โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สหภาพแรงงาน 'การบินไทย' ปักหลักชุมนุม ร้องขึ้นเงินเดือน-โบนัส

Posted: 19 Jan 2013 10:26 AM PST

กลุ่มพนักงานการบินไทยชุมนุมเรียกร้องผู้บริหาร ขอให้ปรับขึ้นเงินเดือนร้อยละ 7.5 และโบนัส 2 เดือน ขณะที่ รมว.คมนาคม คาดโทษกลุ่มพนักงานที่เข้าร่วมชุมนุมอย่างเด็ดขาด

(19 ม.ค.56) กลุ่มพนักงานการบินไทยปักหลักชุมนุมที่บริเวณอาคารปฏิบัติการภาคพื้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังคงเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารปรับขึ้นเงินเดือนร้อยละ 7.5 และโบนัส 2 เดือน นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้นายอำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลาออกจากตำแหน่ง ผลกระทบจากการชุมนุมยังทำให้กระเป๋าของผู้โดยสารล่าช้า และตกค้างเกือบ 1 ชั่วโมง

บรรยากาศตลอดทั้งวัน พบมีกลุ่มพนักงานบริษัทการบินไทยในแต่ละแผนกต่างเดินทางมาสลับสับเปลี่ยนหมุนเข้าร่วมชุมชนกันอย่างคึกคัก โดยที่ชุมนุมร้องรำทำเพลงกันอย่างคึกคัก สลับกับการกล่าวโจมตีผ่านเครื่องขยายเสียงของกลุ่มแกนนำสหภาพรัฐวิสาหกิจการบินไทย ถึงการบริหารงานผิดพลาดของนายอำพน พร้อมโห่ร้องให้นายอำพน ลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นระยะๆ

นางแจ่มศรี สุขโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กล่าวว่า พนักงานการบินไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพประมาณ 15,000 คน และการชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการประท้วงหยุดงานนายจ้างให้เกิดการเสียหายต่อบริษัท แต่เป็นการชุมนุมเรียกร้องผลประโยชน์ที่พนักงานควรได้รับเงินปันผลตอนแทนประจำปี ขณะเดียวกันบางแผนกยังคงมีทำงานตามปกติ โดยยังคงทำงานให้กับบริษัทสายการบินต่างประเทศซึ่งเป็นลูกค้าบริษัทการบินไทย เว้นแต่เครื่องของการบินไทยที่พนักงานแผนกลากเครื่องบินไปยังจุดรันเวย์จะหยุดหมด

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เร่งเจรจากับพนักงานที่ร่วมชุมนุม พร้อมคาดโทษหากพนักงานละทิ้งหน้าที่เข้าร่วมชุมนุม ทำให้กระทบต่อผู้โดยสารและเที่ยวบิน จะลงโทษอย่างเฉียบขาด ซึ่งจากรายงานทราบว่า มีเที่ยวบินล่าช้าจากปกติประมาณ 10-15 นาที

ด้านนายอำพน ชี้แจงว่า ผลประกอบการของการบินไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยกำไรสุทธิจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งนำมาจ่ายเป็นโบนัสให้กับพนักงาน ส่วนที่ 2 จ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และส่วนที่ 3 นำกำไรที่ได้ไปขยายการลงทุน ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้บริหารเร่งชี้แจงให้พนักงานทราบ


สำหรับการชุมนุมดังกล่าว เริ่มเมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 มกราคม โดยมีกลุ่มพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประมาณ 500 คน รวมตัวกันชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าตึกปฏิบัติการภาคพื้นดิน การบินไทย ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากไม่พอใจมติคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) การบินไทย ประกาศให้โบนัสพนักงาน ปี 2555 แค่ 1 เดือน พร้อมกับปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานไม่เกิน 4% ขณะที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ขึ้นเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 7.5% สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ประกอบการขาดทุนนั้น ปรับขึ้นเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 6.5% โดยในส่วนของโบนัสนั้น ทางกลุ่มผู้ชุมนุมมองว่าไม่เป็นไปในทางเดียวกับผลประกอบการของปี 2555 ที่มีการประกาศออกมาก่อนหน้านี้ว่า มีผลกำไรสุทธิกว่า 7,000 ล้านบาท โดยพนักงานการบินไทยที่เข้าร่วมประท้วงรายหนึ่งแจ้งว่า มติบอร์ดที่ออกมาไม่สอดคล้องกับผลประกอบการอย่างชัดเจน เพราะในปีที่บริษัททำกำไรถึง 10,000 ล้านบาท มีการประกาศโบนัสให้พนักงานถึง 3 เดือน ดังนั้น การที่ผลกำไรล่าสุดกว่า 7,000 ล้านบาท พนักงานควรได้รับผลตอบแทนโบนัส 2 เดือน

ขณะที่นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาบอร์ดการบินไทยได้แจ้งผลรายรับให้กับพนักงาน โดยเมื่อปี 2552 บริษัทมีผลกำไรประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนสถานการณ์ในปี 2555 บริษัทมีผลกำไรคล้ายกับปี 2552 แต่ผลตอบรับที่ทางบริษัทให้กับพนักงานกลับไม่สอดคล้องกัน พนักงานจึงรวมตัวประท้วง ที่ผ่านมายื่นเรื่องกับผู้บริหารแล้วไม่มีการตอบรับ

 

ที่มา: สำนักข่าวไทย และมติชนออนไลน์ 1, 2

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พานทองแท้' ฟ้อง 'ผู้จัดการ' หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ กรณีกล่าวหาเบื้องหลังถอด 'เหนือเมฆ 2' ที่อุดรฯ

Posted: 19 Jan 2013 09:35 AM PST

พานทองแท้ ชินวัตร ส่งทนายแจ้งความ สภ.เมืองอุดรธานี ให้ดำเนินคดีกับ ผู้บริหารเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ข้อหาหมิ่นประมาทและความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการกล่าวหาว่า พานทองแท้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการถอดละครเรื่อง เหนือเมฆ 2  ออกจากรายการของช่อง 3

(19 ม.ค.56) เมื่อเวลา 09.30 น. นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ สส.เพื่อไทย เขต 6 จ.อุดรธานี และ นายวรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความรับมอบอำนาจจากนายพานทองแท้ ชินวัตร พร้อมหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2556 ที่มีการพิมพ์ข้อความทำให้นายพานทองแท้ฯ เสียหาย เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.อ.โกวิท เจริญวัฒนศักดิ์  ผกก.สภ.เมืองอุดรธานี พ.ต.ท.ธานินท์ อินทร์กอง พงส.(สบ.2)  สภ.เมืองอุดรธานี ให้ดำเนินคดีกับ ผู้บริหารเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ข้อหาหมิ่นประมาทและความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

นายนรวิชญ์ ทนายความ เปิดเผยว่า  หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2556 ได้ตีพิมพ์กล่าวหาว่า นายพานทองแท้  หรือ โอ๊ค ชินวัตร ลูกชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการถอดละครเรื่อง เหนือเมฆ 2  ออกจากรายการของช่อง 3 ทั้งที่นายพานทองแท้ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ดังนั้น นายพานทองแท้ จึงได้มอบอำนาจให้ตน มาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้บริหารของเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ในข้อหา "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550" โดยเป็นการมาแจ้งเฉพาะที่ จ.อุดรธานีก่อน ส่วนจะมีการแจ้งความที่อื่น ก็อยู่กับนายพานทองแท้ฯตัดสินใจ

นายเกียรติ์อุดม เปิดเผยว่า ได้อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และในเว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการ เพื่อติดตามเนื้อหาข่าวของสื่อตรงข้าม ซึ่งเอเอสทีวีก็อยู่ตรงข้ามกันมาตั้งแต่กฎอัยการศึก ตั้งแต่ยังไม่เป็น ส.ส. พออ่านเจอ หัวข้อข่าว  "จิตตนาถ" ซัด "โอ๊ค" ไอ้โม่งถอด "เหนือเมฆ 2 " ผู้บริหารรับเสียงอ่อย ไล่ "มาลีนนท์" คืนช่อง 3 ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2556 และเว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการ - Manager Online  เนื้อข่าวเขียนในทำนองเหมือนกับว่านายพานทองแท้ไปแทรกแซงแบนละครเหนือเมฆ

"ผมโทรศัพท์ไปถามทีมงานคุณโอ๊ค จึงทราบว่าคุณโอ๊คไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยว กับละครเหนือเมฆ 2 เลย มันเป็นแนวความคิด การเล่นละคร นั้นมันเป็นแนวธรรมชาติ โดยคุณโอ๊ค ในฐานะเคยมาช่วย หาเสียงให้ผม และลูกชายผม ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณกับผมมาก ผมคิดว่าข่าวนี้มันน่าจะเสียหาย จึงได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับคุณโอ๊ค เมื่อท่านได้รับทราบเหตุผลจากผม จึงทำหนังสือมอบอำนาจให้ทนายความมาแจ้งความ ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็น จ.อุดรธานี ตอบได้ว่า เพราะคนอุดรฯ รักคุณโอ๊คมาก"

 


ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึกคำบอกเล่าจากจำเลย : ‘สายชล แพบัว’ ผู้ต้องหาเผาเซ็นทรัลเวิลด์

Posted: 19 Jan 2013 08:23 AM PST

 

สายชล แพบัว เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ (Central World – CTW) เหตุเกิดเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 เขาถูกจับกุมตัวหลังจากนั้นไม่นานและถูกคุมขังมาจนปัจจุบัน ทุกวันนี้เขาอยู่ที่เรือนจำพิเศษหลักสี่ร่วมกับผู้ต้องขังเสื้อแดงในคดีเกี่ยวเนื่องทางการเมืองคดีอื่นๆ

คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์นี้มีผู้ต้องหาร่วมกันอีกคนหนึ่งคือ พินิจ จันทร์ณรงค์ รวมถึงเยาวชนอีก 2 คน ซึ่งได้รับการประกันตัวและต่อมาศาลเยาวชนได้พิพากษายกฟ้องไปเมื่อ 12 ธันวาคม 2555  (อ่านที่ ศาลยกฟ้อง 2 เยาวชน จำเลยคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ เจ้าตัววอนเยียวยา "เรียนและงาน") เยาวชนทั้งสองยังโดนข้อหาปล้นเซ็นทรัลเวิลด์ด้วยแต่ภายหลังศาลก็สั่งยกฟ้องเช่นกัน (อ่านที่ ยกฟ้อง 2 เยาวชน คดีปล้นเซ็นทรัลเวิลด์ ปี 53-ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอกำหนดโทษ 1 ปี) ขณะที่คดีปล้น จำเลยที่เป็นผู้ใหญ่อีก 7 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิง 2 คนถูกขังยาว 1 ปีครึ่งก่อนศาลจะพิพากษายกฟ้อง (อ่านที่ ยกฟ้อง! เสื้อแดงปล้น CTW ฝ่าฝืนพ.ร.ก.สั่งจำคุกครึ่งปี หลังถูกขังปีครึ่ง)

วันที่ 21 ม.ค.ที่อาญากรุงเทพใต้ สายชลจะขึ้นเบิกความด้วยตนเอง หลังจากคดีนี้สืบพยานมาแล้วหลายครั้ง เขาเป็น 'คนสนามหลวง' ที่เข้ามาอยู่ร่วมขบวนการทางการเมืองเหมือนอีกหลายๆ คน เราจึงพยายามพูดคุย เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเขาเพื่อให้รู้ถึงที่มาที่ไป ไม่เพียงเฉพาะเรื่องราวในคดี แต่รวมถึงชีวิตของเขาด้วย

สายชล แพบัว เป็นชาวอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เขาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะไม่ชอบเรียนหนังสือ แม้มารดาของเขาจะบังคับให้ไปเรียนหนังสือ แต่เขาก็มักหนีออกจากโรงเรียนเป็นประจำจึงทำให้เขาเรียนไม่จบ เขายังจำวัน-เดือน-ปีเกิดของตนเองไม่ได้ ต้องดูจากบัตรประจำตัวประชาชนและเขาก็ไม่มีบัตรอยู่กับตัวในวันที่เราเข้าไปเยี่ยมและพูดคุย

เขาเล่าว่า บิดาของเขาเสียชีวิตหลายปีแล้ว ต่อมามารดาของเขาก็เสียชีวิตอีก เขาจึงเป็นเด็กกำพร้าต้องไปอาศัยอยู่กับลุง ช่วงวัยรุ่นเขามักทะเลาะกับลุงเป็นประจำ จนวันหนึ่งเกิดทะเลาะกันอย่างรุนแรง เขาตัดสินใจที่จะไปตายดาบหน้า พอดีวันนั้นแถวบ้านของเขามีคนที่กำลังจะขับรถยนต์เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพ เขาจึงตัดสินใจติดรถมาด้วยโดยไม่มีเงินติดตัวเลยแม้แต่บาทเดียว

เมื่อรถยนต์มาถึงกรุงเทพ เพื่อนบ้านผู้เอื้อเฟื้อส่งเขาลงที่หมอชิต นี่เป็นครั้งแรกที่เขาเดินทางเข้ากรุงเทพ ก่อนหน้านี้เขาเคยได้ยินว่าคนไม่มีบ้านจะไปนอนกันที่สนามหลวง เขาจึงต้องการไปอยู่ที่สนามหลวง โดยการเดินเท้าและถามทางไปเรื่อยๆ ใช้เวลาเดินทางอยู่หลายวัน

เขาบอกว่า ด้วยความที่ไม่มีเงินเขาจึงไม่ได้กินอะไรมาหลายวัน แต่ก็ยังไปไม่ถึงสนามหลวงซักที ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจเดินเข้าไปร้านอาหารแห่งหนึ่งเพื่อขออาหารกินประทังชีวิต โดยแลกกับการทำงานล้างจาน เจ้าของร้านผู้ใจดีไม่ขัดข้อง ให้เขากินอาหารฟรี แลกกับการล้างจานกองโต เขาล้างจานกองโตทั้งหมด เจ้าของร้านชักชวนให้เขาปักหลักเป็นเด็กล้างจานที่นี่เพื่อที่จะได้มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง แต่เขาปฏิเสธ เป้าหมายของเขาคือสนามหลวงเท่านั้น เพราะเขาอยากจะไปนอนที่สนามหลวง เจ้าของร้านจึงให้เงินเขา 500 บาทเป็นค่าแรงสำหรับวันนั้น

หลังจากเดินเท้าหลายวันในที่สุดก็มาถึงสนามหลวง เขานอนอยู่สนามหลวงหลายวันโดยไม่มีรายได้ใดๆ ช่วงแรกเขาจะเดินทางไปหาน้าซึ่งทำงานอยู่ในโรงงานแถวจ.นนทบุรี เพื่อขอเงินครั้งละ 300-400 บาท เขามักเรียกน้าคนนี้ว่า "แม่" ซึ่งอาจเพราะเป็นญาติที่ใกล้ชิดและช่วยเหลือเขามากที่สุด แม้น้าจะชวนให้เขากลับไปอยู่กับลุงที่จังหวัดชัยนาทหลายครั้ง แต่เขาปฏิเสธ เพราะไม่อยากทะเลาะกับลุงอีก

