โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ฟิลิปปินส์บรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกบฏมุสลิม

Posted: 08 Oct 2012 10:41 AM PDT

ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาอย่างยาวนานกับ MILF - แนวร่วมขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร) ซึ่งจะเป็นการยุติความขัดแย้งที่ดำเนินมาถึง 40 ปีและมีผู้เสียชีวิตไปกว่า  120,000 คน

รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มกบฏมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นาย Benigno Aquino  ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าว

ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาอย่างยาวนานกับ Moro Islamic Liberation Front  (MILF  - แนวร่วมขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร) ซึ่งจะเป็นการยุติความขัดแย้งที่ดำเนินมาถึง 40 ปีและมีผู้เสียชีวิตไปกว่า  120,000 คน

ข้อตกลงนี้จะส่งผลให้เกิดเขตปกครองตนเองใหม่ในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม   ประเทศฟิลิปปินส์มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์

กลุ่ม MILF  "พอใจมาก" กับข้อตกลงนี้ โฆษกของ MILF กล่าว

การบรรลุข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากการพูดคุยในประเทศมาเลเซียและคาดว่าจะมีการลงนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ตุลาคมในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ ข้อตกลงนี้ระบุว่า  ฝ่ายต่างๆ มีพันธสัญญาที่จะทำตาม  "ข้อตกลงที่รอบด้าน" นี้ภายในสิ้นปี

"กรอบของข้อตกลงนี้เป็นการปูทางไปสู่สันติภาพสุดท้ายที่ยั่งยืนในมินดาเนา"  นาย Aquino ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวในสุนทรพจน์เพื่อประกาศข้อตกลงนี้

เขาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "การทำงานนี้ไม่ได้สิ้นสุดแค่นี้  ยังคงมีรายละเอียดที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงกัน"

ผู้สื่อข่าวกล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นหมุดหมายที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่สำคัญอย่างยิ่ง  แม้ว่าความพยายามด้านสันติภาพก่อนหน้านี้จะล้มเหลวและการเจรจากับกลุ่ม MILF ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาถูกแทรกด้วยการใช้ความรุนแรงตลอดมา

ประธานการเจรจาในฝ่ายของรัฐบาลฟิลิปปินส์ Marvic Leonen กล่าวกับ บีบีซีว่าข้อตกลงสันติภาพใหม่นี้ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองมากกว่าข้อตกลงก่อนหน้านี้ หลังจากคณะเจรจาได้ทำการปรึกษาหารือกับกลุ่มคนมุสลิม คริสต์ และองค์กรปกครองในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคกว่า 100 ครั้ง

นาย Ghazali Jaafar  รองประธานฝ่ายการเมืองของกลุ่ม  MILF กล่าวกับสำนักข่าว AFP ว่า "พวกเราพอใจมากๆ  พวกเราขอขอบคุณประธานาธิบดีในเรื่องนี้"

พวกเขาหวังว่าจะมีการดำเนินการจริงในพื้นที่ตามข้อตกลงนี้ก่อนที่วาระของรัฐบาลของประธานาธิบดี Aquino จะหมดลงในปี ค.ศ.  2016

ทลายความไม่ไว้วางใจ
ประธานาธิบดี Aquino กล่าวว่าเขตปกครองตนเองใหม่จะถูกตั้งชื่อว่า บังซาโมโร (Bangsamoro)  ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามกลุ่มโมโรซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ที่นั่น

"กรอบข้อตกลงนี้เป็นการก้าวข้ามพ้นอคติของเรา" ประธานาธิบดีกล่าว

"เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทลายความไม่ไว้วางใจและการมองแบบเฉพาะหน้า ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความพยายามที่ผ่านมาในอดีต"

ข้อตกลงซึ่งเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาจะนำไปสู่การจัดตั้ง  "คณะกรรมการในระยะเปลี่ยนผ่าน" ซึ่งจะได้รับมอบหมายให้ร่างกฎหมายเพื่อบังคับใช้ข้อตกลงนี้

ข้อตกลงที่ถูกร่างขึ้นนี้จะให้อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้นกับผู้นำของ Bangsamoro จะทำให้เกิด "การแบ่งปันที่เป็นธรรมและเท่าเทียม" ในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และจะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ยากไร้ให้ดีขึ้น

นอกจากนี้  ข้อตกลงนี้ยังกำหนดให้ MILF ดำเนินการสลายกองกำลังอย่างเป็นขั้นเป็นตอน"  และได้ระบุว่าทั้งสองฝ่ายจะทำงานเพื่อ "ลดและควบคุมอาวุธปืนและยุบเลิกกองกำลังส่วนตัวและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ "

การบังคับใช้กฎหมายจะถูกถ่ายโอนจากกองทัพไปยังตำรวจของ Bangsamoro  "ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป"

 MILF ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการแยกตัวจากกลุ่มกบฏอีกกลุ่มหนึ่งในค.ศ. 1977 ได้ประกาศยกเลิกเป้าหมายในการต่อสู้เพื่อสร้างรัฐอิสระของคนมุสลิมไปก่อนหน้านี้ 

ประธานาธิบดี Aquino ได้ยอมรับเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่าเขตปกครองตนเองในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลของข้อตกลงที่เกิดขึ้นในค.ศ. 1989 เป็น "การทดลองที่ล้มเหลว"

นายกรัฐมนตรี Najib Razak  แห่งมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพนี้ตั้งแต่ค.ศ. 2001 กล่าวว่า เขา "รู้สึกยินดี" กับ "ข้อตกลงประวัติศาสตร์" 

"สิทธิ ศักดิ์ศรีและอนาคตอันรุ่งเรืองของคน  Bangsamoro  จะได้รับความคุ้มครอง ในขณะเดียวกัน อำนาจอธิปไตยและรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ก็จะได้รับการรักษาไว้เช่นเดียวกัน" เขากล่าว

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีมากกว่า 7,000 เกาะและมีประชากรกว่า 95 ล้านคน ประเทศนี้ได้เผชิญกับกบฎแบ่งแยกดินแดนในมินดาเนา ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่ม MILF และในโจโล ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง Abu Sayyaf  ซึ่งเชื่อกันว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลเคด้า

นอกจากนี้  ยังมีกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์ซึ่งได้ต่อสู้แบบกองโจรในหลายพื้นที่ของประเทศมาตั้งแต่ค.ศ.  1969

 

หมายเหตุ  แปลเป็นภาษาไทยโดยทีมงาน DSJ จากรายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีชี  "Philippines and Muslim rebels agree peace deal" ตีพิมพ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2555 โปรดดู http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-19860907

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่องเทศกาลหนังอินดี้พม่า "เสรีภาพ" ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

Posted: 08 Oct 2012 09:57 AM PDT



Wathann Filmfest เทศกาลหนังอิสระแห่งแรกในพม่า จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 5-9 ก.ย.ที่ผ่านมา

งานครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2554 ถือเป็นการเผชิญหน้าที่กล้าหาญในการทดสอบความอดทนอดกลั้นของทางการพม่าต่อเสรีภาพในการแสดงออก ก่อนที่จะมีสัญญาณของกระบวนการปฏิรูปของพม่าที่มีถูกพูดถึงกันอย่างมาก 

แนวคิดในการริเริ่มเทศกาลหนังครั้งนี้ นำโดยกลุ่มคนหนุ่มสาวคนทำหนังชาวพม่า Thu Thu Sein ผู้จัดงาน ปัจจุบันได้ทุนเรียนต่อปริญญาโทด้านศิลปะหนัง อยู่ที่สถาบันหนังแห่งชาติเช็ก  ซึ่งตอนหลัง สถาบันหนังแห่งชาติเช็กนี้ได้สนับสนุนการจัดเทศกาลครั้งนี้ด้วย จากการได้สัมผัสกับหนังนานาชาติที่มีคุณภาพในยุโรป เธอและ Thaidhi นักศึกษาชาวพม่าร่วมสถาบันคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเวทีในการนำเสนอและถกเถียงถึงวัฒนธรรมหนัง ซึ่งประเทศของพวกเขายังขาด จึงเกิดเทศกาลหนังขึ้น ควบคู่กับกลุ่มอภิปรายออนไลน์ โดยเทศกาลหนัง Wathann มีความหมายว่าเทศกาลหนังในฤดูฝนและมีการตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องหนังพม่า ซึ่งมีสมาชิกร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 300 รายในแต่ละวัน

จากที่ไม่มีการศึกษาด้านหนังมาหลายทศวรรษ ในที่สุดก็เริ่มเห็นพัฒนาการของการศึกษาด้านนี้ในพม่าในช่วงสิบปีหลังมานี้ ความคิดริเริ่มจากต่างประเทศและมหาวิทยาลัยด้านวัฒนธรรมของรัฐได้ให้โอกาสคนหนุ่มสาวชาวพม่าในการศึกษาด้านหนังที่เป็นระบบมากขึ้น ขอบคุณความคิดริเริ่มเหล่านี้ คนหนุ่มสาวจำนวนมากขึ้นๆ เริ่มสร้างหนังอิสระในประเทศที่หนังที่จะฉายในโรงนั้นถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยคณะกรรมการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลอันฉาวโฉ่




ผู้ชมหลากศาสนา
 

เทศกาลหนัง Wathann สะท้อนบรรยากาศเหล่านี้ รวมถึงเกิดจากความต้องการของยุคสมัยและความปรารถนาของคนทำหนังที่มีความทะเยอทะยาน หลังเทศกาล Wathann ครั้งแรก อองซานซูจีและ Zarganar นักแสดงตลก ได้เริ่มจัดเทศกาลหนังอีกงาน ชื่อว่า "เทศกาลหนังเสรีภาพ" ในเดือนธันวาคม 2554-มกราคม 2555 โดยขอให้ประชาชนส่งหนังเกี่ยวกับเสรีภาพเข้าร่วม เทศกาลหนังเสรีภาพนำพาผู้คนจำนวนมากจากหลากหลายอาชีพมาสู่โรงหนังใจกลางเมืองซึ่งเป็นที่จัดเทศกาล โดยอาศัยความเป็นคนดังของผู้จัดงาน ขณะที่เทศกาลหนัง Wathann มีความโดดเด่นในแง่ที่เป็นเทศกาลหนังซึ่งยกย่องคุณค่าทางศิลปะของหนังและผู้ชมส่วนใหญ่คือคนทำหนังวัยหนุ่มสาว ซึ่งส่วนมากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหนังและวัฒนธรรมหนัง

ปีนี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมกับเทศกาลมากขึ้นกว่าในปีแรก เช่นเดียวกับจำนวนผู้ชมที่เพิ่มขึ้น ผลงาน 20 จาก 45 เรื่องถูกคัดเลือกส่งเข้าประกวด โดยมีหนัง 3 เรื่องที่ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยชาวพม่าและชาวต่างชาติรวม 6 ราย รางวัลหนังสารคดีถูกมอบให้กับ "Behind the Screen" ของ Aung Nwai Htway มหากาพย์ขนาดสั้น ความยาว 28 นาที เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคู่รักนักแสดงชายหญิงที่มีชื่อเสียงในยุค 1960 ที่บอกเล่าผ่านลูกชายของทั้งคู่ รางวัลหนังสั้นถูกมอบให้กับ "Long Time No See" ของ  Htoo Paing Zaw Oo คณะกรรมการชื่นชมความพยายามของผู้กำกับในการทำลายกฎแบบแผนเดิมๆ และรื้อสร้างสูตรการเล่าเรื่องตามลำดับเวลา ผู้ชมจำนวนมากงุนงงกับสไตล์การเล่าเรื่องที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนนี้ แต่การตัดสินของคณะกรรมการได้เป็นกำลังใจให้คนทำหนังรุ่นใหม่ในการคิดนอกกรอบ รางวัลวิสัยทัศน์ใหม่ ซึ่งจะมอบให้กับหนังแนวทดลอง ได้ถูกมอบให้กับหนังสารคดีเกี่ยวกับรัฐของชาวมอญที่ชื่อ "Flowerless Garden" โดย Zaw Naing Oo


พิธีมอบรางวัล
 

นอกจากการฉายหนังที่เข้าประกวดแล้ว ยังมีโปรแกรมอื่นที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ หนังสารคดีขนาดยาว "Nargis – when time stopped breathing" กำกับโดย The Maw Naing และ Pe Maung Same ซึ่งดึงดูดผู้คนกลุ่มใหญ่เข้าสู่เทศกาลได้ หนังดังกล่าวเป็นผลงานของกลุ่มคนทำหนังพื้นถิ่น ซึ่งตัดสินใจเดินทางและบันทึกภาพผลกระทบจากไซโคลนนาร์กีส ซึ่งทำลายดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีทางตอนใต้ของพม่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ที่คร่าชีวิตของผู้คนถึง 140,000 ราย ภัยพิบัตินี้ถูกเก็บอยู่ในความทรงจำของประชาชน ไม่เพียงแต่เพราะขนาดความเสียหายที่เห็นได้ชัดเจน แต่ยังเพราะการดื้อดึงปฏิเสธของรัฐบาลเผด็จการต่อการเข้ามาให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติแม้จะมีเสียงท้วงติงจากทั่วโลกก็ตาม สื่อถูกห้ามไม่ให้รายงานเกี่ยวกับภัยพิบัตินี้ และใครก็ตามที่พยายามฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก แม้แต่ความพยายามเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยคนในประเทศเองยังถูกห้าม เนื่องจากทางการพม่าเกรงว่าจะกลายเป็นการเน้นให้เห็นถึงความไร้ความสามารถ ซึ่งในความเป็นจริงก็คือความไม่เต็มใจของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนของตัวเอง ดังนั้น นี่จึงเป็นความกล้าหาญอย่างเหลือเชื่อของคนทำหนังที่ตัดสินใจถ่ายทำผลพวงของภัยพิบัตินี้ ในหนังเรื่องนี้ คนท้องถิ่นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและแสดงความไม่พอใจกับการที่ไม่มีความช่วยเหลือจากรัฐบาล หากการถ่ายทำหนังหรือฟุตเทจถูกทางการล่วงรู้ คนทำหนังจะต้องโทษจำคุกเป็นเวลานาน (ในขณะนั้น ผู้ที่พยายามช่วยเหลือเหยื่อนาร์กีส จะต้องโทษนานชนิดไม่มีเหตุมีผลถึง 80-100 ปี) อย่างไรก็ตาม โชคดีที่เหล่าผู้สร้างหนังรอดจากเคราะห์นั้นมาได้ และขณะนี้ หนังเรื่องนี้ก็ได้ถูกนำเสนอในงานเทศกาลหนังนานาชาติที่ต่างๆ ทั่วโลก และได้รับรางวัลหลายรางวัล หลังจบการฉายหนังที่เข้าประกวดแต่ละเรื่อง มีการอภิปรายที่มีชีวิตชีวาและเปี่ยมความหมายกับบรรดาผู้สร้างหนัง ข้อเท็จจริงที่ว่าหนังถูกฉายในพม่า และยิ่งไปกว่านั้น คือไม่มีการใช้กำลังจากทางการเมื่อมีการฉายหนัง บ่งชี้ถึงช่วงเวลาที่แปลกหูแปลกตาไปของพม่า หลังจากเปิดประตูก้าวออกจากภาวะที่ปกครองแบบเผด็จการอย่างยาวนานในที่สุด 

