปัจจัยจากจีน เราจึงจำเป็นต้องมีวินัยการคลัง ยึดหลัก 'ขาดดุลการคลังเมื่อจำเป็น และเกินดุลทุกครั้งที่มีโอกาส' ซึ่งจะคุ้มครองให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจจะทำให้เราลดภาระหนี้ ทำให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น แต่การสร้างการเติบโตในระยะยาว ไม่สามารถสร้างจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐไปเรื่อยๆ วิธีการเดียวที่มีคือ เพิ่มผลิตภาพทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ เราจึงอยากให้รัฐบาลประกาศให้ทศวรรษนี้เป็น 'ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพของภาคธุรกิจไทย' ซึ่งจะทำให้ประเทศเป็นไปอย่างที่รัฐบาลวางยุทธศาสตร์ คือ พ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น

 

หนี้สาธารณะ 2556-2560 เพิ่มสูง  'ประเทศนี้ แก่ก่อนรวย'

สำหรับในรายละเอียดนั้น สมชัย กล่าวถึงเรื่องหนี้สาธารณะว่า โดยแนวคิดแล้ว หนี้สาธารณะเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อการลงทุนในระบบสวัสดิการ โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดูแลประชาชน แต่ต้องบริหารให้มี 'พื้นที่การคลัง' มากพอเพื่อรองรับความจำเป็นหรือวิกฤตในอนาคต โดยแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะนั้น ทำได้โดยการ 1.เพิ่มรายได้รัฐ ทั้งการจัดระบบภาษีอัตราก้าวหน้า เพิ่มฐานภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีทรัพย์สิน 2. การวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง นโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองทำนั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ในเมื่อจะเสียเงินทั้งทีก็ควรเป็นไปเพื่อให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำที่แท้จริง 3.บริหารหนี้สาธารณะอย่างโปร่งใส มีการวางแผน 5 ปีเป็นอย่างน้อย 

สำหรับผลการประมาณการหนี้สาธารณะในช่วง 5 ปีข้างหน้านั้น สุชัย ระบุว่า หนี้สาธารณะในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่จะอยู่ที่ 70-80% ของจีดีพี ซึ่งเป็นกรณีที่แย่ที่สุดและไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวมากกว่า 4% ซึ่งเป็นค่าที่ตั้งสมมติฐานไว้ โดยสัดส่วนหนี้นี้ คำนวณรายจ่ายจากความสามารถในการคุมรายจ่ายประจำที่ระดับการขยายตัว 7 และ 10% (เฉลี่ยในอดีตปี 33-56 อยู่ที่ 9.7%) , โครงการพิเศษต่างๆ ที่จะเกิดในช่วง 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว-การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับ AEC-การลงทุนป้องกันน้ำท่วม-การลดลงของภาษีนิติบุคคลตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงนโยบายพิเศษอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง (รายละเอียดการคำนวณหนี้จากรายจ่ายต่างๆ ในตาราง)

 

 

 

2555

2556

2557

2558

2559

2560

ขาดทุนโครงการจำนำข้าว

 

170,000

200,000

200,000

200,000

200,000

200,000

โครงสร้างพื้นฐานรองรับ AEC

 

          -

26,899

148,819

263,038

286,331

383,154

ป้องกันน้ำท่วม

 

4,639    

20,000

100,000

100,000

75,361

 

ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

 

75,000

115,714

124,971

134,969

145,766

รวมโครงการพิเศษ1

 

174,639

321,899

564,553

688,009

696,661

728,920

เพิ่มนโยบายอื่น

 

           -

20,000

100,000

100,000

100,000

100,000

รวมโครงการพิเศษ2

 

174,639

341,899

664,533

788,009

796,661

828,920

หน่วยเป็น: ล้านบาท

ที่มา: จำนวนข้าวประมาณการโดย TDRI, AEC ประมาณการโดยสถาบันวิจัยนโยบายการคลัง, อื่นๆ โดยผู้วิจัย

หมายเหตุ (ก) การเบิกจ่ายโครงการป้องกันน้ำท่วมและโครงสร้างพื้นฐาน AEC ทำได้น้อยในระยะแรก

              (ข) นโยบาย 'ประชานิยม' อื่นๆ สมมติว่ารัฐบาลตั้งงบประมาณไว้รองรับหมดแล้ว

 

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากโครงการพิเศษที่ใช้งบประมาณมากแล้วยังเป็นเพราะแม้ในภาวะปกติ การคลังไทยก็มีโครงสร้างขาดดุลโดยพื้นฐานอยู่แล้ว และยังมีภาระดอกเบี้ยทับถม การควบคุมรายจ่ายประจำจะมีผลช่วยควบคุมการเพิ่มของหนี้สาธารณะได้ค่อนข้างดี

สุชัยกล่าวด้วยว่าภายใต้หนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นนี้ ยังมีแนวทางการบริหารโอกาสเพื่อไม่ให้หนี้สูงเกินไปได้ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว (อาจถึง 6%) ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้หนี้สาธารณะเพิ่มเกิน 60% จึงควรบริหารจัดการให้งบส่วนนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และควรมีมาตรการอื่นๆ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เช่นการพัฒนาแรงงาน พัฒนาเทคโนโลยี

