ประชาไท | Prachatai3.info |
- แพทย์เฝ้าอาการช่างภาพเนชั่นใกล้ชิด ด้านชมรมช่างภาพฯ เรียกร้องพิธีกร Wake Up Thailand ขอโทษ
- อมก๋อย: ปัญหาสมาร์ทการ์ดหมด กระทบบุคคลตกสำรวจสถานะบุคคล
- นักเศรษฐศาสตร์เผยเด็กยุคนโยบายลูกคนเดียวของจีน ไม่กล้าเสี่ยง ไม่ชอบแข่งขัน
- แอมนาสตี้ชี้ สมยศเป็น “นักโทษทางความคิด” เสี่ยงถูกลงโทษไม่เป็นธรรม รณรงค์รัฐบาลปล่อยตัว
- กลุ่มเด็กเสนอนายกฯ เร่งเดินหน้า “กองทุนออม” รองรับผู้สูงอายุในอนาคต
- สมาคมสื่อเรียกร้องให้กองทัพยุติการคุกคามสื่อมวลชน
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ทิศทางขบวนการประชาชน 2556
- กรุงเทพโพลล์: ผลสำรวจเรื่อง “ความคิดของเด็กฝากถึงผู้ใหญ่ ในวันเด็กแห่งชาติ”
- ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทคือ “ความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
- Electrolux ระยองเลิกจ้างสหภาพแรงงานฯ ยกเข่ง หลังต่อรองปรับค่าจ้าง 300
- บุญยืน สุขใหม่: Electrolux เลิกจ้าง รัฐบาลต้องคุ้มครองสิทธิการเจรจาเรียกร้องค่าแรง 300 บาท ของสหภาพแรงงาน
- ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เฮ้อ.....เวรรรร"
แพทย์เฝ้าอาการช่างภาพเนชั่นใกล้ชิด ด้านชมรมช่างภาพฯ เรียกร้องพิธีกร Wake Up Thailand ขอโทษ Posted: 12 Jan 2013 10:42 AM PST กรณีช่างภาพเนชั่น ล้มป่วยขณะปฏิบัติหน้าที่รัฐสภา แต่รถพยาบาลสภาไม่รีบนำส่ง จนได้รถจากศูนย์นเรนทรส่ง รพ.กลางนั้น ล่าสุดแพทย์เจ้าของไข้ระบุเริ่มควบคุมความดันได้แล้ว ผลการผ่าตัดออกมาดี แต่อาการยังถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ ส่วนปธ.ชมรมช่างภาพการเมืองเรียกร้องให้พิธีกร "Wake Up Thailand" ขอโทษช่างภาพ ด้าน "ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข" พร้อมขอโทษด้วยใจจริง น.ส.อมรรัตน์ มหิทธิรุกธ์ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรรมการและเจ้าหน้าที่สมาคมร่วมกันไปเยี่ยมไข้และให้กำลังใจนายสกล สนธิรัตน ช่างภาพหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ที่ล้มป่วยขณะปฏิบัติหน้าที่ พร้อมกับให้กำลังใจญาติของนายสกล เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)
กรณีข่าวนายสกล สนธิรัตน ช่างภาพศูนย์ภาพเนชั่น ประจำรัฐสภา เกิดอาการความดันโลหิตสูงกำเริบจนล้มลงหมดสติขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ถ่ายภาพการแถลงข่าวของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 10 มกราคม แต่เจ้าหน้าที่และพยาบาลของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าปฏิเสธที่จะนำรถพยาบาลฉุกเฉินประจำรัฐสภาส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล โดยชี้แจงว่า"เคยมีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นไปส่งคนไข้ แต่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในสภาฯ ซ้อนขึ้นมา หากนำรถออกไปกลัวผู้ใหญ่ต่อว่า ต้องรอให้รถอีกคันมาก่อน" (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) จนในที่สุดต้องประสานขอรถฉุกเฉินของศูนย์นเรนทร นอกรัฐสภา นำตัวส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลกลาง โดยขณะนี้อาการนายสกลยังอยู่ในห้องไอซียูนั้น
แพทย์แถลงอาการช่างภาพเนชั่นยังอยู่ในภาวะวิกฤตต้องดูแลใกล้ชิด ล่าสุด เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 12 ม.ค. โรงพยาบาลกลางออกแถลงการณ์สรุปอาการของนายสกลว่า ยังมีความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมโดยยา และยังอยู่ในภาวะวิกฤติ ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น ซึ่งจะต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา นพ.ชูวิทย์ ประดิษฐบาทุกา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง กล่าวว่า อาการของนายสกลดีขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมยังถือว่าทรงตัว ขาสามารถขยับได้เล็กน้อย แต่ยังไม่รู้สึกตัว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และรักษาอาการอยู่ในห้องไอซียู เฝ้าดูอาการใกล้ชิดอีกหลายวัน นพ.ชูวิทย์ กล่าวว่า จากที่ได้ผ่าตัดเจาะน้ำในสมองออกเพื่อลดอาการสมองบวม จะต้องรอให้สมองฟื้นตัว ขณะที่อาการเส้นเลือดในสมองแตกบริเวณสมองส่วนกลาง เนื่องจากความดันสูง จนเป็นเหตุให้นายสกลหมดสติขณะทำงานอยู่ที่อาคารรัฐสภาเมื่อ 2 วันก่อนนั้น ถือว่าเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะส่วนใหญ่ ซึ่งพบว่าสมองหลายส่วนถูกกดทับ ด้าน นพ.ชัยพล วุฒิโอภาส ประสาทศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลกลาง และแพทย์เจ้าของไข้ กล่าวว่า แรกรับคนไข้เข้ามาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลนั้น อาการถือว่ายังใช้ได้อยู่ พูดจาถามตอบ ลืมตา และทำตามคำสั่งของแพทย์ได้ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะยังไม่มีเลือดไหลซึมออกมามาก แต่ภายหลังเมื่อมีเลือดไหลออกจากแกนสมองเป็นจำนวนมากจนอาการทรุดลงไปนั้น ก็ได้ปรึกษาญาติว่าจะทำการผ่าตัดเอาเลือดที่แตกเข้าไปคั่งอยู่โพรงน้ำในสมองออกมา "หลังผ่าตัดได้เอกซเรย์สมองอีกครั้งก็พบว่าเลือดหยุดไหลแล้วแต่ยังมีน้ำคั่งอยู่ในโพรงน้ำในสมองอยู่ จึงผ่าตัดต่อสายยางระบายน้ำออกจากสมองอีกครั้งหนึ่ง" นพ.ชัยพล กล่าว แพทย์เจ้าของไข้ กล่าวต่อว่า อาการของคนไข้ในขณะนี้เริ่มควบคุมความดันได้แล้ว ผลการผ่าตัดออกมาดี แต่อาการยังถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ เนื่องจากสมองถูกทำลายไปมาก คนไข้ก็ยังไม่มีอาการตอบสนองแต่อย่างใด "อาการเลือดออกในแกนสมองนั้น คนไข้อาจจะเสียชีวิตได้ภายใน 24-48 ชม. สำหรับคนไข้รายนี้ก็เช่นกันหากปล่อยไว้ไม่ทำอะไรก็จะเสียชีวิตแน่นอน แต่แพทย์กับญาติได้ปรึกษากันแล้วว่าจะผ่าตัดเพื่อสู้ต่อสักตั้ง แม้ความหวังจะมีอยู่น้อยมากก็ตาม ซึ่งทางแพทย์ก็ยังต้องเฝ้าติดตามอาการกันตลอดเวลา" นพ.ชัยพล ระบุ
ปธ.ชมรมช่างภาพการเมืองเรียกร้องพิธีกร Wake Up Thailand ขอขมาช่างภาพเนชั่น ส่วนกรณีที่พิธีกรรายการ Wake Up Thailand รายการเล่าข่าวช่วงเช้าทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม Voice TV ได้แก่ มล.ณัฐกรณ์ เทวกุล นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหาร นสพ.ออนไลน์ประชาไท กล่าวถึงข่าวนายสกล สนธิรัตน ช่างภาพเครือเนชั่น ที่ล้มป่วยขณะปฏิบัติหน้าที่รัฐสภา ในระหว่างการออกอากาศเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา และต่อมาถูกวิจารณ์นั้น ล่าสุดวันนี้ (12 ม.ค.) นายฉลาด จันทร์เดช ประธานชมรมช่างภาพการเมือง ได้โพสต์แถลงการณ์ของชมรมในหน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง มีใจความว่า "หลังเกิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อนายสกล (เอ๋) สนธิรัตน ช่างภาพในเครือหนังสือพิมพ์เนชั่น และคณะกรรมการของชมรมช่างภาพการเมือง ซึ่งต่อมาพิธีกรในรายการ "Wake Up Thailand" รายการเล่าข่าวทางสถานีโทรทัศน์ Voice TV ที่ดำเนินรายการโดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล นายชูวัส ฤกษ์ศรีสุข และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ได้สร้างวาทกรรมกล่าวหาอาการป่วยของนายสกลว่าเป็นดราม่าของผู้สื่อข่าวนั้น ผมเสียใจต่อพิธีกรทั้ง 3 คนนี้จริงๆ ที่บิดเบือนเรื่องทั้งหมดต่อกรณีที่ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่นเกิดอาการผิดปกติสะดุดล้ม แต่เจ้าหน้าที่ไม่กล้าใช้รถพยาบาลที่ประจำอยู่รัฐสภา เนื่องจากต้องคอยบริการ ส.