โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ซีรีส์จำนำข้าว (1) วิโรจน์ ณ ระนอง : ปัญหาและทางออก

Posted: 10 Oct 2012 11:18 AM PDT

 

วิโรจน์  ณ ระนอง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ไม่กี่คนของประเทศไทยที่เคยศึกษาวิจัยเรื่องข้าวมายาวนาน เราจึงแลกเปลี่ยนเรื่องที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก "โครงการรับจำนำข้าว" ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์

คงเป็นดังที่วิโรจน์ว่าไว้ว่า นักเศรษฐศาสตร์โดยส่วนใหญ่นั้น "เสียงไม่แตก" เกี่ยวกับปัญหาของโครงการในลักษณะนี้ ซึ่งเขาเห็นว่าไม่เฉพาะ "การรับจำนำ" แบบเพื่อไทย แต่รวมถึงแนวทาง "ประกันรายได้" แบบประชาธิปัตย์ ซึ่งทีดีอาร์ไอมีส่วนร่วมเป็นต้นทางของแนวคิดด้วย 

สำหรับโครงการจำนำข้าว เขามองว่าโครงการนี้นำผลประโยชน์สู่มือชาวนาอย่างค่อนข้างกว้างขวางเป็นครั้งแรก พร้อมๆ กับภาระทางงบประมาณก้อนมหึมา จุดเสี่ยงจุดใหญ่คือความสามารถในการระบายหรือขายข้าวของรัฐบาล ซึ่งทุกฝ่ายจับตาอย่างไม่กระพริบ สรุปคำแนะนำแบบสั้นกระชับก็คือ ควรเร่งระบายข้าวในสต๊อกออกแม้ขาดทุน

ถึงที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์ อาจต้องถามกันว่า บทบาทของรัฐควรอยู่ตรงไหน รัฐควรอุดหนุนเกษตรกรหรือไม่ เพียงไร และอย่างไร ซึ่งคำตอบของโมเดลที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าเหมาะสม และเห็นว่าเป็นไปได้ ก็ปรากฏอยู่ในบทสัมภาษณ์นี้ด้วย  หรือประเทศนี้ควรมีชาวนาน้อยลง ?

 

0000000

 

 

มาตรการจำนำข้าวครั้งนี้ต่างจากมาตรการก่อนๆ ในอดีตอย่างไร

สมัยก่อนเราเคยมีโครงการแทรกแซงราคาหรือพยุงราคา กับโครงการรับจำนำ สลับหรือผสมกันไป  โครงการจำนำในช่วงแรกเป็นการจำนำที่ราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าตลาดเล็กน้อย (สำหรับชาวนาที่ต้องการเงินแต่ยังไม่อยากขายข้าวในช่วงต้นฤดูที่ราคาอาจจะต่ำ)  ส่วนโครงการแทรกแซงราคาหรือพยุงราคานั้นมักจะตั้งราคาให้สูงกว่าตลาด แต่ทุกโครงการที่ทำมาในอดีตที่ตั้งราคาที่สูงกว่าตลาดไม่ได้รับซื้อข้าวทุกเม็ดจากชาวนาทุกคน  แต่จะจำกัดโควต้ารับซื้อ  ในช่วงรัฐบาลทักษิณเองก็ยังเป็นแบบนั้น  โครงการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่รัฐบาลประกาศว่าจะรับจำนำ (ซึ่งจริงๆ กลายเป็นการซื้อข้าว) ในราคาสูงกว่าตลาดโดยไม่จำกัดจำนวน

ปัญหาใหญ่ของโครงการรับซื้อหรือรับจำนำข้าวในอดีต ส่วนหนึ่งเกิดจากการรับซื้อแบบฝนตกไม่ทั่วฟ้า  โดยรัฐบาลตั้งงบว่าแต่ละปีจะซื้อหรือแทรกแซงปีละเท่าไหร่  เสร็จแล้วก็จะแบ่งสรรงบที่มีจำกัดเป็นโควต้าสำหรับซื้อจากแต่ละจังหวัด (ซึ่งการแบ่งสรรตรงนี้มักขึ้นกับพลังทางการเมือง เช่น จังหวัดที่มี ส.ส. จากพรรคที่มีรัฐมนตรีเกษตรก็มักจะได้โควต้ามากกว่าจังหวัดอื่น)  หลังจากนั้น ก็อาจมีการจัดสรรโควต้าให้เฉพาะโรงสีบางโรงในจังหวัดนั้นอีก

ในระบบการแทรกแซงหรือรับจำนำแบบเดิม (ไม่ทุกคนทุกเม็ด) นั้น  โรงสีในโครงการมีอำนาจต่อรองสูงมาก เมื่อเทียบกับชาวนาที่เอาข้าวมาขาย  เพราะถ้าขายให้โรงสีพวกนี้ไม่ได้  ชาวนาก็จะต้องขนข้าวไปขายโรงสีอื่นในราคาที่ต่ำกว่ามาก ตัวอย่างเช่น ถ้าราคารับซื้อของรัฐบาลอยู่ที่ 10,000 บาทต่อตัน ขณะที่ตลาดซื้อกันที่ 7,000 บาทต่อตัน  เมื่อชาวนาขนข้าวมาขาย ก็มักโดนโรงสีเหล่านี้กดราคา โดยตีเกรดข้าวต่ำกว่าความเป็นจริง และหักความชื้นและสิ่งเจือปนสูงกว่าความเป็นจริง  เช่น จากราคาที่หักอะไรต่ออะไรแล้วควรได้ 9,500 บาท โรงสีก็อาจตีราคาให้ชาวนาแค่ 8,000 บาท  ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่ก็ยอมขาย เพราะยังคุ้มกว่าที่จะต้องเสียค่าขนเพิ่มไปขายที่อื่น ซึ่งจะขายได้ตามราคาตลาดที่ 7,000 บาทเท่านั้น

การรับซื้อแบบนี้ ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จึงไม่ได้ตกกับชาวนา  โรงสีที่จะเข้าโครงการได้ก็มักจะต้องมีเส้นสายเช่นกัน  ซึ่งผลประโยชน์ที่โรงสีได้ก็จะถูกแบ่งไปให้คนที่จัดสรรโควต้ามาให้  เมื่อเป็นเช่นนั้น การประเมินผลโครงการพวกนี้หลายครั้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จึงมักได้ผลออกมาคล้ายๆ กัน คือ ผลประโยชน์มักจะตกกับชาวนาไม่ถึงครึ่ง
 

ฉะนั้น การจำนำทุกเม็ดและไม่จำกัดปริมาณนั้น ผลประโยชน์ส่งตรงถึงชาวนามากกว่าและมีความกระจายตัวกว่า ใช่หรือไม่

โดยหลักการแล้ว การรับจำนำทุกเม็ดจะเพิ่มอำนาจการต่อรองให้ชาวนา ถ้ารัฐบาลจัดให้มีโรงสีที่เข้าร่วมโครงการมากพอ (ซึ่งถ้าจะซื้อให้ได้ทุกเม็ดจริงก็ต้องมีโรงสีเป็นจำนวนมาก) และไม่ไกลกันเกินไป  ถ้าทำแบบนี้ได้จริงชาวนาก็จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น  ตัวอย่างเช่น ถ้าชาวนาไปเจอโรงสีที่ตีเกรดข้าวต่ำหรือหักค่าโน่นนี่มากเกินความจริง ชาวนาก็สามารถขนไปขายให้โรงสีอื่น ซึ่งก็รับซื้อในราคารัฐบาลเหมือนกัน  วิธีนี้จะทำให้แทนที่โรงสีจะมีอำนาจผูกขาด ก็จะต้องแข่งขันกัน ซึ่งจะทำให้ผลประโยชน์จากราคาที่ประกันไว้ตกถึงชาวนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้

ถ้าถามว่าแล้วรัฐบาลทำตรงนี้ได้ดีแค่ไหน ตอนฤดูนาปีในปีที่แล้ว ผมเข้าใจว่ามีโรงสีเข้าร่วมโครงการค่อนข้างน้อย แค่ร้อยกว่าโรง ซึ่งไม่มากพอที่จะช่วยให้ชาวนามีอำนาจต่อรองได้ดีพอ  ชาวนาจึงอาจยังมีปัญหาเรื่องไม่ค่อยมีทางเลือกหรือโรงสีอยู่ไกลจนไม่สะดวกกับการขนข้าวไปจำนำ แล้วยังมีปัญหาน้ำท่วมด้วย  ซึ่งเราก็พบว่าตัวเลขรับจำนำข้าวนาปีปีที่แล้วน้อยกว่าที่คาดกันมาก  

แต่พอถึงนาปรัง มีโรงสีเข้าร่วมประมาณ 700 แห่ง ซึ่งถือได้ว่ามากพอ  ตัวเลขข้าวที่รับจำนำก็สูงขึ้นมาก  และที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมีเสียงบ่นจากชาวนาเรื่องการถูกกดราคาข้าว  โครงการนี้จึงได้รับความนิยมจากชาวนาพอสมควร และคาดกันว่าปริมาณการจำนำของนาปีในปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วพอสมควร ซึ่งรัฐบาลเองก็รู้ และได้ตั้งงบปีนี้เพิ่มจากเดิมอีกแสนล้านเป็น 4 แสนล้านบาท

สิ่งที่ต่างไปจากเดิมอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระบบการตรวจสอบขั้นต้นที่ดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะรัฐบาลเองก็ตระหนักว่ามีคนจับตามองโครงการนี้กันมากตั้งแต่ต้น  จึงได้ใช้ระบบที่จริงๆ แล้วก็พัฒนามาก่อนรัฐบาลนี้ด้วยซ้ำคือ การติดตั้งกล้องวงจรปิดที่โรงสีและโกดัง  ดังนั้น ในแง่การทุจริตตอนรับข้าวจากชาวนานั้นไม่ได้ยินมากเท่าในอดีต  

ถ้าจะสรุปถึงแค่ตรงนี้ก็คือ ในแง่ของส่วนแบ่ง 15,000 บาทไปถึงชาวนาแค่ไหนนั้น  ผมเชื่อว่าไปถึงดีกว่าในครั้งก่อนๆ มาก  คือผลประโยชน์ตรงนี้ส่วนใหญ่ตกถึงชาวนาจริงๆ ไม่ใช่ไม่ถึงครึ่งแบบในอดีต

 

ชาวนารายย่อยที่ไม่มีศักยภาพจะเข้าโครงการ โดยเฉพาะภาคอีสาน มีสัดส่วนเยอะขนาดไหน

ตัวเลขที่ทีดีอาร์ไอทำออกมาคร่าวๆ พบว่าข้าวร้อยละ 36 มาจากชาวนาร้อยละ 15 ที่มีฐานะดีที่สุด  ส่วนชาวนาอีกร้อยละ 85 มีผลผลิตที่เหลือมาเข้าโครงการไม่ถึงสองในสาม   ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะชาวนามีทั้งรายใหญ่และรายเล็ก และชาวนาที่มีข้าวเหลือขายและไม่เหลือขาย แน่นอนว่ามาตรการนี้จะช่วยเฉพาะชาวนาที่มีข้าวเหลือขาย  ใครมีข้าวเหลือเยอะก็ได้ประโยชน์เยอะ  ใครที่ไม่มีข้าวเหลือขาย หรือเป็นลูกจ้างในไร่นาก็จะไม่ค่อยได้ประโยชน์   ซึ่งกลุ่มนี้ก็มีจำนวนไม่น้อย   เพราะไม่ว่าในภาคไหนก็ตาม ชาวนาที่เป็นเจ้าของที่นาหรือแม้แต่เช่าที่ทำนาก็มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ และอาศัยการจ้างค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะจ้างแรงงานหรือเครื่องจักร  ดังนั้น นอกจากชาวนารายเล็กที่อาจได้ประโยชน์ไม่มากนักจากโครงการนี้แล้ว ก็ยังมีแรงงานรับจ้างในไร่นาอีกกลุ่มหนึ่ง ที่นอกจากไม่ได้มีข้าวเป็นของตัวเองแล้ว ยังอาจต้องกินข้าวแพงขึ้นด้วย


การที่รัฐเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด สร้างการผูกขาดตลาด จะส่งผลกระทบขนาดไหน

จริงๆ ผมเข้าใจว่าตอนแรกรัฐบาลไม่ได้ตั้งใจเข้ามาผูกขาดตลาด เพราะถึงแม้ว่าจะประกาศว่ารับจำนำทุกเม็ด แต่ตอนแรกเขาก็ไม่ได้คิดว่าข้าวจะมาทุกเม็ดจริงๆ  รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาคาดการณ์ว่าจะมีข้าวเข้าโครงการประมาณ  30%  ซึ่งมันเป็นแบบนั้นจริงตอนนาปีปีแรก แต่พอถึงนาปรังมันไม่ใช่แล้ว และนาปีปีนี้ข้าวที่ออกสู่ตลาดก็คงมาที่รัฐบาลเกือบทั้งหมด

ที่ข้าวไม่เข้ามาทั้งหมดก็เป็นเพราะว่าโครงการจำนำไม่ได้ให้ความสะดวกกับชาวนาเท่ากับเวลาที่เขาขายข้าวให้พ่อค้า  นอกจากมีกติกาต่างๆ แล้ว เรื่องการจ่ายเงินก็ไม่ได้ทันทีเหมือนขายให้พ่อค้าข้าว  แล้วถ้ายิ่ง ธ.ก.ส.เกิดช็อตเงินอย่างที่เป็นข่าว ก็อาจจะได้เงินช้าไปอีก ซึ่งปัญหาทำนองนี้เกิดในโครงการแทรกแซงยางพาราตอนนี้ค่อนข้างเยอะ

แต่ในภาพรวมแล้ว ก็ถือได้ว่ารัฐบาลแทบจะกลายเป็นผู้รับซื้อข้าวรายเดียวของประเทศ ซึ่งผลกระทบขั้นแรกคือชาวนาขายข้าวได้ราคาสูง  และโรงสีที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็จะทำธุรกิจลำบากขึ้น  ส่วนผลกระทบหลังจากนั้นขึ้นกับว่ารัฐบาลทำอะไรกับข้าว  ถ้ารัฐบาลคิดจะช่วยชาวนาอย่างเดียว และสามารถควบคุมไม่ให้มีการทุจริตในการซื้อข้าว และเมื่อซื้อข้าวเข้ามาแล้วก็เปิดประมูลขายออกไปอย่างโปร่งใส  พ่อค้าส่งและผู้ส่งออกก็จะมาประมูลไปขายตามปกติ  ซึ่งก็คงประมูลซื้อในราคาที่ใกล้เคียงกับตลาดโลก  รัฐบาลก็จะขาดทุนอย่างแน่นอนจากการซื้อแพงขายถูก ซึ่งคงจะขาดทุนมากกว่าในรัฐบาลก่อน เพราะรัฐบาลนี้ตั้งราคาข้าวสูงกว่าตลาดมาก  แต่ส่วนที่รัฐบาลขาดทุนส่วนใหญ่ก็จะไปเข้ากระเป๋าชาวนา  และผลกระทบต่อตลาดก็จะจบลงแค่นั้น

แต่ปัญหาที่น่ากลัวของโครงการจำนำข้าว ซึ่งเป็นมาตลอดตั้งแต่ในอดีตคือ ความสูญเสียที่เกิดจากขั้นตอนที่สอง คือการเก็บข้าว และขั้นตอนที่สามคือการระบายข้าว  ซึ่งนอกจากจะมีข้อกังวลในเรื่องการทุจริตแล้ว  สองขั้นตอนนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเสียหายได้มาก  ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดจากการทุจริตเสมอไป แต่อาจเกิดจากการขาดประสิทธิภาพก็ได้  ซึ่งในอดีตก็มีให้เห็นหลายกรณี  เช่น เอาข้าวเข้ามาแล้วไม่สั่งสีตามที่ตกลงไว้กับโรงสี  หรือเมื่อซื้อข้าวเข้ามาแล้วราคาตลาดไม่สูงก็ไม่กล้าตัดสินใจขายออกไปในราคาที่ขาดทุน แต่เก็บข้าวสารไว้ข้ามปีหรือหลายปี ซึ่งนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ยังมีปัญหาข้าวเสื่อมคุณภาพอีกด้วย ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นทวีคูณ
 

ดังนั้น ความเสี่ยงใหญ่ที่จะก่อความเสียหายหนักคือการเก็บรักษาและการระบายออก โดยส่วนตัวอาจารย์ประเมินอย่างไร คิดว่ารัฐบาลมีศักยภาพที่จะระบายออกทันไหม

ความกังวลของผมส่วนหนึ่งอยู่ที่ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลคิดอะไรอยู่  ถ้ารัฐบาลเชื่อทฤษฎีที่ว่าเก็บข้าวเอาไว้ก่อนเยอะแล้วอีกหน่อยข้าวจะราคาดีและจะขายได้กำไรมากขึ้นเอง  ก็จะน่ากลัวมากๆ  เพราะความเชื่อนี้จะทำให้สต๊อกข้าวของเราพอกพูนขึ้น นอกจากสต๊อกของปีที่แล้ว ข้าวฤดูใหม่ก็กำลังจะออกและก็ไม่ได้ออกเฉพาะประเทศไทย ข้าวประเทศอื่นเขาก็ออกเหมือนกัน  ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไม่พยายามระบายข้าวออกไปในช่วงที่พอทำได้ ก็อาจเกิดความเสียหายที่มากขึ้นในอนาคต  การระบายตอนนี้หมายถึงขาดทุน แต่ในโครงการแบบนี้ การที่เราขาดทุนจากการซื้อจากชาวนาแพงกว่าตลาดแล้วขายราคาตลาด ยังเป็นอะไรที่พอรับกันได้

ถ้าจะเทียบกัน โครงการของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ในปีสุดท้ายก็ใช้เงินประมาณ 70,000 ล้านบาท  โครงการนี้ตั้งราคาไว้สูงกว่าสมัยคุณอภิสิทธิ์อีก  เพราะฉะนั้น อาจจะขาดทุนมากกว่า ที่ทีดีอาร์ไอประมาณออกมาว่าจะขาดทุนประมาณ 100,000 ล้าน ก็เป็นการประมาณการในกรณีที่รัฐบาลเอาข้าวมาประมูลขายในราคาตลาดขณะนี้  ซึ่งเป็นการขาดทุนจากการช่วยชาวนาล้วนๆ คือไม่มีการทุจริตอะไรเลย  ถ้าโชคดีขายได้ราคาดีกว่านี้ก็จะขาดทุนน้อยลง ถ้าโชคร้ายก็จะขาดทุนมากขึ้น

แต่ถ้าเราเก็บสต๊อกข้าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  มันก็ไม่ทำให้ราคาตลาดโลกดีขึ้นหรอก ด้วยสาเหตุสองข้อ คือ

1. ตลาดรู้ว่าเรามีข้าวในสต๊อกเท่าไหร่  เราชอบพูดว่าเรารู้ว่าทั่วโลกกินเท่านั้น ผลิตเท่านี้  เพราะฉะนั้น ถ้าเราเก็บข้าวเอาไว้ซะอย่าง ผู้ซื้อจะหาซื้อข้าวจากไหนมาแทนข้าวไทยได้  แต่คนพูดอาจจะลืมไปว่าข้าวที่ขายในตลาดโลกมันนิดเดียว เทียบกับที่ผลิตและกินกันทั่วโลก  และประเทศอื่นๆ ก็มีสต๊อกของเขา อย่างต้นปีนี้ แค่อินเดียระบายสต๊อกของตัวเองออกมา  ราคาข้าวก็ตกลงเป็นร้อยเหรียญ

 2. การที่เราตั้งราคาข้าวไว้สูง ชาวนาเราก็ผลิตเพิ่ม แต่การบริโภคของเรามีแนวโน้มลดลง  ดังนั้นถ้าไม่ทำอะไรเลย ส่วนต่างพวกนี้สามารถทำให้สต๊อกเราเพิ่มขึ้นมาปีละ 4-5 ล้านตันสบายๆ โดยที่ต่างชาติไม่มีใครเดือดร้อนหาข้าวกินไม่ได้  แต่เราเองที่เดือดร้อน ดังนั้น ไม่ใช่ว่าเก็บสต๊อกแล้วราคาจะขึ้นเสมอไป

ถ้ารัฐบาลไม่เข้าใจตลาดข้าว แล้วใช้ความรู้สึก สามัญสำนึก หรือสัญชาตญาณในการตัดสินใจ ก็เป็นความน่ากลัวเช่นกัน  ที่ยกตัวอย่างได้คือกรณีคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ที่หลายคนเคยยกย่องว่าสมควรเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของค่ายเพื่อไทย แต่สิ่งที่คุณมิ่งขวัญทำเป็นตัวอย่างของความไม่เข้าใจในตลาดข้าว  ตอนที่ราคาข้าวในปี 2008 ขึ้นพรวดพราดนั้น  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาธัญพืชอื่นที่สูงขึ้น เริ่มจากข้าวโพด ตามมาด้วยข้าวสาลี และต่อมาถึงข้าว  แล้วพอราคาข้าวขึ้น คนในฟิลิปปินส์และประเทศต่างๆ ก็กลัวว่าจะไม่มีข้าวกิน จนเกิดความตระหนกที่ดันราคาข้าวให้พุ่งขึ้นไป  แต่คุณมิ่งขวัญคิดเอาเองว่าเมื่อราคาขึ้นแล้วราคามันจะขึ้นไปเรื่อยๆ แม้ขึ้นไปถึง 20,000 กว่าบาทก็ยังไม่ยอมปล่อยข้าวออกจากโกดังรัฐบาล เพราะเชื่อว่าอีกหน่อยก็จะขึ้นถึง 30,000 กว่า ซึ่งที่สุดราคาก็ไม่ได้ขึ้นไปถึงตรงนั้น เพราะไม่มีเหตุอะไรที่จะทำให้ขึ้นต่อ

