โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ความรู้สึกที่เลยเถิดแบบไปโลดไปเลยของ สมภาร พรมทาต่อ ส.ศิวรักษ์ กรณีเรียกร้องตรวจสอบปฐมปราชิกอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณวิทยาลัย

Posted: 10 Jan 2013 09:47 AM PST

อนุสนธิจากที่"ประชาไท"ได้นำบทความ" ส.ศิวรักษ์:สถาบันสงฆ์" ลงเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2012 โดยที่ส.ศิวรักษ์ได้อ่านบทประกายสำนึกของพ.กิ่งโพธิ์ เรื่อง"เงินกับสมณศักดิ์"ตีพิมพ์ลงในไทยโพสต์ ตามด้วยบทประกายสำนึกของ พ.กิ่งโพธิ์ เรื่อง"ถามมหาจุฬาฯ" ได้เคยตีพิมพ์ลงไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 18 มกราคม 2551 โดยในช่วงนั้น ส.ศิวรักษ์ได้เขียนจดหมายเป็นหนังสือร้องเรียนถึง สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่ หนกลาง( 8 กุมภาพันธ์ 2551) และถึงผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(5 กุมภาพันธ์ 2551) (ที่มา"สิ่งละอันพันละน้อย  ในโอกาส เปิดเรือนร้อยพัน 9 เมษายน 2550 มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป) และบทประกายสำนึก"กระเบื้องเพื่องฟูลอย" ของพ.กิ่งโพธิ์ ซึ่งเขียนกลอนเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อปุจฉา เพื่อจุดประกาย ส.ศิวรักษ์ได้อ่านบทประกายสำนึกของพ.กิ่งโพธิ์ ในฐานะพุทธบริษัทท่านก็ตั้งคำถาม ขยายความต่อและเสนอข้อแนะนำขึ้นมา ส.ศิวรักษ์ เขียนว่า 

" ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะกรุงเทพฯ ซึ่งก็คือ นายกสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเจ้าคณะภาค 1 ตลอดจนเจ้าคณะหนกลาง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของอธิการบดีมหาจุฬาฯว่าถ้าผู้ที่ถูกกล่าวหา เป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ฟ้องหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ และผู้เขียน ถ้าเป็นอลัชชีตามข้อกล่าวหา ก็ควรให้ลาสมณเพศไป แต่ไม่ได้รับคำตอบเอาเลย จึงเขียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งตอบมาว่า ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับอธิกาณ์ของสงฆ์"(ประชาไทย 2012-11-17)

และยังมีบทจุดประกายสำนึกของ พ.กิ่งโพธิ์อื่นๆอีกที่ส.ศิวรักษ์อ้างถึงที่ได้ตีพิมพ์ลงใน ไทยโพสต์ แต่ผมจะไม่ขอกล่าวถึง

จากบทจุดประกายของ พ.กิ่งโพธิ์ดังกล่าว ในฐานะพุทธบริษัท ส.ศิวรักษ์จึงได้ทำจดหมายร้องเรียนไปถึงพระผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ขอให้คณะสงฆ์ตรวจสอบข้อเท็จจริง และสถานะการต้องอาบัติปฐมปาราชิกหรือไม่ของอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณวิทยาลัย(ประชาไทย 2012-11-17) ข้อความนี้ ส.ศิวรักษ์เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า

  1. ได้อ่านประกายสำนึกของ พ.กิ่งโพธิ์ เป็นปุจฉาสถานะการต้องอาบัติปฐมปาราชิกของอธิอการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณวิทยาลัย (อดีต พระธรรมโกศาจารย์ ปัจจุบัน พระพรหมบัณฑิต ชั้นหิรัญบัตร) ในฐานะพุทธบริษัทที่เป็นห่วงพระศาสนาคนหนึ่งพึงกระทำ ส.ศิวรักษ์ได้ทำหนังสือถึงคณะสงฆ์ที่เป็นฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาสอบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากบทประกายสำนึกของพ.กิ่งโพธิ์ปุจฉาขึ้นมา เพื่อตอบข้อเท็จจริงว่า ท่านต้องอาบัติปฐมปราชิกหรือไม่ แล้วเฉลยออกมาให้ปรากฏกระจ่างแจ้งต่อทุกๆฝ่าย
  2. เพื่อให้เป็นไปตามความถูกต้องของกฏ ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ไทยที่ได้ตราไว้(พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2 )พ.ศ.2535) เป็นไปตามหลักพระวินัยและธรรมเนียมประเพณีระบบการปกครองของคณะสงฆ์ไทย พระสงฆ์เมื่อถูกโจทย์อธิกรณ์ คณะสงฆ์จะต้องตรวจสอบ ต้องสอบสวนกัน คือเป็นเรื่องที่คณะสงฆ์จะต้องจัดต้องทำเลย
  3. ส.ศิวรักษ์ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า "ถ้าผู้ที่ถูกกล่าวหา เป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ฟ้องหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ และผู้เขียน ถ้าเป็นอลัชชีตามข้อกล่าวหา ก็ควรให้ลาสมณเพศไป"นี้คือการให้เกียรติและข้อเสนอแนะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

หนังสือที่ส.ศิวรักษ์ร้องเรียนไปลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 ตราบจนถึงปัจจุบันนี้(มกราคม 2556) ส.ศิวรักษ์ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆเลยจากคณะสงฆ์ที่เกี่ยวข้อง นอกจาก จากผู้ตรวจการแผ่นดินและจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ได้ตอบ การไม่ตอบหนังสือ การไม่ตอบจดหมาย หรือการไม่ชี้แจงใดๆเลย ถือว่าเป็นการผิดมารยาทตามหลัก praxis สากลที่เขาปฏิบัติกัน หรือตีความได้อีกทางหนึ่งว่า นี้แสดงถึงความขาดศักยภาพหรือขาดประสิทธิภาพต่อการปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฏ ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ไทยที่ได้ตราไว้(พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505) และขาดมาตรฐานของหลักการบริหารขั้นต้นที่ควรปฏิบัติกัน พูดให้ชัด กฏ ระเบียบการที่ตราประกาศไว้นั้น ไม่มีความหายใดๆเลย

และแล้วสมภาร พรมทาก็ออกมาแสดงความคิดเห็น และตอบโต้ข้อร้องเรียนของส.ศิวรักษ์ ต่อท้ายบทความ ส.ศิวรักษ์ :สถาบันสงฆ์( ประชาไทย 17 พฤศจิกายน 2012) สมภาร พรมทาเขียนว่า

"...การฟังความมาเพียงเท่านั้น ก็เอามาเสนอต่อสาธารณชนทันที แม้ท่านอาจารย์จะไม่สรุปว่าใครผิดหรือไม่ แต่ท่านอาจารย์ก็ทราบว่า ท่านเสียหายในกรณีนี้ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ว่าไปแล้วท่านเหล่านี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะมาต่อกรทางสื่อกับกับท่านอาจารย์ได้ ท่านเป็นพระ ดังนั้นต่อให้ท่านอาจารย์ท้าทายว่า ไม่จริงก็ไปฟ้องศาลซิ ท่านก็ไม่ทำดอกครับ นึกถึงจิตใจของลูกศิษย์ท่านเหล่านี้ซิครับว่าเขาจะคิดอย่างไร"

จากข้อความดังกล่าว สมภาร พรมทาบอกว่า ส.ศิวรักษ์นั้นหูเบา ตรรกะของสมภาร พรมทาคือ การสอบสวน การตรอจสอบผู้กระทำผิดต่อกฏ ผิดต่อระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ และผิดต่อพระวินัย ตลอดทั้งผิดต่อกฏหมายของบ้านเมืองนั้น ขึ้นอยู่กับสถานะของบุคคลผู้นั้น เช่นกรณีนี้ ท่านเป็นพระ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ดังนั้นไปแตะต้องท่านไม่ได้ ทำให้ท่านเสียหาย และยังกระทบจิตใจของผู้เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านอีก ดังนั้น สำหรับสมภาร พรมทา ความผิดถูกของมนุษย์นั้น จะขึ้นอยู่กับ"สถานะ"ของบุคคลผู้นั้น ในที่นี้คือความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของท่าน ท่านเป็นพระสงฆ์และท่านเป็นผู้ที่มีลูกศิษย์ลูกหา

"...ผมเองก็รับรู้มา จากแหล่งเดียวกันกับท่านอาจารย์ และแหล่งอื่นๆที่มากกว่าที่อาจารย์รับรู้มา เมื่อค่อยๆชั่งน้ำหนักดูแล้ว ผมคิดว่ายังไม่เพียงพอที่เราจะเป็นห่วง ผมจึงเงียบ..."

ถือเป็น  a priori ถือเป็นจริยวิธีการของนักวิชาการที่ต้องเปิดเผยที่ไปที่มาของข้อมูล(source)ที่ตัวเองได้อ้างถึง กล่าวคือข้อมูลที่อ้างถึงนั้นจะต้องโปร่งใส สมารถตรวจสอบได้(transparent) มิใช่อ้างขึ้นมาลอยๆ" และแหล่งอื่นๆที่มากกว่าที่อาจารย์รับรู้มา" สมภาร พรมทา ออกมารับและเป็นผู้ตัดสินแทนฝ่ายที่เกี่ยวอย่างเสร็จสรรพ คำถามต่อมาคือ สมภาร พรมทารู้ได้อย่างไรว่าส.ศิวรักษ์ได้ข้อมูลมาจากแหล่งเดียว ได้สอบถามส.ศิวรักษ์หรือไม่ " เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว ผมคิดว่ายังไม่เพียงพอที่เราจะเป็นห่วง ผมจึงเงียบ" ตีความได้ว่า สมภาร พรมทา ตั้งตัวเองเป็นคณะสงฆ์สอบสวนอธิกรณ์เอง หรือตีความได้อีกทาง กรณีนี้ สมภาร พรมทาทำตัวเป็นตำรวจ ทนายความ อัยการและผู้พิพากษาไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ อย่างน้อยก็จากข้อความที่ผ่านสื่อ

"ท่านอาจารย์อาจไม่ทราบว่า ทำไมร้องเรียนไปยังคณะสงฆ์แล้วท่านเงียบ ไม่ตอบกลับท่านอาจารย์มา ท่านไม่ตอบหรอกครับ เพราะพระวินัยให้ดุลยพินิจแก่ท่าน(อนิตสิกขาบท)ว่า ก่อนจะดำเนินการต่อ อุบาสกอุบาสิกาที่ร้องเรียนอธิกรณ์นั้น จะต้องเป็นผู้ที่คณะสงฆ์เชื่อมั่นอย่างไร้ข้อสงสัยว่าหวังดีกับพระศาสนาและเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ ที่ท่านเงียบก็แปลว่าท่านเห็นว่า ท่านอาจารย์สุลักษณ์ไม่เข้าข่าย ผมตีความอย่างนั้น"

