โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ชุมนุมร้องรัฐบาลแก้ปัญหาเลิกจ้าง

Posted: 24 Jan 2013 11:21 AM PST

สมาชิกสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ฯ 50 คน ปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบ วอนรัฐช่วยแก้ปัญหาเลิกจ้างสมาชิก 127 คน ชี้เป็นการฉวยโอกาสทำลายสหภาพฯ หลังยื่นปรับค่าแรงเพิ่มจากอายุงานตามนโยบาย 300 บาท เตรียมประท้วงหน้า สนง.ใหญ่ 25 ม.ค.นี้

23 ม.ค.56 ที่บริเวณบาทวิถีใกล้ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ตรงข้ามสำนักงานคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีผู้ชุมนุมจากสหภาพแรงงาน อิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ประมาณ 50 คน ซึ่งได้เดินทางมาปักหลักชุมนุมจากจังหวัดระยองตั้งแต่ 1.00 น. ของวันเดียวกัน เพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล กรณีที่กรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้าง 127 คน หลังเจรจาขอปรับค่าจ้างตามนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาล โดยให้รัฐบาลดำเนินการให้บริษัทฯ มาเจรจากับสหภาพฯ และรับพนักงานทุกคนเข้ากลับทำงานในตำแหน่งและหน้าที่เดิมและสภาพการจ้างเดิม

ทั้งนี้เวลา 11.00 น. ตัวแทนผู้ชุมนุมได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนายสุภรณ์ ได้รับปากว่าจะดำเนินการแก้ไขภายใน 2 สัปดาห์

หลังยื่นหนังสือผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมอยู่บริเวณดังกล่าวเพื่อรอความคืบหน้า จนกระทั่งเวลา 17.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมตัดสินใจย้ายข้ามฝั่งมาชุมนุมที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ริมคลองเปรมประชากร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าหากไม่ย้ายจะดำเนินการรื้อเต็นท์ที่พัก

ภาพขณะย้ายจากหน้าประตู 4 ทำเนียบมายังเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ

บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกและที่ปรึกษาสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ฯ  กล่าวถึงกรณีคนงาน 127 คน ที่ถูกเลิกจ้างนั้น ประกอบไปด้วยกรรมการสหภาพฯ สมาชิกสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ฯ เป็นส่วนใหญ่ เป็นผลมาจากสหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเสนอขอให้บริษัทพิจารณาปรับค่าจ้างตามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดยเพิ่มขึ้นตามอายุงานด้วย รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี, โบนัส และให้บรรจุพนักงานเหมาค่าแรงที่มีอายุงาน 6 เดือนขึ้นไป ให้มีสิทธิสอบบรรจุเป็นพนักงานประจำ โดยในระหว่างการเจรจานั้นบริษัทได้เลิกจ้างคนงานดังกล่าว ระบุว่ามีความผิดละทิ้งหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ซึ่งตนเองมองว่าเป็นการฉวยโอกาสทำลายสหภาพแรงงานเนื่องจากผู้ที่ถูกเลิกจ้างส่วนมากเป็นแกนนำของสหภาพฯ

ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ฯ  เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 25 ม.ค. นี้ เวลา 9.00 น. ทางสหภาพแรงงานฯ จะเดินทางไปชุมนุมที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ที่อาคารอิเลคโทรลักซ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทมาเจรจากับสหภาพแรงงานฯ และรับคนงานกลับเข้าทำงานด้วย

บุญยืน กล่าวด้วยว่า สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ฯ ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณกลางปี 53 ขณะนี้มีสมาชิกอยู่ประมาณ 250 คน จากคนงานประจำประมาณ 380 คน ซึ่งไม่รวมคนงานเหมาค่าแรง นายจ้างเป็นสัญชาติสวีเดน โรงงานเปิดมาเมื่อปี 46 ซึ่งครบ 10 ปีในปีนี้  ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม RIL เลขที่ 169 ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย ระยอง และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ อาคารอิเลคโทรลักซ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กทม. ผลิตเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องดูดฝุ่น ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ

บุญยืน สุขใหม่ 

บุญยืน สุขใหม่ เล่าถึงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นว่า สืบเนื่องจากกรณีที่มีการประกาศปรับค่าจ้าง 300 บาท ก่อนหน้านั้นเงินเดือนของคนงานส่วนใหญ่ไม่ถึง 9,000 บาท แต่อายุงานแต่ละคนจากพนักงานที่มี 800 กว่าคนนั้นจะแตกต่างกันออกไป เงินเดือนจึงกระจายกันที่ 7,000 – 9,000 บาท หรือบางคนไปถึงใกล้หมื่นบาท แต่อายุงานก็ตั้งแต่รุ่นก่อตั้งบริษัท 9-10 ปี พลังจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท สหภาพแรงงานฯ ก็มองเห็นว่าบริษัทควรมีนโยบายที่จะปรับเพิ่มให้กับคนที่ได้ค่าแรงมากกว่านั้นด้วย จึงมีการประชุมคณะกรรมการลูกจ้างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ย. แต่ถึงเดือน ธ.ค.บริษัทก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในการประชุม

โดยสหภาพฯ มีข้อเสนออยู่ 3 ประเด็นที่เป็นปัญหาหลักๆ ในเรื่องของการปรับค่าจ้างตามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดยให้เพิ่มขึ้นตามอายุงานด้วย เพราะถ้าปรับทุกคนมากองกันที่ 9,000 บาท โดยไม่คำนึงถึงอายุงานเลยก็เหมือนว่าไม่เป็นธรรมกับคนที่อายุงานมากกว่า  อีกประเด็นในส่วนของอิเลคโทรลักซ์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่จริงๆ แล้วมีกำไรมหาศาลจากที่สหภาพแรงงานฯ ได้ตรวจสอบงบดุลมา 3 ปีสุดท้ายนี้กำไรต่อปี 3 พันกว่าล้าน แต่การจ้างงานของเขามีพนักงานเหมาค่าแรงถึง 600 คน พนักงานประจำเพียงแค่ 300 กว่าคนเท่านั้นเอง สหภาพแรงงานฯ จึงมีข้อเสนอให้บรรจุพนักงานเหมาค่าแรงที่มีอายุงาน 6 เดือนขึ้นไปให้มีสิทธิสอบบรรจุเป็นพนักงานประจำและอีกประเด็นคือเรื่องของโบนัสซึ่งเรามองว่าน่าที่จะกำหนดให้สหภาพแรงงานฯ รู้ก่อน

สหภาพฯ ได้มีการเจรจาพูดคุยมาเรื่อย แต่ทางบริษัทก็ปฏิเสธ จนกระทั่งหลังปีใหม่ สหภาพแรงงานฯ ได้ทำหนังสือขอประชุมกรรมการลูกจ้างวันที่ 10 ม.ค. เพื่อกำหนดให้มีความชัดเจน ในระหว่างการเจรจาตั้งแต่เที่ยงถึงบ่าย 3 สมาชิกสหภาพแรงงานและคนงานเกือบทั้งหมดได้มีการหยุดฟังผลการเจรจา จนเป็นประเด็นว่าในขณะที่กรรมการลูกจ้างก็มีการเจรจาไป ส่วนพนักงานก็ไม่ได้ทำงาน ตรงนั้นถ้ามองในมุมกฎหมายแรงงานเขาก็บอกว่าเราละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

แต่ในโต๊ะเจรจาบริษัทก็ตกลงว่าจะหาทางออกร่วมกัน โดยก็บอกว่าจะพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นให้ และทางสหภาพแรงงานก็ไม่ได้ระบุว่าปรับเพิ่มเท่าไหร่เพียงแต่รับหลักการว่าสหภาพมีข้อเสนออย่างนี้ และในส่วนของโบนัสด้วย เรื่องของบรรจุพนักงานเหมาค่าแรงด้วย แต่จะประกาศให้ทราบอีกทีในวันที่ 11 ม.ค.โดยให้นัดพนักงานทั้ง 2 กะ มาฟังคำชี้แจงพร้อมกัน โดยสหภาพแรงงานให้เซ็นต์รับรองในบันทึกการประชุมว่าจะไม่เอาโทษทั้งทางแพ่งและอาญากับคนงาน โดยตัวแทนบริษัทไม่ยอมเซ็นต์แต่รับปากว่าจะไม่เอาผิด ให้ถือว่าแล้วๆ กันไป พูดง่ายๆ ว่าเป็นสัญญาลูกผู้ชาย เพราะอยู่ด้วยกันมานานแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาเซ็นต์เอกสารอะไร และกรรมการสหภาพก็อยู่มาตั้งแต่รุ่นก่อตั้งโรงงาน ซึ่งก็คงจะมีการไว้วางใจกันเพราะเจรจากันบ่อย คิดว่าไว้ใจกันได้จึงไม่ได้เซ็นต์เอกสาร

พอรุ่งขึ้นของวันที่ 11 ม.ค. พนักงานทั้ง 2 กะ ก็มาตามที่บริษัทนัด เมื่อถึงเวลาบริษัทก็เข้ามาชี้แจงโดยผู้บริหารชาวสวีเดนและชาวไทย เขาก็ชี้แจงเฉพาะเรื่องโบนัสว่าปีนี้จะจ่ายโบนัส 2 เดือน พูดเพียงเท่านั้นแล้วก็กลับ โดยไม่พูดถึงประเด็นเรื่องคนงานเหมาค่าแรงและการปรับค่าจ้าง ทั้งๆ ที่จริงๆ มีการรับปากว่าจะมีการปรับ ทำให้พนักงานยกมือตั้งคำถามทั้ง 2 ฝั่งคือทั้งนายจ้างและสหภาพแรงงานฯ เนื่องจากสหภาพฯ เป็นคนที่เข้าไปเจรจา ทางประธานสหภาพฯ คือคุณไพวรรณ์ เมทา จึงได้ลุกไปถามผู้บริหารว่าทำไมอีก 2 ข้อไม่ชี้แจงว่าจะปรับหรือไม่ปรับอย่างไร เพราะได้มีการรับปากกันไว้แล้ว ทีนี้ทางผู้บริหาร 2 คนก็นำตัวคุณไพวรรณ์ ออกไปนอกโรงงาน เหมือนมีการวางแผนไว้แล้ว หลังจากนั้นรถตู้ก็วิ่งเข้ามา คุณไพวรรณ์ถูกนำตัวขึ้นไป จากนั้น เขาถูกเลิกจ้างด้วยข้อหาก่อความวุ่นวายในโรงงาน ส่งผลให้กรรมการสหภาพและสมาชิกสหภาพแรงงานที่อยู่ด้านในไม่พอใจสิ่งที่ทางบริษัททำ เนื่องจากคนงานไม่ได้มาชุมนุม เพียงแค่มาตามที่บริษัทนัดมาเพื่อรับฟังคำชี้แจง จึงเรียกร้องให้นำตัวประธานสหภาพแรงงานกลับเข้ามาเพื่อชี้แจง และฝ่ายสหภาพแรงงานก็ไม่ได้เรียกร้องแบบมัดมือชกว่าต้องจ่ายเท่านั้นเท่านี้ เพราะจากการพูดคุยก่อนหน้าก็เพียงที่จะให้ชี้แจงว่าปรับได้หรือไม่อย่างไรเท่านั้นเอง

ด้านผู้บริหารปฏิเสธที่จะเจรจาและกลับเข้าไปในโรงงาน หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนิคมฯ และของบริษัทฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ.บ้านค่าย เหมือนกับมีการวางแผนไว้แล้ว เข้ามาพร้อมกันแล้วก็ไล่พนักงานที่อยู่ในที่ประชุม และบริษัทก็ได้ออกประกาศให้ทุกคนกลับเข้าไปทำงานตามปกติ แต่คนงานยังต้องการให้ประธานสหภาพแรงงานกลับมา ทุกคนจึงยังไม่ยอมกลับและอยู่ตรงนั้นต่อ จึงเกิดการไล่และยื้อกัน  โดยไล่คนงานออกจากที่ประชุมมานอกอาคารทั้งพนักงานกะเช้าและกลางคืน โดยเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและ รปภ. ได้ล้อมไว้โดยใช้เชือกแถบขาวแดงมากั้น ยืนล้อมและเฝ้าไว้ คนงานไปไหนไม่ได้ กะกลางคืนจะกลับบ้านก็กลับไม่ได้ ห้องน้ำก็ไม่ให้เข้า พอถึง 11 โมงก็เริ่มหิวข้าว และมี 3 คนที่เป็นคนท้อง สามีที่อยู่โรงงานเดียวกันแต่ไม่ได้ร่วมชุมนุมในตอนเช้านั้น ก็ได้ซื้อข้าวมาให้ พอสามีเข้ามาถึง เจ้าหน้าที่ก็ล็อคตัวและนำไปรวมกับกลุ่มที่ถูกล้อมไว้ จนถึงบ่าย 3 โมง บริษัทฯ ก็ออกมาประกาศเลิกจ้างด้วยวาจา

หลังจากนั้นก็จะไล่คนงานออกนอกพื้นที่ แต่ของใช้คนงานยังอยู่ในล็อคเกอร์ จะไปเอาก็ไม่ได้รับอนุญาต จนมีการให้ รปภ.ของบริษัทคุมไป 1 คนต่อ 1 คน ทีละคนกว่าจะได้ครบจนหมด ถึงเวลา 17.00 น. คนงานก็มารวมตัวกันที่หน้าโรงงาน แต่ตรงกับเสาร์อาทิตย์จึงยังไม่มีการชุมนุมแบบตั้งม็อบและทุกคนคิดว่าเป็นเพียงแค่ประกาศเลิกจ้างด้วยวาจา ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ในวันจันทร์ คนงานทุกคนก็เดินทางกลับมาทำงานตามปกติ และพบประกาศรายชื่อเลิกจ้าง โดยที่รายชื่อนั้นมีทั้งพนักงานกะกลางวันและกลางคืน ทั้งที่ กะกลางคืนไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์บางคนนอนอยู่บ้านก็มีรายชื่อถูกเลิกจ้าง พวกเราจึงมองว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่เหมือนมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า และทุกคนที่ถูกเลิกจ้างเป็นแกนนำหลักๆ ของสหภาพแรงงานทั้งนั้นเลย ส่วนบางคนเข้ากะกลางคืนถึงแม้อยู่ในที่ชุมนุมจะมาเลิกจ้างเขาก็ไม่ถูกเพราะไม่ได้ผิดกฎหมาย รวมทั้งบางคนไม่ได้มาชุมนุมแต่นอนอยู่บ้านเข้ากะดึกก็มีชื่อถูกเลิกจ้าง จึงแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นการล้มสหภาพแรงานแน่นอน

