โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประชาสังคมทำโครงการ ‘บัตรคะแนนศักยภาพชุมชน’ ตรวจสอบธรรมาภิบาลภาครัฐ

Posted: 02 Oct 2013 11:33 AM PDT

คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ วิจัยเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบธรรมาภิบาล "บัตรคะแนนศักยภาพชุมชน" โดยจัดนำร่อง 33 ชุมชน ใน 3 จังหวัด  เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล กล้าตรวจสอบการทำงานของรัฐมากขึ้นใน 2 ปี

2 ต.ค.56 ที่ศูนย์อาหารโรงแรมสุนีย์ แกรนด์แอนคอนเวนชั่นเซนเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ร่วมนักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภาคประชาชน บุคลากรจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิเคราะห์ประเด็น "พลเมืองคือ ฟันเฟืองสร้างธรรมาภิบาล"

นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการถาม น.ส.กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น หัวหน้าโครงการพลเมืองส่งเสริมธรรมาภิบาล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยการสร้างธรรมาภิบาลมีจุดประสงค์ ต้องการเห็นสังคมไทยเป็นอย่างไร

นักวิชาการรายนี้ ระบุว่า โครงการได้รับทุนจาก USAID เพื่อสนับสนุนภาคประชาชน  ร่วมตรวจสอบธรรมาภิบาลการบริหารงานของภาครัฐและท้องถิ่น ผ่านการให้ทุนแก่นักวิชาการ นักศึกษา ภาคประชาชน รวมทั้งสิ้น 33 ทุน ใน 3 จังหวัดคือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ ตลอดการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา พบประชาชนมีทัศนคติว่าการทำงานเป็นหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว และไม่เข้าใจว่าตนเองมีสิทธิเข้าตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ การทำงานของนักวิจัย จึงเน้นปรับทัศนคติเน้นให้ความรู้ สร้างศักยภาพให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ส่วนเครื่องมือใช้ตรวจสอบธรรมาภิบาล คือ บัตรคะแนนศักยภาพชุมชน เป็นการรวบรวมข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นให้ภาครัฐนำไปแก้ไข และมีการให้คะแนน อาทิ เห็นถนนชำรุด ชาวบ้านก็มานั่งพูดคุยหาทางออก แล้วนำปัญหาที่พบไปให้ภาครัฐแก้ไข แทนการพูดว่าถนนไม่ดีอย่างเดียว

สิ่งสำคัญคือ มีการสร้างพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนกับภาครัฐ หลังดำเนินโครงการมา 2 ปี ประชาชนเริ่มตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตัวเองมากขึ้นถึงร้อยละ 65 พร้อมมีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าที่จะตรวจสอบ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐมากขึ้น  

ความสำเร็จที่เห็นชัดเจนคือ จังหวัดอุบลราชธานี สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ SML สามารถสร้างกลไกทำงานในกลุ่ม ส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ ได้มีการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการก่อสร้างพุทธอุทยานจนได้ข้อเสนอไปยื่นต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับอุปสรรคของการทำงานคือ เกิดความขัดแย้งกับคนของรัฐที่ไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูล แม้จะมีกฏหมายบังคับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเมื่อถูกสอบถามก็ตาม ซึ่งปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานในระดับสูงขึ้นไป

ขณะที่นายกริชชัย ศิลปรายะ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หน้าที่การทำงานคือการตรวจรับรองมาตรฐานของ อปท. ส่วนบทบาทที่ได้เข้ามาร่วมกับโครงการฯ คือให้ข้อมูลคณะทำงานเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบวิธีการทำงานของ อปท.โดยเฉพาะวงจรงบประมาณ  วิธีการจัดทำงบประมาณที่ถูกต้อง

"กรมปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีการตรวจรับรอง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบริหารจัดการ ด้านบริหารงานบุคลากร กิจการงานสภา ด้านการเงินและงบประมาณ และการให้บริการสาธารณะ" ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการตรวจรับรองของราชการเพียงด้านเดียวไม่เพียงพอ ต้องดึงนักวิชาการและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะการตรวจสอบไม่ใช่การจ้องจับผิด แต่คือการมีส่วนร่วมให้เกิดการพัฒนา

นายกริชชัยมองว่า การจัดทำตัวชี้วัดธรรมาภิบาลภาคประชาชน และแนวทางการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชน คือ การใช้หลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และความคุ้มค่า ถือเป็นแนวทางการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพราะกำหนดให้ราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นยึดถือปฏิบัติตาม โดยแต่ละปีจะมีการตรวจมาตรฐาน ว่าดำเนินงานผ่านเกณฑ์ตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ 

ด้าน น.ส.ปิยะมาศ ทัพมงคล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า นอกจากมีการให้ทุนกับนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัย ยังต้องดึงชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยทุกขึ้นตอน เพื่อให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้มากที่สุด แล้วสะท้อนกลับมาเป็นประโยชน์แก่สู่ชุมชน

เช่นที่กลุ่มอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ มีการดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า ทั้งที่ก่อนทำงานนี้ เยาวชนไม่ให้ความสนใจ จนเกิดมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ให้งบประมาณให้เยาวชนทำงานอนุรักษ์กันต่อไปอีก

นางบุปผาวรรณ อังคุระษี ภาคประชาชนที่ร่วมงานกับโครงการพลเมืองส่งเสริมธรรมภิบาล จังหวัดอำนาจเจริญ ระบุว่า ได้ทำโครงการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการสวนสาธารณะพุทธอุทยานอำนาจเจริญ โดยประสานผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ จำนวน 15 คน มาร่วมเป็นคณะทำงาน โดยเลือกประเด็นที่สงสัยทำไมภาครัฐ จึงถมที่แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนแล้วมาสร้างสวนสาธารณะแทน แต่ก็พบอุปสรรค เพราะภาครัฐไม่ต้องการให้เข้าไปตรวจสอบ การขอข้อมูลเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้ปฏิเสธมาตลอด ด้วยเหตุผลว่าผู้รับผิดชอบโครงการได้ย้ายไปแล้ว ทำให้ขาดข้อมูลด้านงบประมาณใช้ก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม จากการทำแบบสอบถามจากประชาชนที่มีส่วนได้เสียจำนวน 220 ตัวอย่าง โดยถามว่าได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ โครงการนี้ได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน คำตอบที่ได้รับคือ ไม่ผ่านทั้งในเรื่องการรับรู้ข้อมูลการทำโครงการมีประชาชน 71 คน ให้คะแนนเป็น 0 เรื่องความจำเป็นต่อการใช้งาน มีประชาชน 57 คน ให้ 0 คะแนน เรื่องการมีส่วนร่วมตัดสินใจ มีประชาชน 115 คนให้ 0 คะแนนเช่นกัน

เมื่อจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เกี่ยวข้อง มีเสียงสะท้อนหลากหลาย ทั้งการให้ก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อให้โครงการสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ให้ทุบทิ้งเพราะไม่คุ้มค่า ทีมงานจึงได้รวบรวมข้อเสนอดังกล่าว ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนข้อเสนอคือ การสร้างกลไกในการพัฒนา เพราะปัจจุบันรัฐยังมีฐานคิดแคบ คิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของตัวเอง และไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบ แต่ประชาชนต้องการให้รัฐเปลี่ยนแนวคิดให้เป็นของทุกคน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานให้มากกว่านี้

ด้านนายสตพร ศรีสุวรรณ์ ประธานสภาองค์กรชุมชน จังหวัดอำนาจเจริญ ให้ความเห็นในกรณีเดียวกันว่า อดีตชาวบ้านไม่รู้เรื่องการจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณ แต่พอมีโครงการนี้ มีการนำบัตรคะแนนศักยภาพชุมชนใช้เป็นตัววัด ทำให้รู้ว่าการบริการงานในระดับ อบต.มีเรื่องต้องปรับปรุงเยอะแยะมาก ได้คะแนนเป็นศูนย์เยอะมาก อาทิ การตั้งงบประมาณในการศึกษาดูงาน มองดูความคุ้มค่าแล้วให้คะแนน 0 และขณะนี้ อบต.เริ่มปรับตัวจากไม่เคยให้งบประมาณแก่สภาองค์กรชุมชน ปีนี้ได้จัดสรรงบประมาณใช้ดำเนินงานกว่าหนึ่งแสนบาท

ขณะที่นายพิทักษ์ สุขกุล ชมรมสร้างเสริมสุขภาพเพื่อชุมชน จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า การทำงานทำให้ทราบว่าตั้งแต่หัวดำจนหงอก อำนาจรัฐยังแข็งแรง ส่วนอำนาจประชาชนยังอ่อน การพัฒนาประเทศต้องพยายามทำทุกอย่างให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น 

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่ช่อง Sangsook วีเคเบิ้ลทีวี โสภณเคเบิ้ลทีวี ราชธานีเคเบิ้ลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันอุบลราชธานี FM 102.75 MHz และสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHz อุบลราชธานี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัวสายด่วน 1663 ท้องไม่พร้อม-ปรึกษาเรื่องเอดส์

Posted: 02 Oct 2013 11:04 AM PDT

2 ต.ค.56 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อมร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮ้ลท์และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว "1663สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม" ขึ้นที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในงานมีการเสวนาเรื่อง "ยาทำแท้ง....ทางเลือกหรือทางตันของการยุติการตั้งครรภ์" โดยแพทย์และเภสัชกรผู้เกี่ยวข้องจากกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวิชาการ

นายแพทย์บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากรายงานการเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทยในปี 2554 สำรวจจากโรงพยาบาล 101 แห่ง ใน 13 จังหวัด พบว่า สองในสามเป็นผู้ป่วยแท้งเอง และหนึ่งในสามเป็นผู้ป่วยทำแท้ง สำหรับผู้ป่วยทำแท้งนั้นเป็นกลุ่มอายุ 15-19 ปีมากที่สุดถึงร้อยละ 28 ยังศึกษาอยู่ร้อยละ 30.4 และไม่มีรายได้ร้อยละ 45.0 ในกลุ่มผู้ที่ทำแท้งร้อยละ 71.5 เป็นการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจและร้อยละ 53.1 ไม่ได้คุมกำเนิด สาเหตุที่ตัดสินใจทำแท้งส่วนใหญ่เป็นสาเหตุด้าน สังคม/ครอบครัว, ด้านสุขภาพ และสาเหตุทางด้านเศรษฐกิจ ตามลำดับ นอกจากนี้แล้วมีผู้ป่วยมากถึงร้อยละ 20 ที่ทำแท้งด้วยตัวเอง และอีกเกือบร้อยละ 20 ที่ทำแท้งโดยผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ทราบว่าผู้ทำแท้งเป็นใคร ส่งผลให้มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10 ทำแท้งด้วยวิธีการที่ไม่ปลอดภัย เช่น การบีบหน้าท้อง และการใส่ของแข็งหรือฉีดสารต่างๆ ทางช่องคลอด รวมทั้งผู้ป่วยอีกร้อยละ 9 ที่ใช้วิธีการทำแท้งด้วยการขูดมดลูกด้วยเครื่องมือที่ทำจากเหล็ก ส่งผลให้ผู้ป่วยทำแท้งร้อยละ 21.4 มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง โดยภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบมากที่สุดคือตกเลือดมากจนต้องให้เลือดมากถึงร้อยละ 14.8 

 "กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายนำยายุติการตั้งครรภ์มาใช้ภายใต้ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และทางกฎหมาย ซึ่งรวมถึงกรณีท้องไม่พร้อม โดยองค์การอนามัยโลกได้รับรองมาเป็นเวลานานแล้วว่ายาสำหรับยุติการตั้งครรภ์เป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งในแง่ความปลอดภัยของผู้ป่วยไม่มีเหตุผลใดที่ประเทศไทยจะไม่นำเข้ามาใช้ โดยปัจจุบันได้ดำเนินงานในลักษณะนำร่องเพื่อศึกษารูปแบบบริการ" นายแพทย์บุญฤทธิ์ กล่าว

ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวว่า มีใครบ้างที่ตั้งใจท้องเพื่อที่จะมาทำแท้ง มีใครมีความสุขกับเรื่องแบบนี้บ้าง และหากระบบไม่มีบริการให้ ผู้หญิงก็จะลงเอยที่การทำแท้งไม่ปลอดภัย ดังนั้น แทนที่เราจะมาสอนแพทย์เหมือนเมื่อก่อนว่าการทำแท้งเป็นเรื่องบาป เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ควรเปลี่ยนมาเป็นการสอนที่ทำให้คิดได้ว่าสาเหตุในการของทำแท้งนั้นเกิดจากอะไร ทำไมคนๆ หนึ่งจึงไม่มีความพร้อมเหมือนคนอื่นๆ มีการหาทางออกให้แก่คนที่ทุกข์ไหม ซึ่งการเปิดโอกาสให้คนที่ท้องไม่พร้อมเดินเข้ามาสู่ระบบบริการ เป็นโอกาสที่ทำให้เราสามารถลดอัตราบาดเจ็บหรือการตายจากการทำแท้งเถื่อนลง การไม่มีบริการทำให้ปัจจุบันผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมหันไปสืบค้นข้อมูลและซื้อยาจากอินเทอร์เนต ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นยาจริง มีประสิทธิภาพหรือไม่ ขนาดและวิธีใช้สอดคล้องกับอายุครรภ์หรือไม่ ทำให้ส่งผลกระทบตามมามากมาย

