โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

จลาจลซ้ำซ้อน หลังศาลอียิปต์ตัดสินประหารชีวิตจำเลยเหตุก่อจลาจลในการแข่งฟุตบอลปีที่แล้ว

Posted: 26 Jan 2013 10:24 AM PST

จากเหตุการณ์จลาจลในสนามฟุตบอลเมื่อต้นปี 2012 ทำให้มีแฟนบอลเสียชีวิต 74 คน จนถึงวันนี้ศาลอียิปต์ได้ตัดสินประหารจำเลยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 21 คน แต่ก็เกิดจลาจลซ้ำโดยญาติจำเลยพยายามบุกเข้าไปในเรือนจำ เจ้าหน้าที่พยายามใช้แก็สน้ำตา แต่ก็มีการยิงกันจนมีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่าย


เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2013 ศาลอียิปต์ตัดสินลงโทษประหารชีวิตจำเลย 21 คนที่มีส่วนในการจลาจลที่สนามฟุตบอลเมื่อปีที่แล้ว (2012) ทำให้มีประชาชนที่ไม่พอใจคำตัดสินออกมาประท้วงจนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่จนมีผู้เสียชีวิต

ช่องโทรทัศน์รัฐบาลอียิปต์รายงานว่าไม่นานหลังจากที่มีการตัดสินจากศาล ก็มีการประท้วงขึ้นที่นอกเรือนจำในเมืองพอร์ต ซาอิด ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอียิปต์จนเกิดการปะทะกันดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

เหตุการณ์จลาจลที่มีการนำมาพิจารณาคดีในครั้งนี้ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2012 ในการแข่งขันฟุตบอลสโมสรอียิปต์ระหว่างทีม อัลมาสรี และทีมอัลอาลี ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อง 74 ราย

เหตุเกิดขึ้นหลังจากที่มีแฟนทีมอัลมาสรีได้พากันกรูเข้าไปในสนาม ขว้างปาก้อนหิน ขวดน้ำ และประทัดใส่แฟนทีมอัลอาลีและทั้งสองฝ่ายต่างก็ขว้างปาก้อนหินและเก้าอี้ใส่กันในสนามที่มีผู้ชุมอยู่ราว 22,000 คน สาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากการตกจากชั้นที่นั่ง อีกส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ โดยมีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไม่ได้ทำเข้าไประงับเหตุใดๆ โดยจำเลยทั้ง 21 คนในคดีนี้รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ไม่สามารถหยุดเหตุรุนแรงเอาไว้ได้ด้วย

อย่างไรก็ตามคำตัดสินของศาลในครั้งนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด โดยต้องมีการรับรองคำตัดสินจาก 'มุฟตี' ผู้วินิจฉัยหรือผู้ชี้ขาดทางศาสนาของอียิปต์ซึ่งจะมาให้ความเห็นต่อศาลในวันที่ 9 มี.ค. ก่อน ถึงจะมีการตัดสินจำเลยที่เหลืออีก 54 ราย

สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่าหลังศาลประกาศคำตัดสินแล้วครอบครัวฝ่ายจำเลยได้พยายามบุกรุกเรือนจำ ทำให้ตำรวจต้องใช้แก็สน้ำตาเพื่อสลายฝูงชน นอกจากนี้ยังมีการใช้อาวุธปืนที่บริเวณรอบเรือนจำทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงเสียชีวิต 2 ราย ราวยา ราเกห์ ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานจากพื้นที่บอกว่ามีกลุ่มคนสวมชุดลำลองใช้อาวุธปืนอัตโนมัติอยู่ในเหตุการณ์ได้

ทางด้านสื่อรัฐบาลอียิปต์รายงานว่าทางกองทัพได้ส่งกองทหารรักษาความสงบเข้าไปในพื้นที่เพื่อคลี่คลายสถานการณ์และคุ้มครองอาคารราชการในเมือง พอร์ต ซาอิด


ครอบครัวเหยื่อพอใจคำตัดสิน ขณะที่ทนายจำเลยมองเป็นเรื่อง 'การเมือง'

ขณะเดียวกันฝ่ายครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุจลาจลปี 2012 แสดงความปลาบปลื้มยินดีหลังจากได้ยินประกาศคำตัดสินของศาล พวกเขายืนถือรูปของญาติผู้เสียชีวิตและตะโกนว่า "ตำรวจเป็นอันธพาล" ก่อนที่ผู้พิพากษาจะนั่งบัลลังก์

ฮัสซัน มุสตาฟา ผู้ที่มีรูปเพื่อนที่เสียชีวิตติดอยู่ที่หน้าอกบอกว่า เขาพอใจกับคำตัดสิน แต่ก็อยากให้มีการตัดสินลงโทษ 'ผู้วางแผนสังการ' ด้วย

ขณะเดียวกันแฟนทีมฟุตบอล อัลอาลี ที่มารวมตัวกันหน้าสโมสรฟุตบอลในกรุงไคโรก็แสดงความดีใจหลังได้รับฟังคำตัดสิน

แต่ก็มีการมองว่า คำตัดสินในครั้งนี้เป็นเรื่องทางการเมือง เพื่อเอาใจกลุ่ม "อัลตรา อัลอาลี" ซึ่งเป็นกลุ่มแฟนคลับเดนตายของอัลอาลีที่ขู่ว่าจะก่อจลาจลในเมืองหลวงหากคำตัดสินออกมาไม่เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ โดยเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้กลุ่มแฟนทีมอัลอาลีก็พากันปิดถนน ทางสะพาน และทางรถไฟในกรุงไคโร และส่งคำเตือนทางเฟซบุ๊คว่า "ถ้าไม่มีความยุติธรรม ก็จะมีการนองเลือด" (Justice or Blood)

ทางด้านทนายฝ่ายจำเลยกล่าวให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า จำเลยของเขาไม่ได้ทำอะไรเลย เขาไม่เข้าใจว่าคำตัดสินมาจากไหน แต่ก็คิดว่าคำตัดสินเป็นแค่การตัดสินทางการเมืองเพื่อทำให้ประชาชนสงบลง

เจมส์ มอนทาจ ผู้สื่อข่าว CNN ที่เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องฟุตบอลกล่าวว่าหลังจากการปฏิวัติอียิปต์ทำให้อดีตปธน. ฮอสนี มูบารัค ถูกโค่นล้ม กลุ่มแฟนฟุตบอลก้กลายเป็นขุมกำลังสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นอกจากนี้แล้วเหตุจลาจลยังเกิดขึ้นในช่วงสูญญากาศด้านความมั่นคงหลังจากมูลารัคออกจากตำแหน่งอีกด้วย

เรียบเรียงจาก

Clashes erupt after Egypt court sentences 21 to death in football riot, CNN, 26-01-2013


