โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

โครงการสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์ในเขตว้าชะงัก หลังผู้นำสาย “เหว่ยเซียะกัง” ถูกโยกย้าย

Posted: 25 Oct 2012 10:21 AM PDT

 

โครงการก่อสร้างเส้นทางสายสำคัญในเขตครอบครองกองกำลังว้า (UWSA) ภาคตะวันออกของรัฐฉาน ที่ดำเนินการโดยผู้รับเหมาจากไทย ได้หยุดชะงักลงหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำสำคัญภายในกองกำลังว้า

มีรายงานจากแหล่งข่าวชายแดนจีน-พม่า (รัฐฉาน) ว่า โครงการก่อสร้างเส้นทางสายสำคัญในเขตครอบครองกองกำลังว้า (UWSA) จากเมืองแผน เขตรอยต่อพื้นที่ครอบครองกองกำลังเมืองลา NDAA ขึ้นไปยังเมืองปางซาง ที่ตั้งกองบัญชาการใหญ่ของ UWSA รวมระยะทางกว่า 200 กม. ซึ่งเป็นโครงการสร้างเส้นทางลาดยาง 4 ช่องจราจร รับเหมาก่อสร้างโดยคนไทยได้หยุดชะงักแล้ว หลังจากสร้างเสร็จไปได้เพียง 10 กม. (จากเมืองแผนถึงหัวเตา) โดยขณะนี้ผู้รับเหมากำลังเตรียมเก็บข้าวของ อุปกรณ์ก่อสร้างออกจากพื้นที่

การหยุดชะงักของโครงการดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากภายในกองทัพว้า UWSA มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายผู้นำทางทหารคนสำคัญเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เจ้าจายซุ หรือ หลี่อ้ายซุ ผู้บัญชาการกองพลที่ 468 คนสนิทของเหว่ยเซียะกัง ซึ่งเป็นผู้ร่ำรวยมากอีกคนในกองทัพว้าและเป็นผู้ควักเงินส่วนตัวสร้างเส้นทางดังกล่าว ได้ถูกโยกย้ายออกจากตำแหน่งไปเป็นผู้นำฝ่ายปกครองในเขตเมืองป๊อกแทน

แหล่งข่าวเผยว่า การปลดเจ้าจายซุ ออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในกองทัพว้า UWSA เนื่องจากมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งฝ่ายที่เห็นด้วยเป็นคนในสายผู้นำเดิมในกองกำลังว้า ที่ต้องการลดบทบาทของเหว่ยะเซียะกัง เพราะเห็นว่าระยะหลังเหว่ยะเซียะกัง ขึ้นมามีอำนาจมากในกองทัพว้า UWSA โดยพยายามดึงลูกน้องในสายของเขาขึ้นรับตำแหน่งสำคัญ เช่น กองพล 468 ที่เจ้าจายซุ เคยเป็นผู้บัญชาการถือเป็นกองพลที่เข้มแข็งที่สุดในกองทัพว้า UWSA ซึ่งกองพลนี้มีความทันสมัยและมียานยนต์หุ้มเกราะจากจีนประจำการด้วย ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะเป็นทหารในสายเดียวกัน รวมถึงผู้เสียผลประโยชน์ที่มีธุรกิจต้องใช้เส้นทางสายดังกล่าว

สำหรับเจ้าจายซุ ปัจจุบันมีอายุเพียง 40 ปีเศษๆ เป็นเจ้าของบริษัทกังซู บริษัทในนามว่าจ้างผู้รับเหมาจากไทยก่อสร้างเส้นทางสายดังกล่าวผ่านบริษัทหงปัง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกองทัพว้า UWSA เช่นเดียวกัน โดยเจ้าจายซุ เป็นหนึ่งในผู้นำในกองทัพว้า UWSA ที่ทางการไทยและสหรัฐต้องการตัวจากการค้ายาเสพติด

ด้านแหล่งข่าวคนในพื้นที่เปิดเผยว่า สาเหตุเจ้าจายซุ ถูกโยกย้ายจากตำแหน่งผบ.กองพล 468 ที่มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองป๊อก อาจเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทหารกองกำลังว้า UWSA ควบคุมตัวแทนทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งกล่าวกันว่าเกิดจากการบัญชาโดยตรงของเหว่ยเซียะกัง ผู้บังคับบัญชาหน่วยพื้นที่ 171 กองกำลังว้าที่เคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย ขณะที่เจ้าจายซุ ถูกมองว่าเป็นคนหัวแข็งตรงไปตรงมาและพร้อมน้อมรับคำสั่งผู้นำโดยเฉพาะเหว่ยเซียะกัง ทุกเมื่อ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นกับ SSA ทำให้เกิดเสียงคัดค้านภายในว่าเป็นการกระทำที่ไม่ควรจะเกิด และเป็นเหตุนำไปสู่การเสนอโยกย้ายเจ้าจายซุ เพื่อหวังลดบทบาทเหว่ยเซียะกัง ในเวลาต่อมา

สำหรับเส้นทางสายที่ถูกระงับการก่อสร้างนั้น ถือเป็นเส้นทางสายสำคัญสำหรับกองกำลังว้า UWSA เนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมต่อเขตพื้นที่กองกำลังเมืองลา NDAA ซึ่งหากก่อสร้างเป็นทางลาดยางแล้วเสร็จจะทำให้การขนส่งทั้งด้านการทหารและการค้ารวดเร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะทำให้การเคลื่อนย้ายกำลังทหารจากเมืองปางซาง มายังเขตพื้นที่ว้าตอนใต้ ที่อยู่ตามแนวชายแดนไทยได้สะดวกมากขึ้น

 


ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

Posted: 25 Oct 2012 09:19 AM PDT

"แหม...ความรุนแรงแค่นี้ทำเป็นรับไม่ได้...ทีทหารออกมาทำรัฐประหาร, ทหารฆ่าคนตายกลางเมืองน่ะรับได้ รุนแรงมากกว่าอย่างเทียบไม่ได้ ไม่รู้สึกรู้สมอะไร...ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในคนที่ดูละครตบตีแบบนี้มาตั้งแต่ยังไม่เข้าป.1 ในชีวิตไม่เคยตบใครเป็นเรื่องเป็นราว"

แสดงความเห็นในเฟซบุ๊ก ต่อกรณีมูลนิธิหญิงไทยก้าวไกลเรียกร้องกระทรวงวัฒนธรรม ปล่อยละคร "แรงเงา" เนื้อหารุนแรง จวกให้เด็กเยาวชนซึมซับค่านิยมผู้หญิงผิด เสนอควรฉายหลัง 22.00 น.

รัฐจะเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่ในราคาต่ำหรือสูง....เพื่ออะไร

Posted: 25 Oct 2012 08:16 AM PDT

การประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล IMT (International Mobile Telecommunications) ในย่าน 2.1 GHz (หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G) เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2555

โดยคลื่นความถี่ IMT มีอยู่ทั้งหมด 60 MHz แต่เนื่องจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดสรรไปก่อนโดยไม่ต้องประมูลจำนวน 15 MHz ดังนั้นจึงเหลือคลื่นความถี่ที่สามารถนำออกประมูลได้ 45 MHz คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ("กสทช.") จึงแบ่งคลื่นความถี่ที่เหลือเป็น 9 ชุด ชุดละ 5 MHz เพื่อเปิดโอกาสให้รายย่อยสามารถเข้าร่วมประมูลได้ด้วย และได้กำหนดว่าแต่ละรายจะประมูลได้สูงสุดไม่เกิน 15 MHz ซึ่งจำนวนคลื่นความถี่ดังกล่าวก็จะเท่าเทียมกับที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีอยู่ ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการให้บริการ

ในการตั้งราคาเริ่มต้นการประมูลหรือราคาขั้นต่ำ (reserved price) กสทช. ได้อาศัย "รายงานฉบับสมบูรณ์ (เรื่อง) การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่และมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่" ที่จัดทำโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ("รายงานราคาประเมิน") ที่เสนอว่าแม้ว่าราคาประเมินคลื่นความถี่น่าจะประมาณเท่ากับ 6,440 ล้านบาทต่อชุด แต่เมื่อคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพและ "หากภาครัฐให้ความสำคัญต่อรายรับจากการประมูลพอสมควรเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ให้บริการซึ่งมีไม่มาก สัดส่วนของราคาเริ่มต้นต่อมูลค่าคลื่นความถี่ไม่ควรต่ำกว่า 0.67..." ซึ่งหมายความว่าราคาเริ่มต้นการประมูลหรือราคาขั้นต่ำควรอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 4,314.8 ล้านบาทต่อชุด ดังนั้น กสทช. จึงได้กำหนดราคาเริ่มต้นหรือราคาขั้นต่ำที่  4,500 ล้านบาทต่อชุด ซึ่งมากกว่าราคาขั้นต่ำที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นไว้  [2]

ในที่สุด การประมูลได้เริ่มขึ้นโดยมีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด 3 ราย และเมื่อการประมูลสิ้นสุดลง มีผู้เสนอราคาครบทั้ง 9 ชุด  โดยราคาแบ่งเป็น 4,950 ล้านบาท จำนวน 2 ชุด ราคา 4,725 ล้านบาท จำนวน 1 ชุด และราคา 4,500 ล้านบาท อีก 6 ชุด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 41,625 ล้านบาท [3]

การกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล และการตั้งราคาเริ่มต้นการประมูลหรือราคาขั้นต่ำดังกล่าวข้างต้น ได้ทำให้เกิดความเห็นแตกต่างกัน ดังนี้ 

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า กสทช. ควรเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่ให้สูงขึ้นโดยมีเหตุผลสนับสนุนหลัก ๆ ว่า (ก) ค่าคลื่นความถี่ที่สูงขึ้นจะไม่ทำให้ผู้ใช้บริการต้องชำระค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น (ข) ค่าคลื่นความถี่ที่สูงขึ้นจะเป็นรายได้แก่รัฐชดเชยการที่ผู้ประกอบการได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ (ค) กสทช.ควรนำเอาราคาประเมินที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเมินไว้ คือ 6,440 ล้านบาทต่อชุด มากำหนดเป็นราคาเริ่มต้นหรือราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่เสียเลย  (ถึงแม้ว่าคณะผู้วิจัย คณะเศรษฐศาสตร์จะเสนอว่าราคาขั้นต่ำควรกำหนดที่ไม่ต่ำกว่า 4,314.8 ล้านบาทต่อชุดเท่านั้น) (ง) การเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่ควรจะให้สอดคล้องกับประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการที่ตนเองได้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ระบบใบอนุญาตในย่านคลื่นความถี่ 2.1 GHz ซึ่งมีค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับเดิมที่เคยต้องจ่ายค่าสัมปทานในอัตราที่สูงกว่า ฝ่ายนี้เห็นว่า กสทช. ควรคำนึงถึงส่วนต่างดังกล่าวด้วย

อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าคลื่นความถี่นั้นแท้จริงแล้วไม่ได้มีมูลค่าสูงอย่างที่อีกฝ่ายเข้าใจ เมื่อวิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงและสภาพตลาด มูลค่าปัจจุบันของคลื่นความถี่ที่หลายฝ่ายเข้าใจว่าสูงกว่าราคาที่ประมูลได้นั้น เป็นราคาตลาดเมื่อ 10 ปีก่อน หากเป็นเมื่อก่อนราคาค่าคลื่นอาจเป็นเช่นนั้น แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปจนจะเข้าสู่ระบบ 4G (LTE) คลื่นความถี่ในระบบ 3G ที่สามารถนำไปแสวงหาประโยชน์ได้แค่ 3 - 4 ปีจากนี้ ย่อมไม่คุ้มที่ผู้ประกอบการจะประมูลด้วยเม็ดเงินลงทุนที่สูงเกินมูลค่าที่แท้จริง [4] หากตั้งราคาประเมินสูงกว่าที่ กสทช. ตั้งไว้ ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาแข่งขันอาจไม่มีเลยก็ได้ ซึ่งนั่นจะถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวของการจัดสรรคลื่นความถี่

ผู้เขียนเห็นว่าการให้ความเห็นเรื่องการกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่กล่าวมาข้างต้นยังขาดการอภิปรายทางวิชาการเพื่อกำหนดนโยบายของประเทศอย่างแท้จริง

รายงานราคาประเมินก็ไม่ได้กล่าวถึงนโยบายในเรื่องนี้เพราะรายงานเพียงแต่ระบุว่า "หากภาครัฐให้ความสำคัญต่อรายรับจากการประมูลพอสมควรเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ให้บริการซึ่งมีไม่มาก สัดส่วนของราคาเริ่มต้นต่อมูลค่าคลื่นความถี่ไม่ควรต่ำกว่า 0.67..." ซึ่งหมายความว่ารายงานราคาประเมินก็ยังไม่ได้อภิปรายทางวิชาการว่านโยบายที่เหมาะสมของประเทศไทยนั้นรัฐจะต้องให้ความสำคัญต่อรายรับจากการประมูลหรือไม่ เพียงใด

อย่างไรก็ดี รายงานได้กล่าวว่า ถึงแม้รัฐจะให้ความสำคัญต่อรายรับและแม้ผู้ให้บริการจะมีไม่มากก็ตาม แต่ก็ไม่แนะนำให้นำราคาประเมินมากำหนดเป็นราคาขั้นต่ำแต่อย่างใด ตรงกันข้ามรายงานได้เสนอให้กำหนดราคาขั้นต่ำเพียง 4,314.8 ล้านบาทต่อชุดเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าราคาประเมินคลื่นความถี่และน้อยกว่าราคาขั้นต่ำที่ กสทช. กำหนด ดังนั้น หากพิจารณาตามรายงานฉบับดังกล่าว ราคาขั้นต่ำที่กสทช.กำหนดก็ถือว่าค่อนไปในทางที่สูง

อีกทั้งสมมุติว่านโยบายที่เหมาะสมนั้น รัฐควรต้องให้ความสำคัญต่อรายรับจากการประมูลน้อยลงกว่าเรื่องอื่น ๆ เช่น ผลประโยชน์ของผู้บริโภค ก็อาจทำให้ราคาขั้นต่ำต่อชุดที่ควรจะเป็นต่ำกว่า  4,314.8 ล้านบาทอีกได้และจะทำให้ราคาขั้นต่ำที่กสทช.กำหนดนั้นค่อนไปในทางสูงมากขึ้นไปอีก

แต่ในที่สุด กสทช. ก็เลือกที่จะกำหนดราคาขั้นต่ำที่ "ค่อนไปในด้านสูง" คือ 4,500 ล้านบาทต่อชุด คำถามที่ควรเกิดขึ้นคือ ราคาขั้นต่ำดังกล่าวสูงไปหรือไม่

แต่กลับปรากฏว่ามีความเห็นจากอีกฝ่ายว่าราคาขั้นต่ำที่ กสทช. กำหนดไว้สูงกว่ารายงานราคาประเมินนั้น ยัง "ต่ำเกินไป" เพราะรัฐควรกำหนดราคาขั้นต่ำให้เท่ากับราคาประเมิน คือ 6,440 ล้านบาทต่อชุดเสียเลย หรือสูงกว่านั้น

ผู้เขียนจึงขอเสนอข้อเท็จจริงทางวิชาการเพื่อให้ผู้อ่านพิเคราะห์ว่าข้อเท็จจริงทางวิชาการนั้นเป็นอย่างไร โดยผู้เขียนได้รวบรวมข้อเท็จจริงทางวิชาการในต่างประเทศที่มีการอภิปรายในเรื่องนี้อย่างมีหลักวิชามาให้พิจารณา ดังนี้

1. ราคาค่าคลื่นความถี่ที่สูงขึ้นกระทบต่อผู้ใช้บริการได้อย่างไรบ้าง

ฝ่ายที่เห็นว่า กสทช. ควรเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่ให้สูงขึ้น เช่น เท่ากับราคาประเมินคลื่นความถี่ มีข้อเสนอในข้อ (ก) ว่าค่าคลื่นความถี่ที่สูงขึ้นจะไม่ทำให้ผู้ใช้บริการต้องชำระค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น

ในประเด็นนี้ ผู้เขียนได้นำเสนอข้อเท็จจริงไปแล้วว่าในทางวิชาการนั้น ยังไม่อาจสรุปได้เป็นการทั่วไปว่าค่าคลื่นความถี่ไม่มีผลต่อผู้บริโภคในทางใด ๆ ตรงกันข้าม ข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่าในปัจจุบัน นักวิชาการมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าราคาค่าคลื่นความถี่ที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดลักษณะและระดับการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในภายหลัง รวมถึงอาจทำประสิทธิภาพของตลาดลดลงและอาจก่อให้เกิดการบิดเบือนการลงทุน (distort investment) และกระทบต่อระดับการให้บริการและการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม และที่สำคัญอาจทำให้ราคาตลาดของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น (หากตลาดการให้บริการดังกล่าวเป็นตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยรายหรือมีอัตราการกระจุกตัวสูง) การแข่งขันด้านราคาและบริการในตลาดผู้แข่งขันน้อยราย อาจเริ่มต้นที่จุดที่มีการวมต้นทุนค่าคลื่นความถี่ไว้ด้วยบางส่วน การสรุปว่าการจัดสรรคลื่นความถี่จะต้องกำหนดค่าคลื่นความถี่ให้สูง ๆ เพื่อเก็บรายได้เข้ารัฐให้มากที่สุดโดยเสนอว่าผู้ใช้บริการจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เลย จึงเป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวถึงไว้แล้วในบทความของผู้เขียน [5] ดังนั้น การจะให้กสทช.เรียกเก็บค่าคลื่นความถี่โดยไม่ต้องพะวงถึงผู้บริโภคเลย จึงไม่ตรงกับหลักวิชาเสียทีเดียว

2. ควรเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่ให้สูงขึ้น เพราะเหตุว่าคลื่นความถี่เป็น "ทรัพย์สมบัติของชาติ" หรือไม่

ฝ่ายที่เห็นว่ากสทช. ควรเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่ให้สูงขึ้น ยังมีข้อเสนอในข้อ (ข) ว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพย์สมบัติของชาติ

ข้อเท็จจริงก็คือ กฎหมายไทย [6] ถือว่าคลื่นความถี่เป็น "ทรัพยากรสื่อสารของชาติ" (natural resource) (ที่ต้องใช้) "เพื่อประโยชน์สาธารณะ" แต่กฎหมายไม่ได้บัญญัติถึงขนาดว่าคลื่นความถี่เป็น "ทรัพย์สมบัติของชาติ"

ที่จริงแล้ว การถือว่าคลื่นความถี่เป็น "ทรัพย์สมบัติ" นั้นอาจทำให้เข้าใจผิดว่าตัวคลื่นความถี่เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว คือเป็นวัตถุที่มีหรือไม่มีรูปร่างซึ่ง "อาจถือเอาได้" โดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือรัฐเป็นเจ้าของหรือผู้ทรงกรรมสิทธิ์ และเมื่อรัฐอนุญาตให้บุคคลใดใช้ทรัพย์สินนั้น รัฐก็ควรจะได้รับค่าตอบแทนสูงที่สุด และประหนึ่งว่าคลื่นความถี่เป็นสิ่งของที่มีอยู่แล้วและอาจมีผู้หวงกัน ถูกทำลาย จำหน่าย จ่าย โอนได้อย่างเช่นแร่หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่ใช้แล้วหมดไป อันทำให้ผู้ใช้คลื่นความถี่จะต้องชำระค่าใช้ประโยชน์สูง ๆ ทำนองเดียวกับการได้รับสัมปทานเหมืองแร่หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น แต่แท้จริงแล้ว แนวความคิดดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักวิชา เพราะคลื่นความถี่ไม่ได้มีค่าในตัวของมันเอง ไม่มีบุคคลใดสามารถจะหวงกันได้ ไม่ใช่สิ่งของที่มีอยู่จริงหรืออาจถือเอาได้ และไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป 

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein – นักฟิสิกส์ทฤษฎี) ได้อธิบายว่า "ตัวคลื่นความถี่" นั้นไม่ได้มีอยู่จริงหรือถือเอาได้แต่ประการใด โดยกล่าวว่า

"คุณรู้ไหม โทรเลขก็เปรียบได้เหมือนกับแมวชนิดหนึ่งที่ตัวยาวมาก ๆ เมื่อคุณดึงหางมันที่นิวยอร์ค หัวของมันจะร้องอยู่ที่ลอสแองเจลิส คุณเข้าใจหรือเปล่า และคลื่นวิทยุก็เหมือนกัน คุณส่งสัญญาณที่นี่ พวกเขาจะได้รับที่นั่น ความแตกต่างก็คือ (ในกรณีนี้) จะไม่มีแมว" [7]

นักเศรษฐศาสตร์จึงให้ความเห็นในทางเศรษฐศาสตร์ว่าคลื่นความถี่ไม่ใช่ "สิ่งของ" (thing) และไม่ควรกล่าวถึงการ "จัดสรร" คลื่นความถี่ เพราะอาจทำให้เข้าใจผิดได้ คลื่นความถี่เป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่ ("there is no such thing as spectrum") [8] และอันที่จริงไม่มีการจัดสรรสิ่งของใด แต่เป็นการที่ผู้ประกอบการมาขออนุญาตรัฐเพื่อใช้เครื่องอุปกรณ์หนึ่งส่งสัญญาณออกไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น การส่งสัญญาณคลื่นดังกล่าวไม่ได้แตกต่างจากส่งสัญญาณคลื่นอื่น ๆ เช่น การส่งคลื่น (เสียง) จากอุปกรณ์ดนตรี (ในขณะที่การส่งสัญญาณคลื่นเสียงดังกล่าว ไม่ต้องมาขออนุญาตจากรัฐ) ดังที่ Ronald H. Coase ได้กล่าวไว้ว่า

"Every regular wave motion may be described as a frequency. The various musical notes correspond to frequencies in sound waves; the various colors correspond to frequencies in light waves. But it has not been thought necessary to allocate to different persons or to create property rights in the notes of the musical scale or the colors of the rainbow…..What does not seem to have been understood is that what is being allocated by the Federal Communication Commission, or if there was a market, what would be sold, is the right to use a piece of equipment to transmit signals in a particular way."  [9]

