โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เปิดสมัคร ผู้ว่าฯ กทม. วันแรก- "วสิษฐ เดชกุญชร" โพสต์หนุน "สุขุมพันธฺุ์" มิเช่นนั้นจะเสียกรุงฯ ให้ "ข้าศึก"

Posted: 21 Jan 2013 11:55 AM PST

เชื่อถ้าคนของ "เพื่อไทย" และ "ทักษิณ" ชนะจะเอางบ กทม. ไปผลาญ ชี้ กทม. เป็นปราการสำคัญใน "สงครามชิงเมืองไทย" ลั่น "ถ้าเสียกรุงเทพ ฯ ให้แก่ข้าศึกศัตรู ก็เกือบจะเท่ากับเสียเมืองไทยทั้งประเทศ" ขณะที่หลายเพจดังเริ่มประกาศหนุนผู้สมัครฯ โดย "สายตรงภาคสนาม" อ้างบิลลี่หนุนสุขุมพันธุ์ ส่วน "Drama-addict" หนุน "สุหฤท"

เปิดสมัคร ผู้ว่าฯ กทม. วันแรก ได้ผู้สมัคร 18 ราย

ตามที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันที่ 3 มี.ค. นั้น ล่าสุดเมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) เป็นวันแรกของการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยไทยรัฐออนไลน์ รายงานผลการจับสลากผู้สมัครมีดังนี้ 

หมายเลข 1 นายวิละ อุดม หมายเลข 2 นายวรัญชัย โชคชนะ หมายเลข 3 ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ หมายเลข 4 นายโสภณ พรโชคชัย หมายเลข 5 นายสมิตร สมิตธินันท์ หมายเลข 6 นายสัณหพจ สุขศรีเมือง หมายเลข 7 นายณัฏฐ์ดนัย ภูเบศอรรถวิชญ์ หมายเลข 8 นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล หมายเลข 9 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ หมายเลข 10 นายโฆสิต สุวินิจจิต หมายเลข 11 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หมายเลข 12 นางสาวจงจิตร์ หิรัญลาภ หมายเลข 13 นายวศิน ภิรมย์ หมายเลข 14 นายประทีป วัชรโชคเกษม หมายเลข 15 นายจำรัส อินทุมาร หมายเลข 16 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากนั้นในภายหลังการจับสลากหมายเลขมีผู้สมัครมายื่นใบสมัครเพิ่มอีก 2 ราย ได้แก่ หมายเลข 17 นายสุหฤท สยามวาลา หมายเลข 18 นางนันท์นภัส โกไศยกานนท์

ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (กกต.ทถ.กทม.) จะเปิดรับสมัครผู้รับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจนถึงวันที่ 23 ม.ค. และจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังจากปิดรับสมัครแล้ว 1 สัปดาห์

 

"วสิษฐ เดชกุญชร" แนะให้เลือก "ม.ร.ว.สุขุมพันธ์" มิเช่นนั้นจะเสีย "กรุงเทพฯ" ให้ข้าศึก

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นักเขียนชื่อดัง อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เขียนบทความ "สงครามชิงกรุงเทพ ฯ : สงครามชิงเมืองไทย" เผยแพร่ในเพจเฟซบุคของตน ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.1 หมื่นราย ตอนหนึ่งระบุว่า

"...เพราะความรู้จักนับถือและผูกพันส่วนตัวดังที่ได้เขียนไปแล้ว และเพราะพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว คราวนี้ผมจึงตัดสินใจแน่นอนที่จะสนับสนุนและลงคะแนนเลือกคุณชายสุขุมพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพ ฯ อีกสมัยหนึ่ง

เหตุผลประการแรกของผมคือ ขณะที่ผมทำหน้าที่เป็นประธาน สสท.กทม.อยู่ ผมได้เห็น และตระหนักในความอุตสาหะมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของคุณชายสุขุมพันธุ์ ที่จะอุทิศตัวเองทำหน้าที่ผู้ว่า ราชการ กทม.ให้ดีที่สุด  ข้อที่คนอื่นเห็นเป็นข้อเสียของคุณชาย คือความไม่เป็นคนช่างพูด และด่า ใครไม่เป็นนั้น สำหรับผมกลับเป็นคุณสมบัติที่ผมเห็นว่าทำให้คุณชายเป็นนักการเมืองน้ำดีชนิดที่ หาได้ยากสำหรับคนกรุงเทพ ฯ และคนไทย

เหตุผลประการที่สองคือ ผมเห็นว่าคุณชายสุขุมพันธุ์เป็นผู้ว่าราชการ กทม.ที่ "ผ่านศึก" คือ ได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่า มีความสามารถที่จะเผชิญวิกฤตการณ์ที่ทำความฉิบหายร้ายแรงที่สุดให้แก่ กรุงเทพ ฯ คือมหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 ตลอดเวลาของวิกฤตการณ์นั้น ถ้าเปรียบเทียบกับ การสงคราม คุณชายก็เป็นแม่ทัพที่ออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารทุกชั้น อย่างไม่เห็นแก่ความ เหนื่อยยากหรืออันตราย  ยิ่งกว่านั้น คุณชายยังต้องรบสงครามสองด้านในเวลาเดียวกัน คือนอก จากจะรบกับน้ำแล้ว ยังต้องรบกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย (หรือ (พ.ต.ท.) ทักษิณ ชินวัตร) ที่คอยขัดขวางหรือรังควานด้วยเหตุผลทางการเมือง และคุณชายก็ทำได้สำเร็จ แม้จะบอบช้ำ บ้างเป็นธรรมดา

เหตุผลประการที่สามของผมเป็นเหตุผลทางการเมือง  ผมเห็นว่าขณะนี้รัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (หรือของ(พ.ต.ท.)ทักษิณ ชินวัตร) กำลังดำเนินนโยบายแบบประชานิยม ใช้วิธี เอาใจคนด้วยการแจกเงินในรูปต่าง ๆ เช่น รับจำนำข้าว คืนภาษีสำหรับรถยนต์คันแรก เป็นการ ผลาญเงินงบประมาณของชาติก้อนมหาศาล แต่ซ่อนเงื่อนไขไว้  การดำเนินนโยบายแบบนี้ ผมเห็น ว่าในไม่ช้าจะทำลายเศรษฐกิจของประเทศลงอย่างย่อยยับ และจะเป็นผลเสียหายร้ายแรงมหาศาล แก่บ้านเมือง

ถ้าคนของพรรคเพื่อไทย (หรือของ (พ.ต.ท.) ทักษิณ) ได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผมก็กลัวและแน่ใจว่ารัฐบาลของพรรคเพื่อไทย (หรือของ (พ.ต.ท.) ทักษิณ) จะต้องฉวยโอกาสยึดเอา งบประมาณของ กทม.ประมาณกว่า 5 หมื่นล้านบาท (ซึ่งคือเงินของคนกรุงเทพ ฯ และของผมด้วย) ไปหว่านและผลาญเพิ่มจากที่กำลังทำอยู่กับงบประมาณของชาติ ทำความฉิบหายซ้ำซ้อนหนักลงไป อีกให้แก่บ้านเมือง

เราไม่ต้องการข้าศึกทั้งที่เปิดเผยและที่ปลอมแปลงตัวมา แต่ต้องการคนที่เคยรบกับข้าศึกมา แล้ว ไปทำหน้าที่แม่ทัพเพื่อรบกับข้าศึกที่กำลังเขมือบเมืองไทยอยู่ในขณะนี้

ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมจึงจะลงคะแนนเลือกตั้งคุณชาย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่า ราชการกรุงเทพมหานครอีกวาระหนึ่ง ขอเรียกร้องเชิญชวนท่านผู้อ่านให้ทำด้วย  หากท่านเห็นแก่ บ้านเมือง ท่านต้องออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนให้คุณชายสุขุมพันธุ์  มิฉะนั้นเราอาจจะเสีย กรุงเทพ ฯ ให้แก่ข้าศึกไป

กรุงเทพมหานครเป็นปราการสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในสงครามชิงเมืองไทย ถ้าเสียกรุงเทพ ฯ ให้แก่ข้าศึกศัตรู ก็เกือบจะเท่ากับเสียเมืองไทยทั้งประเทศ" ตอนท้ายของบทความระบุ

 

"สายตรงภาคสนาม" อ้าง "บิลลี่ โอแกน" จะเลือก "สุขุมพันธ์" รักษาเมืองหลวงจากอุ้งมือมาร ส่วน "เพจจ่า" จะเลือก "สุหฤท"

ขณะเดียวกันเพจ "สายตรงภาคสนาม" ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 6.3 หมื่นราย ได้แชร์ภาพที่ระบุว่ามาจากข้อความของนายบิลลี่ โอแกน นักร้องนักแสดงชื่อดัง โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า "ระวัง ระวัง ระวัง อย่าเอาพวกเผาเมืองเด็ดขาด ระวังนอมินี ระวังเสียงแตก! หากเสียเมืองหลวงให้พวกจังไร ประเทศไทยบรรลัยครบสูตร ผมบอกตรงนี้เลยนะว่า ไม่ได้ปลื้ม คุณชายสุขุมพันธ์ กับผลงานที่ผ่านมาเลย ใจนั้นชอบ สุหฤท สยามวาลา แต่ถ้าหากว่า เลือกคนใหม่แล้วคะแนนจะกลายเป็นเสียเปล่าไป พรรคเผาไทยจะชนะ ซึ่งผมและคนรักแผ่นดินไทยทุกคนยอมไม่ได้เด็ดขาด อาจจะต้องข่มขืนใจตนเอง บังคับกล้ามเนื้อมือให้ลงคะแนนเลือก คุณชายสุุขุมพันธ์ไป เพื่อรักษาเมืองหลวงไว้ไม่ให้ตกในอุ้งมือมาร"

นอกจากนี้ยังมีเพจที่มีผู้ติดตามกว่า 1.5 แสนราย อย่าง Drama-addict ได้โพสต์สเตตัส และเปลี่ยนภาพปกเพื่อสนับสนุนนายสุหฤทธิ์ สยามวาลา ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ด้วย ด้วยแอดมินเพจได้เขียนสเตตัสว่า "อ่านดราม่าจบแล้วอย่าลืมอ่านนโยบายหาเสียงผู้ว่า กทม ของผู้สมัครหมายเลข 17 สุหฤท สยามวาลาด้วยนะจ๊ะ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ฮุน เซน" วอน "ประชาธิปัตย์" อย่าโยงกัมพูชาเข้าเรื่องการเมืองไทย

Posted: 21 Jan 2013 10:24 AM PST

สื่อกัมพูชาระบุนายกรัฐมนตรี "ฮุน เซน" วอนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรโยงกัมพูชาเข้าสู่ความขัดแย้งการเมืองไทย พร้อมขอ "อภิสิทธิ์" ไปหาหลักฐานมาให้ได้ว่า "ทักษิณ" ทำให้ชายแดนขัดแย้งหวังแลกน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติในที่ทับซ้อนทางทะเลอย่างไร - แถมแฉกลับว่ามีคนจากรัฐบาลสมัยอภิสิทธิ์เองที่มาเจรจา "หลังฉาก" กับกัมพูชาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งเมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) ได้ขอร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และพรรคประชาธิปัตย์อย่าโยงเรื่องกัมพูชาเข้ากับความขัดแย้งภายในของการเมืองไทย และเปิดเผยด้วยว่าสมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้ มีการเจรจา "หลังฉาก" กับกัมพูชาในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)

สำนักข่าวกัมพูชา (AKP) รายงานว่าเมื่อเช้าวานนี้ (21 ม.ค.) นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาได้ร้องขอต่อพรรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหนึ่งของไทยว่าไม่ควรโยงกัมพูชาเข้าสู่ความขัดแย้งภายในของไทย

"การเมืองของไทยเพิ่งถูกทำให้ร้อนเมื่อไม่นานมานี้ และข้อความที่เราต้องการส่งกลับ (ให้กับผู้นำพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ก็คืออย่าโยงกัมพูชาเข้าสู่ประเด็นกิจการภายในของไทย" นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าว ระหว่างพิธีมอบโฉนดให้กับ 1,298 ครัวเรือนที่อำเภอเสียมบก จังหวัดสรึงเตรง

ทั้งนี้ฮุน เซนระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มเสื้อเหลืองของไทยมักจะโยงกัมพูชาเข้ากับการเมืองภายในของไทย โดยการกล่าวหาอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ทักษิณ ชินวัตร ว่ามีผลประโยชน์ส่วนตัวอันลึกลับกับกัมพูชาโดยมีการเจรจาในเรื่องการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA)

"พวกเขากล่าวหาทักษิณ ชินวัตรว่ายอมให้มีความตึงเครียดบริเวณเขตแดนทางบกระหว่างกัมพูชาและไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านปราสาทพระวิหาร เพื่อแลกกับน้ำมันและก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล" ฮุน เซน กล่าว และขอให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแสดงหลักฐาน

"ถ้าคุณ (อภิสิทธิ์) ไม่สามารถหาหลักฐานได้ แปลว่าคุณโกงประชาชนไทย 60 ล้านคน และประชาชนกัมพูชา 14 ล้านคน" เขากล่าว

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยังเปิกเผยการเจรจากับรัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ ในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งรวมทั้งการหารือระหว่างฮุน เซน และอดีตรองนายกรัฐมนตรีของไทย สุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีตนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในเดือนมิถุนายนปี 2552 ที่จังหวัดก็อณฏาล ของกัมพูชา นอกจากนี้ฮุน เซน ยังอ้างว่ามีการเจรจาแบบ "หลังฉาก" ระหว่างนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรักษาคณะรัฐมนตรีกัมพูชา กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ฮ่องกง ในเดือนสิงหาคมปี 2552 และที่คุนหมิงของจีนในเดือนกรกฎาคมปี 2553 แม้ว่าในเวลานั้นคณะกรรมการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา จะไม่มีการหารืออย่างเป็นทางการก็ตาม