"การที่เราทำให้ผู้ที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมได้มีทางเลือก พบแสงสว่าง มีคนที่พร้อมจะเข้าใจ และพร้อมจะต้อนรับเขาให้กลับเข้ามาสู่สังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นหน้าที่ของเราทุกคนในสังคม" ผศ. นพ.ธนพันธ์ กล่าว

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะเลขากรรมการ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อมกล่าวว่า สายด่วน 1663 เป็นช่องทางแรกๆ ที่จะช่วยให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมได้ค้นหาทางเลือกที่จะจัดการปัญหาและมุ่งหวังว่าจะช่วยลดสถานการณ์การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำแท้ง ทั้งนี้ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องตกเลือก ต้องตัดมดลูก เพราะได้รับบริการที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อมจึงจะเป็นช่องทางที่ช่วย ผู้รับบริการค้นหา วิเคราะห์และตรวจสอบทางเลือกต่างๆ ว่าปลอดภัยต่อผู้รับบริการอย่างแท้จริงก่อนตัดสินใจเลือก โดยเปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 10.00 - 22.00 น.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.คุยช่อง 9-ทีวีบูรพา กรณีระงับ 'คนค้นฅน'

Posted: 02 Oct 2013 10:26 AM PDT

(2 ต.ค. 56) สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ในฐานะกรรมการ กสท. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคแถลงข่าวหลังจากได้เชิญช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี และบริษัททีวีบูรพา ผู้ผลิตรายการคนค้นฅนมาชี้แจงกรณีที่รายการคนค้นฅนทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งออกอากาศทุกวันเสาร์เวลา 14.00 น. ได้โปรโมทว่า จะนำเสนอเรื่องราวของการเดินต้านเขื่อนแม่วงก์ของ นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ในวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลากลับไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวออกอากาศ แต่ใช้ตอนอื่นมาออกอากาศแทน ทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงมีการเซ็นเซอร์และมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคสื่อและเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนหรือไม่

สุภิญญา กล่าวว่า จากการหารือกับทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี และบริษัททีวีบูรพาทั้งสองยืนยันตรงกันว่าวันที่ 12 ตุลาคมนี้จะนำเทปรายการคนค้นฅนในตอนที่นำเสนอถึงการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์มาออกอากาศในรายการคนค้นฅนทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี ตามปกติ ซึ่งจากการเจรจาระหว่างช่องและผู้ผลิตได้ตกลงกันว่าจะมีเพียงการปรับเนื้อหาเพียงเล็กน้อยในตอนท้ายเท่านั้น ทางผู้ผลิตยังคงยืนยันว่าหากปรับเปลี่ยนเนื้อหามากเกินไปจะผิดคอนเซ็ปต์ของรายการ ซึ่งจะทำการส่งเทปที่แก้ไขให้ทางช่อง 9 ตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด

สุภิญญา กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญของกรณีนี้มีความเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เนื่องจากวันดังกล่าว ทางสถานีได้นำเทปรายการที่ออกอากาศไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน นำมาออกอากาศซ้ำอีกครั้ง ซึ่งทางสำนักงาน กสทช. ต้องนำมาหารือกันอีกครั้งว่ากรณีนี้จะเข้าข่ายเป็นการกระทบสิทธิของผู้ชมและเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การกำกับดูแลกันเองตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นข้ออ้างในการเซ็นเซอร์หรือไม่

สุภิญญา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังเห็นด้วยกับการกำกับดูแลกันเองตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่ต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจน จึงใช้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างในการสร้างมาตรฐานในการกำกับดูแลกันเองโดยเริ่มจากช่องฟรีทีวีในระบบอนาล็อก เพื่อเตรียมการสร้างมาตรฐานและบทเรียนของการกำกับดูแลกันเองของทีวีดิจิตอล เพื่อเป็นการสร้างสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพกับการคุ้มครองผู้บริโภค  ซึ่งจะนำกรณีนี้ไปหารือกับผู้ประกอบการเพื่อหาแนวทางการแก้ไขในอนาคตต่อไป
                                    

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเป็นนิรันดร์ของสัญญาผูกขาดแร่ทองคำจังหวัดเลย

Posted: 02 Oct 2013 09:45 AM PDT

ผลของสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ระหว่าง กรมทรัพยากรธรณี กับ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด  ทำให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ("ทุ่งคำ")  ยื่นขอประทานบัตรเอาไว้ตั้งแต่ปี 2538  จำนวน 112 แปลง  ประมาณ 33,600 ไร่  แบ่งเป็น

1. ได้ประทานบัตรแล้ว 6 แปลง คือ ประทานบัตรที่ 26968/15574, 26969/15575, 26970/15576, 26971/15558, 26972/15559 และ 26973/15560  ที่ตั้งอยู่บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย  รวมเป็นพื้นที่ 1,291 ไร่ 

ถ้ารวมพื้นที่ที่เป็นโรงประกอบโลหะกรรม (แต่งแร่และถลุงแร่) และบ่อกักเก็บกากแร่ (บ่อไซยาไนด์)  ในบริเวณพื้นที่ประทานบัตรดังกล่าว  จะมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,500 ไร่

2. คำขอประทานบัตร จำนวน 106 แปลง  ประมาณ 30,114 ไร่  ซึ่งส่วนใหญ่ติดอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ประเภทต่าง ๆ (ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าใช้สอยอื่น ๆ)  และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และ 1 บี

ซึ่งคำขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย  และแปลงที่ 76/2539  ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย  ที่ได้ดำเนินการจัดทำเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตร ไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 และวันที่ 8 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ตามลำดับ  อยู่ในคำขอประทานบัตรกลุ่มนี้ด้วย

 

สัญญาขัดแย้งกับกฎหมายแร่ในกรณีพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม

มาตรา 6 ทวิ[1]  และมาตรา 6 จัตวา[2]  แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ("กฎหมายแร่")  มีข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่ที่เป็น 'แหล่งต้นน้ำ'  หรือ 'ป่าน้ำซับซึม'  แม้ปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงก็ไม่สามารถประกาศให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้  จะต้องคำนึงถึงการเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามก่อนเป็นอับดับแรก

แต่สัญญาฯ ดังกล่าว กลับด้าน  คือ ละเมิดหลักการของมาตรา 6 ทวิ และมาตรา 6 จัตวา  ด้วยการนำพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมที่พบว่ามีแร่ทองคำมาให้สัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่แก่ผู้ประกอบการได้

 

 

ภาพที่หนึ่ง  ภาพถ่ายแสดงลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของคำขอประทานบัตรที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก)

คัดลอกจากเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) โครงการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด คำขอประทานบัตร 104/2538  หน้า 6. 25 ธันวาคม 2555

 

บรรยายภาพที่หนึ่ง  นอกจากเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 6 จัตวา ของกฎหมายแร่แล้ว คำขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ยังเป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และ 1 บี  ตามที่ระบุไว้ในรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรแปลงดังกล่าวอีกด้วย

 

ภาพที่สอง  ภาพถ่ายแสดงลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 76/2539

คัดลอกจากเอกสารรายละเอียดโครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน คำขอประทานบัตรที่ 76/2539 และขั้นตอนการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)  หน้า 5.  เอกสารประกอบเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1 หรือพับลิก สโคปปิง) โครงการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด คำขอประทานบัตร 76/2539. 8 กันยายน 2556

 

บรรยายภาพที่สอง  บริเวณพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 76/2539 และ 77/2539  มีลักษณะเป็นเนินเขาลูกเตี้ยชายขอบเทือกเขาเพชรบูรณ์ฝั่งตะวันออก  ที่แสดงถึงความเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 6 จัตวา ของกฎหมายแร่  อย่างชัดเจน  เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำ มีลำห้วย ลำราง ทางน้ำ ไหลผ่าน  นอกจากนั้น พื้นที่นี้ยังมีความสำคัญต่อระบบน้ำใต้ดิน เพราะเป็น Recharge Area  หรือพื้นที่รับน้ำเพื่อเติมน้ำลงไปใต้ดิน เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำต่อไป

 

ความเป็นนิรันดร์ของสัญญาเกิดจากการรวมแร่อื่น ๆ  เอาไว้ในสัญญาด้วย

สัญญาฯ ดังกล่าว  ระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่อื่น ๆ ในพื้นที่ "เขตสิทธิ"[3] เอาไว้เป็นที่น่าตระหนกตกใจมาก  ก็เพราะว่ารัฐ-ราชการเปิดโอกาสให้ทุ่งคำถือสิทธิครอบครองสัมปทานแร่ทุกชนิด (ไม่เฉพาะแร่ทองคำ) ในเขตสิทธิ 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,605 ไร่  เต็มพื้นที่ต่อไปได้อีก  หลังจากที่ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ 112 แปลง ประมาณ 33,600 ไร่ แล้ว ก็ตาม  ด้วยเนื้อหาที่ระบุไว้ในข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำเหมือง "แร่อื่น ๆ" ในพื้นที่ที่ได้รับสิทธิ  ตามข้อ 9 (2) ว่า "ในกรณีที่บริษัทสำรวจพบ "แร่อื่น ๆ" ในเขตสิทธิ และจะขอประทานบัตรทำเหมืองแร่นั้น ในการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ชนิดนั้น  บริษัทจะต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐบาล  นอกเหนือจาก (ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ-ผู้เขียน) ที่กำหนดไว้ในข้อ 3 แห่งสัญญานี้  ทั้งนี้  การออกประทานบัตรจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการในพระราชบัญญัติแร่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  หากมีการขอเพิ่มชนิดแร่เพิ่มเติม ก็จะต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐสำหรับแร่ที่ขอเพิ่มนั้นด้วย"

ตามความเป็นจริง  สิทธิในการครอบครองพื้นที่ที่เป็นเขตสิทธิจะต้องลดลงตามพื้นที่ที่ยื่นคำขอประทานบัตรเอาไว้ จำนวน 112 แปลง ประมาณ 33,600 ไร่  ดังที่ระบุเนื้อหาเอาไว้ในสัญญาข้อ 2 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้สิทธิสำรวจและทำเหมือง "แร่ทองคำ"  ดังนี้

                "ข้อ 2 (1)  ภายใน 15 วันนับแต่วันทำสัญญานี้  บริษัทจะต้องยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจ "แร่ทองคำ"  ให้เต็มตามพื้นที่ที่ได้รับสิทธิสำรวจและทำเหมือง "แร่ทองคำ"  โดยอาชญาบัตรพิเศษจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 2 ปี

                "การให้สิทธิสำรวจ "แร่ทองคำ"  ตามสัญญานี้  ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษหรือเป็นการขออาชญาบัตรพิเศษใหม่  จะมีระยะเวลารวมกันไม่เกิน 5 ปี

                "ข้อ 2 (2)  เมื่อบริษัทได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษเต็มตามพื้นที่  ตามข้อ 2 (1)  แล้ว  กรมจะดำเนินการเพื่อให้มีการออกอาชญาบัตรพิเศษทั้งหมดให้แก่บริษัทโดยเร็ว

                "ข้อ 2 (3)  หากบริษัทมีความเห็นว่า การสำรวจตามอาชญาบัตรพิเศษฉบับหนึ่งฉบับใดหรือหลายฉบับบ่งชี้ว่ามี "แร่ทองคำ"  เพียงพอที่จะลงทุนทำเหมืองได้  บริษัทจะต้องยื่นขอประทานบัตรหนึ่งหรือหลายฉบับสำหรับทำเหมือง "แร่ทองคำ"  ให้เสร็จสิ้นก่อนที่อาชญาบัตรพิเศษฉบับนั้น ๆ จะสิ้นอายุ  และบริษัทจะเร่งรัดกิจการอันจำเป็นทั้งหลายในการที่จะให้บริษัทได้รับประทานบัตรตามคำขอโดยเร็ว"  

และปรากฎอยู่ในข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำเหมือง "แร่อื่น ๆ" ในพื้นที่ที่ได้รับสิทธิ  ตามข้อ 9 (1)  ด้วยว่า  "ในกรณีที่บริษัทได้รับประทานบัตรทำเหมือง "แร่ทองคำ"  แต่ปรากฏว่ามีแร่ชนิดอื่นรวมอยู่กับ "แร่ทองคำ" ด้วย  และบริษัทประสงค์จะผลิตแร่ชนิดอื่นนั้นด้วย  บริษัทจะต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐบาล  ในการพิจารณาอนุญาตให้เพิ่มชนิดแร่แต่ละชนิดลงในประทานบัตรก่อนที่จะทำการผลิต  นอกเหนือจาก (ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ-ผู้เขียน) ที่กำหนดไว้ในข้อ 3 แห่งสัญญานี้"

 

