ประชาไท | Prachatai3.info |
- ‘ประชา’ ร่วมถก ‘พีมูฟ’ สางปัญหาที่ดินคนจน
- มาลาลา ยูซาฟไซ ให้สัมภาษณ์ BBC เสนอแก้ปัญหาด้วยการเจรจากับกลุ่มตาลีบัน
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 1 - 7 ต.ค. 2556
- หลัง 14 ตุลา: ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิจารณ์ธิกานต์ ศรีนารา และอุเชนทร์ เชียงเสน
- “เขื่อนแม่วงก์” อย่าให้อ้อยเข้าปากช้าง
- 15 เรื่องเพื่อทำความรู้จักกับ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" หนึ่งในผู้เข้าสอบ 6 ตุลาคม 2519
- พธม. รำลึกครบรอบห้าปี เหตุการณ์ 7 ตุลา
- สปสช.ชี้แจงบริหารงบกองทุนปี 57 เผยงบเหมาจ่ายรายหัว 2,895 บ.ต่อประชากร
- แรงงานจัดขบวนรณรงค์ จี้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO 87, 98
- ‘สลัม 4 ภาค-พีมูฟ’ เดินสายยื่นข้อเรียกร้อง ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’
- เปิดตัว "โปสเตอร์สำหรับวันพรุ่ง" รณรงค์ต้านโทษประหารในไทย
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ: ทุนไทยหลัง 14 ตุลา
- ชวนอ่านผลศึกษา "การเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลของไทย"
- กวีประชาไท: ร่างที่ถูกลาก
- หลักการเหตุผลของ ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ฯ
‘ประชา’ ร่วมถก ‘พีมูฟ’ สางปัญหาที่ดินคนจน Posted: 07 Oct 2013 11:58 AM PDT 'พีมูฟ' ทวงถามความคืบหน้าหารแก้ปัญหาที่ดินทำกินถึงหน้าทำเนียบ 'ประชา' นั่งหัวโต๊ะถกคณะกรรมการแก้ปัญหาฯ รับข้อเสนอจัดสรรที่ดินเตรียมชง ครม. ภาพโดย: ฮาริ บัณฑิตา วันนี้ (7 ต.ค.56) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุม 101 ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายก ที่ประชุมมีการพิจารณาถึงผล รวมทั้ง ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรร ด้าน พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะรับข้อเสนอไปพิจารณาเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป ทั้งนี้ จะรับข้อเสนอให้มีการคุ้มครองพื้นที่ 58 ชุมชน กว่า 400 ครอบครัวระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา และจัดให้มีโฉนดชุมชน เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ นอกจากนี้ ข่าวสดรายงานว่า พล.ต.อ.ประชา นายสุภรณ์ และนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ที่ปรึกษา รมว.พม.ได้เข้าพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยระบุว่า หน่วยงานทั้งหลายได้ประชุมหาข้อสรุปร่วมกันได้ชัดเจนแล้วว่า ต้องแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของพีมูฟอย่างเร่งด่วนที่สุด ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งจะประชุมที่ พม.ในวันที่ 9 ต.ค.นี้ ก่อนประชุมคณะอนุกรรมการ ในวันที่ 11 ต.ค. จากนั้นภายใน 7 วัน จะส่งเรื่องให้กับ พล.ต.อ.ประชาดำเนินการต่อไป ร้องแก้กฎหมายสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของเกษตรพันธสัญญา นอกจากนี้ เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ซึ่งได้ร่วมเคลื่อนไหวเป็นส่วนหนึ่งของพีมูฟ ยังได้ยื่นหนังสือแก่ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 2 ฉบับ เรื่องขอให้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายและความไม่เป็นธรรมจากระบบการผลิตทางการเกษตรแบบพันธสัญญา กรณีที่เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเข้าร่วมทำการผลิต เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ และปลาในกระชัง กับบริษัทอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาความไม่เป็นธรรมดังกล่าวเกิดจากข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยฉบับแรก ข้อเรียกร้องคือ 1.ให้กระทรวงยุติธรรมแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ครอบคลุมถึงการทำสัญญาการผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญา พร้อมให้มีสัญญากลางในการผลิตแต่ละประเภท 2.เร่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางสร้างความเป็นธรรมแก่เกษตรในระบบพันธสัญญา ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน 3.ทบทวนและปรับปรุงคณะทำงานแก้ไขปัญหาเกษตรพันธสัญญา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยรวมคณะทำงานเป็นคณะเดียวในการทำหน้าที่ 3 ด้าน คือ การศึกษาความเสี่ยงและความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ การศึกษาหนี้สินเกษตรกรในระบบพันธสัญญา และการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาแนวทางเกษตรพันธสัญญาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม รวมทั้งเพิ่มผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาฯ 4.ให้กรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับกระทรวงการคลังจัดหางบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดตัวของโรงงานชำแหละไก่ของบริษัทสหฟาร์มโดยด่วน ฉบับที่ 2 เป็นของกลุ่มเกษตรกรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา กรณีบริษัทสหฟาร์ม ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น เพชรบูรณ์ ลพบุรี และพิจิตร ขณะนี้มีการรวบรวมรายชื่อได้ 107 ราย มูลค่าหนี้สินที่บริษัทค้างชำระรวมเป็นความเสียหาย 114,925,354 บาท ผลกระทบจากการที่บริษัทฯ ค้าชำระหนี้ติดต่อกันหลายงวด หรือชำระค่าสินค้าเพียงบางส่วน ทำให้เกษตรกรไม่มีเงินไปชำระหนี้เงินต้น หนี้ดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน หนี้ค่าไฟฟ้า และบางรายต้องไปกู้เงินนอกระบบเพื่อมาใช้หนี้ดอกเบี้ยสถาบันการเงินและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบแก้ปัญหาหนี้สิน จากการประกอบกิจการทางการเกษตรซึ่งเป็นต้นต่อของปัญหาโดยตรง มีเพียงคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เข้ามาช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีปัญหาหนี้นอกระบบ จึงขอให้ประธานคณะกรรมการฯ ช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมดังกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
มาลาลา ยูซาฟไซ ให้สัมภาษณ์ BBC เสนอแก้ปัญหาด้วยการเจรจากับกลุ่มตาลีบัน Posted: 07 Oct 2013 11:01 AM PDT
หญิงเยาวชนชาวปากีสถานผู้เคยถูกกลุ่มตาลีบันยิง ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว BBC เล่าถึงวันที่เกิดเหตุการณ์ ความปรารถนาที่จะทำให้ทุกคนได้รับการศึกษา และเสนอว่าควรใช้วิธีการเจรจากับกลุ่มตาลีบันเพื่อแก้ปัญหาและนำมาซึ่งสันติ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2013 สำนักข่าว BBC ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์มาลาลา ยูซาฟไซ เยาวชนชาวปากีสถานผู้ที่เคยถูกกลุ่มตาลีบันยิงเข้าที่ศีรษะจากการที่เธอเข้าร่วมเรียกร้องสิทธิด้านการศึกษาแก่สตรีในช่วงเดือน ต.ค. 2012 จนข่าวนี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ก่อนที่เธอจะได้รับการรักษาในอังกฤษและตอนนี้ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเบอร์มิ่งแฮม ในบทสัมภาษณ์ของ BBC ซึ่งถือเป็นบทสัมภาษณ์แบบลงรายละเอียดครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เธอถูกยิง มาลาลาเสนอว่าควรมีการเจรจาหารือกับกลุ่มตาลีบันเพื่อเป็นหนทางไปสู่สันติภาพ "วิธีการที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาและต่อต้านสงครามคือการใช้วิธีการเจรจา" มาลาลากล่าว "เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของฉัน แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และเป็นหน้าที่ของอเมริกา" ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมามีแผนการเจรจากับกลุ่มตาลีบันโดยจัดเวทีในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ แต่ทางการสหรัฐฯ และอัฟกานิสถานก็รู้สึกไม่พอใจกับการที่กลุ่มตาลีบันได้เปิดสำนักงานในกรุงโดฮา และต่อมามีการถอนสำนักงานซึ่งตั้งขึ้นเพียงไม่นานทำให้ไม่สามารถดำเนินการเจรจาต่อได้ มาลาลากล่าวอีกว่าฝ่ายตาลีบันควรเสนอสิ่งที่พวกเขาต้องการผ่านทางการเจรจา แทนการใข้ความรุนแรง "การสังหารผู้คน ทรมานผู้คน และเฆี่ยนตีผู้คน เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลาม พวกเขากล่าวอ้างอิสลามไปใช้ในทางที่ผิด" มาลาลากล่าว BBC เปิดเผยในบทสัมภาษณ์ว่าอิทธิพลของกลุ่มตาลีบันในปากีสถานเพิ่มมากขึ้นจากการแพร่กระจายของแนวคิดต่อต้านชาติตะวันตกหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 และการบุกโจมตีอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ ในปี 2007 มีกลุ่มอนุรักษ์นิยมเคร่งศาสนาพื้นที่หุบเขาประกาศว่าจะมีการลงโทษผู้ที่เบี่ยงเบนออกจากวิถีทางมุสลิมดั้งเดิม และในปี 2008 ผู้นำกลุ่มตาลีบันในพื้นที่ได้ประกาศให้ผู้หญิงทุกคนเลิกเข้ารับการศึกษา เป็นครั้งแรกที่มาลาลาได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่เธอถูกยิง เธอบอกว่าในวันนั้น ถนนที่รถโรงเรียนแล่นผ่านเป็นประจำดูเงียบผิดปกติ ต่อมารถที่เธอโดยสารก็ถูกคนโบกธงให้หยุด มีชายสองคนที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อนถามหาชื่อมาลาลา แต่อีกไม่กี่วินาทีถัดมาก็มีเสียงปืนดังขึ้นและเด็กที่นั่งข้างมาลาลาเห็นว่ามีเลือดไหลจากศีรษะของมาลาลา นอกจากนี้ยังมีเด็กหญิงอีก 4 คนโดนลูกหลงได้รับบาดเจ็บในวันนั้น "ปกติแล้วจะมีผู้คนมากมายรวมถึงพวกเด็กผู้ชาย พวกเขาจะยืนอยู่หน้าร้านขายของ แต่ในวันนั้นไม่มีใครเลย" มาลาลากล่าว กอร์ดอน บราวน์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านการศึกษาโลกกล่าวว่า กรณีของมาลาลาทำให้ผู้คนเข้าใจว่ามีอะไรบางอย่างผิดไปและควรจะต้องทำให้ถูกต้อง มาลาลาบอกว่าเธออยากกลับไปที่ประเทศบ้านเกิดแลเปานนักการเมืองเพื่อเปลี่ยนอนาคตของประเทศโดยทำให้การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในบทสัมภาษณ์ของ BBC กล่าวว่าการที่เธอเป็นที่สนใจอย่างมากโดยเฉพาะในโลกตะวันตก ทำให้การกลับประเทศอาจสร้างความยากลำบากต่อมาลาลาในด้านความคิดเห็นของคนในพื้นที่ กับเรื่องอันตรายที่เธอต้องเผชิญ เนื่องจากเธออาจถูกมองว่ากลายเป็นพวกเดียวกับชาติตะวันตก แต่สำหรับมาลาลาแล้วเธอบอกว่าเธอยอมรับคำวิจารณ์ได้เพราะทุกคนมีสิทธิในการเปิดเผยความรู้สึก และเรื่องการศึกษาสำหรับเธอแล้วไม่มีการแบ่งแยกพรมแดนเป็น 'โลกตะวันตก' หรือ 'โลกตะวันออก' "ฉันหวังว่าวันนั้นจะมาถึง วันที่ประชาชนชาวปากีสถานเป็นอิสระ พวกเขาจะได้รับสิทธิต่างๆ สันติภาพจะบังเกิด และทั้งเด็กหญิงและเด็กชายทุกคนจะได้ไปโรงเรียน" มาลาลากล่าว เรียบเรียงจาก Malala: We must talk to the Taliban to get peace, BBC, 06-10-2013 http://www.bbc.co.uk/news/world-24333273 Malala: The girl who was shot for going to school, Mishal Husain, BBC, 06-10-2013 http://wwwnews.live.bbc.co.uk/news/magazine-24379018 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 1 - 7 ต.ค. 2556 Posted: 07 Oct 2013 11:00 AM PDT กสร.ผุดสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯเดือนพฤศจิกายน ก.แรงงานเตรียมลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัย 19 จังหวัด กรมการจัดหางาน แก้ปัญหาแรงงานเก็บเบอรรี่ที่สวีเดน-ฟินแลนด์ พิษน้ำท่วมปิด 7 โรงงานใน 4 จว. รมว.คมนาคมสั่งสอบคลิปสาย 8 โต้เถียงผู้โดยสาร ตรวจเข้มสถานประกอบการใช้แรงงานเด็ก หาทางออกพนักงานสวนสัตว์ต้านการควบรวม สปส.เผยผลศึกษา 6 แนวทางเบื้องต้นแก้กองทุนชราภาพของประกันสังคมติดลบเร่งชงบอร์ด สปส.เสนอ ครม. กกจ.ชู 3 เรื่องเยียวยาแรงงานประสบปัญหาน้ำท่วม แรงงานร้องดีเอสไอถูกหลอกเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนแต่ไม่มีการจ้างงานจริง แรงงานบุกทำเนียบทวงถาม สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87-98