โดยถูกเลิกจ้าง 129 คน และตอนหลังมีการดึงเอาคนท้องกลับเข้าไปทำงาน และมีพนักงานบางส่วนที่เข้าไปลงชื้อแสดงเจตนากลับเข้าทำงานแต่ให้ไปนอนรออยู่ที่บ้านก่อน ถึงทุกวันนี้เขาก็ยังไม่ได้เรียกตัวกลับเข้าไปทำงาน จดหมายเลิกจ้างที่บริษัทส่งไปรษณีย์ EMS แจ้งไปตามภูมิลำเนาของพนักงานนั้นลงเวลา 9.00 น. ของวันที่ 11 ม.ค. แต่ประกาศเลิกจ้างด้วยวาจาวันที่ 11 ม.ค.เวลา 15.00 น. จึงเหมือนกับว่ามีการวางแผนทุกอย่างไว้ล้วงหน้าแล้ว เราจึงคิดว่างานนี้จึงคงยืดเยื้อเพราะไม่ใช่ประเด็นเรื่องของค่าจ้าง 300 บาท แต่เป็นเรื่องของการพยายามที่จะล้มสหภาพแรงงาน

การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาเราได้มีการประสานกับแรงงานจังหวัดและผู้ว่าราชการ ให้ลงไปไกล่เกลี่ยในวันที่ 11 ม.ค.ที่เริ่มเกิดปัญหา แต่กลับได้รับการปฏิเสธทุกส่วน ส่วนแรงงานจังหวัดก็ได้เข้าไปตามหน้าที่ ส่วนของผู้ว่าราชการนั้นน่าผิดหวังเนื่องจากปฏิเสธที่จะเข้าไปไกล่เกลี่ย รวมทั้งตนเองได้โทรมาแจ้งที่กองแรงงานสัมพันธ์ที่กระทรวงแรงงาน เพราะอยากให้คนที่มีอำนาจมากกว่าหัวหน้าแรงงานจังหวัดเข้ามา เพราะหัวหน้าแรงงานจังหวัดไม่มีความสามารถในการไกล่เกลี่ยได้เนื่องจากบริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญ ทางกองแรงงานสัมพันธ์กลับบอกให้รอดูผลก่อน

จึงมีการปรึกษาไปที่ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็โยนกลับไปที่หัวหน้าแรงงานจังหวัดอีก สรุปสุดท้ายในวันที่ 11 ม.ค.จึงไม่ได้มีความคืบหน้าอะไร คนงานจึงถูกเลิกจ้าง หลังจากนั้นในวันจันทร์ที่ 14 ม.ค. ทุกคนรู้ว่าถูกเลิกจ้างแน่นอนแล้วเนื่องจากบริษัทมีประกาศรายชื่อไว้ที่หน้าโรงงาน สหภาพฯ ก็มีการชุมนุมกันที่หน้าโรงงานมีการตั้งเต็นท์ พอบ่ายทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มาแจ้งว่าทางนิคมอุตสาหกรรมเหมราชได้มาแจ้งความดำเนินคดีเพื่อให้ย้ายออกนอกพื้นที่ แต่ทางพวกเราก็ยังยื้ออยู่ ในระหว่างนั้นเราก็ประสานหน่วยงานอื่นอย่างกระทรวงแรงงานเพื่อเข้ามาไกล่เกลี่ย แต่ก็ยังไม่ได้เข้ามาโดยใช้โทรแจ้งรายงานเหตุการณ์

วันอังคารที่ 15 ม.ค.ได้เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมายื่นหนังสือกับศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ หลังจากนั้นได้ไปยื่นหนังสือที่กรรมาธิการด้านแรงงานในสภาผู้แทนราษฎร โดยได้มีการรับปากว่าจะดำเนินการเรียกนายจ้างเข้ามาสอบข้อเท็จจริง แต่เราก็รอมาจนถึงครบอาทิตย์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเราก็ได้ติดตามความคืบหน้า แต่ละที เช่น โทรมาที่สำนักเลขาของทำเนียบ กลับบอกว่ายังไม่ได้รับเรื่องหรือเห็นเอกสารของเรา และโทรไปสอบถามกับทางกรรมาธิการด้านแรงงานในสภาฯ ก็บอกว่ายังไม่มีคำสั่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

ส่วนที่มีความคืบหน้าคือ อินดัสเตรียล ออล (Industrial All) หรือ สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป ที่เป็นองค์กรแรงงานสากล ได้มีการออกหนังสือและสื่อทางสวีเดน และ อินดัสเตรียล ออล นั้นสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ที่สวีเดนก็เป็นสมาชิกอยู่ ในส่วนของพวกเรากลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกก็เคยทำงานประสานกับเขาอยู่ เขาได้มีออกหนังสือประท้วงไปที่บริษัทที่สวีเดน และล่าสุดที่ทราบบริษัททำหนังสือตอบกลับไปที่อินดัสเตรียล ออล ว่าได้รับการชี้แจงจากทางประเทศไทยว่าทางลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ทำให้บริษัทเสียหายและอ้างข้อกฎหมาย ซึ่งในรายละเอียดอย่างข้อเท็จจริงที่ได้บอกไปนั้น เนื่องจากมีการเจรจามาอย่างยาวนาน และทุกอย่างมีเหตุผลซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ คนจะออกมาผละงาน โดยทางเราเตรียมส่งหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมไป

เหตุที่ตัดสินใจมาที่ทำเนียบเนื่องจากก่อนหน้านี้เราได้ประสานไปยังทำเนียบแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า สภาก็ยังไม่มีความคืบหน้า และในส่วนของพื้นที่เมื่อวันศุกร์ที่แล้วเราก็ได้ไปยื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรมของผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และได้มีการติดตามความคืบหน้าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯ ก็แจ้งว่าทางผู้ว่าได้สั่งการให้ทางเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ สุดท้ายก็ไปกองอยู่ที่คนๆ เดียว เราจึงมองว่าเรื่องของเราไม่ไปถึงไหนแน่ และทางนิคมก็ได้ทำหนังสือแจ้งให้เราออกจ้างพื้นที่โดยด่อนไม่เช่นนั้นจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งทางเขาก็ได้มีการแจ้งความไว้แล้วนั้น เราก็มองว่าถ้าเรายื้ออยู่ตรงนั้นไม่กี่วันหมายศาลก็คงมา แต่ถ้าย้ายก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนจึงตัดสินใจมาทวงถามที่รัฐบาล ประเด็นหนึ่งอาจไม่ใช่ปัญหาแต่ความเชื่อมโยงมาจากประเด็นค่าแรง 300 บาท ซึ่งเราก็คิกว่ารัฐบาลก็น่าที่จะหันมาให้ความสนใจกับประเด็นนี้และแก้ไขปัญหา ส่วนอีกประเด็นคือการเลิกจ้างในครั้งนี้เรามองว่ามันเป็นการล้มล้างสหภาพแรงงานซึ่งเราคิดว่าเป็นละเมิดสิทธิแรงงาน

สวีเดนเองเป็นประเทศที่เคารพสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรอง เป็นประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ แต่มาลงทุนในประเทศไทยกลับมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปในทางละเมิดสิทธิดังกล่าวมันก็ไม่ถูกต้อง และมาตั้งโรงงานไม่กี่ปีได้กำไรไปมหาศาล  เหมือนกับว่าคุณมากอบโกยเอาตรงนี้ ไปให้กับคนสวีเดนสร้างรัฐสวัสดิการ เหมือนกับการมาล่าอาณานิคมอะไรหรือไม่ ดังนั้นพลเมืองสวีเดนก็ควรที่จะตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย

สำหรับการชุมนุมที่หน้าทำเนียบนี้ทางสหภาพฯ จะชุมนุมเพื่อรอติดตามความคืบหน้า เนื่องจากการเดินทางจากระยองมาแต่ละครั้งค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งทางนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่รับเรื่องไปนั้นก็รับปากจะแก้ปัญหาภายใน 2 สัปดาห์ จึงจะชุมนุมที่นี่จนกว่าเรื่องจะจบ

ภาพบรรยากาศ :

ขณะเจ้าหน้าที่มาเจรจาให้ย้ายพื้นที่การชุมนุม

การชุมนุมที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ

อุปกรณ์แสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมยศโผล่! งานพระราชทานปริญญา ม.เชียงใหม่

Posted: 24 Jan 2013 10:59 AM PST

นักศึกษา นักกิจกรรมทางสังคม จัดกิจกรรมป่วนทางวัฒนธรรม (cultural jamming) รณรงค์กรณีที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุกรวม 11 ปีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112


Congratulation

24 มกราคม 2556 เวลาประมาณ 16.00 น.  บริเวณลานหน้าศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  หลังจากเสร็จสิ้นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีแล้ว  กลุ่มนักเรียนห้องเรียนประชาธิปไตย (Cafe Democracy @Book Re:public) ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาระดับปริญญาตรีและโท จากสถาบันต่างๆ ในเขตเชียงใหม่  ร่วมกับกลุ่มนิติม่อน นักทดลองทางศิลปะที่รณรงค์ประเด็นสิทธิเสรีภาพอย่างต่อเนื่อง  ได้จัดกิจกรรมป่วนทางวัฒนธรรม (cultural jamming) รณรงค์กรณีที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุกรวม 11 ปีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

ในกิจกรรมป่วนทางวัฒนธรรมครั้งนี้  กำหนดให้กลุ่มนักเรียนราว 10 คนเข้าไปทำ "บูมหรือการร่วมแสดงความยินดีด้วยการล้อมวงตะโกนเชียร์" ให้กับบัณฑิตใหม่ที่เพิ่งรับปริญญา  มีใจความว่า "S.O.M.Y.O.T FREE SOMYOT 112 112 112"  โดยผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากรูปใบหน้าสมยศ พฤกษาเกษมสุข  และยังมีนักแสดงภายใต้หน้ากากสมยศสวมชุดครุยเป็นซีรี่ส์ "สม-ยศ" ปะปนอยู่ในหมู่บัณฑิตใหม่ที่กำลังถ่ายภาพเป็นที่ระลึกในโอกาสแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสสำเร็จการศึกษา 


BOOM "S.O.M.Y.O.T FREE SOMYOT 112 112 112"



ตัวแทนกลุ่มกิจกรรมฯกล่าวว่า  "หน้ากากที่เราสวมใส่ไม่ได้หมายความว่าเรากลัวที่จะเปิดเผยใบหน้า  แต่เป็นการดึงดูดความสนใจของผู้คนและ ยังเป็นสัญลักษณ์ย้ำเตือนถึงอีกหนึ่งใบหน้าที่ต้องตกเป็นเหยื่อของความไม่เป็นธรรมของกฎหมายอาญา มาตรา 112   แม้ในบรรยากาศของการแสดงความยินดีเราก็ไม่ควรหลงลืมเหยื่อที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม  เราอยากจุดประกายให้กับเพื่อนๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยว่า  งานรับปริญญาแต่ละปีมีคนมาร่วมเป็นจำนวนมาก  ควรจะเป็นโอกาสในการทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อสังคมที่ดีกว่า  มหาวิทยาลัยควรจะเป็นพื้นที่เปิดทางความคิด  อย่างที่เราทำอยู่นี่ก็เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนก็ทำได้เช่นกัน  ไม่สำคัญว่าจะชื่ออะไร หรือว่าหน้าตาเป็นอย่างไร"

ต่อข้อถามถึงความคาดหวังต่อผลของกิจกรรม  ตัวแทนกลุ่มตอบว่า "เชื่อว่าจะมีผลสะท้อนทางสังคมบ้าง  อย่างน้อยก็ใน Social Media  คงจะกระตุ้นให้คนสนใจได้บ้าง  และเราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้"

กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจพอสมควรหากประเมินจากสายตาที่สะท้อนความสงสัยของฝูงชนในบริเวณในแต่ละครั้งที่แสดงการบูม  บัณฑิตคณะนิติศาสตร์รายหนึ่งที่กลุ่มกิจกรรมเข้าไปทำบูมบอกว่า "มีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าบางทีมันอาจถึงเวลาที่เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือเปล่า .. กระบวนการบังคับใช้ 112 ด้วยความที่จบกฎหมายมาทำให้เราได้รู้ว่า มันมีปัญหาในลักษณะใดบ้าง  ไม่ได้บอกว่ามันจะต้องถูกล้มเลิก  แต่อาจเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องพิจารณาบทบาทและกระบวนการต่อไปของมาตรานี้หรือเปล่า"

 
วิดีโอบรรยากาศการรณรงค์และกิจกรรมการบูมโดย ประชาธรรม สถานีข่าวประชาชน




ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดคำพิพากษาย่อ: จำคุก 10 ปี 'สมยศ' ในฐานะบก.ผิด ม.112 - ต่างชาติชี้สร้างบรรทัดฐานเซ็นเซอร์ตัวเอง
อ่านคำแถลงปิดคดีของฝ่ายจำเลย สมยศ พฤกษาเกษมสุข ฉบับเต็ม
ฐานข้อมูล I Law: สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin
น.ร.ห้องเรียนปชต.-นิติม่อนสวมหน้ากาก 'สมยศ' บูมกลางงานรับปริญญามช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัพเดทท่าทีระหว่างประเทศ ประณามคำตัดสินคดีสมยศต่อเนื่อง

Posted: 24 Jan 2013 10:29 AM PST

หนึ่งวันหลังศาลอาญาพิพากษาให้สมยศ พฤกษาเกษมสุข บก.นิตยสาร Voice of Taksin มีความผิดตามมาตรา 112 ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่นิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ซึ่งมีบทความเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ลงโทษจำคุก 10 ปี จากความผิด 2 กรรม  บวกกับโทษเดิมเมื่อปี 2552 คดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่รอลงอาญาไว้อีก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 11 ปี

องค์กรระหว่างประเทศยังคงออกแถลงการณ์แสดงความเห็นเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง


ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ชี้คำตัดสินคดีกระทบเสรีภาพสื่อไทย
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ออกแถลงการณ์ต่อกรณีนี้โดยระบุว่า คำพิพากษานี้ไม่ต่างจากยุทธวิธีทางการเมืองที่ออกแบบเพื่อปิดปากการวิจารณ์รัฐบาล ข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีการฟ้องร้องต่อบทความที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนกระทั่งหลายเดือนหลังจากการจับกุมตัวสมยศ พิสูจน์ให้เห็นว่าทางการต้องการล่าหัวเขาและเพียงใช้เป็นข้ออ้างที่จะคุมขังเขา

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยังเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวสมยศในทันที และกลับคำตัดสินด้วย นอกจากนี้ ยังเรียกร้องต่อประชาคมนานาชาติให้แสดงท่าทีต่อการพิจารณาคดีนี้ซึ่งเป็นการโจมตีเสรีภาพสื่อในประเทศไทยโดยตรง กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ฯ และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาจะต้องถูกยกเลิก