ส่วนแนวโน้มหนี้สาธารณะในระยะยาวกรณีที่ไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยมีจีดีพีโต 6% ต่อเนื่องทุกปี กราฟของหนี้สาธารณะก็จะดิ่งหัวลงมาอยู่ที่ 20-40%ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งโดยทิศทางแล้วมีความเป็นไปได้ไม่มากนักและขึ้นอยู่กับความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอาจปรับตัวขึ้นภายใน 2 ปีข้างหน้า (จากปัจจุบันที่ติดลบอยู่) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกา ประกอบกับรัฐยังไม่มีแผนการปรับระบบภาษีที่ควรจะเป็น ดังนั้น ข้อเสนอแนะสำหรับช่วงนี้ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นคือ การควรมี 'พื้นที่การคลัง' เพิ่มขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากยังมีความเสี่ยงหลายด้าน โดยแนวทางเพิ่มพื้นที่การคลังที่เป็นรูปธรรมคือ พิจารณาปรับลดโครงการพิเศษที่ใช้งบประมาณสูง เช่น โครงการรับจำนำข้าว, คุมการขยายตัวของรายได้ประจำ, ปรับเพิ่มภาษีบางประเภท เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีVAT  (ดูรูปผลต่อหนี้สาธารณะหากมีการลดภาระขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวได้ในตารางด้านล่าง)

 

 

สมชัยกล่าวด้วยว่าภายในไม่กี่ปีข้างหน้าสังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้ทำให้คาดหวังได้ว่าเราจะหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และเป็นประเทศที่มีรายได้สูง อาจเรียกได้ว่า เราคงแก่ก่อนรวย

 

นโยบาย 300 ดีแล้วแม้ก้าวกระโดด แนะเร่งเพิ่มผลิตภาพด่วน

สมเกียรติเริ่มต้นด้วยการแสดงกราฟวิเคราะห์ค่าจ้างที่แท้จริงในภาคการผลิตว่า ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาค่าจ้างแรงงานไทยแทบไม่ขึ้นเลย และเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ก็เรียกได้ว่าคนงานไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มแต่อย่างใด

เขามองว่านโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทของรัฐบาลว่า ไม่เหมือนนโยบายในตระกูล 'ประชานิยม' ทั่วไป เพราะโดยเจตนารมณ์และผลลัพธ์เป็นไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งลดช่องว่างในอำนาจต่อรองระหว่างแรงงานและนายจ้างที่ถ่างมาก การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการจ้างงานมากเพราะตลดาแรงงานไทยตึงตัว การว่างงานของไทยก็ต่ำมากคนงานมีทางเลือกในการหางานใหม่สูง แต่การปรับขึ้นค่าแรงอย่างรวดเร็วจะกระทบด้านลบต่อ SMEs ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น

เขานำเสนอข้อมูลของลูกจ้างภาคเอกชนจาก Labor force survey ปี 2554 ไตรมาส 2 ว่า การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้น ส่งผลให้ภาคการผลิตใดบ้างที่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น และมีสัดส่วนเท่าใด เช่น ในภาคการผลิตเหล็ก การขึ้นค่าแรงส่งผลให้คนงานทักษะต่ำได้รับเงินเพิ่มขึ้น 14% ในขณะที่คนงานทักษะสูงได้เงินสูงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำมากอยู่แล้ว ภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ เป็นภาคที่คนงานทักษะต่ำได้รับการปรับค่าแรงเพิ่ม 47% และในสาขานี้ยังมีสัดส่วนการจ้างงานคนงานสูงมาก เกือบ 100%  (ดูตาราง)

 

 


 

นอกจากนี้ยังวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนค่าแรงและกำไรของภาคการผลิตต่างๆ ซึ่งพบว่าเมื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำแล้วอุตสาหกรรมเหล็ก ,ยางยนต์ พลาสติก, อาหาร อาจมีสัดส่วนกำไรลดลง แต่สาขาที่สุ่มเสี่ยงว่าจะขาดทุนได้แก่ อุตสาหกรรมร้องเท้า เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตนั้น สมเกียรติเสนอให้มีการปรับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทย โดยเร่งเพิ่มผลิตภาพประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลน่าจะประกาศให้ปี 2556-2565 เป็น 'ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจไทย'

นอกจากนี้ยังนำเสนอมาตรการระยะสั้น ว่าควรมีมาตรการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมในสาขาเสี่ยงขาดทุน , อำนวยความสะดวกในการย้ายฐานการผลิต บริการข้อมูลกฎระเบียบ แรงงาน ตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง ลอจิสติกส์เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกับเพื่อนบ้าน แก้ไขปัญหาจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน จัดทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับกัมพูชา เพื่อย้ายกิจกรรมการผลิตที่มูลค่าเพิ่มต่ำไปประเทศเพื่อนบ้านควบคู่กับการยกระดับการผลิตในประเทศให้มีมูลค่าสูงขึ้นแล้เชื่อโยงการผลิตเข้าด้วยกัน

ส่วนข้อเสนอแนะในระยะกลางและยาวนั้น สมเกียรติระบุถึงเป้าหมายการลงทุนด้าน R&D หรือการวิจัยพัฒนา ให้ถึง 1% ของจีดีพี โดยพิจารณาลดหย่อนภาษีการทำ R&D ของเอกชน เพิ่มประสิทธิภาพ R&D ภาครัฐ รวมไปถึงการปฏิรูปการศึกษา ที่สำคัญ ในอนาคตควรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้กติกาที่ชัดเจน โดยค่าจ้างในแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน

 

ปฏิรูปภาคบริการไทย หนทางหนี 'กับดักประเทศรายได้ปานกลาง'

