โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สหภาพแรงงานอินเดียเตรียมหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ ก.พ. นี้

Posted: 05 Jan 2013 09:38 AM PST

 

6 ม.ค. 55 - เว็บไซต์ pd.cpim.org รายงานว่าสหภาพแรงงานอินเดียนำโดยสหภาพแรงงานคนทำงานภาครัฐ (Central Public Sector Undertakings - CPSU) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สมาชิกออกมาหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 20 - 21 ก.พ. 56 นี้ 
 
ทั้งนี้ตัวแทนของสหภาพแรงงานเอกชนจากเกือบทุกอุตสาหกรรมและสหภาพแรงงานภาครัฐ อาทิ CITU, AITUC, HMS INTUC, BMS, LPF และ  CITU รวมทั้งสหภาพแรงงานอิสระหลายแห่ง ได้มติร่วมกันในการจัดประชุมที่ New Delhi และ Chennai เมื่อเดือนกันยายนและธันวาคมเมือปีที่แล้ว (2012)
 
โดยในแถลงการณ์ "NEO-LIBERALISM WITH A VENGEANCE" นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปรัฐวิสากิจของรัฐไปเป็นของบรรษัทและการจ้างงานแบบเหมาช่วงกำลังเป็นสิ่งอันตรายต่อคนงาน และได้เรียกร้องให้คนงานออกมาร่วมแสดงพลังในวันที่ 20 - 21 ก.พ. 56 นี้ 
 
ด้านคนงานท่าเรือใหญ่ 13 แห่งในอินเดียก็เตรียมเข้าร่วมการนัดหยุดงานครั้งใหญ่นี้ด้วยเช่นกัน โดยมีจุดมุ่งหมาย 'ต้านการแปรรูปและต้านการใช้แรงงานจ้างเหมาช่วง' ด้วยเช่นกัน
 
โดยเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา thehindubusinessline.com รายงานว่าคนงานใน 13 ท่าเรือหลักของอินเดียจะเข้าร่วมการนัดหยุดงานทั่วประเทศครั้งใหญ่ในวันที่ 20 - 21 ก.พ. 56 นี้ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการคัดค้านการแปรรูปท่าเรือหลักไปเป็นของเอกชน รวมทั้งการเรียกร้องสิทธิให้คนงานจ้างเหมาช่วงเป็นคนงานประจำ 
 
ทั้งนี้มติดังกล่าวออกมาภายหลังจากการที่ผู้นำสหภาพแรงงานท่าเรือหลายแห่ง ได้เข้าพบปะหารือกันที่เมือง Chennai เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา และจะมีการแจ้งล่วงหน้ารวมทั้งออกแถลงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ก.พ. 56 อีกครั้งหนึ่ง
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยลั่นหากไม่คุ้มครอง "เหนือเมฆ" เจอกันหน้าศาลปกครอง 8 ม.ค. นี้

Posted: 05 Jan 2013 06:56 AM PST

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยออกแถลงการณ์ ชี้ช่อง 3 ผิดรุนแรงละเมิดสิทธิผู้บริโภคและขัดต่อกฎหมายอันสมควรที่รัฐจะต้องใช้เป็นเหตุในการเพิกถอนสัมปทานละเมิดสิทธิผู้บริโภคและรัฐธรรมนูญ สคบ.และ กสทช. ต้องให้การคุ้มครองสิทธิผู้ชมโดยทันที ลั่นไม่เช่นนั้นไปเจอกันที่ศาลปกครองวันที่ 8 มกราคม 2556 เวลา 10.00 น. 

 
5 ม.ค. 56 - ศรีสุวรรณ  จรรยา เลขาธิการสมมารคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ช่อง 3 ละเมิดสิทธิผู้บริโภคและรัฐธรรมนูญ สคบ.และ กสทช. ต้องให้การคุ้มครองสิทธิผู้ชมโดยทันที โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
เรื่อง ช่อง 3 ละเมิดสิทธิผู้บริโภคและรัฐธรรมนูญ สคบ.และ กสทช. ต้องให้การคุ้มครองสิทธิผู้ชมโดยทันที
ไม่เช่นนั้นไปเจอกันที่ศาลปกครองวันที่ 8 มกราคม 2556 เวลา 10.00 น.
 
ตามที่ละคร "เหนือเมฆ 2 ตอน มือปราบจอมขมังเวทย์" ทางช่อง 3 ของผู้จัดละครชื่อดัง นายฉัตรชัย เปล่งพานิช โดยมีกระแสข่าวลือออกมาและในที่สุดก็ปรากฏข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์แล้วว่า ละครเรื่องดังกล่าวถูกสั่งให้จบในวันศุกร์ที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมา โดยไม่มีเหตุผล ทั้งที่เพิ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการเมืองเข้ามาแทรกแซงบีบบังคับ เนื่องจากเนื้อหาในละครเป็นเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและการสั่งสอนนักการเมืองที่เป็นรัฐบาลให้คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและเจ้าของประเทศที่แท้จริง ซึ่งเนื้อหาสาระดังกล่าวของละครไม่ว่าจะเป็นตอนใด ไม่มีข้อความหรือเนื้อหาใดที่เข้าข่ายผิดต่อพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ปี 2551 เลย ดังนั้นการที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ออกมาให้ข่าวว่ามีเนื้อหาไปในทิศทางที่ไม่เหมาะสมนั้น จึงไม่อยู่ในฐานข้อเท็จจริงแต่ประการใด
 
พฤติการณ์หรือการกระทำของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 ซึ่งได้สิทธิในการใช้สื่อสาธารณะของชาติไปดำเนินการแสวงหากำไรและผลประโยชน์ในรูปสัมปทานส่วนตนนั้น จึงได้ดำเนินการในลักษณะริดรอนสิทธิของผู้บริโภคหรือของสาธารณะโดยชัดแจ้ง อันเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 45 และมาตรา 61 ประกอบมาตรา 4 แห่ง พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 โดยชัดแจ้ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุมครองผู้บริโภค (สคบ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับ ดูแล มิให้ผู้ประกอบการกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิผู้ชมหรือผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ จะต้องออกมาปกป้องสิทธิของผู้ชมหรือผู้บริโภคมิให้เจ้าของสถานีดังกล่าวละเมิดสิทธิของผู้บริโภค โดยไม่แคร์ว่าละครดังกล่าวจะออนแอร์จนจบหรือไม่
 
ทั้งนี้หาก สคบ. และ กสทช. ไม่ดำเนินการอย่างใด อย่างหนึ่ง เพื่อมีคำสั่งหรือการกระทำใด ๆ ให้นำละครเรื่องดังกล่าวกลับมาออนแอร์ได้ตามปกติภายใน 3 วันนับแต่วันนี้ ก็ถือได้ว่า สคบ. และ กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค สมาคมฯ จะได้ร่วมมือกับผู้ชมละครดังกล่าวและหรือผู้บริโภค ในการยื่นฟ้องทั้ง 2 หน่วยงานต่อศาลปกครองกลาง ในวันอังคารที่ 8 มกราคม 2555 เวลา  10.00 น. ณ ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานรัฐทั้ง สคบ. - กสทช. และช่อง 3 นำละครดังกล่าวออกมาออนแอร์ต่อจนจบตามที่ควรจะเป็นต่อไป รวมทั้งขอให้ศาลสั่งยกเลิกสัญญาสัมปทานที่รัฐทำไว้กับช่อง 3 เสีย เนื่องจากการกระทำของผู้รับสัมปทานช่อง 3 มีพฤติการณ์อันเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคและขัดต่อกฎหมายอันสมควรที่รัฐจะต้องใช้เป็นเหตุในการเพิกถอนสัมปทานดังกล่าวได้ต่อไป
 
ประกาศมา ณ วันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2556
นายศรีสุวรรณ  จรรยา
เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.เผยช่อง 3 ระงับ 'เหนือเมฆ 2' เหตุขัดมาตรา 37-เล็งทำหนังสือขอข้อมูลเพิ่ม

Posted: 05 Jan 2013 06:48 AM PST

กสทช.เผยผู้บริหารช่อง 3 ระบุเหตุระงับออกอากาศ 'เหนือเมฆ 2' เพราะเนื้อหาขัดมาตรา 37 กฎหมายประกอบกิจการโทรทัศน์ เตรียมส่งหนังสือสอบถามข้อมูลยกเลิกออกอากาศ จันทร์นี้


(5 ม.ค.56) เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการกำกับเนื้อหา กล่าวว่า ได้คุยกับผู้บริหารระดับสูงของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ถึงเหตุผลในการระงับออกอากาศละครเรื่องเหนือเมฆ 2 แล้ว ได้รับชี้แจงว่าเนื้อหาของละครขัดมาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 จึงต้องงดออกอากาศ แต่ไม่ได้บอกว่าเนื้อหาตรงส่วนไหนขัดกับมาตราดังกล่าว

อย่างไรก็ตามเมื่อเนื้อหาส่วนที่เหลือยังไม่ได้ออกอากาศ กสทช.ก็ไม่มีระบบที่จะไปขอตรวจเนื้อหา และการที่ช่อง 3 งดออกอากาศละครเหนือเมฆ 2 คิดว่าช่อง 3 คงพิจารณาดีแล้วว่าตัวเนื้อหาละครไม่เหมาะสม ซึ่งการที่จะให้ละครออกอากาศหรือไม่นั้น ช่อง 3 ก็มีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องเนื้อหาอยู่แล้ว

ทั้งนี้ในวันที่ 7 ม.ค.นี้ กสทช.จะส่งหนังสือสอบถามไปยังสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เพื่อขอข้อมูลการยกเลิกออกอากาศละครเรื่องเหนือเมฆ 2 เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นที่สังคมสนใจเป็นวงกว้าง

"เรื่องดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องเรียกทางช่อง 3 เข้ามาชี้แจง โดยจะเป็นเพียงแค่การส่งหนังสือเพื่อขอข้อมูลมาศึกษาและพิจารณาเท่านั้น" พล.ท.พีระพงษ์กล่าว

อนึ่ง มาตรา 37 ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กสทช. ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ @supinya ระบุว่า ทางกฎหมาย กสทช.คงไม่อาจไปสั่งให้สถานีฉายหรือไม่ฉายละครเรื่องอะไร เพราะเป็นการตัดสินใจของสถานี แต่ถ้าถูกแทรกแซงทางการเมืองจริงก็ถือว่ากระทบเสรีภาพและเป็นเรื่องขาดวุฒิภาวะมาก ถ้าช่อง3 ยอมให้แทรกแซงด้วยเหตุผลที่อ่อนแอก็เป็นปัญหาจริยธรรมและศักดิ์ศรีสื่อของตัวเองซึ่งเรื่องนี้ส่วนตัวมองว่าสะท้อนวิกฤตศรัทธาต่อละครไทยในฟรีทีวีหนักขึ้น

"ดิฉันจะเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช.ในวันที่ 7 ม.ค.นี้แต่ไม่มั่นใจว่า กสทช.ท่านอื่นจะว่าอย่างไร เพราะอาจไม่ขัดข้อกฏหมาย ส่วนตัวคิดว่าเป็นปัญหาสิทธิเสรีภาพสื่อ อย่างไรก็ตามแม้อาจไม่เข้าข้อกฏหมายตรง แต่เรื่องนี้ กสทช.แสดงท่าทีได้ โดยสำนักงาน กสทช. สามารถเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงในเวทีทวิภาคี หรือไตรภาคีได้"น.ส.สุภิญญา

น.ส.สุภิญญากล่าวว่า กสทช. ควรเชิญตัวแทนช่อง3มาชี้แจงถึงเหตุผลในการปลดรายการกลางอากาศ เพราะกระทบคนรอดูปริมาณมาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเคลื่อนไหวหลังปีใหม่-ค่าแรง 300 บาท รัฐบาลประกาศปี 2556 เป็นปีแห่งการปรับสมดุล

Posted: 05 Jan 2013 06:32 AM PST

สื่อ "ตีข่าว" หลายจังหวัด "เลิกจ้าง-ไม่เลิกจ้าง" หลังประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ ด้านรัฐบาลชี้ตั้งเป้าปรับสมดุลระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้สอดรับการลงทุน "เผดิมชัย" เรียก 5 หน่วยงานประเมินผลกระทบค่าแรง 300 บาทสัปดาห์หน้า

 
รัฐบาลตั้งเป้าปรับสมดุลระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้สอดรับการลงทุน
 
5 ม.ค. 56 เว็บไซต์ครอบครัวข่าวรายงานว่า รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ที่ออกอากาศวันนี้มีการสัมภาษณ์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556 และนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั้งนี้นายกิตติรัตน์ บอกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปี 56 น่าจะดีกว่าหรือเท่ากับปี 55 เพราะมีการปรับสมดุล ซึ่งการปรับสมดุลมีการทำงานที่ประกอบกัน การเพิ่มค่าจ้าง ค่าแรงขั้นต่ำ ถึงแม้ว่าเอกชนมองว่ามีภาระเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าเพิ่มที่สุด คือ ค่าแรง เพราะเป็นบุคลากรที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับภาค ธุรกิจ ปี 2556 ถือว่าเป็นการปรับสมดุลในประเทศอีกรอบส่วนปัญหาหน้าผาการคลังของสหรัฐฯนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้แก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้แล้ว และทิศทางของสหรัฐก็กำลังมาดี มีการจ้างงาน การเกิดชะงักงันในสหรัฐก็คงไม่เกิดขึ้น แต่ก็คงหวังไม่ได้ว่าจะเป็นประเทศที่เติบโตสูงๆ รวมถึงการเป็นประเทศคู่ค้าที่จะไปพึ่งพาได้ ทั้งนี้ไทยต้องพึ่งพาตัวเองก่อน
 
นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ ยังได้กล่าวถึง กลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจได้รับแรงกดดันจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทว่า อุตสาหกรรมที่ต้องไตร่ตรองมาตลอดเวลา และในภาวะที่เรามีแรงงานน้อยลง คือ กลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น คือ ใช้แรงงานมากเมื่อเทียบผลผลิตที่ผลิตได้ เป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยรับช่วงต่อมาจากประเทศ
 
อื่นๆ และเมื่อเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ลดการผลิตลง ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องพิจารณาว่าจะเริ่มส่งต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ ไปยังประเทศที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า และไทยต้องเพิ่มทักษะแรงงานให้มีทักษะมากขึ้น
 
รองนายกฯ และ รมว.คลัง ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้วมีการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงการท่าเรือน้ำลึก ถ้าไม่มีการลงทุนนั้นก็คงอยู่กับท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือคลองเตย หรือเมื่อทศวรรษที่ผ่านมาก็มีการลงทุนในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ลงทุน แต่ลงทุนน้อยไปเมื่อเทียบกับศักยภาพ เพราะมีฐานเงินออมที่มาก การดำเนินการส่วนนี้สำคัญสำหรับเตรียมประเทศในอนาคต ทำให้ประเทศไทยพร้อมแข่งขันกับประเทศต่างๆในโลกนี้ กับการที่ไม่สามารถพึ่งพาโลกตะวันตก ก็ต้องพึ่งพาตนเอง ในขั้นตอนที่จะลงทุนในอนาคตก็จะต้องผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ คาดว่าจะลงทุนไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท ในระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี
 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะกลับเข้าสู่โหมดปกติ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) คาดว่าจะขยายตัว 5-6% โดยสภาพัฒน์มองว่าจีดีพีน่าจะขยายตัว 5.5% โดยปัจจัยที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนในปีนี้มาจาก การบริโภคที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงครึ่งปีหลัง การลงทุนของภาคเอกชน การส่งออกที่คาดว่าในปีนี้จะขยายตัว 9% และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ทั้งในการป้องกันน้ำท่วม 300,000 ล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
 
