โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สืบพยานคดีปะทะเหลืองแดงเชียงใหม่ ปี51 พยานระบุ"เชื่อ"แดง ปวนมูล มีส่วนรู้เห็น

Posted: 10 Oct 2013 01:58 PM PDT

ศาลจังหวัดเชียงใหม่ สืบพยานโจทก์คดีแดงเหลืองเชียงใหม่ปะทะเดือดปี 51 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต พบไม่มีประจักษ์พยาน ตำรวจอ้างส่งฟ้อง "แดง ปวนมูล" เพราะเห็นเป็นหัวโจก น่าเชื่อมีส่วนรู้เห็น

ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ในวันที่ 3, 4 และ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2421/56 เสื้อแดงเชียงใหม่คดียังไม่จบ ส่งฟ้องอดีตการ์ดกรณีปะทะเดือดปี 51 เพิ่มอีกคดี  ซึ่งมีนายแดง ปวนมูล อายุ 42 ปีอดีตการ์ดเสื้อแดงกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ตกเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฆ่านายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา หรือ "ลุงหน่อ" บิดาของนายเทิดศักดิ์  เจียมกิจวัฒนา หรือ "โต้ง วิหค"  ผู้ก่อตั้งกลุ่มทหารเสือพระราชาซึ่งเป็นการ์ดพันธมิตรเชียงใหม่  จากกรณีเหตุปะทะเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551  ที่บริเวณหน้าหมู่บ้านระมิงค์ ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่  ใกล้ที่ตั้งของสถานีวิทยุวิหคเรดิโอ 89 MHz (รักเชียงใหม่ 51 ปะทะเดือดเจ็บ 2 ฝ่าย พ่อแกนนำทหารเสือพระราชาดับ )

จากการสืบพยานโจทก์ 8 ปากที่ผ่านมาเป็นเวลา 3 วัน ไม่พบว่ามีพยานปากใดให้การว่าเห็นเหตุการณ์ในขณะที่มีการทำร้ายนายเศรษฐาผู้ตาย  และไม่มีใครเห็นว่านายแดงอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุในช่วงเวลาเกิดเหตุประมาณ 19.00น.  มีเพียงภาพถ่ายและวิดีโอที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาจากความร่วมมือของสื่อมวลชนที่ปรากฏภาพนายแดงในตอนเย็นก่อนเกิดเหตุเท่านั้น  โดยพนักงานสอบสวนกล่าวว่า  ที่ส่งฟ้องนายแดงเนื่องจากเป็นหัวหน้าการ์ดหรือ "หัวโจก"  และมีภาพถ่ายพกมีดสปาร์ตาในเวลาใกล้ชิดกับเหตุการณ์  น่าเชื่อว่ามีส่วนรู้เห็นด้วย  แต่เวลาตามภาพถ่ายนั้นห่างจากเวลาเกิดเหตุถึงสองชั่วโมง  โดยคดีนี้นายแดงได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากกลุ่มทนายยุติธรรมล้านนา


นางบัวคำ (สงวนนามสกุล?) พยานโจทก์ปากแรกได้ขึ้นเบิกความสรุปได้ว่า จดทะเบียนหย่ากับนายเศรษฐาผู้ตายก่อนหน้าเกิดเหตุนานแล้ว  และขณะเกิดเหตุตนอยู่ภายในบ้านดูรายงานข่าวทางโทรทัศน์ ไม่ได้เดินออกมาจากบ้าน  นายเศรษฐามาขอกุญแจรถกับตนเพื่อจะเอารถไปปิดกั้นไม่ให้ฝ่ายเสื้อแดงบุกเข้ามาสถานีวิทยุ  หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง ตนจึงได้รับรายงานจากการ์ดเสื้อเหลืองว่านายเศรษฐาถูกทำร้ายเสียชีวิตแล้ว  และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาผู้จัดการมรดกของนายเศรษฐาได้ไปรับเงินเยียวยาจากรัฐบาลกรณีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองมาแล้วจำนวน 7.5 ล้านบาท  โดยก่อนหน้านี้เคยมีเหตุกระทบกระทั่งระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองอยู่บ้าง


นายดำรง (สงวนนามสกุล?) ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งเบิกความโดยสรุปว่า  ได้เดินทางไปทำข่าวในบริเวณที่เกิดเหตุตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00น.  เห็นเสื้อแดงมีมากกว่า 100 คน  แต่มองไม่เห็นว่าเสื้อเหลืองมีจำนวนเท่าใดแน่ชัด  เนื่องจากตั้งบังเกอร์หลบมุมอยู่ภายในซอย  ช่วงกลางวันมีการยิงตอบโต้กันด้วยหนังสะติ๊กจากทั้งสองฝ่าย มีเสียงคล้ายประทัดดังตลอดเวลา  ขณะเกิดเหตุประมาณ 19.00น. ฝ่ายเสื้อแดงมีจำนวนเพิ่มขึ้น  รวมตำรวจและผู้สื่อข่าวทั้งหมดประมาณ 300-400 คน มีรถกระบะขับออกมาจากซอยด้วยความเร็วผิดปกติ  มีพลุยิงออกมาเป็นระยะ  ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงแตกกระจายเพราะกลัวถูกชน  รวมทั้งตนเองด้วย  เนื่องจากมืดมากและระยะแสงแฟลชไม่ถึง  จึงบันทึกภาพไม่ได้  ไม่สามารถซูมเข้าไปได้  ได้ยินเสียงพูดว่า "ให้ระวัง คนในรถยิงปืนออกมา"  แต่ตนไม่ทราบว่ามีฝ่ายเสื้อแดงถูกยิงด้วยอาวุธปืนในเวลานั้นหรือไม่


พ.ต.ท. กิจวัฒน์สินธุ์ อมตธนทรัพย์ เบิกความโดยสรุปว่า ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่  ได้ข่าวว่าสถานีวิหคเรดิโอประกาศนัดกลุ่มทหารเสือพระราชามารวมตัวกันที่สถานีก่อนจะไปปิดสนามบินเพื่อไม่ให้นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเดินทางจากเปรูกลับเข้าประเทศไทย  และสถานีวิทยุรักเชียงใหม่ 51 คลื่น 92.5 MHz ได้ประกาศระดมเสื้อแดงมาปิดกั้นไม่ให้กลุ่มเสื้อเหลืองปิดสนามบิน  ตนได้รับคำสั่งให้ไปสืบสวนหาข่าวนอกเครื่องแบบและเก็บภาพไว้เป็นหลักฐานหากมีเหตุรุนแรง  ไปถึงบริเวณปากซอยหมู่บ้านระมิงค์นิเวศน์ประมาณ 14.00น.  อยู่จนถึงเวลาเกิดเหตุช่วงกลางคืน  มีรถกระบะคันหนึ่งเข้าไปในหมู่บ้าน  เห็นคนเสื้อแดงอาศัยรถดังกล่าวเป็นที่กำบังเพื่อจะเข้าไปในซอย  แต่มีรถกระบะสี่ประตูอีกคันหนึ่งขับพุ่งออกมาก  รถกระบะคันแรกจึงถอย  และกลุ่มคนเสื้อแดงก็แตกฮือ  พอรถหยุดก็กรูกันเข้าไปทุบทำลายรถ  ส่วนตนไม่เห็นเหตุการณ์  ได้ยินแต่เสียงว่ามีคนกรูเข้าไป    และไม่เห็นว่านายแดง จำเลย ทุบรถหรือทำอะไร  แต่มีภาพจากสายลับ ซึ่งเป็นภาพในเวลากลางวัน  ส่วนจำเลยอื่นจากกรณีเดียวกันนั้นได้นำภาพถ่ายตอนกลางคืนและกลางวันมาเปรียบเทียบกัน  และได้ให้การกับพนักงานสอบสวนว่า  จำเลยเป็นหัวโจกกลุ่มการ์ดเสื้อแดงจึงน่าเชื่อว่ามีส่วนรู้เห็นเหตุการณ์  เมื่อทนายจำเลยถามว่าขณะผู้ตายขับรถออกมานั้นมีเสียงปืนดังออกมาด้วยนั้น  พ.ต.ท.กิจวัฒน์สินธุ์ตอบว่า  แยกไม่ออกว่าเป็นเสียงอะไร  เป็นได้ทั้งเสียงปืนหรือประทัด


พ.ต.ท.บุญรักษ์ ก้าวสมบัติ นักวิทยาศาสตร์ศูนย์พิสูจน์หลักฐานเชียงใหม่  เป็นผู้ตรวจวิถีกระสุนที่รถยนต์กระบะของกลาง  เบิกความโดยสรุปว่า  สภาพรถบะขณะที่ตรวจนั้น ยางรถแบน  กระจกหน้าแตก  มีรอยกระสุนปืน  5 รอย ที่เหล็กเสริมกันชนหน้าด้านขวาคนขับเฉียงเกือบ 45 องศาทะลุโคมไฟหน้า 2 รอย  เป็นการยิงจากด้านหน้ารถ  ที่ฝากระโปรงหน้าคนขับด้านขวา 1 รอย ลักษณะเป็นการยิงกดลง และที่ด้านใต้กระจกบังลมแผ่นหลังด้านซ้ายตัวรถ 2 รอยเป็นการยิงจากหลังไปหน้า  มีขนาดรูใกล้เคียงกันจากกระสุนชนิด 9 มม. สันนิษฐานได้ว่าเป็นได้ทั้งจากปืนพกอัตโนมัติขนาด 9 มม.หรือปืนรีวอลโวขนาด .38  แต่ไม่ใช่จากปืนลูกซองไทยประดิษฐ์ซึ่งรอยกระสุนจะเกิดเป็นกลุ่มประมาณ 6-7 รอยต่อจุด


พ.ต.ท.สวัสดิ์ หล้ากาศ ให้การว่า ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ และเป็นหัวหน้าชุดคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้  เบิกความโดยสรุปว่าสถานีวิทยุวิหคเรดิโอประกาศเชิญชวนเสื้อเหลืองมาปิดสนามบินตามแบบที่กรุงเทพมหานครในช่วงเวลาเดียวกัน  สื่อมวลชนไม่สามารถเข้าไปบันทึกภาพในซอยฝั่งเสื้อเหลืองได้  จึงบันทึกได้แต่ฝั่งเสื้อแดง  ตนเข้าไปตรวจที่เกิดเหตุภายหลังจากเหตุสงบและไม่มีมวลชนทั้งสองฝ่ายแล้ว  ได้ประสานสื่อมวลชนต่างๆ เพื่อขอภาพข่าว  ประกอบกับมีภาพถ่ายจากตำรวจนอกเครื่องแบบ  จึงได้ขอออกหมายจับ "บุคคลตามภาพถ่าย"  จากภาพเหตุการณ์มีแสงไฟพุ่งเข้าหากัน  แสดงว่ามีการยิงกันจากทั้งสองฝ่าย  ส่วนจะยิงพลุหรือยิงปืนนั้นบอกไม่ได้  แต่พบปลอกกระสุนปืน 9 มม.และหมอนรองกระสุนปืนลูกซองตกอยู่ในที่เกิดเหตุ  ส่วนผลการชันสูตรพลิกศพผู้ตายไม่พบร่องรอยบาดแผลจากอาวุธปืน  ภาพถ่ายของจำเลยนั้นถ่ายได้จากบริเวณที่เกิดเหตุในเวลากลางวัน  แต่ไม่มีภาพถ่ายของจำเลยในเวลากลางคืน  จึงต้องเอามาเปรียบเทียบกับภาพในเวลากลางวัน  โดยระบุจากการแต่งกาย สีของเสื้อผ้า รูปร่าง ผม เครา ส่วนสูง


พ.ต.ท.ฐานันดร วิทยาวุฑฒิกุล นักวิทยาศาสตร์ศูนย์พิสูจน์หลักฐานเชียงใหม่  ผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุ  เบิกความโดยสรุปว่า รถกระบะโตโยต้าไฮลักซ์ไทเกอร์ จอดอยู่ห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 25 เมตร  มีกุญแจเสียบคาอยู่ แต่เครื่องไม่ติด  สองข้างทางมีเศษก้อนหิน ลูกแก้ว เหล็ก น็อต วัตถุระเบิด สิ่งของต่างๆ รวมทั้งถุงขยะ  มีคราบเลือดมากบริเวณที่นั่งคนขับ และพบกองเลือดใกล้ล้อหลังขวา  พบปลอกกระสุนลูกซองขนาด 12 ระเบิดปิงปองและเศษชิ้นส่วนตกพื้นข้างรถด้านขวา มีท่อนไม้ หิน กระถางต้นไม้ทั้งในรถและนอกรถ  ในซอยใกล้ทางแยกประมาณ 73 เมตร พบแนวป้องกันทำด้วยพลาสติกแผงกั้นของเทศบาล ประกอบกับโล่ไม้อัดทำคล้ายกำแพง  มีเศษกระดาษทิชชู่และคราบเขม่าสีดำจากการระเบิด  ตนได้เก็บลายนิ้วมือแฝงด้านคนขับส่งมอบให้ผู้ชำนาญตรวจ  แต่ตนไม่ทราบผล


พ.ต.ท.อธิพงศ์  ทองแดง พนักงานสอบสวนเวรผู้รับผิดชอบคดีนี้ในขณะเกิดเหตุ  ได้นำสำเนาแผ่นซีดีบันทึกภาพเหตุการณ์มามอบให้พนักงานอัยการอ้างส่งต่อศาลในวันพิจารณาคดีนี้  เบิกความโดยสรุปมีสาระสำคัญว่า  ไปถึงที่เกิดเหตุหลังจากทั้งสองกลุ่มแยกย้ายกันไปหมดแล้ว  จึงได้ตรวจที่เกิดเหตุ  และติดตามไปดูศพผู้ตายที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  พบว่ามีบาดแผลถูกฟันแทงทุบตีทั่วร่างกาย  แต่ไม่มีร่องรอยบาดแผลจากกระสุนปืน  เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวเนื่องกับการเมือง  กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 จึงได้แต่งตั้งพนักงานสอบสวนร่วมหรือคณะทำงานประมาณ 8 คน  มี พ.ต.ท.สวัสดิ์ หล้ากาศ เป็นหัวหน้าคณะ  และตนเป็นผู้รับผิดชอบทำสำนวนส่งฟ้อง  ได้สอบปากคำพยานหลายปาก  และรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ  โดยเดิมแจ้งข้อหาจำเลยว่าร่วมกันทำร้ายร่างกาย  แต่ต่อมาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่าร่วมกันฆ่า  ส่วนแผ่นซีดีที่นำมาด้วยนั้นรวบรวมภาพเหตุการณ์จากช่วงเวลาตั้งแต่ 16.00น. ซึ่งมีทั้งภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง  แต่มีภาพนายแดงเพียง 2 ภาพ  (ไม่มีการเปิดแผ่นซีดีในศาล) มีอาวุธมีดสปาร์ตาเหน็บอยู่ข้างหลัง  ไม่มีภาพขณะทำร้ายร่างกายผู้ตาย  ไม่มีพยานบุคคลรายใดเห็นจำเลยกระทำผิด  รวมทั้งไม่มีพยานหลักฐานใดแสดงว่าจำเลยมีส่วนทำร้ายผู้ตาย  แม้จะมีการตรวจหาลายนิ้วมือแฝง  แต่ก็ไม่พบว่าตรงกับจำเลย  รวมทั้งไม่ตรงกับจำเลยอีก 5 คนในคดีที่ฟ้องไปก่อนหน้า  สาเหตุที่ส่งฟ้องจำเลยเนื่องจากพบว่าปรากฏตัวใกล้ชิดกับที่เกิดเหตุในเวลาพลบค่ำ อีกทั้งจำเลยหรือญาติยังไม่เคยร้องขอความเป็นธรรมมาแต่อย่างใด  เมื่อทนายจำเลยถามว่าเวลาพลบค่ำนั้นคือกี่นาฬิกา  พ.ต.ท.อธิพงศ์ตอบว่า เป็นเวลาราว 17.00น. แต่เหตุเกิดเวลา 19.00น. ห่างกันเป็นระยะเวลา 2 ชั่วโมง


หลังจากพักการพิจารณาคดีก่อนที่จะถูกนำตัวส่งกลับเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่  นายแดงได้กล่าวกับผู้รายงานข่าวว่า ตนไม่ได้อยู่ในเหตุกาณ์ตอนกลางคืน หลังจากมีเรื่องในตอนกลางวันซึ่งเป็นคดีที่กำลังรับโทษอยู่  ตนก็ขึ้นรถกระบะตามๆ กันไปกับกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อไปอารักขานายกฯ สมชายที่กำลังลงจากสนามบินเชียงใหม่เพื่อกลับไปยังบ้านพักที่หมู่บ้านกรีนวัลเลย์  ตนไม่รู้จักจำเลยอื่นในคดีเดียวกันมาก่อน  มารู้จักหลังจากที่ติดคุกแล้ว  ตอนนี้ยังไม่มีพยานฝ่ายจำเลยเพราะไม่มีใครกล้ายุ่ง  แม้แต่คนเสื้อแดงที่ถูกยิงในเหตุก็ไม่กล้าแจ้งความ  เพราะกลัวติดร่างแหโดนคดีไปด้วย  อยากให้คนเสื้อแดงมาเป็นกำลังใจบ้าง  ดีใจที่ได้ออกมากอดแม่ที่มาขึ้นศาลด้วย  อยากกลับออกไปเลี้ยงแม่ <เรื่องของแม่คนหนึ่ง กับการฟื้นฟูเยียวยาที่ยังมาไม่ถึง>

ทั้งนี้นายแดงตกเป็นจำเลยรายที่ 6 จากกรณีเดียวกันกับที่มีนายนพรัตน์ แสงเพชร นายประยุทธ บุญวิจิตร นายบุญรัตน์ ไชยมโน นายสมศักดิ์ อ่อนไสว และนายพยอม ดวงแก้ว รวม 5 คนเป็นจำเลยร่วมกัน  ซึ่งคดีก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยทั้ง 5 คนคนละ 20 ปี  และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้โทษเป็นจำคุก 12 ปี  ขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาศาลฎีกา  และจำเลยทั้งหมดเพิ่งได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 17 ก.พ.55  หลังจากที่แต่ละรายถูกคุมขังเป็นเวลาเกือบ 3 ปี  <ศาลฎีกาสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยคดีเสื้อแดงเชียงใหม่ 5 ราย > โดยก่อนหน้านี้นายแดงได้ดำเนินการขอพักโทษตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ประกอบเหตุพิเศษคือเป็นผู้ติดเชื้อ HIV แต่ถูกอายัดตัวมาเป็นจำเลยคดีนี้เสียก่อนเนื่องจากมีหมายจับค้างอยู่  ส่วนคดีเดิมนายแดงจะพ้นโทษในวันที่ 10 มกราคม 2557 <พิพากษาเสื้อแดงเชียงใหม่จำคุก 5 ปี 6 เดือน จากเหตุปะทะกลุ่มพันธมิตรปี 51>

คดีนี้ยังเหลือพยานโจทก์อีกหนึ่งปาก คือนายธรรม (สงวนนามสกุล?) บุตรชายอีกคนหนึ่งของผู้ตายซึ่งมาขึ้นเบิกความไม่ได้เนื่องจากเดินทางไปประกอบธุรกิจต่างประเทศ  ศาลจังหวัดเชียงใหม่จึงนัดสืบพยานโจทก์ปากที่เหลือในวันที่ 22 ตุลาคมนี้  แล้วจึงจะสืบพยานจำเลยต่อไป.