วันร้ายคืนร้ายเกิดเหตุการณ์ฆาตรกรรมขึ้นบริเวณท้องสนามหลวง ผู้เสียชีวิตถูกวัยรุ่นคู่อริแทงตาย บังเอิญเขาอยู่ในบริเวณดังกล่าว ตำรวจจึงจับตัวเขาในข้อหาฆาตรกรรม เขาต้องติดคุกอยู่นานหลายเดือน จนในที่สุดศาลก็พิพากษายกฟ้อง เพราะเป็นการจับผิดตัว เขาจึงได้รับอิสรภาพ เขาว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขากลัวตำรวจเป็นที่สุด

เขาเล่าต่อถึงเส้นทางอาชีพขายน้ำของเขาว่า วันหนึ่งผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของรถเข็นขายน้ำดื่ม-น้ำอัดลมแถวสนามหลวงมาชักชวนเขาให้มาช่วยขายน้ำดื่ม เธอเป็นเจ้าของรถเข็นหลายคัน ต้องการขยายสาขา โดยให้ค่าแรงเขาวันละ 300 บาท พร้อมอาหารและที่พัก เขาจึงตัดสินใจรับงานทันที โดยขายอยู่บริเวณฝั่งตรงข้าม ม.ธรรมศาสตร์

ช่วงแรกเจ้าของรถเข็นจะเป็นคนขายและให้เขาช่วยขาย หลังจากอยู่ตัว เธอก็ให้อีกคนมาช่วยกันขาย และเธอไปขายที่อื่นต่อ การขายของมี 2 กะ เขาเลือกกะตอนกลางวัน ส่วนเพื่อนอีกคนเลือกกะตอนกลางคืน การค้าไม่แน่ไม่นอน บางวันขายดี บางวันขายไม่ดี แต่ยังไงเขาก็ยังได้อาหาร 3 มื้อและที่พัก ส่วนค่าแรงจะได้เฉพาะวันที่ขายเท่านั้น

ปี 2548 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จัดชุมนุมที่สนามหลวงช่วงกลางคืน เขาบอกว่าเขาไม่ชอบ พธม. จึงไม่เคยไปขายของช่วงเวลานั้น แม้ว่าจะมีคนเยอะก็ตาม นอกจากนี้เขาไปได้ยินมาว่าคนที่เข้าไปในม็อบจะถูกกักตัวไม่ให้ออกมา เขาจึงยิ่งไม่อยากเข้าร่วม

หลังรัฐประหาร ปี 2549 กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการจัดปราศรัยที่สนามหลวงเป็นประจำทุกวันเสาร์ เขาเข้าร่วมฟัง และไปขายของเกือบทุกครั้ง โดยแลกกะกับเพื่อน บางครั้งกลุ่มคนที่ต่อต้านการรัฐประหารจัดชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เขาก็จะเข็นรถเข็นเข้าร่วมด้วย

เดือนมีนาคม 2553 แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เขากับเพื่อนเข็นรถเข็นมาปักหลักขายที่ถนนสายนี้โดยตลอด หลังสลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 นปช. รวมตัวกันที่สี่แยกราชประสงค์ เขาและเพื่อนก็ตามไปขายของที่สี่แยกราชประสงค์อีก

ต่อมารัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เขาและเพื่อนไม่สามารถเข้าไปขายของบริเวณสี่แยกราชประสงค์ได้ จึงต้องย้ายกลับมาขายของที่สนามหลวงเหมือนเดิม วันที่ 19 พ.ค. 53 เขายืนยันว่า เขาไม่ได้เข้าไปในบริเวณสี่แยกราชประสงค์แต่อย่างใด หลังเหตุการณ์สงบลงเขาและเพื่อนยังคงขายของอยู่ที่สนามหลวงบริเวณฝั่งตรงข้าม ม.ธรรมศาสตร์ เหมือนเดิม

เขาเล่าว่า ผ่านไปหลายเดือน วันหนึ่งขณะที่เขากำลังจะเดินไปกินข้าวเที่ยง มีชายกลุ่มหนึ่งกว่า 10 คนเดินมาถามเขาว่า เขาใช่ 'สายชล แพบัว' หรือไม่ ตอนนั้นเขารู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลจึงปฏิเสธว่า ไม่ใช่ ชายกลุ่มนั้นจึงปล่อยตัวเขาไป เขารีบเดินไปที่ถนนและเรียกรถแท็กซี่เพื่อหลบหนี แต่ชายกลุ่มนั้นเดินไปถามโสเภณีหญิงคนหนึ่ง โสเภณีหญิงคนนั้นรู้จัดเขาจึงชี้นิ้วมาที่เขาซึ่งกำลังจะขึ้นรถแท็กซี่ ชายกลุ่มนั้นรู้ทันทีว่า เขากำลังจะหลบหนี เขาจึงเรียกรถแท็กซี่ให้รีบออกโดยเร็ว ชายกลุ่มนั้นขับมอเตอร์ไซด์ติดตามรถแท็กซี่ และตัดหน้ารถแท็กซี่เพื่อให้แท็กซี่จอด หลังจากแท็กซี่จอดชายกลุ่มนั้นแสดงตัวเป็นตำรวจ ก่อนเปิดประตูรถและลากเขาออกมาจากรถแท็กซี่
ตำรวจสั่งให้เขาหมอบลงกับพื้น แต่เขาปฏิเสธ ตำรวจจึงจับเขากดหัวลงกับพื้นและรุมกระทืบเขาหลายครั้งต่อหน้าผู้คนที่มองดูเขาอยู่สองข้างถนน

  "มึงวางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์ใช่ไหม !!!!"
   "ไม่ใช่ผม"

เขาบอกว่า ตำรวจจับเขาใส่กุญแจมือและพาตัวเขาไปยังรถกระบะซึ่งจอดอยู่หน้า ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อพาไป สน.ชนะสงคราม เขาถูกนำตัวเข้าไปในห้องสอบสวน โดยในห้องมีตำรวจสอบสวน 2 คน ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มตำรวจที่ถามหาเขา เขาโดนยึดโทรศัพท์มือถือเพื่อไม่ให้ติดต่อกับใคร

ตำรวจพยายามถามซ้ำๆ ว่า "มึงจะรับว่าวางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์ไหม?" เขาปฏิเสธอย่างหนักแน่น ทันใดนั้นมีตำรวจที่ฟังอยู่ด้านนอกซึ่งเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มตำรวจที่ถามหาเขาเหมือนกันเดินเข้ามาในห้อง และยกเท้าเตะมาที่หน้าของเขาอย่างเต็มแรง ก่อนที่จะเดินออกไป

ตำรวจที่สอบสวนถามแบบเดิมอีก และเขาก็ตอบแบบเดิม เหตุการณ์เป็นไปแบบเดิม ตำรวจคนเดิมเข้ามาและเตะที่ใบหน้าของเขาอีกครั้งก่อนเดินออกไป

เขาโดนถามและกระทำซ้ำๆ แบบนี้หลายครั้ง ผ่านไปประมาณ 3 ชม. เขาก็ทนไม่ไหวจนต้องยอมรับสารภาพ ตำรวจให้เขาลงลายมือชื่อรับสารภาพ ก่อนนำตัวขึ้นไปยังห้องขัง เขาต้องอยู่ในห้องขังหลายวันด้วยใบหน้าที่ปูดบวม แม้ตำรวจจะให้ยาแก้ปวดกับเขา แต่ก็ช่วยได้ไม่มากนัก

เมื่อรอยช้ำบนใบหน้ายุบลงเขาก็ถูกนำตัวโดยสวมกุญแจมือไปแถลงข่าว เขาถูกพาตัวเข้าไปในห้องแรกซึ่งในห้องนั้นมีโต๊ะซึ่งมีผ้าแดงคลุมอยู่ ตำรวจเปิดค้าคลุมออก เขาตกใจ เพราะบนโต๊ะมีปืน, กระสุน, ระเบิด และอาวุธสงครามวางอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งหมดล้วนเป็นของใหม่แกะกล่อง

เขาเล่าว่าเขารีบถามทันทีว่า "เฮ้ย ไหนบอกว่าจะให้รับสารภาพแค่วางเพลิงไง" "อุ๊ยๆ โทษที พาเข้าห้องผิด"ตำรวจพาเขาไปอีกห้องซึ่งอยู่ใกล้กัน ตำรวจหลายคนรออยู่ในห้องรวมถึงตำรวจชั้นผู้ใหญ่ จัดการแถลงข่าวว่า สามารถจับกุมผู้ที่วางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์ได้ เขาต้องนั่งก้มหน้าแม้ตอนนั้นอยากจะเงยหน้าขึ้นมาปฏิเสธ แต่ก็ถูกตำรวจที่นั่งด้านข้างแตะขาไว้ ความกลัวจากการถูกกระทำที่ผ่านมาทำให้เขาไม่กล้าพูดอะไร

หลังแถลงข่าวเสร็จ เขาถูกนำตัวกลับไป สน.ชนะสงคราม อีกครั้ง เขาต้องอยู่ในห้องขังอีกหลายวันจนรอยช้ำบนใบหน้ายุบลงจึงถูกส่งตัวไป สน.ปทุมวัน เมื่อรถส่งนักโทษมาถึง สน.ชนะสงคราม เขาถูกนำตัวลงจากรถ แต่ก่อนที่เขาจะถูกนำตัวเข้าห้องขัง ตำรวจใน สน.ปทุมวัน มองหน้าเขาแล้วทักว่าเขาไม่ใช่คนที่เผา เวลานั้นเขารู้สึกดีใจอย่างมาก ตำรวจไขกุญแจมือเพื่อปล่อยตัวเขา เขาเดินอย่างอิสระเพื่อจะออกจาก สน.ปทุมวัน แต่ยังไม่ทันพ้นประตู ตำรวจที่มาจาก สน.ชนะสงคราม ก็จับตัวเขากลับเข้ามาอีก

   "ไอ้นี่มันรับสารภาพแล้ว"

ฝันร้ายกลับมาอีกครั้ง เขาถูกส่งตัวไปห้องสอบสวนของ สน.ปทุมวัน ตำรวจสอบสวนเขาอีกครั้ง ครั้งนี้ตำรวจถามว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ เขาตอบปฏิเสธทันใด เพราะเขารู้สึกว่า สน. แห่งนี้ต้องไม่เหมือนกับ สน. ก่อนหน้านี้ เขาจึงกล้าที่จะกลับคำ ตำรวจถามถึงรอยช้ำบนใบหน้าของเขา เขาจึงเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน สน.ชนะสงคราม

ตำรวจถามเขาว่า "มันทำกับเอ็งขนาดนี้เลยหรือวะ" เขาพยักหน้ารับ ตำรวจสอบสวนเขาด้วยความเห็นใจ ตอนนั้นเขาสังเกตเห็นมีตำรวจบางคนมีน้ำตาไหลด้วย ตำรวจคนหนึ่งแอบกระซิกกับเขาว่า มีทนายเสื้อแดงมารอทำคดีให้อยู่ อย่างไรก็ตาม เขาต้องอยู่ที่ สน. แห่งนี้อีกหลายวันจนรอยช้ำบนใบหน้าเกือบหายสนิท ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้ ตลอดเวลาที่เขาอยู่ที่นี่เขาได้รับการดูแลอย่างดีจากตำรวจ สน.ปทุมวัน

หลังศาลอาญากรุงเทพใต้ประทับรับฟ้อง เขาก็ถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เขาต้องอยู่ในเรือนจำหลายเดือนโดยไม่ได้รับการประกันตัว เขาอยู่ในแดน 4 ซึ่งในแดนนี้เขาถูกเพื่อนนักโทษทำร้าย เนื่องจากเข้าใจว่า เขาเป็นผู้วางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์

หลายวันต่อมามีเจ้าหน้าที่จาก DSI มาพบเขาที่เรือนจำ เขาเดินออกมาแดน 4 เพื่อไปยังห้องสอบสวนซึ่งอยู่ด้านข้างห้องเยี่ยมผู้ต้องหา วันนั้นเป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็นหน้าของ พินิจ จันทร์ณรงค์ ซึ่งอยู่แดน 6 เจ้าหน้าที่จาก DSI แจ้งข้อกล่าวหาวางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์ เพิ่มเติมกับ พินิจ จันทร์ณรงค์ (พินิจ จันทร์ณรงค์ ถูกจับเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ที่ลานจอดรถของเซ็นทรัลเวิล์ด ในข้อหาลักทรัพย์กับจำเลยอีก 8 คนก่อนหน้านี้) เขาและพินิจจึงต้องกลายเป็นผู้ต้องหาวางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์ร่วมกับเยาวชนอีก 2 คนซึ่งได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้านี้

ต่อมาเขาและผู้ต้องหาทางการเมืองช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 ถูกย้ายไปอยู่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่  ที่แห่งนี้เขาอยู่อย่างสุขสบายกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีคนเสื้อแดงมาเยี่ยมเขามากกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่เขาก็ยังอยากได้รับการประกันตัว

เขาบอกว่า เขาคาดหวังจากการนิรโทษกรรม โดยเฉพาะข้อเสนอของ นปช. และกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล นอกจากนี้คดีวางเพลิงของ 2 เยาวชนถูกยกฟ้องไปแล้ว เขาและพินิจจึงคาดหวังอย่างมากว่า จะได้รับการยกฟ้องเช่นเดียวกัน หากศาลพิพากษายกฟ้อง และเขาถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เขาคิดที่จะกลับบ้านที่จังหวัดชัยนาท และจะไม่กลับมาที่กรุงเทพอีก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: คิดไม่ออกดอกสหาย

Posted: 19 Jan 2013 03:30 AM PST

โลกไม่สวยหรอกสหาย
ความจริงป่นสลายไปต่อหน้า
ความฝันทึมเทากลายเป็นเถ้าเวลา
จึงเบิกตามองฟ้าสางอย่างเข้าใจ

โลกไม่ลุ่มรวยสิทธิ์ - เสรี
โลกยังมีขื่อคากดคอไว้
อย่ารู้มาก อย่าพูดมาก อย่าปากไว
แม้แต่คิดในใจ อย่าคิดดัง

โลกจะสวยอยู่ได้อย่างไร
เมื่อเราต่างยังฝ่าไปไม่ถึงฝั่ง
ความฝัน ความหวังยังไร้ทาง
ยังหมุนคว้าง ยังอ้างว้างในความจริง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตั้งศาลเพียงตา สร้างเพิงที่พักยึดหัวงานจุดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ต้านเขื่อนถึงที่สุด

Posted: 19 Jan 2013 02:26 AM PST

ชาวบ้านสะเอียบ 4 หมู่บ้าน ตั้งศาลเพียงตา สร้างเพิงที่พัก ที่หัวงานเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อเฝ้าระวังการเข้ามาสำรวจของหน่วยงานและบริษัทต่างๆ ที่สนใจประมูลงานการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ยันต้านเขื่อนถึงที่สุด

 

 
 
