โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รายงานจากเรือนจำ: สมยศ-สุรชัย คุกขังเขาได้....?

Posted: 04 Jan 2013 08:32 AM PST

Thailand Mirror รายงานทัศนะทางการเมืองสองแกนนำเสื้อแดงในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ "สุรชัย" ชี้ฝ่ายอำมาตย์ถอยรอจังหวะรุก ประชาชนต้องเตรียมรับมือ "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ยืนยันจุดยืน เรียกร้องเสรีภาพ ไม่มีทางเลือกอื่น ถึงตายก็ยอม

เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 4 ม.ค.56 - "สุรชัย" ชี้อำมาตย์อยู่ในเกมถอยเพื่อรอจังหวะรุก ประชาชนต้องเตรียมพร้อมด้วยการสร้างความรู้ พัฒนาความคิด ขณะที่เห็นว่าถึงแม้จะผ่านรัฐธรรมนูญวาระ 3 หรือมีการนิรโทษกรรม ปัญหาความแตกแยกทางความคิดของสังคมไทยก็ไม่จบ

นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ถึงแม้ในที่สุด รัฐบาลจะเลือกโหวตวาระ 3 ผ่านรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ตามที่ นปช.นำเสนอ ก็ไม่ทำให้ปัญหาจบ การต่อสู้ยังไม่จบ เพราะรัฐธรรมนูญจะถูกฉีกเมื่อไหร่ก็ได้ ขณะที่ นปช.เดินหน้าสู้ไม่เต็มที่ ส่วนรัฐบาล ก็มีเป้าหมายที่ต่างจากประชาชน

นายสุรชัย เชื่อว่าการที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกมาให้โอวาทและอวยพรเหล่าผู้นำกองทัพ เนื่องโอกาสวันขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมาว่า ความแตกแยกของสังคมไทยในขณะนี้เป็นอุปสรรคในการสร้าง ความสามัคคี และกล่าวเรียกร้องให้กองทัพออกมาสร้างความสามัคคีให้กับคนในชาตินั้น เป็นสัญญาณว่า ฝ่ายอำมาตย์มองสถานการณ์ขณะนี้ว่าควรอยู่ในเกมถอย จึงเปลี่ยนท่าทีด้วยการสนับสนุนการปรองดอง รอรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ คนเสื้อแดงแตกคอกัน และเมื่อถึงจังหวะนั้นฝ่ายอำมาตย์จะกลับมาเป็นฝ่ายรุกทันที

นายสุรชัย กล่าวย้ำว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ฝ่ายประชาชนต้องเข้มแข็ง พร้อมรบ โดยคำว่ารบไม่ได้หมายถึงการติดอาวุธ แต่หมายถึงการสร้างความรู้ พัฒนาความคิด เตรียมความพร้อม เพื่อรับมือ

อย่างไรก็ตาม นายสุรชัย เห็นว่าการนิรโทษกรรมจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะหากจะมี การนิรโทษกรรม ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องถูกลงโทษเหมือนกันทั้งหมดก่อน และถึงแม้จะมีการนิรโทษกรรมจริง ก็ไม่ทำให้ปัญหาความแตกแยกของสังคมไทยจบลงได้

นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ รับสารภาพคดีหมิ่นเบื้องสูงเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 และได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างรอรัฐบาลดำเนินการตามขั้นตอน

 


"สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ยืนยันจุดยืน เรียกร้องเสรีภาพ ไม่มีทางเลือกอื่น ถึงตายก็ยอม

"สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ยืนยันยอมถูกกักขัง เพียงร่างกาย และจะไม่ยอมรับสารภาพโดยที่ไม่ผิด เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็จะตกอยู่ในกรงขังมโนธรรม ไปตลอดชีวิต

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวถึงกรณีที่จะมีการนัดพร้อมฟังคำพิพากษาในวันพุธที่ 23 มกราคม 2556 ว่าในทางกฎหมายหรือเหตุผลแล้วจะชนะคดีอย่างแน่นอน ซึ่งคาดว่าคดีน่าจะสรุป เป็นกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ อาจได้รับการปล่อยตัว หรือไม่ก็รอลงอาญา

นอกจากนั้น กระแสสังคมยังให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ สำนักงานสิทธิมนุษยชน องค์การนิรโทษกรรมสากล ที่เห็นว่ากรณีของตนเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพ หากศาลไทยกล้าฝืนกระแสเรียกร้องขององค์กรสากลต่าง ๆ ก็จะไม่เป็นผลดีต่อสถาบันอย่างแน่นอน    

นายสมยศ ยังกล่าวถึงกรณีการรณรงค์ให้ยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เชื่อว่าไม่มีทางสำเร็จอย่างแน่นอน แต่การรณรงค์ก็ไม่ควรหยุดเช่นกัน และเห็นว่า ครก.112 ควรเดินหน้าเรียกร้องต่อไป เพื่อตอกย้ำว่ารัฐบาลต้องการเพียงรักษาอำนาจ สู้ไปสยบไป ซึ่งจะทำให้รัฐบาล ตกขบวนประวัติศาสตร์ ขบวนประชาธิปไตย และสะท้อนความล้มเหลวในการเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย

นายสมยศ ยืนยันว่าขณะนี้ถูกกักขังเพียงร่างกายเท่านั้น แต่จะไม่ยอมรับสารภาพโดยที่ไม่ผิด เพราะหากยอมรับสารภาพก็จะกับตกอยู่ในกรงขังมโนธรรมไปตลอดชีวิต รู้สึกขมขื่นใจและเจ็บปวด ที่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองจากกระบวนการยุติธรรมไทยที่ล้มเหลว ถึงตนต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในคุก แต่ก็พร้อมที่จะรักษาจุดยืนในการเรียกร้องเสรีภาพ ไม่มีทางเลือกอื่น ถึงตายก็ยอม

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Posted: 04 Jan 2013 07:55 AM PST

"รัฐธรรมนูญมันกลายเป็นสนามการต่อสู้ทางอุดมการณ์ มันก็เลยเป็นแบบนี้ไง ซึ่งมันต้องการความกล้าในบางสถานการณ์อยู่เหมือนกัน ทุกสถานการณ์ไม่มีหรอกร้อยเปอร์เซ็นต์ มันจะเป็นอย่างนี้เสมอ ปัญหาคือการประเมิน ความแตกต่างของรัฐบุรุษกับนักการเมืองมันอยู่ตรงนี้แหละ"

จาก วรเจตน์ ถึงรัฐบาล: เลิกคิดเรื่องลงประชามติ-ปลดล็อกศาล รธน. ก่อน

เมื่อ 'โซมาเลีย' เตรียมขยาย '3G' รับเทคโนโลยีขั้นสูง

Posted: 04 Jan 2013 07:36 AM PST

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานว่า บริษัท Hormund ซึ่งเป็นโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของประเทศโซมาเลียในทวีปแอฟริกา ได้เตรียมขยายเทคโนโลยี 3G ไปทั่วประเทศเพื่อรองรับการสื่อสารความเร็วสูงสำหรับโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตในบ้านและที่ทำงานของชาวโซมาเลีย ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ โซมาเลียต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองและสภาวะไร้รัฐบาลถึงราว 20 ปี ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา 

บริษัทโทรคมนาคมใหญ่ของโซมาเลีย Hormund และ National Link ยังได้ริเริ่มการให้บริการการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นครั้งแรกในโซมาเลีย โดยผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมการโอนเงินให้ญาติพี่น้อง หรือจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือเพียงการกดปุ่มเท่านั้น โดยผู้ใช้ต้องจดทะเบียนกับผู้ให้บริการนั้นๆ โดยจ่ายเงินเติมในโทรศัพท์ล่วงหน้าก่อนใช้งาน ส่งผลให้ชาวโซมาเลียทำธุรกรรมและแลกเปลี่ยนสินค้าได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องถือเงินสดในที่สาธารณะและเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย
 

อาคารสำนักงานบริษัทโทรคมนาคม Hormund ในโซมาเลีย
(ที่มาภาพ: Maxamad [CC-BY-SA-3.0], via Wikimedia Commons)
 
ทั้งนี้ หลังจากที่โซมาเลียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2503 ฮาจิ บาเชียร์ อิสมาเอล ยูซุฟ ก็ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากนั้นไม่นาน ประธานาธิบดีคนถัดมาก็ถูกทำรัฐประหาร ทำให้เผชิญกับความไม่มีเสถียรภาพและแย่งชิงอำนาจจากหลายขั้วกลุ่มการเมือง จากนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ราว 10 ปี และเมื่อปี 2534 โซมาเลียก็อยู่ภายใต้การสู้รบในสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มต่างๆ ยาวนานถึง 20 ปี ก่อนจะมีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติชั่วคราวขึ้นมาในปี 2543 และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีรัฐบาลถาวร
 
การเข้ามามีบทบาทของบริษัทโทรคมนาคมในการเชื่อมโยงโครงข่ายการสื่อสาร ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในสภาวะที่โซมาเลียไม่มีรัฐบาลและขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการเจริญเติบโตที่รวดเร็วสำหรับธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศที่มีการสู้รบยาวนาน อาจไม่ใช่เรื่องแปลกมากนัก อย่างในประเทศที่เผชิญสงครามอย่างในอัฟกานิสถาน หรือคองโก บริษัทโทรคมนาคมได้ก้าวเข้ามาจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดหายไป
 
"กลุ่มคนแรกที่เอาเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้ามาในบริเวณชนบทก็คือบริษัทโทรคมนาคม" สเวต ทินต์เชฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมคมนาคมในประเทศที่กำลังพัฒนาของธนาคารโลกกล่าว "ในทางหนึ่ง การทำงานของพวกเขาไปไกลมากกว่าเพียงแค่การให้บริการทางโทรคมนาคม" 
 
ถึงแม้ว่าโซมาเลียจะขาดเสถียรภาพและไร้รัฐบาลถาวรมาเป็นเวลานาน แต่การดำเนินธุรกิจของบริษัทคมนาคมยักษ์ใหญ่ก็เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การติดตั้งสายโทรศัพท์สามารถทำได้เสร็จในเวลาเพียง 3 วัน เมื่อเทียบกับประเทศที่มีเสถียรภาพและมีรัฐบาลอย่างเคนยาที่ต้องรอนานเป็นปีๆ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวกันว่า ราคาค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตที่นี่ นับว่าถูกที่สุดในทวีปแอฟริกา 
 

สภาพท้องถนนในเขตการสู้รบในเมือง Mogadishu เมืองหลวงของโซมาเลีย 
(ที่มาภาพ: PH1 R. ORIEZ, via Wikimedia Commons)
 
อับดุลลาฮี มูฮัมหมัด ฮุสเซน ผู้จัดการบริษัทเทเลคอมโซมาเลีย กล่าวว่า ในแง่หนึ่ง การไม่มีรัฐบาล ก็ถือว่าทำให้การได้ใช้ 3G รวมถึงการให้บริการอื่นๆ ได้รวดเร็วกว่าการมีรัฐบาล เนื่องจากว่าไม่จำเป็นต้องมีการประมูลสัญญา และไม่มีการผูกขาดตลาดที่สนับสนุนโดยรัฐ 
 
"แต่ก่อนรัฐบาลและบริษัทโทรคมนาคมก็มีการผูกขาด แต่หลังจากที่รัฐบาลถูกโค่นล้ม เราก็สามารถดำเนินการทำธุรกิจต่างๆ ได้อย่างอิสระ" เขากล่าว "เราเห็นช่องว่างในตลาดที่ใหญ่มาก เนื่องจากการให้บริการคมนาคมก่อนหน้านี้ถูกทำลายทั้งหมด มันมีความต้องการที่สูงมาก" 
 
อับดุลลาฮี กล่าวว่า ถึงแม้โซมาเลียจะไม่มีระบบกฎหมายหรือศาลที่เป็นทางการในระหว่างสงคราม แต่การชำระค่าบริการหรือสัญญาก็เป็นไปตามระบบเผ่าพันธุ์ดั้งเดิม ถึงแม้บางทีบริษัทโทรคมนาคมเหล่านี้จะถูกตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธ แต่การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำกลุ่มขั้วต่างๆ ก็ทำให้การให้บริการทั่วประเทศยังคงดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีอุปสรรคมากนัก 
 
