โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สหภาพฯ อิเลคโทรลักซ์ยื่นหนังสือ สนง.ใหญ่ รับกลับ 129 คนงาน

Posted: 28 Jan 2013 10:39 AM PST

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.56 ที่ผ่านมา สหภาพแรงงาน อิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย เดินทางมายื่นหนังสือที่สำนักงานใหญ่บริษัทอิเลคโทรลักซ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทรับ 129 คนงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน เนื่องจากก่อนหน้านั้น สหภาพฯ ยื่นข้อเสนอให้นายจ้างปรับเพิ่มฐานเงินเดือนตามระดับขั้น จากการปรับค่าแรง 300 บาท แต่ต่อมาถูกเลิกจ้าง

สืบเนื่องจากกรณีที่มีการประกาศปรับค่าจ้าง 300 บาท ก่อนหน้านั้นเงินเดือนของคนงานส่วนใหญ่ไม่ถึง 9,000 บาท แต่อายุงานแต่ละคนจากพนักงานที่มี 800 กว่าคนนั้นจะแตกต่างกันออกไป เงินเดือนจึงกระจายกันที่ 7,000 – 9,000 บาท หรือบางคนไปถึงใกล้หมื่นบาท แต่อายุงานก็ตั้งแต่รุ่นก่อตั้งบริษัท 9-10 ปี หลังจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท สหภาพแรงงานฯ ก็มองเห็นว่าบริษัทควรมีนโยบายที่จะปรับเพิ่มให้กับคนที่ได้ค่าแรงมากกว่านั้นด้วย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยอดพล เทพสิทธา: เมื่อศาลยุติธรรม (ไทย) ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าศาลเจ้า

Posted: 28 Jan 2013 10:24 AM PST

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 3 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งหน่วยงานตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

จากบทบัญญัติดังกล่าวของรัฐธรรมนูญทำให้เห็นถึงการแบ่งหน้าที่ตามหลักของการไม่รวบอำนาจไว้ที่บุคคลคนเดียวหรือองค์กรเดียวอย่างชัดเจน นั่นคือ รัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย หากพิจารณาให้ถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่าทั้งสามองค์กรดังกล่าวมีฐานอำนาจที่มาจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในทางกฎหมายของรัฐไทย โดยแต่ละองค์กรต่างทำหน้าที่ของตนที่ได้บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ

กรณีของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีนั้นผู้เขียนจะขอละไว้ไม่พูดถึงในกรณีนี้เพราะตามบทบัญญัติของกฎหมายเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถทำการตรวจสอบผู้แทนของตนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งสื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสององค์กรกับประชาชนอย่างชัดเจนแต่ในกรณีของศาลนั้นเราเพิ่งจะได้เห็นการออกมาตอบโต้บทความของนักวิชาการต่างๆไม่ว่าจะโดยอธิบดีศาสลอาญาหรือแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอง จึงเป็นที่น่าคิดว่าเมื่อศาลเป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยแล้วนั้นเหตุใดศาลจึงตั้งตัวเองให้มีความศักดิ์สิทธิยิ่งกว่าอีกสององค์กรข้างต้น

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาศาลอาญาได้มีคำวินิจฉัยในคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 ของนาย สมยศ  โดยศาลได้ตัดสินให้นาย สมยศ มีความผิดตามฟ้องและลงโทษจำคุกเป็นเวลาสิบปีสำหรับความผิดตามมาตรา112 หลังจากศาลได้มีคำวินิจฉัยนี้ได้มีปฏิกริยาจากสาธารณชนเป็นวงกว้างทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในส่วนที่เห็นด้วยนั้นผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงแต่ในส่วนของความเห็นแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลนั้นในบางความเห็นแย้งศาลกลับออกมาตอบโต้ว่าเป็นการหมิ่นศาลละเมิดอำนาจศาลเช่น จดหมายเปิดผนึกของนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระเป็นต้น นอกจากนี้ในกรณีของนาย อำพน หรือ อากงนั้น ศาลได้เคยออกมาตอบโต้แล้วครั้งหนึ่งซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ผู้คนจำนวนมาก จึงทำให้ต้องกลับมานั่งทบทวนกันในทางหลักกฎหมายว่าเหตุใดเราสามารถวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลได้ทั้งทางตรงทางอ้อม ทั้งสุภาพและหยาบคายเราสามารถวิจารณ์การทำหน้าที่ของผู้แทนของเราได้เช่นเดียวกัน

แต่ในกรณีของศาลนั้นกลับมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าวิจารณ์ได้แต่ต้องเป็นไปตามหลักวิชาและวันดีคืนดีผู้วิจารณ์อาจโดนข้อหาหมิ่นศาลซึ่งเป็นกรณีที่ค่อนข้างน่าขบขันเนื่องจากคนวินิจฉัยก็ดี นั่นคือองค์กรศาลยุติธรรมเองเหมือนกับเป็นการประมานว่า อย่าวิจารณ์ข้านะข้ามีกฎหมายคุ้มครองและข้าเองเป็นคนที่ใช้กฎหมายนั้นตัดสินพวกเจ้า

ปัญหาที่ต้องนำมาขบคิดเกี่ยวกับการใช้อำนาจของศาลนั้นในทางตำราเรียนแล้วนั้นศาลถือเองว่าคำวินิจฉัยของศาลถูกควบคุมโดยทางดิ่ง (vertical) อยู่แล้วโดยการควบคุมแบบเป็นลำดับชั้นจากชั้นต้นไปจนถึงชั้นสูง ไม่มีการควบคุมจากภายนอกทำให้ศาลเป็นองค์กรที่ค่อนข้างอิสระไม่ยึดโดยงกับอาณัติใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งต่างจากรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีที่สามารถถูกตรวจสอบได้ทั้งจากภายในและภายนอก ทีนี้เมื่อเกิดคำวินิจฉัยที่คลุมเครือ จะมีกระบวนการอย่างไรในการควบคุมหรือเอาแค่การตรวจสอบก็พอเพื่อที่จะตรวจสอบได้ว่า คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลนั้น น่าเชื่อถือ และ ยุติธรรม สำหรับใคร  ทั้งที่มีข้อเสนอจากนักวิชาการจำนวนมากเรียกร้องขอให้ศาลมีจุดเกาะเกี่ยวหรือจุดเชื่อมโยงกับประชาชนแต่ข้อเสนอนี้เสมือนการผายลมเพราะไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรจากองค์กรศาลเอง

ตัวอย่างของความน่าเชื่อถือของคำวินิจฉัยของศาลเช่น ในกรณีของนาย อำพล ศาลกล่าวว่า "แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้อง...ก็ตาม แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน ซึ่งจากพยานเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดซึ่งบ่งชี้อย่างใกล้ชิดและสมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อพิรุธใด ๆ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดประกอบกันจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความตามฟ้อง...ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท โดยประการที่จะน่าทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง...ข้อความดังกล่าวล้วนไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งประเทศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา...จำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง"

คำวินิจฉัยนี้มีปัญหาอะไร หากคนที่เรียนกฎหมายหรือทราบหลักการพื้นฐานกฎหมายจะทราบว่าในทางกฎหมายอาญานั้น มีหลักอยู่ข้อหนึ่งที่ว่า  Beyond the reasonable doubt หรือการพิสูจน์จนสิ้นสงสัย แต่จากคำวินิจฉัยนี้แสดงให้เห็นว่าศาลเองไม่ได้เดินไปตามหลักนี้แต่กลับให้เหตุผลไปในอีกทิศทางหนึ่งซึ่งไม่สามารถหาตรรกของคำวินิจฉัยนี้ได้เลยครั้นจะรออุทธรณ์ก็สายไปเสียแล้วเพราะนายอำพน หรืออากงได้เสียชีวิตไปแล้ว ปล่อยให้คำพิพากษานี้คาใจและเป็นข้อกังขาแก่สังคมมาจนปัจจุบัน ปัญหาคือการให้คำอรรถาอธิบายของศาลแก่สาธารณชนนั้นเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่หากสาธารณชนไม่เห็นด้วยจะวิจารณ์ได้หรือไม่

กรณีล่าสุดศาลได้ออกมาตอบโต้นายวีรพัฒน์ นักกฎหมายอิสระที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพของนายวีระพัฒน์อย่างชัดเจนด้วยการประกาศว่าจะนำเอายุทธโธปกรณ์ทั้งหมดมาเช็คนายวีรพัฒน์ ศาลอ้างว่าหากเป็นการวิจารณ์ทางวิชาการศาลสามารถรับได้ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ คำว่า วิชาการ ของศาลนั้น ศาลท่านตีความอย่างไร ด้วยความเคารพต่อศาล(ผู้เขียนต้องแสดงความเคารพต่อศาลให้เห็นก่อนเพราะผู้เขียนเป็นเพียงนักเรียนกฎหมายที่ยังรักตัวกลัวอยู่) คำว่าวิชาการนั้น อาจมีได้หลายความหมายแต่หากพูดกันแบบชาวบ้านนั่นก็คือการอ้างอิงจากหลักวิชา ที่ได้ร่ำเรียนมาทั้งจากหนังสือและจากครูอาจารย์ผู้สอน แน่นอนว่าศาลได้ให้เหตุผลว่าศาลยอมรับคำวิจารณ์เเต่ต้องเป็นในวงกว้างไม่ใช่เเเค่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่มีอคติต่อศาล ในวงกว้าง รวมถึงประชาชน เเละผู้ที่เข้าใจถึงระบบการทำงานของศาล

ประเด็นนี้ ผู้เขียนอยากจะบอกกับศาลว่าในวงกว้างรวมถึงประชาชนและผู้ที่เข้าใจถึงระบบการทำงานของศาล นั้นมีกี่คน เมื่อการทำงานของศาลนั้นตัวศาลเองเป็นองค์กรปิดที่ไม่ยอมเปิดให้องค์กรภายนอกเข้าไปตรวจสอบ แล้วคำว่าวงกว้างนี่หมายถึงใครครับ ด้วยความเคารพ หากศาลไม่เปิดองค์กรให้ประชาชนเข้าใจการทำงานนั่นหมายความว่าประชาชนตาดำๆไม่มีสิทธิ์วิจารณ์ศาลได้เลย นี่ขนาดนักวิชาการยังโดนศาลขู่สักขนาดนี้ แล้วชาวบ้านจะเหลือเหรอครับนายท่าน แม้ท่านจะอ้างว่าใน กต เองมีผู้ทรงตุณวุิฒิที่ตั้งมาจากวุฒิสภา แต่ท่านพิจารณาสัดส่วนก่อนครับว่ามีจำนวนเท่าไหร่และคนนอกนั้นเป็นใครมาก่อน

ต่อข้อหาหมิ่นศาลนั้น คำว่าหมิ่นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายว่า ก. แสดงกิริยาท่าทาง พูดจา หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเชิงดูถูกว่ามีฐานะต่ำต้อยหรือไม่ดีจริงไม่เก่งจริงเป็นต้น, ดูหมิ่น หรือ ดูหมิ่นถิ่นแคลน ก็ว่า. ในจดหมายเปิดผนึกของนายวีระพัฒน์เองนั้นผู้เขียนอ่านแล้วยังไม่มีการแสดงข้อความว่ามีลักษณะที่ศาลกล่าวอ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นศาลเองก็ยังทรงสิทธิ์ในการตีความซึ่งผู้เขียนก็เคารพในจุดนี้

เมื่อศาลเองยกตัวเองให้เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนศาลก็พึงที่จะยอมรับคำวิจารณ์ทั้งแง่ดีและแง่ร้ายและนำไปปรับปรุงและพัฒนาองค์กรเพื่อให้ตัวศาลเองมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้อย่างแท้จริง และยิ่งในกรณีล่าสุดนั้นผู้เขียนเข้าใจ(เอง)ว่านานาชาติและนายวีรพัฒน์เองต้องการวิจารณ์มาตรา 112เกี่ยวกับความสมเหตุสมผลทั้งหลายในแง่ปรัชญาและแนวคิดแต่ศาลกลับตีความไปได้ว่าอาจเป็นการหมิ่นศาล ผู้เขียนเกรงว่าอีกหน่อยศาลจะหมดซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และความยุติธรรมไปมากกว่านี้ เมื่อศาลลงมาเป็นผู้เล่นเสียเอง ผู้เขียนขอฝากบทกลอนไว้ถึงศาลดังนี้ อันนินทากาเร เหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน แม้องค์พระปฏิมายังราคิน คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา หวังว่าหากศาลได้อ่านบทกลอนนี้แล้วศาลควรที่จะยอมรับคำวิจารณ์และนำไปพัฒนาตัวองค์กรให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ผู้เขียนมักจะนึกถึงคำขอท้ายฟ้องว่า โจทก์ไม่มีหนทางอื่นจะบรรเทาความเสียหายได้จึงมาขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง หากศาลยังถือตนว่าตนเองศักดิ์สิทธิใครก็วิจารณ์ไม่ได้แล้วไซร้ อีกหน่อยหากประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำเห็นว่าศาลสร้างความศักดิ์สิทธิด้วยวิธีการเช่นนี้อีกหน่อยศาลคงได้เป็นที่พึ่งของประชากรผู้หวังรวยทางลัดอีกประการเป็นแน่โดยการนำเอาแป้งมาทาตามใต้ถุนบันไดรั้วของศาลเพื่อหาเลขเด็ดเฉกเช่นที่เคยทำมากับบรรดาศาลเจ้าต่างที่ว่าศักดิ์สิทธินักหนา ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

 

ด้วยความเคารพ


 

          

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจ้าหน้าที่รัฐแจงปัญหาโรฮิงญาต่อ กสม. ระบุผิดกฎหมายแต่ยอมผ่อนปรน

Posted: 28 Jan 2013 09:55 AM PST

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจแจงกรณีโรฮิงญาเป็นการเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ผ่อนปรนและให้การดูแลโดยยึดหลักมนุษยธรรม ขณะนักสิทธิมนุษยชนระบุต้องการแก้ไขเป็นระบบและอาจต้องปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้อง ด้านชาวโรฮิงญาเรียกร้องประชาคมโลกคุ้มครอง ชี้พม่าเหมือนมีการพัฒนาประชาธิปไตย แต่คนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยยังคงถูกฆ่าและละเมิดสิทธิ

28 ม.ค. 2555 อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรฮิงยาที่ถูกจับกุมระลอกล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้เป็นการเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ผ่อนปรนและให้การดูแลโดยยึดหลักมนุษยธรรม ขณะนักสิทธิมนุษยชนชี้ ปัญหาโรฮิงญาต้องการแก้ไขเป็นระบบและอาจต้องปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้อง ด้านชาวโรฮิงญาระบุ พม่าทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับภาพลักษณ์ที่แสดงออกต่อประชาคมโลก ดูเหมือนมีการพัฒนาประชาธิปไตย แต่คนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยยังคงถูกฆ่าและละเมิดสิทธิ

จำนวนโรฮิงยา ที่อยู่ในฐานะผู้ต้องกัก 1486 ราย

พ.ต.อ.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รอง ผบก.ภ.จว.สงขลาชี้แจงว่า ขณะนี้ชาวโรฮิงยาที่อยู่ในฐานะ "ผู้ต้องกัก" มีจำนวน 1,486 คน โดยได้แยกผู้ต้องกักไว้ในหลายพื้นที่ เพื่อลดความแออัดและเพื่อสามารถดูแลได้ทั่วถึง โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ –พม. ดูแลเรื่องเด็กและผู้หญิง ในส่วนบ้านพักเด็กก็มีการจัดแพทย์พยาบาล ไปดูแลรักษา แยกคนป่วย-ไม่ป่วยออกจากกัน

ส่วนการดำเนินการผลักดันจะเป็นเมื่อไหร่ก็คงต้องให้ส่วนของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการ ในส่วนของท้องที่ก็ดำเนินการเฉพาะความผิดผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้มีกรณีคนไทย 2 ราย โดนจับ และแจ้งข้อหาเรื่องการให้ที่พักพิง

สำหรับการกล่าวถึงปัญหาการค้ามนุษย์นั้น พ.ต.อ. กฤษกรระบุว่า ส่วนใหญ่ชาวโรฮิงญาสมัครใจที่จะเดินทางออกมา จึงเป็นเรื่องบ่งชี้ยากว่าเข้าองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์หรือไม่

ตัวแทนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มี ผู้หญิงและเด็ก 264 คนที่อยู่ในความดูแลของ พม. คน เป็นบ้านพักเด็ก ดช. 38 คน ผูหญิงเกิน 18 จำนวน 26 คน ผู้หญิงต่ำกว่า 18 จำนวน 48 คน โดยดูแลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ และมี 1 รายที่กำลังตั้งครรภ์ 5 เดือนโดยมีภาวะโลหิตจาง ก็ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีมีปัญหาในการดูแลเช่นกันเพราะบ้านพักเด็กและครอบครัวไม่ได้ออกแบบมารองรับผู้ประสบปัญหาทางสังคมมากขนาดนี้ ส่งผลกระทบต่อการให้บริการกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนไทย

ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า นอกเหนือจากการดูแลชั่วคราว ก็จะแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ โดยจะพิจารณาตั้งแต่การรวมครอบครัวสตรีและเด็ก การหาถิ่นที่อยู่ในประเทศต้นทางและเงื่อนไขที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวกลับไปยังพื้นที่ต้นทางโดยความร่วมมือของประชาคมระหว่างประเทศ ถ้าไม่สามารถหาทางออกได้ก็จำเป็นต้องหารือเรื่องถิ่นที่อยู่ แต่ทางออกที่จะเป็นไปได้สูงสุดก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาและต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

 

อนุ กสม. เสนอดูแลปัญหาที่ต้นทาง

นายสมชาย หอมละออ อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตั้งคำถามต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาโรฮิงญาว่า หน่วยงานต่างๆ ได้ตรวจสอบสถานการณ์ไหม ถิ่นที่อยู่ การตั้งข้อหาซึ่งมีผล และกระทรวงการต่างประเทศมีแนวทางการเจรจาแก้ปัญหากับประเทศต้นทางอย่างไร เพราะเป็นแนวทางที่สำคัญมากที่จะลดจำนวนผู้ที่อพยพออกมา ซึ่งเป็นภาระของชาวโลกและเป็นภาระของประเทศไทย

นาย Golam Abbas  จาก UNHCR กล่าวในนามผู้แทนข้าหลวงใหญ่ UNHCR ขอบคุณไทยที่ให้การรับรองชาวโรฮิงญา ทั้งรัฐบาลไทย ส่วนราชการและชุมชนในพื้นที่ โดยระบุว่า ปัญหาโรฮิงญานั้นเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน และทาง UNHCR อยากจะเห็นการให้ความสนบัสนุนด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ UNHCR มีข้อสังเกตหลายๆ อย่างที่เป็นความห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์โรฮิงญาในปัจจุบัน หนึ่งนั้นก็คือ สถานที่พำนัก ประเด็นเด็กและผู้หญิง โดยอยากให้มีการสนับสนุนน้ำและอาหารแก่คนกลุ่มนี้ และหลังจากที่มีการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นก็ต้องมองการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ซึ่งในระดับต่อไปอาจจะมีรูปแบบทวิพาคีและพหุภาคีเพราะปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง

เขากล่าวด้วยว่า UNHCR ตระหนักดีเรื่องปัญหาโรฮิงญา และมีการประสานกับ พม่า มาเลย์ ไทย และอินโดนีเซีย เพื่อร่วมกันดูแลเรื่องดังกล่าว และเราคาดหวังว่าไทยจะช่วยหาทางออกต่อไป

 

ชาวโรฮิงญาร้องขอความคุ้มครองจากประชาคมนานาชาติ

ด้านชาวโรฮิงญาซึ่งเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยกว่า 20 ปี ซึ่งที่เข้าร่วมให้ข้อมูลกับกสม. ระบุว่า โรฮิงญามีหลักแหล่งที่ชัดเจน โดยขณะนี้มีการให้ข่าวว่าชาวโรฮิงยาบางส่วนเป็นชาวบังคลาเทศที่หลบเข้าเมืองอาระกัน ของพม่า ซึ่งเขาระบุว่าไม่เป็นความจริง ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในอาระกันเป็นชาวโรฮิงญาที่อยู่ในพม่ามานานแล้ว ไม่ใช่ชาวเบงกาลีที่อพยพมาจากบังคลาเทศ

เขาย้ำว่า การฆ่าคนชาติพันธุ์อื่นในพม่าไม่ใช่มีแต่กรณีของชาวโรฮิงญาเท่านั้น แต่ยังมีความรุนแรงและการฆ่าชาติพันธุ์อื่นๆ ในรัฐอื่นด้วย เช่น คะฉิ่น ซึ่งนี่เป็นด้านที่ตรงกันข้ามกับภาพที่พม่าพยายามแสดงออกว่ากำลังพัฒนาประชาธิปไตย สิ่งที่เขาเรียกร้องคือ ขอให้หยุดการฆ่าพวกเขา สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการปกป้อง

"พวกเราต้องการปกป้องจากนานาชาติ และเรียกร้องยูเอ็น อาซียน เราไม่ได้ต้องการจะอยู่ที่นี่ เราต้องการกลับบ้าน แต่เราต้องการการคุ้มครอง ถ้าไม่มีสันติภาพเกิดขึ้นในอาระกัน ก็จะต้องมีชาวโรฮิงยาหนีตายทางเรือออกมาอีกเป็นพันๆ คน จึงอยากเรียกร้องทุกฝ่ายให้ความคุ้มครองกับชาวโรฮิงยา" นัจมุน อาลาม โชดูรี จากสมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทยกล่าว

นายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารมูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล (ทีซีอาร์) วิจารณ์ว่าการแก้ปัญหาของภาครัฐยังไม่ตรงจุด เพราะปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาโดยใช้มุมมองกฎหมาย มองว่าชาวโรฮิงญามีความผิดจากการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ขณะที่ชาวโรฮิงญาลี้ภัยความตายมา

"มีชาวโรฮิงญาต้องหนีตายมาตลอด เรากำลังพูดถึงชีวิตของคนที่เขาเดือดร้อนหนีตายมา การที่เขากลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองนั้นก็จะต้องถูกกักขังจับกุม จะว่าไปก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน

"เราพูดถึงกฎหมายหลายฉบับ แต่เราไม่ได้พูดถึงภาระหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่เราเป็นภาคีอยู่หลายกรณีทั้ง ICCPR (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน คนเหล่านี้เป็นเหยื่อการทรมาน รัฐไทยมีภาระหน้าที่ที่จะไม่ส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง เป็นกลไกตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าเขาลี้ภัยหรือไม่"

โดยวรวิชญ์ตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงการต่างประเทศสามารถที่จะอนุญาตให้ทาง UNHCR ได้พิสูจน์ทราบเกี่ยวกับสัญชาติ และทาง UNHCR สามารถกำหนดสถานภาพผู้ลี้ภัยได้ และถึงที่สุดแล้ว ปัญหาโรฮิงญาอาจเป็นการกระตุ้นให้แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและต้องปรับแก้กฎหมายที่มีลักษณะจำกัด

"ผมคิดว่าเราน่าจะมีแนวทางที่จะจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ คงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่ผ่านๆ มา ประเด็นโรฮิงญาเป็นเรื่องที่กระตุ้นเตือนให้เห็นความซับซ้อนของปัญหาและต้องการการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ"

งานต่อไปของ กสม.

