โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เมื่อคนทำงานด้าน "สิทธิมนุษยชน" เรียกร้อง "สิทธิแรงงาน"

Posted: 13 Oct 2012 11:37 AM PDT

สำหรับงานองค์กรพัฒนาเอกชน บ่อยครั้งเรามักจะมองภาพคนทำงานให้อุตสาหกรรมนี้ว่าจะต้องมีคุณลักษณะ "จิตอาสา" เป็นสำคัญ ...แต่กระนั้นสิทธิพื้นฐานในการทำงานก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ล่าสุดเจ้าหน้าที่แอมนาสตี้สากลสหราชอาณาจักร หยุดงานประท้วงนโยบายรัดเข็มขัดของผู้บริหารองค์กร ที่จะทำให้พนักงานตกงานร่วมสองร้อยคน

การหยุดงานประท้วงของเจ้าหน้าที่ AIUK เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ: http://www.socialistparty.org.uk)


สำหรับงานองค์กรพัฒนาเอกชน บ่อยครั้งเรามักจะมองภาพคนทำงานให้อุตสาหกรรมนี้ว่าจะต้องมีคุณลักษณะ "จิตอาสา" เป็นสำคัญ ...แต่กระนั้นสิทธิพื้นฐานในการทำงานก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 55 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ unitetheunion.org รายงานว่าเจ้าหน้าที่แอมนาสตี้สากลสหราชอาณาจักร (Amnesty International UK - AIUK) ซึ่งเป็นสมาชิกของ Unite จะทำการหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. เป็นต้นไป ซึ่งการหยุดงานประท้วงครั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบายการตัดงบประมาณถึง 2.5 ล้านปอนด์ของผู้บริหารระดับสูงของ AIUK ซึ่งจะทำให้พนักงานกว่า 204 คนต้องตกงาน

ทั้งนี้อลัน สก๊อตต์ (Alan Scott) เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคของ Unite ระบุว่านโยบายดังกล่าวสวนทางกับรายได้ของ AIUK จากการรับบริจาคที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะตกต่ำเช่นเดียวกับภูมิภาคยุโรปในส่วนอื่นๆ

สก๊อตต์กล่าวต่อไปว่าเจ้าหน้าที่ AIUK ที่เป็นสมาชิกของ Unite ไม่มีความเชื่อมั่นในการบริหารแบบนี้

การหยุดงานประท้วงของเจ้าหน้าที่ AIUK เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ: http://www.socialistworker.co.uk)

ทั้งนี้ในวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา socialistworker.co.uk รายงานว่าเจ้าหน้าที่ของ AIUK ประมาณ 30 คนได้ออกมาประท้วง Rich Cowley สมาชิกของ Unite กล่าวว่าการหยุดงานประท้วงของเจ้าหน้าที่ AIUK ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากขบวนแรงงานรวมถึงเจ้าหน้าที่ AI ในส่วนต่างๆ ของโลก

โดยการนัดหยุดงานประท้วงระลอกนี้ของ AIUK นับเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ ซึ่งเป็นปฏิกริยาโต้กลับจากนโยบายการตัดลดงบประมาณของผู้บริหารองค์กร

ผู้ประท้วงรายอื่นที่ระบุชื่อว่า "ลอร่า" (Laura) ให้ความเห็นแก่ socialistworker.co.uk ว่ากระบวนการที่จะตัดลดงบประมาณนี้ไม่ได้รับการปรึกษาหารือร่วมกับพนักงาน

สำหรับอารมความรู้สึกร่วมในการหยุดงานประท้วงครั้งนี้ เธอระบุว่าเธอต้องใช้พลังในการทบทวนตัวเองเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเธอออกมาต่อสู้ในขณะนี้แล้ว เธอก็รู้สึกดี -- ทั้งนี้ในการประท้วงครั้งนี้มีการชูคำขวัญที่ว่า "สิทธิแรงงานคือสิทธิมนุษยชน" ("workers' rights are human rights") อีกด้วย

อนึ่ง Unite เป็นการรวมตัวกันของสมาชิกสหภาพแรงงานในหลายๆ อุตสาหกรรมในสหราชอาณาจักร และมีสมาชิก 1.5 ล้านคน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"D." บล็อกเกอร์ ชาวเวียดนาม

Posted: 13 Oct 2012 10:53 AM PDT

"ผมคิดว่าเขาไม่ได้กลัวอินเทอร์เน็ต แต่เขากลัวเรื่องจริงจะถูกเผยแพร่ออกไป โดยที่เขาไม่สามารถตรวจสอบได้หมด ในเวียดนามตอนนี้ ประชาชนไม่ได้เชื่อในรัฐบาลแล้ว"

ใน สนทนากับหนึ่งในบล็อกเกอร์ที่ทางการเวียดนามต้องการตัว

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: 16 ตุลา ใครฆ่า 3 จี ?

Posted: 13 Oct 2012 08:42 AM PDT

เส้นทางที่ 'เสียงข้างน้อย' ใช้ตรวจสอบยับยั้งการปกครองโดย 'เสียงข้างมาก' ได้นั้น คือ ซอยแคบๆ ที่แยก 'ประชาธิปไตย' ออกจากถนนสู่ 'เผด็จการ'
 
แต่เพื่อไม่ให้ 'เสียงข้างน้อย' กลายเป็น 'เผด็จการ' เสียเอง (ดังที่เคยบานปลายไปสู่เหตุการณ์ '6 ตุลา' หรือ '14 ตุลา') การตรวจสอบยับยั้งที่ว่าจึงทำได้ก็แต่โดย 'ความยินยอม' ของ 'เสียงข้างมาก'
 
'ความยินยอม' นี้ไม่อาจเป็นเพียง 'ความสำนึกตรึกคิด' และไม่ว่าจะตรึกคิดไปพร้อมกับเสียงเพลงแห่งศีลธรรมอันสูงส่งเพียงใด แต่การตรึกคิดที่ว่า ต้องถูกตราขึ้นในรูปแบบของ 'กฎหมาย' ซึ่งประกันสิทธิต่างๆ ให้แก่ 'เสียงข้างน้อย'
 
ซึ่งสิทธิที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ก็คือ 'สิทธิในการฟ้องคดี' นั่นเอง
 
'ตุลาการ' จึงถูกสร้างมาเพื่อประกันสิทธิของ 'เสียงข้างน้อย' ให้สามารถยื่นกระดาษบางๆ เพียงไม่กี่แผ่น แต่ทำให้ความประสงค์อันหนักแน่นของ 'เสียงข้างมาก' ชะงักงันได้ โดยไม่ต้องใช้รถถังหรือกระสุนปืน
 
ดังนั้น แม้ 'รัฐสภา' จะตรากฎหมายให้อำนาจ 'วุฒิสภา' ใช้ 'เสียงข้างมาก' คัดเลือก กสทช. 11 คน มาเป็นผู้จัดการประมูล 3จี แต่การใช้อำนาจของ กสทช. ก็ย่อมถูก 'เสียงข้างน้อย' เช่น นักวิชาการอิสระ หรือ ผู้บริโภค เพียงคนเดียว หรือสมาคมมูลนิธิเพียงไม่กี่แห่ง ใช้ช่องทาง 'ศาล' เพื่อตรวจสอบยับยั้งการประมูลได้เช่นกัน
 
ผู้ที่ศรัทธาในประชาธิปไตย จึงไม่ควรมีปัญหากับ 'ผู้ที่ไปฟ้องคดี' แต่หากจะมี ก็อาจต้องมีในกรณีที่ 'ศาล' ปล่อยให้ 'เสียงข้างน้อย'  เข้าไปบีบคั้นจนทำลาย 'ความยินยอม' ของ 'เสียงข้างมาก' ในที่สุด
 
การฟ้องคดี 3จี นั้น 'เสียงข้างมาก' ยินยอมให้ 'เสียงข้างน้อย' ฟ้อง 'ศาลปกครอง' ได้ เฉพาะกรณีที่ 'เสียงข้างน้อย' นั้น "เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้"
 
หากศาลเห็นว่า 'เสียงข้างน้อย' เป็นผู้ที่ห่วงใยและหวังดีโดยคาดเดาถึงอนาคต แต่ไม่มีหลักฐานที่ทำให้เห็นความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ 'เสียงข้างน้อย' เหล่านั้น ก็ย่อมมาศาลโดยปราศจาก 'ความยินยอม' ของ 'เสียงข้างมาก'
 
ส่วนเรื่องที่ ราคาตั้งต้นการประมูลนั้นต่ำไป หรือ การจัดแบ่งชุดคลื่นทำให้เกิดการ 'ฮั้ว' กันนั้น ในท้ายที่สุด 'เสียงข้างน้อย'  ก็ยังต้องอาศัย 'ความยินยอม' ของ 'เสียงข้างมาก' มาเป็นเหตุผลในการอ้าง ซึ่ง 'ความยินยอม' ในการประมูล ก็คือ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 45 ประกอบ มาตรา 41 (ตราขึ้นตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 47) ซึ่งบัญญัติว่า
 
"[การประมูลคลื่น 3จี โดย กสทช.] ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและต้องดำเนินการในลักษณะที่มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ"
 
กฎหมายกำหนดหลักการเกี่ยวกับการจัดการประมูลไว้กว้างๆ เพียงเท่านี้ ส่วนหลักเกณฑ์และรายละเอียดเพิ่มเติมนั้น กฎหมายให้ 'กสทช.' เป็นผู้ไปดำเนินการตั้งราคาและจัดแบ่งชุดคลื่นความถี่ให้สม "ประโยชน์สูงสุดของประชาชน" โดยไม่มีกฎหมายข้อใดที่กำหนดให้ กสทช. ต้องกำหนดราคาให้สูง หรือ รีดกำไรเข้ารัฐ
 
ตรงกันข้าม กสทช. ถูกกำหนดให้คำนึงถึง "การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม" ซึ่งในมุมของ กสทช. ก็อาจอธิบายว่า การตั้งราคาที่สูงไป หรือ การปล่อยให้มีการแย่งชุดคลื่นกันได้มากเกินไป อาจทำให้ผู้เข้าประมูลบางรายไม่สามารถ "แข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม" ในที่สุด ฯลฯ (ดูเพิ่มที่ https://sites.google.com/site/verapat/3g)
 
หากผู้ใดจะไม่เห็นด้วยก็ไม่แปลก หากมี กสทช. ตั้งมาพร้อมกัน 2 ชุด ก็อาจเห็นไม่ตรงกันเสียด้วยซ้ำ
 
แต่ด้วยเหตุที่ว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ไม่สมบูรณ์แบบ และแม้ กสทช. ทั้ง 11 คน จะไม่อาจเป็นผู้แทนของคนทั้งประเทศ แต่ กสทช. ก็มาจากการเสนอชื่อคัดสรรโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม และถูกคัดเลือกโดยวุฒิสภาที่อย่างน้อยก็ยังมีความเชื่อมโยงบางส่วนกับประชาชน และด้วยเหตุนี้ 'เสียงข้างมาก' จึงมอบดุลพินิจให้แก่ กสทช. ในการจัดการประมูลเพื่อ "ประโยชน์สูงสุดของประชาชน"
 
คำถามที่ตามมาก็คือ 'ศาล' ที่เชื่อมโยงกับประชาชนน้อยยิ่งกว่า กสทช. นั้น สมควรจะเข้าไปตีความ "ประโยชน์สูงสุดของประชาชน"  เพื่อตรวจสอบยับยั้งราคาตั้งต้นการประมูล หรือ การจัดแบ่งชุดคลื่น ที่ กสทช. ได้ดำเนินการมา ได้มากน้อยเพียงใด ?
 