ฟรีดอมเฮาส์ ชี้ 112 สร้างบรรยากาศความกลัวและการเซ็นเซอร์ตัวเอง
ด้าน องค์การฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์ด้านเสรีภาพ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์ประณามคำตัดสิน และเรียกร้องให้ปล่อยตัวสมยศทันที ทั้งนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความเห็น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย

"น่ากังวลอย่างมากที่ผู้ที่รณรงค์เรื่องเสรีภาพในการพูดอย่างสมยศ ตกเป็นเป้า ถูกควบคุมตัว และต้องมาประสบกับคำตัดสินเช่นนี้" ซู กันนาวอร์ดเดอนา-วาน ผู้อำนวยการแผนงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟรีดอมเฮาส์ กล่าวและว่า ข้อกล่าวหาแบบที่นำมาใช้กับสมยศสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวที่ร้ายแรงและการเซ็นเซอร์ตัวเอง  ซึ่งกัดกร่อนพันธสัญญาต่อประชาธิปไตยที่ไทยเองเคยประกาศ

"ตามที่ได้ลงนามใน UDHR และ ICCPR ประเทศไทยมีพันธกรณีระหว่างประเทศในการปกป้องเสรีภาพการแสดงออก รวมทั้งให้หลักประกันสิทธิของนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ให้แสดงความเห็นได้อย่างอิสระ ทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ โดยไม่ต้องกลัวการตอบโต้ด้วยกำลังหรือการคุกคามด้วยกฎหมาย"  


วิพากษ์กระบวนการทางกฎหมายคดีสมยศ 'ไม่ปกติ'
ฟรอนท์ไลน์ดีเฟนเดอร์ องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เชื่อว่าคำพิพากษาและโทษที่รุนแรงจนเกินจำเป็นนี้เป็นผลจากการทำงานตามหลักการและสันติของสมยศในฐานะนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานในไทย รวมถึงเรียกร้องให้ทางการไทยรับประกันว่าจะมีการกลับคำพิพากษาด้วย

นอกจากนี้ ฟรอนท์ไลน์ดีเฟนเดอร์ยังได้ย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับความไม่ปกติในกระบวนการทางกฎหมายระหว่างการพิจารณาคดีของสมยศด้วย ว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึง ICCPR ที่ประเทศไทยเป็นภาคี


AHRC มองคำตัดสินคดี ส่งผลสกัดการแสดงออกเสรี-ไอเดีย คนเห็นต่าง
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ระบุว่า การที่ศาลตัดสินว่าบทความที่ลงในนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณสองบทความมีเนื้อหาที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การพิมพ์ แจกจ่าย หรือเผยแพร่บทความจึงเป็นความจงใจดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยนั้น เท่ากับว่าใครที่เกี่ยวข้องกับการบรรณาธิการ ตีพิมพ์ เผยแพร่ หรือแจกจ่ายวัตถุซึ่งถูกตัดสินว่ามีความตั้งใจหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือเป็นภัยต่อสถาบันฯ นั้นมีความรับผิดทางกฎหมาย

การตัดสินเช่นนี้ถือเป็นคำเตือนไปยังใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์ เผยแพร่ หรือจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่น ซึ่งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียมองว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวซึ่งจะจำกัดการแสดงออกอย่างเสรีและการไหลเวียนของความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถูกมองว่ามีแนวคิดเชิงวิพากษ์หรือมีความเห็นต่าง แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีคณะกรรมการเซ็นเซอร์แบบเป็นทางการที่จะตรวจงานสิ่งพิมพ์ก่อนตีพิมพ์ แต่จากคดีนี้ มาตรา 112 ได้กลายเป็นมาตรการเซ็นเซอร์อย่างไม่เป็นทางการ สิ่งที่เป็นอันตรายมาก คือการบังคับใช้และการตีความมาตรา 112 ซึ่งทั้งไม่คงเส้นคงวาและถูกใช้ในทางการเมืองอย่างมาก ผู้เขียนและผู้พิมพ์จะไม่ทราบเลยว่าพวกเขาได้ข้ามเส้นที่มองไม่เห็นที่ขีดไว้ด้วยกฎหมาย จนกระทั่งตำรวจมาเคาะประตูเพื่อเอาตัวพวกเขาไป 

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวสมยศ รวมถึงผู้ที่ถูกคุมขังจากการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความเห็นภายใต้มาตรา 112 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย  โดยระบุว่า คำตัดสินคดีสมยศเป็นอีกหนึ่งในคำตัดสินที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายร้ายแรงที่มาตรา 112 มีต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นและสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในประเทศไทย   คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกมาตรา 112 และปล่อยบุคคลที่ยังเผชิญกับข้อกล่าวหาหรือถูกตัดสินว่ามีความผิดตามมาตรา 112 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจนกว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น  คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียจะติดตามกรณีอื่นๆ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 อย่างใกล้ชิดต่อไป รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในประเทศไทยทำเช่นด้วยกันด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธิบดีศาลอาญาแจงพิพากษา ‘สมยศ’ ตามกฎหมายไทย หลังต่างชาติรุมอัดแรง

Posted: 24 Jan 2013 09:21 AM PST

อธิบดีศาลอาญายันศาลตัดสิน 10 ปี คดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตามหลักกฎหมาย หลังต่างชาติออกแถลงการณ์วิจารณ์ขรม กระทบสิทธิมนุษยชน ระบุเรื่องโทษหนัก ไม่ใช่หน้าที่ศาล เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ พร้อมเตือน วิจารณ์ศาลได้ แต่ถ้าไม่มีหลักวิชาการ มีอคติ เสี่ยงโดนละเมิดอำนาจศาล กำลังตรวจสอบความเห็นตามเว็บไซต์

 

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่แถลงการณ์ของสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย และคณะเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เกี่ยวกับคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลย อดีต บก.นิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ คดีหมิ่นเบื้องสูงในเว็บไซต์และกลุ่มโซเชียล ว่า " คณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ มีความเป็นห่วงต่อคำพิพากษาของศาลในการตัดสินจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเวลา 10 ปี โดยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวมีผลอย่างมากต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและ ต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน ในขณะเดียวกันคำตัดสินดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะ ที่เป็นสังคมแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย ทางสหภาพยุโรปขอเรียกร้องให้ทางการไทยกำหนดข้อจำกัดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้น ฐานของประชาชนด้วยมาตรการที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการรักษาไว้ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนสากล " ว่า การพิจารณาคดีของศาลอาญา มีหลักการพิจารณาเป็นสากลเหมือนกับศาลยุติธรรมอื่นทั่วโลก ที่พิจารณาตามบทบัญญัติกฎหมายที่มีอยู่ว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายนั้นหรือไม่ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศไทย โดยการที่นายสมยศ จำเลยนำบทความที่มีลักษณะดูหมิ่นสถาบันที่แม้จะเป็นบทความของคนอื่นก็ตามแต่ ก็ถือเป็นความผิด

นายทวี กล่าวอีกว่า ขณะที่ระหว่างการสู้คดีก็แสดงให้เห็นบทความที่นายสมยศนำมาเผยแพร่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นทางวิชาการเหมือนอย่างกลุ่มนิติราษฎร์ แต่เนื้อหาของบทความมีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามทำให้พระมหากษัตริย์ไทยได้รับความเสียหาย ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินนายสมยศ ได้ร้องขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัด ศาลอาญาจึงจะมีคำพิพากษาออกมาได้ อย่างไรก็ดีกระบวนการทางคดีของนายสมยศยังถือว่าไม่สิ้นสุด เพราะจำเลยยังมีสิทธิอุทธรณ์คดีโดยการพิจารณาของศาลสูง อาจมองต่างกับศาลชั้นต้นก็ได้

ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่า อัตราโทษมาตรา 112 หนักเกินไปนั้น ศาลยุติธรรมไม่มีหน้าที่ไปมองว่ากฎหมายหนักหรือเบา เป็นเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติ ส่วนที่ต่างชาติจะมองว่าในประเทศอื่นไม่มีกฎหมายลักษณะนี้เลย ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาเพราะสภาพขนบธรรมเนียมแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ดังนั้นการที่มองว่ากฎหมายหรือศาลไทยป่าเถื่อน เป็นองค์กรพิทักษ์กษัตริย์ จึงเป็นมุมมองแค่ฝ่ายเดียว

"การจะวิจารณ์องค์กรตุลาการของไทยสามารถกระทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างสุจริต อย่ามีอคติ และเป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการ ศาลก็จะไม่ถือความ แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมีอคติโจมตีสถาบันตุลาการอย่างไม่เป็น ธรรมศาลก็จะออกหมายเรียกมาไต่สวนเพราะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวที่ปรากฏทางเว็บไซต์ ซึ่งการที่ศาลตัดสินลงโทษนายสมยศ กระทงละ 5 ปี ถือว่าเหมาะสมแล้วอยู่ระหว่างอัตราโทษต่ำสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ 3 ปี และสูงสุดคือ 15 ปี"นายทวี ระบุ

ส่วนที่มีการนำคดีนายสมยศ ไปเทียบกับคดีของนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ"เจ๋ง ดอกจิก" แกนนำ นปช. ที่ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี และลดโทษ เหลือ 2 ปี รวมทั้งสิทธิการให้ประกันตัวนั้น นายทวี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า พฤติการณ์แต่ละคดีไม่เหมือนกัน เพราะการปราศรัยของนายยศวริศนั้น มีความกระทบกระเทือนน้อยกว่าของนายสมยศ ซึ่งรายละเอียดในสำนวนนำมาพูดไม่ได้ มาตรา 112 ถือว่าเป็นมาตราที่สำคัญมีผลกระทบความมั่นคง เป็นมาตราที่ประชาชนละเมิดไม่ได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งความหนัก-เบาของพฤติการณ์ เเละการประกันว่าหากปล่อยตัวไปเเล้วจะหลบหนีหรือไม่ ซึ่งกรณีนายยศวริศ มีคดีก่อการร้ายที่อัตราโทษร้ายเเรงกว่าก็ได้รับการประกันตัวเพราะไม่มี พฤติการณ์หลบหนี เเต่กรณีของนายสมยศ คดีนี้ก่อนจะยื่นฟ้องจับกุมตัวได้บริเวณชายเเดนไทย-กัมพูชาขณะกำลังจะออกนอก ประเทศ และระหว่างคุมขังพนักงานสอบสวนก็ได้คัดค้านการประกันตัวนายสมยศมาตลอด ดังนั้นทั้ง 2 กรณีจึงเเตกต่างกัน อย่างไรก็ดีนายสมยศยังมีสิทธิยื่นประกันต่อศาลอุทธรณ์ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายสมยศ จำเลยนั้น ขณะนี้ยังถูกคุมขังในเรือนจำภายหลังที่ศาลอาญามีคำพิพากษาให้จำคุกไปเมื่อ วันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยภรรยาของนายสมยศ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน จ.สุพรรณบุรี มูลค่า 1.6 ล้านบาทเพื่อขอปล่อยชั่วคราวไปตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมาที่ศาลมีคำตัดสิน แล้ว แต่เมื่อศาลอาญา พิจารณาคำร้องแล้ว สั่งส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ต่อไป ซึ่งขณะนี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่งออกมาแต่อย่างใด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา: เสรีภาพสื่อมวลชนในอาเซียน

Posted: 24 Jan 2013 09:20 AM PST

นักวิชาการ-สื่ออาวุโส ร่วมวิเคราะห์เสรีภาพสื่ออาเซียน ตั้งข้อสังเกตสื่อขาดความเข้าใจเพื่อนบ้าน เน้นข่าวเศรษฐกิจและการตลาด ขาดมิติสังคมวัฒนธรรม ขณะที่สถานการณ์เสรีภาพ ยังมีการละเมิดทั้งทางกายและการใช้กฎหมายควบคุม คาดพม่าจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อบรรยากาศการปรับตัวด้านเสรีภาพ

24 ม.ค. 2556 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย จัดการเสวนาเรื่อง เสรีภาพสื่อมวลชนในอาเซียน ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โดยวิทยากรประกอบด้วย กุลชดา ชัยพิพัฒน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์สิทธิเสรีภาพ จากสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า), สุภัตรา ภูมิประภาส สื่อมวลชนอาวุโส และผู้ประสานงานโครงการมีเดีย อินไซด์เอาท์, สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ นักข่าวอาวุโส, รศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ดำเนินรายการโดย ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์

 

มุมมองจากซีป้า การรับรองเสรีภาพสื่อยังอยู่แค่ในกระดาษ

กุลชดา ชัยพิพัฒน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์สิทธิเสรีภาพ จากสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) กล่าวว่าเสรีภาพสื่อนั้นเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเสรีภาพของประชาชน และการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ดูเหมือนว่าผู้นำอาเซียนให้ความสำคัญกับบทบาทของสื่อ แต่หลักการที่เขียนในเอกสารกับการปฏิบัตินั้นต่างกัน 

กุลชดา กล่าวว่า เสรีภาพสื่อกับอาเซียนนั้น อาจจะมองได้ 4 ประเด็นคือ การปรับตัวของสื่อในประเด็นอาเซียน, หลักประกันการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ, การละเมิดสื่อ การไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทสื่อ ด้วยการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ยังมีอยู่มากและประเด็นสุดท้าย ความท้าทายใหม่ๆ ที่สื่ออาเซียนควรปรับตัวและรับรู้ด้วย 

ตัวแทนจากซีป้าระบุว่า การปรับตัวของสื่อเข้ากับสมาคมอาเซียน มีการปรับตัวในเชิงปริมาณ มีคอลัมน์พิเศษเกี่ยวกับอาเซียนมากขึ้น แม้แต่สื่อวิทยุโทรทัศน์ หรือเฟซบุ๊ก ก็มีเพจเกี่ยวกับอาเซียนหลายเพจ แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าข้อมูลที่เอามาแชร์เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้แค่ไหน นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมนักข่าวมากขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนในอินโดนีเซียและไทย

อย่างไรก็ตาม พบว่าข่าวมีความกว้างแต่ไม่ลึก และสื่อต่างๆ เน้นนำเสนอในมุมประเทศของตัวเองกับอาเซียน และเน้นข่าวเศรษฐกิจ เพราะจับต้องได้และทำได้เร็ว ไม่ค่อยมองในภาพรวมแบบพหุภาคี 

ข้อจำกัดอีกประการเกี่ยวกับการปรับตัวของสู่สู่ประเด็นอาเซียนคือ บุคลากรด้านสื่อยังน้อย คนที่เข้าใจอาเซียนได้ทุกมิติยังไม่มากพอ ภาครัฐยังมองสื่อของตัวเองเป็นกระบอกเสียงมากกว่าการทำหน้าที่ตรวจสอบ ทั้งรัฐบาลและประเทศสมาชิกว่าปฏิบัติตามข้อตกลงอาเซียนได้มากน้อยแค่ไหน 

