โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สภากอบกู้รัฐฉาน RCSS /SSA พบกองทัพว้า ได้ข้อตกลงร่วมปราบปรามยาเสพติด

Posted: 17 Jan 2013 12:17 PM PST

กองทัพรัฐฉาน SSA/RCSS กองพลน้อยที่ 727 เข้าเจรจากับกองทัพสหรัฐว้า UWSA โดยตกลงได้ 4 ข้อคือจะหยุดยิงต่อกัน ปลูกพืชเศรษฐกิจ ขอสร้างฐานที่มั่น และร่วมกันปราบยาเสพย์ติด และทั้งสองฝ่ายจะยินยอมให้แต่ละฝ่ายเข้าออกพื้นที่ของอีกฝ่ายได้

พ.ต.ตืนเครือ ผบ.กองพลน้อยที่ 727 SSA

 

เมื่อวันที่ 28 – 29 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army-SSA) ของสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State-RCSS) กองพลน้อยที่ 727 ดอยสามสิบ ตรงข้างอำเภอฝาง ภายใต้เจ้าตืนเคือได้เดินทางไปพบกับทางกองทัพว้า UWSA (United Wa State Army) ที่ห้วยอ้อ ในเขตเมืองโต๋น ตรงข้ามอำเภอเชียงดาว โดยการพบกันครั้งนี้ ได้ข้อตกลงร่วมกัน 4 ข้อ โดยผู้นำระดับสูงฝ่ายว้าพบว่ามี หยางก่อโจง ผู้นำกองพลน้อยที่ 775 ร่วมหารือด้วย 

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ข้อตกลงร่วมกัน 4 ข้อ คือ 1.การหยุดยิงระหว่างทั้งสองฝ่าย  2.การร่วมมือในด้านเกษตรกรรม การปลูกพืชเศรษฐกิจ 3.การสร้างที่มั่นบริเวณเขตปุ่งผาปุ่งตอง ซึ่งทางว้าระบุว่า เป็นเขตพื้นที่ควบคุมของว้า แต่จากการหารือที่ผ่านมา ทางว้าระบุว่า SSA สามารถสร้างฐานที่มั่นในพื้นที่ดังกล่าวได้ และข้อที่ 4.คือการร่วมมือกันปราบปรามยาเสพติด 

เกี่ยวกับข้อตกลงข้อที่ 1 นั้น ก่อนหน้า เกิดปัญหาทางฝ่ายว้าจับตัวทหาร SSA ซึ่งเรื่องนี้ทั้งสองฝ่ายตกลงว่าจะไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก โดยทั้งสองฝ่ายจะยินยอมให้อีกฝ่ายสามารถเข้าออกผ่านพื้นที่ของอีกฝ่ายได้ 

อย่างไรก็ตาม การพบกันครั้งนี้ ยังมีหลายหัวข้อย่อยซึ่งเกี่ยวโยงกับข้อที่ 1 ที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งจะมีการนำไปหารือกับผู้นำระดับสูง โดยทาง RCSS/SSA จะพบหารือกับทางกองทัพว้าอีกรอบ ขณะที่ทาง SSA ได้เลือกพื้นที่ทางตะวันออกของหมู่บ้านโป่งป่าแขม -นากองมู ตรงข้ามอำเภอเชียงดาวและอำเภอเวียงแหง เป็นพื้นที่นำร่องโครงการปลูกพืชเศรษฐกิจซึ่งสามารถสร้างรายได้

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อวลี 'ได้รับเชิญไปจิบชา' ในจีน หมายถึงการถูกตำรวจเรียกตัว

Posted: 17 Jan 2013 08:12 AM PST

BBC เผยวลียอดฮิตของนักกิจกรรมและกลุ่มคนผู้ต่อต้านรัฐบาลจีนนิยมใช้เวลาถูกทางการเรียกตัวไปไต่สวน หลังเกิดกรณีดารา นักธุรกิจ และนักกิจกรรม 'ได้รับเชิญไปจิบชา' หลังโพสท์ข้อความสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องเสรีภาพสื่อของนสพ.เซาท์เทิร์นวีคลี่ผ่านเว็บไมโครบล็อก

17 ม.ค. 2013 - ผุ้สื่อข่าว Yuwen Wu จากสำนักข่าว BBC ของอังกฤษกล่าวถึงการใช้วลี "ได้รับเชิญไปจิบชา" ของเหล่านักกิจกรรมในจีนว่ามีความหมายแฝงถึงการถูกเจ้าหน้าที่รัฐเรียกตัวไปสอบสวนและบางครั้งก็ตามมาด้วยการคุกคามเสรีภาพ

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันที่หนังสือพิมพ์เซาท์เทิร์นวีคลี่เขียนบทบรรณาธิการประกาศเลิกชุมนุมหยุดงานประท้วงการเซนเซอร์ อี้เหนิงจิ่ง ศิลปินชาวไต้หวันก็กล่าวในเว็บไมโครบล็อก Sina Weibo ว่า "ฉันต้องไป 'ดื่มชา' ก่อนตอนนี้ หวังว่ามันจะเข้าท่า" โดยก่อนหน้านี้เธอเป็นผู้ที่โพสท์ข้อความสนับสนุนหนังสือพิมพ์เซาท์เทิร์นวีคลี่

อี้เหนิงจิ่ง หรือแอนนี่ อี้ เป็นนักร้องนักแสดงชาวไต้หวันที่มีผู้คนติดตามผ่านเว็บไมโครบล็อกกว่า 6 ล้านคน รวมถึงมีกลุ่มแฟนผู้ชื่นชอบผลงานเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมาก สิ่งที่เธอโพสท์ในเว็บไมโครบล็อกล่าสุดสื่อว่าเธอกำลังมีปัญหา และหลังจากนั้นอี้เหนิงจิ่งก็หายไปจาก Weibo และโพสท์ที่เกี่ยวกับเซาท์เทิร์นวีคลี่ทั้งหมดก็หายไป

แต่ต่อมาหลังจากนั้นหลายโพสท์ของเธอก็กลับคืนมา รวมถึงโพสท์ที่เธอกล่าวเยาะเย้ยว่าหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ (ซึ่งเคยเขียนบทบก.ดิสเครดิตการประท้วงของเซาท์เทิร์นวีคลี่) บอกว่าเป็น 'สุนัข' รวมถึงโพสท์ที่กล่าวว่า "ความโกรธของคุณทำให้ฉันรู้ว่าฉันถูก การพยายามซ่อนของคุณทำให้ฉันรู้ว่าฉันยุติธรรม ความบ้าของคุณทำให้ฉันรู้ว่าฉันมีสติ และการสังหารของคุณทำให้ฉันรู้สึกได้ว่าฉันมีชีวิต"

ไม่เพียงแค่ดาราอย่าง อี้เหนิงจิ่ง เท่านั้นที่เป็นคนมีชื่อเสียงที่ถูก "เชิญไปดื่มน้ำชา" อดีตรองประธานผู้บริหารของกูเกิ้ล หลี่ ไค่ฝู่ เคยโพสทืลงในอินเตอร์เน็ตเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ว่า "น้ำชาขมจริงๆ" และกล่าวอีกว่า "ต่อจากนี้ ผมคงพูดถึงได้แค่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือ แล้วก็พูดได้แค่วันจันทร์ถึงวันศุกร์เท่านั้น"

ซึ่งคำกล่าวของเขาตีความได้ว่าเขาไม่สามารถพูดถึงทิศใต้ (เซาท์) และวันสุดสัปดาห์ (วีคเอนด์) ซึ่งหมายความถึงชื่อหนังสือพิมพ์เซาท์เทิร์นวีคลี่ซึ่งกำลังมีเรื่องราวการเซนเซอร์อยู่ในขณะนั้น

อีกกรณีหนึ่งคล้ายๆ กันคือกูรูเรื่องอสังหาริมทรัพย์ เยิ่นจื้อเฉียง โพสท์ลงใน Sina Weibo ว่า "ถูกเรียกตัวหลังเที่ยงคืน ได้รับเชิญไปจิบชา" กรณีทั้งสามนี้มีเรื่องที่เหมือนกันอย่างคือ ก่อนหน้า 'ถูกเชิญไปจิบชา' พวกเขาได้โพสท์แสดงการสนับสนุนเซาท์เทิร์นวีคลี่

โดยที่ 'การได้รับเชิญไปจิบชา' ในภาษาแสลงทางการเมืองของจีน หมายถึงการถูกตำรวจเรียกไปสอบสวน โดยเป็นการใช้คำให้เบาลง โดยเจ้าหน้าที่จะทำ 'การเชิญ' ทางโทรศัพท์และการเคาะประตูบ้าน คนที่ 'ได้รับเชิญ' ก็มีหลายระดับ ตั้งแต่คนมีชื่อเสียงที่แสดงความเห็นแรงๆ ในเรื่องที่เป็นประเด็นอยู่ บ้างก็เป็นผู้ต่อต้านรัฐบาลที่มีคนรู้จักมาก ไปจนถึงคนหนุ่มสาวที่ปากกล้าในอินเตอร์เน็ต

การถูก 'เชิญไปจิบชา' นี้อาจจะมีการเสิร์ฟชาจริงๆ หรือไม่มีก็ได้ โดยปกติแล้วผู้เชิญซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลจะทำการไต่สวนนานสองสามชั่วโมง พวกเขาจะถามเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำอยู่ และกล่าวเตือนให้หยุดทำ มิเช่นนั้นจะเกิดผลตามมา

BBC ตั้งคำถามว่า การดื่มชาซึ่งเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของจีนนั้น ถูกนำมากล่าวถึงด้วยน้ำเสียงสื่อถึงเรื่องในแง่ร้ายตั้งแต่เมื่อใดกัน

