โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘คนสะเอียบ’ กร้าว! ห้าม ‘5 บริษัทที่ปรึกษา 1 มหาวิทยาลัย’ หนุนเขื่อนเข้าพื้นที่

Posted: 12 Oct 2012 02:46 PM PDT

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ ประกาศกร้าว หมายหัว 5 บริษัทที่ปรึกษา 1 มหาวิทยาลัย หนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น ห้ามเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด ประกาศไม่รับรองความปลอดภัย

 
 
เมื่อวันที่ 12 ต.ค.55 คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ แถลงการณ์ห้าม 5 บริษัทที่ปรึกษา และ 1 มหาวิทยาลัยเข้าพื้นที่ ชี้หนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น ระบุจากการที่บริษัทที่ปรึกษาได้ติดต่อประสานงานขอเข้าสำรวจพื้นที่ และประชุมชี้แจงการศึกษาผลกระทบการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กับชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยนายถาวร บุญราศี พนักงานของบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ประสานงานขอเข้าประชุมกับชาวบ้าน ต.สะเอียบ
 
แถลงการณ์ ระบุด้วยว่า คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ได้ประชุมกรรมการรวมจำนวนกว่า 100 คน ได้มีมติเป็นเอกฉันยืนยันตามมติของชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านกว่า 1,000 คน ที่ได้ลงความเห็นไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ไม่ให้บุคล เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด โดยนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ได้แจ้งทางโทรศัพท์ให้กับนายถาวร บุญราศี ได้ทราบแล้ว 
 
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้มีมติให้เพ่งเล็งบุคคล เจ้าหน้าที่ และหน่วยงาน ประกอบด้วย 1.บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ เช่น นายถาวร บุญราศี เป็นต้น 2.บริษัท วายพี คอนซัลแตนท์ จำกัด 3.บริษัท สยาม-เทค กรุ๊ป จำกัด 4.บริษัท ทีม คอนซัลติ้งฯ ทีม กรทีมกรุ๊ป และ 5.บริษัทสี่แสงการโยธา รวมทั้งมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นพิเศษ โดยหากชาวบ้านพบเห็นให้เชิญตัวมาสอบที่ศาลาวัด และไม่รับรองความปลอดภัย
 
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังมีมติไม่ให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่นำทีมโดย นางอรพินท์ เอี่ยมศิริ นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำการศึกษาและสรุปว่าต้องเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งที่มีทางเลือกอื่นๆ อีกมากมาย และเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตั้งกรรมการสอบจริยธรรมทางวิชาการ นางอรพินท์อีกด้วย
 
ในตอนท้ายแถลงการณ์ระบุว่า คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ขอยืนยันและประกาศต่อสาธารณะชนว่า ห้ามบุคคล เจ้าหน้าที่ หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด และไม่ต้องติดต่อประสานงานเข้ามาอีก รวมทั้งบริษัทจีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง ที่หวังมาสร้างเขื่อน ก็ไม่ต้องเข้ามาเช่นกัน หากชาวบ้านพบจะไม่รับรองความปลอดภัย 
 
"ชาวสะเอียบจะดำเนินการสืบสานเจตนารมณ์ตามอุ๊ยปิง สะเอียบคง บรรพบุรุษของเราที่กล่าวไว้ว่า ให้เอาระเบิดมาทิ้ง ให้เราตายทั้งสะเอียบ ขนศพเราไปทิ้ง แล้วค่อยสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น" แถลงการณ์ระบุ
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จอม เพ็ชรประดับ

Posted: 12 Oct 2012 10:19 AM PDT

"หน้าที่หลักของสื่อมวลชนคือการตรวจสอบผู้มีอำนาจ ครั้งหนึ่งเพื่อไทยไม่มีอำนาจ แต่เมื่อเขามีอำนาจแม้ว่าคนเสื้อแดงจะสนับสนุนแต่อย่าลืมว่าประชาชนต้องตรวจสอบผู้มีอำนาจ สื่อมวลชนต้องตรวจสอบผู้มีอำนาจ ถ้าบอกว่าไม่ต้องตรวจสอบเพราะเราเป็นกลุ่มเดียวกัน ไม่ต้องตั้งคำถาม ผมทำเพื่อคุณอยู่แล้ว ไม่มีทางที่เราจะมีความเชื่อมั่นได้"

ใน คุยกับจอม เพ็ชรประดับ ในวันรายการหลุดผัง (อีกแล้ว)

นักฟุตบอลมุสลิมอาจประท้วง "ไม่สวมเสื้อ" สปอนเซอร์ขัดหลักศาสนา

Posted: 12 Oct 2012 09:11 AM PDT

4 นักเตะมุสลิมของทีมนิวคาสเซิลในศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษ อาจประท้วงไม่ใส่เสื้อสปอนเซอร์คาดอกเสื้อบริษัทปล่อยเงินกู้ สภามุสลิมฯ ชี้ขัดกับกฎของศาสนาอิสลาม ที่จะต้องไม่รับผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยจากการให้ยืมเงิน หรือรับเงินจากผู้อื่น



เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 55 ที่ผ่านมา Telegraph รายงานว่าสภามุสลิมแห่งสหราชอาณาจักร (The Muslim Council of Britain's - MCB) ได้วิจารณ์ถึงกรณีผู้สนับสนุนรายใหม่ของทีมนิวคาสเซิล (Newcastle) คือบริษัทปล่อยเงินกู้วองก้า (Wonga) ที่พึ่งเซ็นต์สัญญาสนับสนุนทีมนิวคาสเซิล 4 ปี มูลค่าถึง 24 ล้านปอนด์ รวมถึงได้แนะนำให้ 4 นักเตะที่เป็นมุสลิมในทีมนิวคาสเซิลตระหนักถึงหลักศาสนา

โดยวองก้ามีชื่อเสียงไม่ค่อยดีนักเกี่ยวกับการทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ที่มีความ "เคี่ยว" สูง สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้บริโภครวมถึงสหภาพแรงงาน แต่การเข้ามาของวองก้า ก็ได้พยายามซื้อใจแฟนบอลนิวคาสเซิล ด้วยการเปลี่ยนชื่อสนามจากข้อตกลงทางธุรกิจที่เคยทำกับผู้สนับสนุนรายเก่า มาเป็นเซนต์เจมส์ปาร์ค (St James' Park) เช่นเดิม

ทั้งนี้มีการคาดหมายกันว่า 4 นักเตะตัวหลักซึ่งนับถือศาสนาอิสลามอย่าง เดมบา บา (Demba Ba), ปาปิส ซิสเซ (Papiss Cisse), ชีค ติโอเต (Cheick Tioté) และ ฮาเตม เบนอาร์ฟา (Hatem Ben Arfa) อาจจะปฏิเสธที่จะไม่ใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์ของวองกาคาดอกในฤดูกาลถัดไป ทั้งนี้ภายใต้กฎหมายอิสลามชาวมุสลิมจะต้องไม่รับผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยจากการให้ยืมเงิน หรือรับเงินจากผู้อื่น

เชย์ค อิบราฮิม โมกรา (Shaykh Ibrahim Mogra) ผู้ช่วยเลขานุการทั่วไปสภามุสลิมแห่งสหราชอาณาจักรกล่าวกับ Independent ว่ามีสองมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเรามีความเชื่อทางหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละบุคคลที่จะปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามก็ได้  โดยหลักคิดสำหรับกรณีนี้ก็คือเพื่อป้องกันคนรวยแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มคนจน

อนึ่งในอดีตเฟเดอริก กานูเต (Frédéric Kanouté) อดีตกองหน้ามเวสต์แฮม (West Ham) เคยปฏิเสธที่จะใส่เสื้อแข่งของทีมเซบียา (Seville) เมื่อครั้งที่เขาย้ายไปเล่นที่สเปน เนื่องจากมีผู้สนับสนุนเป็นเว็บไซต์การพนันชื่อดังอย่าง 888.com โดยสโมสรก็อนุญาตให้เขาสวมเสื้อที่ไม่มีโลโก้ของ 888.com (หมายเหตุ: ทั้งนี้กานูเตกลับมาใส่เสื้อที่มีโลโก้ 888.com ในภายหลัง)

"เฟรดดี้ (เฟเดอริก กานูเต) ได้รับอนุญาตให้ไม่ต้องสวมเสื้อที่มีโลโก้ 888.com และนั่นก็เป็นคำขอที่สมเหตุสมผลจากนักฟุตบอลเอง" โมกรา กล่าวเพิ่มเติม "สมมติว่านักเตะทั้ง 4 (บา, ซิสเซ, ติโอเต และเบน อาร์ฟา) อยู่ในสนามในเวลาเดียวกัน คุณก็จะยังมีผู้เล่นอีก 7 คนที่ใส่เสื้อที่มีโลโก้นี้อยู่ ผมเชื่อว่าไม่ได้เป็นการขอที่มากเกินไปนะ"

"นอกจากนี้มันไม่ได้มีแค่บริษัทปล่อยเงินกู้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทรับพนัน และบริษัทเครื่องดื่มแอลกฮอลล์อีกด้วย ผมกำลังคุยกับองค์กรทางด้านกีฬาและรัฐบาลในเรื่องนี้ เพื่อมาช่วยกันดูว่าเราจะขีดเส้นไว้ตรงไหนสำหรับการโฆษณาในการแข่งขันกีฬา" โมกรา กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนทนากับหนึ่งในบล็อกเกอร์ที่ทางการเวียดนามต้องการตัว

Posted: 12 Oct 2012 07:55 AM PDT


เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เหงียน เติ๋น สุง นายกรัฐมนตรีของเวียดนามออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์รัฐบาล สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนและจัดการกับผู้อยู่เบื้องหลังบล็อกภาษาเวียดนาม 3 แห่งที่เขียนโจมตีรัฐบาล โดยระบุว่านี่เป็นแผนชั่วร้ายของกองกำลังฝ่ายศัตรู พวกเขาเหล่านั้นจะต้องโทษอย่างหนัก รวมถึงสั่งห้ามไม่ให้ข้าราชการเข้าไปอ่านหรือแชร์บล็อกเหล่านี้ด้วย

องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) รายงานว่า ปัจจุบัน มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 5 คนและพลเมืองเน็ต 19 คนถูกจับกุมตัวในเวียดนาม ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศที่มีการคุมขังบล็อกเกอร์และผู้เห็นต่างในโลกไซเบอร์ มากเป็นอันดับสามของโลก รองจากจีนและอิหร่าน รวมถึงติดอยู่ใน 1 ใน 12 ประเทศที่องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดให้เป็น "ศัตรูอินเทอร์เน็ต" ด้วย

"ประชาไท" มีโอกาสได้สัมภาษณ์ "D." ชาวเวียดนามวัย 25 ปี หนึ่งในบล็อกเกอร์ของบล็อก Dan Lam Bao (แปลว่านักข่าวพลเมือง) หนึ่งในสามบล็อกที่รัฐบาลเวียดนามต้องการตัว เขาเล่าว่าแถลงการณ์นั้นเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงบล็อกของเขา แม้ว่าบล็อกของเขาจะถูกบล็อคมาตลอดนับแต่เปิดตัวได้ไม่นาน นั่นเพราะที่ผ่านมา การจับกุมผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ปัญหาคอร์รัปชั่น และการจับกุมนักสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้นภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้

ประชาไท: คุณทำอะไรบ้าง
D.: มอนิเตอร์เว็บไซต์ โพสต์ข่าว ตรวจแก้บทความ และดูแลความปลอดภัยของเว็บไซต์

ข่าวและบทความมาจากไหน
มาจากในเวียดนาม บางทีมาจากคนในรัฐบาล บางทีก็มาจากชาวนา หลากหลายอาชีพ บางครั้งก็มาเป็นข่าวแล้ว บางครั้งก็ต้องตรวจแก้และตรวจข้อเท็จจริง