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หลัง 14 ตุลา: ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิจารณ์ธิกานต์ ศรีนารา และอุเชนทร์ เชียงเสน Posted: 07 Oct 2013 09:55 AM PDT เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมาในการจัดสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น ในช่วงเช้าตามที่ประชาไทนำเสนอการอภิปรายของ ธิกานต์ ศรีนารา หัวข้อ การหันเข้าไปหาความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมของปัญญาชนฝ่ายค้านไทยภายหลังความตกต่ำของ พคท. ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2524-2534 (ชมวิดีโอ) และ อุเชนทร์ เชียงเสน หัวข้อ "ประวัติศาสตร์ "การเมืองภาคประชาชน": ความคิดและปฏิบัติการของ "นักกิจกรรมทางการเมือง" ในปัจจุบัน" (ชมวิดีโอ) (อ่านข่าวย้อนหลัง) การวิจารณ์การนำเสนอของธิกานต์ ศรีนารา และอุเชนทร์ เชียงเสน โดยธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ในการสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" เมื่อ 5 ต.ค. 2556
หลังการนำเสนอดังกล่าว ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้วิจารณ์หลักได้วิจารณ์การนำเสนอว่า งานของธิกานต์ ทำให้เห็นแนวคิดฝ่ายซ้ายว่าจบลงที่แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมได้อย่างไร หากตอบในแง่ประวัติศาสตร์ สิ่งนี้ไม่แปลก เป็นไปได้และเกิดแทบทุกที่ เพราะความคิดปฏิวัติไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เป็นปฏิกริยาต่อความคิดก่อนหน้าที่ครอบงำอยู่และคนเริ่มตระหนักถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผล ความคิดปฏิวัติเกิดเฉพาะในยุโรปช่วงหลังยุคเรเนอซองส์ ศตวรรษที่ 14-15 แต่ในโลกตะวันออกไม่มีประวัติศาสตร์นี้ นี่เป็นเหตุว่าทำไมฝ่ายซ้ายเลื่อน ลด ไถล ออกจากความคิดก้าวหน้าได้ นั่นเพราะไม่มีกิ่งก้านหรือรากอันใหม่ทางความคิดมากเท่าในตะวันตก รากอันเดียวที่มีอยู่คือ ศาสนา ซึ่งมีความคิดรวบยอดและมีลักษณะทั่วไปสูงที่สุด พุทธเถรวาทยังผสานกับรัฐไทยแล้วสร้างเหตุผลอธิบายชีวิตปัจจุบันที่ปฏิเสธยาก ธเนศ ได้กล่าวถึงการนำเสนอของอุเชนทร์ต่อเนื่องไปด้วยว่า ส่วนกระบวนการต่อสู้ในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับยุค พคท. จะเห็นว่า กลุ่มเคลื่อนไหวรุ่นหลังไม่มีการกำหนด "เป้าหมาย" ของการเปลี่ยนแปลง ขณะที่รุ่นเก่าจะกำหนดให้ชัดเจนว่าเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงคืออะไรก่อน แล้วเครื่องมือ วิธีการต่างๆ จึงตามมา แต่รุ่นหลังไม่เอาทฤษฎีแบบ พคท. ชี้นำ มีทฤษฎีการนำแต่การต่อสู้แบบยืดหยุ่น ส่วนคำถามว่า พวกไม่นิยมเจ้ามาร่วมกับพันธมิตรได้อย่างไร หากจะตอบก็จะตอบว่า เพราะมันไปโยงกับเป้าหมายของการเคลื่อนไหว ในเมื่อกระบวนการรุ่นหลังไม่ได้มีเป้าหมายการปฏิวัติหรือเปลี่ยนโครงสร้างแบบพคท. ก็ไม่มีความจำเป็นต้องโยงกับศักดินา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ทางโครงสร้างในวิธีคิดแบบเก่า ในขณะที่การวิจารณ์ทุนนิยมยังใช้ได้ และใช้ได้มากเพราะทุนนิยขยายใหญ่ขึ้นมาก วิจารณ์อะไรไม่ได้ก็วิจารณ์ทุนนิยมไว้ก่อน แล้วสื่อก็จะรับกับประเด็นนี้ วาทกรรมเรื่องประชาธิปไตยคือเครื่องมือของรัฐและทุนเป็นสิ่งที่ถูกตลอด อย่างไรก็ตาม ตรรกะอันนี้วาดภาพของปีศาจที่น่ากลัวกว่าเดิมที่โอบล้อมประชาธิปไตย ทำให้ต้นประชาธิปไตยกลายเป็นผลไม้พิษ นับเป็นการตอกฝาโลงให้กับการยอมรับระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ในช่วงแลกเปลี่ยนโดยผู้ร่วมการสัมมนา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวด้วยว่า ที่อุเชนทร์นำเสนอว่า บางส่วนในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่พวกเชียร์สถาบัน แต่ปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ตรงนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การเชียร์ แต่อยู่ที่การไม่รับรู้ ไม่ตระหนักถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ของเหล่าปัญญาชนไทย ซึ่งสองอย่างนี้ต่างกัน และปัญหาของสถาบันก็ยังอยู่กับเราจนปัจจุบันซึ่งจะว่าไปก็เป็นช่วงสำคัญที่สุด เพราะจะมีการเปลี่ยนผ่านในไม่นานนี้ และน่าสนใจว่า ขณะที่นักวิชาการเงียบ แล้วชาวบ้านตื่นตัวมากในช่วงปี 2551 - 2554 มาถึงวันนี้เมื่อทักษิณอิงกับกระแสเปลี่ยนรัชกาลเต็มที่ มวลชนส่วนใหญ่ซึ่งสนับสนุนทักษิณและเคยตื่นตัวกับการวิพากษ์วิจารณ์จะตีกลับเป็นกระแสปกป้องสถาบันอย่างสูงหรือไม่ สำหรับการสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
“เขื่อนแม่วงก์” อย่าให้อ้อยเข้าปากช้าง Posted: 07 Oct 2013 09:50 AM PDT ในที่สุดเขื่อนแม่วงก์ก็ได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ หลังจากคุณศศิน เฉลิมลาภ นักอนุรักษ์ ศิลปิน กวี ชาวบ้าน นิสิตนักศึกษา และ 'พลเมืองที่มีสำนึก' เดินทางไกล และออกมาร่วมกันแสดงพลังไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพิจารณาโครงการนี้ ผมเห็นว่ากระแสคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ย่อมส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาล ไม่มากก็น้อย เพราะหลังจากวันสุดท้ายของการเดินแล้ว การเคลื่อนไหวก็ถูกตอบโต้ในหลายระดับด้วยกัน ในระดับพื้นที่ เห็นได้ชัดเจนว่าฝ่ายรัฐใช้วิธีพิเศษซึ่งรัฐทุกยุคสมัยมักจะเลือกใช้ นั่นก็คือ การระดมมวลชนแสดงพลังสนับสนุนรัฐและโจมตีฝ่ายคัดค้านผ่านกลุ่มที่เรียกว่า 'บรรดาอำนาจท้องถิ่น' ในระดับสาธารณะ ปรากฏว่าเกิดการโต้ตอบจากนักเขียน นักคิด คอลัมนิสต์ บางคนถึงกับกล่าวว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นความ "ฟิน" ของคนชั้นกลาง ขณะที่ผมเห็นว่าปรากฎการณ์นี้เป็นปรากฎการณ์แรกๆ ของสังคมไทยที่ฝ่ายที่เรียกตนเองว่าก้าวหน้า (ไม่ว่าจะเป็นสื่อ นักวิชาการ นักเขียน ฯลฯ) ที่เขียนบทความหรือแสดงความเห็นโดยมุ่งไปที่การวิพากษ์ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมมากที่สุด ขณะที่แต่เดิมการเขียนในทำนองนี้มักจะเกิดจากฝ่ายขวาหรือรัฐหรือกลุ่มที่เสียประโยชน์ ผมจึงเห็นว่ากระแสตอบโต้การเคลื่อนไหวนี้เท่ากับการตกเป็น 'แนวร่วมมุมกลับ' ไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้คิดแค่ว่าการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนแม่วงก์เกิดจากกระแสคิดสิ่งแวดล้อมนิยมที่ข้ามพ้นเรื่องของชนชั้นเท่านั้น แต่ประเด็นเขื่อนแม่วงก์ได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะไปแล้ว การเป็นประเด็นสาธารณะนี้ไม่ค่อยปรากฏนักในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา นับแต่สังคมไทยเกิดความขัดแย้งแบ่งฝักฝ่ายแบ่งสีเสื้อ ขณะที่การเคลื่อนไหวเหล่านั้นได้ไปกดทับการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือปัญหารากหญ้าของชาวบ้านก็ตาม ดังนั้น การที่มีผู้คนจำนวนมากเข้าแสดงพลังสนับสนุนการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาเป็น 'พลเมืองที่มีสำนึก' ที่ข้ามพ้นการแบ่งสี ในขณะที่บริบททางการเมืองเริ่มคลี่คลาย เปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มอื่นได้มีที่ยืนในพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง ผมคิดว่าประเด็นนี้เองที่ทำให้คนบางกลุ่มที่มีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลนี้หวั่นไหว และพยายามทำลายความชอบธรรมของฝ่ายคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ โดยเฉพาะการชี้ว่าการเคลื่อนไหวนี้เป็นความ "ฟิน" ของชนชั้นกลาง ซึ่งข้อหานี้คล้ายๆ กับการที่สื่อบางกลุ่มกล่าวหาคนที่เคลื่อนไหวเรื่องน้ำมันของ ปตท.รั่วลงทะเลว่า "ดราม่า" ซึ่งเป็นการเบี่ยงประเด็นไปจากปัญหาหลัก และทำให้ต้นตอของปัญหาไม่ถูกกล่าวถึง ความจริงแล้ว ในภาวะอย่างนี้ ผมคิดว่าฝ่ายต่างๆ ควรจะตั้งคำถามต่อกระบวนการผลักดันเขื่อนของรัฐที่ไม่มีความชอบธรรมมากกว่า โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น คือ ประเด็นแรก การตั้งคำถามต่อการระดมบรรดาอำนาจท้องถิ่นเพื่อมาเชียร์เขื่อน ผมจำเป็นต้องเน้นประเด็นนี้อีกครั้ง เพราะการเคลื่อนไหวของบรรดาอำนาจท้องถิ่นไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นที่นี่ที่เดียว แต่เกิดขึ้นในหลายกรณี และกลุ่มเหล่านี้เองที่ไปกดทับเสียงของคนในชนบทที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน ในกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวผลักดันเขื่อนแห่งนี้คือบรรดาอำนาจท้องถิ่น ตั้งแต่จังหวัดแพร่ลงมาจนถึงพิษณุโลก และการเคลื่อนไหวก็มีทั้งการปิดล้อมชาวสะเอียบแทบทุกด้าน โดยเฉพาะการปิดล้อมข้อมูลข่าวสาร การใช้พลังเข้ากดดัน การอ้างความชอบธรรมว่าคนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ ฯลฯ ขณะที่กรณีของเคลื่อนแม่วงก์ก็คล้ายกัน เพราะเขื่อนแห่งนี้เป็นที่รู้กันว่านักการเมืองตระกูลหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ผลักดันมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ก็อ้างเรื่องภัยแล้ง และตอนนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นเรื่องการป้องกันน้ำท่วม และในการเคลื่อนไหวหลังสุดเราก็ยิ่งเห็นได้ชัดถึงบทบาทบรรดาอำนาจท้องถิ่นเหล่านี้ไม่ได้ต่อสู้ด้วยเหตุด้วยผล แต่อาศัย 'อิทธิพล' เข้าผลักดัน บทบาทของบรรดานักการเมืองท้องถิ่น จึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นปัญหาของการพัฒนาประชาธิปไยที่สังคมไทยจะต้องตั้งคำถามเพื่อที่จะทลายให้ได้ ประเด็นที่สอง ที่มาของโครงการเขื่อนแห่งนี้ แต่เดิมเป็นโครงการอิสระ (stand alone project) โดยวัตถุประสงค์เพื่อการชลประทาน กลับกลายเป็นหนึ่งในหลายสิบเขื่อนภายใต้โครงการเงินกู้เพื่อป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท ความไม่ชอบมาพากลนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ประเด็นที่สาม