โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เกษียร เตชะพีระ

Posted: 04 Oct 2012 11:50 AM PDT

"..ในวัฒนธรรมภาษาของชาติและมหาชนหนึ่งๆ การพูดเขียนสะกด "ผิด" ไวยากรณ์หรือเสียงย่อมมีแน่ๆ และการถกเถียงเรื่องนี้ระหว่างบัณฑิตภาษากับสังคมก็ย่อมมีไปเรื่อยๆ เป็นธรรมดา สิ่งที่พึงทำคือปล่อยเสรีให้การสนทนาระหว่างเราไม่ว่าบัณฑิตภาษาหรือสามัญชนดำเนินไปอย่างเปิดปลายเรื่อยๆ อย่าแทนที่มันด้วยคำสั่งบงการจากบัณฑิตภาษาเลย.."

 
3 ต.ค.55 โพสต์ในเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นต่อสัมภาษณ์ราชบัณฑิตฯ "อยากเขียนแบบผิดๆ ก็เรื่องของพวกคุณ"

ยื่นอุทธรณ์คดี ผอ.ประชาไท ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

Posted: 04 Oct 2012 10:27 AM PDT

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทนายความของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท ได้ยื่นอุทธรณ์คดี หลังจากศาลพิพากษาให้มีความผิดตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ลงโทษจำคุก 1 ปี  ปรับ 30,000 บาท ให้ความร่วมมือลดโทษเหลือ 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี  ตาม ม.15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำคุก 1 ปี

โดยในคำอุทธรณ์ สรุปเหตุผลได้ความว่า  พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้มีบทบัญญัติกำหนดให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องตรวจสอบเนื้อหาข้อความทุกข้อความที่มีการโพสต์ ทั้งยังไม่มีกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือมาตรฐานใดในการกำกับดูแลเนื้อหาข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้ผู้ให้บริการได้ทราบโดยแน่ชัดถึงขอบเขตหน้าที่ ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงมาตรการในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไป อันเป็นมาตรฐานวิชาชีพได้

แม้ศาลชั้นต้นจะเห็นว่ามาตรฐานภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้ให้บริการนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลรู้ได้เองโจทก์ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์  จำเลยก็ขอเรียนศาลอุทธรณ์ว่า จะต้องพิจารณาถึงมาตรฐานที่ผู้ให้บริการถือปฏิบัติกันทั่วไปทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาการให้บริการอินเตอร์เน็ตแพร่หลายมาก่อน เนื่องจากการให้บริการอินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร ผู้ให้และผู้ใช้บริการทั่วโลก ซึ่งต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับกันในทางสากล และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าสารของประชาชนส่วนใหญ่ ภาระค่าใช้จ่ายและความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการ ตลอดจนข้อจำกัดทางเทคโนโลยี

คำอุทธรณ์ยังหยิบยกกรณีการนำสืบ นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ดูแลเว็บไซต์พันทิป ดอทคอม ที่ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาผู้ให้บริการมีมาตรการในการคัดกรอง ปิดกั้นข้อความไม่เหมาะสมอยู่แล้ว และให้ผู้ใช้บริการเป็นผู้ช่วยแจ้งเตือน แต่หากกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องตรวจสอบเนื้อหาในทุกข้อความก็จะเป็นภาระแก่ผู้ให้บริการต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก และก่อให้เกิดผลกระทบด้านธุรกิจเว็บไซต์ และความไม่สะดวกต่อผู้ใช้งาน ธุรกิจเว็บไซต์ในประเทศไทยก็จะเสียเปรียบต่างประเทศในแง่ต้นทุนการบริหารจัดการ และอาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้ใช้บริการที่จะหันไปใช้บริการเว็บไซต์ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ที่มีเซิฟเวอร์ในต่างประเทศมากขึ้นเพราะไม่อยู่ในกรอบกฎหมายไทย

นอกจากนี้คำอุทธรณ์ยังหยิบยกคำเบิกความของ แดนนี่ โอไบรอัน สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่พูดถึงมาตรฐานสากลว่า ในยุโรปกำหนดให้ผู้ให้บริการอยู่ในฐานะตัวกลาง ไม่ต้องรับผิดชอบเนื้อหาตราบเท่าที่ไม่รู้ว่ามีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายอยู่ และได้พยายามลบเนื้อหานั้นทันที่ที่ได้รับทราบ ส่วนในสหรัฐอเมริกา ตัวกลางจะได้รับการคุ้มครองจนกระทั่งได้รับการแจ้งเตือนว่ามีเนื้อหาที่ผิดแล้วจึงลบ ไม่มีข้อผูกพันเป็นการทั่วไปที่จะต้องทำหน้าที่สอดส่องกิจกรรมที่ผิดกฎหมายในเครือข่าย

ขณะที่โจทก์ได้แถลงรับข้อเท็จจริง กรณีจำเลยจะนำสืบพยานปาก พิรงรอง รามสูตร ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ที่ทำวิจัยเรื่องการกำกับเนื้อหาในอินเตอร์และสรุปข้อเสนอว่าควรให้หลัก "แจ้งให้ทราบแล้วเอาออก" สร้างวัฒนธรรมการรับผิดชอบร่วมกัน นอกจากนี้ยังระบุว่า เมื่อปี 2551 หลังพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์บังคับใช้แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงไอซีทีก็เคยเชิญผู้ดูแลเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงผอ.ประชาไท เข้าประชุมเพื่อหารือการตรวจสอบเนื้อหาผิดกฎหมาย มีการสรุปแนวทางร่วมกันว่า หากผู้ดูแลเว็บไซต์พบข้อมูลไม่เหมาะสมให้อยู่ในวิจารณญาณของผู้ดูแลในการระงับการเผยแพร่ ส่วน สตช. และไอซีทีนั้นหากพบข้อความใดเข้าข่ายทำผิดกกฎหมายจะประสานงานกับผู้ดูแลเว็บไซต์ให้ทำการปิดกั้น จึงถือได้ โดยหลักการแล้วเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าผู้ให้บริการเว็บบอร์ด มีฐานะเป็นเพียง "ตัวกลาง" จึงไม่ต้องรับผิดชอบในข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายซึ่งโพสต์โดยบุคคลอื่น ยกเว้นผู้ให้บริการรับทราบหรือได้รับการแจ้งเตือนแล้วไม่ระงับการเผยแพร่

ในกรณีผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท ที่ผ่านมาเมื่อตรวจพบเองก็ทำการปิดกั้น และเมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากไอซีที ก็ตรวจสอบและปิดกั้นทันทีมาโดยตลอด รวมทั้งได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกำกับดูแลอย่างสมควรแก่เหตุ ภายใต้หลักการและมาตรฐานที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปตาวิสัยที่ผู้ให้บริการที่รับผิดชอบต่อสังคมพึงกระทำ

อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหารเป็นต้นมา การโพสต์แลกเปลี่ยนความเห็นเพิ่มปริมาณสูงมาก มีจำนวนกระทู้ใหม่วันละ 300 กระทู้ และมีข้อความแลกเปลี่ยนกันวันละประมาณ 28,000 ข้อความและผู้โพสต์ที่จะกระทำผิดมักใช้ภาษาเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบของระบบ การตรวจสอบจึงไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายดังที่ศาลชั้นต้นเข้าใจและเห็นว่าการปล่อยอยู่ในระบบนานถึง 20 วันถือว่าจำเลยให้ความยินยอมโดยปริยาย จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า ในคดีอาญา โจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำผิดย่อมมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมานำสืบพิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง แต่โจทก์ไม่ได้นำหลักฐานมานำสืบให้เห็นถึงมาตรฐานทั่วไปที่ผู้ให้บริการต้องพึงปฏิบัติ รวมทั้งไม่ได้นำสืบว่าการดูแลเว็บบอร์ดของจำเลยไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการยินยอมโดยปริยายให้มีความผิดเกิดขึ้นเป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลย เป็นการรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้แก่พยานหลักฐานโจทก์อันเป็นผลร้ายแก่จำเลย ไม่ชอบด้วยหลักการรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญา อีกทั้งกรณีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบด้วยว่าจำเลยเจตนากระทำความผิดตามมาตรา 15

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"กสทช.วอทช์" ชำแหละออกแบบประมูล 3G ทำรัฐเสียรายได้ 1.7 หมื่นล้าน

Posted: 04 Oct 2012 08:59 AM PDT

ตั้งกลุ่มจับตาการทำงาน กสทช. โชว์งานวิจัย หักล้างข้อมูล กสทช. ชี้ออกแบบการประมูล 3G มีปัญหา รัฐเสี่ยงสูญรายได้ร่วม 1.7 หมื่นล้านบาท

(3 ต.ค.55) คณะทำงานติดตามการทำงาน กสทช. ร่วมกับศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา จัดการเสนาเรื่อง "1 ปี กสทช.กับการประมูลคลื่น 3G ภารกิจเพื่อชาติหรือเพื่อใคร" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยอิสระด้านการสื่อสาร นำเสนองานวิจัยเรื่อง "3G ภารกิจเพื่อชาติหรือเพื่อใคร?" โดยกล่าวถึงจุดยืนของคณะทำงานว่า ต้องการให้เกิดการประมูล 3G โดยเร็วเช่นเดียวกับภาคส่วนอื่น เพราะคำนึงถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจ ไม่ว่าประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะได้รับ-ส่งข้อมูลข่าวสารด้วยความเร็วสูงที่แท้จริง ได้ใช้บริการแอปพลิเคชันใหม่ๆ และประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ว่าภาคโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจะเป็นการปฏิรูประบบโทรคมนาคมให้หลุดพ้นวงจรธุรกิจการเมืองระบบสัมปทานแบบเดิม และรัฐก็จะได้เงินประมูลเข้ารัฐหลายหมื่นล้าน อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่กล่าวมาไม่ได้หักล้างข้อเท็จจริงว่า กสทช.มีหน้าที่กำหนดนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อให้บริการ 3G โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและต้องทำด้วยความโปร่งใสด้วย

วรพจน์ อธิบายว่า กสทช.เปิดให้มีการประมูลคลื่นทั้งหมด 45 MHz โดยแบ่งคลื่นความถี่ออกเป็น 9 ชุด ชุดละ 5 MHz เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการประมูล ต่อมา กสทช.ปรับลดเพดานถือครองคลื่นความถี่จาก 20 MHz เป็น 15 MHz โดยกำหนดราคาตั้งต้นชุดละ 4,500 ล้านบาท ซึ่งผู้เสนอราคาสูงสุดจะได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 รายได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรู ซึ่งคาดว่าผู้ประมูลจะได้คลื่นไปเท่ากันที่คนละ 15 MHz ด้วยเงินในราคาเท่ากับหรือใกล้เคียงกับเงินตั้งต้น เพราะไม่มีการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ที่ควรจะได้

โดยงานวิจัยนี้เป็นการเสนอผลวิเคราะห์หักล้างข้อมูลของ กสทช. ซึ่งพยายามสื่อสารผ่านสื่อและกิจกรรมต่างๆ ใน 4 ประเด็น คือ 1.การปรับลดเพดานการถือครองคลื่นความถี่จาก 20MHz เหลือ 15MHz เพื่อป้องกันการผูกขาด 2.ราคาตั้งต้นประมูล 4,500 ล้านบาทเป็นราคาที่เหมาะสม 3.ราคาการประมูลที่สูงเกินไปจะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน และ 4.ผู้เข้าประมูลจะแข่งกันประมูลเพื่อให้ได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่

วรพจน์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 1 ซึ่ง กสทช.ระบุว่า จำเป็นต้องลดเพดานถือครองคลื่นเหลือ 15MHz เนื่องจากเกรงว่าผู้ประกอบการสองเจ้าใหญ่ จะทุ่มประมูลคลื่นไปรายละ 20 MHz และอีกรายจะได้ไปเพียง 5 MHz ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแข่งขันและให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สภาพตลาดเหลือผู้ให้บริการหลักเพียงสองรายนั้น คณะทำงานโต้แย้งว่า การแข่งขันให้บริการข้อมูลความเร็วสูงในตลาดไม่ได้ขึ้นกับคลื่น 2.1 GHz ที่กำลังเปิดประมูลเท่านั้น แต่ยังมีคลื่นความถี่ 850 MHz ที่ทรูได้ไปภายใต้สัญญาร่วมกับบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยไม่ต้องเสียค่าประมูลคลื่น ดังนั้น การที่เจ้าเล็กได้คลื่นไปเพียง 5 MHz ก็ไม่ได้แปลว่าจะแข่งขันไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีสูตรประมูลอื่นที่ดีกว่า เช่น การกำหนดเพดานขั้นสูงที่ 20 MHz และเพดานขั้นต่ำที่ 10 MHz ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์การประมูลสองแบบ คือ 15-15-15 และ 20-15-10 หรือการกำหนดใบอนุญาตตายตัว 20-15-10 ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการแข่งขันประมูลแล้ว ยังป้องกันผู้ประกอบรายหนึ่งได้คลื่นไปเพียง 5 MHz
    
ประเด็นที่ 2 กสทช.อ้างว่าราคาตั้งต้นการประมูล 4,500 ล้านบาท มาจากงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่ง กสทช.เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำ โดยรายงานดังกล่าวเสนอว่า มูลค่าคลื่นความถี่ขนาด 5 MHz ตามราคาตลาดอยู่ที่ 6,440 ล้านบาท และเสนอว่า ราคาตั้งต้นการประมูลไม่ควรต่ำกว่า 67% ของราคาประเมินมูลค่าคลื่น โดยที่ตัวเลข 67% นี้ได้มาจากค่าเฉลี่ยสัดส่วนระหว่างราคาตั้งต้นกับราคาชนะการประมูลของ 13 ประเทศ ต่อมามีการปรับตัวเลข 67% มาเป็น 70% ตามอัตราเงินเฟ้อ และเมื่อนำมูลค่าคลื่นมาคูณกับ 70% (6,440 x 0.7 = 4,508 ล้านบาท) จึงเป็นที่มาของตัวเลขราคาตั้งต้นการประมูลที่ 4,500 ล้านบาท

กรณีนี้มีคำถามว่า ตัวเลข 67% มีความเหมาะสมในการคำนวณราคาตั้งต้นการประมูลหรือไม่ เพราะการประมูลในแต่ละประเทศมีลักษณะเฉพาะของตลาดโทรคมนาคม จำนวนผู้เข้าร่วมประมูลและวิธีการประมูลที่แตกต่างกัน นอกจากนี้รายงานของเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็ชี้ชัดว่า สัดส่วนราคาตั้งต้นต่อราคาที่ชนะควรมีค่าสูงขึ้นในตลาดที่มีผู้ให้บริการน้อยราย โดยเสนอว่าในกรณีที่มีผู้ประมูล 3 ราย สัดส่วนที่สัมพันธ์กันควรอยู่ที่ 82% ซึ่งทำให้ตัวเลขราคาประมูลขั้นต่ำขยับมาอยู่ที่ประมาณ 5,280 ล้านบาท

วรพจน์ระบุว่า นอกจากความไม่เหมาะสมในวิธีการคำนวณมูลค่าขั้นต่ำดังกล่าว ยังมีเหตุผลหลัก 3 ประการ ที่สนับสนุนว่าควรมีการปรับเงินประมูลตั้งต้นให้สูงขึ้น เนื่องจาก หนึ่ง งานวิจัยของเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ได้คำนึงผลประโยชน์จากการโอนจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ที่ผู้ประกอบการจะประหยัดเงินส่วนแบ่งรายได้ได้มาก สอง 3G จะกลายเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ เพราะในขณะที่รายได้จากการให้บริการเสียงมีแนวโน้มกำไรเพิ่มขึ้นทรงตัว รายได้จากการให้บริการที่ไม่ใช่บริการเสียง (non-voice) ของเอไอเอสและดีแทค เติบโตเกินกว่า 30-40% ซึ่งช่วยให้รายได้เฉลี่ยต่อหมายเลขเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจะยิ่งทำกำไรได้มากยิ่งขึ้นจากการให้บริการ 3G ซึ่งช่วยเพิ่มความเร็วและปริมาณการส่งข้อมูล และสาม ผู้บริหารของบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สองเจ้าหลัก คือ เอไอเอส และ ดีแทค ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าได้กันเงินไว้สำหรับการประมูลคลื่นจำนวน 15 MHz ไว้ประมาณ 17,000 ล้านบาท  และ 15,000 ล้านบาท  ตามลำดับ

จากข้อมูลดังกล่าว การที่ กสทช. เลือกกำหนดค่าประมูลตั้งต้นเพียง 4,500 ล้านบาท ทั้งที่ภาคเอกชนมีแรงจูงใจสูงมากเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับ และคาดได้ว่าจะไม่มีการแข่งขันประมูลมากนัก จึงถือเป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ และปล่อยให้ประเทศชาติเสียรายได้เข้ารัฐถึง 17,000 ล้านบาท


ที่มา: งานวิจัยเรื่อง "3G ภารกิจเพื่อชาติหรือเพื่อใคร?"
 