ด้านน.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า สิ่งที่ อนุกรรมการฯ จะทำต่อไปคือ จะมีการศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาโรฮิงญา  ประการต่อมาคือ การแก้ไขปัญหาเพาะหน้าเรื่องการที่ชาวโรฮิงยาอพยพหนีภัยมา ซึ่งต้องดูเรื่องเขตแดนไม่ใช่ให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงเท่านั้น โดยเขายกตัวอย่างในอดีตว่า ที่ผ่านมาไทยเคยให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงครามทั้งชาวพม่าและกะเหรี่ยง และค่อนข้างเร่งรัดการส่งกลับ ผลคือผู้ที่ถูกส่งกลับไปไปประสบปัญหากับระเบิดระหว่างชายแดน บางครั้งเมื่อกลับไปแล้วต้องเจอสภาวะสงครามก็กลับมาอีกและต้องหลบซ่อนในป่าหลายหมื่นคน

"เฉพาะหน้า แม้กฎหมายเราเป็นกฎหมายคนเข้าเมืองและไม่ผูกพันกับอนุสัญญาลี้ภัย แต่เราก็ต้องยึดหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ต้องยึดหลักอนุสัญญาเด็กและสตรี การไม่เลือกปฏิบัติ การต่อต้านการทรมาน ที่เราได้ลงนามรับรองเรียบร้อยและเป็นข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ต้องเข้าไปดูแล "

ทั้งนี้ น.พ.นิรันดร์กล่าวว่าหลังจากดูแลปัญหาเฉพาะหน้าให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษธรรมแล้ว ต้องทำให้เกิดการพูดคุยระดับภูมิภาค ทั้งในแง่ความเป็นไปได้ที่จะส่งกลับประเทศต้นทาง หรือส่งต่อไปยังประเทศที่สาม

"ผมเชื่อว่ารัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ หรือนายกฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจและเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภูมิภาค ผมคิดว่าต้องทำงานคู่ขนานกันไป ซึ่งทางเลือกมีไม่มาก คือทางเลือกในการกลับไปยังประเทศต้นทางที่พม่า แต่นั้นหมายความว่ารัฐบาลพม่าต้องยอมรับ ดูแลปัญหาความรุนแรง ยอมรับในความหลากหลายทางชาติพันธุ์"  ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวในที่สุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์พันธุ์อาจ ชัยรัตน์: เลือกตั้งผู้ว่า กทม. สะท้อนภาวะไร้นโยบายชัดเจนเรื่องมหานคร

Posted: 28 Jan 2013 09:29 AM PST

ชี้จุดอ่อน-แข็งสองพรรคใหญ่ต่อนโยบายเมือง ขณะที่ประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะมีแนวนโยบายและเครือข่ายที่พร้อมรับมือกับเมืองใหญ่แห่งนี้ได้ดีกว่าแต่ก็ต้องต่อสู้กับวัฒนธรรมเดิมภายในองค์กรตัวเอง ขณะที่คู่แข่งคือพรรคเพื่อไทย ซึ่งดูเหมือนจะยังไม่ได้นำเสนอนโยบายที่ชัดเจนนัก และไม่ถนัดงานบริหารระดับเมืองมหานคร

สีสันการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครองพื้นที่ข่าวทั้งในสื่อหลักและโซเชียลมีเดียขณะนี้ จากตัวเลขผู้สมัครทั้งหมด 22 ส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครอิสระ ขณะที่ไฮไลท์ก็ดูจะจับไปที่ผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือประชาธิปัตย์และเพื่อไทย สิ่งที่น่าสนใจคือ นโยบายเมืองมหานครกรุงเทพฯ ที่สะท้อนออกมาจากผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในฐานะที่กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่กำลังต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งในแง่ประชากรที่สูงอายุมากขึ้น มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากขึ้น สภาพแวดล้อมที่เป็นสิ่งท้าทายเมืองใหญ่ทั้งหลายทั่วโลก การขนส่งมวลชนที่เป็นปัญหาใหญ่ ฯลฯ ความท้าทายเหล่านี้ที่รอผู้ว่าฯ ที่จะได้รับการเลือกตั้งในวันที่ 3 มีนาคมที่จะถึง

ประชาไทสัมภาษณ์ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้บริหารบริษัท โนวิสเคปคอนซัลติ้งค์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดทำข้อมูลและวิเคราะห์ 10 เทรนด์ นโยบายกรุงเทพฯ มหานครในอนาคต ร่วมกับ Siam Intelligence Unit เขาบอกว่าสิ่งที่สะท้อนออกมาชัดเจนที่สุดจากการนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับ กทม. คือ การไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องเมืองมหานคร ขณะที่เขามองว่า ในสภาพที่เป็นอยู่ ประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะมีแนวนโยบายและเครือข่ายที่พร้อมรับมือกับเมืองใหญ่แห่งนี้ได้ดีกว่าคู่แข่งคือพรรคเพื่อไทย ซึ่งดูเหมือนจะยังไม่ได้นำเสนอนโยบายที่ชัดเจนนัก

พันธุ์อาจบอกว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองมหานครอันดับต้นๆ ของโลกหากมีการจัดอันดับ ไม่ว่าจะเป็นแง่บวกหรือลบ กรุงเทพฯ มักปรากฏอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอันดับเมืองใหญ่ที่มีตึกสูง หรือเมืองที่มีปัญหารถติด ก็ตาม ทั้งนี้เทรนด์ของเมืองใหญ่เป็นสิ่งที่นักวิจัยระดับเมืองในความสนใจมาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีแล้ว โดยมี นิวยอร์กของสหรัฐฯ และลอนดอนของอังกฤษ เป็น Benchmark (ตัวเปรียบเทียบ, เกณฑ์เปรียบเทียบ) ซึ่งทำให้ที่สุดแล้ว เทรนด์ของการพัฒนาเมืองจะออกมาคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ เรื่องการขนส่งมวลชน เรื่องการเดินทางและชีวิตของคนในเมืองมหานคร เรื่องการพูดถึงเศรษฐศาสตร์ในระดับเมืองหรือเรื่องขยะ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเมือง ขณะเดียวกัน เมืองมหานครทั่วโลกก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน แต่สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับเมืองมหานครของไทยก็คือ การพูดถึงอนาคตที่เป็นเรื่องไกลตัว

"สิ่งที่นักวิจัยเรื่องเมืองบางส่วนสนใจก็คืออนาคตเมืองในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ซึ่งมันจะสะท้อนไปสู่การนำนโยบายสาธารณะ ซึ่งผมมองว่ามันยังน้อยมากเลยสำหรับกรุงเทพฯ น้อยมากๆ เพราะว่า เป็นเรื่องไกลตัวมากเกินไป สำหรับนักการเมืองในระดับท้องถิ่นเองไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ หรือว่าสมาชิกสภากทม. สภาเขต"

 

000

การที่เราไม่เห็นนโยบายเรื่องเมืองที่ชัดเจนจากนักการเมืองนั้น เป็นเรื่องไกลตัว หรือขาดวิสัยทัศน์

ผมคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว วิสัยทัศน์แต่ละคนนั้นผมว่ามี แต่พอเป็นเรื่องไกลตัวไปแล้วมันจึงไม่มีความจำเป็นต้องทำ 

 

ความหมายของไกลตัวคืออะไร

มันเป็นเรื่องที่ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ มันไม่ได้ส่งผลต่อคะแนนเสียงของเขามากมายไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประจำวันในการทำงานของหน่วยงานในระดับเมือง

แบบนี้แปลว่าฐานเสียงก็มองเรื่องอนาคตเป็นเรื่องไกลตัว

คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มองว่าอนาคตไกลๆ จะเป็นอย่างไร มีคนสนใจเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ได้มาก พูดถึงสิ่งที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับเมืองมากขึ้น แต่เสียงเหล่านั้นไม่ได้ดัง เสียงที่ดังกว่าคือเสียงของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เสียงของหน่วยงานรัฐที่อยากจะทำเมกะโปรเจกต์ในเมือง แต่ตัวนั้นก็เป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนแปลงในเมืองนะครับ

ดังนั้นจะเห็นวิสัยทัศน์ในเชิงกายภาพนั้นมีหมดทุกคน วิสัยทัศน์ว่าจะเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างไรในระยะยาวน่ะมี แต่ถึงเวลาก็ไม่ได้หยิบมาใช้เพราะคุณต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันก็สะท้อนมาในเทรนด์ด้วยเหมือนกันว่าภาวะผู้นำไม่ได้เปลี่ยน

คือเรื่องวิสัยทัศน์นั้นผมเชื่อว่ามี แต่ผมถามว่าผู้สมัครเขาจะแปลงวิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่เขาทำได้จริงๆ หรือเปล่า มันขึ้นอยู่กับความกระตือรือร้นแล้วว่าเขามีความอยากจะเปลี่ยนแปลงมันมากน้อยแค่ไหน ถ้าเช่นนั้น ตัวนโยบายเป็นอะไรที่น่าสนใจ

ผมว่าคราวนี้ต้องถือว่าเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งแรกที่ผมเชื่อว่ามีการงัดเอานโยบายมาคุยกันมากที่สุด วิสัยทัศน์โดยรวมอาจจะดีกว่าคราวที่แล้ว

เอาตัวนโยบายเท่าที่เห็นแล้วกัน ผมมองว่าประชาธิปัตย์ได้เปรียบในเชิงการพัฒนานโยบายเพราะว่าเขามีนักวิชาการ มีทีมนโยบายในระดับเมืองที่แข็ง ถ้าเปรียบเทียบไปแล้วผมคิดว่าแข็งที่สุดตอนนี้ ความแข็งนี้อาจจะมาจากการที่ประชาธิปัตย์บริหารงานกรุงเทพฯ มานาน ดีไม่ดีอีกเรื่อง แต่เขาสามารถดึงเอาเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของเมืองมหานครทั่วโลกมาจับเป็นนโยบายเมืองมหานครกรุงเทพฯ 7 แบบ การพูดถึงเมืองสำหรับทุกคน เมืองสีเขียว เมืองสำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ต้องบอกเลยว่าประชาธิปัตย์พูดอยู่พรรคเดียว แต่ทำได้หรือไม่ก็อีกเรื่อง จะเห็นว่าเมือง 7 แบบของประชาธิปัตย์คือการพัฒนาเอาเทรนด์เมืองที่สำคัญ เข้ามาไว้ได้เกือบหมด จับต้องได้ไหม ถ้าทำได้จริงๆ ก็ถือว่าดีมาก ต้องยอมรับว่าคุณอภิรักษ์ (โกษะโยธิน) เข้าไปช่วยเยอะ ทีมประชาธิปัตย์ถือว่าแข็งในเรื่องการทำนโยบายระดับเมือง

อะไรที่จับจะต้องได้ ขอตัวอย่างหน่อย

เช่น เมืองสีเขียว ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์บอกว่าสามารถทำพื้นที่สีเขียวได้ตามเป้า และถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ กรุงเทพฯ ก็น่าจะมีสวน มีกิจกรรมในสวนได้มากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าประชาธิปัตย์เขาทำ ดังนั้นการจะทำพื้นที่สีเขียวให้แอคทีฟ ผมคิดว่าประชาธิปัตย์เขารู้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร นี่เป็นจุดแข็ง

ส่วนเมืองสำหรับทุกคนนั้นเป็นเรื่องใหม่ คนต่างประเทศเข้ามาอยู่เยอะมากขึ้น เมืองของทุกคนที่เป็นคนกรุงเทพฯ ที่จะแก่ตัวไปมากขึ้น เมืองของมนุษย์ล้อ คนพิการ ประชาธิปัตย์ก็หันมาเล่นเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เตรียมความพร้อมสำหรับโรงพยาบาล เตรียมความพร้อมสำหรับศูนย์ต่างๆ ในการดูแลคนชรามากขึ้น ดูแลสุขภาวะของคน กทม. มากขึ้น เหมือนกับว่าเขาเห็นประเด็น เขาเห็นเทรนด์อยู่ นี่เป็นจุดแข็งของประชาธิปัตย์ที่นำเอาสภาพความเป็นจริงของเมืองและโอกาสที่น่าจะนำไปพัฒนาให้เกิดได้มากขึ้น

ส่วนเพื่อไทย (ถอนหายใจ) ผมคิดว่าคงจะเกิดการดีเบตยาวเลยแหละ ว่าการที่บอกว่า ผู้ว่าฯ สามารถจะเติมเต็มรอยต่อและเชื่อมโยงกับรัฐบาลได้อย่างไม่มีรอยต่อมันจะเป็นแคมเปญที่ดีหรือเปล่า

นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่ามันเป็นจุดแข็ง แต่ผมว่ามันเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนไปในตัว เพราะว่าเมืองมหานครส่วนใหญ่แล้ว คนที่เป็นผู้ว่าการหรือคนที่เป็นนายกเทศมนตรีจำเป็นจะต้องดูแลเมืองในหลายๆ ครั้งจะมีความขัดแย้งสูงมากกับรัฐบาลและไม่จำเป็นต้องทำตามรัฐบาลด้วย คำถามก็คือว่า คุณพงศพัศกล้าหักดิบหรือกล้าขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทยหรือเปล่า สมมติว่าถ้าเขาได้เป็นนะ

แคมเปญแบบนี้มีจุดขายโดยอาศัยฐานประเด็นเรื่องน้ำท่วมเมื่อสองปีที่แล้ว คนกรุงเทพฯ มีตัวอย่างให้เห็นว่ามีรอยต่อแล้วมีอุปสรรคในการดูแลคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ

นั่นคือความขัดแย้งที่ผิดไงครับ (หัวเราะ) เป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลกับผู้ว่าฯ ต้องทำงานเป็นทีม แต่มันไม่เป็นทีม แต่ในหลายๆ ครั้งนโยบายของเมืองเขาต้องมีให้ชัด นโยบายของรัฐบาลก็มีไปอีกทางหนึ่ง

แต่ผมถือว่าเรื่องน้ำท่วมเป็นตัวอย่างที่แย่มากของทั้งสองพรรค ซึ่งต้องยอมรับว่าเพื่อไทยเองก็อ่อนประสบการณ์ในการบริหารงานเมือง การเอาประเด็นเรื่องการเชื่อมโยงรอยต่อกับรัฐเข้าสู่ประเด็นน้ำท่วมเมื่อสองปีก่อน ผมว่ามันเป็นประเด็นที่ดีเบตกันไปได้อีกนาน และการที่เรามีผู้ว่าฯ อยู่พรรคเดียวกับรัฐบาลและจะไม่เกิดความขัดแย้ง จะเอาหน่วยงานในสังกัดกระทรวงต่างๆ มาช่วย ถ้าเช่นนั้นก็คงไม่จำเป็นต้องมีผู้ว่าฯ

ผู้ว่าฯ ต้องทำให้ กทม. มีความโดดเด่นไปอีกแบบหนึ่ง ต้องดูแล กทม. ในอีกลักษณะหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องตั้งหน้าตั้งตาขัดแย้งกับคนอื่นไปทั่ว

ซึ่งคนทั่วไป อาจจะตามข่าวสารการเมืองระดับชาติ เมื่อจินตนาการถึงการเมืองท้องถิ่นอาจจะไม่เห็นความต่าง และการขายไอเดียไร้รอยต่อก็อาจจะขายได้

เขาซื้อเป็นเข่ง เขาไม่ได้ซื้อรอยต่ออย่างเดียว เขาจะซื้อเพราะเขาจะได้นั่งรถเมล์ฟรี ประชานิยมสุดโต่งแบบนี้ผมก็มองว่าเริ่มมีปัญหา เพราะ กทม. จะเอาเงินที่ไหนไปอุดหนุน ขสมก. แล้วเรื่องของการขึ้นรถเมล์ฟรีมันไม่ใช่คน กทม. ได้ประโยชน์อย่างเดียว แต่คนทั่วไปด้วย คนที่เข้ามา กทม. แต่ถามว่ามันสมควรหรือเปล่าก็ดีเบตได้

ดังนั้นนโยบาย 10 ข้อของคุณพงศพัศที่เพิ่งประกาศมันมีคำถามเชิงนโยบายเต็มไปหมด ไม่ใช่ว่าจะขายไม่ได้ ผมเชื่อว่าขายได้ดีกับคนรากหญ้าใน กทม. คนจนเมือง เพราะว่ามันเห็นผลเลย แต่ถ้าถามว่า แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงให้เมืองดีขึ้นหรือเปล่า คำตอบก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่ เพราะกรุงเทพฯ เองก็มีสถาบันและองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนกับกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองอยู่ ไม่ใช่แค่ตัวกรุงเทพมหานคร แต่บริษัทขนาดใหญ่ก็อยู่ในกทม. หน่วยงานนานาชาติต่างๆ ก็อยู่ใน กทม. มีองค์กรต่างๆ ที่ใช้ กทม. เป็น Benchmark  เมืองมหานครในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว ดังนั้นอะไรที่จะเกิดขึ้นที่ กทม. มันอาจจะไปเกิดขึ้นที่โฮจิมินห์ มันอาจจะไปเกิดขึ้นที่เมืองเล็กๆ ที่กำลังจะกลายเป็นเมืองใหญ่ อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ประเด็นปัญหาก็คือว่า การทำนโยบายในระดับที่เล็กเกินไปสำหรับเมืองอาจจะไม่ใช่เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ ผมมองว่ามันไม่ใช่นโยบายนะ พูดตรงๆ ว่าสิ่งที่เพื่อไทยเสนอนั้นเป็นแคมเปญ ยังไม่ใช่นโยบายเมือง

ที่ผมพูดอาจจะไม่ถูกใจคนหลายๆ คนบ้าง ผมพูดได้ว่าเพื่อไทยยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับกรุงเทพฯ เลย แม้แต่นโยบายของเพื่อไทยที่ประกาศไปในรัฐสภา ก็ไม่ได้ทำหลายเรื่องนะ เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยเริ่มแกว่ง เริ่มไม่ใช่ ส่วนนโยบายเมืองอย่าไปพูดถึงเลย มันยังไม่ชัดเลย

ดังนั้นจุดเด่นคราวนี้ตกไปที่ประชาธิปัตย์ว่า นโยบายดี แต่ตัวผู้สมัครมีปัญหา

คือไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถนำนโยบายไปปฏิบัติได้หรือเปล่า

(หัวเราะ) ใช่ ซึ่งก็เป็นปัญหาเดียวกับเพื่อไทยเช่นกัน นั่นคือประเด็นของสองพรรคใหญ่นะครับ คือคุณเอานโยบายมาแข่งกันก็ถือว่าประชาธิปัตย์ทำนโยบายได้ดีทีเดียว แต่ของเพื่อไทยมันไม่ใช่นโยบายแต่เป็นแคมเปญ เป็นการลดแลกแจกแถม แต่ถ้าถามว่าประชาชนจะเลือกประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย ผมว่าคราวนี้คะแนนสูสีนะ เพราะเล่นจัดเต็มอย่างนี้

แล้วผู้สมัครรายอื่นๆ ล่ะ อย่างเช่น คุณสุหฤทธิ์

คุณสุหฤทธิ์ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าเมืองมหานครมากกว่านี้ การสมัครผู้ว่าฯ นั้นทุกคนมีสิทธิสมัครนะครับ นโยบายของคุณสุหฤทธิ์น่าสนใจ ในระดับหนึ่ง การแคมเปญถือว่า...เอาง่ายๆ ถ้าผมไปร้อง สคบ. ว่านี่เป็นโฆษณาชวนเชื่อก็อาจจะเป็นไปได้ ถ้าคุณบอกว่าคุณจะเดินหนึ่งล้านก้าว มีอะไรเป็นบทพิสูจน์ว่าคุณจะเดินหนึ่งล้านก้าวจริง หนึ่งล้านก้าวหนึ่งล้านเสียงมันเป็นคำเปรียบเปรยเท่านั้น คุณจะขอคะแนนหนึ่งล้านเสียง โอเคขอได้ แต่ใครจะไปพิสูจน์ว่าคุณจะเดินหนึ่งล้านก้าวจริง แล้วการบอกว่าทุกก้าวมีความหมายมันคือความหมายอะไร คุณเอาโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นหลักอาจจะไม่เดินก็ได้ แล้วผู้สมัครรายอื่นเขาไม่เดินเหรอ เขาก็เดิน บางคนไปโหนรถขยะ บางคนไปโหนรถเมล์ บางคนมีรถนำเพราะเดินไม่ไหว สีสันคราวนี้มันก็เปลี่ยนไปเยอะ การหาเสียงด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์กก็คงต้องระมัดระวังสิ่งที่โฆษณาออกไปแม้จะประกาศว่าไม่ได้ติดป้ายหาเสียงก็ไม่ใช่ประเด็น การตั้งคำถามเรื่องงบแคมเปญ 49 ล้านบาทของผู้สมัครรายอื่นๆ ว่ามากไปหรือน้อยไป ก็ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ว่านโยบายที่คุณนำเสนอนั้นทำได้จริงหรือเปล่า เพราะการที่คุณจะเข้าไปดูแลคนสิบกว่าล้านคน มันไม่ใช่การสแครชแผ่นนะ

อย่าง ดร.โสภณ พรโชคชัยก็พยายามพูดเรื่องการจัดการพื้นที่ในเมือง

ตัวเขาเองก็ดูแลเรื่องอสังหาริมทรัพย์ และตัวเขาเองก็ยังเคยดูแลเรื่องสลัม แต่กรุงเทพฯไม่ใช่แค่นั้น ไม่ใช่สถานที่ที่ให้นักอสังหาริมทรัพย์มาดูแลพื้นที่ทางกายภาพอย่างเดียว ผู้ว่าราชการ กทม. ในอนาคตอันใกล้จะต้องเจอสภาพความซับซ้อนของเมืองที่มากขึ้น ไม่ใช่เรื่องพื้นที่กายภาพ

ผมว่าเราจะมีนักแคมเปญการเมืองท้องถิ่นในคราวนี้อยู่สามประเภท ประเภทที่หนึ่งก็คือ Well Rounded ก็คือนำเอานโยบายเมืองทั้งหลายมาคุยได้อย่างทุกด้าน 360 องศา อีกกลุ่มก็เป็นพวกเฉพาะด้าน บันเทิง อาร์ต อสังหาริมทรัพย์ พูดได้ไม่ทุกเรื่อง ตำรวจจ๋า เน้นเรื่องความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชน ประเภทสุดท้ายก็คือ กลุ่มคนที่อยากดัง ซึ่งเมื่อก่อนผมเห็นมีแค่สองกลุ่มนะครับ คือสองกลุ่มหลัง กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ ถ้าเกิดเขาทำได้จริง ถ้าเขามีทีม

