ประชาไท | Prachatai3.info |
- ประกาศนิติราษฎร์ฉบับที่ 41 โดยวรเจตน์ ภาคีรัตน์
- ธเนศ วงศ์ยานนาวา: เสวนาที่ Book Re:public “การควบคุม...ศิลปะ”
- สัมภาษณ์เพจแห่งปี : จ่าพิชิต แอดมินเพจ “Drama-addict”
- นัก นสพ.จีน ประท้วง จนท.รัฐเซ็นเซอร์สื่อ-แก้ บท บก.
- ทหารพม่า-ไทใหญ่ RCSS/SSA ปะทะกันหลายระลอกใกล้ชายแดนไทย
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: นักโทษการเมืองตายในคุก
ประกาศนิติราษฎร์ฉบับที่ 41 โดยวรเจตน์ ภาคีรัตน์ Posted: 06 Jan 2013 09:35 AM PST
ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 41 (วรเจตน์ ภาคีรัตน์) ภารกิจคณะนิติราษฎร์ใน พ.ศ. 2556
โดยที่มีผู้สอบถามถึงกิจกรรมทางวิชาการของคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ที่จะดำเนินการต่อไปใน พ.ศ.2556 ตลอดจนสอบถามถึงความคืบหน้าของการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการดำเนินการตามแนวทางการตรากฎหมายเพื่อขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน สังคมอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายภายหลังจากการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ตามที่ได้เคยประกาศไว้ในประกาศนิติราษฎร์ฉบับที่ 34 (25 เมษายน 2555) ในโอกาสขึ้นปีใหม่พุทธศักราช 2556 นี้ คณะนิติราษฎร์ขอชี้แจงถึงภารกิจและกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป ดังนี้
1. การรณรงค์และรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ โดยคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) นั้น ได้ผ่านพ้นจากขั้นตอนการรณรงค์รวบรมรายชื่อประชาชนไปสู่การเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปยังประธานรัฐสภาแล้ว เมื่อกลางปี 2555 ต่อมาในราวเดือนตุลาคม 2555 ประธานรัฐสภา (นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) ได้ปฏิเสธไม่บรรจุร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุม โดยอ้างว่าร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 (สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย) และหมวด 5 (แนวนโยบายแห่งรัฐ) ของรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่กรณีเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 122 ซึ่งกำหนดโทษในทางอาญานั้น เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในร่างกายและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลซึ่งเป็นเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ การปฏิเสธไม่บรรจุร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุม จึงเป็นการปฏิเสธที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล หลังจากทราบการปฏิเสธแล้ว ครก.112 (ซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลหลายฝ่ายรวมทั้งคณะนิติราษฎร์) ได้พยายามประสานเพื่อเสนอความเห็นให้ประธานรัฐสภาทบทวนการวินิจฉัย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นในเดือนมกราคม 2556 นี้ ครก.112 จะได้โต้แย้งคำสั่งของประธานรัฐสภา (นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้มีการทบทวนคำสั่งดังกล่าว หลังจากนั้นจะดำเนินการตามช่องทางในทางกฎหมายต่อไปจนสุดหนทาง ในระหว่างนี้ หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคนหรือคณะรัฐมนตรีเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว อันเป็นปัญหาที่นานาชาติตลอดจนองค์การระหว่างประเทศให้ความสนใจ และประสงค์จะปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ได้ในระดับที่นานาอารยประเทศพอที่จะยอมรับนับถือได้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะรัฐมนตรีอาจพิจารณาเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์หรือข้อเสนอของคณะกรรมการบางคณะที่รัฐบาลได้ตั้งขึ้น (เช่น คอป.) เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามวิถีทางประชาธิปไตยก็ได้ การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีคำสั่งของ ประธานรัฐสภา (นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) ที่ไม่บรรจุร่างกฎหมายที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อโดยถูกต้องทุกประการตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภาได้อีกทางหนึ่ง ในส่วนของประชาชนที่ร่วมลงชื่อ ตลอดจนเครือข่ายกลุ่มกิจกรรมต่างๆที่เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหาทั้งในแง่อุดมการณ์เบื้องหลังตัวบท ปัญหาในระดับตัวบท และปัญหาในการบังคับใช้ หากจะจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆต่อไป เท่าที่มีกำลังจะทำได้ เพื่อขยายแนวความคิดให้แพร่ไปในหมู่ประชาชนในวงกว้าง ให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง พ้นจากการบิดเบือนให้ร้ายของสื่อมวลชน องค์กรและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แสวงหาประโยชน์จากการดำรงอยู่ของบทบัญญัติมาตรานี้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแก้ไขบทบัญญัติมาตรานี้ในอนาคต 2. สำหรับการดำเนินการตามแนวทางการตรากฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายภายหลังจากการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น ขณะนี้คณะนิติราษฎร์ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญหมวดว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง เสร็จสิ้นแล้ว และได้ประกาศเผยแพร่ต่อสาธารณชนพร้อมกับประกาศนิติราษฎร์ฉบับนี้ เนื้อหาสาระหลักของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นไปตามประกาศนิติราษฎร์ฉบับที่ 34 ทั้งนี้โดยคณะนิติราษฎร์ได้กำหนดรายละเอียดของเนื้อหาบางประการเพิ่มเติม อนึ่ง กฎหมายนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ คณะนิติราษฎร์เลือกที่จะเสนอในรูปของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่ร่างพระราชบัญญัติ เพื่อป้องกันปัญหากรณีร่างพระราชบัญญัติขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยในร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอนี้ไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงตลอดจนการสลายการชุมนุมทุกเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้เข้าร่วมการประท้วงและชุมนุมทางการเมืองตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ให้มีคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งจำนวน 5 คน ซึ่งประธานรัฐสภาแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับเลือกจากองค์กรต่างๆตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร และไม่อาจเป็นวัตถุแห่งการพิจารณาขององค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นใด นอกจากนี้คณะนิติราษฎร์ยังกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งด้วย ร่างรัฐธรรมนูญหมวดว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นี้ เมื่อได้เผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว ย่อมถือเป็นสมบัติของสาธารณะที่อาจจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ เสนอแนะตลอดจนปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น คณะนิติราษฎร์ไม่สงวนสิทธิที่กลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคลใดจะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปรณรงค์เคลื่อนไหวตลอดจนผลักดันให้เกิดผลเป็นตัวบทกฎหมายที่มีผลใช้บังคับได้จริงในบ้านเมือง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายต่อไป
อ่านเนื้อหาทั้งหมดที่ เว็บไซต์นิติราษฎร์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ธเนศ วงศ์ยานนาวา: เสวนาที่ Book Re:public “การควบคุม...ศิลปะ” Posted: 06 Jan 2013 06:44 AM PST "ธเนศ วงศ์ยานนาวา" ที่ Book Re:public "ถ้าคุณอยากมีเสรีภาพจริงๆ (100%) ผมแนะนำให้คุณไปนิพพาน" ที่มาของภาพ: เพจ Book Re:public เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2556 เวลา 16.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ "การควบคุม...ศิลปะ" วิทยากรโดย รศ.ธเนศ วงศ์ยานาวา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ธเนศ วงศ์ยานาวา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการให้ดูรูปปั้นที่ชูนิ้วกลางหน้าศาลากลางเมืองมิลาน ประเทศอิตาลีของศิลปิน Maurizio Cattelan พร้อมกล่าวทักทายว่า "F*ck you" และสวัสดีด้วยคำว่า "เย็ดแม่" แล้วอธิบายต่อว่า สิ่งที่ทำไปมันเป็นรูปแบบ (Form) และเนื้อหา (content) ของการนำเสนอ
รูปปั้นที่ชูนิ้วกลางหน้าศาลากลางมิลานของ Maurizio Cattelan คนที่เรียนศิลปะถามตัวเองว่าคุณทำงานแบบนี้ในประเทศไทยได้ไหม ปัญหาที่จะพูดไม่เกี่ยวกับศิลปะแต่เกี่ยวกับตัวเราเอง ไม่มีใครมาเปิดงานแล้วพูดกับคุณว่า "เย็ดแม่" เพราะมันไม่ใช่คำทักทาย คำพวกนี้ถูกควบคุมให้ไม่ควรจะอยู่ในที่สาธารณะ เพราะไม่สุภาพ ทำไมเราทำศิลปะแบบนี้ไม่ได้ มันเหมือนอะไรหลายอย่างในประเทศนี้ที่เราทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่ใครหลายคนคิดว่า ทำไมเราไม่มีเสรีภาพในการพูดนั้น อยากลองให้ถามตัวเองดูก่อนว่า สิ่งที่สังคมตะวันตกหรือแม้กระทั่งสังคมไทยถือว่ามีเสรีภาพมากที่สุด (อย่างศิลปะ) แต่ทำไมกลับไม่มีงานแบบนี้เกิดขึ้นโดยเฉพาะในเมืองไทย รูปต่อมา คนทำงานศิลปะน่าจะรู้จักดีเป็นผลงานของ Maurizio Cattelan คือรูป Matthew วิ่งชน Pope John Paul II
รูปภาพนี้พยายามจะบอกว่า พระเจ้าเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้ ถึงคุณจะจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าแค่ไหนก็ตาม พระผู้เป็นเจ้าก็พร้อมที่จะขายคุณ เพราะถึงขนาดคนของพระผู้เป็นเจ้าก็ยังถูกพระเจ้าส่ง Matthew มาพุ่งชน เหมือนกับเอ็มพร้อมที่จะขาย เจมส์บอนด์ใน Sky fall ในหนังเรื่อง Sky fall สะท้อนให้เห็นว่า เราต้องสละเลือดทุกอย่างเป็นชาติพลี ผ่านฉากที่ผู้หญิงถามเจมส์บอนด์ว่า "มึงโกรธกูไหม" เจมส์บอนด์ก็ตอบว่า "ไม่โกรธ" เพราะฉะนั้น สองสิ่งในโลกตะวันตกที่คุณควรจะไว้ใจที่สุด คือพระผู้เป็นเจ้ากับรัฐ แต่สองสิ่งนี้กลับเป็นสิ่งที่ไว้ใจไม่ได้เพราะพร้อมที่จะขายคุณตลอดเวลา เขาต้องการความจงรักภักดีจากคุณ แต่เขาพร้อมจะขายคุณตลอดเวลา เมื่อกลับมามองโครงสร้างนี้ เราจะไม่มีวันทำสิ่งพวกนี้ในประเทศไทย ตนพยายามชี้ให้เห็นว่านี่คือโครงสร้างที่กำลังดำรงอยู่ ที่ไม่ใช่เฉพาะการเมือง เศรษฐกิจ แต่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเรา
อีกรูปหนึ่งคืองานของ Andres Serrano ที่มีชื่อว่า Piss Christ หรือ พระเยซูอยู่ในน้ำฉี่ หากลองจินตนาการดูว่า เอาสิ่งที่คุณเชื่อมาแสดงแบบนี้ในประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้น ทำไมเราไม่มีงานแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนจะพูดในวันนี้ว่า มันไม่ใช่แค่รัฐที่ออกกฎต่างๆ ให้เราทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่างเหมือนหนังสือ "Do and Don't in Thailand" ที่เรามักเห็นตามร้านหนังสือทั่วไป ซึ่งสื่อว่าอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำในเมืองไทย เหมือนกับสิ่งที่เราไม่ควรทำในสังคมมุสลิม คงจำได้กรณีนักหนังสือพิมพ์เดนมาร์กวาดรูปการ์ตูนพระอัลลอฮ์หัวระเบิด จนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต คุณคงไม่ทำสิ่งเหล่านี้ในประเทศมุสลิม เพราะฉะนั้นมันมีอะไรบางอย่างที่เราจะไม่ทำในแต่ละประเทศ ทำไมเราถึงไม่ทำ เราทุกคนมักจะตอบว่าเรากลัว แต่ตนคิดว่าไม่ใช่ "ผมไม่คิดว่าเป็นเพียงแค่ความกลัว คุณลองนึกภาพว่าสมมุติเราเป็นศิลปิน แล้วเลียนแบบ Andres Serrano โดยปั้นรูปพ่อของคุณแล้วใส่ลงไปในถังฉี่ แล้วก็แถลงการณ์ แน่นอนว่าทุกคนคงคิดว่าคุณไม่เคารพพ่อคุณ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีกฎหมายใดทั้งสิ้นมาห้าม สำหรับผมสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบคิดของเรา ถึงแม้คุณจะไม่มีกฎหมายห้าม คุณก็ไม่อยากทำ เพราะเราเชื่อว่ามันมีอะไรบางอย่างที่เราจะต้องเคารพยกย่อง และโดยอัตโนมัติเราจะควบคุมตัวเราเอง ไม่ใช่กฎหมาย เป็นชุดความคิดอะไรบางอย่างที่เราถูกควบคุม" หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับฝ่ายซ้ายที่เล่าเรื่องชีวประวัติของตัวเอง ที่เข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือว่า ฝ่ายซ้ายในอดีตที่เราคิดว่าจะมีระบบคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่ฝ่ายซ้ายพวกนี้นิยมชมชอบที่สุดกลับเป็นเครื่องรางของขลัง นั่นแสดงว่าในสมองเราที่เติบโตขึ้นมาในสังคม เราได้ฝังอะไรบางอย่างเข้าไปไว้เรียบร้อยแล้ว และสิ่งพวกนี้เป็นตัวเลือกสรรให้เราเชื่อหรือทำอะไรบางอย่าง ชีวิตในสังคมไทย เรามีกลไกอัตโนมัติที่เราจะทำอะไรบางอย่าง และไม่ทำอะไรบางอย่าง กลไกแบบนี้จะเป็นตัวจัดระเบียบชีวิตเรา จัดระเบียบผลงานของเรา (ไม่เฉพาะคนที่เป็นศิลปินเท่านั้น ศิลปินเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ยกให้เห็นถึงความชัดเจน) ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น เรารู้ว่าคนๆนี้ เราควรพูดหรือไม่พูดอะไรกับเขา เป็นต้น และสิ่งพวกนี้แปรผันไปตามสถานภาพของคุณในสังคมไทย มันทำให้การอธิบายตัวตนของคุณมีปัญหาทันที เมื่อคุณเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ เช่น การที่เรามีสรรพนามเรียกตัวเองอย่างมากมายมหาศาลในสังคม ซึ่งมีลำดับชั้น ทั้งแนวตั้งแล้วแนวนอน และเคยทำให้นายกฯยิ่งลักษณ์มีปัญหามาแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะเรียกตนเองว่า ดิฉัน เดี๊ยน หนู ปู หรือข้าพเจ้าดี ใช้คำไหนก็วุ่นไปหมด สำนึกตัวตนที่ผูกกับลำดับชั้นที่แปรเปลี่ยนไป มันทำให้ตัวตนของคนไทยไม่ค่อยตายตัวเท่าไร (แต่ก็ไม่หมายความว่าตัวตนของฝรั่งนั้นตายตัว) คำสรรพนามที่มีมากมาย มันทำให้มาตรฐานในการปฏิบัติเยอะไปด้วย เพราะฉะนั้นสังคมไทยไม่ได้มี "Double standard" แต่มี "Multiple standard" ที่คนทุกคนพร้อมที่จะใช้สิ่งนี้กับคนที่เราเผชิญหน้าในลักษณะที่แตกต่างตลอดเวลา โดยสายสัมพันธ์ "คนนอก" "คนใน" "สูง" "ต่ำ" ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มันทำให้คุณวางตัวเองกับคนอื่นในลักษณะที่แตกต่างออกไป และเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งในการที่คุณจะควบคุมตัวคุณเอง รู้ว่าควรจะพูดอะไรหรือทำอะไรกับใคร คำสรรพนามเหล่านี้ก็เป็นคำที่เราเปลี่ยนตลอด แม้กระทั่งระดับความสัมพันธ์ของเราด้วยกัน เช่น ฉัน แก ข้า เอ็ง ผม คุณ ฯลฯ คุณคงไม่พูดคำว่า "ผม"กับเพื่อนสนิทของคุณ สิ่งนี้เป็นสิ่งแรกที่คุณจะควบคุมในสิ่งที่เราจะไม่ทำ เพราะเราจัดระเบียบก่อน คนต่างประเทศหรือคนที่เข้ามาในสังคมไทยจะเข้าใจสายสัมพันธ์นี้ได้ยากมาก เพราะเขามาจากตัวตนที่วัดด้วยมาตรฐานของการเป็น "I" ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียว จึงทำความเข้าใจโครงสร้างแบบนี้ได้ยาก ทำไมโครงสร้างแบบนี้ถึงไม่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก หากสังเกตดูจะพบว่า ในห้องนี้ ไม่มีใครชื่อสารีบุตร, โมคคัลลานะ แต่ฝรั่งมีชื่อภายใต้ Saint (นักบุญ) ทุกคนเช่น แมธทิว,จอห์น, ลุค (ยกเว้นคนรุ่นใหม่ที่ชื่ออาจจะแตกต่างออกไป) เหตุผลสำคัญอันหนึ่ง คือในตอนคริสต์ศาสนาขึ้นมามีอำนาจ ต้องเผชิญหน้ากับศาสนาจำนวนมากเช่น ยิว อิสลาม ซึ่งต้องทำให้นอกใจศาสนาตนไม่ได้ คนในกรีกโบราณหรือโรมันตอนต้น ศาสนายังอยู่ในโครงสร้างของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันอยู่ คนจำนวนมากยังเชื่อเรื่อง horoscope จึงตั้งชื่อให้กับดวงดาว การตั้งชื่อให้ผูกกับดวงดาว ก็คือคุณไม่เชื่อในพระเจ้า ฉะนั้นคริสต์ศาสนาจะไม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เพราะเท่ากับคุณไปเชื่อในสิ่งอื่น คริสต์ศาสนาทำลายสิ่งพวกนี้ กำหนดให้ตัวตนของคุณมีอันเดียว มีเพียงคุณกับสิ่งสูงส่ง จะเป็นบ่าวสองนาย หรือสองฝั่งฟ้าไม่ได้ ด้วยโครงสร้างนี้มันก็ล็อคคุณ ไม่ให้คิดหรือทำอะไรอย่างอื่น และสิ่งที่สำคัญในโครงสร้างนี้ เมื่อคุณเชื่อในพระผู้เป็นเจ้านี้ ก็ต้องปฏิบัติตาม จะไปชื่อศิวะ อิศวร ซูส จูปิเตอร์ ไม่ได้ คริสต์รับไม่ได้ เพราะมันคือการทรยศ ต่อมาเมื่อพระผู้เป็นเจ้าสามารถควบคุมได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งการตั้งชื่อ ก็ต้องตั้งภายใต้โครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็น พอล ลุค จอห์น ฯลฯ ในโครงสร้างของคริสต์ศาสนา พระเจ้าสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการที่คุณเข้าถึงฟิสิกส์หรือกฎธรรมชาติ ก็คือการเข้าถึงโลกของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คุณไม่มีทางเข้าถึงพระเจ้า พระเจ้าไม่เคยปรากฏร่างให้คุณเห็น การรู้จักธรรมชาติในฐานะ Nature มันคือการเข้าถึง God ความจริงจึงสำคัญมากในคริสต์ศาสนา การที่คุณไปถึงความจริง คือเข้าใจธรรมชาติและสรรพสิ่ง ฉะนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งที่อธิบายคริสต์ศาสนาในทางที่สามารถพัฒนาความเป็นศาสตร์ขึ้นมาได้ ในแง่ปรัชญา เมื่อผนวกกับกรีกเข้าไปแล้ว ซึ่งบ้าคลั่งหลงใหลกับการแสวงหาความจริง ซึ่งคนตะวันออกไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะความจริงกับนิพพานไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ในโลกของคริสต์ศาสนา การไปถึงความจริงกับการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า คือเส้นทางเดียวกัน ดังนั้นเราจึงเห็นคำพูดของคุณสนธิ บุญยรัตกลิน ที่ว่าคุณจะรู้ไปทำไม 19 ก.ย.