จากข้อความดังกล่าว สมภาร พรมทาต้องการสอนส.ศิวรักษ์ (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) และเป็นผู้ตัดสินแทนคณะสงฆ์แบบมีสูตรสำเร็จพกมาในกระเป๋าของตนเองอยู่แล้ว ถึงแม้สมภาร พรมทาจะออกตัวว่า"ผมตีความอย่างนั้น"(ย้ำ) ผมอดชื่นชมความเก่งกล้าสามารถ และความเชื่อมั่นในตนเองของสมภาร พรมทาไม่ได้ ถือได้ว่านี้เป็นการฟันธงต่อส.ศิวรักษ์อย่างที่ผมไม่เคยได้ยินได้อ่านจากที่ไหนมาก่อนเลย (ไม่ว่าจะในความหมายใดๆ) สมภาร พรมทารู้ได้อย่างไร ว่าคณะสงฆ์(ในความหมายของคณะสงฆ์แบบองค์รวม หรือคณะสงฆ์ที่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นคณะปัจเจกบุคคล มีธุระหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะกิจในเรื่องนั้นๆ สมภาร พรมทา ไม่ได้บ่งบอก ) มีความเชื่อ มีความเข้าใจว่าส.ศิวรักษ์ไม่หวังดีต่อพระศาสนา และส.ศิวรักษ์ไม่มีความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ คำใหญ่ๆโตๆอย่างนี้สมภาร พรมทาก็ไม่ได้อธิบายขยายความ และที่คณะสงฆ์เงียบไปนี้(คณะสงฆ์ที่เกี่ยวข้อง หรือควรที่จะเกี่ยวข้องต่อกรณี) เพราะคณะสงฆ์ปล่อยให้สมภาร พรมทาออกรับแทน หรือเพราะคณะสงฆ์ยังไม่มีอะไรตอบ หรืออยู่ในวาระปฏิบัติงานอยู่ หรือเพราะคณะสงฆ์สรุปออกมาแล้วว่าข้อร้องเรียนนั้นไม่มีมูลอะไรเลย แต่ไม่ได้ตอบให้ผู้ร้องเรียนรับทราบ หรือเพราะเหตุผลอย่างอื่นๆและฯลฯ กรณีนี้ เมื่อคำนึงระยะเวลาและศักยภาพของการทำงานของคณะสงฆ์ กล่าวคือ ส.ศิวรักษ์ได้ทำหนังสือขึ้นมาร้องเรียนตั้งแต่ต้นปี 2251 ตราบจนถึงปัจจุบัน ก็นับได้ว่าเป็นเวลานานหลายปีเข้าไปแล้ว      

" ว่าไปแล้ว คณะสงฆ์ไทยเวลานี้ แม้จะมีเรื่องไม่ดีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เลวร้ายอะไรหนักหนาดอกครับ ผมเป็นคนในรู้ดี ท่านอาจารย์ต่างหากที่เป็นคนนอก"

สมภาร พรมทาอาจถือว่าตัวเองเป็นผู้มีความสามารถ และมีความชอบธรรมที่จะฟันธงสถานะและกำหนดมาตรฐานภาพรวมของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันได้ อาจจะถูก แต่สมภาร พรมทาก็ไม่มีความชอบธรรมมากไปกว่าส.ศิวรักษ์ และเอาอะไรมากำหนด เอาอะไรมาวัดว่าตัวเขาเองเป็น"คนใน"และเป็นผู้"รู้ดี"ในขณะไปกำหนดว่าส.ศิวรักษ์นั้นเป็น"คนนอก"ย่อมไม่รู้ดี สมภาร พรมทา อาจจะถือตัวเอง อาจจะอ้างว่าตัวเองว่าเคยบวชเรียนมา เป็นนักวิชาการทางพุทธศาสนา และเป็นนักอะไรต่ออะไร( อ่านแบบ underline ภาษาบ่งบอกมาอย่างนั้น) การฟันธงคำใหญ่ๆโตๆลงไป ประดิดประดอยวาทกรรมเพื่อให้เท่เก๋ไก๋ขึ้นมา แล้วเดินหนีไปเฉยๆ โดยไม่ได้อธิบาย ไม่ได้ให้ข้อมูลและไม่มีข้อเสนออะไรใหม่ๆนั้น ตีความได้ว่า นี้อาจเป็นความเมามัน อาจเป็นวาทกรรมของนักปลุกระดม นักโฆษณาชวนเชื่อก็เป็นได้ ขอประทานโทษ คงจะไม่แตกต่างไปจากการผายลมในวงสนทนาแล้วเดินหนีไปเฉยๆนั้นเอง

ประชาไทลงบทความ"ท่านจันทร์สันติอโศก:ส.ศิวรักษ์ กับ คนเสื้อเหลือง-คนเสื้อแดง(21 ธันวาคม 2555) สมภาร พรมทาได้เขียนต่อท้ายบทความของท่านจันทร์ดังนี้

"ค่ำวันวาน ออกไปเดินเล่นสูดอากาศเพราะเพิ่งพื้นไข้ ภรรยาเดินออกไปหา ส่งโทรศัพท์ให้ บอกว่าท่านอาจารย์ส.จะขอคุยด้วย พอแนบโทรศัพท์เข้ากับหู ท่านอาจารย์ก็"ใส่"ผมแบบไม่ยั้ง เรื่องที่ผมเรียนติงท่าน เรื่องที่ท่านวิจารณ์ท่านอธิการบดีมหาจุฬาฯ ไม่เห็นหน้ากัน เลยไม่ทราบว่าน้ำเสียงที่ดุดันรุกแบบเอาเป็นเอาตาย นั้นเป็นสีหน้าของมิตรหรือศัตรู พอท่านใส่ชุดใหญ่พอแล้ว ผมก็ขอโอกาสพูดบ้าง อย่างผู้น้อย ดูท่านไม่ค่อยฟัง พูดแทรก ตัดบท ผมก็เลยไม่มีแก่ใจที่จะชี้แจงอะไร แต่ก็ได้พูดไปกับท่านว่า ผมมีวิธีคิด วิธีทำงานแบบของผม ท่านถามผมว่า ทำไมยังอยู่กับพวกอลัชชี พวกนี้มันเหี้ยทั้งนั้น สำหรับผม ไม่มีอลัชชี ไม่มีเหี้ย มีแต่มนุษย์ที่ผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น รวมทั้งผมเองด้วย หากอยากช่วยเพื่อนมนุษย์ อย่าด่า ผมไม่เชื่อว่าด่าแล้วจะช่วยใครได้"

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดว่า ส.ศิวรักษ์ไม่ได้วิจารณ์อธิการบดีมหาจุฬาฯ หากส.ศิวรักษ์ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะสงฆ์และฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบการต้องอาบัติปฐมปาราชิกอธิการบดีมหาจุฬาฯหรือไม่ พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะด้วย นี้คือประเด็น ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด(ย้ำ)ที่สมภาร พรมทาถูกส.ศิวรักษ์"ด่า"ทางโทรศัพท์จนทำให้สมภาร พรมทางุนงงหลงทาง หลงประเด็นไปนั้น (เช่นเขียนว่า " ขออนุญาตออกปลีกวิเวก... อาจเป็นปี และตลอดไป"คือฝังใจกับ"คำด่า"แต่ละเลยไปว่าที่ด่า ด่าในเรื่องอะไร ) ความข้อนี้คงอธิบายได้หลายระดับ แต่ปฐมสาเหตุน่าจะมาจาก เพราะทั้งสองท่านไม่รู้จักกันดีพอ ไม่มีความสนิทสนมกัน และไม่ชินต่อการพูดคุยสนทนากัน สมภาร พรมทาเองก็ยอมรับว่านี้เป็นครั้งแรกที่พูดกันทางโทรศัพท์ ยังไม่ต้องไปพูดถึงขั้นขนาดใช้ผรุสวาจตอบโต้กันได้อีกเลย เพราะการใช้ผรุสวาจตอบโต้กันได้ บ่งถึงสถานะของการรู้จักและความสนิทกันได้ เมื่อโดน"ใส่"สมภาร พรมทา ย่อมตั้งตัวไม่ติด อารมณ์ที่ตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้นย่อมเป็นใหญ่ ย่อมเป็นนายอยู่ดี ยังมิพักต้องไปพูดถึง หัวข้อ Discourse อีกเลย อารมณ์ของมนุษย์เรานั้นบางทีมันไม่ขึ้นอยู่กับสถานะและวุฒิภาวะของบุคคลเลย เป็นปราชญ์ก็มีสิทธิ์หลุดได้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้(ย้ำ) เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน คือมิใช่เรื่องแปลก แต่ที่แปลกก็คือ นำเอาเหตุการณ์และภาวะในบัดนั้นขึ้นมาร้อยเรียงเขียนเป็นกิจจะลักษณะ เขียนแบบผู้เขียน (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) เป็นพระเอกยืนโต้ลมหนาวและห่าฝนอยู่เพียงผู้เดียว เขียนแบบภาษาดอกไม้ สุภาพและเรียบง่าย แต่ลึกๆแล้วแฝงเร้นไปด้วย ความคับแค้น ดูเหมือนไม่มีเจตนาดีเป็นที่ตั้ง และดูเหมือนต้องการ discredit ฝ่ายตรงกันข้าม หรือโดยนัยยะหนึ่ง เมื่อโดน"ใส่" เมื่อถูกกระทบ ความคับแค้นที่ถูกเก็บไว้ก็ระบายขยายออกมาแบบไม่มีขอบเขต ถือเป็นธรรมชาติของสัญชาตญาณการปกป้องตนเองของคนเรา และโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น มักจะเข้าข้างตัวเองเสมอ อันนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ อลัชชีนั้นมีจริง ไม่ว่าในสมัยพุทธกาลหรือในสมัยปัจจุบัน และคำว่า "ไม่มีอลัชชี ...มีแต่มนุษย์ที่ผิดพลาด"ของสมภาร พรมทา หมายความว่าอย่างไร หรือนี้เป็นแค่การสร้างวาทกรรมขึ้นมาเพื่อความเก๋ไก๋ หรือไร้ความหมายใดๆ

"เดินทางกลับเข้าบ้านแบบมึนๆ ถามภรรยาว่า โทรศัพท์เครื่องที่ใช้นี้มีที่เก็บเสียงที่เพิ่งได้รับไว้ไหม ภรรยาบอกว่าไม่มี แล้วถามทำไมเหรอ ผมก็ไม่ตอบอะไร บอกเพียงว่าถามอย่างนั้นเอง ที่ถามเพราะตอนนั้นรู้สึกว่า หากมีการอัดเสียงไว้ ก็น่าจะดีที่จะเอามาเปิดให้คนอื่นฟัง จะได้ช่วยวินิจฉัยว่า ท่านอาจารย์ของเราที่ใครๆยกย่องว่าเป็นปัญญาชนสยาม ท่านพูดกับผมอย่างไรบ้าง..."

คำถามสั้นๆคือ สมภาร พรมทา คิดไปไกลถึงขนาดนี้ได้อย่างไร เพราะอะไรจึงคิดอย่างนี้ และสมภาร พรมทาคิดได้แค่นี้หรือ

"...ท่านอาจารย์ส.นั้น ผมรู้สึกว่าท่านอ่านยาก คนที่อ่านยากอย่างนี้ผมจะไม่เข้าหา พยายามอยู่ห่างๆ การพูดกันทางโทรศัพท์นั้นก็เป็นครั้งแรกที่ผมกับท่านพูดจากัน ไม่นับการทักทายกันตามมารยาทในงานสาธารณะ สำหรับผม คนที่จะเป็นหลักของสังคมต้องมีคุณสมบัติอย่างแรกเลยคืออ่านง่าย เย็น นิ่ง พูดน้อย แต่หนักด้วยสาระและมีเมตตาที่คนอื่นรับรู้ได้..."