โจทย์สำหรับผู้สมัครในการหาเสียงต่อไปควรเป็นอย่างไร สำหรับสองพรรคหลัก

ผมว่าตอนนี้เขาคงมีเรื่องเน้นของเขามากพออยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เน้นเสริม ผมมองว่าเพื่อไทยควรปรับกระบวนทัศน์และปรับองคาพยพพอสมควร ประชาธิปัตย์เขาได้แต้มต่อไปเยอะในเรื่องของการที่เขาเป็นเจ้าของพื้นที่ ในการที่เขาทำนโยบายเรื่องเมืองมานานมาก การเสนอนโยบายต่างๆ พวกนี้ค่อนข้างน่าสนใจต่อคนชั้นกลาง และคนชั้นกลางระดับล่างด้วย รวมทั้งคนจนที่ได้รับประโยชน์จากการบริหารงานของ กทม. ใช่ว่าจะไม่มีนะครับ ดังนั้นจุดแข็งของประชาธิปัตย์ก็คือเขารู้เรื่องเมือง เขาทำเรื่องนี้มานานและเขามีเครือข่ายอยู่

สำหรับเพื่อไทยนั้นต้องปรับกระบวนทัศน์ให้ตอบโจทย์คนเมือง กทม. มากขึ้น จะเห็นได้ว่าการทำแคมเปญถ้าคุณเข้าไปดูโซเชียลเน็ตเวิร์ก คนต่างจังหวัดมาสนับสนุนคุณพงศพัศเต็มไปหมดเลย ซึ่งผมว่าโจทย์เริ่มเพี้ยน คุณกำลังหาเสียงกับคน กทม. ดังนั้นคุณต้องหาเสียงกับคน กทม. อีกแบบหนึ่ง ผมว่าเพื่อไทยตอนนี้กำลังเสียแต้มไปพอสมควร

พอพูดถึงว่าคนต่างจังหวัดมาสนับสนุน ในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้มีแต่คนกรุงเทพฯ

คนพวกนั้นเขาไม่มีสิทธิ คนมีสิทธิเลือกเขาไม่ได้เลือกเพื่อไทยนี่ครับ เหตุผลที่เขาเลือกประชาธิปัตย์มันอาจจะไม่ใช่ประเด็นเรื่องสี แต่เป็นประเด็นความคุ้นเคย ตัวนโยบาย หรือการทำงานที่เคยผ่านมา ดีหรือไม่ดีก็อีกเรื่องหนึ่งนะ แต่เพื่อไทยนั้นต้องยอมรับว่าจุดแข็งในอดีตของเขาคือการทำคลัสเตอร์จังหวัด ซึ่งคือจุดแข็งของเขาที่ยังไม่ได้ถูกหยิบมาใช้มากนัก รัฐบาลเพื่อไทยถนัดในการบริหารแบบบนลงล่าง ในขณะที่อีกพรรคหนึ่งบริหารแบบไม่บริหาร

ตัวเพื่อไทยเองอาจจะต้องกลับมาดูวิธีการนำเสนอนโยบาย ในการไปสัญญาแล้วมีคำถามตามมาเต็มไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามจากนักวิชาการ คำถามจากชนชั้นกลางที่เขาอาจจะไม่พอใจ ยิ่งเรื่องรถยนต์คันแรก เรื่องของรถเมล์ฟรี ผมคิดว่าทั้งสองพรรคคงจะฟัดกันนัวในประเด็นนี้ เรื่องถนนใน กทม. รถติดรถไม่ติด ปัญหานี้เกิดจากใคร

แม้คุณพงศพัศจะบอกว่า เขารู้ว่าผู้ว่าฯ ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ แต่ผมคิดว่าการเคลมแบบนี้อันตรายเหมือนกัน เพราะแม้แต่ฝั่งประชาธิปัตย์เองก็ยังไม่แน่ใจพื้นที่ทับซ้อนของอำนาจระหว่างผู้ว่าฯ กับรัฐบาลกลางอยู่ที่ไหน อันนี้เป็นปัญหามาตลอด

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปัตย์สามารถสร้างนโยบายระดับเมืองได้ดี เป็นเพราะประชาสังคมเมืองมีพลังด้วยหรือเปล่า

ผมถือว่า กทม. เป็นเพลย์กราวด์ของประชาธิปัตย์นะ ความเด่นชัดของการบริหารราชการในระดับประเทศของประชาธิปัตย์อาจจะไม่เด่นชัด แต่การบริหาร กทม. ค่อนข้างชัด  ก็ถือว่าไม่ได้เลวร้ายอะไรมากมาย ไม่นับเรื่องน้ำท่วมนะ เรื่องต่างๆ ที่มันถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องมา การทำงานร่วมกับ สก. สข. การทำงานร่วมกับข้าราชการ กทม. เองต้องยอมรับว่ามันมีความสัมพันธ์ที่มีความต่อเนื่องระยะยาว นี่คือจุดแข็งของประชาธิปัตย์ ดังนั้นนโยบายต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นนโยบายธรรมดาๆ นี่แหละ แต่ถูกทำให้ต่อเนื่อง

ดังนั้นถ้าจะเปรียบเทียบก็คือว่า ในสมัยของไทยรักไทยมีการพัฒนานโยบายแบบต่อเนื่องแล้วเอาไปทำ คนเริ่มเห็นผล เช่นเดียวกัน คน กทม. ก็เห็นภาพแบบนี้จากประชาธิปัตย์ ในประเด็นของ กทม. ถ้าเช่นนั้นประเด็นจริงๆ คืออะไร คือนโยบายเมืองมันไม่เคยชัดมาก่อนต่างหาก นโยบายในระดับเมืองมหานคร ไม่ถูกหยิบยกมาพูดกันในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นนครเชียงใหม่ หรือพัทยา เมืองขนาดใหญ่นั้นมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนtown  นโยบายที่จะต้องขับเคลื่อนเมืองนั้นไม่ได้มาจากรัฐบาลกลางอย่างเดียว มันมาจากกลุ่มคนที่เป็นผู้บริหารในระดับเมือง ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ หรือแม้แต่ในขณะนี้แล้วก็ตาม ผมคิดว่าพรรคที่ตระหนักถึงนโยบายในระดับเมืองว่ามีความสำคัญอย่างไร ผมคิดว่าพรรคนั้นคือประชาธิปัตย์

ตอนนี้กรุงเทพฯ อยู่ตรงไหน ถ้าเราเทียบกับ benchmark เมืองมหานครอย่างนิวยอร์กและลอนดอน

ผมคิดว่าเราติดอันดับท็อป 20 อยู่แล้วนะ แต่จะติดอยู่ในการจัดประเภทที่ดีหรือไม่ดีก็ต้องดูเป็นเรื่องๆ เช่น ติดอันดับ 7 ของเมือง

ที่มีตึกระฟ้า หรือการคมนาคมทางอากาศ เราก็ติดท็อป 10 การเป็น Cosmopolitan ไม่ได้ด้อยกว่าสิงคโปร์ ต้องถือว่ากรุงเทพฯ เป็นประเทศย่อมๆ ประเทศหนึ่งได้เลย เราไม่ได้แย่กว่าใครมากมาย ผมเคยคุยกับผู้จัดการองค์กรที่ดูแลสลัมที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย เขาบอกว่าสลัมในกรุงเทพฯ นั้นเป็นสวรรค์สำหรับเขา คุณมีจานดาวเทียม คุณมีแอร์ติด คุณมีน้ำไหล ไฟฟ้าคุณมี นั่นไม่ใช่สลัมแล้วในความหมายของสลัมในอินเดีย กรุงเทพฯ มันเลยจุดนั้นไป อีกไม่กี่ปีมันอาจจะเป็นเมืองสวรรค์ของหลายๆ คนที่อยากจะย้ายมาอยู่ก็ได้ ถ้าน้ำไม่ท่วม

แต่ก็ยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการป้องกันน้ำท่วม

นั่นก็เป็น Controversial Issue ใช่ครับ ไม่มีใครที่มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องนี้เลย ไม่มีและจะไม่มีด้วย (หัวเราะ) ผมว่ามันเป็นปัญหาโลกแตก การทำให้คลองใสยังทำไม่ได้เลยครับ ทั้งๆ ที่คุณมีการสัญจรทางน้ำอยู่ตลอดเวลา คลองก็ยังเน่าเหมือนเดิม การระบายน้ำใน กทม. ดีบ้างไม่ดีบ้าง เมืองขยายตัว ก็ยังมีปัญหาเรื่องกฎหมายผังเมืองยังไม่ออก ผมเชื่อว่ามันมีประเด็นปัญหาเรื่องการทำงานร่วมกันในพื้นที่จากเรื่องน้ำพอสมควร แล้วมันจะไม่จบหรอก เช่น เพื่อไทยบอกว่าจะมีกระทรวงน้ำ กทม. บอกว่าจะดูแลคลองกับระบบระบายน้ำเอง เขาก็มีสิทธินะ ไม่ใช่ไม่มีสิทธิ ปัญหาต่อไปคือเรื่องขยะ ในขณะเพื่อไทยแคมเปญเรื่องการจัดเก็บขยะ ประชาธิปัตย์พูดถึงเรื่องระบบรีไซเคิล ก็ต้องยอมรับว่า กทม. จะมีปัญหาขยะมากขึ้น ถ้าแก้ปัญหาได้ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่วนน้ำนั้นก็มีปัญหาว่าคุณไม่ยอมออกกฎเทศบัญญัติเรื่องการปล่อยน้ำเสียจากบ้านเรือน ดังนั้นถ้าเผื่อประชาธิปัตย์จะทำเรื่อง Green จริงๆ ก็ต้องแตะเรื่องนี้ ถ้าไม่แตะก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่โดยรวม ภาพลักษณ์ของเมืองน่าอยู่ก็คงดูน่าตื่นเต้นมากขึ้น เพราะเป็นความเชี่ยวชาญของคนกรุงเทพฯไปแล้ว

ฟังแล้วเหมือนการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ค่อยน่าสนใจในแง่ที่มีผลสำคัญต่อนโยบายเมือง ไม่ได้กำหนดความเปลี่ยนแปลง หรือทิศทางอย่างสำคัญของกรุงเทพฯ

 ไม่เชิง ผมถือว่าประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยคราวนี้การแข่งขันกัน เหมือนกับว่าเขาเห็นๆ อยู่ว่ามันไม่ได้ช่วยทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งสวิงไปอีกแบบหนึ่ง แต่ตัวกรุงเทพฯ มันคงเคลื่อนไปได้ด้วยตัวของมันเอง นี่เป็นจุดแข็งของ กทม. นะ

สำหรับการขับเคลื่อนที่มีการเปลี่ยนแปลงมากนั้น ผมคิดว่าประชาธิปัตย์น่าจะทำอะไรได้เยอะพอสมควร แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างเช่น AEC ถ้าเราดูโครงสร้างของโรงเรียนใน กทม. เขาคงมองโรงเรียนเป็นหลักว่าจะทำอย่างไรให้ ผสานเข้าไปใน AEC ได้ดีขึ้น ผมคิดว่าเขาตระหนัก เพียงแต่ว่าผู้นำให้ความสำคัญแค่ไหน ต้องยอมรับว่าเมื่อมันเป็นนโยบายหนึ่งในเจ็ดที่สำคัญ เช่น กรีน (เมืองสีเขียว) เกรย์ (ประชากรสูงอายุ) ที่เราศึกษามามันก็เป็นเทรนด์นะครับ เมืองมหานคร กทม. ต้องมีคนแก่เยอะแน่ๆ ตัวเลขพวกนี้ก็เหมือนสิงคโปร์

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยังไม่มีใครแตะก็คือเรื่องความหลากหลายทางเพศ ว่าคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อน กทม. อย่างไร สำหรับเพื่อไทยนั้น ผมคิดว่าต้องตั้งคำถามว่าคุณจะขายนโยบายให้ใคร คุณกำลังขายให้กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ซึ่งไม่เหมือนกับภาคเหนือและภาคอิสานที่คุณได้รับชัยชนะมา มันไม่ใช่

หากการดูแลเมืองมหานครที่ต้องการการดูแลและนโยบายที่ต่างไปจากระดับประเทศ ถ้าเช่นนั้น ที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์เคยกล่าวว่า ผมเป็นผู้ว่า กทม. มีหน้าที่ดูแล กทม. ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลทั้งประเทศ นั้นเขาพูดถูกแล้วใช่ไหม

เขาพูดถูกแล้ว แต่พฤติกรรมก็อีกเรื่องไงครับ คือการดูแล กทม. ต้องดูแล แต่ว่าคุณต้องร่วมมือกับรัฐบาลด้วย แต่ก็ต้องเป็นประเด็นการเมืองเป็นหลัก ผมเสียใจจริงๆ นะครับตอนนั้น เป็นเรื่องน่าเศร้าจริงๆ คำพูดเขาไม่ผิดหรอก แต่การจะดูเฉพาะคน กทม. แล้วไม่ให้น้ำจากจังหวัดอื่นเข้ามา ก็เป็นเรื่องพูดยาก

ในส่วนของเทรนด์นโยบายกรุงเทพฯที่ทำร่วมกับ SIU มีอะไรบ้าง

เราพูดถึงสิบเทรนด์ ก็จะมีเรื่องความหลากหลายทางเพศ, บุคคลกลุ่มใหม่ๆ มีแรงงานรูปแบบใหม่ที่ประกอบด้วยคนแก่ที่ยังเกษียณตัวเองไม่ได้ บวกกับคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานมากขึ้น นี่ก็จะเป็นแรงงานใหม่ของกรุงเทพฯ

อัตลักษ์ของ กทม. จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตัวนี้ผมว่ามันสำคัญนะ มีรายงานออกมาเมื่อสองวันก่อน โดย UK Foresight อังกฤษให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ จริงๆ อังกฤษเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์มาเป็นร้อยปีแล้ว ในรายงานนั้นพูดถึงอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของลอนดอน อัตลักษณ์ประเทศจะถูกสะท้อนมาจากเมืองและคนที่อยู่ในเมืองนั้น ดังนั้นโจทย์สำคัญของผู้ว่าฯ ก็ต้องมองว่าอัตลักษณ์ของ กทม. หรือที่คนเรียกว่า Big Mango จะเป็นอย่างไรในอนาคต หลายคนอาจจะให้ความสำคัญน้อย แต่ว่าจริงๆ แล้วมันมีผลมากต่อการใช้ชีวิตและการทำนโยบายสาธารณะในระดับเมือง

อีกเทรนด์คือเรื่องของ Art for All ก็ต้องยอมรับว่าคนในเมืองนั้นสองมาตรฐานเรื่องศิลปะ  ในขณะที่คำขวัญของเมือง กทม. ออกมาเสียสวยงามเลยนะครับ เทพสร้าง วัดวาอารมเต็มไปหมด ความสวยงาม แต่คน กทม. ใฝ่หาศิลปะน้อยมาก ถ้าไม่นับเดอะวอยซ์ กับเรื่องของเอเอฟ ศิลปะสำหรับทุกคนนั้นไม่จริง มันเป็นศิลปะสำหรับคนชั้นกลางที่มีความสามารถในการเข้าถึงพาณิชย์ศิลป์

แต่ถ้าเราไปดูเมืองสำคัญทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นโตเกียว หรือแม้แต่เซี่ยงไฮ้เองที่เห็นตึกสูงเต็มไปหมด แต่เขามีความเป็นศิลปะอยู่ทั่วไป เป็นหย่อมๆ กรุงเทพฯนั้นมีหอศิลป์เยอะนะครับแต่คนกรุงเทพฯแทบไม่เข้าไป หรือเข้าไปก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร Art appreciation ตามถนน ในอนาคตจะสำคัญมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ละเลย จริงๆ แล้วเราห่างจากเรื่องศิลปะ ความหลากหลายทางศิลปะเราน้อยมาก เรารับศิลปะเพื่อการค้าขายเป็นหลัก และตามกัน นี่เป็นอันตรายในเชิงอัตลักษณ์

ต่อไปก็เป็นเรื่องของ emerging crime คนที่อยู่ในเมืองใหญ่จะเจอกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น ภัยคุกคามมากขึ้น ซึ่งแน่นอนผมเห็นจากเทรนด์ของสองพรรคใหญ่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคน แต่พูดน้อยพอสมควรในเรื่องของ social network, electronic crime ที่จะเกิดขึ้นมาภายใน กทม. หรือกับคน กทม.

กทม. ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของแฮกเกอร์ นับวันก็ยิ่งเยอะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะรับมืออย่างไร คือ กทม. นั้น represent เกินกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

พื้นที่สีเขียว ผู้สมัครส่วนใหญ่ให้ความสำคัญแล้วแหละ แต่จะทำอย่างไรให้ลดพลังงานมากกว่านี้ รูปแบบการใช้พลังงานที่เปลี่ยนไปจะส่งผลต่อคน กทม. มาก

เทรนด์ต่อไปคือสังคมคาร์บอนต่ำ ก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิต 24 ชม. ของคน กทม. รูปแบบของการกินอาหาร การเดินทาง การทำงาน ต้องดูว่าอีก 20 ปีจะอยู่กันอย่างไร ถ้าราคาพลังงาน ราคาการเดินทางเป็นอย่างนี้ เพื่อไทยให้คนเดินทางโดยรถเมล์ฟรีไปอีกกี่ปี จะซัพพอร์ตอย่างไรถ้าคุณไม่ทำการขนส่งมวลชนให้ดี ซึ่งก็โยงกลับไปสู่คำกระแนะกระแหนของคนที่บอกว่า กว่าจะได้รถไฟฟ้า รถยนต์คันแรกก็คงจะโดนยึดกันไปเกินครึ่ง แต่จริงๆ แล้วก็ไม่เชิงนะครับ เพราะรูปแบบของการ commute และการ mobilize ของคนในเมืองจะเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของคนในเมือง จินตนาการว่าอีกไม่กี่ปีเราจะมีรถไฟฟ้ามากสายขึ้นนี่จะเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ อย่าปรามาสการสร้างโครงสร้างใหญ่ๆ เดี๋ยวนี้เร็วมาก เพียงแต่ว่าเราจะคุ้นเคยกับการเดินทางแบบนั้นหรือเปล่าก็อีกเรื่อง

ดังนั้นสังคมคาร์บอนต่ำมันไม่ใช่แค่ฝันว่าเราจะมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีแล้วมันจะจบ ระบบขนส่งที่ดีรถอาจจะติดเหมือนเดิมก็ได้ ถ้ารูปแบบของการทำธุรกิจ รูปแบบของการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ ไม่เปลี่ยน ดังนั้นคนกรุงเทพฯ ก็คงต้องหันมาดูว่า สังคมคาร์บอนต่ำคืออะไร เช่น อาจจะเจอน้ำท่วมฉับพลัน ขับรถไปรู้สึกตัวอีกทีเราอยู่ใต้ดินไปแล้วเพราะว่าถนนยุบ คงจะเยอะขึ้น ถ้าเช่นนั้นแล้วคุณต้องปรับตัวอีกเยอะเลยว่าจะอยู่อย่างไร

เทรนด์ต่อมาคือ เมือง AEC มหานคร เริ่มมีคนพูดถึงแล้ว หนีไม่พ้นนะเพราะในอนาคตคงจะเชื่อมกันแบบที่นึกไม่ถึง อย่างเพื่อนบ้านผมที่อยู่ชั้นเดียวกัน คนหนึ่งเป็นฟิลิปปินส์ อีกคนเป็นฝรั่งเศส อีกคนเป็นแอฟริกัน ในเขตศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยสภาพแบบนี้ในตึก ต่างจากเมื่อก่อนที่เป็นคนไทยเป็นหลัก แต่เดี๋ยวนี้บางสถานที่คนไทยเป็นคนส่วนน้อยอย่างเช่นที่ผมอยู่ ต่างชาติเป็นหลัก แล้วเราจะอยู่อย่างไรถ้าเราไม่ยอมรับความแตกต่างด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรม คนกรุงเทพฯ ที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นเมืองที่ต้อนรับขับสู้อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ ผู้ว่าฯ ดูหรือเปล่า

เทรนด์ถัดมา สิทธิใหม่ๆ เราอาจจะเห็นการประท้วง เช่น การประท้วงของพนักงานการบินไทย เมื่อไม่กี่วันก่อนก็พนักงาน ธ.กรุงเทพฯ ที่สีลม  ในกรุงเทพฯ จะมีการประท้วงเต็มไปหมด กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองของการประท้วง ไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะ เรากำลังจะถึงจุดนั้นคนกรุงเทพฯ กลับมองเป็นเรื่องซ้ำซากน่าเบื่อ แต่พอตัวเองทำเองกลับไม่รู้สึก นี่ก็เป็นเรื่องอันตราย

เทรนด์สุดท้าย ผู้สมัครที่ลงรับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นผู้สมัครที่มีภาวะผู้นำแบบ 360 องศาหรือเปล่า คุณมองแค่ด้านเดียวหรือเปล่า คุณมองแค่รูทีนการทำงานในเมือง มองแค่การแก้ปัญหาชั่วคราวหรือเปล่า กรุงเทพฯคงอยู่ไม่ได้ถ้าเป็นอย่างนั้น ในอนาคตอันใกล้

สิ่งที่ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ควรเรียนรู้จากการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนี้คืออะไร

เพื่อไทยมีประสบการณ์การบริหารเมืองเหมือนกัน คือเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งมีการบริหารสืบเนื่องกันมาหลายวาระ แต่ถามว่านายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ สามารถจะเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่ให้ดีขึ้นไหม คำตอบก็คือไม่ใช่ แต่เป็นประชาคมของคนเชียงใหม่เองที่ต้องสู้และต้านกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมาะสม

ดังนั้นเราจะเห็นว่า แม้เพื่อไทยจะมีประสบการณ์ของการเป็นนายกเล็ก เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศอย่างเชียงใหม่ ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะประสบความสำเร็จในการบริหารเมือง เพราะในรูปแบบนั้นประชาคมที่เชียงใหม่กับประชาคมที่กรุงเทพฯ ผมคิดว่ามีความคล้ายกันคือมีความแอคทีฟ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเพื่อไทยเองต้องหันมาดูว่ามิติที่เรียกว่าเมืองควรจะบริหารอย่างไร ก็ยังไม่สาย ยิ่งตอนนี้เพื่อไทยกำลังจะผลักดันเชียงใหม่มหานครเป็นอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า 'พิงคนคร' เป็นหน่วยงานใหม่ขึ้นมา ถามว่าหน่วยงานนั้นมีการสอดรับกับผู้บริหารท้องถิ่นอย่างไร คำตอบก็คือไม่น่าจะมีเยอะ เป็นหน่วยงานหลักที่บริหารงานในพื้นที่ของเชียงใหม่เอง ถ้ากระบวนทัศน์ความคิดแบบท็อปดาวน์ ไม่สามารถนำมาใช้กับเมืองมหานครอย่าง กทม. หรือเชียงใหม่ได้อีก นั่นก็คือจุดอ่อนของเพื่อไทย

ในขณะเดียวกันประชาธิปัตย์เองต้องโตจากการเป็นคุณชายคุณหนูทั้งหลายที่อยู่ใน comfort zone กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