ส. จนความล่าช้ากว่าครึ่งชั่วโมง" "การกล่าวหามีการบิดเบือนประเด็นให้เป็นเรื่องห้องพยาบาลรัฐที่มีจำนวนไม่เพียงพอ จนไปถึงการระบุว่า"คุณหมอพยาบาลอยู่ในที่นั้นอยู่แล้ว ทำไมจะต้องไปโรงพยาบาล" ทั้งที่พิธีกรทั้ 3 คน ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์จริง และไม่รู้ว่าอาการของผู้ป่วยในขณะนั้นเป็นอย่างไร มีอุปกรณ์มากเพียงพอในการรักษาที่อาคารรัฐสภาหรือไม่ โดยไปพูดออกอากาศต่อสาธารณชนสร้างความเสียหายต่อสื่อมวลชนประจำรัฐสภา โดยไม่มีข้อมูลที่แท้จริง อาศัยคราบผู้ดีใส่สูท วิพากษ์วิจารณ์แต่สิ่งที่กลุ่มตนเองได้ประโยชน์ ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนขูดเลือดเนื้อประชาชน หาแต่ผลประโยชน์ใส่ตัวเอง" "ผมเสียใจครับต่อ 3 พิธีกรในรายการนี้ ที่อาศัยคำว่าสื่อ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ระดับมันสมองอย่าง 3 พิธีกรในรายการนี้ ไม่ใช่แค่เม็ดถั่วเขียวที่ไม่มีสายตาอันกว้างไกล ต้องตระหนักเสมอว่า การที่จะนำข้อมูลข้อเท็จจริงไปวิพากษ์วิจารณ์นั้นมีเนื้อหาเท็จจริงประการใด มิใช่แต่จะสร้างกระแส แก้ดำให้เป็นขาว เพื่อเป็นการเอาใจใครบางกลุ่ม ถ้ามีจิตสำนึกควรตระหนักในเรื่องนี้บ้าง การจะทำหน้าที่สื่อถามว่าเราไม่อยากที่จะต้องคอยมาตรวจสอบกันเองหรอกว่าใครดีใครเลว" "ผมในฐานะประธานชมรมช่างภาพการเมือง ซึ่งเป็นองค์กรเล็กๆที่รวมตัวก่อตั้งกันขึ้นมาจากเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน เพื่อเป็นการเสริมสร้างสังคมที่โรยราให้เข้มแข็งขึ้น มุ่งมั่นจะทำในสิ่งที่ดีต่อสังคมเพื่อเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการสื่อเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน ไม่มุ่งมั่นหาผลประโยชน์ใส่ตัวเอง" "ในท้ายสุดนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่าน 3 พิธีกรในรายการ "Wake Up Thailand" รายการเล่าข่าวทางสถานีโทรทัศน์ Voice TV ควรที่จะมีจิตสำนึกของความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เอาความจริงมาพูดกัน สัตว์เดรัจฉาน มันยังรักพวกพ้อง มันไม่หากินบนซากของพวกมันเองเลย แต่เรามันเป็นมนุษย์ที่มีความคิด อย่าทับถมกันเลยครับ และถ้าเป็นการดีควรจะขอโทษ ควรจะไปกราบตีนนายสกล (เอ๋) สนธิรัตน ช่างภาพในเครือหนังสือพิมพ์เนชั่น และคณะกรรมการของชมรมช่างภาพการเมือง เพื่อเป็นการขอโทษเพื่อนสื่อด้วยกัน ที่ยังนอนรักษาตัวอย่างไร้สติ ที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลกลางครับ จากใจประธานชมรมช่างภาพการเมือง" แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่าในแถลงการณ์ของนายฉลาด ที่ระบุว่าพิธีกรรายการ Wake Up Thailand "สร้างวาทกรรมกล่าวหาอาการป่วยของนายสกลว่าเป็นดราม่าของผู้สื่อข่าว" นั้น เมื่อตรวจสอบเทปออกอากาศของ Wake Up Thailand เมื่อ 11 ม.ค. ที่ผ่านมาไม่มีข้อความจากพิธีกรรายการกล่าวหานายสกล แต่อย่างใด มีเพียงการกล่าวถึงวิธีนำเสนอข่าวดังกล่าวของสื่อมวลชนว่าเป็น "ดราม่าเพื่อด่านักการเมือง" โดยรายละเอียดของเทปออกอากาศช่วงดังกล่าวสามารถอ่านได้ท้ายข่าว ทั้งนี้มีสื่อบางสำนักที่นำเสนอถ้อยคำของพิธีกรรายการ Wake Up Thailand ดังกล่าวแบบคาดเคลื่อนไปจากที่ออกอากาศ เช่น เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานข่าวโดยพาดหัวว่า "พิธีกร VoiceTV หยาม "ช่างภาพ" วูบดรามาด่านักการเมือง" ส่วนไทยโพสต์ พาดหัวข่าวว่า "อัปรีย์'สื่อแดง' มองข้ามชีวิต ช่างภาพรัฐสภา" ขณะที่ก่อนหน้านี้มีการชี้แจงจากประธานรัฐสภา ภายหลังเกิดเหตุว่าไม่มีนโยบายที่ว่าไม่ให้รถพยาบาลออกไปจากรัฐสภา ซึ่งสามารถนำรถออกไปได้ และให้รถพยาบาลคันใหม่เข้ามาแทน และเนื่องจากกรณีนี้ต่อไปหากเกิดเหตุฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็นใครในสภาฯ ก็สามารถใช้รถพยาบาลได้ทันที
ผู้สื่อข่าวอาวุโสแนะพิธีกรปรับปรุง ด้าน "ชูวัส" เผยตั้งใจขอโทษด้วยใจจริง ด้านนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสแสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุคส่วนตัว ว่า "งานนี้พิธีกรรายการ Wake Up Thailand ของวอยซ์ทีวี พูดไม่สวย ความเป็นความตายของคนไม่ใช่เรื่องสำหรับเอามาวิจารณ์กันเรื่อยเปื่อย จริงอยู่ แม้จะมีแพทย์และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลพระมงกุฎออกมาแก้ข่าวแล้วว่า ไม่ได้ปฏิเสธ ไม่ได้ชักช้า ทำตามขั้นตอน บรรดาผู้อยู่ในเหตุการณ์ก็ยังสงสัยว่าถ้าผู้ป่วยเป็นคนอื่นที่มีชื่อเสียง จะเร็วกว่านี้ไหม และถ้าเร็วกว่านี้ อาการคุณสกลจะดีกว่านี้ไหม? นอกจากนั้น ก็เป็นความจริงว่า มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่อยู่ในเหตุการณ์พูดว่า ไม่กล้านำรถพยาบาลพาช่างภาพไปส่งโรงพยาบาลเพราะกลัวถูกผู้ใหญ่ดุ เนื่องจากเป็นรถสำหรับ สว สส ของรัฐสภา ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่พูดอย่างนี้ คำอธิบายของโรงพยาบาลพระมงกุฎอาจน่าฟังกว่านี้ โปรดทราบว่า นักข่าว ช่างภาพ มิได้มีสิทธิพิเศษเหนือผู้ใดในสังคม การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ประจำรัฐสภาในกรณีคุณสกลนั้น มิใช่เพราะคุณสกลเป็นคนในวงการสื่อสารมวลชน แต่เพราะคุณสกลเป็น "คน" ที่มีสิทธิและศักดิ์ของคน คุณสกลและญาติพี่น้องมิตรสหายของคณสกล มีสิทธิสงสัยว่าคุณสกลได้รับการปฏิบัติอย่างคนเสมอคนหรือไม่ และหากกรณีนี้ไม่ใช่คุณสกล แต่เป็นแม่ค้าขายน้ำในรัฐสภา ก็ต้องพิจารณาแบบเดียวกัน ครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว คุณตี้ กรรมาชน (หมายถึง นายกิติพงษ์ บุญประสิทธิ์ ศิลปินวงกรรมาชน) เพื่อนผู้ล่วงลับ เคยมีอาการแบบเดียวกันนี้ และหลายๆ คนที่อยู่แวดล้อมก็เคยคิดว่า ไม่เป็นไร ยังพูดโต้ตอบได้ คงไม่เป็นไร แต่ความจริงคือ "เป็น" การพูดจาโต้ตอบได้บ้างของผู้ป่วย มิได้เป็นเครื่องหมายของความปลอดภัยเสมอไป "คนทั่วไปยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยและการรักษาโรคน้อยบ่อยครั้งคนไข้และผู้เกี่ยวข้องกับคนไข้มักโกรธหมอว่าไม่รักษาทั้งๆ ที่หมอรักษาแล้วหรือกำลังรักษาตามขั้นตอน หากคนไข้และผู้เกี่ยวข้องกับคนไข้ไม่เข้าใจ แต่บ่อยครั้งก็มีเหตุที่คนไข้และผู้เกี่ยวข้องกับคนไข้สมควรหงุดหงิดกับหมอ พยาบาล และคนทำงานฝ่ายต่างๆ ในโรงพยาบาล......" นิธินันท์แสดงความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า "ประเด็นของดิฉันคือ คุณชูวัส ในฐานะสื่อ พิธีกรทีวี ไม่ควรรีบพูดอย่างนั้นออกอากาศน่ะค่ะ ก็ควรต้องวิพากษ์วิจารณ์กันได้ เพื่อปรับปรุงนะคะ" ล่าสุดนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ได้โพสต์ในสเตตัสของ นิธินันท์ว่า "ขอบคุณครับ ผมตั้งใจขอโทษด้วยใจจริง"
สำหรับการออกอากาศของรายการ Wake Up Thailand วันที่ 11 ม.ค. เฉพาะช่วงที่กล่าวถึงกรณีข่าวการป่วยของนายสกล สนธิรัตน์ ช่างภาพเครือเนชั่น ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ประจำรัฐสภา แต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ ปฏิเสธไม่นำรถพยาบาลของโรงพยาบาลพระมงกุฎที่รัฐสภามารับตัวนายสกลไปส่งโรงพยาบาลมีรายละเอียดดังนี้ เทปช่วงหนึ่งของรายการ Wake Up Thailand วันที่ 11 ม.ค. 56 (ที่มา: Voice TV) มล.ณัฐกรณ์ เทวกุล - ...มี "รถฉุกเฉิน ส.ส. เมินไม่ยอมช่วยช่างภาพ" นี่เลย นักการเมืองแย่ นักการเมืองเป็นปัญหาของชาติ ดูภาพจากเหตุการณ์ที่นายสกล สนธิรัตน์ ผมดูจากไทยโพสต์นะครับ ช่างภาพของเดอะเนชั่น ช็อคเส้นเลือดในสมองแตก แพทย์ประจำรัฐสภาไม่ได้เร่งรีบนำส่งโรงพยาบาล เมื่อวานนี้ผู้สื่อข่าวก็งงกันใหญ่ที่สภาว่า ทำไมปล่อย ไม่เข้าไปช่วยช่างภาพคนนี้แบบที่ควรจะทำแบบรวดเร็ว ซึ่งก็คือต้องย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เมื่อวานนี้นิดหนึ่งที่อาคารรัฐสภา ระหว่างที่มีการแถลงข่าวของประธานสภาที่เตรียมแถลงข่าวเรื่องวันเด็ก ปรากฏว่าช่างภาพของเนชั่น คุณสกล สนธิรัตน์ เกิดอาการผิดปกติสะดุดล้ม ทำให้เพื่อนร่วมงานต้องประคองตัวมานั่งพัก อาการก็ไม่ดีขึ้นในช่วงนั้น เสร็จแล้วคนที่นั่งใกล้ๆ บอกว่าต้องพาไปส่งโรงพยาบาล คราวนี้เมื่อเจ้าหน้าที่พยาบาลมาถึงปรากฏว่านี่คือในไทยโพสต์เขียนว่า ยังมัวแต่ถาม ซักไซร้อาการราวกับว่าเป็นอาการธรรมดาทั่วไป ไปวัดความดัน ไปถามไถ่นานกว่า 10 นาที นะฮะ ช่วงแรกคุณสกลยังตอบได้ แต่เมื่อถูกซักถามมากๆ เจ้าตัวเลยตะโกนออกมาบอกว่า ผมไม่ไหวแล้ว ต้องไปโรงพยาบาลแล้ว ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข - ครับ มล.ณัฐกรณ์ - ทีนี้หลายคนก็ตั้งคำถามว่า ทำไมเจ้าหน้าที่พยาบาลไม่เอาขึ้นรถไปโรงพยาบาลเลยทันที คือในที่สุดก็มีคนประสานนำเตียงพยาบาลมารับผู้ป่วย และรถพยาบาลของโรงพยาบาลพระมงกุฎที่นำส่งนายสกลไปโรงพยาบาลกลาง แต่ประเด็นก็คือว่า มีช่วงหนึ่งที่มีการปล่อยนาน และเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ประจำที่สภาดันไม่ช่วย นักข่าวบางคนก็ตั้งคำถามในเฟซบุคว่ามีไว้เฉพาะช่วย ส.ส. หรือ ส.ว. หรือไง ทำไมไม่ช่วยช่างภาพที่เป็นแบบนี้ ชูวัส - ก็เลยกลายเป็นประเด็นนั้นไป มล.ณัฐกรณ์ - กลายเป็นประเด็นว่า แพทย์ พยาบาลไม่ทำหน้าที่ ชูวัส - ประเด็นนั้นก็น่าสนใจนะครับ แต่ผมไม่เชื่อว่าใครจะไร้มนุษยธรรมแบบนั้น หมายถึงว่าตัวนักการเมืองหรือผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้ทรงเกียรติเลือกตั้งเข้าไปแล้วจะไม่เข้าใจประเด็นแบบนี้ ประเด็นแบบนี้กับชาวบ้านก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว ชาวบ้านก็รู้สึกยอมไม่ได้อยู่แล้ว แต่ว่าปัญหาเรื่องการแพทย์ทั้งหมด เป็นปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย ซึ่งเป็นปัญหาคลาสสิคซึ่งเกิดเสมอ เช่น เวลาคุณไปหาหมอ .