โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ช่างภาพเกาหลีเปิดเผยรูปจากเหตุลอบสังหาร ปธน.เกาหลีใต้ที่พม่าเมื่อ 29 ปีก่อน

Posted: 11 Oct 2012 01:56 PM PDT

นสพ.โชซอน อิลโบ ตีพิมพ์ชุดภาพเหตุลอบวางระเบิดประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ระหว่างเยือนพม่าในปี 2526 ซึ่งไม่เคยเผยแพร่มาก่อน โดยเป็นฝีมือของช่างภาพเกาหลีใต้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้ โดยมอบให้ นสพ. นำไปใช้ระดมทุนสร้างอนุสาวรีย์ให้เหยื่อจากเหตุระเบิดดังกล่าว

(ภาพบน) นายคิม ซัง ยอง ช่างภาพที่รอดจากเหตุระเบิดลอบสังหารประธานาธิบดีเกาหลีใต้ระหว่างเยือนพม่าเมื่อ 9 ต.ค. 2526 หรือเมื่อ 29 ปีที่แล้ว ระหว่างให้สัมภาษณ์โชซอนทีวี โดยเขาได้มอบชุดภาพเหตุการณ์ดังกล่าว (ภาพล่าง) ซึ่งไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อนให้กับหนังสือพิมพ์โชซอน อิลโบ (ที่มา: Chosun TV) สามารถชมชุดภาพและการให้สัมภาษณ์ของเขาได้ที่นี่

เหตุลอบวางสังหารนายชุน ดู ฮวาน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ขณะเยือนพม่าเมื่อปี 2526 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 คน รวมทั้งรัฐมนตรีเกาหลีใต้ 4 รายด้วย ส่วนประธานาธิบดีรอดหวุดหวิดเนื่องจากมาช้าไม่กี่นาที โดยเหตุการณ์นี้ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของซีรีย์ City Hunter ภาคภาษาเกาหลี

เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์โชซอน อิลโบของเกาหลีใต้ได้ตีพิมพ์ชุดภาพถ่ายเหตุการณ์วางระเบิดลอบสังหารนายชุน ดู ฮวาน (Chun Doo-Hwan) อดีตประธานธิบดีเกาหลีใต้ ระหว่างการเยือนนครย่างกุ้ง ประเทศพม่าเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ปี 2526 หรือเมื่อ 29 ปีมาแล้ว โดยเป็นชุดภาพถ่ายที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน

โดยชุดภาพถ่ายนี้ถ่ายโดยช่างภาพของทางการเกาหลีใต้ชื่อนายคิม ซัง ยอง (Kim Sang-Yeong) ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ชุน ดู ฮวาน ในขณะนั้นขอร้องให้เขาเก็บภาพถ่ายนี้ไว้เพื่อไม่ให้ญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ขุ่นเคือง

ทั้งนี้เหตุการณ์ลอบวางระเบิดประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่สุสานนายพลออง ซาน อนุสรณ์สถานวีรชน ใกล้กับเจดีย์ชเวดากองในนครย่างกุ้ง เมื่อ 9 ต.ค. ปี 2526 เกิดขึ้นในช่วงที่คณะของประธานาธิบดีเกาหลีใต้มีกำหนดเยือนพม่า และเดินทางไปเคารพสุสานของนายพลออง ซาน ผู้ก่อตั้งประเทศพม่า เมื่อ 9 ต.ค. ปี 2526 โดยเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 คน ในจำนวนนี้ 17 คนเป็นชาวเกาหลีใต้ซึ่งมี 4 รัฐมนตรีและทูตเกาหลีใต้ประจำพม่าเสียชีวิตด้วย โดยประธานาธิบดีชุน รอดจากเหตุระเบิดหวุดหวิดเนื่องจากมาถึงสุสานนายพลออง ซาน สายไม่กี่นาที

โดยภาพถ่ายที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โชซอน อิลโบเผยให้เห็นร่างที่เหวอะหวะ มีเลือดไหลนองจากบาดแผลที่ถูกสะเก็ดระเบิด นอนเรียงรายท่ามกลางซากปรักหักพังของอนุสรณ์สถานวีรชน ขณะที่เจ้าหน้าที่สถานทูตเกาหลีใต้เร่งหาผู้รอดชีวิต

ในรายงานของโชซอน อิลโบ คิมเล่าว่าเห็นรัฐมนตรีในสภาพใกล้เสียชีวิต ในขณะนั้นเขาคิดว่า "พระเจ้า เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร" เมื่อคิดได้อย่างนั้นจึงรีบกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ และหลังจากที่เขามอบกล้องให้กับเจ้าหน้าที่ รปภ. เขาก็หมดสติและมาฟื้นอีกทีในโรงพยาบาล

ทั้งนี้หนังสือพิมพ์โชซอน อิลโบ เคยจัดรณรงค์สร้างอนุสาวรีย์ให้กับเหยื่อระเบิด โดยคิมกล่าวว่าจะมอบชุดภาพถ่ายให้กับหนังสือพิมพ์เพื่อใช้ระดมทุน โดยชุดภาพถ่ายที่ปรากฎในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์โชซอน อิลโบ มีการตีพิมพ์ภาพเป็นสีขาว-ดำ และปกปิดใบหน้าของผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ตามที่ช่างภาพคิม ร้องขอ ขณะที่ภาพสีอื่นๆ มีภาพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของพม่ากำลังประคองนักข่าวชาวเกาหลีหน้าตาโชกเลือด ซึ่งรอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว

สำหรับเหตุการณ์ซึ่งภายหลังเรียกว่า "Rangoon bombing" นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าสืบทราบต่อมาว่ามีสายลับชาวเกาหลีเหนือสามรายลอบเข้ามาที่ย่างกุ้งทางเรือ และได้รับระเบิดมาจากสถานทูตเกาหลีเหนือในพม่า โดยสองวันหลังเกิดเหตุระเบิด สายลับสองรายถูกจับ อีกรายพยายามที่จะยิงต่อสู้กับทหารพม่าขณะถูกไล่จับกุม จึงถูกยิงเสียชีวิต ทั้งนี้ผู้ถูกจับกุมสองราย มีรายหนึ่งต่อมาเสียชีวิต อีกรายหนึ่งชื่อคัง มิน ชุล ได้โทษจำคุกตลอดชีวิตภายหลังจากสารภาพว่าทำตามคำสั่งของเปียงยาง และต่อมาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับเมื่อปี 2551

โดยตั้งแต่เหตุลอบสังหารดังกล่าว ทำให้พม่าได้ตัดความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ และเพิ่งมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2550 และพม่าได้เริ่มซื้ออาวุธจากเกาหลีเหนือ และถูกตั้งข้อสงสัยว่ากำลังจัดหาเทคโนโลยีพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ

ส่วนเกาหลีใต้ เพิ่งมีการเยือนของประธานธิบดีลี เมียง บักเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยเป็นการเยือนระดับประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี หลังเหตุการณ์ลอบสังหารดังกล่าว และระหว่างการเยือน ลี เมียง บักได้กล่าวชื่นชมความพยายามของประธานาธิบดีเต็ง เส่งของพม่าในการสร้างประชาธิปไตย พร้อมกำชับรัฐบาลของเต็ง เส่งให้ "ระงับกิจกรรมใดๆ" กับเกาหลีเหนือที่พิจารณาแล้วว่าจะละเมิดมติของสหประชาชาติ"

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Chosun TV, 2012 Oct 11 http://news.tv.chosun.com/site/data/html_dir/2012/10/11/2012101102559.html

Graphic images of N. Korean 1983 bombing published, Channel News Asia, 11 October 2012  http://www.channelnewsasia.com/stories/afp_asiapacific/view/1230770/1/.html

Rangoon Bombing, Wikipedia http://en.wikipedia.org/wiki/Rangoon_bombing

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิโรจน์ ณ ระนอง

Posted: 11 Oct 2012 11:43 AM PDT

"ในระยะยาวนั้นชาวนาจะรวยขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่สนใจเป็นชาวนา แต่มีรายได้ดีพอที่จะซื้อข้าวราคาแพง ซึ่งจริงๆ แล้ว ทุกวันนี้เกษตรกรเองก็เลือกเส้นทางนี้กันโดยส่วนใหญ่"

ใน ซีรีส์จำนำข้าว (1) วิโรจน์ ณ ระนอง : ปัญหาและทางออก

รัฐบาลซีเรียปฏิเสธ ข้อตกลงหยุดยิงจากยูเอ็น

Posted: 11 Oct 2012 10:20 AM PDT

บัง คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียเป็นฝ่ายเริ่มประกาศหยุดยิงก่อน เพื่อแก้วิกฤติสงครามกลางเมือง ด้านสหรัฐฯ วางกำลังสนับสนุนในจอร์แดนเตรียมรับวิกฤติอาวุธเคมี ขณะที่ฝ่ายกบฏสร้างเขตกันชนรับผู้อพยพที่ชายแดนตุรกี

11 ต.ค. 2012 - รัฐบาลซีเรียปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหประชาชาติหรือยูเอ็นที่เรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียเป็นฝ่ายเริ่มหยุดยิงฝ่ายเดียว โดยยืนยันให้ฝ่ายกบฏเป็นผู้หยุดสู้รบกับฝ่ายรัฐบาลก่อน
 
จีฮาด มักดิสซี โฆษกกระทรวงต่างประเทศของซีเรียกล่าวยืนยันในเรื่องนี้เป็นครั้งที่สองแล้ว โดยก่อนหน้านี้เคยกล่าวยืนยันให้ฝ่ายกบฏเป็นฝ่ายหยุดยิงก่อนในช่วงที่กองกำลังของยูเอ็นเข้ามาตรวจสอบในซีเรียช่วงเดือน เม.ย. ถึง ส.ค. ที่ผ่านมา โดยบอกว่าฝ่ายรัฐบาลจัดเตรียมให้มีการหยุดยิงไว้แล้ว
 
"แต่ฝ่ายกบฏฉวยโอกาสในการเพิ่มกองกำลังและเพิ่มผู้เสียหายจากการก่อการร้าย" มักดิสซีกล่าว
 
ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลก็ส่งรถถังจากเมืองมาสตูมาห์ทางตอนเหนือของเขตปกครองอิดลิบ ไปยังเมืองมารัท อัล-นูมาน ในขณะที่ฝ่ายกบฏและฝ่ายรัฐบาลต่อสู้เพื่อแย่งชิงเมืองนี้
 
อัลจาซีร่ารายงานว่ามีกองทหารวางกำลังอยู่ตามทางหลวงไปสู่เมืองมารัท อัล-นูมาน เพื่อรักษาความปลอดภัยในการลำเลียงยุทโธปกรณ์หนักไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ตั้งอยู่บนทางหลวงระหว่างกรุงดามาสกัสกับเมืองอเล็ปโป
 
ฝ่ายกบฏพยายามต่อสู้เพื่อหยุดยิ้งไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลเคลื่อนทัพต่อ โดยมีการใช้อาวุธยิงจรวดและระเบิดทำมือ ทำให้รถถังของฝ่ายรัฐบาลได้รับความเสียหาย 3 คัน ฝ่ายกบฏบอกด้วยว่าการต่อสู้แย่งชิงเมือง มารัท อัล-นูมาน เป็นเรื่องสำคัญมาก
 
ฝ่ายกบฏยังต้องรับศึกจากรอบนอกเมืองคาน ชีคคุน ทางตอนใต้ของมารัท อัล-นูมาน ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนในซีเรียรายงานว่ามีเครื่องบินรบทิ้งระเบิดใส่เขตที่มีกลุ่มกบฏอยู่
 
"หากกลุ่มกบฏที่สามารถยึด มารัท อัล-นูมาน และ ซาราเกบ สามารถยึดคาน ชีคคุน ได้อีก พวกเขาจะทำให้กองกำลังของรัฐบาลในอเล็ปโปถูกตัดขาดเนื่องจากไม่สามารถส่งกำลังเสริมเข้าไปได้" กลุ่มนักสิทธิฯ ในซีเรียกล่าว
 
บัง คี มูน ร้องฝ่ายรัฐบาลหยุดยิง
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 9 ต.ค. บัง คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียประกาศหยุดยิงเพื่อทำให้ความขัดแย้งซึ่งกินเวลามายาวนาน 19 เดือน และทำให้คน 20,000 คนเสียชีวิตยุติลง
 
"มันเป็นเรื่องไม่อาจยอมรับได้ที่จะให้ชาวซีเรียต้องเผชิญสถานการณ์ต่อไป นี่เป็นเหตุผลที่ผมเรียกร้องอย่างหนักแน่นต่อรัฐบาลซีเรีย ให้พวกเขาประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวโดยทันที"
 
บัง คี มูน บอกว่า "กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะยอมรับข้อเสนอหยุดยิงเมื่อฝ่างรัฐบาลเป็นผู้ประกาศ" เขายังได้เรียกร้องให้ประเทศที่สนับสนุนอาวุธแก่ทั้งสองฝ่ายหยุดให้การสนับสนุนเพื่อลดความทุกข์ยากของประชาชนชาวซีเรียด้วย
 
สหรัฐฯ ส่งทหารไปจอร์แดนเตรียมรับวิกฤติอาวุธเคมี
ทางด้านสหรัฐฯ เลขาธิการกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าวว่าทีมวางแผนของกองทัพสหรัฐฯ ในจอร์แดน ได้เข้าไปช่วยเหลือเรื่องผู้อพยพลี้ภัยชาวซีเรีย และเสริมกำลังให้จอร์แดนเพื่อเตรียมรับปัญหากรณีอาวุธเคมี
 
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ไม่ระบุนามกล่าวว่า มีทีมวางแผนเล็กๆ ไมได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับปฏิบัติการลับ และได้เข้าไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์ฝึกปฏิบัติการพิเศษของกษัตริย์อับดุลลาที่สอง ทางตอนเหนือของกรุงอัมมาน ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูร้อนที่ผ่านมา
 
ทางกองทัพของจอร์แดนปฏิเสธผ่านแถลงการณ์ในเรื่องที่สหรัฐฯ ได้ส่งกองกำลังช่วยเหลือในการต่อสู้กับอาวุธเคมีที่ซีเรียถูกกล่าวหาว่ามีในครอบครอง โดยบอกว่าที่ปรึกษากองทัพสหรัฐฯ เข้ามาอยู่ในจอร์แดนในฐานะโครงการฝึกทหารร่วมกันในระยะยาว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤติซีเรีย
 
ฝ่ายกบฏพยายามสร้างเขตกันชนให้ผู้อพยพที่ชายแดนตุรกี
ทางด้านกองกำลังฝ่ายกบฏในเขตพรมแดนตุรกีบอกว่า พวกเขากำลังพยายามสร้างเขตกันชนเพื่อเป็นแหล่งหลบภัยสำหรับประชาชนผู้อพยพจากซีเรียหลายพันคนที่หนีตายจากการสู้รบในประเทศ
 
มีกลุ่มกบฏหลายกลุ่มที่รวมกำลังกันขับไล่กองทัพรัฐบาลออกจากพื้นที่แถบชายแดน แต่พวกเขาก็เรียกร้องให้นาโต้ช่วยเหลือพวกเขาปกป้องเขตกันชนระหว่างรัฐจากการถูกจู่โจมทางอากาศยาน
 
 
 
ที่มา เรียบเรียงจาก
Syria rejects UN calls for unilateral truce, Aljazeera, 10-10-2012
 
Syrian rebels seek to create buffer zone, Aljazeera, 11-10-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

MIO: คุยกับจอม เพ็ชรประดับ ในวันรายการหลุดผัง (อีกแล้ว)

Posted: 11 Oct 2012 10:02 AM PDT

Media Inside out สัมภาษณ์จอม เพ็ชรประดับ หลังรายการหลุดผังจาก Voice TV แม้เขาจะอธิบายว่าการ "หลุดผัง" ครั้งนี้จะเป็นการ "จากกันด้วยดี" และ "เข้าใจ" แต่มีคำถามอย่างสำคัญประการหนึ่งคือ สำหรับสื่อที่ต้องการดำรงวิชาชีพสื่อของตนอย่างซื่อตรงนั้น หาที่อยู่ที่ยืนยากขึ้นหรือไม่เพียงใดในวันที่สื่อแบ่งสีและเป็นธุรกิจที่ต้องแคร์เรตติ้ง

"ผมเป็นพิธีกรที่ไม่เรียกเรตติ้ง ไม่ได้ทำให้คนดูเฮโลสาระพา" จอมพูดตอนหนึ่งในการสัมภาษณ์เพื่ออธิบายเหตุผลถึงรายการ Hot Topic และ Intelligence ถูกถอดรายการออกจากผังของวอยซ์ทีวี ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งนั่นอธิบายตามมาด้วยหลักวิชาชีพในการทำงานของเขาที่ถูกท้าทายว่าจะยืนหยัดหรือมีที่ยืนได้หรือไม่มาอย่างน้อย 3 ครั้งแล้ว

การไม่เรียกเรตติ้งนั้นอาจจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจ และการ "ไม่ผ่อนสั้นผ่อนยาว" ก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลในเชิงการเมือง ซึ่งทั้งสองเหตุผลสะท้อนกลับมาชวนให้ตั้งคำถามในวันที่สื่อมีทั้งสีทางการเมืองและมีผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ต้องดูแล

Media Inside Out สนทนากับเขาในบ่ายวันที่ 9 ต.ค. แม้เขาจะอธิบายว่าการ "หลุดผัง" จากวอยซ์ ทีวีครั้งนี้จะเป็นการ "จากกันด้วยดี" และ "เข้าใจ" แต่มีคำถามอย่างสำคัญประการหนึ่งที่ Media Inside Out อยากจะชวนพูดคุยกับเขาคือ สำหรับสื่อที่ต้องการดำรงวิชาชีพสื่อของตนอย่างซื่อตรงนั้น หาที่อยู่ที่ยืนยากขึ้นหรือไม่เพียงใดในวันที่สื่อแบ่งสีและเป็นธุรกิจที่ต้องแคร์เรตติ้ง

 

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ Media Inside out 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองขอเวลาพิจารณาไต่สวนฉุกเฉิน "ประมูล 3G" นัดฟังคำตัดสินภายหลัง

Posted: 11 Oct 2012 09:02 AM PDT

กรณีที่นักวิชาการยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ กสทช.ยุติการประมูล 3 จี ไว้ก่อน ศาลปกครองขอนำข้อมูลที่ได้รับจากทั้งฝ่ายผู้ร้องและ กสทช.ไปวินิจฉัยร่วมกัน ก่อนนัดฟังคำตัดสินอีกครั้ง


(11 ต.ค.55) ที่ศาลปกครองกลาง มีการนัดไต่สวนฉุกเฉินว่าจะรับคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ กรณีที่นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ กสทช.ยุติการประมูล 3 จี ไว้ก่อน จนกว่าจะได้จัดทำประกาศ ระเบียบ ที่เป็นประโยนช์ต่อสาธารณะ โดยการไต่สวนฉุกเฉินกินเวลากว่า 4 ชั่วโมง

โดย นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ในฐานะผู้แทน เป็นผู้ชี้แจงในฝ่ายกสทช. มีรายงานว่า ช่วงหนึ่ง นายสุทธิพล บอกว่า นายอานุภาพไม่ใช่ผู้เสียหายตรง หาก กสทช.ทำตามผู้ร้อง จะเป็นการบังคับให้ กสทช.ทำผิดกฎหมาย เช่น กำหนดอัตราขั้นสูงล่วงหน้า และถ้าประมูลไม่ได้ จะมีความเสียหาย 8 เดือน 5.1 หมื่นล้านบาท หรือใน 1 ปี เสียหาย 7.6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ หลังการไต่สวน ปรากฎว่า ยังไม่มีคำชี้ขาดใดๆ ออกมา โดยศาลปกครองขอนำข้อมูลที่ได้รับจากทั้งฝ่ายผู้ร้องและ กสทช.ไปวินิจฉัยร่วมกัน และจะนัดทั้ง 2 ฝ่ายฟังคำตัดสิน ทั้งนี้ยังไม่กำหนดวัน



ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล ปค.ชี้ ร่าง พ.ร.บ.ทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ประชาชนไม่มีสิทธิเสนอ

Posted: 11 Oct 2012 08:53 AM PDT

ตุลาการศาลปกครองแถลงความเห็น ระบุร่างกฎหมายนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญหมวด 9 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี ประชาชนไม่มีสิทธิเสนอ

ตุลาการศาลปกครองแถลงความเห็นว่า คำสั่งประธานรัฐสภาที่ปฏิเสธไม่รับร่าง พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของภาคประชาชนนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะร่างกฎหมายนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญหมวด 9 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี ประชาชนไม่มีสิทธิเสนอ

11 ตุลาคม 2555 ศาลปกครองนัดพิจารณาคดี กรณีคำสั่งประธานรัฐสภาปฏิเสธไม่รับร่าง พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยฝ่ายผู้ฟ้องคดีมีนายจักรชัย โฉมทองดี และนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล เดินทางมาศาล ส่วนฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีมีนาย สมชาติ ธรรมศิริ ผู้รับมอบอำนาจเดินทางมาศาล  โดยทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือต่อศาล แต่ประสงค์จะแถลงการณ์ด้วยวาจา

คดีนี้เริ่มต้นจากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ (FTA Watch) เห็นว่า การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่ออาณาเขต ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลต้องทำโดยโปร่งใส และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจึงรวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 10,000 รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อเสนอหลักการดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณา ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2552

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2552 นายชัย ชิดชอบ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาในขณะนั้นมีคำสั่งตามหนังสือที่ สผ 0014/7896ระบุว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จึงไม่รับไว้พิจารณาด้วยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163ให้ผู้เสนอกฎหมายไปจัดทำร่างใหม่และรวบรวมรายชื่อใหม่

นายจักรชัย โฉมทองดี ในฐานะผู้แทนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของประธานรัฐสภา โดยระบุว่าร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนี้เป็นเรื่องสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล และสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลก่อนการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ จึงเป็นร่างกฎหมายในหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ

นายจักรชัย กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวกับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในหมวด 3 หรือ หมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ ขณะที่มีร่างพระราชบัญญัติอีกหลายฉบับที่มีเนื้อหาหลากหลายโดยไม่ต้องเป็นไปตามหมวด 3 หรือหมวด 5แต่ประธานรัฐสภากลับรับไว้พิจารณา จึงเป็นการออกคำสั่งที่ขัดต่อหลักความเสมอภาค

ขณะที่นายสมชาติ ธรรมศิริ กล่าวว่า เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ได้กำหนดไว้ในหมวด 3 หรือ หมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ แต่กำหนดไว้ในมาตรา 190 หมวด 9 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี และการออกคำสั่งของประธานรัฐสภาเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยทางนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจตามกฎหมายปกครอง จึงไม่อยู่ในการตรวจสอบของศาลปกครอง

หลังคู่กรณีแถลงการณ์ด้วยวาจาเสร็จ ตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งเป็นอิสระจากองค์คณะตุลาการเจ้าของคดีที่จะเป็นผู้ตัดสินคดี แถลงความเห็นส่วนตัวในคดีนี้ว่า แม้ว่าการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นการดำเนินการในทางนิติบัญญัติ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายและตรวจสอบว่าเป็นร่างกฎหมายที่อยู่ใน หมวด 3 หรือหมวด 5 หรือไม่ เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ศาลปกครองจึงมีอำนาจตรวจสอบ

ตุลาการผู้แถลงคดีกล่าวต่อว่า จากการพิจารณาสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ที่ผู้ฟ้องคดีเสนอ จะเห็นว่ามีรายละเอียดของขั้นตอนเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาที่กระทบต่ออาณาเขต ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ในหมวด 9 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี และยังบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่จำทำกฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะแล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงไม่อยู่ในหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ

คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง

หลังจากนั้นตุลาการเจ้าของคดีกล่าวย้ำว่า ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีเป็นอิสระจากความคิดเห็นขององค์คณะ และนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 30 ตุลาคม 2555 เวลา 10.00 น.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยธ.ทุ่ม 25 ล้านช่วยลูกหนี้-ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมสู้คดี

Posted: 11 Oct 2012 07:49 AM PDT

การอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้โดยเสมอภาคกับทุกคนเป็นความรับผิดชอบหลักของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้สร้างกลไกการให้บริการความยุติธรรมที่เท่าเทียมในหลายช่องทาง และหนึ่งในมาตรการเสริมสำหรับลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนใหญ่เป็น "ลูกหนี้นอกระบบ" ซึ่งมีช่องว่างทางกฎหมายให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนรากหญ้า หาเช้ากินค่ำ  ขาดความรู้ความเข้าใจกฎหมาย เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม "ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.)" จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยลูกหนี้กลุ่มนี้เข้าถึงความเป็นธรรม ตามครรลองของกระบวนการยุติธรรม

นางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยและสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนาด้านเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการก่ออาชญากรรม ซึ่งพัฒนาจากการใช้ความรุนแรงเป็นอาชญากรรมและการหลอกลวงที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมากและมีผู้เสียหายจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงช่องทางการช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรม   โดยเฉพาะลูกหนี้จากปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งมีจำนวนมาก และจำนวนไม่น้อยถูกแก๊งหนี้นอกระบบตามทวงหนี้อย่างโหดร้าย ได้รับบาดเจ็บ หรือสูญเสียทรัพย์สิน และปัจจุบันขบวนการเหล่านี้มีหลายรูปแบบมากขึ้น

ศนธ.ยธ. เป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงยุติธรรม ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการสร้างเสริมความเป็นธรรมและให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายและด้านต่าง ๆ แก่ลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม  ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ มีภารกิจ 3 ด้านหลักคือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน การแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ และการแก้ไขปัญหาการไม่ได้รับความยุติธรรมด้านอื่นๆ เน้นให้การช่วยเหลือ ลูกหนี้ ตั้งแต่ 50 รายขึ้นไป  หรือประชาชนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งในภาครัฐ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชน และประชาสังคม โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับบริการงานยุติธรรมอย่างสะดวก รวดเร็วและยุติธรรม

ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กล่าวว่า ผลดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจำนวนมาก  และพบว่า จังหวัดที่มีสถิติสูงสุดของประชาชนที่เป็นหนี้และถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งัศนธ.ยธ.ได้ให้การช่วยเหลือ คือ จังหวัดชัยภูมิ อุบลราชธานี และขอนแก่น  ปัญหาที่พบของลูกหนี้นอกระบบ คือ การถูกเจ้าหนี้เงินกู้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและฟ้องร้องเรียกเงินคืนเกินกว่ามูลหนี้กู้ยืมจริงมีการบังคับคดียึดที่ดินทำกินของประชาชน นอกจากนี้ยังรวมทั้งปัญหาที่ดิน และสิ่งแวดล้อม   ปัจจุบันมีผู้เข้ามาขอความช่วยเหลือจาก ศนธ.ยธ.มากกว่า 360 คดี  มีทุนทรัพย์ที่พิพาทมูลค่ากว่า 559 ล้านบาท

ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯยังตระหนักดีว่า  ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการที่ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมาย การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงถูกหลอก เอารัดเอาเปรียบ  การดำเนินการในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะเพื่อเตือนภัย ป้องปราม และเฝ้าระวัง  โดยจะมีการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนทั่วประเทศ เช่น จัดเวทีเสวนาและรับฟังปัญหาจากภาคประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ  การแจกหนังสือคู่มือ แผ่นพับ ซึ่งจะมี ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย เช่น เรื่องหนี้นอกระบบ การกู้ยืมเงิน การขายฝาก การจำนอง การจำนำ เป็นต้น ซึ่งจะให้ความรู้แก่ประชาชนตั้งแต่เริ่มทำสัญญา    หรือหากถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับคดี ลูกหนี้จะไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดบ้าง   การถอดบทเรียนประสบการณ์ตรงจากผู้ถูกหลอก  รวมทั้งจะลงไปเก็บข้อมูลเชิงลึกแล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อใช้วางแผนทิศทางการดำเนินงานในอนาคตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

สำหรับในปีนี้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงยุติธรรมจำนวน 25 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนต่อไป โดยมีคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการอาทิ กรณีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบจังหวัดชัยภูมิ จำนวนกว่า 500 รายที่อยู่ระหว่างการบังคับคดีและอีก  50 รายที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีแพ่งและอาญา โดยกรณีนี้เป็นการกู้เงินเป็นค่าใช้จ่ายไปทำงานต่างประเทศแล้วถูกหลอกให้ลงลายมือชื่อในสัญญาเงินกู้ และภายหลังมีการฟ้องบังคับคดียึดที่ดินของประชาชน  กรณีชาวนาที่โกงเงินจากนายทุนในจังหวัดชัยนาทและพระนครศรีอยุธยา  กรณีปัญหาการทุจริตในสหกรณ์แม่เปิน จ.นครสวรรค์  มีการรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังแล้วเกษตรกรไม่ได้รับเงิน  เป็นต้น

สำหรับลูกหนี้หรือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือด้านกฎหมายและคดีความได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-141-5440 โทรสาร 02- 143- 8285 และตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนเป็นต้นไปติดต่อ ศนธ.ยธ.ได้ที่ ปณท. อาคารศูนย์ฝึกอบรม ชั้น 4เลขที่ 111 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210  โทร.02-575-8585  ติดต่อได้ทั้งทางจดหมายและทางโทรศัพท์.  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กพย.หนุนคลัง เลิกให้เบิกกลูโคซามีน ชี้คุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่การรอนสิทธิผู้ป่วย

Posted: 11 Oct 2012 07:34 AM PDT

ชี้ประสิทธิภาพของยาไม่แน่ชัด ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่คุ้มค่าที่จะใช้ อาจก่อผลเสียในการทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคหรือสาเหตุหลักที่ล่าช้า

ตามที่กระทรวงการคลังได้ประกาศยกเลิกการให้เบิกจ่ายกลูโคซามีนในสิทธิรักษาพยาบาลของสวัสดิการข้าราชการนั้น ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี  ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า จากการทำงานของ กพย. ซึ่งเฝ้าระวังระบบยาที่มีผลกระทบต่อประชาชนในมิติต่างๆ ได้ติดตามเรื่องที่มาโดยตลอด ขอสนับสนุนว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะเป็นการตัดสินใจบนข้อมูลวิชาการและหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างแท้จริง

"เมื่อทบทวนผลการศึกษาวิจัยเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่าประสิทธิภาพของยาไม่แน่ชัด ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่คุ้มค่าที่จะใช้ นอกจากนี้ เป็นการทบทวนประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของยาที่มีความเข้มงวดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา คือหลังการทบทวนของคณะกรรมการวิชาการแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ฯ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อและกระดูก ได้ทำการศึกษาทบทวนซ้ำตามที่ได้ทำเรื่องขอมา แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานใหม่ใดๆที่จะมาหักล้างข้อมูลที่ได้ทบทวนไว้เดิม" 

ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ระบุว่า การที่ยังคงมีการสั่งใช้ยานี้กับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ให้ผลการรักษาไม่ชัดเจน อาจก่อผลเสียในการทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคหรือสาเหตุหลักที่ล่าช้า ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้องช้าลงก็เป็นได้

"เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการรอนสิทธิผู้ป่วยแต่อย่างไร แต่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคต่างหาก เพราะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพอื่นก็ไม่เคยได้รับยานี้มาก่อน เนื่องจากคณะผู้เชี่ยวชาญในการคัดเลือกบัญชียาหลักแห่งชาติมองว่ายานี้ไม่ควรได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะความไม่ชัดเจนของประสิทธิผลรวมทั้งไม่คุ้มค่าที่จะใช้"

การออกมาประกาศไม่ให้ราชการเบิกจ่ายยานี้นอกจากจะเป็นการส่งสัญญาณเพื่อให้ผู้ป่วยในระบบราชการแล้ว  ยังจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปที่ควรพึงพิจารณาว่ายานี้ไม่ก่อประโยชน์คุ้มค่า หากนำไปรักษาโรคข้อเสื่อม และขอเน้นว่าผู้ป่วยโรคนี้คงต้องมองหาการรักษาที่ถูกวิธีแทนที่จะหวังว่ากินยานี้แล้วจะได้ผล ผศ.ดร.นิยดากล่าว

ทางด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมองว่า ถือเป็นความก้าวหน้าของกรมบัญชีกลาง ที่ยืนยันไม่ให้เบิกกลูโคซามิน เพราะการตัดสินใจในเรื่องที่ผูกพันกับงบประมาณแผ่นดินที่เป็นภาษีของประชาชนทั้งประเทศต้องตั้งอยู่บนข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจน ที่ผ่านมา รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการใช้ยานี้ไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาทต่อปี และทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมกับระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

"การประกาศครั้งนี้ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของรัฐบาล ไม่ปล่อยให้บรรดาผู้ป่วย-ผู้บริโภคถูกแพทย์พาณิชย์ ที่หากินร่วมกับ บรรษัทยาข้ามชาติปั่นหัว ทำให้เชื่อว่า ยาดีต้องราคาแพงและแอบจ่ายยาฟุ่มเฟือยให้กับผู้ป่วยมาตลอด  จนเหมือนกับเราเสพติดยาทั้งที่เป็นผลร้ายกับผู้ป่วยเอง แต่เป็นการทำกำไรบนชีวิตประชาชน"

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"โม่ เหยียน" นักเขียนจีน คว้ารางวัลโนเบลวรรณกรรมปีล่าสุด

Posted: 11 Oct 2012 06:56 AM PDT

นับเป็นนักเขียนสัญชาติจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม โดยได้รับการยกย่องจากงานเขียนว่าด้วยชีวิตชาวนาในชนบทจีน ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างตำนาน ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวร่วมสมัย

11 ต.ค. 55 - สถาบันสวีดิช อคาเดมี่ ซึ่งเป็นสถาบันที่คัดเลือกรางวัลโนเบลวรรณกรรม ประกาศวันนี้ว่า "โม่ เหยียน" (Mo Yan) นักเขียนวรรณกรรมของจีน เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปีล่าสุด จากงานเขียนแนว "สัจนิยมหลอน" ที่ผสมผสานระหว่างอดีตและปัจจุบัน โดยเขาเป็นนักเขียนคนแรกคนจีนที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

 
"ด้วยการผสมผสานระหว่างแฟนตาซี ความจริง และมุมมองทางประวัติศาสตร์และสังคม โม่ เหยียนได้สร้างโลกที่มีความซับซ้อนที่คล้ายคลึงกับงานเขียนของวิลเลียม ฟอล์คเนอร์ และเกเบรียล การ์เซีย มาเคซ ในขณะเดียวกันก็มีจุดที่แตกต่างในแบบของวรรณกรรมจีนแบบเก่าและจารีตแบบมุขปาฐะ" สวีดิช อคาเดมี่ระบุ
 
โม่ เหยียน มีชื่อจริงว่า กว่าน โหมเย่ (Guan Moye) เกิดเมื่อปี 2498 ในจังหวัดกาโอมี ประเทศจีน โดยในชีวประวัติของเขาในเว็บไซต์รางวัลโนเบล ระบุว่า เขาเป็นลูกชายในครอบครัวชาวนา ที่ต้องออกจากโรงเรียนในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนเพื่อไปทำงานเป็นเกษตรกร จากนั้นได้เป็นเป็นแรงงานในโรงงาน ต่อมาในปี 2519 เขาเข้าร่วมกับกองกำลังปลดปล่อยประชาชนจีน และเริ่มศึกษาวรรณกรรมพร้อมๆ กับการเขียน โดยงานเขียนชิ้นแรกของเขา ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวรรณกรรมของจีนในปี 2534
 
ชีวประวัติดังกล่าวยังระบุว่า นวนิยายเรื่องต่างๆ ของเขา ที่ต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ อาทิ Red Sorghum ที่ตีพิมพ์ในปี 2536 The Garlic Ballads ตีพืมพ์ในปี 2538 ถูกมองว่ามีเนื้อหาที่บ่อนเซาะประเทศ เนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์สังคมจีนร่วมสมัยในงานเขียนของเขา 
 
ส่วนงานเขียนเรื่องอื่นๆ ของโม่ เหยียน มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และการเมืองจีนเป็นส่วนใหญ่ อาทิ การปฏิวัติปี 1911 (พ.ศ. 2454) ที่มีซุน ยัดเซ็นเป็นผู้นำ โค่นล้มราชวงศ์ชิง, การบุกของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลก, นโยบายปฏิรูปที่ดินของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ล้มเหลวในทศวรรษ 2490 และการปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมา เจ๋อ ตุง ในปี 2509 -2519 
 
นวนิยายเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ "Frog" ถูกมองว่ามีเนื้อหาที่ท้าทายมากที่สุดเล่มหนึ่ง โดยเกี่ยวข้องกับนโยบาย "One Child" ซึ่งมุ่งจำกัดจำนวนประชากรของจีน โดยถ่ายทอดการดำเนินนโยบายของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการบังคับทำแท้งและทำหมัน 
 
ถึงแม้ว่าโม่จะเป็นนักเขียนสัญชาติจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม แต่ก่อนหน้านี้ ก็มีนักเขียนชาวจีนสัญชาติฝรั่งเศสที่ได้รับรางวัลเดียวกันในปี 2543 คือ เก๋า ซิงเจียน สำหรับงานเขียนแนวเพ้อฝัน โดยเฉพาะนวนิยายเรื่อง Soul Mountain งานของเขาเต็มไปด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนและถูกสั่งห้ามในประเทศจีนด้วย 
 
ทั้งนี้ รางวัลโนเบลวรรณกรรม เป็นรางวัลโนเบลสาขาที่่ 4 ที่มีการจับตามากที่สุด ซึ่งประกาศหลังจากรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ฟิสิกส์ และเคมีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยรางวัลดังกล่าวมีมูลค่าราว 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 36 ล้านบาท)
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชายรับ รายงาน คอป.ไม่ได้เสนอข้อเท็จจริงทั้งหมด

Posted: 11 Oct 2012 06:10 AM PDT

สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ สมชาย หอมลออ ประธาน อนุกรรมการค้นหาความจริงกรณีการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 ซึ่งจากที่ผ่านมาประเด็นดังกล่าวเป็นข้อถกเถียงที่ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ ประชาไทจึงได้นำบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมานำเสนออีกครั้ง

*****************************

การค้นหา "ข้อเท็จจริง" ในเหตุการณ์ความรุนแรง ปี 2553 ยังไม่จบ แม้ว่า "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)" จะปิดรายงานฉบับสมบูรณ์ไปแล้ว 

 

โดยเฉพาะ "แกนนำเสื้อแดง-พรรคเพื่อไทย (พท.)" ที่ไม่พอใจ ผลสรุป คอป.อย่างยิ่ง และยื่นเรื่องให้รัฐบาลของเขาไม่ยอมรับรายงานฉบับนี้

ประเด็น "ชายชุดดำ" ที่ คอป.สรุปว่า มีส่วนสร้างความรุนแรงและสังหารไป 9 คน ระหว่างเหตุการณ์ "เม.ย.-พ.ค.เลือด 53" ยังคงร้อนเมื่อฝ่าย นปช.ตอบโต้ว่า ชุดดำไม่มีจริง ถ้ามีแต่ก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่บริหารประเทศครั้งนั้น ก็ใช้รายงาน คอป. ทำกิจกรรมตามล่าหาชายชุดดำต่อไป

"ทีมข่าวอิศรา" สนทนากับ "สมชาย หอมลออ" อดีตกรรมการ คอป.  ซึ่งรับผิดชอบผลสอบข้อเท็จจริงความรุนแรง 53  

ล่าสุดเจ้าตัว เดินทางไปชี้แจงกับ คณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เปิดข้อมูลใหม่ ยืนยันว่า คนชุดดำนอกจากโยงใย พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ยังมีความเกี่ยวพันกันกับทหารพรานค่ายปักธงชัย จ.นครราชสีมา ด้วย

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ยังมีข้อมูลอะไรที่ คอป.มีอยู่ในมือ แต่ไม่ถูกเปิดเผยออกมา ???

.......................................................


@ เสียงวิจารณ์ต่อรายงานคอป.ที่ออกมา สะท้อนอะไร

ผมขอท้าวความก่อน ในแง่การตรวจสอบค้นหาความจริงและทางทฤษฎี เราก็ระบุชัดเจนว่า ความจริงมันมีหลายชุด แต่สิ่งที่เราทำ เราพยายามรวบรวบรวมความจริงโดยการรับฟังจากทุกฝ่าย ไม่เฉพาะฝ่าย นปช.เท่านั้น เรารับฟังฝ่ายรัฐบาลขณะนั้น สื่อมวลชน นักกิจกรรมด้านสันติวิธี รวมทั้งคนที่อาจเกี่ยวพันกับคนชุดดำด้วย  

ความจริงที่เราเสนอมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ออกมาชุดหนึ่ง และเราก็บอกว่า ความจริงอันนี้มันอาจมีความจริงที่เพิ่มเติมเข้ามาอีกก็ได้ เพราะเหตุการณ์ผ่านไป การรับรู้ของคน การเปิดเผยข้อมูลของคนอาจมีเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งเราไม่ได้บอกว่า เราเป็นความจริงหนึ่งเดียวเที่ยงแท้แน่นอน เพราะไม่มีความจริงอะไรที่สมบูรณ์แน่นอน แต่เราคิดว่าทุกคนสามารถโต้แย้งเสนอความจริง พยานหลักฐานเพิ่มเติม แต่ก็ต้องโดยเหตุผลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

แต่ที่น่าเสียดายคือ การวิจารณ์รายงาน คอป.ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการใช้อารมณ์ คนจำนวนมากพูดถึงรายงานฉบับนี้โดยที่ยังไม่ได้อ่านเลย เพียงแต่ฟังเขาอีกที และที่น่าเสียใจคือ ในส่วนของนักวิชาการ ผมไม่ได้ห่วงตัวนักวิชาการนะ แต่ห่วงตัวลูกศิษย์ของนักวิชาการเหล่านี้ เพราะการวิจารณ์ของนักวิชาการกลุ่มนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักวิชา และคนเหล่านี้ก็เป็นครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทย แล้วอย่างนี้ในมหาวิทยาลัยไทยมันจะเป็นอย่างไรในอนาคต ก็เป็นเรื่องน่าห่วงมากนะ  


ประเด็นอะไรที่คิดว่า ไม่เป็นธรรม

เรื่องที่ว่าเราไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หรืออคติ จริงๆ แล้วก็ต้องพูดมาว่า หลักฐานของเราไม่ถูกอย่างไร แล้วเขามีหลักฐานที่ถูกต้องอย่างไร ก็ต้องเสนอมา เพื่อทำให้ความจริงมันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

รวมทั้ง กระทั่งเอาเรื่องส่วนตัว ประวัติของบุคคล  ไม่ว่าจะเป็นของผม หรือ อ.คณิต ณ นคร ประธาน คอป. ออกมาวิจารณ์  ซึ่งมันไม่ถูก เพราะรายงานฉบับนี้ไม่ได้เกิดจากผมคนเดียว หรือจาก อ.คณิตกับผม แต่มันเป็นการทำงานร่วมกันของคนนับร้อยคนและประชุมนับร้อยครั้ง กระทั่งออกมาโจมตีว่า มีคนเสื้อเหลืองอยู่ในกรรมการ ซึ่งความจริงแล้วมันก็มีคนหลากหลายอยู่ในคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ ดังนั้น อย่ามาพูดแบบตัดตอนหรือบิดเบือน