นอกจากกำหนดและสร้างมาตรฐานต่อคนอื่นแล้ว ด้วยความเคารพ แสดงว่าสมภาร พรมทาไม่ได้รู้จักผลงานของส.ศิวรักษ์ และไม่ได้รู้จักตัวตนของส.ศิวรักษ์ดีเลย เพราะสมภาร พรมทามีสูตรสำเร็จเป็นไม้บรรทัดเพื่อวัด เพื่อกำหนด หรือลดทอนคนอื่น(reducera) กล่าวคือ สำหรับสมภาร พรมทา ส.ศิวรักษ์เป็นผู้ที่อ่านยาก ต้องอยู่ห่างๆ " สำหรับผม คนที่จะเป็นหลักของสังคมต้องมีคุณสมบัติ อย่างแรกเลยคืออ่านง่าย เย็น นิ่ง พูดน้อย แต่หนักด้วยสาระ และมีเมตตาที่คนอื่นรับรู้ได้..." ตรรกะและ Retorik ในที่นี้คือ ในเมื่อสมภาร พรมทาเลือกเป็นผู้อยู่ห่างๆส.ศิวรักษ์ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ส.ศิวรักษ์นั้นอ่านยาก จะรู้ได้อย่างไรว่า ส.ศิวรักษ์นั้นไม่มีสาระ และไม่มีเมตตา  

สุรพจน์ ทวีศักดิ์ เขียนบทความ "กรณีส.ศิวรักษ์ เรียกร้องให้ตรวจสอบอาบัติปาราชิกอธิการบดีมกาจุฬาฯ"(ประชาไทย 2012-12-22) โดยสุรพจน์ ทวีศักดิ์จับ Discourse ถูกประเด็น และขยายความอย่างเป็นตรรกะ(ตรรกะตามกฏ ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ไทย พระวินัยและจารีตประเพณีของการปกครองคณะสงฆ์ไทย) พร้อมทั้งเสนอแนะด้วย กล่าวคือเมื่อคณะสงฆ์ได้รับการร้องเรียนอธิกรณ์แล้ว คณะสงฆ์จะต้องลงมือทำงานทันที มิใช่โอ้เอ้วิหารราย ทอดธุระ ปล่อยปละละเลย มานานหลายปีอย่างนี้ ทั้งนี้ เพื่อรักษาศรัทธา เพื่อปกป้องพระศาสนา เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฏ ระเบียบการที่ได้ตราไว้ และเพื่อความน่าเชื่อถือของการปกครองคณะสงฆ์ ตลอดทั้งเพื่อความโปร่งใสต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆฝ่าย จำต้องมีการลงมือปฏิบัติการตรวจสอบ สอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเฉลยผลให้ปรากฏแก่ทุกๆฝ่ายรู้ สุรพจน์ ทวีศักดิ์ยังได้บ่งบอกไว้อย่างชัดเจนว่า ท่านผู้เป็นโจทย์นั้นล้วนแต่เป็นนิติบุคคล มีตัวตน เป็นบุคคลสาธารณะ เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคม ยังไม่ต้องพูดถึงสถานะเพื่อพระศาสนาและความเป็นพุทธบริษัทของส.ศิวรักษ์อีก

สมภาร พรมทาได้เขียนข้อความต่อท้ายบทความของสุรพจน์ ทวีศักดิ์ดังกล่าว เช่น

"ผมรู้สึกเบื่อกับการแสดงความเห็นผ่านสื่อที่เปิดออกไปอย่างไม่มีขอบเขต ทำให้ชีวิตและความคิดของมนุษย์คนหนึ่งที่มีขอบเขตเฉพาะอย่างผมยากที่ท่าน ที่ไม่รู้จักผมจะเข้าใจ...เหนื่อย...โลกไซเบอร์เป็นเช่นนี้เอง"

จากข้อความนี้ สมภาร พรมทาเข้าใจว่า ที่คนอื่นๆเข้าใจผิดไปนั้น เพราะความไร้พรมแดนของโลกไซเบอร์ คือสมภาร พรมทาพูดและเขียนอะไรแล้วยิงภาษาของตนเองเข้าไปเรียงรายอยู่ในพรมแดนของโลกไซเบอร์ ที่ไม่สามารถกำหนดและเป็นนายภาษาของตัวเองได้แล้ว ความผิดคือ เพราะความไร้พรมแดนของโลกไซเบอร์ ไม่ใช่ผู้เป็นเจ้าของภาษา ทั้งๆที่สมภาร พรมทานั้นรู้ดีว่า ภาษานั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน เมื่อพูด เมื่อเขียนขึ้นมาแล้ว ผู้พูดและผู้เขียนก็ยังเป็นเจ้าของภาษานั้นอยู่ ยากที่จะปฏิเสธได้ ผู้ฟังและผู้อ่านก็มีสิทธิ์ที่จะรับรู้ ที่จะแปลและตีความได้ เป็นเรื่องง่ายเกินไปที่จะไปโยนความผิดให้กับความไร้พรมแดนของโลกไซเบอร์ หรือโยนความผิดให้กับการแปลการตีความของคนอื่นๆ ท้ายของข้อความที่เป็น"ภาษา"ของสมภาร พรมทา ได้บ่งบอกไว้ว่าจะปลีกวิเวกไป อาจเป็นปี และตลอดไป แต่จากบท"สัมภาษณ์สมภาร พรมทา: "อนาคตสถาบันสงฆ์ในสังคมประชาธิปไตย" (ประชาไทย 26 ธันวาคม 2555) โดยสุรพจน์ ทวีศักดิ์ ให้คำตอบว่า สมภาร พรมทาไม่ได้ปลีกวิเวกไปไหนเลย จากการตอบคำถามข้อสุดท้าย สมภาร พรมทายังได้ตอบว่าเพราะ"สาระ"ของข้อมูลในจดหมายที่ส.ศิวรักษ์เขียนขึ้นมาร้องเรียนนั้นไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ครานี้สมภาร พรมทา โยนความผิดไปที่"สาระ"ตามจดหมายร้องเรียนนั้น  จดหมายที่ส.ศิวรักษ์เขียนขึ้นมาร้องเรียนนี้ เป็นหนังสือร้องเรียนขั้นต้นขอให้คณะสงฆ์และผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูล หลักฐานของโจทย์ จดหมายของส.ศิวรักษ์ไม่ได้เป็นเอกสารสมบูรณ์แบบทางข้อมูลและหลักฐาน และไม่มีข้อสรุปใดๆ นี้คือ"สถานะ"และประเด็นหลักของหนังสือร้องเรียนของส.ศิวรักษ์ สมภาร พรมทาเองก็ยอมรับว่าส.ศิวรักษ์ไม่ได้สรุปว่าใครผิดใครถูก การพูดถึง"สาระ"ของจดหมายร้องเรียนขั้นต้นที่สมภาร พรมทาเรียกหาจึงขาดตรรกะและเป็นการเข้าใจผิด สมภาร พรมทาจะให้คำตอบ จะให้ข้อสรุปอย่างถูกต้อง และเสร็จสมบูรณ์แบบต่อสิ่งที่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ตรวจสอบและพิสูจน์หลักฐานให้ปรากฏขึ้นมาได้อย่างไร

ผมนั้นเป็นคนไกลปืนเที่ยงเกินไป ไม่เคยรู้จักสมภาร พรมทาเป็นการส่วนตัว จำได้ว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ผมเคยเห็นชื่อท่านในวารสารรายสัปดาห์ที่ผมรับประจำ โดยได้อ่านบทกวีที่ท่านเขียน ช่วงนั้นท่านยังบวชอยู่ เพราะชื่อท่านแปลก ผมเลยจำได้(อย่างน้อยผมก็เชื่ออย่างนั้น) เมื่อไม่กี่ปีมานี้ผมได้พบกับอาจารย์ท่านหนึ่งสอนอยู่ที่สถาบันเดียวกันกับสมภาร พรมทา อาจารย์ท่านนี้ไปสอนพิเศษที่ยุโรปอยู่ช่วงหนี่ง ท่านบอกผมว่าสมภาร พรมทาคือศาสตราจารย์ประจำสถาบันที่ท่านสอน พอได้ยินชื่อผมก็ดีใจ เพราะในอดีตที่ผ่านเลย ผมเคยได้อ่านบทกวีของท่านมา ช่วงหลังๆนี้ก็พอได้อ่านผลงานทางวิชาการของท่านบ้าง เมื่อดูสถานะทางวิชาการและผลงาน ผมจึงแปลกใจที่เห็นการแสดงความคิดเห็นของสมภาร พรมทาต่อส.ศิวรักษ์ในกรณีนี้ แน่นอนความคิดเห็นต่างและการวิพากษ์วิจารณ์(Kritisk)เป็นวิธีการที่ถูกต้องและเป็นความจำเป็นต่อ Discourse นั้นๆ หากมิใช่แสดงความคิดเห็นแบบไปโลดไปเลย โดยนัยยะหนึ่งสมภาร พรมทาหันลูกศรธนูผิดที่ผิดทางไป หรืออย่างภาษาของ Shakespeare " Don t shoot the messenger "

ย่อมเป็นที่รู้จักอย่างประจักษ์แจ้ง คือเป็น a priori ไปแล้วว่า ส.ศิวรักษ์ ปราชญ์สยามประเทศท่านนี้   เป็นพุทธบริษัท  เป็นศาสนิกชนผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาปสาทะต่อพระพุทธศาสนาอย่างแม่นมั่นและมั่นคง การตั้งคำถามว่าส.ศิวรักษ์หวังดีต่อพระศาสนาหรือไม่ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ มีความน่าเชื่อถือต่อพระศาสนาหรือไม่ และฯลฯ คำถามเช่นนี้ ถือได้ว่า เป็นคำถามที่ไม่ใช่คำถาม (non-question) เป็นถามที่ไม่ควรตั้งคำถามขึ้นมาเลย หรือ ขอโทษครับ เป็นคำถามที่ออกจะไร้มารยาท แน่นอนผมเองก็มีสูตรสำเร็จต่อส.ศิวรักษ์ แต่สูตรสำเร็จนั้นก็ตั้งอยู่บนสถานะและระดับผลงานของส.ศิวรักษ์เองเป็นหลัก โดยนัยยะหนึ่ง เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวทางส่วนตัวของปัจเจกบุคคลเลย

เรื่องอธิกรณ์อาบัติปฐมปาราชิกพระภิกษุสงฆ์ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด(ย้ำ) เป็นความสำคัญของกฏ ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ไทย และพระวินัย ถือเป็นความเป็นความตายต่อปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง และลึกๆแล้วถือเป็นความเป็นความตายต่อศรัทธา ต่อการสืบสานพระศาสนาด้วย มิพักจะต้องเอ๋ยถึงกฏ ระเบียบ ข้อบังคับที่ได้ตราไว้ที่จะต้องลงมือปฏิบัติการอีกเลย และแล้วไฉนเอยกรณีสำคัญเช่นนี้ จึงกลายเป็นความเงียบที่หายไป

   

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเด็กเล็ก

Posted: 10 Jan 2013 08:58 AM PST

 

10 ม.ค.56  เนื่องในวันเด็กแห่งชาติในปีนี้ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ เรียกร้องให้รัฐบาลและสังคมไทยหันมาให้ความสนใจและเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งคือเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดถึงหกปี

"หกปีแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของเด็กทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคมตลอดจนการรับรู้" พิชัย ราชภัณฑารี ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยกล่าว "การลงทุนในการพัฒนาเด็กเล็กจะส่งผลที่ยิ่งใหญ่ไปตลอดชีวิตของพวกเขา ในขณะที่การละเลยเรื่องนี้อาจทำให้เด็กๆ ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ"