Death sentences over Egypt football massacre, Aljazeera, 26-01-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เชียงใหม่รื้อคุกสร้างข่วงศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานพุทธชยันตี 2600 ปี

Posted: 26 Jan 2013 07:32 AM PST

 

26 ม.ค. 56 – เมื่อเวลา 13.30น. ที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิม ถนนราชวิถี ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง เชียงใหม่ นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานใน "พิธีเจริญพระพุทธมนต์และทุบทำลายกำแพงทัณฑสถานหญิง เพื่อจัดสร้างข่วงหลวงเวียงแก้ว" โดยมีการทุบป้าย และกำแพงบางส่วนของอาคารทัณฑสถานหญิง ซึ่งสร้างบริเวณที่เป็นคุ้มเดิมของเจ้าชีวิตของเชียงใหม่ ซึ่งหลังจากที่รื้อถอนอาคารทั้งหมดแล้วจะพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะใจกลางเมือง
 
โดยในพิธี มีการทำพิธีทางพุทธศาสนาและพิธีกรรมตามความเชื่อพื้นเมืองทุบทำลายป้ายทัณฑสถานลงแล้วก็มีการอัญเชิญพระพุทธรูปปางตรัสรู้ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี ที่รัฐบาลจัดสร้างไว้มาประดิษฐาน เพื่อให้เป็นองค์ประธานในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ต่อไป
 
บุคคลที่มีส่วนสำคัญในโครงการนี้มาร่วมพิธีอย่างคับคั่ง อาทิเช่น เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าสุรีย์ ณ เชียงใหม่ ธเนศวร์ เจริญเมือง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฯลฯ แต่ไม่ปรากฏว่ามีตัวแทนจากกรมศิลปากรที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีมาร่วมพิธีแต่อย่างใด
 
อนึ่ง กำหนดการเดิม ฯพณฯ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะมาเป็นประธานในพิธี แต่เมื่อถึงเวลากลับเป็นผู้ว่าราชการเป็นประธานแทน โดยผู้จัดไม่ได้แจ้งสาเหตุที่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ทำให้ชาวเชียงใหม่ที่สวมเสื้อลายภาพใบหน้านางสาวยิ่งลักษณ์และประชาชนทั่วไปที่มาร่วมงานอย่างล้นหลามต่างผิดหวังไปตามๆ กัน
 
สำหรับโครงการรื้อคุกดังกล่าวกำลังถูกจับตามองและเป็นประเด็นถกเถียงในโซเชียลเนตเวิร์คในหมู่ชาวเชียงใหม่และประชาชนทั่วไป โดยหลังจากการทุบเรือนจำแล้ว มีกระแสข่าวว่าจะมีการจัดสร้าง "พุทธมณฑลแห่งเชียงใหม่" ขึ้นแทน โดยก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ที่เพจของ Chiangmai Link ซึ่งเป็นเพจที่ติดตามประเด็นสาธารณะในพื้นที่เชียงใหม่ มีการนัดแนะกันเข้าชื่อยื่นหนังสือเรียกร้องคัดค้านการทุบคุกเพื่อสร้างพุทธมณฑลเชียงใหม่ แต่ในเวลาที่จัดพิธีไม่ปรากฏว่ามีเหตุประท้วงแต่อย่างใดเช่นกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายผังเมืองของอังกฤษที่สนับสนุนวัฒนธรรมการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง

Posted: 26 Jan 2013 07:06 AM PST

[1] ความนำ

การขี่จักรยานนับเป็นวิธีการเดินทางของผู้คนในประเทศอังกฤษประเภทหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเอื้อประโยชน์ต่อการสัญจรสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองและปริมลฑลแล้ว การขี่จักรยานนอกจากจะสามารถสร้างประโยชน์หลายประการต่อการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปในคราวเดียวกัน การขี่จักรยานยังช่วยให้ผู้ขับขี่จักรยานมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ กระแสการขี่จักรยานและการใช้งานจักรยานสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่ปริมลฑล จึงกลายมาเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก (mainstream culture) ประการหนึ่งสำหรับผู้คนในชุมชนเมืองในประเทศอังกฤษ กล่าวคือ ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคอุตสาหกรรมจักรยาน ภาคธุรกิจค้าจักรยาน กลุ่มผู้ใช้จักรยานและประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันสร้างกระแสวัฒนธรรมและแนวคิดในการสนับสนุนการใช้งานและการขับขี่จักรยานอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอในพื้นที่ชุมชนเมืองและปริมลฑล ตัวอย่างเช่น การที่รัฐได้จัดให้มีการพัฒนาระบบการสัญจรทางจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองและปริมลฑล เพื่อเป็นทางเลือกในการสัญจรของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมือง โดยรัฐมีหน้าที่ในการจัดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการขับขี่จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง ได้แก่ ประการแรก การสร้างช่องทางสัญจรจักรยานหรือเลนจักรยานท้องถนนเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรจักรยานกับเอื้อต่อความปลอดภัยของผู้สัญจรจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองและปริมลฑล ประการที่สอง รัฐยังมีหน้าที่จัดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สนับสนุนต่อการขับขี่จักรยานและการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง เช่น การจัดที่จอดจักรยานไว้ใกล้กับพื้นที่ชุมชนเมือง อันทำให้ประชาชนสะดวกในการเดินทางในพื้นที่ชุมชนเมืองหรือการจัดที่จอดจักรยานไว้ใกล้กับสถานีขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ ดังเช่น สถานีรถไฟ สถานีรถไฟใต้ดิน สถานีรถโดยสารระหว่างเมือง เป็นต้น

ดังนั้น รัฐบาลและรัฐสภาอังกฤษจึงได้พยายามแสวงหานโยบายสาธารณะและมาตรการทางกฎหมายที่เอื้อต่อการการสัญจรโดยการขี่จักรยานและวัฒนธรรมการใช้จักรยานของประชาชนในประเทศ[1] โดยคำนึงถึงสาระสำคัญหลายประการที่เกี่ยวข้องกับแนวทางและวิธีการในการสนับสนุนระบบการสัญจรทางจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองและปริมลฑล ตัวอย่างเช่น มาตรการด้านจราจรที่สนับสนุนการจัดระเบียบการจราจร[2]และการเสริมสร้างความปลอดภัยสำหรับผู้ขี่จักรยานในช่องทางสัญจรจักรยานหรือเลนจักรยานท้องถนนที่อาจต้องใช้ถนนร่วมกับผู้ขับขี่ยานพาหนะประเภทอื่นๆ และผู้ที่สัญจรบนทางเท้าหรือบาทวิถีสาธารณะ มาตรการส่งเสริมความปลอดภัยของพาหนะประเภทจักรยานถีบ โดยรัฐบาลอังกฤษได้กำหนดมาตรฐานวัสดุและอุปกรณ์ของจักรยานเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยสำหรับสุขภาพและชีวิตของผู้ขับขี่จักรยาน[3] มาตรการส่งเสริมความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์จักรยานสำหรับผู้บริโภค (consumer product safety) ที่กำหนดให้ผู้ผลิตจักรยานและผู้ค้าปลีกจักรยานมีหน้าที่ในการจัดหาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย (safe products) สำหรับผู้บริโภคที่ซื้อจักรยานจากผู้ผลิตหรือผู้ค้าปลีกจักรยานมาใช้งานบนท้องถนน[4] เป็นต้น