ทั้งสองพรรคมีจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกัน ประชาธิปัตย์ต้องการการเปลี่ยนแปลงภายในและกระบวนทัศน์ความคิดที่เขาอาจจะก้าวหน้าเรื่องเมืองมากกว่า แต่พรรคเพื่อไทยต้องทำความเข้าใจเรื่องเมือง หน่วยวิเคราะห์มันไม่เหมือนกัน

ถ้าเป็นบทเรียนคงเป็นบทเรียนให้เพื่อไทย แต่เพื่อไทยจะเก็บเป็นบทเรียนหรือเปล่าไม่รู้ ในขณะเดียวกันไม่ใช่บทเรียนของนักเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นบทเรียนของคนที่จะไปเลือกตั้งด้วย ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าคน กทม. จะออกมาเลือกตั้งหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าไม่น้อย แต่ผมมีความรู้สึกว่าคน กทม. ถูกมัดมือชกพอสมควร คือไม่รู้จะเลือกใคร

ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัญหาของผู้สมัครอิสระด้วย จริงๆ มันมีตัวเลือกเยอะนะ แต่ผู้สมัครอิสระ....(หยุดคิด) จำสมัยของคุณพิจิตร รัตตกุลได้ไหมล่ะ คุณจำลอง คน กทม. ก็เคยเลือกมาแล้ว ผมคิดว่ามันต้องมีจุดพลิกผันที่เป็นระลอกหนึ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลงภาวะผู้นำของคน กทม. ตอนนี้ ทั้งผู้สมัครอิสระและตัวเพื่อไทยเองจะรอส้มหล่นคงไม่ได้ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘24 ปีปัญหา - 13 นายกฯ - 16 รัฐบาล’ มหากาพย์รากหญ้า ‘ปากมูน’

Posted: 28 Jan 2013 08:02 AM PST

 
ณ เวลานี้ คงไม่มีใครปฏิเสธถึงผลกระทบและความเดือดร้อนของชาวบ้านจากกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล  อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี แต่คำถาม คือ ช่วงเวลาที่ล่วงเลยมาจนเข้าสู่ปีที่ 24 นับจากการอนุมัติโครงการเมื่อปี 2532 ชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ทำไมจึงยังต้องมาชุมนุมกันอยู่ แล้วที่ผ่านมาถึง 16 รัฐบาล ไม่มีผู้นำประเทศคนไหนแก้ปัญหาให้พวกเขาได้เลยจริงหรือ
 
ความเคลื่อนไหวล่าสุด จากการที่ชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลจำนวนหลักร้อยร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเป็นธรรม (ขปส.) หรือกลุ่ม Pmove ชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23-25 ม.ค.56 ด้วยข้อร้องขอคือ 'เปิดประตูเขื่อนถาวร และจ่ายเงินชดเชยให้ชาวบ้าน'
 
ชาวบ้านเดินทางกลับพร้อมชัยชนะในขั้นต้น หลังประชุมกับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนรัฐบาล
 
ข้อสรุปการพูดคุยคือ ให้ยกเลิกการศึกษาเพิ่มเติมของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากมติ ครม.ของรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งชาวบ้านไม่ยอมรับในกระบวนการเก็บข้อมูล รวมถึงรายงานเบื้องต้นที่ สกว.รายงานไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น และมองว่ารัฐบาลพยายามซื้อเวลา
 
ที่ผ่านมา งานวิจัยเรื่องปากมูลมีเยอะมาก แต่ในรัฐบาลชุดที่แล้วก็ให้คณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลงานวิจัยและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลที่มี อ.นวลน้อย ตรีรัตน์ เป็นประธาน ไปหาข้อสรุปจากงานวิจัย 7 เล่ม ซึ่งได้ข้อสรุปออกมาว่า ให้เปิดเขื่อนถาวรและจ่าย 20 ปีย้อนหลัง
 
นอกจากนี้สิ่งที่ชาวบ้านได้ คือการให้ยกเลิกคณะกรรมการฯ อนุกรรมการ และคณะทำงาน ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลที่มีอยู่ทั้งหมด แล้วให้ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ขึ้นมาใหม่ 1 คณะ เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาในแบบองค์รวม
 
"การชดเชย หรือสิ่งต่างๆ ที่ได้รับนั้นมาจากการชุมนุมเรียกร้องจากรัฐบาล" สมภาร คืนดี ผู้ประสานงานสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล กล่าวย้ำในประโยคที่มักถูกพูดซ้ำๆ จากปากชาวบ้านปากมูนในงานประชุมรับฟังข้อมูลจากเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาพลังงาน
 
การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นก่อนที่จะมีการชุมนุมกลางกรุงเพียงวันเดียว เพื่อนำเสนอเรื่องราวจากพื้นที่ต่อทีมวิจัยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์หรือ SEA สำหรับแผนพลังงานของอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ซึ่งกำลังเป็นเป้าหมายการลงทุนต่อไปของธนาคารโลก หรือ ADB เจ้าของงบก่อสร้างเขื่อนปากมูลในอดีต ผู้ที่สร้างปัญหาร้าวลึกให้แก่ชาวบ้านนั่นเอง
 
ม็อบสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล ถือเป็นกลุ่มชาวบ้านที่มาเยือนเมืองกรุงฯ บ่อยที่สุดกลุ่มหนึ่ง จนได้ชื่อว่า 'ม็อบขาประจำ' ที่มาเรียกร้องในทุกๆ รัฐบาล
 
แต่สำหรับชาวบ้านแล้ว การต่อสู้ที่ผ่านมาทำให้ได้เรียนรู้ว่าหากพวกเขาไม่ก้าวเท้าออกมาชุมนุมเรียกร้องบนท้องถนน การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น สัญญาที่ว่าเขื่อนสร้างเสร็จ ชีวิตชาวบ้านจะดีขึ้นนั้นไม่เคยเป็นจริง
 
ซ้ำร้ายที่ผ่านมาได้เกิดกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวคัดค้านการเปิดประตูเขื่อน เนื่องจากประโยชน์จากการใช้น้ำเหนือเขื่อนเพื่อการเพาะปลูก ทำให้การเคลื่อนไหวของชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลวนเวียนอยู่ที่การปิด-เปิด เขื่อนมาตลอดระยะเวลาหลายปี
 
ต่อไปนี้ คือการประมวลลำดับเหตุการณ์ บางช่วงตอนของการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูน และการตอบรับในการแก้ปัญหาของในแต่ละรัฐบาล จนถึงรัฐบาลปัจจุบันที่ยังคงทิ้งคำถามคั่งค้างอยู่ว่า... คณะกรรมการแก้ปัญหาชุดใหม่ที่กำลังจะถูกตั้งขึ้นมานี้ จะแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ในระดับไหน? อย่างไร?
 
 
13 นายกฯ (16 รัฐบาล) ในห้วงเวลา 24 ปีการต่อสู้เขื่อนปากมูล
 
พ.ศ.2513-2521 สำนักงานพลังงานแห่งชาติ โดยความร่วมมือของรัฐบาลฝรั่งเศส ได้เข้ามาศึกษาและสำรวจเบื้องต้นเพื่อพัฒนาแม่น้ำมูล ในเขตพื้นที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เกิดเป็นโครงการเขื่อนปากมูล
 
 
 
รัฐบาล
เหตุการณ์ - การดำเนินการจากภาครัฐ
 
1.พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (1)
4 ส.ค.2531 - 9 ธ.ค.2533
(ลาออก)
 
2.พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (2)
9 ธ.ค.2533-23 ก.พ.2534
(รัฐประหาร)
 
 
มติ ครม.วันที่ 14 มี.ค.2532 เห็นชอบและอนุมัติในหลักการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล โดยให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับไปจัดทำรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6
 
ครม.สัญจรที่ จ.ขอนแก่น พิจารณาอนุมัติโครงการเขื่อนปากมูลซึ่งเป็นเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าไปในโครงการอีสานเขียว (โขง-ชี-มูล) ตามที่ กฟผ.เสนอ เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2532
 
เดือนมิ.ย.2532-ม.ค.2533 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เดินทางลงพื้นที่ชี้แจงกรณีเขื่อนปากมูลพร้อมกับกลุ่ม .สส.อีสาน แต่ถูกคัดค้านจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มที่หนุนออกมาเคลื่อนไหวด้วย
 
มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2533 จากกรณีที่มีชาวบ้านชุมนุมคัดค้านโครงการเขื่อนปากมูล 1.ให้ รมว.มหาดไทย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ) และรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์) ไปชี้แจงข้อเท็จจริงโครงการและทำความเข้าใจแก่ประชาชนที่มาชุมนุมเพื่อให้สลายตัวโดยเร็วที่สุด 2.ให้ กฟผ. กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนเตรียมการอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนไปยังพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้และให้ประเมินทรัพย์สินด้วยความเป็นธรรม
 
15 พ.ค.2533 ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณ 3,880 ล้านบาท ให้ กฟผ.ดำเนินโครงการเขื่อนปากมูล ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ.2533 - 2536)
 
ครม.มีมติตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ 1.คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สินโครงการฯ 2.คณะกรรมการประสานงานอพยพราษฎรโครงการฯ
 
16 พ.ค.2533 ชาวบ้านประมาณ 600 คนจาก อ.โขงเจียม และ อ.พิบูลมังสาหาร ชุมนุมกันที่บริเวณแก่งสะพือ คัดค้านไม่รับมติ ครม.พร้อมตั้งคำถาม 3 ข้อ คือ 1.แก่งสะพือจะจมอยู่ใต้น้ำหรือไม่ 2.ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางการเกษตรจะถูกน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน 3.การจ่ายเงินชดเชยชาวบ้านที่ต้องอพยพจากการถูกน้ำท่วมและการจัดที่ดินทำกินใหม่จะเป็นอย่างไร
 
12 ก.พ.2534 ครม.มีมติให้ กฟผ.สามารถเข้าทำประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ เพื่อสร้างเขื่อนปากมูลและโรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นพื้นที่ 125 ไร่ และขอใช้ชั่วคราว 573 ไร่
 
23 ก.พ.2534 เกิดรัฐประหาร
 
 
3.อานันท์ ปันยารชุน
2 มี.ค.2534
(มติคณะ รสช.)
- 7 เม.ย.2535
(ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 มีการเลือกตั้งทั่วไป)
 
20 มี.ค.2534 ตัวแทนชาวบ้านยื่นจดหมายคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล พร้อมทั้งรายชื่อราษฎร 12,000 ราย ต่อนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุม 'นายกพบผู้ด้อยโอกาสทางสังคม' ที่ทำเนียบรัฐบาล และในวันเดียวกันได้ยื่นหนังสือให้กับคณะ รสช.ด้วย ก่อนหน้านี้ 1วันมีการยื่นจดหมายคัดค้าน ให้ผู้แทนธนาคารโลกประจำประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบการอนุมัติเงินกู้โครงการเขื่อนปากมูล
 
1 เม.ย.2534 กฟผ.เริ่มลงมือสร้างเขื่อน
 
21 พ.ค.2534 ชาวบ้าน 1,000 คน รวมตัวกันห่างจากตัวเขื่อน 9 กม.เรียกร้องให้ กฟผ.เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วม และให้ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้าน ฝ่ายรัฐบาล กฟผ.และนักวิชาการ
 
2 ก.ค.2534 ครม.มีมติ เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนเพื่อใช้สร้างเขื่อน ในพื้นที่ อ.โขงเจียม และ อ.พิบูลมังสาหาร
 
14 ส.ค.2534 กฟผ.แถลงข่าวว่าได้จ่ายเงินทดแทนไปแล้ว 46 ล้านบาท มีราษฎรได้รับผลกระทบเพียง 248 ครอบครัว
 
23 ก.ย.2534 รัฐบาลไทยประกาศไม่รอเงินกู้จากธนาคารโลก หลังจากที่ธนาคารโลกเลื่อนการพิจารณาการให้เงินกู้ออกไป และระบุจะสร้างเขื่อนต่อไป ส่วนการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ยังไม่เสร็จสิ้น
 
18 ต.ค.2534 ตัวแทนธนาคารโลกจาก 10 ประเทศ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและพบชาวบ้านตามที่ได้สัญญากับชาวบ้านไว้ โดยมีชาวบ้าน 1,000 คน ชุมนุมกันที่บริเวณแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญต้อนรับ
 
10 ธ.ค.2534 คณะกรรมการบริหารธนาคารโลกมีมติอนุมัติเงินกู้โครงการเขื่อนปากมูล โดยระบุว่าโครงการเขื่อนปากมูลเป็นโครงการขนาดเล็ก มีผลกระทบเพียงเล็กน้อย และเพิ่มวงเงินกู้จาก 3,800 ล้านบาท เป็น 6,600 ล้านบาท
 
 
4.พลเอก สุจินดา คราประยูร
7 เม.ย.2535 - 24 พ.ค.2535
(ลาออก เนื่องจากเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ)
 
 
29 เม.ย.2535 ชาวบ้านจำนวน 200 คน ได้เดินเท้าไปยังหัวงานสร้างเขื่อน เพื่อเรียกร้องให้ กฟผ.ยุติการระเบิดแก่งคันเห่ว ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ แต่หัวหน้าการก่อสร้างเขื่อนปากมูลชี้แจงว่าต้องระเบิดแก่งต่อไปตามนโยบายรัฐบาล หากน้ำท่วมที่ดินชาวบ้านสูงกว่า 108 เมตร กฟผ. จะจ่ายค่าชดเชยให้
 
 
 
5.อานันท์ ปันยารชุน (2)
10 มิ.ย.2535 - 23 ก.ย.2535
 
(ได้รับการเสนอชื่อทูลเกล้าฯ โดยอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร)
 
 
8 ก.ย.35 มติ ครม.ให้ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สิน และคณะกรรมการประสานงานอพยพราษฎร โครงการเขื่อนปากมูล
 
 
6.ชวน หลีกภัย (1)
23 ก.ย.2535 - 13 ก.ค.2538
(ยุบสภา)
 
1 มี.ค.2536 มีการชุมนุมต่อเนื่อง บริเวณหัวงานเขื่อนปากมูล ในวันที่ 6 ของการชุมนุม กลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนได้ขว้างก้อนหินและทุบตีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 33 คน
 
ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 9 และ 16 มี.ค.2536 ครม.มีมติรับทราบรายงานเหตุการณ์การชุมนุมคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล ตามที่นายสุทัศน์ เงินหมื่น รมว.มหาดไทย รวมทั้ง กฟผ.รายงาน โดยให้เร่งรัดแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องค่าทดแทน
 
19 มี.ค.2536 กลุ่มผู้ชุมนุมยอมสลายตัว โดยจะส่งตัวแทนเพื่อร่วมเป็นกรรมการ 4 คน และมีการลงนามร่วมกันในสัญญาที่จะตั้งคณะกรรมการ 2 ฝ่ายขึ้น
 
28 กันยายน 2536 สาวิตต์ โพธิวิหค รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีหน้าที่หลักคือกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบ
 
เมษายน 2537 เขื่อนปากมูลสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้า
 
14 ตุลาคม 2537 ชาวบ้านประมาณ 2,000  คนชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เรียกร้องให้ กฟผ.จ่ายค่าชดเชยจากการสูญเสียอาชีพประมงตลอดระยะเวลาสร้างเขื่อน
 
24 ตุลาคม 2537 คณะกรรมการพิจารณาช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ เปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นครั้งแรก มีมติให้คงค่าชดเชยไว้เท่าเดิม แต่เงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับค่าชดเชยที่ได้ต่ำกว่า 10,000 บาท ให้ปรับเป็น 10,000 บาท/ราย/3 ปี ส่วนคนที่ได้ค่าชดเชยมากกว่า 10,000 บาท ก็ให้ได้เท่าเดิม แต่ชาวบ้านไม่รับมติ พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกกรรมการชุดดังกล่าว แล้วแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ที่มีชาวบ้านร่วมอยู่ด้วยครึ่งหนึ่ง และยืนยันที่จะชุมนุมต่อไป
                                        
22 มี.ค.2538 กฟผ.ยินยอมจ่ายค่าชดเชยจากการสูญเสียอาชีพประมงระหว่างสร้างเขื่อน 3 ปีให้แก่ผู้ชุมนุม 3,955 ครอบครัว ครอบครัวละ 90,000 บาท โดยแบ่งเป็นค่าชดเชย 30,000 บาท และเงินเข้ากองทุนสหกรณ์ 30,000 บาท ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐฯ ยอมจ่ายค่าชดเชยต้นทุนทางสังคม
 
 
7.บรรหาร ศิลปอาชา
13 ก.ค.2538 - 25 พ.ย.2539
(ยุบสภา)
 
ระหว่างปี 2538 จนถึง 2539 มีการชุมนุมเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง เนื่องจากนับตั้งแต่สร้างเขื่อน รายได้จากการประมงยังคงลดลง และบันไดปลาโจนไม่สามารถแก้ปัญหาให้ปลาขึ้นไปวางไข่เหนือเขื่อนได้
 
27 มิ.ย.2538 มติ ครม.อนุมัติหลักการใช้เงินงบประมาณของรัฐประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2539 และ 2540 เพื่อเป็นกองทุนพัฒนาอาชีพประมงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ตามระบบสหกรณ์ จำนวน 20,000 บาท/ราย/ปี ส่วนงบประมาณเพื่อพัฒนาอาชีพประมงในปีที่ 2 และ 3 นั้น ให้ใช้งบของ กฟผ.และให้ถือเป็นแนวปฏิบัติต่อไปว่า กฟผ.จะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินชดเชยต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเพราะเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการดำเนินงาน
 
เดือนธันวาคม 2538 มีการตั้งกลุ่มสมัชชาคนจน โดยมีกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลร่วมด้วย
 
26 มี.ค.2539 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลรวมตัวกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐอีก 47 กรณีปัญหา ในชื่อสมัชชาคนจน จัดมหกรรมทวงสัญญาครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2539 ถึง 22 เม.ย.2539
 
ผลจากการชุมนุมรัฐบาล มีมติ ครม.22 เม.ย.2539 รับรองการแก้ไขปัญหาทั้ง 47 กรณี แต่ผลการดำเนินงานหลังจากนั้นไม่มีความคืบหน้า
 
 
8.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
25 พ.ย.2539 - 9 พ.ย.2540
(ลาออก เนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ)
 
25 ม.ค.2540 มหกรรมทวงสัญญาครั้งที่ 2 เริ่มขึ้น โดยชาวบ้านปากมูนได้ร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจนกรณีปัญหาอื่นๆ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลา 99 วัน
 
4 ก.พ.2540 ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาช่วยเหลือราษฎรผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ โดยมีผู้ว่าฯ อุบลฯ เป็นประธานกรรมการ
 
29 เม.ย.2540 มีมติ ครม.ให้ชดเชยที่ดินครอบครัวละ 15 ไร่ ภายหลังเมื่อไม่สามารถจัดหาที่ดินให้ได้ รัฐบาลจึงมีมติให้จ่ายชดเชยเป็นเงินแทนไร่ละ 35,000 บาท ทั้งนี้ มีผู้ได้รับผลกระทบผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีอาชีพประมงในแม่น้ำมูน จำนวน 3,084 ราย
 
ทว่าในขณะที่รอการจ่ายค่าชดเชยอยู่นั้น รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ได้ลาออก
 
 
9.ชวน หลีกภัย (2)
9 พ.ย.2540 - 9 ก.พ.2544
(ยุบสภา)
 
21 เม.ย.2541 มติ ครม. ยกเลิกมติ ครม. ของรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีนโยบายจ่ายค่าชดเชยย้อนหลังให้แก่โครงการที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว การต่อสู้เรียกร้องจึงยืดเยื้อต่อมา เรียกร้องให้ยุติการใช้เขื่อนปากมูลด้วยการเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด
 
23 มี.ค.2542 ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน 5,000 คนก่อตั้ง 'หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1' ขึ้นที่ริมสันเขื่อนปากมูล เรียกร้องให้ กฟผ.เปิดประตูระบายน้ำให้ปลาจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ เพื่อฟื้นฟูอาชีพประมง และวิถีชีวิตที่สูญเสียไป ในปีถัดมาได้เข้ายึดพื้นที่จอดรถข้างอาคารปั่นไฟเขื่อนปากมูลและก่อตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 7 ขึ้นเพื่อกดดันให้เกิดการเจรจา
 
25 ม.ค.2543 ครม.อนุมัติในหลักการตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ให้ กฟผ.ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรประมงที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล จำนวน 2,210 ราย เป็นกรณีพิเศษ โดยจ่ายเป็นเงินสดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้ารายละ 30,000 บาท และเงินเพื่อพัฒนาอาชีพโดยผ่านสหกรณ์ ปีละ 10,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้งสิ้น 132,600,000 บาท ทั้งนี้ การจ่ายเงินชดเชยจำนวนนี้ถือเป็นการสิ้นสุดและไม่ผูกพันให้ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก และไม่ผูกพันกับเงื่อนไขและหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2541
 
2 มิ.ย.2543 บัญญัติ บรรทัดฐาน รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย แต่งตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน 16 กรณี มีหน้าที่สรุปสาเหตุความเป็นมาของปัญหาและเสนอแนวทางออกต่อรัฐบาล
 
25 ก.ค.2543 ครม.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน รวม 16 กรณีปัญหา แล้วให้มีการตรวจสอบและกำกับดูแลให้เป็นไปตามมตินั้นๆ ต่อไป
 
 
10.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (1)
9 ก.พ.2544 - 11 มี.ค.2548
(ครบวาระ)
 
11.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (2)      
11 มี.ค.2548 - 19 ก.ย.2549
(รัฐประหาร)
 
มติ ครม. 17 เม.ย.2544 ให้เปิดประตูเขื่อนปากมูล 8 บาน เป็นระยะเวลา 4 เดือน (พ.ค. – ส.ค.) ต่อมาได้ขยายระยะเวลาการเปิดเขื่อนเป็น 1 ปี เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2544 และให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทำการศึกษา ซึ่งก็ได้เสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการเปิดเขื่อนตลอดปี
 
อย่างไรก็ตาม ต่อมา ครม.มีมติ 1 ต.ค.2545 ให้เปิดเขื่อนทุกปีเป็นระยะ 4 เดือน (1 ก.ค.ถึง 31 ต.ค.)
 