แม้ว่าบริษัทโทรคมนาคมใหญ่ๆ ในโซมาเลีย 3 แห่ง จะแข่งขันราคาและการให้บริการกันอย่างดุเดือด แต่ก็มีการจับมือเซ็นสัญญาร่วมกัน เพื่อร่วมการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต รักษาโครงข่ายและร่วมกันตั้งราคามาตรฐานเพื่อไม่ให้การแข่งขันนั้นรุนแรงเกินไป 
 
และจนกว่าโซมาเลียจะสิ้นสุดการสู้รบและได้รัฐบาลถาวร ธุรกิจโทรคมนาคมก็คงจะยังเติบโตในประเทศแอฟริกาแห่งนี้ที่แร้นแค้นและยากจนจากสงครามอันยาวนาน เนื่องจากคนก็ยังคงต้องการสื่อสารระหว่างเพื่อน ครอบครัว ญาติมิตร และโลกภายนอกในพื้นที่สงครามบางแห่งที่ยังถูกตัดขาด อีกทั้งเหล่านักรบในกองกำลังก็ยังใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อสื่อสารการวางแผนการโจมตีและระดมกำลังด้วย 
 
ที่มา: 
Somalia Gets 3G Mobile Service
 
Electronic money transfer improves in Somalia
 
Telecom Firms Thrive in Somalia Despite War, Shattered Economy 
 
 Telecoms thriving in lawless Somalia 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ช่อง 3 เลิกฉาย "เหนือเมฆ 2" "ณาตยา" แนะให้มาฉาย "ไทยพีบีเอส"

Posted: 04 Jan 2013 07:26 AM PST

ช่องสามนำละครเรื่องใหม่ "ณเดชน์" แสดงแทรกแทน "เหนือเมฆ 2" กลางคันอ้างเนื้อหาบางช่วงไม่เหมาะออกอากาศ ด้านฝ่ายรัฐบาลปัดไม่มีการแทรกแซงละครดังกล่าว ขณะที่ณาตยา แวววีรคุปต์โพสต์แนะ "มาฉายช่อง ไทยพีบีเอส ซิคะ"

"เหนือเมฆ 2 มือปราบจอมขมังเวทย์" ล่าสุดช่อง 3 ยุติการออกอากาศตอนจบแล้ว (ที่มาของภาพประกอบ: facebook.com/benzballshowwallpaper)

สเตตัสในช่วงเย็นของเพจสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 งดออกอากาศ "เหนือเมฆ 2 มือปราบจอมขมังเวทย์" และมีละครเรื่องใหม่ "แรงปรารถนา" มาแทน

ช่วงเย็นวันนี้ (4 ม.ค.) เพจของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ขึ้นสเตตัสว่า "สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ขออภัยท่านผู้ชมที่ต้องงดออกอากาศละครเรื่อง "เหนือเมฆ 2 มือปราบจอมขมังเวทย์ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเนื้อหาบางช่วงบางตอนที่ไม่เหมาะสมกับการออกอากาศ และขอเชิญชมละครเรื่องใหม่ "แรงปรารถนา" นำแสดงโดย ณเดชน์ คูกิมิยะ และ คิมเบอร์ลี แอน เทียมศิริ เสนอคืนนี้เป็นตอนแรก เวลา 20.15 น."

โดยก่อนหน้านี้ละครโทรทัศน์เรื่อง "เหนือเมฆ 2 มือปราบจอมขมังเวทย์" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ทุกวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 20.30 - 22.45 น. โดยเริ่มออกอากาศมาตั้งแต่วันที่ 14 เดือนธันวาคม ละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนักการเมืองและการคอรัปชั่นของนักการเมืองและผู้อยู่เบื้องหลัง มีการต่อสู้ด้วยเวทย์มนต์และไสยศาสตร์ (อ่านเรื่องย่อ) เดิมมีกำหนดจะอวสานในวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม ต่อมามีการตัดการออกอากาศดังกล่าว

โดย "นนทรีย์ นิมิบุตร" ผู้กำกับการแสดงละครเรื่องดังกล่าวโพสต์ในเฟซบุ๊คบัญชีส่วนตัวในช่วงบ่ายว่า "อยากบอกว่าขอบคุณมาก สำหรับทุกๆ ความเข้าใจครับ ถึงขณะนี้ผมเองก็ไม่ทราบว่าบทสรุปของมันจะเป็นอย่างไรจริงๆ ครับ ทุกคนอดหลับอดนอนเพิ่มเติมมาจนถึงวันนี้ ก็ปราศจากเหตุผลครับ เหมือนไม่น่าเชื่อ..แต่จริงที่สุดครับ..สาธุ"

นอกจากนี้ในโลกออนไลน์ ยังมีการโพสต์คลิปของละครดังกล่าว และให้ความเห็นว่าเป็นเหตุทำให้ละครเรื่องนี้ถูกตัดออกอากาศ โดยเมื่อตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าเป็นคลิปละครที่ออกอากาศไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา และไม่มีการออกมายืนยันจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการยุติการออกอากาศหรือไม่ และล่าสุดมีผู้ตั้งเพจ มั่นใจคนไทยเกินล้านอยากดู "เหนือเมฆ 2" แล้ว

ด้านนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันรัฐบาลไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีการบีบให้ตัดการฉายละคร "เหนือเมฆ 2" แต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ข่าวสด รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการแบนละครเหนือเมฆ 2 ว่า ขอยืนยันว่าไม่มีการสั่งแทรกแซงละครเรื่องดังกล่าวแน่นอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง รัฐมนตรีที่รับผิดชอบก็ไม่เกี่ยวข้องเช่นกัน และไม่มีใครในรัฐบาลรู้เรื่องนี้เลย นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวข่าวสด ยังติดต่อนายบริสุทธิ์ บูรณะสัมฤทธิ์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ช่อง 3 ซึ่งกล่าวว่าไม่รู้สาเหตุของการยุติการออกอากาศละครดังกล่าว "เพราะทางฝ่ายรายการได้ดูละครแล้วมีคำสั่งลงมาว่าให้ยุติการออกอากาศ โดยที่ยังไม่ถึงเซ็นเซอร์ของช่อง ซึ่งตามปกติแล้วหลังละครตัดต่อเสร็จก็จะส่งเทปมาให้ทางฝ่ายรายการดู หลังฝ่ายรายการดูเสร็จว่าออกอากาศได้ ก็ส่งต่อไปให้ฝ่ายเซ็นเซอร์ของช่องพิจารณาดูอีกครั้ง แต่นี่ยังไม่ถึงเซ็นเซอร์ของช่อง ก็ถูกยุติการออกอากาศเสียก่อน"

โดยหลังข่าวการเลิกฉายละคร "เหนือเมฆ 2" ทำให้บุคคลสำคัญหลายวงการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดย ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ดำเนินรายการ "เวทีสาธารณะ" และบรรณาธิการข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุค ตั้งค่าการเข้าถึงแบบสาธารณะว่า "เอาละคร เหนือเมฆ มาฉายช่อง ไทยพีบีเอส ซิคะ รัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็แบนไม่ได้ ใครเห็นด้วย ขอ 1 ไลค์ค่ะ"

ด้าน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นสเตตัสบนเฟซบุค ตั้งค่าการเข้าถึงแบบสาธารณะว่า

"ผมว่า ช่อง 3 มีความรับผิดชอบทีจะต้องมาอธิบายให้ชัดเจนว่า ทีสังเลิก "เหนือเมฆ 2" กระทันหัน เพราะอะไรกันแน่ (เมื่อเย็น ยังออกข่าวว่า จะจบตามเดิมคือวันอาทิตย์ แม้แต่ที่ทีมงานคุณ "นก สินจัย" เริ่มโพสต์เรืองนี้ ก็ออกมาทำนองว่า จะ "หั่น" จาก 3 ตอน เหลือตอนเดียว คือให้จบในคืนนี้) สรุปแล้ว ช่อง 3 ต้อง ออกมาชี้แจงครับ

ปล. ผมยังไม่เชือว่า รบ.จะงี่เง่าขนาดพยายามกดดันละครนี้ แต่ถ้ามีหลักฐานแน่ๆว่า มาจาก รบ. ผมยินดีจะร่วมด่าด้วย"

และสมศักดิ์ยังโพสต์ในเวลาต่อมาว่า "สรุปแล้ว งานนี้ ช่อง 3 มา "เหนือเมฆ" ครับ (ฮา) ขนาดบ้านผม ไมเคยเปิดดูทีวีเวลานี้เลย ยังต้องมาเปิดดู"

ก่อนหน้านี้มีละครไทย ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์หลายเรื่องที่ไม่ได้ฉายถึงตอนจบ เนื่องจากมีเนื้อหาพาดพิงผู้มีอำนาจ เช่น ละครเรื่อง "สารวัตรใหญ่" บทประพันธ์ของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชรเมื่อปี 2532 พูดถึงความไม่ชอบมาพากลในวงการตำรวจ และทางช่อง 7 โดยกันตนานำมาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ออกฉายในกลางปี 2537 นำแสดงโดยลิขิต เอกมงคล และมนฤดี ยมาภัย แต่ก็ต้องตัดจบกลางคัน

ที่มาของภาพ: http://www.cityvariety.com/movie-122.html

ขณะที่ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐบาลนั้นมีภาพยนตร์ชื่อ "ยอดชายนายโอ๊กอ๊าก" นำแสดงโดยสายัณห์ ดอกสะเดา รับบทเป็น "โอ๊กอ๊าก" ลูกชายของ "เจ้าสัวรักสิน" มีนักแสดงหน้าเหมือนนักการเมืองจาก "สภาโจ๊ก" มาร่วมแสดง ต่อมามีเสียงวิจารณว่าภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงล้อเลียน พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีการอ้างว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ แสดงความไม่พอใจ และทำให้ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล อ้างเป็นเหตุในการเข้าตรวจสอบภาพยนตร์เรื่องนี้ นายเด๋อ ดอกสะเดา ผู้กำกับจึงเซ็นเซอร์บางฉากออกไป เพื่อแก้ปัญหายุ่งยาก และเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์เป็น "โว๊กว๊าก" แทน โดยฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2547

นอกจากนี้มีละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง "ผู้ชนะสิบทิศ" เตรียมผลิตเพื่อออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ MCOT เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 มีการประกาศหานักแสดงนำฝ่ายชายสำหรับบทจะเด็ด แต่ต่อมามีการยกเลิกการผลิตเนื่องจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ หลังเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2549

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กว่า 200 คนงาน NXP ชุมนุมกระทรวงแรงงาน ค้านปรับระบบการทำงาน

Posted: 04 Jan 2013 07:07 AM PST

สมาชิกสหภาพแรงงาน เอ็นเอ็กซ์พีฯ กว่า 200 คน ชุมนุมใต้ถุนกระทรวงแรงงาน ค้านนายจ้างปรับระบบการทำงาน สหภาพเสนอทางเลือกเปลี่ยนคนงานรายวันเป็นรายเดือน เพื่อความมั่นคงในรายได้ นัดชุมนุมอีกครั้ง 11 ม.ค.นี้


4 ม.ค.56 เวลา 9.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน ดินแดง สหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง กว่า 200 คน ชุมนุมคัดค้านการปรับระบบการทำงาน ที่นายจ้าง บริษัทเอ็นเอ็กพี เซมิคอนดักเตอร์ (ประเทศไทย)  จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานของคนงานฝ่ายผลิต เป็นการทำงานแบบ 4 วัน หยุด 2 วัน จากเดิมที่ทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน ซึ่งแบ่งเป็น 3 กะการทำงาน กะละ 7 ชั่วโมง พัก 1 ชั่วโมง รวมเป็น 8 ชั่วโมง โดยแถลงการณ์ของสหภาพฯ ชี้ว่าระบบการทำงานใหม่นี้คนงานจะต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง แต่ค่าแรงแบบรายวันยังคงเท่าเดิม ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างฝ่ายผลิต

โดยในวันนี้นอกจากตัวแทนฝ่ายนายจ้างและสหภาพแรงงานแล้ว ยังมีนายประดิษฐ์  สุรชัย ผู้อำนวยการกลุ่มงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้ง กระทรวงแรงงาน ร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยด้วย


นายวัลลภ ชูจิตร์ ประธานสหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง และตัวแทนเจรจา เปิดเผยหลังเจรจาว่า  ที่ผ่านมา ทางสหภาพแรงงานกับฝ่ายนายจ้างมีการเจรจาถ้านับครั้งนี้ประมาณ 6 ครั้งแล้ว และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก็จะเป็นครั้งที่ 10 รวมทั้งคนงานก็มีการชุมนุมทั้งในโรงงานและหน้าโรงงาน จนในที่สุดวันนี้ก็มาที่กระทรวงแรงงานเพื่อขอความช่วยเหลือให้เร่งรัดให้เพราะมันนานแล้ว โดยนัดต่อไปจะมีการเจรจาต่อที่กระทรวงแรงงานในวันที่ 11 ม.ค.นี้

