ประชาไท | Prachatai3.info |
- ท่าทีข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น-สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-องค์กรสิทธิไทย-เทศ ต่อ 'คำพิพากษาสมยศ'
- สัมภาษณ์ วิโรจน์ ณ ระนอง: ค่าแรง 300 บาท กับแรงงานนอกระบบ
- แถลงการณ์แสงสำนึก ฉบับที่ ๒ “โปรดปล่อยประชาชน”
- เกษียร เตชะพีระ
- อ่านคำแถลงปิดคดีของฝ่ายจำเลย สมยศ พฤกษาเกษมสุข ฉบับเต็ม
- จทน.ซีเรียหนีจากคุกทรมานนักโทษการเมือง หันมาเป็นครูสอนศาสนา เยียวยาจิตใจผู้สูญเสีย
- ยังไม่จบ! 'ชาวบ้านปากมูล' บุกทำเนียบฯ จี้เปิดเขื่อน 5 ปีตามมติสมัย 'รัฐบาล ปชป.'
- แอมเนสตี้ฯ กังวลกรณี “สมบัด สมพอน” ร้องรบ.ลาวตรวจสอบการหายตัวอย่างโปร่งใส
- ศาล (ศาสนา) กับการหลอกตัวเอง
- บล็อคเว็บประกาศคณะราษฎร: ความมืดบอดทางประวัติศาสตร์ของนักกฎหมายไทย
- ถามเด็กโรฮิงยา-พ่อแม่ไปไหน? ไม่ตอบ! แต่เอามือปาดที่คอ
- ท่าทีจากอียู-ฮิวแมนไรท์วอชท์-เอไอ-องค์กรแรงงาน ต่อ 'คำพิพากษาสมยศ'
- TDRI: โอกาสของแรงงานไทยใน AEC
- นักกิจกรรมแนวร่วมแดงร้อง พท. ปลด โฆษก ปธ.สภา เหตุค้านนิรโทษกรรมมวลชน
- กวีประชาไท: กองไฟใต้ภาพ
Posted: 23 Jan 2013 09:58 AM PST ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กังวลไทยเสื่อมถอยด้านคุ้มครองสิทธิ สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้คำตัดสินคดี ขยายความรับผิดชอบ บก.ไปถึงเนื้อหาของผู้อื่น องค์กรสิทธิสากล-ไทย ร่วมประณาม เตือนไทยห่างไกล 'การปรองดองแห่งชาติ' (23 ม.ค.56) ต่อกรณีศาลอาญาพิพากษาให้สมยศ พฤกษาเกษมสุข บก.นิตยสาร Voice of Taksin มีความผิดตามมาตรา 112 ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่นิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ซึ่งมีบทความเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ลงโทษจำคุก 10 ปี จากความผิด 2 กรรม บวกกับโทษเดิมเมื่อปี 2552 คดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่รอลงอาญาไว้อีก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 11 ปี องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงองค์กรในประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อคำตัดสินในวันนี้ ดังนี้
นางนาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อคำตัดสินและการลงโทษที่รุนแรงอย่างที่สุดต่อสมยศ พฤกษาเกษมสุข และเสริมว่า นี่แสดงให้เห็นถึงการเสื่อมถอยในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย "คำตัดสินและการลงโทษที่รุนแรงอย่างที่สุดต่อสมยศส่งสัญญาณที่ผิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทย คำพิพากษาของศาลเป็นตัวชี้วัดล่าสุดของแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงอย่างการใช้กฎหมายหมิ่นฯ เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง" "ฉันยินดีและสนับสนุนความพยายามของสมาชิกรัฐสภาและนักวิชาการบางคนที่เสนอการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อสื่อถึงความกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมาย" ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลต่อระยะเวลาที่สมยศถูกควบคุมตัว โดยถูกปฏิเสธการขอประกันตัวถึง 12 ครั้ง โดยระบุว่า "ฉันกังวลใจเมื่อสมยศไม่ได้รับการประกันตัว และหลายครั้งที่ปรากฏตัวในศาลโดยถูกใส่โซ่ตรวน ราวกับเขาเป็นอาชญากรร้ายแรง" เธอบอกว่าและว่า "ผู้ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกไม่ควรถูกลงโทษตั้งแต่แรกแล้ว" ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.55 คณะทำงานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ ได้สรุปว่า การจับกุมตัวสมยศเป็นการกระทำโดยไม่ชอบและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปล่อยสมยศและชดเชยค่าเสียหายต่อสมยศ เพื่อให้เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน "นักกิจกรรม นักข่าว และนักวิชาการ มีบทบาทที่มีพลวัตในการสนับสนุนวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย" พิลเลย์กล่าวและว่า "นี่สะท้อนให้เห็นสังคมไทยในเชิงบวก แต่กรณีของคดีสมยศนั้นเสี่ยงต่อการสวนทางกับความก้าวหน้าที่ประเทศไทยสร้างมา" 'ซีป้า' ชี้คำตัดสินคดี ขยายความรับผิดชอบ บก.ไปถึงเนื้อหาของผู้อื่น การลงโทษสำหรับความรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่คนอื่นเขียนนี้คล้ายกับคำตัดสินที่จีรนุช เปรมชัยพร ได้รับเมื่อพฤษภาคม 2555 ในความผิดฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 โดยเธอได้รับโทษรอลงอาญาสองปี จากการนำข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพออกจากเว็บบอร์ด "ไม่เร็วพอ" และแม้ทนายของสมยศจะต่อสู้ว่าตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบกับบทความที่ผู้อื่นเขียน แต่ศาลก็ชี้ว่าเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เขาพ้นจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ขณะที่ไม่มีการดำเนินคดีกับผู้เขียนบทความ ซึ่งสมยศได้ให้การต่อศาลว่าคือจักรภพ เพ็ญแข แต่อย่างใด นอกจากนี้ ศาลยังระบุว่า แม้ไม่มีการกล่าวถึงพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบทความ แต่เนื้อหาก็สามารถทำให้เข้าใจได้ว่ากล่าวถึงพระองค์ ซึ่งกรณีนี้ SEAPA ชี้ว่าคล้ายกับคำพิพากษาคดีของยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ซึ่งถูกตัดสินจำคุกสองปีจากการปราศรัยเมื่อปี 2553 โดยบทความในนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า ศาลได้ตัดสิน่า แม้จำเลยจะไม่ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง แต่คำปราศรัยดังกล่าวไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ กายาทรี เวนกิท สวารัน ผู้อำนวยการสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ระบุว่า โทษที่สมยศได้รับ "ไม่ได้สัดส่วน" ทั้งที่สมยศไม่ได้เป็นผู้เขียนบทความดังกล่าว การให้ความรับผิดชอบไปอยู่ที่บรรณาธิการ ขับเน้นให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นฯ ที่มีปัญหา ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งก็ได้ชี้ให้เห็นแล้ว
"คำตัดสินวันนี้ไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน การคงไว้ซึ่งกฎหมายเผด็จการและใช้กฎหมายนี้อย่างต่อเนื่อง นำประเทศไทยไปไกลจากการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่บนการเคารพเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน" แดนทอง บรีน ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าว "แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวสมยศและปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ จากทั้งพลเมืองไทย ภาคประชาสังคม และสหประชาชาติ หลายครั้ง แต่ประเทศไทยก็ตัดสินใจออกห่างจากมาตรฐานระหว่างประเทศในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็น ทำตัวแปลกแยกจากสังคมประชาธิปไตย" ซิวเฮร์ เบลฮัสสัน ประธานสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล ระบุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
สัมภาษณ์ วิโรจน์ ณ ระนอง: ค่าแรง 300 บาท กับแรงงานนอกระบบ Posted: 23 Jan 2013 07:32 AM PST คุยกับ "ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง" นักวิจัยจาก TDRI ถึงผลกระทบการขึ้นค่าแรง 300 บ. ประเมิน 6 มาตรการการเงิน-คลัง รัฐ อุ้ม SMEs และข้อเสนอการสร้างสวัสดิการแก่แรงงานนอกระบบ ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาหลังจากที่นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท มีผลในวันที่ 1 ม.ค.56 ส่งผลให้เกิดกระแสข่าวการปิดโรงงานเลิกจ้างคนงานโดยอ้างถึงผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงดังกล่าว เกิดวาทกรรม "พิษค่าแรง 300 บาท" หรือไปถึง "ฆาตกรรมหมู่แรงงานไทย" จากที่คุณมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ออกมาแถลงถึงผลกระทบจากนโยบายนี้เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา อ้างว่าเกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนเกิดปรากฎการณ์ "ปิดโรงงาน ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น งดโอที งดสวัสดิการต่างๆ เลิกจ่ายประกันสังคม เงินเดือนช้า หมุนไม่ทัน" เห็นผลกันไปแล้ว ดังนั้น นโยบายนี้จึงหักดิบหนุ่มสาวโรงงานมีฝีมือให้ตกงานกระทันหัน เป็นการฆาตกรรมหมู่คนงาน 14.6 ล้านคนโดยเฉพาะ"แรงงานนอกระบบ" 24.1 ล้านคน ไม่ได้รับประโยชน์จากโยบายนี้ และยังได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามก็มีฝั่งที่หนุนนโยบายนี้ออกมาแสดงความเห็นเช่นกัน เช่น บัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่น ที่เขียนบทความสนับสนุนนโยบายนี้ ด้วยวาทะกรรม "ลำบากเพื่อคนที่ลำบากกว่า" รวมทั้ง เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ6 มาตรการการคลังและการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เช่นการยกเว้นและลดภาษีนิติบุคคล การจัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ หรือ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ เป็นต้น ในโอกาสนี้ประชาไทจึงคุยกับ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)ผู้เชียวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขการเกษตร รวมไปถึงชนบทและแรงงานนอกระบบ มีงานวิจัยและงานเขียนที่น่าสนใจเกี่ยวกับสวัสดิการแรงงานนอกระบบเช่น แนวทางการขยายโครงการประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 หรือ ขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบที่จะได้ผลจริง...ต้องถูกและดี เป็นต้น โดยประเด็นในการพูดคุยเป็นการประเมินผลกระทบจากนโยบายดั้งกล่าว รวมถึงมาตรการทางการเงินการคลังของรัฐในการช่วยเหลือ SMEs และข้อเสนอในการสร้างสวัสดิการกับแรงงานนอกระบบ ฯลฯ 00000 ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ภาพจาก เครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet) ประชาไท : การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ มีผลกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างไร ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง :เราจะวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำได้ดีกว่าถ้าเรามองเรื่องนี้ในภาพใหญ่ของประเทศซึ่งมีแนวโน้มที่สำคัญอย่างน้อย 2-3 เรื่องที่เราควรให้ความสนใจ ประการแรก แรงงานไทยมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนมากขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีต ประการที่สองที่ผ่านมาความขาดแคลนตรงนี้ส่วนหนึ่งได้รับการบรรเทาจากแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนหลายล้านคน จึงทำให้เห็นภาวะการขาดแคลนแรงงานไม่ชัดมาก และทำให้ทั้งค่าแรงและค่าแรงขั้นต่ำสามารถคงอยู่ได้ในระดับที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก ถ้าเราดูอำนาจซื้อของค่าแรงขั้นต่ำในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา จะพบว่าค่าแรงนี้ซื้อของได้ลดลงประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่จะดูว่าฐานะความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานเปลี่ยนไปอย่างไรนั้น ต้องดูว่าค่าจ้างจริงๆ ที่เขาได้รับเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งคนงานจำนวนมากได้ค่าแรงสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน
ทำไมเราถึงกำลังเข้าไปสู่ภาวะการขาดแคลนแรงงาน เวลาเราพูดถึงค่าจ้างขั้นต่ำ เราหมายถึงค่าจ้างที่รัฐกำหนดเป็นค่าจ้างเริ่มต้นสำหรับคนที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งมักเรียกกันว่าแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งในความเป็นจริงคงหมายถึงแรงงานที่ยังไม่มีประสบการณ์ ซึ่งบางครั้งก็อาจขาดทักษะในการทำงานด้วย ปกติค่าแรงของแรงงานไร้ฝีมือจะขึ้นกับความต้องการแรงงานของนายจ้างและจำนวนคนที่เข้ามาสู่ตลาดแรงงาน ตัวอย่างเช่น ถึงแม้จะมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามีจำนวนคนงานที่เข้ามาสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในจำนวนที่พอๆกัน ค่าแรงสำหรับแรงงานไร้ฝีมือก็จะไม่สูงขึ้น แต่ผมมองว่าในปัจจุบันมี 2-3 ปัจจัยที่เป็นแรงกดดันที่ทำให้ค่าแรงมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา แรงกดดันที่สำคัญประการแรกคือด้านประชากร ในช่วงหนึ่งเราเคยมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ตอนนี้กำลังเปลี่ยนไปจนทำให้ประชากรของเราจะเริ่มที่ลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และถึงแม้ในช่วงที่ยังไม่ลดลงนั้น จำนวนคนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานก็เริ่มลดลงแล้วที่เป็นเช่นนี้เพราะอัตราการเกิดของเราลดลงมาก ปัจจุบันอัตราการมีลูก ในชั่วชีวิตของผู้หญิง 1 คน(Total fertility rate, TFR) ของประเทศเราลดลงอย่างรวดเร็ว ตอนนี้เหลือประมาณ 1.4 ซึ่งหมายความว่าครอบครัวทั่วไปที่มีพ่อกับแม่รวมกันเป็น2 คน จะมีลูกมาทดแทนโดยเฉลี่ยแค่ 1.4 คน อัตรานี้ลดลงเร็วมากกว่าครึ่งหนึ่งในชั่วเวลาไม่กี่สิบปี ซึ่งมีผลให้ประชากรของเราจะลดลงแน่ๆในอนาคตตอนนี้ประชากรของเรากำลังอยู่ในจุดสูงสุดและกำลังเริ่มลดลง ที่ยังไม่เห็นว่าลดก็เพราะอัตราการตายของเราก็ต่ำลงด้วย แต่ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือถึงแม้ว่านับจำนวนคนทั้งหมดจะยังไม่ลด แต่สัดส่วนของคนหนุ่มสาวที่เป็นกำลังแรงงานก็เริ่มลดลงแล้ว และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประชากรของเราก็จะลดลงแน่ๆนี่เป็นแรงกดดันที่สำคัญที่จะทำให้แรงงานของเราเริ่มขาดแคลนและจะขาดแคลนต่อไปในระยะยาว แรงกดดันประการที่สองก็คือแรงงานต่างชาติ ซึ่งเราได้พึ่งพาเขามาเป็นเวลานานพอสมควรโดยที่คนไทยจำนวนมากอาจจะไม่รู้ตัว และมักมองว่าเขามาสร้างปัญหาเรา แต่ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้ว ภาคการเกษตรในหลายๆส่วน เช่น ยางประมง รวมไปถึงเกษตรแปรรูปอย่างโรงสี พึ่งแรงงานต่างชาติมาเป็นเวลานานแล้ว จนบัดนี้ก็เริ่มมีแนวโน้มว่าแรงงานต่างชาติจำนวนหนึ่งจะสามารถกลับบ้านไปทำมาหากินในประเทศเขาเองซึ่งก็เป็นอีกแรงกดดันที่ทำให้ค่าแรงของเราต้องเพิ่มขึ้นในระยะยาว ปัจจัยที่ 3 ในอดีต ถ้าคุณอยู่ในชนบท คุณแทบจะไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นเลยนอกจากการเกษตร ทำให้แรงงานจำนวนมากถ้าเขาอยู่กับการเกษตรก็อาจเป็นอาชีพที่ไม่มีงานทำตลอดทั้งปี เพราะฉะนั้นแรงงานในชนบทจำนวนมากก็วิ่งเข้ามาในเมือง และมักจะต้องเข้ามาถึงเมืองใหญ่ด้วย ในอดีตถ้าเราดูตัวเลขการอพยพต่างๆ จะพบว่าการอพยพส่วนใหญ่เป็นการอพยพระหว่างชนบทกับชนบท แต่กรณีนั้นมักเป็นการอพยพไปหาที่ทำกินด้านเกษตร สำหรับแรงงานที่มาหางานนอกเกษตรส่วนใหญ่เขาวิ่งมาในเมือง แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ คิดว่ามันมีปรากฏการณ์อันหนึ่งที่หัวเมืองต่างๆ เจริญขึ้นมาก คนไทยชอบพูดกันว่าประเทศเรามีแต่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ โคราช รวมไม่กี่จังหวัดที่เจริญ แต่ในช่วงหลัง งานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ มันเกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆมากขึ้น ผมเคยได้ยินจากคุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร (ประธานกรรมการบริหารบริษัทโตชิบาไทยแลนด์)ซึ่งมาเป็นบอร์ดของทีดีอาร์ไอด้วย เล่าให้ฟังเมื่อปีที่แล้วว่าในช่วงหลังจากน้ำท่วมปลายปี 54 คนงานส่วนใหญ่กลับบ้านไปแล้วไม่กลับมา และหาคนงานใหม่ยากทั้งๆที่ได้จ่ายค่าแรง 300 บาทตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลบังคับแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นเพราะแรงงานที่กลับไปแล้วมีช่องทางทำมาหากินในจังหวัดของตัวเองมากขึ้นซึ่งปัจจัยนี้อาจทำให้ภาคอุตสาหกรรมหรือพื้นที่ที่เคยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาก อย่างเช่นกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดที่เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างอยุธยา ก็เริ่มเจอกับการแย่งชิงแรงงานจากจังหวัดอื่นๆ ที่เริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นและภาคอุตสาหกรรมก็น่าจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมากขึ้น ด้วยแนวโน้มใหญ่ 3 ประการข้าง ทำให้เรากำลังค่อยๆ เข้าไปสู่ภาวะการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเมื่อเรามีภาวะการขาดแคลนแรงงานแล้ว ถึงจะไม่มีการแทรกแซงของรัฐเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ โอกาสที่นายจ้างจะหาแรงงานราคาถูกจริงๆ ก็ยากกว่าในอดีตมาก ซึ่งนอกจากตัวอย่างที่พูดไปแล้ว ก็มีคนยกตัวอย่างมาให้ฟังพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นใครที่อยากจะได้คนมาซ่อมบ้านหรืองานต่างๆ หรือร้านอาหารที่ต้องการหาลูกจ้างมาช่วยงาน ก็มีเสียงบ่นมาพอสมควรว่าเขาหาคนไม่ค่อยได้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ในระยะยาวค่าแรงของเรามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแน่ๆ อยู่แล้ว ถ้าคุณเป็นนายจ้างนายทุนก็จะต้องรับรู้ถึงสถานการณ์อันนี้ ซึ่งแม้ว่าจะไม่เกิดขึ้นในทันทีทันใดแบบที่รัฐบาลมากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ แต่แนวโน้มมันไปในทางนั้น หรือถ้าพูดในภาพรวมของประเทศก็ต้องบอกว่าเราไม่ใช่ประเทศที่จะแข่งขันด้วยแรงงานราคาถูกในระยะยาวได้อีกต่อไป เพราะค่าแรงที่เกิดจากกลไกตลาดเองก็มีแนวโน้มที่จะต้องสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่หลายคนอ้างเช่นกัน แต่ผมยังไม่ค่อยไว้ใจสถิติของเมืองไทยเท่าไหร่ ก็คือในปัจจุบันเรามีอัตราการว่างงานที่ต่ำมาก ซึ่งผมก็คิดว่าจริง แต่ที่บอกว่าไม่ค่อยไว้ใจสถิติของเมืองไทยก็เพราะว่า ผมเข้าใจว่าในการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังคงกำหนดนิยามคนที่มีงานทำ ว่าคือคนทำงานมากกว่า 1 ชม.ต่อสัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งพอใช้นิยามแบบนี้ ก็จะแยกคนมีงานทำกับคนที่ว่างงานได้ไม่ชัดพอ ดังนั้นการที่เราบอกว่าเรามีอัตราการว่างงานน้อยมาก แค่ 1%ก็อาจจะเป็นภาพลวงตา แต่โดยรวมๆ แล้ว ก็พอสรุปได้ว่าเรามีปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการที่จะผลักดันให้ค่าแรงของเราต้องสูงขึ้น และก็มีสัญญาณที่ชี้ด้วยว่าเราอยูในภาวะขาดแคลนแรงงาน (จากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ)
แล้วการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีผลอย่างไร ถึงแม้เราจะขาดแคลนแรงงานแต่แรงงานจำนวนมากของเราก็ยังเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ซึ่งถ้าดูตามผลิตภาพการผลิต(productivity)จริงๆ พวกเขาก็อาจจะมีผลิตภาพที่ไม่สูงนัก นายจ้างส่วนหนึ่งยินดีจ้างแรงงานเหล่านี้ เพราะว่าเขายังสามารถทำกำไรได้จากค่าจ้างที่ยังต่ำแต่ถ้าค่าจ้างแพงขึ้น แล้วนายจ้างยังจ้างคนเท่าเดิม ก็หมายความว่าต้นทุนของเขาจะสูงขึ้น สำหรับบางกิจการอาจไม่ค่อยสะเทือน แต่บางกิจการก็อาจจะสะเทือนมาก กิจการของเรามีความหลากหลาย มีทั้งกิจการที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ใช้เครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ต้องการคนที่มีความสามารถในการคุมเครื่องต่างๆ ที่มีความรู้มีทักษะพอสมควร อันนั้นเขาก็คุ้มที่จะจ้างแรงงานที่มีฝีมือในราคาที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและอาจจะสูงกว่ามากพอสมควรด้วย แต่ก็มีอีกหลายกิจการที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งทำให้ต้นทุนแรงงานของเขาสูง เพราะฉะนั้นถ้าเขาต้องปรับค่าจ้างเพิ่มมากตามที่รัฐบาลกำหนด เช่น ในบางจังหวัดที่อาจต้องปรับเพิ่มจาก 160 บาท มาเป็น 300 บาท การปรับก็จะกระทบต่อต้นทุนของเขาแน่ๆ ทีนี้เวลาต้นทุนค่าแรงของเขาเพิ่มมากๆ นายจ้างก็มีทางเลือก 2-3 ทางคือ ประการแรกเขาอาจจะปรับวิธีการผลิต สมมติว่าปกติเขาใช้ปัจจัยการผลิตหลัก 2-3 อย่าง แล้วปัจจัยการผลิตที่สำคัญอันหนึ่งมีราคาแพงขึ้นมากเขาก็จะพยายามใช้อย่างอื่นทดแทนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเขาใช้เครื่องจักรที่ล้าสมัยและเครื่องจักรนี้ต้องการคน 10 คนในการผลิตของ 100 ชิ้นต่อวัน แต่ถ้าเขาเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยขึ้นก็อาจต้องการคนงานแค่ 5 คนในการผลิต 100 ชิ้นต่อวัน แต่ในยามที่ค่าแรงถูกเขาอาจไม่สนใจเครื่องจักรเหล่านั้น เพราะเครื่องจักรที่ทันสมัยมักจะแพงกว่าเครื่องจักรเก่า และถ้าจะเปลี่ยนไปใช้ของใหม่ก็ต้องควักเงินมาซื้อเพิ่ม แต่ในยามที่ค่าแรงแพงขึ้น เขาอาจมาดีดลูกคิดใหม่แล้วพบว่าการเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรใหม่จะคุ้มกว่า และจะช่วยให้เขาสามารถลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงทำให้เขาทำธุรกิจนี้ต่อไปได้ แต่วิธีการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบของนายจ้างแบบนี้ย่อมหมายความว่าแรงงานส่วนหนึ่งก็จะได้รับผลกระทบแทนเพราะนายจ้างจะจ้างคนงานน้อยลง! แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับแรงงานเหล่านั้น ในระยะสั้นก็คือตกงาน แต่ถ้าตลาดแรงงานอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนแรงงาน พวกเขาก็ตกงานไม่นาน แต่ถ้าแรงงานไม่ได้ขาดแคลนหรือถึงแม้แรงงานขาดจริงแต่ผลิตภาพของแรงงานก็ต่ำด้วยนายจ้างก็จะพบว่าไม่คุ้มที่จะจ้างคนเพิ่มตามค่าแรงขั้นต่ำหรือบางรายก็อาจพบว่าวิธีที่คุ้มที่สุดคือเลิกกิจการ ดังนั้น เวลาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างรวดเร็วแบบนี้ ก็อาจหนีไม่พ้นที่จะทำให้มีคนตกงานมากขึ้น ทางเลือกอีกทางหนึ่ง ก็คือการเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ถ้าย้อนกลับไปในอดีตไกลหน่อย เราเริ่มกำหนดค่าแรงแรงขั้นต่ำมาประมาณ 40 กว่าปีแล้วในความเป็นจริงนั้นในช่วง 10 กว่าปีแรก หรือแม้กระทั่งจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่เคยสามารถบังคับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ได้ 100%แต่ก่อนการบังคับก็จะแย่กว่าตอนนี้ คนงานที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำมักจะเป็นคนงานในรัฐวิสาหกิจกับคนงานในโรงงานที่มีสหภาพแรงงาน แต่ว่าความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายก็มีผลต่อผลกระทบของกฎหมายนั้นเช่นกัน เช่น ถ้ารัฐบาลสามารถบังคับใช้กฎหมายแรงงานได้กับทุกคน นายจ้างก็จะไม่สามารถจ้างใครที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและให้สวัสดิการน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด เมื่อเป็นแบบนั้น นายจ้างก็เลือกจ้างคนที่มีทักษะหรือประสบการณ์ก่อน คนที่ยังไม่มีทักษะก็จะหางานได้ยากมากแต่ในทางกลับกัน ถ้าการบังคับใช้กฎหมายเราไม่มีผลเลย ในแง่ที่ว่า (1) นายจ้างที่จ่ายสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำก็เพราะเขายินดีจ่าย ก็คือเขาอยากได้คนงานที่มีคุณสมบัติแบบนั้น แล้วก็คุ้มที่จะจ่ายคนงานเหล่านั้นในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว (ถ้าเขาจ่ายแค่ค่าจ้างขั้นต่ำก็จะไม่สามารถแย่งคนเหล่านั้นมาทำงานได้ ดังนั้นที่จ่ายเกินค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการจ่ายโดยสมัครใจอยู่แล้ว)และ (2) นายจ้างที่ยอมจ่ายน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำก็สามารถหาลูกจ้างที่สมัครใจมาทำงานในอัตราที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำได้โดยที่รัฐไม่สามารถไปบังคับให้เขาจ่ายได้จริง (ซึ่งในอดีต กลุ่มนี้มักเป็นกิจการขนาดเล็กหรือนอกระบบ) ถ้าเป็นแบบสองกรณีข้างต้น เวลาที่รัฐบาลประกาศค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาก็แทบจะไม่มีผลกระทบจริงๆกับใครเลย ในช่วง 20 ปีแรกก็มีความเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบจริงๆไม่มาก(คือบังคับใช้ได้กับนายจ้างและลูกจ้างเป็นส่วนน้อย)ลูกจ้างที่ชอบนโยบายค่าแรงขั้นต่ำมักเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในโรงงานอยู่แล้ว โดยเฉพาะในโรงงานใหญ่ที่ไม่ค่อยกล้าทำผิดกฎหมายหรือในโรงงานที่มีสหภาพแรงงานคอยเฝ้าดูหรือต่อรองให้โรงงานต้องจ่ายตามค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเขาก็จะได้รับการปรับตามไปด้วย โดยเอาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการปรับฐานเงินเดือน แต่จริงๆแล้ว แนวคิดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เพื่อการนี้ เพราะเป้าหมายจริงๆ คือการกำหนดค่าแรงให้กลุ่มที่ไม่มีทักษะที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน สำหรับคนงานที่อยู่มานานแล้ว โดยหลักการนายจ้างก็ควรมีการปรับเงินเดือนตามทักษะที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว
"จริงๆ แล้ว แนวคิดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้เริ่มมาจากนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด"
วัตถุประสงค์ของการจัดโซนค่าแรงเพื่ออะไร ถ้าเราดูการถกเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่าในหลายกรณีมีความพยายามถกเถียงกันในเชิงเหตุผลที่ฟังดูเป็นหลักการของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ(เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำควรกำหนดต่างกันตามต้นทุนค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่) แต่เอาเข้าจริงผมว่ามันไม่ใช่ คือจริงๆ แล้วการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะต้องสอดคล้องกับภาวะของตลาดแรงงานพอสมควร ถ้ารัฐบาลไปกำหนดค่าจ้างที่มันฝืนตลาดมากๆ ค่าจ้างนั้นก็จะอยู่ไม่ได้ ที่นี้ถ้าถามว่าที่ไหนล่ะที่จะมีค่าจ้างสูง ก็ต้องเป็นที่ที่มีความต้องการแรงงานมากหรือต้องการแรงงานที่มีฝีมือมากซึ่งที่ตรงนั้นก็มักจะเป็นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาก และในขณะเดียวกันมันก็มักจะมีค่าครองชีพที่สูงกว่าที่อื่นด้วย จริงๆ แล้ว แนวคิดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้เริ่มมาจากนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดถ้าเราย้อนกลับไปอ่านเศรษฐศาสตร์ยุคคลาสสิก เราจะพบงานของมัลทัส (Thomas Robert Malthus)ซึ่งคนยุคหลังมักจะยกย่องให้เป็นบิดาของประชากรศาสตร์ แต่มัลทัสเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ที่เสนอแนวคิดเรื่อง"กฎเหล็กของค่าจ้าง หรือIron Law of Wages"ซึ่งบอกว่าตราบที่มีคนที่เกิดมาและโตขึ้นมาเป็นแรงงานที่เข้ามาสู่ตลาดอยู่เรื่อยๆ ในที่สุดแล้วค่าแรงของคนที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ก็จะเท่ากับมูลค่าสินค้าที่เขาซื้อเพื่อการดำรงชีพแล้วทำให้เขาไม่อดตายและยังสามารถมีลูกหลานมาเป็นแรงงานสืบไปได้ถ้าค่าจ้างสูงกว่านี้ประชากรก็จะเพิ่มขึ้นและจะดึงให้ค่าจ้างต่ำลงมา แต่ถ้านายจ้างจ่ายค่าจ้างต่ำกว่านี้คนงานก็จะมีความเป็นอยู่ที่เลวลงและจะทำให้ประชากรลดลงซึ่งจะดึงค่าจ้างให้เพิ่มกลับขึ้นมา พูดอีกแบบหนึ่ง แนวคิดนี้ก็คือว่า ถ้าปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจทำงานเองในภาวะที่ไม่ได้ขาดแคลนแรงงานนั้นในที่สุดแล้วค่าจ้างของแรงงานไร้ฝีมือก็จะอยู่ระดับต่ำสุดเท่าที่คนอยู่ได้ (subsistent wage) ทีนี้ถ้าถามว่าต่ำสุดเท่าที่คนอยู่ได้นี่มันคือแค่ไหน ก็จะขึ้นอยู่กับมาตรฐานของสังคม ซึ่งในบางกรณีอาจมีแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์จริยธรรม(Moral Economy) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแต่เอาเข้าจริงก็มักจะขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น เช่นถ้าไปดูช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงแรกๆ จะพบว่าคนงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่มากๆ แนวคิดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งงอกเงยขึ้นมาหลังจากผ่านช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมไปแล้ว ก็วนอยู่รอบๆคำถามเชิงจริยธรรมที่ว่าอย่างน้อยที่สุดคนงานควรจะต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่าเท่าใด ซึ่งอันนี้ไม่ใช่เป็นคำถามที่ตัดสินกันได้ด้วยวิชาการหรือข้อเท็จจริงล้วนๆ แต่เป็นคำถามในเชิงการให้คุณค่า(Normative Question) ที่คนแต่ละคนในแต่ละสังคมก็อาจมีคำตอบที่ต่างกันออกไปตามการให้คุณค่า (value) ในเชิงจริยธรรมที่แตกต่างกันด้วยค่าจ้างขั้นต่ำก็มาจากเรื่องนี้ด้วย แต่ก็ผสมกับระบบตลาด คือการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำมักจะดูตลาดดูอุปทานของแรงงาน และคำนึงถึงความอยู่รอดของแต่ละฝ่ายด้วย และในยุคหลังๆ ก็ไม่ใช่พูดกันแค่เรื่องความอยู่รอด แต่มีการพูดถึงว่าแรงงานจะต้องพัฒนาตัวเอง หรือถ้าดูกระแสในช่วงนี้ก็มีการพูดถึงมาตรฐาน"งานที่ดี" (Decent Work)ซึ่งจะสังเกตได้ด้วยว่าประเทศที่สนใจยกมาตรฐานเหล่านี้ขึ้นมามักเป็นประเทศที่สามารถจ่ายค่าจ้างที่สูงให้กับแรงงานของเขาได้ ส่วนประเทศที่อาจจะต้องการแข่งขันด้วยการส่งออกก็มักจะกำหนดค่าจ้างที่ต่ำ ถ้าดูประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย ก็จะพบว่าทั้งค่าจ้างและค่าจ้างขั้นต่ำอย่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำในแทบทุกประเทศ และหลายประเทศก็จะต่ำกว่าเราด้วย ในเมื่อการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นผลมาจากการประนีประนอมกันในระดับหนึ่ง กฎเกณฑ์ต่างๆที่ถูกตั้งขึ้นมาก็ขึ้นกับว่ากระบวนการที่มาของมันในสังคมนั้นๆเองดังนั้น จึงไม่ได้มีเหตุผลที่ตายตัวว่าควรกำหนดโซนสำหรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างไร ถ้ามองด้านต้นทุนที่แรงงานจะดำรงชีพอยู่ได้นั้นข้อเท็จจริงก็คือโซนที่ห่างไกลความเจริญไม่ใช่ว่าค่าครองชีพจะต่ำเสมอไปสินค้าหลายๆอย่างอาจจะแพงกว่ากรุงเทพเสียด้วยซ้ำเพราะหลายอย่างต้องนำเข้าจากกรุงเทพฯ แต่ความห่างไกลจากกรุงเทพฯ ก็อาจไม่ใช่ตัวกำหนดเสียทีเดียวอย่างภูเก็ตกับจังหวัดในภาคใต้ที่อยู่ใกล้ภูเก็ต ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือภูเก็ตได้กลายมาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ขาดแคลนแรงงาน ดังนั้น ภูเก็ตก็กลายเป็นพื้นที่ที่สามารถตั้งค่าแรงให้สูงกว่าจังหวัดใกล้เคียงได้ ในแง่นี้ การแบ่งโซนและกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในโซนต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาจึงน่าจะเกิดจากการประนีประนอมกันเสียมากกว่า แต่ถ้าถามว่า แต่เดิมเคยแบ่งโซนแล้วมากำหนดขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศมีผลไหม ถ้าปรับแล้วค่าจ้างขั้นต้นเป็น 300 บาทเท่ากันจริง ก็ย่อมมีผลในแง่ว่ามาตรการนี้ได้ไปเปลี่ยนความสัมพันธ์ ซึ่งก็คือราคาโดยเปรียบเทียบ(relative price) หรือค่าจ้างสัมพัทธ์(relativewage) ของจังหวัดต่างๆ เช่น ในจังหวัดหนึ่งมาตรการนี้อาจทำให้ค่าจ้างเริ่มต้นแพงขึ้น 20% แต่อีกจังหวัด เช่น พะเยา อาจเพิ่มถึง 80% ถ้านายจ้างทุกรายจ่าย 300 บาทกันจริงๆ ดังนั้น ในแง่นี้ผลกระทบต่อนายจ้างในแต่ละจังหวัดก็จะไม่เท่ากัน และอาจจะต่างกันมากด้วย เหมือนกับเป็นการล้างไพ่ใหม่
"ในขณะที่รัฐบาลกำลังทำให้แรงงานกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้น โดยบังคับให้ธุรกิจจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น .. โดยธรรมชาติของธุรกิจก็จะพยายามปรับตัวโดยลดการใช้ปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้น ซึ่งหมายความว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งต้องตกงานจากมาตรการนี้อยู่แล้ว แต่รัฐบาลที่พยายามจะช่วยนายจ้าง ก็กลับเลือกวิธีช่วยโดยไปอุดหนุน (subsidize) นายจ้างที่จะนำเครื่องจักรใหม่มาทดแทนแรงงานอีก ดังนั้นมาตรการที่รัฐบาลทำให้เครื่องจักรถูกลงในขณะที่ค่าแรงแพงขึ้นก็ย่อมจะทำให้ปัญหาการเลิกจ้างมีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก!" "กลายเป็นว่า นอกจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นดาบแรกที่ทำให้นายจ้างจำนวนหนึ่งเลิกจ้างคนงานจำนวนหนึ่งแล้ว มาตรการช่วยนายจ้างที่รัฐออกตามมายังจะกลายเป็นดาบสองที่ทำให้ปัญหาคนตกงานมีความรุนแรงมากขึ้น"
จะทำให้เกิดการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมหรือไม่ อย่างจังหวัดพะเยาอาจไม่มีนายทุนไปลงทุนในพื้นที่นั้นหรือไม่ ก็อาจจะมีผลด้วย แต่เรื่องการลงทุนหรือการย้ายที่ลงทุนมันมีหลายปัจจัยประกอบกันนะ ปัจจัยหนึ่งซึ่งที่ผ่านมามีความสำคัญพอสมควรและตอนนี้ก็ยังสำคัญอยู่ก็คือเรื่องการส่งเสริมการลงทุน (BOI)ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการกำหนดโซน แต่บางครั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงโซนเหมือนกันแนวคิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อส่งเสริมให้มีการกระจายการลงทุนในอดีตก็คือนายจ้างที่ลงทุนในโซนที่อยู่ไกลจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่า แต่บางทีเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือมีปัญหาใหม่ ก็มีการเปลี่ยนในส่วนนี้ ตัวอย่างเช่นเมื่อมีปัญหาเรื่องค่าจ้างรัฐบาลก็คิดมาตรการมาแก้ปัญหาให้นายจ้างที่มาร้องเรียน เช่น รัฐบาลเคยบอกว่าจะส่งเสริมให้นายจ้างไปตั้งโรงงานแถวชายแดนเพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานต่างชาติเพื่อลดผลกระทบจากค่าแรงในประเทศที่สูงขึ้นซึ่งก็อาจฟังดูมีเหตุผล แต่ถ้าคิดต่ออีกนิดก็จะเห็นปัญหาที่ตามมาและความขัดกันของนโยบาย เพราะเป้าหมายในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลคือต้องการให้แรงงานไทยได้ค่าจ้างที่สูงขึ้น ไม่ใช่ให้เขาตกงานจากการที่รัฐบาลส่งเสริมหรือให้สิทธิประโยชน์ที่จูงใจให้โรงงานย้ายไปชายแดนแล้วจ้างแรงงานต่างชาติมาทำงานแทนแรงงานไทย ปัญหาเดียวกันนี้ก็อาจจะเกิดจาก1 ใน 6 มาตรการของรัฐบาลที่จะนำมาช่วยนายจ้างครั้งนี้ด้วยคือรัฐบาลมีมาตรการที่จะลดภาษีการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรใหม่ ซึ่งถ้าดูในภาพใหญ่จะเห็นได้ว่ารัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งก็คือบังคับให้นายจ้าง "ซื้อ" แรงงานในราคาสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็บอกนายจ้างว่าผมเข้าใจว่านโยบายนี้จะกระทบคุณ และจะช่วยคุณปรับตัวโดยช่วยลดค่าใช้จ่ายของคุณในการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้แรงงานของคุณมีผลิตภาพสูงขึ้น และคุณก็มีปัญญาจ่ายค่าแรงเขาสูงขึ้น แต่มาตรการนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าในขณะที่รัฐบาลกำลังทำให้แรงงานกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้นโดยบังคับให้ธุรกิจจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเพิ่ม โดยธรรมชาติของธุรกิจก็จะพยายามปรับตัวโดยลดการใช้ปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้น ซึ่งหมายความว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งต้องตกงานจากมาตรการนี้อยู่แล้ว แต่รัฐบาลที่พยายามจะช่วยนายจ้าง ก็กลับเลือกวิธีช่วยโดยไปอุดหนุน (subsidize) นายจ้างที่จะนำเครื่องจักรใหม่มาทดแทนแรงงานอีก ดังนั้นมาตรการที่รัฐบาลทำให้เครื่องจักรถูกลงในขณะที่ค่าแรงแพงขึ้นก็ย่อมจะทำให้ปัญหาการเลิกจ้างมีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก!