สำหรับประเด็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ทุกประเทศสมาชิกล้วนให้การรับรองปฏิญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 2491 และเมื่อมีการออกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ปี 2509 (ICCPR) ก็มีบทบัญญัติข้อ 19 ที่พูดถึงหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่มีแค่ 6 ประเทศที่ลงนามเป็นรัฐภาคีของ ICCPR คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม ขณะที่ธรรมนูญอาเซียนก็ระบุหลักการสิทธิมนุษยชนทั่วไป แต่ไม่ระบุหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกชัด 

เรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ อาเซียนเพิ่งมีปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสากล รวมถึงกระบวนการในการร่างปฏิญญาก็มีปัญหา ประชาสังคมต่างๆ มีส่วนร่วมน้อย และไม่ได้พูดถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นข้ามพรมแดน ซึ่งถือเป็นจุดบอดเพราะแสดงนัยสำคัญว่าประเทศในอาเซียนหวงพื้นที่เสรีภาพภายใน ซึ่งขัดแย้งกับเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้เกิดการปิดกั้นการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารออนไลน์ 

"การละเมิดสิทธิเสรีภาพในอาเซียน เรามองเห็นพัฒนาการตัวนี้ผกผันกับความพยายามที่จะเกิดการรวมตัวของอาเซียนในเชิงเศรษฐกิจ และถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ จากการเก็บสถิติ มีการละเมิดไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ในจำนวนนี้ 71 ครั้งเป็นการใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม และอีก 29 ครั้งเป็นการละเมิดโดยใช้ความรุนแรง เช่น ทำร้ายร่างกาย ยิงทิ้ง ข่มขู่ด้วยวาจา ปิดล้อมสำนักข่าว" 

กุลชดากล่าวต่อไปว่า แม้ในประเทศประชาธิปไตย ก็ยังพบการละเมิดสิทธิเสรีภาพและทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าว เช่นกรณีของฟิลิปปินส์ โดยตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ความรุนแรงทางกายภาพนั้นมักเกิดกับนักข่าว หรือสื่อ แต่สำหรับประชาชน หรือบล็อกเกอร์จะใช้กฎหมายที่เข้มงวด

ทั้งนี้เธอกล่าวว่า สิ่งที่น่าจับตามองคือความเปลี่ยนแปลงในพม่า ซึ่งเชื่อว่า การปฏิรูปสื่อจะส่งผลต่อภาพรวมต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยในอนาคต  

ขณะเดียวกัน ประชาสังคมในอาเซียนก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในแง่การต่อรองเชิงสันติ แต่มีพลัง พร้อมทั้งขยับบทบาทจากแต่ก่อนที่ต้องพึ่งพาสื่อ มาเป็นที่พึ่งพาของสื่อและมีพลังในการทำให้ประเด็นไปถึงสังคมในวงกว้างและเร็วขึ้น 

สำหรับสื่อใหม่นั้น ตัวแทนจากซีป้ากล่าวว่า จะมีพลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สื่อออนไลน์นั้นเป็นทางเลือกของข้อมูลข่าวสาร แต่ก็จะทำให้เกิดปรากฏการณ์สงครามแย่งชิงระหว่างรัฐกับสื่อใหม่รุนแรงด้วยเช่นกัน เช่น การจับบล็อกเกอร์โดยรัฐบาลเวียดนามเป็นตัวอย่างที่ดี 

 

สื่อพม่าบนถนนสู่ประชาธิปไตย 

สุภัตรา ภูมิประภาส สื่อมวลชนอาวุโส และผู้ประสานงานโครงการมีเดีย อินไซด์เอาท์ ซึ่งติดตามประเด็นการเปลี่ยนผ่านในพม่าอย่างใกล้ชิดกล่าวถึงสถานการณ์สื่อในพม่าว่า วันที่ 20 ส.ค.2555 ประวัติศาสตร์ใหม่เพิ่งเกิดเมื่อกรมสารสนเทศประกาศว่าไม่ต้องส่งต้นฉบับให้กรมฯ พิจารณาอีกต่อไป และเมื่อพม่าเปิดประเทศก็มีการขยับอันดับเสรีภาพสื่อขึ้นมา จาก 174 เป็น 169 ซึ่งดีกว่าเวียดนาม ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือเมือเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นักข่าวออกมาเดินขบวนเรียกร้องเสรีภาพสื่อ ซึ่งไม่มีการปราบปรามแต่อย่างใด ถือเป็นมิติใหม่ของสื่อในพม่า 

สุภัตราระบุว่า สิ่งที่น่าจับตามองที่สำคัญสำหรับสื่อในพม่าก็คือ บทบาทและความท้าทายของสื่อพลัดถิ่นที่เคยมีฐานอยู่ในต่างประเทศ เช่น มิซซิมม่า ที่มีฐานในนิวเดลี ประเทศอินเดีย, เสียงประชาธิปไตย ซึ่งตั้งอยู่ที่ ออสโล ประเทศนอร์เวย์ และอิระวดี ที่ตั้งอยู่ในเชียงใหม่ ประเทศไทย 

เมื่อพม่าปรับตัวสู่การเปิดประเทศทำให้สื่อพลัดถิ่นที่จากบ้านมามากกว่า 20 ปี ก็เริ่มได้รับอนุญาตให้กลับไป และสามสำนักข่าวสามารถกลับไปตั้งสำนักงานสาขาในประเทศได้แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก และ เดอะอิระวดีสามารถออกนิตยสารในย่างกุ้งได้เป็นครั้งแรก 

ขณะที่ความท้าทายสื่อพม่าพลัดถิ่น ปัญหาหลักคือเรื่องแหล่งทุน และการถูกเรียกร้องให้เป็นสื่อมืออาชีพมากขึ้นเพราะที่ผ่านมาเป็นกระบอกเสียงฝ่ายต่อต้านเผด็จการ เมื่อเป็นกึ่งประชาธิปไตยก็จะถูกเรียกร้องความเป็นมืออาชีพมากขึ้น มีแหล่งข่าวที่หลากหลาย ไม่ใช่ด่ารัฐบาลอย่างเดียว 

สื่อพลัดถิ่นจะถูกจับจ้องจากนักเคลื่อนไหวว่าบทบาทใหม่ต้องประนีประนอมกับรัฐบาลไม่มากก็น้อย หรือร่วมมือกับสื่อในประเทศสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันสื่อ รวมถึงต่อรองกับแหล่งทุน 

ในปีที่ผ่านมา พม่ายังปล่อยนักข่าวจากการคุมขัง ทำให้พม่าซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีนักข่าวถูกคุมขังมากที่สุดในโลก ไม่มีสถิติการคุมขังนักข่าว โดยตัวเลขสถิติของนักข่าวที่อยู่ในคุกซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการปกป้องนักข่าว (Committee to Protection Journalists) ระบุว่านักข่าว บรรณาธิการ และคนทำงานวิชาชีพสื่อจำนวน 232 คนทั่วโลกที่ยังถูกคุมขังอยู่  โดยไม่มีสื่อพม่าอยู่เลย ขณะที่เวียดนามมีนักข่าวถูกคุมขัง 14 คน และไทย 1 คน คือนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข 

 

ชีวิตสื่อในอินโดจีน กับคำถามสมาชิกอาเซียนพร้อมเป็นครอบครัวเดียวกันหรือ

สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ นักข่าวอาวุโสที่คร่ำหวอดในการทำข่าวในภูมิภาคอินโดจีนมาเป็นเวลากว่า 30 ปี แสดงความเห็นว่า ไทยยังไม่พร้อมจะเป็นครอบครัวอาเซียนหรือเปล่า 

"ผมคิดว่าเราไม่มีความพร้อม มีหลายเรื่องที่เหลวไหล โดยเฉพาะเรื่องเขมรที่บอกว่ามีการยิงกันที่ชายแดน หรือการบอกว่าที่พระตะบองมีการเขียนด่าคนไทยตามกำแพงวัด แหล่งข่าวมาจากตลาดโรงเกลือ หรือคาสิโนปอยเปตคลองลึก ผมไม่ชอบข่าวโคมลอยหรือข่าวเขาเล่าว่า"

สงวนกล่าวด้วยว่า มีเสียงสะท้อนจากแหล่งข่าวที่เป็นนักการทูตว่า AEC มากกว่าความเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งเขาเห็นว่าสื่อควรต้องให้ความสนใจเสาหลักด้านอื่นๆ ของอาเซียนด้วย 

"ผมคิดว่าเสาหลักของอาเซียนควรไปพร้อมกันโดยเฉพาะเสาวัฒนธรรม-สังคมนั้นสำคัญที่สุด ก่อนที่จะเข้าใจเพื่อนบ้าน ต้องเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของเขา นิสัยใจคอ แต่ที่ผ่านมาสื่อไทยใช้แว่นตามีสี"

ผู้สื่อข่าวอาวุโสตั้งข้อสังเกตว่า จากประสบการณ์ของเขาหลายครั้งพบว่าเพื่อนบ้านรู้จักเมืองไทยมากกว่า เช่น คนขับรถในกัมพูชารู้จำนวนประชากรในไทย หรือแม่แต่ในพจนานุกรมไทย-กัมพูชา ซึ่งตีพิมพ์ในกัมพูชา มีศัพท์คำว่า ปิดสนามบิน หรือยึดทรัพย์ระหว่างดำเนินคดีด้วย

 

นิวมีเดียอาเซียน ไม่ได้มีแค่อินเทอร์เน็ต อย่าลืมวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวี 

รศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยทำวิจัยด้านบทบาทสื่อใหม่ระบุว่า เมื่อพูดถึงสื่อใหม่ คนทั่วไปมักไปโฟกัสที่อินเทอร์เน็ต แต่ละเลยสื่อที่ส่งผลสะเทือนและเข้าถึงผู้คนอย่างกว้างขวาง คือ วิทยุชุมชน และทีวีดาวเทียม 

เขาอธิบายการเปลี่ยนแปลงบทบาทสื่ออินเทอร์เน็ตว่า สำหรับประเทศไทยในยุครัฐบาลทักษิณ การใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงนั้นถือเป็นช่วงเริ่มต้น มีการแชร์ข้อมูล มีชุมชนออนไลน์ แต่ไม่ค่อยมีการพูดถึงประเด็นใหญ่ๆ แม้จะเริ่มมีโต๊ะราชดำเนิน ในเว็บบอร์ดดังอย่างพันทิปแล้วก็ตาม โดยพิชญ์ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรเน็ตกว่ายี่สิบล้านคน จากสถิติปี 2547 มีประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตไม่ถึงล้านคน แต่เว็บที่ตัดอันดับท็อปเท็นเป็นเว็บบันเทิงต่างๆ เช่น สนุกดอทคอม เว็บดูดวง โดยมีเว็บไซต์ผู้จัดการติดอันดับหนึ่งในสิบเสมอ แต่ปัจจุบันนี้เว็บที่เป็นสื่อที่เริ่มเข้ามาเบียดแทรกคือไทยรัฐ

ในส่วนของภาครัฐก็จับตาอินเทอร์เน็ตต่างจากปัจจุบัน คือเน้นปิดกั้นเว็บลามกอนาจาร  (ก็จับตาอินเทอร์เน็ตต่างจากเดิมที่เน้นปิดกั้นเว็บลามกอนาจาร)

"ก่อนรัฐประหาร ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปิดเว็บโป๊มากกว่าเว็บประเภทอื่น แต่หลังรัฐประหารประเทศไทยปิดเว็บอื่นมากกว่าเว็บโป๊" โดยเขากล่าวต่อไปว่าปัจจุบันจนถึงวันนี้การจับกุมข้อหากระทำผิดที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตซับซ้อนขึ้นแล้ว และยิ่งเมื่อพ่วงกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ยิ่งซับซ้อนขึ้น

"อย่างกรณีจีรนุช (เปรมชัยพร-ผอ,.เว็บไซต์ประชาไท) ที่เป็นกรณีใหญ่ คือ พ.ร.บ.คอมพ์ยุคแรกไม่มีเป้าประสงค์เรื่องกฎหมายหมิ่นฯ ยุคทักษิณนั้นเน้นประเด็นเรื่องอีคอมเมิร์ซต่างๆ แต่ พ.ร.บ.คอมพ์มาออกหลังการรัฐประหารแล้วก็ถูกบิดไปใช้ในกรณีจีรนุช ซึ่งมีเนื้อเกี่ยวพันกับ 112" 

ดร.พิชญ์กล่าวต่อไปว่าอินเทอร์เน็ตขยับตัวเองจากเว็บบอร์ดมาสู่เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เข้าถึงประชาชนประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศ และในจำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 99.13 เปอร์เซ็นต์ใช้เฟซบุ๊ก

 

เคเบิลทีวีหมดยุคเหลือแดง จับตา เหลือง-ฟ้า

ดร.พิชญ์กล่าวว่า กรณีเคเบิลทีวีในเมืองไทย หมดยุคการแข่งขันระหว่างเหลือง-แดงแล้ว แต่สงครามแย่งชิงคนดูอยู่ที่เหลือง-ฟ้า คือระหว่างเอเอสทีวี กับบลูสกาย ทั้งนี้เพราะคนดูสามารถเข้าถึงสื่อทีวีแดงอย่างเอเชียอัพเดท และเอเอสทีวีได้จากจานดำเหมือนกัน ทำให้แยกแยะลำบากว่าประชาชนติดตามช่องไหนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในเชิงสถิติแล้ว ขณะนี้ ช่องเอเชียอัพเดทนั้นเป็นช่องที่มีผู้ชมเป็นอันดับหก ขณะที่เอเอสทีวี และบลูสกายยังไล่หลังมาห่าง ซึ่งนักรัฐศาสตร์ผู้นี้ระบุว่า ทีวีดาวเทียมนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง และยังคงมีความสำคัญต่อมวลชน โดยหลักฐานที่ชัดเจนว่าทีวีดาวเทียมมีความสำคัญก็คือการที่รัฐบาลในปี 2553 มีความพยายามที่จะปิดกั้นทีวีดาวเทียมของฝ่ายเสื้อแดงนั่นเอง 

 

ธุรกิจสื่อในอาเซียน 

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวธุรกิจสื่อว่า ในเชิงธุรกิจสื่อ คนทำธุรกิจสื่อจะลงทุนโดยใช้ทุกเครื่องมือไปด้วยกัน ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบรอดแคสต์ หรือสื่อออนไลน์ และทั้งสื่อเก่าสื่อใหม่นั้นเป็นสิ่งที่หนุนเสริมกัน โดยยกตัวอย่างว่าก่อนหน้านี้เมื่อเริ่มมีวิทยุและโทรทัศน์ ก็มีการคาดการณ์ว่าสื่อหนังสือพิมพ์จะตายไปแต่ในที่สุดแล้ว ก็มีการเชื่อมกัน เพียงแต่คนที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลง 

