โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เครือข่ายประชาชนปราจีนบุรี-สระแก้ว-ชลบุรี ทวงสัญญารัฐฯ เร่งประกาศผังเมืองรวมจังหวัด

Posted: 29 Oct 2012 01:56 PM PDT

 

ภาคีเครือข่ายประชาชน ปราจีนบุรี สระแก้ว และชลบุรี บุกทำเนียบเร่งประกาศใช้ผังเมืองรวม 3 จังหวัด เผยล่าช้าเปิดช่องนายทุนกว้านซื้อที่ดินเก็งกำไร ลั่นหากยังไม่เร่งดำเนินการยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป
 
ผังเมืองรวมเมืองชลบุรี
 
วันนี้ (29 ต.ค.55) ดร.สมนึก จงมีวศิน ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายประชาชนจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว และชลบุรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 ต.ค.55 เวลา 10.00 น.ภาคีเครือข่ายประชาชนของทั้งสามจังหวัดจะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ดำเนินการเร่งรัดการบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว และชลบุรี จากกรณีความล่าช้าของการประกาศใช้ผังเมืองรวมได้ก่อให้เกิดปัญหาความเดือดร้อนขึ้นในพื้นที่อย่างมากมาย อาทิ การกว้านซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตเกษตรกรรม และเขตชุมชนตามแบบผังเมืองใหม่ที่ยังไม่ได้มีการประกาศใช้  
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.54 กลุ่มประชาชนภาคตะวันออกจากจังหวัดระยอง สระบุรี และปราจีนบุรี จำนวนประมาณ 900 คน เดินทางมาร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีขอให้เร่งรัดการประกาศใช้ผังเมืองรวมในจังหวัดดังกล่าวข้างต้นโดยเร็ว เนื่องจากความล่าช้าได้ก่อให้เกิดช่องว่างของกฎหมายในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับเรื่องแทน และได้กล่าวกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่าจะเร่งรัดให้มีการประกาศใช้โดยเร็ว โดยขอเวลา 45 วัน นับตั้งแต่วันที่รับหนังสือ
 
อย่างไรก็ตาม จากเวลา 45 วัน ตามที่รับปากไว้ จนถึงปัจจุบันถือเป็นความล่าช้าเกินสมควร และได้ส่งผลเสียหายอย่างมากมายต่อประชาชน ดังนั้นภาคีเครือข่ายประชาชนจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว และชลบุรี จึงเรียกร้องให้เร่งรัดและประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมของจังหวัดปราจีนบุรีให้เป็นตัวอย่างของความเอาจริงเอาจังที่จะปกป้องสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สอดคล้องกับบริบท และเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเร่งรัดให้ขั้นตอนการประกาศใช้ผังเมืองรวมของจังหวัดสระแก้วและชลบุรีนั้นเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชนในพื้นที่ตามเจตนารมณ์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11  
 
ทั้งนี้ จากการติดตามการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัด ทำให้ภาคีเครือข่ายประชาชนของทั้งสามจังหวัดทราบว่าการดำเนินการของจังหวัดปราจีนบุรีอยู่ในขั้นตอนที่ 23 ส่วนการดำเนินการของจังหวัดสระแก้วและชลบุรีอยู่ในขั้นตอนที่ 20 จากทั้งหมด 24 ขั้นตอน โดยเฉพาะผังเมืองรวมของจังหวัดปราจีนบุรีนั้นเหลือเพียงรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามในประกาศกฎกระทรวงฯ เพื่อจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น
 
ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายประชาชนฯ ระบุด้วยว่าหลังจากยื่นหนังสือแล้ว หากภายในวันที่ 30 พ.ย.55 ยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองรวมของจังหวัดปราจีนบุรี และการเร่งรัดที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนของผังเมืองรวมจังหวัดสระแก้วและจังหวัดชลบุรี โดยยึดถือเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากทางนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก ทางภาคีเครือข่ายประชาชนทั้งสามจังหวัดก็จะมีมาตรการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นในลำดับต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบางสะพานจี้ ‘กนอ.’ ยกเลิกสัญญาร่วมสหวิริยาตั้ง ‘นิคมฯ เหล็ก’

Posted: 29 Oct 2012 12:20 PM PDT

เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพานพบการนิคมฯ ร้องยกเลิกสัญญาร่วมดำเนินการกับบริษัทสหวิริยา ตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ ชี้ที่ดินในโครงการบางส่วนได้มาโดยมิชอบ และกรมที่ดินได้มีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์แล้ว

 
วันนี้ (29 ต.ค.55) เวลา 9:00 น. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน เดินทางไปยังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกสัญญาร่วมดำเนินการกับบริษัทสหวิริยาในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากที่ดินที่จะใช้ในโครงการบางส่วน ได้มาโดยมิชอบ และกรมที่ดินได้มีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์แล้ว
 
จากกรณีเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ฯ บางสะพานได้รับทราบข่าวว่า กนอ.จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน เนื่องจากที่ดินที่จะใช้ในโครงการบางส่วนเป็นที่ดินที่ได้มาโดยมิชอบและกรมที่ดินได้มีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์แล้ว โดย กนอ.จะกันพื้นที่บางส่วนออกและให้บริษัทสหวิริยาดำเนินโครงการต่อไป
 
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรม กล่าวชี้แจงถึงการที่ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที ตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง เนื่องจากข้อมูลทุจริตที่ดินที่ชาวบ้านเปิดเผย เกิดขึ้นก่อนคณะกรรมการชุดนี้รับตำแหน่ง และกรรมการหลายคนไม่ได้รับรู้ข้อมูลนี้มาก่อน จึงต้องขอเวลาพิจารณา ขณะที่เบื้องต้นทางการนิคมอุตสาหกรรมรับว่าจะปรับลดพื้นที่ โดยกันพื้นที่ 1,997 ไร่ ที่มีปัญหาออก เหลือพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม 4,406 ไร่
 
ด้านนางจินตนา แก้วขาว แกนนำชาวบ้านแสดงความเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวยังคงเป็นการเปิดช่องให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมเหล็กได้ โดยนอกจากโครงการนี้จะขัดหลักธรรมาภิบาล ยังอาจส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพราะพื้นที่โครงการติดกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ หากเกิดเขตอุตสาหกรรมหนักจะส่งผลเสียหายต่อการประกอบอาชีพเกษตร และการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้าน
 
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน เนื้อที่ประมาณ 6,400 ไร่ ในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีปัญหาการออกเอกสารสิทธิมิชอบ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตวนอุทยาน โดยกรมที่ดินมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิจำนวน 52 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 712 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.53 แต่จนถึงปัจจุบัน กนอ.ยังคงไม่ทบทวนสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทสหวิริยา
 
 
ที่มา: เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจากผู้จัดการออนไลน์
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรื่องจริงไม่อิงนิยายของราชสำนักกัมพูชา (2): ชายาของพ่อ

Posted: 29 Oct 2012 12:10 PM PDT

 

พระบาทสมเด็จสุรมฤต และพระนางกุสุมะ นารีรัตน์ ในพิธีราชาภิเษก ปี พ.ศ.2498

กษัตริย์สีหนุ กับพระบิดาและพระมารดา

 

หลังจากที่เจ้ารณฤทธิ์ประสูติ มารดาของท่านได้อำลาจากที่พำนักบนถนนสุธารถไปใช้ชีวิตอยู่ในเมือง สนมคนงามวัย 22 ปี ผู้จดทะเบียนสมรสกับกษัตริย์สีหนุ ในปี 2485 ไม่ได้รับการเหลียวแลจากสามีที่หันไปหลงใหลสตรีอื่น

ในที่สุด เนียก โมเนียง พัต กันฮอล มารดาของเจ้ารณฤทธิ์ตัดสินใจตัดขาดความสัมพันธ์กับกษัตริย์สีหนุ และแต่งงานใหม่กับนายทหารชื่อจาบ ฮวด (Chap Huot) ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 5 คน ลูก 4 คนของทั้งสองตายในช่วงการยึดครองของเขมรแดง ลูกคนเดียวที่เหลือรอดชีวิตมาได้คือ จาบ เนลีวอล (Chap Nhalyvoul)  ส่วนพัต กันฮอลเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ในปี พ.ศ.2512 ในวัย 49 ปี ร่างของเธอถูกฝังไว้ที่กรุงพนมเปญ จาบ ฮวด สามีใหม่ของเธอตายในปีต่อมาในเหตุการณ์ลอบวางระเบิดก่อนที่กษัตริย์สีหนุจะถูกโค่นราชอำนาจในปีเดียวกัน

จาบ เนลีวอล น้องชายต่างบิดาของเจ้าชายรณฤทธิ์ เกิดในปี พ.ศ.2495 ตอนที่สูญเสียทั้งบิดามารดานั้นเขายังอยู่ในช่วงเป็นวัยรุ่น เนลีวอลได้รับการศึกษาในฝรั่งเศสเช่นเดียวกับเจ้ารณฤทธิ์  และได้เข้าร่วมในการต่อต้านการปกครองของระบอบเฮง สัมริน ที่สนับสนุนเวียดนาม  หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.2541 เนลีวอลได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเสียมเรียบ เขาเล่าให้ Harish C. Mehta ผู้เขียนหนังสือ "Warrior Prince" ฟังว่าในช่วงเวลานั้น "เสียมเรียบของเรากำลังคืนกลับมาสู่ความมีชีวิตชีวา มีนักท่องเที่ยวหลายพันคนแห่กันมาดูซากปรักหักพังของนครวัด"

เมื่อเติบโตและหันไปมองย้อนอดีตความสัมพันธ์ระหว่างบิดาและมารดา  เจ้ารณฤทธิ์พบว่ามีเหตุผลมากมายที่กษัตริย์สีหนุจะไม่สนใจที่เหนี่ยวรั้งมารดาของท่านไว้ในฐานะพระสนมของพระเจ้าแผ่นดินอีกต่อไป

"โอ! ถ้าคุณมีภรรยา 6 คนนี่ มีเหตุผลมากพอทีเดียว...มีคนบอกกับข้าพเจ้าว่าพ่อมีเหตุผลมากพอทีเดียว และท่านมีภรรยาแค่ 6 คน เพราะปู่ของข้าพเจ้ามีสนมตั้ง 360 คน มีเวลาว่างแค่ 5 วันในหนึ่งปี"

พระคลังหลวงตั้งงบประมาณไว้สำหรับค่าใช้จ่ายและการเลี้ยงดูชายาและสนมรวมทั้งโอรสและธิดาของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นภาระที่หนักมากของพระคลัง

กษัตริย์สีหนุมีชายาและสนม 6 คน และมีโอรสธิดารวม 14 คน 

ชายาที่ให้กำเนิดโอรสและธิดากับกษัตริย์สีหนุมากที่สุด คือ เจ้าหญิงพงสานมุนี ผู้มีศักดิ์เป็นเจ้าน้าของพระองค์ด้วย ทั้งสองสมรสกันปี 2485 และหย่าขาดจากกันปี 2494 มีโอรสธิดาด้วยกันรวม 7 คน เจ้าหญิงพงสานมุนี สิ้นในปี พ.ศ.2517

พระญาติอีกสองท่านที่กลายมาเป็นชายาของกษัตริย์สีหนุ คือ เจ้าหญิงมุนีเกสร (Princess Monikessan) และเจ้าหญิงถาเวท นรลักษณ์ (Norodom Thavet Norleak) เจ้าหญิงนรลักษณ์ได้หย่ากับเจ้านโรดม วกรีวรรณ (Norodom Vakrivan) ในปี พ.ศ.2488 และเสกสมรสกับกษัตริย์สีหนุในปีต่อมา

ความทรงจำในวัยเด็กของเจ้ารณฤทธิ์ต่อบรรดาชายาและพระสนมของพระบิดา คือ

"ต่างคนต่างอยู่ ไม่สมาคมกัน ข้าพเจ้าไม่เคยพบเจ้าหญิงมุนีเกสร เพราะท่านสิ้นตอนที่นรธีโป (Naradipo) เกิดเมื่อปี พ.ศ.2489 ข้าพเจ้ารู้สึกใกล้ชิดกับภรรยาของพ่อทุกคน ซึ่งทุกคนเมตตาข้าพเจ้ามาก เป็นความโชคดีของข้าพเจ้า"

ส่วนความสัมพันธ์ในระหว่างพี่น้องร่วมพระบิดา คือ เจ้าชายนรทีโป เจ้าชายจักรพงศ์ (Prince Chakkrapong)  เจ้าหญิงอรุณรัศมี  (Princess Arunrasmey) และเจ้าหญิงสุชาตา (Princess Suchata) นั้น เจ้าชายรณฤทธิ์เล่าว่า

"ตอนเป็นเด็ก พวกเราพบกันบ่อย  ข้าพเจ้าสนิทกับอรุณรัศมีและสุชาตามาก เราโตมาด้วยกัน เพราะตอนที่พ่อพาหม่อมมุนีวรรณ (Princess Mam Manivann) ซึ่งเป็นมารดาของทั้งสองคนมาจากลาวนั้น พ่อเอาหม่อมมาฝากไว้ในความดูแลของเจ้าย่า"

ในปี พ.ศ.2544 ที่กษัตริย์สีหนุและพระราชินีโมนิกประทับอยู่ที่ฝรั่งเศสนั้น ชายาอีกท่าน คือ เจ้าหญิงถาเวท นรลักษณ์ อยู่ที่ฝรั่งเศสด้วย    แต่ท่านมีปัญหาด้านสุขภาพ จึงมีเพียงราชินีโมนิกที่อยู่เคียงข้างกษัตริย์สีหนุตลอดเวลา  เจ้าชายรณฤทธิ์เล่าว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสามคนนั้นราบรื่น  เจ้าหญิงนรลักษณ์ ยังคงติดต่อกับสมเด็จเจ้านโรดม สีหนุ ทั้งสองเขียนจดหมายถึงกันตลอดช่วง 30 ปีนับตั้งแต่กษัตริย์สีหนุถูกยึดอำนาจเมื่อปี พ.ศ.2517 ข้าราชบริพารใกล้ชิดของกษัตริย์สีหนุ เล่าว่า