แปลว่ามาตรการที่รัฐจะออกมา 6 มาตรการโดยเฉพาะมาตรการที่เข้าไปสนับสนุนให้มีการใช้เครื่องจักรได้ง่ายและมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างมากขึ้นแทนที่จะป้องกันการเลิกจ้าง? ก็คงเป็นอย่างนั้น เหมือนกับรัฐบาลทำงานแบบนี้ เริ่มจากรัฐบาลบอกว่าเราอยากให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเราจะบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจากนั้นเมื่อนายจ้างมาประท้วงว่าทำแบบนี้ผมได้รับผลกระทบรุนแรงนะ รัฐบาลก็บอกว่าโอเคผมเข้าใจ แต่คุณต้องปรับตัว เดี๋ยวผมจะช่วยให้คุณปรับตัวได้ง่ายขึ้นโดยช่วยให้คุณสามารถลดต้นทุนการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรใหม่ได้ถูกลง คือรัฐบาลตามแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ แต่ก็กลายเป็นว่านอกจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นดาบแรกที่ทำให้นายจ้างจำนวนหนึ่งเลิกจ้างคนงานจำนวนหนึ่งแล้วมาตรการช่วยนายจ้างที่รัฐออกตามมายังจะกลายเป็นดาบสองที่ทำให้ปัญหาคนตกงานมีความรุนแรงมากขึ้น
แล้วกรณีมาตรการอื่นๆ เช่นการลดภาษี? อันหนึ่งที่ขอพูดก่อนคือ มาตรการที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ทางสภาอุตสาหกรรมเรียกร้อง ที่บอกว่ารัฐบาลอยากจะขึ้นค่าแรง สมมุติว่าขึ้นไปอีก 100 บาท รัฐบาลก็เอา 100 บาท (หรือ 70-80 บาท) ไปให้พวกเขาจ่ายเพิ่มให้คนงาน อันนี้เป็นมาตรการที่ไม่ควรทำ และต้องให้เครดิตรัฐบาลที่ไม่ได้ไปยอมทำตามอันนั้น มาตรการหนึ่งที่รัฐบาลเลือกทำคือการลดภาษี ซึ่งคงจะบรรเทาปัญหาของนายจ้างไปได้บ้าง โดยเฉพาะรายเล็ก เพราะสำหรับธุรกิจ SME เล็กๆ การลดภาษีจากรายได้ 300,000 บาทแรกอาจจะมีผลต่อรายได้หรือกำไรของเขาพอสมควรแต่สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย ประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการนี้คิดออกมาแล้วก็แค่นิดเดียว จึงไม่แปลกที่พวกเขาแสดงท่าทีว่าไม่สนใจ แต่ในส่วนนี้ ถ้ารัฐบาลตั้งใจออกมาตรการนี้มาเพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็กเป็นหลัก ก็คงไม่มีอะไรที่เป็นข้อติ และรัฐเองก็ไม่ได้สูญเสียรายได้อะไรมากนัก แต่ในส่วนของมาตรการค้ำประกันเงินกู้นั้นคงจะต้องดูลงไปถึงรายละเอียด คือถ้าแค่ดูแค่มาตรการที่ประกาศออกมาสั้นๆ ก็ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นภาระของรัฐบาลหรือผู้เสียภาษีมากนักคือรัฐจะอุดหนุนค่าพรีเมี่ยมเงินกู้ที่ 1.75-2.5 % ซึ่งถ้าแค่นั้นจริงๆ ก็โอเค แต่ปัญหาที่สำคัญของการค้ำประกันหนี้ไม่ได้อยู่ที่ค่าพรีเมี่ยมอย่างเดียว ถ้ารัฐค้ำประกันให้ธุรกิจที่ไม่มีหลักทรัพย์แต่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ตัวหลักทรัพย์ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญนักเพราะถ้าธุรกิจเหล่านั้นมีศักยภาพ แต่ขาดสภาพคล่อง ในที่สุดเขาก็จะสามารถหาเงินมาคืนได้ รัฐบาลก็ไม่มีภาระอะไรมากไปกว่า 1.75 หรือ 2.5% ที่ต้องจ่ายไปในการอุดหนุนค่าพรีเมี่ยมตรงนั้นแต่ว่าถ้ามาตรการนี้สามารถทำให้กิจกรรมซึ่งอาจไม่ค่อยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจในอนาคตได้รับการค้ำประกันการกู้ไปด้วย แล้วถ้าธุรกิจเหล่านี้ต้องลัมไป รัฐบาลก็จะต้องไปรับภาระจากการค้ำประกันการกู้ที่ล้มเหลว สิ่งหนึ่งที่เรารู้กันมานานพอสมควรแล้วว่า ไม่ว่าจะตั้งแต่ก่อนหรือหลังขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ก็มีกิจการที่เกิดใหม่ ปิดไป เลิกจ้าง เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มีคนเคยวิจัยแล้วว่า SMEs ทั่วโลกมันมีโอกาสที่จะล้มไปในปีแรกในอัตราที่สูงพอสมควร มีแค่ไม่ถึงครึ่งที่เปิดขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จ การที่รัฐเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับนายจ้าง ถ้ามาตรการนี้ทำให้ธนาคารหรือบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)ปล่อยกู้ให้กับกิจกรรมที่ไม่มีศักยภาพเพราะว่าถือว่ารัฐค้ำ ก็อาจกลายเป็นภาระหนักของประเทศได้ในอนาคต แล้วเท่าที่ดูก็เป็นภาระผูกพันในระยะยาวเสียด้วยคือให้ขอกู้ได้จนถึงปลายปี 2558 แล้วค้ำต่อไปอีก 7 ปีถึงสิ้นปี 2565คืออีกสิบปีเต็ม ซึ่งกรณีนี้ผมไม่แน่ใจว่ารัฐกำลังให้มากเกินไปเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือเปล่า สรุปแล้ว ในบรรดามาตรการที่ประกาศออกมานั้น มาตรการลดภาษีนิติบุคคล 3 แสนบาทแรก ไม่ได้มีปัญหาหรือเป็นภาระกับรัฐบาลมากนัก แต่มาตรการช่วยเหลือธุรกิจในการเปลี่ยนเครื่องจักรเป็นมาตรการที่อาจซ้ำเติมปัญหาการเลิกจ้างให้รุนแรงขึ้นและมาตรการที่น่าห่วงอีกมาตรการหนึ่งคือการค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งแม้ว่าบนกระดาษอาจดูเหมือนมีภาระไม่มาก แต่ถ้ากฎกติกาต่างๆเขียนไว้ไม่รัดกุมในที่สุดมาตรการนี้อาจกลายเป็นภาระของประเทศในระยะยาวที่ประชาชนผู้เสียภาษีจะต้องตามไปแบกรับในอนาคต
"รัฐต้องยึดหลักการว่า ถ้ามีธุรกิจไหนที่เป็น Sunset Industry จริงๆ ก็ไม่ควรเอาเงินภาษีประชาชนไปช่วยฝืน สิ่งที่รัฐควรทำก็คือดูแลเรื่องผลกระทบต่อคนงาน.."
ตกลงรัฐบาลไม่ควรไปช่วยค้ำประกันให้กับธุรกิจเหล่านี้? ผมคิดว่าทุกวันนี้เรายอมรับกันมากขึ้นว่าประเทศไทยไม่สามารถแข่งด้วยค่าแรงราคาถูกได้อีกต่อไป ซึ่งก็ย่อมหมายความด้วยว่าหลายกิจการของเรากำลังอยูในภาวะที่เป็นอุตสาหกรรมที่รอวันจบ (หรือที่เรียกกันว่า Sunset Industry)ที่ในที่สุดแล้วจะต้องผ่องถ่ายหรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นซึ่งทั้งนายทุนและคนงานเองก็จะต้องเลิกทำพวกนี้แล้วหันไปทำอย่างอื่นที่เราแข่งขันได้มากกว่า เพราะฉะนั้นถ้าถามว่ารัฐควรจะช่วยอะไรบ้างนั้นที่แน่ๆ รัฐต้องไม่คิดเอาเงินภาษีประชาชนไปอุ้มเพื่อให้กิจการต้องอยู่ต่อให้ได้ สิ่งที่รัฐต้องตระหนักมากกว่าก็คือว่า สำหรับอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนค่าแรงมาก เช่น30-50% ของต้นทุนนั้นหลายกิจการอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว และในกรณีที่ค่าแรงเพิ่มขึ้นไปมากๆ ก็อาจจะเป็นมากกว่าฟางเส้นสุดท้าย คืออาจเป็นศิลาก้อนใหญ่ที่ถูกเติมขึ้นไปบนหลังอูฐ เพราะฉะนั้นรัฐต้องตระหนักว่าในระยะสั้นจะมีแรงงานจำนวนหนึ่งที่จะตกงานแน่ๆ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องพยายามหามาตรการมารองรับในส่วนนี้ ในขณะนี้ผมยังไม่เห็นมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มาตรการที่รัฐบาลพูดมาแทบทั้งหมดล้วนแต่เป็นมาตรการช่วยนายทุน ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะคนที่ร้องเรียนในช่วงนี้เป็นนายทุน แต่รัฐต้องยึดหลักการว่า ถ้ามีธุรกิจไหนที่เป็น Sunset Industry จริงๆ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปฝืน และยิ่งไม่ควรเอาเงินภาษีประชาชนไปช่วยฝืน สิ่งที่รัฐควรทำก็คือดูแลเรื่องผลกระทบต่อคนงานและไม่ควรเสียเวลาไปโต้ว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีผลกระทบ หรือถ้ามีก็เป็นเพราะนายจ้างฉวยโอกาส หรือนายจ้างใช้เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเป็นข้ออ้างในการเลิกกิจการหรือปลดคนงาน เพราะหัวใจสำคัญจริงๆ ของเรื่องนี้อยู่ที่ว่ามีการปิดกิจการหรือเลิกจ้างหรือการตกงานเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งถ้ามีมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลก็ควรถือว่าเป็นปัญหาที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องรับมือ และต้องไปหาทางแก้ไข ซึ่งผมคิดว่าในส่วนนี้รัฐบาลยังไม่มีมาตรการรองรับอย่างเพียงพอ มาตรการทางอ้อมที่รัฐบาลพูดถึงคือมาตรการดูแลเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสองส่วนคือ ส่วนแรกเป็นการการต่ออายุมาตรการเก่าๆ (น้ำ ไฟ รถเมล์ รถไฟ ฯลฯ) และส่วนที่สองที่รัฐบาลพูดถึงคือการดูแลราคาสินค้า ซึ่งส่วนหลังนี้เป็นอีกส่วนที่ผมคิดว่ารัฐบาลไม่ควรทำเพราะถ้าทำก็อาจมีผลกระทบกับการเลิกจ้างและทำให้คนตกงานมากขึ้นด้วย แม้ว่าแนวคิดเรื่องการควบคุมราคาสินค้าเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะที่ผ่านมามีคนโวยอยู่เรื่อยๆ ว่าแค่ประกาศว่าจะขึ้นค่าแรง ราคาสินค้าก็ขึ้นไปรอก่อนแล้ว รัฐบาลจึงคิดที่จะไปกดดันไม่ให้ผู้ประกอบการขึ้นราคาด้วย ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของวิธีการทำงานแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปทีละเปลาะ โดยไม่ได้ดูความเชื่อมโยงของผลกระทบที่อาจขัดกันของมาตรการต่างๆที่จริงแล้ว ถ้ามองแค่ในแง่ความเป็นธรรม ความคิดที่จะนำมาตรการนี้มาใช้ก็ไม่แฟร์ตั้งแต่แรกแล้ว เพราะถ้ารัฐบาลใช้อำนาจบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น แล้วนายจ้างก็ยอมทำตาม แล้วรัฐบาลจะมาบังคับอีกว่าแต่คุณห้ามขึ้นราคาสินค้าด้วยนะ ซึ่งก็คือต้องการให้นายจ้างรับภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดไว้เอง (อาจจะยกเว้นส่วนที่รัฐบาลจะมีโครงการมาช่วยเหลือบ้าง) ซึ่งแม้ว่านายจ้างบางรายอาจอยู่ในฐานะที่ทำได้ แต่ก็เป็นเรื่องเหลวไหลถ้าเชื่อว่านายจ้างทั้งหมด (หรือแม้แต่ส่วนใหญ่) จะสามารถรับภาระนี้ไว้เองได้โดยไม่ต้องผลักภาระต่อไปให้ผู้บริโภคเลยแม้แต่น้อย ถ้ารัฐบาลใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าอย่างจริงจังและควบคุมได้จริง มาตรการนี้ก็อาจกลายเป็นดาบที่สามที่จะซ้ำเติมให้มีการเลิกกิจการและเลิกจ้างมากขึ้น เพราะปกติในกิจการที่มีการแข่งขันกันพอสมควรนั้น โอกาสที่ผู้ประกอบการจะสามารถขึ้นราคาเต็มตามต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นก็ทำได้ยากอยู่แล้ว เพราะการขึ้นราคาจะทำให้มีความต้องการสินค้าน้อยลง และยิ่งถ้าขึ้นราคามากกว่าคู่แข่งก็อาจมีผลกระทบต่อยอดขายและกำไรอย่างรุนแรงได้ แต่การขึ้นราคาก็ยังเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่ในธุรกิจต่อไปได้ แต่ถ้ารัฐบาลบังคับให้ขึ้นค่าแรงแล้วมาตัดทางออกนี้ด้วย ก็จะทำให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งเหลือทางเลือกแค่ปิดกิจการ ซึ่งหมายความว่ามาตรการนี้จะทำให้มีการเลิกจ้างและคนตกงานมากขึ้นในทางกลับกันถ้าปล่อยให้นายจ้างสามารถปรับขึ้นราคาได้นายจ้างจำนวนหนึ่งก็จะยังคงดำเนินกิจการและจ้างงานต่อไปได้ ถึงแม้ว่าบางรายอาจต้องลดการจ้างงานลงไปบ้างเนื่องจากมียอดขายลดลงจากการขึ้นราคา ถ้ามองในแง่ดีก็คือ มาตรการนี้เป็นมาตรการที่ถึงแม้ว่ารัฐบาลมีการพูดถึงบ้าง แต่ก็ไม่ได้ประกาศชัดว่าจะนำมาใช้ และถึงต้องการใช้ ก็คงใช้ได้ในขอบเขตที่จำกัด แต่ก็เป็นมาตรการที่รัฐบาลควรต้องตระหนักว่าอาจส่งผลข้างเคียงที่มาซ้ำเติมปัญหาการเลิกจ้างให้หนักขึ้นไปอีก
"ส่วนที่กระทบค่าครองชีพที่เห็นได้ชัดที่สุดน่าจะเป็นพวกอาหารสำเร็จรูป รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปที่ขายตามรถเข็นและอาหารตามสั่ง ซึ่งส่วนนี้..เป็นส่วนที่มีแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าอาหารสด และราคาอาหารสำเร็จรูปที่แพงขึ้นก็น่าจะสะท้อนปัญหาการขาดแคลนแรงงานของเราที่รุนแรงขึ้น" "ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงได้ขึ้นไปพอสมควร รวมทั้งส่วนที่ไม่ได้ผูกกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยตรงด้วย .. ถ้าถามว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกระทบราคาสินค้าหรือค่าครองชีพหรือเปล่า ผมคิดว่าเราพูดได้ว่ามันกระทบแน่ๆ แต่ว่าถ้าบอกว่าค่าแรงขึ้น X เปอร์เซ็นต์ แล้วราคาสินค้าจะขึ้นตาม X เปอร์เซ็นต์ด้วยหรือเปล่านั้น ก็คงไม่ใช่อีกเหมือนกัน"
ในส่วนของแรงงานนอกระบบ ที่คุณมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษก ปชป. ออกมาแถลงว่านอกจากแรงงานนอกระบบ 24.1 ล้านคนจะไม่ได้อานิสงส์จากนโยบายนี้แล้วยังเจอค่าครองชีพที่สูงขึ้นอีก จึงถือเป็นฆาตกรรมหมู่ของแรงงาน แต่ถ้าดูในประกาศถึงแม้ว่าจะมีส่วนหนึ่งที่ยกเว้นว่าไม่มีผลบังคับใช้ เช่น ลูกจ้างที่ทำงานบ้าน ซึ่งคงไม่ถึง 24 ล้านคน แต่ว่าจะยังมีแรงงานนอกระบบส่วนหนึ่งที่ประสบปัญหาค่าครองชีพ อาจารย์มองว่าอย่างไร ตัวเลขแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคนนี่ที่สำคัญที่สุดคือเกษตรกรและแรงงานในภาคเกษตรซึ่งมีจำนวนรวมเกือบยี่สิบล้านคน ในส่วนนี้ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมานั้น ไม่ว่ากฎหมายจะเขียนไว้อย่างไร ในภาคปฏิบัติแล้ว การบังคับใช้ไปถึงเกษตรกรนั้นเป็นไปได้ยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแรงงานเกษตรจะได้น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเสมอไป เพราะแรงงานก็มีทางเลือกพอสมควร และในปัจจุบันเกษตรกรจำนวนไม่น้อยก็จ่ายค่าจ้างกันที่ 300 บาทแล้ว แต่เป็นผลมาจากตลาดแรงงานในพื้นที่เหล่านั้นเองมากกว่าผลจากการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าถามว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมันเป็นสาเหตุที่ทำให้ของแพงหรือปล่าว ผมคิดว่าประเด็นนี้ต้องดูหลายๆ อย่าง ประกอบกัน ที่ผมมักเห็นจากฝั่ง "แดง" ที่ชอบอ้างว่าของไม่แพงขึ้น มักจะพูดถึงการสำรวจสินค้าอาหารสดในตลาดสด ส่วนอีกฝั่งที่มาอ้างว่าราคาผักแพงมากขึ้น ก็เป็นสินค้าสดเช่นกันแต่ก็เป็นสินค้าสดที่มักจะแพงขึ้นตามฤดูกาล (เช่นผักในช่วงปลายและต้นปี)โดยรวมแล้ว ถ้าตัดปัจจัยเรื่องฤดูกาลออกไป อาจพูดได้ว่าราคาสินค้าสดต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่การดูแค่ของสดแพงหรือไม่แพงขึ้นนั้นยังไม่พอ สินค้าพื้นฐานที่สำคัญมากอีกตัวหนึ่งคือข้าวสารซึ่งควรจะมีราคาแพงขึ้น (จากโครงการจำนำข้าวทุกเม็ด)แต่ก็ปรากฏว่าไม่ได้แพงขึ้น แต่เรื่องนี้คงต้องไปว่ากันต่างหากเป็นมหากาพย์อีกเรื่องหนึ่ง ส่วนที่กระทบค่าครองชีพที่เห็นได้ชัดที่สุดน่าจะเป็นพวกอาหารสำเร็จรูป รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปที่ขายตามรถเข็นและอาหารตามสั่ง ซึ่งส่วนนี้เราพอเห็นได้ว่ามีราคาแพงขึ้นพอสมควรในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาและน่าจะแพงขึ้นตั้งแต่ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์มาจนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์อาหารส่วนนี้เป็นส่วนที่มีแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าอาหารสด และราคาอาหารสำเร็จรูปที่แพงขึ้นก็น่าจะสะท้อนปัญหาการขาดแคลนแรงงานของเราที่รุนแรงขึ้น ในภาพรวมเราพูดได้ว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงได้ขึ้นไปพอสมควร รวมทั้งส่วนที่ไม่ได้ผูกกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยตรงด้วย (ส่วนที่ไม่ใช่ขั้นต่ำก็ขึ้น) ถ้าถามว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกระทบราคาสินค้าหรือค่าครองชีพหรือเปล่า ผมคิดว่าเราพูดได้ว่ามันกระทบแน่ๆ แต่ว่าถ้าบอกว่าค่าแรงขึ้นไปX เปอร์เซ็นต์ แล้วราคาสินค้าจะขึ้นตามไปX เปอร์เซ็นต์ด้วยหรือเปล่านั้น ก็คงไม่ใช่อีกเหมือนกัน ถ้าเรายอมรับกันว่าค่าครองชีพในระยะหลังเพิ่มสูงขึ้นจริงคำถามที่ตามมาก็คือแรงงานนอกระบบแย่ลงหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าเขาไม่ได้รับอานิสงส์จากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นของคนงานในระบบแล้วเขาก็คงจะแย่ลง เหมือนกับกรณีที่ราคาข้าวสูงขึ้นซึ่งชาวนาที่ปลูกข้าวได้ไม่พอกินก็คงจะเดือดร้อน การตอบคำถามนี้คงต้องแยกดูเป็น 2 กรณี กรณีแรกคือ กรณีที่ค่าจ้างขึ้นไปตามภาวะของตลาดแรงงานโดยไม่ได้เป็นผลมาจากมาตรการบังคับให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลผมคิดว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ รวมทั้งในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ด้วยนั้น ทั้งค่าแรงและค่าครองชีพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเวลาค่าแรงของแรงงานในระบบขึ้นจากภาวะตลาดเองนั้นค่าแรงนอกระบบก็มักจะขึ้นตามไปด้วย เพราะว่าแรงงานใน 2 ส่วนนี้ไหลเข้าออกกันได้พอสมควร สำหรับกรณีที่สอง ซึ่งก็คือกรณีที่ค่าแรงเพิ่มขึ้นจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งกรณีหลังนี้คงทำให้มีการเลิกจ้างคนงานในระบบจำนวนหนึ่งแน่ๆ และยังอาจทำให้มีการเปลี่ยนแรงงานที่เคยอยู่ในระบบจำนวนหนึ่งกลายเป็นแรงงานนอกระบบ เช่นเปลี่ยนจากเคยจ้างเป็นลูกจ้างเป็นการจ้างแบบ sub-contract (จ้างเหมาช่วง) แบบนอกระบบที่ไม่ได้ทำตามกฎหมายแรงงาน ในกรณีหลังนี้ คงต้องพิจารณาผลกระทบในทั้งสองทางคือ (1) มีคนถูกเลิกจ้างมากแค่ไหน และ (2) ความต้องการแรงงานนอกระบบเพิ่มเพื่อมาทดแทนตรงนี้มีมากน้อยแค่ไหน ในขณะนี้ ผมคิดว่ายังตอบได้ยากว่าผลรวมสุทธิจะเป็นอย่างไรจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ขึ้นมากที่สุด เพราะคำตอบส่วนหนึ่งจะขึ้นกับมาตรการที่รัฐบาลจะนำมาใช้ด้วยว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างได้มากแค่ไหนถ้าทำได้ดีผลกระทบด้านลบก็จะน้อย และตัวค่าจ้างขั้นต่ำในระบบก็จะกลายเป็นมาตรฐานที่ช่วยดึงค่าจ้างนอกระบบให้เพิ่มตามขึ้นไปในอนาคต แต่ถ้ารัฐบาลไม่ระวังและเลือกใช้นโนบายที่ขัดกันเองก็อาจกลายเป็นการลงดาบตั้งแต่ดาบหนึ่งถึงดาบสี่ (ตั้งแต่การขึ้นค่าแรง อุดหนุนเครื่องจักร ส่งเสริมให้โรงงานย้ายไปชายแดน และคุมราคาสินค้า) ที่ทำให้ปัญหาการเลิกจ้างรุนแรงขึ้น แต่ถ้าในความเป็นจริงแล้ว การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทำให้ค่าแรงในระบบเพิ่มขึ้นจริงไม่มากนักผลกระทบต่างๆ ก็จะน้อย (โปรดสังเกตว่าผมใช้คำว่า "ถ้า" เพราะเวลารัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาจมีกรณีที่ไม่มีผลใดๆ เลยก็ได้สำหรับกิจการที่จ่ายให้คนงานมากกว่า 300 บาทอยู่แล้วอย่างเช่นกรณีที่มีแรงงานมาร้องเรียนว่านายจ้างใช้วิธีปรับ "ค่าจ้าง" ขึ้นเป็น 300 บาท แต่ปรับลดสวัสดิการลง ซึ่งเมื่อบวกกันแล้วได้ไม่ต่างไปจากเดิม ถ้าเป็นแบบนั้นก็จะไม่มีผลกระทบจริงๆ เลย แต่ในความเป็นจริงคงจะต้องมีผลกระทบบ้างเพราะไม่ใช่นายจ้างทุกรายจะใช้วิธีนี้ และนายจ้างบางรายต้องปรับเพิ่มให้ลูกจ้างเดิมที่ได้เกิน 300 บาทอยู่แล้วด้วย) ในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบนี้ ในทางทฤษฏีเราพอทำนายได้ว่าน่าจะมีผลกระทบบ้างพอสมควร เพราะในหลายจังหวัดมีการปรับเพิ่มในอัตราที่สูง ผลกระทบจริงจะมากน้อยขนาดไหนคงต้องใช้เวลาดูทั้งมาตรการของรัฐบาลและวิธีการปรับตัวของภาคธุรกิจไปอีกหน่อยในระยะสั้นแรงงานในระบบส่วนหนึ่งจะตกงานแน่ๆ แต่ผลกระทบต่อแรงงานนอกระบบจะมีไม่มาก โดยรวมแล้วผมไม่เห็นว่ามาตรการนี้จะมีผลกระทบต่อแรงงานนอกระบบที่รุนแรงแบบที่คุณมัลลิกากล่าวหาว่าเป็นการฆาตกรรมหมู่