นอกจากมาตรการด้านจราจร มาตรการส่งเสริมความปลอดภัยของพาหนะประเภทจักรยานถีบ และมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์จักรยานสำหรับผู้บริโภคแล้ว รัฐบาลอังกฤษยังได้กำหนดมาตรการที่สำคัญประการหนึ่งในการกำหนดการวางผังและแผนที่ชุมชนเมืองและปริมลฑลที่เอื้อประโยชน์หรือเอื้อต่อการใช้งานจักรยาน นั้นคือ มาตรการทางกฎหมายผังเมืองของอังกฤษที่สนับสนุนการใช้งานจักรยานและวัฒนธรรมการใช้จักรยาน

รูปที่ 1 ปริมาณการจำหน่ายจักรยานในประเทศอังกฤษที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปี (ระหว่าง ค.ศ. 2007-2011)

ที่มา Association of the European Two-Wheeler Parts' & Accessories' Industry, 'European Bicycle Market 2012 edition', available from http://www.ctc.org.uk/resources/ctc-cycling-statistics

[2] กฎหมายผังเมืองของอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับทางจักรยาน

การวางผังสำหรับการพัฒนาชุมชนเมือง (Urban Development Planning) ต้องอาศัยหลักเกณฑ์หลายประการเข้าด้วยกัน เพื่่อกำหนดบริบทของผังเมืองในด้านต่างๆ เข้าด้วยกัน อนึ่ง การวางผังเมืองจำต้องอาศัยกฎหมายผังเมืองฉบับต่างๆ ที่เอื้อหรือสอดรับกับการพัฒนาหรือสนับสนุนวัฒนธรรมการใช้งานจักรยานในพื้นที่ต่างๆ ของชุมชนเมืองและปริมลฑลทั้งในปัจจุบันและอนาคต[5] เพราะรัฐและท้องถิ่นของอังกฤษมีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านคมนาคมขนส่งให้ประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงหรือเลือกที่จะใช้การคมนาคมขนส่งได้ทุกประเภท ด้วยเหตุนี้รัฐและท้องถิ่นของอังกฤษจึงต้องพัฒนาสิ่งก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและท้องถิ่น ให้สอดรับกับการคมนาคมขนส่งประเภทต่างๆ รวมไปถึงการคมนาคมโดยอาศัยจักรยานเป็นพาหนะด้วย

ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงได้ตรากฎหมายผังเมืองเพื่อให้เอื้อต่อการจัดทำบริการสาธารณะด้านการวางผังเส้นทางการใช้งานจักรยานให้มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน (network of cycle routes) ได้แก่ พระราชบัญญัติ Cycle Tracks Act 1984 และพระราชบัญญัติ Town and Country Planning Act 1990 โดยกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ได้ถูกตราขึ้นให้สอดรับกับการวางแผนยุทธศาสตร์ของชาติกับยุทธศาสตร์ในแต่ละท้องถิ่นในการพัฒนาชุมชนเมืองและปริมลฑลให้มีโครงสร้างพื้นฐานสอดรับการใช้งานจักรยานในประเทศและในท้องถิ่นระดับต่างๆ ตัวอย่างเช่น การสร้างทางจักรยานในชุมชนเมือง (urban cycle tracks) ให้สอดรับกับการใช้งานจักรยานของประชาชนบางส่วนในชุมชนเมืองและสอดรับกับการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองและแนวโน้มที่ประชาชนอาจหันมาใช้งานจักรยานแทนการใช้ยานพาหนะประเภทอื่นๆ ในอนาคต การสร้างสาธารณูปโภคอื่นๆ ให้สอดรับกับการใช้งานจักรยานในชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น การจัดให้มีทางลาดสำหรับเข็นจักรยานบริเวณขั้นบันได (cycle ramp alongside step) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานจักรยานที่จะเข็นขึ้นพื้นที่ลาดชัน ไฟจราจรสำหรับทางจักรยาน (traffic operations)[6] เป็นต้น

[2.1] พระราชบัญญัติ Cycle Tracks Act 1984

กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้รัฐ ส่วนราชการและหน่วยงานของท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่งสาธารณะมีหน้าที่ให้การจัดทำบริการสาธารณะในการคมนาคมขนส่งให้สอดคล้องกับการใช้งานจักรยานของประชาชนในท้องถิ่น โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ประชาชนสามารถใช้จักรยานเป็นยานพาหนะบนทางจักรยานหรือเลนจักรยาน (cycling track) อันเป็นการสถาปนาสิทธิในการสัญจรโดยจักรยานถีบในช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ให้ (a right of way on pedal cycles) อนึ่ง ทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ให้ประชาชนโดยทั่วไป อาจเป็นทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่ใช้พื้นที่สัญจรร่วมกับทางเท้า[7]หรือบาทวิถีปกติของประชาชนหรืออาจเป็นทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่แยกออกมาต่างหากจากทางเท้าหรือบาทวิถีปกติของประชาชน[8]

พระราชบัญญัติ Cycle Tracks Act 1984 ยังได้กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยอื่นๆ สำหรับผู้ขับขี่จักรยาน ตัวอย่างเช่น รัฐ ท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องต้องมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างปลอดภัย และระหว่างมีการซ่อมบำรุงทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ให้ประชาชนนั้น รัฐ ท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องจำต้องหาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยาน เพื่อป้องกันไม่ให้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานได้รับอันตรายระหว่างมีการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยาน[9]

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดในเรื่องของค่าสินไหมทดแทน (Compensation)[10] สำหรับบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการจงใจหรือประมาทเล่นเล่อของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานของท้องถิ่น ที่เป็นเหตุให้ผู้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานได้รับความเสียหายจากการสัญจร โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานของรัฐที่จงใจหรือประมาทเล่นเล่อดังกล่าว ก็เพื่อมุ่งในการเยียวยา (recovery) ความเสียหายของผู้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพยสิน ได้รับการเยียวยาให้กลับเป็นปกติ

