โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กวีประชาไท: ‘ นิ ร โ ท ษ ส ก รั ม ’

Posted: 20 Jan 2013 09:27 AM PST

พ่อแม่กูมิใช่ 
สูก็แค่ประชาชน
คุณค่ามิควรคน
เพียงเศษซากและตัวซวย

เหมาะคุกและเหมาะขัง
ณ ขื่อคอกอย่าง 'งัวควย'
บ่นบ้าหาตะบวย
มิหมอบก้มกบาล บา!

ผิดสูสมควรตาย
ขุดโคตรก่นถึงฎีกา
ผิดกู เถอะ อาญา
ก็รอลง..กระไรฤา?

ศักดิ์ศรีแห่งปวงสู
ต่อปวงกูก็กิ้งกือ
บีบม้วยมิเหมาะมือ
สิ เหมาะตาย ณ ใต้ตีน

โป้งปากสิกูปิด
สูอย่าหมายตะกายปีน
ปวงสัตย์และมวลศีล
มิเหมาะใช้อย่าไขสือ

สูคิดจักกูขวาง
จึงโหงห่ากระพือฮือ
ยั้วเยี้ยมายึกยือ
มายื้อยุด มิยอม ยอม!

ขน 'เควี่ย' มาทั้งโคตร
มาป้องปาก 'ปรองดองปลอม'
หมาหมู่และปากมอม
อะโหมั่ว..แม่ง ตัวเมีย

กี่ทาสที่ทนทุกข์
เพียงหมายลุกขึ้นงัวเงีย
ส่ำสัตว์ก็รุมเสีย
นิรโทษสกรัม. .กรรม !ฯ
 

สุขุมพจน์ คำสุขุม


ไขคำ : 'งัวควย' (สำเนียงพูดอย่างอีสาน) หมายถึง 'วัว ควาย'........ถ้าหมายความไกล 
กว่านี้เป็นของผู้คิด ไม่ใช่ของคนเขียนครับ

         : 'เควี่ย' (สะแลง) ...เชิญบัญญัติกันตามสบายครับ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : การเมืองมวลชนกับการปรองดอง

Posted: 20 Jan 2013 09:13 AM PST

หลายปีมาแล้ว ผมเสนอการวิเคราะห์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยว่า ระบบการเมือง(ความสัมพันธ์ทางอำนาจ)ไม่สามารถปรับตัวเอง ให้รองรับการขยายตัวของคนกลุ่มใหม่ซึ่งผมเรียกว่าคนชั้นกลางระดับล่างได้ คนเหล่านี้มีจำนวนมหึมาและจำเป็นต้องมีพื้นที่ต่อรองทางการเมืองในระบบ เพราะชีวิตของเขา โลกทรรศน์ของเขา และผลประโยชน์ของเขาเปลี่ยนไปแล้ว

ตราบเท่าที่ชนชั้นนำในระบบการเมืองไม่ยอมปรับตัว ความขัดแย้งอย่างรุนแรงก็จะดำเนินต่อไป และในหลายปีที่ผ่านมา ผมยังมองไม่เห็นสัญญาณว่าชนชั้นนำสำนึกถึงความจำเป็นในแง่นี้ หรือพร้อมจะหาหนทางต่อรองกับคนกลุ่มใหม่ เพื่อปรับระบบการเมือง

แต่ในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าโอกาสดังกล่าวเริ่มปรากฏให้ทุกฝ่ายมองเห็นได้ชัดขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปรับระบบการเมือง จนทุกฝ่ายพอยอมรับได้ และหันมาต่อสู้กันในระบบ (ซึ่งไม่ได้หมายความแต่ที่รัฐสภาอย่างเดียว) โดยไม่เกิดความรุนแรง เริ่มจะมีลู่ทางมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากอุปสรรคอีกหลายอย่างที่จะทำให้เส้นทางสู่ความเป็นระเบียบนั้น อาจมีลักษณะกระโดกกระเดกบ้าง แต่ผมคิดว่าดีกว่าที่ผ่านมา

ฉะนั้น ผมจึงขอพูดถึงนิมิตหมายดีๆ ที่ปรากฏให้เห็นในช่วงนี้

ผมทายไม่ถูกหรอกว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกหรือไม่ แต่รัฐประหารกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างเดิมเสียแล้ว อย่างน้อยการรัฐประหารครั้งล่าสุดก็ชี้ให้ชนชั้นนำเดิมเห็นประจักษ์แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แม้บางคนในหมู่ชนชั้นนำเดิม ซึ่งยังอาจมองไม่เห็น (เช่นผู้อยู่เบื้องหลังของการเคลื่อนไหวกลุ่มพิทักษ์สยาม) ก็ไม่อาจใช้การรัฐประหารได้ เพราะกองทัพไม่ยอมเคลื่อนเข้ามาเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด อย่างน้อยก็ในระยะเวลาอันสั้นข้างหน้า

ปราศจากเครื่องมือในการยับยั้งหรือชะลอการปรับระบบการเมือง ชนชั้นนำเดิมต้องหันมาใช้เครื่องมืออื่น ซึ่งดูเป็นการเคารพต่อ"ระเบียบสังคม"ทางการเมืองมากกว่า เครื่องมือสำคัญคือที่ได้ออกแบบฝังเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้แก่องค์กรอิสระซึ่งไม่ได้อิสระจริง กระบวนการทางตุลาการนานาชนิดซึ่งไม่มีใครสามารถตรวจสอบยับยั้งได้ นอกจากกลุ่มชนชั้นนำเดิม รวมทั้งวุฒิสภาซึ่งมาจากการสรรหาอีกครึ่งหนึ่งด้วย

นี่คือเหตุผลที่ต้องขัดขวางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทุกวิถีทางที่จะเป็นไปได้ แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องให้"คำแนะนำ"ที่ไม่เกี่ยวกับคดี

แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า  ความขัดแย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนี้ แม้มีมวลชนเข้ามาร่วมด้วย แต่ไม่นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ ต่างฝ่ายต่างใช้สื่อของตนเองในการโต้เถียงกัน ด้วยเหตุผลบ้าง ด้วยอารมณ์บ้าง แม้กระนั้นก็ไม่ประทุกลายเป็นการยกพวกตีกัน หรือจลาจลกลางเมือง