นายกบอกว่านโยบายการขึ้นค่าแรงเพื่อทำให้คนงานมีการดำรงชีพที่ดีขึ้น แต่สำหรับกรณีคนที่มีการดำรงชีพที่ไม่มั่นคงอย่างแรงงานนอกระบบนี่ นอกจากค่าแรงแล้ว คิดว่าควรจะมีอะไรมารองรับอีกหรือไม่ เช่น สวัสดิการ เพื่อสร้างการดำรงชีพที่ดีขึ้น มาตรการด้านสวัสดิการสำหรับแรงงานนอกระบบที่เราเคยทำวิจัยเอาไว้เรื่องเรื่องหนึ่งคือการขยายประกันสังคมของแรงงานนอกระบบโดยรัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบซึ่งมีการเริ่มทำในช่วงปลายรัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลนี้ก็เอามาทำต่อ ก็คือกรณีมาตรา 40 ซึ่งผมเข้าใจว่าตอนนี้มีคนอยู่ในโครงการล้านกว่าคน ซึ่งไม่น้อยเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่มีไม่ถึงร้อยคน แต่ก็ยังห่างไกลจาก 24 ล้านคนที่คุณมัลลิกาพูดถึงมากปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งที่ผมคิดว่ามีมาโดยตลอด ก็คือว่าโครงการเหล่านี้มันเป็นโครงการที่คิดจากมุมมองของภาครัฐเป็นตัวตั้ง จึงไม่ค่อยจูงใจให้ประชาชนมาเข้าร่วมมากนัก ถึงจำนวนจะเพิ่มเป็นล้านกว่าคนในชั่วเวลาสองปี แต่โอกาสที่จะเพิ่มไปจนครบ 20 กว่าล้าน หรือซัก 60-70% คือ 15-16 ล้านคนนี่มีน้อยมากผมคิดว่าปัญหานี้เกิดมาจากวิธีคิดของภาครัฐอันหนึ่งคือรัฐเป็นห่วงเรื่องรายจ่ายของตัวเองมาก ก็เลยพยายามทำทุกอย่างให้เป็นปลายปิด อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้มีโครงการให้แรงงานนอกระบบเลือก2 แบบ คือแบบแรกให้คนงานจ่าย 70 และรัฐสมทบ 30 แบบที่สองให้คนงานจ่าย 100 และรัฐสมทบ 50 ซึ่งโครงการหลังจะมีบำเหน็จให้ แต่ที่ทั้งคู่ไม่มีให้คือเรื่องบำนาญ ทั้งที่จากการวิจัยของเราพบว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่แรงงานนอกระบบต้องการมากที่สุด แต่รัฐออกแบบโครงการโดยคิดเหมือนตัวเองเป็นบริษัทประกันเอกชน จึงไม่กล้าทำโครงการที่เป็นปลายเปิดแบบบำนาญ และให้สิทธิประโยชน์ที่น้อยและไม่จูงใจ ทำให้กลายเป็นโครงการที่แพงสำหรับคนส่วนใหญ่ เมื่อคิดเทียบสิทธิประโยชน์ที่เขาได้รับกับเงินสมทบที่เขาต้องจ่าย ปัญหาต่อมาก็คือรัฐติดอยู่กับกรอบที่ว่า ในโครงการประกันสังคมตอนต้นๆ รัฐจะจ่ายเงินสมทบไม่เกิน 1 ใน 3 จากที่มีคนลงขันสามฝ่ายคือ ลูกจ้างนายจ้าง และรัฐบาล พอมาถึงประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบรัฐก็พยายามรักษาสัดส่วนอันนี้ โดยร่างกฎหมายว่ารัฐจะจ่ายสมทบไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินที่ประชาชนจ่าย ข้อสังเกตของผมคืองโดยเฉลี่ยแล้ว คนที่อยู่ในแรงงานนอกระบบมีรายได้น้อยกว่าแรงงานนอกระบบและไม่มีนายจ้างมาช่วยจ่ายด้วย เพราะฉะนั้นรัฐจึงมีเหตุผลที่จะสนับสนุนเขาในอัตราที่สูงกว่าสนับสนุนแรงงานในระบบ ซึ่งที่บอกว่าสูงกว่าก็ไม่ได้หมายความว่ายอดเงินเป็นแค่อัตรา อย่างถ้าทำโครงการที่ประชาชนจ่าย 100 และรัฐจ่ายสมทบ 100 แล้วเฉลี่ยความเสี่ยงเข้าด้วยกัน ก็จะสามารถทำโครงการที่มีสิทธิประโยชน์ออกมาได้ตรงกับความต้องการของประชาชนได้มากกว่า (เราคำนวณดูแล้วว่าสามารถจ่ายบำนาญให้เดือนละ 500 บาท สำหรับแรงงานสูงอายุที่จ่ายเงินสมทบมาครบ 100 เดือนแล้ว)และจะทำให้เขาสนใจเข้าร่วมได้มากกว่าโครงการที่ทำอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ รัฐยังทำโครงการแบบที่ไม่สนใจความสะดวกของประชาชน คือตอนนี้รัฐกำลังทำโครงการกองทุนออมแห่งชาติ (กอช.)ซึ่งเป็นเสมือนโครงการลูกของกระทรวงการคลัง แยกจากโครงการประกันสังคมตามมาตรา 40 ของกระทรวงแรงงานทั้งที่ 2 โครงการเริ่มผลักดันขึ้นมาในช่วงที่ใกล้กัน แต่สองกระทรวงก็ทำโดยไม่สนใจที่จะรวมกันแถมยังมาออกข้อกำหนดด้วยว่าถ้าทำอันนี้แล้วจะทำอีกอันด้วยจะมีเงื่อนไขหรือข้อห้ามอะไรบ้าง กลายเป็นว่าภาครัฐให้ชาวบ้านที่สนใจทั้งสองโครงการมาปวดหัวกับการหาทาง "บูรณาการ" 2 โครงการนี้เข้าด้วยกันเองทั้งที่ทำจากฝั่งรัฐเองจะง่ายกว่ามาก การไม่ประสานสองโครงการเข้าด้วยกันก็อาจลดแรงจูงใจที่จะเข้าร่วมแต่ละโครงการด้วยอย่างของ กอช. นี่ คุณเรียกร้องให้คนจนออมตั้งแต่เขาอายุ 20 หรือ 30 แต่กว่าเขาจะเริ่มได้รับประโยชน์ก็เมื่อเขาอายุ 55 หรือ 60 ปี ซึ่งถ้าคุณเป็นชนชั้นกลางที่มีฐานะหน่อยนี่พอไหว แต่การกำหนดโครงการให้คนที่มีรายได้น้อยให้เขาออมอย่างเดียวโดยที่เขาไม่ได้อะไรกลับมาในระหว่างทางเลยจนกว่าเกษียณนี่ผมว่าเป็นการเรียกร้องวินัยการออมที่สูงมาก แต่ถ้ารัฐบาลเอาบำนาญ (ซึ่งมีใน กอช.) มาผสมกับประกันสังคม ก็จะทำให้คนที่เข้าโครงการได้รับประโยชน์ในระหว่างทางด้วย ก็ย่อมจูงใจให้คนเข้าร่วมโครงการมากกว่าโครงการ กอช. หรือโครงการประกันสังคมของแรงงานนอกระบบที่ไม่มีบำนาญให้อย่างทุกวันนี้ จากงานวิจัยที่ผมทำให้ สสส. และเคยนำไปเสนอพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงก่อนที่รัฐบาลเขาเริ่มจะโครงการขยายประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบ พบว่าสิทธิประโยชน์ที่แรงงานนอกระบบอยากได้มากในขณะนั้น (ซึ่งมีโครงการรักษาฟรีอยู่แล้ว) สองข้อคือ ข้อแรกเงินชดเชยการขาดรายได้เวลาเจ็บป่วย และข้อสองคือบำนาญ แต่รัฐบาลไม่ได้สนใจเอาสองอย่างนี้มารวมเข้าเป็นโครงการเดียวกันและออกโครงการที่ไม่ได้จูงใจให้ประชาชนเข้าร่วมมากเท่าที่ควร ทำให้ในที่สุดแล้วก็ขยายไปได้แบบกระปริดกระปอย และยังไม่เห็นว่าจะสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นโครงการที่คุ้มครองแรงงานนอกระบบทุกคนหรือส่วนใหญ่อย่างที่เราตั้งความหวังเอาไว้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
แถลงการณ์แสงสำนึก ฉบับที่ ๒ “โปรดปล่อยประชาชน” Posted: 23 Jan 2013 06:45 AM PST แถลงการณ์แสงสำนึก ฉบับที่ ๒ "โปรดปล่อยประชาชน"
วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๖
นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ บัดนี้เป็นเวลาร่วม ๑๘ เดือนแล้วที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีอำนาจรัฐเพื่อบริหารประเทศภายหลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น และมีประชาชนถูกจับกุมเป็นจำนวนมากในข้อหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ๑๘ เดือนกับความหวังว่าจะได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง ที่อย่างน้อยที่สุด จะสามารถสะสางความไม่เป็นธรรมและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในเบื้องต้น เราต่างทราบกันเป็นอย่างดีว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๕๔ นั้นไม่ใช่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการเรียกร้อง ประชาชนจำนวนมากต้องเอาเลือดเนื้อ อิสรภาพ และแม้แต่ชีวิตเข้าแลก เหตุการณ์ขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนับแต่ช่วงก่อนเหตุการณ์รัฐประหารกันยายน ๒๕๔๙ จนถึงขณะนี้ได้กลายเป็นบทเรียนราคาแพงของสังคมไทย หนทางเดียวที่ความแตกต่างทางความคิดจนไม่อาจประนีประนอมนี้จะอยู่ร่วมกันได้ คือหนทางที่เคารพในหลักการประชาธิปไตย และความเป็นธรรม คณะนักเขียนแสงสำนึกปรารถนาให้สังคมไทยเดินพ้นออกไปจากวังวนของความขัดแย้งที่ลงเอยด้วยความรุนแรง ซึ่งจะต้องได้มาด้วยการปฏิเสธคำขู่กรรโชกจากผู้ใช้ประโยชน์จากความรุนแรง และแก้ไขความไม่เป็นธรรมที่ผ่านมา เพื่อกลับมาสู่ครรลองที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย เราคาดหวังให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนี้ นำพาสังคมไทยไปด้วยความกล้าหาญและสุจริตใจ เพื่อมิให้ความสูญเสียที่ผ่านมากลายเป็นสิ่งที่สูญเปล่า เราเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมที่ไม่ทิ้งหลักการที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพราะเราเชื่อว่าความแตกต่างทางความคิดจะสามารถยุติลงได้ แต่เพราะเราเชื่อว่าสังคมไทยยังต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เพื่อจะอยู่กับความขัดแย้งอย่างมีอารยธรรม มีศักยภาพที่จะควบคุมความขัดแย้งมิให้บานปลายไปสู่ความรุนแรงครั้งใหม่ ๆ และที่สำคัญยิ่งกว่า มีศักยภาพที่จะควบคุมสัญชาตญาณดิบ ความไร้มนุษยธรรมและการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่ให้กลายเป็นทางเลือกเพื่อหลีกหนีการเผชิญหน้ากับปัญหาที่แท้จริงอีกต่อไป ตลอด ๑๘ เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าเหตุการณ์รุนแรงบนท้องถนนจะลดน้อยลงจนคล้ายว่าสังคมไทยมีความหวังที่จะเดินต่อไปได้โดยราบรื่น ทว่ากลับมีคำพิพากษาจากศาลยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายอันอยุติธรรมออกมาอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งที่ได้มีข้อเสนอจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างเป็นทางการว่า ให้ระงับคดีความที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ไว้ก่อน และให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ผู้คนทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากล้วนเห็นว่าการปรองดองในประเทศไทยคงสามารถเกิดขึ้นได้ยากหากยังคงบังคับใช้และดำเนินคดีความอันเนื่องจากกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ อย่างที่เป็นอยู่ต่อไป แต่ก็ยังคงมีการอ่านคำพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ออกมาอย่างต่อเนื่องเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยรวมทั้งคณะนักเขียนแสงสำนึกเองเกิดความสงสัยว่า สถาบันศาลยุติธรรมของประเทศไทยคงไม่ปรารถนาความปรองดอง และเหตุใดแม้แต่ข้อเสนอจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งได้รับการยอมรับจากรัฐบาลของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย คือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้ง และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้ง จึงไม่สามารถเข้าสู่สำนึกการรับรู้ของศาลไทยเลย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงดูประหนึ่งว่าศาลไทยกำลังตั้งตัวเป็นอำนาจอิสระที่นอกจากไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่สามารถเป็นสถาบันที่จะคลี่คลายความขัดแย้งแล้ว ยังแสดงพฤติการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการปรองดองอีกด้วย เราตระหนักว่าการนิรโทษกรรมฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองโดยไม่ลืมผู้ต้องขังจากการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน แต่เราก็เชื่อว่ามีแต่ผู้นำที่เป็นผู้นำที่แท้เท่านั้นจึงจะสามารถกระทำภารกิจนี้ให้ลุล่วงได้ สิ่งแรกที่รัฐบาลของประชาชนพึงกระทำคือสร้างความเป็นธรรมให้เกิดกับประชาชน ไม่ว่าภารกิจนั้นจะยากลำบากเพียงใด มันคือภารกิจแรกหนึ่งเดียวของรัฐบาลของประชาชนที่แท้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากว่าเหตุใดประชาชนที่เรียกร้องการเลือกตั้งยังต้องอยู่ในคุกเป็นเวลาต่อเนื่องตลอดเวลา ๑๘ เดือน ภายใต้อำนาจของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่พวกเขาต้องต่อสู้แลกชีวิตจนได้มา คณะนักเขียนแสงสำนึกขอประกาศว่าเราสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการนิรโทษกรรมซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ ๒๙ มกราคม นี้ โดยกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล และร้องขอให้พรรคการเมืองทุกพรรค ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ประชาชนคนไทยที่ปรารถนาให้สังคมไทยก้าวต่อไปให้ดีกว่าที่ผ่านมา ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมของคณะนิติราษฎร์เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม หรือข้อเสนออื่น ๆ เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ด้วยใจเป็นธรรม เราเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด หากเบื้องต้น ประชาชนทุกฝ่ายไม่เว้นสีเสื้อ ได้รับการนิรโทษกรรม ภูมิต้านการล่มสลายของสังคมไทยจะมีมากขึ้น เราขอกล่าวย้ำว่า การนิรโทษกรรมที่ไม่นับรวมผู้ต้องขังจากการกระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ การปฏิเสธกรณีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ คือการหลีกหนีความจริง และหลบเลี่ยงการเผชิญปัญหาการเมืองที่แหลมคมที่สุดอย่างไร้ความรับผิดชอบ แม้ว่ารัฐสภาจะยังไม่พร้อมจะพิจารณายกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ อย่างน้อยที่สุดเราหวังว่ารัฐบาลและรัฐสภาจากการเลือกตั้งนี้ควรพร้อมที่จะนิรโทษกรรมผู้ต้องขัง
คณะนักเขียนแสงสำนึก
วาด รวี วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง ซะการีย์ยา อมตยา อุทิศ เหมะมูล กิตติพล สรัคคานนท์ ปรีดี หงษ์สต้น อติภพ ภัทรเดชไพศาล สถิติ ทูลขำ ปราบดา หยุ่น วิภาส ศรีทอง ศุภชัย เกศการุณกุล ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
Posted: 23 Jan 2013 05:57 AM PST "ท่ามกลางโลกที่แปลกต่างและคุณเป็นคนส่วนน้อย สิ่งที่ได้มายากที่สุดคือการยอมรับอย่างสมัครใจโดยทั่วไป ในทางกลับกัน นี่กลับเป็นสิ่งที่พอเสียแล้วก็กู้คืนยากที่สุดด้วย และเหตุแห่งการสูญเสียมีสถานเดียว คือใช้กำลังบังคับให้ยอมรับต่อส่วนใดส่วนหนึ่ง เพราะเมื่อเริ่มลงมือทำแล้ว ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่เหลือยอมรับคุณเพราะยอมรับจริงหรือเพราะกลัว นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความหวาดระแวงอันไม่มีที่สิ้นสุด ถมไม่เต็ม ไม่ว่าด้วยอำนาจบังคับให้เป็นเยี่ยงอย่างมากสักเพียงใด ไม่ใช่ว่าเพราะคนเราแข็งแกร่งกันหมด แต่เพราะอำนาจที่อ่อนที่สุดคืออำนาจที่ใช้กำลังบังคับมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาศัยพึ่งพาการยอมรับน้อยลงเรื่อย ๆ เท่านั้นเอง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลงานของผู้หวังดีที่ขาดความเข้าใจ" 23 ม.ค.56, โพสต์สถานะในเฟซบุ๊ก | ||||
อ่านคำแถลงปิดคดีของฝ่ายจำเลย สมยศ พฤกษาเกษมสุข ฉบับเต็ม Posted: 23 Jan 2013 04:42 AM PST หมายเหตุ ประชาไทคงเลขไทยและเลขหน้าซึ่งคั่นอยู่ระหว่างเนื้อหาตามต้นฉบับ ( ๗ ) คำร้อง แถลงการณ์ปิดคดี คดีหมายเลขดำที่ อ.๒๙๖๒ /๒๕ ๕๔ ความ อาญา
ระหว่าง นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลย
ขอยื่นคำร้องมีข้อความตามที่จะกล่าวต่อไปนี้
ข้อ ๑. คดีนี้เสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ศาลนัดพร้อมล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๕ และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. โดยให้จำเลยแถลงการณ์ปิดคดีก่อนมีคำพิพากษาจำเลยขอประทานอนุญาตยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาของศาล ดังจะประทานกราบเรียนต่อไปนี้ ข้อ ๒. ตามฟ้องของโจทก์กล่าวหาว่าเมื่อระหว่างวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลากลางวันต่อเนื่องกัน และวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลากลางวันถึงวัน ๑๕ หมายเหตุ* ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว - ๒ - มีนาคม ๒๕๕๓ เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยได้บังอาจกระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยการดำเนินการจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่ ต่อประชาชน ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วราชอาณาจักรไทย ซึ่งนิตยสาร Voice of Taksin: เสียงทักษิณ ปีที่๑ ฉบับที่ ๑๕ ปักษ์หลัง กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ บทความคมความคิดของผู้ใช้นามปากกาว่าจิตร พลจันทร์ เรื่องแผนนองเลือดกับยิงข้ามรุ่น หน้าที่ ๔๕-๔๗ และนิตยสาร Voice of Taksin: เสียงทักษิณ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๖ ปักษ์แรกมีนาคม ๒๕๕๓ บทความคมความคิดของผู้ใช้นามปากกาว่าจิตร พลจันทร์ เรื่อง ๖ ตุลาแห่ง พ.ศ.๒๕๕๓ หน้าที่ ๔๕-๔๗ ตามลำดับ จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อหาและถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันจับกุมคือวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๔ จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลานานกว่า 1 ปี ๘ เดือนแล้ว โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแม้จะได้ยื่นขอประกันตัวรวม ๑๑ ครั้งแล้ว ข้อ ๓.ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าจำเลยกระทำตัวเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร voice of Taksin เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจคนสุดท้ายในการนำบทความตามเอกสารหมาย จ.๒๔ และ จ.๒๕ ที่มีข้อความดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ลงพิมพ์เผยแพร่ซึ่งสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ เป็นคนไม่ดี มีพฤติกรรมอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เสียหายแก่บ้านเมือง โดยพยานโจทก์ที่มาเบิกความต่อศาลแบ่งเป็นกลุ่มข้าราชการเจ้าหน้าที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มนักศึกษา พยานส่วนใหญ่ของโจทก์ให้ความเห็นว่าผู้เขียนบทความทั้งสองบทความมีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชวงศ์ เฉพาะศาสตราจารย์พิเศษธงทองดูเอกสารหมาย จ.๒๔ แล้วเบิกความว่า ไม่ได้ให้ความเห็นว่าเข้าค่ายหมิ่น (๔๐ ก.) - ๓ - สถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ แต่ได้ให้ความเห็นว่าข้อความที่ปรากฏอยู่ในหน้า ๔๖ ตรงคำว่า "โคตรตระกูล" นี้นั้นหมายถึงราชวงศ์จักรี และไม่ออกความเห็นเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.๒๕ ข้อ ๔. ทางการนำสืบของจำเลยอ้างว่าไม่ใช่ผู้เขียนบทความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ การดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองโดยจัดชื่อจำเลยและนิตยสาร Voice of Taksin อยู่ในผังล้มเจ้า จำเลยมิใช่บรรณาธิการเป็นแต่เพียงพนักงานคนหนึ่งของนิตยสาร Voice of Taksin จำเลยไม่มีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันฯ อีกทั้งตาม พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐ ได้มีบทบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐ ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ วรรค ๑ โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๒๖๘/๒๕๕๐ วางแนวบรรทัดฐานไว้ด้วย ประกอบกับบทความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ยังตีความไม่ได้ว่าเป็นบทความที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันฯ อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ข้อ ๕. จากการนำสืบของโจทก์และจำเลยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้ ๕.