การที่รัฐได้ออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ แท้จริงแล้วจึงเป็นเพียงการอนุญาตให้สิทธิแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้อุปกรณ์บางประเภทที่มีความสามารถส่งสัญญาณและรับสัญญาณในรูปแบบหนึ่ง ๆ เท่านั้น จึงไม่ถูกต้องที่จะเปรียบเทียบการจัดสรรคลื่นความถี่ประหนึ่งว่าเป็นการจัดสรรทรัพย์สินที่รัฐมีอยู่แล้ว หรือจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ใช้แล้วหมดไปอย่างทรัพยากรธรรมชาติชนิดอื่นหรือนำไปเปรียบเทียบกับที่ดิน เพราะการเปรียบเทียบเช่นนั้นจะทำให้เข้าใจผิดไปว่ากฎเกณฑ์หรือแนวคิดของรัฐด้านกฎหมาย (เช่น กรรมสิทธิ สิทธิครอบครอง สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทรัพย์สินของแผ่นดิน ฯลฯ) และเศรษฐศาสตร์ที่ใช้กับทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นจะสามารถนำมาใช้กับการจัดสรรคลื่นความถี่ได้ (หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกต้อง คือ การให้สิทธิในการใช้เครื่องอุปกรณ์เพื่อรับส่งสัญญาณ) ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์ จะนำกฎเกณฑ์หรือแนวคิดดังกล่าวมาใช้ไม่ได้เลย [10]

ดังนั้น การกำหนดว่าผู้ประกอบการรายใดควรได้รับสิทธิในการใช้อุปกรณ์ที่สามารถรับส่งสัญญาณและควรเสียค่าตอบแทนเท่าใด (ซึ่งอยู่ในรูปแบบของการเสีย "ค่าคลื่นความถี่") นั้น จึงควรพิจารณาผลประโยชน์ที่สังคมหรือบุคคลทุกกลุ่มในประเทศจะได้รับ (หรืออาจจะเรียกว่า "ประโยชน์สาธารณะ") ให้มากเสียยิ่งกว่าการถือว่าคลื่นความถี่เป็น "ทรัพย์สมบัติ" ของชาติ เพราะการยึดถือเช่นนั้นไม่อาจนำไปสู่การวิเคราะห์ได้อย่างมีเหตุมีผลว่าราคาค่าคลื่นความถี่มีหน้าที่สุดท้าย (function) อย่างไร และควรจะเป็นเท่าใดสังคมจึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด การถือว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพย์สมบัติของชาติ ไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาในทางใด เพราะอาจแปลได้ว่ากสทช.ไม่ควรจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ใดใช้เป็นการเฉพาะเลย (exclusive right) และไม่ควรคิดค่าคลื่นความถี่แต่อย่างใด แต่ควรให้การใช้คลื่นความถี่เป็นไปอย่างเสรีโดยสามารถใช้ร่วมกันได้หรือที่เรียกว่า "spectrum commons" [11] แต่ในทางตรงกันข้าม คำว่า "ทรัพย์สมบัติของชาติ" ก็อาจแปลไปในอีกทางหนึ่งได้ว่า กสทช. ควรจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้บุคคลใดคนหนึ่งมีสิทธิใช้ (exclusive right) โดยเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่ต่ำๆเพื่อให้ประชาชนไม่ต้องรับภาระหรือเพื่อให้ได้รับบริการที่ดี หรือเรียกเก็บตามราคาตลาดตามข้อเสนอของ Leo Herzel [12] และ Ronald H. Coase หรืออาจแปลได้ถึงขนาดว่าให้เรียกเก็บค่าคลื่นความถี่สูง ๆ อย่างที่เคยมีในบางประเทศ [13]

ดังนั้น การให้เหตุผลว่าคลื่นความถี่เป็น "ทรัพย์สมบัติ" ของชาติ จึงไม่มีประโยชน์นักในการกำหนดนโยบายของรัฐไปในทางใดทางหนึ่ง เกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่และการกำหนดราคา 

ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการในต่างประเทศจึงไม่ได้กล่าวถึงเรื่องทรัพย์สมบัติของชาติเป็นสำคัญ แต่ได้วิเคราะห์ว่าที่จริงแล้ว การขอใช้คลื่นความถี่เป็นเพียงการขออนุญาตใช้เครื่องและอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ส่งสัญญาณในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น นักวิชาการในต่างประเทศจึงมักตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดรัฐจึงประสงค์จะเก็บค่าใบอนุญาตจากการใช้นั้นและเพราะเหตุใดเมื่อนักดนตรีใช้อุปกรณ์อื่น ๆ ที่สามารถส่งคลื่น (เช่น อุปกรณ์ดนตรี) เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพหารายได้เช่นเดียวกัน จึงไม่มีการคิดค่าใบอนุญาตสูง ๆ หากมีการตอบว่าเพราะเมื่อบุคคลหนึ่งใช้เครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมส่งสัญญาณย่อมทำการรบกวนคนอื่นจนคนอื่นไม่อาจใช้อุปกรณ์ชนิดเดียวกันได้อีกเพราะจะเกิดการรบกวนกันของคลื่น (interference) ถ้าเป็นเช่นนั้น นักวิชาการก็มักจะตั้งคำถามต่อไปว่าเพราะเหตุใดรัฐจึงเก็บค่าใบอนุญาตสำหรับอุปกรณ์ชนิดอื่น ๆ ที่รบกวนสาธารณะในราคาต่ำๆ เช่น การขออนุญาตใช้หรือจดทะเบียนรถยนต์ การปล่อยมลพิษขึ้นสู่อากาศ เป็นต้น [14] และการเรียกเก็บจะก่อให้เกิดประโยชน์อะไรในทางเศรษฐศาสตร์และควรเรียกเก็บเท่าใดจึงจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด อะไรที่สามารถอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้เพื่อจะได้จัดทำนโยบายของรัฐที่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการอภิปรายในวงกว้างไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "transaction cost" หรือ "spectrum commons" หรือ "supercommons" หรือด้วยแนวคิดอื่น ๆ ซึ่งผู้เขียนจะไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้ทั้งหมด แต่ที่ได้นำเรื่องเหล่านี้มากล่าวถึงในที่นี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าการจัดสรรคลื่นความถี่และการกำหนดราคาควรวิเคราะห์จากหลักวิชาหรือเหตุผลในเรื่องเหล่านี้มากกว่าเรื่องอื่น

3. หลักสำคัญคือ เป็นเรื่องปกติที่ค่าคลื่นความถี่ที่ทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้ทำรายได้สูงสุดให้แก่รัฐ

โดยสรุปแล้ว นักวิชาการในต่างประเทศได้อธิบายไว้ว่าเหตุผลที่มีความพยายามเรียกเก็บค่าขอใช้เครื่องอุปกรณ์รับส่งสัญญาณหรือค่าใช้คลื่นความถี่ซึ่งแตกต่างจากกรณีอื่น ๆ นั้น สืบเนื่องมาจากเหตุผลหลัก ๆ คือ (ก) ในกรณีที่จำนวนผู้ที่ต้องการใช้อุปกรณ์รับส่งสัญญาณมีมากกว่าช่องคลื่นความถี่ที่มี (scarce resources) การกำหนดค่าคลื่นความถี่จะเป็นเครื่องมือในการกำหนดผู้ที่ควรจะได้รับสิทธิและจะทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่มีประสิทธิภาพ (efficiency) [15] และ (ข) เพื่อเป็นรายได้แก่รัฐ  [16]

เหตุผลในข้อ (ก) ทำให้นักวิชาการสนับสนุนการจัดสรรคลื่นความถี่โดยการประมูล กล่าวคือ ในกรณีที่จำนวนบุคคลที่อาจมาขอรับใบอนุญาตมีมากกว่าช่องคลื่นความถี่ รัฐก็ควรใช้วิธีการประมูล นักวิชาการเหล่านี้เชื่อว่า บุคคลที่ยอมชำระค่าใบอนุญาตสูงสุดน่าจะมีวิธีการที่จะใช้อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ (หรือเรียกง่าย ๆ ว่าใช้คลื่นความถี่) ให้เกิดประโยชน์มากกว่าผู้ที่เสนอราคาค่าใบอนุญาตน้อยกว่า

อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ (ก) มักจะขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ (ข) เพราะราคาคลื่นความถี่ที่ได้จากการประมูลหรือการจัดสรรคลื่นความถี่มีประสิทธิภาพมักจะต่ำกว่าราคาที่ทำรายได้สูงสุดให้แก่รัฐ ยกตัวอย่างได้ดังนี้

กรณีที่ 1 ในกรณีที่ปริมาณคลื่นความถี่มีน้อยกว่าผู้ประกอบการ (อุปทานน้อยกว่าอุปสงค์) ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันกันมาก ราคาประมูลก็ยังอาจต่ำกว่าราคาสูงสุดที่รัฐอาจได้รับก็เป็นได้

ก่อนอื่นต้องกล่าวก่อนว่า นักวิชาการที่เสนอให้จัดสรรคลื่นความถี่โดยระบบการอนุญาตนั้นยอมรับว่าราคาค่าคลื่นความถี่ที่จะทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่มีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ในข้อ (ก) คือ "ราคาตลาด" (ราคาที่อุปสงค์และอุปทานพบกันตามกฎตลาด (market clearing price)) ซึ่งถูกกำหนดได้ดีที่สุดโดยการประมูล ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่รัฐใช้การประมูลแบบ Simultaneous Ascending Auction และสมมุติว่าคลื่นความถี่ที่จะนำออกประมูลมีอยู่ 2 ชุด ซึ่งเพียงพอสำหรับผู้ประกอบการ 2 ราย และสมมุติต่อไปว่ามีผู้ประกอบการที่ต้องการได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมด 4 ราย (A B C และ D) และผู้ประกอบการทั้งหมดประเมินราคาคลื่นความถี่ 2 ชุดนั้นไว้เท่ากันโดย A B C และ D พร้อมที่จะชำระค่าคลื่นความถี่เพื่อให้ตนเองได้คลื่นความถี่ 1 ชุดตามลำดับดังนี้ 400 300 200 และ 100 บาท ราคาตลาดของคลื่นความถี่ต่อชุดในกรณีนี้จึงน่าจะมากกว่า 200 บาทเพียงเล็กน้อย (เพราะเมื่อราคาประมูลขยับขึ้นไปมากกว่า 200 บาท ก็จะมีเพียงผู้ประกอบการเพียง 2 ราย คือ A และ B เท่านั้นที่พร้อมชำระค่าคลื่นความถี่และ C กับ D ก็จะถอนตัวออกไปจากการประมูล) ดังนั้น ราคาตลาดของคลื่นความถี่ทั้งสองชุดก็คือ 402 บาท (201 x 2) เป็นต้น [17]

ดังนั้นราคาตลาดคือราคาในระดับที่คลื่นความถี่ทั้ง 2 ชุดได้รับการจัดสรรทั้งหมดโดยที่ผู้ประกอบการอื่นไม่ประสงค์จะขอรับจัดสรรคลื่นความถี่อีกต่อไป

แต่ราคาตลาดจากการประมูลดังกล่าว (ที่มีการแข่งขันในการประมูลเต็มที่) ก็อาจจะไม่ใช่ราคาสูงสุดที่รัฐจะเรียกเก็บได้ เพราะจากตัวอย่างข้างต้น ที่จริงแล้ว ผู้ประกอบการ A และ B พร้อมจะชำระค่าคลื่นความถี่ให้แก่รัฐสูงถึง 700 บาท กล่าวคือ "ราคาประเมินหรือราคาสงวนในใจ" ของผู้ประกอบการอาจมากกว่าราคาตลาดของคลื่นความถี่อันเกิดจากการประมูล

กรณีที่ 2 กรณีที่คลื่นความถี่มีเพียงพอสำหรับผู้ประกอบการทุกราย (การแข่งขันในการประมูลมีน้อย)

ปัญหาที่กล่าวถึงข้างต้นจะมีมากขึ้นอีก หากปริมาณคลื่นความถี่ที่รัฐจะนำมาจัดสรรนั้น มีเพียงพอสำหรับผู้ประกอบการทุกรายที่เข้าร่วมประมูลเพราะในกรณีดังกล่าว มีความเป็นไปได้สูงว่าราคาประมูลซึ่งเป็นราคาตลาด (หากไม่มีการกำหนดราคาขั้นต่ำ) จะไม่สูงใกล้เคียงกับราคาสงวนในใจหรือราคาสงวนของผู้ประกอบการเลย ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G ของประเทศไทยที่ผ่านมา

แต่โดยสรุปราคาตลาดจากการประมูล อาจน้อยกว่า "ราคาประเมินหรือราคาสงวนในใจ"(ราคาสูงสุดที่รัฐอาจเรียกเก็บได้) ไม่ว่าจะมีการแข่งขันในการประมูลหรือไม่

ดังนั้น ประเด็นจึงไม่ใช่ว่าการประมูลมีการแข่งขันหรือไม่ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าราคาค่าคลื่นความถี่เท่าใดจึงจะเหมาะสมและไม่อาจกล่าวได้ว่า "ต่ำเกินไป"

4. เมื่อราคาตลาดจากการประมูล ไม่ได้ทำรายได้สูงสุดให้แก่รัฐ (เพราะคลื่นความถี่ที่มีอยู่มีเพียงพอสำหรับผู้ประกอบการทุกรายทำให้การแข่งขันในการประมูลมีน้อย) กสทช. ควรต้องนำราคาประเมินค่าคลื่นความถี่มากำหนดเป็นราคาขั้นต่ำของการประมูลหรือไม่

ในกรณีการประมูลคลื่นความถี่ 3G ในประเทศไทยที่ผ่านมา คลื่นความถี่ที่นำออกประมูลมีอยู่ 45 MHz และผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย หากใช้สมมุติฐานว่าแต่ละรายพึงพอใจที่จะใช้คลื่นความถี่เพียงรายละ 15 MHz โดยคลื่นความถี่ดังกล่าวเพียงพอต่อการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ [18] ก็เท่ากับว่าคลื่นความถี่ที่มีอยู่มีเพียงพอสำหรับผู้ประกอบการทุกราย ในกรณีนี้เป็นไปได้ว่าราคาประมูลจะไม่สูง (ในกรณีที่ไม่มีการกำหนดราคาขั้นต่ำ)

ในกรณีดังกล่าว มีผู้เสนอว่า กสทช. ควรเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่ให้สูงขึ้นโดยมีข้อเสนอว่า กสทช. ควรนำเอาราคาประเมินที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเมินไว้ คือ 6,440 ล้านบาทต่อชุด มากำหนดเป็นราคาเริ่มต้นหรือราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่เสียเลย  ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าคณะเศรษฐศาสตร์จะไม่ได้นำเสนอเช่นนั้น เพราะกำหนดไปทางตรงกันข้ามว่า แม้ผู้ให้บริการจะมีไม่มาก แต่สัดส่วนของราคาเริ่มต้นต่อชุดคลื่นความถี่ไม่ควรนำเอาราคาประเมินมากำหนด โดยเห็นว่า "หากภาครัฐให้ความสำคัญต่อรายรับจากการประมูลพอสมควรเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ให้บริการซึ่งมีไม่มาก สัดส่วนของราคาเริ่มต้นต่อมูลค่าคลื่นความถี่ไม่ควรต่ำกว่า 0.67..." ของราคาประเมิน กล่าวคือ ไม่ต่ำกว่า 4,314.8 ล้านบาทต่อชุดเท่านั้น

กสทช. ได้ตั้งราคาขั้นต้นของการประมูลไว้ที่ 4,500 ล้านบาท ซึ่งที่จริงแล้วน่าจะค่อนไปในด้านสูง แต่ฝ่ายหนึ่งยังเห็นว่าราคาคลื่นความถี่นั้นยังต่ำเกินไป เพราะประสงค์จะให้ กสทช. นำราคาประเมิน คือ 6,440 ล้านบาทมากำหนดเป็นราคาขั้นต่ำเสียเลย

แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้รัฐสามารถเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่ได้มากขึ้นกว่าราคาตลาดของคลื่นความถี่ แต่อย่างไรก็ดี ในทางวิชาการ มักจะไม่สนับสนุนแนวทางดังกล่าว โดย

(ก) นักวิชาการที่สนับสนุนให้จัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประมูล เห็นว่าการใช้ "ราคาตลาด" จากการประมูลจะทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่มีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐศาสตร์มากกว่า [19] ดังนั้น ไม่ควรกำหนดราคาใด ๆ ให้แตกต่างออกไป

(ข) นอกจากนี้ ราคาประเมินยังขึ้นอยู่กับตัวแปรที่ไม่แน่นอนหลายอย่างซึ่งล้วนแล้วแต่สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้มีการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่คลาดเคลื่อนหรือสูงเกินไป [20] อาจกล่าวได้ว่าการประเมินที่ถูกต้องแม่นยำไม่อาจเป็นไปได้เลย

(ค) อีกทั้ง นักวิชาการยังไม่เห็นด้วยที่จะกำหนด "ราคาขั้นต่ำในการประมูล (reserved price)" ให้สูงเท่ากับราคาประเมิน เพราะการกำหนดราคาประเมินมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรายได้เข้ารัฐเท่านั้น แต่การกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเรียกเก็บรายได้ให้แก่รัฐแต่อย่างใด

นักวิชาการเห็นว่ารัฐควรกำหนดราคาขั้นต่ำของการประมูลคลื่นความถี่ เพราะเหตุผล 4 ประการ คือ ประการแรก เพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่ไม่อาจ (หรือไม่มีเจตนาจะ) ใช้คลื่นความถี่อย่างจริงจังมาเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่เพราะจะทำให้การประมูลยืดเยื้อเกินจำเป็นและเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ประการที่สอง เพื่อให้รัฐได้รับค่าชดเชยที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่เสียไปในการจัดการประมูล ประการที่สาม เพื่อเป็นหลักประกันว่าในกรณีที่สังคมจะได้รับประโยชน์จากคลื่นความถี่มากขึ้นหากมีการจัดสรรคลื่นความถี่ในภายหลัง (แทนที่จะจัดสรรในขณะนั้น) สังคมจะได้รับการชดเชย โดยราคาขั้นต่ำจะเป็นส่วนชดเชยการขาดประโยชน์เพราะเหตุที่มีการจัดสรรคลื่นความถี่แต่เนิ่น ๆ กว่าที่ควร ประการที่สี่ ราคาขั้นต่ำจะลดแรงจูงใจไม่ให้ผู้ประกอบการสมยอมราคากันในการประมูล (ไม่ยอมแข่งขันกัน) (แต่ทั้งนี้ ยังมีข้อถกเถียงทางวิชาการว่าการกำหนดราคาขั้นต่ำควรทำไปเพื่อวัตถุประสงค์นี้หรือไม่) [21]

หากพิจารณาตามวัตถุประสงค์การกำหนดราคาขั้นต่ำที่กล่าวมาข้างต้น ราคาขั้นต่ำสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 3G ของประเทศไทยที่ผ่านมานับได้ว่าค่อนไปในทางที่สูง

จริงอยู่ แม้คลื่นความถี่ในย่าน 2.1 GHz ในประเทศไทยมีเพียงพอสำหรับผู้ประกอบการทุกราย อันอาจทำให้การแข่งขันในการประมูลมีไม่มากนักก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็เป็นสภาพของตลาด และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ถือได้ว่าการประมูลได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้วคือจัดสรรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ (เท่าที่สภาพตลาดจะอำนวยให้) เพราะมีผู้ประกอบการเพียง 3 รายที่เห็นว่าตนเองน่าจะนำคลื่นความถี่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ (ในสภาพตลาดที่เป็นอยู่) และผู้ประกอบการดังกล่าวก็เป็นผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ไปจากการประมูลโดยไม่มีคลื่นความถี่ตกค้าง

ในกรณีดังกล่าว ราคาขั้นต่ำในการประมูลก็จะไม่จำเป็นต้องกำหนดให้สูงเกินกว่าค่าใช้จ่ายที่ กสทช. ใช้ไปในการจัดการประมูลแต่อย่างใด เพราะไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมดหรือบางส่วนในภายหลังน่าจะให้ผลคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์มากกว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เสร็จไปในคราวเดียวในครั้งนี้ (ตรงกันข้ามการจัดสรรคลื่นความถี่ในครั้งนี้น่าจะล่าช้าไปกว่าควรด้วยเมื่อพิจารณาปริมาณการใช้งานด้านข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และการแข่งขันในระดับระหว่างประเทศและการที่การประมูลต้องถูกระงับไปเมื่อสองปีก่อน) [22]

ส่วนการตั้งราคาขั้นต่ำเพื่อป้องกันการสมยอมในการประมูล (collusion) ก็ไม่เป็นประเด็นในบริบทการประมูล 3G ของประเทศไทยเพราะคลื่นความถี่ที่นำมาประมูลนั้นโดยสภาพแล้ว มีเพียงพอสำหรับผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายและเมื่อเป็นเช่นนั้น ตามกฎตลาด การแข่งขันเพื่อช่วงชิงคลื่นความถี่ย่อมมีไม่มากโดยสภาพ ดังนั้นย่อมไม่มีความจำเป็นที่ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตกลงสมยอมราคาในการประมูลแต่อย่างใดเลย ดังนั้น ข้อเสนอที่ว่าผู้ประกอบการอาจมีการ "ฮั้ว" กันนั้น (collusion) จึงเป็นความเห็นที่ไร้น้ำหนักโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอที่ว่าเมื่อมีผู้ประกอบการ 3 รายได้รับใบอนุญาต (สำหรับคลื่นความถี่ที่มีอยู่เพียงพอสำหรับ 3 ราย) จึงถือว่าเป็นการ "จัดฮั้วประมูล" นั้น จึงยิ่งขัดแย้งกับกฎตลาด เพราะข้อเท็จจริงก็คือ "สภาพตลาด"เอง เป็นผู้จัดให้การประมูลได้ผลเช่นนั้นเอง