เอกสารขององค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ที่คณะรัฐมนตรีกัมพูชามีการเผยแพร่เมื่อวานนี้ (21 ม.ค. 56) ลงวันที่ 11 ส.ค. 54 หลังการเลือกตั้งทั่วไปของไทย โดยมีการระบุว่าในสมัยรัฐบาลไทยชุดก่อน เคยมีการหารือลับกับฝ่ายกัมพูชาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และตั้งคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลชุดก่อนต้องหารือลับ ประชาชนไทยละ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในสภาตระหนักในเรื่องนี้หรือไม่ และที่ต้องออกมาเปิดเผยเรื่องนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกัมพูชา (ที่มา: สำนักข่าวกัมพูชา)

นอกจากนี้ สำนักข่าวกัมพูชา (AKP) ยังเผยแพร่เอกสารของคณะรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อบ่ายวานนี้ โดยมีเนื้อหาเป็นคำแถลงขององค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา (CPNA) ต่อการเจรจาเรื่องการอ้างสิทธิพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างกัมพูชาและไทย ลงวันที่ 11 สิงหาคมปี 2554 โดยมีการอ้างว่า มีเคยการหารือลับระหว่างรัฐบาลกัมพูชา และรัฐบาลไทยชุดก่อนที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ โดยในคำแถลงมีการกล่าวหารัฐบาลไทยชุดก่อนว่า "ทางกัมพูชาของถามว่าเหตุใดภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะต้องมีการหารือลับ? ประชาชนไทยหรือ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ในรัฐสภาได้ตระหนักในเรื่องการหารือลับในสมัยของนายอภิสิทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ปัจจุบันเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งมักจะประกาศจุดยืนแข็งขันในการสนับสนุนความโปร่งใส หรือไม่? ที่แย่กว่านั้นนายอภิสิทธิ์ยังคงเดินหน้ากล่าวหาทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำงานอย่างเปิดเผยในกัมพูชา ว่ามีผลประโยชน์ลับกับกัมพูชา มากไปกว่านั้น นายอภิสิทธิ์ยังพยายามทำลายการเจรจาใดๆ ก็ตามระหว่างรัฐบาลกัมพูชา และรัฐบาลไทยที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่"

"ทางกัมพูชาจำต้องเปิดเผยความลับนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกัมพูชา และทักษิณ ชินวัตร ต่อข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลที่เกิดขึ้นในสมัยประชาธิปัตย์" เอกสารที่ถูกเผยแพร่โดยคณะรัฐมนตรีกัมพูชาระบุ ในท้ายคำแถลงยังระบุว่า "อย่างไรก็ตาม รัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชายินดีที่จะกลับคืนสู่การเจรจาอย่างเปิดเผยและเป็นทางการในประเด็นนี้ และจะชักชวนฝ่ายไทยให้มีการหารือดังกล่าวเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถปฏิบัติได้เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนและประเทศทั้งสอง"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สายการบินแห่งชาติไทยอยู่ตรงไหน?

Posted: 21 Jan 2013 09:42 AM PST

แฟนเพจ"ประเทศไทยอยู่ตรงไหน"นำเสนอข้อมูลสถิติเปรียบเทียบบางประการของ4สายการบินใหญ่ในเอเซีย ซึ่งนำมายังข้อสงสัยถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการการขาดทุนและการประท้วงของพนักงานการบินไทยในช่วงที่ผ่านมา

ใครที่เดินทางต่างประเทศบ่อยๆ มักจะรู้สึกคล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งว่าสายการบินไทย (TG) นั้น ดูจะเป็นสิ่งที่สะท้อน "ความเป็นไทย" ออกมาได้ดีทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ แล้วในเชิงธุรกิจ สายการบินแห่งชาติของเราอยู่่ตรงไหน?

จากข้อมูลของการสายบินกลุ่ม Star Alliance [1] จะเห็นว่า หากเทียบประสิทธิภาพในการทำรายได้ พนักงาน Turkish Airlines หนึ่งคน สามารถทำเงินให้บริษัทได้มากกว่าพนักงานการบินไทยประมาณ 204% ขณะที่พนักงาน Air China ทำได้มากกว่า 215%

หรือหากเทียบประสิทธิภาพการรับส่งผู้โดยสารต่อปีจะพบว่า Turkish Airline รับส่งผู้โดยสารได้มากกว่าการบินไทย 177% ขณะที่ Air China ทำได้มากกว่า 251%

หลายคนอาจมองว่าการหยิบการบินไทยมาเทียบกับ Air China อาจไม่เหมาะสมนัก เนื่องจากจีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ยักษ์ ในขณะที่ตลาดเมืองไทยนั้นมีจำนวนจำกัด ซึ่งหากจะมองในแง่ "ตลาดขนาดเล็ก" แล้วย่อมนึกถึงใครไปไม่ได้นอกจากสิงคโปร์

ตัวเลขที่ออกมาคือ พนักงาน Singapore Airline หนึ่งคน สามารถทำเงินให้บริษัทได้มากกว่าพนักงานการบินไทย 270% ทั้งที่สามารถรับส่งผู้โดยสารในปริมาณเท่าๆ กับการบินไทย

เป็นความจริงว่าแต่ละสายการบินมีความแตกต่างในเรื่องโมเดลธุรกิจ สภาพตลาด กลุ่มลูกค้า วัฒนธรรมองค์กร ระดับความโปร่งใส คุณภาพพนักงาน ฯลฯ แต่ผลลัพธ์ของความแตกต่างเหล่านี้ล้วนปรากฏออกมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขทางธุรกิจ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วในฐานะ "องค์กรธุรกิจ" ย่อมไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้

หากเราเชื่อว่าการบินไทยคือสิ่งที่สะท้อน "ความเป็นไทย" จริงอย่างที่หลายคนพูด ข้อมูลนี้สามารถบอกอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับ "ประสิทธิภาพ" และความเป็นไทย?


หมายเหตุ: โพสนี้เป็นข้อมูลอัพเดทจากโพสเติมเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2554[2]


ที่มา: ประเทศไทยอยู่ตรงไหน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'บีบีซี' เผย จนท.ไทย 'ส่ง-ขายต่อ' ชาว 'โรฮิงญา' ให้ขบวนการค้ามนุษย์

Posted: 21 Jan 2013 09:41 AM PST

 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาชาวมุสลิมโรฮิงญาจำนวนมากได้เดินทางอพยพข้ามทะเลอันดามันมายังประเทศไทยอันเนื่องมาจากเหตุความรุนแรงที่รัฐยะไข่ของพม่า
 
บีบีซีเผยว่า เรือของผู้อพยพถูกสกัดโดยตำรวจและกองทัพเรือไทย โดยมีข้อตกลงเพื่อขายกลุ่มผู้อพยพให้แก่ขบวนการค้ามนุษย์ ที่จะนำพวกเขาเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย ขณะที่รัฐบาลไทยให้คำมั่นที่จะสืบสวนเรื่องดังกล่าวต่อไป
 
'สภาพเป็นปลากระป๋อง'
 
อาห์เหม็ด หนึ่งในผู้อพยพเปิดเผยว่า เขาได้เดินทางออกจากรัฐยะไข่ โดยทิ้งภรรยาและลูกๆทั้ง 8 ไว้เบื้องหลัง หลังจากเรือประมงของเขาถูกทำลายในเหตุปะทะระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธในยะไข่ และเขาเองจำเป็นต้องหาเงินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว เขาเดินทางพร้อมกับคนอื่นอีกราว 60 คน ในเรือไม้โกโรโกโสนานถึง 13 วันเพื่อข้ามทะเลอันดามัน มายังชายฝั่งทะเลของไทย
 
เมื่อเขาและพวกถูกเจ้าหน้าของไทยจับกุมตัวไม่ไกลจากฝั่งมากนักเขาคิดว่าประสบการณ์ที่แสนสาหัสกำลังจะผ่านพ้นไป แต่ที่จริงแล้วมันเพิ่งเป็นจุดเริ่มต้น ในคืนนั้นเอง ชาวโรฮิงญาทั้งหมด ถูกนำตัวขึ้นฝั่งไปยังจ.ระนอง โดยใช้รถตำรวจ และ 2 ชม.หลังจากนั้น พวกเขาถูกจับแยกกัน และถูกนำตัวขึ้นรถ 6 คันที่มีขนาดเล็กกว่า และต้องซ่อนตัวอยู่ภายใต้ตาข่าย อาห์เหม็ดกล่าวว่า ทั้งหมดถูกบังคับให้นอนเรียงกันเหมือนปลากระป๋อง
 
ในขณะนั้นเขายังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แต่การซื้อขายมนุษย์ได้เกิดขึ้นแล้วและชาวโรฮิงญาทั้ง 61 คน กำลังถูกนำตัวมุ่งลงใต้ไปยังมาเลเซีย โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มค้ามนุษย์
 
เมื่อพวกเขาออกจากรถ ที่อ.สุไหงโกลก ในจ.นราธิวาส ก็ได้พบว่าตนเองได้กลายเป็นนักโทษไปแล้ว อาห์เหม็ดกล่าวว่า มีหลุมที่ขุดไว้เพื่อให้พวกเขากิน นอน และขับถ่ายในสถานที่เดียวกัน ทั่วบริเวณเต็มไปด้วยกลิ่นไม่พึงประสงค์ บางครั้งถูกใช้เหล็กทุบตีหรือฟาดด้วยโซ่ตรวน
 
ขบวนการค้ามนุษย์ได้จ่ายเงินเพื่อซื้อตัวชาวโรฮิงญา และหวังที่จะเอาเงินคืนจากพวกเขา อาห์เหม็ดและชาวโรฮิงญาคนอื่นๆ ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ได้เป็นครั้งคราวเพื่อขอความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือญาติพี่น้อง เขากล่าวว่า นายหน้าค้ามนุษย์บอกว่าพวกเขาซื้อชาวโรฮิงญามาจากตำรวจ และหากพวกเขาไม่ให้เงินก็จะไม่มีวันถูกปล่อยตัว "เราไม่สนหากพวกแกจะตายที่นี่"
 
ราคา"ค่าชีวิต"ของอาห์เหม็ดตกอยู่ที่ 40,000 บาทไทย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควรสำหรับอดีตชาวประมง อาห์เหม็ดโทรหาภรรยา และบอกให้เธอขายวัว แต่ก็ได้เงินเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
 
 หลังถูกกักกันตัวนานร่วมเดือน และเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง ได้มีเพื่อนชาวโรฮิงญาที่อาศัยในไทยมาช่วยไถ่ตัวเขาออกไปได้สำเร็จ เขานั่งรถบัสมุ่งขึ้นเหนือไปยังจ.ภูเก็ต และแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายกับเขามากกมาย แต่เขากลับไม่เรียกร้องอะไร แม้จะถูกปฏิบัติอย่างป่าเถื่อน "ผมไม่โกรธเจ้าหน้าที่ ผมไม่ขอยึดเอาความโกรธแค้นไว้กับตัวอีก ผมโชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่"
 
'การแก้ปัญหาที่ปรกติ' 
 
ด้วยสภาพอากาศที่เป็นใจ ปัจจุบันพบว่ามีเรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาเดินทางเข้าไทยเกือบทุกวัน และอาห์เหม็ดเองก็ไม่ใช่คนเดียวที่ถูกกระทำเช่นนี้
 
 เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา เรือที่บรรทุกเด็ก สตรี และผู้ชายจำนวน 73 คน ถูกนำขึ้นฝั่ง ก่อนนำขึ้นรถบรรทุก ทางการประกาศว่าพวกเขาจะต้องถูกนำตัวไปยังชายแดนไทย-พม่าที่จ.ระนอง และต้องถูกขับออกนอกประเทศ ทว่าพวกเขาเดินทางไปไม่ถึงที่นั่น และกลุ่มค้ามนุษย์ได้รอทำการซื้อขายแล้ว เมื่อรถบรรทุกเดินทางถึงอ.คุระบุรี จ.พังงา ชาวโรฮิงญาถูกนำตัวขึ้นเรืออีกครั้ง
 
หนึ่งในนายหน้าค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายครั้งนั้นกล่าวว่า ได้มีการโอนเงินจากมาเลเซีย 1,500,000 บาท ให้แก่เจ้าหน้าที่ในไทย ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวได้รับการยืนยันจากสมาชิกชาวโรฮิงญาที่อาศัยในไทย
 
ทางการไทยเปิดเผยต่อบีบีซีว่า  พวกเขาเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตอยู่เพียงไม่กี่ราย แต่ที่ระนอง เมืองชายแดนที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ไทยที่รู้เรื่องชาวโรฮิงญาเป็นอย่างดี เปิดเผยว่า การตกลงกับนายหน้าค้ามนุษย์ตอนนี้ถือว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ "ปรกติ"
 
เนื่องจากการไม่ได้รับสัญชาติพม่าของชาวโรฮิงญา การส่งตัวกลับก็เต็มไปด้วยปัญหานานัปการ ขณะที่ไทยเองก็ไม่ต้องการสนับสนุนให้คนเข้าใจว่าเป็นประเทศสำหรับผู้อพยพที่มีปัญหาเรื่องปากท้อง
 