ในส่วนของไทย การขยับตัวมาสู่นิวมีเดียนั้น สื่อสำนักต่างๆ ล้วนตระหนักว่าสิ่งพิมพ์อย่างเดียวนั้นอยู่ไม่ได้ โดยยกตัวอย่างการปรับตัวที่รวดเร็วของไทยรัฐ ที่แม้จะเริ่มหันมาทำออนไลน์ภายหลังแต่ก็ไปได้เร็ว จากนั้นเมื่อไทยรัฐก้าวมาทำทีวี ก็เริ่มด้วยการถ่ายทอดฟุตบอล เพื่อให้คนจำนวนมากดูฟุตบอลก่อน แล้วค่อยขยายไปสู่การนำเสนอเนื้อหา 

ส่วนข้อสังเกตว่า สังคมไทยไม่รู้เรื่องอาเซียนนั้น นิธินันท์กล่าวว่าในส่วนของคนทำสื่อเองก็อาจจะพอๆ กันกับประชาชน และอาจจะเป็นคล้ายๆ กันในทุกชาติสมาชิก คือมีลักษณะจับประเด็นเป็นแฟชั่น แต่ไม่มีเนื้อหาเชิงลึก เน้นข่าวธุรกิจ หวังทำรายได้ และเป็นเรื่องการตลาดมากกว่า

"ทิศทางที่น่าเป็นห่วงคือปริมาณ ไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในเมืองไทยเองจะมีดิจิทัลทีวี แต่คนทำธุรกิจจริงๆ เขาไม่ค่อยลงทุนดิจิทัล เขาไม่สนใจประมูล เขาไปเล่นดาวเทียม เพราะที่สุดแล้วระบบใหม่ๆ เกิดขึ้นสามารถดูได้ทั่วโลก ถ้าไปได้ไกลก็มีโอกาสสูง อย่างไรก็ตามพอปริมาณช่องเกิดเยอะ หลายคนเป็นแมงเม่าบินเข้ากองไฟ แต่ไม่มีเนื้อหา ยังมั่นใจว่ายังมีพื้นที่ให้กับคอนเทนต์โพรไวเดอร์"

นิธินันท์กล่าวว่าไทยเองเคยเป็นแม่แบบบทบาทสื่อในอาเซียนมาก่อน เพราะโดยรวมถือว่ามีอิสระ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ และสื่อจากประเทศเพื่อนบ้านก็มีเริ่มเข้ามาจับมือกับสื่อไทย เป็นเทรนด์ใหม่ เช่นที่เครือเนชั่นก็เริ่มจับมือกับสื่อพม่าอย่าง Media Eleven

"ทุกวันนี้สื่อไม่มีที่ไหนอยู่ได้ด้วยการทำข่าวอย่างเดียว แต่ต้องทำธุรกิจเป็นเรื่องการใช้เครื่องมือสื่อสาร อาจจะรับจ๊อบทำงานพีอาร์ให้กับเพื่อนบ้าน สื่อทำธุรกิจแน่ๆ แต่สื่อไทยก็ยังพอใจจะใช้คำใหญ่โตเรื่องสิทธิเสรีภาพของตัวเองว่ายิ่งใหญ่เหนือกว่าสิ่งอื่น อุดมการณ์ไม่ได้หายไปแต่บางทีก็หลงลืม และทำมาหากินอย่างเดียว ถ้าสังเกตดู บางครั้งข่าวในหน้าสื่อก็เป็นข่าวพีอาร์ของธุรกิจ การประเมินคุณค่าของสื่อคือ สปอนเซอร์จะจ่ายหรือเปล่าสำหรับข่าวนี้"

อย่างไรก็ตาม เธอระบุว่า ข้อจำกัดแม้แต่สื่อก็มีข้อจำกัดไม่ต่างกับประชาชนทั่วไป คือเทคโนโลยี และภาษา 

"เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญมาก เคยพยายามทำการแลกเปลี่ยนข่าวกับเวียดนาม ก็พบปัญหาเทคนิค คนทำสื่อส่วนใหญ่ในไทยทำเนื้อหาแต่ไม่เก่งเทคโนโลยี ในที่สุดก็จบไป อินโดนีเซียก็มีการคุยกัน แลกข่าวกันแต่โหลดไม่ผ่าน"

สิ่งท้าทายประการสุดท้ายสำหรับสื่อในอาเซียนในมุมมองของสื่ออาวุโสคือ พื้นที่ของอาเซียนนั้นเล็กและไม่ค่อยมีประเด็นน่าสนใจในระดับสากล

"โลกตะวันตกอาจจะมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก แต่ไม่ได้สนใจอะไรมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่าไหร่เพราะมันไม่ใหญ่ เว้นแต่การรัฐประหาร หรือข่าวอองซานซูจี หรือข่าวของสมยศ ในแง่นี้ผู้ผลิตสื่อต้องคิดว่าอะไรที่ตลาดข้างนอกเขาจะสนใจเพราะข่าวธรรมดาๆ ขายไม่ได้ สิ่งที่ต้องหัดคือมุมมองสากล และเทคโนโลยี" นิธินันท์กล่าว 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อภูผาตระหง่านสง่าแล้วไซร้ เหตุไฉนจึงผวาเกรงก้อนหินมากระทบ ?

Posted: 24 Jan 2013 08:47 AM PST

เรียน อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

ผมได้ทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่า ท่านได้กล่าวถึงบทความของผมว่าเป็นการหมิ่นศาล ซึ่งข่าวมีเนื้อความว่า : 

***

"อธิบดีศาล" ชี้ บทความนักวิชาการอิสระหมิ่นศาล สั่งตรวจสอบด่วน

เมื่อวันที่ 24 มกราคม นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงบทความในเฟสบุ๊ค ของนาย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการกฏหมายอิสระ ว่า จากการที่ได้ทราบถึงเนื้อหาบทความมองได้ว่าเป็นการเเสดงความคิดเห็น ติเตียนวิจารณ์การทำงานเเละมีทัศนคติในเเง่ร้ายเเละมุ่งทำลายความน่าเชื่อถือต่อศาล ซึ่งศาลอาญาซึ่งเป็นผู้ใช้กฏหมายมีความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีต่างๆ สิ่งที่ผู้เขียนบทความนี้มองเป็นการดูหมิ่นศาล มีการประชดเสียดสีศาลต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การเเสดงความเห็นทางวิชาการที่มีเหตุผลน่าเชื่อถือ เป็นการเขียนบทความโดยอคติเป็นการส่วนตัว ศาลไม่ขัดข้องเเละพร้อมที่จะรับการวิจารณ์ เเต่ต้องเป็นในวงกว้างไม่ใช่เเเค่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่มีอคติต่อศาล ในวงกว้าง รวมถึงประชาชน เเละผู้ที่เข้าใจถึงระบบการทำงานของศาล เรื่องบทความหมิ่นเหม่ที่ปรากฏในโลกอินเตอร์เนตนี้ เบื้องต้น ตนได้ให้ผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่ามีบทความใดหมิ่นเหม่ เเละสร้างความเข้าใจผิดต่อศาลอาญามากน้อยเเค่ไหน ส่วนจะมีการพิจารณาดำเนินการใดต่อไปนั้นต้องรอดูผลการตรวจสอบนั้นซะก่อน

"บทความนี้เป็นการดูหมิ่นศาล ไม่ใช่การเเสดงออกทางวิชาการ เป็นการเเสดงความคิดเเบบคนไม่เข้าใจระบบ เเละจงใจดิสเครดิตศาล อยากถามกลับไปว่าคนส่วนมากเค้าเห็นด้วยกับผู้เขียนหรือไม่ เเละข้อเท็จจริงก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เขียนในบทความ" นายทวีกล่าว

***

หากข่าวนี้ถูกต้องครบถ้วนจริง ผมขอเรียนชี้แจงต่อท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ดังนี้

ผมขอยืนยันความบริสุทธิ์และสุจริตใจที่ผมมีต่อสถาบันตุลาการ ว่าการแสดงความเห็นของผมทั้งหมดตลอดมานั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความใส่ใจ และความคาดหวังและศรัทธาที่ผมมีต่อสถาบันตุลาการอันต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน เมื่อใดที่ผมมีความกังขาหรือไม่เห็นพ้องด้วยต่อเหตุผลของศาล ผมย่อมพึงใช้ความพากเพียรในการตรึกตรอง เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ติชมเสนอแนะ ด้วยหวังว่าผมจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาสถาบันตุลาการให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จจริง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมได้ใช้ความพากเพียรพยายามในการวิพากษ์วิจารณ์ศาลตามความรู้และหลักวิชาอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนที่อาจต้องเสียไปจากการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว เห็นได้จากผลงานทางวิชาการซึ่งผมได้แต่งไว้ในขณะศึกษาปริญญาโท ณ Harvard Law School อันมีเนื้อความเชิงวิพากษ์ที่แสดงถึงความศรัทธาและการให้ความสำคัญต่อสถาบันตุลาการอย่างเป็นประจักษ์ (โปรดดูhttp://discovery.lib.harvard.edu/?q=verapat) ตลอดจนบทวิพากษ์คำพิพากษาและคำวินิจฉัยต่างๆ ที่ศึกษาวิเคราะห์เหตุผลของศาลอย่างละเอียด (อาทิ http://bit.ly/Demcase ) และเมื่อมีผู้เสนอให้ยุบหรือแก้ไขอำนาจศาลด้วยเหตุผลที่ผมไม่เห็นพ้อง ผมก็ได้แสดงเหตุผลคัดค้านการยุบศาลเช่นกัน (อาทิ http://astv.mobi/Azu0SSq)

ส่วนความเห็นของผมล่าสุดต่อกรณีคำพิพากษาจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งเป็นเพียงการแสดงความเห็นในเบื้องต้นนั้น ผมได้แสดงออกด้วยความใส่ใจและคาดหวังศรัทธาต่อศาลดังทุกครั้ง และเมื่อศาลไม่ได้เผยแพร่คำพิพากษาฉบับเต็มต่อประชาชน ผมก็ได้ศึกษาเอกสารย่อคำพิพากษาที่จัดทำโดยศาลอย่างละเอียด จากนั้น จึงตั้งคำถามและแสดงความเห็นในเชิงวิชาการ ตามเสรีภาพที่รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญไว้ที่ http://bit.ly/somyos112 

ความเห็นของผมต่อกรณีคำพิพากษานายสมยศดังกล่าว มีสาระสำคัญสองประเด็น กล่าวคือ 

ประเด็นที่หนึ่ง ผมตั้งคำถามว่า หากประชาชนประสงค์จะตรวจสอบการพิจารณาคดีของศาล โดยการนำบทความในคดีที่ศาลเห็นว่ามีเนื้อหาผิดกฎหมายมาตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ประชาชนควรจะกระทำได้ ใช่หรือไม่ และหากกระทำไปแล้ว จะถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ และหากประชาชนไม่อาจกระทำการตรวจสอบศาลด้วยเหตุที่ต้องเกรงกลัวต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วไซร้ ก็ย่อมเกิดคำถามว่า มาตรา 112 มุ่งคุ้มครองผู้ใดกันแน่

ประเด็นที่สอง ผมได้แสดงความเห็นเชิงเสนอแนะในทางวิชาการ ถึงวิธีการตีความ มาตรา 112 ว่าศาลควรพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครอง 'ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร' อันเป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาชน กล่าวคือ มาตรา 112 มิได้มุ่งคุ้มครองที่ 'ตัวบุคคล' เหมือนความผิดหมิ่นประมาททั่วไป ดังนั้น การตีความบังคับใช้ มาตรา 112 จึงต้องพิจารณาว่า การกระทำตามข้อหานั้น นอกจากจะเป็นการ 'หมิ่น' หรือไม่แล้ว ยังจะต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งตามเจตนารมณ์อีกด้วยว่า แม้นหากเป็นการ 'หมิ่น' จริง แต่การหมิ่นเช่นว่านั้น จะกระทบต่อ 'ความมั่นคง' อันเป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาชนหรือไม่ อย่างไร ?

แต่เมื่อเอกสารย่อคำพิพากษามีเหตุผลที่ไม่ชัดเจน ผมจึงได้ตั้งคำถามในเชิงตรรกะตามหลักวิชาการต่อไปว่า หากศาลนำ มาตรา 112 มาเอาผิดกับผู้ตีพิมพ์บทความเพียงบทเดียวในฐานะภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้แล้วไซร้ ก็น่าสงสัยว่า ศาลกำลังเห็นว่าพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ไทย อันเป็นที่ยกย่องสรรเสริญทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ แท้จริงแล้วก็สามารถถูกทำลายและล้มครืนลงจนกระทบต่อความมั่นคงได้โดยง่าย เพียงเพราะ 'บทความหนึ่งฉบับ' กระนั้นหรือ ? และหาก 'ตรรกะ' ของ 'ศาลอาญา' เป็นดังนี้ ก็ย่อมน่าสงสัยว่าศาลกำลังดูแคลน 'พระเกียรติยศ' ของพระมหากษัตริย์ไทย อีกทั้งดูถูกสติปัญญาและวิจารณญาณของประชาชนคนไทย อย่างโจ่งแจ้งที่สุดหรือไม่ ?

หากเปรียบเปรยให้เข้าใจง่าย อาจกล่าวได้ว่า เมื่อภูผาตระหง่านสง่าแล้วไซร้ เหตไฉนจึงผวาเกรงก้อนหินมากระทบ ? 

ผมขอเรียนท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาว่า การตั้งคำถาม คือหัวใจของการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความเห็นและการตั้งคำถามทั้งสองประเด็นที่กล่าวมานี้ ได้นำเสนอพร้อมกับบทความทางวิชาการเรื่อง "ตุลาการไทย กับ มาตรา 112"  ตลอดจนบทสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ ซึ่งเสนอการวิเคราะห์พร้อมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการตีความ มาตรา 112 อย่างละเอียด พร้อมยกตัวอย่างวิเคราะห์เทียบเคียงประกอบ อันล้วนเป็นการนำเสนอทางวิชาการที่สถาบันตุลาการพึงนำไปพิจารณาอย่างเร่งด่วนทั้งสิ้น

ผมจึงขอความกรุณาท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ตลอดจนผู้พิพากษาตุลาการผู้มีใจเป็นธรรมทั้งหลาย ได้โปรดลองพิจารณาถึงเนื้อหาสาระของคำถามและข้อสังเกต ตลอดจนบทความวิชาการดังกล่าว อันเป็นเนื้อเดียวกันของความเห็นทั้งหมดนี้ เพื่อให้ความจริงปรากฏว่า การแสดงความเห็นของผมนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความใส่ใจ ความคาดหวังและความศรัทธาที่ผมมีต่อสถาบันตุลาการอันต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน และเมื่อใดที่ผมมีความกังขาหรือไม่เห็นพ้องด้วยต่อเหตุผลของศาล ผมย่อมพึงใช้ความพากเพียรในการตรึกตรอง เพื่อตั้งคำถามและเสนอข้อคิดเห็นต่อศาล เพื่อหวังให้ศาลเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง

ผมเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่เคารพและเห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ และเมื่อผมเชื่อโดยสุจริตใจตามตรรกะและหลักวิชาว่า ศาลกำลังตีความ มาตรา 112 ไปในทางที่ไม่เป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ย่อมเป็นทั้งสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของผม ในฐานะประชาชนชาวไทย ที่จะตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์การตีความของศาลดังกล่าว

หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อันทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย ยังทรงยอมให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้ ประชาชนอย่างผมก็ได้แต่เพียงหวังว่า ศาลของประชาชนซึ่งทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธย จะยอมให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่อศาลเพื่อปกป้องพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ไทยได้ เช่นกัน.