ประธานสหภาพแรงงานฯ ยังชี้แจงด้วยว่า การทำงานระบบ 4 วัน หยุด 2 วัน เป็นการทำงาน 12 ชม. รวมโอทีและเวลาพัก และจะกระทบต่อรายได้ด้วย เพราะว่านายจ้างจะเอาเรื่องของโอทีมาชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป เพราะเดิมคนงานทำงาน 6 วัน จะได้ค่าจ้าง 6 วัน แต่มาระบบใหม่ทำ 4 วันจะได้ค่าจ้างเหลือ 4 วัน แต่นายจ้างบอกว่าเมื่อเปลี่ยนแล้วรายได้จะไม่ต่ำกว่าเดิมโดยการเอาโอทีมาชดเชย ซึ่งเหมือนเป็นการบังคับ อีกทั้งการที่คนงานไม่ทำโอทีก็ส่งผลต่อการประเมินผลงานด้วย แต่คงไม่ใช่การเอาผิดโดยตรง เพราะทางฝ่ายนายจ้างยืนยันว่าไม่ได้มีการบังคับ

นอกจากนี้ การที่คนงานหยุดไม่ตรงกันนั้นก็จะส่งผลต่อการจัดกิจกรรมสหภาพแรงงานและครอบครัวด้วย เพราะจากระบบเดิมที่จะมีการหยุดวันอาทิตย์ จึงมีเวลาให้กับครอบครัวในวันอาทิตย์ แต่ระบบใหม่มันจะตรงบ้างไม่ตรงบ้างและในแต่ละวันที่เวลาทำงานเพิ่มขึ้นทำให้เวลาในครอบครัวลดลง

อย่างไรก็ตาม นายวัลลภ กล่าวด้วยว่า วันนี้ทางสหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเสนอให้ทางฝ่ายบริษัทด้วยว่า หากทางบริษัทยังคงยืนยันที่จะปรับระบบการทำงานก็ให้รับคนงานรายวันเป็นแบบรายเดือน เพราะการทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน คนงานรายวันจะเสียรายได้ไป 2 วันด้วย แต่หากเปลี่ยนเป็นรายเดือน วันหยุดก็จะได้รับค่าแรงด้วย ทำให้คนงานมีความมั่นคงในเรื่องของรายได้ ในระบบทำ 4 วัน หยุด 2 วัน นั้น หากไม่ทำโอที รายได้ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก และรายได้ก็ได้แค่เดือนละ 20 วัน แต่ถ้าเป็นรายเดือนรายได้จะอยู่ที่ประมาณ 26 วัน

ทั้งนี้ หลังจากที่กรรมการสหภาพแรงงานชี้แจงกับสมาชิกสหภาพที่ชุมนุมอยู่เสร็จก็ได้ยุติการชุมนุม ในเวลา 17.00 น. โดยนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 11 ม.ค.นี้ เพื่อเจรจาต่อไป

สำหรับสหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง เป็นสหภาพที่คนงานทำงานอยู่ในบริษัทเอ็นเอ็กพี เซมิคอนดักเตอร์ (ประเทศไทย)  จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รับผลิตให้กับลูกค้ายี่ห้อดังหลายยี่ห้อ ทั้งโทรศัพท์มือถือ ทีวี โทรทัศน์ เครื่องเสียง รวมถึงรถยนต์ สหภาพฯ เป็นสหภาพระดับผู้ปฏิบัติการ มีสมาชิก 2,522 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานแบบรายวันกว่า 2,000 คน ที่เหลือเป็นรายเดือน อายุคนงานเฉลี่ย 30 ปี ส่วนอายุงานเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ปี ส่วนมากเป็นคนงานหญิง
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานสถานการณ์ปัญหาเด็กขอทาน ปี 2555

Posted: 04 Jan 2013 07:01 AM PST

มูลนิธิกระจกเงา  รายงานสภาพปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานในรอบปี 2555 ระบุรัฐยังขาดความรู้และไม่มีมาตรการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ชี้ 2556 ปัญหาและรูปแบบการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานจะซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น

สภาพปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานในรอบปี 2555 นั้น ยังคงเป็นปัญหาที่น่าหวาดวิตก เนื่องจากยังสามารถพบเห็นเด็กขอทานได้เป็นจำนวนมากแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งจากการดำเนินบทบาทในการเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุกรณีพบเห็นการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงานั้น มีสถิติการรับแจ้งเบาะแสเกือบ 200 ราย โดยพื้นที่ที่พลเมืองดีแจ้งมานั้นยังคงเป็นเมืองเศรษฐกิจหลักๆ ของประเทศไทย อาทิเช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ชลบุรี, ระยอง, เชียงใหม่, ภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิดปรากฎการณ์การนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยสามารถจำแนกออกมาเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

 

1. ปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทาน

สำหรับปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานนั้น พบว่ากลุ่มเด็กที่ถูกนำมาขอทานมากที่สุดยังคงเด็กที่มาจากประเทศกัมพูชา โดยเส้นทางที่นายหน้าค้ามนุษย์มักใช้ลักลอบนำเด็กเข้ามานั้น ยังคงเป็นด่านชายแดนอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วเช่นเดิม ซึ่งจากการลงพื้นที่ของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่าบริเวณด่านชายแดนดังกล่าวสามารถลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยได้ง่าย โดยใช้การเดินเท้าและขึ้นพาหนะประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ , รถประจำทางหรือแม้กระทั่งรถตู้ เพื่อเข้าสู่เมืองเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งโดยมากชาวกัมพูชาที่จะเข้ามาทำการขอทานนั้น มักจะเสียค่าใช้จ่ายให้กับนายหน้าประมาณ 1,500 – 3,000 บาท แทนการทำพาสปอร์ตที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า จึงทำให้หลายครั้งที่มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับการช่วยเหลือกลุ่มขอทานไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จึงพบมักปรากฏข้อมูลว่า "ไม่มีเอกสารแสดงตัวและเป็นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย"    

ในช่วงต้นปี 2555 นั้น ได้เกิดข่าวที่สร้างความครึกโครมให้กับสังคม ภายหลังจากที่มีการนำเสนอประเด็น

นายหน้าค้ามนุษย์ตัดลิ้นไก่เด็กให้พิการก่อนที่จะบังคับขอทานในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยมีการเล่าถึงพฤติกรรมที่เหี้ยมโหดของนายหน้าค้ามนุษย์ที่ใช้มีดกรีดที่ลำคอเด็ก ก่อนจะใช้เหล็กแหลมเสียบแทงเข้าที่ลำคอเพื่อตัดลิ้นไก่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วาทะกรรม "ตัดแขน – ขาเด็กหรือทำร้ายร่างกายเด็กจนพิการก่อนพามาขอทาน" ถูกนำกลับมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีการตรวจร่างกายเด็กโดยละเอียดจากแพทย์ ก็ปรากฏข้อเท็จจริงในท้ายที่สุดว่าเด็กมิได้ถูกทำร้ายร่างกายจนพิการแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเด็กเคยติดเชื้อที่กล่องเสียงจนต้องทำการผ่าตัดและมีความพิการนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ถือเป็นข้อบกพร่องที่ภาครัฐใช้วิธีการสัมภาษณ์เด็กเพียงประการเดียว มิใช้วิธีทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือมากยิ่งกว่าเพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏชัด ก่อนที่จะให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน จนทำให้เกิดความตื่นตระหนักต่อสังคมโดยใช่เหตุ

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข่าวขอทานแกล้งพิการตาบอดที่อำเภอแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งแม้มิใช่ปัญหาการนำเด็กมาขอทานโดยตรง แต่ก็ถือเป็นกรณีอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี เมื่อมีสามี – ภรรยา คู่หนึ่งหาเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยสามีจะทำทีเป็นขอทานตาบอดและฝ่ายภรรยาจะทำหน้าที่พาไปขอทานตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งสามารถทำรายได้ถึงวันละ 3,500 – 4,000 บาท โดยทั้งคู่นำเงินที่ได้จากการขอทานไปใช้จ่ายในการเช่ารีสอร์ทหรูและเที่ยวสถานบันเทิงในช่วงกลางคืนเป็นประจำ จนถูกจับกุมในที่สุด อย่างไรก็ตามในคดีนี้ไม่มีเจ้าทุกข์ร้องเรียนจึงทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีในข้อหาหลอกลวงกับทั้ง 2 คนได้

 

2. ปัญหาการนำเด็กมาขายดอกไม้

ปัญหาการนำเด็กมาขายดอกไม้นั้น มีความแตกต่างจากปัญหาเด็กขอทานเล็กน้อย กล่าวคือ เด็กที่เป็นเป้าหมายของนายหน้าค้ามนุษย์นั้นจะเป็นกลุ่มเด็กมุสลิมผิวดำ ชาวพม่า ที่ลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยโดยการข้ามแม่น้ำเมยพร้อมกับครอบครัว ก่อนที่จะมาพักอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และระยะเวลาในการพบเด็กขายดอกไม้นั้นมักเป็นช่วงกลางคืนเป็นหลัก

เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและเป็นกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ จึงทำให้ผู้ที่พักอาศัยในชุมชนเลือกที่จะประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย ซึ่งย่อมมิเพียงพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้นายหน้าค้ามนุษย์มักยื่นข้อเสนอขอเช่าเด็ก เพื่อให้มาทำการขายดอกไม้ตามร้านอาหารหรือสถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหรือจังหวัดชลบุรี โดยจะมีการกำหนดค่าตอบแทนที่ครอบครัวจะได้รับในแต่ละเดือน ซึ่งมีตั้งแต่ 1,500 – 2,000 บาท รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการเช่าเด็กไว้ด้วย แต่ท้ายที่สุดมักลงเอยที่นายหน้าค้ามนุษย์ไม่ส่งคืนเด็กกลับสู่ครอบครัวตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ รวมทั้งไม่ยินยอมให้เด็กได้ติดต่อกับครอบครัว ซึ่งทุกครอบครัวที่ประสบกับสถานการณ์ในลักษณะนี้มักเลือกที่จะไม่แจ้งความเอาผิดหรือร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เนื่องจากทราบดีว่าตนเองลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เมื่อจับกุมนายหน้าค้ามนุษย์ได้แล้ว นายหน้ามักแอบอ้างว่าเด็กที่มาขายดอกไม้นั้น เป็นบุตร – หลานของตนเอง ไม่ได้มีการบังคับให้เด็กมาขายดอกไม้แต่อย่างใด ซึ่งคาดว่ายังคงมีเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในรูปแบบเด็กขายดอกไม้อีกเป็นจำนวนมากในประเทศไทย

 

3. ปัญหาการนำเด็กมาถือกล่องรับบริจาค

การนำเด็กมาถือกล่องรับบริจาคนั้น ถือเป็นรูปแบบการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเพิ่งปรากฏข้อเท็จจริงในช่วงประมาณเดือนธันวาคม 55 โดยเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ยังคงเป็นเด็กกัมพูชาเช่นเดียวกับปัญหาเด็กขอทาน จะแตกต่างก็เพียงแต่อายุของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อนั้นจะอยู่ระหว่าง 6 – 15 ปี และเด็กที่ตกเป็นเหยื่อนั้น ยังพบเพียงกลุ่มเด็กชายเท่านั้นไม่พบว่ามีเด็กหญิงแต่อย่างใด โดยนายหน้าจะใช้วิธีการซื้อ – ขายเด็กจากครอบครัวที่มีความยากจนในราคาประมาณ 3,000 บาท โดยอ้างว่าจะพาเด็กไปเรียนหนังสือที่ประเทศไทย จากนั้นนายหน้าค้ามนุษย์จะลักลอบนำเด็กเข้าสู่ประเทศไทยทางด่านชายแดนจังหวัดสุรินทร์หรือด่านชายแดนอรัญประเทศ โดยระหว่างทางนายหน้าจะซื้อชุดนักเรียนให้กับเด็ก เพื่อทำให้เด็กหลงเชื่อว่านายหน้าจะพาไปเข้าเรียนในสถานศึกษาจริง แต่ท้ายที่สุดแล้วเด็กจะถูกบังคับให้สวมเสื้อนักเรียนและถือกล่องรับบริจาค ซึ่งเขียนข้อความเรียกร้องความน่าสงสารต่างๆ เป็นภาษาไทย อาทิเช่น "ขอรับบริจาคเพื่อเป็นทุนการศึกษา" ,  "ผมเอาไปรักษาตัวครับ ขอบคุณครับ" หรือ "ผมเป็นเด็กกำพร้า ผมขอบริจาคครับ ขอบคุณ" เป็นต้น