เดือนเด่น กล่าวถึงอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจ คือภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคที่สำคัญมาก แต่มักถูกละเลย แม้กระทั่งข้อมูลที่เป็นระบบก็ยังไม่มีเจ้าภาพในการจัดเก็บ เหตุที่ภาคบริการสำคัญเพราะมีแรงงานอยู่ในภาคบริการสูงถึง 45% ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมแม้จะสร้างรายได้เป็นครึ่งหนึ่งของจีดีพี แต่มีแรงงานอยู่เพียง 14%

เดือนเด่นกล่าวว่าผลวิเคราะห์การเพิ่มผลิตภาพแรงงานของทีดีอาร์ไอแสดงว่า อัตราการขยายตัวของ GDP จะไม่ติดลบ หากผลิตภาพแรงงานสามารถเพิ่มขึ้นได้ 8.4% ในขณะที่ผลวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ใกล้เคียงกันคือระบุว่าผลิตภาพแรงงานของไทยต้องเพิ่มจาก 4% เป็น 8%

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาผลิตภาพของแรงงานภาคบริการอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่าภาคการผลิตมาก และแทบไม่ได้รับการพัฒนาให้เพิ่มขึ้นเลยตลอด 10 กว่าปี  จนภาคบริการกลายเป็นตัวถ่วงของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งหมด

เดือนเด่นกล่าวว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะภาคบริการต่างจากภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิตตรงที่ ไม่ต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมาทั้งในรูปเงินทุนและเทคโนโลยี เนื่องจาก พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติที่ร้อยละ 49 และกฎกติกากำกับดูแลในบางสาขาบริการที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ทำให้เกิดการผูกขาด ภาคบริการที่ล้าหลังนั้นทำให้แรงงานกว่าล้านคนมีรายได้ต่ำเกินควร และต้นทุนของบริการสูงเกินหรือคุณภาพบริการต่ำเกิน ซึ่งก็ไปบั่นทอนขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมอีกทีหนึ่ง เป็นผลให้การลงทุนจากต่างประเทศไหลไปที่ประเทศอื่นโดยเฉพาะสิงคโปร์

เดือนเด่นกล่าวด้วยว่า หากดูโอกาสของภาคบริการ จะพบว่าการลงทุนที่มาสู่อาเซียนมีแนวโน้มจะมุ่งไปที่ภาคบริการมากขึ้น หากเรายังคิดแต่ภาคการผลิตก็จะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ส่วนว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของภาคบริการได้นั้น นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอระบุว่า จะต้องเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ใช่เปิดในทุกสาขา ไทยควรมี Roadmap ในการเปิดเสรีภาคบริการของตัวเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงการค้าเสรีย่อยๆ ที่ประเทศอื่นๆ กำหนด และรัฐบาลก็ควรแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อแปลงบัญชี 3 จากการเป็น positive list เป็น negative list ส่วนสาขาที่ควรเปิดเสรี ได้แก่ บริการที่สนับสนุนภาคธุรกิจ เช่น การเงิน ประกันภัย ขนส่ง โทรคมนาคม การสื่อสาร พลังงาน ซึ่งเป็นบริการที่มีลักษณะผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด

นอกจากนี้ยังจะต้องปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ข้อกำหนดจ้างงานคนไทย 4 คนต่อคนต่างด้าว 1 คน และข้อจำกัดเกี่ยวกับการจ้างงานวิชาชีพที่เป็นคนต่างด้าว ทบทวนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าต่ำ และหันมาเน้นภาคบริการโดยเฉพาะบริการที่สนับสนุนธุรกิจ เช่น การวางระบบ payment ของบัตรเครดิต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์เพจแห่งปี : “เฮ้ย! นี่มันตัดต่อชัด ชัด” กับประเด็นการล้อเลียนและก๊อบปี้

Posted: 27 Jan 2013 10:04 AM PST

คุยกับแอดมินเพจ "เฮ้ย! นี่มันตัดต่อชัด ชัด" เพจที่นิยามตัวเองว่า "เอาฮาธิปไตย" พร้อมที่มาของวาทะที่ว่า "เฟซบุ๊กคือการแชร์ในโลกออนไลน์ ถ้าไม่อยากให้ก๊อบก็อย่าเอารูปมาลง" เหตุผลการแบนแฟนเพจและมุมมองต่อการระดมรีพอร์ต เป็นต้น

รูปประจำตัวเพจ

หลังจากที่มีการประกาศผลโหวต 10 แฟนเพจเฟซบุ๊ก ปี 2012 ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจของประชาไทได้ตั้งไว้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา พร้อมกับบทสัมภาษณ์แอดมินเพจ Drama-addict เพจ โหดสัส V2 เพจ สมมรัก พรรคเพื่อเก้ง เพจ Dora GAG และเพจ "ออกพญาหงส์ทอง" ไปแล้วนั้น ในครั้งนี้ถึงคราวพูดคุยกันชัดๆ แบบไม่ตัดต่อ กับแอดมินเพจ "เฮ้ย! นี่มันตัดต่อชัด ชัด" ที่เรียกตัวเองว่า "เอาฮาธิปไตย"