โรงงานตากปิดกิจการ 8 แห่งลอยแพแรงงาน 1,343 คน
 
5 ม.ค. 56 เนชั่นทันข่าวรายงานว่านายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดตากปรับขึ้นจากวันละ 163 บาท เป็น 226 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 40% มีสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างรอบแรกในช่วง 8 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 ธันวาคม 2555 ปิด
 
กิจการไปถึง 8 แห่ง มีลูกจ้างตกงานทั้งหมดราว 1,343 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท โดยโรงงานสุดท้ายปิดกิจการไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคมก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 เป็นวันละ 300 บาท โรงงานส่วนใหญ่ที่ปิดกิจการไป มีทั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป อิเล็กทรอนิกส์ และหินแกรนิต ฯลฯ
 
ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 เป็นวันละ 300 บาทที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา เป็นการปรับขึ้นมาอีก 40% รวมทั้งสองครั้งจังหวัดตากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 80% นับเป็นการปรับเพิ่มในสัดส่วนที่มากจนเป็นภาระหนักกับผู้ประกอบการ หลายรายพยายามปรับตัวและทำทุกวิถีทางเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด และรอความหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจับต้องได้มากว่ามาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้กว่า 20 ข้อ แต่ช่วยเหลือได้เพียงส่วนน้อยและไม่มีผลอะไรมากนัก เช่น ลดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจาก 5% เหลือ 4% หรือ สนับสนุนวงเงินสินเชื่อให้ผู้ประกอบการกู้ยืมนำมาจ่ายค่าจ้างเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน แต่ข้อเท็จจริงเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการมากขึ้น ขณะเดียวกันการเข้าถึงแหล่งทุนก็เป็นไปได้ยากเพราะหลักทรัพย์ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินอยู่ก่อนแล้ว
 
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เชื่อว่านับจากนี้อีก 2 - 3 เดือนจะเห็นภาพสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดตากทะยอยปิดกิจการเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 80% ได้ เพราะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กว่า 90% เป็นเอสเอ็มอีและกว่า 90% เป็นกิจการประเภทรับจ้างผลิตไม่มีออร์เดอร์เป็นของตัวเองจึงมีการใช้แรงงานเข้มข้นมากกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่น การเข้ามาตั้งโรงงานในพื้นที่ชายแดนเป็นความหวังหนึ่งที่จะลดต้นทุนด้านแรงงานแต่ปรากฎว่ารัฐบาลกลับมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ
 
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่มีเพียงส่วนน้อยที่พอปรับตัวได้ แนวทางปรับตัวส่วนใหญ่ คือ ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำถูกกว่าประเทศไทย เช่น พม่า และกัมพูชา แต่การย้ายฐานไปพม่ายังมีน้อยเพราะความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน
 
ลอยแพแรงงานโคราชแล้วกว่า 1,300 ราย
 
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา คมชัดลึกรายงานว่า น.ส.อัญชลี สินธุพันธ์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ก่อนประกาศดังกล่าวพบว่า ได้มีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทรายการผลิตชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิค มีการเลิกจ้างงานไปแล้วกว่า 550 คน ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่ได้มีการเลิกจ้างงานหลังที่รัฐบาลได้ประกาศปรับค่าแรง 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่าได้มีการเลิกจ้างงานพนักงานแล้วกว่า 800 ราย แต่มีผู้ที่ได้เริ่มงานใหม่ทันทีเพียง 59 ราย รวมตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2555 ถึง ปัจจุบัน มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกเลิกจ้างแล้วทั้งสิ้นกว่า 1,300 ราย แต่มีผู้ที่เดินทางมาขึ้นทะเบียนกับจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เพียง 860 ราย
 
รง.ตัดเย็บบุรีรัมย์แจ้งจำต้องคัดกรองพนักงาน
 
นอกจากนี้คมชัดลึกยังรายงานถึงกรณีที่บริษัทนางรองแอพพาเรล จำกัด ตั้งอยู่ถนนสายโชคชัย - เดชอุดม ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ และบริษัท โรงงานเสื้อผ้าชุมชน ตั้งอยู่ ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ หรือตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้เลิกจ้างพนักงานแล้วจำนวน 126 คน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต จากผลพวงของการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท  เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานในจ.บุรีรัมย์ ได้ลงไปพบปะพูดคุยทำความเข้าใจกับพนักงาน ที่บริษัท โรงงานเสื้อผ้าชุมชน จำกัด ตั้งอยู่ ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีพนักงานทั้งหมดอยู่ขณะนี้ จำนวน 255 คน พบว่าพนักงานยังคงมีการทำงานกันตามปกติ โดยสอบถามผู้จัดการฝ่ายผลิตของบริษัทฯ ต้องการให้ทางภาครัฐมีการช่วยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่เลิกจ้าง และทางโรงงานพร้อมที่จะรับพนักงานเหล่านี้กลับเข้าทำงานตามเดิม
 
ทั้งนี้ ได้มีการนำประกาศของบริษัทฯ ที่ลงนามโดยนายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานบริษัทฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ติดไว้ที่บอร์ดของโรงงาน มีข้อความระบุว่า เป็นโครงการคัดกรองพนักงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยอ้างว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทั่วประเทศ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป นั้น บริษัทฯ ขอแจ้งให้ทราบว่าการขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ จะเพิ่มต้นทุนของบริษัทฯ เป็นอย่างมาก และทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศที่มีค่าแรงที่ต่ำกว่าได้ ดังนั้น บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องดำเนินการลดต้นทุน
 
โรงงานสระแก้วปิดไปแล้ว 1 เลิกจ้างบางส่วนอีก 1 ร่อแร่อีก 1 แรงงานตกงานแล้ว 691 คน
 
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่านายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานประกอบการบางแห่งเริ่มได้รับผลกระทบจากค่าจ้าง 300 บาทแล้ว ซึ่งบางแห่งได้หาทางออกอื่นๆ แทน เช่น ดูแลสวัสดิการครอบครัว เลี้ยงอาหารในเวลาปฏิบัติงาน แต่ถ้าแจ้งมาก็อาจต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพูดคุยกันก่อนว่าพอที่จะหา ทางออกอย่างไรได้บ้าง เพื่อเป็นข้อมูลนำเสนอให้รัฐบาล เท่าที่ทราบมาพบว่าโรงงานบางแห่งก็เปลี่ยนรูปแบบการทำงานในโรงงานไปเป็นการ จ้างแรงงานตามบ้านทำ ซึ่งตรงนี้ทำให้รัฐบาลเสียประโยชน์ไม่ได้ภาษีจากโรงงาน ในส่วนแรงงานต่างด้าวที่จะทะลักเข้ามานั้น จังหวัดได้ประสานไปยังกองทัพเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยขอให้แยกแรงงานออกเป็น 2 ส่วน คือ แรงงานถูกกฏหมายกับแรงงานชั่วคราวแรงวัน เช้าไป-เย็นกลับ หรือ 2-3 วันกลับ เพื่อผู้ประกอบการจะได้ไม่ขาดแรงงาน แล้วจะได้จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวได้อย่างถูกต้อง
 
นายกรุณา แก้วน้อย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีประกอบกับนโยบายรัฐบาลขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ได้ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการระดับเล็กและระดับกลางในจังหวัดสระแก้วบาง ส่วนแล้ว ข้อมูลเมื่อ 3 ม.ค.พบว่ามีสถานประกอบการขนาดกลางที่ประกอบธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพื่อส่งออก อยู่ อ.เมืองสระแก้ว ได้ปิดกิจการลง ส่งผลให้เลิกจ้างแรงงาน 471 คน จ่ายเงินค่าชดเชยไปกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโรงงานระดับเล็ก ประกอบธุรกิจประกอบชิ้นส่วนสายไฟรถยนต์ อยู่ อ.วัฒนานคร เลิกจ้างแรงงานบางส่วน จำนวน 207 คน จ่ายเงินค่าชดเชยไปกว่า 3.5 ล้านบาท แล้วยังมีสถานประกอบการขนาดเล็กมีแนวโน้มจะเลิกจ้างแรงงานอีก 1 แห่ง ตั้งอยู่ อ.วัฒนานคร สรุปแล้วขณะนี้เลิกจ้างแรงงานไปแล้ว 691 คน
 
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานประกอบการในจังหวัดสระแก้ว ส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งอาจมีแนวโน้มเลิกจ้างแรงงานสูง ในส่วนของสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดได้ติดตามสถานการณ์จากการตรวจ แรงงานและคำร้องที่พนักงานมาร้องเรียน ก่อนที่จะลงไปให้คำปรึกษาและช่วยเหลือต่อไป ซึ่งที่ผ่านมามีเจ้าของสถานประกอบการบางแห่งมาปรึกษาหาทางออกเพื่อให้สถานประกอบการอยู่ได้ แรงงานมีงานทำ โดยจะลดเวลาในการทำงานลง จาก 6 วันต่อสัปดาห์เหลือ 5 วัน โดยใช้แรงงานสัมพันธ์คุยกันแบบเปิดใจระหว่างเจ้าของกับลูกจ้าง ถ้าตกลงกันได้ก็ไม่มีปัญหา ในส่วนมาตรการของกระทรวงแรงงาน ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงาน (ผลกระทบจาก 300 บาท) โดยจัดหางานจังหวัดจะได้ให้คำปรึกษาในการหางานทำให้ใหม่ ประกันสังคมก็จะจ่ายเบี้ยว่างงานให้ ในส่วนของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานก็จะให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงานให
 
เชียงใหม่ยังไม่พบการเลิกจ้างผิดปกติ หลังปรับค่าแรง 300
 
5 ม.ค. 55 เนชั่นทันข่าวรายงานว่านายอนันต์ บวรเนาวรักษ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานจากผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 จนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการเลิกจ้างแรงงานกลุ่มใหญ่ หรือมีการเลิกจ้างแบบผิดปกติเกิดขึ้นในช่วงแรกนี้ แต่สำนักงานฯได้ติดตามปัญหาการเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด และมีการเฝ้าระวังปัญหาเลิกจ้างตั้งแต่มีกาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรกจังหวัดเชียงใหม่ปรับขึ้นจากวันละ 181 บาทเป็น 251 บาท แต่ก็ยังไม่พบมีการเลิกจ้างแรงงานแบบผิดปกติเกิดขึ้น 
 
ส่วนการเลิกจ้างที่มีในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา เป็นการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นตามปกติอยู่แล้ว ขณะที่การเข้ามาร้องเรียนของแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และนายจ้างไม่จ่ายค่าแรงก็มีเข้ามาเป็นระยะแต่ไม่ถึงขั้นผิดปกติหรือมีนัยยะแฝงสำคัญอะไรที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ สำหรับปัญหาการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นจนเป็นข่าวออกมานั้นจะเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างในช่วงสิ้นปีก่อนปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท เป็นเทคนิคของผู้ประกอบการที่ตัดสินใจเลิกจ้างก่อนการปรับขึ้นค่าแรงเพื่อจ่ายเงินชดเชยในอัตราค่าจ้างเดิมมากกว่าอาจไม่ได้มาจากผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท
 
นายอนันต์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีปัญหาการเลิกจ้างเกิดขึ้นหรือไม่มากน้อยเพียงใด คงต้องรอดูอีกระยะหนึ่งเนื่องจากขณะนี้หลายธุรกิจกำลังไปได้ดี เช่น โรงแรมและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพราะยังอยู่ในช่วงไฮซีซั่น มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นแล้วต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้ง นอกจากนี้กระทรวงแรงงานได้กำชับให้ดูแลกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี เป็นพิเศษ โดยจังหวัดเชียงใหม่มีเอสเอ็มอีอยู่ประมาณ 800 แห่งมีการจ้างงานราว 5 พันคน ขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำแนะนำและปรึกษาแก่ผู้ประกอบการแล้ว
 
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เมษายน - ธันวาคม 2555 ในห้วงเวลาที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรก มีการยื่นคำร้องเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเข้ามา 31 แห่ง เป็นกรณีจ่ายค่าจ้างจั้นต่ำน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด 30 แห่ง พนักงานตรวจแรงงานได้เข้าไปให้คำแนะนำและกำชับให้สถานประกอบการปฎิบัติตามภายใน 30 วัน มีการดำเนินการแล้ว 23 แหาง ส่วนที่เหลือ 7 แห่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ
 
ส่วนการเลิกจ้างมีรายงานเข้ามาจำนวน 3 แห่ง จำนวนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง 51 คน ส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ลักษณะการเลิกจ้างเป็นแบบสมัครใจ หรือเกษียญอายุงาน เพื่อรับค่าชดเชยตามที่นายจ้างตกลง นอกจากนี้ยังพบว่ามีสถานประกอบการราว 4 แห่งที่มีแนวโน้มอาจต้องเลิกจ้างพนักงานจำนวน 180 คน ขณะนี้สำนักงานฯได้เข้าไปให้คำแนะนำและช่วยเหลือแล้ว
 
สภาอุตสาหกรรมพะเยา เผยยังไม่มีเลิกจ้างเพราะ 300 บาท
 
5 ม.ค. 56 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่านายบุญชู กมุทมาโนชญ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด(ส.อ.จ.)พะเยา เปิดเผยว่า หลังจากที่ผลการบังคับใช้เรื่องค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทั่วประเทศไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา สำหรับจังหวัดพะเยา บรรยากาศของการทำงานของแรงงาน และการจ้างงานของผู้ประกอบการยังเป็นไปตามปกติ แต่ก็มีบ้างที่เกิดกระแสว่านายจ้างกับลูกจ้างบางรายต้องเปิดเวทีหารือร่วมกัน เพราะนายจ้างจะต้องแบกรับภาระค่าแรงที่สูงขึ้น ขณะที่ลูกจ้างก็ต้องกระตือรือร้นและทำงานเข้า-ออก งาน ตรงต่อเวลา ไม่อู้งาน ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ให้ได้งานที่ออกมามีคุณภาพ สมกับค่าจ้างที่ได้รับเพิ่มขึ้นอีกวันละเกือบสองเท่าตัว
 