รูปที่ 2 ทางจักรยานแบบปันส่วน (Share Bikeway) ในเมืองเลสเตอร์ สหราชอาณาจักรที่ก่อสร้างโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก European Regional Development Fund (ERDF) และ Leicester City Council ประเทศอังกฤษ (ผู้เขียนบทความถ่าย)

 [2.2] พระราชบัญญัติ Town and Country Planning Act 1990

พระราชบัญญัติ Town and Country Planning Act 1990 เป็นกฎหมายแม่บทที่สำคัญสำหรับรัฐ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และท้องถิ่นของอังกฤษในการกำหนดทิศทางการวางแผนพัฒนาเมือง (Development plans) และควบคุมการพัฒนาเมือง (Development control)[11] ซึ่งรัฐ หน่วยงานของรัฐและท้องถิ่นต้องกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองในภาพรวมและท้องถิ่นให้เข้ากัน โดยภายใต้กฎหมายฉบับนี้ รัฐ หน่วยงานของรัฐและท้องถิ่นจำต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคที่จำเป็นเพื่อความสะดวกในการสัญจรและการเดินทางโดยอาศัยยานพาหนะทุกประเภท รวมไปถึงการจัดให้มีทางจักรยาน (cycling route)[12] เพื่อให้ประชาชนสามารถอาศัยจักรยานเป็นทางเลือกหนึ่งในการสัญจรได้ นอกจากนี้ ภายใต้กฎหมายฉบับนี้รัฐ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและท้องถิ่นยังต้องจัดให้มีความสะดวกในการเดินทางของประชาชนโดยเชื่อมโยงทางจักรยานให้เชื่อมโยงและเอื้อต่อการสัญจรยานพาหนะประเภทอื่นๆ โดยสะดวกอีกด้วย เช่น ท้องถิ่นควรจัดให้มีที่จอดรถจักรยานในบริเวณพื้นที่สถานีรถไฟ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ขับขี่จักรยานทุกคนที่สัญจรโดยจักรยานมายังสถานีรถไฟ เพื่อใช้บริการรถไฟสาธารณะอีกทอดหนึ่ง เป็นต้น

รูปที่ 3 จุดจอดจักรยานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดไว้บริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ(ผู้เขียนบทความถ่าย)

รูปที่ 4 จุดจอดจักรยานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดไว้บริเวณพื้นที่ตรงข้ามสถานีรถไฟเมืองแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งสะดวกต่อประชาชนในการนำจักรยานมาจอดไว้ใกล้กับสถานีรถไฟและสามารถเดินทางต่อโดยรถไฟสาธารณะได้ทันที (ผู้เขียนบทความถ่าย)

[3] มาตรการทางกฎหมายผังเมืองของอังกฤษสนับสนุนวัฒนธรรมการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองได้อย่างไร?

ข้อดีมาตรการทางกฎหมายผังเมืองของอังกฤษที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสัญจรโดยจักรยาน นอกจากจะเป็นการวางมาตรการที่ทำให้การใช้งานจักรยานกลายมาเป็นทางเลือกสำหรับการคมนาคมของประชาชนชาวอังกฤษประเภทหนึ่งแล้ว มาตรการทางกฎหมายผังเมืองของอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับจักรยานยังสามารถช่วยส่งเสริมแนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคตให้สอดคล้องกับความต้องการการใช้และขับขี่จักรยาน เพื่อทดแทนการใช้งานยวดยานพาหนะประเภทอื่นๆ หรือเพื่อให้สามารถใช้งานจักรยาน โดยเชื่อมโยงกับบริการสาธารณะด้านคมนาคมขนส่งประเภทอื่น ที่จัดทำขึ้นโดยรัฐและท้องถิ่นของอังกฤษ

รูปที่ 5 ทางจักรยานที่แยกออกจากพื้นที่บาทวิถีอย่างชัดเจน (ผู้เขียนบทความถ่าย)

ดังนั้น การจัดให้มีมาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการด้านจราจร มาตรการส่งเสริมความปลอดภัยของพาหนะประเภทจักรยานถีบ มาตรการส่งเสริมความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์จักรยานสำหรับผู้บริโภคและมาตรการทางกฎหมายผังเมืองดังที่ได้บรรยายในบทความฉบับนี้แล้ว ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ในเรื่องการขับขี่จักรยานของรัฐบาลและประชาชนชาวอังกฤษ ให้กลายมาเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางในพื้นที่ชุมชนเมือง ทำให้เอื้อต่อการเดินทางและการใช้งานจักรยานเป็นพาหนะในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการเสริมสร้างค่านิยมและพฤติกรรมของประชาชนอังกฤษให้มีความมั่นใจในการขับขี่จักรยานให้กับคนทุกเพศ ทุกวัยและทุกชนชั้นทางสังคม

 

 

 




[1] คณะกรรมการและคณะกรรมาธิการของรัฐสภาอังกฤษชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมสาธารณะและการผังเมือง ได้พยายามศึกษาและจัดทำรายงาน เอกสารสรุปผลการศึกษา และการศึกษาข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมใช้จักรยาน โปรดดู UK Parliament, 'Cycling', available from http://www.parliament.uk/topics/Cycling.htm accessed 23 January 2013.

[2] ตัวอย่างเช่น มาตรา 72 ของพระราชบัญญัติ Highway Act 1835 ได้ห้ามผู้ขับขี่จักรยานขับขี่จักรยานบนทางเท้าหรือบาทวิถี หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นจำนวนเงิน £30 (ประมาณ 1,500 บาท) โปรดดู Louise B, 'Cycling: Offences', House of Commons, 2 May 2012, p2.

[3] โปรดดูเพิ่มเติมใน ข้อบังคับ Pedal Bicycles (Safety) Regulations 2010 ที่ออกโดยรัฐสภาอังกฤษ โดยกำหนดให้จักรยานทุกคันต้องได้รับการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานจักรยาน เช่น การติดตั้งไฟจักรยาน การติดตั้งกระดิ่งจักรยาน เป็นต้น UK Legislation, 'The Pedal Bicycles (Safety) Regulations 2010', available from http://www.legislation.gov.uk/uksi/2010/198/contents/made accessed 23 January 2013.

[4] โปรดดูข้อบังคับ General Product Safety Regulations 2005 ที่ออกโดยรัฐสภาอังกฤษ อันกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องของการคุ้มครอง ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ต่างๆ (consumer protection) โดยผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ได้รวมไปถึงจักรยานที่ถือเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งในท้องตลาดประเทศอังกฤษด้วย UK Legislation, 'The General Product Safety Regulations 2005', available from http://www.legislation.gov.uk/uksi/2005/1803/contents/made accessed 23 January 2013. accessed 23 January 2013.