18,769 คือจำนวนโหวตที่เพจนี้ได้ เป็นเพจที่ตั้งเป็นประเภทศิลปิน ที่มี การกดถูกใจ  246,423 (ข้อมูล 27 ม.ค.56)เป็นเพจที่ล้อเลียนเสียดสีสังคม โดยใช้เทคนิคการตัดต่อภาพกราฟฟิกที่สวยงาม บวกอารมณ์ขันในสไตล์ "ช็อตเดียวเอาอยู่" โดยเขาอธิบายตัวเองว่า "ทำกราฟฟิคภาพตัดต่อ เสียดสีสังคม แขวะการเมือง ล้อหนัง ล้อละคร เพื่อสร้างความฮาในสังคมที่วุ่นวาย คลายเครียดแต่ดราม่าพอประมาณ"

สำหรับประเด็นในการสัมภาษณ์นั้น ประกอบด้วย ทิศทางแนวโน้มปี 2013, การโหวตเพจแห่งปี, การละเมิดลิขสิทธิ์, การระดมรีพอร์ตใน facebook, การแบนคนในเพจและการเอาข้อมูลส่วนตัวของบุคคลธรรมดามาเผยแพร่ให้สาธารณะ เป็นต้นโดยเขาได้ตัดต่อร้อยเรียงเป็นคำตอบออกมาชัดๆ ได้น่าสนใจดังนี้

0000

รูปภาพหน้าปกเพจขณะนี้ล้อเลียนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ประชาไท : คิดอย่างไรกับอีก 9 เพจที่อยู่ใน 10 เพจแห่งปีที่คนโหวตกับประชาไท(ดู)

แอดมินเพจ "เฮ้ย! นี่มันตัดต่อชัด ชัด" : คิดว่าเพจแต่ละเพจที่ติดเข้ามา ผมว่าทุกเพจมีคอนเทนท์และจุดยืนจุดเด่นกันทุกเพจ เพราะปัจจุบัน เพจส่วนมากจะมีแต่เพจที่ก๊อบรูปกันไปก๊อบรูปกันมา เวียนเทียน เห็นกันจนเบื่อ บางเพจก็ลงรูปเด็กพิการ หมาป่วย ทหารตาย รูปกองเงิน รูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มาขอไลค์โดยที่ไม่มีจุดยืนหรือทำผลงานเองแทบทั้งนั้น

ส่วนเพจที่ติด 10 อันดับ ผมว่าแต่ละเพจมีแฟนเพจที่ติดตามอย่างเหนียวแน่น เข้าใจจุดยืนแอดมินขอแต่ละเพจ ที่สร้างความแตกต่างจากเพจทั่วไปครับ

ภาพล้อเลียนการโหวตแฟนเพจโดยเพจ เฮ้ย! นี่มันตัดต่อชัด ชัด

ในฐานะที่เป็นแอดมินภูมิใจไหมที่มีคนสนใจเพจคุณ คิดว่าที่ทำไปเกิดผลอะไรกับสังคมบ้าง เอาแรงบันดาลใจมาจากไหน ก่อนและหลังทำ มีอะไรเปลี่ยนไปในชีวิตบ้าง

ผมรู้สึกภูมิใจนะครับ ที่มีคนเสพแล้วชอบผลงานของผม ซึ่งบางผลงานแต่ละชิ้นก็มีทั้งชมแล้วก็ทั้งด่าบ้าง แต่ถ้าผลงานไหนโดนวิจารณ์มากเข้า ผมก็จะแถลงชี้แจงว่าทำไมถึงทำผลงานนี้ขึ้นมา

ส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งที่ทำไปมันอาจมีผลในสังคมบ้างไม่มากก็น้อย เพราะรูปส่วนใหญ่ที่ตัดต่ออกมา มักจะหยิบเอาข่าวที่เป็นประเด็นในช่วงเวลานั้นๆมาตัดต่อให้ออกมาแนวขำขัน เสียดสีสังคมที่เป็นอยู่ จนอาจสะดุดใจหรืออาจสะดุดอารมณ์คนบางกลุ่ม แต่ขอชี้แจงก่อนนะครับว่าผลงานทุกชิ้นมันเป็นจินตนาการ เป็นสิ่งสมมุติ บนพื้นฐานจากข่าวที่เป็นประเด็น แอดมินไม่ได้สร้างเรื่อง ยัดเยียดข่าวลวงให้คนเชื่อ เหมือนกับพวกแกนนำสารพัดสีที่กุข่าวหลอกลวงผู้ชุมนุมเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามไม่เว้นแต่ละวัน แล้วเพจผมก็ไม่ใช่เครื่องมือของคนกลุ่มใด แต่ทำขึ้นเพื่อเอาความซีเรียสของข่าวบางข่าวมาลดทอนให้เบาลงหรือหนักกว่าเก่าก็ไม่รู้

แรงบันดาลใจของผมคงเริ่มจากพวกการ์ตูนแนวล้อเลียน ภาพยนตร์เสียดสี ที่ทำออกมาขำขันและแฝงแง่คิดลงไปก่อนจะทำเพจขึ้นมา ผมก็ตัดต่อรูปโพสต์ลงตามเพจต่างๆเล่นนะครับ ไม่ได้จริงจังอะไร จนช่วงวิกฤติน้ำท่วม ผมก็ติดเกาะไปไหนไม่ได้อยู่แต่ในบ้าน ไม่อยากเครียดเลยเอารูปมาตัดต่อกันเยอะๆแล้วก็สร้างเพจตัดต่อขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางระบายความเครียดของผมและแฟนเพจที่ติดตาม ผลที่ตามมาคือก็ได้รับความนิยมระดับหนึ่งครับ