แน่นอนว่า หาก 'เสียงข้างน้อย' พบหลักฐาน 'การทุจริต' ที่ชี้ให้เห็นว่าการประมูลครั้งนี้จัดขึ้นโดย 'เลือกปฏิบัติ' ระหว่างผู้เข้าประมูล หรือเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนแทนที่จะยึด "ประโยชน์สูงสุดของประชาชน" หรือโดยใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ เช่น กำหนดตัวเลขราคาขึ้นมาลอยๆ โดยปราศจากคำอธิบายใดๆ  'ศาล' ในฐานะที่พึ่งของ 'เสียงข้างน้อย' ย่อมชอบที่จะอาศัยหลักฐานที่ว่าเข้าไปตรวจสอบยับยั้งการประมูลได้
 
แต่ตรงกันข้าม หากสิ่งที่ 'เสียงข้างน้อย' นำเสนอต่อ 'ศาล' เป็นแต่เพียงความห่วงใยและหวังดีบนพื้นฐานของ 'ความสำนึกตรึกคิด' ของ 'เสียงข้างน้อย' ที่ประสงค์จะเข้าไปกำหนดเสียเองว่า "ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ" นั้นคืออะไร ก็เท่ากับว่า 'เสียงข้างน้อย' มิได้รับ 'ความยินยอม' ของ 'เสียงข้างมาก'
 
แต่ 'เสียงข้างน้อย' กำลังอาศัย 'ศาล' มาบิดเบือน 'ความยินยอม' ของ 'เสียงข้างมาก' ให้แปรเปลี่ยนไปตามใจประสงค์ของตนเสียเอง.
 
---
บทวิเคราะห์กฎหมายเกี่ยวกับการประมูลคลื่น 3จี อ่านเพิ่มได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/3g
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ศิริโชค’ ระบุเสื้อแดงจัดฉากศพ "กมนเกด" สวมเสื้อกาชาด ยันเจ้าหน้าที่ไม่ได้ยิง

Posted: 13 Oct 2012 08:24 AM PDT

'ศิริโชค' ปราศรัยบนเวที "ผ่าความจริง ใครบงการ มัจจุราชชุดดำ ฆ่าประเทศไทย" ระบุคนเสื้อแดงจัดฉากศพ "กมนเกด" สวมเสื้อกาชาด ยันวิถีกระสุนเป็นไปไม่ได้ถูกยิงจาก จนท.บนรางบีทีเอส



13 ต.ค. 55 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าเมื่อเวลา 19.00 น. นายศิริโชค โสภา สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวที "ผ่าความจริง ใครบงการ มัจจุราชชุดดำ ฆ่าประเทศไทย" ที่อาคารลุมพินีสถาน สวนลุมพินี โดยนายศิริโชคฉายภาพสไลด์พร้อมภาพกราฟฟิกระบุว่าศพ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน พ.ค.ปี 53 ไม่มีทางเป็นไปได้ที่ถูกยิงจากเจ้าหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส เพราะวิถีกระสุนที่ยิงเข้าร่าง น.ส.กมนเกดนั้นต้องเกิดจากมุมยิงที่ต่ำกว่า 10 องศา แต่จุดที่คาดว่าเจ้าหน้าที่ประจำการนั้นอยู่ในตำแหน่งที่ต้องยิงในวิถีกระสุน 30 องศา ดังนั้นต้องยิงในวิถีไซร้โค้งถึงจะสามารถยิง น.ส.กมนเกดได้ ซึ่งไม่มีความเป็นไปไม่ได้

นายศิริโชค ยังกล่าวว่า กรณีที่แกนนำเสื้อแดงอ้างว่าเจ้าหน้าที่รัฐยิงน.ส.กมนเกด ทั้งๆ ที่สวมเสื้อกาชาดนั้นก็ไม่เป็นความจริง แต่เกิดจากการจัดฉากมีการนำเสื้อกาชาดไปสวมภายหลังจากที่ น.ส.กมนเกดเสียชีวิตแล้ว ดังนั้นการอภิปรายในสภาที่นายวิชาญ มีนชัยนันท์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทยเคยนำเสื้อกาชาดเปื้อนเลือดมาแสดงกลางที่ประชุมแล้วอภิปรายโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการจัดฉากเพราะไม่มีรอยกระสุนอยู่บนเสื้อกาชาด ฉะนั้นเรื่องนี้มองได้ว่าเป็นกระบวนการหากินกับศพของเหล่าแกนนำคนเสื้อแดง           

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: การเมืองเรื่องแคดเมียม

Posted: 13 Oct 2012 06:42 AM PDT

 
ชื่อบทความเดิม: จากการเมืองเรื่องแคดเมียม รัฐอุ้มผาแดงสู่การเมืองเรื่องอ้อยเอทานอล รัฐอุ้มแม่สอดพลังงานสะอาดผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมยังคงรอวันตาย
 
ลุ่มน้ำแม่ตาวและลุ่มน้ำแม่กุตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ด้านตะวันออกของอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นแหล่งรับน้ำจากบริเวณเทือกเขาด้านตะวันออกที่อุดมด้วยแร่สังกะสีและแคดเมี่ยมที่เกิดร่วมสายแร่ ซึ่งมีกิจกรรมทำเหมืองแร่สังกะสีบริเวณเทือกเขาดังกล่าวด้วย เมื่อฝนตกบริเวณต้นน้ำแล้วไหลลงในพื้นที่ราบลุ่มตอนล่างจึงทำให้เกิดการสะสมปริมาณสารแคดเมี่ยมในตะกอนท้องน้ำเป็นจำนวนมาก โดยปกติลุ่มน้ำทั้งสองมักมีน้ำหลากท่วมล้นตลิ่งในฤดูฝนเข้าพื้นที่นาข้าวและพื้นที่การเกษตรอื่นอยู่เป็นประจำเกือบทุกปี รวมทั้งการปล่อยน้ำเข้าสู่นาข้าวและแปลงเกษตรอื่นในฤดูทำการผลิตด้วยแล้วจึงทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมแพร่กระจายขยายตัวเป็นบริเวณกว้างเข้าไปในระบบนิเวศของลุ่มน้ำ โดยเฉพาะพบการปนเปื้อนในดินและข้าวเป็นส่วนใหญ่ ในระดับพิสัยเดียวกับข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคอิไต-อิไต ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน
 
ในปี ๒๕๔๗ เป็นช่วงเวลาที่เกิดการตื่นกลัวกันมาก เพราะมีข้อมูลเปิดเผยออกมาจากสถาบันการจัดการน้ำระหว่างประเทศ (International Water Management Institute-IWMI) ว่า จากการตรวจวัดระดับสารแคดเมี่ยมในดินและข้าวบริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่างปี ๒๕๔๑ – ๒๕๔๖ ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็น ๒ ช่วง คือช่วงแรกปี ๒๕๔๑ – ๒๕๔๓ ศึกษาแปลงนาบริเวณหมู่บ้านในเขต ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณแหล่งแร่สังกะสี พบว่ามีปริมาณสารแคดเมี่ยมในดิน ๑๕๔ ตัวอย่าง สูงกว่าค่ามาตรฐานของ EU ถึง ๑,๘๐๐ เท่า และพบว่าร้อยละ ๙๕ ของเมล็ดข้าวที่สุ่มตัวอย่าง มีแคดเมี่ยมปนเปื้อนในปริมาณที่มากกว่าค่าที่พบในข้าวที่ปลูกในประเทศไทยบริเวณอื่น สูงที่สุดถึง ๑๐๐ เท่า  ช่วงที่สองระหว่างปี ๒๕๔๔ – ๒๕๔๖ ได้ขยายพื้นที่ศึกษาจากช่วงแรกมาตามลำห้วยแม่ตาวในบริเวณ ต.แม่ตาว อ.แม่สอด ซึ่งเป็นบริเวณท้ายน้ำจากบริเวณพื้นที่การศึกษาช่วงแรก และพบว่าปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมี่ยมในดินมีค่าสูงถึง ๗๒ เท่าของค่ามาตรฐาน EU ขณะที่กว่าร้อยละ ๘๐ ของตัวอย่างข้าวมีค่าของแคดเมี่ยมสูงกว่าค่ามาตรฐานของญี่ปุ่นและองค์การอาหารและเกษตร(FAO) ซึ่งปริมาณสารแคดเมี่ยมที่พบนี้มีค่าในพิสัยเดียวกับข้าวที่ก่อให้เกิดโรคอิไต-อิไต ในประเทศญี่ปุ่น หากบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน[1]
 
ความตื่นกลัวในช่วงเวลานั้นเป็นเหตุให้รัฐบาลมีมติ ครม. ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่หลายฉบับ เริ่มตั้งแต่
 
๑) มติ ครม. เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗  เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้ตรวจสอบข้าวที่ปลูกในพื้นที่ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด ว่ามีการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมหรือไม่ อย่างไร
 
๒) มติ ครม. เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ เห็นชอบแผนงานระยะสั้นในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยมบริเวณลุ่มน้ำแม่ตาว จังหวัดตาก และอนุมัติวงเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงานตามแผนงานฯ จำนวน ๙๒,๑๓๕,๖๐๐ บาท โดยให้จังหวัดตากจัดทำรายละเอียดโครงการ และประมาณการค่าใช้จ่ายผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ
โดยใช้เงินส่วนหนึ่งจากงบประมาณก้อนนี้ไปชดเชยช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน ๘๖๒ ราย ในพื้นที่ ๓ ตำบล คือ ต.พระธาตุผาแดง  ต.แม่ตาว และ ต.แม่กุ รวม ๑๒ หมู่บ้าน รวมพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ ๑๓,๒๓๗ ไร่ ในอัตราไร่ละ ๓,๗๐๐ บาท ให้เกี่ยวข้าวหรือตัดทำลายทิ้งให้หมด เพื่อควบคุมข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมียมไม่ให้จำหน่ายออกสู่ตลาดเพื่อมิให้ผู้บริโภคข้าวในตลาดต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวไทย
 
๓) มติ ครม. เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๘  ยังคงเกิดเหตุการณ์เหมือนปีที่แล้ว รัฐบาลจึงเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ คือ เห็นชอบแผนงานการจ่ายค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรที่ต้องงดปลูกข้าวและพืชอาหารในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว อำเภอแม่สอด และอนุมัติเงินงบกลางปี ๒๕๔๘ ผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน ๕๖,๗๑๑,๙๔๗ บาท เพื่อให้จังหวัดตากนำไปจ่ายชดเชยให้แก่เกษตรกรจำนวน ๙๐๓ ราย ที่ต้องงดปลูกข้าวและพืชอาหารในพื้นที่ ๑๓,๔๓๙ ไร่ ในอัตราเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเป็นไร่ละ ๔,๒๒๐ บาทต่อไร่ และมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อฟื้นฟูสภาพดินในบริเวณลุ่มน้ำแม่ตาว และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากที่ดินในการประกอบอาชีพในบริเวณดังกล่าวตามความเหมาะสม
 
๔) มติคณะปฏิรูปการปกครองในระบอลประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๙  ให้ความเห็นชอบในหลักการของแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๑ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๔๙ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน ๕๗,๗๓๐,๐๖๐ บาท เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพของเกษตรกร โดยใช้งบประมาณก้อนนี้เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพของเกษตรกร จำนวน ๘๓๕ ราย พื้นที่ ๑๓,๒๐๕ ไร่ ในอัตราไร่ละ ๔,๒๒๐ บาท ตามอัตราที่เคยช่วยเหลือในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นจำนวน ๕๕,๗๒๕,๑๐๐ บาท ส่วนงบประมาณที่เหลืออีกนิดหน่อยนำไปใช้ในการบริหารจัดการศูนย์อำนวยการพัฒนาลุ่มน้ำแม่ตาวระดับจังหวัดและอำเภอ
 