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา 

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
๒๔ มกราคม ๒๕๕๖

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอ็นจีโอจวก รับฟังความเห็น ‘กรอบเอฟทีเอไทย-อียู’ ส่อเค้าผักชีโรยหน้า

Posted: 24 Jan 2013 08:34 AM PST

 

23 ม.ค.56 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเวทีรับความความคิดเห็นต่อร่างกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ณ สำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยไม่มีผู้บริหารสำคัญของกระทรวงเข้าร่วมรับฟัง

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ วอช) กล่าวว่า ในบทสรุปสำหรับผู้บริหารที่ตามเอกสารของกรม โดยที่จัดทำโดยหอการค้าว่าไทยจะมีความเสียหายทางการค้าที่จะมากถึง 3 แสนล้านบาท หากไทยเสียสิทธิพิเศษทางการค้า หรือจีเอสพี ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินความเสียหายดังกล่าวมีมูลค่าไม่ถึง 8 หมื่นล้านบาท ข้อมูลดังกล่าวเป็นการจงใจปั้นตัวเลขความเสียหายให้สูงเกินจริง ถือเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงต่อ ครม.

ประเด็นสำคัญที่หลายภาคส่วนกล่าวถึงคือประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ข้อ 1.1 ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไม่เกินไปกว่าความตกลงการค้าโลก และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ด้านยาของประเทศ

นายอนันต์ เมืองมูลไชย กรรมการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงยาของประเทศ หากรับข้อตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์ และยุทธศาสตร์ด้านยาของประเทศก็ระบุชัดว่า ความตกลงระหว่างประเทศต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงกับองค์การการค้าโลก

"ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเรื้อรังอื่นทั้งหัวใจ และมะเร็งต่างเข้าถึงยาจำเป็นได้เพราะประเทศทำซีแอลได้ มียาชื่อสามัญเข้ามาในประเทศไทย หากครั้งนี้ไทยรับข้อตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์ ผู้ป่วยเรื้อรังก็ไม่มีทางเข้าถึงยาจำเป็นได้อีกต่อไป ประเทศก็ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นในด้านยา ความเสียหายเฉพาะประเด็นการคุ้มครองข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) อย่างเดียวก็ทำให้ไทยต้องใช้งบประมาณมากว่า 8 หมื่นล้านต่อปี เฉพาะด้านยา" กรรมการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าว

นายเชิญพร เต็งอำนวย รองประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศต้องคำนึงถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาภายในประเทศ หากนำกรอบเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไปเจรจา ไทยก็เสียเปรียบอย่างแน่นอน ผลของการผูกขาดสิทธิบัตรยาก็จะทำให้อุตสาหกรรมยาในประเทศถดถอย ผลิตยาชื่อสามัญได้ยากขึ้น อุตสาหกรรมในประเทศเองก็จะไม่เติบโตในขณะที่ ประเทศไทยก็จะเสียดุลการค้าให้กับการนำเข้ายาต่างประเทศที่มากขึ้นด้วย

ในที่ประชุมมีการซักถามถึงความชัดเจนต่อกระบวนการต่อจากเวทีนี้ว่า หลังจากนี้ ท่าทีของกรมจะทำอย่างไรต่อข้อเสนอที่นำเสนอในเวทีนี้ จะนำความเห็นจากเวทีนี้ไปปรับในกรอบเจรจา หรือจะทำความคิดเห็นของกรมฯนำเสนอต่อสภาหรือไม่ นายรัชวิทย์ ปิยะปราโมทย์ นักวิชาการชำนาญการ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผู้ดำเนินการบนเวทีรับฟังความเห็นกล่าวต่อที่ประชุมว่า ความคิดเห็นจากเวทีนี้ อาจจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนกรอบเจรจาก็ได้ ตนไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ ต้องนำเรื่องเสนอต่อผู้ใหญ่ในกระทรวงให้พิจารณาก่อน

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำร่างกรอบการเจรจามาเปิดเผยต่อสาธารณชน และเปิดเวทีให้แสดงความคิดเห็น จากข้อมูลที่กรมฯ ให้ต่อ ครม.ว่ามีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นมาหลายครั้ง นับจากปี 2552 นั้น ไม่ถือว่าเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น เพราะไม่มีกรอบการเจรจาใดใดมาก่อนเลย ซึ่งการลงมติ ครม. ผ่านร่างกรอบเจรจาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 นั้นสุ่มเสี่ยงว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า "ภาคประชาชนไม่ได้มีเขา และไม่อยากให้งานนี้เป็นพิธีกรรม พวกเราพูดมาแล้วหลายเวที ทุกจังหวัด ไม่ให้นำแอลกอฮอล์ และบุหรี่เข้าในกรอบเจรจา แต่ก็ยังไม่เป็นผล และหวังว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จะไม่เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ต้องรับฟังแล้วตอบเราว่าถ้าแก้จะแก้อย่างไร เพราะอะไร หรือถ้าไม่แก้เพราะอะไรจึงไม่แก้ ประชาชนหวังว่าเสียงประชาชนที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ จะมีผลมากกว่าเสียงพ่อค้าที่ปกป้องประโยชน์ของตนเอง"

สำหรับข้อห่วงกังวลของประชาชนว่ากรมฯจะดำเนินการอย่างไรต่อ จะนำความเห็นของเวทีครั้งนี้ รวบรวมและนำเสนอความเห็นต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ หรือจะมีความเห็น มีข้อเสนอแนะจากกรมฯประกอบกรอบการเจรจา ผู้ดำเนินการบนเวทีไม่สามารถให้ความชัดเจนได้ว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไรต่อไป เพียงแต่รับปากต่อข้อเสนอว่าให้นำความเห็นทั้งหมด ประมวลผลเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกรม ก่อนนำเข้าสภาฯ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 22 มกราคมนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ซะการีย์ยา อมตยา

Posted: 24 Jan 2013 07:52 AM PST

"ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ วรรณกรรมก็มีความจำเป็นสำหรับ 'การเมือง' เพราะมันได้ให้ 'เสียง' ให้กับสิ่งที่ไม่เคยมี 'เสียง' ให้ 'ชื่อ' กับสิ่งที่ไม่เคยมี 'ชื่อ' มาก่อน"

24 ม.ค.56, ในจดหมายเปิดผนึกถึงสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กรณีคำพิพากษา "สมยศ"

ซะการีย์ยา อมตยา

Posted: 24 Jan 2013 07:52 AM PST

"ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ วรรณกรรมก็มีความจำเป็นสำหรับ 'การเมือง' เพราะมันได้ให้ 'เสียง' ให้กับสิ่งที่ไม่เคยมี 'เสียง' ให้ 'ชื่อ' กับสิ่งที่ไม่เคยมี 'ชื่อ' มาก่อน"

24 ม.ค.56, ในจดหมายเปิดผนึกถึงสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กรณีคำพิพากษา "สมยศ"

รัฐเบงกอลตะวันตกตั้งศาลผู้หญิงแห่งแรกในอินเดีย

Posted: 24 Jan 2013 07:14 AM PST

หลังเกิดคดีรุมข่มขืนบนรถเมล์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของคนทั่วโลก ชาวอินเดียบางส่วนเริ่มให้ความสนใจต่อประเด็นความปลอดภัยของผู้หญิงและการดำเนินคดีอาชญากรรมทางเพศ ล่าสุดมีการตั้งศาลเพื่อผู้หญิงซึ่งรับพิจารณาคดีอาชญากรรมที่กระทำต่อสตรี มีผู้พิพากษา อัยการ คณะทำงานเป็นหญิงทั้งหมดเพื่อสร้างบรรยากาศให้เหยื่อกล้าเล่าเรื่อง

24 ม.ต. 2013 - สำนักข่าว BBC รายงานว่าในรัฐเบงกอลตะวันตกมีการตั้งศาลพิเศษสำหรับพิจารณาคดีอาชญากรรมที่กระทำต่อผู้หญิงเป็นแห่งแรกในอินเดีย

ศาลผู้หญิงแห่งแรกในอินเดียนำโดยผู้พิพากษาหญิงสองท่าน คณะทำงานและพนักงานอัยการก็เป็นผู้หญิงทั้งหมด โดยที่ผู้พิพากษาอาวุโสกล่าววาศาลแห่งนี้จะมีการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงอย่างรวดเร็ว

ก่อนหน้านี้มีการเรียกร้องให้การพิจารณาคดีในศาลอินเดียดำเนินการรวดเร็วมากขึ้น หลังเกิดกรณีรุมข่มขื่นหญิงสาวบนรถประจำทางจนเป็นเหตุให้เหยื่อเสียชีวิต

ผู้พิพากษา อรุณ มิชรา จากศาลสูงเมืองกัลกัตตาผู้มีคำสั่งให้ก่อตั้งศาลเปิดเผยว่า ศาลแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ในเมืองมัลดาทางตอนเหนือของรัฐเบงกอลตะวันตก มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาเรียบร้อยแล้ว และเน้นการ "เก็บรักษาความลับในการดำเนินคดี" เป็นเรื่องสำคัญระดับต้น

กลุ่มนักกฏหมายในกัลกัตตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตกคิดว่า การตั้งกลุ่มผู้พิพากษาและคณะทำงานที่เป็นผู้หญิงจะช่วยให้ผู้หญิงที่ถูกข่มขื่นหรือถูกลวนลามกล้าเล่าเรื่องของตนออกมามากขึ้น

"เมื่อมีผู้ชายอยู่ เหยื่อที่เป็นผู้หญิงจะไม่สามารถพูดถึงรายละเอียดการกระทำทารุณที่เกิดขึ้นกับตัวเธอได้ พวกเธอรู้สึกอาย ในศาลนี้จะทำให้เหยื่อรู้สึกว่ามีบรรยากาศเป็นมิตรกับผู้หญิง" จอยดีพ มุขเขอร์จี เลขาธิการ องค์กรช่วยเหลือด้านกฏหมายในอินเดีย 'ออล ลีกัล เอด ฟอรัม' กล่าว

ภราตี มัทสุดดี ผู้พิพากษาอาวุโสกล่าวว่า ผู้พิพากษาชายมักจะไม่รับรู้เรื่องอาชญากรรมต่อสตรีและมีอคติต่อเพศชายด้วยกันเมื่อรับฟังคำให้การของฝ่ายหญิง

เมื่อวันพุธ (23) ที่ผ่านมา คณะนักกฏหมายได้มีการอภิปรายในประเด็นเรื่องกฏหมายอาขญากรรมทางเพศในอินเดียหลังจากที่มีกาชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาหลายพันคนเรียกร้องให้มีการพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้นและมีการลงโทษผู้ปกระทำผิดในคดีรุมข่มขื่นบนรถประจำทางหนักขึ้น โดยจะมีการนำเสนอต่อรัฐบาลอินเดียในวันเดียวกัน

คณะนักกฏหมายเปิดเผยว่า "ความล้มเหลวของการควบคุมโดยรัฐ" เป็นต้นเหตุให้เกิดอาชญากรรมทางเพศ และได้วิจารณ์ว่ารัฐบาล ตำรวจ ประชาชนต่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อคดีความทางเพศ ประชุมอภิปรายยังได้มีข้อเสนอต่างๆ เช่นเรียกร้องให้มีการเพิ่มโทษการข่มขืนและการข่มขืนหมู่ รวมถึงบังคับให้มีการรับคำร้องเรียนเรื่องการข่มขืนทุกคำร้อง


เรียบเรียงจาก

India first women's court opens in West Bengal, BBC, 24-01-2013

Justice JS Verma panel's recommendations on sexual crime laws, NDTV, 23-01-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วาด รวี:ประเด็นสำคัญของคำพิพากษาคดีสมยศอยู่ตรงนี้

Posted: 24 Jan 2013 06:48 AM PST

ประเด็นสำคัญของคำพิพากษาอยู่ตรงนี้

.............
เห็นว่าบทความคมความคิด ในนิตยสารเสียงทักษิณทั้งสองฉบับ มีเนื้อหาที่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อบุคคล แต่เขียนโดยมีเจตนาเชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อนำเหตุการณ์ในอดีตมาเชื่อมโยงแล้วสามารถระบุได้ว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื้อหาของบทความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์
.............


จากคำแถลงปิดคดีของฝ่ายจำเลย พบว่า ประเด็นสำคัญข้างบนมาจากคำให้การของ ธงทอง จันทรางศุ ตรงส่วนนี้

......................
พยานส่วนใหญ่ของโจทก์ให้ความเห็นว่าผู้เขียนบทความทั้งสองบทความมีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชวงศ์ เฉพาะศาสตราจารย์พิเศษธงทองดูเอกสารหมาย จ.๒๔ แล้วเบิกความว่า ไม่ได้ให้ความเห็นว่าเข้าค่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ แต่ได้ให้ความเห็นว่าข้อความที่ปรากฏอยู่ในหน้า ๔๖ ตรงคำว่า "โคตรตระกูล" นี้นั้นหมายถึงราชวงศ์จักรี และไม่ออกความเห็นเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.๒๕ 
.......................