5. เมื่อสภาพตลาดเอง (กฎตลาด) ที่ทำให้มีการแข่งขันในการประมูลมีน้อย รัฐควร "บิดเบือน" กฎตลาดเพื่อบีบ "ค่าคลื่นความถี่" ให้สูงขึ้น เพื่อเรียกเก็บรายได้ให้แก่รัฐหรือไม่

แม้ว่าคลื่นความถี่จะมีเพียงพอสำหรับผู้ประกอบการทุกรายที่เข้าร่วมประมูล คำถามต่อไปคือ รัฐควรหาทางเพิ่มค่าคลื่นความถี่ให้สูงขึ้นเพื่อเรียกเก็บรายได้ให้แก่รัฐหรือไม่

การเพิ่มราคาค่าคลื่นความถี่นั้นทำได้หลายวิธี ทั้งการกำหนดราคาขั้นต่ำ หรือการกำหนดเกณฑ์การประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเทียม ๆ (artificial) เพื่อให้ราคาประมูลสูงขึ้นกว่าราคาตลาด

ในเรื่องนี้ มีผู้เสนอด้วยว่าเมื่อคลื่นความถี่ 3G ในประเทศไทยมีเพียงพอสำหรับผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 3 ราย (3 x 15 MHz = 45 MHz) จึงควรกำหนดอุปทานเทียมขึ้น (กล่าวคือ จำกัดอุปทานลง)  โดยการจำกัดจำนวนคลื่นความถี่รวมที่จะนำมาจัดสรรโดยวิธีการประมูลให้น้อยกว่าจำนวนผู้ประกอบการ (หรือที่เรียกว่า N-1) เช่นในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ก็ควรประมูลใบอนุญาตเพียง 2 ใบ หรือกำหนดปริมาณคลื่นความถี่ที่แต่ละรายจะถือครองให้เพิ่มขึ้นจาก 15 MHz ไปเป็น 20 MHz เพื่อให้มีการแย่งชิงคลื่นความถี่ขึ้น เพราะจะทำให้แต่ละรายได้รับสิทธิให้ประมูลถึง 20 MHz (3 x 20 MHz = 60 MHz) ซึ่งก็จะดูประหนึ่งว่าอุปทานคลื่นความถี่ขาดแคลนไป 15 MHz

ในกรณีดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่าหากข้อสมมุติฐานว่าผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ถึงขนาด 20 MHz เป็นจริง (ซึ่งน่าจะจริงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการภาครัฐ (บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)) ที่มีคลื่นความถี่ IMT เพียง 15 MHz) การกำหนดอุปทานเช่นนั้น ก็เท่ากับเป็นการกำหนด "อุปทานเทียม"  [23] (artificially manipulated the auctions) และผู้กำหนดเป็นผู้ที่ไม่เชื่อในกฎตลาด และเท่ากับว่า กสทช. ส่งเสริมให้ผู้ที่มี "กระเป๋าหนัก" สามารถทำการสะสมคลื่นความถี่ (hoarding) ได้อันเป็นการส่งเสริมการผูกขาดคลื่นความถี่และจัดสรรคลื่นความถี่อย่างไม่มีประสิทธิภาพอันขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับวัตถุประสงค์ในการใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น การที่ กสทช. กำหนดคลื่นความถี่ขั้นสูงเป็น 15 MHz โดยเหตุผลว่าเพียงพอสำหรับการให้บริการ จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล

แต่การที่การแข่งขันในการประมูลมีไม่มากก็เป็นเพราะสภาพตลาด (จำนวนผู้สนใจประกอบกิจการมีไม่มาก) และจำนวนคลื่นความถี่ก็มีเพียงพอสำหรับทุกรายนั่นเอง อันเป็นไปตามกฎอุปสงค์อุปทาน

เมื่อกรณีเป็นไปตามกฎตลาด ผู้ประกอบการไม่มีความจำเป็นต้องตกลงสมยอมราคากันแต่อย่างใด ข้อเสนอที่ว่าการจัดประมูลเป็นการจัด "ฮั้ว" (อันเป็นเรื่องการตกลงเพื่อไม่แข่งขัน) จึงขาดน้ำหนักโดยสิ้นเชิง

การจำกัดอุปทานคลื่นความถี่ให้น้อยลงเพื่อให้ดูเหมือนว่าขาดแคลน ทั้งนี้เพื่อบีบให้ราคาค่าคลื่นความถี่สูงขึ้นกว่าราคาตลาด (supracompetitive) นั้น หากเป็นการกระทำของเอกชนก็เรียกได้ว่าเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดหรืออำนาจผูกขาด (abuse of dominance) อันจะทำให้ความกินดีอยู่ดีของทุกกลุ่มหรือหลายกลุ่มเสียไปและอาจทำให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจลดลง ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย การที่รัฐจะกระทำเช่นเดียวกันนี้เสียเอง กักตุนคลื่นความถี่ (จำกัดอุปทานลงไม่ว่าถาวรหรือชั่วคราว) หรืออนุญาตให้เอกชนกักตุนคลื่นความถี่ (เช่น 20 MHz) อันเป็นการบิดเบือนกฎตลาด จึงมีข้อน่ากังวลว่าอาจจะทำให้เกิดการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการที่ได้กล่าวมาแล้ว

6. กสทช. ควรบีบค่าเก็บค่าคลื่นความถี่ให้สูงขึ้นกว่าราคาตลาด เพื่อให้สะท้อนส่วนต่างระหว่างต้นทุนการประกอบกิจการภายใต้ระบบใบอนุญาตใหม่และค่าสัมปทานที่ผู้ประกอบการต้องชำระให้แก่รัฐ หรือไม่

ตามที่กล่าวแล้วตอนต้น มีผู้เสนอว่ารัฐควรเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่สูง ๆ เพราะผู้เข้าร่วมประมูล (สมมุติว่าได้แก่ A B และ C) ได้รับประโยชน์จากการได้รับใบอนุญาต (เพราะจะเสียค่าธรรมเนียมในการประกอบกิจการภายใต้กฎหมายใหม่ในระดับต่ำประมาณ 5.75% ของรายได้จาการให้บริการ) [24] ในขณะที่ในระบบสัมปทาน A B และ C ต้องเสียค่าสัมปทานสูงถึงประมาณ 20 – 30% ของรายได้

แต่ข้อเสนอให้เพิ่มราคาค่าคลื่นความถี่โดยเหตุผลนี้ยังมีปัญหา

ประการแรก ในการกำหนดราคาขั้นต่ำของ กสทช. นั้นต้องมีความเป็นกลาง (neutral) ต่อผู้เข้าร่วมประมูลและต้องกำหนดไว้เป็นการล่วงหน้า ดังนั้นหากในการกำหนดราคาขั้นต่ำ กสทช. นำส่วนต่างระหว่างค่าธรรมเนียมภายใต้ระบบการอนุญาต (ระบบใหม่) และค่าสัมปทานภายใต้ระบบสัมปทาน (ระบบเก่า) มาคำนึงถึงก็จะทำให้ราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่ที่ กสทช. กำหนดไว้ล่วงหน้านั้นสูงขึ้นมาก ในกรณีที่ราคาขั้นต่ำมีเพียงราคาเดียวสำหรับทุกใบอนุญาต ก็จะเท่ากับเป็นการสร้างอุปสรรคการเข้าสู่ตลาด (barriers to entry) มากขึ้นไปอีก เพราะจะยิ่งลดแรงจูงใจ (เป็นการล่วงหน้า) มิให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้รับสัมปทานในระบบเก่าเข้าร่วมการประมูลหรือขอรับใบอนุญาต อีกทั้ง ยังจะทำให้ช่องว่างระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐที่ไม่มีต้นทุนค่าคลื่นความถี่กับผู้เข้าร่วมประมูลมีมากขึ้นไปอีก

ประการที่สอง การตั้งราคาขั้นต่ำล่วงหน้าโดยคำนึงถึงระบบสัมปทานดังกล่าว หากเป็นการตั้งราคาเดียว ก็จะทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลรายที่เสียค่าสัมปทานให้แก่รัฐสูงสุด (สมมุติว่า A B C ชำระค่าสัมปทานให้แก่รัฐมากตามลำดับ) ได้เปรียบผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นที่เป็นผู้รับสัมปทาน เพราะใบอนุญาต 3G จะมีค่าสำหรับ A และ B มากกว่า C และทำให้ราคาขั้นต่ำที่กำหนดขึ้นกระทบต่อ A น้อยกว่า B และ C โดยที่ความได้เปรียบของ A นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการใช้คลื่นความถี่ของ A ในธุรกิจใหม่เลย อีกทั้งหาก กสทช. ต้องกำหนดราคาขั้นต่ำโดยคำนึงถึงค่าสัมปทานด้วย ก็เท่ากับว่า กสทช. ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหมด รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากข้อกำหนด Build-Transfer-Operate ของผู้ประกอบการแต่ละรายภายใต้สัญญาสัมปทานเดิมด้วย ซึ่งก็ไม่เท่ากันด้วยเช่นกันและในกรณีดังกล่าวความได้เปรียบของ A ก็อาจจะมากขึ้นไปอีก

หรือถึงแม้จะสมมุติว่าผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายชำระค่าสัมปทานและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามสัญญาสัมปทานเท่ากัน (แต่ในความเป็นจริงย่อมไม่เท่ากัน) หรือสมมุติอีกว่า กสทช. จะใช้เกณฑ์ค่าใช้จ่ายตามสัญญาสัมปทานที่เป็นจำนวนต่ำสุด แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เข้าร่วมประมูลก็ยังมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันอีก เพราะ A B และ C อาจได้รับประโยชน์จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ต่ำลงในระยะเวลาและขอบเขตที่ไม่เท่ากัน (ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้บริการของแต่ละรายจะเปลี่ยนไปใช้ระบบ 3G (ธุรกิจใหม่) ของผู้เข้าร่วมประมูลรายนั้น ๆ เมื่อใด และขึ้นอยู่กับว่าแต่ละรายจะคาดหวังว่าผู้ใช้บริการของตนจะใช้บริการของตนต่อไปโดยไม่ไปใช้บริการของผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นหรือแม้แต่ของผู้ประกอบการอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมประมูลและขึ้นอยู่กับว่าจะมีเทคโนโลยีใดมาแข่งกับ 3G อีกหรือไม่ ฯลฯ) และหาก กสทช. จะกำหนดราคาขั้นต่ำโดยคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ กสทช. ก็จะต้องทำการประมาณการต่าง ๆ ดังกล่าวซึ่งน่าจะเต็มไปด้วยความคลาดเคลื่อนเพราะเป็นเรื่องในอนาคต และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ราคาขั้นต่ำที่สูงขึ้นเพราะค่าสัมปทานอาจทำให้คลื่นความถี่ไม่อาจจัดสรรได้ครบทุกชุด อันทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพ (inefficiency) และผู้ที่สามารถชำระราคาขั้นต่ำได้ในชุดใด (เพราะได้เปรียบผู้อื่นในปัจจัยที่กล่าวถึงข้างต้นจากธุรกิจเดิม) ก็ยากที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ (น่าจะ) ใช้คลื่นความถี่ในชุดนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพในธุรกิจใหม่ (อันผิดไปจากวัตถุประสงค์ในการจัดประมูล)

ประการที่สาม หากกำหนดราคาขั้นต่ำแตกต่างกันไปตามแต่ใบอนุญาต (โดยสมมุติว่า กสทช.  กำหนดราคาขั้นต่ำให้แก่ A B C แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่า A B C เคยชำระค่าสัมปทานและค่าใช้จ่ายสัมปทานอื่น ๆ จำนวนเท่าใด) นอกจากกฎการประมูลจะซับซ้อนมากแล้ว ยังทำให้เกิดผลประหลาดว่าราคาค่าคลื่นความถี่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการใช้คลื่นความถี่แต่เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับค่าสัมปทานที่เคยชำระในธุรกิจเดิมด้วย (อันเป็นคนละคลื่นความถี่) และจะทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องชำระค่าคลื่นความถี่ 2.1 GHz ในจำนวนที่แตกต่างกันอย่างมากเพื่อให้ได้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจใหม่ที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน อันเป็นการเลือกปฏิบัติและจำกัดการแข่งขันในตลาดตั้งแต่เริ่มต้น

ประการสุดท้าย หากค่าใบอนุญาตที่ผู้ชนะการประมูลต้องชำระนั้นควรสะท้อนค่าสัมปทานที่ตนเองเคยต้องชำระให้แก่รัฐอยู่ในระบบเดิมสำหรับธุรกิจเดิม (ซึ่งค่าสัมปทานในระบบเดิมดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะรัฐผูกขาดกิจการโทรคมนาคมและต้องการเรียกเก็บค่าตอบแทนสูง ๆ เข้ารัฐจากการประกอบกิจการของภาคเอกชน) ก็น่าคิดว่ามีประโยชน์อันใดที่จะก่อตั้งระบบใบอนุญาตแทนระบบสัมปทานเดิมและผู้ใช้บริการจะได้รับประโยชน์อันใดจากระบบใบอนุญาตเพราะดูประหนึ่งว่าค่าใบอนุญาตตามระบบใหม่แทนที่จะเป็นไปเพื่อเลือกเฟ้นผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบการ พร้อมทั้งลดต้นทุนในการประกอบการที่ไม่จำเป็นเพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันลดค่าบริการให้มากที่สุด แข่งขันกันนำเสนอบริการใหม่ ๆ ก่อให้เกิดความรุดหน้าทางนวัตกรรมและประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ แต่ปรากฎว่าค่าใบอนุญาตในระบบใหม่กลับจะยังไปสะท้อนอำนาจผูกขาดจากภาครัฐในระบบเดิมอยู่นั่นเอง เพราะทำให้รัฐได้ค่าตอบแทนสูง ๆ โดยไม่อาจอธิบายได้ และผู้ประกอบการก็อาจต้องชำระค่าใบอนุญาตอย่างไม่เท่าเทียมกัน โดยความไม่เท่าเทียมกันนั้นไม่ได้สะท้อนประสิทธิภาพในการใช้คลื่นความถี่ในธุรกิจใหม่แต่อย่างใด

ในกรณีต่าง ๆ ที่ยกมาข้างต้น การประมูลจะกลับกลายเข้าไปใกล้เคียงกับการประกวดซองอย่างมากและใกล้เคียงกับการให้สัมปทานอีก เพราะการกำหนดราคาขั้นต่ำล่วงหน้าเกิดจากการพิจารณาปัจจัยเฉพาะของผู้ประกอบการแต่ละรายและราคาที่กำหนดขึ้นก็จะไม่เกี่ยวข้องกับความคาดหวังในประสิทธิภาพของผู้ประกอบการในการใช้คลื่นความถี่แต่อย่างใดเลย  อีกทั้งที่จริงแล้ว หากต้นทุนใบอนุญาตสำหรับธุรกิจบนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz (ธุรกิจใหม่) ต่ำกว่าต้นทุนตามระบบเดิม ก็เป็นธรรมดาที่ผู้ประกอบการย่อมประสงค์ที่จะลดต้นทุนโดยการเลือกประกอบธุรกิจใหม่ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องผิดที่รัฐจะต้องลงโทษด้วยการนำมาเป็นเหตุเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตธุรกิจใหม่ให้แพงขึ้น

7. ข้อเสนอที่ว่าถ้าหากรัฐยึดถือการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพเป็นหลักกล่าวคือ ยึดถือในกฎตลาด จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปจำนวนมาก และรัฐเสียหาย... จริงหรือไม่

ที่จริงแล้ว รัฐไม่ได้สูญเสียรายได้แต่อย่างใดเลยเพราะไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้รัฐต้องเรียกเก็บรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 2.1 GHz เป็นจำนวนเท่าใดแล้ว กสทช. ละเว้นไม่ได้เรียกเก็บ

ประเด็นจึงมีอยู่ว่าการประมูลที่ผ่านมานั้น แม้ว่าการที่รัฐได้เรียกเก็บค่าคลื่นความถี่ในราคาตลาดประกอบกับใช้ราคาขั้นต่ำ (ซึ่งค่อนไปในด้านสูงเมื่อพิจารณาตามหลักวิชาที่กล่าวมาแล้ว) แต่หากรัฐจะเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่ให้มากขึ้นไปอีก ประชาชนและบุคคลทุกกลุ่มจะได้รับประโยชน์หรือผลเสียหรือไม่

นักวิชาการยังคงถกเถียงกันในเรื่องนี้อย่างมาก และมีบางประเทศได้เคยกำหนดราคาขั้นต่ำสูง ๆ โดยมุ่งจะเรียกเก็บรายได้สูง ๆ ให้แก่รัฐ [25] แต่นโยบายดังกล่าวไม่ได้เป็นที่ยอมรับทั้งหมดเพราะบางประเทศรวมทั้งนักวิชาการเห็นว่าจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่า 

ประการแรก นักวิชาการจำนวนมากเห็นว่าการกำหนดราคาที่นอกเหนือจากราคาตลาดเพื่อเรียกเก็บรายได้ให้แก่รัฐนั้นทำให้สังคมไม่ได้รับประโยชน์เพราะขัดแย้งกับการใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ (maximizing social welfare) [26] การจัดสรรที่มีประสิทธิภาพนั้นจะต้องยึดราคาตลาด ราคาขั้นต่ำนั้นควรกำหนดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ที่ได้กล่าวแล้ว แต่ไม่ใช่เพื่อกำหนดเพื่อให้สะท้อนราคาประเมินของคลื่นความถี่หรือเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ นักวิชาการถึงขนาดตั้งข้อสงสัยว่าจะเชื่อได้อย่างไรว่าหากรัฐได้รับเงินมากขึ้น ภาครัฐที่ได้รับเงินดังกล่าวจะสามารถใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด (maximizing social welfare) ได้มากกว่ากรณีที่รัฐเรียกเก็บเงินค่าคลื่นความถี่ตามราคาตลาด แต่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมและการให้บริการภายใต้แรงบีบคั้นตามกลไกตลาด [27]

ประการที่สอง หากค่าคลื่นความถี่ได้ถูกกำหนดไว้สูงกว่าราคาตลาด นักวิชาการก็มีความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ว่าราคาค่าคลื่นความถี่ที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาตลาดของค่าบริการโทรศัพท์สูงขึ้น และจำกัดระดับการแข่งขันในตลาดในภายหลัง รวมถึงลดประสิทธิภาพของตลาด และอาจก่อให้เกิดการบิดเบือนการลงทุน (distort investment) ตามที่ได้กล่าวแล้ว (หากตลาดการให้บริการดังกล่าวเป็นตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยรายหรือมีอัตราการกระจุกตัวสูง) ดังนั้น การสรุปว่าการจัดสรรคลื่นความถี่จะต้องกำหนดค่าคลื่นความถี่ให้สูง ๆ เพื่อเก็บรายได้เข้ารัฐให้มากที่สุดโดยให้เหตุผลว่าผู้ใช้บริการจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆไม่ว่าในกรณีใดเลย จึงเป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกต้อง [28]

ดังนั้น หากพิจารณาตามแนวทางนี้ แม้ว่าราคาประมูล (ราคาตลาด) ไม่สูงมาก แต่การจัดสรรคลื่นความถี่ก็ควรยึดถือราคาดังกล่าวและรัฐก็ควรจะกำหนดราคาขั้นต่ำเฉพาะเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการประมูลและเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ บางประเทศจึงเลือกจะให้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โดยไม่คิดค่าคลื่นความถี่หรือหากจะคิด ก็คิดในอัตราที่ต่ำมาก ประเทศเหล่านี้บางครั้งเลือกที่จะไม่ใช้วิธีการประมูลเลย [29] (แต่ถึงแม้ว่าคลื่นความถี่มีเพียงพอสำหรับผู้ประกอบการทุกรายในตลาด อันทำให้ราคาตลาดของการประมูลอาจจะไม่สูงมากนัก แต่การเลือกใช้วิธีการประมูลก็มีข้อดีอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งข้อดีเหล่านั้นเหนือกว่าการประกวดซอง (beauty contest))

โดยสรุปแล้ว การจัดการประมูลในกรณีที่คลื่นความถี่มีพอสำหรับผู้ประกอบการทุกรายนั้น แม้จะไม่มีการแข่งขันช่วงชิงคลื่นความถี่อย่างเข้มข้น แต่ในทางวิชาการ ก็ถือว่าเป็นการประมูลที่มีประสิทธิภาพได้เพราะในที่สุด ราคาค่าคลื่นความถี่ก็เป็นไปตามกลไกตลาด หากมีปริมาณคลื่นความถี่มาก ราคาก็ต่ำลง ส่วนการกำหนดราคาขั้นต่ำของการประมูลนั้น ก็ควรกำหนดให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามที่ได้กล่าวข้างต้น แต่หากรัฐจะกำหนดราคาขั้นต่ำให้สูงขึ้นหรือบิดเบือนกฎตลาดโดยการลดอุปทานลง (สร้างอุปทานเทียมหรือให้ดูประหนึ่งว่าขาดแคลน) เพื่อให้ราคาคลื่นความถี่สูงขึ้นเพื่อหารายได้เข้าสู่รัฐ ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าสอดคล้องกับหลักวิชาหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันนักวิชาการและรวมทั้งองค์กรกำกับดูแลในหลายประเทศก็ไม่ได้เห็นพ้องด้วยกับการใช้การประมูลคลื่นความถี่เป็นแหล่งหารายได้เข้าสู่รัฐ

ด้วยเหตุนี้ การเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่จึงต้องพิจารณาไม่ให้สูงเกินไป การเปรียบเทียบค่าคลื่นความถี่โดยอิงจากราคาของหลาย ๆ ประเทศเพื่อหาเกณฑ์ (benchmark) ก็ยากที่จะทำได้อย่างมีเหตุมีผล ทั้งนี้เพราะแต่ละประเทศมีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไปทั้งโครงสร้างตลาดและการแข่งขันรวมทั้งบรรยากาศในการลงทุน การสร้างบรรยากาศในการลงทุนที่ดีในประเทศจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อพัฒนาโครงสร้างตลาดให้มีผู้สนใจเข้ามาประกอบกิจการให้มากที่สุด 