เจ้าหน้าที่รายหนึ่งกล่าวว่าชาวโรฮิงญาอยากไปมาเลเซียและชาวมาเลเซียยอมรับคนเหล่านี้เพราะว่าพวกเขาเป็นมุสลิม ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามมากเพียงใดที่จะพยายามและไปที่นั่น แต่คำถามก็คือ พวกเขาจะไปที่นั่นได้อย่างไร
 
มาเลเซียอนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเข้าทำการประเมินคำขอลี้ภัยของชาวโรฮิงญาขณะที่ประเทศไทยไม่ทำเช่นนั้น โดยไทยสงวนสิทธิ์การพิจารณาไว้เอง ว่าใครสมควรที่จะรับไว้เป็นผู้อพยพ
 
'การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ' 
 
บีบีซีได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้แก่นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ทราบ ซึ่งเปิดเผยว่ากำลังดำเนินการสืบสวนเรื่องดังกล่าว
 
"ในขณะนี้ เราไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้กระทำผิดคือใคร แต่รัฐบาลไทยกำลังค้นหาความจริงอย่างแน่วแน่ถึงต้นตอของปัญหา"
 
"ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้ดูแลผู้อพยพเหล่านี้อย่างดีที่สุด โดยคำนึงถึงพื้นฐานของหลักการด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก"
 
"ในขณะเดียวกัน เรารู้สึกอย่างแน่วแน่ว่าเราทุกคนจะต้องทำงานร่วมกันผ่านความร่วมมือระดับนานาชาติ เพื่อดูว่าเราจะสามารถหาทางแก้อย่างเป็นระบบและถาวรได้อย่างไร"
 
ก่อนหน้านี้ ชาวโรฮิงญาได้หลั่งไหลเข้ามาในไทยจำนวนมาก และเมื่อปี 2552 รัฐบาลไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อนโยบายการผลักดันผู้อพยพกลับทะเล
 
เนื่องจากผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นชาย ทางการไทยจึงมองว่าพวกเขาเป็นผู้อพยพอันเนื่องมาจากปัญหาปากท้อง ขณะที่ในปัจจุบัน ต้นตอของปัญหาไม่เหมือนเดิม การปะทะระหว่างชาวโรฮิงญาและชาวพุทธในรัฐยะไข่ ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพมาอยู่ตามค่ายที่พัก และเป็นครั้งแรกที่เรือผู้อพยพที่ข้ามทะเลอันดามัน มีเด็กและสตรีรวมอยู่ด้วย
 
 
ที่มา: เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์, BBC news
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้กรมเจรจาฯ รับฟังความเห็นแล้วปรับแก้ ก่อนนำร่าง FTA ไทย-อียู เข้าสภาฯ

Posted: 21 Jan 2013 08:58 AM PST

เอฟทีเอวอทช์แถลงข่าวจวกภาครัฐไม่จริงใจ เผยร่างเจรจากระชั้นชิดก่อนรับฟังความคิดเห็น 23 ม.ค.นี้ ชี้ร่างมีปัญหาหลายจุด โดยเฉพาะบททรัพย์สินทางปัญญาทำยาแพง ทั้งกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย-ล้มนโยบายสาธารณะ

 
 
21 ม.ค.56 ณ ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ โรงแรม ทีเค.พาเลซ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) แถลงข่าว เรียกร้องให้กรมเจรจาฯ เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อทบทวนและปรับปรุงร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ก่อนที่จะเสนอสู่รัฐสภา เนื่องจากที่ข้อตกลงมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างกว้างขวาง
 
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปเพิ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งที่ผ่าน ครม.เกือบ 2 เดือนแล้ว เพราะพบว่า เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนในภาพรวมกับเขียนอย่างกว้างๆ ขณะที่เนื้อหาที่ภาคธุรกิจต้องการกับเขียนอย่างรัดกุม ดังนั้น ผลจากการรับฟังความคิดเห็นที่จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 23 ม.ค.นี้ ควรนำไปสู่การปรับปรุงร่างกรอบเจรจาก่อนส่งเข้าสู่การพิจารณารัฐสภา
 
นิมิตร์ กล่าวว่า เนื้อหาของร่างกรอบการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ FTA ไทย-อียู มีความน่าเป็นกังวล ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ข้อ 5.11.1 ระบุว่า "ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลกและ/หรือความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี" ซึ่งก่อนหน้านี้กรมเจรจาฯยอมรับเองว่า ที่เขียนเช่นนี้ อนุญาตให้เจรจาความตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ได้ แม้จะพยายามเขียนข้ออื่นๆให้เหมือนเป็น safeguard แต่จากเอกสารที่ สำนักงาน อย.นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ก็ระบุชัดเจนว่าจะเกิดการผูกขาดข้อมูลทางยาจะขัดขวางการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของรัฐเพื่อสาธารณประโยชน์ (ซีแอล) มิให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้
 
นิมิตร์ กล่าวอีกว่า ข้อเรียกร้องของอียูมันมีผลในทางปฏิบัติ ทำให้เราไม่สามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาได้ เรื่องสิทธิบัตรยา มันทำลายระบบสาธารณสุข จะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงโดยเฉพาะการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งหมายถึงผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนไทย และกระทบกับความมั่นคงทางยาของประเทศในที่สุด ซึ่งมันเกินที่จะเยียวยาไปแล้ว  รัฐบาลต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน คือความคุ้มครองสิทธิบัตรยาต้องไม่เกินไปว่าข้อตกลงขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า "TRIPS"
 
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เราเรียกร้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน ตาม ม.190 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และล่าสุดเราก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิจารณากรอบการเจรจาฯ ในวันพุธที่ 23 มกราคมนี้ ซึ่งเป็นเวลากระชั้นชิดมาก
 
ประเด็นใหญ่อีกประเด็นคือผลกระทบทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา การที่กรอบการเจรจา ข้อ 5.11.1 นั้น จะเป็นการเปิดช่องให้มีการยอมรับการมีมาตรฐานแบบยุโรปซึ่งเปิดช่องให้เกิดการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาของยุโรป เรามองว่าต้องเขียนให้รัดกุมกว่านี้ คือระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าข้อตกลงขององค์การการค้าโลก และต้องไม่ขยายไปถึงการคุ้มครองในเรื่องพันธุ์พืช ไม่ใช่เช่นนั้น เกษตรกรจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น 3-4 เท่าตัว และจะกระทบถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร
 
นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ขณะที่เรื่องการแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ประเทศไทยควรได้รับประโยชน์จากผู้ที่เอาทรัพยากรดังกล่าวไปใช้ กลับระบุให้เป็นเพียงความร่วมมือเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยจะไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่
 
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ กล่าวว่า กรมเจรจาฯ เปิดรับฟังความเห็นแบบพิธีกรรมหรือเปล่า รับฟังแล้วนำไปสู่การทบทวนไหม จากกรอบการเจรจา ข้อ 5.11.1 จะพบว่ามันไม่ได้เขียนไปตามจากการที่รับฟังความคิดเห็น ข้อกังวลที่เสนอ การเขียนว่าให้การคุ้มครองสอดคล้องกับ TRIPS นั้นเป็นการฉ้อฉล เป็นเพียงมาตรการขั้นต่ำ คุณจะคุ้มครองให้สูงกว่านั้นได้
 
จิราพร กล่าวต่ออีกว่า หากดูตัวอย่างจากประเทศอินเดียจะพบว่าการยืนหยัดในเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้การเจรจา FTA เดินหน้าต่อไปไม่ได้ สุดท้าย EU ก็ต้องยอมเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับอินเดีย ประเทศอินเดียก็ทำได้ ประเทศไทยที่เพิ่งจะร่างกรอบก็ต้องทำได้เหมือนกัน และขณะนี้ยาก็แพงมากอยู่แล้ว หากคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเกิน TRIPs ยาก็จะยิ่งแพง ทั้งที่เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ในที่สุดเราก็จะตกเป็นทาสของประเทศที่พัฒนาแล้วในเรื่องยา
 
ส่วนเรื่องการคุ้มครองการลงทุน ในข้อ 5.9.5 ซึ่งระบุว่า "เปิดโอกาสให้สามารถใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นทางเลือกหนึ่งในการระงับข้อพิพาท และผลักดันให้มีกลไกหารือเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการลงทุนเฉพาะเรื่อง" เนื้อหาในส่วนนี้ เรียกชื่อทางการว่า กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและอกชน (Investor State Dispute Settlement - ISDS) ซึ่งก็มีข้อน่ากังวลคือ จากประสบการณ์ในอดีตจะพบว่า ประเทศในความตกลง NAFTA ที่ถูกนักลงทุนต่างชาติใช้กลไกดังกล่าวในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและล้มนโยบายสาธารณะมานักต่อนักแล้ว แต่ในร่างกรอบเจรจาฯ FTA ไทย-อียูกลับเปิดทางให้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จำเลยคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์เบิกความยันไม่ใช่คนในภาพ

Posted: 21 Jan 2013 08:28 AM PST

"สายชล แพบัว" ผู้ต้องขังตั้งแต่กลางปี 53 เข้าเบิกต่อศาลคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ เทียบรอยสัก ยันไม่ใช่คนเดียวกับคนในภาพที่ใช้จับกุม เผยถูกซ้อมข่มขู่จึงต้องเซ็นรับสารภาพ ทั้งที่อ่านหนังสือไม่ออกและไม่มีทนาย พิจารณาคดีต่อจันทร์หน้า

 

21 ม.ค.56 เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ห้องพิจารณาคดี 405 มีการสืบพยานจำเลยในคดีเลขดำที่ 2478/2553 ซึ่งพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4  เป็นโจทก์ฟ้อง นายสายชล แพบัว จำเลยที่ 1 อายุ 28 ปี (ในวันเกิดเหตุ) อาชีพรับจ้าง และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ จำเลยที่ 2 อายุ 26 ปี อาชีพรับจ้าง ในความผิดร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นซึ่งเป็นโรงเรือนที่เก็บสินค้าจนเป็นเหตุให้นายกิติพงษ์ สมสุข ซึ่งอยู่ในอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ถึงแก่ความตายและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุเกิดที่ ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ บ่ายวันที่ 19 พ.ค.53 ช่วงที่มีการสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยคดีนี้เป็นคดีเดียวกันกับกรณี 2 ผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.55

สำหรับในวันนี้มีการสืบพยานจำเลยคือนายสายชล ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ขณะนี้อายุ 30 ปี โดยนายสายชล เบิกความว่า เขาอ่านหนังสือไม่ออก เดิมเป็นชาวจังหวัดชัยนาท มาขายน้ำที่สนามหลวงตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยไม่ได้กลับบ้านที่ชัยนาทอีก ใช้สนามหลวงเป็นที่พัก เขาเบิกความว่าได้สักรูปปลาและนกที่แขนขวาตั้งแต่อายุ 17 ปี ส่วนที่แขนซ้ายด้านบนสักเป็นรูปหัวกะโหลก รวมทั้งสักที่ข้อเท้าด้วย

ช่วงที่มีการชุมนุมของ นปช. นั้น นายสายชล เบิกความว่าได้เข้าร่วมด้วยเพียงแต่เข้าไปขายน้ำอยู่รอบนอกของการชุมนุม วัน 19 พ.ค.53 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุรวมทั้งหลังจากที่มีการสลายการแล้วนั้น ตนขายน้ำและซีดีเพลงอยู่ที่หน้าห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว แต่ยังพักที่สนามหลวงเหมือนเดิม

นายสายชล เบิกความถึงตอนถูกจับกุมตัวว่าถูกเจ้าหน้าที่จับกุมวันที่ 7 มิ.ย.53 โดยมาจับกุม 10 คน บริเวณฝั่งใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สนามหลวง ซึ่งตนกำลังไปซื้ออาหารเที่ยง โดยในตอนแรกมีคนมาถามชื่อก่อนว่า "ใช่นายสายชลหรือไม่" ได้ตอบไปว่า "ใช่" จากนั้นตนจึงถูกล็อกตัว ทำให้ล้ม ถูกเท้ายันหน้า ให้หมอบ เอามือไพล่หลังและเตะด้วย ทั้งๆ ที่ขณะนั้นตนไม่มีอาวุธ โดยเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายจับแสดงและไม่แต่งเครื่องแบบ โดยในระหว่างซ้อมตนตรงนั้น เจ้าหน้าที่ที่ซ้อมก็พูดด้วยว่า "มึงเผาบ้านเผาเมือง" และนำตัวขึ้นรถกระบะไปที่ สน.ชนะสงคราม

นายสายชล เบิกความว่า ที่ สน.ชนะสงคราม พนักงานสอบสวนได้สอบสวนที่ห้องสอบสวน โดยให้นั่งกับพื้น ใส่กุญแจไพล่หลังพร้อมทั้งเตะตนด้วย ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้ติดต่อญาติให้มาประกันตัว และวันนั้นในการสอบปากคำตนไม่มีทนายอยู่ด้วย สำหรับเหตุที่ต้องเซ็นชื่อในคำให้การ เพราะถูกซ้อมและขู่ว่าถ้าไม่เซ็นก็จะซ้อมอยู่อย่างนั้นและจะส่งตัวไปค่ายทหาร และตนก็อ่านไม่ออก ด้วยความกลัวจึงเซ็นชื่อ นายสายชลเบิกความด้วยว่าก่อนที่จะเซ็นชื่อ พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้อ่านข้อความในกระดาษให้ฟัง

ภาพซ้าย : ภาพ1 ที่ รปภ.ห้าง เซ็นทรัลเวิลด์  มอบให้พนักงานสอบสวน และถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่าภาพชายชุดดำดังกล่าวคือจำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุ

ภาพขวา : นายสายชล จำเลยที่ 1 ขณะถูกนำตัวมาแถลงข่าวหลังถูกจับกุม เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.53 ภาพจากเว็บไซต์มติชน

ทนายจำเลยได้มีการนำรูปถ่ายบุคคลที่อยู่ในรูปถ่าย ซึ่งเป็นภาพที่ใช้เป็นหลักฐานในการจับกุมและเป็นภาพที่ถูกใช้เป็นหลักฐานในศาลด้วยนั้น เมื่อนายสายชลได้ดูภาพดังกล่าวเขายืนยันว่าตนไม่ใช่บุคคลในรูปถ่าย

ทั้งนี้ในระหว่างการพิจารณาคดีทนายจำเลยได้มีการฉายภาพดังกล่าวบนจอโปรเจ็คเตอร์เพื่อให้ศาลและนายสายชลพิจารณา ซึ่งนายสายชลก็ยังยืนยันว่าไม่ใช่คนในภาพ รวมทั้งขอให้นายสายชลลองยืนในท่าเดียวกับคนในภาพเพื่อเปรียบเทียบรอยสักที่แขนขวา ซึ่งบุคคลในภาพดังกล่าวก็ไม่ปรากฏรอยสักแต่อย่างใด แต่ที่แขนนายสายชลจะปรากฏเห็นรอยสัก

ภาพที่ใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับนายสายชล ซึ่งไม่ปรากฏรอยสักที่แขนขวา

นายสายชลเบิกความต่อว่า ในวันถัดมา หลังจากจับกุมแล้วเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายตนเองจาก สน.ชนะสงคราม ไปที่สถานที่หนึ่งเพื่อแถลงข่าว แต่ไม่ทราบว่าเป็นที่ไหน โดยมีตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาแถลง

ทนายจำเลยจึงนำภาพถ่ายของนายสายชล ขณะที่ถูกนำตัวมาแถลงข่าว ตอนแถลงข่าวในวันที่ 8 มิ.ย.53  ให้นายสายชลดู นายสายชลได้ยืนยันต่อศาลว่าคนที่ถูกนำตัวมาแถลงข่าวนั้นเป็นตนเอง และในภาพถ่ายที่แขนด้านขวาจะเห็นรอยสัก เขาเบิกความต่อด้วยว่าในวันแถลงข่าวตนก็ยังไม่ได้พบญาติหรือทนาย และในตอนจับกุมและแถลงข่าว เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์อย่างเดียว โดยไม่ได้บอกว่าร่วมกับใครเผา

นายสายชล เบิกความด้วยว่าก่อนหน้าที่จะโดนจับตนไม่เคยเห็นหรือรู้จักจำเลยที่ 2 หรือนายพินิจ แต่อย่างใด โดยพบครั้งแรกในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตอนที่ดีเอสไอหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษมาสอบปากคำ นายสายชล เบิกความยืนยันว่าตนเองไม่รู้จักทั้งจำเลยที่ 2 และ 2 เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีนี้มาก่อน รวมทั้งผู้ตายในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ คือ นายกิติพงษ์ สมสุข ก็ไม่เคยรู้จักหรือพบเห็นมาก่อน

นายสายชลเบิกความอีกว่าหลังจากที่ตนเองถูกจับกุมก็ไม่ได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว ทนายจำเลยถามด้วยว่าเมื่อเอกสารคำให้การเป็นตัวหนังสือทั้งหมด ตัวนายสายชลอ่านไม่ออก ดังนั้นข้อเท็จจริงนายสายชลจะให้การตามคำเบิกความในศาลนี้ใช่หรือไม่ นายสายชลจึงยืนยันต่อศาลว่าใช้ข้อเท็จจริงตามที่เบิกความในศาล

นัดต่อไปที่จะมีการพิจารณาคดีเป็นนัดสุดท้ายคือวันที่ 28 ม.ค. นี้ เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้นายสายชล แพบัว จำเลยที่ 1 และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ จำเลยที่ 2 ปัจจุบันยังคงถูกคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่หรือโรงเรียนพลตำรวจบางเขน โดยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ตั้งแต่กลางปี 2553

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

BBC Future : วิเคราะห์ระบบกราฟเสิร์ชของเฟซบุ๊ก สะท้อนตัวตนที่ไม่เท่าเทียมในโลกอินเทอร์เน็ต

Posted: 21 Jan 2013 07:51 AM PST

ทอม แชทฟิลด์ คอลัมนิสต์ BBC Future กล่าวถึงระบบ Graph Search ของเฟซบุ๊กที่เพิ่งมีการเปิดทดลองใช้ ทำให้สามารถค้นหาอย่างเจาะจงได้ แต่ก็ชวนตั้งคำถามว่ามันจะยิ่งทำให้ช่องว่างความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ใช้และการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้นหรือไม่ และมันอาจกลายเป็น 'เกม' สำหรับธุรกิจใหญ่ในการใช้ความสัมพันธ์เป็นทรัพยากร

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2012 ทอม แชทฟิลด์ คอลัมนิสต์ของ BBC Future ได้เผยแพร่บทความแสดงทัศนะส่วนตัวต่อเรื่องการประกาศใช้ระบบ Graph Search ซึ่งกำลังเป็นระบบที่เปิดทดลองให้ใช้แบบเบต้าอยู่ในกลุ่มผู้ใช้ที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีผลต่อผู้ทำธุรกิจผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

โดยระบบ Graph Search เป็นระบบค้นหาข้อมูลต่างๆ เช่นเพื่อน รูปถ่าย หรือสถานที่ ที่มีในเครือข่ายเชื่อมโยงกับเฟซบุ๊กโดยจะสามารถกำหนดรายละเอียดต่างๆ ได้ เช่น การค้นหา "เพื่อนที่อยู่ในนิวยอร์คและชื่นชอบวิดีโอเกมส์" หรือ "คนที่ชื่นชอบสตาร์วอร์และยังโสดอยู่" เป็นต้น จากเพจเผยแพร่ข้อมูลของเฟซบุ๊กยืนยันว่าระบบความเป็นส่วนตัวยังคงนำมาใช้ได้กับการเสิร์ชหรือถูกเสิร์ชเจออยู่

เมื่อเริ่มมีการพูดถึง Graph Search ก็มีคนสงสัยสองเรื่องใหญ่ๆ ว่า มันจะทำเงินได้มากหรือไม่ และมันจะสามารถเอาชนะเสิร์ชเอนจิ้นยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลได้หรือไม่ โดยที่หลังประกาศระบบใหม่นี้อัตราตลาดหุ้นของเฟซบุ๊กปรับลดลงร้อยละ 3

ในแง่ของการถูกนำไปเปรียบเทียบกับกูเกิลนั้น ทอม แชทฟิลด์กล่าวในบทความว่าระบบ Graph Search จะถือเป็นครั้งแรกที่มีระบบค้นหาในเชิงสังคม โดยที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กได้อธิบายไว้ในงานประกาศเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าเสิร์ชเอนจิ้นอย่างกูเกิ้ลเป็นเรื่องของการเน้นค้นหาลิงก์ แต่ Graph Search เป็นเรื่องของการค้นหาคำตอบที่อยากได้โดยตรง แทนการให้ลิงก์ที่นำไปหาคำตอบ

ระบบค้นหานี้จะทำให้สามารถค้นหาผู้คนหรือสถานที่ได้อย่างเจาะจงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งที่ผู้คนชื่นชอบ (liked) สถานที่ที่พวกเขาไป สิ่งที่พวกเขาทำ ความสนใจของพวกเขา รวมถึงการให้คะแนนประสบการณ์ต่างๆ

โดยขณะที่ระบบยังเป็นแบบเปิดทดลองใช้อยู่ แต่ก็มีนักโฆษณา ผู้จ้างวาน และแบรนด์สินค้าต่างๆ ไปแสวงหาโอกาสกันแล้ว และแน่นอนว่าการที่รูปภาพเป็นส่วนใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งของระบบ Graph Search ทำให้เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่สำหรับธุรกิจต่างๆ มากพอๆ กับปัจเจกบุคคลทั้วไป รวมถึงคนที่ต้องการหาคู่ด้วย


ข้อมูลที่ถูกทำให้เป็นเรื่องของบุคคล

ทอม กล่าวในบทความว่า ระบบนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของอนาคตอินเทอร์เน็ต จากการที่ก่อนหน้านี้ผู้คนมักจะใช้อินเทอร์เน็ตอยู่หลัง 'ม่าน' ของผู้ใช้นิรนาม การค้นหาและการค้นพบต่างๆ ไม่ใช่เรื่องของบุคคล แต่ถูกผลักดันโดยมาตรวัดเทรนด์โลกและการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้หลายล้านคน แต่ระบบ Graph Search จะทำให้ข้อมูลกลายเป็นสนามแข่งขันสำหรับการค้นพบทางสังคมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

"เป็นไปได้ว่าสิ่งที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์คือการที่บริษัทอย่างกูเกิลประเมินต่ำเกินไป ในแง่ความปรารถนาที่ต้องการทำให้ประสบการณ์เช่นนี้ (การถูกค้นพบ) เป็นเรื่องของบุคคล" ทอมกล่าว "การใช้เครื่องมือค้นหาในการค้นพบผลลัพธ์ที่ตรงเป้าเป็นเรื่องดีมากก็จริงอยู่ แต่ผู้คนก็มีความกระหายข้อมูลที่ไม่ได้มาจากการจัดอันดับ แต่เกี่ยวกับว่าข้อมูลนั้นมาจากใคร"


"ผู้ใช้ทุกคนไม่ได้ถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน"

อย่างไรก็ตาม เอลิเซ แอคเคอร์แมน ได้เขียนบทวิเคราะห์ลงใน Forbes บอกว่า "จำนวน 'ไลค์' ของบางคนมีค่ามากกว่าคนอื่น" ผู้ใช้ทุกคนไม่ได้ถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน ยิ่งความเป็นบุคคลนิรนามถูกแทนที่ด้วยโลกความจริงที่รุกล้ำเข้ามาด้วย ชื่อเสียง จำนวนเพื่อน สเตตัส และผู้ติดตามแล้ว ยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมกันฝังรากลงไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเวลามีเซเลบฯ หรือดาราแสดงการสนับสนุนสินค้าผ่านทางทวิตเตอร์ซึ่งมีผู้ติดตามนับล้าน แต่จากนี้ไปสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนน้อยกำลังถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทอมกล่าวว่าเวลาพูดถึงความไม่เท่าเทียมกันบนโลกอินเทอร์เน็ต มันไม่ได้หมายถึงความไม่เท่าเทียมกันในสถานะทางสังคมเท่านั้น แต่ในโลกของเรามีคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วต่างกัน ถูกจำกัดเสรีภาพไม่เท่ากัน มีระดับบริการต่างกัน และสิทธิในโลกออนไลน์ต่างกัน เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่การปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม แต่เป็นเรื่องของการเข้าถึงและการกระจายข้อมูล ซึ่งเฟซบุ๊กก็คอยส่งเสริมลักษณะไม่แน่ไม่นอนเช่นนี้ และก็คอยช่วยเราเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีคุณค่าอย่างไร


เกมชื่อเสียง

ผู้เขียนบทความใน BBC กล่าวอีกว่า ระบบเช่นนี้ทำให้ถูก 'นำมาเล่นเป็นเกม' ได้เช่น การให้เงินสนับสนุนให้คนเขียนวิจารณ์ร้านอาหารดีๆ หรือกับคนที่มีเพื่อนและผู้ติดตามจำนวนมากก็อาจได้รับเงินให้บอกว่าตนเคยไปเยือนร้านอาหารมาแล้ว แม้ว่าจริงๆ แล้วจะไม่เคยไปเลยก็ตาม

"ในแง่นี้โซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ได้เป็นพลังขับเคลื่อนมากเท่ากับเป็น 'แว่นขยาย' ที่ส่องให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์ มันได้เน้นให้เห็นสิ่งที่มีอยู่แล้วเช่น การไปมาหาสู่กัน, ความเป็นคนมีชื่อเสียง, การผูกขาด, ความน่าตื่นเต้น และน่าดึงดูด" ทอมกล่าว

แต่ก็ยังวัดไม่ได้ว่าระบบ Graph Search ของเฟซบุ๊กจะประสบความสำเร็จ หรือเป็นเรื่องของชื่อเสียงกับการให้เปล่าแต่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามมันเป็นสัญญาณว่าวัฒนธรรมในโลกอินเทอร์เน็ตจะเชื่อมโยงกับชีวิตจริงและสถานที่จริงมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็กับสิ่งที่สามารถวัดได้และ 'กดคลิก' ได้

ทอมกล่าวว่า ขณะที่เฟซบุ๊กคิดว่าจะช่วยให้เราค้นหาสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการให้อย่างเจาะจงมากขึ้นแต่ขณะเดียวกันก็หมายถึงการทำให้เราคล้ายเป็น 'คนงานพาร์ทไทม์' ในแง่ของนักประชาสัมพันธ์, ผู้ประกาศข่าว, นักวิจารณ์ และผู้สนับสนุนส่งเสริมตัวเอง


หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นการส่งเสริมบุคลิกต่อต้านสังคม (Sociopath)