บล็อกของคุณเปิดมานานแค่ไหนแล้ว
เกือบสองปีแล้ว เนื่องจากประเทศของผม รัฐบาลไม่อนุญาตให้มีสื่ออิสระ แม้จะมีสื่อกว่า 700 สื่อแต่เกือบทั้งหมดก็ทำงานให้รัฐบาลพรรคเดียว คนในประเทศไม่มีเวทีสำหรับแสดงความเห็น ทำให้ผมกับเพื่อนๆ เริ่มทำบล็อกนี้ขึ้น เป็นสื่อพลเมือง

คุณบอกว่าไม่มีพื้นที่แลกเปลี่ยน แล้วโซเชียลมีเดียล่ะ
โซเชียลมีเดียตอนนี้เป็นที่นิยมมากในเวียดนาม แต่คนอื่นที่ไม่มีทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงได้ ผมคิดว่าเราสร้างเว็บๆ หนึ่งดีกว่า แค่จำยูอาร์แอล พวกเขาก็เข้ามาอ่านได้ทั้งหมด

แล้วสื่อต่างประเทศล่ะ
ผมไม่รู้ว่าสื่ออย่าง BBC VOA มีนักข่าวในเวียดนามไหม อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่สามารถโฟกัสได้ทั้งเวียดนาม เพราะถ้าคุณเป็นสื่อต่างประเทศ คุณจะอยู่ได้แค่ในเมืองหลวงคือฮานอย คุณออกไปข้างนอกไม่ได้ ถ้าต้องการออกไป ต้องทำหนังสือขออนุญาต ทำให้ยากจะรายงานเรื่องนอกฮานอยได้ และผมคิดว่าจะดีกว่าถ้าคนในประเทศเขียนข่าวและเผยแพร่ได้เอง

ยกตัวอย่างเมื่อหลายเดือนก่อน แม่ของบล็อกเกอร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเผาตัวเอง (เพื่อประท้วงกรณีที่รัฐบาลจับลูกสาวของเธอ-ประชาไท) ในจังหวัดหนึ่งที่ห่างไกลจากฮานอย สื่อต่างประเทศทำได้แค่ยกหูสัมภาษณ์ แต่สมาชิกของกลุ่มผมไปที่นั่น ถ่ายรูป และสัมภาษณ์ครอบครัวอย่างลับๆ ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลว่ามีตำรวจมาที่บ้านของเธอจำนวนมากและทำให้ครอบครัวของเธอหวาดกลัว

เนื้อหาแบบไหนที่บล็อกคุณเสนอ
เรื่องสิทธิมนุษยชน เขียนถึงสถานการณ์ปกป้องสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม

บางสื่อบอกว่านายกฯ โกรธ เพราะเว็บเสนอเรื่องส่วนตัวของนายกฯ
ใช่ เราพูดเรื่องจริง เรามีเอกสารที่พูดถึงเขาและครอบครัวซึ่งทุจริตอย่างมาก เขาปิดมันไม่ได้ เพราะคนในรัฐบาลซึ่งน่าจะเป็นผู้หวังดี ส่งมาให้

สถานการณ์ควบคุมสื่อในเวียดนามเป็นอย่างไรบ้าง
ควบคุมหลายทาง เมื่อหนังสือพิมพ์เสนอข่าวซึ่งรัฐบาลไม่พอใจ รัฐบาลก็จะโทรให้เอาออกได้ มีการเซ็นเซอร์ก่อนตีพิมพ์

รวมข่าวในทีวีรัฐด้วยไหม
บางช่องต้องขออนุมัติ บ้างเสนอได้เลย บล็อกเกอร์บางคนเช่นกัน เขาเขียนชื่อจริง เมื่อเขียนข่าวลงบล็อก ตร.ก็ติดต่อให้ลบออก แต่พวกเราทำแบบนิรนาม เขาจึงทำอะไรเราไม่ได้

พวกเขาพยายามแกะรอยคุณอยู่ไหม
พวกเขาพยายามหา ก็ไม่รู้สำเร็จไหม แต่ผู้อ่านบางรายซึ่งมาแสดงความเห็นในบล็อก เจอตำรวจเรียกไปสอบที่สถานีตำรวจ รวมถึงตามไปที่บ้านหลายครั้ง เพื่อถามว่าเข้ามาบล็อกของเราได้อย่างไร และบอกว่าพวกเขาเป็นผู้ก่อการร้าย

พวกเขาโดนข้อหาอะไรไหม
ไม่โดน ผมคิดว่านี่เป็นการเตือนและทำให้ครอบครัวของพวกเขาหวาดกลัว นอกจากนี้ ตำรวจนอกเครื่องแบบยังสะกดรอยตามผู้อ่านทุกวัน นานเป็นเดือนหรือสองเดือน

จำนวนผู้อ่านตอนนี้อยู่ที่เท่าไหร่
ล่าสุดที่เช็คใน Google Analysis มีการเรียกดู 500,000 ครั้งต่อวัน หลังการประกาศของรัฐบาล จำนวนผู้ติดตามอ่านก็มากขึ้น เขาบล็อคเว็บพวกเรา เกือบสองปีมาแล้ว หลังจากเปิดเว็บมาได้สามเดือน รวมถึงโจมตีทางไซเบอร์ เช่น DDos (Distributed Denial of Service หรือการใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมากติดต่อเครื่องปลายทางพร้อมๆ กันเกินกว่าที่ระบบจะสามารถรองรับได้-ประชาไท)

ความยากลำบากในการทำงานของคุณคืออะไร
นักข่าวพลเมืองของเราไม่สามารถทำงานได้อย่างเปิดเผย ต้องซ่อนตัว ไม่สามารถถือกล้องถ่ายรูปใหญ่ๆ ได้ ต้องใช้กล้องปากกา บางคนไม่มีทักษะการเขียนข่าว ไม่รู้จะเขียนอย่างไร บางครั้งพวกเขาก็ใช้วิธีเล่าให้ฟัง ผมก็เอามาเขียน ต้องรวมข้อมูลมาเขียนเอง และต้องดูแลด้านเทคนิค ซึ่งมีการโจมตีจากรัฐบาล

ความยากลำบากด้านครอบครัวล่ะ
มีแค่เรื่องคิดถึงบ้าน ผมไม่ต้องการพูดเรื่องงานกับครอบครัว เพราะกลัวเขาไม่สบายใจ มันจะดีกว่าที่ไม่พูด พ่อใช้อินเทอร์เน็ตไม่เป็น ผมติดต่อกับทางบ้านผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งรัฐบาลสามารถดักฟังได้ จึงคุยกันเรื่องทั่วไป

ครอบครัวคุณรู้ไหมว่าคุณคิดอย่างไรกับรัฐบาล
พวกเขารู้ เพราะตอนที่อยู่เวียดนาม ผมเป็นนักกิจกรรม มีปัญหากับรัฐบาลบ่อยๆ แต่พวกเขาคิดว่าเมื่อผมออกมาข้างนอกจะปลอดภัยกว่า

ผมคิดว่ารัฐบาลยังไม่เลิกตามผม พ่อบอกว่าตำรวจมาที่บ้านทุกอาทิตย์และถามถึงผม แม่ผมบอกไปว่าไม่รู้ และบอกว่าผมเป็นนักเรียน ซึ่งเดินทางไปอังกฤษบ้าง ออสเตรเลียบ้าง หรือรัสเซีย

รัฐบาลกลัวอินเทอร์เน็ต?
ผมคิดว่าเขาไม่ได้กลัวอินเทอร์เน็ต แต่เขากลัวเรื่องจริงจะถูกเผยแพร่ออกไป โดยที่เขาไม่สามารถตรวจสอบได้หมด ในเวียดนามตอนนี้ ประชาชนไม่ได้เชื่อในรัฐบาลแล้ว

ทำไม
ห้าปีก่อน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต้องใช้เงินจำนวนมาก คนเข้าถึงเพียง ทีวี หนังสือพิมพ์ของรัฐบาล คนในประเทศไม่สามารถเข้าถึงเรื่องจริงได้ แต่ตอนนี้ อินเทอร์เน็ตถูกมาก เกือบทุกคนสามารถเข้าถึง พวกเขาได้รู้ถึงเรื่องคอร์รัปชั่นของนายกฯ เรื่องสิทธิมนุษยชน จริงๆ แล้ว เขากลัวคนที่ใช้เน็ตเพื่อต่อต้านรัฐบาล

ตอนนี้เศรษฐกิจแย่ลง ยากจะหาเงินเลี้ยงครอบครัว ทำให้พวกเขาโกรธรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าคอร์รัปชั่น คนโกรธ

ในสายตาของคุณ คนรุ่นใหม่ด้วยกันในเวียดนาม สนใจเรื่องของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากขึ้นไหม
ไม่มาก แต่ก็เพิ่มขึ้น จำนวนของคนรุ่นใหม่ที่รู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ผมใช้เฟซบุ๊กเพื่อสื่อสารกับคนในเวียดนาม ได้เห็นว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมากต้องการรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เดือนที่แล้ว พวกเขาจัดกิจกรรมปั่นจักรยาน เพื่อประท้วงรัฐบาลที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น

ในการรณรงค์ให้รัฐบาลปล่อยตัวบล็อกเกอร์ที่เห็นต่างจากรัฐบาล จากที่คนเวียดนามจะกลัวตำรวจมาก ก็ออกมารวมตัวกันตอนที่บล็อกเกอร์สามคนต้องไปขึ้นศาล พวกเขาออกมาบอกให้ตำรวจจับพวกเขาได้เลย พวกเขาไม่สนใจ ซึ่งตำรวจก็จับพวกเขาราวสิบคนและปรับ แต่สำคัญคือพวกเขาไม่กลัว

คุณคาดหวังอะไรจากการเสนอข่าวในบล็อก
หวังว่าคนเวียดนามจะมีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น หวังว่าบล็อกจะสามารถบอกเรื่องจริงที่เกิดขึ้นได้ เหมือนชื่อเว็บที่แปลว่านักข่าวพลเมือง คือทุกคนเป็นสื่อได้

คิดว่าต้องทำอีกนานแค่ไหน
ไม่แน่ใจ แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นๆ แต่ทั้งหมดไม่ได้ขึ้นกับผมคนเดียว มันขึ้นกับประเทศด้วย เมื่อรัฐบาลไม่อนุญาตให้มีสื่ออิสระ เราก็จะทำต่อไป

เมื่อกี้บอกว่าดีขึ้นๆ แปลว่าที่รัฐบาลประกาศไม่กระทบกับบล็อกของคุณ?
เขาบล็อคเราตลอดเวลา โดยเปลี่ยนวิธีบล็อคไปมา แต่คนก็ยังพอเข้าได้ ผ่าน Tor (The Onion Router หรือเครือข่ายที่ช่วยปกปิดตัวตนของผู้ใช้และช่วยให้เรียกดูเว็บที่ถูกปิดกั้นได้) หรือ VPN (Virtual Private Network หรือเครือข่ายส่วนตัวเสมือน)

นอกจากรัฐบาลแล้วมีกลุ่มอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับพวกคุณไหม
มี บางคนเปิดบล็อกโจมตีเรา แต่ผมมองว่าพวกเขาทำไม่สำเร็จ เพราะอัพเดทบทความเพียงเดือนละครั้ง คนไม่รู้จัก

ตอนที่รัฐบาลพูดเรื่องนี้ สื่อรัฐบาลโจมตีเราด้วยเรื่องโกหก เช่น บอกว่าพวกเราเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองนอกประเทศ ซึ่งรัฐบาลจัดเป็นผู้ก่อการร้าย  แต่ก็มีบางสื่อที่เขาไม่อยากพูดถึงชื่อบล็อก แค่พูดว่า "บางบล็อก" เพราะกลัวคนอ่านเราจะไม่พอใจพวกเขา ตอนที่นายกฯ ออกแถลงการณ์เรื่องนั้น เรารายงานเรื่องนี้ด้วย หลังจากนั้น ห้าชั่วโมง มี 600 ความเห็นมาแสดงความไม่พอใจรัฐบาล ตอนนี้ คนอ่านสนับสนุนเรา เมื่อรัฐบาลพูดไม่ดีเกี่ยวกับเรา พวกเขาจะรู้สึกว่ารัฐบาลพูดถึงตัวเขาเองด้วย และโกรธมาก