(หมายเหตุ : ปากคำพยานเป็นการสรุปย่อโดยผู้รายงานข่าว  อาจไม่ตรงกับที่ศาลบันทึก)

------------------------------------------------------------------------------------

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาพันธ์นักเรียนไทยฯ เตือนกระทรวงศึกษาธิการอย่าแทรกแซงกิจกรรมนักเรียน

Posted: 10 Oct 2013 01:43 PM PDT

กรณีที่ตัวแทนสมาพันธ์นักเรียนไทยฯ ถูกผู้บริหารโรงเรียนเรียกไปต่อว่า หลังจากก่อนหน้านี้ได้เข้าพบกระทรวงศึกษาธิการเพื่อแจ้งว่าจะเดินขบวน 25 ต.ค. นั้น ทางสมาพันธ์นักเรียนไทยฯ ได้ออกแถลงการณ์เตือนกระทรวงศึกษาธิการ ให้ตระหนักในเสรีภาพในการทำกิจกรรมของนักเรียนนิสิตนักศึกษา และอย่าใช้อำนาจแทรกแซงกิจกรรม

เมื่อวานนี้ (10 ต.ค. 56) สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย ได้ออกแถลงการณ์ "ศธ.อย่าใช้อำนาจแทรกแซง-กิจกรรมสมาพันธ์ฯ หยุดคุกคาม" โดยระบุว่า "จากการที่สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยจะจัดงานเดินขบวนแสดงจุดยืนวันที่ 25 ตุลาคม 2556 โดยร่วมกับองค์กรการศึกษาอื่นๆด้วย ทางสมาพันธ์ฯได้มอบหมายให้นายธรรมากร อารยางกูรสมาชิกของสมาพันธ์ฯ เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับทางกระทรวงศึกษาธิการเพื่อแจ้งให้ทราบล่วงหน้าถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น ทั้งขอความอนุเคราะห์ด้านสถานที่ด้วยรวมถึงได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการช่วยอำนวยความสะดวกอุปกรณ์ต่างๆ ให้คำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือ ไม่มีการอำนวยความสะดวกด้านอุปกรณ์เครื่องเสียงหรือเต็นท์ที่พักให้ อันนี้ก็แล้วแต่ดุลยพินิจทางกระทรวงศึกษาซึ่งทางสมาพันธ์นักเรียนฯมิได้มีความวิตกกังวลอย่างใด"

แถลงการณ์ของสมาพันธ์นักเรียนไทยฯ ระบุต่อไปว่า "แต่เรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น  คือได้มีหนังสือราชการลับส่งไปยังโรงเรียนที่นายธรรมากร กำลังศึกษาอยู่แจ้งเรื่องที่จะการเดินขบวนทางโรงเรียนได้เรียกนายธรรมากรไปพูดคุย และมีการต่อว่าเป็นเรื่องที่ประหลาดใจคือ ทางโรงเรียนทราบได้อย่างไร นอกจากทางกระทรวงศึกษาที่นายธรรมากรแจ้งกลับมาทางโรงเรียนทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเองก็ได้เข้ามาร่วมด้วย โดยได้ขอคุยกับนายธรรมากรชี้แนะในเรื่องต่างๆ"

"ทางสมาพันธ์นักเรียนฯเห็นว่าการกระทำดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้นไม่ถูกต้อง เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียนและเมื่อเลขาธิการสมาพันธ์ฯ ได้ติดต่อไปยังผู้มีอำนาจบางคนในกระทรวงฯ ก็ได้รับการปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นมาก่อน ท่านอาจจะไม่ทราบก็เป็นได้แต่คำสั่งหรือการที่ท่านนำไปบอกกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบในการเคลื่อนไหวแสดงออกสิทธิเสรีภาพด้วยการมีหนังสือราชการแจ้งไปทางโรงเรียนเรียกนักเรียนไปคุยไปชี้แจง เลขาธิการสมาพันธ์ฯได้ชี้แจงไปแล้วว่าเขาเป็นเพียงผู้ประสานงานเท่านั้น ถ้าจะคุยควรคุยกับเลขาธิการโดยตรงเสียมากกว่าแต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังต่อเนื่องต่อไป แม้ว่าจะไม่มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นแต่มันเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องเป็นการแทรกแซงกิจกรรมที่สมาพันธ์นักเรียนและองค์กรการศึกษาอื่นๆจะจัดเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่ให้มีการแสดงทัศนะได้อย่างเสรีและสันติรวมถึงเป็นการแสดงถึงอำนาจอนุรักษ์นิยมไม่ไว้วางใจนักเรียนและการพูดอย่างมือถือสากปากถือศีลคือ กล่าวว่านักเรียนมีสิทธิเต็มที่แต่พอจะแสดงสิทธิและได้จริงใจเปิดเผยตรงไปตรงมากับทางกระทรวง กลับถูกเรียกไปคุยทำความเข้าใจทางกระทรวงฯไม่มีอำนาจในการคุกคามเช่นนี้ได้เลย"

"สมาพันธ์นักเรียนฯ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการรวมถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกการเคลื่อนไหวของนักเรียนนิสิตนักศึกษาอย่าได้กระทำการอันคุกคามหรือใช้อำนาจนิยมแทรกในการสนทนา สมาพันธ์นักเรียนฯมีความโปร่งใสจริงใจ และต้องการให้การศึกษาไทยดีขึ้น การกระทำที่ฝ่ายภาคการศึกษาของรัฐได้กระทำไม่ถูกต้องควรได้รับการประณาม รวมถึงควรออกมาชี้แจงให้ชัดเจนกับเรื่องนี้ด้วย" แถลงการณ์ของสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยระบุ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การลุกขึ้นสู้ของชาวปกาเกอะญอแม่แจ่ม

Posted: 10 Oct 2013 12:40 PM PDT

บันทึกความทรงจำและการเดินทางกลับสู่หมู่บ้านของอดีตบัณฑิตอาสาสมัครถึงชุมชนประเพณีอันแสนสงบสู่การลุกขึ้นสู้ต่อต้านเขื่อนแม่แจ่ม/ผาวิ่งจู้[1]ของชาวปกาเกอะญอมึเจะปู[2]

 

 

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

1

ในช่วงประมาณสองเดือนที่ผ่านมา ผมได้พบข่าวหนึ่งในหน้าเฟสบุ๊คจากการแชร์ของบรรดาเพื่อน  ซึ่งทำให้ผมตกใจอยู่มากนั่นคือข่าวแผนการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม/ผาวิ่งจู้ในบริเวณหมู่บ้านของชาวปกาเกอะญอ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ข่าวเกี่ยวกับแผนการสร้างเขื่อนแม่แจ่มจากงบบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเพิ่งจะมีการพูดถึงผ่านสือต่างๆ อย่างเงียบๆ   เนื้อหาและคลิปภาพรายงานข่าวจากพื้นที่ที่มีอยู่เพียงไม่กี่ชิ้น รายงานว่าชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก็เพิ่งได้ทราบข่าวการสร้างเขื่อนในพื้นที่บ้านของตนในช่วงไม่กี่เดือนมานี้เช่นกัน โดยชุมชนปกาเกอะญอที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีทั้งหมด 4 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่ซา หมู่ 2 , ,บ้านแม่เอาะ หมู่ 10 ,บ้านสบขอ หมู่ 11 และบ้านแม่หอย หมู่ 12    บ้านแม่หอย   ทั้งนี้บ้านแม่หอยหรือในภาษาปกาเกอะญอเรียกว่า "โขล่เหม่โกล๊ะ" คือ หนึ่งในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนครั้งนี้  และเป็นหมู่บ้านที่ผมเคยไปศึกษาเรียนรู้และทำงานเป็นบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อสิบสามปีก่อน (พ.ศ. 2543)   

ภูมิทัศน์ชุมชนและโรงเรียนบ้านแม่หอย (โขล่เหม่โกล๊ะ) เมื่อปีพ.ศ. 2543

ผมเปิดดูคลิปข่าวรายงานถึงการประชุมชาวบ้านที่จัดขึ้นครั้งแรก ณ บ้านแม่ซาในช่วงเดือนกรกฎาคมเพื่อควานหาดูว่ามีคนที่ผมรู้จักในนั้นหรือไม่ ผมอยากรู้ว่าหมู่บ้านที่เคยอยู่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากน้อยแค่ไหน และชาวบ้านที่นั่นมีความคิดเห็นต่อการสร้างเขื่อนอย่างไรบ้าง   จากรายงานข่าวชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านปกาเกอะญอในพื้นที่แผนสร้างเขื่อนแม่แจ่มก็เพิ่งจะทราบข่าว และเป็นไปได้ว่าพวกเขาหลายคนที่ไม่รู้ภาษาไทยและห่างไกลจากข้อมูลข่าวสารภายนอก อาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพื้นที่ชุมชนของตนอยู่ในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนด้วย ในคลิปข่าวมีการให้สัมภาษณ์ของชาวบ้านในพื้นที่หลายคน  เช่น "จอสมพร"[4] หนุ่มวัยรุ่นในอดีตที่ขณะนี้กลายเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือพ่อหลวงของบ้านแม่หอยไปแล้ว หรือ "จออาสา" พี่ชายอารมณ์ดีของบ้านแม่ซา และอีกหลายคนที่ต่างแสดงความวิตกกังวลต่อการสร้างเขื่อนและผลกระทบที่อาจทำลายชีวิตชุมชน ผืนป่าธรรมชาติ และแหล่งทำมาหากินของพวกเขา (ดูย้อนหลังใน http://www.youtube.com/watch?v=FP1M_xY5Np , http://www.youtube.com/watch?v=Uay-JgctAZo และ http://www.youtube.com/watch?v=FFTevL-eUmA) ด้วยความรู้สึกตกใจในเบื้องแรกเมื่อทราบข่าวจากชุมชนเก่าที่เคยอยู่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมรีบกลับไปค้นหาภาพถ่ายเก่าๆ ในสมัยนั้น ด้วยเกรงว่าชุมชนที่เป็นความทรงจำส่วนหนึ่งของผมอาจจะสูญสลายไปกับโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่มตามแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ภาพเก่าของหมู่บ้านเกือบทั้งหมดที่ผมถ่ายไว้เป็นฟิล์มสไลด์เพราะต้องใช้เวลารายงานความคืบหน้าของการทำงานในพื้นที่แก่ทางสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงหลังออกจากพื้นที่  ด้วยเหตุนี้ ฟิล์มสไลด์เก่าเก็บมานานหลายปีจึงถูกค้นออกมาจากซอกหลืบของลิ้นชักที่ผมลืมมันไปแล้ว ทันทีนั้นผมรีบนำมันไปยังร้านถ่ายรูปในกรุงเทพฯเพื่อหาร้านที่ยังสามารถล้างอัดรูปภาพจากฟิล์มสไลด์ได้ ซึ่งกว่าจะหาเจอก็ใช้เวลากว่าครึ่งค่อนวันเลยทีเดียว ...โลกเรามันเปลี่ยนไปมากแล้ว

 

2

มันเป็นความรู้สึกน่าใจหายเมื่อทราบข่าวว่าหมู่บ้านที่เราเคยไปอยู่อาศัยและมีความผูกพันต่อความทรงจำที่สำคัญช่วงหนึ่งของชีวิตกำลังจะถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ของการพัฒนาสร้างเขื่อนจนชุมชนอาจถูกโยกย้ายจากพื้นที่เดิมที่เคยตั้งอยู่  ภาพความทรงจำของผมต่อชุมชนปกาเกอะญอที่แม่แจ่มเมื่อสิบกว่าปีก่อนค่อยๆถูกดึงกลับจากความทรงจำ บางครั้งสำหรับการเป็นอดีตบัณฑิตอาสาสมัครหรือนักเรียนมานุษยวิทยาที่ต้องไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคสนามห่างไกลหลายแห่งจนผูกพันกับชาวบ้านในพื้นที่  ก็ทำให้รู้สึกผิดบาปอยู่ในใจบ่อยๆ ที่เราไม่สามารถกลับไปเยี่ยมเยียนคนในพื้นที่ดังที่เรามักจะเคยให้คำสัญญากับพวกเขาไว้ก่อนออกจากพื้นที่เสมอ สำหรับผมแล้วโขล่เหม่โกล๊ะเมื่อสิบสามปีก่อนเป็นดั่งชุมชนอุดมคติของคนหนุ่มสาวที่ต้องการแสวงหาวิถีชีวิตชุมชนอุดมคติที่เรียบง่ายและห่างไกลจากวิถีชีวิตสังคมเมืองอันวุ่นวาย วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านห่างไกลจากตัวเมืองและยังคงดำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ดั้งเดิมเอาไว้ได้ค่อนข้างมาก

พือเจะวากับภรรยา น่อพอวาและแม่ของเธอ

เมื่อสิบสามปีก่อนนั้น บ้านแม่หอยยังไม่มีไฟฟ้าเข้าไปถึง การเดินทางจากตัวอำเภอแม่แจ่มจะต้องโบกรถขึ้นดอยไปอีกราวสี่สิบกิโลเมตรกว่าจะถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านอยู่กันเป็นชุมชนเล็กๆ มีบ้านเรือนอยู่ประมาณห้าสิบกว่าหลังคาเรือน ผมเดินทางเข้าไปอาศัยอยู่ที่บ้านพักครูของโรงเรียนบ้านแม่หอยและได้ช่วยครูโรงเรียนบ้านแม่หอยที่มีอยู่ทั้งหมด 5 คน ซึ่งล้วนเป็นคนปกาเกอะญอทั้งสิ้น   ส่วนเด็กนักเรียนมาจากในชุมชนนั่นเองมีอยู่หกสิบกว่าคน ทั้งจอและน่อแต่ละคน เรียนและเล่นซนกันอย่างกับลิง ชุดนักเรียนที่ใส่เคารพธงชาติทุกเช้าไม่เคยเป็นสีขาวสะอาดเอาเลย อย่างไรก็ตามผมได้รับการต้อนรับด้วยไมตรีจิตอย่างดีจากชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้าน แม้พวกเขาจะรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยอยู่บ้างว่า ไอ้คนหนุ่มผมยาวและผอมกะหร่องอย่างกับคนติดยามาทำอะไรในหมู่บ้านกันแน่ หลายคนบอกกับผมภายหลังว่า ผมดูเหมือนพวกผีบ้าแรกๆ ก็ไม่กล้าคุยด้วย แต่ไม่นานนักเมื่อทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย วิถีชีวิตของผมและพวกเขาก็ดำเนินไปตามปกติ ส่วนใหญ่เป็นผมที่ได้รับการช่วยเหลือและได้เรียนรู้จากพวกเขา ทั้งในเรื่องการดำรงชีวิตหาอยู่หากินในแต่ละวันและการเรียนรู้โลกทัศน์ที่แตกต่างจากสิ่งที่ผมเคยเข้าใจ พวกเขานับถือคริสต์นิกายโปเตสแตนท์และยังคงเคร่งครัดในการปฏิบัติพิธีกรรมในโบสถ์อย่างสม่ำเสมอ   ยามค่ำทุกบ้านเข้านอนแต่หัวค่ำเพื่อจะถูกปลุกตื่นแต่เช้าด้วยเสียงครกกระเดื่องและออกทำงานในไร่หรือเก็บหาอาหารหรือผลิตผลจากป่ากลับมาในตอนเย็นของวัน  

เด็กนักเรียนชาวปกาเกอะญอที่โรงเรียนบ้านแม่หอยเมื่อปี 43

ในแต่ละวันชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอยจะออกไปหากินไม่ในไร่ของตัวเองก็เข้าป่า ทุกเช้าตั้งแต่หัวรุ่งจะได้ยินเสียงครกกะเดื่องตำข้าวเป็นจังหวะ มาพร้อมกับเสียงไก่ขันปลุกชีวิตของหมู่บ้านให้เริ่มเคลื่อนไหว กิจกรรมในแต่ละฤดูกาลสัมพันธ์กับการทำมาหากินหรือการเพาะปลูกในไร่และการเก็บหาอาหารป่าจากธรรมชาติที่แตกต่างกันไป  นานๆ ครั้งถึงจะพบคนเมืองหรือคนนอกหมู่บ้านเข้ามาในหมู่บ้านสักครา ส่วนมากจะมีแต่นักท่องเที่ยวฝรั่งที่อาจเดินทางผ่านไปมาในเส้นทางนี้บ้างเท่านั้น ภาพวงจรชีวิตชาวปกาเกอะญอแม่แจ่มในอดีตกว่าสิบปีที่ติดอยู่ในความทรงจำของผม  เป็นชีวิตที่เรียบง่าย การติดต่อกับเมืองยังมีจำกัดเฉพาะในช่วงที่พวกเขาลงไปอำเภอเพื่อทำธุระทางราชการหรือซื้อข้าวของจำเป็นจากตลาดในอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งกว่าจะโบกรถผ่านทางมาติดลงไปยังอำเภอได้ก็อาจใช้เวลากว่าครึ่งค่อนวัน และในสมัยนั้นอำเภอแม่แจ่มก็ยังคงเป็นเมืองขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับอำเภออื่นๆอีกหลายแห่งในเชียงใหม่

พือเจะวากับเมียนั่งตีข้าวจากไร่ (ภาพบน) หมื่อกา[5]กำลังเกี่ยวข้าวของพือเจะวา (ภาพล่าง)

ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติเป็นพื้นฐานสำคัญมากสำหรับชุมชนหมู่บ้านขนาดเล็กของชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอย ความเป็นกลุ่มก้อนเป็นปึกแผ่นของชุมชนสัมผัสได้ชัดเจนในทุกกิจกรรมที่พวกเขาทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ในโบสถ์, การเอาแรงแลกเปลี่ยนแรงงานในการเพาะปลูก, การประชุมหมู่บ้านประจำเดือน, การจัดงานตามประเพณี, การร่วมกันทำแนวกันไฟของหมู่บ้าน ฯลฯ เรียกได้ว่าแทบจะในทุกๆกิจกรรมส่วนรวมของชุมชนเลยทีเดียว  ในสังคมแบบนี้ ระบบความเชื่อทางศาสนาย่อมมีอิทธิพลต่อสมาชิกในชุมชนค่อนข้างสูง กิจกรรมชีวิตถูกกำหนดชัดเจนโดยการเข้าร่วมนมัสการพระเจ้าในโบสถ์ในช่วงเวลาที่ถูกกำหนดไว้ตายตัวแล้วของแต่ละวัน  ในช่วงที่ผมอาศัยกว่าครึ่งปีนั้นไม่เคยได้ยินว่ามีปัญหาความขัดแย้งจนถึงขั้นกลายเป็นการทะเลาะกันภายในชุมชนเลย  เท่าที่จำได้มีอยู่เพียงครั้งเดียวที่เกิดปัญหาขึ้น อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่ผิดจากบรรทัดฐานที่เป็นความสัมพันธ์กับคนนอกหมู่บ้าน เมื่อชายหนุ่มพื้นราบที่เข้ามาเป็นคนงานสร้างระบบประปาหมู่บ้านของกรมชลประทานในช่วงเวลาหนึ่งได้ลักลอบได้เสียกับหญิงสาวในหมู่บ้าน  จนสุดท้ายทั้งคู่ก็แต่งงานกันโดยผ่านพิธีการขอขมาและการประกอบพิธีทางศาสนาในโบสถ์ของหมู่บ้าน การแก้ปัญหาความขัดแย้งมักจบลงโดยคำสอนของศาสนาจารย์ผู้สอนศาสนาที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือและคำสั่งสอนตักเตือนจากกลุ่มผู้อาวุโส ส่วนความขัดแย้งที่เกิดจากคนในหมู่บ้านด้วยกันเองนั้นไม่เคยพบว่าเกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องบาดหมางรุนแรงแต่อย่างใด 

ชาวปกาเกอะญอแม่หอยร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ในโบสถ์ของหมู่บ้าน