พร้อมกับการวางแผนระยะยาวด้วยการให้เกษตรกรหันไปปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลแทนข้าวในพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนแคดเมียมจำนวน ๑๓,๒๓๗ ไร่ เพื่อหวังที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรจากการปลูกพืชอาหารไปเป็นพืชพลังงาน โดยอนุมัติให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๔๙ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน ๑๑,๕๑๑,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล
 
กล่าวโดยสรุปในช่วงปี ๒๕๔๗ – ๒๕๔๙ รัฐใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรไปแล้วเป็นจำนวนเงินประมาณ ๒๑๘,๐๘๘,๖๐๗ บาท  เป็นการใช้เงินภาษีประชาชนเพื่ออุ้มบริษัท ผาแดง อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทผาแดง ทั้ง ๆ ที่ข้อถกเถียงในเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของบริษัทผาแดงต่อการเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษจากการทำเหมืองแร่สังกะสีบนพื้นที่ต้นน้ำแม่ตาวและแม่กุยังไม่สามารถคลี่คลายให้กระจ่างชัดได้  งานศึกษาวิจัยส่วนใหญ่ต่อกรณีการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในลุ่มน้ำแม่ตาวและแม่กุได้สรุปสาเหตุและแหล่งที่มาของการปนเปื้อนแคดเมียมไว้ ๓ ประการกว้าง ๆ คือ
 
๑. กระบวนการตามธรรมชาติ เกิดจากกระบวนการผุพังสลายตัวตามธรรมชาติของพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งศักยภาพแร่สังกะสีพัดพาเอาตะกอนดินและหินจากเทือกเขาแหล่งแร่สังกะสีที่มีแคดเมี่ยมเกิดร่วมอยู่ด้วย ลงมาทับถมสะสมตัวในที่ลุ่มซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ตั้งแต่อดีตกาล ๑.๘ ล้านปี ล่วงมาจนถึงปัจจุบัน
 
๒. จากการทำเหมืองแร่สังกะสี โดยเหมืองอาจปล่อยน้ำทิ้งและตะกอนที่มีการปนเปื้อนสูงเกินค่ามาตรฐานและการชะล้างพัดพาตะกอนจากการเปิดพื้นที่ทำเหมือง
 
๓. การบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำ การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำการเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดการชะล้างพัดพาตะกอนดิน การทดหรือสูบน้ำจากห้วยแม่ตาวและห้วยแม่กุเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ซึ่งทำให้ตะกอนธารน้ำที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมไหลจากแปลงนาที่สูงกว่าสู่แปลงนาที่ต่ำกว่า และการใช้ยาปราบศัตรูพืชเพื่อเพิ่มผลผลิต
 
แท้จริงแล้วการทำเหมืองแร่สังกะสีบนพื้นที่ต้นน้ำห้วยแม่ตาวที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับต้นน้ำห้วยแม่กุซึ่งรองรับน้ำล้นจากการทำเหมืองแร่และแต่งแร่มีความเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยต่อการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในดินและข้าวของเกษตรกรในที่ลุ่ม แต่กลับไม่มีการพิสูจน์ให้ชัดเจนลงไปว่าการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมจากสาเหตุใดมีปริมาณมากน้อยต่างกันเพียงใด และแต่ละสาเหตุควรจะมีส่วนรับผิดชอบแก้ไขปัญหามากน้อยต่างกันอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในแต่ละสาเหตุได้อย่างไร
 
เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอต่อที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗  เพื่อขอมติเห็นชอบให้ตรวจสอบข้าวที่ปลูกในพื้นที่ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด ว่ามีการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีได้เสนอต่อที่ประชุม ครม. มีรายละเอียดว่า "ตามที่มีข่าวว่าข้าวที่ปลูกในท้องที่บ้านพะเด๊ะ และหมู่บ้านแม่ตาวใหม่ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม ซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย เป็นผลเนื่องมาจากการดำเนินกิจการเหมืองของบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ตากไมร์นิ่ง จำกัด นั้น ได้ทราบว่าบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) พร้อมที่จะให้ความร่วมมือแก่ทางราชการอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่ามีสารแคดเมี่ยมปนเปื้อนอยู่ในดินหรือไม่ หรือสารดังกล่าวมีอยู่เองในบริเวณนั้นตามธรรมชาติ หรือเป็นการแพร่กระจายมาจากการดำเนินกิจการเหมืองของบริษัทฯ ซึ่งหากตรวจพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากความบกพร่องของบริษัทฯ  บริษัทฯ จะรับผิดชอบต่อความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ทางราชการจะต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป  อนึ่ง ข้าวที่เพาะปลูกในเขตพื้นที่ดังกล่าว หากพบว่ามีสารปนเปื้อนจริง ก็จะต้องดำเนินการควบคุมดูแล มิให้มีการจำหน่ายออกสู่ตลาด เพราะจะทำให้ผู้บริโภคข้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศที่เป็นลูกค้าของไทยเกิดความหวาดระแวงและขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของข้าวไทยได้" ข้อเสนอดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีเห็นได้ชัดถึงท่าทีที่แข็งกร้าวของบริษัทผาแดงและพฤติกรรมของรัฐ เพราะตามความเป็นจริงแล้วจะกล่าวโทษบริษัทผาแดงฝ่ายเดียวที่ไม่แสดงความจริงใจหรือความมีจิตสำนึกต่ำต่อความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก แต่เป็นเพราะรัฐเองที่ทำให้เคลือบแคลงสงสัยว่าระหว่างภาระในการพิสูจน์ทราบถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าแหล่งที่มาของการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยมจากการทำเหมืองแร่สังกะสีของบริษัทผาแดงมีส่วนเกี่ยวข้องและต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรมากน้อยเพียงใด กับความพยายามในการสกัดกั้นข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมไม่ให้มีการจำหน่ายออกสู่ตลาด รัฐให้ความสำคัญต่อเรื่องใดมากกว่ากัน เพราะรัฐได้ปล่อยให้วันเวลาล่วงเลยมาจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงให้สังคมรับทราบเพื่อคลายความกังวลสงสัยได้เลย ที่ทำสำเร็จอยู่เรื่องเดียวคือการสกัดกั้นมิให้ข้าวที่ปลูกได้จากพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวและแม่กุออกจำหน่ายในท้องตลาด
 
หลังจากมติของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๙  รัฐก็ได้หยุดชดเชยช่วยเหลือเป็นเงินต่อไร่แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าวในลุ่มน้ำแม่ตาวและแม่กุ ทั้ง ๆ ที่ข้าวในพื้นที่นั้นยังมีการปลูกอยู่ และเป็นข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องเพราะความเขี้ยวลากดินของรัฐ โดยสำนักงบประมาณมีข้อเสนอว่า การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในช่วงการปรับเปลี่ยนอาชีพ เห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๙ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน ๕๕,๗๒๕,๑๐๐ บาท เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพของเกษตรกร จำนวน ๘๓๕ ราย พื้นที่ ๑๓,๒๐๕ ไร่ ในอัตราไร่ละ ๔,๒๒๐ บาท ตามอัตราที่เคยช่วยเหลือในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๘  โดยเห็นสมควรให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นปีสุดท้าย เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๗ และปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น ๑๑๗,๘๗๙,๖๒๒ บาท และขณะนี้เกษตรกรจะเริ่มมีรายได้จากการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอื่นทดแทนแล้ว ทั้ง ๆ ที่รัฐเพิ่มเริ่มต้นแผนงานการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลแทนการปลูกข้าวเพื่อบริโภค เพื่อต้องการตัดห่วงโซ่อาหาร ยังไม่เห็นรูปธรรมของแผนงานแต่อย่างใดเลย แต่เป็นการคาดการณ์ของสำนักงบประมาณเองว่าในปี ๒๕๕๐ เกษตรกรในพื้นที่นั้นจะมีรายได้จากการปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลแทนการปลูกข้าวแล้ว
 
และความเป็นจริงที่ปรากฎให้เห็นก็สวนทางกับทัศนคติและการคาดการณ์ของสำนักงบประมาณ นั่นคือปัจจุบันมีชาวบ้านปลูกอ้อยอยู่เพียง ๕,๐๐๐ กว่าไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมเท่านั้น เนื่องจากเกิดปัญหาขาดทุนและเป็นหนี้สินจนทำให้ชาวบ้านต้องล้มเลิกการปลูกอ้อยลงไปหลายราย สาเหตุก็เพราะไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและผู้ประกอบการเหมืองแร่อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับผลผลิตอ้อยจากพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในอำเภอแม่สอดเป็นหลักกลับไปทำการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่อำเภอพบพระและแม่ระมาด จังหวัดตาก แทนเสียเป็นส่วนใหญ่ เพื่อหวังจะให้ได้พื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด ๘๐,๐๐๐ ไร่ เพียงพอต่อปริมาณสำรองอ้อยเพื่อป้อนกำลังการผลิตเอทานอลที่วางเป้าหมายไว้ และมีความมั่นคงกว่าพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในเขตอำเภอแม่สอดที่หน่วยงานราชการและบริษัทผาแดงขาดความมุ่งมั่นส่งเสริมการปลูกอ้อยผลิตเอทานอลอย่างจริงจัง
 
มติ ครม. ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕  มุ่งชดเชยราคาอ้อยผลิตเอทานอลในเขตพื้นที่ส่งเสริมของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด แต่อยู่นอกเขตพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม
 
กระทรวงมหาดไทยได้ยกเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องเสนอเรื่องขอรับการสนับสนุนเงินชดเชยพิเศษให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล จังหวัดตาก มาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้
 
๑) ปัญหาการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล ในปี ๒๕๕๕  บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด  ได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการ รวม ๕๐๐ ล้านบาท โดยรับซื้ออ้อยในราคา ๙๕๐ บาทต่อตัน ในขณะที่โรงงานน้ำตาลประกาศรับซื้อราคาตันละ ๑,๐๐๐ บาท และได้เงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำตาลเพิ่มอีก ๑๕๔ บาท รวม ๑,๑๕๔ บาทต่อตัน รวมค่าความหวานอีก ๒๐๔ บาท 
 
๒) แกนนำเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำแม่ตาวได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ให้บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด รับซื้ออ้อยในราคาประกันตามประกาศเท่ากับราคาอ้อยที่ผลิตน้ำตาล + ๒๐๐ บาท เพื่อทดแทนค่าความหวาน ค่าเงินกองทุนและเงินปันผล
 
๓) บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด ได้ขาดทุนสะสมมากกว่า ๔๐๐ ล้านบาท จึงไม่สามารถให้ราคารับซื้ออ้อยเท่ากับราคาของโรงงานน้ำตาลได้ โดยเกษตรกรที่ปลูกอ้อยในพื้นที่อำเภอแม่ระมาดและอำเภอพบพระ จังหวัดตาก รับทราบว่าภาครัฐส่งเสริมการปลูกอ้อย แต่ไม่รู้ว่าอ้อยปลูกอยู่ในเขตหรือนอกเขตพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม แต่รับรู้ว่าเมื่อปลูกอ้อยจะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มจากราคาประกันของโรงงานอีก ๒๐๐ บาท เป็นมาตรฐานเดียวกันกับอ้อยที่นำไปผลิตน้ำตาลทราย
 