สิ่งที่เราต้องการชี้ให้เห็นก็คือ ข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล ฝ่ายค้าน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเพื่อให้เกิดการผลักดัน เปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งส่วนนี้สำคัญมากนอกจากนี้ จากการตรวจสอบค้นหาความจริง เราพบว่า ทหารที่ปฏิบัติงานในพื้นที่นี้ ใช้กำลังเกินแก่เหตุในหลายกรณี เช่นมีการใช้อาวุธสงคราม มีการนำเอารถหุ้มเกราะออกมา รวมทั้งเราได้ศึกษาลักษณะการปฏิบัติการธรรมชาติต่างๆ ของทหารแล้ว ก็นำมาสู่ข้อเสนอของเราที่บอกว่า หากเกิดการชุมนุมในอนาคต  รัฐบาลต้องไม่นำทหารออกมาใช้ในการควบคุมฝูงชนอีก เพราะการใช้กำลังทหารโดยธรรมชาติแล้ว ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ควบคุมฝูงชน ไม่เฉพาะเหตุการณ์ปี 2553 เท่านั้น เหตุการณ์ก่อนๆ นั้นมันก็พิสูจน์ในจุดนี้อยู่ เราจึงมีข้อเสนอจุดนี้ออกมาเพื่อวางแนวทางให้รัฐบาลต่อไป เราจึงมีข้อเสนอที่ว่า ต้องมีการสร้างหน่วยดูแลฝูงชน เช่น ตำรวจที่ได้รับการฝึกเป็นอย่างดี ซึ่งน่ายินดีที่รัฐบาลชุดนี้ได้ตอบสนองเรื่องนี้ และมีการจัดตั้งหน่วยตำรวจฝึกดูแลฝูงชน

เรายังพบว่า การชุมนุมของ นปช.ไม่อยู่ในกรอบของการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพราะว่า มีความรุนแรง หรือมีการยุยงให้ใช้ความรุนแรงโดยผู้นำในการชุมนุม และก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง จึงนำมาสู่ข้อเสนอของเราว่า ผู้นำในการชุมนุม ไม่ว่าใครจะจัดขึ้น ต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่คุณจัดชุมนุมแล้ว คุณห้ามเจ้าหน้าที่เข้า ทำให้พื้นที่การชุมนุมกลายเป็นเขตปลอดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้บังคับกฎหมายในเขตพื้นที่การชุมนุมได้ ผู้ชุมนุมและผู้นำการชุมนุมหลายคนมีหมายจับ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเข้าไปจับกุมได้

บางคนบอกว่า ข้อเสนอของเราเป็นข้อเสนอปกติ ก็อาจจะใช่ แต่สำหรับ นปช.อาจไม่ใช่ข้อเสนอที่เป็นปกติก็ได้ เพราะ นปช.ยืนยันมาตลอดว่า การชุมนุมของตัวเองเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ  แต่จากการตรวจสอบของเรามันต่างจากที่เขายืนยัน และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่า ผู้นำ นปช.บางส่วนไม่พอใจ เพราะสิ่งที่เราเสนอนั้น มันตรงข้ามกับสิ่งที่เขาโฆษณามาตลอด รวมทั้งเรื่องคนชุดดำด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติเมื่อมีการเสนอความจริงที่แตกต่างไปจากที่เขาพูด

@ แกนนำ นปช.ไม่เห็นด้วยกับ รายงาน คอป.ระบุว่า คอป.มีธง และมีอคติ

เฉพาะบางคน แค่คู่ผัวเมียคู่หนึ่ง แต่แทนที่เขาจะพูดมาว่า ข้อมูลเราไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอย่างไร กลับมาบอกว่า คอป.รับคำสั่งใครมาหรือไม่ ผมบอกเลยว่า ผมกับเหวง ก็เคยอยู่พรรคคอมมิวนิสต์มาด้วยกัน แต่ผมไม่เคยเปลี่ยนไปอยู่พรรคนายทุน  ผมไม่เคยเป็นเครื่องมือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

@ เสียงตอบรับเป็นไงบ้าง มีแกนนำเสื้อแดงโทรมาบ้างไหม

ของผมยังดีนะ  ผมไม่เคยถูกคุกคามหรือถูกข่มขู่ แต่ที่ผ่านมาก็มีโทรไปด่าที่ออฟฟิศ คอป. 1-2 ราย

เรื่องชายชุดดำ นปช.พยายามโต้แย้งว่า ถ้ามีก็อยู่ฝ่ายทหาร หรือถ้ามีจริง ทำไมรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ดำเนินการจับกุม

ถ้าอ่านรายงาน คอป.โดยละเอียดจะเห็นชัดว่า เราก็มีพยานหลักฐานชัดเจนเป็นรูปถ่าย และยังมีการปรากฏตัวของกลุ่มนี้ในหลายๆ ที่  ถ้าบอกว่า เป็นเรื่องของทหาร แต่สิ่งที่เรากำลังตรวจสอบคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน  เช่น ผู้ชุมนุมหรือประชาชนที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุม แต่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมกับรัฐ ยกตัวอย่างเช่น การที่ เสธ.แดงออกมา วิพากษ์วิจารณ์ผู้บังคับบัญชาที่เป็นผู้นำกองทัพ และปฏิบัติงานในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ หมายถึงอะไร หมายถึง เสธ.แดงเป็นตัวแทนของกองทัพ ที่แตกแยกกันหรือ อันนั้นก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลของ เสธ.แดง ไม่ใช่ในนามของกองทัพ ซึ่งในกลุ่มชายชุดดำนั้น อาจมีบางคนที่มีแบ๊คกราวน์เป็นทหารพราน

แต่การปฏิบัติการของชายชุดดำไม่ได้ปฏิบัติในฐานะ "รัฐ" หรือ หน่วยงานของรัฐ ถ้าจะบอกว่า เป็นแผนการณ์หรือนโยบายของกองทัพ ที่ส่งคนแบบนี้ออกมาเพื่อสร้างสถานการณ์  เราก็ไม่มีพยานหลักฐานที่จะโยงไปถึงขนาดนั้นได้ ซึ่งถ้าอีกฝ่ายมีหลักฐานว่า กองทัพเป็นผู้จัดตั้งคนชุดดำออกมาเพื่อปฏิบัติการบางอย่าง ก็ต้องแสดงออกมา แต่เราไม่พบ ไม่ว่าทางการข่าวหรือพยานหลักฐานต่างๆ มันก็เป็นเรื่องของบุคคล ทั้งเป็นบุคคลที่อยู่ในกองทัพบางคน หรือบุคคลที่อยู่นอกกองทัพรวมตัวกันปฏิบัติการโดยใช้อาวุธสงครามต่อต้านการปฏิบัติการของรัฐ ซึ่งในอนาคตเรื่องเหล่านี้ จะค่อยๆ พิสูจน์เอง แต่ที่แน่ๆ คือ มันมีกลุ่มบุคคลหนึ่งที่โจมตีทหารในพื้นที่ด้วยอาวุธสงคราม และคนกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากการ์ด นปช.บางส่วน เรามีข้อยืนยันแน่นอน

@ เสื้อแดงวิจารณ์ว่า รายงาน คอป.เป็นอนุญาตสั่งฆ่าประชาชน  

ผมเข้าใจ... เพราะสิ่งที่เราเสนอนั้นมันขัดแย้งกับสิ่งที่เขาโฆษณา และสิ่งที่เขาโฆษณานั้น เขาไม่ได้โฆษณาให้สังคมเชื่อเขานะ เขาโฆษณาให้คนของเขาเชื่อเขา  ดังนั้น เมื่อเราเสนอข้อเท็จจริงในลักษณะที่แตกต่างกัน บางคนก็อาจจะกลัวว่า คนในกลุ่มเขาอาจจะแตกแถวออกมา ดังนั้น เวลาเขาให้สัมภาษณ์สื่อ เขาไม่ได้โจมตีผมนะ แต่เขาพูดให้คนของเขาฟังเพื่อต้องการที่จะรักษาขบวนของเขาไว้

@ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ควรมีท่าทีหรือจุดยืนอย่างไรต่อรายงาน คอป.หลังจาก แกนนำรัฐบาลส่งสัญญาณว่าไม่ยอมรับรายงานฉบับนี้ ขณะที่เสื้อแดงฉีกรายงานทิ้ง และยื่นเรื่องให้รัฐบาลปรับปรุงรายงาน คอป.ใหม่        

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งได้แถลงนโยบายชัดเจนต่อรัฐสภา นอกจากนั้นยังได้แถลงในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติในหลายการประชุมด้วยว่า สนับสนุนการทำงานของ คอป. ดังนั้น ในแง่นี้รัฐบาลก็คงต้องทำตามนโยบายที่ได้แถลงไว้โดยนำข้อเสนอของ คอป.ไปปฏิบัติ ก็จะถือว่า เป็นการสนับสนุน คอป. เนื่องจาก คอป.มีรายงานที่หนา 300 หน้า แน่นอน นายกฯคงต้องใช้เวลาศึกษา ซึ่งก็มอบหมายให้ "คณะกรรมการติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของคอป." หรือ ปคอป.ที่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะนำข้อเสนอของ คอป. ไปปฏิบัติเป็นการเฉพาะ เท่าที่ทราบ ปคอป.ได้ประชุมแล้วมีมติว่า จะเอาข้อเสนอแนะของ คอป.ไปปฏิบัติ  ในเรื่องนี้ก็ต้องชมรัฐบาลว่า ข้อเสนอหลายข้อของ คอป.เขาก็เอาไปปฏิบัติแล้ว ไม่ว่าเรื่องการเยียวยา การควบคุมตัวจำเลยในคดีที่เกี่ยวกับการเมือง การย้ายที่คุมขัง กระบวนการสานเสวนา ที่รัฐบาลได้อนุมัติงบ 90 ล้านบาทเพื่อการนี้โดยให้กรมพัฒนาชุมชนดำเนินการ รวมถึง ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่เราเสนอให้ชะลอไปเพื่อให้เป็น พ.ร.บ.ปรองดองจริงๆ รวมทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การปรองดองของคนในชาติ 

นายกฯเองก็ประกาศหลังจาก คอป.เปิดเผยรายงานมาว่า อยากให้มีการปรองดองเกิดขึ้น ดังนั้น ผมก็มีความเชื่อว่า รัฐบาลคงจะนำข้อเสนอของ คอป. ไปปฏิบัติ และผมก็เชื่อว่า จะได้รับความร่วมมือจากฝ่ายค้านและประชาชนทั่วไปรวมทั้ง นปช.ด้วย  ผมเชื่อว่า จะมีคนเพียงจำนวนน้อยที่พยายามไม่สนใจรายงาน คอป.

ข้อเสนอที่ด่วนที่สุดที่เราอยากให้รัฐบาลดำเนินการ คือรัฐบาลต้องดูแลหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมโดยต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันและเที่ยงธรรม ผู้นำรัฐบาลต้องไม่แสดงท่าที ส่งสัญญาณ ที่ทำให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่ผ่านมาในรัฐบาลชุดก่อน คอป.ก็พยายามท้วงติงว่า ความยุติธรรมนั้นจะต้องมีให้กับฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลด้วย ก็คือ นปช. แต่ตอนนี้รัฐบาลที่ นปช.สนับสนุนขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องอย่าละเลยที่จะให้ความยุติธรรมกับอีกฝ่ายหนึ่งด้วย เช่น ปัญหาผู้เสียชีวิต บาดเจ็บกับประชาชนที่อยู่ตรงข้ามกับ นปช. ชาวบ้าน ร้านค้า ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม  แต่ว่าที่ผ่านมา ผู้นำรัฐบาลบางคนยังส่งสัญญาณที่ทำให้มองเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมชั้นต้นถูกแทรกแซง และถูกใช้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มเท่านั้นทำให้กลุ่มอื่นสงสัย ซึ่งรัฐบาลจะต้องเรียกความเชื่อมั่นในส่วนนี้คืนมา เพราะรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลของทุกคน ไม่ใช่เป็นรัฐบาลของนปช.  

 ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมนั้น คอป.เน้นมาก เช่น ฝ่ายการเมืองต้องไม่ออกมาพูดถึงการชี้นำในคดีให้กับเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นดีเอสไอ หรือ สตช. ต้องให้เขาทำงานเป็นอิสระและเป็นมืออาชีพจริงๆ กล่าวคือ ในขณะที่ยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ ก็ต้องไม่ออกมาพูดในทำนองที่ทำให้ผู้ที่กำลังแสวงหาความยุติธรรมนั้นเสียกำลังใจ  แต่ผมก็เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังหาตัวผู้ที่กระทำความผิดอยู่ เช่น คนที่ยิง M79 ยิง RPG ใส่จนทหารตายหลายคน และทำให้กลุ่มคนรักสีลมเสียชีวิต แต่ว่าในส่วนนี้ก็คงได้รับความร่วมมือจากผู้ชุมนุมด้วย

@ องค์กรต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับ รายงานคอป.แค่ไหน

ในวงการทูตในประเทศไทยเขาสนใจและให้การสนับสนุนข้อเสนอของ คอป.และเขาก็เห็นว่า สิ่งที่ คอป.ตีแผ่ออกไปนั้นเรียกว่า เป็นประวัติศาสตร์ของสังคมไทยก็ได้ คือได้ตีแผ่ข้อเท็จจริงออกไปต่อสังคมซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีใครตีแผ่ข้อเท็จจริงที่เกิดจากปัญหาความขัดแย้งมาเลย และเขายังให้ความสำคัญกับข้อเสนอแนะของเรามาก เพราะเราต้องการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นในอนาคต เป็นการเสนอแนะเพื่อสร้างพื้นฐานของประชาธิปไตยให้เข้มแข็งขึ้น  ข้าหลวงใหญ่ของสหประชาชาติก็ออกมาสนับสนุนชัดเจน ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็รับปากแล้วว่า จะเอาข้อเสนอของ คอป.ไปปฏิบัติ รัฐบาลก็ต้องรักษาคำมั่นสัญญานี้ต่อสังคมนานาชาติ

@ คุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) ไม่วิจารณ์และไม่ยอมรับคอป.

อย่างที่บอก คอป.ไม่ได้ทำงานคนเดียว และประธาน คอป.ก็ไม่ใช่คนกำหนดหรือชี้ขาดอะไรได้ แม้แต่เรื่องที่บอกว่า คุณทักษิณยังไม่ควรกลับมาเมืองไทย อันนี้ก็ความเห็นของประธาน คอป. ไม่ใช่ของ คอป. ส่วนเรื่องที่คุณทักษิณกับ อ.คณิต จะมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในอดีตหรือในปัจจุบัน อันนี้ก็คงไม่สามารถพูดได้

@ อยากเรียกร้องอะไรต่อคุณทักษิณ

ผมคิดว่ากระบวนการปรองดองมันต้อง inclusive คือ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เห็นขัดแย้งกัน ได้มีพื้นที่ในกระบวนการนี้  ต้องไม่ใช่เป็นกระบวนการ exclusive คือกีดกันคนบางคนออกไป อันนี้ต้องคิดกันเองเพราะหน้าที่ของ คอป.หมดแล้ว แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ฝ่ายค้าน ภาคประชาสังคม ต้องไปพูดคุยกัน

@ จากการค้นหาความจริงมา 2 ปี ส่วนตัวได้อะไรจากประสบการณ์ครั้งนี้

ได้ความรู้ใหม่ ประสบการณ์ในการตรวจสอบ ยิ่งทำเราได้เรียนรู้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า เราเริ่มทำจากการที่เราไม่มีบทเรียนประสบการณ์เลย  เราอาศัยนักวิชาการของไทยส่วนหนึ่ง และการสนับสนุนของยูเอ็นดีพี ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ ไอทีซีเจ  สถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ ในการเรียนรู้ประสบการณ์จากที่อื่น

ปีแรกเราจึงคลำทาง ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ อีกอัน เราไม่มีอำนาจ เราก็เลยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า เราพยายามทำงานอย่างเป็นทางการ  ฉะนั้น ช่วงแรกๆ ก็เป็นการพบปะพูดคุยกับคนเยอะแยะไปหมด  ส่วนการตรวจสอบ ค้นหาความจริง ก็เริ่มปีหลัง

ช่วงแรกความร่วมมือจากหลายฝ่ายน้อย รัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ก็บอกว่าให้ความร่วมมือ แต่เอาเข้าจริง เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ ทหารเราได้รับความร่วมมือบ้าง ส่วนตำรวจเราไม่ได้รับความร่วมมือเลย ก็มาในช่วงหลังนี้ที่ได้รับความร่วมมือมากขึ้น  แต่ก็ยังไม่เต็มที่ นปช.ก็ให้ความร่วมมือ แต่ผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์จริงๆ ก็ไม่ค่อยมีโอกาสที่จะได้มาพบกับ คอป. หรือในหลายกรณี เราก็ไม่มีอิสระที่จะสัมภาษณ์โดยตรง เพราะมีแกนนำในบางระดับ ก็มานั่งอยู่ด้วย 

ช่วงหลังเราได้สัมภาษณ์เหยื่อ ครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้รับบาดเจ็บมากขึ้น แต่ก็เป็นข้อมูลที่ไม่เต็มที่ เพราะเราตรวจสอบค้นหาความจริง ในขณะที่การดำเนินคดีอาญาควบคู่กันไป  คนที่จะเป็นพยานหรือผู้เสียหาย หรือ ผู้ละเมิดคดีก็มีความระมัดระวังในการที่จะให้ข้อเท็จจริงกับเรา ดังนั้น เราจึงไม่สามารถพึ่งข้อเท็จจริงจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ ก็ต้องเอาหลายส่วนมาประกอบกัน จนกระทั่งเอาผู้เชี่ยวชาญไปดูสถานที่เอง

นอกจากนี้ พยานหลักฐานชิ้นสำคัญถูกทำลายไปเยอะ ด้วยเหตุต่างๆ เช่น หลักฐานจำนวนมาก ผู้ชุมนุมเก็บไปเพราะคิดว่า นี่แหละจะใช้เป็นหลักฐานเอาตัวผู้ฆ่ามาดำเนินคดี เช่น ปลอกกระสุนในพื้นที่ แต่หารู้ไม่ว่า เก็บไปมันใช้ไม่ได้ในทางพยานหลักฐาน กระนั้น รายงานหลายอย่างเราได้มาและเราเองก็ตรวจสอบได้เป็นประโยชน์มาก เช่น ทิศทางของกระสุนที่ยิงมาจากทิศทางไหน จากทหาร หรือมีทิศทางที่สวนกันไหมกับทหาร แต่ก็น่าเสียดายที่บางพื้นที่ เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์เก็บข้อมูล จะเรียกว่าเป็นข้อมูลด้านเดียวก็ได้ในบางรายงาน เช่น แถวบ่อนไก่ มีการตรวจทิศทางกระสุนที่มาจากทหารเท่านั้น แต่ไม่ตรวจว่า มีทิศทางกระสุนที่มาจากทิศทางตรงข้ามหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานให้เหตุผลว่า เพราะพนักงานสอบสวนบอกให้เก็บในส่วนนี้  มันก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการอย่างเที่ยงธรรมไหม

สิ่งที่เราได้คือ ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตัวเองทั้งนั้น เช่น ทำไมผู้ชุมนุมบางกลุ่มจึงมีความรู้สึกว่าคนชุดดำเป็นคนที่มาคุ้มครอง ปกป้องเขา บางคนถึงกับบอกว่า ถ้าไม่มีคนชุดดำมาช่วย คนชุดดำจะตายมากว่านี้ เพราะว่าเขามีความเชื่อ จากการโฆษณาหรือการพูดกรอกหูของคนบางกลุ่มจากสื่อต่างๆ เช่น วิทยุชุมชน แกนนำบางคนของผู้ชุมนุม ทำให้เขาเชื่อว่า ทหารที่ออกมานั้น จะมาปราบฆ่าเขา รวมทั้งการที่ทหารเอารถหุ้มเกราะ มีอาวุธสงครามออกมา ก็ยิ่งทำให้เขาเชื่ออย่างนั้นมากยิ่งขึ้น อันนี้เราก็ต้องเสนอออกไปว่า การที่เจ้าหน้าที่มาดูแลการชุมนุมจะต้องทำให้ผู้ชุมนุมเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่เป็นมิตร ไม่ใช่มาปราบ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องไม่ใช้ทหาร เพราะทหารเป็นนักสู้ และต้องไม่นำอาวุธสงครามออกมา

สำหรับเจ้าหน้าที่ก็เหมือนกัน ทำไมเขาถึงต้องยิงไปในทิศทางนั้น เพราะความเชื่อและประสบการณ์เขา หรือการข่าวที่เจ้าหน้าที่ได้รับมาว่า จะมีเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่ถูกยิงตายไปหลายคนในวันที่ 10 เม.ย.2553 รวมทั้งถูกยิงด้วย M79 อีกไม่ว่าจะที่แยกศาลาแดงหรือบ่อนไก่หรือถนนราชปรารภ มันก็ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจได้ว่า เขากำลังตกเป็นเป้าของการโจมตี

@ ถ้ายังมีเวลาในการค้นหาความจริงอีก ในใจลึกๆแล้วหรืออยากรู้ความจริงหรือ เคลียร์จุดไหนเป็นพิเศษ

จริงๆ มีความจริงอีกหลายอย่าง ที่เราไม่ได้เปิดเผยนะ  ต้องยอมรับ เพราะความจริงบางอย่างถ้าเปิดเผยไปแล้ว ก็อาจจะไม่เป็นผลดี หรือ อาจเป็นลักษณะซ้ำเติมต่อคนบางกลุ่มด้วย หรือเป็นความจริงที่เราไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่เป็นเรื่องที่คุยมากับบางคนที่เขาอาจจะพูดในเชิงวิเคราะห์ หรือ เป็นลักษณะข่าวกรอง เราก็ไม่ได้เปิดเผยหมด

.......................................................