ในช่วงเวลานั้น ร้านค้าของหมู่บ้านมีเพียงร้านเดียว คือร้านของครูชูชาติ ฝายหิน ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอย ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน  ผมเองก็อาศัยซื้ออาหารง่ายๆ เช่น ปลากะป๋อง มาม่า ปลาทูเค็ม และไข่ จากร้านค้าที่มีอยู่แห่งเดียวนั่น  แต่ชาวบ้านทั่วไปไม่ค่อยซื้อของกินจากร้านค้ามากนัก เพราะพวกเขาสามารถหาอาหารจากธรรมชาติรอบตัวได้ตลอดทั้งปี ในช่วงฤดูหนาวผู้ชายบางคนจะสะพายปืนไม้ยาวที่ทำกันเองในหมู่บ้าน เข้าป่าไปล่าสัตว์โดยเฉพาะหมูป่าและเก้ง ซึ่งป็นที่นิยมอย่างมาก และยังมีอยู่อย่างชุกชุมรอบพื้นที่ป่าของหมู่บ้าน  บางทีได้เนื้ออะไรมา ก็เอามาแบ่งปันเพื่อนบ้าน และบางครั้งก็เผื่อมาถึงผมด้วย   ส่วนผู้หญิงจะทำหน้าที่หลักในการหาอาหารป่าตามธรรมชาติ เช่น หน่อไม้ , รถด่วนหรือหนอนไม้ไผ่ , ตัวอ่อนต่อ, ปลาตัวเล็กๆตามลำธาร, กบทูด,เห็ด,ผักหวาน และอื่นๆ สารพัดตามแต่ธรรมชาติที่เปลี่ยนไปในแต่ฤดูกาล ไล่ไปตั้งแต่ฤดูฝน  หนาว  และร้อน แต่ละฤดูวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอ ก็จะเปลี่ยนไปอันเป็นผลจากกิจกรรมในการเพาะปลูกทำไร่และการหาอาหารจากป่าตามธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติหรือผืนป่ารอบตัวที่เป็นทั้งแหล่งอาหารในการดำรงชีพ หากป่าอุดมสมบูรณ์ชีวิตพวกเขาก็มีความมั่นคงไปด้วย แต่หากป่าถูกทำลายวิถีชีวิตของพวกเขาก็คงจะได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน

   

 ออกไปเก็บใบตองตึงกลับมามุงหลังคาบ้าน (ภาพบน) , ทำบุญคริสต์เชิญแขกรับประทานอาหารร่วมกันที่บ้าน (ภาพล่าง)

พ่ออุ้ยในหมู่บ้านช่วยกันก่อไฟเตรียมทำอาหารเลี้ยงชาวบ้านที่มาช่วยกันทำแนวกันไฟในป่าเขตรอยต่อระหว่างหมู่บ้าน (ภาพบน) ช่วงเข้าหน้าแล้งประมาณเดือนกุมภาพันธ์ชาวบ้านแม่หอยจะนัดวันรวมตัวเพื่อทำแนวกันไฟป่าบนแนวเขา[6] (ภาพล่าง)

ผมอาศัยอยู่เพียงลำพัง ในบ้านพักครู หลังเก่า  กิจวัตรปกติ คือ การตื่นขึ้นมาแต่เช้ามืด เพื่อจุดฟืนต้มน้ำร้อน หุงข้าว ทำกับข้าว แล้วก็ไปสอนหนังสือเด็กๆ ที่โรงเรียนบ้านแม่หอย  เด็กนักเรียน ส่วนใหญ่มาจากในหมู่บ้าน   แต่พอมีเวลาว่างก็ออกเก็บข้อมูลชุมชนจากชาวบ้าน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับทำสารนิพนธ์เพื่อเอาไว้ใช้ภายหลังกลับออกจากหมู่บ้าน  ในแต่ละวันบางทีก็ออกไปคุยกับคนนั้นคนนี้ตามปกติ  ส่วนใหญ่ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอยพูดภาษาถิ่นเหนือหรืออู้คำเมือกันได้ เว้นแต่คนแก่เฒ่าบางคนที่พูดฟังภาษาไทยไม่ได้เลย   ด้วยลักษณะสังคมที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงช้าและค่อนข้างหยุดนิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมเมือง  มันทำให้คนในวัยหนุ่มฟุ้งฝัน อย่างผม ซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ รู้สึกอินไปกับบรรยากาศรอบตัว ราวกับว่าตัวเองอยู่ในหมู่บ้านในภาพอุดมคติที่ชีวิตแยกแตกต่างไปจากชีวิตที่คุ้นเคย  เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ผมออกไปใช้ชีวิตตามลำพังในพื้นที่ที่แปลกต่างจากความคุ้นชินเดิมค่อนข้างมาก  แต่การอยู่คนเดียวในชุมชนที่แปลกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมก็ทำให้ผมได้อ่านหนังสือและทบทวนเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองหลายอย่าง และเป็นโชคดีของผมที่ชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอยค่อนข้างเงียบสงบ ชาวบ้านเป็นมิตรมีความเอื้อเฟื้อเจือจานต่อคนนอกอย่างผมเป็นอย่างดี นับแต่ที่ผมเริ่มเข้าไปใหม่ๆ  จนกระทั่งถึงเวลากลับออกจากหมู่บ้านเมื่อครบกำหนดการทำงานในช่วงครึ่งปีต่อมา   แต่คงต้องยอมรับว่าด้วยความที่ผมเป็นคนนอกที่เข้าไปทำงานในชุมชน โดยพกพาสถานะทางสังคมติดตัวไปด้วยในฐานะนักศึกษาที่ไปทำงานเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียน และสอนผู้ใหญ่ช่วงหัวค่ำ จึงทำให้ได้รับการความเอื้อเฟื้อจากชาวบ้านมากเป็นพิเศษ

เด็กๆปกาเกอะญอบ้านแม่หอยกำลังแข่งซิ่งลงดอย (บน) ,  ผมกำลังเล่นกีตาร์ให้เด็กๆฟังที่บ้านพัก(ล่าง)

ในช่วงเวลานั้นตัวผมเอง ถือได้ว่ายังคงใหม่กับการเรียนรู้งานภาคสนาม   การศึกษาวิธีการเก็บข้อมูลสนามหรือการตีความอย่างเป็นวิชาการตามแนวมานุษยวิทยาก็ไม่เคยเรียน มาก่อน  โลกทัศน์ความคิดในช่วงเวลานั้น จึงออกแนวชุมชนนิยมโรแมนติกที่มองว่าชาวบ้านใสซื่อบริสุทธิ์  และมองว่าการพัฒนาแบบความทันสมัยหรือความเจริญเป็นสิ่งชั่วร้าย ซึ่งเป็นแบบฉบับของวาทกรรมการพัฒนาสายวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งแพร่หลายมีอิทธิพลต่อนักพัฒนาและพวกบัณฑิตอาสาสมัครในช่วงนั้นมากโขอยู่   จำได้ว่าครั้งหนึ่งขณะที่ผมนั่งนอนเล่นอยู่ที่บ้านพักครู ได้ยินเสียงเด็กในหมู่บ้านเล่นกีตาร์และแหกปากร้องเพลง  "ยาม" ของลาบานูน  บ้างก็สลับกับเพลงของวงโลโซที่กำลังโด่งดังในขณะนั้น  ผมรู้สึกว่าเพลงพวกนี้ เนื้อหาของมันไม่เข้ากับวิถีชีวิตของคนบนดอยแห่งนี้เอาเลย โดยเฉพาะกับเด็กนักเรียนชาวปกาเกอะญอของผม ผมจึงเริ่มแต่งเพลงขึ้นเองโดยมุ่งหวังว่าจะทำเป็นเพลงให้เด็กๆ ร้องเล่นกันแทนเพลงสตริงที่บ่มเพาะค่านิยมของคนเมืองเหล่านี้แทน เนื้อเพลงช่วงหนึ่งร้องว่า  "ดินแดนภูเขาลำเนาไพร   หลบความวุ่นวายที่ในเมือง ไปกันเถิดเพื่อน เดือนเต็มหมู่ดาว สบายใจ  โรงเรียนบนดอยยังคอยครู คอยจนบานประตูนั้นเป็นรอย ยินดีต้อนรับ สวัสดีครับผมเป็นครูน้อยบนดอยไกล โรงเรียนของเรามีภูเขาและมีลำธาร ยังคงเบิกบาน เราหัดอ่านท่องเขียน ก.กา  กลางคืนไม่มีไฟเราก็ใช้น้ำมันตะเกียง ฉันมีเพียงเทียนเล่มน้อย...." (ฟังเพลงฉบับเต็มได้จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=480971)  แม้จะไม่ได้ผลตามที่หวังว่าจะทำให้เด็กข้างบ้านเลิกแหกปากร้องเพลงของคนในเมืองให้ได้  แต่เพลงที่ผมแต่งนี้ก็ถือว่า ฮิตติดดอยพอสมควรเลยทีเดียว  เด็กๆในโรงเรียน ร้องกันได้เกือบทุกคน เมื่อมีการจัดงานกิจกรรมของหมู่บ้าน ผมมักจะถูกขอให้ร้องเล่นเพลงนี้เสมอ กล่าวได้ว่าผมประสบความสำเร็จในการต่อต้านขัดขืนกับกระแสค่านิยมที่ผ่านมากับดนตรีสมัยใหม่อย่างเพลงของลาบานูนหรือโลโซได้พอสมควรล่ะ อย่างน้อยก็น่าจะปลูกฝังเพลงที่เหมาะกับวัยเด็กและภาพของชุมชุนที่เป็นจริงๆ เอาไว้ในใจของพวกเขาได้บ้างล่ะ (อันนี้คิดเข้าข้างตัวเอง) พูดได้เลยว่าตอนอยู่ในหมู่บ้าน ผมค่อนข้างระวังมากว่าตัวเองในฐานะที่เป็นคนเมืองจากภายนอกชุมชน จะนำเอาค่านิยมอะไรจากข้างนอกเข้ามาเปลี่ยนชาวบ้านเหล่านี้หรือเปล่า ซึ่งอาจจะทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาต้องแปดเปื้อนเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็น  วิทยุเทปพกพา (Walkman) ที่ติดมาก็ต้องใช้แบบแอบฟังคนเดียวในห้องไม่ให้ใครเห็น แม้แต่กล้องส่องทางไกลที่ติดกระเป๋ามาด้วย ก็ไม่เคยเอาออกมาให้พวกเด็กๆ ในหมู่บ้านได้เห็นเลย จนกระทั่งเด็กพวกนี้รู้เข้าก็ตอนที่เพื่อนของผมมาเยี่ยมแล้วค้นเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมแอบหลบมือเด็กในหมู่บ้านออกมาโชว์กันหมด  ตอนนั้นผมคิดแต่ว่าชาวบ้านเขาอยู่ของเขากันมาแบบนี้ ก็ไม่ควรจะไปเพิ่มอัตราเร่งหรือการพัฒนาความทันสมัยให้มันเปลี่ยนแปลงจนเร็วเกินไป หากชุมชนมีการตั้งรับไม่ทันอาจทำให้เกิดการแตกสลายของสังคมขึ้นได้

ฤดูแล้งของเดือนมีนาคม ปี 2543  ถึงเวลาที่ผมจะกลับออกจากพื้นที่หมู่บ้านที่ศึกษาและปฏิบัติงานอาสาสมัคร ผมและเพื่อนบัณฑิตอาสาสมัครที่แยกย้ายกันไปทำงานในพื้นที่ในหมู่บ้านต่างๆ ในหลายจังหวัดได้กลับมาพบกัน ประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นหัวข้อถกเถียงนอกรอบบ่อยครั้งก่อนนี้ คือ เราควรมีท่าทีอย่างไรต่อชุมชนหมู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่ยังมีลักษณะสังคมประเพณีดั้งเดิม (tradition societies) เข้มข้นอยู่  ความเห็นของผมและเพื่อนๆ มี 2 แนวทางหลัก 

(1) เห็นว่าชุมชนหมู่บ้านควรดำรงประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเองต่อไปไม่ควรให้วัฒนธรรมค่านิยมของคนเมืองจากภายนอกเข้าไปมีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะจะสร้างปัญหาแก่ชุมชนดั้งเดิมเหมือนกับตัวอย่างที่พบในการพัฒนากระแสหลักในช่วงที่ผ่านมา และ

(2) มองว่าไม่ว่าจะชอบหรือไม่สังคมทุกสังคมย่อมมีการติดต่อสัมพันธ์กันและย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่แล้ว ความคิดที่จะให้ชาวบ้านหยุดนิ่งอยู่กับที่ทำเศรษฐกิจพอเพียงหากินหาอยู่ตามเดิมเหมือนในอดีตเป็นเพียงภาพลวงตาที่ไม่อาจเป็นจริงได้   

ในหัวของผมก็เต็มไปด้วยการปะทะกันความคิดทั้งสองแนว ตั้งคำถามว่าผมควรจะกำหนดท่าทีตัวเองต่อชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่หอยที่ผมรักและผูกพันเป็นพิเศษนี้อย่างไรดี?  ภาพตัวแทนของชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอยในสายตาของผมเป็นหมู่บ้านที่สงบเงียบ ชาวบ้านมีมิตรไมตรี มีการธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ยังถือว่าเข้มข้น และมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติรอบตัว ซึ่งยังคงอุดมสมบูรณ์อย่างที่หาได้ยากในพื้นที่อื่น  เราควรจะปล่อยให้การพัฒนาจากสังคมภายนอกรุกรานเข้ามาส่งผลกระทบต่อชุมชนหรือไม่ หรือควรจะจำกัดขอบเขตมากน้อยแค่ไหน หรือเราเองต่างหากที่ไม่ควรจะไปยุ่งเกี่ยวใดๆ กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อพวกเขาเลยจะเหมาะเสียกว่า?   ฯลฯ  คำถามต่างๆ  เหล่านี้ เกิดขึ้นในวงสนทนากับเพื่อนๆ บัณฑิตอาสาสมัครด้วยกันและบางทีผมก็สนทนากับตัวเองอย่างเงียบๆ  

 

ค่ำคืนสุดท้ายก่อนออกจากหมู่บ้าน ชาวบ้านแม่หอยมารวมกันเลี้ยงส่งที่บ้านพักครู (บน) , เก็บกระเป๋าเดินทางกลับนั่งโดยสารบนหลังคารถสองแถวแม่แจ่ม-จอมทอง (ล่าง)

แน่นอนคำถามนั้นมันไม่ได้คำตอบในทันทีทันใด ทว่ากลับต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าความคิดจะตกตะกอนในช่วงหลังจากที่ได้เดินทางไปทำงานในชุมชนแห่งอื่นๆต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในที่สุดแล้วผมก็ได้รับคำตอบสุดท้ายที่ตัวเองพึงพอใจและยึดถือเป็นแนวทางกำหนดท่าทีของตัวเองในประเด็นต่างๆ หากผมต้องไปที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของการพัฒนาว่า ชาวบ้านในชุมชนไม่ว่าจะเป็นชุมชนประเพณีดั้งเดิมหรือชุมชนที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาเป็นสมัยใหม่ พวกเขาควรมีสิทธิ์เต็มที่ในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ไม่ควรที่จะมีใครเป็นคนไปชี้ซ้ายขวา สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ พวกเขาควรมีสิทธิ์ในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในตัวเองเหมือนคนในสังคมอื่นๆ ที่จะเป็นผู้กำหนดตัดสินใจด้วยตัวเองได้  แม้ว่าพวกเขาอาจจะทำผิดพลาดได้ แต่พวกเขาก็ควรจะมีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น หากการพัฒนานั้นนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่ตามมาภายหลัง ไม่มีใครที่จะอ้างอำนาจความชอบธรรมใดในการไปกำหนดชี้ว่าชาวบ้านควรต้องทำนั้นอย่างนี้  หรือต้องเดินแนวทางในการพัฒนาไปทางไหน   ดังนั้นหากพวกเขาต้องการให้ชุมชนเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น มีความเจริญทางวัตถุมากขึ้น ขณะที่ความผูกพันในสังคมดั้งเดิมลดลงหรือหายไป นั่นก็ควรจะเป็นสิทธิ์ของพวกเขาอย่างเต็มที่ .ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นคำตอบที่แสดงถึงความเคารพนับถือในความเป็นมนุษย์ของพวกเขาอย่างเท่าเทียมกันถึงที่สุด  คนภายนอกชุมชน ไม่ว่าจะอ้างถึงเจตนาดีแค่ไหน หรือเป็นผู้ฉลาดทรงภูมิรู้เพียงใด ก็ไม่มีความชอบธรรมในการชี้นำหรือแช่แข็งชุมชนและชีวิตพวกเขาให้หยุดนิ่งไกลห่างจากการพัฒนาจากภายนอก โดยที่พวกเขาไม่ได้ร้องขอ  ในทางกลับกัน ผมคิดว่าเราควรจะต้องเคารพในสิทธิ์อำนาจเต็มที่พวกเขาจะเลือกกำหนดชะตาชีวิตของชุมชนของตัวเอง  ทั้งหมดนี้เป็นคำตอบสุดท้ายที่ผมให้กับตัวเองได้อย่างรู้สึกพึงพอใจพอสมควร และมันทำให้ผมปรับท่าทีของตัวเองต่อการทำงานกับชุมชนตามหลักคิดดังกล่าวด้วยเช่นกัน  

หลังจากที่ผมออกมาจากบ้านแม่หอย ผมไม่ได้ติดต่อกับใครในหมู่บ้านหรือกลับไปเยี่ยมเยียนคนที่นั่นอีกเลย เนื่องจากชีพจรชีวิตของเราเองที่ต้องดิ้นรนอย่างมากมายในเงื่อนไขของการทำมาหากินและวิถีชีวิตแบบคนในสังคมเมือง  คนที่เคยทำงานในชุมชน ผูกพันกับชาวบ้าน และเคยให้คำสัญญาว่าจะกลับไปเยี่ยมพวกเขาบ่อยๆ อาจจะมีความรู้สึกคล้ายกัน เมื่อเราไม่ได้กลับไปในพื้นที่ชุมชนเลยเป็นเวลานานๆ  ก็คงคล้ายกับญาติพี่น้องที่ห่างเหินกันไปไม่ไปเยี่ยมดูแลญาติผู้ใหญ่นั่นกระมัง กระทั่งเกือบสี่ปีให้หลังเมื่อประมาณ ปีพ.ศ. 2547  ผมได้เดินทางกลับเข้าไปแม่แจ่มแล้วโบกรถขึ้นดอยอีกครั้ง ผมสังเกตพบว่าระยะเวลาไม่กี่ปีนั้น ทั้งอำเภอแม่แจ่มและหมู่บ้านปกาเกอะญอที่ผมเคยอาศัยอยู่เกิดความเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งเคยเป็นอำเภอเล็กๆ และดูจะเร้นลับอยู่ในโอบล้อมของภูเขากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีรีสอร์ทผุดขึ้นจำนวนมาก ขณะที่เส้นทางจากอำเภอแม่แจ่มไปยังบ้านแม่นาจร ก็เริ่มมีไฟฟ้าเข้าไปถึงแล้ว แน่นอนว่าโครงการวางเสาไฟฟ้าจะขยายออกไปจนถึงหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอแม่หอยและแม่ซาต่อไปในอนาคตแน่ๆ  