ก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ย. 2011 ผู้ก่อตั้งเว็บ Pinboard (ที่ออกตัวว่าเป็นเว็บบุ๊คมาร์คสำหรับผู้มีบุคลิกเก็บตัว) มาเชจ์ เซโกลวสกี กล่าววิจารณ์เรื่องการเชื่อมโยงทางสังคมในอินเทอร์เน็ตหรือ 'โซเชียลกราฟ' ว่า เป็นแนวคิดที่ทำให้มีการเก็บข้อมูลจากคนที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วยและใช้มันเพื่อชักใยคนอื่นให้ตนเองได้ประโยชน์ "ซึ่งพวกเราเรียกคนแบบนี้ว่าเป็นพวกต่อต้านสังคม (Sociopath)" มาเชจ์กล่าว

"แม้คำกล่าวของมาเชจ์ จะเป็นเหมือนคำเตือนมากกว่าคำทำนาย แต่เราก็ควรรับฟังอย่างจริงจัง ในยุคสมัยที่คนบนโลกอินเทอร์เน็ตไม่เท่าเที่ยมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ความสัมพันธ์และการสนับสนุนกลายเป็นสินค้าที่นำมาขายได้ รางวัลสำหรับการจมดิ่งลงไปในบุคลิกต่อต้านสังคมภายในตัวเราเองไม่เคยเป็นเรื่องน่าเย้ายวนเท่านี้มาก่อน" ทอมกล่าว

"แต่ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ เกมบางเกมก็ไม่มีคุณค่าพอจะเอามาเล่นกันเลย" ทอมกล่าว

 


เรียบเรียงจาก

Facebook: Why some "likes" are worth more than others, Tom Chatfield, BBC, 18-01-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ด 'บินไทย' พิจารณาข้อเรียกร้องปรับโบนัส-เงินเดือน พนง. 8 ก.พ.นี้

Posted: 21 Jan 2013 07:27 AM PST

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย เผยเตรียมถกปรับเงินเดือน-เบี้ยขยัน 8 ก.พ.นี้ รับจะไม่เอาผิด พนง.ที่ออกมาเคลื่อนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้านประธานสหภาพฯ แจง ต้องเคลื่อนไหว เหตุปัญหาไม่เคยถูกแก้


(21 ม.ค.56) สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการเจรจากับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยในช่วงเที่ยงที่ผ่านมา เรื่องเงินโบนัสและการปรับเงินเดือน ซึ่งเป็นประเด็นร้อนที่สหภาพฯ ออกมาเคลื่อนไหวหยุดงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ผลการหารือทั้งสองฝ่ายได้ข้อยุติในเรื่องของเงินตอบแทนหรือโบนัสที่จะให้พนักงาน นอกจากโบนัสที่จะได้ตามผลประกอบการของบริษัท 1 เดือน ทางสหภาพฯ และฝ่ายบริหารตกลงกันจะมีการเพิ่มเงินในส่วนของค่าตอบแทนเบี้ยขยัน หรือเงินอินเทนซีฟ ซึ่งปีนี้การบินไทยได้เตรียมสภาพคล่องวงเงินดังกล่าวไว้ 200 ล้านบาท และจะมีการเพิ่มเงินดังกล่าวอีก 300 ล้านบาท รวมเป็น 500 ล้านบาท และได้มีข้อเสนอที่จะเกลี่ยเงิน 500 ล้านบาทนี้ให้พนักงานทั้งบริษัทได้รับเท่าเทียมกัน

สำหรับข้อเสนอดังกล่าวจะรวมกับข้อเสนอที่จะปรับเงินเดือนให้กับพนักงานระดับ 1-7 อัตราร้อยละ 7.5 ซึ่งทั้งสองเงื่อนไขนี้จะมีการนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 ส่วนการขอปรับเงินโบนัสจาก 1 เป็น 2 เดือนนั้น เป็นที่เข้าใจตรงกันกับฝ่ายบริหารและสหภาพฯ ว่าจะไม่มีการเพิ่มให้อีก ภายหลังการเจรจาสหภาพฯ ได้แสดงความพอใจและจะยังไม่มีความเคลื่อนไหวจนกว่าจะถึงวันประชุมบอร์ดครั้งต่อไป

ส่วนคำถามการเคลื่อนไหวสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการให้บริการภาคพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ฝ่ายบริหารการบินไทยจะมีการเตรียมแผนรองรับอย่างไรในอนาคต นายสรจักร กล่าวว่า ฝ่ายบริหารได้หารือร่วมกันและมีแผนรองรับไว้เรียบร้อย ซึ่งจะเป็นขั้นตอนปฏิบัติงานตามนโยบายกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ ส่วนการจะเอาผิดกับพนักงานที่หยุดงานในช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมานั้น เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างสหภาพฯ และฝ่ายบริหารว่าจะไม่มีการเอาผิดกับพนักงานที่เคลื่อนไหวก็จะเป็นไปตามข้อตกลง หากในอนาคตยังมีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง ก็ต้องพิจารณาตามระเบียบของบริษัท ส่วนจะมีการชดเชยให้ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าอย่างไร การบินไทยจะมีของขวัญพิเศษให้กับผู้โดยสารในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนแห่งความรัก

ผู้สื่อข่าวรายงานวันเดียวกันนี้การบินไทยยังได้มีการลงนามร่วมกับธนาคารกสิกรไทยและสถาบันการเงินชั้นนำจากต่างประเทศเพื่อสนับสนุนสินเชื่อในการจัดหาเครื่องบินแอร์บัสเอ 330-300 จำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการจัดหาเครื่องใหม่ระหว่างปี 2554-2557 การบินไทยจะมาบินให้บริการเส้นทางภูมิภาคไปยังเมืองสำคัญ เช่น นาริตะ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และไทเป วงเงินที่ได้รับการสนับสนุนครั้งนี้ รวม 137.8 ล้านยูโร
 

ประธานสหภาพฯ แจง ต้องเคลื่อนไหว เหตุปัญหาไม่เคยถูกแก้
ก่อนหน้านั้น ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้สหภาพฯ จะนัดหมายให้นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ชี้แจงตัวเลขรายได้และกำไรของบริษัท เนื่องจากที่ผ่านมาการออกมาให้ข่าวของนายอำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการการบินไทยทำให้เกิดความสับสน โดยนายอำพน ระบุว่าปีนี้การบินไทยจะมีกำไรที่ใกล้เคียงปี 52 คือ 7,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้รายงานให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รับทราบ แต่กลับออกมาระบุว่าสามารถจ่ายโบนัสให้พนักงาน 1 เดือน และปรับขึ้นเงินเดือน 4.5% เท่านั้น

นางแจ่มศรี กล่าวว่า จุดยืนสหภาพเห็นว่ากำไร 7,000 ล้านบาทปี 2552 ปีก่อนหน้าการบินไทยประสบผลขาดทุน การที่ปี 2552 พนักงานไม่ได้รับโบนัสก็ถือเป็นสิ่งที่พนักงานรับได้ เพื่อช่วยเหลือบริษัท แต่ปีนี้สถานการณ์แตกต่างกันและในช่วงที่ผ่านมาพนักงานได้ร่วมกันลดค่าใช้จ่ายต่างๆ จนบริษัทมีกำไร ขณะที่ในส่วนของบอร์ดไม่เคยมีการลดค่าใช้จ่ายไม่ว่าเบี้ยประชุมหรือแม้แต่ส่วนแบ่งรายได้จากกำไร 0.5% ซึ่งสหภาพเห็นว่าควรปรับลดส่วนแบ่งรายได้จากกำไร โดยควรจะลดเหลือ 0.2% เท่านั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพนักงาน

ทั้งนี้ ในส่วนของสหภาพยืนยันว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อไปจนกว่าข้อเรียกร้องได้รับผล หากฝ่ายบริหาร ไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าเป็นจุดที่พนักงาน ฝ่ายบริหาร และบอร์ดคงจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ และสหภาพจะมีมาตรการเคลื่อนไหวต่อไปแน่นอน นอกจากนี้ สหภาพเห็นว่าการออกมาสร้างความสับสนของนายอำพน ถือเป็นสิ่งที่สหภาพรับไม่ได้เป็นการล้วงลูก ก้าวก่ายการทำงาน และต้องการให้นายอำพน พิจารณาตัวเองลาออกจากประธานบอร์ดการบินไทย

ส่วนกรณีสหภาพการบินไทยเคลื่อนไหวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบการให้บริการภาคพื้น การขนกระเป๋าสัมภาระที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นางแจ่มศรี กล่าวว่า อยากทำความเข้าใจกับประชาชน ขอให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิ่งต่างๆ สหภาพไม่มีทางเลือก ทั้งพนักงานและลูกจ้าง การบินไทยเป็นธุรกิจให้บริการด้านขนส่งจำเป็นต้องมีมาตรการเคลื่อนไหว ที่ผ่านมาการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ เช่น การบินไทย ข้อเรียกร้องและการตรวจสอบฝ่ายบริหารของสหภาพดำเนินการมักไม่ได้รับความสนใจ และเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้องค์กรมีปัญหาระบบการตรวจสอบและความโปร่งใส ท้ายที่สุดการดำเนินการต่างๆ ของฝ่ายบริหารและบอร์ดจะสร้างความเสียหายให้แก่องค์กรการบินไทย สหภาพคงยอมรับไม่ได้

 

 

 

ที่มา: สำนักข่าวไทย และ ไทยรัฐออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ 'ดีเอ็นเอสี่เกลียว' ก้าวใหม่ในการค้นคว้าวิธีรักษามะเร็ง

Posted: 21 Jan 2013 07:27 AM PST

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ค้นพบดีเอ็นเอแบบสี่เกลียวซึ่งมักจะมีในเซลล์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นเซลล์มะเร็ง และสามารถหาวิธีหยุดยั้งการแบ่งเซลล์ของมันได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าการยับยั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์เนื้องอกต่อไป

20 ม.ค. 2013 สำนักข่าว The Independent รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ค้นพบดีเอ็นเอ 4 เกลียว ในเซลล์ของมนุษย์ และการยับยังการแบ่งตัวซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่อาจนำไปสู่การค้นพบวิธีการรักษามะเร็งได้

ดีเอ็นเอ คือ สารพันธุกรรมที่มีชื่อเต็มว่า 'กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก' รูปดีเอ็นเอเกลี่ยวคู่ (double helix) กลายเป็นภาพสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์นับตั้งแต่ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกโดยเจมส์ ดี วัตสัน และ ฟรานซิส คริก ในปี 1953

แต่ล่าสุดนักวิจัยได้ค้นพบดีเอ็นเอของมนุษย์ที่จัดเรียงตัวรูปแบบใหม่ โดยมีเกลียวทั้งสี่เกลียวผูกไว้ด้วยกัน โดยที่ดีเอ็นเอสี่เกลียวนี้มักจะมีอยู่ในเซลล์ที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความสำคัญในการใช้วัดว่าเซลล์นั้นๆ กลายเป็นเซลล์มะเร็งไปแล้วหรือไม่

ชังการ์ บาลาสุบรมาเนียน ศาตราจารย์ผู้เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารเนเจอร์เจเนติกส์กล่าวว่า ดีเอ็นเอสี่เกลียวมีโครงสร้างที่แตกต่างจากแบบสองเกลียวอย่างเห็นได้ชัด พวกเขายังรู้เรื่องเกียวกับมันน้อยมาก แต่ก็เชื่อว่าดีเอ็นเอสี่เกลียวนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

"ดีเอ็นเอที่มีโครงสร้างแบบสี่เกลียวจะเป็นกุญแจสำคัญในการหาหนทางยับยั้งการเพิ่มของเซลล์มะเร็งเฉพาะส่วน การที่ค้นพบมันในในเซลล์ของมนุษย์ถือเป็นหมุดหมายที่ดี" ชังการ์กล่าว

ชังการ์กล่าวอีกว่า พวกเขาได้ทดลองดักจับดีเอ็นเอสี่เกลียวนี้ด้วยโมเลกุลและพบว่ามันทำให้เกิดการหยุดการแบ่งเซลล์ได้ และผลการค้นคว้าทำให้เห็นอีกว่าดีเอ็นเอสี่เกลียวมักจะอยู่ในยีนส์ของเซลล์ที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็วเช่นเซลล์มะเร็ง

"พวกเราค้นพบว่าเมื่อมีการดักจับดีเอ็นเอสี่เกลียวด้วยโมเลกุลสังเคราะห์ พวกเราสามารถแยกตัวและหยุดการทำงานของพวกมันได้ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญต่อวิธีการที่พวกเราสามารถทำให้เกิดการหยุดการแบ่งเซลล์ได้" ชังการ์กล่าว

แม้ว่าดีเอ็นเออาจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในรูปแบบต่างจากปกติเมื่ออยู่ภายใต้สภาพจำลองในห้องแล็บ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ดีเอ็นเอสามารถเปลี่ยนโครงสร้างเป็นแบบสี่เกลียวได้ในเซลล์ของมนุษย์ที่ยังมีชีวิต

ดร.จูลี ชาร์ป เจ้าหน้าที่ข้อมูลระดับสูงของศูนย์วิจัยโรคมะเร็งในอังกฤษผู้ให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยครั้งนี้กล่าวว่าผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นในครั้งนี้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของเรื่องราวเกียวกับ DNA นับตั้งแต่การค้นพบรูปร่างเมื่อ 60 ปีก่อน และนอกจากการต่อยอดเพื่อค้นคว้าเรื่องมะเร็งแล้ว ในลำดับต่อไปจะมีการค้นคว้าเพื่อนำมาใช้กำจัดเซลล์เนื้องอกด้วย

โมเลกุลใหญ่ๆ ของดีเอ็นเอประกอบด้วยข้อมูลทางพันธุกรรมที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ โดยรหัสของมันเกิดจากการเรียงตัวของหน่วยเคมีที่เรียกว่า 'เบส' สี่ชนิดคือ อะดีนีน (ตัวย่อ A) ไซโทซีน (C) กวานีน (G) และไทมีน (T) ก่อให้เกิดเป็นโครงสร้างพื้นฐานของโครโมโซม ทีมวืจัยของชังการ์พบว่าเมื่อพวกมันมีเบสกวานีน (G) อยู่เป็นจำนวนมากพวกมันจะแตกตัวจากเกลียวคู่กลายเป็นสี่เกลียวที่มีการยึดตัวอย่างแน่นหนาระหว่างโมเลกุลดีเอ็นเอ


เรียบเรียงจาก

Fresh twist to the DNA story signals major cancer breakthrough, The Independent, 20-01-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'กรมเจ้าท่า' ย่องเงียบขุด 'ลำพะเนียง' ชาวบ้านขวาง บี้ไม่มีแบบแปลนไม่ให้ขุด!