ที่มา:สำนักข่าวอิศรา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ซีรีส์จำนำข้าว (2) พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : จำนำดีกว่าประกันรายได้ รอพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล

Posted: 11 Oct 2012 04:50 AM PDT

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล เชิญ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เขาอธิบายเรื่องนี้อย่างเป็นระบบและง่ายต่อการทำความเข้าใจ มีประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ และโครงการรับจำนำในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย  ซึ่งอาจเป็นมุมมองที่แตกต่างไปจากนักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป หรือภาคประชาสังคม ที่เห็นกันว่าหากมีสองตัวเลือกโครงการประกันรายได้น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

ประชาไทจึงสรุปความในช่วงอภิปรายนี้โดยแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ เพื่อสะดวกต่อการอ่าน พร้อมกับตั้งคำถามเพิ่มเติมในตอนท้ายเกี่ยวกับกลไกตลาด และแนวทางในระยะยาว ซึ่งพิชิต สรุปไว้ว่า หากจะถามว่าเห็นด้วย 100% ไหม ก็คงไม่ใช่เช่นนั้น แต่หากมีตัวเลือกในเชิงนโยบายเพียงเท่านี้ เขาก็ไม่คัดค้านโครงการรับจำนำเพราะผลประโยชน์ที่ตรงและทั่วถึงกับชาวนามากกว่า พร้อมร่วมลุ้นรอดูฝีมือการบริหารสต๊อกข้าวของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าถึงที่สุดก็เชื่อว่านโยบายนี้น่าจะเป็นนโยบายระยะสั้นเท่านั้น 

อะไรคือเหตุผลของทั้งหมดที่กล่าวมา คำตอบอยู่ในเนื้อหาด้านล่าง

 

000000000

 

ปูพื้นภาพรวม เกษตรกรรมไทยอยู่ตรงไหน

ภาพรวม ในประเทศไทย รายได้ประชาชาติ หรือจีดีพี นั้น  จะเห็นว่าภาคเกษตรกรรมสำคัญทั้งในแง่รายได้และจำนวนคน  ในภาคเกษตรมีรายได้ 10-12% ของรายได้ประชาชาติต่อปี นั่นคือ คนไทยผลิตสิ่งของมาขาย 100 บาทเป็นสินค้าเกษตร 10 กว่าบาท แต่ใน 10 กว่าบาทนั้นมีคนไทยแบ่งรายได้นั้นหรือใช้ชีวิตในภาคเกษตรประมาณ 40%  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคนในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจะมีรายได้โดยเฉลี่ยสูงก ว่าบริษัทใหญ่ๆ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ลองไปดูรายชื่อผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะนามสกุล บริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์จะพบว่าเกือบทั้งหมดอยู่ในกำมือของกลุ่มเศรษฐี เพียงไม่กี่ตระกูล ในธุรกิจเกือบทุกประเภทมีประมาณ 20 กว่านามสกุล และส่วนที่ใหญ่ที่สุดและมีเกือบในทุกที่คือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยผ่านบริษัทถือหุ้นเช่น ทุนลดาวัลย์ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้เปิดเผยเป็นการทั่วไป

จึงกล่าวได้ว่า ระบบเศรษฐกิจของไทยผูกขาดอย่างมาก อยู่ในกลุ่มตระกูลเก่าๆ ไม่กี่ตระกูล เรียกว่า ทุนเก่า หากินด้วยกันมาเกือบร่วมร้อยปี

ในภาคเกษตร มีสินค้าเกษตรหลายตัว แต่ตัวสำคัญจริงๆ คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน แต่ในบรรดาพืชเหล่านี้ กลุ่มเกษตรกรที่เป็นกลุ่มใหญ่และมีความสำคัญในแง่เม็ดเงินคือ ข้าว กับยางพารา ข้าวอยู่ในภาคกลาง เหนือ อีสาน ส่วนยางพารา หลักๆ อยู่ภาคใต้ ในบรรดาสินค้าเหล่านี้ จะมีกลุ่มทุนเกษตรเข้ามากินในลักษณะเป็นพ่อค้าคนกลางเกือบทุกตัว  และมักดำเนินธุรกิจส่งออกด้วย


ตลาดข้าวผูกขาดมายาวนาน ไม่มีการแข่งขันจริง

ในตลาดข้าว องค์กรที่มีความสำคัญ กลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญที่สุดคือ สมาคมผู้ส่งออก รวบรวมผู้ส่งออกข้าวแทบทั้งประเทศอยู่ด้วยกัน ซึ่งนับเป็นรูออกของข้าวไทย ในกลุ่มพ่อค้าส่งออกข้าวของไทย ถ้าดูเฉพาะจำนวนจะเห็นว่ามีเป็นร้อยบริษัท ดูเหมือนกระจายดี  นี่เป็นเหตุให้นักวิชาการบางค่ายออกมาด่าเรื่องนี้เป็นประจำ เพราะเมื่อเห็นเป็นร้อยบริษัทก็เชื่อว่าแข่งขันกัน ไม่มีการผูกขาด มีรายเล็กรายน้อยมาแย่งซื้อข้าวจากชาวนา และโรงสีไปส่งออก ดังนั้น จึงเป็นราคาตามกลไกตลาดแข่งขันเสรีที่เป็นธรรมแล้ว

แต่ความเป็นจริง ลองไปดูโควตาการส่งออกที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะเห็นว่าพ่อค้ารายใหญ่เป็นล้านตันขึ้นไปต่อปี มีไม่เกิน 10 บริษัท ซึ่งเป็นพวกตระกูลเก่า อยากรู้ว่าใคร เข้าไปในเว็บไซต์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ดูรายชื่อกรรมการ ดูรายชื่อบริษัท แล้วเข้าไปดูในเว็บไซต์ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ดูรายชื่อบริษัทท็อปเท็น จะเห็นบางอ้อ ตาสว่างทันที

พ่อค้าส่งออกข้าวรายใหญ่พวกนี้ คือ ทุนเจ๊กที่หากินกับทุนโบราณมาหลายชั่วคนนั่นเอง ตลาดส่งออกข้าวไทยจึงบอกตรงนี้เลยว่า เป็นทุนผูกขาด ไม่กี่บริษัทที่คุมการส่งออกข้าวของไทยไว้ และจึงเป็นผู้กำหนดราคาข้าวในประเทศไทย เพราะส่งออกเป็นราคาในตลาดโลก ส่งได้เท่าไรหักต้นทุนลงมาเรื่อยๆ  ข้าวสารหนึ่งตันราคาส่งออกประมาณสามหมื่น ลงมาถึงชาวนาก่อนจะมีโครงการรับจำนำข้าว เมื่อก่อนประกันรายได้บ้าง ประกันราคาบ้าง ประกันราคาสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ชาวนามีรายได้ตันละ 6-7 พันบาท ขณะที่พ่อค้าส่งออกได้ 30,000 บาท ถามว่าใครอ้วน


โครงการประกันรายได้ งบรัฐอุ้มชาวนา พ่อค้าลอยลำกดราคาต่อ

โครงการประกันรายได้ มีผลข้างเคียง คือ หนึ่ง เอื้อประโยชน์ให้พ่อค้าส่งออกโดยตรง สอง ทำให้ข้าวมีราคาต่ำ เพราะโครงการประกันรายได้ของอภิสิทธิ์ มีวิธีการคือ ชาวนาขายให้พ่อค้าตามราคาตลาด 6,000-9,000 บาทต่อตัน ไม่เคยเกิน 10,000 บาทต่อตันสำหรับข้าวเปลือก ชาวนาขายไป รัฐบาลจะตั้งราคาสูงไว้ เช่น สมัยอภิสิทธิ์ตั้งที่ 10,000 บาทต่อตัน ถ้าชาวนาขายให้พ่อค้า 8,000 บาท รัฐบาลจ่ายให้อีก 2 ,000 บาท ส่งเช็คถึงบ้านเลย กำหนดไว้เลยว่าครอบครัวหนึ่งไม่เกิน 15 หรือ 20 ไร่ ไร่หนึ่งไม่เกิน 400 กิโลกรัม สามารถคำนวณได้เลยว่าส่วนต่างต่างกันเท่าไร จับคูณเข้าไป ไม่ซับซ้อนอะไร

ฉะนั้น วิธีการอย่างนี้ พ่อค้าไม่เสียประโยชน์เลย  ยังคงรับซื้อข้าวจากชาวนาแบบกดราคาได้เหมือนเดิม ชาวนาก็ยังต้องขายข้าวให้พ่อค้าเพราะไม่มีรัฐบาลมาซื้อแข่ง และข้าวก็อยู่ในมือของพ่อค้า  ดังนั้นมันจึงให้ประโยชน์กับพ่อค้าโดยตรง

อีกประการหนึ่ง การที่รัฐบาลตั้งราคาสูงไว้ที่ 10,000 บาทต่อตัน แปลว่าอะไร เป็นการส่งสัญญาณให้พ่อค้ารู้ว่า ราคาตลาดต้องไม่เกิน 10,000 บาทต่อตัน ชาตินี้ทั้งชาติ ขายข้าวไม่มีทางได้เกินนี้ เรื่องอะไรพ่อค้าจะโง่ไปซื้อเกินจากนี้ เพราะรู้ว่าชาวนาไม่มีทางเลือก เอามือซุกหีบ มันเลยกลายเป็นเพดานขั้นสูง  ผลในทางปฏิบัติคือ โครงการประกันรายได้ของชาวนา คือ โครงการห้ามชาวนารวย

ทีนี้ที่บอกว่าชาวนาขายได้เท่าไร รัฐบาลเติมส่วนต่างให้ ปัญหาเกิดอีกเพราะรัฐบาลไม่รู้ว่าจริงๆ ชาวนาขายได้เท่าไร ตรวจสอบไม่ได้ รัฐบาลก็ใช้วิธีการง่ายๆ ตั้ง "ราคาอ้างอิง" โดยสมมติว่า ชาวนาทุกคนในพื้นที่นั้นขายได้เท่านี้ ส่วนจะขายได้เท่าไหร่ไม่รู้ ไอ้ราคาสมมติเจ้ากรรม มันเสือกสูงว่าราคาที่ชาวนาขายได้จริง มันจึงชดเชยได้น้อย เช่น รัฐบาลตั้งราคาไว้ 10,000 ชาวนาขายได้จริง 6,000 แต่ราคาอ้างอิงดันเป็น 8,000  รัฐบาลก็จ่ายให้แค่ 2,000  ระบบนี้ชาวนาไม่เคยได้ตามราคาขั้นสูงที่รัฐบาลตั้งไว้เลย เพราะราคาอ้างอิงที่สมมติก็ตั้งโดยข้าราชการคุยกับพ่อค้า มีคนอ้างว่าเป็นตัวแทนชาวนาไปนั่งอยู่บ้างเหมือนกัน

ระบบนี้ถ้าไปถามชาวนาที่อยู่ในโครงการ ก็จะพูดเหมือนกันหมดว่า ไม่เคยได้เต็มตามที่รัฐบาลบอกเลย เพราะเหตุนี้ก่อนเลือกตั้ง ต้นปี 54 เราเห็นชาวนาในภาคกลางออกมาปิดถนนทุกจังหวัด ออกมาประท้วงเรื่องประกันรายได้ว่ามันไม่เวิร์ค แล้วเรียกร้องให้รัฐจำนำข้าว เพราะชาวนาเคยได้มาตั้งแต่สมัยทักษิณ 1 มันไม่ได้เพิ่งมาทำวันนี้ แต่ไม่เป็นข่าว มันไม่เยอะ  ชาวนาเขาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมาตลอด ถึงสมัยสมัคร สุนทรเวช สมัยสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ยังทำอยู่ เพิ่งมาในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่บอกไม่ทำ ให้เป็นระบบประกันรายได้ ในเวลานั้นกำลังจะเลือกตั้ง ก็กลัวจะแพ้ยิ่งลักษณ์ ตอนนั้นสมัยปลายรัฐบาลอภิสิทธิ์ จึง "ทำทั้งสองอย่าง"  คือ ประกันรายได้ด้วย รับจำนำด้วย  ลืมกันหมดแล้ว พวกสื่อก็ลืมหมดแล้ว

แล้วชาวนาจริงๆ ได้ประโยชน์หรือเปล่า คำตอบคือ จำนวนมากไม่ได้ประโยชน์ จากโครงการประกันรายได้ เพราะเขาใช้วิธีการลงทะเบียนโดยยึดถือจากโฉนดที่ดิน ที่ดินตรงนี้มีโฉนดและทำนาจึงจะได้ ดังนั้น คนที่จะได้ประโยชน์คือเจ้าของที่ดินที่ให้เขาเช่าทำนา ส่วนนี้ก็จะได้ด้วยทั้งที่ไม่ได้ลงมือทำนาเองจริงๆ  พอสิ้นฤดูกาลมีเช็คส่งถึงบ้าน ส่วนต่างกี่พันบาทเขาคำนวณให้เสร็จ ทั้งที่คนเช่าปลูก ได้สองเด้ง

ที่แย่ยิ่งกว่านั้น ในหลายพื้นที่ ส.ส.มาเล่าให้ฟัง มีโฉนดมาลงทะเบียน ได้ชดเชยด้วย แต่ไม่ได้ทำนา ที่ดินเอาไปทำประโยชน์อื่น สมัยนั้นเขาเลยมีคำพูดกันเสมอๆ ว่า ขี่เบนซ์ ขี่วอลโว มารับเช็ค


ประกันรายได้ไม่ทั่วถึงจริง

ประเด็นต่อมา โครงการประกันรายได้เป็นโครงการที่รัฐบาลลงมือทำน้อยมาก ราคาอ้างอิงก็กำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญมานั่งทำกัน แล้วเอาเข้าครม. ยกมือเห็นด้วย สิ้นปีก็ส่งเช็ค ไม่ต้องลงไปดู เรียกว่า แจกเงินอย่างเดียว และไม่มีข้าวในมือแม้แต่เม็ดเดียว ถึงเวลาก็ตั้งงบประมาณมา สิ้นฤดูก็เซ็นเช็คไป จบ ไม่มีข้าวในมือเอาไปขาย ไม่มีทางตรวจสอบได้ว่าเงินที่ออกไปใครได้บ้าง ตัวจริงหรือไม่ พ่อค้าก็ยังซื้อได้ในราคาตามใจชอบ

พวกนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาเรียกร้องให้กลับไปใช้ระบบประกันรายได้ ขอบอกเลยว่า ไม่รู้เรื่อง หรือไม่ก็เพราะเป็นคนคิดโครงกานี้ให้พรรคประชาธิปัตย์ 


โครงการรับจำนำ ดีกว่าตรงไหนบ้าง

โครงการรับจำนำข้าว ต่างออกไป คือ รัฐบาลตั้งราคาจำนำไว้สูง โดยไม่จำกัดจำนวน ไม่ได้เข้าไปแย่งซื้อนะ ให้ชาวนามาจำนำโดยมีระยะไถ่ถอน 60 วัน หรือ 90 วันแล้วแต่สัญญา ถ้าราคาตลาดสูงกว่าที่รัฐบาลตั้งไว้ชาวนาสามารถไถ่คืนแล้วไปขายข้างนอกได้  แต่ในทางปฏิบัติ ปรากฏว่าราคาที่รัฐบาลเพื่อไทยตั้งไว้มันสูงมาก คือ 15,000 บาทต่อตัน  ขณะที่ราคาที่เปิดการซื้อขายกันในตลาดมัน 6,000 บาท 7,000 บาท 8,000 บาท ช่วงที่ข้าวขาดแคลนก็อาจขึ้นถึง 10,000 บาทต่อตัน  พอรัฐบาลตั้ง 15,000 บาทต่อตัน มันสูงกว่าในตลาดเยอะ ชาวนาก็เลยเอาข้าวไปจำนำกับรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่  ปีที่แล้วทั้งปี ข้าวเปลือกที่เข้าสู่โครงการรับจำนำข้าวประมาณ 17-19 ล้านตัน ทั้งที่ผลผลิตทั้งหมดประมาณ 30 กว่าล้านตัน  ที่เหลือบางส่วนชาวนาเก็บไว้กินเอง อีกส่วนก็ขายให้พ่อค้าอยู่

ถ้ามองจากมมุมชาวนา ชาวนามีทางเลือกสองทาง ทางหนึ่งเข้าโครงการจำนำของรัฐบาล ทางหนึ่งไม่เข้าโครงการ ขายให้พ่อค้ากับโรงสีเหมือนเดิม  ตามข้อมูล ชาวนามีทั้งหมดราว 3 ล้านครัวเรือน มีประชากรเกือบ 20 ล้านคน ซึ่งเข้าโครงการรับจำนำข้าวไม่ทั้งหมด เข้าประมาณ 2 ล้านครัวเรือน  ถามว่าชาวนาได้ประโยชน์หรือไม่ ทั้งชาวนาที่เข้าโครงการและไม่ได้เข้าโครงการ ชาวนาที่เข้าโครงการได้ประโยชน์ตรงๆ แน่นอน เพราะเอาข้าวไปให้รัฐบาลโดยตรง แล้วไปเก็บในคลังของรัฐบาล ไม่เก็บที่โรงสี เก็บที่โกดังรัฐบาล การที่รัฐบาลนี้เก็บที่คลังส่วนกลางเพื่ออุดช่องโหว่สมัยทักษิณ ที่รับจำนำข้าวไว้ที่โรงสี ซึ่งเกิดกรณีข้าวหาย สต๊อกลม เกิดการเอาข้าวคุณภาพต่ำมาแทนคุณภาพสูง หายเป็นแสนตัน ถูกด่าเยอะ รัฐบาลนี้เลยอุดจุดอ่อน เก็บที่คลังส่วนกลางของรัฐบาล ชาวนาที่เอาข้าวมาจำนำก็จะได้ใบประทวน แล้วเอาใบประทวนไปยื่นที่ ธกส. ดูแล้วก็โอนเงินเข้าบัญชีชาวนาโดยตรง ตามที่คำนวณในใบประทาน อันที่จริงชาวนาก็ไม่ได้เต็มหมด เพราะต้องหักลดค่าความชื้น ข้าวเกี่ยวใหม่ๆ ความชื้นมันสูง แต่นั่นก็เป็นอัตราที่รัฐบาลกำหนด ราคาประกาศจริงๆ ก็มีลดหลั่นมาว่าความชื้นเท่าไรควรจะได้เท่าไร

ลักษณะวิธีการอย่างนี้ ชาวนาต้องมีข้าวจริงมาให้มาให้รัฐบาล แล้วรัฐบาลโอนเงินเข้าบัญชีชาวนาโดยตรง พ่อค้ากับโรงสีไม่เกี่ยวเลย ฉะนั้น ชาวนาได้ประโยชน์โดยตรงหรือไม่ ตอบตรงนี้ว่าได้โดยตรงแน่ๆ ขอให้มีข้าวเท่านั้น เช่าเขาทำก็ได้ ชาวนาที่เช่าที่ดินทำนาก็ได้ด้วย  ขอให้เป็นชาวนาตัวจริง มีที่ดิน ไม่มีที่ดินก็ได้ประโยชน์


ชาวนาที่ได้ประโยชน์ มีแต่ชาวนาที่เข้าโครงกาหรือชาวนารวย จริงหรือ ?

ในส่วนของชาวนาที่ไม่เข้าร่วมโครงการ พรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการหลายคนโจมตีว่า ชาวนาที่เข้าโครงการมีแต่ชาวนารวย ชาวนายากจนที่ไม่มีที่ดิน หรือมีที่ดินน้อยไม่ได้ประโยชน์ จริงหรือเปล่า คำตอบคือไม่จริง ชาวนาที่ไม่ได้เข้าโครงการก็ได้ประโยชน์ทางอ้อม เพราะรัฐบาลรับจำนำ 17-18 ล้านตัน เหลือข้าวที่ซื้อขายกับเอกชนอีก 10 กว่าล้านตัน เขายังหาซื้อได้ ข้าวในตลาดเอกชนมันหายไปเยอะ พ่อค้าข้าวต้องแย่งซื้อข้าวที่จำนวนน้อยลง ทำให้ราคาข้าวเปลือกนอกโครงการก็แพงขึ้นไปด้วย ดังนั้น ชาวนาที่ไม่เข้าโครงการก็ได้ประโยชน์ด้วย แน่นอน อาจต่ำกว่าราคาจำนำอยู่บ้าง ข้อมูลมีอยู่ประมาณ 8,000-12,000 บาท ราคาโดยเฉลี่ยก็ยังถือว่าดีตามไปด้วย นี่คือสาเหตุว่าทำไมชาวนาไม่เข้าโครงการทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

แน่นอน โครงการนี้พ่อค้าเสียประโยชน์โดยตรง เพราะ หนึ่ง ต้องมาแข่งซื้อข้าวกับรัฐบาลในราคาที่สูงขึ้น สอง ข้าวมีในมือน้อยมาก ส่งออกไม่พอ ประเทศไทยส่งออกข้าวปีหนึ่งประมาณ 8-10 ล้านตันต่อปี ดังนั้น ทางออกสำหรับพ่อค้าคือ ต้องตั้งราคาสูงขึ้นไปอีกเพื่อดังข้าวจากชาวนา หรือไม่ก็ต้องไปประมูลซื้อจากรัฐบาล

คนจะเสียประโยชน์ค่อนข้างมากคือ พ่อค้าส่งออกโดยรวม โดยเฉพาะขั้นกลางและขั้นเล็ก เขาต้องซื้อในราคาที่สูงขึ้น ทั้งยังต้องแข่งกับพ่อค้ารายใหญ่ และรัฐบาลด้วย ฉะนั้น รายกลาง รายเล็ก จะมีปัญหา ส่วนรายใหญ่มีปัญหาบางส่วน เพราะซื้อในตลาดเปิดต้องซื้อในราคาแพงขึ้น ไม่มีข้าวจะส่งออก รายใหญ่ส่วนใหญ่มีสัญญาล็อตเป็นก้อนใหญ่ ต้องมาประมูลจากรัฐบาล ซึ่งมันก็มีปัญหาว่า รายใหญ่บางรายอาจจะได้ บางรายอาจจะไม่ได้ พ่อค้าที่ประมูลไม่ได้ก็เสียประโยชน์โดยตรงก็จะออกมาดิ้น ส่วนที่ประมูลได้ก็อาจไม่บ่นเท่าไรแม้ต้องประมูลในราคาสูงจากรัฐบาล

อีกฝั่งหนึ่งที่ไม่ได้เสียประโยชน์ และได้ประโยชน์ด้วยคือ โรงสี  แต่เดิม พ่อค้าก็ต้องมาจ้างโรงสีสีอยู่แล้ว แต่ ณ วันนี้ ก็มารับจ้างสีให้รัฐบาล ราคา 500 บาทต่อตัน ดังนั้น  โรงสีไม่ได้เสียประโยชน์ โรงสีจึงไม่ได้ออกมาคัดค้าน ต่อต้านเลยถ้าสังเกตดู คนที่คัดค้านหนักคือพวกพ่อค้าส่งออก และนักวิชาการที่ยืนข้างพ่อค้าส่งออก

โดยสรุป ชาวนาทั้งในและนอกโครงการ ได้ประโยชน์ โรงสีได้ประโยชน์ พ่อค้าส่งออกเสียประโยชน์มากบ้าง น้อยบ้าง  อีกส่วนหนึ่งที่ได้ประโยชน์ทางอ้อมไปบ้างคือ พวกเจ้าของที่ดิน ซึ่งมันเป็นผลทางกลไกอยู่แล้ว เมื่อราคาข้าวมันสูงขึ้น ก็จะมีความต้องการในการเช่าที่ดินทำนาเพิ่มขึ้น แต่ที่ดินมีจำกัด ค่าเช่าที่ดินเพิ่มขึ้นแน่นอน ประโยชน์ที่ชาวนาได้ไปส่วนหนึ่ง เจ้าของที่ดินก็ต้องมาแบ่งเค้กส่วนหนึ่งแน่นอน จะไปห้ามเขาก็ไม่ได้ เพราะถ้าไปห้ามชาวนาจะเป็นคนเสียประโยชน์เอง เพราะถ้าห้ามเขาก็จะไม่ให้เช่า หรือทำเองดีกว่า

ดังนั้น ที่โจมตีว่าชาวนาก็ต้องจ่ายค่าเช่าเพิ่มขึ้น อันนี้จริงบางส่วน ต้องยอมรับ  อีกอันที่ได้ประโยชน์ทางอ้อมคือพวกข่ายปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง ก็ได้ตามไปด้วยแน่นอน อันนี้ห้าไม่ได้ ผลประโยชน์จากโครงการจำนำข้าวมันจะกระจายไปหลายกลุ่ม ชาวนาเป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้มากที่สุด แต่ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ได้


โครงการแบบนี้ต้องขาดทุนอยู่แล้ว !