ในหมู่บ้านยังคงให้บรรยากาศเดิมๆ อยู่ แต่สังเกตได้ว่าคนในหมู่บ้านมีรถกระบะเพิ่มมากขึ้น  ผมไปแวะหาพ่ออุ้ยเจวาเฒ่าปกาเกอะญอแม่หอยที่สนิทสนมกับผมเป็นพิเศษ  ซึ่งในสมัยก่อนขณะที่ทำงานอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อผมไม่สบายใจหรือเกิดอาการเบื่อเซ็งชีวิต ก็จะเดินไปหาแกที่ไร่ท้ายหมู่บ้านอยู่เสมอ ไร่ของพือเจะวาอยู่ลึกลงไปด้านล่างชนกับพื้นที่ป่า แกปลูกกระท่อมเล็กๆไว้พักอยู่กลางไร่ พื้นที่ทำไร่ของแกจะแปลกกว่าคนอื่น ตรงที่ว่าแกปลูกพืชหลายอย่างผสมปนกันไปหมด มีทั้งข้าวไร่ พริกกะเหรี่ยง ข้าวโพด ฟักทอง ถั่วฝักยาว พลู มะละกอ และพืชผักสวนครัวอื่นๆ ที่เก็บกินได้อีกจำนวนมาก  ชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะมองว่าพือเจะวาเป็นปกาเกอะญอที่แปลก ตอนนั้นไม่มีใครปลูกอะไรรวมๆหลายๆอย่างแบบพือเจะวาเลยสักคนเดียว นอกจากพืชผักที่ปลูกแล้ว แกยังทำบ่อเลี้ยงปลาแบบขั้นบันได โดยขุดบ่อดินเตี้ยๆ เป็นชั้นๆ ลดหลั่นลงไปตามระดับความสูงของพื้นที่น้ำจะไหลจากบ่อน้ำบนสุดลงเป็นชั้นไปบ่อด้านล่างสุด ส่วนปลาที่เลี้ยงแกก็ไปขอพันธุ์ปลามาจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เข้ามาในหมู่บ้านในบางครั้ง รอบบ่อเลี้ยงปลาแกก็ปลูกหญ้าแฝกกันดินทรุดเอาไว้ด้วย   ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของพือเจวา คือ แกเป็นคนคิดเก่งมากในเรื่องเกี่ยวกับเส้นทางน้ำป่า กล่าวคือ ในขณะที่หมู่บ้านไม่มีน้ำใช้ ที่ไร่ของพือเจะวาจะไม่เคยขาดน้ำเลย พือเจะวาแกหาน้ำจากป่ามาใช้ด้วยวิธีการง่ายๆ แต่เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่ลุ่มลึกเกี่ยวกับธรรมชาติรอบตัว โดยแกจะเดินหาเส้นทางน้ำจากป่าที่ไหลซึมออกมา ซึ่งอาจจะมีหลายจุดเป็นขนาดเล็กๆ กระจายตามป่า พือเจะวาจะขุดร่องทางน้ำเล็กๆ หรือบางทีก็ใช้ปล่องไม้ไผ่ช่วยรองรับน้ำจากจุดต่างๆที่น้ำไหล ทำเป็นเส้นทางหลายๆ เส้น ให้ไหลลงมารวมกันในบริเวณไร่ของแก แล้วแกก็เอาท่อพีวีซีมาต่อทางน้ำนั้นไปใช้เป็นจุดที่น้ำลงสำหรับกินและอาบ อีกส่วนก็ท่อต่อให้น้ำไหลไปยังบ่อเลี้ยงปลาขั้นบันไดของแก ซึ่งปรากฏว่าแม้แต่หน้าแล้งที่น้ำในหมู่บ้านไม่ไหล น้ำที่ไร่ของพ่ออุ้ยเจะวาไม่เคยหยุดไหลเลย!  ผมทึ่งกับวิธีการทำไร่ของแกมาก ยังไม่รวมวิธีการหากินในไร่อื่นๆ เช่น การทำที่ดักหนู ดักนกหรือสัตว์เล็กๆ ที่อาจเข้ามาหากินเมล็ดข้าวในไร่ของแกด้วยวิธีการง่ายๆ อีกด้วย   ในช่วงเวลานั้น แนวคิดทฤษฏีใหม่ของในหลวงกำลังถูกประโคมเผยแพร่กระจายในสังคมโดยหน่วยงานรัฐต่างๆ จนกลายเป็นวาระหลักของชาติเพราะผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในต้นทศวรรษ 2540 นั่นเอง  ผมเห็นพ่ออุ้ยเจะวาทำไร่แล้ว เลยลองถามแกว่า "พ่ออุ้ยรู้จักแนวคิดทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียงไหม"  แกบอกกลับมาว่า "บ่ฮู้ ป่ออุ้ยบ่เคยได้ยินนะ"  ผมเองก็ค่อนข้างมั่นใจว่าแม้พือเจะวาจะรู้จักในหลวง แต่ไม่น่าจะเคยรู้จักทฤษฏีใหม่หรือเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อนแน่ๆ แกทำไร่ปลูกพืชผักจัดการระบบดินน้ำพืชพันธุ์ต่างๆ โดยอาศัยประสบการณ์การสังเกต จนสั่งสมองค์ความรู้ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติรอบตัวมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมานานก่อนที่พวกเราทั้งหลายในสังคมเมืองจะรู้จักทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงเสียอีก

ครั้งสุดท้ายที่ผมได้พบแก แกยังคงซุกตัวอยู่ที่กระท่อมหลังเล็กในไร่นั้นเอง ผมถามแกว่าจำผมได้ไหม พือเจะวานิ่งคิดสักครึ่งนาทีแล้วตอบกลับมาด้วยเสียงกึ่งสงสัยว่า "ครูโบ?" ความจำแกยังคงดีมากๆ  พือเจะวาบอกว่าจำได้จำได้สิ แล้วชี้ไปที่ต้นไม้ใหญ่ที่ติดอยู่กับกะท่วมของแก พือเจะวา "กล้วยไม้ที่ครูโบฝากไว้ พ่ออุ้ยรดน้ำทุกวัน"   ผมจำไม่ได้ถามกลับไปว่า "กล้วยไม้อะไรเหรอพ่ออุ้ย?"    "ก็กล้วยไม้ที่ครูฝากไว้ตอนจะปิกบ้าน ให้พ่ออุ้ยดูแล พ่ออุ้ยรดน้ำทุกวัน"  พือเจะวาอธิบายต่อ ผมมองไปที่ต้นไม้ริมกระท่อม จึงเห็นว่ามีกล้วยไม้สีเขียวเข้มแผ่รากยาวต้นใหญ่เกาะอยู่บนผิวต้นไม้นั้นเอง  เมื่อทบทวนความจำในอดีต จึงจำได้ว่าก่อนที่ผมจะกลับออกจากหมู่บ้าน ผมเอาต้นกล้วยไม้กอเล็กๆ  ซึ่งแขวนไว้ที่หน้าต่างบ้านพักครู  เอามาฝากให้พ่ออุ้ยช่วยดูแลรดน้ำให้แทน เพราะกลัวมันจะเหี่ยวเฉาตาย  มันเหลือเชื่อมากที่ต้นกล้วยไม้เล็กๆ เมื่อสี่ปีก่อน  จะแผ่ขยายก้านใบใหญ่กว่าเดิมมากมายนัก  มันรู้สึกละอายใจที่ผมเองกลับไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย แถมยังจำไม่ได้เสียอีกว่าเคยเอากล้วยไม้มาฝากให้แกช่วยดูแล  ดูเหมือนว่าความทรงจำของพ่ออุ้ยเจะวาจะดีกว่าผม ความทรงจำของคนที่มีวิถีชีวิตประจำวันอยู่กับการทำมาหากินในไร่ หยุดนิ่งผูกพันอยู่กับหมู่บ้าน มันช่างแตกต่างจากผมที่ใช้ชีวิตอยู่ห่างไกลจากบ้านแม่หอยไปไกลกว่าหลายกิโลเมตร กิจกรรมต่างๆ ของชีวิตในเมืองที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว จนทำให้เราหลงลืมเรื่องราวบางเรื่องจนดูเหมือนไม่สำคัญสำหรับเรา หากแต่สำคัญสำหรับคนในอีกพื้นที่หนึ่ง คนที่อยู่กับความทรงจำและการเคลื่อนไหวจำกัดในชุมชนปกาเกอะญอบนดอยเล็กๆ อย่างพ่ออุ้ยเจะวา

พือเจะวากับกะท่อมหลังเล็กในไร่ข้าวของแกในช่วงอายุประมาณแปดสิบกว่าปี

หลังจากที่ได้คุยซักถามสารทุกข์สุขดิบกับแก จึงได้รู้จากพือเจะวาว่าเมียที่แกดูแลมาตลอดชีวิตได้เสียชีวิตไปแล้วไม่นานก่อนหน้านี้ "แม่อุ้ยบ่อยู่แล้ว แม่อุ้ยเสียแล้ว อยู่บ่ม่วนแล้ว"   เมียของพือเจะวาตาบอดมานานหลายปี ก็อาศัยพือเจะวาเนี่ยแหละที่ดูแลกันและกันมาโดยตลอด คนที่อยู่ด้วยกันมาทั้งชีวิตคนหนึ่งตายไปอีกคนยังมีชีวิตอยู่ มันเป็นเรื่องปกติของชีวิต แต่เมื่อฟังจากปากพ่ออุ้ยเจะวาโดยตรงแล้ว ผมรู้สึกเศร้าสงสารแกขึ้นมาทันที คนแก่ที่ชีวิตทั้งหมดมีความสัมพันธ์จำกัดอยู่กับครอบครัวเครือญาติและคนในหมู่บ้านเพียงไม่กี่คน  เรื่องราวความหมายของชีวิตต่างๆ ที่เป็นความทรงจำของแกล้วนผูกโยงอยู่กับผู้คนและวิถีชีวิตในหมู่บ้าน เมื่อคนที่แกรักผูกพันที่สุดในชีวิตได้ตายไป การอยู่มีชีวิตต่อไปของตนเองในอนาคตข้างหน้าที่ไม่มีอะไรรออยู่อีกสำหรับคนวัยแปดสิบกว่าปี จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

4

สิบสามปีแล้ว นับจากวันแรกที่เข้าไปศึกษาเรียนรู้และทำงานในชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หอย และหลังจากนั้นสี่ปีก็เคยแวะเข้าไปเยี่ยมพือเจะวาในช่วงเวลาสั้นๆเพียงชั่วข้ามคืน ผมไม่เคยได้ยินข่าวใดๆ จากหมู่บ้านอีกเลย กระทั่งในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้เห็นข่าวที่มีการแชร์กันไม่มากนักในอินเตอร์เน็ตถึงการจัดประชุมที่บ้านแม่ซาเพื่อต่อต้านโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่มที่อาจจะเกิดขึ้น ชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ต่างตระหนกตกใจต่อเรื่องนี้ ว่ากันว่าหากมีการสร้างเขื่อนแม่แจ่มขึ้น ชุมชนชาวปกาเกอะญอในพื้นที่โครงการอาจต้องถูกย้ายทั้งหมู่บ้าน ผลกระทบทางสังคมต่อวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมธรรมชาติรอบชุมชนอย่างมหาศาล   จากจุดยืนที่ผมได้ตอบตัวเองเอาไว้หลังออกจากหมู่บ้านเมื่อสิบกว่าปีก่อน ยังคงเป็นตัวกำหนดท่าทีของผมต่อโครงการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงที่ก่อผลกระทบต่อชาวบ้านในชุมชนแม่หอยต่างๆ การพัฒนาสร้างเขื่อนแม่แจ่มครั้งนี้ก็เช่น  ผมหาข่าวต่างๆ จากอินเตอร์เน็ต เพื่อดูปฏิกิริยาของชาวปกาเกอะญอแม่หอยและหมู่บ้านใกล้เคียง ว่าพวกเขามีความรู้สึกต่อโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่มนี้อย่างไร แม้ว่าในการพัฒนาโครงการต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อนอกชุมชนด้วยก็ตาม แต่เสียงของคนในชุมชนก็ควรถูกพิจารณาอย่างมีน้ำหนักไม่น้อยไปกว่ากัน  

ในข่าวแสดงถึงปฏิกิริยาของชาวปกาเกอะญอในพื้นที่สร้างเขื่อนไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ พวกเขาต่อต้านไม่เอาเขื่อนแม่แจ่ม ดังที่ นายอุทัย  พายัพทนากร  ผู้ใหญ่บ้านแม่ขอกล่าวว่า  "การที่รัฐบาลจะมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้ชาวบ้านกะทันหันเป็นเรื่องที่ชาวบ้านรับไม่ได้ ตนเคยเดินทางไปดูงานที่ผาช่อ จ.ลำปาง ซึ่ งรัฐบาลย้ายชาวบ้านจากบนดอยลงมา แต่ไม่จัดพื้นที่รองรับให้เพียงพอ สุดท้ายชาวบ้านต้องไปขายตัวอยู่ในเมือง  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากและไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นที่นี่" (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในมติชนออนไลน์ วันที่ 18 สิงหาคม 2556  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1376822246&grpid=00&catid=00) เช่นเดียวกับ พ่ออุ้ยเฮบือพอ อายุ 78 ปี ผู้เฒ่าชาวปกาเกอะญอบ้านสบขอ  "ฉันแก่ลงเรื่อย ๆ ไม่สำคัญหรอกว่า จะมีอายุต่อไปนานแค่ไหนและจะตายเมื่อไหร่ คนจะตายช้า ตายไวไม่มีใครรู้ เรามีประโยชน์แค่ชั่วชีวิตหนึ่งเท่านั้น แต่เรื่องป่าไม้และแม่น้ำนี่ มีประโยชน์นับร้อยปี พันปี ช่วยให้คนได้อยู่ได้ใช้มาหลายชั่วอายุคน อยู่ ๆ มีคนมาสร้างเขื่อนตัดอายุป่า ตัดหมู่บ้านที่ฉันเห็นมานาน แล้วอนาคตลูกหลานจะอยู่อย่างไร" (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเดลินิวส์ออนไลน์วันที่ 25 สิงหาคม 2556   http://www.dailynews.co.th/article/728/228323)   นอกจากนี้ ยังสามารถเห็นความไม่พอใจของชาวบ้านต่อโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม/ผาวิ่งจู้ได้จากข้อความในแผ่นโปสเตอร์ที่แปะติดตามหมู่บ้านเป็นจำนวนมากได้อีกด้วย  

ป้ายต่อต้านเขื่อนแม่แจ่มที่ถูกปิดไปทั่วหลายหมู่บ้านในพื้นที่สร้างเขื่อน (รูปภาพจาก Road Jovi ในบทความ "เสียงตะโกนจากคนตัวเล็กริมน้ำแม่แจ่ม" ในบล็อคกาซีนประชาไท http://blogazine.in.th/blogs/mourose/post/4336)

แน่นอนว่าป้ายต่อต้านเขื่อนที่ติดตามหมู่บ้านเหล่านี้ เดาได้ว่าส่วนหนึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากองค์กรภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวต่อต้านเขื่อนจากนอกชุมชนมาช่วยในการรณรงค์ด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านจะไม่เห็นด้วยหรือไม่เข้าใจข้อความที่ถูกนำมาติดทั่วหมู่บ้านของพวกเขา อันที่จริงหลายป้ายถูกเขียนขึ้นโดยชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านนั่นเองทั้งที่เป็นภาษาปกาเกอะญอและภาษาไทยเพื่อใช้สื่อสารออกไปจากชุมชน ให้คนไทยพื้นราบและในพื้นที่อื่นๆ ได้รับรู้ถึงความรู้สึก การต่อต้าน ความไม่พอใจของพวกเขาต่อโครงการสร้างเขื่อนที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิต ธรรมชาติ และชุมชนของพวกเขา 

ในช่วงเดียวกันนั้นเอง ขณะที่ข่าวเกี่ยวกับแผนการสร้างเขื่อนแม่แจ่มที่กระทบต่อชุมชนชาวปกาเกอะญอแม่แจ่มยังคงเป็นเพียงข่าวเล็กๆ ที่มีคนให้ความสนใจรับรู้ไม่มากนัก ตรงกันข้ามกับกระแสการคัดค้านต่อต้าน การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA (Environment and Health Impact  Assessment) ที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาของเขื่อนแม่วงก์ ที่มีผู้นำการประท้วง คือ คุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งใช้วิธีการเดินประท้วงจากเขื่อนแม่วงก์ถึงกรุงเทพฯ จนเกิดเป็นกระแสการรณรงค์ที่ได้รับความสนใจจากสื่อและผู้คนในสังคมจำนวนมาก ทำให้ความสนใจต่อปัญหาการพัฒนากับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับการถกเถียงแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง  อันที่จริง เมื่อเกิดกระแสการคัดค้านโครงการพัฒนาเขื่อนในพื้นที่หนึ่ง ย่อมเป็นผลดีต่อการรณรงค์ต่อต้านโครงการพัฒนาสร้างเขื่อนในพื้นที่อื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย แต่จากที่ผมสังเกตจากพื้นที่ข่าวสารที่ปรากฏ กลับพบว่าการประเด็นปัญหาโครงการพัฒนาสร้างเขื่อนในแผนงานของรัฐบาล ได้ถูกกลบโดยเสียงเซ็งแซ่ที่พูดถึงปัญหาเฉพาะของเขื่อนแม่วงก์จนแทบไม่ได้ยินเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่อื่นๆ อย่างเพียงพอ

จากประสบการณ์ ผมพบว่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมของการพัฒนาส่วนใหญ่ กลุ่มคนชายขอบของสังคมมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบอยู่เสมอ ทำให้ผมไม่ค่อยแน่ใจว่ากระแสการรณรงค์ต่อต้านเขื่อนแม่วงก์และวาทกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้ จะมีส่วนช่วยเสริมพลังแก่การลุกขึ้นสู้ของชาวปกาเกอะญอพื้นถิ่นในแม่แจ่มได้มากน้อยแค่ไหน  ในการเคลื่อนไหวของขบวนการต้านเขื่อนแม่วงก์ได้มีการประสานพูดคุยกับกรณีปัญหาของเขื่อนอื่นๆ ด้วยหรือไม่ หรือเป็นเพียงการรวมกลุ่มสร้างพันธมิตรเพียงชั่วคราวเท่านั้น   ความกังวลใจของผมมีสาเหตุจากกรณีของเขื่อนแม่แจ่มมันอยู่ในพื้นที่ของชนพื้นเมืองกลุ่มเล็กๆ ใจกลางหุบเขา ซึ่งในมิติทางชาติพันธุ์ย่อมถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ที่เป็นไทยหรือคนเมืองพื้นราบ  แม้ว่าพวกเขาจะเป็นพลเมืองไทยเต็มตัวนานหลายชั่วรุ่นแล้ว แต่โดยความแตกต่างทางชาติพันธุ์ในฐานะชนกลุ่มน้อย ผมไม่แน่ใจว่าเสียงตะโกนของพวกเขาจะดังไปพ้นแนวเขาที่โอบล้อมหมู่บ้านไปไกลถึงบรรดาคนไทยร่วมชาติทั้งหลายได้หรือไม่ ในขณะที่เสียงการต้านเขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแก่งเสือเต้น ชนชั้นกลางรักธรรมชาติทั้งหลายอาจช่วยกันเปล่งเสียงร้องดังก้องไกลไปทุกสารทิศ เพราะมีบรรดาผู้มีชื่อในสังคมทั้งหลายให้การสนับสนุนในการต่อสู้ แต่ชนพื้นเมืองกลุ่มเล็กๆ ในหุบเขาแห่งนี้เล่า มิติความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่างจะเป็นวาทกรรมที่ทำให้พวกเขาถูกกีดกัน/เบียดขับกลายเป็นกลุ่มชายขอบของการพัฒนาครั้งนี้หรือไม่  เมื่อผลประโยชน์ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังขยายตัว  พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรของคนพื้นที่ราบได้ถูกขยายออกไปอย่างมหาศาล  ความต้องการน้ำในการเกษตรและข้ออ้างในการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วมของคนพื้นราบ จะกลายเป็นความชอบธรรมของการพัฒนา จนทำให้เสียงของชาวปกาเกอะญอพื้นถิ่นเหล่านี้ไม่ถูกรับรู้หรือเปล่า?  