พิชัยกล่าวว่าเขายินดีที่ประเทศไทยจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงต้องจัดสรรงบประมาณและบุคลากรอีกจำนวนมากในการทำนำแผนนี้ไปสู่การปฏิบัติได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้ความเป็นอยู่ของเด็กในประเทศไทยจะได้รับการพัฒนาไปในหลายด้าน เช่น การแก้ปัญหาความยากจน การส่งเสริมให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล และการออกกฎหมายเติมไอโอดีนในเกลือ แต่ความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและในกลุ่มประชากรที่ขาดโอกาส ทั้งนี้สถิติจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนชี้ให้เห็นว่า ในประเทศไทย:

• ในปี 2551 มีเด็กเพียงร้อยละ 73 ที่ได้เข้าเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพียงร้อยละ 34 จากทั้งหมด 8,276 แห่งที่ทำการสำรวจ ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ขั้นต่ำของรัฐบาล

• ทุกๆ ปี มีเด็กเกิดใหม่ร้อยละ 5-7 ที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนเกิด ซึ่งในบางพื้นที่โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน อาจสูงถึงร้อยละ 15-20 หากเด็กไม่มีสูติบัตร จะทำให้ไม่มีตัวตนทางกฎหมาย และอาจเป็นอุปสรรคต่อการได้รับการรักษาพยาบาลฟรี และสวัสดิการอื่นๆ ของรัฐ

• มีเด็กแรกเกิดเพียงร้อยละ 5.4 ที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต ซึ่งถือเป็นอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวที่ต่ำที่สุดในเอเชียและจัดอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลก

• มีเด็กประมาณร้อยละ 12 ที่เตี้ยแคะแกร็นกว่าเกณฑ์เนื่องจากการขาดสารอาหารเรื้อรัง ในจังหวัดชายแดนใต้อัตรานี้สูงถึงร้อยละ 32 นอกจากนี้ในประเทศไทยมีครัวเรือนเพียง ร้อยละ 58 ที่เข้าถึงเกลือเสริมไอโอดีน โดยเฉพาะในชุมชนยากจนในภาคอีสาน มีครัวเรือนเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นที่เข้าถึงเกลือเสริมไอโอดีน การขาดไอโอดีนส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองและระดับสติปัญญาของเด็ก

• การปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างเด็กเล็กและครอบครัวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพัฒนาการทางจิตใจ ทางอารมณ์และทางสังคมของเด็ก แต่ในประเทศไทย มีเด็กถึงร้อยละ 17.5 ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อหรือแม่ เนื่องจากพ่อหรือแม่ต้องไปทำงานในจังหวัดอื่น ในภาคอีสานอัตรานี้สูงถึงร้อยละ 24

• มีครอบครัวเพียงร้อยละ 44 ที่มีหนังสือเด็กมากกว่า 3 เล่ม ในขณะที่มีพ่อเพียงร้อยละ 54 ที่ทำกิจกรรมร่วมกับลูก

งานวิจัยในต่างประเทศจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในการพัฒนาเด็กเล็ก จะช่วยส่งเสริมสติปัญญา ทักษะทางอารมณ์และสังคมให้แก่เด็ก อีกทั้งยังช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าทางสังคมและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนต่อในระดับสูง ลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ลดอัตราการก่ออาชญากรรม และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน งานวิจัยหลายชิ้นยังระบุอีกด้วยว่า การลงทุนในเด็กเล็กส่งผลทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยิ่งใหญ่กว่าการแก้ปัญหาทีหลัง ซึ่งมักต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า เช่น การจ้างครูเพิ่มขึ้นเพื่อปรับปรุงอัตราส่วนครูต่อนักเรียน

"การลงทุนในเด็กเล็กเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตอนนี้เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือ มีเด็กเกิดใหม่น้อยลงและประชากรมีอายุยืนขึ้น" พิชัยกล่าว "นั่นหมายความว่าเด็กๆ ในวันนี้จะต้องได้รับการเตรียมพร้อมเพื่อโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพมากกว่าคนรุ่นพ่อแม่ของเขา"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวปราจีนเต้น พบสารปรอทตกค้างในปลา-คนรอบพื้นที่อุตสาหกรรม

Posted: 10 Jan 2013 08:48 AM PST

 

9 ม.ค.56  นักวิจัยพบสารปรอทสะสมในปลาและคนสูงเกินค่าที่ปลอดภัย ในพื้นที่อุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของจังหวัดปราจีนบุรี  ชาวบ้านกว่า 60 คน เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรียกให้ขจัดปัญหามลพิษก่อนสายเกินแก้

นางสาวจุฑามาศ ทรัพย์ประดิษฐ์ นักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า จากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างปลาช่อนและเส้นผมของคนที่อาศัยใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตเยื่อกระดาษ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี พบสารปรอทปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารและร่างกายมนุษย์  โดยพบปลาทุกตัว (100%) มีปริมาณสารปรอทปนเปื้อนสูงเกินค่ามาตรฐานอาหาร  กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้อาหารมีสารปรอทปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.02 ppm (ส่วนในล้านส่วน) แต่ปลาในคลองชลองแวงซึ่งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตเยื่อกระดาษมีสารปรอทปนเปื้อนตั้งแต่ 0.067-0.22 ppm อีกนัยหนึ่ง ปลาในพื้นที่ท่าตูมปนเปื้อนสารปรอทเกินค่าที่ยอมรับได้ 3-11 เท่า

ผลการตรวจตัวอย่างเส้นผมของประชาชนที่บริโภคปลาและอาศัยภายในรัศมี 2 กิโลเมตรของพื้นที่อุตสาหกรรมยังพบว่า เส้นผมของทุกคน (100%) มีสารปรอทสะสมอยู่ในปริมาณที่เกินค่าปริมาณอ้างอิง 1.00 ppm ซึ่งเป็นปริมาณที่อาจก่ออันตรายต่อพัฒนาทางสมอง งานศึกษาครั้งนี้พบสารปรอทในเส้นผมของคนท่าตูมตั้งแต่ 1.628 – 12.758 ppm  ร้อยละ 90 ของปรอทที่สะสมในร่างกายมนุษย์ คือ ปรอทอินทรีย์ชนิดเมทิลเมอร์คิวรี่ ซึ่งมีพิษสูง สะสมในร่างกายและสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน อีกทั้งยังถ่ายทอดได้จากแม่สู่ลูก  ช่องทางหนึ่งที่สารปรอทจะเข้าสู่ปลาและมนุษย์ในพื้นที่ศึกษา ต.ท่าตูม ได้แก่ เถ้าลอยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฝุ่นถ่านหินจากลานเก็บถ่านหินแบบเปิด ขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าที่นำมาปรับสภาพดินในแปลงยูคาลิบตัสในพื้นที่โดยรอบ  และยังมีความเป็นไปได้ที่น้ำเสียปนเปื้อนสารปรอทจากโรงผลิตเยื่อกระดาษอาจรั่วซึมลงคลองสาธารณะ  

 

 

 

"ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากสารปรอทคนหนึ่ง ผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแลตรวจสอบมลพิษก่อนที่จะเข้าสู่ร่างกาย อย่าปล่อยให้โรงงานทำอะไรโดยพลการ ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนดูแลกันเอง มีแต่ร่างกายที่ใช้เป็นเครื่องพิสูจน์มลพิษ" คุณสมบุญ พัชรไพบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต. ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี กล่าวขณะเดินทางร่วมกับชาวบ้าน 60 คนที่เดือดร้อนจากมลพิษอุตสาหกรรมใน อ.ศรีมหาโพธิ อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมโหสถ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี และ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเครือข่ายเพื่อนตะวันออก และวาระเปลี่ยนตะวันออก เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหามลพิษก่อนขยายพื้นที่อุตสาหกรรมในภาคตะวันออก

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านด้วยตนเองและกล่าวว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ปนเปื้อน  ในวันเดียวกัน นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รักษาการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านและกล่าวว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า "เราอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำผลการศึกษานี้ไปใช้แก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่ท่าตูมและพื้นที่อื่นๆ  อย่าลืมว่าสัญญาณเตือนจากธรรมชาติ เมื่อเรารับฟัง เรื่องใหญ่จะกลายเป็นเรื่องเล็ก หากแก้ปัญหานี้ได้ ชุมชนก็จะไม่คัดค้านอุตสาหกรรม อย่าปล่อยให้ปัญหามันเรื้อรังเกินกว่าที่จะแก้ไข"

งานศึกษาครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิบูรณะนิเวศและเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยางนานในสิ่งแวดล้อม (IPEN) โดยเก็บตัวอย่างปลาและเส้นผมกว่า 460 ตัวอย่างใน 29 ประเทศ เพื่อสำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษสารปรอท ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตเยื่อกระดาษ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการเจรจาอนุสัญญาสารปรอท ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยจะเข้าร่วมประชุมที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสต์เซอร์แลนด์ วันที่ 13-18 มกราคมนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธศาสนาไม่สนใจ ‘การเข้าถึงความจริง’

Posted: 10 Jan 2013 08:10 AM PST

อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวไว้ในการเสวนาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2556 ที่ Book Re:public เชียงใหม่ อย่างน่าสนใจว่า

ในโครงสร้างของคริสต์ศาสนา พระเจ้าสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการที่คุณเข้าถึงฟิสิกส์หรือกฎธรรมชาติ ก็คือการเข้าถึงโลกของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คุณไม่มีทางเข้าถึงพระเจ้า พระเจ้าไม่เคยปรากฏร่างให้คุณเห็น

การรู้จักธรรมชาติในฐานะ Nature มันคือการเข้าถึง God ความจริงจึงสำคัญมากในคริสต์ศาสนา การที่คุณไปถึงความจริง คือเข้าใจธรรมชาติและสรรพสิ่ง ฉะนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งที่อธิบายคริสต์ศาสนาในทางที่สามารถพัฒนาความเป็นศาสตร์ขึ้นมาได้

ในแง่ปรัชญา เมื่อผนวกกับกรีกเข้าไปแล้ว ซึ่งบ้าคลั่งหลงใหลกับการแสวงหาความจริง ซึ่งคนตะวันออกไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะความจริงกับนิพพานไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ในโลกของคริสต์ศาสนา การไปถึงความจริงกับการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า คือเส้นทางเดียวกัน

ดังนั้นเราจึงเห็นคำพูดของคุณสนธิ บุญยรัตกลิน ที่ว่าคุณจะรู้ไปทำไม 19 ก.ย.ใครเป็นคนสั่ง รู้ไปแล้วไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า คำพูดแบบนี้เกิดขึ้นมาตลอด สถาพร กวิตานนท์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน หรือบีโอไอก็เคยกล่าวว่าจะไปหาแสวงหาผู้กระทำผิดในปี 2540 (วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง) ทำไมไม่มีประโยชน์ มันเกิดไปแล้ว เราต้องเดินหน้าต่อไปอีก

ผมสนใจข้อความว่า "...ซึ่งคนตะวันออกไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะความจริงกับนิพพานไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ในโลกของคริสต์ศาสนา การไปถึงความจริงกับการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า คือเส้นทางเดียวกัน" คือถ้าคนตะวันออก (ทั้งหมด) คิดอย่างอาจารย์ธเนศว่าจริง พุทธะคงไม่ใช่คนตะวันออกเพราะพุทธะนิยามตันเองว่า "ผู้รู้ความจริง" คือ ความจริงของทุกข์ ความจริงของสาเหตุให้เกิดทุกข์ ความจริงของความดับทุกข์ หรือนิพพาน และความจริงของการดำเนินชีวิตให้ดับทุกข์ได้