ใครเป็นคนสั่ง รู้ไปแล้วไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า คำพูดแบบนี้เกิดขึ้นมาตลอด สถาพร กวิตานนท์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน หรือบีโอไอก็เคยกล่าวว่าจะไปหาแสวงหาผู้กระทำผิดในปี 2540 (วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง) ทำไมไม่มีประโยชน์ มันเกิดไปแล้ว เราต้องเดินหน้าต่อไปอีก คำพูดแบบนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิด เป็นสิ่งที่มีมาตลอด และโครงสร้างแบบนี้จะได้ยินผ่านคำพูด "เฮ้ย เรื่องนี้เป็นเด็ก อย่าไปรู้เลย" หรือ เรื่องราวในการประชุมคณะ ไม่มีอาจารย์มาบอกให้คุณฟังเพราะถือว่าเป็นความลับทางราชการ แม้อาจารย์จะเสรีนิยมขนาดไหนเขาก็ไม่เคยมาเล่าให้คุณฟัง ในวิถีชีวิตประจำวันของเรา การรู้ความจริงมันไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ และความจริงนั้นๆ บางอันอาจจะเป็นภัยต่ออะไรหลายๆ อย่าง เช่นกรณีอ.มูราชิม่า ขอถ่ายเอกสารที่กรมพระสมมุติ (เลขาฯ ของรัชกาลที่ 5) บันทึกประจำวันไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงรู้ก็สั่งไม่ให้ถ่าย โดยอ้างว่า ของสำคัญทางราชการที่ชาวต่างชาติไม่ควรจะได้ไป ที่ยกตัวอย่างมามีสองมิติ มิติหนึ่งคือ ความจริงไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ และความจริงมีลำดับชั้นของมัน ที่คุณจะเข้าถึงได้ ซึ่งอันนี้ก็จะสัมพันธ์กับสรรพนามที่ยกมาว่า ตำแหน่งแห่งที่ของคุณในสังคมเป็นสิ่งกำหนดว่าคุณควรจะรู้หรือไม่รู้อะไร ดังที่อดีตผอ.สันติบาลในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์ พลตรี ตรีทศ รณฤทธิ์ชัย ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ ว่าเอกสารลับทางราชการนั้นมีแต่ผู้มีบุญที่จะได้อ่าน การจัดระเบียบทางการเมือง และจัดระเบียบศิลปะ ที่เราทุกคนพร้อมที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ไม่ใช่เพราะว่ากลัว ความกลัวไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในสมองของเราเลย แต่รู้สึกว่าทำแล้วมันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม สังคมไทยมีอะไรบางอย่างที่มากกว่ากฎหมาย ที่ควบคุมระบบคิดของเรา ไม่ให้เราไปไกลกว่านั้นได้ เราเป็นคนที่จัดการตัวเราเอง เพราะชุดความคิดของเราพวกนี้ ทำให้เราไม่สามารถจะไปไกลไปกว่านี้ได้ แต่ฝรั่งที่ทำศิลปะอย่างในรูปที่ยกมา ก็ไม่ได้ทำให้คนในสังคมนั้นมีความสุข ทำแล้วถูกด่าอย่างมาก แต่เขาพร้อมที่จะต่อสู้กับสิ่งพวกนี้ มันมีพื้นที่แบบนี้อยู่ เนื่องจากการต่อสู้ในประวัติศาสตร์ตะวันตก เริ่มด้วยการเอาพระผู้เป็นเจ้าลงก่อน ตั้งแต่ศตวรรษ 17 ศาสนายังมีอำนาจในการยึดกุมความจริง (และอย่างที่บอกความจริงกับพระเจ้ามันไปด้วยกัน) และเมื่อมันถูกท้าทายจากวิทยาศาสตร์ จนถึงปลายศตวรรษ 19 พระเจ้าถึงตาย สิ่งที่สูงสุด ทำให้สิ่งที่ต่ำลงมาไม่มีความหมาย จะเห็นได้ว่าการต่อสู้ของเรา เราไม่เคยทำอะไรแบบนี้ เราไม่มีชุดวิธีคิดแบบนี้ เพราะวิถีชีวิตของเราไม่ได้ถูกควบคุมจากศาสนา ในแบบ enforce แบบที่คริสต์กระทำ ที่เข้ามายุ่งกับชีวิตประจำวัน เช่น การสารภาพบาป (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันประสบความสำเร็จในตะวันตก มันก็ล้มเหลว) ชุดความคิดนี้ไม่ได้อยู่เฉพาะ หลายคนคิดว่าเราไม่มีเสรีภาพในหลายๆด้าน แต่ตนไม่อยากจะพูดว่ามันเกี่ยวกับเสรีภาพ มันเป็นสิ่งซึ่งคนละชุดความคิด ชุดความคิดที่ว่าคุณมันคือไพร่ มีลำดับชั้นของมัน และคุณควรจะปฏิบัติตัวให้ตรงตามฐานันดรของมัน นี่คือการจัดระเบียบของเรา เราถูกควบคุมตลอดเวลา และอันนี้เป็นศิลปะแห่งการควบคุมอย่างหนึ่งในสังคมไทย เมื่อเราเกิดมาแล้วก็ถูกจัดระเบียบไว้ "ขอสรุปไว้ตรงนี้ว่า คนที่คิดที่จะสู้ จะต้องสู้อีกยาว และสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องสู้ ก็คือ สู้กับตัวเราเอง สำหรับผมมันอยู่ในชีวิตคุณ ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สัมภาษณ์เพจแห่งปี : จ่าพิชิต แอดมินเพจ “Drama-addict” Posted: 06 Jan 2013 06:15 AM PST "ดราม่าเอยจงซับซ้อนยิ่งขึ้น" คุยกับ "จ่าพิชิต ขจัดพาลชน" กับประเด็นดราม่าเครดิตผลงาน และประเมินโซเชียลเน็ตเวิร์คในรอบปีที่ผ่านมา ที่เขามองว่าทำให้สังคมไทยเดินไปข้างหน้าเร็วอย่างที่ไม่เคยเร็วแบบนี้มาก่อน และแนวโน้มปีนี้ที่ทุกอย่างจะโกลาหลมากขึ้น
รูปประจำตัวของเพจ Drama-addict ขณะนี้ หลังจากประกาศ ผลโหวต 10 แฟนเพจเฟซบุ๊ก ปี 2012 ที่ตั้งโหวตใน เฟซบุ๊กแฟนเพจ Prachatai เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่ถือว่าได้รับความสนใจจากแฟนเพจเองและตัวแอดมินแฟนเพจจนเกิดวิวาทะดราม่า กันในช่วงเวลาดังกล่าวที่มีการเปิดโหวต โดยในการโหวตนั้นมีจำนวนการโหวต 371,272 โหวต จำนวน user ที่กดติดตามการโหวต 4,358 user จำนวนการแสดงความเห็น 6,792 ความเห็น จำนวน user ที่กดถูกใจ 7,705 user และผลที่ได้ 10 เพจ ประกอบด้วย เพจ VRZO, 9Gag in Thai(9GAG in Thai), Drama-addict, สมรัก พรรคเพื่อเก้ง, โหดสัส V2, เฮ้ย! นี่มันตัดต่อชัด ชัด, Dora GAG, ออกพญาหงส์ทอง, วิรศากดิ์ นิลกาด และช้างเป็นสัตว์กินเลือด ประชาไทได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ใช้นามแฝงว่า จ่าพิชิต ขจัดพาลชน หนึ่งในผู้มีอิทธิพลสำคัญในโลกออนไลน์ตั้งแต่ยุค "เว็บบอร์ด" ถึงยุค "เฟซบุ๊ก" แอดมินแฟนเพจ "Drama-addict" ที่ได้ถึง 27,890 โหวต โดยเพจระบุว่าเป็นประเภท สื่อ/ข่าว/การเผยแพร่ ที่มี การกดถูกใจ 153,508(6 ม.