Posted: 21 Jan 2013 06:43 AM PST

ชาวบ้านร้อง 'กรมเจ้าท่า' เข้าขุดลอกลำน้ำและที่ดินริมตลิ่ง บริเวณลำน้ำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ชาวบ้านเจ้าของที่ดินขัดขวางและให้ยุติการขุดลอก ชี้ไม่มีแบบแปลนการขุดจะไม่ให้ดำเนินการเด็ดขาด

 
 
วันที่ 20 ม.ค.56 เวลาประมาณ 13.00 น. เครื่องจักรของผู้รับเหมาขุดลอก ที่ว่าจ้างโดยกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี หรือ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินการขุดลอกขยายลำน้ำลำพะเนียงและที่ดินบริเวณริมตลิ่ง ในเขต ต.บ้านขาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ตามโครงการปีงบประมาณ พ.ศ.2555 โครงการจ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศ ลำน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ได้เข้าไปขุดลอกสร้างความเสียหายให้แก่ที่ดินของชาวบ้าน
 
ผู้สื่อข่าวในพื้นที่รายงานว่า เครื่องจักรของผู้รับเหมาประกอบด้วยรถแบ๊กโฮจำนวน 3 คัน ได้ขุดลอกลำน้ำจนเลยไปยังที่ดินของ นางอุทัยวรรณ์ พรังสาลี ชาวบ้าน ต.บ้านขาม อ.เมืองหนองบัวลำภู ทำให้ไม้ยืนต้น อาทิเช่น ยูคาลิปตัส ต้นสะแก ต้นมะขาม ฯลฯ ที่ปลูกไว้เพื่อรักษาหน้าดินไม่ให้ริมตลิ่งทรุด ถูกโค่นล้มได้รับความเสียหาย
 
นอกจากนี้ยังมีการขุดหน้าดินริมตลิ่งเดิมเพื่อปรับระดับตลิ่งเป็น 2 ชั้นขั้นบันได มีความสูงจากลำน้ำกว่า 20 เมตร เข้าไปในที่ดินของนางอุทัยวรรณ์ประมาณ 100 เมตร ต่อมาทางนางอุทัยวรรณ์และสามีได้เข้าห้ามปรามก่อนที่จะขยายเข้าไปยังที่ดินส่วนอื่นๆ จากนั้นมีการพูดคุยชี้แจงข้อมูล จนกระทั่งผู้เข้าควบคุมงานจากกรมเจ้าท่ายอมยุติการขุดลอก พร้อมกับขอโทษและยินยอมเกลี่ยดินริมตลิ่งคืนดังเดิม
 
นางอุทัยวรรณ เจ้าของที่ดินที่ถูกรุกล้ำในครั้งนี้ กล่าวว่า ช่วง 2 วันที่ผ่านมาเห็นฝ่ายสำรวจพื้นที่ของกรมเจ้าท่าขับรถกระบะเข้ามายังที่ดินของตน แต่ไม่ได้มีการมาพูดคุยและสอบถามใดๆ แล้ววันนี้ก็มีเหตุการณ์ขุดลอกเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลใดๆ พร้อมระบุว่าจะยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมเจ้าท่าว่าที่ดินของตนเองไม่ยินยอมให้มีการขุดลอกอีก เพราะหวั่นเกรงผลกระทบที่จะตามมาภายหลัง
 
"จะเข้ามาทำอะไรไม่เคยบอกเราเลยสักครั้ง แอบทำเหมือนโจร พอทำเสร็จก็ทิ้งความเสียหายไว้ให้เรา ที่ผ่านมาทั้งตนเองและกลุ่มอนุรักษ์ลำพะเนียงฯ ซึ่งตนเป็นสมาชิกอยู่ ทำหนังสือถึงหลายครั้งแล้วว่าจะไม่ยอมให้ขุดลอก ถ้าไม่มีแปลนการขุดให้เราดูว่าขุดกว้าง ยาวเท่าไหร่ พวกเรากลัวผลกระทบเหมือนครั้งที่แล้ว ทุกวันนี้เอาน้ำจากลำพะเนียงมาใช้ลำบากอยู่แล้วเพราะความสูงชัน กรมเจ้าท่ายังมาขุดให้มันสูงขึ้นไปอีก ทำแบบนี้ไม่ได้ประโยชน์แน่ๆ" นางอุทัยวรรรณ์กล่าว
 
ด้านตัวแทนผู้ควบคุมงานจากกรมเจ้าท่า ชี้แจงต่อเจ้าของที่ดินว่า ได้รับอนุญาตจากกำนันในพื้นให้เข้ามาขุดลอกบริเวณที่ดินบริเวณนี้ได้ แต่เมื่อมาถึงพื้นที่แล้วเจ้าของที่ดินไม่ยินยอมก็จะยุติการขุดลอกตามที่เคยตกลงกับทางกลุ่มชาวบ้านไว้ พร้อมทั้งจะปรับที่ดินที่ขุดขยายไปให้คืนดังเดิม
 
 
ทั้งนี้ โครงการจ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศ ลำน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า มีระยะการขุดลอกขยายลำน้ำตั้งแต่ บ.ทานตะวัน ต.หนองบัว – บ้านโคกกลาง ต.ป่าไม้งาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู รวมระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร
 
ช่วงก่อนดำเนินโครงการขุดลอก ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู และชาวบ้านที่มีที่ดินติดลำน้ำพะเนียงได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมเจ้าท่าขอให้มีการชะลอและยุติการขุดลอก เพราะไม่ต้องการได้รับผลกระทบดังเช่นเมื่อ ปี2547 ที่กรมชลประทานเข้ามาดำเนินการจนสร้างผลกระทบ อาทิเช่น การสูญเสียที่ดิน ตลิ่งทรุดและพังทลาย และคันดินที่สูงจนไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการเกษตรได้ ฯลฯ
 
อีกทั้ง ทางกรมเจ้าท่าได้เคยมีการพูดคุยและตกลงว่าจะไม่เข้าดำเนินการ ในส่วนที่ดินของผู้ที่ไม่ยินยอมให้ขุดลอก แต่กลับมีเหตุการณ์เข้าขุดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาตดังกล่าวเกิดขึ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินทำกินเทือกเขาบูโด

Posted: 21 Jan 2013 06:21 AM PST

                เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556  ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางอังคณา นีละไพจิตร  นางจิราพร บุนนาค   นางสาวพรเพ็ญ เกียตริขจร  นายดอรอแม  ดือราแม อนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมประชุมกับประชาชนในพื้นที่อำเภอบาเจาะ  จังหวัดนราธิวาส ณ ศูนย์บริการเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  ตำบลปะลุกาสาเมาะ  อำเภอบาเจาะ  จังหวัดนราธิวาส เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงในกรณีประชาชนร้องเรียนว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านสิทธิชุมชน และที่ดินทำกิน  สืบเนื่องจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2508  และการประกาศพระราชกฤษฎีกาอุทยานแห่งชาติ  เทือกเขาบูโด- สุไหงปาดี มีผลกระทบต่อที่ทำกินของชาวบ้านครอบคลุม  พื้นที่ 83 หมู่บ้าน 25 ตำบลในเขต 9 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินและไม่สามารถเข้าไปตัดโค่นต้นยางพาราที่หมดอายุเพื่อปลูกทดแทนใหม่  ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 เห็นชอบแนวทางการตัดโค่นต้นยางพาราที่หมดอายุเพื่อปลูกทดแทนใหม่ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ ๔ ของพื้นที่เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเอกสารสิทธิของชาวบ้านที่เดือดร้อน แต่กรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่าและพันธุ์พืชดำเนินการล่าช้าในการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

                นายดอรอแม  ดือราแม อนุกรรมการฯ และปราชญ์ชาวบ้าน ได้นำเสนอข้อมูลรากเหง้าปัญหาของสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบ้านว่า " พื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี ตามหลักฐานของกระทรวงมหาดไทย ชาวบ้านเข้าไปทำกินมาก่อน 300 กว่าปีแล้ว ก่อนมีประกาศเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ทางการได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎรซึ่งถือครองสิทธิ์ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี โดย ศอ.บต.ได้มอบให้อุทยานแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการสำรวจตรวจสอบเอกสารสิทธิการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และพิสูจน์สิทธิ์ หากผู้ครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติฯ มีเอกสารสิทธิ์ที่ชอบด้วยกฎหมายก็สามารถตัดโค่นต้นยางพาราที่หมดอายุ และปลูกทดแทนได้ แต่วันนี้การดำเนินการดังกล่าวมีความล่าช้ามาก"

                อาหะมะ (ผู้ร้อง) ได้กล่าวว่า  การแก้ปัญหานั้นรัฐให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ มาตั้งแต่ปี 2549 แต่วันนี้ล่วงเลยมาถึง 7 ปีแล้ว ประชาชนยังไม่เห็นความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด  พื้นที่ของอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสต้องการให้เป็นพื้นที่นำร่องของการแก้ปัญหา  และจะส่งผลให้พื้นที่ของ 9 อำเภอได้รับการแก้ปัญหาด้วย หากรัฐแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องที่ดินทำกินให้ประชาชนได้ รัฐจะได้รับความมั่นใจจากประชาชนมากขึ้นและต้องการนำเสนอปัญหาให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ช่วยเร่งดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของชาวบ้าน ณ ที่นี้เสบียงอาหารของชาวบ้านอยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติที่ประกาศทับสิทธิ์ของชาวบ้าน แต่เมื่อรัฐมาปิดกั้นประชาชนก็เดือดร้อน นายอาหะมะกล่าวในที่สุด

                ต่อจากนั้น ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ พร้อมคณะได้เดินทางเข้าเยี่ยมประชาชนผู้เดือดร้อน  ณ วัดเชิงเขา หมู่ 4 ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ได้รับทราบความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยแก้ปัญหาในเรื่องที่ดินทำกิน และได้นำคณะอนุกรรมการฯ ศึกษาพื้นที่เชิงเขาบูโด -
สุไหงปาดี ที่มีสวนยางพาราของชาวบ้านที่ปลูกไว้เป็นจำนวนมาก

                ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ กล่าวกับประชาชนที่มาร้องเรียนว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชขนแห่งชาติ จะนำข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านไปพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา และขอให้เครือข่ายในชุมชนร่วมกันจัดทำข้อมูล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิในเบื้องต้น และจะเร่งนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้สำนักนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบติดตามเร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรี ให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านสิทธิในที่ดินทำกินอย่างเร่งด่วน และจะจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องสิทธิที่ดินทำกินและสิทธิชุมชนในภาพรวมต่อไป  อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการฯ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าร่วมประชุมเพื่อสอบถามข้อมูลรวมถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา ในวันที่ 22 มกราคม 2556

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิพากษ์ 'ประกันสังคม': กรรมการที่ขาดความรับผิดชอบ ตอนที่ 2

Posted: 21 Jan 2013 06:14 AM PST

ต่อจากความเดิมจากตอนที่แล้วชี้ให้เห็นปัญหากรรมการประกันสังคมที่ไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริงของผู้ประกันตน และต่อไปจะชี้ให้เห็นถึงความโบราณของกฎหมายประกันสังคม

กฎหมายประกันสังคมไม่ได้มีการกล่าวถึงความขัดแย้งของผลประโยชน์ หรือคุณสมบัติที่ไม่สมควรของกรรมการและอนุกรรมการต่างๆ สปส. เองก็มิเคยใส่ใจที่จะมีระเบียบในเรื่องความขัดแย้งของผลประโยชน์ หรือการมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งๆ ที่เป็นกองทุนที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในประเทศ เงินสะสมกองทุนกำลังจะถึง 1 ล้านล้านบาทในอีกไม่ช้า

ย้ำอีกครั้งเราให้คน 5 คน ที่เป็นตัวแทนของคน 3 แสนคน มาดูแลคุณภาพชีวิตคนกว่า 10 ล้านคน ที่สะสมเงินไว้เกือบ 1 ล้านล้านบาท เพื่อหวังว่าจะได้ใช้ตอนแก่ชรา คน 5 คนนี้มีความสามารถ มีความรับผิดชอบ และมีจริยธรรมเหมาะสมกับงานหรือไม่

กรรมการหรืออนุกรรมการที่ถูกคัดเลือกเข้ามามีแนวโน้มที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนมากกว่าการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกันตน ในขณะที่ตัวแทนฝ่ายรัฐเองก็ไม่มีแรงจูงใจใดๆ ที่จะทำให้เกิดการบริหารจัดการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกรรมการมีดังนี้ (ชื่อสมมุติ แต่เหตุการณ์จริง)

นาย ก. ซึ่งเป็นกรรมการที่เป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง จัดตั้งบริษัท โปร่งใสไร้ทุจริต จำกัด ในปี 2543 เพื่อรับบันทึกข้อมูลให้สำนักงานประกันสังคม ในการประมูลงาน จ้างบันทึกข้อมูลเงินสมทบตามแบบ สปส.1-10 จำนวน 5 ครั้ง ได้รับการจัดจ้างทั้งหมด 21.8 ล้านบาท