ความจริงดังกล่าวนี้ พุทธศาสนาไม่ได้แยกมองอย่างเป็นอิสระจากโครงสร้างของความจริงในธรรมชาติ หรือระบบ Nature ทั้งหมด แม้ความจริงในอริยสัจสี่จะเป็น Nature ของชีวิต แต่ก็เป็นความจริงซึ่งสัมพันธ์กับระบบของ Nature ทั้งหมด เช่น กฎความเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) ความขัดแย้งระหว่างภาวะที่พยายามดำรงอยู่กับภาวะที่บีบเค้นให้เสื่อมสลาย (ทุกขัง) ภาวะที่ไม่มีตัวตนเอกเทศที่ดำรงอยู่นอกระบบความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยตามกฎอิทัปปัจจยตา เป็นต้น ซึ่งระบบ Nature มันมีอยู่ของมันเอง ไม่เกี่ยวกับพระเจ้า

ในทัศนะของพุทธศาสนา คุณจะเข้าถึงนิพพาน (ซึ่งเป็นสัจจะหนึ่งในอริยสัจ) ไม่ได้ ถ้าคุณไม่เข้าถึง Nature ของชีวิตที่สัมพันธ์กับระบบ Nature ทั้งหมด ฉะนั้น เส้นทางสู่นิพพานจึงเป็นเส้นทางของการแสวงหาความจริง หรือเส้นทางเข้าถึงความจริง (ซึ่งหมายถึงต้องเข้าใจความจริงที่เป็น Social Convention และความจริงในธรรมชาติด้วย)

แต่ข้อเท็จจริงที่เราต้องยอมรับคือ ความจริงทางศาสนากับความจริงทางวิทยาศาสตร์มีแง่มุมที่ต่างกันอยู่ คือพุทธศาสนานั้นถือว่าเป้าหมายสูงสุดของการเข้าถึงความจริงคือการมีเสรีภาพด้านใน ที่เรียกอีกอย่างว่า "ความพ้นทุกข์" เส้นทางการแสวงหาความจริงคือมรรคมีองค์ 8 หรือไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งแกนหลักของเส้นทางนี้อยู่ที่เข้าถึงความจริง และการจัดการกับความจริงในทางที่ไม่เป็นการเบียดเบียนทำร้าย อย่างใช้สติ และปัญญา

ส่วนที่ว่า "...การรู้จักธรรมชาติในฐานะ Nature มันคือการเข้าถึง God ความจริงจึงสำคัญมากในคริสต์ศาสนา การที่คุณไปถึงความจริง คือเข้าใจธรรมชาติและสรรพสิ่ง ฉะนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งที่อธิบายคริสต์ศาสนาในทางที่สามารถพัฒนาความเป็นศาสตร์ขึ้นมาได้" ความคิดแบบนี้น่าจะพัฒนาขึ้นในระยะหลัง หากเป็นความคิดที่มีอยู่ในคริสตศาสนายุคแรกเริ่ม ทำไมกาลิเลโอจึงถูกกักบริเวณเพราะเสนอความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ตรงข้ามกับความเชื่อในไบเบิล และทำไมชาร์ลส์ ดาร์วิน จึงถูกเย้ยหยันเมื่อเขาเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการ และไม่ต้องพูดถึงว่ามีคนถูกล่าแม่มดจากอำนาจศาสนจักรอีกเท่าไร

ฉะนั้น หากพูดโดยรวมๆ แล้วความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ และแนวคิดก้าวหน้าอื่นๆ เช่น Humanism, Existentialism และ Liberalism เป็นต้น ก็พัฒนาขึ้นจากการต่อต้านอำนาจครอบงำของศาสนจักรยุคกลาง (ตรงนี้ อ.ธเนศก็กล่าวถึง) แน่นอนคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์อาจรับความคิดเหล่านี้ไปพัฒนาความเชื่อทางศาสนาให้ก้าวหน้า หรือ "เป็นศาสตร์ขึ้นมาได้" อย่างที่อาจารย์ธเนศว่า

ส่วนตัวอย่างที่ยกมาว่า "ดังนั้นเราจึงเห็นคำพูดของคุณสนธิ บุญยรัตกลิน ที่ว่าคุณจะรู้ไปทำไม 19 ก.ย.ใครเป็นคนสั่ง รู้ไปแล้วไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า คำพูดแบบนี้เกิดขึ้นมาตลอด สถาพร กวิตานนท์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน หรือบีโอไอก็เคยกล่าวว่าจะไปหาแสวงหาผู้กระทำผิดในปี 2540 (วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง) ทำไมไม่มีประโยชน์ มันเกิดไปแล้ว เราต้องเดินหน้าต่อไปอีก" อันนี้ผมคิดว่าจะสรุปว่า "นี่เป็นความคิดแบบตะวันออก" (หรือ "นี่เป็นความคิดแบบพุทธ") คงไม่สมเหตุสมผล เพราะถ้าคิดแบบพุทธก็ต้อง "รู้ความจริงของปัญหา และสาเหตุของปัญหา จึงจะแก้ปัญหาได้" ความคิดแบบนี้น่าจะเป็น "ความคิดแบบไทยๆ" มากกว่า

แน่นอน "ความคิดแบบไทยๆ" มันก็มีบริบท ไม่ได้เกิดจากสุญญากาศ บริบทของความคิดแบบนี้ก็คือ "พุทธศาสนามรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์" คือ พุทธที่ถูกตีความสนับสนุน "อุดมการณ์ราชาชาตินิยมศักดิ์สิทธิ์" ที่เป็นรากฐานวัฒนธรรมทางความคิดของสยามประเทศมานาน พุทธเช่นนี้ย่อมละเลยหลักการแสวงหาความจริงของปัญหาและสาเหตุของปัญหาอย่างถ่องแท้ตามหลักอริยสัจ และละเลยหลักกาลามสูตร แต่เน้นความเชื่อเรื่อง "กรรม" ที่จัดลำดับชนชั้นทางสังคม เน้นยกย่องสถานะศักดิ์สิทธิ์ การสยบยอม และการประนีประนอมที่ต้องปกป้องสถานะ อำนาจของชนชั้นปกครอง มากกว่าการแสวงหาความจริงและการเดินตามหลักการที่ถูกต้อง

ฉะนั้น การต่อสู้กับพุทธในความหมายดังกล่าวนี้จึงมีเหตุผล แต่ไม่ใช่ไปเหมารวมว่าพุทธศาสนาไม่ให้ความสำคัญกับความจริงของ Nature หรือการเข้าถึงความจริงกับนิพพานเป็นคนละเรื่องกัน

สุดท้ายอาจารย์ธเนศบอกว่า "ขอสรุปไว้ตรงนี้ว่า คนที่คิดที่จะสู้ จะต้องสู้อีกยาว และสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องสู้ ก็คือ สู้กับตัวเราเอง สำหรับผมมันอยู่ในชีวิตคุณ ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ" ข้อสรุปนี้ผมว่าพูดคล้ายพุทธศาสนามากเลย เพราะสำหรับพุทธศาสนาแล้ว การที่คุณจะเข้าถึงความจริงคุณต้องสู้กับความเชื่อทางจารีตประเพณี ศาสนา ค่านิยม อำนาจรัฐ หรือความคิดความเชื่อต่างๆ อันเป็นมายาคติที่ถูกปลูกฝังมาแม้กระทั่งความเชื่อว่ามีอัตตาตัวตนอันเป็น Instinct ของคุณ จึงจะค้นพบความจริงและมีเสรีภาพด้านในอย่างแท้จริง เหมือนการต่อสู้กับตัวเองของสิทธัตถะ เป็นต้น

แต่ผมเข้าใจว่า ข้อสรุปนี้ของอาจารย์ธเนศ คงหมายเฉพาะการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในชีวิตทางสังคมการเมือง ซึ่งหมายถึงปัจเจกต้องต่อสู้เพื่อที่จะมี Autonomy ที่จะตัดสินใจเลือกกระทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นอิสระจากความคิด ความเชื่อ จารีตวัฒนธรรมที่ครอบงำกำกับความคิด การกระทำของเราอยู่ รวมกระทั่งต่อสู้กับความกลัว ความไม่มีประสิทธิภาพของตัวเองเป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าหลายๆ สิ่งเหล่านี้ "มันอยู่ในชีวิตคุณ ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ"

แต่เป้าหมายเชิงสังคมการเมืองของเราคืออะไรครับ ถ้าไม่ใช่การต่อสู้เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อปลดล็อคอำนาจจารีตที่กดทับเราอยู่ เพื่อให้เราสามารถใช้  Autonomy ของตนเองได้โดยไม่ต้องติดคุก เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันมันจำกัดการใช้ Autonomy ของเราอยู่อย่างชัดแจ้ง!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานวิจัยอังกฤษเผย มีอาหารถูกทิ้งอย่างสูญเปล่าสูงสุด 2 พันล้านตันต่อปี

Posted: 10 Jan 2013 07:40 AM PST

สถาบันวิศวกรรมเครื่องจักรกลของอังกฤษเผยรายงาน ปีหนึ่งมีการผลิตอาหาร 4 พันล้านตัน แต่จะถูกทิ้งอย่างสูญเปล่าเกือบครึ่งหนึ่ง คือราว 1.2 ถึง 2 พันล้านตัน ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำ ผืนดิน และพลังงานอย่างเปล่าประโยชน์

10 ม.ค. 2013 - สถาบันวิศวกรรมเครื่องจักรกลของอังกฤษเปิดเผยรายงานว่า ในแต่ละปีจะมีอาหารกว่าครึ่งหนึ่งของโลกคือราว 2 พันล้านตัน ถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ด้วยสาเหตุจากระบบการขนส่งและระบบการจัดเก็บที่ไม่มีประสิทธิภาพ, การกำหนดวันหมดอายุที่เข้มงวดเกินควร รวมถึงความช่างเลือกของผู้บริโภค

รายงานชื่อ Global Food; Waste Not, Want Not เปิดเผยว่าทุกประเทศทั่วโลกผลิตอาหารได้ราว 4 พันล้านตันต่อปี แต่จะมีอาหารราวร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 50  คือราว 1.2 ถึง 2 พันล้านตัน ถูกทิ้งเปล่าโดยไม่ได้ถูกบริโภค

รายงานผลสำรวจระบุอีกว่าในประเทศอังกฤษมีพืชผักรายร้อยละ 30 ที่ไม่ได้ถูกเก็บเกี่ยวเนื่องจากรูปลักษณ์ภายนอกของมันไม่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งในประเทศสหรัฐฯ และในทวีปยุโรปยังมีอาหารครึ่งหนึ่งที่ถูกซื้อแล้วทิ้ง

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการใช้น้ำ โดยรายงานกล่าวว่ามีน้ำราว 550 พันล้านลูกบาศก์เมตร ถูกใช้ไปในการเพาะปลูกพืชที่ไม่เคยไปถึงมือผู้บริโภค และการผลิตเนื้อหนึ่ง กก. ต้องใช้น้ำมากกว่าการผลิตพืชผักในน้ำหนักเดียวกันถึง 20-50 เท่า