เหตุใดรัฐบาลจึงได้อนุติงบประมาณ 13,000 ล้านบาทในการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้โดยไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญํติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การกระทำดังกล่วเราจะพิจารณามันอย่างไร ประเด็นที่สี่ จะอธิบายอย่างไรในกรณีของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่ฝ่ายคัดค้านเขื่อนได้อุตส่าห์ไปหาข้อมูลมาโต้แย้ง แต่แทนที่คนในรัฐบาลจะรับฟังกลับจะยกเลิกรายงานนี้ และประกาศจะทำรายงานขึ้นมาใหม่เพื่อให้รายงานผ่านให้ได้ โดยส่วนตัว ผมไม่เชื่อรายงานเหล่านี้หรอกครับเพราะทำโดย นักวิชาการเครื่องซักผ้า แต่การที่กลุ่มคนที่คัดค้านเขื่อนแม่วงก์มองว่านี้เป็นเครื่องมือที่จะตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมาย ผมจึงคิดว่าเราต้องรับฟัง เพราะมิฉะนั้นแล้วเขื่อนแม่วงก์ก็จะซ้ำรอยกับเขื่อนในอดีต สำหรับผมแล้ว ผมเห็นว่ายุคสมัยของการสร้างเขื่อน ควรสิ้นสุดลงได้แล้ว เพราะประวัติศาสตร์ของการสร้างเขื่อนของรัฐคือประวัติศาสตร์ของการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม โดยไม่มีเหตุผลใดๆ รองรับ นอกเหนือจากความคิดหรืออุดมการณ์ที่เชื่อว่า 'การสร้างเขื่อนคือการพัฒนา' ขณะที่ในความเป็นจริงเขื่อนล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในแทบทุกมิติ ยกตัวอย่างในประเด็นเศรษฐศาสตร์ที่เป็นหัวใจของการตัดสินใจของรัฐในอดีต ก็จะเห็นว่าเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมากขาดทุนตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ เขื่อนศรีนครินทร์ ขออนุมัติ 1,800 ล้านบาท แต่สร้างจริง 4,623 ล้านบาท,เขื่อนเขาแหลมขออนุมัติ 7,711ล้านบาท แต่สร้างจริง 9,100 ล้านบาท , เขื่อนบางลาง ขออนุมัติ 1,560 ล้านบาท แต่สร้างจริง 2,729.2 ล้านบาท หรือกรณีเขื่อนปากมูล ที่ขออนุมัติ 3,880 แต่สร้างจริง 6,600 ล้านบาท ขณะที่ผลกระทบทางสังคม เห็นได้ชัดเจนว่ายังไม่มีชาวบ้านที่ถูกอพยพจากเขื่อนแห่งไหนในประเทศไทยที่ได้รับการดูแลและฟื้นฟูชุมชนหลังจากเป็น 'คนหลังเขา' คำตอบก็จะคล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ เขื่อนได้สร้างความทุกข์ให้กับพวกเขาจนสุดจะเยียวยา ซึ่งผมอยากเรียกมันว่าเป็น ความทุกเชิงสังคมที่เกิดจากบาดแผลของการพัฒนา ส่วนผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผมอยากยกกรณีของเขื่อนปากมูลที่สร้างในยุคเผด็จการทหาร รสช. มาชี้ให้เห็นครับ เขื่อนแห่งนี้ถูกสร้างโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน ไม่มีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อสร้างเสร็จมันได้ปิดตายลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูลทั้งลุ่มน้ำ และทำให้เกิดภัยพิบัติตามมา นั่นคือแม่มูลวิบัติ โดยชาวปากมูลต้องสูญเสียอาชีพประมงตลอดกาล ขณะที่ผลประโยชน์ทางด้านชลประทานเท่ากับศูนย์ ส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าก็กะปริดกะปรอยเพราะเดินเครื่องได้แค่ 40 เมกะวัตต์จากการผลิตติดตั้ 136 เมกะวัตต์ ดังนั้นไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหน เขื่อนขนาดใหญ่จึงได้ ไม่คุ้มเสีย ขณะที่ประชาชนต้องแบกรับภาระ ผมจึงเห็นว่าในขณะนี้ สังคมไทยต้องหยุดเขื่อนแม่วงก์ไว้ก่อนครับ อย่าให้อ้อยเข้าปากช้าง เพราะหากเข้าไปแล้ว ยากที่จะดึงออกมาได้ และนั่นอาจจะทำให้เขื่อนแห่งนี้ สร้างหายนะเหมือนกับเขื่อนหลายแห่งที่ผ่านมา
เผยแพร่ครั้งแรกใน: เนชั่น สุดสัปดาห์ 4 ตุลาคม 2556
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
15 เรื่องเพื่อทำความรู้จักกับ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" หนึ่งในผู้เข้าสอบ 6 ตุลาคม 2519 Posted: 07 Oct 2013 08:58 AM PDT
(1) จารุพงษ์ ทองสินธุ์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ เลขทะเบียน 189342 มีชื่อเล่นว่าเกี๊ยะ เป็นชาวพระแสง จ.สุราษฎร์ธานี (2) จารุพงษ์จบชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนมัธยมสุราษฎร์ธานี และมัธยมปลายจากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ในปี พ.ศ. 2517 (3) ภาพคุ้นตาที่เพื่อนๆเห็นเป็นประจำของจารุพงษ์คือเขามักจะวิ่งไปวิ่งมาระหว่างตึกอมธ.กับพรรคยูงทองที่ตึกโดม (4) จารุพงษ์เป็นคนชอบเตะฟุตบอล ยามเย็นถ้าว่างเขามักจะชวนเพื่อนๆไปเตะฟุตบอลเสมอ (5) ฉายาของจารุพงษ์ในหมู่เพื่อนคือ "จา สิบล้อ" เพราะเขาไม่ท้อถอยที่จะหาเหตุผลข้อมูลมาสนับสนุนความคิดของเขา จนกระทั่งเพื่อนๆเองก็อดเห็นด้วยไม่ได้ (6) จารุพงษ์ชอบวาดการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ เขามักวาดการ์ตูนเป็นเรื่องสั้นให้เพื่อนๆน้องๆอ่านเสมอ (7) ด้วยความที่เป็นนักกิจกรรม จารุพงษ์กับเพื่อนๆในกลุ่มจึงอ่านหนังสือด้วยวิธีการแบ่งกันคนละวิชา แล้วคนที่อ่านวิชาใดก็เป็นคนรับหน้าที่ติววิชานั้นให้คนอื่นๆในกลุ่ม (8) อาหารจานโปรดของจารุพงษ์ที่ธรรมศาสตร์ คือ "หอยทอด ท่าพระจันทร์" (9) ในวันที่ 27 กันยายน 2519 จารุพงษ์บอกกับแม่ว่าเขามีสอบในวันที่ 6 ตุลาคม เขาจะไปสอบและจะกลับบ้านในวันที่ 11 ตุลาคม แม่ลิ้มและพ่อจินดา ทองสินธุ์จึงนั่งรถไฟออกจากกรุงเทพในวันนั้น โดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นคือครั้งสุดท้ายที่พวกเขาจะได้เห็นหน้าลูกของตนเอง (10) ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ขณะที่นักศึกษากำลังถูกล้อมปราบและสังหารด้วยอาวุธสงครามอย่างโหดร้ายทารุณ ที่ตึกกิจกรรมนักศึกษาหลายคนยังไม่ได้หลบหนี จารุพงษ์เป็นคนคอยวิ่งขึ้นลงไล่ให้เพื่อนๆรีบหนีไปให้หมด ระหว่างที่เพื่อนๆทะยอยลงจากตึก จารุพงษ์จะเป็นคนที่คอยยืนคุ้มกันให้และหลังจากที่แน่ใจว่าไม่มีใครหลงเหลืออยู่แล้ว เขาจึงวิ่งไปทางตึกคณะ นิติศาสตร์เพื่อที่จะไปลำเลียงผู้บาดเจ็บที่จมอยู่ในกองเลือดออกมา (11) แต่หลังจากไล่เพื่อนๆออกจากตึกกิจกรรมในช่วงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อนๆของเขาก็ไม่มีใครพบเห็นจารุพงษ์อีกเลย (12) หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เพื่อนๆพบเห็นเขาอีกครั้งในภาพที่ลงอยู่บนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ เป็นรูปของเขากำลังนอนหลับตาอยู่บนสนามฟุตบอลโดยมีชายไทยใช้ผ้าที่ฟั่นเป็นเกลียวรัดคอและลากไปมาในสนามบอลที่เขามักชวนเพื่อนไปเตะบอลบ่อยๆ (13) แม่ลิ้มและพ่อจินดา ทองสินธุ์ ไม่ทราบข่าวการเสียชีวิตของลูกชายในวันนั้น จึงได้ออกตามหาลูกมาตลอดหลายสิบปี จนกระทั่งในปี 2539 เมื่อมีการชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 เพื่อนๆของเขาได้เดินทางไปหาแม่ลิ้มและพ่อจินดาเพื่อแจ้งข่าว จึงเป็นการสิ้นสุดการตามหาลูกชายที่ยาวนาน 20 ปี (14) ในปี 2539 เพื่อนๆของจารุพงษ์ได้ร่วมกันปรับปรุงห้องประชุมในตึกกิจกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกเขาว่า "ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์" ห้องนี้มีชื่อห้องเป็นตัวอักษรสีทอง หันหน้าเข้าหาสนามฟุตบอลที่เขาเสียชีวิต (15) ในปี 2556 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการปรับปรุงตึกกิจกรรมที่ท่าพระจันทร์ ป้ายชื่อสีทองของเขาถูกถอดออกไประหว่างการปรับปรุง เมื่อเสร็จสิ้นการปรับปรุงตึก อธิการบดีได้มาทำพิธีเปิดตึกอย่างเงียบๆโดยป้ายชื่อจารุพงษ์ได้หายไปแล้ว เหลือแต่ความเมินเฉยของผู้บริหารที่ยังคงเงียบงันต่อไป
ที่มา: แฟนเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พธม. รำลึกครบรอบห้าปี เหตุการณ์ 7 ตุลา Posted: 07 Oct 2013 07:50 AM PDT กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยจำลอง พิภพ สนธิ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมพธม. เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 51 บริเวณแยกมิสกวันและบ้านเจ้าพระยา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า บริเวณแยกมิสกวัน ด้านข้างวังปารุสก์ในช่วงเช้า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำโดยพล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เเละนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ได้นำมวลชนกลุ่มพันธมิตรฯร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 และผู้ที่เสียชีวิตระหว่างการชุมนุม 193 วัน โดยช่วงเช้าเวลา 06.30 น. ได้มีการตักบาตรพระป่าจำนวน 87 รูป ตามด้วยถวายภัตตาหาร และถวายสังฆทานในเวลา 09.00 น. โดยมีกลุ่มพันธมิตรฯ เดินทางมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามกิจกรรมหลังจากการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตแล้ว กลุ่มพันธมิตรฯได้ย้ายกิจกรรมมาจัดที่บ้านเจ้าพระยา ในช่วงเวลา 09.30-22.00 น. โดยเป็นการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การเสวนา การปราศรัย และการแสดงดนตรีจากศิลปิน โดยจะมีการถ่ายทอดสดทาง ASTV ตลอดงาน สำหรับผู้เสียชีวิตระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรฯ 11 ราย ดังนี้ 1.น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ถูกระเบิดแก๊สน้ำตาที่หน้าอก บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เวลาประมาณ 16.00 น 2.พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี ถูกระเบิดในรถยนต์หน้าพรรคชาติไทย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เวลาประมาณ 15.00 น. 3.นายสมเลิศ เกษมสุขปราการ หัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551 4.นายสมชาย ศรีประจันต์ ถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยตำรวจ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2551 5.นายเจนกิจ กลัดสาคร ถูกระเบิดที่ศีรษะ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2551 หน้าเวทีในทำเนียบรัฐบาล 6.นายยุทธพงษ์ เสมอภาพ ถูกระเบิดที่ศีรษะ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2551 ที่บริเวณสี่แยกมิสกวัน 7.นายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา ถูกฟันและยิงจนเสียชีวิต ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2551 8.น.ส.กมลวรรณ หมื่นหนู ถูกระเบิดที่ศีรษะ หน้าเวทีในทำเนียบรัฐบาล วันที่ 29 พ.ย. 2551 9.นายรณชัย ไชยศรี ถูกระเบิดเสียชีวิตที่ดอนเมือง เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2551 10.น.ส.ศศิธร เชยโสภณ ประสบอุบัติเหตุในขณะที่ขนย้ายออกจากทำเนียบรัฐบาล กลางคืนวันที่ 2 ธ.ค. 2551 เสียชีวิตวันที่ 6 ธ.ค. 2551 11.นายเสถียร ทับมะลิผล ถูกสะเก็ดระเบิดที่บริเวณศีรษะซ้ายอาการโคม่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2551 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2555 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สปสช.ชี้แจงบริหารงบกองทุนปี 57 เผยงบเหมาจ่ายรายหัว 2,895 บ.