เช่นเดียวกับการรัฐประหาร การชุมนุมใหญ่เพื่อสร้างเงื่อนไขเชิงบังคับกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพน้อยลงแก่ขบวนการมวลชน ฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดการชุมนุมใหญ่จนปะทะกันจึงมีน้อยลงไปมาก ความจริงผมคิดด้วยว่า ประเด็นใหญ่ที่จะดึงผู้คนมาร่วมชุมนุมใหญ่นั้น หมดความขลังไปเป็นส่วนใหญ่ เช่นประเด็นการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเคยดึงคนมาได้มากมายนับตั้ง 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา ไม่ขลังดังเดิมเสียแล้ว ผู้ที่ยังต้องการใช้ประเด็นนี้ ต้องกลับไปคิดว่าจะเสนอการละเมิดในลักษณะใด จึงจะปลุกคนขึ้น ประเด็นอื่นเช่นบุรณภาพเหนือพื้นที่ชายแดน จะปลุกขึ้นหรือไม่ ต้องรอคำตัดสินของศาลโลก แต่ผมออกจะสงสัยว่าไม่ขึ้นอีกนั่นแหละ เพราะที่จริงแล้ว มีพื้นที่ชายแดนของไทยซึ่งยังมีสถานะคลุมเครืออีกทั่วทุกด้าน และกับเพื่อนบ้านทุกประเทศ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะจัดการความคลุมเครือนั้นไปในทางใด – สันติภาพ หรือสงคราม – ต่างหาก

แท้ที่จริงแล้ว ผมสงสัยว่าชนชั้นนำการเมืองทุกฝ่ายกำลังตกใจกับ"การเมืองมวลชน" ชนชั้นนำไทยเคยใช้"การเมืองมวลชน"มานานแล้วก่อน 14 ตุลา แต่ใช้เพียงรูปแบบเช่นการประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ, เรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส, และล้มการเลือกตั้ง "สกปรก" 14 ตุลาเป็นการใช้"การเมืองมวลชน"กว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อนของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง แต่ด้วยความหวังแบบเก่าว่า เมื่อล้มกลุ่มอำนาจที่ครองอำนาจอยู่ขณะนั้นได้แล้ว มวลชนก็จะกลับบ้านนอนตามเดิม การณ์ไม่เป็นไปอย่างคาดหวัง เพราะ 14 ตุลาเป็น "การเมืองมวลชน"ที่แท้จริง มากกว่ารูปแบบ ปีกหนึ่งของมวลขนคือนิสิตนักศึกษาไม่ยอมกลับบ้านนอน ซ้ำยังอยู่ห่างจากการกำกับของชนชั้นนำอีกด้วย และด้วยเหตุนั้นจึงต้องสร้าง"การเมืองมวลชน"จากอีกปีกหนึ่งมาล้างผลาญปีกนิสิตนักศึกษา

ซึ่งเท่ากับเพิ่มพลังให้แก่พรรคฝ่ายค้านของระบบที่แท้จริงคือ พ.ต.ท. กลายเป็นบทเรียน (ซึ่งชนชั้นนำได้เรียนหรือไม่ก็ไม่ทราบได้) ว่า การทำลายพลังของ"การเมืองมวลชน"ด้วยวิธีรุนแรงแบบนั้น จะยิ่งทำให้ศัตรูของระบบเข้มแข็งขึ้น เอาเข้าจริงแล้ว "การเมืองมวลชน"ที่แท้จริง เป็นอันตรายต่อชนชั้นนำทางการเมืองมาก เพราะพลังทำลายล้างระบบของ"การเมืองมวลชน"รุนแรงมาก และกำกับไม่ได้ โดยเฉพาะกำกับไม่ได้โดยฝ่ายอำนาจ ระบบการเมืองตามประเพณีของสังคมทั้งหลายในโลกนี้พังทลายลงด้วย"การเมืองมวลชน"ทั้งนั้น

อย่าว่าอะไรเลย ดูที่สถาบันกษัตริย์ของทุกประเทศทั่วโลกก็ได้ ผู้"ล้มเจ้า"ตัวจริงในโลกนี้มีสองพวกเท่านั้น คือ"การเมืองมวลชน"และเผด็จการทหาร เพราะ"การเมืองมวลชน"ก็ตาม กองทัพก็ตาม ย่อมเกิดเจตน์จำนงอิสระของตนเองขึ้นจนได้ และเจตน์จำนงอิสระนี้ไม่จำเป็นว่าจะสอดคล้องกับเจตน์จำนงของระบบการเมืองที่มีอยู่เสมอไป

ว่าถึงสถานการณ์ของ"การเมืองมวลชน"ในประเทศไทย ผมคิดว่าทั้งกลุ่มเหลืองและแดง ค่อยๆ พัฒนาเจตน์จำนงอิสระของตนเองขึ้น จนผู้อยู่เบื้องหลังกำกับควบคุมยากขึ้นทุกที การทำงานของเหลืองไม่สัมพันธ์สอดคล้องกับ"แนวหน้า"กลุ่มจารีตนิยมฝ่ายอื่น เช่นกองทัพ หรือพรรค ปชป. รวมไปถึงองค์กรอิสระเช่น กกต.และ ปปช.ด้วย

วีรบุรุษของฝ่ายแดงคือคุณทักษิณรู้สึกถึงความหนักของเสื้อแดงมากขึ้นทุกที แม้แต่จะเอาชีวิตเลือดเนื้อของฝ่ายแดงไปแลกกับการพ้นคดีของตนเองก็ทำไม่ได้ เพราะมวลชนฝ่ายแดงจำนวนมากไม่ยอม และถึงกับออกมาประณามวีรบุรุษอย่างรุนแรง คุณทักษิณต้องรีบออกมาขอโทษ ซัดทอดความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียไข้หวัดไปโน่น นับวัน"การเมืองมวลชน"ก็เป็นภาระที่หนักขึ้นทุกที คุณทักษิณจึงได้แต่ขอบคุณ"เรือ"เสื้อแดงที่มาส่งถึงฝั่งแล้ว ขอแยกย้ายกันต่างคนต่างไปเสียที

แม้อ่อนกำลังลง แต่"การเมืองมวลชน"ก็ยังอยู่นะครับ ยังไม่สลายสิ้นซากเสียทีเดียว เพราะตราบเท่าที่ระบบการเมืองไม่ถูกปรับให้รับกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม "การเมืองมวลชน"ก็ยังเป็นเครื่องมือเดียวที่จะกดดันให้มีการปรับระบบการเมืองจนได้ แต่ผมคิดว่า"การเมืองมวลชน"เป็นอิสระมากขึ้น และสุขุมคัมภีรภาพมากขึ้นในการเคลื่อนไหว เพราะต่างฝ่ายยังต้องสะสมพลังมากกว่านี้อีกมาก เพื่อจะกดดันให้มีการปรับระบบการเมืองอย่างได้ผล ผมรู้สึกว่า แม้แต่แกนนำที่พูดเก่งๆ อย่างคุณสนธิ ลิ้มทองกุลหรือคุณณัฐวุฒิ ไสยเกื้อก็กุม"การเมืองมวลชน"ได้น้อยลง "การเมืองมวลชน"อาจกำลังเดินไปสู่อะไรที่สร้างสรรค์กว่าก็ได้ นอกจากนี้ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายต่างรู้แล้วว่า ไม่มีฝ่ายใดสามารถเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเด็ดขาด