หลังจากนั้นชีวิตผมก็เริ่มมีคนติดตามผลงานเราเยอะขึ้น หลายคนเข้าใจคอนเซ็ปและความคิดที่เราจะสื่อ แต่บางคนแค่ผ่านมาเห็นรูปก็ไม่พอใจ ว่าทำไมไปเอารูปคนอื่นมาล้อเลียน ก็มีทั้งชม ทั้งด่า ในทุกรูปที่ผมโพสต์แหละครับ(หัวเราะ)

ภาพล้อเลียนนักการเมืองกับ โปสเตอร์ภาพยนตร์ Twilight

แอดมินเพจเป็นทีมหรือว่าทำคนเดียว และแอดมินแต่ละคนเป็นใคร

ผมทำเพจขึ้นคนเดียวครับ ตอนนี้ก็ทำงานเป็นกราฟฟิคบริษัททำโฆษณา ในบางวันถ้างานไม่ยุ่งก็จะตัดต่อรูปได้เยอะ แต่ถ้าวันไหนงานแยะก็จะตัดต่อรูปได้น้อยครับ (หัวเราะ) ก็คิดเองตัดต่อเอง แต่บางทีก็รีเมคผลงานจากเพจเพื่อนบ้านมาบ้าง แล้วก็ให้เครดิตเค้าไป

คิดว่าคนมาไลค์หรือติดตามเพจคุณเพราะอะไร รวมทั้งคนกดโหวตเพจคุณเพราะอะไร

ผมคิดว่าที่คนไลค์เพจผม เพราะเค้าอาจชอบผลงานแนวเสียดสี ที่ทำออกมาค่อนข้างเนียน เพราะทุกรูปผมตั้งใจทำให้ออกมาให้เนี้ยบที่สุดและเอาฮามากที่สุดด้วยเช่นกัน และเพจผมก็รักษาจุดยืนนี้มาตลอด มีทั้งเสียดสีการเมือง ล้อหนัง ล้อละคร คำคมหนัง แต่ทุกรูปผมก็พยายามแฝงอะไรให้คนได้คิดบ้าง แม้บางรูปอาจจะดูแรงและเสี่ยงดราม่าเอามากๆ

ส่วนเรื่องการโหวต บอกตามตรงผมเพิ่งไม่รู้เลย จนมีแฟนเพจคนหนึ่งมาบอกผม ผมเข้าไปดูก็ตกใจนะ ทำไมเพจผมถึงติด 1 ใน 10 เลย ผมก็เลยขอแจม เรียกเสียงคะแนนจากลูกเพจบ้าง ตัดต่อภาพหาเสียงบ้าง จนแซงเพจท่านออกพญามาได้ แต่ก็ภาวนาอย่าแซงเพจโหดสัสเลย เดี๋ยวจะเพจจะโดนปาขี้เอา (หัวเราะ) คิดแล้วก็ดีใจครับ ที่มีคนโหวตให้เพจผมเยอะขนาดนี้

อยากจะบอกอะไรกับคนเหล่านั้นบ้าง

"กราบขอบพระคุณที่ติดตามและให้ความไว้วางใจในเพจผม ขอบพระคุณครับ"

ถ้าจะให้นิยามเพจคุณ เราควรเรียกหรือทำความเข้าใจว่าเพจคุณคืออะไร

นิยามเพจผมคงประมาณ "เพจเอาฮาธิปไตย" ครับ

ตอนนี้มีดราม่าระหว่างแฟนเพจในเฟซบุ๊ก เรื่อง "ก๊อบปี้" หรือละเมิดลิขสิทธิ์ คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร

ขอแบ่งเป็น 2 พวกนะครับ พวกแรกคือพวกที่ก๊อบรูปไปโดยไม่กดแชร์ อันนี้ผมเฉยๆ นะครับ เพราะบางรูปไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีชื่อเจ้าของผลงาน หรือใครเป็นคนแรกที่ลง ทุกเพจก็จะก๊อบๆ กันมา รูปไหนที่ฮามาก แรงมาก ก็จะถูกเวียนเทียนไปเกือบทุกเพจ

พวกที่ 2 คือพวกที่เอารูปจากเพจที่เค้ามีเครดิตใต้รูปไปก๊อบแล้วตัดเครดิตเจ้าของรูปนั้นออก หรือบางทีทำน่าเกลียดถึงขนาดแปะเครดิตเพจตัวเองทับลงไป แสร้งว่าเป็นผลงานของตัวเอง พวกนี้ทุเรศมากครับ ไร้ฝีมือ ไร้ความคิด ไร้การสร้างสรรค์ อย่างสิ้นเชิง

จริงๆ เรื่องลิขสิทธิ์รูปในเฟซบุ๊กมันดูไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่บางทีมันก็สะเทือนใจเจ้าของผลงานครับ รูปในเพจผมโดนหลายรูปเลย แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้มากครับ เคยตัดต่อเสียดสีพวกก๊อบไปครั้งหนึ่ง ก็มีการตอบรับประมาณว่า "เฟซบุ๊กคือการแชร์ในโลกออนไลน์ ถ้าไม่อยากให้ก๊อบก็อย่าเอารูปมาลง"

สรุปคือ การก๊อบปี้ ในเฟซบุ๊ก กลายเป็นเรื่องปกติ คงว่าอะไรมากไม่ได้หรอกครับ เพราะรูปที่ผมเอามาตัดต่อ อย่างเช่น โปสเตอร์หนัง ก็เป็นรูปที่เขามีเจ้าของมีลิขสิทธิ์เช่นกัน เพียงแต่ผมเอามาดัดแปลงตัดต่อเท่านั้นเอง