แม้จะไม่มีคำตอบที่ตายตัวในเรื่องนี้ แต่ก็มีการกล่าวถึงเหตุการณ์หลังการปราบปรามผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ว่ามีปัญญาชนบางท่านได้รับ 'คำเชิญ' แบบเดียวกัน และในเวลาต่อมาวลีนี้ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อมีอินเตอร์เน็ตและมีคนพูดถึงประสบการณ์ของตัวเองผ่านเว็บโซเชียลมีเดีย


ผู้มีประสบการณ์เผย รัฐต้องการขู่ให้กลัว

มีหนังสือที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2012 ชื่อว่า "เข้าพบตำรวจ" (Encounters with the Police) เขียนโดยฮัวเจ๋อ นักข่าว-นักทำสารคดี และ ฉื่อโยวหยือ นักวิชาการด้านการเมืองชื่อดัง โดยมีการรวบรวมคำให้การของคน 21 คน ในกลุ่มนั้นมีนักสิทธิมนุษยชนและ 'พลเมืองอินเตอร์เน็ต' ทุกคนต่างเคย 'ได้รับเชิญไปจิบชา' มาแล้ว และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจในระดับต่างๆ เช่น การตรวจตราที่บ้าน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าอยู่หน้าบ้านและตามตัวบุคคลเป้าหมายเมื่อเขาออกจากบ้าน, การกักขังภายในบ้านซึ่งบางรายก็ได้รับอนุญาตให้ใช้อินเตอร์เน็ตและติดต่อเพื่อน แต่บางรายก็ไม่อนุญาต, และการลักพาตัว ซึ่งเป็นการใช้อำนาจช่มชู่ร้ายแรงที่สุด มีการถูกจับไปซักถาม ขู่เข็ญ และทรมาน

ผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้เคยผ่านประสบการณ์การใช้อำนาจข่มขู่มาก่อนเช่นกัน โดยที่ ฮัวเจ๋อ เคย 'ถูกเชิญไปจิบชา' หลังเขียนบทความเรื่องการเมืองลงในอินเตอร์เน็ตเมื่อปี 2010 มีตำรวจจำนวนหนึ่งมาที่บ้านของเธอบอกให้เธอตามพวกเขาไป หลังจากนั้นจึงพานั่งรถตำรวจไปจนถึงสถานีตำรวจใกล้ๆ

ฮัวเจ๋อ เล่าว่าพวกเขาสนทนาอย่างสุภาพ พวกเขาถามว่าเธอเป็นคนเขียนบทความใช่หรือไม่ เธอกำลังกล่าวถึงใคร และมีใครใช้ให้เธอเขียนหรือไม่ ซึ่งฮัวเจ๋อรู้สึกว่าตำรวจไม่ได้สนใจว่าเธอเป็นคนเขียนจริงหรือไม่ แต่ต้องการหาว่าบทความเธอมาจากไหนและเธอได้มีส่วนร่วมกับองค์กรใดๆ หรือไม่

ฮัวเจ๋อกล่าวถึงประสบการณ์อีกว่า หลังจากนั้นเธอก็รู้สึกเหมือนมีคนจับตามองตลอดเวลา ถูกดักฟังสัญญาณโทรศัพท์ การใช้คอมพิวเตอร์ถูกสอดส่อง และบอกว่ามีบางคนรู้สึกหวาดระแวงหลังเจอเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งฮัวเจ๋อคิดว่านี่คือสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องการ คือการสร้างความกลัวให้กับประชาชนให้พวกเขาหยุดทำสิ่งต่างๆ ไปเอง

นอกจากวลี 'เชิญไปจิบชา' แล้ว ผู้ต่อต้านรัฐบาลบางคนยังเคย 'ได้รับเชิญไปพักร้อน' นอกประเทศในช่วงที่มีวันครอบรอบสำคัญๆ มีการประชุม หรือมีการมาเยือนประเทศ โดยที่มีรายงานว่า ประเทศจีนได้จัดสรรงบประมาณในการ "รักษาความมั่นคงปรองดอง" ถึงราว 7 แสนล้านหยวน (ราว 3 ล้านล้านบาท)

เรียบเรียงจาก

Tea? Reining in dissent the Chinese way, BBC, 17-01-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: จริตตอแหลกับโครงการรถยนต์คันแรก

Posted: 17 Jan 2013 08:10 AM PST

ในที่สุด โครงการรถยนต์คันแรกก็สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2555 มีผู้มาใช้สิทธิ์ 1.25 ล้านราย เป็นผลให้กรมสรรพสามิตต้องทะยอยคืนเงินภาษีให้กับผู้ใช้สิทธิเป็นจำนวน 9.1 หมื่นล้านบาท

ผู้ที่ใช้สิทธิ์มีสองประเภท กลุ่มแรกเป็นคนชั้นกลางซึ่งต้องการซื้อรถใหม่อยู่แล้ว จึงใช้โอกาสนี้ซื้อรถใหม่ในราคาต่ำลง รวมทั้งซื้อให้ลูกหลานนักศึกษาหรือบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มที่สองเป็นคนชั้นกลางระดับล่างไปจนถึงคนมีรายได้น้อย ซึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะหาเงินมาผ่อนซื้อรถยนต์ในราคาปกติได้

นี่เป็นอีกหนึ่งนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ถูกด่าทอมากที่สุดไม่น้อยไปกว่าโครงการรับจำนำข้าวและค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ และก็เหมือนปฏิกิริยาต่อโครงการเหล่านี้คือ เสียงวิพากษ์วิจารณ์มีทั้งอ้างเหตุผลทางวิชาการต่าง ๆ ไปจนถึงการด่าทอแบบปัญญาอ่อน เช่น "โครงการรถยนต์คันแรกทำให้จราจรติดขัดมากขึ้น" รับและส่งต่อกันเป็นทอดๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไปจนถึงพวกสื่อมวลชนกระแสหลักที่เลือกข้างเผด็จการ

คนพวกนี้อ้างซ้ำๆ กันว่า จำนวนรถยนต์คันแรกในโครงการสามารถนำมาเรียงต่อกันได้ยาวถึง 4,000 กิโลเมตร คือยาวมากจากประเทศไทยไปถึงประเทศญี่ปุ่น จินตนาการว่า จำนวนรถอีก 1.25 ล้านคันนี้จะท่วมท้นล้นทะลักถนนในกรุงเทพฯ จนกลายเป็นภาพหลอนที่สร้างความหวาดกลัวสุดขีดให้กับคนชั้นกลางและคนรวยในกรุงเทพฯที่ต้องเผชิญกับปัญหาจราจรติดขัดอย่างสาหัสอยู่แล้วทุกวัน

จากสถิติกรมการขนส่งแสดงว่า ปัจจุบันมียานพาหนะในกรุงเทพฯประมาณ 6.8 ล้านคัน เป็นรถยนต์ประมาณ 4 ล้านคัน ที่เหลือเป็นรถจักรยานยนต์ ยิ่งกว่านั้น ในแต่ละปี จะมีรถยนต์จดทะเบียนใหม่ในกรุงเทพฯประมาณ 4 แสนคัน หมายความว่า ถึงแม้จะไม่มีโครงการรถยนต์คันแรกของพรรคเพื่อไทยเลย ปี 2556 นี้ก็จะมีรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นอยู่แล้วตามปกติประมาณ 4 แสนคัน

ส่วนจำนวนรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกนั้น เป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น คือประมาณเกือบ 4 แสนคัน ส่วนอีกร้อยละ 70 เป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนในต่างจังหวัด นอกจากนั้น ในแต่ละปี ก็จะมีรถยนต์เก่าปลดระวางเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากอุปสงค์ต่อรถยนต์ใหม่ได้ถูกดูดซับไปส่วนหนึ่งแล้วจากโครงการรถยนต์คันแรก ผลก็คือ การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการรถยนต์คันแรกในปี 2556 ก็จะไม่สูงมากเท่าปีก่อน ๆ ดังนั้น จำนวนรถยนต์ใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นบนท้องถนนกรุงเทพในปี 2556 หักด้วยรถยนต์ปลดระวางจึงน่าจะสูงกว่ากรณีไม่มีโครงการรถยนต์คันแรกไม่มากมายนัก

ภาพรวมในปี 2556 คือ จะมีรถยนต์ใหม่เพิ่มเติมบนถนนกรุงเทพฯ ทั้งจากโครงการรถยนต์คันแรกและจากรถยนต์ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ โดยอาจมีจำนวนพอ ๆ กัน คำถามคือ การจราจรที่ติดขัดเพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ ควรจะโทษส่วนไหน? โทษคนชั้นกลางล่างและคนจนที่ซื้อรถยนต์คันจิ๋วที่เป็นอีโคคาร์ในโครงการรถยนต์คันแรก หรือโทษคนชั้นกลางและคนรวยที่มีรถยนต์อยู่แล้วครอบครัวละหลายคันแล้วซื้อยังรถยนต์ใหม่เพิ่ม คันใหญ่ในราคาแพงกว่า หรูหรากว่า สิ้นเปลืองและทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่า?