อีกช่วงของงานที่มีความโดดเด่นคือ โปรแกรมผู้หญิงในหนัง ซึ่งเป็นการแสดงผลงานของนักทำหนังหญิงชาวพม่า ผู้ชมจะได้รู้จักและระลึกถึงพลังที่แข็งแกร่งของพวกเธอ ซึ่งได้สร้างสรรค์หนังที่มีความหลากหลายตั้งแต่หนังสารคดีที่ทรงพลังไปจนถึงหนังศิลปะที่ละเอียดอ่อน ช่วงการพูดคุยกับ 5 นักทำหนังนั้นดูเหมือนจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักทำหนังเพศหญิงรุ่นต่อๆ ไป ไม่ต่างจากผู้ชมเพศชายบางรายที่ยืนขึ้นและบอกว่า "เมื่อผมยังเรียนอยู่ นักเรียนหญิงมักทำได้ดีกว่านักเรียนชายเสมอ และผมต้องยอมรับว่าพวกเธอมักจะฉลาดและมีไหวพริบกว่านักเรียนชาย" พร้อมด้วยเสียงปรบมือจากผู้ชม การปรากฏตัวของคนทำหนังซึ่งเป็นผู้หญิงจำนวนมากนี้เป็นสิ่งที่ยากจะเห็น แม้ว่าจะเปรียบเทียบกับในอุตสาหกรรมหนังตะวันตก และเราอาจหวังว่าพม่าจะกลายเป็นผู้นำเทรนด์นี้ในระดับโลกในอนาคตอันใกล้


ห้าผู้กำกับหญิง
 

นอกจากหนังใหม่แล้ว เทศกาลหนังครั้งนี้ยังนำเสนอหนังเก่าด้วย "Tender are the Feet" ของผู้กำกับที่เป็นที่นับหน้าถือตาอย่าง Mg Wunna สร้างในปี 2515 โดยเป็นครั้งแรกที่มีการใส่ซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ  ผู้จัดงานใช้เวลาถึง 2 ปีเพื่อทำให้หนังเก่าซึ่งฟิล์มได้เสื่อมสภาพลงได้ฉาย ถือเป็นเรื่องน่ายกย่องที่คนทำหนังหนุ่มสาวไม่เพียงแต่สนใจของใหม่ แต่ยังให้ความสำคัญกับต้นฉบับดั้งเดิมและพยายามรักษาฟิล์มเก่าเหล่านี้ซึ่งถูกละเลยที่จะจัดเก็บอย่างเหมาะสมโดยทางการมาอย่างยาวนาน จากการกระทำเหล่านี้ ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะกำหนดอนาคต รวมถึงอดีต ด้วยมือของพวกเขาเอง โดยไม่ปล่อยให้ไปอยู่ในมือของรัฐบาล

เทศกาลนี้ยังสะท้อนกระบวนการของการปฏิรูปประชาธิปไตยอันซับซ้อนในพม่าด้วย น่าสังเกตว่าไม่มีหนังที่เข้าประกวดเรื่องใดเลย แม้แต่สารคดีเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในรัฐคะฉิ่น หรือเรื่องราวของพระรูปหนึ่งที่สึกจากการเป็นพระ ที่ถูกแบนโดยคณะกรรมการเซ็นเซอร์ ไม่นานก่อนที่เทศกาลหนังจะเริ่มขึ้น ทางการพม่าได้ยกเลิกการเซ็นเซอร์สื่อสิ่งพิมพ์ก่อนตีพิมพ์ ส่วนหนังนั้นยังต้องส่งไปให้ตรวจเซ็นเซอร์ แต่เกณฑ์ในการแบนก็ผ่อนปรนมากขึ้น

ขณะที่การเซ็นเซอร์อย่างเป็นทางการเริ่มอ่อนแอลง การเซ็นเซอร์ตัวเองยังคงอยู่ในจิตใต้สำนึกของประชาชน ในพิธีเปิดเทศกาล Soe Myat Thu ศิลปินด้านหนังและละครชาวพม่า นำเสนอการแสดงละครของเขาซึ่งมีธีมเกี่ยวกับความหลากหลาย เขาขอให้พลเมืองแต่ละคนที่มีประเด็นเรื่องคนกลุ่มน้อยในสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น ความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ ศาสนา ฯลฯ นั่งท่ามกลางสาธารณะ และเล่าถึงภาวะการเป็นคนส่วนน้อย โดยมีแสงสปอร์ตไลท์ส่องไปที่พวกเขาทีละคนๆ Min Ko Naing อดีตนักโทษการเมืองคนสำคัญและผู้นำกลุ่มนักศึกษาปี 88 ซึ่งถูกเชิญให้เข้าร่วมด้วย ได้ลุกออกไปกลางคัน โดยระบุว่า เขาเข้าใจว่าการแสดงนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐยะไข่ (อาระกัน) จึงไม่ต้องการจะเกี่ยวข้องด้วย ล่าสุด รัฐยะไข่นั้นเกิดความรุนแรงระหว่างชาวพุทธซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่และโรฮิงยามุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนน้อย ซึ่งมีชนวนจากภาพของเหยื่อที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร แม้ว่าในการแสดงดังกล่าวจะมีผู้หญิงมุสลิมร่วมอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการพูดถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่โดยตรง ผู้จัดงานบอกว่า พวกเขาดีใจที่มีโอกาสนำเสนอการแสดงที่มีความโดดเด่นและรู้สึกเสียใจที่ Min Ko Naing ไม่ได้อยู่จนจบเพื่อจะเห็นและคิดว่ามันเกี่ยวกับอะไร

ในเวลาไล่เลี่ยกันกับเทศกาล ชื่อของชาวพม่าและชาวต่างชาติราว 2,000 หรือมากกว่านั้นถูกลบออกจากบัญชีดำของรัฐบาล และหลังจากนั้น อดีตผู้นำนักศึกษาซึ่งเคยถูกขึ้นบัญชีดำจำนวนหนึ่งก็ได้กลับบ้านทันที หนึ่งในนั้นคือ Moe Thee Zon ผู้นำกลุ่มแนวหน้านักศึกษาพม่าเพื่อประชาธิปไตย (ABSDF) ซึ่งอาศัยอยู่ต่างประเทศอย่างผู้ถูกเนรเทศมาหลายทศวรรษ โดยเมื่อพวกเขากลับมา การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเข่นฆ่า ABSDF ในรัฐคะฉิ่นในปี 2535 ก็เกิดขึ้น ศิลปินอย่าง Htein Lin หนึ่งในกรรมการเทศกาลต้องวุ่นตลอดสัปดาห์ในการอธิบายประเด็นนี้ต่อสาธารณะ 


คนทำหนังให้สัมภาษณ์สื่อ
 

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ขับเน้นให้ข้อเท็จจริงว่าผู้เล่นทั้งหมดในกระบวนการประชาธิปไตย อดีตนักโทษการเมือง นักกิจกรรม กองทัพที่ต้องการปฏิรูป ผู้ลี้ภัย พลเรือน ศิลปิน ฯลฯ กำลังรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศที่ไม่ได้คาดคิดและเกิดขึ้นกระทันหัน เช่นเดียวกับการดำรงชีวิตของพวกเขาที่อยู่บนการลองผิดลองถูก ช่วงเวลาที่ยังมีความหวังแต่สับสนเช่นนี้ หนังซึ่งสร้างโดยคนทำหนังอิสระ สามารถทำให้เราเห็นความเป็นจริง ไม่ใช่หนังที่ทำตลกหรือแฟนตาซีแบบที่ถูกอนุมัติโดยทางการ พื้นที่ในการนำเสนอสิ่งเหล่านี้ต่อสาธารณะเป็นการพัฒนาที่เป็นที่ยอมรับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธ.ก.ส. ระบุได้เงินคืนจากรัฐบาลตามโครงการจำนำข้าว 9.1 หมื่นล้าน

Posted: 08 Oct 2012 09:18 AM PDT

ขณะนี้รับจำนำไปแล้ว 19.77 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 3 แสนล้านบาท เกษตรกรร่วมโครงการ 2.1 ล้านราย โดยเงินที่ได้จะนำมาหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ด้าน "นิด้าโพล" พบกลุ่มสำรวจ 64.53% เห็นด้วยกับจำนำข้าว แต่ 66.29% หวั่นทุจริตถ้ารัฐบาลไม่เข้ม ส่วนโฆษกศาล รธน. คำร้อง "อ.นิด้า" เข้าที่ประชุมตุลาการ 10 ต.ค.

วันนี้ (8 ต.ค.) เว็บไซต์ฐานเศรษฐิจ รายงานคำแถลงของนายบุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งระบุว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้รับคืนเงินจากการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. การชดเชยภาระต้นเงินและดอกเบี้ย เป็นเงินจำนวน 91,827 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ที่จัดสรรมาให้จำนวน 49,877 ล้านบาท และเงินคืนค่าระบายข้าวสารจากโครงการรับจำนำ 41,950 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ธ.ก.ส. จะนำมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ธ.ก.ส. ขอยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องหรือการดำเนินงานตามปกติของ ธ.ก.ส. เนื่องจาก ธ.ก.ส. ได้มีการจัดวางระบบการบริหารงานอย่างชัดเจน เช่น มีการแยกบัญชีโครงการหรือธุรกรรมตามนโยบายของรัฐบาล (Public Service Account : PSA) เป็นบัญชีเฉพาะ แยกจากบัญชีการดำเนินงานตามปกติของธนาคารทำให้สามารถทราบผลการดำเนินงานในแต่ละบัญชีชัดเจน ขณะเดียวกันการดำเนินงานตามโครงการรัฐบาลทุกโครงการ จะมีมติคณะรัฐมนตรีรองรับเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและภาระการขาดทุนจากโครงการของรัฐทั้งหมด

โดยผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ณ ปัจจุบัน แบ่งเป็น โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 จำนวน 6.95 ล้านตัน จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 1,142,587 ราย จำนวนเงิน 118,576 ล้านบาท ส่วนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 จำนวน 12.82 ล้านตัน จำนวนเกษตรกร 1,021,018 ราย จำนวนเงิน 190,013 ล้านบาท

 

"นิด้าโพล" 64.53% เห็นด้วยโครงการจำนำข้าว แต่ 66.29% หวั่นทุจริตถ้ารัฐบาลไม่เข้ม

ด้านเว็บไซต์ครอบครัวข่าว รายงานผลสำรวจของศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ต่อโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งพบว่ากลุ่มสำรวจ ร้อยละ 64.53 เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เพราะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น มีเพียง ร้อยละ 22.90 ไม่เห็นด้วย เพราะทำให้มาตรฐานของข้าวไทยตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงและไม่มีความโปร่งใส

ขณะเดียวกันกลุ่มสำรวจร้อยละ 49.64 ยังเห็นว่า ควรทำโครงการรับจำนำข้าวต่อไป เนื่องจากเกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง ร้อยละ 27.06 เห็นว่าควรทำต่อ แต่ปรับปรุงตามกลไกราคาตลาด ร้อยละ 20.18 ให้ยกเลิกโครงการ เนื่องจากเห็นว่า ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์ ขาดความโปร่งใส ราคาเกินความจริง ทำให้ขาดทุนและต้องซื้อข้าวในราคาที่สูงขึ้น

ต่อเรื่องการทุจริต ร้อยละ 66.29 เห็นว่า มีการทุจริต ถ้ารัฐบาลไม่เข้มงวด จะเป็นการเอื้อประโยชน์กับนายทุนและโรงสี  ร้อยละ 26.42 ไม่แน่ใจ เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้และยังจับกุมผู้กระทำผิดไม่ได้  ส่วนร้อยละ 7.29 เห็นว่าไม่มีการทุจริต โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลควบคุมได้ นอกจากนี้ ร้อยละ 59.97 ยังเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจะมีการสวมสิทธิ์ขึ้นได้ เนื่องจากมีกลุ่มนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่รัฐอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง

 

40 ส.ว. จี้รัฐบาลเปิดเผยรายละเอียดเอาข้าวไปขายจีทูจีให้ใคร

อนึ่ง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวไปได้มากแล้ว ประมาณ 7 ล้านกว่าตันแล้วโดยเป็นการขายแบบจีทูจี หรือรัฐบาลต่อรัฐบาล (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ขณะที่วันนี้ (8 ต.ค.) กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดยนายประสาร มฤคพิทักษ์ อภิปรายในสภาว่าไม่เชื่อคำแถลงของนายบุญทรง และเรียกร้องให้เปิดเผยรายละเอียดการขายข้าวดังกล่าว นอกจากนี้ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ได้เรียกร้องให้กรมการค้าต่างประเทศต้องชี้แจงว่าใครเป็นผู้ซื้อไป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