อย่างไรก็ตาม จากปฏิกิริยาของชาวปกาเกอะญอในพื้นที่โครงการสร้างเขื่อนที่ประกาศว่า "กูขอตายหากต้องถูกย้ายเอาบ้านไปสร้างเขื่อน"   ก็แสดงให้เห็นถึงการเตรียมใจลุกขึ้นสู้ท้าทายอย่างเต็มตัวต่อโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่มครั้งนี้  ผมไม่แน่ใจเลยว่าระยะเวลาเป็นสิบปีที่ไม่ได้เข้าไปที่โขล่เหม่โกล๊ะนั้น ชุมชนปกาเกอะญอที่นั่นเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว จากหมู่บ้านที่มีลักษณะสังคมประเพณีค่อนข้างเงียบสงบและโดดเดี่ยว (isolate) ตัวเองจากสังคมภายนอก ในตอนนี้พวกเขาพร้อมที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตชุมชนของพวกเขาอย่างเต็มที่แล้วหรือ  ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากพวกเขาเลือกแล้วจะลุกขึ้นต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแม่แจ่มนี้ ผมก็ยอมรับในการตัดสินใจต่อการกำหนดชะตากรรมของพวกเขา และพร้อมจะร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่ มันเป็นเหตุผลง่ายๆ และอาจจะไม่ใช่เหตุผลที่ผ่านการคิดอย่างสลับซับซ้อนมากเพียงพอสำหรับหลายคนต่อการกำหนดหลักวิธีคิดและท่าทีที่ควรจะมีต่อโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งอาจก่อผลกระทบต่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง และเราก็ควรจะศึกษาผลดี/ผลเสีย ความคุ้มค่าของโครงการ และผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดอย่างรอบด้านเสียก่อน  ทว่าผมได้เลือกเอาไว้แล้วตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน  ถ้าพ่อแม่พี่น้องปกาเกอะญอที่นั่นต้องการเขื่อน ผมก็เอาเขื่อน ถ้าพวกเขาปฏิเสธ ผมก็พร้อมสนับสนุนและต่อสู้ร่วมกับพวกเขาด้วยเหตุผลง่ายๆ แค่นั้น  ...ผมพร้อมแล้วกับการเดินทางกลับไปยังหมู่บ้านที่เคยอาศัยอยู่เมื่อสิบกว่าปีก่อนอีกครั้ง.

 




[1] บางคนเรียกว่า "ผาวิ่งชู้"  มิตรสหายท่านหนึ่งอธิบายให้ฟังว่า ในภาษาคำเมืองการออกเสียง ช. จะเพี้ยนเป็น จ. ในที่นี้จึงใช้ว่าผาวิ่งจู้

[2]มึเจะปู เป็นภาษาปกาเกอะญอแปลเป็นไทยหมายถึง "แม่แจ่ม"  

[3] บัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นที่ 32

[4] คำว่า "จอ" ในภาษาปกาเกอะญอเป็นคำหน้าหน้าผู้ชาย ส่วนผู้หญิงใช้คำว่า "น่อ"

[5] "หมื่อกา" ในภาษาปกาเกอะญอเป็นคำเรียกเครือญาติแปลว่า "ป้า" 

[6]ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมเป็นช่วงฤดูหนาวที่เข้าสู่หน้าแล้ง และมักจะเกิดไฟป่าลามไหม้เป็นแนวยาวประจำทุกปี สาเหตุของไฟป่าแท้จริงส่วนใหญ่มาจากฝีมือของคนมากกว่าเกิดโดยธรรมชาติ อาจเพราะการเผาไร่เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกหรือการก่อไฟในป่า ซึ่งเกิดขึ้นเสมอประจำในพื้นที่ตั้งแต่บริเวณบ้านแม่นาจรขึ้นมา ในบ้านแม่หอยจะมีการเตรียมรับมือโดยการร่วมมือของคนในชุมชนทั้งหมดเข้าไปทำแนวกันไฟในป่า โดยการเก็บกวาดเศษซากใบไหม้ใบหญ้าที่รกตามรอยต่อของป่าระหว่างหมู่บ้าน บางช่วงที่รกมากก็ต้องเผาเพื่อให้เศษใบไม้ที่อาจกลายเป็นเชื้อไฟป่าเผาไหม้เป็นเถ้า จนเกิดช่องว่างของพื้นดิน ซึ่งทำหากเกิดไฟป่าขึ้นก็จะไม่ลามเข้ามาในพื้นที่ของหมู่บ้าน

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แท็กซี่เสื้อแดงอัมพวาเหยื่อพิษแก๊สน้ำตา 10 เมษา เสียชีวิตแล้ว

Posted: 10 Oct 2013 12:30 PM PDT

'ประชา ศรีคูณ' คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดงอัมพวาเหยื่อพิษแก๊สน้ำตา 10 เมษา อัมพาตกว่า 3 ปี เสียชีวิตแล้ว ภรรยาเผยได้รับเงินเยียวยาสมัย รบ.อภิสิทธิ์ แต่ยังไม่ได้ใน รบ.นี้

ภาพประชา ขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 7 เม.ย.55

10 ต.ค. 56 นางจิตตรา ศรีคูณ อายุ  66 ปี ภรรยานายประชา ศรีคูณ คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดง วัย 64 ปี ผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เม.ย.53 แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่าสามีซึ่งนอนเป็นอัมพาตอยู่ที่โรงพยาบาลนภาลัย อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เป็นเวลากว่า 3 ปี เสียชีวิตแล้วในวันนี้ และตั้งศพสวดอภิธรรมศพที่วัดอัมพวัน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยมีกำหนดฌาปณกิจ ในวันที่ 15 ต.ค.นี้

นางจิตตรา กล่าวว่า สามีของเธอมีโรคประจำตัวเป็นโรคภูมิแพ้ และล้มป่วยลงหลังถูกแก๊สน้ำตาขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารพยายามสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 โดยหลังจากที่ประชาถูกแก๊สหนีกลับมาพักที่บ้าน วันถัดมาเกิดอาการชักและทรุดลงจึงส่งตัวเข้าโรงพยาบาลใช้เวลารักษา เข้าออกโรคพยาบาลอยู่สักพักก็อาการหนักขึ้นจนเป็นอัมพาต จนกระทั่งเสียชีวิตวันนี้

ภาพการรดน้ำศพ จากเฟซบุ๊ก Jittra Cotchadet

สำหรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐนั้น นางจิตตรา กล่าวว่าได้รับเงินเยียวยาในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ในฐานะผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม เป็นจำนวนเงิน 103,000 บาท สำหรับรัฐบาลนี้ยื่นเรื่องไปกับกระทรวงพัฒนาสังคมเพื่อเรียกร้องเงินเยียวยาตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

นางจิตตรา กล่าวอีกว่า เธอและสามีสนใจติดตามการเมืองโดยตลอด ตัวเธอเคยมีส่วนร่วมชุมนุมขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ด้วย จนกระทั่งก่อนรัฐประหาร ตนและสามีซึ่งชื่นชอบในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงได้ร่วมชุมนุมคาราวานคนจนที่สวนจตุจักรต้นปี 49 หลังจากนั้นเกิดรัฐประหารก็ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านมาโดยตลอด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทุนฯ อนุรักษ์พลังงาน หนุนงบ 42 ล้าน ติดโซลาร์เซลล์ให้ทหารชายแดน

Posted: 10 Oct 2013 12:22 PM PDT

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หนุนกองทัพติดโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าในฐานปฏิบัติการแนวชายแดนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศ
 
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้ตรวจราชการกระทรวง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานทางทหารตามแนวชายแดน เพื่อปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า โดยที่ปัจจุบันไฟฟ้าที่นำมาใช้งานในฐานปฏิบัติการนั้น  มาจากเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว ยังตกเป็นเป้าโจมตีจากผู้ก่อการร้ายเนื่องจากเสียงดัง
 
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 42 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดซื้อระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ให้แก่หน่วยงานทหารในเขตพื้นที่ชายแดน ให้มีไฟฟ้าใช้ในการปฏิบัติภารกิจและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้ 'โครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับฐานปฏิบัติการทางทหาร ปี 2557' โดยได้ตั้งเป้าหมายในการติดตั้งรวมกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 137 กิโลวัตต์ ในระยะเวลา 12 เดือน
 
ทั้งนี้ จะมีการดำเนินงานใน 2 ส่วนคือ 1.จัดซื้อระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของฐานปฏิบัติการทหารในเขตชายแดน (ทหารบก) โดยเน้นพื้นที่ดำเนินการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 180 ระบบ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 112.5 กิโลวัตต์
 
และ 2.จัดซื้อระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของหน่วยปฏิบัติการทหารเรือในเขตชายแดน ได้แก่ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จำนวน 16 ฐานปฏิบัติการ และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาชายฝั่ง จำนวน 8 ฐานปฏิบัติการ รวมจำนวนระบบที่สนับสนุน  28 ระบบ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 24.5 กิโลวัตต์
 
"กองทุนฯ คาดว่าผลที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ประจำฐานปฎิบัติการทางทหารตามแนวชายแดนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ได้มีไฟฟ้าสำหรับใช้ในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหากทำการติดตั้งได้ตามเป้าหมาย 137 กิโลวัตต์ คิดเป็นมูลค่าการประหยัดปีละประมาณ 640,000 บาท และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ 96,560 ตันคาร์บอนต่อปี" นายเสมอใจกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวทีระดมสมองแก้ปัญหาการพนัน เผยเด็กไทยเริ่มเล่นพนัน 7 ขวบ

Posted: 10 Oct 2013 11:52 AM PDT

มูลนิธิสดศรีจัดเวทีระดมสมองแก้ปัญหาการพนัน นักวิชาการพบสถิติเด็กและเยาวชนเล่นพนันมากถึง 2.8 ล้านคน เปิด 5 อันดับการพนันที่เด็กเล่นมากสุด ชูโมเดล แคนดา – นิวซีแลนด์ จัดการปัญหา ขณะที่ พม.เตรียมตั้งคอมเพล็กซ์สร้างพื้นที่สีขาว นำร่องใน กทม.
 
วันที่ 10 ต.ค.56 ที่ห้องประชุมคอนเวนชั่นฮอลล์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์  ร่วมกับ เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน จัดเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนัน 2556 "ความท้าทายในการจัดการสำหรับบริบทของสังคมไทย" โดยมีการเสวนาในหัวข้อ "การป้องกันเด็กและเยาวชนไทยจากการพนัน ภายใต้ค่านิยมและความท้าทายในบริบทของสังคมไทย"
 
 
พม. เตรียมตั้งคอมเพล็กซ์สร้างพื้นที่สีขาว นำร่องใน กทม.
 
นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวปาฐกถาว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันเห็นชัดว่าเยาวชนไทยเล่นพนันมากขึ้น และกลุ่มที่มีอายุน้อยเริ่มเข้าสู่วงจรการพนันมากขึ้น ซึ่งสาเหตุที่สำคัญมาจากพฤติกรรมของวัยรุ่นที่ชอบการแสวงหาความตื่นเต้น การเลียนแบบเพื่อนเพื่อการเข้าสังคม และวิวัฒนาการของเทคโนโลยี
 
ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานก็พยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะมีข้อจำกัดในการแก้ปัญหา เช่น ขาดเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ ขาดการบูรณาการทั้งด้านองค์ความรู้ รวมถึงการตีความในเรื่องกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน
 
ดังนั้น แนวทางในการแก้ปัญหาที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะดำเนินการคือจะประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป
 
ในเบื้องต้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีแนวทางที่จะสร้าง complex ต้นแบบ เพื่อสร้างกิจกรรม เพิ่มพื้นที่สีเขียวและสีขาวให้กับเด็กและเยาวชน โดยจะนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและทำให้เด็กห่างไกลจากการพนัน
 
 
สถิติเด็กและเยาวชนเล่นพนันครั้งแรกอายุไม่เกิน 24 ปี มากถึง 2.8 ล้านคน
 
รศ.ดร.นวลน้อย  ตรีรัตน์  ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลสำรวจสถานการณ์การเล่นพนันในเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป พบข้อมูลเด็กและเยาวชนเริ่มเล่นการพนันตั้งแต่อายุยังน้อยคือ 7 ปี โดยมีเด็กและเยาวชนที่เล่นการพนันครั้งแรกอายุไม่เกิน 24 ปี มากถึงร้อยละ 63 หรือ 2.8 ล้านคนของเด็กและเยาวชนในประเทศของเราเริ่มเล่นการพนันแล้ว
 
การพนันที่เด็กและเยาวชนเล่นมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ หวยใต้ดินที่เล่นมากถึง 1 ล้านคน รองลงมาคือสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เล่นมากถึง 9 แสนคน ตามมาด้วยการพนันในบ่อนที่เล่นมากถึง 7 แสนคน และการเล่นการพนันฟุตบอลที่เด็กและเยาวชนเล่นถึง 4 แสนคน ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนที่เริ่มเล่นการพนันตั้งแต่อายุยังน้อย และแสดงให้เห็นว่าเราปล่อยปละละเลยให้เด็กและเยาวชนของเราเล่นการพนันกันมาอย่างยาวนาน 
 
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจล่าสุดที่เราได้จัดทำมาเฉพาะในปี พ.ศ.2556 คือการสำรวจสถานการณ์การเล่นการพนันในนักศึกษาทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด พบสถิติของนักศึกษาที่เล่นการพนันมีมากถึงร้อยละ 29.2 โดยการพนันที่นักศึกษาเล่นมากที่สุด 5 อันดับ คือ 1.ไพ่ 2.บิงโก 3.หวยใต้ดิน 4.สลากกินแบ่งรัฐบาล และ 5.การพนันฟุตบอล 
 
โดยเฉพาะการพนันฟุตบอลนั้นนักศึกษาที่ร่วมตอบแบบสำรวจกับเราระบุว่า เริ่มเล่นมาแล้วเฉลี่ย 3 ปี โดยจำนวนเงินที่เล่นคือ 822 บาทต่อคู่ และเล่นต่อสัปดาห์เป็นเงิน 2,215 บาท และเล่นต่อคู่สูงสุด 4,017 บาท โดยมีนักศึกษาที่เล่นการพนันฟุตบอลผ่านเว็บไซด์อีก 31 เปอร์เซ็นต์ ช่องทางที่นักศึกษาใช้ในการรับข้อมูลเพื่อศึกษาในการเล่นการพนันฟุตบอลคือสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ และสื่อหนังสือกีฬา ผลกระทบจากการพนันฟุตบอล ทำให้นักศึกษาประสบปัญหาจากการพนันร้อยละ 30 ประสบปัญหาทางการเงินจากการพนันร้อยละ 11 และในจำนวนนี้แก้ปัญหาโดยการกู้ยืมเงินร้อยละ 69
 
 
ชูโมเดล แคนดา – นิวซีแลนด์ จัดการปัญหาการพนัน
 
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก  สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการพนันในประเทศไทยจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยการเปิดสายด่วนเพื่อให้มีการปรึกษาปัญหาที่เกิดจากการเล่นการพนัน ซึ่งกระบวนนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งผลการสำรวจพบว่าคนที่เล่นการพนัน 1 คน จะส่งผลกระทบต่อคนอีก 8 คนที่ไม่ได้เล่นการพนัน ทั้งปัญหาในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นการแก้ปัญหาในการเล่นการพนันจริงๆ จะต้องแก้ที่ต้นเหตุเพื่อหยุดปัญหา โดยเราต้องป้องกัน ช่วยเหลือและแทรกแซงตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
 
ยกตัวอย่าง กรณีรัฐบาลของประเทศแคนาดาเป็นผู้ดูแลและแก้ไขปัญหาการพนันในประเทศ เพราะรัฐบาลเป็นผู้รับประโยชน์จากธุรกิจการพนัน จึงเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องแก้ปัญหานี้อยากจริงจัง โดยใช้แนวทางของ Public health นอกจากนี้กฎหมายท้องถิ่นในแต่ละรัฐของประเทศแคนนาดาได้มีการกำหนดอายุขั้นต่ำในการเล่นการพนันของเด็กและเยาวชน นอกจากนี้แล้วยังมีมาตรการหลักในการรณรงค์เพื่อให้สังคมตระหนักรู้ถึงพิษภัยและโทษของการพนัน และมีการติดโปสเตอร์ แจกแผ่นพับในสถานประกอบการ รวมถึงจัดทำวิดีโอเพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากการเล่นการพนัน ให้กับเด็กและเยาวชนได้ดู
 
รวมถึงมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อช่วยในการแก้ปัญหา โดยในรัฐควิเบก หน่วยงานที่จำหน่ายล็อตโต้ (Lotto-Quebec) ก็ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยในการทำวิจัยและจัดทำโครงการเพื่อศึกษาปัญหาแก้ไขเรื่องการเล่นการพนัน รวมถึงมีการจัดทำโครงการ "Count  Me Out" หรือ โครงการฉันไม่ยุ่งด้วยนะ ให้กับเด็กและนักเรียนระดับประถมศึกษารู้ถึงปัญหาการพนันและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพนัน
 
ส่วนในประเทศนิวซีแลนด์ ในปี ค.ศ.2001 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ประกาศให้ปัญหาการพนันเป็นปัญหาสาธารณสุข และจัดทำนโยบายระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาการพนัน และได้มีการพัฒนาโครงการในชื่อ "When is it not a game" หรือ เมื่อไหร่ที่ไม่เรียกว่าเกม โดยใช้บรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับเด็กเพื่อให้รู้เท่าทันปัญหาการพนัน นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้จัดทำแผนบูรณาการเพื่อลดปัญหาการพนันให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมทั้งยังมีการส่งเสริมสุขภาพให้การศึกษาและป้องกันการเล่นการพนันในระดับเบื้องต้น
 
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดตั้งองค์กรอิสระในชื่อ PGFNZ เพื่อให้คำปรึกษากับเยาวชนในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมกันนี้ยังได้มีการปรับแก้กฎหมายการพนันในปี 2013 โดยกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะเล่นการพนันจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี และหากผู้ประกอบการการพนันปล่อยให้เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปีเข้าเล่นจะมีความผิดทางอาญา รวมทั้งได้มีการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีกับธุรกิจการพนันทุกๆ 3 ปี โดยหากได้รับเรื่องร้องเรียนจากธุรกิจการพนันประเภทใดมากที่สุดก็จะจัดเก็บภาษีจากการพนันชนิดนั้นมากขึ้นด้วย เพื่อนำเงินไปแก้ปัญหาการพนัน
 
ทั้งนี้ ขอเสนอการแก้ปัญหาการพนันในประเทศไทย 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนจะต้องมีการสำรวจปัญหาการพนันของเด็กและเยาวชนไทยในระดับชาติ และจัดทำชุดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับปัญหาการพนันในสังคม รวมถึงสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับเด็กและเยาวชนหรือการสร้างพื้นที่สีขาว
 
ส่วนระยะกลางรัฐบาลจะต้องกำหนดให้ปัญหาการพนันเป็นวาระแห่งชาติและใช้แนวทาง Public Health ในการแก้ปัญหารวมถึงเพิ่มเติมปัญหาการพนันให้เข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดตั้งกองทุนอิสระเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง อีกทั้งต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขข้อบังคับกฎหมาย เกี่ยวกับปัญหาการพนันอย่างจริงจังและเข้มงวดกับการโฆษณาผ่านสื่อ และกำกับการพนันออนไลน์ให้ชัดเจน
 
ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ควรมีการสนับสนุนการทำงานของกองทุนอิสระหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอยู่ อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อแก้ปัญหา และควรมีการจัดหาบริการให้ครอบคลุมและทั่วถึงเพื่อป้องกัน บำบัดและเยียวยาผู้ที่ติดพนัน รวมถึงควรมีการจัดทำคู่มือเพื่อให้เกิดการพนันอย่างรับผิดชอบ
 
 
'ครูหยุย' ชี้ปัญหาการพนันเป็นจุดเริ่มต้นของการคอรัปชั่น
 
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์  กรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า การพนันถือเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดการทุจริตการคอรัปชั่นตามา ปัญหาของการพนันนั้นไม่ได้กระทบแค่คนคนเดียว แต่จะกระทบกับผู้คนหลากหลายส่วนที่อยู่ในครอบครัวของผู้ที่เล่นการพนัน โดยการพนันในระดับชาตินั้นจะเกี่ยวโยงกับการฟอกเงิน ในสนามกอล์ฟก็มีการเล่นการพนัน
 
ทั้งนี้ การเล่นการพนันระดับประชาชนนั้นจากการที่ตนได้ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ปัญหาพบว่าผู้หญิงจะชอบเล่นไพ่ โดยเล่นเป็นวงเล็กๆ ในจำนวนเงินที่ไม่มาก ครั้งละ 30-40 บาท หากแต่เล่นบ่อย ส่วนผู้ชายชอบเล่นม้า เล่นครั้งเดียวแต่เล่นจนหมดตัว ดังนั้นการพนันจึงไม่ใช่สิ่งที่ดีเราจึงจำเป็นต้องเร่งหาหนทางป้องกันให้เด็กและเยาวชนของเราไม่ให้เข้าสู่วงจรของการพนันให้ได้
 
 
เชื่อปรับแก้ กม.คุ้มครองเด็กและเยาชน ความหวังแก้ปัญหาการพนัน
 
ดร.วิเชียร  ตันศิริคงคล  คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า สำหรับการจัดการปัญหาเรื่องการพนันในสังคมไทยนั้นจะใช้การบังคับใช้ตามกฎหมายเป็นหลักตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 แต่ก็ต้องยอมรับว่าจัดการได้บ้างและไม่ได้บ้าง ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐและระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย นอกจากนี้ปัญหาการพนันที่ถูกสะสมมานาน เนื่องจากในอดีตมักถูกมองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับใคร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ จึงทำให้เกิดการปล่อยปละละเลย แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบันเริ่มมีหลายหน่วยงานเข้ามาเห็นถึงปัญหาของการพนันว่าส่งผลกระทบในหลากหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ทำให้เกิดการร่วมกันแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีทำให้ปรากฏการณ์การพนันการล้ำไปมากกว่าองค์ความรู้และการบังคับใช้กฎหมาย
 
ดังนั้นเราจะต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งการพนันออนไลน์ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นต้นแบบว่ารัฐสามารถจัดการปัญหาการพนันได้ดีหรือไม่ เพราะปัจจุบันในร้านอินเตอร์เน็ตบางร้านก็ถูกแอบแฝงให้เป็นบ่อนคาสิโน และปัจจุบันคาสิโนออนไลน์ก็ถูกย่อขนาดลงมาให้อยู่ในโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ทำให้การเข้าถึงการพนันง่ายขึ้น ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ทีต้องแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งตนเชื่อว่า พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและเยาชนที่กำลังปรับแก้อยู่ในขณะนี้จะกลายเป็นกฎหมายที่สร้างความหวังให้กับสังคมไทยเรื่องการแก้ปัญหาการพนัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

CAT เล็งฟ้อง กสทช. ออกประกาศเยียวยา 1800 ประเมินเสียหายกว่า 2 แสนล้าน

Posted: 10 Oct 2013 11:24 AM PDT

(10 ต.ค.56) ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กสท เมื่อวันที่ 9 ต.ค.มีมติอนุมัติค่าธรรมเนียมศาลมูลค่า 280 ล้านบาทเพื่อใช้ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หลังจากที่ กสทช.ออกประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการกรณีสิ้นสุดสัมปทาน หรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 (ประกาศเยียวยาคลื่น 1800MHz) รวมทั้งขอให้เพิกถอนร่างประกาศฯกสทช.ดังกล่าวต่อศาลปกครอง เพราะประกาศฉบับนี้ส่งผลกระทบโดยตรงทำให้ กสท เสียผลประโยชน์จากการที่ลูกค้าภายใต้สัญญาสัมปทานราว 17 ล้านรายแทนที่จะย้ายมาอยู่กับ กสท แต่กลับย้ายไปอยู่กับผู้ประกอบการเอกชนรายอื่นแทน
             
"เรื่องมูลค่าความเสียหายนั้นทางบอร์ดให้ฝ่ายจัดการไปพิจารณาอีกรอบหนึ่ง เพื่อพิจารณาด้วยความรอบคอบใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด เนื่องจากจะส่งผลต่อค่าธรรมเนียมที่ กสท ต้องจ่ายให้กับศาลด้วย โดยเบื้องต้นบอร์ดอนุมัติกรอบงบค่าธรรมเนียมสูงสุดไว้ที่ 280 ล้านบาทสำหรับการฟ้องร้องในครั้งนี้แล้ว โดยคาดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้  กสท จะดำเนินการฟ้องร้อง กสทช.ได้"
             
สาเหตุหลักที่ กสท ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับ กสทช.ในครั้งนี้เนื่องจากประกาศเยียวยา 1800 MHz ขัดต่อกฏหมาย 3ประเด็น ประกอบด้วย

1. ประกาศดังกล่าวกำหนดให้เจ้าของสัมปทานคือ กสท และผู้รับสัมปทานคือ ทรูมูฟ และดีพีซีเป็นผู้ให้บริการต่อไปในช่วงประกาศเยียวยา ทั้งๆ ที่ผู้รับสัมปทานมีข้อจำกัดของกฎหมายในการให้บริการตามมาตรา 80 พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยสรุปสิทธิการบริหารจัดการของผู้รับสัมปทานต้องหมดลงตั้งแต่ในวันที่ 15 ก.ย. 2556 ที่ผ่านมาแล้ว

2. ประเด็นการใช้คลื่นความถี่ที่จะไม่ขัดต่อมาตรา 46 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช.) โดยระบุว่าผู้รับสัมปทานสามารถบริหารคลื่นความถี่ได้เฉพาะในช่วงที่อยู่ในสัมปทานเท่านั้น ดังนั้น การใช้คลื่นความถี่ภายหลังหมดสัญญาสัมปทานผู้รับสัมปทานคือทรูมูฟ และดีพีซีจึงไม่มีสิทธิในการนำคลื่นดังกล่าวมาบริหารจัดการแต่อย่างใด แต่กสท มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว เพราะเป็นผู้รับใบอนุญาต
      
3. กรณีประกาศดังกล่าวมีการเร่งรัดให้เกิดการโอนย้ายออกจากระบบนั้น ถือเป็นการทำให้ กสท เป็นผู้เสียหายโดยตรง เนื่องจากลูกค้าทั้งหมดภายใต้สัญญาสัมปทานราว 17 ล้านเลขหมายจะต้องย้ายมาอยู่ในระบบ 3G My ของ กสท แทน และยังไม่เป็นไปตามประกาศ MNP (Mobile Number Portability หรือ บริการคงสิทธิเลขหมาย) ที่ระบุให้มีการโอนย้ายแบบยินยอมสมัครใจเท่านั้น จึงส่งผลทำให้ลูกค้าของ กสท ที่ควรจะมีราว 17 ล้านรายดังกล่าวย้ายออกจากระบบทรูมูฟและดีพีซีทั้งหมด เนื่องจาก กสท มองว่าลูกค้าของทรูมูฟ และดีพีซีทั้งหมดควรที่จะย้ายเข้ามาอยู่ในระบบ 3G My ภายหลังหมดสัญญาสัมปทาน
             
ข้อมูลจาก กสท ระบุว่าค่าเสียหายที่จะฟ้องร้องจาก กสทช.นั้น กสท คิดจากรายได้จากค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) คูณด้วยจำนวนผู้ใช้บริการ 17 ล้านเลขหมาย และคูณด้วยจำนวนปีที่ กสทสามารถให้บริการ 3G My จนสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 2568 หรือประมาณ 12 ปี ซึ่งอาจจะทำให้มูลค่าความเสียหายสูงถึง 2.75 แสนล้านบาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้อง DSI สอบ ‘อภิสิทธิ์’ อนุมัติเงิน สสส.ผิดวัตถุประสงค์

Posted: 10 Oct 2013 11:02 AM PDT

ชมรมนักกฎหมายฯ ร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษสอบ 'อภิสิทธิ์' สมัยเป็นประธาน สสส.พร้อมคณะกรรมการกองทุนฯ 17 คน อนุมัติเงินปรับปรุงอาคารให้มูลนิธิผู้บริโภคผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน ด้าน 'ธาริต' มอบหมายให้ 'ธานินทร์' ตรวจสอบ
 
วันนี้ (10 ต.ค.56) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธำรง หลักแดน รองประธานชมรมนักกฎหมายพิทักษ์ผลประโยชน์รัฐ (กพผร.) เดินทางเข้าพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษและขอให้ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมกรรมการทั้งคณะรวม 17 คน กรณีที่กระทำผิดมิชอบโดยให้ความเห็นชอบอนุมัติเงินจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 3 ล้านบาท เป็นค่าปรับปรุงอาคารให้แก่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จากการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 6/2553 เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 53
 
นายธำรงค์ กล่าวว่า กพผร.ซึ่งเป็นชมรมที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินการต่างๆ ของภาครัฐให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ทำการตรวจสอบกรณีดังกล่าวพบว่า คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ ได้มีการอนุมัติและจ่ายเงินให้แก่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นเงินจำนวน 3 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าปรับปรุงอาคารให้แก่มูลนิธิผู้บริโภค ซึ่งเป็นกิจการนอกเหนือวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ในมาตรา 5 พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544
 
ทาง กพผร.จึงเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของคณะกรรมการกองทุนฯ นั้นได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ จึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อขอให้ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ และคณะกรรมการกองทุนฯ หากพบว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ขอให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุดต่อไป
 
ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอจะมอบหมายให้นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ รอง ผบ.สำนักคดีอาญา 2 และ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดีเอส ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบการใช้เงินผิดประเภทของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว เนื่องจากทั้ง 2 เรื่องอาจมีรายละเอียดที่ลักษณะเดียวกัน
 
นายธานินทร์ กล่าวว่า จะขอให้นายธาริต ทำหนังสืออนุมัติการสืบสวนเพื่อส่งหนังสือสอบถามไปยัง สสส.ว่ามีการนำเงินไปใช้จ่ายให้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจำนวนเท่าใด ใครเป็นผู้สั่งการและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ามีการใช้เงินผิดประเภทตามที่ผู้ร้องกล่าวโทษหรือไม่
 
นายธานินทร์ ยังให้รายละเอียดด้วยว่า กองทุน สสส.มีที่มาของเงินกองทุนร้อยละ 2 จากกฎหมายว่าด้วยสุราและยาสูบ ในปี 2555 มีรายได้จากส่วนแบ่งของภาษีสุรา ยาสูบ ประมาณ 4,680 ล้านบาท โดยกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนไว้ 6 ข้อ ได้แก่ 1.ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในประชากรตามนโยบายสุขภาพแห่งชาติ 2.สร้างความตระหนักเรื่องพฤติการณ์การเสี่ยงจากการบริโภคสุรา ยาสูบหรือสารหรือสิ่งอื่นที่ทำลายสุขภาพและสร้างความเชื่อในการสร้างเสริมสุขภาพ
 
3.สนับสนุนการรณรงค์ให้ลดการบริโภคสุรา ยาสูบ หรือสารหรือสิ่งอื่นที่ทำลายสุขภาพ 4.ศึกษาวิจัยหรือสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัย ฝึกอบรมให้มีการประชุมเกี่ยวกับการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 5.พัฒนาความสามารถของชุมนุมในการเสริมสร้างสุขภาพโดยชุมชนหรือองค์กรเอกชน องค์กรสาธารณะประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และ 6.สนับสนุนการรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพผ่านกิจกรรมในลักษณะเป็นสื่อเพื่อให้ประชาชนสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง
 
"ดังนั้นจึงต้องขอทราบรายละเอียดที่ชัดเจนจาก สสส.ว่ามีการกำหนดวัตถุประสงค์ปลีกย่อยเพื่อใช้จ่ายเงินกองทุนในกิจการอื่นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์หรือไม่" นายธานินทร์ กล่าว
 
 
ที่มา: เรียบเรียงจาก โพสต์ทูเดย์, เนชั่นทันข่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เชียร์กรมบัญชีกลางลดความเลื่อมล้ำ หนุนใช้ยาชื่อสามัญในระบบสวัสดิการข้าราชการ

Posted: 10 Oct 2013 10:03 AM PDT

 
10 ต.ค.56 - จากกรณีที่กรมบัญชีกลางมีประกาศให้การรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและผู้มีสิทธิ โรงพยาบาลสามารถบวกกำไรยาชื่อสามัญได้สูงสุด 200% และคิดกำไรส่วนเพิ่มสำหรับยาต้นแบบได้ไม่เกิน 3% แต่ไม่เกินราคากลาง และจะให้ใช้กำไรที่ได้เพื่อเป็นเงินสนับสนุนการดูงานต่างประเทศของหมอในโรงพยาบาลของรัฐ
 
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า โรงพยาบาลทุกแห่งรู้ดีว่า ยาชื่อสามัญเป็นยาที่มีคุณภาพและให้ผลการรักษาไม่ต่างจากยาต้นแบบ แต่ที่ผ่านในระบบการเบิกจ่ายยาของระบบสวัสดิการข้าราชการ เปิดช่องให้แพทย์และโรงพยาบาลสามารถเลือกที่จะจ่ายยาชนิดเดียวกันที่เป็นยาต้นแบบ แต่มีราคาแพงกว่ามากให้กับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิข้าราชการได้
 
"กรมบัญชีกลางเดินมาถูกทางแล้ว ซึ่งแนวทางนี้เป็นการลดความเหลื่อมล้ำของระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการใช้ยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยในโรงพยาบาล ช่วยประหยัดงบประมาณด้านยาของกระทรวงการคลัง ที่เคยจ่ายให้กับยาต้นแบบที่มีคุณภาพเท่ากันแต่ราคาแพงกว่าหลายเท่า" นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว
 
"สำหรับข้อกังวลเรื่องคุณภาพของยาที่ไม่เท่ากันนั้น ไม่ว่าจะเป็นยาชื่อสามัญ ยาต้นแบบ ยาผลิตในประเทศ ยานำเข้าจากประเทศ ยาราคาถูกหรือยาราคาแพง ย่อมต้องผ่านการตรวจสอบ ขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองคุณภาพและความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน" นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว
 
นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่าประเทศไทย มีปัญหาเรื่องการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลมานาน ปรากฎเห็นชัดในระบบสวัสดิการข้าราชการที่ใช้งบประมาณในการรักษามากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถึง 5 เท่า ทำให้ประเทศเสียงบประมาณไปกับยาที่ไม่สมเหตุผล โดยส่วนใหญ่เป็นยาต้นแบบ ทั้งที่ยาตัวเดียวกันนั้นมีชื่อสามัญที่คุณภาพเท่ากันแต่ราคาถูกว่ามากให้เลือก แต่ที่ผ่านมาแพทย์มักจะเลือกจ่ายยาต้นแบบให้กับข้าราชการและผู้มีสิทธิ อาจจะเป็นเพราะความคุ้นเคย สิ่งตอบแทน หรือสิ่งจูงใจอื่นใด ในภาพรวมทำให้ประเทศเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็นไปกับยาต้นแบบ ราวปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.จัดงบปี 57 ให้แพทย์แผนไทย 400 ล้าน หวังคนเข้าถึงบริการ

Posted: 10 Oct 2013 08:45 AM PDT

เผยบอร์ด สปสช.หนุนคนไทยใช้บริการแพทย์แผนไทย ปี 57 จัดงบรายหัว 8.19 บาท รวม 400 ล้านบาท ส่งเสริม รพ.และ รพ.สต.จัดบริการแพทย์แผนไทยควบคู่แพทย์แผนปัจจุบัน เผยปี 56 คนใช้บริการเกือบ 1 ล้าน-มีการสั่งใช้ยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นมาก
 
10 ต.ค.56 - นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2557 บอร์ด สปสช.ได้จัดสรรงบสำหรับบริการแพทย์แผนไทย 8.19 บาทต่อประชากร รวมเป็น 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 56 ที่ได้รับ 7.20 บาทต่อประชากร รวมเป็น 348 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้วยการใช้บริการแพทย์แผนไทยเพิ่มขึ้น มีบริการแพทย์แผนไทยที่มีคุณภาพและปลอดภัยคู่ขนานไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน และเพื่อให้มีการใช้ยาจากสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มขึ้น
 
โดยจะสนับสนุนยุทธศาสตร์ และแผนงานแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพิ่มศักยภาพบริการแพทย์แผนไทยและการใช้สมุนไพรตามบัญชียาแห่งชาติ เพื่อเป็นทางเลือกควบคู่กับการบริการสาธารณสุขอื่นๆ ขยายจังหวัดต้นแบบการพัฒนาและจัดบริการแพทย์แผนไทยฯ แบบครบวงจร อย่างน้อยเขตละ 1 จังหวัด ส่งเสริมการจัดตั้งคลินิกเวชกรรมไทยที่มีแพทย์แผนไทยหลักสูตร 4 ปี ประจำครอบคลุม รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป/รพ.ชุมชน และการจัดบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีผู้ช่วยแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้าน
 
นางอรจิตต์ บำรุงสกุลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการแผนงานสนับสนุนระบบบริการฟื้นฟูด้านการแพทย์ ระบบบริการการแพทย์แผนไทยและระบบสุขภาพชุมชน สปสช.กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่ให้บริการแพทย์แผนไทยและมีแพทย์แผนไทยประจำ แบ่งเป็นระดับ รพ.สต.ที่มีบริการแพทย์แผนไทยพื้นฐาน 4,769 แห่ง รพ.ชุมชน 616 แห่ง รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป 72 แห่ง และรพ.รัฐนอกสังกัดสธ./เอกชน 26 แห่ง มีบุคลากรแพทย์แผนไทยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 13,244 คน
 
ขณะเดียวกันในปีงบประมาณ 2556 นี้ มีประชาชนได้รับบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 931,857 คน และ 10 อันดับยาสมุนไพรที่มีการสั่งใช้มากที่สุด ดังนี้ 1.ขมิ้นชัน 582,726 ครั้ง 2.ฟ้าทะลายโจร 415,128 ครั้ง 3.ประสะมะแว้ง 262,436 ครั้ง 4.ไพล 164,417 ครั้ง 5.น้ำมันไพล 115,164 ครั้ง 6.เถาวัลย์เปรียง 111,735 ครั้ง 7.มะขามแขก 109,084 ครั้ง 8.ขี้ผึ้งไพล 93,076 ครั้ง 9.ยาประคบ 86,453 ครั้ง 10.ธาตุอบเชย 79,215 ครั้ง
 
นางอรจิตต์กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นให้ความสำคัญการส่งเสริมบริการแพทย์แผนไทย โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติให้จัดสรรงบบริการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกแยกออกมาจากงบรายหัวตั้งแต่ปี 2550 เพื่อใช้เป็นกลไกกระตุ้นให้เกิดการจัดบริการสำหรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถกระตุ้นให้สถานพยาบาลบริการแพทย์แผนไทยมากขึ้น
 
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์บริการการแพทย์แผนไทยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกอบด้วย 1.นวดไทย นวด ประคบ อบสมุนไพร ทั้งการบริการในสถานพยาบาล และการบริการเชิงรุกในชุมชน 2.บริการฟื้นฟูสุขภาพแม่หลังคลอดด้วยการแพทย์แผนไทย ได้แก่ นวด อบ ประคบ ทับหม้อเกลือ แนะนำการดูแลหลังคลอด 3.การสั่งจ่ายยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘คนสะเอียบ’ ชูป้ายไล่ ‘ปลอดประสพ’ ยื่นหนังสือค้านสร้างเขื่อน!