ที่ผ่านมามีกรรมการแพทย์หลายท่านเป็นเจ้าของ ผู้ถือหุ้น หรือกรรมการ โรงพยาบาลเอกชน ที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งกรรมการแพทย์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดอัตราเหมาจ่ายรายหัวให้แก่โรงพยาบาลคู่สัญญาด้วย

เคยมีนักวิเคราะห์กล่าวว่า การเพิ่มวงเงินค่ารักษาแก่ผู้ประกันสังคม 4 รายการ คือค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร ค่าทันตกรรม และค่ารักษากรณีทุพพลภาพ รวมทั้งเพิ่มสิทธิ 2 รายการ คือ การใส่รากฟันเทียมและการรักษาโรคจิต ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตราเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5% จะส่งผลดีต่อกำไรของหุ้นโรงพยาบาล ABC

การบริหารจัดการแบบขาดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ส่วนหนึ่งก็สามารถเชื่อมโยงไปกับความโบราณของกฎหมาย เช่น มาตรา 24 ของ พ.ร.บ. ประกันสังคม ที่ให้คณะกรรมการอาจจัดสรรเงินกองทุนไม่เกินร้อยละสิบของเงินสมทบของแต่ละปีเพื่อจ่ายค่าเบี้ยประชุม เบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงาน ในกรณีที่เงินกองทุนไม่พอจ่ายให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนหรือเงินทดรองราชการให้ตามความจำเป็น

กรรมการหรือแม้แต่ข้าราชการหลายท่านตีความกฎหมายว่า ในอนาคตถ้าเงินกองทุนประกันสังคมลดลงจนไม่พอจ่ายเงินบำนาญชราภาพ (อีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า) รัฐบาลก็ต้องเข้ามาช่วย ซึ่งแท้จริงการที่รัฐจะทดรองจ่ายให้ตามความจำเป็น ไม่ได้รับรองเลยว่ารัฐจะช่วยอุดหนุนการขาดดุลของกองทุนทั้งหมด ความเชื่อเช่นนี้เป็นสถานการณ์เหมือนกับการมีการค้ำประกันเงินฝาก 100% เมื่อผู้บริหารกองทุนมีความเชื่อว่ามีการรับประกันจากรัฐในการช่วยเหลือทั้ง 100% ที่ขาดดุล (หรือเชื่อว่าอีก 30 ปีข้างหน้าฉันไม่ได้เป็นกรรมการแล้วซึ่งเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล) ก็ไม่สนใจที่จะบริหารจัดการเงินกองทุน ให้มีประสิทธิภาพ ไม่สนใจอนาคตของกองทุนว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงใดและควรจะแก้ปัญหาอย่างไร

รัฐบาลมักติดหนี้การจ่ายเงินสมทบแก่กองทุนประกันสังคมมาโดยตลอด เราหวังได้อย่างไรว่ารัฐจะมีเงินช่วยเหลือเมื่อกองทุนมีปัญหาในอนาคต

จำนวนเงินร้อยละสิบของเงินสมทบนั้นเป็นเงินมหาศาล ในปัจจุบันคิดเป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท มากพอกับเงินงบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ทั้งกระทรวง คณะกรรมการชุดปัจจุบันพยายามหาทางถลุงยังไงก็ใช้ไม่ถึง ก็เลยเสนอแก้กฎหมายให้สามารถใช้เงินนี้ในการ "พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน" ด้วย ต้องติดตามกันต่อไปว่าการเสนอแก้กฎหมายชั้นเทพนี้จะผ่านไฟเขียวหรือไม่

เงินบริหารจัดการจำนวนมากนี้คณะกรรมการและข้าราชการบางท่านก็หาทางละเลงกันเละเทะ (ข้าราชการส่วนใหญ่ของ สปส. ยังเป็นคนดีอยู่) งบเช่าระบบคอมพิวเตอร์และทำฐานข้อมูล 2,300 ล้านที่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ก็มาจากกองนี้ ระบบคอมพิวเตอร์ที่ล่มรายวันอยู่ทุกวันนี้นี่แหละ ละเลงเละเทะจึงมิใช่วาจาที่เกินเลยไป

จากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่า 1 ล้านบาทขึ้นไปของสำนักงานประกันสังคมตั้งแต่ปี 2547-2553 เป็นการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล คอมพิวเตอร์ เครือข่าย และไอทีต่างๆ ประมาณ 4,860 ล้านบาท ค่าซ่อมแชมตึกและอาคาร 314 ล้านบาท ค่าจ้างพิมพ์บันทึกข้อมูล 218 ล้านบาท ค่าซื้อรถยานพาหนะ 70 ล้านบาท

แม้ว่าจะมีการลงทุนในระบบไอทีไปจำนวนมากมหาศาล แต่ สปส. ก็ยังคงใช้การนำข้อมูลเข้าแบบเก่า คือ ให้นายจ้างส่งแบบฟอร์มรายชื่อผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเป็นกระดาษ และต้องจ้างบริษัทในการพิมพ์ข้อมูลเข้า และมีบริษัทที่ได้รับงานประจำที่มีเจ้าของเป็นกรรมการฯ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และที่เท่ห์กว่านั้น คณะอนุกรรมการพิจารณาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยังมีอนุกรรมการเป็นเจ้าของบริษัทที่เป็นคู่ค้ากับ สปส. อีกด้วย

อีกกรณีหนึ่งซึ่งสะท้อนถึงการจัดซื้อจัดจ้างบริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างไม่มีประสิทธิภาพคือ เมื่อสิ้นปี 2546 คณะกรรมการได้อนุมัติการจัดสรรเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดหาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการประกันสังคมกรณีว่างงาน จำนวน 394 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ระบบทะเบียนการประกันว่างงานหรือเงินสมทบประเภทอื่นๆ ก็สามารถใช้ระบบเดียวกันได้อยู่แล้ว การมีประกันว่างงานมิได้ต้องการระบบสารสนเทศใหม่เลย การอนุมัติงบ ณ สิ้นปีก็มีลักษณะทิ้งทวน เพราะเมื่อเริ่มปี 2547 ซึ่งมีการเลือกกรรมการชุดใหม่เข้ามาก็จะไม่ติดตามถามเรื่องเก่า และทำให้ปี พ.ศ. 2547 ก็มีงบภาระผูกพันที่อนุมัติไปในปี 2546 ถึง 590 ล้านบาท

ตัวอย่าง รายการอนุมัติเงินของคณะกรรมการเกี่ยวกับระบบข้อมูลและเทคโนโลยี เช่น

ปี 2547 โครงการจัดหา/จัดเช่า/ติดตั้ง/บำรุงรักษา CPU เมนเฟรม และระบบปฏิบัติการ OS/390, z/VM และ Linux เพื่อทดแทนและเตรียมความพร้อมสำหรับการรองรับสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศระบบเปิดของสำนักงานประกันสังคม 356 ล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายและอุปกรณ์สำรอง 350 ล้านบาท

ปี 2549 การเช่าใช้โปรแกรมลิขสิทธิ์ OS/390 54 ล้านบาท

ปี 2550 โครงการจัดหาและดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงาน 2,894 ล้านบาทการดำเนินการโครงการเช่าและใช้บริการสื่อสารข้อมูล 360 ล้านบาท

ปี 2553 อนุมัติโครงการเช่าระบบบริการข้อมูลศูนย์บริการข้อมูล 1506 พร้อมจัดหาบุคลากรในการให้บริการ 93 ล้านบาท (อนุมัติก่อหนี้ผูกพันโครงการเช่าระบบบริการข้อมูลศูนย์บริการข้อมูล 1506 จำนวน 560 ล้านบาท) ค่าเช่าและใช้บริการสื่อสารข้อมูล ต่อเนื่องสัญญาเดิมและเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ ต่อเนื่องสัญญาเดิม ค่าเช่าเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ประมวลผลระดับสูง 48 ล้านบาท ค่าเช่า/จ้าง ระบบคอมพิวเตอร์และบำรุงรักษาระบบสารสนเทศต่อเนื่องสัญญาเดิม 56 ล้านบาท ปรับปรุงห้องปฎิบัติการและห้องเครื่องศูนย์คอมพิวเตอร์ 32 ล้านบาท

ตัวอย่าง การใช้จ่ายเงินบริหารจัดการอย่างไม่มีประสิทธิภาพอีกเรื่อง คือ การไปดูงานต่างประเทศ ซึ่งโดยหลักการแล้วการดูงานที่เป็นประโยชน์สามารถนำมาพัฒนาการบริหารจัดการได้จริงเป็นสิ่งที่ดี แต่การบริหารจัดการของคณะกรรมการแบบที่เราเห็นเป็นประจักษ์นั้นช่วยบอกว่าการไปดูงานต่างประเทศของกรรมการค่อนข้างไร้ประโยชน์ ในขณะที่การไปอบรมปรับเพิ่มความรู้ให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานจริงกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากกรรมการเท่าที่ควร

ตารางข้างล่างเป็นแค่บางส่วนของการไปดูงานต่างประเทศเท่านั้น

ปีที่ดูงาน

ประเทศ

 อนุมัติจำนวนเงิน

2547

เกาหลี

3.8 ล้านบาท

2547

เยอรมนี ฝรั่งเศส

3.2 ล้านบาท

2548

นอร์เวย์ เดนมาร์ก

ไม่มีข้อมูล

2549

สเปน โปรตุเกส

ไม่มีข้อมูล

2550

สหรัฐอเมริกา

6.4 ล้านบาท

2550

ไม่มีข้อมูลประเทศ ดูงาน โดย คณะกรรมการอุทธรณ์

5 ล้านบาท

2550

ไม่มีข้อมูลประเทศ ดูงานโดย คณะกรรมการแพทย์

4 ล้านบาท

2551

อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี

7.5 ล้านบาท

2552

สหรัฐอเมริกา เยอรมันนี ตุรกี กรีซ เช็ค ฮังการี

ไม่มีข้อมูล

2552

สหรัฐอเมริกา

ไม่มีข้อมูล

2553

เยอรมนี สโลวีเนีย โครเอเชีย

ไม่มีข้อมูล

การใช้จ่ายเพื่อการประชาสัมพันธ์ เป็นอีกเรื่องที่ไม่โปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลก็ไม่มีเช่นกัน

โดยรวมแล้วการใช้เงินที่มาจากเงินสมทบนี้ขาดกลไกการตรวจสอบที่ดี กรรมการและข้าราชการระดับแกนนำสามารถละเลงได้ หนทางเดียวที่กรรมการจะแสดงความรับผิดชอบมากขึ้นในการใช้เงินส่วนนี้ คือ การเปิดเผยรายงานการประชุมของกรรมการและอนุกรรมการทุกชุดโดยเฉพาะเรื่องการอนุมัติเงินบริหารจัดการที่มาจากเงินสมทบ ให้ผู้ประกันตนรับทราบ ผ่านช่องทางเว็บไซด์หรือเปิดเผยแก่สื่อสาธารณะ

ขอให้สังคมช่วยกันคนละไม้คนละมือช่วยกัน อย่าลืมว่าแม่ค้าทอนเงินให้เราไม่ครบไปหนึ่งบาท เรายังทวงคืน เงินที่ถูกละเลงหายไปกับการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพมันมากกว่านั้นอีก แม้เงินนี้ท่านอาจจะไม่ได้ใช้ แต่ลูกหลานหรือญาติของท่านจะได้ใช้แน่นอน.