 
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 56 ชาวบ้านสะเอียบ 4 หมู่บ้าน จากบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 , บ้านดอนชัย หมู่ 1 , บ้านดอนแก้ว หมู่ 6 และบ้านแม่เต้น หมู่ 5 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กว่า 100 คน ร่วมกันตั้งศาลเพียงตา สร้างเพิงที่พัก ที่หัวงานเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อเฝ้าระวังการเข้ามาสำรวจของหน่วยงานและบริษัทต่างๆ ที่สนใจประมูลงานการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ที่รัฐบาลโดย กบอ. ได้เชิญชวนต่างชาติมาประมูลโครงการ ซึ่งในแผนงานมีทั้งโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันกับหัวงานเขื่อนแก่งเสือเต้น
 
โดยในวันที่ 16 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ได้มีคณะที่อ้างว่ามาจากบริษัทซัมซุง ประเทศเกาหลี ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อน แต่ถูกชาวบ้านที่เฝ้าเวนยามอยู่ที่หัวงานเขื่อนแก่งเสือเต้น เชิญตัวออกนอกพื้นที่ โดยล่ามได้แจ้งว่าคณะที่มาเป็นเพียงคณะที่มาสำรวจล่วงหน้า และจะมีคณะของบริษัทซัมซุงชุดใหญ่ จะมาดูพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ชาวบ้านสะเอียบหวั่นว่าจะมีการเข้าสำรวจพื้นที่ จึงวางมาตรการเข้มข้นขึ้น โดยการสร้างเพิงที่พักถาวรเพื่อเป็นที่พักของหน่วยเวนยาม และยังได้ร่วมกันตั้งศาลเพียงตาขึ้นด้วย
 
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า "เราได้เชิญคณะที่อ้างว่ามาจากบริษัทซัมซุงออกนอกพื้นที่ไปแล้ว แต่ล่ามของเขาบอกว่าจะมีคณะชุดใหญ่มาสำรวจอีกครั้งหนึ่ง เราจึงต้องวางมาตรการให้เข้มงวดขึ้น สร้างเพิงที่พักให้แข็งแรง วางเสาโทรศัพท์ เพื่อการติดต่อประสานงานกัน และตั้งศาลเพียงตา เพื่อบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าฐาน ว่าเราขอพักอาศัยจุดนี้เพื่อต่อสู้คัดค้านทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ จนถึงที่สุด" นายสมมิ่งกล่าว
 
ชาวสะเอียบได้ช่วยกันสร้างเพิงที่พักเสร็จสิ้น และมอบหมายให้คณะกรรมการ และ ชาวบ้าน หมุนเวียนกันมาเฝ้าเวนยามตลอดต่อเนื่องไป ทั้งนี้ได้มีการขึ้นป้ายผ้า "NO DAM หยุดเขื่อนแม่วงก์ หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น" เป็นป้ายแรก เพื่อเอาฤกษ์ เอาชัย ซึ่งเป็นสัณญะลักษณ์ในการต่อสู้คัดค้านเขื่อนร่วมกันของทั้งสองกลุ่ม คือ กลุ่มคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ และ กลุ่มคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น
 
นางสุดารัตน์ ไชมงคล ผู้ใหญ่บ้าน บ้านดอนชัย หมู่ 1 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า "ตนและชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน ทำตามความคิดความเชื่อของคนสะเอียบ เมื่อมีภัยมาคุกคามเราต้องร่วมกันต่อสู้ การตั้งศาลเพียงตาก็เป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการต่อสู้ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ทุกที่มีเจ้าที่เราขอสุมาท่านและขอเจ้าที่เจ้าทางในการตั้งที่พักเพื่อต่อสู้ปกป้องป่ารักษาป่าสักทองผืนสุดท้ายของเราและคนทั้งชาติ เราจะมีชัยชนะเพื่อลูกหลานเราและคนทั้งชาติ" นางสุดารัตร์ กล่าว
 
ทางด้านกำนันเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ กล่าวว่า "ผมถือว่าชาวบ้านสะเอียบได้ทำหน้าที่ของตนในการรักษาป่าที่เราร่วมกันปกป้องรักษามากว่า 24 ปีแล้ว เป็นการใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่าเป็นชุมชนตัวอย่าง ส่วนตนในฐานะกำนัน ก็จะได้ช่วยประสานงานกับทางอำเภอ ทางจังหวัด เพื่อให้ผู้หลักผู้ใหญ่ เข้าใจในสิ่งที่ชาวบ้านทำ ต่อไป" กำนันเส็ง กล่าว
 
ภายหลังการตั้งศาลเพียงตา และสร้างเพิงที่พักเสร็จสิ้น ชาวบ้านสะเอียบก็ได้รับประทานอาหารร่วมกัน โดยทุกคนได้เตรียมเสบียงอาหารกันมาเอง ทั้งน้ำพริกตาแดง ปลาปิ้ง ผักกาดจอ หมกขี้ปลา เป็นต้น จากนั้นได้มอบหมายให้กรรมการ และ ชาวบ้าน บางส่วน ทำหน้าที่เฝ้าเวนยาม ส่วนที่เหลือก็ได้แยกย้ายเดินทางกลับชุมชนไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: โหมกำลังสนับสนุนนิรโทษประชาชน

Posted: 19 Jan 2013 01:53 AM PST

 

ในระยะหลังปีใหม่ที่ผ่านมานี้ กระแสการเรียกร้องให้นิรโทษกรรมประชาชน ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกนำเสนอต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นด้วยเหตุผลที่ว่า ประชาชนคนเสื้อแดงที่ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เผาบ้างเผาเมือง เป็นพวกขบวนการล้มเจ้า ถูกกวาดล้างปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน และบาดเจ็บนับพันคน นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก ถูกคุมขังในคุกทั้งคดีก่อการร้าย คดีละเมิดภาวะฉุกเฉิน คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประชาชนเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อแห่งการดำเนินการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และได้รับความร่วมมือด้วยดีจากศาลเสมอมา แต่ที่เป็นที่น่าเสียใจคือ การที่รัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทยได้ขึ้นบริหารประเทศแล้วถึง ๑๗ เดือน พี่น้องประชาชนเหล่านี้ก็ยังคงถูกดำเนินคดีและต้องอยู่ในคุก
 
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล โดย สุดา รังกุพันธ์  สุดสงวน สุธีธร และ ไม้หนึ่ง ก.กุนที จึงเป็นแกนกลางในการเคลื่อนไหว นัดรวมตัวที่หมุดคณะราษฎร วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๖ เวลา ๘.๐๐ น. เพื่อให้ได้กำลังประชาชน ๑๐,๐๐๐ คนเรียกร้องต่อรัฐบาลให้รับข้อเสนอเรื่อง การร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง เพื่อให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อความขัดแย้งได้รับการนิรโทษกรรมในสมัยประชุมสภาสมัยนี้
 
สุดา รังกุพันธ์ อธิบายในวันที่ ๑๓ มกราคม ว่า เหตุการณ์รุนแรงในปี ๒๕๕๓ ทำให้เห็นภาพชัดเจนถึงการปราบปรามประชาชนด้วยอาวุธสงครามร้ายแรง และมีการกวาดล้างประชาชนอบย่างต่อเนื่อง มีผู้ถูกดำเนินคดี ๑๓,๘๕๗ คน ในศาล ๕๙ แห่ง โดยคดีเหล่านี้ ถูกศาลตัดสินอย่างรวดเร็ว แม้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่ตัวการสำคัญ ก็ถูกตัดสินจำคุก บางคนได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ไม่มีเจตนาหลบหนี แต่หลังการพิพากาษาของศาลชั้นต้นกลับไม่ได้รับการประกันตัวออกมาเลย นอกจากนี้ยังมีการออกหมายจับอย่างต่อเนื่อง อัยการยังคงสั่งฟ้องศาลคดีที่เกิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และอธิบายต่อไปว่า "ความน่าเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมติดลบหมดแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะเดินหน้าสู่ความปรองดองโดยยังมีนักโทษการเมืองถูกขังอยู่เช่นนี้"
 
การเคลื่อนไหวของกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล เป็นไปเพื่อสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ ที่ได้ผลักดันให้มีการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อนำมาสู่การนิรโทษกรรมและแก้ไขความขัดแย้งในสังคม ทั้งนี้ กลุ่มนักวิชาการนิติราษฎร์ ยืนยันว่า การนิรโทษกรรมโดยผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นวิธีการที่เร็วที่สุด และมีปัญหาน้อยที่สุด โดยจะมุ่งไปที่การนิรโทษกรรมประชาชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองทุกฝ่าย และกระทำความผิดโดยมีเหตุจูงใจในทางการเมือง แต่จะไม่นิรโทษกรรมฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติเกินกว่าเหตุ หมายถึงว่า ผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่รัฐก็จะต้องถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมต่อไป โดยห้ามการนิรโทษกรรม
 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อธิบายว่า ที่ไม่เสนอเรื่องการนิรโทษกรรมเป็นพระราชบัญญัติ เพราะขณะนี้ ก็มีการนำเสนอพระราชบัญญัติปรองดองค้างในสภาหลายฉบับแล้ว และก็เดินหน้าไปไม่ได้ และร่างทั้งหลายก็ไม่ได้มีลักษณะตามที่นิติราษฎร์เสนอ ซึ่งจะครอบคลุมคนที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมืองทุกฝ่าย ไม่ว่าสีแดงหรือเหลือง จะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนด และตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ ก็ไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมแบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ การเสนอเป็นพระราชบัญญัติยังต้องมีขั้นตอนผ่านการพิจารณาของสองสภา ซึ่งอาจจะล่าช้าหรือสะดุดถ้าหากวุฒิสภาไม่รับรอง แต่ถ้าเป็นร่างเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะเสนอผ่านที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งจะประหยัดเวลากว่า และวรเจตน์ได้ย้ำว่า การเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนการนิรโทษกรรมนี้ ไม่เกี่ยวกับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิมที่ยังค้างอยู่ในวาระที่ ๓
 
ส่วนในกรณีที่มีการเสนอให้รัฐบาลออกมาเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรมประชาชน วรเจตน์ให้ความเห็นว่า พระราชกำหนดอาจจะถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และทำให้ถูกดึงและหน่วงเหนี่ยวให้ล่าช้าไปกว่าเดิม หรือถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เป็นโมฆะ
 
การนำเสนอวิธีการเช่นนี้ ยังเป็นการสะท้อนว่า การนิรโทษกรรมประชาชนนั้น จะอาศัยกระบวนการทางการศาลไม่ได้ เพราะในระยะที่ผ่านมา กระบวนการศาลใช้สองมาตรฐาน มุ่งจะลงโทษแต่ฝ่ายคนเสื้อแดงที่ตกเป็นเหยื่อเป็นหลัก ไม่ค่อยดำเนินคดีฝ่ายคนเสื้อเหลือง และดำเนินการกับฝ่ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นฆาตกรเข่นฆ่าประชาชนอย่างล่าช้า และโดยมากแล้ว ในคดีของนักโทษการเมือง ศาลก็จะวินิจฉัยไปตามโครงสร้างกฎหมายอาญาปกติ เช่นเรื่องเผาทรัพย์ ครบองค์ประกอบ ศาลก็ลงโทษเลย โดยไม่ดูพิจารณามูลเหตุจูงใจว่าทำไมทำเช่นนั้น ไม่พิจารณาว่า เป็นผู้เคยกระทำผิด หรือมีจิตใจเป็นผู้ร้ายที่จะก่อคดีอาญาหรือไม่ ดังนั้น การวินิจฉัยคดีในเรื่องที่จะมีการนิรโทษกรรม นิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการตั้งองค์กรทางการเมือง เรียกว่า คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง ที่ได้รับการเสนอชื่อจากฝ่ายต่างๆ และเลือกมาจากที่ประชุมรัฐสภา
 
ปิยะบุตร แสงกนกคุณ อาจารย์ในคณะนิติราษฎร์ เสนอเพิ่มเติมว่า มาตรการที่กำหนดควบคู่ไปด้วย ก็คือ ให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และจะหมดหน้าที่เมื่อการดำเนินการแล้วเสร็จ โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร และไม่อาจเป็นวัตถุแห่งการพิจารณาขององค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นใด กรณีที่มีความขัดแย้งในการตีความ เสนอให้รัฐสภาวินิจฉัย และด้วยกระบวนการนี้จึงไม่ก่อให้เกิดการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง
 
ผลจากการนิรโทษกรรม จะทำให้ผู้ทำความผิดสถานเบา เช่น ละเมิดภาวะฉุกเฉิน โดยเข้ามาในพื้นทีชุมนุมพ้นจากความผิดไปเลย ส่วนผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีอาญา และอยู่ในขั้นตอนของศาล ให้ระงับการดำเนินคดีชั่วคราวและให้ปล่อยตัวทันที จากนั้น ส่งเรื่องให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัย ซึ่งถ้าคณะกรรมการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นการกระทำผิดด้วยแรงจูงใจทางการเมือง การดำเนินคดีก็ยุติลงและได้รับนิรโทษกรรมทางการเมือง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการปกติ
 
ดังนั้น ภารกิจของขบวนการประชาธิปไตยในขณะนี้ ก็คือการสนับสนุนและเข้าร่วมการเคลื่อนไหว โดยกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล และสนับสนุนข้อเสนอของนิติราษฎร์ เพื่อผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมและปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อินโดฯประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วกรุงจาการ์ตาหลังน้ำท่วมรุนแรงสุดในรอบ 5 ปี

Posted: 18 Jan 2013 11:43 PM PST

รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศภาวะฉุกเฉินในจาการ์ตาหลังน้ำท่วมสูงสุดถึงราว 4 เมตร ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 15 คน และประชาชนราว 18,000 คนต้องอพยพหนีน้ำท่วม 

 
19 ม.ค. 56 - โฆษกตำรวจในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย รายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมในกรุงจาการ์ตา เพิ่มเป็น 15 รายแล้ว หลังจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยพบศพผู้เสียชีวิตอีก 4 ราย ขณะที่ระดับน้ำลดลงแล้ว
 
รายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้นำศพผู้เสียชีวิต 3 ราย ขึ้นจากน้ำเมื่อวานนี้ ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย พบติดอยู่ในลานจอดรถในย่านธุรกิจของกรุงจาการ์ตาที่ถูกน้ำท่วมตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา  เจ้าหน้าที่เพิ่งพบศพในเช้าวันนี้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังพยายามค้นหาร่างของชายอีกคนซึ่งเชื่อว่าติดอยู่ในลานจอดรถของอาคารแห่งหนึ่ง  
 
เมื่อวานนี้นักประดาน้ำได้ช่วยเหลือชาย  2 คน ซึ่งติดอยู่ในชั้นใต้ดินของอาคารแห่งหนึ่งซึ่งมีน้ำท่วมสูงถึง 4 เมตรกว่า 24 ชั่วโมง โดยพบชายคนแรกซึ่งเป็นคนงานทำความสะอาดในช่วงเช้า ก่อนจะพบชายอีกคนซึ่งเป็นช่างเทคนิคประจำอาคารก่อนเที่ยงคืน
 