คุยนานเกินไป รักษาไม่รักษาสักที" โดนหมอกับคนไข้ทะเลาะกันเยอะ แต่ก็ดีนะฮะเรื่องนี้ไม่ดราม่ามากเกินไป แต่ถามว่า หมออยู่ในที่นั่นหรือไม่ อยู่แล้วนะฮะ คุณหมอพยาบาลอยู่ในที่นั้่นอยู่แล้ว ทำไมจะต้องไปโรงพยาบาล มล.ณัฐกรณ์ - เดี๋ยวนะ แต่ว่าประธานสภาชี้แจงเรื่องนี้ว่าไม่มีนโยบายไม่ให้รถพยาบาลออกไปจากรัฐสภา จริงๆ สามารถนำรถออกไปได้และให้รถพยาบาลคันใหม่เข้ามาก็ได้ ไม่ได้มีอะไรห้ามอยู่ ชูวัส - ครับ คือพยาบาลและบุคลากรทางแพทย์ที่อยู่ที่นั่น เขาก็ต้องวินิจฉัยก่อนที่จะนำส่ง ใช่ไหมฮะ เขาวินิจฉัยขึ้นต้น มีหมออยู่ที่นั่นอยู่แล้ว เขาต้องใช้เวลาวินิจฉัย แต่เวลามันสัมพัทธ์ มันไม่ทันใจกับเพื่อนมิตรที่อยู่ตรงนั้นซึ่งเป็นห่วงอาการ ซึ่งบอกไม่ถูกหรอกเรื่องนี้ใครผิดใครถูก เป็นเรื่องที่เห็นใจน่ะ เพื่อนที่กำลังจะไม่รู้จะเป็นอะไร ก็อยากให้ส่งโรงพยาบาล ไม่ทันใจ ช้า ช้าเร็วสำหรับหมอมันไม่ช้า แต่สำหรับคนไข้มันช้า ณัฐกรณ์ - คราวนี้อาการแสกนสมองเบื้องต้น พบว่าผู้ป่วยมีเลือดออกบริเวณแกนสมอง แต่ยังอยู่ในส่วนที่ดียังไม่ต้องผ่าตัด อาการยังไม่แย่ แต่ก็ดูน่ากลัวมากเมื่อวานนี้ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ - ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ จริงๆ แล้วโรงพยาบาลของรัฐจำนวนมาก มีห้องพิเศษสำหรับผู้ใหญ่ ในต้นสังกัดของโรงพยาบาลใน กทม. จำนวนมาก เช่น ถ้าเราเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาล ถ้าเราขอห้องเขาจะบอกว่าเต็ม แต่ในความเป็นจริงคือโรงพยาบาลเหล่านี้จะมีห้องพิเศษ 3-4 ห้องเก็บไว้ให้ผู้บริหารของโรงพยาบาลหรือผู้ใหญ่ของ กทม. เสมอ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ผมไม่เข้าใจระบบโรงพยาบาลรัฐของประเทศไทยเหมือนกัน ชูวัส - ครับเหตุผลที่เขานั่นก็คือ รถพยาบาลต้องเผื่อไว้ฉุกเฉินสำหรับผู้ทรงเกียรติอะไรอย่างนี้ใช่ไหม คือการสื่อสารอย่างนี้เป็นปัญหา ศิโรตม์ - อันนี้เป็นดราม่าเพื่อด่านักการเมือง แต่ผมคิดว่า มีอีกเรื่องหนึ่งที่อยากให้คนที่โวยวายเรื่องนี้ไปตามคือโรงพยาบาลรัฐจำนวนมากมีห้องไม่ให้คนธรรมดาใช้ เก็บไว้เป็นห้องว่างอย่างน้อย 3-4 ห้องให้ผู้ใหญ่ของหน่วยงานต่างๆ เข้าไปรักษาได้ตลอดเวลา คิดว่าเรื่องนี้ก็ต้องตามดู ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
อมก๋อย: ปัญหาสมาร์ทการ์ดหมด กระทบบุคคลตกสำรวจสถานะบุคคล Posted: 12 Jan 2013 08:03 AM PST สมาร์การ์ดสำหรับทำบัตรประชาชนหมด ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จากปัญหาเปลี่ยนระบบทะเบียนของรัฐ วอนเจ้าหน้าที่เร่งแก้ปัญหาเพราะมีบุคคลตกสำรวจกว่า 700 คน ในพื้นที่
วันที่ 8 มกราคม 2556 เวลา 13.00 น. ณ.ที่ว่าการอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ แม่เฒ่าแนะพอ วัยกว่า 60 ปี เดินทางมาทำบัตรประชาชน ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย แต่นางต้องผิดหวังเนื่องจาก ทางอำเภอ ประสบปัญหาบัตรหมด จากการสอบถามนายทะเบียน ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า บัตรจะมาเมื่อไร แม่เฒ่าแนะพอต้องเดินทางกลับหมู่บ้านนาเกียนที่อยู่ห่างจากตัวอำเภอ 80 กิโลเมตร และรอนัดเพื่อมาทำบัตรครั้งใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ในวันที่ 10 เดือนหน้าจะมีการยืนยัน (อย่างไม่เป็นทางการ) ว่า จะมีการแจกจ่ายบัตรสมาร์ทการ์ด 1,000,000 ใบ ทั่วประเทศ แต่ถึงกระนั้น นายทะเบียนอำเภออมก๋อยระบุว่า บัตรสมาร์ทการ์ดจะตกมายังท้องที่เพียงประมาณ 10 ใบเท่านั้น
ใบประกาศจากสำนักทะเบียน ณ.ที่ว่าการอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ บอกถึง ปัญหาบัตรประชาชนในพื้นที่หมด ใบทะเบียนรายชื่อที่กองสุมอยู่บนโต๊ะทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
นักเศรษฐศาสตร์เผยเด็กยุคนโยบายลูกคนเดียวของจีน ไม่กล้าเสี่ยง ไม่ชอบแข่งขัน Posted: 12 Jan 2013 07:27 AM PST นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย ทำการวิจัยกลุ่มประชากรที่เกิดช่วงก่อน-หลัง นโยบายลูกคนเดียวในจีน พบหลายลักษณะต่างกันทั้งเรื่องการเผชิญความเสี่ยง ความเชื่อใจ และทัศนคติต่อการแข่งขัน เว็บไซต์วิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ เปิดเผยผลการวิจัยชี้ว่าเด็กที่เติบโตภายใต้นโยบายลูกคนเดียวของจีนทำให้เด็กโตมาเป็นคนที่เชื่อใจได้น้อยลง, หลีกเลี่ยงการเผชิญความเสี่ยง และมองโลกในแง่ร้ายมากกว่าคนที่เกิดก่อนนโยบายลูกคนเดียว ผลการวิจัยเป็นไปตามภาพรวมที่สื่อจีนกล่าวถึงเด็กในยุคนโยบายลูกคนเดียวว่ามีลักษณะแบบ "จักรพรรดิ์ตัวน้อย" ที่โตขึ้นมาในสภาพที่ถูกประคบประหงมและไม่ได้รับการขัดเกลาทางสังคม ซึ่งนักวิจัยบอกว่าการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพนี้อาจส่งผลต่อโลกในแง่ที่ทำให้เกิดคนรุ่นที่ไม่กล้าเผชิญความเสี่ยง อันจะทำให้เกิดภาวะล้าหลังทางนวัตกรรม จากภาวะที่ประชากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้จีนนำนโยบายลูกคนเดียวมาใช้ในปี 1979 โดยมีข้อยกเว้นให้กับคนในชนบท คนในครอบครัวของชนกลุ่มน้อย ลูกแฝด หรือครอบครัวที่มีลูกคนแรกเป็นผู้ทุพลภาพร้ายแรง โดยครอบครัวที่ถูกจำกัดหากมีลูกเพิ่มจะต้องเสียค่าปรับสูงมาก ลิซา คาเมรอน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมนาชประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า มีแต่คนพูดถึงผลกระทบต่อเด็กที่เกิดเป็นลูกคนเดียว แต่ยังไม่มีใครศึกษาจริงจัง จึงเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเขาจะทำการวิจัยในเรื่องนี้ ลิซา และคณะทำการทดลองโดยการใช้เกมเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่ใช้วัดพฤติกรรมด้านต่างๆ ในโลกจริง เช่น การเห็นแก่ผู้อื่น, ความเชื่อใจผู้อื่น, ความน่าเชื่อถือในตนเอง, การแข่งขัน และทัศนคติต่อความเสี่ยง โดยวัดจากกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่ม คือกลุ่มคนที่เกิดก่อนนโยบายลูกคนเดียว และเกิดทีหลังนโยบายลูกคนเดียวถูกประกาศใช้ กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชน 421 ในจีนที่เกิดระหว่าง 1975-1978 ก่อนนโยบายลูกคนเดียว และที่เกิดระหว่าง 1980-1983 หลังนโยบายมีการบังคับใช้แล้ว โดยทีมวิจัยสรรหากลุ่มด้วยอย่างด้วยหลายวิธีการทั้งการโพสท์ในเว็บไซต์และการแปะประกาศตามมุมถนน เพื่อให้ได้ประชากรแบบสุ่มมากทึ่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการกำหนดช่องว่างอายุที่ไม่มากนักเพื่อเป็นการควบคุมตัวแปรรวมทั้งในกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มยังมีปริมาณประชากรชาย-หญิง เท่ากันอีกด้วย โดยในกลุ่มที่เกิดก่อนนโยบายลูกคนเดียวเป็นคนที่เกิดมาเป็นลูกคนเดียวร้อยละ 27 ขณะที่กลุ่มหลังใช้นโยบายลูกคนเดียว เป็นคนที่เกิดเป็นลูกคนเดียวร้อยละ 91
ทีมของลิซา ทำการทดลองโดยการให้กลุ่มตัวอย่างเล่นเกมทางเศรษฐศาสตร์ที่สะท้อนพฤติกรรมและบุคลิกลักษณะของผู้เล่น เช่นในการวัดทัศนคติต่อความเสี่ยง ผู้เข้าร่วมจะได้รับเงิน 100 หยวน (ราว 480-500 บาท) และสามารถลงทุนโดยมีความเสี่ยง 50-50 ระหว่างการได้รับเงินเพิ่มสามเท่ากับไม่ได้รับอะไรกลับมาเลย ซึ่งคนที่ไม่ชอบเสี่ยงจะเลือกทางที่ปลอดภัยคือการเก็บเงิน 100 หยวนไว้โดยที่ไม่เสี่ยง ส่วนคนที่ยอมเสี่ยงจะลองลงทุนเพื่อให้มีโอกาสได้ 300 หยวน ในการวัดด้านการนิยมแข่งขัน กลุ่มตัวอย่างจะได้เล่นเกมบวกเลขสองหลัก พวกเขาต้องเลือกว่า จะเล่นคนเดียวโดยได้รับเงินรางวัลหากทำได้ถูกต้องตามเวลา หรือเลือกว่าจะจับคู่แข่งกับคนอื่นซึ่งจะได้เงินรางวัลมากขึ้นหากสามารถเอาชนะได้ โดยที่กลุ่มนิยมการแข่งขันจะเลือกอย่างหลัง หลังจากการทดสอบด้วยเกมแล้ว กลุ่มตัวอย่างจะต้องทำแบบทดสอบเพื่อวัดบุคลิกภาพบางด้านและมุมมองต่อชีวิต