ภาพล้อเลียนเน วัดดาว - แอล โอรส กับโปสเตอร์ภาพยนตร์อันธพาล 

มองการระดมรีพอร์ตใน เฟซบุ๊ก ว่าอย่างไร

ช่วงนี้มีการระดมรีพอร์ตเยอะมากครับเพจผมก็โดนทุกวัน ทั้งที่บางภาพไม่ได้ส่อไปทางลามก อนาจาร หรือรูปหมิ่นศาสนา หมิ่นเบื้องสูงแต่อย่างใด และทุกเพจก็โดนเหมือนกัน ผมว่ามีคน 2 จำพวกครับ พวกเเรกอาจจะเป็นแอดมินเพจนึงที่หมั่นใส้อีกเพจนึง ก็เลยกดรีพอร์ตรูป ส่วนอีกพวกคือไม่ชอบเพจนี้แต่ต้น ด้วยเนื้อหาของเพจอาจไปสะกิดติ่งอะไรของเขาไว้

ของผมที่งี่เง่าที่สุดคือ มีหญิงทำงานราชการรีพอร์ตรูป "โกสต์ไรเดอร์" ผมก็เลยถามกลับ "ไม่ทราบว่ารูปนี้มันไปทำให้คุณไม่สบายใจตรงไหน" เค้าก็ตอบมาว่า "ไม่รู้ ถ้าไม่อยากลบ ก็ไม่ต้องลบ" อ้าว อีนี่...เห็นไหมครับ ขนาดคนที่มีการศึกษา มีวุฒิ ทำงานราชการ ยังปัญญาอ่อนได้โล่จริงๆ

ในฐานะที่เป็นแอดมิน เคยแบนคนที่เข้ามาในเพจบ้างไหม เพราะเหตุใด

ก็แบนครับ กับคนที่ใช้คำพูดด่า รุนแรง เล่นบุพการี ใช้เหตุผลคุยกันแล้วก็ไม่ฟัง

แอดมินบางเพจมีการเอาข้อมูลส่วนตัวของบุคคลธรรมดามาเผยแพร่ให้สาธารณะรู้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือหรือเศรษฐกิจบางอย่าง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัวก่อนนั้น คุณมองพฤติกรรมแบบนี้ว่าอย่างไร

ของมองแบบ 2 แง่มุมนะครับ บางเพจตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองโดยเฉพาะ ใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กโจมตีฝ่ายตรงข้าม แบบเอาเป็นเอาตาย แล้วการเอาข้อมูลฝ่ายตรงข้ามมาแฉก็ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเท่าไร เพราะข้อมูลบางอย่างก็จริงบางเท็จบาง ส่วนอีกแง่บางเพจก็เอาประเด็นกระแสสังคม มาเสียดสี และข่าวที่ได้มานั้นก็มักจะเอามาจากสื่อกระแสหลัก ซึ่งก็จริงบ้างเท็จบ้างเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มีเจตนาโจมตีอย่างรุนแรง หากแต่ทำขึ้นเพื่อตามกระแสสื่อเท่านั้น

มองว่าปี 2013 นี้ แนวโน้วของเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะ facebook จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่

เฟซบุ๊กอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่าง รวมทั้งเพจที่มีเยอะขึ้นทุกวัน บางเพจตั้งขึ้นเพื่อการธุรกิจ บางเพจตั้งขึ้นตามกระแส วลี คำฮิตในช่วงนั้นๆ แต่จะเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับ พี่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กนั่นแหละครับ (หัวเราะ)

ภาพตัดต่อล้อเลียน เนย รักโลก กับ โปสเตอร์ภาพยนตร์  Life of Pi 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิโรจน์ ณ ระนอง

Posted: 27 Jan 2013 04:34 AM PST

"รัฐต้องยึดหลักการว่า ถ้ามีธุรกิจไหนที่เป็น Sunset Industry จริงๆ ก็ไม่ควรเอาเงินภาษีประชาชนไปช่วยฝืน สิ่งที่รัฐควรทำก็คือดูแลเรื่องผลกระทบต่อคนงาน.."

นักวิจัย TDRI, ใน สัมภาษณ์ วิโรจน์ ณ ระนอง: ค่าแรง 300 บาท กับแรงงานนอกระบบ

คณะกรรมการเพื่อปกป้องนักข่าว กับคดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข

Posted: 27 Jan 2013 02:12 AM PST

คณะกรรมการสากลเพื่อปกป้องนักข่าว หรือ CPJ (Committee for Protection Journalists: CPJ) ระบุชัดว่านายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารว็อยซ์ ออฟ ทักษิณ (Voice of Taksin) เป็นหนึ่งในบรรณาธิการ นักข่าว และคนทำงานวิชาชีพสื่อ จำนวน 232 คนจากทั่วโลกที่ถูกจับกุมคุมขังอันเนื่องมาจากการทำงานในวิชาชีพสื่อ ข้อความข้างล่างนี้คือข้อมูลที่ CPJ ใช้รณรงค์ให้มีการปล่อยตัวอดีตบรรณาธิการนิตยสารว็อยซ์ ออฟ ทักษิณ

https://www.cpj.org/imprisoned/2012.php

สมยศ พฤกษาเกษมสุข, นิตยสารว็อยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin)
ถูกคุมขังตั้งแต่ 30 เมษายน 2011