ปีนี้ก็เหมือนกัน เป็นปีที่ราคาข้าวช่วงนี้ดีกว่าช่วงต้นฤดูเยอะ ต้นฤดูอยู่ที่ 400 ต้นๆ (ดอลลาร์ต่อตัน)  การที่ราคาช่วงนี้ขยับขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากเราด้วย เพราะเรากักข้าวเอาไว้ทำให้ราคาตลาดโลกขึ้น แต่มันก็ไม่ได้ขึ้นเยอะพอจะคุ้มต้นทุนของเรา เพราะเราตั้งราคารับจำนำที่สูงเป็นประวัติการณ์  แต่ถ้าเราเห็นว่าราคายังไม่คุ้มทุนและไม่พยายามระบายออกช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาธัญพืชค่อนข้างดี เนื่องจากเกิดภัยแล้งที่ทำให้ข้าวโพดในสหรัฐฯ หายไปเกือบครึ่ง โดยหวังให้มันขึ้นไปอีก ผมคิดว่าเราจะระบายข้าวออกยากขึ้นเมื่อข้าวฤดูใหม่ทะลักออกมาเต็มที่

 

"ถ้ากลไกตลาดทำงานไม่ได้ดังใจ
แต่รัฐบาลทำได้แย่กว่า รัฐบาลก็ไม่ควรไปยุ่ง 
แต่ถ้าตลาดทำงานไม่ดี แล้วรัฐบาลทำแล้วมี
'โอกาส' ทำได้ดีกว่า  
ก็อาจมีเหตุผลที่รัฐบาลควรเข้าไปแทรกแซง"

 

นโยบายนี้ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้เล่นหลักอยู่คนเดียว ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนการแข่งขันที่มีผู้เล่นเอกชน ก็ไม่ได้ช่วยให้ชาวนาได้ราคาที่เป็นธรรม ทำไมจึงเป็นแบบนั้น

เวลาเราถามว่ารัฐบาลควรมีบทบาทในเรื่องหนึ่งเรื่องใดแค่ไหนนั้น เราต้องตอบคำถามหลักๆ อย่างน้อยสองข้อคือ

หนึ่ง ตลาดทำงานได้ดีไหม

สอง ถ้าตลาดทำงานได้ไม่ดีเท่าที่เราหวัง เราต้องถามต่อก่อนว่า แล้วรัฐบาลจะทำได้ดีกว่าไหม  

ถ้ากลไกตลาดทำงานไม่ได้ดังใจ แต่รัฐบาลทำได้แย่กว่า รัฐบาลก็ไม่ควรไปยุ่ง  แต่ถ้าตลาดทำงานไม่ดี แล้วรัฐบาลทำแล้วมี 'โอกาส' ทำได้ดีกว่า  ก็อาจมีเหตุผลที่รัฐบาลควรเข้าไปแทรกแซง

ที่จริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของเราตอนนี้ก็เป็นระบบที่รัฐเข้าไปแทรกแซงอย่างมาก  ตอนที่เริ่มโครงการ 30 บาทฯ คุณหมอโชติช่วง โชตินุธร ที่กลับมาจากอเมริกา ก็ออกมาโจมตีว่าเป็นการแพทย์แบบสังคมนิยม  ซึ่งมันก็มีส่วนจริงเหมือนกัน  แต่จะเห็นได้ว่าในเรื่องนั้น นักเศรษฐศาสตร์ที่ปกติเชื่อในตลาดอย่างอาจารย์อัมมาร สยามวาลา หรืออย่างผม เชื่อว่ากลไกตลาดมีปัญหาความล้มเหลวในด้านบริการสุขภาพ  และรัฐบาลมีโอกาสที่จะทำได้ดีกว่า  เราก็เลยสนับสนุนเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งที่เป็นระบบที่เป็นไปในทางที่ผูกขาดโดยรัฐจริง

สำหรับประเด็นเรื่องตลาดข้าวที่ว่าระบบเดิมที่เป็นอยู่มันดีหรือแย่แค่ไหนนั้น เดี๋ยวขอกลับมาประเด็นนี้ทีหลัง  แต่ที่ฟันธงได้คือ กลไกที่ผ่านมาของรัฐบาลไม่มีความสามารถในการจัดการซื้อขายข้าวแทนเอกชน ซึ่งกลไกรัฐในภาคราชการเอง เช่น กระทรวงพาณิชย์ ก็น่าจะทราบดี

เมื่อ 30-40 ปีก่อน รัฐบาลเคยขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ค่อนข้างเยอะ แต่ไม่ใช่เป็นเพราะรัฐบาลขายข้าวเก่ง แต่เป็นเพราะรัฐบาลสามารถยกเว้นภาษีให้ข้าวของตัวเองได้  โดยเฉพาะค่าพรีเมียมข้าวในสมัยก่อน ซึ่งเก็บตันละหลายร้อยบาทไปจนถึงสองสามพันบาทต่อตันก็เคย  เมื่อรัฐบาลสามารถขายข้าวถูกกว่าเอกชน รัฐบาลต่างชาติเขาก็อยากซื้อ  แต่หลังจากที่เราเลิกพรีเมียมข้าวไปแล้ว กระทรวงพาณิชย์ก็แทบจะเลิกขายข้าวแบบ G to G ไปเลย  และในช่วงหลังๆ เวลารัฐบาลจะแทรกแซงราคาข้าวหรือสต๊อกข้าวทีไร รัฐบาลก็จะใช้วิธีเปิดประมูลให้เอกชนมาประมูล ซึ่งก็อาจมีข้อครหาว่ามีเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง และหลายกรณีก็คงมีจริง  แต่ก็เป็นเครื่องชี้อันหนึ่งว่ารัฐบาลเองไม่ได้มีปัญญาค้าขายข้าวเอง และรัฐบาลเองก็รู้จึงใช้วิธีเปิดประมูล

กรณีนี้ก็เหมือนกัน รัฐบาลยังใช้วิธีประมูลเหมือนเดิม แต่ตั้งแง่ว่าถ้าไม่ได้ตามราคาที่ฉันต้องการ ฉันก็จะไม่ขาย ทำให้ข้าวที่ประมูลขายออกไปได้น้อยมาก  ถ้าดูข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่ง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์ว่า พวกบริษัทที่เข้าประมูลได้มีโอกาสไปดูข้าวในโกดังแล้ว แล้วยังมาประมูลต่ำกว่าราคากลาง  ถ้าเห็นว่าคุณภาพข้าวต่ำก็ไม่ควรมาประมูล ฟังแล้วก็น่าหวาดเสียวนิดหน่อยว่าข้าวในโกดังของรัฐบาลมีปัญหาคุณภาพหรือเปล่า

ถ้าสรุปสั้นๆ ก็คือ โครงการนี้ได้ทำให้รัฐบาลกลายมาเป็นผู้ผูกขาดจริง  ส่วนที่ว่าผู้ผูกขาดรายนี้สามารถทำอะไรที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเอกชนหรือเปล่า มีเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ อยู่หลายตัว
 

ฤดูกาลที่ผ่านมา ยังมีผลไม่ชัดเจนในแง่ประสิทธิภาพใช่ไหม

รัฐบาลพยายามบอกว่าผลยังไม่ชัดเจนเพราะเรายังขายข้าวออกไปไม่หมด ยังไม่ได้ปิดบัญชีซื้อขายข้าว ซึ่งอันนี้ถ้ารัฐบาลเก็บสต๊อกยาว กว่าจะปิดบัญชีได้ก็อาจต้องใช้เวลาอีกปีสองปี  แต่ผมเชื่อว่าเมื่อรวมเบ็ดเสร็จแล้ว มันไม่หนีไปจากขาดทุนในระดับแสนล้านบาทต่อปี (จากงบรวมของประเทศปีละสองล้านล้านกว่าบาท) สักเท่าไร  เนื่องจากแม้ว่าข้าวที่รัฐบาลประมูลขายจะได้ราคาที่ใช้ได้ แต่ก็ไม่ได้ต่างจากราคาตลาดเท่าไร   ส่วนข้าว G to G ก็ไม่น่าทำให้ผลต่างไปมากนัก

สำหรับข้าวที่ประมูลขายในประเทศนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลขายข้าวออกไปได้เป็นส่วนน้อยของข้าวที่เอาออกมาประมูล  ด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ  1. รัฐบาลอยากได้ราคาสูง เพื่อให้ไม่ขาดทุนมาก  2. อาจมีคำถามว่าข้าวในโกดังรัฐบาลมีคุณภาพตรงตามสเป๊กแค่ไหน  ถ้ารัฐบาลต้องการจะระบายข้าวส่วนนี้ให้ได้มากขึ้น  ในการประมูลครั้งต่อๆ ไป รัฐบาลก็คงต้องยอมรับราคาที่ต่ำลงบ้าง  

ทีนี้รัฐบาลบอกว่าตัวเองมีสัญญาขายข้าวแบบ G to G อยู่ ตัวเลขไม่ชัดเจนแต่มีการพูดถึงกันว่า 5-8 ล้านตัน แต่วันก่อนรัฐมนตรีพาณิชย์ให้สัมภาษณ์ฟังดูแปลกนิดหนึ่งว่าเปิดเผยไม่ได้เพราะเดี๋ยวไปกระทบประเทศผู้ซื้อ  ที่แปลกก็คือ ถ้ารัฐบาลประเทศผู้ซื้อสามารถซื้อข้าวจากไทยในดีลที่ดีเป็นพิเศษ เช่น ซื้อล็อตใหญ่ในราคาที่ดีสำหรับเขา  รัฐบาลประเทศผู้ซื้อก็น่าจะยินดีที่จะนำมาอวดว่าเป็นผลงานของเขา  นอกจากว่าเขาเสียค่าโง่ซื้อจากเราแพงกว่าราคาตลาด เขาถึงจะไม่อยากเปิดเผย  แต่ถ้าถามว่าถ้าคุณเป็นรัฐบาลต่างประเทศ แล้วไทยมาเสนอขายข้าว G to G ล็อตใหญ่ คุณจะยอมซื้อแพงกว่าตลาดหรือเปล่า  ประเทศผู้นำเข้าข้าวส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจน รัฐบาลที่จะทำเพื่อประชาชนตัวเองคงไม่ซื้อข้าวแพงกว่าตลาดแน่  นอกเสียจากว่าประเทศที่พยายามทำตัวเป็นพี่ใหญ่หรือมหาอำนาจแล้วต้องการเอาใจรัฐบาลไทย  เช่น ในอดีตเมื่อนานมาแล้ว จีนก็เคยขายน้ำมันให้เราในราคามิตรภาพ  แบบนี้ถึงเป็นไปได้ที่เราอาจได้ราคาดีกว่าตลาด  แต่โดยทั่วไปแล้วโอกาสแบบนี้มีน้อยมาก  ดังนั้น โอกาสที่จะขายข้าว G to G ได้สูงกว่าราคาตลาดจึงมีน้อยมาก  แต่ถ้าขายได้จริงในราคาพอๆ กับราคาตลาดก็ยังดีกว่าขายไม่ได้  แต่ถ้าไปขายในราคามิตรภาพสำหรับคนอื่น หรือใช้วิธีไปแลกกับสินค้าอื่น (ซึ่งทั้งสองฝ่ายมักจะตั้งราคาที่เว่อร์) ก็อาจทำให้ขาดทุนมากเงียบๆ มากกว่าการขายด้วยวิธีการประมูลเสียด้วยซ้ำไป

 

"ในระยะยาวนั้น
ชาวนาจะรวยขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่สนใจเป็นชาวนา
แต่มีรายได้ดีพอที่จะซื้อข้าวราคาแพง 
ซึ่งจริงๆ แล้ว ทุกวันนี้เกษตรกรเองก็เลือกเส้นทางนี้กันโดยส่วนใหญ่"  

 

ดูท่าทางแล้วไม่ว่าจะทำยังไงเรื่องนี้ก็ต้องขาดทุนอยู่แล้ว แม้มีประสิทธิภาพก็ขาดทุน ไม่มีประสิทธิภาพก็ยิ่งขาดทุนไปกันใหญ่ ประชาธิปัตย์ทำอีกระบบหนึ่ง (ประกันรายได้) ก็ใช้เงินก้อนใหญ่เหมือนกัน ดังนั้นแล้ว ในทางหลักการเราควรอุดหนุนเกษตรกรไหม หรือควรใช้กลไกไหนกันแน่

คำถามนี้อาจแยกได้เป็นสองสามส่วน ส่วนแรกคือเราจะช่วยชาวนาหรือเกษตรกรด้วยเหตุผลอะไร  ถ้าคิดว่าเป็นเกษตรกรแล้วยากจน รัฐบาลที่ดีควรจะคิดไหมว่า ทำอย่างไรให้เขามีทางเลือกมากกว่าที่จะเป็นเกษตรกร

จริงๆ ถ้าไปดูชาวนาหรือเกษตรกรของเราจริงๆ  เกษตรกรก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่เลือก สมัยที่ผมยังเด็ก ตำราเรียนของเราบอกว่าคนไทย 80% เป็นชาวนา  ทุกวันนี้ คนที่เวลาไปสำรวจสถิติแล้วเขานับตัวเองเป็นชาวนาลดลงเหลือ 30-40% แต่คนเหล่านี้ที่มีรายได้หลักจากการทำนาอาจมีแค่ 20% กว่าเท่านั้นเอง  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโดยธรรมชาติของการทำนาเอง ชาวนาที่ทำนาปีเป็นหลัก ที่ไม่ได้เป็นชาวนาในภาคกลางในเขตชลประทาน เวลางานในไร่นาแต่ละปีก็มีแค่ไม่กี่เดือน และเดี๋ยวนี้ก็ใช้เครื่องจักรกันแทบทั้งหมด  โดยตัวเนื้องานเอง การทำนาไม่สามารถรองรับแรงงานจำนวนมากให้ไปอยู่ตรงนั้นได้ตลอดเวลา แล้วให้มีรายได้ดีด้วย เพราะถ้าเขาอยู่ตรงนั้นตลอด ก็จะว่างงานเป็นส่วนใหญ่  เมื่อการทำนาไม่ต้องใช้แรงงานมากและตลอดเวลา ก็เป็นธรรมดาที่ผลตอบแทนจากการทำนาจะไม่พอที่จะเลี้ยงคนจำนวนมาก  ดังนั้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว จำนวนเกษตรกรมักลดเหลือ 3-5% หรือไม่เกิน 10% ของประชากร

สิ่งหนึ่งที่เกิดในเมืองไทยที่แตกต่างจากในหลายประเทศคือ เราชอบมองหรือชอบเห็นประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และพยายามอนุรักษ์และขายความคิดเรื่องการเป็นเกษตรกร  เอ็นจีโอก็พยายามขายว่าเกษตรกรรมหรือการทำนาเป็นวิถีชีวิต รวมทั้งแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ราชการก็พยายามส่งเสริมให้ชาวนาปักหลักทำนาอยู่ตรงนั้น  ทั้งที่ถ้าไปดูข้อมูลจริง  เราจะพบว่าในขณะที่เราภาคภูมิใจกับข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ แต่กลุ่มคนที่จนที่สุดในไทยก็คือชาวนาที่ปักหลักอยู่แถวทุ่งกุลาร้องไห้นั่นแหละ  ขณะที่คนแถวทุ่งกุลาร้องไห้เองที่ทำนาแบบที่เขาเรียกกันเองว่า "ทำนาปีละเจ็ดวัน" คือจ้างไถ หว่านแล้วปล่อยนาทิ้งๆ ขว้างๆ แล้วมาทำงานในเมืองหรือขับแท็กซี่ในกรุง เสร็จแล้วก็จ้างเกี่ยวนวดข้าว รวมแล้วเขามีรายได้ดีกว่าคนที่อยู่ติดกับพื้นที่แล้วทำนาอย่างเดียว 

ณ ราคาข้าวปัจจุบัน ถ้าเราพยายามส่งเสริมให้คนกลับไปอยู่ในไร่นา โดยเฉพาะนาน้ำฝนที่มีผลผลิตต่ำ  เราก็จะมีชาวนาที่ยากจนเป็นจำนวนมาก   ชาวนาที่มีฐานะดีพอสมควรมักเป็นชาวนาในเขตชลประทานภาคกลางซึ่งมีน้ำและใช้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงปลูกข้าวปีละหลายรอบ ข้าวที่ปลูกราคาไม่ดีเท่าข้าวหอมมะลิ แต่เมื่อคิดรวมเบ็ดเสร็จแล้วเขามีรายได้สุทธิสูงกว่ามาก

คำถามต่อมาคือ ราคาข้าวปัจจุบันของเราต่ำเกินไปไหม  อันนี้คุณอาจได้ยินทฤษฎีสองสูงหรือสามสูงของเจ้าสัวท่านหนึ่ง และอาจเคยได้ยินว่าชาวนาในญี่ปุ่นขายข้าวได้ราคาดี  ข้อเท็จจริงอันหนึ่งก็คือ ถ้าตราบใดเรายังเป็นประเทศที่ทำตัวเป็นครัวโลกและส่งข้าวไปขายยังประเทศอื่น ราคาข้าวในตลาดของเราก็ต้องเป็นราคาที่ต่ำกว่าที่เขาขายกันในตลาดโลก ถ้าจะยกราคาข้าวของเราให้สูงกว่าตลาดโลก ก็หมายความว่า เราต้องเอาเงินภาษีไปอุดหนุนจำนวนมาก และไม่ใช่อุดหนุนเฉพาะข้าวที่คนไทยกินเท่านั้น แต่ต้องเอาภาษีไปอุดหนุนข้าวที่ส่งไปให้คนต่างประเทศกินด้วย แล้วเรารวยขนาดนั้นหรือเปล่า

จริงๆ แล้ว  สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในประเทศที่มีค่าแรงสูงหลายประเทศนั้นมีคนที่เป็นชาวนาน้อย หรือมีมาตรการที่ทำให้มีการผลิตน้อย และมักต้องพึ่งการนำเข้า  วิธีที่จะทำให้ข้าวในประเทศของเขาราคาสูง คือกีดกันการนำเข้า เก็บภาษีนำเข้าสูงๆ หรือจำกัดโควต้าการนำเข้า  เมื่อสินค้ามีน้อยราคาก็จะพุ่งสูงขึ้นเอง แต่ราคาที่สูงนี้เกิดขึ้นได้เพราะเป็นราคาที่ตัดขาดจากตลาดโลก โดยตั้งกลไกไม่ให้ข้าวเข้าสู่ประเทศโดยเสรี  เพราะถ้าปล่อยให้ข้าวเข้าได้โดยเสรี แล้วต่างประเทศสามารถส่งข้าวเข้ามาขายแข่งได้เสรี ยังไงๆ ราคาข้าวในประเทศก็จะไม่ต่างจากราคาในตลาดโลกมาก

แต่ถ้าเรายังจะเป็นประเทศส่งออก เป็นครัวของโลก และยังอยากจะผลิตเยอะๆ ส่งออกเยอะๆ แล้วต้องการให้ราคาข้าวเปลือกดีทุกเม็ดด้วย ก็หมายความว่ายิ่งเราปลูกข้าวมากขึ้นเท่าไร ก็ต้องเอาเงินภาษีไปอุดหนุนมากขึ้นเรื่อยๆ  และเวลาเราทำข้าวให้ราคาดีขึ้น เราก็จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย เพราะราคาข้าวดีก็จะจูงใจให้คนมาปลูกข้าวมากขึ้น  แทนที่จะไปปลูกพืชอื่นหรือไปทำงานอื่น  คนก็กลับมาทำนาเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณข้าวเราเยอะขึ้น ปริมาณข้าวเยอะก็อุดหนุนเยอะ เป็นวัฏจักรและทำให้ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาระยะยาว

วิธีหนึ่งที่รัฐบาลหวังว่าจะช่วยให้เราขายข้าวในราคาดีขึ้น ก็คือการไม่ยอมส่งออกข้าวในราคาต่ำ  ซึ่งที่ผ่านมาวิธีนี้ก็คงมีส่วนช่วยดึงราคาข้าวในตลาดโลกให้เพิ่มขึ้นบ้าง ประเทศคู่แข่งเราก็ขายข้าวได้ในราคาดีขึ้น  ในขณะเดียวกันสต๊อกข้าวเราก็พอกพูนขึ้น  แต่เมื่อไหร่ที่เราระบายสต๊อกพวกนี้ออกไปก่อนที่ข้าวในสต๊อกจะเสื่อมคุณภาพ ราคาข้าวก็จะตกลง  และการที่เรามีมาตรการที่ทำให้ข้าวราคาดี เกษตรกรของเรา และประเทศอื่น ก็จะปลูกเพิ่ม  สต๊อกเราก็ต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  จะนำไปบริจาคก็ยังต้องพะวงว่าอาจมีผลกดราคาส่งออกข้าว  เพราะทุกวันนี้ประเทศที่ซื้อข้าวจำนวนมากส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศจน  เหลือวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหานี้โดยไม่กระทบราคาก็คือเอาไปทิ้ง ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีสำหรับประเทศหรือสิ่งแวดล้อมแน่ๆ  ถึงแม้ว่าอาจจะดีกว่าวิธีที่เราทำอยู่บ่อยๆ คือเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บข้าวไปเรื่อยจนข้าวเสื่อมคุณภาพแล้วค่อยเอาไปกำจัด 

การแก้ปัญหาความยากจนหรือความเสี่ยงของชาวนาหรือเกษตรกรอย่างยั่งยืนสำหรับประเทศนั้น ไม่สามารถทำได้โดยการยกราคาข้าวให้สูงกว่าราคาตลาดไปเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะทำไม่ได้จริงแล้ว ยังสร้างปัญหาตามมาสารพัดด้วย  แต่อยู่ที่ให้คนมีการศึกษาที่ดี มีศักยภาพที่จะเลือกทำอาชีพต่างๆ ที่ตัวเองถนัด  เมื่อคนมีทางเลือกมากขึ้น ในอนาคตก็จะเหลือแต่ชาวนาจำนวนไม่มาก แต่เป็นชาวนาที่มีประสิทธิภาพสูง และจะมีรายได้จากการทำนาไม่น้อยกว่าคนที่ไปทำอาชีพอื่น  แต่ถ้าเราจะยังพยายามเก็บคนค่อนประเทศ 30-40% ไว้ในภาคเกษตร ซึ่งสร้างรายได้แค่หนึ่งในสิบของประเทศ ก็คงยากที่จะให้ชาวนาหรือเกษตรกรมีรายได้ดีได้   