ผลการทดสอบเปิดเผยว่าคนที่เกิดภายใต้นโยบายลูกคนเดียวมีความไว้วางใจและน่าเชื่อถือน้อยกว่า จากการที่พวกเขาโกงในเกมทดสอบความเชื่อใจในตัวคนอื่น ขณะเดียวกันกลุ่มคนในยุคหลังนโยบายลูกคนเดียวก็มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและไม่ชอบการแข่งขัน จากการที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58 เลือกเสี่ยงในการลงทุนด้วยเงิน 100 หยวน ขณะที่กลุ่มคนยุคก่อนนโยบายลูกคนเดียวเลือกเสี่ยงร้อยละ 66.4 ในแง่ของการแข่งขัน กลุ่มคนยุคหลังนโยบายลูกคนเดียวเลือกแข่งขันกับคนอื่นในเกมบวกเลขร้อยละ 44.2 ขณะที่กลุ่มคนยุคก่อนนโยบายลูกคนเดียวเลือกแข่งขันกับคนอื่นร้อยละ 51.8 ขณะที่ในแง่การเห็นแก่ผู้อื่นนั้น ทั้งสองกลุ่มตัวอย่างไม่แสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามกลุ่มคนที่เกิดหลังปี 1979 มีท่าทีมองโลกในแง่ร้ายมากกว่ากลุ่มคนที่เกิดก่อน พวกเขายังมีความรอบคอบต่ำกว่าและมีอาการประสาทเสียซึ่งเป็นบุคลิกที่หมายรวมถึงการวิตกกังวลมากกว่าด้วย ลิซา คาเมรอน กล่าวว่าสิ่งที่ค้นพบมีหลายด้านตรงกับภาพเหมารวมของสื่อ เช่นการที่ชาวจีนมีลูกคนเดียวอาจทำให้พวกเขาตามใจลูกมากขึ้น ทำให้พวกเขาชอบเสี่ยงหรือชอบแข่งขันน้อยกว่า ขณะที่การไม่เชื่อใจคนอื่นและความไม่น่าเชื่อถืออาจสะท้อนทักษะทางสังคมที่บกพร่องในตัวคนที่เติบโตมาโดยไม่ได้แบ่งปันหรือต่อรองอะไรกับพี่น้อง นอกจากนี้ยังบอกอีกว่านโยบายลูกคนเดียวอาจทำให้ประชากรที่เป็นผู้ประกอบการน้อยลงจากการที่คนในยุคสมัยลูกคนเดียวมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ลิซา กล่าวอีกว่า ผลการสำรวจน่าจะเป็นผลมาจากนโยบายโดยตรงแทนที่จะมาจากความต่างของยุคสมัย จากการที่เขาวิเคราะห์ผลซ้ำหลังลดช่องว่างระหว่างปีของกลุ่มตัวอย่างให้เหลือ 2 ปี ไม่ได้ให้ผลที่แตกต่างจากเดิม ซึ่ง จีน ทเวนกี ศาตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัฐซานดิเอโก ผู้เคยวิจัยเรื่องคนต่างยุคสมัยในสหรัฐฯ เห็นด้วยในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม จีน ทเวนกี เตือนว่าขนาดของกลุ่มที่ตัวอย่างที่นำมาศึกษาในครั้งนี้คือ 421 ยังไม่เพียงพอ และควรมีการศึกษาซ้ำโดยใช้ขนาดประชากรที่ใหญ่กว่านี้ เรียบเรียงจาก China's One-Child Policy Creates 'Little Emperors', Livescience, 10-01-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
แอมนาสตี้ชี้ สมยศเป็น “นักโทษทางความคิด” เสี่ยงถูกลงโทษไม่เป็นธรรม รณรงค์รัฐบาลปล่อยตัว Posted: 12 Jan 2013 07:16 AM PST
เมื่อวันที่ 11 ม.ค.56 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ส่งข้อความถึงสมาชิกทั่วโลกแสดงความกังวลว่า นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารชาวไทยอาจถูกตัดสินลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม โดยคดีของเขาจะมีการพิพากษาในวันที่ 23 ม.ค.นี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ขอความร่วมมือจากสมาชิกให้ร่วมกันส่งจดหมายร้องเรียนถึงรัฐบาลไทยผ่านทางนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวนนายสมยศโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะองค์กรถือว่านายสมยศเป็นนักโทษทางความคิด (prisoner of conscience) ที่ถูกควบคุมตัวเพราะการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ ที่มา http://www.amnesty.org/en/library/info/ASA39/001/2013/en
================== ข้อความในการณรงค์ของ AI
ปฏิบัติการด่วนบรรณาธิการไทยเสี่ยงจะถูกตัดสิทธิลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม
สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงานและบรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ เป็นนักโทษด้านความคิด (prisoner of conscience) เขาถูกควบคุมตัวตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 และถูกสั่งฟ้องเนื่องจากตีพิมพ์บทความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ผ่านมาทางการไทยปฏิเสธไม่ยอมให้เขาประกันตัวหลายครั้ง ในเดือนพฤษภาคม 2555 การไต่สวนคดีที่มีต่อนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข สิ้นสุดลง และยังอยู่ระหว่างรอคำตัดสิน ศาลได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาสามครั้ง ครั้งล่าสุดเลื่อนจากวันที่ 19 ธันวาคม 2555 ไปเป็น 23 มกราคม 2556 เขาถูกจับกุมในวันที่ 30 เมษายน 2555 หลังจากเริ่มรณรงค์รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาได้ไม่นาน เขาถูกสั่งฟ้องและไต่สวนคดีตามความผิดมาตรา 112 ซึ่งห้ามการพูดหรือการกระทำใด ๆ ที่มีลักษณะ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปีในแต่ละกระทง นับแต่ปี 2549 ทางการไทยได้ใช้มาตรา 112 มากขึ้นเพื่อปราบปรามการแสดงความเห็นอย่างสงบ กฎหมายมาตรา 112 ละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นการห้ามใช้สิทธินอกเหนือจากกรณียกเว้นที่มีการระบุไว้ ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) และมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก กรุณาเขียนจดหมายทันทีในภาษาไทย อังกฤษ หรือภาษาของท่านเอง:
กรุณาส่งจดหมายของท่านก่อนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 ไปยัง: ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำเนียบรัฐบาล ถ.พิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทรสาร: +662 280 0858; +66 2 288 4016 อีเมล์ opm@opm.go.th คำเรียก: เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
ฯพณฯ รัฐมนตรียุติธรรม นายประชา พรหมนอก กระทรวงยุติธรรม ชั้น 9 อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรสาร: +662 143 9883 อีเมล์: om@moj.go.th
สำเนาจดหมายถึง: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชั้น 6-7อาคารบี ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรสาร: +662 143 9551 อีเมล์ : info@nhrc.or.th
และให้ส่งสำเนาจดหมายไปยังผู้แทนการทูตไทยในประเทศที่ท่านอยู่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
กลุ่มเด็กเสนอนายกฯ เร่งเดินหน้า “กองทุนออม” รองรับผู้สูงอายุในอนาคต Posted: 12 Jan 2013 05:38 AM PST
12 ม.ค. 56 ที่ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ กลุ่มเด็กและเยาวชนแรงงานนอกระบบ นำโดยศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติราว 100 คนประกอบด้วยเด็กและเยาวชน คนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หาบเร่แผงลอยฯลฯ ที่มีอายุตั้งแต่ 8 - 70 ปี ได้ร่วมกันเดินรณรงค์ตั้งแต่หน้ากระทรวงศึกษาธิการไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หวังให้รัฐบาลเร่งเดินหน้ารับสมัครสมาชิกการออม ตามพ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติทันที ทิพวรรณ อ้ายสุรินทร์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุ 18 ปี กล่าวว่า ได้รอคอยที่จะเข้าสู่ระบบกองทุนการออมแห่งชาติเมื่อได้ยินว่ารัฐได้ประกาศเป็นพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติแล้วเมื่อปี 2554 ด้วยหวังที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงอายุ 60 ปีหรือในวัยสูงอายุ ทิพวรรณ กล่าวว่า ปัญหาที่พบเห็นในชีวิตประจำวันคือภาพผู้สูงอายุในชุมชนที่ต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเอง ทั้งที่ควรได้รับการดูแลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ หากมีการออมเงินตั้งแต่เริ่มต้นด้วยการบังคับให้มีการออมและรัฐต้องมีการสนับสนุนให้มีการออมเพื่อชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคน ในวัยเกษียณอายุการทำงาน ทุกวันนี้แนวการสงเคราะห์จ่ายเบี้ยยังชีพเพียงเดือนละ 500 บาทไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ทำให้ภาพที่ได้เห็นจากสื่อเกี่ยวกับชีวิตที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายถูกทอดทิ้ง ทิพวรรณ ยังกล่าวอีกว่า วันนี้ที่มาร่วมเพราะต้องการให้นายกรัฐมนตรีบังคับใช้กฎหมายกองทุนการออมฯ เสียที เพื่อเป็นของขวัญวันเด็ก เพราะจะได้เข้าสู่ระบบการออมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ อุบล ร่มโพธิ์ทอง ตัวแทนศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติกล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2548 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เนื่องจากสัดส่วนประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ปัจจุบันประเทศไทยผู้สูงอายุร้อยละ 10.7 ของประชากร หรือประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและคาดว่าในปี 2558 สัดส่วนประชากรสูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 14 และเป็นร้อยละ 19.8 ในปี 2568 คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด การเปลี่ยนโครงสร้างประชากรของประเทศ พบว่าอัตราส่วนการเกื้อกูลผู้สูงอายุของประชากรวัยทำงานต่อประชากรสูงอายุ 1 คน ค่อยๆ ลดลง