ค.56) นอกจากจะเป็นเพจที่ประชาสัมพันธ์เรื่องราวการถกเถียงของคนในสังคม ทั้งจากเว็บบอร์ด เฟซบุ๊ก ที่ถูกเรียบเรียงเป็นเรื่องราวโดยเว็บไซต์ drama-addict.com ที่บอกว่าเป็น "สำนักข่าที่เสือกสาระแนแม่ยิ้มที่สุดในประเทศเทย" นอกจากนี้เพจยังมีการสื่อสารทั้งโพสต์ข่าว วีดีโอคลิป, ลิงค์, ภาพ สถานที่และเบาะแสที่อาจจะเกิดดราม่าในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งการเผยแพร่แสดงความคิดเห็นทัศนะต่อสถานการณ์ทางสังคมและการเมือง ในมุมมองของแอดมินเองอีกด้วย ภาพหัวเว็บไซต์ drama-addict.com ซึ่งประเด็นในการสัมภาษณ์เป็นเรื่องการประเมินโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊ก ทั้งในปี 2012 ที่ผ่านมา รวมทั้งมองแนวโน้มทิศทางในปี 2013 รวมทั้งเรื่องที่เป็นประเด็นถกเถียงกันในรอบปีที่ผ่านมาในโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เรื่องเครดิตผลงาน เรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของคนอื่น รวมไปถึงการแบน user ในเพจ การเซนเซอร์โดยรัฐ เป็นต้น 0000 ประชาไท : มองปรากฏการณ์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่าง Facebook ในรอบปี 2012 มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง แลทำไมถึงคิดว่ามันน่าสนใจ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน : จริงๆแล้วผมว่ากระแสนี้มันเริ่มมาตั้งแต่ปีที่มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ของ นปช.(แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ช่วงที่มีการเผาบ้านเผาเมือง โซเชียลเน็ตเวิร์คเริ่มแสดงศักยภาพของมันในการกระจายข่าวสาร หลังจากเหตุการณ์นั้นคนก็เล็งเห็นศักยภาพของมันมากขึ้น ทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก มันไม่ใช่แค่เว็บไซท์ที่เราเอาไว้ใช้ติดต่อเพื่อนเก่า นัดเจอเพื่อนร่วมรุ่นอีกต่อไป แต่มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น มันเป็นสถานที่ที่คนสามารถแสดงความเห็นอะไรก็ได้ คิดอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้อย่างเสรี (ภายใต้กรอบของกฎหมาย) และเมื่อเราพูดออกไป เสียงตอบรับก็จะสะท้อนกลับมาอย่างรวดเร็ว ต่างไปจากยุคก่อนหน้านี้ที่เป็นยุคของเว็บบอร์ดและเว็บไซต์ กว่าจะได้ feedback กลับมาซักความเห็นต้องใช้เวลามากกว่านี้มาก สรุปคร่าวๆคือโซเชียลเน็ตเวิร์คทำให้สังคมไทยเดินไปข้างหน้าเร็วอย่างที่ไม่เคยเร็วแบบนี้มาก่อน คิดยังไงกับอีก 9 เพจที่อยู่ใน 10 เพจแห่งปีที่คนโหวตกับประชาไท(ดู) แต่ละเพจก็มีเอกลักษณ์ของแต่ละเพจแตกต่างกันไป ผมก็เข้าไปแวะเวียนอ่านเพจที่ว่ามาทั้งหมดเป็นระยะ โดยส่วนตัวสมัยก่อนชอบเพจศาสดาเพราะเนื้อหาเกี่ยวกับทางเพศ ผสมกับการสอดแทรกเรื่องการเมืองเป็นระยะ ช่วงนั้นอ่านสนุกดี แต่หลังจากเจ้าของเพจโดนดราม่าเข้าไป (เกี่ยวกับเรื่องกีฬาโอลิมปิก)ปรากฏว่าเพจนั้นเป๋ไประยะหนึ่ง หลังๆรู้สึกเขาจะเน้นแต่เรื่องทางเพศ เรื่องการเมืองไม่ค่อยเน้นเหมือนเมื่อก่อน อีกอย่างผมว่าจุดยืนของเขาเอียงเข้าทาง นปช. มากไปหน่อย จริงๆ แล้วการที่เจ้าของเพจจะมีจุดยืนทางการเมืองฝั่งไหน ผมว่าเป็นเรื่องปรกติ แต่ปัญหาคือถ้าเราถลำตัวเข้าไปใกล้ชิดฝั่งไหนมากเกินไป มันจะกระทบต่อความนึกคิดของเราด้วย ผมอยากให้เขาถอยออกมาซักก้าวแล้วยืนเชียร์จากขอบกระดาน มันจะเห็นภาพรวมกระจ่างกว่าลงไปเดินหมากด้วยตัวเอง หลังๆที่ติดตามบ่อยๆก็มีเพจโหดสัส เพจสมรักพรรคเพื่อเก้ง เพจสมรักนี่เขาจิกกัดได้ขำๆ จนคนหนุ่มสาวติดกันงอมแงม ในขณะที่โหดสัสที่เป็นเพจเถื่อนๆ ดูห่ามและถนัดในการปาขี้(และเสียดสีสถาบันเป็นประจำ เชื่อกรูเถอะกรูอ่านสัญลักษณ์มึงออกหมดแหละ) ถ้าพิจารณาให้ดีๆจะพบว่าในความห่ามบัดซบนั้นมีอะไรแฝงอยู่ แต่ไอ้ที่แฝงอยู่เป็นอะไรผมก็บอกได้ไม่ชัดเจนเหมือนกัน เพจ Drama-addict กับภาพที่พูดถึงการโหวต ในฐานะที่เป็นแอดมินภูมิใจไหมที่มีคน สนใจเพจคุณ คิดว่าที่ทำไปเกิดผลอะไรกับสังคมบ้าง เอาแรงบันดาลใจมาจากไหน ก่อนและหลังทำ มีอะไรเปลื่ยนไปในชีวิตบ้าง ก็มีคนหลังไมค์มาเป็นระยะ บอกว่าอ่านดราม่าแล้วคลายเครียด ได้สาระ ได้เท่านี้ผมก็ดีใจมากแล้ว แอดมินเพจเป็นทีมหรือว่าทำคนเดียว และแอดมินแต่ละคนเป็นใคร ผมเป็นยามครับ หลักๆทำคนเดียว มีคนมาช่วยบ้างประปราย คิดว่าคนมา like หรือติดตามเพจคุณเพราะอะไร รวมทั้งคนกดโหวตเพจคุณเพราะอะไร น่าจะมาอัพเดทข่าวสารและอ่านหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับดราม่าเรื่องใหม่ๆ อยากจะบอกอะไรกับคนเหล่านั้น(ที่กดไลค์และโหวต)บ้าง อย่าเชื่อเรื่องที่จ่าพูดทุกคำ อ่านดราม่าแล้วคิดด้วยวิจารณญาณของตัวเองนะโตๆกันแล้ว ถ้าจะให้นิยามเพจคุณ เราควรเรียกหรือทำความเข้าใจว่าเพจคุณคืออะไร เพจดราม่าไงครับ ตอนนี้มีดราม่าระหว่างแฟนเพจใน facebook เรื่อง "ก๊อบปี้" หรือละเมิดลิขสิทธิ์ คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร รวมถึงมองการระดมรีพอร์ตใน facebook ว่าอย่างไร ผมไม่ชอบเรื่องที่ผมกำลังทำอยู่เลย แต่ผมมองไม่เห็นหนทางอื่นแล้วจริงๆ สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่คือการสร้าง hate speech ให้คนไทยรุ่นใหม่เห็นว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องน่าขยะแขยง น่ารังเกียจ น่าประณาม ถ้าเพจไหนทำซ้ำซากไม่รู้จักสำนึกก็อยากจะเชิญชวนให้ชาวเน็ทช่วยกันรีพอร์ตเพจนั้น จริงๆแล้ววิธีที่ดีที่สุดคือสร้างจิตสำนึกให้คนไทยรู้สึกว่าการใช้สินค้าถูกลิขสิทธิ์เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจ แต่หลังจากเขียนดราม่าแนวๆนี้มาเยอะ พบว่าคนไทยตั้งแต่เด็กยันแก่ยังคงมีทัศนคติว่า การใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความฉลาด ในขณะที่คนซื้อของแท้เป็นคนโง่ ในเมื่อเราสามารถโหลดของเถื่อนมาใช้กันฟรีๆแล้วจะใช้ของแท้ให้โง่ทำไม นอกจากนั้นยังมีการยกอ้างเหตุผลข้างๆคูๆสารพัด เช่น ช่วยเพิ่มดุลการค้าให้ประเทศชาติ ถุย!!! คนพวกนี้จะไม่มีวันสำนึกเลยถ้าเขาไม่สร้างสรรค์ผลงาน แล้ววันหนึ่งผลงานนั้นถูกผู้อื่นฉวยไปหาผลประโยชน์ แต่เราจะหวังให้คนไทยทุกคนเป็นกลุ่มวิชาชีพที่สร้างสรรค์ผลงานเหรอ เป็นไปไม่ได้ บางคนตั้งแต่เกิดยันตายไม่เคยสร้างสรรค์ผลงานใดๆเป็นของตัวเองก็มี หรือจะให้พึ่งกฎหมายหรอ ผมจะเล่าให้ฟังว่าเร็วๆนี้มีนักวาดรูปท่านหนึ่ง ถูกขโมยภาพไปใช้เป็นป้ายโฆษณาเทศกาล นักวาดคนนั้นฟ้องศาลบอกว่าภาพของเขามีลิขสิทธิ์คุ้มครอง เขาเผยแพร่ภายใต้ creative common แต่ศาลกลับไม่เข้าใจว่า creative common คืออะไร สุดท้ายนักวาดเป็นฝ่ายแพ้คดี