สถาบันวิศวกรรมเครื่องกลของอังกฤษประเมินว่าภายในปี 2050 ความต้องการใช้น้ำในกระบวนการผลิตอาหารอาจพุ่งขึ้นสูงถึง 10-13 ล้านล้าน ลบ.ม. ต่อปี ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำที่มนุษย์ใช้กันอยู่ในตอนนี้ถึง 3.5 เท่า เป็นสัญญาณเตือนเรื่องภาวะการขาดแคลนน้ำ

ดร. ทิม ฟอกซ์ ผู้อำนวยการแผนกพลังงานและสิ่งแวดล้อมของสถาบันฯ กล่าวว่า "จำนวนอาหารทั่วโลกที่ถูกทิ้งอย่างสูญเปล่ามีเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาหารถูกทิ้งนี้อาจนำมาเลี้ยงประชากรโลกและคนที่อดอยากในโลกได้ นอกจากนี้ยังถือเป็นการใช้ทรัพยากรผืนดิน, ทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรพลังงาน อย่างเปล่าประโยชน์ ในกระบวนการผลิต แปรรูป และจำหน่ายอาหารที่ถูกทิ้งเปล่าเหล่านี้"

"สาเหตุที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้มีตั้งแต่จากระบบวิศวกรรมและเกษตรกรรมที่ไม่ดีพอ การขนส่งที่ไม่เหมาะสม และระบบการจัดเก็บที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเรียกร้องอาหารที่ดูสมบูรณ์แบบในเชิงรูปลักษณ์ และสนับสนุนให้ผู้บริโภคซื้อมากเกินความจำเป็นด้วยข้อเสนอซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง" ทิม ฟอกซ์กล่าว

องค์การสหประชาชาติประเมินว่าภายในปี 2075 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 พักล้านคน ซึ่งทำให้มีความต้องการอาหารให้กับมนุษย์มากขึ้น 3 พันล้านคน นอกจากนี้ปัญหาเรื่องโลกร้อนและความนิยมบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นยิ่งทำให้ปัญหานี้ตังเครียด เนื่องจากเนื้อสัตว์ต้องใช้ทรัพยากรในการผลิตมากกว่าอาหารหลักจำพวกพื้นเช่นข้าวหรือมันฝรั่งถึง 10 เท่า

ทิม ฟอกซ์ กล่าวอีกว่าปัญหาเรื่องความต้องการอาหารที่มากขึ้นของมนุษย์ ทำให้วิศวกรมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการสูญเสียและทิ้งเปล่าอาหาร โดยการพัฒนาการผลิต การขนส่ง และการกักเก็บอาหารให้ดีขึ้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากการทำงานร่วมกันของรัฐบาล องค์กรพัฒนา และองค์กรอย่างสหประชาชาติ ในการเปลี่ยนความเชื่อเรื่องการทิ้งอาหารโดยเปล่าประโยชน์ในหมู่ประชาชน และสนับสนุนให้ชาวนา ผู้ผลิต ซูเปอร์มาร์เก็ต และผู้บริโภค งดเว้นการกระทำที่จะทำให้เกิดการสูญเปล่า


เรียบเรียงจาก

Half of the world food 'is just thrown away', Independent, 10-01-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปฏิรูป ‘อักษรญาวี’ ความจำเป็นที่ต้องรื้อฟื้นอัตลักษณ์ภาษามลายู

Posted: 10 Jan 2013 07:30 AM PST


อักษรญาวี
ภาพจาก http://dungun.blogspot.com/2012/01/jangan-kata-tulisa-jawi-bahasa-malaysia.html

 

 

ความไม่แน่นอนของภาษามลายูอักษรญาวี (Jawi) เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ยังคงมีการถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบ โดยเฉพาะในประเด็นที่มีรูปแบบของการเขียนที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว

การเขียนภาษามลายูด้วยอักษรญาวีโดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะอาศัยความพอใจของผู้เขียนแต่ละบุคคลว่า จะเลือกและยึดหลักการอะไรในการเขียน ไม่เหมือนกับตัวเขียนอื่นที่ไม่บ่อยครั้งนัก ที่จะพบปัญหาเหมือนกับภาษามลายูอักษรญาวี

เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา ทีมงานโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนบาบอดิง ปาแดรู โต๊ะครูเจ้าของปอเนาะในฐานะนักกวีมลายูอาวุโส ถึงที่ปอเนาะปาแดรู หรือโรงเรียนพัฒนาเยาวชนอิสลามวิทยา ตำบลกาตอง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา

ปัจจุบัน บาบอดิงยังคงได้รับการเชื้อเชิญให้ไปอ่านบทกวีมลายูในเวทีต่างๆ อยู่เนืองนิจ ล่าสุดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในงานการเปิดตัวทีวีมลายู ที่จัดโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา

ในโอกาสนี้ทีมงานของ DSJ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาษามลายูอักษรญาวี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตัวเขียนญาวี ถึงความสำคัญและบทบาทของภาษามลายูอักษรญาวี ในฐานะที่เคยมีอิทธิพลต่อคนมลายูปาตานีนับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งทุกวันนี้

วงสนทนา ถกกันในประเด็นนี้ค่อนข้างอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ภาษามลายูอักษรญาวีกำลังวิกฤติเยี่ยงนี้ ทว่ากลับถูกสังคมละเลยไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ภาษามลายูอักษรญาวี ถือเป็นภาษาที่สละสลวย ละเอียดอ่อนและมีความลึกซึ้งโดยตัวของมันอยู่แล้ว ทั้งการใช้และการเรียบเรียงคำ

ประเด็นแรกก็คือ การที่เราจะขับเคลื่อนในเรื่องภาษามลายูอักษรญาวี ที่ถูกทิ้งจากสังคมมานาน ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะภาษามลายูอักษรญาวีเอง มีความโดดเด่นเป็นของตัวเองอยู่แล้ว กล่าวคือหนึ่งมันเป็นตัวเขียนที่ถูกประยุกต์โดยบรรพบุรุษของคนมลายูเอง เรียกอีกอย่างก็คือเป็นการยืมตัวอักษรมาจากภาษาอาหรับ นั่นก็คือภาษาอัล-กุรอาน เพื่อนำมาใช้ในการเขียนตำราและการสื่อสาร นี่คือสิ่งที่โดดเด่นที่สุดยิ่งกว่าสิ่งใด

ภาษามลายูอักษรญาวียังเป็นภาษาที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาพร้อมๆ กับการเข้ามาของศาสนาอิสลามในแหลมมลายูแถบอุษาคเนย์นี้อีกด้วย อีกทั้งการที่จะพยายามอนุรักษ์ด้วยการผลิตเป็นสื่อให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตเองจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาษามลายูอักษรญาวีอยู่พอสมควร ซึ่งก็ต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้เขียนโดยเฉพาะ

ในส่วนของหลักการเขียนภาษามลายูอักษรญาวีนั้น บอบอดิงได้ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจต่อเรื่องนี้ว่า "นักเขียนภาษามลายูญาวีส่วนใหญ่แทบทุกคน ล้วนมิได้ผ่านการร่ำเรียนทางด้านหลักไวยากรณ์แต่อย่างใด แต่พวกเขาอาศัยความเคยชินที่ได้สังเกต จนมีความสามารถเขียนเองได้ในระดับหนึ่ง หลังจากที่ได้สัมผัสผ่านประสบการณ์อ่านด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้เขาสามารถเขียนได้เองอย่างอัตโนมัติ โดยปราศจากหลักสูตรวิธีการการเขียนที่ตายตัว"

บาบอดิงยังเสริมอีกว่า การเขียนภาษามลายูอักษรญาวีนั้น ไม่ได้อาศัยการเรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนการสอนอย่างเฉพาะเจาะจง เพราะมันเป็นเรื่องความเข้าใจของแต่ละบุคคล ที่จะวางประโยชน์อันไหนหน้าอันไหนหลัง เพราะถึงแม้ว่าผู้ที่ได้ศึกษาตำราเกี่ยวกับการหลักไวยากรณ์อย่างถี่ถ้วนก็ตาม แต่หากปราศจากการอ่านทดลองด้วยสายตาอย่างสม่ำเสมอ คงจะยากและไม่มีวันที่จะเขียนญาวีได้

ประเด็นที่สอง ถือเป็นประเด็นที่น่าท้าทายอีกประเด็นหนึ่ง นั่นก็คือ ภาษามลายูอักษรญาวีไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวในการเขียน ซึ่งมันกลายเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันอย่างไม่สิ้นสุด ว่าเขียนแบบไหนที่ถือว่าถูกต้องที่สุด เพราะปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลต่อผู้บริโภคและผู้เขียนเองที่จะต้องมีความแน่นอนหนักแน่นในการเลือกใช้วิธีการเขียนภาษามลายูอักษรญาวี ไม่ว่าจะเป็นการเขียนแบบคลาสสิก (แบบเก่าแก่) การเขียนแบบซะอฺบา (แบบที่คิดค้นโดยท่านซะอฺบา) และการเขียนแบบเดวันบาฮาซา (การเขียนแบบสมัยใหม่)

การเขียนแบบคลาสสิกนั้น ปัจจุบันแทบจะหายไปแล้ว นอกเหนือจากตำราศาสนาที่ยังคงมีอยู่ในสถาบันการศึกษาปอเนาะ ที่ตีพิมพ์ในสมัยก่อนที่จะมีการปรับปรุงภาษามลายูอักษรญาวีเหมือนอย่างทุกวันนี้ เช่น คำว่า ตาย จะเขียนว่า مات หากอ่านตามตัวเขียน จะหมายถึง ดวงตา แต่ความจริงหมายถึงความตาย

ส่วนการเขียนแบบซะอฺบานั้น คือเป็นความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงคำที่ยากต่อการอ่าน โดยเฉพาะคำที่อ่านออกเสียงอย่างหนึ่ง แต่ความหมายอีกอย่างหนึ่ง เช่น คำว่า ตาย จากเดิมที่เขียนว่า مات เมื่ออ่านออกเสียงจะให้ความหมายว่าดวงตา โดยใช้วิธีการเพิ่มตัว ي ลงไป ก็จะกลายเป็น ماتي จะหมายถึงความตายหรือการเสียชีวิต

สุดท้ายก็คือตามรูปแบบของเดวันบาฮาซา (หอสมุดแห่งชาติมาเลเซีย) มีความพยายามที่จะเขียนให้เอื้อต่อคนอ่านให้มากที่สุด โดยการเพิ่มตัวอักษรที่เปรียบเทียบกับสระลงไป แต่เน้นการออกเสียงให้เหมือนกับการอ่านอักษรโรมัน เช่น คำว่า แกง ตามแนวคิดของซะอฺบา จะเขียนว่า ڬولي แต่เดวันจะเติมอักษร ا ลงไปเป็น ڬولاي ซึ่งจริงอยู่ถึงแม้มันจะเอื้อต่อการอ่านออกเสียงให้ถูกต้องก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันยังมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการเขียนดังกล่าวนี้อีกมาก

ประเด็นดังกล่าว ถือเป็นประเด็นที่ยังคงถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในแวดวงของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษามลายูอักษรญาวีโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีจิตสำนึกที่ต้องการจะฟื้นฟูอนุรักษ์เพื่อให้ภาษามลายูอักษรญาวีสามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมของเราตราบนานเท่านาน ที่จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในจุดนี้ให้อย่างถ่องแท้และดีที่สุด