ทางการอินโดนีเซียยกระดับการเตือนภัยน้ำท่วมสู่ระดับสูงสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม วันนี้หลายพื้นที่ซึ่งรวมถึงย่านธุรกิจของกรุงจาการ์ตาไม่มีน้ำท่วมขังแล้วเนื่องจากฝนหยุดตกตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้
 
น้ำท่วมกรุงจาการ์ตาครั้งนี้ทำให้ประชาชน 18,000  คน ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย และประชาชนกว่า 114,000 คนต้องได้รับผลกระทบใน 73 เขตของกรุงจาการ์ตา  นับเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่เมื่อปี 2550 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 50 ราย และไร้ที่อยู่อาศัยอีกกว่า 300,000 คน
 
โจโก วิโดโด ผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา คาดว่าฝนที่ตกลงมาอย่างหนักจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงสัปดาห์หน้า พร้อมย้ำว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินจะยังมีผลใช้บังคับไปจนถึงวันที่ 27 ม.ค.นี้ เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิบัติงานและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยรวมถึงรับมือกับปัญหาได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ส่วนทางอุตุนิยมวิทยาของอินโดนีเซียได้คาดว่า อาจจะยังมีฝนตกหนักไปอีกในช่วงสามวันที่จะถึงนี้
 
เหตุน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ นอกจากจะทำให้การจราจรในถนนหลายสายของเมืองเกิดการติดขัดอย่างหนัก จนอาคาร สถานที่ ร้านค้า และสถานทูตหลายชาติต้องปิดทำการแล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึงทำเนียบของประธานาธิบดี ซูซิโลบัมบัง ยูโดโยโน ด้วยเช่นกัน โดยระดับน้ำได้เข้าท่วมตัวอาคารสูงราว 10 เซนติเมตร ขณะที่บริเวณประตูระบายน้ำหลักข้างทำเนียบมีระดับน้ำสูงถึง 10 เมตร
 
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี ยูโดโยโน กล่าวผ่านทางสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น ว่า ไม่ต้องใส่ใจว่าทำเนียบจะถูกน้ำท่วมหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการให้การปกป้องความปลอดภัยแก่ประชาชนมาเป็นลำดับแรก พร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารลงพื้นที่ตรวจการตามบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ประสบภัย เพื่อคอยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุลักขโมยในบ้านที่ถูกน้ำท่วมอีกด้วย
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนชายแดนใต้แห่บริจาคช่วยชาวโรฮิงญา ด้านหมอจันทร์เสี้ยวพร้อมบุกถึงปาดัง

Posted: 18 Jan 2013 11:19 PM PST

ประชาชนจำนวนมากทยอยให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่พักอยู่ที่บ้านเด็กฯ ช่วงเช้ามีนักเรียนและนักศึกษามาเล่นกิจกรรมกับเด็กชาวโรฮิงญารวมทั้งสอนภาษาไทยด้วยชาวโรฮิงญาเผยขอบคุณน้ำใจคนปัตตานีที่ให้ความช่วยเหลือแก่พวกตน ย้ำไม่ต้องการกลับพม่า ด้านสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ร่วม สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์ รับบริจาคเงินสิ่งของพร้อมนำคณะแพทย์ไปดูแลที่สะเดาและปาดังเบซาร์ 

 
 
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2556 ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดปัตตานี กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อ.เมือง จ.ปัตตานี มีประชาชน นักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น เจ้าหน้าที่พนักงานธนาคารอิสลามปัตตานี เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลรูสะมิและประชาชนทั่วไปจำนวนมากได้เข้าไปเยี่ยม ให้กำลังใจรวมถึงบริจาคเงิน และมอบข้าวสารอาหารแห้ง ขนนปัง และสิ่งจำเป็นต่างๆ แก่ชาวโรงฮิงญาที่พักอายู่ที่บ้านพักเด็กฯ
 
โดยช่วงเช้ามีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปัตตานี และนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตมอ.ปัตตานีประมาณ 15 กว่าคนได้เข้าไปเยี่ยมให้กำลังและได้เล่นกิจกรรมเดาะลูกโป่งกับเด็กๆ ชาวโรฮิงญา และนักเรียนบางส่วนได้มีการสอนภาษาไทยแก่ชาวโรฮิงญาด้วย
 
นายทากร เหมวิเชียร หัวหน้าบ้านพักเด็กฯเปิดเผยว่าชาวโรฮิงญาที่มีอยู่ที่บ้านพักเด็กฯ ทั้งหมดจำนวน 22 คน ผู้ชาย 18 และผู้หญิง 4 คน โดยชาวโรฮิงญาเหล่านี้มาพักอาศัยอยู่ที่นี้ตั้งแต่เมื่อที่ 16 มกราคม 2556 โดยทางบ้านพักเด็กฯ รับมาจากบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา เนื่องจากทางบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา มีชาวโรฮิงญาเข้ามาพักอาศัยจำนวนเกินกว่าที่จะรับได้
 
"จะดำเนินการอย่างไรในอนาคตกับชาวโรงฮิงญาเหล่านี้ผมไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานในระดับสูงที่จะต้องมีดำเนินการต่อไป แต่สิ่งที่เราทำได้ในขณะนี้คือดูแลชาวโรฮิงญาเหล่านี้ให้ดีที่สุด" นายทากร กล่าว
 
นายนิมุ นตีมุง นักศึกษามอ.ปัตตานี กล่าวว่าจากการที่ได้เล่นเฟสบุ๊ก มีเพื่อนได้โพสข้อความว่า มีชาวโรฮิงญาประมาณ 22 คนเข้ามาพักอาศัยอยู่ที่ที่บ้านพักเด็กฯ จึงได้ชวนอาจารย์และเพื่อนๆ ในสาขาวิชาภาษาญีปุ่น เพื่อทีจะมาเยี่ยมให้กำลังใจแก่ชาวโรฮิงญา พร้อมกับการบริจากข้าวสารจำนวนหนึ่งแก่ชาวโรฮิงญา ที่มาดูชาวโรฮิงญาในวันนี้ เพื่อที่จะมาสอบถามว่าต้องการความช่วยอะไรบ้าง เพื่อจะได้ช่วยกันระดมรับบริจาคจากประชาชนเพื่อนำมามอบแก่ชาวโรฮิงญาที่อยู่นี้
 
มูฮำหมัด อุสมาน  หนึ่งในชาวโรงฮิงญาที่พักอยู่ที่บ้านเด็กฯ เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่คนปัตตานีให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และต้องขอขอบคุณสำหรับน้ำใจของคนปัตตานีที่ช่วยบริจากสิ่งของต่างๆ แก่พวกตน
 
"สิ่งที่ผมต้องการอย่างเดียวคืออย่าส่งผมกลับไปประเทศพม่า ให้ผมอยู่ประเทศไหนก็ได้ไม่ว่าประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผมอยู่เพื่อที่จะทำงานส่งเงินแก่พ่อแม่ และญาติพี่น้องของผมที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่าอย่างยากลำบาก" มูฮำหมัด กล่าว
 
ส่วนของ จ.ยะลา เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย(ยมท.)  ถนนสิโรรส 6 ย่านตลาดเก่า เขตเทศบาลนครยะลา ได้มีบรรดาพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ ได้เดินทางมาร่วมกันบริจาคเงิน อาหาร สิ่งของและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ที่อพยพ ซึ่งทางสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยจะรวบรวมเงิน และสิ่งของต่างๆ นำไปมอบให้ชาวโรฮิงญา ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ในวันที่ 19 มกราคมนี้  ทั้งนี้ประชาชนสามารถบริจาคเงินช่วยเหลือได้ที่ กองทุนมนุษยธรรม เพื่อชาวโรฮิงญา  ธนาคารกรุงไทย สาขาสิโรรส  ชื่อบัญชี สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เลขบัญชี  932-121000-8 
 
นายอับดุล อซิซ  ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย(ยมท.) เปิดเผยว่า  ทางสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินการช่วยเหลือโรฮิงญามานานแล้ว ตั้งแต่ตั้งแต่รุ่นแรกที่หนีมาเรื่อยๆ มีการรับบริจาคเงินช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่ประเทศพม่าด้วยซึ่งได้มอบไปสองครั้ง โดยครั้งที่ผ่านมาได้มอบเงินช่วยเหลือเป็นเงินกว่าล้านบาท ในครั้งนั้นทำร่วมกับองค์กรของมาเลเซีย และในเดือนหน้าทาง ยมท. ก็จะส่งตัวแทนไปที่พม่า 
 
ในส่วนของโรฮิงญาที่มีปัญหาล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม ที่เข้าทางที่ด่านสะเดา 800 กว่าคน ตอนนี้ก็เป็นพันแล้ว ในส่วนนี้ก็ได้ร่วมเปิดรับบริจาคเงินตั้งแต่ 5 วันที่แล้ว  รวมทั้งรับบริจาคสิ่งของ ที่มัสยิดตลาดเมืองใหม่ มัสยิดญาดิส มัสยิดบางปู และสมาคมอิสลามของมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งในส่วนนี้ก็ได้ทำร่วมกันมาโดยตลอด รณรงค์ร่วมกัน
 
"และในวันพรุ่งนี้ (19 มกราคม) จะมีสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์  ที่จะนำหมอนายแพทย์ จนท.สาธารณะสุข เดินทางไปตรวจสุขภาพให้กับชาวโรฮิงญา ที่ อ.สะเดา และที่ปาดังเบซาร์  โดยได้ประสานงานกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองสงขลา เรียบร้อยแล้ว สมาคมจันทร์เสี้ยว ก็จะไปตรวจสุขภาพและดูแลเรื่องสุขภาพจิตด้วย จะไปพูดคุยแนะนำ การเป็นอยู่และเรื่องศาสนา จะมีผู้รู้เรื่องศาสนาโดยใช้พูดผ่านล่าม" นายอับดุลอซิซ กล่าว 
 
ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน ยมท. ยังกล่าวอีกว่า  สำหรับปัญหาโรฮิงญา เป็นปัญหาที่ยืดยาวมานานหลายสิบปี ก่อนหน้านี้ทำงานอนุกรรมการสิทธิภาคใต้ ได้ประสานงานกัน ก็และได้พูดคุยกันระหว่าง สมช. ดีเอสไอ องค์กรจุฬาราชมนตรี และ ยมท. ในเร็วๆนี้ ที่กรุงเทพและนำเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อที่จะออกนโยบายในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ในเบื้องต้นอยากจะเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่าปัญหาโรฮิงญา จะต้องผลักดันในนามของอาเซียน ในนามของสามเชื้อชาติ ยูเอ็นเอสซีอา ประเทศไทยจะต้องมีบทบาทเพราะเป็นทางผ่านไปสู้ประเทศที่สาม  อยากจะเรียกร้องว่าไม่น่าจะส่งกลับไปประเทศพม่า อยากให้เป็นเหมือนค่ายอพยพ และตอนนี้จุฬาราชมนตรีก็รับดูแลอยู่ และรอประเทศที่สามรับไปและทางเราก็ประสานงานกับทางประเทศมาเลเซียอยู่ และอินโดนีเซียเราก็ประสานอยู่ เขาพร้อมที่จะรับ แต่ต้องทยอยไป
แถลงการณ์ต่อกรณีชาวโรฮิงญา
 
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมออกแถลงการณ์ขอให้รัฐปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม
 
จากกรณีที่ปรากฏข่าวว่าชาวโรฮิงญา ได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตามพื้นที่ต่างๆในจังหวัดภาคใต้ และมีแนวโน้มว่าอาจพบตัวกลุ่มชาวโรฮิงญาตามสถานที่ต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่า กลุ่มคนเหล่านี้ได้หลบหนีภัยจากประเทศพม่า และต้องการแสวงหาความเป็นอยู่และความปลอดภัยที่ดีกว่าเนื่องจากชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในประเทศพม่า อีกทั้งยังเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชากรส่วนอื่นๆ ที่นับถือศาสนาที่แตกต่าง อันเป็นการละเมิดสิทธิในการนับถือศาสนา และรัฐไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทำให้กลายเป็นปัญหาของการไร้สัญชาติ จนนำมาสู่การเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง
 
ชาวโรฮิงญาส่วนหนึ่งหนีภัยการสู้รบและการปฏิบัติที่เลวร้ายไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย และหลายกรณีพบว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ที่อาศัยความไร้สัญชาติของชาวโรฮิงญา มาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ ดังนี้การส่งตัวชาวโรฮิงญากลับในขณะนี้โดยเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศไทย อาจทำให้ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ต้องเผชิญกับการประหัตประหาร มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายให้แก่ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน มีความรู้สึกเห็นใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา ที่ขณะนี้ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยและขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่ได้ปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาตามหลักมนุษยธรรม และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาที่บริจาคเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้มูลนิธิขอเรียกร้องให้รัฐบาล รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาข้อเสนอดังต่อไปนี้
 
1. ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาหลักการตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และข้อที่ 3 แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ในการยุตินโยบายการผลักดันชาวโรฮิงญากลับประเทศพม่า หากยังมีข้อมูลปรากฏชัดเจนว่าการส่งกลุ่มคนดังกล่าวนี้กลับไป อาจจะมีความเสี่ยงต่อการถูกประหัตประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาจต้องเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศพม่าอีก
 
2. ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการ และภาคประชาชน ตระหนักกับปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในประเทศไทย โดยมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติของรัฐไทยต่อชาวโรฮิงญา โดยให้คำนึงถึงมนุษยธรรม ไม่แบ่งแยกเรื่องเชื้อชาติและศาสนา
 
3. ในระหว่างการควบคุมตามสถานที่ต่าง ๆ นั้น ขอให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาในฐานะผู้นับถือศาสนาอิสลามโดยสามารถปฏิบัติศาสนกิจและมีอาหารที่ถูกต้องตามหลักศาสนารวมทั้งไม่มีการพันธนาการและเอื้ออำนวยให้เข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ทั้งการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม
 
4. ขอให้รัฐบาลไทยมีมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจังต่อผู้กระทำผิด ตามระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 รวมทั้งให้มีการรณรงค์ให้ยุติการค้ามนุษย์ในประเทศไทยสำหรับกรณีของชาวโรฮิงญาที่ตกเป็นเหยื่อในสถานการณ์นี้
 
5. ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการหารืออย่างเร่งด่วนกับประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคร่วมกัน อันเป็นหลักการร่วมกันที่รัฐบาลในอาเซียนที่ต้องการเห็นสันติภาพความมั่นคง ปลอดภัยและเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้
 
 
 

"เหนือเมฆ 2 " กับภัยของความเป็นประชาธิปไตย

Posted: 18 Jan 2013 11:04 PM PST

 