Posted: 10 Oct 2013 08:17 AM PDT

ปฏิเสธทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน-ยมล่าง ผู้ว่าฯ แพร่ รับหนังสือถึงอำเภอสอง อ้างเพื่อชาวบ้านจะได้ไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงศาลากลางจังหวัด ยืนยันจังหวัดแพร่ไม่มีการเสนอเรื่องเขื่อน แต่จะสร้างเป็นอ่างพวงตามแนวพระราชดำริ
 
 
วันนี้ (10 ต.ค56) ชาวบ้านจาก ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กว่า 300 คน เดินทางโดยรถกระบะปิ๊กอั๊บหลายสิบคัน ไปชุมนุมยังบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสอง จ.แพร่ ขับไล่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)
 
จากกรณีนายปลอดประสพ ได้เดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดแพร่ เพื่อเตรียมการเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดแพร่ โดยเน้นเรื่องรถไฟความเร็วสูงผ่านแพร่ไปเชียงราย เรื่องศูนย์พักสินค้าภาคเหนือ ถนนสี่เลน เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งการพัฒนาสินค้าโอท็อปของจังหวัดแพร่ ที่จัดขึ้นที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่
 
 
เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น.ขบวนรถของชาวบ้านได้ออกจากหมู่บ้าน แต่ระหว่างทางถูกสกัดตรวจใบขับขี่และบัตรประชาชนที่ด่านตรวจบ้านป่าเลา ทำให้ขบวนล่าช้า มาถึงที่ว่าการอำเภอสองในเวลาประมาณ 10.00 น.จากนั้นชาวบ้านได้เริ่มเปิดเวทีปราศรัยที่สนามฟุตบอลหน้าศาลากลางอำเภอสอง พร้อมกับอ่านจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี
 
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า ชาวบ้านทราบข่าวว่านายปลอดประสพ จะเดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดแพร่ จึงพากันมาชูป้ายขับไล่ เพราะนายปลอดประสพเป็นคนผลักดันเขื่อนทำลายป่าสักทอง ทั้งเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง รวมทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งชาวบ้านร่วมกันคัดค้าน
 
"เราเสนอให้พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางขนาดเล็กตามลำน้ำสาขา ทั้ง 77 ลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอีกทั้งหมด 12 ข้อ โดยเราได้ทำเป็นจดหมายถึงท่านนายกรัฐมนตรี และจากการประสานงานท่านผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ขอร้องให้ชาวบ้านรออยู่ที่ศาลากลางอำเภอสอง ท่านผู้ว่าจะมารับหนังสือด้วยตัวท่านเอง เราจึงยอมให้กับท่าน แต่หากข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งของพวกเราทั้ง 12 ข้อไม่ได้รับการตอบสนอง เราก็พร้อมที่จะมาทวงถามท่านพ่อเมืองเราเช่นกัน" นายสมมิ่งกล่าว
 
 
จากนั้น เวลาประมาณ 10.30 น.นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้เดินทางมาถึงที่ว่าการอำเภอสอง และได้เข้าเจรจากับตัวแทนชาวบ้านกว่า 20 คน โดยผู้ว่ายืนยันว่า ขณะนี้แผนหรือนโยบายของรัฐบาลนั้นยังไม่ลงตัว ส่วนทางจังหวัดแพร่นั้นไม่ได้มีการเสนอให้สร้างเขื่อน แต่ได้เสนอให้สร้างอ่างพวงซึ่งเป็นอ่างขนาดกลางขนาดเล็กหลายอ่างเพื่อจะได้น้ำรองรับในหน้าแล้ง
 
"ขอให้พี่น้องชาวสะเอียบ สบายใจได้ ผมเป็นคนเมืองแพร่ อย่างไรผมก็ต้องช่วยพี่น้องเมืองแพร่ ในเรื่องน้ำจังหวัดเรามีแผนการจัดการอ่างพวงซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางขนาดเล็กหลายตัวพ่วงกันเป็นพวง ตามแนวพระราชดำริ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ส่วนท่านรองนายกท่านมาเรื่องแผนยุทธศาสตร์พัฒนาภาคเหนือ เรื่องรถไฟความเร็วสูง พวกเราอย่าได้กังวลใจผู้ว่าคนเมืองแพร่รับรอง" นายอภิชาติ กล่าว
 
 
จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ลงมารับหนังสือในบริเวณที่ชุมนุม โดยมีชาวบ้านกว่า 300 คนถือป้ายผ้าคัดค้านเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น และป้ายไล่นายปลอดประสพ ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ได้รับปากส่งต่อถึงนายกรัฐมนตรีและขึ้นปราศรัยชี้แจงชาวบ้าน จนเวลาประมาณ 11.30 น. การชุมนุมของชาวบ้านจึงยุติลงและแยกย้ายเดินทางกลับภูมลำเนาต่อไป
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเดินทางมารับหนังสือจากชาวบ้านถึงอำเภอสอง ทั้งที่ห่างจากตัวจังหวัดแพร่ถึง 60 กิโลเมตร ซึ่งต่างจากผู้ว่าคนที่ผ่านมาที่ชาวบ้านไปจนถึงศาลากลางจังหวัดก็ไม่ยอมลงมารับหนังสือ อย่างไรก็ตามอาจเป็นการทำหน้าที่สกัดกลุ่มผู้ชุมนุมไว้ที่อำเภอสอง ไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมไปเผชิญหน้ากับนายปลอดประสพที่ประชุมอยู่ที่ จ.แพร่
 
 
ศูนย์ประสานงานชุมชน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ 54120
 
10 ตุลาคม 2556
 
เรื่อง      ขอให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) และใช้แนวทางการจัดการน้ำโดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง รวมทั้งใช้ 12 แนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม
 
เรียน      ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
            จากการที่ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ผลักดันโครงการเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) ซึ่งแผนการจัดการน้ำของ กบอ. ได้หมกเม็ดการทำลายป่าไว้ในนั้นด้วย อาทิ แผนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ จะทำลายป่า 41,750 ไร่ แผนการสร้างเขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่ ซึ่งก็คือเขื่อนแก่งเสือเต้นแยกออกเป็น 2 เขื่อน ก็จะทำลายป่าไม่น้อยไปกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่นกัน
 
            แผนการจัดการน้ำดังกล่าว ได้หมกเม็ดการทำลายป่าไว้อย่างมหาศาล อันจะนำไปสู่ปัญหาอุทกภัย และภัยพิบัติ ตามมาอย่างรุนแรงขึ้น ดั่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าปัจจุบันปัญหาโลกร้อนคุกคามโลกอย่างต่อเนื่อง จึงควรยุติการทำลายป่าซึ่งเหลืออยู่น้อยมากแล้ว
 
            คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักถึงปัญหาการทำลายป่าและปัญหาโลกร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยกลุ่มราษฎรรักป่าขอเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ยุติแผนการทำลายป่า ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อน อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่ โดยเด็ดขาด และหันมาใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 12 ข้อ
 
            คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอเสนอเหตุผลที่ไม่สมควรสร้างเขื่อน และขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อน ดังต่อไปนี้
 
เหตุผล 8 ประการที่ไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
 
            1. ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง จุน้ำได้เพียงครึ่งเดียว ยิ่งไม่มีทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เลย
 
            2. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน ส่วนเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างนั้น ยิ่งใช้งบประมาณมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก จึงไม่มีทางที่จะคุ้มทุนได้
 
            3. ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยาน แห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็กระทบต่อพื้นที่เดียวกันนี้ เพราะเป็นการแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็นสองตอน สองเขื่อนนั่นเอง
 
            4. การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งจังหวัดแพร่มีป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดในโลก จึงไม่ควรทำลาย หันมาพัฒนาอุทยานแม่ยม รักษาป่าสักทอง พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่าการทำลาย
 
            5. ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งไม่ต้องสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง
 
            6. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ก็สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้เช่นกัน
 
            7. ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็ตั้งอยู่บริเวณแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกเช่นกัน กระทบทั้งรอยเลื่อนแพร่ และรอยเลื่อนแม่ยม
 
            8. ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง เป็นต้น
 
แนวทางแก้ไขปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 12 ข้อ
 
1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งมวลมนุษยชาติ อีกด้วย
 
2.รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น
 
3.ปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า
 
4.ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนให้ทุกชุมชนได้พัฒนา ฟื้นฟูระบบการจัดการน้ำชุมชน ให้ องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนการสร้างแผนการจัดการน้ำชุมชน ใช้สะเอียบโมเดลเป็นแผนการจัดการน้ำชุมชนต้นแบบ
 
5.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ซึ่งกรมชลประทานสำรวจพบแล้ว 26 จุด ซึ่งสามารพัฒนาได้เลยโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
6.ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
 
7.พัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะสามารถลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฝนตกที่ไหนน้ำเข้าที่นั่น กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำ ไม่ไช่รอให้ฝนตกเหนือเขื่อนเท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้
 
8.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
9.พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน
 
10.กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ
 
11.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู
 
12.ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม
 
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้ตระหนักในปัญหาการทำลายป่า อันจะนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน และยุติการผลักดันแผนหมกเม็ดการทำลายป่า ดังกล่าว และหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน และแนวทาง 12 ประการในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม
 
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา
 
ขอแสดงความนับถือ
 
(นายสมมิ่ง เหมืองร้อง)
ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ (บ้านดอนชัยสักทอง)
 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดใจ 'กลุ่มรักษ์คอนสาร' เดินหน้าค้าน ‘โรงงานยางพารา’ ผุดกลางชุมชน

Posted: 10 Oct 2013 07:30 AM PDT

ประธานกลุ่มรักษ์คอนสารแจงปัญหาการดำเนินกิจการโรงงานผลิตยางพาราอัดแท่งรมควันขนาดใหญ่ในพื้นที่ ชี้กระบวนการขออนุญาตไม่โปร่งใส หวั่นโรงงานสร้างมลพิษทางอากาศ แย่งใช้น้ำทำเกษตร
 
 
นับจากวันที่ 12 ก.ค.56 ที่บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือขออนุญาตตั้งโรงงานประกอบกิจการบนเนื้อที่กว่า 290 ไร่ บริเวณบ้านหินรอยเมย หมู่ที่ 8 ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สำหรับดำเนินกิจการโรงงานผลิตยางพาราอัดแท่งรมควันขนาดใหญ่ กำลังการผลิตยางแท่งและยางผสมเดือนละ 12,000 ตัน กำลังการผลิต 18,000 แรงม้า พร้อมทั้งจะมีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย บ่อน้ำ
 
ทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชน และกลุ่มพ่อค้าในท้องถิ่นร่วมกันจัดตั้งกลุ่มในนาม "กลุ่มรักษ์คอนสาร" ขึ้นมาเมื่อวันที่ 15 ส.ค.56 โดยมีวัตถุประสงค์ในการคัดค้านโรงงานยางพารา เพื่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และร่วมกันตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าว
 
"พวกเราแกนนำกลุ่มรักษ์คอนสาร ขอรับรองว่าไม่มีใครอยู่เบื้องหลังในการต่อต้าน แน่นอนใครที่ไม่ได้อยู่ใกล้สถานที่ก่อสร้างโรงงาน ใครที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลผลกระทบ ย่อมจะมองคนอื่นในแง่ลบได้เสมอ ขอให้เปิดใจ มองให้ลึก แล้วท่านจะเข้าใจ หากโรงงานนี้อยู่ใกล้กับบ้านท่าน ท่านจะคิดอย่างไร" นายวิเชษฐ อุสันเที๊ย ประธานกลุ่มรักษ์คอนสารกล่าวหลังจากถูกตั้งคำถามถึงเบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวบ้าน
 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.ย.56 ชาวบ้านกลุ่มรักษ์คอนสารนับพันคนได้เคลื่อนขบวนจากหน้าวัดเจดีย์ไปยังที่ว่าการอำเภอคอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายอำเภอคอนสารและให้ทำเรื่องประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ทบทวนมติที่อนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราอัดแท่งรมควัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโครงการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายอำเภอคอนสาร ประธานสภาองค์การส่วนบริหารตำบลดงบัง และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ แต่ก็ไร้ความคืบหน้าใดๆ
 
นายวิเชษฐ ในฐานะประชาชนในพื้นที่บ้านน้ำพุปางวัว หมู่ที่ 8 ต.คอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ให้ข้อมูลความเป็นมาของการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานยางพาราว่า นับจากต้นปี 2556 ได้ทราบว่ามีกลุ่มนายหน้ามากว้านซื้อที่ดินจำนวนกว่าหลายร้อยไร่ กระทั่งวันที่ 12 ก.ค.56 บริษัทศรีตรังฯ ได้ทำหนังสือ ขออนุญาตตั้งโรงงานประกอบกิจการโรงงาน ต่อมาชาวบ้านจึงได้ทราบว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานยางพาราอัดแท่งของบริษัทศรีตรังฯ ในพื้นที่
 
ภายหลังองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังได้รับหนังสือการอนุญาตจากโรงงานดังกล่าว มีการทำหนังสือที่ ชย. 78201.1/648 ลงวันที่ 15 ก.ค.56 ขออนุญาตนายอำเภอคอนสาร เพื่อเดินทางไปราชการนอกเขตจังหวัดชัยภูมิในวันที่ศุกร์ 19 ก.ค.56 โดยระบุว่าเป็นการไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานยางพาราของบริษัทศรีตรังฯ คณะผู้ศึกษาดูงานประกอบด้วย คณะทำงานอำเภอคอนสาร คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา พนักงานส่วนตำบล กำนันตำบลดงบัง ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลดงบังจำนวน 90 คน
 
ต่อมาในวันที่ 16 ก.ค.56 องค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง ได้แจ้งขออนุญาตจัดตั้งโรงงานประกอบกิจการ บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) กับนายอำเภอคอนสารเพื่อให้พิจารณาการแจ้งการขออนุญาตดังกล่าว ตามหนังสือที่ชย.78201.1/655 ลงวันที่ 16 ก.ค.56
 
พร้อมกันนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังทำหนังสือ เพื่อขอความอนุเคราะห์ใช้สถานที่ในการประชาคม จัดตั้งกิจการโรงงานที่วัดหินรอยเมย ในวันเสาร์ที่ 20 ก.ค.56 ตามหนังสือที่ชย.78201.1/651 ลงวันที่ 16 ก.ค.56 และได้ทำหนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมประชาคมหมู่บ้าน โดยเชิญสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง กำนันตำบลดงบัง และผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน เพื่อเข้าร่วมหารือ แสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในการดำเนินการอนุญาตก่อสร้าง และตั้งโรงงาน ในวันที่ 20 ก.ค.56 เวลา 9.00 น.ตามหนังสือ ที่ชย.78201.1/654 16 ก.ค.56
 
นายวิเชษฐ กล่าวด้วยว่า ในวันประชาคมดังกล่าว มีผู้เข้าร่วม 463 คน โดยมีองค์ประกอบดังนี้ ปลัดอำเภอคอนสาร เกษตรอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.17 คน 8 หมู่บ้าน ชาวบ้าน ต.ดงบัง 8 หมู่บ้าน และ ตัวแทนบริษัท เท่านั้น
 
กระทั่งมีการประชุมสมัยสามัญสมัยที่ 3 ครั้งที่ 1 ของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง เมื่อวันที่ 1 ส.ค.56 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอนุญาตให้บริษัทศรีตรังเข้ามาประกอบกิจการ
 
ประธานกลุ่มรักษ์คอนสาร กล่าวว่า จากลำดับเหตุการณ์การในข้างต้นนั้น ก่อให้เกิดคำถามกับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมากถึงการเข้ามาดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานยางพาราของ บริษัทศรีตรังฯ กับองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังว่าเป็นไปอย่างเงียบเชียบและเร่งรัดอย่างมาก ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชน
 
ต่อมาวันที่ 19 ส.ค.56 กลุ่มรักษ์คอนสารได้ยื่นหนังสือกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังตามหนังสือ ที่พิเศษ / 2556 ลงวันที่ 19 ส.ค.56 เพื่อขอให้ทบทวนมติการอนุญาตสร้างโรงงานยางพาราในพื้นที่ตำบลดงบัง และขอให้เปิดเผยข้อมูลกรณีการขออนุญาตสร้างโรงงานยางพาราในพื้นที่ตำบลดงบัง
 
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังรับเรื่องและรับว่าจะจัดส่งข้อมูลให้ในวันศุกร์ที่ 23 ส.ค.56
 
นายวิเชษฐ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สังเกตเห็นความไม่ครบถ้วนของขั้นตอนกระบวนการขอจัดตั้งโรงงานดังนี้ มติขององค์การบริหารส่วนตำบลดงบังไม่มีความสมบูรณ์ และเป็นการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวของบริษัทฯ ไม่มีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูล รวมทั้งต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพ สถาบันการศึกษานักวิชาการในท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่รับทราบ  เพื่อช่วยกันศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนจะพิจารณาเห็นชอบหรืออนุญาตให้บริษัทเข้ามาดำเนินกิจการ ฯลฯ
 
ดังนั้น กลุ่มรักษ์คอนสารจึงได้มีการรวบรวมข้อมูลและจัดทำหนังสือคัดค้านการดำเนินการดังกล่าว และร้องเรียนส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายคือการคัดค้านการก่อสร้างโรงงานยางพาราในพื้นที่บ้านหินรอยเมย ด้วยเหตุผลความไม่เหมาะสม โดยหลักๆ ดังนี้
 
1.สภาพพื้นที่ ที่ตั้งโรงงานไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นบริเวณที่เป็นพื้นที่สูง อยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำโสกลึก และแหล่งน้ำธรรมชาติใต้ดิน ได้แก่ น้ำผุดนาวงเดือน น้ำผุดนาเลา น้ำผุดซำภูทอง ลำห้วยน้ำสุ ลำห้วยทรายขาว ลำห้วยน้ำเซิน นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้ชุมชนบ้านหินรอยเมย วัดบ้านหินรอยเมย รวมทั้งยังอยู่ไม่ไกลจาก 4 แยกคอนสาร ตลาดสดคอนสาร ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของอำเภอ
 
2.สถานที่ตั้งโรงงานอยู่ในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตรจากสถาบันการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนเทคโนโลยีคอนสาร โรงเรียนบ้านนาวงเดือน โรงเรียนบ้านน้ำพุปางวัว โรงเรียนบ้านฝายดินสอ โรงเรียนบ้านคอนสาร โรงเรียนอนุบาลศุภมน โรงเรียนอนุบาลณัฐพันธ์ และโรงเรียนคอนสารวิทยาคม เป็นต้น
 
3.อยู่ใกล้สถานที่ราชการ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรคอนสาร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยยาง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งนาเลา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงบัง ที่ว่าการอำเภอคอนสาร สถานีตำรวจคอนสาร โรงพยาบาลคอนสาร เป็นต้น
 