"เจ้าหญิงนรลักษณ์ส่งของขวัญวันเกิดและในวาระพิเศษอื่นๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ของกัมพูชา มาถวายสมเด็จนโรดม สีหนุ อยู่เสมอ และพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงส่งของขวัญวันเกิดและเงินไปให้อดีตชายาอยู่เสมอเช่นกัน"

ส่วนราชินีโมนิกนั้นเปิดพระทัยกว้างและไม่เคยขัดขวางการติดต่อทางจดหมายระหว่างกษัตริย์สีหนุและอดีตชายา บางครั้งพระนางยังได้เขียนข้อความต่อท้ายและร่วมลงพระนามในจดหมายที่สมเด็จเจ้านโรดม สีหนุ เขียนถึงเจ้าหญิงนรลักษณ์ด้วย

ราชินีโมนิก เกิดในปี พ.ศ.2479 เป็นสาวงามที่โดดเด่นอยู่ในสังคมพนมเปญด้วยความงามจากสายเลือดผสมอิตาเลี่ยน-ฝรั่งเศส (Franco-Italian) ของบิดา Francois Izzi และเลือดผสมเขมร-เวียดนาม ของมารดา ปอมมี เป็ง (Pomme Peang) ความงามเจิดจรัสจับตาในวัยสาวของพระนางโมนิกทำให้กษัตริย์แห่งกัมพูชาคลั่งไคล้หลงใหลนับแต่แรกพบ

บรรยากาศในพระราชวังนั้นเต็มไปด้วยพิธีรีตอง การเข้าเฝ้าของบรรดาโอรสธิดาจะต้องได้รับพระราชทานอนุญาตจากกษัตริย์สีหนุก่อน พระบิดามักโปรดให้โอรสธิดาร่วมเสวยพระกายาหารกลางวันและมื้อค่ำ และมักจะทรงเล่นแซกโซโฟนให้ลูกๆ ฟัง  สมเด็จนโรดม สีหนุไม่โปรดอาหารเขมร  พระองค์ทรงโปรดอาหารฝรั่งเศส และอาหารบนโต๊ะเสวยจะเป็นอาหารฝรั่งเศสทั้งหมด  เจ้ารณฤทธิ์ก็โปรดอาหารฝรั่งเศสเช่นเดียวกับพระบิดา

เจ้ารณฤทธิ์ไปที่พระราชวังบ่อย แต่ไม่ได้ไปเข้าเฝ้าพระบิดา ท่านไปเยี่ยมสมเด็จปู่และสมเด็จย่า คือ สมเด็จเจ้าสุรมฤต และพระนางกุสุมะ นารีรัตน์ ทั้งสองพระองค์โปรดปรานรักใคร่เจ้าชายรณฤทธิ์และเจ้าหญิงบุปผาเทวีมาก นอกจากสืบสายเลือดศิลปินจากมารดาแล้ว เจ้าหญิงบุปผาเทวียังได้รับอิทธิพลจากสมเด็จย่าที่อนุรักษ์นาฏศิลป์เขมรราชสำนักไว้

กษัตริย์สีหนุเป็นผู้ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่วรวมทั้งคลั่งใคล้ความเป็นฝรั่งเศส ซึ่งได้ตกทอดมาถึงลูกๆด้วย

ความทรงจำในวัยเด็กของเจ้ารณฤทธิ์ที่มีต่อความสัมพันธ์กับพ่อ คือ ลูกๆ ของกษัตริย์สีหนุถูกเข้มงวดในเรื่องการศึกษา และไม่ค่อยมีโอกาสได้ตามเสด็จพระบิดา "พ่อไม่เคยพาพวกเราออกไปทานอาหารนอกบ้านเหมือนพ่อแม่คนอื่น"

ครั้งหนึ่ง เจ้ารณฤทธิ์มีโอกาสตามเสด็จไปพักผ่อนที่บ้านพักตากอากาศสไตล์ฝรั่งเศส ริมทะเล Kep และเกาะรอบๆ ที่อยู่ในภาคใต้ของกัมพูชา

"พวกเราไม่เคยไปเที่ยวด้วยกันเป็นส่วนตัวแบบพ่อลูก ข้าพเจ้าจะติดตามไปพร้อมกับหม่อมมุนีวรรณ หรือไม่ก็พระนางโมนิก กับพ่อนี่ พวกเราไม่สามารถที่จะแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นได้เลย พ่อพูดมากและคุ้นเคยกับการแสดงความเห็นของตัวเองให้ผู้ติดตามฟัง แต่ข้าพเจ้าไม่ได้รู้สึกเบื่อกับประเด็นสนทนาของพ่อ เพราะข้าพเจ้าสนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว"

แต่สิ่งที่ร้าวรานอยู่ในความทรงจำของเจ้ารณฤทธิ์นั้น คือ พระบิดาไม่เคยพูดจาสื่อสารตรงกับท่านแบบพ่อกับลูกชายเลย

"พ่อจะพูดกับลูกทั้งหมดพร้อมๆ กัน พ่อรักการเมืองมาก พระองค์เป็นนักการเมืองที่ยิ่งใหญ่ของกัมพูชา แต่พ่อไม่ต้องการให้ลูกๆ เข้ามาสู่การเมือง จึงมักจะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงเรื่องการเมืองกับพวกเรา"

เจ้ารณฤทธิ์ถูกส่งเข้าเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนประถมศึกษาของกัมพูชา ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับบ้านบนถนนสุธารถ ท่านได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ไม่มีการจัดเตรียมห้องเรียนพิเศษ หรือครูพิเศษสำหรับท่านเป็นการเฉพาะ ต่อมา ท่านถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนนโรดม ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาที่มีการเรียนการสอนระบบฝรั่งเศส และย้ายไปเรียนที่ Lycee Descartes เจ้ารณฤทธิ์ทำคะแนนได้ดีในวิชาวรรณคดี ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แต่ได้คะแนนต่ำมากในวิชาคณิตศาสตร์และเคมี  ท่านเป็นนักกีฬาเช่นเดียวกับพระบิดา เจ้ารณฤทธิ์ชอบเล่นฟุตบอลและบาสเกตบอล

เจ้าชายรณฤทธิ์มีชันษาเพียง 11 ปีเมื่อพระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุทรงสละราชสมบัติครั้งแรกในปี 2498 เจ้าชายจำได้ว่าวันนั้นน้ำตาท่วมวัง

"สิ่งที่ข้าพเจ้าจำได้คือทั้งเจ้าปู่และเจ้าย่าร้องไห้อย่างหนัก ได้ยินเสียงร่ำไห้ทุกที่ ไม่มีใครอยากให้พ่อสละราชย์"

แต่กษัตริย์สีหนุตัดสินพระทัยแน่วแน่ที่จะลงไปเล่นการเมืองกับสามัญชน ทรงยกราชบังลังก์กัมพูชาให้กับพระบิดาของพระองค์ คือ เจ้าชายสุรมฤต ส่วนพระองค์ที่กลายเป็นอดีตกษัตริย์สีหนุเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ชื่อ พรรคสังคมราษฎรนิยม (Sangkum Reastr Niyum) ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา และทรงชนะเลือกตั้งในปีนั้นเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปล่อยตัว 2 ผู้เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 คืนสู่สังคม

Posted: 29 Oct 2012 07:51 AM PDT

แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรให้กับผู้สำเร็จการฝึกอบรมแทนการฟ้อง ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 21 ตามนโยบายการเมืองนำการทหารแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกาศให้เป็นพื้นที่ใช้กฎหมายทางเลือกด้วยการอบรมแทนการฟ้องคดี

29 ต.ค. 2555 เวลา 13.30 น. พันเอกปราโมทย์  พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์/โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ที่ศาลจังหวัดนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนาทวี ได้มีคำพิพากษาระงับการฟ้องคดีและปล่อยตัว 2 ผู้เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 ซึ่งได้ดำเนินการอบรมแทนการฟ้องตามหลักสูตรสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วันที่27 เมษายน 2555 สิ้นสุดการฝึกอบรม เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2555  ที่ผ่าน

ทั้งนี้ศาลนาทวีอ่านคำสั่งปล่อยตัวผู้เข้ารับการอบรมแทนการฟ้อง ในวันที่ 29 ตุลาคม 2555 จำนวน 2 รายคือ นายรอยาลี บือราเฮง อายุ 28 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดนาทวี ที่ 244/2554 ลง 28 กันยายน 2554 สถานีตำรวจภูธรเทพา คดีร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน พฤติกรรมเมื่อ 25 สิงหาคม 2554 เวลา 17.45 น. ร่วมกับพวกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองหมู่บ้านเกาะแลหนัง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย คือ อาสาสมัครทหารพราน  บาราเหม แฉะ และอาสาสมัครทหารพรานมะนาวี  อาหะมะ และผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย คือ นายนูรดีน  แม

ผู้ต้องหารายที่ 2 คือ นายยาซะ  เจะหมะ อายุ ๒๕ ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดสงขลา ที่ 611/2551 ลง 9 กรกฎาคม 2551 สถานีตำรวจภูธรสะบ้าย้อย ร่วมกันก่อการร้าย พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พฤติกรรม เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2547 เวลาประมาณ 19.30 น. คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ยิงนายสุชาติ  อุดม อายุ 45 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดบริเวณริมถนนสายอำเภอสะบ้าย้อย-คูหา หมู่ 1 ตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา

ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายการเมืองนำการทหารเข้ามาในการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ประกาศให้ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ใช้กฎหมายทางเลือกที่นำมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการอบรมแทนการฟ้องคดี เป็นบทบัญญัติที่มุ่งแก้ไขความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้โอกาสผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเข้ารับการอบรมตามคำสั่งศาล แทนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ แต่โอกาสนี้จะมีให้ก็แต่ผู้ที่ได้กระทำความผิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือโดยหลงผิด และต้องได้ความว่า ผู้กระทำผิดเหล่านี้ ต้องการกลับใจและเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

บทบัญญัติมาตรา 21 เป็นมิติใหม่ในการบริหารงานยุติธรรม ซึ่งเป็นการอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นทั้งกับผู้ต้องหาและผู้ที่ได้รับผลกระทบ สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักคือ บทบัญญัตินี้ให้ผู้ต้องหาเข้ารับการอบรมแทนการฟ้อง  ก็ต่อเมื่อผู้ต้องหายินยอมเท่านั้น ไม่มีบุคคลใดสามารถใช้อำนาจบังคับได้โดยเด็ดขาด มาตรา ๒๑ จึงเป็นกฎหมายทางเลือกเพื่อมุ่งสู่ความสมานฉันท์อย่างแท้จริง และสอดคล้องกับนโยบายสานใจสู่สันติ ของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ที่ต้องการให้ทุกคนกลับสู่สังคม กลับสู่ภูมิลำเนาของตัวเอง อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องหลบหนีอีกต่อไป

ในการนี้ พลโท อุดมชัย  ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรให้กับผู้สำเร็จการฝึกอบรมแทนการฟ้อง ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 21 โดยมี  พันเอก ชัชภณ  สว่างโชติ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รายงานการฝึกอบรมหลักสูตรสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง และเรียนเชิญ นางอารี  เตชะวันโต ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดนราธิวาส มอบวุฒิบัตรการฝึกอบรมวิชาชีพช่างถ่ายภาพ,ช่างตัดผม และช่างซ่อมคอมพิวเตอร์แก่ผู้สำเร็จการอบรม และได้เรียนเชิญประธานในพิธี มอบวุฒิบัตรและอุปกรณ์การประกอบอาชีพ แก่ผู้สำเร็จการอบรมหลักสูตรสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง และให้โอวาทแก่ผู้สำเร็จการอบรมพร้อมทักทายญาติผู้สำเร็จในครั้งนี้ด้วย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานวิจัยเผยคนงานอังกฤษเกือบ 5 ล้าน รายได้ต่ำกว่าค่าครองชีพ

Posted: 29 Oct 2012 07:44 AM PDT

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว The Independent ของอังกฤษ เปิดเผยผลสำรวจว่า คนงานเกือบ 5 ล้านคนในเครือสหราชอาณาจักรได้รับค่าแรงน้อยกว่าค่าครองชีพขั้นต่ำ จากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน (double-dip recession)
 
รายงานผลสำรวจจากบริษัทบัญชี KPMG เปิดเผยว่า คนงานเครือสหราชอาณาจักรเกือบ 5 ล้านคน ได้รับค่าแรงขั้นต่ำเพียง 8.30 ปอนด์ (ราว 410 บาท) ต่อชั่วโมงในลอนดอน และ 7.30 ปอนด์ (ราว 360 บาท) ต่อชั่วโมงนอกเมืองหลวง ทั้งคนทำงานดูแลผู้สูงอายุ พนักงานบาร์ บริกร และพนักงานขายของ ต่างก็ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากภาวเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้
 
การวิจัยในครั้งนี้เผยแพร่ก่อนหน้า 'สัปดาห์ค่าแรงที่สามารถดำรงชีพได้' (Living Wage Week) ซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 4 พ.ย. นี้ และจะมีการประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำใหม่ทั้งในลอนดอนและในส่วนอื่นๆ ของประเทศ
 
มีลูกจ้างจำนวนหนึ่งที่ยอมรับมาตรฐานตรงนี้เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศอังกฤษคือ 6.19 ปอนด์ (ราว 305 บาท) ต่อชั่วโมง แต่กลุ่มนักรณรงค์บอกว่าจำนวนค่าแรงเท่านี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และคนงานเหล่านี้ต้องมาแบกรับภาระจากสภาพเศรษฐกิจถดถอย จากการที่ถูกลดรายได้ ถูกเพิ่มภาษี บวกกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงมาก
 
ผลการวิจัยครั้งนี้เปิดเผยอีกว่าคนดูแลผู้สูงอายุ, คนงานบาร์, คนทำงานในร้านอาหาร, พนักงานจัดเลี้ยง และพนักงานร้านขายของได้รับผลกระทบเลวร้ายที่สุดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในขณะที่ทางการของอังกฤษเปิดเผยว่าเศรษฐกิจของประเทศปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดม้าย โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 1
 