พวกที่ด่าทอโครงการรถยนต์คันแรกจึงมีสองจำพวกคือ พวกคนชั้นกลางระดับบนและคนรวยในกรุงเทพฯ กับ "พวกแพ้เลือกตั้ง" ที่หาเรื่องโค่นล้มรัฐบาลทุกเม็ดทุกประเด็นโดยไม่เลือกหน้า

พวกคนชั้นกลางระดับบนและคนรวยในกรุงเทพฯ จำนวนมากเป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัวและมีจริตตอแหลที่สุดชนิดหนึ่งในโลก คนพวกนี้คือต้นเหตุของการจราจรติดขัดและสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายในกรุงเทพฯมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่เคยสำนึก ไม่เคยยอมรับ เอาแต่โทษคนอื่น โทษรัฐบาล โทษนักการเมือง และที่สำคัญคือ โทษคนจนและคนต่างจังหวัดที่ละทิ้งบ้านเกิด เข้ามาทำงานรับใช้ให้ความสะดวกสบายกับพวกเขาในกรุงเทพฯนั่นเอง

คนพวกนี้มิใช่หรือที่มีรถยนต์ครอบครัวละหลาย ๆ คัน ล้วนแล้วแต่หรูหราราคาแพง ขนาดและกำลังเครื่องยนต์ใหญ่โตมโหฬาร? คนพวกนี้มิใช่หรือที่ไม่ยอมใช้บริการขนส่งมวลชน เอาแต่ความสะดวกสบายภายในรถยนต์ของตน? คนพวกนี้มิใช่หรือที่เช้าเย็นขับรถยนต์ไปรับส่งลูกหลานที่โรงเรียนใหญ่ชื่อดัง ค่าเล่าเรียนแพง ทำให้รถติดตั้งแต่หน้าโรงเรียนยาวไปหลายสิบกิโลเมตรทั่วทั้งกรุงเทพฯ สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องทุกวัน?

คนพวกนี้คือคนที่นั่งอยู่ในรถยนต์อันหรูหราคันโต แอร์เย็นฉ่ำ มองไปนอกรถ เห็นพ่อแม่และลูกเล็กอีกสองคนขี่ซ้อนกันบนรถจักรยานยนต์อันบอบบางอย่างเสี่ยงอันตรายเพราะรถยนต์คันเล็ก ๆ ตามปกติก็ยังราคาแพงเกินไป เห็นคนจนที่ไม่มีเงินพอที่จะซื้อรถยนต์ราคาแพง จำต้องขี่จักรยานยนต์ไปทำมาหากินอยู่ทุกวัน คนจนและเด็ก ๆ เหล่านี้ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งตายและบาดเจ็บ แต่คนพวกนี้มองดูอย่างไม่ยี่หระ หรือที่แย่ไปกว่านั้น ก็มองอย่างดูถูกเหยียดหยามว่า รถจักรยานยนต์ของคนจนช่างเป็นพาหนะที่น่ารำคาญ ทำให้การขับรถยนต์คันหรูของตนน่ารื่นรมย์น้อยลง และพอคนจนเหล่านี้ได้อานิสงส์จากโครงการรถยนต์คันแรก ยอมควักเงินที่หามายากยิ่ง ผ่อนรถยนต์อีโคคาร์ขนาดจิ๋วสักหนึ่งคันให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายและปลอดภัยขึ้นอีกเล็กน้อย ก็ถูกคนรวยพวกนี้ชี้หน้าด่าทอว่า "พวกมึงทำให้รถติดเพิ่มขึ้น กูขับรถมีความสุขน้อยลง!"

พวกที่ด่าทอโครงการรถยนต์คันแรกอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ พวกแพ้เลือกตั้งแล้วหาช่องทางโค่นล้มรัฐบาลทุกเม็ด ตั้งแต่เสื้ออผ้าหน้าผมของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเมาไวน์ กุเรื่องโกหก "ฟอกเงินที่ฮ่องกง" ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ เช่น โครงการรับจำนำข้าว ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ต่อวัน ไปจนถึงข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลปล่อยให้มีการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทั่งล่าสุด ปั่นกระแสคลั่งชาติกรณีปราสาทพระวิหาร หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่า น่าจะมีสักเรื่องหรือหลายเรื่องรวมกันที่เปิดช่องให้องค์กรเผด็จการในรัฐธรรมนูญเข้ามายุบพรรค ยุบรัฐบาล ปลดนายกรัฐมนตรี หรือเป็นข้ออ้างให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า พวกนิยมเผด็จการทาสจารีตนิยมพวกนี้มีอาการเข้าขั้นที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า desperate แปลได้หลายคำว่า อับจนหนทาง เข้าตาจน สิ้นคิด หาทางออกไม่เจอ

แน่นอนว่า โครงการรถยนต์คันแรกอาจมีข้อดีทางเศรษฐกิจ เช่น กระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ จากโรงงานประกอบชิ้นส่วน โรงงานประกอบรถยนต์ ตัวแทนจำหน่าย ศูนย์ซ่อมรถยนต์ ไปจนถึงร้านห้องแถวโกโรโกโสที่ซ่อมรถยนต์ ธุรกิจประกันภัย ร้านประดับยนต์ ธุรกิจล้างรถยนต์ มีผลต่อผู้ผลิตและคนงานหลายแสนคนทั่วประเทศ แต่การกระตุ้นการซื้อและใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นก็มีต้นทุนทางสังคมสูงมากเช่นกัน ทั้งการใช้พลังงาน ผลต่อสิ่งแวดล้อม อุบัติเหตุและการสูญเสียบนถนนเพิ่มขึ้น ข้อวิจารณ์เหล่านี้ย่อมรับฟังได้

แต่จากความเป็นจริงที่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ ยังอยู่ในสภาพด้อยพัฒนาเช่นนี้ การสัญจรด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นสิ่งจำเป็นที่เลี่ยงได้ยากสำหรับคนเมือง เราไม่อาจโยนความผิดทั้งหมดไปที่คนที่ขับรถยนต์ในกรุงเทพฯ ทางออกคือ ต้องเร่งพัฒนาและขยายระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ให้หลากหลายและทั่วถึงโดยเร็วที่สุด เป็นทางเลือกที่จูงใจและมีราคาถูก และเมื่อถึงตอนนั้น การใช้มาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้น้อยลงจึงจะเป็นสิ่งที่ทำได้ มีความชอบธรรม และจะถูกต่อต้านน้อยลง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การนิรโทษกรรมทางการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบัน

Posted: 17 Jan 2013 07:59 AM PST

การนิรโทษกรรมทางการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบัน[1]


ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง จากบุคคลหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นจากนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ จากคนเสื้อแดง จากกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล และตัวผู้ต้องขังเอง แต่ดูเหมือน     รัฐบาลทำตัวเป็นเกษตรกรที่มักเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ราวกับว่า "คำตอบ..อยู่ในสายลม"

กฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย หากนับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี 2475 ประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองมาแล้ว ดังนี้

1. การนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อการกบฏ/รัฐประหาร/ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร 11 ครั้ง เป็นกฎหมาย 13 ฉบับ รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ เป็นระราชกำหนด (พรก.) 2 ฉบับ พระราชบัญญัติ (พรบ.) 11 ฉบับ

1.1 พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488

1.2 พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488 พุทธศักราช 2488

1.3 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490(การรัฐประหารกระทำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณและพวก)

1.4 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 (การปฏิวัติโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม)

1.5 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 (ฉบับที่ 2)(กำหนดเวลาสิ้นสุดการขอคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ยศหรือบรรดาศักดิ์เสียภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2502)

1.6 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2500(การยึดอำนาจโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)

1.7 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502 (การปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)

1.8 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2515 (ปฏิวัติตัวเองโดย จอมพลถนอม กิตติขจร)

1.9 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2519 (คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่)

1.10 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่าง วันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 (กรณีพล อ. ฉลาด)

      1.11 พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 (กบฏเมษา ฮาวาย โดยพล.อ.สัณฑ์ จิตรปฏิมา เสธฯสนั่นกับพวก จปร. 7)

1.12 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่าง วันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2531 (ก่อการโดยพลตรีมนูญ รูปขจร และพวก)

1.13 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ณ วันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2534

มาตรา 32  บรรดาการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ได้กระทำ ประกาศ หรือสั่งก่อนวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ทั้งนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใด หรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศ หรือสั่งให้มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่าการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่ง รวมทั้งการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นตลอดจนการกระทำของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดหรือควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินดังกล่าว เป็นการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

1.14 การนิรโทษกรรมโดยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยพลเอกสนธิ บุณยรัตกลินและพวก

มาตรา 37  บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไป เพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการรวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง[2]

2. การนิรโทษกรรมแก่การชุมนุมทางการเมือง/เหตุการณ์ทางการเมือง 3 ครั้ง เป็นพรบ. 3 ฉบับ
2.1 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2516

2.2 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521

2.3 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532

3. การนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำทางการเมือง 4 ครั้ง เป็นพรบ. 3 ฉบับ พรก. 1 ฉบับ
3.1 พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475

3.2 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476 (ฝ่ายทหารจี้บังคับให้ครม.พลเรือนลาออกทั้งคณะ)

3.3 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พุทธศักราช 2489 (นิรโทษกรรมให้กลุ่มที่ต่อต้านญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ สอง เช่น เสรีไทย)

3.4 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ พ.ศ. 2494 (การรัฐประหารเงียบ โดยคณะทหาร คณะราษฎร และบุคคล โดยอ้างสถานการณ์ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ และคอรัปชั้น และอ้างความมั่นคงแห่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บรมราชจักรีวงศ์ และระบอบรัฐธรรมนูญ)

เหตุผลของการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ทั้งในรูป พระราชกำหนด (พรก.)หรือพระราชบัญญัติ (พรบ.)
เมื่อได้ตรวจสอบเหตุผลของการออกกฎหมายนิรโทษกรรม จะพบว่าเมื่อมีการยึดอำนาจทางการเมืองโดยคณะทหารที่ก่อการกบฏแต่ไม่สำเร็จ การก่อการกบฏ หรือยึดอำนาจรัฐอันมิได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยนั้น เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา (ปัจจุบัน)หรือกฎหมายลักษณะอาญา ในยุคก่อนการใช้ประมวลกฎหมายอาญา (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475- ก่อนพฤศจิกายน 2499) จะพบเหตุผลที่หลากหลาย แต่เหตุผลหนึ่งก็เพื่อ "สร้างสรรความสามัคคีของชนในชาติ" หรือ "รัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างชนในชาติ" หรือ "ความสามัคคีของชนในชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและรีบด่วนที่จะต้องสร้างสรรให้มีขึ้นให้จงได้ การดำเนินการทางคดีต่อไปมีแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนยิ่งขึ้น" ดังรายละเอียด

1. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520[3]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระชนมพรรษาเจริญวัฒนามาครบ 50 พรรษาบริบูรณ์ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ซึ่งนับเป็นอภิลักขิตสมัยที่สำคัญ และประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายและเจตจำนงที่จะผนึกกำลังสร้างสรรความสามัคคีของชนในชาติ สมควรนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรและความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดดังกล่าว ซึ่งได้กระทำระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณและให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

2. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521[4]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การพิจารณาคดีเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้วและมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นก็จะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น และเมื่อคำนึงถึงว่าการชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด ประกอบกับรัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างชนในชาติ จึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิด ทั้งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่และผู้ที่หลบหนีไปได้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควรและกลับมาร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

3. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524[5]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ ตามที่ได้มีผู้ก่อความไม่สงบขึ้นเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินในระหว่างวันที่ 31 มีนาคม จนถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 โดยใช้กำลังอาวุธเข้ายึดสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง อันเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรในการดำเนินการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบดังกล่าว รัฐบาลได้ใช้ความระมัดระวังมิให้เกิดการต่อสู้กันขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรและทรัพย์สินของทางราชการและเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ประเทศชาติและราชบัลลังก์ได้ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้ผู้ก่อความไม่สงบวางอาวุธและกลับคืนสู่หน่วยที่ตั้งตามปกติของตนภายในระยะเวลาที่กำหนด แล้วรัฐบาลจะไม่เอาความผิด ซึ่งปรากฏว่าผู้ก่อความไม่สงบได้เชื่อฟังและปฏิบัติตามประกาศของรัฐบาลด้วยดี มิได้มีการต่อต้านหรือขัดขืนหรือใช้กำลังอาวุธให้ต้องเสียเลือดเนื้อแต่ประการใด ทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้ว รัฐบาลได้ดำเนินการสอบสวนเพื่อทราบถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยประกาศให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปรายงานตัวต่อกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติภายในเวลาที่กำหนด เพื่อให้ชี้แจงถึงการกระทำของตน ในขณะเดียวกันเนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย การดำเนินการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดจึงต้องกระทำไปตามกระบวนการแห่งกฎหมายควบคู่ไปด้วย บัดนี้ จากผลแห่งการสอบสวนเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ผู้ก่อความไม่สงบส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐบาลโดยครบถ้วน เป็นการสมควรที่จะนิรโทษกรรมการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบเหล่านั้นให้ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ และเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศที่มีศัตรูของประเทศชาติและประชาชนอยู่รอบด้านทั้งภายนอกและภายในราชอาณาจักร ความสามัคคีของชนในชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและรีบด่วนที่จะต้องสร้างสรรให้มีขึ้นให้จงได้ การดำเนินการทางคดีต่อไปมีแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนยิ่งขึ้น ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศในที่สุด ฉะนั้น เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประเทศและกรณีเป็นเรื่องฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนที่ไม่อาจปล่อยให้เนิ่นช้าได้  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ 

สาระสำคัญของกฎหมายนิรโทษกรรม
เมื่อหันมาดูเนื้อหาของกฎหมายนิรโทษกรรม จะพบว่ามีสาระสำคัญอยู่ 2 ประการ กล่าวคือ

๑. นิรโทษกรรมการกระทำผิดทางอาญา เช่น
- ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา
- ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
- ความผิดฐานกบฏและจลาจล

ดังกรณีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532[6]

มาตรา 3  บรรดาการกระทำของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 หากการกระทำนั้นเป็นความผิดดังต่อไปนี้

(1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา
(2) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
(3) ความผิดฐานอื่นที่เป็นกรรมเดียวกับความผิดตาม (1) หรือ (2)  ทั้งนี้ เฉพาะที่มิใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง

๒. นิรโทษกรรมเหตุการณ์ กรณี ความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เมื่อได้คำนึงถึงว่าการกระทำนั้นได้กระทำไปโดยปรารถนาจะให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงสมควรให้มีนิรโทษกรรมแก่บรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งเหตุการณ์เดินขบวนนั้น

- ก่อให้เกิดความผิดต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลและ
- ความเสียหายแก่ทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน
- ไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

ใครบ้างได้ประโยชน์จากพฎหมายนิรโทษกรรม
กฎหมายนิรโทษกรรมทุกฉบับ ให้ทุกคนที่กระทำผิดได้รับประโยชน์ เช่น ผู้ที่ได้กระทำความผิดฐานกบฏ

จลาจล และผู้ที่ได้กระทำความผิดอันเกี่ยวเนื่องจากการกระทำการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกบฏหรือจลาจล (กรณีกบฏ 8 พฤศจิกายน 2499 กรณีการเดินขบวนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ ซตุลาคม 2519 เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือผู้กระทำตามคำสั่งในการปราบปรามนักศึกษา ประชาชนในเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ

ผลของกฎหมายนิรโทษกรรม

- ให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิด เช่น บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านั้นไม่ว่าของบุคคลใด ๆ ในคณะราษฎรนี้ หากว่าจะเป็นการละเมิดบทกฎหมายใด ๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายเลย (มาตรา 3  พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475)  และ

- ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับโทษตามคำสั่งดังกล่าวอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือไม่ก็ตาม ก็ให้พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (กรณี พล.อ.ฉลาด) และ

- ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น

- ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ปล่อยตัวไป เช่น ในพรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 มาตรา 4  ให้ศาลทหารกรุงเทพดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 253 ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ (ใช้กฎ 6 ต.ค. 19) และให้ศาลอาญาดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา

บรรดาการกระทำที่เป็นเหตุให้จำเลยถูกฟ้องในคดีตามวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 และการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้จำเลยพ้นจากความผิดและความรับผิดด้วย

ดังนั้นเมื่อสำรวจกฎหมายนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา อาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า การก่อการกบฏ การก่อจราจล การรัฐประหาร การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญหรือการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย ล้วนเป็นคดีการเมืองทั้งสิ้น การไม่เอาผิดแก่ผู้ชุมนุมเรียกร้องหรือดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต้องถือว่าเป็นการกระทำทางการเมือง หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ หรือกระทำความผิดทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องถือเป็นการกระทำทางการเมือง ที่ต้องพิจารณาให้ได้รับการนิรโทษกรรมทางการเมืองทั้งสิ้น

แม้แต่นายทหารที่มิได้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ที่พยายามยึดอำนาจรัฐด้วยการก่อการกบฏ ก็ยังถือเป็นคดีการเมืองที่ได้รับการนิรโทษกรรม จึงไม่มีเหตุผลใดที่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนปช. หรือกลุ่มพันธมิตรฯ หากมีความผิดตามกฎหมาย ก็สมควรได้รับการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น เสมอภาคกัน ทั้งนี้อาจสอดคล้องกับการเหตุผลของกฎหมายนิรโทษกรรมในอดีตที่ต้องเร่งจัดให้มีขึ้นเพราะ "ความสามัคคีของชนในชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและรีบด่วนที่จะต้องสร้างสรรให้มีขึ้นให้จงได้ การดำเนินการทางคดีต่อไปมีแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนยิ่งขึ้น ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศในที่สุด"[7]

 


[1] รวบรวมและเรียบเรียงโดย ศราวุฒิประทุมราช ผู้อำนวยการสถาบันหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน
[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ณ วันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2549  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123/ตอนที่ 102 ก/1 ตุลาคม 2549]
[3] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94/ตอนที่ 121/ฉบับพิเศษ หน้า 1/3 ธันวาคม 2520
[4] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95/ตอนที่ 97/ฉบับพิเศษ หน้า 1/16 กันยายน 2521
[5] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98/ตอนที่ 69/ฉบับพิเศษ หน้า 1/5 พฤษภาคม 2524
[6] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106/ตอนที่ 142/ฉบับพิเศษ หน้า 4/30 สิงหาคม 2532
[7] พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 , อ้างแล้ว

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทวิเคราะห์สาระสำคัญที่ไม่ควรชะลอการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554

Posted: 17 Jan 2013 07:40 AM PST

  1. บทเกริ่นนำ

พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามาตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เหตุผลของการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติว่า "โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๘๔ (๔) บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ คือ จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง ดังนั้น เพื่อให้มีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะประชากรภาคแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นแรงงานนอกระบบยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพอย่างทั่วถึง จึงทำให้บุคคลเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในความยากจนในวัยสูงอายุ อันเนื่องมาจากไม่มีช่องทางหรือโอกาสเข้าถึงระบบการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน เพื่อสร้างความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างวินัยในการออมของประชาชนคนไทยในวัยทำงาน จึงสมควรจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปบำนาญ อันเป็นการสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ"