ประเด็นที่ 3 กสทช.บอกว่า ราคาประมูลที่สูงจะกลายเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มที่ผู้ประกอบการจะนำไปบวกในค่าบริการและกลายเป็นภาระกับผู้บริโภค กรณีนี้ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า เงินที่ใช้สำหรับการประมูลจะถูกคิดคำนวณจากกำไรส่วนเกินที่ผู้ประกอบการคาดว่าจะได้รับหลังจากหักต้นทุน ต้นทุนส่วนนี้จึงเป็นต้นทุนจมและไม่ส่งผลกระทบกับอัตราค่าบริการ และรายงานของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เองก็ยืนยันว่าราคาค่าประมูลไม่ได้ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค ดังนั้น จึงตั้งคำถามว่า กสทช.เลือกใช้ข้อมูลจากรายงานเฉพาะที่เป็นประโยชน์กับตัวเองหรือไม่

ประเด็นที่ 4 กสทช.บอกว่าจะเกิดการแข่งขันประมูลเพื่อให้ได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ เนื่องจากการเลือกช่วงคลื่นที่ติดกับผู้ประกอบการรายอื่นเพียงด้านเดียวจะช่วยให้ผู้ประกอบการใช้คลื่นความถี่ได้เต็มประสิทธิภาพกว่า ซึ่งคณะทำงานแย้งว่า จากการศึกษาของ กสทช. เองก็ไม่ปรากฏข้อมูลที่ยืนยันว่าสิทธิในการเลือกย่านความถี่จะช่วยให้เกิดการแข่งประมูลดังที่กล่าวอ้างและประสบการณ์จากสวิตเซอร์แลนด์พบว่าการแข่งขันเลือกย่านความถี่ส่งผลให้ราคาสุดท้ายสูงกว่าราคาตั้งต้นเพียง 2.5% เท่านั้น ไม่เกิดการแข่งขันมากเท่าที่กล่าวอ้าง

ส่วนการตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประมูล 3G วรพจน์กล่าวว่า มี 3 ประเด็นได้แก่ หนึ่ง กสทช.ไม่เคยเผยแพร่รายงานของคณะเศรษฐศาสตร์ที่ใช้อ้างมาตลอดให้สังคมรู้ที่มาที่ไปของตัวเลขที่แท้จริงและระเบียบวิธีวิจัยเลย ซึ่งสุ่มเสี่ยงผิดมาตรา 59 ของ พ.ร.บ.องค์การฯ ที่กำหนดให้ กสทช.ต้องตีพิมพ์ผลการศึกษาวิจัยที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ

สอง กระบวนการจัดทำประกาศก็ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พ.ศ.2548 ซึ่งระบุว่าต้องจัดทำประกาศเชิญชวนอย่างน้อย 15 วัน รับฟังความเห็นอย่างน้อย 30 วัน โดยสำนักงาน กสทช. กลับเผยแพร่ร่างประกาศฯ วันที่ 28 มิ.ย.55 กำหนดรับฟังความเห็นจนถึงวันที่ 28 ก.ค.55 คือมีเวลาเพียง 30 วันเท่านั้น

สาม ภายหลังจากการรับฟังความเห็นและมีการปรับแก้ไขร่างประกาศฯ ในประเด็นสำคัญสองประเด็น คือ การลดเพดานประมูลคลื่นความถี่เหลือ 15 MHz และการขยายระยะเวลาชำระเงินค่าประมูลคลื่นนั้น ปรากฏว่า กสทช.ไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมอนุกรรมการเตรียมความพร้อมฯ ซึ่งแต่งตั้งขึ้นจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายนอกและภายในองค์กร เพื่อให้ความเห็นก่อนที่จะนำเสนอวาระเข้าสู่การพิจารณาของ กทค.

วรพจน์ กล่าวย้ำว่า คณะทำงานสนับสนุนการประมูล 3G แต่ กสทช.ก็มีหน้าที่ออกแบบการประมูลโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ชาติควรได้รับจากการให้ภาคเอกชนใช้คลื่นความถี่อันเป็นสมบัติสาธารณะของชาติ อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏว่ากระบวนการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกลับขาดความโปร่งใส ซึ่งเท่ากับ กสทช.ล้มเหลวในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

ด้าน สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานกรรมการบริหารศูนย์ศึกษากฎหมายฯ กล่าวว่า คณะทำงานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ กสทช.เข้าใจว่า การทำงานของ กสทช.เป็นเรื่องยาก จึงพยายามนำความรู้มาทำให้เข้าใจง่ายขึ้น ส่วนการดำเนินการฟ้องร้องเพื่อยับยั้งการประมูลนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของคณะทำงาน แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนกลุ่มใดก็ตามที่คิดว่าตัวเองเสียประโยชน์จากการทำงานของ กสทช.

ทั้งนี้ นอกจากประเด็นที่นำเสนอวันนี้แล้ว สุวรรณา ระบุว่า คณะทำงานจะจับตาอีก 4 ประเด็น ได้แก่ หนึ่ง โครงสร้างการทำงานของ กสทช. ซึ่งมีมากถึง 43 ชุด โดยที่บางชุดก็ทำงานซ้ำซ้อนกัน สอง งบของ กสทช. ซึ่งจะมีจำนวนมหาศาลจากการคิดค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นความถี่ และมีมูลค่าเทียบเท่ากับกระทรวงหนึ่งๆ สาม ประสิทธิภาพในการรับฟังความเห็นสาธารณะ ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า ต้องนำความเห็นที่ได้มาประกอบการพิจารณาก่อนออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งต่างๆ และ สี่ การสื่อสารของ กสทช.ต่อสังคม ว่าใช้งบมากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปเพียงใด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานวิจัยชี้ ไทยได้ประโยชน์จากการเติบโตศก. ของลาว

Posted: 04 Oct 2012 05:27 AM PDT

งานวิจัยเปิดเผยว่า การเติบโตจากเศรษฐกิจของลาว โดยเฉพาะจากการทำเหมืองแร่และพลังงานน้ำ ทำให้ลาวเติบโตทางศก. เร็วที่สุดในอาเซียนในขณะนี้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลาวที่เดินทางมาไทยสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากมาเลเซียและจีน 

 

หนังสือพิมพ์เวียนเทียนไทมส์ของลาว รายงานว่า ผลวิจัยของศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยที่ตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของลาว จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับปีนี้ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 20 ล้านบาท 
 
โดยมีการคาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากลาวที่เดินทางมายังประเทศไทย น่าจะถึง 990,000 คนภายในสิ้นปีนี้ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลาวที่เดินทางมายังประเทศไทย สูงที่สุดเป็นอันดับสาม รองจากมาเลเซียและจีน 
 
รายงานระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในลาว ได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ลาวกลายเป็นประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในอาเซียนในขณะนี้ โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการลงทุนด้านพลังงานน้ำ ทำให้รายได้ต่อหัวของโดยเฉลี่ยคิดเป็น 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36,000 บาท) 
 
นอกจากนี้ การเชื่อมต่อทางบกระหว่างลาวและไทย ยังเอื้อให้ประชาชนลาวเดินทางเข้ามาไทย ไม่ว่าจะเพื่อธุรกิจ การจับจ่ายใช้สอย หรือการท่องเที่ยว เป็นไปได้โดยง่ายยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบัน มีสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างลาวและไทยผ่านทางแม่น้ำโขงสามแห่ง ในจังหวัดหนองคาย มุกดาหาร และนครพนม และจะเปิดใช้แห่งที่สี่บริเวณเชียงของ จังหวัดเชียงราย 
 
งานวิจัยของศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยชี้ว่า การพัฒนาด้านสาธารณูปโภคในลาวที่พัฒนายิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมต่อทางบกระหว่างลาวและไทย กัมพูชา เวียดนาม และจีน ทำให้ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เอื้อต่อการเชื่อมต่อกับโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น 
 
ในขณะเดียวกัน สถิติระบุว่า นักท่องเที่ยวจากไทยเดินทางเข้าประเทศลาวมากที่สุด ตามมาด้วยเวียดนามและจีนตามลำดับ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวของไทยที่เดินทางสู่ลาวเพิ่มขึ้นจาก 63,800 คน ในปี 2542 เป็น 926,000 คนในปีที่แล้ว คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 30.5 ต่อปีในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา 
 
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก 

Thailand reaps benefits of Laos' economic growth
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาการหนังสือพิมพ์ฯแถลง เรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของสื่อมวลชน กรณี 'ไร่ส้ม'

Posted: 04 Oct 2012 04:40 AM PDT

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
แถลงการณ์ 

เรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของสื่อมวลชน กรณีบริษัทไร่ส้ม

 
ตามที่ปรากฎต่อสาธารณชน กรณีคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ และบริษัทไร่ส้ม มีส่วนพัวพันกับการทุจริตเงินรายได้โฆษณา ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้ชี้มูลความผิด และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีทางกฎหมายนั้น ในฐานะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อถือ ไว้วางใจของประชาชนเป็นสำคัญ กรณีจึงมีเหตุผลที่สังคมควรต้องตั้งคำถาม และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบ
 
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ มีหน้าที่ในการกำกับ ดูแลเรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชน ได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ดังกล่าว ถึงแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมิได้เป็นสมาชิกโดยตรง แต่ก็นับเป็นภาระรับผิดชอบร่วมกับองค์กรสื่ออื่นๆ ที่จะต้องยืนยันหลักการการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดี ที่ต้องไม่ประพฤติ ปฎิบัติการใดๆ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาแม้จะยังไม่มีบทสรุปทางกฎหมาย แต่ในแง่ของการประกอบวิชาชีพ นับว่าไม่เหมาะสม มีการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดจรรยาบรรณแล้ว
 
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เห็นว่า ประชาชนผู้บริโภคข่าวสาร ควรได้รับข้อมูล ข้อเท็จจริงโดยครบถ้วน และใช้วิจารณญาณในการเลือกรับสื่อบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ ไว้วางใจได้ ของสื่อมวลชน ในขณะเดียวกันผู้ถูกกล่าวหาก็สมควรพิจารณาตัวเอง เพื่อธำรงรักษาสถาบันสื่อทั้งระบบให้เป็นที่เชื่อมั่น และศรัทธาของประชาต่อไป
 
                                                                         สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
                                                                                 4 ตุลาคม 2555
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฟิลิปปินส์สั่งจับ "อาร์โรโย" ข้อหาปล้นชาติ

Posted: 04 Oct 2012 04:37 AM PDT

ศาลฟิลิปปินส์แถลงว่าได้ออกหมายจับอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ "กลอเรีย อาร์โรโย" ฐานยักยอกเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาล ทำให้อาร์โรโยถูกควบคุมตัวอีกครั้งหลังจากได้รับการประกันตัวออกไปภายหลังถูกควบคุมตัวอยู่นาน 7 เดือน

ศาลฟิลิปปินส์แถลงวันนี้ (4 ต.ค.) ว่าได้ออกหมายจับอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กลอเรีย อาร์โรโย ในข้อหายักยอกเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาล ทำให้อาร์โรโยถูกควบคุมตัวอีกครั้งหลังจากได้รับการประกันตัวออกไปภายหลังถูกควบคุมตัวอยู่นาน 7 เดือน

ทั้งนี้นางอาร์โรโย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2544 - 2553 ได้รับการประกันตัวในข้อหาโกงการเลือกตั้ง ทำให้นางพ้นจากการถูกควบคุมตัวที่โรงพยาบาลทหารเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังถูกควบคุมอยู่นานถึง 7 เดือน ด้านทนายความของนางอาร์โรโยกล่าวว่า กำลังประเมินสถานการณ์ ทั้งนี้ นางอาร์โรโยยังถูกกล่าวหาว่ารับสินบนกรณีการทำข้อตกลงบรอดแบนด์แห่งชาติกับบริษัทของจีนมูลค่า 329 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2550

ด้านผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจฟิลิปปินส์ มาริโอ เด ลา เวกา กล่าวว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเอาหมายจับไปให้นางอาร์โรโย ที่ศูนย์การแพทย์อนุสรณ์ทหารผ่านศึกที่เกซอน ซิตี้ สถานที่ซึ่งนางอาร์โรโยอยู่รักษาตัว ขณะเดียวกันผู้บัญชาการตำรวจฟิลิปปินส์กล่าวว่าอาร์โรโยอาจจะถูกควบคุมตัวเป็นผู้ป่วยในฐานะสถานพยาบาลของรัฐ

ทั้งนี้นางอาร์โรโยพร้อมพวกอีก 9 คนถูกกล่าวหาว่าใช้เงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาล (PCSO) ผิดประเภทมูลค่า 365 ล้านเปโซ (ประมาณ 258 ล้านบาท) ในขณะที่โฆเซ่ ตารุก วี หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีเดียวกันได้หลบหนีออกจากประเทศแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม

 

ที่มา: เรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย และ Inquirer

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาสวัต บุญศรี: 6 ตุลา 2519 อย่าลืมฉัน

Posted: 04 Oct 2012 03:51 AM PDT

 

ในแวดวงภาพยนตร์ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกระแสหลัก นอกกระแสหรือสายภาพยนตร์สั้น ประเด็นเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นก็ไม่ได้ต่างออกไปจากความสนใจของมนุษย์ชาวไทยคนอื่น ๆ  ที่ต่างหลงลืมและไม่เห็นความสำคัญ แถมยังจับไปผสมปนเปกับเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ชนิดแยกไม่ออกว่าวันไหนเป็นอย่างไร มีเหตุการณ์อะไรกันแน่ 

หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่นานนัก กระแสหนังแนวขวาจัดถูกผลิตขึ้นต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์อย่างหนักหน่วง อาทิ ภาพยนตร์บู๊ล้างผลาญเรื่อง "3 นัด" ผลงานของเสนีย์ โกมารชุน ที่เผยแพร่ในปี 2520 มีคำโปรยหนังว่า "มันเกิดมาไม่มีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มันต้องตายด้วยมือกู!" (ดูโปสเตอร์ได้ที่ http://www.thaifilm.com/imgUpload/reply265101_01.jpg) แต่ไม่ถึงสามปีหลังจากนั้น เหตุการณ์ 6 ตุลา ก็กลายเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากพูดถึง ไม่มีใครกล้าออกหน้าเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการ ไม่มีใครกล้าแสดงตัวรับความดีความชอบ บรรดาผู้อยู่เบื้องหลังพยายามทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาถูกลืมเลือนเพราะแนวโน้มดูท่าจะออกมาว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจตระเวนชายแดนเหล่านั้นผิดจริง พวกเขาทำกับว่าเหตุการณ์เหล่านั้นควรลืม ๆ กันได้ไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ควรมารื้อฝอยหาตะเข็บ เราไม่เคยฆ่ากันที่ธรรมศาสตร์และมีวัดพระแก้วเป็นฉากหลัง คนไทยเรารักกัน

ไม่นานนักเราก็แทบไม่เห็นหนังที่พูดถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เลย จนปัจจุบันหนังที่พูดถึงประวัติศาสตร์ไทยก็แทบไม่เคยแตะต้อง 6 ตุลาคม 19  อาจจะมีบ้างเรื่องสองเรื่องแต่ก็ทำออกมาแง่ตลกขบขันและไม่ได้ให้รายละเอียดที่สมจริงเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดีใช่ว่าคนทำหนังไทยจะเพิกเฉยต่อประเด็น 6 ตุลา กันไปเสียหมด หนึ่งในผลงานคลาสสิคสายภาพยนตร์สั้นไทยเรื่อง "อย่าลืมฉัน" ถูกผลิตขึ้นมาด้วยต้องการประกาศก้องต่อชาวโลกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลานั้นเคยเกิดขึ้นจริง มันเป็นเหตุการณ์รุนแรงอันแสนน่ากลัว เป็นเหตุการณ์ที่มนุษย์กระทำร้ายต่อกันโดยมีรอยยิ้มอย่างมีความสุขเปรอะเปื้อนเต็มใบหน้า ทว่ามันกลับเป็นเหตุการณ์ที่มีแต่คนอยากลืม และทำเสมือนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น จงลืม จงลืม จงลืม!!! 

มานัสศักดิ์ ดอกไม้ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ตะโกนบอกผ่านหนังของเขาว่าอย่าลืมความโหดร้ายนี้ อย่าลืมการกระทำอันป่าเถื่อนนี้ แม้ในเรื่องจะไม่มีการเรียกร้องให้รัฐออกมาชำระความจริงให้ถูกต้อง แต่ก็เชื่อเถอะว่าแท้ที่จริง เขาก็ปรารถนาเฉกเช่นเดียวกันให้ความจริงกระจ่าง

ผลงานของมานัสศักดิ์เรื่องนี้ผลิตขึ้นด้วยต้นทุนและเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างจำกัด (และหนังทุกเรื่องของเขาจะเป็นในเชิงทดลองที่ใช้ต้นทุนในการผลิตน้อยมาก ๆ บางเรื่องอยู่ในระดับหลักสิบ) โชคดีที่มานัสศักดิ์ทำงานที่หอภาพยนตร์ เขาจึงมีโอกาสได้พบเจอกับฟุตเตจในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จำนวนมากที่ถูกบันทึกไว้ เขาจึงได้นำภาพฟุตเตจเหล่านั้นมารื้อสร้างโครงเรื่องแล้วประกอบสร้างใหม่ โดยใช้เสียงบรรยายในสารคดีการไปเจอผีตองเหลืองของสยามสมาคม

ในอย่าลืมฉัน เราจึงเห็นภาพตลอดทั้งเรื่องเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ แต่เสียงบรรยายและซับไตเติลกลับกลายเป็นเรื่องราวของผีตองเหลืองที่สยามสมาคมไปพบเจอ ดูเริ่มแรกแล้วย่อมรู้สึกว่ามันคนละเรื่องเดียวกัน ทว่าแท้จริงแล้วมานัสศักดิ์ใช้เทคนิคทางภาพยนตร์ประเภทยั่วล้อ แม้เสียงและภาพทางตรงจะไม่ตรงกัน แต่ความหมายโดยนัยแล้วมันแทบจะหลอมรวมเป็นเรื่องเดียว อาทิ บทคำบรรยายกล่าวถึงความงดงามของป่าเขาลำเนาไพร มานัสศักดิ์ก็จัดเรียงภาพอาคารที่กระจกแตก เก้าอี้พัง ให้ตรงกับคำบรรยายช่วงนั้น หรือคำบรรยาย "ทางสยามสมาคมได้นำสิ่งของที่คิดว่าพวกผีตองเหลืองต้องการได้" เมื่อหันมาดูภาพก็พบตำรวจตระเวนชายแดนกำลังยิงปืนต้านอากาศยานเข้าไปในธรรมศาสตร์พอดี