ปธ.ส.อ.จ.พะเยา เปิดเผยต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการในจังหวัดพะเยา ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาด เอส.เอ็ม.อี.(SME) มีการจ้างแรงงานประมาณ 120-200 คน ส่วนหนึ่งจ้างเป็นรายงาน ส่วนหนึ่งทำงานประจำเป็นพนักงานบริษัท ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและถึงขั้นผู้ประกอบการต้องหยุดเลิกจ้างแรงงานนั้น ในจังหวัดพะเยาไม่เกิดขึ้น อาจจะเพราะว่าขณะนี้เพิ่งมีการเริ่มดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล คาดว่าหากผ่านพ้นระยะเวลา 90 วัน หรือ 3 เดือนผ่านไป อาจจะเห็นผลกระทบอะไรเกิดขึ้นตามมา ไม่เกินสงกรานต์ปีนี้คาดว่าจะเห็นผลกระทบที่เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่จะรุนแรงเพียงใดนั้นทุกฝ่ายยังไม่มีใครพยากรณ์อนาคตได้ 
 
จัดหางานอุบลฯ ยันไม่มีแรงงานถูกเลิกจ้างจากค่าแรง 300 บาท
 
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 56 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงานว่านายอาณุภาพ ศิลประเสริฐ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่พบแรงงานในพื้นที่ที่ถูกเลิกจ้างจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท มาสมัครหางานใหม่กับสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุบล ราชธานี เพราะสถานประกอบการขนาดใหญ่ 2 แห่ง ซึ่งส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและสิ่งทอมีค่าจ้างใกล้เคียงค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศใช้อยู่แล้ว จึงปรับตัวได้ โดยผู้มาแจ้งความประสงค์สมัครงานนั้นส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ต้องการหางานใหม่แทนงานเดิมที่ทำอยู่แล้ว เนื่องจากสถานที่ทำงานไกลจากบ้านไม่คุ้มกับค่าเดินทาง บางรายเคยทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อกลับมาอยู่ภูมิลำเนาต้องการเงินเดือนเท่าเดิม
 
ทั้งนี้ ในแต่ละวันมีแรงงานมาตรวจสอบตำแหน่งงานว่างที่ประกาศรับสมัครเฉลี่ยวันละ 100-150 ราย ซึ่งมีบริษัท ห้างร้าน โรงแรม และสถานประกอบการประกาศรับสมัครแรงงานใหม่ในกลุ่มพนักงานขาย พนักงานบัญชี ช่าง แม่บ้าน พนักงานขับรถ กุ๊ก จำนวน 158 ตำแหน่ง จำนวน 642 อัตรา รายได้เฉลี่ย 9,000-20,000 บาท
 
จับตา 29 จังหวัดผวาเลิกจ้าง ค่าแรง 300 บาท สระบุรีปิดโรงงาน 200 พนักงานเคว้ง
 
เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 55 ที่ผ่านมามติชนออนไลน์รายงานว่านายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงมาตรการการดูแลแรงงานหลังปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ใน 70 จังหวัด วันที่ 1 มกราคม ว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ออกตรวจสถานประกอบการทั่วประเทศอย่างเข้มงวดให้มีการจ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย โดยเฉพาะ 29 จังหวัดที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสถานประกอบการให้ได้ 4,000 แห่งต่อเดือน และให้รายงานผลทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป หากพบสัญญาณการเลิกจ้างที่รุนแรงแจ้งได้ตลอดเวลา ขณะนี้มี 2 จังหวัดที่ส่งสัญญาณว่าจะมีการเลิกจ้างคือ จ.ขอนแก่น และ จ.พะเยา ซึ่งเป็นโรงงานในกิจการสิ่งทอและเซรามิก ทั้งนี้ กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง หรือนำสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้างจะมีความผิดตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
"ซึ่งในช่วงแรกจะออกคำเตือน แต่หากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนนายจ้างที่แจ้งการจ่ายค่าจ้างเท็จ แม้ว่าลูกจ้างจะยินยอม หากตรวจพบต้องจ่ายเงินย้อนหลังให้กับลูกจ้าง ซึ่งเรื่องนี้มีอายุความ 2 ปีนับจากวันที่เกิดสิทธิ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการตรวจสอบสาเหตุการเลิกจ้างที่แท้จริงนั้นทำได้ยาก ดังนั้น ไม่ว่านายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างด้วยสาเหตุใด ต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด" นายปกรณ์กล่าว 
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2555 ยังไม่พบสัญญาณการเลิกจ้างอย่างรุนแรงตามที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะทราบสถานการณ์ที่แน่ชัด ขณะนี้ คสรท.เปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์จากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และตามจังหวัดต่างๆ โดยผู้ใช้แรงงานสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่โทร.0-2251-3170 ทั้งนี้ คสรท.จะรวบรวมข้อมูลให้กระทรวงแรงงานภายใน 2-3 เดือน และอยากให้กระทรวงแรงงานเข้มงวดในการตรวจสอบเรื่องการที่นายจ้างนำสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้างด้วย
 
นายชาลีกล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 กำหนดว่า ลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จะต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 30 วัน ลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อย 90 วัน ลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อย 180 วัน ลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อย 240 วัน และลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน ของค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่ได้รับ
 
ด้านนายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 2 มกราคม เป็นวันแรกของการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่ง 300 บาทต่อวันจะมีผลตามกฎหมาย เชื่อว่าผู้ประกอบการโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และยอมจ่ายค่าแรงดังกล่าวทั้งหมดเพราะเป็นกฎหมาย และรักษาแรงงานเพื่อให้กิจการยังอยู่รอด ไม่เหมือนบริษัทใหญ่ไม่ได้รับความเสี่ยงดังกล่าว แต่จะอยู่รอดได้นานแค่ไหนเชื่อว่าครึ่งปีหลังจะได้ภาพผลกระทบชัดเจนขึ้น จากข้อมูลของเอกชนพบว่า ผลจากค่าแรง 300 บาทต่อวัน ทำให้ผู้ประกอบการรองเท้าปิดกิจการไปแล้วประมาณ 30 ราย นอกจากนี้ มีกลุ่มเซรามิกและเครื่องนุ่งห่มปิดกิจการและบางรายย้ายไปตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านแล้วเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเกิดกับผู้ประกอบการอย่างรุนแรงต้องการให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบด้วย
 
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า โดยเชื่อว่าผู้ประกอบการคงจะปรับราคาสินค้าขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งหากเป็นกลุ่มที่เน้นการจำหน่ายสินค้าในประเทศจะได้รับผลกระทบไม่มาก แต่หากเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่เน้นการส่งออกหรือเป็นเครือข่ายกับต่างประเทศ จะต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มขึ้น และคงไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพราะสินค้าไทยจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ หากมีราคาสูงเกินไป 
 
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ แม้ไม่กระทบอุตสาหกรรมหลัก แต่อาจกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะบางจังหวัดค่าจ้างกระโดดถึง 70-80% แต่โดยรวมแล้วจะส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 20% และกระทบต่อค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9%
 
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า สิ่งที่เห็นชัดคือมีการย้ายแรงงานจาก 70 จังหวัดที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างเข้ามาในพื้นที่ 7 จังหวัดที่มีการปรับขึ้นในรอบแรก ทำให้แรงงานบางส่วนใน 70 จังหวัดได้ปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้ว ซึ่งในตลาดแรงงาน 7 จังหวัดเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีแรงงานที่ค่อนข้างตึงตัวพอสมควร 
 
ขณะที่นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนธันวาคม 2555 เท่ากับ 116.86 เพิ่มขึ้น 0.39% จากเดือนพฤศจิกายน 2555 และเพิ่มขึ้น 3.63% เทียบเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อขยายตัวสูงสุดในรอบปี 2555 ทำให้ทั้งปี 2555 เงินเฟ้อขยายตัว 3.02% อยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ 3-3.40% 
 
นางวัชรีกล่าวว่า เงินเฟ้อปี 2556 กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ 2.80-3.40% บนสมมติ ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ ไม่เกิน 100-120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 28.50- 32.50 บาท/เหรียญสหรัฐ และรัฐบาลคงมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ซึ่งปี 2556 จะมีการปรับเพิ่มรายการสินค้าและบริการมาเป็นน้ำหนักเพิ่มต่อการคำนวณเงินเฟ้อ หรือเพิ่มจาก 417 รายการ เป็น 450 รายการ อาทิ แก๊สโซฮอล์ เอ็นจีวี ค่ารักษาความปลอดภัย ค่าทำฟัน ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าเช่ารถ เป็นต้น ส่วนอัตราจะเป็นเท่าไหร่จะประชุมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในวันที่ 22 มกราคมนี้ 
 
"แนวโน้มเงินเฟ้อปีนี้น่าจะต่ำกว่าปี 2555 ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อสูงขึ้นในปีนี้คือ ภาวะอากาศที่ประเมินว่าอาจมีภัยแล้งจะกระทบต่อผลผลิตผักสดลดลงมีผลให้บางช่วงราคาอาจแพง ส่วนเนื้อสัตว์ปริมาณยังเพียงพอไม่น่าจะมีปัญหาอะไรที่รุนแรง และต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น" นางวัชรีกล่าว 
 
นางวัชรีกล่าวถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ว่าค่าแรงขึ้นต่ำที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.1% และไม่มีนัยสำคัญที่จะทำให้ต้องปรับราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและกลุ่มอาหารสด ซึ่งผลกระทบจะเกิดจากราคาขนส่งและพลังงานที่สูงขึ้นมากกว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้มีหน่วยงานติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าต่อเนื่อง และสายด่วน 1569 ที่จะรับเรื่องร้องเรียน หากประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบร้องเรียนมาได้ 
 
นางวัชรีกล่าวว่า กลุ่มที่ได้ผลกระทบคือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมการค้าภายใน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดทำแนวทางช่วยเหลือและส่งเสริมเอสเอ็มอี โดยเน้นการเข้าถึงแหล่งทุนและสินเชื่อ รวมถึงจัดหาตลาดใหม่ 
 
"ภาคอุตสาหกรรมและรายใหญ่นั้นมีการปรับตัวมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา มีการปรับตัวรับการเข้าเออีซี จึงเห็นว่าตลาดแรงงานและการทำธุรกิจมีการแข่งขันสูงมา 2 ปีแล้ว เดิมกังวลว่าการปรับขึ้นค่าแรงจะกระทบต่อเงินเฟ้อ ปรากฏว่ากระทบน้อยมากไม่มีผลต่อราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะมีระบบการแข่งขันที่เป็นธรรมกดดันอยู่" นางวัชรี กล่าว 
 
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์ในรายการฟ้าวันใหม่ทางสถานีโทรทัศน์บลูสกาย ชาแนล ถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 300 บาท ที่มีผลตั้งแต่ 1 มกราคมนี้ว่ารัฐบาลให้คำตอบกับบริษัทใหญ่ๆ ว่าจะลดภาษีจาก 23% เหลือ 20% แต่ห่วงเอสเอ็มอีหรือธุรกิจขนาดเล็กที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เมื่อขึ้นค่าแรงเป็น 300 แล้วจะอยู่ได้หรือไม่ได้อยากให้มีการติดตามโดยเร็ว ส่วนตัวเลขการว่างงานปีใหม่นี้จะมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 150,000 คน จากเดิม 350,000 คน เป็นเรื่องที่รัฐบาลตายใจและประมาทไม่ได้ 
 
วันเดียวกัน (2 ม.ค.) กลุ่มพนักงานบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด บริษัทผลิตชุดชั้นใน ใน อ.วิหารแดง จ.สระบุรี กว่า 200 คน นำโดย นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี เดินทางมาหน้าศาลากลางจังหวัดสระบุรี ประท้วงบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด หลังปิดกิจการไปโดยไม่แจ้งล่วงหน้า โดยมี นายชโลธร ผาโคตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ออกมารับหนังสือร้องเรียนพร้อมแจ้งว่าจะนำเรื่องนี้เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแก้ไขปัญหาให้ ซึ่งผู้ชุมนุมได้แยกย้ายกันกลับ 
 
น.ส.ดารา (นามสมมุติ) อายุ 39 ปี อายุงาน 15 ปี กล่าวว่า ไม่มีใครคาดคิดว่าโรงงานจะปิดกิจการ เพราะทำงานจนวันสุดท้ายของปีในวันที่ 29 ธันวาคม 2555 แต่เพื่อนคนงานที่อยู่ใกล้โรงงานพบป้ายประกาศกลางดึก ก่อนจะหยุดในวันที่ 30 ธันวาคม 2555 ทำให้มีการโทรศัพท์แจ้งกันต่อๆ กัน จึงพากันหมดสนุก เนื่องจากต้องวิตกกังวลว่าจะตกงานในช่วงนี้
 
ด้านนายกิติพงศ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สระบุรี กล่าวว่า ได้ประสานติดต่อนายจ้างให้มาเจรจากับผู้แทนพนักงาน ซึ่งนายจ้างพร้อมจะจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย และสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย โดยวันที่ 5 มกราคม นายจ้างจะมาเจรจาในเรื่องรายละเอียด ทั้งนี้โรงงานได้แจ้งเหตุผลปิดกิจการว่าเนื่องจากประสบปัญหาในเรื่องยอดคำสั่งซื้อสินค้าในต่างประเทศลดลง ไม่ใช่เรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแต่อย่างใด
 
"เผดิมชัย" เรียก 5 หน่วยงานประเมินผลกระทบ 300 บ. สัปดาห์หน้า
 
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 55 ที่ผ่านมาเนชั่นทันข่าวรายงานว่านายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.) กล่าวถึงกรณีสถานประกอบการในหลายจังหวัดปิดกิจการทำให้แรงงานถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก หลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทใน 70 จังหวัดเริ่มมีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาว่า เท่าที่ตนได้รับข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) พบว่า สถานประกอบการเหล่านี้ปิดตัว เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนสะสมมานานและยอดการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลง ซึ่งสถานประกอบการเหล่านี้ส่วนหนึ่งเลือกที่จะปิดกิจการตั้งแต่ในช่วงเดือนธ.ค.2555 เพราะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่าหลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ขณะที่สถานประกอบการบางแห่งยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปมาจนถึงช่วงเดือนมกราคม 2556 แต่เมื่อประเมินแล้วสู้ไม่ไหวก็เลือกที่จะปิดกิจการในช่วงนี้
 
"เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทใน 70 จังหวัด คาดว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้าผมได้เชิญผู้บริหารทั้ง 5 หน่วยงานของกระทรวงแรงงานมาหารือเพื่อกำชับให้เฝ้าระวังและประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง รวมทั้งกำหนดแนวทางช่วยเหลือแรงงานให้สอดรับกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และให้ทุกหน่วยงานรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นมายังกระทรวงแรงงานเป็นระยะ " นายเผดิมชัย กล่าว 
 
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการช่วยเหลือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบนั้น วันนี้(4 ม.ค.)ได้พูดคุยกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งนายกิตติรัตน์ยืนยันว่ามาตรการตั้งกองทุนจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่ปรับเพิ่มตามที่ภาคเอกชนเสนอมานั้นไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ เพราะต้องใช้งบประมาณมาก อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือมาแล้ว 11 มาตรการ และกระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอรัฐบาลให้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเพิ่มเติมโดยเน้นมาตรการภาษี เช่น การปรับลดภาษีหักเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2 ของเงินค่าจ้าง 
 