คำร้อง อ.นิด้า เข้าที่ประชุมตุลาการ รธน. 10 ต.ค. นี้

ขณะเดียวกันวันนี้ (8 ต.ค.) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงคำร้องของนายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ที่ยื่นหนังสือต่อนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยระบุว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 43 และมาตรา 84 (1) นั้นเข้าที่ประชุมตุลาการในวันพุธ ที่ 10 ตุลาคมนี้ โดยตุลาการจะเป็นผู้พิจารณาและวินิจฉัยต่อไปว่าจะรับคำร้องหรือไม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สองผู้บุกเบิกงานวิจัยสเต็มเซลล์ คว้าโนเบลการแพทย์

Posted: 08 Oct 2012 08:41 AM PDT

นักวิจัยชาวญี่ปุ่นและอังกฤษที่ค้นคว้าบุกเบิกเรื่องสเต็มเซลล์หรือเซลล์ไม่จำเพาะซึ่งมีคุณสมบัติเปลี่ยนเป็นเซลล์ใดก็ได้ในร่างกาย ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์หรือสรีรวิทยาประจำปี 2012

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2012 คณะกรรมการรางวัลโนเบลประกาศให้นักวิจัยผู้บุกเบิกเรื่องสเต็มเซลล์สองคนได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์หรือสรีรวิทยา
 
ชินยะ ยามานากะ จากญี่ปุ่นและจอห์น เกอดอน จากอังกฤษ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์หรือสรีรวิทยา จากการที่พวกเขาทดลองเปลี่ยนแปลงเซลล์พิเศษให้กลายเป็นสเต็มเซลล์ ซึ่งสามารถกลายเป็นเซลล์ชนิดใดก็ได้ในร่างกาย
 
ศาตราจารย์ เกอดอน เป็นผู้ใช้เซลล์ส่วนลำไส้ของกบเพื่อนำมาโคลนนิ่งกบตัวใหม่ และศาตราจารย์ ยามานากะ ได้ทำการทำลองเปลี่ยนแปลงยีนส์เพื่อปรับระบบเซลล์ใหม่
 
คณะกรรมการรางวัลโนเบลกล่าวว่านักวิจัยสองท่านนี้ได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะที่ค้นพบว่า เซลล์ที่โตเต็มที่แล้วสามารถปรับระบบเซลล์ใหม่เพื่อนำไปใช้ทำสิ่งต่างๆ ได้หลากหลาย นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าการค้นพบในครั้งนี้ "ถือเป็นการปฏิวัติความรู้ความเข้าใจเรื่องพัฒนาการของเซลล์และอวัยวะ"
 
ในปี 1962 จอห์น เอกดอน นำข้อมูลยีนส์พันธุกรรมจากเซลล์ลำไส้กบ และนำมาใส่ให้กับไข่กบ ซึ่งทำให้ไข่กบเกิดมาเป็นลูกอ็อดปกติได้
 
ขณะที่ชินยะ ยามานากะ แสดงให้เห็นว่าเซลล์ของหนูสามารถนำมาปรับระบบใหม่ให้กลายเป็นสเต็มเซลล์โดยการเพิ่มยีนส์ 4 ยีนส์เข้าไป ผลที่ได้คือสเต็มเซลล์ที่สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นเซลล์ประเภทใดก็ได้
 
 
 
ที่มา เรียบเรียงจาก
Stem cell experts win Nobel prize, BBC, 08-10-2012
 
UK and Japan duo win Nobel Prize for medicine, Aljazeera, 08-10-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัลจาซีร่าสัมภาษณ์ปธน.อิหร่านตัวต่อตัว เรื่องปฏิรูปซีเรีย

Posted: 08 Oct 2012 08:39 AM PDT

6 ต.ค. 2012 - อัลจาซีร่ารายงานว่า การคว่ำบาตรทางการเงินอิหร่านกำลังส่งผลกระทบตั้งแต่ช่วงต้นศัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อประชาชนในอิหร่านกล่าวแสดงความไม่พอใจอย่างเปิดเผยว่าค่าเงินอิหร่านกำลังสูญมูลค่าให้กับค่าเงินดอลลาร์อย่างมาก ทำให้ราคาสูงขึ้น
 
ขณะเดียวกันผู้นำอิหร่านก็ต้องเผชิญกับ บินยามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล ที่กล่าวปราศรัยวิจารณ์โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างดุเดือดในที่ประชุมสหประชาชาติ
 
นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ในซีเรีย ที่อิหร่านจำเป็นต้องเลือกข้างเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับผู้นำเผด็จการซีเรีย ขณะที่อียิปต์ซึ่งมีผู้นำคนใหม่ คือประธานาธิบดี มอร์ซี ซึ่งมีภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปจากเดิม นี่ถือเป็นการเปิดทางให้กับอิหร่านหรือไม่
 
อัลจาซีร่าได้สัมภาษณ์ประธานาธิบดีอิหร่าน มาห์มูด อามาดิเนจัด ในนิวยอร์ก เรื่องจุดยืนและอนาคตของอิหร่าน ซึ่งอามาดิเนจัดได้กล่าวดังต่อไปนี้
 
"ไม่เพียงแค่กลุ่มประเทศโลกอาหรับเท่านั้น ทุกประเทศต้องมีการปฏิรูป บางทีแล้วประเทศที่คิดว่าตนก้าวหน้ามากๆ ก็เป็นประเทศที่ต้องการปฏิรูปมากที่สุด
 
อิหร่านเองก็ต้องการปฏิรูป แต่ของเขตของการปฏิรูปต่างกัน กับซีเรียก็เช่นเดียวกัน แต่ประเด็นของผมคือ พวกเราต้องพูดเกี่ยวกับวิธีการปฏิรูปสิ่งต่างๆ เหล่านี้
 
สำหรับซีเรียแล้วมีทางเลือกชัดเจนอยู่สองทาง หนึ่งคือสงคราม มีบางคนที่รู้สึกว่าสงครามจะทำให้เกิดการปฏิรูป พวกเขาชื่นชมความขัดแย้ง บรรยากาศของสื่อก็อาจสนับสนุนความขัดแย้งไปด้วย นี่อาจจะทำให้เกิดการสิ้นสุดชั่วคราว อาจจะถึงจุดที่มีกองกำลังเข้าไปในประเทศเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลซีเรีย หรือเป็นกองกำลังเข้าไปช่วยฝ่ายกบฏ ทำให้สิ่งต่างๆ ยุติลงเช่นนั้น
 
แต่ผมคิดว่า ในระยะยาวแล้ว สิ่งนี้จะทำร้ายซีเรีย เพราะคุณไม่สามารถปกครองได้ด้วยสงคราม กองกำลังในซีเรียและประชาชนจากเผ่าต่างๆ ต้องอยู่ร่วมกันได้ หากสงครามเผ่าพันธุ์ปะทุขึ้น ซีเรียจะแตกเป็นเสี่ยงๆ หรือไม่งั้นสงครามก็จะดำเนินต่อไป โดยมีเผ่าใดเผ่าหนึ่งมีอำนาจและเผ่าอื่นๆ ก็จะติดอาวุธต่อสู้กันใหม่ นี่เป็นหนทางหนึ่ง ซึ่งมีผู้สนับสนุนหนทางนี้จากทั้งสองฝ่าย
 
แต่ก็ยังมีทางเลือกที่สอง คือการเปิดเจรจาหารือในระดับประเทศเพื่อให้มีการเลือกตั้งที่เป็นอิสระหมดจด ผมคิดว่าทางเลือกที่สองนี้ดีกว่า และเป็นประโยชน์กับซีเรียมากกว่
 
ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับซีเรียมีมานานแล้ว... มีบางคนที่ต้องการใช้จุดนี้กดดันอิหร่าน เพื่อกล่าวหาอิหร่าน
 
คุณคิดหรือว่าซีเรียจะไม่มีมิตรที่อื่นที่จะติดอาวุธให้เขา คนที่ติดอาวุธให้พวกเขามานานแล้ว มีคนเรียงแถวอยู่ก่อนหน้าเราเป็นจำนวนมาก ผมไม่ได้บอกว่าคนเราจะไม่ทำผิดพลาดอะไรเลยนะ มันก็มีคนในทุกๆ ประเทศที่จะทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง... ผมแค่ต้องการถามคำถามนี้ว่า ในวันพรุ่งนี้สถานการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นในจอร์แดน หรืออาจเกิดในซาอุดิอารเบีย หรือในกาตาร์ และสหรัฐอาหรับอิมิเรต มันควรจะมีสงครามไหม ผมไม่เห็นด้วยเลย ผมว่ามันแย่มาก
 
ผมคิดว่าสงครามไม่ใช่วิธีการที่ดี ในที่สุดแล้ว กองกำลังอาหรับเป็นที่ต้องการที่อื่นมากกว่า ในที่ๆ ประชาชนรอคอยกองกำลังอาหรับมากว่า 60 ปีแล้ว
 
ในตอนนี้ พวกเรากำลังดำเนินไปสู่สงครามเผ่าพันธุ์ แล้วนี่ก็เป็นเรื่องอันตรายมาก มันไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์กับซีเรียเลย หากสงครามเผ่าพันธุ์ปะทุขึ้น มันจะลามไปยังเลบานอน, ตุรกี, จอร์แดน และอิรัก เราไม่อาจควบคุมเพลิงที่โหมไหม้ลุกลามนี้ได้ ผมเป็นห่วงอนาคตมากกว่า"
 
มาห์มูด อามาดิเนจัด, ประธานาธิบดีอิหร่าน
 
 
ที่มา
Ahmadinejad: 'You can't rule with war', Aljazeera, 06-10-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตลาดน้ำดำเนิน (นโยบายเพื่อ) รัฐ

Posted: 08 Oct 2012 08:35 AM PDT

ในวันหยุดสุดสัปดาห์ของแต่ละคนหรือครอบครัวหากกล่าวไปแล้วทุกคนถ้าไม่พักผ่อนอยู่บ้านก็คงต้องหากิจกรรมต่างๆ ทำเป็นแน่ในวันหยุด บ้างก็ไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด บ้างก็เดินเล่นตามห้างสรรพสินค้า ทานข้าว ดูหนัง ฟังเพลง และอีกแหล่งหนึ่งที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เสมือนหนึ่งการย้อนเวลาหาหาอดีตที่ถวิลหาแต่ละคนที่มีนั่นก็คือ การท่องเที่ยวตลาดน้ำ นั่นเอง

หากกล่าวถึงตลาดน้ำในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด หรือหากเปรียบแล้วก็คงไม่ต่างอะไรกับการขยายกิจการของห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่เกิดขึ้นและกระจายไปทั่วหัวระแหง ผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบและก็ลองจินตนาการว่า ทำไมล่ะเราถึงกลับมานิยมอะไรแบบนี้ มันเกิดจากอะไรกันแน่ ที่อยู่ๆ สิ่งเก่าๆ อย่างนี้ที่ถูกมองข้ามไปแล้วกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และทำให้เราถวิลหามันอย่างที่สุด

เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้เขียนก็นึกขึ้นได้ว่า มีงานเขียนที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าจะนำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี งานเขียนของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร เรื่อง รัฐชาติกับ (ความไร้) ระเบียบโลกชุดใหม่ ได้ทำให้ผู้เขียนอยากลองอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นของตลาดน้ำขึ้นมา เอาเข้าจริงหากมองให้ลึกซึ้งการเกิดขึ้นของตลาดน้ำเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐต้องส่งเสริมเพราะอย่างน้อยก็เป็นส่วนช่วยอย่างยิ่งที่ทำให้รัฐเองต่อสู้กับโลกโลกาภิวัตน์อย่างในปัจจุบันได้อีกทางหนึ่ง หรืออีกทางหนึ่งก็เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า ในที่สุดแล้ว วัฒนธรรม ประเพณี ต่างๆในอดีตคงเป็นเพียงสิ่งที่นำมาแสดงเพื่อเพิ่มมูลค่ามากกว่าการนำกลับมาใช้ใหม่ก็เป็นได้

ความกระชับแน่นระหว่างเวลากับสถานที่ เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวโดยสรุปรวบยอดตามความเข้าใจของผู้เขียนคือ ปัจจุบันหลายคนกล่าวว่าเป็นยุคแห่งโลกาภิวัตน์สังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากอันเนื่องมากจากสิ่งนี้ กล่าวคือ หากเรามองถึงสมัยก่อนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งนั้นต้องใช้เวลานานพอสมควรเลยทีเดียว อาทิเช่น การแต่งกายของคนต่างประเทศในสมัยก่อนนั้นเราจะทราบแนวทางการแต่งกายเหล่านี้ก็คงรับรู้จาก รูป หรือเห็นจริงโดยชาวต่างประเทศที่มาติดต่อค้าขายเท่านั้น หากมันจะเข้าถึงสังคมหนึ่งๆได้ก็ต้องใช้เวลานานมากทีเดียวประหนึ่งราวกับว่าคงใช้เวลาเท่ากับการเดินเรือจากทวีปหนึ่งมาอีกทวีปหนึ่งก็เป็นได้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป

แต่หากเทียบกับปัจจุบันแล้ว การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมของโลกเราสามารถรับรู้ได้อย่างรวดเร็วภายใต้โลกโลกาภิวัตน์ เราสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้พร้อมหรือช้ากว่าประเทศต้นแบบเพียงเสี้ยววินาทีอาจจะโดย โทรภาพ Internet เป็นต้น ทำให้การรับรู้การเปลี่ยนแปลงจากที่หนึ่งสู่ที่หนึ่งย่นเวลาจากที่เสมือนใช้เวลาเท่ากับการเดินเรือข้ามมหาสมุทรสู่การใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีผ่านปลายนิ้วสัมผัส