เทคนิคเฉกเช่นนี้มิใช่ของใหม่ในโลกภาพยนตร์ แต่มานัสศักดิ์ใช้และทำได้อย่างทรงประสิทธิภาพ การยั่วล้อนั้นมักส่งผลให้คนดูเกิดการถอยห่างออกมาจากหน้าจอและฉุกคิดต่อเหตุการณ์ที่เห็นในเฟรมภาพมากขึ้น คนดูย่อมตั้งคำถามเบื้องแรกในเชิงเทคนิคว่าเล่าเรื่องอย่างไรกันแน่ และเมื่อภาพที่เห็นในหนังยังคงวนเวียนในหัว คนดูจะพยายามปะติดปะต่อเรื่อง รวมถึงตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้พบเห็นว่านี่คือภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนที่อ้างว่าเป็นเมืองพุทธจริงหรือ และก็มีคนดูไม่น้อยที่ไม่เคยรู้จักเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มาก่อนได้ออกไปหาคำตอบเพิ่มเติมว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

อย่าลืมฉัน ได้รับรางวัลรัตน์ เปสตันยี (รางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมสายบุคคลทั่วไป) จากมูลนิธิหนังไทยเมื่อปี 2546 และเป็นหนังที่จริงจัง (น่าจะ) เพียงเรื่องเดียวที่ออกมาเรียกร้องให้ชาวไทยอย่างเรา ๆ อย่าได้ลืมเหตุการณ์โศกนาฎกรรมครั้งนี้ เรียกร้องให้อย่าลืม อย่าลืม อย่าลืม!!! และนับแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายก็ได้ทำให้คนไทยไม่น้อยไม่เคยลืมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อีกเลย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กะเหรี่ยง KNU ปลดผู้บัญชาการสูงสุด หลังไปพบทางการพม่าโดยพลการ

Posted: 04 Oct 2012 03:18 AM PDT

 

นายพลมูตู เซ พอ ผู้บัญชาการกองทัพกะเหรี่ยง KLNA ถูกทางการกะเหรี่ยงปลดออกจากตำแหน่งแล้ว หลังสัปดาห์ก่อนเดินทางไปเมืองผาอันของพม่า เพื่อเปิดสำนักงานประสานงานกับทางการพม่า โดยที่ KNU ยังไม่อนุมัติ

นายพลมูตู เซ พอ ผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) (ที่มา: DVB)

สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ได้ออกคำสั่งเมื่อวานนี้ (3 ต.ค.) ปลดผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) นายพลมูตู เซ พอ และคณะกรรมการกลางของกองทัพกะเหรี่ยง KNLA อีก 2 คน ถูกปลดจากตำแหน่งเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยกล่าวหาว่านายพลมูตูละเมิดระเบียบของ KNU

ทั้งนี้นายพลกะเหรี่ยงมูตู เซ พอ และเดวิด ตักกะพอ และโรเจอร์ คลิน ถูกไล่ออกหลังไปเยือนเมืองผาอันเมื่ออาทิตย์ก่อน โดยฝ่าย KNU กล่าวหาว่าพวกเขาไปสมคบกันไปเปิดสำนักงานประสานงานกับรัฐบาลพม่าที่เมืองผาอัน แหล่งข่าวจาก KNU ระบุ

ขณะเดียวกัน ผู้บัญชาการกองทัพกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ 5 บอ จ่อ เฮ ถูกคาดหมายว่าจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพกะเหรี่ยง KNLA แทน

เมื่ออาทิตย์ก่อนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เคยออกแถลงการณ์ว่า ผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA นายพลมูตู เซ พอ และผู้บัญชาการกะเหรี่ยงอีก 30 คน เดินทางไปเมืองผาอันเพื่อไปเปิดสำนักงานประสานงานกับทางการพม่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการกะเหรี่ยง ขณะที่ ซอว์ ละ งวย เลขาธิการร่วมคนที่ 1 KNU เคยให้สัมภาษณ์กับอิระวดีว่าจะดำเนินมาตรการทางกฎหมายต่อนายพลมูตู เซ พอ

ทั้งนี้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเคเอ็นยูเพิ่งเจรจาหยุดยิง และยังอยู่ในขั้นตอนเจรจาสันติภาพ ขณะที่ในเดือนตุลาคมนี้มีกำหนดการประชุมของ KNU ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง โดยคาดหมายว่าผู้แทนทางการเมืองของ KNU และปีกทางการทหารคือ KNLA จะหารือและลงมติเลือกผู้นำคนใหม่

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก KNLA Commander Dismissed, The Irrawaddy, October 4, 2012

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: บทขยายปัญหาและความเป็นเหตุผล ‘อเนกนิกรสโมสรสมมติ’ ของ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

Posted: 04 Oct 2012 03:14 AM PDT

ระยะหลังมานี้ใครอ้างหลักพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย คนก็มักจะออกอาการเซ็ง แต่การอภิปรายปัญหาและความเป็นเหตุผลของทฤษฎี 'อเนกนิกรสโมสรสมมติ' ของฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ที่อ้างหลักการที่ถูกต้องของพุทธศาสนาตามนัยอัคคัญญสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 11) มาโต้แย้งทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติในการเสวนาหัวข้อ 'การรัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ' ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมานั้น ดูเป็นที่ 'ประทับใจ' ของผู้ฟังไม่น้อย

 

คงไม่ใช่เพียงเพราะฐาปนันท์เป็นนักวิชาการในกลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งเป็นนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าในปัจจุบันเท่านั้น ที่สำคัญคือความ 'แหลมคม' ของข้อโต้แย้งตรงๆ ว่า ที่ชนชั้นปกครองมักอ้างกันว่าแนวคิดเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย อำนาจของประชาชนเป็นแนวคิดของตะวันตก ไม่เหมาะกับสังคมไทยนั้นมันใช่หรือไม่? แล้วเขาก็แสดงให้เห็นว่าเมื่อมาดูจากความคิดของเราเอง เช่นความคิดแบบพุทธในอัคคัญญสูตร พระตถาคตยืนยันว่า 'อำนาจเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของชนชั้นปกครอง มาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว' แต่ชนชั้นปกครองตั้งแต่ยุค ร.4 เป็นต้นมานำความคิดในอัคคัญญสูตรมาตีความอย่างมี 'วาระ' ของตัวเองในนามทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติ ฝ่ายกษัตริย์นิยมเช่นพระองค์เจ้าธานีนิวัตได้รื้อฟื้นขึ้นมาโปรฯเจ้าอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 2490 จนทำให้เราลืมสิ่งที่พระตถาคตบอกไว้ในอัคคัญญสูตรไป ผมยินดีมากที่นักวิชาการฝ่ายก้าวหน้านำเรื่องนี้ขึ้นมาพูด 'อย่างตรงไปตรงมา' ตามเนื้อผ้าจริงๆ ไม่ใช่เพื่อโปรฯพุทธศาสนา จึงอยากชวนคิดต่อและขยายความบางประเด็นอย่างนี้ครับ

1.จะทำอย่างไรกับพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่โปรโมทอุดมการณ์ราชาชาตินิยมมาอย่างยาวนาน จนเกิดสภาพอย่างที่เกษียร เตชะพีระ บอกว่า 'เรามีโครงสร้างประชาธิปไตย แต่ประชาชนยังมีความคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์' (ที่จริงเราอาจโต้แย้งได้ว่าโครงสร้างก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เช่น รัฐธรรมนูญหมวดสถาบันกษัตริย์และ ม.112) ถ้าเราคิดว่านี่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย เราจะโต้ตอบอย่างไร

ผมคิดว่าเราอาจทำได้สองทาง คือ ทางแรกปฏิเสธ เลิกพูดถึงพุทธศาสนาในทางการเมือง ไม่อ้างความคิดใดๆ ของพุทธในทางการเมืองอีกเลย เพราะจะเป็นการไปให้เครดิตแก่ความคิดของพุทธศาสนาเหนือความคิดของศาสนาอื่นๆ ซึ่งขัดกับหลักขันติธรรมในสังคมพหุนิยมทางศาสนา แต่แล้วไง เราโยนทิ้ง ไม่พูดถึง หรือปฏิเสธการอ้างความคิดพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย ทว่าในความเป็นจริงพุทธศาสนาก็ยังถูกใช้สนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมอยู่ทุกวัน ทางที่สองกลับไปหาหลักการที่ถูกต้องของพุทธศาสนาเพื่อนำมาหักล้างการบิดเบือน และตีความหลักการพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย ให้พุทธศาสนางอกงามไปอย่างสนับสนุนความงอกงามของประชาธิปไตย คำอภิปรายของฐาปนันท์ดูเหมือนจะสนับสนุนแนวทางนี้

2.เรากำลังคิดแบบ fundamentalism และอ้าง absolute truth ทางพุทธศาสนาอยู่หรือไม่? ผมสนใจข้อเท็จจริงว่ามีการบิดเบือน หรือตีความหลักการพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนสถานะ อำนาจ ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง (เช่น ทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติ) อยู่จริง และ/หรือมีการตีความ บิดเบือนหลักการพุทธศาสนาสนับสนุนอำนาจบารมีของพระสงฆ์ที่อ้างคุณวิเศษทำการตลาดจากศรัทธาของประชาชนเป็นต้นอยู่จริง วิธีแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ก็คือไปสำรวจดูว่าหลักการที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แล้วนำมาโต้แย้งหักล้างการบิดเบือนนั้นๆ ฉะนั้น กรณีเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับเมื่อเราเห็นการบิดเบือนหลักกฎหมาย หลักการประชาธิปไตย แล้วพยายามอ้างอิงหลักกฎหมาย หลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้องมาโต้แย้งหักล้างการบิดเบือนนั้นๆ อย่างที่นิติราษฎร์พยายามทำมาตลอด (แล้วทำไมต้องรอให้นิติราษฎร์มาทำงานแทนนักวิชาการพุทธศาสนาอีกล่ะ?)

จุดประสงค์ของการกลับไปหาหลักการที่ถูกต้อง ก็เพื่อนำมาหักล้างการบิดเบือนพุทธศาสนาสนับสนุนชนชั้นผู้มีอำนาจ ไม่ว่าอำนาจทางการเมือง อำนาจทางศาสนา อำนาจศีลธรรม หรืออำนาจบารมีที่อ้างอิงศรัทธาใน 'คุณวิเศษ' ใดๆ ที่อยู่เหนือการตรวจสอบ ไม่ใช่เพื่ออ้างหลักการที่ถูกต้องนั้นรองรับการใช้อำนาจรัฐเบียดขับพุทธชายขอบต่างๆ ให้ตายไป หรือไม่ใช่อ้างหลักการพุทธอย่างคับแคบว่าเป็น absolute truth เหนือกว่า ดีกว่าความจริงอื่นๆ ทว่าเพียงนำหลักการพุทธมาแลกเปลี่ยนกับความจริงอื่นๆ ใน 'ระนาบเดียวกัน' เท่านั้น

3.Enlightenment ไม่ใช่การเดินหน้าโดยไม่ย้อนมองข้างหลัง ยุคสว่างทางปัญญา หรือบางทีเรียกว่า 'ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ' (Renaissance) ในยุโรปช่วงรอยต่อระหว่างสมัยเก่า (Dark Age) กับสมัยใหม่ (Modern Age) นั้น คือการต่อสู้เพื่อหลุดพ้นไปจากการครอบงำให้อยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบเผด็จการ และระบบความคิดความเชื่อเดียว ด้วยการฟื้นฟูภูมิปัญญาเดิม เช่น ฟื้นฟูปรัชญากรีก ความรู้ยุคโรมันให้คืนชีพขึ้นมาสู่เวทีแห่งการปะทะสังสรรค์ พร้อมๆ กับการต่อสู้ขัดขืน ท้าทายระบบอำนาจกษัตริย์ ระบบศักดินา (Feudalism) ศาสนจักร ความคิดความเชื่อเก่าจนนำไปสู่การเปิดกว้างให้ภูมิปัญญาใหม่ๆ ได้งอกงามแตกขยาย แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน หากต้องเผชิญกับความสับสนขัดแย้งทั้งทางการเมือง ศาสนา วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ที่ใช้เวลากว่าร้อยปี กระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 สงครามทางปัญญาก็ยังดำเนินต่อมา

สังคมไทยถูกครอบงำด้วยระบบอำนาจและระบบความคิดความเชื่อเดียวตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนอุดมการณ์ดังกล่าวมาช้านาน จึงจำเป็นที่เราต้องฟื้นฟูหลักการที่ถูกต้องของพุทธศาสนาเพื่อโต้แย้งหักล้างความคิดความเชื่อที่บิดเบือนไป และตีความหลักการพุทธที่ถูกต้องสนับสนุนเสรีภาพและประชาธิปไตย พร้อมๆ กับเปิดกว้างให้กับความติดอื่นๆ ได้งอกงามแตกขยาย

4.หลักการสากลไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของตะวันตกหรือตะวันออก ไมเคิล ไรท์ อดีตคอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์เคยเขียนว่า สิ่งที่มันเป็นความจริงหรือที่เรียกว่าเป็นของสากลนั้นมันไม่ได้เป็นสมบัติส่วนตัวของตะวันตกหรือตะวันออก จะเป็นใครค้นพบหรือคิดมันขึ้นมาก็ได้ แต่มันเป็นสมบัติร่วมกันของโลก เช่นความจริงของคณิตศาสตร์ไม่มีใครผูกขาดความเป็นเจ้าของ ความคิดเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนเป็นต้นก็เช่นกัน มันไม่ใช่อย่างที่ชนชั้นปกครองพยายามบอก (หลอก) มาตลอดว่า ความคิดเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก เหมาะกับสังคมตะวันตก ไม่เหมาะกับสังคมเรา เราเป็นไทยต้องคิดแบบไทยเพื่อรักษา 'ความเป็นไทย' เอาไว้ ไม่ตกเป็นทาสทางปัญญาของฝรั่ง

5.เมื่อคิดจากภูมิปัญญาของเราก็ยืนยัน 'อำนาจเป็นของประชาชน' เช่นกัน ดังข้อโต้แย้งของ ฐาปนันท์ กล่าวถึงประเด็นสำคัญของอัคคัญญสูตรที่พระตถาคตบรรยายถึงสังคมตามสภาพธรรมชาติ (natural state) หรือสังคมก่อนสังคมการเมืองที่ไร้กฎระเบียบ มีการเบียดเบียนประทุษร้ายทรัพย์สิน ชีวิตร่างกายของกันและกัน เป็นเหตุให้บรรดาผู้คนที่ไม่สามารถทนอยู่กับสภาพอนาธิปไตยเช่นนั้นต่อไปได้ มาร่วมประชุมปรึกษาหารือ และมีข้อตกลงร่วมกันว่า "พวกเราจะสมมติผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ส่วนพวกเราจะเป็นผู้แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น"

ฐาปนันท์บอกว่า มองจากเนื้อหาตรงๆ ไม่ต้องตีความก็เข้าใจได้ว่านี่มันเป็น 'สัญญาต่างตอบแทน' เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นว่า 'อำนาจเป็นของประชาชน' อยู่ก่อน ผู้ปกครองมีอำนาจจากความยินยอมของประชาชน ซึ่งเราสามารถเข้าใจต่อไปได้ว่าการใช้อำนาจนั้น ก็คือการทำหน้าที่ตามเจตจำนงของประชาชน โดยผู้ปกครองได้รับส่วนแบ่งข้าวสาลีเป็นค่าตอบแทน โดยนัยนี้ หากผู้ปกครองใช้อำนาจขัดแย้งกับเจตจำนงของประชาชน ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่ประชาชนจะเรียกอำนาจคืน

แต่ตามทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติไปบิดเบือนข้อความในอัคคัญญสูตรว่า มหาชนสมมติหรือตกลงกันเลือกผู้ปกครองขึ้นมาเป็นกษัตริย์ให้มีสถานะอยู่เหนือคนทั้งปวง หมายความว่า คนทั้งหลายเป็นสามัญชนที่มีความเท่าเทียมกัน แต่กษัตริย์อยู่เหนือคนทั้งหลาย เป็นสมมติเทพผู้ทรงทศพิธราชธรรมที่แตะต้องไม่ได้ กลายเป็นว่าชนชั้นปกครองเป็นเจ้าของอำนาจ เป็นเจ้าแผ่นดิน เจ้าชีวิตของประชาชนไปเลย ซึ่งความหมายนี้ขัดแย้งกับความหมายตามนัยอัคคัญสูตรอย่างสิ้นเชิง

6.ความคิดเรื่อง social contract ที่อยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพและความเสมอภาคในอัคคัญญสูตร สมบัติ จันทรวงศ์ พูดถูกที่ว่าแนวคิด 'เทวสิทธิ์' เป็นเรื่องสมมติ 'ประชาธิปไตย' ก็เรื่องสมมติเช่นกัน ถ้าเรามองว่าทฤษฎีเทวสิทธิ์เป็นการอ้างตำนาน สิ่งที่ไม่เป็นจริง บุญญาธิการ บาป บุญ กฎแห่งกรรมที่มองไม่เห็น ประชาธิปไตยก็กำเนิดจากการสร้างขึ้นมาเช่นกัน โดยมีรากฐานจากสิ่งสมมติว่า ตามหลักตรรกะ ถ้ามีสังคมการเมือง รัฐบาล ต้องมีสภาพก่อนที่จะไม่มีสังคมและรัฐบาล ในสภาพนั้นทุกคนต้องเท่ากัน เพราะยังไม่มีอะไรกำหนด เรียกว่า 'สภาพธรรมชาติ'

'สภาพธรรมชาติ' จึงเป็นสมมติฐานตั้งต้นของทฤษฎีสัญญาประชาคม (social contract) ที่ไม่ต้องพิสูจน์ คือไม่มีใครไปพิสูจน์ว่าในสภาพธรรมชาติก่อนเป็นสังคมการเมืองนั้น ธรรมชาติของมนุษย์เห็นแก่ตัวและใช้ความเห็นแก่ตัวเบียดเบียนกันได้อย่างเสมอภาคตามความคิดของโทมัส ฮอบส์ หรือธรรมชาติของมนุษย์คือเสรีภาพตามความคิดของฌอง ฌากส์ รุสโซ หรือธรรมชาติของมนุษย์คือ 'จิตบริสุทธิ์' ที่มาจากโลกอื่นคืออาภัสสรพรหม แล้วจึงแปรเปลี่ยนมามีกิเลสตัณหาเป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนกันในสภาพสังคมตามธรรมชาติก่อนที่จะเกิด 'มหาชนสมมติ' หรือ 'สัญญาประชาคม' ที่ยืนยันว่า 'อำนาจเป็นของประชาชน' ตามนัยอัคคัญสูตรที่พระตถาคตอธิบาย ฉะนั้น สมมติฐานที่ว่า สังคมตามสภาพธรรมชาติเป็นอย่างนั้นอย่างนี้จึงเป็นเพียงสมมติฐานเพื่อสร้างแนวคิดปรัชญาสังคมการเมืองที่ไม่ต้องพิสูจน์

แต่ประเด็นที่วิเคราะห์กันในปรัชญาสังคมการเมืองคือประเด็นว่า 'อำนาจเป็นของใคร?' ซึ่งทฤษฎีสัญญาประชาคมเห็นตรงกันว่า 'อำนาจเป็นของประชาชน' และเห็นว่าประชาชนมีความเสมอภาค แต่ความเสมอภาคอาจมองต่างกันไป เช่น ฮอบส์มองว่ามนุษย์มีความเสมอภาคในการใช้กำลังทำร้ายกัน คนอ่อนแอก็สามารถใช้กำลังทำร้ายคนแข็งแรงกว่า คนฉลาดกว่าได้พอๆ กัน (เช่น ลอบทำร้ายเวลาเผลอ ฯลฯ) รุสโซเห็นว่ามนุษย์มีเสรีภาพเท่าเทียมกัน แล้วความคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคในอัคัญญสูตรมีหรือไม่?