ในระยะยาวนั้น ชาวนาจะรวยขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่สนใจเป็นชาวนา แต่มีรายได้ดีพอที่จะซื้อข้าวราคาแพง  ซึ่งจริงๆ แล้ว ทุกวันนี้เกษตรกรเองก็เลือกเส้นทางนี้กันโดยส่วนใหญ่  ทุกวันนี้ ไปถามได้ว่ามีชาวนาสักกี่รายที่อยากให้ลูกเป็นชาวนาต่อ ยกเว้นคนมีที่ดินหรือมีฐานบางอย่างอยู่  ถ้าเราไม่ไปพยายามปลุกระดมเพื่อฝืนกระแสนี้ แบบที่เราทำกันมาโดยตลอด ทั้งที่ประเทศเรามีสัดส่วนของคนที่เป็นเกษตรกรสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ระดับเดียวกับเรามาก  พอผ่านไปอีกสองสามรุ่น  เราก็จะไปถึงตรงนั้นที่รายได้ของเกษตรกรจะไม่ด้อยไปกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ใช่เกษตรกรแล้ว

 

"การถอยในเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้ยาก
เนื่องจากในตอนนี้ประเทศเรากลายเป็นเวทีต่อสู้ทางการเมืองที่ใหญ่มากและการเมืองของเรากลบอย่างอื่นไปเกือบหมด
การทำหรือไม่ทำอะไรกลายเป็นประเด็นใหญ่ทางการเมืองได้ตลอดเวลา"

 

คิดว่าโครงการรับจำนำ ณ ปัจจุบัน มันถอยได้ไหมในความเป็นจริง ทีดีอาร์ไอเองก็เสนอให้มีการยุติ ล้มโครงการด้วย

จริงๆ แล้ว ถ้ารัฐบาลเห็นว่าจำเป็นต้องถอย มันก็ถอยได้หลายวิธี และชาวนาเองก็ไม่ใช่ไม่มีเหตุผล หรือดื้อรั้นแบบนักการเมืองหรือกองเชียร์ที่เถียงเรื่องพวกนี้กันแบบเอาเป็นเอาตาย 

ไม่กี่วันมานี้มีโพลล์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าที่ไปถามชาวนา ก็พบว่าชาวนาส่วนใหญ่ประมาณ 87% ต้องการให้รัฐบาลช่วย แต่ไม่ได้เกี่ยงมากว่าต้องช่วยวิธีไหน หรือราคาต้องเป็นเท่าโน้นเท่านี้  เพราะเมื่อถามชาวนากลุ่มนี้ ชาวนาจำนวนมากที่สุด (37%) บอกว่าขอให้ช่วยเถอะ จะช่วยแบบไหนก็ได้  ถัดมามากหนึ่งในสามนิดหน่อย (35%) ตอบว่าชอบโครงการจำนำข้าวมากกว่า แต่ที่เหลืออีกเกือบหนึ่งในสาม (28%) ชอบนโยบายจ่ายเงินชดเชยแบบสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์  

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น การถอยในเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากในตอนนี้ประเทศเรากลายเป็น เวทีต่อสู้ทางการเมืองที่ใหญ่มากและการเมืองของเรากลบอย่างอื่นไปเกือบหมด การทำหรือไม่ทำอะไรกลายเป็นประเด็นใหญ่ทางการเมืองได้ตลอดเวลา ยิ่งในเรื่องนี้ที่มีการไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าศาลจะไม่รับพิจารณาก็ตาม  การถอยในเรื่องนี้ก็เสี่ยงที่จะถูกมองว่าเป็นความพ่ายแพ้ทางการเมือง   แต่ที่น่ากลัวกว่าก็คือ ถ้านักการเมืองที่บริหารรัฐบาลเชื่อทฤษฎีขายฝันหรือเชื่อข้าราชการประจำว่าที่มาบอกว่าที่ทำอยู่ตอนนี้เป็นวิธีที่ถูกแล้ว  ซึ่งผมหวังว่าคงจะไม่ใช่นะ

วิธีการต่อสู้ทางการเมืองของไทย ก็มีส่วนที่ทำให้รัฐบาลของเราใช้มาตรการที่เปลี่ยนกลับไปกลับมาอยู่เรื่อยๆ  อย่างเช่นเรื่องกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เดิมมี กยศ.  พอรัฐบาลทักษิณขึ้นมาเปลี่ยนมาใช้ กรอ. เปลี่ยนรัฐบาลอีกก็กลับมา กยศ. และพอ รมว.ศึกษาท่านที่แล้วเข้ามาก็ต้องการเอา กรอ. กลับมา  โครงการ 30 บาทฯ ดีหน่อยที่ถูกเปลี่ยนแค่ชื่อกลับไปกลับมาหลายรอบจนตอนนี้กลับมาใช้ชื่อเดิม แต่ไม่มีรัฐบาลไหน รวมทั้ง คมช. กล้าไปเปลี่ยนหรือรื้อจริงๆ  อย่างเรื่องข้าว เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์เลือกใช้โครงการประกันรายได้ พรรคเพื่อไทย (และภูมิใจไทย) ก็ฉีกมาหาเสียงด้วยโครงการจำนำข้าว

เมื่อคำนึงถึงการเมืองแบบนี้ วิธีที่ผมเขียนเสนอไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการเมื่อปีที่แล้วคือ ถ้ารัฐบาลจะทำโครงการนี้เพื่อช่วยชาวนา ก็สามารถแก้ข้อเสียในอดีตโดยไม่พยายามเก็บสต๊อกข้าวเอาไว้มากหรือนาน  ได้ข้าวมาเท่าไหร่ก็ค่อยๆ ประมูลขายออกไปอย่างโปร่งใส  วิธีนี้จะช่วยชาวนาได้ โดยไม่มีผลกระทบอื่น นอกจากรัฐบาลขาดทุน แต่ที่ขาดทุนก็เพราะซื้อจากชาวนาแพง ไม่ได้เอาไปเข้ากระเป๋าใคร  แต่ที่คงจะขาดทุนเพิ่มขึ้นเพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลกำลังทำโครงการประกันราคาข้าว แถมยังยกระดับราคาให้สูงกว่าตลาดมากเป็นประวัติการณ์ด้วย

จริงๆ นโยบายสมัยอภิสิทธิ์ไม่ใช่ประกันรายได้หรือประกันราคาตามคำที่คนนิยมใช้กันนะ   นโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่างหากที่เป็นการประกันราคาข้าวจริงๆ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือรัฐบาลรับซื้อไม่อั้นในราคาประกันที่ 15,000 บาท  ส่วนมาตรการที่ใช้สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ใช่การประกันรายได้เสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าข้าวคุณเสียหายคุณก็ไม่ได้รายได้ตามนั้น


แล้วมันคืออะไร ?

มาตรการที่ใช้ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์อาจเรียกว่าเป็น deficiency payment คือจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเติมให้มีรายได้เพียงพอ  แต่แนวคิดเดิมไม่ได้เป็นแบบนี้ตั้งแต่ต้น แนวคิดเดิมมาจากอาจารย์อัมมารเมื่อยี่สิบปีก่อน ซึ่งเอามาจากระบบ Put Options ที่ขายกันในตลาดล่วงหน้า  ทีดีอาร์ไอนำแนวคิดนี้มาเสนอเป็นทางการครั้งแรกตอนที่เราทำแผนแม่บทให้กระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2540  ซึ่งมีรายงานเล่มหนึ่งที่ผมเขียนร่วมกับ อาจารย์ที่นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์[1]   ซึ่งตอนนั้นเราเสนอระบบที่เป็นการขายประกันความเสี่ยงด้านราคาให้เกษตรกร แต่ในช่วงแรกเสนอให้รัฐบาลอุดหนุนเบี้ยประกันส่วนใหญ่ 50-80% แต่เมื่อมีการนำไปใช้ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งอาจารย์นิพนธ์กับอาจารย์อัมมารมีส่วนไปช่วยวางโครงและดูรายละเอียดให้ในช่วงแรกด้วย ก็มีสิ่งที่เปลี่ยนไปที่สำคัญสองสามอย่างคือ  (1) ไม่มีการเก็บเบี้ยประกันจากเกษตรกร  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมาตรการที่ป้องกันชาวนาปลอมได้ (2) การตั้งราคาเป้าหมายให้สูงกว่าแนวโน้มราคาตลาด ถึงมีการเรียกกันว่าประกันราคา และ (3) ต้องมีการจำกัดปริมาณ เพราะกลายเป็นโครงการช่วยเหลือฟรีๆ ซึ่งเมื่อรวมข้อ 2 กับ 3 ก็เลยมีการเรียกกันว่าเป็นโครงการประกันรายได้
 

อาจารย์คิดว่าโมเดลแบบประชาธิปัตย์ (ที่เรียกว่า 'ประกันรายได้') ดีกว่าโมเดลการรับจำนำแบบเพื่อไทยไหม

จริงๆ แล้วแนวคิดที่เราเสนอ ซึ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์นำไปใช้  ก็เพื่อแก้ปัญหามากมายที่เกิดกับโครงการแทรกแซงและจำนำข้าวในอดีต ซึ่งมีทั้งการทุจริตและความสูญเสียในแทบทุกขั้นตอน  จนเมื่อรวมกันแล้วเงินที่หายไประหว่างทางมากกว่าที่ชาวนาได้รับมาก 

ความแตกต่างที่สำคัญประการที่เป็นข้อดีของโครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ก็คือมาตรการรับซื้อทุกเม็ดช่วยแก้ปัญหาที่ชาวนาเคยถูกกดราคาได้ค่อนข้างดี  แต่หลังจากนั้นความเสี่ยงของโครงการนี้ก็เหมือนเดิม  จริงๆ มากกว่าเดิมด้วยเพราะโครงการมีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก

หัวใจของโครงการที่เราเสนอเพื่อแก้ปัญหาพวกนี้ ซึ่งก็ยังอยู่ในโครงการที่รัฐบาลประชาธิปัตย์นำไปใช้คือ การไม่ไปยุ่งกับการซื้อ เก็บ และขายข้าว  ข้อเสนอนี้อยู่บนฐานคิดที่ว่าถ้าเราจะช่วยชาวนา จะทำอย่างไรให้เงินไปถึงชาวนาโดยไม่ตกหล่นระหว่างทาง  และไม่ทำให้เกิดความสูญเสียจากการขาดประสิทธิภาพ  ในโครงการที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้ การดำเนินการทั้งหมดอยู่บนกระดาษ  ราคาเป้าหมายก็ไปเลือกดูว่าจะเอาราคาที่ไหน ราคาอ้างอิงก็เลือกราคาจริงที่มีการเก็บข้อมูลที่เชื่อถือได้มาสักราคาหนึ่ง หักลบกันแล้ว ก็โอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีที่ ธ.ก.ส.  วิธีนี้ถ้าไม่มีปัญหาชาวนาปลอม ไม่มีการสวมสิทธิ์  เงินก็ไม่รั่วไหลไปที่อื่น  เพราะโอนจากรัฐบาลไปเข้าบัญชีชาวนาโดยตรง
 

แต่มันก็เป็นเงินก้อนใหญ่เหมือนกัน ทำไมไม่มีการทักท้วงเหมือนกรณีจำนำข้าว

จริงๆ โครงการก็มีปัญหานะ  และผมเชื่อว่าถ้าทำต่อปัญหาจะรุนแรงขึ้น

ประการแรก โครงการนี้เปลี่ยนจากการขายประกันในราคาต่ำ (เนื่องจากรัฐอุดหนุน) กลายเป็นโครงการแจกเงินฟรี คนจึงแห่เข้าโครงการมากขึ้น รวมทั้งใช้วิธีสวมสิทธิ์ต่างๆ และมีการเลี่ยงมาตรการป้องกันที่จำกัดปริมาณการช่วยเหลือ

ประการที่สอง แทนที่โครงการจะช่วยลดความเสี่ยงให้ชาวนา คือช่วยไม่ให้ชาวนาขาดทุนจากกรณีที่ราคาข้าวตกต่ำกว่าปกติที่เกิดขึ้นหลังจากที่ชาวนาลงทุนลงแรงปลูกไปแล้ว  กลับถูกใช้เป็นโครงการยกระดับราคาข้าว  และมีแนวโน้มว่าจะยกขึ้นไปเรื่อยๆ   ซึ่งถ้ายกราคาประกันให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ปัญหาก็จะไม่ต่างกับโครงการของเพื่อไทย ที่จูงใจให้ปลูกข้าวเพิ่มขึ้น และต้องใช้งบอุดหนุนมากขึ้น  รัฐบาลประชาธิปัตย์ทำโครงการมา 2 ปี ปีแรกใช้ไป 50,000 ล้านบาท ปีที่สองใช้ไป 70,000 ล้านบาท ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ชนะเข้ามารอบนี้ ผมเดาว่าก็คงไม่หนีปีละแสนล้านเหมือนกัน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็สัญญาตอนหาเสียงว่าจะเพิ่มกำไรให้เป็น 40%

จริงๆ แนวคิดที่เราเสนอในตอนแรก อยู่บนพื้นฐานที่ว่า ในระยะยาวแล้ว โครงการที่พยายามยกระดับราคาให้สูงกว่าตลาดในระยะยาวไม่เคยทำได้สำเร็จแบบยั่งยืน   และในระยะยาวราคาตลาดควรเป็นสัญญาณให้เกษตรกรตัดสินใจเองว่าควรจะปลูกหรือไม่ปลูกอะไร หรือจะไปเปลี่ยนทำอาชีพอื่น  แต่ขณะเดียวกัน เราก็เห็นด้วยว่า โดยธรรมชาติของการเกษตรนั้น เกษตรกรต้องตัดสินใจแล้วลงมือปลูกหลายเดือนกว่าจะขายได้  ดังนั้น ราคาที่คาดว่าจะได้รับตอนปลูกกับราคาที่ได้จริงตอนที่เก็บเกี่ยว บางครั้งอาจจะต่างกันมาก  ซึ่งเกษตรกรที่จนควรจะได้รับความช่วยเหลือการปกป้องในเรื่องความเสี่ยงในส่วนนี้  นี่เป็นที่มาของมาตรการประกันความเสี่ยงราคา หรือที่กลายเป็นการจ่ายชดเชยแบบ deficiency payment

ข้อเสนอเดิมของเราคือ  ตั้งราคาเป้าหมายเป็นราคาพยากรณ์ของตลาดในอนาคตจากแนวโน้มในอดีตและปัจจุบัน  ยกตัวอย่างง่ายๆ อาจตั้งราคาเป้าหมายจากราคาเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังก็ได้  จากนั้น ก็มาดูว่าถ้าปีนี้ราคาจริงต่ำกว่าราคาเป้าหมาย เราก็จ่ายชดเชยไป  ถ้าราคาจริงดีกว่าก็ไม่ชดเชย  

ถ้าเราใช้วิธีนี้  ในระยะสั้นนั้น ถ้าราคาตลาดตกลงฮวบฮาบ รายได้ของเกษตรกรก็จะไม่ตกตามไปด้วย  แต่ยังจะมีรายได้พอๆ กับรายได้เฉลี่ยในสามปีก่อน  ส่วนในระยะยาวนั้น ถ้าเกษตรกรดูแล้วว่าเห็นว่าแนวโน้มราคาไม่ดีหรือแย่ลง เขาก็จะค่อยๆ ลดการปลูกไปทำอย่างอื่น โดยมีเวลาให้ปรับตัวอย่างน้อยสองสามปี

 

 




[1] วิโรจน์ ณ ระนอง และ วีรวัฒน์ จันทโชติ. "การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและกลไกการบริหารราคาสินค้าเกษตรตามข้อเสนอใหม่" โครงการแผนแม่บทกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2540-2549 กรุงเทพ: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. 2541. และใน วิโรจน์ ณ ระนอง "ข้อเสนอแนวทางการบริหารราคาสินค้าเกษตรของไทย" วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 4 สิงหาคม 2541

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประภาส ปิ่นตบแต่ง

Posted: 10 Oct 2012 10:47 AM PDT

"จะเอาพลังชนชั้นกลางที่ไหนลุกขึ้นมายังมองไม่เห็น เห็นแต่พลังชาวนาจะมาเหยียบเอา เข้าชื่อพึ่งศาลพระภูมิกันต่อไปเถอะ"

10 ต.ค.55, โพสต์เฟสบุ๊คโต้นักวิชาการที่เตือนรัฐบาลหากยังเดินหน้าจำนำข้าวจะเจอคนชั้นกลางลุกฮือต่อต้าน

บอร์ด กสทช.เห็นชอบปรับปรุงร่างจรรยาบรรณ "บอร์ดและสำนักงาน"

Posted: 10 Oct 2012 09:47 AM PDT

(10 ต.ค.55) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่าที่ประชุม บอร์ดใหญ่ กสทช. ได้มีการพิจารณาเรื่องการกำหนดจรรยาบรรณของ กสทช. โดยอิงกับมาตรฐานสากล ตามที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เสนอ โดยเห็นว่าภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือขององค์กร  กสทช. ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะทั้งในประเด็นความเป็นอิสระ ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง และความโปร่งใสขององค์กร  ควรมีจุดเริ่มต้นจากการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของ คณะกรรมการ กสทช.  และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ที่อิงกับมาตรฐานสากลของหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ ในต่างประเทศ  และเป็นมาตรฐานสากล
  
ทั้งนี้ ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบให้มีการจัดร่างประกาศจรรยาบรรณ กสทช. ฉบับใหม่เพื่อให้ครอบคลุมแนวทางปฏิบัติ คำนึงถึงธรรมาภิบาล และความโปร่งใสขององค์กรบนมาตรฐานเดียวกันกับองค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศ  หรือแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมีธรรมภิบาลสามารถให้สาธารณะตรวจสอบได้โดยอิงมาตรฐานเดียวกับองค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศ
   
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการดำเนินงานของ กสทช.มีระเบียบและแนวทางปฏิบัติในเรื่องการเบิกจ่ายค่าใช้จ่าย การรับรองของขวัญ การรักษาระยะห่างจากผู้ประกอบการอยู่แล้ว โดยเห็นควรให้ส่งให้คณะอนุกรรมการพิจารณาการปรับปรุงระเบียบการบริหารงานภายในของสำนักงาน กสทช. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างจรรยาบรรรณต่อไป  โดยให้ครอบคลุมทั้งในส่วนของบอร์ด และสำนักงาน
  
นายฐากร กล่าวต่อว่า กรณีงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ของบอร์ดแต่ละคน กสทช.กำหนดไว้คนละ 3 ล้านบาทต่อปี ส่วน ประธาน กสทช. 3-5 ล้านบาทต่อปี โดยแยกส่วนเป็นงบของ บอร์ด กสท. 15 ล้านบาท และบอร์ด กทค. 15 ล้านบาท รวมเป็น 30 ล้านบาทต่อปี  รวมทั้งการใช้งบประมาณ "รับรอง" จะมีการแก้ไขนิยามให้มีความชัดเจนว่า เป็นงบ "รับรองในภารกิจของ กสทช.เท่านั้น"
  
ขณะที่นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การเดินทางไปต่างประเทศ หรือการเดินทางโดยเครื่องบินในที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาสของกรรมการ ถือเป็น "การใช้สิทธิ" ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยค่าใช้จ่ายการเดินทางไปราชการและระเบียบกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง ที่บังคับใช้อยู่แล้ว "มิใช่" เป็นเรื่องผิดหลักจริยธรรม และจรรยาบรรณ ในการทำงานของกรรมการแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้  ที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีความเห็นให้นำมาตรฐานจรรยาบรรณ และจริยธรรม ขององค์กรกำกับดูแลในประเทศต่างๆ รวมทั้งความคิดเห็นของกรรมการ กสทช. เสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อนำไปปรับปรุงร่างจรรยาบรรณต่อไป

 


ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ศาลปกครอง"นัดไต่สวนฉุกเฉินคดีฟ้องล้ม 3G พรุ่งนี้บ่ายโมง

Posted: 10 Oct 2012 08:21 AM PDT

รายงานข่าวแจ้งว่า พรุ่งนี้ (11 ต.ค.) เวลา 13.00 น. ศาลปกครองนัดไต่สวนฉุกเฉินกรณีที่นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระ ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อพิจารณาว่าจะรับคดีเข้าสู่สารบบและกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาตามคำฟ้องหรือไม่

กรณีนี้นายอนุภาพได้ยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง โดยกล่าวหาว่าการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications: IMT) ย่าน 2.1 GHz ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16 ต.ค. ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 47 เพราะไม่ได้จัดสรรคลื่นความถี่โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขการให้บริการที่ครอบคลุมถึงพื้นที่และระยะเวลาที่จะให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศทั้ง 100% ไม่มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานการให้บริการรวมถึงอัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บได้

โดยนายอนุภาพได้ขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษา โดยให้ กสทช. ยุติการประมูลไว้ก่อนจนกว่าจะได้จัดทำประกาศ ระเบียบ และหรือมีมติเพื่อประโยชน์สาธารณะใน 3 ประเด็น ได้แก่ การกำหนดพื้นที่และระยะเวลาที่จะได้รับบริการที่จะต้องครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในระยะเวลาที่ทัดเทียมกัน โดยไม่สัมพันธ์กับระดับรายได้และปริมาณการใช้บริการ กำหนดคุณภาพในการให้บริการ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องครอบคลุมถึงความเสถียรของโครงข่ายและคุณภาพของสัญญาณในระดับสูงสุดที่มาตรฐานทางเทคนิคจะให้บริการได้ รวมถึงกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บได้ และสัญญามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549

 

คำฟ้อง ฉบับสมบูรณ์

 