และส่วนนี้

.......................
เมื่อเปรียบเทียบความเห็นของพยานโจทก์เฉพาะปากนายกฤษฎา ใจสุวรรณ์ กับ นางสาวชรินรัตน์ อิงพงษ์พันธ์ ในการให้ความเห็นบทความ ตามเอกสารหมาย จ.๒๔ และ จ.๒๕ ยังไปคนละทิศทาง ไม่อาจสรุปได้ว่าความเห็นของฝ่ายใดถูกหรือของฝ่ายใดผิด เช่นเดียวกับความเห็นพยานโจทก์ปากศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ พยานโจทก์ที่เบิกความตอบอัยการโจทก์เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕ ในหน้าที่ ๒ บรรทัดที่ ๔-๑๓ และในหน้าที่ ๓ บรรทัดที่ ๗-๑๐ นับจากบนลงล่าง ความว่า "พยานดูเอกสารหมาย จ.๒๔ แล้วเบิกความว่า ..........................................คำว่า "โคตรตระกูล" ที่ระบุไว้ทั้งสองแห่งผู้เขียนสื่อความหมายให้ผู้อ่านนึกถึงราชวงศ์จักรี ตรงที่หมายถึงราชวงศ์จักรีนั้นอยู่ตรงคำว่า "พอได้ดีก็โค่นนายตัวเอง จับนายไปจองจำ ชัดว่าสติไม่ดี ดูแลบ้านเมืองไม่ได้ แล้วก็จับลงถุงแดง ฆ่าทิ้งอย่างทารุณ" เป็นประวัติศาสตร์ในช่วงท้ายกรุงธนบุรีในปี ๒๓๒๕ ต่อเนื่องกับตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์...................โจทก์ให้พยานดูเอกสารหมาย จ.๒๕ เป็นบทความโดยผู้เขียนนามปากกาเดียวกับ จ.๒๔ พยานดูแล้วเบิกความว่าเรื่อง ๖ ตุลา ๒๕๕๓ นี้ ผู้เขียนสมมุติตัวละครเดินเรื่องชื่อ "หลวงนฤบาล" อ่านแล้วข้าฯไม่แน่ใจไม่สามารถให้ความเห็นเด็ดขาดได้ว่าหมายถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือไม่" 
......................

ศาลอาศัยปากคำของ ธงทอง ที่ตีความคำว่า "โคตรตระกูล" ว่าหมายถึง "ราชวงศ์จักรี" และอาศัยจุดนี้ในการเชื่อมโยงให้ความหมายว่า "หลวงนฤบาล" คือพระเจ้าอยู่หัว



ประการที่หนึ่ง ธงทองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ประวัติศาสตร์

ธงทองนี่เชี่ยวชาญด้าน "นิติศาสตร์" นะครับ ไม่ใช่ "ประวัติศาสตร์" ไปดูประวัติเสีย ไม่มีผลงานอะไรที่เป็นเกียรติคุณด้านประวัติศาสตร์เลย ถ้าจะเบิกความพยานแล้วอ้างว่าเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" ตามเรื่องในบทความส่วนที่กล่าวว่า :
..........................................คำว่า "โคตรตระกูล" ที่ระบุไว้ทั้งสองแห่งผู้เขียนสื่อความหมายให้ผู้อ่านนึกถึงราชวงศ์จักรี ตรงที่หมายถึงราชวงศ์จักรีนั้นอยู่ตรงคำว่า "พอได้ดีก็โค่นนายตัวเอง จับนายไปจองจำ ชัดว่าสติไม่ดี ดูแลบ้านเมืองไม่ได้ แล้วก็จับลงถุงแดง ฆ่าทิ้งอย่างทารุณ" เป็นประวัติศาสตร์ในช่วงท้ายกรุงธนบุรีในปี ๒๓๒๕ ต่อเนื่องกับตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์

นี่ต้องเบิกความ "นักประวัติศาสตร์" นะครับ (โว้ย) 

ไม่ใช่นักนิติศาสตร์

และต้องเป็นนักประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในสมัยนั้นด้วย ซึ่งในประเทศนี้ ก็มีหลายคนแต่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับที่สุดในเรื่องประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีก็คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์



ประการที่สอง การตีความของธงทองผิดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

คำว่า "พอได้ดีก็โค่นนายตัวเอง จับนายไปจองจำ ซัดว่าสติไม่ดี ดูแลบ้านเมืองไม่ได้ แล้วก็จับลงถุงแดง ฆ่าทิ้งอย่างทารุณ" ที่อ้างว่าเป็นประวัติศาสตร์ช่วงท้ายกรุงธนบุรีในปี ๒๓๒๕ ต่อเนื่องกับต้นรัตนโกสินทร์นี่ 
ถามว่าใครบ้างที่อยู่ในข่ายตามทำนองตีความที่อ้างมา ?

มีเป็นร้อยนะครับเป็นร้อย 

นี่คือบางส่วนจากพงศาวดารกรุงธนบุรี (ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)  ในช่วงเวลาดังกล่าว:

ณ วัน ๗ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ เพลาเช้า ๒ โมง เสด็จพระราชดำเนินทัพมาจากเสียมเรียบ ประทับ ณ พลับพลาหน้าวัดโพธาราม ฝ่ายข้าทูลละลองฯ ผู้ใหญ่น้อยพร้อมกันไปเชิญเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบ ข้ามมาพระราชวังดุสิต ณ ศาลาลูกขุน มีหมู่พฤฒามาตย์ราชกุลกวีมุขเฝ้าพร้อมกัน จึ่งมีพระราชบริหารดำรัสปฤกษาว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินอาสัจละสุจริตธรรมเสีย ประพฤติการทุจริตฉะนี้ ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้มิได้ ขอให้ปริวัตรออกประหารเสีย ฝ่ายทแกล้วทหารทั้งปวงมีใจเจ็บแค้นเป็นอันมาก ก็นำเอาพระเจ้าแผ่นดินและพวกโจทก์ทั้งปวงนั้นไปสำเร็จ ณ ป้อมท้ายเมืองในทันใดนั้น

จากข้อความในพงศาวดารข้างต้น ที่ว่า

"เสด็จพระราชดำเนินทัพมาจากเสียมเรียบ" ในตอนต้นนั้นคือ รัชกาลที่ ๑ 

ส่วนที่ว่า "เอาพระเจ้าแผ่นดินและพวก.." นั้นหมายถึง พระเจ้าตาก

นอกจากรัชกาลที่ ๑ ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ ก็ยังมีคนอีกจำนวนมาก เช่น (ตามพงศาวดารที่ยกมา) 

๑. ข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย
๒. หมู่พฤฒามาตย์ราชกุลกวีมุข
๓. ทแกล้วทหารทั้งปวง


คนสามกลุ่มนี้มีใครบ้าง ไปดูพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ตอนตั้งเจ้านายและข้าราชการ


๑ ประดิษฐานพระราชวงศ์ (ดูพงศาวดารกรุงรัตโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรณ์, ศรีปัญญา หน้า ๔๙)

คำว่า ข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย ก็หมายถึงพวกราชวงศ์ทั้งหลายที่ตั้งกันในตอนนั้น เป็นเจ้าฟ้า ๑๙ คน เช่น สมเด็จพระพี่นาง, สมเด็จพระอนุชาธิราช (กรมพระราชวังบวร), สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งหลาย และยังมีหลานอีกมากมาย


๒ หมู่พฤฒามาตย์ราชกุลกวีมุข (เล่มเดียวกันหน้า ๕๓)

กลุ่มนี้ก็คือพวกขุนนางวังหลวงทั้งหลาย ซึ่งมีหลายสิบและอาจจะเกือบร้อย

เช่น 

ตรัสเอาพระอักขรสุนทร...ชื่อสน ข้าหลวงเดิม มีความชอบโดยเสด็จพระราชดำเนินไปงานพระราชสงคราม เป็นเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ที่สมุหนายก

ตรัสเอาหลวงสรวิชิต ชื่อหน มีความชอบนำเอาข้อราชการในกรุงธนบุรีออกไปกราบทูลถึงด่านพระจารึก..

ตรัสเอานายบุญนาค บ้านแม่ลา ซึ่งเป็นต้นคิดปราบจลาจลในกรุงธนบุรี มีความชอบ เป็นเจ้าพระยาไชวิชิตผู้รักษากรุงเก่า...

ตรัสเอานายแสง ซึ่งมีความชอบได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือลับให้ทรงพระราชดำริรักษาพระองค์ เป็นพระยาทิพโกษา...

ตรัสเอาหม่อมบุนนาค บุตรพระยาจ่าแสนยากรครั้งกรุงเก่า มิได้คิดเข้ามาทำราชการหายศบรรดาศักดิ์ พึ่งแต่พระเดชพระคุณให้ใช้สอยอยู่ลับ ๆ (คำว่า "อยู่ลับๆ" ปรากฏในฉบับตัวเขียนเดิม แต่ฉบับตัวพิมพ์กับฉบับกรมพระยาดำรงฯ ถูกตัดออก) 

เป็นต้น


๓ ทแกล้วทหารทั้งปวง (เล่มเดียวกัน หน้า ๖๐)

ครั้นเสร็จตั้งขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยแล้วทรงพระดำริว่า เมื่อครั้งกรุงเก่า เมื่อปักษ์ใต้ยกมาขึ้นแก่กรมนั้น เพราะกลาโหมมีความผิด บัดนี้เจ้าพระยามหาเสนา ที่สมหุพระกลาโหม มีความชอบมาก จึงแบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก.....

ข้าราชการทหารบางส่วนก็ปนกันกับข้าราชการวังหลวง แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่ามีคนร่วมโค่นพระเจ้าตากอย่างหลากหลายเต็มไปหมด (ไม่งั้นก็คงทำไม่สำเร็จ)


พูดง่าย ๆ ก็คือ บุคคลที่เข้าข่าย "พอได้ดีก็โค่นนายตัวเอง จับนายไปจองจำ ซัดว่าสติไม่ดี ดูแลบ้านเมืองไม่ได้ แล้วก็จับลงถุงแดง ฆ่าทิ้งอย่างทารุณ" หรือจะเรียกว่า ทรยศพระเจ้าตาก ตามทำนองของเรื่องในการตีความของศาลนั้น มีทั้งเจ้าทั้งขุนนางขุนทหารเป็นร้อย ๆ คนที่สามารถอยู่ในนิยาม ไม่จำเป็นต้องเป็น "ราชวงศ์จักรี" เท่านั้นตามการตีความของธงทอง และที่สำคัญต่อให้เป็นบุคคลที่ (ถือว่า) อยู่ในราชวงศ์จักรี อย่างเช่น กรมพระราชวังบวร (วังหน้า หรือน้องชายของ ร.๑) จะเรียกได้ว่าเป็นการสืบสาวมาถึง พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน รัชกาลที่ ๙ ได้หรือ ?

ถ้าเป็นอย่างนั้น ใครที่มีบรรพบุรุษที่มีเชื้อเจ้าโดนด่าพ่อล่อแม่ไปถึงบรรพบุรุษ ก็ผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 หมด ? 

ตระกูลที่เคยมีคนดองกับเจ้า เช่น ณ อยุธยา, ณ พัทลุง, ณ นคร และตระกูลเก่าอีกหลายตระกูลที่มีสาแหรกโยงกับเจ้านี่ ก็อยู่ในข่ายคุ้มครองของกฎหมายอาญามาตรา 112 หมด? (เพราะบรรพบุรุษเดียวกับพระเจ้าอยู่หัว)


จะเห็นได้ว่าเฉพาะประเด็นสำคัญที่เป็นการตีความของธงทอง จันทรางศุ และนำไปสู่การข้อสรุปว่า หลวงนฤบาล คือ พระเจ้าอยู่หัว แม้พิจารณาในฐานะของข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์โดด ๆ ก็มีปัญหามากมายเต็มไปหมด และมีทางตีความมากมายเต็มไปหมด ไม่จำเป็นต้องตีความแบบธงทองก็ได้



อ้างอิงจาก: เปิดคำพิพากษาย่อ: จำคุก 10 ปี 'สมยศ' ในฐานะบก.ผิด ม.112 - ต่างชาติชี้สร้างบรรทัดฐานเซ็นเซอร์ตัวเอง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เอ็นจีโอไทย' เคลื่อนเรียกร้องสิทธิประกันตัว 'สมยศ' ระบุโทษแรงเกิน

Posted: 24 Jan 2013 03:21 AM PST

26 เอ็นจีโอไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องสิทธิประกันตัว 'สมยศ' ชี้การตัดสินลงโทษสมยศ โดยจำคุกถึง 10 ปี เป็นบทลงโทษที่รุนแรงเกินไปสำหรับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรมชี้คุมตัวระหว่างพิจารณาคดียาวนานเหมือนถูกจำคุกแต่ต้น


กรณีศาลอาญาพิพากษาให้สมยศ พฤกษาเกษมสุข บก.นิตยสาร Voice of Taksin มีความผิดตามมาตรา 112 ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่นิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ซึ่งมีบทความเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ลงโทษจำคุก 10 ปี จากความผิด 2 กรรม  บวกกับโทษเดิมเมื่อปี 2552 คดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่รอลงอาญาไว้อีก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 11 ปี

ล่าสุด (24 ม.ค.56) นักกิจกรรมทางสังคมจำนวนหนึ่ง ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นว่า กรณีนี้เป็นบทลงโทษที่รุนแรงจนไม่อาจยอมรับได้สำหรับประชาชนผู้ที่มีความคิดเห็นต่างในสังคมที่แสดงตัวว่าเป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน เช่นประเทศไทย โดยระบุว่า โทษ 10 ปีนั้นรุนแรงเกินไป สำหรับการแสดงความเห็นที่แตกต่าง

อนึ่ง นักกิจกรรม 26 คน ประกอบด้วย 1. น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา 2. นายจักรชัย โฉมทองดี 3. นายนิมิตร์ เทียนอุดม 4. นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ 5. น.ส.เพ็ญโฉม ตั้ง 6. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง 7. นางสุภา ใยเมือง 8. นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง 9. นายอุบล อยู่หว้า 10. น.ส.สุภัทรา นาคะผิว 11. น.ส.ฝ้ายคำ หาญณรงค์ 12. นางสายฝน อมรแมนนันท์ 13. น.ส.แก้วตา ธัมอิน 14. น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล 15. นางพูลทรัพย์ ส.ตุลาพันธ์ 16. นางจันทนา เอกเอื้อมณี 17. นางกชพร กลักทองคำ 18. น.ส.แสงเดือน ค้ำคูณเมือง 19. นายพลิศ ลักขณานุรักษ์ 20. น.ส.สุชญา กรรพฤทธิ์ 21. นายเกียรติศักดิ์ ยั่งยืน 22. น.ส.วิชุดา ขวัญชุม 23. น.ส.วรางคนางค์ นิ้มหัตถา 24. น.ส.นาถศิริ โกมลพันธุ์ 25. นายไพรัชช์ แดนกะไสย 26. นายเพิ่มสุข อัมพรจรัส

แถลงการณ์เรียกร้องว่า สมยศ และนักโทษทางการเมือง และผู้ที่ถูกตั้งข้อหา หรืออยู่ระหว่างดำเนินคดีทางการเมืองทุกคนต้องได้รับการประกันตัวในระหว่างการสู้คดี เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ไม่ว่าในกรณีใดก็ตามพึงได้รับการคุ้มครอง