ในสภาวะที่ความขัดแย้งพัฒนาถึงจุดงันทั้งสองฝ่ายนี้ เป็นสภาวะที่ดีที่สุดสำหรับการปรองดอง เสียงของคนอย่างอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ซึ่งไม่มีฝ่ายใดได้ยินมาก่อน ก็จะมีคนฟังบ้าง การพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างมวลชนของสองฝ่าย อาจเกิดขึ้นได้โดยโคตรเหง้าเหล่ากอไม่ถูกสื่อของทั้งสองฝ่ายพล่าผลาญเกียรติคุณลง

อย่างไรก็ตาม เวลาเราพูดถึงความปรองดอง สื่อและผู้นำทั้งสองฝ่ายไม่สนใจ"มวลชน" และไปคิดว่า หากผู้นำคู่ขัดแย้งสามารถจับเข่าคุยกันได้ ทุกอย่างก็จะจบ แต่นั่นเป็นการจบแบบเกี้ยเซี้ย ซึ่งความขัดแย้งในเมืองไทยได้เดินเลยจุดที่ผู้นำเกี้ยเซี้ยกันได้ แล้วทุกอย่างจะจบลงเสียแล้ว อย่าลืมว่าความขัดแย้งกันครั้งนี้ออกมาในรูป"การเมืองมวลชน"นับตั้งแต่แรก

ในสถานการณ์ดังที่กล่าวนี้ น่าสังเกตด้วยว่า ความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งเชิงนโยบาย (เช่นรับจำนำข้าว, ค่าแรง 300 บาท หรือรถคันแรก) มีการนำปรัชญาแนวคิดของทั้งตะวันตกและตะวันออกมาใช้เพื่อโต้แย้งกันในเรื่องอุดมการณ์ ผมรู้สึกว่าการโต้เถียงกันด้วยคำบริภาษหยาบคาย หรือข้อโต้แย้งแบบเดิมๆ กำลังลดน้อยถอยลง (อาจยังเหลืออยู่ใน ASTV กับพรรคปชป.) ข่าวเรื่องบุคคลชาวเสื้อเหลืองที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เพราะถูกกล่าวหาว่าเจตนาทำร้ายเจ้าพนักงานด้วยการขับรถชนและทับ ได้รับความเห็นใจและให้การปฏิบัติฉันมิตรจากชาวเสื้อแดงในเรือนจำ นับเป็นข่าวดี และสะท้อนบรรยากาศที่คลี่คลายไปในทางดีในช่วงนี้

แต่อย่าเพิ่งมองเห็นฟ้าทองผ่องอำไพ หนทางยังไม่ราบรื่นอย่างนิมิตหมายที่ดีซึ่งมองเห็นได้ในปัจจุบัน

ขบวนการของมวลชนยังไม่เข้มแข็งพอที่จะทำให้"การเมืองมวลชน"นำไปสู่การปรับระบบการเมือง แต่อาจลงเอยที่การเกี้ยเซี้ยของกลุ่มต่างๆ ในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้นก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ยากที่จะเกิดความสงบขึ้นได้

นับวันสื่อที่มุ่งจะทำหน้าที่ของตนโดยสุจริตมีน้อยลง คนทำสื่อก็เป็นมนุษย์ ย่อมเลือกข้างได้ แต่เลือกข้างแล้วก็ยังต้องทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อตรงต่อไป คนกวาดถนนเลือกข้างแล้ว แต่แอบเจาะโพรงในถนนเพื่อให้ข้างปรปักษ์ตกลงไปขาหัก ก็ไม่น่าจะเรียกตนเองว่าคนกวาดถนนได้อีกต่อไป ฉันใดก็ฉันนั้น

มีความรู้อีกมากที่สังคมควรรู้ แต่เป็นความรู้ที่ต้องสร้างขึ้นจากการศึกษาวิจัย นักวิชาการออกมารณรงค์ร่วมกับมวลชนก็ได้ แต่ยังมีหน้าที่เฉพาะของตนต้องทำต่อไป อย่างซื่อตรงต่อหน้าที่ด้วย

ผมคิดว่าสื่อและความรู้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เราขัดแย้งกันต่อไปได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง แต่เราขาดทั้งสองอย่างในเวลานี้

สังคมขาดเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้พรรคการเมืองเพื่อความขัดแย้งไม่ได้เลย เพราะพรรคการเมืองนำความขัดแย้งไปสู่การแย่งอำนาจ แทนที่จะนำไปสู่การต่อรองของฝ่ายต่างๆ ยังไม่มีนิมิตหมายอะไรที่แสดงว่าพรรคการเมืองจะเปลี่ยนตัวเอง

ผู้ทำความล้มเหลวแก่สังคมไทยในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา อาจไม่ใช่เสื้อสี แต่คือส่วนอื่นๆ ที่กุมเงื่อนไขของ"การเมืองมวลชน"ให้ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการสร้างความไร้ระเบียบขึ้นต่อรองกัน



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทุนนิยาม: ‘แม่สอด’ ด่านแรกของคนงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรม

Posted: 20 Jan 2013 08:57 AM PST

 
จากการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 พบว่าในปัจจุบันมีแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย 2,700,000 - 3,500,000 คน เป็นผู้ที่พำนักอาศัยและทำงานประมาณ 3,140,000 คน ขณะที่แรงงานที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย ณ เดือนกันยายน 2555 มี 1,160,000 คน ในส่วนของแรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาตคาดว่ามีประมาณ 2,000,000 คน หรือ 65%
 
การให้ความสำคัญแก่แรงงานข้ามชาติโดยผู้ประกอบการณ์ เริ่มมีภาพชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ช่วงปลายปี 2554, การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 40% ทั่วประเทศ เมื่อปี 2554 และ การประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่จะถึงนี้ ทำให้หลายฝ่ายจับจ้องมาที่ความสำคัญของแรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
 
ปรากฏการณ์ความสำคัญของแรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมถูกตอกย้ำอีกครั้ง เมื่อล่าสุด (เดือนพฤศจิกายน 2555) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประกาศที่จะ ทบทวนมาตรการผ่อนผันที่อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะหมดอายุลงในปลายเดือนธันวาคม 2555 นี้ เนื่องจากการร้องขอของผู้ประกอบการ
 
ในรายงานชิ้นนี้ขอนำเสนอการจ้างงานแรงงานข้ามชาติใน อ.แม่สอด จ.ตาก ด่านหน้าด่านแรกๆ ของแรงงานพม่ากับการเข้ามาทงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย
 
แรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมที่ อ.แม่สอด
 
ในปี 2550 หลังการรัฐประหาร 2549 ได้หนึ่งปี ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานต่างด้าวที่ อ.แม่สอด จ.ตาก พบว่าสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติใน  อ.แม่สอด นั้นจัดอยู่ในสภาพที่เลวร้ายเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยความ "เข้มงวด" ที่อาศัยกรอบของเรื่อง "ความมั่นคง" ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน ในขณะที่ประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยในขณะนั้น ส่งผลกระทบต่อเรื่องการจ้างงาน สภาพความเป็นอยู่ และสิทธิของแรงงานเป็นอย่างมาก
 