คำฟ้อง  คดีหมายเลขดำที่ ๒๖๓๕/๒๕๕๕
ศาลปกครองกลาง
วันที่ ๑๐ เดือน ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

ข้าพเจ้า นายอนุภาพ ถิรลาภ เกิดวันที่ ๒๘ เดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ อายุ ๕๖ ปี อาชีพ นักวิชาการอิสระ มีความประสงค์ฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่ที่ ๘๗ ถนนพหลโยธิน ซอย ๘ (สายลม) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท จังหวัดกรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๔๐๐

ข้าพเจ้าเป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข ๐๘xxxxxxxx  หมายเลข ๐๘xxxxxxxx และหมายเลข ๐๘xxxxxxxx ได้ใช้และมีความประสงค์จะใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบสามจี (ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถสื่อสารด้วยข้อมูลความเร็วสูงรวมทั้งภาพเคลื่อนไหว) และจากข้อมูลที่เปิดเผยที่เกี่ยวข้องกับการประมูลคลื่นความถี่

สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่าน ๒.๑GHz จากเว็บไซต์ของ กสทช. ข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ยังมิได้แสดงให้เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๗ ที่กำหนดว่า "คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ  ..ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ..การดำเนินการ.. ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น"

ด้วยกิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่มีลักษณะผูกขาดในลักษณะต่างๆ ที่จำกัดทางเลือกและอำนาจการต่อรองในการใช้บริการของผู้ใช้บริการโดยตรง และที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม เช่น การใช้และครอบครองความถี่วิทยุที่มีอยู่อย่างจำกัด (และไม่อาจจะสร้างเพิ่มได้ใหม่) การมีผู้ให้บริการโครงข่ายน้อยราย (อันเนื่องจากทรัพยากรสาธารณะที่มีจำกัดและการลงทุนขนาดใหญ่) และความซับซ้อนและเข้าใจยากของการให้บริการ (เช่นอัตราในการเชื่อมต่อข้อมูลสำเร็จ ราคาต่อกิโลบิตต่อวินาที) ดังนั้นในกิจการโทรคมนาคมในประเทศต่างๆ จึงมีหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อกำกับดูแลการดำเนินกิจการและการประกอบการของผู้ให้บริการในกิจการนี้ในทุกประเทศ เพื่อเป็นการลดผลกระทบในทางลบและก่อให้เกิดผลกระทบในทางบวกแก่ผู้ใช้บริการโดยตรงและต่อประชาชนโดยรวม การปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ของหน่วยงานกำกับดูแลจึงมีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการโดยตรงและประชาชนโดยรวม ดังนั้นผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ใช้บริการโดยตรงและเป็นประชาชนคนหนึ่ง จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำของ กาทช. ในการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน ๒.๑GHz เพื่อการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบสามจี ซึ่งโดยทั่วไปจะหมายถึงระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถให้บริการการสื่อสารด้วยข้อมูลความเร็วสูง รวมทั้งภาพเคลื่อนไหว นอกเหนือจากการบริการด้วยเสียงเช่นเดียวกับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเดิมที่ผ่านมา

ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน กสทช. พึงจะต้องออกอากาศระเบียบ มติ และ/หรือมติอื่นใดตามกฏหมาย ในจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน ๒.๑ GHz ที่อย่างน้อยครอบคลุมถึงประเด็นที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนดังต่อไปนี้

๑. พื้นที่และระยะเวลาที่จะได้รับบริการ ที่จะต้องครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในระยะเวลาทัดเทียมกัน โดยไม่สัมพันธ์กับระดับรายได้และปริมาณการใช้บริการ

ในประเด็นนี้ ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน๒.๑GHz พ.ศ.๒๕๕๕ กสทช. เพียงแต่กำหนดว่าผู้ที่ได้รับการจัดสรรความถี่วิทยุจะต้องให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัด โดยครอบคลุมประชากรร้อยละ ๒๐ และ ๕๐ ภายใน ๒ ปี และร้อยละ ๓๐ และ ๘๐ ภายใน ๔ ปีสำหรับผู้ที่ได้รับการจัดสรรความถี่ขนาด ๒x๑๐ และ ๒x๕ MHz ตามลำดับ ซึ่งหากการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน๒.๑GHz เป็นไปตามที่ กสทช. กำหนด จะต้องมีพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อาศัยไม่ได้รับการบริการอย่างน้อยร้อยละ ๒๐ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๔ ปี ซึ่งประชาชนเหล่านี้มักจะเป็นกลุ่มประชาชนที่ยากจนและอยู่ห่างไกลในชนบท อีกทั้งผู้ใช้บริการโดยทั่วไปก็ไม่อาจใช้บริการได้ในพื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการลดทอนประโยชน์อันพึงมีพึงได้ประการสำคัญจากเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จะสามารถติดต่อสื่อสารได้ในทุกพื้นที่

ในข้อเท็จจริงในปัจจุบัน การติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถติดตั้งโครงข่ายให้ใช้บริการได้ภายใน ๖ เดือนในแต่ละพื้นที่ (เช่นในแต่ละจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดไกล้เคียง) และจะสามารถติดตั้งได้รวดเร็วเพิ่มขึ้นอีกในกรณีที่พื้นที่นั้นๆ มีโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิมอยู่แล้ว เช่นในกรณีของประเทศไทย เนื่องจากการติดตั้งจะเน้นไปที่การติดตั้งระบบอุปกรณ์โครงข่ายวิทยุและซอฟต์แวร์เป็นหลัก ดังนั้นความครอบคลุมในการให้บริการที่จะต้องครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในระยะเวลาที่ทัดเทียมกัน จึงขึ้นอยู่กับการลงทุนและแผนงานการบริหารการติดตั้งให้มีจำนวนชุดผู้ติดตั้งที่มากพอ มิใช่ความเป็นไปได้ทางเทคนิค ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบสามจี (FOMA) เป็นประเทศแรกเมื่อกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา สามารถเปิดให้บริการครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ ๙๐ ในปีแรก และร้อยละ ๑๐๐ ในปีที่ ๓

ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น กสทช. ต้องกำหนดพื้นที่และระยะเวลาที่จะได้รับบริการ ที่จะต้องครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในระยะเวลาที่ทัดเทียมกัน โดยไม่สัมพันธ์กับระดับรายได้และปริมาณการใช้เป็นการล่วงหน้าก่อนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน ๒.๑GHz ซึ่งผลกระทบจากการกำหนดดังกล่าว อาจทำให้ กสทช. ได้รับเงินจากการประมูลน้อยลง (เนื่องจากผู้ให้บริการจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งที่เพิ่มขึ้น) แต่ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้บริการทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

๒. คุณภาพในการให้บริการ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องครอบคลุมถึงความเสถียรของโครงข่ายและคุณภาพของสัญญาณในระดับสูงสุดที่มาตรฐานทางเทคนิคจะให้บริการได้

ในประเด็นนี้ ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๕) กสทช. ได้กำหนดค่าพารามิเตอร์ของคุณภาพของบริการ โดยไม่ได้กำหนดค่าร้อยละของระยะเวลาที่ไม่สามารถให้บริการผ่านคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Network Unavailability) โดยเพียงให้รายงานค่าทุกไตรมาสโดยไม่มีการกำหนดเป้าหมายขั้นต่ำ ซึ่งหากการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน๒.๑GHz เป็นไปตามที่ กสทช. กำหนด ผู้ใช้บริการก็จะมิได้รับความคุ้มครองจากความเสถียรของโครงข่ายการสื่อสาร

กล่าวคือ การใช้บริการอาจจะไม่สามารถใช้บริการได้เป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ได้ ซึ่งนับเป็นการสูญเสียผลประโยชน์อันเป็นสาระสำคัญจากการใช้บริการการสื่อสาร ผู้ใช้บริการจะไม่มีหลักประกันใดว่า จะสามารถติดต่อสื่อสารได้ตลอดเวลา (หรือเกือบตลอดเวลา) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่มีความจำเป็น เร่งด่วน หรือฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุ การเจ็บป่วยร้ายแรงหรือเฉียบพลัน ไฟไหม้ ตลอดจนการทำธุรกรรมใดๆ ทางการเงินที่โอกาสทางการสื่อสารจะหมายถึงชีวิตหรือทรัพย์สินที่มีค่า                                            

นอกจากนั้นผู้ใช้บริการจะยังเสียผลประโยชน์จากการที่ กสทช. เพียงกำหนดค่าพารามิเตอร์ของคุณภาพของบริการดาวน์โหลด มีความเร็วเฉลี่ยในการส่งข้อมูลของ FTP(FTP mean data rate) สำหรับ 3G ขึ้นไปไม่ต่ำกว่า ๓๔๕ Kbps (ร้อยละ ๙๐ ของ Peak bit rate ของ UMTS R99) สำหรับร้อยละ ๗๕ ของการรับส่ง FTP ที่สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด (Timeout) อีกทั้งไม่มีการกำหนดค่าขั้นต่ำสำหรับบริการภาพเคลื่อนไหว กล่าวคืออัตราส่วนจำนวนครั้งที่สามารถเข้าถึงบริการสตรีมมิ่ง(Streaming service accessibility) อัตราส่วนจำนวนครั้งการแสดงวิดีทัศน์แบบสตรีมมิ่งได้อย่างสมบูรณ์ (Streaming reproduction success ratio) ซึ่งเป็นการลดทอนประโยชน์อันพึงมีพึงได้ประการสำคัญจากเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบสามจีที่เป็นระบบที่สามารถให้บริการการสื่อสารด้วยข้อมูลความเร็วสูงรวมทั้งภาพเคลื่อนไหว

ในข้อเท็จจริงการกำหนดค่าพารามิเตอร์ของคุณภาพของบริการของประเทศต่างๆ ทุกประเทศมักจะอ้างอิงข้อเสนอแนะของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union) โดยกำหนดค่าพารามิเตอร์ของคุณภาพของบริการตนเอง โดยคำนึงถึงความเป็นได้ทางเทคนิคและประโยชน์สงสุดที่ประชาชนจะได้รับจากข้อกำหนดเหล่านั้น ดังตัวอย่างเช่น หน่วยงานกับกิจการการสื่อสารในประเทศอูกานดา (Uganda Communications Commission) ได้อ้างอิงข้อเสนอแนะของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเช่นเดียวกับประเทศไทย (ITU-TE.800) ได้กำหนดค่าพารามิเตอร์ของคุณภาพของบริการโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ทางเทคนิคและประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ โดยกำหนดให้ความสามารถในการให้บริการของโครงข่าย (Network Availability) ต้องมากกว่าร้อยละ ๙๙ และ ๙๕ สำหรับโครงข่ายหลักและโครงข่ายกระจายตามลำดับ กล่าวในทางกลับกันคือค่าร้อยละของระยะเวลาที่ไม่สามารถให้บริการผ่านคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Network unavailability) จะต้องร้อยกว่าร้อยละ ๕ (ในขณะที่ กสทช. ไม่ได้กำหนดค่าขั้นต่ำ) และโดยทั่วไปมาตรฐานความเร็วในการรับข้อมูล(download) ของโครงข่ายสามจีแบ่งออกเป็นความเร็วในการสื่อสารในขณะเดินหรือยู่กับที่ (walking or stationary) ที่ความเร็ว ๒๐๔๘ Kbps และขณะขับรถ (car moving) ที่ความเร็ว๓๔๘ Kbps (ในขณะที่ กสทช. กำหนดไว้ที่ ๓๔๕ Kbps เพียงค่าเดียว)

ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและผู้ให้บริการ กสทช. ต้องกำหนดคุณภาพในการให้บริการซึ่งอย่างน้อยจะต้องครอบคลุมถึงความเสถียรของโครงข่ายและคุณภาพของสัญญาณในระดับสูงสุดที่มาตรฐานทางเทคนิคจะให้บริการได้เป็นการล่วงหน้าก่อนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT) ย่าน ๒.๑GHz ซึ่งผลกระทบจากการกำหนดดังกล่าวอาจทำให้ กสทช. ได้รับเงินจากการประมูลน้อยลง (เนื่องจากผู้ให้บริการจะต้องลงทุนในการติดตั้งโครงข่ายเพิ่มขึ้น) แต่ประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้บริการในอัตราสูงสุดตามมาตรฐานทางเทคนิค

๓.อัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้บริการจะเรียกเก็บได้ รวมทั้งสัญญามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๔๙

ในประเด็นนี้ กสทช. มิได้มีข้อกำหนดใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับอัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บได้ในการจัดสรรคลื่นความถี่และไม่เคยมีการกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับบริการทางด้านข้อมูลใดๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งหากการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT )ย่าน ๒.๑ GHz  เป็นไปตามที่ กสทช. กำหนดผู้ใช้บริการก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองทางด้านราคาจากการที่มีผู้ให้บริการน้อยรายโดยเฉพาะในตลาดที่ยังมีลักษณะกึ่งแข่งขันผูกขาดเช่น ในประเทศไทยที่ยังคงมีผู้ให้บริการหลักเพียงสามราย (และมีแนวโน้มจะเพียงสามรายต่อไปอีก ๑๕ ปีข้างหน้า)

ในข้อเท็จจริงใน กสทช. ได้ยินยอมให้มีการให้บริการสามจีในประเทศไทยแล้วโดยมิได้ออกใบอนุญาตหรือระงับการบริการของผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตในการให้บริการ การบริการที่ผ่านมาผู้ให้บริการได้กำหนดอัตราและเงื่อนไขในการบริการโดยลำพังโดยมิได้ขออนุญาตหรือกำหนดภายใต้กฎเกณฑ์การกำกับใดๆ โดยเฉพาะอัตราค่าบริการและเงื่อนไขในการบริการทางด้านข้อมูล โดยที่ กสทช. ก็มิได้มีการตรวจสอบว่าอัตราค่าบริการและเงื่อนไขในการบริการมีความถูกต้องเหมาะสมหรือเป็นธรรมแต่อย่างไร หรือมีการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างไร ดังนั้นในตลาดที่ยังมีลักษณะกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดเช่นประเทศไทยที่ยังคงมีผู้ให้บริการหลักเพียงสามราย ผู้ให้บริการก็ไม่มีความจำเป็นต้องแข่งขันทางด้านราคาหรือเงื่อนไขในการให้บริการมากนัก โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อยที่ไม่มีอำนาจต่อรองยกตัวอย่างเช่น ราคาขายปลีกสำหรับบริการทางด้านข้อมูลของผู้ใช้บริการรายย่อยในปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่อัตรา๑๐บาทต่อ MHz ทังที่น่าจะเป็นที่อัตรา ๑ บาทต่อ MHz หรือต่ำกว่า (เมื่อเปรียบเทียบราคาระหว่างผู้ใช้บริการรายใหญ่และรายย่อยโดยเฉลี่ย) อีกทั้งราคาบริการทางด้านเสียงซึ่งสามารถลดลงได้จากเทคโนโลยีที่สามารถส่งสัญญาณได้เร็วเพิ่มขึ้นว่า๑๐เท่าเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเดิมที่ผ่านมาก็มิได้ลดลงแต่อย่างใด

ในกรณีที่ กสทช. จะกำหนดอัตราบริการขั้นสูงในภายหลังการประมูลเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการ นั้นหมายความว่าเงินที่ผู้ให้บริการจะต้องชำระในการประมูลความถี่จะเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกำหนดอัตราค่าบริการดังนั้นหากผู้ให้บริการมีต้นทุนในการใช้ความถี่สูงเท่าใด อัตราค่าบริการจะสูงไปด้วยตามต้นทุนในการครอบครองความถี่ ในกรณีนี้ประชาชนก็จะกลายเป็นผู้รับภาระของการใช้ความถี่ของผู้ให้บริการ

ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและผู้ใช้บริการ กสทช. จะต้องกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงสุดที่ผู้ให้บริการจะเก็บได้ รวมทั้งสัญญาตามมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานของสัญญาณให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นการล่วงหน้าก่อนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT) ย่าน ๒.๑ GHz ซึ่งผลกระทบจากการกำหนดดังกล่าวอาจทำให้ กสทช. ได้รับเงินจากการประมูลน้อยลง (เนื่องจากผู้ให้บริการจะได้รับค่าบริการน้อยลงและมีต้นทุนในการบริการเพิ่มขึ้น) แต่ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดจาดอัตราค่าบริการและเงื่อนไขในการให้บริการที่เป็นธรรม

กล่าวโดยสรุป กสทช.ยังมิได้จัดทำตัวแบบและเงื่อนไขในการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT) ย่าน ๒.๑ GHz ที่กำหนดผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริการโดยตรงและประชาชนทั่วไป ให้เป็นสำคัญและเป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนและครบถ้วยก่อนการจัดสรรความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ในข้อเท็จจริง กสทช.ซึ่งถูกจัดตั้งตาม พรบ. องค์กรจดสรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ (ซึ่งได้ออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๗) มิได้มีเจตนารมณ์ให้ กสทช. เป็นหน่วยงานเพื่อแสวงหารายได้เพื่อนำส่งเข้ารัฐ จึงมิใช่เป็นการกระทำตามเจษตนารมณ์ของกฎหมายและมิใช่เป็นการกระทำตามหน้าที่ตามกฎหมายดังนั้น กสทช. จึงพึงจะต้องมุ่งเน้นการกำหนดผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของผู้ใช้บริการโดยตรงและประชาชนโดยทั่วไปให้ชัดเจนก่อนการประมูลเพื่อให้เป็นเงื่อนไขและเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะได้ประโยชน์สูงจัดในการจัดสรรคลื่นความถี่ การกำหนดราคาเริ่มต้นประมูล (Reserve price) รวมทั้งการแข่งขันทางด้านราคาในการประมูล จึงจะเป็นส่วนเพิ่มในการกำหนดว่าผู้เข้าร่วมประมูลรายใดจะได้รับจัดสรรความถี่หรือไม่มากน้อยเพียงใด

ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน กสทช. จะต้องจัดทำตัวแบบและเงื่อนไขในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่กำหนดผลประโยชน์อันพึงมีของผู้ใช้บริการโดยตรงและประชาชนทั่วไป ให้เป็นสาระสำคัญและเป็นกำหนดที่ชัดเจนและครบถ้วนก่อนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT )ย่าน ๒.๑ GHz เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว

ข้าพเจ้าจึงต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง

๑. สั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๗

๒. สั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จัดทำตัวแบบและเงื่อนไขในการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT )ย่าน ๒.๑ GHz ที่กำหนดผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของผู้ใช้บริการโดยตรงและประชาชนโดยทั่วไป ให้เป็นสำคัญและเป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนและครบถ้วนก่อนการจัดสรรความถี่อย่างน้อยในประเด็นต่อไปนี้

๒.๑ พื้นที่และระยะเวลาที่จะได้รับบริการที่จะต้องครอบคลุมถึงความเสถียรของโครงข่ายและคุณภาพของสัญญาณในระดับสูงสุดที่มาตรฐานทางเทคนิคจะให้บริการได้

๒.๓ อัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บได้รวมทั้งสัญญามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙                                  

๓.  สั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมานาคมแห่งชาติ(กสทช.) ยุติการจัดสรรความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication-IMT )ย่าน ๒.๑ GHz ไว้ก่อนจนกว่าจะได้จัดทำประกาศ ระเบียบและมติใดตามกฎหมายที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๗ และตัวแบบและเงื่อนไขในการจัดสรรคลื่นความถี่ในข้อ ๒ จะแล้วเร็จและ/หรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์ 1, 2

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

AI จัดกิจกรรมสัปดาห์ภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน 'เทศกาลหนังมีชีวิต'

Posted: 10 Oct 2012 08:14 AM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ผนึกกำลังสร้างเครือข่ายรณรงค์ยุติโทษประหารชีวิต จัดกิจกรรมสัปดาห์ภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน "เทศกาลหนังมีชีวิต"

ละครเวทีจากกลุ่มละครใบไม้ไหว เพื่อรณรงค์ให้มีการยุติโทษประหารชีวิต ในวันแรกของสัปดาห์ภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน "เทศกาลหนังมีชีวิต" เมื่อ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่สมาคมฝรั่งเศส ถ.สาธรใต้ จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสถาบันเกอเธ่ จัดกิจกรรมสัปดาห์ภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน "เทศกาลหนังมีชีวิต" ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2555 ณ สมาคมฝรั่งเศส ถ.สาทรใต้ กรุงเทพ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตอังกฤษ เพื่อนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับความรุนแรงหลากหลายรูปแบบในสังคม ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในกระบวนการยุติธรรม และความเชื่อมโยงระหว่างชะตากรรมของนักโทษประหารกับสังคมส่วนใหญ่

กว่า 140 ประเทศทั่วโลกต่างตระหนักว่าโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ สิทธิในการมีชีวิตตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จึงได้ทำการยกเลิกโทษประหารชีวิตไม่ว่าในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ

สำหรับประเทศไทยนั้นยังคงมีการบังคับใช้มาตรการนี้ แม้ว่าจะมีการกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตให้เป็นจำคุกตลอดชีวิตแทนในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 2 (2552-2556​) ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐสภาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2552  อีกทั้งการประหารชีวิตยังถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญานี้ โดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นไป

"เราไม่ได้อ่อนข้อ หรือยกโทษให้กับผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (ที่เป็นธรรม) แต่เราเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบและวิธีการ การลงโทษ ผู้กระทำความผิด ให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชน"

"โทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่โหดร้าย และไม่ได้ส่งผลให้อาชญกรรมลดลง อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมยังคงมีความเสี่ยงในการตัดสินที่ผิดพลาดส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกจองจำ นอกจากนั้นโทษประหารชีวิตยังถูกนำมาใช้กับคนยากจน กลุ่มคนที่ด้อยโอกาส ชนกลุ่มน้อยและผู้ที่ไม่มีอำนาจต่อรองในสังคมกว่าร้อยละ 80" นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกล่าว

วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันยกเลิกโทษประหารชีวิตสากล (World Day against the Death Penalty) ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจและทัศนคติอันถูกต้องต่อประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิต  แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนลและสมาชิกทั่วโลกในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรนานาชาติต่อต้านโทษประหารชีวิต ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล 

ซึ่งในวันยกเลิกโทษประหารชีวิตสากลปี 2555 นี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสถาบันเกอเธ่  ร่วมกันจัดกิจกรรมสัปดาห์ภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน "เทศกาลหนังมีชีวิต" ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2555 ณ สมาคมฝรั่งเศส   ถ.สาทรใต้ กรุงเทพ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตอังกฤษ

นอกเหนือจากการนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ความรุนแรงในสังคม และโทษประหารชีวิตผ่านภาพยนตร์แล้ว ภายในงานยังมีการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ นี้ ผ่านนิทรรศการโปสเตอร์จากนักออกแบบนานาชาติ และเวทีเสวนาวิชาการ

"เราตั้งใจนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับความรุนแรงหลากหลายรูปแบบในสังคม ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในกระบวนการยุติธรรม และความเชื่อมโยงระหว่างชะตากรรมของนักโทษประหารกับสังคมส่วนใหญ่ เราต้องการสร้างความเข้าใจว่าการลงโทษที่โหดร้ายทารุณนั้นไม่สามารถลดอัตราอาชญากรรมได้ ไม่ได้ช่วยสร้างสังคมที่ปลอดภัย และมั่นคง และที่สำคัญมาตรการไร้ประโยชน์นี้ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอีกด้วย" นางสาวปริญญากล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านโทษประหารในทุกกรณี โดยถือเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตรอด และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และดูหมิ่นศักดิ์ศรีมากสุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประเทศไทยอยู่ตรงไหน: อินเทอร์เน็ตไทยแรงแค่ไหน?