7.ความคิดเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคในอัคคัญญสูตร บางคนบอกว่าพุทธศาสนายืนยันว่ามนุษย์มีเสรีภาพแสวงหาสัจธรรมและมีความเสมอภาคในการบรรลุธรรม แต่จะโยงมาอธิบายเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคในสังคมประชาธิปไตยได้หรือไม่ การมองแบบนี้ถูกเพียงแง่เดียว เราจะเข้าใจชัดขึ้นเมื่อพิจารณาเนื้อหาและบริบทการปฏิเสธระบบชนชั้นในอัคคัญญสูตร

เนื้อหาในอัคคัญญสูตร เป็นบทสนทนา (dialog) ระหว่างพุทธะกับสามเณรสองรูป คือ สามเณรวาเสฏฐะ กับสามเณรภารทวาชะ ที่ออกบวชจากวรรณะพราหมณ์ โดยพุทธะถามว่า "เธอทั้งสองออกบวชจากวรรณะพราหมณ์ ไม่ถูกพวกพราหมณ์ด่าว่าเอาหรือ" ได้รับคำตอบว่า "พวกพราหมณ์ด่าว่าอย่างรุนแรงเพราะพวกเขาถือว่าวรรณะพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐเพราะเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพระพรหม พวกสมณะเป็นพวกเลวทรามเพราะเกิดจากเท้าของพระพรหม" เป็นต้น จากนั้นพุทธะก็แสดง "เหตุผลโต้แย้ง" (arguments) ระบบความเชื่อของพราหมณ์ เช่น บอกว่า คนทุกวรรณะต่างก็เกิดจากโยนีของมารดา พร้อมกับอธิบายวิวัฒนาการของมนุษย์ การเกิดสังคมการเมือง และระบบวรรณะ

ใความสำตัญสรุปได้ว่าสังคมการเมืองเกิดจาก 'สัญญาประชาคม' (ตามข้อความที่ฐาปนันท์อ้างถึง) เป็นสัญญาประชาคมภายใต้ข้อตกลงกว้างๆ ร่วมกันว่า  (1) ให้อำนาจผู้ปกครองในการ "ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ" ทั้งนี้การทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลง (2) ว่า สมาชิกของสังคมตกลงจะแบ่งข้าวสาลีให้เป็นการตอบแทนในการทำหน้าที่ของผู้ปกครองนั้น และเนื่องจากการเป็นปกครองดังกล่าวนั้นเกิดจาก "การสมมติของชนหมู่มาก"  จึงมีชื่อเรียกว่า "มหาชนสมมติ"  ต่อมาผู้ปกครองแบบมหาชนสมมตินั้นได้รับการยอมรับจากสังคมว่า เป็นใหญ่ยิ่งแห่งเขตแดนทั้งหลาย จึงเรียกว่า "กษัตริย์" และเพราะความที่กษัตริย์เช่นนั้นทำให้คนจำนวนมากสุขใจได้โดยธรรม จึงเรียกว่า "ราชา" และระบบวรรณะต่างๆ ก็เกิดจากการแบ่งงานกันทำ ไม่ได้เกิดจากการกำหนดเอาไว้อย่างตายตัวโดยพระพรหม หรืออำนาจเทวสิทธิ์

นี่คือการปฏิเสธระบบคิดที่ยืนยันระบบชนชั้นที่อ้างอิงอำนาจเทวสิทธิ์ แล้วยืนยันระบบคิดที่ว่ามนุษย์เท่าเทียมกัน ดังข้อความในอัคคัญญสูตรว่า  "...เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกันก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม...ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชนทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า"  หมายความว่า มนุษย์ไม่ได้มีคุณค่าความเป็นคนต่างกันเพราะถือกำเนิดจากชนชั้นที่ต่างกันตามที่กำหนดไว้อย่างตายตัวโดยอำนาจเทวสิทธิ์ แต่จะต่างหรือเหมือนกันเพราะการกระทำตาม "ธรรม" อะไร ถ้าทำตามธรรมที่เป็นอกุศลก็เลว ทำตามธรรมที่เป็นกุศลก็ดีเสมอภาคกัน และการทำตามธรรมก็เกิดจาก "เสรีภาพในการเลือก" ของแต่ละคน ฉะนั้น มนุษย์จึงมีเสรีภาพและความเสมอภาคทางศีลธรรม คือมีเสรีภาพที่จะเลือกทำถูกหรือผิดด้วยตนเอง และเมื่อทำถูกหรือผิดในเรื่องเดียวกันก็รับผิดชอบทางศีลธรรมเสมอภาคกัน

พูดง่ายๆ คือพุทธะปฏิเสธการตัดสินคุณค่าของคนตามระบบวรรณะ 4 หรือปฏิเสธ 'ความไม่เสมอภาค' ตามระบบชนชั้นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทรในยุคนั้น แต่ยืนยันความเสมอภาคทางศีลธรรมว่า ถ้าทำดีก็ดี ทำชั่วก็ชั่วเสมอภาคกัน เช่น เป็นศูทรกับเป็นกษัตริย์ถ้าทำชั่วอย่างเดียวกัน (เช่น ฆ่าคน) ก็ชั่วชั่วและต้องรับผิดชอบอย่างเสมอภาคกัน ฉะนั้น ความเท่าเทียมกันในทางศีลธรรมจึงมีความหมายสำคัญ 2 อย่าง คือ

1) ทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกการกระทำเสมอภาคกัน

2) ทุกคนรับผิดชอบต่อการกระทำเสมอภาคกัน

นี่คือ 'ความเป็นคนที่เท่ากัน' ที่อยู่บนฐานของความเสมอภาคในการเลือกและรับผิดชอบต่อคุณค่าของชีวิตตนเอง ผมคิดว่านี่คือเหตุผลทางศีลธรรมที่สามารถใช้เป็นเหตุผลรองรับ 'ความยุติธรรม' ว่า ทำไมเราจึงต้องมีความเสมอภาคทางกฎหมายตามหลักนิติรัฐในสังคมประชาธิปไตย และเมื่อมองจากหลักการตามนัยอัคคัญญสูตรแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่เราจะอ้างคุณธรรมใดๆ ทางพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนสถานะศักดิ์สิทธิ์เหนือการตรวจสอบของชนชั้นปกครอง การกระทำเช่นนั้นเป็นการบิดเบือนพุทธศาสนารับใช้ชนชั้นปกครองที่ผู้รักความถูกต้องไม่อาจยอมรับได้

ฉะนั้น คุณธรรมของผู้ปกครอง เช่นทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร สังคหวัตถุ ที่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อทุกข์สุขของราษฎร การรักษาความยุติธรรม ซื่อสัตย์เสียสละเพื่อราษฎรเป็นต้น ก็คือ 'ข้อเรียกร้องทางศีลธรรม' ขั้นพื้นฐานต่อผู้ปกครองที่รับข้าวสาลี (ภาษี) ไปจากราษฎร ไม่ใช่คุณธรรมที่มีไว้โปรโมท สรรเสริญ หรือยกให้ผู้ปกครองอยู่เหนือการตรวจสอบของราษฎรแต่อย่างใด หากผู้ปกครองไม่มีคุณธรรมดังกล่าวเขาย่อมหมด 'ความชอบธรรม' ที่จะเป็นผู้ปกครองอีกต่อไป นี่คือหลักการสำคัญของพุทธศาสนาที่ชาวพุทธต้องยืนยัน

หลักการพุทธจริงๆ จึงสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากกว่าที่จะสนับสนุนอุดมการณ์ราชาธิปไตย หรือราชาชาตินิยม แต่เนื่องจากพุทธศาสนาถูกตีความรับใช้อุดมการณ์ราชาธิปไตยหรือราชาชาตินิยมมาหลายร้อยปี จึงทำให้คนไทยคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังที่ อ.เกษียรว่า ผมเห็นว่าการยืนยันหลักการที่ถูกต้องของพุทธศาสนาเพื่อหักล้างทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติแบบที่ฐาปนันท์ทำเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ถ้าเราตระหนักในความเป็นจริงว่าการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยมันคือ 'สงครามทางปัญญา' เพื่อพ้นไปจาการครอบงำของระบบอำนาจและระบบความคิดความเชื่อที่เป็นอุปสรรค

ว่าแต่ในมหาวิทยาลัยน้อยใหญ่ของประเทศนี้ ก็มีนักวิชาการพุทธศาสนาอยู่แทบทุกแห่ง แต่เหตุใดต้องปล่อยให้เป็นภาระของนักวิชาการนิติราษฎร์ทำแทน เพราะสำหรับนิติราษฎร์ลำพังการทำในนามนักนิติศาสตร์ หรือทำแทนนักรัฐศาสตร์ในบางเรื่อง และยังต้องเผชิญกับ 'อันธพาลศาสตร์' อีก ก็นับว่าหนักหน่วงแล้ว นักวิชาการพุทธควรจะ 'ตื่นรู้' กันเสียที เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้!

 

แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล : ปัญหาและความเป็นเหตุผล "อเนกนิกรสโมสรสมมติ"
สมบัติ จันทรวงศ์: ประชาธิปไตย VS ศีลธรรม ข้อถกเถียงเชิงปรัชญาแห่งยุคสมัย
สรุปปาฐกถาเกษียร เตชะพีระ: นักกฎหมายไทยกับการรัฐประหาร
วรเจตน์ ภาคีรัตน์: เหตุใดจึงควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสถาบันกษัตริย์
โปรดอ่าน "Renaissance คืออะไร เป็นของใคร? ไทยมีบ้างไหม?" ในหนังสือ "ฝรั่งหลังตะวันตก" ของไมเคิล ไรท์ สำนักพิมพ์มติชน 2547
ดูความคิดเรื่อง "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" เพิ่มเติมในหนังสือ "รัฐกับศาสนา" ของพิพัฒน์ พสุธารชาติ สำนักพิมพ์ศยาม 2549

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดีเบตศึกชิงเก้าอี้ปธน. สหรัฐรอบแรก นักวิเคราะห์ชี้ รอมนีย์ชนะขาด

Posted: 04 Oct 2012 03:11 AM PDT

การดวลวิสัยทัศน์ชิงตำแหน่งงปธน. สหรัฐรอบแรกจบลงแล้ว โดยโอบามาสัญญาว่าจะใช้แผนศก. ที่เพิ่มการจ้างงานและเรียกร้อง "ความรักชาติในทางศก." ในขณะที่รอมนีย์โจมตี "การถูกบดขยี้ของชนชั้นกลาง"​ ที่เป็นผลจากนโยบายของโอบามา 

 
4 ต.ค. 55 - ในการโต้อภิปรายประชันวิสัยทัศน์เมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ มลรัฐโคโลราโด ประธานาธิบดีบารัก โอบามา กับผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน มิตต์ รอมนีย์ ได้ปะทะคารมกันด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ชาวอเมริกันรู้สึกกังวลมากที่สุด คาดว่ามีผู้ชมทางโทรทัศน์ราว 60 ล้านคน
 
ก่อนหน้าการดีเบตครั้งนี้ โอบามามีคะแนนนิยมนำรอมนีย์เล็กน้อย ตลอดการดวลฝีปากเป็นเวลา 90 นาที ซึ่งมีจิม เลห์เรอร์ จากรายการ นิวส์อาวร์ ของโทรทัศน์พีบีเอส เป็นพิธีกร รอมนีย์ได้พยายามชี้ถึงข้อบกพร่องของรัฐบาลโอบามา เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนตนในการโหวตเลือกประธานาธิบดีในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ขณะโอบามาพยายามอวดผลงานของตน
 

ภาพจาก www.dailywireless.org
 
โอบามาบอกว่า แผนเศรษฐกิจของตนจะสามารถสร้างงานได้มากมายในท้ายที่สุด ขณะที่รอมนีย์โจมตีว่า โอบามาไม่สามารถกอบกู้เศรษฐกิจได้ และทำให้อัตราว่างงานสูงถึง 8.1% พร้อมกับพูดถึงแผนเศรษฐกิจ 5 ประการของตน โดยกล่าวหาโอบามาว่า เน้นบทบาทของรัฐในการอัดฉีดเศรษฐกิจมากเกินไป
 
รอมนีย์บอกว่า ประสบการณ์ในฐานะนักธุรกิจจะช่วยให้ตนฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้ และจะทำให้เกิดการจ้างงาน 12 ล้านตำแหน่งใน 4 ปี
 
ทั้งสองฝ่ายได้ปะทะคารมกันอย่างเข้มข้น "ท่านผู้ว่าฯรอมนีย์มองว่า ถ้าเราลดภาษีที่เอื้อคนรวย และลดกฎระเบียบต่างๆ ฐานะความเป็นอยู่ของเราจะดีขึ้น ผมมีความเห็นต่างออกไป" โอบามากล่าว พร้อมกับเรียกร้อง "ความรักชาติในทางเศรษฐกิจ"
 
ขณะที่รอมนีย์พูดในตอนหนึ่งว่า "ท่านประธานาธิบดีมีทัศนะแบบเดียวกับที่เขาคิดตอนที่ลงชิงประธานาธิบดีเมื่อสี่ปีก่อน ว่าถ้าใช้จ่ายให้มากขึ้น เก็บภาษีให้มากขึ้น ออกกฎระเบียบเพิ่มขึ้น รัฐบาลจะทำงานได้ผล นั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องสำหรับอเมริกา" และปฏิเสธว่า ตนไม่ได้มีแผนจะลดภาษี 5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งโอบามาได้ตอบโต้ว่า รอมนีย์ได้กลับลำจากคำประกาศที่เคยพูดหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้
 
รอมนีย์ อดีตผู้ว่าการมลรัฐแมสซาชูเซตส์ และมหาเศรษฐี กับโอบามา ต่างถูกกดดันให้แสดงแผนการกอบกู้เศรษฐกิจของสหรัฐ หลังจากได้ใช้เวลาฟื้นตัวจากภาวะถดถอยมานานหลายปี, อัตราการว่างงานสูงเกิน 8% ติดต่อกัน 43 เดือน, งบประมาณขาดดุลอย่างมหาศาล และโครงการสิทธิประโยชน์ต่างๆ ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
ฝ่ายโอบามาแก้ต่างว่า ประธานาธิบดีต้องเข้ามารับภาระจากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้ทิ้งไว้ แต่สถานการณ์ได้กระเตื้องขึ้นแล้วแม้เป็นการฟื้นตัวช้าๆก็ตาม และว่า ในสมัยแรกของโอบามา เขาต้องเผชิญกับทางตันทางการเมืองเนื่องจากการแบ่งฝักฝ่ายระหว่างสองพรรค
 
"เมื่อผมก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว งบประมาณขาดดุล 1 ล้านล้านดอลลาร์ได้รอผมอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเราต่างรู้ว่ามันมาจากไหน" โอบามากล่าว "สงครามใน 2 ประเทศที่ได้ใช้จ่ายด้วยการรูดบัตรเครดิต, การลดภาษี 2 ครั้งซึ่งไม่มีรายได้อื่นมาทดแทน จากนั้นตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ"
 
ฝ่ายรีพับลิกันได้ฉวยประโยชน์จากคำพูดพลั้งปากของรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน เมื่อวันอังคาร ที่บอกว่า ชนชั้นกลางได้ "ตายสนิท" ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา รอมนีย์พูดย้ำประโยคนี้ในตอนหนึ่งว่า "ภายใต้นโยบายของท่านประธานาธิบดี ชาวอเมริกันที่มีรายได้ปานกลางได้ตายสนิท ได้ถูกบดขยี้"
 
 
การปะทะเรื่อง "โอบามาแคร์" 
 
ต่อเรื่องสวัสดิการสุขภาพ นายรอมนีย์กล่าวว่านโยบาย "โอบามาแคร์" ที่ได้นำเข้ามาใช้ในปี 2553 ได้เพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพและป้องกันไม่ให้เกิดการจ้างงานโดยธุรกิจขนาดเล็ก 
 