๑ ผังล้มเจ้าไม่มีอยู่จริง กล่าวคือ ก่อนจำเลยถูกฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยประกอบอาชีพสื่อมวลชน เป็นพนักงานคนหนึ่งของนิตยสาร Voice of Taksin : เสียงทักษิณ ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาท เกิดความวุ่นวาย ทำให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แก้ไขความไม่สงบ ศอฉ. ได้แจ้งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลตามแผนผังซึ่งประชาชนทั่วไปเรียกว่า ผังล้มเจ้า ซึ่งมีชื่อของจำเลยและนิตยสาร Voice of Taksin ปรากฏอยู่ในผังดังกล่าว และต่อมาปรากฏว่าผังล้มเจ้าไม่มีมูลความจริงพนักงานสอบสวนและอัยการไม่ได้มีการดำเนินคดีบุคคลต่างๆ ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในผังล้มเจ้า - ๔ - ปรากฏตามตามคำเบิกความของนายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ พนักงานสอบสวนคดีนี้เบิกความตอบโจทก์เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๑ บรรทัดที่ ๓ – ๕ ติดต่อกับหน้าที่ ๒ บรรทัดที่ ๑-๒ นับจากบนลงล่าง ความว่า "ช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๓ เกิดความวุ่นวายมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำให้มีการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นมาบริหารแก้ไขความไม่สงบ ศอฉ.ประชุมร่วมกันเกี่ยวกับการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นจึงได้มีหนังสือแจ้งไปถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลตามแผนผัง ซึ่งประชาชนทั่วไปจะเรียกว่า "ผังล้มเจ้า" โดยที่พยานปากนี้ได้เบิกความตอบถามค้านทนายจำเลยในวันเดียวกันว่า ผังล้มเจ้าไม่มีที่มาที่ไป ปรากฏตามคำเบิกความในหน้าที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๒ – ๕ นับจากบนลงล่าง ความว่า " จึงไม่ทราบว่าความเห็นของคณะพนักงานสอบสวนชุดนี้ลงความเห็นว่าผังล้มเจ้าไม่มีจริงและยุติการดำเนินคดีหรือไม่ พันตำรวจเอกประเวศน์อาจแจ้งเรื่องสั่งไม่ฟ้องบุคคลดังกล่าวในที่ประชุม แต่ข้าฯไม่ได้เข้าร่วมประชุมจึงไม่ทราบ และทราบจากที่เป็นข่าวในสื่อมวลชนจากการสัมภาษณ์ของพันตำรวจเอกประเวศน์ว่าผังล้มเจ้าไม่มีที่มาที่ไป " ในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ศอฉ.มีคำสั่งให้สลายการชุมนุมที่เรียกว่า ขอคืนพื้นที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จำเลยได้จัดทำนิตยสาร Voice of Taksin ฉบับพิเศษ รายงานข้อเท็จจริงด้วยภาพถ่ายจำนวนมาก และรายงานข่าวการเคลื่อนไหวของ นปช.จนกระทั่วถึงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ มีผู้เสียชีวิต ๙๑ ศพ และบาดเจ็บกว่า ๒,๐๐๐ คน จำเลยและนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้จัดการแถลงข่าวเรียกร้องให้มีผู้รับชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ศอฉ.ได้ใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉิน จับกุมจำเลยไปขังไว้ที่ค่ายทหารอดิศร จังหวัดสระบุรี เป็นเวลา ๒๑ วัน แต่อัยการมีคำสั่งไม่ส่งฟ้องจำเลย ต่อมายังมีคำสั่งปิดนิตยสาร Voice of Taksin อีกด้วย จำเลยได้ดำเนินการผลิตนิตยสาร Red Power แทน โดยผลิตได้เพียง ๕ เล่ม รัฐบาลได้ใช้พรบ.โรงงาน สั่งปิดโรงพิมพ์ที่รับงานพิมพ์นิตยสาร Red Power จำเลยจึงไปผลิตต่อที่ประเทศ
กัมพูชา นำมาจำหน่ายในประเทศไทย จนกระทั่งถูกดำเนินคดีนี้ และจับกุมจำเลย ขณะที่กำลังนำคณะท่องเที่ยวชาวไทยไปกัมพูชา เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๔ ปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๓ บรรทัดที่ ๙ – ๑๖ ติดต่อกับหน้าที่ ๔ บรรทัดที่ ๑-๑๑ นับจากบนลงล่าง ความว่า "วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ข้าฯกับนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ออกแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ตามเอกสารหมาย ล.๑๑ ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมเสียชีวิตจำนวน ๙๐ ศพ ซึ่งเกิดขึ้นจากการสลายการชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์และถนนราชดำเนิน อีกเหตุการณ์หนึ่ง (หมายถึงวันที่ ๑๐ เมษายน และ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ) ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จับกุมข้าฯกับนายสุธาชัยไปไว้ที่ค่ายทหารในข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว แต่นายสุธาชัยได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกขัง ๗ วัน แต่ข้าฯกลับถูกขังอยู่ถึง ๒๑ วัน จึงปล่อยตัว และพนักงานมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องข้าฯกับนายสุธาชัยในข้อหาที่ถูกจับกุมนั้น ขณะข้าฯถูกขังที่ค่ายทหารดังกล่าวมีคำสั่งปิดนิตยสารเสียงทักษิณ โดยอ้างพระราชกำหนดเดียวกัน ข้าฯจึงขออนุญาตเปิดนิตยสารเรดพาวเวอร์โดยตั้งอยู่ที่เดียวกับนิตยสารเสียงทักษิณคือศูนย์การค้าอิมพีเรียลบริเวณลาดพร้าว ใช่นิตยสารเอกสารหมาย ล.๔ ที่ให้ดู หลังตีพิมพ์ไปได้ ๕ เล่ม มีการตรวจค้นสำนักพิมพ์นี้และใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรงงานฯสั่งปิดและห้ามจัดจำหน่ายโดยปรับบริษัท เค.เค.พับลิชชิ่ง จำกัด เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ทำให้ไม่มีโรงพิมพ์ใดรับจ้างพิมพ์นิตยสารเรดพาวเวอร์ ข้าฯจึงร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้สอบสวนเรื่องดังกล่าว ข้าฯจึงย้ายไปพิมพ์หนังสือเล่มนี้ที่ประเทศกัมพูชา ขนส่งเข้ามาจำหน่ายเผยแพร่ในประเทศไทย นอกจากนี้ข้าฯยังทำบริษัทจัดท่องเที่ยว นครวัด นครธม เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา" ต่อมา ศอฉ. โดยพันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด ได้นำผังล้มเจ้าไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทำให้บุคคลที่มีชื่ออยู่ในผังล้มเจ้ารวมทั้งจำเลยและนายอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้รับความเสียหายถูกประชาชนที่ไม่เข้าใจกล่าวหาว่าจำเลยและนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน - ๖ -
ซึ่งข้อเท็จจริงนี้จำเลยขอแนบหลักฐานรายงานกระบวนพิจารณาคดีของนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่ยื่นฟ้องพันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด มาพร้อมคำแถลงการณ์ปิดคดีนี้ด้วย ปรากฏตามสำเนา (๔๐ ก.) - ๗ - รายงานกระบวนพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๒๙/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ ศาลอาญา(เอกสารท้ายคำแถลงหมายเลข ๑) ซึ่งเรื่องเดียวกันนี้สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ ซึ่งเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๒ -๕ ความว่า "จึงไม่ทราบว่าความเห็นของคณะพนักงานสอบสวนชุดนี้ลงความเห็นว่าผังล้มเจ้าไม่มีจริงและยุติการดำเนินคดีหรือไม่ พันตำรวจเอกประเวศน์อาจแจ้งเรื่องสั่งไม่ฟ้องบุคคลดังกล่าวในที่ประชุม แต่ข้าฯไม่ได้เข้าร่วมประชุมจึงไม่ทราบ และทราบจากที่เป็นข่าวในสื่อมวลชนจากการสัมภาษณ์ของพันตำรวจเอกประเวศน์ว่าผังล้มเจ้าไม่มีที่มาที่ไป " การกล่าวหาว่าจำเลยล้มเจ้าจึงไม่มีมูลความจริงเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ อันเนื่องมาจากจำเลยทำหน้าที่สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นำเสนอความเป็นจริง กรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ๕.๒ จำเลยไม่ใช่ผู้เขียนบทความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ จากการนำสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยสอดคล้องตรงกันว่าจำเลยมิใช่ผู้เขียนบทความทั้ง ๒ บทตามคำฟ้องของโจทก์ กล่าวคือ พยานโจทก์ปากนางสาวเบญจา หอมหวาน ได้ให้การยืนยันไว้ ปรากฏดังคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ (ประเด็นศาลอาญา) เมื่อวันที่๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ ในหน้าที่ ๗ บรรทัดที่ ๘ – ๑๖ นับจากบนลงล่าง ความว่า "บทความของจิตร พลจันทร์ ข้าฯไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้เขียน เพียงแต่ได้รับทราบจาก เพื่อนร่วมงานว่าคนเขียนชื่อ นายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งจะเป็นความจริงหรือไม่ ไม่ทราบ อีกทั้งข้าฯไม่เคยพูดคุยกับนายจักรภพ เพ็ญแข แต่อย่างใด ............................... จำเลยเป็นผู้หนึ่งที่เคยเขียนบทความลงในนิตยสาร Voice of Taksinโดยใช้ชื่อนามสกุลของจำเลยเอง จำเลยไม่เคยใช้ชื่อจิตร พลจันทร์ เขียนบทความลงในนิตยสาร - ๘ - Voice of Taksin" ซึ่งคำเบิกความของนางสาวเบญจา หอมหวาน เป็นไปทำนองเดียวกับคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายชนาธิป ชุมเกษียณ ที่เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๖ บรรทัดที่ ๔ – ๕ นับจากบนลงล่าง ความว่า "จำเลยก็เขียนบทความลงในนิตยสารฉบับนี้ แต่ใช้ชื่อสกุลจริงเป็นผู้เขียนไม่เคยใช้นามแฝง" ซึ่งสอดคล้องกับพยานโจทก์ปากอื่นๆที่ไม่ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ใช้นามปากกา จิตร พลจันทร์ ในการเขียนบทความดังคำเบิกความของพยานโจทก์ปากพันเอกนุชิต ศรีบุญส่ง ซึ่งเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๗ บรรทัดที่ ๓ - ๔ นับจากบนลงล่าง ความว่า "ข้าฯไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้ใช้นามปากกาหรือนามแฝงว่า จิตร พลจันทร์ ไม่ทราบว่าเป็นจำเลยหรือไม่ " และคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายกฤษฎา ใจสุวรรณ์ ซึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๖ บรรทัดที่ ๑ และ ๒ นับจากล่างขึ้นบน ความว่า "ข้าฯไม่ทราบว่าผู้เขียนคอลัมน์ คมความคิด ที่ใช้นามแฝงว่า จิตร พลจันทร์ เป็นใครใช่จำเลยหรือไม่" ซึ่งในประเด็นนี้จำเลยได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๘ บรรทัดที่ ๑๔ - ๑๗ ติดต่อกับหน้าที่ ๙ บรรทัดที่ ๑-๔ นับจากบนลงล่าง ความว่า "ผู้ใช้นามปากกาว่านายจิตร พลจันทร์ นั้นคือนายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงยอมรับกันทั่วไปจึงเป็นที่ไว้วางใจให้เขียนบทความลงในนิตยสารเสียงทักษิณอย่างต่อเนื่องและได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารทุกบทความโดยไม่มีการตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงต้นฉบับของบทความ ทีมงานของนายประแสงที่ทำนิตยสารเสียงทักษิณชุดเดิมเป็นผู้ติดต่อนายจักรภพ ซึ่งความจริงแล้วมีบทความลงตั้งแต่เล่ม ๑ แต่ใช้ชื่อสกุลจริง ข้าฯไม่เคยเขียนบทความลงในนิตยสารนี้โดยใช้นามแฝง ยืนยันว่าผู้เขียนบทความที่ใช้นามปากกาว่า จิตร พลจันทร์ นั้น มีเพียงคนเดียวคือนายจักรภพ" จากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับพยานจำเลยว่าผู้ใช้ (๔๐ ก.) - ๙ – นามปากกาจิตร พลจันทร์ คือนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงฟังได้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้เขียนบทความตามที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ ๕.๓ จำเลยไม่ใช่บรรณาธิการ Voice of Taksin กล่าวคือ จำเลยเป็นพนักงานคนหนึ่งของ Voice of Taksin ซึ่งได้รับเงินเดือนเหมือนพนักงานคนอื่นๆ แต่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป หน้าที่และตำแหน่งตามที่ตีพิมพ์ไว้ในปกหนังสือในทางพฤตินัยก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง หากจะพิจารณาในประเด็นเรื่องการร่วมกันในการจัดทำบทความที่โจทก์นำมาฟ้อง ทุกคนที่ทำงานในสำนักงาน Voice of Taksin ถือว่ามีส่วนในการ จัดทำทั้งหมด คำฟ้องของโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยทำตัวเป็นบรรณาธิการเป็นการจงใจยัดเยียดความรับผิดชอบทั้งหมดให้แก่จำเลยเพียงคนเดียว ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีฟังเป็นยุติแล้วว่า บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา นิตยสาร Voice of Taksin เป็นบุคคลคนเดียวกัน คือ นายนรินทร์ จิตรมหาวงศ์ ดังปรากฏตามคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนางวิลาวัณย์ ทรัพย์พันแสน เบิกความตอบอัยการโจทก์เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๓ บรรทัดที่ ๑ และ ๒ นับจากบนลงล่าง ความว่า "การพิมพ์ระบุว่านายนรินทร์เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ โดยเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาและบรรณาธิการของนิตยสารเสียงทักษิณ" ซึ่งสอดคล้องกับพยานโจทก์ปากนางสาววรรณศิริ เลิศพิรมย์ลักษณ์ เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๒ – ๑๔ นับจากบนลงล่าง ความว่า "ทนายจำเลยให้พยานดูเอกสารหมาย จ.๑๔ พยานดูแล้วเบิกความว่า ปรากฏว่านายนรินทร์ จิตมหาวงศ์ เป็นผู้ยื่นขออนุญาต และภายหลังนิตยสารเสียงทักษิณได้รับอนุญาตออก ISSN ให้ ในชื่อของนายนรินทร์ซึ่งมีอำนาจจดแจ้งเพราะเป็นบรรณาธิการ" ซึ่งพยานโจทก์ปาก นางสุภาณี สุขอาบใจ ก็เบิกความไปทำนองเดียวกันว่านิตยสารเสียงทักษิณเจ้าของและบรรณาธิการเป็นบุคคลคนเดียวกัน ปรากฏตามคำเบิกความของนางสุภาณี สุขอาบใจ เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๘ บรรทัดที่ ๙-๑๑ นับจากบนลงล่าง ความว่า "เหตุที่ข้าฯทราบว่าเจ้าของและบรรณาธิการ - ๑๐ - สิ่งพิมพ์เป็นบุคคลคนเดียวกันนั้นเพราะ ณ วันที่มายื่นหลักฐานประกอบการขอจดแจ้งการพิมพ์นิตยสารจะต้องนำหลักฐานมาแสดงจึงทำให้ทราบว่าเจ้าของเป็นใคร" ๕.๔ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการเป็นเป็นรับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ โดยมีแนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๖๘/๒๕๕๐ ตัดสินวางบรรทัดฐานไว้ หากศาลจะฟังว่าจำเลยกระทำตัวเป็นบรรณาธิการต้องรับผิดชอบเนื้อความที่นำลงพิมพ์โฆษณาตามคำกล่าวหาของโจทก์ จำเลยก็ขอกราบเรียนด้วยความเคารพว่าบทบัญญัติกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันคือพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ซึ่งพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐ ตามเอกสารหมาย ล.๓ ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ เท่ากับไม่มีกฎหมายบัญญัติความรับผิดของบรรณาธิการไว้ในกรณีเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ วรรคแรก ซึ่งกรณีนี้ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๖๘/๒๕๕๐ ตามเอกสารหมาย ล.๕ วางบรรทัดฐานไว้ เพื่อความสะดวกจำเลยจึงได้แนบ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ และคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๖๘/๒๕๕๐ มาพร้อมคำแถลงการณ์ฉบับนี้ด้วย (เอกสารท้ายคำแถลงหมายเลข ๒ และ ๓ ตามลำดับ)ดังนั้นกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำตัวเป็นบรรณาธิการจึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้โดยมีแนวคำพิพากษาฎีกาวางบรรทัดฐานไว้ด้วยเช่นเดียวกัน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบตามเนื้อความที่ลงพิมพ์โฆษณา
๕.๕ จำเลยไม่มีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ หากศาลจะฟังว่าบทความตาม จ.๒๔ และ จ.๒๕ เป็นบทความดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ก็ตาม จำเลยก็ขอกราบเรียนด้วยความเคารพว่าจำเลยมิใช่ผู้เขียนและมิใช่เป็นผู้กระทำความผิดและจำเลยก็มิได้มีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ประการใด การนำบทความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ลงพิมพ์ในนิตยสาร Voice of Taksin เป็นไปตามระบบงานที่มิใช่เป็นการกระทำโดยจงใจของจำเลย ปรากฏตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทุกคนที่เคยร่วมทำงานกับจำเลยฟังได้ว่าการตีพิมพ์บทความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้มิได้มีเจตนาจงใจที่จะทำให้เกิดการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด เพียงแต่ทุกคนไม่ทราบถึงเนื้อหาแต่ได้นำลงพิมพ์โดยให้เกียรติเจ้าของบทความซึ่งเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและยังมีความรู้ระดับปริญญาเอกด้วย ซึ่งในประเด็นนี้จำเลยได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามเป็นการยืนยันการทำงานของจำเลย ปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๗ บรรทัดที่ ๑ – ๓ นับจากล่างขึ้นบน ติดต่อกับคำเบิกความในหน้าที่ ๘ ทั้งหน้า ความว่า "เนื่องจากเป็นรายปักษ์ออกทุก ๑๕ วัน จะได้รับบทความกระชั้นชิดใกล้ปิดเล่มกรณีที่เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้เขียนบทความประจำลงในนิตยสาร จึงจะได้รับการลงพิมพ์ไปเลย ภาพประกอบบทความขึ้นอยู่กับเนื้อหา ข้าฯจะได้อ่านบทความต่อเนื่องก่อนลงตีพิมพ์ทุกครั้ง แต่เป็นการอ่านคร่าวๆเนื่องจากมีปริมาณมาก และต้องให้รวดเร็วทันปิดเล่ม การอ่านบทความของข้าฯจึงเน้นเฉพาะคำถูกคำผิด........................................ บทความโดยนายจิตร พลจันทร์ นั้น เป็นประเภทต่อเนื่องลงพิมพ์ในนิตยสารเสียงทักษิณตั้งแต่เล่มที่ ๒ ........................................................ผู้ใช้นามปากกาว่านายจิตร พลจันทร์ คือนายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงยอมรับกันทั่วไป จึงเป็นที่ - ๑๒ - ไว้วางใจให้เขียนบทความลงในนิตยสารเสียงทักษิณอย่างต่อเนื่องและได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารทุกบทความโดยไม่มีการตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงต้นฉบับของบทความ" ส่วนประเด็นเรื่องการตรวจสอบบทความทั้งจำเลยและพนักงานคนอื่นๆกระทำแต่เพียงตรวจคำถูกผิดของบทความเท่านั้นตามเหตุผลที่ได้ประทานกราบเรียนมา ซึ่งข้อเท็จจริงนี้พยานโจทก์ปาก นายกฤษฎา ใจสุวรรณ์ ได้เบิกความตอบทนายความจำเลยถามค้านเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๖ บรรทัดที่ ๘-๙ นับจากบนลงล่าง ความว่า "การพิมพ์นิตยสารนี้เร่งรีบจะปิดเล่มทุกครั้ง โดยเฉพาะปักษ์หลัง หลังจากข้าฯตรวจแล้วไม่ทราบว่าจำเลยแก้ไขหรือไม่" ซึ่งคำเบิกความของนายกฤษฎา ใจสุวรรณ์ เป็นไปทำนองเดียวกับคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายชนาธิป ชุมเกษียณ ซึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๖ บรรทัดที่ ๑๐ -๑๔ นับจากบนลงล่าง ความว่า "หลังจำเลยรับบทความจากนางสาวเบญจาจะส่งให้นายกฤษฎาตรวจพิสูจน์อักษรเนื่องจากเป็นรายปักษ์แต่ละฉบับเร่งรีบออกไม่มีเวลาถึงขนาดที่ข้าฯกับพวกต้องค้างคืนทำงานกันที่โรงพิมพ์ บางฉบับหลังจากจำเลยส่งให้นางสาวเบญจาแล้วก็จะพิมพ์เลยไม่ได้ย้อนมาที่ตัวจำเลยอีก ทราบว่ากรณีบทความต่อเนื่องจำเลยจะไว้วางใจให้ลงพิมพ์โดยไม่ตรวจ แตกต่างกับบทความปกติหรือกรณีที่เป็นผู้เขียนหน้าใหม่ที่จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดก่อน" การนำบทความของจิตร พลจันทร์ ลงพิมพ์ตามเอกสารหมาย จ.