Posted: 10 Oct 2012 07:43 AM PDT



ประเทศไทยเริ่มมีอินเทอร์เน็ตใช้ในปี ค.ศ. 1996 โดยเป็นประเทศที่สามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ [1] และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการใช้อินเทอร์เน็ตก็เริ่มแพร่หลายตามจังหวัดใหญ่ๆ และในตัวเมืองของจังหวัดอื่นๆ ข้อมูลจากธนาคารโลก [2] ระบุว่าในปี 2010 ไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 14.6 ล้านคน หรือประมาณ 21.2% ของประชากรทั้งหมด [3]

จากข้อมูลล่าสุดของ Ookla [4] ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเว็บ speedtest.net ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกนิยมใช้ทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตของตน ได้แสดงความเร็วของอินเทอร์เน็ตในประเทศต่างๆ โดยเฉลี่ยในช่วง 30 วันที่ผ่านมาดังนี้



โดยข้อมูลจาก Net Index (Ookla) แสดงค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 30 วัน ใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ตของผู้ที่ทดสอบระบบของตนกับเว็บ speedtest.net เป็นจำนวนกว่า 3,800 ล้านครั้ง

จะเห็นว่าความเร็วดาวน์โหลดโดยเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 8.2 Mbps จัดเป็นอันดับที่ 61 [4] และความเร็วในการอัพโหลดของไทยอยู่ที่ 1.8 Mbps เป็นอันดับที่ 92 จากทั้งหมด 178 ประเทศ [5]

ส่วนค่า household promise index นั้นหมายถึงความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ใช้งานได้จริงเทียบกับความเร็วที่จ่ายเงินซื้อจากผู้ให้บริการ ซึ่งไทยมีค่า household promise index อยู่ที่ 88.82% จัดเป็นอันดับที่ 32 จาก 64 ประเทศ [6] โดยการวัดค่า household promise index นั้นทำโดยการใช้ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่วัดได้จริง มาคำนวณประกอบกับผลการตอบแบบสอบถามที่ให้ผู้ทดสอบตอบว่าอินเทอร์เน็ตที่ตนเองเลือกใช้บริการอยู่นั้นมีความเร็วเท่าไร

จากความเร็วและอันดับที่กล่าวถึงไปนั้นอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่น่าพอใจ แต่หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น เกาหลี ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และจีน จะพบว่าความเร็วอินเทอร์เน็ตในบ้านเรายังตามหลังประเทศเหล่านี้อยู่พอควร

ในปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธได้อีกแล้วว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพประชากรในประเทศ ซึ่งนอกเหนือจาก "จำนวน" ประชากรในประเทศที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้วนั้น "คุณภาพ" ของบริการอินเทอร์เน็ตยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเช่นกัน

 

อ้างอิง:
[1] http://en.wikipedia.org/wiki/Internet_in_Thailand
[2] http://data.worldbank.org/indicator/IT.NET.USER
[3] http://data.worldbank.org/indicator/IT.NET.USER.P2
[4] http://www.netindex.com/download/allcountries/
[5] http://www.netindex.com/upload/allcountries/
[6] http://www.netindex.com/promise/allcountries/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อในความขัดแย้ง: บทเรียนจากอาเจะห์

Posted: 10 Oct 2012 06:49 AM PDT

 
หลังจากที่ขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ เซ็นสนธิสัญญาสันติภาพร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซียในปี 2549 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ โดยผ่านการสู้รบนองเลือดกันมากว่า 30 ปี จากสาเหตุความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ ทรัพยากร และอำนาจการปกครอง จังหวัดอาเจะห์ ซึ่งเป็นดินแดนที่รุ่มรวยไปด้วยน้ำมันและแร่ธาตุมากที่สุดแห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย ก็ได้รับสถานะการปกครองพิเศษที่มีอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองได้มากขึ้น สามารถตั้งพรรคการเมืองท้องถิ่นเพื่อเป็นตัวแทนประชาชนชาวอาเจะห์ และจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ตามคำเรียกร้องของผู้นำขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ 
 
แต่ถึงกระนั้น สภาพสังคมหลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพ ก็มิได้ราบรื่นไร้ปัญหา ประชาชนชาวอาเจะห์ยังคงเผชิญกับความรุนแรงที่เกิดจากกฎหมายชารีอะห์ พร้อมกับตำรวจชารีอะห์ที่นำมาบังคับใช้เมื่อปี 2546 ความยากจนที่เลวร้ายลงหลังเหตุการณ์สึนามิถล่มในปี 2547 ซากเดนของการใช้กฎหมายความมั่นคง และระบอบทหาร โดยเฉพาะสตรีที่มักจะตกเป็นเหยื่อในความรุนแรงดังกล่าว 
 
บทบาทของสื่ออิสระ "ออนไลน์" ที่เกิดขึ้นมาใหม่ในสภาพสังคมที่มีความขัดแย้ง และมีสาธารณูปโภคที่ห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า อาคารบ้านเรือน ไม่ต้องพูดถึงอินเทอร์เน็ต จะมีบทบาทอย่างไรในการสร้างความเข้าใจระหว่างฝ่ายต่างๆ ในความขัดแย้ง มาคุยกับผู้ก่อตั้งสื่อใหม่ในอาเจะห์อย่าง "อาเจะห์ ฟีเจอร์" กับ "ลินดา คริสแตนตี้"
 
 
เล่าให้ฟังหน่อยว่า เว็บไซต์อาเจะห์ ฟีเจอร์เริ่มขึ้นมาได้อย่างไร 
 
ฉันเดินทางมาที่อาเจะห์เมื่อเดือนตุลาคม 2548 หรือเพียง 2 เดือนหลังจากที่ขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ และรัฐบาลอินโดนีเซียเซ็นสัญญาเจรจาสันติภาพที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ก่อนหน้านั้น ฉันอาศัยอยู่ที่กรุงจาการ์ตา เจ้านายของฉัน ที่เคยทำงานให้กับทำงานให้กับสถาบันด้านข้อมูลข่าวสาร ต้องการให้มีคนที่ประจำอยู่ที่อาเจะห์ให้เขา ซึ่งมีหน้าที่ผลิต feature หรืองานเขียนสารคดี เป็นผู้ให้บริการเนื้อหาในอาเจะห์ โดยก่อนที่จะไปทำงานในอาเจะห์ ฉันทำงานอยู่ที่คอมมอนกราวนด์ อินโดนีเซีย เขียนละครวิทยุเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขความขัดแย้ง โดยเฉพาะวิธีการการแก้ปัญหาระหว่างชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติและศาสนา เพราะในอินโดนีเซีย เรามีหลายกลุ่มชาติพันธ์ุและศาสนา ซึ่งบางทีก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันบ้าง
 
ตอนที่ฉันเดินทางไปถึงอาเจะห์ในตอนนั้น ก็ตกใจมาก เพราะเจ้านายฉันได้บอกว่า มีอาคารสำนักงานที่ดีมากให้ แต่เมื่อเปิดตึกนี้เข้าไป ก็ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือเตียงให้นอน ไม่มีอะไรเลย ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการโทรหาคนรู้จัก ซึ่งเป็นคนที่เคยเขียนคอลัมน์ให้ตอนที่ฉันเคยทำงานอยู่ที่สำนักข่าวที่หนึ่ง จึงไปอาศัยอยู่กับเขา จากนั้นก็ค่อยๆ ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เข้าไป เป็นตึกสองชั้น ชั้นที่แรกว่าง ชั้นที่สองเป็นสำนักงาน และชั้นที่สามเป็นห้องนอนของเรา เนื่องจากเป็นช่วงหลังความขัดแย้งใหม่ๆ บางทีก็จะมีผู้ชายเดินเข้ามาไถเงินบ้าง ถามเรื่องงานบ้าง บางทีเขาอาจจะเป็นคนที่เคยอยู่ในขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ ก็อาจจะเป็นได้ 
 
แถมออฟฟิศของฉันอยู่ติดกับที่พักของทหารเลย ทำให้ช่วงแรกตกใจมาก เพราะตอนนั้นความกังวลจากสงครามก็ยังมีอยู่ทั่วไปแพร่หลาย โดยในช่วงสี่เดือนแรกของการตั้งอาเจะห์ ฟีเจอร์ ฉันเป็นคนต้องเขียนเนื้อหาเองทั้งหมด และตอนนั้นก็รู้จักคนอาเจะห์มากขึ้น ก็เริ่มได้คอนทริบิวเตอร์ในช่วง 2-3 เดือนแรก ก็เขียนเกี่ยวกับอาหาร การเมือง สังคม วัฒนธรรม 
 
คุณเป็นสื่อออนไลน์ แต่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอาเจะห์ตอนนั้นมีอยู่น้อยมากๆ ?
 
ใช่ มันค่อนข้างจะแย่มาก เคยมีบางวันที่ไฟฟ้าในออฟฟิศดับมากกว่าสิบครั้ง และอินเทอร์เน็ตไวไฟ ก็ไม่ได้ดีมากด้วย บางทีต้องไปนั่งอยู่ร้านกาแฟสำหรับชาวต่างชาติ เพราะฉันต้องเขียนงาน และต้องใช้ไฟฟ้า เพราะในออฟฟิศเราไม่มี หรือบางทีฉันก็ต้องไปร้านกาแฟเพื่อที่จะใช้เน็ต เราเผชิญกับปัญหานี้มากว่า 5-6 ปี และตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่
 
นอกจากนี้ในตอนแรก มีปัญหาบ้างเพราะเงินที่สามารถจ่ายให้นักเขียนมีน้อย ก็เลยเริ่มไปหาความช่วยเหลือที่มหาวิทยาลัย State Islamic University Ar-Raniry ในบานดา อาเจะห์ ผู้อำนวยการสถาบันนั้น ก็เลยเสนอให้ฉันมาสอนวิชาวารสารศาสตร์ และในทางกลับกัน ก็จะได้นักศึกษาอาเจะห์มาช่วยเขียนงานให้ นอกจากนี้ก็ยังมีคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและนักข่าวมาร่วมเขียนให้ด้วย 
 
คิดว่าตนเองแตกต่างจากสื่อกระแสหลักอื่นๆ อย่างไร? 
 
สื่อกระแสหลักอื่นๆ เขาพยายามอยู่ใน "เซฟโซน" เขาไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์กองทัพอินโดนีเซีย พวกเขามักจะอ้างแหล่งข่าวจากทางการหรือกองทัพอินโดนีเซียเท่านั้น และไม่ค่อยไปสัมภาษณ์พยานหรือชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ เพราะพวกเขามีความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับความบาลานซ์และความแฟร์  
 
เขาเข้าใจว่า ความบาลานซ์คือ หากคุณสัมภาษณ์ทหารอินโดและสัมภาษณ์ขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ นั่นแหละคือความบาลานซ์ แต่นั้นไม่ใช่ความจริง คุณควรจะต้องสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด ไม่ใช่แค่สองด้านเท่านั้น อาจต้องห้าด้านเลยก็ได้ นั่นแหละคือความบาลานซ์ 
 
ฉันคิดว่าเราต้องพูดความจริง เราต้องเขียนไม่เพียงแค่มุมมองด้านเดียวหรือสองด้านเท่านั้น แต่เราต้องสัมภาษณ์ ไม่เพียงแค่ทางการอินโดหรือทหารอินโด หรือฝ่ายขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ แต่เราต้องสัมภาษณ์หลายๆ ด้านอย่างที่บอกไป และเราก็เช็คตรวจสอบให้ดี สื่อกระแสหลักทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเช็คและตรวจสอบแหล่งที่มา พวกเขาตีพิมพ์ข่าวลือ ซึ่งข่าวลือจะยิ่งทำให้เกิดสงครามและความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น
 
มีคนเคยบอกฉันว่า เฮ้ ลินดา ถ้าคุณพูดความจริง อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งอันใหม่ขึ้นก็ได้ เพราะคุณเปิดแผลใหม่ๆ ที่อาจทำให้คนไม่สบายใจ หรือเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ทำให้เขานึกถึงความเจ็บปวดในอดีตขึ้นมาอีก แต่ฉันก้บอกว่าไม่หรอก ถ้าคุณพูดความจริง คุณก็ทำให้ได้รู้ในรายละเอียดว่ามีอะไรเกิดขึ้น และเขาก็จะร่วมกันหาทางออกหรือเรียนรู้จากอดีต เพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะความรุนแรงต่อมนุษยชาติและความรุนแรงต่อสตรี 
 
 
ได้ข่าวว่าสำนักข่าวนี้มีผู้หญิงทำงานเป็นส่วนใหญ่ใช่ไหม?
 
ส่วนใหญ่นักเขียนประจำและนักเขียนคอนทริบิวเตอร์เป็นผู้หญิง มีสตาฟคนหนึ่งชื่อดอนน่า เธอถูกจับสองครั้งแล้วโดยตำรวจชารีอะห์เพราะไม่ได้ใส่ผ้าคลุม ฉันเองก็ไม่ใส่ ฉันบอกว่า ให้บอกตำรวจชารีอะห์ไปเลยว่าเราไม่ใส่เพราะไม่ใช่วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวมุสลิมอาเจ๊ะห์หรืออินโดนีเซีย มันเป็นสไตล์อาหรับต่างหาก 
 
ในช่วงแรกๆ เราไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเรื่องผู้หญิงเป็นพิเศษ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ได้เขียนเกี่ยวกับผู้หญิงมากขึ้น เราตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับสตรีที่ถูกตำรวจชารีอะห์จับเพราะไม่คลุมผ้าฮิญาบ เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมมุสลิมของสตรี และเราก็บอกว่า จิลบาบ (ชุดแต่งกายสตรีมุสลิมที่คลุมหน้าคลุมตัว) ไม่ใช่วัฒนธรรมสมัยนี้ แต่มันเป็นการแต่งกายตั้งแต่สมัยในสมัยฮัมบูราบีแล้ว และนั่นก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับสังคมอาเจะห์ 
 
นอกจากเรื่องตำรวจชารีอะห์แล้ว สตรีที่อาเจะห์เผชิญกับปัญหาสำคัญๆ อะไรอีกบ้าง? 
 
 ก็ยังมีเรื่องความรุนแรงในครอบครัว สามีตบตีภรรยา เกิดขึ้นบ่อยมากในอาเจะห์ ฉันได้เคยไปสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านในชุมชนแห่งหนึ่ง เขาก็บอกว่าความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาอันดับหนึ่งในชุมชน นอกจากนี้ ผู้หญิงในอาเจะห์ส่วนใหญ่เป็นผู้หาเลี้ยงดูที่หาเงินเลี้ยงครอบครัวด้วย และในบ้าน ก็ต้องรับใช้ปรณนิบัติสามีเป็นธรรมเนียมในสังคมของอาเจะห์   
 
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีความขัดแย้ง อินโดนีเซียก็ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก และนี่ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญของความรุนแรงต่อมนุษยชาติและสตรี ทำให้เกิดการซ้อมทรมาน การสังหารนอกระบบ การข่มขืน และภายหลังสงคราม พวกเขาก็ใช้กฎหมายชารีอะห์ นี่ก็เป็นต้นตอของความรุนแรงต่อสตรีและมนุษยชาติเช่นเดียวกัน กฎหมายชารีอะห์ให้ความชอบธรรมแก่ตำรวจในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนโดยเฉพาะสตรี 
 
มีอยู่ช่วงหนึ่ง เหล่าทหารอินโดนีเซียมีที่พักหลังพิเศษที่เรียกกันว่า "รูมาห์ กาดองห์" มีผู้หญิงอยู่ในนั้นหลายคน มีการข่มขืนและซ้อมทรมานเกิดขึ้นในบ้านหลังนั้น ฉันเคยได้สัมภาษณ์สตรีที่อาศัยอยู่ที่บ้านข้างๆ หลังนั้น เธอบอกว่า สามีของเธอเสียชีวิตจากโรคซึมเศร้า เพราะทุกวันทุกคืน พวกเขาจะได้ยินเสียงร้องของผู้หญิงออกมาจากบ้านหลังนั้น ทั้งกรีดร้องและตะโกนออกมาว่า "ช่วยด้วยๆ" และบางที เธอเห็นสตรีที่ถูกฆาตกรรมโดยการใช้ถุงพลาสติกครอบหน้า ปรากฏว่า สามีของเธอได้เสียชีวิตด้วยโรคซึมเศร้า หลังจากที่บ้านหลังนั้นถูกปิดลงไม่กี่เดือนต่อมา "รูมาห์ กาดองห์" ดำเนินอยู่ระหว่างช่วงปี 1998 จนถึงราวปี 2005 ก่อนที่รัฐบาลอินโดนีเซียเซ็นสัญญาสันติภาพที่กรุงเฮลซิงกิ 
 
ในเขตลังซา ทางตะวันออกของอาเจะห์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็เคยมีรายงานว่าตำรวจชารีอะห์สามคนข่มขืนผู้หญิง เนื่องจากเธอถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้ เธอ สามีและแฟนของเธอ ถูกจับกุม และนำตัวมาที่สถานีตำรวจ ตำรวจก็ให้แฟนและสามีกลับบ้านไปก่อน จากนั้นก็รุมข่มขืนเธอ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ามีการเฆี่ยนสตรีสองคนที่ขายข้าวในตลาดช่วงเดือนถือศีลอด (รอมดอน) ตอนนั้นเธออยู่ที่ร้านและอยู่กับลูกๆ ก็มีตำรวจมาถามขอให้ขายข้าวให้หน่อย แต่ผู้หญิงที่ขายข้าวก็บอกว่า ไม่สามารถขายให้ได้ แต่ตำรวจชารีอะห์ก็ยังยืนกราน ในที่สุดเธอก็ขายข้าวให้ แต่ก็บอกให้ตำรวจเข้ามากินหลบๆ ข้างใน เพราะเดี๋ยวจะเกิดปัญหา แต่ทันใดนั้น ในขณะที่ผู้หญืงสองคนนั้นทำกับข้าวอยู่ เธอก็ถูกจับโดยตำรวจกลุ่มนั้นและถูกส่งไปที่สถานีตำรวจ และถูกเฆี่ยนด้วยหลายครั้ง จะเห็นว่า พวกเจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรก็ได้กับกฎหมายนี้
 
นอกจากนี้ แม้แต่ชาว "พังก์" ก็ยังถูกจับด้วยตำรวจธรรมดา ไม่ใช่ตำรวจศาสนาด้วยซ้ำ โดยเขาบอกว่า การแต่งตัวแบบนี้ ไม่ใช่สไตล์อิสลาม แต่เป็นสไตล์ตะวันตก และก็จับพวกเขาไปลงโทษด้วยการจับลงไปอยู่ในบ่อน้ำให้อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อดัดนิสัย 
 
คิดว่า สิ่งที่ท้าทายสำหรับสื่ออิสระอย่าง อาเจะห์ ฟีเจอร์ คืออะไรบ้าง? 
 