กระทั่งตำรวจที่รับผิดชอบเกี่ยวกับด้านนี้ รู้ทั้งรู้ว่าพันทิพย์พลาซ่าเป็นแหล่งขายแผ่นผีซีดีเถื่อนขนาดมหึมา แต่แทนที่จะบุกกวาดล้าง เขากลับเอาจ่าเฉยไปตั้งในพันทิป เพื่อหวังให้คนที่ขายแผ่นผีเห็นจ่าเฉยแล้ว เกิดความรู้สึกมีจิตสำนึกอยากใช้สินค้าถูกลิขสิทธิ์ ในเมื่อหน่วยงานของรัฐบาลมันเป็นซะแบบนี้เราคงพึ่งใครไม่ได้นอกจากพึ่งตัวเอง ภาพหน้าปกเพจ ในฐานะที่เป็นแอดมิน เคยแบนคนที่เข้ามาในเพจบ้างไหม เพราะเหตุใด แบนไปเกือบพันแล้วมั้งครับ ส่วนมากก็พวกโพสต์ก่อกวน พูดจาซ้ำซากน่ารำคาญ หรือโฆษณาเพจตัวเองหน้าด้านๆกับพวกขายตรง ผมแบนหมด คิดเห็นอย่างไรกับการเซนเซอร์ รัฐควรควบคุมหรือบล็อกเว็บไซต์หรือไม่ ผมว่าไม่ควรนะ เพราะกลไกของเฟซบุ๊กในการรีพอร์ตเพจที่ไม่เหมาะสมมันมีอยู่แล้ว ปัญหาคือคนไทยใช้กันไม่เป็นเอง ถ้าใช้กันอย่างถูกต้อง ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเซ็นเซอร์เพราะประชาชนจะเป็นผู้คัดกรองเองว่าอะไรเหมาะอะไรไม่เหมาะ แอดมินบางเพจมีการเอาข้อมูลส่วนตัว ของบุคคลธรรมดามาเผยแพร่ให้สาธารณะรู้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือหรือ เศรษฐกิจบางอย่าง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัวก่อนนั้น คุณมองพฤติกรรมแบบนี้ว่าอย่างไร ผิดกฎหมายชัดเจนนี่ครับ มองว่าปี 2013 นี้ แนวโน้มของเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะ facebook จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่ ทุกอย่างจะโกลาหลมากขึ้นกว่าที่เป็นในปัจจุบัน ภาพปกเพจขณะนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นัก นสพ.จีน ประท้วง จนท.รัฐเซ็นเซอร์สื่อ-แก้ บท บก. Posted: 06 Jan 2013 05:51 AM PST กลุ่มคนทำงาน นสพ.เสรีนิยมในจีน เรียกร้องให้เจ้าพนักงานกรมประชาสัมพันธ์ประจำกวางตุ้งออกจากตำแหน่ง หลังถูกแปลงบท บก.เรียกร้องการปฏิรูปประเทศให้กลายเป็นบทสรรเสริญพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นครั้งแรกที่สื่อจีนออกมาเผชิญหน้ากับพรรครัฐบาลโดยตรง
อดีตกองบรรณาธิการ 35 คน และพนักงานฝึกหัด 50 คนของ Southern Weekly หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มเสรีนิยมของจีน ออกจดหมายเปิดผนึกสองฉบับเรียกร้องให้ ตั่ว เจิน เจ้าพนักงานกรมประชาสัมพันธ์ประจำมณฑลกวางตุ้งของจีนออกจากตำแหน่ง และบอกว่าเขาทำตัวเป็นเผด็จการในยุคสมัยที่มีการเปิดกว้างมากขึ้น เหตุเกิดขึ้นหลังจากที่บทบรรณาธิการปีใหม่ของ Southern Weekly มีการเขียนเรียกร้องให้รับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ถูกปรับเปลี่ยนในนาทีสุดท้ายให้กลายเป็นการยกย่องสดุดีความดีความชอบของพรรคคอมมิวนิสต์แทน ซึ่งทาง Southern Weekly บอกว่าเป็นการแทรกแซงสื่ออย่าง 'ป่าเถื่อน' ขณะที่มีความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าวเว็บไซต์ของ Southern Weekly ก็ถูกปิดหลังจากที่ได้เผยแพร่บทความเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง "ถ้าหากสื่อสูญเสียความน่าเชื่อถือและอิทธิพลแล้ว พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลจะสามารถส่งเสียงไปถึงหรือทำให้ประชาชนเชื่อได้อย่างไร" Southern Weekly กล่าวผ่านจดหมายเปิดผนึก ด้านนิตยสารออนไลน์ หยานหวง ชุนชิว หรือ "ประเทศจีนผ่านยุคสมัย" ได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีจีนรับรองสิทธิต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เช่น เสรีภาพในการแสดงความเห็นและในการชุมนุม และเรื่องการเซ็นเซอร์สื่อถือเป็นบททดสอบว่าผู้นำจีนคนใหม่จะเปิดกว้างต่อการปฏิรูปหรือไม่ ทางด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนออกมาปฏิเสธว่าทางการไม่ได้เซ็นเซอร์ข่าว แต่ขณะเดียวกันเว็บล็อกส่งข้อความขนาดสั้นอย่าง Sina Weibo ก็ถูกกรองคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งกรณี Southern Weekly หลายรายการ และมีรายงานว่าผู้ใช้หลายคนถูกระงับการใช้งาน จวงเฉิน บก. BBCChinese.com กล่าวว่านี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่างคณะทำงานของหนังสือพิมพ์กับเจ้าหน้าที่พรรครัฐบาล ขณะที่มาร์ติน เพเชียน นักข่าว BBC ประจำกรุงปักกิ่งกล่าวว่า ขณะที่สื่อของรัฐบาลพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้เหล่าผู้นำใหม่ดูมีจิตใจปฏิรูปแต่รัฐบาลก็ยังคงปราบปรามกลุ่มคนที่ต่อต้านอยู่ นักปฏิรูปหลายคนบอกว่าหากไม่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและประชาธิปไตยในระดับรากหญ้ามากกว่านี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบหรืออะไรที่ร้ายแรงกว่านั้น สื่อในจีนจะถูกตรวจสอบโดยกรมประชาสัมพันธ์ (propaganda department) ซึ่งมักจะเปลี่ยนเนื้อหาให้เป็นไปในทางเดียวกับแนวคิดของพรรครัฐบาล สื่อ Southern Weekly เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของจีนที่แตกหน่อมาจากหนังสือพิมพ์รายวัน Southern Daily จากสื่อในเครือ Southern Newspaper Media Group ในมณฑลกวางตุ้ง เริ่มก่อตั้งตั้งแต่ปี 1984 มียอดจำหน่ายหมุนเวียนโดยเฉลี่ย 1,600,000 เล่มในแต่ละฉบับ ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในจีน โดยเป็นที่รู้จักในฐานะที่มีข่าวเชิงสืบสวนที่ตีแผ่จริงจังและพยายามทดสอบขีดจำกัดของการเซ็นเซอร์สื่ออยู่เสมอ
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ทหารพม่า-ไทใหญ่ RCSS/SSA ปะทะกันหลายระลอกใกล้ชายแดนไทย Posted: 06 Jan 2013 05:46 AM PST