บอกคนถามเรื่องปัญหาโกดังเก็บ หรือไซโล ที่เคยมีปัญหามาก่อนหน้านี้  เรื่องคลังสินค้าที่จะสต๊อกข้าวมีจำนวนจำกัด ทำให้เราต้องคุยกันเรื่องจุดอ่อน ซึ่งรัฐบาลต้องใช้ฝีมือในการบริหาร ปัญหาใหญ่ที่สุดของโครงการับจำนำข้าวแบบนี้คือ ขาดทุน ขอเรียนให้ทราบว่า รัฐบาลรับจำนำ รับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงมาก  15,000  บาทต่อตันข้าวเปลือก 20,000 บาทต่อตันข้าวเปลือกหอมมะลิ ถือว่าสูงมาก ถ้าคำนวณเป็นข้าวสาร ราคาเกือบเท่าราคาส่งออกเลย ซึ่งถ้ารัฐบาลจะระบายข้าวออกไปไม่เก็บไว้จะต้องขายในราคาต่ำ ซึ่งก็สมเหตุสมผล ถ้ารัฐบาลรับจำนำข้าวจากชาวนาแล้วไปขายได้กำไร ก็ผิดแล้วแสดงว่าหาประโยชน์จากชาวนาน่ะสิ

ดังนั้น ขอเรียนว่า โครงการแบบนี้ รัฐบาลตั้งขาดทุนเพื่อช่วยชาวนา แต่ขาดทุนมากแค่ไหน เป็นภาระงบประมาณหรือไม่ ทำให้รัฐบาลเป็นหนี้เพิ่มหรือไม่ นี่ต่างหากที่เป็นประเด็น

โครงการแบบนี้จะเหมือนโครงการอื่นๆ อีกเยอะที่รัฐบาลทำเพื่อช่วยคนจน เช่น รถเมล์ รถไฟ ที่ขาดทุนรัฐบาลต้องอุ้มเป็นพันล้านทุกปี  เป็นการอุ้มคนจนในการเดินทาง ฉะนั้น โครงการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรทุกตัว รัฐบาลต้องขาดทุน แต่จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับโครงการ


ความเสี่ยงของโครงการจำนำข้าวที่จะเพิ่มการขาดทุน

โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนแน่ จาก 3 สาเหตุหลัก 1.ทุจริต 2.ข้าวบูดเน่าเสียหาย 3.ขายออกไปในราคาต่ำเพื่อระบายข้าวออก

1.ทุจริต มีตั้งแต่เอาข้าวเปลือกข้ามพรมแดนเข้ามา  แล้วมาสวมสิทธิเอาใบประทวนไปขึ้นเงิน , ชาวนาตัวปลอมมาลงทะเบียนปลอม, ข้าวในโกดังหายหรือถูกสลับด้วยข้าวคุณภาพต่ำกว่า ถามว่า ไอ้การทุจริตพวกนี้มันเยอะไหม ถ้าเยอะก็เสียหายเยอะ ถ้าน้อยก็เสียหายน้อย ณ วันนี้หลักฐานที่เป็นการสำรวจไม่มีข้อมูล ที่กล่าวหาว่าจะเสียหายเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ที่พูดล้วนเป็นการคาดเดาทั้งสิ้น  ที่มีหลักฐานชัดเจน คือ คดีที่ดีเอสไอทำเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว จะพบว่า มีการทุจริตประมาณ 16 จังหวัด ภาคกลางส่วนใหญ่ ภาคเหนือนิดหน่อย ภาคอีสานแทบจะไม่มีเลย เป็นคดีจังหวัดละ 2-3 คดี รวมแล้วไม่ถึงร้อยคดี นับเม็ดเงินไม่ถึงร้อยล้านบาท เทียบกับโครงการปีที่แล้ว 2.6 แสนล้านบาท มันถือว่าน้อยมาก ไม่ถึง 1% สมมติโกงกันจริง สิบเท่าของที่จับได้ ตัวเลขก็ยังเป็นร้อยล้าน ถ้าคิดร้อยเท่า ก็ตัวเลขเป็นพันล้าน ซึ่งเทียบกับขนาดโครงการก็ยังน้อยมาก

เรื่องนี้สรุปต่างกัน คุณจะเชื่อฝั่งไหนก็ตามสะดวก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ต้องเอาจริงกับเรื่องนี้ แต่การทำเป็นคดีพิเศษก็พอวางใจได้ว่าไม่ได้ขึ้นกับอำนาจในท้องถิ่น ดีเอสไอจัดการเองโดยตรง  ส่วนการทุจริตอื่นๆ เช่นเอาข้าวจากเขมรมาสวมสิทธิ์ ในทางปฏิบัติทำได้ยาก แล้วถ้าทำได้ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่พรมแดนร่วมมือด้วย มันไม่ง่าย ฉะนั้น มันพูดกันเกินเลยเรื่องนี้ ส่วนชาวนาสวมสิทธิ์ ถ้าจะทำได้ก็เจ้าหน้าที่ต้องเห็นด้วย ต้องจัดการ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่เยอะอีก ส่วนสต๊อกลม หรือสวมรอยคุณภาพต่ำ เชื่อว่าทำได้ยากขึ้น เพราะได้แก้จุดอ่อนในสมัยทักษิณ ที่เอาข้าวไปฝากไว้กับโรงสี ซึ่งก็เหมือนฝากปลาย่างไว้กับแมว ฉะนั้น จึงแก้จุดอ่อนด้วยการฝากในคลังของรัฐบาล แล้วก็มี surveyer เอกชนคอยเข้ามาตรวจตลอดเวลา ข้าวจะหายน้อยลงเยอะ ถ้าข้าวหาย ผู้บริหารคลังกลางติดคุกหมด

ดังนั้นสาเหตุเรื่องการโกงกัน  มันยังไม่หลักฐาน เป็นความเชื่อ ผมเชื่อว่าน้อย ฝั่งนั้นเชื่อว่าเยอะ

จุดอ่อนอีกประการที่อาจสำคัญขึ้นมาอีกคือ ข้าวที่เก็บไว้บูดเน่า เก็บไว้นานเกินไป เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ก่อนรัฐประหาร เอาข้าวเปลือกมาเก็บ 2-3 ปี เสียหายเป็นแสนตัน แต่เผอิญโครงการมันยังเล็ก ความเสียหายจึงไม่เยอะ แต่วันนี้โครงการมันใหญ่ขึ้นเยอะ ข้าว 17-19 ล้านตัน สมมติมันเน่าหมดเลย ไม่เหลือสักเม็ด มันก็เป็นจุณ  นักวิชาการที่บอกว่าจะเสียหาย 2 แสนกว่าล้านบาท แปลว่าเขาสมมติว่าข้าวทั้งหมดจะเน่าหมดทุกเม็ด ที่ผ่านมามันเกิดขึ้นน้อยมากเพราะเพิ่งผ่านมาแค่ปีเดียวด้วย

แต่อันนี้ก็เป็นข้อคิดว่า ถ้าเก็บไว้นานเกินไปความเสียหายจะเกิดขึ้น แต่รัฐบาลชุดนี้ก็มีการแก้จุดอ่อน สมัยทักษิณเก็บเป็นข้าวเปลือกข้ามปี รัฐบาลนี้รับมาปั๊บ ภายใน 5 วัน สีเป็นข้าวขาวเลย  สีออกมาได้ 10-12 ล้านตัน ก็น่าจะเก็บได้ง่ายกว่า ประหยัดพื้นที่การเก็บ  การเก็บเป็นข้าวเปลือกอาจเก็บได้นานกว่าหากมีเทคโนโลยีสูง ซึ่งเราไม่ถึง ที่สำคัญ ชาวนาส่วนใหญ่ที่นำมาจำนำก็เป็นข้าวสด ความชื้นยังสูง การเก็บเป็นข้าวเปลือกอาจเสียหายมาก แต่ข้าวสารก็ยังมีเวลาการเก็บจำกัด  รัฐบาลจึงต้องหมุนเวียนข้าวให้ได้ทัน ด้วยการระบายข้าวออก ถ้าได้ตามกำหนดเวลา ความเสียหายก็จะน้อย อันนี้ก็ต้องดูฝีมือของรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ว่าหมุนเวียนข้าวได้ดีแค่ไหน ถ้าระบายและหมุนเวียนข้าวได้เร็ว จะประหยัดไม่ต้องสร้างคลังเพิ่ม และข้าวก็เสียหายน้อยลง

ในเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา กรทะรวงพาณิชย์ก็ดำเนินการได้ดีพอสมควร ระบายได้ประมาณเกือบ 1 ล้านตันข้าวขาว จากทั้งหมดประมาณ 10-12 ล้านตัน โดยทำเป็นข้าวถุง เป็นสวัสดิการให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ จำนวนหนึ่ง เปิดประมูลให้พ่อค้าเอาไปทำเป็นข้าวถุงขายในประเทศ รวมกันแล้วประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งยังน้อย ไม่สามารถระบายข้าวในประเทศได้ เพราะเดี๋ยวข้าวราคาตก ต้องส่งออกอย่างเดียว

การส่งออกมี 2 วิธีคือ ให้พ่อค้ามาประมูลเป็นล็อตแล้วเอาไปส่งออก รัฐบาลไม่ต้องยุ่ง 2. ทำ G to G หรือรัฐบาลเอาข้าวไปแลก หรือขายให้รัฐบาลประเทศอื่นโดยตรง  ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ประมูลข้าวให้พ่อค้าส่งออกไม่มากนัก  ประมาณ 1 ล้านตัน เพราะอะไร เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ยอมปล่อยประมูลในราคาต่ำ เพราะถ้าปล่อยในราคาต่ำมาก รัฐบาลขาดทุนเยอะ พ่อค้าส่งออกได้กำไรจากการส่งออกเยอะ  ที่ผ่านมาจึงมีปัญหาเวลาพ่อค้าส่งออกมาประมูลในราคาต่ำมาก พาณิชย์ก็ไม่ให้ มันจึงเป็นการยืนจ้องหน้ากันระหว่างพ่อค้ากับรัฐบาลว่าใครยืนระยะได้อึดกว่า กัน

ที่ผ่านมา พ่อค้าส่งออกรวมหัวกันไม่ยอมซื้อในราคาสูง รวมหัวกันประมูลโดยราคาต่ำ รัฐบาลก็กลัวถูกด่า สมัยทักษิณถูกด่าเรื่องนี้ด้วยเพราะปล่อยประมูลในราคาต่ำมาก แล้วคนที่ได้ก็มีอยู่หนึ่งหรือสองราย ตระกูลที่เรารู้กันอยู่ ถูกด่ามาก รัฐบาลนี้ก็รู้ว่าถูกจ้อง รัฐบาลนี้ไม่ยอมปล่อยประมูลในราคาต่ำ ประมูลไปสองหรือสามรอบแล้วปล่อยน้อยมาก เราก็ไม่รู้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะอึดไปได้กี่น้ำ ทางออกอันหนึ่งที่เขาทำได้ดีพอสมควรคือ การทำจีทูจี ซึ่งระบุว่าทำไปได้ 7 ล้านตันข้าวสาร ทยอยส่งมอบแล้ว 4 ล้านตัน ก็หวังว่าจะเร่งระบายในทางนี้ให้ข้าวปีที่แล้วออกไปให้หมด เพื่อรอรับของปีที่กำลังจะเข้ามา


ตัวเลขการขาดทุน พอๆ กับโครงการประกันรายได้

ข้อมูลล่าสุดสำหรับการทำจีทูจี รัฐบาลขายได้ 600 ดอลล่าต่อตัน ขณะที่ราคาส่งออกอยู่ที่ 700-800 ดอลล่าต่อตัน ฉะนั้น คำนวณได้ง่ายๆ รัฐบาลจะขาดทุน 3,000-5,000 บาทต่อตัน มีข้าวสารต้องระบายออกประมาณ 10 ล้านตัน รวมแล้ว 50,000 ล้านบาท ไม่ได้เสียหาย 200,000 ล้านอย่างที่พยายามพูดกัน ผมคำนวณเองจากราคาที่ขายขาดทุนบวกที่เน่าเสีย บวกทุจริตอีกนิดหน่อย รวมแล้ว 60,000 ล้านบาท ผมอ่านรายงานจากสมาคมโรงสีไทย ตัวเลขอยู่ที่ 60,000-80,000 ล้านบาทเท่านั้น

ฉะนั้น เมื่อเทียบกับโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ โครงการนั้นใช้ไปในปีการผลิตหนึ่งปีใช้ไป 90,000 ล้านบาท เซ็นเช็คแจกให้คนขับรถเบนซ์ รถวอลโวจำนวนหนึ่ง จ่ายเฉยๆ ไม่มีข้าวสักเม็ด ใช้จ่ายไป 90,000 ล้าน แต่โครงการนี้อย่างแย่ไม่เกิน 80,000 ล้าน แล้วชาวนาได้ประโยชน์โดยตรง แล้วเงินที่หมุนเวียน ไม่ได้หายไปหมด ขาดทุน 80,000 ล้าน ก็ใส่เติมให้เต็ม เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ชาวนาได้ประโยชน์แน่นอน ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกินกว่าโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลประชาธิ ปัตย์แน่นอน และเชื่อว่าทุจริตคอรัปชั่นก็ไม่มากไปกว่าที่เคยเป็นมา และอาจจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ

คนที่ออกมาคัดค้าน ต้องถามว่า สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์แจกเงินให้ชาวนาทั้งตัวจริง ตัวปลอม 90,000 ล้านบาท พวกคุณไปมุดหัวอยู่ที่ไหน

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ปีการผลิตปีที่แล้ว ทั้งนาปีและนาปรัง ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้เงินไป  1.4 แสนล้านบาท จากครัวเรือนประมาณ 2 ล้านครัวเรือน  ชาวนาที่ไม่ได้ร่วมโครงการ ก็ดูได้ว่า ข้าวในตลาดเปิดยังสูงกว่าสมัยอภิสิทธิ์ 2,000-3,000 บาทต่อตัน ชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมก็ได้ประมาณ 7 หมื่นล้าน

รวมแล้วชาวนาทั้งหมดได้เงินจากโครงการนี้ 2.1 ล้านบาท เอา 3 ล้านครัวเรือนหารก็รู้ว่าได้เท่าไร ชาวนาเขาถึงมีความสุข

แต่เขาก็กำลังจะมีความทุกข์ จากนักวิชาการที่ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ หาว่ารัฐบาลละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 84(1) ที่บอกว่า ห้ามรัฐบาลทำธุรกิจแข่งกับเอกชน ยกเว้นกิจการเพื่อความมั่นคงของชาติและสาธารณูปโภค อันนี้โอเค เพราะหลักนี้เป็นหลักที่ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกทำกัน ถ้าไม่จำเป็นรัฐบาลไม่ควรแข่งกับเอกชน แต่กรณีโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลไม่ได้แข่งกับเอกชน เพราะไม่ได้เข้ามาผูกขาดการซื้อข้าว เป็นการรับจำนำ คือ รัฐบาลไม่ได้รวบซื้อข้าวหมด ข้าวครึ่งหนึ่งหรือ 2 ใน 3 เท่านั้นที่อยู่ในมือรัฐบาล และไม่ได้บังคับให้จำนำ ชาวนามีทางเลือก ไม่ได้สั่งห้ามให้พ่อค้าห้ามซื้อ

รัฐธรรมนูญมาตราเดียวกัน มันยังมี 84(7) บอกว่ารัฐบาลต้องมีมาตรการอุ้มราคา ไม่ให้ราคาสินค้าต่ำ ต้องให้เกษตรกรมีรายได้สูงเพื่อความอยู่รอด ตกลงจะให้ทำตามมาตราไหน

 

คำถามเพิ่มเติม
 

Q:ตามทฤษฎีเรื่องกลไกตลาด การเข้ามาแทรกแซงของรัฐขนานใหญ่เป็นเรื่องผิดหลักไม่ใช่หรือ และตัวอาจารย์เองก็เคยเห็นด้วยเรื่องกลไกตลาด การแข่งขันเสรีมาก่อนไม่ใช่หรือ เช่น กรณีของเอฟทีเอ

A: กลไกตลาด ต้องเข้าใจก่อนว่า ถ้าทุกฝ่ายแข่งขันกัน คนซื้อก็แข่ง คนขายก็แข่ง ประโยชน์มันจะกระจายกันออกไป ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผูกขาด แต่ถ้ากลไกตลาดเกิดการผูกขาดขึ้นมาแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ คนได้อำนาจผูกขาดจะได้ประโยชน์ ซึ่งกรณีอย่างนี้ ปกติมักจะให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง ฉะนั้น กลไกตลาดไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลแทรกแซงไม่ได้เลย แต่ถ้ากลไกตลาดทำงานได้ไม่ครบถ้วน เกิดการผูกขาด หรือสองฝั่งทำงานได้ไม่เท่ากัน รัฐบาลก็ต้องเข้ามาทำในบางจุดที่เข้ามาทำได้ ดังที่ผมพูดตอนแรกว่า นักวิชาการบางคนออกมาบอกว่าตลาดส่งออกข้าวเป็นตลาดแข่งขันผมจึงเถียงว่ามัน ไม่จริงไง ตลาดมันไม่ได้แข่งขันจริง จำนวนผู้ส่งออกอาจจะมีเป็นร้อยบริษัท แต่ผู้ส่งออกใหญ่เป็นตัวหลักมีไม่ถึงสิบราย และมีผลกระทบต่อราคาข้างล่างนี่อีก ในกรณีอย่างนี้ไม่เฉพาะข้าว แต่สินค้าเกษตรตัวอื่นด้วย ถ้าอำนาจต่อรองระหว่างเกษตรกรและพ่อค้ามันไม่เท่ากัน แล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์มากกว่า รัฐบาลก็ต้องเข้ามาช่วย

ในกรณีของข้าวเป็นระบบแบบนี้มาหลายสิบปี คนรวยคือพ่อค้ากับคนส่งออก ชาวนานี่จนมาตลอด ถ้ามันแข่งกันจริงทำไมชาวนาจน ถ้าพ่อค้าแข่งกันซื้อข้าวจากชาวนาจริง ทำไมราคามันต่ำ มันต้องมีปัญหาแล้ว เวลาชาวนาขายทำไมขายได้ถูก แต่พ่อค้าซื้อถูกกลับเอาไปขายแพงได้ แล้วส่วนต่างมันเยอะมาก แสดงว่าข้อต่อตรงพ่อค้าส่งออกมันมีอำนาจไม่เท่ากัน มันจึงไม่ใช่ตลาดแข่งขันจริงในกรณีของตลาดข้าว


ถ้าใช้ตรรกะนี้ อย่างนี้สินค้าเกษตรของไทย มิต้องให้รัฐอุดหนุนหมดเลยหรือ โมเดลอย่างนี้โอเคหรือ

ขึ้นอยู่กับวิธีการนะ ในแต่ละอันมันจะไม่เหมือนกัน อย่างกรณีของพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่จะใช้วิธีจำนำเป็นหลัก จำนำข้าว จำนำมันสำปะหลัง จำนำยาง เขาใช้วิธีการนี้เพราะมองว่าอยากจะให้เกษตรกรกับรัฐบาลมาดีลกันโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้า แนวโน้มของเพื่อไทยคือข้ามกลไกของพ่อค้าไป แต่ถ้าเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคอื่น จะใช้วิธีประกันราคา จะให้พ่อค้าและเกษตรกรยังซื้อขายกันอยู่ แล้วรัฐบาลเข้าไปอุดในส่วนที่เป็นส่วนต่าง ขึ้นอยู่กับปรัชญา แนวคิด และวิธีการ