นอกจากนี้ ตำรวจก็พยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างนักกิจกรรมและบล็อกเกอร์ กับบล็อกเหล่านี้ โดยบุกไปที่สำนักงานของพวกเขาเหล่านั้น เปิดดูอีเมลว่ามีการติดต่อกับเราหรือไม่ ผมคิดว่าเพื่อทำให้พวกเขากลัวและไม่สนับสนุนเราอีก 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

PATANI FORUM: การตื่นตัวของมุสลิมในสังคมไทย ช่วงปี พ.ศ.2510-2530

Posted: 12 Oct 2012 05:15 AM PDT

 

บทนำ

ในปัจจุบันของสังคมไทย ภาพของหญิงสาวที่แต่งตัวคลุมฮิญาบ ปกปิดร่างกายอย่างมิดชิด โดยไม่เปิดเผยส่วนใดๆ ของร่างกายเว้นแต่ใบหน้า และฝ่ามือ ถือเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นโดยทั่วไปของกลุ่มคนมุสลิมในสังคมไทย อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้โดยทั่วไป แต่การได้มาซึ่งฮิญาบในสังคมไทย มันใช่เป็นเรื่องกาย การเรียกร้องการคลุมฮิญาบที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มิได้เป็นเพียงแค่ข้อเรียกร้องในการแต่งกาย แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น กำลังแสดงให้เห็นว่า มุสลิมในสังคมไทย กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิบัติในคำสอนของศาสนาที่เข้มข้นขึ้น ในบทความชิ้นนี้จะนำเสนอ เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูอิสลามที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งจะได้เห็นถึงอิทธิพลที่เกิดขึ้นและนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย

การฟื้นฟูอิสลามกับบริบทโลก

การฟื้นฟูอิสลาม (Islamic revival) เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา ซึ่งการฟื้นฟูอิสลาม ไม่ใช่เป็นการสังคายนาหลักคำสอนที่มีอยู่เดิม แต่เป็นการนำคำสอนที่มีอยู่เดิมนั้น ไปสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้คนในยุคสมัยนั้นๆ การฟื้นฟูอิสลามจึงเป็นกระบวนการที่สร้างสังคมให้กลับไปสู่หลักคำสอนของอิสลามตามรูปแบบที่มีอยู่ดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีวิธีการที่หลากหลายในการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูอิสลาม เป็นการฟื้นฟูอิสลามได้มีรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลาย ไม่ได้เป็นอุดมการณ์ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ได้มีชาวมุสลิมหลายกลุ่มที่ใช้วิธีการต่างๆ นานาในการฟื้นฟูอิสลาม

การฟื้นฟูอิสลามสมัยใหม่ได้เริ่มเข้มข้นถึงในช่วงทศวรรษ 1970 ภายหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของโลกอิสลามในสมัยนั้น อีกทั้งยังคงมีการกล่าวอ้างว่าจักรวรรดิอุษมานียะห์คืออาณาจักรของคอลีฟะฮฺ ซึ่งการสูญเสียจักรวรรดิอุษมานียะห์ในครั้งนี้ส่งผลให้ระบอบคอลีฟะฮฺที่ปกครองกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 1300 ปีต้องสิ้นสุดลง พร้อมกับการที่ดินแดนของจักรวรรดิอุษมานียะห์ บริเวณตะวันออกกลางแทบทั้งหมดต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของประเทศยุโรป ทั้งต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงและทางอ้อม

 

ภาพ 1 แสดงแผนที่ให้เห็นถึงรัฐชาติสมัยใหม่ในตะวันออกกลาง หลังจากสิ้นสุดอาณาจักรอุษมานียะห์ รวมถึงประเทศเจ้าอาณานิคม และปี ค.ศ. ที่ประเทศในตะวันออกกลางได้รับเอกราช

โดยที่กระแสของการฟื้นฟูอิสลามเริ่มก่อตัวในตะวันออกกลางด้วยปัจจัยหลักที่ว่า สังคมมุสลิมเริ่มที่จะอ่อนแอและล้าหลัง ประกอบกับปัจจัยที่ว่า อเมริกา ผู้นำในสังคมโลกขณะนั้นได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐอิสราเอล ขึ้นในแผ่นดินปาเลสไตน์ ซึ่งพลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับ ประเทศในตะวันออกกลางได้มีความร่วมมือกันทำสงครามเพื่อขับไล่ชาวอิสราเอลออกจากปาเลสไตน์ แต่ทุกครั้งที่เกิดสงครามขึ้น อเมริกาได้มีการสนับสนุนชาวอิสราเอล ทำให้ชาวอาหรับได้รับความปราชัยในสงครามทุกครั้ง ด้วยเหตุนี้เอง ประเทศอาหรับได้เกิดความไม่พอใจต่ออเมริกาจึงลดการส่งน้ำมันให้กับอเมริกา จนทำให้เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันแพง ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นทันที อีกทั้งการพุ่งสูงขึ้นของราคาน้ำมันยังส่งผลกระทบข้างเคียงไปถึงราคาเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ รวมไปถึงต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ด้วยเหตุที่ค่าน้ำมันได้มีราคาที่สูงขึ้น ได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่กลุ่มประเทศอาหรับ และกลุ่มประเทศอาหรับได้นำผลกำไรนี้เอง มาเป็นทุนการศึกษาให้แก่มุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้เดินทางไปศึกษาและสัมผัสกับวัฒนธรรมอิสลามในตะวันออกลาง และหลังจากจบการศึกษาได้นำความรู้ที่ได้รับมาเผยแพร่ยังพื้นที่ของตนเอง

การปฎิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี ค.ศ. 1978-1979 ของอิหม่ามอยาตุลลอฮ์ โคมัยนี  ในการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ เรชา ชาห์ ปาลาวี และอิหร่านได้ดำเนินการปกครองแบบอิสลาม ใช้รัฐธรรมนูญตามหลักการอิสลามปกครองประเทศ โดยในการปฏิวัติอิหร่านนั้น ได้สร้างความต้องการให้มุสลิมในพื้นที่อื่นๆ มีความต้องการในการปฏิวัติประเทศของตนเอง เพื่อให้มีการปกครองในระบอบการเมืองอิสลาม เฉกเช่นเดียวกับอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ด้วยความแตกต่างทางความเชื่อระหว่างอิหร่าน กับมุสลิมทั่วไป ที่อิหร่านเป็นมุสลิมชีอะฮ์ แตกต่างจากมุสลิมซุนนีย์ ที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของโลกมุสลิม การปฏิวัติอิหร่าน จึงมีฐานะเพียงแค่อุดมการณ์ในการปฏิวัติอิสลาม มิใช่การนำรูปแบบการปกครองแบบมุสลิมชีอะฮ์ ที่ใช้ในประเทศอิหร่าน มาเป็นรูปแบบปกครองประเทศมุสลิมอื่นๆ แต่ถึงอย่างไร การปฏิวัติอิหร่านในครั้งนั้น ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันแนวคิดการฟื้นฟูอิสลามให้แก่สังคมมุสลิมโดยทั่วไป

การดำเนินงานเพื่อการฟื้นฟูอิสลามที่มีหลากหลายรูปแบบที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นนั้น เช่น การติดอาวุธเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่ตัวเองต้องการ คือ การตั้งรัฐอิสลาม และมีการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม เป็นหนึ่งในวิธีการของการฟื้นฟูอิสลาม อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวนี้ ไม่ได้ถูกยอมรับในสังคมมุสลิมทั่วไป เพราะเป็นวิธีการที่รุนแรง ปราศจากสันติวิธี และเป็นการสร้างรัฐอิสลามที่เปราะบาง อันเนื่องมาจาก การบังคับให้เปลี่ยนแปลง มิใช่การเปลี่ยนแปลงที่มาจากความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่

มุสลิมบางกลุ่มได้แปรสภาพองค์กรการฟื้นฟูอิสลาม มาเป็นพรรคการเมือง เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในบางประเทศเช่น ตุรกี อียิปต์ หรือแม้แต่เพื่อนบ้านของประเทศไทย เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย กลุ่มเหล่านี้พยายามที่จะนำหลักการของศาสนาอิสลามมาใช้ในรัฐธรรมนูญ ตามกระบวนการทางประชาธิปไตย และความเห็นชอบของประชาชน โดยในกรณีของตุรกี พรรคการเมืองนิยมอิสลามได้รับชัยชนะ รวมถึงประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ เช่น อียิปต์ ตูนิเซีย ที่เพิ่งมีการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ ในช่วงอาหรับสปริงส์ที่ผ่านมา


ภาพ 2 สัญลักษณ์พรรคปาส พรรคนิยมอิสลามในมาเลเซีย 
 

  ภาพ 3 สัญลักษณ์พรรค PKR พรรคนิยมอิสลามในอินโดนีเซีย

องค์กรมุสลิมอีกจำนวนมากที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมในอำนาจรัฐ แต่ได้เคลื่อนไหวกิจกรรมสาธารณะกุศลอื่นๆ เช่น การสร้างโรงเรียน เพื่อการเรียนการสอนในวิชาการทั่วไป และวิชาการในหลักการของอิสลาม การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อการบริหารจัดการทางเงิน ตามระบอบเศรษฐกิจอิสลาม การสร้างโรงพยาบาล การสร้างศูนย์บรรเทาทุกข์ต่างๆ เพื่อการช่วยเหลือผู้คน แต่ทั้งหมดนี้ก็พยายามที่จะเผยแพร่หลักคำสอนตามศาสนาอิสลาม

ในสังคมไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย มุสลิมได้รับเอาแนวคิดการฟื้นฟูอิสลามเหล่านี้ ผ่านกลุ่มนักเรียนนอก ที่ได้รับทุนการศึกษา ของกลุ่มประเทศค้าน้ำมันในตะวันออกกลาง รับเอาแนวคิดนี้ เข้ามาปฏิบัติใช้ในสังคม กระทั่งได้รับอิทธิพลในแนวคิดของการฟื้นฟูอิสลามอย่างกว้างขวาง

การเกิดขึ้นของนิตยสาร AZAN และการนำเสนอ "อิสลามคือวิถีชีวิต"

นิตยสาร Azan ถือเป็นนิตยสาร ที่ทำขึ้นเพื่อการเผยแพร่ความรู้อิสลาม ที่ใช้ภาษามลายูหัวแรก ที่เป็นผลิตผลของคนในพื้นที่เอง การปรากฏขึ้นของ นิตยสารนี้ ถือเป็นการบุกเบิกเส้นทางใหม่ในการปรับใช้สื่อสิ่งพิมพ์/เทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและการเคลื่อนไหวทางสังคม-การเมือง  ถือกำเนิด ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือนเซาวาล ฮ.ศ. 1392 อันตรงกับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 โดยมีอุบัยดีลละห์ มะห์มูดเป็นบรรณาธิการ อิสมาแอ ลุตฟีเป็นรองบรรณาธิการ

เนื้อหาของนิตยสารมีทั้ง ด้านศาสนา วัฒนธรรม วรรณกรรม และด้านอื่นๆ โดยใน นิตยสารอาซาน ฉบับแรก มีบทบรรยายธรรมหรือคุ๊ตบะห์ของวันฮารีรายออีดิลฟิตรี (วันสิ้นสุดการถือศีลอดเดือนรอมฎอน) ในหน้าที่ 9 ในชื่อเรื่องว่า "เนื้อแท้ของฮารีรายอ" ซึ่งเป็นบทวิพากษ์สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะสังคมปัตตานีอย่างเข้มข้น

นิตยสารออกรายวันสำคัญ ในวันอีดทั้งสอง แต่หลังจากที่ออกนิตยสารได้เพียง 7 ฉบับ อาซาน ก็ยุติบทบาทลง หลังจากที่ผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นคนหนุ่มนั้น ได้เดินทางไปศึกษาต่อ จนทำให้อาซาน เป็นเพียงตำนานสื่อสิ่งพิมพ์