ในปี 2551 เท่ากับ6.07 คน จะลดลงเป็น 2.52 คนในปี 2573 และระบบบำนาญในปัจจุบัน คือ 500 บาทต่อผู้สูงอายุ 1 คนต่อเดือน ซึ่งจะเป็นภาระของประชาชนรุ่นหลังในรูปแบบของภาษีจะเพิ่มขึ้นสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การออกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 นับว่าเป็นการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ประชาชนยามชราภาพถ้วนหน้า อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีในการเป็นพลเมืองของประเทศ ในขณะเดียวกันการส่งเสริมการออมของประชาชนเป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัจจุบัน กระทรวงการคลังในฐานะผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ประชาชนเป็นสมาชิกการออม ทั้งนี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2555รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ และให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป โดยคาดว่าจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้เสร็จภายในปี 2556 ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มผู้ขับแท็กซี่ กลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้าง ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย กลุ่มซาเล้งและคุ้ยขยะ กลุ่มเกษตรกรพันธสัญญา เครือข่ายแรงงานชุมชน กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคี มูลนิธิเพื่อนหญิง กลุ่มเยาวชนพื้นที่สมุทรปราการ และเครือข่ายนักวิชาการด้านบำนาญชราภาพ ซึ่งเห็นความสำคัญและสนับสนุนให้เกิดระบบบำนาญถ้วนหน้าโดยเร็ว โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้ (1) รัฐบาลต้องเร่งเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุน ตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังไม่มีหลักประกันรายได้ใดๆ และเป็นการส่งเสริมการออมของประชาชนในวัยทำงาน (2) ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติและภาคี ขอเสนอให้หน่วยงาน/กระทรวงที่มีนโยบายเพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ (บำนาญชราภาพ) อาทิ กองทุนการออมแห่งชาติ โดยกระทรวงการคลัง การขยายประกันสังคม มาตรา 40 เพื่อขยายสิทธิประโยชน์สำหรับแรงงานนอกระบบ โดยกระทรวงแรงงาน การส่งเสริมสวัสดิการชุมชน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้พิจารณาแนวทางการบูรณาการระบบหลักประกันทางสังคมและรายได้ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากทุกนโยบาย รวมถึงการลดภาระทางการเงินการคลังของประเทศ และให้มีระบบบำนาญระบบเดียวที่มีเสถียรภาพในระยะยาว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ส่ง สุพร อัตถาวงษ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเป็นผู้แทนมารับหนังสือ สุพร อัตถาวงษ์ กล่าวว่า หนังสือที่ได้รับวันนี้ต้องถึงมือนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาบังคับใช้กฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติฉบับดังกล่าว การมาของเด็กและเยาวชน แรงงานนอกระบบเป็นการหวังดีที่ต้องการให้เกิดระบบที่ดีมารองรับเด็กๆ ที่จะต้องโตในอนาคต วันเด็กปีนี้ขอให้เด็กทุกคนมีความสุข และจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายกองทุนการออมฯ พร้อมกับเปิดรับสมาชิกเข้าสู่ระบบการออมเพื่ออนาคตที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
สมาคมสื่อเรียกร้องให้กองทัพยุติการคุกคามสื่อมวลชน Posted: 12 Jan 2013 04:25 AM PST ต่อกรณีทหารตบเท้าหน้าบ้านพระอาทิตย์ติดกัน 2 วัน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพยุติการคุกคามสื่อมวลชนทุกรูปแบบ และเคารพสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน หากเห็นว่าสื่อใช้สิทธิเกินขอบเขตให้ฟ้องร้องตามกฎหมาย วันนี้ (12 ม.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "ขอให้ยุติการคุกคามสื่อมวลชน" หลังจากที่มีทหารในเครื่องแบบ สังกัดกองทัพบก เดินทางไปชุมนุมหน้าหน้าสำนักงานเอเอสทีวีผู้จัดการ ถ.พระอาทิตย์ ในวันที่ 11 และ 12 มกราคม เพื่อเรียกร้องให้สื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการขอโทษ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบก หลังก่อนหน้านี้มี พล.อ.ประยุทธ์ ได้วิจารณ์สื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอข่าวของ นสพ.เอเอสทีวีผู้จัดการ หลังจากถูกผู้สื่อข่าวสอบถามเกี่ยวกับการชุมนุมเพื่อทวงคืนปราสาทพระวิหาร และ พล.อ.ประยุทธ์ได้ด่าทอว่า "ไอ้หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ผมบอกได้เลยว่า มันเขียนห่วย ด่าผมอย่างโน้นอย่างนี้ เอาอะไรมาด่าผม เอาศักดิ์ศรีอะไรมาด่าผม ทำไมรักประเทศชาติอยู่คนเดียวหรืออย่างไร ไปดูพฤติกรรมตัวเองเป็นอย่างไรกันบ้าง ผมทนมานานพอสมควรแล้ว" (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) และต่อมาเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ได้เขียนแถลงการณ์ "ไอ้ผู้จัดการห่วย หรือ ไอ้ ผบ.ทบ.ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ห่วยกันแน่" ตอบโต้ จนนำมาสู่การตบเท้าชุมนุมหน้าสำนักงานเอเอสทีวีผู้จัดการดังกล่าว ทั้งนี้นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระบุว่าได้ปรึกษากับทางผู้บริหารของเอเอสทีวี และได้เตรียมให้ดำเนินการรวบรวมข้อมูล หลักฐานทั้งหมด และจะดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดผู้เกี่ยวข้องต่อไป ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่าการชุมนุมของทหารดังกล่าวสามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการปกป้องกองทัพบกไม่ได้ปกป้องตัวเขา และคิดว่าจะไม่บานปลาย ถ้าสื่อไม่ขยายความ ส่วน พล.ท.ไพบูลย์ คุ้มฉายา แม่ทัพภาคที่ 1 เห็นว่า ทหารไปแสดงออกถึงความเป็นทหารของเขา ไม่ได้ไปข่มขู่ และมีการขออนุญาตผู้บังคับบัญชา โดยแถลงการณ์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยมีดังนี้
000 แถลงการณ์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย | ||||||
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ทิศทางขบวนการประชาชน 2556 Posted: 11 Jan 2013 10:44 PM PST เวลาของปี พ.ศ.๒๕๕๕ ผ่านไปอีก ๑ ปี ท่ามกลางการต่อสู้ที่ขบวนการของประชาชนไทยยังคงเข้มแข็งมากขึ้น เมื่อปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์หลายประการที่น่าจะส่งผลต่อทิศทางทางการเมืองของประเทศต่อไป ในด้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งบริหารประเทศมาแล้ว ๑๗ เดือน ต้องถือว่าประสบความสำเร็จในด้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายสำคัญ เช่น ลดภาษีรถคันแรก การรับจำนำข้าวจากชาวนา ต่างก็บรรลุเป้าหมายอันน่าพอใจ รวมถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่เริ่มดำเนินการในช่วงปีใหม่นี้เป็นต้นไป ก็จะส่งผลด้านบวกต่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงาน แน่นอน การดำเนินนโยบายทุกอย่างต้องมีผู้ได้รับประโยชน์และสูญเสียผลประโยชน์ การแสดงความไม่เห็นด้วยหรือต่อต้านคัดค้านถือเป็นเรื่องปกติ ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังมีโจทย์เจ้าประจำ นั่นคือ ฝ่ายคนเสื้อเหลือง พวกสลิ่มอนุรักษ์นิยม พรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการอำมาตย์ จนถึงพวกสื่อมวลชนฝ่ายขวา ประเภทผู้จัดการ แนวหน้า ไทยโพสต์ ซึ่งใช้อคติต่อต้านคัดค้านนโยบายทุกเรื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร หรือแม้แต่ไม่ทำอะไรเลย ให้ถือว่า การต่อต้านของคนกลุ่มนี้ เป็นพวกแก้เหงา เพราะพวกเขาวิตกว่าจะไม่มีอะไรทำ ความจริงแล้ว การดำเนินนโยบายเหล่านี้ ชี้ให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ความล้มเหลวอย่างสำคัญของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในการบริหารประเทศ คือ การไม่สามารถผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างใหม่ที่มีผลสะเทือนและกระทบชีวิตของประชาชน เมื่อมาถึงวันนี้ แทบจะนึกไม่ออกเลยว่า นโยบายเศรษฐกิจอะไรบ้างของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในชีวิตของผู้คนและจะทำให้ระลึกถึง ดังนั้น ถ้าจะสร้างพรรคให้เข้มแข็งและเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชนในอนาคต พรรคประชาธิปัตย์จะต้องหานโยบายใหม่ที่แตกต่าง และสร้างความประทับใจให้กับประชาชนให้ได้ การมุ่งโจมตีว่า นโยบายของเพื่อไทยเป็นแบบประชานิยมซื้อใจประชาชนคงไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็ดำเนินการแบบเดียวกัน จนทำให้เกิดคำอธิบายความแตกต่างได้อีกว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์คือ ประชานิยมที่ล้มเหลว แต่นโยบายพรรคเพื่อไทยคือ ประชานิยมที่สำเร็จ แต่กระนั้น คงจะต้องกล่าวเช่นกันว่า ในด้านการเมือง การตัดสินใจในการลงมือทำ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล้าทำน้อยกว่ามาก การผลักดันนโยบายทางการเมือง โลเลและล่าช้า เพราะความเกรงใจพลังฝ่ายอำมาตย์ โดยเฉพาะองคมนตรี ศาล และกองทัพบก ที่เป็นปัญหาสำคัญอันดับแรกคือ เรื่องนักโทษการเมืองฝ่ายคนเสื้อแดงที่เป็นผู้สนับสนุนรัฐบาล และเสียสละในการต่อสู้จนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย และติดคุกตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ต่อมา เมื่อพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ประชาชนก็ยังคงติดคุกต่อจนถึงปัจจุบัน ไม่เห็นความพยายามจากฝ่ายรัฐบาลที่จะช่วยให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ให้ได้รับการนิรโทษและปล่อยตัว ยิ่งกว่านั้น ในกรณีที่เป็นพี่น้องประชาชนที่ถูกเล่นงานด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ต่างก็ถูกทอดทิ้งโดยสิ้นเชิง แต่ในอีกด้านหนึ่ง การดำเนินการที่จะให้มีการนำตัวฆาตกรที่เข่นฆ่าประชาชนมาลงโทษก็ดำเนินการอย่างเป็นไปเอง และล่าช้า ไม่มีการผลักดันอย่างใดจากฝ่ายพรรคเพื่อไทย แม้จะอ้างกันว่า คดีมีความคืบหน้า เพราะกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ.)ได้ทำการจนถึงขั้นเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แต่จะเห็นได้ชัดว่า กระบวนทั้งหมดดำเนินไปโดยปกป้องกองทัพบก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเข่นฆ่าประชาชน ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยังดำเนินการโดยจงใจที่จะถ่วงเวลา ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเลี่ยงการลงนามเป็นภาคีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ไอซีซี.) เพื่อเปิดทางให้อัยการของศาลระหว่างประเทศสอบสวนคดีสังหารหมู่ประชาชนอย่างยุติธรรมตามแบบสากล ทำให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อยังต้องพึ่งเพียงศาลไทย ที่มีปัญหาในด้านความยุติธรรมอย่างมาก ข้อที่แสดงให้เห็นความลังเลล้มเหลวที่สุดในทางการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็คือเรื่องการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการปฏิรูปทางการเมืองไปสู่ประชาธิปไตย ทั้งที่ได้มีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามระบบรัฐสภา จนญัตติผ่านวาระที่สองไปแล้ว แต่พอถูกศาลรัฐธรรมนูญทักท้วง กระบวนการรัฐสภาก็ชะงักงัน พรรคเพื่อไทยไม่กล้าแม้กระทั่งผลักดันให้มีการลงมติในวาระสามตามขั้นตอน กลับหาข้ออ้างที่จะให้มีการลงประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อผลักดันระเบียบวาระทั้งหมดมาให้ประชาชนตัดสิน ซึ่งจะยิ่งทำให้กระบวนการทั้งหมดล่าช้าออกไป และในที่สุด นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้แถลงในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ยอมรับว่า การแก้รัฐธรรมนูญนั้น "สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน" ซึ่งทำให้เป็นที่แน่ใจได้ว่า การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะไม่ลุล่วงใน พ.ศ.๒๕๕๖ กรณีนี้ แตกต่างอย่างมากกับสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลยโดยทันที ข้อเสนอสำคัญที่ผลักดันโดยกลุ่มนิติราษฎร์ และดำเนินการโดยคณะครก.๑๑๒ ในปีที่ผ่านมา คือ เรื่องการปฏิรูปกฎหมายมาตรา ๑๑๒ เพื่อให้มีกระบวนการอันเป็นประชาธิปไตย และไม่ให้เกิดการนำมาใช้ในการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ที่มีความแตกต่างทางความคิด ไม่เคยได้รับความสนใจจากพรรคเพื่อไทย และถูกล้มอย่างง่ายโดยประธานสภาผู้แทนราษฎร ในที่นี้อยากจะขอย้ำว่า เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และมีความจำเป็นอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อสร้างหลักประกันแห่งประชาธิปไตยในอนาคต เป็นที่น่าสงสัยว่า ชนชั้นนำไทย จะวางเฉยต่อเรื่องนี้ไปได้อีกนานไหม ก่อนที่สถานการณ์ความขัดแย้งของชนชั้นสูงจะวิกฤต และส่งผลกระทบต่อประเทศชาติยิ่งกว่านี้ กรณีทั้งหมดนี้ ได้นำมาสู่สถานการณ์ใหม่อันน่าสนใจ คือ ความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับขบวนการคนเสื้อแดงปะทุออกเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก โดยการที่ฝ่ายแนร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ได้ประกาศปฏิญญาโบนันซ่า ที่เขาใหญ่เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม โดยเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ๓ ข้อ คือ ๑. ขอให้สภาเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่สาม เพื่อนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน ๒. เรียกร้องรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศให้เดินหน้าลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณีการปราบปรามประชาชน เมื่อปี ๒๕๕๓ และ ๓. ให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาจากการชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่มยกเว้นแกนนำและคนสั่งการ ที่สำคัญคือ ข้อแรก ซึ่งไม่ตรงกับรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เสนอให้แก้ปัญหาโดยการลงประชามติ ข้อขัดแย้งในเรื่องนี้ ได้ถูกนำมาพิจารณาในการประชุมพรรคเพื่อไทยที่เขาใหญ่เมื่อวันที่ ๕-๖ มกราคมที่ผ่านมานี้ ในที่สุด ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป พรรคเพื่อไทยก็เลื่อนความขัดแย้งตามเคย โดยจะเสนอให้สถาบันการศึกษาช่วยหาทางออกในเรื่องนี้ จากสถานการณ์ที่สรุปมานี้ ถ้าจะถามว่า ขบวนการประชาชนจะทำอย่างไรใน พ.ศ.๒๕๕๖ นี้ ก็คงตอบได้ว่า จะต้องให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในด้านการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาของประชาชน แต่ในด้านการดำเนินการทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยซึ่งถือว่า ยังใช้ไม่ได้ ขบวนการประชาชนคงต้องพึ่งตนเองในการเคลื่อนไหวต่อสู้ คงจะต้องช่วยผลักดันข้อเสนออันก้าวหน้าทั้งหลาย ที่ผลักดันโดยกลุ่ม นปช. กลุ่มนิติราษฎร์ ปฏิญญาหน้าศาล และอื่นๆ เร่งขยายฐานความคิดมวลชนให้เกิดการตาสว่างมากยิ่งขึ้น สถานการณ์จึงจะนำไปสู่ชัยชนะในอนาคต ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
กรุงเทพโพลล์: ผลสำรวจเรื่อง “ความคิดของเด็กฝากถึงผู้ใหญ่ ในวันเด็กแห่งชาติ” Posted: 11 Jan 2013 10:32 PM PST
เผยผลสำรวจ กรุงเทพโพลล์ เด็กๆ อยากได้ไอแพด แท็บเล็ต เป็นของขวัญจากนายกฯ มากที่สุด และอยากบอกผู้ใหญ่ในสังคมให้สามัคคีปรองดอง เลิกทะเลาะกัน เนื่องด้วยวันเสาร์ที่ 12 มกราคม นี้ ตรงกับวันเด็กแห่งชาติ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของเด็กๆ ที่มีอายุ 6-14 ปี ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,115 คน เมื่อวันที่ 8 – 10 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่า สถานที่ที่เด็กๆ อยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง พาไปเที่ยวมากที่สุดคือ สวนสนุก เช่น สวนสยาม ดรีมเวิลด์ ร้อยละ 26.9 รองลงมาคือ พาไปเที่ยวทะเล ร้อยละ 25.5 และพาไปสวนสัตว์ เช่น เขาดิน ซาฟารีเวิลด์ ร้อยละ 15.6 สำหรับของขวัญที่เด็กๆ อยากได้จากนายกรัฐมนตรีในวันเด็กปีนี้ มากที่สุด คือไอแพด แท็บเล็ต ร้อยละ 19.7 รองลงมาคือ โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เช่น บีบี ไอโฟน ซัมซุง ฯลฯ ร้อยละ 15.3 และตุ๊กตา ตัวใหญ่ๆ ร้อยละ 12.2 ในส่วนคำขวัญวันเด็กในปีนี้ ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ว่า "รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน"เด็กๆ ส่วนใหญ่ระบุว่าคำที่ตนเองสามารถทำได้มากที่สุด คือ คำว่า "ใฝ่เรียนรู้" ร้อยละ 46.9 รองลงมาคือคำว่า "รักษาวินัย" ร้อยละ 28.8 คำว่า "นำพาไทยสู่อาเซียน" ร้อยละ 13.7 และคำว่า "เพิ่มพูนปัญญา" ร้อยละ 8.9 ตามลำดับ ในขณะที่ร้อยละ 1.7 ระบุว่าไม่สามารถทำได้เลยสักข้อ ด้านอาชีพที่เด็กใฝ่ฝันอยากจะเป็นมากที่สุดเมื่อโตขึ้น คือ อาชีพหมอ/แพทย์ ร้อยละ 16.6รองลงมาคือ คุณครู ร้อยละ 14.1 และตำรวจ ร้อยละ 11.5 ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้น ที่ระบุว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรีและนักการเมือง เมื่อถามถึงคุณสมบัติของคนดีในความคิดของเด็กๆ พบว่า ต้องใจดี มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ร้อยละ 38.0 รองลงมาคือ ต้องซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 36.4 และขยัน อดทน ร้อยละ 15.0 สุดท้ายเรื่องที่เด็กๆ อยากบอกผู้ใหญ่ในสังคมมากที่สุดคือ ให้สามัคคีปรองดอง เลิกทะเลาะกัน ร้อยละ 33.6 รองลงมาคือ ให้มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่คดโกง ร้อยละ 23.7 และให้ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีของเด็ก ร้อยละ 11.1 ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 1. สถานที่ที่เด็กๆอยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง พาไปเที่ยวมากที่สุดคือ - ไปเที่ยวสวนสนุก เช่น สวนสยาม ดรีมเวิลด์ ร้อยละ 26.9 - ไปเที่ยวทะเล ร้อยละ 25.5 - ไปสวนสัตว์ เช่น เขาดิน ซาฟารีเวิลด์ ร้อยละ 15.6 - ไปวัด ทำบุญ ร้อยละ 12.9 - ไปท้องฟ้าจำลอง ร้อยละ 8.0 - ไปดู รถถัง เครื่องบิน ปืนใหญ่ ร้อยละ 3.7 - ไปทำเนียบรัฐบาล นั่งเก้าอี้นายกฯ ร้อยละ 3.2 - อื่นๆ อาทิ ไปชมพิพิธภัณฑ์ ห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 4.2 งานกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯลฯ 2. ของขวัญวันเด็ก ที่เด็กๆ อยากได้จากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง) - ไอแพด / แท็บเล็ต ร้อยละ 19.7 - โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เช่น บีบี ไอโฟน ซัมซุง ร้อยละ 15.3 - ตุ๊กตาตัวใหญ่ๆ ร้อยละ 12.2 - คอมพิวเตอร์ และ Notebook ร้อยละ 7.2 - จักรยาน ร้อยละ 5.9 3. จากคำขวัญวันเด็กในปีนี้ ของนายก ฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ว่า "รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน" คำที่เด็กคิดว่าสามารถทำได้มากที่สุด คือ - รักษาวินัย ร้อยละ 28.8 - ใฝ่เรียนรู้ ร้อยละ 46.9 - เพิ่มพูนปัญญา ร้อยละ 8.9 - นำพาไทยสู่อาเซียน ร้อยละ 13.7 - ทำไม่ได้สักข้อ ร้อยละ 1.7 4. อาชีพที่เด็กใฝ่ฝันอยากเป็นมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ - หมอ แพทย์ ร้อยละ 16.6 - คุณครู ร้อยละ 14.1 - ตำรวจ ร้อยละ 11.5 - ทหาร ร้อยละ 11.2 - ดารา/นักร้อง ร้อยละ 10.8 - นักธุรกิจ/เจ้าของกิจการ ร้อยละ 7.5 - พยาบาล ร้อยละ 5.7 - วิศวกร/สถาปนิก ร้อยละ 4.8 - โปรแกรมเมอร์ ร้อยละ 4.4 - นายกรัฐมนตรี /นักการเมือง ร้อยละ 4.2 5. คุณสมบัติของการเป็นคนดีในความคิดของเด็กๆ คือ - ใจดี / มีน้ำใจ / เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ร้อยละ 38.0 - ซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 36.4 - ขยัน / อดทน ร้อยละ 15.0 - เรียนเก่ง ร้อยละ 7.8 - ร่ำรวย ร้อยละ 1.7 - มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก ร้อยละ 1.1 6. เรื่องที่เด็กๆ อยากบอกกับผู้ใหญ่ในสังคมมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ - ให้สามัคคีปรองดอง เลิกทะเลาะกัน ร้อยละ 33.6 - ให้มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่คดโกง ร้อยละ 23.7 - ให้ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีของเด็ก ร้อยละ 11.1 - ช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญ ร้อยละ 8.6 - ให้รับฟังความคิดเห็นของเด็กๆ บ้าง ร้อยละ 6.6 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทคือ “ความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” Posted: 11 Jan 2013 10:03 PM PST
แรงงาน เป็นพลังส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สรรพสิ่ง ไม่ว่าแรงงานในท้องนาท้องไร่ แรงงานในทะเลมหาสมุทร หรือแรงงานในโรงงานก็ตาม แรงงาน ไม่ว่า อยู่หนใด แรงงาน ล้วนสร้างสรรค์โลกใบนี้ ทุกห้วงประวัติศาสตร์การผลิตของมนุษยชาติ โลกทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ปัจจุบัน แรงงานไหลลื่นไปเช่นเดียวกับกระแสทุนที่ไร้พรมแดน แต่แรงงาน มักถูกมองให้คุณค่าเป็นเพียงปัจจัยการผลิต เป็นเพียงสินค้าชิ้นหนึ่ง แรงงานยังถูกกระทำให้เป็นเพียงหุ่นยนต์ไร้อารมณ์ความรู้สึก ของกระบวนการผลิตระบบทุนนิยม แรงงานจึงหาต่างจากเครื่องจักรแต่อย่างใด ทั้งๆที่ แรงงาน เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นเดียวกับนายทุน แต่แรงงานมักประสบชะตากรรมมีชีวิตอย่างอัตคัตขัดสน ไร้สวัสดิการ หลักประกันพื้นฐานของชีวิต ต้องทำงานอย่างซ้ำซากจำเจมากกว่า 8 ชั่วโมง และมักได้รับค่าจ้างเพียงมีชีวิตเพื่ออยู่รอดไปวันๆ ชีวิตผู้ใช้แรงงาน จึงไม่ได้รับความยุติธรรมและอยู่อย่างมีศักดิ์ความเป็นมนุษย์ …………………… ปรากฏการณ์ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยืนยันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม 2556 ตามที่หาเสียงไว้ เนื่องเพราะต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ มีความก้าวหน้าขึ้น ท่ามกลางเสียงคัดค้านของกลุ่มนายทุนบางส่วน องค์กรนายจ้างบางองค์กร พร้อมๆกับสื่อมวลชนบางสำนัก นักวิชาการบางคน และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหาได้มีจุดยืนเพื่อผุ้ใช้แรงงาน หรือทำนองค้านทุกเรื่องต่อนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ว่านโยบายนั้นมีผลประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ก็ตาม หากมองเรื่องค่าแรงขั้นต่ำของไทยยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ รวมถึงภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังได้รับค่าแรงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศแถบยุโรป อเมริกา ปัจจุบันนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย อย่างประเทศอินโดนีเซียก็ขึ้นค่าแรงไปแล้ว 44 เปอร์เซ็นต์ มาเลเซียก็มีนโยบายขึ้นค่าแรงเช่นกัน ดังนั้นจะเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยที่ผ่านมานั้นอยู่ในเกณท์ต่ำมาโดยตลอด หากมีคำถามว่า เมื่อมีนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ทำไมสังคมไทยมักจะตื่นตระหนกไปด้วย ทั้งที่จริงๆแล้วค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยก็อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาโดยตลอด แล้วทำไมถึงขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ มีงานวิจัยที่ชี้ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีผลน้อยมากทางด้านเศรษฐกิจ แต่กลับมีผลดีกับเศรษฐกิจอีกด้วย เช่น อินโดนีเซียที่ได้ขึ้นค่าแรงไปแล้ว ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ แต่กลับเพิ่มการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น จะเห็นว่าเมื่อคนงานได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น การบริโภคภายในประเทศก็ดีขึ้น ซึ่งประเทศจีนก็พยายามทำแบบนี้เหมือนกัน แต่สื่อมักจะทำให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคมขึ้นมาว่า เมื่อขึ้นค่าแรงแล้ว จะเป็นผลทำให้ของแพง บริษัทจะขาดทุนตามมา แม้ว่าจะมีผลวิจัยออกมาตรงข้ามกันก็ตาม ไม่นานมานี้ นายแล ดิลกวิทยรัตน์ ศาสตราภิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ไว้ว่า หากพิจารณาด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ข้อมูลว่า ทำให้ต้นทุนเพิ่มเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น ซึ่งเป็นต้นทุนในภาพรวมเพียงร้อยละ 10 ไม่ใช่ต้นทุนทั้งหมด เพราะต้นทุนส่วนใหญ่อีกร้อยละ 90 มาจากต้นทุนด้านสาธารณูปโภค ต้นทุนโลจิสติกส์ และการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง แต่กลับจะเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการไทยมีการปรับปรุงประสิทธิภาพและปรับระบบบริหารจัดการ รวมถึงเทคโนโลยีในการประกอบการให้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว ทำให้ศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้น จากที่ผู้ประกอบการไทยละเลยที่จะปรับปรุงกันมานาน เห็นได้จากประเทศที่มีค่าจ้างสูงกว่าไทย ก็ไม่ได้มีศักยภาพในการแข่งขันต่ำกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม นายแล ยอมรับว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท จะทำให้บางอุตสาหกรรมที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เฉพาะรายที่ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันต้องปิดตัวลงจริง เพราะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ด้วยว่าผู้ประกอบการรายนั้น ๆ สมควรจะอยู่ในธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ต่อไปหรือไม่ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากผู้ที่อยู่ได้บางรายสั่งสมประสบการณ์มานานแล้ว ส่วนการย้ายฐานการผลิตออกไปประเทศเพื่อนบ้านนั้น เชื่อว่าเป็นเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มล้าสมัยกำลังจะตายไปในที่สุด และการย้ายออกไป แม้จะย้ายหนีต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้้นได้ก็จริง แต่กลับต้องไปเผชิญกับต้นทุนด้านสาธารณูปโภค กฎหมายแรงงานที่เข้มงวด นายแล กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปต่อเนื่องไปในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงของความต้องการแรงงานมีมากกว่าแรงงานที่มีอยู่ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยหากต้องการขยายการลงทุนจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาช่วย เพราะขณะนี้อัตราการว่างงานของไทยต่ำมากต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราการว่างงาน เช่น อินโดนีเซียที่ว่างงานถึงร้อยละ 7.7 ส่วนกรณีที่มีการแห่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น เพราะมีความต้องการจากนายจ้างไทยมากกว่า ส่วนผลของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเงินเฟ้อยังต่ำ เห็นได้จากตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท มีส่วนเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อของประเทศเพียงร้อยละ 0.1 จากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับร้อยละ 3-4 ต่อปีเท่านั้น ดังนั้น นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในครั้งนี้ แน่นอนว่าย่อมมีด้านบวกเป็นหลัก และมีด้านผลกระทบอยู่บ้างด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลก็ต้องวางมาตราแก้ไขไว้ จึงมิใช่ต้องยกเลิกนโยบายนี้ ที่สำคัญ นโยบายนี้ หาได้เพียงเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานเพียงอย่างเดียว หากยังหมายถึงความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงานด้วยเช่นกัน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
Electrolux ระยองเลิกจ้างสหภาพแรงงานฯ ยกเข่ง หลังต่อรองปรับค่าจ้าง 300 Posted: 11 Jan 2013 09:49 PM PST 12 ม.ค. 56 - สืบเนื่องมาจากวันที่ 10 มกราคม 2556 เวลาประมาณ 13.00 น. หลังจากที่ประธานสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ได้เข้าเจรจากับผู้บริหารเรื่องนโยบายการปรับค่าจ้างตามที่รัฐบาลประกาศ ซึ่งส่งผลกระทบกับวิถีการดำรงชีวิตของผู้ใช้แรงงานทุกคน ซึ่งปัญหาที่ได้รับผลกระทบคือค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงขอให้บริษัทฯ พิจารณาปรับค่าจ้างให้กับพนักงานทุกคนในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ใช่ปรับให้เฉพาะคนที่ยังมีค่าจ้างไม่ถึง 300 บาทหรือเกินกว่านั้นเพียงบางส่วนเท่านั้นโดยไม่คำนึงอายุงานว่าใครจะทำงานมานานเท่าไร คือ ค่าจ้างเดือนละ 8000-8099 ปรับเพิ่ม 1000 บาท ค่าจ้างเดือนละ 8100-10000 ปรับเพิ่ม 900 บาท ค่าจ้างเดือนละ 10001-15000 ปรับเพิ่ม 800 บาท ต่อมาในวันที่ 11 ม.ค. 56 เวลาประมาณ 08.00 น. ผู้บริหารได้มาชี้แจ้งต่อที่ประชุมของพนักงานว่าไม่สามารถปรับเพิ่มโดยไม่ชี้แจงเหตุผลให้กับพนักงานทุกคนทราบ หลังจากนั้นประธานสหภาพแรงงานจึงได้โต้แย้งว่าทำไมจึงไม่ปรับเพิ่มให้ตามที่ได้คุยกันไว้ ทำให้ผู้บริหารเกิดความไม่พอใจ และได้จูงมือประธานสหภาพแรงานฯ ออกมานอกโรงงานและบอกว่าเลิกจ้างเพราะสร้างความแตกแยกและทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหาย และให้รถตู้ไปส่งยังที่พัก ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. บริษัทได้ออกมาแจ้งกับพนักงานทุกคนว่าบริษัทเลิกจ้างกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงานทุกคนแล้ว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
Posted: 11 Jan 2013 09:20 PM PST ปัจจุบัน บริษัทอีเลคโทรลักซ์ ระยอง มีพนักงานรวมทั้งหมดกว่า 650 คน และเป็นฐานการผลิตสำคัญของผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าฝาหน้า เครื่องซักผ้าฝาบน เครื่องซักและอบผ้า และเครื่องอบผ้า จากการลงทุนในครั้งนี้ โรงงานมีกำลังการผลิตเครื่องซักผ้ารวมทั้งสิ้นมากกว่า 1 ล้านเครื่องต่อปีและเป็นหนึ่งของศูนย์กลาง การผลิตเครื่องซักผ้าอีเลคโทรลักซ์ในระดับโลก มีสำนักงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม IRL (เหมราช) เลขที่ 169 ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย ระยอง เหตุเกิดเมื่อ 10 มกราคม 2556 เวลาประมาณ 13.00 น. หลังจากที่ประธานสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ได้เข้าเจรจากับผู้บริหารเรื่องนโยบายการปรับค่าจ้างตามที่รัฐบาลประกาศ ซึ่งส่งผลกระทบกับวิถีการดำรงชีวิตของผู้ใช้แรงงานทุกคน ซึ่งปัญหาที่ได้รับผลกระทบคือค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงขอให้บริษัทฯ พิจารณาปรับค่าจ้างให้กับพนักงานทุกคนในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ใช่ปรับให้เฉพาะคนที่ยังมีค่าจ้างไม่ถึง 300 บาทหรือเกินกว่านั้นเพียงบางส่วนเท่านั้นโดยไม่คำนึงอายุงานว่าใครจะทำงานมานานเท่าไร คือ
ในเบื้องต้นการเจรจาผู้บริหารบอกว่าจะเข้าใจรับไปพิจารณาและรับปากว่าจะให้คำตอบในวันรุ่งขึ้นโดยรับปากว่าจะพิจารณาปรับเพิ่มให้ตามความเหมาะสมและจะมีข่าวดีแน่นอน ต่อมาในวันที่ 11 มกราคม 2556 เวลาประมาณ 08.00 น. ผู้บริหารได้มาชี้แจ้งต่อที่ประชุมของพนักงานว่าไม่สามารถปรับเพิ่มโดยไม่ชี้แจงเหตุผลให้กับพนักงานทุกคนทราบ หลังจากนั้นประธานสหภาพแรงงานจึงได้โต้แย้งว่าทำไมจึงไม่ปรับเพิ่มให้ตามที่ได้คุยกันไว้ ทำให้ผู้บริหารเกิดความไม่พอใจ และได้จูงมือปรานสหภาพแรงานฯ ออกมานอกโรงงานและบอกว่าเลิกจ้างเพราะสร้างความแตกแยกและทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหาย และให้รถตู้ไปส่งยังที่พัก ส่วนพนักงานซึ่งรอฟังคำชี้แจงอยู่ต่างก็ไม่เข้าใจในการกระทำของบริษัทฯ ซึ่งมีการเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานฯ โดยไม่มีเหตุผลจึงได้รวมตัวกันอยู่ภายในบริษัทฯ และขอให้บริษัทฯ รับประธานสหภาพกลับเข้ามาและเจรจากันให้เข้าใจว่าบริษัทฯ มีเหตุผลอะไรที่ไม่สามารถปรับผลต่างของค่าจ้างขึ้นต่ำตามที่รัฐบาลประกาศได้ทั้งที่มีการรับปากแล้วว่าจะพิจารณาปรับเพิ่มให้ แต่ผู้บริหารก็ไม่ฟังเหตุผลแต่อย่างใด และได้กักบริเวณพนักงานไม่ให้ไปให้รับประทานอาหารเที่ยงที่โรงอาหาร จนพนักงานต้องให้เพื่อนซึ่งอยู่นอกโรงงานหาวิธีซื้ออาหารเข้ามากินกันเอง ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. บริษัทได้ออกมาแจ้งกับพนักงานทุกคนว่า "บริษัทเลิกจ้างกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงานทุกคนแล้ว" แต่พนักงานก็ขอให้บริษัทฯ แจ้งรายชื่อพนักงานที่ถูกเลิกจ้างให้กับพนักงานทุกคนทราบด้วยเนื่องจากพนักงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนหนึ่งเป็นพนักงานกะกลางคืนที่มาร่วมรับฟังคำชี้แจงเท่านั้นและไม่ได้มีความผิดอะไร รวมทั้งเพื่อนพนักงานในกะเช้าเองก็ไม่ได้มีความผิดแต่อย่างใดทุกคนต่างก็ต้องการได้รับข่าวสารที่เป็นจริง และการปรับค่าจ้าง 300 บาท ก็เป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งผู้ใช้แรงงานทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นก็ควรที่จะได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นตามที่รัฐบาลประกาศกำหนด ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงขั้นการเลิกจ้างในครั้งนี้เป็นความผิดของใครกันแน่ เพราะถ้ารัฐบาลไม่ประกาศปรับเพิ่มค่าจ้างสินค้าก็ไม่ขึ้นราคา แต่วันนี้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างไปแล้วแต่ไม่ได้หันมาดูแลหรือสนใจผู้ใช้แรงงานว่าแต่ละคนนั้นได้ปรับค่าจ้างจริงตามที่รัฐบาลประกาศหรือเปล่า "หรือเพียงแค่จะคิดแค่หาเสียงแบบประชานิยมไปวันๆเท่านั้นเอง"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เฮ้อ.....เวรรรร" Posted: 11 Jan 2013 09:08 PM PST |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น