โดยสรุปก็คือ เงื่อนไขของสัญญาฯ ดังกล่าว ที่ปรากฏอยู่ในข้อ 2 (1) – (3) และ ข้อ 9 (1)  มีความประสงค์ที่ชัดเจนที่จะจำกัดการทำแร่อื่น ๆ ภายใต้คำขอประทานบัตร และประทานบัตรทำเหมือง "แร่ทองคำ" เท่านั้น  ซึ่งก็คือพื้นที่คำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ 112 แปลง  ประมาณ 33,600 ไร่ ที่ยื่นขอเอาไว้แล้วนั่นเอง  ซึ่งหมายความต่อมาว่าพื้นที่ที่เป็นสิทธิครอบครองสัมปทานจะต้องลดลงตามพื้นที่คำขอประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำด้วย 

แต่ข้อ 9 (2)  กลับขยายหรือเปิดโอกาสให้ทุ่งคำถือสิทธิครอบครองเขตสิทธิ 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,605 ไร่  เต็มพื้นที่ดังเดิม

ด้วยเทคนิควิธีการเขียนสัญญาแอบซ่อนเช่นนี้  สัญญาฯ ดังกล่าว จึงมีลักษณะความเป็นนิรันดร์ เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าทุ่งคำจะขุดแร่อื่น ๆ  ซึ่งมีทั้งหิน  ดิน  ทราย  อโลหะ และโลหะชนิดอื่น  ในพื้นที่ 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,605 ไร่ หมดสิ้นลงในวันใด

ด้วยลักษณะความเป็นนิรันดร์ของสัญญาเช่นนี้  ยิ่งตอกย้ำความวิปลาสของสัญญาฯ ดังกล่าว มากยิ่งขึ้นไปอีก (โปรดดูบทความชื่อสัญญาวิปลาส ผูกขาดแร่ทองคำจังหวัดเลย  ที่ผู้เขียนเขียนไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อประกอบการอ่านบทความนี้)

 

                                               

 




[1]               มาตรา 6 ทวิ  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจ  การทดลอง  การศึกษา  หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใด ๆ  ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ  การทดลอง  การศึกษา  หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้

                ภายในเขตที่กำหนดตามวรรคหนึ่งผู้ใดจะยื่นคำขออาชญาบัตร  ประทานบัตรชั่วคราว  หรือประทานบัตรไม่ได้  เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นสมควรให้ยื่นคำขอได้เป็นกรณีพิเศษโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                เมื่อหมดความจำเป็นที่จะใช้เขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ดังกล่าวตามวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษา

[2]               มาตรา 6 จัตวา  เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา  กำหนดพื้นที่ใดที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม  ที่ได้ทำการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์  และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว  หรือประทานบัตรได้เป็นอับดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม  หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินในพื้นที่นั้น  แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย

[3] "เขตสิทธิ"  หมายความว่า  เขตขอสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง  คลุมพื้นที่อำเภอเมือง  อำเภอท่าลี่  อำเภอภูเรือ  และอำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย  เนื้อที่ประมาณ 545 ตารางกิโลเมตร  ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดเลย  หนองคาย และอุดรธานี  ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2532.  คัดลอกจากนิยามที่ปรากฎอยู่ในสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ระหว่าง กรมทรัพยากรธรณี กับ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การกด Like เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

Posted: 02 Oct 2013 09:28 AM PDT

เมื่อวันพุธที่ 18 กันยายน 2556 ที่ผ่านมาศาลสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินให้การกดปุ่ม "Like" (หรือ "ชอบ"ในเว็บภาษาไทย)บนเฟซบุ๊กถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยศาลอุทธรณ์ของรัฐเวอร์จิเนียที่เมืองริชมอนด์ได้มีคำพิพากษาคดีที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจ(Sheriff)ร้องต่อศาลว่าเขาถูกไล่ออกเนื่องจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งในกรณีนี้ก็คือการกด "Like"เพจเฟซบุ๊กของคู่แข่งทางการเมืองของหัวหน้าของตนเอง

คำพิพากษาจำนวน 81 หน้าระบุว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้นี้ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง โดยการกด "Like" เพจหาเสียงของผู้สมัครทางการเมืองนั้น แสดงถึงการที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กยอมรับผู้สมัครนั้นและสนับสนุนการหาเสียงครั้งนี้โดยการเข้าไปมีส่วนร่วม ในกรณีนี้จึงถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองผ่านทางอินเตอร์เน็ต

นอกจากนั้นคำพิพากษายังระบุว่าการกระทำของเขามีลักษณะเช่นเดียวกับการแสดงออกโดยคำพูด ซึ่งการกด "Like"เพจหาเสียงของนักการเมืองสามารถสื่อออกมาได้ถึงการรับรองตัวบุคคลทางการเมืองดังกล่าวของผู้ใช้และสนับสนุนการหาเสียงด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเพจ สิ่งนี้คือการแสดงออกที่เทียบเท่ากับการติดป้ายทางการเมืองไว้ที่สวนหน้าบ้าน ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการแสดงออกอย่างอิสระเสรี

จากคำพิพากษาข้างต้นจะเห็นได้ว่าการกด "Like"บนเฟซบุ๊กนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนเพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นด้วยสัญลักษณ์ทำนองเดียวกับการพูดและการเขียนซึ่งได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญทั้งของสหรัฐอเมริกาและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ถ้อยคำตรงกันทุกประการก็ตาม

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ส่วนที่ ๗ ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน และ ส่วนที่ ๘ ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการศึกษา ตั้งแต่มาตรา ๔๕ จนถึง มาตรา ๕๐ ได้บัญญัติไว้ชัดเจน อาทิ

           "มาตรา ๔๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น..."

          "มาตรา ๕๐ บุคคลย่อมมีเสรีภาพทางวิชาการ

           การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน"

ฉะนั้น การที่ได้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยบางคนออกมาข่มขู่ว่าการกด "Like"หรือ "ชอบ"อาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้นั้นจึงเป็นคำขู่ที่หน่อมแน้มและช่างน่าขบขันเป็นอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นในกรณีการกด "Share" หรือ "แบ่งปัน" นั้นจะเข้าข่ายถูกดำเนินคดีได้หรือไม่ ในความเห็นของผมนั้นเห็นว่าคงต้องดูเป็นกรณีๆไป ถ้าเป็นความเห็นโดยปกติทั่วไปที่ไม่เข้าข่ายในการชักจูงหรือปลุกระดมให้ไปก่ออาชญากรรมใดๆ ก็ไม่เข้าข่ายที่จะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

แต่ถ้าข้อความหรือเนื้อหาที่เราไป "Share" หรือ "แบ่งปัน" นั้นเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เราก็อาจจะต้องถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ผลิตหรือทำซ้ำและอาจรวมถึงการเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดนั้นได้

ในส่วนของการเข้าไปดูข้อความใน "Line" หรือ "อีเมล์" ก็เช่นกัน รัฐธรรมนูญฯมาตรา ๓๖ ก็บัญญัติไว้ว่า

           "มาตรา ๓๖ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย

            การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลที่มีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน"

ซึ่งก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าโดยปกติแล้วการตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลที่มีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเท่านั้น

จึงหมายความว่าอยู่ดีๆเจ้าหน้าที่ขอรัฐจะไปเที่ยวดักหรือแท็ปข้อมูลของประชาชนไม่ได้ ต้องขอคำสั่งศาลและต้องทำเป็นคราวๆไป มิใช่กระทำเป็นถาวรไม่มีที่สิ้นสุดหรือไม่เช่นนั้นก็ต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ใช้สำหรับสถานการณ์พิเศษซึ่งก็ต้องกระทำเป็นคราวๆอยู่ดี

แต่ทั้งนี้ ฐานข้อมูลจะต้องเป็นฐานข้อมูลที่ผู้ให้บริการหรือตัวบริการ(server)อยู่ในประเทศไทยหรืออยู่ในเขตอำนาจของกฎหมายไทยเท่านั้น แต่หากฐานข้อมูลที่ผู้ให้บริการหรือตัวบริการ(server)อยู่นอกประเทศไทยหรืออยู่นอกเขตอำนาจของกฎหมายไทย จะทำได้ก็เพียงแต่ขอความร่วมมือเท่านั้น ซึ่งเขาอาจจะให้หรือไม่ให้ความร่วมมือก็ได้ โดยปกติแล้วก็มักจะไม่ให้ความร่วมมือเพราะถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rightsหรือ ICCPR)ให้การรับรองไว้ เว้นเสียแต่จะเข้าข่ายบางอย่างที่กำหนดไว้ในกฎหมายนานาชาติ เช่น ภาพอนาจารเด็ก การหมิ่นประมาท เท่านั้น

ซึ่งไทยเราก็เคยมีรายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Human Rights Council)กล่าวถึง พ.ร.บ. ความผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ 2550 ของประเทศไทยว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิพลเมืองที่ขยายฐานความผิดให้ครอบคลุม "ตัวกลาง" ซึ่งหมายถึงพวกโฮสติ้งหรือไอเอสพีทั้งหลายด้วย(In Thailand, the 2007 Computer Crimes Act imposes liability upon intermediaries that transmit or host third-party content and content authors themselves. This law has been used to prosecute individuals providing online platforms, some of which are summarized in the first addendum.)

กล่าวโดยสรุปก็คือ เราอยู่ในสังคมโลกยุคใหม่ที่มีการติดต่อสื่อสารถึงกันไปทั่วโลกได้ในชั่วพริบตาเดียว การพยายามจะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการใช้มาตรการที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญย่อมเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ ที่สำคัญก็คือแม้ว่าอาจจะมีความพยายามที่จะกระทำแต่ด้วยเทคโนโลยีฝ่ายรัฐไทยมีอยู่นั้นยังห่างไกลนัก และยิ่งไปประกอบกับทัศนคติที่คับแคบที่จะต้องควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยรัฐด้วยแล้ว ยิ่งต้องพบกับการต่อต้านและลองดีจากผู้ที่ถูกคุกคาม

ว่าแต่ว่าระบบอีเล็กโทรนิกของหน่วยงานของรัฐที่ออกมาขู่ประชาชนรายวันนั้นมีการป้องกันระบบของตนเองดีแล้วหรือยัง ขนาดเพนตากอนที่ ว่าแน่ๆยังถูก "แฮ็ก"ได้เลยครับ

 

------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 2 ตุลาคม 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสนอรัฐปรับกรอบเจรจา TPP – สภาเห็นชอบเอฟทีเอไทย-ชิลี

Posted: 02 Oct 2013 07:09 AM PDT

 

2 ต.ค.56  สืบเนื่องจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยแพร่ร่างกรอบเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค หรือ TPP (ทีพีพี) โดยเปิดให้ประชาชนเสนอความเห็นได้นั้น

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุลล ผู้ประสานงานเอฟทีเอ วอทช์ กล่าวว่า ข้อห่วงกังวลของภาคประชาสังคมที่ติดตามการค้าเสรีอย่างใกล้ชิด มีข้อห่วงใยที่เสนอแก้ไขปรับปรุงกรอบการเจรจาดังกล่าวหลายประเด็น ได้แก่ (1) ในหมวดการค้าสินค้า ต้องยกเว้นสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ไม่ให้มาอยู่ในการเจรจา (2) ข้อตกลงต้องไม่เกินไปกว่า ความตกลงขององค์การการค้าโลกว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา (ทริปส์) และต้องไม่ยอมรับความตกลงว่าด้วยการต่อต้านสินค้าปลอมแปลง (แอคต้า) ที่มีเนื้อหาเรื่องมาตรการชายแดนและศุลกากรที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถยึดจัสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่งได้ และ (3) การระงับข้อพิพาท ระหว่างรัฐและเอกชน ต้องมีความยินยอมจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะกรณีทุกครั้งไป โดยการเจรจาต้องไม่มีผลให้นำข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม นโยบายด้านสาธารณสุข สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคง เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

"การจะเข้าร่วมการเจรจาครั้งนี้ ต้องประเมินผลได้ ผลเสียให้ดี เพราะสิทธิพิเศษทางการภาษี (GSP) ที่จะได้รับนั้นอาจจะไม่มากพอที่ไทยต้องเข้าร่วมเจรจา เพราะไทยมีข้อตกลงการค้ากับประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิกทีพีพีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุน เป็นต้น ดังนั้น การเข้าร่วมอาจไม่ได้ประโยชน์จากการเจรจา มากเท่าข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่อเรา ซึ่งจะส่งผลกระทบมหาศาล" ผู้ประสานงานเอฟทีเอ วอทช์ กล่าว

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวต่อว่า หากยอมรับข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่า ทริปส์ อาทิ การผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity)  ตามความเห็นของสำนักงานอาหารและยา (อย.) ที่เคยเสนอต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภา และงานวิจัยของสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่งระบุตรงกันว่า จะขัดขวางการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของรัฐเพื่อสาธารณประโยชน์ (CL) มิให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ ดังนั้น หากประเทศไทยถูกผูกมัดด้วยบทบัญญัติทั้งการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร และการผูกขาดการขึ้นทะเบียนยา จะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐอย่างรุนแรง ซึ่งหมายถึงผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนไทย

"การเอาประเด็นเรื่องการค้าการลงทุน กับการประเมินความคุ้มค่าในการที่ไทยทำความตกลงการค้าเสรีมาเป็นเงื่อนไขนั้น ต้องพิจารณาว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ผลประโยชน์จากการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี(GSP) ถาวรนั้นคือกลุ่มที่ส่งออกข้าวและไก่ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ น่าจะมีศักยภาพในการปรับตัวในการแข่งขันได้ดี ดังนั้นผลกระทบน่าจะไม่สูงดังที่มีการประเมินไว้"