ถึงแม้ว่านายรอมนีย์สัญญาว่าจะยุติโครงการดังกล่าว แต่เขาเองก็กล่าวชมและปกป้องโครงการดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้ เขาเองได้ลงนามสนับสนุนโครงการนี้ในฐานะผู้ว่าการรัฐเมสซาชูเซตส์ ซึ่งต่อมาถูกกล่าวขานว่าเป็นแบบอย่างของการใช้กฎหมาย "โอบามาแคร์"
 
ในขณะเดียวกัน นายโอบามากล่าวว่า นโยบายสุขภาพนี้ ป้องกันไม่ให้บริษัทประกันเลือกปฏิบัติการให้บริการผู้ป่วย โดยกฎหมายดังกล่าว มีชื่อเต็มๆ ว่า Patient Protection and Affordable Care Act ซึ่งเป็นแผนปฏิรูประบบสุขภาพ ที่มุ่งลดค่ารักษาพยาบาลสำหรับประชาชน และลดจำนวนชาวอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพ 
 
ผลสำรวจโพลหลายสำนักที่เผยแพร่ก่อนการดีเบต ระบุว่า คนทั้งสองมีคะแนนนิยมสูสีกันมาก โดยโอบามาเป็นฝ่ายนำอยู่เล็กน้อย
 
โพลของวอลสตรีทเจอร์นัล/เอ็นบีซี นิวส์ ให้โอบามานำ 49-46 สอดคล้องกับโพลของเรียลเคลียร์โพลิติกส์ ที่ให้โอบามานำอยู่ 3.5%
 
ผลสำรวจของเนชั่นแนล พับลิก เรดิโอ ระบุว่า โอบามานำ 51-44 ในหมู่ผู้ตั้งใจจะไปใช้สิทธิ์ทั่วประเทศ และนำ 50-44 ในมลรัฐที่เป็นสมรภูมิช่วงชิงคะแนนเสียง หรือสวิงสเตท ขณะที่โพลของวอชิงตันโพสต์-เอบีซี นิวส์ ให้โอบามานำลิ่วถึง 52-41 ในสวิงสเตท
 
 
หลายสำนักชี้ 'รอมนีย์ ' ชนะดีเบตปธน.สหรัฐฯครั้งแรก
 
นักวิชาการหลายสำนักชี้ มิตต์ รอมนีย์ จากพรรครีพับลิกัน ชนะขาดในการดีเบตครั้งแรกกับบารัก โอบามา ปธน.สหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ซึ่งถือเป็นการเพิ่มคะแนนนิยมในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้
 
การดีเบตใหญ่ครั้งแรก สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จบลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหลายฝ่ายชี้ว่า การดีเบตครั้งนี้ ชัยชนะตกเป็นของนายมิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน ที่รุกหนัก โดยการเน้นโจมตีนโยบายเศรษฐกิจของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาว่า ทำให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอย และมีอัตราการว่างงานที่สูงกว่าร้อยละ 8
 
นายรอมนีย์กล่าวว่า หากเลือกเขาเป็นผู้นำของสหรัฐฯ เขาจะสร้างงานให้กับประชาชน ผ่านกลยุทธ์ 5 ข้อ คือ การลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก สนับสนุนพลังงานที่ผลิตได้เองในประเทศ  ขยายตลาดการค้ากับประเทศอื่นๆ พร้อมทั้ง แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศจีน  เพิ่มนโยบายส่งเสริมทักษะการทำงานของแรงงานในประเทศ แก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณด้วยการลดรายจ่าย ไม่ใช่การขึ้นอัตราภาษี  และสุดท้ายคือ การสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อย ที่จะสร้างงานได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่นายโอบามา จะเพิ่มการสร้างงานในสหรัฐฯ ผ่านการลงทุนในระบบการศึกษา อาทิ การเพิ่มตำแหน่งครูวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เพิ่มถึง 100,000 ตำแหน่ง เพื่อสร้างบุคลากรนำพาประเทศสู่ผู้นำด้านเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่า นโยบายของนายรอมนีย์ ดูเหมือนจะมีความเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากกว่า
 
ส่วนเรื่องนโยบายภาษีนั้น ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจ โดยนายรอมนีย์ โจมตีนายโอบามา เกี่ยวกับการขึ้นภาษีธุรกิจรายย่อย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการจ้างงานของประเทศ นอกจากนี้นายโอบามา ยังล้มเหลวในการแก้ปัญหางบประมาณขาดดุล ซึ่งนายรอมนีย์ ถึงกับเตือนว่า หากนายโอบามายังเป็นผู้นำต่อไป สหรัฐฯ อาจดำเนินรอยตามกรีซและสเปน ที่กำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนัก ทั้งนี้ นายอีเวน คัตเตอร์ ผู้ช่วยผู้จัดการการหาเสียงของนายโอบามา ออกมายอมรับกับสำนักข่าว CNN ว่า นายรอมนีย์ ถือว่าชนะในการดีเบตครั้งนี้ เพราะมีการนำข้อมูลเข้าโจมตีนายโอบามาได้อย่างชัดเจน  เป็นรูปธรรม และดุดันมากกว่า ซึ่งอาจเป็นการโน้มนาวใจชาวอเมริกันได้ดีกว่านายโอบามา
 
โดยการดีเบตครั้งนี้ เป็นครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้ง โดยในวันที่ 16 ต.ค. นี้จะเป็นการดีเบตรอบสองระหว่างนายโอบามาและนายรอมนีย์ว่าด้วยเรื่องนโยบายภายในประเทศและต่างประเทศ และการดีเบตรอบสุดท้าย ซึ่งว่าด้วยเรื่องนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะ จะมีขึ้นในวันที่ 22 ต.ค. 
 
รองประธานาธิบดี โจ ไบเดน และผู้ท้าชิงตำแหน่งจากพรรครีพับลิกัน นายพอล ไรอัน จะขึ้นเวทีดีเบตเช่นเดียวกันในวันที่ 11 ต.ค. นี้ 
 

ที่มา: เรียบเรียงจาก วอยซทีวี, สำนักช่าวบีบีซี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชี้แจงบทความของ ‘ใบตองแห้ง’ ออนไลน์: พรรคพวกเพื่อนศาล Fast Track

Posted: 04 Oct 2012 02:58 AM PDT

ก่อนอื่นในนามสำนักงานศาลปกครองต้องขอขอบคุณ 'ใบตองแห้ง' ที่ได้ให้ความสนใจและให้ข้อคิดเห็นในการจัดอบรมหลักสูตร 'นักบริหารการยุติธรรมทางปกครองระดับสูง' ของสำนักงานศาลปกครอง ซึ่งผมถือว่ามีค่าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงาน เพราะมีหลายประเด็นที่ผมเห็นว่าเป็นการติเพื่อก่อ เพื่อให้เราได้กลับมาทบทวนการทำงานของเรา

แต่อย่างไรก็ดี ในบทความมีบางประเด็นที่ 'ใบตองแห้ง' ยังมีข้อสงสัยและทิ้งคำถามไว้ให้ผู้อ่าน ผมจึงขออนุญาตตอบโดยรวม ดังนี้ครับ

1. ศาลปกครองเป็นองค์กรตุลาการที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เจตนารมณ์เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในสังคม จึงจำเป็นต้องเผยแพร่ความรู้ให้แก่บุคคลภายนอก เพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องหลักกฎหมายมหาชน กฎหมายปกครอง ตลอดจนหลักปฏิบัติราชการที่มาจากคำพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็เพื่อจะได้ปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช้อำนาจทางปกครองต่อประชาชนโดยไม่ชอบ ทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในขณะเดียวกันถ้าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ การใช้สิทธิของตนอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ทุกฝ่ายในสังคมรู้หน้าที่ของตนเอง ปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีสำนักงานศาลปกครองเป็นหน่วยดำเนินการเพราะมีหน้าที่ในการเผยแพร่คำพิพากษาและจัดให้มีการศึกษาอบรมและพัฒนาบุคลากรของศาลปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนดใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 77 โดยในการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายปกครองและกฎหมายมหาชนให้แก่บุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน มีการจัดในรูปแบบต่างๆ ตามกลุ่มเป้าหมายทั้งการเดินทางไปให้ความรู้ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ หรือการจัดสัมมนาอบรมในส่วนกลาง ให้แก่ผู้สนใจในหลายหลักสูตรทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว สำหรับบุคลากรหลายระดับ ทั้งระดับปฏิบัติการและระดับบริหาร ซึ่งหลักสูตร 'นักบริหารการยุติธรรมทางปกครองระดับสูง (บยป.)' นี้ก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ หลักสูตรของเราเท่านั้น

2. การคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร บยป.ที่ผ่านมาทั้ง 4 รุ่น ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นนักบริหารระดับสูงทั้งสองกลุ่มหลักคือกลุ่มเจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคประชาชนประมาณ 3 ส่วนต่อ 1 ส่วนตามลำดับในทุกรุ่น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อยอดจากภาคทฤษฎี ให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยการสัมมนาศึกษาดูงานและนำเสนอเอกสารวิชาการเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองและบทเรียนจากคดีปกครองที่ตัดสินไปแล้วจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ในกรณีของภาคประชาชนหรือเอกชนเราจะคัดเลือกโดยคำนึงถึงความจำเป็นในการเรียนรู้ของบุคคลและหน่วยงาน โอกาสในการนำความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ความพร้อมในการเรียนและข้อเสนองานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางปกครองประกอบกัน โดยผู้ที่เข้ามาเรียนจะมีองค์ประกอบครบจากทุกภาคส่วนและทุกฝ่าย ได้แก่ นักการเมืองที่เป็น สว. และ สส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ผู้บริหารระดับสูงภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนกลุ่มอาชีพและองค์กรควบคุมวิชาชีพ นักธุรกิจอุตสาหกรรม และ NGO มี กสทช. และนักกฎหมายจากบริษัททำธุรกิจโทรคมนาคมที่มีการแข่งขันกันในตลาดจากทุกบริษัท ตำรวจ ทหาร อัยการ และตุลาการ เป็นต้น

3. ศาลปกครองไม่ใช่คู่กรณีในกรณีพิพาททางปกครองในทุกคดีและใช้วิธีพิจารณาในระบบไต่สวนเป็นองค์คณะ (3 ท่านในศาลปกครองชั้นต้น และ 5 ท่านในศาลปกครองสูงสุด) เป็นวิธีพิจารณาที่เปิดเผย โปร่งใส ให้คู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริงของทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่ มีระบบตรวจสอบ 2 ชั้น โดยองค์คณะและผู้แถลงคดีนอกองค์คณะ และมี 2 ชั้นศาล รวมทั้งคำวินิจฉัยจะเปิดเผยต่อสาธารณะที่ประชาชนสามารถตรวจดูเหตุผลและวิพากษ์วิจารณ์ได้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างตุลาการศาลปกครองที่เข้าอบรมจำนวน 6 ท่าน จากผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมด 120 ท่าน กับเอกชนที่เข้าอบรมในหลักสูตร บยป. เพื่อมาเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยในคดีได้ ที่ผ่านมาก็พบว่ามีหลายคดีที่ผู้เข้ารับการอบรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับคู่กรณีเป็นฝ่ายแพ้คดี เช่น คดีมาบตาพุด คดี 3G คดีสั่งให้การนิคมอุตสาหกรรมชดใช้เงินค่าเสียหายแก่ประชาชน เป็นต้น

4. การใช้เงินงบประมาณบริหารการฝึกอบรมและดูงานทั้งในและต่างประเทศตลอดหลักสูตร มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยท่านละประมาณ 170,000 บาท โดยให้หน่วยงานของผู้เข้าอบรมสมทบค่าใช้จ่ายเป็นค่าลงทะเบียน 120,000 บาท เป็นการใช้จ่ายของแต่ละท่านตามระเบียบของทางราชการที่ตรงไปตรงมาและตรวจสอบได้ทุกรายการ

ผมขอเรียนชี้แจงประเด็นข้อสงสัยของคุณใบตองแห้งเกี่ยวกับหลักสูตร บยป. โดยภาพรวมตามที่กล่าวมาข้างต้น หากท่านยังมีประเด็นข้อสงสัยหรือประสงค์จะให้ข้อเสนอแนะอื่นใดเพิ่มเติม ผมมีความยินดีที่จะรับฟังและให้ข้อมูลแก่ท่านโดยตรง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

(ร่าง) คำไว้อาลัย 36 ปี 6 ตุลา 2519 โดย ‘หมอมิ้ง’ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

Posted: 04 Oct 2012 02:24 AM PDT

ภารกิจสืบสานเจตนารมณ์ต่อต้านเผด็จการ
สร้างสรรค์ประชาธิปไตยยังไม่เสร็จสิ้น

 

เช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม 2519  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลาดวิชา สัญญลักษณ์แห่งเสรีภาพทางปัญญา ได้แปรเปลี่ยนเป็นทุ่งสังหารอันหฤโหด  ที่เข่นฆ่าทำร้ายผู้ชุมนุมต่อต้านเผด็จการกว่า 3,000 คน โดยกองกำลังทหารตำรวจอาวุธครบมือ ระเบิด กระสุนปืน และแก๊สน้ำตา ได้ถาโถมสาดใส่ผู้ชุมนุมอย่างไม่ปรานี ตั้งแต่ 5.30 น. จวบจนแดดเริ่มจะแก่กล้าเมื่อเวลา 9.00น. 

ยังผลให้วีรชนผู้กล้าเสียชีวิตจากอาวุธสงครามอย่างโหดร้ายทารุณ บ้างก็ถูกทุบตีและแขวนคอตาย บ้างก็ถูกราดน้ำมันจุดไฟเผาทั้งที่ยังไม่สิ้นใจ บางรายก็ถูกลิ่มตอกอก หรืออวัยวะส่วนอื่นจนสิ้นใจ เสียชีวิตรวมทั้งสิ้นหลายสิบราย บาดเจ็บอีกหลายร้อยราย ส่วนที่เหลือก็ถูกจับกุมคุมขัง โดยจับถอดเสื้อผ้าทั้งชาย-หญิง เหลือเพียงกางเกง-เสื้อชั้นใน ถูกต้อนขึ้นรถบรรทุก รถบัส ไปคุมขังเยี่ยงอาชญากรที่มีโทษอุกฉกรรจ์  โดยผู้ชุมนุมถูกใส่ร้ายป้ายสี ด้วยการแต่งเติมภาพกิจกรรมระหว่างการเคลื่อนไหวชุมนุม นำลงตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ กล่าวหาผู้ชุมนุมว่ามุ่งร้ายต่อองค์รัชทายาท แล้วปฏิบัติการล้อมปราบผู้ร่วมชุมนุมอย่างโหดเหี้ยมด้วยอาวุธสงคราม ติดตามด้วยการทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยมีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าในวันเดียวกัน

หลังจากนั้นก็ติดตามกวาดล้างพวกที่เหลือ ด้วยการยัดข้อหา"ภัยสังคม" ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องหลบซ่อน อำพรางตัว บ้างก็หลบหนีเข้าเขตป่าเขา ต่อสู้กับอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ความขัดแย้งแตกแยกในสังคมยังดำรงอยู่อีกหลายปี จนรัฐบาลต่อๆ มาต้องประกาศใช้นโยบาย 66/2523 นิรโทษกรรม ให้โอกาสผู้รักชาติรักประชาธิปไตยที่ถูกข้อหา "ขบถ" ทะยอยกลับออกมาดำเนินชีวิตเยี่ยงปกติชน

ตุลาคม 2539 หลังชัยชนะของการต่อสู้หลั่งเลือดเพื่อประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพฤษภาคม 2535 และบรรยากาศเริ่มเปิดกว้างให้พลังประชาธิปไตย เพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่รอดชีวิตจากยุค 6 ตุลาคม 2519 ได้ร่วมจัดงาน"20 ปี 6 ตุลาคม" ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้ง และประสบผลสำเร็จในการกอบกู้พลิกภาพลักษณ์ของ "วีรชนและวีรกรรม 6 ตุลาคม 2519" จาก "ขบถ" เป็น"วีรชนประชาธิปไตย" และเชื่อว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนจะยังไม่จบสิ้น หากแต่พัฒนาต่อเนื่องเหมือนสายธารแห่งประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่การอภิวัฒน์ 2475, การจัดสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, การต่อสู้คัดค้านเลือกตั้งสกปรก 2500, เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535   จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสร้างอนุสรณ์สถานแห่ง"การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ในรูปงานศิลปะที่สะท้อนการต่อสู้ที่ต่อเนื่องเป็นสายธารดังได้เห็นอยู่นี้

ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2555, 80 ปีหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475, 39 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 36 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 20 ปีหลังพฤษภาคม 2535  การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อต้านอำนาจเผด็จการที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนยังไม่เสร็จสิ้น  ประชาชนที่เชื่อมั่นในพลังประชาธิปไตยได้สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าร่วมต่อสู้ต่อไป

การยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 โดยที่ผลพวงของการรัฐประหารยังดำรงอยู่  ได้เร่งเร้าให้ประชาชนที่ยึดมั่นประชาธิปไตยเข้าร่วมเคลื่อนไหวอย่างอาจหาญเมื่อเดือนเมษายน 2552 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 จนถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ต่างกันที่ครั้งนี้วีรชนคนกล้าฝ่ายประชาชนแตกต่างออกไปจากในอดีต ผู้เข้าชุมนุมไม่จำกัดเฉพาะปัญญาชนคนหนุ่มสาวเหมือนเมื่อ 36 ปีที่แล้ว แต่ขยายขอบเขตออกไปถึงผู้คนตามท้องไร่ท้องนาที่มีการส่งตัวแทนสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาร่วมชุมนุม ทั้งยังร่วมติดตามการเคลื่อนไหวผ่านสื่อทุกรูปแบบ ในขอบเขตทั่วประเทศและทั่วโลก ขณะเดียวกัน คุณภาพของผู้เข้าร่วมชุมนุมก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เยาวชนนักเรียนนักศึกษาไม่ต้องปลุกระดมชาวไร่ชาวนาให้เห็นปัญหาดังเช่นในอดีตอีกแล้ว เพราะพวกเขากลับเป็นผู้รู้คุณค่าจากเสรีภาพและประชาธิปไตยที่เขาเคยลิ้มลองและได้รับความสุขด้วยตนเอง จนเกิดเป็นความหวงแหนเมื่อถูกแย่งชิงไป นักศึกษาปัญญาชนต่างหากที่ต้องไปเรียนรู้จากพวกเขา 

พวกเขาต้องการเลือกที่จะมีเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร เสรีภาพในการตัดสินใจสร้างรายได้เพิ่มจากทุกโอกาสที่อำนวยให้ เสรีภาพที่จะเลือกลงทุนเพื่อสร้างรายได้จากทุนของเขาเอง เลือกโอกาสที่จะได้รับบริการที่ดีจากรัฐที่เก็บภาษีไปจากเขา จึงตัดสินใจเลือกผู้แทนราษฏรของตนไปแย่งชิงอำนาจรัฐเพื่อทำประโยชน์ให้กลุ่มตนได้อย่างแท้จริง ตามวิถีทางประชาธิปไตย นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า คุณค่าการเสียสละของเหล่าวีรชนประชาธิปไตยที่สั่งสมกันไม่เคยสูญเปล่า  แต่ฝ่ายนิยมเผด็จการต่างหากที่ไม่อาจเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้ และยังคงฝืนรักษาอำนาจตามวิถีเดิมๆ เลือกใช้กลไกอำนาจรัฐที่ใช้อาวุธหรือใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ ข่มเหงและปราบปรามประชาชนต่อไป โดยไม่รู้ว่านั่นคือการใส่ปุ๋ยเร่งความเติบโตของพลังประชาธิปไตย ภารกิจสืบสานเจตนารมณ์ต่อต้านเผด็จการ สร้างสรรค์ประชาธิปไตยจึงยังไม่เสร็จสิ้น

ขอเราจงร่วมกันไว้อาลัย รำลึกวีรกรรมของวีรชน 6 ตุลา และวีรชนประชาธิปไตยอื่นๆ ที่เสียสละชีวิตหรือพิการจากวีรกรรมต่างๆ ด้วยการสืบสานเจตนารมณ์การต่อสู้กับเผด็จการ เพื่อประชาธิปไตย สร้างสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ยุติธรรม นิติธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง สร้างโอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส ยึดมั่นในประโยชน์สุขของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ต่อไป

ด้วยจิตคารวะ
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช 

 

...................................................