 
เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับแม่สอด เมื่อปี 2550
 
ม่สอดเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดตากที่อยู่ติดกับชายแดนประเทศพม่า ซึ่งนอกจากจะมีประชากรกลุ่มพม่าและกะเหรี่ยงแล้ว มีกลุ่มชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แม่สอดตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมียวดีซึ่งเป็นอำเภอชายแดนที่สำคัญอันดับรองของพม่า ระหว่างแม่สอดและเมียวดีมีแม่น้ำเมยคั่นกลาง
 
สำหรับสิ่งที่ผมไปเห็น, แม่สอดไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แต่ที่สามารถเป็นที่ต้องตาต้องใจนายทุนจากส่วนต่างๆ ของประเทศได้ ก็เพราะแม่สอดนั้นเป็น "เขตส่งเสริมการลงทุนพิเศษ" โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ให้ผลประโยชน์ทางภาษีเป็นกรณีพิเศษแก่นักลงทุนเพื่อส่งเสริมการลงทุน ทำให้มีโรงงานกว่า 300 โรงงานในเขตอำเภอแม่สอด---ซึ่งเหตุผลจริงๆ ที่สามารถทำได้ก็เพราะ "ค่าแรงที่แม่สอดนี่มันถูกมาก" (อย่างน่าใจหาย!)
 
ผมเองไม่ได้เข้าไปยังศูนย์ผู้อพยพ หรือที่แม่ตาวคลินิก ซึ่งเป็น 2 สถานที่ที่ถ้าใครก็ตามทำงานภาคประชาชนเมื่อไปถึงแม่สอดจะต้องไปเยี่ยมเยียน, สำหรับผมและคณะ เราตระเวนอยู่ในตัวเมืองและปริมณฑลขอบเขตใกล้กับย่านโรงงาน เพื่อเก็บข้อมูลของแรงงานข้ามชาติในตัวเมืองแม่สอด
 
จากคำบอกเล่าของพี่แรงงานข้ามชาติ ที่ผมได้มีโอกาสพูดคุย แกบอกว่าที่แม่สอดมีโรงงานมากกว่า 300 แห่งเข้ามาตั้ง ในแต่ละโรงงานก็จะมีแรงงานตั้งแต่ 100 กว่าคน จนถึงหลักพัน และส่วนใหญ่สภาพความเป็นอยู่ของแรงงาน "ไม่ดีเอาเสียเลย" และแกก็ตบท้ายด้วยประโยคที่ว่า "แต่ ... มันก็เลือกไม่ได้หนิ"
 
นายจ้างในโรงงานหลายแห่ง ได้จัดทำบัตรอนุญาตทำงานให้แรงงานข้ามชาติ (ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกโรงงาน และไม่ใช่แรงงานทุกคนที่จะมีบัตร) และจะหักค่าใช้จ่ายการทำบัตรจากเงินค่าจ้างของแรงงาน แม้ว่าแรงงานจะได้รับสิทธิในการถือครองบัตรอนุญาตทำงาน แต่ในนายจ้างส่วนใหญ่ จะเก็บบัตรตัวจริงไว้ และให้สำเนาไว้แก่แรงงานเพื่อเป็นสิ่งของประกัน ไม่ให้แรงงานเหล่านี้หนีไปทำงานที่อื่น 
 
บางแห่ง นายจ้างจัดที่พักอาศัยให้ สำหรับพี่คนที่ให้ข้อมูลแก่ผม แกบอกว่าถ้าใครที่มีบัตร นายจ้างก็จะเก็บค่าที่พัก 100 บาทต่อเดือน แต่ถ้าใครไม่มีบัตร แกก็จะเก็บ 150 บาท
 
บางครั้ง (ซึ่งก็เป็นโดยส่วนมาก) หากช่วงไหนที่ไม่มีงานเข้ามา โรงงานก็จะปิดงานและปล่อยแรงงานไปตามยถากรรม ไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับทั้งสิ้น
 
พี่แรงงานยังเล่าให้ผมฟังถึงสถานการณ์การต่อสู้ในโรงงานของพวกเขาในโรงงานแห่งหนึ่ง ล่าสุดพวกเขาได้เรียกร้องให้นายจ้าง ขึ้นค่าแรงอีก 10 บาท (ใช่! แค่ 10 บาท) แต่นายจ้างกลับไล่คนงานส่วนหนึ่งที่เรียกร้องออกไปอย่างไม่ใยดี
 
นอกจากปัญหาค่าจ้างที่ต่ำแล้ว พวกเขายังได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ  การข่มขืนกระทำชำเรา การทารุณร่างกาย การแสดงความไม่รับผิดชอบเมื่อแรงงานได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน --- นายจ้างพวกนี้มีไม้เด็ด คือ การข่มขู่โดยใช้สถานภาพทางสัญชาติเป็นเครื่องต่อรอง นั่นเอง!
 
ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับแม่สอด (เมื่อปี 2550)
 
120 บาท ... คือจำนวนเงินที่คุณสามารถไปใช้บริการหมอนวดแผนโบราณในแม่สอด 1 ชม.
 
1,000 บาท ... คือจำนวนเงินที่คุณสามารถนำหมอนวดแผนปัจจุบันออกมาจากสถานบริการได้ทั้งคืน
 
0 บาท ... คือค่าแรงต่อวันที่นักร้องสาวในร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่งได้รับ (ไม่มีเงินเดือน อยู่ได้ด้วยทิปจากแขก)
 
มาม่า 1 ซอง ... คือ ค่าแรงโอทีที่แรงงานข้ามชาติได้รับ จากการทำงานล่วงเวลา 6 ชม.
 
10 บาท ... คือ ราคาอาหารขั้นต่ำในแม่สอด (ขนมจีน 1 จาน)
 
40 - 60 บาท ... คือ ค่าแรงโดยเฉลี่ยที่แรงงานข้ามชาติในแม่สอดได้รับต่อวัน
 
10,000 - 20,000 บาท ... คือ เงินเดือนโดยเฉลี่ยของแรงงานคอปกขาวชาวไทย (ผู้จัดการ , ผู้ประสานงาน )
 
2,000 กว่าคน ... คือ จำนวนแรงงานข้ามชาติที่ข้ามเข้ามาต่อ 1 วัน และถูกผลักดันออกไปต่อ 1 วัน
 
 
 
ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2555 ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจชีวิตและสภาพการจ้างงานของแรงงานข้ามชาติที่ อ.แม่สอด ปัญหาเรื่องความ "เข้มงวด" ตามกรอบของเรื่อง "ความมั่นคง" นั้นหายลงไปอย่างมาก ตามสภาวะที่ประเทศกลับมาเป็นประชาธิปไตย รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ที่พัฒนาไปตามเรื่องของเศรษฐกิจ (ถึงแม้จะไม่ดีมากนัก แต่มีแนวโน้มดีกว่าเดิม) และพบว่าความกังวลใจของผู้ประกอบการในการใช้แรงงานข้ามชาติใน อ.แม่สอด กลายเป็นเรื่อง "การขาดแคลนแรงงาน" มากกว่าเรื่อง "ภัยความมั่นคง" ไปเสียแล้ว
 