จากการวิเคราะห์ของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงานั้น คาดว่าการที่นายหน้าเปลี่ยนรูปแบบจากการนำเด็กมาขอทานเป็นการถือกล่องรับบริจาคนั้น อาจเป็นไปได้ว่าการนำเด็กมาขอทานมีรายได้ที่น้อยกว่าเดิม เนื่องจากคนในสังคมเริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการนำเด็กมาขอทานมากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้นายหน้าจำต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียกร้องความน่าสงสารของเด็กให้แตกต่างจากเดิม ซึ่งการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบการถือกล่องรับบริจาคนั้น สามารถสร้างรายได้ที่สูงกว่าการนำเด็กมาขอทานเป็นอย่างมาก โดยเด็กถือกล่องจะมีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,000 – 1,500 บาทเลยทีเดียว ถือเป็นการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าจับตามองและคาดว่าในรอบปี 2556 จะมีกลุ่มขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ที่นำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบนี้เพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน

 

4. การนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ

นอกจากการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ใน 3 รูปแบบที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ยังพบกรณีการบังคับเด็กให้ทำการลักทรัพย์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชลบุรี ซึ่งนายหน้าจะให้เด็กประมาณ 4 – 5 คน ทำทีเป็นเข้าไปขอทานจากนักท่องเที่ยวบริเวณหน้าโรงแรมในช่วงเช้าตรู่ ซึ่งมักเป็นเวลาที่นักท่องเที่ยวอยู่ในอาการเมามายจากการเที่ยวในสถานบันเทิงมาตลอดทั้งคืน เมื่อนักท่องเที่ยวเผลอเด็กก็จะทำการล้วงกระเป๋านักท่องเที่ยว ก่อนที่จะนำทรัพย์สินที่ได้มานั้นส่งต่อให้กับนายหน้าที่ทำการควบคุมเด็กต่อไป

อีกทั้งยังพบการนำเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านมาแสวงหาผลประโยชน์ในลักษณะเด็กเป่าแคน ซึ่งรูปพรรณ สัณฐาน รวมถึงพฤติกรรมของเด็กที่มักแต่งกายด้วยชุดนักเรียนนั้น ทำให้ละม้ายคล้ายเด็กเป่าแคนจากประเทศไทยจนแยกแยะแทบมิได้ ซึ่งรูปแบบทั้งหมดนี้ถือเป็นอีกวิธีการที่แยบคายของนายหน้าค้ามนุษย์ในการใช้เด็กเป็น "เครื่องมือ" ในการสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง

รูปแบบต่างๆ เหล่านี้ เป็นข้อมูลที่ทางโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ได้ทำการรวบรวมไว้ตลอดปี 2555 ซึ่งน่าหวาดวิตกว่าในอนาคตจะมีรูปแบบการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบใดๆ อีกบ้าง

จากข้อมูลต่างๆ เหล่านี้  จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะยังคงจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ 2.5 (Tier 2 watch list) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เช่นเดิม ซึ่งถือเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว เนื่องจากขาดการดูแลเอาใจใส่จากภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังนั่นเอง

ภายหลังการจัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์จากสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เริ่มมีการออกนโยบายในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานออกมาในที่สุด โดยเน้นไปที่การปราบปรามเด็กขอทานตามข้างถนนเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐหลายหน่วยงานยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาเด็กขอทาน รวมถึงขาดทักษะในการคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์อีกด้วย ทำให้เมื่อดำเนินการช่วยเหลือเด็กออกจากข้างถนนได้แล้ว ก็มิรู้ว่าควรจะดำเนินการสอบปากคำเด็กหรือส่งต่อเด็กไปคุ้มครองสวัสดิภาพที่ใด ซึ่งย่อมไม่ส่งผลดีต่อตัวเด็กเอง เพราะหากเด็กตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยความสมัครใจของครอบครัวเด็กเองแล้ว ย่อมทำให้เด็กต้องกลับสู่การเป็นเด็กขอทานหรือถูกนำมาแสวงหาผลประโยชน์อีกหลายต่อหลายครั้งและวนเวียนเป็นวัฎจักรที่ไม่มีวันจบสิ้นในที่สุด

อีกทั้งในรอบปีที่ผ่านมานี้ โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่านายหน้าค้ามนุษย์หลายรายเริ่มมีความเข้าใจในเรื่องข้อกฎหมายมากขึ้น จึงเกิดเหตุการณ์นายหน้าค้ามนุษย์ปฏิเสธที่จะลงนามในเอกสารคำรับสารภาพหลายครั้ง แม้ว่าจะมีหลักฐานหลายชิ้นที่บ่งชี้ได้ว่าบุคคลดังกล่าวมีการกระทำความผิดครบองค์ประกอบตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ก็ตาม ดังนั้นการดำเนินการช่วยเหลือเด็กที่ถูกนำมาแสวงหาผลประโยชน์ในทุกรูปแบบนั้น ผู้ที่ปฏิบัติการณ์ช่วยเหลือจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้แน่นหนาและรัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การดำเนินคดีกับนายหน้าค้ามนุษย์สามารถกระทำได้อย่างราบรื่น

 เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ต่างๆ ในรอบปี 2555 แล้ว โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา คาดว่าในปี 2556 จะมีรูปแบบการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในวิธีการที่หลากหลาย และนายหน้าค้ามนุษย์อาจมีการพลิกแพลงการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ อีกก็เป็นได้ ซึ่งหากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่เท่าทันกลุ่มขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ รวมถึงยังไม่มีมาตรการณ์ที่จะป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำมาแสวงหาผลประโยชน์อย่างเป็นระบบแล้ว ปัญหาการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ตลอดปี 2556 อาจมีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากกว่าเดิมอีกก็เป็นได้..........

 

 

โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน

มูลนิธิกระจกเงา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จะลืมกลับวัดหรือไม่ : ไม่สำคัญ (นะจ๊ะ)?

Posted: 04 Jan 2013 06:25 AM PST

           
สมมติว่า พระสุดที่รักของคุณโยม เกิดลืมกลับวัดขึ้นมา จะทำอย่างไร? และไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม คุณโยมยังอยากให้ พระสุดที่รักของคุณโยม กลับวัดหรือไม่? แล้วอะไรเป็นเหตุผลที่ คุณโยมอยากให้ พระสุดที่รักของคุณโยม กลับวัด? เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะมันเกิดคำถามตามมาอีกหลายคำถาม เป็นต้นว่า เมื่อ พระสุดที่รักของคุณโยม กลับวัดแล้ว ท่านบำเพ็ญสมณกิจ หรือ สมณธรรมอะไร? หรือ จริงๆแล้ว คุณโยม อยากเห็น พระสุดที่รักของคุณโยม เล่นบทบาทอะไร?
               
ทุกวันนี้ ภาพลักษณ์ของนักบวช ถูกตั้งคำถามและชวนให้ตรวจสอบอยู่เสมอ เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยแสดงตนอย่างมั่นใจว่า เป็นเถรวาท และความเป็นเถรวาทนี้ ทำให้นักบวชชาย (เถรวาท) ในประเทศไทยไม่อาจทำอย่างองค์ทะไลลามะ หรือ พระเซ็นอย่างท่าน ติช นัท ฮันห์ ได้? ปัญหา คือ ทั้งๆ มีนักคิดและพระภิกษุจำนวนหนึ่งพยายามที่จะอนุรักษ์ความเป็นเถรวาทเอาไว้ ไม่ว่าจะฝากฝังไว้กับสถาบัน หรือ ให้สถาบันเป็นผู้สถาปนาความเคร่งครัดขึ้นใหม่ หรือจะการสร้างสังฆะขึ้นมาปกครองตัวเองก็ตาม แต่ทว่า ภายใต้ร่มโพธิ์ร่มเดียวกันนี้ เรากลับเห็นอะไร (เห็นพระ?) ที่น่าสงสัยว่า เป็นเถรวาท หรือ มหายาน? (หรือสัทธรรมปฏิรูป?) เพราะบางที พระภิกษุเหล่านั้นไม่เคยลืมที่จะกลับวัด มากไปกว่านั้น ไม่เคยออกสื่อ (มวลชน) เลยว่า ออกจากวัด? (แต่อาจจะขับรถไปไหนมาไหนยามค่ำคืน)
               
คงต้องยอมรับว่า มี บรรดาคุณโยมสุดที่รักของพระ ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับวิชาโฆษณาและประชาสัมพันธ์เหลือเฟือ (หรือเรียกกันอย่างชาวบ้านว่าพีอาร์) อาสาถวายงานเสกสรรปั้นแต่ง ภาพลักษณ์ของนักบวช ขึ้นใหม่ บ้างก็เป็นภาพลักษณ์ของ พระนักเทศน์หนุ่มไฟแรง? บ้างก็เป็นภาพลักษณ์ของ ผู้รู้แจ้งในดินฟ้าเวหาหน? บ้างก็เป็นภาพลักษณ์ของ พระผู้สงบนิ่งในศีล สมาธิ ปัญญา ปัญหาอีกข้อหนึ่ง คือ ภาพลักษณ์ดังกล่าวนี้รับใช้ใคร (จ๊ะ) ? และใครเป็นผู้ที่ได้กำไรที่สุดในนิทรรศการ : ศิลปะแห่งการชวนเชื่อนี้?  คำตอบคือ "ธุรกิจของพระที่ร่วมได้เสียกับคุณโยม"  อาจต้องโมทนาสาธุการเอาใจคุณโยมสักหนึ่งที เพราะบ่อยครั้งการได้เสียนั้น ไม่ใช่เรื่องเงิน? (โปรดอย่าคิดลึกกับพระ!บาป!)
               
อาจเป็นไปได้ว่า พระสุดที่รักของคุณโยม  ต้องเล่นละครให้สมบทบาทเมื่อเดิน (จงกรม) ออกจากกุฏิ (เป็นธรรมเนียมว่า เราจะไม่อภิปรายเรื่องในกุฏิ) และไม่ว่าจะเป็น อิริยาบถใหญ่ (ยืน เดิน นั่ง นอน) หรือ อิริยาบถย่อย (เหลียวซ้าย แลขวา ฯลฯ) เป็นไปได้ว่า ต้องเล่นละครให้สมบทบาท ซึ่งบางครั้ง เมื่อใช้คำว่า "สมณสา(ร)รูป" อธิบายพระภิกษุเหล่านั้นอย่างเลื่อมใส มันจึงเกิดปัญหาขึ้นอีกข้อหนึ่ง คือ แล้วพระภิกษุที่ไม่เล่นละครล่ะ? อะไรจะเป็นเกณฑ์เกี่ยวกับ (สมณ) สารรูป? แล้ววรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยพระภิกษุที่มีอำนาจทางการเมือง (เรื่องพระๆ) จะน่าเชื่อถือหรือไม่?  หรือ พระภิกษุในประเทศไทยถูก ห้ามมิให้กระทำ โดยพระไตรปิฎกเถรวาท หรือ จารีตเถรวาทไทย? นั่นหมายความหรือเปล่าว่า นิทานเซ็นเรื่องพระภิกษุที่ว่ายน้ำไปช่วยหญิงสาวที่กำลังจะจมน้ำจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ อย่างเด็ดขาด? (ที่จริง เพียงเอาขาพาดโต๊ะก็อาจเป็นเรื่องที่ยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้เสียแล้ว) ซึ่งความสงสัยที่ยังไม่อยากตอบนี้ มันเย้ายวนให้ต้องถามคำถามว่า "แล้วธุรกิจของพระที่ร่วมได้เสียกับคุณโยม" เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ (และปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไป) กระนั้นหรือ?
               