ทีนี้ การรับจำนำ ที่ผมบอกมันก็มีข้อเสียอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น เม็ดเงินเยอะ โอกาสจะเสียหายจากการทุจริตก็เยอะตามไปด้วย มันเป็นหลักทางเศรษฐศาสตร์ที่รู้กันว่า โครงการใดที่ทำมาก การทุจริตมันก็จะมากเป็นเงาตามตัว ฉะนั้น โครงการอย่างนี้หัวใจสำคัญ อยู่ที่การควบคุม ดูแลเรื่องทุจริต ซึ่งรัฐบาลต้องเอาจริง ช่วงปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่จับได้และมีหลักฐานอาจจะยังน้อย แต่ถ้าโครงการนี้ทำไปหลายๆ ปี เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งอันนี้จะเป็นจุดอ่อนสำคัญ การมีคนมาทักท้วง ไม่ว่าจะเป็น มล.ณัฐกร ก็ดี อาจารย์ วีรพงษ์ รามางกูร ก็ดี ว่าจะต้องระวังการทุจริตเป็นคำเตือนที่ดี และรัฐบาลก็ควรฟัง เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ และที่ผมย้ำก็คือ การบริหารสต๊อกข้าว คุณจะต้องหมุนเวียนข้าวให้ทัน อย่าให้ข้าวมันค้างในโกดังนานจนเสียหาย และการระบายออก ประมูลออกก็ต้องทำในทางที่ขาดทุนน้อยที่สุด ถ้าทำแบบไทยรักไทย 1 ที่ประมูลยกล็อตไปทีเดียว มีรายเดียวได้และราคาต่ำมาก คุณก็ต้องถูกโจมตีแน่ว่าว่ามีนอกมีในกับคนที่มาประมูล

ผมคิดว่า การทำในสมัยนี้ทำได้ ผมก็สนับสนุนไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก บอกตรงๆ แต่ผมก็ไม่คัดค้าน ถ้ามีตัวเลือกให้เลือกระหว่างประกันรายได้ กับจำนำ ผมก็ยังเลือกการจำนำว่าน่าจะได้ผลกว่า แต่ถ้าจะมีวิธีการอื่นไหมที่ดีกว่านี้ ผมก็ว่าน่าจะลองแสวงหาดู มาตรการที่รัฐเข้ามาแทรกแซงแล้วใช้งบน้อยกว่านี้ โอกาสทุจริตน้อยกว่านี้ โอกาสเสียหายน้อยกว่านี้ ถ้ามีก็ควรจะทำ  ผมก็ยังนึกไม่ออกนะ ในต่างประเทศก็มีหลายโครงการที่พยายามทำ ซึ่งเราก็ต้องไปศึกษา เช่น ในอเมริกา เขาใช้วิธีให้เงินให้เกษตรกรงดการเพาะปลูก ผลผลิตออกมาน้อย ผลผลิตส่วนที่ออกมาก็มีราคาสูง ในยุโรปใช้วิธีการอุดหนุนเงินให้เกษตรกรเลย เกษตรกรขายแพงในต่างประเทศ และขายในประเทศราคาถูกลง


เราบอกว่า ระบบเดิมมันมีผู้เล่นใหญ่ในตลาดข้าวไม่กี่เจ้า เป็นการผูกขาด การรับจำนำของรัฐบาล มันยิ่งสร้างการผูกขาดเข้าไปใหญ่ไหม เพราะเอกชนที่จะประมูลได้ก็น้อยลงไปอีก

ก็ใช่ ถ้าพูดกันให้ชัด โครงการรับจำนำข้าวน่าจะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวมันไม่ได้แก้ปัญหาโครง สร้างตลาดข้าวอย่างแท้จริง ชาวนาจะได้ประโยชน์เฉพาะตอนที่มีโครงการ คนที่จะเดือดร้อน เสียผลประโยชน์มากน่าจะเป็นพ่อค้าส่งออกขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีปัญหามาประมูลแข่งกับรายใหญ่ได้ พวกนี้จะเผชิญกับปัญหาในการหาข้าว


มาตรการชั่วคราวนี่ชั่วคราวขนาดไหน กี่ปี

อย่างน้อย 2-3 ปี ถ้ามี AEC (เขตเศรษฐกิจอาเซียน) นี่ก็ไม่น่าจะทำได้แล้ว เพราะถ้ามี AEC สินค้าต้องไหลเวียนได้โดยเสรี นโยบายที่ทำให้ข้าวไทยราคาแพง จะกระทบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างน้อย ลาว เขมร น่าจะกระทบ มันจะไปดึงราคาข้าวเขาสูงขึ้นมาด้วย ทั้งที่รายได้ประชาชนเขาต่ำกว่าเรา


ไม่ได้กระทบในแง่ว่า ของเราราคาสูง แข่งกับเขาไม่ได้หรือ

ราคาสูง คนจะไปซื้อข้าวจากลาว เขมร พม่า เพราะมันถูกกว่า แล้วจะเกิดปัญหาข้าวข้ามพรมแดน อาจมีแนวโน้มไหลเข้ามามากขึ้น ถ้าโครงการนี้อยู่นาน แต่โครงการนี้เพิ่งเกิดขึ้นปีเดียว ข้าวสวมสิทธิ์ข้ามพรมแดนยังน้อยมาก แต่ถ้าทำนานๆ ก็จะเกิดได้ อย่างน้ำตาล ก็มีน้ำตาลจากมาเลเซีย ไหลเข้ามา


แต่ต่อให้เป็นมาตรการระยะสั้นก็ตาม ก็ยังมีคนกังวลเรื่องการแข่งขัน ทำให้เราแข่งขันไม่ได้

ผมว่า เม็ดเงินจากการส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวม ของไทยมันน้อยอยู่แล้ว สินค้าส่งออกไทย 100% เป็นสินค้าเกษตรแค่ 11-12% เอง ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรมันดูเยอะ แต่เม็ดเงินนิดเดียว การส่งออกข้าวสาร 8-10 ล้านตันต่อปี เราอาจเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก แต่เม็ดเงินก็ยังไม่เยอะ มันกลายเป็นการเมืองใหญ่ เพราะเราส่งออกในตลาดโลกเยอะ คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ชาวนา เยอะ มันจึงเป็นสินค้าที่กระทบคนเยอะ แต่ถ้าเม็ดเงินต่อภาพรวมทั้งหมด มันไม่เยอะหรอก


แปลว่าไม่กังวลเรื่องการแข่งขันในตลาดโลก

ไม่กังวล เพราะจริงๆ สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องส่งออกอยู่ดี ส่งออกด้วยจีทูจีบ้าง  หรือโดยการให้เอกชนประมูลไปส่งออกบ้าง ฉะนั้น ข้าวที่เกินมาจากการบริโภคภายในประเทศ ก็ต้องหมุนเวียนสต๊อกด้วยการส่งออก เพียงแต่มีโครงการนี้ขึ้นมา การส่งออกด้วยจีทูจี จะเป็นรายการที่ใหญ่ขึ้นมา จากที่เคยมีแค่การส่งออกของเอกชน เท่านั้นเอง มันอาจกระทบในแง่ที่ว่าอาจไม่ได้เป็นอันดับหนึ่งของโลกอีกต่อไปในบางปี ก็ so what   ก็ถ้าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ชาวนายังยากจนตลอด มันจะมีประโยชน์อะไรมากมาย มีแต่พ่อค้าที่รวยขึ้นๆ  จริงๆ การได้ที่หนึ่งในการส่งออก ถ้าเอาข้อมูลมาดูจะพบว่า พ่อค้าไทยเอาข้าวไทยที่มีคุณภาพดีไปดั้มขายในราคาเดียวกับเวียดนาม ขายถูก 400 เหรียญต่อตัน ก็เลยได้ตำแหน่ง ปริมาณเยอะ ทั้งที่ความจริงข้าวไทยมันแพงกว่า ตอนนี้มีโครงการรับจำนำข้าว ข้าวไทยไหลไปต่างประเทศน้อยลง ปรากฏว่าข้าวไทยราคา 600 เหรียญ ข้าวเวียดนาม 400 กว่าเหรียญ มีคนซื้อไหมก็มี เพราะข้าวไทยเป็นตลาดข้าวที่มีคุณภาพค่อนข้างสูง แม้แต่จะเป็นข้าวขาวธรรมดาก็ตาม คุณภาพมันดีกว่า เวียดนาม อินเดีย  เรื่องนี้ไปถามโรงสีจะรู้ แต่พ่อค้าส่งออกมันไม่พูด เพราะจะดั้มราคา

ส่งออกเป็นจำนวนตันเป็นอันดับหนึ่งของโลก ไม่มีความหมาย ไม่ใช่ประเด็น ใครได้ประโยชน์บ้าง ต้องย้อนถาม แต่ถ้าส่งออกแล้วได้มูลค่าสูงสุดของโลก เออ มันน่าทำ

ฉะนั้น สำหรับตลาดข้าวไทย เฉพาะหน้าคือโครงการรับจำนำ ระยะยาวคือการบริหารด้านการตลาด ด้านคุณภาพ ถ้ารัฐบาลมองการณ์ไกลก็ต้องมีโครงการเหล่านี้ด้วย  ไม่ใช่แค่จำนำเพื่อให้ได้คะแนนสูงๆ ถ้าไม่คิดแค่เรื่องเลือกตั้งนะ


จริงๆ แล้วชาวนาได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า เพราะปัจจัยการผลิตทั้งหลายขึ้นราคาเป็นเงาตามตัว

พ่อค้าก็ได้ด้วย คนเช่าที่ดินก็ได้ด้วย อย่างที่ผมบอก ก็ได้ไป ถ้าชาวนาได้ แล้วแบ่งให้คนพวกนี้บ้าง ตามกระบวนการของกลไกตลาดและต้นทุน มันก็โอเค มีกิจการใดบ้างที่ไม่มีต้นทุน ไม่มีปัจจัยการผลิต 


แต่สัดส่วนที่แย่งไปมันเยอะ

มันคำนวณได้ ถ้าจะเถียงนะ ส่วนต่างที่ชาวนาได้ไป สมมติตันละ 3 พันบาท เป็นค่าเช่ากับต้นทุนการผลิตหมดเลย ชาวนาไม่ได้เพิ่มเลย ชาวนาก็เลิกผลิต แต่เขาไม่เลิก ยังทำอยู่ แสดงว่าเขาก็ยังต้องได้ และผมคิดว่าชาวนาก็ไม่ได้โง่ขนาดว่า ได้เงินมาคำนวณแล้วไม่ได้อะไรเลย มันก็คงไม่ใช่ ปีที่ผ่านมาชาวนาก็ออกมาสนับสนุนเต็มที่เรื่องนี้ ได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ ไปดูข้อมูล 3-6 เดือนหลังจากนี้ ไปดูยอดขายมอเตอร์ไซด์ รถกะบะ เครื่องใช้ไฟฟ้า ในต่างจังหวัด พุ่งขึ้นหรือไม่ ผมจะบอกเลยถ้าเดา ยอดขายเหล่านี้จะขึ้น วัสดุก่อสร้างจะขายได้ดี


ไม่ได้ดูเรื่องหนี้ลดลงหรือ

หนี้มันก็มีอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าหนี้ก็จะลดลงส่วนหนึ่งด้วย ถ้ามีเม็ดเงินเข้ามา ก็ปล่อยให้ชาวนาเขาคิดไป ได้เงินมาก้อนหนึ่งจะบริหารยังไง จะใช้หนี้เท่าไร จะไปทำอะไรบ้าง คนเมืองยังไปรูดบัตรซื้อนู่นซื้อนี่ได้ ชาวนาก็เป็นคน เขาก็มีสิทธิ ถ้าเขาเลือกไม่ใช่หนี้ ไปซื้อรถกระบะก็สิทธิของเขา พวกธุรกิจมีหนี้ทั้งนั้น ทำไมยังขยายกิจการ ทำไมไม่ห้ามเขา ให้เขาไปใช้หนี้ก่อน การทำนาก็เป็นธุรกิจแบบหนึ่ง

โดยสรุปคือ ผมคิดว่าโครงการรับจำนำเป็นโครงการที่พอทำได้ในระยะสั้น 2-3 ปี ดีกว่าประกันราคา ถ้ามีตัวเลือกแค่สองตัว เพราะชาวนาได้มากกว่าแน่ แต่ระยะยาวต้องปรับโครงสร้างตลาด โครงสร้างการแข่งขัน และโครงสร้างการผลิต ยกระดับตลาดข้าวให้เป็นตลาดที่มีคุณภาพ ขายได้ราคาสูง อย่าไปแข่งกับเวียดนาม อินเดีย เพราะข้าวไทยมันมีคุณภาพดีอยู่แล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลขาฯอาเซียนแนะเดินหน้า 3G ต่อ ชี้ข้อมูลข่าวสารคืออำนาจ

Posted: 11 Oct 2012 02:17 AM PDT


(11 ต.ค.55) สุรินทร์ พิศสุวรรณ ​เลขาธิ​การอา​เซียน กล่าวปาฐกถา​ในหัวข้อ "ผลกระทบ​และ​การ​เตรียม​ความพร้อมของกิจ​การกระจาย​เสียง กิจ​การ​โทรทัศน์ ​และกิจ​การ​โทรคมนาคมสู่ประชาคมอา​เซียน" ในการสัมมนา "ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 2015 อาเซียนร่วมใจไทยจะรุกหรือรับ" ณ รร.เซ็นทารา แกรนด์แอทเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ว่า ขอให้ กสทช.รีบดำเนินการในเรื่อง 3G 4G และการจัดสรรคลื่น ไม่ว่าคำตัดสินของศาลจะเป็นอย่างไร เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน เพราะการสื่อสาร การกระจายข้อมูล การเป็นเจ้าของการจัดสรรข้อมูลสู่โลกภายนอกคือปัจจัยเสริมภาพพจน์และอำนาจ

ทั้งนี้ สุรินทร์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ขณะนี้อาเซียนกำลังพูดถึงเรื่อง connectivity คือการสร้างทางรถไฟ ถนน เชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการขนส่งอย่างสะดวก เพราะการค้าเสรีหรือตลาดเดียวกันจะไม่มีผล ถ้าขนส่งสินค้าไม่ได้ แต่ข้อมูลข่าวสารนั้นสามารถไหลไปมาได้แล้ว โดยเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมทำให้เกิด Virtual community นี้ขึ้น 

เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ประเทศที่พัฒนา 3G ไปแล้ว จะเกิดความคล่องตัวในการสื่อสาร กระจายข้อมูล เข้าถึงลูกค้า รักษาตลาดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ถ้าเราช้า ประสิทธิภาพในการแข่งขันภายในของเราจะไม่เพิ่มขึ้น และจะสูญเสียเนื้อที่ โดยต้องอย่าลืมว่าเขตแดนไม่มีความสำคัญอีกแล้ว มันไหล-เชื่อม ทุกอย่างได้ ดังนั้น โทรคมนาคมไทย ไม่ว่าธุรกิจ หรือสารัตถะของการสื่อสาร จะมีตลาดทั้งอาเซียน ต่อไปนี้ กสทช. ของแต่ละประเทศต้องคิดถึงตลาดอาเซียนทั้งหมด ถ้าเราไม่มีประสิทธิภาพ คนอื่นจะเข้ามาในพื้นที่ได้ ขณะที่เราออกไปพื้นที่เขาไม่ได้

สุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ไทยยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ไม่เต็มที่ ทั้งที่เทคโนโลยีมีมาหนึ่งทศวรรษแล้ว แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ โดยยังขัดแย้งกัน เช่น การฟ้องร้อง การยื่นประมูล TOR ไม่สมบูรณ์ต้องร่างใหม่ เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ กสทช.ที่ต้องทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆ มีความโปร่งใส เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และไม่ให้มีการใช้กระบวนการอื่นนอกจากกฎหมายในการตัดสินใจ ทั้งนี้ที่ผ่านมา มีผู้กล่าวว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนในประเทศไทยนั้นสูงถึง 30% นั่นเพราะมีกระบวนการอื่นที่ใช้ความใกล้ชิดทางการเมืองเป็นปัจจัยบีบคั้น บั่นทอนความสามรถในการแข่งขัน

สุรินทร์ ระบุว่า จำนวนค่ายโทรคมนาคมของไทยที่มีเพียงสามรายนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือความเที่ยงธรรม โปร่งใส รักษาประโยชน์ชาติ มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน กสทช.ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลทำหน้าที่ให้เต็มที่ ไม่ถูกอำนาจอื่นเข้ามาชี้นำ จะก้าวไปอย่างราบรื่น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้ยุติการแต่งงานในเด็ก เนื่องในวันเด็กผู้หญิงสากล

Posted: 11 Oct 2012 01:01 AM PDT


เนื่องในวันที่ 11 ต.ค.ของทุกปี ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันเด็กผู้หญิงสากล เพื่อสร้างความตระหนักถึงสิทธิของเด็กผู้หญิงและความท้าทายพิเศษที่เด็กผู้หญิงทั่วโลกต้องเผชิญ องค์การสหประชาชาติผู้ริเริ่มให้การศึกษาแก่เด็กผู้หญิง เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และเอเชียใต้ (EAP/SA UNGEI) ได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้ยุติการแต่งงานในเด็กและเร่งพัฒนาความเท่าเทียมและเสมอภาคระหว่างเพศในการศึกษาภายในปี พ.ศ.2558

 

 


ที่มา: UN Girl Education Initiative

วันเด็กหญิงสากล

แถลงการณ์ร่วมขององค์การสหประชาชาติผู้ริเริ่มให้การศึกษาแก่เด็กผู้หญิง เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และเอเชียใต้ (EAP/SA UNGEI)

ยุติการแต่งงานในเด็ก

วันที่ 11 ตุลาคมมีความสำคัญยิ่งโดยเฉพาะสำหรับองค์การสหประชาชาติผู้ริเริ่มให้การศึกษาแก่เด็กผู้หญิง เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และเอเชียใต้ (EAP/SA UNGEI) การเริ่มเป็นทางการของ "วันเด็กผู้หญิงสากล" เป็นการรวมกันเป็นปึกแผ่นในการให้คำมั่นสัญญาทั่วโลกว่าจะมีความเสมอภาคสำหรับเด็กผู้หญิงไม่เฉพาะทางการศึกษาแต่สำหรับทุกด้านของชีวิต คำว่า "เด็กผู้หญิง" เจาะจงหมายถึงเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มักต้องเผชิญกับความท้าทายที่มีลักษณะเฉพาะเมื่อเทียบกับเด็กผู้ชายและสตรี ในวันนี้เราจะระลึกว่าเด็กผู้หญิงทุกคนมีสิทธิ์ในสิทธิมนุษยชน ได้รับการปฏิบัติและมีโอกาสอย่างเสมอภาค รวมถึงสิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วนกระบวนการ อย่างไรก็ตามเรายังต้องเผชิญกับอุปสรรคเช่นความรุนแรงเกี่ยวกับทางเพศ แรงงานเด็ก ความมีอคติที่ฝังลึก การเลือกปฏิบัติ และการแต่งงานของเด็ก เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะที่เท่าเทียมสำหรับเด็กผู้หญิงในสังคม หัวข้อสำหรับ "วันเด็กผู้หญิงสากล" ในปีนี้มุ่งเน้นที่ผลเสียของการแต่งงานในวัยเด็กและความจำเป็นที่จะต้องยุติการกระทำนี้

องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้ให้คำนิยามการแต่งงานของเด็กว่า "เป็นการแต่งงานอย่างเป็นทางการหรือการร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการของเด็กที่กำหนดว่ามีอายุต่ำกว่า 18 ปีกับผู้ใหญ่หรือเด็กอีกคนหนึ่ง" ถึงแม้ปัญหานี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย บ่อยครั้งจะพบว่าเด็กผู้หญิงถูกกระทบในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) ยอมรับในสิทธิเสรีภาพและการยินยอมอย่างเต็มใจของการแต่งงาน โดยระบุว่าการยินยอมนั้นจะไม่เป็นไปอย่าง "เสรีและสมบูรณ์" หากฝ่ายหนึ่งยังไม่เจริญวัยพอที่จะตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลเกี่ยวกับคู่ชีวิต ส่วนมาตรา 16 ของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women (CEDAW) ได้ห้ามมิให้มีการแต่งงานในเด็กโดยบัญญัติว่า "การสัญญาว่าจะแต่งงานและการแต่งงานในเด็กนั้นไม่มีผลทางกฎหมาย" ในขณะที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก Convention on the Rights of the Child (CRC) ถึงแม้จะไม่ได้อ้างถึงการแต่งงานในเด็กโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแต่งงานในเด็กมีความเชื่อมโยงกับสิทธิอื่นๆ ของเด็กเช่น สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ได้รับการคุ้มครองจากการข่มเหงในทุกรูปแบบ และปกป้องจากการกระทำทารุณกรรมโดยพิธีทางประเพณี ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ถึงแม้ว่าการแต่งงานในเด็กในหลายชุมชนจะได้รับการสนับสนุนหรือถูกบีบบังคับจากครอบครัวจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ อาจเป็นวิธีปกป้องเด็กผู้หญิงจากความสำส่อน การถูกกระทำทารุณกรรมทางเพศและการถูกตัดขาดจากสังคมและหนทางป้องกันการตั้งครรภ์นอกสมรส แต่ผลจากการวิจัยอีกทั้งหลักฐานจากการบอกเล่าบ่งชี้ว่า การแต่งงานในเด็กนำภัยสู่เด็ก เช่นการทารุณ การหย่าร้าง การถูกทอดทิ้ง และความยากจน ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการละเมิดสิทธิเด็กมากมาย