"การเคารพสิทธิในการแสดงความเห็น และอดกลั้นต่อความเห็นต่างเป็นคุณสมบัติของสังคมอารยะ ที่เราต่างต้องเรียนรู้ อดทน และข้ามผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช้เครื่องมือตัวบทกฎหมายมาจัดการคุมขังผู้คนที่เห็นต่างจากตน" แถลงการณ์ระบุและว่า "การตัดสินลงโทษสมยศ โดยมีโทษจำคุกถึง 10 ปี เป็นบทลงโทษที่รุนแรงเกินไปสำหรับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง การกระทำผิดโดยข้อหาดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ควรได้รับการตัดสินให้จำคุกและได้รับโทษเยี่ยงอาชญากร"

 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมชี้คุมตัวระหว่างพิจารณาคดียาวนานเหมือนถูกจำคุกแต่ต้น
ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงกังวลถึงการบังคับใช้มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประเทศเสรีประชาธิปไตย และเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราว สมยศ พฤกษาเกษมสุขและผู้ต้องหาหรือจำเลยอื่นในคดีที่ถูกกล่าวหาเช่นดียวกันนี้ในทันที เนื่องจากถือเป็นนักโทษทางความคิดและนักโทษทางการเมือง ทั้งหัวใจของกฎหมายอาญาคือหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และเพื่อคุ้มครองหลักการดังกล่าวจำเลยจึงต้องได้สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

"การควบคุมตัวบุคคลในระหว่างการพิจารณาที่ยาวนานจึงเปรียบเสมือนการพิพากษาจำคุกมาตั้งแต่ต้น อันเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ" แถลงการณ์ระบุ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐดำเนินการแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและพันธกรณีระหว่างประเทศตามข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสทธิทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขอัตราโทษที่มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับการกระทำความผิด เนื่องจากการรักษาความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์นั้นไม่อาจกระทำได้โดยการบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงและไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย และอำนาจในการร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่ไม่ควรให้ใครก็ได้เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้มีผู้ใช้ข้อหาความผิดตามมาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งศัตรูทางการเมือง

นอกจากนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมยังขอให้ศาลยึดมั่นในหลักการกฎหมาย และพิจารณาคดีโดยปราศจากฐานของหลักอคติ โดยระบุว่า เพราะการบังคับใช้กฎหมายบนพื้นฐานหลักการและเคารพสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญย่อมมีส่วนลดความรุนแรงของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมได้ ในทางตรงกันข้ามการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่อยู่บนพื้นฐานหลักการ แม้กฎหมายจะมีความเป็นธรรมสักเพียงใดก็ไม่อาจสร้างความเป็นธรรมให้เกิดในสังคมได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเยียวยาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของสังคม การยึดมั่นในหลักนิติธรรมและบทบาทของผู้พิพากษาที่เป็นกลางปราศจากอคติในภาวะวิกฤติเท่านั้นที่จะนำพาประเทศชาติให้อย่างร่วมกันได้อย่างสันติประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ‘สมยศ’ หลัง ‘คำพิพากษา’

Posted: 24 Jan 2013 03:09 AM PST

 

ภายหลังทราบผลคำพิพากษาไปเมื่อวานนี้ (23 ม.ค.) ไม่มีใครรู้ว่าสมยศคิดอย่างไร เพราะเจ้าหน้าที่นำตัวเขาส่งเรือนจำทันที โชคดีที่ทนาย ภรรยาและลูกยังตามมาเยี่ยมที่เรือนจำได้ในบ่ายวันนั้น  

วันรุ่งขึ้น มีคนไปเยี่ยมเขาที่เรือนจำ จำนวนผู้เยี่ยมยังคงเป็นไปตามปกติ ส่วนใหญ่เป็น 'ขาประจำ' ที่คุ้นหน้ากันดี

ก่อนจะได้เจอเขา เพื่อนนักโทษของเขา – คดีหมิ่นฯ ซึ่งออกมาก่อนเล่าให้ฟังว่า วานนี้หลังกลับจากศาล สมยศก็ค่อนข้างเงียบ คงเพราะผิดหวังอย่างรุนแรง เนื่องจากก่อนหน้านี้เขามั่นใจมากว่าคดีของเขา 'ไม่มีอะไรต้องกังวล'

ดูเหมือนเขาจะเป็นคนที่เชื่อมั่นและมีความหวังในระบบยุติธรรมมาก ท่ามกลางเสียงวิจารณ์  ข้อกล่าวหาต่อกระบวนการยุติธรรมต่างๆ นานา และตัวเขาเองก็ถูกคุมขังมานาน 600 กว่าวันโดยไม่ได้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี แต่เขากลับเชื่อมั่นในรากฐานของระบบ

"เต็มร้อย แกเชื่อมากกว่า 80 ว่าแกจะรอด แกบริจาคของใช้ของแกให้นักโทษคนอื่นๆ หมดเลย..แต่ไม่ต้องห่วง พิพากษามาแรกๆ เป็นอย่างนี้ทุกคน สิ่งที่ช่วยแกได้คือกำลังใจ สักพักคงฟื้น เราก็ช่วยๆ กันอยู่" 'รุ่นพี่' ที่เคยโดนพิพากษาหนักๆ มาแล้ว อธิบาย

สมยศเดินออกมา ยิ้มทักทายผู้คน ยิ้มกว้างเท่าเดิม แต่ดูไม่ใช่ยิ้มแบบเดิม คราวนี้เขาไม่ค่อยมีมุขตลกขำขันมาแซวคนเยี่ยมเหมือนเคย

ลูกชายของเขา 'ไท' ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข และเพื่อนๆ มาพูดคุยกับเขา นักศึกษาปี 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายเรื่องข้อกฎหมายและนำเสนอแนวทางการต่อสู้ทางคดีให้พ่อฟังยาวเหยียด ก่อนบอกว่า จะมีนักศึกษาทำกิจกรรมอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคำพิพากษานี้

เมื่อถามสมยศว่า ตัวเขาคิดเห็นเช่นไรกับคำพิพากษาเมื่อวาน เขากล่าวว่า เขารู้สึกเสียใจกับผลคำตัดสิน เนื่องจากเห็นว่าคดีนี้กลายเป็น 'คดีความเห็น' ซึ่งศาลอ้างถึงแต่ความเห็นฝ่ายโจทก์ที่เชื่อว่าเขาคิดเช่นนั้น โดยไม่มีหลักฐานอื่นใดที่จะพิสูจน์ความเข้าใจของตัวเขาได้ อาศัยเพียงคำว่า "เข้าใจได้ว่า" และในขณะที่ศาลให้ความเชื่อถือกับพยานฝ่ายโจทก์แต่กับพยานฝ่ายจำเลยที่อ่านแล้วตีความอีกแบบศาลกลับไม่ให้ความเชื่อถือและอ้างถึงน้อยมาก ทำให้เขารู้สึกเหมือนเป็นการบังคับให้ต้องคิดและตีความเหมือนที่ศาลคิด

"บางเรื่องที่ทนายจำเลยซักถามจนตกแล้ว แต่ศาลก็ยังให้ความสำคัญและอ้างถึง เช่นเรื่องประวัติศาสตร์ในแบบเรียน ทนายถามว่าแบบเรียนไหนที่พูดถึงถุงแดง พยานก็ตอบไม่ได้ หรือแม้แต่พยานโจทก์อย่างธงทอง จันทรางศุ ก็เบิกความเองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องการตีความซึ่งขึ้นกับบริบทพื้นเพของแต่ละคน"

สมยศกล่าวว่า นอกจากนี้ศาลยังอ้างถึงระดับการศึกษาว่าเขาจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์น่าจะรู้ถึงเรื่องนี้

"ถ้าผมจบ ป.6 ผลอาจจะดีขึ้น ใช่มั้ย" สมยศพูดติดตลก

เขากล่าวว่า แม้ว่าจะรู้สึกเศร้ากับผลที่ออกมา แต่มองในแง่ดีเรื่องนี้ก็ทำให้ได้เห็นถึงปัญหาของระบบ  ที่ผ่านมาเขายังเชื่อว่าระบบยุติธรรมยังมีความยุติธรรมอยู่ แม้จะมีปัญหาบ้างในบางส่วน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ความเชื่อที่มีมาเสมอนี้ต้องเปลี่ยน

"ที่สำคัญ ผลของคดีนี้น่าจะทำให้เสรีภาพของสื่อที่หวังจะเห็นแสงสว่างจากคดีนี้ กลายเป็นยุคมืดไปเลย"  สมยศตั้งข้อสังเกต        

ส่วนเรื่องแนวทางการต่อสู้คดี เขาว่า ตอนนี้เขายังคิดอะไรไม่ออก แต่คิดว่าอย่างไรก็คงต้องสู้

15 นาทีหมดไปอย่างรวดเร็ว สำหรับรอบ 9 (11.10 น.) ซึ่งเจ้าหน้าที่ล็อคไว้ให้เป็นรอบเยี่ยมผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหลาย

ซ้ายมือ แฟนของยุทธภูมิ ผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ คนล่าสุด กำลังร่ำลากับสามี เขาถูกจับกุมมาตั้งแต่ 19 ก.ย.55 ไม่ได้ประกันตัว และศาลนัดสืบพยานอีกครั้งปลายปี - เดือนสิงหาคม กรณีนี้พี่ชายแท้ๆ เป็นคนแจ้งความว่าเขาพูดจาดูหมิ่นสถาบันฯ ในบ้าน และเขียนคำจาบจ้วงสถาบันฯ บนปกซีดีแผ่นหนึ่ง

ขวามือ ภรรยาสุรชัยซึ่งลงทุนย้ายมาอยู่กับเพื่อนที่ทาวเฮ้าส์ใกล้เรือนจำและมาเยี่ยมสามีทุกวัน ก็กำลังโบกมือให้สุรชัย เขาเป็นผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ ที่อายุมากที่สุด 71 ปี แต่สดใส และไฮเปอร์อย่างยิ่ง ผู้ที่มาเยี่ยมเขาจะได้ฟังแลคเชอร์บทวิเคราะห์การเมือง และแนวทางการต่อสู้ในประเด็นต่างๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ถัดไปอีก เด็กหนุ่มจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเพิ่งติดตามเรื่องราวนักโทษคดีหมิ่นฯ จากการไปเข้าค่ายอบรมเรื่องเสรีภาพกับโครงการอินเตอร์เพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เมื่อสองเดือนก่อน เขากำลังพูดคุยกับหนุ่ม ธันย์ฐวุฒิ ผู้ต้องขังโทษ 13 ปีอีกคนหนึ่งอย่างติดลม ไม่ยอมลุก แต่ท้ายที่สุดก็ต้องเดินออกมาเพราะโดนเจ้าหน้าที่ไล่ เขาบอกว่า เขาจะกลับไปเขียนจดหมายส่งไปโครงการอีเมล์หยดน้ำ freedom4pp@gmail.com (นักโทษ112 ชวนส่ง 'อีเมลหยดน้ำ') เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง และส่งข่าวสารข้อมูลให้ผู้ต้องขังข้างในโดยตรง ไม่แน่ว่าเขาอาจตามไปดูมหกรรม 'เผาตำรากฎหมาย' ที่ หน้าศาลอาญา วันศุกร์นี้ (25 ม.ค.) เวลา 12.00 น. ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Side effect จากคำพิพากษาในคดีนี้ด้วย

ขณะที่สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศ โพสต์ในเฟซบุ๊คว่า ได้ยื่นประกันตัวเขาในชั้นอุทธรณ์แล้วเป็นที่เรียบร้อย และคงต้องรออีก 2-3 วันกว่าจะรู้ผล

"I actually have no hope but someone told me that we live with hope, only dead people has no hope. Life is going on." ส่วนหนึ่งในข้อความของสุกัญญา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหยื่ออธรรม เหยื่อแผ่นดินอธรรม

Posted: 24 Jan 2013 02:58 AM PST

ร้องชายชาวพม่าถูกจับเป็น ‘แพะ’ คดีวิ่งราวสาวอังกฤษ

Posted: 24 Jan 2013 02:32 AM PST

24 มกราคม 2556 เครือข่ายทนายความสิทธิฯ จังหวัดกระบี่ เปิดเผยคำร้องเรียนของผู้ร้อง โดยไม่เปิดเผยนามว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 เกิดเหตุคนร้ายพกพามีดไปในเมือง บริเวณ หมู่ 7 เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ และได้ทำการวิ่งราวทรัพย์ของ  นางสาวดอนน่า เอมี่ มิลน์ (Donna Amy Milnes) สัญชาติอังกฤษ เป็นเหตุให้นางสาวดอนน่า เอมี่ มิลน์ ได้รับบาดเจ็บบริเวณเอวด้านขวา  และได้ทรัพย์สินไป 4 รายการ รวมเป็นเงิน 50,500 บาท  ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุม นายต้าร์ ไม่มีนามสกุล ในวันเดียวกัน ซึ่งในชั้นสอบสวนนายต้าร์ ให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา

ในชั้นศาล พนักงานอัยการจังหวัดกระบี่ ฟ้องนายตาร์เป็นจำเลยในข้อหาพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ อย่างไรก็ตามในชั้นศาล นายตาร์ให้การรับสารภาพ ทนายความฯ จึงยื่นคำร้องขอถอนคำให้การ ประกอบกับคดีนี้มีการสืบพยานล่วงหน้าตามกฏหมาย ศาลจึงตัดสินคดีในวันที่ 9 มกราคม 2556  ที่ผ่านมา และนำมาซึ่งการร้องเรียนของผู้ร้องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม

โดยผู้ร้องเห็นว่าคดีนี้ผู้เสียหายเป็นชาวอังกฤษ สถานทูตฯ เข้ามาติดตามคดีอย่างต่อเนื่อง ตำรวจอาจจะจับนายตาร์ซึ่งไม่ใช่ผู้กระทำความผิด ประกอบกับกระบวนพิจารณาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือในระหว่างสอบสวนและพิจารณา ไม่มีล่ามแปลภาษาให้นายต้าร์ (และในรายงานกระบวนพิจารณา บันทึกการสอบปากคำ รายงานกระบวนพิจาณา ไม่ปรากฏลายมือชื่อล่ามในเอกสาร) ซึ่งปัญหาเรื่องล่าม เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งถือว่าไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  27  

ผู้ร้องจึงเห็นว่า ควรยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องฯ เป็นคนในพื้นที่ เกรงว่าจะไม่เป็นผลดีกับตน หากตนเองยื่นคำร้องขอถอนกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย จึงได้ขอความช่วยเหลือมาทางโครงการประสานชาติพันธุ์อันดามัน มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป  ให้ดำเนินการช่วยเหลือทางกฏหมาย และประสานกับสถานทูตพม่าในประเทศไทยให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้  เพราะหากไม่มีการตรวจสอบ  เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมไทย  ยังคงจับกุมและดำเนินคดี ผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด (แพะรับบาป)  มาลงโทษอย่างไร้จริยธรรมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น