 

อ่าน วิพากษ์ 'ประกันสังคม': กรรมการที่ขาดความรับผิดชอบ ตอนที่ 1

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิพากษ์ 'ประกันสังคม': กรรมการที่ขาดความรับผิดชอบ ตอนที่ 1

Posted: 21 Jan 2013 06:05 AM PST

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามักจะได้ยินเสียงบ่นเรื่อง เว็บไซด์ของประกันสังคมล่ม ฐานข้อมูลใช้งานไม่ได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นปัญหาต่อการบริหารจัดการระบบประกันสังคมและกระทบต่อผู้ประกันตน

ปัญหาที่ผู้ประกันตนสัมผัสได้ในระยะสั้นนี้ เป็นแค่ "ของโชว์หน้าร้าน" เท่านั้น ข้างในร้านมีปัญหากองให้ดูอีกมากมาย มีทั้งปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แล้วแต่จะเลือก

ปัญหาที่กองอยู่ในร้านส่วนหนึ่งและส่วนใหญ่มาจาก "คณะกรรมการประกันสังคม" ที่ขาดความสามารถ ขาดความรับผิดชอบต่อผู้ประกันตน และขาดจริยธรรม คณะกรรมการทุกท่านอาจจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้ และคณะกรรมการบางท่านอาจจะขาดครบทั้งสามอย่างก็เป็นได้ ซึ่งเราประเมินได้จากคำพูดของอดีตเลขาฯ ประกันสังคมท่านหนึ่งที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า "เวลายกมือไหว้บางคนยังต้องเก็บนิ้วไว้หนึ่งนิ้วเลย"

คณะกรรมการประกันสังคม ควรเป็นผู้ที่มีเกียรติและควรได้รับเกียรติตอบแทน เพราะเขาดูแลตัดสินความอยู่ดีมีสุขของคนไทยกว่า 10 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานของประเทศ แต่แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร โปรดพิจารณา

ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม ได้กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม มาจากภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 ท่าน และรัฐมนตรีสามารถตั้งที่ปรึกษาได้อีก 5 ท่าน

ถ้าคำนวณสัดส่วนกรรมการฝ่ายลูกจ้างต่อจำนวนผู้ประกันตน พบว่ากรรมการฝ่ายลูกจ้างหนึ่งคนเป็นตัวแทนของผู้ประกันตน 2 ล้านคน สัดส่วนความรับผิดชอบต่อหัวของกรรมการฝ่ายลูกจ้างนั้นมากเกินกว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยซ้ำ

คณะกรรมการที่มาจากภาครัฐมีปลัดกระทรวงแรงงาน เลขาสำนักงานประกันสังคม และผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงบประมาณ ตามมารยาทของข้าราชการไทย มักเป็นว่าผู้แทนนอกกระทรวงแรงงานมักไม่อยากก้าวก่ายหรือขัดแข้งขัดขาการทำงานของสำนักงานประกันสังคมซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน การที่ผู้ประกันตนหวังพึ่งผู้แทนนอกกระทรวงว่าจะมีการถ่วงดุลระหว่างกระทรวงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกันตนก็เป็นไปได้น้อยมาก

ส่วนการคัดเลือกกรรมการฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ก็มีจุดอ่อนหลายประการ

ประการแรก กฎหมายมิได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการที่เป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่จะกำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการคัดเลือกของประธานและกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐอื่นไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือเลิกจ้างเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่าทุจริตต่อหน้าที่ และต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง

ประการที่สอง กฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีในการคัดเลือกผู้แทนทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และ โปร่งใส ทำให้ที่ผ่านมาผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างจำนวนหนึ่ง ขาดความรู้ความสามารถที่จะมาทำหน้าที่กรรมการได้ตามที่กฎหมายกำหนด

ประการที่สาม  ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างยังเป็นคนเดิมๆ ผู้แทนบางท่านได้เป็นกรรมการถึง 3 วาระติดต่อกันซึ่งผิดต่อมาตรา 10 ของพ.ร.บ. ประกันสังคม ที่กล่าวว่ากรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจะได้รับการแต่งตั้งอีกเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

ในช่วงปี 2533-2553 มีกรรมการส่วนนายจ้าง ลูกจ้างและที่ปรึกษา ที่กระทำผิดกฎหมายนี้จำนวน 9 ท่านด้วยกัน  

นอกจากนี้ วาระของคณะกรรมการชุดที่ 9 ก็มีเวลาเกิน 2 ปี (20 ก.พ. 49 – 9 มิ.ย. 52) ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และผู้แทนบางท่านยังเป็นผู้ลงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ผู้แทนเหล่านี้ สามารถดำรงตำแหน่งได้อย่างยาวนานนั้น เป็นเพราะว่าผู้แทนเหล่านี้สามารถยึดกุมการนำในสภาองค์การลูกจ้าง 'ขนาดใหญ่' ได้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่สำนักงานประกันสังคมยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติที่เชื่อมโยงกับ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ที่นับว่าสภาองค์การลูกจ้าง เท่านั้นที่เป็นตัวแทนผู้ใช้แรงงานที่ 'ชอบธรรม' ในระดับชาติของขบวนการแรงงานทั้งประเทศ เมื่อ สปส. ยึดติดว่าผู้นำจากสภาองค์การฯ เท่านั้นที่เป็นตัวแทนแท้จริงของแรงงานไทย ทำให้ สปส. มีตัวบุคคลที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าเป็นกรรมการไตรภาคีน้อยมาก ด้วยทางเลือกที่จำกัดเช่นนี้เองที่อาจทำให้ตัวแทนแรงงานในกรรมการไตรภาคีของ สปส. มีคุณภาพที่จำกัด ทั้งในแง่ความรู้ ความสามารถ และความโปร่งใสในแง่ผลประโยชน์ส่วนบุคคล 

ในปัจจุบันตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง เป็นแค่ตัวแทนของผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนไม่เกิน 3 แสนคนที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ซึ่งคิดเป็น 3% ของผู้ประกันตนเท่านั้น

และยังไม่นับปัญหาที่สภาองค์การลูกจ้าง 'ขนาดใหญ่' หลายแห่งต่างประสบกับข้อกล่าวหาว่า มีสมาชิกที่เป็นสหภาพแรงงาน 'กระดาษ' จำนวนมาก

สภาองค์กรนายจ้างบางสภาก็เข้าข่ายเป็นสภากระดาษในลักษณะเดียวกัน

ในปี พ.ศ. 2552 กระทรวงแรงงานได้ประกาศระเบียบเกี่ยวกับการคัดเลือกตัวแทนลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคีของภาครัฐ โดยให้มีการเลือกตั้ง แต่ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งก็ต้องเป็นสมาชิกสหภาพ หรือสภา ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เช่นเดิม ในที่สุดแล้วเราก็จะได้ผู้แทนนายจ้างลูกจ้างหน้าตาเดิมๆ แต่เราจะเสียเงินเพื่อจัดการเลือกตั้งมากขึ้น เจริญดีมั๊ยกระทรวงแรงงานของไทย

ปัญหาเรื่ององค์ประชุมของกรรมการก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต่อเนื่องมาจากโครงสร้างและความสามารถไม่เต็ม ของคณะกรรมการ

คณะกรรมการประกันสังคมมีทั้งหมด 15 ท่าน ดังนั้น การมีกรรมการร่วมประชุม 8 ท่านก็สามารถประชุมตัดสินโครงการสำคัญๆ ที่เป็นผลเสียแก่กองทุนได้ ถ้ากรรมการฝ่ายลูกจ้างรวมตัวกัน 5 ท่านก็สามารถตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่ได้ เช่น

เมื่อสิ้นปี 2551 เป็นช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ได้เสนอให้ สปส. ใช้เงินกว่า 1,000 ล้านบาท ซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตน 9 ล้านคน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับอะไรจากประกันสังคม ปรากฏว่ากรรมการฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง จับมือกันเห็นด้วยและยังพาดพิงไปถึงโครงการคอมพิวเตอร์ 2,300 ล้านบาท (เดิมเป็น 2,800 ล้านบาท) ว่าไม่ถึงมือผู้ประกันตนแต่โครงการนี้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ตรงๆ เมื่อให้มีการลงคะแนนเสียงลับจากผู้เข้าประชุมทั้งหมด 8 ท่าน มี 5 ท่านที่เห็นด้วย มี 1 ท่านไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง 1 ท่าน อย่างไรก็ดี โครงการซื้อข้าวสารนี้ได้ถูกเลิกไปในภายหลัง

ตามเงื่อนไขของกฎหมายทำให้คนเพียง 5 คนก็สามารถกำหนดคุณภาพชีวิตของคนกว่า 10 ล้านคนได้เลย กฎหมายประกันสังคมของไทยมันโบราณเกินไปกับสถานการณ์ปัจจุบันเสียแล้ว

 

(ติดตาม กรรมการที่ขาดความรับผิดชอบ ตอนที่ 2)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลเริ่มสืบพยานคดี 'จอนและเพื่อน' ปีนสภาต้านกฎหมาย สนช.

Posted: 21 Jan 2013 05:59 AM PST

ศาลอาญากำหนดสืบพยานคดีปีนรั้วรัฐสภาเหตุจำเลย 10 คน ร่วมกับประชาชนคัดค้าน สนช ที่ออกกฎหมายกระทบสิทธิประชาชน ผลพวงการรัฐประหารปี 2549

21 มกราคม 2556 รายงานข่าวจากนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า ศาลอาญากำหนดสืบพยานคดีหมายเลขดำที่ อ. 4383/2553 ระหว่าง พนักงานอัยการโจทก์ นายจอน อึ้งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน  เป็นจำเลยกรณีปีนรั้วรัฐสภาเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่กระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน นัดพิจารณาวันที่ 22 มกราคม 2556 เวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก  

ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย รวม  27 นัด  เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม  ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2556[1]  โดยการสืบพยานโจทก์นัดแรก  โจทก์จะนำพยานที่ดำรงตำแหน่งรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในวันเกิดเหตุ เข้าเบิกความต่อศาล  ส่วนการสืบพยานของจำเลยจะมีการนำนักวิชาการจากหลายสถาบันมาให้ข้อมูลหลักการใช้สิทธิของประชาชาชนในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ  โดยจะให้ความเห็นเรื่องความชอบธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการปฏิบัติหน้าที่ช่วงก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550
 
คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งมีการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553  ในการดำเนินกระบวนพิจารณา มีการโต้แย้งกันในศาลระหว่างจำเลย ทนายความจำเลย กับพนักงานอัยการและศาล ซึ่งเป็นกลไกในกระบวนการยุติธรรมอย่างเข้มข้น  จนเป็นที่สนใจติดตามจากกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน และผู้สนใจเข้ารับฟังการพิจารณาคดี ทั้งในและต่างประเทศ  ซึ่งในการพิจารณาคดีในครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการพิจารณาและสังเกตการณ์คดีจำนวนมาก   เพราะเห็นความสำคัญของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามมาตรา 63  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  ที่บัญญัติคุ้มครองไว้  อีกทั้งยังเป็นการใช้สิทธิพลเมืองในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ  ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ระหว่างจำเลยที่อ้างว่า การกระทำของตนและประชาชนได้กระทำไปด้วยความสุจริตและยึดมั่นต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย  และห่วงใยในผลที่จะเกิดขึ้นกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการพิจารณากฎหมายของ สนช.  กับข้อกล่าวหาของโจทก์ที่อ้างว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการยุยงให้ประชาชนล้มล้างกฎหมายบ้านเมือง  บุกรุก  ก่อให้เกิดความวุ่นวาย  อันเป็นการกระทำที่กฎหมายบ้านเมืองกำหนดว่าเป็นความผิดนั้น  ศาลซึ่งเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการยุติธรรม จะพิจารณาชั่งนำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายอย่างไร  และจะใช้เหตุผลและหลักคิดในการปรับบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญในการทำคำพิพากษาแสดงผลการตัดสินออกมาในลักษณะใด      
 
ทั้งนี้รายละเอียดข้อมูลคดีติดตามย้อนหลังได้ที่  http://www.naksit.org/2012-02-03-08-40-11/2012-02-03-09-22-49/45-2012-02-23-09-24-40/231--10-.html
 
 

ศาลเริ่มสืบพยานคดี 'จอนและเพื่อน' ปีนสภาต้านกฎหมาย สนช.

Posted: 21 Jan 2013 05:58 AM PST

ศาลอาญากำหนดสืบพยานคดีปีนรั้วรัฐสภาเหตุจำเลย 10 คน ร่วมกับประชาชนคัดค้าน สนช ที่ออกกฎหมายกระทบสิทธิประชาชน ผลพวงการรัฐประหารปี 2549

21 มกราคม 2556 รายงานข่าวจากนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า ศาลอาญากำหนดสืบพยานคดีหมายเลขดำที่ อ. 4383/2553 ระหว่าง พนักงานอัยการโจทก์ นายจอน อึ้งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน  เป็นจำเลยกรณีปีนรั้วรัฐสภาเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่กระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน นัดพิจารณาวันที่ 22 มกราคม 2556 เวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก  

ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย รวม  27 นัด  เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม  ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2556[1]  โดยการสืบพยานโจทก์นัดแรก  โจทก์จะนำพยานที่ดำรงตำแหน่งรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในวันเกิดเหตุ เข้าเบิกความต่อศาล  ส่วนการสืบพยานของจำเลยจะมีการนำนักวิชาการจากหลายสถาบันมาให้ข้อมูลหลักการใช้สิทธิของประชาชาชนในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ  โดยจะให้ความเห็นเรื่องความชอบธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการปฏิบัติหน้าที่ช่วงก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550
 
คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งมีการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553  ในการดำเนินกระบวนพิจารณา มีการโต้แย้งกันในศาลระหว่างจำเลย ทนายความจำเลย กับพนักงานอัยการและศาล ซึ่งเป็นกลไกในกระบวนการยุติธรรมอย่างเข้มข้น  จนเป็นที่สนใจติดตามจากกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน และผู้สนใจเข้ารับฟังการพิจารณาคดี ทั้งในและต่างประเทศ  ซึ่งในการพิจารณาคดีในครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการพิจารณาและสังเกตการณ์คดีจำนวนมาก   เพราะเห็นความสำคัญของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามมาตรา 63  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  ที่บัญญัติคุ้มครองไว้  อีกทั้งยังเป็นการใช้สิทธิพลเมืองในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ  ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ระหว่างจำเลยที่อ้างว่า การกระทำของตนและประชาชนได้กระทำไปด้วยความสุจริตและยึดมั่นต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย  และห่วงใยในผลที่จะเกิดขึ้นกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการพิจารณากฎหมายของ สนช.  กับข้อกล่าวหาของโจทก์ที่อ้างว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการยุยงให้ประชาชนล้มล้างกฎหมายบ้านเมือง  บุกรุก  ก่อให้เกิดความวุ่นวาย  อันเป็นการกระทำที่กฎหมายบ้านเมืองกำหนดว่าเป็นความผิดนั้น  ศาลซึ่งเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการยุติธรรม จะพิจารณาชั่งนำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายอย่างไร  และจะใช้เหตุผลและหลักคิดในการปรับบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญในการทำคำพิพากษาแสดงผลการตัดสินออกมาในลักษณะใด      
 
ทั้งนี้รายละเอียดข้อมูลคดีติดตามย้อนหลังได้ที่  http://www.naksit.org/2012-02-03-08-40-11/2012-02-03-09-22-49/45-2012-02-23-09-24-40/231--10-.html
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น