โดยมีข้อเสนอแก่คณะรัฐมนตรี ๓ ข้อ คือ
 
๑. รับทราบผลความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว และการดำเนินงานตามแผนบูรณาการงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๗
 
๒. อนุมัติเงินงบกลางประจำปี ๒๕๕๕ จำนวน ๗๘,๖๔๓,๔๐๖ บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อการผลิตเอทานอลของจังหวัดตาก
 
๓. มอบให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานพิจารณาแนวทางสนับสนุนเงินชดเชย ในรูปชดเชยเป็นเงินต่อการผลิตแอลกอฮอล์ (เอทานอล) ต่อลิตร ผ่านบริษัท ปตท. ให้แก่บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด เพื่อให้บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด สามารถรับซื้ออ้อยได้ในราคาทัดเทียมกับเกษตรกรที่ปลูกอ้อยส่งโรงงานผลิตน้ำตาล โดยเงินชดเชยจะพิจารณาปีต่อปี ราคาการชดเชยจะขึ้นกับราคาอ้อยที่เกษตรกรขายให้กับโรงงานผลิตน้ำตาล 
 
แต่ได้มีข้อท้วงติงจากส่วนราชการหลายหน่วยงาน อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เสนอว่าควรสนับสนุนเงินชดเชยพิเศษให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อการผลิตเอทานอลของจังหวัดตาก ในปี ๒๕๕๔/๒๕๕๕ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม ซึ่งผลผลิตอ้อยจำนวนดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อการนำไปบริโภคและเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร จึงจำเป็นต้องสนับสนุนให้เข้าสู่กระบวนการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม เพื่อตัดห่วงโซ่อาหารในพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม ทั้งนี้ ควรมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกรอย่างรัดกุมก่อนดำเนินการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวด้วย สำหรับผลผลิตของเกษตรกรที่อยู่นอกเขตพื้นที่โครงการมีคุณภาพที่สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นอาหารได้ จึงมีทางเลือกที่จะนำผลผลิตดังกล่าวจำหน่ายให้แก่โรงงานผลิตน้ำตาลในจังหวัดใกล้เคียงได้ ณ ระดับราคาตลาด โดยควรดำเนินการให้เป็นไปตามกลไกตลาดรับซื้อผลผลิตในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่นอกเขตมีทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิต และมีรายได้เพียงพอจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าสภาพัฒน์เสนอให้รัฐรับซื้ออ้อยที่ปลูกอยู่ในเขตพื้นที่โครงการเป็นหลัก
 
สำนักงบประมาณแย้งว่า การจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อการผลิตเอทานอลของจังหวัดตาก ในระยะแรก เห็นสมควรให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยดังกล่าว ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย (Polluter pays principle)
 
ในส่วนของกระทรวงการคลังเสนอว่า ปัญหาราคาอ้อยที่แตกต่างจากราคาอ้อยที่โรงงานผลิตน้ำตาลรับซื้อเป็นเรื่องการบริหารจัดการของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ผลิตเอทานอลในเชิงพาณิชย์ จึงไม่เห็นควรสนับสนุนการจ่ายค่าชดเชยพิเศษดังกล่าว เนื่องจากอาจเกิดการเรียกร้องจากภาคเอกชนอื่นที่มีปัญหาการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในลักษณะเดียวกันได้
 
ประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔ (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นประธานกรรมการ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในคราวประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ มีใจความสำคัญข้อหนึ่งว่า การดำเนินโครงการเหมืองแร่สังกะสีของบริษัทผาแดงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในลำน้ำภายในบริเวณห้วยแม่ตาว และมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบและต้องปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกเป็นพืชที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งโดยหลักการ Polluter pays principle นั้น ผู้ปล่อยมลพิษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ดังนั้น บริษัทผาแดงจึงควรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อชุมชนรวมถึงการจ่ายชดเชยราคาผลผลิตอ้อยในครั้งนี้ด้วย จึงจะสอดคล้องกับหลักการดังกล่าวข้างต้น
 
ในท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรีจึงลงมติเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ อนุมัติตามความเห็นของนายกรัฐมนตรี คือ ให้ดำเนินการอนุมัติเงินงบกลางประจำปี ๒๕๕๕ จำนวน ๗๘,๖๔๓,๔๐๖ บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อการผลิตเอทานอลของจังหวัดตาก ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ  และตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔ (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในคราวประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ อีก ๓ ข้อ ดังนี้
 
๑. รับทราบผลความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมียมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว และการดำเนินงานตามแผนบูรณาการงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๗  และมอบหมายคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารแคดเมียมที่เหมาะสม พิจารณาปรับปรุงยุทธศาสตร์และแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการเวนคืนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในแต่ละระดับความเข้มข้นของสารแคดเมียม โดยให้นำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณา ภายใน ๓ เดือน
 
๒. มอบหมายกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พิจารณาหาแนวทางการชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่โครงการฯ ภายใต้ขอบเขตที่กองทุนน้ำมันฯ สามารถดำเนินการได้ โดยอ้างอิงการคำนวณเช่นเดียวกับมันสำปะหลังซึ่งนำไปผลิตเป็นเอทานอล พร้อมระบุหน่วยงานและสัดส่วนงบประมาณที่แต่ละหน่วยงานต้องรับผิดชอบในการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณา ภายใน ๒ สัปดาห์
๓. ให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมียมในลุ่มน้ำแม่ตาว จังหวัดตากอย่างยั่งยืนต่อไป
 
ตาราง ข้อมูลการพิจารณาสนับสนุนเงินชดเชยพิเศษให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล จังหวัดตาก  ในปี ๒๕๕๔/๒๕๕๕  ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕
 
ข้อมูล
ในเขตพื้นที่โครงการ*
นอกเขตพื้นที่โครงการ**
รวม
จำนวนชาวไร่อ้อย
๓๑๒ ราย
๗๖๐ ราย
๑,๐๗๒ ราย
พื้นที่ปลูก
๙,๔๗๐.๔๑ ไร่***
๓๗,๑๕๙.๙๔ ไร่
๔๖,๖๒๙.๓๕ ไร่
ปริมาณอ้อยปี ๒๕๕๔/๒๕๕๕
๘๓,๘๖๒.๓๗๐ ตัน
๓๐๙,๓๕๔.๖๖๐ ตัน
๓๙๓,๒๑๗.๐๓ ตัน
จำนวนเงินชดเชยรวม
๑๖,๗๗๒,๔๗๓ บาท
๖๑,๘๗๐,๙๓๓ บาท
๗๘,๖๔๓,๔๐๖ บาท
 
 
จากตาราง ในเครื่องหมาย * และ ** มีข้อสงสัยว่าทำไมถึงเอาตัวเลขเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยนอกเขตพื้นที่โครงการที่ไม่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมมาใส่ไว้ในตารางนี้เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีจ่ายเงินชดเชยการปลูกอ้อยผลิตเอทานอลด้วย ซึ่งถ้าหากเป็นพื้นที่นอกเขตพื้นที่โครงการฯ ก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม และเป็นอ้อยที่มีคุณภาพที่สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลทรายได้ ซึ่งก็จะได้ราคาขายดีกว่าอ้อยผลิตเอทานอลอยู่แล้ว คือที่ราคาตันละ ๑,๐๐๐ บาท บวกเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำตาลอีก ๑๕๔ ต่อตัน และบวกค่าความหวานอีก ๒๐๔ บาท ข้อสังเกตของผู้เขียนน่าจะมีอยู่เหตุผลเดียวเท่านั้น ก็คือ ถึงแม้จะอยู่นอกเขตพื้นที่โครงการฯ แต่เป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ส่งเสริมของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด ซึ่งบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดอ้างว่าตนเองขาดทุนสะสมมากกว่า ๔๐๐ ล้านบาท หน่วยงานราชการจึงนำเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ส่งเสริมฯ มาสอดแทรกขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมแต่อย่างใด
 
และในเครื่องหมาย *** น่าจะเป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาก เพราะจากการสอบถามข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในเขต ๓ ตำบล คือ ตำบลพระธาตุผาแดง  ต.แม่ตาว และ ต.แม่กุ พบว่ามีการรื้อถอนปรับสภาพพื้นที่การปลูกอ้อยผลิตเอทานอลกลับไปปลูกข้าวเพื่อบริโภคจำนวนมาก เนื่องจากปัญหาหนี้สินและไม่ได้การสนับสนุนด้วยดีจากรัฐและเอกชน ขณะนี้คาดว่ามีพื้นที่ที่ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลตามการส่งเสริมของรัฐและเอกชนอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ ๔๐ จากพื้นที่ที่ประสบปัญหาปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม ประมาณ ๑๓,๐๐๐ กว่าไร่ ในเขตท้องที่ ๓ ตำบล ดังกล่าว  
 
ประเด็นสำคัญ ก็คือการที่รัฐอุ้มบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีอากรของประชาชนเช่นนี้ เป็นการให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อยของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดที่อยู่นอกเขตพื้นที่โครงการที่ไม่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมมากกว่าในเขตพื้นที่โครงการที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่การเกิดขึ้นของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดเป็นนโยบายของรัฐร่วมกับเอกชนเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมเป็นหลัก โดยส่งเสริมให้มีการปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลแทนการปลูกข้าวเพื่อบริโภคเพื่อตัดห่วงโซ่อาหาร แต่เมื่อพัฒนาบริษัทไปได้สักระยะหนึ่งกลับกลายเป็นว่าบริษัทก็ต้องการเงินช่วยเหลือจากมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยนำอ้อยมาผลิตเอทานอลเพื่อเป็นส่วนผสมของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ จากรัฐอย่างเต็มตัว หรืออาจจะด้วยเหตุผลว่าบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดคือการร่วมทุนกันของบริษัทผาแดง  กลุ่มน้ำตาลมิตรผลและบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนการถือหุ้นใกล้เคียงกัน ซึ่งจะให้กลุ่มน้ำตาลมิตรผลและบริษัทไทยออยล์มาแบกรับภาระความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่บริษัทผาแดงก่อไว้นั้น เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมในแง่การลงทุนทางธุรกิจ แต่กลุ่มน้ำตาลมิตรผลและบริษัทไทยออยล์ก็รับรู้ข้อเท็จจริงนี้มาตั้งแต่ก่อนการร่วมทุนอยู่แล้วว่าการจัดตั้งบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดขึ้นมาเพื่อมีส่วนร่วมในการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมเป็นหลัก แต่การณ์กลับกลายเป็นภาวะผิดฝาผิดตัว เพราะแทนที่จะยังคงมุ่งเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมียมอยู่เช่นเดิม กลับมีปัญหาเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งปัญหา คือ การที่รัฐต้องใช้งบประมาณเพื่ออุ้มบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดด้วยการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเอทานอลในเขตส่งเสริมของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดแทน ดังนั้น แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวที่เกิดขึ้นมาจึงไม่ได้เป็นแผนแม่บทที่มุ่งเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมและรักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยมมากนัก แต่กลับทุ่มน้ำหนักมาที่การแก้ไขปัญหาราคาอ้อยตกต่ำให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในเขตส่งเสริมของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดไปเสีย
 