24 ธ.ค.2545 พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์สำรวจพื้นที่เขื่อนปากมูล จากนั้นมีการตั้งทีมทำงาน 4 ชุด เพื่อสำรวจและสอบถามความเห็นของชาวบ้านริมแม่น้ำมูล ด้านสมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ประณามคำสั่งดังกล่าว ระบุว่านายกฯ ไม่ยอมตัดสินใจ และสร้างกระบวนการใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ โดยชาวบ้านมีส่วนร่วมเพียงในกระบวนการที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น
 
24 มิ.ย.2546 ครม.เห็นชอบการลงนามของกรมประมงและกระทรวงพลังงาน (กฟผ.) ในบันทึกความร่วมมือระหว่างกันเกี่ยวกับภารกิจโครงการชลประทานปากมูล รวมทั้งการกำหนดกรอบแผนปฏิบัติการและงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาการประมงในลำน้ำมูนตอนล่าง ประจำปี พ.ศ.2546 เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 155,440 ไร่ มีระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 803.20 ล้านบาท
 
21 ม.ค. 2546 ชาวบ้านปากมูนชุมนุมและเปิด 'หมู่บ้านคนจนแม่มูนมั่นยืน' ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ด้านนายกฯ ประกาศกร้าวว่า สร้างได้ก็รื้อได้ ส่วนนายสมัคร สุนทรเวช ที่เป็นผู้ว่าฯ ขณะนั้นประกาศจะใช้กฎหมายเด็ดขาด ตัดน้ำ ไฟ และต่อมามีการนำกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ 1,000 คนเข้ารื้อย้ายเพิงพักและข้าวของของผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2546
 
8 มิ.ย.2547 มติ ครม.ให้เปิดเขื่อนตั้งแต่เดือน พ.ค.หรือ มิ.ย.เป็นต้นไปจนครบ 4 เดือน โดยให้กระทรวงพลังงานรับไปประสาน ให้ กฟผ.พิจารณากำหนดวันให้เหมาะสม สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเป็นที่ยอมรับร่วมกันของชุมชนในพื้นที่ 
 
19 ก.ย.2549 เกิดรัฐประหาร
 
 
12.พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
1 ต.ค.2549
(มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ)
- 29 ม.ค.2551
(ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีการเลือกตั้งทั่วไป)
 
 
วันที่ 23 เม.ย.2550 นายกฯ ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี พบปะชาวบ้านปากมูนที่เดินทางมาชุมนุมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และรับปากว่าจะเปิดเขื่อนปากมูลตามมติ ครม.ที่มีอยู่เดิม ให้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานเป็นเวลา 4 เดือน
 
29 พ.ค.2550 การกำหนดวันเปิดบานประตูเขื่อนปากมูล ครม.รับทราบแนวทางดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน คือ 1.กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งในภาคอีสานและพื้นที่ใกล้เคียงมีเพียงพอใช้จ่ายได้อย่างทั่วถึง แม้ไม่มีไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูล ดังนั้น ความสำคัญของเขื่อนปากมูลจึงควรมุ่งเน้นด้านชลประทานและประมงเป็นหลัก ส่วนการผลิตไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้
 
2.จากที่การปิด-เปิดประตูน้ำเขื่อนซึ่งเป็นประเด็นขัดแย้งของประชาชน 2 กลุ่ม คือ สมัชชาคนจนและกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านที่อยู่เหนือเขื่อน จึงเห็นควรให้เริ่มเปิดประตู ในวันที่ 7 มิ.ย.2550 และยกบานขึ้นสูงสุดในวันที่ 17 มิ.ย.2550
 
ภายใต้กลไก กอ.รมน.ได้มีการประชุมที่เป็นทางการ 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 18 พ.ค.2550 ณ หอประชุมกองทัพบก และวันที่ 4 มิ.ย.2550 ณ ที่ทำการเขื่อนสิรินธร และข้อเสนอได้นำไปสู่การพิจารณา และมี มติ ครม.เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ให้รักษาระดับน้ำในแม่น้ำมูนไว้ ที่ประมาณ 106-108 ม.รทก.ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดประตูน้ำถาวร
 
ถือเป็นการเปลี่ยน มติ ครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2550 ที่ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน เป็นเวลา 4 เดือน
 
มติ ครม.วันที่ 17 ก.ค.2550 ให้มีการแต่งตั้งกรรมการบริหารจัดการน้ำ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน และให้มีอำนาจในการพิจารณาเปิดปิดประตูเขื่อน ตามสภาพธรรมชาติ ความเป็นจริง และเน้นการมีส่วนร่วม 
 
 
13.สมัคร สุนทรเวช
29 ม.ค.2551 - 9 ก.ย.2551
(ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง)
 
 
24 เม.ย.2551 สมัชชาคนจนชุมนุมจี้รัฐบาลแก้ปัญหา
 
 
14.สมชาย วงศ์สวัสดิ์
18 ก.ย.2551 - 2 ธ.ค.2551
(ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี)
 
 
 
 
15.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
17 ธ.ค.2551 - 5 ส.ค.2554
(ยุบสภา)
 
แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2552 ต่อมาในวันที่ 4 พ.ย.2553 อนุกรรมการดังกล่าวมีมติเรื่องเงินเยียวยาผลกระทบที่สร้างเขื่อน ครอบครัวละ 310,000 บาท เกือบ 6,000 ครอบครัว ในพื้นที่ 55 หมู่บ้าน 3 อำเภอ ที่มีการสร้างเขื่อน รวมทั้งให้ทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน เป็นเวลานาน 5 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
 
21 ก.พ.2554  ชาวบ้านประมาณ 1,000 คน ชุมนุม ณ ที่ว่าการอำเภอพิบูลมังสาหาร คัดค้าน ครม.ไม่ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล อ้างจะเกิดผลกระทบขาดน้ำทำเกษตรกรรมและใช้ในครัวเรือนในฤดูแล้ง แต่ร่วมขอค่าชดเชยจากผลกระทบสร้างเขื่อนเมื่อ 20 ปีก่อนด้วย
 
8 มี.ค.2554 คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ตัดสินใจต่อมติของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล เหตุข้องใจถึงผลกระทบเรื่องน้ำแห้งจากการเปิดเขื่อน โดยให้ไปศึกษาข้อมูลอีก 45 วัน อย่างไรก็ตาม ต่อมาก็ยังไม่มีมติ
 
3 พ.ค.2554 มติ ครม.ให้เปิดเขื่อน 1 ปี ปิด 1 ปี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศึกษาว่ารัฐบาลควรตัดสินใจอย่างไรในปีที่ 3
 
 
16.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
5 ส.ค.2554 - ปัจจุบัน
 
ตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนปากมูลที่ประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ นักวิชาการ ตัวแทนจังหวัด และตัวแทนของรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2555
 
5 ก.ค.2555 คณะอนุกรรมการฯ ประชุมกันครั้งแรก แต่ไม่ได้ข้อสรุป เพราะตัวแทนรัฐบาลอ้างว่ายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องการศึกษาข้อมูลเดิมก่อน
 
24 - 25 ม.ค.2556 การประชุมมีการประชุมคณะอนุฯ บรรลุข้อตกลงกับชาวบ้านที่มาชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยให้ยกเลิกมติ ครม.เดิม เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2554 ที่ให้ สกว.ศึกษาใหม่ และยกเลิกคณะกรรมการฯ อนุกรรมการ และคณะทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่มีอยู่ทั้งหมด ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ขึ้นมา 1 คณะ ที่มีอำนาจเต็ม เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาองค์รวม
 
 
 
เรียบเรียงข้อมูลจาก 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรมอียิปต์เผยมีการคุกคามทางเพศกับผู้ชุมนุม ขณะที่สถานการณ์ชุมนุมลุกลาม

Posted: 28 Jan 2013 07:43 AM PST

การประท้วงรัฐบาลครั้งล่าสุดในอียิปต์ดำเนินมาตลอด 4 วัน ขณะที่เหตุวุ่นวายและตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นและมีการประกาศภาวะฉุกเฉินในบางพื้นที่ ก็มีกรณีรายงานการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมอย่างน้อย 25 รายในช่วง 4 วัน นักกิจกรรมคาดว่าเป็นกลุ่มจัดตั้งที่ต่อต้านผู้ประท้วง


28 ม.ค. 2013 - นักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีในอียิปต์กล่าวว่าในช่วงที่มีการประท้วงครั้งล่าสุดของอียิปต์ มีผู้หญิงอย่างน้อย 25 รายถูกคุกคามทางเพศขณะที่เกิดเหตุปะทะในจัตุรัสทารห์รีร์

นักกิจกรรมเปิดเผยว่ากลุ่มผู้ชายเข้าล้อมผู้หญิงที่อยู่คนเดียว ลวนลามพวกเธอและพยายามถอดเสื้อผ้า มีผู้หญิงส่วนหนึ่งถูกถอดเสื้อผ้าออกจนหมดและมีหนึ่งรายที่ถูกข่มขืน

ไลซารา มอร์ทาดา โฆษกกลุ่ม 'ปฏิบัติการต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ' (OpAntiSH) กล่าวว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดในวันศุกร์ (25) ที่ผ่านมา จากการที่พวกเขาได้เห็นการคุกคามทางเพศ ไลซาราบอกอีกว่ากรณีที่เลวร้ายที่สุดคือการใช้อาวุธมีคมกับของสงวนของฝ่ายหญิงที่ถูกคุกคาม

กลุ่มปฏิบัติการฯ OpAntiSH ได้ทำการรักษาหญิง 16 คนที่ถูกทำร้าย ขณะที่กลุ่ม 'ทาห์รีร์บอดี้การ์ด' ซึ่งเป็นกลุ่มหน่วยกู้ภัยได้ช่วยเหลืออีก 9 คน

ไม่มีใครทราบว่าใครอยู่เบื้องหลังการคุกคามทางเพศในครั้งนี้ แต่กลุ่มปฏิบัติการฯ เชื่อว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านการประท้วง เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดในจุดเดียวกันของจัตุรัสและใช้วิธีการเดียวกัน โดยไลซาราเปิดเผยอีกว่าจากคำให้การของเหยื่อ กรณีที่เกิดขึ้นคล้ายกับกรณีที่เกิดในปี 2005 ที่ผู้กระทำการน่าจะเป็นตำรวจลับ

กลุ่ม OpAntiSH มีการเปิดฮ็อตไลน์ให้แจ้งเหตุเมื่อมีการคุกคาม โดยจะส่งทีมเจ้าหน้าที่ทั้งชายหญิงไปช่วยเหลือโดยใช้สัญญาณไฟขับไล่ผู้คุกคาม ให้เหยื่อสวมเสื้อและพาไปยังเซฟท์เฮาส์ที่มีอยู่หลายสิบแห่งเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ทางจิตใจ และทางกฏหมาย

เหยื่อรายหนึ่งเปิดเผยว่าเธออยู่ใจกลางวงล้อมของชายเป็นร้อยคนที่ตีวงแคบเข้ามาเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ใช้มือลวนลามเธอไปทุกที่ เธอบอกว่าเธอโกรธมาก

ทางด้านตัวแทนกลุ่มทาห์รีร์บอดี้การ์ดบอกว่า พวกเขายอมรับกับเรื่องแบบนี้ไม่ได้อีกต่อไป กรณีการคุกคามทางเพศไม่ใช่แค่เรื่องที่เกิดในจัตุรัสทาห์รีร์หรือกรุงไคโร แต่เกิดขึ้นกับประเทศอียิปต์ทั้งหมด

จากรายงานเมื่อปี 2008 ของศูนย์สิทธิสตรีในอียิปต์ระบุว่ามีผู้หญิงชาวอียิปต์ร้อยละ 83 เคยผ่านการล่วงละเมิดทางเพศในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาก่อน


ปธน.มอร์ซี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสามพื้นที่

เดอะ การ์เดียน รายงานว่า ตั้งแต่วันพฤหัสฯ ของสัปดาห์ที่แล้ว (24 ม.ค.) ชาวอียิปต์หลายแสนคนออกมาชุมนุมใน 12 เขตปกครองจากทั้ง 21 เขตปกครองของอียิปต์ เพื่อประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีโมฮัมเมด มอร์ซี กลุ่มภราดรภาพมุสลิม และการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจ ในฐานะครบรอบสองปีการปฏิวัติโค่นล้มฮอสนี มูบารัค

จากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้ ปธน.มอร์ซีออกมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและเคอร์ฟิวในพอร์ต ซาอิด, อิสมายลิยา และสุเอช เมื่อคืนวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา มอร์ซีกล่าวผ่านทางโทรทัศน์อีกว่าเขาจะไม่รั้งรอที่จะดำเนินการต่อเหตุรุนแรงซึ่งปะทุขึ้นในหลายส่วนของประเทศอีกต่อไป แต่ขณะเดียวกันก็ให้คำมั่นต่อชาวอียิปต์ว่าการกระทำของเขาจะไม่ทำให้ประเทศกลับไปสู่ระบอบเผด็จการ

"จะไม่มีการถอยหลังในเรื่องของเสรีภาพ, ประชาธิปไตย และอำนาจกฏหมาย" มอร์ซีกล่าว

คาเลด ดาวูด โฆษกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกล่าวหาว่านโยบายของมอร์ซีเป็นต้นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย และบอกว่าเขาต้องการข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการที่ปธน.เชื้อเชิญนักการเมืองระดับสูงหลายท่านเข้าไปเจรจาในช่วงบ่ายของวันนี้ (28)

เดอะ การ์เดียน ระบุว่า ในเหตุการณ์ความวุ่นวายครั้งล่าสุดทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 40 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 500 ราย จากการปะทะกันในเมือง อเล็กซานเดรีย, สุเอช และ มาฮัลลา ขณะที่สื่อรัฐบาลอียิปต์รายงานว่ามีประชาชนอีก 32 รายเสียชีวิตจากการจลาจลที่ปะทุขึ้นอีกในวันที่ 27 ม.ค. เมื่อตำรวจพยายามขัดขวางการแห่ศพของผู้ที่ถูกสังหารก่อนหน้านี้

 


เรียบเรียงจาก

Tahrir Square sexual assaults reported during anniversary clashes, The Guardian, 28-01-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์ยืน จำคุก 10 ปี ‘คำหล้า’ คดีปล้นปืนทหาร 2 กระบอก

Posted: 28 Jan 2013 07:29 AM PST

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 ม.ค. 56) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี หมายเลขแดงที่ อ.5093/2554 กรณีนายคำหล้า ชมชื่น จำเลยในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ซึ่งเป็นอาวุธปืนเล็กกล (M16) 2 กระบอก ของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยเหตุเกิดในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าขวางรถบรรทุกของทหารที่จะเข้าพื้นที่บริเวณใกล้ซอยหมอเหล็ง
 

ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.54 ที่ผ่านมาให้จำเลยมีความผิดฐานปล้นอาวุธปืนราชการ และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลย 15 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุให้บรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี ทั้งนี้ จำเลยถูกจับกุมตัวตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.53 และถูกคุมขังเรื่อยมาจนปัจจุบัน

( อ่านรายละเอียดได้ที่ จำคุก 10 ปี เสื้อแดงปล้นปืนทหาร 2 กระบอก ระหว่างรุมขวางรถทหารปี 53 )

ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยระบุว่า คดีนี้มีปัญหาให้วินิจฉัยว่า ตำรวจนครบาลดินแดงมีอำนาจในการทำคดีหรือฟ้องคดีนี้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่แขวงมักกะสัน ซึ่งเป็นท้องที่ของตำรวจนครบาลดินแดงมีอำนาจ ดังนั้นการทำคดี หรือฟ้องคดีนี้ของตำรวจนครบาลดินแดงจึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจำเลยร่วมกระทำหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้พยานของโจทก์ที่นำมาแสดงจะไม่แสดงใบหน้าของจำเลยอย่างชัดเจน แต่ภาพถ่าย และภาพข่าวจากสื่อมวลชนแสดงให้เห็นภาพของคนร้ายสวมหมวก ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อยอมรับสารภาพว่า เป็นจำเลยจริง

ศาลระบุด้วยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทหารถูกทำร้าย และมีการแย่งชิงอาวุธ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ค้นพบปืนกระบอกดังกล่าวในวัดปทุมวนาราม ซึ่งมีเลขทะเบียนตรงกับที่ทหารได้แจ้งหายไว้ นอกจากนี้การที่จำเลยยอมรับสารภาพ และพาเจ้าหน้าที่ไปชี้ที่เกิดเหตุ รวมทั้งการที่จำเลยอ้างว่า จำเลยลงลายมือชื่อโดยที่ไม่ได้อ่านนั้นเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น จำเลยอ้างว่า จำเลยทำงานที่สำนักระบายน้ำ กรุงเทพฯ ในวันที่เกิด และเวลาเหตุนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการทำงานนอกเวลาแต่อย่างใด ดังนั้นการพิจารณาคดีนี้ของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 10 ปี ‘คำหล้า’ คดีแย่งปืนทหาร 2 กระบอก

Posted: 28 Jan 2013 07:29 AM PST

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 ม.ค. 56) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี หมายเลขแดงที่ อ.5093/2554 กรณีนายคำหล้า ชมชื่น จำเลยในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ซึ่งเป็นอาวุธปืนเล็กกล (M16) 2 กระบอก ของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยเหตุเกิดในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าขวางรถบรรทุกของทหารที่จะเข้าพื้นที่บริเวณใกล้ซอยหมอเหล็ง
 

ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.54 ที่ผ่านมาให้จำเลยมีความผิดฐานปล้นอาวุธปืนราชการ และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลย 15 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุให้บรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี ทั้งนี้ จำเลยถูกจับกุมตัวตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.53 และถูกคุมขังเรื่อยมาจนปัจจุบัน

( อ่านรายละเอียดได้ที่ จำคุก 10 ปี เสื้อแดงปล้นปืนทหาร 2 กระบอก ระหว่างรุมขวางรถทหารปี 53 )

ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยระบุว่า คดีนี้มีปัญหาให้วินิจฉัยว่า ตำรวจนครบาลดินแดงมีอำนาจในการทำคดีหรือฟ้องคดีนี้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่แขวงมักกะสัน ซึ่งเป็นท้องที่ของตำรวจนครบาลดินแดงมีอำนาจ ดังนั้นการทำคดี หรือฟ้องคดีนี้ของตำรวจนครบาลดินแดงจึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจำเลยร่วมกระทำหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้พยานของโจทก์ที่นำมาแสดงจะไม่แสดงใบหน้าของจำเลยอย่างชัดเจน แต่ภาพถ่าย และภาพข่าวจากสื่อมวลชนแสดงให้เห็นภาพของคนร้ายสวมหมวก ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อยอมรับสารภาพว่า เป็นจำเลยจริง

ศาลระบุด้วยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทหารถูกทำร้าย และมีการแย่งชิงอาวุธ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ค้นพบปืนกระบอกดังกล่าวในวัดปทุมวนาราม ซึ่งมีเลขทะเบียนตรงกับที่ทหารได้แจ้งหายไว้ นอกจากนี้การที่จำเลยยอมรับสารภาพ และพาเจ้าหน้าที่ไปชี้ที่เกิดเหตุ รวมทั้งการที่จำเลยอ้างว่า จำเลยลงลายมือชื่อโดยที่ไม่ได้อ่านนั้นเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น จำเลยอ้างว่า จำเลยทำงานที่สำนักระบายน้ำ กรุงเทพฯ ในวันที่เกิด และเวลาเหตุนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการทำงานนอกเวลาแต่อย่างใด ดังนั้นการพิจารณาคดีนี้ของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22 - 28 ม.ค. 2556

Posted: 28 Jan 2013 05:26 AM PST

 

"ปธ.สภาอุตสาหกรรม" รอรัฐช่วยชดเชยค่าจ้าง 300

ที่พรรคภูมิใจไทย   มีการจัดเสวนาเเรื่อง "ค่าแรง 300 บาท กับเศรษฐกิจและสังคมไทย"โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นประธาน โดยรับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วนก่อนนำเสนอปัญหาและแวทางการแก้ไขส่งต่อไปให้ รัฐบาลเพื่อทำการแก้ไขต่อไป

นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ  นักวิชาการด้านแรงงาน  กล่าวว่า นโยบายพรรคเพื่อไทยที่มีผลต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น300 บาททั่วประเทศเป็นการปรับมากกว่า10% อย่างไม่มีมาก่อน รัฐบาลควรส่งเสริมทั้งทางตรงและอ้อมเพิ่มผลิตภาพการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและ คุณภาพ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ที่จะทำให้สถานประกอบการอยู่ได้ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมในการสัมมนาต่างเห็นสอดคล้องในเรื่องการปรับผลิตภาพการ ผลิตให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

นายธารินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าเรื่องนี้ผลกระทบในแต่ละพื้นที่ แต่ละประเภทอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องปรับตัว แม้จะเป็นภาวะที่ยากลำบากซึ่งภาพรวมทางเศรษฐกิจ ยังอยู่ในภาวะปกติไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ การลงทุนต่างประเทศในไทย แม้ว่าบางสถานประกอบการ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท อาจเป็นเส้นฟางสุดท้าย ที่ทำให้บางอุตสาหกรรมอยู่ไม่ได้ ทุกฝ่ายจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและให้ความสำคัญกับทักษะ ฝีมือ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่เป็นความยั่งยืน

ด้านนายอธิภูมิ กำธรวรรินทร์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กล่าวว่ามาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล สถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ เนื่องจากสถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีกำไร ทั้งนี้สถานประกอบการที่มีกำไรถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษีมีส่วนน้อยเพียง 5-7% เท่านั้น ดังนั้นสถานประกอบการส่วนใหญ่จึงอยู่ในสภาพหน้าชื่น อกตรมที่เผชิญกับปัญหาทั้งการขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างมีปรับสูงขึ้นมาก จึงกดดันอย่างมาก ซึ่งเราไม่ปฏิเสธเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300บาทแต่ขอชะลอการบังคับใช้ไปอีก 2 ปีเพื่อที่จะปรับโครงสร้าง แต่เมื่อเป็นนโยบายแกมบังคับ ก็เกรงว่านายจ้างจ่ายได้ไม่เท่าไรก็ต้องปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงาน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท ส่งผลกระทบอย่างมากกับสถานประกอบการในภูมิภาคโดยบางจังหวัดมีการปรับทั้งสอง รอบคือวันที่1 เมย. 2555 และ1 มค. 2556 มีการปรับเพิ่มมากถึง 80% ซึ่งถือเป็นภาระหนัก ขณะที่มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลดูแล้วไม่สอดคล้องกับความต้องการ ที่เหมือนกำลังจะจมน้ำอยู่แล้ว ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือก่อนที่จะจม ไม่ใช่จม จึงมาช่วยที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ยากยิ่งขึ้น

"เรายังคงเฝ้ารอมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลในเรื่องการตั้งกองทุนชดเชย ส่วนต่าง ที่เป็นมาตรการช่วยเหลือที่แก้ปัญหาตรงจุด สภาอุตสาหกรรมมีมาตรการช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่ม SME ในเรื่องของคำแนะนำในการปรับโครงสร้าง การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน รวมถึงสนับสนุนโดยการสั่งซื้อ ช่วยหาตลาด กระตุ้นการผลิต ทั้งนี้สถานประกอบใดที่ต้องการความช่วยเหลือขอให้มีการแจ้ง เพื่อที่หาทางช่วยเหลือต่อไป"นายพยุงศักดิ์ กล่าว

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า หลังจากนี้ 3-4 เดือนจะเห็นผลกระทบในเรื่องการปรับค่าจ้างขึ้น 300 บาท ซึ่งการปรับในครั้งนี้จะมีผลต่อจังหวัดในภูมิภาคที่ห่างไกล ที่ไม่มีเครือข่ายสหภาพแรงงาน ทำให้ขาดการเชื่อมโยงในการรับรู้ถึงปัญหา โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ตั้งศูนย์รับแจ้งผลกระทบต่อลูกจ้าง เพื่อให้การช่วยเหลือ รวมถึงผลักดันให้ฝ่ายต่างๆให้แก้ไขผลกระทบต่อลูกจ้าง