แต่ในรายงานผลการวิจัยก็บอกว่าสำหรับกลุ่มคนรายได้น้อยไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ กับการปรับตัวสูงขึ้นของเศรษฐกิจเลย โดยที่กลุ่มคนงานรายได้ต่ำ 4 ใน 10 ส่วนบอกว่าภาวะการเงินของพวกเขาแย่ลงกว่าช่วงเดือนทีผ่านมา โดยที่กลุ่มคนรายได้สูงกว่าขั้นต่ำมีอยู่เพียงร้อยละ 25 ของอังกฤษ
 
วัดตามอัตราส่วนประชากรแล้ว ไอร์แลนด์เหนือมีอัตราคนทำงานรายได้ต่ำกว่าที่จะสามารถดำรงชีพได้ (Living Wage) มากที่สุด ตามมาด้วยแคว้นเวลส์ (ร้อยละ 23) ขณะที่อังกฤษและสก็อตแลนด์ต่างมีตัวเลขอยู่ที่ราว 570,000 คน ด้วยกันทั้งคู่
 
กลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำกว่าที่จะสามารถดำรงชีพได้ราวร้อยละ 38 บอกว่าพวกเขามีฐานะการเงินแย่ลงกว่าเดือนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27 ที่ได้รับรายได้สูงกว่า เป็นตัวชี้วัดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ได้ให้ประโยชน์คนที่กำลังต้องการมากที่สุด
 
ฟรานเซส โอ'เกรดดี้ เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานประเทศอังกฤษ (TUC) เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ปรับมาตรการค่าแรงใหม่ โดยบอกว่าเป็นเรื่องน่าตกใจมากที่มีคนงาน 1 ใน 5 พยายามดิ้นรนเอาตัวรอดโดยรายได้ต่ำกว่ามาตรฐาน
 
ฟรานเซสกล่าวเสริมว่า "ค่าแรงที่สามารถดำรงชีพได้ ไม่ใช่ความฟุ่มเฟือย และหมายความว่าคนงานที่ได้รับค่าแรงน้อยไม่มีทางเลือกมากในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่นบิลค่าน้ำมันหรือเสื้อคลุมฤดูหนาวสำหรับเด็ก"
 
"ในตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่นายจ้างจะต้องหยุดให้คนจนแบกรับภาระรายจ่าย" ฟรานเซสกล่าว
 
รีส มัวร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิลีฟวิ่งเวจกล่าวว่า "การจ่ายค่าพื้นฐานการดำรงชีพให้กับคนงานจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตคนทำความสะอาด, คนขายอาหาร และเจ้าหน้าที่ยาม กว่าหลายพันคนทั่วประเทศอังกฤษ เป็นเรื่องน่าสนับสนุนที่ในตอนนี้ได้เห็นองค์กรราว 100 องค์กรร่วมลงนามอนุญาต แต่ก็ยังมีองค์กรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ร่วมลงนาม"
 
มาเรียน ฟอลลอน หัวหน้าฝ่ายกิจการบรรษัทของ KPMG บอกว่า มันมีเหตุผลที่ดีทางธุรกิจในการยอมรับมาตรฐานค่าจ้างที่สามารถดำรงชีพได้ เช่นการช่วยเพื่มผลงานและแรงจูงใจให้กับคนงาน การลดจำนวนคนลางานและขาดงานโดยออกใบเสร็จค่าจ้างมาตรฐานการดำรงชีพให้ ชดเชยค่าความเสียหายจากการมีคนขาดงาน
 
 
ที่มา
Scandal of 5m on less than the living wage, The Independent, 28-10-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ทศวรรษ การมีส่วนร่วมของประชาชน สู่ความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

Posted: 29 Oct 2012 07:09 AM PDT

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ในโอกาสครบรอบ 10 ปี การจัดรัฐสวัสดิการด้านสุขภาพระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ ออกคำประกาศและข้อเสนอนโยบาย 1 ทศวรรษ การมีส่วนร่วมของประชาชนสู่ความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

0 0 0

คำประกาศและข้อเสนอนโยบาย

1 ทศวรรษ การมีส่วนร่วมของประชาชน
สู่ความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โอกาสครบรอบ 10 ปี การจัดรัฐสวัสดิการด้านสุขภาพ
ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
หลักประกันคุณภาพชีวิตคนไทย ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และ
สร้างความเป็นธรรม ให้กับประชาชนพลเมืองผู้เสียภาษีทุกคน

วันนี้เรามาร่วมกันเพื่อยืนยันเจตจำนงของประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในนามประชาชนผู้มีความรักและมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ก้าวหน้า เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทุกคนที่อาศัยบนแผ่นดินไทย

เราในนามประชาชนผู้เสียภาษีให้รัฐทั้งทางตรง และทางอ้อมใคร่ขอกล่าวสดุดีการดำเนินการสร้างหลักประกันชีวิตของทุกคนที่เจ็บป่วยให้สามารถเข้าไปรับบริการรักษาที่หน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องมีผู้ป่วยอนาถาอีกต่อไป เพราะรัฐได้จัดสรรงบประมาณค่ารักษาให้ทุกคนแล้วในรูปสวัสดิการถ้วนหน้าจากเงินภาษีประชาชน  

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ประชาชนไม่ต้องเผชิญกับภาวะล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาอีกต่อไป ช่วยลดความยากจนจากการต้องเป็นหนี้สินจากการรักษาพยาบาล  ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน คนรวย เนื่องเพราะทุกคนได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ มาตรฐานเดียวกัน แม้จะยังไม่อาจลดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างกลุ่มคนในประกันสังคม กลุ่มคนในบัตรทองรวมถึงกลุ่มคนในระบบราชการได้

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้การกำหนดนโยบายของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ ที่ประกอบไปด้วยภาคประชาชน ภาคราชการ ภาควิชาชีพ และฝ่ายนโยบายของพรรคการเมือง(ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล) ได้ร่วมกันสร้างแนวทางที่ดีตามเจตนารมย์ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการจัดการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูเยียวยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามมาตรา 47 ที่มีการจัดสรรงบประมาณให้จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพื่อให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคด้วยตนเอง เพื่อสร้างความยั่งยืนในการจัดการด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม มีการดำเนินการตามเจตนารมย์ของกฎหมาย โดยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนประชาชนเข้าเป็นกรรมการบริหารกองทุน รวมถึงให้เครือข่ายประชาชน องค์กรประชาชน สามารถเสนอโครงการรับงบประมาณจากกองทุนเพื่อใช้ในการจัดการสุขภาพของตนเองด้วยตัวเอง

การดำเนินการตามเจตนารมย์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับโดยประชาชนและองค์กรเอกชนสาธารณะประโยชน์ที่ทำงานด้านต่างๆอย่างน้อย 9 ด้าน ตามกฎหมาย มีตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อกำหนดนโยบายระดับประเทศ มีตัวแทนเข้าเป็นคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับชาติ  รวมถึงคณะอนุกรรมการในระดับเขต ระดับจังหวัด ที่ระบบหลักประกันสุขภาพได้กำหนดให้ตัวแทนประชาชนเข้าเป็นกรรมการด้วย ในการทำหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการในส่วนภาคประชาชนได้มีส่วนผลักดันให้มีการกำหนดนโยบายและการดำเนินการเพื่อสร้างให้มีการเข้าถึงบริการที่จำเป็น โดยการสร้างความเข้าใจและความตระหนักในปัญหาในมุมมองของภาคประชาชน หรือผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูง

10 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือ สามารถให้การรักษาได้ครอบคลุมโรค ทั้งไตวายเรื้อรัง เอดส์ มะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่อาจทำให้เกิดความล้มละลายของประชาชน การสร้างมาตรฐานการรักษาโดยการใช้ระบบบัญชียาอย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินการเพื่อให้ได้ยาราคาที่เหมาะสม แม้ยาบางชนิดจะติดสิทธิบัตรที่ทำให้ราคายาสูงมาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็กล้าที่จะใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรตามเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก ทำให้ไทยมียาต้านไวรัสเอชไอวี ยารักษาโรคหัวใจ และยารักษามะเร็ง ในราคาที่เหมาะสมไม่ค้ากำไรเกินควร เหล่านี้ เป็นกระบวนการที่เครือข่ายประชาชน โดยเฉพาะเครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรังได้มีส่วนร่วมผลักดัน ขับเคลื่อนให้รัฐไทยดำเนินการมาตรการเหล่านี้

ความก้าวหน้าในการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกประการหนึ่งคือ การจัดตั้งและดำเนินการ "ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน" ในจังหวัด อำเภอ ตำบล เพื่อเป็นหน่วยขับเคลื่อนงานการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ มีส่วนร่วมเป็นตัวแทนในคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ระดับเขต และในกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่ โดยศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ทำหน้าที่เป็นหน่วยให้ความรู้ ข้อมูล และคุ้มครองสิทธิประชาชนให้สามารถเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

10 ปีของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นับว่าเป็นเวลายาวนานพอสมควร ยังมีหนทางข้างหน้าอีกยาวไกลที่ระบบจะต้องดำรงอยู่อย่างยั่งยืน และมีคุณภาพ สำหรับประชาชนทุกคน  วันนี้ เราประชาชนมารวมตัวกันเพื่อทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา และเพื่อผนึกกำลังช่วยกันทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบสำหรับประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง ไม่มีความเหลื่อมล้ำ แต่มีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกัน โดยมีข้อเสนอเพื่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้

ข้อเสนอต่อรัฐบาล
1. ต้องยืนยันในนโยบายการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพสู่ระบบที่มีความเท่าเทียมทางสุขภาพ โดยพัฒนาเป็นระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวสำหรับทุกคน

             1.1 ทำตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 9 มาตรา 10 ขยายความครอบคลุมไปยังผู้มีสิทธิอื่น ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมและอื่นๆ

             1.2 สร้างระบบในการบริหารจัดการทุกกองทุนด้านสุขภาพให้เป็นระบบเดียวกัน

             1.3 มีชุดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมกลุ่มบุคคล โดยคำนึงถึงปัญหาเฉพาะของประชากรทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัยเป็นสำคัญ และมีคุณภาพมาตรฐานการรักษาเดียวกัน

             1.4 พัฒนาการเข้าถึงสิทธิ การใช้สิทธิของประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค เท่าเทียมเน้นการใช้ระบบการเงินการคลังของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

             1.5 ให้ใช้อัตราและวิธีการจ่ายค่าบริการให้หน่วยบริการเป็นมาตรฐานเดียวในทุกกองทุนสุขภาพ

             1.6 เร่งออก พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข เพื่อให้เป็นกลไกคุ้มครองสิทธิสำหรับประชาชนทุกคน

2. ให้จัดการเรื่องระบบการเงินการคลังของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความยั่งยืนของระบบ ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายผ่านการจัดการระบบภาษีด้านสุขภาพ หรือภาษีอื่นที่เป็นธรรมเหมาะสมกับสังคมไทย การจัดการเรื่องระบบภาษีของประเทศให้มีประสิทธิภาพเป็นจริงตามสภาพรายได้ การมีงานทำ และการใช้อัตราภาษีก้าวหน้าเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน ภาษีสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่ก่อปัญหามลพิษ ภาษีจากการลงทุนของทุนข้ามชาติ การยุติการยกเว้นภาษีส่งเสริมการลงทุน  

3. ให้ทุกคนที่อาศัยบนแผ่นดินไทยมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมทุกคน อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมไม่ว่าจะเป็นชนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ ไทยพลัดถิ่น คนไร้สถานะ ไร้รัฐ บุคคลอพยพเคลื่อนย้าย แรงงานข้ามชาติโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมาย ทั้งนี้มุ่งให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการดูแลโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เช่นเดียวกับกลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

4. มีนโยบายในการอภิบาลระบบ เพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ
             4.1 การดำเนินนโยบายอื่นของประเทศ ต้องตระหนักถึงผลกระทบด้านลบต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น นโยบายศูนย์กลางทางการแพทย์ การทำข้อตกลงการค้าเสรี การควบคุมราคายาและเวชภัณฑ์ การควบคุมความปลอดภัยจากอาหารและยา รวมถึงนโยบายอื่นใดที่จะมีผลลบต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานของประชาชน

             4.2 ยืนยันนโยบายด้านยาของประเทศ ในการใช้ยาตามระบบบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อให้เกิดการใช้ยาที่สมเหตุผล และลดความฟุ่มเฟือยจากการใช้ยาเกินจำเป็น ประกอบกับการดำเนิน นโยบายด้านราคายา มีกลไกการต่อรองราคายา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นได้อย่างเหมาะสม คุ้มค่า

             4.3 มีนโยบายด้านกำลังคน โดยให้ภาคเอกชนรับภาระในการผลิตบุคคลากรทางการแพทย์ด้วยตนเอง

5. รัฐไทยเป็นแกนนำสนับสนุนให้รัฐบาลของประชาคมอาเซียน สร้างระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับประชาชน ที่สามารถเชื่อมระบบระหว่างประเทศสมาชิกได้

ข้อเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
1. พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้อย่างไม่มีอุปสรรค

             1.1 สนับสนุนกลไกการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ โดยการคงให้มีคณะอนุกรรมการเพื่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการเป็นกลไกสำคัญซึ่งมีหลักการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม

             1.2 พัฒนาสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สอดคล้องกับปัญหา และความต้องการ

ด้านสุขภาพเฉพาะกลุ่มของประชาชนทั้ง 9 ด้านตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

             1.3 ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นในด้านคุณภาพชีวิตให้กับผู้พิการ เช่น ผ้าอ้อม

ผู้ใหญ่ รวมถึงเพิ่มแนวทางการซ่อมบำรุง หรือเปลี่ยนกายอุปกรณ์ให้ตามความจำเป็นและการใช้งานจริง ไม่ใช่การกำหนดด้วยจำนวนปี

             1.4 ขยายเวลาในการให้บริการ มีแพทย์ประจำที่สามารถให้บริการได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะเวลา

ราชการ  

             1.5 นิยามความหมายของคำว่า"เจ็บป่วยฉุกเฉิน" ให้รวมถึงความหมายของความฉุกเฉินทาง

การแพทย์ และความหมายและการรับรู้ของผู้ป่วยด้วย พร้อมทั้งมีกลไกลดความขัดแย้งและแก้ปัญหาในการใช้บริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ครอบคลุมในทุกระบบหลักประกันสุขภาพ

             1.6 ลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ โดยให้เข้ารับบริการจากหน่วยบริการใดก็ได้ โดยเริ่มต้นจากหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ

             1.7 พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ให้มีความละเอียดอ่อนในการให้บริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์โดยจัดบริการป้องกัน ดูแล รักษา และฟื้นฟู ให้เด็กหญิง ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ผู้หญิงที่บาดเจ็บและทุพลภาพจากการยุติการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

             1.8 พัฒนาให้มีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและผู้สูงอายุระดับจังหวัด ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

2. พัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ให้เป็นกลไกหลักเพื่อส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

             2.1 กำหนดให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร ต้องมีกองทุนสุขภาพท้องถิ่นเช่นเดียวกับภูมิภาค

             2.2 ปรับปรุงองค์ประกอบและสัดส่วนของคณะกรรมการกองทุน โดย

                          2.2.1 ประธานกองทุนสุขภาพท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งกันเองของคณะกรรมการ

                          2.2.2 เพิ่มสัดส่วนตัวแทนประชาชนในกองทุนฯ จากตัวแทนเครือข่าย 9 ด้านในพื้นที่  

                          2.2.3 การส่งเสริมสนับสนุนให้คณะกรรมการและประชาชนในพื้นที่ เข้าใจเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค ที่อ้างอิงหลักการนานาชาติ ควรเปิดกว้างให้กองทุนดำเนินกิจกรรมที่หลากหลายสอดคล้องกับสภาพในพื้นที่ ไม่ควรกำหนดเกณฑ์จากส่วนกลางว่าต้องทำงานมุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง

3. สนับสนุนให้ประชาชนจัดบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับความจำเป็นเฉพาะกลุ่มด้วยตนเองในระดับประเทศ ระดับจังหวัด  เพื่อครอบคลุมประชากรและสภาพสุขภาพในพื้นที่ เช่น ผู้หญิง เยาวชน แรงงาน อาชีพเสี่ยงต่างๆ รวมถึงปัญหาเฉพาะของท้องถิ่น เช่น การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคตามแนวชายแดน

4. ยืนยันการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

             4.1 ให้มีกองทุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยจัดสรรงบประมาณจากค่าเหมาจ่ายรายหัว 0.50 บาท มาตั้งเป็นกองทุน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการและการพัฒนาระบบ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องก้นโรค การฟื้นฟูสุขภาพในระดับประเทศ จังหวัด ตำบล

             4.2 เพิ่มสัดส่วนตัวแทนภาคประชาชนจากเครือข่าย 9 ด้านตามพ.ร.บ.ในกรรมการและอนุกรรมการทุกระดับ

             4.3 พัฒนาศักยภาพกรรมการภาคประชาชน และเครือข่ายประชาชนอย่างต่อเนื่อง

             4.4 ให้ออกหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติในการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปตาม มาตรา 18(13) อย่างมีมาตรฐานและติดตามผลของการดำเนินการตามข้อเสนอ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

5. ทบทวน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลระบบสุขภาพให้ประชาชนทุกคนบนผืนดินไทย

ข้อเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
1. พัฒนาหน่วยบริการทุกระดับทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ให้มีคุณภาพ มาตรฐานในการวินิจฉัยโรคการรักษา และส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.  พัฒนาระบบส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ลดผลกระทบต่อผู้ป่วย โดยจัดทำข้อเสนอผ่านณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ใช้มาตรการทางการเงินการคลังที่เหมาะสม

3.  สนับสนุนให้หน่วยบริการทุกระดับ ทุกสังกัดยอมรับแนวทางการใช้การจ่ายเงินแบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมเดียวกัน เพื่อความเป็นธรรมทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และการเงินการคลังของประเทศ

4.  เพิ่มการสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5)

5.  สนับสนุนการยกระดับศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนให้เป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5)  และให้เป็นหน่วยงานภาคประชาชนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพ เป็นช่องทางสำหรับทุกคน ทุกสิทธิ

6. สนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูล และประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ แนวทางการรักษา ทางเลือกในการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนสามารถตัดสินใจเรื่องสุขภาพของตนได้อย่างมีข้อมูลรอบด้าน ตามหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมฯ ในมาตรา 50(9) รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางในเรื่องสุขภาพ เรื่องสิทธิทางเพศและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และอื่นๆ โดยคำนึงถึงความแตกต่างของข้อมูลเฉพาะกลุ่ม และความเหมาะสมของสื่อต่อผู้รับสาร เช่น สื่อสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน สื่อสำหรับชนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

วันนี้  เป็นโอกาสดีที่พวกเราทุกภาคส่วนทั้งประชาชนผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม มารวมกันเพื่อทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา และมีข้อเสนอสำหรับอนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพ และจะติดตามผลการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว กับรัฐบาล คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เชื่อมต่อข้อมูลความก้าวหน้าให้เครือข่ายประชาชนทุกส่วน เพื่อเป็นหลักประกันให้กับพี่น้องประชาชน ได้มีระบบที่ดีในการดูแลสุขภาพของทุกคน 

26 ตุลาคม 2555
เวที 1 ทศวรรษการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

24-26 ตุลาคม 2555
ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ80พรรษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นนทบุรี

ภาคประชาชนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ภาคประชาชนในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
ภาคประชาชนในคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.)
ภาคประชาชนในคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับจังหวัด (อปสจ.)
ภาคประชาชนในคณะอนุกรรมการพิจารณาการช่วยเหลือเบื้องต้นตาม ม. 41
ภาคประชาชนในคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับจังหวัด
ภาคประชาชนในคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น
หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตาม50(5)
ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน
เครือข่ายประชาชน 9 ด้านตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จอน อึ๊งภากรณ์: หลักประกันสุขภาพของไทย จากอดีดสู่อนาคต

Posted: 29 Oct 2012 06:49 AM PDT

ระบบหลักประกันสุขภาพของไทย   หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์และคณะ เป็นผู้คิดริเริ่มศึกษาวิจัย และแสดงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 11  เครือข่าย เป็นผู้ออกแบบระบบในหลักการสำคัญ โดยการร่างเป็นกฎหมายประชาชนที่มีเนื้อหานวัตกรรม (รวมทั้งมาตรา 41 ที่เลื่องลือ) และได้ขับเคลื่อนรณรงค์ทั่วประเทศจนได้ลายเซ็นสนับสนุนพร้อมสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านกว่า 9 หมื่นคน  พรรคไทยรักไทยโดยการผลักดันของหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และความเห็นชอบของคุณทักษิณ ชินวัตร ได้กำหนดไว้เป็นนโยบายของพรรคภายใต้คำขวัญ "30 บาทรักษาทุกโรค" และได้นำเอาร่างกฎหมายของภาคประชาชนไปดัดแปลงบางส่วน แล้วผลักดันเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาลผ่านรัฐสภาจนคลอดเป็นระบบหลักประกันสุขภาพของไทยเมื่อสิบปีที่แล้วพอดี

สิบปีที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนก้าวหน้าไปกว่าระบบการรักษาพยาบาลของประกันสังคม และมีประสิทธิภาพมากกว่าสวัสดิการรักษา พยาบาลของข้าราชการ ในปัจจุบันสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมถึงการรักษาโรคที่รักษาแพงเช่นโรคไตวายเรื้อรัง โรคเอดส์ และมะเร็งต่างๆ ซึ่งมีผลช่วยชีวิตคนจำนวนนับแสนที่สมัยก่อนอาจต้องเสียชีวิตไปเพราะไม่มีเงินค่ารักษา ระบบหลักประกันสุขภาพยังได้ช่วยครอบครัวรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจำนวนมาก ให้สามารถหลีกเลี่ยงการล้มละลายหรือการสูญเสียที่ดินหรือทรัพย์สินจำนวนมาก เพื่อรักษาสมาชิกครอบครัวที่เป็นโรคเรื้อรังรักษาแพง ทั้งยังได้ช่วยสนับสนุนให้ประชาชนได้ตรวจสุขภาพและอาการที่ไม่ปกติต่างๆตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อรักษาให้ทันท่วงที

ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยเป็นการยืนยันหลักการว่า การรักษาสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่บริการที่จะจำหน่ายให้ตามจำนวนเงินในกระเป๋า มาตรฐานและคุณภาพการรักษาย่อมเท่าเทียมกันทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน และมุ่งสู่การรักษาให้สามารถคงคุณภาพชีวิตที่ดี  ทุกคนจะได้รับการรักษาสุขภาพตามความจำเป็น โดยทุกคนได้จ่ายค่าประกันสุขภาพตามกำลังความสามารถของตนในรูปแบบของภาษี

เมื่อเครือข่ายภาคประชาชนได้ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพของไทยให้คลอดจนสำเร็จ ในส่วน การเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชนก็ได้มีการพัฒนามาโดยตลอด ตั้งแต่การเลือกผู้แทนเข้าไปมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข การจัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระทั่วประเทศ ตลอดจนการรวมตัวกันเป็นกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพในทุกภูมิภาคเพื่อพิทักษ์รักษาระบบไม่ให้ถูกกลุ่มผลประโยชน์ด้านการขายบริการทางการแพทย์มาทำลาย

เพื่อเป็นการสาธิตบทบาทของภาคประชาชนในพื้นที่ ผมขอคัดข้อความจากรายงานทางอีเมล์ที่ส่งในเครือข่ายภาคประชาชนเมื่อไม่นานมานี้มาให้อ่าน จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจน

กรณีนี้เป็นเรื่องหมอไล่คนไข้กลับบ้าน คือไปรักษาด้วยอาการเบาหวานขึ้นสูง ไปโรงพยาบาลติดกัน 3 ครั้งด้วยอาการเดิมและหนักขึ้น โดยรพ.ไม่รับเป็นผู้ป่วยใน แต่อาการกลับแย่ลง จนกระทั่งครั้งที่ 4 อาการหนักขึ้น เมื่อพาไปถึงโรงพยาบาลแพทย์ทำการช่วยเหลือและพบว่าเสียชีวิตแล้ว ศูนย์ฯ(ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน) รับเรื่องแล้วรีบลงไปพื้นที่  "เห็นแล้วก็สังเวชมากตอนเอาศพไปไว้ที่วัดลูก 8 เดือนพยายามคลานไปเปิดนมกิน เขาจนมาก เจ้าหน้าที่ศูนย์ต้องร่วมลงขันเพื่อช่วยเหลือ แล้วก็ช่วยทำหนังสือร้องไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) แต่เนื่องจากกรณีนี้ไม่ได้ตายที่โรงพยาบาลเพราะไปไม่ถึง(ตายกลางทาง) เจ้าหน้าที่สสจ.และอนุกรรมการมาตรา41 ประสานเสียงยืนยันว่าจ่ายไม่ได้ (หมายถึงเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่ให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล) เพราะไม่เกี่ยวกับโรงพยาบาล มีเราคนเดียวในฐานะอนุกรรมการ ม.41 ยืนยันว่าจ่ายได้ แต่อนุกรรมการ ม.41 จังหวัดไม่ยอม ศูนย์ฯเลยอุทรณ์จนได้รับเงินเยียวยามาสองแสน แต่ศูนย์ก็ยังไม่หมดภาระ เพราะผัวมีเมียใหม่แล้ว แม่คนตายก็ยังอยู่ ย่าที่เลี้ยงหลานอีก งานนี้ศูนย์เลยใช้วิธีเชิญทั้งผัว แม่ตัว แม่ผัวของคนตายมาคุยกัน แล้วก็ตั้งคำถามว่าใครจะเป็นผู้เลี้ยงเด็กทั้งสองคน ปรากฎว่าผัวบอกเลี้ยงไม่ไหว แม่ตัวก็เลี้ยงไม่ไหว แม่ผัวเป็นผู้รับเลี้ยง ก็เลยให้ทั้งสองคนเซ็นเอกสารสละสิทธิ์ให้แม่ผัวเซ็นรับไปดูแลหลานและให้เงินไปทั้งหมด 2 แสนบาท นอกจากนั้นศูนย์ยังประสานงานไปที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.)ให้เข้าไปช่วยเหลืออีกทา เรื่องค่านมเด็ก ..."   แม้ว่าการต่อสู้จนได้มาซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและผลักดันพัฒนาสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพจนสำเร็จหลายส่วน ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่น่าภูมิใจสำหรับภาคประชาชน แต่ยังมีภารกิจอีกมากมายที่จะต้องบรรลุให้ได้ต่อไปข้างหน้า เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างทั่วถึงมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพที่พึงปรารถนา ในความเห็นของผม เรื่องสำคัญๆ ที่ยังต้องต่อสู้ให้บรรลุต่อไป ได้แก่

1. ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องทำให้ครอบคลุมประชาชนผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกส่วน รวมทั้งแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่ครอบคลุมเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย นี่เป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เป็นความประสงค์แต่แรกของภาคประชาชน และจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม (เช่นช่วยในการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อต่างๆ)

2. ประชาชนที่เคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยและถิ่นที่ทำงานจำนวนนับล้านคนจะต้องมีวิธีการย้ายหน่วยบริการรักษาพยาบาลปฐมภูมิได้อย่างสะดวกรวดเร็วและโดยกึ่งอัตโนมัติ เช่นโดยการแจ้งย้ายถิ่นทางสายด่วน 1330 หรือเมื่อมารับบริการครั้งแรกในถิ่นใหม่ ปัจจุบันยังมีคนนับแสนหรือนับล้านเข้าไม่ถึงบริการเพราะอยู่ในต่างถิ่นจากหน่วยบริการของตน นี่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงบริการ

3. ระบธุรกิจรักษาพยาบาลของเอกชนได้แย่งทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก ทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคคลากรส่วนอื่นๆจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การแก้ปัญหานี้ทำได้หลายทาง เช่นการเพิ่มค่าตอบแทนบุคคลากรในระบบบริการของรัฐ การแก้กฎหมายเกี่ยวกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อกำหนดให้ต้องรับคนไข้ในระบบหลักประกันสุขภาพส่วนหนึ่งทุกโรงพยาบาล (เช่นอย่างน้อย25% ของจำนวนคนไข้ทั้งหมด) และสำหรับแพทย์พยาบาลและบุคคลากรส่วนอื่นๆที่เรียนจบโดยทุนการศึกษาของรัฐ ใบประกอบโรคศิลป์ในระยะ 10-15 ปีแรกน่าจะระบุอนุญาตให้ประกอบโรคศิลป์เฉพาะในสถานพยาบาลที่เป็นของรัฐ ขององค์กรปกครองท้องถิ่น หรือของชุมชน

4. การบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพจะต้องสามารถลดระยะเวลาที่ประชาชนต้องรอรับบริการให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ใช่ใช้เวลากว่าครึ่งวันรอพบแพทย์แล้วรอรับยาต่อ ส่วนการรอการตรวจด้วยเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ และการผ่าตัดใหญ่ จะต้องไม่นานเกินควร

5. ทัศนคติและท่าทีของบุคคลากรต่อคนไข้ในระบบหลักประกันสุขภาพจะต้องพัฒนาไม่ให้ต่างกับในระบบการรักษาพยาบาลเอกชน

6. ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติควรต้องส่งเสริมและพัฒนาหน่วยปฐมภูมิที่ก่อตั้งโดยชุมชน ที่ชุมชนร่วมกันจ้างบุคคลากรและพัฒนาบริการ เพื่อให้ชุมชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

7. ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติควรจะต้องขยายไปถึงผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (โดยงดเก็บเบี้ยประกันสังคมในส่วนของการรักษาพยาบาล เพราะค่าประกันสุขภาพได้จ่ายเป็นภาษีอยู่แล้ว) และควรจะต้องเข้าไปทดแทนระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ

โดยสรุปแล้วเราต้องช่วยกันพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เป็นหลักประกันด้านการรักษาสุขภาพของทุกคน ที่ทุกคนพอใจที่จะเป็นเจ้าของ และที่ทุกคนพอใจที่จะใช้บริการ ไม่ใช่ระบบรักษาสุขภาพที่ผู้ใช้บริการโดยส่วนใหญ่ยังคงได้แก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อยเท่านั้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือแพนเอเชียฟุตแวร์ เลิกจ้างอีกแห่ง คราวนี้โรงงานระยอง

Posted: 29 Oct 2012 06:01 AM PDT

คนงาน 'บ.เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์' ในเครือบริษัทแพนเอเชียฟุตแวร์ จ.ระยอง ประท้วง ชี้ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ประกาศปิดกิจการโดยไม่แจ้งล่วงหน้าและประกาศจ่ายเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างพนักงาน เพียงแค่ 30% ซ้ำรอยเป็นแห่งที่ 2 หลังจากที่เลิกจ้างคนงานที่ปราจีนบุรี



29 ต.ค. 55 - เนชั่นทันข่าวรายงานว่าที่บริเวณหน้าบริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์ จำกัด  เลขที่ 94 หมู่ 5 ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง พนักงานชายหญิงและพนักงานผู้สูงอายุ กว่า 300 คนรวมตัวชูป้ายคำว่า "อายุก็มาก ครอบครัวก็มี แต่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม" "ผมแก่แล้ว อย่าทำร้ายผมเลยครับ" เพื่อยื่นหนังสือนายธวัชชัย จิตต์ธรรมวานิช กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ กรณีประกาศปิดกิจการโดยไม่แจ้งล่วงหน้าและประกาศจ่ายเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างพนักงาน เพียงแค่ 30% เป็นการจ่ายเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และขอให้บริษัทฯออกใบรับรองการผ่านงานให้กับพนักงานทุกคนและขอให้หน่วยงานภาครัฐช่วยดำเนินการให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 118 แต่นายธวัชชัย กรรมการผู้จัดการบริษัทฯไม่ยอมออกมารับหนังสือเรียกร้อง

นายพรเทพ สุภาภรณ์ อายุ 30 ปี แผนกฝ่ายผลิต บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่าโรงงานดังกล่าวเป็นบริษัทฯในเครือสหพัฒนพิบูล จำกัด ผลิตชิ้นส่วนรองเท้ามีพนักงานชายหญิง รวมทั้งพนักงานผู้สูงอายุและคนพิการรวมทั้งสิ้น 423 คน และเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมาพนักงานขณะกำลังปฏิบัติงานได้มีผู้บริหารโรงงานออกมาประกาศปิดกิจการทันทีโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าพร้อมประกาศกำหนดจ่ายเงินค่าชดเชยการเลิกจ้าง 30% และจะให้พนักงานไปทำงานในเครือของบริษัทฯที่ จ.ปราจีนบุรี เพราะพนักงานส่วนใหญ่มีครอบครัวอยู่ที่ ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย แล้วจะให้พวกเราไปทำงานที่อื่นซึ่งอยู่ไกลมากล่าสุดทางโรงงานยืนยันจะจ่ายเงินชดเชยพนักงานเพียง 30% เหมือนเดิม

นายพรเทพ สุภาภรณ์ พนักงานแผนกฝ่ายผลิต กล่าวว่า พนักงานทั้งชายหญิงรวมทั้งผู้สูงอายุรวมทั้งสิ้น 423 คน ได้ลงชื่อร้องเรียนและส่งตัวแทนเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ระยอง นายทิวา พรหมอินทร์ นายอำเภอบ้านค่ายและนายวิชิต ชาตไพสิฐ ผวจ.ระยอง มีข้อความว่าบริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือสหพัฒน์ฯ ประกาศปิดกิจการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยกำหนดจ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง 30% ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎหมายแรงงานตามมาตรา 118 ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรม เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่มีอายุงานเกินกว่า 20 ปี เป็นการยากที่จะไปหางานทำใหม่เพราะมีอายุมากแล้ว ขอให้นายจ้างออกใบรับรองการผ่านงานให้กับพนักงานทุกคนตามสิทธิ ให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายและขอให้หน่วยงานภาครัฐช่วยดำเนินการให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานโดยเคร่งครัด

ทั้งนี้บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยของบริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตรองเท้า โดยบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ ถือหุ้นทางตรง 100%

ก่อนหน้านี้บริษัทย่อยของบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ ที่เลิกจ้างและปิดโรงงานไปก็คือบริษัท กบินทร์บุรี แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 139 หมู่ที่ 5 ถนนสุวรรณศร ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

0 0 0


อนึ่งจากข้อมูลของเว็บไซต์บริษัทแพนเอเชียฟุตแวร์ พบข้อมูลพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจดังนี้

2507 - รับจ้างผลิตรองเท้าผ้าใบยี่ห้อ " โอลิมปิค "
2517 - ตั้งบริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด (BRC) ผลิตรองเท้า " แพน " ( PAN )
2522 - ตั้งบริษัท แพนเอเชียฟุตแวร์ จำกัด (PAF) ผลิตรองเท้าเพื่อส่งออกไป ยุโรป และในประเทศ
2523 - เริ่มผลิตรองเท้ากีฬาระดับโลก " ไนกี้ " (NIKE)
2526 - ทำสัญญารับ ORDER โดยตรงจากไนกี้ U.S.A และทำการผลิตรองเท้า ไนกี้ เป็นต้นมา

โดยจำนวนพนักงาน บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2555
พนักงานทั้งหมด = 3,760 คน
พนักงานรายเดือน = 596 คน
พนักงานรายวัน = 3,164 คน

ทั้งนี้บริษัท แพนเอเชียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มแพน ตั้งอยู่ในเครือสหพัฒน์ศรีราชา จ.ชลบุรี นับเป็นบริษัทที่สองที่ก่อตั้งขึ้นนับจาก บริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้การบริหารงานโดย ดร.ณรงค์ โชควัฒนา ประธานที่ปรึกษากลุ่มแพน

บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) เป็นโรงงานผลิตรองเท้ากีฬาของคนไทยโรงงานแรกในประเทศไทยที่ได้รับความไว้วางใจจากนักธุรกิจชาวต่างประเทศอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตรองเท้าแบรนด์เนมระดับโลก อย่าง "Nike" ซึ่งเป็นแบรนด์เนมยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลก ในปี 2533 ได้รับอนุมัติให้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 400 ล้านบาท และในปี 2537 ได้จดทะเบียนแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 400 ล้านบาท เป็น 800 ล้านบาท และจาก 800 ล้านบาทในปี 2545 และได้เพิ่มทุนเป็น 2,700 ล้านบาท ในปัจจุบัน

โดยบริษัทฯ มีบริษัทย่อยจำนวน 23 บริษัท และบริษัทร่วมจำนวน 8 บริษัท ดังต่อไปนี้

บริษัทย่อย

1. บริษัท ฟุตแวร์เทค 1530 จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 507/2 หมู่ที่ 11 ถนนสุขาภิบาล 8 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%

2. บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คิวริตี้ ฟุตแวร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 620/5 หมู่ที่ 11 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%

3. บริษัท กบินทร์บุรี แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 139 หมู่ที่ 5 ถนนสุวรรณศร ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%


4. บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 94 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

มีทุนจดทะเบียน 370 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตพื้นรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%


5. บริษัท พิมายฟุตแวร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 578 หมู่ที่ 14 ถนนเลี่ยงเมือง ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%

6. บริษัท แพนระยอง จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 507 หมู่ที่ 11 ถนนสุขาภิบาล 8 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบกิจการ ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%

7. บริษัท แพนคอมโพเน้นท์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 139 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านพระ อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 100%

8. บริษัท แพนอัปเปอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 139/1 หมู่ที่ 5 ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 100%

9. บริษัท โมเดอร์น เทคโนโลยี่ คอมโพเน้นท์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 49 หมู่ที่ 5 ถนนสุวรรณศร ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตพื้นรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 100%

10. บริษัท แพนเทค อาร์ แอนด์ ดี จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 177/20 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท ประกอบกิจการวิจัยและออกแบบรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 100%

11. บริษัท พอนเท็กซ์ ( ประเทศไทย ) จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 71/13,21 หมู่ที่ 5 ถนนบางนา - ตราด กม .52 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

มีทุนจดทะเบียน 60.8 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมรวม 95.73%

12. บริษัท อาภากร อุตสาหกรรม จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 71/13,21 หมู่ที่ 5 ถนนบางนา - ตราด กม .52 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

มีทุนจดทะเบียน 21.905 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 94.82%

13. บริษัท อินโนเวชั่น นครหลวง ฟุตแวร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/40 ตรอกวัดจันทร์ใน ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 350.15 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรง 75.40%

14. บริษัท ชัยนาทรับเบอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/40 ตรอกวัดจันทร์ใน ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 75.40%

15. บริษัท หันคาบางกอกรับเบอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/40 ตรอกวัดจันทร์ใน ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 75.39%

16. บริษัท พี เอ แคปปิตอล จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 507 หมู่ที่ 11 ถนนสุขาภิบาล 8 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 1,054 ล้านบาท ประกอบกิจการลงทุน โดยบริษัทฯถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมรวม 43.67%

17. บริษัท แพนเอเซีย ไบโอเทคโนโลยี่ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 91 หมู่ที่ 1 ตำบลละหาร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตยางแท่งและน้ำยาง โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 43.67%

18. บริษัท พี . แอล . จอห์น อินดัสทรีส์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 626/1 หมู่ที่ 11 ถนนสุขาภิบาล 8 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท ประกอบกิจการย้อมผ้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 54.51%

19. บริษัท ไทยซังชิน นิวแมททีเรียล จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 97 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

มีทุนจดทะเบียน 160 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตพื้นรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 28.41%

20. บริษัท เพค อินดัสทรีส์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 626/1 หมู่ที่ 11 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 14 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตตาไก่และเชือกผูกรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 21.84%

21. บริษัท เพค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 622 หมู่ที่ 11 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตแม่พิมพ์พื้นรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 43.67%

22. บริษัท อีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 91/1 หมู่ที่ 1 ตำบลละหาร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 24.89%

23. บริษัท แอดแวนเทจ ฟุตแวร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 51 หมู่ที่ 5 ถนนสุวรรณศร ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 367 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 60.67%

บริษัทร่วม

1. บริษัท บุรีรัมย์แพนฟุตแวร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 130 หมู่ที่ 13 ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิต รองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 47.83%

2. บริษัท อุทัยบางกอกรับเบอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/40 ซอยวัดจันทร์ใน ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 22.62%

3. บริษัท หนองฉางรับเบอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/40 ซอยวัดจันทร์ใน ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตพื้นรองเท้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 22.62%

4. บริษัท บางกอกแอธเลติก จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/210-213 ซอยวัดจันทร์ใน ( ราษฎร์อุทิศ 2) ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ประกอบกิจการนำเข้าส่งออกรองเท้าและเสื้อผ้า โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 18.90%

5. บริษัท แพนเอเซียเลทเธอร์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 139/2 หมู่ที่ 5 ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตหนังสำเร็จรูป โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 17.47%

6. บริษัท แพนเอเซียแปซิฟิค จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 139/2 หมู่ที่ 5 ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

มีทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตหนัง โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 17.47%

7. บริษัท แพน อินโนเวชั่น จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 20 ซอยรามคำแหง 30 ( บ้านเรา ) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 110 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 20.96%

8. บริษัท นูทรีชั่น เฮ้าส์ จำกัด

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 611/277-279 ซอยวัดจันทร์ใน ถนนเจริญกรุง แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

มีทุนจดทะเบียน 145 ล้านบาท ประกอบกิจการผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อเทียม โดยบริษัทฯถือหุ้นทางอ้อม 17.76%

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ประสบการณ์จาก 3 รพ.นำร่อง มาตรการใช้ยาสมเหตุผล

Posted: 29 Oct 2012 05:30 AM PDT



ภายหลังที่ "กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง" ปูพรมขอความร่วมมือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 34 แห่ง แบ่งเป็นในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 19 แห่ง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 7 แห่ง และอื่นๆ 8 แห่ง นำร่องบุกเบิกใน "โครงการศึกษาหามาตรการส่งเสริมและกำกับการใช้ยากรณีผู้ป่วยนอก" ซึ่งเริ่มมาในช่วงเดือนกรกฎาคม 2552

ผ่านมา กว่า 2-3 ปี สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เครือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้สนับสนุนการถอดบทเรียน ซึ่งเริ่มจาก 3 โรงพยาบาลต้นแบบ คือ โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นแนวทางค้นหาจุดเด่นของการดำเนินงานปัจจัยของและผลสำเร็จ ตลอดจนปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ นำไปสู่การพัฒนานโยบายการใช้ยาที่สมเหตุผลและคุ้มค่าต่อไป