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใช่ว่าจะเป็นช่วงๆ เท่านั้นที่เราสามารถรับรู้ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถรับรู้ได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโทรภาพ เช่น Fashion Chanel เป็นต้น ที่เราสารถดูได้ตลอด 24 ชั่วโมงเลยก็ว่าได้

ดังนั้นกล่าวได้ว่าปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาสิ่งที่ตามมาก็คือว่า แล้วมันส่งผลกระทบอะไรกับตัวเราเมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นมันเร็วขนาดนี้ สิ่งที่เกิดและกระทบกับตัวเรามากที่สุดก็คือ การระวังตัวอยู่ตลอดเวลาระวังต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การต้องอยู่กับภาวะความไม่มั่นคงในชีวิต นั่นเอง ทำไมถึงกล่าวอย่างนั้น อันที่จริงแล้วเมื่อทุกอย่างมันเร็วและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การกำหนดนโยบายหรือเตรียมการล่วงหน้าในระยะยาวนั้นก็เป็นไปได้ยากดังนั้นคนจึงมองแค่ผลประโยชน์ระยะสั้น มองสั้นๆเท่านั้น

เมื่อการมองเกิดขึ้นในลักษณะสั้นก็เท่ากับว่าการทุกคนก็มักจะหวังประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น เกิดการแสวงหากำไรกันอย่างไม่เป็นที่สิ้นสุด เกิดการแข่งขันกันเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเองเพื่อให้ขายสินค้าได้ ใช้การโฆษณาเป็นหลักเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง โดยไม่ได้สนใจในส่วนของคุณค่า ที่มา คุณภาพ ของสินค้า เท่ากับ การโฆษณาสินค้าให้คนเชื่อถือเพื่อสร้างมูลค่าให้กับตนเอง

โดยเฉพาะหากกล่าวถึงเรื่องเงินตราก็เป็นตัวสะท้อนที่ชัดเจนถึงความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วนี้ กล่าวคือ ปัจจุบันค่าเงินสามารถผันผวนได้ตลอดเวลาดังนั้นหากคุณมีเงิน 100 บาท วันนี้ถือว่าเป็นคนรวยแต่พรุ้งนี้เงิน 100 ที่คุณมีอาจจะไม่มีค่าเลยก็ว่าได้ ดังนั้นในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ผู้คนนิยมที่จะสะสม ทองคำ ที่ดิน มากกว่าที่จะเก็บเงินสดไว้ เพราะอย่างน้อยมันก็มั่นคงต่อชีวิตตนเองมากกว่าการเก็บเงินสด

เท่ากับว่าเมื่อสภาวะของโลกปัจจุบันเป็นแบบนี้ สิ่งที่ต้องเป็นก็คือต้องอยู่กับความไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไป ทุกคนอาศัยอยู่ด้วยความระวังตนมากที่สุด ดังนั้น ความมั่นคงในชีวิตแบบเดิมจึงเป็นสิ่งที่คนทั่วไปถวิลหาอย่างมากในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นการนำสิ่งเก่ามาเล่าใหม่ก็คงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีเวลาที่ได้พบเห็น การแสดง สิ่งของ สถานที่ หรือแม้แต่ศาสนา เป็นต้น สิ่งเก่าเหล่านี้ถูกนำมาให้ความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่า ความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงหยุดลงชั่วขณะเมื่อได้อยู่กับสิ่งเก่าเหล่านี้

ตลาดน้ำ จึงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนอยากนำมาอธิบายและสนับสนุนงานวิจัยข้างต้น เมื่อเกิดความไม่แน่นอนในชีวิต ผู้คนมักจะถวิลหาความมั่นคง ถวิลหาเวลาสถานที่แห่งอดีตที่ทำให้รู้สึกว่า เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงหยุดลงชั่วขณะ ตลาดน้ำ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในปัจจุบันเมื่อเข้าไปเดินแล้วรู้สึกผ่อนคลายและหยุดความวุ่นวายในใจไปชั่วขณะ พร้อมกับอาจมีเสียงบ่นมาว่า อยากมีบ้านอย่างนี้ อยากขายของพายเรืออย่างนี้ ก็เป็นได้และเมื่อกลับไปแล้วก็มีความนึกถึงมันอยู่ตลอดเวลาเวลาที่เราทำอะไรที่เร่งด่วนในปัจจุบัน เช่น เมื่อทานก๋วยเตี๋ยวในร้านดังในห้างสรรพสินค้า ก็มักจะไม่ได้บรรยากาศเท่ากับการนั่งกินก๋วยเตี๋ยวที่ตลาดน้ำก็เป็นได้

ความถวิลหาได้สร้างสิ่งเก่ามาเล่าใหม่ได้เป็นอย่างดี แต่กระนั้นก็อย่างเพิ่งดีใจไปเมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเอาเข้าจริงการเกิดขึ้นของตลาดน้ำไม่ได้มีนัยยะที่บ่งชี้ว่าวิถีชีวิตเก่าๆ กำลังจะกลับมาโลกาภิวัตน์กำลังจะสิ้นใจ การเกิดสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่การหยิบประวัติศาสตร์มาสร้างมูลค่าเท่านั้น ผู้เขียนมีความเห็นด้วยกับงานวิจัยที่กล่าวว่า การทำสิ่งเหล่านี้เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดสินค้าชนิดใหม่เท่านั้น ไม่ได้มีอะไรมากกว่าการหยิบของเก่ามาแสดงเพื่อการค้าเท่านั้น แต่หากกล่าวในแง่ดีก็สมประโยชน์ทั้งคู่เช่นกันระหว่าง ผู้ประกอบกิจการกับผู้ชม

ดังนั้นกล่าวโดยสรุปแล้ว ตลาดน้ำเองก็เป็นผลผลิตที่เกิดจากผลของโลกาภิวัตน์นั่นเอง เพียงแต่ว่าอย่างน้อยมันก็ทำให้เราได้รู้สึกดีเมื่อได้เห็น ผ่อนคลายชีวิตที่เร่งรีบลงเมื่อได้เที่ยว และอย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าการใช้ชีวิตในแบบเดิมคงทำให้มั่งคงกว่าปัจจุบันถึงแม้ว่าการจะกลับมาสู่อดีตเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ก็ตาม

หากมองในแงมุมของ รัฐ รัฐเองมีความปวดหัวเป็นอย่างมากเมื่อตกอยู่ในสภาพของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขนาดนี้ สิ่งที่รัฐพยายามมากที่สุดก็คือ การใช้วิธีการที่ทำให้คนหันมาสนใจบ้านเมืองของตัวเองให้มากที่สุดและอย่าเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนั้นเพื่อช่วยให้รัฐสามารถดำเนินนโยบายได้ เช่น การใช้วิธีชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม หรือแม้แต่ศาสนาเพื่อช่วยให้เกิดการควบคุมได้ง่ายขึ้น ไม่อย่างนั้นการกำหนดนโยบายต่างๆของรัฐแทบจะทำไม่ได้เลยหากให้โลกาภิวัตน์เข้ามามีบทบาทมากไป รัฐจึงต้องอาศัยสิ่งนี้เพื่อสู้กับโลกาภิวัตน์ ดังงานวิจัยใช้คำว่า หากมองตามฐานคิดแบบ รัฐชาติ ก็คงกล่าวได้ว่านี่คือความขัดแย้งระหว่าง โลกาภิวัตน์กับท้องถิ่นนิยม ชาตินิยม หรือแม้แต่ศาสนา

ดังนั้นหากกล่าวถึง ตลาดน้ำ รัฐเองก็ถือว่าอย่างน้อยนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้คนไหลไปตามสายธารของโลกาภิวัตน์ อย่างน้อยสิ่งนี้ก็เป็นตัวฉุดกระชากความคิดของคนในสังคมไม่ให้ถูกทำลายโดยโลกาภิวัตน์นั่นเอง ดังนั้นในมุมของผู้เขียนเอง การมีอยู่ของตลาดน้ำจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า มีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลาในสังคม และตลาดน้ำเองก็ดำเนินอยู่ได้เพราะดำเนินแนวทางได้โดยการสนับสนุนแนวทางของรัฐนั่นเอง ไม่ว่าใครจะมองว่า ตลาดน้ำเกิดขึ้นมาในแง่ไหน แง่ธุรกิจ แง่วัฒนธรรม หรืออย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่อย่างน้อยมันก็แสดงให้เห็นว่า โลกาภิวัตน์ก็อย่าได้ทะนงตัวว่า คุณจะชนะการรบในประเทศไทยอย่างง่าย เพราะคุณยังมี "ตลาดน้ำดำเนิน (นโยบายเพื่อ) รัฐ" เป็นคู่ต่อสู้อยู่นั่นเอง

          

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความหมายของการรำลึก 36 ปี 6 ตุลา ปีนี้เราคงไม่ต้องถามว่า “ใครฆ่าเขา หรือเราเห็นคนตาย” อีกแล้ว

Posted: 08 Oct 2012 08:18 AM PDT

วันที่ 6 ตุลาคม ปีนี้ นอกจากเป็นวันครบรอบ 36 ปี ของเหตุการณ์นองเลือดในมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ อันเกิดจากอาชญากรรมรัฐ เมื่อปี พ.ศ.2519 แล้ว ยังเป็นวันครบรอบ 12 ปี ของชิ้นงานประติมานุสรณ์ 6 ตุลาด้วย  ประติมากรรมชิ้นนี้สร้างขึ้นมาด้วยน้ำพัก น้ำแรง น้ำใจ และการระดมทุนจากบรรดาผู้ผ่านเหตุการณ์ และมีประสบการณ์ร่วมกันภายใต้คำขวัญการจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา ว่า "ขบวนการนักศึกษาประชาชนเดือนตุลา..กล้าต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม" โดยมติเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2539 สร้างเสร็จและเปิดก่อนหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาถึง  2 ปี นั่นหมายความว่าพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของสามัญชนในรูปของอนุสรณ์สถานนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างได้ง่ายๆในสังคมไทย
 
ในบันทึกอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีในขณะนั้น ชื่อว่า "ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519" ถ่ายทอดทุกสิ่งที่สังคมไทยตั้งคำถามกับเหตุการณ์นี้ แจกแจงถึงเจตนาตลอดจนวิธีการของพวกที่รวมตัวกันวางแผนก่ออาชญากรรมรัฐว่า
 
"......... เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษา และประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นาน ในการเลือกตั้งเมษายน 2519 ได้มีการปิดประกาศและโฆษณาจากพรรคการเมืองบางพรรคว่า "สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์" และพระกิตติวุฒโฑภิกขุ ยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า "การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่เป็นบาป"  ในกันยายน–ตุลาคม 2519  มีผู้กล่าวว่าการฆ่าคนที่มาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร สัก 30,000 คน ก็เป็นการลงทุนที่ถูก
 
ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม  ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป  ได้แก่ พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำลายล้างพลังต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์แก่ตนเองด้วยวิธีต่างๆ ทางวิทยุและโทรทัศน์ ทางหนังสือพิมพ์ ทางใบปลิวโฆษณา ทางลมปากลือกัน ทางบัตรสนเท่ห์ ทางจดหมายซึ่งเป็นบัตรสนเท่ห์ขู่เข็ญต่างๆ และได้ก่อตั้งหน่วยต่างๆ
 
วิธีการของบุคคลกลุ่มเหล่านี้คือ ใช้การปลุกผีคอมมิวนิสต์โดยทั่วไป ถ้าไม่ชอบใครก็ป้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์  แม้ แต่นายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ หรือเสนีย์ หรือพระราชาคณะบางรูปก็ไม่เว้นจากการถูกป้ายสี อีกวิธีหนึ่งคือการอ้างถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือในการป้ายสี ถ้าใครเป็นปรปักษ์ก็แปลว่าไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ …."
 
ความขัดแย้งทางการเมืองในระหว่างกลุ่มพลังก้าวหน้า ที่มุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างกับพลังอนุรักษ์นิยมทางการเมือง   ลงเอยด้วยการก่ออาชญากรรมรัฐ  ในวันที่ 6 ตุลา 2519   เพียง 3 ปี จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516   ความทรงจำที่พร่ามัวบวกกับความหมายของการตายที่ถูกบิดเบือนไปทำให้บันทึกประวัติศาสตร์ 6 ตุลา และเจตนารมณ์ 6 ตุลา ต้องผิดเพี้ยนไปจากความจริง วันนี้สังคมไทยยังคงซึมซับกับประสบการณ์เดิมๆ เรื่องราวเดิมๆ การคุกคาม ปราบปราม เข่นฆ่า และอาชญากรรมของรัฐ ซึ่งดูรุนแรงยิ่งกว่า
 
แต่ขณะเดียวกันประชาชนก็มีความตื่นตัว แจ่มชัด ยิ่งขึ้น ตาสว่างมากขึ้น มีการกระจายตัวอยู่ในทุกจังหวัด ไม่ได้รวมศูนย์เฉพาะในกรุงเทพฯ  การสื่อสารต่างๆจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงฝ่ายกุมอำนาจ แม้จะมีความพยายามปิดสื่อทุกทาง ทั้งโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์
 
ความหมายของการรำลึก 36 ปี 6 ตุลา  ปีนี้เราคงจะไม่ต้องถามหาว่า "...ใครฆ่าเขา หรือเราเห็นคนตาย " อีกแล้ว  ความจริงคำถามเหล่านี้เราตอบได้เพราะฆาตกรในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 กับ เมษา-พฤษภามหาโหด 2553 ก็ไม่ได้ต่างกันเลย   ขบวนการประชาชน ซึ่งรวมคนชนบทและคนในกรุงเทพฯ จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ยิ่งใหญ่กว่าการต่อสู้ 14 ตุลา และการต่อสู้ในเดือนพฤษภาปี 2535 มีการสั่งสมบทเรียน และก่อตัวเป็นอุดมการณ์ การขับเคลื่อนใหม่ๆ 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ว่า กทม. เตือนเคลื่อนย้ายกระสอบทราย กทม. เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ

Posted: 08 Oct 2012 04:46 AM PDT

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เผยการนำกระสอบทรายไปวางในท่อระบายน้ำเป็นการดำเนินการด้านเทคนิคเพื่อให้การสูบน้ำจากถนนลงคลองกะจะเร็วขึ้น ส่วนกรณีที่โฆษกเพื่อไทยและ จนท.ดีเอสไอเคลื่อนย้ายกระสอบทรายออกไปนั้น สำนักการระบายน้ำได้ลงบันทึกประจำวันแล้ว แต่ยังไม่ได้แจ้งดำเนินคดีเอาผิดผู้ใด

เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายงานวันนี้ (8 ต.ค.) กรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแถลงกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เคลื่อนย้ายกระสอบทรายออกจากท่อระบายน้ำบริเวณถนนศรีนครินทร์ โดยระบุว่า สำนักการระบายน้ำได้ลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก แต่ยังไม่ได้แจ้งดำเนินคดีเพื่อเอาผิดกับผู้ใด

โดยผู้ว่าฯกทม.ยืนยันว่า การนำกระสอบทรายลงไปในท่อระบายน้ำเป็นการนำไปวางเพื่อดำเนินการด้านเทคนิคในระบบปิดล้อมย่อยเพื่อสูบน้ำจากถนนศรีนครินทร์ลงคลองกะจะช่วยให้ถนนแห้งเร็วขึ้น ส่วนกระสอบทรายที่พบบริเวณท่อระบายน้ำหน้าร้านอาหารผาแดงเป็นการซ่อมแซมท่อระบายน้ำที่ชำรุด ไม่ให้ดิน และ ทรายบนผิวจราจร ลงไปในท่อระบายน้ำเพื่อให้คงสภาพของท่อระบายน้ำที่มีอยู่เดิม

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกอีกว่า กระสอบทรายเป็นทรัพย์สินของ กทม.ที่นำมาวางไว้เพื่อแก้ปัญหาด้านเทคนิค และ รู้สึกไม่ดีที่ต้องออกมาแถลงข่าว พร้อมกับขอให้หน่วยงานใดที่จะลงพื้นที่ กทม.ขอให้ประสานงานมายัง กทม.ก่อนไม่ใช่ลงพื้นที่โดยที่ กทม.ไม่รู้เรื่อง ซึ่งการเคลื่อนย้ายกระสอบทรายมีความผิดเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 266 ด้วยการใช้อำนาจตำแหน่งทางการเมืองแทรกแซงการทำงานของข้าราชประจำ

อนึ่งก่อนที่จะมีการแถลงข่าวของผู้ว่าฯ กทม. นี้ เมื่อ 6 ต.ค. นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยพบถุงทรายในท่อระบายน้ำของ กทม. ว่า เป็นการดิสเครดิตกทม. เพราะหวังคะแนนเสียงในการเลือกผู้ว่าฯ กทม.สมัยหน้า แต่จากการตรวจสอบพบว่าถุงทรายดังกล่าวล้วนแต่เป็นถุงใหม่ โดยสำนักงานเขตมีนบุรี มีหนังสือยืนยัน และ บันทึกข้อความ ถึงปลัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งบุคคลที่น่าสงสัย คิดว่าคือบุคคลที่ไปพบถุงทรายคนแรก "ผมขอประนามการกระทำนี้ เพราะท่านเอาความทุกข์ของประชาชน มาเป็นเหยื่อสนองตัณหาทางการเมืองของท่าน โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ร้อนของประชาชน"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.ยันประมูล 3G 16 ต.ค.นี้ ไม่มีปัญหาทางกฎหมาย

Posted: 08 Oct 2012 04:24 AM PDT

กสทช. ยืนยันการดำเนินการประมูล 3G ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดและพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงในการดำเนินการทุกขั้นตอน หากจะมีการฟ้องร้องคดีเกิดขึ้น


(8 ต.ค.55) กรณีมีข่าวว่า จะมีผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการดำเนินการประมูล 3G ที่สำนักงาน กสทช. จะจัดให้มีการประมูลในวันที่ 16 ต.ค.ที่จะถึงนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) แถลงข่าวว่า การประมูล 3G ไม่มีปัญหาในข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในการดำเนินการประมูล 3G จึงไม่มีข้อสงสัยในอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในเรื่องดังกล่าว โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอน การดำเนินการประมูล 3G กสทช. และสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดถูกต้องทุกขั้นตอนอย่างครบถ้วน

หลักเกณฑ์และวิธีการประมูล มีการกำหนดมาตรฐานการให้บริการ การพัฒนาทางเทคโนโลยี การคุ้มครองประโยชน์ประเทศ คุ้มครองประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคในด้านการบริการและรวมทั้งคุ้มครองผู้ด้อยโอกาส และมีการฟังความคิดเห็นสาธารณะ ตามกระบวนการที่กฎหมายได้บัญญัติไว้อย่างครบถ้วน

ส่วนรายได้อันเกิดจากการประมูล 3G ทั้งหมด สำนักงาน กสทช. จะต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินให้รัฐบาลนำไปใช้จ่ายต่อไป ดังนั้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการประมูล 3G เป็นของประเทศและประชาชนโดยรวมอย่างแท้จริง

โดยในวันอังคารที่ 9 ต.ค. สำนักงาน กสทช. จะได้นำผลการตรวจคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล 3G ตาม IM เสนอ กทค. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วประกาศให้ทราบในวันดังกล่าว และจะมีการเคาะประมูลราคาในวันที่ 16 ต.ค. ต่อไป

ดังนั้น หากมีผู้ใดที่เห็นว่าการดำเนินการประมูล 3G มีปัญหาความไม่ชอบหรือไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ก็เป็นสิทธิที่สามารถจะกระทำได้ภายใต้ขอบเขตบทบัญญัติของกฎหมาย และสามารถใช้สิทธินั้นในการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป ซึ่งสำนักงาน กสทช. พร้อมที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงในการดำเนินการทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไป

 

ที่มา: Press Release กสทช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

Posted: 08 Oct 2012 03:50 AM PDT

"ผมจัดตัวเองว่าเป็นผู้ประสบภัยจากองค์กรอิสระซึ่งผลาญเงินประชาชนมาก ด้วยลักษณะที่เราคิดถึงว่าองค์กรอิสระเป็นเทวดา เป็นผู้ทรงความรู้คู่ธรรม การวิจารณ์ตรวจสอบจึงไม่เกิดขึ้น นี่เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าเรื่องสำคัญในการเมืองไทยจำนวนมาก รัฐบาลไม่ได้ตัดสินใจแต่ถูกดึงไปให้องค์กรอิสระจำนวนมาก และนี่เป็นเรื่องที่สำคัญเกินกว่าจะฝากไว้กับใคร ผมคิดว่าองค์กรอิสระ เป็นสิ่งที่หลายๆ ส่วนควรคิดถึงและจับตามองให้มากขึ้น"

8 ต.ค. 2555 วิพากษ์ แนวทางการเปิดเผยข้อมูลในการดำเนินการของ กสทช.

"ชาเวซ" ชนะเลือกตั้งปธน.เวเนซูเอลาต่อเป็นสมัยที่ 3

Posted: 08 Oct 2012 03:45 AM PDT

"ฮิวโก้ ชาเวซ" ประธานาธิบดีของเวเนซูเอลา ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 อย่างสูสี โดยได้รับคะแนนเหนือฝ่ายค้านร้อยละ 9 ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งอีกหนึ่งสมัยหลังครองอำนาจมาแล้ว 14 ปี 

 

8 ต.ค. 55 - คณะกรรมการการเลือกตั้งเวเนซูเอลาประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างไม่เป็นทางการ โดยผลจากการนับคะแนนบางส่วนปรากฏว่านายฮูโก ชาเวซ ผู้นำเวเนซูเอลาคนปัจจุบัน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 54 ขณะที่นายเอนริเก้ กาปริเลส ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคฝ่ายค้าน ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 45
 
ซึ่งผลคะแนนดังกล่าว ทำให้เป็นที่แน่นอนแล้วว่านายชาเวซ จะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน หลังจากเขาปกครองประเทศมาแล้วเป็นเวลากว่า 14 ปี นับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2541 ขณะที่บรรดาผู้สนับสนุนนายชาเวซต่างออกมาร่วมเฉลิมฉลองบนท้องถนนกลางกรุงการากัสอย่างคึกคัก
 
นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งยังได้เปิดเผยสถิติผู้มาลงคะแนนเสียงในปีนี้ ซึ่งสูงถึงร้อยละ 80 โดยก่อนหน้านี้บรรยากาศของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็เป็นไปอย่างคึกคักทั่วประเทศ จนบางคูหาเลือกตั้งถึงกับต้องปิดหีบคะแนนช้ากว่ากำหนดเนื่องจากมีผู้มาต่อแถวรอลงคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นไปตามความคาดหมาย เนื่องจากการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกตั้งที่สูสีที่สุดของประเทศในรอบกว่า 10 ปี ทำให้ประชาชนกระตือรือร้นที่จะออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
 
ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมที่เน้นแนวทางสังคมนิยมและรัฐสวัสดิการของนายชาเวซ ส่งผลให้เขาเป็นนักการเมืองขวัญใจชนชั้นรากหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะที่นายกาปริเลส นักการเมืองฝ่ายค้าน ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นสูงและชนชั้นกลางบางส่วนซึ่งต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการของนายชาเวซ
 
ชาเวซยังเป็นผู้นำในละตินอเมริกาที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของสหรัฐอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับศัตรูของสหรัฐ อาทิ คิวบา และอิหร่าน มากขึ้นเรื่อยๆ 
 
การเจริญเติบโตที่รวดเร็วของเศรษฐกิจน้ำมัน ทำให้ชาเวซสามารถนำเงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อลงทุนในสวัสดิการสังคมต่างๆ ตั้งแต่การสร้างคลินิกสุขภาพไปจนถึงการสร้างที่พักอาศัยแบบอพาร์ทเมนท์ ทำให้เชาได้รับแรงสนับสนุนจำนวนมากในหมู่ประชาชนคนยากจน 
 
ประธานาธิบดีเวเนเซูเอลา อาจดำเนินการแปรรูปกิจการให้เป็นของรัฐอีกหลายแห่งในอนาคต อาทิ ธนาคาร อุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพ โดยก่อนหน้านี้ ภายหลังชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2549 เขาได้ใช้โอกาสที่ได้รับความนิยม จัดการแปรรูปกิจกรรมโทรคมนาคม ไฟฟ้า และน้ำมันให้เป็นของรัฐ​ แต่นักวิเคราะห์คาดว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งของเขา อาจทำให้แผนดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลง 
 
ที่มา: เรียบเรียงจากวอยซ์ทีวี, สำนักข่าวรอยเตอร์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

40 ส.ว. ไม่เชื่อรัฐบาลขายข้าวได้หลายล้านตัน จี้กรมการค้าต่างประเทศชี้แจงใครซื้อไป

Posted: 08 Oct 2012 03:25 AM PDT

กลุ่ม 40 ส.ว. อภิปรายในสภาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยรายละเอียดว่ามีใครเป็นผู้ซื้อข้าวจากการจำนำ แต่กลับไม่มี จึงคิดว่าการโกหกสีขาวได้ระบาดไปถึงข้าราชการประจำ และคิดว่ารัฐบาลนี้มีเรื่องโกหกสีขาวอีกกี่เรื่อง

ตามที่ มติชนรายวัน รายงานโดยแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน และองค์การคลังสินค้า (อคส.) เตรียมข้อมูลและรายละเอียดการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ผ่านมา การจัดทำโครงการรับจำนำ และแนวทางการดำเนินงานในปี 2556 เพื่อประกอบการแถลงข่าวในกลางสัปดาห์นี้ และเตรียมหารือ ผู้ส่งออกรายใหญ่ถึงแผนงานและเป้าหมายการระบายข้าวในปี 2556

แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า นายบุญทรงจะชี้แจงข้อเท็จจริงที่กำลังเป็นกระแสข่าว ทั้งการระบายข้าวแบบจีทูจี จำนวน 1 ล้านตัน ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นตัวเลขลม ไม่มีการส่งออกจริง โดยชี้แจงรายละเอียดให้เห็นว่ามีการขายเพื่อส่งออกจริง และทยอยส่งเงินคืนจากการขายข้าวแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท รวมถึงการชี้แจงวิธีการระบายข้าวจีทูจี ว่าเป็นแบบขายหน้าคลังที่กรมการค้าต่างประเทศในฐานะตัวแทนผู้ขาย และให้ผู้ซื้อไปรับข้าวกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) โดยผู้ซื้อเป็นผู้จัดหาบริษัทเอกชนทำการปรับปรุงและส่งออก แหล่งข่าวยังอ้างว่าไทยส่งออกข้าวได้ 5 ล้านตัน และข้าวที่ส่งออกไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพราะเป็นการขายแบบจีทูจี (รัฐบาลต่อรัฐบาล) ประเทศผู้ซื้อไม่ต้องการให้เปิดเผย เพราะมีผลต่อทางการเมืองในประเทศ" แหล่งข่าวกล่าว

 

40 ส.ว. กังขา รัฐบาลขายข้าวได้หลายล้านตัน ถามขายข้าวขนาดนี้ต้องใช้กระสอบกี่ร้อยล้านใบ

ล่าสุด วันนี้ (8 ต.ค.) เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. ได้อภิปรายในสภา โดยหารือถึงนโยบายการจำนำข้าวของรัฐบาลว่า การที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่ามีผู้ซื้อข้าวแล้ว 7.5 ล้านตัน แต่ก็ไม่มีรายละเอียด จาการสอบถามแวดวงผู้ส่งออกข้าว บอกว่าขายข้าวขนาดนี้จะต้องใช้กระสอบกี่พันกี่ร้อยล้านใบ จองเรือกี่ร้อยล้านเที่ยว แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวในการผลิตกระสอบหรือจองเรือเลย ดังนั้นอย่ามั่วๆ ไปอย่างนี้ อีกทั้งนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกฯ และประธานธนาคารแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์ว่าการจำนำข้าวเปิดช่องการทุจริตทำลายโครงสร้างตลาด จะให้ตนเชื่อนายวีรพงษ์หรือจะให้เชื่อ รมว.พาณิชย์ หรือเชื่อนายกฯ

ด้าน น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรีและกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวว่า ฝากไปถึงนายกฯ รองนายกฯ และ รมว.คลัง รมว.พาณิชย์ ปลัดกระทรวง และอธิบดีกระทรวงพาณิชย์ โมเดลโกหกสีขาวจากการที่โครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 5 ต.ค.อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศแจ้งว่าให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ทำใบส่งสินค้าจ่ายข้าวให้กับผู้ซื้อข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ที่มารับมอบ 4-5 ราย แต่พอวันที่ 6 ต.ค. อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกลับบอกว่ากรมได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐจำนวน 7 ล้านตันจริง แต่ไม่สมารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่ทำไว้กับประเทศนั้นๆ จึงคิดว่าเป็นหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศต้องชี้แจงว่าใครเป็นผู้ซื้อไป ราคาเท่าไหร่ แต่กลับไม่มี จึงคิดว่าการโกหกสีขาวได้ระบาดไปถึงข้าราชการประจำ และคิดว่ารัฐบาลนี้มีเรื่องโกหกสีขาวอีกกี่เรื่อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาตุรนต์ ฉายแสง: จาก 6 ตุลา 19 ถึงรายงาน คอป.