 

กำหนดการ

สัปดาห์รำลึก 36 ปี 6 ตุลา ประชาธิปไตยประชาชน

ณ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

0 0 0
 
วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2555 ณ สวนประวัติศาสตร์ หน้าหอประชุมใหญ่
07.00 น.- 07.30 น. พิธีตักบาตรพระสงฆ์ 19 รูป 
07.30 น.- 09.30 น. พิธีวางพวงมาลา ณ ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519
               อธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน
               พิธีกร ( อมธ.) เชิญตัวแทนฝ่ายต่างๆกล่าวไว้อาลัยโดย
               - นายแพทย์พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดชตัวแทนคณะกรรมการจัดงาน 20 ปี 6 ตุลา
               - คุณพ่อจินดา ทองสินธุ์ ญาติวีรชน 6 ตุลา 2519
               - อาจารย์สุชีลา ตันชัยนันท์ ตัวแทน 18 ผู้ต้องหา
               - ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
               - บุญเลิศ ช้างใหญ่ ตัวแทนคนตุลาสายสื่อมวลชน
               - ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา
               - ประธานมูลนิธินิคม จันทรวิทุร
               - ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานศูนย์กลางแห่งประเทศไทย
               - จิตรา คชเดช ตัวแทนองค์กรกรรมกร 
               - สมบุญ ศรีคำดอกแค ตัวแทนสมัชชาคนจน
               - ศราวุฒิ ประทุมราช นักสิทธิมนุษยชน
               - อมธ. สภานักศึกษา สนนท.
               - วัฒน์ วรรลยางกูร ตัวแทนเครือข่ายเดือนตุลา
               - ตัวแทนกลุ่มโดมรวมใจ 
               - องค์กรร่วมจัดงาน ฯลฯ
 
09.30 น. - 10.00 น. กวี และนาฏลีลา รำลึกวีรชน 6 ตุลา
 
ณ หอประชุมศรีบูรพา 
10.00 น. - 11.30 น. ปาฐกถาพิเศษ 
               6 ตุลา 2519 กับอุดมการณ์คนรุ่นหลัง 6 ตุลา 
               โดย ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
 
13.30 น. - 16.30 น. เสวนา " 6 ตุลา กับ ทิศทางการเมืองไทย " 
               ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 
               ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย
               ไท ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข 
               พัชณีย์ คำหนัก องค์กรเลี้ยวซ้าย 
               ตัวแทนองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ 
               ดำเนินรายการโดย ใบตองแห้ง บรรณาธิการข่าว อาวุโสวอยส์ทีวี 
 
16.30 น. - 18.00 น. ละครใบ้ และบทกวี
18.00 น. - 20.30 น. ดนตรีวงไฟเย็น และวัฒน์วรรลยางกูร
 
 
20.30 น. - 20.40 น. ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
               กล่าวเปิดการแสดงละคร "จันตุลา" 
 
20.40 น. - 21.40 น. ละคร " จันตุลา" 
               โดยการกำกับของคุณภรณ์ทิพย์ มั่นคง
               เรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่หัวหน้าครอบครัวพยายามจะลืมว่าเคยมีลูกชายที่เสียชีวิตในวันที่ 6ตุลาคม 2519 
 
 
 
วันที่ 5-14 ตุลาคม
นิทรรศการ
การแสดงดราม่าประวัติศาสตร์ รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
 
ผู้ร่วมจัดงาน 
องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
โครงการกำแพงประวัติศาสตร์: ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 
มูลนิธินิคม จันทรวิทุร
คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
เครือข่ายเดือนตุลา 
และ เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 
 
------------------------------------------------------------------------------
อยากรู้ความจริงเรื่อง 6 ตุลา คลิก www.2519.net 
------------------------------------------------------------------------------
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับลูกชายหนุ่ม เรดนนท์ : ชีวิต ความเปลี่ยนแปลง ความหวัง

Posted: 04 Oct 2012 12:45 AM PDT

 

3 ตุลาคม 2555 เราเจอกันที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ วันที่อากง หรือ กีเชียง วัย 74 ปี พาหลานชาย 'น้องเว็บ' วัย 12 ขวบมาเยี่ยมพ่อเป็นครั้งแรกในช่วงปิดเทอมเล็กของปีนี้  ---- ธันย์ฐวุฒิ หรือหนุ่ม เรดนนท์ ผู้ต้องขังคดี 112 ซึ่งถูกพิพากษาจำคุก 13 ปี

ครั้งแรกที่เจอเขาคือที่ห้องพิจารณาคดีในวันพิพากษาเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเขายังเป็นเด็กชายตัวผอม ซีด ไม่ค่อยพูด ถามคำตอบคำ และหลายครั้งก็ไม่ตอบ

มาคราวนี้ รู้สึกแปลกใจเล็กน้อยที่ภาพการคาดคะเนนั้นผิดเพี้ยนไปจากภาพจริงค่อนข้างมาก เพราะเขาไม่ใช่เด็กชายขี้อายอีกต่อไป หากแต่ดูร่าเริง อารมณ์ดี และออกจะกวนๆ ด้วยซ้ำ

ระหว่างรอพบพ่อก็นั่งกดโทรศัพท์มือถือซัมซุงรุ่นพันกว่าบาทเล่น เขาเล่าว่า เขาได้ค่าขนม 40 บาท กินข้าวเช้าและกลางวันรวมกันแล้ว ยังเหลือ 5 บาทเอามาหยอดกระปุกทุกวัน จนกระทั่งแคะกระปุกเอามาซื้อมือถือได้ และบ่นว่าน่าจะรออีกหน่อยเพราะเดี๋ยวนี้ราคาถูกลงมาก และยังบอกว่าอยากหางานพิเศษทำช่วงปิดเทอม พอมีคนแหย่เล่นว่าจะจ้างพิมพ์งาน เด็กชายตาลุกโพลง เสียแต่ว่าเขาไม่มีคอมพิวเตอร์จะทำงานนั้น

หนุ่มเป็นซิงเกิลแด้ด หลังหนุ่มถูกจับ ลูกชายก็ไปอยู่ในอุปการะของเพื่อนคนหนึ่งของหนุ่มมาโดยตลอด และเพิ่งได้มีโอกาสมาอยู่กับอากงอาม่าในช่วงปีเทอมปีที่แล้วและปีนี้นี่เอง คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ในช่วงปีต้นๆ นั้น เด็กชายวัย 10 ขวบต้องเผชิญชีวิต ปรับตัวกับทุกความเปลี่ยนแปลงเพียงลำพัง จนกระทั่งเขารับมือกับมันได้

"มันจะสามปีแล้วฮะ" เด็กชายพูดยิ้มๆ ระหว่างรอเยี่ยมพ่อ

ใช่ มันเกือบ 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ถูกจับกุม คุมขัง พิพากษา อุทธรณ์ ถอนอุทธรณ์ จนกระทั่งล่าสุดทนายความของธันย์ฐวุฒิได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษไปเมื่อ 21 กันยายนที่ผ่านมา

ต่อไปนี้เป็นบทสนทนาตามประสาวัยรุ่นถึงเรื่องราวชีวิตโดยทั่วไปของเด็กชายเพื่อสื่อสารกับสาธารณชน โดยขออนุญาตปกปิดชื่อนามสกุล ตลอดจนภาพของเขาเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น  

เราคุยกันหลังกินอาหารกลางวันกันเต็มคราบ เขาสั่งไก่อบน้ำแดงราดข้าว เมนูที่มีความหมายบางประการ

 

000000000000000000000

 

 

มาเยี่ยมพ่อวันนี้รู้สึกยังไงบ้าง

รู้สึกดีที่ได้เจอ  ดีใจครับ

 

ปกติมาเยี่ยมพ่อบ่อยมั้ย

ถ้าเปิดเทอมก็ไม่ได้มา มาได้เฉพาะตอนปิดเทอม

 

คุยอะไรกับบ้าง

เยอะเลย

 

เช่น

(หัวเราะ-ไม่ตอบ)

 

พ่อสั่งว่าไงบ้างมั้ย

บอกว่าอย่าดื้อกับอากงนะ มีอะไรก็ต้องช่วยอากง อาม่าด้วย

 

ขอถามย้อนนิดหนึ่งนะ จำวันที่พ่อโดนจับได้มั้ย  รู้สึกยังไงบ้าง

จำได้ครับ ก็รู้สึกแปลกๆ ว่าเขามาทำอะไรกัน มาจับทำไม

 

ไปอยู่กับตำรวจด้วยคืนหนึ่งนี่ เขาปฏิบัติกับเราดีไหม

เขาก็ปฏิบัติกับเราเหมือนคนรู้จัก

 

พอรู้ว่าพ่อต้องถูกขังตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง

ก็ เอ๊ะ เขาทำอะไรผิด เราเห็นแต่เขาทำงานหน้าคอม เขาไม่เคยบอกว่าเขาทำอะไรผิด

 

ช่วงแรกๆ ท่าทางจะปรับตัวยาก

มันก็รู้สึกแปลกๆ ที่ต้องจากป๊าไป เพราะที่ผ่านมาก็อยู่กับป๊าตลอด

 

สนิทกันขนาดไหน

แทบไม่เคยแยกจากกันเลย ตั้งแต่จำความได้ก็อยู่กับป่าป๊าแล้ว

 

ช่วยเล่าเรื่องช่วงชีวิตที่อยู่ด้วยกันให้ฟังหน่อย

เช้ามาก็พาไปส่งโรงเรียน เย็นก็ไปรับตลอด กลับบ้านมาก็กินข้าว ทำโน่นทำนี่  ไปเที่ยวกันไม่ค่อยบ่อย เขาต้องทำงานแต่หน้าคอม

 

ภาพป๊าในความทรงจำนี่คือนั่งหน้าคอม

เสียงที่คุ้นที่สุดก็คือเสียงเขาพิมพ์ดีด

 

ป๊าสอนอะไรมั้ย มันทำให้เราผูกพันกับคอมพิวเตอร์มั้ย

ตั้งแต่จำความได้เลย เขาจะสอนให้ผมหัดเล่นคอมพิวเตอร์ ลองหัดพิมพ์ดู จำได้เลยโปรแกรมที่ให้เล่นครั้งแรกคือโปรแกรมพิมพ์ดีด

 

ชอบปะ

ตอนแรกก็รำคาญ อะไรไม่รู้ ตอนหลังก็โอเค

 

ติดเกมมั้ย

คอมคนละตัวเลย แต่เกมที่ป๊าให้เล่นมันเป็นพวกเกมเถ้าแก่น้อย เป็นเกมคิดเลข อะไรอย่างเงี้ย

 

ฟังดูไม่ค่อยน่าสนุกเลยนะเกมที่ป๊าให้เล่น

ใช่ฮะ รับรองเลย

 

เมื่อก่อนมีคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ตอนนี้เป็นยังไง

ของทุกอย่างมันโดนยึดหมด ทั้งจอ ทั้งเครื่องเอาไปหมดเลย

 

หลังป๊าโดนจับได้มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์อีกไหม

ก็ยืมเขาใช้เอาเวลาจะทำการบ้านพวกรายงาน ยืมป้าที่อยู่ด้วยเขาใช้ เมื่อก่อนก็แค่บางครั้ง แต่เดี๋ยวนี้ครูสั่งทำรายงานเยอะก็เลยต้องยืมบ่อย

 

อยากมีเป็นของตัวเองมั้ย

อยาก จะได้ไม่ต้องไปยืมเขา เกรงใจ

 

มีกิจกรรมอะไรทำบ้าง วันเสาร์อาทิตย์ เวลาอยู่กับป้าที่ดูแล

ไม่มีครับ ทำอะไรเสร็จก็อยู่บนเตียง

 

แล้วอยากทำอะไร

อยากตีปิงปอง  อยู่ที่โรงเรียนเคยได้ตี แต่ครูไม่ค่อยอยากให้เล่น เพราะตอนนั้นมันใกล้สอบ แต่พอสอบเสร็จปุ๊บ ก็ไม่ได้เล่นอยู่ดี เพราะสอบเสร็จก็ปิดเทอมไม่ได้ไปโรงเรียน

 

ป๊าดุมั้ย

ไม่ นิสัยเหมือนอากง

 

แล้วอากงนิสัยยังไง นิยามหน่อย

ก็เป็นคนใจดี (เน้นเสียง)

 

ทำไมต้องเน้นเสียงลากยาวขนาดนั้น

ก็เป็นคนใจดี (เสียงสูง) ไง (หัวเราะ)

 

สมมติอากงไม่อยู่ตรงนี้ อากงไม่ได้ยิน...อากงใจดีจริงปะ

จริงฮะ จริง คือ พอบอกอากงว่า กงฮะ อยากกินอันนี้ อากงก็ โอเค ทำให้ แต่ถ้าทำให้ไม่ได้จริงๆ อากงก็จะบอกว่า ไม่เอาหน่า

 

แสดงว่าพ่อไม่เคยตีเลยสิ

เคยฮะ บางครั้งโกรธสุดๆ เอาไม้แขวนเสื้อตีเลย แต่นานๆ โดนที

 

พ่อเข้มงวดมั้ย ต้องนอนกี่โมง กินเมื่อไหร่

ไม่ฮะ พ่อบอกถ้าไม่ง่วงก็อย่าไปฝืน ง่วงสุดๆ แล้วค่อยนอน  

 

พ่อไม่อยู่แล้วชีวิตเป็นยังไง เล่าให้ฟังหน่อย

มันก็แปลกๆ ไม่เหมือนเดิมแล้ว กิจวัตรประจำวันก็เปลี่ยนไป ... (เงียบ)

 

กังวลไหมว่า เพื่อนๆ หรือคุณครูจะมาถามไหม

ไม่นะ  ไม่กลัว

 

แล้วมีไหมล่ะ

ไม่มีครับ

 

มีเพื่อนมั้ยที่โรงเรียน

มีอยู่แล้ว

 

เพื่อนยังคบอยู่นะ

โอ๊ (ลากเสียงสูง-หัวเราะ)

 

เรียนเก่งไหม

ไม่รู้ ไปดูเอาเอง

 

บอกได้ไหม สอบได้ที่เท่าไหร่

เดี๋ยวเศร้าใจ ผมไม่ดู เกรดออกก็ซีร๊อกส์ให้ป๊าไปเลยทั้งใบ ภาษาอังกฤษเกรดสอง มันเศร้าใจ นอกนั้นได้เกรดสาม

 

ภาษาอังกฤษมันยากเหรอ

พอดูแล้วมันก็งง อะไรไม่รู้ แต่พอขึ้นป. 6 มาก็ตั้งใจ ลองดู ก็พอทำได้ เดี๋ยวรอดูเกรดก่อนว่าเป็นไง

 

ถามจริง ร้องไห้บ่อยปะ

ตอนไหนอะ

 

ก็ตั้งแต่พ่อไม่อยู่

ก็มีครั้งหนึ่ง ตอนที่ไปถึงที่บ้านพักใหม่แล้ว บรรยากาศมันวังเวงอะ ร้องไห้ดีกว่า แงงงงงงงงงงง (หัวเราะ)

 

ร้องไห้โฮเลยเหรอ

ไม่อะ ร้องแบบไม่มีเสียง ร้องคนเดียว กลบเกลื่อน ต่อมน้ำตามันเล็กนิดเดียว ร้องทีเดียวแล้วก็หมดแล้ว

 

ทำไมถึงร้อง

มันเศร้า บรรยากาศมันเปลี่ยนไปหมดรอบข้าง กลิ่นก็กลิ่นแปลกๆ ไม่ใช่กลิ่นเดิม

 