ในปัจจุบัน ค่าคลื่นความถี่เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละรัฐอย่างแท้จริงซึ่งต้องหาจุดดุลยภาพว่าประโยชน์สาธารณะของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร แต่การวิเคราะห์ควรมาจากการพิจารณาเกณฑ์ที่มีหลักวิชาการสนับสนุน เช่น ความกินดีอยู่ดีของผู้ใช้บริการ (consumer welfare) ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (efficiency) หรือศักยภาพการผลิต และนวัตกรรม (innovation) หรือแม้แต่เพื่อความเป็นธรรม (fairness & equity) ที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม ฯลฯ มากกว่าเรื่องอื่น ๆ (เช่นการเก็บรายได้เข้ารัฐ) ที่ยากที่จะหาเหตุผลสนับสนุนได้ว่าหากนำมาเป็นเหตุผลในการบีบราคาคลื่นความถี่ให้สูงขึ้นแล้ว จะเกิดผลประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร ผู้เขียนหวังว่าวงการวิชาการในประเทศไทยจะได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างถ่องแท้เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียโอกาสในการเข้าถึงบริการ 3G (อย่างแท้จริง) ต้องเนิ่นช้าออกไปอีกซึ่งสังคมโดยรวมจะเสียหายมาก

ที่จริงแล้ว สิ่งที่สำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ประโยชน์สาธารณะกับการเรียกเก็บรายได้สูง ๆ ให้แก่รัฐนั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกันและในปัจจุบัน นักวิชาการต่างยอมรับว่าสองสิ่งนี้มักจะเดินทางเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันจะมาบรรจบกันได้เลย

เชิญอรรถ

  1. ปริญญาเอกกฎหมายมหาชน (Docteur en droit public) - เกียรตินิยมสูงสุดโดยมติเอกฉันท์ของคณาจารย์พร้อมสิทธิในการเผยแพร่งาน (มหาวิทยาลัย Strasbourg III ฝรั่งเศส), ปริญญาโท (DEA) กฎหมายประชาคมยุโรป และ Certificat des études européennes (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัย Strasbourg III, นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (เหรียญรางวัล) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บทความนี้เป็นข้อเขียนทางวิชาการของผู้เขียนโดยมิได้เกี่ยวข้องกับองค์กรใด ๆ และมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อให้มีการอภิปรายในประเด็นของเรื่องต่อไป
  2. โปรดดูรายงานราคาประเมินฉบับเต็มได้จาก http://www.prachatai3.info/journal/2012/10/43302
  3. ผู้ที่เสนอราคาสูงสุดคือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นเงินจำนวน 14,625 ล้านบาท เลือกช่วงความถี่ที่ 1950 MHz – 1965 MHz และ 2140 MHz – 2155 MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ในช่วงที่ติดกับช่วงคลื่นของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ 1965 MHz – 1980 MHz และ 2155 – 2170 MHz และมีผู้เสนอราคาเท่ากัน 2 ราย คือ บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด และ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ทั้งนี้ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด เป็นผู้จับฉลากได้เลือกย่านความถี่ก่อน ได้เลือกย่าน 1935 MHz – 1950 MHz และ 2125 MHz – 2140 MHz ทำให้บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ได้ย่านความถี่ 1920 MHz – 1935 MHz และ 2110 MHz – 2125 MHz โปรดดูประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง ผลการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่าน 2.1 GHz. เข้าถึงได้จากhttp://www.nbtc.go.th/wps/wcm/connect/ba72df004d20252 da4e1fff97342b770/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%AF.pdf?MOD=AJPERES&CACHEID=ba72df004d20252da4e1fff97342b770
  4. มติชนออนไลน์. "ลาดกระบัง"ชี้หลงทาง จวกต้าน3จี มุ่งแต่รายได้-เมินผู้ใช้ กรณ์เฟซหนุนคลังค้าน", 22 ตุลาคม 2555 เข้าถึงได้จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1350873692&grpid=00&catid=&subcatid=, (วันที่ค้นข้อมูล : 24 ตุลาคม 2555).
  5. โปรดดู ดร.รวีพันธ์ พิทักษ์ชาติวงศ์,ราคาค่าคลื่นความถี่ ไม่ทำให้ราคาค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น....จริงหรือ, เผยแพร่ใน http://www.prachatai3.info/journal/2012/10/43210
  6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา  47
  7. Albert Einstein กล่าวว่า "You see, wire telegraph is a kind of a very, very long cat. You pull his tail in New York and his head is meowing in Los Angeles. Do you understand this? And radio operates exactly the same way: you send signals here, they receive them there. The only difference is that there is no cat.' คำกล่าวดังกล่าวอ้างถึงใน  Kevin Werbach, Supercommons:Toward a Unified Theory of Wireless Communication, 82 TEX.L.REV., p.882. เข้าถึงได้จาก http://werbach.com/research/supercommons.pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 24 ตุลาคม 2555). 
  8. Kevin Werbach, Supercommons:Toward a Unified Theory of Wireless Communication, 82 TEX.L.REV., p.882.: "there is no such thing as spectrum….Because spectrum is not a concrete thing, oft-used analogies to land or to natural resources break down".
  9. โปรดดู Ronald H. Coase, The Federal Communication Commission, 2 J.L.&ECON.1, 1959, p.32-33.
  10. โปรดดู Kevin Werbach, Supercommons:Toward a Unified Theory of Wireless Communication, 82 TEX.L.REV., p.883-884: "It is no more rational to talk about rights in spectrum than rights in the musical scale. What government is assigning are rights to use certain types of equipment. That is true whether the legal regime is licensing, property, commons, or anything else than can be imagined.  Government cannot issue rights in radio frequencies themselves because those frequencies are just properties of electromagnetic waves emitted and received by particular device…..Even worse is the pervasive analogy to real estate….Yet land is not only a thing, but a thing with very particular qualities. Comparing wireless communication to grazing sheep in meadow suggests that a whole series of legal and economic constructs applied to meadows can usefully be applied to spectrum. They cannot. A meadow has a specific amount of grass, and one sheep eats so much of that grass each day. Wireless communication works differently."
  11. บางครั้งก็เรียกว่า "open spectrum" หรือ "open wireless"
  12. Leo Herzel, Comment, "Public Interest" and the Market in Color Television Regulation, 18 U.CHI.L.REV., 1995, p.802
  13. Eli Noam, Spectrum Auctions: Yesterdays Heresy, Today's Orthodoxy, Tomorrow's Anachronism, Taking the Next Step to Open Spectrum Access, 41.J.L.&Econ.p.772, เข้าถึงได้จาก http://old.ccer.edu.cn/download/7875-4.pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 24 ตุลาคม 2555). โดย Noam เห็นว่า การเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่เป็นวัตถุประสงค์หลักในการประมูล การจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเพียงวัตถุประสงค์รองเท่านั้น โดยกล่าวว่า "The underlying objective for the auction « game» is to raise revenues for government….Allocating spectrum resources efficiently was a secondary goal in the political process." 
  14. โปรดดู  Kevin Werbach, Supercommons:Toward a Unified Theory of Wireless Communication, 82 TEX.L.REV., p.863-973. เข้าถึงได้จาก http://werbach.com/research/supercommons.pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 24 ตุลาคม 2555). ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมข้ออธิบายต่าง ๆ ของนักวิชาการต่างไว้ ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายด้วยทฤษฎี Transaction Cost หรือ "spectrum commons" หรือทฤษฎีอื่น ๆ
  15. คำว่า "Efficiency" หรือประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ มีทั้งเกณฑ์ Allocative Efficiency และ Economic Efficiency แต่เนื่องจากไม่เป็นประเด็นในบทความนี้และเพื่อให้บทความนี้กระชับ ผู้เขียนขอกล่าวถึง Efficiency เพื่อให้หมายถึงทั้งสองเกณฑ์ไปก่อน
  16. George Houpis และ James Bellis.  "Spectrum pricing policy", Spectrum: Renewal and pricing in Europe, หน้า. 38, เข้าถึงได้จาก : http://www.vodafone.com/content/dam/vodafone/about/public_policy/policy_papers/public_policy_series_14 .pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555). ผู้เขียนทั้งสองได้รวบรวมวัตถุประสงค์ในการกำหนดราคาค่าคลื่นความถี่ไว้ ได้แก่ (ก) การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยาการอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) (ข) การทำรายได้เข้ารัฐ (ค) เพื่อขจัดความไม่เป็นธรรมในกรณีที่ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ได้ชำระค่าคลื่นความถี่ในราคาตลาด (ง) เพื่อไม่ให้มีการสะสมคลื่นความถี่โดยเปล่าประโยชน์ (จ) เพื่อสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หากค่าคลื่นความถี่ไม่สูงเกินไป
  17. ในกรณีนี้สมมุติว่าการเพิ่มราคาในแต่ละขั้น (bid incremental) เท่ากับ 1 บาท และบทความนี้จะเว้นเสียไม่กล่าวถึงการประมูลแบบ Simultaneous Descending Auction เพราะมีข้อเสียหลายประการจนไม่เป็นที่นิยมและเพื่อมิให้บทความนี้ยาวจนเกินไป
  18. ผู้เขียนขอตั้งสมมุติฐานว่าการให้ผู้ประกอบการถือครองคลื่นความถี่ในย่าน 2.1 GHz มากกว่ารายละ 15 MHz เป็นการเกินความจำเป็นและจะทำให้การใช้ประโยชน์ไม่เกิดความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนคลื่นความถี่ IMT ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีอยู่ในขณะนี้
  19. George Houpis และ James Bellis.  "Spectrum pricing policy", Spectrum: Renewal and pricing in Europe, หน้า. 32, เข้าถึงได้จาก : http://www.vodafone.com/content/dam/vodafone/about/public_policy/policy_papers/public_policy_series_14 .pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555): ผู้เขียนได้ระบุว่า "if spectrum prices are set above a market clearing price, however, this can lead to a reduction in efficiency, regardless of whether or not spectrum trading is allowed."" และ ในหน้า 38 ระบุว่า "The complexity of the calculations required to derive appropriate spectrum prices creates a significant risk of setting prices at an inappropriate level. This risk may also be increased by authorities applying simplified methods to derive charges. If prices are set too high, they may actually create inefficiency by causing spectrum to be unused".
  20. James Bellis.  "Using benchmarks to determine reserve prices in a spectrum auction", Spectrum: Renewal and pricing in Europe, หน้า. 39, เข้าถึงได้จาก : http://www.vodafone.com/content/dam/vodafone/about/public_policy/policy_papers/ public_policy_series_14 .pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555) :  ซึ่งระบุว่า "…reserve prices should not be set according to the regulator's estimate of the value of spectrum, unless this is discounted significantly. This is because estimating the value of spectrum is subject to considerable uncertainties and hence there is a risk that an authority may overestimate the value of the spectrum"
  21. James Bellis.  "Using benchmarks to determine reserve prices in a spectrum auction", Spectrum: Renewal and pricing in Europe, หน้า. 39, ซึ่งระบุว่า "Authorities frequently set a reserve price in spectrum auctions, typically justified by one or more of the following four objectives:
    • Deterring frivolous bidders by setting a reserve price which deters non-serious bidders from entering the auction, thus enabling the auction to be concluded more quickly (and at lower cost);
    • Ensuring that the final price of the auction will at least recover the administration costs of the award process;
    • Ensuring that any social option value from awarding the spectrum later is reflected in the final auction price (i.e. ensuring that spectrum is not awarded now, if the social value of reserving the spectrum for future awards is greater than the private value of awarding the spectrum now);and
    • Limiting collusion incentives between potential bidders"
    • ซึ่ง James Bellis ได้ ให้ความเห็นว่า "Furthermore, concerns over potential collusion can be better addressed in other ways such as auction design (for example, Ireland chose a Combinatorial Clock Auction (CCA) with anonymised bidding) which would not have the potentially detrimental effect of choking off demand from serious bidders."
  22. เมื่อคำนึงถึงว่าบริบทในการจัดสรรในภายหลังก็อาจเหมือนเดิมและเทคโนโลยี 3G ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่อีกต่อไป
  23. โปรดดู Dr. Patrick Xavier, Licensing of Third Generation (3G) Mobile: Briefing Paper 6, Int'l Telecomm. Union, Briefing Paper, 2001, เข้าถึงได้จาก: http://www.itu.int/osg/spu/ni/3G/workshop/Briefing_paper.PDF. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555) โดยระบุในหน้า 24-25 ว่า "A further concern associated with the spectrum auctions that have so far been conducted is that many commentators have alleged that governments have been preoccupied with revenue raising and have artificially manipulated the auctions….Governments should not focus primarily on the use of telecommunication sector to raise general revenues."
  24. หากรวมค่าธรรมเนียมอื่นๆเช่นค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ฯลฯ ก็อาจจะมากกว่านี้เล็กน้อย
  25. Dr. Patrick Xavier, Licensing of Third Generation (3G) Mobile: Briefing Paper 6, Int'l Telecomm. Union, Briefing Paper, 2001, เข้าถึงได้จาก: http://www.itu.int/osg/spu/ni/3G/workshop/Briefing_paper.PDF. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555) โดยระบุในหน้า 25-26 ว่า "A Further concern associated with the spectrum auctions that have so far been conducted is that many commentators have alleged that governments have been preoccupied with revenue raising and have artificially manipulated the auctions. The arguments is that governments have, by design, restricted the amount of spectrum available for 3G services in order to create market conditions that would be most favorable to extracting huge economic rents from industry."
  26. โปรดดู Hazlett, Thomas W. and Munoz, Roberto E., A Welfare Analysis of Spectrum Allocation Policies (January 19, 2008). George Mason Law & Economics Research Paper No. 06-28. เข้าถึงได้จาก: http://www.arlingtoneconomics.com /studies/ Rand_TH_RM_12_5_08.pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555)  p.22.:"Yet, auction rules developed to optimize the social gains associated with licensing conflict with the goal of maximizing social welfare…While revenue gains from enhanced competitive bidding are registered as leading directly to increase efficiency in offsetting activity-distorting taxes, the cost of such policies are often dismissed as inconsequential or ignored altogether. This is seen frequent policy proposals recommending the use of reservation prices and bidding credits for inefficient wireless providers, as well as in the omission of time value when comparing alternative policy regimes." และ Dr. Patrick Xavier, Licensing of Third Generation (3G) Mobile: Briefing Paper 6, Int'l Telecomm. Union, Briefing Paper, 2001, หน้า 25 เข้าถึงได้จาก: http://www.itu.int/osg/spu/ni/3G/workshop/Briefing_paper.PDF. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555): ""Governments should not focus primarily on the use of the telecommunications sector to raise general revenues. This is incompatible with policies for creating conditions of competition and creating a telecommunication market that can be treated on the same basis as other industry markets. If the government wants to obtain economic rent from a scarce resource then it should let the market decide, through auctions what the appropriate value for this resource is."
  27.    George Houpis และ James Bellis.  "Spectrum pricing policy", Spectrum: Renewal and pricing in Europe, หน้า. 31, เข้าถึงได้จาก : http://www.vodafone.com/content/dam/vodafone/about/public_policy/policy_papers/public_policy_series_14.pdf. (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555) : "In contrast, a tax which leads to a pure transfer of surplus from companies to the government would not be expected to affect overall economic efficiency, unless it could be proved that on the the parties would make more efficient use of these funds than the other….Removing surplus from an industry that would otherwise have been re-invested in the industry would additionally reduce potential additional future taxable profits if the lack of such investment leads to lower level of output in the future. Whilst spectrum pricing can be used by regulators/governments as a way of raising immediate revenue it is not immediate clear why government would choose to raise revenues through spectrum pricing, rather than through other forms of taxation".
  28. โปรดดู ดร.รวีพันธ์ พิทักษ์ชาติวงศ์,ราคาค่าคลื่นความถี่ ไม่ทำให้ราคาค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น....จริงหรือ, เผยแพร่ใน http://www.prachatai3.info/journal/2012/10/43210
  29. เช่น ประเทศฟินแลนด์ ประเทศมาเลเซีย ที่เรียกเก็บค่ามูลค่าคลื่นความถี่น้อยมากด้วยวิธีการประกวดซอง (beauty contest) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศญี่ปุ่นที่ไม่มีการเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่แต่จะมอบใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการที่นำคลื่นความถี่ไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะสูงสุด รวบรวมข้อมูลจาก ITU, LICENSING OF THIRD GENERATION (3G) MOBILE, เข้าถึงได้จาก :  http://www.itu.int/osg/spu/ni/3G/workshop/Briefing_paper.PDF, (วันที่ค้นข้อมูล : 16 ตุลาคม 2555)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: วัฒนธรรมโปรโมทความดี

Posted: 25 Oct 2012 07:46 AM PDT

ชื่อบทความเดิม:
วัฒนธรรมโปรโมทความดี/คนดีและการหลอกตัวเองทางศีลธรรม กับปัญหาการเมืองและศาสนาในสังคมไทย

(ปรับจากบทความชื่อเดียวกัน เสนอในการสัมมนาวิชาการประจำปีของสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17 วันที่ 25 ต.ค.55 ณ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร นครปฐม)

...............................

 

วัฒนธรรมโปรโมทความดี/คนดี หมายถึง การส่งเสริมความดี/คนดีในความหมายเชิงจารีตประเพณี โดยการปลูกฝังอบรมผ่านระบบการศึกษา กลไกรัฐ ศาสนา กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน ฯลฯ บทความนี้ต้องการสำรวจว่า วัฒนธรรมโปรฯความดี/คนดีสะท้อนภาวะ "การหลอกตัวเองทางศีลธรรม" อย่างไร และส่งผลกระทบต่อปัญหาทางการเมืองและศาสนาในสังคมไทยอย่างไร

1.ศูนย์กลางของวัฒนธรรมโปรโมทความดี/คนดี คือสถาบันกษัตริย์ และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์

1.1 สถาบันกษัตริย์ถูกนิยามว่า มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นไทย ความรุ่งเรืองทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และเกียรติยศของชาติ พระมหากษัตริย์เป็นทั้งผู้ปกครอง และเป็น "ผู้นำทางจิตวิญญาณ" จึงถูกอ้างอิงเป็น "ศูนย์กลางทางศีลธรรมแห่งรัฐ" ในความหมายสำคัญ คือ 1) เป็นผู้มีบุญคุณต่อพสกนิกร หรือเป็น "พ่อของแผ่นดิน" ที่พสกนิกรต้องกตัญญูรู้บุญคุณ 2) เป็นสมมติเทพผู้ทรงทศพิธราชธรรมที่พสกนิกรต้องจงรักภักดี 3) เป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจในการทำความดีของพสกนิกร ดังกระแสค่านิยม "ทำดีเพื่อพ่อ" และ 4) เป็นผู้สอนศีลธรรม ดังพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ เป็นต้น

แต่สถานะของสถาบันกษัตริย์ใน "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" นั้น กษัตริย์ถูกกำหนดให้ "อยู่เหนือการเมือง" โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ในความหมายว่า พ้นไปจากการบริหารบ้านเมืองและความเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง จึงเป็นที่ "เคารพสักการะที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้" เพราะกษัตริย์ทำอะไรไม่ผิด (the king can do no wrong) ในความหมายว่า ไม่ได้ทรงทำอะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องการบริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง เพราะมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้กระทำและรับผิดชอบการกระทำนั้นๆ แทน ตามกฎหมายบัญญัติ [1]

ปัญหาคือ "อยู่เหนือการเมือง" ขอบเขตอยู่ตรงไหน การเมืองมีความหมายแคบๆ แค่การลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งขันเพื่อมีอำนาจรัฐเท่านั้นหรือ เรื่องอื่นๆ ที่ใช้งบประมาณของรัฐ ใช้กลไกรัฐในการขับเคลื่อน และกระทบต่อประโยชน์สาธารณะเป็นการเมืองหรือไม่ เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นนโยบายแห่งรัฐ โครงการพระราชดำริต่างๆ ที่ใช้งบประมาณของรัฐจำนวนมาก อำนาจเหนือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งรับผิดชอบทรัพยากรแผ่นดินมูลค่ามหาศาล ฯลฯ  เรื่องต่างๆ เหล่านี้ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการเมืองที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะหรือไม่ ถ้าเป็นการเมืองและเป็นเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ก็ควรถูกวิจารณ์ตรวจสอบความสุจริต โปร่งใส ประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า ความรับผิดชอบ (เป็นต้น) ได้ใน "มาตรฐานเดียว" กับที่วิจารณ์ตรวจสอบนักการเมือง และบุคคลสาธารณะอื่นๆ ไม่ใช่หรือ แต่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ไม่มีการจำแนกให้ชัดเจนระหว่างอะไรคือหมิ่นประมาท กับอะไรคือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะทำให้สถานะของสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการตรวจสอบ ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบเรื่องต่างๆ เหล่านี้ (เป็นต้น) ได้เลย

1.2 พุทธศาสนาตามที่เป็นอยู่จริงในบ้านเราคือ พุทธศาสนาที่ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่า "พุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์" [2]  รูปธรรมของพุทธที่ว่านี้คือ "พุทธราชาชาตินิยม + พุทธพราหมณ์" หมายถึง พุทธเถรวาทไทยที่ถูกตีความสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมว่า กษัตริย์เป็นสมมติเทพ ทรงทศพิธราชธรรม เป็นศาสนาที่ขึ้นต่อรัฐ โดยรัฐออกกฎหมายสถาปนาองค์กรปกครองสงฆ์ เรียกว่า "มหาเถรสมาคม" ที่ขึ้นต่อระบบอาวุโสทางสมณศักดิ์ โดยระบบสมณศักดิ์ขึ้นต่อ "พระราชอำนาจ" ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับสถาบันกษัตริย์เนื่องด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐตามอุดมการณ์ "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" วัดมีบทบาทส่งเสริมความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ผ่านการเทศนาอวยคุณงามความดีของสถาบันกษัตริย์ และผ่านพิธีกรรมต่างๆ ในวันสำคัญของสถาบันกษัตริย์ วันสำคัญทางศาสนา และอื่นๆ

มายาคติของพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ การที่พุทธศาสนาถูกตีความสนับสนุนราชาธิปไตยมาเป็นพันๆ ปี พระสงฆ์ปัจจุบันเทศนาอวยสถาบันกษัตริย์ วัดต่างๆ ทำกิจกรรมส่งเสริมความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ หรือการที่พระสงฆ์ต้องรับสมณศักดิ์ ซึ่งเป็นฐานันดรศักดิ์อย่างหนึ่งโดยการสถาปนาของกษัตริย์ การบริหารคณะสงฆ์ต้องขึ้นต่ออำนาจรัฐซึ่งมีผลกระทบต่อหลักการสำคัญของพุทธศาสนาที่ถือว่า "สังฆะ" ไม่มีระบบชนชั้น ไม่มีฐานันดรศักดิ์ หรือไม่มีอำนาจรัฐในมือ เป็นต้น อะไรต่างๆ เหล่านี้ไม่ถูกมองว่า "พุทธศาสนายุ่งเกี่ยวการเมือง"

แต่ถ้ามีการตีความหลักการของพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย และการเรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค จะถูกมองว่าดึงพุทธศาสนามายุ่งเกี่ยวการเมืองทันที อีกประการหนึ่งการอ้างทศพิธราชธรรมยกย่องเจ้า แต่ยอมรับเงื่อนไข "อยู่เหนือการตรวจสอบ" ของสถาบันกษัตริย์ ย่อมขัดแย้งกับหลักการพุทธศาสนาเอง เช่น หลักกาลามสูตรที่ถือว่า "เราจะยอมรับว่าอะไรจริง ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่ามันจริง" และตามหลักอริยสัจนั้น เราจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ จำเป็นต้องรู้ความจริงของปัญหานั้นๆ ก่อน ทว่าความจริงของสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นความจริงด้านบวกหรือลบ ไม่มีทางที่ประชาชนจะ "รู้" ได้ด้วยการพิสูจน์/ตรวจสอบเลย

ฉะนั้น ศูนย์กลางของวัฒนธรรมโปรฯความดี/คนดี คือสถาบันกษัตริย์และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่อย่างแรกอยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ และอย่างหลังสนับสนุนค้ำจุนสถานะเหนือการตรวจสอบ จึงถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่าคือรากฐานของ "วัฒนธรรมหลอกตัวเองทางศีลธรรม" หรือไม่ และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อปัญหาทางการเมืองและศาสนาในบ้านเราอย่างไรบ้าง

2.ชุดความดีและคุณค่าของความดี/คนดีตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์

2.1 ชุดความดี/คนดีตามนิยามของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คือตัวอย่างของ "ชุดความดี/คนดีเชิงบรรทัดฐานตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม" ดังที่เขาได้ให้ความหมายของความดี/คนดีไว้ ว่า จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละและจงรักภักดี ยึดถือ และปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำรงวัฒนธรรมไทย เป็นต้น ชุดความดีดังกล่าวผูกโยงกับ "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" อย่างมีนัยสำคัญ ดังที่พลเอกเปรมสรุปว่า "..ผมเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชมีจริง และจะปกป้องคนดี และสาปแช่งคนไม่ดี คนทรยศต่อชาติบ้านเมืองให้พินาศไป นั่นคือความเชื่อของผม ส่วนบุคคลอื่นจะเชื่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับจริยธรรมและคุณธรรมของแต่ละคน" [3]

จากนิยามความดี/คนดีดังกล่าวนี้ เกษียร เตชะพีระ วิจารณ์ว่า

การผูกโยง "พระสยามเทวาธิราช" อันเป็นเทพารักษ์ของราชาชาตินิยม (royal-nationalistpalladium ในหลวงรัชกาลที่4 ทรงสร้างขึ้น) เข้ากับจริยธรรม-คุณธรรม ของพลเอกเปรมข้างต้น มีนัยชวนคิดต่อ 2 ประการ คือ1) มันยกปัญหาจริยธรรม-คุณธรรมให้หลุดลอยไปจากกรอบขอบข่ายการคิด การเชื่อของปัจเจกบุคคล แล้วเอาไปผูกโยงกับชาติ กลายเป็นว่าการทำดี คิดดี มีจิตใจดี ไม่ใช่เป็นความดีระดับปัจเจกต่อไป แต่จะเกิดได้ มีได้ ก็แต่ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของชุมชนราชาชาตินิยมเท่านั้น  2) มันชวนให้ตั้งคำถามว่า บรรดาจริยธรรม-คุณธรรมประดามีล้วนแล้วแต่สอดคล้องต้องกันกับผลประโยชน์ของชาติทั้งนั้น ทั้งสิ้นหรือ?...

พูดอีกอย่างก็คือ พลเอกเปรมเสนอให้บุคคล (ที่เป็นคนไทย) อิงพลังราชาชาตินิยมอันศักดิ์สิทธิ์ (ชาตินิยมเป็นศาสนาทางโลกชนิดหนึ่ง secular religion) มากำกับกดข่มกิเลสในตัวปัจเจกบุคคล แล้วจึงจะกลายเป็นคนดีได้...บุคคลดีด้วยตัวเองไม่ได้ หากแยกออกจากสมมุติเทพแห่งราชาชาตินิยมอันศักดิ์สิทธิ์นั้น ... [4]

ตามข้อวิจารณ์ของเกษียร ภายใต้ระบบการปลูกฝังชุดความดีตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ประชาชนเป็นคนดีไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นปัจเจกที่มีเสรีภาพในตัวเองที่จะนิยามความหมายของความดี และเลือกหลักการที่ถูกต้องทางจริยธรรมด้วยเหตุผลของตนเอง แต่เขาเป็นคนดีเพราะเขาทำตัวเป็น "เครื่องมือที่ดี" ตามกรอบหรือลู่ทางแห่งความกตัญญู ซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อชนชั้นปกครองเท่านั้น ทำให้ผมนึกถึง A Clockwork Orange หรือ "คนไขลาน" ที่เป็นสิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์ (แต่ไม่ใช่มนุษย์) ทำหน้าที่เพียงไขลานเพื่อให้กลไกต่างๆ ในนาฬิกาทำงานได้อย่างปกติ ไม่มีสิทธิในการเลือกใช้ชีวิตมากกว่านั้น ในบทความชื่อ "A Clockwork Orange: ความเป็นมนุษย์และการสูญสิ้นสภาพความเป็นมนุษย์" ของอาทิตย์ ศรีจันทร์ เขาเขียนทิ้งท้ายอย่างน่าคิดว่า

ถ้าสิทธิในการเลือกใช้ชีวิต คือสิทธิของมนุษย์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น เพราะการเลือกเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีชีวิต มีจิตใจ มีเจตจำนง และมีเสรีภาพ เมื่อมนุษย์ไม่สามารถเลือกอะไรได้ในชีวิต มนุษย์จะเรียกตัวเองว่ามนุษย์ได้อย่างไร หรือแตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานและสิ่งไร้ชีวิตได้อย่างไร หรือเป็นได้แค่เพียง "คนไขลาน" ที่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของตนเอง โดยปราศจากอารมณ์และความรู้สึก...กระนั้นหรือ? [5]

ตามการปลูกฝังชุดความดีข้างต้น ประชาชนคือ "คนไขลาน" ให้นาฬิกาแห่งอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเดินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่ใช่ "เสรีชน" หรือ "คน" ที่มีเหตุผล เสรีภาพและศักดิ์ศรีในตัวเองตามความหมายของการเป็นประชาชน หรือเป็นคนตาม Concept ของประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนดังที่เราหลอกตนเองว่าสังคมเรายึดหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ตามระบอบประชาธิปไตย และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

2.2 ชุดความดีทางศาสนาที่สนับสนุนความดีเชิงบรรทัดฐานตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม+สุขนิยมส่วนตัว (individual hedonism/egoism) เป็นชุดความดีที่โปรฯความดี/คนดีเชิงบรรทัดฐานตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่มี "ตราประทับความจงรักภักดี" มากกว่าที่จะสนับสนุนความดีที่วางอยู่บนรากฐานทางจริยศาสตร์ที่สนับสนุน "ความเป็นมนุษย์" ที่เสรีภาพ เสมอภาคตามหลักประชาธิปไตย ดังเช่น คำเทศนาพระสงฆ์ทั่วไปและพระที่มีชื่อเสียงแห่งยุคอย่าง ว.วชิรเมธี

อาตมาเพิ่งกลับจากยุโรปเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ฝรั่งที่มานั่งกรรมฐานกับอาตมาบอกว่า...ในหลวงของคนไทยเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่ฝรั่งอิจฉา ฝรั่งเขารู้ว่าในหลวงเป็นพระราชาที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก การที่เรามีพระมหากษัตริย์ไม่ใช่เป็นเครื่องหมายของประเทศด้อยพัฒนา แต่เป็นเครื่องหมายของความเป็นอารยประเทศที่มีสดมภ์หลักในทางจิตวิญญาณ ต่างชาติเขามีเพียงเสรีภาพเป็นที่พึ่ง ในขณะที่เรามีพระองค์ท่านเป็นประจักษ์พยานที่มีชีวิตชีวา แล้วเราตระหนักในคุณค่าแห่งคำสอนของพระองค์หรือเปล่า? คนไทยนั้นแปลก เรามีของดีที่สุดอยู่ในแผ่นดินแต่ต้องรอให้ฝรั่งเขามายกย่อง เราจึงจะเห็นคุณค่า ประการแรก เพราะเราตกเป็นอาณานิคมทางปัญญาของฝรั่ง ประการต่อมา เพราะเราคิดน้อย เราไม่ชอบคิดในเชิงวิเคราะห์ แต่เราชอบสะเดาะเคราะห์  [6]

ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีการอ้างอิงหลักพุทธศาสนาเพื่อขจัดฝ่ายที่ถูกล่าวหาว่าเป็นศัตรูของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ดังวาทะอันลือลั่นของ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ ในช่วงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19 ที่ว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป" [7] หรือในยุคสมัยของเรา ก็คือวาทะอันโด่งดังของพระเซเลบอย่าง พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ที่ว่า "ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน" ดังที่ทราบกันทั่วไป เป็นต้น

3.การหลอกตัวเองทางศีลธรรม

การหลอกตัวเองคืออะไร ข้อโต้แย้งของฌอง ปอล ซาร์ต ข้างล่างนี้บอกเราได้ชัดเจนดี

ผมในฐานะผู้หลอกลวง ต้องรู้ความจริงที่ตัวเองปิดบังไว้จากตัวผมเองในฐานะผู้ถูกหลอกลวง และที่ดียิ่งกว่านั้นอีกคือ ผมต้องรู้ความจริงนั้นอย่างถ่องแท้ด้วย เพื่อที่จะปิดบังมันไว้อย่างรอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้น และนี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในสองช่วงขณะที่ห่างจากกันพอที่จะทำให้เราคิดถึงอะไรบางอย่างที่คล้ายกับทวิลักษณ์ได้ แต่มันอยู่ในโครงสร้างเพียงหนึ่งเดียวของกิจกรรมเดียวกันนั้น [8]

มีปรากฏการณ์ในโซเชียลมีเดียที่ถูกตั้งคำถามว่า เป็นการหลอกตัวเองทางศีลธรรมหรือไม่ เช่นข้อโต้แย้ง (arguments) เรื่อง "freedom of speech" ของบรรดาคนรักเจ้า [9] ที่อ้างว่า พวกเขาย่อมมีเสรีภาพที่จะรัก มีเสรีภาพที่จะพูดสรรเสริญคุณความดีของสถาบันกษัตริย์ แต่ปัญหาคือ ข้อโต้แย้งนี้เป็นข้อโต้แย้งที่มีฉากหลัง (background) หลักๆ 2 อย่างคือ 1) เป็นข้อโต้แย้งต่อฝ่ายที่เรียกร้องให้มีระบบกฎหมายเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ได้ จึงเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่แฟร์ในตัวของมันเอง เพราะการยืนยันเสรีภาพที่จะพูดถึงความดีงามของสถาบันกษัตริย์เพื่อโต้อีกฝ่ายที่เขาไม่มีเสรีภาพที่จะพูดด้านตรงข้ามได้ 2) "freedom of speech" ที่ยืนยันนั้น จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ "freedom of speech" เลย เพราะฝ่ายที่ยืนยันนั้นเอง ก็ไม่มีเสรีภาพในการเลือกที่จะพูดด้านตรงกันข้ามกับการสรรเสริญ ฉะนั้น "freedom of speech" ของบรรดาคนรักเจ้าจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการหลอกตัวเอง คือพวกเขารู้อยู่ก่อนแล้วว่าตนเองไม่มี "freedom of speech" เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพราะกฎหมายไม่เปิดให้ แต่ก็ยังพยายามจะยืนยันว่าตนมี

ประเด็นคือ "freedom of speech" เป็นศีลธรรมขั้นพื้นฐานที่แสดงคุณค่า "ความเป็นมนุษย์" ที่สำคัญยิ่งตามหลักสิทธิมนุษยชน ดังปรากฏในตอนต้นของคำปรารภและข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรับรองไว้ว่า การดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก (freedom of speech) คือปณิธานสูงสุดของสามัญชน และ "บุคคลมีสิทธิเสรีภาพในความคิดเห็น และการแสดงออก สิทธิดังกล่าวนี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง ไปจนถึงการแสวงหา รับเอา ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูล และความคิดเห็นผ่านสื่อใดๆ โดยปราศจากพรมแดน" [10] ฉะนั้น ทั้งที่รู้อยู่ก่อนแล้วว่าตนเองไม่มี "freedom of speech" เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เพราะกฎหมายไม่เปิดให้ แต่ก็ยังพยายามยืนยันว่าตนมี จึงเป็น "การหลอกตัวเองทางศีลธรรม" ในระดับพื้นฐานเลยทีเดียว

เราจะเข้าใจปัญหานี้ชัดขึ้นจากคำอธิบายของ จอห์น สจ๊วต มิลล์ ต่อคำถามที่ว่าทำไมเราจึงควรคิดว่า การเคารพในอิสรภาพส่วนบุคคล และสิทธิที่จะคิดต่างจะสร้างสวัสดิการแก่สังคมได้ในระยะยาว? มิลล์ให้เหตุผลว่า

ความเห็นต่างอาจปรากฏว่าเป็นความจริง หรือมีส่วนจริง ดังนั้น จึงช่วยปรับปรุงแก้ไขความเห็นกระแสหลักได้ และต่อให้มันไม่เป็นจริง การนำความเห็นกระแสหลักมาสู่การปะทะสังสรรค์ทางความคิดจะช่วยป้องกันไม่ให้มันแข็งตัวเป็นลัทธิกดขี่และอคติ สุดท้าย สังคมที่บังคับสมาชิกให้ทำตามธรรมเนียมและจารีตต่างๆ สุ่มเสี่ยงว่าจะตกอยู่ในภาวะทำตามๆ กันไปอย่างโง่เขลา ขาดพลัง และความมีชีวิตชีวาซึ่งขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม [11]

ฉะนั้น วัฒนธรรมโปรฯความดีเชิงบรรทัดฐานตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเป็น "วัฒนธรรมหลอกตัวเองทางศีลธรรม" ที่ทำให้สังคมมีค่านิยมไม่ให้ความสำคัญกับความจริง ความถูกต้องที่ตรวจสอบได้ตามหลักการประชาธิปไตย และความมีเหตุเป็นวิทยาศาสตร์ กระทั่งยอมละทิ้งหลักการพุทธแบบดั้งเดิม เช่น ไม่ให้ความสำคัญกับการปรับใช้หลักกาลามสูตร และหลักอริยสัจในการตรวจสอบความจริง หรือ "ทุกขสัจจะ" ทางสังคมการเมืองเป็นต้น

4.การท้าทายโต้แย้งชุดความดี/คนดีตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์จากจุดยืนเสรีประชาธิปไตย

พร้อมๆ กับการโปรฯความดี/คนดีดังกล่าวอย่างเข้มข้น ก็เกิดการท้าทายมากขึ้น ดังการท้าทายอุดมการณ์ "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" อย่างถึงรากของมุกหอม วงศ์เทศ บนจุดยืนการปกป้อง "ความเป็นมนุษย์" ตามอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยที่ว่า "เมืองไทยเป็นประเทศที่เต็มใจอยู่กับความฝันแบบแฟนตาซี เทพนิยายโกหก แบบเด็กไม่ยอมโต ทาสที่ปล่อยไม่ยอมไป หลอกทั้งตัวเอง หลอกทั้งคนอื่น แถมยังคิดว่าคนอื่นต้องเชื่อเรื่องโกหกแบบเราด้วย อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นอุดมการณ์ที่ทำลายความเป็นมนุษย์มากๆ ส่วนที่ทำลายมากที่สุดคือการใช้ปัญญาและเหตุผล" [12]

ขณะเดียวกันการโปรฯความดี/คนดีของพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบพระเซเล็บ ก็ถูกตั้งคำถามมากขึ้น ดังข้อวิจารณ์ของ วิจักขณ์ พานิช

ตราบใดที่การสื่อสารธรรมะทางเดียวยังคงดำเนินต่อไปในลักษณะเพิกเฉยต่อบริบทความทุกข์ที่หลากหลายของผู้คนในสังคม อีกทั้งโครงสร้างพุทธศาสนาแบบไทยๆ ยังวางตัวอิงแอบอยู่กับอำนาจรัฐด้วยภาพลักษณ์วาทกรรม "ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง" จนบ่อยครั้งกลายเป็นอำนาจมืดที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้  คำคมอย่าง "ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน" หรือความคิดเห็นแปลกๆ ที่ขาดการเข้าใจบริบททางสังคมอย่างรอบคอบ ก็จะยังคงปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ เรื่อยไป  และแน่นอนว่าคำสอนเหล่านั้น เมื่อปรากฏต่อสาธารณชน ย่อมหนีไม่พ้นการถูกโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์  ส่วนการพยายามอธิบายเหตุผลที่มาของข้อความเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการยกสถานะอันเป็นที่สักการะของพระสงฆ์ หรือความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากการเมืองของคำสอน ก็ยิ่งจะแสดงถึงอวิชชา ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอันซับซ้อน และการพยายามปัดความรับผิดชอบที่ข้อความอันมักง่ายเหล่านั้นมีผลกระทบต่อคนเล็กคนน้อยในทางสังคม...ปฏิกิริยาทั้งหมดยิ่งสะท้อนถึงแนวโน้มเผด็จการ "อำนาจนิยม" ของพุทธศาสนาในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการร่วมรักษาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ไว้โดยรู้ตัวก็ดีหรือไม่รู้ตัวก็ดี  [13]

กระทั่งเสนอให้ "ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ" โดยให้แปรรูปองค์กรทางศาสนาอยู่ในรูปองค์กรเอกชนทั้งหมด โดยที่รัฐไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องโดยสิ้นเชิง ยกเว้นว่าการดำเนินกิจการทางศาสนาจะเป็นการละเมิดสิทธิพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย [14]

5. ผลกระทบต่อปัญหาทางการเมืองและศาสนา

วัฒนธรรมโปรฯความดี/คนดีตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังที่อภิปรายมา ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญตามมา เช่น

5.1 การปลูกฝังชุดความดีดังกล่าวนั้น ด้วยการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว ผ่านระบบการศึกษา หน่วยงานราชการ องค์กรศาสนา กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม สื่อมวลชน ฯลฯ ส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยเบลอๆ (มีการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถปรับเปลี่ยนระบบสังคมการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ แม้แต่จะแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 ตามข้อเสนอของนักวิชาการและประชาชนก็ทำไม่ได้ เพราะเกรงกลัวกองทัพและอำนาจนอกระบบ) มีเสรีภาพเบลอๆ (คือเสรีภาพที่ถูกจำกัดด้วย ม.112 ไม่ใช่เสรีภาพสมบูรณ์ตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน) มีความยุติธรรมเบลอๆ เพราะไม่มีความเสมอภาค (ใช้สองมาตรฐานในการวิจารณ์ตรวจสอบ เรียกร้องความรับผิดชอบทางกฎหมาย และศีลธรรมกับบุคคลสาธารณะ) เป็นพุทธเบลอๆ ที่สนับสนุนศีลธรรมเครื่องมือเพื่อครอบงำประชาชนให้กลายเป็น "มนุษย์เครื่องมือ" ค้ำจุนสถานะ อำนาจศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครอง

5.2 เพราะความเป็นประชาธิปไตยเบลอๆ เป็นพุทธเบลอๆ สังคมเราจึงมีการอ้างสถาบันกษัตริย์ อ้างศีลธรรมทางศาสนาต่อสู้ทางการเมือง แบ่งแยกคนในชาติเป็นฝ่ายคนดีที่มีตราประทับ "ความจงรักภักดี" กับฝ่ายคนเลวที่มีตราประทับ "ความไม่จงรักภักดี" และจบลงด้วยรัฐประหาร การล้อมปราบนักศึกษาประชาชนบาดเจ็บล้มตายซ้ำซาก จนกระทั่งบัดนี้สังคมยังไม่สามารถอ้างอิงหลักการประชาธิปไตยในการแยกแยะถูก-ผิดทางการเมืองได้อย่างมีวุฒิภาวะ เพราะรากฐานทางจริยศาสตร์แห่งวัฒนธรรมโปรฯความดีตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นจริยศาสตร์แห่ง "การหลอกตัวเองทางศีลธรรม" ที่มีผลให้วิธีคิดและการตัดสินถูก-ผิดทางศีลธรรมของสังคมเบลอๆ อยู่กับสภาพกึ่งจริงกึ่งเท็จ จึงเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาสัจจะ การถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างถึงที่สุดเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่าอะไรคือหลักการ อุดมการณ์ที่ถูกต้องที่สังคมควรยึดถือร่วมกัน