กลุ่มรักษ์คอนสาร มีความเห็นว่า ขั้นตอนที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใสของกระบวนการยื่นขออนุญาตตั้งโรงงานของบริษัทฯ รวมทั้งไม่มีการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้านถึงผลกระทบที่จะตามมาภายหลัง จากหน่วยงานภาครัฐและทางบริษัทฯ ทำให้กลุ่มรักษ์คอนสารห่วงใยว่า การก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่นี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต่อสุขภาพ และต่อบริบทของสังคมชุมชนคอนสารที่เป็นแหล่งผลิตอาหารและเป็นป่าต้นน้ำของภาคอีสาน
 
ผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น มีทั้งทางอากาศ จากกลิ่นเหม็นไปไกลกว่า 10 กิโลเมตร พร้อมทั้งควันพิษที่ก่อตัวจากกระบวนการผลิต ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งต่อระบบทางเดินหายใจและโรคภูมิแพ้ต่างๆ อีกทั้งน้ำใต้ดินจะลดปริมาณลง เนื่องจากต้องใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อสูบน้ำใต้ดินจำนวนมากมาป้อนสู่กระบวนการที่มีการผลิตกว่าสองแสนตันต่อเดือน และจะมีการเดินเครื่องตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง นอกจากนั้นจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เคยใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งก็จะมีน้ำใช้ไม่เพียงพอ
 
นอกจากนี้ การที่โรงงานจะมีการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง นั่นหมายความว่าจะต้องมีการขนส่งวัตถุดิบเข้ามายังโรงงานเป็นจำนวนมาก นั่นคือจะมีรถบรรทุกขนส่งเป็นจำนวนมากวิ่งเข้ามาในบริเวณใจกลางเมืองคอนสาร
 
นายวิเชษฐ ให้ข้อมูลต่อมาว่า ในส่วนเกษตรชาวสวนยางในพื้นที่อำเภอคอนสาร มีระบบสหกรณ์รับซื้อที่ดีอยู่แล้ว เพื่อส่งต่อไปยังโรงงาน การซื้อขายยางก็เป็นไปตามราคากลางที่ประกาศผ่านทางเว็บไซต์อยู่แล้ว สามารถตรวจสอบราคาซื้อขายกันได้ตลอดเวลา ฉะนั้นผู้ที่จะกอบโกยรายได้เพิ่มขึ้นก็จะมีเพียงนายทุนไม่กี่คนเท่านั้น เกษตรก็ยังคงขายยางตามราคาตลาดโลก ยังคงซื้อปุ๋ยและปัจจัยการผลิตในราคาแพงต่อไป คนที่รวยไม่ใช่เกษตรที่แท้จริง แต่เป็นนายทุน พ่อค้าคนกลางและบริษัทเท่านั้น
 
เพราะฉะนั้นสิ่งที่บริษัทฯ โฆษณาว่า หากมีการก่อสร้างโรงงานยางพารา จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิต รวมทั้งราคาซื้อขายยางมีราคาดีขึ้นนั้น เป็นไปไม่ได้เลย
 
"ขอยืนยันว่าทางกลุ่มรักษ์คอนสารได้ติดตาม ทั้งการณรงค์ มีการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง เราจะทำการคัดค้านอย่างถึงที่สุด ด้วยความเป็นห่วงลูกหลานที่จะได้รับผลกระทบที่จะมาสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมรวมทั้งระบบนิเวศตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งขอเรียกร้องให้บุคคลต่างๆ ทั้งผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ให้ความสนใจและร่วมมือในการคัดค้าน เพราะหากมีการก่อสร้างเสร็จแล้วทางโรงงานยางพารา คงยากที่จะยกเลิกง่ายๆ ผืนดินคอนสารที่เคยอุดมสมบูรณ์ จะทำให้วิถีชีวิตชาวคอนสารเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีในหลายๆ ด้านจะเป็นอำเภอที่มีแต่มลภาวะ สุขภาพกายและสุขภาพจิตในชุมชนจะเสื่อมถอย" ประธานกลุ่มรักษ์คอนสารกล่าว
 
ปัจจุบันกลุ่มรักษ์คอนสารยังคงร่วมติดตามความคืบหน้ากรณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ปรากฏว่ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐที่จะมาทำความเข้าใจกับประชาชน รวมทั้งบริษัทฯ ก็ยังไม่มีท่าทีที่จะยุติการดำเนินการก่อสร้างโรงงานยางพาราฯ ดังกล่าว
 
ทั้งนี้ คาดว่าในอีกไม่นาน ความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของกลุ่มรักษ์คอนสารคงถูกกำหนดขึ้นอีกครั้ง เพื่อปฏิบัติการหยุดยั้งปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนของพวกเขาในอนาคต

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เขื่อน

Posted: 10 Oct 2013 06:43 AM PDT

มันกักเก็บสวนดอกไม้ไว้หลังพนังคอนกรีต

พนังคอนกรีตที่ฐานรากฝังลึกลงในความอ่อนแอของผู้คน

ปล่อยน้ำตาไหล่บ่าท่วมนาข้าวและรูจมูกประชาราษฎร์

มันกักเก็บพืชพันธุ์ธัญญาหารและเพชรพลอยไว้เสวยสุขถึงชาติหน้า

ไม่เคยเหลือบมองตะกอนความทุกข์ทับถมอีกฝั่งฟากของป้อมปราการทะมึน

มันกักเก็บความดีไว้แต่เพียงผู้เดียวมาโดยตลอด

สิ่งชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวงถูกขับดันให้ลอยปะปนกับกอสวะ

มิใช่แท่งคอนกรีตสูงใหญ่นั้นหรอกที่ขัดหูขัดตานักอนุรักษ์

ตรรกะบิดเบี้ยวได้เสมอเมื่อใครคนหนึ่งคนนั้นนอนขวางทางน้ำ

อุดมการณ์หักงอด้วยลมปากพลิกพลิ้ว

มิใช่กำแพงคอนกรีตมหึมานั้นหรอกที่ปิดกั้นความจริงเอาไว้

อาจเป็นใครคนที่อยู่เหนือสันเขื่อนขึ้นไปอีก

หรืออาจเพียงผนังบางๆในหัวใจของคนอ่อนแอคนหนึ่ง

...เป็นไปได้ทั้งนั้น

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง 'ทักษิณ' คดีก่อการร้าย

Posted: 10 Oct 2013 02:13 AM PDT

(10 ต.ค.56) เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล ผู้ตรวจการอัยการ เปิดเผยว่า อัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจากการวิดีโอลิงก์ โฟนอิน หรือทวิตเตอร์เข้ามายังสถานที่ชุมนุมของคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเรื่องมา พร้อมความเห็นว่าไม่ควรสั่งฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานยังไม่พอรับฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานก่อการร้าย

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อสส.กล่าวว่า คดีนี้ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อสส.คนก่อน ได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีก่อนที่ตนจะมาดำรงตำแหน่ง อสส.

เมื่อถามว่า พนักงานสอบสวนดีเอสไอ มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณใช่หรือไม่ นายวินัย กล่าวว่า พนักงานสอบสวนดีเอสไอมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง โดยคดีนี้เกิดนอกราชอาณาจักร ดังนั้น อสส.จึงเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง

ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน อสส.ที่แจกจ่ายระหว่างการแถลงข่าว ระบุว่า เหตุที่ อสส.มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดีก่อการร้าย "เพราะสาระสำคัญของสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ วิดีโอลิงก์ โฟนอิน หรือทวิตเตอร์เข้ามาส่วนใหญ่ เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยให้มีการยุบสภาตามวิธีทางระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งโจมตีการปฎิวัติรัฐประหาร และโจมตีการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.สรยุทธ์ จุลานนท์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มิได้กล่าวเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมกระทำผิดกฎหมายให้เผาศาลากลางจังหวัด เผาสถานทูต หรือเผาสถานกงสุล หรือยุยงให้ล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยวิธีการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เกิดเหตุรุนแรงที่สี่แยกราชประสงค์ก็เนื่องจากรัฐบาลใช้กำลังทหารกดดันกระชับพื้นที่และปิดล้อมโดยใช้รถยานเกราะจำนวนมากและอาวุธสงครามขับไล่ สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.และประชาชน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก การที่การประท้วงได้กระจายไปตามต่างจังหวัดและมีการวางเพลิงเผาสถานที่ ราชการ ศาลากลางจังหวัดต่างจังหวัด 4 แห่ง หรือมีผู้ก่อความไม่สงบวางระเบิดหรือยิงอาวุธปืนร้ายแรงเข้าไปที่ธนาคาร พาณิชย์หรืสถานที่ราชการต่างๆ นั้น ไม่มีข้อเท็จจริงเชื่อมโยงว่าเกิดจากการยุยงสนับสนุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ"

เมื่อถามว่าข้อความในเอกสารแถลงข่าวมาจากความเห็นของอดีต อสส.หรือพนักงานสอบสวนดีเอสไอ นายวินัย กล่าวว่า "เป็นความเห็นที่คณะทำงานซึ่งมีตัวแทนจาก อสส.กับดีเอสไอร่วมกันสรุปมา"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

6 องค์กรสิทธิฯ จี้รัฐบาลเลิกใช้ กม.มั่นคง จัดการม็อบ

Posted: 10 Oct 2013 01:29 AM PDT

จี้ยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง 6 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เรียกร้องรัฐบาลล้มเลิกแนวคิดในการใช้กฎหมายความมั่นคงจัดการกับการชุมนุมของประชาชน ขณะสมาคมรัฐศาสตร์ มก. เตือนยกเลิกใช้ พ.ร.บ.มั่นคง ก่อนเสพติดความรุนแรง

กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติวานนี้ (9 ต.ค.56) ให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9-18 ต.ค. นี้<--break->

(10 ต.ค.56) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ศกส.) และ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ล้มเลิกแนวคิดในการใช้กฎหมายความมั่นคงในการจัดการกับการชุมนุมของประชาชน รวมถึงให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการใช้กฎหมายความมั่นคงและใช้อำนาจบริหารให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
 
 

แถลงการณ์
คัดค้านการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  พ.ศ. 2551 ในเขตพื้นที่เขตดุสิต  เขตพระนคร   และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย  กรุงเทพมหานคร   ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556  เพื่อใช้ในการควบคุมกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่ากองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.)  ซึ่งได้ชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล  เชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ  ถนนพิษณุโลก  เพื่อคัดค้านการทำงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  โดยเชื่อว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวจะหวังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือต้องการล้มรัฐบาล[1]  นั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรตามรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้  ขอคัดค้านการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.       รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน
อันการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ย่อมต้องปกครองโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยการฟังเสียงส่วนใหญ่และเคารพเสียงส่วนน้อย การที่รัฐจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลย่อมต้องกระทำอย่างจำกัด มิใช่เพียงอ้างว่ามีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น แต่กฎหมายที่อ้างย่อมต้องมีความชอบธรรมตามหลักนิติธรรมและต้องตามวัตถุประสงค์ที่ "ยอมรับได้ในสังคมประชาธิปไตย" และ "เพื่อให้สอดคล้องกับความยุติธรรม"

การที่รัฐบาลมุ่งประสงค์ในการใช้กฎหมายอาญากับผู้ชุมนุมย่อมแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่เคารพเสียงของประชาชนส่วนน้อย หมายจะใช้กฎหมายเป็นหลักในการจัดการกับประชาชนโดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม อีกทั้งกฎหมายที่ใช้ก็ไม่ใช่กฎหมายที่มาจากประชาชนแต่ถูกบัญญัติขึ้นโดยผลของการรัฐประหาร กฎหมายดังกล่าวจึงเป็นผลไม้พิษของระบอบเผด็จการ การที่รัฐบาลใช้กฎหมายดังกล่าวย่อมถือเป็นการยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารซึ่งไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

รัฐบาลที่มาจากประชาชนจึงต้องมีความเป็นนักประชาธิปไตย ไม่ใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพของประชาชนตามอำเภอใจและรักษาไว้ซึ่งหลักนิติธรรมในการปกครองประเทศ

2.       การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลไม่เป็นไปเจตนารมณ์ของกฎหมาย
โดยที่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรของรัฐบาล พ.ศ. 2551  มาตรา 15  ได้ให้อำนาจรัฐบาลในการประกาศใช้กฎหมายนี้ได้ต้องเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  และเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน  ทั้งอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย   โดยมีความมุ่งหมายเป็นการจัดการกับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะจัดการไม่ได้โดยภาวะปกติ หรือโดยกลไกปกติ  

ดังนั้น   การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงต้องมีเหตุเกิดขึ้นก่อนและเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน   การที่รัฐบาลอ้างว่าการชุมนุมของกองทัพประชาชนหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเป็นเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงฯ   จึงเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นและเกินสมควรแก่เหตุ    เนื่องจากกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ตามปกติก็เพียงพอที่รัฐจะสามารถจัดการให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบได้อยู่แล้ว  จึงไม่มีเงื่อนไขที่จะประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแต่อย่างใด  การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และกระทบต่อหลักประกันการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน    และยังกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ปกติของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้โดยตรงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

3.       การกระทำของรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญ
กลุ่มผู้ชุมนุมย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา  63  และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อ 21 การที่ประชาชนใช้เสรีภาพดังกล่าว   รัฐบาลจะกล่าวอ้างว่าเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกล่าวอ้างเหตุผลว่าผู้
ชุมนุมเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล  ถ้ารัฐบาลจัดการกับความเห็นที่แตกต่างด้วยการใช้มาตรการดังกล่าว ย่อมกระทบสาระสำคัญการใช้เสรีภาพของประชาชน  ซึ่งเป็นกลไกที่ไม่ควรมีและไม่อาจยอมรับได้ในสังคมประชาธิปไตย อีกทั้งการชุมนุมย่อมไม่ได้คุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ หรือเป็นอาชญากรรมที่จะเป็นภัยต่อรัฐบาล

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรข้างท้ายนี้ จึงขอเรียกร้องและขอเสนอแนะให้รัฐบาล

1. ยกเลิกการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในเขตพื้นที่เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

2. ล้มเลิกแนวคิดในการใช้กฎหมายความมั่นคงในการจัดการกับการชุมนุมของประชาชน

3. ให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการใช้กฎหมายความมั่นคงและใช้อำนาจบริหารให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw)
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ศกส.)
ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

 

0000000000000000

 

สมาคมรัฐศาสตร์ มก. เตือนยกเลิกใช้ พ.ร.บ.มั่นคง ก่อนเสพติดความรุนแรง

สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย บรรณกร จันทรทิณ รักษาการโฆษกสมาคมฯ ออกแถลงการณ์ เรื่อง "การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาล กับการเสพติดความรุนแรงของสังคมไทย" แสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในครั้งนี้ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน และดำเนินการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยทันที เพื่อหยุดยั้งมิให้สังคมไทยก้าวสู่การเสพติดความรุนแรง พร้อมระบุด้วยว่า ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับจุดมุ่งหมายของการชุมนุมหรือไม่ แต่จุดมุ่งหมายดังกล่าวจะต้องแยกออกจากสิทธิในการเรียกร้องโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับรองไว้อย่างชัดแจ้งแล้วในรัฐธรรมนูญ รวมถึงยังเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการตราพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เพื่อรองรับกับสถานการณ์การชุมนุมของประชาชนให้แล้วเสร็จเพื่อประกาศใช้ต่อไป

นอกจากนี้ สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังเรียกร้องไม่ให้มีการพาดพิงถึงสถาบันเพียงเพื่อสร้างเสริมความชอบธรรมของการกระทำโดยหวังแต่ประโยชน์เฉพาะตน ซึ่งจะเป็นการทำร้ายสถาบันด้วย

 

000000

 

แถลงการณ์สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรื่อง "การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาล กับการเสพติดความรุนแรงของสังคมไทย"


สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันพุธที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา ให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย เขตดุสิต (แขวงดุสิต และแขวงจิตรลดา) เขตพระนคร (แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงตลาดยอด แขวงบวรนิเวศ แขวงบ้านพานถม และแขวงบางขุนพรหม) และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (แขวงวัดโสมนัส) มีผลตั้งแต่วันพุธที่ 9 ถึงวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม นี้

สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงออกแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืน และยื่นข้อเรียกร้องไปยังบุคคล หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก เช่นเดียวกับการชุมนุมทุกครั้งของทุกกลุ่มทางการเมืองที่ผ่านมา ไม่ว่าสมาคมฯ จะเห็นด้วยหรือไม่กับจุดมุ่งหมายของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) แต่สิ่งที่สมาคมฯ ยืนยัน และเรียกร้องไปยังหน่วยงานต่างๆ เรื่อยมาก็คือ จุดมุ่งหมายดังกล่าว จักต้องถูกจำแนกออกจากสิทธิในการเรียกร้องโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับรองไว้อย่างชัดแจ้งแล้วในรัฐธรรมนูญ

การกระทำใดๆ ในสังคมประชาธิปไตย ที่อ้างเพียงเหตุแห่งความไม่สงบเรียบร้อย หรือความไม่มั่นคง กระทั่งความเชื่อมั่นจากประชาคมโลก แต่กลับไม่สามารถแสดงให้พี่น้องประชาชนประจักษ์อย่างชัดแจ้ง ถึงความรุนแรงหรือจำเป็นขนาดที่จักต้องเลือกใช้กฎหมายพิเศษ นอกเหนือจากกฎหมายในสภาวการณ์ปกติ เพื่อลิดรอน หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนภายในประเทศ อันเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมเช่นนี้ เพื่อปิดกั้นสิทธิในการเรียกร้อง แทนที่จะถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล และปล่อยให้กระบวนการทางประชาธิปไตย สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น จะกระทำมิได้

ประการที่สอง สมาคมฯ ขอเรียกร้องไปยังบุคคลหรือหน่วยงานใดๆ ก็ตาม ที่กล่าวพาดพิงถึง ตลอดจนฉกฉวยประโยชน์จากนัยของสถานที่สำคัญ ซึ่งเพียงแต่มีที่ตั้งอยู่ภายในอาณาบริเวณเดียวกัน หากแต่ปราศจากความเกี่ยวข้องใดๆ ในเชิงเนื้อหา อันหมิ่นเหม่ต่อการดึงฟ้าต่ำ เพียงเพื่อสร้างเสริมความชอบธรรมของการกระทำโดยหวังแต่ประโยชน์เฉพาะตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฉพาะหน้า เช่นนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งซึ่งสมควรได้รับการประณาม เพราะทางหนึ่ง ย่อมเป็นการมัดมือชก ทำร้ายสถาบันอันเป็นที่เคารพยิ่ง ดังที่ทราบดีว่า สถาบันไม่อยู่ในสถานะที่จะออกมาโต้แย้ง หรือชี้แจงข้อเท็จจริงใดๆ แก่สังคม

ประการที่สาม สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน และดำเนินการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยทันที เพื่อหยุดยั้งมิให้สังคมไทยก้าวสู่การเสพติดความรุนแรง ที่ทางหนึ่ง รัฐบาลพอใจกับการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ปราศจากความรับผิดชอบตามสัดส่วนที่เหมาะสม อีกทางหนึ่ง ประชาชนชินชากับการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งออกแบบมาเพื่อรองรับกับสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ในสถานการณ์ปกติอย่างยิ่ง เช่นที่เป็นอยู่นี้

ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีความจริงใจกับสังคม เช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ สมควรที่จะเร่งรัดการตราพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นกติกามาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล และออกแบบมาเพื่อรองรับกับสถานการณ์การชุมนุมของประชาชน ให้แล้วเสร็จเพื่อประกาศใช้ต่อไป


แถลง ณ วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2556
นายบรรณกร จันทรทิณ
ผู้ช่วยผู้จัดการสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รักษาการ โฆษกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น