ต่อประชากร Posted: 07 Oct 2013 07:41 AM PDT สปสช.ชี้แจงการบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพปี 57 เผยได้รับงบรายหัว 2,895.09 บาทต่อประชากร มีงบรายการใหม่เพิ่มจากปี 56 คือ งบเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับหน่วยบริการพื้นที่เสี่ยงภัยและทุรกันดาร 900 ล้านบาท และงบค่าตอบแทนส่วนเพิ่มสธ.3,000 ล้านบาท สปสช.ชี้แจงการบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพปี 57 เผยได้รับงบรายหัว 2,895.09 บาทต่อประชากร มีงบรายการใหม่เพิ่มจากปี 56 คือ งบเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับหน่วยบริการพื้นที่เสี่ยงภัยและทุรกันดาร 900 ล้านบาท และงบค่าตอบแทนส่วนเพิ่มสธ.3,000 ล้านบาท ยึดแนวทางการจัดสรรโดยคำนึงถึงความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชน ประสิทธิผลและคุณภาพของบริการ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารค่าใช้จ่าย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2557 พร้อมทั้งบรรยายพิเศษในหัวข้ออนาคตระบบสุขภาพรองรับทุกกลุ่มวัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาล ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีนโยบายสำคัญเร่งด่วนพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และตลอดเวลาเกือบ 2 ปีของรัฐบาล หัวใจสำคัญที่รัฐบาลชุดนี้มุ่งหวังให้เกิดความสำเร็จ คือ การสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะตามกลุ่มอายุ คือ เด็ก สตรี คนชรา สำหรับหน่วยบริการสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ให้บริการต่างๆ ขอเน้นว่าจะต้องใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความตั้งใจของ นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพ ให้ในระดับเขตมีการจัดบริการครบถ้วนทุกระดับบริการ มีระบบการส่งต่อที่ดี ประชาชนเข้าถึงบริการใกล้บ้าน ลดการใช้บริการนอกเขต ในส่วนการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เราต้องการเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเช่นกัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข และสปสช. ที่ต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิดทุกระดับ ช่วยแก้ปัญหา และติดตามการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สนับสนุน รพ.สต.จัดบริการให้ประชาชนอย่างเพียงพอ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง กล่าวในการบรรยายเรื่องการคลังสาธารณสุขเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 20 ของประชากร ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณในระบบสุขภาพเพิ่มมากขึ้นในการดูแล ดังนั้นการวางแผนการจัดสรรงบประมาณจึงต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ ซึ่งต้องทำทั้งการปรับประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข และการปรับโครงสร้างการทำงาน ที่ผ่านมาระบบการเงินการคลังของสปสช.ทำถูกต้องแล้ว ในการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีละกว่าแสนล้านบาท ดังนั้นการพุดคุยกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจึงมีความจำเป็น ทั้งนี้การเจรจาระหว่างสธ.และสปสช.ในระยะแรกอาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่หากทุกฝ่ายยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทุกอย่างก็จะเดินหน้าไปได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2557 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับงบประมาณดังรายการต่อไปนี้ 1.งบเหมาจ่ายรายหัว ได้รับ 2,895.09 บาทต่อประชากร เพิ่มขึ้น 139.49 บาทจากปี 2556 ที่ได้รับ2,755.60 บาท สำหรับประชากร 48 ล้านคน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 141,430.924 ล้านบาท 2.งบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 2,946.997 ล้านบาท 3.งบบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 5,178.804 ล้านบาท 4.งบบริการป้องกันควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง 801.240 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นงบตามรายการเดิมของปี 2556 ส่วนในปี 2557 งบที่ได้เพิ่มเติมคือ งบค่าบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยบริการ 900 ล้านบาท และงบค่าตอบแทนส่วนเพิ่มแทนประกาศกระทรวงสธ.ฉบับ 4,6,7 ทั้งในและนอกระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3,000 ล้านบาท นายแพทย์วินัย กล่าวต่อว่า ในการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการนั้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยึดหลักการความเป็นธรรมตาม Health Need หรือความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนและพื้นที่ดำเนินการ ประสิทธิผลและคุณภาพของผลงานบริการสาธารณสุข การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการร่วมดำเนินงานหลักประกันสุขภาพและการบริการสาธารณสุข ประสิทธิภาพการบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข โดยจัดสรร 2 ส่วนดังนี้ 1.งบเหมาจ่ายรายหัว 2,895.09 บาทต่อประชากร แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก 1,056.96 บาท ผู้ป่วยใน 1,027.94 บาท บริการเฉพาะ 271.33 บาท สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค 383.61 บาท ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ 14.95 บาท บริการแพทย์แผนไทย8.19 บาท ค่าเสื่อม 128.69 บาท เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการตามม.41 จำนวน 3.32 บาท และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการ 0.10 บาท 2.ในส่วนของงบค่าบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยบริการ 900 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการใหม่ในปี 2557 นั้น เป็นงบสำหรับหน่วยบริการที่จำเป็นต้องให้บริการในพื้นที่กันดารและพื้นที่เสี่ยงภัย ขณะที่งบค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ให้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 2,000 ล้านบาท จ่ายเป็นค่าตอบแทนบุคลากรแบบเหมาจ่าย และ 1,000 ล้านบาท จ่ายเป็นค่าตอบแทนบุคลากรตามผลการปฏิบัติงาน โดยสปสช.และ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการบริหารจัดการ โดยการมีส่วนร่วมและเป็นที่ยอมรับจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แรงงานจัดขบวนรณรงค์ จี้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO 87, 98 Posted: 07 Oct 2013 07:20 AM PDT
(7 ต.ค.56) เนื่องในโอกาสวันการทำงานที่มีคุณค่าสากล (World Decent Work Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ต.ค.ของทุกปี เวลา 10.00 น. กลุ่มผู้ใช้แรงงานจากหลายภาคส่วน อาทิ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ร่วมด้วยนักศึกษากลุ่มแนวร่วมลูกหลานเกษตรกร ฯลฯ ซึ่งรวมตัวกันที่บริเวณหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเคลื่อนขบวนไปปักหลักที่บริเวณประตู 5 หน้าอาคารรัฐสภา โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลให้ยอมรับสัตยาบันต่ออนุสัญญาของ ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องของเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว กับฉบับที่ 98 โดยขอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนำเรื่องการให้สัตยาบันทั้งสองฉบับเข้าพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว โดยกำหนดกรอบเวลา กระบวนการ และขั้นตอนที่รัฐบาลจะดำเนินการให้สัตยาบันให้ชัดเจน โดยขอให้กระบวนการทั้งหมดแล้วเสร็จก่อนวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ทั้งนี้ ขอให้นายกฯ และรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบให้คำตอบอย่างเป็นรูปธรรมกับคณะผู้แทนของคณะทำงานที่เข้าพบและรับฟังคำตอบที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 7 ต.ค. 2556 นี้ก่อนเวลา 11.00น. นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ให้สัมภาษณ์ว่าหากรัฐบาลไม่ออกมาตอบรับกับข้อเรียกร้องดังกล่าว ก็พร้อมจะปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ ซึ่งไทยเองในฐานะที่เป็นหนึ่งใน 45 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง ILO ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2462 แต่กลับไม่ยอมรับอนุสัญญาทั้งสองฉบับนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง นายชาลีชี้แจงว่า แม้ว่า ประเทศไทยจะออกกฏหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานคือ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองแรงงานจากทั่วประเทศได้ ยิ่งกว่านั้น พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์เองกลับเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เกิดการตั้งและรวมกลุ่มของสหภาพแรงงานได้อย่างเสรี ทั้งที่ควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน นายชาลี กล่าวถึงกระบวนการว่า หากรัฐบาลออกมาตอบรับเรื่องดังกล่าวก็จะต้องดำเนินการ นำเรื่องการให้สัตยาบันทั้งสองฉบับเข้าพิจารณา โดยผ่านการโหวตในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากญัตติดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจากสภา ก็จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงแรงงานเพื่อชี้แจงผลก่อนส่งเรื่องต่อให้กระทรวงต่างประเทศเพื่อให้สัตยาบันยอมรับแก่อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ หลังจากนั้นรัฐบาลมีระยะเวลาอีกหนึ่งปีเพื่อแก้กฎหมายภายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับตัวอนุสัญญา โดยหากรัฐบาลดำเนินการแก้กฎหมายเสร็จไม่ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ก็สามารถยื่นเรื่องยืดเวลาออกไปได้อีกถึงสิบปี ก่อนที่จะมีการยกเลิกการลงสัตยาบัน นายชาลี กล่าวต่อว่า ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่าหากยอมรับตัวอนุสัญญาจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศนั้นเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะรัฐบาลมีเวลาอย่างมากในการแก้ข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาโดยที่ครอบคลุมถึงประเด็นของความมั่นคงได้ ในทางกลับกัน ผลของการยอมรับอนุสัญญาทั้งสองจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศมากกว่า นายชาลี กล่าวเสริมว่า ได้เรียกร้องในประเด็นนี้มาถึง 21 ปีแล้ว ปัจจุบัน มี 152 ประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 ไปแล้ว และอีก 163 ประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 98 จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 185 ประเทศ และเฉพาะแต่ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ก็เหลือเพียง ไทย เวียดนาม ลาว และ บรูไน เท่านั้นที่ยังไม่ให้สัตยาบันกับอนุสัญญาหลักทั้งสองฉบับ นอกจากนี้ คนงานจากกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก เล่าว่า สาเหตุที่มาร่วมชุมนุมเพราะถูกนายจ้างเอาเปรียบ เช่น เลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าว ขัดขวางในการตั้งสหภาพหรือการทำงานของสหภาพ หากไปประชุมกับสหภาพจะถูกระบุว่าขาดงาน การตั้งสหภาพก็ยาก ซึ่งทำได้แต่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างจำนวนมาก ขณะที่บริษัทเล็กก่อตั้งยาก หากมีการผลักดันให้รับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับจะช่วยคุ้มครองพวกเขาในการเจรจา ล่าสุด (17.30น.