ทหารพม่าและทหารไทใหญ่ RCSS/SSA ปะทะกันหลายระลอกใกล้ชายแดนไทยด้านตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน ฝ่ายพม่าดับ 1 การปะทะเกิดขึ้นหลังทางการพม่าฉลองวันรับเอกราชครบ 65 ปีผ่านไปได้เพียง 1 วัน... มีรายงานจากแหล่งข่าวชายแดนแจ้งว่า เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (5 ม.ค.) ได้เกิดเหตุการปะทะกันหลายระลอกระหว่างทหารกองทัพพม่ากับทหารกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army-SSA) ของสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State-RCSS) ซึ่งเป็นกองกำลังไทใหญ่กลุ่มของพล.ท.เจ้ายอดศึก การปะทะเกิดขึ้นในเขตพื้นที่อ.หัวเมือง รัฐฉานภาคใต้ ตรงข้ามชายแดนไทยด้านอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เหตุเกิดจากทหารสองฝ่ายลาดตระเวนไปพบเจอกัน จากการสอบถามพ.ท.อ่องเมียะ ผบ.หน่วยพื้นที่ 606 ของ RCSS/SSA ซึ่งมีกองบัญชาการอยู่ที่บ้านกองมุ่งเมือง ตรงข้ามบ้านรักไทย (ฝั่งไทย) และเป็นผู้รับชอบพื้นที่ เปิดเผยว่า ทหารทั้งสองฝ่ายได้เกิดการปะทะกันเมื่อเวลา 7.05 น. จุดปะทะอยู่ตรงบริเวณกลางดอยนะกา ในพื้นที่ตำบลแม่ออ อยู่ห่างจากบ้านรักไทย (ชายแดนไทย) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 7 กม. และอยู่ห่างจากบ้านหัวเมือง ฝั่งรัฐฉาน (อดีตกองบัญชาการขุนส่า) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 20 กม. ฝ่ายทหารพม่ามีกำลังพลจำนวน 25 นายนำโดยร.อ.ตานโก่อู จากสังกัดกองพันทหารราบเบา 514 ส่วนฝ่ายทหารไทใหญ่ RCSS/SSA อยู่ในสังกัดหน่วยพื้นที่ 606 โดยการปะทะสองฝ่ายใช้เวลานานเกือบ 40 นาที ผลฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 1 นาย ส่วนฝ่าย RCSS/SSA ไม่มีการสูญเสีย ทั้งนี้ ทราบว่าทหารพม่าชุดที่เกิดการปะทะกับทหารไทใหญ่ RCSS/SSA ครั้งนี้ เป็นทหารหน่วยคุ้มกันรถแทรกเตอร์ที่เข้ามาไถทำถนนในพื้นที่จากบ้านหัวเมืองไปยังบ้านกองป่าคา โดยก่อนหน้านี้ทหารพม่าได้มีการแจ้งกับทางฝ่ายทหารไทใหญ่ทราบว่าจะเข้ามาดูแลการไถทำถนน แต่เมื่อเข้ามาในพื้นที่ได้ออกทำการลาดตระเวนเข้าไปในพื้นที่ที่ทหารไทใหญ่ RCSS/SSA เคลื่อนไหวและเมื่อทหารทั้งสองฝ่ายเจอกันจึงเกิดการปะทะกันขึ้น พ.ท.อ่องเมียะ เปิดเผยอีกว่า หลังเกิดการปะทะทหารพม่าได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ไป และจากนั้นไม่นานได้ยิงลูกระเบิด M 79 จำนวน 4-5 ลูกเข้าใส่จุดที่ทหารไทใหญ่ RCSS/SSA เคลื่อนไหวอยู่อีก แต่ไม่ได้สร้างความสูญเสียให้แก่ฝ่ายไทใหญ่และทางฝ่ายไทใหญ่ก็ไม่ได้ตอบโต้กลับ กระทั่งเวลาเที่ยงวัน ทหารทั้งสองฝ่ายได้เกิดการปะทะกันขึ้นอีกครั้ง หลังจากทหารพม่าชุดเดิมไปพบกับทหารไทใหญ่อีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นชุดลำเลียงเสบียง สองฝ่ายปะทะกันนานเกือบ 1 ชั่วโมง เบื้องต้นยังไม่ทราบการสูญเสียของทั้งสองฝ่าย พ.ท.อ่องเมียะ กล่าวว่า หลังเกิดการปะทะกันทางฝ่ายทหารพม่าได้มีการเตรียมเสริมกำลังเข้าในพื้นที่เพิ่ม โดยพบมีการเคลื่อนกำลังพลจากสังกัดกองพันทหารราบ 287 ซึ่งมีกำลังพลกว่า 100 นาย มุ่งหน้ามายังพื้นที่ที่เกิดการปะทะกัน โดยขณะนี้กำลังพลชุดดังกล่าวเดินทางมาถึงบ้านปุ่ง อยู่ห่างจากพื้นที่ปะทะด้วยระยะทางเดินเท้าประมาณ 1 วัน ซึ่งหากกำลังพลชุดดังกล่าวถูกส่งเข้ามาถึงในพื้นที่จริง แนวโน้มที่ทหารสองฝ่ายจะเกิดการปะทะกันมีสูงและคาดว่าจะรุนแรงกว่าครั้งนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าและสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS องค์กรการเมืองกองทัพรัฐฉาน SSA ได้เจรจาตกลงหยุดยิงกันเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2554 ซึ่งนับจากนั้นมาทหารสองฝ่ายยังคงสู้รบกันต่อเนื่อง กระทั่งปลายปีที่แล้วนับจำนวนการปะทะกันไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง และการปะทะครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นนครั้งแรกนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2556 อีกทั้งการปะทะกันครั้งนี้เกิดขึ้นเพียง 1 วัน หลังรัฐบาลพม่าจัดพิธีเฉลิมฉลองวันได้รับเอกราชจากอังกฤษครบ 65 ปีไปเมื่อวันที่ (4 ม.ค.) ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: นักโทษการเมืองตายในคุก Posted: 05 Jan 2013 08:54 PM PST เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคมที่ผ่านมา ได้เกิดกรณีประจานความอยุติธรรมในสังคมไทยอีกครั้ง เมื่อมีรายงานจากกรมราชทัณฑ์ว่า นักโทษการเมือง ชื่อ นายวันชัย รักสงวนศิลป์ ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้วในสถานที่คุมขังที่เรือนจำพิเศษ หลักสี่ ทั้งที่นายวันชัยเพิ่งจะมีอายุเพียง ๓๑ ปี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้อธิบายว่า ในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๗ ธันวาคม หลังจากที่นายวันชัยเสร็จสิ้นจากการแข่งขันกีฬาก็เข้ามาพักนั่งดูเพื่อนผู้ต้องขังเล่นหมากรุก และต่อมานายวันชัยเดินเข้าไปล้างหน้าที่ห้องน้ำ เมื่อเดินออกจากห้องน้ำ นายวันชัยก็ล้มลงกับพื้น และถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา รายงานผลการชันสูตรศพจากนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ได้ตรวจสาเหตุการเสียชีวิตและรายงานว่า เกิดจากระบบการหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายแต่อย่างใด หลังจากทราบเหตุการณ์ นางทองมา มารดาของวันชัย กล่าวทั้งน้ำตาว่า รู้สึกเสียใจที่สุดกับเหตุการณ์นี้ แม้ไม่ติดใจเอาความ แต่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือนักโทษการเมืองให้ได้รับการประกันตัว หรือให้ได้ปล่อยออกมา ไม่ควรต้องถูกขังอย่างไม่รู้ชะตากรรม เพราะไม่อยากให้มีแบบนี้อีกแล้ว และอธิบายด้วยว่า วันชัยเป็นลูกชายคนเดียวในจำนวนลูก ๓ คน และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหารายได้เลี้ยงครอบครัว เขาจบการศึกษาชั้น ป.