สมยศถูกจับกุมที่ชายแดนไทยบริเวณด่านตรวจอรัญประเทศขณะที่กำลังจะข้ามแดนไปประเทศกัมพูชา เขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกรุงเทพโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเป็นเวลา 84 วันซึ่งเป็นจำนวนวันสูงสุดตามกฎหมายอาญาของไทย ก่อนที่เขาจะถูกกล่าวหาฟ้องร้องด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพในวันที่ 26 กรกฎาคมของปีนั้น

สมยศอาจถูกลงโทษจำคุก 30 ปีสำหรับข้อหาต่างกรรมต่างวาระภายใต้กฎหมายหมิ่นฯทีห้ามข้อความใดๆกระทำผิดต่อพระบรมวงศานุวงศ์ (royal family)

การพิพากษาลงโทษภายใต้กฎหมายนี้มีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพฯถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของทั้งสองฝ่ายในประเทศไทยที่มีความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อ

ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีสาเหตุจากบทความ 2 ชิ้นที่ [ผู้กล่าวหา] คิดว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งมีการตีพิมพ์ในนิตยสารว็อยซ์ออฟทักษิณที่ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว นิตยสารข่าวฉบับนี้มีความเกี่ยวพันอย่างสูงกับกลุ่มกดดันทางการเมือง "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช)"  นิตยสารนี้เคยถูกกล่าวหาว่าตีพิมพ์บทความที่ยุยงปลุกปั่นฝ่ายผู้สนับสนุน นปช.ให้ก่อความรุนแรง

สมยศเป็นนักกิจกรรมด้านแรงงานและผู้นำการชุมนุมประท้วงทางการเมือง เป็นผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการนิตยสารที่ก่อให้เกิดการถกเถียงนี้ เขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อผู้เขียนบทความที่เป็นที่ถกเถียงที่มีการตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2010 ตามรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่น บทความทั้งสองชิ้นตีพิมพ์โดยใช้นามแฝงของผู้เขียนว่า "จิตร พลจันทร์"

การสืบพยานคดีของสมยศสิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2012 แต่จนกระทั่งปลายปียังไม่มีการพิพากษา ศาลอาญากรุงเทพกำหนดฟังคำพิพากษาเดือนธันวาคม 2012 ศาลปฏิเสธการให้ประกันตัวสมยศ 10 ครั้งนับตั้งแต่เขาถูกจับกุมเมื่อเดือนเมษายน 2011

สมยศถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามรายงานของสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (Internation Federation for Human Frights: FIDH) สมยศมีปัญหาเรื่องสุขภาพมาก รวมทั้งความดันในกระแสโลหิตสูง และโรคเก๊าธ์

 

เกี่ยวกับคณะกรรมการเพื่อปกป้องนักข่าว (Committee for Protection Journalists: CPJ)

คณะกรรมการเพื่อปกป้องนักข่าว ก่อตั้งปี 1981 โดยกลุ่มนักข่าวในสหรัฐอเมริกาที่ตระหนักว่าพวกเขาไม่อาจเมินเฉยต่อชะตากรรมของเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ตกอยู่ในภยันอันตรายจากการทำหน้าที่ พวกเขาเห็นว่านักข่าวทั่วโลกควรต้องร่วมกันปกป้องสิทธิของเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ต้องอดกลั้นและอันตราย

พันธกิจของ CPJ คือการส่งเสริมเสรีภาพสื่อทั่วโลกและปกป้องสิทธิของนักข่าวในการรายงานข่าว โดยปราศจากความกลัว CPJ จะรณรงค์ในทุกแห่งที่นักข่าวถูกเซ็นเซอร์ ถูกทำร้าย ถูกจับกุมคุมขัง หรือสังหารอันเนื่องมาจากการทำงาน

CPJ เริ่มรณรงค์ครั้งแรกในปี 1982 ต่อกรณีที่ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษ 3 คนถูกจับกุมในอาร์เจนติน่าในระหว่างรายงานข่าวสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (Falklands War) จดหมายรณรงค์จาก CPJ ช่วยให้นักข่าวทั้ง 3 คนได้รับการปล่อยตัว

ต่อมา CPJ ได้ขยายพันธกิจจากการปกป้องนักข่าวให้ครอบคลุมไปถึงการปกป้องบุคคลที่ตระหนักถึงคุณค่าของการใช้ข้อมูลข่าวสารในสังคมเสรี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศปช.หนุน แก้ รธน. นิรโทษนักโทษการเมืองของ “แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง”

Posted: 26 Jan 2013 08:17 PM PST

ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) และเครือข่ายสันติประชาธรรมออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลคืนสิทธิและเสรีภาพให้แก่นักโทษการเมือง ตาม "ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง" ของคณะนิติราษฎร์

 

 สนับสนุนการแก้ไข รธน. เพื่อนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองของ

"แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง"

 

                 นับเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง จนนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจำนวนมาก และนับแต่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นบริหารประเทศ กระบวนการเยียวยาให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในรูปของเงินชดเชย รวมทั้งการดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้เริ่มไปบ้างแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจำนวนมาก  กลับไม่ได้รับการเหลียวแลใด ๆ จากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างจริงจังเลย

ศปช. และเครือข่ายสันติประชาธรรมขอเตือนความจำทรงจำของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล ด้วยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังหลังเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม  2553 ดังต่อไปนี้  

  • เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตเข้าจับกุมและคุมขังตามอำเภอใจ ตั้งข้อหาร้ายแรงเกินจริง เป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแห ขาดหลักฐาน หลายกรณีมีเพียงภาพถ่ายผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นหลักฐานเท่านั้น
  • มีการซ้อมและทรมานผู้ต้องขัง หลายรายเป็นเยาวชน
  • ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ หลายคนเป็นผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพ และเยาวชนที่ยังศึกษาอยู่
  • ช่วงแรกของการจับกุม ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทนายความเพราะเจ้าหน้าที่ตัดการสื่อสาร จำนวนมากถูกจับกุมด้วยข้อหาละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และศาลพิพากษาตัดสินอย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาแค่ 15 นาที
  • ส่วนใหญ่ไม่มีทนายความเพราะฐานะยากจน ถูกเจ้าหน้าที่บังคับหรือเกลี้ยกล่อมให้รับสารภาพโดยทำให้หลงเชื่อว่าจะได้รับการบรรเทาโทษ   แต่เมื่อรับสารภาพ พวกเขากลับถูกลงโทษอย่างรุนแรง โดยไม่มีโอกาสนำพยานหลักฐานฝ่ายตนเข้าต่อสู้คดี
  • มีการใช้ข้อหาก่อการร้ายต่อผู้ต้องขัง 44 รายในลัษณะครอบจักรวาล โดยไม่มีนิยามและขอบเขตของคำว่าก่อการร้ายที่ชัดเจน 
  •  ผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกคุมขังเกินกว่าคำพิพากษา จำนวนมากถูกขังฟรีเป็นเวลาปีกว่าหลังจากศาลเห็นว่า เห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอและพิพากษายกฟ้อง
  • ผู้ชุมนุมจำนวน 22 คนยังถูกคุมขังอยู่ ณ เรือนจำชั่วคราว รร.พลตำรวจ บางเขน

 

ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นว่าคนเสื้อแดงถูกปฏิบัติประหนึ่งศัตรูของชาติหรืออาชญากรร้ายแรง ทั้ง ๆ ที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงมีสาเหตุมาจากความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างที่เริ่มก่อตัวขึ้นนับแต่การรัฐประหารปี 2549 พวกเขามุ่งต่อต้านอำนาจฉ้อฉลที่สนับสนุนและมาพร้อมกับการรัฐประหาร และเรียกร้องให้สังคมเคารพในสิทธิการเมืองตามแนวทางประชาธิปไตยของพวกเขา 

นอกจากนี้ หลังรัฐประหาร 2549 จำนวนนักโทษการเมืองจากกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความหวาดกลัวมากกว่าเพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคม  ผู้ถูกกล่าวหามีแนวโน้มจะถูกลงโทษรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับว่าพวกเขาเป็นฆาตกรอำมหิต ขณะเดียวกัน มันได้ตอกลิ่มความแตกแยกและความเกลียดชังในสังคมให้รุนแรงมากขึ้น และไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันกษัตริย์ได้เลย กรณีนายอำพล ตั้งนพคุณ (อากง) และล่าสุด นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ทำให้ชื่อเสียของประเทศไทยฉาวโฉ่ไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง แต่ผู้มีอำนาจในสังคม รวมทั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย ประธานรัฐสภา และแกนนำ นปช. กลับเมินเฉยต่อปัญหานี้อย่างเลือดเย็น เพียงเพื่อรักษาสถานะอำนาจทางการเมืองของตนไว้เท่านั้น นับเป็นสิ่งที่น่าละอายและหยามเหยียดอย่างยิ่ง ทั้งที่ภาระกิจสำคัญที่คนเหล่านี้รับปากกับประชาชนของตนก่อนเลือกตั้งว่า จะผลักดันให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง

 แต่เมื่อคนเหล่านี้ได้เข้ามามีอำนาจ กลับไม่ได้มีความพยายามอย่างจริงจัง ที่จะคืนความยุติธรรมให้กับนักโทษการเมืองเลย ทั้ง ๆ ที่อำนาจที่พวกท่านยึดครองอยู่ในขณะนี้ เป็นผลโดยตรงจากการต่อสู้ของประชาชนเสื้อแดงโดยแท้

  บัดนี้ กลุ่มองค์กรประชาชนต่าง ๆ ในนามของ "แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง" ภายใต้การนำของ "กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล" เห็นความสำคัญที่จะต้องผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่นักโทษการเมืองอย่างเร่งด่วน  

ศปช. และเครือข่ายสันติประชาธรรมจึงขอประกาศสนับสนุนต่อการรณรงค์ของ "แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง" ที่จะนัดชุมนุม "หมื่นปลดปล่อย" ในวันที่ 29 มกราคม ณ หมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 เพื่อคืนสิทธิและเสรีภาพให้แก่นักโทษการเมือง ตาม "ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งของคณะนิติราษฎร์

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาล น.. ยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย และนปช. ถือเป็นภาระกิจเร่งด่วนของตนที่จะต้องคืนความยุติธรรม ให้แก่นักโทษการเมืองทุกกลุ่ม  

 

ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.)

เครือข่ายสันติประชาธรรม

พวงทอง ภวัครพันธุ์
กฤตยา อาชวนิจกุล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เวียงรัฐ เนติโพธิ์
เกษม เพ็ญภินันท์
ชัยธวัช ตุลาธน
ขวัญระวี วังอุดม
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
นีรนุช เนียมทรัพย์
เสาวลักษณ์ โพธิ์งาม
อนุสรณ์ อุณโณ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น