[5] ในบางท้องถิ่นของประเทศอังกฤษ ตัวอย่างเช่น ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 สภาท้องถิ่นเมืองยอร์ก (York City Council) ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองให้สอดรับการใช้งานจักรยานของผู้คนในชุมชนเมืองบางส่วน (Cycling Strategy) โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน City of York Council, 'Strategic Cycle Route Network Consultation', available from http://www.york.gov.uk/info/200210/cycling/303/cycling/2 accessed 23 January 2013.

[6] โปรดศึกษาเพิ่มเติมใน Transport of London, 'The London Cycling Design Standards report - Chapter 2 Procedures', Transport of London, London, 2012, p 30-36.

[7] พระราชบัญญัติ Cycle Tracks Act 1984 ได้ให้อำนาจท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแปลงหรือปรับทางเท้าหรือบาทวิถี (Conversion of footpaths into cycle tracks) มาเป็นทางจักรยานหรือเลนจักรยานได้ แต่การแปลงหรือปรับการแปลงหรือปรับทางเท้าหรือบาทวิถีมาเป็นทางจักรยานหรือเลนจักรยานดังกล่าว ต้องไม่ขัดต่อมาตรฐานการผังเมืองที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทั่วไปของทางจักรยานและบาทวิถี โปรดดู Section 3 of the Cycle Tracks Act 1984

[8] Section 1 of the Cycle Tracks Act 1984

[9] Section 4 of the Cycle Tracks Act 1984

[10] Section 5 of the Cycle Tracks Act 1984

[11] Dewey R, 'Town and Country Planning for Beginners', available from  https://www.waterways.org.uk/pdf/restoration/trh_planning accessed 23 January 2013.

[12] Cardiff Council, 'Cardiff Cycle Design Guide', Cardiff Cycle Network - RHYDWAITH SEICLO CAERDYDD, July 2011, p 107.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรวิชาชีพสื่อประณามกรณีบุกยิงรถข่าวของสำนักข่าว ASTV

Posted: 26 Jan 2013 06:42 AM PST

 
26 ม.ค. 56 - สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อกรณีบุกยิงรถข่าวของสำนักข่าว ASTV บนถนนพระอาทิตย์ ระบุเป็นการข่มขู่และการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อกรณีบุกยิงรถข่าวของสำนักข่าว ASTV บนถนนพระอาทิตย์
 
จากกรณีที่มีบุคคลไม่ทราบฝ่ายบุกยิงรถข่าวของ ASTV 4 คัน ขณะจอดอยู่บริเวณหน้าบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงวัดชนะสงคราม เขตพระนคร กทม. และยิงกระจกสำนักงานในเครือของ ASTV เมื่อเวลาประมาณ 03.20 น.ของวันเสาร์ที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา
 
องค์กรวิชาชีพสื่อ โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเห็นร่วมกันว่า
 
1.เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่มีความอุกอาจ ใช้ความรุนแรงเพื่อมุ่งข่มขู่และการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย
 
จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่ก่อเหตุดังกล่าวและผู้ที่เกี่ยวข้องเคารพสิทธิเสรีภาพ และเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อนำความจริงมาเสนอต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน
 
2.การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน สามารถตรวจสอบได้ตามกลไกที่ชอบด้วยกฎหมาย หากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เห็นว่าสื่อมวลชนใช้สิทธิเกินขอบเขต สามารถใช้อำนาจฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย หรือใช้กลไกในการควบคุมทางจริยธรรมขององค์กรสื่อผ่านสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แต่จะต้องไม่ใช้ความรุนแรงคุกคามสื่อ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาใด ๆ ได้ และมีแต่จะสร้างความเสียหายแก่ทุกฝ่าย
 
3.ขอเรียกร้องต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ให้เร่งติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว ไม่ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างในการข่มขู่คุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน รวมทั้งขอให้แถลงผลความคืบหน้าคดีต่อสาธารณชนทราบโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยแก่ประชาชนและสังคมไทย
 
ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อ ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็น โดยยึดมั่นในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ไม่ละเว้นการเสนอข่าวเพราะความลำเอียง หรือมีอคติจนเป็นเหตุให้ข่าวนั้นคลาด เคลื่อนหรือเกินจากความเป็นจริง การไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว และพึงหลีกเลี่ยงคำไม่สุภาพและมีความหมายเหยียดหยาม ฯลฯ
 
องค์กรวิชาชีพสื่อ ขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ซื่อสัตย์ในวิชาชีพ เพื่อประโยชน์และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนต่อไป
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 
26 มกราคม 2556

พนักงานแบงก์กรุงเทพ ประท้วงเรียกร้องเงินเดือนและสวัสดิการ

Posted: 26 Jan 2013 02:13 AM PST

 

เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 56 ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ สหภาพแรงงานนำโดยนายชัยวัฒน์ มาคำจันทร์ ประธานสหภาพ พร้อมด้วยสมาชิกกว่า 500 คน รวมตัวกันเรียกร้องค่าสวัสดิการ (โบนัส) จำนวน 4 เดือน พร้อมกับขอปรับเงินเดือนอีก 6 เปอร์เซ็นต์ พร้อมเรียกร้องค่าครองชีพหลังเกษียณตามระเบียบเดิมที่จะได้คือ 4.5 แสนบาท แต่ถูกปรับลดเหลือ 3 แสนล้านบาท โดยผู้บริหารไม่สามารถอธิบายได้ว่า เงินที่หายไป 1.5 แสนบาทหายไปไหน ทั้งที่ ธนาคารมีผลกำไรมากถึง 3.3 หมื่นล้านบาท  ขณะที่ในปีก่อนหน้านี้  มีกำไรเพียง 2 หมื่นกว่าล้าน กลับจ่ายโบนัสมากถึง 5-6 เดือน หรือจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นหุ้นละ 3 บาทในปี 2554 ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เป็นการดูแลสวัสดิการพนักงานในปัจจุบันเท่าที่ควร โดยพนักงานที่มารวมตัวกัน ได้ชูป้ายเรียกร้องพร้อมกับแถลงการณ์เรียกร้อง อีกทั้ง เดินขบวนรอบอาคารสำนักงาน
 
ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า จากการเจรจากันหลายครั้ง ยังไม่มีคำตอบจากผู้บริหารในแนวทางที่เรียกร้องไป ขณะเดียวกัน ยังไม่มีคำชี้แจงจากผู้บริหารอย่างชัดเจน จึงเป็นที่มาของการรวมตัวในวันนี้
 
อนึ่งในปี 2554 ธนาคารได้ประกาศเปลี่ยนเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน จากอัตราเดียวเป็นหลายอัตราแบ่งตามช่วงอายุงาน และยกเลิกเงินบำเหน็จโดยพลการ และมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมโดยไม่ยุติธรรม  
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