(เดลินิวส์, 22-1-2556)

 

พนักงาน ธนาคารกรุงเทพชุมนุมขอสวัสดิการ-โบนัสเพิ่ม

วันที่ 22 ม.ค.เวลาประมาณ 12.00 น. มีรายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพประมาณ 100 คน นำโดย นายชัยวัฒน์ มาคำจันทร์ ประธานสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ นัดชุมนุมบริเวณหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ถนนสีลม เพื่อเรียกร้องต่อผู้บริหารเรื่องเงินโบนัส และ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในข้อต่างๆ ดังนี้
 
- ขอคืนโบนัสที่อัตรา 4 เดือนเหมือนในอดีต เพราะปัจจุบันธนาคารจ่าย 2 เดือน
- ขอคืนเงินประทังชีวิตหลังเกษียณจากอัตราปัจจุบัน 3 แสนบาทต่อราย เป็น 4.5 แสนบาทต่อราย
- ขอคืนอัตราขึ้นเงินเดือนที่ 6% เท่ากันทั้งธนาคาร หลังจากที่ปรับให้พนักงานประจำ 3% การตลาดฝ่ายขาย 6%
- แก้ไขการจ่ายคืนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากปัจจุบันคิดเป็นอันดับขั้น ให้คิดเป็น 7% เท่ากันทั้งธนาคาร

โดยในวันที่ 24 ม.ค. กลุ่มสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ จะเดินทางไปที่กระทรวงแรงงาน เพื่อไกล่เกลี่ยกับผู้บริหาร ซึ่งหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะยกระดับความรุนแรงในการเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยจะดึงกลุ่มสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย ที่รวบรวมสหภาพแรงงานของธนาคารอื่นๆ เข้ามาร่วมชุมนุม แต่ถ้ายังไม่มีการตอบรับจากฝ่ายบริหาร พนักงานก็จะยกระดับยื่นเรื่องขอหยุดงาน

(ประชาชาติธุรกิจ, 22-1-2556)

 

ครสท. ชี้รัฐต้องตั้งกองทุนชดเชยเลิกจ้างให้แรงงาน-แนะตรวจสอบต้นตอนายจ้างปิดกิจการ

23 ม.ค. 56 - ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กทม. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)จัดแถลงข่าวเรื่อง "ข้ออ้าง 300บาทกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม" โดยนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.แถลงยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน จำนวน 5 ข้อ ได้แก่ 1.ให้กระทรวงแรงงานเสนอรัฐบาลตั้งกองทุนค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมาย เพื่อจ่ายให้ลูกจ้างทันทีที่ถูกเลิกจ้างเมื่อไม่ได้รับค่าชดเชยจากสถาน ประกอบการ และให้กระทรวงแรงงานไปดำเนินการเรียกเก็บกับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบ การเพื่อนำกลับเข้าคืนกองทุนต่อไป 2.ให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บริษัทหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย โดยมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ จะต้องมีมาตรการในการดำเนินคดีอาญากับนายจ้างด้วย ไม่ใช่เพียงไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างรับเงินตามที่นายจ้างเสนอเท่านั้น

นายชาลี กล่าวว่า 3.รัฐบาลไม่ควรปัดความรับผิดชอบในการให้ลูกจ้างต้องมาต่อรองสิทธิกับนายจ้าง เพียงลำพัง โดยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและยั่งยืนในการช่วยเหลือในกรณีอย่างนี้ และเปลี่ยนทัศนคติต่อแนวคิดที่ว่า แรงงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ โดยต้องคำนึงและให้ความสำคัญต่อความผูกพันกับชุมชนและประเพณีในพื้นที่4.ให้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหางานหรืออาชีพให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทุกคนโดยทันที ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงสภาพการดำรงชีพที่ต้องไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 5.ให้กระทรวงแรงงานตั้ง "คณะกรรมการตรวจสอบสถานประกอบการที่มีการเลิกจ้างคนงานและปิดกิจการ หลังจากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท"เพื่อตรวจสอบสถานการณ์และค้นหาข้อเท็จจริงของบริษัทแต่ละแห่งที่เลิก จ้างว่ามีสาเหตุมาจากอะไรมีเหตุจำเป็นถึงขนาดจะต้องเลิกจ้างหรือไม่โดยคณะ กรรมการฯที่ตั้งขึ้นจะต้องประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง นักวิชาการด้านแรงงาน นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ

ประธาน คสรท. กล่าวอีกว่า ตั้งแต่วันที่1 มกราคมที่ผ่านมา มีแรงงานสอบถามและร้องเรียนเข้ามาที่ คสรท.จำนวน 16 สาย คาดว่ามีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ2,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างบริษัทซับคอนแทรกต์ที่ทำงานในหน่วยงานราชการต่างๆ โทร.เข้ามาสอบถาม เนื่องจากกังวลว่าจะไม่ได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท ส่วนกรณีร้องเรียน ได้แก่ กรณีที่แรงงานหญิงตั้งครรภ์ทำงานอยู่ในโรงงานฉีดสารพลาสติก จ.ฉะเชิงเทรา ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา แต่นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้เป็นอัตราค่าจ้างของปี 2555 และกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าล่วงเวลา รวมทั้งนำสวัสดิการต่างๆมารวมเป็นค่าจ้างด้วย

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท. กล่าวว่า เหตุที่รัฐบาลต้องตั้งกองทุนค่าชดเชยการเลิกจ้างให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดย ไม่รับการจ่ายเงินค่าชดเชยจากนายจ้าง เพราะเมื่อลูกจ้างใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลแรง งาน โดยการยื่นแบบคำร้อง คร.7 จะได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จำนวน 2เดือนของค่าจ้าง ซึ่งน้อยกว่าเงินค่าชดเชยการเลิกจ้าง 10 เดือนที่นายจ้างต้องจ่ายตามกฎหมาย ทั้งนี้ การฟ้องร้องในชั้นศาลเพื่อทวงคืนเงินค่าชดเชยจากนายจ้างต้องใช้ระยะเวลานาน หลายปี ทำให้ลูกจ้างเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คสรท.ไม่เห็นด้วยกับมาตรการการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการ ปรับค่าจ้าง300 บาทของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลใช้มาตรการช่วยนายจ้างมากเกินไป ซึ่งเงินที่นำไปช่วยมาจากภาษีประชาชนทั้งสิ้น นอกจากนี้ อีกปัญหาที่รัฐบาลต้องตรวจสอบ คือการที่บริษัทใช้วิธีปิดกิจการ เพราะต้องการเลิกจ้างลูกจ้างเก่าทั้งหมด แล้วไปตั้งบริษัทใหม่เพื่อจ้างลูกจ้างรายใหม่แทน ทำให้ไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างเก่า

(ข่าวสด, 23-1-2556)

 

พนักงานแบงก์กรุงเทพ ประท้วงเรียกร้องเงินเดือนและสวัสดิการ

วันที่ 25 ม.ค. 56 ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ สหภาพแรงงานนำโดยนายชัยวัฒน์ มาคำจันทร์ ประธานสหภาพ พร้อมด้วยสมาชิกกว่า 500 คน รวมตัวกันเรียกร้องค่าสวัสดิการ (โบนัส) จำนวน 4 เดือน พร้อมกับขอปรับเงินเดือนอีก 6 เปอร์เซ็นต์ พร้อมเรียกร้องค่าครองชีพหลังเกษียณตามระเบียบเดิมที่จะได้คือ 4.5 แสนบาท แต่ถูกปรับลดเหลือ 3 แสนล้านบาท โดยผู้บริหารไม่สามารถอธิบายได้ว่า เงินที่หายไป 1.5 แสนบาทหายไปไหน ทั้งที่ ธนาคารมีผลกำไรมากถึง 3.3 หมื่นล้านบาท  ขณะที่ในปีก่อนหน้านี้  มีกำไรเพียง 2 หมื่นกว่าล้าน กลับจ่ายโบนัสมากถึง 5-6 เดือน หรือจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นหุ้นละ 3 บาทในปี 2554 ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เป็นการดูแลสวัสดิการพนักงานในปัจจุบันเท่าที่ควร โดยพนักงานที่มารวมตัวกัน ได้ชูป้ายเรียกร้องพร้อมกับแถลงการณ์เรียกร้อง อีกทั้ง เดินขบวนรอบอาคารสำนักงาน
 
ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า จากการเจรจากันหลายครั้ง ยังไม่มีคำตอบจากผู้บริหารในแนวทางที่เรียกร้องไป ขณะเดียวกัน ยังไม่มีคำชี้แจงจากผู้บริหารอย่างชัดเจน    จึงเป็นที่มาของการรวมตัวในวันนี้
 
อนึ่งในปี 2554 ธนาคารได้ประกาศเปลี่ยนเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน จากอัตราเดียวเป็นหลายอัตราแบ่งตามช่วงอายุงาน และยกเลิกเงินบำเหน็จโดยพลการ และมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมโดยไม่ยุติธรรม 
 

(มติชนออนไลน์, 25-1-2556)

 

ก.แรงงาน ทำคู่มือพร้อมจ่ายอัตราค่าจ้าง 300 บาท-เกาะติดสถานการณ์วันต่อวัน

25 ม.ค. 56 - นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้จัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินงานศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่าย อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานและจังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ใช้เป็น แนวทางในการปฏิบัติภารกิจในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ และนายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบของรัฐบาลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล รวดเร็ว และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับเนื้อหาของคู่มือประกอบด้วย มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2556 และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) แนวทางการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น ขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงานของศูนย์สนับสนุนฯ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค อาทิ การเตรียมความพร้อมของศูนย์ฯ การประชาสัมพันธ์แก่ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และสื่อมวลชน การให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี การเฝ้าระวังและการแก้ไขปัญหา ตลอดจนการสรุปสถานการณ์ประจำวัน

โดยมีการกำหนดแบบฟอร์มรายงานแบบรายวัน ราย 15 วัน และรายเดือน กรณีประจำวัน อาทิ รายงานการเลิกจ้างเนื่องจากผลกระทบ 300 บาท การขึ้นทะเบียนของผู้ประกันตนกรณีว่างงาน การลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือของผู้ประกอบการ และรายงานสถานการณ์ด้านแรงงานและสถานประกอบการ กรณีราย 15 วัน อาทิ รายงานการฝึกอาชีพ จำนวนผู้ประกันตนที่มาขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน การติดตามผลและการประสานให้ความช่วยเหลือ ส่วนกรณีรายเดือน อาทิ การรายงานตำแหน่งงานและการบรรจุงาน สถานประกอบการและผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม มาตรา 33

(สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 25-1-2556)

 

คมนาคม สั่ง 9 รัฐวิสาหกิจในกำกับ จัดทำแผนรับมือพนักงานผละงานประท้วง หวั่นซ้ำรอยการบินไทย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ 9 รัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ที่มีสหภาพแรงงาน จัดทำแผนรับมือพนักงานชุมนุมประท้วงหยุดงาน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการประชาชนโดยจะต้องประเมินสถานการณ์หรือความ เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาไว้ล่วงหน้า พร้อมกับแต่งตั้งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้เจรจาเป็นขั้นเป็นตอนหาก เกิดเหตุ และให้ส่งแผนอย่างละเอียดกลับมาให้พิจารณาภายใน 2 สัปดาห์
         
หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 9 แห่ง ในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมประกอบด้วย บริษัท การบินไทยบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.)การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.)องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และบริษัท ขนส่ง (บ.ข.ส.) โดยที่ผ่านมามีเพียง 2 หน่วยงาน คือ กทท. และกทพ. เท่านั้น ที่มีแผนรับมือเหตุการณ์ประท้วงหยุดงาน
         
"ทางกระทรวงได้กำชับให้แต่ละหน่วยงานประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เช่น หาก ร.ฟ.ท. เกิดเหตุพนักงานประท้วงหยุดงาน ก็ให้ประสาน บ.ข.ส. หรือสมาคมรถบรรทุกเข้ามาช่วยเหลือขนถ่ายคนและขนสินค้าแทน หรือหากบริษัทการบินไทย มีปัญหาก็ให้ประสานกองทัพอากาศเข้ามาให้การบริการช่วยเหลือ ส่วน ทอท. มีการว่าจ้างจากภายนอกหรือเอาต์ซอร์ส เข้ามาดำเนินงานต่างๆ และจะต้องไปพิจารณาว่า ควรจะมีผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือเกิดปัญหาขึ้น จะได้มีตัวเลือก" นายชัชชาติ กล่าว
         
นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่าภายในสัปดาห์หน้าจะเชิญตัวแทนของสหภาพแรงงานของทั้ง 9 หน่วยงานมาเข้าพบเพื่อหารือโดยมีพล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม ร่วมหารือด้วย ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่าสหภาพแรงงาน กทท.จะมีการชุมนุมเรียกร้องเรื่องเงินค่าล่วงเวลา (โอที) ซึ่งหากจริง ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
         
พล.อ.พฤณท์ กล่าวว่า นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย ได้ยืนยันว่า การประชุมคณะกรรมการบริษัท ในวันที่ 8 ก.พ.นี้ จะไม่มีปัญหาเรื่องของการชุมนุมประท้วงเหมือนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เนื่องจากในขณะนี้พนักงานมีความเข้าใจสถานการณ์ทางด้านการเงินของบริษัทแล้ว แต่หากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ได้จัดทำแผนเตรียมพร้อมรับมือเอาไว้แล้ว

(โพสต์ทูเดย์, 26-1-2556)

 

ลูกจ้างเฮ! ก.แรงงานชงลดจ่ายประกันสังคม เหลือ 336 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 29 ม.ค.นี้ กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอขอความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงแรงงานรายงานข้อเท็จจริงว่า 1. เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (20 พ.ย. 2555) เห็นชอบมาตรการการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2556 กำหนดมาตรการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่นายจ้างในการออกเงินสมทบเข้ากองทุน ประกันสังคม โดยกระทรวงแรงงานได้พิจารณาลดอัตราเงินสมทบ ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นไปในทำนองเดียวกับที่กระทรวงแรงงานได้เคยช่วยเหลือ บรรเทาภาระของนายจ้างและผู้ประกันตนในการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในช่วงเวลาที่ประเทศประสบอุทกภัย ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 ก.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2555 โดยกำหนดให้การลดอัตราเงินสมทบมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 ถึง 31 ธ.ค. 2556 2. การลดเงินสมทบตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะมีผลทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการลดอัตราเงินสมทบด้วย จากเดิมออกเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท เป็นออกเงินสมทบในอัตราเดือนละ 336 บาท.

(ไทยรัฐ, 28-1-2556)

 

แรงงานขอนแก่นบ่นอุบ! นายจ้างรัดเข็มขัดลดสวัสดิการ

นายวุฒิไกร สุวรรณวานิช เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานหลายแห่งมีการใช้นโยบายรัดเข้มขัด ลดสวัสดิการพนักงาน และเพิ่มศักยภาพแรงงานมากขึ้น หากรายใดทำงานไม่เข้าเป้าก็จะถูกปลดออก ซึ่งแรงงานบางส่วนมองว่าเป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียด ต่างกับเมื่อก่อนที่มีการเลี้ยงข้าว นายจ้างให้ยืมเงินกรณีที่ลูกจ้างขาดสภาพคล่อง แต่ตอนนี้ไม่มีเงินให้ยืม เป็นต้น

ดังนั้น จึงมีแรงงานในโรงงานหลายแห่งได้เข้ามาเจรจากับเจ้าของโรงงานเพื่อเป็นสัญญา ใจในการขอค่าจ้างขั้นต่ำไม่ถึงวันละ 300 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์ของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ รัฐบาล แต่หากเจ้าของกิจการรายใดที่สามารถปรับตัวจนธุรกิจดำเนินการได้ตามปกติแล้ว ก็ต้องปรับค่าจ้างให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม แนวทางเดียวที่รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคือ การจัดสรรงบประมาณ หรือตั้งกองทุนในการช่วยจ่ายส่วนต่างเป็นเวลา 3 ปี เพราะเป็นแนวทางเดียวที่จะช่วยได้ถูกจุด เนื่องจากมาตรการภาษีส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือกิจการที่มีขนาดใหญ่ หรือกิจการที่มีกำไร เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบจากค่าแรงแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทด้วย ขณะที่ สอท.เตรียมเสนอมาตรการบรรเทาต่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเสนอต่อ รัฐบาลพิจารณาเพื่อช่วยเหลือในสัปดาห์นี้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-1-2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.แนะแนว กม.เท่าเทียมทางเพศ ตั้งคณะวินิจฉัย เลือกปฏิบัติโทษหนัก

Posted: 28 Jan 2013 05:10 AM PST

คปก. เสนอแนวทางตรากฎหมายส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาค และคณะวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ โทษหนักจำคุก 3 ปี ปรับ 360,000 บาท

28 มกราคม 2556 นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือ เรื่อง แนวทางการตรากฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนได้แก่ บันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง แนวทางการตรากฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ... (ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย) เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ปัจจุบันร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างเพศ (ฉบับเสนอโดยคณะรัฐมนตรี) อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร และในขณะเดียวกันเครือข่ายเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรสิทธิในเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 15,636 คน เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ...(ฉบับภาคประชาชน) ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2555 ซึ่งร่างฯฉบับประชาชนอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม คปก.ได้พิจารณาและมีข้อเสนอแนะบางประการพร้อมทั้งยกร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ... ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายนี้ประกอบการเสนอแนะดังกล่าวด้วย

จากการพิจารณา คปก. มีความเห็นที่สำคัญหลายประเด็น ได้แก่ ให้นิยามความหมายที่สำคัญ ของคำว่า"เพศ" "เพศภาวะ" "เพศวิถี" "การส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ" "การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ" "ความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศ"   "การคุกคามทางเพศ"และ "บุคคลที่ควรได้รับการส่งเสริมโอกาสเป็นพิเศษ" เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน โดยไม่ต้องใช้ดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตีความตามกฎหมาย และสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention for the Elimination of All Forms of Discrimination against Women (CEDAW) ซึ่งประเทศไทยได้เป็นรัฐภาคีโดยการภาคยานุวัติในอนุสัญญาดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ.2528 นอกจากนี้ ยังระบุถึงการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศโดยห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมทั้งทางตรงและทางอ้อมในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน และควบคุมการดำเนินงานของรัฐและเอกชนในการวางนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการ โครงการ  หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน มิให้เกิดการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ

คปก.ยังให้เสนอให้มีการคุ้มครองและส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนต้องคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ และความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศ ต้องส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศในด้านต่าง ๆทุกมิติอย่างทั่วถึงและเสมอภาคทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีคณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า "คณะกรรมการ สคพช." ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการสรรหา และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ เรียกโดยย่อว่า "คณะกรรมการ วลพ."มีอำนาจหน้าที่ประการหนึ่ง เช่น วินิจฉัยคำร้องว่ามีการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศและความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศโดยมิชักช้า โดยให้มีอำนาจตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการวินิจฉัย และฟ้องคดีต่อศาลแทนผู้ร้อง  โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ รับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการของคณะกรรมการ สคพช. และคณะกรรมการ วลพ.ด้วย

นอกจากนี้ ยังเห็นควรกำหนดให้จัดตั้ง "กองทุนส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ" เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุน สำนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ และให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ สพคช.

อย่างไรก็ตาม คปก.ยังเห็นควรให้มีบทกำหนดโทษ ซึ่งระบุความผิดสำหรับผู้กระกระทำการอันเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หากเป็นการกระทำโดยทุจริตหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และหากเป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดาน ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ลูกจ้าง ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ผู้มีอำนาจหน้าที่ให้บริการตามวิชาชีพผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการ หรืออยู่ในความปกครองในความพิทักษ์หรือในความอนุบาล ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ข้างต้นหนึ่งในสาม ทั้งนี้ยังระบุว่า หากคณะกรรมการ วลพ. เห็นว่าผู้กระทำผิดไม่ควรได้รับโทษจำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องเมื่อบุคคลนั้นและผู้เสียหายยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้คณะกรรมการ วลพ. เปรียบเทียบโดยกำหนดให้บุคคลนั้นชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันเปรียบเทียบ และเมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นด้วย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.เปิดเวทีถก ร่างกฎหมายสวัสดิการผู้สูงอายุ

Posted: 28 Jan 2013 04:57 AM PST

ปฏิรูประบบสวัสดิการผู้สูงอายุ ถกปัญหาสิทธิ-เงินสวัสดิการ นักวิชาการเผยอายุเฉลี่ยสูงขึ้น แนะกำหนดฐานอายุให้ยืดหยุ่น

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย –วันที่ 28 มกราคม 2556 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ เรื่อง ร่างกฎหมายสวัสดิการผู้สูงอายุโดยนางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นการอภิปรายในเชิงแนวคิด 4-5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ สิทธิผู้สูงอายุ, เงินสวัสดิการดำรงชีพ,การกำหนดฐานอายุผู้สูงอายุตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว,กลไกการขับเคลื่อนแผนยุทศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการขยายศักยภาพของผู้สูงอายุ การรวมกลุ่มของชุมชนเพื่อมีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ จะเป็นประเด็นหลักในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้  

นางสุนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบสวัสดิการผู้สูงอายุในทางปฏิบัติพบปัญหาค่อนข้างมาก หลายเรื่องจำเป็นต้องแก้กฎหมาย ซึ่งเป็นภาพรวมที่ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นสอดคล้องกัน ทั้งนี้จะทำอย่างไรให้เขียนระบุไว้ชัด ตั้งแต่วัตถุประสงค์กองทุน ที่มากองทุน กระบวนการที่จะนำไปใช้และรายละเอียดในขั้นตอนต่างๆ

นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า แนวคิดกฎหมายโดยรวมยังให้ความสำคัญกับภาครัฐในการดำเนินเกี่ยวกับสวัสดิการผู้สูงอายุตรงนี้ตนคิดว่าไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง เพราะเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้นการออกแบบกฎหมายต้องกำหนดพื้นที่ต่างๆกับทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม  ภาครัฐจะมีหน้าที่บางระดับเท่านั้นเพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนไปได้

"ปัญหาของแผนหรือยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาคือ ไม่มีแผนปฏิบัติการ และแนวโน้มแผนประเทศอยู่ที่ฝ่ายการเมือง ตรงนี้เป็นบริบทใหม่ ดังนั้นเมื่อมีแผนจะพบว่าเหตุใดจึงไม่ฟังก์ชั่น ฉะนั้นต้องให้พื้นที่กับคนในชุมชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง" นายไพโรจน์ กล่าว

ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล นักประชากรศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า ประชากรในปัจจุบันมีโอกาสที่จะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปีมากกว่าในอดีต เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขทำให้คนรอดชีวิตมากขึ้น และประเมินว่าอีกไม่เกิน 20 ปีประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ราว 14 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ ปัจจุบันผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 7 ล้านคน หรือคิดเป็น 12% จากประชากร 64 ล้านคน อายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 73 ปี ส่วนตัวมีความเห็นว่า กฎหมายปัจจุบันตามสังคมไม่ทัน จะเป็นได้หรือไม่ว่าควรมีการแก้ไขคำจำกัดความ ถ้ากำหนดอายุควรจะระบุให้สูงกว่านี้หรืออาจจะไม่ต้องกำหนดอายุที่ตายตัวเพื่อให้มีความยืดหยุ่นก็จะทำให้กฎหมายทันกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่คิดว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวควรกำหนดฐานอายุของผู้สูงอายุให้มีความยืดหยุ่นไว้ ขณะที่ประเด็นเรื่องแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองและส่งเสริมผู้สูงอายุตามมาตรา16 ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะพบว่าประเทศไทยไปไกลกว่านี้แล้ว และตัวแผนผู้สูงอายุได้เป็นแผนฉบับปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ระบบคุ้มครองผู้สูงอายุ การบริหารจัดการงานผู้สูงอายุด้วย ซึ่งพบว่ามียุทศาสตร์ค่อนข้างกว้างและครอบคลุมและเป็นแผนที่มองถึงผู้อายุในอนาคตด้วย ล่าสุดที่ประเมินไปคือ ยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติ กับอีกส่วนหนึ่งคือเงินในกองทุนดังกล่าวคงต้องชัดเจนว่าหน่วยงานตรงนี้ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ อีกจุดใหญ่ที่พบคือ เรื่องปัญหาสุขภาพ พบว่าช่องทางพิเศษไม่สามารถให้บริการอย่างเร่งด่วนได้จริง จึงควรจะวางแผนการบริการครบวงจรในจุดเดียว นอกจากนี้เรื่องบทบาทในท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นหลายพื้นที่อ้างว่าข้อบัญญัติที่เป็นอยู่ไม่เอื้อต่อการนำเงินของท้องถิ่นเองมาใช้ ส่วนตัวมองว่าเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาและมีการกำกับดูแลด้วยเช่นกัน

แพทย์หญิงลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ  กล่าวว่า แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 ซึ่งวางแผนในระยะ 20 ปี กำหนดโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาตินั้น มีผลในทางกฎหมายแต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น การให้ความร่วมมือขององค์กรปกครองท้องถิ่น โดยองค์กรเหล่านี้อ้างว่าอำนาจหน้าที่ไม่เอื้อให้ปฏิบัติตามแผนได้ ดังนั้น ในการแก้ไขจึงควรแก้ไขเป็นรายมาตราเพื่อให้องค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมตั้งแต่การวางแผนด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับผู้สูงอายุนั้นคือ ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง จึงเห็นว่าควรกำหนดให้กฎหมายนี้เป็นกฎหมายกลางเพื่อกำหนดแนวทาง ส่วนรายละเอียดในทางปฏิบัติให้ระบุในกฎหมายลำดับรองอีกครั้ง

นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ รองประธานสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากจะผลักดันกฎหมายที่จำเป็นเกี่ยวกับสิทธิผู้สูงอายุ ควรจะระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิต่างที่ผู้สูงอายุจะได้รับ เพราะหากระบุไว้กว้างๆจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติได้  นอกจากนี้ควรคำนึงถึงกลุ่มผู้สูงอายุคนพิการ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 300,000 คน ตรงจุดนี้หากระบุสิทธิรองรับให้ชัด รวมถึงการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต้องเขียนให้ชัด เพราะไม่เช่นนั้นในทางปฏิบัติจะไม่มีผล นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายผู้สูงอายุแห่งชาติ ประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะเป็นคณะกรรมการฯด้วยถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนในเชิงบูรณการ อีกจุดหนึ่งคือกองทุนผู้สูงอายุ ปัจจุบันพบว่ามีเงินกองทุนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ กองทุนนี้จึงต้องโจทย์ให้ชัดว่ามีมาเพื่ออะไร และในเชิงกลไกต้องมองมิติงบประมาณให้ชัดจะทำอย่างไรให้มีการบูรณาการและผูกโยงร่วมกัน

นางอุบล หลิมสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า หากพิจารณาในแผนหลักคงต้องกำหนดให้มียุทธศาสตร์และมาตรการหลัก มาตรการย่อย และกลไกระดับชาติและระดับภูมิภาครองรับสวัสดิการผู้สูงอายุรวมถึงควรมีหน่วยวิชาการมาสนับสนุนเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุด้วย หากจะแก้ไขกฎหมายควรจะแก้กฎหมายฉบับปัจจุบันโดยเน้นทางเลือกที่หลากหลาย

"หากพิจารณากระบวนการกฎหมายในภาพรวม ในสาระสำคัญที่จะได้ถึงสิทธิผู้สูงอายุจะพบวาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ และยังมองไม่ลึกถึงการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวด้วย โดยหลักตนคิดว่าต้องมีแผนหลัก ฉะนั้นปัญหากฎหมายจริงๆอยู่ที่ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข"

นายอภิชัย จันทรเสน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายเดิมอาจมีปัญหาติดขัดอยู่บ้างแต่อาจะไม่ถึงขั้นต้องรื้อทั้งฉบับ อาจจะต้องให้สมดุลกันระหว่างหน่วยงานให้บริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ปัญหาที่หนักที่สุดในขณะนี้คือ กองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งมีเงินกองทุนน้อยมากเมื่อเทียบกับกองทุนคนพิการและกองทุนอื่นๆ คิดว่าถ้าจะปรับปรุงแก้ไขก็ควรจะแก้ไขเฉพาะบางมาตรา ประเด็นถัดมา ควรเพิ่มเงินสวัสดิการดำรงชีพ และให้ผู้สูงอายุได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ถูกหักค่าใช้จ่าย ไม่ถูกนำมาใช้ในการหาเสียงการเมือง

"มาตรา 9 (11) ในพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ไม่ได้ติดขัดในทางปฏิบัติ แต่อาจจะไม่กว้างขวางหรือในทางปฏิบัติที่เข้ารับบริการอาจจะเกิดความล่าช้าซึ่งอาจจะมีปัญหาอยู่จริงแต่ก็อาจจะไม่มาก มาตรานี้ถูกนำมาใช้บ่อย เราจะมีวิธีการส่งเสริมอย่างไร ส่วนประเด็นที่ที่อายากจะให้ขยายสิทธิเพิ่มเติมสามารถพิจารณาจากมาตรา 11(13) ซึ่งระบุเพิ่มเติมให้การอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด"

นางสาวณัฐกานต์ จิตประสงค์ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวความคิดของคุณชูศักด์ จัทยานนท์ ว่าร่างพ.ร.บ.นี้ ยังมิได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของกองทุนผู้สูงอายุอย่างชัดเจน จึงเห็นว่าควรเพิ่มส่วนนี้เข้าไปด้วยเพื่อความครบถ้วนเพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐ นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับการกำหนดให้สวัสดิการของผู้สูงอายุเป็น "สิทธิถ้วนหน้า" มากกว่าจะเป็นการกำหนดสิทธิตามฐานะทางการเงิน เพื่อปิดช่องทางการนำเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการนี้มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง อีกทั้ง จากงานวิจัยหลายฉบับระบุว่า เมื่อดูจากงบประมาณและตัวเลขจีดีพีของรัฐบาลไทยแล้วมีศักยภาพมากพอที่จะจัดให้เป็นสิทธิถ้วยหน้าได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถามหาความจริงใจของ ส.ส. ต่อกรณีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน

Posted: 28 Jan 2013 04:52 AM PST

การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง ในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์หรือฟินแลนด์ ประชาชนสามารถเข้าชื่อเพื่อกฎหมายได้ สำหรับประเทศไทยได้รับรองหลักสิทธิเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายในหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยและหมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐได้ ต่อมา รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังคงหลักการดังกล่าว แต่ได้ลดจำนวนผู้เข้าชื่อลงเหลือไม่น้อยกว่า 10,000 คน เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้กระทำได้ง่ายและคล่องตัวยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังกำหนดให้การพิจารณาร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอมานั้นจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย

ในกรณีของพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  พ.ศ. .. (ฉบับประชาชนเข้าชื่อ) นั้น แต่เดิมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านและนักวิชาการยกร่างขึ้นมาทั้งหมด 135 มาตรา แต่ภายหลังถูกคณะกรรมการกฤษฎีกาตัดเหลือเพียง 25 มาตรา จนไม่เหลือสาระสำคัญและบทบัญญัติของกฎหมายตามเจตนารมณ์ที่เคยยกร่างกันมาตั้งแต่แรก ดังนั้นเครือข่ายประมงพื้นบ้านและภาคประชาชนจึงได้พัฒนาร่างกฎหมายและร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.... (ฉบับประชาชนเข้าชื่อ) เสนอประกบกับร่างของคณะรัฐมนตรี เพื่อจะได้นำสาระสำคัญและหลักการของร่างกฎหมายภาคประชาชนไปพิจารณาประกอบกันในชั้นกรรมาธิการ

ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับประชาชนเข้าชื่อดังกล่าวผ่านการตรวจสอบของสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร เหลือเพียงขั้นตอนให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อเพื่อเปิดให้คัดค้านรายชื่อ ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน กฎหมายประชาชนฉบับนี้ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาควบคู่ไปกับร่างของรัฐบาลตามความตั้งใจของประชาชน

แต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556 วิปรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากในสภากลับลงมติให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) โดยไม่รอร่างภาคประชาชน ทั้งที่การเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ก็ได้เคยมีหนังสือสำทับถึงนายกรัฐมนตรีและประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อนเพื่อรอร่างของประชาชน เพื่อจะได้พิจารณาร่างกฎหมายไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนั้นจากการสอบถามตัวแทนประชาชนผู้เข้าชื่อพบว่า วิปรัฐบาลกลับไม่เคยได้ปรึกษาหารือหรือแจ้งให้ตัวผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายรับทราบหรือชี้แจงก่อนวิปรัฐบาลตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้แต่อย่างใด จนกระทั่งก่อนการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาไม่กี่ชั่วโมง จึงได้เรียกตัวแทนประชาชนผู้เข้าชื่อไปเจรจา ทั้งขู่ ทั้งปลอบเพื่อให้จำยอม

การตัดสินใจลงมติเห็นด้วยกับวิปรัฐบาลที่จะให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ... โดยไม่รอร่างของประชาชนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่สะท้อนการมองไม่เห็นความหมายของกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายว่าเป็นสิทธิของประชาชนและเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน  อีกทั้งยังเป็นการวางหลักในเรื่องนี้ไว้เป็นตัวอย่างว่า ต่อให้ประชาชนลงทุนลงแรงพัฒนากฎหมายและร่วมลงชื่อเพื่อเสนอกฎหมายมากมายเพียงใด แต่หากรัฐบาลหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความสำคัญ กฎหมายของประชาชนเหล่านั้นก็ไร้ความหมาย อีกทั้งยังสามารถกีดกันไม่ให้กฎหมายของประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของสภาด้วยวิธีการเดียวกันนี้

ที่สำคัญเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้อดที่จะกังขาและเกิดคำถามต่อความจริงใจของรัฐบาล วิปรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากในการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนไม่ได้ ยิ่งในยุคที่อยู่ในช่วงของประชาธิปไตยผลิบานเพราะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากวิกฤตรัฐประหาร ๒๕๔๙ และประชาชนคนในสังคมมีความตื่นตัวในทางการเมืองสูงที่สุดในประวัติการเมืองไทย แต่เหตุใดการตัดสินใจที่ "ไม่เห็นหัวประชาชน"  "ไม่เคารพต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ" จึงเกิดขึ้นได้ในสภาผู้ทรงเกียรติในช่วงเวลาเช่นนี้

 

ข้อมูลเพิ่มเติม
๑.) สภาผู้แทนราษฎร เตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 4 ฉบับ ตามที่ประชุมเห็นชอบให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ (http://thainews.prd.go.th/centerweb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=WNPOL5601230020006)

๒.) ภาค ปชช.ค้านรัฐบาลเร่งนำร่าง พ.ร.บ.ทะเลเเละชายฝั่ง เข้าสภาฯ ไม่รอฉบับประชาชนยื่นหมื่นรายชื่อ เผยบิดเจตนารมณ์คุ้มครองทรัพยากรชายฝั่ง-วิธีประมงพื้นบ้าน (http://www.isranews.org/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%99/%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3-%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1/item/19000-deehrr.html)

๓.) หนังสือคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายขอให้ชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ๓ ฉบับ (http://www.lrct.go.th/wp-content/uploads/2012/10/%E0%B9%95%E0%B9%95%E0%B9%91%E0%B9%90%E0%B9%90%E0%B9%92%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%8A%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B9%93-%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A.pdf)

๔.) ภาคประชาชนร่วมเสนอร่างกฎหมาย ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (http://www.radioparliament.net/news1/news.php?id_view=4930)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชอบด้วยกฏหมาย แต่ไม่ชอบด้วยเหตุผล ของฝากและของแถมถึงท่านอธิบดีศาลอาญา

Posted: 28 Jan 2013 04:41 AM PST

คำพิพากษา คำวินิจฉัยชี้ขาดที่ดี ต้องถูกต้องเป็นธรรม เป็นคำพิพากษา คำวินิจฉัย ที่เมื่อผู้อ่าน หรือผู้ฟัง ได้อ่านได้ฟังแล้วเข้าใจเหตุผล ปราศจากความสงสัยต่อการชี้ขาดความยุติธรรม ดังนั้น หากคำพิพากษา คำวินิจฉัยชี้ขาดใด เมื่อได้อ่านหรือได้ฟังแล้วขาดเหตุผลอันหนักแน่นมั่นคงมาเป็นคำอธิบาย สนับสนุนการชี้ขาด ผู้อ่านหรือผู้ฟังย่อมมีสิทธิตั้งคำถามได้ ถึงแม้คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยนั้นจะชอบด้วยกฏหมาย แต่อาจเป็นคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล[1]

สิทธิการตั้งคำถามและวิพากษ์คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลจึงควรเป็นสิทธิโดยชอบ ที่คู่ความหรือสาธารณชนมีสิทธิโต้แย้ง ถึงแม้กฏหมายละเมิดอำนาจศาลจะมีข้อกำหนด ห้ามการวิพากษ์ หรือกล่าวหาว่าศาลเป็นผู้มีอคติ[2] แต่ถ้าหากปรากฏว่า จากฐานะของศาล ความสัมพันธ์ของศาลระหว่างคู่ความ หรือถ้อยคำ หรือข้อความในคำพิพากษา หรือคำวินิจฉัยใด มีกรณีสงสัย ตีความให้เป็นคุณแก่ฝ่ายใด คู่ความย่อมมีสิทธิคัดค้าน[3] รวมถึงสิทธิในการอุทธรณ์ ฏีกา สาธารณชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์คัดค้านความเป็นกลางของศาลได้เช่นกัน

ดังนั้น การที่ท่านอธิบดีศาลอาญา ท่านทวี ประจวบลาภ กล่าวถึง ความประสงค์จะใช้กฏหมายละเมิดอำนาจศาล ออกหมายเรียกผู้วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา กรณีศาลลงโทษคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตามความผิดประมวลกฏหมายอาญามาตรา ๑๑๒ มาสอบถาม[4] หากกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา จะสันนิษฐานว่าการกล่าวถึงเพื่อเป็นการปกป้องศาลยุติธรรม หรือเพื่อเป็นการคุกคาม ข่มขู่ หรือคับแคบได้หรือไม่ และถ้าเป็นอย่างหลัง คำจัดกัดความ "ผู้ชื่นชอบอำนาจนิยม" ถือได้ว่า เป็นคำไม่หนักเกินจริงง

ในทางตรงข้าม หากท่านอธิบดีพิจารณาทบทวนถึงความเป็นมาของตัวบทกฏหมาย ฐานะของศาลในพระปรมาภิไธย กับฐานความผิด กระบวนการพิจารณาความอาญาที่ประพฤติปฏิบัติต่อคุณสมยศ รวมถึงเหตุผลที่ใช้ทำคำพิพากษา มีที่ใดบ้างที่บ่งบอกถึงหลักนิติธรรม คุณธรรม และจริยธรรมของกฏหมายมาตรานี้  คงไม่ต้องให้มีใครหน้าไหน นักวิชาการ นักกฏหมาย หรือชาวบ้านผู้หนึ่งผู้ใดแย้งว่า ระดับอธิบดีศาลอาญา ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า ทำไมนักวิชาการบางส่วน บางคน หรือในสายตาสาธารณะทั้งไทยและต่างประเทศ จึงกล้าวิพากษ์วิจารณ์ความผิดเพี้ยนของบทบาทของศาลไทยกับความผิดมาตรา๑๑๒ อย่างตรงไปตรงมา

ความน่าตำหนิการมีอยู่และการบังคับใช้ของกฏหมายมาตรานี้ คือความไม่สมประกอบ ความพิกลพิการของหตุผล บ่งบอกถึงการดื้อแพ่งต่อกฏของการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับถ้อยคำที่ต้องการ เพื่อเป็นการกลบเกลื่อนสร้างภาพการบังตาสมาชิกในสังคมให้สำคัญผิดต่อสาระสำคัญของความเป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจอธิปไตย และระบอบการเมืองการปกครอง

การนำข้ออ้างว่า ประเทศไทยมีการปกครองเฉพาะไม่เหมือนประเทศอื่นใด มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชกรณียกิจ ตลอดจนคุณูปการสำคัญของพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งต้องเทิดทูนสักการะ ละเมิดไม่ได้ บทบัญญัติและโทษตามมาตรา๑๑๒ จึงไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่แย้งกับรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นขัดต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออกพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญป ๒๕๕๐  ของศาลรัฐธรรมนูญ[5] มาเป็นเหตุผลในการทำคำพิพากษา คำวินิจฉัย ทั้งในระดับศาลรัฐธรรมนูญ และในระดับศาลอาญา ยังมีความคลุมเครือ เป็นกรณีมีเหตุสมควรแก่การสงสัย เพราะข้ออ้างที่นำมากล่าวถึง เป็นการเลือกกล่าว ไม่ได้เป็นการกล่าวให้ครบถ้อยกระจ่างแจ้งโดยตลอดเนื้อความ

ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ บุคคลิคภาพของบุคคล สถาบัน หรือแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมต้องมีข้อดีและข้อเสีย ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กล่าวให้สุดถ้อยกระบวนความว่า บทบัญญัติมาตรา๑๑๒ เป็นบทบัญญติตราขึ้นจากคณะบุคคลที่ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย[6] รวมถึงการได้อำนาจมาของตุลาการรัฐธรรมนูญคณะนี้ด้วย[7]  ผู้ที่ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบ จึงขาดคุณสมบัติใดๆ ที่จะชี้ว่า กฏหมายใดขัดต่อหลักนิติธรรมหรือไม่ นอกจากนั้นโทษตามบทบัญญัติมาตรานี้ มีลักษณะถอยหลังเข้าคลอง ศาลรัฐธรรมนูญเลือกกล่าวโดยไม่อธิบายให้ประชาชนเกิดความชัดเจนในบทบัญญัติดั้งเดิมใน ร.ศ.๑๑๘ ซึ่งเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราโทษปัจจุบัน จำคุกสามถึงสิบห้าปี[8]

ทำนองเดียวกัน การอ้างความไม่เหมือนประเทศอื่นใด ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ หรือพระราชกรณียกิจ จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะประวัติศาสตร์ไม่ใช่กฏหมาย ข้อดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะผู้นำทางการปกครองยุคหนึ่งย่อมเป็นข้อดีที่รับฟังได้ แต่ข้อเสียที่บุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์หาประโยชน์จากข้าไพร่ เอาเงินเข้าพกเข้าห่อ ทะนุบำรุงลูกหลาน ข้าทาสบริวารเฉาะตัวให้เสวยความสุขสบาย ขณะที่ประชาชนในประเทศยากจนข้นแค้น ย่อมมีมูล เป็นหลักฐานรับฟังได้เช่นกัน หากมีการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ควรให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น[9] ผ่านกระบวนการพยานหลักฐาน ผ่านกระบวนการสิทธิเสรีภาพของการวิพากษ์วิจารณ์สาธารณะ การข่มขู่ บังคับ ให้คนเชื่อแต่ข้อดี โดยปราศจากการชั่งน้ำหนักไตร่ตรองถึงข้อเสีย ถือว่ามิใช่วิสัยของศาลยุติธรรม เพราะเป็นการสอนให้คนโกหก อยู่ในโลกของการสรรเสริญเยินยอ และถ้าศาลในฐานะผู้ผดุงความยุติธรรมเป็นผู้เริ่มต้น ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อการดำรงไว้ซึ่งความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน

เว้นแต่เป็นไปโดยประการอื่น หากท่านอธิบดีศาลใจกว้าง จึงไม่มีเหตุใดที่ท่านควรตั้งข้อรังเกียจ การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา โดยเฉพาะคำพิพากษา คำวินิจฉัยที่ยืนอยู่บนบรรทัดฐานของความหมิ่นเหม่ของอคติสี่[10] ที่ท่านและบรรดาผู้ผู้พิพากษาตุลาการใช้เป็นบทปฐมในบรรลังกืที่ท่านกำลังชี้เป็นชี้ตายในชีวิตของผู้อื่น

มีบริบทใดบ้างที่ท่านอธิบดีศาลอาญาอธิบายได้บ้างว่า ศาลเป็นที่พึ่งของประชาชน โดยเฉพาะ เมื่อเหตุพิพาทนั้นเกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคลหนึ่งบุคคลใดกับบุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์ เปิดดูคำพิพากษาฏีกาเรื่องไหน คำพิพากษาศาลชั้นต้นเรื่องใด มีอะไรบ้างที่ทำสาธารณะเข้าใจเป็นอื่นได้ต่อความถูกต้องเป็นกลางมีอยู่จริง จริงอยู่ โดยกฏหมาย แม้กฏหมายอาญา ความผิดตามมาตรา๑๑๒  เป็นความผิดระหว่างเอกชนต่อรัฐ ไม่ใช่ความผิดระหว่างเอกชนกับบุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จะให้สาธารณะหรือบุคคลที่ต้องหาเชื่อโดยสุจริตว่า ผู้กระทำในพระปรมาภิไธย ผู้ที่ได้รับตำแหน่งและการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ เป็นผู้มาทำหน้าที่โดยปราศจากอคติลำเอียง เป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยสามัญสำนึกและเหตุผลธรรมดา ย่อมเป็นข้อขัดกันโดยธรรมชาติของเนื้อหาของเรื่องเอง เป็นเรื่องเชื่อถือและทำความเข้าใจได้ยาก

ถ้าแนวโน้มคำพิพากษาของศาลวางไปในแนวทางเดียวกัน กรณีมีข้อสงสัย ยกประโยชน์ให้โจทก์ (คดีอากง) การแสดงเจตนาเชิงสัญญลักษณ์เป็นความผิดฐาน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาต มาดร้าย จึงเป็นการขยายหลักการและอำนาจการตีความกฏหมายอาญาและวิธีความพิจารณาความอาญาที่เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย (กรณีคุณวริศ ชูกล่อม และคุณสมยศ) การตีความเช่นนี้ เป็นการตีความที่ขัดต่อข้อสันนิษฐานว่า จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริงโดยปราศจากข้อสงสัย[11]  คำถามจึงมีอยู่ว่า ถ้าศาลวางตัวเอง และเข้าไปนั่งอยู่ในใจ บอกถึงเจตนาคลุมเครือภายในใจของจำเลยได้ สาธารณชนควรได้รับสิทธิโดยชอบหรือไม่ที่จะกล่าวถึงเจตนาของศาลกำลังทำเพื่อใคร