โดยก่อนหน้านั้น ในเดือนกรกฎาคม 2555 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เปิดเผยว่าสถานการณ์ในแถบพื้นที่ อ.แม่สอด ภายหลังจากการเริ่มนโยบายการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท 7 จังหวัดและ 40% ทั่วประเทศ และนโยบายการใช้แรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย ให้มีการถือครองหนังสือเดินทางชั่วคราวนั้น ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานใน อ.แม่สอด ได้เคลื่อนย้ายไปทำงานในพื้นที่ที่มีการจ่ายค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทเป็นจำนวนมากเพราะมีค่าจ้างแรงงานที่แพงกว่า และสามารถเคลื่อนย้ายได้ตามความสมัครใจ
 
จากเหตุการณ์ดังกล่าว สถานประกอบการใน อ.แม่สอด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมประเภทโรงงานการ์เมนท์และสิ่งทอ โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปั้นดินเผา เซรามิค ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ขณะนี้กำลังประสบกับปัญหาแรงงานขาดแคลน แรงงานข้ามชาติจึงเคลื่อนย้ายไปทำงานในจังหวัดชั้นในแล้วกว่า 20 % คาดการณ์ได้ว่าหายไปจากระบบประมาณ 20,000 คน จาก 50,000 คน เนื่องจากปัจจุบัน อ.แม่สอด มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำมาที่ 226 บาท (ในปี พ.ศ. 2555) และจะมีการปรับค่าแรงขึ้น 300 บาทในปี 2556 ตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน
 
ทั้งนี้การค้าชายแดน อ.แม่สอด ในปัจจุบันมีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากความต้องการของตลาดผู้บริโภคในเพื่อนบ้านและตลาดในประเทศมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ออเดอร์ในการผลิตสินค้าต่างๆมีเพิ่มมากขึ้นตาม ในขณะที่ปัจจุบันแรงงานซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจมีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดจึงไม่สมดุลต่อดีมานด์และซัพพลายในขณะนี้ ผู้ประกอบการจึงไม่สามารถรับออเดอร์สินค้าต่างๆได้ และกำลังการผลิตโดยรวมต้องถูกลดลงไปกว่า 30% ส่งผลให้ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปอย่างมาก ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าในปี 2555 มูลค่าการผลิตใน อ.แม่สอดจะสูญหายไปไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท หากยังเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน
 
ซึ่งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ถึงกับสนับสนุนภาครัฐในการวางกฎระเบียบการจ้างงานตามแนวชายแดน และจังหวัดชั้นในให้มีความแตกต่างกัน เพื่อป้องกันการเกิดช่องว่างของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยให้ลดน้อยลง ด้วยเช่นกัน
 
แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในรายละเอียดเรื่องสภาพการจ้างงานกลับพบว่าการให้ความสำคัญกับพลังการผลิตของแรงงานข้ามชาติของนายทุน นายทุนเองก็มักจะใช้รูปแบบการจ้างงาน "กึ่งบังคับ-กึ่งตัวประกัน" การกุมอำนาจต่อรองเกือบทั้งหมดไว้ในมือของนายจ้าง (ซึ่งจะขอกล่าวถึงรายละเอียดในหัวข้อ การจ้างงาน "กึ่งบังคับ-กึ่งตัวประกัน")
 
รวมถึงพบการจ้างงานแบบรายชิ้นที่มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในส่วนต่างๆ ของประเทศ ที่มีความพยายามขจัด "แรงงานประจำ" ออกไปจากระบบ สร้างความยืดหยุ่นในด้านการจ้างงาน นายจ้างสามารถปรับลดต้นทุนให้ต่ำลง ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น
 
 
ชีวิตคนงาน
 
ปู ปู แรงงานชายอายุ 31 ปี จากรัฐมอญ ลูกชายพลขับหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งพม่า เขาเดินทางเข้ามาทำงานยัง อ.แม่สอด ตั้งแต่เมื่อ 9 ปีที่แล้ว โดยเสียค่านายหน้าในการนำพาเขาข้ามประเทศมาอย่างผิดกฎหมายด้วยสนนราคา 150,000 จ๊าด
 
ปัจจุบันเขาทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง มีแรงงานทั้งหมด 80 คน แบ่งเป็นชาย 20 คน และหญิง 20 คน (คนงานทั้งหมดไม่มีพาสปอร์ต) ทำงานตั้งแต่ 08.00 น. – 24.00 น. ลักษณะงานเป็นการตัดเย็บเสื้อและกางเกง ได้ค่าจ้างเป็นรายชิ้น เฉลี่ยขั้นต่ำวันละ 120 บาท (เฉลี่ยเดือนละ 3,000 – 3,600 บาท) โดยก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีก่อน เขาได้รับค่าจ้างเป็นรายวันวันละ 70 บาท แต่ภายหลังนายจ้างมาเปลี่ยนระบบการจ่ายค่าตอบแทนจากการทำงานเป็นรายชิ้นแทน ด้านสวัสดิการอื่นๆ นายจ้างจะจัดที่พัก และอาหารให้ 2 มื้อต่อวัน แต่จะหักค่าแรงคนงาน 500 บาทต่อเดือน
 
ปู ปู อยู่กับภรรยาในบ้านพักที่โรงงานจัดเตรียมให้ โดยภรรยาของเขาก็ทำงาน ณ ที่โรงงานแห่งเดียวกัน แต่เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพทำงานได้ไม่เต็มที่ ภรรยาของเขามีรายได้เฉลี่ยเพียง 2,000 บาท ต่อเดือนเท่านั้น โดย ส่วนลูกหนึ่งคนของเขาต้องฝากไว้กับเพื่อนนอกโรงงาน ซึ่งเขามีค่าใช้จ่ายที่ต้องส่งค่าเลี้ยงดูลูก 1,000 บาท ต่อเดือน
 
เมื่อถามถึงความหวังในชีวิตการทำงานนั้น ปู ปู ระบุว่าอยากจะได้ค่าแรงมากกว่าเดิม แต่ด้วยปัจจัยเรื่องสถานะที่ไม่ถูกกฎหมาย และการมีครอบครัวทำให้เขาไม่สามารถย้ายงานไปยังพื้นที่ที่ค่าแรงสูงกว่า อ.แม่สอด ได้ โดย ปู ปู เล่าว่าเมื่อก่อนคนงานที่ทำงานในโรงงานเคยมีถึง 200 คน แต่เมื่อมีนโยบายสนับสนุนการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเด่นชัดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้คนงานที่มีพาสปอร์ต ย้ายออกไปทำงานในย่านอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีค่าแรงสูงกว่า (เคยเหลือคนงานทั้งโรงงานเพียง 14 คน)
 