๒๔ และ จ.๒๕ จำเลยจึงมิได้มีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ตามคำฟ้องของโจทก์ หากศาลจะฟังว่าถึงอย่างไรก็ตามจำเลยก็ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนทั้งๆที่มีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐ คุ้มครองรวมทั้งแนวคำพิพากษาฎีกาวางบรรทัดฐานไว้แล้วก็ตาม จำเลยก็ขอกราบเรียนด้วยความเคารพว่าจำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันถูกจับกุม ระหว่างพิจารณาคดี จนถึงปัจจุบันนี้ผ่านไปเกือบ ๒ ปี จำเลยก็ไม่ได้รับ (๔๐ ก.) - ๑๓ – ความเมตตาจากศาลให้ประกันตัว เท่ากับว่าจำเลยต้องได้รับโทษจำคุกฐานที่ละเลยไม่มีความรอบคอบในการตรวจพิจารณาบทความตามเอกสารหมาย จ.๒๔ และ จ.๒๕ ให้ละเอียดก่อนลงพิมพ์ การถูกจำคุกของจำเลยทั้งๆ ๕.๖ บทความตามเอกสารหมาย จ.๒๔ และ จ.๒๕ ไม่เป็นบทความที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ ประเด็นสำคัญในการพิจารณาคดีนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นของพยานที่อ่านบทความว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่จิตร พลจันทร์ เขียนอย่างไร ความเห็นของพยานแต่ละปากไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าบทความของจิตร พลจันทร์ เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพยานที่ได้อ่านบทความของจิตร พลจันทร์ ไม่อาจล่วงรู้ความคิดที่แท้จริงของจิตร พลจันทร์ ได้อย่างถูกต้องนอกจากตัวของจิตร พลจันทร์ เอง ดังจะเห็นได้จากการให้ความเห็นของพยานโจทก์แต่ละปากให้ความเห็นในแต่ละบทความยังไม่เหมือนกัน เช่นความเห็นของพยานโจทก์ปากนายกฤษฎา ใจสุวรรณ์ ที่เบิกความตอบทนายความจำเลยถามค้านเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๘ บรรทัดที่ ๑-๒ นับจากล่างขึ้นบนติดต่อกับคำเบิกความในหน้าที่ ๙ บรรทัดที่ ๑-๔ นับจากบนลงล่าง ความว่า "อ่านเอกสารหมาย จ.๒๔ ทั้งหมดแล้ว ข้าฯเข้าใจว่าผู้เขียนสื่อถึงในหลวงก็มี และอำมาตย์ก็มี ข้าฯยืนยันว่าความเข้าใจของข้าฯถึงบทความนี้ที่สื่อถึงในหลวงเฉพาะเนื้อหาตอนที่กล่าวอ้างถึง ๒๐๐ ปี และโรงพยาบาลเท่านั้น ส่วนอื่นไม่เกี่ยวข้อง ข้าฯยืนยันว่าอ่านเอกสารหมาย จ.๒๕ หลายครั้ง ก็ไม่เข้าใจ เพราะพูดถึงหลวงนฤบาล" ความเห็นของนายกฤษฎา ใจสุวรรณ์ ที่ให้ความเห็นเมื่ออ่านบทความยังขัดแย้งกับพยานโจทก์ปากนางสาวชรินรัตน์ อิงพงษ์พันธ์ ที่ได้อ่านเอกสารหมาย จ.๒๔ และ จ.๒๕ ได้ให้ความเห็นไปคนละทิศทาง ดังปรากฏตามคำเบิกความของ - ๑๔ - นางสาวชรินรัตน์ อิงพงษ์พันธ์ ซึ่งเบิกความตอบทนายความจำเลยถามค้านเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๙ บรรทัดที่ ๓-๑๐ นับจากบนลงล่าง ความว่า "เล่มแรกที่ให้ดูที่มีภาพณัฐวุฒินั้น เจ้าหน้าที่บอกว่า ณัฐวุฒิ เมื่อเปรียบเทียบความเห็นของพยานโจทก์เฉพาะปากนายกฤษฎา ใจสุวรรณ์ กับ นางสาวชรินรัตน์ อิงพงษ์พันธ์ ในการให้ความเห็นบทความ ตามเอกสารหมาย จ.๒๔ และ จ.๒๕ ยังไปคนละทิศทาง ไม่อาจสรุปได้ว่าความเห็นของฝ่ายใดถูกหรือของฝ่ายใดผิด เช่นเดียวกับความเห็นพยานโจทก์ปากศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ พยานโจทก์ที่เบิกความตอบอัยการโจทก์เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๒ บรรทัดที่ ๔-๑๓ และในหน้าที่ ๓ บรรทัดที่ ๗-๑๐ นับจากบนลงล่าง ความว่า "พยานดูเอกสารหมาย จ.๒๔ แล้วเบิกความว่า ..........................................คำว่า "โคตรตระกูล" ที่ระบุไว้ทั้งสองแห่งผู้เขียนสื่อความหมายให้ผู้อ่านนึกถึงราชวงศ์จักรี ตรงที่หมายถึงราชวงศ์จักรีนั้นอยู่ตรงคำว่า "พอได้ดีก็โค่นนายตัวเอง จับนายไปจองจำ ชัดว่าสติไม่ดี ดูแลบ้านเมืองไม่ได้ แล้วก็จับลงถุงแดง ฆ่าทิ้งอย่างทารุณ" เป็นประวัติศาสตร์ในช่วงท้ายกรุงธนบุรีในปี ๒๓๒๕ ต่อเนื่องกับตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์...................โจทก์ให้พยานดูเอกสารหมาย จ.๒๕ เป็นบทความโดยผู้เขียนนามปากกาเดียวกับ จ.๒๔ พยานดูแล้วเบิกความว่าเรื่อง ๖ ตุลา ๒๕๕๓ นี้ ผู้เขียนสมมุติตัวละครเดินเรื่องชื่อ "หลวงนฤบาล" อ่านแล้วข้าฯไม่แน่ใจไม่สามารถให้ความเห็นเด็ดขาดได้ว่าหมายถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือไม่" จากคำเบิกความของพยานโจทก์ซึ่งบางส่วนยังมีความแตกต่างกันในการให้ความเห็นเกี่ยวกับบทความเอกสารหมาย จ.๒๔ และ จ.๒๕ แต่พยานส่วนใหญ่ของโจทก์ก็ให้ความเห็นไปทำนองเดียวกัน (๔๐ ก.) - ๑๕ – ว่าบทความตามเอกสารหมาย จ.๒๔ และ จ.๒๕ เป็นบทความที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันฯ ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่ของพยานโจทก์แตกต่างจากความเห็นของพยานจำเลยทุกปากซึ่งพยานของจำเลยเป็นพยานบุคคลที่มี ในการนำสืบของโจทก์ที่นำพยานบุคคลจำนวนมากที่มีกรอบความคิดเดียวกันและเป็นความคิดที่มีอคติกับความคิดของฝ่ายจำเลยมาให้ความเห็นเกี่ยวกับบทความ เช่นกรณีพยานโจทก์กลุ่มนักศึกษา คือ นางสาวปวิตรา สกุลชัยมงคล นายเตชิต ชัยเดชสุริยะ และนายชวาล แซ่เย๊ะ พยานโจทก์ทั้ง ๓ ปากเป็นนักศึกษาฝึกงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษใช้เวลาฝึกงานนาน ๒ เดือน หัวหน้าควบคุมงานคือนายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ พนักงานสอบสวนคดีนี้ที่มีหน้าที่ประเมินผลการฝึกงานของพยานทั้งสามคน ดังนั้นนักศึกษาฝึกงานทั้งสามคน ย่อมได้รับอิทธิพลและมีทัศนคติไปในทางเดียวกับพนักงานสอบสวนคดีนี้ การกำหนดพยานเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับบทความของพนักสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นไปอย่างมีอคติ พยานที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีนี้มีความใกล้ชิดกับพนักงานสอบสวน และมีทัศนคติในด้านลบกับจำเลย เนื้อหาที่ปรากฏในบทความที่นำมาฟ้องผู้เขียนยกตัวอย่างตุ๊กตา เป็นตัวละครล้อเลียนไม่ใช่เรื่องจริงและผู้อ่านไม่อาจรู้แน่ชัดได้ว่าผู้เขียนหมายถึงใคร ซึ่งในประเด็นนี้พยานจำเลยเมื่อได้อ่านบทความต่างก็ให้การไปในทำนองเดียวกันว่าผู้เขียนสื่อถึงพวกอำมาตย์ไม่ได้สื่อถึงกษัตริย์ การดำเนินคดีตาม จากเหตุผลดังที่จำเลยได้ประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพมาข้างต้น จำเลยจึงไม่ได้กระทำความผิดตามคำฟ้องโจทก์ จึงขอศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้องโจทก์และปล่อยตัวจำเลยพ้นข้อหาไปด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลได้โปรดอนุญาต (๔๐ ก.) - ๑๗ – ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ลงชื่อ ทนายความจำเลย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now | ||||
จทน.ซีเรียหนีจากคุกทรมานนักโทษการเมือง หันมาเป็นครูสอนศาสนา เยียวยาจิตใจผู้สูญเสีย Posted: 23 Jan 2013 03:57 AM PST อดีต จนท.กองอำนวยการหน่วยข่าวกรองกองทัพอากาศซีเรีย ทนไม่ได้ที่เห็นผู้ต่อต้านรัฐบาลรวมถึงครูสอนศาสนาถูกรัฐบาลจับมาทรมาน เขาจึงหนีกลับบ้านเกิด และใช้มัสยิดซึ่งถูกระเบิดถล่มเป็นที่สอนคัมภีร์อัลกุรอานแก่เด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ และเพื่อเป็นการเยียวยาทั้งจิตใจตัวเองและจิตใจของเด็กผู้สูญเสียจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย ชีค อาบู โมฮัมหมัด เคยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ชาวซีเรียหลายคนรู้จักและยำเกรง เขาเคยประจำอยู่ในหน่วยงานข่าวกรองของกองทัพอากาศซีเรีย แต่ในเวลาหนึ่งปีหลังเกิดเหตุการณ์ลุกฮือขึ้นในซีเรีย อาบู โมฮัมหมัด ก็บอกว่าเขาไม่สามารถทนกับภาพความโหดเหี้ยมทารุณที่เขาได้เห็นในกองบัญชาการ อาบู โมฮัมหมัด เปิดเผยว่า ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลมักจะถูกจับกุมและถูกทรมานก่อนที่จะถูกขังในคุกให้ดินที่มืดและแคบ จนกระทั่งเมื่อ 8 เดือนที่แล้ว เขาตัดสินใจรวบรวมความกล้าที่จะออกจากงาน เขาบอกว่าจุดที่ทำให้เขาถึงขีดสุดความอดทนคือการที่เขาได้เห็นครูสอนศาสนาหรืออิหม่ามถูกทารุณต่อหน้าเขา "พวกนั้นเหยียบเคราของเขา (อิหม่าม)" อาบู โมฮัมหมัดกล่าว "พวกนั้นดูหมิ่นศักดิ์ศรีและกล่าววาจาเหยียดหยามตัวเขาและศาสนาของเขา" โมฮัมหมัดบอกว่าเขาทำงานเป็นกองอำนวยการของหน่วยข่าวกรองกองทัพอากาศซีเรีย ตัวเขาเองไม่ได้มีส่วนในการทำงานในคุกหรือการทรมานผู้ต้องขัง แต่เขาไม่สามารถทนดูการกระทำอันโหดร้ายได้อีกต่อไป ภาพความโหดร้ายตามหลอกหลอนเขา เขาจึงหนีจากเมืองหลวงกรุงดามาสกัสและกลับไปที่บ้านเกิดในเมืองฮันตูติน เขาผลัดจากชุดเครื่องแบบมาสวมผ้าคลุมขาว และตัดสินใจออกตามความฝันของเขาที่มีมานาน คือการเป็นคนสอนศาสนาอิสลามแก่เด็กๆ โมฮัมหมัดตั้งห้องละหมาดและส่วนของเก้าอี้นั่งในมัสยิดท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากการโจมตีทางอากาศของรัฐบาล ในปัจจุบันจะมีเด็กๆ เดินทางเข้าไปในมัสยิดผ่านช่องกำแพงที่เกิดจากการถูกทิ้งระเบิดใส่ โดยมีอาบู โมฮัมหมัดจัดชั้นเรียนให้ท่องคัมภีร์อัลกุรอานและสอนหลักการของศาสนาอิสลามให้แก่เด็กๆ วันละหนึ่งชั่วโมง "มันเป็นสิ่งที่ผมอยากทำมาตลอด" โมฮัมหมัดกล่าว "สามปีก่อน ตอนที่ผมยังเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ ผมได้อนุปริญญาในการท่องจำคัมภีร์อัลกุรอาน แล้วก็เข้าไปเรียนในชั้นเรียนศาสนาอย่างลับๆ เพราะถ้าหากว่ารัฐบาลรู้เรื่องที่ผมศึกษาด้านศาสนา พวกเขาจะกลั่นแกล้งหรือแม้กระทั่งจับกุมตัวผม" สำนักข่าวอัลจาซีร่ากล่าวว่ารัฐบาลซีเรียยกย่องตนเองว่าเป็นป้อมปราการของฆราวาสนิยมท่ามกลางโลกอาหรับมาหลายสิบปี พวกเขาใช้กำลังปราบปรามผู้เคร่งครัดอิสลามและใช้อิทธิพลบังคับการศึกษาเรื่องศาสนา เยียวยาจิตใจเหยื่อความรุนแรง โมฮัมหมัดบอกว่า การลุกฮือต่อต้านประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด เป็นแรงผลักดันให้เขาออกจากงานที่เขาเกลียด ในตอนนี้เขาพยายามอย่างดีที่สุดในการเติมช่องว่างด้านการศึกษาในบ้านเกิดของเขาซึ่งถูกทิ้งระเบิดและเด็กๆ ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ อัลจาซีร่ารายงานว่ารถถังของรัฐบาลได้ทำลายทั้งโรงเรียนและมัสยิดในฮัสตูติน เมืองเล็กๆ แห่งนี้ถูกยิงถล่มต่อเนื่องนับตั้งแต่ฝ่ายกบฏเข้ายึดครองเมื่อเดือน ก.ค. ปีที่ผ่านมา (2012) ครูในโรงเรียนพากันหนีตาย นักเรียนไม่ได้เข้าเรียนเลยตลอดปี อาห์หมัดเด็กนักเรียนอายุ 10 ปี บอกว่าเขาคิดถึงโรงเรียน พ่อแม่ส่งเขาไปเรียนคัมภีร์อัลกุรอานที่มัสยิดซึ่งเขาชอบ พ่อของอาห์หมัดบอกว่าเขาหวังว่าอาห์หมัดจะได้เรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นเรื่องเสี่ยงเกินไป เขาไม่อยากให้ลูกเขาอยู่นอกบ้านเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะเดียวกันก็บอกว่าการท่องคัมภีร์จะช่วยให้ลูกของเขาได้ฝึกฝนภาษาอาหรับดั้งเดิมไปในตัว อาห์หมัดถือคัมภีร์อัลกุรอานวิ่งไปเรียนท่ามกลางเสียงระเบิด เขาบอกว่าเขาเริ่มชินกับเสียงพวกนี้แล้ว แต่อาบู โมฮัมหมัดก็พยายามสอนนักเรียนให้เสร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โมฮัมหมัดกล่าวว่า แนวคิดเรื่องการสอนของเขาไม่ได้แค่ต้องการสอนอัลกุรอานแก่เด็กๆ แต่ต้องการช่วยพวกเขาให้สามารถจัดการเยียวยาจิตใจตนเองจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในเขตปกครองอิดลิบจากการที่ทั้งฝ่ายกบฏและฝ่ายรัฐบาลพยายามต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์แห่งนี้ "มีเด็กบางคนที่มาเข้าเรียนเป็นลูกของผู้พลีชีพ เด็กหลายคนสูญเสียพ่อและแม่ของตนจากการถูกทิ้งระเบิด พวกเขาต้องการความช่วยเหลือทางอารมณ์และการเอาใจใส่ ผมพยายามช่วยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้" โมฮัมหมัดกล่าว อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศกล่าวอีกว่าเขายังคงรู้สึกผิดกับการที่ได้แต่นิ่งเงียบเฝ้าดูการกระทำอันโหดร้ายขณะที่เขายังอยู่ในหน่วยข่าวกรองซึ่งเป็นสิ่งรบกวนจิตใจเขามาก แต่หลังจากที่เขาได้เริ่มสอนหนังสือ เขาก็รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น "เวลาได้เห็นเด็กๆ รู้สึกมีความสุขตอนเดินออกจากมัสยิด มันทำให้ผมจิตใจสงบ" โมฮัมหมัดกล่าว
เรียบเรียงจาก Teaching Quran to escape Syria torture horror, Aljazeera, 21-01-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
ยังไม่จบ! 'ชาวบ้านปากมูล' บุกทำเนียบฯ จี้เปิดเขื่อน 5 ปีตามมติสมัย 'รัฐบาล ปชป.' Posted: 23 Jan 2013 03:53 AM PST ชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล ร่วม Pmove ชุมนุมร้องแก้ปัญหา จี้ทำตามมติอนุกรรมการแก้ปัญหาฯ ชุดรัฐบาล ปชป.ให้ทดลองเปิดเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 5 ปี-จ่ายเงินเยียวยา ครอบครัวละ 310,000 บาท วันนี้ (23 ม.ค.56) กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเป็นธรรม (ขปส.) หรือกลุ่ม Pmove ชุมนุมเรียกร้องการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลอย่างเป็นรูปธรรม หลังต้องเผชิญผลกระทบยืดเยื้อมากว่า 20 ปี ที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณถนนราชดำเนิน ฝั่งตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ เวทีปราศรัยและเต็นท์พักแรมของผู้ชุมนุมถูกตั้งขึ้นโดยใช้พื้นที่ตั้งแต่แยกสวนมิสกวันจนถึงประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มผู้ชุมนุมระบุข้อเรียกร้องต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามมติของอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลในสมัยรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธาน ให้ทดลองเปิดเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 5 ปี เพื่อคืนธรรมชาติให้แม่น้ำมูล และจ่ายเงินเยียวยาจากผลกระทบที่สร้างเขื่อนมานาน 20 ปี ครอบครัวละ 310,000 บาท เกือบ 6,000 ครอบครัว ในพื้นที่ 55 หมู่บ้าน 3 อำเภอ คือ อ.โขงเจียม อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.สิรินธร แต่ยังไม่มีการดำเนินการเนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาล สืบเนื่องจาก คณะอนุกรรมการแก้ปัญหากรณีเขื่อนปากมูลที่ประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ นักวิชาการ ตัวแทนจังหวัด และตัวแทนของรัฐบาล มีกำหนดการประชุมในวันที่ 24 ม.ค.56 ทั้งนี้ จากที่เคยประชุมกันเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2555 แต่ไม่ได้ข้อสรุป เพราะรัฐบาลต้องการให้ศึกษาแนวทางเยียวยาแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนปากมูลใหม่ เวลา 13.00 น.นางสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำสมัชชาคนจน หนึ่งในกรรมการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล นำกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อแถลงการณ์โดยระบุว่าต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลที่เรื้อรังยาวนานมากว่า 20 ปี ให้รัฐบาลดำเนินการเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร ซึ่งจากการศึกษาของคณะกรรมการที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและนักวิชาการระบุแล้วว่า การปิดเขื่อนปากมูลนั้นล้มเหลว เนื่องจากเป็นการทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำมูล อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีอาชีพหลักคือหาปลาหาสัตว์น้ำเป็นอาชีพหลัก ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เนื่องจากเขื่อนปิด และจากการศึกษาที่อนุญาตให้ทดลองเปิดเขื่อนได้ 4 เดือนนั้นก็ไม่ตรงฤดูหาปลาส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดเขื่อนมากว่า 20 ปี ตามมติของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นางสมปอง กล่าวด้วยว่า ชาวบ้านไม่ยอมรับหากต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ศึกษาอีก เพราะเท่ากับเป็นการยื้อเวลา จึงตกลงกันว่าหากวันที่ 24 ม.ค.นี้รัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้อง หรือยกเลิกมติอนุกรรมการฯ ชุดที่แล้ว ชาวบ้านจะปักหลักชุมนุมต่อไปอย่างไม่มีกำหนด โดยยังมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอีกส่วนหนึ่งทยอยเดินทางเข้ามาสมทบ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการชุมนุมกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนปากมูลได้มีการทำกิจกรรมยิงลูกธนูที่ผูกติดข้อเรียกร้องเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อส่งหนังสือร้องเรียนถึงรัฐบาลและนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไฟศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล เอกสารดังกล่าวระบุว่า นายนิวัฒน์ธำรงไม่ควรซื้อเวลาอีกต่อไป และขอเรียกร้องรัฐบาลให้แก้ไขปัญหา โดยทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เป็นเวลา 5 ปี พร้อมกับศึกษาข้อมูลควบคู่ไป นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเยียวยาความเสียหายที่ชาวบ้านไม่สามารถจับปลาได้ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน หรือกว่า 23 ปีแล้ว และให้ยกเลิกมติ ครม. คำสั่ง ประกาศ ที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูล แล้วใช้แนวทางการแก้ปัญหาตามมติ ครม.วันที่ 4 พ.ย.2554 สำหรับเขื่อนปากมูลได้รับการอนุมัติสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2532 เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2534 มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุด 136 เมกะวัตต์ ซึ่งระหว่างก่อสร้าง โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และมีการเคลื่อนไหวจากประชาชนในพื้นที่เพื่อคัดค้านมาโดยตลอด เนื่องจากการก่อสร้างต้องระเบิดเกาะแก่งหินตามธรรมชาติซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด และการดำเนินโครงการยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหารและรายได้ของประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านได้เจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลหลายสมัย ร่วมทั้งมีการศึกษาผลกระทบหลายครั้งแต่ก็ยังไม่มีข้อยุติ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
แอมเนสตี้ฯ กังวลกรณี “สมบัด สมพอน” ร้องรบ.ลาวตรวจสอบการหายตัวอย่างโปร่งใส Posted: 23 Jan 2013 03:38 AM PST โดยก่อนหน้านี้ฮิลลารี่ คลินตัน รมต. ต่างประเทศสหรัฐร่วมกดดันและเรียกร้องด้วย ในขณะที่ผู้แทนรัฐสภาอาเซียนชี้รบ. ลาวขาดความจริงใจในการค้นหาตัวสมบัติ หลังเยือนลาวในภารกิจการสอบสวน