ในกรณีคุณสมยศ การดำเนินการกระบวนการชั้นพิจารณา นับแต่การไม่ให้ประกันตัว การสืบพยาน ที่นำตัวคุณสมยศใส่ท้ายรถตระเวนไปสืบศาลต่างจังหวัด เจตนาศาลคืออะไร จะให้แปลว่าอย่างไร จะให้แปลเป็นจารีตนครบาลยุคใหม่หรืออย่างไร

ผู้พิพากษาตุลาการ เป็นผู้ผ่านกระบวนการคัดเลือกสรรมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะความรู้ ความเข้าใจตัวบทกฏหมาย การให้สันนิษฐานว่า ผู้พิพากษาตุลาการ ไม่รู้เห็นถึงความยากลำบากของจำเลย ผู้ถูกใส่ท้ายรถไปนำสืบตามต่างจังหวัดในกรณีคุณสมยศ เป็นเรื่องรับฟังได้นั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น

ตรงกันข้าม การกระทำที่ศาลปฏิบัติต่อคุณสมยศตลอดการพิจารณาความถึงขั้นมีคำพิพากษา จึงไม่อาจสันนิษฐานเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากว่า ศาลยุติธรรมไทยเชื่อถึงความมีอยู่ของมาตรานี้ว่า มีความชอบธรรม ถือเป็นความผิดร้ายแรง เป็นนโยบายทางอาญาที่ต้องกำหนดโทษรุนแรง เพื่อให้หราบจำ โดยเหตุนี้ ศาลจึงอาจเชื่อมาแต่แรกว่า คุณสมยศเป็นผู้กระทำความผิด

หากข้อสันนิษฐานข้างบนมีอยู่จริง ศาลยุติธรรมไทยกำลังบอกให้สาธารณะทั้งภายในและภายนอก ประจักษ์ในความเป็นแบบไทยๆว่า หมายความรวมถึง "การบีบบังคับ คุกคาม สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ในการพูด การเขียน การรวมกันเป็นหมู่เหล่า เพื่อธำรงไว้ต่อการต้องเคารพสักการะ กราบกรานผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ว่าการกระทำของผู้นั้นจะเป็นเรื่องดี หรือเรื่องร้าย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถูกหลักนิติธรรม ถูกต้อง ชอบธรรม"

โดยเหตุที่ขัดในความเป็นเหตุเป็นผล สาธารณะจึงเข้าใจได้ถึงเจตนาของศาลยุติธรรมไทย เข้าใจได้ถึงฐานะของศาลกับฐานความผิดทางอาญา การทำคำวินิจฉัยพิพากษาผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ จึงเป็นฝันร้ายของศาล เพราะเป็นความชอบด้วยกฏหมาย แต่ไม่ชอบด้วยเหตุผล จากความผิดปกติของตัวบทกฏหมายเอง 

ถึงวันนี้ ท่านอธิบดีศาลอาญาเข้าใจได้หรือไม่ว่า ทำไมคำพิพากษาของศาลอาญาในสังกัดของท่านจึงขาดความศักดืสิทธิ์ ทำไมสาธารณะจึงกล้าวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในมาตรานี้ตรงไปตรงมา และทำไมสาธารณะจึงตั้งข้อสงสัยในเหตุผลที่ผู้พิพากษาในสังกัดของท่าน หรือแม้แต่ตัวท่านนำมาวินิจฉัยความผิด มีความสงสัยว่า ผู้พิพากษาในสังกัดของท่าน หรือแม้แต่ตัวท่านกำลังคิดและทำอะไรอยู่ต่อความผิดมาตรานี้

เลิกโทษคนอื่นได้แล้ว อย่าไปโกรธ อาฆาต มาดร้าย คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล องค์กรต่างชาติ หรือใครๆ การนำกฏหมายละเมิดอำนาจมาใช้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อท่านหรือศาลยุติธรรมไทย เพราะนอกจากจะทำให้ศาลยุติธรรมไทยถูกมองด้วยสายตาว่า เป็นผู้ลุแก่อำนาจแล้ว ยังอาจะถูกมองว่าเป็นองค์กรที่เกะกะระราน ไม่เหมาะสมในฐานะองค์กรผู้บังคับใช้กฏหมายอีกด้วย

มีความเข้าใจผิด และสำคัญผิดว่า มีขบวนการล้มเจ้า แต่เท่าที่พบ เกิดข้อสังเกตว่า ไม่ปรากฏว่ามีใครต้องการล้มเจ้า แต่การให้เกียรติในเกียรติยศในฐานะประมุขของประเทศมีข้อต่างกัน

ในฝ่ายเรียกคืนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยังคงต้องการให้คนเชื่อถึงอำนาจเหนือโลก เชื่อพระบุญญาธิการบารมี เป็นที่เคารพสักการะ ละเมิดไม่ได้ ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ฝ่ายนี้ต้องการเรียกร้องคืนพระราชอำนาจ แม้พระราชดำริก็เป็นกฏหมาย

ในฝ่ายประชาธิปไตย เชื่อในระบบ "หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง" เชื่อในประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจ สถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ คำวินิจฉัย พระราชดำริ จึงไม่ใช่กฏหมายอีกต่อไป แต่รัฐสภาเป็นตัวแทนปวงชนที่มีหน้าที่กำหนดว่าอะไรเป็นกฏหมาย อะไรไม่เป็นกฏหมาย

บทความนี้แขียนขึ้นด้วยความรู้สีกเห็นใจ โดยเฉพาะผู้พิพากษาตุลาการ ที่ต้องนำตัวเองมาอยู่บนแอกของความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ตกเป็นเป้าทั้งนั้น จะเลือกเจ้าก็ต้องเขียนอย่าง จะเลือกประชาชนก็ต้องเขียนอีกอย่าง แต่ที่น่าเห็นใจมากที่สุดในบทความนี้ คือคุณสมยศ ที่ตกเป็นเหยื่อของความลุแก่อำนาจ

พระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาตุลาการ คุณวีรพัฒน์ คุณสมศักดิ์ คุณสมยศ ต่างก็เป็นคน ไม่ควรมีความต่างกันระหว่างความชอบด้วยกฏหมาย อาจแตกต่างกันได้ในความชอบด้วยเหตุผล แต่เหตุผลที่อยู่ร่วมกันต้องเป็นเหตุผลที่ดีที่สุดต่อประโยชน์ของการอยู่ร่วมกัน ไม่เฉพาะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว  

ถ้าท่านอธิบดีพิจารณาด้วยสายตาเป็นธรรม ท่านจะเห็นบทบาทของศาลยุติธรรมในปัจจุบัน กับอนาคตของสังคมไทยที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะศาลต้องมีความเกี่ยวข้องกับความมีอยู่และการบังคับกฏหมายมาตรานี้ ศาลต้องตระหนัก แต่ละการปฏิบัติ แต่ละคำพิพากษาต่อผู้ถูกกล่าวตามความผิด ต้องไม่เป็นชนวน  หรือเป็นมูลเหตุนำไปสู่การเกิดวิกฤติ มิคสัญญี การนองเลือด จากความสำคัญผิดในสาระสำคัญของความเป็นชาติ

องค์กรตุลาการเป็นองค์กรที่ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ควรเป็นความหวังให้ประชาชนพึ่งพาได้ จะให้เชื่อว่าองค์กรตุลาการในฐานะอำนาจหนึ่งในรัฐธรรมนูญ จะประมาณการไม่ได้ว่า ควรแก้ไข ปรับปรุงความมีอยู่และการบังคับใช้มาตรานี้อย่างไรหรือ เว้นแต่ว่า อุดมการณ์ขององค์กรตุลาการในวันนี้ เป็นอุดมการณืที่ขาดความเกี่ยวเนื่องและความผูกพันกับประชาชน

 




[1] ภาษิตกฏหมายโรมัน "ความสุจริตและความบริสุทธิ์ของผู้พิพากษาจะยกมาถกเถียงไม่ได้ แต่คำตัดสินของเขานั้นคู่ความอาจคัดค้านว่าผิดกฏหมายหรือข้อเท็จจริงได้" (de fide et officio judicie nou recipitur quaestio sed de scienta sive sit error juris sive facti), อ้างใน วิชา มหาคุณ, สำนวนโวหารในการเรียงคำพิพากษา และเหตุผลในการวินิจฉัยคดี, ศาลอุทธรณ์ และสำนักงานศาลยุติธรรม. หน้า ๓๕

[2] วธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๓๒

[3] คู่ความอาจคัดค้านผู้พิพากษาได้ตามประมวลกกหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๑

[4] มติชนออนไลท์ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๖

[5] คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๘-๒๙/๒๕๕๕ "หลักการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ จึงมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒ ที่บัญญัติรับรองว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา ๘ ที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองสถานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและเป็นสถาบันหลักของประเทศ การกำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ จึงเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม มิได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ วรรคสอง"

"ซึ่งรูปแบบการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยมีมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัย แม้ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ก็ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ อันแสดงถึงความเคารพยกย่องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุดของปวงชนชาวไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ดังที่ปรากฏตามโบราณราชประเพณี และนิติประเพณี พระมหากษัตริย์ของไทยทรงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจอันเป็นที่เคารพรักของประชาชน ด้วยทรงปกครองโดยหลักทศพิธราชธรรม และทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระประมุของค์ปัจจุบัน ทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติและมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง ทรงเยี่ยมเยียนประชาชน และพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทรงสอนให้ประชาชนดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยดำเนินชีวิตในทางสายกลาง มีความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ประชาชนโดยทั่วไปได้ทราบถึงพระราชจริยวัตรและน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ จึงมีความเคารพศรัทธาและจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นแฟ้น และด้วยคุณูปการของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมาทำให้ประชาชนชาวไทยเคารพรักและเทิดทูนพระมหากษัตริย์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อันเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของประเทศไทยที่ไม่มีประเทศใดเหมือน"

[6] คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙

[7] ผู้เขียน: ข้อเปรียบเทียบ การได้พยานหลักฐานมาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย, วิธีพิจารณาควาอาญามาตรา ๒๒๖/๑ วรรคหนึ่ง: "ลูกไม้เกิดจากต้นไม้พิษ", ตุลาการรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มีความเป็นมาจากผลพวงของคณะบุคคลที่ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย (คมช) ถึงแม้รัฐธรรมนูญปี๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๐ บัญญัติให้อำนาจไว้ แต่ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้มาโดยไม่ชอบ.

[8] จรัญ โฆษณานันท์, http://www.phachathai.com/journal/2009/03/204, "แต่ปัญหาของไทย คือความรุนแรงของโทษเป็นความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระราชกำหนดลักณะหมิ่นประมาท รศ.118 จำคุกไม่เกิน 3 ปี ต่อมามีกฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 เพิ่มโทษเป็น 7 ปี กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2499 ไม่เกิน 7 ปี หลัง 6 ต.ค.2519 ปรับเพิ่มเป็น 3-15 ปี ตรงนี้สะท้อนความผิดปกติในตัวกฎหมาย โดยโทษที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือจำคุก 3-15 ปี เป็นโทษที่หนักกว่ายุคสมบูรณาญาสิทธิราช ทั้งที่อยู่ในยุคที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จึงเหมือนเป็นการถอยหลังเข้าคลองไปสู่สมัยอยุธยาที่ใช้กฎหมายตราสามดวง ในยุคความคิดแบบเทวราชา สมมุติเทวดาเริ่มทรงอิทธิพลมาก นอกจากนี้การที่โทษเพิ่มขึ้นยังสวนกระแสกับวิวัฒนาการของสังคม"

[9] ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๘๔

[10] หลักอินทภาษสี่ ตามหลักพระธรรมศาสตร์, ผู้พิพากษาตุลาการต้องดำรงค์ไว้ด้วยความเที่ยงธรรม ยุติธรรม ปราศจากความลำเอียงในอคติสี่, ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะโกรธ ลำเอียงเพราะหลง และลำเอียงเพราะกลัว http.//www.museum.coj.go.th.malao.inp.pdf.

[11]รัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐มาตรา๓๙ วรรคสอง วรรคสาม,  วิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๒๗

 

เตือนบริโภค 'กาแฟลดน้ำหนัก' ใส่สารลดอ้วนต้องห้าม

Posted: 28 Jan 2013 04:10 AM PST

จากการเผยแพร่ข่าวประเทศเยอรมันตรวจพบสารไซบูทามีนในกาแฟลดน้ำหนักจากประเทศไทยนั้น ศูนย์ทดสอบนิตยสารฉลาดซื้อ จึงขอเตือนผู้บริโภคในไทยให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อกาแฟลดน้ำหนักอันเนื่องจากความเสี่ยงต่อสารต้องห้าม ซึ่งจากผลการทดสอบกาแฟลดน้ำหนักที่เผยแพร่ลงในนิตยสารฉลาดซื้อประจำเดือนมีนาคม 2555 ฉบับที่ 133 กาแฟลดน้ำหนัก ได้จริงหรือ!! รายงานถึงผลการศึกษาเรื่องนี้ว่า กาแฟที่ลดน้ำหนักได้นั้น คือกาแฟที่มีส่วนผสมของยาลดน้ำหนักซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาดในอาหารทุกประเภท

ก่อนหน้านี้ สารไซบูทรามีน เป็นยาควบคุมพิเศษที่ใช้กับผู้ป่วยโรคอ้วน ซึ่งหมายถึงคนที่ป่วยจริงๆ ไม่ใช่ที่คิดว่าตัวเองอ้วน หุ่นไม่ดีแล้วอยากจะลดน้ำหนัก แต่เพราะความรุนแรงของสารตัวนี้มีผลถึงขั้นทำให้หัวใจหยุดทำงาน และการที่มีผู้ไม่หวังดีนำสารไซบูทรามีนไปใส่ในอาหารเสริมแล้วอ้างสรรพคุณว่า ดื่มแล้วช่วยให้น้ำหนักลดจึงเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ทำให้ อย. ต้องตัดสินใจประกาศยกเลิกตำรับยาชนิดนี้ แต่ก็ยังไม่วายมีคนนำสารไซบูทรามีนมาใส่ในผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าช่วยลดความอ้วน ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงกาแฟด้วย โดย อย. เคยตรวจพบในกาแฟสำเร็จรูปนำเข้าจากจีนยี่ห้อ Slimming Coffee Splrultn เมื่อช่วงปลายปี  พศ.2554 ฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงทั้งการดื่มกาแฟและผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าดื่มแล้วช่วยทำให้น้ำหนักลดทุกชนิด โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่มีเลขมาตรฐานอาหารของ อย. เพราะเราอาจกำลังเสี่ยงอันตรายจากสารไซบูทรามีนโดยไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ยังได้เตือนผู้บริโภคที่จะซื้อกาแฟลดน้ำหนัก  ตามคำกล่าวอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักได้รวดเร็วเห็นผลทันใจ  อาจทำให้หัวใจหยุดทำงานได้อย่างเฉียบพลัน ดังนั้นหากผู้บริโภคพบเห็นหรือมีไม่แน่ใจว่ากาแฟลดน้ำหนักที่ผู้บริโภคจะซื้อหามาทานนั้นจะมีสารไซบูทามีนหรือไม่ ให้ผู้บริโภคแจ้งไปยัง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  (อย.) หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ทดสอบนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

29 มกราฯ ชุมนุมใหญ่ ยื่นร่างนิรโทษกรรมที่ทำเนียบฯ – นักโทษการเมืองแถลง ‘ขอบคุณ’

Posted: 28 Jan 2013 03:50 AM PST

 

28 ม.ค.55  นักโทษการเมืองจากคดีเกี่ยวกับการชุมนุมปี 2553 รวมถึงนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) ออกแถลงการณ์ขอบคุณกลุ่มแนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง ที่จะจัดชุมนุมใหญ่เพื่อยื่นร่าง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง

ทั้งนี้ นักโทษการเมืองที่ถูกกักขังปัจจุบัน แบ่งเป็น คดีหมิ่นฯ 6 คนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ, คดีเกี่ยวเนื่องจากการสลายการชุมนุม 2553 อีก 4 คนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ, คดีหมิ่นฯ ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง 1 คน, คดีเกี่ยวเนื่องจากการสลายการชุมนุม 2553 ที่เรือนจำหลักสี่ (เป็นเรือนจำการเมืองโดยเฉพาะ) อีก  22 คน

ร่างดังร่างดังกล่าวเป็นร่างที่เสนอโดยกลุ่มนิติราษฎร์เมื่อวันที่ 13 ม.ค.56 โดยมีเนื้อหานิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทุกฝ่ายเท่านั้น ไม่นับรวมแกนนำและทหารผู้ปฏิบัติงาน โดยกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลนำโดยสุดา รังกุพันธุ์ ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ของคนเสื้อแดงได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายที่จะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญนี้โดยระบุว่าเป็นก้าวแรกในการคืนความยุติธรรมให้ประชาชน และประกาศชุมนุมใหญ่เพื่อนำเสนอร่างต่อรัฐบาลที่ทำเนียบฯ วันที่ 29 ม.ค.นี้ โดยนัดหมายกันที่หมุดคณะราษฎร

"สิ่งที่มุ่งหวังคือรัฐบาลจะได้รับข้อเสนอนี้จากนิติราษฎร์ไปพิจารณาในคณะรัฐมนตรี นำร่างฯ เข้าสู่รัฐสภา โดยจะไม่มีการเข้าชื่อ โดยเชื่อว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ได้วางกลลวงไม่ทำให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิตามที่เขียนเป็นลายลักษณ์ ดังที่ได้เห็นจากที่รัฐสภาจำหน่ายทิ้งข้อเสนอร่างฯ ครก.112 ออกจากการพิจารณาในสภา เป็นเหตุผลที่ทำให้เห็นว่าการที่ประชาชนถูกล่อลวงไปเสนอชื่อมากมาย ใช้ทรัพยากรและอุทิศเวลาส่วนตัวโดยหวังว่ารัฐสภาจะนำความเห็นความต้องการของประชาชนเข้าไปพิจารณา เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ประชาชนจะไม่ใช้การเข้าชื่อต่อไป แต่จะไปด้วยตัวเองจะร่วมกันไปยื่นร่างฯ ต่อรัฐสภาที่ทำเนียบรัฐบาล" สุดากล่าวในงานแถลงข่าวก่อนหน้านี้

สำหรับเนื้อหาของจดหมายจากนักโทษการเมืองนั้นระบุว่า ที่ผ่านมาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วถูกดำเนินคดีทำให้ได้รับผลกระทบอย่างสาหัส การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ต้องขังที่จริงจังและชัดเจนที่สุด และเชื่อมั่นว่าประชาชนจะนำพาผู้ต้องขังสู่อิสรภาพได้

 

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้  

 

 

แถลงการณ์ขอบคุณ "กลุ่มแนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง"

จากเพื่อนผู้ต้องขังคดีการเมือง เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

 

พวกเราในนามกลุ่มผู้ต้องขังคดีการเมือง เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขอขอบคุณแนวร่วมทุกกลุ่ม ทุกท่าน ที่ได้ริเริ่ม และร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อช่วยเหลือพวกเราที่ถูกคุมขังในคดีทางการเมืองทั้งหมด ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ และทุกเรือนจำในประเทศไทย พวกเรามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ ในครั้งนี้ ที่มีเป้าหมายในการช่วยเหลือพวกเราที่ถูกคุมขังอย่างจริงจัง และชัดเจนที่สุด ภายหลังจากการสลายการชุมนุม ในปี 2553 เป็นต้นมา

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ตั้งแต่ก้าวแรก ที่มีพี่น้องของเราถูกจับกุมคุมขังเข้ามาอยู่ในเรือนจำ หากถามผู้ที่แวะมาเยี่ยมเยียนพวกเราอยู่เสมอ ก็จะทราบว่าพวกเราต่างประสบชะตากรรมเดียวกัน คือต้องพบกับความยากลำบากอย่างแสนสาหัส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ ปัญหาทางด้านการเงิน การต่อสู้คดี และผลกระทบอีกมากมายที่ถาโถมเข้ามาอย่างไร้ความปรานี เราทุกคนตกอยู่ในสภาพเดียวกันคือต้องประสบกับช่วงที่ตกต่ำที่สุดในชีวิต

จะมีสักกี่คน ที่จะตระหนักว่าพวกเราแทบจะทั้งหมด ไม่เคยคิดที่จะต้องเจอกับปัญหานี้ ไม่เคยวางแผนล่วงหน้าที่จะติดคุก ไม่เคยวางแผนที่จะรับมือกับความหายนะของครอบครัว ธุรกิจ หรือแม้แต่กระทั่งชีวิตตัวเอง เพราะพวกเราคือประชาชนคนธรรมดา

เราทุกคนเพียงแต่ทำและคล้อยตาม ความเชื่อมั่นและศรัทธาของเรา ที่มาจากสิ่งที่เราได้รับรู้ และเข้าใจในเวลานั้น ซึ่งทำให้เรายอมทำอะไรลงไป โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่จะตามมา แต่เราไม่เคยเสียใจ เพราะเราเชื่อเสมอจนกระทั่งวินาทีนี้ว่า ท้ายที่สุด พี่น้องประชาชนที่มองเห็นความยากลำบากของพวกเรา "จะนำพาเราออกไป" จากที่นี่ได้

วันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเราที่ผ่านมา พวกเราได้เรียนรู้และเข้าใจในหลายสิ่งหลายอย่าง ใครทำดีกับเรา ใครห่วงใยเรา ใครช่วยเหลือเรา หรือใครจริงใจกับเรา ล้วนอยู่ในความทรงจำของเราทั้งหมด แม้เราจะเป็นคนคุก แต่เราไม่ได้โง่ที่จะไม่คิดอะไรได้เลย

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงต้องขอขอบคุณกลุ่มแนวร่วม 29 มกราฯ ที่เคลื่อนไหวช่วยพวกเราในครั้งนี้ และนี่เป็นการขอบคุณครั้งแรกอย่างเป็นทางการของพวกเรา เพราะเรารับรู้ได้ว่าพวกท่านจริงจัง และจริงใจที่จะช่วยเหลือเราอย่างแท้จริง ไม่เสแสร้งแกล้งทำ

สุดท้ายนี้ เราขอขอบคุณพี่น้องทุกคนที่สนับสนุนกิจกรรมนี้อีกครั้ง แม้เราจะไม่คาดหวังว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ จะมีคนมาร่วมสนับสนุนในวันที่ 29 นี้มากแค่ไหน แต่เราขอให้ท่านทราบว่า ท่านทำให้เรารู้สึกมีค่า มีกำลังใจ ที่จะอดทนสู้ต่อไป...แม้จะนานสักแค่ไหนก็ตาม!!

 

กลุ่มผู้ต้องขังคดีการเมือง เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น