แน่นอนว่า เราไม่สามารถมีทุน มีเครื่องมือต่างๆ ไปแข่งออกอากาศกับสื่อกระแสหลักใหญ่ๆ ได้ แต่เราสามารถให้การศึกษาคนที่อยู่ฝั่งเดียวกับเรา หรือคนที่ทำงานเขียนให้รุ้เรื่องมากขึ้นเกี่ยวกับสังคม ซึ่งพวกใหญ่เขาก็เป็นนักเขียน นักเรียน นักศึกษา ปัญญาชน หรือคนที่ทำงานในองค์กร ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ พวกเขาไม่ใช่คนรากหญ้า แต่เขาเป็นผู้มีอำนาจบทบาทตัดสินใจต่างๆ ในสังคม ฉะนั้นฉันคิดว่านี่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเรา สำหรับอาเจะห์ฟีเจอร์ และสื่อทางเลือกแบบเรา เราไม่ได้ตีพิมพ์เฉพาะสิ่งที่แย่ๆ เท่านั้น แต่เรายังตีพิมพ์เรื่องวัฒนธรรม อาหาร การท่องเที่ยวด้วย 
 
ฉะนั้นถ้าเราตีพิมพ์เรื่องราวที่เกี่ยวกับอาเจะห์ในทางนี้ เขาก็ได้รู้เกี่ยวกับสังคมอาเจะห์มากขึ้น และเมื่อพวกเขาโตไปเป็นรัฐมนตรีหรือคนที่มีบทบาทต่อไปในรัฐบาล หรือผู้อำนวยการองค์กรต่างๆ พวกเขาก็จะมีบทบาทที่สำคัญ เพราะพวกเขาเป็นชนชั้นนำในสังคม ซึ่งจะแตกต่างจากชนชั้นล่างหรือคนรากหญ้า พวกเขาไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่สามารถซื้อหนังสือพิมพ์ได้มากนัก และนิยมการดูโทรทัศน์หรือวิทยุมากกว่า 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน จี้รัฐฯ เร่งบังคับใช้ผังเมืองรวมฉะเชิงเทรา

Posted: 10 Oct 2012 03:45 AM PDT

 

ชาวบ้านสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืนบุกทำเนียบฯ จี้รัฐบาลประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อปกป้องแหล่งผลิตอาหาร ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชน ตัวแทนสำนักปลัดนายกฯ รับหนังสือ พร้อมรับปากประสานผู้เกี่ยวข้อง
 
 
วันที่ 9 ต.ค.55 เวลาประมาณ 09.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มชาวบ้านสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กว่า 100 คน รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐเร่งประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อปกป้องแหล่งผลิตอาหาร ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชน 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสาธิต สุทธิเสริม หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนออกมารับหนังสือ โดยรับปากว่าจะเร่งนำหนังสือฉบับดังกล่าวเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็ว และจะส่งหนังสือกลับไปยังกลุ่มชาวบ้านในระยะเวลาไม่เกิน 10 วันหลังจากนี้
 
ก่อนหน้านี้ สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน จัดทำข้อมูลเผยแพร่ "8 ปีแห่งความล่าช้า นำมาซึ่งภัยคุกคามพื้นที่ชุมชน คนแปดริ้วจึงลุกขึ้นมาใช้สิทธิให้รัฐเร่งประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวม จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อปกป้องแหล่งผลิตอาหาร ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชน" ระบุประเทศไทยไม่เคยมีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของคนในแต่ละท้องที่ 
 
เห็นได้จากตั้งแต่ปี 2504 ประเทศไทยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 จนวันนี้เวลาผ่านมากว่า 50 ปี มีการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเห็นได้ชัดในหลายพื้นที่ แต่มีประกาศผังเมืองรวมจังหวัดบังคับใช้เพียง 5 จังหวัด ทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินในหลายจังหวัดเกิดความขัดแย้งกันเอง เช่น นิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าว ท่าเรือขนส่งถ่านหินตั้งอยู่ใกล้ชุมชน โรงแรมหรือคอนโดมีเนียมตั้งล้ำลงไปในแม่น้ำ เป็นต้น
 
เอกสารดังกล่าวระบุด้วยว่า ชาวจังหวัดฉะเชิงเทราตระหนักถึงความสำคัญของผังเมืองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปกป้องคุ้มครองพื้นที่ผลิตอาหาร ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชนของจังหวัด โดยผังเมืองรวมจังหวัดฉะเชิงเทราได้เริ่มจัดทำมาตั้งแต่ปี 2547 จนปัจจุบัน 8 ปีมาแล้วร่างผังเมืองฉบับดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายเนื่องจากกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอกระทรวงมหาดไทย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนามตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518
 
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืนที่มีต่อนายกรัฐมนตรี คือขอให้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยปฏิบัติหน้าที่ประกาศใช้กฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดฉะเชิงเทราโดยเร็ว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติเอกฉันท์ 'ศาลรธน.' ม.112 ไม่ขัด รธน.

Posted: 10 Oct 2012 02:12 AM PDT

10 ตุลาคม 2555 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ระบุ เป็นบทบัญญัติที่เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ตามหลักนิติธรรมที่เป็นศีลธรรมหรือจริยธรรมของกฎหมาย อัตราโทษมีความเหมาะสมได้สัดส่วน และย้ำการกระทำขัดม. 112 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐจริง

สืบเนื่องจากจำเลยในสองคดี คือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ นายเอกชัย หงส์กังวาน ได้ยื่นโต้แย้งให้ศาลอาญา ส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 112 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 8 มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่เสริมให้รัฐธรรมนูญมาตรา 8 มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงไม่มีมูลกรณีที่จะอ้างว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ได้ คงมีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยเพียงว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า หลักการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สอดคล้องกับการให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันและประมุขของประเทศไทย การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรมที่เป็นศีลธรรมหรือจริยธรรมของกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมิได้ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง 

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ภาคความผิด ลักษณะที่ 1 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นมาตรการของรัฐที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ จากการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้าย ซึ่งการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ และเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรที่มีความหมายเช่นเดียวกับการเป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคสอง ที่เป็นเงื่อนไขแห่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูฯญ มาตา 45 วรรคหนึ่ง อีกทั้งอัตราโทษตามที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดไว้ ก็เป็นการกำหนดเท่าที่จำเป็นเพื่อให้รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ที่รับรองสถานะของพระมหากษัตริย์มีผลใช้ได้อย่างสมบูรณ์ในทางปฏิบัติ  และเป็นการจำแนกการกระทำความผิดที่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับสถานะของบุคคลที่ประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดไว้ อีกทั้งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เป็นการทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่ได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคหนึ่งแต่ประการใด เพราะบุคคลทุกคนยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายในขอบเขตที่ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

ด้านนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ให้ความเห็นในเฟสบุ๊คของตัวเอง http://www.facebook.com/verapat ในประเด็นดังกล่าวว่า การที่ศาลให้เหตุผลว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเป็นเหตุผลที่สำคัญมาก เพราะแสดงให้เห็นว่า มาตรา 112 ไม่ได้มุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์เป็นการส่วนพระองค์ แต่มุ่งคุ้มครองรัฐที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

"ดังนััน จากนี้ไป ตำรวจ อัยการ และศาลทั้งหลาย โดยเฉพาะศาลฎีกา ต้องพิจารณาแยกแยะให้ดีว่า การกระทำที่ฟ้องมาตามมาตรา 112 นั้น มีเนื้อหาสาระที่กระทบ 'ความมั่นคงของรัฐ' หรือไม่

"หากสิ่งที่ฟ้องมา เป็นเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่ 'ความมั่นคงของรัฐ' ก็ต้องไม่นำไปโยงกับมาตรา 112 เช่น การที่ใครปากพล่อย พูดจาหยาบคายไม่เรียบร้อย ไม่ยืนตรงเคารพเพลง ฯลฯ ก็ต้องไปฟ้องตามกฎหมายมาตราอื่นที่ออกแบบมารักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม แต่ไม่ใช่จับทุกอย่าง ยัดเข้าเป็นเรื่อง 'ความมั่นคงของรัฐ' ไปเสียหมด

"แต่หากผู้ใดยัดทุกอย่างเข้าเป็นเรื่อง 'ความมั่นคงของรัฐ' ไปเสียหมด เท่ากับว่า ผู้นั้นกำลังดูแคลนว่า สังคมไทยมีความอ่อนแอบางอย่างที่แตะต้องไม่ได้ เพราะผู้นั้นมองว่าเพียงแค่ใครพูดพล่อยๆ ก็จะทำให้ความอ่อนแอนั้นพังสลายจนกระทบ 'ความมั่นคงของรัฐ' ไปหมดทุกเรื่อง

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานปราจีนฯ ประท้วงนายจ้างลอยแพ จ่ายชดเชยแค่ 30%

Posted: 10 Oct 2012 02:12 AM PDT

คนงานบริษัทกบินทร์บุรี แพนเอเชียฟุตแวร์ ประท้วงนายจ้างลอยแพ จ่ายชดเชยแค่ 30% เดือดร้อนเพราะอายุมาก หางานทำยาก เตรียมสู้ขั้นกฎหมายต่อไป

10 ต.ค. 55 - ที่หน้าบริษัทกบินทร์บุรี แพนเอเชียฟุตแวร์ จำกัด หมู่ที่ 5 ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี พนักจำนวนกว่า 300 คน ได้มารวมตัวกันที่หน้าบริษัท เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยหลังจากที่บริษัทหยุดกิจการ และปลดพนักงานเกือบทั้งหมดออก อีกทั้งไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยตั้งเวทีปราศรัยบนถนนสายสุวรรณศรสายเก่า กบินทร์แพน-เทศบาลตำบลกบินทร์ ปิดช่องทางการจราจร 1 ช่องทาง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กบินทร์บุรี คอยอำนวยความสะดวก

ทั้งนี้พนักงานบริษัทได้มีการทำหนังสือข้อเรียกร้องจำนวน 3 ข้อคือ 1.ขอให้ทางบริษัทออกใบรับรองการทำงาน ใบผ่านงานจากบริษัท โดยระบุบริษัทปิดกิจการเลิกจ้าง และไม่ให้พนักงานเขียนใบลาออก 2.ขอให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ตามกฎหมายมาตรา 118 และ 3.ขอให้หน่วยงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานให้ดูแลและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้าง
       
โดยในวันพรุ่งนี้ (11 ต.ค.) กลุ่มพนักงานบริษัททั้งหมดจะไปชุมนุมต่อที่หน้าศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรีหลังใหม่ที่ ต.ไม้เด็ด อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี โดยให้เวลาในการแก้ไขปัญหา 3 วัน ถ้ายังไม่มีความคืบหน้าก็จะเดินทางไปชุมนุมที่หน้ากระทรวงแรงงาน และที่หน้าทำเนียบรัฐบาลต่อไป

พนักงานหญิงอายุ 45 ปีคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับประชาไททางโทรศัพท์ว่าบริษัทจะจ่ายค่าเลิกจ้างแค่ 30% เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย และหลังจากนี้ตัวแทนคนงานคงแต่งตั้งทนายความไปสู้กันต่อไป เธอระบุว่าในตอนนี้เรื่องความลำบากคือ พนักงานส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิงมีอายุงานกว่า 10-15 ปี จะไปหางานทำที่ไหนก็ยาก รวมถึงต้องดูแลครอบครัว ในส่วนของตัวเองนั้นก็ยังมีภาระที่ยังส่งลูกเรียนไม่จบ

"ตอนนี้เราไม่ยอมรับข้อเสนอ 30% เบื้องต้นเราขอแค่ตามกฎหมาย แต่นายจ้างไม่ยอมบอกว่าให้ไปฟ้องเอา"

อนึ่งจากข้อมูลของเว็บไซต์บริษัทแพนเอเชียฟุตแวร์ (บริษัทแม่ของบริษัทกบินทร์บุรี แพนเอเชียฟุตแวร์) พบว่าเดิมเป็นเพียงแผนกหนึ่งใน บริษัทไลอ้อน (กรุงเทพฯ) ซึ่งมีประวัติการดำเนินธุรกิจดังนี้

2507 - รับจ้างผลิตรองเท้าผ้าใบยี่ห้อ " โอลิมปิค "
2517 - ตั้งบริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด (BRC) ผลิตรองเท้า " แพน " ( PAN )
2522 - ตั้งบริษัท แพนเอเชียฟุตแวร์ จำกัด (PAF) ผลิตรองเท้าเพื่อส่งออกไป ยุโรป และในประเทศ
2523 - เริ่มผลิตรองเท้ากีฬาระดับโลก " ไนกี้ " (NIKE)
2526 - ทำสัญญารับ ORDER โดยตรงจากไนกี้ U.S.A และทำการผลิตรองเท้า ไนกี้ เป็นต้นมา

โดยจำนวนพนักงาน บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2555
พนักงานทั้งหมด = 3,760 คน
พนักงานรายเดือน = 596 คน
พนักงานรายวัน = 3,164 คน

ทั้งนี้บริษัท แพนเอเชียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มแพน ตั้งอยู่ในเครือสหพัฒน์ศรีราชา จ.ชลบุรี นับเป็นบริษัทที่สองที่ก่อตั้งขึ้นนับจาก บริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้การบริหารงานโดย ดร.ณรงค์ โชควัฒนา ประธานที่ปรึกษากลุ่มแพน

บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) เป็นโรงงานผลิตรองเท้ากีฬาของคนไทยโรงงานแรกในประเทศไทยที่ได้รับความไว้วางใจจากนักธุรกิจชาวต่างประเทศอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตรองเท้าแบรนด์เนมระดับโลก อย่าง "Nike" ซึ่งเป็นแบรนด์เนมยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลก ในปี 2533 ได้รับอนุมัติให้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 400 ล้านบาท และในปี 2537 ได้จดทะเบียนแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 400 ล้านบาท เป็น 800 ล้านบาท และจาก 800 ล้านบาทในปี 2545 และได้เพิ่มทุนเป็น 2,700 ล้านบาท ในปัจจุบัน

โดยบริษัทฯ มีบริษัทย่อยจำนวน 23 บริษัท และบริษัทร่วมจำนวน 8 บริษัท ดังต่อไปนี้

บริษัทย่อย

1. บริษัท ฟุตแวร์เทค 1530 จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 507/2 หมู่ที่ 11 ถนนสุขาภิบาล 8 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%

2. บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คิวริตี้ ฟุตแวร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 620/5 หมู่ที่ 11 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%

3. บริษัท กบินทร์บุรี แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 139 หมู่ที่ 5 ถนนสุวรรณศร ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%


4. บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 94 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

มีทุนจดทะเบียน 370 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตพื้นรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%

5. บริษัท พิมายฟุตแวร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 578 หมู่ที่ 14 ถนนเลี่ยงเมือง ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%

6. บริษัท แพนระยอง จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 507 หมู่ที่ 11 ถนนสุขาภิบาล 8 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบกิจการ ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%

7. บริษัท แพนคอมโพเน้นท์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 139 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านพระ อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 100%

8. บริษัท แพนอัปเปอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 139/1 หมู่ที่ 5 ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 100%

9. บริษัท โมเดอร์น เทคโนโลยี่ คอมโพเน้นท์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 49 หมู่ที่ 5 ถนนสุวรรณศร ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตพื้นรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 100%

10. บริษัท แพนเทค อาร์ แอนด์ ดี จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 177/20 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท ประกอบกิจการวิจัยและออกแบบรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%

11. บริษัท พอนเท็กซ์ ( ประเทศไทย ) จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 71/13,21 หมู่ที่ 5 ถนนบางนา - ตราด กม .52 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

มีทุนจดทะเบียน 60.8 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมรวม 95.73%

12. บริษัท อาภากร อุตสาหกรรม จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 71/13,21 หมู่ที่ 5 ถนนบางนา - ตราด กม .52 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

มีทุนจดทะเบียน 21.905 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 94.82%

13. บริษัท อินโนเวชั่น นครหลวง ฟุตแวร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/40 ตรอกวัดจันทร์ใน ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 350.15 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 75.40%

14. บริษัท ชัยนาทรับเบอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/40 ตรอกวัดจันทร์ใน ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 75.40%

15. บริษัท หันคาบางกอกรับเบอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/40 ตรอกวัดจันทร์ใน ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 75.39%

16. บริษัท พี เอ แคปปิตอล จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 507 หมู่ที่ 11 ถนนสุขาภิบาล 8 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 1,054 ล้านบาท ประกอบกิจการลงทุน โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมรวม 43.67%

17. บริษัท แพนเอเซีย ไบโอเทคโนโลยี่ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 91 หมู่ที่ 1 ตำบลละหาร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตยางแท่งและน้ำยาง โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 43.67%

18. บริษัท พี . แอล . จอห์น อินดัสทรีส์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 626/1 หมู่ที่ 11 ถนนสุขาภิบาล 8 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท ประกอบกิจการย้อมผ้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 54.51%

19. บริษัท ไทยซังชิน นิวแมททีเรียล จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 97 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

มีทุนจดทะเบียน 160 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตพื้นรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 28.41%

20. บริษัท เพค อินดัสทรีส์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 626/1 หมู่ที่ 11 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 14 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตตาไก่และเชือกผูกรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 21.84%

21. บริษัท เพค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 622 หมู่ที่ 11 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตแม่พิมพ์พื้นรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 43.67%

22. บริษัท อีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 91/1 หมู่ที่ 1 ตำบลละหาร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 24.89%

23. บริษัท แอดแวนเทจ ฟุตแวร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 51 หมู่ที่ 5 ถนนสุวรรณศร ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 367 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 60.67%

บริษัทร่วม

1. บริษัท บุรีรัมย์แพนฟุตแวร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 130 หมู่ที่ 13 ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิต รองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 47.83%

2. บริษัท อุทัยบางกอกรับเบอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/40 ซอยวัดจันทร์ใน ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 22.62%

3. บริษัท หนองฉางรับเบอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/40 ซอยวัดจันทร์ใน ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตพื้นรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 22.62%

4. บริษัท บางกอกแอธเลติก จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/210-213 ซอยวัดจันทร์ใน ( ราษฎร์อุทิศ 2) ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ประกอบกิจการนำเข้าส่งออกรองเท้าและเสื้อผ้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 18.90%

5. บริษัท แพนเอเซียเลทเธอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 139/2 หมู่ที่ 5 ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตหนังสำเร็จรูป โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 17.47%

6. บริษัท แพนเอเซียแปซิฟิค จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 139/2 หมู่ที่ 5 ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตหนัง โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 17.47%

7. บริษัท แพน อินโนเวชั่น จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 20 ซอยรามคำแหง 30 ( บ้านเรา ) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 110 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 20.96%

8. บริษัท นูทรีชั่น เฮ้าส์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/277-279 ซอยวัดจันทร์ใน ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 145 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อเทียม โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 17.76%

 

ที่มาข่าวบางส่วน: ครัวครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ตรรกะซ่อนเร้น’ ของชนชั้นนำที่ครอบงำ ‘ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ’

Posted: 10 Oct 2012 02:08 AM PDT

 
"หากเราไม่ยอมรับระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามกระบวนการและขั้นตอนที่มันเป็นอยู่ มันจะทำให้บ้านเมืองเราหยุดชะงัก ไม่มีทางออกเลย วิชาการ ความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบก็จะหยุดชะงักตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดความล้าหลังทางความรู้ที่จะเอามาใช้ในการประเมิน วิเคราะห์ คาดการณ์ หรือแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาต่างๆ" 
 
ถ้อยคำในเครื่องหมายคำพูดข้างต้นมักได้ยินเสมอในแวดวงเวทีที่นำเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม: อีไอเอ (EIA: Environmental Impact assessment) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ: อีเอชไอเอ (EHIA: Environmental Health Impact Assessment) แล้วแต่กรณี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำพูดที่หลุดออกมาจากปากของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่เป็นเจ้าของโครงการ และพวกบริษัทที่ปรึกษาที่รับจ้างเจ้าของโครงการจัดทำรายงานอีไอเอ หรืออีเอชไอเอแล้วแต่กรณี 
 
ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานรัฐที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการกำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินงานโครงการพัฒนานั้นๆ และองค์กรอิสระที่บริหารงานภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐทั้งหลายที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาระบบและกลไกในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตั้งแต่ก่อนได้รับอนุญาต ขณะได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการ และหลังการได้รับอนุญาต ก็มักจะได้ยินคำพูดเช่นนี้เสมอๆ เช่นเดียวกัน 
 
ในเมื่อองค์กรที่สมควรเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับประชาชนออกตัวดังถ้อยคำในเครื่องหมายคำพูดข้างต้นเสียแล้ว ประชาชนที่เป็นคนเล็กคนน้อยในสังคมที่ไร้อำนาจการเจรจาต่อรองกับรัฐ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการพัฒนานั้นๆ จะพึ่งพาใครได้
 
เมื่อคิดทบทวนให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า ถ้อยคำในเครื่องหมายคำพูดข้างต้นของบทความนี้คือ 'ตรรกะซ่อนเร้น' ที่มันมีอะไรซ่อนอยู่มากกว่าเพียงข้ออ้างของ 'ความรู้' หรือวิชาการที่เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพราะความเป็นจริงที่ซ่อนอยู่มันมีนัยยะว่า "หากเราไม่ยอมรับระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามกระบวนการและขั้นตอนที่มันเป็นอยู่ มันจะทำให้บ้านเมืองเราพัฒนาต่อไปไม่ได้" นั่นเอง 
 
ตรรกะซ่อนเร้นเช่นนี้คือการหยิบยก 'วาทกรรมการพัฒนา' มากดทับ ครอบงำ เบี่ยงเบน และแทนที่ประเด็นถกเถียงในเวทีที่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์และจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับ 'ระบบการประเมินผลกระทบ' ที่มีปัญหาขาดความเป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย จึงเห็นได้ว่าแทบทุกครั้งของการจัดเวทีเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ หรือจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับระบบการประเมินผลกระทบที่สมควรดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เดิม กลับกลายเป็นการโต้วาทีในเรื่องแนวคิดการพัฒนาระหว่างรัฐ/เอกชนซึ่งเป็นเจ้าของโครงการกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไปเสีย 
 
ถ้าพูดให้ตรงประเด็นยิ่งขึ้นก็คือ องค์กรเหล่านั้นมีธงนำอยู่ในใจแล้วว่า 'การพัฒนา' ต้องมาก่อนหรือสำคัญกว่า 'ระบบการประเมินผลกระทบ' เสมือนว่าบุคลากรที่อยู่ในองค์กรเหล่านั้นมีเซลล์ที่คำนึงถึงการพัฒนาฝังอยู่ในสมองมากกว่าเซลล์ที่ควรคำนึงถึงระบบการประเมินผลกระทบที่ดีขึ้นกว่าเดิม จึงมักอ้างเหตุผลและความจำเป็นของการพัฒนามากดทับระบบการประเมินผลกระทบ เพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต้องยอมรับการพัฒนาจากโครงการนั้นๆ อยู่เรื่อยมา
 
 

ระบบการประเมินผลกระทบที่ 'วนกี่รอบก็ตาม แต่จะผ่านความเห็นชอบในท้ายที่สุด'