แผนผัง ผู้ถือหุ้นในบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด
 
ข้อสังเกตของผู้เขียน – ความสัมพันธ์เชื่อมโยงของผู้ถือหุ้นในบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด จากแผนผังฯ ดังกล่าว น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มติ ครม. เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ แสดงเจตนาอุ้มบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้ง โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรปลูกอ้อยผลิตเอทานอล เป็นจำนวนเงิน ๗๘,๖๔๓,๔๐๖ บาท ทั้ง ๆ ที่ปัญหาราคาอ้อยที่แตกต่างจากราคาอ้อยที่โรงงานผลิตน้ำตาลรับซื้อเป็นเรื่องการบริหารจัดการของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ผลิตเอทานอลในเชิงพาณิชย์ ที่รัฐบาลไม่ควรออกมติ ครม. สนับสนุนการจ่ายค่าชดเชยพิเศษดังกล่าว เนื่องจากอาจเกิดการเรียกร้องภาคเอกชนอื่นที่มีปัญหาทำนองเดียวกันได้ และรัฐบาลอาจถูกกล่าวหาได้ว่าเลือกปฏิบัติเฉพาะภาคเอกชนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเท่านั้น
 
มติ ครม. ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ เสนอประเด็นใหม่ให้มีการเวนคืนที่ดินในพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม
 
ดูเหมือนว่าปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในลุ่มน้ำแม่ตาวจะสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแคดเมี่ยมที่ปนเปื้อนในเมล็ดข้าว และแทรกซึมอยู่ในผืนดินขนาดใหญ่มากกว่า ๑๐,๐๐๐ ไร่ ในระดับความเข้มข้นที่เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำและสุขภาพอนามัยของประชาชนได้  จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยมและผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเพิ่มสูงขึ้น ที่ยากจะแก้ไขได้ในระยะสั้น และอีกหนึ่งปัญหาใหม่ คือ การช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกอ้อยผลิตเอทานอลในพื้นที่ส่งเสริมของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดที่ได้ราคาต่ำกว่าการปลูกอ้อยผลิตน้ำตาล รวมทั้งตัวแปรสำคัญ คือ การฟ้องคดีของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม ซึ่งเกิดการรวมตัวกันของชาวบ้านใน ๓ ตำบลของพระธาตุผาแดง แม่ตาวและแม่กุ อำเภอแม่สอด ยื่นฟ้องบริษัททำเหมืองแร่สังกะสี ๒ บริษัทบนลุ่มน้ำแม่ตาวต่อศาลปกครอง (โดยตัวแทนชาวบ้าน ๓๒ ราย) เพื่อให้มีคำสั่งบังคับ ๖ หน่วยงาน คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน  คณะกรรมการควบคุมมลพิษ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุม ป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ฟื้นฟู เยียวยาสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่ป่วยจากการได้รับสารแคดเมี่ยมสะสมในร่างกาย และให้หยุดการประกอบกิจการเหมืองแร่สังกะสีของทั้ง ๒ บริษัท  และศาลแพ่ง (โดยชาวบ้าน ๙๕๙ ราย) เพื่อให้มีคำสั่งบังคับให้ ๒ บริษัททำเหมืองแร่สังกะสีชดใช้เงินประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท จากการทำเหมืองแร่สังกะสีที่ทำให้ที่ดินทำกินเสียหายเสื่อมโทรมจากการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมจนไม่สามารถกินข้าวและพืชผลการเกษตรอื่นที่ปลูกได้ และค่ารักษาพยาบาลจากโรคภัยไข้เจ็บที่ได้รับจากสารแคดเมี่ยมสะสมในร่างกาย  ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐจะต้องแบกรับภาระอย่างงุนงงสับสน เพราะไม่ทราบว่าจะใช้ระยะเวลาคลี่คลายปัญหานานเพียงใด  
 
เพราะจากรายงานผลการศึกษาการกระจายตัวของการปนเปื้อนของสารแคดเมียมภายในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว จังหวัดตาก ล่าสุดที่รัฐบาลได้รับจากหน่วยงานราชการ พบว่าเกษตรกรในพื้นที่ที่ต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากพืชอาหาร เช่น ข้าว ซึ่งโดยปกติมีผลผลิตต่อไร่สูง ไปสู่การผลิตอ้อยที่มีผลผลิตต่อไร่ไม่สูงมากนัก เนื่องด้วยสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนหนึ่งหันกลับไปปลูกข้าวเนื่องจากได้ผลตอบแทนมากกกว่าการผลิตอ้อยจากโครงการรับจำนำข้าว จึงส่งผลให้มีผลผลิตที่ปนเปื้อนสารแคดเมียมกลับสู่ห่วงโซ่อาหารอีกครั้ง โดยยังไม่มีมาตรการดูแลอย่างรัดกุมและเข้มงวด จึงเป็นเหตุให้คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔ (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในคราวประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ต่อคณะรัฐมนตรีว่า ควรพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน อาทิ การเวนคืนพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมียมที่อยู่ในระดับอันตรายและไม่สามารถเพาะปลูกพืชอาหารได้มาเป็นพื้นที่ปลูกป่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยพื้นที่ที่มีสารปนเปื้อนเป็นพื้นที่กระจัดกระจายไม่ได้เป็นพื้นที่ผืนเดียวกัน อีกทั้งอยู่ใกล้เคียงเขตเศรษฐกิจแม่สอดจึงทำให้ที่ดินบริเวณนั้นมีราคาแพง ดังนั้น แนวทางการเวนคืนพื้นที่ดังกล่าวจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการกำหนดราคาประเมิน
 
และมติ ครม. เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ ข้อหนึ่งจากทั้งหมด ๓ ข้อ ก็เห็นด้วยกับเรื่องที่คณะกลั่นกรองฯ เสนอ โดยมอบหมายคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารแคดเมียมที่เหมาะสม พิจารณาปรับปรุงยุทธศาสตร์และแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการเวนคืนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในแต่ละระดับความเข้มข้นของสารแคดเมียม โดยให้นำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณา ภายใน ๓ เดือน
 
และนี่คือคำถามเบื้องต้นจากการระดมความคิดเห็นร่วมกันของประชาชนในเขต ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา เพื่อจะนำไปถามรัฐบาลและหน่วยงานราชการในโอกาสที่เหมาะสมในระยะเวลาอันใกล้นี้ต่อไป ดังนี้
 
๑) รัฐจะเอาที่ดินเวนคืนไปทำอะไร ?
 
๒) รัฐจะจัดหาที่ดินแปลงใหม่ให้หรือไม่ ?
 
๓) ถ้าชาวบ้านไม่ยอมถูกบังคับให้มีการเวนคืนที่ดินจะได้หรือไม่ ?
 
๔) หากรัฐเวนคืนที่ดินไปแล้ว ชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน ทำมาหากินอะไร ?
 
๕) แล้วผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยมและผู้ป่วยที่มีอาการไตวายจะแก้ไขอย่างไร ไม่เห็นกล่าวถึงเลยในมติ ครม. ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ ?
 
๖) ราคาที่ดินเวนคืนจะคุ้มค่าต่อการอพยพไปตั้งหลักแหล่งหาที่อยู่ใหม่หรือไม่ และเพียงพอกับค่ายารักษาพยาบาลของผู้ป่วยหรือไม่ ?
 
๗) รัฐคิดอะไรอยู่ ทำไมถึงต้องเวนคืนที่ดินบริเวณนี้ เป็นเรื่องน่าสงสัยอย่างยิ่ง ?
 
๘) ทำไมไม่คิดฟื้นฟู เยียวยาก่อนคิดเรื่องเวนคืน ?
 
๙) พื้นที่บริเวณนี้ไม่น่าจะเหมาะสำหรับการเวนคืนที่ดิน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีลำห้วย และระบบเหมืองฝายที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ?
 
บทส่งท้าย
 
ปัจจุบันพบประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวและแม่กุมีสารแคดเมี่ยมปนเปื้อนอยู่ในเลือด กระดูกและปัสสาวะในระดับสูงกว่าปกติเป็นจำนวนมากถึง ๘๔๔ ราย โดย ๔๐ ราย มีอาการไตวายและไตเสื่อม อีก ๒๑๙ ราย อยู่ในภาวะไตเริ่มเสื่อม นอกจากนี้ยังมีอาการนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและภาวะกระดูกพรุน แผนบูรณาการงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๗ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕  ยังคนเน้นหนักไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากการปลูกข้าวเพื่อบริโภคไปเป็นการปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล เพื่อตัดห่วงโซ่อาหาร และแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยผลิตเอทานอลนอกเขตพื้นที่โครงการที่ไม่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมเป็นหลัก ส่วนความห่วงใยในเรื่องผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยมเป็นความสำคัญที่ได้รับความสนใจจากรัฐเป็นลำดับรองลงมา
 
 
 

[1] ตัวอักษรเอน คัดลอกและเรียบเรียงจาก http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_21_002c.asp?info_id=258 (เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) คัดลอกเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๕
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“สนธิญาณ T-NEWS” รับคำท้า “สนธิ” เทียบบัญชีผู้ถือหุ้นและรายรับ-จ่ายกับ ASTV

Posted: 13 Oct 2012 06:24 AM PDT

สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวทีนิวส์ รับคำท้าสนธิ ลิ้มทองกุล เทียบบัญชีกับเอเอสทีวี ย้ำไม่เคยประกาศอุดมการณ์ความดีใดๆ เน้นหนักเปิดโปงขบวนการล้มเจ้า

นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม และนายสนธิ ลิ้มทองกุล

วันนี้ (13 ต.ค.55) นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวทีนิวส์ ประกาศผ่านเว็บไซต์สำนักข่าว ทีนิวส์ รับคำท้านายสนธิ ลิ้มทองกุล เปรียบเทียบรายชื่อผู้ถือหุ้นและรายรับรายจ่าย ของสำนักข่าวทีนิวส์และทีนิวส์ทีวี กับ เอเอสทีวี ยันตนเองไม่เคยประกาศอุดมการณ์ความดีใดๆ ทำงานไปตามหน้าที่ เน้นหนักเปิดโปงขบวนการล้มเจ้า และการเคลื่อนไหวของขบวนการสนับสนุนทักษิณ ที่นำไปสู่การแตกแยก ของคนในชาติด้วยอุดมการณ์ทางชนชั้นซึ่งจะก่อปัญหากับประเทศระยะยาว

ภายหลังวานนี้ (12 ต.ค.) เวลา 20.00 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ท้าทีวี 3 ช่อง คือ บลูสกาย ทีนิวส์ ไทยทีวีดี เปิดบัญชีผู้ถือหุ่น ผ่านรายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" ทาง ASTV ตอนหนึ่งว่า ตนไม่ได้เกลียดใคร แต่เห็นว่าใช้ไม่ได้ทั้งสองพรรค แล้วทำไมต้องไปจับมือประชาธิปัตย์เพื่อล้มทักษิณ ทำไมไม่ล้มเอง ในเมื่อมีทีวีตั้ง 3 ช่อง บลูสกาย ทีนิวส์ ไทยทีวีดี แล้วเงินที่เอามาทำทีวีเอามาจากไหน ตนขอท้าให้หงายบัญชีมาดู นายสุเทพบอกว่าได้เงินมาจากคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ค่าเช่าดาวเทียมเดือนนึงเป็นล้าน สามช่องก็ 3 ล้าน บวกค่าพนักงานสามช่อง เดือนนึงเกือบ 10 ล้านบาท ตนกล้าฟันธงได้เลยว่าเงินได้มาจากบางแห่งซึ่งอธิบายไม่ได้

 

คำประกาศของนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม :

ประกาศ สำนักข่าวทีนิวส์กับข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือน"

ตามที่นายสนธิ ลิ้มทองกุลได้พูดพาดพิงถึง สำนักข่าวทีนิวส์กับทีนิวส์ทีวีนั้น ผมในฐานะผู้ก่อตั้ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้บริหารขอเรียนข้อเท็จจริงให้ทราบโดยทั่วกันดังนี้