5.3 สังคมติดกับดักของ "ศีลธรรมทางการเมืองตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม" การที่สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมโปรฯความดี/คนดี ทำให้ 80 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย แทนที่สังคมจะส่งเสริม "ความรัก" ในเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ แต่กลับเน้นการส่งเสริมความรักสถาบันกษัตริย์ในฐานะ "ตัวบุคคล" มากว่า จนกลายเป็นกับดักปัญหาทางศีลธรรมตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเรื่อง "ความจงรักภักดี-ไม่จงรักภักดี" อันเป็นเหตุให้สถาบันกษัตริย์ดำรงสถานะ อำนาจ บทบาทที่ถูกอ้างอิงในการต่อสู้ทางการเมือง และการทำรัฐประหารได้ไม่สิ้นสุด

5.4 ความดีทางศาสนาถูกทำให้เป็น "ยากล่อมประสาท" มอมเมาผู้คนให้ตกอยู่ในสภาพเบลอทางศีลธรรมที่คลุมเครือในเรื่องจริง-เท็จ ถูก-ผิด คนดีทางศาสนากลายเป็นคนแปลกแยกจากสังคม หมกมุ่นกับความทุกข์ ความสุขส่วนตัว มองปัญหาสังคมการเมืองเป็นเรื่องทางโลก วุ่นวาย เป็นเรื่องของกิเลสตัณหา ไม่ใช่ความดี เพราะความดีคือการทำบุญ ศีล ทาน ตามคำสอนของพุทธศาสนา เป็นความดีที่มีอานิสงส์ดลบันดาลให้เกิดสุขทั้งในโลกนี้ โลกหน้า ความดีดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรม การปกป้องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ประกอบกับโครงสร้างอำนาจของสังคมสงฆ์ที่ขึ้นต่ออุดมการณ์ราชาชาตินิยม บทบาทขององค์กรทางศาสนาจึงอยู่ข้างชนชั้นปกครองมากกว่าจะยึดโยงกับประชาชน และประชาธิปไตย

5.5 เกิดกระแสท้าทายโต้แย้งวัฒนธรรมโปรฯความดีเชิงบรรทัดฐานตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บนจุดยืนเสรีประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เช่น กระแสต่อต้านรัฐประหารโดยคนดีมีคุณธรรม การเรียกร้องให้แก้ไขยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯมาตรา 112 การปฏิรูปกองทัพ สถาบันกษัตริย์ การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองโดยอ้างธรรมะอ้างศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม การเรียกร้อง "ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ" หรือรัฐฆราวาส (secular state) ที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา การแปรรูปองค์กรศาสนาให้เป็นกิจกรรมของเอกชนโดยสิ้นเชิง เป็นต้น  

บทสรุป : เราไม่ใช่ "มนุษย์เครื่องมือ" อีกต่อไป (?)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า วัฒนธรรมโปรฯความดี/คนดีตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์นับวันจะถูกท้าทายโต้แย้งด้วยหลักการ เหตุผล บนจุดยืนของอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยมากขึ้นๆ สังคมเราไม่อาจอยู่กับความจริงที่ว่า "เราถูกปลูกฝังให้หลอกตัวเองทางศีลธรรม" เช่นนี้ตลอดไป เราผู้ซึ่งเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพจะเลือกชีวิตทางสังคมการเมืองที่ดีกว่า เป็นอารยะกว่า ไม่สมควรจะ "ถูกกด" ถูกมอมเมาให้กลายเป็นเพียง "มนุษย์เครื่องมือ" หรือ "คนไขลาน" อีกต่อไป

กลิ่นไอของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพ มีคุณค่ามีศักดิ์ศรีในตัวเองในโลกปัจจุบันและอนาคต ดูจะมีเสน่ห์ยั่วยวนชวนปรารถนาเกินกว่ามนต์สะกดแห่งอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะตรึงผู้คนให้ติดอยู่กับความไม่มีเหตุผลของศีลธรรมหลอกตัวเองอีกต่อไป

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า สังคมจะเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมโปรฯความดี/คนดีบนฐานศีลธรรมหลอกตัวเอง ไปสู่การสร้างระบบสังคมการเมืองที่ยุติธรรมบนฐานของศีลธรรมเหตุผลเป็นสากล คือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพอย่างสันติได้อย่างไร ซึ่งผมคิดว่าไม่มีทางเป็นไปอย่างสันติได้เลย หากสังคมไม่สามารถถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างเป็นสาธารณะ และอย่างถึงที่สุด เพื่อหา "ฉันทามติ" ร่วมกันว่า ต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้อยู่ภายใต้หลักเสรีภาพ และความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศ 

เชิงอรรถ

  1. "ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมไม่มี the king ที่ can do wrong เพราะในระบอบประชาธิปไตย มีแต่ the king ที่ can do nothing เนื่องจากผู้รับสนองพระบรมราชโองการต่างหากที่เป็นผู้กระทำและผู้รับผิดชอบ" ดู ปิยบุตร แสงกนกกุล "องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้คืออะไร?" ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2555) หน้า 49
  2. ดู ธงชัย วินิจจะกูล. มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน. http://prachatai.com/journal/2011/05/34433
  3. มติชน 3 เม.ย.55 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333427789
  4. เกษียร เตชะพีระ เรื่องจริยธรรม-คุณธรรม ชาตินิยมและพระสยามเทวาธิราช. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333553868...
  5. อาทิตย์ ศรีจันทร์. A Clockwork Orange: ความเป็นมนุษย์และการสูญสิ้นสภาพความเป็นมนุษย์. อ่าน ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม 2554-มีนาคม 2555) หน้า 187
  6. LIPS ปักษ์หลัง ธันวาคม 2552, หน้า 87
  7. จัตุรัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 51 (29 มิถุนายน 2519)
  8. แบล็กเบิร์น, ไซมอน.อ้างแล้ว, หน้า 103
  9. ปัญหา freedom of speech เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และ ม.112 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วิเคราะห์ไว้หลายที่ เช่น http://www.youtube.com/watch?v=ifr8jolc5F8 เขากล่าวว่าปัจจุบันเสรีภาพวิจารณ์สถาบันกษัตริย์แย่กว่าสมัย ร.6 ร.7
  10. ดูอาทิตย์ พุธิพงษ์. เรื่องของอากง: Freedom of Speech และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม. http://www.prachatai.com/journal/2011/12/38254
  11. อ้างใน  Sandel, Michael J. ความยุติธรรม= What's the Right Thing to Do?. แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล.กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส, 2554 หน้า 71-72
  12. อ้างใน วรพจนน์ พันธุ์พงศ์/ธิติ มีแต้ม.ความมืดกลางแสงแดด.(กรุงเทพฯ: หอนาฬิกา 2555), หน้า 236
  13. วิจักขณ์ พานิช "ความคมของฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน" บทเรียนของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตย http://blogazine.in.th/blogs/budddhistcitizen/post/3465
  14. ดูเก่งกิจ กิติเรียงลาภ. ปัญหาธรรมกาย-พระไพศาล-มหาเถรสมาคม-สุรพศ และบททดลองเสนอเกี่ยวกับสถานะของสถาบันศาสนาในสังคมไทย. http://www.prachatai.com/journal/2012/08/42403  และสุรพศ ทวีศักดิ์.ปัญหาการอ้าง "ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ" กับ "ความชอบธรรม" ในการดำเนินการทางพระธรรมวินัย http://prachatai.com/journal/2012/09/42410
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: เผด็จการไทยใกล้หมดตาเดิน

Posted: 25 Oct 2012 07:16 AM PDT

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้ากุมอำนาจบริหารมาได้ปีเศษ นับว่า เกินกว่าความคาดหมายของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์และพวกเสื้อเหลืองพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เคยเชื่อว่า รัฐบาลนี้จะอยู่ได้ไม่เกินหกเดือน เนื่องจากความเข้มแข็งของกลไกเผด็จการในรัฐธรรมนูญ 2550 และการขาดประสบการณ์ของนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะทำให้รัฐบาลบริหารงานผิดพลาด จนเป็นเงื่อนไขให้ถูกโค่นล้มลงโดยง่ายดาย ดังเช่น รัฐบาลพรรคพลังประชาชน

แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ยืนหยัดมาได้ ภายหลังผ่านพ้นวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ปลายปี 2554 ก็สามารถสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่านั้นคือ สามารถสร้างผลงานทางการบริหารตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการวางตัวของนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานแต่ถ่ายเดียว ไม่เล่นการเมืองรายวัน จนถูกขนานนามว่า "ดีแต่ทำงาน" ไม่ใช่จำพวก "ดีแต่พูด" เล่นสำบัดสำนวนเอาแต่ตีกินทางการเมืองไปวัน ๆ แต่ทำงานเป็น อันเป็นแบบฉบับของผู้นำพรรคประชาธิปัตย์

จนถึงปัจจุบัน นางสาวยิ่งลักษณ์ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีคะแนนนิยมสูงสุดเท่าที่เคยมีมานับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ฝ่ายเผด็จการแฝงเร้นของไทยยังคงประกอบไปด้วยผู้บงการวางแผนกลุ่มเดิม ผู้รับคำสั่งปฏิบัติการและกลไกแขนขาที่ครบถ้วนเหมือนเดิม ประกอบด้วยสี่ขาหยั่ง ได้แก่ ตุลาการและบรรดา "องค์กรอิสระ" ในรัฐธรรมนูญ กองทัพ พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คนพวกนี้ยังคงติดกับอยู่ในโลกทัศน์ วิธีคิดและประสบการณ์เดิม ๆ ยุทธวิธีของพวกเขาจึงยังคงซ้ำซากเหมือนกับที่เคยใช้มาแล้วในการโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและรัฐบาลพรรคพลังประชาชน คือ สร้างกระแสต่อต้านรัฐบาล ใช้ข้ออ้างสามประเด็นหลักคือ ทุจริตคอรัปชั่น แก้รัฐธรรมนูญ และหมิ่นกษัตริย์ ให้กลุ่มอันธพาลการเมืองรับจ้างออกมาเคลื่อนไหว ใช้ความรุนแรงก่อจลาจลบนท้องถนน ประสานกับพรรคประชาธิปัตย์ที่คอยก่อกวนอยู่ในสภา ให้ดูเหมือนว่า รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้และกำลังถูกต่อต้านจากประชาชนจำนวนมาก จากนั้น ก็ใช้กลไกตุลาการในรัฐธรรมนูญเข้ามาทำลายรัฐมนตรีรายบุคคลไปจนถึงตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลทั้งคณะ ตามด้วยเครื่องมือสุดท้ายคือ ใช้กองทัพเข้าแทรกแซงโดยตรงด้วยการรัฐประหารทั้งอย่างเปิดเผยหรือซ่อนรูป

แต่ทว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ทำให้การเดินหมากของฝ่ายเผด็จการไทยเข้าสู่สภาพ "เข้าตาจน หมดตาเดิน" เพราะก่อนการเลือกตั้ง พวกเขายังเพ้อฝันไปว่า พรรคประชาธิปัตย์จะสามารถบริหารประเทศประสบความสำเร็จ และ "ซื้อใจประชาชน" จนสามารถชนะเลือกตั้งได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาฯ แต่การณ์กลับเป็นว่า พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ได้คะแนนเสียงเด็ดขาดเกินครึ่งหนึ่งของสภา

นี่เป็นความพ่ายแพ้ครั้งที่ห้าในระบอบการเมืองแบบเลือกตั้งของพวกเขา และในเฉพาะหน้านี้ ก็เป็นการปิดประตูตายในเวทีรัฐสภาของฝ่ายเผด็จการ การที่พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงเกินครึ่งในสภา ย่อมหมายความว่า การทำ "รัฐประหารด้วยตุลาการ" ที่สำเร็จมาแล้วกับรัฐบาลพรรคพลังประชาชน คือ ใช้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ถอดนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลทั้งคณะ แล้วใช้กองทัพเข้าข่มขู่พร้อมยื่นผลประโยชน์เข้าล่อ ให้พรรคแตกแยก เกิดเป็น "งูเห่า" มาร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้จำนวนเสียงในสภาเกินครึ่งแล้วจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จอีกนั้น ทั้งหมดนี้ทำได้ยากเสียแล้ว เพราะถึงยุบพรรคเพื่อไทยและถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้ แต่ถ้าดุลคะแนนเสียงในสภายังคงเดิมหรือเปลี่ยนไปไม่มากพอ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาล "งูเห่า" ได้อยู่ดี และรัฐบาลใหม่ก็จะยังคงเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

นัยหนึ่ง การที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 มีเสียงเกินครึ่งในสภา ทำให้การเปลี่ยนมืออำนาจบริหารให้กลับมาเป็นของฝ่ายเผด็จการอีกครั้งภายในกรอบรัฐสภานี้ทำได้ยากยิ่ง เพราะถึงอย่างไร ตุลาการและ "องค์กรอิสระ" ตามรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถเปลี่ยนดุลคะแนนเสียงในสภาได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งหมดนี้ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเอาชนะฝ่ายประชาธิปไตยด้วยวิธีการที่ "ไม่ใช่การเลือกตั้งและจำนวนคะแนนเสียงในสภา"

รูปแบบการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยวิธีการนอกสภาที่พวกเขาเคยกระทำมานับสิบครั้งก็คือ รัฐประหาร แต่ทว่า การรัฐประหารในวันนี้จะถูกต่อต้านจากประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั่วประเทศอย่างแน่นอนและจะเป็นรัฐประหารที่นองเลือดยิ่งกว่าครั้งใดในอดีต นอกจากนั้น ประชาคมโลกในหลายปีมานี้ ก็เหมือนกับประชาชนไทยจำนวนมากคือ "รู้ความจริง" เข้าใจปัญหาถึงรากเง่าความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยอย่างทะลุปรุโปร่ง รู้ชัดว่า อะไรคือปัญหาที่แท้จริงที่ขัดขวางประชาธิปไตยในไทยตลอดหลายสิบปีมานี้ รัฐประหารไม่ว่าจะเปิดเผยหรือซ่อนรูป รวมทั้งรัฐบาลเผด็จการที่คลอดออกมาจะถูกปฏิเสธจากประชาคมโลกและประชาคมอาเซียนอย่างแน่นอน

แต่ฝ่ายเผด็จการแฝงเร้นไม่เคยลดละที่จะบั่นทอนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย การรุกครั้งใหญ่ล่าสุดของพวกเขาคือ กรณีการแก้รัฐธรรมนูญ ม.291 ให้สามารถจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ ที่บรรลุไปถึงการพิจารณาในวาระสาม ก็ได้ถูกทั้งพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรฯ ใช้เป็นข้ออ้างเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มรัฐบาล ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญที่กระโดดเข้ามารับคำร้องคัดค้าน ทั้งที่ไม่มีอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จนเกิดเป็นกระแสสูงที่จะให้ยุบพรรคเพื่อไทยและดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่ผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุด การรุกครั้งใหญ่นี้ ก็ "ฝ่อ" ไปเสียก่อน

บัดนี้ ดูเหมือนว่า การรุกครั้งใหม่ของฝ่ายเผด็จการกำลังก่อตัวขึ้นอีก จากการเคลื่อนไหวนอกสภาอย่างคึกคักของพรรคประชาธิปัตย์ที่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายเดือน การก่อกระแสต่อต้านโครงการต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการรับจำนำข้าว ที่ประสานร่วมมือกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการเสื้อเหลือง กลุ่มนายทุนพ่อค้าที่เสียประโยชน์ กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นสมุนเผด็จการ ความพยายามของคนพวกนี้เข้าขั้น "จนตรอก" เมื่อไม่สามารถหาเรื่องจริงมาบิดเบือนได้อีก ก็ใช้วิธีกุเรื่องไซฟ่อนเงิน 16,000 ล้านบาทที่ฮ่องกง อันเป็นการสร้างเรื่องขึ้นจากอากาศธาตุโดยแท้ กระทั่งล่าสุด ความพยายามที่จะก่อการชุมนุมของมวลชนเพื่อขับไล่รัฐบาลในวันที่ 28 ตุลาคมนี้

แต่การเคลื่อนไหวรุกในขอบเขตใหญ่โตอย่างทรงพลงและเป็นระบบทั่วด้าน ดังเช่นในกรณีการแก้รัฐธรรมนูญวาระสามนั้น จะกระทำได้ยากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ยังเข้มแข็ง นายกรัฐมนตรีก็เป็นที่นิยมของประชาชนอย่างสูง และเครือข่ายอำนาจเผด็จการแฝงเร้นที่ได้อ่อนแอและเสื่อมทรามลงไปอย่างมากในช่วงปีเศษมานี้

หนทางของพวกเผด็จการแฝงเร้นภายในกรอบรัฐสภานั้นตีบตัน ขณะที่หนทางนอกรัฐสภาก็สุ่มเสี่ยงและเต็มไปด้วยอุปสรรค การรุกครั้งนี้จึงเป็นการกระเสือกกระสนที่สิ้นหวังและไร้อนาคต ยิ่งถ้าพวกเขาเกิดอาการ "วิปลาส" ดันทุรังไปจนถึงการทำรัฐประหาร ฝืนความต้องการของประชาชนไทยและประชามติโลก พวกเขาก็จะมุ่งไปสู่จุดจบที่เด็ดขาดและรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลาวเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เหตุล่าช้าจากทุนต่างประเทศไม่สนใจ

Posted: 25 Oct 2012 05:39 AM PDT

องค์กรปกครองเขตนครเวียงจัน กำหนดให้ 5 พื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะภายใต้เป้าหมายที่จะพัฒนานครเวียงจันทร์ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ทันสมัยในอนาคต

ท่านอานุพาบ ตุนาลม รองเจ้าครองเขตนครเวียงจัน ได้เป็นประธานจัดการประชุมเพื่ออภิปรายร่างกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ โดยสำหรับเขตนครเวียงจันนั้น ได้มีการกำหนดให้ 5 พื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งมี 4 เขตที่ยกระดับขึ้นมาจากเขตพัฒนาทั่วไป ก็คือนิคมอุตสาหกรรมและการค้า เวียงจัน-โนนทอง เขตเศรษฐกิจจำเพาะดงโพสี เขตเศรษฐกิจจำเพาะล่องแถ้ง-เวียงจัน และเขตพัฒนารวมไซเสดถา ส่วนพื้นที่ที่ 5 นั้น เป็นเขตที่ตั้งขึ้นใหม่ก็คือ เขตเศรษฐกิจจำเพาะบึงทาดหลวง

ภาพจำลองเขตเศรษฐกิจจำเพาะบึงทาดหลวง

ทั้งนี้โดยองค์กรปกครองนครเวียงจัน ได้รายงานว่าการอภิปรายร่างกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวมีเป้าเพื่อทำให้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาในเขตนครเวียงจันให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่จะพัฒนาให้นครเวียงจันเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ทันสมัยในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะทั้ง 5 พื้นที่ในเขตนครเวียงจันดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐบาลลาวที่ได้วางเป้าหมายว่าจะดำเนินการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะให้ได้ถึง 41 แห่ง ในทั่วประเทศอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ท่านสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลลาว และยังเป็นประธานคณะกรรมการดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจจำเพาะแห่งชาติด้วยนั้น ก็แถลงยอมรับไม่ไม่นานมานี้ว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจจำเพาะมีความคืบหน้าอย่างล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน  ที่เป็นเขตแรกในลาวซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2003 ก็ยังพัฒนาได้ช้าอยู่มาก เมื่อเทียบกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่เมืองต้นเผิ้ง แขวงบ่อแก้ว

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำดังกล่าว เป็นการลงทุนเต็ม 100% โดยกลุ่มธุรกิจจากจีน ซึ่งทางการลาวก้ถือว่าได้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้งงานให้แก่ประชาชนลาวได้เป็นอย่างดี ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อื่นๆ นั้น ก็ยังคงถือว่ามีการพัฒนาอย่างล่าช้า เนื่องจากว่าไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ตามแผนการที่วางไว้ ดังที่ท่านสมสะหวาด ชี้แจงว่า

"เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้มีการพัฒนาอย่างเด่นชัด ประกอบด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างงานให้แก่ประชาชน ถึงอย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของงานดังกล่าวในภาพรวมแล้วยังล่าช้าอยู่ และยังไม่ทันสามารถเรียกทุนสนับสนุนจากบรรดาภาคธุรกิจจากต่างประเทศได้เท่าที่ควร"

ในปัจจุบัน ประเทศลาวมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับการพัฒนาและสามารถรองรับการลงทุนของเอกชนลาวและต่างชาติได้แล้ว 3 แห่ง ก็คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ในแขวงสะหวันนะเขด เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนคำ ที่แขวงหลวงน้ำทา และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ส่วนเขตเศรษฐกิจจำเพาะทั้ง 5 แห่งอยู่ในเขตนครเวียงจันนั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างมุ่งมั่น โดยเป็นการลงทุนจากจีน 3 เขต และการลงทุนจากเวียตนาม 2 เขต ตามลำดับ

นอกจากนี้ รัฐบาลลาวยังได้วางเป้าหมายที่จะก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในเขตแขวงต่างๆ ให้ได้ถึง 10 แห่งในปี 2015 อีกด้วย


เกร็ดภาษาลาววันนี้ ขอเสนอคำว่า  ອໍານາດການປົກຄອງ (อำนาดการปกคอง) : องค์กรปกครอง, Administratve organization.

แม้ว่าคำจะคล้ายคลึงกับภาษาไทย แต่คำว่า ອໍານາດການປົກຄອງ ในภาษาลาวนั้น ไม่ได้หมายถึงอำนาจการปกครองเหนือสิ่งใด แต่หมายถึงองค์กรที่ใช้อำนาจนั้นปกครองเขตพื้นที่ต่างๆ เช่น ອໍານາດການປົກຄອງເຂດນະຄອນວຽງຈັນ - องค์กรปกครองเขตนครเวียงจัน เทียบกับไทยแล้ว คือหน่วยงานปกครองส่วนภูมิภาค หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นเอง


หมายเหตุ - การสะกดชื่อนครเวียงจัน ว่า "เวียงจัน" โดยไม่มีตัวสะกดการันต์ตามท้าย เป็นการรักษาอักขระวิธีตามแบบอักษรลาว เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นในการเปรียบเทียบกับชื่อเมืองและเขตแขวงอื่นๆ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว.