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหาของนิตยสารอาซาน ได้แสดงให้เห็นถึง ภาพสะท้อนของกระแสการฟื้นฟูอิสลามได้อย่างเด่นชัด นั่นคือ การนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลาย ครอบคลุม ซึ่งเป็นการนำเสนอให้มุสลิมที่บริโภคเนื้อหาจากนิตยสารนี้ ได้รับรู้ถึงหลักคำสอนที่ว่า "อิสลามคือวิถีชีวิต"


ฮิญาบ วิกฤติการณ์ความขัดแย้ง บนเส้นทางการตื่นตัวของมุสลิม

 

ในปัจจุบันภาพของหญิงสาวที่แต่งกายมิดชิด ไม่เปิดเผยส่วนหนึ่ง ส่วนใดของร่างกาย เว้นแต่เพียงใบหน้าและฝ่ามือ เป็นภาพที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติและธรรมดาในสังคมไทยปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา การได้มาซึ่งสิทธิในการคลุมฮิญาบของหญิงสาวมุสลิมเป็นไปด้วยความยากลำบาก การเรียกร้องขอคลุมฮิญาบของหญิงสาวมุสลิม เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ของผู้คนในสังคมไทย ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น สังคมไทยต้องเผชิญอยู่กับความขัดแย้งอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการเรียกร้องคลุมฮิญาบในสถานศึกษาและสถานที่ราชการ

ในกรณีของฮิญาบ เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า มุสลิมในสังคมไทยเริ่มที่จะตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอย่างเคร่งครัด ซึ่งฮิญาบเปรียบเสมือนสัญญาณที่ได้เผยออกมาว่า สังคมมุสลิมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม จากการกระแสการตื่นตัวของชาวมุสลิมที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลให้มีความเปลี่ยนแปลงในด้านของการคลุมศีรษะของสตรีมุสลิม แต่อุปสรรคในการแต่งกายตามหลักการของศาสนาที่ถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มราชการไทย ในมุมมองของพวกเขา การคลุมฮิญาบได้ผิดต่อกฏระเบียบข้าราชการ การคลุมฮิญาบจึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ค่อนข้างยาก โดยวิกฤติการณ์ความขัดแย้งในการคลุมฮิญาบของสังคมไทย ที่เด่นชัดได้เริ่มต้นเมื่อปี 2527 โดยทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยศิลปากรได้มีคำสั่งให้สตรีมุสลิมออกจากราชการในช่วงการทดลองงาน ด้วยเหตุผลที่ว่า สตรีมุสลิมคนนี้คลุมศีรษะในขณะที่ปฏิบัติงาน

ปัญหาในการอนุญาตคลุมฮิญาบของสตรีมุสลิมยังคงดำเนินอยู่ ในเดือนกันยายน 2529  ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคำสั่ง ให้การคลุมฮิญาบผิดต่อหลักการปฏิบัติของราชการ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวข้างต้นนั้น ได้ถูกต้องรับจากหน่วยงานราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้สร้างปัญหาในการแต่งกายของมุสลิมเป็นอย่างมาก จึงมีการเรียกร้องไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว และได้มีการตอบรับจากกระทรวงมหาดไทย ให้ยุติคำสั่งดังกล่าวของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้สตรีมุสลิมสามารถที่จะเข้าทำงานราชการโดยการแต่งกายตามหลักการของศาสนาอิสลามได้อย่างถูกต้อง

ปัญหาที่ได้นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างหน่วยงานของราชการและกลุ่มมุสลิมที่ต้องการคลุมฮิญาบ ในกรณีของวิทยาลัยครู ยะลา ประกาศสั่งห้ามนักศึกษาที่แต่งกายคลุมฮิญาบเข้ารับการศึกษาในวิทยาลัยในปี 2530 เหตุการณ์ครั้งนี้ นำไปสู่การตื่นตัวของมุสลิมครั้งใหญ่ เกิดการประท้วง ต่อรอง เพื่อที่จะให้ทางวิทยาลัยอนุญาตให้คลุมฮิญาบเข้าศึกษาได้

องค์กรมุสลิมที่มีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องขอให้สตรีมุสลิมสามารถที่จะคลุมฮิญาบเข้าศึกษาได้นั่นคือ ชมรมส่งเสริมคุณธรรมอิสลาม ซึ่งมีกลุ่มมุสลีมะฮ์ได้เข้ามาร้องเรียนว่า ถูกบังคับให้ถอดฮิญาบสำหรับการเข้าศึกษาในวิทยาลัยครู ยะลา

การเคลื่อนไหวของชมรมในระยะแรก ถูกปฏิเสธจากอาจารย์ในวิทยาลัยโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจารย์จะงดสอนในชั้นเรียนที่มีสตรีมุสลิมคลุมฮิญาบ กระทั่งได้เกิดการยินยอมของกลุ่มนักศึกษาที่ยอมถอดผ้าคลุมฮิญาบออก เพื่อที่จะเข้ารับการศึกษาต่อไป โดยในการเคลื่อนไหวต่อมาทางวิทยาลัยครูได้มีการต่อรองกับกลุ่มนักศึกษาที่คลุมฮิญาบว่า อนุญาตให้คลุมเฉพาะวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันสำคัญของทางศาสนาอิสลาม และอนุญาตให้คลุมได้เมื่อขณะออกจากบ้าน ครั้นเมื่อเดินทางมาถึงวิทยาลัยแล้ว วิทยาลัยจะเตรียมไม้แขวนผ้า เพื่อให้นักศึกษาถอดฮิญาบและเก็บไว้ที่นั่น อย่างไรก็ตามความขัดแย้งยังคงดำเนินไปต่อ กระทั่งถึงคราวสอบของวิทยาลัย ทางวิทยาลัยได้เข้มงวดต่อการคลุมฮิญาบของสตรีมุสลิม ถึงขั้นที่ไม่อนุญาตให้เข้าสอบ หากจะเข้าสอบให้คลุมฮิญาบก่อน

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า "ทำไมถึงเพิ่งมาคลุม" ก่อนหน้านั้นการรับรู้ของชาวมุสลิมมีความรู้สึกว่า การคลุมฮิญาบเป็นบทบังคับสำหรับชาวมุสลิม แม้กระทั่งบรรยากาศในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม รวมทั้งปอเนาะ ไม่ได้มีความเคร่งครัดมากนัก ถึงขนาดกับว่าไม่มีการบังคับให้คลุมผม

บทสรุป

การตื่นตัวในการฟื้นฟูอิสลามที่ก่อตัวขึ้นในโลกตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาอิสลาม ได้แพร่ขยายเข้าสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเดิมทีการเข้าถึงหลักการมุสลิมอย่างเข้มข้นนั้น ถูกจำกัดไว้เฉพาะกลุ่ม และมีลักษณะที่ค่อนข้างหลากหลาย รวมไปถึงหลักการบางประการที่สำคัญยังคงถูกละเลย ชาวมุสลิมเลือกที่จะปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอย่างผิวเผินเท่านั้น ในกรณีของฮิญาบ เป็นตัวชี้วัดสำคัญว่า สังคมมุสลิมยังคงขาดความเข้าใจในการแต่งกายให้ถูกต้องตามหลักการของศาสนา ในช่วงเวลาต่อมาเมื่อกระแสการฟื้นฟูอิสลามได้โหมเข้ามาในสังคม ชาวมุสลิมจำนวนมากพร้อมใจที่จะปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอย่างเคร่งครัด แม้ในช่วงระยะเวลาแรกจะเกิดปัญหา เนื่องด้วยการขาดความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของโลกมุสลิม

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่: PATANI FORUM

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พรรคประชาธิปัตย์จัดแรลลี่ชี้จุด "ชายชุดดำ" เรียกร้อง รบ.สานต่อรายงาน คอป.

Posted: 12 Oct 2012 04:59 AM PDT

"บุญยอด-แทนคุณ" นำแรลลี่ชี้จุดปฏิบัติการ "ชายชุดดำ" ที่วัดปทุมวนาราม-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระบุชายชุดดำมีอยู่จริงใน 34 จุดทั่วกรุงเทพฯ ทำให้ประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยมีคนๆ หนึ่งเป็นผู้บงการ ขอไว้อาลัยให้กับความสูญเสีย พร้อมเรียกร้องรัฐบาลนำเรื่องนี้มาเปิดเผย และสานต่อรายงาน คอป.

เวลา 9.00 น. วันนี้ (12 ต.ค. 55) เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการจัดแรลลี่ "เดินหน้าผ่าความจริง"ครั้งที่ 1 ตามรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ระบุการปรากฏตัวของชายชุดดำ โดยนายแทนคุณ จิตต์อิสระ โฆษกประจำตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นผู้นำขบวน

โดยขบวนได้เริ่มออกจากที่ทำการพรรคในเวลา 09.15 น. เพื่อไปจุดแรกที่หน้าวัดปทุมวนาราม เวลา 09.40 น. ขบวนรถยนต์ได้มาถึงหน้าวัดปทุมวนาราม โดยนายบุญยอด ปราศรัยบนรถติดเครื่องขยายเสียงว่า ชายชุดดำมีอยู่จริงใน 34 จุดทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่หน้าวัดปทุมวนาราม ชายชุดดำได้ทำให้ประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ขอไว้อาลัยให้กับความสูญเสีย การมาครั้งนี้ไม่ได้ปรารถนาให้เกิดความเจ็บช้ำ แต่ข้อเท็จจริงได้พิสูจน์แล้วว่าที่วัดปทุมวนรามมีชายชุดดำอยู่จริง และได้ยิงเจ้าหน้าที่ด้วย

ด้านนายแทนคุณ ปราศรัยว่า ชายชุดดำเป็นคนฆ่าประเทศไทย ขอให้คนทุกสี โดยเฉพาะคนเสื้อแดงมาช่วยหาความจริง อย่าเพิ่งแบ่งแยกกันตอนนี้ อยากให้กระบวนการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาในการค้นหาความจริง ขอให้ผู้ที่เสียชีวิตกว่า 90 ศพ และผู้เสียชีวิตที่วัดปทุมวนารามด้วย 

เวลา 10.04 น. ขบวนรถยนต์ได้เคลื่อนต่อไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยนายบุญยอด ปราศรัยอีกครั้งว่า จุดนี้เป็นจุดที่มีการระเบิด ทำให้มีผู้บาดเจ็บ รวมถึง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ได้ถูกระเบิดเสียชีวิต เพราะชายชุดดำได้เข้ามาปะปนกับผู้ชุมนุม ซึ่งชายชุดดำได้รับการบงการจากคนๆ หนึ่งให้มาทำร้ายประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลต้องนำเรื่องนี้มาเปิดเผย รวมถึงตรวจสอบตามรายงานของคอป.อย่างจริงจัง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนไปร่วมกิจกรรมเวทีผ่าความจริงนัดพิเศษครั้งที่ 25 ที่สวนลุมพินีวันที่ 13 ต.ค.นี้ ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"สหภาพยุโรป" ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2555

Posted: 12 Oct 2012 04:48 AM PDT

ด้วยบทบาทในการสร้างสันติภาพและสมานฉันท์ปรองดองกว่าหกทศวรรษ นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกถึงวิกฤติเศรษฐกิจ นับเป็นผู้รับรางวัลในฐานะองค์กรแห่งที่สองถัดจากแพทย์ไร้พรมแดน

 
12 ต.ค. 2555 - คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ มอบรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2555 ให้แก่ สหภาพยุโรป ซึ่งประกอบไปด้วย 27 ประเทศ โดยได้รับการยกย่องจากบทบาทการสร้างสันติภาพและการปรองดองมากว่า 6 ทศวรรษ จากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงวิกฤติเศรษฐกิจยูโรโซนที่ลามไปหลายประเทศในยุโรปในปัจจุบัน
 
รางวัลดังกล่าว ได้สร้างความประหลาดใจต่อผู้ที่สังเกตเห็นถึงความตึงเครียดระหว่างเยอรมนีและประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป จากนโยบายรัดเข็มขัดที่นำมาซึ่งความไม่พอใจในหลายประเทศ โดยเฉพาะในกรีกและสเปน ที่ประชาชนหลายพันคนได้ออกมาเดินขบวนในกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซเพื่อประท้วงการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีเยอรมัน นางแองเกลา แมร์เคล 
 