สำนักข่าวทีนิวส์ก่อตั้งในปี 2550 เพื่อทำรายงานข่าวทาง SMS ผ่านทางผู้ให้บริการทั้ง ๓ ค่ายคือ AIS, DTACและ TRUE ซึ่งผมได้คิดค้นพัฒนามาเป็นธุรกิจเป็นคนแรกของประเทศไทย ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี มีสมาชิกถึงวันนี้ประมาณ 300,000 รายเศษสามารถหล่อเลี้ยงพนักงานและผู้ถือหุ้นได้ตามสภาพ

จนถึงปี 2553 หลังจากที่ธุรกิจได้พัฒนาแข็งแรงพอสมควร จึงได้จัดตั้ง ทีนิวส์ทีวี ขึ้นเพื่อขยายผลทางธุรกิจให้ครบวงจร และใช้ประโยชน์จากกำลังคนที่มีให้เต็มที่เพราะเพิ่มช่างภาพและทีมงานในห้องสตูดิโอในสัดส่วนไม่เท่าไหร่ก็สามารถทำ สถานีโทรทัศน์ที่สมบูรณ์แบบได้ และเริ่มต้นก็ถ่ายทอดผ่านดาวเทียม NSS 6 โดยมีค่าเช่าเพียงเดือนละ 500,000 บาทเศษ จนปัจจุบัน

มีดาวเทียมไทยคม มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเดือนละ 1 ล้าน ก็ไม่ได้เป็นภาระเพราะ ถึงปัจจุบันนี้ มีรายได้

ค่าโฆษณา เดือนละประมาณ 5 ล้านบาทรวมกับรายได้จาก SMS ก็ทำให้พออยู่ได้

การทำธุรกิจของ สำนักข่าวทีนิวส์และทีนิวส์ทีวี ถึงปัจจุบันอยู่ได้ด้วยธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองไม่ให้ใหญ่เกินตัวตามสภาพ มีพนักงานเป็นคนรุ่นใหม่ที่ฝึกอบรมกันเองค่าจ้างตามมาตรฐานวิชาชีพไม่สูงเกินไป

ตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจมาไม่เคยประกาศอุดมการณ์ความดีใดๆ ทำงานไปตามหน้าที่ เน้นหนักเปิดโปงขบวนการล้มเจ้า และการเคลื่อนไหวของขบวนการสนับสนุนทักษิณ ที่นำไปสู่การแตกแยก ของคนในชาติด้วยอุดมการณ์ทางชนชั้นซึ่งจะก่อปัญหากับประเทศระยะยาว แต่น้ำหนักอยู่ที่การรายงานข่าวโดยเฉพาะการถ่ายทอดสดและรายงานงานข่าวของทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม

30 ปีในวิชาชีพข่าว มีเกียรติมีศักดิ์ศรีเคารพตัวเองไม่เคยประกาศตัวเป็นนักต่อสู้หรือคนดีใดๆ

เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองดีพอที่จะประกาศอะไร แต่ไม่กลัวความไม่ถูกต้องใดๆแม้ต้องแลกกับชีวิตก็ตาม ผมกับคุณสนธิ เคยมีความผูกพันกันด้วยบุญคุณบางประการ เพราะคุณสนธิเคยให้ ผมยืมเงิน 100,000 บาทโดยการแลกเช็คเพื่อเอามารักษาชีวิต"หนังสือพิมพ์ข่าวพิเศษ"เมื่อ 25 ปีก่อนซึ่งต่อมาก็ได้ใช้คืนหนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย

ด้วยบุญคุณดังกล่าวและในฐานะรุ่นพี่ในวิชาชีพเดียวกันไม่เคยกล่าวล่วงเกินใดๆพี่ ถึงวันนี้ต้องบอกพี่ว่า ผมอยู่ของผมไม่เคยเบียดเบียนพี่ ไม่เบียดเบียนประเทศชาติ ทำหน้าที่ของตัวเองไปตาม

กำลัง ทุกคนมีศักดิ์ศรีของตัวเองพี่มีผมก็มี ใครดีไม่ดีเหมือนพี่พูดครับ เรารู้อยู่แก่ใจเราดีตายไปกรรมจะจัดสรรให้แน่นอนครับ ส่วนหากพี่ต้องการเปรียบเทียบรายชื่อผู้ถือหุ้นและรายรับรายจ่าย ของสำนักข่าวทีนิวส์และทีนิวส์ทีวี กับ เอเอสทีวี แม้ทีนิวส์จะไม่ได้เป็นสื่อของประชาชนแต่ก็เป็นองค์กรธุรกิจที่มีความโปร่งใส ผมก็ยินดีครับ

สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม

13 ตุลาคม 2555

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวสะเอียบเชิญตัวเจ้าหน้าที่บริษัทที่ปรึกษา 2 บริษัท ออกนอกพื้นที่

Posted: 13 Oct 2012 06:15 AM PDT

ชาวบ้านตำบลสะเอียบกว่า 100 คน ได้รวมตัวกันที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม อ.สอง จ.แพร่ เชิญคณะที่ปรึกษาบริษัทอิตาเลี่ยน-ไทย ออกนอกพื้นที่


13 ต.ค. 55 - เมื่อเวลา 12.00 น. ชาวบ้านตำบลสะเอียบกว่า 100 คน ได้รวมตัวกันที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม อ.สอง จ.แพร่ เชิญคณะที่ปรึกษาบริษัทอิตาเลี่ยน-ไทย ออกนอกพื้นที่ ซึ่งนำโดยนายนภดล พฤกษะวัน และคณะอีก 7-8 คน ได้นำรถแวนอีซูสุ 4 ประตูเลขทะเบียน วฉ 5106 กรุงเทพมหานคร สีบรอนเงิน และรถโตโยต้า วีโก้ สีบรอนเงิน เลขทะเบียน ตง 3156 กรุงเทพมหานคร พร้อมสำพาระเมหลังรถ โดยนายนภดล ได้อ้างว่าตนและคณะมาจากสำนักอุทยานแห่งชาติ กรุงเทพฯ มาเพื่อหาข้อมูลสภาพป่าสักทองแก่งเสือเต้นว่ามีจริงหรือไม่ เพราะจากรายงานการศึกษาที่ผ่านๆ มา ระบุว่าไม่มีป่าสักทองแล้ว ตนและคณะจะได้นำข้อมูลข้อเท็จจริงสภาพป่าในปัจจุบันไปรายงานให้คณะอนุกรรมการวุฒิภาที่มีนาย วิเชียร คันฉ่อง เป็นประธาน แต่จากการตรวจสอบพบว่า นายนภดล เป็นเจ้าหน้าที่กรมอุทยานที่เกษียณอายุราชการแล้ว ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาบริษัทอิตาเลี่ยน-ไทย

จากการพูดคุยกันชาวบ้านสะเอียบได้ชี้แจงว่าสภาพป่าสักทองกว่า 24,000 ไร่ที่ชาวบ้านร่วมกันรักษามาจนถึงปัจจุบันได้รับการยืนยันจากหัวหน้าอุทยานแม่ยมแล้วว่าสภาพป่าสักทองแก่งเสือเต้นยังมีความอุดมสมบูรณ์และหนาแน่นยิ่งกว่าเดิม และสื่อมวลชนทุกแขนงก็ได้มาพิสูจน์แล้วหลายต่อหลายครั้ง ก็ยืนยันว่าป่าอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันมีมูลค่าเฉพาะเนื้อไม้สักทองไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท หากคณะฯมีความจริงใจก็ควรจะรับรู้ข้อมูลส่วนนี้อีกทั้งทางอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ยืนยันชัดเจนแล้วจึงขอเชิญคณะที่มาออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน

นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ กล่าวว่า "สถานการณ์ปัจจุบันชาวบ้านสะเอียบมีความตึงเครียดมาก จากการที่ประธาน กบอ. นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประกาศต่อสาธารณะแล้วว่าจะต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ได้ ชาวบ้านจึงต้องหวาดระแวงคนแปลกหน้าเป็นธรรมดา ตนจึงขอให้ทุกหน่วยงานที่จะมาหาข้อมูล มาหาผลประโยชน์จากเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ได้ยุติการเข้ามาในพื้นที่ เพราะอาจเกิดปัญหาขึ้นมาได้ ชาวบ้านเป็นร้อยคุมยากหากเกิดความรุนแรงขึ้นจะมาหาว่าชาวบ้านป่าเถื่อนไม่ได้ เพราะเราได้ประกาศเตือนไปหลายครั้งแล้ว"

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สะเอียบ ได้นำขบวนคณะของนายนภดล พฤษะวัน ออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม เพราะชาวบ้านสะเอียบ อีกจำนวนมากได้จอดรถตามรายทางเป็นจำนวนมาก หวั่นว่าจะเกิดอันตรายต่อคณะฯได้

ในวันเดียวกัน เวลา 14.30 น. ได้มีคณะของนายถาวร บุญราศี เป็นชาย 2 คน ผู้หญิง 1 คน จากบริษัทที่ปรึกษา บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้เดินทางด้วยรถตู้ โตโยต้าแกรนเวีย เลขทะเบียน ภม 9637 กรุงเทพมหานคร สีบรอนทอง เข้ามาในหมู่บ้านดอนชัยหมู่ 1 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชาวบ้านสะเอียบได้เข้าไปสอบถามนายถาวร บอกว่ามาเยี่ยมลุงที่หมู่บ้านนี้ เอาขนมมาฝากหลาน ชาวบ้านเห็นผิดสังเกต จึงประกาศหอกระจายข่าวชุมชน ให้ชาวบ้านมารวมตัวกันที่วัด ชาวบ้านกว่า 300 คน ได้เข้าไปล้อมรถของนายถาวร และเชิญให้ออกนอกพื้นที่ เพราะชาวบ้านจำหน้านายถาวรได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท ปัญญา คัลซัลแตนท์ ชาวบ้าต่างตะโกนด่าทออย่างเสียหาย จนตำรวจ สภ.สะเอียบ ต้องนำตัวนายถาวรและคณะออกจากพื้นที่ โดยทั้งหมดใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที

นายวิชัย รักษาพล แกนนำกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ กล่าวว่า "เราได้เตือนนายถาวรแล้ว ว่าอย่าเข้ามาในพื้นที่ เพราะช่วงนี้ชาวบ้านมีมติห้าม บุคคล เจ้าหน้าที่ หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด ครั้งนี้ถือว่าเป็นการเตือน ครั้งต่อไปชาวบ้านคงไม่เชิญออกนอกพื้นที่ แต่อาจเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ เพราะชาวบ้านเคยทุบรถธนาคารโลกมาแล้ว เนื่องจากห้ามแล้วยังเข้ามาอีก" นายวิชัยกล่าว

ด้านนายชาติชาย ธรรมโม กลุ่มเยาวชนตะกอนยม ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนลูกหลานชาวบ้านในพื้นที่ ต.สะเอียบ กล่าวว่า "เสียงตะโกน ก่นด่า ของชาวบ้าน ต.สะเอียบ คงเป็นสัญญาณเตือนภัยแห่งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากรัฐบาลยังไม่ยอมใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ชาวบ้านสะเอียบคงต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งมิอาจคาดเดาได้ ชาวบ้านชุมชนสะเอียบตั้งถิ่นฐานอยู่มากว่า 200 ปี หากหากชุมชนจะแตกสลายเพราะเขื่อน ก็คงไม่แปลกที่พวกเราจะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของพวกเรา อีกทั้งรัฐธรรมนูญไทยยังไห้สิทธิในการปกป้องชุมชน ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นของคนไทย และคนทั้งโลก อย่างเต็มที่" นายชาติชาย ธรรมโม กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลพม่าและกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” พบหารือจัดสรรที่อยู่ผู้อพยพ - ปลูกพืชทดแทนฝิ่น