แล้วคิดถึงป๊ามั้ย

คิดถึง

 

ทำยังไงเวลาคิดถึง

ก็นั่งนึกภาพหน้าป๊า คิดถึงว่าตอนที่อยู่กับป๊าทำอะไรมั่ง

 

การอยู่กับคนอื่นปรับตัวยากไหม

ยาก เพราะมันแปลกจากเดิมอย่างมาก ปกติอยู่กับป๊าก็ง่ายๆ ถ้าหิวก็ลงไปสั่งข้าวข้างล่าง  เวลาทำอะไรก็อยู่แถวๆ นั้น แต่ตอนนี้ก็ดีแล้วล่ะ

 

ทำไมถึงปรับตัวได้

มันชิน

 

เคยมีเหนื่อย มีท้อไหม

ไม่ ก็ติดต่อกับป๊าได้ทางจดหมาย ก็เหมือนได้คุย คิดซะว่าป๊าไปต่างประเทศก็จบ

 

เวลาเห็นป๊าในเรือนจำแล้วรู้สึกยังไงรึป่าว

เหมือนกลับจากทำงานแล้วมาเจอหน้ากัน

 

แต่ในเรือนจำได้แค่คุยผ่านกระจก รู้สึกอยากกอดมั้ย

(น้ำตาเริ่มคลอๆ) ได้กอดตอนวันที่ไปศาล

 

วันพิพากษาที่ศาล เล่าให้ฟังหน่อยได้มั้ยว่าบรรยากาศเป็นยังไง คิดยังไง

จำได้ว่าทนายเอารูปหลายรูปจากหน้าเว็บไซต์ มาถามว่าเปิดเจอเว็บนี้รึเปล่า ตำรวจที่ไปจับก็ตอบไม่ใช่ๆๆๆๆ  จนภาพสุดท้ายก็บอกไม่ใช่ แทนที่เราจะได้เปรียบแต่เขาได้เปรียบแทน เขาให้จำคุกประมาณ 3  ปี  ก็ตกใจ

 

เราเข้าใจว่าป่าป๊าต้องอยู่ในคุกนานเท่าไหร่

ได้ยินแค่เป็นปีก็ โฮ้ (ลากเสียงยาว) เสียใจ

 

ป่าป๊าบอกเราว่ายังไง หรือเราบอกป่าป๊าว่ายังไงหรือเปล่า

พอศาลตัดสินเสร็จก็คุมตัวกลับเรือนจำ

 

แต่มีคนเห็นว่าได้กอดก่อนกลับด้วยใช่มั้ย

(น้ำตาเริ่มคลอ- ไม่ตอบ)

 

รู้ไหมว่าป่าป๊าโดนกี่ปี

ได้ยินอากงคุยกับใครแว้บๆ ว่า 9 ปี หรือยังไงนี่แหละ

 

เรื่องคดีนี่ไม่มีใครเล่าให้ฟัง

มีแต่ป่าป๊าที่เล่าให้ฟังเอง บอกว่าติดคุกเพราะอะไร

 

เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นไหม

เข้าใจ ที่ป๊าทำไปเขาไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ตั้งใจ

 

อยากให้ป๊าออกมาไหม

อยากมาก

 

ถ้าเป็นไปได้ อยากบอกกับหน่วยงานที่มีอำนาจปล่อยหรือไม่ปล่อยป๊าว่ายังไง

ก็อยากให้ปล่อยตัวป๊าเถอะ ลองคิดดูดีๆ ว่าเขาผิดมากขนาดนั้นเลยเหรอ ถึงต้องจำคุกขนาดนี้ แถมหลายปีด้วย

ป๊าก็เหมือนพ่อกับแม่ในคนเดียวกันสำหรับผม

 

วางแผนล่วงหน้าไว้หรือเปล่าว่าถ้าป๊าออกมาจะทำอะไรกัน

ก็คงไปอยู่บ้านอากง อาม่า คอนโดที่อยู่เดิมมันไม่มีแล้ว

 

จะทำอะไรเป็นอย่างแรกถ้าป๊าออกมา

ก็พากลับบ้านอาม่าไง

 

หมายถึงว่าจะไม่วางแผนไปเที่ยวไหนกันเหรอ

ไม่ ป๊าเพิ่งออกมาคงจะเหนื่อย กลับบ้านดีกว่า

 

ได้ข่าวว่าปรับตัวกับอากง อาม่าได้เยอะขึ้นแล้ว

มาหาอากง อาม่า ก็รู้สึกเหมือนตอนเด็กๆ ที่มาเยี่ยม แต่วังเวงน้อยกว่าเดิม ตอนแรกๆ มานอนที่นี่แล้วจะฝันถึงผีทุกคืนเลย แต่ตอนนี้รู้สึก รู้สึก (เว้นวรรคนาน ทำท่านึก)...อบอุ่น

 

แล้วโตขึ้นอยากเป็นอะไร

ตอนแรก ตอนเด็กๆ อยากเป็นนักบิน ไปๆ มาๆ อยากทำอาหารเป็นกุ๊ก  อยากตั้งแต่ป.4 แล้ว

 

ทำไมล่ะ

ทำอาหารเหมือนเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง แล้วมันก็สนุกดีเหมือนกัน

 

ได้แรงบันดาลใจจากไหน

ก็เห็นป่าป๊าทำแล้วอยากทำมั่ง 

 

ป๊าทำไรอร่อยสุด

ปีกไก่ทอดน้ำแดง

(อากงที่นั่งข้างๆ พูดแทรกว่า  "นั่นสูตรอากงเอง" )

 

มาถึงคำถามสำคัญนะ มีแฟนหรือยัง

ไม่มีครับ

 

เวลาให้สัมภาษณ์เขาไม่ให้โกหกนะ

ก็ไม่ได้โกหก (ทำเสียงสูง)

 

มีที่แอบชอบใครป่าว

มีครับ (หัวเราะ)

 

แล้วกล้าจีบเขาไหม

ไม่ฮะ

 

แล้วปรึกษาพ่อมั้ย

พ่อบอกวิธีมาหมดแล้วครับ (หัวเราะ)

 

ไหนลองเล่าให้ฟังหน่อย

ไม่เอา

 

เขียนจดหมายปรึกษาเหรอ

ป่าวครับ คุยเมื่อกี๊ที่เยี่ยมไง

 

ถึงว่าไม่ยอมบอกว่าคุยอะไร

เป็นความลับ แต่ตอนนี้ก็รู้กันหมดแล้วนี่ (หัวะเราะ) คุยกันเรื่องอื่นดีกว่า เปลี่ยนเรื่องๆ

 

เราก็ว่าคุยอะไรกันนานสองนาน

ฮากระจายครับ

 

อยากมาเยี่ยมพ่อบ่อยๆ ป่าว

อากงบอกจะพามาทุกสัปดาห์

 

สุดท้ายแล้ว เดี๋ยวจะเปิดเทอมไม่ได้มาเยี่ยมแล้ว จะบอกอะไรพ่อรึเปล่า

ตั้งใจเรียนะคร้าบบบบบบบบ

 

ให้พ่อตั้งใจเรียน?

หมายถึงว่า ผมจะตั้งใจเรียนนะคร้าบบบบ

 

พูดจริงปะเนี่ย

จริง

 

ทำไมรู้สึกว่าต้องตั้งใจเรียนด้วยอะ

อ้าว ก็พ่อแม่ทุกคนเขาเห็นลูกตั้งใจเรียนก็ดีใจไม่ใช่เหรอ

เขาเคยบอกจะพาผมไปเรียนต่อต่างประเทศด้วย ถ้าเป็นไปได้ บอกตั้งนานนนนนแล้ว

 

แล้วอยากไปปะ

ไม่ฮะ

 

ทำไมอะ

เจอฝรั่ง ฮัลโล้มา ผมก็ไม่กล้าพูดแล้ว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การเมืองท้องถิ่นของคนชั้นกลาง (ใหม่) ในชนบท

Posted: 03 Oct 2012 11:13 PM PDT


พัฒนาการทางเศรษฐกิจของสังคมไทยมีมาอย่างต่อเนื่อง นับเนื่องแต่การประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2504 ที่มุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ โดยการหนุนช่วยของสหรัฐอเมริกา และธนาคารโลกหลังทศวรรษ 2500 ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการ "พัฒนาสมัยใหม่" ให้ประเทศไทยเป็นประเทศ "ทันสมัย"

โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นการนำแนวคิดจากต่างประเทศเข้ามาปฏิบัติใช้ภายใต้มายาภาพว่า "ประเทศไทยเป็นประเทศด้อยพัฒนา" โดยมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-3 (พ.ศ. 2504-2519) มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน ไฟฟ้า เพื่อตอบต่อการผลิตในระบบอุตสาหกรรม รวมถึงเพิ่มผลผลิต และรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่มากขึ้น (อมรา พงศาพิชญ์ 2549: 212)

โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เอื้อประโยชน์ต่อการขนถ่ายสินค้า บริการ และทรัพยากรในชนบทเข้าสู่ส่วนกลาง เช่น เมืองหลักในภูมิภาคและกรุงเทพฯ มีการสร้างเครือข่ายคมนาคมเข้าสู่หมู่บ้านในชนบท และเป็นการขยายอำนาจรัฐเข้าสู่ชนบทอย่างกว้างขวาง

การพัฒนาสมัยใหม่ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนการผลิตจากการปลูกข้าวเพื่อกินและขาย ขยายสู่การปลูกพืชชนิดใหม่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการใช้สิ่งของที่ผลิตมาจากเมือง และอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพามากขึ้น นอกจากนี้ยังได้สร้างความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ให้แก่คนกลุ่มต่างๆ รวมถึงสร้างความไม่เท่าเทียมในด้านการพัฒนาเมืองต่างๆ ตามภูมิภาค

โดยเมืองหลักจะได้รับการส่งเสริมด้านงบประมาณมากกว่าเมืองอื่นๆ ในภูมิภาค และกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น เมืองเชียงใหม่ กลายเป็นศูนย์กลางการจ้างงาน ศูนย์กลางส่วนราชการ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและบริการ และศูนย์กลางการศึกษา (ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตน์ เจริญเมือง 2538: 82-97)

การมุ่งพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจทำให้เกิดชนชั้นกลาง ที่เป็นผลมาจากการขยายตัวของการศึกษา มีการสร้างมหาวิทยาลัยตามภูมิภาค เช่น ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.สงขลานครินทร์ ทำให้เกิดคนชั้นกลางที่มีการศึกษาและมีรายได้สูง แต่ในทางตรงกันข้ามได้ทำให้ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทถ่างกว้างขึ้น รวมถึงได้ทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรอย่างกว้างขวาง


การก่อตัวของประชาธิปไตยจากระบอบเผด็จการ
ภายใต้การปกครองในระบบเผด็จการช่วงปี พ.ศ. 2500 – 2516 และประชาธิปไตยครึ่งใบช่วงปี พ.ศ. 2519 – 2531 กว่า 30 ปี ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากทหาร หรือพลเรือน แต่นโยบายหนึ่งที่สืบเนื่อง คือ การใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ที่มุ่งสร้างการพัฒนาในมิติต่างๆ แต่ในทางการเมืองกลับอยู่ในระบบเผด็จการ หรือกึ่งเผด็จการ ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ (ประชาธิปไตยครึ่งใบ: การปกครองในระบอบเผด็จการ คือ การที่ไม่มีการเลือกตั้งมีทหารเป็นนายก)

ความกดดันทางการเมืองในระบอบเผด็จการทำให้ชนชั้นกลางที่มีการศึกษา และมีรายได้สูง ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาของรัฐในช่วงหลายสิบปี ตระหนักถึงปัญหาของความไม่เสรีทางการเมือง จนเกิดเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 ที่มีประชาชนเข้าร่วมอย่างมหาศาล แม้ภายหลังจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้นักศึกษาปัญญาชนหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ (ดูเพิ่มใน ประจักษ์ ก้องกีรติ 2548) แต่ว่าอุดมการณ์ "ประชาธิปไตย" ได้หยั่งรากในสังคมไทยแล้ว

ในช่วงการพัฒนานายทุน และรัฐ ได้พรากประชาชนชนบทออกจากทุนทางทรัพยากร เช่น ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ มีการออกกฎหมายหลายฉบับที่ดึงทรัพยากรที่เคยอยู่ในการดูแลของประชาชนมาเป็นของรัฐ เช่น ป่าไม้ มีการออก พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หรือการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้องอพยพคนออกจากที่ทำกิน และเป็นปัญหาเรื้อรัง การพัฒนาที่ลำเอียงของรัฐได้ทำให้เกิดช่องว่างของรายได้ ส่งผลให้ประชาชนในชนบทกลายเป็นแหล่งแรงงานราคาถูก เกิดการล่มสลายของสังคมชนบท

กลางทศวรรษที่ 2520 เกิดการตื่นตัวขององค์กรนอกภาคราชการ เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ได้เข้ามาร่วมพัฒนาชนบทในหลายมิติ และเกิดการตื่นตัวของกระแส "วัฒนธรรมชุมชน" ที่เห็นคุณค่าของหมู่บ้านชนบท เป็นการพัฒนาทางเลือกที่นอกเหนือจากการพัฒนากระแสหลัก เนื่องด้วยการพัฒนาจากภาครัฐไม่อาจสร้างความเท่าเทียม และกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม คนชนบทเข้าไม่ถึงทรัพยากร กลายเป็นแรงงานรับจ้าง และเกิด "คนจน" ทั้งในชนบทและในเมืองจำนวนมาก (ความจน และ "คนจน" ในที่นี้ คือ การที่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และไม่มีทางเลือกในมิติต่างๆ)

จากการแย่งชิงและกระจายทรัพยากรอย่างลำเอียง ได้ทำให้เกิดปัญหาการขาดที่ดินทำกิน การสร้างเขื่อนที่ต้องอพยพจากที่ดินทำกิน ค่าเช่าที่ที่ไม่ธรรม ฯลฯ ได้มีขบวนการเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาในหลายมิติ เช่น เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) เครือข่ายป่าชุมชน ชมรมเพื่อเชียงใหม่ สมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสานเพื่อรองรับสิทธิที่ดินทำกินและพื้นฟูธรรมชาติ (สดท.) สมัชชาเกษตรกรรายย่อย (สกย.) คณะกรรมการเครือข่ายชาวบ้านรักษาป่า 7 จังหวัดภาคอีสาน สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.) สมัชชาคนจน (ประภาส ปิ่นตบแต่ง 2541: 52-66) เครือข่ายที่เกิดขึ้นมีปัญหาที่หลากหลายสะท้อนให้เห็นผลกระทบของการพัฒนาในช่วงหลายสิบปีของรัฐ


จากสำนึกทางการเมืองของคนชั้นกลางในชนบท สู่ผู้ประกอบการทางการเมือง
ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคมในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เกิด "คนชั้นกลางในชนบท" (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2554) ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง การดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กับเมืองอย่างแนบแน่น ทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติสร้างผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อการดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้น

"คนชั้นกลางในชนบท" มี "สำนึกทางการเมือง" ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะผ่าน "การเลือกตั้ง" เพราะมีผลอย่างสำคัญต่อการกำหนด "นโยบายสาธารณะ" มีผลต่อการดำเนินชีวิตเขาอย่างมาก เขาเหล่านั้นได้เข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองในฐานะ "ผู้ประกอบการทางการเมือง" (agency politic) ที่กระตือรือร้น

พื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ จึงเป็น "สนาม" ที่คนชั้นกลางใหม่นี้ใช้ในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมในมิติต่างๆ อย่างไพศาล และไม่เพียงแต่คนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาสู่การเมืองท้องถิ่น ที่มีอายุอยู่ในช่วง 30 – 50 ปี และมีการศึกษาที่สูงขึ้นถึงระดับปริญญาตรีถึงร้อยละ 25 มีอาชีพนอกภาคเกษตรกรรมถึง ร้อยละ 50 (กกต. เชียงใหม่ 2555) ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนกลุ่มเดิมที่มีการผลิตในภาคเกษตรกรรม แต่คนกลุ่มใหม่นี้สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับเศรษฐกิจ และการเมืองในระดับชาติ ที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อเขา

ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เขาย่อมมีความสัมพันธ์กับความเติบโตของเศรษฐกิจในระดับมหภาค ถ้าเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องก็ทำให้เขามีงานทำ และสามารถ "หล่อเลี้ยง" แรงงานในเครือข่ายได้อย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่การผลิตอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้าเองก็สัมพันธ์กับความเติบโตของเศรษฐกิจในระดับมหภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจซบเซา การสั่งซื้อของย่อมมีปริมาณที่ลดลง และคนในเครือข่ายย่อมขาดรายได้ ฉะนั้นการเติบโตของท้องถิ่นในแง่มุมต่างๆ ย่อมสัมพันธ์กับเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และชนบทไม่ได้โดดเดี่ยว

แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่า "เขา" เหล่านั้นจะมีความสนใจ "ทางการเมือง" มากน้อยแค่ไหน แต่การเข้าสู่ "การเมืองในระดับนโยบาย" หรือ "ระดับชาติ" ย่อมมีทำนบกีดขวางมหาศาล ทั้งทุน และเครือข่ายฯลฯ ฉะนั้นพื้นที่ที่ "เขา" จะเข้าไปมีส่วนในทาง "การเมือง" ได้ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ ที่ "เขา" เหล่านั้นพอจะมีศักยภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลายเป็น "พื้นที่ทางการเมือง" ใหม่ของคนกลุ่มต่างๆ