"ปีที่แล้ว (2554) เพื่อนชวนผมไปทำงานขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กรุงเทพฯ ได้เดือนละ 9,000 บาท ถ้าผมเอาลูกเอาเมียไปได้ ผมก็ไป" ปู ปู กล่าว
 
และเช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติทั้งหลาย ปู ปู เองหวังว่าเขาจะได้รับสถานะทางกหมายที่ถูกต้อง แต่เนื่องด้วยค่าแรงที่ต่ำและการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในครอบครัว การเก็บเงินเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติและเรื่องอื่นๆ ตามมานั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งสำหรับเขา
 
ปะแล อดีตแม่ค้าขายน้ำแข็งใสวัย 27 ปีจากรัฐมอญ พึ่งเข้ามาทำงานใน อ.ม่สอด ได้ 1 ปี ในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งริมแม่น้ำเมย โดยโรงงานที่เธอทำงานมีพนักงานฝ่ายผลิตรวม 800 คน เป็นแรงงานหญิง 500 คน ทำงานตั้งแต่ 08.00 น. – 24.00 น. ลักษณะงานเป็นการตัดเย็บเสื้อกันหนาว ได้ค่าจ้างเป็นรายชิ้น เฉลี่ยแล้วปะแลมีรายได้เดือนละ 4,000 – 4,500 บาท โดยนายจ้างมีสวัสดิการอาหารให้สองมื้อ ที่พัก ที่เธอต้องจ่ายเดือนละ 1,000 บาท และค่าคุ้มครองที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่เดือนละ 150 บาท (โรงงานหักจากรายได้ของเธอ)
 
"คนงานที่เป็นผู้หญิงจะทำงานได้รายได้มากกว่าผู้ชาย เพราะมีวินัยดีกว่า" ปะแล ระบุ
 
เนื่องจากเป็นคนงานที่มีอายุการทำงานไม่มากในประเทศไทย (พึ่งเข้ามาทำงานได้ 1 ปี) ปะแลระบุว่า ยังไม่พบปัญหาอะไรมากนัก แต่เธอเองก็อยากจะเก็บเงินเพื่อทำพาสปอร์ต อยากเรียนภาษาไทยเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้ขยายโอกาสในชีวิตการทำงานของเธอ
 
 
การจ้างงาน "กึ่งบังคับ-กึ่งตัวประกัน"
 
สำหรับการใช้แรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย การขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ที่ อ.แม่สอด นายจ้างมักจะมีอำนาจต่อรองสูงกว่าแรงงาน สาเหตุเพราะในพื้นที่ อ.แม่สอด ส่วนใหญ่นายจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ในช่วงเริ่มแรก ซึ่งมีความแตกต่างจากพื้นที่เขตอุตสาหกรรมชั้นใน เนื่องจาก อ.แม่สอด เป็นช่องทางที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานสะดวก ไม่มีเงินติดตัวมาเพียงพอจึงมีความต้องการรับจ้างทำงานหาเงิน เมื่อนายจ้างต้องการแรงงานต่างด้าวจึงมีความจำเป็นที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ก่อน โดยการขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ พบว่านายจ้างรายเดิมไม่ยอมแจ้งแรงงานข้ามชาติออกจากงาน หรือแจ้งแต่ไม่มอบเอกสารให้แก่แรงงานข้ามชาติ ทำให้แรงงานข้ามชาติขาดหลักฐานเอกสาร แรงงานข้ามชาติหลบหนีจากนายจ้างรายเดิมที่ยังไม่หมดสัญญาจ้างมาขอรับใบอนุญาตกับนายจ้างรายใหม่จึงขาดเอกสาร จึงมักเกิดปัญหาการแย่งแรงงานถูกกฎหมาย และนำไปสู่การยึดเอกสารสำคัญต่างๆ ของแรงงานไว้
 
และนี่เป็นสาเหตุเบื้องต้นอย่างหนึ่งของปัญหาการจ้างงานแบบ 'กึ่งบังคับ-ตัวประกัน'
 
ทั้งนี้นายจ้างมักจะอ้างเหตุผลในการยึดหนังสือเดินทางของคนงานไว้เพื่อแลกกับการชดใช้หนี้ที่เกิดจากการที่นายจ้างต้องสำรองจ่ายทั้งค่าจดทะเบียนและค่านายหน้า ทั้งนี้จากการประเมินเมื่อปี 2554 พบว่า ค่าดำเนินการทำหนังสือเดินทางให้คนงาน ค่าทำใบอนุญาตทำงาน และค่าบริการตรวจสุขภาพ แม้ว่าตัวเลขค่าใช้จ่ายในความเป็นจริงอาจอยู่แค่ 4,500-5,000 บาท (ค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท, ค่าประกันสุขภาพ 1,300 บาท ค่าใบอนุญาตทำงาน 1 ปี 1,800 บาท ค่าทำหนังสือเดินทาง 500-1,000 บาท และค่าธรรมเนียมอื่นๆ) แต่นายหน้าบางแห่งยังอาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบริการเพิ่มขึ้นไปอีกหัวละ 9,500 บาท
 
ดังนั้น นายจ้างจึงใช้วิธี จ้างงานแบบ 'กึ่งบังคับ-ตัวประกัน' ยึดหนังสือเดินทางของคนงานไว้เป็นหลักประกันการชดใช้หนี้ของคนงาน และใช้วิธีการต่างๆ ในการขูดรีดแรงงานในระยะยาว เช่น หักค่าแรงเดือนละ 1,200 – 1,500 บาท เป็นเวลา 1 ปี หรือจนกว่าจะครบสัญญาจ้าง เป็นต้น
 
ส่วนแรงงานที่สถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นแทบจะไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเป็นอิสระจากนายจ้าง เพราะอำนาจต่อรองทั้งหมดแทบที่จะอยู่ในมือนายจ้างหมดแล้ว ซึ่งวิธีการหลบหนี ดูเหมือนจะเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสถานะถูกกฎหมายใช้เมื่อยามหลังพิงฝา
 
รวมถึงอุปสรรคเรื่อง "สิทธิการรวมกลุ่ม เพื่อเจราจาต่อรอง" โดยแรงงานข้ามชาตินั้นไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงาน-เข้ากลุ่มสหภาพแรงงานที่ถูกกฎหมายในประเทศไทยได้ ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ระบุว่าผู้มีสิทธิตั้งสหภาพ เป็นคณะกรรมการ หรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้นจะต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งถึงแม้จะเปิดโอกาสให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ แต่ในพื่นที่ อ.แม่สอด โรงงานแต่ละแห่งโดยเฉพาะฝ่ายผลิต ส่วนใหญ่แล้วล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานข้ามชาติเกือบทั้งหมด.
 