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานฝ่ายการต่างประเทศ เอฟทีเอ วอทช์ กล่าว่า นอกจากประเด็นข้อห่วงกังวลข้างต้นต่อร่างกรอบเจรจาแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องกระบวนการเข้าสู่การเป็นสมาชิกทีพีพีว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา190 หรือไม่ เนื่องจากต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศเข้าร่วมการเจรจาก่อนหน้านี้ทั้ง 12 ประเทศก่อน จึงจะสามารถเข้าร่วมการเจรจาได้ ทั้งนี้ ในระหว่างการเจรจาการเจรจากับทั้ง 12 ประเทศอาจมีการต่อรองแลกเปลี่ยนและตกลงกันในเรื่องต่างๆ ชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงจะสามารถเข้าสู่การเจรจาทีพีพีได้

"คำถามที่หนึ่ง คือ แท้จริงแล้ว กระบวนการตามมาตรา 190 ควรเริ่มตั้งแต่เมื่อไร ตั้งแต่การเจรจาเป็นรายประเทศก่อน หรือเมื่อเจรจากับทั้ง 12 ประเทศเสร็จแล้วและเริ่มเจรจาทีพีพี คำถามที่สอง คือ ควรจะต้องให้รัฐสภาเห็นชอบกับกรอบการเจรจารายประเทศกับทั้ง 12 ประเทศหรือไม่ และคำถามที่สาม คือ การรับฟังความคิดเห็นเพื่อที่จะยื่นเรื่องให้รัฐสภาเห็นชอบในลักษณะเช่นนี้ โดยที่ไม่ได้นาเรื่องการเจรจากับ 12 ประเทศก่อน ถือว่าขัดกับมาตรา 190 หรือไม่" นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว

ผู้ประสานงานเอฟทีเอ วอทช์ กล่าวต่อ ด้วยเงื่อนไขของความตกลงทีพีพี กำหนดให้ประเทศคู่เจรจาต้องรักษาเนื้อหาของความตกลงหรือการเจรจาเป็นความลับ ทั้งในขณะและหลังจากการเจรจาเสร็จสิ้น เงื่อนไขเช่นนี้ถือว่าขัดต่อหลักการและเจนต์จำนงของมาตรา 190 ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและก่อให้เกิดธรรมาภิบาลและความโปร่งใสด้วยเงี่อนไขดังกล่าว ประชาชนจะสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเจรจาและความตกลงทีพีพีได้อย่างไร รวมถึงการที่รัฐสภาจะต้องพิจารณาและให้ความเห็นชอบด้วย

"อย่างไรก็ตาม การเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อร่างกรอบเจรจาเป็นเรื่องที่ดี แต่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องนำความคิดเห็นของภาคประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียไปปรับปรุงร่างกรอบเจรจา ก่อนที่จะนำเข้าสู่สภาฯ อย่าเพียงแต่รับฟัง แต่ไม่ได้นำความเห็น และข้อกังวลต่างไปปรับปรุงกรอบเจรจา เช่นร่างกรอบเจรจาการค้าเสรี ระหว่างไทยกับยุโรปดังที่ผ่านมา" ผู้ประสานงานเอฟทีเอว็อทช์ ทิ้งท้าย

ด้านความเคลื่อนไหวในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันนี้  (2 ต.ค.) สำนักข่าวไทยรายงานว่า มีวาระการพิจารณากรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยพิจารณาความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชิลีและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และเอกสารที่เกี่ยวข้องและการแก้ไขความคลาดเคลื่อนในตารางข้อผูกพันการเปิดตลาดสินค้าของไทย ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ  

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงสาระสำคัญของร่างความตกลงดังกล่าวว่า เป็นการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐทั้งสองประเทศ ต้องการให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างกัน และเป็นการต่อยอดสิทธิและพันธกรณีของไทยและชิลีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ความตกลงระดับพหุภาคีและระดับภูมิภาค ที่จะแก้ไขในเรื่องของภาษี ซึ่งจะส่งผลดีกับไทย เพราะจะทำให้ขยายตลาดการค้าของไทยสู่อเมริกาใต้ เนื่องจากชิลีเป็นคู่ค่าอันดับ 3 ของไทย รองจากบราซิลและอาร์เจนตินา ขณะที่ไทยจะเป็นตลาดการค้าให้กับชิลีสู่อาเซียนและถือเป็นโอกาสดีของไทยที่จะได้ลงนามความร่วมมือในโอกาสที่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐชิลีจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างบนผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ

สำหรับการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับกรอบความตกลงดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้ไทยมีโอกาสขยายตลาดการค้าเพิ่มขึ้นจากเดิมไปสู่อเมริกาใต้ ขณะที่สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตถึงข้อกำหนดในความตกลงฉบับนี้ที่ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบหลายประการ และไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลเร่งรีบนำเข้าสู่การพิจารณาในวันนี้ ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาขาดความรอบคอบ อย่างไรก็ตาม หลังการอภิปราย ที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 464 ต่อ 6 งดออกเสียง 12 และไม่ลงคะแนน 2 เสียง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สารคดีชีวิต ‘ดวงสุดา สร้างอำไพ’ จากเหยื่อสู่นักอนุรักษ์ เชื่อมคน2ศาสนา

Posted: 02 Oct 2013 04:17 AM PDT

หนึ่งในสารคดีชุด "ชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ" เครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้นำฉายซ้ำพร้อมบทวิจารณ์ ชีวิต 'ดวงสุดา สร้างอำไพ' "จากป่าสู่เมือง นักสู้จากป่าสันทราย"แห่งบ้านเฑียรยา ปัตตานี พื้นที่อนุรักษ์เชื่อมคน 2 ศาสนา ก้าวข้ามความทุกข์สู่การเปลี่ยนแปลงชีวิต

"หลังเสียงปืนและกลิ่นคาวเลือด ชีวิตที่เคยอิสระก็หายไป...

ใครฆ่าพ่อ ฆ่าทำไม หรือเพราะเป็นแค่คนธรรมดา ชีวิตจึงไม่มีค่า

ยิ่งพยายามหาคำตอบและหาทางออกเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหมือนเดินปิดตาตัวเองเท่านั้น

ความเคียดแค้นฝังแน่นเหมือนติดแอก ความเงียบเหงาคืบคลานมาเยือน

ผู้คนย้ายออกไปจากหมู่บ้านที่ละหลัง ชีวิตที่เหลือก็ต้องดำเนินไปอย่างปลอดภัย บ้านเราเหลือแต่ผู้หญิงแล้ว

ไปเถอะ! เรายังมีอีกหลายชีวิต นั่นคือ คำขอของย่า ส่วนแม่แค่บอกว่า ไปเถอะกูอยู่ได้..."

นั่นเป็นคำบรรยายส่วนหนึ่งที่ "ดวงสุดา สร้างอำไพ " ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พยายามบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองประสบ ผ่านสารคดีชุด ชื่อ "ชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ" ในชื่อตอน "จากป่าสู่เมือง นักสู้จากป่าสันทราย"

สารคดีตอนนี้ ได้ออกอากาศไปแล้วทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเมื่อวันศุกร์ ที่ 2 สิงหาคม 2556 เวลา 20.20 – 21.15 น.ที่ผ่านมา ซึ่งเครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้นำฉายซ้ำเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 ที่ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เพื่อให้ผู้ร่วมชมวิจารณ์

 

ผู้สูญเสียจากป่าสันทรายแห่งบ้านเฑียรยา

สารคดี ตอน"จากป่าสู่เมือง นักสู้จากป่าสันทราย" เป็นการฉายภาพชีวิตของนางสาวดวงสุดา สร้างอำไพ ซึ่งพ่อและปู่ของเธอถูกฆ่าตายอย่างทารุณในหมู่บ้านเฑียรยา ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยพ่อถูกฆ่าเมื่อปี2547 และปู่ถูกฆ่าปี 2550 ส่วนบ้านพักอาศัยก็ถูกเผาวอดจนเหลือแต่ซาก

หลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญครั้งหลังสุดได้ไม่นาน คุณยายได้ขายที่ดินที่ตั้งของบ้าน แล้วพากันโยกย้ายไปอยู่ที่บ้านเช่าในเมืองปัตตานี เนื่องจากไม่มีที่ให้ซุกหัวนอนและไม่กล้าที่จะทำมาหากินอยู่ในพื้นที่อีกต่อไป เช่นเดียวกับคนพุทธอีกครอบครัวที่ย้ายออกไปในช่วงเดียวกัน

หลังจากย้ายมาอยู่ที่ใหม่ ทุกคนก็ต้องปรับตัวให้อยู่รอด ทั้งยังเป็นการเยียวยาตัวเองด้วยโดยไม่รอรับการเยียวยาจากรัฐเพียงอย่างเดียว แต่การย้ายมาอยู่ที่ใหม่ซึ่งอยู่ห่างกันไม่ถึง 20 กิโลเมตร กลับยิ่งสร้างความมุ่งมั่นให้ดวงสุดา ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่การเป็นนักสู้แห่งป่าสันทรายแห่งบ้านเฑียรยาตามรอยคุณย่า

ส่วนแม่ พี่สาวและน้องสาวยังอาศัยอยู่ที่เดิม ดวงสุดาจึงตั้งใจจะสร้างบ้านใหม่ให้แม่แทนหลังเก่าที่ทรุดโทรม

ด้วยเหตุนี้ทำให้เธอยังต้องเดินทางทางไปมาระหว่างตัวเมืองปัตตานีกับหมู่บ้านเฑียรยาเป็นประจำ เพื่อทำงานอนุรักษ์ป่าสันทราย

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า ป่าสันทราย เป็นป่าที่มีความพิเศษกว่าป่าอื่นๆ อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลไม่มาก มีพันธุ์ไม้และพันธุ์พืชหลากหลายชนิด ทั้งที่ใช้รับประทานหรือเป็นยาสมุนไพรได้ ซึ่งในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือที่บ้านเฑียรยา

 

จุดเปลี่ยน

'ดวงสุดา' มีพื้นฐานครอบครัวเป็นนักอนุรักษ์ป่าสันทราย ซึมซับวิถีนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากย่า ซึ่งจากการเป็นคนชนบทและเคยอยู่ป่าทำให้ดวงสุดามีความฝันที่จะทำงานด้านการอนุรักษ์ป่าอยู่ตลอดเวลา กระทั่งการย้ายที่อยู่ทำให้ดวงสุดามีโอกาสได้เข้าร่วมงานกับองค์กรภาคประชาสังคมหลายๆองค์กร

ที่สำคัญยังทำให้ดวงสุดาได้เจอกับหลายคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าผู้สูญเสียย่อมเข้าใจผู้สูญเสียด้วยกัน แม้ว่าจะเป็นคนพุทธหรือมุสลิมก็ตาม

"...เมื่อชีวิตได้ออกมาสู่โลกกว้าง มุมมองด้านลบต่อคนต่างศาสนิกก็ค่อยๆ ลางเลือนลง ที่จริงคนใน 3 จังหวัดต่างก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทำให้ได้คิดในที่สุดว่า จะแช่แข็งตัวเองให้เป็นแค่ผู้ได้รับผลกระทบตลอดไปคงไม่ได้

เราโตมาในวิถีของลูกชาวนา การที่เราได้เดินป่าและสัมผัสกับธรรมชาติ เราสามารถที่จะเรียนรู้การพึ่งตัวเองจากความเป็นอยู่ในที่ที่ไม่มีความสะดวกสบาย ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ให้รู้ว่าเราจะเอาตัวรอดได้อย่างไร"

 

พื้นที่อนุรักษ์ เชื่อมคน 2 ศาสนา

นางสาวดวงสุดา กล่าวหลังจากชมสารคดีตอนนี้ว่า "คนบางกลุ่มเคยดูถูกเราในฐานะคนได้รับผลกระทบว่า เป็นแค่คนที่ขอมาตลอด ไม่รู้จักพึ่งพาตนเอง เมื่อเราพบเจอสิ่งที่มั่นคงในชีวิต เราจึงกล้าที่จะเรียนรู้ เช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายในพื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน"

"งานที่ทำส่วนใหญ่ เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ซึ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ทางพหุวัฒนธรรมจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ที่เป็นคนต่างศาสนิก เราพยายามหากิจกรรมที่ทำร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียเหมือนกัน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของคน 2 ศาสนา" ดวงสุดา กล่าว

ดวงสุดา เล่าว่า ที่ผ่านมา กลุ่มที่เข้าไปสำรวจในพื้นที่อนุรักษ์มีทั้งคนไทยพุทธและมุสลิม ซึ่งทำงานเป็นภาคีเครือข่ายกัน

ดวงสุดา บอกว่า ภาพความรุนแรงในพื้นที่ถูกสะท้อนผ่านสื่อกระแสหลัก สวนทางกับเรื่องราวในสารคดีตอนนี้ จึงอยากสะท้อนภาพทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม และเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน เมื่อครั้งยังไม่เกิดเหตุร้ายกับครอบครัว

"สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดได้ดั่งใจหวัง สามารถสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ด้วยการนำเสนอความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ซึ่งถูกกลบไปจากสังคม ทำให้ความเคียดแค้นที่สะสมมานานเริ่มจางหายไป"

ดวงสุดา บอกว่า เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมของเครือข่ายภาคสังคม ก็สามารถสานต่อเจตนารมณ์ของตัวเองได้สำเร็จ ทั้งด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างโอกาสใหม่ให้เพื่อนมนุษย์ที่ได้รับผลกระทบความรุนแรง ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันของคนทั้ง 2 ศาสนา" ดวงสุดา กล่าว

 

ผืนป่าที่ลบภาพความรุนแรง

นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร จากกลุ่มเอฟทีมีเดีย ในฐานะผู้กำกับการผลิตสารคดีตอนนี้ วิจารณ์ว่า ทุกครั้งที่เห็นดวงสุดาในสื่อ มักจะเห็นแต่ภาพความรุนแรงที่กระทบต่อตัวของดวงสุดา แต่สารคดีนี้ไม่ต้องการนำเสนอกระทบซึ่งอาจเรียกความน่าสงสารได้ แต่เล่าเรื่องโดยไม่พูดถึงอดีตของดวงสุดามากเกินไป

"เรื่องนี้ต้องการนำเสนอประเด็นการไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับชาวไทยพุทธ ดวงสุดาต้องอพยพมาอยู่ในเมืองกับย่า หลังจากเสียพ่อและปู่ไป บ้านที่เคยอยู่อาศัยก็ต้องขายเพื่อเอาเงินมาจุนเจือครอบครัว"

"การถ่ายทอดเรื่องนี้ต้องการให้ดวงสุดาได้ทำในสิ่งที่เขาพึงพอใจ เพราะถ้าถ่ายทอดออกมาดี อาจเป็นการเยียวยาจิตใจได้อีกทางหนึ่ง" นางสาวนวลน้อย กล่าว

นางสาวนวลน้อย เล่าว่า ดวงสุดาอยากสร้างบ้านดินให้แม่ ไม่ใช่ต้องการความสวยงามอย่างเดียว แต่การสร้างบ้านดินมีราคาถูกและเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ อีกทั้งแม่เองก็ไม่ยอมย้ายไปอยู่ในเมือง

"วันนี้ดวงสุดามีคุณย่าเป็นเหมือนแม่ทัพ เพราะเป็นผู้หญิงแกร่งมาก สามารถปรับตัวอยู่ในเมืองได้ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลลูกหลานให้อยู่ให้ได้ด้วย" นางสาวนวลน้อย กล่าว

สิ่งที่เราต้องการสื่อ คือ ดวงสุดาอยากมีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าสันทรายที่บ้านเกิด แม้ตอนนี้ดวงสุดาไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว แต่ก็ยังจับมือกับคนในพื้นที่ทำกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นประเด็นที่ถูกซ่อนเอาไว้ภายใต้ปัญหาสถานการณ์รุนแรง และสื่อกระแสหลักไม่ค่อยนำเสนอ

"ปัจจุบันพื้นที่ป่าสันทรายที่นั่นมีเจ้าของแล้วทั้งหมด หากเจ้าของเอาไปทำอย่างอื่น สภาพแวดล้อมของป่าก็หมดลง คนในพื้นที่ก็ต้องย้ายออกไป เพราะไม่สามารถหากินกับป่าได้ แต่เมื่อไม่มีคนอยู่ คนที่จะอนุรักษ์ป่าก็ไม่มีเช่นกัน เพราะป่าเหมือนบ้าน"

นางสาวนวลน้อย กล่าวว่า ดวงสุดาแสวงหาความปลอดภัยและมั่นคงในชีวิต การอยู่อย่างยั่งยืนก็เป็นความปลอดภัยอย่างหนึ่ง อาจไม่ใช่ความปลอดภัยจากสถานการณ์ หากแต่เป็นศักดิ์ศรีของตนเองที่ดวงสุดาคิดว่า สามารถพึ่งพาตนเองได้ในยามวิกฤติ

 

หนทางนำสู่สันติภาพ

นางสาวลม้าย มานะการ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำ วิจารณ์ว่า เนื้อหาของสารคดีเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ดวงสุดาผ่านการเป็นผู้ได้รับผลกระทบไปสู่การเป็นผู้ให้ต่อสังคม และสามารถตอบโจทย์ความคิดของตนเองได้ในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านดิน หรือการอนุรักษ์ ฯลฯ

"สารคดีเรื่องนี้เป็นการสื่อถึงเด็กสาวคนหนึ่งที่พยายามเติบโต และทำสิ่งที่ตัวเองรักอย่างงานอนุรักษ์ แม้ได้รับความเจ็บปวดในอดีต แต่ความเคียดแค้นเหล่านั้นจางหายไปแล้ว เมื่อเธอได้เข้ามาร่วมเครือข่ายผู้หญิงฯ ที่ช่วยกันดูแลรักษาเยียวยาแผลใจให้เธอ"

"ถ้าในสังคมทุกวันนี้ยังมีคนแบบนี้อยู่ เชื่อว่าสันติภาพคงเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน" นางสาวลม้าย กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์เผยนักเศรษฐศาสตร์ 79.4% ไม่เชื่อลดภาษีแบรนด์เนมนักท่องเที่ยวเพิ่ม

Posted: 02 Oct 2013 03:16 AM PDT

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 79.4% ไม่เชื่อลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมหรูทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ชี้ทำให้คนไทยซื้อเอง เสี่ยงขาดดุลการค้า 55.6%

2 ต.ค.56 ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 28 แห่ง จำนวน 63 คน เรื่อง "ลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม ประเทศไทยได้หรือเสีย" โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 23–30 กันยายน ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์มากถึงร้อยละ 85.7 เห็นว่าชาวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยไม่ได้มาด้วยเหตุผลสำคัญเพื่อการช็อปปิ้ง และเมื่อถามต่อว่าหากมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมเหลือ 0-5% จากเดิม 30% จะทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่  นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 79.4 เชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยจะเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ซ้ำร้ายร้อยละ 79.4 เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยซื้อสินค้าแบรนด์เนมนำเข้ามากกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  ซึ่งผลที่ตามมาร้อยละ 81.0 เชื่อว่าจะทำให้มีการนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมหรูจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น  อันมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น

ส่วนประเด็นผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในสินค้าที่เกี่ยวข้องนั้น  ร้อยละ 46.0 เห็นว่าจะกระทบมาก  ขณะที่ร้อยละ 42.9 จะกระทบน้อย สุดท้ายเมื่อถามว่า  "โดยสรุปแล้ว  ท่านคิดว่าการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม  ไทยได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์"  นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ  55.6 เห็นว่าจะเสียประโยชน์มากกว่าได้ประโยชน์  ขณะที่ร้อยละ 20.6 เห็นว่าได้ประโยชน์มากกว่า  ที่เหลือร้อยละ  23.8  บอกว่าไม่ทราบ

การสำรวจนี้เป็นการวิจัยโดยการเลือกตัวอย่างประชากรโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Non-probability sampling) แต่ละหน่วยตัวอย่างที่จะได้รับการเลือก จึงเป็นการเลือกตัวอย่างประชากรแบบเจาะจง (Purposive sampling) และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในภาควิชาที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐศาสตร์  โดยใช้ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล ตั้งแต่  23 – 30 ก.ย. 56 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล รธน.ยกคำร้อง 40 ส.ว.กรณีระงับนายกฯนำร่างแก้ รธน.ที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้า

Posted: 02 Oct 2013 02:14 AM PDT

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง 'สมเจตน์-รสนา' กรณีขอให้คุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับนายกฯ นำร่างแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว.ทูลเกล้าฯ ชี้เคยมีคำสั่งยกคำขอไปแล้ว ส่วนปมงบประมาณกำหนดแถลงด้วยวาจา 10 โมง ศุกร์นี้

2 ต.ค.56 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของ ส.ส. และ ส.ว. รวม 112 คน  ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2557 มาตรา 27 ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลปกครอง มาตรา 28  ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ขัดหรือแย้ง หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168  วรรค 8 วรรค 9 หรือไม่

โดยศาลฯ ได้พิจารณาคำชี้แจงและการให้ถ้อยคำของผู้แทนคณธกรรมาธิการวิสามัญฯ สำนักงานงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครองและสำนักงาน ป.ป.ช. แล้ว และกำหนดให้มีการแถลงด้วยวาจาก่อนลงมติและลงมติในวันศุกร์ที่ 4 ต.ค.56 เวลา 10.00 น.

ยกคำร้อง 40 ส.ว.กรณีระงับนายกฯนำร่างแก้ รธน.ที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้า

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ ยกคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับพวก และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง และคณะ กลุ่ม 40 ส.ว.  กรณีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. จากแต่งตั้งร้อยละ 50 เป็นเลือกตั้งทั้งหมดเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่  และมีคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวสั่งนายกรัฐมนตรีให้ระงับการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ

โดยศาลฯ เห็นว่าเนื่องจากเป็นกระบวนการต่อเนื่องกับประเด็นที่ศาลเคยพิจารณาและมีคำสั่งยกคำขอแล้ว ในคราวประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 56 และ 27 ก.ย. 56 ประกอบกับข้อเท็จจริงตามคำร้องในขณะนี้ยังไม่มีเหตุจำเป็นที่ศาลฯ จะมีคุ้มสั่งคุ้มครองชั่วคราวใดๆ ไปยังนายกรัฐมนตรี

หนุมานพิทักษ์ราชบัลลังก์ให้กำลังใจ ตลก.ศาล รธน.

นอกจากนี้บรรยากาศโดยรอบสำนักงานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น สำนักข่าวไทยรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. ว่า มีกลุ่มหนุมานพิทักษ์ราชบัลลังก์ นำโดยนายสุรวัชร สังขฤกษ์ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ ผลจันทร์ โฆษกของกลุ่มมายื่นหนังสือพร้อมดอกไม้ให้กำลังใจต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ท่ามกลางการคัดค้านจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดง โดยขออย่าหวั่นไหว ให้ตัดสินด้วยความตรงไปตรงมา ซึ่งทางกลุ่มพร้อมจะยอมรับไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร โดยมีนางพรพิมล นิลทจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานคลังและพัสดุ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักผู้บริหารกลางเป็นตัวแทนรับหนังสือและดอกไม

แดง กวป.ปักจี้ "บุญส่ง กุลบุปผา" ลาออกจาก ตลก.ศาล รธน.

ขณะเดียวกันที่บริเวณด้านหน้าศาลรัฐธรรมนูญที่กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) มาปักหลักชุมนุมตั้งแต่วานนี้ (1 ต.ค.) เพื่อเรียกร้องให้นายบุญส่ง กุลบุปผา ลาออกจากตำแหน่งตุลาการ เนื่องจากให้บุตรชายที่เป็นเลขาฯ ไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยยังรับเงินเดือนในตำแหน่ง โดยช่วงเช้าวันนี้ (2 ต.ค.) นายศรรัก มาลัยทอง โฆษก กวป.ได้นำแผ่นป้ายมาติดบริเวณริมรั้วเหล็ก ซึ่งมีข้อความขับไล่ตุลาการ ส่วนกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกลุ่ม กวป. ยังไม่ได้ชุมนุม มีเพียงเวทีเปล่าๆ ตั้งไว้เท่านั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เบี้ยและการเมืองของการเป็นเบี้ย

Posted: 02 Oct 2013 02:14 AM PDT

<--break->

ปรากฏการณ์เบี้ยและรางวัลพานแว่นฟ้า เกิดขึ้นเร็วและทำท่าจะจากไปเร็วอย่างที่หลายคนคนเอ่ยไว้  ผมอ่านบทคำวิจารณ์และข้อถกเถียงต่างๆ พลันพบว่า แทบไม่มีการวิจารณ์ในตัวบทเลย  แทบทุกคำวิจารณ์มักพุ่งไปที่ "บริบท" ทางสังคมและการเมือง ซึ่งแม้จะนับว่ามีประโยชน์อยู่  กระนั้น ก็ออกเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมนักต่อกวีนิพนธ์ในฐานะที่เป็นตัวบททั้งในกลุ่มที่ตัดสินให้ได้รับรางวัลและคัดค้านเกณฑ์การตัดสิน

ออกตัวแบบผู้อ่อนด้อยและปราศจากความรู้ทางบทกวีและฉันทลักษณ์ ผมขอวิสาสะกับตัวบทเรื่องเบี้ยในประเด็นดังต่อไปนี้ครับ