Posted: 13 Oct 2012 06:02 AM PDT

คณะเจรจาสันติภาพรัฐบาลพม่าและกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA พบหารือกันอีกรอบ ฝ่ายพม่าเสนอช่วยเมล็ดพันธุ์พืชใช้ปลูกทดแทนฝิ่น ทั้งเห็นชอบจัดสรรที่อยู่อาศัยสำหรับผู้อพยพและสมาชิกของ SSA เผย สองฝ่ายไม่มีการพูดคุยเรื่องการทหาร


แหล่งข่าวในรัฐฉานรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 55 ที่ผ่านมา คณะเจรจาสันติภาพของรัฐบาลพม่า และกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA ได้พบเจรจากันในระดับชั้นสหภาพที่เมืองล่าเสี้ยว เมืองหลวงอันดับสามของรัฐฉาน (อยู่ในรัฐฉานภาคเหนือ) คณะเจรจาฝ่ายพม่านำโดย อูอ่องมิน รัฐมนตรีปรจำสำนักประธานาธิบดีและรองประธานคณะทำงานด้านสันติภาพ นอกนั้นมีนายอ่องเมียด นายกรัฐมนตรีรัฐฉาน พร้อมด้วยแม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแม่ทัพภาคตะวันออกกลาง ส่วนฝ่ายกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA นำโดยเจ้าขุนแสง หัวหน้าฝ่ายการเมือง, พ.ต.เคอมาว รองประธานที่ 1, เจ้าจ่อละ เลขาธิการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งเป็นคณะกรรมการเจรจาสันติภาพอีกจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ ในการหารือกัน ทางฝ่ายรัฐบาลพม่าเสนอช่วยเหลือข้าวสาร รถไถนา เมล็ดพันธุ์พืช สำหรับปลูกทดแทนฝิ่น นอกนั้นเห็นชอบจะร่วมกับกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA จัดตั้งหมู่บ้านสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้อพยพและสมาชิกของ SSA

พ.ต.จายละ โฆษกกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA เปิดเผยว่า สองฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับโครงการพัฒนาด้านการเกษตร รวมถึงพื้นที่ตั้งหมู่บ้านใหม่สำหรับผู้อพยพและสมาชิกของ SSA ซึ่งตกลงกันจะตั้งในพื้นที่บ้านหัวน้ำ, บ้านน้ำเลา, ต๋องเฮว ดอยเขียว อยู่ระหว่างเมืองต้างยาน และ เมืองสู้ นอกจากนี้จะจัดหาพื้นที่สำหรับเพาะปลูกพืชระยะสั้นและระยะยาว โดยรัฐบาลพม่ารับปากจะช่วยเหลือด้านเมล็ดพันธุ์ และจะร่วมมือในการดำเนินการวางแผนโครงการ ซึ่งการพบหารือกันครั้งนี้ทางการพม่าได้ช่วยเหลือข้าวสารจำนวนจำนวน 1000 กระสอบ พร้อมด้วยรถไถนาอีก 2 คัน ให้แก่ SSA ด้วย

พ.ต.จายละ กล่าวด้วยว่า ในการพบหารือกันครั้งนี้ไม่ได้มีลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร เกี่ยวกับโครงการต่างๆ เป็นการตกลงทางวาจาเท่านั้น และในการหารือกันก็ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการทหารใดๆ เกี่ยวกับเรื่องที่กองทัพพม่าแจ้งขอให้ทาง SSA ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ท่าสามปู ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีการพูดถึง ซึ่งทหารของ SSA ก็ยังคงเคลื่อนไหวตามปกติ

ทั้งนี้ กองทัพรัฐฉาน SSA "เหนือ" มีองค์กรการเมืองในชื่อ พรรครัฐฉานก้าวหน้า SSPP (Shan State Progressive Party) มีพล.ท.ป่างฟ้า เป็นผู้นำสูงสุด เคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางของรัฐฉาน โดย SSPP/SSA ได้ลงนามหยุดยิงสร้างสันติภาพกับรัฐบาลพม่าครั้งใหม่เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากเคยทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าครั้งแรกเมื่อ 2532 แต่นับจากนั้นมาทั้งสองฝ่ายยังคงสู้รบกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้สองฝ่ายเกิดการสู้รบกันแล้วไม่ต่ำกว่า 40 ครั้ง

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถึงครูสันติวิธี

Posted: 13 Oct 2012 02:43 AM PDT

 

ในสังคมไทย คำว่า "สันติวิธี" อาจดังกว่าครูชื่อชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คนรุ่นหลังพฤษภาทมิฬอย่างนักศึกษาที่ข้าพเจ้าสอนอยู่ทุกวันนี้คงได้ยินคำคำนี้จากสื่อฯ ต่างๆ ตั้งแต่อ้อนแต่ออด นักคิด นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักการเมือง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ หรือกระทั่งดาราจำนวนหนึ่งตอนนี้ก็เสนอให้คนในสังคมแก้ปัญหา "อย่าง" สันติวิธี ไม่เว้นแม้แต่ในหน้าเวบยูทูปที่ปรากฏมิวสิควิดีโอเพลงสันติวิธี แต่หากถามว่าใครปั้นคำว่าสันติวิธีให้กลายเป็นดาวโด่งดังเช่นนี้ น้อยคนนักที่อยู่นอกวงการ (วิชาการ) จะรู้คำตอบ

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คู่บุญแห่งคณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์เขียนบทความอภิปรายที่มาและความหมายของคำว่าสันติวิธีให้แก่สารานุกรมไทยฉบับราชบัณทิตยสถาน(ปรับปรุงล่าสุด) โดยชี้ว่ากลุ่มคนแรกๆ ในสังคมไทยที่ "ให้ความสำคัญกับแนวคิดและปฏิบัติสันติวิธี...ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2510 คือสุลักษณ์ ศิวรักษ์, ประชา หุตานุวัตร, วิศิษฐ์ วังวิญญู, ชาญณรงค์ เมฆินทรากูล, และไพศาล วิสาโล พระนักสันติวิธีคนสำคัญของประเทศในปัจจุบัน" ไม่มีชื่ออาจารย์ชัยวัฒน์? เป็นไปได้ว่าอาจารย์ลืมนับตนเอง?

อันที่จริงชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นหนึ่งในกลุ่มคนแรกๆ ที่ศึกษาสันติวิธีในฐานะเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองอันทรงพลังกว่าการใช้ความรุนแรง ผลงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในหัวข้อ "เจ้าผู้ปกครองแบบไร้ความุรนแรง" (The Nonviolent Prince) เป็นหมายหลักของแนวคิดนี้ ทั้งยังส่งอิทธิพลต่อเส้นทางวิชาการและบทบาทนักวิชาการสาธารณะ โดยเฉพาะความพยายามเสนอให้รัฐใช้สันติวิธี ผู้คนในแวดวงวิชาการรู้จักอาจารย์ผ่านผลงานสำคัญหลายชิ้น อาทิ ท้าทายทางเลือกสันติภาพของเด็กยากจนอาวุธมีชีวิตการเมืองแห่งอภัยวิธี และที่สำคัญคืองานเขียนจำนวนมากที่ชี้ว่าปฏิบัติการไร้ความรุนแรง(nonviolent action) เป็นหนทางให้ชุมชนมุสลิมต่อสู้กับความอธรรม 

ส่วนคนนอกวงการ(วิชาการ) รู้จักมักคุ้นกับอาจารย์ชัยวัฒน์ในฐานะกรรมการในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งรัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งทั้งในสังคมไทย งานนโยบายรัฐที่สำคัญได้แก่การร่วมก่อตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในโครงสร้างของสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงการผลักดันนโยบาย 66/2543 เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างสันติ สำหรับประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชื่อชัยวัฒน์ อาจมีความหมายเกือบเท่ากับความหวังแห่งสันติภาพ ในพจนานุกรมความขัดแย้งแรงในพื้นที่ ผู้ไม่สัดทัดการเมือง – เช่นมารดาข้าพเจ้า – ยังรู้จักและพบเห็นอาจารย์จากหน้าจอทีวี บางทีก็เผลอ "กดไลค์" ให้หนึ่งทีเมื่ออาจารย์วิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งในยามบ้านเมืองวิกฤตได้ถูกใจ

ทว่าพวกไม่ถูกใจ และไม่กดไลค์ก็มีอยู่มาก คนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามต่อน้ำยาสันติวิธี บ้างก็สงสัยว่าในห้วงสงคราม นักสันติวิธีหายไปไหน และเนื่องจากอาจารย์ชัยวัฒน์เป็น "ยี่ห้อ" สันติวิธีในสังคมไทย คำถามเช่นนี้จึงเรียกร้องคำอธิบายจากอาจารย์ ยิ่งความขัดแย้งแหลมคมมากเท่าไหร่ นักสันติวิธีก็ยิ่งถูกก่นด่าจากคู่กรณีแทบทุกฝ่าย ซึ่งอาจารย์ชัยวัฒน์ก็มักเปรย (กึ่งปลอบใจตนเอง) ว่า "ถ้าเราถูกวิจารณ์จากทุกฝ่ายแสดงว่าเราทำอะไรบางอย่างถูก"

คงไม่มีความขัดแย้งในสังคมไทยครั้งใดที่สร้างความร้าวฉานให้เครือข่ายนักวิชาการได้เท่ากับความขัดแย้งเหลือง-แดง-หลากสี ยามใดที่อาจารย์ขัยวัฒน์แสดงความเห็นที่ถูกตีความว่าเข้าข้างสีต่างๆ ผู้ที่เคยเป็นลูกศิษย์จำนวนหนึ่งก็แสดงความขัดข้องใจ บ้างก็ตัดพ้อแสดงความผิดหวังต่อท่าทีของอาจารย์ แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ เพราะอาจารย์คืออาจารย์ชัยวัฒน์ จึงมักมีวิธีเข้าใจโลกบนฐานที่ว่ามนุษย์ส่วนใหญ่มีเจตนาดี ฉะนั้นคำอธิบายต่อความผิดหวังของลูกศิษย์ในกรณีความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้คือ "เพราะเขารักเรา เขาเลยหวังให้เราอยู่ข้างเขา" พอไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ลูกศิษย์จึง "งอน" บ้างอะไรบ้าง

ทว่าก่อนจะเป็นนักวิชาการสาธารณะ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์คือคุณครูผู้สอนสันติวิธีให้แก่นักศึกษา ไม่ใช่แค่คณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงศิษย์จากสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่อาจารย์เดินทางไปบรรยายตลอดชีวิตครู 30 กว่าปีที่ผ่านมา คงไม่เป็นการเยินยอเกินงามหากจะกล่าวว่าอาจารย์เป็นคนแรกที่สอนวิชาสันติวิธีในสถาบันการศึกษาไทย วิชา ร 415 หรือการใช้ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงในการเมือง ซึ่งเปิดสอนที่คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ประมาณปี 2526 จนถึงปัจจุบัน สร้างแรงบันดาลให้นักศึกษาผู้อยากเปลี่ยนแปลงโลกให้รุนแรงน้อยลง และรักความเป็นธรรมมากขึ้น มาหลายรุ่น