ผู้เขียนมีโอกาสได้เห็นภาพกลุ่มเครือข่ายทางสังคมที่ใส่หน้ากากสีขาวในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่ประท้วงหน้าที่ทำการสถานีโทรศัพท์ช่อง 3 ในกรณีอันเป็นที่โด่งดังกันในขณะนี้ คือการระงับการออกอากาศละครเรื่องเหนือเมฆ ภาค 2 ซึ่งการถูกแบนทำให้ละครเรื่องนี้ดังยิ่งกว่าตอนฉายเสียอีก  แน่นอนว่า "เหนือเมฆ 2 " ไม่ค่อยปิดบังเจตนานักว่าต้องการสะท้อนว่าตัวผู้ร้ายคือทักษิณ  แต่ก็ไม่แน่นอนว่าสาเหตุที่ช่อง 3 สั่งระงับละครเพราะอะไร อาจเพราะดำริของผู้บริหารเอง (Self-censor) หรือว่าได้รับคำสั่งจากรัฐบาลหรือผู้ปรารถนาดี (ลิ่วล้อ) ต่อทักษิณ ซึ่งสาธารณชนโดยมากจะมองว่าเป็นกรณีอย่างหลังนี้
 
ปัญหาคือถ้าละครเรื่องนี้ไม่ถูกระงับหรือว่าได้ออกอากาศอีกครั้งจะสามารถสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยหรือเชิดชูสิทธิในการแสดงออกของสื่อได้หรือไม่ คำตอบคือ "ไม่"
 
ผู้เขียนเคยอ่านพบนิยามของการเมืองในมิติหนึ่งที่น่าสนใจคือ  การเมืองคือเรื่องการจัดชุดแห่งวาระ (Agenda setting) หรือการนำเสนอ/ สถาปนาชุดความแห่งจริงอันมีขีดจำกัดให้สาธารณชนได้รับรู้ ในขณะที่มีวาระอื่นๆ อีกมากมายที่สื่อ/รัฐ/สาธารณชนไม่ได้นำเสนอหรือนำเสนอในด้านบิดเบือน อันนี้เป็นสิ่งธรรมดาแม้แต่สำหรับประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยที่สื่อถูกควบคุมโดยรัฐหรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ (หรือแม้แต่เป็นของประชาชนจริงๆ ก็ไม่มีทางที่จะนำเสนอความจริงได้หมด)
 
กลับไปที่บางกอกโพสต์ ในกระดาษซึ่งผู้ประท้วงหน้ากากสีขาวคนหนึ่งยกขึ้นให้หนังสือพิมพ์เห็นชัด ๆ แสดงคำถามที่ว่า "ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ระบอบประชาธิปไตยจริงหรือ ?"  ทำให้ผู้เขียนรู้สึกวิงเวียนศรีษะเล็กน้อย ผู้เขียนยอมรับถ้าการแบนมาจากรัฐบาลจริง ก็น่าประนามเพราะเคยด่าว่าถ้ารัฐบาลอื่นเป็นเผด็จการ แต่ตัวเองกลับมาทำเสียเอง  แต่ทว่าก่อนหน้านี้กลุ่มบุคคลดังกล่าวหรือสื่ออื่นเองๆ หรือสาธารณชนทั้งหลายที่ประนามการกระทำของช่อง 3 เคยทำเช่นนี้กับการบิดเบือนของสื่อในช่วง คมช.หรือของประชาธิปัตย์หรือไม่  ปรากฎการณ์ "เหนือเมฆ 2 " สำหรับผู้เขียนเห็นว่าได้สะท้อนถึงคำซึ่งหนังสือพิมพ์ใช้ศัพท์ที่ไม่ค่อยพบบ่อยนักคือ Political Soap Opera หรือละครน้ำเน่าทางการเมือง นั้นคือละครพยายามใช้ประโยชน์จากความคิดหรือความรู้สึกของมวลชนในขณะนั้น ซึ่งแน่นอนว่า การที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีที่ชั่วร้าย โกงกินย่อมเป็น "วาระ" อันเป็นที่แจ่งแจ้ง ประจักษ์ชัด ถูกผลิตซ้ำออกมาเรื่อยๆ จนเป็น วาระอันปกติ เพราะละครน้ำเน่าไทยจะเป็นละครที่ระวังตัวเอง อาจเพราะรัฐ (ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่ารัฐบาลชุดใด) แอบวางยาในการควบคุมการแสดง ออกของประชาชนผ่านศีลธรรมอันดี หรือการป้องกันการล้มล้างสถาบันเบื้องสูง  การที่ละครเรื่องนี้ถูกวางเนื้อเรื่องเช่นนี้ก็ย่อมเกิดจาการตระหนักของผู้ทำว่าจะไม่ได้โดนแบนในระดับหนึ่ง ถึงแม้รัฐบาลปัจจุบันจะอยู่ใต้อาณัติของทักษิณก็ตาม
 
การสร้างภาพ "ผีทักษิณ" (Spectre of Thaksin) จึงเป็นความสบายใจของผู้สร้างละครว่าสามารถบูรณาการอยู่ใน "วาระ " หรือสำนึกรวมหมู่ของสาธารณชนแห่งสยามที่โดยมากอิงอยู่กับอารมณ์ ความรู้สึก  (คือน้ำเน่านั้นแหละ)  วาระของ "เหนือเมฆ 2 " จึงถูกนำเสนอมาอำพรางความจริงอันซับซ้อนของสังคมไทยได้อย่างแนบเนียน หากเราศึกษาสภาพของสังคมไทยให้ดีจะเห็นได้ว่าละครไม่สามารถสะท้อนภาพความสัมพันธ์ของกลุ่มผลประโยชน์ของชนชั้นอื่นได้เลย  "เหนือเมฆ 2 " จึงเต็มอิ่มไปกับการโจมตีนายกรัฐมนตรีและสถาปนาความเชื่อแบบพวกสลิ่มที่ว่า ถ้าได้คนดีเป็นผู้นำ ชาติก็จะรุ่งเรือง (จริยธรรมสำหรับนักการเมืองไม่ใช่ว่าจะไม่มีอยู่จริง แต่พวกที่ร้ายลึกแต่อ้างว่าตัวเองเป็นคนดีโดยการอิงเจ้าหรือปากเอาแต่พล่ามว่า "จะขอทำคุณแก่แผ่นดิน" ทำให้คำว่าจริยธรรมมีการเลื่อนไหล เปลี่ยนแปลงไป)
 
 ในประวัติศาสตร์ถึงแม้จะเป็นตัวละครทางการเมืองที่สำคัญที่สุด แต่นายกรัฐมนตรีเป็นเพียงตำแหน่งที่ต้องอิงอาศัยกับกลุ่มผลประโยชน์หรือสถาบันอื่นๆ ซึ่งตลอดเวลาก็มีพฤติกรรมไม่ต่างอะไรกับนายกรัฐมนตรีใน "เหนือเมฆ 2" เลยไม่ว่า พวกนิยมเจ้า ทหาร สถาบันยุติธรรม ข้าราชการ นายทุนใหญ่ข้ามชาติ ฯลฯ "เหนือเมฆ 2 "ยังเพิกเฉยที่จะกล่าวหรือวิพากษ์ถึงโครงสร้างขัดแย้ง โครงสร้างการกดขี่ไม่เป็นธรรมของสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งซับซ้อนและมีตัวละครที่หลากหลายดังที่กล่าวไว้ (ดังนั้นถ้าจะบอกว่าทักษิณชั่วก็ต้องบอกว่าทักษิณชั่วร่วมกับ "คนอื่นๆ" ด้วย จึงจะเป็นการซื่อสัตย์ต่อความเป็นจริง)  การกล่าวว่าพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีและนักการเมืองรอบข้างเกิดจากความชั่วร้ายส่วนตัวและยังมีไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องมิติอันแบนราบเช่นเดียวกับความเชื่อที่ว่ารัชกาลที่ 5 ทรงปลดปล่อยไพร่และเลิกทาสเพราะพระเมตตาเพียงอย่างเดียว 
 
ในทางอันย้อนแย้งกันเอง  สื่อที่ออกโจมตีช่อง 3  (หรือแม้แต่ตัวช่อง 3 เอง) กลับผลิตซ้ำวาระที่น่ารำคาญ เต็มไปด้วยการบิดเบือน โกหก หลอกลวง เป็นระยะเวลาอันยาวนานจนกลายเป็นชุดแห่งความจริงอันสมบูรณ์ ที่โต้แย้งมิได้ เป็นภัยต่อระบบประชาธิปไตย ปัจเจกชนไม่มีสิทธิและเสรีภาพในการวิพากษ์แม้เพียงนิด  สำหรับชนชั้นกลาง "สลิ่ม"ซึ่งด่าทอรัฐบาลในเรื่อง"เหนือเมฆ 2"  ก็มักจะทำเอาเป็นหูไปนา เอาตาไปไร่เมื่อฝ่ายที่ตัวเองชื่นชอบบิดเบือนความจริงบ้างว่า ไม่ว่าช่วงรัฐประหารหรือตอนที่สถานีโทรทัศน์ของรัฐ ระงับ สั่งห้ามการแสดงออกความคิดเห็นของฝ่ายตรงกันข้าม  และยังโกหกซ้ำไปซ้ำมาเช่นในช่วงการสังหารหมู่กลางเมืองหลวง หรือตอนที่กองทัพพยายามจะทำให้เห็นว่าได้แก้ไขปัญหาภาคใต้โดยการไปเอาใจชาวมุสลิมออกโทรทัศน์
 
ท้ายนี้ผู้เขียนฟังธงไปเลยว่าไม่ต้องเอา "เหนือเมฆ 2" ออกอากาศนั้นก็ดีแล้ว ไม่ใช่เพราะเชียร์ทักษิณ  แต่เพราะเห็นว่าเป็นภัยต่อความเป็นประชาธิปไตย  เพราะบั่นทอนวุฒิภาวะทางความคิดเสรีของคนไทยและเป็นประโยชน์สำหรับการอำพรางตนของชนชั้นสูงหรือกลุ่มผลประโยชน์อื่นที่ไม่ได้ร่วมกลุ่มกับทักษิณเป็นอย่างยิ่ง แม้จะพยายามสะท้อนพฤติกรรมของทักษิณ...แต่แค่นั้นมันไม่พอ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.ส่งหนังสือด่วนถึงนายกฯ-มท.1 ชะลอร่างกฎกระทรวงฯ คุมคนไร้สัญชาติ

Posted: 18 Jan 2013 10:53 PM PST

 

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก.เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. .... เนื่องจากภาคประชาชนมีความกังวลต่อร่างกฎกระทรวงที่จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มกราคม 2556 ถึงประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้หารือกันในคราวประชุมคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 แล้วเห็นว่าควรมีการชะลอการพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวออกไปก่อน
 
หลังจากกระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม    แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 โดยคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 22 มกราคม 2556 นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาชิกสหภาพแรงงาน อิเลคโทรลักซ์ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ระยอง

Posted: 18 Jan 2013 10:22 PM PST

 

สมาชิกสหภาพแรงงาน อิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ได้เดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเพื่อขอความเป็นธรรม เหตุถูกเลิกจ้างหลังเจรจาขอปรับค่าจ้างตามนโยบายของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา เวลา 11.30 น.สมาชิกสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำนวนกว่า 30 คนได้เดินทางไปที่ศูนย์ราชการจังหวัดระยองเพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเพื่อร้องเรียนและขอความเป็นธรรมกรณีถูกเลิกจ้างเนื่องจากขอปรับค่าจ้างตามนโยบายของรัฐบาล ประธานสหภาพแรงงานนายไพวรรณ์ เมทา ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงการเลิกจ้างให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องคือ นายสมมุ่ง พันทิพย์แพทย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงค์ธรรมจังหวัดระยองและนายอนุรักษ์ คล้ายขำ ฝ่ายป้องกันจังหวัดระยองได้มารับเรื่องแทนผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง

หลังจากนั้นนายอนุรักษ์ คล้ายขำได้ชี้แจงกับสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ว่าจะรายงานเรื่องให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ทราบเพื่อเรียกให้นายจ้างมาชี้แจงและหาทางยุติปัญหาที่เกิดขึ้น ภายในสัปดาห์หน้าและในเวลาเดียวกันก็ได้ยื่นเรื่องให้กับหัวหน้าสำนักงานแรงงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองอย่างเป็นทางการหลังจากที่ผ่านมาสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ได้พยายามประสานงานให้ผู้บริหารมาชี้แจงและรับสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมดกลับเข้าทำงาน แต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากบริษัทอีเลคโทรลักซ์ ประเทสไทย จำกัด แต่อย่างไร และจะติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สหภาพแรงงานฯ ได้ระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 127 คน ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ทางบริษัทก็ไม่ได้มีการออกมาประกาศความรับผิดชอบหรือชี้แจงเหตุผลให้กับสังคมให้รับทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแต่อย่างใดในเรื่องของการที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานโดยการกักขังหน่วงเหนี่ยวพนักงานไว้ในโรงงานตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ซึ่งมีทั้งพนักงานที่ออกกะกลางคืนและพนักงานในกะกลางวัน และในจำนวนนั้นมีพนักงานที่กำลังตั้งครรภ์รวมอยู่ด้วย โดยที่ไม่ยอมให้ออกไปเข้าห้องน้ำหรือรับประทานอาหารเที่ยง และมีพนักงานชายบางคนนำอาหารมาให้ภรรยาที่กำลังท้องและถูกกั้นบริเวณอยู่ก็ถูกเลิกจ้างไปด้วย ซึ่งการกระทำของบริษัทอีเลคโทรลักซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมเป็นอย่างยิ่ง

และการเลิกจ้างในครั้งนี้จะเห็นได้ว่าผู้ที่ถูกเลิกจ้าง เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด ส่วนกรรมการสหภาพแรงงานทั้ง 8 คน นายจ้างได้ออกประกาศห้ามเข้าโรงงานโดยอ้างว่าอยู่ระหว่างขออนุญาตศาลแรงงานเลิกจ้าง การเลิกจ้างในครั้งนี้จึงสันนิฐานได้ว่ามีเจตนาที่ทำลายหรือล้มล้างสหภาพแรงงานอย่างชัดเจน

บริษัทอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด มีโรงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม RIL เลขที่ 169 ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย ระยอง และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ อาคารอีเลคโทรลักซ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม 10310 ผลิตเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องดูดฝุ่น ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ทุนจดทะเบียนกว่า 833 ล้านบาท ปัจจุบันมีนายสุทธิ มโนกิจจรูญมั่น และนายโบ โทมัส คลิงเบิร์ก เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทฯ เปิดดำเนินกิจการมารวม 10 ปี ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 800 คน โดยมีผลประกอบการย้อนหลัง 6 ปี ดังตาราง

ตารางแสดงผลประกอบการ(กำไร)บริษัทอิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด

 

ปี พ.ศ.2549

ปี พ.ศ.2550

ปี พ.ศ.2551

ปี พ.ศ.2552

ปี พ.ศ.2553

ปี พ.ศ.2554

1.เงินสดและเงินฝากสถาบันการเงิน (ล้านบาท)

7.6

9.7

3.3

933

1514.1

943.7

2.ลูกหนี้การค้า+บริษัทที่เกี่ยวข้อง+บริษัทอื่น (ล้านบาท)

846.4

957.6

1,360

1,298

1,499.40

1,549.50

3.VAT.รอขอคืน (ล้านบาท)

101.5

101.5

38.4

63.2

40.1

47.8

4.อากรรอขอคืน (ล้านบาท)

-

-

40.2

12.7

3.3

2.3

*รวมสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (ล้านบาท)

1,756.30

1,862.20

2,199.30

2,713.90

3,456.10

3,038

*ที่ดิน+เครื่องจักร (ล้านบาท)

1,188.40

1,514.80

1,428.10

1,364.80

1,546.80

2,124

*รวมสินทรัพย์ (ล้านบาท)

3,009.40

3,414

3,683.90

4,102.20

5,073.70

5,235.10

*รายได้จากการขาย (ล้านบาท)

3,258.60

4,092.10

6,571.90

6,536.70

6,853.10

7,928.10

*ต้นทุนขาย (ล้านบาท)

2,704.80

3,522.40

5,166.70

5,022.10

5,299.30

6,357.70

5.กำสุทธิ/(ขาดทุน)

-167.7

-54.2

693

697.7

693.34

605.01

*กำไรต่อหุ้น(บาท)

-25.25

-7.18

83.32

83.95

?