ผมคิดว่าตัวบทกวีคือความพยายามในการจัดระเบียบความสับสนวุ่นวายในโลกทัศน์หนึ่งๆ ให้มีความชัดเจนเพียงพอต่อการนำเสนอผ่านสุนทรียศาสตร์ทางภาษา  ในแง่นี้ไวยกรณ์ทางภาษาจึงส่อในความเป็นตัวแทน "ระดับหนึ่ง" ของความคิดทางการเมือง  ตัวบทเบี้ยก็เช่นเดียวกัน  ผู้เขียนมีเจตนาที่จะเลือกเบี้ยเพื่อแทน "ไพร่" ในความหมายกว้างๆ ภายใต้กรอบการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผ่านมา แม้ว่า "ไพร่" อาจจะไม่ใช่เบี้ยเสียทั้งหมด  ทว่า "เบี้ยสีแดง" ที่ผู้เขียนเจตนาสื่อความออกมานั้น มีลักษณะของการทำให้ความพร่ามัวทางการเมืองเกี่ยวกับความเป็นไพร่ปรากฏภาพลักษณ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น  ผมเดาว่า เบี้ย(สีแดง) ของผู้เขียนน่าจะหมายถึง สามัญชนทั่วไป ซึ่งอาจเคยถูกอธิบายมาก่อนหน้าด้วยถ้อยคำต่างๆ อาทิ คนชายขอบ ชาวบ้าน เหยื่อ และคนจน  แน่นอน มองในแง่นี้ คำว่า เบี้ยในตัวบทล้วนมีภูมิหลังที่ปะติดปะต่อกันผ่านวาทกรรมและความหมายหลากหลายชุด  คำว่าเบี้ยจึงคล้ายกับมีนัยทางการเมืองสูงแต่มองในอีกแง่หนึ่ง ถ้อยคำเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยหรือคำอื่นๆ  ก็ล้วนเป็นคำที่สลายความเป็นการเมืองด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นถ้อยคำที่ไม่สื่อความหรือนัยสำคัญทางการเมือง  บ่อยครั้งที่คนอ่านและรับถ้อยคำพวกนี้มักจะ "อิน" และ "ฟิน" ไปโดยอัตโนมัติ  โดยมิต้องไถ่ถามถึงความหลากหลายของเบี้ย ปัญหาของเบี้ย และการเมืองของการเป็นเบี้ย  พูดง่ายๆ คือ เมื่อเบี้ยถือกำเนิดจากบริบททางการเมือง เบี้ยก็สลายความเป็นการเมืองลงไป  การพูดถึงเบี้ยจึงมีลักษณะของกลไก  ในเชิงภาษา คำว่า "เบี้ย" หรือคำอื่นๆ ที่เคยปรากฏมาจึงได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำความเข้าใจสภาวะทางการเมือง

แน่นอน การระบุถึงเบี้ยในตัวบทนี้ มีหลากหลายอารมณ์และภูมิหลังค่อนข้างมาก แต่ทั้งหมดสามารถรวบความได้ว่ากำลังจะพูดถึง การลุกขึ้นสู้ของเหยื่อ ผู้ต่ำต้อย ถูกมองว่าด้อยค่า ให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ในระบอบประชาธิปไตย  แน่นอน พลังของโครงเรื่องเช่นนี้ มีความคล้ายคลึงกับโครงเรื่องสาธารณะทั่วไป คล้ายคลึงกับโครงเรื่องในตัวบทกวียุคหลัง14 ตุลา รวมไปถึงตัวบทเพื่อชีวิตทั่วไป  มองให้ไกลกว่านั้น โครงเรื่องเช่นนี้ก็ประสบความสำเร็จในแง่ระดับฮอลลีวู้ดเสียด้วยซ้ำ  ดังนั้น ความสาธารณ์และสากลของตัวบทในลักษณะนี้จึงมิใช่อยู่เพียงแค่โครงเรื่อง  หากมีความพยายามระบายเส้นศีลธรรมหรือการกำหนดถูกผิดลงไปในตัวบททางการเมืองด้วยเช่นกัน  ภาพที่ปรากฏจึงมีลักษณะคล้ายธรรมะกับอธรรม ภาพขาวและดำ และมีลักษณะเหมารวมค่อนข้างมาก  ตัวบทเช่นนี้เอง มิใช่ตัวบทเชิงรุก หากเป็น เชิงรับ กลายเป็นการทำหน้าที่เขียนแถลงการณ์ทางการเมืองด้วยชั้นเชิงของภาษาอีกรูปแบบหนึ่ง  ตัวบทซึ่งทำหน้าที่รับใช้ความคิดทางการเมืองในลักษณะนี้มีดาษดื่นและน่าจะเป็นปัญหาของวงการกวีไทยเสียด้วยซ้ำ  เนื่องจาก เป็นแวดวงที่ไม่สามารถนำเสนอความคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ รวมไปถึงการคลี่ภาพความซับซ้อนหรือปมต่างๆออกมากได้อย่างกระจ่าง  หรือไม่แม้แต่จะทำหน้าที่โยนคำถามให้กับสังคมไทย  ปัญหานี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาของผู้เขียน หากเป็นปัญหาของวงกวีไทยที่ไม่มีปัญญาชนเป็นของตนเอง

ปัญหาที่สืบเนื่องกันมานี้เอง  สิ่งที่ดำเนินตามมาของตัวบทเบี้ยหรืออาจรวมความถึงตัวบทกวีทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมาก็คือ จินตนาการในตัวบทได้ถูกย่อยสลายกลายเป็นจักรกลทางความคิดหรือโรงเรื่องสำเร็จรูป  เปรียบได้กับการเทเนื้อหา(content) ใหม่ๆ ลงไปในโครงแบบ (form) เดิมๆ  ผลที่ออกมาคือ ตัวบทที่มีสีสันเพียงภาพนอกแต่ซ้ำซาก จำเจ  กระทั่งเกิดอาการดิ้นทุรนทุรายของตัวบท เนื่องจากหาที่ลงทางความคิดไม่ได้  ตัวบทเบี้ยก็เช่นกัน  ผมอ่านไปแล้วพลันรู้สึกได้ว่าผู้เขียนอึดอัดกับภาษาและโครงแบบของบทกวีเป็นอย่างมาก  การเล่าเรื่องไม่มีความเนียนของภาษา ปัญหาเรื่องฉันทลักษณ์ก็คงเป็นส่วนหนึ่ง  ปัญหาใหญ่คือ มันเป็นการพยายามยัดปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมืองให้ไปกับภาษา เนื้อหา และโครงแบบในการเล่าเรื่องแบบเก่า

ปัญหาในแง่นี้ก็ดูไม่ใช่ความผิดของกวีผู้เขียนเสียทั้งหมด แม้ว่า ผู้เขียนควรทำหน้าที่แหวกขนบหรือการทำลายโครงแบบหรือ form แบบเก่าก็ตามที  ทว่าปัญหาในแง่นี้กลับใหญ่กว่าการระบุโทษตัวผู้เขียนเพียงฝ่ายเดียวมากมายนัก  ผมคิดว่า ปัญหาของโครงแบบในตัวบทกวีลักษณะนี้มีส่วนสะท้อนโครงแบบหรือform ทางการเมืองอย่างยิ่ง  โครงแบบของเบี้ยมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการสถาปนาการเมืองในเชิงสถาบัน  แน่นอน การต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมาล้วนเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเชิงสถาบัน  แต่สิ่งที่ขัดกันเองในเจตจำนงค์ของผู้เขียนคือความเป็น "เบี้ย"ที่มาจากคนสามัญหรือผู้ที่ถูกกดทับต่างๆ  สิ่งเหล่านี้ทำให้ตัวบทเบี้ยภายใต้โครงแบบทางการเมืองเช่นนี้ ไม่สามารถค้นหา "เบี้ย" ที่มีชีวิต มีศักยภาพ ความใฝ่ฝัน และมีพลังในการคิดค้นวิธีการและพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ ออกมาได้  เบี้ยในตัวบทเบี้ยจึงเป็นได้แค่ผลผลิตทางการเมือง ไม่ใช่ผู้กระทำการทางการเมือง  สรรพเสียงของเบี้ยในชีวิตจริงที่ตัวบทเบี้ยพยายามนำเสนอออกมาจึงถูกลดทอนลงด้วยกระบวนการผูกขาดโดยผู้เล่าซึ่งตกอยู่ภายใต้โครงแบบการเมืองในเชิงสถาบันอีกที  form ทางการเมืองในลักษณะนี้จึงมีลักษณะของอำนาจเผด็จการที่ผูกขาดความคิดได้ในระบบภาษาและการพยายามจัดระบบระเบียบความคิด

แน่นอน form เช่นนี้ ไม่จำกัดสีหรือเลือกข้าง  เพราะมันคือ โครงสร้างความคิดทางการเมืองที่เชื่อมต่อโดยตรงกับโครงสร้างการใช้ภาษา 

การวิพากษ์ form จึงเป็นวาระสำคัญของผู้เขียน และน่าจะเป็นเกณฑ์ตัดสินสำคัญกรรมการมากกว่าความสั้นยาวหรือการใช้ฉันทลักษณ์ที่ผิดพลาด  ตัวบทกวีจะมีความสำคัญได้อย่างไรเล่าหากมัวแต่รับใช้ความคิดทางการเมืองซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านแต่ตัวเนื้อหาแต่มิอาจเปลี่ยนโครงแบบทางความคิดได้  บทกวีไม่สามารถพาเราเดินไปสู่โลกทัศน์ชุดใหม่ด้วยคำถาม หากพาเราแบกภาระอันหนักอึ้งด้วยการหลอกตัวเองให้หลงเชื่อว่าสังคมกำลังเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน และบรรดาเบี้ยทั้งหลายกำลังไปสู่จุดใหม่

มองจากจุดนี้ มองโลกให้มันมืดดำมากยิ่งขึ้นแม้แต่ "เบี้ย" เอง ก็ยังอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ โลกที่เบี้ยถูกทำให้คิดว่า แม้จะเป็นเบี้ยแต่ก็ยังมีพลัง...ผู้คนจึงยินยอมพร้อมใจกันเป็นเบี้ยด้วยเหตุผลต่างกัน  ทว่า พากันลืมไปว่า "เบี้ย" หรือ "ไพร่" นั้น ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปภัมภ์หรือโครงสร้างที่อยุติธรรมในบ้านเมืองนี้  การต่อสู้ของเบี้ยและ "การเป็นเบี้ย" จึงมีนัยของการยอมรับระบอบและต่อสู้ภายใต้ระบอบ ไม่เคยคิดถึงหรือคำนึงในสิ่งที่นอกเหนือจากนั้น

ดังนั้น ไม่ว่าจะ "เบี้ย" หรือ "ไพร่" ต่างก็ตกอยู่ในภาพลวงตาของผู้กระทำการภายใต้โครงสร้างทางการเมืองชุดเดิม  ไม่สามารถจินตนาการถึงตัวตนทางการเมืองอื่นๆ ได้

ในแวดวงวิชาการเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์บรรดา "ปัญญาชนสรณะ" กันอย่างเปิดเผยแล้ว ในวงการกวีเล่า ใครคือปัญญาชนและการวิพากษ์วิจารณ์ควรเริ่มที่ใด

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

T-BAN ออกแถลงการณ์จี้กระทรวงอุตฯ ยกเลิกนำเข้าแร่ใยหิน

Posted: 02 Oct 2013 01:18 AM PDT

เครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหินออกแถลงการณ์ยำจุดยืนเรียกร้องให้ ก.อุตสาหกรรมฯ ยกเลิกนำเข้าแร่ใยหิน ตามมติ ครม.12 เมษายน 2554  และมติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 เผยฮ่องกงแบนใยหินแล้ว ฝ่าฝืนปรับ 8 แสนบาท หรือ จำคุก 6 เดือน

2 ต.ค.56 สมบุญ สีคำดอกแค เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับที่ 2 ถึงรัฐมนตรีกระทรวงอุตสากรรม กรมโรงงานและกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง "การนำเรื่องแผนงดนำเข้าและเลิกผลิตภัณฑ์ใช้แร่ใยหินไครโซไทล เข้า คณะรัฐมนตรี(ครม.)"  เรียกร้องให้ให้กระทรวงอุตสาหกรรม ยึดมติ ครม.12 เมษายน 2554  และมติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่าย T-Ban ได้ยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการศึกษาของกระทรวงอุตสาหกรรม ในเรื่องการยกเลิกการนำเข้า ใช้ แร่ใยหิน โดยทางสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี  ได้ส่งหนังสือตอบที่ นร.0105.04/85612   ลงวันที่  25 ก.ค.56  ว่าสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีได้ประสานงานเพื่อส่งเรื่องให้กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบกรณีที่ท่านได้กราบเรียนนายกรัฐมนตรีดังกล่าว  เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่โดยขอให้ส่งผลให้ท่านทราบโดยตรง  พร้อมทั้งได้บันทึกข้อมูลรายละเอียดของเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้ในระบบสารสนเทศเรื่องราวร้องทุกข์ด้วยแล้ว  แต่ยังไม่มีความคือบหน้า รวมทั้งทางเครือข่ายฯ ทราบว่า กระทรวงอุตสาหกรรม อาจไม่มีการยกเลิกการนำเข้า ใช้แร่ใยหินกับผลิตภัณฑ์กระเบื้อง ทางเครือข่ายฯ จึงอแกแถลงการณ์เพื่อยำจุดยืนที่จะให้กระทรวงฯ ยึดมติ ครม.12 เมษายน 2554  และมติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3

สำหรับ มติสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 3 ในส่วนของมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินนั้น เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ครม. ได้ให้ความเห็นชอบต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้และยังเห็นชอบต่อแนวทางการห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์เฉพาะกรณี และห้ามผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ที่ใช้วัตถุดิบอื่นหรือใช้ผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนได้ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ

เผยฮ่องกงแบนใยหินแล้ว ฝ่าฝืนปรับ 8 แสนบาท หรือ จำคุก 6 เดือน

รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ประเทศฮ่องกง ได้ประกาศใช้กฎหมายการควบคุมมลพิษทางอากาศ 2013 เพื่อดำเนินการยกเลิกการใช้แร่ใยหินแอสเบสตอสทุกชนิด  ทั้งนี้ โฆษกกรมป้องกันสิ่งแวดล้อมแถลงว่า "กฎหมายที่ปรับปรุงนี้จะขยายขอบเขตการควบคุมการนำเข้าและการขายแร่ใยหิน จากเดิมที่เคยยกเลิก แร่ใยหินคลอซิโดไลท์ หรือ ใยหินสีฟ้าและ อโมไซท์ หรือ ใยหินสีน้ำตาล รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวกับการผลิตวัสดุที่ใช้ใยหินเหล่านี้ เป็น การยกเลิกการนำเข้า การส่งต่อทางเรือ การขาย การใช้ แร่ใยหินทุกชนิด และ วัสดุที่มีแร่ใยหินทุกชนิด( ซึ่งก็หมายรวมถึงแร่ใยหินสีขาว หรือ ไครโซไทล์) การบังคับใช้ตามกฎหมายนี้ยังมีผลต่อข้อบังคับในการควบคุมโรงงานและการอุตสาหกรรมที่ต้องไม่ใช้ใยหินอีกต่อไป"

ในฮ่องกงมีการใช้แร่ใยหินอย่างแพร่หลายทั้งในวัสดุก่อสร้าง วัสดุทนไฟ  ฉนวนกันความร้อนและการลดแรงเสียดทาน มาตั้งแต่ ปี 1975 เพราะมีความทนทานและยังทนความร้อนและสารเคมี อย่างไรก็ตามการที่ใยหินแอสเบสตอสเป็นสารก่อมะเร็งและการสูดอาณุภาคของใยหินจะทำให้เกิดโรคแอสเบสโตซิส โรคปอดและมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ดังนั้นการยกเลิกการใช้ใยหินทั้งหมดทุกชนิดจึงเป็นการขจัดความเสี่ยงต่อสุขภาพและเป็นการป้องกันสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้ กฎหมายยกเลิกการใช้ใยหินนี้ระบุโทษสูงสุดสำหรับการละเมิดไว้ถึง 8 แสนบาทและจำคุก 6เดือน  

รศ .ดร. ภก .วิทยา กุลสมบูรณ์ กล่าวว่า  "ถือได้ว่า ฮ่องกง เป็นอีกหนึ่งประเทศในเอเชีย ต่อจาก ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ บรูไน ไต้หวัน ที่ดำเนินการมาก่อนหน้า เช่นเดียวกับ ยุโรป ออสเตรเลีย ที่ยกเลิกมาก่อนหน้า ประเทศไทยเสียโอกาสลดความเสี่ยงจากใยหิน ทั้งที่มี มติ ครม. มาแล้ว แต่ยังหวังผลประโยชน์การค้าจากรัสเซีย มากกว่าชีวิต ผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภคไทย แทนที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำเรื่องนี้ในอาเซียน"

นอจากนี้  สมบุญ ยังได้ออกแถลงการณ์  เรียกร้องขอขอทราบความคืบหน้าของการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข โดยขอให้เปิดเผย รายงานผลการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน โดยคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน โดยเร็วที่สุด และแสดงความเป็นห่วงจากที่ได้รับทราบการที่นายกรัฐมนตรี จะได้ไปเยือนประเทศรัสเซีย และมีแนวโน้มที่จะมีการพูดคุยในเรื่องการให้มีการใช้ใยหินต่อไปในประเทศไทย  จึงมีความกังวลต่อการที่ประเทศไทยได้นำประเด็นเรื่องการค้ากับประเทศรัสเซีย มาประกอบในการพิจารณาที่จะยกเลิกการใช้ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำเอาประโยชน์ที่จะได้รับทางการค้า มาใช้ตัดสินโดยไม่คำนึงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน
 
สมบุญ  กล่าวว่า  มีคำถามมากมายสำหรับประเทศไทยที่มีการถ่วงเวลาการยกเลิกใยหิน และมีความพยายามที่จะหาทางสร้างหลักฐานหักล้างว่าไม่อันตราย  ล่าสุดทราบมาว่าจะกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการยกเลิกใยหินในสินค้าเพียงบางชนิด แต่ไม่ยอมยกเลิกในสินค้าที่มีการใช้ใยหินจำนวนมาก เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น ท่อน้ำซีเมนต์ เบรคและคลัทช์ เป็นต้น เชื่อว่าน่าจะเป็นแรงกดดันจากประเทศรัสเซีย ผ่านทางรัฐบาล และ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็จะเดินทางไปรัสเซีย จึงมีการแปรรูปอันตรายของใยหินไครโซไทล์ให้น้อยลงหรือไม่มีเลย โดยมีการดำเนินการเป็นขบวนการผ่านทั้งทางกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุข อย่างไม่คำนึงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน ถือเป็นอาชญากรรมเงียบที่น่าตกใจ หากรัฐบาลพลิก มติ ครม. เดิม ที่เคยให้มีการยกเลิกใยหิน ถือได้ว่าเป็นการทำลายเจตนารมย์ของฝ่ายต่างๆ ที่สนับสนุน ทั้งภาคประชาชน องค์กรผู้บริโภค สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ที่เคยส่งเรื่องการยกเลิกใยหินให้ ครม. แบน ไปตั้งแต่ เดือน เมษายน ปี 2554
 
"ขอสื่อสารถึง นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ท่านจะเลือกผลประโยชน์การค้ากับรัสเซีย หรือ ชีวิต คนไทย  ทำไมมาตรฐานชีวิตคนไทย ผู้ใช้แรงงาน ผู้บริโภค ต่ำกว่า ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ บรูไน และ ประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย ที่ยกเลิกใยหิน  หรือ ท่านคิดว่าคนไทยไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าประเทศอื่นๆเขาตื่นตัวกันเรื่องนี้อย่างไร ทั้งที่ท่านใช้เงินงบประมาณเดินทางไปเจรจากับประเทศต่างๆมาทั่วโลก แต่กลับไม่เอาเรื่องอันตรายของใยหินที่ประเทศต่างๆยกเลิกแล้วมาพิจารณา ปล่อยให้กระทรวงอุตสาหกรรมหาทางถ่วงเวลายื้อเรื่องไปเรื่อย" สมบุญ กล่าว
 
AttachmentSize
หนังสือแจ้งจากผู้อำนายการศูนย์บริการประชาชน.pdf2.05 MB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: กวีของนายผี และการเมืองของอัศนี พลจันทร

Posted: 02 Oct 2013 01:07 AM PDT

วิดีโอนำเสนอการอภิปรายของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ภาคประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานเสวนา "กวีของนายผี และการเมืองของอัศนี พลจันทร" จัดในวาระครบรอบชาตกาล 95 ปีของนายผี อัศนี พลจันทร พร้อมทั้งเปิดตัวโครงการ "อ่านนายผี" โดยสำนักพิมพ์อ่าน ร่วมกับ โครงการปริญญาโท ภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยงานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 56 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในการเสวนา "กวีของนายผี และการเมืองของอัศนี พลจันทร เมื่อ 18 ก.ย. 56 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

000

ตอนหนึ่งสมศักดิ์อภิปรายว่า นายผีได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ราวปี พ.ศ. 2491-2493 และ ปี พ.ศ. 2495-2496 เป็นช่วงที่นายผีทำงานพีคที่สุด คือเรื่อง "ความเปลี่ยนแปลง" ขณะที่เรื่อง "อีศาน" ที่ว่าดังที่สุดนั้นเขากลับไม่เห็นว่าเป็นงานที่พีค เพราะอ่านยังไงก็ไม่ลงรอย ยังด่านักการเมืองซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด ในขณะที่วิธีคิดเขาเปลี่ยนไปแล้ว แต่หากอ่านเรื่องความเปลี่ยนแปลง นายผีอธิบายสภาวะ  "กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา" ได้ดี

รุ่นนายผี นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) มาเป็น พคท. เยอะมากหรือไม่ก็เป็นแนวร่วม ตอนที่ พคท. ตัดสินใจสู้ด้วยอาวุธ ส่วนหนึ่งเพราะสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปราบปรามอย่างหนักด้วย แต่มันทำให้สถานการณ์ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง

นายผีช่วงพีคนั้นไปเมืองจีน ไปศึกษาลัทธิมาร์กซ์-เลนิน น่าเสียดายมากจาก พ.ศ.2495-2525 หรือช่วง 30 ปีนี้แทบไม่เห็นงานนายผีเลย นายผีคงมองเห็นตัวเขาเป็นนักปฏิวัติมากกว่ากวี  เอาเข้าจริงนายผียุ่งการเมืองในขบวนปฏิวัติมากกว่าจิตร ภูมิศักดิ์เยอะ และผลจากการเข้าไปยุ่งนี้ทำให้การต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพรรคมีผลกำหนดงานของเขา ในช่วงความขัดแย้งแนวทางของพรรค ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เสนอว่าต่อสู้ในชนบทไม่ได้ต้องต่อสู้ทางการเมือง หลายคนเห็นด้วยกับประเสริฐรวมทั้งนายผีด้วย แต่สุดท้าย พคท.ก็หันไปสู้ด้วยอาวุธ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีเอกสารของการโต้เถียงของกลุ่มฝ่ายซ้ายในเรื่องนี้แล้ว

เมื่อนายผีกลับมาในปี พ.ศ. 2500 ปี พ.ศ. 2504 ได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางในสมัขชา 5 ของ พคท. จากตรงนี้ถึง พ.ศ. 2520 นายผีมีบทบาทสูง อุดม ศรีสุวรรณ บอกว่านายผีไปเข้ากับพวกที่เชื่อในการปฏิวัติวัฒนธรรมและต้องการโค่นศูนย์การนำ หนังสือ "ดาวเหนือ" ออกมา 11 ฉบับแล้วหายไป พอเกิดกรณีพิพาทนายผีเป็น บก. ของหนังสือพิมพ์เล่มใหม่ชื่อ "ชาวคอมมิวนิสต์"  โดยเปิดฉากวิจารณ์สหายนำอย่างเผ็ดร้อน สรุปแล้วนายผีมีบทบาทเยอะมากในการผลิตเอกสารในการสู้กันในป่า แต่เราไม่เหลือหลักฐานอะไร ซึ่งการสู้กันนั้นมีผลสำคัญมากกับชีวิตเขา สุดท้ายกลุ่มนี้แพ้เพราะมีลักษณะซ้ายจัด พอแพ้ก็ไปจีน เวียดนาม แล้วไปลงเอยที่ลาว อย่างไรก็ตาม งานการเมืองนายผีมีลักษณะซ้ายมาก แต่หากเป็นเรื่องวรรณกรรมงานจะมีลักษณะผ่อนปรนมากกว่า

"เราจะเห็นว่า เรายังรู้จักนายผีน้อยในแง่งานของเขาจริงๆ แม้กระทั่งงานวรรณกรรมในป่า บทความในป่า 30 ปี หลังจาก พ.ศ. 2495 เราไม่เหลือเลยทั้งที่เขามีบทบาทสูง นายผีเป็นตัวอย่างให้เห็นเลยว่า พอมีปัญหาเรื่องการเมืองแล้วทำงานไม่ได้" สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลกล่าว

สำหรับรายละเอียดของการเสวนาสามารถติดตามได้ ที่นี่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง คดีโรงไฟฟ้าฟ้องหมิ่นประมาทเอ็นจีโอพลังงาน

Posted: 02 Oct 2013 12:32 AM PDT

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้อง 'วัชรี เผ่าเหลืองทอง' เอ็นจีโอด้านพลังงาน กรณีโรงไฟฟ้าฟ้องหมิ่นประมาทหลังวัชรีออกรายการคมชัดลึกวิจารณ์กระบวนการประมูล-อีไอเอโรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา 

2 ต.ค.56 ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ฟ้อง น.ส.วัชรี เผ่าเหลืองทอง เอ็นจีโอด้านพลังงาน ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา วันนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลย

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่นางสาววัชรี ให้สัมภาษณ์ออกอากาศในรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่น ชาแนล โดยมีจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีสถานการณ์ชาวบ้านบางคล้าชุมนุมปิดถนนเพื่อต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า โดยได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายพลังงาน การวางรูปแบบหลักเกณฑ์การเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการประมูล และกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)  จากนั้นทางบริษัทได้ฟ้องวัชรี เป็นจำเลยที่ 1 และจอมขวัญ เป็นจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 16 ธ.ค.53 ศาลมีคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ โดยวินิจฉัยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 คงเหลือจำเลยที่ 1 

ต่อมาวันที่ 20 ม.ค.55 ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องคดีนี้ โดยระบุว่าจำเลยแสดงความเห็นโดยสุจริตเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานรัฐที่กำกับกิจการพลังงานไฟฟ้าว่ากระบวนการประมูลเพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีความไม่โปร่งใส มีข้อสงสัย การกระทำของนางสาววัชรีเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่คนทั่วไปสามารถกระทำได้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ให้ประกันตัว 'เบนโตะ' หลังศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคดี 112 สั่งจำคุก 5 ปี