ที่มา: http://lao.voanews.com/content/article/1529281.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลาวเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เหตุล่าช้าจากทุนต่างประเทศไม่สนใจ

Posted: 25 Oct 2012 05:39 AM PDT

องค์กรปกครองเขตนครเวียงจัน กำหนดให้ 5 พื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะภายใต้เป้าหมายที่จะพัฒนานครเวียงจันทร์ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ทันสมัยในอนาคต

ท่านอานุพาบ ตุนาลม รองเจ้าครองเขตนครเวียงจัน ได้เป็นประธานจัดการประชุมเพื่ออภิปรายร่างกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ โดยสำหรับเขตนครเวียงจันนั้น ได้มีการกำหนดให้ 5 พื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งมี 4 เขตที่ยกระดับขึ้นมาจากเขตพัฒนาทั่วไป ก็คือนิคมอุตสาหกรรมและการค้า เวียงจัน-โนนทอง เขตเศรษฐกิจจำเพาะดงโพสี เขตเศรษฐกิจจำเพาะล่องแถ้ง-เวียงจัน และเขตพัฒนารวมไซเสดถา ส่วนพื้นที่ที่ 5 นั้น เป็นเขตที่ตั้งขึ้นใหม่ก็คือ เขตเศรษฐกิจจำเพาะบึงทาดหลวง


ทั้งนี้โดยองค์กรปกครองนครเวียงจัน ได้รายงานว่าการอภิปรายร่างกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวมีเป้าเพื่อทำให้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาในเขตนครเวียงจันให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่จะพัฒนาให้นครเวียงจันเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ทันสมัยในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะทั้ง 5 พื้นที่ในเขตนครเวียงจันดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐบาลลาวที่ได้วางเป้าหมายว่าจะดำเนินการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะให้ได้ถึง 41 แห่ง ในทั่วประเทศอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ท่านสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลลาว และยังเป็นประธานคณะกรรมการดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจจำเพาะแห่งชาติด้วยนั้น ก็แถลงยอมรับไม่ไม่นานมานี้ว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจจำเพาะมีความคืบหน้าอย่างล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน  ที่เป็นเขตแรกในลาวซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2003 ก็ยังพัฒนาได้ช้าอยู่มาก เมื่อเทียบกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่เมืองต้นเผิ้ง แขวงบ่อแก้ว

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำดังกล่าว เป็นการลงทุนเต็ม 100% โดยกลุ่มธุรกิจจากจีน ซึ่งทางการลาวก้ถือว่าได้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้งงานให้แก่ประชาชนลาวได้เป็นอย่างดี ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อื่นๆ นั้น ก็ยังคงถือว่ามีการพัฒนาอย่างล่าช้า เนื่องจากว่าไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ตามแผนการที่วางไว้ ดังที่ท่านสมสะหวาด ชี้แจงว่า

"เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้มีการพัฒนาอย่างเด่นชัด ประกอบด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างงานให้แก่ประชาชน ถึงอย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของงานดังกล่าวในภาพรวมแล้วยังล่าช้าอยู่ และยังไม่ทันสามารถเรียกทุนสนับสนุนจากบรรดาภาคธุรกิจจากต่างประเทศได้เท่าที่ควร"

ในปัจจุบัน ประเทศลาวมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับการพัฒนาและสามารถรองรับการลงทุนของเอกชนลาวและต่างชาติได้แล้ว 3 แห่ง ก็คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ในแขวงสะหวันนะเขด เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนคำ ที่แขวงหลวงน้ำทา และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ส่วนเขตเศรษฐกิจจำเพาะทั้ง 5 แห่งอยู่ในเขตนครเวียงจันนั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างมุ่งมั่น โดยเป็นการลงทุนจากจีน 3 เขต และการลงทุนจากเวียตนาม 2 เขต ตามลำดับ

นอกจากนี้ รัฐบาลลาวยังได้วางเป้าหมายที่จะก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในเขตแขวงต่างๆ ให้ได้ถึง 10 แห่งในปี 2015 อีกด้วย


เกร็ดภาษาลาววันนี้ ขอเสนอคำว่า  ອໍານາດການປົກຄອງ (อำนาดการปกคอง) : องค์กรปกครอง, Administratve organization.

แม้ว่าคำจะคล้ายคลึงกับภาษาไทย แต่คำว่า ອໍານາດການປົກຄອງ ในภาษาลาวนั้น ไม่ได้หมายถึงอำนาจการปกครองเหนือสิ่งใด แต่หมายถึงองค์กรที่ใช้อำนาจนั้นปกครองเขตพื้นที่ต่างๆ เช่น ອໍານາດການປົກຄອງເຂດນະຄອນວຽງຈັນ - องค์กรปกครองเขตนครเวียงจัน เทียบกับไทยแล้ว คือหน่วยงานปกครองส่วนภูมิภาค หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นเอง


หมายเหตุ - การสะกดชื่อนครเวียงจัน ว่า "เวียงจัน" โดยไม่มีตัวสะกดการันต์ตามท้าย เป็นการรักษาอักขระวิธีตามแบบอักษรลาว เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นในการเปรียบเทียบกับชื่อเมืองและเขตแขวงอื่นๆ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว.

ที่มา: http://lao.voanews.com/content/article/1529281.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลล์สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ เห็นด้วยกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน แต่...

Posted: 25 Oct 2012 05:33 AM PDT

นักเศรษฐศาสตร์ 47.8% เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ. กู้เงินฯ แต่ 79.1% กังวลความไม่พร้อมของโครงการต่างๆ  68.6% กังวลปัญหาหนี้สาธารณะ  แนะต้องดำเนินโครงการต่างๆ ด้วยความโปร่งใสไม่มีคอร์รัปชั่น

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง จำนวน 67 คน เรื่อง "พ.ร.บ. กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จำเป็นหรือไม่" โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 5–12 ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 58.2 เห็นว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นมากที่จะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน  รองลงมาร้อยละ 35.8 เห็นว่าค่อนข้างมีความจำเป็น  และมีเพียงร้อยละ 6.0 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นเลย  เมื่อถามต่อว่างบลงทุนที่รัฐบาลใช้ในปัจจุบันมีเพียงพอกับความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือไม่  ร้อยละ 46.3 เห็นว่ามีไม่เพียงพอ  ขณะที่ร้อยละ  35.8 เห็นว่ามีเพียงพอแล้ว แต่เมื่อถามว่าโครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมเพียงใดกับการขอใช้เงินที่ออกโดย พ.ร.บ. กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานฯ นักเศรษฐศาสตร์มากถึงร้อยละ 79.1 เห็นว่าโครงการต่างๆ   ที่จะดำเนินการยังไม่มีความพร้อมเป็นส่วนใหญ่  มีเพียงร้อยละ 10.4 เท่านั้นที่เห็นว่าโครงการต่างๆ มีความพร้อมเป็นส่วนใหญ่

สำหรับความรู้สึกกังวลในปัญหาหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ ร้อยละ 68.6  บอกว่า "กังวลมากถึงมากที่สุด"  รองลงมาร้อยละ 28.4  บอกว่า "กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด" และเมื่อทำการเปรียบเทียบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการโดยใช้เงินจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้กับความจำเป็นในการออก พ.ร.บ. เพื่อนำเงินกู้มาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 44.8 เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการทุจริตคอร์รัปชั่นมากกว่าจึงไม่ควรออกกฏหมายฉบับนี้  ขณะที่ร้อยละ 41.8 เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าจึงควรออกกฏหมายฉบับนี้

สุดท้ายเมื่อถามว่าโดยสรุปแล้วเห็นด้วยหรือไม่กับการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ ร้อยละ  47.8 บอกว่า    "เห็นด้วย"  ขณะที่ร้อยละ 23.9 บอกว่า "ไม่เห็นด้วย"  นอกจากนี้  นักเศรษฐศาสตร์ยังได้เสนอแนะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินโครงการต่างๆ ด้วยความโปร่งใส  ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลงโทษผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่น  รวมถึงควรสร้างระบบกำกับการใช้เงินอย่างใกล้ชิดและตรวจสอบได้ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.เสนอปรับแก้ร่าง 2 ฉบับ สาธารณสุขชุมชน-แก้คุณสมบัติผู้ตรวจเงินฯ

Posted: 25 Oct 2012 05:25 AM PDT

คปก. ชงปรับแก้ประเด็นในกฎหมาย 2 ฉบับ  ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เสนอกำหนดอายุใบอนุญาตไม่เกิน 5 ปี  เพิ่มอำนาจพัฒนาศักยภาพสมาชิกฯ อีกหนึ่งปรับคุณสมบัติ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน

25 ตุลาคม 2555 –  นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่อง ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. .... เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา โดยขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการและได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ในรายมาตราแล้ว

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นในหลายประเด็น ได้แก่ องค์ประกอบของคณะกรรมการสภาสาธารณสุขชุมชน ในร่างมาตรา 13 ซึ่ง คปก.เห็นควรให้กำหนดโดยคำนึงถึงสัดส่วนจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับนักการสาธารณสุขและจำนวนของกรรมการที่เหมาะสมสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นถัดมาคือ เรื่องอำนาจหน้าที่ของสภาการสาธารณสุข ซึ่งนอกจากอำนาจในการควบคุม กำกับดูแล และกำหนดมาตรฐานวิชาชีพการสาธารณสุขแล้ว ควรมีอำนาจในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกสภาวิชาชีพการสาธารณสุขให้มีความรู้ ความสามารถในการบริหารประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ยังเห็นควรให้สภาการสาธารณสุขเสนอแผนและรายงานผลการดำเนินงานของสภาการสาธารณสุขต่อสมาชิกสภาและเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย

ส่วนเรื่องการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้รับบริการ คปก. เห็นควรให้กำหนดอายุใบอนุญาตไว้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต เช่นเดียวกับใบประกอบวิชาชีพด้านการสาธารณสุขอื่น เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้พัฒนาความรู้ มาตรฐานวิชาชีพ และเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนผู้รับบริการ  และเนื่องจากวิชาชีพการสาธารณสุขมีหลายสาขา จึงควรแบ่งประเภทใบอนุญาต และกำหนดระยะเวลา หลักเกณฑ์ และวิธีการต่อใบอนุญาตให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มสาขา ซึ่งควรกำหนดเป็นข้อบังคับของสภาฯ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการสร้างภาระจนเกินควรแก่ผู้ประกอบวิชาชีพฯ

ขณะเดียวกัน คปก. เห็นว่า ในประเด็นบทบัญญัติในหมวดที่ 6 (1)(2)(3) และหมวด 7 บทกำหนดโทษ ร่างมาตรา 48 อาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 33 ที่รับรองและคุ้มครองเสรีภาพในเคหสถานในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข อย่างไรก็ตามการกำหนดโทษควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนั้น บทกำหนดโทษควรได้สัดส่วนกับความผิดด้วย เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำที่กฎหมายกำหนดห้าม

คปก.ยังเห็นควรให้เพิ่มเติมบทเฉพาะกาลที่กำหนดมาตรการรับรองบุคคลากรด้านการสาธารณสุขชุมชนที่อาจขาดคุณสมบัติในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกและขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ในระยะแรกเริ่มของการที่ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนฯ มีผลบังคับใช้ด้วย

ขณะที่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ยังได้ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่อง ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา โดยขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการและได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ในรายมาตราแล้ว

จากการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คปก. เห็นชอบให้มีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอโดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะ นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์ และคณะ เพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบโดยเร็ว และให้แก้ไขคุณสมบัติของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่ง คปก.มีข้อสังเกตใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.  ประเด็นองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเห็นว่า การกำหนดจำนวนองค์ประกอบ และคุณสมบัติขององค์ประกอบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามร่างพ.ร.บ. ฉบับเสนอโดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะ นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์ และคณะ มีหลักการที่มีความเหมาะสม แต่การกำหนดคุณสมบัติในมาตรา 6 วรรคสี่ (ข) ว่า "กรรมการต้องมีคุณสมบัติเป็นหรือเคยเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาและดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์มาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี"  คปก.เห็นว่าควรเป็นตำแหน่งระดับศาสตราจารย์ขึ้นไป เพื่อให้เป็นไปทำนองเดียวกับคุณสมบัติขององค์ประกอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรอื่น และสอดคล้องกับกรณีที่กำหนดตาม (ก) ว่าต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 10 หรือเทียบเท่า

2. ประเด็นคุณสมบัติการมีสัญชาติไทยโดยการเกิด โดยสิทธิในการดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นถือได้ว่าเป็นสิทธิพลเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ที่รัฐต้องมอบให้พลเมืองของรัฐทุกคนตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากการได้มาซึ่งสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 นั้น ไม่ได้มีเพียงการได้มาโดยการเกิดเท่านั้น แต่ยังมีการได้มาซึ่งสัญชาติโดยทางอื่น ดังนั้น ในกรณีที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ บุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ว่าจะได้มาโดยการเกิดหรือได้มาโดยทางอื่น จึงควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา: เมื่อประชาชนออกมา สันติภาพก็เกิดขึ้น : บทเรียนจากตากใบ

Posted: 25 Oct 2012 05:10 AM PDT

เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษา จัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบโดยภายใต้สโลแกน 'เดือนตุลา ฉันเห็นวีรชนที่ตากใบ' เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2555 ที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษา ประกอบด้วย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (สนน.จชต.) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (สนท.) เครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (คพช.) และกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PNYS) ได้ร่วมกันจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบโดยภายใต้สโลแกน "เดือนตุลา ฉันเห็นวีรชนที่ตากใบ" เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547

ช่วงเช้า มีการเสวนา ภายใต้หัวข้อ "เมื่อประชาชนออกมา สันติภาพก็เกิดขึ้น: บทเรียนจากตากใบ และสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง" และตอนบ่ายมีการแสดงกิจกรรมด้านหน้าที่ทำการสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อสื่อสารไปยังสังคมโลกว่า "ตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษที่ผ่านมานั้น คนมลายูปาตานีถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบจากระบบการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมสยามหรือรัฐไทยมาโดยตลอด เหตุการณ์ตากใบเป็นบทพิสูจน์อย่างดีว่า ภายใต้กระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยนั้น ประชาชนจะไม่มีวันได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริงแน่นอน"

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง รองผู้อำนวยการสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา  อดีตแกนนำนักศึกษาชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี 2550 กล่าวว่า

เหตุการณ์ตากใบนั้นเป็นบทเรียนและบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ชนชั้นปกครองไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีท่าที่ต่อสิทธิเสรีภาพ ต่อการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนอย่างหวาดระแวงไม่เคยเปลี่ยนแปลง จนเป็นเหตุให้ประชาชนที่ตากใบถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตด้วยวาทกรรมที่ชนชั้นปกครองแบบประชาธิปไตยซ่อนรูปเผด็จการ กล่าวหาว่าพี่น้องตากใบเป็นโจรไม่ใช่ประชาชน

และเป็นบทพิสูจน์อย่างชัดเจนเหมือนกันอีกว่า วิถีการต่อสู้ของประชาชนในการตอบโจทย์การกำหนดชะตากรรมชองตนเองในอนาคตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชนสากล อย่างไรก็ตาม หตุการณ์ตากใบนั้นก็เป็นการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างสันติวิธี ไม่ใช่เป็นการก่อจลาจล ก่อสงครามกลางเมืองแต่อย่างใด แต่ด้วยวิธีการชุมนุมที่ไม่มีความชัดเจนว่า ใครคือแกนนำและไม่มีความชัดเจนในเจตจำนงของการชุมนุม จึงตกเป็นเหยื่อของการใส่ร้ายป้ายสี จึงทำให้ฝ่ายชนชั้นปกครองกล้าที่จะตัดสินใจทำร้ายพี่น้องตากใบ โดยอาศัยความเชื่อของประชาชนที่ถูกปลุกปั่น

ดังนั้นบทเรียนตากใบเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมทั่วโลก ว่าจะทำอย่างไรที่จะป้องกันและสกัดกั้นไม่ไห้อำนาจเผด็จการซ่อนรูป ไม่สามารถทำร้ายหรือฆ่าประชาชน ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการกำหนดชะตากรรมตนเองด้วยเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนจริงๆ

"ถ้าชนชั้นปกครองสร้างอาชญากรรมต่อประชาชนอย่างโหดเหี้ยมและอำมหิต ดังเช่นเหตุการณ์ตากใบต่อไปในอนาคต หากประชาชนตอบโต้กลับ ประชาชนจะมีความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหน"

ตูแวดานียา ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แนวทางรูปธรรมที่จะนำไปสู่การกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชนปาตานีนั้น "กลไกการเมืองโลกที่เคารพในหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลนั้น ต้องเข้ามามีบทบาท ชนชั้นปกครองที่เป็นเผด็จการในคราบของประชาธิปไตย ต้องฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน นั่นก็คือการทำประชามติฟังเสียงประชาชนปาตานีกำหนดชะตากรรมตนเอง เหมือนกับประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกหรือประชาชนชาวซูดานใต้"

ตูแวดานียา ได้อ้างถึง มติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง "การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม" (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ในมาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 กล่าวว่า "กลุ่มชนหรือประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี"

ผลของมติที่1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมจากการยึดครองของจักรวรรดินิยมต่างๆ ประสบความสำเร็จ อาณานิคมทั้งหมดต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ต่อมาสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองได้ถูกนำไปใช้ในกรณีอื่นๆด้วย เช่น การกล่าวอ้างสิทธิของชนกลุ่มน้อยต่างๆ(Minority Groups) ที่ต้องการแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ และในกรณีของหลักสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิม

ส่วน นายวิศรุต บุญยา ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนมองว่า การชุมนุมที่ตากใบเป็นการชุมนุมของประชาชน และการชุมนุมก็เป็นแนวทางการต่อสู้ที่สันติที่สุด จะด้วย อย่างไรก็ตาม แม้นว่าผู้ชุมนุมจะนิ่งเงียบ ไม่ตอบคำถาม หรือไม่ยอมสื่อสาร การชุมนุมก็ย่อมชอบธรรม และถ้าเกิดการสื่อสารไม่เข้าใจแล้ว ก็เป็นเพราะการขาดประสิทธิภาพและความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั่นเอง

ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่า ชนชั้นปกครองไทยชั้นบนสุดนั้นไม่ใช่รัฐบาล ใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่ว่าจะมีอำนาจในการจัดการกับปัญหาถึงแม้จะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม ก็ยังต้องยอมให้กับแนวทางของกองทัพอย่างชัดเจน นั่นจึงชี้ว่า มันมีอำนาจเหนืออยู่จริง  เหตุการณ์ตากใบจึงสรุปไม่ได้ว่า ผู้ที่เป็นนายกฯต้องมารับผิดชอบ และเราจะเห็นว่า เหตุการณ์ตากใบก็เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมโค่นรัฐบาลทักษิณเช่นกัน

แน่นอน ปัจจุบันชนชั้นปกครองซ่อนรูปเผด็จการนั้นให้เงินเยียวยา โดยให้ความหมายว่าให้ความเป็นธรรม แต่กลายเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศต้องแบกรับ เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ กระนั้นก็ตาม นั่นก็ยังไม่ใช่ความเป็นธรรม เพราะบางทีอาจเป็นเรื่องของการช่วงชิงโอกาสทางการเมืองก็เป็นได้ และเงินจำนวน 7.5 ล้าน ก็ไม่เท่ากับค่าของชีวิตของคนๆ หนึ่ง

วิศรุต มองว่า เหตุการณ์ตากใบ ยังแสดงให้เห็นว่า รัฐและชนชั้นปกครองขาดความชอบธรรมในการปกครอง เพราะหวาดระแวงต่อประชาชน และออกมาปิดกั้นการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชน หมายความว่าชนชั้นปกครองไม่กล้าที่จะให้มีพื้นที่ประชาธิปไตย

การที่จะพูดถึงสันติภาพหรือประชามตินั้น จำเป็นที่จะต้องลดอำนาจและจำนวนเจ้าหน้าที่ทหาร รวมไปถึงการที่ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ เสียก่อน ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ประชาธิปไตย เพราะถ้าไม่มีพื้นที่ประชาธิปไตยอย่างเสรีภาพแล้ว การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมที่คิดต่างจากรัฐ จะยังคงถูกมองว่าเป็นโจรเสมอ

แน่นอน ประชาธิปไตยเป็นอำนาจของประชาชน ประชาชนปาตานีจึงมีสิทธิกำหนดชะตากรรมของตนเองได้อยู่แล้ว มีสิทธิที่จะปกครองตนเอง จะด้วยโมเดลอะไรก็ได้ แต่ก็ต้องฟังเสียงของประชาชนปาตานี และทุกภาคส่วนจะต้องสนับสนุนการต่อสู้ในแนวทางการเมืองอย่างสันติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รำลึก 'ตากใบ' กับ '14 ตุลา' ของคนกรุง เหมือนหรือต่าง?