แล้วความเป็นมาตรฐานก็จะบังเกิดพร้อมๆ กับการได้รักษาอัตลักษณ์ของชนชาติพันธุ์ที่มีความสวยงามและทรงคุณค่ายิ่งนี้ในสังคมบ้านเราอีกด้วย ตามคำคมที่ว่า "Hidup bahasa Hidup bangsa" การคงอยู่ของภาษาคือการคงอยู่ของชาติพันธุ์ฉันใดก็ฉันนั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ: ยอดผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจากกรณีความขัดแย้งเขาพระวิหาร

Posted: 10 Jan 2013 06:45 AM PST

คลิกที่นี่เพื่อชมภาพขนาดเต็ม

 

หลังจากศาลโลกเคยมีคำสั่งเมื่อปี 2505 ให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา เวลาผ่านไปกว่า 50 ปี ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหารก็ได้เกิดขึ้นระลอกใหม่ในปี 2551

โดยในวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่สนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

ขณะเดียวกันพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งได้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ในปี 2551 ก็นำประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารมาเป็นประเด็นหนึ่งในการขับไล่รัฐบาล

และหลังจากที่ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ก็นำมาซึ่งความตึงเครียดอีกครั้งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยและกัมพูชา ได้ต่างเพิ่มกำลังทหารที่บริเวณชายแดน กระทั่งหลังเปลี่ยนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ความขัดแย้งที่ชายแดนได้ลุกลามเป็นการปะทะเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายนปี 2552

และต่อมาการปะทะระหว่างกองกำลังไทยและกัมพูชาได้ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้งในปี 2553 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ทำให้ต่อมารัฐบาลกัมพูชาต้องขอคำสั่งคุ้มครองจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งต่อมาได้ออกคำสั่งให้ทั้งสองประเทศต้องถอนกำลังทหารในวันที่ 18 กรกฎาคม 2554

กระทั่งล่าสุดเมื่อ 18 กรกฎาคม 2555 หรืออีก 1 ปีต่อมาทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชามีการถอนทหารออกจากเขตปลอดทหารรอบปราสาทพระวิหารเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บิ๊กกูเกิล-ทูตสหรัฐฯเยือน "เกาหลีเหนือ" แนะชีวิตจะดีขึ้นหากให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

Posted: 10 Jan 2013 04:29 AM PST

ทูตพิเศษสหรัฐเยือนเปียงยาง ระบุพลเมืองเกาหลีเหนือจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หากมีโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ ด้านซีอีโอกูเกิลชี้อินเทอร์เน็ตจะช่วยให้พลเมืองก่อร่างสร้างตัวได้ ซึ่งทางการเกาหลีเหนือต้องทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น

คณะผู้แทนจากสหรัฐอเมริกา และซีอีโอกูเกิลเดินทางมาถึงเปียงยาง โดยระบุว่าเป็นการปฏิบัติภารกิจส่วนตัวด้านมนุษยธรรม (ที่มาของคลิป: KCNA: สำนักข่าวกลางเกาหลี ของเกาหลีเหนือ)

บิล ริชาร์ดสัน อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเม็กซิโก อดีตทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ และทูตพิเศษสหรัฐกิจการเกาหลีเหนือ และ เอริก ชมิดต์ ประธานบริหารบริษัทกูเกิล ระหว่างการเยือนอาคารศึกษามหาประชาชน เมื่อ 9 ม.ค. 56 (ที่มา: KCNA)

 

คณะผู้แทน นำโดย บิล ริชาร์ดสัน อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเม็กซิโก อดีตทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ และทูตพิเศษสหรัฐกิจการเกาหลีเหนือ และ เอริก ชมิดต์ ประธานบริหารบริษัทกูเกิล เรียกร้องให้เกาหลีเหนือหยุดการทดลองนิวเคลียร์และขีปนาวุธ

ริชาร์ดสันกล่าวด้วยว่าคณะผู้แทนเรียกร้องให้ทางการเกาหลีเหนือทำให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและรับประกันการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อพลเมืองอเมริกันที่ถูกควบคุมตัว

ในการเยือนครั้งนี้ คณะดังกล่าวพบกับเจ้าหน้าที่รัฐในกรุงเปียงยาง เพื่อปฏิบัติ "ภารกิจส่วนตัวด้านมนุษยธรรม" ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่านี่เป็นการเยือนที่เปล่าประโยชน์ โดยวิคตอเรีย นูแลนด์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ บอกว่า "เรายังเชื่อว่าการเดินทางครั้งนี้ไม่รอบคอบ"

ก่อนหน้านี้ ริชาร์ดสันเยือนเกาหลีเหนือหลายครั้ง โดยไปเยือนบ่อยที่สุดเมื่อเดือนธันวาคม 2553 เขาเคยมีส่วนในการปล่อยตัวพลเมืองอเมริกันที่ถูกคุมตัวสองครั้ง และหลังการเยือนเกาหลีเหนือเมื่อสองปีก่อน เขาบอกว่าเปียงยางได้ตกลงจะเปิดศูนย์ปฏิบัติการนิวเคลียร์ให้ผู้ตรวจการยูเอ็นเข้าตรวจสอบอีกครั้ง แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ปรากฏ

หลังจากนี้ คณะผู้แทนชุดนี้จะเดินกลับกรุงปักกิ่ง เพื่อให้สัมภาษณ์สื่อ

โดยริชาร์ดสันระบุด้วยว่า ประเด็นหลักที่คณะผู้แทนแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายต่างประเทศ นักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีเหนือ คือ ยิ่งเกาหลีเหนือเปิดกว้างมากเท่าไหร่จะเป็นผลดีต่อเกาหลีเหนือเอง

"พลเมืองเกาหลีเหนือจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หากมีโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ" ริชาร์ดสันกล่าว

ด้าน เอริก ชมิดต์ ผู้บริหารของกูเกิลระบุว่า ขณะที่โลกเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ การตัดสินใจที่จะอยู่เป็นเอกเทศในโลกไซเบอร์ จะส่งผลกระทบต่อโลกทางกายภาพอย่างยิ่ง ขณะที่เศรษฐกิจของพวกเขาก็กำลังเติบโตและเดินหน้า นี่กลับจะทำให้เขาตามคนอื่นทางเศรษฐกิจไม่ทัน ทันทีที่มีอินเทอร์เน็ต พลเมืองในประเทศก็จะสามารถก่อร่างสร้างตัวได้ ฉะนั้น รัฐบาลเกาหลีเหนือจะต้องทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

ลูซี วิลเลียมสัน ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำกรุงโซล เกาหลีใต้ ระบุว่า ปัจจุบัน ประชากรเกาหลีเหนือ 1 ใน 16 คนจะมีโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง โดยเกาหลีเหนืออยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของตัวเอง แต่ยังคงมีข้อบังคับเกี่ยวกับการสื่อสารกับโลกภายนอกที่เข้มงวดที่สุดในโลก

ริชาร์ดสัน กล่าวว่า คณะผู้แทนยังขอให้ทางการเกาหลีเหนือรับรองว่าจะปฏิบัติต่อผู้ต้องขังชาวอเมริกันอย่างเป็นธรรมและมีมนุษยธรรม

ผู้ต้องขังคนดังกล่าวคือ เคนเนธ เบ ชายสัญชาติเกาหลี-อเมริกัน ผู้ซึ่งถูกจับกุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือเคยปล่อยตัวชาวอเมริกันที่ถูกคุมขังหลังการเยือนของผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ

การเยือนเปียงยางครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เกาหลีเหนือใช้จรวดปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้ไม่ถึงเดือน การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกประณามจากสหรัฐฯ ว่าเป็นการทดสอบเทคโนโลยีขีปนาวุธระยะไกลที่ต้องห้าม

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ แอน ลาวิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายสาธารณะของกูเกิล กล่าวถึงการเยือนดังกล่าวของชมิดต์ว่า เป็นการเยือนในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามกูเกิลแต่อย่างใด

 

แปลจาก

Google boss, ex-US governor urge N Korea openness, BBC

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กระทรวงต่างประเทศกัมพูชาระบุเตรียมอภัยโทษ "วีระ-ราตรี"

Posted: 10 Jan 2013 04:13 AM PST

ในโอกาสพระราชพิธีถวายพระเพลิงสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พร้อมระบุก่อนหน้านี้ช่วงประชุมอาเซียน "ยิ่งลักษณ์" เสนอ "ฮุน เซน" อภัยโทษ "วีระ -ราตรี"

แถลงการณ์ลงวันที่ 10 มกราคม ของกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา (ที่มาของภาพ: กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา)

วันนี้ (10 ม.ค.) กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา เผยแพร่แถลงการณ์ของโฆษกกระทรวงมีใจความว่า ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 21 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2012 ที่พนมเปญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ร้องขอต่อสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อให้พิจารณาถึงความเป็นได้ในการอภัยโทษ 2 ผู้ต้องขังสัญชาติไทยคือ นายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ที่ปัจจุบันนี้ถูกคุมขังอยู่ในประเทศกัมพูชา ในข้อหาจารกรรมและรุกล้ำพื้นที่หวงห้ามทางทหารของกัมพูชา

"ในวันนี้ 10 มกราคม 2013 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ร้องขอในเรื่องดังกล่าวต่อสมเด็จฮุน เซน อีกครั้ง และเพื่อเป็นการตอบรับต่อคำร้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, สมเด็จฮุน เซน ได้ออกคำสั่งแก่กระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ดังนี้

1.ลดระยะเวลาการลงโทษจำคุกแก่ นายวีระ สมความคิด ซึ่งอาจนำไปสู่การอภัยโทษในอนาคต และ 2. อภัยโทษ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์

ปัจจุบัน กระทรวงยุติธรรมกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคำสั่งข้างต้นของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี และจะมีคำตัดสินเกี่ยวกับเรื่องนี้ในไม่ช้า"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาไทการ์ตูน: วันเด็กนี้ ลูกอยากไปไหน

Posted: 10 Jan 2013 03:42 AM PST

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่ขึ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘คดีคลิตี้’ ศาลสั่งกรมควบคุมมลพิษจ่าย 1.7 แสนต่อคน ‘คนคลิตี้’ กังวลให้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ

Posted: 10 Jan 2013 03:08 AM PST

ศาลปกครองสูงสุดชี้กรมควบคุมผิดละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ให้จ่ายชดเชยค่าเสียหายให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 22 รายๆ ละ 1.7 แสนบาท 'คนคลิตี้' กังวลไร้แผนการฟื้นฟูลำห้วย ชี้ให้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ เตรียมจับตา 'กรมควบคุมมลพิษ' แก้ปัญหา
 
 
 
 
วันนี้ (10 ม.ค.56) เวลา 09.00 น.ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 214/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 637/2551 ที่ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่าง 22 คน ฟ้องกรมควบคุมมลพิษ (ค.พ.) ในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยงานผู้เชียวชาญด้านมลพิษ จากกรณีสารพิษตะกั่วจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (แห่งประเทศไทย) จำกัด ปนเปื้อนและสะสมในลำห้วยคลิตี้ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของลำห้วย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสำคัญของชาวบ้าน
 
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษในการฟื้นฟูและลดมลพิษในลำห้วยคลิตี้ล่าช้า รวมทั้งไม่มีการจัดทำแผน และกำหนดการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษไว้ล่วงหน้า ส่งผลให้ผู้ฟ้องทั้ง 22 ราย ได้รับความเสียหาย ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านยังไม่สามารถนำน้ำในลำห้วยขึ้นมาอุปโภค บริโภคได้ เนื่องจากมีสารตะกั่วปนเปื้อนสูงกว่าค่ามาตรฐาน
 