Posted: 08 Oct 2012 03:05 AM PDT

หมายเหตุ: จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงข่าว "จาก 6 ตุลา 19 ถึงรายงาน คอป." ที่โรงแรมอมารี เอเทรียม ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2555

 


จากหัวข้อ "จาก 6 ตุลา 19 ถึงรายงาน คอป." จะเน้นที่รายงาน คอป. เรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้ง ปรองดอง ยังเป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหาใหญ่ต่อไปแน่ๆ ไม่ช้าก็เร็วเรื่องนี้จะมีการหยิบยกขึ้นมาอีก แต่ว่าที่มาพูดในวันนี้ ในวันที่ 7 ตุลา เมื่อวานนี้เป็นครบรอบ 36 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งผมก็เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้รับความเสียหายโดยตรงด้วยคนหนึ่ง

ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา จึงเห็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรายงาน คอป.ค่อนข้างมาก

ขอชี้แจงก่อนว่า การให้ความเห็นในวันนี้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง วิกฤต การปรองดองและตัวรายงาน คอป.เองมีแง่มุมที่ต้องพูดกันอีก ความเห็นวันนี้จึงยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน จะต้องแสดงความเห็นเพิ่มเติม และหวังว่าหลายฝ่ายจะได้แสดงความในเรื่องนี้ต่อไปอีกด้วย

บทเรียนจาก 6 ตุลา 2519 ในส่วนที่สำคัญ ทำให้ควรพูดถึงรายงาน คอป. คือ การที่ชนชั้นนำใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับประชาชนที่มีความเห็นแตกต่าง พบว่ายังเกิดขึ้นซ้ำๆ สังคมไทยยังไม่มีข้อสรุปที่จะทำให้มีการป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

ที่สำคัญในเหตุการณ์ 6 ตุลา การวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อปราบเพื่อฆ่าประชาชนอย่างโหดเหี้ยมและการรัฐประหาร ได้รับการนิรโทษตัวเองไปหมด ไม่มีการตรวจสอบค้นหาความจริงว่า รัฐได้ทำผิดอย่างไร ใครควรรับผิดชอบ ใครควรขอโทษประชาชน

อาจเป็นเพราะว่าฝ่ายต่างๆ ได้นิรโทษตัวเองไปแล้ว ประชาชนแม้จะได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมอยู่บ้าง ก็ไม่ได้รับความยุติธรรม ประชาชนได้โอกาสร่วมอยู่ในสังคมต่อไปก็ต่อเมื่อการต่อสู้ของประชาชนพ่ายแพ้แล้ว นี่คือบทเรียนจาก 6 ตุลา

จากบทเรียน 6 ตุลา ทำให้นึกถึงรายงาน คอป.ที่จะต้องตั้งคำถามว่า รายงานนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง การเข่นฆ่ากันของคนในชาติและการที่ชนชั้นนำปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนได้หรือไม่ หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ รายงาน คอป.จะช่วยให้เกิดการปรองดองได้หรือไม่

ซึ่งโดยรวมแล้ว รายงานของ คอป.มีข้อดีและเป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย เช่น คอป.ได้รับการสนับสนุนทั้งจากรัฐบาลที่แล้วและรัฐบาลปัจจุบัน โดยไม่ปรากฏแรงบีบคั้นใดๆ จากทั้ง 2 รัฐบาลหรือองค์กรอื่นใด มีการรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากบุคคลและองค์กรจากต่างประเทศด้วย มีหลักการพอสมควร มีข้อเสนอที่ดีและเป็นประโยชน์อยู่

แต่รายงาน คอป.เมื่อศึกษาแล้วพบว่ามีข้อจำกัด มีข้อผิดพลาดในสาระสำคัญอยู่หลายประการ จนทำให้รายงาน คอป.นี้ไม่อาจนำพาประเทศไปสู่การปรองดองได้

ทั้งนี้ เนื่องจาก คอป.ไม่ได้ค้นพบ ความจริงต้องบอกว่า ไม่ได้ค้นหาความจริงที่จำเป็นต่อการสรุปบทเรียนของสังคม ไม่สามารถเสนอให้เห็นสาเหตุ รากเหง้าของความขัดแย้งที่ตรงประเด็น ที่เป็นปัญหาใจกลางของวิกฤต

ที่สำคัญที่สุด คือ ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยนั่นเอง

รายงานของ คอป.ชิ้นนี้ จึงไม่ใช่ชิ้นสุดท้ายที่สังคมจะสามารถฝากความหวังว่า จะทำให้เกิดการปรองดอง

ผมขอขยายความดังนี้ ข้อจำกัดของรายงาน คอป. การสอบถามข้อมูลและความเห็นยังไม่ครอบคลุมในหลายๆ ส่วน เสียงสะท้อนจากผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ผู้เสียหายในเหตุการณ์ ก็สะท้อนอย่างนี้อยู่

ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นจำนวนมากไม่ถูกเปิดเผย ไม่มีช่องทางให้คนเข้าถึง ทำให้สังคมได้รับข้อมูลเพียงบางส่วน ที่ คอป.เลือกมาให้รับรู้ ทั้งข้อเท็จจริงและความเห็น

ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบและค้นหาความจริงเกี่ยวกับความรุนแรง คอป.ไม่ได้ค้นหาความจริงที่สำคัญ จำเป็นต่อการทำให้เกิดความยุติธรรม การสรุปบทเรียน การป้องกันความรุนแรง การใช้ความรุนแรงของรัฐประชาชน การขอโทษ การให้อภัย

ถ้าเทียบกับ 6 ตุลา คอป.ทำการค้นหาความจริง โดยได้งดเว้นที่จะหาความจริงสำคัญๆ เหล่านี้ เหมือนกับว่า กรณีเหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อเมษา-พฤษภา 2553 ได้มีการนิรโทษกันไปหมดแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องหาว่า ใครผิดอีกต่อไป

ความจริงประเด็นสำคัญที่ไม่ได้มีการค้นหา คือ ความรุนแรงเกิดจากใคร ใครผิดมากผิดน้อย การใช้มาตรการรุนแรงของรัฐเกินกว่าเหตุ หรือไม่ เป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ ซึ่งความจริงลักษณะนี้เป็นประเด็นมาตรฐานทั่วไป ควรจะต้องมีการค้นหาในกรณีที่รัฐเข้าไปในกรณีของความรุนแรงและเกิดเป็นความสูญเสียของชีวิตประชาชนขึ้นจำนวนมาก

รายงานนี้จึงไม่ได้ตอบสิ่งที่เรียกว่า ประเด็นข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งคำนี้เป็นถ้อยคำที่อยู่ในคำสั่งแต่งตั้ง คอป. เป็นเหตุให้มีการตั้ง คอป. ประเด็นข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ปรากฏว่าประเด็นเหล่านี้ ไม่มีคำตอบ คอป.ไม่ได้ค้น เพราะ คอป.ไปทำน้อยกว่าที่ได้รับมอบหมาย น้อยกว่าวัตถุประสงค์ของการตั้ง คอป. โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการหาว่าใครผิด

แต่ก็มีความขัดแย้งในตัวเอง คอป.บอกว่า ไม่ต้องการหาว่าใครผิด แต่ คอป.กลับบันทึกไว้ในรายงานและจากคำแถลงข่าวของ คอป. กลับเน้น "ชายชุดดำ" โดยไม่ได้บอกว่า คือใคร อยู่ฝ่ายไหนกันแน่และใช้ความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน แต่การพูดถึงชายชุดดำ เสนอข้อมูลเกี่ยวกับชายชุดดำ โดยให้น้ำหนักอย่างมาก มีผลเท่ากับลดความชอบธรรมการชุมนุมของประชาชน และเพิ่มความชอบธรรมให้กับรัฐในการจัดการกับผู้ชุมนุม

ทั้งๆ ที่โดยหลักการแล้ว แม้มีชายชุดดำจริง ชายชุดดำเป็นใคร ยังไม่ได้ค้นหา เรื่องนี้มีคนวิจารณ์เยอะแล้ว แต่หลักการสำคัญคือว่า แม้มีชายชุดดำจริง รัฐก็ไม่มีความชอบธรรม ที่จะใช้ความรุนแรงต่อประชาชน แล้วก็เกิดความเสียหายมากอย่างที่เกิดขึ้น

ในส่วนต่อไปที่เป็นปัญหาคือ ชุดความจริงเกี่ยวกับสาเหตุ รากเหง้าความขัดแย้ง คอป.ได้กล่าวถึงสาเหตุรากเหง้าความขัดแย้ง เน้นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งเป็นการวิเคราะห์อย่างกว้าง และไม่ตรงจุด

พอพูดถึงระยะความขัดแย้งปรากฏ และระยะความขัดแย้งในระดับการช่วงชิงอำนาจ คอป.ได้ใช้วิธีนำประเด็นมาเรียงต่อกัน แล้วบอกว่าปัจจัยเหล่านี้มีผลเชื่อมโยงกันแล้วส่งผลกระตุ้นซ้ำกัน ความรุนแรงไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง ฟังดูเหมือนกับจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่าจากการนำมาเรียงกัน แล้วไม่มีข้อสรุปว่าประเด็นไหนสำคัญกว่าประเด็นไหน โดยตัวมันเองได้ลดน้ำหนักเรื่องที่สำคัญ เพิ่มน้ำหนักเรื่องที่ไม่สำคัญโดยตรง เพราะว่าเอาเรื่องเล็กเรื่องใหญ่มารวมกันหมดแล้วบอกว่า มันเท่าๆ กัน กลายเป็นการเพิ่มน้ำหนักบางเรื่องลดน้ำหนักบางเรื่องไปในตัว

นอกจากนั้นการเพิ่มน้ำหนักลดน้ำหนักในรายงานนี้ ทำให้มีปัญหาอย่างมาก ก็คือ คอป.เน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารอย่างหนักแน่น ใช้เนื้อที่ยาวมาก พอมาถึงการรัฐประหาร คอป.พูดถึงเพียงไม่กี่คำ สั้นๆ และที่สำคัญคือ การพูดถึงการรัฐประหารว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงเช่นกัน เพราะรัฐประหารเป็นกระบวนการที่อาจขัดขวางการแก้ไขปัญหาตามหลักประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติรัฐด้วย ข้อความนี้เป็นข้อความที่พูดถึงการรัฐประหารได้เบามาก

พอพูดถึงกระบวนการยุติธรรม พูดถึงตุลาการภิวัฒน์ว่า ฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการถ่วงดุลอำนาจ ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะการไม่ยอมรับกลไกของกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์หมายความว่า คอป.ไม่ได้เห็นเป็นปัญหาด้วยตัวเอง พูดถึงกระบวนการยุติธรรมมีสองมาตรฐาน ซึ่งคนทั้งสังคมเห็นปัญหานี้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ คอป.บอกว่า มีการกล่าวอ้างว่ามีการแทรกแซง กระบวนการยุติธรรม และการทำหน้าที่องค์กรอิสระทำให้มีความเคลือบแคลงต่อหลักนิติธรรม เป็นการลดน้ำหนักเรื่องที่มีน้ำหนัก

พอพูดถึงองค์กรอิสระจะพบว่าอธิบายถึงปัญหาองค์กรอิสระ แต่อ่านแล้วจะไม่ทราบว่าหมายถึงช่วงไหนกันแน่ ทั้งๆ ที่องค์กรอิสระในช่วงหลังการรัฐประหารอยู่ในลักษณะที่ไม่เป็นอิสระเลย ตั้งโดยคณะรัฐประหารหลายคณะ แต่ว่า คอป.พูดถึงองค์กรอิสระแบบคลุมเครือ ทำให้ไม่เห็นชัดว่า ปัญหาขององค์กรอิสระอยู่ที่ไหน

เรื่องรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 พบว่า คอป.ไม่ได้เห็นรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นปัญหาอะไร โดยบอกว่า รัฐธรรมนูญและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคนบางส่วนยังให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จึงมีทัศนคติทางลบกับรัฐธรรมนูญปี 2550 คือ ไม่ได้วิเคราะห์เลยว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 มีปัญหาอย่างไร

การที่ คอป.มีความเห็นไปอย่างหนึ่ง ไม่เห็นตรงกับสิ่งที่ผมพูด ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะถือว่ามีสิทธิคิดอย่างนั้น เพียงแต่ว่า คอป.ได้ใช้วิธีไปเน้น ไปให้น้ำหนักอย่างที่ตนต้องการ แล้วก็ไม่ได้กล่าวถึงความเห็นของฝ่ายต่างๆ ถ้าบอกว่าต้องการเป็นกลางจริงๆ แต่ก็ไม่ได้ยกเอาความเห็นของฝ่ายต่างๆ มานำเสนอ