?

*เงินปันผลต่อหุ้น(บาท)บุริมสิทธิ

264

297

363

330

396

429

รวมกำไรต่อปี  (ล้านบาท) 1+2+3+4+5

787.8

1,015.60

2,137.70

3,004.60

3,750.20

3,148.40

 

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดระยอง

 

ซึ่งทางสหภาพแรงงานฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าผลประกอบการของบริษัทฯ มีมากขึ้นมาโดยตลอดและมีการขยายกิจการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานกลับเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามพนักงานส่วนใหญ่อายุงานเฉลี่ย 5-8 ปี และมีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 8000 – 9,000 บาท เมื่อเทียบกับผลประกอบการของบริษัทฯ

ทั้งนี้สหภาพแรงงานฯ ยังระบุว่าการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเกินเลยกว่าสิ่งที่บริษัทฯ จะสามารถจ่ายให้คนงานได้ได้ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิทธิการเลือกตั้งพื้นที่สถานประกอบการและสิทธิการเลือกผู้ว่ากรุงเทพฯ

Posted: 18 Jan 2013 08:09 PM PST

เมื่อฤดูเลือกตั้งมาถึง จะเห็นว่าคนต่างจังหวัดจำนวนมากที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือพื้นที่เมืองใหญ่ หรือพื้นที่อุตสาหกรรม  เดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเกิดตนเอง เพื่อไปเลือกผู้แทนราษฎรตามสิทธิที่มีสำเนาทะเบียนบ้านรับรอง  บางครั้งแม้แต่การเลือกตั้งตัวแทนระดับระดับท้องถิ่น  เทศบาล องค์กรบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็ต้องไปกัน 

ทั้งๆที่โลกความเป็นจริง คนต่างจังหวัดจำนวนมาก หาได้ดำรงชีวิต ทำมาหากิน มีอาชีพในถิ่นกำเนิดบ้านเกิดตนเองจังหวัดตนเองแล้ว  หรือไม่ได้อยู่บ้านตนเองมานับสิบๆปีแล้ว

พวกเขาไม่ได้เป็นคนบ้านนอก ไม่ได้เป็นคนเดิมถิ่นเมืองเก่าแล้ว พวกเขากลายเป็นคนเมืองลำพูน คนเชียงใหม่ คนโคราช คนชลบุรี คนระยอง คนสมุทรปราการ ฯลฯ และเป็นคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รองรับแรงงานพวกเขา  

แน่นอนว่า  การเลือกตั้งที่เป็นอยู่ อาจจะมีความหมายน้อยลงสำหรับพวกเขา เนื่องจากพวกเขาไม่อาจที่จะบอกผู้แทนทุกระดับว่า พวกเขาอยากให้ช่วยเหลืออะไร? ต้องการให้ทำไร? เมื่อชีวิตจริงพวกเขาไม่ได้อยู่ในเขตเลือกตั้งที่เขามีสิทธิเลือก

เพียงไปเลือกตั้ง แต่หาได้ชีวิตในพื้นที่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง  เลือกไปก็เหมือนลอยไปกับสายลม ?

อาจมีคำถามว่า แล้วทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงไม่ย้ายทะเบียนบ้านมาในพื้นที่ที่เขาทำงานทำมาหากิน  เพื่อมีสิทธิเลือกและมีสิทธิในชีวิตเลือกได้อย่างแท้จริง

พวกเขาไม่ได้เป็นราชการ ไม่ได้เป็นคนชั้นกลาง ที่มีบ้านอยู่เองของตนเอง จึงไม่มีทะเบียนบ้านและการมีสิทธิเลือกตั้งต้องมีตามทะเบียนบ้านจึงลำบากยากนักสำหรับพวกเขา  แต่เนื่องเพราะพวกเขาเป็นนั้นคนระดับล่างชนชั้นนั้นล่าง จึงไม่มีโอกาสมีบ้านเป็นของตนเอง เพียงมีชีวิตอยู่รอดก็แสนเข็ญมิอาจฝันถึงบ้านสักหลัง   พวกเขาจำนวนมากจึงต้องเช่าหอพัก  เช่าบ้านเขาอยู่ 

ด้านหนึ่ง  ย่อมบอกว่า  สภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย  ชนบทเปลี่ยนไป  การย้ายถิ่นฐาน การดิ้นรนเพื่ออยู่รอด การหารายได้ การมีอาชีพใหม่ ทำงานทั้งค่ำดึกยันสว่างก็มีชีวิตย่อมเปลี่ยนไปเช่นกัน เหมือนดั่งเพลงดอกนีออนบานค่ำของ ตั๊กแตน

พวกเขาอาจเป็นสาวหนุ่มโรงงาน  เป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง   เป็นแม่ค้าส้มตำ คนขายผลไม้ดอง เป็นยามเฝ้าธนาคาร เป็นคนขายล๊อตตารี่  เป็นช่างซ่อมรถยนต์  เป็นแม่บ้านทำความสะอาด ทำงานขายของที่เซเว่น ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพวกเขาไม่มีบ้านของตนเองไม่มีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านที่เขาอยู่  เขาจึงไม่มีสิทธิเลือกตั้งในที่ๆเขาทำงานและที่เขาใช้ชีวิตดำรงอยู่นับชั่ววันเวลา เขาจึงต้องกลับบ้านนอกกลับถิ่นเก่าเพื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

หลายปีมาแล้ว องค์กรผู้ใช้แรงงาน ได้เสนอให้รัฐบาลหลายรัฐบาล เพื่อให้ออกกฎหมายและให้รัฐธรรมนูญรองรับสิทธิที่ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการ แต่ดูเหมือนข้อเสนอนี้ไม่มีนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองในระบอบรัฐสภามองเห็น มิต้องกล่าวถึงพวกนิยมระบอบอำมาตยาธิปไตยค่ำครึ

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่จะมาถึง  ก็คงมีผู้คนจำนวนมาก ที่กลายเป็นคนในกรุงเทพฯ อยู่กรุงเทพฯมานาน ทำมาหากินที่กรุงเทพฯมาอย่างมิอาจกลับไปทำงานที่บ้านเก่าได้แล้ว เป็นชนชั้นล่างจำนวนนับล้านคนก็ว่าได้  ไม่มีโอกาส ไม่มีมสิทธิเลือกผู้ว่ากรุงเทพฯได้ ทั้งๆที่ผู้ว่ากรุงเทพฯควรเป็นคนที่เขามีสิทธิเลือกตามหลักการระบบหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง 

ดังนั้น  ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้กฎหมายสิทธิการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องบัญญัติให้สิทธิการเลือกตั้งสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง  แน่นอนว่ามิเพียงสิทธิผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการเท่านั้น  คงต้องรวมถึงสิทธิแรงงานส่วนอื่นๆ สิทธิคนหาเช้ากินค่ำที่ไม่ได้อยู่บ้านเกิดแล้ว ด้วยเช่นกัน

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โรฮิงญา : มรดกความขัดแย้งจากประวัติศาสตร์บาดแผล

Posted: 18 Jan 2013 07:40 PM PST

ข่าวคราวเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวมุสลิมที่หลบหนีจากความไม่สงบภายในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศพม่า เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากชาวไทยจำนวนมากในช่วงระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องจากชาวมุสลิมที่เรียกตัวเองว่า "โรฮิงญา" เหล่านี้ ต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ หลังจากที่ต้องหลบหนีเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฏหมาย เนื่องจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในพม่านั้นทวีความรุนแรงและบานปลายจนรัฐไม่สามารถที่จะควบคุมได้ (ในทัศนะของผู้ที่ไม่ชอบรัฐบาลพม่าและชาวโรฮิงญามองว่ารัฐไม่พยายามที่จะควบคุม) ผู้เขียนติดตามเรื่องของชาวโรฮิงญามานานพอสมควรและมีโอกาสได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของพม่าและอาณาจักรอาระกัน(ก่อนที่จะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่า)ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮิงญาในหลายแง่มุม เห็นว่าอาจมีประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ จึงขอใช้พื้นที่นี้เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงในมุมอื่นๆของเรื่องนี้

สิ่งแรกที่ต้องขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านก็คือ เราต้องแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความสงสารเห็นใจ ผู้เขียนรู้สึกเห็นใจชาวโรฮิงญาที่ถูกกระทำทารุณกรรม ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยโดยตรงกับชาวโรฮิงญาในหลายโอกาส และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นายกสมาคมชาวโรฮิงญาในประเทศไทย Mr. Maung Kyaw Nu รวมทั้งมีโอกาสได้ติดตามไปพูดคุยกับชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย (ชาวโรฮิงญาส่วนมากประกอบอาชีพขายโรตี) พบว่าคนเหล่านี้ เป็นคนอัธยาสัยไมตรีน่ารัก เป็นมิตรและมีน้ำใจมากๆ

ในขณะเดียวกันก็พบว่าประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่มาระหว่างปัญหาความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างชาวพม่าและชาวโรฮิงญานั้น (ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น) มีหลายแง่มุมที่ถูกละเลย ไม่นำมากล่าวถึง ซึ่งอาจไม่ค่อยเป็นธรรมกับชาวพม่าส่วนใหญ่ คำถามคือ ประเทศพม่าใจกว้างพอที่จะยอมรับว่ามีชนกลุ่มน้อยในประเทศทั้งสิ้น 135 ชาติพันธุ์ ทำไมจึงจะยอมรับ ชาวโรฮิงญา เพิ่มอีกสักหนึ่งชาติพันธุ์ไม่ได้ ? ปกติชาวพม่าซึ่งถูกปกครองจากรัฐบาลอย่างเข้มงวดและมักมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกับรัฐบาลตลอด เหตุใดท่าทีของชาวพม่าต่อปัญหาชาวโรฮิงญาจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาล? นาง อองซานซูจี ผู้ได้รับการยกย่องจากสังคมโลก ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ยังคงมีท่าทีนิ่งเฉยต่อปัญหานี้ทั้งที่ประชาคมโลกกำลังจับตามอง แม้กระทั่งประธานาธิบดีโอบามา ยังหยิบยกประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาขึ้นมากล่าวในการแสดงสุนทรพจน์เมื่อครั้งที่มาเยือนพม่าเร็วๆนี่

ในอดีต อาระกันเป็นรัฐอิสระ มีประวัติศาตร์ยาวนาน ร่วมสมัยพุทธกาล แม้หลักฐานที่ขุดค้นได้จะยืนยันการมีอยู่ของเมืองต่างๆในบริเวณนี้ช่วงประมาณ คริสตศตวรรษที่ 5 เช่นเมือง ธัญวดี (Thandayawaddee) ไวสาลี (Visali)  และ เลมโร (Lemro) ในบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเมืองท่าที่สำคัญ เป็นช่องทางการติดต่อค้าขายระหว่างรัฐที่อยู่ภายในทวีปกับรัฐที่อยู่แถบชายฝั่ง รูปแบบของรัฐในสมัยโบราณเราจะเห็นว่าล้วนถือกำเนิดภายในทวีปและติดต่อค้าขายกันไปมาหาสู่โดยเส้นทางบก ต่อเมื่อมีการพัฒนาของเทคโนโลยีการเดินเรือซึ่งสามารถเดินทางได้ไกลมากขึ้น และระยะเวลาน้อยลง รัฐที่อยู่แถบชายฝั่งก็ทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอาจจะด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากกิจกรรมการค้าขายเป็นหลัก มีหลักฐานชัดเจนว่าชาวอินเดียรวมไปถึงชาวอาหรับได้นำสินค้ามาแลกเปลี่ยนค้าขายที่อาระกัน อาจมีบางส่วนได้เข้าตั้งรกรากอยู่ที่นี่ พร้อมๆการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม หลักฐานทางโบราณคดีชี้ชัดว่าพื้นที่นี้เดิมเป็นพื้นที่อารยธรรมฮินดูและพุทธ การที่ศาสนาอิสลามได้เริ่มเผยแผ่เข้ามาในคริสตศตวรรษที่ 7 ไม่ได้หมายความว่าชาวอาหรับเป็นบรรพบุรุษของชาวโรฮิงญา เช่นเดียวกับการที่เรามีพี่น้องมุสลิมทางภาคใต้ หรือมุสลิมในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ไม่ได้หมายความว่าชาวมุสลิมเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากชาวอาหรับ แต่อย่างใด

อาระกันคงความเป็นอิสระมาอย่างยาวนาน อาจเป็นเพราะทำเลที่ตั้งมีเทือกเขาอาระกันโยมาเป็นเสมือนปราการธรรมชาติกั้นระหว่างอาระกันกับพม่าทำให้ยากแก่การโจมตี ประมาณคริสตศตวรรษที่ 15 กษัตริย์อาระกัน พระเจ้านรเมขลา หรือ เมง ซอ หม่อง (Narameikhla, Min Saw Maung, Man Co Mwan) ได้หลบหนีภัยคุกคามในราชสำนักไปหลบภัย และพึ่งพิง อาณาจักรเพื่อนบ้าน คือ เบงกอล อยู่ถึง 24 ปี ก่อนที่จะกลับมาฟื้นฟูอำนาจในปี ค.ศ. 1430 โดยการช่วยเหลือของกษัตริย์เบงกอล (ซึ่งเป็นมุสลิม) และตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ คือ มรัคอู (Mrauk-U) ในปี ค.ศ. 1433 กษัตริย์อาระกันยอมอยู่ในฐานะเมืองขึ้นของเบงกอล อาจเป็นเพราะเคยได้รับความช่วยเหลือจากเบงกอล หลังจากนั้นมีการระบุและจารึกชื่อกษัตริย์อาระกัน ที่เป็นแบบกษัตริย์มุสลิม ควบคู่กับชื่อดั้งเดิม มีการออกเหรียญกาลิมะ (Kalima) ขณะเดียวกันยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงวิชาการว่ากษัตริย์อาระกันได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามหรือไม่ นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาระกัน อาทิ Dr. Jacques P. Leiden ทำการศึกษาและเผยแพร่บทความเรื่อง Buddhist  Kings with Muslim Names : A Discussion on Muslim Influence in the Marauk-U Period ใจความว่ากษัตริย์อาระกันไม่เคยเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามแต่อย่างใด หลังจากนั้นอีกหลายรัชกาลที่กษัตริย์อาระกันใช้ชื่อดั้งเดิมควบคู่กับชื่อมุสลิม ภายหลังอาระกันเข้มแข็งจนสามารถผนวกเบงกอลเข้าเป็นส่วนหนึ่งและก็เลิกใช้ชื่อที่เป็นแบบมุสลิมควบคู่กัน และเป็นที่แน่ใจว่าหลังจากนั้นกษัตริย์อาระกันนับถือศาสนาพุทธ เพราะมีการสร้างวัดจำนวนมากซึ่งยังคงหลงเหลือเป็นโบราณสถานให้เห็นในสภาพที่สมบูรณ์มาจนทุกวันนี้