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากการเจรจาของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ร่วมกับ พล.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง สมพาศ นิลพันธ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ และอิทธิพร เหล่าวานิช รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานสัมพันธ์ ได้ข้อตกลงร่วมกันว่า รัฐบาลจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือนตุลาคม นี้ และจะตั้งคณะทำงานฝ่ายรัฐบาลร่วมกับฝ่ายผู้ใช้แรงงาน เพื่อผลักดันการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวให้ได้ข้อสรุปร่วมกันภายใต้กรอบระยะเวลา 60 วัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘สลัม 4 ภาค-พีมูฟ’ เดินสายยื่นข้อเรียกร้อง ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ Posted: 07 Oct 2013 07:17 AM PDT ร้อง กทม.ยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนเมือง ทวงสัญญาจากการรถไฟ เดินหน้านโยบาย 'ชัชชาติ' ก่อนประกาศเจตนารมณ์วันที่อยู่อาศัยสากล UN ต้องไม่ใช่เสือกระดาษ ที่มาภาพ: ขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม วันนี้ (7 ต.ค.56) เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ นับพันคน จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้วันจันทร์แรกขอ ร้อง กทม.ยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนเมือง จุดแรกศาลาว่าการกรุงเทพมหา ที่มาภาพ: ขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ดร.ผุสดี ตามไท มารับข้อเสนอและเจรจากับตัวแทนสลัมสี่ภาค ที่มาภาพ: ขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม การเดินทางเริ่มต้นจากที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปพบผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง โดยมีนางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ให้การต้อนรับและร่วมหารือกับตัวแทนเครือข่ายเกี่ยวกับการติดตาม มาตรการ และนโยบายในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง นางสาวอัมพร จำปาทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นการรวมตัวของเครือข่ายคนจนเมืองที่อยู่ในชุมชนแออัด และคนเร่ร่อนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ จาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีสมาชิก 6 เครือข่าย กว่า 50 ชุมชน กระจายอยู่ใน 40 เขตของกรุงเทพฯ ซึ่งสมาชิกของเครือข่ายเป็นแรงงานที่อยู่ในภาคบริการ ภาคการผลิต และการก่อสร้างทั้งในระบบและนอกระบบ โดยทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนในชุมชน และคนเร่ร่อนไร้บ้าน รวมทั้งนำเสนอนโยบายต่อภาครัฐ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ก.พ.56 เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้นำเสนอมาตรการ และนโยบายในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง ต่อ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการพัฒนา และการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจาก มรว.สุขุมพันธ์ ครั้งนี้ในวาระวันที่อยู่อาศัยสากล ทางเครือข่ายฯ จึงมาติดตามการทำงานตามข้อเสนอ นางผุสดีกล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ มีข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จัดตั้งคณะกรรมการร่วมกัน โดยมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ข้าราชการ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายสลัม 4 ภาค และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหา และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง ใน 5 หมวด คือ 1.การแก้ไขปัญหาด้านความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย กรุงเทพฯ ต้องไม่สนับสนุนการไล่รื้อชุมชนด้วยมาตรการทางกฎหมายและการใช้ความรุนแรง และต้องเอื้ออำนวยให้ชุมชนดำเนินการตามโครงการบ้านมั่นคงได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง และทะเบียนบ้านถาวรตามกฎกระทรวง ที่ได้รับการยกเว้นภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2.การพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนเมือง โดยจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และการดูแลผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วย และผู้ด้อยโอกาในชุมชนที่ถูกทอดทิ้ง 3.การพัฒนาศักยภาพเยาวชน โดยให้มีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกห้องเรียน ในด้านสังคม ศิลปะ ธรรมชาติ เป็นต้น กระจายตามจุดต่างๆ เช่น สวนสาธารณะหรือห้องสมุด รวมทั้งกิจกรรมอาสาของเยาวชนเพื่อฝึกการมีจิตรสาธารณะ 4.การพัฒนาเมืองที่ปลอดภัย ด้านจราจรและขนส่งสาธารณะ ด้านการบริการสาธารณะ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ด้านการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในครอบครัวและชุมชน และ 5.การสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ในด้านอาชีพ ด้านการดูแลสุขภาพคนไร้บ้าน ด้านการรับรองสถานะของคนไร้บ้าน ด้านการสนับสนุนการการจัดศูนย์พักคนไร้บ้านโดยภาคประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้ กทม.จะเชิญผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค เข้าหารืออย่างไม่เป็นทางการภายในเดือนนี้อีกครั้งหนึ่ง ทวงสัญญาจากการรถไฟ เดินหน้านโยบาย 'ชัชชาติ' ที่มาภาพ: เอก ตรัง ที่มาภาพ: เอก ตรัง ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเดินทางออกจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าไปยังกระทรวงคมนาคม และยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทวงสัญญาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เห็นว่าที่ผ่านมานายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รมว.คมนาคมมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาชุมชนแออัดในที่ดินการรถไฟฯ ตามข้อเสนอของเครือข่ายฯ จากการเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฯ 4 ครั้ง และได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาให้ประสบความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของนายชัชชาติเท่านั้น เพราะต้องอาศัยกลไกการตอบสนองในทางปฏิบัติจากการรถไฟฯ ในฐานะเจ้าของที่ดินด้วย ซึ่งเครือข่ายฯ เห็นว่าการรถไฟฯ ยังดำเนินการล่าช้า ไม่ตอบสนองอย่างเพียงพอเพื่อให้นโยบายบรรลุผล ด้านสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น เสนอข่าวว่า พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังรับหนังสือจากเครือข่ายสลัม 4 ภาคว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในที่ดินการรถไฟฯ จากกรณีที่ชุมชนได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช และช่วงบางซื่อ - รังสิต โดยให้พิจารณาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเบื้องต้น และหาพื้นที่รองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งเสนอให้คณะกรรมการรถไฟฯ พิจารณาหลักการเช่าที่พักอาศัยใหม่ ปรับสัญญาเช่าของชุมชนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ให้ชำระค่าเช่าพร้อมกันในวันที่ 1 พ.ย.ของทุกปี และเสนอให้ นายชัชชาติเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม และแจ้งความคืบหน้าการประชุมทุกครั้ง ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัติหลักการค่าเช่าใหม่ให้การรถไฟฯ ดำเนินการพิจารณาอนุมัติให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อให้เกิดการลงนามต่อสัญญารวมถึงชำระค่าเช่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวด้วยว่า เรื่องความเดือดร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด โดยการดำเนินการทุกขั้นตอนจะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และจะนำหนังสือที่ได้รับในวันนี้ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับทราบและพิจารณาต่อไป ประกาศเจตนารมณ์วันที่อยู่อาศัยสากล UN ต้องไม่ใช่เสือกระดาษ จากนั้น เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ เดินทางต่อไปยังสำนักงานผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) ถนนราชดำเนิน เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ โดยมีการอ่านประกาศเจตนารมณ์วันที่อยู่อาศัยสากล ประจำปี 2556 หน้า UN เรียกร้องให้ยุติการทำตัวเป็นองค์กรเสือกระดาษ ซึ่งไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถใดๆ ในการยุติหรือคลี่คลายปัญหาการไล่รื้อ และให้ UN หันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังและมีเจตจำนงหนักแน่นต่อการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและขจัดการไล่รื้อให้หมดไปจากวิถีชีวิตของคนจนเมือง ต่อด้วยการชักธงใหญ่ 5 ผืน ระบุข้อเรียกร้องประจำปีนี้ ประกอบด้วย 1.Stop human right violation against the poor around the world! 2.When will the UN stop being just a paper tiger! 3.No more evictions in ASEAN! 4.World bank: we need genuine pro-poor development! 5.ADB: stop: supporting "development" that evicts the poor! กิจกรรมสุดท้าย คือการเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลปักหลักชุมนุมบริเวณประตูน้ำพุเพื่อรอฟังผลการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลกับตัวแทน ขปส.