แต่ธอร์บยอร์น ยากลันด์ ประธานกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล กล่าวว่า รางวัลดังกล่าว พิสูจน์ให้เห็นว่าสหภาพยุโรปเป็น "สิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง" สำหรับชาวยุโรปและเป็น "แรงบันดาลใจ"
 
 
"สหภาพยุโรป และองค์การก่อนหน้านั้น ได้มีบทบาทกว่าหกทศวรรษในการส่งเสริมสันติภาพและความปรองดอง ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน" เขากล่าว
 
"ในช่วงปีของการทำสงคราม คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ให้รางวัลแก่หลายๆ คนที่ช่วยสร้างความปรองดองระหว่างเยอรมนีและฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา การปรองดองดังกล่าว ได้กลายเป็นจริง ความทนทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะมียุโรปอันใหม่ ตลอดระยะเวลา 70 ปี เยอรมนีและฝรั่งเศส ได้สู้รบในสงคราม 3 สงคราม แต่ทุกวันนี้ สงครามระหว่างเยอรมนีและฝรั่งเศสนั้นแทบจะจินตนาการไม่ออก นี่แสดงให้เห็นว่า ด้วยความพยายามที่มีจุดมุ่งหมายอันดี และการสร้างความมั่นใจร่วมกัน ศัตรูในประวัติศาสตร์ สามารถกลายเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกันได้"
 
ต่อคำถามที่ว่า เป็นเพราะว่าปีนี้เป็นที่แย่สำหรับสหภาพยุโรปหรือไม่ เขากล่าวว่า "เราต้องการที่จะโฟกัสว่า อะไรเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จในยุโรปโดยเฉพาะความสันติภาพและการปรองดอง และเราต้องการจะเตือนตนเองว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นหากความแตกแยกมาเยือน และหากเราปล่อยให้ฝ่ายหัวรุนแรงและชาตินิยมเติบโตขึ้นอีกในยุโรป ฉะนั้น ในทางหนึ่ง นี่คือการส่งข้อความหายุโรปว่าเราควรจะทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อรักษาสิ่งที่เราบรรลุ และก้าวต่อไป" 
 
มาร์ติน ชุลส์ ประธานรัฐสภายุโรปกล่าวในทวิตเตอร์ต่อรางวัลโนเบลว่า เขารู้สึก "ตื้นตันและได้รับเกียรติ ที่สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ การปรองดอง คือสิ่งที่สหภาพยุโรปเป็น มันทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจ สหภาพยุโรปเป็นแผนการที่เป็นเอกลักษณ์ นำสันติภาพมาสู่สงคราม และนำความสมานฉัทน์มาแทนความเกลียดชัง"
 
นายยากลันด์ ยังกล่าวต่อด้วยว่า "ในช่วงทศวรรษ 1980 กรีซ สเปน และโปรตุเกส ได้เข้าร่วมในสหภาพยุโรปโดยมีประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขของการเข้าเป็นสมาชิก จากนั้น การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ทำให้การเข้าเป็นสมาชิกของหลายประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกเป็นไปได้ นำมาซึ่งการเปิดศักราชใหม่ของประวัติศาสตร์ยุโรป การแบ่งแยกระหว่างตะวันตกและตะวันออก  สิ้นสุดลงแล้วเป็นส่วนใหญ่ ประชาธิปไตยถูกทำให้แข็งแกร่งขึ้น และความขัดแย้งระดับชาติที่เกิดจากชาติพันธุ์ก็ยุติลง" 
 
"การเข้ามาเป็นสมาชิกของโครเอเชียในปีหน้า, การเปิดการเจรจาสถานะสมาชิกกับมอนเตเนโกร และการให้สถานะผู้สมัครแก่เซอร์เบีย ต่างช่วยให้กระบวนการปรองดองในคาบสมุทรบอลข่านแข็งเเกร่งมากยิ่งขึ้น ในทศวรรษที่ผ่านมา ความเป็นไปได้ของการเป็นสมาชิกของตุรกี ก็ยังทำให้ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศดียิ่งขึ้น" เขาระบุ 
 
"สหภาพยุโรปในขณะนี้ กำลังเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่สาหัส และความไม่สงบทางสังคมที่ใหญ่โต คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ หวังที่จะโฟกัสในสิ่งที่เป็นผลสำเร็จที่สำคัญที่สุดของสหภาพยุโรป นั่นคือ การต่อสู้ได้มาเพื่อสันติภาพ การปรองดอง ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน" 
 
อนึ่ง ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในฐานะองค์กรครั้งล่าสุด คือองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontieres) ในปี 2542 ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในทางมนุษยธรม โดยเฉพาะในพื้นที่สงคราม และในประเทศกำลังพัฒนา
 
โดยในปีที่แล้ว รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นของสตรีสามท่าน ได้แก่ ประธานาธิบดีไลบีเรีย เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ, นักกิจกรรมต่อต้านสงครามชาวไลบีเรีย เลมาห์ กโบวีย์ และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจากเยเมน ทาวักกัล คาร์มาน 
 
ในปี 2553 รางวัลนี้ เป็นของนักเขียนและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวจีน หลิว เสี่ยวโป  ซึ่งถูกจำคุกจากงานเขียนคำประกาศเพื่อประชาธิปไตย "ชาร์เตอร์ 08" ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดทางการทูตระหว่างนอร์เวย์และจีน 
 
ในปี 2552 รางวัลเดียวกันเป็นของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐอเมริกา โดยเขาได้รับรางวัลนี้ ภายในไม่ถึงปีของระยะเวลาดำรงตำแหน่งของเขา โดยคณะกรรมการโนเบลระบุว่า เขาได้ "สร้างบรรยากาศทางการเมืองแบบใหม่ในการเมืองระหว่างประเทศ" 
 
ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวมีมูลค่า 8 ล้านโครเนอร์สวีเดน (ราว 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 30.6 ล้านบาท) โดยลดลงจาก 10 ล้านโครเนอร์ ซึ่งเป็นมูลค่ามาตรฐานในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากมูลนิธิโนเบลกล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 ได้ส่งผลกระทบกองทุนของมูลนิธิ
 
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Nobel Committee Awards Peace Prize to E.U.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธน.พม่าจะเดินหน้าสร้างเขื่อน "ท่าซาง" มูลค่าสองแสนล้านบาทบนแม่น้ำสาละวิน

Posted: 12 Oct 2012 04:32 AM PDT

ประธานาธิบดีพม่าประกาศเดินหน้าสร้างเขื่อนท่าซาง บนแม่น้ำสาละวินในรัฐฉาน ภายใต้ความร่วมมือบริษัทไทยและจีน อ้างผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหวั่นผลกระทบมหาศาล ผืนป่าลุ่มน้ำสาละวินจะจมอยู่ใต้น้ำหลังสร้างเขื่อนเสร็จ

มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของพม่ากล่าวระบุว่า ทางการจะเดินหน้าก่อสร้างโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ "เขื่อนท่าซาง" บนแม่น้ำสาละวิน ในรัฐฉาน เพื่อเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าใช้  และคำกล่าวของประธานาธิบดีเต็งเส่ง สอดคล้องกับคำประกาศของนายอ่องเมียด นายกรัฐมนตรีรัฐฉาน เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า โครงการเขื่อนท่าซาง บนแม่น้ำสาละวิน จะเดินเครื่องก่อสร้างก่อนโครงการเขื่อนมิตโส่ง ในรัฐคะฉิ่น

ด้านนายจายจาย ประธานองค์กรสิ่งแวดล้อมไทใหญ่ (Shan Sapawa Organization) เครือข่ายแม่น้ำพม่า (Burma Rivers Network-BRN) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทจีน (Three Gorges group Corporation) ซึ่งจะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการก่อสร้างเขื่อน ได้เข้ามาทำการสำรวจพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเขื่อนท่าซาง หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นเขื่อนใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้ หมู่บ้าน ชุมชน รวมถึงพื้นที่สวน ไร่ นา และธรรมชาติผืนป่าบริเวณทางตอนเหนือโครงการสร้างเขื่อนจะได้รับผลกระทบจมอยู่ใต้น้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ โครงการเขื่อนท่าซาง ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2540 โดยบริษัทกลุ่มเอ็มดีเอ็กซ์ (MDX Group Co Ltd) จากไทยได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ ต่อมาในปี 2550 บริษัทกลุ่มเอ็มดีเอ็กซ์ (MDX Group Co Ltd) มีดร.สุบิน ปิ่นขยัน ประธานบริษัท และตัวแทนทางการพม่า โดยนายเมียวมิ้นต์ รมต.ช่วยว่าการกระทรวงการไฟฟ้าพลังน้ำหมายเลข 1 ขณะนั้น ได้ร่วมกันวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างเขื่อน

พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนท่าซาง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองโต๋น ในภาคตะวันออกรัฐฉาน ห่างจากชายแดนไทยด้านตรงข้ามอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 80 กม. ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จเขื่อนแห่งนี้จะเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเขื่อนมีความกว้าง 868 เมตร สูง 228 เมตร และจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 228,000 ล้านบาท เขื่อนมีกำลังติดตั้ง 7,110 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 35,446 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี

อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างเขื่อนท่าซาง ได้หยุดชะงักไปหลังจากทำพิธีวางศิลาฤกษ์และเริ่มลงมือก่อสร้างได้ไม่นาน เนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ กระทั่งในเวลาต่อมาบริษัทอีเกท (EGAT) ของไทย และบริษัท (Three Gorges group Corporation) ของจีนตกลงร่วมกันสานต่อโครงการ โดยรัฐบาลพม่าร่วมกับบริษัทอีเกทของไทย และบริษัท (Three Gorges group Corporation) ของจีนได้ลงนามความร่วมมือโครงการดังกล่าวร่วมกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2553 ที่ผ่านมา

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงาน บ.กบินทร์บุรี แพนเอเชียฟุตแวร์ เรียกร้องความเป็นธรรมศาลากลางปราจีนฯ

Posted: 12 Oct 2012 02:55 AM PDT

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 55 ที่ผ่านมาคนงานบริษัท กบินทร์บุรีแพนเอเชียฟุตแวร์ จำกัด กว่า 300 คนได้รวมกลุ่มประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเรียกร้องสิทธิ หลังจากถูกนายจ้างเลิกจ้าง และจ่ายค่าชดเชยให้กับคนงานเพียง 30%

โดยกลุ่มคนงานได้ยื่นข้อเรียกร้องให้แก่นายอรุณ พุมเพรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งข้อเรียกร้องประกอบด้วย ขอให้ทางบริษัทออกใบรับรองการทำงาน ใบผ่านงานจากบริษัท โดยระบุว่า บริษัทปิดกิจการเลิกจ้าง และไม่ให้พนักงานเขียนใบลาออก ขอให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย มาตรา 118 ขอให้หน่วยงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานให้การดูแลและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้าง โดยให้มีการเจรจากับบริษัทฯ ภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้คนงานระบุว่าเนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่ยอมพูดคุยเจรจากับคนงาน

ด้านนายอรุณ พุมเพรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ได้เรียกประชุมตัวแทนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 15 คนที่ห้องประชุมชั้น 2 พร้อมกล่าวว่า จังหวัดปราจีนบุรีจะดูแลเรื่องนี้ และขอให้ทุกคนขึ้นทะเบียนคนว่างงานไว้ พร้อมจะประสานบริษัทฯ ให้คิดค่าตอบแทนต่อรองกับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างต่อไป หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อินโดฯประกาศประกาศซีแอลยาต้านไวรัส

Posted: 12 Oct 2012 02:47 AM PDT

 

อินโดนีเซีย ซุ่มเงียบประกาศซีแอลยาต้านไวรัสเอชไอวี 7 ตัวรวด ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯชี้รัฐบาลไทยควรพิจารณาทำซีแอลยามะเร็งเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา

(จาร์กาตาร์-กรุงเทพฯ/12 ต.ค.55) สื่อต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน่ ของอินโดนีเซียได้ลงนามในประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ หรือ ซีแอล กับยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์และไวรัสตับอักเสบ ทั้งสิ้น 7 ตัว ประกอบไปด้วย ดีดีไอ, เอฟฟาไวเรนซ์, อะบาคาเวียร์, โลพินาเวียร์/ริโทรนาเวียร์, เทโนโฟเวียร์, เทโนโฟเวียร์+เอ็มไตรซิตาบีน และ เทโนโฟเวียร์+เอ็มไตรซิตาบีน+เอฟฟาไวเรนซ์ [efavirenz, abacavir, didanosin, lopinavir + ritonavir, tenofovir, tenofovir + emtricitabine, and tenofovir + emtricitabine + efavirenz] เพื่อให้อุตสาหกรรมยาในประเทศสามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ โดยจะจ่ายค่าชดเชยให้บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรร้อยละ 0.5% ซึ่งเป็นไปตามมาตรการยืดหยุ่นในความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาหรือทริปส์ในองค์การการค้าโลก ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวลงนามไปตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน แต่ที่ผ่านมา ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ยินดีกับเพื่อนผู้ติดเชื้อฯที่อินโดนีเซียอย่างยิ่ง เพราะการประกาศครั้งนี้มีทั้งยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน สูตรสำรอง และยารักษาไวรัสตับอักเสบ หลายตัวมีราคาแพงมาก ทำให้ผู้ติดเชื้อฯจำนวนมากเข้าไม่ถึงยา สำหรับประเทศไทย รัฐบาลควรพิจารณาทำซีแอลกับยารักษามะเร็งที่ยังมีราคาสูงมาก ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าไม่ถึงการรักษา และขอชื่นชมรัฐบาลอินโดนีเซียที่มีความกล้าหาญทางนโยบายที่จะทำเพื่อประชาชน อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียอาจจะเผชิญกับแรงกดดันจากบรรษัทยาข้ามชาติและประเทศร่ำรวยทั้ง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีแทคติคและเล่ห์กลมากมาย เช่นที่ประเทศไทยเคยเจอมาแล้ว

"ทุกภาคส่วนในอินโดนีเซียจะต้องยืนหยัดร่วมกันเพื่อต้านแรงหากำไรบนชีวิตผู้คนพวกนี้ ซึ่งเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯและภาคประชาสังคมไทยเพื่อการเข้าถึงยาพร้อมที่จะยืนเคียงข้าง และถ่ายทอดประสบการณ์การรับมือกับเล่ห์กลเหล่านี้"

ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า รัฐบาลไทยควรเรียนรู้จากความกล้าหาญทางนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ทำเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสมครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งอยากเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรป

"มาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่ต้องการการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ซึ่งจนถึงขณะนี้ทั้งรองนายกฯกิตติรัตน์ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพยายามบิดเบือนข้อมูล และไม่เปิดโอกาสให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาและ อย.ได้ให้ข้อมูลซึ่งอาจทำให้นายกฯและรัฐสภาตัดสินใจอย่างผิดๆได้ นอกจากนี้ เรายังทราบมาว่า สมาคมบริษัทยาข้ามชาติจับมือกับอุตสาหกรรมส่งออกไก่-กุ้ง แล้วใช้ชื่อสภาหอการค้าไปเที่ยวล็อบบี้และให้ข้อมูลอย่างผิดๆกับภาคส่วนต่างๆ สาธารณชนต้องช่วยกันจับตา"

ทั้งนี้ เมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา อินเดียได้ประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) โดยให้บริษัทยาชื่อสามัญมีสิทธิผลิตยา sorafenib ที่ใช้รักษามะเร็งตับและไต ทำให้ราคายาลดลงจาก 280,000 รูปี เหลือเพียงแค่ 8,800 รูปี จากการประกาศดังกล่าว บริษัทยาต้นแบบได้เสนอลดราคายารักษามะเร็งอีกหลายตัวจากหลักแสนเหลือหลักพันรูปีเพื่อให้คนอินเดียเข้าถึงยามากขึ้นและหลีกเลี่ยงการถูกรัฐบาลอินเดียประกาศซีแอล ต่อมา รัฐบาลจีนได้ออกระเบียบซึ่งกำหนดแนวทางการประกาศบังคับใช้สิทธิในกรณีความฉุกเฉินและเพื่อผลประโยชน์แห่งสาธารณะ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เช่นกัน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส.ส.อังกฤษวิพากษ์ 'เฟซบุ๊ก' ใช้ช่องกฎหมายเลี่ยงภาษี

Posted: 12 Oct 2012 02:32 AM PDT

ส.ส.การคลังอังกฤษวิจารณ์เฟซบุ๊กว่า "ขาดความจริงใจและไร้จริยธรรม" จากการที่บริษัทเฟซบุ๊กอังกฤษ เลี่ยงภาษีอย่างไม่ผิดกฏหมายโดยการไปจดทะเบียนไว้ที่ไอร์แลนด์

 

11 ต.ค. 2012 สำนักข่าว The Independent รายงานว่าเฟซบุ๊กถูกวิจารณ์ว่า "ขาดความจริงใจและไร้จริยธรรม" หลังมีรายงานข่าวว่าบรรษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กยักษ์ใหญ่ผู้นี้จ่ายภาษีบรรษัทให้ประเทศอังกฤษแค่ 238,000 ปอนด์ (ราว 11,700,000 บาท) เมื่อปีที่ผ่านมา
 
แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะให้ข้อมูลว่าบริษัทเฟซบุ๊กสร้างรายได้ราว 175,000,000 ปอนด์ (ราว 8,619,000,000 บาท)ในอังกฤษเมื่อที่ผ่านมา แต่เฟซบุ๊กก็หลบเลี่ยงภาษีบรรษัทโดยการเลี่ยงไปจดทะเบียนตั้งสำนักงานที่ไอร์แลนด์
 
รายงานผลประกอบการประจำปีตีพิมพ์เมื่อวานนี้ (10 ต.ค.) ระบุว่าบริษัท Fackbook UK จำกัดได้รับผลประกอบการเป็นเงินเพียง 20,400,000 ปอนด์ (ราว 1,004,000,000 บาท) โดยอาศัยช่องทางกฏหมาย แต่การวิเคราะห์ของ Enders ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยอิสระได้ประเมินผลประกอบการของเฟสบุ๊คในอังกฤษว่าพวกเขามีรายได้ราว 175,000,000 ปอนด์ และเป็นเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ใหญ่ที่สุดที่ยังคงดึดดูดโฆษณาเข้ามาได้อีก
 
นอกจากเฟซบุ๊กแล้วยังมียักษ์ใหญ่ของวงการออนไลน์ที่หลบเลี่ยงการรายงานผลกำไรในอังกฤษผ่านการตั้งสำนักงานในไอร์แลนด์หรือส่วนอื่นๆ ของยุโรปที่มีอัตราภาษีบรรษัทต่ำกว่า มีรายงานวิเคราะห์ฉบับหนึ่งเมื่อต้นปีนี้เปิดเผยว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการอย่าง Apple, Amazon, Google, eBay และ Facebook สามารถเลี่ยงภาษีได้ถึง 650,000,000 ปอนด์ (ราว 32,014,000,000 บาท) จากวิธีการดังกล่าว
 
The Independent รายงานว่าวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ผิดกฏหมาย แต่ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่ามันเป็นต้นเหตุให้อังกฤษประสบปัญหาภาวะขาดดุลงบประมาณ และชวนให้ตั้งคำถามว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกออนไลน์พวกนี้ได้ให้อะไรกลับคืนแก่ประเทศที่พวกเขาได้แสวงหากำไรไปมากพอหรือไม่
 
ส.ส. พรรคแรงงาน จอห์น แมนน์ ผู้อยู่ในตำแหน่งคณะกรรมการการคลัง กล่าววิจารณ์บริษัทที่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีของอังกฤษ บอกว่ามันเป็นสิ่งที่ขาดความจริงใจและไร้จริยธรรมสำหรับบริษัทที่ทำกำไรมหาศาลแต่ไม่จ่ายภาษีให้ประเทศที่พวกเขามาแสวงหากำไร
 
"พวกเขาได้รับผลกำไรอย่างมหาศาลจากโครงสร้างอินเตอร์เน็ตของประเทศ แต่ก็ไม่ได้ช่วยส่งเสริมงบประมาณให้ เหมือนคนที่ขับรถโดยไม่เสียภาษีพวกเราก็จะเรียกร้องให้ถนนของพวกเรา แล้วทำไมพวกเราจะไม่เรียกร้องให้อินเทอร์เน็ตของพวกเรา" จอห์น แมนน์กล่าว
 
แมนน์เสนอให้มีการเก็บค่าธรรมเนียม Traffic (จำนวนคนเข้าเว็บไซต์) ซึ่งจะทำให้บริษัทที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหลักสามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายของอินเทอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่
 
ด้าน แมธธิว ซินแคลร์ ผู้บริหารสูงสุดของสหพันธ์ผู้จ่ายภาษีของอังกฤษ (TaxPayers' Alliance) กล่าวว่าบริษัทต่างๆ เลือกจดทะเบียนสำนักงานในต่างประเทศเนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีการแข่งขันสูงกว่าและมีระบบภาษีที่ซับซ้อนน้อยกว่า แมธธิวบอกอีกว่ามีบริษัทจำนวนมากอาศัยช่องทางกฏหมายในการเลี่ยงภาษี มีบางส่วนที่จ่ายภาษีอย่างเป็นธรรมแต่ตัวระบบของอังกฤษเองก็มีความซับซ้อนจนทำให้สาธารณชนมองไม่เห็นตรงจุดนี้ หากอังกฤษต้องการให้มีการแข่งขันและให้ทุกคนจ่ายภาษีอย่างเป็นธรรมก็ต้องมีการปฏิรูประบบภาษีในอังกฤษอย่างเร่งด่วน
 
จากบทวิเคราะห์ล่าสุดระบุว่าเฟซบุ๊กสาขาอังกฤษมีรายจ่าย 13,900,000 ปอนด์ (ราว 684,000,000 บาท) ขณะที่รายได้ในปี 2010 ได้รับมา 1,100,000 ปอนด์ (ราว 54,000,000 บาท) เนื่องจากใช้จ่ายในการจ้างงานจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการรับพนักงานเพิ่มราว 90 คน
 
รายจ่ายค่าจ้างของเฟซบุ๊กในอังกฤษเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 7,900,000 ปอนด์ (ราว 389,000,000 บาท) เป็น 24,800,000 ปอนด์ (ราว 1,222,000,000 บาท) ซึ่งนับเฉลี่ยต่อหัวได้หัวละ (ราว 13,555,000 บาท) โดยผู้บริหารตำแหน่งสูง อาจจะได้มากกว่าค่าเฉลี่ยนี้
 
The Independent กล่าวว่าการเลี่ยงภาษีของเฟซบุ๊กแม้จะเป็นเรื่องถูกกฏหมายแต่ก็เป็นที่น่าถกเถียงเนื่องจากผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก กล่าวเสมอว่าเว็บไซต์ของเขาไม่ได้มีแรงจูงใจเพื่อให้หาเงิน
 
"เดิมทีเฟซบุ๊กไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นบริษัท" มาร์คกล่าวในช่วงที่ตลาดหุ้นพุ่งสูง "มันถูกสร้างขึ้นมาโดยมีพันธกิจทางสังคม คือการทำให้โลกเปิดกว้างและเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น"
 
โดยเฟซบุ๊กปฏิเสธจะให้ความเห็นต่อกรณีรายได้ปีที่แล้วและยืนยันว่าจะตั้งสำนักงานในดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ต่อไป
 