Posted: 25 Oct 2012 04:53 AM PDT

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสฑูตมูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน  

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2555  ส่วนหนึ่งจากนักศึกษาชายแดนใต้ได้ไปได้จัดกิจกรรมเดินขบวนและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสันติหน้าสำนักงานสหประชาชาติประจำกรุงเทพมหานคร และวันนี้ที่ 25 ตุลาคม 2555 นักศึกษาชายแดนใต้ จากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ก็ประกาศและเรียกร้องให้ประชาชนชายแดนใต้ ร่วมรำลึก 8 ปีตากใบ ซึ่งตรงวันสำคัญทางศาสนา กล่าวคือวันที่ 9 เดือนซุลฮจญะฮฺ 1433 ซึ่งมุสลิมทุกคนควรถือศีลอด เพราะจะได้รับการอภัยโทษจากพระเจ้าสองปี (ปีที่ผ่านมาและปีต่อไป) รวมทั้งละหมาดฮาญัตในตอนกลางคืน เรียกร้องความเป็นธรรมให้เหยื่อตากใบและเร่งสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

กิจกรรมอย่างสันติของน้องนักศึกษาที่เลือกสันติวิธีเป็นนโยบายของหลักของแม่ทัพภาคสี่คนปัจจุบันมิใช่หรือ?  แต่ในทางปฏิบัติ พวกเขากลับถูกเหยียดหยามจากคนในชาติว่า นำเรื่องคนเสียชีวิตมาหากิน  มารำลึกทำไม จะทำให้สังคมแตกแยก หรือกำลังถูกบันทึกรายชื่อในทางลับจากหน่วยความมั่นคง

ความเป็นจริง การรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรืออื่นๆ ของคนส่วนกลางในทุกปีน่าจะเป็นคำตอบให้คนถามในสิ่งเหล่านี้  ว่าทำไมเหตุการณ์ 40 ปีแล้ว เขายังจัดรำลึกทุกปีและมีคนใหญ่คนโตทั้งฝ่ายรัฐหรือฝ่ายค้านไปร่วมทุกปี แต่พอเด็กชายแดนใต้จะจัดบ้างกลับถูกมองในแง่ลบตลอด และมีสัมภาษณ์เชิงข่มขู่จากผู้ใหญ่ในกระทรวงกลาโหม

ทัศนะในทางบวกดังตัวอย่างการจัดงาน การสืบสานเจตนารมย์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ผ่านมาก็คือ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไม่ควรเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์  เหตุเพราะประวัติศาสตร์จะมีความหมายได้ก็ต่อเมื่อคนรุ่นหลังหรือคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ควรให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้สืบทอดเหตุการณ์  ถ้าให้คนในเหตุการณ์เป็นผู้สืบทอด ประวัติศาสตร์ก็จะเป็นเรื่องราวที่พูดถึงกันในวงเสวนามากกว่า

นอกจากนี้ในเวทีรำลึกยังมองว่า ไม่ควรจัดงานรำลึกเหตุการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ควรเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างแท้จริงต่อไปด้วย

เมื่อการเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ล่วงเลยมา 39 ปีแล้วสามารถทำได้ โดยสิทธิพลเมืองไทย  การรำลึก เหตุการณ์ตากใบที่เพิ่งผ่านมา 8 ปี ก็สมควรยิ่ง แต่จะต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และหากเป็นไปได้จะต้องสร้างให้คนชายแดนใต้มีความเข้าใจว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เข้าใจสิทธิความเป็นพลเมือง (โดยเฉพาะเป็นพลเมืองของอัลลอฮ์สำหรับมุสลิม) ตราบนั้นประชาชนก็จะไม่เป็นเครื่องมือของใคร ไม่ว่ารัฐ หรือนักการเมือง หรือแม้กระทั่งคนที่แอบอ้างจากขบวนการที่จะทำเพื่อศาสนาและชาติพันธุ์   และกระแสเงินก็จะซื้อประชาชนไม่ได้ในการเมืองทุกระดับอีกต่อไป

จงสู้ต่อไปนักศีกษา และอัลลอฮ์ได้โองการความว่า ฉัน(อัลลอฮ์) มิได้สร้างญินและมนุษย์เพื่ออื่นใด นอกจากเคารพภักดีต่อพระองค์ (บริสุทธิ์ใจ)

ท้ายนี้ขอฝากประโยคเหล่านี้แด่ผู้พลีชีพที่ตากใบ

 

วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว
เคยมีคนกลุ่มหนึ่ง
ใช้สิทธิแห่งพลเมือง
เรียกร้องความยุติธรรมให้แก่เพื่อนพลเมือง
...

ด้วยหมายมั่น และมั่นใจ
ว่าปลอดภัยไร้คุกคาม
เนื่องด้วยความอารยะแห่งรัฐ
ที่ประกาศก้อง กังวาลไกล ไปทั่วหล้า

แต่แล้ว เหตุการณ์กลับตาลปัตร
รัฐรุกขึงใช้กำลัง
พลเมือง ยินยอม ไม่ริรอนต่อต้านใดๆ

สะเทือนใจเสียยิ่งกว่า
เมื่อคนมือเปล่า สู้รบกับมือปืน
มือเปล่ายกมือ มือปืนยกปืน

ปัง ปัง ปัง
เสียงดังฟังชัด ร่างแน่นิ่ง ไม่ไหวติง

ถม ถม ทับ ทับ
ยัดร่างให้แน่นรถ แล้วค่อยๆ ตะบึงไป

เบิ่งตาให้ชัด
ใช้พี่น้องของท่านหรือไม่
ใช่พลเมืองแห่งรัฐหรือไม่
ที่ตายไป

ถึงวันนี้ความผิดไม่มี
คนผิดไม่เจอ
แต่คนมั่งมีมากมาย

แด่วีรชน ตากใบ
ผู้ผนึกตราประทับแห่งความอยุติธรรม
ณ กลางดวงจิตแห่งข้าพเจ้า
..................................................................................
---M.Fahmee Talib---
http://www.facebook.com/#!/ana.syuhadaa/posts/477269995651627

 

 

 


[i] กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้
ฝ่ายวิชาการโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะจังหวัดชายแดนใต้
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา         
Shukur2003@yahoo.co.uk
http://www.oknation.net/blog/shukur

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI เผยขึ้นค่าแรง 300 ทั่วปท. GDP ลด 2% เสนอขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป-มีทิศทางชัดเจน

Posted: 25 Oct 2012 03:34 AM PDT

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ชี้ยากที่ต่อไปการพัฒนาประเทศจะพึ่งค่าแรงต่ำ เสนอควรจะขึ้นค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไป มีทิศทางชัดเจน และขึ้นกับปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่าทางการเมือง


(25 ต.ค.55) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ในงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษา เรื่อง "อุตสาหกรรมไทยจะแข่งขันอย่างไร ภายใต้ค่าแรงที่สูงขึ้น" ซึ่งจัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม  ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้กล่าวถึงผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากกรณีที่จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท ทั่วประเทศ 1 ม.ค.56 นี้
 

สมเกียรติ กล่าวโดยสรุปถึงผลการศึกษาว่า เป็นการยากที่ต่อไปการพัฒนาประเทศไทยจะพัฒนาโดยอาศัยค่าแรงต่ำ เพราะปัจจัยแรกโครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุจึงเริ่มขาดแคลนแรงงาน ในขณะเดียวกันแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อบ้านก็ได้กลับไปเมื่อมีการเปิดประเทศ คือ กรณีของพม่า ปัจจัยต่อมาคือนโยบายของภาครัฐ เชื่อว่านโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จะใช้การหาเสียงกับประชาชนในเรื่องการขึ้นค่าจ้างแรงงาน ซึ่งโดยภาพรวมแล้วการขึ้นค่าจ้างแรงงานเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้แรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถยกฐานะทางเศรษฐกิจได้

ประธานทีดีอาร์ไอ เสนอว่า การขึ้นค่าจ้างแรงงานนั้นควรจะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างมีแผนมีทิศทางชัดเจน เราเสนอว่าแทนที่จะปล่อยให้ค่าแรงอยู่ในระดับต่ำมานานแล้วการกระโดดขึ้นไป ในบางจังหวัดถึง 80% ในทันที เป็นเรื่องที่มีผลกระทบมากต่อธุรกิจ ทำให้ปรับตัวไม่ได้แล้วนโยบายของรัฐอาจได้รับการต่อต้าน วิธีการที่เหมาะสมกว่าคือภาครัฐควรจะกำหนดนโยบายค่าแรงในระยะยาวขึ้นมา เช่น เราเสนอว่าควรกำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดูปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ประการแรกดูจากผลผลิตจากแรงงานหรือผลิตภาพแรงงาน บวกด้วยอัตราเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาใช้ในการปรับค่าจ้างแรงงาน

สมเกียรติ กล่าวว่า ถ้ามีการส่งสัญญาณแบบนี้แต่เนิ่นๆ แล้วก็ปรับด้วยข้อมูลที่ทันสมัยทุกปีๆ ภาคธุรกิจก็จะเห็นว่าเส้นทางของค่าจ้างแรงงานในอนาคตจะขึ้นไปอย่างไร ธุรกิจก็จะสามารถปรับตัวได้ ไม่ว่าจะปรับตัวไปโดยย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ หรือการเอาเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน หรือยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีหรือทำกิจกรรมต่างได้เพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงานให้ขึ้นมาได้ผลกระทบก็จะไม่รุนแรง ภาคธุรกิจก็จะสามารถปรับตัวและยกระดับสู่อีกจุดหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์และมีการกระจายรายได้ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการขึ้นค่าแรงงานขึ้นต่ำ 300 บาท ที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 56 นั้น ประธานทีดีอาร์ไอ มองว่าจะส่งผลพอสมควร คือ GDP ของไทยก็จะโตช้าลง หากไม่มีมาตรการใดๆ ในฝ่ายธุรกิจออกมา โดยการศึกษาของ TDRI พบว่าจะลดไปประมาณ 2% อย่างไรก็ตามหากมีการปรับวิธีการทำงาน ปรับผลิตภาพของภาคธุรกิจ ผลกระทบก็จะไม่รุนแรงมาก

ในส่วนข้อเสนอให้มีการนำเครื่องจักรมาใช้เพิ่มหรือทดแทนแรงงานนั้น สมเกียรติ ยืนยันว่าสำหรับประเทศไทยไม่มีความวิตกกังวลที่เราจะเอาเครื่องจักรมาใช้เพิ่ม เพราะว่าการจ้างงานในประเทศไทยเป็นการจ้างงานที่ตึงตัวอยู่ตลอดเวลา จะเห็นว่าพอสำรวจอัตราการว่างงานก็มักจะต่ำว่า 1% หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่เกิน 2% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมาก ในประเทศมีแรงงานไม่พอใช้เราก็มีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศเข้ามา เพราะฉะนั้นการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนจึงไม่เป็นปัญหา และควรจะต้องเอามาใช้เพื่อยกระดับการผลิตให้มีผลิตภาพสูงขึ้น และจะช่วยให้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วย

รวมทั้งการลดการจ้างงานจากที่ศึกษานั้นพบว่าจะลดจากที่ไม่มีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำลดลงประมาณ 1 ล้านคน แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาการว่างงาน เราขาดแคลนแรงงานอยู่แล้วจึงไม่ได้เป็นประเด็น ประเด็นคือการเติบโตเศรษฐกิจจะลดลง ถ้าไม่มีมาตรการอื่นมาเสริมก็จะก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมามากกว่า

สมเกียรติ มองว่า ธรรมชาติของการเมืองในระบบประชาธิปไตยอยู่แล้วที่รัฐบาลควรจะต้องหาเสียงจากผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เกิดความสมดุลแต่ละภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน นักธุรกิจและภาควิชาการ คงต้องคุยกันและหาทางออกร่วมกันที่ทุกฝ่ายเดินไปได้ แต่ถ้าแต่ละฝ่ายไม่มีความเห็นพ้องต้องกันเดินไปคนละทางในที่สุดรัฐบาลก็คงทำตามเสียงเฉพาะผู้เลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้น

"เพียงแต่ว่าเราอยากเห็นว่าต่อไปเรื่องค่าจ้างแรงงานควรจะเป็นเรื่องที่ขึ้นกับปัจจัยทางเศรษฐกิจมากขึ้น มากกว่าขึ้นกับการตัดสินใจทางการเมืองโดยพรรคการเมืองอย่างเดียว เพราะการตัดสินใจโดยดูจากการเมืองอย่างเดียวมักมีแนวโน้มมองระยะสั้นเกินไปและผลกระทบระยะสั้นก็จะสูงทำให้มีปัญหาต่อระยะยาว"

สมเกียรติ ย้ำด้วยว่าให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลและเอกชนมองในระยะยาว เพราะการฝึกอบรมแรงงาน การยกระดับการผลิตของธุรกิจเองทำไม่ในเวลา 2-3 เดือน ต้องวางแผนกันเป็นปี 2 ปี ทำจริงๆ ทำการวิจัยและพัฒนาให้เห็นผลอาจใช้ 5 ปีขึ้นไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ป.ป.ช.' รับสอบ 'กสทช.' จัดประมูล 3G

Posted: 25 Oct 2012 03:04 AM PDT

วันนี้ (25 ต.ค.55) เมื่อเวลา 14.00 น. นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่ออกใบอนุญาตการประมูลคลื่น 3G

โดย ป.ป.ช.ได้พิจารณาจากคำร้องหลักของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่ยื่นคำร้องเข้ามาให้ทาง ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบว่าการประมูลคลื่น 3G ไม่ได้เป็นการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และพฤติการณ์ของคณะกรรมการ กทค.ที่เร่งรัดมีมติเห็นชอบการประมูลดังกล่าว ว่าเป็นคำร้องผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 14 ซึ่งถือเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. จึงให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยที่ประชุมมอบหมายให้นายภักดี โพธิศิริ และนายใจเด็ด พรไชยา 2 กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยคาดว่าจะเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเข้าเป็นคณะอนุกรรมการฯภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแล้วเสร็จก็จะเร่งดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว

 

'สุภิญญา' เสนอวาระเร่งด่วน ให้บอร์ดใหญ่ร่วมใช้ดุลพินิจรับรองผล 3G
(24 ต.ค.55) สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำหนังสือถึง พลอากาสเอกธเรศ  ปุณศรี ประธาน กสทช. เรื่อง ขอให้นัดประชุม กสทช.วาระเร่งด่วนเรื่องการรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz โดยเห็นว่า หลังจากผลการประมูลคลื่นความถี่ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่ายถึงผลการประมูลว่า ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริง และสุ่มเสี่ยงที่จะต้องรับผิดชอบทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องจากวุฒิสมาชิกหลายท่านที่เห็นว่า ควรมีการประชุม กสทช. อย่างเร่งด่วนเพื่อหารือถึงการรับรองผลการประชุม เนื่องจากการประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมาเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะอย่างมหาศาลและเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจติดตามจากสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง 

อีกทั้งการตัดสินใจดำเนินการใดๆ ยังมีผลทางกฎหมายต่อคณะกรรมการ กสทช. ทั้งคณะ 11 คน ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 นอกจากนี้ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ในข้อ 18 ยังระบุว่า "ให้ประธานกรรมการเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ให้คณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ถือเป็นที่สุด" ทั้งนี้ "คณะกรรมการ" ตามที่ระบุในประกาศหมายถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ดังนั้น ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ที่ลงนามโดยประธาน กสทช.  จึงถือเป็นหน้าที่ของประธาน กสทช.ในการเรียกประชุมตามที่ระบุในข้อ 18 ของประกาศฉบับดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า ประกาศของ กสทช. มีทั้งที่ลงนามโดย พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ดังเช่นกรณีของประกาศ 3G, ประกาศเรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555 เป็นต้น ขณะที่ประกาศบางฉบับที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พบว่าลงนามโดยประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ปฏิบัติหน้าที่แทน ประธาน กสทช.

 

 

ที่มา: ส่วนหนึ่งจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ จี้ ผู้รับผิดชอบกรณี 'ตากใบ' ต้องถูกนำมาลงโทษ

Posted: 25 Oct 2012 02:52 AM PDT

องค์กรสิทธิมนุษยชนจี้ การเสียชีวิตของผู้ประท้วง 85 คนในเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 8 ปีก่อนต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกนำมาดำเนินการตามกม. ชี้การให้ค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายยังไม่เพียงพอ 

25 ต.ค. 55 - เนื่องในวันครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์ตากใบ ซึ่งเป็นการสลายการชุมนุมโดยทหารต่อผู้ประท้วงที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 85 คน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลนำผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมาดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย พร้อมชี้ว่า ถึงแม้ทางการไทยจะจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เสียหายเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็ย้ำว่า ยังไม่เพียงพอต่อการนำมาซึ่งความยุติธรรม แต่รัฐไทยจำเป็นต้องยุติปัญหาการลอยนวลของเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้ เหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ที่อ. ตากใบ จ. นราธิวาส มีผู้ชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องให้ปล่อยตัวชายท้องถิ่น 6 คนซึ่งถูกจับกุมก่อนหน้านี้ ตำรวจจึงได้เรียกกำลังเสริมจากกองทัพเพื่อมาควบคุมสถานการณ์ หลังจากการปะทะและตอบโต้ทางกำลัง ผู้ชุมนุมและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หลายร้อยคนได้ถูกจับกุม ถอดเสื้อ ผูกมือไพล่หลังและถูกให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นในแนวราบ ต่อมาทหารได้ขนย้ายผู้ชุมนุมไปนอนซ้อนกันบนรถบรรทุกห้าถึงหกชั้น และเมื่อรถดังกล่าวมาถึงค่ายทหารอีก 3 ชั่วโมงถัดมา ก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตหลายคนจากการขาดอากาศหายใจ
 
00000
 
ประเทศไทย: ความตายของผู้ประท้วง 85 คนต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกลงโทษ
 
            เจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของไทยผู้ซึ่งรับผิดชอบต่อการเสีย
ชีวิตของผู้ประท้วง 85 คนเมื่อแปดปีที่แล้ว ที่อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส ต้องถูกนำ
ตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
 
           เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 กองกำลังความมั่นคงยิงปืนใส่ผู้ประท้วง
ด้านนอกสถานีตำรวจภูธรตากใบ
 
            มีผู้เสียชีวิต 7 คนในที่เกิดเหตุ และอีก 78 คนถูกทับหรือขาดอากาศ
หายใจจนเสียชีวิตในระหว่างการใช้รถทหารขนส่งพวกเขาไปควบคุมตัวที่ค่ายทหาร
 
            "เป็นเรื่องน่าละอายที่ไม่มีผู้ใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
จากกรณีความตายนี้ และที่ผ่านมามีการปล่อยให้ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงกรณี
อื่นๆ ลอยนวลไม่ต้องรับโทษ ในระหว่างการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในภาคใต้ของไทย"
อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) ผู้อำนวยการแผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอ
มเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
 
            "โชคร้ายที่กรณีนี้สะท้อนปัญหาการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่
ร้ายแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นในภาคใต้และตลอดทั่วประเทศ"
 
            พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.
ฉุกเฉินฯ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 และมี
ลักษณะที่ริดลอนสิทธิและเสรีภาพ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่ต้องรับผิดทาง
อาญา กฎหมายฉบับนี้ต้องถูกยกเลิกโดยทันที หรือให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้
ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนได้
 
            ในปี 2555 ทางการได้ดำเนินการที่น่ายินดีในการให้ค่าชดเชยกับครอบ
ครัวของผู้เสียหายจากการประท้วงที่ตากใบ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิด
สิทธิมนุษยชนในภาคใต้ อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ยังไม่เพียงพอ
 
            "การให้เงินกับผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้หมายความ
ว่าทางการหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องนำตัวผู้รับผิดชอบมาเข้าสู่กระบวนการ
ยุติธรรม และการให้การเยียวยาอย่างเต็มที่ต่อผู้ได้รับผลกระทบ การให้ค่าชดเชย
นี้ยังไม่อาจประกันว่าการละเมิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต" อาร์ราดอนกล่าว
 
            ในเดือนมิถุนายน 2555 ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธโอกาสของผู้เสียหายจากกรณี
ตากใบอีกครั้งหนึ่งในการเรียกร้องความยุติธรรม โดยมีคำสั่งยกคำร้องต่อการ
อุทธรณ์คำสั่งไต่สวนการตายเมื่อปี 2552 เนื่องจากคำสั่งศาลจากการไต่สวนการตาย
เมื่อเดือนตุลาคม 2547 ระบุเพียงว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงปฏิบัติหน้าที่ทาง
ราชการ
 
            นับแต่ปี 2547 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,000 คนจากการขัดแย้งกันด้วย
อาวุธระหว่างรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ทั้งสองฝ่าย
ต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่
สงบเลือกสังหารเป้าหมายที่เป็นพลเรือน และยังโจมตีพลเรือนจนเสียชีวิตอย่างไม่
เลือกหน้า
 
            "ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในภาคใต้เป็นเรื่องน่าเศร้า การโจมตีก็
มุ่งให้เกิดความหวาดกลัวในบรรดาพลเรือน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อ
วัน การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเช่นนี้เป็นปัญหาท้าทายร้ายแรงต่อ
กลไกด้านความมั่นคงของไทย การรักษาความสงบของสาธารณะต้องดำเนินไปพร้อม
กับการเคารพสิทธิมนุษยชน และต้องไม่ขัดขวางกระบวนการลงโทษผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ไม่ว่าผู้ละเมิดนั้นจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือผู้ก่อความไม่สงบ" อาร์ราดอนกล่าว  
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: กษัตริย์หลากสีสัน

Posted: 25 Oct 2012 12:42 AM PDT

บทบาททางการเมืองของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์ของกัมพูชา นับว่ามีความน่าสนใจและมีสีสันอย่างยิ่ง นับตั้งแต่บทบาทในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชให้ประเทศกัมพูชา การโลดแล่นในทางการเมืองระหว่างประเทศ การเข้ามาเป็นผู้นำในบทบาทนักการเมืองในสนามการเมือง จนพระองค์ถูกขนานนามว่า เป็น "กษัตริย์แอคติวิส" ภายหลังโลดแล่นอยู่บนถนนการเมืองที่มีทั้งขึ้นและลงมายาวนาน ในที่สุดพระองค์ก็เป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญในสมัยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ตราบจนทรงสละราชย์สมบัติ ลดบทบาททางการเมือง และเสด็จสวรรคต อันเป็นการปิดฉากชีวิตในโรงละครโรงใหญ่ที่พระองค์ทรงเฉิดฉายและโดดเด่นมาตลอดพระชนม์ชีพ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น