 
 
ข้อมูลประกอบการเขียน:
 
ข้อมูลลงพื้นที่สำรวจ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 3 – 4 พ.ย. 2555
ครัวเรือนมือเติบดันสินเชื่อพุ่ง20.4% สศช.หวั่นหนี้เน่าหลอน-ชี้คนไทยความสุขลดลง (ข่าวสด, 27-11-2555)
 
แม่สอด อ่วมแรงงานต่างด้าวแห่หนี เข้าจังหวัดชั้นในให้ผลตอบแทน 300 บ. (สารหอการค้า, ฉบับที่ 463 ประจำวันที่ 1-15 กรกฎาคม 2555)
http://www.theccn-news.com/1972-แม่สอด_อ่วมแรงงานต่างด้าวแห่หนี__เข้าจังหวัดชั้นในให้ผลตอบแทน_300_บ..html
 
"แม่สอด" ความลำบากในอีกรูปแบบหนึ่ง! (วิทยากร บุญเรือง, ประชาไท, 20-1-2550)
 
แนวทางการพัฒนาการดำเนินงานจัดระบบแรงงานต่างด้าวภาคอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (ชยชาติ ชูพันธ์, วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, 2551)
 
แรงงานบังคับ กับการยึดหนังสือเดินทางแรงงานข้ามชาติ (นุศรา มีเสน, มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2554)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอแบคโพลล์สำรวจหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 55 ประชาชนพอใจให้ 8.29 เต็ม10

Posted: 20 Jan 2013 05:19 AM PST

ผลสำรวจเอแบคโพล ความคิดเห็นประชาชนและผู้ให้บริการต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2555 คนไทยให้ความสำคัญต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลของแพทย์ ขณะที่ผู้ให้บริการตระหนักถึงประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มี ต่อประชาชน แต่ยังกังวลเรื่องงบประมาณ

(20 ม.ค. 56) นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ดำเนินโครงการสำรวจวิจัยเรื่อง ความคิดเห็นของประชาชน และผู้ให้บริการต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(พ.ศ. 2555) โดยสำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วน จำนวน 2,767 ตัวอย่าง และกลุ่มผู้ให้บริการได้แก่ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และผอ.รพ.หัวหน้าสถานีอนามัย/ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข/ตัวแทน) จำนวนทั้งสิ้น 1,364 ตัวอย่าง

ผลการสำรวจกลุ่มประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยให้คะแนนความพึงพอใจ (จาก 1-10 คะแนน) เฉลี่ยเท่ากับ 8.29 คะแนน  ซึ่งคนที่ "เคยใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมีความพึงพอใจสูงมากกว่าคนทั่วไป" โดยพบว่าผู้ที่เคยใช้สิทธิบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการรักษาพยาบาลใน รอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีค่าคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 8.63 คะแนน

ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนให้ความสำคัญต่อ "คุณภาพการรักษาพยาบาลของแพทย์"มากที่สุด รองลงมาคือ คุณภาพด้านยา และคุณภาพด้านเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 94.8 มีความตั้งใจที่จะไปใช้บริการต่อไป

นพ.จรัล กล่าวว่า ข้อสังเกตจากการศึกษากลุ่มประชาชนพบว่า ความพึงพอใจมีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากร กลุ่มคนอายุมาก กลุ่มเป็นหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ กลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำ กลุ่มเกษตรกร/ประมง/รับจ้างทั่วไป กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ จะมีความพึงพอใจสูงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ขณะที่กลุ่มประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความพึงพอใจสูงสุด (8.66 คะแนน) รองลงมาคือ ภาคเหนือ (8.28 คะแนน) ภาคกลาง (8.19 คะแนน) กรุงเทพ (7.90 คะแนน) และภาคใต้ (7.82 คะแนน)

นพ.จรัล กล่าวถึงผลการสำรวจกลุ่มผู้ให้บริการว่า ผู้ให้บริการมีความพึงพอใจต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 7.08 คะแนน (จาก 1-10 คะแนน) ซึ่งผู้ให้บริการเล็งเห็นประโยชน์ความพอใจในผลที่เกิดกับประชาชนมากกว่าผล ที่เกิดกับตนเอง และความพึงพอใจปี 2555 ดีกว่าความพึงพอใจปี 2554 ที่ได้คะแนน 6.99

ขณะที่ ผลสำรวจการให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติงาน ให้ความสำคัญกับความคาดหวังของผู้ป่วยมากที่สุด 8.63 คะแนน รองลงมาคือ ความเพียงพอของงบประมาณดำเนินการ และความถูกต้องของการจ่ายชดเชยให้สถานพยาบาลตามลำดับ มีความคิดเห็นต่อระดับความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิบัติว่า ความเพียงพอของงบประมาณรุนแรงที่สุด รองลงมาคือ ความคาดหวังต่อผู้ป่วย และความเพียงของผู้ให้บริการตามลำดับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตทนายพระวิหารจี้รัฐบาลไม่รับศาลโลก

Posted: 20 Jan 2013 05:17 AM PST

 
20 ม.ค. 56 - สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่าองค์การพิทักษ์สยาม หรือ อพส. จัดงานสัมมนาภายใต้ชื่อ "ด้วยรักและผูกพัน" โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงของคดีพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร กรณีข้อพิพาทดินแดนระหว่างประเทศไทย - กัมพูชา ที่จะมีการปฐกถาพิเศษโดย นายสมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย และทนายความผู้เคยทำคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งบรรยากาศภายในงานมีผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันเดินทางมาร่วมงานกว่า 300 คน รวมถึง พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อดีตประธานกลุ่ม อพส. ก็เดินทางมาร่วมงานด้วยเช่นเดียวกัน
 
ทั้งนี้ ภายหลังงานสัมมนาเสร็จสิ้น ทางกลุ่ม อพส. ได้มีกำหนดการอ่านแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนในเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร ต่อไป
 
โดย นายสมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย และทนายความผู้เคยทำคดีปราสาทเขาพระวิหาร ได้ปาฐกถาพิเศษ ถึงกรณีข้อพิพาทระหว่างประเทศไทย และกัมพูชา ในพื้นที่ทับซ้อนปราสาทเขาพระวิหาร โดยมีใจความสำคัญ เรียกร้องให้รัฐบาลต่อสู่คดีปราสาทเขาพระวิหารในศาลโลก ให้ถึงที่สุด และให้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า จะไม่รับคำพิพากษาที่จะทำมให้ประเทศไทยเสียดินแดนทุกรณี
 
ส่วนจากกระแสที่เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกจากภาคีมรดกโลก นายสมปอง มองว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง เนื่องจากภาคีมรดกโลก เกี่ยวเนื่องกับการเป็รสมาชิกกับสหประชาชาติ ซึ่งหากลาออก จะทำให้พ้นจากสถานภาพการเป็นสมาชิกสหประชาชาติโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ นายสมปอง กล่าวว่าป ระชาชนควรร่วมยืนยันจะไม่ยอมเสียดินแดนให้กับใคร และหากรัฐบาลจะมาเรียกร้องให้ นายสมปอง ช่วยเป็นที่ปรึกษาคดีปราสาทเขาพระวิหาร ก็พร้อมจะให้ความร่วมมือเสมอเพื่อร่วมหาทางออกให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย
 