Posted: 02 Oct 2013 12:14 AM PDT

วันนี้ (2 ต.ค.56) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 914 ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี นพวรรณ (สงวนนามสกุล) ผู้ถูกกล่าวหาว่า ใช้นามแฝงว่า bento ซึ่งโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดประชาไท เมื่อ 15 ต.ค.51 (เว็บบอร์ดประชาไทปิดตัวลงเมื่อ ก.ค. 53) ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับศาลชั้นต้นที่ยกฟ้อง ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ขณะนี้ทนายจำเลยกำลังดำเนินการประกันตัว 

ล่าสุด เวลาประมาณ 17.20 น. ศาลมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยจำเลยใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาท ขณะที่ทนายจำเลยเตรียมยื่นฎีกาภายใน 30 วัน 

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุโดยสรุปว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2551 จำเลยได้พิมพ์ข้อความอันเป็นการดูหมิ่นเบื้องสูง แล้วนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท (www.prachatai.com) ให้ประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการเว็บไซต์ดังกล่าวได้อ่าน ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เบื้องสูงได้ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานที่เป็นไอพีแอดเดรส และเบอร์โทรศัพท์ สำหรับใช้ต่ออินเทอร์เน็ต ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลย
      
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่โจทก์ก็มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือ ไอซีที และ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรือ ปอท.เบิกความยืนยันว่า จากการตรวจสอบไอพีแอดเดรสของผู้ที่โพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ประชาไทและตรวจสอบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต พบว่าไอพีแอดเดรส ตรงกับ เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของจำเลย นอกจากนี้ตรวจสอบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของจำเลย พบว่า วันและเวลา ตรงกับการกระทำผิดในคดีนี้ ซึ่งผู้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะต้องมีรหัสผ่าน และใช้หมายเลขโทรศัพท์ ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเมื่อตรวจสอบพบว่าข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตดังกล่าวตรงกับจำเลย ที่สมัครสมาชิกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 และได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเรื่อยมา
      
อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบผู้ใช้งานในวันและเวลาขณะเกิดเหตุพบว่า มีผู้ใช้งานเพียงคนเดียว ซึ่งไอพีแอดเดรสของคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะไม่ซ้ำกันและมีเพียงไอพีแอดเดรสเดียวเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้
      
ไอพีแอดเดรส จึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ที่ทำให้ทราบ ชื่อผู้ใช้ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งตรงกับข้อมูลของจำเลย ทั้งนี้แม้ว่าข้อความที่โพสต์ลงบนเว็บไซต์ประชาไท จะโดนลบไปแล้ว แต่ข้อความที่โพสต์ดังกล่าวยังถูกเก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งพยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตรงไปตรงมา ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย อีกทั้งความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและความระมัดระวังในการตรวจสอบ จนทราบว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจึงจะดำเนินคดีตามกฎหมาย พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูงจริง
     
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าถูกบุคคลอื่นปลอมแปลงไอพีแอดเดรสนั้นเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า การปลอมแปลงไอพีแอดเดรส และการเจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้ไอพีแอดเดรสของจำเลยทำได้ยาก เพราะไอพีแอดเดรสของเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องไม่สามารถปลอมแปลงได้ และในการโพสต์ข้อความจำเป็นต้องใช้ชื่อและรหัสผ่านด้วย ซึ่งหากรหัสผ่านไม่ตรงกับข้อมูลของจำเลย ก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวด้วยตนเอง เป็นการกระทำผิดตามฟ้อง อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพรักของประชาชน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังบัญญัติให้ปวงชนชาวไทยต้องมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงสืบไป ผู้ใดจะมาล่วงละเมิดไม่ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความ ทำให้สถาบันเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เห็นควรให้ลงโทษจำเลยสถานหนักเพื่อไม่ให้บุคคลอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย
       
พิพากษากลับเป็นว่าจำเลยกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา14 ซึ่งความผิดเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิด ตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทลงโทษหนักสุด พิพากษาจำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี และให้ยึดเอกสารข้อความการกระทำผิด

อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการฟ้องตามความผิด ม.112 และ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และผู้ต้องหาต่อสู้คดีจนกระทั่งมีการตัดสินคดี โดยผู้ต้องหาถูกบุกค้นบ้านและจับกุมเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2552 และถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางราว 10 วันจึงได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดีด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 7 แสนบาท และต่อมา เมื่อวันที่ 31 ม.ค.54 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่ชัดเจน ยังมีเหตุอันควรสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

นอกจากนี้ คดีดังกล่าวถูกใช้อ้างอิงเป็นกระทงที่ 10 ในการฟ้องนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท และผู้ดูแลเว็บบอร์ด ตามความผิดมาตรา 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่จีรนุชถูกดำเนินคดี ประชาไทได้ตัดสินใจปิดบริการเว็บบอร์ดในเดือนกรกฎาคม ปี 2553

 

 

ที่มา บางส่วนจาก ผู้จัดการออนไลน์  และเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ไอลอว์

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไข-เพิ่มเติม เนื้อหาเมื่อเวลา 17.00 น. 2/10/56 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หอศิลป์อังกฤษทำเก๋ จัดรวมผลงานมุ่งสำรวจประวัติศาสตร์ 'ศิลปะที่ถูกโจมตี'

Posted: 01 Oct 2013 11:29 PM PDT

ในประวัติศาสตร์หลายศตวรรษที่ผ่านมา ผลงานศิลปะบางชิ้นถูกโจมตีหรือถูกทำให้เสียรูปเดิมด้วยสาเหตุทางศาสนา บ้างก็ด้วยความไม่พอใจทางการเมือง หรือบางครั้งก็กลายเป็นการแสดงแนวคิดขบถในเชิงศิลปะยุคใหม่ หอศิลป์เททในอังกฤษรวบรวมผลงานเหล่านี้เพื่อชวนสำรวจว่าเหตุใดถึงมีการโจมตีตัวผลงานเกิดขึ้น


ผลงาน L.H.O.O.Q. ของมาร์เซล ดูชองป์ (ที่มา Wikipedia)


1 ต.ค. 2013 - หอศิลป์เททในอังกฤษจะมีการจัดแสดงนิทรรศการ "ศิลปะที่ถูกโจมตี : ประวัติศาสตร์แนวคิดทำลายรูปเคารพของอังกฤษ" (Art under Attack: Histories of British Iconoclasm) ในวันที่ 2 ต.ค. ถึง 5 ม.ค. ปีหน้า ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของนิทรรศการศิลปะที่แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์การโจมตีตัวงานศิลปะในอังกฤษตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 มาจนถึงปัจจุบัน

เว็บไซต์ของหอศิลป์อังกฤษเปิดเผยว่านิทรรศการในครั้งนี้ต้องการสำรวจว่าทำไมรูปเคารพ สัญลักษณ์ และอนุสรณ์ต่างๆ ถึงถูกโจมตีหรือทำให้เสียรูปด้วยแรงจูงใจทางศาสนา การเมือง หรือทางสุนทรียศาสตร์ โดยมีการนำเสนอผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และวัสดุจดหมายเหตุ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยรวมถึงผลงานของศิลปินที่นำเสนอ "การทำลาย" ในแง่ของพลังสร้างสรรค์ทางศิลปะ เช่น ผลงานของ กุสตาฟ เมทซ์เจอร์ (ผู้เคยมีผลงานชุด "ศิลปะของการทำลายล้างโดยอัตโนมัติ" ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับการทำลายกีต้าร์หลังการแสดงสดของวงดนตรี The Who)

สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ได้นำเสนอตัวอย่างผลงาน 26 ชิ้นพร้อมคำวิจารณ์ของนักวิจารณ์ศิลปะ โจนาธาน โจนส์  ซึ่งมีตั้งแต่ผลงานรูปปั้นพระคริสต์ที่ถูกโจมตีในช่วงยุคปฏิรูปต้นศตวรรษที่ 15 ไปจนถึงภาพของผลงานภาพวาดของลีโอนาโด ดา วินชี ที่ถูกชายผู้หนึ่งใช้ปืนลูกซองยิง

งานศิลปะจำนวนมากถูกทำลายหรือทำให้เสียรูปเนื่องจากเหตุผลด้านศาสนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานที่มาจากยุคศตวรรษที่ 15 หรือก่อนหน้านั้น ขณะที่บางส่วนก็เป็นเรื่องแรงจูงใจทางการเมืองเช่นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่มีกระแสการประท้วงเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง (suffragettes) ที่มีการทำลายงานศิลปะในหอศิลป์แมนเชสเตอร์ปี 1913 ทำให้ทางหอศิลป์สั่งห้ามนำร่มและเครื่องประดับของสตรีที่อาจเป็นอันตรายเข้าไปในข้างใน

ตัวอย่างของงานศิลปะที่ถูกโจมตีด้วยแรงจูงใจเชิงสตรีนิยมยังมีอีกผลงานคือผลงานที่ชื่อ "เก้าอี้" (Chair) ของอัลเลน โจนส์ ซึ่งสร้างในปี 1969 เป็นงานที่มีท่าทีเชิง 'ชายเป็นใหญ่' ทำให้มีผู้ประท้วงสตรีนิยมไม่พอใจและมีการสาดน้ำยาขัดสีใส่ผลงานในปี 1986


ผลงาน "เก้าอี้" ของ อัลเลน โจนส์ (ที่มา Tate.org.uk)
 

บางครั้งประชาชนก็รู้สึกไม่พอใจที่ผลงานศิลปะ 'เล่นง่าย' เกินไปเช่นผลงานชื่อ "ความสมดุลหมายเลขแปด" (Equivalent VIII) ของคาร์ล อังเดร สร้างในปี 1966 ซึ่งเป็นการนำเอาก้อนอิฐฉนวนทนไฟ 120 ก้อนมาเรียงกัน และเมื่อหอศิลป์เทท ซื้อผลงานนี้ด้วยราคา 2,297 ปอนด์ ทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกถูกเย้ยหยันดูแคลน ทำให้ในปี 1976 มีผู้เข้าชมรายหนึ่งสาดสีย้อมผักสีน้ำเงินใส่ผลงาน ซึ่งสามารถล้างออกได้โดยง่าย เดอะการ์เดียน ระบุว่า หากมีการซื้อขายในทุกวันนี้ผลงานอิฐของอังเดรอาจจะมีราคาถึง 1 ล้านปอนด์

แต่บางคนก็มีการทำลายผลงานศิลปะอย่างไม่มีสาเหตุหรือไม่ก็มีแรงจูงใจลึกลับบางอย่างที่ไม่อาจเข้าใจได้ เช่นเมื่อเดือน ก.พ. ปีนี้ ผลงาน "เสรีภาพนำทางประชาชน" (Liberty Leading the People) ซึ่งจัดแสดงในลูฟว์ถูกผู้หญิงคนหนึ่งเขียนตัวอักษร AE911 ลงไปในภาพ ซึ่งมีผู้เชื่อว่าตัวอักษรดังกล่าวสื่อถึงการสมคบคิดเบื้องหลังเหตุการณ์โจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 9/11

อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่เป็นผลงานแบบที่แต่งเติมหรือแปลงโฉมผลงานดั้งเดิมด้วยเหตุผลทางสุนทรียศาสตร์หรือการเคลื่อนไหวทางแนวคิดศิลปะยุคใหม่ เช่น ผลงานชื่อ L.H.O.O.Q. ของมาร์เซล ดูชองป์ ซึ่งเป็นภาพโมนาลิซ่าเติมหนวด โดยดูชองป์ไม่ได้นำภาพต้นฉบับมาดัดแปลง แต่เป็นการแปลงจากภาพโมนาลิซ่าฉบับโปสการ์ด ขณะที่ศิลปินบางคน เช่น สองพี่น้อง เจคและดีโน แชปแมน เล่นแรงกว่านั้นด้วยการขีดเขียนภาพผลงานดั้งเดิมของฟรานซิสโก โกยา เพื่อวิจารณ์สงครามและการขโมยผลงานในแบบ 'เซอร์เรียล' ของพวกเขาเอง

แต่ไม่ใช่ว่าการกระทำเช่นนี้จะได้รับการยอมรับหรือแม้กระทั่งมองเป็นศิลปะเสมอไปเมื่อมีผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินชื่อวลาดิเมียร์ อูมาเนทส์ ใช้หมึกดำเขียนบนภาพที่ชื่อ "สีดำบนสีเลือดหมู" (Black on Maroon) ของมาร์ค รอธโก โดยอูมาเนทส์บอกกับนักข่าวว่ามันเป็นการเคลื่อนไหวทางศิลปะแนวเดียวกับดูชองป์แต่กลับถูกตัดสินให้จำคุก 2 ปี

 


เรียบเรียงจาก

Art under Attack: Histories of British Iconoclasm, Tate, 30-09-2013
http://www.tate.org.uk/about/press-office/press-releases/art-under-attack-histories-british-iconoclasm

Under the hammer: a history of attacks on art – interactive, The Guardian, 30-09-2013
http://www.theguardian.com/artanddesign/interactive/2013/sep/30/history-attacks-art-interactive-tate-britain

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น