มาตรการลดค่ายาเสียงสะท้อนจากหมอ รพ.ลำปาง

"โรงพยาบาลลำปาง" ขานรับมาตรการส่งเสริมและกำกับการใช้ยากรณีผู้ป่วยนอก หลังจากที่ผู้บริหารของโรงพยาบาลได้เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงนโยบายจากกรมบัญชีกลางร่วมกับโรงพยาบาลนำร่องทั่วประเทศในเดือนกรกฎาคม 2552 โดยในเดือนสิงหาคมถัดมา คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (Phamaceutical Therapeutic Committee หรือ PTC) ได้จัดประชุมกำหนดมาตรการลดค่ายาครั้งที่ 1 และในเดือนกันยายนต่อมา ได้มีการจัดประชุมองค์กรแพทย์ สร้างความเข้าใจร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย ผลจากการประชุมทำให้ตกผลึก 2 ยุทธศาสตร์ ภายใต้แผนควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา คือ 1.การลดค่ายาที่จ่ายในแต่ละครั้ง (Unit price) 2.ลดปริมาณยาที่สั่งจ่าย (Utilization Quantity)

ภญ.บุญญาพร ยิ่งเสรี หัวหน้ากลุ่มเภสัชกรรม รพ.ลำปาง กล่าวว่า การควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาไม่ใช่เรื่องใหม่  เพราะทางโรงพยาบาลมีการวางมาตรการและกลไกมานานแล้ว โดยมี PTC เป็นตัวหลักในการดำเนินงาน ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้ผลมากนัก แต่เชื่อว่าการมีกลไกและมาตรการ รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กรเดิมเป็นพื้นฐาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาเดินหน้าต่อไปได้

สำหรับการจัดซื้อยาใหม่  คณะกรรมการจัดซื้อยาจะจัดทำ Monograph ยาใหม่ โดยอ้างอิงจาก Evidence เพื่อคัดเลือกยาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ยาที่มีข้อบ่งชี้การใช้ยาเหมือนกันจะคัดเลือกไว้ในบัญชีชื่อสามัญทางยา (Generic name) ไม่เกิน 2 รายการ โดยยึดตามหลักเกณฑ์ 'Good Health at  Low Cost' ที่กระทรวง สธ.กำหนด และคัดเลือกยาที่มีราคาถูกกว่าเข้าบัญชียา โดยจ่ายยาให้ผู้ป่วยทุกสิทธิด้วยยาเดียวกันแม้จะเป็นยาต้นแบบก็ตาม

นอกจากนี้ ยังใช้ระบบ Hospital Formulary System หรือการจัดประเภทยาในบัญชียา เพื่อให้มีการสั่งใช้ยาอย่างเหมาะสมตามสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย และสิทธิการสั่งใช้ยาของแพทย์ ตามเงื่อนไขการสั่งใช้ยาที่กำหนดในบัญชียาหลักแห่งชาติ และเงื่อนไขที่ PTC กำหนด

การควบคุมค่าใช้จ่ายยาของโรงพยาบาลหลังเข้าร่วมโครงการกับทางกรมบัญชีกลางแล้ว ได้วางเป้าหมายในการลดค่าใช้จ่ายด้านยาลงอีก 25% โดย PTC กำหนดเป้าหมายในปี 2553 ว่าจะต้องควบคุมค่ายาให้อยู่ในวงเงิน 300 ล้านบาท จากเดิมที่เคยสูงกว่าปีละ 300 ล้านบาท มาตรการที่นำมาใช้เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย คือ การไม่รับยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติใหม่ที่มีข้อบ่งชี้เหมือนยาต้นแบบในกลุ่มยาเป้าหมายเข้าบัญชียาโรงพยาบาลปี 2553 รวมทั้งการลดค่ายาที่จ่ายในแต่ละครั้ง และลดปริมาณยาที่สั่งจ่าย

พร้อมประสานงานและการสื่อสารเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างวิชาชีพ  โดยเฉพาะแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญในการสั่งยาให้แก่ผู้ป่วย  มีการจัดประชุมร่วมกับองค์กรแพทย์เป็นระยะ  เพื่อนำข้อสรุปมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตามนโยบายที่วิชาชีพแพทย์มีส่วนร่วมตัดสินใจ เช่น การให้แพทย์เขียนรหัสแพทย์ (ว.....) บนใบสั่งยา เพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลการสั่งยา ให้แพทย์บันทึกเหตุผลที่ไม่สามารถใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ  การเน้นย้ำเรื่องการใช้ยาที่เหมาะสม กรณีมีการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แพทย์ต้องระวังการสั่งยาแบบ Poly-Pharmacy และสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติตามแนวปฏิบัติทางคลินิก (Clinical Practice Guideline : CPG) กรณียาเคมีบำบัดนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ หากสั่งไม่ตรง CPG ต้องขออนุมัติต่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกครั้ง รวมทั้งมาตรการการนำยา CL (การประกาศใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร) มาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนกรณียาผู้ป่วยสูญหายและมาขอเบิกยาเพิ่ม การตรวจบัตรแสดง IPD ที่ห้องทะเบียนเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ผู้ป่วยระบบจ่ายตรง ฯลฯ

มาตรการต่างๆ เหล่านี้  แม้ว่าจะได้รับความร่วมมือจากแพทย์เป็นอย่างดี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดผลกระทบต่อแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน โดยปัญหาแรก คือการทำงานของแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของแพทย์เฉพาะทางที่บางครั้งก็ต้องการใช้ยาใหม่ๆ รักษาผู้ป่วย และแพทย์รู้สึกเหมือนถูกตรวจสอบ เป็นต้น

แต่ผลลัพธ์จากการดำเนินมาตรการส่งเสริมและกำกับการใช้ยากรณีผุู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลลำปาง  ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 ถึงปัจจุบัน สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2553 ลดมูลค่าการจัดซื้อยาได้ตามเป้าหมายจำนวน 25 ล้านบาท ลดมูลค่าการเบิกยา OPD จากกรมบัญชีกลางได้ 30 ล้านบาท

ประสบการณ์ รพ.ตำรวจแปรวิกฤตเป็นโอกาส

ก่อนที่ "โรงพยาบาลตำรวจ" จะร่วมโครงการกับกรมบัญชีกลาง สถิติการเบิกจ่ายค่ายาผู้ป่วยนอกระหว่างปี 2550-2552 เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 74.60 ทำให้กรมบัญชีกลางเรียกเก็บเงินคืนจากโรงพยาบาลประมาณ 3.5 ล้านบาท นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ บอกว่า "ตอนที่กรมบัญชีกลางมาเรียกเงินคืน ผมแทบช็อก ถือเป็นความสูญเสียของรัฐ และเป็นความเสียหายขององค์กร"

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บุคลากรทุกฝ่ายของโรงพยาบาลตำรวจเกิดการตื่นตัว  และร่วมมือกันใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายจนประสบผลสำเร็จ  จนกลายเป็นต้นแบบของโรงพยาบาลอื่นๆ ในเวลาต่อมา

การดำเนินการส่งเสริมและกำกับการใช้ยาของโรงพยาบาลตำรวจ  เริ่มจากการจัดทำคำสั่งเรื่องการสั่งจ่ายยาเพื่อให้แพทย์สั่งจ่ายยาให้สอดคล้องกับหลักวิชาการทางการแพทย์และเป็นไปตามที่กรมบัญชีกลางขอความร่วมมือ  รวมถึงการมีคำสั่งให้มีการใช้ยานอกบัญชียาหลักอย่างชัดเจนและเข้มงวด  ซึ่งหลังจากที่มีนโยบายและคำสั่งอย่างชัดเจนแล้ว  จึงนำไปสู่การวางแผนการลดค่ายาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กำหนดให้มีการประเมินผลการใช้ยาในกลุ่มยาเป้าหมายในระยะเวลา 3 เดือนแรก แล้วนำผลประเมินสะท้อนกลับให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ โดยมีแผนการกระตุ้นให้แพทย์มีความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อลดมูลค่าการใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ รวมทั้งมีมาตรการควบคุมปริมาณการสั่งจ่ายยา

มีการใช้ตัวชี้วัด 4 ประการ เพื่อกำหนดการบรรลุเป้าหมายภายในระยะเวลา 5 เดือน  คือ 1.มูลค่าการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60  ของมูลค่ายาทั้งหมด  2.ให้มีการสั่งใช้ยาในบัญชียาหลักฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของแต่ละรายการยา  3.กำหนดให้ใช้ยาสามัญทดแทนยาต้นแบบไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของแต่ละรายการยา  และ 4.กำหนดมูลค่ารายจ่ายด้านยา 9 กลุ่มที่คาดว่าจะสามารถประหยัดได้ 19 ล้านบาทต่อปี

มาตรการสำคัญประการหนึ่งในการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา  คือ  คำสั่งกำชับการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ  โดยให้แพทย์ระบุเหตุผลที่ไม่สามารถใช้ยาในบัญชียาหลักฯ ในเวชระเบียนและหนังสือประกอบการเบิกจ่าย ซึ่งหากกรมบัญชีกลางเรียกเก็บเงินคืนแล้วภายหลังที่พบว่าไม่มีการระบุเหตุผลที่ไม่สามารถใช้ยาในบัญชียาหลักฯได้  หรือระบุเหตุผลไม่สอดคล้องกับประวัติการใช้ยาหรือหลักฐานการวินิจฉัยโรคในเวชระเบียน  ให้เป็นความรับผิดชอบของแพทย์ผู้รักษาที่ลงนามหรือแพทย์ผู้ลงนามกำกับเพื่อเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักฯ

ภญ.พ.ต.อ.หญิงศิริพร จรุงศักดิ์เศรษฐ์ หัวหน้ากลุ่มเภสัชกรรม รพ.ตำรวจ กล่าวว่า การให้แพทย์ระบุเหตุผลประกอบการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ มีผลต่อการลดค่ายามากที่สุด เพราะเมื่อแพทย์จะสั่งใช้ก็จะต้องรับผิดชอบ จึงทำให้มีการสั่งใช้ยาอย่างสมเหตุผลมากขึ้น  ลำดับถัดมาก็คือการจำกัดการสั่งใช้ยา  การกำหนดระดับการอนุมัติใช้ยา  และสุดท้ายคือ  การประเมินผลการใช้ยา ซึ่งในอนาคตมาตรการนี้อาจจะมีผลมากที่สุดเพราะมีการวัดถึงระดับบุคคล

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ที่มารับบริการซึ่งในช่วงแรกต่างก็ไม่พอใจในการปรับยา ทำให้ผู้ที่มาใช้บริการลดจำนวนลงประมาณ 10% ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 แต่ทางโรงพยาบาลก็พยายามสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้ผู้มาใช้บริการได้รับทราบ และยังจัดให้เภสัชกรประจำห้องตรวจคอยอธิบายเรื่องการเปลี่ยนตัวยาว่ามีคุณสมบัติไม่แตกต่างกัน และให้ผู้ป่วยลองใช้ยาดูก่อน หากมีปัญหาในการใช้ยาก็ยินดีเปลี่ยนให้

ผลการดำเนินเปรียบเทียบในช่วงเดือนตุลาคม 2552-พฤษภาคม 2553  และเดือนมิถุนายน 2553- ธันวาคม 2553  ทำให้สัดส่วนการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติกับบัญชียาหลักแห่งชาติ  ลดลงจากเดิม 68 : 32  เป็น 48 : 52 โดยมีสัดส่วนการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณร้อยละ 60 และมูลค่ายาผุู้ป่วยนอกในสิทธิสวัสดิการลดลงเฉลี่ย 11 ล้านบาทต่อเดือน หรือลดลงประมาณร้อยละ 20

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาสามัญทดแทนยาต้นแบบ จากสัดส่วนยาในบัญชียาหลักแห่งชาติที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 60 และสามารถประหยัดมูลค่ายาได้ประมาณ 132 ล้านบาทต่อปี

รพ.ศิริราช ลดค่ายาได้ แต่หวั่นกระทบสถานะโรงพยาบาล

รศ.นพ.ประดิษฐ์ สมประกิจ รองคณบดีฝ่ายการคลัง อดีตรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวถึงสถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านยาในช่วงสิบปีที่ผ่านมาว่า  รพ.ศิริราช มีค่าใช้จ่ายด้านยาสูงมาตลอด  สาเหตุหลักมาจากการใช้ยาไม่สมเหตุผล ทั้งในฝ่ายผู้สั่งยาและผู้รับบริการ ในส่วนของผู้สั่งยามีการใช้ยาที่มีราคาแพง  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาต้นแบบที่นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากยาบางตัวมีมานานและไม่มีตัวอื่นในตลาด ประกอบกับเป็นยาที่มีคุณภาพ แพทย์จึงสั่งใช้ยาจนคุ้นเคย ฯลฯ

แต่ถึงกระนั้นความพยายามในการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาก็เกิดขึ้นมาตลอด โดยมีโครงสร้างและรูปแบบมาตรการที่ชัดเจน เพียงแต่ครั้งนี้เมื่อได้รับการประสานจากกรมบัญชีกลางกับโจทย์ที่ท้าทาย  รพ.ศิริราช ก็รับมาอย่างเข้าใจและตั้งใจที่จะช่วยประเทศในยามที่มีปัญหาในภาพรวม

โดยการส่งเสริมและกำกับการใช้และบริหารจัดการด้านยาของ รพ.ศิริราช มีกระบวนการที่ถือเป็นนโยบาย "ภายใน" ที่เข้มข้นมาเป็นทุนอยู่แล้ว มีคณะกรรมการยาและเวชภัณฑ์ ดูแลกำกับนโยบาย หลักเกณฑ์  แนวปฏิบัติต่างๆ ไปจนถึงนโยบายด้านราคายา และมีคณะกรรมการบริหารจัดการนำยาเข้า-ออก ทำหน้าที่จัดหายาเข้ามาใช้และปรับรายการบัญชียา กำหนดสิทธิและเงื่อนไขการใช้ยาและข้อบ่งใช้ยาตามความจำเป็นและเหมาะสม และยังมีคณะอนุกรรมการยาด้านต่างๆ อีก 17 คณะตามกลุ่มโรค

โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการกำหนดสิทธิแพทย์ผู้สั่งใช้ยา และมีการกำหนดให้แพทย์ต้องเขียนใบขออนุมัติการสั่งใช้ยาหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่ม Restrict Drug (กลุ่มยาที่เป็นกลุ่มยาควบคุมการใช้) มีการกำหนดเพดานค่ายาต่อใบสั่งยาเพื่อให้แพทย์พึงระลึกถึงมูลค่าของการสั่งจ่ายยาในแต่ละครั้ง รวมไปถึงการทำการประเมินการใช้ยา (Drug Use Evaluation, DUE) ในกลุ่มยาที่มีปัญหาต่างๆ และยังมีมาตรการเฝ้าระวังติดตามการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบการสั่งจ่ายยาแก่ผู้รับบริการ แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ศิริราชเป็นองค์กรใหญ่มาก  มีเตียงผู้ป่วยถึงกว่า 2 พันเตียง  การดำเนินการต่างๆ ต้องพยายามที่จะดูแลให้ทั่วถึง

นอกจากนี้ยังมีมาตรการ  'Same Chemical Substitute' ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่ใช้ลดการจ่ายยาต้นแบบ โดยห้องยาสามารถจ่ายยาสามัญแทนยาต้นแบบได้เลยหากแพทย์ไม่ได้ระบุตัว 'R' ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าในใบสั่งยา  เพราะการที่ให้แพทย์ระบุตัว 'R' ในใบสั่งยา  เพื่อเป็นเน้นย้ำว่าแพทย์ต้องการใช้ยาต้นแบบ  เนื่องจากแพทย์อาจจะสั่งยาด้วยความเคยชินด้วยชื่อทางการค้า แต่หากไม่ระบุเภสัชกรสามารถจ่ายยาสามัญแทนได้เลยโดยไม่มีความผิด

"นอกจากนี้การรับรู้ราคายายังช่วยให้คิดก่อนจ่าย ดังนั้นจึงมีการสื่อสารบอกกล่าวเรื่องราคายา พร้อมทั้งเปรียบเทียบให้เห็นถึงสิ่งที่สามารถประหยัดได้โดยคุณภาพการรักษายังคงอยู่ เพราะหากผู้ป่วยไม่ทราบราคายาก็ใช้ยามาก แพทย์ไม่ทราบราคายาก็ใช้ยามาก" รศ.นพ.ประดิษฐ์ ยกตัวอย่างมาตรการต่างๆ ที่ รพ.ศิริราชนำมาใช้

ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี  รพ.ศิริราช สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านยาและเห็นผลอย่างชัดเจน เช่น ในปี พ.ศ. 2554  สามารถลดมูลค่าการใช้ยาได้ถึง 700 ล้านบาท  จากมาตรการระบุเหตุผลการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลัก มาตรการนี้เป็นมาตรการที่มีผลต่อการลดมูลค่าการใช้ยาของโรงพยาบาลมากที่สุด

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์และบทเรียนจากโรงพยาบาลนำร่องทั้ง 3 แห่ง ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ อยู่ไม่น้อย แต่เสียงสะท้อนเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการใช้ยาให้สมเหตุผล ประหยัดงบประมาณของประเทศ ขณะเดียวกันผู้ป่วยก็จะต้องได้รับบริการที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน !!


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลค่าการประมูลคลื่น 3G ของไทยเหมาะสมแล้วเมื่อเทียบกับต่างประเทศ?

Posted: 29 Oct 2012 02:15 AM PDT


การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz (คลื่น 3G) โดยสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ผ่านพ้นไปประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว โดยผลการประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 9 ชุดคลื่นสร้างรายรับให้กับรัฐ 41,625 ล้านบาท สูงกว่าราคาตั้งต้นที่ กสทช. ตั้งไว้ที่ 40,500 ล้านบาท (4,500 ล้านบาทต่อชุดคลื่น x 9 ชุดคลื่น) ประมาณ 2.8% แต่ยังต่ำกว่ามูลค่าประมาณการรายรับ 57,960 ล้านบาทที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซึ่งสำนักงาน กสทช. มอบหมายให้ไปศึกษา) คำนวณเอาไว้ถึง 16,335 ล้านบาท หรือประมาณ 27.2% ซึ่งผลการประมูลที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลายและกว้างขวางในสังคม ในประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดมีประเด็นหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด คือความเหมาะสมของรายรับการประมูลเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

หากพิจารณาตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ ราคาที่เหมาะสมคือราคาที่สะท้อนต้นทุนค่าเสียโอกาสของการนำคลื่นความถี่ไปสร้างประโยชน์ในทางอื่น หรือโดยผู้ประกอบการรายอื่น ดังนั้นถ้าหากการประมูลมีการแข่งขันที่ดี การสู้ราคาในการประมูลจะส่งผลให้ราคาที่ผู้ชนะเสนอสะท้อนต้นทุนค่าเสียโอกาสของคลื่นความถี่ ในกรณีที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าการประมูลจะไม่มีการแข่งขันดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ราคาการประมูลจะไม่สะท้อนถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสของการใช้คลื่นความถี่เนื่องจากผู้ประกอบการไม่จำเป็นที่จะต้องแข่งขันกันเสนอราคา และ กสทช. จำเป็นที่จะต้องตั้งราคาที่เหมาะสมเองผ่านการกำหนดราคาตั้งต้น ซึ่งเป็นเหตุผลว่าเพราะอะไรงานศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงมีความสำคัญ จากงานศึกษาชิ้นดังกล่าวคณะผู้วิจัยประมาณการรายรับที่ควรจะได้รับจากการประมูลที่ 6,440 ล้านบาท ต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่ 5 MHz หรือ 0.64 เหรียญสหรัฐฯต่อ 1 MHz ต่อประชากร 1 คน (USD/MHz/Population)

อย่างไรก็ดีภายหลังการประมูล รายรับที่ได้รับต่ำกว่ารายรับที่ประมาณการที่ระบุในงานศึกษาของคณะวิจัยจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ อย่างมาก เนื่องจากการตั้งราคาตั้งต้นที่ลดลงมาถึง 30% ประกอบกับการไม่มีการแข่งขันในการประมูลทำให้ราคาที่ได้เพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งคิดเป็น 0.46 USD/MHz/population

ภายหลังการประมูล ผู้ประกอบการซึ่งเข้าร่วมประมูลรายหนึ่งได้ออกมาให้ความเห็นผ่านรายการโทรทัศน์ โดยให้ข้อมูลว่าราคาการประมูลของประเทศไทยเป็นราคาที่สูงพอสมควรและเหมาะสมแล้ว ซึ่งหากเทียบกับต่างประเทศ ประเทศไทยมีรายรับจากการประมูลสูงที่สุดในประเทศอาเซียน พร้อมทั้งยกข้อมูลราคาการประมูลของประเทศต่างๆ ได้แก่ (หน่วยเป็น USD/MHz/population) เกาหลีใต้ (ปี 2011) ที่ 0.40,เยอรมนี (ปี 2010) ที่ 0.28, เม็กซิโก (ปี 2010) ที่ 0.15, สิงคโปร์ (ปี 2010) ที่ 0.08, อินโดนีเซีย (ปี2006) ที่ 0.04 และมาเลเซีย (ปี 2006) ที่ 0.03 (ดูภาพประกอบด้านบน) ตัวเลขชุดเดียวกันนี้ยังถูกกล่าวอ้างถึงในบทความทางหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษแห่งหนึ่ง ซึ่งเขียนโดยที่ปรึกษาของ กสทช. อีกด้วย ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างและตัวเลขต่างๆ ดังนี้

1. ตัวเลขที่ยกมาเป็นเพียงการเลือกประเทศบางประเทศ (7-9 ประเทศ) และตัวแปรบางตัวมาสนับสนุนคำกล่าวอ้างเท่านั้น ในขณะที่การศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่คำนวณราคาตั้งต้นที่ 0.64 เหรียญสหรัฐฯต่อ 1MHz ต่อประชากร 1 คน ใช้ข้อมูลจำนวนประเทศที่ครอบคลุมกว่า และคำนึงถึงปัจจัยที่ผู้ประกอบการยกมา เช่น ระยะเวลาของใบอนุญาต ขนาดเศรษฐกิจ ปีที่ทำการประมูล ไว้ทั้งหมดแล้ว โดยงานศึกษาดังกล่าวใช้ข้อมูลการประมูลจากต่างประเทศทั้งหมด 17 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 69 ใบอนุญาต ด้วยวิธีทางเศรษฐมิติ ซึ่งเป็นวิธีการหาค่าประมาณการมูลค่าคลื่น 3G ของไทยโดยคำนึงถึงปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งคณะผู้วิจัยได้รวมปัจจัยต่างๆ ของแต่ละประเทศเอาไว้ในการพิจารณากำหนดมูลค่าคลื่นไว้อย่างหลากหลาย เช่น ขนาดของเศรษฐกิจ จำนวนประชากร รายได้ต่อหัว ระยะเวลาของใบอนุญาต ความหนาแน่นของประชากร รวมถึงช่วงปีที่ประมูลว่ามีกระแสการตื่นตัวของเทคโนโลยี 3G หรือไม่ ดังนั้นผลการประมาณการ 6,440 ล้านบาทต่อชุดคลื่น 5 MHz จึงถือว่าเป็นมูลค่าที่สมเหตุผลเมื่อคำนึงถึงปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และมีความน่าเชื่อถือกว่าการยกตัวเลขของประเทศเพียงบางประเทศมาเปรียบเทียบโดยไร้หลักเกณฑ์ที่เป็นวิชาการมาสนับสนุน

2. ตัวเลขที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้างในส่วนของประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย มีความคลาดเคลื่อน ซึ่งจำเป็นต้องขยายความเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด ในกรณีของประเทศสิงคโปร์ การประมูลในปี 2010 เป็นการออกใบอนุญาตคลื่น 3G เป็นครั้งที่ 2 หลังจากมีการประมูลรอบแรกไปแล้วในปี 2001 ซึ่งการประมูลในรอบนี้มีคลื่นที่ได้รับการจัดสรรทั้งสิ้น 15 MHz แบ่งออกเป็น 3 ชุด ชุดละ 5 MHz โดยรัฐบาลสิงคโปร์ตั้งราคาตั้งต้นอยู่ที่ 20 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อ 1 ชุดคลื่น หรือคิดเป็น 15.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ดูเอกสารอ้างอิง 1.หัวข้อที่ 8 สำหรับข้อมูลราคาตั้งต้น) โดยผู้ประมูลมีทั้งสิ้น 3 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการรายเดิม ผลการประมูลปรากฏว่าราคาสุดท้ายเท่ากับราคาตั้งต้น ซึ่งคิดเป็น 0.61 USD ต่อ MHz ต่อประชากร (15.4 ล้านเหรียญ/5MHz/ประชากร 5.08 ล้านคน) ซึ่งสูงกว่าไทย และมิใช่ 0.08 ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

ในกรณีของอินโดนีเซีย วิธีการประมูลจะแตกต่างไปเล็กน้อย กล่าวคือรัฐบาลอนุญาตให้ผู้ประกอบการผ่อนชำระเงินค่าประมูลได้ตลอดอายุใบอนุญาต โดยผู้เข้าประมูลจะทำการ เสนอราคาผ่อนชำระต่อปี ไม่ใช่ราคารวมที่จ่าย โดยผู้ชนะการประมูลต้องชำระเงิน 2 เท่าของราคาที่ตนเสนอในปีแรก และชำระเงินในอัตราคงที่ทุกปีเท่ากับราคาที่ผู้ชนะรายสุดท้ายเสนอตลอดอายุใบอนุญาต 10 ปี ดังนั้นการคิดมูลค่าจะต้องรวมค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องชำระคงที่ตลอดอายุใบอนุญาตในราคาประมูลด้วย เนื่องจากต้นทุนที่ชำระในส่วนนี้ทั้งหมดเป็นมูลค่าที่กำหนดโดยวิธีการประมูลและไม่ขึ้นอยู่กับรายได้ประกอบการ ดังนั้นจะไม่ใช่ส่วนแบ่งของรายได้และควรรวมอยู่ในราคาประมูล เพียงแต่ว่ารัฐอนุญาตให้ผ่อนจ่ายเท่านั้น  ในขณะที่การเก็บค่าธรรมเนียมตามสัดส่วนของรายได้ก็ยังมีอยู่ตามปกติและแยกออกมาต่างหาก(เช่น Universal Service Obligation ประมาณ 0.75% ของรายได้) ฉะนั้นแล้ว ถ้าใช้เพียงแต่ตัวเลขที่เอกชนเสนอตามข้อมูลที่ที่ปรึกษา กสทช. ใช้กล่าวอ้าง จะทำให้มูลค่าลดลงจากความเป็นจริงถึง 10 เท่า แท้ที่จริงแล้วตัวเลขมูลค่าคลื่นจากการประมูลในกรณีของอินโดนีเซียควรจะอยู่ที่ประมาณ 0.4-0.5 USD/MHz/population ซึ่งถือว่ามีผลลัพธ์ที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ต่ำ มีลักษณะเป็นเกาะ และใบอนุญาตมีอายุเพียง 10 ปี (ดูเอกสารอ้างอิง 2. สำหรับวิธีการประมูลของอินโดนีเซียและราคาเป็น USD/MHz/population)

3. ประเทศต่างๆ ที่ผู้ประกอบการนำมากล่าวอ้างส่วนใหญ่ เช่น เกาหลีใต้ เยอรมัน และสิงคโปร์ เป็นข้อมูลของการจัดสรรใบอนุญาตรอบที่ 2 นั่นคือประเทศเหล่านี้มีการให้ใบอนุญาตคลื่น 2.1 GHz รอบใหญ่มาแล้ว การประมูลในรอบหลังเป็นการประมูลใบอนุญาตที่เหลืออยู่เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มการแข่งขันของรายใหม่ หรือเพิ่มคลื่นให้เพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งการประมูลรอบหลังนี้มูลค่าคลื่นย่อมต่ำกว่าการประมูลรอบแรก เพราะตลาดเริ่มมีการอิ่มตัว อุปสงค์ของการใช้ 3G ส่วนใหญ่ถูกตอบสนองไปแล้วอีกทั้งส่วนแบ่งการตลาดของผู้ประกอบการรายเดิมก็สูงอยู่แล้ว จึงเป็นการยากสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าไปแข่งขันและทำให้โอกาสของการทำกำไรต่ำลง การแข่งขันและราคาตั้งต้นจึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดไว้ต่ำ