รมว.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า ส่วนข้อกังวลที่หลายฝ่ายเกรงว่า บริษัทขนาดใหญ่จะหันมาใช้บริษัทซับคอนแทรกในการทำงานมากขึ้นนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่ต้องการลดภาระในเรื่องสวัสดิการ หากต้องมีการจ้างพนักงานบริษัทเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าพนักงานของบริษัทซับคอนแทรกก็จะต้องได้รับค่าจ้างขั้นต่ำไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาทตามที่มีการออกประกาศไว้ มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามมาตรา 144 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
"ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าสถานประกอบการอาจจะมีปรับรูปแบบการจ้างงาน โดยให้ลูกจ้างงานรับงานไปทำที่บ้าน และจ่ายค่าจ้างวันละ 300 บาท เพื่อลดการจ่ายโอทีนั้น เรื่องนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยโดยมีการตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน ซึ่งจะต้องมีฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานร่วมหารือ หากลูกจ้างยินยอมจึงจะสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม จากการที่ผมได้พูดคุยกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ต่างไม่มีความคิดจะใช้ทั้งสองวิธีการข้างต้น ทั้งนี้ สถานประกอบการขนาดใหญ่ร้อยละ 80 กังวลเรื่องค่าวัตถุดิบและยอดสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศจะลดลงมากกว่าเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง" นายเผดิมชัย กล่าว
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร โรจนพฤกษ์: ‘เหนือเมฆ’ ยังมีวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์

Posted: 05 Jan 2013 03:29 AM PST

 


คำชี้แจงจากเฟซบุ๊ก ละคร ไทยทีวีสี ช่อง 3 (Ch3's Drama)


 
ก่อนอื่นขอประณามผู้ใดก็ตามที่อยู่เบื้องหลังการเซ็นเซอร์ตอนท้ายของละครเหนือเมฆทางช่อง 3 เพราะการเซ็นเซอร์ เป็นการดูถูกสติปัญญาประชาชน ว่าแยกแยะถูกผิด จริงเท็จ ไม่ออก – ไม่แม้แต่ละครโทรทัศน์
 
ผู้บริหารไทยทีวีสีช่อง 3 ไม่ได้พยายามอธิบายเหตุผลการเซ็นเซอร์อย่างฉับพลันของละครเรื่องนี้ (ที่ถูกมองว่าสามารถตีความพาดพึงถึง ทักษิณ ชินวัตร ในทางลบได้) นอกจากการประกาศทางเฟซบุ๊กว่าตัดสินใจเซ็นเซอร์เพราะ 'เห็นว่าเนื้อหาบางช่วงบางตอนไม่เหมาะสมกับการออกอากาศ'

การบอกว่าอะไร 'ไม่เหมาะสม' โดยมิได้อธิบายว่าไม่เหมาะสมอย่างไร คือการไม่ใช้เหตุผลกับผู้ชมและสาธารณะ พูดง่ายๆ แบบกำปั้นทุบดินก็คือ 'กูจะเซ็นเซอร์ของกู ละครของกู กูไม่ต้องอธิบายว่าทำไมก็ได้'
 
ผู้เขียนไม่ทราบว่าผู้ใดอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจเซ็นเซอร์อย่างแท้จริง และขอเรียกร้องให้ดาราเหนือเมฆ พนักงาน และนักข่าวช่อง 3 ที่พอมีข้อมูลพยานหลักฐาน มีความกล้าทางจริยธรรมที่จะออกมาเปิดเผยต่อสังคม หรือส่งข้อมูลเท็จจริงให้สาธารณะทราบ

ผู้เขียนจะไม่แปลกใจหากช่อง 3 จะตัดสินใจทำเองเพราะเกรงใจทักษิณ (เพราะในแง่หนึ่ง ผู้เขียนก็ไม่เคยเห็น SMS ท้ายจอช่อง 3 ที่มีข้อความเรียกร้องให้แก้ ม.112 เลย หากมีแต่ข้อความอวยเจ้า แถมมีคนที่รู้จักบอกว่าเคยส่ง แต่ไม่เห็นขึ้นจอ)

แต่หากมีคนใกล้ชิดทักษิณทำโดยยกหูโทรศัพท์ไปยังผู้บริหารเพื่อขอให้เซ็นเซอร์ นั่นก็เป็นปัญหาต่อเสรีภาพในการแสดงออกและรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งรวมถึงละครทีวี ของสังคม

และถ้าคนเหล่านี้คิดว่าจะเป็นผลดีต่อทักษิณ พวกเขาก็คงโง่บรมและคิดผิด เพราะเรื่องเหนือเมฆกลับกลายเป็นข่าวดังหน้าหนึ่งและในโลกไซเบอร์ แม้แต่ผู้เขียนเองซึ่งไม่เคยดูละครเรื่องนี้ ก็ยังต้องมานั่งเขียนบทความ

ไม่ว่าเบื้องหลังการเซ็นเซอร์จะเป็นอย่างไร รัฐบาลควรเรียกร้องสนับสนุนให้มีการออกอากาศฉายละครเรื่องนี้จนจบบริบูรณ์ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกที่อาจถูกตีความว่าไปวิพากษ์หรือเป็นทางลบเกี่ยวกับทักษิณด้วย  และต้องการให้มีการออกอากาศฉายละครเหนือเมฆจนจบ

ผู้เขียนขอเรียกร้องให้ประชาชนคนเสื้อแดงที่เชื่อมั่นในเสรีภาพการแสดงออกและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งรวมถึงสิทธิในการได้รับชมละครที่อาจพาดพึงทักษิณ ออกมาแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ทุกรูปแบบ

เสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เป็นสิทธิพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธินี้ไม่ได้มีไว้เฉพาะเพื่อกลุ่มใดเพียงกลุ่มเดียวในสังคม

หากคุณเชื่อในเสรีภาพการแสดงออกอย่างแท้จริง คุณต้องยินดีที่จะปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของบรรดาผู้ที่ต้องการวิพากษ์คุณ และ/หรือคนที่คุณรักนับถือเทิดทูนบูชา ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นกษัตริย์ ทักษิณ หรือผู้ใดก็ตาม

การที่ประชาชนยอมรับให้มีการเซ็นเซอร์รูปแบบหนึ่งได้ โดยมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ (ไม่ว่าเรื่อง ม.112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือละครเหนือเมฆ หรือหนัง Shakespeare Must Die) สุดท้ายผลกระทบด้านลบก็จะตกแก่สังคมโดยรวม และบรรดาผู้ที่สนับสนุนการเซ็นเซอร์ก็จะได้รับผลกระทบจากการเซ็นเซอร์ด้วยในที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

คนที่รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงควรมองให้ทะลุถึงแก่นว่า แท้จริงแล้ว การเซ็นเซอร์ละครเหนือเมฆ ไม่ว่าจะมีผู้ใดอยู่เบื้องหลัง มันก็มีรากตรรกะแบบเดียวกับการเซ็นเซอร์ข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพราะมันมีตรรกะพื้นฐานร่วมอยู่ตรงที่ว่ามีผู้มีอำนาจได้ตัดสินใจแทนประชาชนไปก่อนแล้วว่า อะไรบ้างที่ประชาชนควรรับรู้และไม่ควรรับรู้

ในขณะเดียวกัน คนเสื้อแดงที่คิดว่าตนสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออกและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็ควรตระหนักเช่นกันว่า คุณไม่สามารถปกป้องเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสังคมอย่างแท้จริงได้ หากคุณเลือกปกป้องเพียงสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ถ้าประชาชนปล่อยให้วัฒนธรรมการเซ็นเซอร์เป็นเรื่องปกติยอมรับได้ ไม่ว่ากรณีข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับเจ้าหรือกรณีละครเหนือเมฆ ป้ายหน้าของสังคมไทยก็คงจะใกล้เกาหลีเหนือยิ่งขึ้นทุกที

 

  
ปล. ดาราเหนือเมฆ สินจัย เปล่งพานิช ได้ โพสต์ในอินสตาแกรมในวันที่ 2 มกราคม 2556 ว่า 'ฉันเชื่อและศรัทธาในความดี… อย่ากลัวที่จะเป็นคนดี อย่าอายที่จะทำดี' –ผู้เขียนอ่านแล้วก็ขอเขียนว่า 'ฉันเชื่อและศรัทธาในเสรีภาพการแสดงออก…อย่ากลัวที่จะยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารละคร อย่าอายที่จะปกป้องเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและละคร ของฝ่ายตรงข้ามหรือคนที่เห็นต่างจากคุณ'

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์เพจแห่งปี : สมรัก พรรคเพื่อเก้ง และ Dora GAG

Posted: 05 Jan 2013 02:01 AM PST

ประเมินเครือข่ายสังคมออนไลน์ปี 2012 ที่ผ่านมา พร้อมคาดการกระแสในเฟซบุ๊กปี 2013 มองวัฒนธรรมเสียดสีล้อเลียน, เครดิตผลงาน, การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว การแบน และการเซนเซอร์กับแอดมินเพจสมรัก พรรคเพื่อเก้งและ Dora GAG

 

ภายหลังจากประกาศ ผลโหวต 10 แฟนเพจเฟซบุ๊ก ปี 2012 ที่ตั้งโหวตใน เฟซบุ๊กแฟนเพจ Prachatai เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่ถือว่าได้รับความสนใจจากแฟนเพจเองและตัวแอดมินแฟนเพจจนเกิดวิวาทะดราม่ากันในช่วงเวลาดังกล่าวที่มีการเปิดโหวต โดยในการโหวตนั้นมีจำนวนการโหวต 371,272 โหวต จำนวน user ที่กดติดตามการโหวต 4,358 user จำนวนการแสดงความเห็น 6,792 ความเห็น จำนวน user ที่กดถูกใจ 7,705 user และผลที่ได้ 10 เพจ ประกอบด้วย เพจ VRZO, 9Gag in Thai(9GAG in Thai), Drama-addict, สมรัก พรรคเพื่อเก้ง, โหดสัส V2, เฮ้ย! นี่มันตัดต่อชัด ชัด, Dora GAG, ออกพญาหงส์ทอง, วิรศากดิ์ นิลกาด และช้างเป็นสัตว์กินเลือด

โดยประชาไทได้มีโอกาสสัมภาษณ์แอดมิน 2 ใน 10 เพจแรก คือ เพจ สมรัก พรรคเพื่อเก้ง เพจแนวตั้งคำถามหรือเสียดสีสังคม จิกกัดคนดังต่างๆ ประชดประชัน สร้างรอยยิ้มและความสะใจในหมู่ผู้อ่าน ซึ่งขณะนี้(5 ม.ค.) มี 48,629 ถูกใจ และเพจ Dora GAG เป็นเพจนำเสนอแก๊กเหน็บแนมเสียดสีล้อเลียนต่างๆ โดยมีลักษณะเอกลักษณ์คือใช้ภาพการ์ตูนน่ารักและเซ็กซี่นำเสนอ เขาอธิบายว่าเป็นเพจ "มุกตลก การ์ตูนแปล ภาพขำ ๆ หื่น ๆ" ซึ่งขณะนี้มี 134,515 ถูกใจ

 

ภาพประจำตัวของ "ฟัก" แอดมิน เพจสมรักฯ ที่ให้สัมภาษณ์

 

ทั้งนี้สำหรับเพจสมรักฯ นั้นมีแอดมินในเพจหลาย User แต่ที่ตอบกลับมาในนามเพจสมรักฯ ใช้ชื่อแทนตัวเองว่า "ฟัก" โดยทีมแอดมินเพจดังกล่าวได้มีความขัดแย้งกันจนมีการตั้งอีกเพจในชื่อ "สมรัก พรรคเพื่อเก้ง." เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในขณะที่เพจ Dora GAG แอดมินผู้ให้สัมภาษณ์คือ "แอดม่อน" ซึ่งประเด็นในการสัมภาษณ์เป็นเรื่องการประเมินโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊ก ทั้งในปี 2012 ที่ผ่านมา รวมทั้งมองแนวโน้มทิศทางในปี 2013 รวมทั้งเรื่องที่เป็นประเด็นถกเถียงกันในรอบปีที่ผ่านมาในโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เพจแนวเสียดสีล้อเลียน(parody)ที่มีมากขึ้น เรื่องเครดิตผลงาน เรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของคนอื่น รวมไปถึงการแบน user ในเพจ การเซนเซอร์โดยรัฐ เป็นต้น

0000

ประชาไท : มองปรากฏการณ์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่าง Facebook ในรอบปี 2012 มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง แลทำไมถึงคิดว่ามันน่าสนใจ

แอดมินเพจสมรักฯ : มีหลายสิ่งที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่ฟักให้ความสนใจเป็นพิเศษคือพฤติกรรมของลูกเพจต่างๆครับ สิ่งที่ทำให้ฟักคิดว่าน่าสนใจคือ ลูกเพจของแต่ละเพจคิดว่าการเป็นแฟนเพจพันธุ์แท้ของเพจนั้นๆ แล้วจะทำให้ตัวเองเป็นคนที่น่าสนใจในสังคม ดูเป็นคนฉลาด รู้ทุกเรื่อง และสิ่งที่แอดมินโพสต์นั่นคือสิ่งที่ถูก ซึ่งเป็นสาเหตุของการก่อสงครามเพจขึ้นนั่นเองครับ ฟักชอบดูสงครามครับ (หัวเราะ)

แอดมินเพจ Dora GAG : เติบโตขึ้นไวมาก กว้างขวาง ไม่ใช่แค่บุคคลแล้วตอนนี้ พวกธุรกิจขายของต่าง ๆ ก็เข้ามาอยู่ในใช้ FB เป็นที่ทำการค้าขาย เพราะมันง่ายกว่าการเปิดเว็บไซต์

 

คิดยังไงกับอีก 9 เพจที่อยู่ใน 10 เพจแห่งปีที่คนโหวตกับประชาไท(ดู)

แอดมินเพจสมรักฯ : เป็นเพจที่น่าสนใจทั้งนั้นครับ แต่ละเพจก็มีแนวทางของตัวเองแตกต่างกันไป แต่ก็มีหลายๆเพจเล็กๆที่คอนเท้นท์ น่าสนใจกว่า เพียงแค่การสื่อสารของพวกเขามันอาจจะยังเข้าไม่ถึงกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่อาจจะไม่ชอบหรือไม่เข้ากับไลฟ์สไตล์หรือแนวความคิดบางอย่างของผู้เล่นเฟซบุ๊กส่วนใหญ่เท่านั้นเองครับ อย่างเพจ "บุญเพ็ง หีบเหล็ก" "กายหยาบ" "เดย์รัจฉาน" "กูคัลท์" อะไรพวกนี้ ฟักชอบเข้าไปดูนะ เสียดายที่ไม่ติดอันดับ แพ้เพจใหญ่หมด

แอดมินเพจ Dora GAG : ก็ติดตามอยู่เกือบทุกเพจ คิดว่าทุกเพจที่ติดอันดับก็น่าสนใจหมด แต่จัดคราวหน้าควรแยกประเภทให้ชัดเจน เบื่อดราม่า

 

ในฐานะที่เป็นแอดมินภูมิใจไหมที่มีคนสนใจเพจคุณ คิดว่าที่ทำไปเกิดผลอะไรกับสังคมบ้าง เอาแรงบันดาลใจมาจากไหน ก่อนและหลังทำ มีอะไรเปลื่ยนไปในชีวิตบ้าง