24 มิถุนา แถลงกรณีพิพากษาสมยศ ส่งผลต่างประเทศมองไทยแง่ลบ

Posted: 26 Jan 2013 01:50 AM PST

 

กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตยออกแถลงการณ์ "กรณีศาลอาญาพิพากษาจำคุก สมยศ พฤกษาเกษมสุข 11 ปี" ระบุประเทศไทยจะถูกมองจากองค์กรระหว่างประเทศในทางลบว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ไร้เสรีภาพ กดขี่ ไร้ความยุติธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชน

26 ม.ค. 56 - กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตยออกแถลงการณ์ "กรณีศาลอาญาพิพากษาจำคุก สมยศ พฤกษาเกษมสุข 11 ปี" ระบุประเทศไทยจะถูกมองจากองค์กรระหว่างประเทศในทางลบว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ไร้เสรีภาพ กดขี่ ไร้ความยุติธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชน 

 

แถลงการณ์กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย

กรณีศาลอาญาพิพากษาจำคุก สมยศ พฤกษาเกษมสุข 11 ปี

ตามที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก พิพากษาจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเรด พาวเวอร์ และแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย ในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลา 10 ปี และโทษจำคุกในคดีอาญาเดิม หมายเลขแดงที่ อ.1078/2552 อีก 1  ปี รวมจำคุกทั้งหมด 11 ปี โดยไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้วนั้น กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเป็นกลุ่มที่นายสมยศเคยเป็นแกนนำ มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวดังต่อไปนี้

1.ด้านความยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรม

- กฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรม มีอัตราโทษสูงไม่ได้สัดส่วนกับความผิด การไม่ให้ประกันตัวซึ่งมีผลเป็นการไม่เปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ สร้างภาระให้กับผู้ต้องหา/จำเลย เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทำลายสถาบันครอบครัว เป็นกฎหมายล้าหลังไม่สอดคล้องกับยุคสมัย การลงโทษจำคุก 11 ปี ไม่ต่างอะไรกับการลงโทษประหารชีวิต เหตุเพราะจำเลยมีอายุค่อนข้างมากและสุขภาพไม่ดี อีกทั้งสภาพความเป็นอยู่ในคุกต่ำกว่ามาตรฐานของคนทั่วไป จึงมีโอกาสสูงมากที่จะเสียชีวิตก่อนพ้นโทษ ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับคดีอาญาร้ายแรง เช่น คดีค้ายาเสพติด คดีอุกฉกรรจ์มากมายหลายคดีก็มิได้ลงโทษรุนแรงขนาดนี้

- ผลของการบังคับใช้กฎหมายที่ขัดหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรม ตลอดจนการบังคับใช้อย่างสองมาตรฐาน ย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือทำให้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมเสื่อมในท้ายที่สุด เพราะองค์กรเหล่านี้กลายเป็นส่วนสำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกปราบปราบที่ทรงประสิทธิภาพของรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

2.-ผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยไทย

- กฎหมายอาญามาตรา 112 มีสาระสำคัญขัดกับหลักการประชาธิปไตย ตราขึ้นในสมัยเผด็จการปกครองประเทศ รวมทั้งการบังคับใช้ก็ขัดกับหลักประชาธิปไตย การดำรงอยู่และบังคับใช้กฎหมายนี้จึงเป็นสิ่งยืนยันว่าประเทศนี้ยังไม่เป็นประชาธิปไตย

- การดำรงอยู่และบังคับใช้กฎหมายนี้เป็นศัตรูกับเสรีภาพของประชาชน เป็นสิ่งยืนยันว่าสถาบันทางการเมืองโดยเฉพาะองค์กรในกระบวนการยุติธรรมไทยโดยรวมไม่ยินดีและไม่ยินยอมที่จะให้ประชาชนมีเสรีภาพอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่พร้อมและไม่ยินยอมโดยเด็ดขาดที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

3.-ผลกระทบต่อความขัดแย้งทางการเมืองโดยรวม

- การบังคับใช้กฎหมายอย่างไร้ความยุติธรรมจะยิ่งซ้ำเติมความขัดแย้งทางการเมืองที่เดิมยากจะปรองดองสมานฉันท์อยู่แล้วให้เลวร้ายลง เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาผู้รักประชาธิปไตยถูกกระบวนการยุติธรรมกระทำย่ำยีราวกับไม่ใช่คน มีการบังคับใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน โดยที่ฝ่ายตรงข้ามได้รับการผ่อนปรนต่างๆนานา แต่กับฝ่ายประชาธิปไตยกลับถูกกระทำย่ำยีเกินกว่าจะยอมรับได้

- การปิดกั้นเสรีภาพ เป็นการบีบบังคับผลักไสให้ประชาชนทั่วไปแสดงออกทางการเมืองแบบไม่เปิดเผย สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความรุนแรงหรือเกินเลยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งการเมืองไทยในขณะนี้มีความเปราะบางมากอยู่แล้ว กรณีนี้จึงอาจเป็นการเติมเชื้อไฟโดยไม่จำเป็น

4.-ผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยในเวทีโลก

- ประเทศไทยจะถูกมองจากองค์กรระหว่างประเทศในทางลบว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ไร้เสรีภาพ กดขี่ ไร้ความยุติธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชน จากเดิมที่เมื่อหลายปีก่อนเคยมีภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างดีในด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เสรีภาพสื่อ ฯลฯ กระทบต่อศักดิ์ศรีของไทยในเวทีนานาชาติ ขณะที่โลกมีแนวโน้มจะก้าวหน้าและเปิดกว้างมากขึ้นทุกด้าน ทั้งทางพรมแดน ประชาธิปไตย การค้า การลงทุน ข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ แต่ประเทศไทยกลับสวนกระแสโลก ถอยหลังเข้าคลอง คอยฉุด คอยถ่วงรั้งประเทศชาติและประชาชนให้อยู่กับที่ไม่ยอมให้เจริญก้าวหน้า

5.-ผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์

- คดีนี้เป็นที่สนในของผู้คนและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งจะทำให้เป็นเป้าของการตรวจสอบ ขุดคุ้ย  วิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม ต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย รวมทั้งต่อสถาบันกษัตริย์ อาจก่อให้เกิดภาพลักษณ์ด้านลบของสถาบันกษัตริย์ในสายตาต่างชาติ

กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษอย่างไร้ความยุติธรรม แม้ไม่อาจกระทำการแข็งขืนอำนาจรัฐอันโหดร้ายในการลงโทษได้ แต่จะไม่ยอมจำนนให้กับความอยุติธรรมใดๆ จะขอยืนอยู่เคียงข้างนักโทษการเมืองและผู้ที่ต้องคดีทุกคน และจะเดินหน้าต่อสู้เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยให้จงได้ เพื่อให้ความยุติธรรมและสันติสุขบังเกิดแก่ประชาชนทั้งประเทศในท้ายที่สุด

 

ประชาชนจงเจริญ

แถลงเมื่อ 24 มกราคม พ.ศ 2556

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ม็อบปากมูนกลับบ้านแล้ว! หลังผลเจรจาได้ข้อสรุป ขู่งานไม่คืบพร้อมมาทวงสัญญา

Posted: 26 Jan 2013 12:40 AM PST

สมัชชาคนจนกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล – Pmove ยุติชุมนุมต่อเนื่อง ชาวบ้านพอใจให้ยกเลิกมติ ครม.ที่ให้ สกว.ทำการศึกษาเพิ่มเติม ทั้งเลิกคณะกรรมการฯ-อนุกรรมการ-คณะทำงานแก้ปัญหาทุกชุด แล้วตั้งคณะกรรมฯ ใหม่แก้ไขปัญหาองค์รวม

 
 
วันนี้ (26 ม.ค.56) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเป็นธรรม (ขปส.) หรือกลุ่ม Pmove ซึ่งเดินทางมาชุมนุมบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลให้เป็นรูปธรรมได้สลายการชุมนุมแล้วตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 25 ม.ค.56 หลังผลการเจรจากับตัวแทนรัฐบาลเป็นที่น่าพอใจ โดยผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งร่วมกันฟ้อนรำอย่างรื่นเริง ฉลองชัยชนะในครั้งนี้ ระหว่างรอรถเพื่อเดินทางกลับ
 
ทั้งนี้ การประชุมคณะอนุกรรมการแก้ปัญหากรณีเขื่อนปากมูลที่ประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ นักวิชาการ ตัวแทนจังหวัด และตัวแทนของรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ม.ค.56 ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ชาวบ้านจึงขอเปิดการประชุมในช่วงเช้าวันที่ 25 ม.ค.56 โดยมีตัวแทนชาวบ้านร่วมเจรจากับ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล
 
การประชุมใช้เวลาจากเช้าถึงบาย จึงสามารถบรรลุข้อตกลงได้ ดังนี้ 1.ยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2554 ที่ให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำการศึกษาเพิ่มเติม 2.ให้ยกเลิก คณะกรรมการฯ อนุกรรมการ และคณะทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่มีอยู่ทั้งหมด 3.ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ขึ้นมา 1 คณะ ที่มีอำนาจเต็ม เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาองค์รวม 4.ให้นำข้อสรุปทั้งหมดนี้เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์
 
ด้าน Pmove ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 17 'การเจรจาบรรลุเป้าหมาย แต่ความจริงใจต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ' ระบุ การเจรจาบรรลุข้อตลลงในหลักการ แต่หากการแก้ไขปัญหายังไม่มีความคืบหน้าหรือเกิดความล่าช้าเกินความเหมาะสม ขปส.กรณีกลุ่มผู้เดือนร้อนจากเขื่อนปากมูลจะกลับมาทวงสัญญาอีกครั้ง
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : ปัญหาและทางออก มรดกโลกปราสาทเขาพระวิหาร

Posted: 25 Jan 2013 07:27 PM PST

ปาฐกถาพิเศษ "ปัญหาและทางออก มรดกโลกปราสาทเขาพระวิหาร" / ASEAN Eco-Cultural World Heritages โดย ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ปาฐกถานี้เป็นส่วนหนึ่งจาก งานสัมมนาวิชาการประจำปี "อาเซียนศึกษา" วันที่ 24- 25 มกราคม 2556 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมนุมครบรอบสองปีปฏิวัติอียิปต์กับ 'ความฝันที่ยังไม่เป็นจริง'

Posted: 25 Jan 2013 07:17 PM PST

แม้อียิปต์จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการลุกฮือในภูมิภาคอาหรับเมื่อสองปีที่แล้ว แต่ในการชุมนุมครบรอบการปฏิวัติก็ยังมีกลุ่มคนผู้ไม่พอใจรัฐบาลใหม่ออกมาประท้วงกันในหลายเมือง รวมถึงจัตุรัสทาห์รีร์ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ พร้อมกับคำขวัญเดิมจากเมื่อสองปีที่แล้ว คือ 'ขนมปัง, เสรีภาพ และความเป็นธรรมในสังคม'

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2013 ประชาชนชาวอียิปต์ได้มาชุมนุมที่จัตุรัสทาห์รีร์อีกครั้งเพื่อรำลึกถึงวันครบรอบการลุกฮือของประชาชนที่สามารถโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ลงได้

มีประชาชนหลายร้อยคนมาชุมนุมกันตั้งแต่ช่วงเช้า แต่ก็เกิดเหตุกลุ่มผู้ชุมนุมวัยรุ่นที่ประท้วงต่อต้านรัฐบาลปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยที่เจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินกลางเปิดเผยว่ามีประชาชน 110 คนได้รับบาดเจ็บจากเหตุการปะทะ

สื่อรัฐบาลอียิปต์รายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงแก็สน้ำตาเพื่อสลายผู้ชุมนุมที่พยายามข้ามแผงกั้นลวดหนามรอบทำเนียบประธานาธิบดี ขณะที่มีผู้เห็นเหตุการณ์ให้ข้อมูลกับสื้อต่างประเทศว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลได้ใช้อาวุธติดไฟที่มีคนขว้างใส่พวกเขาเอาไปจุดเผาเต็นท์ผู้ชุมนุมเยาวชนสองหลัง

จากที่ก่อนหน้านี้จัตุรัสทาห์รัร์เป็นแหล่งประวัติศาสตร์โค่นล้มอดีตผู้นำเผด็จการในปี 2011 เปิดทางให้มีการเลือกตั้งจนกระทั่งได้ผู้นำคนใหม่คือโมฮัมเมด มอร์ซี แต่ก็มีชาวอียิปต์บางส่วนที่ต่อต้านโดยเฉพาะกลุ่มเสรีนิยมและฆราวาสนิยม เพราะคิดว่ามูบารัคได้รับอิทธิพลจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ทำให้มีผู้หวังว่าการชุมนุมครบรอบปีในครั้งนี้จะเป็นการชุมนุมของกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลของโมฮัมเมด มอร์ซี