ที่เข้าประชุมร่วมกับรัฐบาล โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เปิดตัว "โปสเตอร์สำหรับวันพรุ่ง" รณรงค์ต้านโทษประหารในไทย Posted: 07 Oct 2013 05:50 AM PDT แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมเปิดตัวนิทรรศการโปสเตอร์ Poster for Tomorrow จากประเทศฝรั่งเศสซึ่งจัดแสดงมาแล้วห้าทวีปเพื่อรณรงค์ต้านโทษประหารชีวิต พร้อมร่วมเสวนาโดยศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ร้าน Dialogue Coffee and Gallery ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรม Light Up Nights เพื่อเปิดพื้นที่ถกเถียงในประเด็นสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้จัดควบคู่ไปกับการจัดแสดงนิทรรศการโปสเตอร์ Death is not Justice ที่แสดงถึงการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตในระดับโลก โดยฝีมือนักออกแบบนานาชาติที่จัดแสดงมาแล้วทั่วโลก ณ ร้าน Dialogue Coffee and Gallery ซึ่งจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 4-29 ตุลาคม 2556 "โปสเตอร์สำหรับวันพรุ่ง" (Poster for Tomorrow) เป็นโครงการของ 4tomorrow ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหากำไรและเป็นอิสระ ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เริ่มตั้งโครงการเมื่อปี 2552 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนประชาชนทั้งในชุมชนนักออกแบบและภายนอก การเลือกทำงานผ่านภาพโปสเตอร์ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำและเผยแพร่ได้ง่าย สามารถดึงดูดใจคนในวงกว้าง ทำให้คนเข้าถึงได้มาก เพื่อให้สามารถแสดงความเห็น กระตุ้นให้เกิดการถกเถียง และการอภิปรายทั่วทุกภาคส่วนในสังคม เป็นการกระตุ้นให้เกิดการถกเถียง ทำให้คนตระหนักถึงพลังที่ตนเองมีเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกและสร้างความแตกต่าง เนื้อหาโปสเตอร์พูดถึงตั้งแต่การรณรงค์เพื่อเสรีภาพในการแสดงออก ไปจนถึงการยกเลิกโทษประหารในระดับโลก สิทธิด้านการศึกษาและความเท่าเทียมด้านเพศสภาพของทุกคน ที่ผ่านมามีการจัดนิทรรศการกว่า 70 ครั้งใน 5 ทวีป นิทรรศการโปสเตอร์ Death is not Justice เปิดตัวไปเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2556 พร้อมพูดคุยเรื่อง "ความรุนแรงในนามของความยุติธรรม" โดยคุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักรัฐศาสตร์อิสระ ที่ชี้ให้เห็นว่าคนในสังคมมีมายาคติที่ว่า โทษประหารชีวิตมีไว้เพื่อทำให้สังคมรู้สึกปลอดภัยขึ้น โดยรัฐฆ่าคนๆ หนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นในสังคมถูกฆ่า เป็นการเอาชีวิตแลกชีวิตเพื่อสร้างความสงบสุขให้สังคม เชื่อกันว่าเป็นการคืนความยุติธรรมให้แก่เหยื่อ ซึ่งเป็นตรรกะที่วิบัติ เพราะแทนที่จะไปคิดป้องกันว่าจะทำอย่างไรถึงจะไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นอีก กลับเลือกที่จะไปฆ่าคนที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนอื่นเพื่อไม่ให้มีการถูกฆ่าขึ้นอีก ซึ่งแท้จริงแล้ว "ไม่มีใครควรถูกฆ่าเพื่อให้เรารู้สึกปลอดภัยขึ้น" "แม้การรณรงค์ยุติโทษประหารชีวิตเป็นเรื่องที่อธิบายต่อสังคมได้ยากยิ่ง อย่างที่ครั้งหนึ่งคุณค่าของประชาธิปไตย ความเสมอภาคเท่าเทียมหรือสิทธิเสรีของการรักร่วมเพศเคยเป็นเรื่องที่สังคมปิดกั้นมาอย่างยาวนาน แต่วันนี้คนในสังคมกลับยอมรับและเข้าใจกันในประเด็นเหล่านั้นได้มากกว่าในอดีต วันหนึ่งความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตย่อมจะปรากฏแทนที่มายาคติอันบิดเบือนได้เพียงแต่ต้องใช้เวลาเพียงเท่านั้น" ศิโรตม์กล่าว นอกจากนั้นยังมีการภาพยนตร์สารคดีสั้นชุด 'One for Ten' ที่ถ่ายทำในประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2556 เป็นการสัมภาษณ์ 10 บุคคลที่เคยถูกตัดสินประหารชีวิตในอเมริกา แต่ภายหลังพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาเป็น "แพะ" จึงได้รับอิสรภาพ สารคดีชุดนี้เปิดเผยให้เห็นความน่ากลัวและความป่าเถื่อนของกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาด นอกจากนั้นยังชี้ให้เห็นว่าการถูกกล่าวหาและพิพากษาประหารชีวิตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายดาย ผู้ถูกสัมภาษณ์ได้พูดเกี่ยวกับประสบการณ์อันเจ็บปวด ความรู้สึกของการตกอยู่ในฐานะนักโทษประหารชีวิต และอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงได้รับการตัดสินที่ผิดพลาดและกลายเป็นแพะรับบาปที่ตัวเองไม่ได้ก่อ โดยครั้งนี้ได้หยิบยก 4 เรื่องราวมาเปิดเผย คลาเร็นส์ แบรนด์เลย์ (การเหยียดสีผิว) "คนส่วนใหญ่ที่เคยอยู่เมืองนี้บอกว่า ถ้ามีผู้หญิงผิวขาวสักคนถูกฆ่า ต้องเร่งตามจับผู้ชายผิวดำ" คำบอกเล่าชวนหดหู่ของ คลาเร็นส์ แบรนด์เลย์ (Clarence Brandley) ภารโรงชาวแอฟริกันอเมริกันประจำโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในเท็กซัส เขาถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหาข่มขืนนักเรียนหญิงโดยผ่านการพิจารณาคดีในชั้นศาลโดยคณะลูกขุนผิวขาวล้วนถึงสองครั้ง แม้ผ่านการพิสูจน์ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องด้วยเครื่องจับเท็จแล้วก็ตาม อคติแห่งการเหยียดผิวเผยให้เห็นอย่างน่าละอาย เมื่อนักสืบเอกชนพบว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ทำลายหลักฐานที่ต่างยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของเขา การพิพากษาครั้งใหม่จึงได้เกิดขึ้นเพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่เหยื่อที่ไม่ใช่หญิงสาวผู้เคราะห์ร้ายนั้น หากแต่เป็นคลาเร็นส์ผู้กำลังถูกแขวนคอด้วยเชือกแห่งอคติ คำกล่าวของผู้พิพากษาในครั้งนั้นเป็นข้อสรุปถึงความเลวร้ายที่เขาได้เผชิญอย่างชัดเจนที่สุดว่า "นี่เป็นคดีที่มีการเหยียดผิวและใช้คำให้การเท็จอย่างโจ่งแจ้งที่สุดคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์" เคริก บลัดสวอรต์ (หลักฐานดีเอ็นเอ) แมรีแลนด์เป็นอีกรัฐหนึ่งที่ปรากฏความอยุติธรรมกระทั่งถูกหยิบยกขึ้นมาถ่ายทอดผ่านแผ่นฟิล์ม ภาพสเก็ตของใบหน้าคนร้ายที่บังเอิญคล้ายกับ เคริก บลัดสวอรต์ (Kirk Bloodsworth) ทำให้เขาถูกจับและตัดสินประหารชีวิตด้วยการรมแก๊สในคดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิงอายุ 9 ขวบโดยปราศจากพยานหลักฐานที่ชัดเจน กว่า 9 ปีที่เสียงตะโกนยืนยันความบริสุทธิ์ของเขาในห้องขังนั้นไม่มีใครสนใจ ปี 2536 เขากลายเป็นนักโทษประหารคนแรกที่ได้รับการปล่อยตัวโดยหลักฐาน DNA ที่ตรวจพิสูจน์ได้จากคราบอสุจิในที่เกิดเหตุ พร้อมยืนยันคำกล่าวของเขาในภาพยนตร์ว่า "ความศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญ คุณบริสุทธิ์ คุณพิสูจน์ได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา" แล้วในที่สุดฆาตกรตัวจริงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีได้ถูกจับกุมดำเนินคดีในอีก 7 ปีต่อมา
เดมอน ทีโบดัวซ์ (คำสารภาพที่ผิดพลาด) ความอยุติธรรมอันขมขื่นใช่ว่าจะเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะคนผิวสีเสมอไป เพราะนอกจากเคริกแล้ว เดมอน ทีโบดัวซ์ (Damon Thibodeaux) ยังเป็นอีกหนึ่งอเมริกันชนผิวขาวผู้โชคร้ายที่เรื่องราวของเขาได้ย้ำให้ตระหนักว่า ทุกคนล้วนมีโอกาสเผชิญกับความบิดพลิ้วในกระบวนการยุติธรรมกันทั้งสิ้น ศพเปลือยเปล่าของเด็กหญิงอายุ 15 ปีที่พบริมแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ทำให้เขาผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของเหยื่อถูกเชื่อว่าเป็นฆาตกร หลังจากตามหาเธอจนไม่ได้นอนมา 36 ชั่วโมง แล้วยังต้องมาโดนสอบสวน 9 ชั่วโมงรวด ซึ่งการสอบสวนดำเนินไปอย่างทารุณด้วยการสั่งห้ามนอนและยาวนาน สุดท้ายเขาเลือกที่จะยอมรับผิดแทนการทนต่อความเมื่อยล้าด้วยคำสารภาพที่ต่างไปจากหลักฐานในที่เกิดเหตุโดยสิ้นเชิง แม้กระนั้นเขากลับถูกตัดสินประหารชีวิต หลังจากการทำงานอย่างหนักถึง 15 ปีของทีมทนายความเขาได้รับการตัดสินให้พ้นผิดด้วยหลักฐานจาก DNA "ผมเคยเป็นหนึ่งในคนที่เชื่อว่า ไม่มีใครบ้าพอจะสารภาพในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ทำหรอก แล้วทั้งสังคมก็คิดและเชื่อแบบนั้น แต่ผมนี่ไงที่พูดคำสารภาพเท็จออกไป สารภาพในคดีฆาตกรรมที่คนอื่นก่อ คุณไม่มีวันรู้หรอก จนกว่าจะได้เจอกับตัวเอง คุณรู้เหรอว่าทนการสอบสวนแบบนั้นได้นานแค่ไหน? ทุกๆ คนต่างมีขีดจำกัด และเมื่อมันไปถึงจุดนั้น คุณจะพูดอะไรก็ตามที่พวกนั้นอยากได้ยิน ผมก็คงบอกทุกอย่างที่พวกนั้นอยากให้ผมบอก" ทุกวันตลอด 15 ปี เขาเฝ้าโทษตัวเองว่า ถ้าวันนั้นเขาเข้มแข็งพอและรอดพ้นการสอบสวนมาได้ เขาคงไม่ต้องตกอยู่ในชะตากรรมแบบที่ผ่านมา
ฮวน เมเล็นเดซ (คำให้การปรักปรำที่เป็นเท็จ) ปิดท้ายด้วยกรณีของคนงานพลัดถิ่นชาวเปอโตริโก้ ฮวน เมเล็นเดซ (Juan Melendez) ผู้ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เขาถูก FBI จับกุมและส่งตัวไปพิจารณาคดีที่ฟลอริดา กระทั่งถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาฆาตกรรมเจ้าของร้านเสริมสวยในปี พ.ศ. 2526 เขาจำต้องรอในแดนประหารกว่า 16 ปีกว่าที่ความยุติธรรมจะเดินทางมาพบเขา เทปบันทึกเสียงที่ยืนยันการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องของเขาถูกเก็บไว้ในมือของอัยการโดยไม่แสดงหลักฐานดังกล่าวต่อลูกขุนแม้เพียงสักครั้ง โดยมีค่าหัวรางวัลในการจับฆาตกร 5,000 เหรียญสหรัฐฯ เป็นคำอธิบายความเป็นไปทั้งหมดตามคำบอกเล่าของเขาในสารคดีนี้ "16 ปีผ่านไป พวกนั้นเจอเทปคำสารภาพของคนร้ายตัวจริง เคยมีการสอบสวนแล้วตอนท้ายเจอแม้กระทั่งหลักฐานสำคัญที่ชี้ชัดไปที่คนฆ่าตัวจริง ผมได้เงิน 100 เหรียญฯ เสื้อยืดกับกางเกงอย่างละตัว และไม่เคยได้รับคำขอโทษ คำให้การของพวกสายตำรวจเพื่อแลกกับเงิน สามารถเอาคนบริสุทธิ์เข้าคุกได้ง่ายๆ นี่มันอันตรายมาก แล้วชีวิตคนบริสุทธิ์ก็พังไปหมด"
สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมภาพยนตร์ทั้ง 10 เรื่องได้ที่ www.oneforten.com ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ: ทุนไทยหลัง 14 ตุลา Posted: 07 Oct 2013 04:28 AM PDT งานสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อภิปรายลักษณะการก่อตัวและสะสมของ "ทุนไทย" ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ พร้อมเสนอข้อมูล "ทุนสำนักงานทรัพย์สินฯ" ผงาดช่วง 2520 และการขยายตัวของ "ทุนใหม่" และ "ทุนภูธร" หลังวิกฤติเศรษฐกิจ 40 ทุนไทยหลัง 14 ตุลา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกตัวก่อนนำเสนอว่าจะพูดถึงทุนในลักษณะทั่วไป ไม่พูดถึงกลุ่มทุนต่างชาติ เพราะอยากโฟกัสเฉพาะทุนไทยเท่านั้น ธนาธรทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และชี้ว่ามีงานค่อนข้างเยอะมากที่พูดถึงทุนไทย อย่างคริส เบเคอร์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ซึ่งศึกษาครอบคุลมทุนนิยมศักดินา ส่วนใหญู่เป็นการใช้แว่นของเศรษฐกิจการเมืองในการมอง ปัญหาคือหลังปี 2530 เป็นต้นมา ไม่มีงานใหญ่ๆ ชิ้นไหนที่พูดถึงการเติบโตของทุนไทยเลย งานของผาสุกอาจจะมีพูดเรื่องการปรับตัวของทุนไทยหลังปี 2540 ส่วนงานหมุดหมายที่สำคัญคือของพอพันธ์ อุยยานนทน์ ที่ศึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หลังป่าแตก และเกิดความเสื่อมถอยของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นต้นมา ไม่มีงานวิชาการชิ้นไหนเลยที่พูดเรื่องทุน และความสัมพันธ์เกี่ยวกับรัฐเลยในช่วง 2530-40 แม้แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ อย่างเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ยังหาไม่ค่อยจะได้ในสังคมไทย โดยเฉพาะในมุมมองเศรษฐศาสตร์การเมืองยิ่งไม่ค่อยจะมี เขาอธิบายว่า กลุ่มทุนจีนที่มีก่อน 2475 มีอยู่สองกลุ่มหลักๆ คือกลุ่มเจ้าภาษีนายอากรที่เป็นคนจีน ที่ทำหน้าที่ช่วยเก็บภาษีตามหัวเมืองให้กับรัฐไทย และกลุ่มค้าข้าวหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่งเริ่มขึ้นมา โดยกลุ่มนี้ก็มีหน้าที่ลำเลียงทรัพยากรจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาให้พ่อค้าต่างประเทศที่กรุงเทพฯ แต่ต่อกลุ่มแรกตายไปเพราะรัฐไทยรวมศูนย์เข้าสู่กรุงเทพฯ และทำหน้าที่เก็บภาษีเอง