คอป.บอกว่า ต้องการเป็นกลางจึงไม่ต้องการสรุป แต่การลดน้ำหนักเพิ่มน้ำหนักอย่างที่ผมกล่าวไป กลายเป็นคล้ายกับสรุป อาจจะพูดได้ว่า เอียงไปทางใดทางหนึ่งอย่างมาก ทำให้สิ่งที่เรียกว่าชุดความจริงเกี่ยวกับสาเหตุ รากเหง้าความขัดแย้ง ไม่ใช่ชุดความจริงร่วมกันอย่างที่ คอป.บอกว่าจะทำ

คอป.บอกว่ามีชุดความจริงได้หลายชุด คอป.ต้องการทำชุดความจริงร่วมกัน แต่ปรากฏว่าชุดความจริงนี้ ในที่สุดก็เป็นชุดความจริงที่ค่อนข้างจะคล้ายกัน หรือสอดคล้องกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไป และชุดความจริงนี้ จึงไม่ควรจะเรียกว่า ชุดความจริง ควรจะเรียกว่า ชุดข้อมูลที่ประกอบด้วยข้อเท็จจริงและความเห็น ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้เห็นพ้องต้องกันของสังคม 

สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุด ในการนำเอาเหตุการณ์ต่างมาเรียงกัน คือ ในการมองปัญหาของ คอป. ไม่มีเส้นแบ่งประชาธิปไตยกับเผด็จการ ไม่เห็นความต่างระหว่างระบอบประชาธิปไตยที่มีปัญหาแต่สามารถแก้ไขในระบบและตรวจสอบได้ กับการรัฐประหารและระบบที่ต่อเนื่องจากการรัฐประหารซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย ขัดหลักนิติธรรมและตรวจสอบไม่ได้

เมื่อไม่เห็นความแตกต่างนี้ ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาสำคัญในการวิเคราะห์ของ คอป. การไม่เห็นความแตกต่างนี้ไปสะท้อนที่ความเห็นประธาน คอป.ที่ว่า.... "ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่เห็นพ้องด้วยกับการยึดอำนาจรัฐไม่ว่าในครั้งใด แต่เผด็จการทางรัฐสภากับเผด็จการทหารดูจะไม่แตกต่างกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าเผด็จการทั้งสองรูปแบบต่างทำลายการพัฒนาประชาธิปไตยด้วยกันทั้งสิ้น"

เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหาร หลังการรัฐประหาร แล้วรวมไปทำให้คนเข้าใจว่า ก่อนการรัฐประหารคือเผด็จการรัฐสภา หลังการรัฐประหารคือเผด็จการทหาร เลยกลายเป็นว่ามีปัญหาเท่าๆ กัน

คอป.แบ่งความแตกต่างทางความเชื่อในเรื่องประชาธิปไตยเป็นสองแบบอย่างไม่ชัดเจน คือประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ไม่ต้องตรวจสอบ กับแบบคนดี มีคุณธรรม ตรวจสอบได้ ซึ่งไม่ตรงกับความเข้าใจของฝ่ายต่างๆ ที่มีการพูดการแสดงความเห็นกันอยู่

ฉะนั้น ในการวิเคราะห์จึงทำให้ไม่เห็นปัญหาใหญ่ของประเทศ คือ การที่คนไม่เชื่อการเลือกตั้ง ไม่เชื่อว่าประชาชนจะปกครองบ้านเมืองได้ และการใช้ความรุนแรงเข้ายึดอำนาจรัฐ ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมอย่างต่อเนื่อง คือ ปัญหาใจกลางของวิกฤต

พอมาถึงข้อเสนอ เมื่อ คอป.ไม่เข้าใจปัญหาวิกฤตของประเทศ แม้จะมีข้อเสนอที่ดีหลายๆ ข้อ ทำให้ข้อเสนอของ คอป.ในส่วนที่สำคัญมากๆ จึงขาดน้ำหนัก ไม่ตรงจุด

คอป.เสนอได้ชัดเจนว่า จะต้องไม่ทำรัฐประหาร แต่เนื่องจากไม่ได้เน้นความเลวร้ายของการรัฐประหารมาตั้งแต่ต้น ความสำคัญของประเด็นนี้จึงลดน้อยลงไป

คอป.เสนอว่า ต้องไม่เร่งแก้รัฐธรรมนูญ และเสนอให้เป็นมาตรการระยะยาว ทั้งๆ ที่ปัญหารัฐธรรมนูญเป็นปัญหาใหญ่มาก ทำให้เกิดวิกฤตอย่างต่อเนื่อง

คอป.เสนอให้ปรับกระบวนการยุติธรรม แต่ในข้อเสนอจะพบว่า ทั้งการวิเคราะห์และข้อเสนอไม่ได้เน้นชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนที่พูดถึงตุลาการก็จะเป็นเพียงข้อเรียกร้อง แต่จะไปเรียกร้องให้ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับฝ่ายบริหารมากกว่า

และเมื่อไม่เร่งแก้รัฐธรรมนูญ การจะปรับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะสองเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

นอกจากนั้น ในการกล่าวถึงการคืนความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม คอป.พูดถึงอยู่บ้าง แต่พอถึงบทสรุป ในตารางข้อเสนอต่างๆ ไม่ปรากฏอีก แล้วจะมีการคืนความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างไร หรือไม่

แต่ คอป.กลับเรียกร้องให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการผิดหลักนิติธรรมต้องเสียสละ

เมื่อข้อเสนอ คอป.ไม่เพียงพอที่จะทำให้สังคมไทยพ้นจากวิกฤต หรือทำให้เกิดการปรองดองได้ จะทำอย่างไรกับข้อเสนอของ คอป. ผมมีความเห็นอย่างนี้ คือ ข้อเสนอของ คอป.จำนวนมาก นำไปปฏิบัติแล้วจะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าทำตาม คอป.ทุกข้อโดยไม่แยกแยะ อาจไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง หรือทำให้ประเทศพ้นวิกฤต ผมเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเสนอ คอป.ทุกข้อ แล้วการปฏิบัติตามเพียงบางส่วน ไม่หมายความว่า ทำไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง เพราะว่าผู้เกี่ยวข้องสามารถใช้วิจารณญาณ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมแล้ว ก็ยังสามารถเห็นต่างจาก คอป.ได้ เนื่องจากการวิเคราะห์ของ คอป.มีข้อจำกัดและจุดผิดพลาดอยู่

ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมขึ้น คือ
ข้อเสนอแรก เมื่อ คอป.ยังค้นหาความจริงได้ไม่พอ ควรส่งเสริมให้มีการค้นคว้า ค้นหาความจริงเพิ่มเติมต่อไป ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับรากเหง้า สาเหตุความขัดแย้งในสังคม การค้นหาความจริงนี้ อาจจะทำเหมือน คอป. แต่เพิ่มเติมข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อเสนอ หรือทำนองเดียวกับที่ ศปช. หรือศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย-พ.ค. 53 (ศปช.) ทำมาแล้ว

นอกจากนั้น อาจส่งเสริมให้หลายๆ ฝ่ายที่สนใจได้ทำการค้นหาความจริงได้ทำมากขึ้น โดยฝ่ายรัฐส่งเสริม สนับสนุน ให้ความร่วมมือ และนำเอาข้อค้นพบ ความจริงที่ค้นพบเหล่านั้นมารวบรวม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้

ที่ผมเสนออย่างนี้ คือ จะหวังจากรายงานชิ้นเดียว แล้วเป็นข้อสรุปไม่ได้แล้ว หาคนกลางที่เป็นที่ยอมรับมากๆ ไม่ได้แล้ว ควรจะเปลี่ยนแนวมาให้หลายฝ่ายค้นหาความจริง แล้วให้สังคมได้ศึกษา เรียนรู้ หากเป็นเรื่องการเมืองก็ให้ประชาชนใช้วิจารณญาน ตัดสินใจ

ข้อเสนอที่ 2 ข้อเสนอใดที่เป็นประโยชน์ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก และมีความเห็นแตกต่างน้อย ควรจะดำเนินการไปเลย ซึ่งดูจากบทเรียน จากเหตุการณ์ 6 ตุลาแล้ว เพียงประเด็นหนึ่งเท่านั้น นอกนั้นก็ให้ฝ่ายรับผิดชอบพิจารณากันไปเอง คือ การนิรโทษกรรม ซึ่งผมคิดว่าขณะนี้ ทาง คอป.และหลายฝ่ายคงไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้ที่เป็นแกนนำ ผู้ที่เป็นตัวการสำคัญทั้งหลาย

แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ จากเหตุการณ์ 6 ตุลา ถึงแม้จะมีการนิรโทษกรรมตัวเองของผู้มีอำนาจ แต่ผู้ที่ได้รับอานิสงส์ไปด้วย คือ ประชาชนทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้นในขณะนี้ หากจะศึกษาในกรณี 6 ตุลาและนำแง่มุมที่เป็นประโยชน์มาใช้คือ ควรจะมีการนิรโทษประชาชนที่ไม่ใช่แกนนำทุกฝ่ายไปก่อน ส่วนกระบวนการศึกษาที่จะนิรโทษส่วนอื่นอย่างไร ต้องใช้เวลา

ข้อเสนอที่ 3 ในกรณีที่เห็นว่า มีเรื่องที่จำเป็นต้องทำ แต่ยังเห็นแตกต่างกัน เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ปรับปรุงบทบาทองค์กรอิสระ เมื่อยังมีความเห็นต่างกัน ควรมีกระบวนการรับฟัง แลกเปลี่ยนความเห็น และอาศัยประชามติมาหาข้อยุติ แต่ที่ผมเห็นต่างจาก คอป.เรื่องที่จำเป็นต้องทำและความเห็นต่างกันนี้ ควรจะเร่งดำเนินการให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว ไม่ใช่เรื่องระยะยาว ไม่รู้ว่ากี่ปีจะทำ ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งและวิกฤตปะทุขึ้นมาได้อีก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิพากษ์ กสทช. ต้องเปิดเผยข้อมูล และเรียนรู้การสื่อสารยุคใหม่

Posted: 08 Oct 2012 01:49 AM PDT

วงเสวนานักวิชาการ-สื่ออาวุโส ระบุ องค์กรอิสระไม่ควรมีความลับ ไม่ควรห้ามกรรมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย ต้องรักษาประโยชน์สาธารณะ อย่าสับสนระหว่างความรับผิดชอบร่วมกันขององค์กรกับประโยชน์สาธารณะ ชี้ สื่อตรวจสอบองค์กรอิสระน้อยเกินไป

8 ต.ค. 2555 มูลนิธิไฮริช เบิลล์ ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนาหัวข้อ "เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและจรรยาบรรณ กสทช." โดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่, ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย, รุ่งมณี เมฆโสภณ สื่อมวลชน อิสระ และกานต์ ยืนยง ผู้อำนวยการ Siam Intelligence Unit (SIU) ดำเนินรายการโดย พลกฤต เรืองจรัส จากสถานีโทรทัศน์ TNN24

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวถึงกรณีการอ้างถึงความรับผิดชอบร่วมกันของ กสทช. โดยไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียว่า ประเด็นการรับผิดชอบร่วมกันนั้น เป็นคำเฉพาะในระบบรัฐสภา ถูกใช้ในการรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรีอังกฤษ เป็นคำเฉพาะในการเมืองในระบบรัฐสภา เป็นคำที่เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลผสมนั้นสัมพันธ์กับความมั่นคงทางการเมือง แต่ในส่วนของความรับผิดชอบร่วมของ กสทช. นั้น มาจากกระบวนการสรรหา ที่ต่างจารัฐบาลในระบบสภา การดำรงอยู่ของ กสทช. ก็สัมพันธ์กับเงื่อนไขทางการเมืองต่ำ

โดย รศ.สมชายระบุว่า องค์กรอิสระนั้น ต้องรักษาประโยชน์สาธารณะได้ดีกว่าระบบราชการ นี่คือหัวใจสำคัญ แต่คำถามคือ ถ้าสมมติว่า ตอนนี้มีปัญหาเรื่องความรับผิดชอบร่วมขององค์กรกับประโยชน์สาธารณะ ถ้าคิดว่าความรับผิดร่วมมันขัดแย้งกับประโยชน์สาธารณะควรจะทำอย่างไร จะรับผิดชอบร่วมโดยไม่ไยดีต่อประโยชน์สาธารณะ ลงมติเสร็จก็เลิก หรือจะรักษาประโยชน์สาธารณะเหนือความรับผิดชอบร่วมขององค์กร

"ผมคิดว่าถ้าเกิดเราพิจารณาจากเป้าหมายของการก่อตั้ง กสทช.ขึ้น ไม่ได้เพื่อให้ กสทช. ดำรงอยู่ หรือรักษาให้มั่นคง แต่เกิดขึ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ฉะนั้นในแง่นี้ผมคิดว่าเวลาที่เราพูดว่าเพื่อความรับผิดร่วมขององค์กร มีอะไรแล้วห้ามไปปากโป้งข้างนอก ผมคิดว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างสำคัญ"

ทั้งนี้ รศ.สมชาย กล่าวว่า ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การสื่อสารของ กสทช. ผ่านโซเชียลมีเดียว่าไม่เหมาะสมนั้น ส่วนตัวเขาเห็นว่าเป็นเรื่องขั้นต่ำที่ควรทำ และถือว่าทำน้อยเกิดไปด้วยซ้ำ

"ผมคิดว่าสังคมไทยปัจจุบัน เรากำลังเป็นผู้ประสบภัยจากองค์กรอิสระ ในปัจจุบันองค์กรอิสระเกิดขึ้นจำนวนมาก องค์กรอิสระ อย่างน้อยมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เราวิพากษ์วิจารณ์ได้น้อย เช่น เป็นประเด็นที่มีความสลับซับซ้อน เป็นเทคนิคสูง เป็นประเด็นที่จะตอบว่าดีหรือไม่ดี โดยฉับพลัน เช่นระบบประมูล องค์กรอิสระจำนวนมากเป็นองค์กรที่หากจะวิจารณ์ก็ต้องทำงานมากขึ้น