แอดมินเพจสมรักฯ : ฟักไม่ได้เป็นคนก่อตั้งเพจนี้ ฟักเข้ามายึดเพจครับ ถามว่าภูมิใจไม ฟักสะใจมากกว่าครับ ผมไม่คิดว่าการทำเพจมันจะให้อะไรแก่สังคมมากหรอก เพราะต่อให้แฟนเพจของเค้าจะรู้ว่าแอดมินแท้ที่จริงเป็นคนเหี้ยยังไง แฟนเพจที่จงรักภักดีเหล่านั้นก็พร้อมที่จะเฮตามอยู่แล้วโดยไม่ฟังความเห็นต่างจากคนอื่น แบบนี้ฟักว่าน่ากลัว(ว่ะ) ฟักก็เลยมายึดเพจนี้เพื่อหวังว่า แฟนเพจของบางเพจจะสามารถเปลี่ยนก้อนไขมันในหัวเป็นสมองที่มีรอยหยักได้บ้างครับ ส่วนชีวิตส่วนตัว ผมคิดว่าคงจะไม่ส่งผลกระทบอะไรมากมั้ง ฟักไม่หวังจะเอาชื่อเสียงจากการเป็นแอดมินเพจไปหลอกกินฟรี หรือขอดูนมใครอยู่แล้ว (หัวเราะ)

แอดมินเพจ Dora GAG : อันดับแรกเลยภูมิใจมากที่มีคนสนใจเยอะขนาดนี้ เพจเราเน้นฮา ผ่อนคลาย มุกเราก็ทะลึ่ง ๆ ตรง ๆ ซึ่งเป็นจุดขายของเพจ แฟน ๆ จะบอกว่าเพจหื่น จริง ๆ เราเน้นขำ ๆ นะ เริ่มทำก็เพราะเคยทำมุกส่งเพจอื่นแล้วไม่ผ่าน เลยมาทำเอง พอคนเยอะขึ้นแอดมินก็พยายามเข้ามาดูแลเพจเพิ่มขึ้น มากขึ้น กลัวแฟน ๆ จะเบื่อ เบียดบังเวลางาน เวลาส่วนตัวเหมือนกัน แต่สนุก

 

แอดมินเพจเป็นทีมหรือว่าทำคนเดียว และแอดมินแต่ละคนเป็นใคร

แอดมินเพจสมรักฯ : เพจนี้แต่ก่อนทำงานงานแค่คนกลุ่มเล็กๆคนหนึ่งครับ ตอนนี้ฟักเข้ามายึดอำนาจและยึดเพจได้ ฟักจึงขยายคณะทำงานขึ้น คนที่เข้ามาเป็นแอดมินเพจนี้ทุกคนเป็นเพื่อนกันครับ อายุประมาณ 23-30 ทำงานฟรีแลนซ์บ้าง บริษัทบ้าง กิจการส่วนตัวบ้าง หลากหลายสไตล์ครับ

แอดมินเพจ Dora GAG : ตอนแรกก็ทำคนเดียว แต่หลัง ๆ คนเยอะขึ้นเราก็อยากให้เพจมีคนมาช่วยเลยรับแอดมินมาเพิ่มเรื่อย ๆ ตอนนี้ก็ 10 คนละ พอละ ทุก ๆ คนเก่ง ๆ กันทั้งนั้น ส่วนแต่ละคนก็มีตั้งแต่เด็ก ม.ต้น ยันอาจารย์สอนมหาลัยเลยทีเดียว เรียกว่ามีทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม

 

คิดว่าคนมา like หรือติดตามเพจคุณเพราะอะไร รวมทั้งคนกดโหวตเพจคุณเพราะอะไร

แอดมินเพจสมรักฯ : แต่ก่อนไลค์เพราะความกวนตีนครับ ไปเกรียนตามเพจใหญ่เยอะๆเลยดึงลูกเพจเค้าเข้ามาได้ แล้วก็ได้เพจโหดสัส กับเพจดราม่าแอดดิค(Drama-addict)ช่วยดันด้วยสมรักจึงมีวันนี้ คนโหวตให้เพราะตอนนั้นทีมแอดมินเดิมยังอยู่ ตอนนี้ฟักยึดเพจแล้ว "โปรดฟังอีกครั้ง สมฟักได้ทำการยึดเพจสมรัก พรรคเพื่อเก้งแล้ว" อยากรู้ความจริงว่าทำไมฟักถึงยึดเพจนี้ ไปเจอกันได้ในเพจ "สมฟัก พรรคเพื่อกู" ครับ

แอดมินเพจ Dora GAG : คนกดไลค์ก็คิดว่ามุกตลกในเพจจะเป็นฮา ๆ ปนทะลึ่ง ๆ ส่วนเรื่องการกดโหวตนั้น เนื่องจากทางแอดมินมีการสื่อสารกับแฟนเพจเสมอ ๆ เรียกว่าอ่านทุกคอมเม้นท์ ตอบทุกข้อความ กดไลค์ทุกรูปที่ส่งมา แถมยังแอดเพื่อนกันอีกด้วย โดยเฉพาะสาว ๆ (หัวเราะ)

 

ภาพหน้าปกเพจสมรัก พรรคเพื่อเก้ง

 

อยากจะบอกอะไรกับคนเหล่านั้น(ที่กดไลค์และโหวต)บ้าง

แอดมินเพจสมรักฯ : ฟักอยากจะบอกว่า "ฟักทุกคน" ครับ

แอดมินเพจ Dora GAG :  เพจ Dora GAG คือเพจของทุก ๆ คนที่มากดไลค์

 

ถ้าจะให้นิยามเพจคุณ เราควรเรียกหรือทำความเข้าใจว่าเพจคุณคืออะไร

แอดมินเพจสมรักฯ : คำนิยามของเพจฟัก "ไม่ลบ ไม่แบน แมนๆ เตะบอล" ครับ

แอดมินเพจ Dora GAG : ตามสโลแกนเลย มุกตลก ภาพขำ ๆ ฮา ๆ หื่น ๆ ที่นี่ที่เดียว

 

ภาพหน้าปกเพจ Dora GAG

 

ตอนนี้มีดราม่าระหว่างแฟนเพจใน facebook เรื่อง "ก๊อบปี้" หรือละเมิดลิขสิทธิ์ คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร

แอดมินเพจสมรักฯ : การขโมยมีความผิดตามกฎหมายครับ ฟักคิดว่าเราคงต้องจัดการกันแบบจริงๆจังๆเสียที แต่สิ่งที่ฟักกลัวมากกว่าการก๊อบปี้คือตรรกะวิบัติของพวกเค้าเหล่านั้นที่บอกว่าจนบ้าง ไม่มีเงินซื้อของแท้บ้าง แค่ของเล็กๆน้อยๆบ้าง น้องปอสี่ฝากฟักมาบอกว่า "ฟายเหอะ ลองมึงเองโดนบ้างมึงจะรู้สึก"

แอดมินเพจ Dora GAG : ค่อนข้างซีเรียสกับเรื่องเครดิตมาก ทางเพจระวัง และเคารพในเรื่องนี้ที่สุด ภาพที่ไม่ได้เป็นคนทำหรือคนคิดเอง ก็ควรให้เครดิตคนทำ ส่วนทางเพจใส่เครดิตในมุกต่าง ๆ ก็เฉพาะในส่วนของการแปลเท่านั้น เครดิตเดิมของรูปยังคงอยู่เหมือนเดิมทุกประการ

 

มองการระดมรีพอร์ตใน facebook ว่าอย่างไร

แอดมินเพจสมรักฯ : เรื่องการรีพอร์ทฟักคิดว่ามันก็แล้วแต่นะ เฟซบุ๊กเพจไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต ถูกรีพอร์ทจนเพจหายรูปหายก็แค่อัพรูปใหม่ หรือสร้างเพจใหม่ ถ้ามองในมุมกลับฟักก็รู้สึกสงสารพวกเพจเล็กๆที่ตกเป็นเหยื่อการรีพอร์ทแบบไม่สมเหตุสมผลเหล่านั้นครับ ฟักให้กำลังใจนะครับ

แอดมินเพจ Dora GAG : ในส่วนตัวคิดว่าไม่ยุติธรรม บางรูปไม่ได้มีเนื้อหารุนแรง หรือลามกอนาจารก็ยังโดนรีพอร์ต

 

ในฐานะที่เป็นแอดมิน เคยแบนคนที่เข้ามาในเพจบ้างไหม เพราะเหตุใด

แอดมินเพจสมรักฯ : ในฐานะแอดมินเพจคนใหม่ ฟักมีนโยบายไม่แบนแฟนเพจที่เข้ามากดไลค์เพจและแสดงความเห็นในเพจของฟักนะครับ คือคนเก่าฟักไม่รู้นะว่าเค้ามีนโยบายแบนใครและคนประเภทไหนบ้าง ตอนเข้ามาใหม่ฟักก็ตกใจเหมือนกันที่เห็น ban list ในเพจหลายคนมาก ซึ่งก็รวมไปถึงผมด้วย มันตลกดีตรงที่ต้องมานั่ง unban ตัวเองในเพจที่ตัวเองเป็นแอดมินแบบนี้ครับ สแปม ปาขี้ หรือแท็กโฆษณาสักครั้งผมก็ยังไม่เคยทำนะ (หัวเราะ)

แอดมินเพจ Dora GAG : ไม่เคย แฟนเพจคือเพื่อน พี่ น้อง กันทั้งนั้น จะไปแบนลงได้อย่างไร คนไหนแรง ๆ เกิน อย่างมากก็ลบคอมเม้นท์เฉย ๆ

 

คิดเห็นอย่างไรกับการเซนเซอร์ รัฐควรควบคุมหรือบล็อกเว็บไซต์หรือไม่

แอดมินเพจสมรักฯ : ส่วนเรื่องการบล็อกเว็บไซต์ ฟักไม่เห็นด้วยแน่นอนครับ กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็มีนะ ฟักแปลกใจตรงที่ทำไมบางคนไม่รู้ถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของตัวเอง น้องปอสี่ฝากฟักมาบอกว่า "นี่มึงไม่รู้ตัวเหรอว่ามึงอยู่ในประเทศประชาธิปไตยนะเว้ย"

แอดมินเพจ Dora GAG : Censor แล้วปิดได้หมดไหมล่ะ ? บล็อกได้หมดไหมล่ะ โลกอินเตอร์เน็ทมันกว้างมาก ควรส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการเล่นมากกว่า

 

แอดมินบางเพจมีการเอาข้อมูลส่วนตัวของบุคคลธรรมดามาเผยแพร่ให้สาธารณะรู้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือหรือเศรษฐกิจบางอย่าง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัวก่อนนั้น คุณมองพฤติกรรมแบบนี้ว่าอย่างไร

แอดมินเพจสมรักฯ : ฟักมีนโยบายเซ็นเซอร์ชื่อและใบหน้าทุกคนครับ การปกป้องสิทธิของแฟนเพจเป็นหน้าที่ที่แอดมิน "เพจดีๆ" ที่ไหนเค้าก็ทำครับ ไม่ว่าเค้าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็เหอะ

แอดมินเพจ Dora GAG : สั้น ๆ เลว

 

มองว่าปี 2013 นี้ แนวโน้มของเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะ facebook จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่

แอดมินเพจสมรักฯ : ฟักไม่อาจฟันธงได้ครับว่าแนวทางของเฟซบุ๊กจะเป็นไปในทางไหน แต่ฟักคิดว่าคงจะมีเรื่องสนุกๆให้ฟักได้อ่านทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นอีโมติคอนรูปขี้ ที่มาแทนที่ปุ่ม dislike ฟักคิดว่าแค่อีโมตัวนี้อันเดียวนี่แหละน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของดราม่า ยิ่งกว่าการมีปุ่ม dislike อีก คุณลองคิดดูนะ ถ้าคุณไปโพสต์อีโมติค่อนรูปขี้ใส่สเตตัสที่มีคนเห็นด้วยเยอะๆคุณจะกลับมาในสภาพไหน (หัวเราะ)

แอดมินเพจ Dora GAG : น่าจะโตขึ้น โดยเฉพาะทางส่วนของธุรกิจการค้าต่าง ๆ เริ่มเข้ามาอยู่ในเฟซบุ๊กมากขึ้น

 

(ติดตามบทสัมภาษณ์แอดมินเพจแห่งปี 2012 เพจอื่นๆได้เร็วๆนี้)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธศาสนาปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่พุทธะสอน

Posted: 05 Jan 2013 01:53 AM PST

 

เดวิด อาร์.ลอย ศาสตราจารย์ทางจริยศาสตร์ ศาสนาและสังคมมหาวิทยาลัยเซเวียร์ และเป็นอาจารย์เซ็นในสายโกอุน ยามาดา เขียนไว้ในหนังสือ "เงิน กามารมณ์ สงคราม และกรรม บันทึกเพื่อการปฏิวัติแนวพุทธ" (พรรณงาม เง่าธรรมสาร แปล) หน้า 112 ว่า
 
บางครั้งข้าพเจ้าสงสัยว่าพระองค์จะทรงคิดอย่างไรเกี่ยวกับพุทธศาสนาในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนพุทธศาสนา เราอาจพูดได้แม้กระทั่งว่าพระองค์ไม่ได้ทรงเป็นชาวพุทธ ในทำนองเดียวกับที่พระเยซูไม่เคยเป็นชาวคริสต์ พระศากยมุนีทรงสอน "ธรรม" พุทธศาสนาไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน แต่เป็นสิ่งที่ทรงเริ่มต้น พุทธศาสนาตามที่เรารู้จักเป็นสิ่งที่พระธรรมและคณะสงฆ์พัฒนาขึ้นในช่วงหลายศตวรรษ ในดินแดนและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย พระองค์จะทรงพอใจกับสิ่งที่เป็นผลจากความพยายามของพระองค์หรือไม่?
 