แม้ว่าจวบจนถึงปัจจุบัน พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติมีผลบังคับใช้มากว่าหนึ่งปีเจ็ดเดือนแล้วก็ตาม แต่การรับสมัครสมาชิกกองทุนก็ยังมิได้เริ่มขึ้น เหตุผลดังกล่าวได้ประกาศผ่านทางเว็บไซด์ของกองทุนการออมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ใจความว่า "ขณะนี้ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเรื่องระบบทะเบียนสมาชิกเพื่อสามารถอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการสมัครสมาชิกและส่งเงินสะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้ กอช. จะประกาศวันเปิดรับสมัครที่แน่ชัดให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง" (เข้าถึงได้ที่ http://www.fpo.go.th/FPO/index2.phpเข้าถึงเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556) ความล่าช้าดังกล่าวทำให้กลุ่มประชากรวัยทำงานในภาคนอกระบบเกรงว่าหากรัฐบาลประวิงเวลาในการรับสมัครสมาชิกกองทุนออกไปเรื่อยๆจะทำให้ผู้ที่มีความประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสียประโยชน์ ความล่าช้าครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนองมีความต้องการปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมในหลายประเด็น

 

  1. ประเด็นในพระราชบัญญัติที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องการแก้ไข

ประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีความประสงค์จะแก้ไขพระราชบัญญัติเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนรวมมีทั้งหมดด้วยกัน 8 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นอายุสมาชิก เงินสะสมเข้ากองทุน เงินสมทบจากภาครัฐ การรับเงินสะสมคืนกรณีทั่วไปและกรณีตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพ นโยบายการบริหารจัดการเงินกองทุน การประกันผลตอบแทนการลงทุน และประเด็นผู้บริหารกองทุน ความแตกต่างของแนวทางการแก้ไขพระราชบัญญัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับพระราชบัญญัติในปัจจุบันมีรายละเอียดโดยสังเขปดังตารางต่อไปนี้

 

ตารางที่ 1: ความแตกต่างของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติและแนวทางการแก้ไขของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ประเด็น

พ.ร.บ.ปัจจุบัน

แนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.

  1. อายุสมาชิก

15-60 ปี โดยมีบทเฉพาะกาลมาตรา 69 ให้ผู้มีอายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่สมัครเป็นสมาชิกมีสิทธิเป็นสมาชิกกองทุนต่อไปได้อีกสิบปีนับแต่วันที่เป็นสมาชิก

ทบทวนแก้เป็น 15-70 ปี

  1. เงินสะสมเข้ากองทุน

กำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 บาท แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

กำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 บาท แต่จะไม่จำกัดเพดานเงินสะสม

 

  1. เงินสมทบจากภาครัฐ

รัฐบาลสมทบให้หลายอัตราตามอายุของสมาชิก ณ เวลาที่จ่ายเงินสะสม รัฐบาลออม

สมาชิกอายุ 15-30 ปี ร้อยละ 50
สมาชิกอายุ 31-50 ปี ร้อยละ 80 และ
สมาชิกอายุ 51-60 ปี ร้อยละ 100

รัฐบาลสมทบอัตราเดียว ร้อยละ 100ทุกช่วงอายุสมาชิก

  1. การรับเงินสะสมคืน

ให้เลือกรับเฉพาะบำนาญ

เปิดทางเลือกบำนาญหรือบำเหน็จ

 

  1. สมาชิกตกอยู่ภาวะทุพพลภาพ

สมาชิกรับคืนเฉพาะเงินสะสมกับเงินผลประโยชน์ (เงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายให้จะไม่ได้คืน)

สมาชิกรับคืนทั้งเงินสะสม เงินสมทบ และเงินผลประโยชน์

  1. นโยบายการบริหารจัดการเงินกองทุน

ลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมั่นคงสูง โดยเน้นการลงทุนในเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล เป็นหลัก

  1. การค้ำประกันผลตอบแทนการลงทุน

มี

ทั้งนี้พิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภทสิบสองเดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ห้าแห่งตามคณะกรรมการกำหนด

ไม่มี

เนื่องจากเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมั่นคงสูง

  1. ผู้บริหารกองทุน

เลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ
(โดยกระบวนการสรรหา)

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
(โดยตำแหน่ง)

ที่มา: สรุปโดยผู้เขียนจากพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และข่าวกองทุนการออมแห่งชาติ เกณฑ์ใหม่ยุค "กิตติรัตน์" วันที่ 10 ตุลาคม 2555 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

 

  1. หนทางไหนดี?: ประชาชนรอไปก่อน แก้ให้เสร็จแล้วค่อยสมัคร หรือ เปิดรับสมัครสมาชิกไปก่อน แล้วค่อยแก้

มีประเด็นคำถามที่ต้องพิจารณา กล่าวคือมีความจำเป็นหรือไม่ อย่างไร ที่จะต้องชะลอการเปิดรับสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติออกไปจนกว่าจะแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับแก้ไข) ให้เรียบร้อยตามความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรืออีกทางเลือกหนึ่ง แทนที่รัฐบาลจะรอการแก้ไขพระราชบัญญัติ ควรหรือไม่ควรที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการเปิดรับสมาชิกไปก่อน แล้วค่อยพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติภายหลัง

การชะลอการเปิดรับสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติออกไปทำให้ประชาชนเสียประโยชน์โดยตรง กล่าวคือเราต้องไม่ลืมว่าระบบบำนาญภายใต้แนวคิดของกองทุนการออมแห่งชาติตั้งอยู่บนพื้นฐานของการออม (การสะสมเงิน) และการสมทบร่วมของรัฐบาล สมาชิกแต่ละคนมีบัญชีบำนาญเป็นของตนเอง การได้รับบำนาญยามชราภาพมากหรือน้อยขึ้นกับระยะเวลาของการจ่ายเงินสะสมและการได้รับเงินสมทบร่วมจากรัฐบาล การเลื่อนเวลาการเปิดรับสมัครสมาชิกอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก่อให้เกิดผลเสียหายโดยตรงกับผู้ที่มีความตั้งใจจะสร้างหลักประกันยามชราภาพเหล่านี้ การแก้ไขพระราชบัญญัติอาจใช้เวลาพอสมควรจนทำให้ประชาชนที่มีความตั้งใจที่จะสมัครเป็นสมาชิกเสียโอกาสในการเร่งสะสมเงินแต่เนิ่นๆและได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลยกตัวอย่างเช่น ประชาชนคนหนึ่งคิดสมัครสมาชิกกองทุน และตั้งใจที่จะออมเงินเดือนละ 100 บาท รัฐบาลสมทบอีกส่วนหนึ่งสมมติว่า 80 บาท (ตามพระราชบัญญัติเดิม) สมมติการแก้ไขพระราชบัญญัติมีความล่าช้าถึง 2 ปี (หรือ 24 เดือน) จำนวนเงินที่เขาขาดโอกาสที่จะออมคือ 4,320 บาท ตามพระราชบัญญัติปัจจุบัน เงินที่หายไปนี้จะไปลดจำนวนเงินบำนาญรายเดือนของเขาในอนาคตและลดสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามมา

นอกจากนี้เราควรจะต้องพิจารณาพร้อมกันด้วยว่า ประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอนั้นมีความสมเหตุสมผลเพียงไรจนกระทั่งต้องยอมให้เกิดการเลื่อนเวลาการรับสมัครออกไป แม้ว่าจะต้องแลกด้วยโอกาสการสะสมเงินที่สูญเสียไปของประชาชนแต่ละคนในช่วงการชะลอการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว

 

  1. การเพิ่มอายุของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติจาก 15-60 ปีเป็น 15-70 ปี

จากเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ที่จะสร้างหลักประกันที่มั่นคงในยามชราภาพให้กับประชากรวัยทำงาน (15-60 ปี)ที่ไม่มีช่องทางหรือโอกาสเข้าถึงระบบการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน เพื่อสร้างความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างวินัยในการออมของประชาชนคนไทยในวัยทำงาน ยิ่งมีโอกาสเริ่มออมเร็วก็จะมีหลักประกันที่มั่นคงยิ่งขึ้น เงินบำนาญที่จะได้รับจากกองทุนการออมแห่งชาติเป็นสิ่งที่เพิ่มเติมจากเบี้ยยังชีพที่รัฐบาลให้กับคนกลุ่มเดียวกันนี้ไว้เป็นพื้นฐานอยู่แล้วเมื่ออายุถึง 60 ปี อย่าลืมว่าที่ผ่านมารัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้เพิ่มเงินเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุตามลำดับชั้นของอายุไปแล้ว การชะลอเวลารับสมัครด้วยเหตุผลนี้เป็นการให้โอกาสกับผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ (ที่จำนวนเงินเพิ่มมากขึ้น) ให้มีโอกาสออมได้อีก (ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องที่ดี) แต่อยู่บนต้นทุนของการเสียโอกาสของประชากรวัยทำงานที่เสียโอกาสในการออมเร็วขึ้น

 

  1. เงินสะสมเข้ากองทุนกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 บาท แต่จะไม่จำกัดเพดานเงินสะสม

การไม่จำกัดเพดานสะสมเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มนี้ได้ออมเงินมากขึ้นผ่านระบบกองทุนการออมแห่งชาติเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการเพิ่มความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างวินัยในการออมของประชาชนคนไทยในวัยทำงานตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ แต่การแก้พระราชบัญญัติในประเด็นนี้เป็นการเอื้อกับผู้มีความสามารถในการออมสูง (ผู้ที่มีรายได้สูงและ/หรือผู้มีความมั่งคั่งสูง) มากกว่ากลุ่มที่มีความสามารถในการออมต่ำกว่า ดังนั้นการชะลอด้วยเหตุผลนี้จึงอยู่บนต้นทุนของการเสียโอกาสของประชากรวัยทำงานที่ฐานะไม่ดีที่เสียโอกาสในการออมไประหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติ(หมายเหตุ ที่จริงทุกคนเสียโอกาส แต่โอกาสที่เสียไปนั้นมีผลกระทบต่อกลุ่มที่มีความสามารถในการออมต่ำกว่ามากกว่ากลุ่มอื่น คนที่มีหลักประกันยามชราภาพที่ไม่ค่อยมั่นคงอยู่แล้ว ก็จะมีความไม่มั่นคงเพิ่มขึ้นไปอีก)

เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่การไม่จำกัดเพดานเงินสะสมนี้ไม่ใช่สาระสำคัญของการชะลอเรื่องคือ เงินสะสมของสมาชิกส่วนที่เกินเดือนละ 100 บาทเป็นไปโดยสมัครใจและไม่ได้รับเงินสมทบร่วมจากรัฐบาลอยู่แล้ว นอกจากนั้นเมื่อไปพิจารณาถึงนโยบายการลงทุนของกองทุนที่จะนำไปเฉพาะฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตร ความแตกต่างระหว่างเงินสะสมในส่วนนี้ในกองทุนการออมแห่งชาติกับเงินฝากธนาคารจะมีความแตกต่างกันน้อยมาก จนหาเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐบาลจะต้องมาดำเนินการในส่วนเพิ่มเพดานเงินออมแทบจะไม่มี

 

  1. การเพิ่มเงินสมทบจากภาครัฐให้เป็นอัตราเดียว: ร้อยละ 100

การเพิ่มเงินสมทบจากภาครัฐให้เป็นอัตราเดียวมีผลดีกับสมาชิกของกองทุนในระดับบุคคลเนื่องจากทุกคนจะได้รับเงินเพิ่ม (แต่เป็นภาระทางการคลังของรัฐบาล) หากระยะเวลาการชะลอเวลาไม่ได้เนิ่นนานจนเกินไป เงินสมทบที่ได้เพิ่มนั้นอาจจะมากกว่าเงินสมทบจากรัฐบาลที่เสียไปในปัจจุบันเนื่องจากไม่ได้ออม แต่หากรัฐบาลไม่ชะลอการรับสมัครสมาชิก ประชาชนได้เริ่มสะสมเงินตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้เงินสะสมและเงินสมทบมีมากขึ้นอันจะส่งผลดีต่อเงินบำนาญที่จะได้รับในอนาคต การชะลอด้วยเหตุผลในข้อที่ 3 นี้ไม่มีความจำเป็นเลย รัฐบาลรีบรับสมัครสมาชิกแล้วค่อยเพิ่มเงินสมทบให้ประชาชนภายหลังแก้พระราชบัญญัติ ประชาชนที่สมัครสมาชิกก็จะได้ประโยชน์สองต่อคือได้ออมเร็วและได้เงินสมทบเพิ่มภายหลัง

 

  1. สมาชิกตกอยู่ภาวะทุพพลภาพได้รับคืนทั้งเงินสะสม เงินสมทบ และเงินผลประโยชน์

เหตุผลเหมือนกับข้อที่ 3 กล่าวคือ หากรัฐบาลเริ่มใช้ไปก่อนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติที่ตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพในช่วงแรกนี้ก็จะได้ประโยชน์ตามพระราชบัญญัติปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่รีบทำอะไรเลย ผลลัพธ์ก็คือประชาชนก็จะไม่มีหลักประกันใดๆเลย  รัฐบาลรีบรับสมัครสมาชิกแล้วค่อยเพิ่มสวัสดิการชุดนี้ให้ประชาชนภายหลังแก้พระราชบัญญัติ ประชาชนที่สมัครสมาชิกก็จะได้ประโยชน์สองต่อคือมีความคุ้มครองตั้งแต่วันนี้ และได้สิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้นเมื่อแก้ไขพระราชบัญญัติเสร็จสิ้น

 

  1. การรับเงินสะสมคืนโดยเปิดทางเลือกบำนาญหรือบำเหน็จ

การแก้ไขประเด็นนี้สมเหตุสมผลหรือไม่นั้นจะต้องแยกพิจารณาออกเป็นสองคำถาม คำถามแรกจะเหมือนกับประเด็นต่างๆข้างต้น กล่าวคือ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรอแก้พระราชบัญญัติปัจจุบันด้วยเหตุผลข้อนี้ คำตอบก็คือว่า ไม่จำเป็น หากดำเนินการรับสมัครสมาชิกเสียแต่บัดนี้ สมาชิกก็จะมีเงินสะสมและเงินสมทบเพิ่มขึ้น หากแก้กฎหมายให้สามารถรับเป็นบำเหน็จได้ สมาชิกก็จะมีเงินก้อนจำนวนมากขึ้น

คำถามที่สองเป็นคำถามเชิงปรัชญา เกี่ยวข้องกับแนวคิดของการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ และเชื่อมโยงกับความคาดหวังต่อหน้าที่ของกองทุนนี้ หากรัฐบาลมองการณ์ไกลว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการลดลงของอัตราภาวะเจริญพันธุ์ สตรีวัยเจริญพันธุ์มีแนวโน้มที่จะมีลูกน้อยลง ผู้สูงอายุไทยมากกว่าครึ่งเคยหรือกำลังพึ่งพาการเกื้อหนุนทางการเงินจากลูกหลาน แต่ในอนาคตคงจะเป็นไปได้ยาก กอปรกับผู้สูงอายุไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นโดยหลักการแล้ว สังคมไทยกำลังจะต้องพึ่งพาระบบบำนาญในฐานะลูกหลานที่ดีที่จะช่วยประกันความมั่นคงด้านรายได้ยามชราภาพต่อไปเรื่อยๆจนวันสุดท้ายของอายุขัย การอนุญาตให้ผู้สูงอายุสามารถรับเงินบำเหน็จได้เป็นความปรารถนาดีของรัฐบาลที่อยากให้ผู้สูงอายุมีเงินก้อนไปใช้จ่ายได้ แต่ความปรารถนาดีนี้ขัดต่อหลักการของการประกันรายได้ยามชราภาพจนวันสุดท้ายของชีวิตโดยสิ้นเชิง เงินก้อนนั้นอาจจะไม่สามารถทำหน้าที่ "ลูกที่ดี" ไปจนวันสุดท้ายของชีวิตของท่าน ความปรารถนาดีของรัฐบาลที่จะให้เป็นเงินก้อนอาจจะกลับกลายเป็นผลเสียต่อผู้สูงอายุเอง ผลสุดท้ายมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลเองก็ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินเข้าไปเกื้อหนุนผู้สูงอายุเหล่านั้นในรูปแบบอื่นๆอีก

 

  1. ประเด็นการบริหารจัดการกองทุน (นโยบายการลงทุน การประกันผลตอบแทนและผู้บริหารกองทุน)

ประเด็นทั้งสามมีความเกี่ยวเนื่องกัน ผู้เขียนจึงขออภิปรายรวบยอด จุดเริ่มต้นของกองทุนการออมแห่งชาติอยู่ที่ประชากรวัยทำงานกลุ่มใหญ่ที่เป็นแรงงานนอกระบบซึ่งมีความหลากหลายของรายได้ ดังนั้นเงินสะสมจึงได้กำหนดไว้ไม่สูงเกินไปจนกีดกันผู้ที่มีความสามารถในการออมต่ำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้ เงินสะสมรายเดือนจึงกำหนดไว้เพียงเดือนละ 50 บาทหรือ 100 บาท หากขาดการส่งเงินสะสมบางเดือนก็จะไม่ถูกตัดสิทธิออกจากสมาชิกภาพของกองทุน ดังนั้นหลักการบริหารจัดการกองทุนลักษณะนี้คือต้องใช้หลักวิชาการทางการเงินการลงทุนเพื่อทำเงินก้อนเล็กๆนี้ให้เกิดดอกออกผลขึ้นมาบนพื้นฐานของการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล มีการประกันผลตอบแทนขั้นต่ำเอาไว้ (หมายเหตุ หากไม่มีการประกันผลตอบแทบขั้นต่ำไว้ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคา อาจส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิตของผู้สูงอายุ จนรัฐบาลก็ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเข้าไปเกื้อหนุนในลักษณะอื่นอีกอยู่ดี) ดังนั้นในพระราชบัญญัติจึงอนุญาตให้สามารถลงทุนในหลักทรัพย์หลากหลายประเภทแต่มีเงื่อนไขว่าต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์การคลังขอแสดงความเป็นห่วงอีกประเด็นหนึ่ง แม้ว่าความเป็นห่วงนี้เกิดจากการตั้งสมมติฐานไปเองแบบมองโลกในแง่ร้าย (หรืออาจจะเรียกว่าคิดมากไปเอง) การแก้ไขให้นโยบายการลงทุนไปเน้นการฝากเงินกับสถาบันการเงิน ที่สำคัญไปกำหนดให้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล อีกทั้งยังให้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (ข้าราชการ) เป็นผู้บริหารกองทุน อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้ "การเมือง" สามารถยื่นมือเข้ามาควบคุมหรือยุ่งกับเงินของพี่น้องประชาชนได้ง่ายขึ้น เมื่อไรที่รัฐบาลใช้จ่ายเงินเกินกว่ารายรับที่หามาได้และต้องก่อหนี้สาธารณะด้วยการออกพันธบัตร เมื่อนั้นรัฐบาลอาจจะมองเงินกองทุนการออมแห่งชาติเสมือนเป็น "งบประมาณแหล่งใหม่" ในการจัดหาเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้อย่างง่ายดาย

 

  1. บทส่งท้าย

หากพิจารณาตามหลักการที่ได้อภิปรายข้างต้นแล้ว ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่น่าจะมีเหตุผลที่สมเหตุสมผลที่จะชะลอการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ในการรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุของสมาชิก เงินสะสมเข้ากองทุน เงินสมทบจากภาครัฐ เงินบำเหน็จกรณีทุพพลภาพ หรือแม้กระทั่งแนวคิดที่เปิดโอกาสให้สมาชิกรับบำเหน็จได้ รัฐบาลยิ่งเริ่มรับสมาชิกเร็ว สมาชิกยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้น ไม่มีเหตุผลใดที่จะประวิงเวลาไปมากกว่านี้ หรือว่า แรงจูงใจของรัฐบาลที่ต้องการจะแก้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติจะอยู่ที่ข้อ 6 เป็นสำคัญ?