ฉะนั้น การที่ พระสุดที่รักของคุณโยม เกิดลืมกลับวัดขึ้นมา จึงไม่น่าสนใจเมื่อเทียบกับ "ผลประโยชน์ที่พระและคุณโยมที่ร่วมธุรกิจกันจะได้?" จะเลวร้าย (บาป?) กว่านั้น ถ้า บรรดาคุณโยมสุดที่รักของพระ เกิดตัดสินใจหลอกพระ (โกหก?)  หรือ ใช้พระที่อุตส่าห์รักคุณโยม เป็นเครื่องมือทางธุรกิจเชิงการตลาด? (ซึ่งก็ทำกันมานานแล้ว) แต่เรื่องนี้จะหักมุมกลายเป็นหนังโศกนาฏกรรมชีวิตมากๆ ถ้า บรรดาคุณโยมสุดที่รักของพระ มีเจตนาบริสุทธิ์สะอาด แต่ ความบริสุทธิ์สะอาดดังกล่าวกลับเป็นการยืนยันตัวเองอย่างมั่นใจ (ราวกับประกาศตนเป็นพุทธมามกะ) ว่าร้อยรัดอยู่กับ "ความไม่รู้" หรือที่ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า "อวิชชา"? เพราะ "ความไม่รู้" เป็นผลให้เดือดร้อนถึงผู้เป็นอาจารย์? มันจึงเกิดตลกร้ายขึ้นมาอีกสองมุข คือ แล้วพระอาจารย์ไม่สอนหรอกหรือ? แล้ว ถ้าพระอาจารย์สอนแล้ว แต่ คุณโยมสุดที่รักเกิดหัวดื้อไม่ทำตามที่สั่งสอน ไยจึงอ้อนเรียกว่าอาจารย์อีกเล่า? (แล้วไยพระอาจารย์ยังอยู่เฉยๆ?)
               
เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจในสังคมชาวพุทธที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า การขอร้องอย่างอ้อมๆให้พระกลับวัด และต้องฝึกฝนตนเอง (หรือเล่นละคร) ให้เหมาะสมกับ "สมณสา(ร)รูป" ตามจารีตเถรวาทไทยเป็น เรื่องที่ต้องเกิดขึ้นก่อน จริงๆ? เมื่อเปรียบเทียบกับ "ธุรกิจของพระที่ร่วมได้เสียกับคุณโยม"  และเป็นอะไรที่น่าสงสัย (อีกแล้ว) ว่า "สมณสา(ร)รูป" ทำไมถึงสำคัญนัก? และยังทำให้ยังสงสัยไม่เลิกว่า การสร้างภาพลักษณ์ของนักบวช ? เป็นภาวะจำใจจำทนที่จำทำในสิ่งที่พอจะทำได้หรือเปล่า? (เพราะมีสิ่งที่ ห้ามมิให้กระทำ และ ทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด) และเป็นที่น่าสงสัย(อีก) ว่า "สมณสา(ร)รูป" ถ้าได้รับการสถาปนาให้คืนกลับเป็นจารีตแล้ว  "ธุรกิจของพระที่ร่วมได้เสียกับคุณโยม" จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ? อะไรเป็นหลักประกัน? หรือธุรกิจนั้นจะยังคงเฟื่องฟูต่อไปแบบวงการบันเทิง?
               
หรือความหวังลมๆแล้งๆที่ค่อนข้างสะเปะสะปะแบบกลับวัดไม่ถูกเหมือนกันของผู้เสพสื่อกำลังอยู่ที่ใด? ทำไมความต้องการที่จะเห็น ภาพลักษณ์ของนักบวช ทำให้ความสะลึมสะลือมากพอที่จะทำให้มองไม่เห็น "ธุรกิจของพระที่ร่วมได้เสียกับคุณโยม" ทั้งที่ สิ่งนี้สำคัญกว่า "สมณสา(ร)รูป" และ สิ่งนี้ยังน่าสงสัยกว่าเสมอ คือ ไม่ว่า พระสุดที่รักของคุณโยม จะมี (สมณ)สารรูปใดก็ตาม พระสุดที่รักของคุณโยม ก็ควรจะเป็น ผู้ที่เจริญรอยตามคำสอนว่าด้วยพุทธะแบบเถรวาท (ตามที่ได้ประกาศต่อสังฆะไว้?) และไม่ว่า จะลืมกลับวัด หรือ อยู่ (จำ) วัดตลอดเวลา ก็ตาม สิ่งที่น่าจะเป็น คือ การฝึกฝนตนเองเพื่อที่จะหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง (ตามเป้าหมายที่ตนเองสมัครใจในรูปแบบที่ตนเองยินดี) แต่ที่แน่ๆ เรื่อง "เงินๆทองๆ" ไม่น่าจะเกี่ยวกับ ผู้เจริญรอยตามคำสอนว่าด้วยพุทธะแบบเถรวาท ด้วยประการทั้งปวง? (จริงๆนะจ๊ะ)     
               

           

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ว่าฯ อุดร เปิดเวทีฟังปัญหาโปแตช กลุ่มอนุรักษ์ฯ ร้องยกเลิกผลประชาคมหมู่บ้าน

Posted: 04 Jan 2013 06:24 AM PST

แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ ต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่ แจงปมปัญหาและการต่อสู้ยาวนานกว่า 12 ปี ร้องติดตามความคืบหน้ากรณียื่น 5,765 รายชื่อ ค้านการขอประทานบัตรเหมือง พร้อมจี้ยกเลิกการประชาคมหมู่บ้านผิดระเบียบปฏิบัติ

 
วันที่ 3 ม.ค.56 เวลาประมาณ 14.00 น. ณ หอประชุมทองใหญ่ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีคนใหม่ ได้เข้าร่วมประชุมรับทราบปัญหาจาก กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.อุดรธานี ในกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ที่ดำเนินการโดย บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หลังจากทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ยื่นหนังสือขอเข้าพบผู้ว่าฯ ก่อนหน้านี้ โดยมีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ อุดรธานีเข้าร่วมชี้แจงปัญหาประมาณ 200 คน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมเริ่มต้นในเวลา 14.00 น. ผู้ว่าฯ เดินทางมาถึงที่ประชุมพร้อมข้าราชการอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี โดยมีกำลังตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบดูแลความเรียบร้อยบริเวณห้องประชุมประมาณ 50 นาย
 
นางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวในที่ประชุมว่า ที่ทางกลุ่มมาในวันนี้เนื่องจากต้องการมาต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่ทำกันมาตลอด เพื่อให้ผู้ว่าฯ ที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ได้ทราบถึงปัญหาและการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่ผ่านมากว่า 12 ปี
 
 
นางมณี กล่าวด้วยว่า ชาวบ้านต้องการให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ติดตามความคืบหน้าในกรณีที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ ยื่นคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองโปแตชอุดรฯ โดยรวบรวมรายชื่อชาวบ้านกว่า 5,765 รายชื่อ และที่ดิน 1,580 แปลง ซึ่งยังไม่ทราบความคืบหน้าใดๆ เลย หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการฯ โดยอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเกษียณอายุราชการไปเมื่อปีที่แล้ว
 
นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้ตรวจสอบและยกเลิกในส่วนของการจัดทำประชาคมหมู่บ้านที่ผ่านมา เนื่องจากไม่เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าด้วยการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ ปี 2545
 
"ที่ผ่านมาการประชาคมหมู่บ้าน มีการสร้างหลักฐานและเอกสารเท็จในการประชาคมจนต้องแจ้งความเพื่อให้ถอนการยื่นเอกสารการประชาคม และไม่ได้มีการประชาคมจากผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตชจริงๆ สัดส่วนของผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชาคมก็ไม่ครบและถูกต้องตามระเบียบ จึงต้องการให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ตรวจสอบและยกเลิกประชาคมที่ผ่านมา" นางมณีกล่าว
 
หลังจากชี้แจงและให้ข้อมูลแล้วเสร็จ นางมณี และตัวแทนชาวบ้านคนอื่นๆ ได้ยื่นหนังสือแก่ผู้ว่าฯ ในการคัดค้านประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี และมีการผูกผ้าขาวม้าพร้อมผูกแขนด้วยด้ายสายสิญจน์ เพื่อเป็นการรับขวัญผู้ว่าฯ คนใหม่ตามธรรมเนียมของคนอีสาน
 
 
ด้านนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า การดำเนินโครงการที่อาจจะเกิดผลกระทบต่างๆ ในชุมชน ต้องมีการพูดกันให้ชัดเจนถึงความคุ้มได้คุ้มเสียที่เป็นธรรมแก่ชาวบ้าน ต้องมีหลักประกันที่แน่นอนจากผู้ดำเนินโครงการต่างๆ ว่าชาวบ้านจะได้รับการชดเชยจากการสูญเสีย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านชุมชน ด้านสุขภาพ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ไม่ใช่ไม่มีความชัดเจนใดๆต่อหลักประกันในชีวิตของชาวบ้านเลย
 
"เราต้องพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมและการชดเชยอย่างเท่าเทียมแก่ชาวบ้านผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนให้ชัดเจน ผมเองเข้าใจปัญหาเหล่านี้ดี เพราะเคยไปรับฟังปัญหาของชาวบ้านกรณี ปัญหาเขื่อนปากมูน จ.อุบลราชธานี และการสร้างเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษมาก่อน" นายเสนีย์กล่าว
 
นายเสนีย์กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการร้องเรียนเรื่องการประชาคมหมู่บ้านและการแก้ไขปัญหา ยินดีรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ไปศึกษาและทำความเข้าใจก่อนแก้ไขปัญหาต่อไป
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาพเด็กหาย กับ พลเมืองในอินเตอร์เน็ต

Posted: 04 Jan 2013 06:09 AM PST

 
(1)
เชื่อว่านักท่องโลกออนไลน์และพลเมืองโซเชียลเน็ตเวิร์ค คงเคยได้รับภาพเด็กหาย ถูกแชร์หรือถูกแท็กมาจากเพื่อน ซึ่งแต่ละท่านคงมีปฏิกิริยาการตอบสนองที่แตกต่างกันไป
 
(2)
ประเด็นของภาพเด็กหายในโลกอินเตอร์เน็ต มีบุคคลิกอยู่หลายลักษณะ ส่วนหนึ่งคือความเร่งด่วนที่ต้องการความช่วยเหลือ จึงมีคนช่วยแชร์หรือส่งต่อ  อีกส่วนหนึ่งอาจมองว่าเป็นเรื่องในเชิงเศร้าโศก ไม่เหมาะที่จะมาอยู่ในหน้า wall ของตัวเองจึงไม่ได้แชร์  หรืออาจจะมองว่า แชร์ไปก็ช่วยอะไรไม่ได้
 
(3)
ภาพเด็กหายในอินเตอร์เน็ตมีทั้งส่วนที่เป็นข้อมูลขยะ หมายถึง พบตัวเด็กนานแล้ว แต่ยังแชร์กันอยู่ เพราะเพจที่โพสต้นฉบับไม่ลบภาพนั้นออก และมีภาพเด็กหายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งต้องการให้แชร์ออกไปอยู่จริง ข้อมูลทั้งสองแบบนี้ หลายคนสงสัยว่าอันไหนแชร์ได้ อันไหนแชร์ไม่ได้ บางคนลงทุนโทรไปถามความคืบหน้า ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ให้ไว้ในประกาศ
 
(4)
บางคนแชร์ภาพโดยไม่ได้อ่านคอมเม้นว่า พบเด็กนานแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องยากพอสมควร เนื่องจากภาพเด็กหายบางภาพ มีคอมเม้นให้กำลังใจยาวมาก คนที่เพิ่งมาเจอประกาศ อาจไม่ได้อ่านทุกคอมเม้น จึงแชร์ภาพต่อทันที
 
(5)
เพจที่ทำหน้าที่เรื่องคนหายโดยตรง www.facebook.com/thaimissing  ได้รับการแชร์ภาพเด็กหายไม่เยอะ มีภาพเด็กหายที่ถูกแชร์มากที่สุดประมาณ  3,500 แชร์ แต่บางเพจที่เป็นเพจวัยรุ่นหรือเพจคำคม เมื่อเอาภาพเด็กหายไปแชร์ มีการแชร์เป็นหมื่นๆ
 
(6)
หลายเพจ เอาภาพเด็กหายไปทำเป็นภาพต้นฉบับเอง ส่วนหนึ่งหวังผลในทางการตลาดเพื่อให้มีการแชร์เพจตัวเองออกไป เมื่อส่งข้อความไปแจ้งว่าพบเด็กในภาพแล้ว กลับถูกเพิกเฉยหรือต่อว่ากลับ 
 