ตัวอย่างในกรณีกิจการเหมืองแร่ การทำและพิจารณารายงาน EIA และ EHIA เป็นส่วนย่อยหนึ่งที่มีความสำคัญมากของระบบใหญ่ นั่นคือระบบของขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ของรัฐ เพราะว่ารายงาน EIA และ EHIA ที่ผ่านความเห็นชอบแล้วจะเป็นใบเบิกทางสร้างความชอบธรรมให้กับการอนุญาตประทานบัตร ขั้นตอนการพิจารณารายงาน EIA และ EHIA จึงมีลักษณะ 'วนกี่รอบก็ตาม แต่จะผ่านความเห็นชอบในท้ายที่สุด' จึงเป็นเรื่องยากที่ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะเป็นอิสระโดยตัวมันเอง ไม่ขึ้นอยู่หรือผูกติดกับการที่ต้องเป็นเอกสารสนับสนุนการให้สัมปทานของรัฐ 
 
ระบบการประเมินผลแบบนี้จึงมีความอ่อนแอมาก เนื่องจากไม่คำนึงถึง 'ศักยภาพพื้นที่' ที่สอดคล้องกับวิถีการผลิต ความจรรโลงใจของประชาชน และความเปราะบางของระบบนิเวศที่จำเป็นต้องปกปักรักษาไว้ แต่คำนึงถึง 'ศักยภาพแหล่งแร่' ที่สอดคล้องต่อการใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP (Gross Domestic Product) เป็นตัวชี้วัดกิจกรรมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ระบบการประเมินผลกระทบแบบนี้จึงไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนที่ขอสัมปทานทำเหมืองแร่จากรัฐเป็นหลัก
 
ขั้นตอนการพิจารณารายงาน EIA และ EHIA ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (และสุขภาพ) หรือ คชก. ภายใต้การแต่งตั้งของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เริ่มขึ้นเมื่อเจ้าของโครงการเสนอรายงาน EIA หรือ EHIA แล้วแต่กรณี ต่อ สผ.ก็จะทำให้กระบวนการพิจารณารายงาน EIA หรือ EHIA ทำงาน (Operate) ทันที โดย สผ.จะต้องตรวจสอบรายงานฯ ภายใน 15 วัน ถ้ารายงานฯ ไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์จะถูกส่งกลับไปให้เจ้าของโครงการแก้ไข แต่ถ้าถูกต้องสมบูรณ์ สผ.จะพิจารณาเสนอความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับรายงาน EIA หรือ EHIA แล้วแต่กรณี ภายใน 15 วัน เพื่อนำเสนอให้ คชก. พิจารณาต่อไปให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน 
 
ในกรณีที่ คชก.ให้ความเห็นชอบกับรายงาน EIA หน่วยงานผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้เจ้าของโครงการดำเนินการต่อไปได้ แต่หากไม่เห็นชอบกับรายงาน EIA หรือ EHIA แล้วแต่กรณี ให้เจ้าของโครงการดำเนินการแก้ไขรายงาน EIA หรือ EHIA แล้วแต่กรณี แล้วยื่นรายงาน EIA หรือ EHIA แล้วแต่กรณีที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม หรือได้จัดทำใหม่ทั้งฉบับ แล้วให้ สผ.สรุปผลการพิจารณาและนำเสนอ คชก.ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ทั้งนี้ถ้า คชก.มิได้พิจารณาให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาให้ถือว่า คชก.เห็นชอบกับรายงาน EIA หรือ EHIA ฉบับแก้ไขนั้นไปโดยปริยาย โดยในกรณีรายงาน EIA ที่ผ่านความเห็นชอบจาก คชก.แล้วหน่วยงานผู้อนุญาตสามารถออกใบอนุญาตให้เจ้าของโครงการดำเนินการต่อไปได้
 
และในกรณีที่ คชก. ไม่เห็นชอบรายงาน EIA หรือ EHIA (รอบที่สอง-แก้ไขเพิ่มเติม หรือจัดทำใหม่ทั้งฉบับ) ตามกำหนดเวลา 30 วัน หากเจ้าของโครงการไม่เห็นด้วยกับความเห็น คชก.ที่ไม่เห็นชอบ ก็มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลปกครองได้ แต่ถ้าหากเจ้าของโครงการเห็นด้วยกับความเห็น คชก.ที่ไม่เห็นชอบ ก็สามารถเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ทำการแก้ไขเพิ่มเติม หรือจัดทำใหม่ทั้งฉบับกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณารายงาน EIA หรือ EHIA ใหม่ได้อีกจนกว่า คชก.จะให้ความเห็นชอบในท้ายที่สุด ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่รอบใดก็รอบหนึ่ง 
 
ในกรณีรายงาน EHIA ที่ผ่านความเห็นชอบจาก คชก.มาแล้ว จะมีขั้นตอนการให้ความเห็นประกอบของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) เพิ่มขึ้นอีก 60 วัน หลังจากที่ สผ.จัดส่งรายงาน EHIA ที่ผ่านความเห็นชอบจาก คชก.มาให้ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประสานงานการให้ความเห็นขององค์กรอิสระในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐธรรมนูญฯ 2550 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 กำหนดไว้ในมาตรา 67 วรรคสอง ว่า
 
"การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว"
 
จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการจัดทำรายงาน EIA และ EHIA ที่มีกระบวนการและขั้นตอนแตกต่างกัน ตลอดจนกระบวนการและขั้นตอนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA ที่มีขั้นตอนและระยะเวลาเพิ่มเติมมากกว่ารายงาน EIA ด้วย 
 
แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจหน้าที่ของ กอสส.เป็นเพียงแค่การให้ความเห็นประกอบต่อรายงาน EHIA ที่ผ่านความเห็นชอบจาก คชก.มาแล้วเท่านั้น มิสามารถทำให้รายงาน EHIA ที่ผ่านความเห็นชอบจาก คชก.มาแล้วถูกยกเลิกหรือเป็นโมฆะได้แต่อย่างใด สผ.และ คชก.ยังเป็นผู้กุมอำนาจตัวจริงในการผ่านความเห็นชอบรายงาน EIA หรือ EHIA อยู่เช่นเดิม โดยไม่ต้องรับผิดชอบกับการให้ความเห็นชอบด้วยข้อมูลที่ผิดพลาดหรือเป็นเท็จ ไม่ต้องรับผิดชอบกับการไม่กำกับ ดูแล ติดตาม เฝ้าระวังผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ต้องรับผิดชอบกับการที่หน่วยงานรัฐและเจ้าของโครงการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และแผนการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่อย่างใดทั้งสิ้น
 
 

CHIA คือการ 'ขุนหมูเข้าโรงฆ่าสัตว์' 

 
เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ถ้อยคำในเครื่องหมายคำพูดข้างต้นของบทความนี้หลุดออกมาจากปากของบุคลากรในองค์กรเช่นสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่เป็นองค์กรคล้ายๆ กับว่าจะอิสระโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ มีกฎหมายบริหารจัดการองค์กรของตนเองโดยเฉพาะโดยไม่ขึ้นอยู่กับการชี้นำของรัฐ มีหน้าที่สำคัญในการพัฒนาระบบและกลไกในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กลับมีความคิดไม่อิสระเหมือนถูกพันธนาการจากรัฐ เพราะแทนที่จะมีบทบาทหน้าที่ที่ยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาชนแต่กลับไปยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ของการพัฒนาเสียมากกว่า นั่นก็เพราะว่าองค์กรนี้คิดไม่ต่างไปจากรัฐคิด หรืออาจจะมีความคิดต่างอยู่บ้างแต่มีการประนีประนอมสูงเพราะคิดถึงความอยู่รอดขององค์กรตนเองเป็นหลัก จึงไม่กล้าเสนออะไรที่เป็นผลประโยชน์ยั่งยืนและก้าวหน้าของประชาชน 
 
สช. มีแผนงานหนึ่งที่เรียกว่าการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact assessment) หรือ CHIA ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่โครงการพัฒนาต่างๆ ได้พัฒนาศักยภาพของตนในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยชุมชนเอง เพื่อหวังให้เป็นอำนาจทางปัญญาในการกำหนดอนาคตตนเองและสังคม และเพื่อหวังให้ได้ข้อมูลศักยภาพพื้นที่และศักยภาพชุมชนเพื่อเปรียบเทียบและสร้างพลังต่อรองกับการจัดทำและพิจารณารายงาน EIA และ EHIA ของเจ้าของโครงการ บริษัทที่ปรึกษาและหน่วยงานรัฐ 
 
แต่ข้อมูลที่ได้จากกระบวนการทำ CHIA กลับไม่มีพลังต่อรองใดๆ กลายเป็นข้อมูลที่ทำหน้าที่สื่อสารกับคนในวงกว้างเท่านั้น เพื่อให้รับรู้ถึงสถานการณ์ปัญหาที่ประชาชนในชุมชนที่ต้องประสบชะตากรรมจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน เป็นข้อมูลที่มีเป้าหมายเพียงแค่ให้คนภายนอกในวงกว้างได้รับรู้ข้อมูลของชุมชนเท่านั้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้เสพข้อมูลในวงกว้างจะตอบสนองต่อข้อมูลนี้เช่นไร เช่น การแสดงความเห็นอกเห็นใจ เมตตา สงสาร ที่มีจำนวนน้อยจนนับคนได้ ซึ่งก็ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนในชุมชนที่กำลังต่อสู้กับการที่รัฐหรือเอกชนกำลังผลักดันโครงการพัฒนานั้นๆ ด้วยการจัดทำและพิจารณารายงาน EIA หรือ EHIA ได้เลย เพราะเนื่องจากข้อมูลที่ได้จากกระบวนการทำ CHIA ไม่มีหน้าที่ที่ชัดเจนหรือเฉพาะเจาะจงในการนำมาใช้ต่อสู้กับกระบวนการจัดทำและพิจารณารายงาน EIA หรือ EHIA ที่ไม่มีความเป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยของเจ้าของโครงการ-บริษัทที่ปรึกษา และ สผ.กับ คชก.ตามลำดับ 
 
การทำข้อมูล CHIA เช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการ 'ขุนหมูเข้าโรงฆ่าสัตว์' ประชาชนในชุมชนที่ร่วมกันทำข้อมูล CHIA ได้รูปเล่มสวยงามออกมาก็นึกว่าจะนำข้อมูลไปต่อสู้กับระบบการประเมินผลกระทบที่ไร้ความเป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย ของ สผ.และ คชก.ได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ สผ.และ คชก.จะให้ความสำคัญต่อข้อมูลที่ได้จากกระบวนการทำ CHIA ของประชาชนในชุมชนถึงขั้นที่จะไม่เห็นชอบต่อรายงาน EIA และ EHIA แต่อย่างใด หรือถึงแม้อาจจะเห็นถึงความสำคัญของข้อมูล CHIA อยู่บ้างจนถึงขั้นที่ไม่เห็นชอบรายงาน EIA และ EHIA ในรอบแรก แต่รอบต่อๆ ไปก็จะวนกลับไปแก้ไขเพิ่มเติม หรือจัดทำใหม่ทั้งฉบับจนผ่านความเห็นชอบในท้ายที่สุดอยู่ดี 
 
ตราบใดที่ไม่คิดจะพุ่งเป้าทำลายอำนาจผูกขาดและทรงอิทธิพลของ สผ.และ คชก.ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EIA และ EHIA ภายใต้ความคิดที่วางอยู่บนพื้นฐานที่ผูกติดยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์จากการพัฒนาเป็นหลัก กล่าวคือ สผ.และ คชก.จะต้อง หนึ่ง-รับผิดชอบกับการให้ความเห็นชอบด้วยข้อมูลที่ผิดพลาดหรือเป็นเท็จ สอง-รับผิดชอบกับการไม่กำกับ ดูแล ติดตาม เฝ้าระวังผลกระทบที่เกิดขึ้น สาม-รับผิดชอบกับการไม่กำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบหน่วยงานรัฐและเจ้าของโครงการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และแผนการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด และสี่-หยุดวงจรอุบาทว์โดยเปลี่ยนการพิจารณารายงาน EIA และ EHIA เป็นแบบปลายเชือกที่มีจุดจบ ไม่ใช่วนกี่รอบก็ตามแต่ก็ผ่านความเห็นชอบในท้ายที่สุด เป็นต้น ตราบนั้นระบบการประเมินผลกระทบก็ไม่มีวันที่จะเกิดความเป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตยเพียงพอที่จะกลายเป็นเครื่องมือที่ผูกติดยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ที่ยั่งยืนและก้าวหน้าของประชาชนคนเล็กคนน้อยในสังคมเราได้ 
 
สุดท้ายนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้รับรู้จากการแถลงข่าวของ สช.ว่าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเดือนธันวาคมปีนี้จะเสนอให้มีการปฏิรูป EIA และ EHIA เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่เนื่องจากว่าภารกิจในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้นมี 4 ระยะหลักๆ คือ หนึ่ง-การประเมินผลกระทบก่อนได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโครงการ สอง-การประเมินผลกระทบขณะกำลังก่อสร้างโครงการ สาม-การประเมินผลกระทบขณะดำเนินโครงการ และสี่-การประเมินผลกระทบหลังโครงการเสร็จสิ้น ซึ่งบทความนี้ได้มุ่งเน้นเฉพาะภารกิจการประเมินผลกระทบก่อนได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโครงการเป็นหลัก จึงทำให้มีข้อห่วงกังวลอยู่ว่าการเสนอให้มีการปฏิรูป EIA และ EHIA ตามการแถลงข่าวของ สช.จะไม่ได้เป็นการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปภายหลังจากที่โครงการพัฒนาได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเท่านั้น แต่จะต้องมุ่งเน้นการปฏิรูปในขั้นก่อนได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโครงการเป็นหลักด้วย 
 
เหตุที่ต้องเตือนกันเช่นนี้ก็เนื่องจากว่าหน่วยงานเช่น สช.มีพวกชนชั้นนำจำนวนหนึ่งที่ใช้ตรรกะซ่อนเร้น โดยอ้างความรู้ทางวิชาการในเรื่องที่เกี่ยวกับระบบการประเมินผลกระทบมาครอบงำขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ต้องการพุ่งเป้าต่อสู้กับระบบการประเมินผลกระทบในขั้นตอนก่อนได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโครงการที่ไร้ความเป็นธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตยที่ สผ.และ คชก.ผูกขาดอำนาจอยู่ 
 
สิ่งที่ สช. ควรทำคือสนับสนุนประชาชนคนเล็กคนน้อยในสังคมที่ไร้พลังอำนาจในการเจรจาต่อรอง เพราะพวกเขาเหล่านั้นมีเพียงสองมือสองเท้าที่เดินถนนเรียกร้องหาความเป็นธรรมเท่านั้น แต่ สช.เป็นองค์กรที่มีสถานะทางสังคม มีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐโดยกฎหมายเฉพาะของตัวเองที่สามารถช่วยประชาชนต่อสู้กับ สผ.และ คชก.ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ใช้ตรรกะซ่อนเร้น เพื่อให้ชนชั้นนำในองค์กรอยู่รอดโดยการประนีประนอมกับความไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยกับระบบการประเมินผลกระทบดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อคุณครูออกมาเรียกร้องสิทธิ - คนทำงาน กันยายน 2555

Posted: 10 Oct 2012 12:25 AM PDT


Published under a Creative Commons License By attribution, non-commercial

มติศาลรธน.ไม่รับคำร้องจำนำข้าว ชี้ไม่อยู่ในอำนาจศาล

Posted: 10 Oct 2012 12:14 AM PDT

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไม่รับคำร้องโครงการรับจำนำข้าวของอาจารย์นิด้า เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหาย

วันนี้ (10 ต.ค.55) ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ผลการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ ประจำวันพุธที่ 10 ตุลาคม 2555 ระบุไม่รับคำร้อง กรณีที่ รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยูธยา กับคณะ ยืนหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อยับยังหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

โดยได้ระบุถึงคำร้องนี้ว่า ผู้ร้องเรียนกับคณะ ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษารวมทั้งสิ้น 146 รายชื่อ เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจากเกษตรกรหรือผู้ที่มีสิทธิ์ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้วและจะเริ่มรอบใหม่ ได้ใช้เงินไปแล้วจำนวนหลายแสนล้านบาทและมีต้นทุนอีกมากมาย โดยปกติหลักของการจำนำ คือ การให้ราคาจำนำที่ต่ำกว่าราคาตลาดในระดับที่เหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรมาไถ่ถอนเพื่อนำไปขายในตลาดเมื่อข้าวราคาสูงขึ้น แต่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจงใจตั้งราคารับจำนำให้สูงกว่าราคาตลาดอย่างชัดแจ้ง โดยมิได้มีเจตจำนงให้เกษตรกรไถ่ถอนคือแต่อย่างใด การกระทำของรัฐบาลจึงมิใช่การรับจำนำแต่กลายเป็นพ่อค้าข้าวรายใหญ่ที่สุดรายเดียวของประเทศ อันเป็นการผูกขาดตัดตอน ทำลายระบบการค้าของไทย และส่งผลต่อระบบการผลิตข้าวที่บิดเบือนกลไกการตลาด ซึ่งประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับไม่คุ้มกับทรัพยากรส่วนรวมของชาติที่เสียไป การกระทำของรัฐบาลในโครงการดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 84(1) ผู้ร้องเรียนกับคณะจึงขอยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 202 ของให้ใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องใดไว้พิจารณาวินิจฉัยจะต้องมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้อำนาจไว้ แต่ตามคำร้องนี้เป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับผู้ร้องยังมิใช่เป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมิใช่เป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ คำร้องนี้จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

มติชนออนไลน์ รายงานว่า ด้าน นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์นิด้า กล่าวว่า จะทำงานวิชาการตามปกติ จะหารือกับอาจารย์เครือข่าย เป็นงานทางวิชาการ ส่วนตัวจะไม่ไปยื่นหน่วยงานใดแล้ว ส่วนนักวิชาการคนอื่น จะยื่นช่องทางอื่นก็ไม่เป็นปัญหา

"ผมพอใจในสิ่งที่ทำ วิเคราะห์ข้อมูล ผ่านสื่อและให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น ในกระบวนการส่งออกข้าวของไทย พอใจและเคารพคำตัดสินของศาล ไม่ใช่คนที่ไม่ยอมรับคำตัดสินของผู้อื่น"

"แม้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง จะเดินหน้าศึกษาทางวิชาการต่อไป  หากจะเสียใจ อยู่บ้าง เพราะไม่อยากให้ความเสียหายรุนแรงไปมากกว่า"

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ใบปลิวหมิ่นฯ จากเถียงนา ประมวลการสืบพยานคดี 112 ที่ร้อยเอ็ด

Posted: 09 Oct 2012 08:50 PM PDT

 

นอกจากร้อยเอ็ดจะเป็นจังหวัดที่มีการแจ้งความร้องทุกข์ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวนมาก (ดู รายงานพิเศษ: สถิติที่น่าสนใจของการใช้มาตรา 112 โดย 'I Pad' และ สภ.ร้อยเอ็ด) ล่าสุดยังมีคดีที่ฟ้องร้องกันด้วยมาตรานี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ใช่จากผู้ใช้นามแฝงว่า "I Pad"

คดีที่เกิดขึ้นนี้มาจากกรณีกล่าวหากันว่ามีการแจกใบปลิวที่มีเนื้อหา หมิ่นฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นคดีแรกๆ ที่มีการนำขึ้นสู่ชั้นศาลในจังหวัดร้อยเอ็ด รายงานชิ้นนี้พยายามประมวลคำเบิกความในศาลของฝ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในคดีนี้

คดีดำที่ อ.1292/55 นี้เกิดขึ้นที่อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด โดยนายอุทัย (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีนี้ ถูกกล่าวหาว่าได้แจกใบปลิวที่มีข้อความหมิ่นพระราชินีและรัชทายาทให้กับผู้ อื่น ตั้งแต่เมื่อปี 2552 แต่จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล และได้รับการประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งของข้าราชการที่จำเลยรู้จัก ในตำแหน่งเทียบเท่ากับหลักทรัพย์จำนวน 3 แสนบาท การสืบพยานในคดีทั้งพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นอย่างเงียบๆ ไปแล้วที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 21, 29 สิงหาคม และ 24 กันยายน 2555 และมีกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 พฤศจิกายน ศกนี้

สำหรับ นายอุทัย อายุ 38 ปี เรียนจบชั้นป.6 อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอธวัชบุรี มีอาชีพทำนา และรับจ้างในบริเวณหมู่บ้าน เช่น รับจ้างตัดผมหรือซ่อมจักรยานยนต์ และยังมีโรงสีขนาดเล็กรับจ้างสีข้าวในหมู่บ้าน นายอุทัยแต่งงานแล้วและมีบุตรชาย 1 คน อายุ 14 ปี

ในคดีนี้มีนายธงชัยและนางไพรวัลย์ ตามภิบาล สามีภรรยาซึ่งเป็นผู้อ้างว่าได้รับใบปลิวที่มีเนื้อหาหมิ่นพระราชินีจาก จำเลย โดยทั้งคู่อาศัยอยู่ที่อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด มีอาชีพทำนาและค้าขาย ทั้งคู่เป็นผู้ว่าจ้างภรรยาของนายอุทัยให้ถักรอบคอและแขนเสื้อคอกระเช้ามา เป็นเวลา 2-3 ปีแล้ว โดยจะมีการนำเสื้อไปส่งและไปรับที่เถียงนาบ้านนายอุทัย เดือนละครั้ง และมีภรรยานายอุทัยเป็นผู้กระจายเสื้อให้ชาวบ้านในหมู่บ้านอีกทีหนึ่ง