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธน.พม่ายกเลิกกฎหมายสมัยเผด็จการที่ใช้ปราบฝ่ายวิจารณ์รัฐบาล

Posted: 17 Jan 2013 07:29 AM PST

ประธานาธิบดีเต็ง เส่งของพม่าได้ยกเลิกกฎหมายยุครัฐบาลทหาร "5/96" ซึ่งเคยใช้สำหรับควบคุมการปราศรัยในที่สาธารณะ และใช้ลงโทษผู้ต่อต้านรัฐบาลด้วยโทษจำคุกนับสิบปี ขณะที่กฎหมายออกสมัยรัฐบาลทหารอีกหลายฉบับยังคงมีผลใช้บังคับ

ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า (ที่มา: president-office.gov.mm/แฟ้มภาพ)

ประธานาธิบดีเต็ง เส่งของพม่าได้ยกเลิกกฎหมายยุคเผด็จการฉบับหนึ่ง ซึ่งเคยใช้สำหรับควบคุมการปราศรัยในที่สาธารณะ และใช้ลงโทษผู้ต่อต้านรัฐบาลด้วยการจำคุกหลายปีในเรือนจำ ทั้งนี้จากการประกาศในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ของรัฐบาลเมื่อวันพุธ (16 ม.ค.) ที่ผ่านมา

เว็บไซต์อิระวดี รายงานว่า ประกาศดังกล่าวซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ระบุว่าเขาได้ยกเลิกกฎหมาย "5/96" หรือ"กฎหมายว่าด้วยการป้องกันความสงบ และการโอนความผิดชอบของรัฐอย่างเป็นระบบ และการทำให้ประชุมสมัชชาแห่งชาติต่อต้านฝ่ายก่อกวนและฝ่ายค้านบรรลุผลสำเร็จ" กฎหมายดังกล่าวให้มีการลงโทษจำคุกเกิน 20 ปี สำหรับผู้ใดก็ตามที่วิจารณ์รัฐบาลไม่ว่าจะด้วยการปราศรัยหรือการเขียนแถลงการณ์ที่ "ดูถูกสมัชชาแห่งชาติ" และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดต่อกระบวนการของสมัชชาแห่งชาติ

ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวออกในปี 2539 สมัยรัฐบาลทหาร มีเจตนาเพื่อปิดปากเสียงวิจารณ์สมัชชาแห่งชาติที่ตั้งโดยรัฐบาล เพื่อเตรียมร่างรัฐธรรมนูญพม่า ซึ่งกระบวนการดังกล่าวแล้วเสร็จในปี 2551 นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังใช้เพื่อควบคุมกลุ่มพม่าพลัดถิ่นไม่ให้ทำงานที่ต่อต้านรัฐบาล

กฎหมายที่แข็งกร้าวดังกล่าว เป็นหนึ่งในกฎหมายหลายฉบับที่ถูกใช้โดยรัฐบาลทหารพม่าหรือสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) เมื่อทศวรรษที่แล้ว โดยเป็นการใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อปราบปรามฝ่ายต่อต้าน ขณะเดียวกันกฎหมายที่มีลักษณะใกล้เคียงกันหลายฉบับยังคงมีผลใช้บังคับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำนักจุฬาฯ ออกแถลงการณ์ วอนช่วยโรฮิงยา ร้องรัฐอย่าส่งกลับพม่า

Posted: 17 Jan 2013 03:59 AM PST

จุฬาราชมนตรีและองค์กรมุสลิม ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรียกร้องรัฐบาลไทย พร้อมเรียกร้องคนไทยแสดงความเป็นมิตร ร่วมบริจาคเงินและอาหาร ทั้งยังเรียกร้องถึงนานาชาติกดดันประเทศพม่า

เมื่อวันที่ 17  มกราคม  2556 สำนักจุฬาราชมนตรีและองค์กรมุสลิมได้ออกแถลงการณ์ "กรณีผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงยา ฉบับที่ 1" โดยระบุว่า จากกรณีการหลบหนีภัยการสู้รบในประเทศพม่าของชาวโรฮิงยาเข้ามาสู่ประเทศไทย กว่า 800 คน กระทั่งถูกจับกุมและควบคุมตัวอยู่ในสถานีตำรวจหลายแห่งในจังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2556 สำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจุดยืนต่อกรณีดังกล่าวและมีข้อเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ ดังนี้

1.ขอให้รัฐบาลไทย คำนึงถึงมนุษยธรรมและช่วยบรรเทาความทุกข์เข็ญของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ โดยการอำนวยให้ชาวโรฮิงยา สามารถลี้ภัยในประเทศไทยได้ตามความเหมาะสม ไม่ส่งตัวกลับไปยังประเทศพม่าตราบใดที่สถานการณ์ยังไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติ และอาจส่งตัวคนเหล่านี้ไปยังประเทศที่สามตามความสมัครใจของผู้ลี้ภัยเอง

"ในส่วนของสถานที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยานี้ หากไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง และกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ องค์กรที่ร่วมแถลงการณ์ทั้งหมดยินดีให้ใช้มัสยิดกลางจังหวัดสงขลา เป็นสถานที่พักพิงแก่ชาวโรฮิงยาที่ไม่มีคดีอาญาติดตัว จนกว่าจะสามารถจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม"

2.ขอให้ประชาชนชาวไทยทุกคน เห็นใจต่อผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์อันเลวร้าย ทำให้สูญเสียชีวิตของผู้เป็นที่รัก ทรัพย์สิน ตลอดจนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ จนไม่สามารถอยู่ในแผ่นดินเกิดได้ จึงต้องหลบหนีมาอาศัยแผ่นดินไทยเป็นที่หลบลี้หนีภัย

"และขอให้พี่น้องชาวไทยและมุสลิมทั่วประเทศไทย โปรดแสดงไมตรีจิตร และภราดรภาพให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยการร่วมบริจาคเงิน และอาหาร เพื่อการยังชีพของพี่น้องผู้ตกทุกข์ได้ยากเหล่านั้น ซึ่งอาจต้องพักพิงอาศัยในแผ่นดินไทยไปอีกระยะหนึ่ง"

ทั้งนี้ สำนักจุฬาราชมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา เป็นศูนย์กลางการรับบริจาคจากทุกภาคส่วน และกระจายความช่วยเหลือไปยังทุกสถานที่ที่มีการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาเอาไว้ โดยการประสานงานกับหน่วยงานหรือองค์กรที่ดำเนินให้ความช่วยเหลืออยู่ก่อนแล้วอย่างใกล้ชิด

3.ขอให้ประเทศโลกมุสลิม องค์กรระหว่างประเทศ และองค์การสหประชาชาติ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ให้ประสานงานกับประเทศที่สามเพื่อจัดหาที่ลี้ภัย พร้อมทั้งเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลพม่าให้ยอมรับความเป็นพลเมืองพม่าของชาวโรฮิงยาและปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาเฉกเช่นชาติพันธุ์อื่นๆที่อยู่ในประเทศพม่า

ทั้งนี้สำนักจุฬาราชมนตรี และองค์กรมุสลิมได้เปิดรับเงินบริจากเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงยา โดยสามารถบริจาคได้ที่ มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา ชั้น 2 และสามารถโอนเข้าทางบัญชีธนาคาร ชื่อบัญชี สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา (กองทุนช่วยเหลือชาวโรฮิงยา) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ บัญชีเลขที่ 934-1-48557-6

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จำคุก 'เจ๋ง ดอกจิก' 3 ปี คดี 112 ลดโทษเหลือ 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ได้ประกัน

Posted: 16 Jan 2013 10:45 PM PST

ศาลสั่งจำคุก 'เจ๋ง ดอกจิก' 3 ปี คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ศาลให้ประกันด้วยเงิน 5 แสนบาท 

วันนี้ (17 ม.ค. 56) เวลา 9.40 น. ห้อง 804 ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.2740/2553  ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง นายยศวริศ  ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก  ที่ปรึกษา รมช.กระทรวงพาณิชย์ และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการขึ้นเวทีปราศรัยบนเวที นปช. เชิงสะพานมัฆวาน เมื่อวันที่ 29 มี.ค.53 ต่อหน้าประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก และยังมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์

โดยจำเลยให้การในชั้นศาลว่า จำเลยเพียงต้องการปราศรัยเพื่อให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา และโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อให้ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีเท่านั้น เนื่องจากตนเองเชื่อว่า พล.อ.เปรม เป็นผู้ให้ความช่วยเหลืออภิสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และการกล่าวถึง "อำมาตย์" มีเป้าหมายเพียงการล้อเลียน พล.อ.เปรม เท่านั้น และกล่าวต่อไปว่าตนเองเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ไม่เคยคิดอาฆาตมาดร้ายแต่อย่างใด นอกจากนี้ตนเองยังเป็นกรรมการอยู่ในมูลนิธิ 5 ธันวา และยังทำงานการกุศลเพื่อเฉลิมพระเกียรติของพระเจ้าอยู่หัวมาอย่างยาวนาน