ศาลตัดสินให้ กรมควบคุมมลพิษชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านผู้ฟ้องร้องทั้ง 22 คน ในส่วนภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทดแทนอาหารที่เคยมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ในอัตรารายละ 700 บาทต่อเดือน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี อีกทั้งยังต้องชดเชยในส่วนค่าเสียหายต่อสิทธิในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ในอัตรารายละ 1,000 บาทต่อเดือน โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายในอนาคตเป็นระยะเวลาเพิ่มอีก 94 เดือน จากเดิม 22 เดือน (เดิมตั้งแต่ พ.ย.45-27 ส.ค.47 ซึ่งเป็นวันยื่นฟ้องคดีเพิ่มเติม บวกเพิ่มอีก 94 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.47-26 มิ.ย.55 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก) รวมให้ชดเชยต่อรายเป็นเงิน 177,199.55 บาท ภายใน 90 วันตั้งแต่คดีถึงที่สุด
 
ส่วนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ศาลให้กรมควบคุมมลพิษกลับไปจัดทำแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และดำเนินการฟื้นฟูตามธรรมชาติ ซึ่งต้องตรวจสอบคุณภาพน้ำในทุกฤดูกาลจนกว่าสารตะกั่วในน้ำจะอยู่ในระดับที่ไม่เกินค่ามาตรฐานการควบคุม ต่อเนื่องกันอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี โดยให้มีการติดประกาศให้ชาวบ้านได้รับทราบโดยทั่วกัน
 
 
 
'คนคลิตี้' กังวลไร้แผนการฟื้นฟูลำห้วย เตรียมจับตา 'กรมควบคุมมลพิษ' แก้ปัญหา
 
นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ชาวบ้านคลิตี้ล่างหนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า รู้สึกพอใจผลการตัดสินในระดับหนึ่งที่ชาวบ้านได้รับค่าชดเชย ซึ่งจะมีการนำไปจัดสรรเป็นเงินกองทุนในการเดินทางไปรักษาพยาบาล และซ่อมแซมระบบน้ำประปาหมู่บ้าน แต่ประเด็นหลักของการฟ้องคดีนี้คือต้องการให้มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งการฟื้นฟูตามธรรมชาตินั้นไม่รู้จะเห็นผลเมื่อไหร่ เท่ากับเป็นการปล่อยตะกอนสารพิษทิ้งไว้ ซึ่งที่ผ่านมากว่า 10 ปี ก็ได้เห็นแล้วว่าวิธีนี้ไม่มีประโยชน์ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนน้ำป่าก็จะไหลทะลักทำให้ตะกอนในลำห้วยฟุ้งกระจายขึ้นมาอีก
 
ต่อคำถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาสารพิษในลำห้วยคลิตี้ นายกำธร กล่าวว่า ในสายตาชาวบ้านต้องการให้ดูดตะกอนออกไปทำการฝังกลบ แต่ชาวบ้านไม่มีเครื่องมือจึงไม่สามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้เคยมีการดูดตะกอนออกจากลำห้วยแต่ก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะเป็นการดูตะกอนแล้วนำไปทิ้งไว้ใกล้ๆ ลำห้วย ระยะห่างเพียง 5-6 เมตร อีกทั้งการฝังกลบไม่แน่นหนา ทำให้เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำก็ชะให้ตะกอนสารตะกั่วไหลลงลำน้ำสร้างปัญหาให้ชาวบ้านอีก    
 
นายกำธร กล่าวด้วยว่า หลังจบคดีชาวบ้านจะมีการพูดคุยกันอีกครั้งว่าจะมีกระบวนการอย่างไรในการติดตามการแก้ไขปัญหาตามที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว และหากจะให้ชาวบ้านไปเดินหน้าฟ้องคดีต่อไปอีกคงไม่มี เพราะ 9 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านเหนื่อยมากแล้ว  
 
"ต้องสู้ต่อไป หน้าที่ของพวกผมต้องจับตาดูแผนการแก้ไขปัญหาของกรมควบคุมมลพิษ และการเปิดเผยข้อมูล" นายกำธร กล่าว
 
 
 
ทนายชี้ 'คดีคลิตี้' ก้าวหน้า ให้ทำแผนการป้องกันก่อนปัญหาผุด
 
ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ผู้อำนายการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านคลิตี้ล่างในคดีดังกล่าว แสดงความเห็นต่อผลการตัดสินคดีในวันนี้ว่า มีความก้าวหน้าที่เป็นบรรทัดฐานในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษในการแก้ปัญหา ซึ่งศาลพูดไปถึงการไม่จัดทำแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้าว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ก่อผลกระทบ และการไม่ติดตามการแก้ไขปัญหาทำให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชน ตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะกรณีคลิตี้แต่จะถูกนำไปใช้ต่อไป เช่น ในกรณีของสารไซยาไนด์ในเหมืองทองที่จังหวัดเลย ถือเป็นความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่ถึงขั้นของการกำหนดแผน
 
นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า ประชาชนต้องติดตามการบังคับคดีกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งอาจมีการตั้งคณะทำงานที่เป็นของภาคประชาชนโดยร่วมกับนักวิชาการ ในการติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินการของกรมควบคุมมลพิษอย่างจริงจัง เพื่อให้ค่าสารพิษที่ตกค้างในธรรมชาติลดลง และคุณภาพชีวิตของชาวบ้านต้องดีขึ้น
 
ส่วนบทเรียนจากกรณีคลิตี้ สะท้อนปัญหาที่ว่า รัฐยังไม่มีหลักประกันในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากมลพิษจากอุตสาหกรรมที่รวดเร็วและเป็นธรรมพอ เพราะกรณีคลิตี้ต้องใช้เวลาถึง 15 ปี ซึ่งถือว่าเกินจะรับได้สำหรับสังคมประชาธิปไตยแบบประเทศเรา และเป็นการผลักภาระให้ประชาชนต้องใช้สิทธิทางศาลยาวนานถึง 9 ปี ทั้งที่ความเสียหายนั้นรัฐต้องมีมาตรการเยียวยาอย่างทันท่วงที
 
"โมเดลคลีตี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ควรปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก" ผู้อำนายการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าว
 
นายสุรชัย กล่าวถึงการเคลื่อนไหวต่อไปขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมว่า จะมีการผลักดันการแก้ไขกฎหมายให้การแก้ไขปัญหามีความชัดเจนขึ้น เช่น มีกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อไปไล่เบี้ยกับผู้ที่ก่อมลพิษ และช่วยเหลือในคดีความฟ้องร้องของชาบ้าน หรือการผลักดันระบบภาษีสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง
 
ทั้งนี้ ผลวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้โดยกรีนพีซ เมื่อเดือน ก.พ.55 ยังคงพบการปนเปื้อนของสารตะกั่วในตะกอนดินสูงกว่าภาวะปกติทั่วไปตามธรรมชาติหลายร้อยเท่า รวมทั้งตรวจพบสารตะกั่วในดินมากกว่าค่ามาตรฐานคุณภาพดินของประเทศไทยสูงสุดประมาณ 5 เท่า จากดินบริเวณที่เคยถูกน้ำท่วมจากลำห้วย สอดคล้องกับรายงานผลการตรวจวัดปริมาณสารตะกั่วของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งตรวจในเดือน ก.ย.54 พบว่าในกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งชาวบ้านนำมาบริโภคตามวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติมีสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนหลายเท่า 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รบ.เวียดนามจำคุกนักเคลื่อนไหวล็อตใหญ่ 13 คน สูงสุด 13 ปี

Posted: 10 Jan 2013 12:26 AM PST

ในจำนวนนี้มีนักเคลื่อนไหว นักเขียนและบล็อกเกอร์ ซึ่งถูกตัดสินด้วยข้อหาว่าด้วยการละเมิดความมั่นคงของชาติ ในขณะที่องค์กรสิทธิเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวทันที

10 ม.ค. 56 - รัฐบาลเวียดนามตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวและบล็อกเกอร์รวมทั้งหมด 13 คน ด้วยข้อหากระทำการที่มุ่งโค่นล้มรัฐบาลเวียดนาม เป็นเวลาระหว่าง 3-13 ปี และถูกกักบริเวณเพิ่มอีกระหว่าง 2-5 ปี และอีกหนึ่งคนถูกตัดสินแต่ได้รับการภาคทัณฑ์ โดยส่วนใหญ่เป็นนักเคลื่อนไหวจากกลุ่มศาสนาคาทอลิกที่เผยแพร่ข้อเขียนวิจารณ์รัฐบาลทางเว็บไซต์และมีส่วนร่วม หรือสนับสนุนให้มีการประท้วงอย่างสงบ 

ผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี มีส่วนในการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อการศึกษา ชุมชนที่ยากจน และเป็นนักข่าวพลเมือง โดยมาจากชุมชนศาสนาคริสต์คาทอลิกในเมืองวินห์ ซึ่งมักถูกข่มขู่และจับตาใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ 

องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกว่า 10 องค์กร อาทิ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ พันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) อาร์ติเคิล 19 และมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Frontiers Foundation) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐบาลเวียดนาม เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษดังกล่าว และถอนข้อกล่าวหาทุกข้อโดยทันที

"คนจำนวน 13 คนต้องถูกจับขังคุกสำหรับข้อหาที่ไม่มีอะไรมากกว่าการแสดงออกทางการเมืองที่ชอบธรรม พวกเขาถูกจับขังจากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะบนอินเทอร์เน็ตและการมีส่วนร่วมในการประท้วงอย่างสงบ นี่ไม่ควรจะเป็นอาชญากรรม สิ่งที่น่าจะเป็นอาชญากรรมมากกว่าคือการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานโดยรัฐ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออก" แอคเนส คัลลามาร์ด ผู้อำนวยการบริหารองค์กรอาร์ติเคิล 19 กล่าว

"นี่เป็นอีกรอยหนึ่งที่จะแปดเปื้อนสถิติด้านสิทธิมนุษยชนของเวียดนาม มันเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่ใหญ่กว่าเพื่อการปิดปากเสียงของฝ่ายค้าน ให้ทำตามแนวทางของพรรค ทางการเวียดนามควรทำการปล่อยตัวผู้คนเหล่านี้ทันที" คัลลามาร์ดระบุ

 

 

ที่มา:
Vietnam: Conviction of thirteen pro-democracy activists is an abuse of fundamental rights
http://www.article19.org/resources.php/resource/3578/en/vietnam:--concern-over-largest-ever-trial-of-human-rights-defenders

Fourteen Human Rights Defenders Convicted in a Sham Trial in Vietnam
http://www.viettan.org/Fourteen-Human-Rights-Defenders.html


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน

Posted: 10 Jan 2013 12:16 AM PST

"ความกลัวและพลังด้าน negative เป็นแรงขับที่รุนแรงที่สุดในตัวมนุษย์ ความไม่ต้องการจะเป็นอะไรเป็นแรงขับที่ดีกว่าความต้องการจะเป็น และบ่อยครั้งคนที่มีแรงขับเคลื่อนด้านลบกลับทำสิ่งที่สร้างสรรค์จริงจังกว่าคนที่มีแรงขับเคลื่อนด้านบวกเสียอีก"

9 ม.ค.56, เจ้าของห้องสมุด "Reading Room" โพสต์สถานะบนเฟซบุ๊ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น