๖ มีอาชีพรับจ้างดายหญ้า และรับจ้างทั่วไป วันเกิดเหตุเขาดายหญ้าอยู่ที่สถานีตำรวจ ส่วนเธอรับจ้างเกี่ยวข้าวอยู่ในนา ทราบเรื่องอีกทีก็ตอนลูกชายโดนจับและถูกคุมขัง ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา ๕๓ ( ศปช.) ได้ระบุว่า วันชัย รักสงวนศิลป์ สถานะโสด เป็นชาวตำบลหนองไผ่ อำเภอหนองหาน อุดรธานี ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยเดินทางจากบ้านที่หนองหารมาชุมนุมบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุติการใช้ความรุนแรงในการเข่นฆ่าประชาชน ในการสลายการชุมนุมที่บริเวณราชประสงค์ในกรุงเทพมหานคร ในระหว่างนั้น ได้เกิดการเผาศาลากลางจังหวัด เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการปราบปรามของกองทัพ และในวันนั้นทางการตำรวจอุดรธานีได้ยิงใส่ผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๒ คน ชื่อ นายเพิน ทองมา และ นายอภิชาติ ระชีวะ และมีผู้บาดเจ็บอีก ๒ คน ผู้ที่เสียชีวิตก็มาจากการโดนกระสุนจริงของเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น ต่อมา หลังจากเหตุการณ์ได้มีการกวาดล้างจับกุมประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะที่อุดรธานี ซึงมีการดำเนินคดีในศาลจังหวัดถึง ๒๑๒ คน โดยนายวันชัยเป็นหนึ่งในผู้ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ต่อมา อัยการแผ่นดินได้ยื่นฟ้องต่อศาล ๒๒ คน ฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ความผิดฐานละเมิด พระราชกำหนดภาวะฉุกเฉิน บุกรุกสถานที่ราชการ ร่วมกันทำลายทรัพย์สิน เป็นผู้โฆษณาให้ผู้อื่นกระทำผิด และวางเพลิงเผาอาคารที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานี อาคารเทศบาลนครอุดรธานี และศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้จำเลยมีความผิดตามข้อหาวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ และละเมิดภาวะฉุกเฉิน โดยลงโทษหนัก ๕ คน คือ นายอาทิตย์ สายทอง จำคุก ๒๒ ปี ๖ เดือน นายวันชัย รักสงวนศิลป์ จำคุก ๒๐ ปี ๖ เดือน นายกิตติพงษ์ ชัยกัง ซึ่งเป็นผู้เยาว์ จำคุก ๑๑ ปี ๓ เดือน นายเดชา คมขำ และนายบัวเรียน แพงสา จำคุก ๒๐ ปี ๖ เดือน นอกจากนี้ อีก ๔ คน คือ นายประชา โพนหลวง จำคุก ๔ ปี ๖ เดือน นายสมใจ เหล็กแสน นายนิมิต ด้านซอม และนายอาทิตย์ ทรงเดช จำคุก ๒ ปี ๖ เดือน ส่วนจำเลยที่เหลือคือ ๑.นายวิทยา ชาวเวียง ๒.นางปฐมาวดี วินิจจามร ๓.นายธนพล มาดีประเสริฐ ๔.นายสมศรี ไกลพล ๕.นายอุดร หลาบยองศรี ๖.นายแสงทอง ประจำเมือง ๗.นายสมจิตร อารีย์ ๘.นายคำพอง ทัดศรี ๙.นายเหมือนทอง สมบุญมี ๑๐.นายมงคล ชมคุณ ๑๑.นางแสงเดือน สุภาพล ๑๒.นางรัศมี ทองสีดำ ๑๓.นางปาริชาติ จวงจันทร์ ศาลพิพากษามีความผิด ตาม พรก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน จำคุก ๑ ปี รับสารภาพเหลือจำคุกคนละ ๖ เดือน แต่ศาลให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าทั้งหมดถูกขังมาพอแก่โทษแล้วให้ปล่อยตัว กรณีของนายวันชัยนับจากวันที่ถูกจับกุม จนถึงวันที่เขาเสียชีวิตในเรือนจำ เป็นเวลา ๒ ปี ๗ เดือนเศษ เขามีโอกาสได้รับสิทธิในการประกันตัวในช่วงก่อนที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา เป็นเวลาเพียง ๒ เดือนเศษเท่านั้น กรณีที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่ง ได้สะท้อนให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่ดำเนินการโดยกระบวนการศาล เพราะจะเห็นได้ว่า มีการตั้งธงล่วงหน้าที่จะนำตัวคนเสื้อแดงมาลงโทษ โดยจะเห็นได้จากการห้ามประกันตัว และการตัดสินลงโทษขั้นสูง เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินการต่อฆาตกรที่จะต้องรับผิดชอบในการสังหารประชาชน ก็มีความคืบหน้าที่ช้ากว่ามาก และถ้าเป็นผู้กระทำผิดของกระบวนการเสื้อเหลือง ยังไม่มีใครต้องถูกดำเนินคดีถึงขั้นติดคุกเลย ในการพิจารณาคดี คณะตุลาการก็ไม่ได้พิจารณาว่านี้เป็นกรณีทางการเมือง หรือไม่พิจารณาในด้านที่เป็นคุณแก่จำเลย เช่น ไม่พิจารณาว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิด ไม่ได้เป็นผู้ร้ายโดยสันดาน ยิ่งกว่านั้น ก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยเช่นคุณวันชัย รักสงวนศิลป์ เป็นคนจุดไฟลงมือเผา การตัดสินตามความผิดภาวะฉุกเฉิน ก็ไม่ได้มีการพิจารณาว่า ภาวะฉุกเฉินนั้นมีความชอบธรรมหรือไม่ ดังนั้น จึงสามารถอธิบายได้ว่า ประชาชนอย่างคุณวันชัย รักสงวนศิลป์ รวมทั้งอีกหลายคนที่ยังติดอยู่ในคุกนั้น เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถูกตัดสินดำเนินคดีเพราะเป็นคดีการเมือง ที่มุ่งจะทำลายความชอบธรรมในการต่อสู้ของคนเสื้อแดง แต่กระนั้น คงจะต้องอธิบายด้วยว่า การเสียชีวิตของคุณวันชัย รักสงวนศิลป์ ส่วนหนึ่งมาจากความละเลยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้ว อ่อนแอและลังเลใจ ไม่ยอมที่จะใช้มาตรการในการนิรโทษกรรมประชาชนที่ติดคุก ทั้งที่การออกเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรมความผิดของประชาชนเนื่องจากภาวะฉุกเฉิน ก็เป็นเรื่องที่ทำได้โดยไม่ยาก แต่เมื่อไม่ดำเนินการ ก็ทำให้พี่น้องประชาชนที่เป็นนักโทษการเมืองทั้งหมด ต้องติดคุกกันมานานเป็นปี หลังจากพรรคเพื่อไทยขึ้นบริหารประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น การเสียชีวิตของคุณวันชัยได้สร้างผลสะเทือนพอสมควร เพราะในที่สุด นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ส่งหรีดมาแสดงการไว้อาลัยในงานศพด้วย นอกจากนี้ คุณธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ก็ได้แถลงย้ำว่า แผนงานของ นปช.ในปี ๒๕๕๖ ก็คือ การเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุมขังให้ได้รับการประกันตัว เพราะไม่อยากให้ตายทีละคน แต่จะได้ประกันตัวหรือไม่ก็อยู่ที่ศาล แต่ทาง นปช.จะเร่งผลักดัน พ.ร.ก. นิรโทษกรรม ให้กับประชาชนทุกสีเสื้อ ยกเว้นแกนนำและผู้สั่งฆ่า สรุปแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งคงต้องดำเนินการให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองเหล่านี้โดยเร็ว มิฉะนั้น ก็จะเป็นไปดังเสียงสะท้อนว่า พรรคประธิปัตย์เป็นรัฐบาล ประชาชนตายบนท้องถนน พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ประชาชนถูกทิ้งให้ตายในคุก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น