(7)
ภาพเด็กหายแต่ละภาพ ยอดการแชร์แตกต่างกัน  จากประสบการณ์ ภาพเด็กหน้าตาดี ชื่อไพเราะ หรือชื่อแปลกจะได้รับการแชร์มากกว่าเด็กหน้าตาและชื่อธรรมดา
 
(8)
คนที่แชร์ภาพเด็กหาย มักจะแชร์เป็นประจำ หมายถึงทำเป็นกิจวัตรเมื่อเจอภาพเด็กหาย
 
(9)
บางคนกดถูกใจแต่ไม่ได้แชร์ แต่ไม่ว่าจะกดถูกใจหรือกดแชร์ ภาพเด็กหายย่อมถูกเผยแพร่มากขึ้
 
(10)
มีเบาะแสเข้ามาจากการแชร์ภาพในอินเตอร์เน็ตอยู่จริง แต่คนที่เห็นประกาศเด็กหายส่วนใหญ่อาจไม่ทราบ จึงไม่มีแรงบันดาลใจในการช่วยแชร์ เพราะคิดว่าแชร์ไปก็ไม่มีประโยชน์
 
(11)
เมื่อดาราแชร์ภาพเด็กหาย แฟนคลับจะเข้ามาช่วยแชร์กันเยอะมาก แรงบันดาลใจในการแชร์ภาพเด็กหาย อาจไม่จำเป็นต้องเกิดมาจากการเข้าใจปัญหาเด็กหาย 
 
(12)
ในระยะหลังคนส่งภาพเด็กหายมาตรวจสอบก่อนแชร์ภาพนั้น ที่เพจ ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา  มากขึ้น แสดงว่าพลเมืองในเน็ต พยายามตรวจสอบข้อมูลเพื่อไม่ให้แชร์ข้อมูลขยะ
 
(13)
การกดแชร์ภาพเด็กหายในอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่ายที่จะทำให้คนกดแชร์
 
(14)
ญาติเด็กหาย หรือครอบครัวที่เคยประสบปัญหาคนหาย มักช่วยกดแชร์ภาพเด็กหายเสมอ น่าจะเกิดจากความเข้าใจปัญหาและความรู้สึกของครอบครัวคนหายเป็นอย่างดี
 
(15) 
การแชร์หรือติดตามเรื่องใดในอินเตอร์เน็ต เป็นเรื่องของสิทธิและเป็นเรื่องตามความสนใจ  ยังไม่ถึงกับเป็นหน้าที่ หรือสำนึกร่วมกันในการช่วยเหลือ บางภาพคนกดแชร์เพราะมีข้อความทำนองว่า กดแชร์แล้วได้บุญ  
 
(16)
เรื่องเด็กหายใกล้ตัวทุกคนมาก สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว และส่วนใหญ่พบว่า นอกจากการรีบแจ้งความแล้ว ในระยะหลังหลายครอบครัว รีบแชร์ภาพเด็กหายลงในอินเตอร์เน็ต
 
(17)
เจอภาพเด็กหายในอินเตอร์เน็ต ขอให้ส่งมา " เช็ค ก่อน แชร์ " ได้ที่ เพจ ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา
 
(18)
ปัญหาเด็กหายเป็นปัญหาเล็กๆ ในสังคม แต่เป็นปัญหาที่ใหญ่มากของครอบครัวนั้นๆ
 
(19)
ย้ำอีกครั้งว่า เคยมีการเจอเด็กหาย และได้เบาะแสเด็กหาย จากการแชร์ภาพเด็กหายในอินเตอร์เน็ตอยู่จริง ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยว่าแชร์ไปแล้วมีประโยชน์หรือไม่ - ตอบชัดๆ ได้เลยว่ามี
 
(20)
การช่วยกันตามหาเด็กหาย ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนในสังคมควรช่วยกัน เริ่มจากสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด >>> กดแชร์
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รุจ ธนรักษ์ : ว่าด้วยเรื่อง Fiscal Cliff สำหรับคนที่ไม่ได้ตามข่าว

Posted: 04 Jan 2013 01:40 AM PST


มันไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐ มันคือสถานการณ์ในวันนี้ที่สหรัฐใช้นโยบาย "ประชานิยม" ลดภาษี แจกเงิน มายาวนาน พวกเขาก่อหนี้มาเรื่อยๆ แต่สุดท้ายทุกงานเลี้ยงต้องมีเลิกรา เพื่อไม่ให้หนี้เพิ่มสูงเกินเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้ โครงการ "ลดภาษี - แจกเงิน" ทั้งหลายจึงถูกตั้งเวลาเอาไว้ให้สิ้นสุดลง ซึ่งบังเอิญเหลือเกินที่หลายโครงการสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ธ.ค. 2012

หากไม่ทำอะไรเลย เมื่อโครงการ "ลดภาษี - แจกเงิน" สิ้นสุดลง ทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในวันที่ 1 ม.ค. 2013 นั่นหมายความว่าจะเกิดการ "ขึ้นภาษี" และ "ตัดค่าใช้จ่าย" พร้อมกันอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่ามันจะทำให้หนี้รัฐบาลลดลงอย่างฮวบฮาบ แต่ในทางกลับกัน มันจะส่งผลรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจทั้งโลก ซึ่งจะทำให้ชิบหายกันหมด

เรื่องราวมาสนุกมากขึ้นเมื่อ "การเมือง" สหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ฟาก Republican นั้นครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาล่าง ขณะที่ Democrat นั้นครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาสูง และประธานาธิบดี (ซึ่งมีอำนาจยับยั้งกฎหมาย) มาจากพรรค Democrat

ประเด็นที่ถกเถียงกันในทางการเมืองคือ -- โอเค เราต้องขึ้นภาษี ตัดค่าใช้จ่าย แต่เราทำทีเดียวไม่ได้ ต้องทยอยทำ คำถามคือทำอันไหนก่อน อันไหนหลัง โครงการไหนสำคัญ คนกลุ่มไหนควรช่วยลดหย่อยภาษีต่อไป -- Republican บอกว่าเรื่องนี้สำคัญ ส่วน Democrat บอกเรื่องโน้นสำคัญกว่า

ล่าสุด หลังจากเถียงกันถึงนาทีสุดท้ายของปี 2012 พวกเขาก็ตกลงกันได้ (ใครสนใจรายละเอียดข้อตกลงขอให้หาอ่านเอาเอง) แต่มันยังไม่ใช่ทางออกระยะยาวเนื่องจากตกลงกันได้แบบ "ซื้อเวลา" ต่อไปอีก 2 เดือน พอเดือน มีนาคม ก็ต้องมาลุ้นเรื่องนี้กันใหม่อีกที

เช่นเคย -- ผมคิดว่าแง่มุมที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือตัวอย่าง "ระบบการเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย" 

การเมืองคือเรื่องของผลประโยชน์ นักการเมืองคือตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ บางคนเป็นตัวแทนคนยากจน บางคนเป็นตัวแทนคนร่ำรวย บางคนเป็นตัวแทนทหาร บางคนเป็นตัวแทนข้าราชการ ทุกคนมีหน้าที่เข้าไปในสนามการเมือง แล้วก็ต่อสู้กันเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ที่ตัวเองรับใช้

ถ้าเราเชื่อว่าระบบการเมืองมีหน้าที่ "ไกล่เกลี่ย" ผลประโยชน์ในสังคม เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดสุดๆว่ามันกำลังทำงานของมันอย่างที่ควรเป็น การเจรจา ต่อรอง หักเหลี่ยม เฉือนคม จะทำให้สุดท้ายไม่มีใคร "ได้" อยู่คนเดียว ทุกคนจะได้อย่าง-เสียอย่างเสมอ แล้วทุกคนก็ต้องรับใช้ใครบางคนเป็นเจ้านายเสมอ สังคมเป็นวงกลม ไม่ใช่สามเหลี่ยมปิรามิด

สภาพ "ขั้วอำนาจ" ในสภาของอเมริกัน ก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเขายังคิดต่างกันอยู่มาก ดังนั้นจึงต้องคุยกันหนัก เพื่อหาทางรอมชอมให้ได้ "งานหลัก" ของนักการเมืองก็คือสิ่งนี้นั่นแหละ เขาต้องทำงานแทนประชาชนในสภา เพื่อให้ประชาชนมีเวลาไปทำมาหากิน อยู่กับครอบครัว ไม่ต้องออกมานอนกลางถนนเพื่อ "ต่อรอง" อำนาจของตนเองในวันที่สังคมคิดต่างกันเยอะๆ

เรื่องเดียวกันนี้ถ้าเกิดในสังคม "แบบไทยๆ" เชื่อว่าหลายคนอาจก่นด่านักการเมืองทั้งสองพรรคว่าทำไมไม่ยอมหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้เสียที ไม่รู้จักสามัคคี สมานฉันท์ เอาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นใหญ่ เห็นแก่ผลประโยชน์ของพรรคพวกตัวเอง เลว ชั่ว ไร้ศีลธรรม บลาๆๆๆ เพราะเราไม่เคยยอมรับว่าการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ ระบบการเมืองมีไว้จัดแบ่งผลประโยชน์ และคำว่าชาติไม่ได้หมายถึงคนหนึ่งคน แต่หมายถึงคนหลายกลุ่ม ที่ต้องการแบ่งผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น

เรื่องนี้ถ้าเกิดในสังคมที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" จะไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย เพราะจะมีใครสักคนทุบโต๊ะเปรี้ยง !! แล้วบอกว่า โอเค อั๊วคิดว่าเอาอย่างงี้แหละ ลดภาษีให้คนกลุ่มนี้ต่อ ส่วนคนกลุ่มนั้นช่างหัวมัน เขาต้องเสียสละเพื่อชาติบ้าง ใครมีปัญหาให้มันมาคุยกับอั๊วเอง อั๊วตัดสินใจโดยเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ดังนั้นอั๊วมั่นใจว่าอั๊วคิดถูกแน่นอน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พันธมิตรฯ เรียกร้องรัฐบาลไม่ยอมรับศาลโลก-ไม่กลับไปเป็นภาคีมรดกโลก

Posted: 04 Jan 2013 12:05 AM PST

พันธมิตรฯ เตรียมยื่นข้อเรียกร้องรัฐบาล 8 ม.ค. นี้ ไม่รับอำนาจศาลโลก ไม่ถอนทหารจากพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา ไม่กลับไปเป็นภาคีมรดกโลกอีก หยุดใช้นักวิชาการที่อยู่ข้างฝ่ายกัมพูชา และช่วยวีระ-ราตรี ลั่นจะชุมนุมใหญ่หากเข้าเงื่อนไข 3 ข้อคือแก้ รธน.แตะหมวดกษัตริย์-นิรโทษกรรมทักษิณ-มีสถานการณ์เหมาะสม

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานวันนี้ (4 ม.ค.) ว่าที่บ้านพระอาทิตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมชุมนุมใหญ่ หากเข้าเงื่อนไข  ตามแถลงการณ์ดังนี้

แถลงการณ์ฉบับที่ 1/2556
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เรื่อง เตรียมพร้อมรับมือวิกฤติชาติ

ตามที่ได้การประชุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2555 ณ สวนลุมพินี พี่น้องประชาชนได้มีฉันทานุมัติเห็นชอบเป็นมติในการเคลื่อนไหวมวลชนปรากฏเป็นแถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฉบับที่ 2/2555 ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการ คือ

1. มีการดำเนินการใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นใดที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

2. มีการดำเนินการใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นใด ที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้กับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตรและพวก

3. เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์ความเหมาะสมที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งใหญ่

ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นเมื่อใด พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะแจ้งให้ทราบและพร้อมจัดให้มีการชุมนุมใหญ่โดยทันที ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะใช้เล่ห์เพทุบายจัดในรูปแบบหรือพิธีกรรมใดเพื่อนำไปสู่เงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง หรือหลายเงื่อนไขรวมกัน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอยืนยันว่าจะเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ประชาชนและสื่อมวลชนได้ให้ความสนใจต่อท่าทีของรัฐบาลซึ่งได้พยายามเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนไทยยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและเตรียมความพ่ายแพ้ในการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี พ.ศ. 2505 นั้น ต่อกรณีดังกล่าวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เคยออกแถลงการณ์ 4 ฉบับ ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เพื่อแสดงว่าภาคประชาชนได้ต่อสู้มาอย่างยาวนานอย่างไร และประสบผลสำเร็จอย่างไร อีกทั้งได้หาทางออกเอาไว้แล้ว ได้แก่ ฉบับที่ 3/2554 เรื่อง "ภาคประชาชนได้ต่อสู้เรื่องอธิปไตยและดินแดนอย่างเต็มที่สุดความสามารถแล้ว" ฉบับที่ 4/2554 เรื่อง "ทหารของจอมทัพไทยยังไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการรักษาอธิปไตยของชาติ" ฉบับที่ 5/2554 เรื่อง "บทพิสูจน์ความล้มเหลวของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในการใช้ MOU 2543 และจะเสียดินแดนต่อไปเพราะรับอำนาจศาลโลก" และฉบับที่ 6/2555 "ขอให้รัฐบาลชุดต่อไปปกป้องอธิปไตยของชาติ" 