'ขนมปัง, เสรีภาพ และความเป็นธรรมในสังคม' ความฝันที่ยังไม่เป็นจริง

ทั้งอัลจาซีร่าและ BBC กล่าวตรงกันว่าการชุมนุมในครั้งนี้ไม่ได้มาจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม แต่มาจากกลุ่มฆราวาสนิยมที่ต่อต้านรัฐบาล  และกลุ่มภราดรภาพฯ ก็ส่งข้อความไม่ให้สมาชิกออกไปร่วมชุมนุมประท้วง โดยเสนอให้ออกไปบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม เช่น การปลูกต้นไม้ หรือการทำการกุศลแทน โดยใช้ประโยคเชิญชวนว่า "ร่วมกัน เราช่วยสร้างอียิปต์" (Together we will build Egypt)

ทางด้านผู้ประท้วงในครั้งนี้ก็ใช้สโลแกนเดียวกันกับที่ใช้ในประท้วงมูบารัคในปี 2011 คือ "ขนมปัง, เสรีภาพ, ความเป็นธรรมในสังคม"

ผู้ประท้วงรายหนึ่งชื่อ ฮันนา อะบู เอล-การ์ กล่าวต่อ BBC ว่า ที่พวกเขาประท้วงเพราะพวกเขาเคยเรียกร้อง 'ขนมปัง, เสรีภาพ และความเป็นธรรมในสังคม' ซึ่งการปฏิวัติก็ผ่านมาสองปีแล้ว แต่ความฝันของพวกเขาไม่เป็นจริงสักอย่าง

โมฮาเมด เอล บาราดาย ผู้นำฝายต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันได้กล่าวผ่านทวิตเตอร์เรียกร้องให้ออกไปชุมนุมที่จัตุรัสเพื่อทำให้จุดประสงค์ของการปฏิวัติเป็นจริง ขณะที่ประธานาธิบดีมอร์ซีได้กล่าวปราศรัยก่อนหน้านี้ในวันที่ 24 ม.ค. เรียกร้องให้ประชาชนชุมนุมในวันครบรอบด้วยความสงบสันติและมีอารยะ


เหตุวุ่นวายในอียิปต์ กับ 'การปฏิวัติ' ที่ยังดำเนินต่อไป

BBC รายงานว่า ในช่วงเช้าผู้ชุมนุมบางคนได้ตั้งจุดตรวจที่หน้าทางเข้าจัตุรัสเพื่อระบุตัวตนของประชาชนที่เข้าร่วม มีผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งที่จัดนิทรรศการภาพถ่ายผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมหลายครั้งที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา

"การปฏิวัติของพวกเรายังคงดำเนินต่อไป พวกเราปฏิเสธการยึดครองอำนาจเหนื่อรัฐนี้ไม่ว่าจะมาจากพรรคใดฝ่ายใด พวกเราขอปฏิเสธรัฐของกลุ่มภราดรภาพฯ" ฮัมดีน ซาบาฮี ผู้นำฝ่ายซ้ายกล่าว

ผู้ชุมนุมชื่อฮานี รากี กล่าวต่อ BBC ว่า เขาได้ลงคะแนนให้มอร์ซีเพราะไม่อยากเห็นคนจากรัฐบาลก่อนหน้านี้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง แต่มอร์ซีก็ไม่สามารถทำตามสัญญาได้ เศรษฐกิจของอียิปต์ย้ำแย่ เขามาชุมนุมเพราะต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปอย่างจริงจัง

รอบๆ จัตุรัสทาห์รีร์รายล้อมไปด้วยอาคารที่ทำการของรัฐบาลและสถานทูตต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดถูกกั้นด้วยกำแพงคอนกรีตตั้งแต่เดือน พ.ย. 2012 แต่เมื่อคืนวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมาก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามรื้อทำลายกำแพงส่วนหนึ่ง แต่ก็มีการสร้างกำแพงใหม่ปิดที่ทำการรัฐสภา มีเหตุความวุ่นวายเกิดขึ้นข้ามคืน ด้านสถานีโทรทัศน์ไนล์ทีวีรายงานว่ามีการปะทะรุนแรงขึ้นด้านนอกที่ทำการกระทรวงมหาดไทย

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า ไมค์ ฮันนา รายงานจากกรุงไคโร บอกว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามฝ่าเข้าไปในที่ทำการกระทรวงมหาดไทยที่ถูกกั้นไว้

ขณะที่ อะลีม มัคบูล ผู้สื่อข่าว BBC รายงานจากจัตุรัสทาห์รีร์ว่ามีผู้มาชุมนุมประท้วงจำนวนมากแต่เหตุความรุนแรงเกิดขึ้นแค่ในมุมเล็กๆ โดยมีกลุ่มเยาวชนขว้างปาก้อนหินใส่อาคารรัฐสภา และประชาชนก็ได้กล่าวคำขวัญต่อต้านปธน.มอร์ซีแบบเดียวกับที่เคยใช้ต่อต้านอดีตปธน.มูบารัค

นอกจากในกรุงไคโรแล้ว ยังมีการประท้วงกลุ่มเล็กกว่าในเมืองอื่นๆ ของอียิปต์ เช่น อเล็กซานเดรีย, อิสไมลิยา, สุเอช และพอรืต ซาอิด โดยที่ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ากล่าวว่ากลุ่มผู้ประท้วงแสดงความไม่พอใจ เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่ารัฐบาลทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขา

โดยในอเล็กซานเดรีย เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอียิปต์ ผู้ชุมนุมได้จับมือกันเป็นโซ่มนุษย์ในมัสยิด อัล-คาอิด อิบราฮิม ขณะที่ผู้ประท้วงอีกส่วนหนึ่งพากันไปยืนปิดกั้นทางรถไฟ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงแก็สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมในย่านสองย่านของอเล็กซานเดรีย โดยผู้ชุมนุมบางส่วนก็ได้จุดไฟเผายางรถยนต์

ในเมืองอิสไมลิยา ผู้ชุมนุมได้บุกเข้าไปในสำนักงานผู้ว่าราชการ มีผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่าพบเห็นกลุ่มวัยรุ่นบุกเข้าไปในสำนักงานของพรรคฟรีดอมแอนด์จัสติส ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของมอร์ซี ก่อนจุดไฟเผา ขณะที่โทรทัศน์ช่องรัฐบาลอียิปต์ได้เผยแพร่ภาพกลุ่มผู้ชุมนุมขว้างปาก้อนหินใส่อาคารในเมืองสุเอช

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า แม้จะมีการประท้วงจำนวนมาก แต่ก็มีกลุ่มคนบางส่วนออกมาชุมนุมเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบปีที่สองของการปฏิวัติอียิปต์

เรียบเรียงจาก

Egypt opposition in clashes on revolution anniversary, BBC, 25-01-2013

Clashes mark Egypt revolution anniversary, Aljazeera, 25-01-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น