อาระกันคงความเป็นรัฐอิสระจนถึงปลายปี ค.ศ.1784 ก็พ่ายแพ้แก่กษัตริย์โบดอพญาของพม่าที่คนไทยรู้จักกันในนามพระเจ้าปดุงพร้อมอัญเชิญ พระมหามัยมุณี จากมรัคอูไปยังเมืองอมรปุระ(ปัจจุบันคือชานเมืองมัณฑเลย์ ชาวพม่านับถือพระมหามัยมุณีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเหมือนที่ชาวไทยนับถือพระแก้วมรกต) อาระกันถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าเหมือนการผนวกล้านนาหรือเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของสยาม แต่ 40ปี หลังจากนั้นพม่าแพ้สงครามอังกฤษในสงคราม  Anglo-Burmese War ครั้งที่ 1 พม่าเสียอาระกันไปอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ พม่ารบกับอังกฤษ สามครั้ง จนครั้งสุดท้ายทั้งประเทศก็ตกเป็นรัฐในอาณานิคมของอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1885 ภายใต้การปกครองของอังกฤษ พม่ามีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของบริติชอินเดีย (British India) พื้นที่อาระกันเดิมกับเบงกอล ซึ่งอยู่บริเวณชายขอบของบริติชอินเดียเดิมกับพม่านั้น ผู้คนก็ไปมาหาสู่ กันอย่างเป็นอิสระเพราะได้กลายมาเป็นประเทศเดียวกัน ทั่วทั้งประเทศพม่าก็มีคนอินเดียอพยพเข้ามาเป็นแรงงานจำนวนมาก เหมือนกับการอพยพของชาวจีนเข้ามาเป็นแรงงานในสยามยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น คนอินเดียส่วนหนึ่งเข้ามาเป็นนายทุนปล่อยเงินกู้ ภายหลังก็เข้าครอบครองพื้นที่ที่แต่เดิมเป็นของชาวพม่าที่ไม่สามารถไถ่ถอนได้ คนพม่าจึงรู้สึกไม่ค่อยชอบคนอินเดียมานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อังกฤษใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง ส่งเสริมให้คนกลุ่มน้อย ได้รับการศึกษา อาทิ กะเหรี่ยง คะชิ่น ซึ่งจำนวนมากหันมานับถือศาสนาคริสต์ อังกฤษ ใช้คนกลุ่มน้อยเหล่านี้เป็นทหาร ตำรวจ ปกครองคนพม่าซึ่งเป็นคนหมู่มากของประเทศ ส่วนชาวไทใหญ่หรือ ฉาน อังกฤษให้คงระบบเจ้าฟ้าปกครองกันเอง กระแสขัดแย้งไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันระหว่างชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยกับคนพม่าก็หยั่งรากลึกสืบเนื่องเป็นปัญหามาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อตอนอังกฤษปกครองพม่านั้นได้มีการสำรวจจำนวนประชากรซึ่งทำได้ละเอียดตามมาตรฐานอังกฤษ เป็นที่น่าสังเกตว่าผลสำรวจของอังกฤษประชาชนที่อยู่ในรัฐอาระกันขณะนั้นมีผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่น้อยกว่าผู้นับถือศาสนาพุทธมากกล่าวคือมีผู้นับถือาสนาอิสลามเป็นจำนวนหลักร้อยเท่านั้นเอง ในขณะที่ปัจจุบันมีจำนวนนับล้านคนเลยทีเดียว

พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษกว่าร้อยปี ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มีกลุ่มนายทหาร 30 นาย (30 Comrades) นำโดย อองซาน เคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษ เพื่อแยกตัวเป็นอิสระภาพ โดยการชักนำและช่วยเหลือกองทัพญี่ปุ่นในการขับไล่อังกฤษ ในช่วงเวลานี้เองที่กองทัพอังกฤษซึ่งถอยร่นไปอยู่ในอินเดีย ได้ติดอาวุธให้กับชาวมุสลิมในรัฐอาระกันเพื่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น แม้ภายหลัง อองซานจะกลับลำหันมาสนับสนุนอังกฤษอีกครั้งเมื่อพบว่าการตกอยู่ใต้อำนาจกองทัพญี่ปุ่นอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่า ประเด็นนี้ผู้เขียนได้สอบถามชาวโรฮิงญาที่อยู่ในเมืองไทยซึ่งได้เล่าให้ฟังว่าสมัยเด็กคุณปู่ของเค้าเคยนำปืนที่ได้จากกองทัพอังกฤษมาให้ดูเป็นการยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง และนี่อาจจะเป็นปมที่ทำชาวพม่ามองชาวมุสลิมในรัฐอาระกัน ว่าเป็นคนละพวกกับตนเอง(ตามทัศนะผู้เขียน)

ก่อนหน้าที่พม่าจะได้รับอิสระภาพจากอังกฤษ นายพล อองซาน ได้เชิญตัวแทนชนกลุ่มน้อยต่างๆประชุมกันที่เมืองปางโหลง มีการลงชื่อในสนธิสัญญาปางโหลงเป็นข้อตกลงระหว่างพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ในการที่จะรวมตัวกันเป็นสหภาพก่อนเมื่อได้อิสระภาพจากการเป็นอาณานิคม รายละเอียดจะไม่ขอกล่าวถึง แต่จะขอตั้งข้อสังเกตุว่า ชนกลุ่มน้อยจากอาระกันไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม ในขณะที่กะเหรี่ยงปฏิเสธตั้งแต่ต้นที่จะไม่เข้าร่วมเพราะต้องการที่จะแยกตัวเป็นอิสระทันทีที่ได้รับอิสระภาพ

แม้ว่าผู้นำในการเรียกร้องเอกราช นายพล อองซาน จะถูกลอบสังหารก่อนที่อังกฤษจะให้อิสระภาพแก่พม่าในปี 1948 อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้น ในปี1947 อังกฤษได้ให้อิสระภาพแก่อินเดีย หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างผู้นับถือศาสนาฮินดูกับผู้นับถือศาสนาอิสลามในอินเดียจนต้องแยกออกเป็นประเทศปากีสถานตะวันออก (ต่อมาคือบังคลาเทศ) และปากีสถานตะวันตก (ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) ชาวมุสลิมในรัฐอาระกันต้องการที่จะเอาอย่างจึงได้เรียกร้องที่จะขอเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถานตะวันออก แต่ผู้นำปากีสถานขณะนั้นปฎิเสธ อย่างไรก็ตามได้มีการเคลื่อนไหวกันเองในการแบ่งแยกดินแดนโดยตั้งเป็นขบวนการมูจาฮีดีน ซึ่งรัฐบาลพม่าต้องส่งกำลังเข้ามาปราบปราม

ภายหลังพม่ามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง อูนุ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยบุคลิกแบบนักการเมืองที่มีความประนีประนอมสูง อูนุได้ผลักดันให้มีการตั้งเขตปกครองพิเศษขึ้น (Mayu Frontier Administrative หรือ MFA)ในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นบริเวณสามจังหวัดทางตะวันตกของรัฐอาระกัน ในช่วงเวลานี้ชาวมุสลิมในรัฐอาระกันได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองพม่า มีบัตรประชาชน มีรายการวิทยุออกอากาศเป็นภาษาของตนเอง เข้าใจว่าคงคล้ายๆ กับ BBC ของอังกฤษ ซึ่งพม่าเรียกว่า BBS (Burma Broadcasting Service) ในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเองก็มีการตั้งสมาคมนักศึกษาชาวโรฮิงญา แบบเรียนต่างๆก็มีการกล่าวถึงการมีตัวตนอยู่ของชาวโรฮิงญา แต่แล้วเหตุการณ์ที่เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งปัญหาที่แท้จริง(ในทัศนะผู้เขียน)ก็เกิดขึ้น เมื่อ นายพลเนวิน ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1962 เมื่อนายพลเนวินซึ่งเป็นทหารอาชีพมองว่านโยบายประนีประนอมของ อูนุ อาจจะทำให้ประเทศต้องถูกแบ่งเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย (นายพลเนวินเป็นหนึ่งในกลุ่มสามสิบนายทหารเช่นเดียวกับอองซาน) นายพลเนวินมีทัศนะคติที่ตรงข้ามกับอูนุอย่างสิ้นเชิง เนวินปกครองประเทศด้วยอำนาจทหารอย่างเด็ดขาด ในทัศนะเนวินอาจมองชาวมุสลิมโรฮิงญาว่าเป็นตัวก่อปัญหา ต้องการแบ่งแยกเป็นรัฐอิสระ(ขณะนั้นก็ยังสู้รบกันอยู่) เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เนวินยกเลิกเขตปกครองพิเศษ ยกเลิกรายการวิทยุ ยกเลิกสิทธิความเป็นพลเมือง ออกกฏหมายเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองขึ้นใหม่ จำกัดสิทธิ์ เพราะเชื่อว่าชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากบังกลาเทศไม่น่าจะเป็นคนพื้นเมืองในรัฐอาระกันที่โดยมากนับถือศาสนาพุทธ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยกว่า 25 ปี เล่าให้ฟังว่า ทางการพม่ามาขอเอกสารต่างๆทั้งทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนไป โดยอ้างว่าจะทำการออกให้ใหม่ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการออกเอกสารใดๆให้ อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเลือกตั้ง ทางการจะออกบัตรแสดงตนเพื่อให้สามารถไปเลือกตั้งได้ โดยด้านหลังจะระบุข้อความภาษาพม่ามีความหมายทำนองว่า ผู้ถือบัตรนี้ไม่สามารถอ้างสิทธิ์ในการเป็นพลเมืองพม่าได้

กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ และความเป็นพลเมืองพม่าร่างขึ้นใหม่และประกาศใช้ในปี ค.ศ.1982 แทนฉบับเดิมปี ค.ศ.1948 (แก้ไขเพิ่มเติมปี 1960) กฎหมายฉบับใหม่มีความสลับซับซ้อนและยากต่อการทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก มีบทบัญญัติที่ละเอียดและมีความยาวแยกเป็น 8 หมวด 76 ข้อ ในขณะที่กฎหมายเดิมมีเพียง 23 ข้อเท่านั้น

 เมื่อไม่ได้อยู่ในสถานะพลเมือง สิทธิต่างๆย่อมไม่เทียบเท่ากับพลเมือง ไม่สามารถแต่งงานกัน หรือ มีบุตรได้ หากไม่ได้รับอนุญาต จากทางการ การประกอบกิจการ หรือทำงานต่างๆมักจะถูกผู้เป็นนายจ้างเอาเปรียบ ได้ค่าแรงน้อยกว่าชาวพม่าทั่วไป และโดยมากต้องทำงานหนัก สกปรก หรือเสี่ยงอันตราย ชายชาวโรฮิงญาส่วนมากจึงดิ้นรนที่จะหลบหนีเพื่อที่จะไปทำงานยังต่างแดน มีจำนวนไม่น้อยที่จบชีวิตลงกลางทะเล ไปไม่ถึงจุดหมายโดยที่ครอบครัวเองไม่มีโอกาสได้รับรู้

ชาวอาระกันที่นับถือศาสนาพุทธนั้นสามารถหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกับชาวพม่าได้ไม่ยากนัก อาจเป็นเพราะมีศาสนาเป็นสิ่งเชื่อมโยง กล่าวคือมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ในขณะที่ชาวมุสลิมโรฮิงญานอกจากความแตกต่างทางศาสนาแล้ว การไม่ได้รับสิทธิ์ความเป็นพลเมืองยิ่งตอกย้ำให้เกิดการแบ่งจำพวกของคนในสังคมอย่างชัดเจน

ความขัดแย้งระลอกล่าสุด ที่กลายเป็นชนวนให้เกิดความบาดหมาง ร้าวลึก ระหว่างชาวโรฮิงญาและชาวพม่า ได้พัฒนาเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนาพุทธและผู้นับถือศาสนาอิสลาม กล่าวคือ มีรายงานข่าวว่าหญิงชาวพุทธถูกทารุณ ข่มขืนและฆาตกรรม โดยชายมุสลิม 3 คน ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2012 เมื่อข่าวแพร่กระจายออกไป ได้สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวพม่าเป้นจำนวนมาก แม้เจ้าหน้าที่จะจับตัวผู้กระทำความผิดได้ก็ตาม ในวันที่ 3 มิถุนายน 2012 ชาวพม่าในเมืองตองอัพได้บุกขึ้นไปบนรถบัสที่มีชาวมุสลิมร่วมเดินทาง นำตัวชาวมุสลิมบนรถบัส 10 คน ลงมาสังหาร โดยทั้งสิบคนไม่เกี่ยวข้องใดๆกับเหตุการณ์ข่มขืนที่เกิดขึ้น และเมืองที่เกิดเหตุก็อยู่ห่างออกไปนับร้อยกิโลเมตร หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็ลุกลามใหญ่โต ชาวพุทธและมุสลิมต่างโกรธแค้นซึ่งกันและกัน มีการทำร้ายร่างกาย ทรัพย์สิน มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ เกิดการเดินขบวนประท้วงตามบริเวณต่างๆรวมทั้งที่ ย่างกุ้งด้วย แม้กระทั่งพระสงฆ์ก็ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้มีการขับไล่ชาวโรฮิงญาออกไปจากประเทศเพราะไม่ใช่ชาวพม่า เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดรัฐจึงไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อการแสดงออกของพระสงฆ์ในกรณีนี้ แตกต่างจากกรณีที่พระสงฆ์ทั่วประเทศออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลพม่า ในปี ค.ศ. 2007 ซึ่งจบลงด้วยการสลายการชุมนุมโดยกำลังทหาร หรือกรณีการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มพระสงฆ์ที่ประท้วงการให้สัมปทานทำเหมืองผลิตแร่ทองแดงแก่บริษัทจากประเทศจีนของรัฐบาลพม่าเมื่อเร็วๆนี้

สถาบันพระสงฆ์ของพม่ามีอิทธิพลทางความคิดต่อชาวพม่าเป็นอย่างสูงมาแต่ไหนแต่ไร ด้วยความที่ชาวพุทธในพม่ายังคงยึดมั่นศรัทธาในพุทธศาสนาซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสิ่งเดียวที่คงเหลืออยู่ เนื่องจากสถาบันกษัตริย์สิ้นสุดลงตั้งแต่ ปี ค.ศ.1885 พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองในพม่ามาโดยตลอด นับตั้งแต่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ผู้สนใจบทบาทพระสงฆ์ในพม่าสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ในเรื่องของ ซายะซัน (Zaya San) หรือ อู อุตะมะ (U Utama) จะเข้าใจบทบาทของสงฆ์ในพม่าได้มากยิ่งขึ้น

การเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมออนไลน์ในพม่า อีกเป็นชนวนเหตุหนึ่งที่โหมกระพือไฟแห่งความโกรธแค้นชิงชังให้รุนแรงและรวดเร็วขึ้น มีการส่งต่อข้อความที่แสดงออกถึงความเกลียดชังอย่างมากจากทั้งสองฝ่าย ฝั่งโรฮิงญาพยายามอ้างถึงหลักฐานต่างๆมาสนับสนุนแนวคิดที่ว่าบรรพบุรุษชองพวกเค้าเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ คริสตศตวรรษที่ 7 มีอาณาจักรเป็นของตนเอง มีพระราชาที่นับถือศาสนาอิสลาม บางครั้งการอ้างถึงหนังสือหรือบทความต่างๆ แต่ก็ไม่ได้อธิบายหรือยกข้อความมาทั้งหมด หากแต่เลือกมาเฉพาะส่วนที่สามารถตีความหมายที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายของตนเอง ไม่ต่างจากฝ่ายชาวพุทธที่นำเสนอหลักฐานซึ่งไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้เชื่อได้ เช่นการโยงชาวโรฮิงญาเข้ากับกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความอันตรายอย่างยิ่ง ผู้รับข่าวสารที่มีจิตใจฝักใฝ่เลือกที่จะเชื่อหลักฐานจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยไม่ได้ไตร่ตรองหรือใช้ตรรกะอย่างเหมาะสมจะเชื่อเสมอว่าฝ่ายตนเป็นผู้ถูกกระทำ และพร้อมที่จะตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง

ปัญหาชาวโรฮิงญานี้ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อประชาคมโลก ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากการอพยพหลบหนีเข้ามาพึ่งพาอาศัย เราจะต้องช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม เท่าที่เราจะสามารถทำได้โดยไม่เดือดร้อนตัวเองมากนัก ขณะเดียวกันก็สมควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องมองดูสังคมของเราผ่านมิติแห่งความขัดแย้งของโรฮิงญาให้ดีว่า สังคมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง และไม่พยายามที่จะประนีประนอมทำความเข้าใจกันด้วยเหตุและผล  การเลือกที่จะเชื่อเฉพาะในสิ่งที่ถูกกับจริตของตนเองโดยขาดการตรึกตรองให้ครบถ้วนทุกแง่มุมนั้น อาจนำมาซึ่งความหายนะแก่สังคมและประเทศชาติของเรา เฉกเช่นเดียวกับความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวพม่าและโรฮิงญาในปัจจุบัน

 

References

Aye Chan, The Development of a Muslim Enclave in Arakan State of Burma, 2005, SOAS Retrieved November 1, 2011

D.G.E. Hall, Burma, Hutchison & Co. Ltd., London, 1960.

Khin Maung Saw, Islamization of Burma Through Chitagong Engaleses as "Rohingya Refugee". September 2011

Myint U Thant, The River of Lost of Footstep:Historiesof Burma. Farrar,Straus, and Giroux, 2006

Muhamed Ali Chowdhury, Bengal-Arakan Relations (1430-1666 A.D.), Firma KLM, Kolkata, 2004.

Mohamed Ali Chowdhury.The advent of Islam in Arakan and the Rohingya, presented at the Seminar organised by Arakan Historical Society at Chittagong ZilaParishad Hall, Chittagong, on December 31, 1995.

Moshe Yegar, The Crescent in Arakan, online article can be reached at http://www.rohingya.org/portal/index.php/rohingya-library/26-rohingya-history/82-the-crescent-in-arakan.html

Pamela Gutman,Burma's Lost Kingdoms:Splendours of Arakan,Orchid Press, Bangkok, 2001.

Phayre Authur Purves, Sir, History Of Burma Including Burma Proper Pegu,

Taungu, Tenasserim and Arakan, From The Earliest Times To The End Of The First War With British India,Bailantyne, Handson And Co., London, 1883.

Sunait Chutintaranond and Chris Baker, Recalling Local Pasts:Autonomous History in Southeast Asia, Silkworm Books, Chiang Mai, 2002.

Tin MaungMaung Than and Moe Thuzar, Myanmar's Rohingya Dilemma,ISEAS Perspective, Singapore, July 9, 2012

U ShweZan, The Golden Mrauk-U An ancient Capital of Rakhine,Yangon, 1994.

William Slim, Defeat Into Victory: Battling Japan in Burma and India, 1942-1945. London 2009.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานวิจัยเรื่องบทบาทสื่อกับความขัดแย้งชายแดนใต้ได้รางวัลวิจัยดีเด่น

Posted: 18 Jan 2013 07:24 PM PST

เปิดบทความวิจัยดีเด่น สาขาวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ "ความดราม่าและเร้าอารมณ์ ของการนำเสนอข่าว ไม่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น"

สืบเนื่องจากงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 วันที่ 10-12 มกราคม 2555 จัดโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต คณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกบทความวิจัยดีเด่น หลากหลายสาขา โดยบทความดีเด่นด้านวิเทศศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ (International Studies, Social Science and Humanity)  ได้แก่บทความ "Peace Journalism: How Thai Journalism applied it in A case study of violent conflict in Southern border provinces"  นำเสนอ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์ประจำ คณะวิทยาการการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ผศ.วลักษณ์กมล ได้ทำการศึกษาลักษณะการนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ประเภทต่างๆที่ตีพิมพ์ข่าวและบทความเกี่ยวกับความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสามารถสรุปลักษณะสำคัญของการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งในพื้นที่ได้ดังนี้

1.หนังสือพิมพ์พยายามนำเสนอเหตุการณ์ในลักษณะรายงานข่าวในลักษณะปรากฏการณ์แยกขาดและละเลยบริบทโดยรอบ เช่นการมุ่งประเด็นที่เหตุการณ์ความรุนแรงเพียงลำพัง มิได้ฉายภาพผลกระทบทางสังคมหรือเงื่อนไขสะสมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงดังกล่าว ลักษณะการนำเสนอข่าวโดยมากเป็นการนำเสนอข่าวสารด้านเดียว จากตัวแทนรัฐบาล บุคคลสาธารณะ ทหารระดับสูง หรือ นักการเมืองมากกว่าบุคคลทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่จริง

2.ปัญหาความขัดแย้งภาคใต้ถูกนำเสนอผ่านประเด็นความรู้สึกและการปลุกเร้าอารมณ์ จากการศึกษาพบว่าการปลุกเร้าอารมณ์ผ่านการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ และการทำให้เป็นปีศาจร้าย ถูกผลิตซ้ำต่อเนื่องในการนำเสนอข่าว อันเป็นการสร้างเงื่อนไขการนำเสนอข่าวในรูปแบบของ "การทำสงคราม" มากกว่าการสร้างสันติ พิจารณาได้จากคำที่ใช้เร้าอารมณ์ความรู้สึกที่ปรากฏบ่อยครั้งเช่น กราดยิง ฆ่าโหด สังหารหมู่  ซึ่งเป็นคำที่ทำให้บรรยากาศความร่วมมือย่ำแย่ลง เช่นเดียวกับภาษาที่มีการสร้างความเป็นปีศาจร้าย เช่น มุสลิมหัวรุนแรง โจรใต้ ผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม ทั้งหมดเป็นไปเพื่อเป้าหมายในการดึงดูดผู้อ่านผ่านระบบการสร้างข่าวให้มีสีสัน เร้าอารมณ์ และสร้างความ 'ดราม่า' สิ่งเหล่านี้ทำให้ข่าวขายได้แต่มิทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายลงแต่อย่างใด

3.ข่าวที่มีข้อมูลครบถ้วนและสร้างความเข้าใจลึกซึ้งไม่เป็นที่นิยมสำหรับการนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง  ข่าวถูกทำให้ง่ายต่อการเข้าใจของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มจะเชื่อและเลือกข้าง การเขียนข่าวของนักข่าวในประเทศไทยมักใช้เวลากับการบรรยายข้อเท็จจริงมากกว่าเปิดพื้นที่ให้นักข่าวได้วิเคราะห์เชิงเหตุผล รวมถึงการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกกับผู้อ่าน

หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบเครือข่ายสังคมจะเป็นการกระจายช่องทางการสื่อสารสู่คนระดับท้องถิ่นเพื่อถ่ายทอดประเด็นของตนเองสู่ส่วนกลางได้หรือไม่ ผศ.วลักษณ์กมลให้ความเห็นว่าข้อเท็จจริงสำคัญคือผู้เข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ในประเทศไทยยังมิใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ และโดยมากเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ซึ่งนับว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้สัมผัสปัญหาความรุนแรงโดยตรง นอกจากนี้ปัญหาสำคัญคือแม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าแต่หากเนื้อหาและแนวทางการนำเสนอข่าวไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม ก็จะก่อให้เกิดผลแบบเดียวกัน ดังที่จะเห็นจากการ แชร์รูปเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดน ด้วยถ้อยคำที่เกินจริง เร้าอารมณ์ความรู้สึก ขาดบทวิเคราะห์ ในด้านนี้เทคโนโลยีจำเป็นต้องมาคู่กับวุฒิภาวะของผู้นำเสนอข่าว หรือกระทั่งผู้ใช้เทคโนโลยีต่างๆ

ในช่วงท้ายได้มีผู้เข้าร่วมรับฟังให้ความเห็นว่า แม้ข้อเสนอเรื่องแนวทางการนำเสนอข่าวเพื่อสร้างสันติภาพจะมาจากทางตะวันตกอันแตกต่างจากลักษณะการเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักของไทย แต่แนวคิดการต่อต้านมุสลิมก็มาจากโลกตะวันตกหลังเหตุการณ์ 9/11 เช่นกัน หากพิจารณาในแง่มหภาคผลสัมฤทธิ์ของการเสนอข่าวลักษณะนี้จะสามารถคาดหวังได้เพียงใด โดย ผศ.วลักษณ์กมล ให้ความเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ปัจจัยภายนอกประเทศมีผลต่อความเข้าใจต่อชามุสลิม แต่สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือสังคมตะวันตกเองก็มีพลวัตภายใน มีทั้ง Peace Journalism และ War Journalism เช่นเดียวกับสังคมไทย ประชาชนสามารถถูกเร้าอารมณ์ได้ด้วยความเกลียดชังไม่ต่างกัน ในงานวิจัยนี้อาจไม่ได้ฉายภาพให้เห็นเต้นเหตุในระดับมหภาค แต่มุ่งชี้ให้เห็นทางออกในระดับจุลภาคว่า เหตุผล ความเคารพในมนุษย์ และการนำเสนอรอบด้าน จะเป็นหนทางสู่การสร้างสันติมากกว่า การลดค่าความเป็นมนุษย์ ปลุกเร้าอารมณ์เกลียดชัง และ 'ความดราม่า'

อนึ่งบทความ "Peace Journalism: How Thai Journalism applied it in a case study of violent conflict in Southern border provinces" ได้นำเสนอในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และได้รับการคัดเลือกเป็นบทความวิจัยดีเด่นประเภทบุคคลทั่วไป

 

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ ไทยชวนเขียนจดหมายถึงรัฐบาล-ขอให้ปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข"

Posted: 18 Jan 2013 03:36 PM PST

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี-รมว.ยุติธรรม และ กสม. เรียกร้องปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาต่อ "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ชี้เป็นนักโทษทางความคิด และไม่ควรมีรัฐไหนมากล่าวหาว่าการกระทำของสมยศเป็นความผิด

ตามที่เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ส่งข้อความถึงสมาชิกทั่วโลกแสดงความกังวลว่า นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารชาวไทยอาจถูกตัดสินลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม โดยคดีของเขาจะมีการพิพากษาในวันที่ 23 ม.ค.นี้

ทั้งนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ถือว่านายสมยศเป็นนักโทษทางความคิด (prisoner of conscience) ที่ถูกควบคุมตัวเพราะการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ

โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ขอความร่วมมือจากสมาชิกให้ร่วมกันส่งจดหมายร้องเรียนถึงรัฐบาลไทยผ่านทาง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และสำเนาถึงนายประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีข้อเรียกร้องได้แก่ หนึ่ง ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และให้มีการปล่อยตัวโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข สอง จัดให้มีการเยียวยาชดเชยนายสมยศจากการถูกจองจำเป็นเวลาหลายเดือน และให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยที่มีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และให้พักการใช้กฎหมายมาตรานี้จนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในลักษณะดังกล่าว

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (18 ม.ค.) ที่สำนักงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดกิจกรรม "เขียนจดหมาย ลงลายเซ็นเพื่อปฏิบัติการด่วน: บรรณาธิการไทยเสี่ยงจะถูกตัดสินลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม" โดยเป็นการเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ปล่อยตัวนายสมยศดังกล่าว

โดย น.ส.สุธารี วรรณสิริ ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าในรอบประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย และพบว่ามีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในลักษณะที่เป็นการใช้ทางการเมือง และใช้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน โดยในกรณีของนายสมยศ เรายืนยันว่า เราพิจารณาว่าเขาเป็นนักโทษทางความคิด ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ถูกคุมขัง ถูกจำกัดเสรีภาพทางร่างกาย เพราะการแสดงความเห็น หรือเพราะความเชื่อทางการเมือง ศาสนาของตน หรือเพราะมีชาติพันธุ์ เพศ หรือผิวต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม

ส่วนข้อเรียกร้องหนึ่งที่ให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนายสมยศนั้น ถือว่าไม่ได้มีเจตนาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หรือการทำงานของศาลใดๆ ทั้งสิ้น แต่การเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาเนื่องจากเป็นการแสดงจุดยืนต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับนายสมยศ ทั้งนี้นายสมยศ ไม่ได้ทำอะไรที่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย

"สิ่งที่ทำคือการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ ในการที่จะสื่อสารความคิดและความเชื่อของเขาเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีรัฐบาลไหน หรือควรไม่มีรัฐใดๆ ที่จะมากล่าวได้ว่าการกระทำในลักษณะนี้ของคุณสมยศเป็นการกระทำผิด"

ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวด้วยว่าทั้งนี้ กรณีของ นายสมยศคือการทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพแสดงออกตามที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบรรณ เป็นภาคีสมาชิกซึ่งมีพันธะกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม

นอกจากนี้สิ่งที่ยังเป็นห่วงก็คือทางการไทยปฏิเสธคำขอประกันตัวของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ทั้งหมดจนถึงตอนนี้ 12 ครั้งด้วยกัน โดยไม่ได้ให้เหตุผลอย่างเพียงพอ ทั้งที่มีข้อกำหนดตามมาตรา 40 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 107 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าจะต้องจำกัดการควบคุมตัวระหว่างการรอไต่สวนให้เหลืออยู่ในเฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เห็นว่ากรณีนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกมาแสดงท่าทีต่อการปกป้องสิทธิของนายสมยศ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น