"หรือคนที่เข้ามาในองค์กรอิสระมักจะเป็นเทวดาน้อยๆ คือเป็นผู้ทรงคุณธรรมความรู้ ลองเทียบกับส.ส. ในองค์กรอิสระหลายๆ องค์กรใช้เงินอีลุ่ยฉุยแฉกไม่น้อยไม่กว่า ส.ส. แต่ไม่ถูกด่า เพราะว่าอะไร เพราะว่าเป็นเทวดา

"เนื่องจากผมจัดตัวเองว่าเป็นผู้ประสบภัยจากองค์กรอิสระซึ่งผลาญเงินประชาชนมาก ด้วยลักษณะที่เราคิดถึงว่าองค์กรอิสระเป็นเทวดา เป็นผู้ทรงความรู้คู่ธรรม การวิจารณ์ตรวจสอบจึงไม่เกิดขึ้น นี่เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าเรื่องสำคัญในการเมืองไทยจำนวนมาก รัฐบาลไม่ได้ตัดสินใจแต่ถูกดึงไปให้องค์กรอิสระจำนวนมาก และนี่เป็นเรื่องที่สำคัญเกินกว่าจะฝากไว้กับใคร ผมคิดว่าองค์กรอิสระ เป็นสิ่งที่หลายๆ ส่วนควรคิดถึงและจับตามองให้มากขึ้น"

ทั้งนี้ หากการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะของ กสทช.คนใดนำไปสู่การถูกฟ้องร้อง ก็ต้องถือว่าเป็นการตรวจสอบหลักการว่า จะยึดถือหลักเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

"ถ้า กสทช.ออกระเบียบว่าห้ามออกมาพูดข้างนอก ผมจะทำให้เห็นเลยว่า กสทช.อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็น สื่อมวลชนยังได้รับการคุ้มครอง การแสดงความเห็นของ กสทช.เป็นสิ่งที่ทำได้ และเป็นหลักการธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย คือเสรีภาพในการแสดงความเห็นของเสียงข้างน้อย เพราะเราไม่รู้ว่าเสียงข้างมากนั้นเมื่อไหร่มันจะผิด เป็นเรื่องซึ่ง ถ้า กสทช. ออกระเบียบที่ขัดกับหลักการพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้

รศ. สมชายกล่าวว่า หากเปิดเผยข้อมูลแล้วถูกฟ้องร้อง ก็เป็นเหมือนเป็นหินก้อนแรก เอาตัวเข้าแลก ให้ศาลตัดสินเพื่อยืนยันหลักการว่าเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความเห็น ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารมีข้อยกเว้นมากมาย แต่กรณีถกเถียงในที่ประชุม กสทช. นั้น ไม่น่าเข้าข้อยกเว้นต่างๆ เหล่านั้นเพราะเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธาณณะเต็มไปหมด เช่นการชี้แจงเหตุผลว่าทำไมระบบประมูลเช่นนี้จึงไม่เห็นด้วย เป็นสิทธิเสรีภาพของ กสทช. และเป็นสิทธิของสังคมที่จะรับรู้ด้วย


ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ กล่าวว่า หลายคนคาดหวังกับหน้าที่ของ กสทช. ว่าจะเป็นเวทีให้กับการสื่อสาร และให้ข้อมูลโดยที่ กสทช.ตั้งขึ้นมาในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อมาก มีสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งในระบบสื่อใหม่ ทุกคนสามารถจะแสดงความคิดเห็นได้ ในบริบทเช่นนี้ กสทช. ควรทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อจะเปิดเผยข้อมูลให้กับสาธารณะ โดยใช้สื่อใหม่

"ตอนแรกที่มีข่าวว่ามีการห้ามใช้โซเชียลมีเดียก็ตลกว่า กสทช. อยู่ในยุคไหนกันแน่ ยังต้องการควบคุมหมดทุกอย่างหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ควรจำกัดและจริงๆ แล้ว กสทช. ทุกคนควรใช้โซเชียลมีเดียด้วยซ้ำไปว่าเรื่องๆ หนึ่งตัวเองมีจุดยืนอย่างไร เพื่อให้สาธารณะทราบ เพราะ  กสทช. มีผประโยน์มหาศาล ควรใช้ทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็นวิทยุ ทีวีหนังสือพิมพ์ รวมถึงสื่อใหม่ และเข้าใจธรรมชาติ ไม่ใช่ใช้สื่อใหม่ด้วยแนวคิดแบบสื่อเก่า คือต้องการให้คนบริโภคมาฟังอย่างเดียว"

ทั้งนี้แม้โซเชียลมีเดียซึ่งมีความเร็ว ก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย อย่างน้อยคือรับผิดชอบต่อข้อเท็จจริงที่รายงาน ในหลายๆ องค์กรจึงต้องมีการวางกรอบกติกา เป็นกรอบกว้างๆ เหมือน code of conduct บางองค์กรอาจจะลงรายละเอียด เช่นความลับขององค์กร แต่สำหรับองค์กรอิสระเช่น กสทช. ก็มีความไม่ชัดเจนว่าเรื่องบางเรื่องเป็นความลับจริงหรือไม่ เช่น มติที่ประชุมเป็นความลับ คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียรู้ แต่ไม่อยากให้ประชาชนที่เป็นคนเสียผลประโยชน์รับรู้

"แทนที่จะมีการลักลั่นกันอยู่ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทำไมไม่ใช้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือ รวมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชน ยามวิกฤตต่างก็เช่นกันเครื่องมือเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ดีมาก แต่ต้องมีความรับผิดชอบ แต่อย่าใช้ความรับผิดชอบมาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น"

ดร.มานะ กล่าวว่า กสทช. น่าจะเป็นตัวอย่างในการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ประชาชนเอาไปตรวจสอบอีกที และตัวบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ และคานอำนาจ กสทช. คือสื่อมวลชนเองก็ต้องพัฒนาคุณภาพของสื่อมวลชนในการทำข่าวเชิงสืบสวนด้วยและก็ต้องรู้เทคนิคที่เกี่ยวข้อง นักข่าวต้องรู้ไม่น้อยกว่าเพื่อรู้เท่าทันในเรื่องเทคนิค การประมูล 3G บางเรื่องอาจจะบอกไม่หมด เป็นหน้าที่ทั้งในส่วนของนักข่าวเองและภาคประชาชนอื่นๆ ในการให้ความคิดเห็นก่อนล่วงหน้าด้วยซ้ำไป

และในยุคนี้มีการใช้สื่อใหม่ค่อนข้างเยอะ เปิดโอกาสให้คนได้ร่วมกันแชร์ความคิดเห็นทำไมไม่ใช้สื่อใหม่ในการระดมความรู้จากภาคส่าวนต่างๆ มาช่วยกันในเรื่องการตรวจทาน กสทช. และสร้างอค์ความรู้ในการตรวจทานการทำงานของ กสทช. ด้วย เป็นการดึงพลังของประชาชนโดยใช้สื่อใหม่ ที่ก่อนหน้านี้สื่อเก่าไม่เคยให้ค่า สัมภาษณ์แต่คนหน้าเก่า แหล่งข่าวเก่าๆ

รุ่งมณี เมฆโสภณ กล่าวว่าสื่อเองมักมององค์กรอิสระเป็นเทพ ไม่ค่อยแตะ ไม่ค่อยทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนเท่าไหร่นัก นำมาสู่คำถามสองประเด็นคือ หนึ่ง กำลังทำข่าวแบบเดิมๆ อยู่หรือเปล่า คือรอการแถลง และอีกประเด็นคือ มองว่าองค์กรใหม่ยังเป็นน้องใหม่น่าสงสารอยู่ ให้เวลาเขา ทั้งที่จริงๆ แล้วผู้ทำงานในองค์กรอิสระไม่ต้องการการให้เวลา เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าเขาต้องทำอะไร และภาระหน้าที่หลักคือต้องดูแลประโยชน์สาธารณะ รักษาทรัพยากรของชาติ ในกรณีของคลื่น ชัดเจนว่าเป็นสมบัติของชาติ เป็นผลประโยชน์ของทุกคน และหน้าที่สื่อคือป้องกันผลประโยชน์ชาติและประโยชน์สาธารณะ สื่อได้ทำหน้าที่ตรงนั้นครบถ้วนหรือไม่ เรายังใกล้ชิดสนิทสนมกับคณะกรรมการคนใดคนหนึ่งจนเรามองไม่เห็นในสิ่งที่เราต้องขุดคุ้ย

รุ่งมณีกล่าวด้วยว่า การขุดคุ้ยของสื่อนั้นไม่ใช่จำกัดระยะเวลาที่ กสทช. อยู่ในตำแหน่งเท่านั้น แต่ต้องต่อเนื่อง เพราะมีกรณี กสทช.ของสหรัฐ ลาออกไปทำงานกับบริษัทโทรคมนาคม เช่นกัน

กานต์ ยืนยง ระบุว่า สำหรับ กสทช. นั้น พ.ร.บ. กสทช. 2553 ระบุไว้ว่าต้องมีการรายงานการประชุม มติต้องเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ รวมถึงต้องรายงานข้อเท็จจริง และรายงานด้านวิชาการ

ทั้งนี้ การตรวจสอบ กสทช.จากประชาชน อาจไม่จำเป็นต้องทำตามกลไกกฎหมาย แต่ภาคประชาชนมีช่องทางอื่นๆ ในการตรวจสอบได้ เช่น ตรวจสอบการการใช้เงิน ซึ่ง SIU ศึกษาไว้เมื่อปีที่ผ่านมาโดยข้อสรุปว่า ข้อดีคือไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่มีปัญหาคือขาดการวางแผนการใช้จ่ายเงินของสาธารณะอย่างรอบคอบ และขาดการประเมินปัจจัยเสี่ยงอย่างเพียงพอ

สำหรับการตรวจสอบนั้นทำได้สามระดับคือ จริยธรรม, แนวทางจริยธรรม และจรรยาบรรณ คือ จริยธรรมขึ้นกับกรอบของสังคมว่าสิ่งใดที่ควรปฏิบัติ ส่วนแนวทางจริยธรรมคือกรอบกว้างๆ ว่าสิ่งที่องค์กรนั้นๆ ควรปฏิบัติควรเป็นอย่างไร ส่วนจรรยาบรรณเป็นกฎหรือข้อบังคับชัดเจน ทั้งนี้แนวทางการกำกับดูแลองค์กร จะใช้การกำกับดูแลกันเองมากขึ้น ผสมทั้งผ่านการใช้ตัวบทกฎหมายและการดูแลกันเอง แต่สุดท้ายก็ต้องวางกรอบให้ดีระหว่างการทำงานในฐานะเป็นองค์กรร่วมกัน แต่ก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: 6 ตุลา 2519 กับอุดมการณ์คนรุ่นหลัง 6 ตุลา (คลิป)

Posted: 08 Oct 2012 01:17 AM PDT

6 ต.ค. 55 - ในงานรำลึก 36 ปี 6 ตุลา 2519 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการกล่าวปาฐกฐาโดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในหัวข้อ 6 ตุลา 2519 กับอุดมการณ์คนรุ่นหลัง 6 ตุลา โดยพิชญ์อภิปรายแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ ในฐานะความคิดหรือแม้แต่ "ความจริง" ที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งมีนัยยะของการต่อสู้และปฏิบัติการทางการเมือง อาจจะมีความหมายในแง่บวก ลบ หรือกลางๆ ก็ได้
 
ต่ออุดมการณ์ของคนรุ่นหลัง 6 ตุลา  พิชญ์กล่าวว่า ด้วยการสร้างความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ยังสรุปชัดเจนไม่ได้ว่าจะไปในทางบวกหรือทางก้าวหน้า คำว่า "16 ตุลา" จึงเกิดขึ้นมาจากความเข้าใจที่รวมเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และ 6 ต.ค. 2519 เอาไว้ในโครงเรื่องเดียวกัน ที่นักศึกษาลุกฮือขึ้นต่อต้านเผด็จการทหาร ทั้งนี้ เขาชี้ว่า การสร้างพื้นที่ให้กับความทรงจำเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ยังคงมีอยู่ ตราบใดที่ไม่แตะต้องสถาบันพระหากษัตริย์และไม่เปลี่ยนแปลงรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจไปจากที่เป็นอยู่ ซึ่งเขาใช้คำว่า "ความสมานฉันท์หลัง 6 ตุลา 19" 
 
พิชญ์กล่าวถึงความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงจากรัฐว่า มีการปลุกระดมอย่างต่อเนื่องโดยสื่อมวลชนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และการใช้ข้อกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นคน "อื่น" ไม่ใช่คนไทย และไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการล้อมปราบในเหตุการณ 6 ต.ค. 2519 เช่นเดียวกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในเดือนเม.ย. - พ.ค. 2553 โดยในสภาวะที่ผู้เห็นต่างทางความคิดทางการเมือง ภายใต้การบีบคั้นจากกฎหมายความมั่นคงและกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ รัฐก็ยังไม่มีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อผู้ที่มีความคิดหลากหลาย 
 
นอกจากการจะค้นหาความจริงเพื่อความยุติธรรมแล้ว พิชญ์กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญ คือต้องให้ทุกเรื่องราวที่คลางแคลงใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกดดันด้วยการนำหลักฐานมาเปิดเผยอย่างโปร่งใส ด้วยหลักการที่ว่าทุกคนไม่มีข้อยกเว้นในการไม่ถูกกล่าวหา มากกว่าจะมาอธิบายว่าทุกฝ่ายมีส่วนผิดกันทั้งหมด 
 
อ่านปาฐกถาฉบับเต็มได้ที่นี่
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น