ในกรณีของประเทศเกาหลีใต้ปี 2011 วัตถุประสงค์สำคัญคือการเพิ่มการแข่งขันในการให้บริการ (ดูเอกสารอ้างอิง 3.หน้า 55) เนื่องจากก่อนหน้านี่ผู้ให้บริกา ร3G ในคลื่น 2.1 GHz ผูกขาดอยู่เพียง 2 ราย ซึ่งเป็น 2 รายใหญ่ที่สุดในตลาด โดยทั้ง 2 รายได้รับการจัดสรรคลื่น 2.1 GHz มาก่อนหน้าแล้ว แต่รัฐต้องการเพิ่มผู้เล่นรายใหม่ในตลาด จึงจัดการประมูลใบอนุญาตเพิ่มอีก 1 ใบ โดยไม่อนุญาตให้เจ้าตลาดทั้งสองรายเข้าร่วมประมูล (ดูเอกสารอ้างอิง 5. หน้า 3) ซึ่งแน่นอนว่าการเข้ามาแข่งกับเจ้าตลาดรายใหญ่ที่ให้บริการอยู่แล้วย่อมทำให้มูลค่าใบอนุญาตใบนี้มีค่อนข้างต่ำเนื่องจากรายใหม่จะต้องแข่งกับเจ้าตลาดรายใหญ่ที่มีฐานลูกค้ามากและตลาดค่อนข้างอิ่มตัว รัฐบาลย่อมต้องตั้งราคาจูงใจให้ต่ำลง ซึ่งสุดท้ายก็มีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียวและได้ใบอนุญาตไปในราคาตั้งต้น

ในกรณีของสิงคโปร์ปี 2010 รัฐต้องการเพิ่มศักยภาพการให้บริการ จึงนำคลื่นอีก 15 MHz ที่ไม่ได้ถูกจัดสรรเมื่อครั้งการประมูลรอบแรกในปี 2001 มาประมูล และอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดิมร่วมประมูลได้ ซึ่งส่งผลทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่สนใจ แม้ว่าราคาตั้งต้นที่รัฐตั้งจะต่ำกว่าราคาตั้งต้นในครั้งที่ประมูลรอบแรกเมื่อปี 2001 ประมาณ 40% (ราคาตั้งต้นปี 2010 อยู่ที่ 20 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อ 5  MHz ในขณะที่ราคาตั้งต้นในปี 2001 อยู่ที่ 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 15 MHz) โดยผู้ประกอบการรายเดิมทั้ง 3 รายชนะการประมูลรายละ 5MHz ในราคาตั้งต้น

4. ประเทศมาเลเซียไม่ได้ใช้วิธีการประมูล แต่ใช้การให้ใบอนุญาตด้วยการคัดเลือกบริษัทที่เหมาะสม (Beauty Contest) ในราคาที่รัฐกำหนด ซึ่งเป็นวิธีที่ขาดความโปร่งใส ดังนั้นจึงไม่สามารถเปรียบเทียบมูลค่ากับวิธีการประมูลได้ (ดูเอกสารอ้างอิง 8. ส่วนที่ 1 ข้อที่ 1 สำหรับวิธีการจัดสรรคลื่นแบบคัดเลือก) นอกจากนี้การออกใบอนุญาตในปี 2006 ยังเป็นการออกใบอนุญาต 3G รอบที่ 2 หลังจากได้ออกใบอนุญาตในรอบแรกไปแล้วเมื่อปี 2001 ด้วยวิธีคัดเลือกบริษัทที่เหมาะสม

จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่นำเสนอผ่านสื่อนั้นมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความจริง และเป็นการจงใจอ้างอิงเฉพาะผลการประมูลในกลุ่มประเทศเพียงไม่กี่ประเทศเพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้าง  แตกต่างจากงานศึกษาที่ใช้เทคนิคการประมาณค่าที่มีความเป็นวิชาการของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างที่มากกว่า และคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่ผู้ประกอบการได้นำมากล่าวอ้างทั้งหมดในการประมาณมูลค่าแล้ว ซึ่งในท้ายที่สุด ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนก็คือ ราคาสุดท้ายของการประมูลของไทยต่ำกว่าราคาที่ได้จากการประมาณการอย่างเป็นวิชาการจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจาก กสทช. เอง และต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของประเทศต่างๆ ที่ประมูลก่อนหน้ามากถึงเกือบ 30%

 

 

เอกสารอ้างอิง: เอกสารอ้างอิงทั้งหมดสามารถดูได้จากบทความฉบับเต็มตีพิมพ์ใน www.thaipublica.org
หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: จริงหรือที่มูลค่าการประมูลคลื่น 3G ของไทยเหมาะสมแล้วเมื่อเทียบกับต่างประเทศ?
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'มิเชล มาส' นักข่าวดัตช์ที่ถูกยิง 19 พ.ค. เข้ามอบหลักฐานดีเอสไอ

Posted: 29 Oct 2012 12:23 AM PDT

หลักฐานประกอบด้วยลูกกระสุนปืน M16 รูปภาพ และคลิปเสียงที่ 'มิเชล มาส' อัดไว้ในระหว่างเกิดเหตุ เตรียมเข้าให้ปากคำสน. พญาไทประกอบคดีการเสียชีวิตที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐอีก 3 คดี

29 ต.ค. 55 - ราว 10.30 น. มิเชล มาส นักข่าวชาวดัทช์ซึ่งถูกยิงบาดเจ็บในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ได้เข้าพบกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อมอบกระสุนปืนและหลักฐานอื่นๆ ให้แก่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ. นนทบุรี โดยมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองหัวหน้าพนง.สอบสวนกรณีการสลายการชุมนุมเดือนเม.ย. -พ.ค. 53 เป็นผู้รับมอบหลักฐาน
 
 
หลักฐานที่มาส นำเข้ามอบให้แก่เจ้าหน้าที่สอบสวน ได้แก่ กระสุนปืนที่ยิงเข้าสู่ร่างกายของเขา ซึ่งภายหลังแพทย์ได้ผ่าตัดนำออกมา เจ้าหน้าที่ดีเอสไอระบุว่าเป็นกระสุนหัวขนาด .223 หรือ 5.56 มม. สามารถใช้กับปืนประเภท M16 นอกจากนี้ ยังมีวีซีดีแสดงการผ่าตัดนำกระสุนจากโรงพยาบาลสมิติเวช ภาพเอ็กซ์เรย์ปอดพร้อมกระสุน และยูเอสบีแฟลชไดรฟ์ ประกอบด้วยภาพถ่าย ข้อความทางทวิตเตอร์ และเสียงการรายงานวิทยุของสถานี NOS ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมาส รายงานในขณะที่ถูกยิง
 
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา มิเชล มาส ได้เดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อให้ปากคำกับดีเอสไอ ในฐานะพยานปากคำในคดีการเสียชีวิตของช่างภาพชาวอิตาลี ฟาบิโอ โปเลนกี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกราชดำริเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 
 
ในวันพรุ่งนี้ มีรายงานว่า มาสจะเข้าให้ปากคำกับสำนักงานตำรวจพญาไท ในฐานะพยานประกอบคดีการเสียชีวิตของนายนรินทร์ ศรีชมพู นายถวิล คำมูล และชายไทยไม่ทราบชื่อ ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างการสลายการชุมนุมบริเวณสี่แยกราชดำริเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ใกล้กับจุดที่นายมาสถูกยิง โดยทั้งสามเป็นคดีที่ดีเอสไอส่งสำนวนสรุปว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ​
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกาหลีเหนือผลิต "แท็บเล็ต" ใช้เองหลายรุ่น

Posted: 28 Oct 2012 03:00 PM PDT

เว็บรีวิวเทคโนโลยีเผย เกาหลีเหนือพัฒนา "แท็บเล็ต" ใช้เองหลายรุ่นโดยใช้ระบบ "แอนดรอยด์" และมีการนำมาแสดงในงานแสดงสินค้าในเปียงยาง อย่างไรก็ตามแอพลิเคชั่นในเครื่องเน้นรองรับการใช้งานแบบ "ออฟไลน์" เนื่องจากการข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในเกาหลีเหนือ

เปิดตัว "ซัมจิยอน" และแท็บเล็ต "นิรนาม" อีกรุ่นในงานแสดงสินค้าที่เปียงยาง

บล็อก "Northkoreatech" ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ ของเกาหลีเหนือ เผยแพร่บทรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่าบริษัทของเกาหลีเหนือแห่งหนึ่งได้พัฒนาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตโดยใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล ทั้งนี้จากข้อมูลในงานแสดงสินค้านานาชาติเปียงยาง ประจำฤดูใบไม้ร่วง ครั้งที่ 8 โดยภาพและข้อมูลจากสำนักข่าว AP และสถานีโทรทัศน์ของทางการเกาหลีเหนือ KCTV ระบุว่าแท็บเล็ตดังกล่าวผลิตโดยบริษัท "โชซอนคอมพิวเตอร์" ซึ่งไม่เคยเป็นข่าวมาก่อนเลยทั้งในสื่อตะวันตกและสื่อของเกาหลีเอง 

คลิปจากสถานีโทรทัศน์กลางเกาหลี (KCTV) เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา รายงานข่าวแท็บเล็ตที่พัฒนาโดยบริษัท "โชซอนคอมพิวเตอร์" และมีการนำมาจัดแสดงในงานแสดงสินค้านานาชาติเปียงยาง ประจำฤดูใบไม้ร่วง ครั้งที่ 8 (ที่มา: youtube.com/Martyn Williams)

ทั้งนี้ตัวแทนของกูเกิลกล่าวเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ว่าภาพแท็บเล็ตที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ของเกาหลีใต้บางฉบับ จากที่สำนักงานของกูเกิลในโซลให้ความสนใจดังกล่าวนั้น เป็นไปได้ที่บริษัทเกาหลีเหนือจะใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอย์อย่างถูกกฎหมาย เพราะมันเป็นซอฟแวร์แบบโอเพนซอร์ส ทั้งนี้บริษัทของเกาหลีเหนือดังกล่าวจะละเมิดสิทธิของกูเกิลต่อเมื่อใช้แอพลิเคชั่นและบริการที่กูเกิลเป็นเจ้าของอย่างเช่น จีเมล์ กูเกิลเพลย์ ในระบบแท็บเล็ตดังกล่าว 

แท็บเล็ตที่เป็นข่าวนี้ใช้ชื่อรุ่นว่า "ซัมจิยอน" (Samjiyon) โดยระบุตรงกล่องผลิตภัณฑ์ที่วางที่ซุ้มแสดงสินค้า และจากภาพในคลิปของสถานีโทรทัศน์ KCTV ที่รายงานข่าวแท็บเล็ต "ซัมจิยอน" ดังกล่าวดูเหมือนว่าหน้าจอของแท็บเล็ตจะไม่มีไอคอนสำหรับแอพลิเคชั่นของอีเมล์ เว็บ หรือแอพลิเคชั่นที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในเกาหลีเหนือ และดูเหมือนจะมีการแทนที่ด้วยแอพลิเคชั่นแบบออพไลน์มากกว่าเช่น แอพลิเคชั่นสำหรับอ่านหนังสือดิจิตอล เป็นต้น

และ "ซัมจิยอน" ไม่ใช่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์รุ่นเดียวที่จัดแสดงในงานแสดงสินค้านานาชาติดังกล่าว แต่จากคลิปของสำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) ของทางการเกาหลีเหนือ ยังเผยให้เห็นภาพ เจ้าหน้าที่ประจำซุ้มของศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเปียงยาง (Pyongyang Informatics Center) เองก็กำลังสาธิตการใช้อุปกรณ์แท็บเล็ตพีซีรุ่นหนึ่ง

 

คลิปของสำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา รายงานข่าวงานแสดงสินค้านานาชาติเปียงยาง ประจำฤดูใบไม้ร่วง ครั้งที่ 8 โดยตั้งแต่วินาทีที่ 27 - 36 เป็นภาพเจ้าหน้าที่ประจำซุ้ม "Pyongyang Informatics Center" กำลังสาธิตการใช้แท็บเล็ตพีซี

ห้องแล็บและโรงงานผลิตแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งในเปียงยาง (ที่มา: KCTV)

แท็บเล็ตหน้าจอ 7 นิ้วรุ่น "อาชิม" หรือ "ยามเช้า" (ที่มาของภาพ: KCNA)

 

สื่อเกาหลีเหนือระบุแท็บเล็ตรุ่น "อาชิม" เป็นที่นิยมในหมู่นักเรียน 

โดยที่ "ซัมจิยอน" และแท็บเล็ตของ "Pyongyang Informatics Center" ไม่ใช่แท็บเล็ตรุ่นแรกๆ ที่พัฒนาโดยบริษัทในเกาหลีเหนือ ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) ของทางการเกาหลีเหนือระบุว่า "อาชิม" (Achim) หรือ "ยามเช้า" แท็บเล็ตเพื่อการศึกษาที่ผลิตโดย "บริษัทพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์" ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ก็เป็นที่นิยมในหมู่นักเรียน โดยแท็บเล็ตขนาด 7 นิ้ว หนัก 300 กรัม ระบบควบคุมและแอพลิเคชั่นสามารถเปลี่ยนเป็นภาษาเกาหลี อังกฤษ จีน และรัสเซีย สามารถใช้งานได้นาน 5 ชั่วโมงต่อการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง ผู้ใช้สามารถที่จะใช้งานโปรแกรมการเรียนการสอน การอ้างอิง ดิกชั่นนารี และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากแท็บเล็ตหลากหลายวัตถุประสงค์นี้

รี ยอง ซุก ครูประจำโรงเรียนมัธยมเปียงยางที่ 1 กล่าวกับสำนักข่าวกลางเกาหลีว่า แท็บเล็ตนี้มีประโยชน์ในการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาสมรรถนะทางปัญญาของนักเรียน

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

 

Samjiyon Android tablet debuts at Pyongyang trade fair, Northkoreatech, 28 Sept 2012
 
PAD 'Achim' Popular among Students, KCNA, 25 July 2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น