นายธงชัยได้เบิกความในศาลเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ในวันเกิดเหตุคือเย็นวันที่ 26 ก.ค. 52 ตนและภรรยาได้ไปรับเสื้อที่ถักเสร็จและจ่ายค่าจ้างตามปกติ  ระหว่างรอภรรยาจำเลยนับเสื้อ ตนก็นั่งอ่านหนังสือการ์ตูนรอที่แคร่บริเวณเถียงนา จำเลยได้เข้ามาคุยด้วย และถามว่า "เหลืองหรือแดง" ตนตอบว่า "ไม่เหลืองไม่แดง" จำเลยจึงลุกขึ้นหยิบเอกสารที่เย็บติดกัน จำนวน 7-8 แผ่นจากแผ่นไม้ที่พาดใต้หลังคาเถียงนามาให้ แล้วพูดว่าลองอ่านนี่สิ เมื่ออ่านไปได้ 4-5 บรรทัด เป็นขณะเดียวกับที่ภรรยาของตนนับเสื้อเสร็จ นายอุทัยจึงยื่นเอกสารมาให้แล้วบอกว่า "เอากลับไปอ่านก็ได้"  ตนจึงรับมาแล้ววางไว้หน้าคอนโซลรถตู้ที่ขับมา

จากนั้นสองสามวัน ตนได้ไปทำงานที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และภรรยาได้โทรศัพท์แจ้งว่าผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านมาสอบถามว่าได้เอกสารอะไร จากหมู่บ้านที่จำเลยอยู่หรือไม่ เพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถามถึง ผู้ใหญ่บ้านจึงได้ประกาศและสอบถามชาวบ้าน  ตอนแรกตนจำไม่ได้ แล้วก็นึกได้ว่าได้เอกสารมาจากนายอุทัยซึ่งอยู่หมู่บ้านนั้น จึงโทรศัพท์ให้ภรรยาหยิบเอกสารนั้นให้ผู้ใหญ่บ้าน  หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญไปให้ปากคำที่โรงพักทั้งที่ สภ.เชียงขวัญ และสภ.ธวัชบุรี โดยให้การเช่นเดียวกับที่เบิกความในศาล

ทนายจำเลยได้ถามค้านนายธงชัยในเรื่องสถานที่ที่นายธงชัยอ้างว่าจำเลยหยิบ เอกสารมาให้ โดยชั้นสอบสวนนายธงชัยให้การว่าขณะที่ภรรยาตนนับเสื้ออยู่ ได้หยิบหนังสือการ์ตูนและมีเอกสารใบปลิวนั้นวางอยู่ด้วย ซึ่งไม่ตรงกับที่ได้เบิกความว่าจำเลยหยิบเอกสารจากใต้หลังคายื่นให้ โดยนายธงชัยยืนยันว่าคำเบิกความต่อศาลเป็นความจริง ทนายยังถามถึงสภาพบริเวณเถียงนาที่เปิดโล่ง 4 ด้าน ใครก็สามารถเข้าออกในบริเวณบ้านของจำเลยตามลักษณะบ้านในชนบทได้ ซึ่งนายธงชัยก็ยอมรับว่าใช่ รวมทั้งนายธงชัยยืนยันว่าวันที่ตนไปที่บ้านนายอุทัยและได้รับเอกสารคือวัน ที่ 26 ก.ค. 52 ไม่ใช่วันที่ 24 ก.ค. 52 นายธงชัยยังเบิกความว่าไม่เคยร่วมกิจกรรมทางการเมือง และไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงมาก่อน

นายสว่าง เรืองศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านของนายธงชัย เบิกความถึงเหตุการณ์ว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 52 ตนได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่อำเภอเชียงขวัญ สอบถามในลักษณะว่าเห็นใบปลิวหมิ่นฯ ที่หมู่บ้านบ้างหรือไม่ ซึ่งตนไม่ทราบ แต่ในอีกชั่วโมงต่อมาก็มีอาสาสมัครรักษาดินแดนมาถามถึงใบปลิวหมิ่นฯ อีกเช่นกัน ตนจึงถามไปว่าใบปลิวนี้มาจากไหน จึงทราบว่ามาจากอำเภอธวัชบุรี จึงได้ออกไปสอบถามจากลูกบ้านว่ามีใครเห็นใบปลิวหมิ่นฯ บ้างไหม ถามมาเรื่อยๆ จนมาเจอนางไพรวัลย์ ภรรยาของนายธงชัย ที่แจ้งตนว่าได้รับใบปลิวหนึ่งมา และได้หยิบเอกสารนั้นที่วางอยู่หน้ารถตู้มาให้ เป็นเอกสารขนาด A4 จำไม่ได้ว่ากี่แผ่น อ่านแล้วพบว่ามีข้อความหมิ่นเบื้องสูง ตนเห็นว่าไม่เหมาะสม ในวันต่อมาจึงได้นำไปมอบให้ปลัดอำเภอเชียงขวัญ

นายวีระ วรวัฒน์ ปลัดฝ่ายความมั่นคงอำเภอเชียงขวัญ เบิกความว่าเมื่อตนได้รับเอกสารจากนายสว่าง ก็ได้นำเอกสารนั้นไปให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา เมื่อเห็นเป็นเรื่องสำคัญ จะนำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ ผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้ตนไปแจ้งความที่สภ.เชียงขวัญ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นายวีระตอบคำถามทนายจำเลยว่าตนก็จำไม่ได้ว่านายสว่างนำใบปลิวมาจากใคร จำได้แต่มาจากหมู่บ้านไหน อีกทั้งเอกสารก็ไม่ระบุชื่อว่าใครเป็นผู้ทำ และไม่มีที่มาที่ไป อาจสามารถหยิบไปวางเพื่อให้ร้ายใครต่อใครได้ง่ายก็ได้ อีกทั้งในความขัดแย้งทางการเมือง ยังมีการใช้เรื่องหมิ่นฯ มากลั่นแกล้งกันได้

พ.ต.ท.กฤษฎิณทร์ จันทรศรีชา พนักงานสอบสวนสภ.ธวัชบุรีและเป็นคณะสอบสวนในคดีนี้ ได้เบิกความในศาลว่าตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบกรณีที่มีการ แจกใบปลิว ที่มีเนื้อหาดูหมิ่นและหมิ่นประมาทพระราชินีและรัชทายาท เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 52 จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อทางตำรวจภูธรภาค 4 พิจารณาคดีนี้ จึงให้สถานีตำรวจภูธรธวัชบุรีรับคำร้องทุกข์ และตั้งคณะพนักงานสอบสวนในคดี ทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุและพยานหลักฐาน

คณะพนักงานสอบสวนได้มีความเห็นเบื้องต้นว่าจำเลยน่าจะได้กระทำผิด จึงได้ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ แต่เมื่อเสนอเรื่องไปให้คณะกรรมการคดีหมิ่นฯ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา ได้มีคำสั่งให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม ในเรื่องความประพฤติของผู้ต้องหา และแหล่งข่าวของนายวีระ และเมื่อเสนอสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมกลับไป คณะกรรมการคดีหมิ่นฯ ได้มีคำสั่งให้ไม่ฟ้องคดี  แต่เมื่อเสนอสำนวนกลับมายังพนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด ทางอัยการได้พิจารณาให้ส่งฟ้อง

ในการเบิกความของพ.ต.ท.กฤษฎิณทร์ ศาลได้ถามย้ำในเรื่องข้อเท็จจริงจากการสอบสวนหลายครั้งว่านายสว่าง ผู้ใหญ่บ้าน ได้รับใบปลิวจากใครกันแน่ ซึ่งพ.ต.ท.กฤษฎิณทร์เบิกความว่าได้มาจากนายธงชัยเป็นผู้หยิบให้เอง ซึ่งไม่ตรงกับที่นายสว่างเบิกความ

ทนายจำเลยยังซักค้านว่าหลักฐานที่ชี้ว่าจำเลยครอบครองเอกสารหมิ่นฯ นี้มาจากคำให้การของนายธงชัยและนางไพรวัลย์เท่านั้น ซึ่งพ.ต.ท.กฤษฎิณทร์ยอมรับว่าใช่ อีกทั้งในคำให้การขณะสอบสวนยังไม่มีการกล่าวถึงว่าจำเลยได้ถามนายธงชัยว่า "เสื้อเหลืองหรือแดง" อีกด้วย

นอกจากนั้นยังมีนางไพรวัลย์ ภรรยาของนายธงชัยขึ้นเบิกความให้การเป็นพยานฝ่ายโจทก์ด้วย โดยเบิกความเป็นไปในทิศทางเดียวกับนายธงชัย

ด้าน นายอุทัย จำเลยในคดี เบิกความในศาลว่าภรรยาของตนเคยรับถักเสื้อคอกระเช้า ตั้งแต่ก่อนปี 2552 โดยตอนแรกตนก็ไม่รู้ว่าภรรยารับมาจากใคร เพราะคนที่มาส่งผ้าส่วนใหญ่จะคุยกับภรรยา ตนทราบว่าภรรยาได้ค่าจ้างถักตัวละ 3 บาท วันหนึ่งถักได้ประมาณ 10 ตัว ตอนหลังตนพยายามไม่ให้เอามาทำ เพราะไม่คุ้มค่า ทั้งกับเงินที่ได้และการปวดตา จึงอยากให้เลิกทำ แต่ภรรยาก็ไม่เลิก และเคยทะเลาะกัน จนพูดกับภรรยาว่าถ้าเอามาทำอีก จะเอามาเผาทิ้งให้หมด ซึ่งอาจมีชาวบ้านที่มารับ-ส่งเสื้อได้ยิน เพราะปกติเขาจะเอามาเสื้อทั้งหมดมาส่งที่บ้านตน แล้วชาวบ้านในหมู่บ้านก็มารับเสื้อไปถักต่อ

นายอุทัยเบิกความว่าวันที่นายธงชัยและภรรยามาที่บ้านตนเป็นวันที่ 24 ก.ค. 52 ที่จำได้เพราะเป็นวันเกิดของหลาน ซึ่งเป็นบุตรของน้องสาวภรรยาตน เย็นวันนั้นบิดาของตนนั่งที่ใต้ถุนบ้าน ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านเดียวกัน ส่วนภรรยาตนไปทำกับข้าวในงานวันเกิดที่บ้านของหลาน ส่วนตนสีข้าวอยู่ที่โรงสี เวลาประมาณ 6 โมงกว่า เห็นไฟรถส่องเข้ามา ก็เลยเดินจากโรงสีไปดู เจอคนที่มาส่งเสื้อ โดยไม่มีใครอยู่บ้าน จึงให้พ่อของตนไปเรียกภรรยา แล้วตนกลับไปสีข้าวต่อด้านหลังและเอาข้าวสารไปส่งตามหมู่บ้าน กลับมาเกือบ 2 ทุ่มกว่า โดยตนไม่ได้เจอใครเลย เข้าใจว่าไปอยู่บ้านที่จัดงานวันเกิด

เกือบเดือนหลังจากนั้น มีเจ้าหน้าที่ของสภ.เชียงขวัญมารับตัวตนไป โดยขับรถมาที่บ้าน เมื่อไปที่สภ.ก็ถามว่าเขาได้ใบปลิวมาจากบ้านของตน และบอกให้รับสารภาพ แต่ตนไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่รับ ต่อมานายธงชัยมาคุยกับตนข้างล่างสถานี โดยตอนนั้นยังไม่รู้จักชื่อเขา เพราะไม่เคยคุยกับนายธงชัยมาก่อน รู้จักแต่ชื่อนางไพรวัลย์ วันนั้นนายธงชัยบอกให้รับสารภาพ โดยบอกว่าเรื่องนี้มันไม่มีอะไรหรอก แต่ตนก็ไม่ได้รับ และวันนั้นก็ยังไม่รู้ว่าใบปลิวเรื่องอะไรและถูกแจ้งข้อหาอะไร

จนอีก 2-3 เดือนต่อมา ก็มีเจ้าหน้าที่จากสภ.ธวัชบุรีมาที่บ้าน สอบถามเรื่องใบปลิวโจมตีสถาบัน ตนก็บอกว่าไม่เคยเห็น จากนั้นอีกครั้งหนึ่งก็มีเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านอีก โดยไปกันหลายคน รวมทั้งนายธงชัยและนางไพรวัลย์ คราวนี้มาถ่ายรูปบ้านด้วย และจะให้ตนลงชื่อเป็นหลักฐานด้วย แต่ตนไม่ได้ลง ต่อมายังถูกเรียกไปให้การอีกหลายครั้งที่สภ.ธวัชบุรี โดยตนปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และได้อ่านใบปลิวก็เมื่อตอนตำรวจเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว

นายอุทัยเบิกความยืนยันว่าวันที่ 26 ก.ค. 52 นั้นไม่มีใครไปที่บ้านตน อีกทั้งครอบครัวตนเป็นชาวนาธรรมดา เทิดทูนพระมหากษัตริย์ ตนสอนลูกสอนเมียให้นับถือท่าน ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มอะไรพวกนี้ และไม่เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มใดๆ

อัยการถามค้านว่าเหตุใดจึงมีนายคารม พลพรกลาง ซึ่งเป็นทนายนปช.เป็นทนายของจำเลย นายอุทัยเบิกความว่าตนไม่สตางค์จ้างทนาย น้องชายก็แนะนำให้ไปหาทนายคารม ซึ่งรับว่าความให้ฟรีและตนเคยเห็นในโทรทัศน์ แต่ตนก็รู้ว่านายคารมเป็นทนายของนปช. อีกทั้งแม้ตนจะพูดว่าจะเผาเสื้อคอกระเช้า แต่ก็ไม่เคยเผาจริงๆ

ส่วนนางสมพาน (ขอสงวนนามสกุล) ภรรยาของจำเลย ได้เบิกความว่าได้รู้จักนางไพรวัลย์ตั้งแต่ตอนที่มาส่งเสื้อ ส่วนนายธงชัยเคยเห็น แต่เพิ่งทราบชื่อตอนที่เกิดเหตุ โดยทั้งสองคนหาคนรับจ้างเย็บเสื้อคอกระเช้า จึงมีคนแนะนำตนมา ในการติดต่อทั้งคู่จะติดต่อกับตนเป็นหลัก แทบไม่ได้คุยกับจำเลย และนายอุทัยเคยบอกตนว่าไม่ต้องรับเสื้อมาทำอีก มันไม่คุ้ม เพราะทำปวดหัว และสายตาเสีย แต่ที่ไม่เลิกเพราะตนอยากมีรายได้ โดยนายอุทัยพูดกับตนค่อนข้างแรง และอาจมีชาวบ้านผ่านมาได้ยิน

นางสมพานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุคือวันที่ 24 ก.ค. 52 เป็นวันเกิดหลาน เย็นนั้นตนได้ไปทำกับข้าวงานเลี้ยงในบ้านน้องสาวที่ห่างออกไป 100 เมตร ต่อมาเวลาราว 1 ทุ่มกว่า บิดาของจำเลยได้ไปเรียกตน แจ้งว่ามีคนเอาเสื้อมาส่ง ตนบอกว่าเดี๋ยวจะกลับไป และจนเวลา 2 ทุ่มกลับไปเจอนายธงชัยกับนางไพรวัลย์นั่งรออยู่บนแคร่ โดยไม่มีคนอื่นอยู่ ส่วนจำเลยได้ยินเสียงสีข้าวอยู่ในโรงสี และไม่ได้เดินมาพบทั้งสองด้วย หลังจากนับเสื้อและจ่ายเงินกัน ตนก็ได้กลับไปงานวันเกิดหลานต่อ เมื่อกลับบ้านอีกครั้ง ก็ไม่มีใครอยู่แล้ว และตนไม่เคยได้อ่านใบปลิวที่ถูกอ้างถึงแต่อย่างใด

นอกจากนั้นพยานจำเลยปากอื่นๆ ได้แก่บิดาของจำเลย ผู้ใหญ่บ้าน และเพื่อนบ้านของจำเลย ก็ได้มาเบิกความยืนยันความบริสุทธิ์ของนายอุทัย โดยยืนยันว่าจำเลยไม่เคยมีพฤติกรรมหมิ่นสถาบันฯ ไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับฝ่ายไหน และยืนยันว่าจำเลยมีความประพฤติเป็นคนดีและเป็นที่พึ่งพาของคนในหมู่บ้าน

นายคารม พลพรกลาง ทนายความของจำเลย กล่าวหลังการสืบพยานเสร็จสิ้นว่า ในคดีแบบนี้เท่าที่ตนเจอ เป็นสิ่งที่ใช้กลั่นแกล้งกันง่าย อย่างการเอาใบปลิวที่มีข้อความหมิ่นฯ ซึ่งใครไม่รู้ทำขึ้นง่ายๆ ไปถ่ายเอกสารแล้วไปวาง เมื่อเอาไปวางไว้ที่ไหน ถ้าบ้านคุณก็แจ้งความคุณ ถ้าเอาวางบ้านตนก็แจ้งตนได้เหมือนกัน ซึ่งอย่างนี้มันทำให้เสีย เป็นคดีลักษณะที่ถือว่าสร้างความแตกแยก ทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดการแบ่งแยก แล้วทำให้คนหนีออกจากสถาบันเพราะความกลัว คดีนี้ค่อนข้างมีปัญหา แต่ก็ต้องติดตามผลการพิจารณาของศาลต่อไป


 

----------------------------

ขอขอบคุณโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw)

ติดตามข้อมูลคดีนี้เพิ่มเติมได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/362

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตครูยืนด่า "ดารุณี" กลางห้าง แจงผ่านคลิปว่าไม่ได้ทำเพราะหวังเด่นดัง

Posted: 09 Oct 2012 07:21 PM PDT

แต่ทำเพราะใจบริสุทธิ์รักในหลวง ส่วนที่ไปด่ากลางห้างนั้น เพราะคนที่มีการศึกษาฟังดารุณีก็รู้ว่าหมายถึงใคร  และไม่ต้องการให้เกิดเหตุปะทะที่หน้ากองปราบอีก พร้อมฝากฝากคนไทยทุกคนที่จงรักภักดีในหลวงให้แสดงความรักออกมาโดยไม่มีสีเสื้อ ไม่มีกลุ่ม แสดงความรักที่บริสุทธิ์ และยืนยันว่าเมื่อหมดสัญญาการทำงานในต่างประเทศ อีกสองเดือนจะกลับไปรับทราบข้อกล่าวหา

ต่อกรณีที่สุภาพสตรีรายหนึ่ง ทราบชื่อต่อมาคือ น.ส.มนัสนันท์ หนูคำ อดีตครูโรงเรียนนานาชาติ ได้ตะโกนถาม นางดารุณี กฤตบุญญาลัย ขณะนั้นกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ในร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งว่า "หน้าด้านมาก ด่าในหลวงทำไม ด่าในหลวงทำไม" และมีผู้อัดคลิปเผยแพร่ ก่อนที่ น.ส.ดารณีจะไปแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาท และ น.ส.มนัสนันท์ เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาคดีหมิ่นประมาท ที่กองปราบปราม ถ.พหลโยธิน จนเป็นเหตุให้มีการปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุน น.ส.มนัสนันท์ และกลุ่มคนเสื้อแดง จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่งเมื่อวันที่ 25 ก.ย.นั้น (ข่าวก่อนหน้านี้ [1], [2])

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (9 ต.ค.) น.ส. มนัสนันท์ ได้ชี้แจงผ่านคลิปในยูทูปความยาว 3 นาที 25 วินาที ซึ่ง น.ส.มนัสนันท์จัดทำขึ้นเพื่อการชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ตัวเธอไม่ได้หนีไปไหน ที่ออกจากทางโรงเรียนเมื่อต้นเดือนสิงหาคมเพราะได้งานที่ประเทศเกาหลีใต้ รายได้ดีกว่า จึงตัดสินใจมากทำงาน ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น.ส.มสันนันท์ กล่าวว่า "ไม่เคยคิดว่าจะทำให้ตัวเองเด่นดังหรือเป็นวีรสตรีสร้างชื่อเสียง แต่ทำเพราะเป็นคนไทยคนหนึ่งที่รักในหลวง ไม่มีสีเสื้อ ไม่มีพวก ไม่มีกลุ่ม ทำเพราะใจบริสุทธิ์เพราะรักในหลวง"

ในคลิป น.ส.มนัสนันท์ ได้แถลงต่อไปว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับดารุณี ไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ติดตามข่าวจากทางเว็บไซต์ต่างๆ ได้ยินว่าคุณดารุณีและพวกชอบว่าในหลวงต่างๆ นานา แม้ไม่ได้ใช้คำพูดว่าโดยตรง แต่คนที่มีการศึกษาฟังก็รู้ว่าหมายถึงใคร ตัวดิฉันฟังก็รู้ว่าหมายถึงใคร ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง คำเปรียบเทียบต่างๆ

เมื่อได้เจอคุณดารุณีที่ห้างแห่งหนึ่ง จึงเกิดอารมณ์เลยเข้าไปถามเธอว่า ว่าในหลวงทำไม แต่เนื่องจากเป็นคนเสียงดัง ทำให้เหตุการณ์ทุกอย่างดูรุนแรง จะกลายเป็นเรื่องใหญ่โต สิ่งที่กลัวมากที่สุดคือแม่และน้องจะเดือดร้อน ไม่อยากให้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้

ฝากขอบคุณคนไทยที่ให้กำลังใจและคอยให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ขอขอบคุณด้วยความจริงใจ อยากบอกว่าไม่กลัวในสิ่งที่ทำเพราะไม่ได้ทำอะไรผิด แค่กลัวว่าสิ่งที่ทำจะทำให้คนไทยทะเลาะกันเหมือนที่หน้ากองปราบเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นั้นอีก ต้องขอโทษที่ทำให้เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยขัดแย้ง ทั้งนี้เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับใคร เป็นเรื่องของดิฉันเพียงคนเดียว ขอฝากตำรวจว่า จะกลับประเทศเมื่อหมดสัญญาการทำงาน อีกสองเดือนจะกลับไปรับข้อกล่าวหา

สุดท้าย น.ส.มนัสนันท์ กล่าวว่า "ฝากคนไทยทุกคนที่จงรักภักดีในหลวงให้แสดงความรักออกมาโดยไม่มีสีเสื้อ ไม่มีกลุ่ม แสดงความรักที่บริสุทธิ์"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น