โฆษกของเฟซบุ๊กกล่าวว่า "เช่นเดียวกับองค์กรที่บริหารงานในหลายๆ ประเทศทั่วโลก พวกเรารายงานการปฏิบัติงานในท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ ข้อมูลอาจไม่จำเป็นต้องนำเสนอประสิทธิภาพทางการเงินทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องผิดหากจะมีการสรุปความใดๆ จากข้อมูลในรายงาน" โฆษกเฟสบุ๊คปฏิเสธจะให้ความเห็นต่อสิ่งที่แมนน์กล่าวไว้

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองรับฟ้องกรณีกะเหรี่ยงแก่งกระจานฟ้องกรมอุทยานฯ

Posted: 12 Oct 2012 01:45 AM PDT

ศาลปกครองมีคำสั่งรับฟ้องกรณีชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานรวม 6 คน นำโดยปู่โคอิ มีมิ วัย 101 ปี ที่ยื่นฟ้องกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เนื่องจากถูกเผาบ้านและยุ้งฉาง หลังจากไต่สวนแล้วพบว่า คดีมีมูล และเป็นคดีทางปกครอง

 

จากการที่นายโคอิ หรือคออี้  มีมิ   ("ปู่คออี้" ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งป่าแก่งกระจาน) อายุ 101 ปี พร้อมชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จะยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  โดยการรื้อทำลาย เผาบ้านเรือน ยุ้งฉาง และทรัพย์สิน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา และขอสิทธิในการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่บรรพบุรุษป่าแก่งกระจานนั้น

ล่าสุดผู้อำนวยการสำนักงานศาลปกครองกลางได้มีหนังสือถึงนายโคอิ มีมิ และทนายความจากสภาทนายความซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้งหก ว่า ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของท่าน ที่ยื่นคำฟ้องด้วยตนเองลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

ด้วยเมื่อวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของนายโคอิ หรือคออี้  มีมิ และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบริเวณตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กว่า 20 ครอบครัว จนได้รับความเสียหายแก่สิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน โดยมีบ้านพักอาศัย และยุ้งฉาง ถูกจุดไฟเผาราว 100 หลัง ตาม"โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า"  มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ยุทธการตะนาวศรี" 

นายโคอิ หรือคออี้  มีมิ และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เรียกตัวเองว่า "ปกาเกอะญอ" (จกอว์ หรือสกอว์) มี "อัตลักษณ์ชาติพันธุ์" เป็นของตัวเอง ตั้งรกรากถิ่นฐานบนพื้นที่สูงบริเวณลำห้วยเหนือแม่น้ำบางกลอย ที่ "บ้านบางกลอยบน"  ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มาเป็นเวลานานกว่า 100 ปีนับแต่ครั้งบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน  ประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียนอย่างพอเพียง ซึ่งได้รับการวิจัยและพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการทางด้านเกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ นิเวศวิทยา และมานุษยวิทยานิเวศ แล้วว่า เป็นการทำไร่เชิงคุณภาพที่รักษาสมดุลของธรรมชาติ

นายโคอิ หรือคออี้  มีมิ กับพวกรวม 6 คน ในฐานะผู้ฟ้องคดี  จึงได้นำคดีมาสู่ศาลปกครองกลาง เพื่อยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ในฐานะหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร  หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  เพราะเหตุที่นายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร  ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน ละทิ้ง/ ออกจากบ้านเรือนที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่เกิด ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย-บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยมีความผิดพลาดในข้อเท็จจริง (l'erreur de fait) นายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร ไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติและกฎหมายทะเบียนราษฎรของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน รวมถึงไม่ตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนดั้งเดิมเสียก่อน  โดยกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน เป็น "ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน" ทั้งยังรื้อ เผา ทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการทางปกครอง การกระทำทางปกครองที่ขัดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504   และขัดต่อหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ทั้งยังเป็นการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองที่ขัดต่อหลักกฎหมายปกครอง เพราะตามข้อเท็จจริงเห็นได้ชัดว่ามีมาตรการที่เหมาะสมอยู่หลายมาตรการ แต่มาตรการที่นายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร ในฐานะฝ่ายปกครอง  เลือกที่จะเผาทำลายบ้านและทรัพย์สินของชาวบ้าน มิใช่มาตรการที่มีความรุนแรงน้อยที่สุดแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีมาตรการอื่นๆ ภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักกฎหมายปกครองมากกว่า คือ การยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม, การเพิกถอนพื้นที่ที่รับประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้อนุรักษ์ ป่าสงวน ซึ่งทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ได้อยู่อาศัยดำเนินชีวิตและใช้ประโยชน์ที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานานหรือก่อนที่รัฐจะประกาศกฎหมายหรือนโยบายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว

การกระทำของนายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ทำให้ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน พื้นที่ทำกิน และสูญเสียอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และศักยภาพในการสืบทอดวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมซึ่งเป็นวิถีที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและวิถีชีวิตพอเพียงตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 หน่วยงาน ชดใช้ค่าเสียหาย และขอสิทธิในการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมซึ่งเป็นพื้นที่บรรพบุรุษ โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

ส่วนกรณีที่นายน่อแอะมีมิ ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบุตรชายนายนายโคอิ มีมิ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการดังกล่าวเช่นกัน ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,622,500 บาท โดยศาลได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว  ทั้งมีคำสั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล หลังจากไต่สวนแล้วพบว่า โจทก์มีฐานะยากจน ไม่สามารถนำเงินมาวางเป็นค่าธรรมเนียมศาลได้  และมีกำหนดนัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 26 ตุลาคม 2555 เวลา 09.00 น.

ด้านการช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านแก่งกระจาน ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นำมูลนิธิปิดทองหลังพระและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลือจัดสรรน้ำและแหล่งน้ำในการทำกินให้แก่ชาวบ้านโป่งลึกบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ให้ชาวบ้านสามารถใช้วิถีชีวิตพึ่งพาตนเองอย่างเพียงพอและยั่งยืน

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โครงการรับจำนำข้าว จุดตายของเผด็จการไทย?

Posted: 12 Oct 2012 12:36 AM PDT

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การปลุกกระแสคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินไปอย่างเต็มที่ เริ่มต้นจากพรรคประชาธิปัตย์ พ่อค้าและผู้ส่งออกข้าว องค์กรพัฒนาเอกชน ช่วยโหมกระพือด้วยสื่อมวลชนกระแสหลัก รุมกระหน่ำโครงการรับจำข้าวของรัฐบาลด้วยข้อบกพร่องและข้อมูลทุจริตที่ขยายเกินจริง ไปจนถึงข้อมูลเท็จและข่าวลือต่าง ๆ

ท้ายสุดคือ การเคลื่อนไหวของนักวิชาการและนักศึกษากว่า 140 คนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกันลงชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 84(1) นี่อาจเป็น "การข้ามเส้น" เพราะการคัดค้านก่อนหน้านี้เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ แต่การที่นักวิชาการกลุ่มนี้จงใจ "เปิดประตู" เชิญให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา เป็นการแสดงเจตนาชัดเจนว่า ต้องการล้มโครงการรับจำนำข้าว เพื่อให้มีผลกระทบต่อเนื่องเป็นการล้มรัฐบาลในขั้นต่อไป

โครงการรับจำนำข้าวมีเป้าหมายที่เพิ่มรายได้ให้กับชาวนาไทยผ่านการแทรกแซงกลไกตลาดด้วยการพยุงราคาขั้นต่ำ ถึงแม้รัฐบาลจะใช้วิธีการ "รับจำนำ" คือให้ชาวนาสามารถกลับมาไถ่ถอนคืนได้ในเงื่อนไขที่กำหนด แต่รัฐบาลตั้งราคารับจำนำไว้สูง ผลก็คือ ชาวนาไม่มาไถ่ถอนคืน ข้าวในโครงการจึงตกอยู่ในมือรัฐบาล เท่ากับว่า รัฐบาลเป็นผู้รับซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนาโดยไม่จำกัดจำนวนในราคาที่ประกาศไว้นั่นเอง นี่คือมาตรการพยุงราคาสินค้าเกษตร ที่มีอยู่ในตำราหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานทุกเล่มและก็ปฏิบัติกันมานานแล้วในกลุ่มสินค้าเกษตรทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก

โครงการนี้มีผลให้ราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้นเพราะรัฐบาลกลายเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ ข้าวจำนวนมากไปอยู่ในมือรัฐบาล บีบให้พ่อค้าต้องเสนอราคารับซื้อสูงตามไปด้วย ผลก็คือ ชาวนาทั่วไปแม้จะไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็จะขายข้าวในราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน ข้าวเปลือกในตลาดเอกชนมีราคาสูงถึงตันละ 11,500-12,500 บาท เทียบกับสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งราคาอยู่ที่ตันละ 8,000-9,000 บาท และเหลือเพียงตันละ 6,000-7,000 บาทในช่วงเก็บเกี่ยว

ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์เองแสดงว่า การรับจำนำข้าวปีการเพาะปลูก 2554/55 มีชาวนาได้รับประโยชน์โดยตรงประมาณสองล้านครัวเรือน เป็นเงิน 142,200 ล้านบาท และชาวนาที่ไม่ได้เข้าโครงการก็ได้ประโยชน์ด้วยประมาณ 57,000 ล้านบาท

นักวิชาการที่ออกมาคัดค้านโครงการนี้อ้างเหตุผลว่า "นี่เป็นการรับจำนำ" ก็ต้องทำเหมือนโรงจำนำในเมืองคือ ต้องตั้งราคาจำนำที่ต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อบังคับให้ชาวนากลับมาไถ่ถอนคืน นักวิชาการพวกนี้แกล้งทำเป็นไม่เข้าใจว่า การจำนำสิ่งของมีค่าในเมืองมีจุดมุ่งหมาย "แก้ปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราว" ในยามเงินขาดมือ เช่น โรงเรียนเปิดภาคการศึกษา คนงานตกงาน เป็นต้น เมื่อผู้จำนำมีสภาพคล่องดีขึ้น (เช่น ได้รับเงินเดือน หรือได้งานทำ) ก็นำเงินมาไถ่ถอนสิ่งของกลับไป ส่วนโครงการรับจำนำข้าวนั้น ไม่ใช่การ "แก้ปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราวของชาวนา" หากแต่เป็นการเพิ่ยรายได้ในปีการเพาะปลูกนั้น ๆ โดยตรง ถึงแม้จะเป็นรูปแบบจำนำ แต่ในทางปฏิบัติคือ การพยุงราคาให้สูง

หากรัฐบาลตั้งราคารับจำนำให้ต่ำกว่าราคาตลาดตามที่นักวิชาการพวกนี้เรียกร้อง ก็จะเป็นการทำร้ายชาวนาและเอื้อประโยชน์แก่พ่อค้าและผู้ส่งออกโดยตรง เพราะราคาตลาดจะตกต่ำลงมาใกล้เคียงกับราคาจำนำ เนื่องจากพ่อค้ารู้ว่า ชาวนาไม่มีทางเลือกอื่นและต้องขายให้พ่อค้าเท่านั้น

ส่วนข้อกล่าวหาว่า โครงการมีทุจริตนั้น ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะยุติโครงการ เพราะถ้ายึดหลักการว่า โครงการใดมีทุจริต ก็ต้องยกเลิกให้หมด ก็เท่ากับว่า รัฐบาลต้องยกเลิกหมดเกือบทุกโครงการในประเทศไทย เพราะโครงการอีกมากมายก็อาจมีทุจริตได้ ไม่เว้นแม้แต่การจัดซื้อจัดจ้างและโครงการวิจัยพัฒนาของพวกนักวิชาการในมหาวิทยาลัยของรัฐด้วย ทางออกจึงไม่ใช่เลิกโครงการ แต่เป็นการปรับปรุงการดำเนินการให้รัดกุม โปร่งใส มีรั่วไหลให้น้อยที่สุด ปราบปรามจับกุมและลงโทษผู้ที่ทุจริตอย่างเด็ดขาด