ลักษณะทุนไทย 2475-2500 มีความพยายามสร้างทุนนิยมหรือเศรษฐกิจสมัยใหม่โดยรัฐ ซึ่งคณะราษฎรมีนโยบายตั้งวิสาหกิจซึ่งป็นการลงทุนโดยรัฐ กลุ่มทุนไทยจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่แวดล้อมกับการส่งออก และเมื่อเกิดการส่งออก ก็เกิดธุรกิจประกันภัย ธุรกิจธนาคาร การเดินเรือ ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ค้าข้าวมาก่อน สังเกตว่ากลุ่มนายทุนที่เกิดขึ้นมานี้ไม่มีคนไทยเลย เป็นกระฎุมพีที่นำเข้ามา ไม่มีกระฎุมพีที่เติบโตภายในไทย นอกจากนี้ยังมีการแย่งชิงฐานเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในระหว่างการต่อสู้ทางการเมือง ทั้งกลุ่มคณะราษฎร กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ กลุ่มผิน-เผ่า กลุ่มซอยราชครู และเมื่อใครมีอำนาจก็จะยึดฐานเศรษฐกิจเสมอ อย่างปรีดี พนมยงค์ ได้ก่อตั้งธนาคารเอเชียและให้คุณหลุย พนมยงค์ เป็นผู้บริหาร แต่เมื่ออำนาจเปลี่ยนมือ ธนาคารก็ถูกยึด เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก อย่างกรณีของชิน โสภณพนิช (ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ) สนิทกับกลุ่มราชครูมาก เมื่อสนิทมากจึงหนีไปอยู่ฮ่องกงและเปิดสาขาต่างๆ ของธนาคารกรุงเทพฯ ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งชินก็จะดึงบุญชู โรจนเกษียร (อดีตรองนายกฯ, รมต.กระทรวงการคลังช่วง 2520-30) มาเป็นประธานบริหารธนาคารกรุงเทพฯ อยู่ช่วงหนึ่ง และให้บุญชูประสานกับกลุ่มอำนาจใหม่คือจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ซึ่งต่อมาทำให้เขาเดินทางกลับประเทศมาได้
ทุนไทยช่วง 2510-2516 ช่วงหลัง 2500 เป็นต้นมา เกิดองค์กรจัดการรัฐแบบสมัยใหม่ อย่างสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บีโอไอ สำนักงบประมาณ ซึ่งในช่วงนี้มีนโยบายที่สำคัญคือเน้นผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า นโยบายนี้ยกกำแพงภาษีขึ้นไป จากที่เคยต่ำมากในสมัยที่ทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง นายทุนที่เป็นนายทุนไทยช่วงนี้ทั้งหมด มีอาชีพเดิมเป็นนายทุนจีนที่เป็นพ่อค้ามาทั้งหมด ซึ่งเป็นพ่อค้านำเข้า อย่างถาวร พรประภา นำเข้ารถนิสสัน ทำอู่ซ่อมรถนิสสัน และต่อมาได้ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์นิสสัน หรืออย่างวิริยประไพกิจ สหวิริยะ คือผู้นำเข้าเหล็ก โรงงานเหล็ก หรืออย่างสหยูเนี่ยน สหพัฒน์ ก็เป็นผู้นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค คือคนพวกนี้เป็นพ่อค้ามาก่อน และด้วยนโยบายส่งเสริมการผลิตทดแทนการนำเข้าของรัฐ พ่อค้าเหล่านี้จึงเปลี่ยนตัวเองมาเป็นนายทุนอุตสาหกรรม ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของทุนไทยในช่วงนี้ คือการสวามิภักดิ์ต่ออำนาจรัฐของนายทุนจีน ข้อสังเกต คือ สิ่งที่ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐและนายทุนจีนจูบปากกันได้ เพราะตอนแรกคนจีนถูกกีดกันจากอำนาจทางการเมืองมาก เมื่อไม่มีความทะเยอทยานทางการเมือง รัฐหรือนายทหารที่ครองอำนาจจึงให้โอกาสคนพวกนี้ในดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจ เพราะรู้ว่าคนพวกนี้ไม่น่ามาแย่งชิงอำนาจกลุ่มทหารในช่วงนี้ เพราะสังคมไทยไม่ได้เปิดกว้างกับคนจีนพวกนี้ และในช่วงนี้ ทุกธนาคารก็ต้องให้ทุนกับจอมพลประภาส จารุเสถียร นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น
14 ตุลา 2516- พ.ค. 2540 สิ่งที่ชัดเจนมากในช่วงนี้ คือการที่นายทุนธนาคารมีความเหนือกว่าทุนอุตสาหกรรม มีการปกป้องการสะสมทุนในประเทศ ในขณะเดียวกัน เกิดการยอมรับนายทุนจีนในสังคมไทยมากขึ้น ในช่วงนี้มีลักษณะที่สำคัญคือ มีการปกป้องการสะสมทุนอยู่ห้าประการ คือ หนึ่ง การประมูลธุรกิจจากรัฐในราคาถูก คือก่อนปี 2500 รัฐตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเอง ดังนั้นที่ตั้งขึ้นมาต้องขายออกไปในช่วงจอมพลสฤษดิ์เมื่อมีการเปลี่ยนโยบายทางเศรษฐกิจที่รัฐจะไม่ลงมาเป็นผู้เล่นเอง และทำให้เกิดการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ มีการให้สัมปทาน การตั้งภาษีนำเข้าสูง ปกป้องการแข่งขันจากธุรกิจต่างชาติอย่างการเกิดขึ้นของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กรณีธนาคารก็มีพ.ร.บ.ธนาคารพานิชย์ไทยพ.ศ. 2505 ยกตัวอย่างกรณีของเจ้าพ่อสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ สุกรี โพธิรัตนังกูร ที่เป็นเจ้าของกลุ่มทุน TBI หรือ Thai Blanket Industry สุกรีได้ร่วมทุนกับลูกเขยของจอมพลถนอม และซื้อโรงงานทอผ้าต่อจากรัฐไปผลิตผ้าห่มแจกให้กองทัพบก และเมื่อสะสมทุนได้เยอะก็ไปร่วมกับทุนญี่ปุ่นกลายเป็นไทย เมล่อน โปลีเอสเตอร์ เป็นต้น ซึ่งกลายเป็นอาณาจักรสิ่งทอที่ใหญ่มากก่อนวิกฤติปี 40 อีกกรณีหนึ่งเช่นกรณีของช่องเจ็ด เรวดี เทียนประภาส น้องสะใภ้ของจอมพลประภาส เป็นผู้เริ่มธุรกิจนี้ แต่ปัจจุบัน สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ได้ร่วมทุนกับกฤตย์ รัตนรักษ์ กฤตย์เป็นนายทุนที่มีความสัมพันธ์กับจอมพลประภาสสูงมาก ท่านผู้หญิงไสว จารุเสถียร ภรรยาของจอมพลประภาส ก็ยังเป็นผู้ร่วมทุนในช่องเจ็ดด้วย และบริษัทนี้ก็ผูกขาดช่องเจ็ดมาตั้งแต่นั้น เช่นเดียวกับช่องสาม ช่องเจ็ดเป็นธุรกิจที่เริ่มออกดอกผลที่ออกมาในช่วงหลังๆ นี้ เนื่องจากไม่ต้องประมูลสัญญาหรืออะไรทั้งสิ้น เป็นสัมปทานกึ่งผูกขาด ลักษณะอีกอย่างของทุนไทยในช่วงนี้คือเรื่องความเป็นจีน โดยก่อนหน้านี้จะรวมตัวกันผ่านสมาคมคนจีน เพื่อการได้ข้อมูลข่าวสาร ช่วยเหลือกันในเรื่องต่างๆ เนื่องจากในยุคนั้นคนจีนถูกมองว่าเปนยิวในสังคมไทย น่ารังเกียจ และคนจีนไม่มีทุนหรือความรู้ ทรัพยากรมากพอในการรวมกลุ่มกัน อย่างกลุ่มไทยฮั้ว นี่คือการรวมกลุ่มกันของทุนจีน ซึ่งช่วง 2520-2530 เกิดการยอมรับในกลุ่มทุนจีนในสังคมไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ใหม่ เป็นช่วงที่นายทุนไทยเลิกเป็นจีน เป็นคนไทยที่เป็นเชื้อสายจีน ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ไทยมากกว่า ในช่วงนี้ เกิดการกลืนกันระหว่างกลุ่มทุน ในขณะที่สมัยก่อนเป็นการร่วมทุนกันระหว่างคนจีนหลายๆ ตระกูล มันก็จะเกิดทุนตระกูลที่เด่นๆ ขึ้นมา อย่างเตชะไพบูลกับธนาคารศรีนคร หรือล่ำซ่ำกับธนาคารกสิกรไทย
2540- ปัจจุบัน ทุนที่เกิดขึ้นมาในยุค 2516-2540 จะล่มสลายไปในช่วงนี้เกือบหมด ไม่ว่ากลุ่มเตชะไพบูลย์ ศรีเฟื่องฟุ้ง เลี่ยวไพรัตน์ และปิ่น จักกะพาก ลองนึกดูว่าก่อนเกิดวิกฤตินั้นมีทรัพย์สินเป็นแสนล้าน เมื่อเทียบกับที่ปูนซีเมนต์ไทยทุกวันนี้มีทรัพย์สินเป็นแสนล้าน ทั้งๆ ที่ปิ่น จักกะพากสร้างจากที่ไม่มีอะไรเลย นั่นแสดงให้เห็นว่าเกิดฟองสบู่จำนวนมหาศาล กลุ่มทุนเหล่านี้เกิดการล้มละลายเนื่องจากไปกู้เงินในตระกูลดอลลาร์สหรัฐมาก เมื่อเกิดการลอยตัว ทั้งต้นทุนและดอกเบี้ยก็ขึ้นสูงมาก แนวโน้มอีกอันที่สำคัญคือการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นอันเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หลังปีนี้จนถึงปัจจุบัน มองว่าเกิดนายทุนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นเยอะมาก เช่น สยาม โกลบอล เฮ้าส์ ซึ่งการเกิดขึ้นของนายทุนรุ่นใหม่ๆ นี้ไม่ได้อิงอำนาจรัฐในการสะสมทุน คิดว่าเป็นกลุ่มแรกๆ ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างคุณวิทูร สุริยวนากุล เจ้าของสยามโกลบอล ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำแห่งแรกที่มีสำนักงานที่แรกในต่างจังหวัด เป็นนายทุนกลุ่มแรกที่มาจากภูธร ซึ่งกลายมาเป็นนายทุนแถวหน้าของไทย ซึ่งนี่เป็นปรากฎการณ์ที่ใหม่มาก คุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ จากพฤกษาเรียลเอสเตท คนพวกนี้ขี่คลื่นคนชั้นกลางขึ้นมา และอาจเกิดขึ้นไม่ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 นายทุนใหม่ๆ พวกนี้เกิดขึ้นขณะที่นายทุนเก่าที่มีอำนาจทางการเมืองกำลังเลียแผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กลุ่มทุนหลายๆ กลุ่มก็มีการปรับตัว พัฒนาตัวเองด้วยการนำการบริหารจัดการใหม่มาใช้และกลายเป็นกลุ่มทุนที่ก้าวหน้า อย่างไทยยูเนียนโฟรเซ่น ก็ไปซื้อกลุ่มธุรกิจเอ็มดับเบิลยูแบรนด์ในยุโรป ซึ่งกลายเป็นผู้ผลิตทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือย่างไทยเบฟฯ ไปซื้อ F&N ด้วยมูลค่าสามแสนกว่าล้านบาท สิ่งที่เห็นของพวกทุนที่ล้มไป เพราะเกิดอยู่ในสภาวะที่ไม่ต้องแข่งขันในประเทศไทย จึงไม่ต้องปรับตัวให้ตัวเองมีประสิทธิภาพ อย่างธนาคารต่างๆ ที่เริ่มแข่งจริงๆ ก็เมื่อสี่ศูนย์เป็นต้นมา มีการปรับตัว ปรับระบบบัญชีให้เข้ากับมาตรฐานสากลมากขึ้น มีการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ อีกอย่างที่สำคัญคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อย่างเช่นในปี 2553 มีงบกระจายไป 3.3 แสนล้านบาท เป็นงบที่อบต. และอบจ. ได้บริหารเงินเหล่านี้ เริ่มเก็บภาษีโดยตรงได้ด้วยตนเอง รวมถึงสาธารณสุขต่างๆ ก็ถูกส่งกลับมาให้อบต. อบจ. เหล่านี้บริหาร นี่เป็นการส่งผ่านความรู้ ทักษะ การจัดสรรงบประมาณ การจัดจ้าง การลงทุน จากที่เคยอยู่ศูนย์กลางก็กระจายออกไปสู่ท้องถิ่นในช่วงนี้ พอโยกมา ทำให้ทักษะบริหารจัดการในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นมาก