22 ม.ค. 56 - แอมเนสตี้ อินเตอร์ชั่นแนล ส่งปฏิบัติการด่วนถึงสมาชิกที่มีอยู่กว่า 3 ล้านคนใน 150 ประเทศ เรียกร้องส่งจดหมายถึงรัฐบาลลาวให้ดำเนินการสอบสวนการลักพาตัวและการหายตัวไปของนายสมบัด สมพอนโดยทันที อย่างโปร่งใสและอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับความคืบหน้าในการสอบสวน เพื่อให้ครอบครัวและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ อีกทั้งกระตุ้นให้ทางการลาวประกันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอน เพื่อช่วยเหลือและนำตัวเขากลับมายังครอบครัวอย่างปลอดภัยและโดยเร็วสุด โดยก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฮิลลารี คลินตัน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลลาวสอบสวนกรณีการหายตัวไปของนายสมบัติ และนำตัวสมบัติกลับมาคืนสู่ปกติโดยเร็ว เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะผู้แทนรัฐสภาอาเซียน นำโดยวอลเดน เบลโล สมาชิกวุฒิสภาฟิลิปปินส์ ลิลี่ วาฮิด สมาชิกสภาอินโดนีเซีย และชาร์ลส์ ซานติเอโก สมาชิกสภามาเลเซีย ได้แถลงความคืบหน้าที่สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทย จากการเยือนประเทศลาวระหว่างวันที่ 13-15 ม.ค. 56 ในภารกิจการสอบสวนการหายตัวของนายสมบัติ ซึ่งทางคณะกล่าวว่า ยังเห็นว่ารัฐบาลลาวขาดความเต็มใจในการค้นหาสมบัติ สมพอนอย่างเต็มที่ ทางคณะได้รับการแจ้งจากตัวแทนรัฐบาลลาวว่า หลังจากที่ได้ทำการสอบสวนกรณีการหายตัวของสมบัติแล้วเป็นเวลา 1 เดือน ก็ไม่พบข้อเท็จจริงอื่นใดนอกจากว่า การหายตัวไปของสมบัติไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันจากในคลิปวีดีโอจากกล้องวงจรปิดว่า นายสมบัติถูกนำตัวขึ้นรถหายไป บริเวณใกล้ด่านตรวจของตำรวจและมีตำรวจรู้เห็น วอลเดน เบลโล กล่าวว่า ทางคณะได้บอกไปว่าผู้แทนรัฐสภาอาเซียนไม่เชื่อคำสรุปดังกล่าว เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ และถ้าหากว่าเชื่อว่าสิ่งดังกล่าวเป็นความคืบหน้าของคดีจริงๆ ทางรัฐมนตรีอาเซียนก็คงจะสูญเสียความน่าเชื่อถือไปด้วย "กรณีนี้จะเป็นการทดสอบคำประกาศสิทธิมนุษยชนอาเซียน และสภาสิทธิมนุษยชนอาเซียนว่าจะสามารถทำอะไรได้จริงหรือไม่" เบลโลกล่าว 0000 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 นายสมบัด สมพอน นักกิจกรรมอาวุโสของภาคประชาสังคมในลาว ซึ่งมีชื่อเสียงจากการทำงานส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกบุคคลไม่ทราบชื่อจับตัวไปในรถกระบะ หลังจากตำรวจเรียกตรวจเขาที่ด่านตรวจในกรุงเวียงจันทน์ นครหลวงของลาว และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครทราบข่าวคราวเกี่ยวกับเขา นายสมบัด สมพอน อายุ 62 ปี ขับรถออกจากสำนักงานเวลาประมาณ 17.30 น. วันที่ 15 ธันวาคม 2555 ตำรวจที่ด่านท่าเดื่อ อ.ศรีสัตตนาค กรุงเวียงจันทน์ ได้เรียกตรวจรถยนต์ของเขาตอน 18.00 น. จากภาพถ่ายวงจรปิดของตำรวจจราจร เขาเดินออกจากรถเพื่อพูดคุยกับตำรวจ จากนั้นมีคนขี่มอเตอร์ไซด์มา เข้าไปในรถ และขับรถของนายสมบัด สมพอนออกไป ทิ้งมอเตอร์ไซด์ที่ขี่มาเอาไว้ จากนั้นมีรถกระบะเปิดไฟกระพริบขับมาถึง และมีคนนำตัวนายสมบัด สมพอนใส่รถกระบะและขับหนีออกไป ครอบครัวและมิตรสหายเชื่อว่าผู้ชายที่อยู่ในภาพทีวีวงจรปิดเป็นนายสมบัด สมพอน ทางการลาวปฏิเสธว่าไม่ได้จับกุมนายสมบัด สมพอน และไม่มีส่วนรู้เห็นกับการหายตัวไปของเขา โดยระบุว่าเขาอาจถูกลักพาตัวเนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวหลังจากถูกตำรวจเรียกตรวจซึ่งเป็นการตรวจเอกสารตามปรกติ แม้ว่ารัฐบาลลาวออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 อ้างว่า "ทางการมีความกังวล" และ "กำลังสอบสวนอย่างจริงจัง" แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบสวนเพื่อให้ครอบครัวหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลว่า การสอบสวนที่เป็นอยู่ขาดความโปร่งใส และอาจไม่จริงจังมากพอ นายสมบัด สมพอนก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมฮ่วมพัฒนา (Participatory Development Training Centre - PADECT) ในปี 2539 เพื่อส่งเสริมการศึกษา ทักษะความเป็นผู้นำ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศลาว เมื่อปี 2548 เขาได้รับรางวัลรามอนแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน เขายังมีส่วนร่วมจัดการประชุมเวทีภาคประชาชนเอเชีย-ยุโรปที่กรุงเวียงจันทน์เมื่อเดือนตุลาคม 2555 ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเรียกร้องสมาชิกที่มีอยู่กว่า 3 ล้านคน ใน 150 ประเทศ ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง และสำเนาจดหมายถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของลาว ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2556 เพื่อกระตุ้นให้ทางการประกันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอน เพื่อช่วยเหลือและนำตัวเขากลับมายังครอบครัวอย่างปลอดภัยและโดยเร็วสุด โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้ · เรียกร้องทางการลาวให้ดำเนินการสอบสวนการลักพาตัวและการหายตัวไปของนายสมบัด สมพอนโดยทันที อย่างโปร่งใสและอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ · เรียกร้องให้รัฐเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับความคืบหน้าในการสอบสวน เพื่อให้ครอบครัวและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ข้อมูลเพิ่มเติม การสอบสวนกรณีการหายตัวไปของนายสมบัด สมพอน ที่ขาดความโปร่งใส ทำให้มีการตั้งคำถามต่อความพยายามในการหาตัวเขาว่ามีความจริงใจและรอบด้านเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น ไม่เป็นที่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ลาวซึ่งสอบสวนเรื่องนี้ได้เรียกตัวตำรวจที่ด่านตรวจมาให้ปากคำหรือไม่ ทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้พยายามขัดขวางการนำตัวนายสมบัดหรือการขับรถยนต์ของเขาออกไปเลย ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และผู้ครอบครอง หรือมีการดูภาพวงจรปิดจากกล้องตัวอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเพื่อวิเคราะห์ว่ามีการนำตัวเขาไปที่ใด ครอบครัวและมิตรสหายของนายสมบัด สมพอน ภาคประชาสังคมระดับภูมิภาคและนานาชาติ รัฐบาลในประเทศต่างๆ และองค์การสหประชาชาติต่างเรียกร้องให้มีการสอบสวนการหายตัวไปในครั้งนี้อย่างรอบด้าน และให้นำตัวเขากลับมาอย่างปลอดภัย บรรดามิตรสหายได้เริ่มรณรงค์ทางอินเตอร์เน็ตให้มีการปล่อยตัวเขา มีการจัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูล ลิงค์ไปยังข่าวที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรมรณรงค์อื่นๆ ที่เว็บไซต์ http://sombath.org/ ลาวเป็นประเทศภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ข้อบทที่ 9 ของกติกา ICCPR คุ้มครองสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย โดยห้ามจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ และเมื่อถูกจับกุมหรือควบคุมตัว จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาล และจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป รัฐจะต้องประกันว่าเจ้าหน้าที่ของตนเคารพสิทธิดังกล่าว นอกจากนั้นรัฐยังมีหน้าที่คุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิจากบุคคลและหน่วยงานอื่นใด และรัฐยังมีพันธกรณีตามข้อบทที่ 2 (3(a)) ของกติกา ICCPR ซึ่งกำหนดให้มี "การเยียวยาอย่างเป็นผล" สำหรับบุคคลใดๆ ที่ถูกละเมิดสิทธิตามกติกาฉบับนี้ หากรัฐไม่ดำเนินการที่เป็นผลเพื่อป้องกันพฤติการณ์ดังกล่าว และไม่สามารถเยียวยาอย่างเป็นผล รวมทั้งไม่สอบสวนและยุติการละเมิดสิทธิและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ย่อมถือว่ารัฐดังกล่าวละเมิดพันธกรณีตามกติกา ICCPR ลาวยังลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน อนุสัญญาฉบับนี้ห้ามการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยกำหนดนิยามว่าหมายถึง "การจับกุม การควบคุมตัว การลักพาตัว หรือการจำกัดอิสรภาพในรูปแบบใดโดยหน่วยงานของรัฐ หรือโดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ทำงานภายใต้ความเห็นชอบของรัฐ ได้รับความสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจโดยรัฐ และมีการปฏิเสธไม่ยอมรับว่ามีการควบคุมตัวบุคคล หรือมีการปกปิดชะตากรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้สูญหาย เป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย" รัฐจะต้องดำเนินการเพื่อสอบสวนพฤติการณ์เหล่านี้ รวมทั้งพฤติการณ์ที่คล้ายคลึงกันของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นที่กระทำการโดยไม่ได้รับความเห็นชอบ ความสนับสนุนหรือการรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และให้นำตัวผู้รับผิดชอบมาลงโทษ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
Posted: 23 Jan 2013 02:44 AM PST เกริ่นนำ
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
บล็อคเว็บประกาศคณะราษฎร: ความมืดบอดทางประวัติศาสตร์ของนักกฎหมายไทย Posted: 23 Jan 2013 02:30 AM PST กระแสความขัดแย้งทางความคิดเห็นกรณีที่ศาลยุติธรรมได้มีแผนการสร้างอาคารใหม่แทนอาคารศาลฎีกาเดิมด้วยการทุบทำลายอาคารเดิมแล้วสร้างอาคารแบบลิเกขึ้นแทนอาคารเดิมที่สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (ในเวลานั้น) เพื่อรำลึกถึงความเป็นเอกราชทางศาลของไทยที่ได้กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์หลังจากสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่มหาอำนาจตะวันตกไป ซึ่งยังเป็นคดีความที่ต้องต่อสู้กันอีกระยะเวลาอีกยาวนานระหว่างกรมศิลปากรกับศาลยุติธรรมที่ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร แต่ผู้บริหารของศาลยุติธรรมที่รับผิดชอบก็ถูกมองด้วยสายตาที่หมิ่นแคลนว่าไม่รู้จักคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของอาคารเดิมเลยหรืออย่างไร "ความวัวยังไม่ทันหาย" อีกต่อมาไม่ทันเท่าไหร่ก็มี "ความควายเข้ามาแทรก" คือ กรณีของการบล็อคเว็บไซต์ของนิติราษฎร์ในส่วนที่เป็นคำประกาศของคณะราษฎรที่เผยแพร่กันอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ทั้งในห้องเรียน ห้องสมุด ตำราเรียน และในเว็บไซต์อื่นๆ ทั่วไป ซึ่งหากเราค้นหาด้วย search engine ไม่ว่าจะเป็น Google, Yahoo หรือ Bing ก็ปรากฏขึ้นมาเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน แต่ที่น่าฉงนสนเท่ห์เป็นที่สุดก็คือเหตุใดจึงมาบล็อคเอาเฉพาะที่เว็บไซต์ของนิติราษฎร์เท่านั้นและเป็นการบล็อกด้วยคำสั่งศาลเสียด้วยสิครับ และพิจารณาดูเท่าไรๆ ก็ไม่เห็นว่ามันจะเข้าข่ายที่จะต้องถูกบล็อคตรงไหน เพราะไม่เช่นนั้นก็ต้องลบตำราทางประวัติศาสตร์ทิ้งเสียหมดเสียสิ้นหากมีส่วนใดที่ไปเกี่ยวพันกับการแย่งชิงอำนาจของการปกครองประเทศตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรีจนถึงรัตนโกสินทร์ ฯลฯ แน่นอนว่ากระบวนเริ่มต้นก่อนที่จะมีการบล็อคเว็บไซต์ก็ต้องเริ่มจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีซึ่งอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่คอยเฝ้าระวังทั่วๆ ไป เมื่อพบเหตุที่น่าสงสัยหรือมีผู้หวังดีประสงค์ร้ายแจ้งไป ก็ต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาและการที่จะเป็นคดีไปสู่ศาลได้ก็ต้องผ่านฝ่ายนิติการของหน่วยซึ่งก็ต้องเป็นนักกฎหมายและเมื่อไปถึงศาลก็ต้องมีการพิจารณาโดยผู้พิพากษาตุลาการที่เป็นนักกฎหมายอีกเช่นกัน ผลจากคำสั่งดังกล่าวนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึงว่านี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความมืดบอดทางประวัติศาสตร์ของนักกฎหมายอีกแล้ว คำว่าประวัติศาสตร์ มาจากคำว่า ประวัติ ซึ่งหมายถึงเรื่องราวความเป็นไปเป็นมา กับคำว่า ศาสตร์ หมายถึงความรู้หรือวิชาที่ว่าด้วยความรู้ เมื่อรวมกันเข้าก็จะมีความหมายถึงวิชาที่ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นไปเป็นมา ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า History ที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า Histeriai ซึ่งเป็นศัพท์ที่ Herodotus ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาของวิชาประวัติศาสตร์ได้เขียนไว้ในงานของเขาชื่อว่าสงครามเพโรเซียนเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 665 ก็ได้ให้คำนิยามความหมายของประวัติศาสตร์ไว้ว่า "ประวัติศาสตร์ คือ วิชาว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเรื่องราวของประเทศชาติเป็นต้นตามที่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน" เรารู้ประวัติศาสตร์ไปเพื่ออะไรและทำไมเราต้องอนุรักษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ คำตอบก็คือเพื่อ 1.ไม่ให้กงล้อแห่งประวัติศาสตร์มาเหยียบย่ำเพราะสิ่งที่เกิดมาแล้วในอดีต มีความสมบูรณ์ทั้งเหตุและผลในตัวเอง หากเราไม่อยากรับผลเช่นที่เกิดในอดีต ก็ต้องป้องกันที่เหตุ เช่น หากไม่ต้องการให้มีการตายจากการสังหารหมู่เกิดขึ้นก็ต้องหยุดการปลุกระดมความเกลียดชังกันระหว่างประชาชนด้วยกันจนถึงต้องลุกขึ้นมาฆ่ากันกลางถนน ไม่ว่าจะด้วยฝีมือประชาชนด้วยกันเองหรือจากเจ้าหน้าที่รัฐ ดังกรณี 6 ตุลา 19 หรือ 19 พฤษภา 53 เป็นต้น 2. เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจว่าเรามีรากเหง้า มีที่มาที่ไป ในนานาอารยประเทศทั้งหลายผู้คนของเขาพยายามสืบเสาะหารากเหง้าของตนเอง สืบเสาะถึงประวัติความเป็นมาของอาคารสถานที่ต่างๆ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อนำมาอธิบายให้ลูกหลานฟังประกอบกับสิ่งที่เป็นตัวอย่างที่ยังคงอยู่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย เพราะไม่เช่นนั้นสิ่งใหม่ๆ ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น ความเจริญเติบโตของบ้านเมืองย่อมหยุดชะงัก ประเด็นอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ด้วยกันอย่างประสมกลมกลืน ตัวอย่างเมืองใหญ่ๆ ที่มีให้เห็นก็เช่น เกียวโต หรือหลายๆ เมืองในยุโรป เป็นต้น มิใช่เอะอะก็จะทุบทิ้งลูกเดียวเช่นนี้ การรำลึกถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นั้นนอกจากจะเป็นบทเรียนมิให้กระทำผิดพลาดซ้ำอีกแล้วหากเป็นการระลึกถึงสิ่งที่ดีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์เหลืออยู่ย่อมเป็นแรงบันดาลให้แก่เพื่อมนุษย์ในการต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีกว่าต่อประเทศชาติบ้านเมืองที่สำคัญที่สุดก็คือต่อเพื่อมนุษย์ด้วยกัน จุดอ่อนของการศึกษาวิชากฎหมายไทยก็คือความคับแคบขององค์ความรู้ในสาขาวิชาอื่น เพราะระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยไทยที่มีหลักสูตรกฎหมายจะรับนักเรียนที่จบจากมัธยมปลายแล้วเข้าเรียนเป็นนักเรียนกฎหมายเลย ซึ่งแตกต่างจากหลายประเทศที่ต้องจบปริญญาสาขาใดสาขาหนึ่งมาก่อนแล้วจึงมาเรียนวิชากฎหมายต่ออีกเป็นใบที่สองแล้วจึงจะไปต่อเนติบัณฑิตหรืออะไรก็ว่าไป ฉะนั้น นักกฎหมายไทยเมื่อจบไปแล้วไปประกอบหน้าที่การงานจึงมีแต่มุมมองทางกฎหมายเท่านั้น โดยลืมไปว่าในโลกนี้ยังมีศาสตร์อื่นอีกมากมายที่จะต้องนำมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของบุคคลและสังคม ความยุ่งเหยิงในบ้านในเมืองไทยที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งจึงเป็นผลมาจากนักกฎหมายนั่นเองที่เข้าไปยุ่งกับเขาทุกเรื่อง ที่สำคัญในบางสถาบันบัณฑิตที่จบกฎหมายมาไม่เคยเรียนแม้แต่วิชาพื้นฐานทางรัฐศาสตร์เสียด้วยซ้ำไปโดยอ้างว่าไม่ได้เป็นวิชาบังคับ แต่ไปยกไปร่างกฎหมายที่สำคัญๆ ต่อการปกครองบ้านเมืองหรือรัฐเสียเยอะแยะจนปั่นป่วนไปทั่ว ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดของการที่นักกฎหมายไม่ยอมศึกษาวิชาอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประวัติศาสตร์แล้วทำให้ผลออกมาประหลาด (absurd) ก็คือ กรณีการบล็อกเว็บคำประกาศของคณะราษฎรและการทุบอาคารศาลฎีกา นั่นเอง อดีตสร้างปัจจุบันและปัจจุบันสร้างอนาคต หากเราไม่เรียนรู้จากอดีตแล้วเราจะไปสร้างอนาคตได้อย่างไรครับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