สถิติที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการแต่งงานในเด็กมีน้อยมากเนื่องจากไม่มีการบันทึกและการมีลักษณะอย่างไม่เป็นทางการของการเก็บข้อมูล แต่จากรายงานที่มีอยู่ทำให้รู้ว่ากว่าครึ่งของเจ้าสาววัยใสในโลกนี้มีถิ่นฐานในเอเชียใต้ ซึ่งมีการแต่งงานในเด็กและแต่งงานเร็ว มากกว่าทุกภูมิภาคในโลกนี้ สตรีประมาณร้อยละ 46 หรือ 32.6 ล้านคน ในเอเชียใต้ ที่มีอายุ 20-24 ปีจะแต่งงานหรืออยู่ร่วมกันเมื่ออายุ 18 ปี  ประเทศบังกลาเทศและเนปาลจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเด็กผู้หญิงแต่งงานก่อนอายุ 18 ปีซึ่งเป็นอายุตามที่กฏหมายกำหนดให้แต่งงานได้  ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกปัญหานี้มีมากกว่าที่คิด โดยเด็กผู้หญิงเกือบหนึ่งในห้าคนแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี สถิติการแต่งงานในเด็กสูงสุดสำหรับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก เช่น วานูอาตู นาอูรู และหมู่เกาะมาร์แชลล์ ซึ่งแม้ว่ากฏหมายไม่รับรู้แต่ก็เป็นที่ยอมรับในทางประเพณี ทั่วโลกจะพบว่าในประเทศที่มีการแต่งงานในเด็กจะมีขึ้นในร้อยละ 20 ของประชากรที่ยากจนที่สุดซึ่งแสดงว่าความกดดันทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งของการแต่งงานในเด็ก

การแต่งงานในเด็กเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและตัดอนาคตของเด็กผู้หญิงในการที่จะได้รับการเสริมพลังเพื่อที่จะสามารถหาตัวเลือกในเรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิตเขา ผลจากงานวิจัยพบว่าเด็กผู้หญิงที่แต่งงานเร็วมักจะออกจากโรงเรียนและมีโอกาสในการตั้งครรภ์สูง หลักฐานจากการบอกเล่าบ่งว่าในชุมชนบางแห่งการเรียนในโรงเรียนไม่เหมาะสำหรับหญิงที่แต่งงานแล้วและผู้เป็นแม่ ซึ่งส่วนมากเกิดจากมาตรฐานและความคาดหวังทางสังคม ในวัยสาวที่สรีระยังไม่เจริญพอที่จะมีลูกมักพบความเสี่ยงในการเสียชีวิตของมารดาเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงในการเสียชีวิตของทารกที่เกิดจากมารดาที่มีอายุต่ำกว่า 18 มีเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 เมี่อเทียบกับทารกที่เกิดจากมารดาที่มีอายุ 19 หรือแก่กว่า นอกจากนี้เจ้าสาววัยใสมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในแง่ของความทารุณในครอบครัว การข่มขืน การเป็นเครื่องมือเพื่อหาประโยชน์ การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น รวมถืงการที่ถูกกีดกันจากสังคม

จากข้อเสียเปรียบหลายประการและการเลือกปฏิบัติที่เขาต้องเผชิญ เจ้าสาววัยใสมักไม่ได้รับการศึกษาในชั้นนมัธยมต้น โดยเฉพาะหากเขาตั้งครรภ์ นอกจากนั้นหากเขายืนกรานที่จะเรียนต่อไปก็มักจะเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติ ถูกรังแก หรือถูกกีดกันจากสังคม ความพยายามที่จะยุติการแต่งงานในเด็กต้องทำควบคู่กับการเพิ่มการศึกษาในเด็กผู้หญิงและเพิ่มความเข้าใจของสังคมถึงผลเสียของการแต่งงานในเด็ก การให้การศึกษาแก่เด็กผู้หญิงเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดที่ประเทศหนึ่งพึงทำได้ ซึ่งจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เด็กผู้หญิงที่ได้รับการศึกษามักจะหารายได้ที่สูงกว่าเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่งงานช้าลง มีลูกน้อยกว่าและแข็งแรงกว่า มีอำนาจในการตัดสินใจที่ดีกว่าในครัวเรือนและมีความเคารพในตัวเองสูงกว่า การยุติการแต่งงานในเด็กทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายและสนับสนุนให้เขามีสิทธิ์ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับกลยุทธ์ในมุมกว้างที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาสังคมที่เป็นธรรม

สิ่งที่องค์การสหประชาชาติผู้ริเริ่มให้การศึกษาแก่เด็กผู้หญิง เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และเอเชียใต้ (EAP/SA UNGEI) เรียกให้ลงมือทำใน "วันเด็กผู้หญิงสากล"

เพื่อเป็นการยุติการแต่งงานในเด็กและเร่งพัฒนาความเท่าเทียมและเสมอภาคระหว่างเพศในการศึกษาภายในปี พ.ศ.2558 องค์การสหประชาชาติผู้ริเริ่มให้การศึกษาแก่เด็กผู้หญิง เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และเอเชียใต้ (EAP/SA UNGEI) เรียกร้องให้นานาประเทศที่จะ

  • ให้ความมั่นใจในการเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงทุกคน ผลจากการวิจัยบ่งชี้ว่าเด็กผู้หญิงที่มีการศึกษามากขึ้นเท่าไร โอกาสที่เขาจะแต่งงานในวัยเด็กก็ยิ่งน้อยลง การศึกษาภาคบังคับอาจเป็นตัวยับยั้งการแต่งงานในวัยเด็กและเป็นวิธีการในการชะลอเวลาที่เด็กผู้หญิงจะแต่งงาน ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กทั้งชายและหญิงที่เลื่อนการแต่งงานออกไปอีกทั้งสนับสนุนการฝึกอบรมทักษะชีวิตที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรและผลกระทบที่จะมีต่อเยาวชนสตรี
  • การสร้างโอกาสเพิ่มขึ้นในการแก้ตัวทางการศึกษาผ่านระบบการเรียนทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงที่ต้องออกจากโรงเรียนเพราะการแต่งงานในวัยเด็กและการเป็นมารดาเพื่อเขาสามารถจบการศึกษาภาคบังคับอย่างครบกระบวนการ ให้ความมั่นใจในการศึกษาของเด็กผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เพื่อเขาสามารถอยู่ในโรงเรียนต่อโดยได้รับการสนับสนุนทางจิตใจและสังคม
     
  • หาวิธีรองรับเรื่องการแต่งงานในวัยเด็กทั้งชายหญิงผ่านหลายๆ ด้าน รวมถึงการศึกษา สุขภาพ แรงงาน และด้านที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้มีการกระตุ้นทางชุมชน สร้างความตระหนัก ให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและสมาชิกของชุมชนเกี่ยวกับความสำคัญของการศึษาและผลกระทบด้านลบของการแต่งงานเร็ว 
     
  • หาวิธีที่จะวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพดีกว่าเกี่ยวกับการแต่งงานในเด็ก เก็บและเผยแพร่ข้อมูลที่แม่นยำ แยกเพศ ข้อมูลย่อยของประเทศเกี่ยวกับการแต่งงานในวัยเด็ก โดยเฉพาะในกรณีความไม่เท่าเทียมระหว่างในชนบทกับในเมือง และความเหลื่อมล้ำระหว่างสัดส่วนของความมั่งมีเพื่อนำไปสู่การวางแผนที่มีประสิทธิผลและทำให้เป็นผล

จากที่ได้ทำนี้ UNGEI ยอมรับว่าสิทธิของเด็กทุกคนไม่สามารถแยกจากกันและมีความเกี่ยวพันกัน อีกทั้งความพยายามทุกวิถีทางเพื่อยุติการแต่งงานในเด็กควรมีส่วนส่งเสริมสิทธิของเด็กที่จะอยู่รอด รับการพัฒนา รับการปกป้อง และมีส่วนร่วม องค์การสหประชาชาติผู้ริเริ่มให้การศึกษาแก่เด็กผู้หญิง เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และเอเชียใต้ The East Asia and Pacific Regional and South Asia Regional United Nations Girls' Education Initiative (EAP/SA UNGEI) ขอถือโอกาสในการเปิด "วันเด็กผู้หญิงสากล" เป็นทางการ ในการเน้นค่ามั่นสัญญาที่มีอย่างต่อเนื่องที่จะผดุงไว้ให้การศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้

อยากขอร้องให้ประเทศต่างๆ ให้ความมั่นใจว่าจะให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กทุกคน โดยไม่คำนึงถึงเพศ ชนกลุ่มน้อย วรรณะ ระดับรายได้ ความพิการหรือปัจจัยอื่นที่อาจหน่วงเหนี่ยวเขาจากการได้รับสิทธิ์ในการศึกษาที่มีคุณภาพ แถลงการณ์นี้เป็นการเรียกร้องไปยังทุกประเทศที่จะให้ความมั่นใจเคารพในสิทธิมนุษยชนของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายทุกคนในการได้รับการศึกษา ได้รับการปกป้องและเติมเต็ม รวมถึงการป้องกัน ต่อต้าน และยุติการแต่งงานในเด็ก
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวพลเมือง: วิกฤตเบอร์รี่ปี 2555 ปัญหาคนงานเบอร์รี่ยังไม่จบง่ายๆ

Posted: 11 Oct 2012 12:38 AM PDT

รายงานพิเศษจาก "ฟินแลนด์" โดย "จรรยา ยิ้มประเสริฐ" งานเสวนา "คนงานต่างชาติชาวเอเชียที่ฟินแลนด์" ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ จัดโดย "เวทีประชาชนเอเชียยุโรป (AEPF) ปัญหาคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทย "แรงงานทาสยุคใหม่" ในวีซ่า "นักท่องเที่ยว"

เทปบันทึก ภาพการนำเสนอปัญหาแรงงานทาส "คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่แลปแลนด์" และตามด้วยการแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ที่ดำเนินรายการโดยปลัดกระทรวงการจ้าง งานและ เศรษฐกิจของฟินแลนด์

* * * * * * * *

ฟินแลนด์สัมมนา "คนงานต่างชาติชาวเอเชียที่ฟินแลนด์"

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555 มีงานเสวนาที่สำคัญมากเรื่อง "คนงานต่างชาติชาวเอเชียที่ฟินแลนด์" ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ จัดโดย "เวทีประชาชนเอเชียยุโรป (AEPF) ที่ร่วมนำเสนอและร่วมฟังโดยองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานจนเต็มห้องประชุม

จรรยา ได้นำเสนอเกี่ยวกับ "คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่แลปแลนด์" ทั้งนี้แลปแลนด์เป็นชื่อตอนเหนือของฟินแลนด์ที่เป็นเขตเบอร์รี่ป่า

คำว่าแลปแลนด์ ช่างพาให้คิดถึงเมืองลับแล จริงๆ คือลับจากสายตาผู้คน และแลหาความช่วยเหลือจากใครไม่มี และก็คุยกันก็ไม่รู้เรื่อง

คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทย "แรงงานทาสยุคใหม่" ในวีซ่า "นักท่องเที่ยว" จะถูกพาจากสนามบินไปยังแคมป์ที่พักทันทีที่เครื่องลงจอด และจะถูกพาจากแคมป์ แวะซื้อเสื้อผ้ามือสองระหว่างทางมาสนามบิน เพื่อขึ้นเครื่องกลับประเทศไทย โดยที่พวกเขาไม่เคยได้รับอนุญาตหรือสามารถทำตัวเป็น "นักท่องเที่ยว" ที่แท้จริงได้เลย อีกทั้งไม่เคยเห็นหรือเที่ยวดูแม้แต่เมืองหลวง "เฮลซิงกิ" ที่รถบัสพวกเขาวิ่งผ่านรอบนอก ทั้งขาไปและขากลับสนามบิน ด้วยข้ออ้างจากพวกบริษัทนายหน้าว่า "ยุ่งยาก ในการจัดการ"

พวกคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยจึงเหมือนกับ "ผี" ที่คนฟินแลนด์ไม่เคยเห็นตัว รู้แต่เพียงว่ามีจำนวน "นักท่องเที่ยว-จ้างงานตัวเอง-คนงานเก็บเบอร์รี่" 3,000 คน เดินทางจากประเทศไทยมาเก็บเบอร์รี่ แต่ไม่รู้ว่ารูปร่างหน้าตาและสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงานเป็นอย่างไร จะไปพบเจอได้ที่ไหนบ้าง

คนฟินแลนด์ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าแคมป์คนงานอยู่ ตรงไหนกันบ้าง เพราะบริษัทเบอร์รี่ ไม่เปิดเผยชื่อแคมป์ต่อสาธารณะ แม้แต่นักข่าวจะเข้าไปถ่ายทำสภาพปัญหา ก็ต้องขออนุญาต และขอที่อยู่จากบริษัท

เวลาจะเข้าแคมป์ต้องบอกว่า "เราไม่ใช่ NGOs" เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าหัวหน้าแคมป์ (พวกสายและนายหน้า) รวมทั้งธุรกิจเบอร์รี่ไม่ชอบคนวิจารณ์และโยนความผิดให้ NGOs รับไปเต็มๆ

คนที่เข้าไปถึงแคมป์และได้คุยกับคนงาน ต่างเล่าว่า เวลาคุยกับคนงาน จะอยู่ในสายตาที่จับจ้องของหัวหน้าแคมป์ และถ้าคุยนานก็จะเข้ามายืนฟัง และคอยสอดแทรกคำว่า "ไม่จริง" "ไม่ขาดทุน" เมื่อคนงานเปิดปากถึงสภาพปัญหาต่างๆ

คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยช่างดูประหนึ่ง "แรงงานทาส" เป็นนักโทษในค่ายกักกันแรงงานเสียเหลือเกิน

เมื่อพวกเขาเดินทางกลับมาถึงเมืองไทยพร้อม เรื่องราวความเจ็บปวดและสูญเสีย แดดสีทองแห่งมหานครเมืองเทพอมรดินแดนสุวรรณภูมิ ที่พวกเขาย่างเหยียบ ก็เผาสลายพวกเขา ราวกับแวไพร์ยามต้องแสงอาทิตย์

เมื่อไม่มีใครพยายามที่จะฟังความจริง พี่แมวพูดจับใจทุกคนว่า
"เรื่องเล่าแห่งความสวยงาม ก็เป็นได้แต่เพียงเรื่องเล่าแห่งความสวยงาม"

วิกฤตเบอร์รี่ปี 2555

คน ไทยหลายพันคนเดินทางมาถึงตอนเหนือของสวีเดนภายใต้วีซ่าทำงานชั่วคราว – เพื่อเก็บเบอร์รี่ สวีเดนให้สิทธิสาธารณะกับใครก็ได้ที่จะเก็บเบอร์รี่ป่า แม้แต่ในพื้นที่ของเอกชน ในปีที่ผลิตผลดี (ซึ่งไม่น่าจะใช่ปีนี้) ป่าจะเต็มไปด้วยบลูเบอร์รี่และเบอร์รี่สีแดง มีคนสวีเดนเหลือเพียงไม่กี่คนที่ยังยอมทำงานหนักเช่นงานเก็บเบอร์รี่ แต่ความต้องการเบอร์รี่ก็เพิ่มสูงขึ้น เบอร์รี่ป่าเป็นที่ต้องการสูงมากของอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ: สี่ในห้าของเบอร์รี่ที่เก็บได้ส่งออกไปขายต่างประเทศ

ผลประโยชน์ ที่ตามมายังเป็นข้อกังขาทั้งในประเทศบ้านเกิดและต่างแดน บริษัทเบอร์รี่หันมาใช้แรงงานคนเอเชียกว่าสิบปีแล้ว คนไทยเดินทางมาในฤดูกาลเก็บ ปีนี้มีการอนุมัติวีซ่า 5,700 คน สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นคนไทยทั้งหมด กระนั้นสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติสวีดิช (LO) เรียกงานเก็บเบอร์รี่ว่า "ทาสยุคใหม่" เมื่อเบอร์รี่ไม่ดก บ่อยทีเดียวที่ คนงานไม่สามารถเก็บได้มากพอคุ้มค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าอาหารและค่าที่พัก Thord Ingesson เจ้าหน้าที่ LO ที่รับผิดชอบงานด้านแรงงานต่างชาติ บ่นว่าสวีเดน "สูญเสียอำนาจการควบคุมสภาพการทำงาน เมื่อแรงงานโลกได้กลายเป็นสินค้าราคาถูก"

Economist, Foreign workers in Sweden: Berrypickers, unite!, 4 สิงหาคม 2012

อ่านต่อ http://www.economist.com/node/21559956

ปีนี้ "เสียงที่ส่งต่อกันมา" ทั้งจากสวีเดนและฟินแลนด์ที่ถูกพวกนายหน้าค้าแรงงานและเจ้าหน้าที่กระทรวง แรงงานไทยปิดกั้นจนเงียบฉี่ที่เมืองไทย คือ "ปัญหาเยอะจริงๆ"

คนงานเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนบอกว่า …

"คนเยอะมาก เป็นหมื่นคนเลย"
"สี่ห้าแคมป์ตั้งอยู่ใกล้กัน ไปไหนก็เจอกัน ใกล้ๆ ก็เอากันหมดแล้ว ต้องขับรถ 4-5 ชั่วโมงหาเบอร์รี่"
"มานอนรอเป็น 15 วัน ถึงได้เก็บ ไม่มีรถให้คนงาน"
"พอรถเสียก็ต้องหยุด 2-3 วันกว่าจะซ่อมเสร็จ"
"อาหารการกินก็แย่ (เหมือนเดิม) มีแต่ปีกไก่"
"ปีนี้ มีข่าวผู้ชายอายุ 48 ตายในป่าที่สวีเดน" (แต่ไม่มีใครมีรายละเอียดมากกว่านี้)
ฯลฯ

คนงานชาติอื่นเจอสภาพปัญหาก็มักประท้วงกันทันที

"เมื่อ คนงานชาวบัลกาเรีย 500 คน ที่ตั้งแคมป์ที่หมู่บ้าน Mehedeby ทางตอนเหนือของสต๊อกโฮลม์ ถูกคนท้องถิ่นที่โกรธแค้นต่อว่า "ละเมิดสิทธิสาธารณะที่มีมาแต่ดั่งเดิมของพวกเขา" คนเก็บเบอร์รี่ก็ไม่มีความสุขเช่นกัน ไม่มีทั้งน้ำประปาหรือห้องน้ำ และเบอร์รี่ก็ไม่ดกด้วย บางคนอยากจะกลับบ้าน แต่ก็ทำไม่ได้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและสถานทูตบัลกาเรียที่ตื่นตระหนก รีบขนคนเก็บเบอร์รี่ขึ้นรถบัสที่เช่ามาจอดรอที่ข้างโรงเรียน เพื่อส่งกลับบ้านเกิด แต่ก็ยังมีคนเก็บเบอร์รี่ชาวบัลกาเรียที่ถูกทิ้งให้รอความช่วยเหลือที่ หน้าประตูสถานทูตอีกเป็นจำนวนมาก"

Economist, 4 สิงหาคม 2555

แต่คนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยอึดกว่าชาติใดในโลก

คนเจ้าถิ่นชาว ฟินแลนด์และสวีดิช ต่างพากันฉงนงงงวยว่า คนงานไทยเอาพลังอึดมาจากไหน ถึงทำงานได้ราวกับเครื่องจักร 12-20 ชม. ทุกวันตลอด 70 วัน โดยที่ไม่เคยพัก ไม่ต้องผ่อน ไม่ต้องนอน ไม่ต้องมีวันหยุด แม้ป่วยก็ไม่พัก

กระนั้นปีนี้ คนงานเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนบอกว่า "คนงานกว่าครึ่งเก็บไม่ได้ตามเป้า และบริษัทบอกว่าจะไม่จ่ายเงินเดือนตามกฎหมาย เพราะเก็บไม่ได้ตามเป้า" ซึ่งก็หมายความว่าพวกเขาจะถือว่าทำงานฟรี เพราะเงินเดือนที่ระบุในสัญญาครอบคลุมแค่่ค่าเดินทางและกินอยู่เท่านั้น ไม่เหลือกำไรอยู่แล้ว

และจนถึงบัดนี้ คนงานหลายร้อยคนที่มาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนที่เดินทางกลับบ้านเมื่อวันที่ 29 และ  30 กันยายน ก็ยังคงรอเงินเดือนที่ระบุตามสัญญาจ้าง ที่บริษัทที่พามาเก็บเบอร์รี่ยังไม่ยอมจ่ายให้คนงาน อ้างว่ายังเคลียร์ค่าเบอร์รี่ไม่ได้

ที่ฟินแลนด์ก็มีปัญหาเยอะมากเช่นกัน แต่เสียงยิ่งเงียบฉี่กว่าสวีเดน เพราะนายหน้าและบริษัทที่นี่อ่อนไหวต่อเรื่องภาพลักษณ์และป้องกันไม่ให้คน งานประท้วงหรือร้องเรียนได้สำเร็จกว่าที่สวีเดน (คนน้อยกว่า เลยคุมได้ง่ายกว่า)

พี่แมว คนฟินแลนด์ที่พูดและเขียนภาษาไทยได้คล่อง และช่วยเป็นล่ามให้คนงาน บอกว่ามีคนป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาลนับสิบวัน 2 คน และกลับบ้านในสภาพที่ต้องได้รับการดูแล พร้อมหนี้ที่ยังอยู่กว่าสี่หมื่นบาท

พวกนายหน้าคือโซ่สุดท้ายที่อันตรายต่อเกษตรกร

นายหน้าหาคนงานไปต่างประเทศ ที่ตระเวณตามหมู่บ้านทั่วภาคอีสานและกระจายไปทุกภาคตอนนี้ คือแขนขาอันสำคัญยิ่ง ที่หล่อเลี้ยงเครือข่ายป้อนแรงงานทาสชาวไทยของพวกบริษัทจัดหางานทั้งถูก กฎหมายและผิดกฎหมาย เพื่อขายแรงงานไทยให้กับต่างชาติ

ในกรณีงานเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์ นายหน้าหลายคนเป็นคนเก็บเบอร์รี่เก่า ที่หารายได้จากการหาคนไปทำงาน หรือต้องการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของตัวเอง จึงหาคนเก็บใหม่เพื่อค่าหัวคิว

และหลายคนก็เป็นพวกคนที่มีอาชีพนายหน้าหาคน งานให้บริษัทจัดหางานไปประเทศ ต่างๆ ที่มีประสบการณ์ "ค้าความฝันลวง" พวกเขาจะเดินทางขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ เมื่อหมู่บ้านหนึ่งเจ๊งทั้งหมู่บ้าน ไม่ไปอีกแล้ว ก็ไปหาหมู่บ้านใหม่ เมื่ออีสานเริ่มมีบทเรียน ก็ไปภาคเหนือ หรือภาคใต้

พวกนี้จะเก่งในการโน้มน้าวให้คนไปทำงานต่าง ประเทศให้ได้ และไม่พูดความจริงหรือพูดความจริงไม่หมด ใช้คำหลอกล่อด้วยตัวเลขเงินที่จะได้ อ้างกันเป็นแสนหรือหลายแสน

นายหน้าคนหนึ่งที่แก้งค้อ หาคนเก็บเบอร์รี่มาสวีเดนเพื่อกินค่าหัวคิว ป้อนบริษัทจัดหางานได้ถึง 130 กว่าคน (ถ้าคิดตามอัตราที่รับรู้กันทั่วไปก็น่าจะได้ค่านายหน้า 5,000 บาท x 130 คน = 650,000 บาท) โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้เดินทางมาดูแลคนงานด้วย

นี่คือหนึ่งในหลายสิบนายหน้า ที่ทำตัวหาคนงานมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์ และกำลังจะขยายไปนอร์เวย์อีกด้วย

นายหน้าที่ทำมาหากินกับค่าหัวคิว เห็นแก่เงิน และไร้ซึ่งจิตสำนึก ไม่มีความรู้ความเข้าใจในต้นต่อปัญหา ไร้ความรับผิดชอบ และไม่มีศักยภาพใดๆ ทั้งสิ้นที่จะรองรับความเสียหาย

โซ่สายส่ง "แรงงานทาส" ของธุรกิจค้าแรงงานข้ามชาติ คือ ต้นต่อปัญหาที่สั่งสมมากว่า 40 ปี ที่เมืองไทย

ถ้าไปเมืองนอกแล้วรวยจริง คนอีสานต้องเป็นคนรวยมากที่สุดในประเทศไทย

นับตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบัน มีคนไทยโดยเฉพาะเกษตรกรจากอีสานรวมกันว่า 4 ล้านคนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยที่ 90% เป็นการเดินทางไปกับบริษัทจัดหา(ค้า)งานเอกชนที่คิดค่าหัวคิวจากพวกคน งานอย่างโหดร้าย

เงินจำนวนมากถูกหล่อเลี้ยงธุรกิจค้าแรงงานและ สายป่านโยงใยข้าราชการและนักการเมืองตั้งแต่ระดับกรุงเทพฯ จนถึงจังหวัดเป้าหมายต่างๆ มาอย่างยาวนานที่จำเป็นต้องแก้ไขให้ได้เสียที

เพราะระบบนี้ ส่วนมากแล้วคนงานต้องทำงานฟรีตามสัญญา ถ้าสัญญา 2 เดือนเช่นเก็บเบอร์รี่ ค่าใช้จ่ายแน่ๆ คือ 160,000 บาท (เท่ากับเงินเดือน 2 เดือน)

คนตกหลุมพรางส่วนใหญ่ จะถูกทำให้เชื่อลมปากมากกว่าสัญญา (ที่พวกเขาเห็นหลังจากจ่ายเงินให้นายหน้าไปแล้วหลายงวด) กับคำพูดประเภท "ไม่ต้องสนใจเงินเดือนตามสัญญา เพราะคนงานจะได้เงินจากรายได้พิเศษและค่าล่วงเวลามากมาย"

การแบ่งผลประโยชน์ระหว่างบริษัทเอกชนกับ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ กระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรักษาโซ่ความสัมพันธ์ของธุรกิจค้าแรงงานชาว ไทย (ที่ทรหดและอดทนยิ่งกว่าควายเหล็ก) และดำรงการสนับสนุนให้บริษัทจัดส่ง โดยรัฐไม่ยอมดำเนินการจัดส่งเอง ด้วยข้ออ้างว่า "บริษัททำได้ดีกว่า" เพื่อเปิดโอกาสให้ 200-300 บริษัท ที่ได้รับอนุญาตและส่งเสริมจากกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่ส่งคนงานไปต่างประเทศปีละกว่าแสนคนเพื่อเงินค่าหัวคิว (ที่ไม่เคยเก็บตามกฎหมาย) และเงินใต้โต๊ะที่หล่อเลี้ยงกันทั้งกรมกองที่เกี่ยวข้อง (ที่ตรวจจับไม่ได้)

แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้รัฐจัดส่งเอง เพื่อป้องกันการโกงและหลอกลวง กระทรวงก็ยังดื้อดึงให้บริษัทจัดหางานรับผิดชอบส่งคนงานที่ต้องผ่านกระทรวง แรงงานกว่า 90% ไปทำงานต่างประเทศ (ไม่รวมพวกพาคนเข้าเกาหลีหรือประเทศอื่นๆ ที่ไม่ต้องผ่านกระทรวงฯ) ทั้งนี้กระทรวงแรงงานดำเนินการจัดส่งเองตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไม่มีค่า นายหน้าเพียง 5% เท่านั้น

บริษัทเหล่านี้ ไม่มีศักยภาพ และไม่เตรียมรับผิดชอบความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นกับการส่งออก "แรงงานทาส สินค้ามีชีวิตราคาถูก" นับหมื่นนับแสนคนต่อปี ที่แต่ละบริษัทหลอกล่อมาเพื่อป้อนออเดอร์จากต่างประเทศ

คิดดูแล้วกันว่า เพราะเหตุใด อุตสาหกรรมเบอร์รี่นี้จึงชอบคนไทยนักหนา เพราะไม่มีคนงานชาติไหนทนกับสภาพการทำงานทาส ไร้ศักดิ์ศรี ต้องทำตัวเป็นเครื่องจักรเก็บเบอร์รี่ วันละ 12-20 ชั่วโมง ตลอด 60-70 วันไม่เคยหยุด "กินน้อย นอนน้อย ไม่หยุด ไม่ลาป่วย ไม่ต้องสนุก" เช่นคนไทยได้อีกแล้ว

ในขณะที่คนงานชาติอื่นๆ ทั้งจีน บังคลาเทศ หรือเวียดนาม ไม่สามารถทำงานได้เกิน 2 หรือ 3 อาทิตย์ก็ประท้วงกันแล้ว จนสถานทูตทั้งสองประเทศต้องปิดวีซ่าเก็บเบอร์รี่จากหลังเกิดการประท้วง

แต่จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังเป็นที่กังขากันว่าเพราะเหตุใด คนงานไทยที่เจอปัญหา เสียหายและประท้วงกันทุกปี แต่สถานทูตที่เมืองไทยก็ยังไม่ปิดวีซาพาคนมาเก็บเบอร์รี่ ธกส. ก็ยังปล่อยเงินกู้ และกรมการจัดหางานก็ยังเดินหน้าเจรจาให้บริษัทจัดหางานอยู่เช่นเดิม และยังส่งเสริมให้คนไทยมากันมากขึ้น ราวกับแม่งเมาบินเข้ากองไฟ จนสร้างความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีเช่นนี้

งานเก็บเบอร์รี่ ต้นทุนสูง เป็นงานค้าทาส ที่ไม่ควรส่งเสริมอย่างย่ิง

การส่งเสริมมาเก็บเบอร์รี่เป็นนโยบายที่ผิด พลาดของกระทรวงแรงงาน ที่ชินกับการรับเงินใต้โต๊ะจากธุรกิจเบอร์รี่และบริษัทนายหน้าค้าเบอร์รี่มา ตั้งแต่ยุคอดีต รมต. ไพฑูรย์ แก้วทอง กระทรวงแรงงานจึงยังไม่ยอมหยุดหนุนและหยุดอุ้มธุรกิจเบอร์รี่ที่ประเทศร่ำ รวย และไม่ยอมศึกษาความเสียหาย

แม้เปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็ตาม ก็ยังคงดาหน้าดำเนินโครงการหาเงินกู้และรับประกันเงินกู้ ธกส. ส่งคนไทยไปตายเมืองนอกกันต่อไป

กรณีเบอร์รี่เป็นหนึ่งในบทเรียนแห่งการไร้ วิสัยทัศน์ของกระทรวงแรงงาน ของธนาคารของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะ ธกส. (รับไปเต็มๆ) ที่ปล่อยเงินกู้ไม่รู้กี่พันคนจากจำนวนนับ 10,000 คน  แทนที่จะปล่อยเงินกู้เพื่อพัฒนาเกษตรที่ไร่นาของตัวเอง

เป็นการปล่อยให้เกษตรกรไทย ขนเงินออกจากประเทศไทยปีนี้ทั้งสิ้นกว่า 700 ล้านบาท (ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายจากประเทศไทยคนละไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท) เพื่ออุดหนุนธุรกิจค้าแรงงานข้ามชาติชาวไทย และช่วยอุ้มธุรกิจเบอร์รี่ที่ประเทศร่ำรวย ที่ขยายเติบโตอย่างรวดเร็วบนน้ำพักน้ำแรง "ทาสชาวไทย"

ที่ฟินแลนด์ แรงงานไทยแค่หนึ่งในสี่ (3,000 ต่อ 12,000 คน) ของคนเดินทางเก็บเบอร์รี่จากประเทศอ่ืนๆ (โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกและยูเครน) และคนท้องถิ่น แต่สามารถเก็บเบอร์รี่ป้อนอุตสาหกรรมเบอร์รี่ในสัดส่วน 80% ของเบอร์รี่ที่เก็บขายให้บริษัทแปรรูปเบอร์รี่ทั้งหมด

แต่เกือบทุกปี คนงานเก็บเบอร์รี่จำนวนไม่น้อยไม่เหลือเงินติดตัวกลับมาบ้านเลย และส่วนใหญ่กลับพร้อมกับความรู้สึกว่าได้เงินไม่คุ้มค่าเหนื่อย

จากการพูดคุย กับหลายฝ่าย แม้ว่าอุตสาหกรรมเบอร์รี่ต้องการให้คนงานเก่ากลับมา แต่ทุกๆ ปีจะมีคนงานเก่ากลับมาแค่ 40% อีก 60% เป็นคนงานใหม่ แสดงว่าคนงาน 60% ของแต่ละปี มาครั้งเดียวแล้วก็รู้ฤทธิ์ความลำบากและการทำงานฟรี และก็ไม่มาอีก

ความโชคดีบน ความเสียหายของคนจำนวนเยอะกว่า คือ คนไม่ถึง 40% ที่เริ่มชินกับความลำบาก รู้แหล่งเบอร์รี่ดก หรือหาคนงานใหม่มาให้บริษัท (ค่านายหน้าหาคนงานให้บริษัทหัวละ 3,000-5,000 บาท) เพื่อป้อนอุตสาหกรรมแลกกับการได้ลดค่านายหน้าและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายตัวเอง

งานเก็บเบอร์รี่ เป็นงานที่ใช้แรงงานคนแทนเครื่องจักร ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า จนลืมความเป็นมนุษย์ ละเลยเรื่องงานที่มีคุณค่า เรื่องสิทธิแรงงาน และเรื่องสิทธิมนุษยชน

กระทรวงแรงงานต้องหยุดส่งเสริมและหยุดให้อนุญาตนักค้าแรงงานชาวไทยพาคนงานไปทำงานทาสเช่นนี้

และต้องต่อรองกับธุรกิจเบอร์รี่ว่า ถ้าธุรกิจเบอร์รี่ต้องการคนงานไทย ก็ให้จ่ายค่าใช้จ่ายให้คนงานทั้งหมด และดูแลคนงานไทยด้วยความให้เกียรติและปฏิบัติตามหลักกฎหมายฟินแลนด์และ สวีเดน

————————-

ดูเพิ่มเติม จรรยา ยิ้มประเสริฐ: "เจาะลึกและตีแผ่ขบวนการพาคนไทยมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดน ฟินแลนด์"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อลาวติดปีก : ธุรกิจสายการบินลาวทะยานสู่น่านฟ้าเอเชีย

Posted: 11 Oct 2012 12:15 AM PDT

ธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจหนึ่งที่ประสบภาวะซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง นับแต่การก่อวินาศกรรมโดยเครื่องบินในเหตุ 9/11 กับสหรัฐอเมริกาเป็นต้นมา ต้นทุนด้านการรักษาความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สายการบินต่างขาดทุน และทยอยปิดตัวลง สายการบินใหญ่ๆ เช่น United Airlines, Japan Airlines หรือแม้แต่การบินไทย มียอดขาดทุนสะสม ต้องปิดเส้นทางการบินที่ไม่ทำกำไรลงเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสายการบินชนิดต้นทุนต่ำ (Low cost airline) ได้เข้ามาแทนที่ความต้องการในการเดินทางของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่ต้องการลดค่าใช้จ่าย ด้วยการลดบริการส่วนเกิน เช่น อาหารระหว่างเที่ยวบิน ลดขั้นตอนการเช็กอินและออกบอร์ดดิ้งพาสโดยให้ผู้โดยสารบริการตัวเอง สายการบินต้นทุนต่ำเช่น Ryan Air, Aerosvit จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเดินทางของผู้คนทั่วไป ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สายการบิน Air Asia ซึ่งมีฐานการบินที่มาเลเซีย ได้กระตุ้นกระแสสายการบินต้นทุนต่ำให้เกิดขึ้น จนหลายประเทศต่างก็มีสายการบินต้นทุนต่ำเป็นของตัวเอง เช่น นกแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส เซบูแปซิฟิก เป็นต้น

การเดินทางทางอากาศในลาวนั้นเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากถนนหนทางที่ยังไม่ทันสมัย เป็นหลุมบ่อ และสภาพภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาและภูเขาสลับไปมา เส้นทางคดเคี้ยวเลาะเลี้ยวไหล่เขามีอันตรายทั้งจากธรรมชาติ และอันตรายจากมิจฉาชีพที่ซุ่มซ่อนอยู่ เห็นได้จากที่ทางการลาวต้องส่งทหารไปเฝ้าระวังตามสะพานข้ามแม่น้ำลำห้วย และทางขึ้นเขาตามแขวงต่างๆ การเดินทางโดยเครื่องบินที่สะดวกสบายและรวดเร็วกว่า จึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่จำเป็นต้องเดินทางไปมาในประเทศลาว ก่อนหน้านี้ เครื่องบินที่ใช้เดินทางในประเทศลาวมักเป็นเครื่องเช่าเหมาลำ (Charter Flight) โดยผู้โดยสารต้องมีเส้นสายกับนายทหารหรือคนใหญ่โตในพรรคประชาชนปฏิวัติลาวจึงเดินทางได้ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารไม่คุ้มค่าต่อการเปิดเส้นทางการบินพาณิชย์

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเดินทางท่องเที่ยวในลาวได้รับความนิยมมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าไปลงทุนตามแขวงเมืองต่างๆ เริ่มขยายตัว การเดินทางทางอากาศจึงเข้าสู่จุดคุ้มค่าในการประกอบกิจการพาณิชย์ มีสายการบินพาณิชย์หลายสัญชาติมุ่งจุดหมายปลายทางสู่ประเทศลาว โดยส่วนมากเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ บินระยะสั้นจากฮับการบินที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ได้แก่[1]

  • Air Asia เส้นทาง กัวลาลัมเปอร์-เวียงจันทร์
  • Bangkok airways เส้นทางกรุงเทพ-เวียงจันทร์
  • China eastern airline เส้นทางคุนหมิง, หนานหนิง-เวียงจันทร์
  • Jin air เส้นทางโซล, อินชอน-เวียงจันทร์
  • Lao air เส้นทางซำเหนือ-ไซยะบุลี-เวียงจันทร์
  • Lao Airlines เส้นทางกรุงเทพ, บ้านห้วยซาย, ดานัง, ฮานอย, โฮจิมินห์, คุนหมิง, หลวงน้ำทา, หลวงพระบาง, อุดมไซ, ปากเซ, สะหวันนะเขด, เสียมเรียบ, เซียงขวาง, สิงคโปร์-เวียงจันทร์
  • Lao Central Airlines เส้นทางกรุงเทพ, หลวงพระบาง, ปากเซ-เวียงจันทร์
  • Thai airways เส้นทางกรุงเทพ-เวียงจันทร์
  • Vietnam Airlines เส้นทางฮานอย, โฮจิมินห์, พนมเปญ-เวียงจันทร์

รัฐวิสาหกิจการบินลาว (Lao Airlines)[2] ซึ่งมีฐานการบินอยู่ ณ สนามบินนานาชาติวัดไต (Wattay International Airport : VTE) เป็นสายการบินที่รัฐบาลลาวถือหุ้น 100% เดิมการบริการจะเน้นการบริการแก่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล เมื่อมีความต้องการเพิ่มเติมจึงขยายการบริการสู่เอกชน ในปัจจุบันที่การเดินทางทางอากาศเฟื่องฟู สายการบินลาวได้ปรับตัวให้ทันสมัยด้วยการนำเอาระบบซื้อและจองตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเองมาใช้งาน ประกอบกับการขยายเส้นทางการบินไปยังแขวงต่างๆ และวางแผนที่จะขยายเส้นทางการบินต่างประเทศเพิ่มเติมนอกจากไทย กัมพูชา เวียตนาม และมณฑลทางใต้ของจีน โดยสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวนสองลำ จากบริษัทแอร์บัสของฝรั่งเศส และเตรียมเพิ่งเที่ยวบินไปยังนครกวางโจวของจีน กรุงโซลและเมืองปูซานของเกาหลีใต้ และกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น

ท่านสะเหลิม ไตยะลาด หัวหน้าฝ่ายขายและการตลาดของรัฐวิสาหกิจการบินลาว ให้การชี้แจงว่า[3]

"ປັດຈຸບັນ​ນີ້ ​ເຮົາ​ມີ​ແຜນການ​ທີ່​ຈະ​ບິນ​ໄປ​ກວາງ​ໂຈ​ວ​
​ແລະ​ກະບິນ​ໄປ​ໂຊ​ລ​ໄປ​ເກົາຫຼີ​ໃຕ້​ກະ​ມີ​ແຜນ​ຢູ່ ​ແລະ​
ພວກ​ເຮົາ​ກະ​ກໍາລັງ​ສຶກສາ​ຄວາມ​ເປັນ​ໄປ​ໄດ້​ຢູ່ ​ເພາະ
ວ່າ​ທີ​ມງານ​ພວກ​ເຮົາ​ກໍາລັງສຶກສາ​ຄວາມ​ເປັນ​ໄປ​ໄດ້​
ວ່າ​ເຮົາ​ຈະ​ບິນ​ເຂົ້າ​ໄປ​ຊ່ວງ​ໃດ ປະຕິບັດ​ການບິນ​ແບບ​​
ເຊົ່າ​ເໝົາ ຫຼື​ສິ​ເອົາ​ແບບ​ປົກກະຕິ​ອັນ​ນີ້​ພວກ​ເຮົາ​ຕ້ອງ​
ເບິ່ງ​ເພາະວ່າ​ພວກ​ເຮົາ​ກໍ​ຕ້ອງ​ດໍາ​ນຶງ​ເຖິງ​ປະສິດທິ​ຜົນ​
ໃນ​ການ​ດໍາ​ເນີນ​ທຸລະ​ກິດ."

"ปัจจุบันนี้ เรามีแผนการที่จะบินไปกวางโจว และก็บินไปโซล เกาหลีใต้ก็มีแผนอยู่ และพวกเราก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้ว่าเราจะบินไปในช่วงใด ปฏิบัติการบินแบบเช่าเหมา หรือจะเอาแบบปกติก็ต้องดูก่อน เพราะเราต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้วย"

โดยทางรัฐวิสาหกิจการบินลาวคาดว่า รายได้จากการเดินทางทางอากาศจะเพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านดอลลาร์ ในปี 2015 ที่จะถึงนี้

ในส่วนสายการบินเอกชน ประเทศลาวมีสายการบินต้นทุนต่ำสองสายการบิน ให้บริการเส้นทางยอดนิยมเช่น กรุงเทพ-เวียงจันทร์-หลวงพระบาง-ปากเซ-ไซยะบุลี คือ สายการบิน Lao Central Airlines และสายการบิน Lao Air โดยสายการบิน Lao Central Airline เปลี่ยนชื่อจากสายการบินพงสะหวัน ในปี 2012 ให้บริการด้วยเครื่อง Boeing 737-400 จำนวน 2 ลำ และ Sukhoi superjet อีก 3 ลำอยู่ระหว่างการสั่งประกอบ ส่วนสายการบิน Lao Air เป็นสายการบินภายในประเทศ บินด้วยเครื่อง Cessna 208 และบริการเฮลิคอปเตอร์ให้เช่า

ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจในลาว จึงมีตัวเลือกในการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และเสี่ยงต่ออุบัติภัยและโจรภัยน้อยลง




*******************************

 

เกร็ดภาษาลาวประจำวันนี้ เสนอคำว่า ເຮືອບິນ (เฮือบิน) - เครื่องบิน, airplane

ตลกไทยมักเอาคำภาษาลาวมาเล่นให้เข้าใจผิดว่า เครื่องบินนั้น ภาษาลาวเรียกว่า "กำปั่นเหาะ" ซึ่

งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะแท้จริงภาษาลาวเรียกเครื่องบินว่า ເຮືອບິນ 

 




[1] http://worldaerodata.com/wad.cgi?id=LA11076&sch=VLVT

[2] http://www.laoairlines.com/

[3] http://lao.voanews.com/content/laos-airlines-to-expand-its-international-flights-to-china-korea-and-japan/1519572.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น