สมมติเราตั้งคำถามว่า "พุทธะจะพอใจกับพุทธศาสนามรดกสมบูรณาญาสิทธิรายชย์แบบไทยหรือไม่?" จะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องตอบคำถามว่า "เรายอมรับหรือไม่ว่าพุทธศาสนาแบบไทยที่ว่านี้แตกต่างจากพุทธแบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง"
 
ในแง่ "สังฆะ" ซึ่งเป็นชุมชนที่พุทธะก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สะดวกแก่การเรียนรู้ และพัฒนาชีวิตเพื่ออิสรภาพตามหลักไตรสิกขานั้น แต่สังฆะปัจจุบันเป็นระบบที่ซับซ้อนเพราะถูกทำให้ผูกโยงกับปมเงื่อนของยศศักดิ์ อำนาจ และผลประโยชน์ ชุมชนแห่งสังฆะจึงไม่ได้สร้างวิถีชีวิตเรียบง่าย และวัฒนธรรมการเรียนรู้เพื่ออิสรภาพตามหลักไตรสิกขาอย่างพุทธกาล ทว่าถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์อุดมการณ์รัฐแบบเก่า คือ "อุดมการณ์ราชาชาตินิยมศักดิ์สิทธิ์" ซึ่งมีลักษณะเป็น "ศาสนาทางโลก" หรือ secular religion ที่เน้นการบูชาความศักดิ์สิทธิ์ของตัวบุคคลเหนือระบบอันส่งผลให้รัฐไทยเป็น "รัฐกึ่งศาสนา" ในความหมายว่า "กึ่งข้างบน" คือ secular religion ที่ครอบ "กึ่งข้างล่าง" ซึ่งเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลไม่มีอำนาจในการทำให้กึ่งข้างบนอยู่ภายใต้หลักการประชาธิปไตยได้เลย เช่น จะแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้ แตะรัฐธรรมนูญหมวดสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ เป็นต้น
 
ยิ่งกว่านั้น อุดมการณ์ราชาชาตินิยมศักดิ์สิทธิ์ยังถูกใช้เป็นฐานอ้างอิงในการทำรัฐประหาร และการปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยตลอดมา
 
ในแง่หลักคำสอนของพุทธศาสนาที่แต่เดิมเป็น "ธรรมะธรรมดา" อันเป็นคำอธิบายความจริงเรียบง่าย ตรงไปตรงมาตามกฎธรรมชาติที่ว่าด้วยความทุกข์และความดับทุกข์อย่างมีเหตุมีผลนั้น ก็ถูกตีความให้กลายเป็น "ธรรมะศักดิ์สิทธิ์" ที่มีความหมายซับซ้อน เหนือเหตุผล ธรรมะอันเป็นหลักคิดและวิถีชีวิตเพื่อการเป็นคนธรรมดาไม่เบ่งอัตตาตัวตน กลับกลายเป็นเครื่องมือเชิดชูความวิเศษของอัตตาตัวตน หรือของ "ตัวบุคคล" จนกลายเป็น "พระผู้มีญาณวิเศษ" เหนือการตรวจสอบด้วยวินัยสงฆ์ หรือเป็นเครื่องมือยกย่อง "ความศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครอง" ให้อยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ
 
ฉะนั้น ธรรมะศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้สนับสนุนลัทธิบูชาตัวบุคคลเหนือหลักการ และระบบสังฆะที่เป็นเครื่องมือสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ใช่ธรรมะตามที่พุทธะสอนแน่ๆ และไม่ใช่สังฆะที่พุทธะประสงค์จะก่อตั้งขึ้นมาแน่ๆ นี่คือความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้
 
แต่พูดแบบนี้แล้วบรรดาผู้ที่มักมองอย่าง "เหมารวม" และชอบ "แขวนป้าย" อาจจะบอกว่าผมกำลังชวนให้กลับไปมีวิถีชีวิตแบบพุทธดั้งเดิมอย่างสมัยโบราณอย่างนั้นหรือ? หรือผมเป็นพวก Fund amentalists' ที่เชื่อว่ามีคำสอนที่ถูกต้องตายตัวในพระไตรปิฎก ไม่ยอมรับการตีความพุทธศาสนาอย่างสัมพันธ์กับบริบทสังคม และวัฒนธรรม เช่นนั้นหรือ?
 
คำตอบคือ ผมไม่คิดว่าคนที่ตั้งคำถามกับพุทธศาสนาในปัจจุบันอย่างวิพากษ์ และมองย้อนไปหาหลักธรรมที่พุทธะสอนในยุคแรกเริ่มอย่างวิพากษ์จะถูก "เหมารวม" ว่าเป็นพวก Fundamentalists อย่างง่ายๆ ท่านพุทธทาสเองก็อ้างพระไตรปิฎกเสมอๆ ในการอธิบายแทบทุกเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันท่านก็บอกให้ฉีกพระไตรปิฎกทิ้งสัก 70 เปอร์เซ็นต์ก็ยังได้ เช่นเดียวกันคำพูดของเดวิด ลอย ข้างต้นก็ไม่ใช่จะถูก "แขวนป้าย" ได้ง่ายๆ ว่าเป็นคำพูดแบบ Fundamentalism       
 
บังเอิญผมเพิ่งอ่าน  'The Power of Simplicity' ในวารสารปัญญาเวอร์ชันภาษาอังกฤษของอาจารย์สมภาร พรมทา ตอนหนึ่งอาจารย์สมภารยกนิทานเซ็นมาว่า วันหนึ่งอาจารย์เซ็นกับบรรดาลูกศิษย์กำลังทำงานอยู่ในไร่ อาจารย์หยิบผลแคร็อทขึ้นมาแล้วถามว่า "วิธีที่ที่ดีที่สุดที่เราควรจะทำกับผลแคร็อทในมือนี้คืออะไร?"
 
ลูกศิษย์คนหนึ่งที่ยอมรับกันว่าฉลาดที่สุดตอบไปทันทีว่า "เราควรจะมองผลแคร็อทนั้นว่าเป็นเพียงความว่างเปล่า" อาจารย์นิ่งเงียบ
 
แล้วลูกศิษย์อีกคนก็ตอบว่า "เราควรบริจาคผลแคร็อทนี้ให้คนจน เพื่อเป็นการสั่งสมบุญกุศลของเราเอง" อาจารย์ก็นิ่งเงียบอีก เมื่อคำตอบอื่นๆ ของลูกศิษย์อีกหลายคนยังไม่เป็นที่พอใจ อาจารย์จึงหันไปทางลูกศิษย์คนหนึ่งที่ถูกมองจากเพื่อนๆ ว่าโง่ที่สุด พร้อมกับถามว่า "แล้วเจ้าล่ะคิดยังไง?"
 
ศิษย์โง่คนนั้นไม่ได้พูดอะไร แต่เขาเดินไปคว้าผลแคร็อทจากมืออาจารย์มาเคี้ยวกินหน้าตาเฉย อาจารย์ปรบมือหัวเราะเสียงดัง "โอ ใช่! โอ ใช่!"
 
นิทานจบแค่นี้ อาจารย์สมภารตีความ (โดยผมสรุปอีกที) ว่า คำตอบของศิษย์คนแรกนั้นเป็นการทำให้ของง่ายๆ กลายเป็นของที่มีความหมายซับซ้อนเชิงอภิปรัชญาขึ้นมาโดยไม่จำเป็น ขณะที่ศิษย์คนที่สองทำให้เกิดความซับซ้อนด้วยการสร้างความคิดเรื่องการสั่งสมบุญกุศลขึ้นมา ส่วนศิษย์คนที่โง่ที่สุดคือคนที่บอกวิธีปฏิบัติต่อผลแคร็อทอย่างเป็นธรรมชาติ เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ปรุงแต่ง แล้วอาจารย์สมภารก็อธิบายว่าคำสอนของพุทธะยุคแรกเริ่มนั้น เป็นคำสอนที่อธิบายความจริงในธรรมชาติอย่างตรงไปตรงมาง่ายๆ ไม่ได้มีความซับซ้อนในเชิงอภิปรัชญา หรือมีความหมายแบบ "ธรรมะศักดิ์สิทธิ์" เช่นที่ผมยกตัวอย่างข้างต้น (อย่างนี้จะแขวนป้ายว่า อ.สมภารเป็น Fundamentalist อีกไหม?)
 
จากตัวอย่างข้างต้น ทำให้เราคิดต่อได้ว่าความทุกข์ในชีวิตปัจเจกและทุกข์ทางสังคมหลายๆ อย่าง มักถูกทำให้ยุ่งยากซับซ้อนเกินจริงขึ้นมาทั้งด้วยวิธีคิดของตัวเราเอง ด้วยการปลูกฝังอบรมทางศาสนา จารีตประเพณี ด้วยระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือระบบโลก จนความซับซ้อนเหล่านั้นมาบดบังไม่ให้เราเห็นความจริงตามที่มันเป็น และสูญเสียการคิดอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา บางครั้งความซับซ้อนที่สร้างขึ้นเหล่านั้นมันก็กลายเป็นโซ่ตรวนพันธนาการไม่ให้เราพูดความจริง หรือวิพากษ์วิจารณ์ความถูก ผิดตามหลักการได้อย่างซื่อสัตย์ เปิดเผย ตรงไปตรงมาอีกด้วย
 
ผมคิดว่า ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเราเป็นเรื่องที่ถูกทำให้ซับซ้อนจนเกินเหตุ และความซับซ้อนที่ถูกสร้างขึ้นในนาม "ความศักดิ์สิทธิ์" หรือ "เรื่องละเอียดอ่อน" พูดตรงๆ ไม่ได้อะไรต่างๆ นั้นก็กลายเป็นปมเงื่อนของความขัดแย้ง และความรุนแรงจนแก้ไม่ตก
 
ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถ้าคิดอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา หรือคิดอย่าง "สมเหตุสมผล" ก็จะทำให้เรามองเห็นปัญหาที่ "สาเหตุหลัก" อย่างตรงไปตรงมา เข่นวิธีคิดแบบอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คือ ต้องสร้าง "กติกา" หรือระบบสังคมการเมืองให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้หลักการประชาธิปไตยในมาตรฐานเดียวกันกับทุกสถาบันในสังคม เพราะการทำให้สถาบันอยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ แต่กลับมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้านดีเพียงด้านเดียวโดยห้ามโต้แย้ง หรือเสนอข้อมูลด้านตรงข้ามมาหักล้างนั้น เป็นเรื่องที่ "ผิดธรรมชาติอย่างยิ่ง" ไม่ว่าจะมองจากหลัก "ความรู้" สมัยใหม่ที่ต้องมี "ความเป็นวิทยาศาสตร์" หรือวัฒนธรรมทางสังคมการเมืองสมัยใหม่ที่ต้องมี "ความเป็นประชาธิปไตย" ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบ และทุกสถาบันต้องดำรง "ความน่าเชื่อถือ" บนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้
 
หลายปีมานี้สังคมเราทะเลาะ ขัดแย้ง ทำร้าย เข่นฆ่ากัน และยังไม่รู้ว่าความขัดแย้งที่สืบเนื่องมานี้จะนำไปสู่การเข่นฆ่าอีกหรือไม่ หากคิดอย่างตรงไปตรงมาแล้วเราก็ย่อมเข้าใจได้ว่า ถ้าระบบสังคมการเมืองยังเป็นแบบเก่า แบบที่สถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ยังถูกวิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ และยังสามารถจะถูกอ้างอิงเพื่อทำรัฐประหารได้เสมอ เราก็ย่อมเข้าใจได้ว่าความขัดแย้งและความรุนแรงแบบเก่าๆ ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ
 
หากพุทธะสอนให้เรามองความจริงตามที่มันเป็นอย่างตรงไปตรงมา และมีวิธีคิดที่เรียบง่าย ปราศจากอคติในการทำความเข้าใจความจริงของปัญหา และในการหาวิธีแก้ปัญหาอย่างตรงกับสาเหตุที่แท้จริง พุทธศาสนาในบ้านเราที่ไม่เคยสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นพุทธศาสนาที่สร้างมายาคติ "อำนาจศักดิ์สิทธิ์" และ "บุคคลศักดิ์สิทธิ์" ขึ้นมาอยู่เหนือหลักการ ก็ไม่ใช่พุทธศาสนาอย่างที่พุทธะสอน
 
และพุทธศาสนาตามที่เป็นอยู่นี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรต่อการปลดปล่อยปัจเจกบุคคลและสังคมให้มีอิสรภาพ นอกจากเป็น "ศาสนายากล่อมประสาท" เท่านั้นเอง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาสวัต บุญศรี กรณีเหนือเมฆ : เราต้องการข้อเท็จจริง ไม่ต้องการความคิดเห็น

Posted: 05 Jan 2013 01:32 AM PST

เพียงผ่านปีใหม่มาได้ไม่ถึงห้าวัน วงการสื่อมวลชนก็ต้องสะเทือนเมื่อละครหลังข่าวทางไทยทีวีสีช่องสามเรื่อง "เหนือเมฆ" ถูกตัดจบลงก่อนกำหนด พร้อมความคลางแคลงใจว่าเกิดจากการสั่งการของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่อ่อนไหวและรับเนื้อหาที่วิพากษ์การเมืองและคอรัปชั่นไม่ได้

ก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ราวสองวัน มีนักแสดงสาว หนึ่งในนักแสดงละครเรื่องนี้ได้โพสต์ข้อความของตนลงในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่าละครจะถูกตัดจบ นำไปสู่การนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์แนวหน้าว่าบอร์ดบริหารถูกกดดันจากฝ่ายการเมืองฟากหนึ่งของรัฐบาลว่าให้ยุติเสีย อ่านข่าวเพิ่มเติมได้จาก(http://www.naewna.com/entertain/36194) โดยระหว่างนี้ข่าวมีความสับสนมาก ทางเพจช่องสามเองก็ยังยืนยันว่าออกอากาศถึงวันอาทิตย์เช่นเดิม

แต่แล้วก่อนเวลาออกอากาศไม่นานนัก ทางช่องสามก็ขึ้นข้อความเลื่อนว่าด้วยเหตุบางอย่าง ละครเรื่องเหนือเมฆจำเป็นจะต้องยุติลงและออกอากาศเรื่อง แรงปรารถนา แทน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ชมและคนในโลกไซเบอร์เป็นอันมาก ต่างพากันก่นด่าทั้งบอร์ดบริหารและรัฐบาลที่อาจหาญสั่งการตัดจบละครเรื่องนี้ หน้าเพจเฟซบุ๊คลุกเป็นไฟ คนดูไม่น้อยสรุปคำตอบไว้ในใจตั้งแต่แรกว่าเป็นเพราะนักการเมืองเลวที่ทนรับความจริงไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม นี่หรือนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแต่พฤติกรรมไม่ต่างจากเผด็จการ

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เกิดการตัดจบละครเกิดขึ้น ยังไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการออกมาจากไทยทีวีสีช่องสามเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทิศทางคำตอบที่แยกเป็นสองทาง คือ รัฐบาลเซนเซอร์ กับ บอร์ดบริหารช่องสามเซนเซอร์ตัวเอง ล้วนเกิดจากการคาดเดาทั้งสิ้น

ฝ่ายแรกที่เชื่อว่ารัฐบาลเซนเซอร์ก็ตีความจากข่าวที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์แนวหน้า (ซึ่งตัวข่าวเองก็ไม่ได้ระบุว่า "ใคร" เป็นคนสั่ง) บวกกับกาพย์กลอนอันแสนคลุมเครือและคำผรุสวาทของบรรดาทีมงานเบื้องหลังที่ชวนให้ตีความไปในทิศทางว่าบอร์ดบริหารเจอรัฐบาลเข้าแทรกแซง ฝ่ายหลังเองก็ไม่ได้มีหลักฐานเช่นกัน เกิดจากการวิเคราะห์จากคำแถลงการณ์ของนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ และ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ดูแล้วแม้รัฐบาลจะพูดว่าไม่เกี่ยวข้องและการอำนาจสั่งการเป็นของ อสมท. เจ้าของสัมปทานคลื่นความถี่ของช่องสาม ก็มิได้ทำให้ฝ่ายแรกเชื่อแต่อย่างใด