'ไชยวัฒน์' แย้มพธม.ร่วมม็อบแล้วยันไม่จ้างคนร่วม
 
นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ตัวแทนแนวร่วมคนไทยรักชาติ รักษาแผ่นดิน กล่าวกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า แนวร่วมจาก 16 จังหวัดภาคใต้ ที่จะมาร่วมชุมนุมในวันที่ 21 มกราคม 2556 นั้น ยังไม่ชัดเจนว่าจะเดินทางมาร่วมวันใด ทั้งนี้ ยินดีเปิดรับหมดทุกกลุ่มที่มีความประสงค์จะเข้าร่วม พร้อมมองว่าเป็นเรื่องดีที่กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม หรือ อพส. มีการจัดเสวนาเขาพระวิหาร ในวันนี้ เพราะเรื่องดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งชาติต้องตื่นตัว และนิ่งเฉยไม่ได้ พร้อมยินดีหาก อพส.จะเข้าร่วมแต่ขณะนี้ยังไม่ได้ติดต่อมา มีเพียงกลุ่มแกนนำพันธมิตรฯ เท่านั้นที่ขอร่วมชุมนุมแล้ว ส่วนตัวเลขที่จะเข้าชุมนุม ยังประเมินไว้เกินหมื่นคน ด้านรายชื่อที่จะยื่นต่อประธานศาลฎีกานั้น ขณะนี้เกิน 8 แสนรายชื่อแล้ว
 
นอกจากนี้ นายไชยวัฒน์ ยังกล่าวยืนยันว่า ผู้ร่วมชุมนุมไม่มีการจัดจ้าง แต่เป็นการลงขันกันเอง ส่วนการรักษาความปลอดภัย กำลังพูดคุยกับ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด อยู่ โดยจะมีความชัดเจนเรื่องจำนวนการ์ดในวันนี้ ด้าน พล.อ.บุญเลิศ แก้วประเสริฐ อดีตองค์การพิทักษ์สยาม หรือ อพส. เปิดเผยว่า ทางกลุ่มจะมีการพูดคุยเรื่องเข้าร่วมม็อบแนวร่วมคนไทยรักชาติ รักษาแผ่นดิน ในวันนี้ ซึ่งส่วนตัวยังไม่ทราบว่าทางกลุ่มจะไปรวมหรือไม่
 
 
"อภิสิทธิ์"  จี้ รบ. ชัดจุดยืนปมพระวิหาร
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคดีปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแสดงจุดยืนในศาลโลก เพื่อต่อสู้รักษาอธิปไตยไทย และรัฐบาลควรแยกความสัมพันธ์ของประเทศ กับการรักษาดินแดนออกจากกัน ซึ่งเชื่อว่า จะไม่ขัดแย้งกับประเทศกัมพูชา เพราะประเทศเพื่อนบ้าน ควรจะมีการเคารพสิทธิ์ของกัน และกันและรัฐบาลไม่ควรใช้ข้ออ้างนี้เพื่อกลบการทำงานที่ผิดพลาดของตัวเอง
 
ตำรวจพร้อมดูแลการชุมนุมคัดค้านคำสั่งศาลโลก
 
ด้านสำนักข่าวไทยรายงานวันเดียวกันนี้ (20 ม.ค.) ว่าวัในนพรุ่งนี้ (21 ม.ค.) จะมีการชุมนุมยื่นหนังสือคัดค้านคำสั่งศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ขณะที่ตำรวจนครบาลเตรียมพร้อมดูแลความสงบเรียบร้อย
 
พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เรียกประชุมนายตำรวจ เพื่อวางมาตรการรักษาความปลอดภัยการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมคนไทยหัวใจรักชาติรักษาแผ่นดิน บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า วันพรุ่งนี้ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านคำสั่งศาลโลก คดีเขาพระวิหาร ก่อนเคลื่อนขบวนไปศาลฎีกา และเข้าพบผู้นำเหล่าทัพเพื่อยื่นหนังสือ โดยตำรวจนครบาลจะใช้กำลังตำรวจจราจรเป็นหลัก คอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจร แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนได้ เนื่องจากต้องแบ่งกำลังส่วนหนึ่งไปดูแลรักษาความสงบการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'การบินไทย' ยอมขึ้นเงินเดือน พนง.-สหภาพฯ ยุติชุมนุมแล้ว

Posted: 20 Jan 2013 04:08 AM PST

สมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยที่รวมตัวประท้วงยุติชุมนุมแล้ว หลังถกร่วมบอร์ดได้ข้อสรุป ปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานไม่เกินร้อยละ 7.5 ส่วนโบนัสจะพิจารณาตามผลกำไร


เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค.56  เวลา 00.20 น. น.ส.แจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กล่าวว่า หลังจากตัวแทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้เข้าประชุมเจรจากับ ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ คณะกรรมการบริหาร(บอร์ด ) เพื่อหาหาข้อสรุป โดยใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง ก็ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พอใจของทั้ง2 ฝ่าย ทางบอร์ด มีมติจะปรับเงินเดือนให้ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่ให้รัฐวิสาหกิจที่มีกำไร ปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานไม่เกินร้อยละ 7.5 ส่วนโบนัสนั้น ทางบอร์ดจะนำผลประกอบการมาติดประกาศชี้แจงและพิจาณาตามผลกำไรที่เกิดขึ้น สร้างความพอใจให้กับพนักงานที่รวมตัวประท้วงอยู่ ณ ศูนย์ปฏิบัติการ ฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และแยกย้ายกันกลับไปทำหน้าที่ของตนเองเช่นเดิม

ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้นายอำพน กิตติอำพน ประธานบอร์ดการบินไทย ลาออกนั้น ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ระบุว่า ในวันนี้พนักงานทุกคนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่ต้องการนายอำพน อีกต่อไป ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับนายอำพนว่า จะพิจารณาตนเองอย่างไรต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิริวัฒน์ ไกรสินธุ์

Posted: 19 Jan 2013 10:44 PM PST

"..ผมเชื่อว่าเมื่อได้มีกระแสการพูดคุย และมีการใช้เหตุใช้ผลถกเถียงกัน ผมแน่ใจนะครับว่าถึงที่สุดนอกจากผู้คนจะเกิดปัญญาแล้ว ผู้คนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวก็จะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่นอน เพราะด้วยความที่มันสร้างปัญหาและด้วยความที่มันไม่เป็นประชาธิปไตย.."

ส.ว.เลือกตั้ง จาก จ.นครศรีธรรมราช อดีตผู้นำนักศึกษาคนแรกที่ถูกจับในช่วงพฤษภาทมิฬ แสดงทัศนะถึงการแก้ไขแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น