ข้าพเจ้าจำได้ว่าเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเรียนวิชาสาขาปกครองนี้ ทั้งที่วิชาเอกของตนคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะเคยไปฟังอาจารย์บรรยายในเวทีเสวนาสาธารณะ และค้นพบว่าสันติวิธีเป็นเรื่อง "น่ามหัศจรรย์" (ยืมคำติดปากของอาจารย์มา) ได้เยี่ยงนี้ ทว่าวิธีการสอนในห้องของอาจารย์น่ามหัศจรรย์ใจยิ่งกว่า อาจารย์มักถามคำถามซึ่งคนทั่วไปคิดไม่ถึงว่านี่เป็นคำถามได้ด้วย และเวลานักศึกษาอย่างข้าพเจ้าให้คำตอบที่ฟังดูพื้นๆ ถึงขั้นเพี้ยนๆ อาจารย์กลับบอกว่า "ฉลาดมาก" หนแรก ข้าพเจ้างงกับคำชมแบบจู่โจมของอาจารย์อยู่เหมือนกัน แต่ลูกศิษย์ที่รู้จักมักคุ้นมายาวนานย่อมรู้ดีว่านี่เป็นวิถีแห่งครูของอาจารย์ชัยวัฒน์ – ครูผู้เห็นศักยภาพของนักศึกษาว่าเขาหรือเธอสามารถมีอนาคตก้าวไกลหากได้รับการสนับสนุนหรือกระทั่งคำพูดให้กำลังใจเพียงสองสามประโยค – ที่สำคัญไปกว่านั้น อาจารย์ดึงดูดลูกศิษย์บุคลิกหลากหลาย ตั้งแต่นักธุรกิจใหญ่โต ไปจนถึงผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียนนิยาย นักข่าว ข้าราชการ แอร์โฮสเตส ตลอดจนพวกชอบแหวกกฏเกณฑ์สังคม แม้เข้ากับใครไม่ได้ แต่ก็เป็นมิตรสหายกับอาจารย์ชัยวัฒน์ได้ดี นี่คือครูแบบที่ชัยวัฒน์เป็น ครูผู้ให้อิสระภาพแก่ลูกศิษย์ในการคิด และเป็นอย่างที่ตนใฝ่ฝัน อาจารย์มิได้ทำตนเป็น "แบบอย่าง" แต่แสดงให้เห็นว่า "แบบ" มีได้หลายแบบ ถ้าไม่เป็นแบบอาจารย์ ลูกศิษย์ก็มีอนาคตสดใสได้

สำหรับคนทำงานด้านสันติวิธี การเปิดพื้นที่ให้คนอื่น (inclusiveness) คือองค์ประกอบสำคัญ อาจารย์ชัยวัฒน์จึงเป็นทั้งคนสอนหนังสือและปฏิบัติหลักการซึ่งตนพร่ำสอน

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อประกาศข่าวสำคัญ ซึ่งอาจเล็ดลอดวงข่าวลือในเฟสบุ๊ค รายงานข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ หรือกระทั่งคอลัมน์บรรณาธิการในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ นั่นคือในวาระมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพนี้ มูลนิธิเอล-ฮิบรี แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ถือโอกาสมอบรางวัลคู่ขนาน "การศึกษาสันติภาพ" (Peace Education) ให้แก่ท่านอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในวันที่ 13 ตุลาคม ณ กรุงวอชิงตันดีซี โดยอาจารย์เป็นผู้รับรางวัลชาวต่างชาติคนแรก ในห้วงหกปีที่ผ่านแห่งมอบเสนอรางวัลนี้ นาย Robert Buchananประธานมูลนิธิได้กล่าวยกย่องอาจารย์ว่าเป็นผู้นำเสนอแนวทางเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งอย่างสันติในประวัติการทำงานที่ผ่านมา ทั้งยังสนับสนุนการศึกษาสันติภาพ เหล่านี้คือสิ่งที่มูลนิธิพยายามเผยแพร่ สำหรับสังคมไทย รางวัลการศึกษาสันติภาพย่อมสะท้อนคุณภาพของสมาชิกในสังคมด้วย เพราะสังคมนี้ให้พื้นที่อาจารย์ชัยวัฒน์ทำงานฟูมฟักองค์ความรู้ด้านสันติวิธี จนถึงขั้นที่นำความรู้นี้ไปสร้างคุณูปการให้แก่การศึกษา "เพื่อ" สันติภาพในประชาคมนานาชาติได้

 
ที่มา: PATANI FORUM

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พื้นที่สาธารณะ, ตึกสูง และอาชญากรรม

Posted: 13 Oct 2012 01:28 AM PDT

ความเปลี่ยนแปลงเชิงวัตถุที่กำลังถาโถมเมืองในอ้อมกอดขุนเขาอย่างเมืองเชียงใหม่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ชื่อชั้นระดับประเทศ "พรอมเมนาดา" ย่านดอนจั่น "เซ็นทรัลเฟสติวัล" ตรงสี่แยกศาลเด็ก "เมยา" โรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟบริเวณสี่แยกรินคำ "แพลทตินั่ม" ในโครงการเชียงใหม่บิสสิเนสพาร์ค คอนโดมิเนียมหลากยี่ห้อแบรนด์ "คาซ่า" ของควอลิตี้เฮาส์บนถนนโชตนา "ศุภาลัยมอนเต้" บริเวณสี่แยกศาลเด็กของศุภาลัย "ดีคอนโด" โดยแสนสิริย่านหลัง มช. "นอร์ท 8" ของเครือแลนด์แอนด์เฮ้าส์บริเวณถนนวงแหวนรอบกลางแม่เหียะ แทรกซึมอยู่ตามมุมเมืองต่าง ๆ แน่นอนเมื่อโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จเมืองเชียงใหม่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากกระแสความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ครั้งนี้บางคนมองว่า นี่แหละคือความเจริญก้าวหน้าของเมืองเชียงใหม่ หากแต่คนจำนวนหนึ่งกลับมองในมุมตรงกันข้ามว่าการผุดขึ้นอย่างพร้อมใจกันของโครงการขนาดใหญ่ตั้งแต่ช่วงปี 2554 เรื่อยมา จะสร้างปัญหาให้เมืองเชียงใหม่ในระยะยาว ที่เห็นได้ชัดเจนคือกลุ่มคนเหล่านี้มองว่า โครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ไม่เหมาะทั้งสิ้นทั้งปวงกับความเป็นเมืองเก่าของเชียงใหม่ และสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองที่โอบด้วยภูเขา ดังนั้นการมีตึกสูงก็ไม่ต่างอะไรกับการมีกำแพงคอนกรีตกักอากาศเสียไว้ให้สูดดมกลับเข้าไปในร่างกายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ทว่าสมการของการลดลงของพื้นที่สาธารณะ และแทนที่ด้วยอาคารสูง อาจไม่ได้ผลลัพธ์เพียงแค่เป็นการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าตามหลักคิดของนายทุน, เป็นการทำลายอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในมุมมองนักอนุรักษ์ หรือเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างที่นักสิ่งแวดล้อมกล่าวอ้าง ในอีกมุมมองหนึ่ง พื้นที่สาธารณะ และ ตึกสูง ยังเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมได้เช่นเดียวกัน

ภายใต้หลากทัศนะของนักอาชญาวิทยาที่มีต่อปัญหาอาชญากรรม ในจำนวนมีแนวคิดสำคัญที่มีชื่อภาษาไทยว่า ความไร้ระเบียบทางสังคม (Social Disorganization) หากกล่าวอย่างรวบรัดเนื้อหาส่วนหนึ่งของแนวคิดนี้มองว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมในด้านต่าง ๆ จะนำมาซึ่งความไร้ระเบียบทางสังคมซึ่งไปลดทอนการควบคุมดูแลซึ่งกันและกันของชุมชน และนี่เองเป็นสภาวะที่เอื้อต่อการเกิดอาชญากรรม แนวคิดของทฤษฎีนี้ชัดเจนขึ้นเมื่อนำมามองปรากฎการณ์ความเปลี่ยนแปลงของเชียงใหม่ในขณะนี้ การมีพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนในชุมชนได้มาใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะที่หน่วยราชการจัดสร้างขึ้น, พื้นที่พักผ่อนของหมู่บ้านจัดสรร หรือจะเป็นที่ดินรกร้างสักผืนของผู้มีอันจะกินที่ถูกเหล่าเด็กหนุ่มในชุมชนแผ้วถางให้กลายเป็นสนามฟุตบอลขนาดย่อม หรือแม้แต่ศาลามุงสังกะสีไว้รอรถข้างทาง พื้นที่สาธารณะเช่นนี้ทำให้คนในชุมชนได้มีโอกาสพบปะหน้าตา สร้างปฏิสัมพันธ์ เมื่อมีความรู้สึกผูกพันจะมากหรือน้อยก็ตามแต่ ก็จะทำให้ผู้คนตระหนักต่อชีวิตผู้คนรอบข้างมากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในชุมชนทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนห่างไกลกันมากขึ้น เช่น การเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลใกล้ชุนแม่คาว หลีกไม่พ้นการเพิ่มขึ้นของรถราที่จะผ่านเข้าออกชุมชนตามเวลาเปิดให้บริการของห้างในถนนในชุมชนที่ตกเย็นคนเฒ่าคนแก่ออกมานั่งรับลมเย็นริมทาง เด็กจากบ้านหลาย ๆ หลังออกมาวิ่งเล่น วงสนทนาพร้อมวงเหล้าขนาดเล็กที่คอยทักทายผู้ผ่านไปมา สัมพันธ์แห่งชีวิตเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนไป การสอดส่องดูแลรู้จักมักคุ้นในอดีตก็กลายเป็นความห่างเหินกันไป อีกตัวอย่างเช่นกรณีพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านโชตนา หมู่บ้านเก่าแก่อันดับต้น ๆ ของเมืองเชียงใหม่ หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามสนามกอล์ฟลานนา บัดนี้กำลังจะถูกแปลสภาพเป็นคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ (อาคารสูง 8 ชั้น 3 อาคาร รวม 140 ยูนิต) บนพื้นที่สี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดไม่ใหญ่มากตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน ที่นับสามสิบปีมาแล้วคนรุ่นคุณปู่ คุณย่าเข็นรถใส่เจ้าตัวน้อยออกมาป้อนข้าว หรือฝึกเดิน จนเมื่อหลานโต มีลูกของตัวเอง พื้นที่นี้ก็ยังคงถูกใช้เช่นนี้จากรุ่นสู่รุ่น หากพื้นที่สาธารณะนี้กลายเป็นคอนโดสูง ผู้คนในหมู่บ้านคงต้องใช้เวลาอยู่ภายในบริเวณบ้านของตัวเอง หรือแม้แต่หลีกเลี่ยงที่จะมายืนพูดคุยบริเวณหน้าบ้านเพราะกลัวการจับจ้องจากมุมสูง

ตามแนวคิดทฤษฏีนี้ ชุมชนที่ผู้คนไม่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด กลไกการป้องกันอาชญากรรมจะอ่อนแอตามไป เมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้นในชุมชนก็เลือกที่จะหลีกเลี่ยงมากกว่าร่วมหาทางแก้ไข เพราะความรู้สึกร่วมต่อส่วนร่วมต่ำนั่นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น คนไม่ได้เลือกที่จะไร้ความรับผิดชอบเช่นนี้ หากแต่เพราะสภาพแวดล้อมต่างหากที่ทำให้สายสัมพันธ์ของผู้คนเปลี่ยนไป ความอ่อนแอจึงเกิดทั้งกับผู้คนและชุมชน ในขณะที่อาชญากรรมกลับเข้มแข็งขึ้นในพื้นที่เหล่านี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น