ณ เวลานี้ กลับกลายเป็นมีเพียงข้อเท็จจริงเดียวคือ ละครถูกตัดจบลงไปจริงตามข่าวลือที่ว่ามา แถมคำสั่งยังมาด่วนชนิดคนในช่องสามเองก็ไม่รู้ ส่วนสาเหตุใด ๆ ผู้เกี่ยวข้องจริง ๆ โดยเฉพาะบอร์ดบริหารของทางช่องสามเองยังไม่เคยชี้ชัดให้เห็นว่าเรื่องเป็นอย่างไรกันแน่

ต่อเนื่องกัน นักข่าวหลายสำนักแทนที่จะค้นหาความจริง กลับเลือกที่จะไปสัมภาษณ์เพื่อถามความคิดเห็นจากนักการเมืองกลุ่มอื่น ๆ อาทิไปถามนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ว่าคิดเห็นอย่างไร

ยิ่งบวกกับทีท่าของทีมงานไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ นักแสดง ผู้จัดละคร ที่แสดงความคิดเห็นในลักษณะคลุมเครือ ไม่บอกชัดเจนแต่ปล่อยให้คนดูคนอ่านตีความ ยิ่งทำให้โมเมนตัมความผิดถูกโยนไปที่รัฐบาลโดยยังไม่มีหลักฐานแม้แต่น้อยนิด

ผู้เขียนมองว่าเป็นการเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่าการกระทำของช่องสามนั้นเกิดจากการแทรกแซงของรัฐบาล ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็ไม่ได้ปกป้องรัฐบาลว่ามิได้เป็นผู้กระทำแน่ แต่การเป็นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ เราจำเป็นจะต้องมีเหตุผล วิเคราะห์วิพากษ์พื้นฐานจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มิใช่ประกอบสร้างความจริงจากความคิดเห็นเป็นสำคัญ ซึ่ง ณ เวลานี้ อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น มีเพียงข้อเท็จจริงเดียวเท่านั้นที่ทุกคนรู้เหมือนกันคือละครถูกตัดจบ ส่วนที่เหลือมาจากการคาดคะเนทั้งสิ้น ยิ่งบวกกับวาทกรรมภาพเหมารวมว่านักการเมืองเลว คอรัปชัน ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คนปักใจเชื่อโดยไม่ต้องการการพิสูจน์เลยแม้แต่น้อย (น่าเศร้า ครูบาอาจารย์ที่สอนผู้เขียนมาว่าให้ cross-check ข่าวหรือ ตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าวให้รอบด้านเสมอ ก็หาปฏิบัติตามที่สอนไม่ กลับใช้เพียงการสรุปจากข้อความอันแสนคลุมเครือแล้วฟันธงว่าเป็นการแทรกแซงสื่อเสียแล้ว)

ผู้เขียนเชื่อว่าคนที่สนับสนุนรัฐบาลโดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงเองก็ไม่พึงพอใจเช่นกันที่ปล่อยให้มีการแทรกแซงสื่อกันชัด ๆ ตรง ๆ แบบนี้ สำคัญคือใครกันเล่าที่ทำเช่นนั้น ขอข้อเท็จจริง มิใช่ความคิดเห็น หากเป็นรัฐบาลจริง รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนกระทำ และคนเสื้อแดงก็จำเป็นที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องมิให้รัฐบาลที่ตนเลือกมาเดินทางผิดแผกไปจากระบอบประชาธิปไตย

คาดว่าบอร์ดบริหารช่องสามเองอาจจะปล่อยภาวะลอยตัว ปล่อยให้เรื่องค่อย ๆ เงียบไปเดี๋ยวคนก็ลืม (อย่าลืมว่ากระแสเหนือเมฆทำเอาเรื่องเขาพระวิหารเงียบสนิทไปในพริบตา) ดังนั้นคงได้เห็นฝีมือของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะตามรัฐธรรมนูญนั้น การแทรกแซงสื่อเป็นเรื่องที่ทำมิได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าทีมข่าวช่องสามเองจะกล้าทำข่าวเกี่ยวกับองค์กรของตนในระดับไหน มากน้อยเพียงใด เพื่อให้ความจริงปรากฎขึ้นต่อสาธารณชน

สุดท้ายนี้อยากฝากให้คิดว่า เราต้องพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อเท็จจริง อย่าให้ความคิดเห็นเป็นตัวนำ ค่อย ๆ คิดไตร่ตรอง มิจำเป็นต้องรีบเชื่อว่าอะไรจริงหรือไม่จริง มิฉะนั้นแล้วอคติก็ครอบงำท่านแล้วตัดสินโดยมิรู้ตัว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ: อีกมุมจากเกาหลีเหนือ

Posted: 05 Jan 2013 01:31 AM PST

ประเทศเกาหลีเหนือ เป็นที่สนใจและจับตามองของประชาคมโลกเสมอมา ทั้งนี้สืบเนื่องจากเรื่องราวต่างๆของประเทศนี้ที่ออกสู่สายตาชาวโลกมีอยู่อย่างจำกัด และดูจะเป็นประเทศที่ลึกลับซับซ้อน ทั้งข่าวคราวที่มีอยู่อย่างจำกัดเหล่านั้นโดยมากมักจะเป็นข่าวคราวที่ล้วนแต่สร้างมโนทัศน์ในเชิงลบแทบทั้งสิ้น เราอาจนึกภาพของประเทศเกาหลีเหนือว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่มีผู้นำเผด็จการเสวยสุขอยู่บนความลำบากยากแค้นของประชาชน หรือเป็นประเทศที่สร้างความสะพรึงกลัวให้กับสังคมโลกโดยความพยายามในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทั้งที่ประเทศเผชิญปัญหาความยากจนและอดอยากขาดแคลน ในขณะที่เมื่อกล่าวถึงประเทศเกาหลีใต้ ภาพลักษณ์ที่ปรากฏนั้นกลับแตกต่างสิ้นเชิงราวฟ้ากับดิน เกาหลีใต้ในปัจจุบันคือประเทศที่มีความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นอันดับต้นๆของภูมิภาค สิ่งนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของประเทศที่ปกครองในระบอบ สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ที่มีต่อ เสรีนิยม-ประชาธิปไตย อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใด สมควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงให้รอบด้าน แม้ว่าข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากประเทศเกาหลีเหนือจะมีอยู่มาก และเรามิอาจจะสรุปได้โดยง่ายถึงข้อเท็จจริงเหล่านั้นว่าสิ่งใดคือ "ข้อเท็จ" และสิ่งใดคือ "ข้อจริง" ก่อนที่จะเลือก "เชื่อ" หรือ "ไม่เชื่อ" ในสาระเหล่านั้น

ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปประเทศเกาหลีเหนือ ได้พบเห็นและสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม รวมถึงความเชื่อและความศรัทธาที่มีต่อระบอบการปกครองและผู้นำของประชาชนเกาหลีเหนือ แม้สิ่งที่ได้พบเห็นไม่อาจจะเชื่อได้ว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมด แต่อยากน้อยก็ทำให้มีความเข้าใจภาพรวมได้ชัดเจนและใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น

มูลเหตุแห่งการแบ่งประเทศเกาหลีเป็นสองส่วน คือ เหนือ-ใต้ นั้น สืบเนื่องจากการรุกคืบเข้ายึดครองคาบสมุทรเกาหลีเพื่อผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1910 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อญี่ปุ่นขอยอมแพ้ต่อกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1945 สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญในกองทัพพันธมิตรจึงได้ตกลงที่จะช่วยกันร่วมฟื้นฟูเกาหลี ภายหลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นถึง 35 ปี โดยใช้เส้นขนานที่ 38 เป็นแนวแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ มีสหภาพโซเวียตรับผิดชอบพื้นที่ที่อยู่เหนือเส้นขนานที่ 38 ในขณะที่สหรัฐอเมริการับผิดชอบพื้นที่ที่อยู่ใต้เส้นขนานที่ 38 เหตุการณ์นี้ทำให้พื้นที่ทั้งสองต่างมีความผูกพันใกล้ชิดทางด้านแนวความคิดในการปกครองประเทศจากสหภาพโซเวียตและอเมริกาซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความขัดแย้งทางความคิดก่อตัวขึ้นจนกระทั่งบานปลายเป็นสงครามเกาหลี ในระหว่างปี ค.ศ. 1950 – ค.ศ. 1953 โดยมีสหภาพโซเวียตและจีน ซึ่งเป็นสองผู้นำจากค่ายคอมมิวนิสต์ให้การสนับสนุนแก่เกาหลีเหนือทั้งอาวุธและกำลังพล ส่วนเกาหลีใต้ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ นำโดยสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบกับฝ่ายเกาหลีใต้ในครั้งนั้นด้วย และเพื่อเป็นการตอบแทนไมตรีต่อกัน ในปัจจุบันนี้ประชาชนจากทั้งสองประเทศจึงไปมาหาสู่กันได้โดยไม่ต้องทำวีซ่าเข้าประเทศ

ภายหลังจากที่สงครามเกาหลียุติ คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ ภายใต้ระบอบการปกครองที่ผู้นำของทั้งสองฝ่ายต่างเชื่อมั่น ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าในระดับประชาชนนั้นมีความแตกต่างทางความคิดกันมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะคล้ายๆกันกับสงครามที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย ที่ระดับประชาชนล้วนแต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยชนชั้นปกครองผู้มีอำนาจ เกาหลีเหนือประกาศตนที่จะยึดถือหลักการคอมมิวนิสต์นับแต่นั้น (และอาจจะเป็นประเทศสุดท้ายในโลกที่ยังคงความเป็นคอมมิวนิสต์แบบเต็มรูปแบบจนถึงปัจจุบัน) คิม อิล ซุง ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศนับแต่ปี ค.ศ. 1948 (ก่อนหน้าสงครามเกาหลี) จนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1994 ความเป็นผู้นำถูกส่งผ่านถ่ายทอดมายังบุตรชายคือ คิม จอง อิล ต่อเนื่องจนถึงหลานปู่ คือ คิม จอง อึน  เมื่อผู้นำรุ่นที่สองถึงแก่กรรมเมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. 2011)

ความเป็นผู้นำที่ส่งผ่านโดยความสัมพันธ์ทางสายเลือดของคนในตระกูลนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แตกต่างจากระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีการคัดเลือกผู้นำผ่านระบบพรรค แม้ว่าเกาหลีเหนือจะอ้างว่าการขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของคนในตระกูลคิม มาจากการคัดสรรของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ตาม

ในช่วงที่ ผู้นำสูงสุดรุ่นที่สอง คือ คิม จอง อิล เสียชีวิตนั้น ภาพที่ปรากฏต่อประชาคมโลกคือ ภาพประชาชนชาวเกาหลีเหนือต่างอยู่ในความเศร้าโศกเสียใจ บางคนถึงกับตีอกชกหัว ร้องไห้ กับการจากไปของท่านผู้นำ ราวกับหัวใจแหลกสลาย สังคมโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา ว่าภาพที่เกิดขึ้นนั้น เป็น "ปรากฏการณ์" ที่มาจาก "ก้นบึ้ง" ของจิตใจของประชาชนหรือไม่ บ้างก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการสร้างภาพ บ้างก็รายงานว่าหากใครไม่แสดงออกว่ามีความเสียใจอย่างสุดซึ้ง จะถูกรัฐบาลลงโทษ ผู้เขียนเองก็มีความสนใจในประเด็นนี้ไม่น้อย เมื่อมีโอกาสได้เดินทางไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวเกาหลีเหนือ ผู้เขียนมีความเชื่อส่วนตัวอย่างบริสุทธิ์ใจว่า "ปรากฏการณ์" ความเศร้าโศกเสียใจนั้น น่าจะเป็นความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชนชาวเกาหลีเหนือ เพราะนับตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้เหยียบผืนแผ่นดินเกาหลีเหนือที่กรุงเปียงยางนั้น (อันที่จริงตั้งแต่ก้าวขึ้นเครื่องบินของสายการบินโคเรียวอันเป็นสายการบินประจำชาติ) คุณจะเห็นรูปภาพของท่านผู้นำ คำขวัญหรือสุนทรพจน์ของท่านผู้นำ ในแทบทุกๆที่ ในประเทศ ประชาชนทุกคนจะประดับเข็มกลัดรูปท่านผู้นำที่เสื้อ รายการโทรทัศน์ที่มีแต่เรื่องราวของชัยชนะในสงครามและเรื่องราวของท่านผู้นำ (ชาวเกาหลีเหนือเชื่อว่ามีชัยชนะเหนือจักรวรรดิอเมริกาในสงครามเกาหลี) ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้จะถูกเรียกว่าโฆษณาชวนเชื่อหรืออะไรก็แล้วแต่ สิ่งนี้ทำหน้าที่ของตัวมันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมันทำให้ประชาชนรักและศรัทธาในตัวผู้นำอย่างมาก และไม่ว่าสิ่งที่ท่านผู้นำได้กระทำลงไปนั้น สังคมโลกจะตัดสินว่าเป็นการปิดหูปิดตา ล้างสมองประชาชน แต่สำหรับคนเกาหลีเหนือแล้ว เค้ามีความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวผู้นำอย่างบริสุทธิ์ใจ

เพื่อนร่วมคณะที่ส่วนมากเป็นชาวยุโรปถามความคิดเห็นของผมในเรื่องนี้ เพราะคิดว่าผมอาจจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ดีกว่าในฐานะที่เป็นชาวเอเชีย เค้าคิดว่า เมื่อคุณถูกทำให้เชื่อ ว่าใครคนใดคนนึงทำประโยชน์เพื่อคุณและประเทศของคุณโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยส่วนตัว คุณก็จะรักและเทิดทูนบุคคลนั้น ยกย่องบูชาบุคคลนั้น อยากที่จะประดับรูปบุคคลนั้นในทุกๆที่แม้กระทั่งบนเสื้อของคุณ แบบเดียวกับที่ชาวเกาหลีเหนือทำ เป็นธรรมดาที่ประชาชนย่อมจะอยากแบ่งปันเรื่องราวของผู้นำของเค้าให้ประชาคมโลกได้รับรู้ ว่าท่านผู้นำมีความสำคัญ สมควรแก่การยกย่อง ผู้ที่มาเยือนสมควรจะต้องมาทำความเคารพท่านผู้นำหรือรูปสัญลักษณ์ต่างๆที่เป็นตัวแทนตัวผู้นำ และแน่นอนว่าเค้าย่อมไม่ยินยอมให้ใครบังอาจมาวิพากษ์วิจารณ์ท่านผู้นำของเค้า ไม่ว่าสิ่งทิ่วิพากษ์วิจารณ์นั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ !!!

คำตอบจากปากของผมคือ  "Sorry, I have no idea."

 

ถ่ายที่ Mansudae Grand Monument

 

ถ่ายที่ Pyongyang Film Studio

 

ภาพจากหนังสือ Kim Jong IL พิมพ์ที่ กรุงเปียงยาง หน้า 320

 

ภาพจากหนังสือ Kim Jong IL พิมพ์ที่ กรุงเปียงยาง หน้า 321

 

ถ่ายที่ โบกี้รถไฟใต้ดิน กรุงเปียงยาง

 

ถ่ายที่ People's Palace (ห้องสมุดและสถานที่ที่ให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้)

 

ถ่ายภายในบ้านพักของชาวเกาหลีเหนือ

 

ถ่ายภายในบ้านพักของชาวเกาหลีเหนือ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใต้เท้าขอรับ: เหนือเมฆ กับดรามาเรื่องเสรีภาพสื่อ

Posted: 05 Jan 2013 12:42 AM PST

 

กระแสการแบนละครเหนือเมฆนั้น ช่วยปลุกให้ดิฉันอยากจะสารภาพอะไรบางอย่าง.....