เครือข่ายนักบริหารของสนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ลงทุนหลักๆ ในธนาคารไทยพานิชย์ และปูนซีเมนต์ไทย แต่ช่วงที่สำนักงานทรัพย์สินแอคทีฟจริงๆ คือช่วงที่เปรมขึ้นมามีอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีและทำให้สนง.ทรัพย์สินมีบทบาททางเศรษฐกิจจริงๆ โดยมีคนอย่าง เสนาะ อูนางกูล รองนายกรัฐมนตรีปี 2534-35 ปัจจุบันเป็นกรรมการปูนซีเมนต์ไทย กรรมการสนง.ทรัพย์สินฯ กลุ่มทุนลดาวัลย์ พนัส สิมะเสถียร เป็นปลัดรัฐมนตรีการคลังปี 2525-35 รัฐมนตรีกระทรวงการคลังปี 2535 ปัจจุบันเป็นกรรมการกลุ่มสยามพิวัฒน์ ปูนซีเมนต์ สหยูเนี่ยน ประธานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งหมดนี้อยู่ในสมัยอดีตนายกฯ เปรมทั้งนั้น ซึ่งต่อมาทำงานให้กับเศรษฐกิจของสนง.ทรัพย์สินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์ไทย สนง.ทรัพย์สิน หลายครั้งๆ ถูกส่งไปบริหารบริษัทที่สนง.ทรัพย์สินถือหุ้นหรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้น คนเหล่านี้เป็นคนทำให้สนง. ทรัพย์สินแอคทีฟ ซึ่งก่อน 2516 ยังไม่แอคทีฟมากขนาดนี้ เริ่มมาแอคทีฟช่วงปี 2530-40 และหากไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 คนพวกนี้ก็อาจจะเกิดมาไม่ได้ ธนาธรอธิบายต่อว่า เมื่อมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ กลุ่มทุนเหล่านี้จะใช้อำนาจรัฐดึงโอกาสนั้นเข้ากับตัวเองตลอด อย่างกรณีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในช่วงปี 2520 ไทยค้นพบก๊าซในอ่าวไทย แต่สิ่งที่ทำคือมีการจัดตั้งสร้างบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ รวมทุนกับทุนทีพีไอ ของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ กลุ่มสยามซีเมนต์ แต่สยามซีเมนต์ในตอนนั้นไม่มีความรู้อะไรเรื่องปิโตรเคมีเลย แต่ตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาเพื่อให้อยู่ในบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ กลุ่มฮั้วกี่ คือกลุ่มธนาคารกรุงศรี ธนาคารกรุงเทพ กลุ่มเหล่านี้คือกลุ่มของยศ เอื้อชูเกียรติ และหากเราไปเปิดดูชื่อของยศ เอื้อชูเกียรติ จะเห็นว่าอยู่ทุกที่ของสนง.ทรัพย์สินในการบริหารจัดการด้านธุรกิจ เพิ่มเติมเล็กน้อยคือว่า ตอนหลังยศได้ขายธุรกิจกลุ่มนี้ให้สยามซีเมนต์ไป ซึ่งตอนนี้เป็นพีทีทีอีซี โกลบอล เคมิคอล และเมื่อขายไป ตัวเขาเองก็ไปเป็นกรรมการสำนักงานทรัพย์สินและทำงานให้กับวังตั้งแต่นั้นมา จะเห็นว่า เมื่อเกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โอกาสเหล่านี้จะถูกส่งไปให้อยู่ไปในมือเพียงไม่กี่คนตลอด ผ่านเส้นสายทางธนาคารที่กุมเอาไว้ อย่างกรณีการเกิดขึ้นของไทยเบฟฯ ก่อนปี 2520 เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของไทยเบฟฯ เป็น "โนบอดี้" โดยก่อนหน้านั้นมีการผูกขาดธุรกิจเหล้าอยู่สองกลุ่ม คือกลุ่มเตชะไพบูลย์ และกลุ่มคุณเจริญ ซึ่งในช่วงนี้มีเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นมากที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มของเจริญ เหตุผลหนึ่งคือเจริญได้ดึงน้องชายของอาสา สารสิน ราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอดีตรองนายกฯ สมัยพลเอกเปรม คือ พงส์ สารสินเข้ามาบริหาร และจะเห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สองศูนย์เป็นต้นมา และต่อมาได้บังคับให้สองธุรกิจควบรวมกัน คือเอาโรงสุราทั้งหมดทั่วประเทศมารวมกันให้กับเจริญ ซึ่งผูกขาดธุรกิจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งทำให้เขาเป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินเป็นแสนล้านภายในเวลาเพียง 20 ปี กรณีของบริษัทบ้านบึงเวชกิจ มีผู้ถือทรัพย์สินที่สำคัญทั้งหมดสี่คน ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถ เจริญ สิริวัฒนภักดี และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี นี่เป็นอีกตัวอย่างของลักษณะการรวมตัวของทุนที่ว่ามา อย่างเรื่องอสังหาริมทรัพย์ กรณีบริษัทแลนด์แอนเฮาส์ ได้ร่วมทุนกับสนง. ทรัพย์สินตั้งกลุ่มทุนสยามพานิชย์พัฒนา ซึ่งเกิดโครงการขึ้นมามากมาย และเมื่อปี 2540 บริษัทสยามสิ่งทอได้รับการแฮร์คัท 3,400 ล้านบาท และหากจำกันได้เมื่อสองสามเดือนที่แล้ว มีข่าวเรื่องหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.4 ล้านล้าน มีคำถามว่าใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างกระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องระลึกว่ากองทุนฟื้นฟูก้อนนั้นเป็นหนี้ส่วนหนึ่งที่เอามาอุ้มบริษัทที่ล้มไปในช่วงนี้ ค่าแฮร์คัตเหล่านี้ ไม่มีใครเปิดเผยว่าเอาไปโอบอุ้มที่ไหนกันแน่ ทั้งๆ ที่เงินเหล่านี้ก็มาจากเงินภาษีของประชาชน อีกตัวอย่างหนึ่ง คือบริษัทอย่างไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็มีการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นหน้าใหม่ๆ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานทรัพย์สินก็มักจะส่งคุณหญิงชฎาลงไปนั่งเป็นกรรมการ นอกจากนี้ก็ยังมีพงส์ สารสิน ทุนลดาวัลย์ ที่เข้ามานั่งอยู่ด้วย จะเห็นเครือข่ายแบบนี้เยอะแยะมหาศาลที่มีลักษณะการถือหุ้นแบบนี้อยู่ หรืออย่างสยามพิวรรธน์ ประธานกรรมการคือ พนัส สิมะเสถียร ชฎา วัฒนศิริธรรม
ลักษณะการสะสมทุนในไทย ธนาธรสรุปการนำเสนอว่า สนง.ทรัพย์สินฯ เพิ่งมาแอคทีฟในช่วงทศวรรษ 2520-30 ก่อนหน้านั้นก็มีการลงทุนอยู่บ้างแต่อยู่สถานะ passive กว่า แต่ที่แอคทีฟต่อเศรษฐกิจไทยและส่งผลต่อการพัฒนาทุนนิยมไทย คือ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ผ่านเทคโนแครตแถวหน้าที่ทำงานให้กับรัฐบาลเปรมในช่วงนั้น และดำเนินการทางธุรกิจเป็นช่องทางแบบปิดต่อกลุ่มทุนอื่นในการเติบโต สุดท้าย เมื่อเราใช้คำว่าธุรกิจการเมือง ทุนสามานย์ นักเลือกตั้ง แต่เรื่องพวกนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงเลย แทบจะหายไปในสังคมไทย และพึ่งมาจุดประกายใหม่เมื่องานของพอพันธ์เริ่มศึกษา สิ่งที่สำคัญที่สุด นอกจากเรื่องทุนแล้ว ยังมีเครื่องมือทางวัฒนธรรม ตราครุฑ เครื่องราชย์ และกลุ่มที่บอกว่าตัวเองเป็นลิเบอรัลอย่างทีดีอาร์ไอ ต้องการการแข่งขันเสรี แต่มันมีที่สิ้นสุดคือไม่เคยแตะเรื่องนี้เลย ซึ่งนี่เป็นเรื่องของการหาโอกาสทางเศรษฐกิจในอีกรูปแบบหนึ่งในสังคมไทยที่ไม่เคยถูกเปิดเผยเลย
หมายเหตุ การสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ชวนอ่านผลศึกษา "การเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลของไทย" Posted: 07 Oct 2013 03:57 AM PDT 2556 ประเทศไทยเริ่มทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลและทยอยให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลประเภทสาธารณะ ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปีเป็นต้นมา และจะเริ่มประมูลเพื่อให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจในช่วงปลายปีนี้ ตามแผนแม่บทของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก่อนการเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุในระบบดิจิตอล ในปี 2557 "ประชาไท" ชวนอ่านผลการศึกษา "การเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลของประเทศไทย" จัดทำโดย สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานที่องค์กรกำกับดูแลมีต่อวิทยุชุมชน ประสบการณ์จากต่างประเทศ รวมทั้งผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและผู้รับบริการ เพื่อทำความเข้าใจภูมิทัศน์สื่อยุคดิจิตอล
00000 รายงานการศึกษา |
Posted: 07 Oct 2013 02:42 AM PDT
กลิ่นเลือดคาวคาวสนาม "มันเป็นคอมมิวนิสต์" ฆ่าอย่างเหี้ยมทมิฬ ตัวการ์ตูนไร้ยิ้มชื่น พ่อแม่ตามหาลูก ชื่อเขาจะอยู่ยง
ที่มาภาพ: แฟนเพจ จารุพงษ์ ทองสินธุ์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หลักการเหตุผลของ ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ฯ Posted: 07 Oct 2013 02:20 AM PDT เนื่องในโอกาสที่จะมีการเสนอร่าง "พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ...." ต่อผู้แทนของรัฐสภาในวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2556 เวลา 15.00 น. ณ บริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ผมจึงขอนำสรุปหลักการและเหตุผลของร่าง พรบ.ดังกล่าวมาเสนอ โดยมีรายละเอียดของแต่ละมาตราตามไฟล์แนบครับ หลักการและเหตุผล ประเทศไทยมีระบบการบริหารราชการส่วนกลางและบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นกลไกสำคัญในการบริหารประเทศ ทำหน้าที่ตัดสินใจ กำหนดนโยบาย บริหารจัดการบริหารบุคลากร และจัดสรรงบประมาณ มีรัฐบาลเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โดยมีกระทรวง ทบวง กรม เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ครอบคลุมทั้งประเทศ กว่า 120 ปีที่ผ่านมา ระบบการบริหารงานดังกล่าวได้สร้างคุณูปการแก่ประเทศไทยอย่างใหญ่หลวงจนสามารถทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจมาได้ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งสังคมมีความซับซ้อน และการรวมศูนย์การตัดสินใจ และการดำเนินการปฏิบัติการ กลายเป็นความซับซ้อน ระบบใหญ่โต ไร้ประสิทธิภาพไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน ประชาชน หัวใจสำคัญ คือ ในการปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้มีกระบวนการและกลไกให้ประชาชนในชุมชนทอ้งถิ่นใช้อำนาจทางตรง ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและเข้าถึงการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานได้ สาระสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. .... จึงมีสาระสำคัญที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินการใน 3 แนวทางด้วยกัน คือ 1.) ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่และมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการกำหนดแนวนโยบาย ระเบียบ ข้อบัญญัติ การจัดงบประมาณ การคลัง การจัดการบริหารบุคลากร กลไกโครงสร้างการบริหารงานภายในท้องถิ่นเพื่อการบริหารราชการท้องถิ่นได้โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งาชอาณาจักรไทย โดยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นได้ครอบคลุมทุกเรื่อง ยกเว้น 4 เรื่องหลักคือ การทหาร ระบบเงินตรา การต่างประเทศ และการศาล โดยแบ่งการปกครองเป็น 2 ระดับ คือ ระดับบน(เชียงใหม่มหานคร) และระดับล่าง (เทศบาล) ทำให้สามารถดูแลครอบคลุมเต็มพื้นที่ โดยทั้ง 2 ระดับมีการบริหารที่อิสระต่อกันเป็นลักษณะการแบ่งหน้าที่การทำงานให้ชัดเจน 2.) ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมจริยธรรม ทำให้ระบบการตรวจสอบมีความเข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสร้างดุลยภาพ 3 ส่วนคือ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร สภาเชียงใหม่มหานครและสภาพลเมืองรวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจประชาชนโดยตรงในการกำหนดทิศทางการพัฒนาตรวจสอบการทำงานหน่วยงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และเข้าถึงการใช้งบประมาณ ผ่านกระบวนการกลไกต่างๆ เช่น สภาพลเมือง การไต่สวนสาธารณะ กรรมาธิการด้านต่างๆ เช่น การศึกษา เกษตร ซึ่งมีการรับรองการใช้อำนาจ และมีงบประมาณสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว 3.) การปรับโครงสร้างด้านภาษี โดยภาษีทุกชนิดที่เก็บได้ในพื้นที่จะส่งคืนรัฐบาลส่วนกลางร้อยละ 30 และคงไว้ที่จังหวัดร้อยละ 70 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น