การแถลงการณ์ในครั้งนั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศแจ้งให้ทราบว่า การเริ่มต้นความเสียเปรียบในมาตรการคุ้มครองชั่วคราวนั้นจะนำไปสู่การเสียดินแดนต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน โดยหลังจากนี้หากไทยถลำลึกยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีแนวโน้มจะตีความให้เป็นคุณต่อกัมพูชาและเป็นโทษต่อประเทศไทยโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะใช้การอ้างอิงกฎหมายปิดปากที่ประเทศไทยไม่ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสซึ่งเป็นมูลฐานในการพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2505 ซึ่งจะเป็นผลทำให้ไทยต้องเสียดินแดนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และจะเป็นผลทำให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้เป็นผลสำเร็จ และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนเพิ่มเติมต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน 8 แสนไร่ รวมถึงการสูญเสียซึ่งลามไปถึงทรัพยากรพลังงานทางทะเลในอ่าวไทยซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท

เมื่อความผิดพลาดในอดีตของหลายรัฐบาลได้ล่วงเลยมาถึงเวลานี้แล้ว จึงเป็นช่วงเวลาโอกาสสุดท้ายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้รักษาสัจจะของตัวเองตามที่ได้เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ว่าในฐานะคนไทยคนหนึ่งยืนยันว่าจะต้องทำหน้าที่เพื่อปกป้องอธิปไตย โดยดำเนินการดังต่อไปนี้

ประการแรก ใช้โอกาสสุดท้ายที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ได้กำหนดให้มีการนั่งพิจารณาคดี (public hearings) กรณีกัมพูชายื่นคำขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ในวันจันทร์ที่ 15 เมษายน ถึงวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2556 ณ วังสันติภาพ (Peace Palace) ซึ่งเป็นที่ทำการของศาลฯ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยขอเรียกร้องให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยประกาศอย่างเป็นทางการว่าราชอาณาจักรไทยถือว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีอำนาจในการตีความคดีนี้ และราชอาณาจักรไทยจะไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการตีความในคดีความนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการตีความนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้เพราะราชอาณาจักรไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้วและเป็นที่รับทราบโดยปราศจากการคัดค้านทั้งจากราชอาณาจักรกัมพูชาและสมาชิกองค์การสหประชาชาติ อีกทั้งราชอาณาจักรไทยยังได้แถลงประท้วง ไม่เห็นด้วย คัดค้าน ในคำตัดสินที่ผิดพลาดและอยุติธรรม จึงได้ตั้งข้อสงวนเอาไว้ในการทวงคืนปราสาทพระวิหารในอนาคตหากกฎหมายระหว่างประเทศพัฒนาขึ้น โดยคำแถลงครั้งนั้นไม่ได้มีประเทศสมาชิกในองค์การสหประชาชาติคัดค้านแต่ประการใด ประกอบกับราชอาณาจักรไทยก็ไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยบังคับ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505

ประการที่สอง เมื่อราชอาณาจักรไทยไม่รับว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจในการตีความแล้ว รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่ต้องถอนทหารหรือตำรวจตระเวนชายแดนออกจากแผ่นดินไทย และขอให้เร่งผลักดันชุมชนกัมพูชาให้ออกจากแผ่นดินไทย ทั้งนี้ได้ปรากฏเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนแล้วว่าตั้งแต่มีการก่อตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมามีประเทศคู่พิพาทให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 17 คดีแต่ ศาลรับให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 10 คดี ผลปรากฏว่าจนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีประเทศใดปฏิบัติตามเลยแม้แต่ประเทศเดียว ซึ่งรวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้นคำสั่งดังกล่าวไม่มีสภาพบังคับแต่ประการใด และหากรัฐบาลไทยยินยอมปฏิบัติถอนทหารออกจากพื้นที่จะถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวทั้งๆที่มีชุมชุนกัมพูชารุกรานเข้ามาอาศัยอยู่บนแผ่นดินของราชอาณาจักรไทย

ประการที่สาม ให้รัฐบาลไทยเร่งฟื้นฟูและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับประเทศในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีประเทศใดเข้ามาใช้อำนาจในการละเมิดอธิปไตยของชาติ

ประการที่สี่ อาศัยกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 วรรค 7 และ ให้รัฐบาลไทยยืนยันว่าสมาชิกสหประชาชาติไม่มีอำนาจในการแทรกแซงในเรื่องภายในอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย และให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยยืนยันตามข้อ 2 (ก) และ 2(ง) แห่งกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ารัฐสมาชิกอาเซียนจะต้องปฏิบัติตามหลักการในการเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน ตลอดจนไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน

ประการที่ห้า รัฐบาลราชอาณาจักรไทยจะต้องไม่กลับเข้าไปเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกอีก

ประการที่หก ให้รัฐบาลไทยหยุดการใช้นักวิชาการ 7.1 ล้านบาท ที่รับจ้างจากกระทรวงการต่างประเทศมาโฆษณาชวนเชื่อในสื่อของรัฐฝ่ายเดียว เพียงเพื่อให้คนไทยยอมจำนนกับการยกดินแดนไทยให้กับกัมพูชา เพราะนักวิชาการเหล่านี้มีจุดยืนอยู่ข้างฝ่ายกัมพูชา และควรเปิดพื้นที่สื่อให้กว้างขวางเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลจากผู้ที่ต้องการปกป้องอธิปไตยของชาติและไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลด้วย

ประการที่เจ็ด ให้ช่วยเหลือ นายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งถูกทหารกัมพูชาจับในแผ่นดินไทยแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับใส่ร้ายว่าถูกจับในแผ่นดินกัมพูชา โดยเร่งรัดดำเนินการให้ทั้ง 2 คนถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำกัมพูชาโดยเร็วที่สุด

ดังนั้นหากรัฐบาลเมื่อทราบทางเลือกแล้วยังไม่ปฏิบัติตาม อีกทั้งยังประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนไทยยอมจำนนกับความพ่ายแพ้อย่างอยุติธรรมในเวทีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ย่อมถือว่ารัฐบาลมีเจตนาขายชาติขายแผ่นดิน จึงต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบด้วยหากราชอาณาจักรไทยต้องสูญเสียอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนครั้งนี้ และหากราชอาณาจักรไทยต้องสูญเสียดินแดนในครั้งนี้จะถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ราชอาณาจักรไทยต้องเสียดินแดนในรัชกาลปัจจุบันเพราะการสมรู้ร่วมคิด รู้เห็นเป็นใจ ของนักการเมืองทุกฝ่าย ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และ ผู้นำกองทัพที่ไม่ทำหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยของชาติตามรัฐธรรมนูญอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในความอัปยศทั้งหมดที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงมีมติให้ตัวแทนแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556 ในเวลา 10.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล

ด้วยจิตคารวะ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ.2556
ณ บ้านพระอาทิตย์

 

ที่มาของภาพประกอบหน้าแรก: http://www.flickr.com/photos/11401580@N03/2798884839/ (CC)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาชิกพรรค 'เสือเผือก' ต้องการให้พรรคไทใหญ่รวมเป็นพรรคเดียว เพื่อชนะเลือกตั้งปี 58

Posted: 03 Jan 2013 10:21 PM PST

พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่หรือ "พรรคเสือเผือก" จัดประชุมใหญ่ประจำปี ที่เมืองท่าขี้เหล็ก ลูกพรรคส่วนใหญ่ต้องการให้ทางพรรครวมกับ "พรรคหัวเสือ" หรือ พรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในปี 2558 

สำนักข่าวฉาน รายงานว่า  พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (Shan Nationalities Democratic Party - SNDP) หรือพรรค "เสือเผือก" จัดประชุมใหญ่ประจำปี ที่ท่าขี้เหล็ก ลูกพรรคส่วนใหญ่ต้องการให้ทางพรรครวมกับพรรคหัวเสือ หรือ พรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan Nationalities League for Democracy -SNLD) เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในปี 2558 

มีรายงานว่า การประชุมประจำปีของพรรคเสือเผือกในปีนี้จัดขึ้นที่วัดจีน หมู่บ้านป่าแหลง จังหวัดท่าขี้เหล็ก โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 4 มกราคม 2556 โดยในปีนี้ มีสมาชิกพรรคเสือเผือกจากรัฐฉานทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 600 คน โดยหัวข้อการประชุมแบ่งเป็นเป็น 2 หัวข้อหลักๆ ใหญ่ คือ 1. การปรับเปลี่ยนนโยบายของพรรคเพื่อให้สามารถชนะการเลือกตั้งในปี 2558 2.การรวมเป็นพรรคเดียวกับพรรคหัวเสือ ของเจ้าขุนทุนอู

เกี่ยวกับการหยิบยกเรื่องการรวมกับพรรคหัวเสือมาพูดในที่ประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากก่อนหน้าจะเปิดประชุม 1 วัน ได้มีการจัดอบรมและสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกพรรคเสือเผือก ซึ่งพบว่า สมาชิกส่วนใหญ่ต้องการที่จะให้พรรคไทใหญ่อย่าง พรรคหัวเสือและพรรคเสือเผือกรวมเป็นพรรคเดียว เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะมีการพูดคุยและลงมติตัดสินใจในสองวันหลังของการประชุม นอกจากนี้ ในการจัดอบรมก่อนหน้าที่จะเปิดฉากการประชุม ทางลูกพรรคยังได้มีการแลกเปลี่ยนและรายงานเกี่ยวกับปัญหาของในแต่ละพื้นที่

นางผอง หนึ่งในสมาชิกพรรคเสือเผือกเปิดเปิดเผยว่า การที่จะชนะเลือกตั้งปี 2558 นี้ พรรคไทใหญ่ทั้งสองพรรคควรที่จะรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ผู้ใหญ่ทั้งสองพรรคต่างฝ่ายควรที่จะลดทิฐิลงต่อกัน แม้ทางผู้ใหญ่ของพรรคจะเห็นว่า ยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่ในการรวมพรรค แต่สำหรับตนและคนหนุ่มสาวของพรรคมองว่า เป็นเพราะทางผู้ใหญ่ยังไม่ต้องการรวมพรรคในตอนนี้ต่างหาก ซึ่งหากต้องการรวมพรรคกันจริงๆ เชื่อว่าสามารถทำได้ง่าย

ตามรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่รัฐบาลทหารพม่าเป็นผู้ร่างขึ้น ทำให้พรรคเสือเผือกภายใต้การนำของจายอ้ายเปาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 ทั้งนี้ ก็เพื่อลงชิงชัยเลือกตั้งใหญ่ในปี 2553 ซึ่งการเลือกตั้งเมื่อปี 2553 รวมถึงการเลือกตั้งซ่อมในปี 2555 ที่ผ่านมา พรรคเสือเผือกสามารถกวาดที่นั่งได้ทั้งในสภาสูงและล่างได้ทั้งหมด 58 ที่นั่ง ส่วนการประชุมประจำปีของพรรคเสือเผือก ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 2 โดยการประชุมครั้งแรกสุดจัดขึ้นที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน

 

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเอ็นเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุขัดแย้งซีเรียพุ่งสูง 60,000 ราย

Posted: 03 Jan 2013 07:46 PM PST

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตในซีเรียว่ามีจำนวนราว 60,000 ราย นับตั้งแต่เกิดเหตุความขัดแย้งตั้งแต่เดือน มี.ค. 2011 และทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านมีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหาร และอาจเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ


เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2013 ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights) เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุขัดแย้งในซีเรียพุ่งสูงถึงราว 60,000 คนแล้ว นับตั้งแต่การประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด เมื่อเดือน มี.ค. 2011

นาวี พิลเลย์ จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นกล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล มีผู้เสียชีวิตในซีเรียจำนวน 59,648 ราย นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2011 มาจนถึงเดือน พ.ย. 2012  ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก

ในรายละเอียดของการวิเคราะห์ระบุว่าเมืองที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุความขัดแย้งมากที่สุดคือฮอม (12,560 ราย) ตามมาด้วยดามาสกัส (10,852 ราย) อิดลิบ (7,686 ราย) อเลปโป (6,188 ราย) ดะรา (6,034 ราย) และฮามา (5,080 ราย)

 

แผนที่ซีเรียจาก www.cia.gov

รูเพิร์ท โคลวิลล์ โฆษกของพิลเลย์กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะมีจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากวิธีการตรวจสอบของพวกเขาค่อนข้างรัดกุม และเป็นไปได้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตที่ตกสำรวจ จำนวนตัวเลข 60,000 ราย จึงควรเป็นแค่จำนวนชี้วัด และอาจถือเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตขั้นต่ำ

ทางด้านนาวี พิลเลย์ กล่าวว่าสภาพความขัดแย้งในซีเรียทำให้การตรวจสอบผู้เสียชีวิตทั้งหมดยากมาก พวกเขาไม่ได้อนุญาตให้เข้าไปตั้งแต่เดือน มี.ค. 2011 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเกิดความวุ่นวาย และถ้าหากเกิดสันติภาพในซีเรียแล้ว จะมีการตรวจสอบจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างละเอียดต่อไป รวมถึงตรวจสอบถึงสาเหตุว่าใครเป็นผู้ต้องรับผิดชอบต่อความตายของพวกเขาด้วย

นาวี พิลเลย์ กล่าวอีกว่าซีเรียอาจหลีกเลี่ยงการสูญเสียจำนวนมากเช่นนี้ได้หากรัฐบาลซีเรียเลือกหนทางอื่นแทนการใช้กำลังปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมกับผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสงบและเป็นไปตามหลักกฏหมาย แต่ขณะเดียวกันพิลเลย์ก็บอกว่าฝ่ายกบฏต่อต้านรัฐบาลก็อาจจะมีส่วนรับผิดชอบต่อการสูญเสียนี้ด้วย

"จากที่สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ จำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอาจมาจากการถูกสังหารจากกลุ่มกบฏติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลด้วย มีการก่ออาชญากรรมร้ายแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งสองฝ่าย เช่นอาชญากรรมสงคราม (war crimes) และอาจรวมถึงการอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity) ด้วย" นาวี พิลเลย์กล่าว

นอกจากนี้พิลเลย์ยังได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ประชาคมโลกที่ไม่สามารถยับยั้งวิกฤตของซีเรียไว้ได้


เรียบเรียงจาก

UN says Syria death toll has passed 60,000, Aljazeera, 02-01-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: การแก้รัฐธรรมนูญ 50 ถึงทางตัน

Posted: 03 Jan 2013 07:12 PM PST

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยได้เลือกที่จะไม่เดินหน้าประชุมรัฐสภาลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 วาระสามโดยทันที หากแต่จะใช้เส้นทางการทำประชามติ ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ "แนะนำ" ไว้

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึง "สภาวะล้มละลายทางหลักกฎหมาย" ของระบบตุลาการในประเทศไทยอย่างชัดเจน อันเป็นผลที่ฝ่ายเผด็จการใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือสนับสนุนกลุ่มคนที่เป็นพวกของตน ไปทำลายล้างกลุ่มการเมืองที่ตนคิดว่า เป็นศัตรูให้ตุลาการลากตีความตัวบทกฎหมายเอาตามใจชอบ ไม่ใยดีต่อหลักนิติรัฐ เพื่อไปบรรลุเป้าทางการเมือง

ผลก็คือ ทุกคนที่ถูกกระทำ รวมทั้งพรรคเพื่อไทย จึงต้องเดินตามแนวทางและวิธีการเดียวกันเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งก็คือใช้หลักการ "ตุลาการวิบัติ" หาช่องทางกฎหมาย เลี่ยงบาลี เพื่อหลบหลีกการถูกกระทำจากตุลาการฝ่ายเผด็จการ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 ซึ่งพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลได้ดำเนินไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดระมัดระวัง แต่ก็ยังถูกแทรกแซงโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ "ลากตีความ ม.68" เพิ่มอำนาจให้กับตนเอง กระทำ "ตุลาการรัฐประหาร" ยกระดับอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้กลายเป็นอำนาจอธิปไตยสัมบูรณ์เหนืออำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ เลยเถิดไปถึงกับ "แนะนำ" ให้ทำประชามติถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทั้งที่ไม่มีระบุในที่ใดของรัฐธรรมนูญ กลายเป็นการ "เขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยตุลาการเพียงไม่กี่คน"

สถานการณ์ยิ่งแย่ลงเมื่อทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภาที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างเลือกที่จะทิ้งหลักการประชาธิปไตย เกียรติและศักดิ์ศรีของฝ่ายนิติบัญญัติ ปฏิเสธที่จะลงมติไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้การลงมติผ่านวาระสามแก้ไข ม.291 ต้อง "แท้ง" ไปในที่สุด

สาเหตุคือ สส.และสว.พวกนี้ส่วนใหญ่ล้วนขี้ขลาดตาขาว ไร้ซึ่งหลักการและความกล้าหาญที่จะยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยไปให้ถึงที่สุด พอได้ยินว่า เป็น "คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ" ก็พากันตกใจสุดขีด หันหลังวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น

แม้แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ก็มีพฤติกรรมไม่แตกต่าง ปฏิเสธที่จะเรียกประชุมรัฐสภาพิจารณาวาระสาม มีการปล่อย "คลิป" ให้คนเสียงเหมือนนายสมศักดิ์พูดชัดเจน ปฏิเสธที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ ราวกับจะแสดงให้คนทั้งโลก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) ได้เห็นว่า ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าในกรณีใด นายสมศักดิ์ไม่เกี่ยว ไปจนถึงการที่นายสมศักดิ์ ไปนั่งในศาลรัฐธรรมนูญ ตัวสั่นงันงก น้ำเสียงสั่นเทา ให้ตุลาการซักถามราวกับเป็นอาชญากรคดีร้ายแรง หมดสิ้นซึ่งศักดิ์ครีของความเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติโดยสิ้นเชิง

พรรคร่วมรัฐบาลก็ได้มีมติชัดแจ้งแล้วว่า จะไม่ร่วมการลงมติวาระสามแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

ณ เวลานี้ หากแกนนำพรรคเพื่อไทยเดินหน้าประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติผ่านวาระสามแก้ไข ม.291 โดยไม่ทำตาม "คำแนะนำ" ของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่ผ่านอย่างแน่นอน เป็นผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปทันที และรัฐบาลจะต้องยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แน่นอนว่า สส.พวกนี้กลัว "เลือกตั้งใหม่" และกลัวคนในตระกูลชินวัตร แต่คนพวกนี้ "กลัวตุลาการและกลัวพวกเผด็จการ" มากกว่า

แม้นว่า จะประชุมรัฐสภาผ่านวาระสามแก้ไขม. 291 ได้สำเร็จ ก็ยังมีขั้นตอน ม. 150 ที่นายกรัฐมนตรีนำร่างแก้ไขขึ้นทูลเกล้าเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งในทางปฏิบัติ จะมีคณะองคมนตรีเป็นทางผ่าน ความกลัวของแกนนำพรรคเพื่อไทยคือ อาจเกิดเหตุการณ์ตาม ม. 151 คือ "พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา" นายกรัฐมนตรีจะตกอยู่ในสถานะวิกฤต กลายเป็น "ทูลเกล้าสิ่งที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท"

แม้ว่า ม.151 วรรคต่อมาระบุให้รัฐสภาต้องประชุมพิจารณาเพื่อยืนยันตามเดิมด้วยเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม (ราว 433 คนจาก 650 คน) นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าอีกครั้ง "เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว"

เป็นที่ชัดเจนว่า ฝ่ายแก้ไขรัฐธรรมนูญในปัจจุบันไม่มีจำนวนเสียงสูงถึง 433 เสียงอย่างแน่นอน แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ม.151 เป็นเพียงข้อความนิตินัยที่ไม่มีผลทางปฏิบัติ เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีตก็ระบุข้อความทำนองนี้ แต่ไม่มีการปฏิบัติกันมาหลายสิบปีแล้ว เพราะเหตุใด? ก็เพราะไม่มีรัฐสภาชุดใดกล้าที่จะดำเนินการตามนี้

แกนนำพรรคเพื่อไทยจึงหาทางออกที่มักง่ายที่สุด ดูเหมือนปลอดภัยที่สุด แต่ไร้หลักการและขี้ขลาดที่สุดคือ ยอมตาม "คำแนะนำ" ของศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีประชามติ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า ผิดหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างโจ่งแจ้ง ไม่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญตรงไหนเลย และยังเป็นการเอาฝ่ายนิติบัญญัติไปอยู่ใต้รองเท้าฝ่ายตุลาการ

แกนนำพรรคเพื่อไทยฝันหวานว่า ถ้าประชามติผ่าน ก็จะหมดเงื่อนไขศาลรัฐธรรมนูญ แล้วทั้งประธานรัฐสภา สส.พรรคร่วมรัฐบาล และสว. "จะยอมซักกางเกงที่เลอะอุจจาระ" พร้อมใจหันกลับมาประชุมยกมือผ่านวาระสามในที่สุด

ปัญหาคือ แกนนำพรรคเพื่อไทยไม่มีทางรู้เลยว่า แม้นประชามติจะมีผลให้ผ่าน ก็ไม่มีหลักประกันว่า ตุลาการจะไม่เข้ามาแทรกแซงตีความอีกโดยอ้างกรณีอื่น หรือแม้นจะผ่านประชามติแล้ว ทั้งประธานรัฐสภา สส.และสว.จะหาข้ออ้างอื่นเพื่อไม่ต้องลงมติวาระสาม ทำให้การลงมติในวาระสามหลังประชามติก็อาจมีผลอย่างเดิมคือ ไม่ผ่าน ร่างแก้ไขตกไป

ยิ่งไปกว่านั้น การเดินหน้าทำประชามติจะก่อให้เกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับขบวนคนเสี้อแดง และภายในหมู่คนเสื้อแดงด้วยกันเองระหว่างกลุ่มที่ปฏิเสธประชามติกับกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย คะแนนเสียงประชามติที่พรรคเพื่อไทยฝันหวานเอาไว้สวยหรูกี่สิบล้านเสียงก็ตาม จะไม่เป็นไปตามเป้า

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ยังออกมาเบี่ยงเบนประเด็น โดยเสนอให้ "แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา" จงใจให้ผู้คนเข้าใจผิดว่า กระทำได้ง่ายกว่า เช่น แก้ไขเฉพาะมาตราว่าด้วยที่มาของสว.สรรหา ที่มาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และม.190 เป็นต้น ทั้งที่ในความเป็นจริง ทำได้ยากที่สุดถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ โดยให้ดูตัวอย่างการแก้ไข ม.291 ที่ผ่านมาถึงวาระสาม ก็ได้ถูกสะกัดขัดขวาง ทั้ง "แปรญัตติ" ก่อกวนตีรวนในสภา ก่อการชุมนุมนอกสภา ไปจนกระทั่งดึงเอาศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา ร.ต.อ.เฉลิมจะซื่อตรงกว่านี้ถ้ายอมรับว่า ตนไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะตนขออยู่เป็นรัฐมนตรีจนหมดอายุรัฐบาลดีกว่า

 ปัญหาพื้นฐานคือ การพยายามยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 โดยที่ดุลกำลังและอำนาจรัฐที่แท้จริงยังไม่เปลี่ยนมือนั่นเอง รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกรอบการเมืองเปลือกนอกที่ห่อหุ้มโครงสร้างอำนาจรัฐที่แท้จริงซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ในมือพวกจารีตนิยม ตราบใดที่ข้อเท็จจริงนี้ไม่เปลี่ยนแปลง การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีทางกระทำได้

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยควรทำคือ ยอมรับตรง ๆ ว่า ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว และขอบริหารเศรษฐกิจไปจนครบสี่ปี ให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอดทนรอคอย รอให้สถานการณ์พื้นฐานเกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วเลือกตั้งใหม่ ค่อยมาพูดถึงรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

 

ที่มา:  "โลกวันนี้วันสุข"

ฉบับวันศุกร์ที่ 4 มกราคม 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น