 

ภายใน 1 เดือนที่ผ่านมา ดิฉันได้ตัดสินใจ "ไม่นำเสนอ" เรื่องสำคัญที่สังคมไทยน่าจะได้อ่าน 2 เรื่อง ทั้งสองเรื่องเป็นข่าวและบทความจากสื่อต่างประเทศ เรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงสำคัญในเอเชีย ที่พาดพิงสถาบันหลักของไทย

แม้จะอยากนำเสนอเพียงใด ก็ไม่สามารถนำเสนอได้ด้วยเหตุผลบางประการ ซึ่งหลายท่านอาจจะพอคาดเดาได้ จึงต้องขออภัยอย่างยิ่งในข้อจำกัดเหล่านี้มา ณ โอกาสนี้...........

 

หากดิฉันปรารถนาจะเสพดรามาจากสังคมนี้ ก็ควรจะปล่อยข้อความข้างต้นไว้สัก 2-3 วัน ก่อน เพื่อจะรออ่าน "ทัศนะอันหลากหลาย" ทั้งที่มีคุณภาพ มีหลักการ มีอารมณ์ความรู้สึก และอะไรอื่นๆ อีกมากมาย

พอเบื่อแล้ว ดิฉันจะค่อยๆ เฉลยถึงเหตุแห่งการ "ไม่นำเสนอ" ว่า เรื่องแรกนั้น ดิฉันไม่สามารถนำเสนอได้ เพราะติดประเด็นค่าลิขสิทธิ์

เรื่องที่สอง ไม่ใช่ประเด็นลิขสิทธิ์ และมีผู้เสนอตัวแปลให้แล้ว แต่หลังจากอ่านกันแล้วก็มีความเห็นว่า คงจะหนีไม่พ้นกฎหมายอาญามาตรา 112 แบบที่ใช้ตีความกันอยู่ในปัจจุบันเป็นแน่ จึงตัดสินใจ "แบน" ตัวเองซะ

อาการล้อฟรีเกิดขึ้นได้ ถ้าคุณไม่รอคำชี้แจงจากทั้งสองกรณี และในกรณีหลังที่เป็นเรื่องการ "เซ็นเซอร์" ตัวเอง อาจจะเป็นเรื่องที่ "เข้าใจกันได้" ในสังคมนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ละเลยไปไม่ได้คือ การ "เซ็นเซอร์ตัวเอง" นั้นเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อเชื่อวัน และด้วยเหตุผลที่หลากหลายมาก กรณีตัวอย่างที่ยกไป อาจจะเป็นเรื่องกลัวคุกตะราง แต่ยังมีการเซ็นเซอร์ตัวเองในกรณีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เกรงใจแหล่งข่าว เพื่อนๆ กัน ขอกันมา หรืออาจจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจไม่อยากถูกกระทบ หรือแม้แต่ทัศนคติที่เชื่อว่าเรื่องนั้นๆ ควรถูกเซ็นเซอร์

ผู้บริโภคควรหันกลับมาตั้งคำถามและเรียกร้องเอากับสื่อที่เลือกเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เรียกร้องเอาจากรัฐในฐานะที่เป็นประชาชนเพียงเท่านั้น

ดิฉันพบการยกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ แม้ข้อเท็จจริงไม่เป็นที่ยุติ แต่กรณีการแบนละครเหนือเมฆนั้นเป็นเรื่องที่รัฐต้องรับผิดชอบด้วย โดยเปรียบเทียบกับกรณีการแบน URL ประกาศคณะราษฎร์ฉบับที่ 1 ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นิติราษฎร์ กรณีการแบน URL ของนิติราษฎร์นั้นชัดเจนว่า ข้อความปรากฏการห้ามเผยแพร่โดยกระทรวงไอซีที บาง ISP ปรากฏข้อความอ้างคำสั่งศาล นี่เป็นเรื่องที่รัฐเกี่ยวข้องชัดเจน

ดิฉันคิดว่านี่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ที่จะชี้ให้เห็นว่า ผู้เสพสื่อไม่ได้เป็นเพียงประชาชนที่พึงได้รับการประกันสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้บริโภคที่ควรเรียกร้องสิทธิในฐานะผู้บริโภคจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต พูดง่ายๆ คือ หากประชาชนคนใดอยากจะปกป้องสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารของตน ก็มีสองช่องทางให้เลือก คือ ฟ้องร้อง ISP ต่อศาลแพ่ง และร้องต่อศาลปกครองให้วินิจฉัยคำสั่งของกระทรวงไอซีทีว่าขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

หากพลังแห่งละครอันเป็นอำนาจอย่างละมุนละม่อมที่ว่ากันว่ามีผลต่อการก่อรูปจิตสำนึกมีจริง ผู้เสพสื่อในฐานะผู้บริโภค ควรหันมาเรียกร้องสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารจากบริษัทสื่อต่างๆ บ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเรียกร้องข้อเท็จจริงต่อกรณีการเสนอหรือไม่เสนอเรื่องที่กำลังเป็นข่าวอยู่ตอนนี้ นี่ควรเป็นอันดับแรกที่ผู้เสพสื่อจะทำเพื่อรักษาสิทธิในการบริโภคของตัวเองไว้

ดิฉันเสนอแบบนี้ ในกรณีที่ผู้สื่อข่าวเอง ยังไม่ได้ใช้ความพยายามให้มากกว่านี้ในการเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ว่าการแบนละครเรื่องนี้มันเกิดจากอะไร และนักการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น มาเกี่ยวข้องในรูปแบบไหน

อาจจะดูด้านชาไปสักนิด หากดิฉันจะเสนอว่า ตราบเท่าที่คุณไม่รู้ว่ามีการสั่งการหรือไม่ จำเลยที่ 1 ของการเซ็นเซอร์ละครหลังข่าวครั้งนี้ ควรเป็นสถานีโทรทัศน์ เพราะหากข้อเท็จจริงปราฏเป็นเพียงการร้องขอ หรือพูดคุยแสดงความไม่พอใจแล้ว การตัดสินใจนำเสนอหรือไม่นำเสนอ ยังเป็นอิสระขององค์กรสื่อนั้นๆ หาไม่เช่นนั้น เราก็จะเคยชินกับการที่องค์กรสื่อเลือกจะกลืนเลือดตัวเอง แม้ในเงื่อนไขที่ไม่หนักหนาอะไร แล้วโยนความผิดให้ฝ่ายการเมืองไป ทั้งๆ ยังไม่ได้พยายามจะท้าทายการร้องขอนั้นเลย มิพักต้องกล่าวถึงว่า การร้องขอ การเจรจากัน เป็นเรื่องเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ สำหรับองค์กรสื่อ ฉะนั้นแล้ว การร้องขอครั้งใดที่สื่อเลือกจะปฏิบัติตาม เป็นเรื่องดุลพินิจขององค์กรสื่อนั้นๆ และต้องรับผิดชอบต่อการ "เซ็นเซอร์ตัวเอง" ด้วย ไม่ใช่จะเล่นบทหงอ ถูกรังแก อยู่ร่ำไป และพร้อมๆ ไปกับการเรียกร้องเสรีภาพสื่อ ผู้บริโภคก็ควรเรียกร้องความกล้าหาญของสื่อด้วยเช่นกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์ ครบรอบ 9 ปี กฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

Posted: 05 Jan 2013 12:39 AM PST

 
5 ม.ค. 55 - มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ "ครบรอบ 9 ปี กฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์ ครบรอบ 9 ปี กฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547 ภายหลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง  จ.นราธิวาส  แม่ทัพภาคที่ 4  ได้ออกประกาศกองทัพภาคที่ 4  ให้ใช้พรบ.กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส  จังหวัดปัตตานี  และจังหวัดยะลา  เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าวเป็นครั้งแรกและมีผลใช้บังคับเรื่อยมาจนกระทั่งในวันที่ 21 กรกฎาคม  2548  ได้มีการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินฯ แทน และมีประกาศยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549  หลังจากที่มีการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ได้เพียง 1 ปี  คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ  แม้ต่อมาจะได้มีประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่  แต่ยังคงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส  จังหวัดปัตตานี  และจังหวัดยะลา  ไว้จนถึงปัจจุบัน  นับว่ารัฐบาลทุกชุดได้คงไว้ซึ่งการบังคับใช้กฎอัยการศึกทับซ้อนกับการประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นเวลานานถึง  9  ปีแล้ว
 
ผลกระทบจากการบังคับใช้พรบ.กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปรากฏชัดเจนคือการปิดล้อม  ตรวจค้น  จับกุม  และควบคุมตัว  โดยไม่ต้องมีหมายค้น  หมายจับ  และหมายควบคุมตัวจากศาล  กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอย่างกว้างขวางในการใช้อำนาจที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้  โดยไม่มีการตรวจสอบจากองค์กรอื่นๆ แม้กระทั่งศาลหรือระบบตุลาการ แต่อย่างใด กล่าวคือ  ในการตรวจค้น  จับกุม  และควบคุมตัวหรือกฎหมายใช้คำว่า "กักตัว" ได้  ไม่เกิน  7  วัน ตามมาตรา 15 ทวิ  นั้น  เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจตามดุลพินิจของตนเองว่ามีเหตุและมีความจำเป็นต้องจับกุมและควบคุมตัวบุคคล  ซึ่งตามพรก.ฉุกเฉินฯ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะกำหนดให้ต้องมีการขอออกหมายจากศาลก่อนเท่านั้น เพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบถึงความชอบด้วยเหตุผลที่จะจับกุมและควบคุมตัวบุคคลว่ามีเหตุเพียงพอหรือไม่ที่จะต้องกระทำเช่นนั้น  ช่วยกลั่นกรองการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ให้กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินความจำเป็น
 
การบังคับใช้พรบ.กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลา 9 ปี  ที่ผ่านมา  พบว่า  มีปัญหาหลายประการ  เช่น  การควบคุมตัวบุคคลไปโดยไม่แจ้งให้ญาติทราบว่าจะนำตัวไปที่ควบคุมที่ใด  เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลไว้ที่ใดก็ได้  การไม่มีข้อกำหนดหรือระเบียบที่ชัดเจนว่าให้ญาติเยี่ยมได้หรือไม่เพียงใด  และแม้ว่าทางทหารจะไม่ได้บังคับใช้อำนาจทุกรูปแบบแต่เมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว จะทำให้มีผลทางกฎหมายหลายประการ อาทิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของฝ่ายทหาร ใน 3 เรื่อง คือ เรื่องที่เกี่ยวกับการยุทธ เรื่องที่เกี่ยวกับการระงับปราบปราม เรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจในการที่จะตรวจค้น เกณฑ์ ห้าม ยึด เข้าอาศัย ทำลายหรือเปลี่ยนแปลง และขับไล่ ทหารมีอำนาจตรวจค้น เช่น ตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข ภาพบทโฆษณา บท คำประพันธ์ ทหารมีอำนาจการห้าม เช่น การห้ามประชาชนมั่วสุม ห้ามออก จำหน่าย จ่ายแจกซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ ภาพ บทหรือคำประพันธ์ ห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจร ห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานภายในเวลาที่กำหนด ทั้งหมดอำนาจบังคับต่างๆ เหล่านี้ไม่เป็นหลักการประชาธิปไตย เราไม่สามารถเริ่มกระบวนการสันติภาพได้ถ้าไม่มีบรรยากาศประชาธิปไตย  และรัฐยังคงให้อำนาจทหารในการใช้กฎอัยการศึกต่อไป
 
เนื่องจากครบรอบ  9  ปี  การประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม  ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน  จึงมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ให้ดำเนินการ  ดังต่อไปนี้
 
1. ขอให้มีการทบทวนการประกาศ พรบ.กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากการใช้กฎอัยการศึกที่ให้อำนาจฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือพลเรือนนั้น  ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่  ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงยืดเยื้อและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  ยากแก่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่  แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้นต้องให้อำนาจฝ่ายพลเรือนเป็นหลักในการกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แทนอำนาจทางการทหารดังที่ผ่านมา 9 ปี เพื่อสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยในการริเริ่มดำเนินงานด้านการสร้างสันติภาพอย่างจริงจัง
 
2. ขอให้มีการออกระเบียบหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัว  ที่ชัดเจนและสอดคล้องกับหลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามกระบวนการยุติธรรม  ต้องเปิดเผยให้ผู้ถูกควบคุมตัวและญาติทราบถึงเหตุของการควบคุมตัวและสถานที่ควบคุมตัว  ตลอดจนกำหนดวิธีการเกี่ยวกับการเยี่ยมและการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว  เป็นต้น
 
3. ขอให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้มีความสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ถือหลักการแบ่งแยกอำนาจ  หลักนิติธรรม  และหลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน  เป็นสำคัญ  เนื่องจากพรบ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457  เป็นกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ก่อนประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย  จึงมีบทบัญญัติหลายประการที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่เจ้าหน้าที่รัฐ  โดยไม่มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลจากองค์กรอื่นๆ ที่สอดคล้องกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส.ว.เลือกตั้งหนุนแก้รัฐธรรมนูญเพิ่ม ส.ว. ตามฐานประชากร

Posted: 05 Jan 2013 12:16 AM PST

 
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 55 ที่ผ่านมาเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่านายสุรชัย ชัยตระกูลทอง สว.ชลบุรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยว่า การนัดหารือนอกรอบของกลุ่ม ส.ว.เลือกตั้ง ในวันที่ 7 ม.ค. เวลา 18.00 น. หลังเสร็จจากการประชุมวุฒิสภาถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น มีประเด็นที่ต้องพูดคุยกันคือเรื่องการแก้ไขให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ และทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรา 190
 
นายสุรชัย กล่าวว่า ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่แล้วของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็แก้แต่ประเด็นการเมือง แต่ไม่ได้ดูเรื่องมาตรา 190 เลย ส่วนประเด็นการปลดล็อกให้ ส.ว.เลือกตั้ง สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ติดต่อกัน ซึ่งอยู่ในส่วนของมาตรา 117 นั้น เรายังไม่พิจารณาถึง เพราะอาจถูกมองว่าทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเองได้ แต่มีความเห็นร่วมกันในเบื้องต้นว่า ควรแก้ไขในมาตรา 111 เพื่อเพิ่มจำนวนสว.จาก 150 คน เป็น 200 คน ตามแนวทางรัฐธรรมนูญ 40
 
ทั้งนี้การเพิ่มในส่วนของสว.เลือกตั้ง ให้คิดตามฐานประชากร ซึ่งจะทำให้จังหวัดใหญ่มี ส.ว.มากกว่า 1 คน แต่จะไม่ให้ไปกระทบกับสว.สรรหา โดยอาจเขียนเป็นบทเฉพาะกาลเอาไว้ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ โดยการเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรานี้จะยึดตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานฯ ที่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น