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าคำพูดดังกล่าวหมายถึงใครนั้นจำเป็นต้องพิจารณาจากท่าทางประกอบด้วย แม้จำเลยจะบอกว่า ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร แต่การที่จำเลยแสดงท่าทางด้วยการเอามือปิดปากตนเองนั้น เป็นการสื่อให้เห็นว่าเป็นบุคคลที่สูงส่งยิ่ง เพราะแม้จำเลยจะกล่าวปราศรัยโจมตีอภิสิทธิ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่มีการแสดงท่าทางดังกล่าว

นอกจากนี้ พล.อ.เปรม ยังเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการแต่อย่างใด คำพูดที่ว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังเปรมนั้นจึงไม่อาจมองได้ว่าหมายถึงบุคคลอื่นได้ การที่จำเลยแสดงท่าทางไม่กล้าพูดนั้น ไม่สามารถมองเป็นบุคคลอื่นใดได้ นอกจากพระเจ้าอยู่หัว เป็นการแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงไม่ประสงค์ให้อภิสิทธิ์ยุบสภา ซึ่งทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเสื่อมเสีย คำอ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟัง อีกทั้งในการปราศรัยดังกล่าวไม่มีการปราศรัยเรื่องเพศ หรือเรื่องส่วนตัวของ พล.อ.เปรม แต่อย่างใด

ศาลจึงพิพากษาในลงโทษจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง โดยลงโทษจำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุให้บรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาทนายความจำเลย ธำรงค์ หลักแดง ได้เตรียมยื่นหลักทรัพย์ โดยเป็นหลักทรัพย์เดิมที่ใช้ประกันตัวเป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาท และใช้ตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ ของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในการยื่นขอการประกันตัว

ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาแล้วโดยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี ศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์โดยตีราคาประกัน 500,000 บาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชาย ปรีชาศิลปกุล: การต่อสู้ทางการเมืองด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญ

Posted: 16 Jan 2013 07:15 PM PST

ได้เคยมีความพยายามในการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อต่อต้านการรัฐประหารเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐธรรมนูญ 2517 (ซึ่งถูกเรียกว่า "ฉบับดอกเตอร์" หรือ "ฉบับปัญญาชน") โดยมีการเขียนในมาตรา 4 ว่า "การนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้"

บทบัญญัติของมาตรานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการป้องกันการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาคณะรัฐประหารและการฉีกรัฐธรรมนูญที่ได้เคยเกิดขึ้นมาอย่างบ่อยครั้งในสังคมการเมืองไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 มาจนกระทั่งทศวรรษ 2510 ซึ่งภายหลังการรัฐประหารก็จะมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาผู้กระทำการยึดอำนาจ อันทำให้ไม่สามารถจะเอาผิดในทางกฎหมายแก่กลุ่มบุคคลในการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ด้วยความคาดหวังว่าบทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนอกกรอบแห่งรัฐธรรมนูญได้

แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าชะตากรรมของบทบัญญัติมาตรานี้ก็พบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้กระทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ก็ได้มีการตระหนักว่าหากการนิรโทษกรรมถูกตรามาเป็นเพียงพระราชบัญญัติดังเช่นที่เคยปรากฏมาก็อาจถูกโต้แย้งด้วยการหยิบเอามาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2517 มาคัดค้าน

คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงวางมาตรการป้องกัน 2 ประการเพื่อไม่ให้เกิดการเอาผิดกับคณะรัฐประหารในการฉีกรัฐธรรมนูญ

ประการแรก ด้วยการกำหนดชื่อของรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" มิใช่ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร" โดยที่ก่อนหน้านี้เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นจะมีการเรียกกติกาทางการเมืองที่ตราขึ้นว่า "ธรรมนูญการปกครอง" อันแสดงให้เห็นลักษณะการบังคับใช้เพียงชั่วคราวที่มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญซึ่งมักจะถูกร่างขึ้นด้วยความมุ่งหมายให้มีผลบังคับใช้อย่างถาวร อันถูกทำให้ตีความว่ามีศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวร

ประการที่สอง  แม้ว่ารัฐบาลที่นำโดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 (ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2519 เป็นการเฉพาะฉบับหนึ่งแล้ว แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่าจะไม่ถูกโต้แย้งด้วยมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ 2517 คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้มีการเขียนบทบัญญัติที่มีผลเป็นการนิรโทษกรรมการรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ และลบล้างบทบัญญัติที่ห้ามการนิรโทษกรรมอันเป็นบทบัญญัติในระดับรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

โดย "รัฐธรรมนูญ" แห่งราชอาณาจักรไทย 2519 มาตรา 29 บัญญัติไว้ ดังนี้

"บรรดาการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ได้กระทำประกาศหรือสั่งก่อนวันใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใดหรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการให้ถือว่าการกระทำ ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น เป็นการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย"

(หากรัฐธรรมนูญ 2517 ได้รับการขนานนามว่าฉบับดอกเตอร์ อันเนื่องมาจากมีปัญญาชนที่มีการศึกษาระดับสูงเข้าร่วมอยู่ในกระบวนการเป็นจำนวนมาก รัฐธรรมนูญ 2519 ก็ควรได้รับการขนานนามว่า "ฉบับตุลาการบริกร" อันเนื่องมาจากในการแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่ทำงานฝ่ายกฎหมายและทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ โดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ 1/2519 ล้วนประกอบไปด้วยข้าราชการตุลาการระดับสูงในห้วงเวลานั้นเป็นส่วนใหญ่ อาทิ นายสุธรรม ภัทราคม ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น, นายวิกรม เมาลานนท์, นายบัญญัติ สุชีวะ, นายชูเชิด รักตะบุตร, นายสหัส สิงหะวิริยะ, นายเสริมศักดิ์ เทพาคำ เป็นต้น)

ซึ่งการกระทำในลักษณะเช่นนี้ได้กลายเป็นการริเริ่มที่ต่อมาถูกยึดปฏิบัติกันในการรัฐประหารครั้ง อันสามารถถือได้ว่าเป็น "นวัตกรรม" ของการนิรโทษกรรมด้วยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่เป็นผลมาจากการรัฐประหารซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนแต่อย่างใด

ในการรัฐประหารครั้งถัดมาเมื่อ 20 ตุลาคม 2520 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร และก็ได้ปรากฏบทบัญญัติในลักษณะเช่นเดียวกับที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2519 โดยปรากฏอยู่ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2520 มาตรา 32 ซึ่งบัญญัติว่า

"บรรดาการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของ หัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ได้กระทำ ประกาศหรือสั่งก่อนวันใช้ธรรมนูญการ ปกครองนี้ ทั้งนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิวัติ ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใด หรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศหรือ สั่งให้มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทาง ตุลาการ ให้ถือว่าการกระทำ ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจน การกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นเป็นการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย"

การรัฐประหารเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เมื่อได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2534 ก็ได้ปรากฏบทบัญญัติที่มีเนื้อหาในการนิรโทษกรรมการกระทำอันเป็นความผิดของคณะรัฐประหารด้วยการกำหนดให้การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายในมาตรา 32

สำหรับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งไม่ได้มีตรากฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้กระทำการยึดอำนาจในการปกครองในรูปแบบของพระราชบัญญัติเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ได้มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2549 ซึ่งกำหนดให้ครอบคลุมถึงการกระทำรัฐประหารบรรดาประการ คำสั่งและรวมถึงการกระทำใดที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นเดียวกันในมาตรา 37 ซึ่งต่อมาก็ได้ปรากฏมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 ซึ่งกลายมาเป็นข้อถกเถียงตราบจนกระทั่งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

การโต้ตอบต่อรัฐธรรมนูญ 2517 ด้วยบัญญัติทางกฎหมายเป็นผลให้บุคคลที่ทำการรัฐประหารไม่ได้รับโทษจากการกระทำของตนแต่อย่างใด ในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่าความพยายามต่อสู้กับการรัฐประหารด้วยการเขียนในรัฐธรรมนูญล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

จากความล้มเหลวในการต่อต้านรัฐประหารด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญ 2517 มีข้อสังเกตบางประการ ดังนี้

ประการแรก การต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อมีเจตจำนงร่วมกันในทางการเมือง ซึ่งอาจมาจากกระแสทางการเมืองของยุคสมัยหรือการผลักดันให้เกิดความเห็นพ้องร่วมกันระหว่างผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม

ประการที่สอง การใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เน้นแง่มุมทางเทคนิคกฎหมายสามารถถูกโต้ตอบด้วยเทคนิคกฎหมายได้ไม่ยากลำบาก ในเมื่อสังคมไทยประกอบด้วยเนติบริกรจำนวนมากซึ่งพร้อมจะให้บริการทางด้านเทคนิคกฎหมายแก่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย

ประการที่สาม แม้บทบัญญัติเพื่อต่อต้านการนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นด้วยเจตจำนงทางการเมืองที่ร่วมกันของคนส่วนใหญ่ในห้วงเวลานั้น (หลังตุลาคม 2516) แต่ก็ยังประสบความล้มเหลวในห้วงเวลาอันสั้น ดังนั้น การต่อสู้ทางการเมืองด้วยการผลักดันการเขียนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรซึ่งมุ่งหมายแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่างๆ ภายในห้วงเวลาที่มีความขัดแย้งอย่างสูงยิ่งในปัจจุบันก็ต้องตระหนักถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขทางการเมืองประกอบไปด้วยอย่างไม่อาจละเลยได้

 

 

ที่มา:คอลัมน์กฎเมืองกฎหมาย กรุงเทพธุรกิจ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น