ถามเด็กโรฮิงยา-พ่อแม่ไปไหน? ไม่ตอบ! แต่เอามือปาดที่คอ Posted: 23 Jan 2013 02:21 AM PST กรรมการอิสลาม 5 จังหวัดใต้ แจ้งทุกมัสยิดขอรับบริจาคช่วยโรฮิงยาอพยพ พร้อมเรียกร้องกลุ่มประเทศมุสลิมและอาเซียนกดดันให้พม่ายอมรับเป็นพลเมือง เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556 ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดปัตตานี หรือบ้านปัตตานี ยังมีคนจากองค์กรต่างๆ จำนวนมากเข้ามาเยี่ยมและมอบสิ่งของให้แก่ชาวมุสลิมโรฮิงยาสัญชาติพม่าที่ถูกควบคุมตัวมาจาก อ.สะเดา จ.สงขลาเป็นการชั่วคราว จำนวน 22 คน ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนชาย 18 คน และหญิง 4 คน โดยเด็กๆ ชาวโรฮิงยาส่วนใหญ่มีท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใส สนทนากับผู้มาเยี่ยมซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ภาษามือ ขณะที่ยังมีบางส่วนกำลังเล่นและบางส่วนเจ้าหน้าที่กำลังสอนภาษาไทยด้วย ทั้งนี้ระหว่างการทำข่าวชาวโรฮิงยากลุ่มนี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามพูดคุยกับเยาวชนชาวโรฮิงยากลุ่มดังนี้ โดยมีเด็กคนหนึ่ง ชื่อเด็กชายนูรุล ฮุก อายุ 5 ปี พบว่า สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยพอสมควร เมื่อถามว่าไหนพ่อกับแม่ แทนที่เด็กชายคนนี้จะตอบ กลับใช้มือทำท่าทางปาดที่คอ นายทากร เหมวิเชียร หัวหน้าหน่วยงานบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ในจำนวนหญิง 4 คน เป็นมารดาอายุ 30 ปี มีลูกสาวอายุ 15 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวาน ขณะนี้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี โดยมีมารดาเฝ้าอยู่ นายทากร กล่าวว่า เด็กและเยาวชนชาวโรฮิงยากลุ่มนี้ได้รับการดูแลอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ทั้งเรื่องที่พัก อาหาร การรักษาพยาบาล และมีของเล่นให้เด็กทุกอย่าง ประกอบกับมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชนและสื่อมวลชน เดินทางมาให้กำลังใจพร้อมเครื่องอุปโภค-บริโภค และมอบเงินช่วยเหลือเท่าที่มีกำลัง "ช่วงแรกๆ ที่เด็กและเยาวชนชาวโรฮิงยากลุ่มนี้ถูกส่งมามาพักพิงที่นี่ พวกเขายังไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ เมื่อเวลาผ่านมาหลายวัน พวกเขาเริ่มสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการดูแล" นายทากร เปิดเผยด้วยว่า เยาวชนชาวโรฮิงยากลุ่มนี้เล่าถึงสาเหตุที่ต้องหนีออกมาจากบ้านเกิดที่รัฐยะไข่ ประเทศพม่าว่า เด็กและเยาวชนบางคนพ่อแม่เสียชีวิตเนื่องจากถูกทำร้ายในประเทศพม่า จึงชักชวนกันหนีออกนอกประเทศร่วมกับกลุ่มพี่น้องมุสลิมชาวโรฮิงยาอีกกว่าร้อยคนโดยใช้เรือเป็นยานพาหนะจนถึงริมฝั่งน่านน้ำจังหวัดระนอง เพื่อมุ่งหน้ามาที่ อ.สะเดา จ.สงขลา โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมตัวได้ที่ด่านพรมแดนสะเดา จ.สงขลาเสียก่อน นายทากร กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรกับชาวโรฮิงยาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ส่วนทางการของประเทศพม่าก็ไม่มีความชัดเจนเช่นกันว่าจะดำเนินการอย่างไรกับคนของตัวเองด้วยเช่นกัน กรรมการอิสลาม5จังหวัดใต้ แจ้งทุกมัสยิดขอรับบริจาคช่วย หลังการประชุมนายอับดุลเร๊าะมาน ได้แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติในเรื่องนี้ 3 ข้อ คือ 1.ขอเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ และพี่น้องมุสลิมทุกคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนให้ความช่วยเหลือแก่โรฮิงยา และขอเรียกร้องให้ประเทศมุสลิมในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนออกมาให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาด้วย 2.ขอบคุณแก่เจ้าหน้าที่จากองค์กรต่างๆ ภาคประชาสังคม และองค์กรศาสนาในพื้นที่ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงยาที่ผ่านมา และ3.ขอให้ทางรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนสิทธิทางศาสนาและสิทธิมนุษยชนแก่ชาวโรฮิงยาต่อไป นายอับดุลเร๊าะมาน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว DSJ ว่า ศูนย์ประสานงานฯ ได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการอิสลามทั้ง 5 จังหวัด ส่งหนังสือแจ้งแก่มัสยิด โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ตลอดจนสถาบันปอเนาะทุกแห่งขอรับบริจาคสิ่งของต่างๆ เช่น อาหารแห้ง เสื้อผ้า และเงิน ตามการแถลงการณ์ของสำนักงานจุฬาราชมนตรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2556 และให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการรับสิ่งบริจาคสิ่งของและเงินจากประชาชน นายอับดุลเร๊าะมาน กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงยาดังกล่าว เป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราวเท่านั้น การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุต้องเป็นหน้าที่ของสหประชาชาติ(UN) กลุ่มประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และกลุ่มประเทศมุสลิมในอาเซียน ช่วยกดดันประเทศพม่าเพื่อให้ยอมรับชาวโรฮิงยาเป็นพลเมืองของพม่าและปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาตามสิทธิมนุษยชนสากล นายอับดุลฮาเฮม หิเล เลขาธิการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ได้ส่งหนังสือแจ้งให้ขอรับบริจาคไปยังมัสยิด โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และสถาบันปอเนาะทุกแห่งในจังหวัดยะลาแล้ว โดยขอรับบริจาคมาแล้ว 2 วัน นายอับดุลฮาเฮม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีประชาชนในจังหวัดยะลานำสิ่งของมาบริจาคจำนวนหนึ่งและเงินอีกจำนวนหนึ่ง ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาจะรวบรวม และส่งมอบแก่ชาวโรฮิงยาต่อไป ทั้งนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจังหวัดยะลาจะดำเนินการรับบริจาคถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
ท่าทีจากอียู-ฮิวแมนไรท์วอชท์-เอไอ-องค์กรแรงงาน ต่อ 'คำพิพากษาสมยศ' Posted: 23 Jan 2013 12:52 AM PST สหภาพยุโรปเชื่อคำตัดสินกระทบเสรีภาพในการแสดงความเห็น-เสรีภาพสื่อ ไอเอจี้ปล่อยสมยศและนักโทษทางความคิดคนอื่นๆ ฮิวแมนไรท์วอทช์มองผ่านคำตัดสินคดี ความแตกแยกทางการเมืองไทยเกินเยียวยา องค์กรรณรงค์ด้านแรงงานหวั่นเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองในอนาคต สหภาพยุโรปเชื่อคำตัดสินกระทบเสรีภาพในการแสดงความเห็น-เสรีภาพสื่อ "คณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ มีความเป็นห่วงต่อคำพิพากษาของศาลในการตัดสินจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเวลา 10 ปี โดยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คำพิพากษาดังกล่าวมีผลอย่างมากต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน ในขณะเดียวกันคำตัดสินดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นสังคมแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย ทางสหภาพยุโรปขอเรียกร้องให้ทางการไทยกำหนดข้อจำกัดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วยมาตรการที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการรักษาไว้ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนสากล"
อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า "เป็นคำตัดสินแบบถอยหลังเข้าคลอง ศาลตัดสินว่านายสมยศมีความผิดเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ ทางการควรจะปล่อยตัวเขาโดยทันที" "เราเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนายสมยศและนักโทษทางความคิดทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข และทางการต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายสมยศสำหรับการคุมขังในระหว่างรอการไต่สวน "ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการไทยได้เพิ่มการใช้กฎหมายต่างๆ รวมทั้งกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อปราบปรามเสียงที่เห็นต่าง และคุมขังนักโทษทางความคิด ดังนั้น ควรมีการพักการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยทันที และให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย" โดยตามกฎหมายฉบับนี้ การแสดงความเห็นหรือการกระทำใด ๆ ที่มีลักษณะที่ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีสำหรับแต่ละกระทง ถือเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) และไทยให้สัตยาบันรับรองกติกาดังกล่าวตั้งแต่ปี 2539 องค์กรรณรงค์ด้านแรงงานหวั่นเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองในอนาคต คำตัดสินดังกล่าวได้ละเมิดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยได้ให้สัตยาบันไว้ ปัจจุบันประเทศไทยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขอให้พึงระลึกว่ากฎบัตรสหประชาชาติได้ระบุให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครในการธำรงรักษาความสงบและความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมถึงเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน หากประเทศไทยยอมรับพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศในการเคารพและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน คำตัดสินที่ไม่เป็นธรรมต่อสมยศจะต้องถูกยกเลิกในชั้นอุทธรณ์ นอกจากนี้ ในชั้นอุทธรณ์ สมยศควรได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อที่เขาจะได้พบกับครอบครัว เข้ารับการรักษาพยาบาล และเตรียมการต่อสู้คดีได้อย่างเพียงพอด้วย "มีนักโทษการเมืองหนึ่งคนก็ถือว่ามากเกินไปแล้ว" แถลงการณ์ระบุและเรียกร้องต่อประเทศไทย ให้ปล่อยตัวสมยศ และผู้ถูกคุมขังคนอื่นๆ ในคดีการเมือง รวมถึงยุติการคุกคามต่อพวกเขาทุกรูปแบบด้วย
ฮิวแมนไรท์วอทช์มองผ่านคำตัดสินคดี ความแตกแยกทางการเมืองไทยเกินเยียวยา ตำรวจ อัยการ ศาล และเจ้าหน้าที่รัฐมักไม่กล้าปฏิเสธการรับฟ้องคดีลักษณะนี้ เนื่องจากกลัวข้อครหาว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เรียกร้องมาอย่างยาวนานให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ไม่ให้ปัจเจกบุคคลสามารถฟ้องคดีได้ เนื่องจากไม่มีปัจเจกคนใดได้รับอันตราย โดยที่ผ่านมา บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมักใช้มาตรานี้ในการเล่นงานทางการเมือง "ธรรมชาติทางการเมืองของการดำเนินคดี เห็นได้จากวิธีที่สมยศถูกกระทำโดยถูกควบคุมตัวมากว่า 20 เดือน" อดัมส์ กล่าวและว่า คำตัดสินและโทษของสมยศควรถูกพิจารณาในฐานะสัญญาณว่าความแตกแยกทางการเมืองที่ร้าวลึกของไทยนั้นยากจะเยียวยา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
Posted: 22 Jan 2013 09:45 PM PST ปัจจุบันมีกระแสการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกระพือโหมจนบางคนเข้าใจว่าเมื่อถึงปี 2558 คนทั้งอาเซียนลื่นไหลอยากไปประเทศไหนทำงานอะไรก็ไปได้สะดวกตามใจ แต่ความจริงไม่ง่ายขนาดนั้น และมีคำถามว่าโอกาสของแรงงานไทยในประชาคมอาเซียนนั้นมีมากน้อยแค่ไหน แรงงานกลุ่มไหนที่ได้ประโยชน์ และทำอย่างไรจึงจะฉวยประโยชน์นั้นได้ ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปัญหาหนึ่งของตลาดแรงงานไทยคือความไม่สมดุลของโครงสร้างแรงงาน ความไม่สมดุลของตลาดแรงงานทั้งระดับล่างและระดับบน ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ ขาดแคลนแรงงานระดับล่าง (ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) แต่มีแรงงานส่วนเกินระดับอุดมศึกษาอยู่มาก และมีปัญหาคุณภาพแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งตลาดแรงงานอาเซียนน่าจะช่วยดูดซับแรงงานส่วนเกินของไทยกลุ่มนี้ได้ เนื่องจากภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเน้นการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ (ซึ่งหมายถึงแรงงานกลุ่มบน) หรือแรงงานวิชาชีพ โดยไม่ได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานระดับล่าง ตัวอย่างปัญหาแรงงานระดับบนของไทย เช่น ในปี 2551 มีแรงงานระดับอนุปริญญาขึ้นไปประมาณ 5.1 ล้านคน มีการออกจากแรงงานเพียงประมาณปีละ 8.2 หมื่นคน แต่เราผลิตแรงงานใหม่ระดับนี้ออกมา 3.1 แสนคน ทำให้มีแรงงานส่วนเกินในระดับนี้มากกว่า 2.3 แสนคนต่อปี และเฉพาะแรงงานระดับปริญญาตรี ในปี 2551 มีแรงงานระดับปริญญาว่างงานประมาณ 1.4 แสนคน ปี 2552 จำนวน 1.6 แสนคน และในปี 2553 จำนวน 1.3 แสนคน และยังคงว่างงานสะสมต่อเนื่องมากกว่าปีละแสนคน ดังนั้นเมื่อโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานทำได้ยากเนื่องจากความต้องการมีจำกัด ตลาดแรงงานอาเซียนจึงเป็นโอกาสของแรงงานระดับสูงของไทยที่จะเข้าไปแข่งขันในการทำงานได้ ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจเจตนารมณ์ของ AEC Blueprint สำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือโดยเสรีคือ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การค้าการลงทุนเสรี 4 ประการ ได้แก่ การค้าเสรี การบริการเสรี การลงทุนเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี ซึ่งการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรียังไม่ใช่ประเด็นหลักของอาเซียนและการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรีในกรอบของเออีซี (AEC) ไม่ใช่ใครนึกอยากจะหิ้วกระเป๋าข้ามชาติไปหางานในอาเซียนเมื่อไรก็ได้ แต่มีกฎ กติกา ที่ต้องปฏิบัติซึ่งทำให้มองไม่ชัดว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือภายใต้กรอบอาเซียนมีความได้เปรียบการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศที่เป็นอยู่อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อประเทศไทยและอาเซียนมีความตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆ อีกเกือบทั่วโลก ส่วนกรณีของ MRAs นั้นเป็นการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ โดยต้องเป็นการเคลื่อนย้ายเฉพาะแรงงานฝีมือและต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน MRAs ของอาเซียนซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามใน MRAs ไปแล้ว 7 วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักสำรวจ และนักบัญชี และ 1 กลุ่มอาชีพคือการท่องเที่ยว แต่อุปสรรคของการเคลื่อนย้ายแรงงานกลุ่มนี้ คือ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
นักกิจกรรมแนวร่วมแดงร้อง พท. ปลด โฆษก ปธ.สภา เหตุค้านนิรโทษกรรมมวลชน Posted: 22 Jan 2013 09:42 PM PST เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยร้องเพื่อไทยปลดโฆษกประธานรัฐสภาหลังแสดงความเห็นค้านนิรโทษกรรมมวลชนทุกฝ่าย ชี้เมื่อประชาชนเสนอความเห็นต้องรับฟังตามกระบวนการก่อน เจ้าตัวแถลงช่วยเหลือทุกอย่าง ไม่ทราบไปขัดใจในเรื่องอะไร 22 ม.ค. 56 – เวลา 11.00 น. บริเวณหน้าที่ทำการใหญ่พรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วมเสื้อแดง ประมาณ 20 คน นำโดยนางสาวจิตรา คชเดช ชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือประท้วงพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ปลดนายวัฒนา เซ่งไพเราะ ออกจากตำแหน่งโฆษกประธานรัฐสภา หลังออกมาแสดงความเห็นค้านการนิรโทษกรรมประชาชนระดับมวลชนทุกฝ่าย ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เสนอ พ.ร.ก. นิรโทษกรรม สำหรับผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ ปี 50 – 54 โดยนายวัฒนาชี้ว่าขัดหลักการกฎหมาย เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย มองว่า พฤติกรรมของนายวัฒนา การแสดงออกซึ่งมีแนวคิดทรยศต่อประชาชนและบิดเบือนแนวทางคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนของพรรคเพื่อไทย สร้างความเสียหายและเสื่อมเสียต่อมวลชนที่ไว้วางใจการแก้ปัญหาด้านความอยุติธรรมที่เป็นพันธกิจของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างมาก หากปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้ผ่านเลยไป เกรงว่าจะสร้างความเกลียดชังของมวลชนเสื้อแดงต่อพรรคเพื่อไทยมากเข้าไปอีก และพฤติกรรมในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองลักษณะแบบนี้มีหลายครั้งและไม่เป็นที่พอใจของประชาชนที่เป็นฐานเสียงของพรรคบ่อยครั้ง โดยเครือข่ายนักกิจกรรมฯ ยังเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยหาบุคคลที่มีความเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งนี้แทน รวมทั้งการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งอื่นๆ นอกจากต้องคำนึกถึงคุณสมบัติแล้วยังต้องคำนึกถึงคนที่รักประชาธิปไตย ไม่ฝักใฝ่เผด็จการ โปร่งใสและมีทัศนะคติสอดคล้องกับนโยบายของพรรค พร้อมกำชับให้พรรคหมั่นตรวจสอบการทำงานของคนที่ถูกแต่งตั้งให้รับตำแหน่งทางการเมือง เพื่อจะได้คนที่ทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เวลาประมาณ 13.00 น. พรรคเพื่อไทยได้ส่งนายพิทักษ์ ธวัชชัยนันท์ หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมารับหนังสือ พร้อมรับปากจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาภายใน 7 วัน นายพิทักษ์ ธวัชชัยนันท์ รับหนังสือ นางสาวจิตรา คชเดช กล่าวชี้แจงด้วยว่า ผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อมีประชาชนรวมกันเสนอความคิดเห็น การที่มีตำแหน่งอย่างโฆษกประธานสภาก็ควรรับเรื่องไปพิจารณาตามกระบวนการก่อน ไม่ควรรีบออกมาแสดงความเห็นค้าน หากแสดงความเห็นในนามส่วนตัวก็จะไม่มีปัญหา แต่นี่เป็นการแสดงความเห็นในฐานะโฆษกประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ นายนิธิวัต วรรณศิริ นักร้องนำวงไฟเย็น กล่าวเสริมด้วยว่า "ถ้าคุณวัฒนาพูดในเชิงส่วนตัว วันนี้เราก็จะไม่มี แต่ว่าคุณวัฒนาใช้ห้องของสภาผู้แทน ซึ่งคุณวัฒนาเป็นถึงโฆษกของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ การบอกว่าคิดเร็วไปหน่อยแล้วออกมาพูดนั้น เป็นหลักการที่ผิด เพราะจะกลายเป็นการใช้ความคิดเห็นส่วนตัวโดยใช้ตำแหน่งโฆษกประมุขฝ่ายนิติบัญญัติได้ จึงขอให้ปรับปรุงแก่ไข" สำหรับการทำกิจกรรมในครั้งนี้นางสาวจิตรา เปิดเผยว่าเป็นการนัดกันทางเฟซบุ๊ก และทางกลุ่มเตรียมมาทวงถามความคืบหน้าภายใน 7 วัน พร้อมย้ำด้วยว่าทางกลุ่มตนไม่ได้พูดถึงข้อเสนอการนิรโทษกรรมของทั้งทางคณะนิติราษฎร์หรือ นปช. แต่เราพูดถึงว่าคุณวัฒนา ไม่ควรออกมาคัดค้านการนำเสนอการนิรโทษกรรมหรือความคิดเห็นของประชาชนในส่วนต่างๆ เขาควรจะรับฟังการเสนอตามตำแหน่ง เพื่อให้เข้าสู่กลไกปกติของรัฐสภา ทั้งนี้กรณีที่นายวัฒนา ค้านการนิรโทษกรรม แต่เสนอให้ใช้กระบวนการปกตินั้น นางสาวจิตรา แย้งว่าตั้งแต่รัฐประหารปี 49 กระบวนการยุติธรรมปกติมันมีปัญหาจนนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมที่เรียกว่าระบบ 2 มาตรฐาน ดังนั้นเพื่อคานอำนาจของฝ่ายตุลาการหรือกระบวนการยุติธรรมก็คือการใช้การออกกฎหมายโดยรัฐสภา เช่น คนที่กระทำความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองก็สามารถนิรโทษกรรมได้ เป็นต้น ภายหลังจากที่ผู้ชุมนุมยืนจดหมาย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ได้แจ้งกับผู้ชุมนุมด้วยว่า ได้มีการแจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังนายวัฒนา เซ่งไพเราะ แล้ว ซึ่งนายวัฒนา ได้รับปากว่าจะออกมาแถลงขอโทษที่รัฐสภา บ่ายวันที่ 23 ม.ค.นี้ พร้อมแจ้งด้วยว่าก่อนหน้านี้ก็ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองแล้ว โดยผู้ชุมนุมได้กำชับกับ ดร.จารุพรรณ ด้วยว่าการชี้แจงหรือขอโทษต้องผ่านสื่อที่เท่าหรือเหมือนกับเมื่อตอนออกมาแสดงความเห็นคัดค้านด้วย ภาพการชุมนุมบริเวณหน้าที่ทำการใหญ่พรรคเพื่อไทย ล่าสุดวันนี้ (23 ม.ค.) มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประจำตัวนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา แถลงข่าวชี้แจงกรณีถูกกลุ่มคนเสื้อแดง ในนามเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมประชาธิปไตย ร้องเรียนให้ปลดออกจากตำแหน่งโฆษกประจำตัวของนายสมศักดิ์ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมทางการเมืองและบิดเบือนแนวทางทางเป็นธรรมให้กับประชาชน ซึ่งนายวัฒนาชี้แจงว่า ได้ทำทุกอย่างในการช่วยเหลือและคอยประสานให้ทุกอย่าง โดยไม่ทราบว่าไปขัดใจในเรื่องอะไร ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
Posted: 22 Jan 2013 09:12 PM PST ๏ ตราชูอยู่ใต้ภาพ บังคับกราบบังคับกลัว บังคับให้รักตัว จึงจำตรุเอาตรวนตี ตราชูไม่มีตา ก็เหมือนฟ้าไม่ปรานี เอาแต่บดขยี้ ให้แหลกเหลวลงกับดิน จำแต่ต้องอุทธรณ์ ต่อทั่วทั้งธรณินทร์ สามโลกจงได้ยิน ยิ่งบังคับยิ่งชิงชัง๚ ๏ ให้คนนอบนบประนัง ขลาดกลัวหัวฝัง ฟาดแส้ลงทัณฑ์กฎหมาย ปิดตาปิดหูปิดตาย โลกร้องเรียงราย ไม่เห็นไม่มองไม่ยิน เพราะอยู่ใต้ภาพชาชิน จึงเลื่องระบิล กดข่มกฎคลั่งสั่งไป๚ ๏ เมื่อข่มเหงหัวใจให้หมอบกราบ วันหนึ่งภาพบนนั้นจักตกใต้ เมื่อความรักสุมขอนด้วยฟอนไฟ ไม่นานดอกลุกไหม้ - เผาตัวเอง.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น