ส่วนการขาดทุนของโครงการรับจำนำอันเกิดจากข้าวเสื่อมคุณภาพและการระบายข้าวออกในราคาต่ำนั้น อยู่ที่ฝีมือการบริหารสต็อกข้าวของกระทรวงพาณิชย์ว่า จะสามารถระบายข้าวออกไปได้อย่างรวดเร็วและในราคาที่ไม่ต่ำจนเกินไปได้หรือไม่ ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ระบายออกจำนวนเพียงเล็กน้อยให้กับตลาดภายในประเทศ และมีข้อผูกพันขายข้าวผ่านรัฐบาล (จีทูจี) อีก 7 ล้านตันในช่วงปี 2555/56 สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือ เร่งระบายข้าวออกไปเพื่อเปิดสถานที่เก็บให้กับข้าวฤดูใหม่ปี 2555/56 และให้ได้เงินหมุนเวียนกลับมาบริหารโครงการต่อ

ตัวเลขการขาดทุนสำหรับโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2554/55 นั้น หลายฝ่ายคำนวณได้ใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ตัวเลขขั้นต่ำ 50,000 ล้านบาทโดยกระทรวงการคลัง ไปจนถึง 80,000 ล้านบาทโดยสมาคมโรงสีข้าวไทย ซึ่งไม่ได้เกินกว่าความเสียหาย 90,000 ล้านบาทในโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนตัวเลขขาดทุนถึงกว่าสองแสนล้านบาทที่นักวิชาการบางค่ายกล่าวหากันนั้น ก็คือตัวเลข "ยกเมฆ" ที่สมมติว่า สต็อกข้าวปัจจุบันของรัฐบาลนั้นเน่าเสียทั้งหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ การที่นักวิชาการกลุ่มนี้ไม่ได้เพียงแค่แสดงความคิดเห็นต่างทางวิชาการเท่านั้น แต่ถึงกับใช้วิธีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รู้ดีว่า ศาลรัฐธรรมนูญก็คือกลไกของพวกเผด็จการที่ใช้ทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีท่าทีชัดเจนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยปัจจุบัน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการเปิดช่องให้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญใช้ตุลาการเข้ามาแทรกแซงอำนาจบริหารอีกครั้ง และอาจนำไปสู่การทำลายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ชนะเลือกตั้งมาอย่างชอบธรรม ดังเช่นที่ได้ทำลายรัฐบาลพรรคพลังประชาชนไปแล้วนั่นเอง

การที่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ สื่อมวลชนกระแสหลัก พ่อค้าผู้ส่งออกข้าว องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการปัญญาชนที่บูชาเผด็จการจารีตนิยมต้องเคลื่อนไหวอย่างหนักก็เพราะ หากนิ่งเฉยปล่อยให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำโครงการนี้ต่อเนื่องได้สำเร็จ พรรคเพื่อไทยก็จะชนะเลือกตั้งรอบหน้าด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเพิ่มขึ้นอีกมากนั่นเอง

แต่การที่คนพวกนี้อ้างเอาโครงการรับจำนำข้าวเพื่อดึงศาลรัฐธรรมนูญเข้ามานั้น และหากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยทั้งที่ไม่มีอำนาจ พวกเขาก็กำลังเร่งนำความพินาศมาสู่พวกเผด็จการไทยให้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก คือการผลักให้ชาวนาทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวนาในภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ให้หันมาสนับสนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและเป็นแนวร่วมของคนเสื้อแดงอย่างรวดเร็วและได้ผลที่สุด

หรือว่า เราใกล้จะได้เห็นภาคจบของมหากาพย์เรื่องนี้กันเสียที!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตานักกิจกรรมในพม่าถูกระดมฟ้องหลายศาล หลังจัดชุมนุมวันสันติภาพสากล

Posted: 11 Oct 2012 06:26 PM PDT

เยาวชนและนักกิจกรรมพม่า 13 คน ถูกตำรวจพม่าตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายการรวมตัวสมาคม หลังชุมนุมวันสันติภาพสากล 21 ก.ย. และอาจเผชิญโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี หลังถูกซอยย่อยข้อกล่าวหา-ทยอยฟ้องจากตำรวจหลายโรงพักตามพื้นที่ซึ่งผู้ชุมนุมเคลื่อนผ่าน ล่าสุดมีการตั้งเพจ "Free The Thirteen" เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี

นักกิจกรรมจากเครือข่ายสันติภาพคะฉิ่น (Kachin Peace Network) ได้แก่ จอ กุน และเมย์ ซาเบ ผิ่ว เดินทางมาขึ้นศาลเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ศาลเขตดะโกง นครย่างกุ้ง หลังถูกฟ้องในข้อหาละเมิดมาตรา 18 ของกฎหมายการรวมตัวสมาคม หลังจากเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันสันติภาพสากล พวกเขาได้จัดการชุมนุมโดยมีผู้เข้าร่วมนับพันคน เรียกร้องสันติภาพให้กับรัฐคะฉิ่นและทุกที่ในพม่า

ทั้งนี้แม้มาตรา 18 ของกฎหมายการรวมตัวสมาคมของพม่า จะกำหนดโทษจำคุกสูงสุดไว้ 1 ปี แต่นักกิจกรรมชาวพม่า อาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 10 ปีจากการกระทำความผิด 10 กรรม หากมีการฟ้องโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจทั้ง 10 เขตในพื้นที่ซึ่งมีการเดินขบวนผ่าน

ในการขึ้นศาลวันแรกนี้ ทั้งจอ กุน และเมย์ ซาเบ ผิ่ว ได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้พวกเขาขึ้นศาลเขตตะวันตกของย่างกุ้งเพียงศาลเดียว อย่างไรก็ตามผู้พิพากษาขิ่น ถั่น ซินไม่พิจารณาคำร้องดังกล่าว

โดยจอ กุน และเมย์ ซาเบ ผิ่ว ยังถูกฟ้องในข้อหาคล้ายกันนี้แล้วทั้งหมด 6 ศาลในย่างกุ้ง เช่นเดียวกับนักกิจกรรมอีก 11 คนก็ถูกฟ้องในข้อหาเดียวกัน โดยในจำนวนนี้มีนักกิจกรรมเยาวชนจากเครือข่ายสันติภาพคะฉิ่นอีก 4 รายที่ถูกฟ้องและต้องขึ้นศาล 10 เขตในย่างกุ้งหลังเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อ 21 ก.ย. ดังกล่าว

ผู้นำเครือข่ายสันติภาพคะฉิ่นกล่าวว่า "ถ้ายังเป็นเช่นนี้อีกนาน การขึ้นศาลหลายรอบ ในเวลาต่างๆ กันจะรบกวนหน้าที่การงานของพวกเรา"

ทั้งนี้เครือข่ายนักกฎหมายพม่าได้เข้ามาช่วยเหลือนักกิจกรรมเหล่านี้ โดยซอว์ ซอว์ อ่อง ทนายความจากสำนักกฎหมาย ลอว์รัล กล่าวว่าได้เขียนคำร้องเพื่อขอให้ทั้งจอ กุน และเมย์ ซาเบ ผิ่ว ขึ้นศาลเพียงแห่งเดียว เพราะตามประมวลกฎหมายอาญาพม่า มาตรา 71 ระบุว่าผู้ใดก็ตามที่ถูกดำเนินคดีในสถานที่และเวลาเดียวกันจะต้องถูกลงโทษแค่ครั้งเดียว

โดยการขึ้นศาลนัดต่อไปของนักกิจกรรมชาวคะฉิ่นได้แก่ วันที่ 15 ต.ค. ที่ศาลเขตซัน ฉ่อง 16 ต.ค. ที่ศาลเขตโบดะถ่อง 24 ต.ค. ที่ศาลเขตดะโกง ส่วนนักกิจกรรมอีก 4 รายจะขึ้นศาลวันที่ 15 ต.ค. ที่ศาลเขตเหล่ง และวันที่ 16 ต.ค. ที่ศาลเขตโบดะถ่อง

สำหรับสาเหตุที่นำมาสู่การฟ้องร้องกันหลายศาลนี้ เกิดขึ้นจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา ผู้แทน 13 คน จากกว่า 20 องค์กรประชาสังคมพม่าในนามเครือข่ายสันติภาพ ได้ยื่นคำร้องขอชุมนุมกับเทศบาลย่างกุ้ง โดยจะขอชุมนุมเนื่องในวันสันติภาพสากล 2 ก.ย. โดยวางแผนเคลื่อนขบวนจากเจดีย์สุเหล่มายังทะเลสาบอินยา ผู้แทนจัดการชุมนุมยังได้ส่งข้อความที่จะใช้ตะโกนในการชุมนุม และอุปกรณ์การชุมนุมอื่นๆ รวมถึงป้ายที่เขียนว่า "ยุติสงครามกลางเมือง" ไปแสดงยังเจ้าหน้าที่พม่า ตามที่กฎหมายการรวมตัวสมาคมซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2554 กำหนด อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้เพิกถอนคำร้องในวันที่ 18 และวันที่ 19 ก.ย. โดยระบุว่ากิจกรรมนี้จะรบกวนการจราจร คุกคามต่อสาธารณะ และเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง

ทั้งนี้ผู้จัดการชุมนุมให้ข้อมูลกับฮิวแมนไรท์ วอทซ์ว่าพวกเขาได้แจ้งกับตำรวจว่าจะยังคงดำเนินการชุมนุมแม้จะถูกทางการปฏิเสธคำร้อง โดยอ้างเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัว อย่างไรก็ตามในคืนวันที่ 20 และเช้าวันที่ 21 ก่อนการชุมนุม เจ้าหน้าที่พม่าพยายามที่จะควบคุมตัวผู้จัดการชุมนุม 4 รายที่้บ้านของพวกเขา แต่ปฏิบัติการนี้ล้มเหลว

ต่อมาผู้บัญชาการตำรวจนครย่างกุ้ง มิ้นต์ ทเว ได้จัดแถลงข่าวว่ารัฐบาลอาจจะฟ้องผู้ชุมนุมในข้อหาละเมิดกฎหมายการชุมนุมมาตรา 18 ซึ่งกำหนดให้ผู้ชุมนุมต้องได้รับการอนุญาติการสมาคมและการเดินขบวนในที่สาธารณะ หากพวกเขามีความผิดตามข้อกล่าวหาจริงจะถูกลงโทษจำคุก 1 ปี และถูกปรับ 30,000 จ๊าต (1,050 บาท) ตามมาด้วยการฟ้องจากหลายสถานีตำรวจดังกล่าว

วิดีโอรณรงค์ของเพจ Free The Thirteen สนับสนุนนักกิจกรรมพม่าทั้ง 13 คน ที่ถูกทางการพม่าดำเนินคดี หลังชุมนุมในวันสันติภาพสากล 21 ก.ย. ที่ผ่านมา

 

ล่าสุด เครือข่ายเยาวชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ตั้งเพจ Free The Thirteen ขึ้น เพื่อจับตาการดำเนินคดี 13 นักกิจกรรมพม่าดังกล่าว พร้อมสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก และเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีนักกิจกรรมทั้ง 13 คน โดยมีการล่ารายชื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนชาวพม่าทั้ง 13 คนด้วย

ทั้งนี้ในพม่ายังมีสถานการณ์สู้รบในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยทั้งที่รัฐฉาน และรัฐคะฉิ่น โดยที่รัฐคะฉิ่น ทหารพม่าและกองทัพอิสรภาพคะฉิ่นเริ่มปะทะกันเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ปี 2554 หลังทหารพม่าข้ามมายังเขตควบคุมของทหารคะฉิ่น และโจมตีฐานที่มั่น โดยจากข้อมูลของหน่วยงานบรรเทาทุกข์ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยในรัฐคะฉิ่นแล้วกว่า 90,000 คน เช่นเดียวสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาวยะไข่ และชาวโรฮิงยาในรัฐอาระกัน ซึ่งปะทุขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และมีผู้เสียชีวิตหลายราย

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Don't prosecute Burmese peace activists: HRW, Mizzima, Tuesday, 02 October 2012 12:3 http://www.mizzima.com/news/inside-burma/8145-dont-prosecute-burmese-peace-activists-hrw.html

Judge turns down Kachin peace activists' appeal, Kachinland News, 11 October 201 http://kachinlandnews.com/?p=22366

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น