กลุ่มคนที่เข้ามาสู่การเมืองท้องถิ่น มีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ คือ เป็นพื้นที่ที่คนกลุ่มต่างๆ สามารถเข้ามาใช้เพื่อขับเคลื่อน "วาระส่วนตัว" และ "วาระสาธารณะ" ได้อย่างกว้างขวาง พบว่าคนกลุ่มใหม่ เช่น นายทุนน้อยในท้องถิ่น ผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือชนชั้นกลางระดับต่างๆ (ดูเพิ่มใน นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2555) ได้เข้ามามีบทบาทใน "สนามการเมืองใหม่" นี้ สะท้อนให้เห็นกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย เพราะการเมือง หรืออำนาจท้องถิ่นในอดีตมักผูกขาดอยู่ในกลุ่มผลประโยชน์แคบๆ เช่น ตระกูลใหญ่ในพื้นที่ นักเลง พ่อค้าคนกลาง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พระ ครู ฯลฯ (ดูเพิ่มใน แอนดรู เทอร์ตัน 2533) ที่เป็นกลุ่มอำนาจในท้องถิ่นเดิม ที่ผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากรในท้องถิ่น

โดยผูกโยงกับข้าราชการและนักการเมืองระดับชาติ ทำให้เกิด "ระบบอุปถัมภ์ที่ขูดรีด" แต่ในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงได้เห็นการเข้ามาของ "ผู้ประกอบการขนาดเล็ก" ที่ต่างเป็นคน "ใหม่" ที่เข้ามาสู่สนามการเมืองท้องถิ่นด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน และสร้างสายสัมพันธ์ในหลากหลายเป็นรูปแบบของความเปลี่ยนแปลงในการเมืองท้องถิ่นในระดับที่น่าสนใจ

เพราะว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรขนาดเล็ก และตัวสมาชิก ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นล้วนเป็นคนในพื้นที่ หรือไม่ก็มีความผูกพันกับคนในพื้นที่อย่างแน่นแฟ้น หรือเป็นความสัมพันธ์ซึ่งหน้า ทำให้การทำงานต้องรับผิดชอบต่อคนในพื้นที่ทั้งวิถีชีวิต และกฎหมายได้กำหนดให้สมาชิก และผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้ง ถ้าผู้บริหาร หรือสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ตอบสนองต่อปัญหา หรือความต้องการของประชาชน ในสมัยต่อไปก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามา

กลุ่มที่อดีตนายกสนับสนุนไม่สามารถชนะเลือกตั้งกลับเข้ามาบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก่า (คนเดิม) ได้รับเลือกกลับเข้ามาเฉลี่ยแค่ 50 % (ดูเพิ่มใน มติชน 2555; ไทยรัฐ 2555; เดลินิวส์ 2555) ชี้ให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ขนาดเล็กสามารถกำหนดตัว "ผู้เล่น" การเมืองได้


คุณสมบัติสำคัญ: ทำนบกีดกั้นผู้คนออกจากการเมือง
ในแง่ของการเข้ามาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น จากการศึกษาของ อภิชาติ สถิตนิรามัย (2555) พบว่า "…ทำนบกีดขวางการลงสมัครแข่งขันในตำแหน่งทางการเมืองระดับ อบต. …มีค่อนข้างต่ำ ตัวอย่างเช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกสภา อบต. มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติดังนี้คือ

    ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในหมู่บ้านของตำบลที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี

    ข) ไม่มีพฤติกรรมในทางทุจริต หรือถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองระดับท้องถิ่น เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ถึงห้าปี

    ค) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ส่วนมาตรา 58/1 กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครตำแหน่งนายก อบต.ว่า ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี และต้องจบการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมตอนปลายเท่านั้น ในขณะที่ผู้ที่จะสมัครตำแหน่งนายกเทศมนตรีและนายก อบจ.จะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี" (หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นระดับนั้นๆ: ผู้เขียน)

ในส่วนของนายกและสมาชิกสภาเทศบาล ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของนายกเทศมนตรี ตามมาตรา 48 เบญจ ตาม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 (ดูเพิ่มเติม ที่นี่) โดยบุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม

จากคุณสมบัตินี้น่าจะเป็นทำนบที่กีดกันให้คนกลุ่มต่างๆ เข้าสู่การเมืองท้องถิ่น แต่จากช่องทางของกฎหมาย และคุณสมบัติที่ไม่สูงมากนักทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาเล่นการเมืองท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง และพบว่าการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น "พื้นที่ใหม่" ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถสร้าง "ตำแหน่งแห่งที่" (position) ในพื้นที่การเมืองท้องถิ่นได้ ด้วยเหตุผลที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่เกิดใหม่ ที่ไม่ได้เป็น "ราชการ" เต็มตัว แต่เป็นพื้นที่สัมพันธ์แนบแน่นกับคนในท้องถิ่น หรือพูดได้อีกลักษณะหนึ่งว่าเป็นพื้นที่ "กึ่งทางการ" ที่ประชาชนในท้องถิ่นสามารถกำหนดทิศทางท้องถิ่นตามที่คนในท้องถิ่นนั้นๆ ต้องการให้เป็นได้

โดยเชื่อมโยงกับคนกลุ่มใหม่เข้ามา "เล่น" การเมืองท้องถิ่นมากขึ้น ไม่ปล่อยให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผูกขาด และสามารถปรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีขนาดเล็กทำให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้าไปกำกับ ควบคุม ช่วงใช้ เป็นองค์กรใหม่ที่ไม่ถูก "ครอบ" หรือ "ยึดโยง" กับราชการอย่างแน่นแฟ้น ทำให้มีความคล่องตัวสูง สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็น "องค์กรของประชาชน" ได้

การผลิตในภาคนอกเกษตรกรรม หรือในภาคเกษตรกรรมที่เป็นการผลิตเพื่อขาย (การผลิตของคนในชนบททั้งในภาคเกษตรกรรมไม่ได้เป็นการผลิตเพื่อยังชีพ แต่เป็นการผลิตเพื่อขาย รวมถึงรายได้ของครัวเรือนก็มิได้มาจากภาคเกษตรกรรม แต่มีรายได้จากภาคการผลิตอื่น) ทำให้คนในภาคการผลิตนั้นๆ สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเศรษฐกิจ ที่ใหญ่กว่าในท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และระบบความสัมพันธ์แบบเดิม (รวมถึงระบบอุปถัมภ์แบบเดิม) ไม่อาจแก้ไขปัญหาให้คนในสังคมได้อีกแล้ว

การ "ถักทอ" สายใยความสัมพันธ์แบบใหม่ทั้งในระบบอุปถัมภ์ใหม่ (ระบบอุปถัมภ์นี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับภาคการผลิต ที่มี "ความเปราะบาง" และ "ไม่รอบด้าน" เหมือนระบบอุปถัมภ์เดิม แต่ระบบใหม่นี้มี "ความยืดหยุ่น" และทำให้ผู้ใต้อุปถัมภ์มีอำนาจต่อรองมากขึ้น: อคิน  รพีพัฒน์ 2539; อมรา  พงศาพิชญ์ 2539)

ระบบพาณิชย์ ฯลฯ ได้สร้างจินตนาการใหม่ของชาวชนบท หรือที่ Keyes (2553) เสนอว่าเป็น "ชาวบ้านผู้รู้จักโลกกว้าง" (Cosmopolitan villager) เพราะว่าการดำเนินชีวิตของชาวชนบทสัมพันธ์กับเศรษฐกิจมหภาคอย่างแยกไม่ออก

เขาเหล่านั้นบางส่วนเป็นคนงานในนิคมอุตสาหกรรม เป็นแรงงานในโรงงานทอผ้าขนาดเล็ก เป็นแรงงานก่อสร้าง หรือเป็นเกษตรกรปลอดสารพิษ ปลูกข้าวเพื่อขาย ทำสวนลำไย ฯลฯ ซึ่งใช้หมู่บ้านเป็นแต่เพียง "ที่นอน" หรือ "กลับเฉพาะในช่วงเทศกาล" ทำให้เขาเหล่านั้นประสบพบเจอปัญหา และโอกาสของชีวิตนอกหมู่บ้าน ทำให้ "จินตนาการทางการเมือง" ของนักการเมืองท้องถิ่น หรือชาวบ้านที่เลือกแตกต่างจากรุ่นพ่อรุ่นแม่อย่างไม่อาจเทียบกันได้ คนกลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าชนบทไทยไม่ได้มีแต่เกษตรกรอย่างที่ใครๆ เข้าใจ และพบว่าคนที่มาเล่นการเมืองท้องถิ่นมีความหลากหลาย ทั้งผู้นำตามประเพณี นายทุนน้อย กลุ่มอาชีพอิสระ ข้าราชการเกษียณ ฯลฯ คนกลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าชนบทไทยไม่ได้มีแต่เกษตรกรอย่างที่ใครๆ เข้าใจ แต่มีคนหลากหลายกลุ่มผ่านนักการเมืองท้องถิ่นที่สะท้อนให้เห็นกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละคนต้องรักษา "พันธะสัญญา" กับประชาชนในท้องถิ่นที่เลือกตนเข้ามาทำงาน เพื่อที่จะได้กลับเข้ามาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ไม่เพียงแต่ตัวนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็น "คนชั้นกลางในชนบท" หรือ "ผู้ประกอบการขนาดเล็ก" "นายทุนน้อย" แต่ชาวบ้านในชนบทเองก็เป็นผู้ที่มีสำนึกทางการเมือง ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางท้องถิ่น รวมถึงการที่เขาได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ของการเมืองท้องถิ่น ที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชนบทไทยอย่างไพศาล และเป็นสิ่งที่ไม่อาจได้จาก "รัฐราชการ" ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความตื่นตัวทางการเมือง และให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่นอย่างมาก

"การเมือง" ในสำนึกของคนชั้นใหม่นี้จึงต้อง "เป็นธรรม" "เท่าเทียม" "เข้าถึง" "เป็นพื้นที่เปิด"รวมถึง "ตรวจสอบ ถ่วงดุล" ได้ ทำให้การเมืองในระดับท้องถิ่นเป็นพื้นที่ที่ "ชาวบ้าน" เข้าไป "เล่น" และกำหนดทิศทางได้ เช่นคำพูดที่ว่า "ไม่พอใจเราก็ไม่เลือก ถ้าแพ้ครั้งหน้าก็เลือกใหม่ได้"

 

 


หมายเหตุ:
ชื่อบทความเดิม "คนกลุ่มใหม่ในชนบทกับการเมืองท้องถิ่น"
เผยแพร่ครั้งแรกที่
http://www.siamintelligence.com/when-middle-class-from-rural-becomesagency-politic/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร : "ชิคาโกโมเดล" ปฏิรูปการศึกษาด้วยการแปรรูป

Posted: 03 Oct 2012 10:46 PM PDT

เราคุ้นเคยกับความเชื่อดั้งเดิมในสังคมไทยว่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหรือ "สถานศึกษา" เป็นสถาบันที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ในการประสิทธิ์ประศาสน์วิชาความรู้ พร้อมทั้งบ่มเพาะจริยธรรมให้กับคนรุ่นใหม่ ผู้บริหารและบุคลากรจึงควรวางตัวเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งให้กับสังคมที่สำคัญ ทิศทางของสถาบันการศึกษาจึงควรถูกกำหนดจากปรัชญาและอุดมการณ์ มากกว่ากำไรหรือผลประโยชน์ขององค์กร
 
ความเชื่อเหล่านี้ดูเหมือนจะถูกท้าทายมากยิ่งขึ้นในสังคม เพราะมันขัดแย้งกับความเป็นจริงที่การแข่งขันได้รุกคืบเข้ามาถึงภายในห้องเรียน เมื่อค่านิยมการสำเร็จจากสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงเพื่อเป็นใบเบิกทางเข้าสู่ตลาดงานทำให้ผลการสอบและเกรดกลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ
 
ด้วยเหตุผลเรื่องการแข่งขันในตลาดงานดังที่ได้ยกขึ้นมา หรือเพราะหลักการเรื่องการแข่งขันถูกนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนนโยบายการศึกษาก็ไม่แน่ชัดนัก สถาบันการศึกษาทุกระดับในปัจจุบันจึงตกอยู่ภายในการควบคุมและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนไม่ต่างจากสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรม
 
โรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมขึ้นไปต้องตอบสนองต่อระบบประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งภายในและภายนอกอย่างเข้มงวด ขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ถูกตรวจสอบและประกันคุณภาพอย่างถี่ถ้วนด้วยชุดของตัวชี้วัดจำนวนมากที่ถูกกำหนดจากหน่วยงานภายนอกเช่น สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สำหรับมหาวิทยาลัยที่ยังมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบว่าผู้บริหารคณะหรือภาควิชาบางคนในวันนี้เผลอใช้คำว่า "Input" แทนกลุ่มนักศึกษาเข้าใหม่ และ "Output" แทนบัณฑิตที่จะจบการศึกษาในระหว่างการประชุม
 
ผลลัพธ์ของการทำให้การศึกษากลายเป็นเหมือนสินค้าและระบบการศึกษาไม่ต่างจากระบบการผลิตนั้น ก็คือ บุคลากรการศึกษาต้องทำงานภายใต้แรงกดดันของการแข่งขันและการตรวจสอบ (ในหลายครั้ง การแข่งขันถูกสร้างขึ้นจากการตรวจสอบและการตรวจสอบกลายเป็นปัญหาที่แท้จริง!)  ที่สำคัญอย่างยิ่ง บุคลากรที่ทำงานสัมผัสกับผู้เรียนโดยตรงกลับรู้สึกตรงกันว่า ระบบประกันคุณภาพทั้งหลายที่มีอยู่ไม่ได้สร้างหลักประกันให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง แต่กลับเกิดผลตรงกันข้ามในหลายกรณี
 
ปรากฏิการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทย  ในสหรัฐอเมริกา นโยบายปฏิรูปการศึกษาของปธน. โอบามาภายใต้ชื่อ "Race to the Top (แข่งขันกันไปสู่ยอด)"  กำลังส่งผลให้บุคลากรการศึกษาของรัฐต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก เมื่อเกณฑ์การประเมินคุณภาพของสถาบันการศึกษาและครูถูกนำไปผูกกับความสำเร็จของนักเรียนเป็นหลัก โรงเรียนที่นักเรียนจำนวนมากไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินจึงถูกปิดตัวลงหรือในหลายกรณี ผู้บริหารและบุคลากรครูถูกแทนที่ด้วย "นักบริหารและผู้จัดการโครงการ"
 
การประท้วงของสหภาพครูในชิคาโก ที่เพิ่งจบลงเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว  ทั้งนี้ เมืองชิคาโกมีความสำคัญในฐานะห้องทดลองของการปฏิรูปเพราะนาย Arne Duncan รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้เสนอแผนการปฏิรูปขณะที่ยังมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของเขตการศึกษาชิคาโกนอกจากนี้ชิคาโกเป็นเมืองที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเขตการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสาม (รองจากนิวยอร์กซิตี้ และแคลิฟอร์เนีย) แต่มีสถิตินักเรียนในสังกัดโรงเรียนรัฐบาลผ่านเกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ในระดับรัฐเพียง 45% และในรอบการประเมินปี 2554/2555 กว่า 3 ใน 4 ของโรงเรียนทั้งหมดในเขตนี้ไม่บรรลุเกณฑ์การประเมินเป็นปีที่สองติดต่อกัน
 
การแก้ไขปัญหานักเรียนมีผลการเรียนย่ำแย่แบบ "ชิคาโกโมเดล" ก็คือ แปรรูประบบโรงเรียนของรัฐให้เป็นเอกชน ในด้านหนึ่ง นำผู้บริหารโครงการที่สามารถตอบสนองต่อตัวชี้วัดได้ดีกว่านักการศึกษาหรือครูมาทำงานแทน ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ก็นำระบบคูปองแทนเงิน (monetary vouchers) มาแจกจ่ายให้กับผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองนำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับโรงเรียนเอกชนจำนวนมากที่เป็นทางเลือกของการศึกษา
 
การปฏิรูปการศึกษาแบบนี้ ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าระบบตลาดและการแข่งขันจะแก้ไขปัญหาผลการเรียนต่ำของนักเรียนได้ ทั้งที่บุคลากรการศึกษาในชิคาโกคัดค้านมาตลอดว่าแนวทางการปฏิรูปที่ใช้อยู่นั้นไม่ตรงจุด เพราะรากเหง้าของปัญหานั้นมาจากความยากจนในเขตเมืองและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบครัวของนักเรียนเหล่านี้เผชิญการปฏิรูปที่มุ่งเน้นตัวชี้วัดคือ ผลการสอบเป็นหลักนั้น ทำให้เกิดหลักสูตรที่คับแคบและให้ความสำคัญแต่เพียงการเพิ่มคะแนน (ไม่ใช่ความรู้) ของผู้เรียน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นที่ครูชิคาโกเสนอ ก็คือ ลดขนาดของห้องเรียนลงเพื่อให้ครูมีเวลาให้กับนักเรียนแต่ละคนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มตำแหน่งของพยาบาล นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งกิจกรรมการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้กับหลักสูตรมากขึ้น
 
หลังจากโรงเรียนในชิคาโก 7 แห่งถูกสั่งให้ปิดตัวลงและครูทั้งหมดถูกไล่ออกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหภาพแรงงานครูจึงใช้การเจรจาต่อรองเพื่อแก้ไขข้อตกลงสภาพการจ้างงานเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องกับนายกเทศมนตรีซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรง แต่เมื่อการเจรจาบนโต๊ะล้มเหลวครูในสังกัดโรงเรียนภาครัฐกว่าสามหมื่นคนจึงนัดหยุดงานพร้อมกันในวันที่ 10 กันยายน และเรียกร้องให้ผู้ปกครองพร้อมเด็กนักเรียนร่วมกับครูเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเจรจาข้อตกลงสภาพการจ้างงานจนประสบผลสำเร็จ
 
ประธานสหภาพครูชิคาโกได้กล่าวในภายหลังว่าถึงแม้ผู้มีอำนาจบางคนที่ไม่รู้เรื่องการศึกษาคิดว่ามันเป็นวิธีจัดการศึกษาที่ดี การได้ลุกขึ้นและบอกให้รู้ว่านี่ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ถือเป็นชัยชนะที่แท้จริง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น